แห่ช้างบวชนาค จ.สุโขทัย

19808 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : แห่ช้างบวชนาคไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว, แห่นาคด้วยขบวนช้าง, บวชช้าง
เดือนที่จัดงาน : เมษายน
เวลาทางจันทรคติ : เดือน 4 หรือเดือน 5 (ในอดีตจัดในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 4)
สถานที่ : วัดหาดเสี้ยว ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สุโขทัย
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : บวชนาคขี่ช้าง จ.สุรินทร์
คำสำคัญ : บ้านหาดเสี้ยว, บวชนาค, บวชช้าง, พวน, ไทยพวน, ช้าง
ผู้เขียน : ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ,สุพิชชา นักฆ้อง
วันที่เผยแพร่ : 15 ส.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 20 ก.ย. 2560

ประเพณีแห่ช้างบวชนาค

กลุ่มชาติพันธุ์พวนมีถิ่นกำเนิดจากเมืองพวน ที่มีแม่น้ำพวนไหลผ่าน (ปัจจุบันอยู่ในแขวงเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ได้อพยพย้ายถิ่นมาในดินแดนประเทศไทยหลายระลอก ที่เห็นได้ชัดคือตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีทั้งที่อพยพมาทำมาหากินเอง และกลุ่มใหญ่ที่ย้ายถิ่นมาจากการถูกกวาดต้อน เป็นเชลยสงคราม อีกส่วนหนึ่งย้ายมาเนื่องจากภัยสงคราม มาอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชน กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง และยังคงรักษาอัตลักษณ์ของชาวพวนเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ก็เป็นชุมชนพวนอีกชุมชนหนึ่งที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ.2387 โดยยึดเอาแนวที่ราบลุ่มริมแม่น้ำยมฝั่งตะวันออก เริ่มตั้งแต่ดอยมุ้งทางทิศใต้ ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านแม่ราก บ้านหาดเสี้ยว เพราะบ้านหาดเสี้ยวเป็นหมู่บ้านใหญ่ จึงแบ่งคุ้มบ้านออกเป็น บ้านเหนือ บ้านกลาง และบ้านใต้ อีกกลุ่มหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ระหว่างที่ราบเชิงภูพ้างอม จรดริมฝั่งแม่น้ำยมทิศตะวันตก ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านใหม่ และบ้านหาดสูง (เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว 2551 : 1)

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (2555) ให้ข้อมูลว่า การอพยพของบรรพบุรุษพวนบ้านหาดเสี้ยวครั้งนั้น กล่าวกันว่ามีทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายฆราวาสมีพี่น้องสามแสน คือ แสนจันทร์ แสนปัญญา และแสนพล เป็นหัวหน้า ฝ่ายสงฆ์มีเจ้าหัวอ้าย สมเด็จวัดบ้านตาดเป็นหัวหน้า คาดว่าเดินทางเข้าประเทศไทยทางจังหวัดน่าน ผ่านจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ มุ่งสู่เมืองสวรรคโลก เลือกภูมิประเทศบริเวณบ้านหาดเสี้ยว ลุ่มน้ำยมปลูกสร้างบ้านเรือน สร้างวัด และหาที่ดินประกอบอาชีพกสิกรรม ตอนนั้นเจ้าเมืองสวรรคโลกได้แต่งตั้งแสนจันทร์เป็นผู้ปกครองดูแลราษฎรในท้องที่ เก็บภาษีอากร นำส่งรัฐบาลถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางทางน้ำไปและกลับเป็นเวลาเดือนเศษ เมื่อแสนจันทร์ถึงแก่กรรม เจ้าเมืองสวรรคโลกได้แต่งตั้งบุตรชายคนโตของท่าน ชื่อทอง รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีพิทักษ์ปกครองต่อ และสืบตระกูลมาในหาดเสี้ยวจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันตำบลหาดเสี้ยวแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านหาดเสี้ยว (บ๊านเต๊อ) หมู่ที่ 2 บ้านหาดเสี้ยว (บ๊านกลางและบ๊านเหนือ) หมู่ที่ 3 บ้านหาดสูง หมู่ที่ 4 บ้านใหม่ (บ๊านเหม่อ) และหมู่ที่ 5 บ้านป่าไผ่ (ไม่ใช่ไทยพวน) ส่วนไทยพวนที่บ้านแม่รากนั้นขึ้นอยู่กับตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย ยังคงมีวัฒนธรรมแบบอัตลักษณ์ของไทยพวนเช่นเดียวกับที่บ้านหาดเสี้ยว (เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว 2551 : 1)

ที่มาของชื่อ “บ้านหาดเสี้ยว” มีอยู่หลากหลายข้อสันนิษฐาน (เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว 2551 : 1-2) ได้แก่

                   (1) ชาวไทยพวนมักจะนำชื่อหมู่บ้านเดิมที่เมืองพวน มาตั้งชื่อหมู่บ้านตามพื้นที่แต่ละแห่งที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น บ้านหาดเสี้ยว เป็นชื่อหมู่บ้านใหญ่ที่เมืองเชียงขวาง นำมาตั้งชื่อเป็นบ้านหาดเสี้ยว ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และบ้านหาดเสี้ยว ตำบลแก่งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

                   (2) หาดเสี้ยว หมายถึง ท่าน้ำที่มีหาดเสี้ยว คือ แหว่งไซ ประกอบกับแม่น้ำในช่วงนั้นได้ไหลเป็น 2 สาย เพราะมีสันดอนทรายอยู่ตรงกลาง และบริเวณหาดทรายมีต้นส้มเสี้ยว (ต้นกาหลง) เกิดขึ้นมากมาย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหาดเสี้ยว

                   (3) ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บางคนระบุว่า สมัยก่อนธิดาเจ้าเมืองเชียงรายได้เสด็จลงเรือมาด (เรือขุดแบบพื้นเมืองขนาดใหญ่ 4 คนแจว) ที่เมืองแพร่ และล่องเรือลงมาตามแม่น้ำยมเพื่อไปเยี่ยมพระสหายที่เป็นธิดาเจ้าเมืองตาก เมื่อผ่านหมู่บ้านนี้เกิดเรือรั่ว จึงได้แวะจอดยาเรือ ครั้นเมื่อเสด็จเยี่ยมเยียนหมู่บ้านก็ตรัสถามถึงชื่อหมู่บ้าน แต่ก็ไม่มีผู้ใดตอบ อาจยังไม่มีชื่อหรือไม่มีผู้ใดไม่กล้าตอบ จึงรับสั่งกับหัวหน้าหมู่บ้านตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหาดเซี่ยว” เนื่องด้วยทรงเห็นว่าเป็นหมู่บ้านที่น้ำไหลแรงหรือแม่น้ำแบ่งออกเป็น 2 สาย แบ่งหาดออกเป็นเสี้ยว ชาวบ้านเลยเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านหาดเซี่ยว นับแต่บัดนั้น

จนถึง พ.ศ.2460 สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาที่วัดโพธิ์ไทร (หรือวัดหาดเสี้ยวในปัจจุบัน) โปรดให้เปลี่ยนชื่อจาก “บ้านหาดเซี่ยว” เป็น “บ้านหาดเสี้ยว”

เดิมอำเภอศรีสัชนาลัยชื่อ อำเภอด้ง (อยู่ที่หมู่ 3 บ้านปลายนา ตำบลบ้านตึก ในปัจจุบัน) แล้วย้ายไปที่บริเวณบ้านป่างิ้ว ตำบลป่างิ้ว ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยม เนื่องจากการคมนาคมสะดวกกว่า จน พ.ศ.2441 เกิดโจรปล้นและเผาที่ว่าการอำเภอ จึงย้ายอำเภอด้งมาที่บ้านหาดเสี้ยว ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอด้งเป็น “อำเภอหาดเสี้ยว”

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลของเจ้าพระยาพหลพลพยุหเสนา มีนโยบายให้นำชื่อปูชนียสถานหรือสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นมาตั้งชื่อเป็นอำเภอและจังหวัด จึงได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอหาดเสี้ยวเป็น “อำเภอศรีสัชชนาลัย” และเปลี่ยนเป็น “อำเภอศรีสัชนาลัย” ในปี 2510 (เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว 2551 : 2)   

           

ประเพณีแห่ช้างบวชนาค บ้านหาดเสี้ยว : ที่มาและคติความเชื่อ

“ฮีดคอง” หรือ จารีต ประเพณี ขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวพวนที่บ้านหาดเสี้ยวนั้นมีมากมาย ตั้งแต่เกิดจนตาย ผูกพันกับความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษควบคู่ไปกับความศรัทธาในพุทธศาสนาเถรวาท ฮีดคองนั้นสัมพันธ์ชาวพวนอย่างลึกซึ้ง เป็นวิถีชีวิตที่กำหนดให้ประพฤติปฏิบัติตลอดชีวิต และมีพิธีกรรมหรือประเพณีให้ประกอบทุกเดือนในแต่ละปี ประเพณีที่สำคัญมากประเพณีหนึ่งที่อยู่ในเดือน 5 ของชาวพวนคือ “ประเพณีแห่ช้างบวชนาค” หรือ “ประเพณีแห่นาคด้วยขบวนช้าง”

การบวชหรือบรรพชาอุปสมบทของชายชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากที่อื่น คือมีการแห่นาคด้วยขบวนช้าง ชาวหาดเสี้ยวระบุว่าเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของชาวพวนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่เมื่อครั้งที่บรรพบุรุษชาวพวนอาศัยอยู่ที่เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว

การแห่นาคด้วยขบวนช้าง หรือแห่ช้างบวชนาค หรือการบวชช้างของชาวบ้านหาดเสี้ยวนั้น เป็นการจัดงานบวชที่ให้นาคขี่คอช้าง พร้อมด้วยญาติมิตรนำอัฐบริขารขี่บนหลังช้าง แห่เป็นริ้วขบวน

การบวชนาคในลักษณะนี้อาจมาจากคติความเชื่อเรื่องพระเวสสันดร เป็นการบำเพ็ญทานบารมีก่อนจะบวช จากเหตุการณ์พระเวสสันดรให้ทานช้างปัจจัยนาคเคนทร์ (ปัจจัยนาค) ซึ่งเป็นช้างเผือกที่ชาวเมืองเชตุดรถือว่าเป็นมงคลหัตถีแก่พราหมณ์ทั้งแปดจากแคว้นกาลิงครัฐที่มาทูลขอ และอาจมาจากอีกตอนหนึ่งคือ ตอนที่พระเจ้ากรุงสญชัย พระราชบิดาของพระเวสสันดร เชิญพระเวสสันดรให้ลาบวชกลับมาเป็นกษัตริย์นั้น พระองค์ได้จัดขบวนช้างม้าและรถที่มีการประดับประดาอย่างสมพระเกียรติ พร้อมด้วยขบวนมโหรีและการละเล่นต่างๆ ไปรับพระเวสสันดร และยังเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วย (เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว 2551 : 26)       

อีกความเชื่อหนึ่งอาจมาจากคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เกี่ยวกับการปฏิบัติตนสู่โลกุตรธรรม คือธรรมอันพ้นจากโลก หรือนิพพาน แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า อุดร หมายถึงทิศเหนือ สัตว์สัญลักษณ์ของทิศเหนือคือ “ช้าง” หรือ “โงนงก” ชาวพวนจึงนำช้างมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการบวช (เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว 2551 : 26)       

ผู้บวชนาคด้วยขบวนช้างนี้ สามารถกระทำได้ทั้งผู้ที่จะบรรพชาเป็นสามเณร และผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุนั้น ชาวไทยพวนจะเรียกว่า “เจ้าหัว” ถ้าภิกษุสึกแล้วเรียก “ทิด” หรือ “อ้ายทิด” ส่วนผู้ที่บวชเป็นสามเณรเรียกว่า “จั่วอ๊าย” เมื่อสึกแล้วจะเรียก “เซียง” หรือ “อ้ายเซียง” (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)

           

ประเพณีแห่ช้างบวชนาค บ้านหาดเสี้ยว : ช่วงเวลาและการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลา

ประเพณีแห่ช้างบวชนาคที่บ้านหาดเสี้ยว จะมีกิจกรรมสำคัญอยู่ 3 วัน คือ วันแรก เป็นวันสุกดิบ จะมีการ “เถี่ยวบ๊าน” คือเป็นการบอกบุญตามบ้านในหมู่บ้านหาดเสี้ยวโดยสตรีชาวไทยพวน หรือเป็นการไหว้วานกันให้มาช่วยงานบวชที่จะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น วันที่สอง เป็นวันแห่นาคด้วยช้างและบวชนาค วันสุดท้าย เป็นวันบรรพชาอุปสมบท

เดิมกำหนดการในวันที่สองของประเพณีที่มีการแห่นาคนั้น จะจัดในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 4 และบรรพชาอุปสมบทในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี แต่บางปีวัดหาดเสี้ยวไม่มีพระอุปัชฌาย์ จึงต้องนิมนต์พระอุปัชฌาย์มาจากวัดอื่น การบวชบางปีจึงต้องเคลื่อนไปเคลื่อนมาตามแต่ที่พระอุปัชฌาย์จะกำหนด ต่อมาจึงได้ประชุมกำหนดวันแห่นาคที่แน่นอนตามปฏิทินสุริยคติ คือวันที่ 7 เมษายน เป็นวันแห่นาค และบวชวันที่ 8 เมษายน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2524 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลความเหมาะสมต่างๆ ได้แก่

                   (1) เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนว่างจากการประกอบอาชีพ

                   (2) เดือนเมษายนเป็นเดือนเปลี่ยนนักษัตร

                   (3) เดือนเมษายนเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา

                   (4) ผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนและรับราชการประกอบกิจการงานต่างๆ ที่ประสงค์จะบวชแต่มีเวลาน้อย ก็จะบวชและลาสิกขาในวันพญาวัน คือวันที่ 15 เมษายน ครบเวลาบวช 7 วัน

นอกจากนี้ อาจารย์สาธร โสรัจประสพสันติ (2559) ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแรกเริ่มเดิมทีวันแห่นาคจะอยู่ที่วันแรม 3 ค่ำ เดือน 4 มักจะตรงกับเดือนเมษายน ต่อมาเพื่อความสะดวกชาวหาดเสี้ยวก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนมาจัดให้ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน จนเมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน จึงได้กำหนดวันจัดงานแห่นาคที่แน่นอนตามปฏิทินสุริยคติ เป็นวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2524 เพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยวและการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งให้สอดคล้องกับจำนวนวันที่จะให้บวชครบ 7 วัน ก่อนที่จะสึกในวันพญาวัน

         

ประเพณีแห่ช้างบวชนาค บ้านหาดเสี้ยว : เถี่ยวบ๊าน

ดังกล่าวแล้วว่าในวันแรกของประเพณีซึ่งถือเป็นวันสุกดิบจะมีการ “เถี่ยวบ๊าน” คือการเดินทางไปตามบ้านเพื่อบอกบุญโดยผู้หญิงชาวไทยพวน และยังอาจเป็นการไหว้วานให้มาช่วยงานแห่นาคและบวชในวันถัดไป

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในวันที่ 6 เมษายน 2559 พบว่ามีการรวมกลุ่มกันของสตรีที่จะเถี่ยวบ๊านกันที่หลังชุมชนฝั่งตะวันออกของถนนสายศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก (ทางหลวงหมายเลข 101) หรือฝั่งตรงข้ามถนนกับวัดหาดเสี้ยว ทั้งหมดเป็นสตรีที่ค่อนข้างจะสูงอายุ จำนวน 12 คน แต่งกายด้วยชุดเอกลักษณ์ของชาวพวน สีเขียว ซึ่งได้ตระเตรียมกันมาเอง บางส่วนมาจากกลุ่มอาชีพทอผ้าของหาดเสี้ยว กางร่มสีเขียวที่เขียนชื่อเจ้าภาพ จากการสอบถามพบว่าในกลุ่มนี้บางคนไม่ได้เป็นชาวไทยพวน แต่เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ที่หาดเสี้ยว

กลุ่มเถี่ยวบ๊านเริ่มออกเถี่ยวกันประมาณ 9.00 น. โดยแยกย้ายออกไปในชุมชนทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของถนน จากการสังเกตการณ์พบว่าผู้เถี่ยวบ๊านจะบอกบุญที่บ้านเกือบทุกหลัง มีบางหลังที่ไม่ได้เข้าไป เนื่องจากผู้เถี่ยวจะพิจารณาเองว่าสมาชิกในบ้านหลังใดที่เป็นคนต่างถิ่น เพิ่งย้ายเข้ามา ไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับคนในชุมชนมากนัก หรือบางหลังเป็นคนในหาดเสี้ยว แต่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การเถี่ยวบ๊านนี้จะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อได้เดินบอกทั่วทั้งชุมชนแล้ว

 อาจารย์สาธร โสรัจประสพสันติ (2559) ให้ข้อมูลว่าการเถี่ยวบ๊านในสมัยก่อนญาติพี่น้องที่เป็นผู้หญิงจะกระทำกันโดยความสมัครใจ แต่ในปัจจุบันด้วยสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เจ้าภาพจึงต้องใช้วิธีจ้างหรือให้สินน้ำใจกับผู้ที่เถี่ยวบ๊าน โดยไม่จำเป็นว่า 1 เจ้าภาพต่อ 1 ทีมเถี่ยวบ๊าน แต่เจ้าภาพหลายบ้านอาจช่วยกันจ้างทีมเถี่ยวบ๊านเดียวกันได้ เพื่อที่จะได้เดินบอกบุญไปพร้อมๆ กันในคราวเดียว การเถี่ยวบ๊านนี้ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของงานประเพณี แม้ว่าปัจจุบันจะมีการแจกการ์ดเชิญแล้ว ก็ยังคงต้องมีการเถี่ยวบ๊านอยู่

 

ประเพณีแห่ช้างบวชนาค บ้านหาดเสี้ยว : นาคและการแห่นาค

การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของผู้เขียนพบว่า กลุ่มที่บวชแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่บวชหมู่หรือบวชสามัคคี (ส่วนราชการเป็นเจ้าภาพ) และกลุ่มที่บวชเดี่ยว (แต่ละบ้านเป็นเจ้าภาพเอง) และแม้ว่าตามกำหนดการจะมีพิธีบรรพชาอุปสมบทในตอนเช้าวันที่ 8 เมษายน แต่ก็พบว่ามีนาคบางคนเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทในเย็นวันที่ 7 เมษายน (การบวชเดี่ยวจะขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพเอง) และพิธีกรรมหนึ่งที่ผู้ประสงค์ที่จะบวชทุกคนจะต้องปฏิบัติคือ การสักการะ “ศาลปู่กื้อ” ก่อนที่จะเริ่มขบวนแห่ช้าง ศาลปู่กื้อเป็นศาลบรรพบุรุษของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ที่ตั้งอยู่ภายในวัดหาดเสี้ยว สร้างเมื่อปี 2544 ก่อนที่จะเริ่มขบวนแห่

อาจารย์สาธร (2559) เล่าให้ฟังว่า การบวชในบ้านหาดเสี้ยว มีทั้งบวชธรรมดาและบวชช้างที่จะกระทำกันในเดือนเมษายน การบวชช้างจะใช้เงินมากกว่าการบวชธรรมดามาก ทุกวันนี้อาจถึงหลักแสนบาท โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับช้างและแตรวง ค่าช้างสมัยนี้ต้องเสียเงินหลักหมื่น แต่สมัยที่อาจารย์บวช เสียค่าช้าง 200 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ชาวหาดเสี้ยวก็นิยมที่จะบวชช้างกัน เพราะถือเป็นการสืบทอดประเพณีและเชื่อกันว่าได้กุศลเยอะ และเมื่อ ททท. และส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานเมื่อช่วง พ.ศ.2520 เศษ ก็ได้มีงบประมาณสนับสนุนให้กับผู้บวช จัดเป็นบวชหมู่หรือบวชสามัคคี ปัจจุบันสนับสนุนรายละ 20,000 บาท ในกลุ่มนี้จะมาจัดงานรวมกันที่วัดหาดเสี้ยว ส่วนผู้บวชที่มีกำลังก็จะจัดกันเอง ไม่รับเงินสนับสนุน มีงานเลี้ยง โกนผมนาค แต่งตัวนาค และทำขวัญนาคกันที่บ้านของตน แล้วจึงมารวมตัวกันที่วัดเพื่อสักการะศาลปู่กื้อและแห่นาครอบเมือง แล้วกลับมาที่วัดเพื่อบวชนาคในตอนเย็น (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)

ในสมัยก่อนไม่ได้มีการบวชช้างเฉพาะที่วัดหาดเสี้ยว แต่ยังมีที่วัดอื่นในชุมชน เช่น ที่วัดบ้านใหม่ ผู้บวชที่อยู่ใกล้หรือประสงค์จะบวชที่วัดใดก็ได้ แต่ปัจจุบันมีเฉพาะที่วัดหาดเสี้ยว และในขบวนแห่นาคด้วยช้างเมื่อก่อนจะมีเพียง “ปี่แต๊” (ปี่ชวา) และกลองรำมะนาหรือกลองยาวนำหน้าขบวนเท่านั้น ไม่มีแตรวงอึกทึกดังเช่นปัจจุบัน โดยแตรวงเพิ่งเริ่มมีอย่างเด่นชัดเมื่อช่วงที่ส่วนราชการเข้ามาร่วมจัดงาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงรักษาไว้คู่กับประเพณีตั้งแต่ครั้งอดีตก็คือการแต่งกายนาค (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)

การแต่งตัวของนาคชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวจะแต่งตัวแปลกไปจากท้องถิ่นอื่น คือในวันแห่หลังอาหารเช้า เจ้าภาพจะจัดการแต่งตัวให้นาค โดยญาติจะช่วยกันโกนผมโกนคิ้วนาค เสร็จแล้วอาบน้ำนาค ช่วยกันแต่งตัวให้นาค เครื่องแต่งกายของนาคประกอบด้วยผ้านุ่ง ผ้าม่วง ผ้าไหม สวมกำมะหยี่หรือเครื่องนุ่งห่มที่แพรวพราว ทาหน้าด้วยแป้งเสกกันเหงื่อ เครื่องประดับอื่นๆ เช่น สร้อยคอทองคำ เข็มขัดนาก เพชร พลอย เป็นต้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการหลงใหลในความงามของทรัพย์ภายนอก และพร้อมที่จะสละไปแสวงหาทรัพย์ภายใน (อริยทรัพย์) เมื่อบวชแล้ว สวม “แว่นดำ” ซึ่งหมายถึงยังเป็นผู้มืดบอด เพราะยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไตรสิกขา และอาจมีประโยชน์กับนาคที่ใช้กันลมกันแดดในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของเดือนเมษายน ศีรษะสวม “เทริด” หรือที่เรียกว่า “กระโจม” อันเป็นเครื่องทรงของพระอินทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของหงอนนาค (พญานาค) “กระจกเงา” ห้อยไว้ที่ข้างหูทั้ง 2 ข้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการสำรวจตัวเอง ระลึกถึงความหลัง พร้อมที่จะสละ ระหว่างที่แห่ นาคบนคอช้างต้องประนมมือตลอดเวลา โดยในมือประนมต้องมี “สักกัจจัง” เป็นแผ่นหรือแป้นวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 นิ้ว ด้ามเป็นรูปพญานาค พร้อมด้วยเครื่องประดับเครื่องบูชาหรือขันธ์ 5 เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน “สักกัจจัง” แปลว่า ด้วยความเคารพ เป็นเครื่องหมายของความเคารพ บนหลังช้างจะมีคนกางร่มใหญ่ (สัปทน) ให้กับนาค ร่มมีหลายสี เรียกว่า “จ๊อง” หรือ “คันญู” รวมถึง “กองบวช” ต่างๆ ก็จะนำขึ้นหลังช้างด้วย

“กองบวช” หมายถึง เครื่องอัฐบริขาร ที่แตกต่างไปจากที่อื่นคือที่บ้านหาดเสี้ยวต้องมีผ้ากั้ง ผ้าคลุมหัวช้าง ผ้านั่ง ผ้ากราบพระ และผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งจะต้องใช้ในพิธีบวช เมื่อเป็นพระแล้วก็ยังต้องใช้อยู่ การเตรียมกองบวชสมัยก่อนจะมีหญิงสาวที่เป็นคู่รักของผู้บวชเตรียมให้ ผ้าต่างๆ ฝ่ายสาวจะทอให้ แต่จะไม่สามารถทำได้โดยพลการ ต้องขออนุญาตพ่อแม่นาคก่อน หากอนุญาตก็จะเป็นสิ่งยืนยันว่าพ่อแม่นาคยอมรับหญิงสาวคนนี้เป็นลูกสะใภ้ หากใครยังไม่มีคู่รักก็สามารถหยิมยืมกองบวชจากคนอื่นได้ แต่ทุกวันนี้หากบวชหมู่ก็อาจไม่ต้องเตรียมผ้าต่างๆ เนื่องจากทางผู้จัดงานคือ ททท. เตรียมไว้ให้ทั้งหมด ผ้าเหล่านี้เองที่เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ลวดลายต่างๆ มีเอกลักษณ์ แต่ละบ้านก็จะเก็บผ้าเหล่านี้จนเป็นสมบัติของตระกูลและสมบัติของชุมชน ดังที่จัดแสดงอยู่ในสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สาธร (2559) ระบุว่า ปัจจุบันผ้ากั้งหรือผ้าที่ใช้ขึงตึงเป็นฉาก เป็นม่านที่ใช้ตั้งในบ้านนั้นหาได้ยากแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้เป็นผ้าฉากหลังหรือไวนิลและแผ่นป้ายโฟมติดแทนการใช้ผ้ากั้ง แต่ก็ยังพอจะพบเห็นอยู่บ้าง 

ในอดีตมีสิ่งของเครื่องใช้สำคัญที่ใช้ในการบวชช้าง เช่น กรวยอัฐ ซึ่งใช้ไม้ไผ่สานเป็นตาห่างๆ รูปหกเหลี่ยม ข้างในบรรจุกล้วยน้ำว้าสุก ข้าวเกรียบ ข้าวสาร เกลือ และอาหารอื่นๆ ถาดเครื่องขวัญสองถาด ที่ใส่สิ่งของเหมือน ๆ กัน เป็นสัญลักษณ์เป็นเครื่องเตือนใจและสอนนาคให้รู้บุญคุณของพ่อแม่ และการปฏิบัติตามหลักธรรมของพุทธศาสนา (ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ 2544) แต่อาจารย์สาธร (2559) ระบุว่ากรวยอัฐไม่ได้เป็นสิ่งของบังคับที่จะต้องมี ปัจจุบันจึงมีการใช้น้อย แต่บางบ้านก็ยังมีการใช้อยู่ คงเหลือแต่เพียงของที่ใช้สู่ขวัญหรือทำขวัญนาค ส่วนอาหารต่างๆ ก็อาจไม่มีในขบวนแห่แล้ว ในสมัยก่อนอาหารเหล่านี้ญาติมิตรจะช่วยกันตระเตรียมมาเพื่อใช้ร่วมขบวนและถวายพระ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารพื้นบ้านพวน เช่น แกงหยวก แกงขี้เหล็ก แกงบักมี่ แกงจางหรือแกงหน่อไม้ดอง แจ่วมะเขือ เป็นต้น

ก่อนที่จะนาคจะขึ้นช้าง จะต้องมีขันธ์ 5 ขอขมาช้าง ส่วนการแห่ยังคงแห่ตามเส้นทางเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือแห่จากวัดหาดเสี้ยวล่องไปทางทิศใต้ เลี้ยวซ้ายแยกร้านเรืองสวรรค์ ออกถนนสายหลังตลาดจนถึงแยกฌาปนสถานบ้านหาดเสี้ยว แล้วเลี้ยวซ้าย จนถึงสี่แยกตลาดเพื่อการเกษตรฯ (ตรงข้ามร้านสาธร) แล้วไปข้ามแม่น้ำยมที่ด้านหลังสถานีดับเพลิงหาดเสี้ยว ก่อนที่จะเดินทางกลับมาที่วัดหาดเสี้ยว มีการเปลี่ยนเส้นทางอยู่ปีเดียวคือปีถัดจากที่วิจารณ์ พลฤทธิ์ ที่เป็นชาวศรีสัชนาลัยได้เหรียญทองโอลิมปิก ปีนั้นมีการแห่วิจารณ์ พลฤทธิ์ ร่วมกับขบวนนาค ออกไปยังโรงเรียนเมืองเชลียง (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)  

สมัยก่อนเส้นทางการแห่มีแต่ทุ่งนา สมัยนี้เปลี่ยนสภาพเป็นชุมชนเมืองทั้งหมด ช้างสมัยก่อนมักจะตื่นคน พอมีเสียงดังก็จะวิ่งเตลิด ทำให้มีนาคตกจากหลังช้างบ่อย แต่ทุกวันนี้ช้างเชื่องมาก เป็นช้างที่ถูกเลี้ยงและฝึกมาดี สมัยก่อนชาวพวนบ้านหาดเสี้ยวจะเลี้ยงช้างเพื่อไว้ใช้งาน ปัจจุบันหาดเสี้ยวไม่มีการเลี้ยงช้างแล้ว ช้างที่เข้ามาร่วมขบวนแห่มาจากต่างถิ่น ที่มาจากศรีสัชนาลัยเองก็คือปางช้างที่บ้านตึก ตำบลบ้านตึก มาจากต่างจังหวัดก็มี เช่น จังหวัดสุรินทร์ (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)     

ส่วนการที่มีขบวนช้างแห่นาคข้ามแม่น้ำยมที่ถือเป็นไฮไลท์ในปัจจุบันนั้น สาเหตุจากเมื่อก่อนผู้บวชบางคนอยู่อีกฟากของแม่น้ำยม จึงต้องมีการขี่ช้างลุยน้ำข้ามมาวัดหาดเสี้ยว ซึ่งถือเป็นความรื่นเริงอย่างหนึ่ง ผู้ร่วมงานไม่ว่าจะแต่งตัวสวยงามเพียงใดก็จะเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน แต่ตอนนี้แม้จะไม่มีผู้บวชที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ก็จะต้องมีการแห่ขบวนข้ามน้ำไปและกลับ การข้ามแม่น้ำก็ต้องเสียค่าช้างเพิ่มอีก 500 บาท (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)       

การเข้ามาของส่วนราชการและ ททท. นอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวันจัดงานและกำหนดการต่างๆ แล้ว รูปแบบงานประเพณีและการแห่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพื่อให้เหมาะสมต่อภาพลักษณ์ของชาวหาดเสี้ยวและการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้เป็นคำสั่งของทาง ททท. แต่เป็นการหาทางออกร่วมกัน มีการประชุมหารือกันหลายครั้งก่อนที่จะลงตัวดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เช่น เมื่อก่อนในขบวนแห่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทาง ททท. เห็นว่าไม่เหมาะสม จึงแนะนำว่าหากงดไม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนไม่พอใจ ก็ให้ใส่เครื่องดื่มในกระบอกไม้ไผ่แทน หรือแตรวงที่ในปีแรกแตรวงแต่ละวง แต่ละเจ้าภาพ ก็มักจะแข่งกันเสียงดัง ประชันกัน จนมีพิธีเปิดก็ยังเล่นกันเสียงดังอยู่ ในปีที่ 2 มีตกลงกันใหม่ว่าเมื่อเข้าเขตวัดให้หยุดเล่นดนตรี แต่มีชาวบ้านบางส่วนไม่พอใจ จึงหารือกันอีกครั้งจนได้ข้อตกลงร่วมกันว่าให้เล่นดนตรีได้ถึงบริเวณศาลปู่กื้อ (สาธร โสรัจประสพสันติ 2559)       

อาจารย์สาธร (2559) เน้นย้ำว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ยังคงอยู่และขาดไม่ได้คือ ผู้เข้าร่วมขบวนแห่ต้องแต่งกายด้วยผ้าพื้นบ้าน ผ้าไทยพวน

 

ประเพณีแห่ช้างบวชนาค บ้านหาดเสี้ยว : พ.ศ.2559 ปีที่ 172

การจัดงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคที่บ้านหาดเสี้ยว ในปี 2559 นี้ ชาวหาดเสี้ยวถือกันว่าเป็นการจัดงานปีที่ 172 โดยนับจากปีที่อพยพมาตั้งรกร้าง ณ ที่แห่งนี้เมื่อปี 2387 มีกำหนดการอย่างเป็นทางการดังนี้

 

กำหนดการการจัดงาน “ประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว

วันที่ 7-8 เมษายน 2559 ณ วัดหาดเสี้ยว

วันที่ 7 เมษายน 2559

เวลา 07.00 น.                  - พิธีบวงสรวงศาลเจ้าวัด ณ วัดหาดเสี้ยว (ร่วมบวงสรวงโดยนายอำเภอศรีสัชนาลัย  

                                       นายกเทศมนตรีตำบลหาดเสี้ยว และชาวชุมชนบ้านหาดเสี้ยว)

เวลา 07.30 น.                  - พิธีโกนผมนาค (แต่ละบ้านเจ้าภาพ)

                                     - พิธีโกนผมนาคสามัคคี ณ วัดหาดเสี้ยว

เวลา 09.00 น.                  - ทำขวัญนาคแบบไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว

                                     - แต่งตัวนาค และแต่งช้าง (แต่ละบ้านเจ้าภาพ)

เวลา 10.00 – 11.30 น.      - ขบวนแห่นาคด้วยขบวนช้างเริ่มเคลื่อนออกจากบ้านเจ้าภาพแต่ละแห่งเข้าสู่วัดหาดเสี้ยว

เวลา 11.00 – 11.30 น.      - นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุทัย กล่าวการร่วมส่งเสริม สืบสาน และร่วมกันอนุรักษ์งานประเพณี

เวลา 11.30 – 11.50 น.      - ประกอบพิธีสงฆ์ในอุโบสถวัดหาดเสี้ยว

เวลา 12.00 น.                 - ประธานในพิธีเดินทางถึงวัดหาดเสี้ยว

                                    - ประธานสักการะศาลเจ้าวัด

                                    - ชมการแสดงของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ “รำซิ่นตีนจกเก้าลาย”

                                    - นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบงบประมาณสนับสนุนให้นายกเทศมนตรีตำบลหาดเสี้ยว

                                    - ประธานมอบงบประมาณสนับสนุนให้อำเภอศรีสัชนาลัย

                                    - ประธานมอบงบประมาณสนับสนุนให้เจ้าภาพแต่ละเจ้าภาพ

                                    - พิธีเปิดการจัดงาน

                                    - นายอำเภอศรีสัชนาลัย กล่าวรายงานการจัดงานประเพณีแห่ช้างบวชนาค

                                    - ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานและลั่นฆ้องชัย

เวลา 12.30 น.                 - ปล่อยขบวนช้าง

                                    - ประธานเดินทางไปปะรำ บริเวณหน้าคลินิกพรการพยาบาล (ถนนสายศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก)   

                                      เพื่อชมขบวนช้าง แห่จากวัดหาดเสี้ยวล่องใต้ เลี้ยวซ้ายแยกร้านเรืองสวรรค์ ออกถนนสายหลังตลาด

                                      จนถึงแยกฌาปนสถานบ้านหาดเสี้ยว แล้วเลี้ยวซ้าย จนถึงสี่แยกตลาดเพื่อการเกษตรฯ (ตรงข้ามร้านสาธร)

เวลา 15.00 น.                 - ขบวนช้างข้ามแม่น้ำยม แล้วแยกย้ายไปบ้านเจ้าภาพแต่ละแห่งและวัด

เวลา 17.00 น.                 - บรรพชา อุปสมบทนาค ณ วัดหาดเสี้ยว

วันที่ 8 เมษายน 2559

เวลา 07.00 น.                 - ทำบุญ ตักบาตร เลี้ยงพระ เณรที่บรรพชา อุปสมบทใหม่

เวลา 09.00 น.                 - เสร็จพิธี

 

ประธานในพิธีในปี 2559 ได้รับเกียรติจาก พล.ต.ทรงวุฒิ จิตตานนท์ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองบัญชาการช่วยรบที่ 3

การบวชช้างปีนี้มีจำนวน 14 คน ช้าง 14 เชือก โดยการบวชหมู่ที่วัดหาดเสี้ยว มีจำนวน 8 คน โดยมีการประกอบพิธีไปตามกำหนดการข้างต้น บรรยากาศภายในงานคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แม้สภาพอากาศจะร้อนอบอ้าว ทั้งชาวหาดเสี้ยวเอง ญาติพี่น้องมิตรสหายของนาค และนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ภายในงานเจ้าภาพแต่ละฝ่ายจะนำหมวกสานหรืองอบพ่นสี เขียนชื่อนาค หรือคำหยอกล้อต่างๆ เป็นของชำร่วยให้แก่ผู้ที่ร่วมขบวนแห่เพื่อใช้กันแดด นำหน้าขบวนด้วยรถเครื่องเสียง แตรวง หรือขบวนกลองยาว ญาติมิตรของนาคเดินร่วมขบวน บางส่วนเต้นรำและฟ้อนรำอยู่ทั้งด้านหน้าและหลังช้าง บางส่วนถือเทียนเอก เทียนอนุสาสน์ กรวยอุปัชฌาย์ ผ้าไตร อัฐบริขาร และเครื่องไทยธรรมเดินนำหน้าขบวนช้าง และมีอาสาสมัครร่วมขบวน ทำหน้าที่ปฐมพยาบาลและบริการน้ำดื่มแก่ผู้ร่วมขบวน

จากขบวนร่วมงานบวชที่ยาวเหยียดน่าตื่นตาตื่นใจ สลับกับชุดการละเล่นการแสดงจากหน่วยงานต่างๆ และการแต่งกายของผู้เข้าร่วมงานที่พร้อมใจกันใส่ชุดพื้นบ้านไทยพวน โดยเฉพาะผ้านุ่งและชุดสีน้ำเงินคล้ายชุดม่อฮ่อม และมีขายอยู่ทั่วไปภายในบ้านหาดเสี้ยว แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาร่วมแรงร่วมใจกันสะท้อนภาพวิถีชีวิต การอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณี แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวไทยพวนหาดเสี้ยว

 

เกร็ดความรู้จากเมืองพวน

ด้วยเหตุที่อาจารย์สาธร โสรัจประสพสันติ (2559) ให้ความสนใจศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวไทยพวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องผ้า และได้เดินทางไปเสาะหาข้อมูลถึงที่เมืองพวน สปป.ลาว นั้น พบว่าทุกวันนี้ ชาวพวนที่ สปป.ลาว ไม่มีประเพณีแห่ช้างบวชนาคแล้ว รวมถึงไม่มีการทอผ้าแบบพวน โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจก มีแต่ลายผ้าที่แตกต่างออกไปคล้ายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนที่สูงหรือชาวเขา และมีลวดลายที่หยาบกว่า ผ้าและไหมที่ใช้ก็คุณภาพด้อยต่างออกไปจากผ้าของพวนในประเทศไทย แต่ประเพณีสำคัญคือประเพณีกำฟ้ายังคงมีอยู่

 

ขอขอบพระคุณ

นายสาธร โสรัจประสพสันติ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของพิพิธภัณฑ์ “สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ”

นายอภิวัฒน์ ขอบคุณ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว


บรรณานุกรม

กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). “ไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว.” ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มิถุนายน 2559. เว็บไซต์ http://www.m-culture.in.th/album/169177

เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว. (2551). สืบเชื้อคงสาย ไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว. สุโขทัย : เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว.

สาธร โสรัจประสพสันติ. (2559). สัมภาษณ์. สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ.

ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ. (2544). โครงการวิจัยเรื่องประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร.

ศิริพร ศรีแสง. (2538). “บวชช้าง : ภาพสะท้อนมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวพวน กรณีศึกษาชุมชนบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

 

บวชช้าง

ประเพณีบวชช้างเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวพวนในอดีต ชาวหาดเสี้ยวซึ่งมีเขตติดต่อกับจังหวัดแพร่และลำปาง จะเลี้ยงช้างไว้ใช้งานจำนวนมาก เดิมถือเอาวันแรม 3 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันแห่ และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันบวช ต่อมาเปลี่ยนเป็นวันที่ 7-8 เมษายนของทุกปี งานประเพณีบวชช้างคือ งานบวชพระที่นำนาคขึ้นไปนั่งหลังช้าง แล้วแห่ไปรอบเมือง ก่อนจะบวชที่วัด จะเป็นงานบวชพร้อมกันทั้งตำบล ทำให้มีนาคเข้ามาร่วมขบวนแห่ด้วยช้างเป็นจำนวนมาก และผู้ที่เป็นพ่อแม่นาคจะต้องเตรียมการล่วงหน้าถึงหนึ่งปี โดยการบอกญาติพี่น้องเพื่อนฝูงว่าจะบวชลูกชาย ถึงวันที่ 6 ของปีที่บวช เจ้าภาพแต่ละคน จะจัดขบวนสตรีแต่งกายพื้นเมืองสวยงาม ขบวนละ 5-9 คน ออกไปบอกเพื่อบ้านให้ไปช่วยงานบวชในวันรุ่งขึ้น เมื่อถึงวันที่ 7 เมษายน ซึ่งเป็นวันแห่นาค ผู้บวชจะได้รับการปลงผมแต่งกายอย่างสวยงาม เครื่องแต่งกายของนาคจะประกอบด้วยผ้านุ่ง ซึ่งเป็นผ้าม่วงหรือผ้าไหม สวมเสื้อกำมะหยี่พร้อมเครื่องประดับ สร้อยคอทองคำ เข็มขัดนาค แหวนเพชร แหวนพลอย ทาหน้าด้วยแป้ง ซึ่งแสดงถึงความหรูหราฟุ่มเฟือย ก่อนที่จะสละทรัพย์ภายนอก ไปแสวงหาความสุขจากคำสอนของพระพุทธเจ้า และที่ขาดไม่ได้คือ นาคจะสวมแว่นตาดำ ที่สื่อความหมายถึงการอยู่ในโลกมืด ตกอยู่ในกิเลส เนื่องจากยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ช้างในขบวนแห่จะประดับประดาอย่างสวยงาม มีการเขียนข้อความเกี่ยวกับการบวชตามลำตัว แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็จะแยกย้ายกลับบ้านเพื่อทำพิธีทำขวัญนาคและบวช สิ่งของเครื่องใช้ในการบวชช้าง เช่น กรวยอัฐ ซึ่งใช้ไม้ไผ่สานเป็นตาห่าง ๆ รูปหกเหลี่ยม ข้างในบรรจุกล้วยน้ำว้าสุก ข้าวเกรียบ ข้าวสาร เกลือ และอาหารอื่น ๆ ถาดเครื่องขวัญสองถาด ที่ใส่สิ่งของเหมือน ๆ กัน จะเป็นสัญลักษณ์ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจและสอนนาคให้รู้บุญคุณของพ่อแม่ และการปฏิบัติตามหลักธรรมของพุทธศาสนา วันที่ 8 เมษายน ถือเป็นวันบวช บางบ้านทำการฉลองนาคโดยการนิมนต์พระไปสวนที่บ้าน ช่วงบ่ายจะจัดขบวนแห่นำนาคไปบวชที่อุโบสถวัดหาดเสี้ยว โดยแต่งกายเหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ขี่ช้าง เมื่ออุปสมบทแล้วจึงเป็นการเสร็จพิธี แม้ว่าทางจังหวัดสุโขทัยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้จัดงานและประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วประเทศได้รับทราบและรู้เห็น แต่การบวชช้างที่บ้านหาดเสี้ยวนับว่าเป็นประเพณีสำคัญของหมู่บ้านหรือทั้งอำเภอศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ที่ยังมีบทบาทและหน้าที่คงเช่นเดิมอยู่มาก


บรรณานุกรม

ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ.(2544). โครงการวิจัยเรื่องประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. (2544). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร.

วัดหาดเสี้ยว ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
ละติจูด = 17.519511 ลองติจูด= 99.762843