เรือนพื้นถิ่น ข่าว/ปกิณกะ


อัพเดต  6 พ.ย. 2566

ภารกิจคืนชีพสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชุมชนคลองบางหลวง

ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/knowledge/195323

ข่าว/ปกิณกะ

  • คลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) ย่านชุมชนเมืองที่มีประวัติมายาวนานแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเมื่อปี พ.ศ.2310 ที่มาของบริเวณชุมชนยังสืบไปถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งทรงครองราชย์ระหว่างปี 2077-2089 เมื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อลดระยะเวลาการเดินทางออกอ่าวไทย ประวัติศาสตร์เปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัยมีผลกระทบต่อลมหายใจของชุมชน โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอันสะท้อนถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่แต่อดีตค่อยๆ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
     
     
                    จำนวนไม่น้อยถูกแทนที่ด้วยอาคารสมัยใหม่ และโครงการคอนโดมิเนียมสูงใหญ่ตามแนวรถไฟฟ้าที่รุกคืบเข้ามาตามกระแสทุนนิยม จริงอยู่ชาวชุมชนอยู่ได้ด้วยการปรับตัว หากลมหายใจของสถาปัตยกรรมทรงคุณค่านั้นกำลังรวยรินเต็มที เพื่อเป็นหนึ่งแรงช่วยอนุรักษ์ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูต คริสตี้ เอ.เคนนี่ย์ ได้เป็นประธานมอบทุนจำนวน 53,960 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านบาท ภายใต้กองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม ให้แก่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์บ้านหกหลังและเรือนแถวหกห้องในชุมชน
     
                    ท่านทูตคริสตี้ ซึ่งเดินทางไปชมสภาพบ้านเรือนเป้าหมาย ใกล้ๆ คริสตจักรตลาดพลูแบ๊บติสต์ ระหว่างซอยเทอดไท 16 และ 18 ด้วยตัวเอง กล่าวว่าไทยและสหรัฐอเมริกา มีการแบ่งปันประสบการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมมายาวนานเพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ งานอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน และถือเป็นเกียรติที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาได้ร่วมทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2544 กว่า 10 แห่ง รวมถึงโครงการขนาดใหญ่อย่างการช่วยอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเมืองใหญ่ทั่วโลกจะมีอัญมณีซ่อนอยู่เช่นเดียวกับย่านชุมชนแห่งนี้ มีการเปิดกว้างให้ผู้สนใจทั่วประเทศส่งโครงการเข้ามา และหนึ่งในนั้นคือชุมชนคลองบางหลวงซึ่งเป็นหัวใจของเมืองเก่าในกรุงเทพฯ รู้สึกยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หวังว่าจะช่วยจุดประกายสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดกิจกรรมคล้ายๆ กันนี้ในอนาคต
     
                    ด้านหัวหน้าทีมผู้เขียนแบบ ดร.วรสิทธิ์ ตันตินิพันธุ์กุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายถึงแนวทางการทำงานว่า สถาปนิกและทีมงานจะสำรวจข้อมูลและเขียนภาพจำลองบ้านหกหลังและเรือนแถวหกห้องที่เจ้าของบ้านและผู้นำชุมชนได้ร่วมกันคัดเลือก รายละเอียดนี้จะบันทึกไว้เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ใช้งานต่อไปในอนาคต อีกทั้งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมสำหรับการเดินและขี่จักรยานในบริเวณชุมชน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มการตระหนักรู้ถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงค่าของคลองบางหลวง
     
                    "อย่างบ้านของทวดต่าง บุญยมานพ คหบดีในสมัยนั้นที่เรามาจัดพิธีมอบทุนครั้งนี้ เราเขียนแบบเรียบร้อยตั้งแต่ปีก่อนโดยทุนของสภาวิจัยแห่งชาติ แล้วก็มีห้องแถวไม้โรงน้ำปลาเก่าที่เขียนเสร็จแล้ว เราพยายามเขียนแบบตึกไม้เก่าซึ่งอีกหน่อยจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของย่าน ถ้าถูกรื้อก็จะหมดไปเลย จริงๆ แล้วเรื่องบูรณะถ้าเจ้าของบ้านไม่ทำเองเราก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่การเขียนแบบเก็บไว้ก็จะเป็นหลักฐานว่ามันเคยมีหน้าตาอย่างนี้ ถ้าเกิดวันหนึ่งลูกหลานอยากจะบูรณะหรือสร้างใหม่เขาก็จะรู้ว่าทำยังไง เพราะเพียงรูปถ่ายคงไม่รู้ขนาดสัดส่วนที่แน่นอน
     
                    การทำงานของเรา จะจัดเป็นค่ายแล้วค้างแรมในพื้นที่ จากนั้นจะเริ่มวัดระยะทุกอย่างแล้วเริ่มเขียนแบบหน้างาน เขียนเส้นร่างดินสอ แล้วแยกย้ายกันกลับไปเขียน แล้วจึงมารวมตัวกันเพื่อเช็กว่าใช้เส้นน้ำหนักเดียวกันหรือไม่ เพราะเขียนด้วยมือล้วนๆ ทั้งหมดใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเสร็จ ตัวร่างแบบสามารถเป็นมรดกให้ชุมชนได้ เอาไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ อย่างการสกรีนเป็นลายเสื้อยืดแล้วให้คนในชุมชนใส่ เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้คนอื่นเห็นแล้วอยากช่วยอนุรักษ์ พอเกิดแรงกระเพื่อมถ้าเจ้าของคิดจะทุบทิ้งก็อาจเกิดแรงต้าน เพราะการหวงแหนเข้าไปอยู่ในหัวเขาแล้ว ถือว่าเราสร้างโอกาสด้านการอนุรักษ์" เรี่ยวแรงสำคัญของโครงการ สะท้อนมุมมอง
     
                    ฤทธิ์บุรี รักกุศล ทายาทเจ้าของบ้านรุ่นเหลนของทวดต่าง บุญยมานพ หนึ่งในจำนวนบ้านไม่กี่หลังที่ได้รับการเขียนแบบ เล่าว่า บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้มีลายฉะลุสวยงามหลังนี้มีอายุราว 170 ปี ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นร้างแล้วไม่ทราบว่าด้วยเหตุอะไร ส่วนลูกหลานก็กระจัดกระจายไปมีครอบครัว และไม่มีการบูรณะใดๆ ที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการ อย่างกรมศิลปากรเข้ามาดูบ้างแต่สักพักก็เงียบหายไป ถ้าจะให้บูรณะเองก็คงไม่ไหว เพราะต้องใช้เงินมาก วันนี้รู้สึกดีใจที่มีคนมองเห็นคุณค่า แต่เรื่องการอนุรักษ์คงต้องคุยกันเพราะอาจมีเงื่อนไขหลายอย่าง
     
                    ท้ายที่สุด ดร.วรสิทธิ์ มองว่า จริงๆ แล้วสถาปัตยกรรมไม่สำคัญเท่าวิถีชีวิตคน แต่ถ้าไม่มีสถาปัตยกรรมให้เห็นก็อาจมองไม่เห็นจุดเริ่มที่จะอนุรักษ์ ทุกวันนี้รถไฟฟ้ารุกคืบเข้าไปในชุมชนมากขึ้น กฎของ กทม.ระบุว่าพื้นที่ฝั่งธนบุรีมักไม่ค่อยถูกเวนคืนเพราะถนนแคบ การสร้างอาคารใหญ่ๆ จึงเกิดขึ้นยาก แต่กฎนี้กำลังจะถูกยกเว้นในรัศมี 500 เมตรตามแนวรถไฟฟ้า ตรงนี้จะทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงมีนายทุนมากว้านซื้อ อาคารเล็กๆ ก็จะหายไป ซึ่งการอนุรักษ์คงต้องเริ่มจากคนในชุมชนก่อน และต้องให้โอกาสชุมชนในการเปลี่ยนแปลงบ้าง
     
    คมชัดลึก, 6 พฤศจิกายน 2557