สลากย้อม

12525 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : ตานก๋วยสลาก,สลากภัตร
เดือนที่จัดงาน : กันยายน,ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยแต่ละหมู่บ้านในอำเภอเมืองลำพูน จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานในแต่ละปี โดยจะจัดหลังงานสลากย้อม วัดพระธาตุหริภุญไชย
สถานที่ : วัดประตูป่า จ.ลำพูน
ภาค / จังหวัด
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต,ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : ตานก๋วยสลาก
คำสำคัญ : ยอง,ชาติพันธุ์,ลำพูน
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 11 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 5 ก.ย. 2559

สลากย้อมเมืองลำพูน

                 สลากย้อมเป็นประเพณีของคนยองในจังหวัดลำพูน ที่จัดขึ้นหลังออกพรรษา  รูปแบบคล้ายกับสลากภัตของภาคกลาง คือ เป็นการทำบุญโดยไม่ได้ระบุผู้รับ แต่สิ่งที่แตกต่างคือคติความเชื่อของชุมชนยองต่อประเพณีสลากย้อม
 
                 ในอดีตคนยองมีคติความเชื่อในการตาน(ทาน)สลากย้อมว่า เป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทาน โดยเฉพาะ  ผู้หญิงสาวที่มีอายุครบ 20 ปี ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ควรจะตานสลากย้อม โดยเชื่อว่าการตานสลากเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และเป็นพิธีเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ที่หมายถึงพร้อมที่จะออกเรือน
 
                  สลากย้อมเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดของคนยอง ที่ใช้ฝึกหัดลูกสาวให้รู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักมัธยัสถ์ เพื่อจัดทำต้นสลาก เนื่องจากการทำต้นสลากย้อม ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ต้องใช้เงินทองจำนวนมาก  กว่าจะทำสลากได้อาจต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี ในการเก็บออม

                  เมื่อหญิงสาวมีเงินพอที่จะทานสลากย้อมแล้ว ก็จะเริ่มตระเตรียมข้าวของตกแต่งต้นสลากทีละเล็กละน้อย ทั้งข้าวของเครื่องใช้  แก้ว จาน ช้อน ขัน ส้มสุกลูกไม้ มะพร้าว ฟักแฟง ข้าวเปลือก ขนม เครื่องนุ่งห่ม งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ใบยาเส้นมวนที่ร้อยกันเป็นแพ  ขะจาข้าว  ไซหรือเครื่องจักสานขนาดจิ๋ว  และบนยอดต้นสลากที่สูง 10 กว่าเมตร จะปักร่มกางไว้ ตามเชิงชายของร่มจะห้อยด้วยแก้วแหวนเงินทอง สร้อยขอ เข็มขัดเงิน อย่างสวยงาม ถวายเป็นเป็นทานแต่พระสงฆ์  การทำสลากย้อม จึงเป็นการที่หญิงสาวได้เรียนรู้ฝึกฝนความรู้และหน้าที่ต่างๆ ที่แม่บ้านพึงจะมี ทั้งการออม งานหัตถกรรม การเย็บปักถักร้อย และงานอื่นๆ
 
                   นอกจากนี้การทำต้นสลากยังต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก  ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงทั้งหญิงและชาย โดยมากฝ่ายชายจะมาช่วยทำโครงต้นสลาก ส่วนฝ่ายหญิงจะช่วยทำงานหัตถกรรมเพื่อตระเตรียมไว้ตกแต่งต้นสลาก  ช่วงเวลาการทำต้นสลากในอดีตจึงเป็นช่องทางในการเกี้ยวพาราสีและดูตัวมระหว่างหญิงสาวและชายหนุ่มในหมู่บ้านด้วย
 
                   เมื่อมีต้นสลากแล้ว หญิงสาวเจ้าของต้นสลาก ต้องไปว่าจ้างผู้ที่มีความชำนาญในการแต่งกลอนพื้นเมือง มาแต่งและฮ่ำ “กะโลง”  หรือกลอนที่เล่าถึงชีวประวัติของเจ้าของสลากย้อม นับตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ในบทกลอน ผู้แต่งจะสอดแทรกคติธรรม เพื่อสั่งสอนการดำเนินชีวิตที่ถูกครรลองครองธรรมแก่ผู้ฟังและเจ้าของสลากย้อม
 
                   ขณะแต่งดาสลากย้อมในเวลากลางคืน จะมีการขับ “กะโลง” เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน  ใครเสียงดีและอ่านเป็นจะมาช่วยกันขับร่วมกันอย่างน้อย 2-3 คน  ถ้ากะโลงใครแต่งดีก็จะมีคนมาอ่านไม่ขาด เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่เจ้าของสลากย้อม  ดังนั้นเจ้าของจึงมักเลือกจ้างคนที่มีฝีปากดีจริงๆ แม้ค่าจ้างจะแพงก็ยอม
 
                   เมื่อถึงวันตานสลาก  กลุ่มเจ้าของก็จะช่วยกันหามต้นสลากจากบ้านมาที่วัด  สลากย้อมจะใช้คนหามอย่างน้อย 12 คน เพราะหนักมาก การตานก็จะคล้ายกับสลากภัต  คือมีการจับสลาก  สลากย้อมตกแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใด ก่อนประเคนรับพรจากพระหรือสามเณรรูปนั้น  เจ้าของจะให้คนมาอ่านกะโลงอีกครั้งหนึ่ง
 
                   “สมัยเป็นสาวๆ ยายเคยตาน ตอนอายุซาวเอ็ด แต่ก่อนยายทำผมดัดผม ทอผ้า ทำหมดทุกอย่าง เก็บเงินเอาไว้ แล้วก็มาทำ เปิ้นว่าตานสลากย้อมกุศลแรง มาปีนี้ได้ตานแหม” 

                   ยายแสงเมือง  แพงคำ อายุ 76 ปี ย้อนให้ฟังถึงการตานสลากของตัวเองเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว   จากนั้นการตานสลากย้อมในชุมชนคนยองเมืองลำพูนก็หยุดทำกันไป  จนมารื้อฟื้นทำกันอีกครั้งเมื่อปี 2546 โดยกลุ่มพระสงฆ์ในจังหวัดลำพูน จากนั้นประเพณีตานสลากย้อมก็ทำสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ หากแต่รูปแบบและคติความเชื่อเปลี่ยนแปลงไปยุคสมัย

 

สลากย้อม: หน้าที่ใหม่ในสังคม

                  “สมัยก่อนวัดบ่มีตาน มีแต่ต้นชาวบ้าน  ชาวบ้านทำมาตาน  แต่ตอนนี้การทำเป็นหน้าที่ของวัด เมื่อก่อนต้นมันบ่ใหญ่ขนาดนี้ ปักที่บ้านหามกันมา” กลุ่มผู้อาวุโสที่กำลังช่วยกันประกอบต้นสลากของวัดประตูป่า  ย้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง

                   พระปฏิภาณ ภูริปัญโญ เลขานุการเจ้าอาวาสวัดประตูป่า แกนนำกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชุมชนวัดประตูป่า เล่าถึงที่มาของการรื้อฟื้นสลากย้อมของชุมชนประตูป่าว่า

                   “พระครูไพศาลธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดประตูป่าองค์ปัจจุบัน ก่อนที่ท่านจะมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านอยู่วัดพระธาตหริภุญชัย ท่านเป็นคนประตูป่ามาตั้งแต่กำเนิด  ปกติวัดพระธาตหริภุญชัยจะจัดสลากภัตทุกปี ประมาณปี 2546 หลวงพ่อได้มาปรึกษาคนในชุมชนว่าจะทำเป็นสลากย้อมแบบโบราณไปตานดีมั้ย ในที่สุดชุมชนก็เอาด้วย แล้วก็ทำสลากย้อมไป 2 ต้น ต้นสูงมากประมาณสัก 17 เมตร เป็นที่ฮือฮา และเป็นครั้งแรกที่บูมในเรื่องของการท่องเที่ยว เรียกว่าหลวงพ่อเป็นแกนนำสำคัญในการรื้อฟื้น และต่อมาก็มารื้อฟื้นการจัดงานประเพณีสลากย้อมขึ้นในชุมชนวัดประตูป่าเอง”

                    แต่ละปี ในสามตำบล ของอำเภอเมือง ได้แก่ ต.ประตูป่า ต.ริมปิง ต.หนองช้างคืน  วัดในแต่ละตำบลจะรวมตัวกัน และเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประเพณีสลากย้อม  โดยชุมชนคิดกันแล้วว่า หากเวียนกันจัดแบบนี้ จะทำให้สามารถจัดงานสลากย้อมได้ทุกปี เป็นการแบ่งเบาภาระของวัดและศรัทธาวัด  จะเห็นว่ารูปแบบการที่วัดเป็นเจ้าภาพและมีการจัดเวียนกันไปนั้น ก็ยังคงไว้ซึ่งคติดั้งเดิมของชุมชน ที่เป็นการช่วยกันเอามื้อเอาแรง สานความสัมพันธ์กันในท้องถิ่น
 
                     อดีตสลากย้อมทำโดยหญิงสาว  แต่ปัจจุบันเจ้าภาพที่ทำต้นสลากคือวัด โดยมีศรัทธาชาวบ้านเข้ามาช่วยเป็นแรงงาน  และเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน และมีการประกวดต้นสลากย้อมกันด้วย

                     สำหรับชุมชนวัดประตูป่า การบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมนี้ นอกจากมีจะศรัทธาวัดซึ่งเป็นกลไกดั้งเดิม ที่เป็นกลุ่มคนที่เข้ามามีส่วนช่วยในวัดแล้ว  องค์กรทางวัฒนธรรมเล็กๆ ของชุมชนวัดประตูป่าก็ถูกสร้างขึ้นมาเสริมแรงกัน ภายใต้ชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีชุมชนวัดประตูป่า”  เป็นการรวมตัวกันของผู้รู้ในท้องถิ่นและพระในวัดประตูป่า โดยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน  และมองว่าการรื้อฟื้นประเพณีสลากย้อม จะช่วยส่งเสริมการรื้อฟื้นภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม การประดิษฐ์สิ่งของที่ตกแต่งบนต้นสลากย้อม และภูมิปัญญาด้านวรรณศิลป์ในการแต่ง “กะโลง” ที่ใช้บรรยายขั้นตอนการทำต้นสลาก   นอกจากนี้ยังมีสภาวัฒนธรรมวัดประตูป่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งโดยภาครัฐเข้ามามีบทบาทในเรื่องการทำวิจัย สืบค้นรากเหง้าชุมชนและสร้างหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับโรงเรียน เพื่อให้เด็กเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของชุมชน

                     การเตรียมงานสลากย้อมใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในลานวัดจะมีผู้คนทั้งชายหนุ่มและผู้สูงวัยมาช่วยกันตัดไม้ไผ่เพื่อทำโครงต้นสลาก   บ้างก็นั่งเหลาไม้เฮียวและย้อมเป็นสีสันต่างๆ  พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหรือสมาชกกลุ่มอนุรักษ์ส่วนหนึ่งก็นั่งถักขะจาข้าว ตัดตุง เพื่อเตรียมไว้ตกแต่งต้นสลาก เรียกได้ว่าทำกันอย่างสุดฝีมือ  และหลายบ้านก็เตรียมต้นสลากอื่นๆ ช่น สลากโชค ที่เป็นต้นสลากขนาดย่อมลงมากว่าสลากย้อม หรือก๋วยสลาก เพื่อใช้ในวันตานสลาก

                    วัดประตูป่าเป็นเจ้าภาพจัดงานสลากย้อมเมื่อปี  2553 และเมื่อปี 2554 ก็เวียนไปจัดที่วัดล่ามช้าง ส่วนปี2555 นี้ จัดที่วัดชัยมงคล(วังมุย)  ในวันตานสลาก ไม่ว่าจะทำที่วัดไหนก็ตาม ลานหน้าวัดที่เคยกว้างขวางดูแคบลงไปถนัด  ทั้งสลากย้อมที่สูงตระหง่านกว่า 10 เมตร จำนวนหลายสิบต้น อวดสีสันสวยงามตระการตา ที่มาจากวัดต่างๆ ในตำบล  และต้นสลากโชคของชาวบ้านที่ทำกันมาอย่างตั้งใจ รวมถึงก๋วยสลากคล้ายชะลอมนับไม่ถ้วนของชาวบ้าน ที่บรรจงใส่ของไทยทานต่างๆ เพื่อนำมาตานในวันนี้

                    เสียงขับกะโลงอันไพเราะ ดังประสานกับเสียงสวดมนต์ให้พรจากพระสงฆ์สามเณร  และเสียงตะเบ็งเซ็งแซ่ที่ผู้คนช่วยกันเรียกหาเจ้าของสลาก  เป็นบรรยากาศงานบุญขนาดใหญ่ ที่เอาผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งพระสงฆ์จากวัดต่างๆ คนในชุมชน พ่อค้าแม่ขาย นักท่องเที่ยว สื่อมวลชน
 
                    ถึงตอนนี้ งานตานสลากที่รื้อฟื้นกันขึ้นมา ชาวบ้านก็ได้ปรับเปลี่ยนและตีความงานประเพณีสลากย้อมต่างไปจากเดิม งานตานสลากกลายเป็นงานครึกครื้นขนาดใหญ่ที่ไม่แพ้วันปีใหม่เมือง  ตั้งแต่วันเตรียมงาน เป็นช่วงเวลารวมญาติพี่น้องในครอบครัว มีหลายคนที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดก็กลับบ้าน บางส่วนเชิญเพื่อนฝูงมากินเลี้ยงและช่วยทำบุญ
 
                    การตานสลากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในระดับปัจเจก เน้นเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ โดยส่วนใหญ่เป็นการตานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ทั้งตัวเอง ญาติพี่น้องที่ล่วงลับ หรือเจ้ากรรมนายเวร ข้าวของที่ประดับประดาต้นสลากก็แตกต่างไปจากอดีต เราจะเห็น ซีดีเพลงเรน นักร้องเกาหลี  ภาพถ่ายมาริโอ้ เมาเร่อ ดาราชื่อดัง หรือกระทั่งขวดเบียร์!  โดยเจ้าของต้นสลากให้ความหมายว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของรักและของชื่นชอบของผู้ที่เขาจะตานไปให้
 
                    กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า  การรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างของคนในท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์  หรือคนกลุ่มน้อยกลุ่มใดๆ ก็ตาม มิได้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับมรดกของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว และก็มิได้ดำรงอยู่ได้แบบหยุดนิ่งไร้กาลเวลา  แต่ได้ถูกชาวบ้านปรับเปลี่ยน เพื่อใช้สนองตอบต่อเงื่อนไขบางอย่างในสังคม หรือกระทั่งเลยไปถึงนำไปใช้แก้ปัญหาส่วนบุคคล
 
                   “อยากให้คนลำพูนดู ไม่ได้คิดถึงธุรกิจหรืออะไร แต่ว่าตอนนี้เป็นงานใหญ่เป็นงานที่คนรู้จักเยอะ เขาก็มากันเยอะ เหมือนกับคนท่องเที่ยว ถ้ามาวันนั้นก็มาเจอ จะประทับใจ และก็จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจด้วย เงินมันสะพัด น่าจะเป็นล้านๆ บาทในวันนั้น ลองคิดดูทั้งพ่อค้าแม่ขาย พระสงฆ์ สามเณร เติมน้ำมันกันมา จากวัดวาอารามต่างๆ มาซื้อข้าวซื้อของ เงินมันสะพัดตลอด แต่เราก็ไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น เรามุ่งรักษาประเพณี  เมื่อก่อนทำไมญาติโยมคนเฒ่าคนแก่เขาทำได้ เดี๋ยวนี้ทำไมเราทำไม่ได้ ตอนนี้อบจ.ก็เข้ามาช่วย แบ่งเบาภาระพระสงฆ์และญาติโยม หลายฝ่ายช่วยกัน”

                   ทัศนะของพระราชปัญญาโมลี เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ผู้มีส่วนรื้อฟื้นและส่งเสริมประเพณีตานสลากย้อมในวัดพระธาตุหริภุญชัย ให้ทัศนะต่อการรื้อฟื้นประเพณี  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการรื้อฟื้นประเพณีสลากย้อมนอกจากเป็นการสร้าง “คุณค่า” ให้กับมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญหาของชาวยองแล้ว  ยังถูกใช้เป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” ตอบรับกระแสภายนอกที่กำลังมาแรงด้วยคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มองกันว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น สามารถแปลงเป็นทุนเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้
 
                    เมื่อสลากย้อมกำลังจะกลายเป็น “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” สำคัญ ที่ทั้งคนในและคนนอกล้วนให้ความสนใจ  คนในชุมชนบางกลุ่มเริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า เมื่อเริ่มมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น  หากชุมชนในฐานะเจ้าของมรกดกวัฒนธรรม ขาดการจัดการที่ดี  อาจจะสร้างปัญหาใหม่ให้กับชุมชนเองก็เป็นได้


บรรณานุกรม

พระปฏิภาณ ภูริปัญโญ.(27 สิงหาคม 2552).สัมภาษณ์.พระสงฆ์ วัดประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน.

ปณิตา  สระวาสี.(2555). "สลากย้อม: ตัวตนคนยองในศตวรรษที่ 21" ใน ภูมิรู้สู้วิฤกต. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อภินันท์  ธรรมเสนา. “การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของกลุ่มคนยองในจังหวัดลำพูน”. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2553.

วัดประตูป่า จ.ลำพูน
ละติจูด = 18.621739 ลองติจูด= 99.003508

สลากย้อมเป็นประเพณีของคนยองในจังหวัดลำพูน ที่จัดขึ้นหลังออกพรรษา รูปแบบคล้ายกับสลากภัตของภาคกลาง คือ เป็นการทำบุญโดยไม่ได้ระบุผู้รับ แต่สิ่งที่แตกต่างคือคติความเชื่อของชุมชนยองต่อประเพณีสลากย้อม