เข้าสู่ระบบ
ชื่อเข้าสู่ระบบ
รหัสผ่าน
จดจำฉันไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?
Log in
สมัครสมาชิก
Sign up
English (US)
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
หน้าหลัก
รีวิวพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์วิทยา
Blog
สถิติ
กราฟ/charts
infographics
สื่อสิ่งพิมพ์
บทความ
Report
หนังสือ
จุลสาร
ข่าวพิพิธภัณฑ์
เทศกาลพิพิธภัณฑ์
เกี่ยวกับเรา
ศมส.
รีวิว
|
ทีมงานและสมาชิก
นสพ.และวารสาร
Blog
ภาพถ่าย
|
แผ่นพับ
|
วีดีโอ
|
แผนที่
|
ผังจัดแสดง
|
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
รีวิวพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
เขียนโดย:
webmaster (1127 เรื่อง)
| เมื่อวันที่:
10 กุมภาพันธ์ 2555
ด้วยเอกลักษณ์ประจำตัวที่ไม่เหมือนใคร ทั้งท่านั่งยอง การรับปัจจัยใบเดียว การเหยียบโฉนด เคาะหัว อีกทั้งชื่อเสียงอันโด่งดังของวัตถุมงคลในเรื่องการสร้างความมั่งมี ร่ำรวย จนทำให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศพากันเข้ามาขอกราบนมัสการ เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต สำหรับผู้ที่ต้องการรู้จักกับหลวงพ่อคูณให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ปัจจุบันที่วัดบ้านไร่ ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งศรัทธาและบารมีทานอันยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เจ้าอาวาส วัดบ้านไร่และพระเกจิอาจารย์ชื่อดังซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของมหาชนทั่วทุกสารทิศ พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่ท่านมีสิริอายุครบ 7 รอบ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2550 นำโดยนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานมูล นิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ และว่าที่ร้อยตรีไพโรจน์ สุวรรณฉวี รองประธานประธานมูล นิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ คณะกรรมการมูลนิธิหลวงพ่อคูณ และคณะศิษยานุศิษย์ โดยวันที่ 14 ตุลาคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ
อาคารพิพิธภัณฑ์ที่ดูสง่างามอย่างที่เห็นกัน ก่อนนั้นคือศาลาการเปรียญหลังเก่าที่หลวงพ่อคูณเคยจำวัดอยู่ที่นี่ ปัจจุบันได้มีการสร้างใหม่และท่านได้ย้ายไปจำวัดในที่ใหม่ ก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ถ้าไปถึงวัดบ้านไร่ในช่วงสาย แนะนำให้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณภายในโบสถ์หลังใหม่ ในวันที่สุขภาพของท่านเป็นปกติดีท่านจะลงมานั่งพบกับญาติโยม ซึ่งตัวจริงของท่านจะดูแตกต่างจากที่เคยเห็นกันในทีวี เช่นในวันนี้ตัวจริงของท่านดูสดใส ผิวขาวผุดผ่อง ไม่เหมือนที่เคยเห็นในภาพข่าวหรือในรูปภาพที่มักจะเห็นท่านผิวคล้ำ หลายคนที่มีโอกาสได้พบตัวท่าน ขากลับออกมาจะมีอาการปิติยินดีตื่นเต้นดีใจอย่างเห็นได้ชัด
ผู้ที่นำชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้คือ คุณจีรนันท์ เสริมใหม่ มัคคุเทศก์ทางธรรม นักศึกษาจากวิทยาลัยหลวงพ่อคูณ วิทยาลัยที่หลวงพ่อคูณได้ก่อตั้งขึ้นมา โดยคุณจีรนันท์กับเพื่อนๆอีกหลายคนจะสลับกันมาทำหน้าที่พานักท่องเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมัคคุเทศก์ที่นี่มีทั้งความรอบรู้และความคล่องแคล่วในการอธิบาย คุณจีรนันท์บอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้แบ่งออกเป็น 11 โซน ได้แก่ ชั้นที่ 1 โซน 1 ศรัทธามหาชน โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน โซน 10 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี โซน 11 ให้แล้วรวย ชั้นที่ 2 โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ โซน 4 ตั้งจิตช่วยคนพ้นทุกข์ โซน 5 ออกธุดงค์ โซน 6 พัฒนาวัดบ้านไร่ โซน 7 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว โซน 8 มรดกทาน มรดกธรรม โซน 9 ทานบารมีทวีคูณ สำหรับงบประมาณที่นำมาสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ ส่วนใหญ่ได้มาจากผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย รวมกับงบประมาณส่วนหนึ่งของหลวงพ่อคูณ รวมแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ 42 ล้านบาท
เมื่อเราผ่านเข้าไปจากประตูใหญ่ด้านหน้า เพียงก้าวแรกเราจะสัมผัสได้กับบรรยากาศที่แปลกแตกต่างจากภายนอก ด้วยการจัดแสดงโดยใช้ระบบแสงเสียงและวีดีทัศน์ ภาพแรกคือ รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณที่ส่องสว่าง พร้อมกับตัวหนังสือเขียนว่า “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้”
ถัดไปจากรูปเหมือนของตัวท่าน เป็นชั้นจัดแสดงพวกเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่มีเป็นจำนวนมาก คุณจีรนันท์บอกว่าสิ่งของเหล่านี้มีคนนำมาถวายท่าน ที่นำมาจัดแสดงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง บางส่วนท่านได้ให้กับคนที่มาขอท่าน ถ้าคนไหนท่านเห็นว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ท่านก็ให้ไป
ในการดำเนินชีวิตของหลวงพ่อคูณ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเลื่อมใสศรัทธาคือการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสมถะ ตรงมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงห้องนอนของท่านในสภาพเดิม เมื่อครั้งที่ท่านยังจำวัดอยู่ในศาลาการเปรียญหลังเก่า ทำให้ผู้มาชมได้เห็นความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของท่าน ในการไม่ยึดติดของท่าน ท่านได้มีการเขียนพินัยกรรมเอาไว้ เพื่อให้คนที่มีชีวิตอยู่ได้ปฏิบัติตามที่ท่านได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ หนึ่งในนั้นคือ การบริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลขอนแก่น
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีด้วยกัน 2 ชั้น ตรงส่วนทางขึ้นให้สังเกตว่ามีการฉายภาพอยู่บนผนังทางขึ้น เนื้อหาการจัดแสดงบริเวณชั้นบนส่วนใหญ่เป็นประวัติของหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่ท่านถือกำเนิดขึ้นมา หลวงพ่อคูณเป็นบุตรของคุณพ่อบุญและคุณแม่ทองขาว ท่านเกิดวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2466 เดือน 10 ปีกุน พื้นเพเป็นคนที่นี่ การจัดแสดงในส่วนนี้มีการจำลองกระท่อมที่หลวงพ่อคูณกำเนิดขึ้นมา โดยเปิดดวงไฟไว้ข้างใน ตรงนี้เด็กๆที่เข้ามาชมกับผู้ใหญ่จะให้ความสนใจมาก บางคนอดถามไม่ได้ว่าข้างในบ้านมีอะไร
ในช่วงวัยเด็กของหลวงพ่อคูณ ท่านเรียนหนังสือที่วัด ตอนเป็นเด็กก่อนที่จะบวช ท่านเคยมีความฝันอยากจะเป็นหมอเพลงโคราช ท่านจึงได้ไปเรียนกับหมอเพลงที่อำเภอโนนสูง แต่ในเวลาต่อมาท่านก็รู้สึกว่าการเป็นหมอเพลงโคราชไม่ใช่ทางของท่าน ท่านจึงได้กลับบ้านมาทำนาเหมือนเดิม ในเวลาต่อมาเมื่อท่านมีอายุครบ 21 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในการเล่าประวัติ การจัดแสดงส่วนนี้น่าสนใจตรงที่ใช้ภาพจิตรกรรมที่มีสีสันสวยงาม พร้อมกับการให้แสงไฟที่ทำให้โดดเด่นพอเหมาะ นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงภาพสามมิติ
ในช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของหลวงพ่อคูณ ท่านได้เคยเดินธุดงค์ใน 3 ประเทศคือ ไทย ลาว กัมพูชา โดยใช้ระยะเวลา 3 ปี ในช่วงปีพ.ศ. 2492-2495 หลังจากการธุดงค์ ท่านได้ทำการพัฒนาวัดบ้านไร่ด้วยการสร้างโบสถ์ไม้ สร้างโรงเรียน ขุดสระน้ำ ในการก่อสร้างท่านได้ร่วมมือร่วมแรงกับชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา
ขณะที่เข้าชมพร้อมกับรับฟังเรื่องราวของหลวงพ่อคูณจากมัคคุเทศก์ คุณจีรนันท์ได้ชี้ให้ดูแผ่นผ้าขนาดใหญ่ที่ห้อยลงมาจากบนหลังคา นั่นคือยันต์ของหลวงพ่อคูณในแบบต่างๆ ที่นำมาขยายให้ใหญ่ขึ้น และเมื่อแขวนไว้ในที่สูง สำหรับผู้เข้าชมจะรู้สึกถึงความขลังและความยิ่งใหญ่
ปัจจุบันสมณศักดิ์ของหลวงพ่อคูณคือ พระเทพวิทยาคม ซึ่งพัดยศของท่านได้มีจัดแสดงเอาไว้ในนี้ด้วย ถึงแม้ว่าศรัทธาของมหาชนจะทำให้วัดบ้านไร่ในวันนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก แต่หลักปฏิบัติของท่านยังเน้นที่ความสมถะเหมือนเช่นเดิม เงินที่มีคนนำมาถวายท่าน ท่านมักจะนำมาสร้างสาธารณกุศลอย่างต่อเนื่องเสมอมา ครั้งหนึ่งท่านได้นำเงินจำนวนหนึ่งร้อยล้านบาทถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านได้มอบกลับคืนเพื่อเป็นทุนอาหารกลางวัน นอกจากนี้ท่านยังสร้างสถานศึกษาให้กับเยาวชนในชุมชน บริจาคทางการแพทย์ และสร้างวัดในต่างประเทศ เป็นต้น
สำหรับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ อีกโซนหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ ส่วนจัดแสดงวัตถุมงคลรุ่นต่างๆของหลวงพ่อคูณ ส่วนนี้มีการจัดทำตู้ให้ลุ้นหยอดชิพ( 1 ชิพ เท่ากับ 50บาท) ว่าผู้หยอดจะได้บูชาเหรียญที่ระลึกในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นรุ่นไหน โดยจะเป็นชื่อของเหรียญดังทั้ง 10 รุ่นของท่าน รายได้จากส่วนนี้จะเป็นของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรุ่นดังที่หลายคนเพียรหยอดหลายครั้งเพื่อให้ได้มาก็คือรุ่นโคตรรวย
ด้วยความที่คุณจีรนันท์เป็นคนท้องถิ่นและคุ้นเคยกับที่นี่ ก่อนจะกลับออกไปจากพิพิธภัณฑ์ คุณจีรนันท์บอกว่าที่วัดบ้านไร่มีนกยูงอยู่หลายตัว โดยเขาจะชอบลงมาเดินในบริเวณสนามหน้าพิพิธภัณฑ์ บางทีก็จะเกาะบนกิ่งไม้ แล้วหลวงพ่อคูณท่านยังมีสัตว์เลี้ยงเป็นจระเข้ เมื่อก่อนนี้มี 2 ตัว ตอนนี้เหลือตัวเดียว ในอนาคตวัดบ้านไร่จะทำอุโมงค์ใต้น้ำ ซึ่งเราจะเห็นสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ และตัวหลวงพ่อคูณเองท่านก็ยังมุ่งมั่นในการนำเงินที่ผู้ศรัทธาบริจาค ไปสร้างสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเจตนารมย์ที่ท่านได้ทำอย่างต่อเนื่องเสมอมา
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 30 เดือนมกราคม พ.ศ.2553
ชอบ
|
แจ้งลบ
รีวิวพิพิธภัณฑ์นี้
ส่งให้เพื่อน
แก้ไขข้อมูลพิพิธภัณฑ์นี้
:
-
:
-
:
-
:
อังคาร-ศุกร์ เวลา 10.00-18.00น. เสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-19.00น. หยุดวันจันทร์
:
-
:
-
:
-
:
-
:
-
จัดการโดย :
-
เนื้อหา :
-
สถานะ :
อัพเดท
โหวต
77 คนโหวต
93.51 %
ชอบพิพิธภัณฑ์นี้ คุณล่ะ?
ผังจัดแสดง
ดูผังจัดแสดงทั้งหมด+
แผนที่
วีดีโอ
ดูวีดีโอทั้งหมด+
แผ่นพับ
ดูแผ่นพับทั้งหมด +
พิพิธภัณฑ์อื่นๆที่คุณอาจสนใจ
พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน
พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6
พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ดูทั้งหมด
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลอื่นๆของ ศมส.
จารึกวัดพระคำ
จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ ๔๙ (กลอักษรดอกไม้พวงคำน้อง)
โคกพลับ
ภูมิปัญญาในการดูแลครรภ์ของชาวอาข่ามิติทางสุขภาพหรือความอยู่รอด
ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวปกาเกอญอบ้านแม่หมีในหมู่ที่ 6 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
Tags
,
แฟนพิพิธภัณฑ์
ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
งานวิจัยทางชาติพันธุ์
จารึกในประเทศไทย
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
หนังสือเก่าชาวสยาม
ภาพยนตร์ชาติพันธุ์
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
เอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
รีวิวพิพิธภัณฑ์
เพิ่มพิพิธภัณฑ์ใหม่
พิพิธภัณฑ์วิทยา
บทความ
Blog
ข่าวพิพิธภัณฑ์
เทศกาลพิพิธภัณฑ์
เพื่อนพิพิธภัณฑ์
เกี่ยวกับเรา
ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
facebook
e-newsletter
ช่วยเหลือ
กฏกติกาและมารยาท
คำถามที่พบบ่อย
แนะนำและแจ้งปัญหา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail.
webmaster@sac.or.th
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549 | เงื่อนไขและข้อตกลง
Truehits.net