สืบชะตา

27429 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : สืบชาตา
เดือนที่จัดงาน : มกราคม,กุมภาพันธ์,มีนาคม,เมษายน,พฤษภาคม,มิถุนายน,กรกฎาคม,สิงหาคม,กันยายน,ตุลาคม,พฤศจิกายน,ธันวาคม
เวลาทางจันทรคติ : จัดได้ทุกเดือน
สถานที่ : วัดบ้านหลุก จ.ลำพูน
ภาค / จังหวัด
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : สืบชะตา,ล้านนา
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 12 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 4 ก.ค. 2559

พิธีสืบชะตา

                ประเพณีสืบชะตา หรือสืบชาตา เป็นพิธีกรรมที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสต่างๆ เพื่อต่อดวงชะตาหรือต่ออายุให้ยืนยาว มุ่งหวังมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความเจริญรุ่งเรือง และเพื่อความเป็นสิริมงคล  พิธีสืบชะตาเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องอาศัยคนและเครื่องประกอบพิธีจำนวนมากพิธีหนึ่ง  ชาวบ้านอาจทำพิธีนี้โดยเฉพาะหรือจัดร่วมกับพิธีอื่นๆ ก็ได้ และอาจจัดขึ้นเพื่อสืบชะตาให้แก่คนทั้งฆราวาสหรือภิกษุ  หรือหมู่บ้าน เมือง แม้กระทั่งยุ้งข้าวหรือเหมืองฝายก็ได้ แต่ต้องจัดขึ้นเพื่อสืบชะตาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียว การสืบชะตาแต่ละสิ่งอาจมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปบ้าง  ซึ่งประเพณีการสืบชะตาแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในศาสนาพุทธ ฮินดู หรือพราหมณ์ และเรื่องผีสางเทวดา ประเพณีสืบชะตาไม่เพียงปรากฏแพร่หลายในภาคเหนือของไทยเท่านั้น แต่ยังพบได้ในสังคมของคนไทยใหญ่ ยอง และเขิน บริเวณรัฐฉานของพม่า รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าในตอนเหนือของไทยด้วย

                ตำนานที่มาของความเชื่อเรื่องการสืบชะตา ปรากฏในคัมภีร์สืบชะตาที่กล่าวถึง พระสารีบุตรเถระ อัครสาวกของพระพุทธเจ้า  และมีสามเณรองค์หนึ่งชื่อ ติสสะ อายุ 7 ปี มาบวชเรียนกับท่านเป็นเวลาหนึ่งปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณรว่าจะมีอายุได้อีก 7 วันเท่านั้น ตามตำราหมอดูและตำราดูลักษณะ ท่านจึงเรียกสามเณรมาบอกความจริง และให้กลับไปร่ำลาพ่อแม่และญาติ สามเณรเศร้าโศกเสียใจมากและเดินทางกลับบ้านด้วยดวงหน้าที่หม่นหมอง

                ระหว่างทางไปพบปลาน้อยใหญ่ในสระน้ำที่กำลังแห้งเขิน และได้โปรดสัตว์คือปลาเหล่านั้นให้พ้นจากความตาย โดยช้อนปลาทั้งหมดไปไว้ในบาตรของตนและนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ระหว่างทางพบเก้งถูกแร้วของนายพราน สามเณรก็ปล่อยเก้งอีก เมื่อเดินทางถึงบ้านจึงบอกเรื่องที่ตนจะตายแก่พ่อแม่ ทุกคนต่างสงสารสามเณรยิ่งนัก และได้เพียงแต่คอยเวลาที่สามเณรจะมรณภาพ แต่จนล่วงกำหนดไป 7 วัน สามเณรก็ยังไม่ตาย และกลับมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งขึ้น ญาติจึงพ่อให้สามเณรกลับไปหาพระสารีบุตร ซึ่งท่านประหลาดใจถึงกับจะเผาตำราทิ้ง สามเณรจึงกราบเรียบเรื่องการโปรดสัตว์ทั้งปลาและเก้ง การกระทำเพื่อยืดชีวิตสัตว์เหล่านั้นจึงเป็นบุญกรรมที่เป็นพลังให้พ้นจากความตายได้ ด้วยตำนานนี้เองทำให้คนล้านนาจึงนิยมการสืบชะตา
ประเภทและพิธีกรรมการสืบชะตา

                การสืบชะตาไม่ได้ทำเฉพาะกับคนเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าเมื่อคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งนั้นจะต้องมีการสืบชะตาต่อเนื่องกันไปด้วย โดยการสืบชะตาอาจแบ่งได้ 4 ประเภท คือ การสืบชะตาเมือง การสืบชะตาบ้านหรือหมู่บ้าน การสืบชะตาคน และการสืบชะตาพืชผล

               1. การสืบชะตาเมือง มีหลักฐานปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาในราชวงศ์มังราย  เชื่อกันว่าการสร้างบ้านแปงเมืองจะต้องมีดวงชะตาเมือง มีจุดศูนย์กลางของเมือง จะต้องหาฤกษ์หายาม ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขก็มักจะทำพิธีสืบชะตาเมืองเพราะบ้านเมืองนั้นจะต้องมีเทพเจ้าที่ปกปักรักษาคุ้มครอง เช่น พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง การสืบชะตาเมืองจึงเป็นพิธีที่แสดงออกซึ่งความเคารพกตัญญูต่อผู้พิทักษ์รักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย  ในทางกลับกันหากมีเหตุการ์ผิดปกติในบ้านเมือง เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ ก็มักจัดให้มีการสืบชะตาเมืองด้วยเช่นกัน

               2. การสืบชะตาบ้าน  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้จะขับไล่สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรในหมู่บ้าน และเพื่อให้เกิดมงคลแก่หมู่บ้านนั้นๆ  ในปีหนึ่งมักจะจัดให้การสืบชะตาบ้านหนึ่งครั้ง และมักจะทำก่อนเข้าพรรษา บางแห่งก็ทำในวันปากปี  และทำกันที่ “หอเสื้อบ้าน” โดยชาวบ้านจะมาช่วยกันเตรียมสถานที่ มีการประดับฉัตร ธง  ต้นกล้วย ต้นอ้อย ด้ายสายสิญจน์ ปักธงทิวต่างๆ และทำที่บูชาสังเวยท้าวทั้งสี่และเทพยดาอารักษ์ พระเสื้อบ้าน พระเสื้อเมือง

               เครื่องบูชาส่วนใหญ่คล้ายกับพิธีสืบชะตาคน คือ มีกระโจมสามขาตั้งไว้กลางหมู่บ้านบริเวณที่เรียกว่า “ใจบ้าน” และมีส่วนประกอบต่างๆ ที่นิยมให้มีจำนวนเท่าอายุหรือมากกว่าอายุ ในการสืบชะตาคนน้น ส่วนในการสืบชะตาบ้านให้มีจำนวน 108 แทน ส่วนที่ยาวเท่าคิง(เท่าตัวหรือร่างกาย) คะเนดูให้ยาวเท่ากับคนที่ยาวที่สุดในหมู่บ้าน  ส่วนสายสิญจน์ใช้ขึงในระดับเหนือศีรษะรอบหมู่บ้าน ปลายทั้งหมดจะรวมกันอยู่ที่พระพุทธรูปบริเวณใจบ้านที่ประกอบพิธี ทั้งนี้เจ้าของบ้านแต่ละหลังจะนำสายสิญจน์ที่วงรอบบ้านตัวเองมาเชื่อมต่อกับสายสิญจน์ส่วนกลาง นอกจากนี้ยังมีเฉลวขนาดใหญ่ปักไว้ตามมุมหมู่บ้าน 4 มุม และแขวนไว้ตามปากทางเข้าหมู่บ้าน  และมีอาหารและเครื่องไทยทาน สายด้านชุบน้ำมันยาวเท่าคิง จำนวนเท่าคนในครอบครัว เฉลวขนาดเล็กแขวนขวางประตูบ้านเหนือศีรษะหลังจากเสร็จพิธี น้ำขมิ้นส้มป่อย บางหมู่บ้านอาจมีตุงหลวงแขวนบริเวณรอบพิธี

                ใน “วันดา” หรือ “วันแต่งดา” ก่อนการทำพิธี ชาวบ้านจะนำสิ่งของและเงินไปรวมกันเพื่อทำบุญ หรือบางแห่งแต่ละบ้านอาจนำอาหารมาทำบุญเลี้ยงพระร่วมกัน โดยจะเริ่มพิธีด้วยการทำบุญตักบาตร ถวานภัตตาหารแด่พระสงห์ที่นิมนต์มาสวดพระปริตรและชัยมงคล  การสืบชะตาบ้านไม่มีการผูกข้อมูล และเวลาจุดเทียนหรือสายด้านชุบน้ำมันอาจจะจุดของใครของมันหรือจะเอารวมเข้ากองกลางแล้วจุดก็ได้  เมื่อพระสวดเสร็จแล้วจะมีการประพรมน้ำมนต์เป็นอันเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำตาเหลวคาเขียวหรือเฉลวของตนกลับบ้านพร้อมแบ่งน้ำมนต์ไปประพรมบริเวณบ้านของตน
                3. การสืบชะตาคน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ กุฏิใหม่ หรือทำบุญอายุครบรอบปี มักนิยมจัดให้มีพิธีสืบชะตาเพื่อความเป็นสิริมงคล มักจะทำพิธีกันที่บ้านหรือห้องโถงซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวางพอที่จะต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน บางแห่งนิยมจัดที่วัด ส่วนพระภิกษุจะทำพิธีในวิหารโดยจัดพิธีสืบชะตาเหมือนกันกับสืบชะตาคนธรรมดา

                เครื่องบูชาประกอบด้วย ขันตั้งหรือขันครู ขั้นแก้วทั้งสาม ขันศีล ขันใส่เครื่องบูชาเจ้าชะตา โดยเครื่องบูชาอาทิ หมาก เมี่ยง บุหรี่ ขนม ข้าวต้ม ส้ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ข้าวสุก กับข้าวต่างๆ  นอกจากนี้ยังมีเครื่องใช้ประกอบพิธี ได้แก่ ไม้ค้ำโพธิ์ยาวเท่าคิงเจ้าชะตา 2 เล่ม  ไม้ค้ำโพธิ์สั้นหรือไม้ง่ามจำนวนเท่าอายุหรือเกินกว่าอายุ 1 อัน ไม้ขัวยาวเท่าคิงเจ้าชะตา 2 เล่ม สลักติดกัน 1 คู่ เส้นลวดเงิน ลวดทอง ลวดหมาก ลวงพลู ลวดเบี้ย  ลวดข้าวตอกดอกไม้ เทียนค่าคิง สีสายค่าคิง ทุงค่าคิงผูกติดไม้ก้านยาวเท่าคิงเจ้าชะตา หน่อกล้วย หน่ออ้อย หน่อหมาก หน่อมะพร้าว ช่อขาว 108 ทำเป็นต้นค่า 1 ต้น มะพร้าว 1 คะแนง กล้วย 1 เครือ เสื่อใหม่ หม้อใหม่ ข้าวเปลือก ข้าวสารอย่างละ 1 เปี๊ยด(กระบุง)

                ทั้งนี้เจ้าภาพต้องจัดเตรียมเครื่องบูชามารวมกันไว้กลางห้องทำพิธี ทำเป็นกระโจม 3 ขา ให้กว้างพอที่ผู้เข้าพิธีสามารถเข้านั่งตรงกลางได้ ใช้ด้ายสายสิญจน์โยงศีรษะติดกับขากระโจมทั้ง 3 ขา นำเงื่อนไปไว้ที่ตรงน้ำพระพุทธมนต์หน้าพระพุทธรูป  การนิมนต์พระสงฆ์นิยมจำนวนคี่ คืออย่างน้อย 5 รูป 7 รูป 9 รูป หรือมากกว่านี้ จากนั้นเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  ปู่อาจารย์(พิธีกรถวายถาวรวัตถุ มีหน้าที่กล่าวคำ “เวนทาน” คือ อ่านรายงานการก่อสร้างแก่พระสงฆ์ พร้อมกับกล่าวคำถวายและคำอุทิศส่วนบุญด้วย) อาราธนาศีล พระสงฆ์ผู้เป็นประธานให้ศีล แล้วปู่อาจารย์อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์รูปที่ 3 ชุมนุมเทวนาแล้วประธานนำสวดมนต์สืบชะตาแบบล้านนา มีคำสวดโดยเฉพาะหลายบทมี ชินบัญชร  สวดสืบชะตา  มงคลจักรวาลน้อย  และคำสวดทั่วไป ขณะที่พระสวดนั้น ผู้สืบชะตาและลูกหลานจะเข้าไปนั่งในซุ้มเครื่องสืบชะตา ซึ่งตั้งไว้หน้าพระสงฆ์ นำด้ายสายสิญจน์เวียนรอบศีรษะของผู้เข้าพิธีสืบชะตา นั่งประนมมือฟังพระเจริญพุทธมนต์จนจบ ตอนถึง “อเสวนา จะพาลานัง” ผู้สืบชะตาจะต้องจุดเทียนชัยหรือเทียนน้ำมนต์ด้วยขณะที่สวด จะต้องนำด้ายค่าคิง และเทียนสืบชะตาจุดด้วย หลังจากสวดจบเจ้าภาพจะจัดให้มีเทศน์ 1 กัณฑ์ หลังจากเทศน์จบจะมีการผูกมือให้ผู้สืบชะตา พระสงฆ์จะประพรมน้ำมนต์ให้ จากนั้นเจ้าภาพถวายภัตตาหารและไทยทานที่เตรียมไว้แด่พระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี  ส่วนเครื่องบูชาต่างๆ เจ้าภาพนิยมถวายไว้ในวัดที่ตนทำบุญหรือวัดที่จัดพิธีกรรมให้ โดยทางวัดจะนำไม้ค้ำโพธิ์ไปค้ำต้นโพธิ์ นำไม้ขัวไปพาดไว้ตามทางเดินที่เป็นน้ำและโคลนที่ชื้นแฉะ นำหน่อยกล้วย อ้อย หมาก มะพร้าวไปปลูก เพื่อหน่อเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นก็จะเป็นศุภนิมิตของเจ้าชาตา  ส่วนข้าวของอื่นๆ ถวายแด่วัดเพื่อใช้ประโยชน์

                4. การสืบชะตาพืชผล  การสืบชะตาพืชไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่การจัดให้มีการสืบชะตาพืชผลก็เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และเพื่อให้เกิดศิริมงคลแก่เรือกสวนไร่นาของผู้ที่ทำการสืบชะตา  โดยจะจัดให้มีการสืบชะตาพืชเมื่อเรือกสวนไร่นาแห้งแล้งไม่อุดมสมบูรณ์  โดยมีเครื่องบูชาเหมือนกับเครื่องบูชาในการสืบชะตาบุคคล

                อย่างไรก็ดีเครื่องประกอบพิธีในการสืบชะตาล้วนสื่อความหมายไปถึงอำนาจที่เกี่ยวกับธรรมชาติ คติความเชื่อของคนล้านนา แม้ว่าปัจจุบันผู้คนอาจจะไม่ได้คำนึงถึงความหมายเหล่านี้ก็ตาม แต่ก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา อาทิ เฉลวและหญ้าคา เฉลวหรือตาแหลวทำด้วยดอกไม้ไผ่หกเส้นขัดกันให้เป็นตาทั้งหมด 7 ตา ในตำนานของล้านนาอธิบายว่าเป็นรูปตาของเหยี่ยว มีหน้าที่ป้องกันรักษาสัตว์และผีสางนางไม้ไม่ได้มารบกวนชาวเมือง การที่ทำตาแหลวเป็น 7 ตา อาจะหมายถึงให้คุ้มครองป้องกันตลอด 7 วัน ซึ่งชาวล้านนาจะใช้ตาแหลวในพิธีกรรมต่างๆ ในลักษณะการป้องกันทั้งสิ้น เป็นต้น

 


บรรณานุกรม

นิตยา  จันโทภาสกร.(2526). สืบชาตา: การศึกษาเชิงวิจารณ์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มณี พยอมยงค์.(2543). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. เชียงใหม่: เอกสารวิชาการชุดล้านนาคดีศึกษา ลำดับที่ 3 โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.