แห่นางแมว

54536 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : เต้าแม่นางแมว, ขอฝน
เดือนที่จัดงาน : มิถุนายน,กรกฎาคม,สิงหาคม
เวลาทางจันทรคติ : เดือน 7-9
สถานที่
ภาค / จังหวัด
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : แห่นางแมว, ประเพณี,เกษตรกรรม
ผู้เขียน : ธันวดี สุขประเสริฐ
วันที่เผยแพร่ : 12 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 14 ก.ย. 2559

แห่นางแมว

           สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม น้ำฝนเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก เกษตรกรมีความเชื่อว่า "ฝน" เป็นสิ่งที่เบื้องบนประทานลงมา เมื่อใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การเพาะปลูกพืชพันธุ์ดำเนินไม่ได้ จึงต้องทำพิธีขอฝนหรือทำนายฝน ประเพณีขอฝนมีอยู่หลายรูปแบบ ปรากฏทั้งในภาคเหนือ กลาง และอีสาน 

           ตามความเชื่อของชาวอีสานเชื่อว่าเหตุที่ฝนไม่ตกมีหลายประการ เช่น เกิดจากดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านหย่อนในศีลธรรม เจ้าเมืองหรือเจ้าแผ่นดินไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นต้น ดังนั้น หากมนุษย์ต้องการให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็ควรตั้งอยู่ในศีลในธรรม   แต่หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวอีสานจึงต้องทำพิธีอ้อนวอนขอฝน โดยการใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝน เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที จากความเชื่อนี้จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านคิดหาวิธีให้แมวร้อง ด้วยการสาดน้ำแมว ชาวอีสานเชื่อว่าหลังจากทำพิธีแห่นางแมวแล้ว ฝนจะตกลงมาตามคำอ้อนวอน และตามคำเซิ้งของนางแมว ภาคอีสานเรียกว่า “เต้าแม่นางแมวหรือแห่นางแมว”

          วิธีการคือหาแมวมา โดยมากคัดเลือกแมวไทยพันธุ์สีสวาด ตั้งแต่ 1-3 ตัว สาเหตุที่ต้องเลือกแมวพันธุ์นี้เพราะเชื่อว่า สีขนแมวเป็นสีเดียวกับเมฆ จะทำให้เกิดฝนตกได้ แต่บางแห่งก็ใช้แมวดำ จากนั้นนำนางแมวมาใส่กระบุงหรือตะกร้าหรือเข่งก็ได้ แล้วสอดไม้คานให้สองคนหาม จัดดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ แต่ก่อนที่จะนำนางแมวเข้ากระบุง คนที่เป็นผู้อาวุโสที่สุด จะพูดกับนางแมวว่า "นางแมวเอย …ขอฟ้าขอฝน ให้ตกลงมาด้วยนะ" พอหย่อนนางแมวลงกระบุงแล้ว ก็ยกกระบุงนั้นสอดคานหามหัวท้าย จะปิดหรือเปิดฝากระบุงก็ได้ แต่ถ้าปิดต้องให้นางแมวโดนน้ำกระเซ็นใส่ แล้วป่าวเทวดาลงมาขอฝน แล้วหามนางแมวแห่ไปทุกครัวเรือนถึงเรือนใดก็ให้สาดน้ำมายังขบวน นางแมวที่อยู่ในเข่งนั้นแต่งด้วยเครื่องประดับผูกคอแมวให้สวย ว่าคำเซิ้งนางแมวไปเรื่อยๆ

           ส่วนใหญ่คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจะเป็นผู้นำกล่าวเซิ้งเพื่อให้ผู้แห่ทั้งหมดว่าตาม เริ่มขบวนแห่โดยหามกระบุงใส่แมวไปข้างหน้า แล้วตามด้วยคนว่าคำเซิ้ง และผู้แห่ว่าตามเป็นท่อนๆ ไป ในขบวนจะมีการตีเกราะเคาะไม้เพื่อให้เกิดจังหวะตามไปด้วย แห่ไปทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านนั้นๆ เมื่อแห่ไปถึงบ้านใครเจ้าของบ้านก็ต้องเอาน้ำสาด หรือรดที่ตัวแมวให้เปียกและทำให้แมวร้อง และสาดใส่ขบวนเซิ้งด้วย ประเพณีบางบ้านก็สาดใส่ขบวนเฉยๆ โดยไม่ให้ถูกแมว

           ผู้หญิงที่เข้าร่วมในพิธีแห่จะผัดหน้าขาว ทัดดอกไม้สดดอกโตๆ ขบวนแห่จะร้องรำทำเพลงที่สนุกสนานเฮฮา เมื่อขบวนแห่ถึงบ้านไหน แต่ละบ้านต้องออกมาต้อนรับอย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าแมวจะโกรธ และบันดาลไม่ให้ฝนตกลงมา และมีความเชื่อว่า ถ้าแห่นางแมวแล้วฝนจะตกภายใน 3 วัน 7 วัน นอกจากพิธีแห่นางแมวจะเป็นการช่วยเรียกให้ฝนตกแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้านให้แน่นแฟ้นขึ้น เนื่องจากต้องมีการช่วยเหลือกันในการประกอบพิธี

            คำเซิ้งแห่นางแมวภาคอีสานของแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกัน แต่สิ่งที่รวมอยู่ในคำเซิ้งคือมีการพรรณนาถึงความแห้งแล้งและขอให้ฝนตกเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น

           "เต้าอีแม่นางแมว แมวมาขอไข่ ขอบ่ได้ขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์อดหัวแมวบ้าง บ่ได้ค่าจ้างเอาแมวข้อยมา บ่ได้ปลาเอาหนูกับข้าว บ่ได้ข้าว เหล้าเด็ดก็เอา เหล้าโทก็เอา แม่เม่าเอย อย่าฟ้าวขายลูก ข้าวเพิ่นปลูก ลูกน้อยเพิ่นแพง ตาเวนแดง ฝนแทงลงมา ตาเวนต่ำ ฝนหน่ำลงมา ตาเวนตก ฝนตกลงมา ดังเค็งๆ ข้ามดงมานี้แบ้นบักเลิกแบ้นพ่ออีเถิง ฮ่งเบิงๆ ฝนเทลงมา ฝนบ่ตกข้าวไฮ่ตายเหมิดแล้ว ฝนบ่ตกข้าวนาตายแล้งเหมิดแล้ว ฝนบ่ตกกล้าแห้งตายพรายเหมิดแล้ว ตกลงมาฝนตกลงมา เท่งลงมาฝนเท่งลงมา กุ๊กกู๊ กุ๊กกู๊ กุ๊กกู๊ กุ๊กกู๊ กุ๊กกู๊”

           สำหรับประเพณีแห่นางแมวของภาคกลาง ปีใดที่ฝนมาช้าหรือแล้งผิดปกติ พืชในไร่นาให้ผลไม่เต็มที่ ชาวบ้านก็จะทำพิธีแห่นางแมว เพราะเชื่อว่าภายหลังเมื่อแห่นางแมวแล้ว ไม่ช้าฝนก็จะเทลงมา

           พระยาอนุมานราชธน ให้ข้อสังเกตว่า แมวเป็นสัตว์ไม่ชอบน้ำ โบราณจึงถือว่าเป็นตัวแล้ง เมื่อแมวถูกน้ำสาดเปียกปอน ก็จะหายแล้ง ชาวบ้านก็เชื่อว่าแมวเป็นสัญลักษณ์ของความแห้งแล้งเช่นกัน จึงจับแมวตัวเมียมาใส่ "ตะข้อง" หรือ ชะลอม หรือเข่ง ตะกร้า เอาไม้คานสอดเข้าไปในตะข้อง แล้วพากันแห่ตระเวนไปทั่วหมู่บ้าน ในขบวนแห่มีคนตีกลอง กรับ ฆ้อง หรือฉิ่ง และจะร่วมกันร้องเพลงแห่นางแมว โดยมีคำร้องสั้นๆ ง่ายๆ แต่สัมผัสคล้องจองกันดังนี้

          "นางแมวเอย มาร้องแจ้วแจ้ว นางแมวขอไก่ ขอไม่ได้ ร้องไห้ขอฝน ขอน้ำมนต์รดแมวข้าที มีแก้วนัยน์ตา ออกมาเดือนหก ฝนตกทุกที มาปีนี้ไม่มีฝนเลย พ่อตาลูกเขย นอนก่ายหน้าผาก พ่อหม้ายลูกมาก มันยากเพราะข้าว คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าหัวห้อย พาเด็กน้อย มาเล่นนางแมว มาร้องแจ้วฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา”

           เมื่อเคลื่อนขบวนแห่ ต่างก็ร้องบทแห่นางแมว ซึ่งมีข้อความผิดเพี้ยนกันไปแล้วแต่ท้องถิ่น บางบทมี ถ้อยคำกระเดียดไปทางหยาบโลน เมื่อแห่ถึงบ้านใคร เจ้าของบ้านก็จะเอากระบวยตักน้ำสาดลงไปในชะลอมหรือตะกร้าที่ขังแมวอยู่ จากนั้นเจ้าของบ้านก็ให้รางวัลแก่พวกแห่ เป็นเหล้า ข้าวปลา ไข่ต้ม หรือของกินอย่างอื่น ส่วนมากมักให้เงินเล็กน้อยแก่คนถือพานนำหน้ากระบวนแห่ เสร็จแล้วก็เคลื่อนต่อไปยังบ้านอื่นๆ จนสุดเขตหมู่บ้าน แล้วก็กลับมาชุมนุมเลี้ยงดูกันเป็นที่ครึกครื้น พร้อมทั้งปล่อยแมวให้เป็นอิสระ ถ้าฝนยังไม่ตก ก็ต้องแห่ซ้ำในวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆ ไปจนกว่าฝนจะตก

           ส่วนการแห่นางแมวของทางภาคเหนือไม่แตกต่างจากทางภาคอีสานและภาคกลาง คือจับแมวใส่ในชะลอมหรือตะกร้า ประดับประดาด้วยดอกไม้ แล้วก็หามตะกร้านั้นออกแห่แหนไปตามหัวบ้านท้ายบ้าน บรรเลงด้วยฆ้องกลอง เมื่อขบวนแห่ผ่านไปที่บ้านหลังใด บ้านหลังนั้นก็จะเอาน้ำมาสาดนางแมว

 


บรรณานุกรม

บุญศรี ตาแก้ว. ธรรมเนียมประเพณีอิสาน ตอนพิเศษ มีแบบเรียน 3 ภาษาคือ 1.อักษรขอม (กัมพูชา) 2. อักษรตัวธรรม (ไทยอิสาน) 3. อักษรไทยน้อย (เวียงจันท์). กรุงเทพฯ : ส.ธรรมภักดี, 2545.

สงวน โชติสุขรัตน์. ประเพณีไทยภาคเหนือ. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2512.

สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต. ประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป.  กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.

http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/47089/ประเพณีแห่นางแมว

www.prapayneethai.com

http://202.129.59.73/nana/legend/cat/cat.htm

http://www.openbase.in.th/node/8754