สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กะเลิง,ภูมิปัญญาพื้นบ้าน, การถ่ายทอดความรู้,การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ, สกลนคร
Author Chantachon, Songkoon
Title Indigenous knowledge edification of soil , water and forest resources among the Kaloeng ethnic group.
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity กะเลิง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) Total Pages 226 Year 2544
Source A thesis submitted for the degree of doctor of education (Environmental Education), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University, 2001.
Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้และการถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นที่บ้านในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงบ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร  

ในอดีตภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค กลุ่มมอญ-เขมร แต่ปัจจุบันใช้ภาษากลุ่มไท-ลาว มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อพยพเข้าสู่ประเทศไทยสำคัญ 2ครั้งคือ ในสมัยรัชกาลที่ 3เมื่อกองทัพไทยยกทัพเข้าตีลาวในศึกเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ.2367-2394และในสมัยรัชกาลที่ 5เมื่อกองทัพไทยเข้าปราบฮ่อในลาว พ.ศ.2426-2430 กะเลิงได้เข้าไปอาศัยอยู่ในเทือกเขาภูพานจังหวัดสกลนคร ใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบพึ่งพิงธรรมชาติ มีความเชื่อว่าผีดูแลทรัพยากรธรรมชาติและอาจลงโทษผู้ที่ล่วงเกินผี ขณะเดียวกันก็เชื่อในพุทธศาสนาด้วย 

กะเลิงมีองค์ความรู้ของภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้  ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการเก็บของป่าล่าสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การนำไม้จากป่ามาสร้างที่อยู่อาศัย การทำไร่หมุนเวียน การทำนา การทำฝายกั้นน้ำ และการจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำของชุมชน  ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้  กะเลิงบ้านกุดแฮดใช้ระบบย่อยของโครงสร้างสังคมที่มีหน้าที่ให้การถ่ายทอดโดยตรง ได้แก่ ระบบครอบครัวและเครือญาติ และใช้ระบบย่อยของโครงสร้างสังคมด้านอื่นช่วยให้การศึกษาโดยอ้อม 

สำหรับวิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้วิธีผ่านทางพิธีกรรม ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง  ผ่านหลักคำสอนในพุทธศาสนา ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์  ผ่านนิทานพื้นบ้าน ผ่านการลองผิดลองถูก  ผ่านจารีตกฎเกณฑ์ข้อห้าม และผ่านครูพักลักจำ  ซึ่งผลจากการถ่ายทอดทำให้เกิดการ อนุรักษ์และการอยู่ร่วมกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ของชุมชนอย่างยั่งยืน (บทคัดย่อ  หน้า V)

Focus

การถ่ายทอดภูมิปัญญา/ความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรดิน น้ำและป่าไม้ของกะเลิงบ้านกุดแฮด อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

Theoretical Issues

ไม่ชัดเจน

Ethnic Group in the Focus

กะเลิงบ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

Language and Linguistic Affiliations

ผู้เขียนกล่าวถึงภาษากะเลิงในแง่ภาษาศาสตร์สั้นๆ ว่า นักวิชาการชื่อ ชลีซิงเกอร์(Schliesinger)เห็นว่ากะเลิงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติค(Austro-Asiatic language) สาขาตระกูลมอญ –เขมร(Mon-Khmere family)  แต่จากคำกล่าวของเจ้าอาวาสวัดกุดแฮดบอกว่า กะเลิงใช้ภาษาถิ่นไทย-ลาว มาตั้งแต่บรรพบุรุษ   และจากการศึกษาของ เรืองเดช ปันเขื่อนขัด(Ruengdet Pankhuenkhat)และสุวิไล เปรมศรีรัด(Suvilai Premsrirat)เห็นว่าภาษากะเลิงอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได(Tai-Kadai) เช่นเดียวกับภาษาถิ่นไท-อีสาน (น.81-82)

Study Period (Data Collection)

ระหว่างเมษายน ค.ศ. 1999 –มีนาคม ค.ศ. 2000(น.67)

History of the Group and Community

ประวัติความเป็นมาของกะเลิงบ้านกุดแฮด  คนกะเลิงในอำเภอเมืองสกลนครและอำเภอกุดบากสืบเชื้อสายมาจากกะเลิงที่อพยพมาจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  การอพยพเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ผู้เขียนกล่าวถึงการอพยพใหญ่ 2 ครั้ง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 3ช่วงเหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์ และในสมัยรัชกาลที่ 5ช่วงเหตุการณ์สงครามฮ่อ ซึ่งระหว่าง พ.ศ.2426-2430 (ค.ศ.1883-1887) กลุ่มกะเลิงส่วนมากอพยพเข้ามาอยู่ที่สกลนคร  นอกจากนั้นก็อพยพไปอยู่ที่เมืองเรณูนคร และเมืองมุกดาหาร  พวกเขาตั้งบ้านเรือนทั้งในที่ราบและบนที่สูงในบริเวณเทือกเขาภูพาน (น.83-88)
   
กะเลิงบ้านกุดแฮดเล่าว่า พวกเขาอพยพมาจากเมืองมหาชัยกองแก้วและริมฝั่งแม่น้ำเซบั้งไฟ(Sebungfire River)ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสกลนครมีพระยาประจันตประเทศธานี(ง่อนคำ)(Ngon kum)เป็นเจ้าเมือง เมื่อแรกถึงพวกเขาพักอยู่ที่บ้านโพธิ์สามต้น(Ban Pho Sam Ton)หรือบ้านดอนเชียงบาน(Ban Don Chiang Ban)ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองสกลนคร ต่อมาพวกเขาเดินทางไปหาที่ดินเพาะปลูกบนเทือกเขาภูพาน  ตอนแรกพวกเขาอาศัยอยู่บริเวณห้วยกุดแก(Kut Kae Creek)บนภูพาน แต่เกิดการเจ็บป่วยบ่อย จึงพากันย้ายที่พักโดยแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 3 กลุ่ม  กลุ่มแรกพากันไปตั้งบ้านที่บ้านหนองไสน(Ban Nong Sanai)ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากห้วยกุดแก กลุ่มนี้มีเตชาลี(Toechalie)และเตบำรุง(Toebumrung)เป็นผู้นำ กลุ่มที่สองย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านโปนงาม(Ban Ponngarm) และกลุ่มที่สามไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านกุดแฮดซึ่งมีคนในสกุลสีมุกดา(Simukda)และชุ่มวงศ์ลา(Chumwongla)เป็นผู้นำ (น.90)      

Settlement Pattern

บ้านกุดแฮดเดิมชื่อ “บ้านกกปง”(Ban Kokpong) เพราะมีต้นปง(Pong trees) ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ในบริเวณนั้น ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกว่า “บ้านกุดแฮด”เพราะในบริเวณหมู่บ้านมีแรดจำนวนมากอาศัยอยู่ในหนองน้ำ (น.90)  กะเลิงบ้านกุดแฮดสร้างบ้านบนลาดเขา(น.104) พื้นที่ภายในบ้านแบ่งเป็น 2ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นห้องเล็กๆ เรียกว่า “ส้วม"”ซึ่งเป็นที่นอนของพ่อแม่ ลูกกับลูกสะใภ้ และส่วนที่เป็นโถงโล่ง (น.111)

Demography

จังหวัดสกลนครมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงอยู่มากในอำเภอกุดบาก และหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงจำนวนมาก ได้แก่   บ้านเบา(Ban Bau) บ้านหนองไสน(Ban Nong Sanai( บ้านโพนงาม(Ban Phonngarm) บ้านไคร้แก้ว(Ban Craikaew)  (น.88)
   
ปี พ.ศ.2543(ค.ศ.2000)  บ้านกุดแฮดมีจำนวนครัวเรือน 499ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมดมี  2,987คน เป็นชาย 1,509คน หญิง 1,478คน  ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง ในหมู่บ้านมีสกุลหลัก 3ตระกูล คือ ศรีมุกดา(Srimukda) ชุ่มวงศ์ลา(Chumwongla) และเตตูมพล(Toetoompol)  (น.104) 

Economy

การเพาะปลูก  กะเลิงบ้านกุดแฮดเพาะปลูกแบบโค่นถางเผาหมุนเวียน (rotation swidden agriculture) ที่ดินแต่ละแห่งใช้ปลูกพืชนาน 2-3 ปีก็ถูกละทิ้ง ปล่อยให้ว่าง  2-3 ปีกลายสภาพเป็นป่าอีกจึงกลับมาใช้ที่ดินแห่งนั้นเพาะปลูกอีก การตัดต้นไม้จะทำเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ ถ้าเป็นต้นไม้ขนาดกลางจะตัดโดยเหลือตอไว้ให้แตกกิ่งก้านได้ใหม่  ที่ดินที่จะเพาะปลูกต้องไม่มีต้นไม้ใหญ่มากเกินไป 

ลักษณะดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกมี  2 ชนิด คือ ชนิดแรกดินร่วนสีเหลือง (yellow and loosed soil) เหมาะกับพริก แตงโม ข้าวโพด ฟักทองและฝ้าย ชนิดที่สอง ดินดำ(black soil) ใช้ปลูกข้าวไร่ หวาย ถั่วลิสง ถั่วเขียว มะเขือ  และแตง  เมื่อเลือกที่ดินได้แล้ว จะต้องแจ้งให้ผู้นำชุมชนและขออนุญาตใช้ที่ดิน ต่อจากนั้นก็ให้หมอดูเสี่ยงทายว่าที่ดินแห่งนั้นดีหรือไม่  ถ้าไม่ดีก็หาที่แห่งใหม่ และแม้หมอดูจะบอกว่าดี  ชาวบ้านก็จะรอดูความฝันก่อน 2-3วัน ถ้าฝันเห็นการต่อสู้ ไฟไหม้ ได้รับบาดเจ็บพวกเขาก็จะละทิ้งที่ดินนั้น แล้วไปเลือกที่ดินแห่งใหม่ แต่ถ้าฝันเห็น
หญิงสาว วัวควาย ปลาหรือน้ำ แสดงว่าที่ดินแห่งนั้นดี (น.174-175) การเลือกที่ดินจะเริ่มในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ตัดถางต้นไม้เดือนมีนาคม และเผาไม้และต้นหญ้าเดือนเมษายน  เพาะปลูกเดือนพฤษภาคม  กำจัดวัชพืชอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม (น.176-178)
     
แต่เดิมชาวบ้านปลูกข้าว 2แบบ คือ ข้าวในที่ต่ำและ   truck farming rice  (น.96)  ต่อมาในช่วง”ป่าเปิด”ชาวบ้านพึ่งพาตลาดมากขึ้น ทำให้เปลี่ยนการปลูกข้าวจากปลูกบนที่สูงมาเป็นปลูกข้าวในนา(rice fields) รวมทั้งพันธุ์ข้าวที่ปลูกก็เปลี่ยนไปด้วย โดยในปี พ.ศ.2518(ค.ศ.1975) เปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ปลูกจากข้าวเหนียวพันธุ์ท้องถิ่นมาเป็นพันธุ์ ก.ข.   ต่อมาปี พ.ศ.2520(ค.ศ.1977) หันมาปลูกข้าวหอมมะลิแทนข้าวพันธุ์”สันป่าตอง”ที่รัฐบาลแจกเมื่อปี พ.ศ.2514 (ค.ศ.1971) นอกจากนั้นชาวบ้านยังหันมาปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าวด้วย เช่น
ปอกะเจา มันสำปะหลัง ฝ้าย งา ข้าวโพด หวาย (น.101)  
 
พันธุ์ข้าว  เมื่อก่อนข้าวเหนียวที่ชาวบ้านปลูกมีหลายสายพันธุ์ แบ่งตามระยะเวลาการเจริญเติบโตได้ดังนี้ 

1.พันธุ์โตเร็ว เรียกว่า “ข้าวดอ”(Khao Do) ระยะเวลาปลูก 3เดือน เริ่มปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เก็บเกี่ยวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปลูกบนที่สูง ขาดแคลนน้ำ  ได้แก่สายพันธุ์
“ข้าวขี้ต้มขาว”(Khao Khi Tom Khao)  “ข้าวโป่งแอว”(Khao Pong Aew) “ข้าวแดงเตี้ย”(Khao Dang Tia)  และ“ข้าวอีโขน้อย”(Khao E-Khou Noi)

2.พันธุ์โตปานกลาง ระยะเวลาการปลูก  4เดือน เริ่มปลูกเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปลูกในที่ราบ  ได้แก่สายพันธุ์ “Hau Pla Khaw”

3.พันธุ์โตช้า ชาวบ้านเรียก “ข้าวงุน”(Khao-Ngun) ระยะเวลาการปลูกนาน 6เดือน  เริ่มปลูกเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปลูกในที่ลุ่มมีน้ำมาก  สายพันธุ์ที่ปลูกได้แก่ “ข้าวแม่หาง”(KhaoMae Hang)  “ข้าวลอเกวียน”(Khao Lo Kwian)  “ข้าวขี้ต้มหลอง”(Khao Khi Tom Laung) “ข้าวเจ้าแดง”(Khao Chao Dang) “ข้าวสันป่าตอง”(Khao San Pa Tong)  “ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6”(Khao Ko Kho 6) และ“ข้าวหอมมะลิ”(Juamine rice) ซึ่งได้รับพันธุ์จากรัฐในปี พ.ศ. 2520(ค.ศ.1977) (น.181-183)
 
เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านจะคัดเลือกเมล็ดข้าวและเก็บไว้ทำพันธุ์เอง พร้อมทั้งคอยตรวจดูคุณภาพทุกปี ข้าวแต่ละสายพันธุ์ใช้เวลาการเติบโตต่างกัน ชาวบ้านจึงมีข้าวบริโภคเพียงพอทั้งปี และถ้ามีข้าวมากเหลือกิน พวกเขาก็จะนำออกมาขาย  แต่การที่รัฐบาลนำพันธุ์ข้าวใหม่ๆมาแจก และชาวบ้านก็ชอบพันธุ์ข้าวเหล่านี้ ทำให้พันธุ์ข้าวท้องถิ่นหายไป พร้อมกันนั้นความรู้ในการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวของชาวบ้านก็หายไปด้วย (น.185)
 
ปัจจุบัน ข้าวไร่ข้าวเหนียวที่ปลูกในบ้านกุดแฮดมี  3 สายพันธุ์ คือ ข้าวหมากฝ้าย(Khao Mak Fai)ระยะปลูก 2เดือน ให้ผลผลิตต่อไร่สูง  ข้าวอีบูดอ(Khao E-Bu-Do)ระยะปลูก 2เดือน ให้ผลผลิตต่อไร่ปานกลาง  และข้าวอีบูงุน(Khao E-Bu-Ngun)ระยะปลูก 2เดือน ให้ผลผลิตต่อไร่ปานกลาง (น.178-179)
 
การเลี้ยงสัตว์  วัวควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่สำคัญของชาวบ้าน  ในช่วงฤดูฝนเดือนมิถุนายน พวกผู้ชายจะต้อนฝูงวัวควายขึ้นไปเลี้ยงบนภูเขา และเฝ้าฝูงวัวควายอยู่บนเขาโดยสร้างกระท่อม เรียกว่า “ตูบ”หรือ “ทับควาย”เป็นที่พัก กระท่อมนี้จะต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ มีที่ว่างใกล้กระท่อมสำหรับฝูงสัตว์พัก และมีพื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัวด้วย 

ตูบหลังหนึ่งจะมีคนอยู่ 4-10คน และมีอายุการใช้งานประมาณ 10ปี ตูบและหลังจะอยู่ไม่ห่างกันนักประมาณ 100-500เมตร เพื่อว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือกันได้  เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนช่วงเกี่ยวข้าวและเป็นช่วงที่น้ำบนภูเขาขาดแคลน ชาวบ้านก็จะต้อนฝูงวัวควายลงมาเลี้ยงในทุ่งนา จนกระทั่งเดือนมิถุนายนก็จะพาฝูงสัตว์กลับขึ้นไปบนภูเขาอีก (น.152-153)
 
ผู้เขียนเห็นว่า “ตูบ”หรือ”ทับควาย”นอกจากเป็นที่พักอาศัยแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การดำเนินชีวิตในป่า การสร้างกระท่อม การทำเครื่องเพาะปลูก งานช่างฝีมือ
การเลี้ยงสัตว์และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผี (น.216,221)
 
การล่าสัตว์  กะเลิงบ้านกุดแฮดล่าสัตว์ทั้งแบบคนเดียวและแบบกลุ่ม การล่าแบบคนเดียวใช้ปืนหรือกับดักสัตว์ ส่วนการล่าแบบกลุ่มมีวิธีล่า 2วิธี
 
วิธีแรก “โห่”(booing) จะแบ่งคนออกเป็น 3กลุ่ม แต่ละกลุ่มทำหน้าที่ต่างกัน กลุ่มแรก ดักซุ่มยิง คนในกลุ่มนี้ต้องมีประสบการณ์การใช้ปืน กลุ่มที่สอง ตามรอยสัตว์  กลุ่มนี้มีคนประมาณ 3-7คน และต้องมีประสบการณ์ กลุ่มที่สาม ล้อมวงต้อนสัตว์ มีคนประมาณ 20-30คน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ (น.148-150)
วิธีที่สอง “โป”(“Po”)  วิธีนี้คล้ายกับวิธี”โห่”แต่ใช้ตาข่ายดักสัตว์แทนปืน เมื่อสัตว์เข้าไปในตาข่ายก็ใช้หอกแทง (น.151)
 
การล่าสัตว์แบบกลุ่มนี้เมื่อได้สัตว์แล้วจะต้องแบ่งสันปันส่วนกัน ซึ่งกำหนดไว้ตามหน้าที่ในกลุ่ม เช่น คนที่ยิงสัตว์ได้เป็นคนแรกจะได้ส่วนที่ดีที่สุด เช่น หัว เครื่องในและขาหลัง  คนที่ยิงสัตว์ต่อจากคนแรกจะได้เนื้อส่วนนอกรอบกระดูกสันหลัง  คนที่พบรอยสัตว์และตามรอยจนรู้ที่ซ่อนจะได้เนื้อส่วนในรอบกระดูกสันหลัง คนที่ตามรอยสัตว์และทำให้มันตกใจจนออกมาจะได้เนื้อรอบคอ เป็นต้น (น.150-151)
 
ที่ดิน   ในอดีต ชาวบ้านใช้ที่ดินเพียงแค่เพาะปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน และการโค่นถางป่าเพื่อใช้ที่ดินเพาะปลูกก็อยู่ในการดูแลของผู้นำชุมชน(น.97) ทั้งนี้ในช่วง”ป่าเปิด”ครอบครัวที่มาสมาชิก 4-5คน ครอบครองที่ดิน 1-2ไร่ หรือไม่เกิน 4-5ไร่ ครอบครัวที่มีสมาชิก 4-10คน ครอบครองที่ดิน 10-15ไร่ หรือ สูงสุด 30 ไร่ (น.104,174) 
 
ป่าไม้  ในอดีตการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิชุมชน ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและรับผิดชอบทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ.2449 (ค.ศ.1906) เมื่ออธิบดีคนแรกของกรมป่าไม้เสนอให้ป่าไม้ทั้งหมดเป็นของรัฐ ในปี พ.ศ.2511(ค.ศ.1968) ป่าภูพานถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ  และต่อมาในปี พ.ศ.2516(ค.ศ.1973) รัฐบาลได้ให้สัมปทานป่าไม้แก่บริษัท แต่พื้นที่สัมปทานบางแห่งถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.2520(ค.ศ.1977) ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย  ป่าไม้ในบริเวณบ้านกุดแฮดจึงยังคงอยู่(น.100-101) และปัจจุบัน ป่าไม้ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนบ้านกุดแฮด  หมู่บ้านมีพื้นที่หลายแห่งจัดเป็นป่าชุมชนของหมู่บ้าน  ได้แก่

1.ป่าช้า มีพ้นที่ประมาณ 55ไร่ มีต้นไม้ใหญ่หลายชนิด ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านปลูกไว้ ณ. บริเวณเชิงตะกอนหลังจากเผาศพแล้ว เพื่อบ่งบอกสถานที่ฝังกระดูกคนตาย การนำไม้จากป่าช้ามาใช้ จะอนุญาตเฉพาะการใช้เพื่อส่วนรวม เช่น ตัดไม้มาสร้างศาลาวัด ซึ่งชาวบ้านจะประชุมกันก่อน  ปัจจุบันบ้านกุดแฮดได้จัดระเบียบการใช้พื้นที่ป่าช้าใหม่ ได้แก่  กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับเผาศพ กำหนดพื้นที่สำหรับปลูกพืชสมุนไพรและพืชพื้นบ้านที่กำลังจะสูญพันธุ์ (น.137-138)
2.ดอนปู่ตา  ชาวบ้านเรียกว่า “ดอนโห”(Don Ho) มีพื้นที่ประมาณ 35ไร่  มีต้นไม้ใหญ่หลายชนิด เช่น ต้นยาง ต้นกระบก ต้นกระบาก ต้นมะไฟ นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ระดับต่ำ เช่น เถาวัลย์ ไผ่และต้นหญ้าด้วย  พื้นที่ในบริเวณดอนปู่ตาห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามล่าสัตว์ทุกชนิด ห้ามทิ้งขยะ  ห้ามทำผิดประเวณี  ห้ามทะเลาะเบาะแว้งและส่งเสียงดัง  ส่วนกิจกรรมที่อนุญาตให้ทำได้ในป่าดอนปู่ตา ได้แก่ เก็บกิ่งไม้ต้นไม้แห้งไปเป็นฟืนทำอาหาร  เก็บหาของป่า เช่น เห็ด ผลไม้ป่า  นำวัวควายเข้าไปเลี้ยง เก็บสมุนไพรรักษาคนเจ็บแต่ห้ามนำไปขาย (น.138-140)   
3.ป่าเสื่อมโทรม  สภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500เมตร มีพื้นที่ประมาณ 500ไร่ ชาวบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และจับแมลงมาบริโภค  ใช้เป็นที่เผาถ่าน และทิ้งสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรม ปัจจุบันชาวบ้านกำลังพิจารณาปลูกต้นไม้ในบริเวณนี้ (น.143)  
4. พื้นที่ป่าในวัด ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณวัดบ้านกุดแฮด และในบริเวณสำนักสงฆ์ด่านหลวงภาวนา  วัดบ้านกุดแฮดมีพื้นที่ 8ไร่  ส่วนใหญ่ใช้ปลูกสร้างอาคาร  ต้นไม้ในบริเวณวัดใช้ให้ร่มเงาเท่านั้น  ส่วนสำนักสงฆ์  มีพื้นที่ป่าประมาณ 400ไร่  ห้ามชาวบ้านตัดด้นไม้ หาของป่าและล่าสัตว์   (น.143-144)

การตัดไม้ในป่ามาสร้างบ้านจะต้องแจ้งให้ผู้นำชุมชนทราบก่อน และต้องทำพิธีไหว้ผีก่อนตัดไม้ ไม้ที่ใช้สร้างบ้านมีหลายชนิด แต่ละชนิดใช้ต่างกัน เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ใช้ทำเสาเรือน ไม้ตะเคียนหิน ไม้แดง ไม้ตะแบกใหญ่ ไม้ยาง ไม้พะยูงใช้ทำพื้นกระดาน ไม้ตะเคียนหิน ไม้แดง ไม้ยางใช้ทำฝาบ้าน  และต้นไม้ที่จะตัดนำมาสร้างบ้านจะต้องไม่มีลักษณะต่อไปนี้ 

-มีกิ่งแห้งแยกจากลำต้นสูงไม่ถึง 6เมตร เชื่อว่าถ้านำไปสร้างบ้านจะมีคนตายในบ้าน
-มีเถาวัลย์พันลำต้นโดยเชื่อว่าถ้าใช้สร้างบ้าน เจ้าของบ้านจะมีภาระมาก
-ลำต้นแยกเป็นสองง่ามสูงจากพื้นดินเล็กน้อย ดูเหมือนคนจึงไม่นำมาสร้างบ้าน
-ใกล้โคนต้นมีกิ่งแยกหลายกิ่งคล้ายส้อม ชาวบ้านเชื่อว่าเหมือนคนตายยืนอยู่
-ต้นไม้ที่โตบนจอมปลวกหรือรังมด  เพราะเชื่อว่าปลวกและมดอาจทำให้เจ็บป่วยได้
-ต้นไม้ที่มีรังผึ้ง และต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า เพราะเชื่อว่าอาจทำให้คนในบ้านเจ็บป่วย (น.164-167)
 
แหล่งน้ำ  บ้านกุดแฮดมีทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น แหล่งน้ำธรรมชาติมีลำห้วยหลักสองสายคือ ห้วยอีดอนกับห้วยแม่เรา และมีหนองน้ำหลายแห่ง ได้แก่ กุดยาง (Kut Yang)  บึงแพ (Bung Phae) กุดแฮด(Gut haet) กุดยาว(Kut yaow) หนองกระดาน(Nong Kra Darn) หนองสองห้าง(Nong Song Hang) กุดน้ำขุ่น(Kut Nam Khun) และกุดสมหอง(Kut Som Hong)  (น.95-96)  ส่วนฝายเก็บน้ำที่สร้างขึ้น ได้แก่  ฝายเก็บน้ำกกภู 2(Kok Phu 2 rater resevior) เป็นฝายเก็บน้ำขนาดใหญ่สร้างบนห้วยคำปม(Huay Kham Pom)  กว้าง 600เมตร ยาว 2กิโลเมตร  ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 1,500ไร่  แต่มีเพียง 1,000ไร่ ที่เพาะปลูกได้ผลดี (น.96)

ต่อมา ปี พ.ศ.2537(ค.ศ.1994)หมู่บ้านได้รับงบประมาณสนับสนุนการสร้างฝายเก็บน้ำคอนกรีตบนลำห้วย 3สาย  ได้แก่
1.ฝายเก็บน้ำที่ห้วยแหลง(Huay Laeng) จำนวน 3 แห่ง มีครัวเรือนที่ใช้น้ำมี 55ครัวเรือน
2.ฝายเก็บน้ำที่ห้วยแม่เรา สำหรับทำการเกษตรในฤดูฝน มีจำนวนครัวเรือนที่ใช้น้ำ 75ครัวเรือน 
3.ฝายเก็บน้ำซึ่งสร้าง ณ บริเวณที่ห้วยอีดอนและห้วยแม่เรามาบรรจบกัน ใช้เก็บกักน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้ง  (น.189)

Social Organization

ไม่มีรายละเอียด กล่าวสั้นๆเพียงว่า ในหมู่บ้านมี 3 ตระกูลหลัก คือ ศรีมุกดา(Srimukda) ชุ่มวงศ์ลา (Chumwongla) และเตตูมพล(Toetoompol) แต่ละตระกูลไม่มีความขัดแย้งรุนแรง  มีการแต่งงานระหว่างตระกูลและในตระกูลเดียวกัน(น. 104,212)    

Political Organization

ผู้นำชุมชน ในอดีตผู้นำซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านเชื่อฟังและนับถือ  มีบทบาทหน้าที่สำคัญคือ จัดการดูแลการใช้ที่ดินของชาวบ้านและแบ่งที่ดินบนภูเขาภูพานให้แก่ครอบครัวหลักหรือกลุ่มผู้นำ แล้วเพื่อให้กลุ่มผู้นำเหล่านี้ดูแลรักษาป่า ชาวบ้านคนใดจะตัดไม้หรือทำกิจกรรมใดๆในป่าต้องขออนุญาตผู้นำก่อน (น.97) ปัจจุบัน บ้านกุดแฮดแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 หมู่  ได้แก่ หมู่ 4และหมู่ 7 มีถนนหมายเลข 2218กั้นกลางระหว่างหมู่บ้านทั้งสอง (น.91)  ในช่วงที่เก็บข้อมูลปี พ.ศ.2543(ค.ศ.2000) บ้านกุดแฮด หมู่ 4มีนายสง่า จุมวงศ์(Sanga Jumwongla) เป็นผู้ใหญ่บ้าน และหมู่ 7มีนายทองธานี จุมวงศ์ลา(Tongtanee Jumwongla) เป็นผู้ใหญ่บ้าน (น.104-105) 

Belief System

ความเชื่อเรื่องผี  ปัจจุบันกะเลิงบ้านกุดแฮดนับถือพุทธศาสนา มีทั้งวัดของหมู่บ้านและสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านก็ยังนับถือผี และการประกอบพิธีตามความเชื่อดั้งเดิมอยู่ ความเชื่อ “ผี”นี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน พวกเขาเชื่อว่าผีคอยดูแลทรัพยากรธรรมชาติและมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถทำอันตรายคนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยปราศจากการเคารพ (น.218-219) ผีสำคัญในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเคารพ ได้แก่
1.ผีปู่ตา  เป็นผีบรรพบรุษหรือผีผู้นำต้นตระกูลที่ดูแลปกป้องหมู่บ้าน  ชาวบ้านสร้างศาลหรือหอปู่ตาในป่าให้เป็นที่อยู่ของผีปู่ตา และเรียกบริเวณที่ตั้งศาลว่า “ดอนปู่ตา”  บ้านกุดแฮดมีหอปู่ตา 2หลัง คือ หอเจ้าปู่สุวรรณซึ่งเป็นเจ้าเมืองมหาชัยกองแก้วหลังหนึ่ง กับหอนางแพงศรีแพงเมืองซึ่งเป็นญาติของเจ้าปู่อีกหลังหนึ่ง ชาวบ้านจะทำพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ตาทุกปีในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เพื่อขอให้ผีปู่ตาปกป้องคุ้มครองพวกเขาและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งทรัพย์สินและพืชผล นอกจากนี้ถ้ามีคนเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือไปอยู่ที่อื่นและมีการแต่งงานก็ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ตา(น.107-108)  

ในการติดต่อกับผีปู่ตาจะมีคนกลางทำหน้าที่ เรียกว่า ท้าวจ้ำหรือขะจ้ำ(Thaw cum or kacum) เป็นผู้ทำพิธีเซ่นไหว้ติดต่อกับผีปู่ตา  ท้าวจ้ำได้รับเลือกมาจากครอบครัวที่เคยเป็นจ้ำมาก่อน และต้องเป็นคนที่ผีปู่ตาหรือผีมเหสักข์ชอบด้วย มิฉะนั้นจะเกิดภัยพิบัติ เช่น มีคนตายจำนวนมาก เกิดโรคระบาด ไฟไหม้วัดและตลาดชุมชน  ท้าวจ้ำได้รับความเคารพจากชาวบ้าน นอกจากประกอบพิธีกรรมแล้วแล้วยังมีบทบาทในการปกครองหมู่บ้านด้วย (น.108-110)
 
2.ผีเรือนหรือผีแจ เป็นผีพ่อแม่หรือบรรพบุรุษที่ดูแลปกป้องลูกหลานของตน กะเลิงบ้านกุดแฮดเชื่อว่า ณ มุมห้องโถงด้านซ้ายมีผีเรือนอยู่  พวกเขาต้องตกแต่งหิ้ง จัดขัน 5หรือขัน 8ไหว้ผีเรือนที่ด้านขวาของห้องในวันขึ้น 15ค่ำและเมื่อมีงานในหมู่บ้าน เช่น พิธีแต่งงาน  ผู้ทำพิธีไหว้ผีเรือนต้องเป็นผู้มีอายุมากที่สุดในครอบครัวหรือสายตระกูล  กะเลิงห้ามคนภายนอกที่ไม่ใช่ลูกหลานของผีพักอาศัยในห้องนี้ ถ้าละเมิดข้อห้าม จะเกิดเหตุร้ายกับสมาชิกในบ้าน(น.111-112)

3.ผีเจ้ากุดเจ้าภู คือผีที่อยู่ในธรรมชาติที่เป็นหนองน้ำ ลำห้วย และภูเขา เช่น  เจ้ากุดแฮดเป็นผีที่อยู่ในกุดแฮด  เจ้าภูหมากแงวเป็นผีที่อยู่ภูหมากแงว เป็นต้น ผีเจ้ากุดเจ้าภูเหล่านี้ดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำและป่า การติดต่อกับผีเจ้ากุดเจ้าภู ชาวบ้านต้องทำด้วยตนเองโดยการเซ่นไหว้หรือบอกกล่าว ณ บริเวณริมตลิ่ง ใต้ต้นไม้ ที่หน้าผา หรือที่อื่นๆตามสถานการณ์ (น.112-113)
   
ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่ออยู่ในป่าพวกเขาต้องปฏิบัติตนดังนี้ ห้ามด่านินทาสาปแช่งคนและผี แต่อนุญาตให้พูดเป็นคำกลอนหยาบคายที่ผีชอบได้ ห้ามพูดถึงการทำบุญใดในพุทธศาสนา ควรเซ่นไหว้ผี และก่อนกินอาหารทุกครั้งต้องเซ่นไหว้ผีก่อนก้วยข้าวเหนียว 2-3ก้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผีทำอันตราย (น.146-148)  
  
4.ผีตาแฮก เป็นผีไร่นาคอยดูแลปกป้องนาข้าวและช่วยให้ปลูกข้าวได้ผลดี  ประมาณเดือนพฤษภาคมก่อนไถนา หัวหน้าครอบครัวจะทำพิธีเซ่นไหว้บอกกล่าวผีตาแฮก ด้วยของหวานหนึ่งชุด หลังจากนั้นก็จะนำต้นกล้าข้าวมาทำพิธีขอให้ผีตาแฮกช่วยให้ได้ผลผลิตดี  เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนก็จะทำพิธีไหว้ผีอีกครั้งหนึ่ง (น.113-114,182)
  
5.ผีร้าย  เป็นผีที่ไม่มีที่อยู่แน่นอน  จะทำร้ายคนเมื่อมีโอกาส คนกะเลิงเชื่อว่าผีร้ายเหล่านี้มาจากคนที่เล่นคุณไสยมนต์ดำแล้วละเมิดประพฤติผิดข้อห้าม ทำให้ควบคุมผีไม่ได้ ผีเหล่านี้จึงทำร้ายทุกคน  (น.114)
 
ชาวบ้านเชื่อว่า วิธีที่ผีติดต่อกับคนมีหลายวิธี เช่น  ทำให้เจ็บป่วย  เข้าสิงในตัวคน เช่น ผีปอบ  เข้าฝัน  ผีปู่ตาติดต่อผ่านคะจ้ำ(khacam)  ติดต่อผ่านหมอเหยา(Mo Yao) (น.132)
  
เทศกาลงานบุญ  กะเลิงบ้านกุดแฮดมีงานบุญที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นประเพณีงานบุญประจำปีที่เรียกว่า “ฮีตสิบสอง”ได้แก่  

1.บุญพระเวส ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน งานบุญพระเวสจัด 3ปีติดต่อกัน หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นงานบุญอื่น แล้วจึงกลับมาจัดงานบุญพระเวส ดังนี้
ปีที่  1-3  บุญพระเวส
ปีที่   4    บุญจักพราหมณ์(Bun Jak Brahman) จัดในเดือนพฤษภาคม เพื่ออุทิศให้พราหมณ์ชูชกในชาดกพระเวสสันดร
ปีที่  5-6  บุญเถราภิเษก(Bun Theraphisek)  เป็นการสรงน้ำพระ ซึ่งเรียกว่า “บุญฮดสงฆ์”จัดในเดือนพฤษภาคมเพื่อขอขมาและแสดงความเคารพพระสงฆ์
 
2.บุญสรงน้ำตุมพวง (Bun Song Nam Tum Paung) เดือนพฤษภาคมหรือเดือน 6  ตุมพวงเป็นถ้ำบนเขาภูพานที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์
   
3.บุญเข้าพรรษา เดือน 8 กรกฎาคม
   
4.บุญข้าวประดับดิน จัดในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิงหาคมเป็นการทำบุญให้คนตายเพื่อ แสดงการขอบคุณบรรพบุรุษ
     
5.บุญข้าวสาก  วันขึ้น 15ค่ำเดือน 10 หรือเดือนสิงหาคม  ทำบุญอุทิศให้ผีในธรรมชาติที่ปกป่องดูแลทรัพยากรดิน น้ำและป่า
     
6.บุญออกพรรษา  วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11หรือ ตุลาคม
     
7.บุญกฐิน  เดือน 12 หรือเดือนพฤศจิกายน 
 

วัด  
วัดกุดแฮดเป็นวัดของหมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่  พระครูอุดมวิริยะกิจ (อุตโม) เป็นเจ้าอาวาสวัด และเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอกุดบาก  พระครูอุดมวิริยะกิจเกิดในหมู่บ้านมาจากตระกูล “สีมุกดา”(น.115)
 
พิธีศพ  ชาวบ้านนำศพคนตายไปเผาที่ป่าช้า มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี เมื่อเผาเสร็จแล้ว ก็สร้างหลังคาคลุมเชิงตะกอนและปลูกต้นไม้ไว้ใกล้ๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายว่ามีกระดูกคนตายที่เผาแล้วฝังอยู่  ถ้าเจ็บป่วยตาย หลังจากเผาแล้วหนึ่งปีจึงทำพิธีเก็บกระดูก แต่ในกรณีที่ตายเนื่องจากอุบัติเหตุ จะทำพิธีเก็บกระดูกหลังจากเผาแล้ว 3-5ปี (น.137)

Education and Socialization

การถ่ายทอดความรู้  ผู้เขียนกล่าวว่า การถ่ายทอดความรู้/ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำและป่า มีทั้งการถ่ายทอดโดยตรงจากครอบครัว เครือญาติที่เป็นการเรียนรู้และการปฏิบัติจริง และการถ่ายทอดโดยอ้อมที่เป็นกิจกรรมและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ (น.211-224) 

Health and Medicine

หมอพื้นบ้าน กะเลิงบ้านกุดแฮดเชื่อว่า การเจ็บป่วยเกิดจากผีและเชื้อโรค  เมื่อเจ็บป่วยพวกเขาจะให้หมอพื้นบ้านรักษาก่อน ถ้ายังไม่ดีขึ้นจึงไปหาแพทย์สมัยใหม่  การรักษาโดยหมอพื้นบ้านมีหลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีหมอเฉพาะทาง
    
หมอเหยา (Mo Yao) แม่หมอหรือแม่ครูที่รักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากผีเรียกว่า “หมอเหยา” หมอเหยามีผี 2ตนคอยช่วยเหลือในการรักษา ได้แก่ ผีน้ำและผีฟ้า บางครั้งก็เรียกว่า “ผีฟ้าเทวดา”หมอเหยามีข้อห้ามที่ต้องปฏิบัติ คือ ไม่กินเนื้อช้าง ม้า เสือ ลิง สุนัขและงู และไม่กินอาหารในบ้านที่มีงานศพ  คนเจ็บที่แม่ครูรักษาแล้วอาการดีขึ้นเรียกว่า “ลูกแก้ว” และลูกแก้ว บางคนชอบการรักษาแบบนี้ก็เข้ารับการฝึกจากแม่ครูแล้วกลายมาเป็นหมอเหยาในเวลาต่อมา  (น.123-125)
    
หมอโม (Mo Mo) เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยจะไปหาหมอโมเป็นแรก หมอโมไม่ได้มีบทบาทรักษาคนเจ็บโดยตรง แต่ทำหน้าที่เป็นผู้เสี่ยงทาย(fortune teller) หาสาเหตุการเจ็บป่วยว่าเกิดจากผีหรือไม่โดยใช้วิธีเสี่ยงทาย  การเสี่ยงทายมี 3 วิธีและเรียกขานผู้เสี่ยงทายตามวิธีที่ใช้ ดังนี้  หมอเสี่ยงวา(Mo Siang Wah)ซึ่งใช้ไม้วัดความยาวเป็นวา  หมอหักไม้ (mo Hug Mai) และหมอเสี่ยงปอกปูน(Mo Siang Pog Poon)  หมอโมมีข้อห้ามในการกินคือ  ห้ามกินเนื้อ 10ชนิด ได้แก่ เนื้อคน เนื้อเสือ เนื้อช้าง เนื้อสิงโต เนื้อสุนัข เนื้อแมว เนื้องู เนื้อหมี เนื้อชะนี และเนื้อลิง (น. 125-126)
    
หมอสู่ขวัญ(Mo Soo Kwun)  ชาวบ้านเรียกว่า “หมอสูด”(Mo Sood) หลังจากหมอโมทำนายว่า มีสิ่งไม่ดีหรือโชคร้าย ก็จะบอกชาวบ้านให้ไปหาหมอสูดเพื่อให้ทำพิธีขจัดสิ่งไม่ดีออกไป สิ่งที่แสดงว่าไม่ดี เช่น ผีบรรพบุรุษมาเข้าฝันชวนให้ไปด้วย ข้าวเหนียวนึ่งและสาโทที่ทำมีสีเลือด  สัตว์บางชนิด เช่น นกเค้าแมว งู เข้าบ้าน ผึ้งทำรังในบ้าน ฟ้าผ่าบ้านหรือต้นไม้ ไม่สบายแล้วทำนายว่าเกิดจากผีห้วยผีหนองน้ำ หมอสูดต้องยึดถือข้อบังคับดังนี้ ห้ามกินเนื้อสัตว์ 10ชนิด ต้องถือศีลแปด ห้ามรับเงินจากการรักษาเกินกำหนด ห้ามลอดรั้วหรือราวผ้าและห้ามกินอาหารในบ้านที่มีงานศพ(น.126-127)
 
หมอเป่า(Mo Paw)  ชาวบ้านจะไปพบหมอเป่าตามคำบอกของหมอโม  ซึ่งรักษาโดยเป่ามนต์เข้าไปในตัวคนเจ็บ  (น.128-129)
    
หมอสมุนไพร ชาวบ้านเรียกว่า “หมอยา”  รักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผีโดยใช้ยา   ผู้ที่จะเป็นหมอสมุนไพรต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ต้องถือศีลห้าและพักอยู่กับครู 1-2ปี เพื่อเรียนรู้และฝึกฝน (น.129-132)
   
หมอธรรม (Mo Tham or Mo Dharm) มีหน้าที่ปกป้องชาวบ้านจากผีร้าย รักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากผีไร่ โดยใช้ธรรมะของพุทธศาสนา  หมอธรรมต้อถือศีลห้าเคร่งครัด(น.132-133)
   
หมอตำแย  มีบทบาทสำคัญและได้รับความนับถือจากชาวบ้าน เมื่อเด็กเกิดจะทำพิธีเป่ามนต์ที่เรียกว่า “คาถาลอดพง”(Katha Lodpong)ให้เด็กเพื่อปกป้องและขับไล่ผีไพร(Phi Prai) เด็กจะนับถือหมอตำแยเป็นแม่คนที่สอง  ปัจจุบันนอกจากความรู้พื้นบ้านแล้ว หมอตำแยยังด้รับการอบรมความรู้สมัยใหม่ด้วย (น.133-135)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงชุมชน  ในการศึกษานี้ผู้เขียนให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านในแง่สภาพทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ โดยแบ่งการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านออกเป็น 3ช่วง ดังนี้
      
ช่วงแรก ตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านจนถึงปี พ.ศ.2508 (ค.ศ.1965) ตั้งแต่กะเลิงมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านกุดแฮดจนถึงพ.ศ.2508 สภาพหมู่บ้านมีลักษณะเป็นช่วง”หมู่บ้านป่าไม้”(Forest village age) ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้นานาพันธุ์ มีสัตว์จำนวนมากสำหรับยังชีพ มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์สำหรับเพาะปลูก (น.92-95) 
   
ช่วงที่สอง ระหว่าง พ.ศ.2508-2525(ค.ศ.1965-1982) เป็นช่วง “ป่าเปิด”(Opened forest age) ในช่วงนี้เหตุการณ์ณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน พ.ศ.2508 ขบวนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์บนภูเขาภูพานทำให้กองทัพประกาศให้ป่าทุกผืนบนภูพานเป็นเขตความมั่นคง ห้ามทุกคนตัดไม้หรือเข้าไปทำกิจกรรมใดๆในป่า การปรากฏตัวของคอมมิวนิสต์ที่บ้านกุดแฮดทำให้ชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป  เนื่องจากขณะที่คอมมิวนิสต์พยายามสร้างมิตรภาพกับชาวบ้านและใช้วัดเป็นที่พบปะชุมนุม กองทัพก็มองว่าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกทหารหรือตำรวจจับลงโทษ บางครั้งก็ถูกฆ่าด้วยข้อกล่าวหาว่าให้ความร่วมมือกับคอมมิวนิสต์  ชาวบ้านจึงกลัวภัยทั้งจากคอมมิวนิสต์และทหาร พวกเขาต้องระวังการพูดจาเพราะสงสัยว่าในหมู่พวกเขามีสายลับ  และทหารยังห้ามพวกเขาเพาะปลูกบนเขตภูเขาภูพานด้วยเกรงว่าชาวบ้านจะส่งอาหารให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้นกิจกรรมอื่นๆก็ยังถูกห้าม เช่น เข่นฝ้าย ทอฝ้าย โม่แป้ง พ่อค้าที่เคยเข้ามาในหมู่บ้านก็เลิกมา (น.98-100) ในช่วงนี้ชาวบ้านปลูกพืชเพื่อขาย พวกต้องจ้างแรงงาน ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเพื่อการผลิต พวกเขาซื่อสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน  รายได้ของชาวบ้านมาจากการรับจ้างแรงงานในหมู่บ้านอื่นและการทำงานในกรุงเทพฯ (น.102)  
    
ช่วงที่สาม  ตั้งแต่ พ.ศ. 2525(ค.ศ.1982) –ปัจจุบัน เป็นช่วงอนุรักษ์ป่า(Forest conservation age) การดำเนินชีวิตของชาวบ้านกุดแฮดในช่วงนี้พึ่งพาตลาดและสังคมภายนอก  และแม้ว่าการพึ่งพาป่าจะลดลง แต่ป่าก็ยังคงความสำคัญอยู่  ชาวบ้านปลูกพืชหลายชนิดเพื่อขาย โดยเปลี่ยนชนิดของพืชไปตามสภาวะของตลาด(น.102-103) 

Critic Issues

ไม่มี

Map/Illustration

  • แผนผัง 1   กรอบแนวความคิดในการศึกษา หน้า 10  (Conceptual frame work for the study) 
  • แผนผัง 2   ลำดับขั้นตอนภูมิปัญญาของแนวคิดทฤษฎีความคิด  หน้า  18 (The process of wisdom of constructivism theory)
  • แผนผัง 3   ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบสิ่งแวดล้อม     หน้า  26   (The relationship among components of human ecological system)
  • แผนผัง 4   สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านที่ศึกษา ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร หน้า 93(Location of the area study village, Tambon Kutbak, Amphoe Kutbak, Sakhon Nakhon Province)
  • แผนผัง 5  คุ้มต่างๆของบ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร หน้า 94(Clusters of household Ban Kuthaet, Tambon Kutbak, Amphoe Kutbak,   Sakhon Nakhon Province)
  • แผนผัง 6  รูปแบบการถ่ายทอดความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  หน้า 210 (Model of indigenous knowledge edification on environment)

Text Analyst อธิตา สุนทโรทก Date of Report 04 มิ.ย 2564
TAG กะเลิง, ภูมิปัญญาพื้นบ้าน, การถ่ายทอดความรู้, การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ, สกลนคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง