ปาดตงนา

1631 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : ปาตงนา
เดือนที่จัดงาน : มกราคม,ธันวาคม
เวลาทางจันทรคติ : เดือน 1 - เดือน 2
สถานที่ : อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
: อ.สามง่าม จ.พิจิตร
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: พิษณุโลก
: พิจิตร
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ปาดตงนา,ปาตงนา,โซ่งดำ,เลี้ยงผีข้าวใหม่,
ผู้เขียน : สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต
วันที่เผยแพร่ : 21 มี.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 3 มิ.ย. 2559

ปาดตงนา

ทำระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือนยี่ เป็นประเพณีของไทยโซ่งดำที่เชื่อว่า เมื่อจะเก็บข้าวในนา หรือเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้แม่โพสพ ซึ่งเป็นเทวดาพระจำพืชผลในนา เพื่อการบูชาหรือขอบคุณการให้ผลผลิตของคนได้ผลอย่างสมบูรณ์

แถบอำเภอบางระกำ จะกระทำก่อนการเก็บเกี่ยว เช่น ที่บ้านใหม่คลองเจริญ ห้วงกระได โดยการนำข้าวที่ออกใหม่กำลังสุกเหลืองมาทำขนมประเภทข้าวเม่าซึ่งทำจากข้าวเหนียว โดยพวกลูกหลานจะมาช่วยกันทำที่บ้านพ่อแม่ โดยทำอาหารคาวหวานอย่างอื่นด้วย เช่น ข้าวต้ม ห่อหมกปลา (ไส้ปลา) ผักชุบ (มีผักแว่น ถั่วฝักยาว ตำลึง ผักบุ้ง ปลา น้ำ ปลาร้า หอมกระเทียม พริกเผา มะกรูดป่า) นำอาหารที่ทำเสร็จแล้วนี้ไปรวมกันที่บ้านหัวหน้าหมู่บ้าน จุดประสงค์เพื่อทำการเลี้ยงพ่อแม่บรรพบุรุษที่ตายไปแล้วกับเพื่อบูชาแม่โพสพด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะเลี้ยงกันต่อ การทำพิธีนี้โดยมีความเชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวปลาอาหารมีความอุดมสมบูรณ์

แถบอำเภอสามง่าม (หนองริ้นและสระบอระเพ็ด) เรียกว่า “เลี้ยงผีข้าวใหม่” จะทำหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งการเก็บเกี่ยวจะเสร็จในราวเดือน 12 แต่ละบ้านจะทำไม่พร้อมกัน แล้วแต่สิงหรือคนในสกุลเดียวกันก็จะนัดทำในวันเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นผีด้วยกัน เครื่องเซ่นประกอบด้วย ข้าวเม่า ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า แกงไก่ ขนมต่าง ๆ คล้ายกับเสนเรือน แต่จะไม่ใช้เนื้อหมู

ที่บ้านคุยกระชาย อำเภอสามง่าม จะนำข้าวมาตากแดดแล้วนำมาตำหุงหรือนึ่งให้ผีเรือนกินปีละครั้ง เรียกว่า “ข้าวใหม่ปลามัน” ปัจจุบันการปฏิบัติพิธีปาดตงนาลดน้อยถอยลง


บรรณานุกรม

สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต. ประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป.  กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.