อิ่นก๋อนฟ้อนแก๊น

6544 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : เมษายน
เวลาทางจันทรคติ :
สถานที่ : บ้านหัวเขาจีน จ.ราชบุรี
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันตก
: ราชบุรี
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ไทยทรงดำ,ลาวโซ่ง
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 11 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 4 ก.ค. 2559

อิ่นก๋อนฟ้อนแก๊นของชาวไทยทรงดำ

               ประเพณี “อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น” เป็นประเพณีของคนลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ที่ตั้งถิ่นฐานในแถบภาคตะวันตกของไทยในแถบจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม ในอดีตลาวโซ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดต้อนมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้มาอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีหลายครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2322 (สมัยกรุงธนบุรี) ครั้งต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2335 ต่อมาใน พ.ศ. 2371 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2379 จากนั้นก็ได้เคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในละแวกใกล้เคียง คือ ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี

               “อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น” เป็นประเพณีที่กระทำกันในช่วงราวเดือน 5  คำว่า “ก๋อน” หรือ “คอน” หมายถึง ลูกคอนหรือลูกช่วง คำว่า “อิ่นก๋อน” คือการโยนลูกช่วง ในอดีตเป็นการละเล่นของหนุ่มสาวลาวโซ่ง เมื่อว่างจากฤดูทำนาทำไร่ก็จะมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 15-20 คนขึ้นไป ณ บ้านใดบ้านหนึ่งสำหรับเป็น "ข่วง" เพื่อให้สาว ๆ ได้มานั่งทำการฝีมือและเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ครอง เมื่อถึงวัน 1 ค่ำเดือน 5 ลาวโซ่งจะจัดงานรื่นเริงตลอดทั้งเดือน หนุ่มสาวลาวโซ่งจะหยุดทำงาน ฝ่ายชายจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 15-20 คน ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เรียกว่า ไป "เล่นคอน" ซึ่งหมายถึงการเล่นทอดลูกช่วงนั่นเอง ถ้าฝ่ายชายทอดลูกช่วงไปถูกฝ่ายหญิงคนใด ย่อมรู้กันว่าเป็นการจองหญิงคนนั้นไว้แล้ว  ส่วนคำว่าส่วนคำว่า “ฟ้อนแก๊น” หรือฟ้อนแคน หมายถึง การร่ายรำและการเล่นดนตรีประกอบ

                หนุ่มๆ จากบ้านอื่นมักจะเดินทางไปเล่นคอนหรือต๊อดมะก๋อนที่หมู่บ้านของหญิงสาว เช่น หนุ่มบ้านหัวเขาจีน จ.ราชุบรี ไปเล่นที่บ้านหนองปรง จ.เพชรบุรี โดยสาวๆ บ้านหนองปรงจะคอยต้อนรับขับสู้ โดยคณะหนุ่มๆ ที่ไปเล่นบ้านอื่นจะต้องมีหมอแคน หมอขับ(ลำ) ไปด้วย เวลาขับเป็นการขับชมบ้าน ชมคนในบ้าน เมื่อต้องขึ้นไปเยี่ยมเยียนบ้านใด มีการขับชม “กลอนเตียว” คือเทียวไปเทียวมา ชมบ้านชมช่อง ระยะทางที่มา ผ่านที่ใดมาบ้าง ถือเป็นธรรมเนียม

                วิธีการเล่นต๊อดมะก๋อน ทั้งชายและหญิงฝ่ายละห้าถึงหกคนเท่าๆ กัน ยืนหันหน้าเข้ามากันกลางข่วง โดยลูกช่วงที่ทำด้วยผ้าสีเย็บเป็นสี่เหลี่ยม ยัดด้วยเมล็ดนุ่นมีสายยาวประมาณสองฟุต ฝ่ายชายจะพูดชักชวนให้ฝ่ายหญิงรับลูกมะก๊อน เมื่อรับแล้วจะโยนกลับ และขอสิ่งของของอีกฝ่ายหนึ่ง นาฬิกาข้อมือหรือผ้าขาวม้า ทอดลูกช่วงกันไปมาระยะหนึ่ง และพักขับร้องจนกินข้าวเช้าของข่วงนั้น ระหว่างการเตรียมอาหารชายหนุ่มจะติดตามหญิงสาว ช่วยหุงหาอาหาร เพื่อให้เห็นความขยัน อาสาตัดฟืน ตำข้าว ตักน้ำ และเป็นโอกาสในการดูอุปนิสัยใจคอ เมื่อทานอาหารเสร็จ ต่างฝ่ายพักผ่อน เพื่อกลับมาในช่วงเย็น สำหรับการขับร้องแสดงความรัก และการฟ้อนรำ มีท่ารำและท่วงทำนองของแคนที่แตกต่างกัน ไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่ แคนย่างและรำแคนย่าง แคนแล่นและรำแคนแล่น แคนแกรและรำแคนแกร

                จากนั้น ช่วงประมาณเที่ยงคืนเป็นการวอนสาวและโอ้สาว การวอนสาวเป็นช่วงที่ชายหนุ่มจะต้องจดจำรูปร่างหญิงสาวที่ตนสนใจในขณะที่ร่วมอิ้นก๊อน เพื่อบอกแก่หัวหน้าข่วงได้ถูกต้องว่าตนจะวอนสาวใด หญิงสาวพยายามปิดบังตนเอง การใช้ผ้าเปียวคลุมหน้าเพื่อทดสอบความจำของชายหนุ่ม โดยไม่มีการนัดหมาย หัวหน้าข่วงทำหน้าที่ในการถามชายหนุ่ม โดยไล่เรียงหญิงสาวในข่วงแต่ละคน หากชายหนุ่มต้องการวอนสาวคนใด จะมายืนอยู่หน้าหญิงสาว จากนั้น หญิงสาวจะเดินไปบริเวณที่เหมาะสมในการพูดคุยเป็นส่วนตัว ส่วนชายหนุ่มที่ไม่มีหญิงสาวพูดคุย จะขับกล่อมชมบ้านเมือง หัวหน้าช่วงต้องคอยดูแลหญิงสาว ไม่ปล่อยให้มีการล่วงเกิน การจัดอิ้นก๊อนจะมีไปตลอดในช่วงหลังเก็บเกี่ยวประมาณหนึ่งเดือน และเป็นโอกาสสร้างความสนิทสนม และนำมาสู่การสู่ขอแต่งงานในท้ายที่สุด

                 อย่างไรก็ดีเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป การละเล่นดังกล่าวได้ลดบทบาท และได้มีการฟื้นประเพณีขึ้นมาใหม่ โดยมีการจัดเป็นงานประจำปีที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนลาวโซ่ง มีการแต่งกายแบบดั้งเดิม แสดงบทเพลงและการร่ายรำในแบบคนลาวโซ่ง และเน้นการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เกิดจากการจัดงาน โดยมีหน่วยงานราชการสนับสนุน เช่น การจัดงานประเพณีที่บ้านหัวเขาจีน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กำหนดไว้ในวันที่ 13 เมษายน 2557 ซึ่งวันที่ได้รับการกำหนดและประกาศให้ทราบกันในหมู่ของชาวไทยทรงดำ (ปฏิทินที่จัดพิมพ์โดยสมาคมชาวไทยทรงดำ แสดงวันจัดงานในแต่ละหมู่บ้าน) การจัดงานรื่นเริง “อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น” ในหมู่บ้านไทยทรงดำในจังหวัดต่างๆ เริ่มขั้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน

 

อิ้นก๊อนฟ้อนแก๊น ที่บ้านเขาหัวจีน

                ตัวอย่างการจัดงานประเพณีอิ้นก๊อนฟ้อนแก๊นเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2557 ที่บ้านเขาหัวจีน ลักษณะของการจัดงานเป็นทางการ มีการกำหนดวันที่แน่นอนในแต่ละบ้าน เช่น บ้านหัวเขาจีน วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี บ้านทับคาง วันที่ 18 เมษายน ความเปลี่ยนแปลงในทำนองนี้ เกิดขึ้นมาอย่างน้อย15-20 ปี ลักษณะเป็นทางการหมายถึงเจ้าภาพผู้จัดงานเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานทางวัฒนธรรม และหน่วยงานทางศาสนาในพื้นที่ วันและกำหนดการในการจัดงานชัดเจน เนื่องจากสัมพันธ์กับงบประมาณและการประชาสัมพันธ์
 
                 รูปแบบงานประเพณี จะเริ่มจากการทำบุญช่วงเช้า นิมนต์พระสงฆ์ประกอบพิธี เลี้ยงภัตตาหารเพล และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ  โดยมีกลุ่มแม่บ้านจัดเตรียมอาหารในโรงครัวในบริเวณศูนย์วัฒนธรรม ส่วนกลุ่มผู้หญิงสูงวัยและเด็กสาวๆ ทยอยแต่งหน้าทำผมแบบ “ปั้นเกล้า” แต่งชุดลาวโซ่ง เพื่อเตรียมเพื่อทำหน้าที่ต้อนรับผู้ที่มาเยือนจากต่างหมู่บ้าน สาธิตการเล่นอิ่นก๋อน และการแสดงบนเวที

                 บริเวณการจัดงานเป็นลานตรงข้ามกับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน มีการลงทะเบียนในเต้นท์หน้าอาคารศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำฯ ส่วนพื้นที่สนามหน้าอาคารเรียนโรงเรียนบ้านหัวเขาจีน เป็นบริเวณของการจัดอาหารเลี้ยง  ส่วนอาหารจัดเตรียมไว้บนแคร่ไม้ลักษณะบุฟเฟ่ต์คือผู้ร่วมงานเลือกตักอาหารด้วยตนเอง มีส่วนเวทีการแสดง และร้านค้ารายรอบบริเวณ

                 ผู้เข้าร่วมงานฝ่ายชายสวมกางเกงยาวสีดำและเสื้อไท ที่เรียกว่า “ส้วงขาฮี” และคาดด้วยกระเป๋าผ้า ส่วนฝ่ายหญิงโดยส่วนใหญ่สวนเสื้อก้อมและผ้าซิ่น เช่น ลายแตงโม และปั้นเกล้าแสดงลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ชาวบ้านบางส่วนสวมใส่เสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน

                  เมื่อประธานกล่าวเปิดงาน ในปีนี้คือผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี  จึงเริ่มงานการละเล่นอย่างเป็นทางการ โดยในงานมีแคนวง 3 วง แต่ละวงจะประชันกันด้วยจำนวนผู้ที่เข้าร่วมฟ้อนแคนในข่วง เครื่องดนตรีที่เล่นประกอบด้วยแคน กลองชุด และเครื่องกำกับจังหวะอีกสองสามประเภท จังหวะของดนตรีจะเปลี่ยนสลับกันไปมาและส่งผลต่อการย่าง การฟ้อนของคนในข่วง ผู้ร่วมในวงฟ้อนกันไปตามการบรรเลงดนตรีและการขับร้องของวงดนตรี เป็นช่วงเวลาที่ทั้งคนในพื้นที่และต่างพื้นที่ร่วมสนุกสนาน จนถึงเวลาเที่ยงคืน


บรรณานุกรม

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ.(2557).ประเพณี อิ้นก๋อนฟ้อนแก๊น,3 มีนาคม 2558. ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์: http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/articles_detail.php?id=1638

พรพิมล ชันแสง. (2541). อิ่นก๋อน: ประเพณีการละเล่นของลาวโซ่ง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. นครปฐม: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมทรง บุรุษพัฒน์.(2524). การเล่นคอนของลาวโซ่งที่บางกุ้ง. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.