แห่ปราสาทผึ้งจังหวัดสกลนคร

36316 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : ผาสาทเผิ่ง,ประเพณีปราสาทผึ้ง
เดือนที่จัดงาน : ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : ขึ้น 15 ค่ำ หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11
สถานที่ : วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
: สกลนคร
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : สกลนคร,ปราสาทผึ้้ง,ออกพรรษา,พุทธศาสนา
ผู้เขียน : พรชิตา คำประสิทธิ์
วันที่เผยแพร่ : 18 ก.ย. 2561
วันที่อัพเดท : 18 ก.ย. 2561

แห่ปราสาทผึ้งจังหวัดสกลนคร

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งจังหวัดสกลนครถือเป็นประเพณีงานบุญสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 11 หรือช่วงออกพรรษา ในงานแห่ปราสาทผึ้งจังหวัดสกลนคร ชาวบ้านจากทุกหมู่บ้านจะมีการจัดทำปราสาทซึ่งสร้างมาจากขี้ผึ้งเป็นส่วนประกอบหลัก จากนั้นจะมีการจัดขบวนแห่อย่างสวยงาม อันประกอบไปด้วยการแสดงพื้นบ้าน การแต่งกายพื้นเมือง การรำมวย หรือกระทั่งการฟ้อนภูไทย จากนั้นทุกขบวนแห่ปราสาทผึ้งของแต่ละหมู่บ้านจะนำปราสาทผึ้งไปทอดถวาย ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานานในภาคอีสานแต่จะเป็นที่รู้จักมากและแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยมีจุดประสงค์ของประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างความเชื่อในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ และการทำบุญใหญ่ในช่วงออกพรรษาซึ่งเป็นงานบุญที่มีความเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าจะได้รับอานิสงส์มาก

งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งมีความใกล้ชิดกับงานบุญแจกข้าวของคนภาคอีสาน ซึ่งจะมีในช่วงเดือน 11 หรือช่วงออกพรรษา หรือที่รู้จักกันในฐานะของงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายของชาวอีสาน เนื่องจากในงานทำบุญแจกข้าวเป็นงานบุญใหญ่ที่มีการจัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ในงานประเพณีแจกข้าวนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านจะออกมาช่วยกันจัดงานบุญ ในงานบุญนั้นจะมีการจัดทำหอผึ้ง เป็นทรงตะลุ่มขึ้นโครงด้วยไม่ไผ่จักตอกเพื่อยึดโครง มีการแทงหยวกประดับหอผึ้ง และมีการใช้ขี้ผึ้งหล่อในแม่พิมพ์ นิยมทำให้เป็นรูปทรงของดอกไม้จึงเรียกถูกเรียกว่าดอกผึ้ง เพื่อนำมาประดับตกแต่งในหอผึ้ง

หลังจากที่ชาวบ้านร่วมกันทำหอผึ้งเรียบร้อยแล้ว มักจะมีการใส่ข้าวเม่า ข้าวตอก ไปในหอผึ้งเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในงานบุญแจกข้าว โดยการจัดทำหอผึ้งนั้นมิได้ถูกจำกัดว่าจะต้องทำจำนวนมากเท่าใด หากญาติของผู้ล่วงลับครอบครัวใด ต้องการจะจัดทำหอผึ้งของตนเองก็สามารถจัดทำขึ้นได้ การจัดทำหอผึ้งในงานบุญแจกข้าวนั้น เป็นผลมาจากความเชื่อในชาดกสมัยพุทธกาลว่า ขณะที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับอยู่ที่รักขิตวัน มีพญาลิงตนหนึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอุปัฏฐานของพระพุทธองค์ วันหนึ่งพญาลิงไปพบรังผึ้งจึงนำมาถวายแด่พระพุทธองค์ หลังจากที่พระพุทธองค์รับของถวายจากพญาลิงแล้ว พญาลิงก็เกิดความปิติเป็นอย่างมาก จึงกระโดดโลดเต้นไปตามกิ่งไม้อย่างยินดี จนในที่สุดตกก็พลัดตกจากกิ่งไม้ลงมาตาย แต่ด้วยอานิสงส์จากการถวายรังผึ้งแก่พระพุทธเจ้า จึงทำให้ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรมีบริวารมากมายอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงทำให้เกิดความเชื่อว่าหากถวายหอผึ้งในงานบุญแจกข้าวแล้ว หลังจากล่วงลับไปจะได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาบนสวรรค์์

การทำปราสาทผึ้งส่วนมากในอีสานนิยมทำกันมาแต่โบราณด้วยเหตุผลหรือคติที่ว่า  1. เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว   2. เพื่อตั้งความปรารถนาไว้หากเกิดในภพมนุษย์ขอให้มีปราสาทราชมณเฑียรอาศัยอยู่ด้วยความมั่งมีศรีสุข ถ้าเกิดในสวรรค์ขอ ให้มีปราสาทอันสวยงาม มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นบริวารจำนวนมาก     3. เพื่อรวมพลังสามัคคีในงานบุญร่วมกัน พบประสนทนากันฉันท์พี่น้อง 4. เพื่อเป็นการประกาศหลักศีลธรรม ทางบุญทางกุศลให้ปรากฏ

นอกจากงานบุญแจกข้าวแล้ว ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในจังหวัดสกลนครยังมีความเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในวันออกพรรษาหรือวันเทโวโรหนะ ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการแสดงธรรมแก่พระพุทธมารดาในสวรรค์ ก่อนที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ พระองค์ได้พิจารณาโลกทั้งสามอันได้แก่ มนุษย์โลก เทวโลก และยมโลก จะสามารถมองเห็นความเป็นอยู่ซึ่งกันและกันในวันนี้ และด้วยพุทธานุภาพของพระองค์จะทำให้ได้เห็นหอผึ้งที่ชาวบ้านในมาถวายในงานบุญวันออกพรรษานี้

การจัดสร้างปราสาทผึ้งที่เป็นจุดเด่นของงานแห่ปราสาทผึ้งของจัดหวัดสกลนครนั้น ได้มีการพัฒนารูปแบบการสร้างซึ่งมีพื้นฐานมากจากการจัดทำหอผึ้งในสมัยก่อนให้มีความวิจิตรตระการและสวยงามมากขึ้น โดยการจัดทำปราสาทผึ้งของแต่ละหมู่บ้านนั้น จะกินเวลาร่วมสามเดือนเป็นอย่างต่ำ มีการจัดการวางแผนการสร้างโดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ที่สืบทอดกันมา ขั้นตอนการดำเนินงานนั้นจะเริ่มจากการวางแผนขึ้นโครงไม้ในการสร้างโดยช่างไม้ที่มีฝีมือสูง จากนั้นก็ทำการออกแบบลวดลายและสีของปราสาท และเข้าสู่ขั้นตอนการหล่อขี้ผึ้งตามที่ได้วางแผนไว้ โดยทำการหล่อในแม่พิมพ์เพื่อให้ได้ลวดลายที่ต้องการ จากนั้นก็นำขี้ผึ้งที่หล่อเอาไว้มาประกอบเข้าด้วยกันด้วยการเชื่อม หรือยึดด้วยเข็มหมุด และสุดท้ายก็คือขั้นตอนการตกแต่งปราสาทผึ้งก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้น

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของชาวสกลนคร นับเป็นประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จึงทำให้เกิดพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของพิธีการต่างๆ ตามช่วงเวลา อาจจะมีความแตกต่างกันในการปฏิบัติของแต่ละพื้นที่อยู่เล็กน้อย อันเป็นผลมากจากความเชื่อและวัฒนธรรมย่อยในแต่ละพื้นที่นั้น อย่างไรก็ตามประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของชาวสกลนคร ก็มีสัญลักษณ์ทางประเพณี ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเหตุการณ์ในลักษณของการสร้างสิ่งแทน ช่วงเวลาหรือเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อและวัฒนธรรมหลักของสังคม

สอดคล้องกับแนวความคิดของเทอร์เนอร์ อ้างจากสุทัศน์พงษ์ กุลบุตร (Turner, 1971) กล่าวว่า นักมนุษยวิทยาซึ่งสนในศึกษาในด้านศาสนาและพิธีกรรม รวมถึงตัวประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของจังหวัดสกลนครยังมีหน้าที่ทางวัฒนธรรมที่ชัดแจ้ง (Manifest Functions) อันประกอบไปด้วย ลักษณะที่แสดงออกถึงความกตัญญู ลักษณของการแสดงออกด้านความสามัคคี มีลักษณะในการเปิดโอกาสในการทำบุญ มีลักษณะสร้างความสนุกสนาน และมีลักษณะสร้างความรู้สึกเป็นสิริมงคล และด้วยหน้าที่ทางวัฒนธรรมที่ได้กล่าวมาของประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของจังหวัดสกลนคร ทำให้ประเพณีนี้ได้ถูกยอมรับ และทำสืบสานต่อกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนครในที่สุด


บรรณานุกรม

เกสรา สุรพันธ์พิชิต, ความเชื่อและพัฒนาการของประเพณีแห่ปราสาทผึ้งจังหวัดสกลนคร, ปริญญานิพนธ์ วิชาเอกไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2535, (1) 235-316.

สุทัศน์พงศ์ กุลบุตร, การคงอยู่ของประเพณี พิธีกรรมในสังคมไทย, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 2549, (1) 1-6.

ปรานี วงษ์เทศ, การศึกษาเรื่องเพศทางมานุษยวิทยา ปัญญาแนวคดิ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง, ในเพศและวัฒนธรรม, นครปฐม : โรงพิมพ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2535, 1-6.

Turner, Victer , The Ritual Process. U.S.A. : University of Chicago, 1970.