พิธีศพชาวจีนคาทอลิก บางนกแขวก

9602 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : พิธียิ้บเหนียม,พิธีปลงศพ,พิธีเสกสุสาน
เดือนที่จัดงาน : มกราคม,กุมภาพันธ์,มีนาคม,เมษายน,พฤษภาคม,มิถุนายน,กรกฎาคม,สิงหาคม,กันยายน,ตุลาคม,พฤศจิกายน,ธันวาคม
เวลาทางจันทรคติ :
สถานที่ : วัดแม่พระบังเกิดบางนกแขวก
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สมุทรสงคราม
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : งานศพ,คาทอลิก,ชาวจีน
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 31 ส.ค. 2561
วันที่อัพเดท : 31 ส.ค. 2561

พิธีศพชาวจีนคาทอลิก บางนกแขวก การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับหลักคำสอน

                ชาวจีนคาทอลิกกลุ่มแรกของบ้านบางนกแขวกคือ ชาวจีนห้าครอบครัวที่อพยพมาจากชุมชนวัดกัลหว่าร์ กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเข้ามาหักร้างถางพงพื้นที่ป่าแล้วสร้างบ้านเรือนที่ตำบลสี่หมื่น ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง หาเลี้ยงชีพด้วยการทำสวนผัก  ราวในปี พ.ศ. 2378 มีบาทหลวงอัลบรังค์มิชชันนารีผู้สอนศาสนาให้ชาวจีนในสิงคโปร์เดินทางมาสอนศาสนาให้กับชาวจีนในกรุงเทพฯ ระหว่างการเดินทางมาตามลำน้ำแม่กลองขึ้นสู่กรุงเทพฯนั้น บาทหลวงอังบรังค์ได้พบกับชุมชนชาวจีนคาทอลิกที่ตำบลสี่หมื่นแห่งนี้  จึงระงับการเดินทางเพื่อสอนศาสนาให้กับชาวจีนเหล่านี้ก่อน  ชุมชนคาทอลกที่นี่เริ่มขยายตัวออกไปอย่างช้าๆ ในที่สุดมีการสร้างวัดขึ้นโดยสร้างเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากขึ้นในบริเวณบ้านของซินแซฟรังซิสโกไง้  การสร้างวัดทำให้อัตราการขยายตัวของคริสต์ศาสนาในหมู่ชาวจีนเพิ่มขึ้น ต่อมาชาวจีนคาทอลิกได้ร่วมกันหักร้างถางป่าบริเวณริมคลองบางนกแขวก เพื่อตัดเตรียมที่ดินสำหรับปลูกสร้างวัดใหม่แล้วตั้งชื่อว่า “วัดแม่พระบังเกิดบางนกแขวก” ซึ่งถือเป็นวัดที่แท้จริงเพราะมีองค์อุปถัมภ์คือ แม่พระบังเกิด จนเมื่อมีบาทหลวงมาปกครองดูแลเป็นเจ้าวัดประจำ อำนาจการปกครองชุมชนก็เป็นอิสระไม่ต้องขึ้นกับวัดกัลหว่าร์อีกต่อไป

                ชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวก มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างไปจากชาวจีนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องความตายและพิธีศพ มีการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องการนับถือและการปฏิบัติต่อวิญญาณบรรพบุรุษไว้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพ โดยปรับรูปแบบประเพณีพิธีกรรมให้ไม่ขัดแย้งกับระบบความเชื่อของคริสต์ศาสนา

พิธียิ้บเหนียม

            พิธียิ้บเหนียม คือการยกศพลงบรรจุในหีบศพ เป็นส่วนหนึ่งของการสวดภาวนาให้แก่ผู้ตายซึ่งคริสตชนชาวจีน โดยจะประกอบพิธีเมื่อได้รับการร้องขอจากญาติของผู้ตายเท่านั้น คริสตชนชาวจีนมักกระทำพิธีนี้ให้แก่ผู้ตายซึ่งเป็นบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ตามคติความเชื่อเดิมของชาวจีนในเรื่องความเคารพนับถือต่อบรรพบุรุษ พิธียิ้บเหนียมมิได้เป็นหลักปฏิบัติทางจารีตของคริสต์ศาสนา แต่เรียกได้ว่าเป็นการปรับรูปแบบพิธีกรรมความเชื่อของชาวจีนให้เข้ากันได้กับพิธีกรรมในทางคริสต์ศาสนา ถือเป็นรูปแบบพิธีกรรมที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่ม

            พิธียิ้บเหนียมจะเริ่มขึ้นในคืนสุดท้ายของการภาวนาอุทิศ ซึ่งเป็นพิธีทางคริสต์ศาสนา และจะต่อเนื่องไปถึงวันปลงศพที่สุสานในเช้าวันถัดมา ระยะเวลาของการสวดภาวนาขึ้นกับความต้องการของญาติผู้ตาย ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ตายและเครือญาติ ขณะเดียวกันขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ทำพิธีด้วย ผู้ประกอบพิธีกรราทางคริสต์ศาสนามักเป็นคุณพ่อเจ้าวัด หรืออาจเป็นคุณพ่อท่านอื่นที่สะดวกที่จะพิธี ปกติจะมีการสวดภาวนาอย่างน้อยสามคืนแล้วจึงฝังศพในวันที่สี่ หรือาจมากกว่านั้นไม่ไม่สวดเกินเจ็ดคืน สถานที่อาจเป็นที่บ้านหรือวัดก็ได้ แต่นิยมจัดกันที่ศาลาประชาคมที่อยู่ด้านหลังโบสถ์

            นอกเหนือไปจากการภาวนาอุทิศให้แก่ผู้ตายตามหลักคริสต์ศาสนาแล้ว ยังมีการสวดภาวนาเป็นภาษาจีนซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เก่าแก่ของชุมชน เนื่องจากคนกลุ่มแรกของชุมชนคาทอลิกบ้านบางนกแขวกเป็นชาวจีน ภาษาจีนจึงเป็นสื่อกลางสำคัญในการเผยแพร่คริสต์ศาสนา

            ผู้ประกอบพิธียิ้บเหนียมเป็นบุคคลเดียวกับผู้นำสวดภาวนาภาษาจีน เรียกกันว่า “ซินแซ” ในอดีตเป็นบุคคลที่ได้รับคัดเลือกจากบาทหลวงให้เป็นผู้นำชุมชนชาวจีน ทำหน้าที่ดูแลคริสตชนชาวจีนและเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาให้กับชาวคริสต์ รวมถึงการเผยแพร่ความเชื่อให้แก่คนทั่วไป เพราะไม่มีบาทหลวงมากพอที่จะอยู่ประจำชุมชนได้

            ปัจจุบันซินแซถูกลดบทบาทลงและเหลือน้อยลงทุกที เนื่องจากสังคมเปลี่ยนแปลงไป ซินแซกลายเป็นเพียงผู้นำประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อจีน และสวดภาวนาภาษาจีนให้กับคริสตชนชาวจีนที่ต้องการให้มีพิธีดังกล่าวเท่านั้น และที่สำคัญคริสตชนชาวจีนก็มิได้ใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวันเหมือนในอดีต

            รูปแบบการตั้งศพคล้ายกับงานศพชาวพุทธทั่วไปคือ มีโลงศพ รูปถ่ายผู้ตาย และการประดับประดาดอกไม้ให้สวยงาม ในอดีตจะวางศพผู้ตายไว้บนเตียงโดยไม่มีการอาบน้ำศพ แต่จะให้ผู้มาเคารพศพประพรมน้ำเสกแทน และไม่นำศพลงลงจนกว่าจะได้ทำพิธียิ้บเหนียม

            การภาวนาอุทิศจะเริ่มในตอนค่ำประมาณสองทุ่ม ผู้เข้าร่วมพิธีสวมชุดดำหรือสีขาว ลูกหลานผู้ตายจะเข้าไปยืนอยู่ด้านหลังศพ ส่วนซินแซพร้อมด้วยผู้นำสวดอีกสามคนจะเดินไปยืนเรียงกันอยู่ด้านหน้าศพจากทางขวา ขณะที่คุณพ่อผู้ประกอบพิธีมิสซาหน้าศพก็จะเดินไปอยู่ทางซ้าย โดยซินแซจะยืนอยู่ตรงกลางของแถวด้านหน้าศพ

            จากนั้นจะเริ่มสวดภาวนาภาษาจีน เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้ใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวันแล้ว ทางวัดจึงมีหนังสือบทสวดภาวนาภาษาไทยที่เขียนออกเสียงภาษาจีนไว้ให้ แต่จะมีชาวจีนคาทอลิกบางส่วนเท่านั้นที่สามารถสวดตามได้ ส่วนใหญ่มักไม่ทราบความหมายของบทสวดทั้งหมด เช่น “อินหูกิบจื้อ กิบเซี้ยซิน จือเมี้ย อาเหม่ง” หมายความว่า เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต อาเมน เป็นต้น

            ระหว่างการสวดนี้กลุ่มผู้นำสวดทั้งห้าคนและลูกหลานของผู้ตายจะต้องยืนตลอดเวลา บางช่วงของการสวดคุณพ่อจะประพรมน้ำเสกลงบนโลงเสมือนการรดน้ำศพให้แก่ผู้ตาย เมื่อสวดจบ ซินแซจะประพรมน้ำเสกให้แก่ผู้ตาย ตามด้วยผู้นำสวดอีกสามคน แล้วจึงให้ลูกหลานประพรมน้ำเสกตามลำดับตั้งแต่ลูกคนโตไปจนถึงหลาน หลังจากนั้นจึงให้ผู้ร่วมงานได้ประพรมน้ำเสก เมื่อเสร็จแล้วเป็นอันสิ้นสุดการสวดภาษาจีน

            จากนั้นจะเป็นพิธีมิสซาหน้าศพ ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา คุณพ่อจะเดินไปที่แท่นทำพิธีซึ่งตั้งหันหน้าเข้าหาผู้มาร่วมงาน และหันหลังให้กับศพ แท่นพิธีนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คริสตชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปแตะต้องแท่นหรือเครื่องประกอบพิธีที่วางอยู่บนแท่นได้ เมื่อพิธีเริ่มคุณพ่อจะกล่าวนำ บทสวดที่ใช้จะเป็นบทสวดสำหรับงานศพโดยเฉพาะซึ่งอาจแตกต่างจากบทสวดงานศพของที่อื่นและการสวดแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน สลับกับการร้องเพลงสวดที่มีผู้นำร้องอยู่แถวหน้าของผู้มาร่วมงาน ระหว่างการสวดผู้มาร่วมงานจะยืนขึ้นเป็นระยะตามการร้องขอ

            เมื่อจบบทสวดแล้ว คุณพ่อจะมานั่งรอเพื่อเปิดให้ผู้อ่านพระวรสารกล่าวคำบันทึก หลังจากนั้นคุณพ่อจะกลับมาประกอบพิธีมิสซาที่แท่นศักดิ์สิทธิ์ พิธีมิสซานี้ไม่แตกต่างจากการทำมิสซาประจำวัน เพียงแต่มากระทำต่อหน้าศพเท่านั้น

            เมื่อจบพิธีมิสซาถือเป็นอันสิ้นสุดพิธีกรรมต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับแจกด้ายแดงและขนมถ้วยฟูให้นำกลับไปบ้าน เชื่อกันว่าด้ายแดงจะนำโชคดีมาสู่ผู้มาร่วมงาน และขนมถ้วยฟูจะนำความเฟื่องฟูมาสู่ลูกหลานของผู้ตาย

จะเห็นได้ว่า พิธียิ้บเหนียมของชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวก เป็นการทำพิธีสวดภาวนาอุทิศให้กับวิญญาณผู้ตาย มีลักษณะคล้ายคลึงกับการประกอบพิธีกงเต็กของชาวจีน ทั้งช่วงเวลาที่ประกอบพิธี คือวันสุดท้ายของการสวดอุทิศให้กับผู้ตายก่อนที่จะนำไปฝังในวันต่อไป และความมุ่งหมายของการประกอบพิธี เพื่อนำทางผู้ตายไปสู่สวรรค์

พิธีปลงศพ

            หลังจากพิธียิ้บเหนียม เช้าตรู่วันถัดมาจะมีการสวดภาษาจีนอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาและคุณพ่อไม่มีบทบาทในพิธีกรรมส่วนนี้ กล่าวได้ว่าพิธีกรรมตอนเช้านี้ต่อเนื่องกับพิธีกรรมในคืนก่อนและมีความเชื่อคริสต์ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

            พิธีเริ่มต้นด้วยการสวดภาษาจีน จากนั้นลูกหลานและญาติผู้ตายจะประพรมน้ำเสกลงบนศพผู้ตาย โดยเรียงลำดับความสำคัญตามความใกล้ชิดทางเครือญาติ หากผู้ตายบรรจุในโลงเย็นจะมีการยกออกมาทั้งหีบไม้บรรจุศพนั้นพร้อมกับแจกด้ายแดงแก่ผู้ร่วมพิธี

            เมื่อประพรมน้ำเสกแล้ว ซินแซจะเลือกตะปูตามขนาดที่ต้องการ ซึ่งลูกหลานผู้ตายได้จัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นซินแซจะใช้ตะปูตอกฝาหีบศพสามที่ คือ

  1. ตะปูตัวที่หนึ่ง ตอกริมฝาหีบด้านซ้ายตรงส่วนศีรษะ
  2. ตะปูตัวที่สอง ตอกริมฝาหีบด้านขวาตรงศีรษะ
  3. ตะปูตัวที่สาม ตอกริมฝาหีบด้านซ้ายตรงลำตัว
  4. ตะปูตัวที่สี่และห้า ลูกหลานจะเป็นผู้ตอกต่อจากซินแซได้ตอกไว้

           เมื่อเสร็จพิธี ซินแซจะได้รับอั่งเปาจากลูกหลานของผู้ตายตามธรรมเนียม โดยซินแซจะไม่รับค่าตอบแทนในการทำพิธีแต่อย่างใด หลังจากนั้นลูกหลานจะยกหีบศพขึ้นรถเข็นเพื่อจัดขบวนแห่ไปยังวัด เพื่อเตรียมพิธีมิสซาหน้าศพอีกครั้ง ขบวนแห่ศพจะนำหน้าด้วยกระถางธูปและตะเกียง ตามด้วยรูปถ่ายของผู้ตาย และรถเข็นศพ ผู้เข้าร่วมพิธีจะเดินตามขบวนแห่ศพนี้ไปที่วัด

           เมื่อถึงวัด ลูกหลานจะเข็นรถขึ้นไปตั้งที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าวัดแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ขณะเดียวกันทางวัดจะจัดขบวนออกมาที่หน้าวัด นำขบวนด้วยเด็กช่วยจารีตสี่คน คนแรกอัญเชิญกางเขนศักดิ์สิทธิ์เดินนำหน้า ตามด้วยคนถือตะเกียงทางซ้ายและขวา สุดท้ายเป็นคนถือน้ำเสก จากนั้นคุณพ่อผู้ทำพิธีซึ่งจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับญาติได้เชิญมาและอาจเป็นคุณพ่อวัดอื่นก็ได้ แต่ผู้ที่เป็นผู้นำประกอบพิธีคือคุณพ่อเจ้าวัดหรือคุณพ่อท่านอื่นที่ได้รับมอบหมาย

           ผู้อัญเชิญกางเขนศักดิ์สิทธิ์และตะเกียงจะเดินออกไปอยู่ด้านนอกและหันหน้าเข้าวัด ส่วนคุณพ่อจะอยู่หน้าประตูวัดเพื่อทำพิธีประพรมน้ำเสกลงบนหีบศพ ขณะที่ขบวนศพเคลื่อนเข้าวัดนั้น ภายในวัดจะมีการร้องเพลงสวดและจบเพลงเมื่อคุณพ่อผู้ทำพิธีเข้าสู่แท่นศักดิ์สิทธิ์

           การตั้งศพต้องหันหน้าเข้าหาแท่นศักดิ์สิทธิ์ หีบศพจัดวางให้ส่วนปลายเท้าของศพหันเข้าหาแท่นศักดิ์สิทธิ์ ส่วนตะเกียงและกระถางธูปจะต้องไว้ส่วนทางศีรษะของผู้ตาย

           การประกอบพิธีมิสซาหน้าศพในวัด โดยเนื้อหาแล้วไม่แตกต่างจากการทำมิสซาทั่วไป แต่มีขั้นตอนปลีกย่อยที่เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมเข้าสู่การปลงศพที่สุสาน กล่าวคือ เมื่อคุณพ่อถวายมิสซาเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเตรียมน้ำเสกและเต้ากำยานที่จะนำขวนศพไปสุสาน

           จากนั้นจะเป็นการเรี่ยไรเงินกองทุนมิสซา ผู้ร่วมพิธีจะใส่เงินลงในถุงทาน ซึ่งคนสภาอภิบาลวัดเดินถือยื่นไปตามแถวผู้ร่วมพิธี โดยไม่กำหนดว่าต้องใส่เป็นจำนวนเท่าใด ลูกหลานผู้ตายจะมอบเงินนี้ให้แก่วัด ถือเป็นอันสิ้นสุดพิธีมิสซาหน้าศพ

           หลังจากนั้นจะนำศพไปทำพิธีปลงศพที่สุสานต่อทันที ขบวนศพแห่ศพออกจากวัดเริ่มจาก กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ตะเกียง และเต้ากำยาน ตามด้วยคุณพ่อทำพิธี จากนั้นเป็นรถเข็นศพ และผู้ร่วมพิธี ขณะที่ขบวนเคลื่อนออกจากวัด วัดจะตีระฆังส่งวิญญาณผู้ตายและเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำพิธี ผู้ร่วมพิธีจะได้รับแจกดอกไม้และดินสอพองเพื่อนำไปวางหน้าศพ

           เมื่อขบวนแห่ศพถึงสุสาน คุณพ่อจะทำพิธีปลงศพ โดยกล่าวบทสวดส่งศพ จากนั้นผู้ร่วมพิธีนำดอกไม้และดินสอพองมาวางในถาดหน้าหีบศพ พร้อมกันนั้นจะมีการสวดภาวนาภาษาจีนไปด้วย เมื่อสวดจบเป็นอันเสร็จพิธี ผู้ร่วมพิธีจะได้รับแจกน้ำและขนมปุยฝ้าย

           หลังจากนั้นจะเป็นการทำพิธีเฉพาะลูกหลาน นั่นคือการบรรจุหีบศพลงในหลุมหรือที่เรียกกันว่า “กุฎ” ที่สุสาน โดยคุณพ่อผู้ทำพิธีจะทำพิธีเปิดหลุนและประพรมน้ำเสกลงบนหลุมก่อนที่จะนำหีบศพลงบรรจุในหลุมนั้น ดอกไม้ที่ผู้ร่วมพิธีนำมาวางหน้าศพจะถูกโรยทับหีบศพจนทั่ว หลังจากนั้นจึงปิดตายปากหลุมเป็นอันเสร็จพิธี

           ภายหลังจากพิธีปลงศพหากเป็นคริสตชนทั่วไปจะไม่มีการไว้ทุกข์ แต่สำหรับชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวกจะไว้ทุกข์ให้กับผู้ตาย 100 วัน โดยหักจำนวนลูกหลานออกทำให้ไม่ครบจำนวน 100 วันจริง เมื่อครบ 100 วันแล้วจะทำพิธีเพื่อปลดทุกข์และสวดภาวนาสุขสำราญ เช่นเดียวกับชาวจีนที่มีการไว้ทุกข์ 100 วันเช่นเดียวกัน ระหว่างการไว้ทุกข์จะมีการไหว้ทุกๆ 10 วัน แต่จะไม่มีการไว้ทุกข์ช่วงตรุษจีน หากต้องการไว้ทุกข์จำเป็นต้องรอให้ผ่านช่วงตรุษจีนเสียก่อน

พิธีเสกสุสาน

            พิธีเสกสุสานเป็นพิธีกรรมคริสต์ศาสนาที่จัดขึ้นทุกปี โดยจะมีการประกอบพิธีในวันระลึกถึงผู้ตายช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นวัดที่ถุดจากวันฉลองนักบุญ ตามหลักความเชื่อทางคริสต์ศาสนา กล่าวถึงวันระลึกถึงผู้ตายว่า เป็นวันที่คริสตชนจะได้ระลึกถึงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการสวดภาวนาและทำกิจใช้โทษบาปเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย

            สำหรับชุมชนชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวกจะจัดพิธีเสกสุสานในช่วงหลังวันตรุษจีนประมาณหนึ่งสัปดาห์ และมักทำพิธีในวันเสาร์เพื่อความสะดวกของผู้มาร่วมพิธี

            พิธีเสกสุสานหรือที่เรียกกันว่า “เสกป่าช้า” จะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ บรรดาผู้ที่มีบรรพบุรุษอยู่ที่บ้านบางนกแขวกจะมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าพิธีเสกสุสานเป็นวันที่กลุ่มเครือญาติมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อมาแสดงความเคารพและระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เป็นพิธีที่สะท้อนให้เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวก

            พิธีจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ พิธีกรรมในวัด และพิธีกรรมที่สุดสาน โดยเริ่มพิธีกรรมที่สุสานก่อน แต่เดิมนั้นคุณพ่อจะเข้าไปประกอบพิธีเสกให้ทีละหลุมจนครบทุกหลุมในสุสาน แต่ปัจจุบันประกอบพิธีเสกรวมครั้งเดียวในสุสานเพื่อความสะดวก

            จากนั้นคุณพ่อจะเข้ามาทำพิธีต่อในวัด เป็นการสวดภาวนาอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับและการทำมิสซา เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนพื้นที่ภายในวัดไม่สามารถรองรับได้ คริสตชนส่วนใหญ่จึงต้องเข้าร่วมพิธีจากภายนอก โดยทางวัดได้ติดเครื่องขยายเสียและจัดเตรียมเต้นท์และเก้าอี้ไว้ให้

            หลังจากที่คุณพ่อทำพิธีเสกให้แล้ว ลูกหลานของผู้ล่วงลับก็จะทำมหากางเชนแล้วจุดเทียนนำมาปักที่หลุมศพ นิยมใช้เทียนแท่งใหญ่สีขาวปักหลุมละหนึ่งเล่ม จากนั้นสวดภาวนาถึงบรรพบุรษแล้วจบด้วยการทำมหากางเขนอีกครั้ง เทียนสีขาวนี้ใช้เป็นเครื่องแสดงความเคารพและส่องนำทางดวงวิญญาณไปสู่สวรรค์ การจุดเทียนก็เพื่อแสดงความเคารพและระลึกถึบรรพบุรุษ รวมทั้งให้แสงเทียงส่องสว่างนำดวงวิญญาณบรรพบุรษไปสู่สุขคติ นอกจากเทียนอันเป็นเครื่องประกอบพิธีหลักแล้ว อาจะมีการนำดอกไม้มาประดับที่หลุมศพเพื่อความสวยงาม มีความหมายถึงการเจริญรุ่งเรือง การนำดอกไม้มาวางที่หลุมศพจะทำวิญญาณของบรรพบุรุษรุ่งโรจน์ ส่วนลูกหลานก็จะมีจิตใจดีและไม่มีโรคภัยเบียดเบียน

            ในวันเสกสุสาน ถ้าลูกหลานคนใดไม่มีร่วมพิธีจุดเทียนอาจจะถูกติฉินจากกลุ่มเครือญาติ แม้การไม่มาร่วมพิธีไม่ถือว่าเป็นความผิดก็ตาม บางคนอาจจะฝากเทียนมากับญาติที่มาร่วมพิธีแทน

            พิธีเสกสุสานของชาวจีนคาทอลิกบ้านบางนกแขวก มีนัยของความเชื่อเองการนับถือและการปฏิบัติต่อวิญญาณบรรพบุรุษตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีน และมีลักษณะใกล้เคียงกับเทศกาลเช็งเม้งของชาวจีน กล่าวได้ว่า ชาวจีนคาทอลิกบางนกแขวกมีการปรับความเชื่อดั้งเดิมของตนให้สอดคล้องกับหลักคำสอนทางคริสต์ศาสนนา

 


บรรณานุกรม

รุ่งนภา พราหมณ์วงศ์, 2544.  การธำรงชาติพันธุ์ชองชุมชนชาวจีนคาทอลิกผ่านพิธีศพ: กรณีศึกษาชุมชนคาทอลิกบ้านบางนกแขวก ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.