เรือนพื้นถิ่น ข่าว/ปกิณกะ


อัพเดต  6 พ.ย. 2566

อนุรักษ์ เรือนไทยวน สีคิ้ว

ที่มา : http://news.thaipbs.or.th/content/4620

ข่าว/ปกิณกะ

  • ยิ่งนับวันเรือนเอกลักษณ์ไท-ยวนสีคิ้วยิ่งลดลงไป เหลือเพียงส่วนน้อยที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ หากตัวเรือนล้วนเป็นแบบอย่างการศึกษาข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่เครือข่ายอนุรักษ์ร่วมมือ เก็บแบบอาคารมรดกของชุมชน
     
     
    ยายไอ่ ค่ำสูงเนิน เจ้าของเรือนไทยวน วัย 79 ปี อยู่กับเรือนไม้เก่ามานานเท่าทั้งชีวิตของตัวเอง แต่ก็อดแปลกตาตื่นเต้นไม่ได้ เมื่อเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นส่วนต่างๆ ของบ้าน ผ่านการลงปากกาเขียนแบบของนักศึกษาสถาปัตยกรรม 5 สถาบัน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และเครือข่ายภาคอีสาน ลงฝึกประสบการณ์ภาคสนามกับงานเขียนมือบันทึกสัดส่วนรูปแบบบ้านตามจริงที่ตาเห็น
     
    ในขณะที่เรือนดั้งเดิมเหลือเพียงไม่กี่หลังในบ้านสีคิ้วเหนือ จ.นครราชสีมา หากยังคงแสดงภูมิปัญญาชาวไทยวน ตั้งขวางตะวันแบบเดียวกับเรือนทางเหนือ โดดเด่นที่จั่วพระอาทิตย์รับแสงสว่างและมีความหมายถึงความรุ่งโรจน์กับการเริ่มต้นที่ดี ครั้งนี้เก็บข้อมูลต้นแบบเรือนไทยวน 2 หลัง นอกจากร่องรอยเรือนไทยวนยังอยู่กับชุมชนในสีคิ้ว โครงสร้างเรือนเก่าต่อเติมใหม่ยังจำลองไว้ในวัดใหญ่สีคิ้ว ให้เห็นวิถีไทยยวน โดยศึกษาจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีอยู่ 
     
    เรือนไทยวนจำลองแสดงวัฒนธรรมตกทอดในสีคิ้ว เกิดจากความตั้งใจรวบรวมองค์ความรู้ด้านการทอผ้า ความเป็นอยู่ และเรื่องเล่าของชุมชน ที่เชื่อว่าสืบเชื้อสายจากไทยวนเชียงแสน หรือโยนกนคร มาตั้งถิ่นฐาน แม้ผ่านมานับ 100 ปี หากภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ยังคงอยู่ มีเรือนไทยวนเป็นเอกลักษณ์
     
    ท่ามกลางเทคโนโลยีก้าวไกล ทำให้นักศึกษาสถาปัตย์ มีเครื่องมือทำงานที่ทุ่นแรงมากขึ้น หากการเขียนมืออันเป็นพื้นฐาน จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน มีประสบการณ์มากพอ นำทักษะไปใช้เมื่อก้าวสู่โลกทำงานจริง โดยการเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ยังเป็นประโยชน์กับชุมชนวัฒนธรรม เช่นเรือนไทยวนสีคิ้ว ซึ่งเป็นชุมชนไทยวนขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในอีสาน นำไปสู่การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของชุมชน
     
    ไทยพีบีเอส, 23 สิงหาคม 2558