วัดคุรุราษฎร์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีเด็กเล็กๆนับร้อยคน อายุตั้งแต่ขวบครึ่งไปจนถึงสี่ขวบ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดแห่งนี้ ท่านพระครูจันทธรรมโกวิท เจ้าอาวาส ได้ก่อตั้งขึ้นมาเกือบยี่สิบปีแล้ว เด็กๆเหล่านี้เป็นลูกหลานของชาวบ้านละแวกนี้ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองไปทำงานตามไร่นา ทำให้ไม่มีคนดูแลเด็กๆ ที่นี่จึงรับมาดูแล โดยมีครูพี่เลี้ยงจำนวน 6 คน ปัจจุบันทางเทศบาลได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากวัด โดยจะมีบางส่วนของค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจะช่วยกันบริจาค ท่านพระครูบอกว่า การมีศูนย์เด็กในวัด ส่งผลให้เด็กๆใกล้ชิดและผูกพันกับวัด อีกทั้งเด็กยังเป็นเสมือนผู้ชักนำให้ผู้ปกครองได้เข้าวัดด้วย
การที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้ชื่อว่า ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนสามเผ่า ก็เนื่องมาจาก คนในหมู่บ้านนี้มีเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ 3 เผ่าคือ เขมร ส่วยหรือกูย และลาว ในการนำชมในช่วงแรก อาจารย์ฉัตรรัตน์ ทวีกุล หัวหน้าศูนย์เด็กฯ ได้ช่วยนำชมและอธิบายให้ฟัง อาจารย์บอกว่านอกจากงานที่ศูนย์ฯ อาจารย์ยังช่วยหลวงพ่อท่านดูแลพิพิธภัณฑ์ของวัดด้วย ตอนนี้อยู่ในช่วงย้ายสิ่งของจากอาคารพิพิธภัณฑ์หลังเดิม ซึ่งเป็นศาลาไม้ มาอยู่ที่อาคารคอนกรีตหลังใหม่ เนื่องมาจากที่เดิมผุพัง และในส่วนของเรือนไม้ที่เคยจัดแสดงเป็นบ้านแบบส่วย เขมร ลาว ตอนนี้ไม่ได้ใช้จัดแสดงแล้ว โดยปัจจุบันพระสงฆ์ได้ใช้เป็นกุฏิ
สิ่งของจัดแสดงของที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นของพื้นบ้านที่ชาวบ้านได้นำมาบริจาค พิพิธภัณฑ์นี้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2547 ในช่วงแรกได้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเป็นงบประมาณที่ทยอยให้มา รวมแล้วก็ประมาณสองแสนบาท จุดประสงค์ของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ก็เพื่อรวบรวมของใช้พื้นบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไป ท่านพระครูจันทธรรมโกวิทบอกว่า ท่านมาเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ช้าไป โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านเขาจะเก็บของเก่าเหล่านี้ไว้ที่บ้านอยู่แล้ว ต่อมามีคนรับซื้อของเก่ามาขอซื้อเพื่อเอาไปประดับรีสอร์ท ซึ่งชาวบ้านเขาก็ขายไปเยอะแล้ว ในช่วงแรกที่จัดทำท่านบอกว่าคนยังไม่นำสิ่งของมาบริจาคมากนัก เนื่องจากเขายังไม่รู้ว่าเมื่อนำมาให้วัดจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง แต่เมื่อเห็นมีคนเข้ามาศึกษาดูงาน เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ จึงมีคนนำบริจาคกันมากขึ้น
สิ่งของที่จัดแสดงได้แก่ เครื่องจักสาน อุปกรณ์ที่ใช้ในครัวสมัยก่อน เช่น ที่ทำลอดช่อง ทำขนมจีน เครื่องใช้ในอดีต เช่น เครื่องหั่นใบชา อุปกรณ์ทอผ้า แล้วก็ยังมีผ้าทอของชาวบ้านที่อายุเกือบร้อยปี กะโหลกสัตว์ กระพรวนแขวนคอวัวควาย ในสิ่งของจัดแสดงที่ดูโดดเด่นสวยงามและกำลังรอย้ายไปที่ใหม่คือ ประทุนเกวียน ซึ่งอยู่ในสภาพดีมาก เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นถึงความละเอียดประณีตในการสานส่วนที่เป็นหลังตา อีกทั้งไม้ที่รองรับน้ำหนักยังมีลวดลายแกะสลักที่สวยงามชัดเจน ในการจัดแสดงในส่วนของรูปภาพ ที่นี่ได้ถ่ายภาพการแต่งกายของคนทั้ง 3 เผ่า ได้แก่ เขมร ส่วย ลาว โดยผู้เข้าชมจะได้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมการแต่งกาย นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายใหญ่ที่หลายคนน่าจะคุ้นตา เป็นภาพกลางทุ่งนาบนพื้นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงประทับนั่ง พร้อมกับมีชายหนุ่มคนหนึ่งนุ่งผ้าขาวม้าพนมมือไหว้นั่งอยู่บนพื้นดินในระดับเดียวกัน สถานที่ในภาพคือตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง และชาวบ้านคนนั้นปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่
ในการรับบริจาคสิ่งของนำมาจัดแสดง มีการลงทะเบียนไว้ โดยก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่จากวัฒนธรรมมาช่วยทำ แต่ตอนนี้เขาได้ย้ายไปทำงานที่อื่นแล้ว ทำให้สิ่งของที่จัดแสดงบางส่วนจะมีเขียนบอกว่าของอันนี้เรียกว่าอะไร โดยจะเขียนบอกไว้ทั้ง 3 ภาษาคือ เขมร ส่วย ลาว ท่านพระครูเล่าว่า เคยมีของหาย แต่เป็นช่วงก่อนที่จะทำพิพิธภัณฑ์ ที่วัดนี้เคยมีการขุดดินเพื่อจะนำดินมาถมอีกที่หนึ่ง แล้วขุดไปเจอไหโบราณ 4 ใบ เคยมีคนมาดูเขาบอกว่าน่าจะมีอายุถึง 700 ปี ในช่วงนั้นท่านมีกิจธุระไปเชียงใหม่และกาญจนบุรี รวมเวลากันก็สองอาทิตย์ กลับมาอีกทีก็พบว่ามีคนเข้ามางัดหน้าต่าง ขโมยไหทั้งสี่ใบไปแล้ว แต่หลังจากนั้นมา เมื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ไม่เคยมีของหาย
เรื่องการสืบสานวัฒนธรรม ตามมุมมองของท่านพระครู ท่านมองว่าเป็นทั้งเรื่องของการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน เรื่องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และการออกกำลังกายให้มีสุขภาพดี ดังจะเห็นได้จากการจัดให้มีการแต่งตัวมาฟ้อนรำต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน กลุ่มนักแสดงจะมีทั้งเด็กนักเรียน คนเฒ่าคนแก่ บางมีก็เป็นคุณครูที่ศูนย์เด็ก คุณครูที่นี่เป็นทั้งคนสอนรำและก็รำแสดงเองได้ด้วย อีกกิจกรรมหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุที่ท่านให้การส่งเสริมคือการทอผ้า และไม่ให้คนเฒ่าคนแก่เหงา ท่านยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ยกตัวอย่างศรีสะเกษ บางบ้าน ทุกบ้าน หลายหมู่บ้าน หน้านี้ปลูกหอมกระเทียม เช้ารุ่งขึ้นก็จะไปเถียงนา ไปทุ่ง ไปดูหอม ดูกระเทียม พอได้ผลผลิตมาคนเฒ่าคนแก่ก็มีงานทำ มัดหอม มัดกระเทียมไว้ ไม่มีเวลาที่จะไปโสเหร่เรื่องอื่นเลย ตอนเช้าไปก็หอบเอาปุ๋ยอะไรไปใส่ผัก ตอนเย็นมาต้อนวัวควายก็เอาฟางมาให้วัวกินอยู่ที่บ้าน ไม่มีเวลาอย่างอื่น”
และถ้าใครช่างสังเกต จะเห็นจากรูปภาพบายศรี และผลงานเก่าที่ยังตั้งแสดงไว้ เนื่องจากวัดแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการทำบายศรี ท่านพระครูบอกว่าเมื่อก่อนตอนที่ท่านเป็นพระลูกวัด ท่านเป็นผู้ลงมือทำด้วยตนเอง ตามขนบประเพณีโบราณของคนที่นี่ เชื่อกันว่าผู้ชายทำบายศรีจะดีเพราะว่าสะอาด เนื่องจากผู้ชายไม่มีประจำเดือน ดังนั้นทุกวันนี้กลุ่มที่สืบทอดการทำบายศรีจึงเป็นผู้ชาย โดยเอกลักษณ์ของบายศรีที่นี่คือจะทำกันแบบดั้งเดิม ราคาที่รับทำตามขนาดความยากง่าย ราคาตั้งแต่พันห้าไปจนถึงหลักหมื่น รายได้จากการทำบายศรีเป็นของผู้ทำทั้งหมด โดยวัดจะเป็นตัวกลางคอยประสานงานงานให้
ตลอดช่วงเวลาของการสนทนา ท่านพระครูมักจะเล่าถึงการทำงานเพื่อชุมชน เช่น การจะบริจาคที่ดินวัดให้หน่วยงานรัฐเพื่อสร้างอาคารสำนักงาน การหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ กล่าวได้ว่าทุกเรื่องของท่านคือประโยชน์สุขของชาวบ้านตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ แล้วเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ กระทั่งเป็นคนเฒ่าคนแก่วัยชรา
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 11 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ เดินทางไปจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ไปตามทางหลวงจนถึงจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพ จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 24(โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 รวมระยะทาง 410 กม. หรือจากจังหวัดนครราชสีมา ตามทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช-ห้วยแถลง-ลำปลายมาศ รวมระยะทาง 384 กม.
วัดคุรุราษฎร์อยู่ในอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ การเดินทางจากบุรีรัมย์ไปอำเภอกระสังโดยรถประจำทางไม่สะดวก เพราะว่าจะต้องต่อรถหลายต่อ และนานๆ จะมีรถประจำทางสักคัน ช่วงที่เข้าตำบลหนองเต็ง ถนนที่ตัดผ่านทุ่งนาค่อนข้างขรุขระ