กลุ่มชาติพันธุ์ : อ่าข่า

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : อ่าข่า
  • ชื่อเรียกตนเอง : อ่าข่า
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : อีก้อ, ข่าก้อ, ก้อ, โอนิ-ฮานิ
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลภาษาธิเบต-พม่า สาขาโลโล ภาษาอ่าข่ารียกว่า “ยิ” อ่าข่า
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

              ชื่อเรียกตนเอง

              อ่าข่า (Akha) หรือ Aqkaq คือชื่อที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าใช้เรียกตนเอง งานศึกษาของ Hugo Adolf Bernatzik นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรีย ที่เข้ามาศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าและม้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี ค.ศ. 1930 – 1936 (พ.ศ. 2473-2479) ซึ่งนับว่าเป็นงานศึกษาชาวอ่าข่าชิ้นแรก ๆ อธิบายว่า ชาวอ่าข่าเรียกตนเองว่าอ่าข่า

              อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ข้อมูลที่จัดทำโดยนางสาววิไลลักษณ์ เยอเบาะ กองเลขานุการเครือข่ายอ่าข่าลุ่มน้ำโขง (มปป.) ระบุว่า ในประเทศไทย พม่า และลาว คนในกลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตนเองว่าอ่าข่า (Aqkaq) ส่วนในประเทศจีนและประเทศเวียดนาม ใช้คำว่า ซานี (Za-ni) ยานี (Ya-ni) หรือฮาหนี่ (Ha-ni) โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า”ฮาหนี่” (Haniq) แม้จะมีความแตกต่างของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ หากเมื่อศึกษาบทเพลง บทซอ คำสุภาษิต หรือการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ กลับพบว่าชาวอ่าข่าทุกประเทศเรียกตนเองเหมือนกันว่า “หญ่าหนี่หญ่า” (Zaqnyiqzaq) (วิไลลักษณ์ มปป.)

              อย่างไรก็ดี นาย Jianhua Wang หรือชื่ออ่าข่า Aryoeq Nyawrbyeivq นักวิชาการชาวอ่าข่าจากประเทศจีน ระบุในงานวิจัยซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาของเขาว่า ชาวอ่าข่าบางทีก็เรียกตนเองด้วยชื่อโบราณเช่น ส่าหนี่ (Zaq-niq) หย่า-หนี่ (Yaq-niq) อ่าหนี่ (Aq-niq) หรือ ฮาหนี่ (Haq-niq) ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเพียงการออกเสียงในหลายแบบของคำ ๆ เดียวกัน แต่ออกเสียงในสำเนียงของแต่ละกลุ่มอ่าข่าต่างกันไป (Wang 2013: 25) ข้อที่น่าสังเกตคือ คนในกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เมื่อเขียนคำนี้ด้วยการใช้ตัวอักษรไทย จะยืนยันให้มีการใช้วรรณยุกต์ ไม้เอก กำกับการออกเสียงทั้งสองคำ คือ อ่าข่า แทนที่จะเป็นอาข่า ดังที่หน่วยงานราชการของไทยในปัจจุบันใช้ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าหากต้องการเขียนเพื่อให้ออกเสียงอย่างถูกต้องในภาษาพูดของคนอ่าข่า จะต้องมีวรรณยุกต์ไม้เอก กำกับเสียงไว้ทุกครั้ง เพื่อให้ออกเสียงต่ำ (อ่าข่า) แทนที่จะเป็น อา ซึ่งเป็นเสียงกลาง

              อาข่า อ่าข่า Akha Aqkaq เป็นคำซึ่งคนในกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง โดยเห็นว่าเป็นคำเรียกที่มีความหมาย และมีความถูกต้องเป็นที่ยอมรับของคนในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำเรียกนี้ มีผู้ที่ศึกษาและให้ความหมายแตกต่างกันไป งานวิจัยของ Roux (1924 อ้างใน จิตร [2519](2544)) อธิบายว่า การที่ชนชาตินี้ เรียกตัวเองว่า อ่าข่า “เพราะบางทีก็สร้างบ้านแบบกระต๊อบติดดินเหมือนชาวจีน แต่บางทีก็สร้างเป็นเรือน มีเสา ยกพื้น ลักษณะการสร้างที่อยู่เปลี่ยนไปมาระหว่างสองสิ่ง การอยู่ในระหว่างสองสิ่งหรือเป็นกลาง ๆ นี้ ภาษาก้อเรียก อ่าข่า (A-Kha) จึงได้เรียกตัวเองว่าอ่าข่า และบังเอิญไปพ้องกับคำว่า ข่า ของลาวเข้าเท่านั้น” (น. 306 การเน้นเป็นของต้นฉบับ)

              ส่วน Leo Alting von Geusau (2000) เห็นว่า การที่คนอ่าข่า ต้องอยู่ภายใต้กลุ่มอำนาจหลายกลุ่มในประเทศจีน ทั้งชาวไทลื้อและชาวฮั่น ทำให้พวกเขาต้องปรับตัว โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเรียกตนเองว่าเป็น “คนที่อยู่ตรงกลาง” (People of the middle) Wang (2013) อธิบายว่า ความหมายของคำว่า อ่าข่า ที่หมายถึง “ผู้ที่อยู่ตรงกลาง” นั้น อาจเข้าใจได้ในหลายแง่มุมทั้งในเชิงภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิรัฐศาสตร์ จักรวาลวิทยา นักวิชาการผู้นี้เห็นว่า ในทัศนะของคนอ่าข่าเองที่เคยมีรูปแบบการปกครองแบบรัฐมาก่อน พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสำคัญ เป็นจุดศูนย์กลางของการปกครองและอำนาจ (People of the center) ดังนั้น ความหมายของคำว่า อ่าข่า (Akha) จึงอาจเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ทั้งในแง่ ระยะห่าง (distance) ระหว่างกลาง (middle) หรือ ศูนย์กลาง (center) ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ ตีความว่าอยู่บนเหตุผลใด Wang เห็นว่า ในแง่นี้ ความหมายของคำว่า อ่าข่า (Akha หรือ Aqkaq) จึงอาจมีความหมายได้ทั้ง กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ หรืออาจหมายถึง คนที่อยู่ตรงกลางของอำนาจ และในอีกความหมายหากมองในบริบทของการอพยพเคลื่อนย้าย ภายหลังจากที่รัฐจาแดของบรรพบุรุษชาวอ่าข่าล่มสลายลง และคนอ่าข่าต้องอพยพถอยร่นลงทางใต้ของประเทศจีน และเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในพม่า ลาว ไทย และเวียดนาม นั่นคือ คนที่มาจากดินแดนที่ห่างไกล

              ชื่อที่คนอื่นเรียก

              การทบทวนงานศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า พบว่าอาจย้อนไปกว่าศตวรรษ ทั้งงานของคนทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น งานศึกษาของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ในจังหวัดเชียงราย (บุญช่วย 2460, 2545) และงานของนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ เช่นที่ศึกษาโดยนักวิชาการภายใต้สยามสมาคม และนักวิชาการชาวต่างประเทศ เช่น Hugo Adolf Bernatzik (1946) ในประเทศไทย และนักวิชาการอื่นที่ศึกษาในประเทศพม่า เช่น Paul Lewis (1969-1970) Telford J.H. (1937) และในประเทศลาว เช่น Izikowitz (1943) Roux Henri (1924) Roux Henri and Tran Van Chu (1954) งานศึกษาเหล่านี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานบุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มอ่าข่า มีการอธิบายถึงชื่อเรียกที่หลากหลาย เช่น Ekaw, Hani, Kaw, Kha Ko, Ko, Woni (Lebar et al. 1964: 33)

              อย่างไรก็ตาม การทำงานของนักวิชาการ โดยเฉพาะที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มชาติพันธุ์ และการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องแสดงถึงความรู้ ความเข้าใจ และติดตามความเปลี่ยนแปลงในเชิงแนวคิด ทฤษฎีที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชาติพันธุ์ศึกษา ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ทำให้แม้ตอนแรกงานทางวิชาการยังคงใช้ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าว่า อีก้อ แต่ต่อมาระยะหลังได้มีการปรับเปลี่ยนมาโดยลำดับ เป็น ก้อ อ่าข่า และอ่าข่า ทั้งนี้ นักวิชาการ โดยเฉพาะที่ศึกษาทางด้านสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มีวิธีวิทยาในการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม สังคม ชุมชน ของผู้คน และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่แสดงออกถึงความตระหนักในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และประเด็นที่เป็นเรื่องอ่อนไหวทางวัฒนธรรม รวมถึงชื่อเรียกผู้คนในแต่ละวัฒนธรรม ดังนั้น จึงเน้นให้ความสำคัญกับการให้ความเคารพต่อชื่อเรียกที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกกลุ่มตนเอง

              ก้อ, อีก้อ, ข่าก้อ การทบทวนงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับที่มาของชื่อเรียก อีก้อ นี้ ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป นักวิชาการบางคน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ [2519](2544) ตั้งข้อสมมุติฐานว่า ชื่อเรียก “ก้อ” นี้ อาจเป็นชื่อเรียกแต่เดิมของคนที่เรียกตัวเองว่าอ่าข่าในปัจจุบันก็เป็นได้ (ดังจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป) หากแต่ที่ผ่านมา ในกรณีของประเทศไทยนั้น การใช้คำเรียก อีก้อ ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีคำอธิบายในวงกว้างให้เป็นที่ชัดเจนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่อมีการนำไปใช้ในบริบทที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์นี้และกลุ่มอื่น ถูกเลือกปฏิบัติและได้รับการดูหมิ่นในเชิงชาติพันธุ์ ในลักษณะเหมารวม ทำให้เกิดความไม่พอใจ และมีการต่อต้าน ไม่ยอมรับ กลายเป็นคำเรียกที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าเองไม่ชอบใจ และคนอ่าข่าในไทยหลายคนบอกว่ารู้สึกโกรธและไม่พอใจหากถูกเรียกเช่นนั้น ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป บ้างก็ว่า เป็นชื่อที่ไม่มีความหมายในภาษาอ่าข่า ในขณะที่บางส่วนเห็นว่าเป็นการใช้คำเรียกซึ่งแสดงนัยยะของการดูหมิ่น และการเหยียดทางชาติพันธุ์

              ในแง่ของงานศึกษาทางวิชาการ ลีโอ อัลติ้ง ฟาน เกอเซา (Leo Alting von Geusau) (2000: 124) นักมานุษยวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไต เรียกคนอ่าข่าว่า ข่าก้อ (Kha Kaw) คนจีน-ยูนนาน เรียกคนอ่าข่าว่า อ่าข่า ส่วนคนอ่าข่า เรียกคนไตลื้อและคนไตว่า Bitsm (บิฉุ่ม) หรือ Atsm (อะฉุ่ม) เรียกคนจีนว่า Labui (หล่าบื่อ) และคนจีน-ยูนนานว่า Pehnyoe (หรือพวกเสื้อเขียว)

              งานทางวิชาการที่อธิบายคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าว่า อีก้อ นี้ มีอยู่จำนวนไม่มากนัก หนึ่งในนั้นได้แก่ จิตร ภูมิศักดิ์ [2519](2544) ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม ต่อเนื่องกับคำอธิบายของเขาเรื่อง กลุ่มชนชาติข่าในประเทศลาว ข้อเขียนของจิตร ซึ่งอ้างอิงถึงข้าราชการชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสิบสองปันนา ประเทศจีน เป็นเวลากว่า 30 ปี ระบุว่า พวกอ่าข่าเรียกตัวเองว่า ก้อ จิตรยังตั้งข้อสมมุติฐานว่า การที่ชนชาตินี้เรียกตัวเองว่า อ่าข่า นั้น น่าจะเรียกตามภาษาจีน และจีนก็เรียกอ่าข่าตามคำภาษาไตลื้อ (น.308)

              ส่วนการอธิบายเพิ่มเติมถึงชื่อเรียก อีก้อ นั้น จิตรกล่าวว่า “อีกพวกหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ข่า และมีประวัติว่าเป็นผู้อพยพมาอยู่ในสิบสองปันนาก่อนพวกไตลื้อก็คือพวก ข่าก้อ ซึ่งไทยพายัพเติม อี เข้าไปเป็น อีก้อ เรียกกันเช่นนี้อยู่ในเมืองไทย (ไทใหญ่เรียก ก้อ ลาวเรียกข่าก้อ ไม่มีใครเติม อี เลย พวกข่าก้อนี้ เป็นชนชาติในตระกูลภาษาธิเบต-พม่า...จีนเรียกชนพวกนี้ว่า อ่าข่า ” (น. 307)

              เรื่องการที่คนไทยในภาคเหนือเรียกคนอ่าข่าว่า อีก้อ นี้ Leo Alting von Geusau (2000: 126) อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในประเทศไทย ไม่ได้ถูกเรียกโดยมีคำนำหน้าเพิ่มเติม คนอ่าข่า ถูกคนท้องถิ่นในภาคเหนือเรียกโดยมีคำนำหน้าเพิ่มเติมว่า แมง (Meng) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกแมลง หรือสัตว์ตัวน้อยที่คล้ายแมลง เช่น เรียกคนอ่าข่าว่า แมงอีก้อ (meng i-ko) (การเน้นเป็นของต้นฉบับ) การที่คนไทยในภาคเหนือใช้คำนำหน้าว่า แมง นี้อาจดูเพิ่มเติมในงานของ Wijeyewardene (1968)

              นอกจากนี้ จิตร ได้อ้างถึงเอกสารที่เขาระบุว่าเขียนโดย นายหลี ฟูอี ข้าราชการจีนของรัฐบาลจีนยุคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเคยอยู่อาศัยในสิบสองปันนาเป็นเวลา 30 กว่าปี โดยข้าราชการจีนผู้นี้ กล่าวว่า “พวกอ่าข่าเรียกตัวเองว่า ก้อ ซึ่งพวกไตลื้อนำไปเรียกว่า ข่าก้อ คำว่า ข่า นั้นแปลว่า เชลย หรือ ทาส ทั้งนี้เนื่องมาจากพวกอ่าข่าพ่ายแพ้แก่พวกไตลื้อ และตกเป็นผู้ถูกปกครองตลอดมา...” (น. 307)

              นอกจากอธิบายที่มาของชื่อ ข่าก้อ ในภาษาไตลื้อและลาวแล้ว จิตร ตั้งข้อสมมุติฐานว่า ชื่อที่จีนเรียกว่า อ่าข่า นั้น เป็นคำที่น่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับคำว่า ข่า ของไตลื้อ โดยจิตรอ้างถึงหนังสือของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506: 478) และ Roux (1924: 373) ที่กล่าวไว้ว่าพวกข่าก้อเรียกตัวเองว่า อ่าข่า หรือ อข่า (Akha) ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ต่างจากที่นายหลี ฟูอี กล่าวว่าเขาเรียกตัวเองว่าก้อ (น.308) อย่างไรก็ตาม จิตรตั้งข้อสงสัยว่า “น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ที่ชื่อซึ่งจีนเรียก อ่าข่า ไปพ้องกับคำในภาษาก้อเอง” (น.308)

              ข้อสมมุติฐานของจิตรคือ “...การที่ชาวก้อเรียกตัวเองว่า อ่าข่า นั้น น่าจะเรียกตามภาษาจีน และจีนก็เรียกตามคำภาษาไตลื้ออีกทอดหนึ่ง...รู้สึกว่า พวกก้อซึ่งมีชื่อดั้งเดิมของตนเองว่า ก้อ อยู่แล้ว (ดังข้อเท็จจริงที่ได้จากนายหลี่ ฟูอี) จะหันมารับเอาคำว่า อ่าข่า ไปจากจีน...” (น.308) จิตรอธิบายด้วยว่า ตัวอย่างคือ พวกละว้า ซึ่งไตลื้อเรียก ข่าวะ ชาวจีนนำไปเรียกตามว่า ข่าหว่า หรือ คาหว่า ใช้เป็นชื่อเรียกชนชาตินี้มาจนทุกวันนี้ หรือพวกข่าหมุที่ชาวไตลื้อเรียก ข่ามุ ชาวจีนก็เรียกตามว่า ข่าหมอ (น.308) อย่างไรก็ตาม จิตร ออกตัวว่า จะตอบสมมุติฐานของตนเองได้ ต้องเข้าไปศึกษาจากชนชาตินี้ด้วยตนเอง ซึ่งเขาบอกว่าไม่มีโอกาสทำได้

              ในประเทศไทย หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดชื่อเรียกรวม และชื่อเรียกแยกตามกลุ่มชาติพันธุ์โดยชื่อเรียกรวมที่ทางหน่วยงานราชการใช้สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงคือคำว่า ชาวเขา และต่อมา มีการปรับเปลี่ยนเป็น ชาวไทยภูเขาบ้าง หรือราษฎรบนพื้นที่สูงบ้าง แต่โดยทั่วไปยังคงใช้ชื่อเรียกรวม ๆ ว่า ชาวเขา ในการระบุถึงชาวอ่าข่าและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาในภาคเหนือของประเทศไทย

              อีก้อ ยังเป็นชื่อเรียกที่ทางหน่วยงานภาครัฐใช้เรียกคนอ่าข่า ในระยะแรก ดังปรากฏในเอกสารราชการส่วนใหญ่ ตลอดจนชื่อเรียกสถานที่ หรือหมู่บ้าน ดังตัวอย่างหมู่บ้านในภาคเหนือของประเทศไทยจำนวนมาก ที่ปรากฏคำว่า อีก้อ อยู่ในชื่อหมู่บ้านด้วย (และยังคงใช้ชื่อนั้นอยู่จนถึงปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อได้รับการทักท้วง และมีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ ตลอดจนผู้ทำงานด้านวัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน จึงได้มีการปรับคำที่ใช้เรียกมาเป็นคำว่า อ่าข่า แต่กระนั้นก็ตาม ในเอกสารของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ยังคงคำเรียกเดิมคือ อีก้อ ไว้ ตัวอย่างเช่น ในเอกสารทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทย ปี 2559 เมื่อมีการระบุถึงกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า จะใช้คำว่า “อ่าข่า หรือ อีก้อ” ควบคู่กันไป (น. 1) หรือบางครั้งก็ใช้ชื่อเรียก อีก้อ เท่านั้น (น. 2) หรือตัวอย่างระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 ในส่วนของการให้คำจำกัดความคำว่า “ชาวไทยภูเขา” ได้ระบุชื่อเรียกของคนอ่าข่า ว่า “อ่าข่า หรือ อีก้อ” เช่นกัน  (น.2)

              นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยของสถาบันวิจัยชาวเขา ยังคงใช้ชื่อเรียกกลุ่มว่า อีก้อ (ดูตัวอย่างอาทิ อุไรวรรณ แสงศร 2542) แม้งานวิจัยเหล่านี้จะระบุไว้เช่นกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตนเองว่า อ่าข่า (อุไรวรรณ 2542, น.2)

              ในประเทศจีน ลีโอ อัลติ้ง ฟาน เกอเซา (Leo Alting von Geusau) (2000: 124) นักมานุษยวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งเคยทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชนชาติฮาหนี่-อ่าข่าในประเทศจีน พม่า ลาว และเวียดนาม เป็นเวลากว่าสิบปี ระบุว่า คนอ่าข่าที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองชาวไต ในสิบสองปันนา ในแคว้น Puer ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองคุนหมิง (Kunming) และในเขตปกครองพิเศษ Lancang (ล้านช้าง) ของชาวลาหู่-ว้า นั้น ทางการจีนเรียกพวกเขาว่า Aini อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอ่าข่า-จีน Jianhua Wang ให้ข้อมูลกับผู้วิจัยว่า น่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า Aqnyir (อ่า-ยิ) ซึ่งแปลว่า น้องชาย/น้องสาวในภาษาอ่าข่า เขาสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากความเข้าใจผิด เมื่อมีการแนะนำตัวซึ่งกันและกันระหว่างคนอ่าข่าและเจ้าหน้าที่จีน ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการจีน เข้าใจผิดว่าคำว่า Aini เป็นคำที่คนอ่าข่าใช้เรียกตัวเอง

              ในเรื่องนี้ Leo Alting von Geusau (2000) อธิบายว่า คำว่า Aini หรือ A-nyi เป็นคำที่นักวิชาการด้านชาติพันธุ์และภาษาศาสตร์ของจีน ใช้เรียกคนอ่าข่าในช่วงที่ประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของประธานเหมา เจ๋อ ตุง (Mao Zedong หรือ Mao Tse-tung)ผู้นำจีนในช่วงปี 1949-1976 เนื่องจากเห็นว่า คำว่า ข่า (kha) ในคำเรียก Akha นั้น เป็นคำเดิมในภาษาไต ที่หมายถึง ข้า ทาส แต่อย่างไรก็ตาม คนอ่าข่าเอง เห็นว่า คำนี้ แปลว่า “ระยะห่าง” (distance) หรือ “ช่วง” (span) และแปลความหมายชื่อเรียกของกลุ่มตนเองว่า หมายถึง “คนที่อยู่ตรงกลาง” (People in the middle) (น. 125)

              ส่วนในประเทศไทย รัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหลายหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่ทศวรรษ 1950s เป็นต้นมาที่หน่วยงานรัฐ เริ่มเข้าไปทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือที่ภาษาราชการเรียกว่า ชาวเขา นั้น มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ เช่น กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยงานป่าไม้ โครงการหลวง หน่วยงานขององค์กรระหว่างประเทศ และสหประชาชาติ ที่ดูแลเรื่องการควบคุมพืชเสพติดและสารเสพติด หน่วยงานเหล่านี้ บางส่วนใช้คำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามความเข้าใจของตนเอง โดยไม่มีเหตุผลอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมจึงใช้ชื่อเรียกเช่นนั้น ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่แตกต่างจากที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์เรียกตนเอง บางหน่วยงานเช่น กองสงเคราะห์ชาวเขา (ซึ่งเคยอยู่ภายใต้กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ก่อนการปฏิรูปการปกครองส่วนราชการในปี 2545) เมื่อทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนและตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ เริ่มมีความเข้าใจและมีการปรับเปลี่ยนชื่อเรียกที่ใช้ หน่วยงานนี้ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาและสวัสดิการของกลุ่มชาติพันธุ์ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น กองส่งเสริมการพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการซึ่งดูแลศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 16 แห่ง แต่กระนั้นก็ตาม ในเอกสารทางราชการที่ใช้ระบุชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ก็ยังคงปรากฏชื่อเรียกว่า อีก้อ ควบคู่ไปกับคำว่า อ่าข่า

    นอกเหนือจากนี้ หน่วยงานรัฐที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคง ยังคงใช้ชื่อเรียกแบบเดิม ที่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าว่า อีก้อ เช่น หน่วยงานส่วนใหญ่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ หน่วยงานตำรวจ ทหาร เป็นต้น โดยที่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า อะไรคือเงื่อนไขหรือที่มา ที่หน่วยงานราชการเหล่านี้ เรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าว่า อีก้อ

              นอกจากนี้ ข้อมูลที่จัดทำโดย วิไลลักษณ์ เยอเบาะ (มปป.. ออนไลน์) ระบุว่า มีการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า โดยคนนอกกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนี้

    • ภาษาไทย เรียกว่าอีก้อ/อ่าข่า
    • ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Akha
    • ภาษาละหู่ เรียกว่า ต่อกอ ย่า
    • ภาษาม้ง เรียกว่า คั่ว
    • ภาษาไต เรียกว่า“ก้อ” หรือ“อีก้อ”

              โอนิ-ฮานิ คำนี้ไม่ปรากฏในเอกสารและการเรียกชื่อ อย่างไรก็ตาม มีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “โวหนี่” ซึ่งหมายถึงคนลีซู กับ คำว่า ฮาหนี่ ซึ่งหมายถึงคนฮาหนี่ ที่นักมานุษยวิทยาจีนชื่อ หลิน หยื่อ ฮวา ได้พูดถึงว่า สองกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับอาข่าในฐานะที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ใช้ภาษาโลโลตระกูลธิเบต-พม่าเหมือนกัน (Lin Yueh-hwa, 1994 อ้างใน ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ 2555: 33)

              ฮานิ/ฮาหนี่ (Hani) และอาข่าเป็นคนละกลุ่มกันแต่ก็มีการเรียกสลับกลับไปมา เพราะในจีนและเวียดนาม ซึ่งมีประชากรกลุ่มฮานิมากกว่าอาข่า คณะสำรวจกลุ่มชนชาติของรัฐบาลจีนช่วงหลังการปฏิวัติปี ค.ศ. 1949 จึงได้เหมารวมเอากลุ่มชาติพันธุ์อาข่าให้รวมอยู่ภายใต้กลุ่มชนชาติฮานิด้วย จึงไม่แปลกใจที่ชาวอาข่ามักจะถูกเรียกว่าฮานิด้วย (Howard, 2005: 3-4) ขณะเดียวกัน ในพม่าซึ่งมีชาวฮานิจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พวกเขาก็ถูกรัฐบาลพม่าจัดให้อยู่ภายใต้กลุ่มอาข่าด้วยเช่นกัน (Howard, 2005: 83) เมื่อเป็นเช่นนี้ ในมุมมองหนึ่ง อาข่าก็เป็นฮานิได้ แต่ไม่ใช่ฮานิจะเป็นอาข่าได้ (Morton, 2015) 

              ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์

    อีก้อ  เป็นคำเรียกที่คนส่วนใหญ่ใช้เรียกชาวอ่าข่า เนื่องจาก คนส่วนใหญ่นอกกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับชื่อเรียกที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง และมักเรียกตามความเข้าใจของตนที่ได้รับรู้จากทางราชการ หรือโรงเรียน จากหนังสือเรียน เอกสารราชการ และสื่อต่างๆ สำหรับคนนอกกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าแล้ว อีก้อเป็นชื่อเรียกที่ใช้กันอยู่บ่อยที่สุด ซึ่งเป็นคำที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ไม่ชอบ และไม่พอใจเมื่อถูกเรียกเช่นนั้น เพราะเห็นว่าเป็นการเรียกชื่อที่ไม่ถูกต้อง และมักแฝงไปด้วยน้ำเสียงของการดูถูกดูหมิ่น และการเหยียดทางชาติพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นคำที่ไม่มีความหมายใดๆในภาษาอ่าข่า

     

              ภาษา

              ตระกูลภาษา 

              ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า เป็นภาษาในตระกูลธิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ (Lahu) และลีซู (Lisu) (Lebar et al. 1964; Young 1962: 1) นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องจีน (Hu et al. 1960, 1988; Bruk 1960: 30 อ้างใน Lebar et al. 1964: ) นำเสนอว่า ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามกลุ่มนี้ และภาษาของอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนยูนนานของจีนกับพม่า (เช่นในบริเวณ Nakhi และ Minchia) เป็นภาษาที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาโลโล ในฐานะที่เป็นสาขาของภาษากลุ่ม Yi ภายใต้ตระกูลภาษาธิเบต-พม่า

              เช่นเดียวกันกับ Oliver Gordon Young (1962: 1-2) นักวิชาการชาวสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแถบภูเขาและพื้นที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทย ที่อธิบายว่า ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า มีความเกี่ยวโยงกับภาษาโลโล และมีความคล้ายคลึงกับภาษาลาหู่และลีซู ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นที่เข้าใจข้ามกลุ่มก็ตาม เขากล่าวว่า ภาษาของชาวอ่าข่า มีลักษณะที่เป็นพยางค์เดี่ยว มีการกำกับเสียงสูงต่ำ (วรรณยุกต์) และแทบไม่มีพยัญชนะสะกด(พยัญชนะท้าย) บางคำเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีน นอกจากนี้ Young (ในสมัยที่เขายังเป็นเด็กและอาศัยอยู่ในภาคเหนือของไทยและพม่า) ยังกล่าวด้วยว่า ชาวอ่าข่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภาษา เพราะชาวอ่าข่าที่อพยพเข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย สามารถพูดภาษาจีนยูนนานและภาษาลาหู่ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้พวกเขายังสามารถพูดภาษาไทใหญ่ (Shan) และเรียนรู้ที่จะปรับสำเนียงนี้ให้เข้ากับภาษาท้องถิ่นในภาคเหนือ หรือภาษาคำเมือง สำหรับ Young แล้ว เขารู้สึกประหลาดใจที่คนอ่าข่าสามารถเรียนรู้ที่จะออกเสียงตัวพยัญชนะสะกดได้เมื่อพูดภาษาไทใหญ่ ซึ่งต่างกับชาวลาหู่ ซึ่งไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ถึงแม้ว่าทั้งภาษาอ่าข่าและลาหู่จะไม่มีการออกเสียงพยัญชนะท้ายเหมือนกันก็ตาม (Young 1962: 2)

              กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า จึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเพียงภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน หากแต่เมื่อมิชชั่นนารีชาวต่างประเทศเริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในหมู่บ้านและชุมชนบนพื้นที่ภูเขาสูงในภาคเหนือของประเทศ (โดยเฉพาะในกรณีของประเทศพม่าและประเทศไทย) ทำให้เริ่มมีการพัฒนาคิดค้นระบบภาษาเขียนของชาวอ่าข่า เพื่อวัตถุประสงค์ในการอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ทางศาสนาคริสต์ โดยมีการนำระบบตัวเขียนแบบโรมันมาใช้ในการสะกดคำพูดในภาษาอ่าข่า

              ภาษาพูด 

              ภาษาพูดของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ซึ่งอยู่ในตระกูลธิเบต-พม่า มีความคล้ายคลึงกับภาษาของชาวลาหู่ ส่วนในประเทศจีน คล้ายกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ฮาหนี่และโลโล ทั้งนี้ ปนัดดา บุณยสาระนัย นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ซึ่งศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ระบุว่า ภาษาอ่าข่าเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาธิเบต-พม่า สาขาภาษาโลโลใต้ ซึ่งมีกลุ่มคนที่พูดภาษานี้ กระจายตัวอยู่ในตอนใต้ของประเทศจีน พม่า ลาว ไทย และเวียดนาม (ปนัดดา 2547: 175) ส่วน Paul Lewis มิชชั่นนารีแบ๊บติสท์ชาวอเมริกัน ซึ่งอาศัยใช้ชีวิตในชุมชนอ่าข่าในเมือง Kengtung ในประเทศพม่า ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1947-1966 (พ.ศ. 2490-2509) ในขณะที่ทำงานภายใต้ American Baptist Foreign Mission Society กล่าวว่า สำเนียงภาษาพูดอ่าข่าที่เขาได้เรียน และที่ถือว่าเป็นมาตรฐานคือสำเนียง Jeu-g’oe (Puli) ซึ่งใช้พูดกันในเขตตอนกลางและตะวันออกของเมือง Kengtung ทั้งนี้ Lewis ระบุว่า ภาษาอ่าข่ามีพยัญชนะ 26 ตัวและสระ 13 ตัว (Lewis 1969) เช่นเดียวกันกับปนัดดา ที่อ้างถึงงานศึกษาของพอล ลูวิส ระบุว่าภาษาพูดของชาวอ่าข่ามีหลายสำเนียง สำหรับสำเนียงที่พบมากในประเทศพม่าและบางส่วนของไทยได้แก่ ภาษาอ่าข่าสำเนียง เจอเกอะ (‘Jeu-g’oe) นอกจากนี้ยังมีสำเนียงอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน เช่น สำเนียงเจอจ๊อ (Jeu Jaw) ในเขตปกครองตนเองของชาวฮาหนี่ (Hani) และยี (Yi) ในเมืองลือซืน หงเหอ หยวนหยาง และจินผิง ส่วนอ่าข่าที่อาศัยในไทยมานานหลายชั่วอายุคน ได้พัฒนาภาษาอ่าข่าขึ้นมาจากสำเนียงพื้นฐานที่พูดกันอยู่ในประเทศจีนและพม่า (ปนัดดา 2547: 176-177) 

              อย่างไรก็ตาม ชาวต่างประเทศที่ศึกษาและเคยอาศัยอยู่ในชุมชนชาวอ่าข่าในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น Jim Goodman (1994: 102) เห็นว่า สำเนียงภาษาพูดของคนอ่าข่าในประเทศไทย มีสำเนียงที่แตกต่างกันออกไประหว่างกลุ่มอ่าข่า 3 กลุ่ม คือ สำเนียงภาษาพูดของกลุ่มอ่าข่าอู่โล้ (Ulo) กลุ่มผาหมีอ่าข่า (Pamee) (หรืออู่เบียะ Uqbyaq – ผู้วิจัย) และกลุ่มโล้มี (Lomi)

              ทั้งนี้ ปนัดดา (2547: 176) เห็นว่า การที่คนอ่าข่าไม่มีภาษาเขียน ทำให้การถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลัง ทำผ่านการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทำให้จดจำได้อย่างแม่นยำ เช่น การสืบนับบรรพบุรุษของชาวอ่าข่าจากพ่อสู่ลูกชาย อย่างไรก็ตาม การที่เด็กชาวอ่าข่ารุ่นใหม่ เข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐที่ต้องอ่านเขียนภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ รวมทั้งการดำรงชีวิตตามกระแสสังคมสมัยใหม่ อาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษาภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอ่าข่า (ปนัดดา 2547: 176)

              ตัวอักษรที่ใช้เขียน 

              ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า มิชชั่นนารีผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นกลุ่มแรกที่ได้พัฒนาคิดค้นระบบภาษาเขียน เพื่อใช้ในการอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ จึงทำให้เกิดภาษาเขียนที่เป็นแบบใช้ตัวอักษรโรมันสะกด  (Romainized) จากข้อมูลของ Morton (2010: 112-114) นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1920 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามในการพัฒนาตัวอักษรเขียนอ่าข่ามากกว่า 13 แบบ โดยกลุ่มบุคคลต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ มิชชั่นนารี นักภาษาศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งปนัดดา (2547: 177) เห็นว่า ความพยายามที่จะพัฒนาระบบตัวอักษรเขียนภาษาอ่าข่านี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆด้วยตนเอง หรือเพื่อเผยแพร่ความคิด ความรู้บางอย่างจากภายนอกให้แก่คนอ่าข่า เช่น ความคิดเรื่องการนับถือศาสนา สื่อรณรงค์ด้านสุขภาพ และวัฒนธรรม (ปนัดดา 2547: 177) 

              ทั้งนี้ ปนัดดา อธิบายว่า ระบบการเขียนภาษาอ่าข่าที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายระบบ โดยเธอยกตัวอย่าง 4 ระบบ ดังนี้คือ ระบบแรก เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) โดย Dr. Paul Lewis มิชชั่นนารีแบ๊บติสท์ชาวอเมริกัน ซึ่งทำงานกับชุมชนชาวอ่าข่าและฮานี (ฮาหนี่ ก็เรียก – ผู้วิจัย) ในประเทศจีน พม่า และไทย โดยเป็นการพัฒนามาจากภาษาลาหู่ ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน ระบบนี้ได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันว่า เป็นระบบการเขียนภาษาอ่าข่าแบบแบ๊บติสท์ ซึ่งนอกจากจะมีการนำระบบนี้ไปใช้ในการพิมพ์หนังสือเผยแพร่ศาสนาคริสต์แล้ว ผู้พัฒนาคือ Paul Lewis ยังได้จัดพิมพ์พจนานุกรมภาษาอ่าข่าเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2533) ซึ่งมีการปรับปรุงครั้งที่สองในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544)

              ส่วนระบบที่สอง เป็นระบบการเขียนภาษาอ่าข่าแบบจีน (ฮานี) ซึ่งผู้พัฒนาคือ หมี่หยี จากเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีน ซึ่งเป็นการปรับมาจากภาษาฮานีแบบปินยินในปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) ระบบนี้ใช้กันแพร่หลายในประเทศจีน โดยมีการพิมพ์หนังสือด้วยภาษานี้กว่า 200 เล่ม และหนังสือพิมพ์อีก 1 ฉบับ (ปนัดดา 2547: 178) ส่วนอีกระบบหนึ่ง พัฒนาโดย ดร.เลโอ อัลติ้ง วอน เกอเซา (Leo Alting von Geusau) นักมานุษยวิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2524) เพื่อใช้ในการศึกษาพิธีกรรม ความเชื่อของชาวอ่าข่า อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ยังไม่ได้รับความนิยมและไม่มีการนำไปใช้มากนัก นอกจากนี้ ยังมีระบบการเขียนภาษาอ่าข่า อีกระบบหนึ่ง ที่พัฒนาโดยนายแมธธิว แมคดาเนียล ชาวอเมริกัน ซึ่งเคยใช้ชีวิตร่วมกับชาวอ่าข่าในชุมชนหมู่บ้านอ่าข่าในภาคเหนือของไทยเป็นเวลาหลายปี แต่ระบบนี้ยังไม่มีผู้ใช้มากนัก (ปนัดดา 2547: 178)

              อย่างไรก็ตาม บทความของ Morton (2013) ระบุว่า นับแต่ปีค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) เป็นต้นมา มีความพยายามของชาวอ่าข่าบางส่วนที่ต้องการประชุม พบปะ หารือกันระหว่างชาวอ่าข่าด้วยกันเอง เพื่อพัฒนาระบบตัวอักษรเขียนร่วมกันเพื่อคนอ่าข่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยกลุ่มผู้นำชาวอ่าข่า ได้เน้นให้ความสำคัญทั้งตัวอักษรเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิตัล เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคนอ่าข่าร่วมกัน ทั้งยังได้มีการผลิตสื่อวิดีโออบรมเรื่องตัวอักษรเขียนร่วมนี้เผยแพร่ในยูทูป (Youtube) ด้วย

              ในช่วงตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) เริ่มมีความพยายามของนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และผู้นำชาวอ่าข่าในประเทศพม่า จีน และไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตนเองว่า Neo-traditionalists ในการพัฒนาตัวอักษรเขียนร่วมของชาวอ่าข่าในภูมิภาคนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างชาวอ่าข่าในประเทศจีน ไทย พม่า ลาว และเวียดนาม โดยในเบื้องต้น มีตัวแทนของนักวิชาการ ปัญญาชน และผู้นำชาวอ่าข่าจาก 3 ประเทศ เข้าร่วม คือ จีน พม่า และไทย ความร่วมมือระหว่างชาวอ่าข่าจากประเทศเหล่านี้ ในการพัฒนาตัวอักษรเขียนร่วมกัน (Common orthography) มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง ดังที่นาย Jianhua Wang ซึ่งเป็นนักวิชาการชาวอ่าข่าจากประเทศจีน อธิบายว่า “เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ และการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ขององค์กรมิชชั่นนารี” (Wang อ้างใน Morton 2013: 44) กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าการประชุมเพื่อหามติร่วมกันเรื่องตัวอักษรเขียนร่วมของชาวอ่าข่า ไม่อาจหลุดพ้นจากความขัดแย้งทั้งเรื่องศาสนาที่แตกต่างกัน รวมทั้งระบบสังคม การเมืองของตัวแทนแต่ละกลุ่มศาสนา และตัวแทนประเทศที่เข้าร่วม ทำให้ผู้นำชาวอ่าข่าบางคน ซึ่งเป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ มองว่า การพยายามพัฒนาตัวเขียนร่วมนี้ เป็นความพยายามที่จะทำให้คนอ่าข่าที่นับถือศาสนาคริสต์ หันกลับไปนับถือศาสนาดั้งเดิม หรืออ่าข่าย้อง เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเบื้องต้นที่ว่า จะไม่นำประเด็นเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ตัวแทนชาวอ่าข่าบางคนที่เข้าร่วมประชุม กล่าวว่าเขาจะไม่ใช้ระบบตัวอักษรเขียนร่วมที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ แต่จะใช้ระบบอักษรเขียนที่คิดค้นโดยมิชชั่นนารีชาวอเมริกัน Paul Lewis แทน (Morton 2013: 46)

              จากข้อมูลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนาย Jianhua Wang นักวิชาการชาวอ่าข่าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีบทบาทหลักในการพยายามพัฒนาภาษาเขียนที่ใช้ร่วมกันของชาวอ่าข่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระบบอักษรเขียนร่วมของชาวอ่าข่าที่เป็นระบบ Romanized นี้ เรียกว่า Khanq Haqniq Aqkhaq Sanqbovq (หรือ KHAS) ในภาษาฮาหนี่/อ่าข่า ซึ่งมีการรับรองโดยตัวแทนชาวอ่าข่าจากประเทศจีน ลาว พม่า ไทย ที่เมืองจิ่งห่ง (Jinghong) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในวันที่ 1 ม.ค. 2009 (พ.ศ. 2552)  

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ผศ.ดร.มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ ภาควิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด: 24 กันยายน 2562

    เอกสารอ้างอิง

    • กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา.2559. ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูงครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ของประเทศไทย ประจำปี 2559
    • คาราเต้ สินชัยวอระวงส์. (2546). การศึกษาเปรียบเทียบการตั้งถิ่นฐานและสถาปัตยกรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าอ่าข่าระหว่างแขวงหลวงน้ำทาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและจังหวัดเชียงรายประเทศไทย การศึกษาเปรียบเทียบการตั้งถิ่นฐานและสถาปัตยกรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าอ่าข่า ระหว่างแขวง    หลวงแม่ทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย (A comparative study of settlement and architecture of Akha ethnic group, Between Luang Nam Tha, Laos and Chiang Rai, Thailand), คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. 2562. เครื่องแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. เชียงใหม่: ร้านร่วมเจริญปริ้นท์
    • จิตร ภูมิศักดิ์ [2519] (2544). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อ ชนชาติฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: บริษัทเคล็ดไทยจำกัด
    • ชุติมา ซุ้นเจริญ. (2563). “อ่าข่าโฮย้า”’ โรงพยาบาลบนดอยที่ใช้ภูมิปัญญารักษาคนและรักษาป่า. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 ม.ค. 2563 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/1418?utm_source=category&utm_medium=internal_referral (สืบค้น 1 เม.ย. 2563)
    • ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ปี 2559. กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขากลุ่มกิจการชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    • ปนัดดา บุณยสาระนัย. (2547). การฟื้นฟูและสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวอาข่าในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน. ใน วาทกรรมอัตลักษณ์. เอกสารทางวิชาการลำดับที่ 37 หนังสือรวมบทความจากการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 2 เรื่อง ชาติและชาติพันธุ์ วิถีชีวิตและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในโลกปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
    • ปนัดดา บุณยสาระนัย และหมี่ยุ้ม เชอมือ. (2547). อาข่า หลากหลายชีวิตจากขุนเขาสู่เมือง. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
    • ปนัดดา บุณยสาระนัย. (2556). การเมืองเรื่องภาษาในสังคมไทย. วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 2/2556 (กรกฎาคม-ธันวาคม) หน้า 109-135.
    • ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์. (2554). อ่าข่าไนท์บาซาร์ การค้ากับความเป็นชาติพันธุ์. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
    • มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ. (2552). อ่าข่าเอเชีย ทำข้อตกลงร่วมปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมดั้งเดิม "อ่าข่าย้อง" ให้ สอดคล้องกับยุคสมัย. สืบค้น 1 เม.ย. 2563 จาก https://prachatai.com/journal/2009/02/20144.
    • วิไลลักษณ์ เยอเบาะ. (มปป.). ข้อมูลพื้นฐานชนเผ่าพื้นเมือง: กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า (Aqkaq) (แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมล่าสุด เดือนธันวาคม 2559) http://www.ikmi.info/knowledge-2/   
    • ศิริโรจน์ ศิริแพทย์. (2562). “อ่าข่าโฮย้า” ภูมิปัญญาชีวิต ฟื้นมรดกวิถี อยู่ไม่เป็น(โรค). หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. วันที่ 15 ธ.ค. 2562 https://www.dailynews.co.th/article/746754 (สืบค้น 1 เม.ย. 2563)
    • ศรีสุวรรณ วรบุตร. (2551). “เพศภาวะ เพศวิถี และเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในสังคมอาข่า : กรณีศึกษาโครงการพัฒนาจากต่างประเทศในเมืองสิงและเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา” วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • ศูนย์วิจัยชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย. 2526. บรรณนิทัศน์ 5 สภาพของชาวเขาในประเทศไทย.
    • สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. (2563). แถลงการณ์เนื่องในวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย“ปันรัก ปันสุข จากภูผาสู่มหานที.” ณ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
    • สุวิชานนท์ รัตนภิมล. (2535). เยือนชนเผ่าอาข่า ฟังภาษาใจ “เพลง – ดนตรี”ใน เพลงดนตรีและชีวิตชาวดอย.
    • อุไรวรรณ แสงศร. (2526). บ้านอีก้อ. ศูนย์วิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย จ.เชียงใหม่
    • อุไรวรรณ แสงศร. (2531). เพลงและการละเล่นของชาวเขาเผ่าอีก้อ. ข่าวสารสถาบันวิจัยชาวเขา.ปีที่ 12 ฉบับที่ 1-2 มกราคม – มิถุนายน: 35 – 53.     
    • อุไรวรรณ แสงศร. (2542). รายงานวิจัย ภูมิปัญญาพื้นบ้านและการรักษาความเจ็บป่วยของชาวอีก้อ. สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
    • อำภา วูซือ. 2562. กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย (กลุ่มอ่าข่า) (ออนไลน์) https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/99 (สืบค้น 1 เม.ย. 2563)
    • Ah Suhn Ghoemeh. (2015). Assessing the Vitality of Akha in Myanmar with the Sustainable Use     Model. M.A. Thesis in Linguistics, Payap University.
    • Asian Development Bank Report. 2000. Lao PDR Country Report June 2000. Health and   Education Needs of Ethnic Minorities in the Greater Mekong Sub-Region. Research Triangle Institute.
    • Bernatzik, Adolf Hugo. [1946] (1970). Akha and Miao. Problems of Applied Ethnography in   Farther India, translated from the German by Alois Negler. New Haven: Human   Relations Area Files.
    • Cohen, Paul and Chris Lyttleton. (2004). “The Akha of Northwest Laos: Modernity and Social Suffering.” Paper presented at the International Conference on Impact of      Globalization, Regionalism and Nationalism on Minority Peoples in Southeast Asia, 15-17 November 2004 at Amity Green Hills Hotel, Chiang Mai, Thailand.
    • Geusau, L. G. M. A. von. (1983). “Dialectics of Akhazang. The interiorizations of a perennial minority group”. In J. McKinnon & Wanat Bhruksasri (Eds.), Highlanders of Thailand      (pp. 243-277). Kuala Lumpur, Malaysia: Oxford University Press.
    • Geusau, L. G. M. A. von. (2000). “Akha internal history. Marginalization and the ethnic alliance system”. In A. Turton (Ed.), Civility and savagery. Social identity in Tai states              (pp. 122-158). Richmond, VA: Curzon Press
    • Haiying, Li. (2557). Neo-Traditionalist Movements: Akha Transformations of Aqkaqghanr in the Upper Mekong Region (ขบวนการเคลื่อนไหวจารีตนิยมใหม่: การปรับเปลี่ยน “อ่าข่าญ็อง”            ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน), วารสารสังคมศาสตร์ 26(1): 119-146.
    • Hanks, Jane. (1964). Akha Patrilineage. Cornell University, Department of Asian Studies.
    • Hansson, Inga-lill. (1989). "A Comparison of Akha and Hani and Khatu and Pijo." Linguistics of the Tibeto-Burman Area 12(1): 6 - 91.
    • Hansson, Inga-lill. (1982). "A Phonological Comparison of Akha and Hani." In Linguistics of the Tibeto-Burman Area 7(1): 63 - 115.
    • Hansson, Inga-lill. (1983). “Death in an Akha village” in John Mackinnon and Wanat Bhruksasri (eds.) Highlanders of Thailand, pp. 278 – 290. Kuala Lumpur: Oxford University Press.
    • Huang, Shaowen. (2007). From Nuomaamei to Ailao Mountain: Hani Nationality Cultural Geographic Research, Kunming, Yunnan Nationality Press.
    • Jaafar, Syed Jamal and Walker, Anthony R. (eds.). 1975. Farmer in the Hills: Upland Peoples  of North Thailand. The School of Comparative Social Sciences: Universiti Sains       Malaysia Press.
    • Kickert, Robert W. (1967). "Akha village structure" in Tribesmen and Peasants of Northern Thailand: Proceeding of the first symposium of the Tribal Research Centre, Chiang   Mai, Thailand. Chiang Mai, pp. 35 – 40. Tribal Research Center.
    • Lebar, Frank M., Gerald C. Hickey, John K. Musgrave. 1964. Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven: Human Relation Area Files Press.
    • Leibold, James. (2013). Ethnic Policy in China: Is Reform Inevitable? Honolulu, Hawai’i: East-West Center.
    • Lebar, Frank M., Gerald C. Hickey, John K. Musgrave. 1964. Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia. New Haven: Human Relation Area Files Press.
    • Lewis, Paul. (1969). Ethnographic notes on the Akhas of Burma, Volume 1. New Haven: Human Relations Area Files, 1969-1970.
    • Lewis, Paul. 2002. Akha Oral Literature. Bangkok: White Lotus Press.
    • Lewis, Paul. 1992. Basic Themes in Akha Culture. In The Highland Heritage: Collected Essays on Upland Northern Thailand, edited by Anthony Walker, 207-224. Singapore: Suvarnabhumi Books. (Original 1982).
    • Lewis, Paul. (1989). Akha-English-Thai Dictionary. Chiang Rai, Thailand: Development and   Agricultural Project for Akha (DAPA).
    • Lewis, Paul. (1969). Ethnographic notes on the Akhas of Burma. New Haven: Human Relations Area Files, 1969-1970.
    • Lewis, Paul W. and Bai Bibo. 2002. Hani Cultural Themes. Bangkok: White Lotus.
    • Li, Haiying. (2013). Neo-Traditionalist Movements and The Practice of Aqkaqzanr in a multi-religious community in Northern Thailand. M.A. Thesis, Chiang Mai University. pp. 44-49, 87-106, 144-163.
    • Morton, M.  F. (2013). “If you come often, we are like relatives; if you come rarely, we are like strangers”:  Reformations of Akhaness in the Upper Mekong Region” ASEAS – Austrian Journal of South-East Asian Studies, 6(1), 29-59.
    • Morton, Micah. (2010). “Negotiating  the  changing space of Zomia: A Preliminary discussion on the role of Language in Akha identiatarian politics”, Rian Thai: International Journal of Thai studies, 101-122.
    • Mukdawan, Sakboon, Prasit Leepreecha, Panadda Boonyasaranai. 2017. “Khon rai sanchat: Resident aliens and the paradox of national integration in Thailand” in Ooi Keat Gin and Volker Grabowsky (eds.) Ethnic and Religious Identities and Integration in Southeast Asia, pp. 57-104. Chiang Mai: Silkworm Books.  
    • Panadda  Boonyasaranai. (2010). The  Development  and  Use  of  Common  Akha 
    • Orthography  Development. Ph.D. Dissertation in Linguistics, Mahidol University.
    • Sturgeon, Janet. (2005). Border Landscapes: The Politics of Akha Land Use in China and Thailand. Seattle: University of Washington Press.
    • Thongchai Winichakul. (2000). “The Quest for “Siwilai”: A Geographical Discourse of Civilisational Thinking in the Late Nineteenth and Early Twentieth Century Siam” Journal of Asian Studies 59(3): 528-549.
    • Tooker, Deborah. (1988). Inside and Outside: Schematic Replication at the Level of village. Household and Person among the Akha of Northern Thailand. Ph.D. Dissertation,       Harvard University.
    • Tooker, Deborah. (1992). “Identity Systems of Highland Burma: Belief, Akha zan, and a critique of interiorized notions of ethno-religious identity,” Man 27(4): 799-819.
    • Tooker, Deborah. (2004). “Modular Modern: Shifting Forms of Collective Identity Among the Akha of Northern Thailand,” Anthropological Quarterly 77(2): 243-288.
    • Toyota, Mika. (2003). “Contested Chinese identities among ethnic minorities in the China, Myanmar and Thai borderlands,” Ethnic and Racial Studies 26(2): 301-320
    • Vipash Purichanont. (2019). Curators' art picks: Six works you don't want to miss at the upcoming Singapore Biennale 18 Nov 2019 https://www.straitstimes.com/lifestyle/arts/curators-art-picks-six-works-you-dont-want-to-miss-at-the-upcoming-singapore-biennale?fbclid=IwAR2lRMEsSaCvemDIZVCxLriBn3LNyPPiYNd-zLs7REXpuI-iHlgjG-JXC5c (สืบค้น 1 เม.ย. 2563)
    • Walker, Anthony R. (1975). “Review article: Gordon Young, The Hill Tribes of Northern Thailand” Journal of the Siam Society 63(2): 355-370.
    • Wang, Jianhua. (2013). "Sacred and Contested Landscapes:Dynamics of Natural Resource   Management by Akha PeopleIn Xishuangbanna, Southwest China. PhD Dissertation, University of Califormia Riverside.
    • Wijeyewardene, Gehan. (1968). “Address, Abuse and Animal Categories in Northern Thailand” Man New Series 3(1): 76-93.
    • Young, Gordon. (1962). The Hill Tribes of Northern Thailand (A Socio-Ethnological Report). 2nd ed. Bangkok: Siam Society, Thailand.

     

    สัมภาษณ์

    • สาวชุติมา หมี่จู มอแลกู่ ประธานเครือข่ายอ่าข่าลุ่มน้ำโขง และนักสิทธิมนุษยชนชาวอ่าข่า วันที่ 15 ก.ย. 2563
    • สาววิไลลักษณ์ เยอเบาะ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (สมาคมอิมเป็ค – IMPECT) วันที่ 19 ก.ย. 2563
    • อาทู่ ปอแฉ่ (ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก) สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมอ่าข่า จังหวัดเชียงราย วันที่ 19 ก.ย. 2563

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ เป็นต้น50000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              “อ่าข่า” (Akha) หรือ Aqkaq เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า “คนที่อยู่ตรงกลาง” (People of the middle)  Wang (2013)  ชื่อนี้พบมากในประเทศไทย พม่า และลาว ชาวอาข่าเรียกชื่อตนเองแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น ประเทศจีนและเวียดนาม เรียกว่า ซานี (Za-ni) ยานี (Ya-ni) หรือฮาหนี่ (Ha-ni) และในบทเพลงสุภาษิต เรียกว่า “หญ่าหนี่หญ่า” (Zaqnyiqzaq) ส่วนชื่อที่คนกลุ่มอื่นมักใช้เรียก เช่น คนจีน-ยูนนาน เรียกว่า อ่าข่า ชาวจีนฮ่อและชาวไทยในชียงตุง เรียกว่า “ก้อ” (Ko)  คนที่พูดภาษาตระกูลไต เรียกว่า “ข่าก้อ” (Kha Kaw) ซึ่งชาวอ่าข่าไม่ชอบชื่อนี้นัก เนื่องจากคำว่า ข่า ในภาษาไต แปลว่า ข้า ทาส  และคนไทยภาคเหนือ เรียกว่า อีก้อ ทั้งนี้นักวิชาการมีข้อถกเถียงถึงชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ [2519](2544) ตั้งข้อสมมุติฐานว่า ชื่อเรียก “ก้อ” อาจเป็นชื่อแต่เดิมที่คนอาข่าเรียกแทนตนเอง แต่ไม่ปรากฏความหมายและไม่มีที่มาอย่างชัดเจน กระทั่งบุคคลภายนอกเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “อีก้อ” ในเชิงดูหมิ่นชาติพันธุ์ ชาวอาข่าจึงไม่พอใจเมื่อถูกเรียกชื่อนั้น  แต่เดิมเอกสารหน่วยงานราชการไทยก็เรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า อีก้อ กระทั่งได้รับการทักท้วงจากกลุ่มชาติพันธุ์จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ชื่อ อาข่า

             กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า สาขาย่อยโลโล ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ ภาคเหนือของพม่าในบริเวณรัฐฉาน ตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของลาว ภาคเหนือของไทย และทางตอนเหนือของเวียดนาม ประวัติศาสตร์ของชาวอ่าข่า บอกเล่าถึงการอพยพเคลื่อนย้ายจากเขตเทือกเขาสูงในธิเบต เข้าไปอยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในเขตสิบสองปันนา ประเทศจีน ก่อนอพยพเคลื่อนตัวลงทางใต้เข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ประชากรชาวอ่าข่าในประเทศไทยกระจายอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัดทางภาคเหนือของไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ ตากและ เพชรบูรณ์ โดยอาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดเชียงราย  ชาวอ่าข่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ 7 กลุ่ม ดังนี้ 1) “กลุ่มอู่โล้” (Uqlor) 2) “ลอมี้” (Lawmir) 3) “อู่เบียะ”(Uqbyaq) 4) “อ๊ะจ๊อ” (Arjawr) 5) “หน่าคะ” (Naqkar) 6) “อู่พี” (Uqpi) และ 7) “อะเค้อ” (Aker) ทั้งนี้ ประมาณ 55% ของชาวอ่าข่าส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกลุ่มอู่โล้ รองลงไปคือกลุ่มลอมี้ (40%) และอู่เบียะ 4%  กลุ่มที่เหลือรวมกันมีจำนวนประมาณ 1% สำหรับชาวอาข่าที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากพบปัญหาเรื่องอคติทางชาติพันธุ์แล้ว ชาวอาข่าจำนวนมากยังไม่ได้รับสัญชาติไทย  ส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนการเดินทาง การเข้าถึงการศึกษา การงานอาชีพ ตลอดจนสวัสดิการทางสังคมและด้านอื่นๆของรัฐ

              ชาวอาข่ามีอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งด้านวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม อาหาร การแต่งกาย ภาษา โดยเฉพาะระบบการนับสายตระกูลบรรพบุรุษ “จึ” ที่สืบทอดต่อกันมา อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระแสโลภาภิวัตน์ การพัฒนาในประเทศ และการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ก่อให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์ข้ามพรมแดนรัฐชาติ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน  ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ต่อชาติพันธุ์อ่าข่าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ อาจส่งผลต่อการดำรงไว้ หรือปรับเปลี่ยน อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์   

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า :

              ประวัติศาสตร์

              ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์

              ชนชาติอ่าข่าถือเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติส่วนน้อย ฮาหนี่ (Hani) ในประเทศจีน (Wang 2013: 3) Wang ระบุว่าในประเทศจีนมีชนชาติส่วนน้อย ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจำนวน 55 ชนชาติ (น.13) แต่ถ้านับรวมกลุ่มชาติพันธุ์ฮั่น ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่แล้ว ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดในประเทศจีนมี 56 กลุ่ม

              สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในรัฐฉาน ประเทศพม่า ทางตอนเหนือของลาว ไทย และเวียดนาม อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน เนื่องจากสงครามและความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งกว่า งานศึกษาของไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ (2554) ระบุว่า ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดเหตุการณ์จีนมุสลิมต่อต้านราชวงศ์แมนจูและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้าร่วมต่อสู้กับจีนมุสลิมยูนาน ในสงครามซึ่งกินเวลายาวนานถึง 18 ปี (1855 – 1873) ไม่เพียงสงครามจะเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งภายใน หากประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างมีส่วนกระตุ้นให้เกิดสงครามเพราะต้องการทรัพยากรอันมีค่าในมณฑลยูนนาน สภาวะสงคราม ทำให้ชาวอ่าข่าที่ตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง และการกดขี่ เริ่มอพยพเพื่อหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ จากนั้น ในปี ค.ศ. 1884 เกิดสงครามระหว่างจีน-ฝรั่งเศส ในยูนนานและกวางสี ราชวงศ์แมนจูพ่ายแพ้ ต่อมาในปีค.ศ. 1949 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน ทหารจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) จำนวนกว่า 15,000 นาย ถูกขับไล่ออกจากประเทศ และหลบหนีเข้าไปในประเทศพม่า กองทัพก๊กมินตั๋งร่วมกับกลุ่มว้าที่ให้การสนับสนุน รวมตัวขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1951 ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นที่ไม่เข้าร่วม อพยพลงทางใต้ เข้าไปยังรัฐฉานของพม่า และทางเหนือของประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งกลุ่มอ่าข่า ลาหู่ ลีซู และอื่น ๆ (ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์, 2554)

              ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประสบการณ์ร่วมกันในเรื่องของการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งจากดินแดนของบรรพบุรุษในจีน และเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เรื่องการอพยพโยกย้ายนี้ สะท้อนอยู่ในบทสวดของผู้นำสวด “พิมะ” ในงานพิธีศพ เมื่อมีการท่องนับสายตระกูล สถานะของชาวอ่าข่าในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ คือชนชาติส่วนน้อย หรือชนกลุ่มน้อย ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และกลุ่มชาติพันธุ์หลัก พวกเขาต้องเผชิญกับบริบททางเศรษฐกิจสังคมการเมือง และนโยบายของรัฐชาติที่แตกต่างกันออกไป ทั้งที่ผสมกลมกลืน รวมพวก และกลืนกลายทางวัฒนธรรม

              รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน

              การอพยพเคลื่อนย้าย

              กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่ากระจายตัวอยู่ตามแนวชายแดนจีนตะวันตกเฉียงใต้ พม่า ลาว ไทย และเวียดนาม ในประเทศจีน ชนชาติอ่าข่าถือเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติส่วนน้อย ฮาหนี่ (Hani) ในประเทศจีน (Wang 2013: 3) Wang ระบุว่าในประเทศจีนมีชนชาติส่วนน้อย ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจำนวน 55 ชนชาติ (น.13) กลุ่มชาติพันธุ์ฮ่าหนี่/อ่าข่า กระจายตัวอยู่มากในเขตการปกครองตนเองหงเหอ (Honghe) บริเวณแม่น้ำแดงตอนเหนือของชายแดนระหว่างจีนและเวียดนาม ในเขตเมืองซือเหมา (Simao) ใจกลางของแคว้นยูนนานตอนใต้ เขตการปกครองตนเองปูเออ (Puer) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองคุนหมิง และเขตปกครองตนเองของลาหู / ว้าที่เมืองหลานซาง (Lanchang) และเขตปกครองตนเองของชาวไตในแคว้นสิบสองปันนา นอกจากนี้ยังมีการอพยพของชาวอ่าข่าเข้าไปตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของประเทศลาว และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า และทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (ปนัดดา บุณยสาระนัย และหมี่ยุ้ม เชอมือ, 2547: 87) ปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในประเทศไทย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดตาก จังหวัดแพร่ (ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง 2559)

              ในประเทศจีน ชาวฮั่นซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก เห็นว่ากลุ่มที่พูดภาษาตระกูลธิเบต-พม่า เป็นกลุ่มที่มีอารยธรรมต่ำกว่าตนเอง และเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า หมาน หรือเฉียงอู่หมาน หมายถึงกลุ่มชนที่มีผิวสีคล้ำ ชาวอ่าข่าในจีนถูกจัดเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มโลโล ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมบริเวณชายแดนด้านตะวันออกของธิเบตในปัจจุบัน (ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์, 2554) ในราวกว่าพันปีก่อน กลุ่มโลโลกลุ่มหนึ่งแยกตัวจากถิ่นฐานเดิมมาอาศัยอยู่ที่ราบระหว่างหุบเขาของแม่น้ำแยงซีตอนบนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวนติดกับตะวันออกของธิเบต และได้สร้างวัฒนธรรมต่างไปจากกลุ่มเดิม ชาวฮั่นเรียกพวกเขาว่า อี๋ หรือ หยี (Yi) หลังจากนั้น กลุ่มย่อยฮาหนี่ (Hani) และอ่าข่า (Akha) ของกลุ่มอี๋และกลุ่มโลโลอื่น ๆ ได้อพยพลงมาทางใต้ แต่เนื่องจากข้อจำกัดของทรัพยากรบริเวณเทือกเขาแถบธิเบต ทำให้บรรพบุรุษชาวอ่าข่าต้องอพยพไปยังบริเวณที่อุดมสมบูรณ์กว่า ในมณฑลเสฉวนตอนใต้และยูนนานในปัจจุบัน ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 (ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์, 2554)

              การตั้งถิ่นฐานของชาวอ่าข่าในประเทศไทย

              การตั้งถิ่นฐานของคนอ่าข่าในประเทศไทย มีทั้งนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการ มิชชั่นนารี นักเดินทางท่องเที่ยว ทำการวิจัย บันทึกข้อมูล และภาพถ่ายไว้ จำนวนมาก งานศึกษาเกี่ยวกับการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าเข้าสู่ประเทศไทย ระบุช่วงเวลาการอพยพเข้ามาแตกต่างกันออกไป งานของ Lebar et al. ในปี 1964 ระบุว่าชาวอ่าข่าเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 20 ปีก่อนหน้านั้น (ราวพ.ศ. 2487) ส่วนการศึกษาของ Paul W. Lewis (1970) มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ที่เข้ามาทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวอ่าข่าในประเทศพม่าและประเทศไทยตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1940 อ้างถึงงานศึกษาของ Dellinger (1969: 108) ว่า ชาวอ่าข่าที่อาศัยอยู่ทางใต้ของเมืองเชียงตุง (Kengtung) ในรัฐฉานของพม่า เริ่มอพยพเข้ามายังเขตภูเขาทางตอนเหนือของไทย ราวปี ค.ศ. 1915 (พ.ศ. 2458) ส่วนชาวอ่าข่าในพม่านั้น อพยพมาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) (Lewis 1970: 30) ส่วน Leo Alting von Geusau นักวิชาการชาวดัตช์ ระบุว่า คนอ่าข่าเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1903 หรือ พ.ศ. 2446 (von Geusau 1983: 246) บทความอื่นของ Leo Alting von Geusau (2000: 126) ระบุว่า คนอ่าข่าอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในตอนเหนือของประเทศไทย ประมาณ 130-150 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลบหนีการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน ในไทย พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกับชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ลีซู ลาหู่ คะเรน (Karen หรือ กะเหรี่ยง) ม้ง เย้า/เมี่ยน ในเขตภูเขา สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการอพยพเข้ามาของกลุ่มคนจีน-ยูนนาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับกองกำลังก๊กมินตั๋ง (KMT) และการอพยพของคนไทยพื้นราบขึ้นไปอยู่บนภูเขา ทำให้จำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เคยเป็นชนกลุ่มใหญ่อยู่ก่อน กลายเป็นชนกลุ่มน้อย 

              งานศึกษาอื่นที่แสดงให้เห็นว่า คนอ่าข่าอาจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกว่าร้อยปีแล้ว อาจดูได้จากบทความของธงชัย วินิจจะกุล ในปี 2543 เรื่อง The Quest for “Siwilai”: A Geographical Discourse of Civilisational Thinking in the Late Nineteenth and Early Twentieth Century Siam” ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Asian Studies ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 หน้า 528-549 อ้างถึงข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสารวชิรญาณวิเศษ ในปี 2429 โดยผู้เขียนคือ ขุนประชาคดีกิจ (ต่อมาได้พระราชทานยศเป็นพระยาประชากิจกรจักร) ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงที่ถูกส่งตัวให้ไปดูแลหัวเมืองทางเหนือ บทความนี้ชื่อว่า “ว่าด้วยประเภทคนป่าและข่าฝ่ายเหนือ” โดยผู้เขียนระบุวัตถุประสงค์ว่า “เพื่อบอกเล่าถึงคนเดิมที่ยังอาศัยอยู่ในป่าเขาในภาคเหนือ” ทั้งนี้รายชื่อคนเดิมเหล่านี้ ประกอบด้วย ละว้า ยาง (กะเหรี่ยง-ผู้วิจัย) และขมุประเภทต่าง ๆ อาทิ ขมุบ้าน ขมุป่า ข่าประเภทต่าง ๆ เช่น ข่าละเม็ด ละมั่ง ข่าเฮ็ด ข่าแม้ว ก้อ (อ่าข่า-ผู้วิจัย) กุย มูเซอ และผีป่า (ธงชัย 2543: 46-48) ทั้งนี้จะเห็นว่า คนอ่าข่า ซึ่งถูกเรียกว่า ก้อ ในบทความในปี 2429 ดังกล่าว เข้ามาอยู่อาศัยในภาคเหนือของไทยตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว

              สำหรับสาเหตุที่ทำให้ชาวอ่าข่าที่อาศัยอยู่ในพม่า อพยพเข้าสู่ประเทศไทยนั้น มาจากสงครามภายในประเทศประกอบกับการถูกกดขี่โดยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มีกำลังอำนาจเหนือกว่า รวมทั้งการโจรกรรม ฆาตกรรมและการทำลายทรัพย์สิน (Geusau 1983: 247) นอกจากนี้ บริเวณชายแดนไทยที่ติดกับพม่ายังเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ และอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง ทั้งยังมีประชากรไม่หนาแน่นมากนัก  (ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์, 2550: 42)

              Alting von Geusau (2000) สันนิษฐานว่าชุมชนอ่าข่าแห่งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466 คือ บริเวณชายแดนพม่าหรือ บริเวณชุมชนพญาไพรเก่า นักวิชาการเช่น Mika Toyota ที่เข้ามาศึกษาชุมชนอ่าข่าในหมู่บ้านพญาไพร ในเขตอ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย อ้างอิงคำบอกเล่าของผู้นำในชุมชนว่าอยู่หมู่บ้านพญาไพรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 ส่วนหมู่บ้านแห่งที่สอง คือ หมู่บ้านค้าแหย่งหรือขาแหย่ง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 ส่วนงานของปนัดดา บุณยสาระนัย (2547) ระบุว่าอ่าข่าในประเทศไทยอพยพมาจากแคว้นเชียงตุงของพม่า เข้ามาชุดแรกที่บริเวณดอยตุง เขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผู้นำการอพยพรุ่นแรกคือแสนอุ่นเรือน ซึ่งต่อมาเสียชีวิตที่ดอยตุง ส่วนญาติพี่น้องได้แยกย้ายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่นแสนพรม (เสียชีวิต พ.ศ. 2515) ได้ตั้งหมู่บ้านผาหมี อำเภอแม่สาย และแสนใจหลานของแสนอุ่นเรือน (เสียชีวิต พ.ศ. 2515) ตั้งหมู่บ้านและเป็นหัวหน้าหมู่บ้านแสนใจในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (ปนัดดา 2547: 7)

              สภาพแวดล้อมของการตั้งถิ่นฐาน

              การตั้งถิ่นฐานในปัจจุบัน

              นักมานุษยวิทยาชาวดัตช์ Leo Alting von Geusau (2000) เขียนอธิบายไว้เกี่ยวกับชนชาติฮาหนี่-อ่าข่าว่า มีจำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในมณฑลยูนนาน ตลอดจนภาคเหนือของลาว เวียดนาม ไทย และในภาคตะวันออกของพม่า (เมียนมา) โดยพื้นที่ที่ชนชาตินี้อาศัยอยู่ อยู่ในส่วนที่เรียกว่า Mekong Quadrangle (สี่เหลี่ยมแม่น้ำโขง) ระหว่างตำแหน่ง 19 และ 24 องศาเหนือ 99 และ 105 องศาตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500x600 กิโลเมตร หรือ 3,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบัน เป็นอาณาเขตของ 5 รัฐชาติสมัยใหม่ ชนชาติฮาหนี่-อ่าข่า ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขา โดยอาศัยร่วมกันกับกลุ่มชนชาติอื่น ๆ และมีการรวมกันอยู่หนาแน่นในบางพื้นที่ (น.123)

     

              การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร

              จากข้อมูลพื้นฐานชนเผ่าอ่าข่า ที่จัดทำโดยนางสาววิไลลักษณ์ เยอเบาะ กองเลขานุการเครือข่ายอ่าข่าลุ่มน้ำโขง ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันประชากรชาวอ่าข่าอาศัยอยู่หนาแน่นในแคว้นสิบสองปันนาบริเวณมณฑลยูนนานของประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีประชากรชาวอ่าข่าอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ในประเทศพม่า ลาว ไทย และเวียดนาม คาดว่าประชากรชาวอ่าข่าทั่วโลกมีประมาณ 2,200,000 คน โดยในจำนวนนี้ ประมาณ 1,630,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศจีน รองลงมาคือประเทศพม่า (250,000 คน) ประเทศลาว 100,000 คน ไทย 80,000 คน และเวียดนาม 40,000 คน (วิไลลักษณ์ มปป., ออนไลน์)

              การสำมะโนประชากรของประเทศลาว ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) พบว่ามีกลุ่มประชากรชาติพันธุ์ต่าง ๆ 49 กลุ่ม กลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดคือ กลุ่มชาติพันธุ์ลาว มีประชากรรวมทั้งสิ้น 3,427,665 คน (คิดเป็น 53.2% ของประชากรที่เป็นพลเมืองประเทศลาว สำหรับประชากรอ่าข่ามีจำนวนทั้งสิ้น 112,979 คน หรือคิดเป็น 1.8 % ของประชากรที่เป็นพลเมืองของประเทศรวม 6,446,690 คน  (การสำรวจสำมะโนประชากรและครัวเรือน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2015: น. 122)

              ในประเทศเวียดนาม ชาวอ่าข่าถูกจัดอยู่ภายใต้กลุ่มฮาหนี่ ซึ่งในข้อมูลปี 1995 จำนวนประชากรฮาหนี่มีทั้งสิ้น 12,489 คน (Khong Dien 1995: 307 อ้างใน Asian Development Bank 2000: 18)

              ประชากรชาวอ่าข่าในประเทศไทยกระจายอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัดทางภาคเหนือของไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ ตากและ เพชรบูรณ์ โดยอาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดเชียงราย (วิไลลักษณ์ มปป., ออนไลน์) หรือประมาณ 73,810 คน คิดเป็นกว่า 84% ของประชากรชาวอ่าข่าทั้งสิ้น 87,429 ในประเทศไทย (ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง 2559)

              ชาวอ่าข่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ 7 กลุ่ม ดังนี้ 1) “กลุ่มอู่โล้” (Uqlor) 2) “ลอมี้” (Lawmir) 3) “อู่เบียะ”(Uqbyaq) 4) “อ๊ะจ๊อ” (Arjawr) 5) “หน่าคะ” (Naqkar) 6) “อู่พี” (Uqpi) และ 7) “อะเค้อ” (Aker) ทั้งนี้ ประมาณ 55% ของชาวอ่าข่าส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกลุ่มอู่โล้ รองลงไปคือกลุ่มลอมี้ (40%) และอู่เบียะ 4%  กลุ่มที่เหลือรวมกันมีจำนวนประมาณ 1% (เครือข่ายอ่าข่าลุ่มน้ำโขง 2556 อ้างในวิไลลักษณ์ (มปป., ออนไลน์)

              ชาวอ่าข่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้น ในอดีตส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง แต่ในปัจจุบัน ได้มีการกระจายตัวของคนอ่าข่าที่อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย หรือแม้แต่ที่เดินทางไปทำงานและอาศัยในต่างประเทศ หรือในกรณีที่มีการแต่งงานกับชาวต่างชาติ มีการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ หน่วยงานราชการของรัฐไทย ดำเนินการเก็บข้อมูลการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากร มาตั้งแต่ทศวรรษ 1940s โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในปัจจุบันคือ กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งจัดตั้งเมื่อ 6 มีนาคม 2558 ได้มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาชาวเขา จำนวน  16 ศูนย์ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล ครอบคลุม 20 จังหวัดในประเทศไทย และจัดทำทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทย ปี 2559

              ทั้งนี้ข้อมูลจากทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2559 ระบุว่า มีหมู่บ้านบนพื้นที่สูง ใน 20 จังหวัด จำนวน 3,704 หมู่บ้าน หลังคาเรือนทั้งหมด 310,079 ครอบครัวทั้งหมด 342,854 ประชากรบนพื้นที่สูงทั้งหมด 1,441,135 (แยกเป็นชาย 724,257 หญิง 716,878) โดยมีการกระจายตัวของราษฎรบนพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดตาก ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ไทยพื้นราบ ม้ง ลาหู่ อ่าข่า ลัวะ เมี่ยน ลีซู ขมุ ถิ่น มลาบรี และเผ่าอื่น ๆ (ไม่ระบุหรืออธิบายว่าเป็นกลุ่มใด) กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กะเหรี่ยง จำนวน 548,195 คน (38.04 %) รองลงมาคือ คนไทยพื้นราบ (ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง) จำนวน 217,407 (15.08 %) ม้ง จำนวน 207,151 (14.37 %) และกลุ่มชาติพันธุ์ที่พบน้อยที่สุดคือ มลาบรี จำนวน 357 คน (0.02 %) ส่วนชาติพันธุ์อ่าข่า พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 87,429 คน หรือคิดเป็น 6.07 % ของประชากรบนพื้นที่สูงทั้งหมด (น. 7-8)

     

    สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า มีรายละเอียดของการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากร ดังนี้

     

    จังหวัด กลุ่มบ้าน หลังคาเรือน ครอบครัว ชาย หญิง รวม
    เชียงราย 245 12,714 14,027 36,389 37,421 73,810
    เชียงใหม่ 45 2,047 2,433 4,963 5,114 10,077
    ลำปาง 7 341 346 769 794 1,563
    ตาก 2 251 251 751 688 1,439
    แพร่ 2 110 113 289 251 540
    รวมทั้งหมด 301 15,463 17,170 43,161 44,268 87,429

    ที่มา : ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ปี 2559 กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     

              จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า คนอ่าข่า ตั้งถิ่นฐานและกระจายตัวอยู่ในจังหวัดเชียงรายมากที่สุด หรือคิดเป็นกว่า 84 % ของจำนวนคนอ่าข่าทั้งหมดที่กระจายตัวอยู่ในประเทศ รองลงมาคือ จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 11.52 และลำปาง ร้อยละ 1.78

              รายงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า จากการสำรวจในปี 2002 มีชาวอ่าข่าในหมู่บ้าน 271 แห่งในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 68,653 ในขณะที่ Wang (2013: 20, 25) อ้างถึงข้อมูลจากนายอาทู่ ปอแฉ่ หรือไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมอ่าข่าเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมในประเทศไทย (AFECT) ระบุว่ามีชาวอ่าข่าในไทยประมาณ 80,000 คน (Wang 2013: 20) ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในประเทศไทยอาศัยอยู่กระจายอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัดทางภาคเหนือของไทยตามจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ และน่าน

              จำนวนครัวเรือน 

              จำนวนครัวเรือนอ่าข่าในประเทศไทย มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 15,463 และจำนวนครอบครัว 17,170 (ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2559, น.17)

              จำนวนประชากร 

              จำนวนประชากรอ่าข่าในประเทศไทย มีจำนวนทั้งหมด 87,429 คน (ชาย 43,161 หญิง 44,268) (ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2559, น.17)

              สถานการณ์ด้านประชากร 

              จำนวนประชากรอ่าข่า ที่สำรวจในระหว่างเดือน มิ.ย. 2558 – ก.พ. 2559 ในพื้นที่ 20 จังหวัด (สำหรับการจัดทำทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2559) พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้านั้น ราวปี 2544-2545 ดังจะเห็นได้จาก จำนวนประชากรอ่าข่าที่ระบุไว้ในทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2545 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,653 คน แต่การสำรวจครั้งล่าสุด มีจำนวนทั้งหมด 87,429 คน

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า :

              อัตลักษณ์ชาติพันธุ์

              อัตลักษณ์ชาติพันธุ์เป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงทางวิชาการค่อนข้างมาก ในแง่ที่เป็นการอภิปรายถกเถียงระหว่างนักวิชาการที่เห็นว่าอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่มีลักษณะบุพกาล (primordial) หรือเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด มีความสำคัญและมีความยั่งยืน เป็นมรดกสืบทอดต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่นักวิชาการอีกส่วนหนึ่ง เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์นั้น เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม มีลักษณะที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว และอาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ บริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมืองที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่า ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์จะยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ หากแต่ในส่วนของคนในวัฒนธรรมแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขายังคงเชื่อมั่นในสิ่งที่สามารถกำหนด บ่งบอกตัวตนและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษา ระบบความเชื่อ เช่น การมีที่มาทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษร่วมกัน ตลอดจนการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี สำหรับกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่านั้น นักวิชาการชาวดัตช์ Leo Alting von Geusau (2000, 2003: 2-3) เห็นว่า คนฮาหนี่-อ่าข่า ทั้งหมดไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศจีนหรือประเทศอื่น “ต่างเห็นว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนแรก คือ ซุมมิโอ (SmrMirOr) เหมือนกัน ซึ่งนับย้อนขึ้นไปกว่า 55-60 ชั่วคน”

              นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์คือ ภาษา ชาวอ่าข่ามีภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง ภาษาพูดของชาวอ่าข่าจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาธิเบต-พม่า กลุ่มย่อยโลโล สำหรับตำนานที่เล่าถึงการไม่มีภาษาเขียนของคนอ่าข่านั้น นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก หรือชื่ออ่าข่า นายอาทู่ ปอแฉ่ ระบุไว้ในงานวิจัยของเขาว่า สมัยบรรพบุรุษเคยมีภาษาเขียนของอ่าข่าเขียนไว้ในหนังควาย แต่เมื่อเกิดศึกสงคราม บรรพบุรุษได้ต้มหนังควายกินและจดจำตัวอักษรไว้ในสมองแทน โดยผู้วิจัยคือนายอาทู่เห็นว่า การที่ไม่มีภาษาเขียน ทำให้คนอ่าข่าสืบสานประเพณี พิธีกรรม โดยใช้ความจำสืบเนื่องกันมากว่า 2,700 ปี

              ในประเทศจีน ซึ่งชนชาติอ่าข่าถือเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติส่วนน้อย ฮาหนี่ (Hani) ซึ่งมีเขตปกครองตนเองของชาวฮาหนี่ อยู่บริเวณแม่น้ำแดงในเขตเมืองหงเหอและหยวนหยาง (Honghe-Yuanyang) นั้น ภาษาฮาหนี่ได้รับการรับรองให้เป็นภาษาทางการสําหรับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า-ฮาหนี่ทั้งหมดในประเทศจีน ซึ่งเป็นภาษาเขียนระบบอักษรโรมัน คล้ายระบบเขียนแบบพินยิน (Pin Yin) ของภาษาจีนกลาง (ปนัดดา 2556: 129) ในประเทศไทย และประเทศพม่า มิชชั่นนารีชาวต่างประเทศได้พัฒนาภาษาเขียนอ่าข่า โดยใช้อักษรโรมัน แต่มีมากกว่าสิบแบบ (ปนัดดา 2556: 130)  ปลายปี พ.ศ. 2552 เกิดการเคลื่อนไหวของชาวอ่าข่าในประเทศไทย พม่า ลาว และจีน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคนอ่าข่าร่วมกันทั้งในทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการเลือกใช้ภาษาเขียนร่วม(Common language) เพื่อการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอ่าข่า ซึ่งได้มีการนำไปใช้ในสื่อต่างๆ เช่น จัดพิมพ์หนังสือ ซีดีเรียนภาษา และวัฒนธรรม เว็บไซต์ สื่อภาพยนตร์ สารคดี บทเพลง และการสื่อสารทั้งส่วนตัว และ สาธารณะ (ปนัดดา 2553) เรื่องภาษาเขียนร่วมของคนอ่าข่าใน 4 ประเทศดังกล่าวนี้ Wang (2013: 25) อธิบายว่า คนฮาหนี่และอ่าข่า เรียกภาษาเขียนร่วมนี้ว่า Khanq Haqniq Aqkaq Sanqbovq (KHAS) ซึ่งมีการพัฒนาโดยตัวแทนอ่าข่าจากจีน ลาว เมียนมา และประเทศไทย และเป็นที่ตกลงร่วมกัน ณ เมือง จิ่งห่ง (Jinghong) จังหวัดยูนนาน ประเทศจีน วันที่ 1 ม.ค. ปีค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ภาษาเขียนร่วมนี้ เป็นระบบภาษาเขียนซึ่งใช้อักษรโรมันในการกำหนดการออกเสียง ซึ่งประกอบด้วย q (ออกเสียงยาว ต่ำ) r (ออกเสียงยาว สูง) v (ออกเสียงสั้น กลาง) vq (ออกเสียงสั้น ต่ำ) และ vr (ออกเสียงสั้น สูง) เช่นคำว่า  “Aqkaq” (Akha) ตัวอักษร q เป็นตัวกำหนดว่าแต่ละพยัญชนะในคำนี้จะออกเสียงยาวและเป็นเสียงต่ำ คือออกเสียงว่า อ่าข่า

              “Aqkaqzanr” กับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อ่าข่า

              นักวิชาการจำนวนมากที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ต่างให้ความสำคัญกับ Aqkaqzanr (อ่าข่าย้อง) ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวอ่าข่า (Toyota 1998: 198/804) คำว่า Aqkaqzanr นี้มีการให้ความหมายแตกต่างกันออกไป อาทิ Paul Lewis (1969, 1970, 1989) มิชชั่นนารีชาวอมริกันอธิบายว่า หมายถึง ศาสนา ขนบธรรมเนียม หรือวิถีการปฏิบัติสิ่งต่างๆ ส่วนนักมานุษยวิทยาหลายคน เช่น Leo Alting von Geusau (1983) Kammerer (1986, 1989) และ Tooker (1988, 1992) ให้ความหมายว่า หมายถึง วิถีชีวิตของคนอ่าข่า กฎจารีตประเพณีที่กำกับพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม ในมุมมองทางมานุษยวิทยานั้น มีความเห็นแย้งกับการอธิบาย Zanr ว่าเป็นศาสนา เนื่องเพราะ Zanr ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเชื่อถือ แต่เป็นสิ่งที่ต้องถือไว้ หรือแบกรับไว้ (carry) (Kammerer 1996; Toyota 1998: 199) แม้ Aqkaqzanr มีความสำคัญ แต่นักวิชาการบางคนเห็นว่า ความซับซ้อนของ Aqkaqzanr ทำให้คนอ่าข่ารุ่นใหม่เห็นว่า เป็นเรื่องยุ่งยากและมีเพียงผู้รู้ไม่กี่คนที่จะเข้าใจและยังถือปฏิบัติและให้ความสำคัญกับ Aqkaqzanr (Toyota 1998) นอกจากนี้นักวิชาการเช่น Toyota ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดว่า Aqkaqzanr เป็นพื้นฐานของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อ่าข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอ่าข่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมืองเพื่อทำงาน หรือเรียนหนังสือ

     

              การผลิตอาหาร / การเกษตร / การยังชีพ

              ชาวอ่าข่าส่วนใหญ่ดั้งเดิมนั้นทำการเกษตร และมีการผลิตเพื่อยังชีพ แต่ไม่ใช่เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน พวกเขายังชีพด้วยการปลูกข้าวไร่ และข้าวนาดำ ตลอดจนปลูกฝิ่นขายแลกเป็นเงินสด ในช่วงที่รัฐบาลยังไม่ประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในไร่ข้าวมีลักษณะการปลูกพืชผสม (Mixed cropping) ที่มีการปลูกพืชผักนานาชนิด ร่วมกับการปลูกข้าวในไร่ อีกทั้งยังนิยมปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคใกล้บ้าน โดยปกติพื้นที่ทำกินของชาวอ่าข่าจะอยู่ไกลจากชุมชนอย่างน้อย 2-5 กิโลเมตร การตัดสินใจเลือกพื้นที่ทำกินของชาวอ่าข่า มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อและพิธีกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเชื่อว่าทุกที่มีเจ้าของปกป้องดูแลรักษา ดังนั้นก่อนจะดำเนินการใดๆ ต้องทำพิธี เพื่อขออนุญาตจากเจ้าของที่เสียก่อน เพื่อให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างราบรื่น และพืชผลจะได้เจริญงอกงาม นอกจากนี้ ชาวอ่าข่ายังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ เพื่อบริโภค และใช้ประกอบการทำพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ๆ เช่น วัว ควาย และม้า ไว้ใช้งานในครอบครัวอีกด้วย ปัจจุบันชาวอ่าข่าในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้รับพืชส่งเสริมเพื่อการค้า เช่น ชา กาแฟ ข้าวโพด ไม้ผลเมืองหนาวและผักต่างๆ นอกจากนี้ชาวอ่าข่ายังทำธุรกิจโดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานหัตถกรรมในเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และพัทยา รวมทั้งอาชีพรับราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น และนักพัฒนาเอกชน (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, มปป., ออนไลน์)

              โครงการพัฒนาพื้นที่สูงของรัฐ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิตทางการเกษตรของคนอ่าข่า ปัจจุบัน มีพืชผักหลายชนิด รวมทั้งไม้ผลและไม้ยืนต้น ที่ชาวอ่าข่าเริ่มนำมาปลูกด้วยตนเอง หรือรับเข้าไปปลูกในชุมชนภายใต้การส่งเสริมของหน่วยงานรัฐ องค์กรระหว่างประเทศและโครงการความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ พืชเหล่านี้ได้แก่ กาแฟ ลิ้นจี่ ถั่วนางแดง ถั่วเหลืองพันธุ์ สับปะรด มันฝรั่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ถั่วลิสง มะม่วง พริก ขิง มะเขือเทศ มะระหวาน ชา กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ถั่วแขก ฯลฯ ไม้ผลเมืองหนาว เช่น ท้อพลับ บ๊วย เป็นต้น ปัจจุบัน ชาวอ่าข่าส่วนใหญ่ยังทำงานในภาคการเกษตร โดยเฉพาะคนวัยกลางคน ที่ไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนรัฐ ส่วนคนวัยทำงานและวัยรุ่นหนุ่มสาว เข้ามาทำงานรับจ้างในเมือง ส่วนคนที่เรียนในโรงเรียนรัฐหรือระบบการศึกษาของรัฐไทย ทำงานในหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน บริษัทเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ มีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก โดยเฉพาะชายหนุ่มชาวอ่าข่า ที่ไปทำงานรับจ้างในต่างประเทศ เช่น ในงานก่อสร้าง หรืองานการเกษตร ในไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น (ในจำนวนที่น้อยกว่า)

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า :

              โครงสร้างครอบครัว และเครือญาติ

              โครงสร้างครอบครัวของชาวอ่าข่า ผู้ชายถือเป็นหัวหน้าครอบครัว การขยายครอบครัวจะผ่านทางฝ่ายชายที่ถือเป็นผู้สืบสายวงศ์ตระกูลของครอบครัว ในสังคมอ่าข่า ระบบครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดในหมู่บ้าน ดังนั้นในระดับครอบครัวของอ่าข่าเน้นให้เห็นความสำคัญแก่ฝ่ายชายเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการสืบสกุล มรดก การแต่งงานเป็นการแต่งเข้าบ้านฝ่ายชาย ผู้ชายอ่าข่าสามารถมีภรรยาได้หลายคนหากภรรยาที่มีอยู่ไม่สามารถมีลูกชายได้ ความสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิกในครัวเรือนจึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน โดยให้ความเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสในตระกูล หรือผู้มีความรู้ในทางจารีตประเพณี อ่าข่ามีคำเรียกผู้นำทางครอบครัวที่เป็นพ่อว่า “ยูซองอ่าดะ” และผู้นำทางครอบครัวที่เป็นแม่ว่า “ยูซองอ่ามา” ซึ่งสามารถเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวของตนเองให้สามารถดำรงชีพไปตามวิถีชีวิตของสังคมชาวอ่าข่าได้ การแต่งงานถือว่าเป็นการเชื่อมสัมพันธ์กับสายสกุลอื่น การนับถือเครือญาติจะนับถือกันทั้งสองฝ่ายเท่ากัน คือ ทั้งเครือญาติฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยเครือญาติทั้งสองฝ่ายจะมีศักดิ์และฐานะทางสังคมเท่าเทียมกัน (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, 2561 อ้างในอำภา วูซือ, 2562, ออนไลน์)

     

              ระบบการนับสายตระกูล และบรรพบุรุษ

              สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นเฉพาะในสังคมชาวอ่าข่าคือ ระบบการนับลำดับชื่อบรรพบุรุษอ่าข่า ที่เรียกว่า“จึ” (Tseevq) โดย Jane R. Hanks ซึ่งเข้ามาศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในประเทศไทย ภายใต้โครงการสำรวจ Bennington-Cornell ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1964, 1969, 1974 ระบุในหนังสือของเธอชื่อ Akha Patrilineage (1964) ว่า การสืบเชื้อสายของชาวอ่าข่าเป็นการสืบเชื้อสายทางลำดับญาติฝ่ายชาย จากพ่อสู่ลูกชายคนโตเป็นทอดๆไป การท่อง “จึ” นี้ ในพิธีศพ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่เสียชีวิต ได้เดินทางกลับไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

              “จึ” (Tseevq) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวอ่าข่า เป็นเครื่องมือในทางสังคมที่แสดงให้เห็นถึงลำดับความเชื่อมโยงของคนจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะเห็นได้จากชื่อของลูกที่จะต้องมีส่วนหนึ่งของชื่อมาจากชื่อของบิดา รูปแบบที่พบเห็นทั่วไปในกลุ่มอ่าข่า ก็คือ พยางค์สุดท้ายของชื่อพ่อจะนำมาใช้เป็นพยางค์แรกของชื่อลูกทั้งชายและหญิง เช่น พ่อชื่อ“ซองจ่า” (Sanjaq) ลูกจะถูกตั้งชื่อว่า“จ่าหล่อง” (Jaqlanq) จากนั้นลูกของ“จ่าหล่อง” (Jaqlanq) อาจจะถูกตั้งชื่อว่า“หล่องผ่า” (lanqpaq) เป็นต้น ดังนั้นชาวอ่าข่าส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงสามารถจดจำบรรพบุรุษของพวกเขาย้อนหลังไปมากกว่า๗๐ รุ่น ด้วยวิธีการจดจำชื่อที่คล้องจองกัน นอกจากนี้ ในพิธีศพของชาวอ่าข่า จะมีการท่องระบบการสืบทอดสายตระกูลนี้ ในการส่งวิญญาณของผู้เสียชีวิตให้ไปในอีกภพหนึ่ง หรือใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจยามเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, มปป., ออนไลน์)

              นอกจากนี้ “จึ” (tseevq) หรือระบบการนับสายตระกูลยังสามารถอธิบายย้อนไปถึงการก่อเกิดสรรพสิ่งและจักรวาลได้อีกด้วย โดยในพิธีศพ ผู้รู้มีการสวดที่กล่าวถึงการกำเนิดสรรพสิ่ง โดยอธิบายอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจาก“บยุ่ม”(Bymq) คือ การก่อเกิดของสรรพสิ่งในจักรวาล ที่อธิบายถึงสิ่งเล็ก หรือละอองในความว่างเปล่า จากนั้นละอองเหล่านี้เกิดการขยายตัว“เซอ”(Se)และเริ่มมีการเคลื่อนตัวหรือโคจร “ญี” (Nyi) จนเกิดเป็นรูปร่าง“แตะ” (Taev) และแบ่งส่วนเป็นดวงดาวต่างๆ “กา” (Ga) แสดงตัวตนในลักษณะต่างๆ แล้วเริ่มเป็นแหล่งแห่งชีวิต เช่น ดวงอาทิตย์เริ่มให้แสงสว่าง และโลกเริ่มมีภาวะที่เอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิต ด้วยเหตุนี้การท่องลำดับสายตระกูลจึงมีการกล่าวถึงการกำเนิดสรรพสิ่งเหล่านี้ย้อนไปถึงก่อนหน้าการกำเนิดมนุษย์ (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, มปป., ออนไลน์)

              โดยทั่วไปบรรพบุรุษ 12 รุ่นแรก เป็นบรรพบุรุษในตำนาน และจะไม่มีการอ้างถึงในพิธีกรรมปกติทั่วไป ในขณะที่บรรพบุรุษอีก 14 รุ่น นับจากซุ้มมิ้โอะ (Smr-mir-or) จนถึง โจ่วถ่องผ่อง(Dzoeq-tanqpanq) นั่นถือว่าเป็นสายตระกูลของผู้ปกครองเมือง หรือสหพันธรัฐ หรือรัฐเล็กรัฐน้อยที่ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณของชาวอ่าข่า และนับจากบรรพบุรุษรุ่นที่ 27 ลงมา สายตระกูลแยกออกเป็น 7 สาย ซึ่งเรียกว่า “Tanq panq xivq maer aqnmr” ในภาษาอ่าข่า และยังมีสายเล็กๆน้อยๆอีกจำนวนมาก (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, มปป., ออนไลน์) 

              กรณีที่สมาชิกภายในสายตระกูลกระทำผิดจารีตประเพณีวัฒนธรรมในสังคมของชาวอ่าข่านั้น จะต้องแยกตัวออกไปจากสายตระกูลเดิมของตนที่สืบต่อกันมา (หมายถึงการแยกออกจาก “จึ“ ของบรรพบุรุษ) ซึ่งการแยกสายตระกูลออกไปใหม่นี้ ชาวอ่าข่าเรียกว่า “ผาปา” คือแบ่งตระกูล ซึ่งผาปานั้นเกิดจากการกระทำผิดจารีตประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งเป็นข้อห้ามตามธรรมเนียมของสังคมอ่าข่าดั้งเดิม ที่อ่าข่าเรียกว่า “มาจาคุมแจจา มาด้อคุมแจด้อ” หมายถึง “กินในสิ่งที่ไม่ควรกิน ดื่มในสิ่งที่ไม่ควรดื่ม” ตัวอย่างการกระทำผิดจารีตประเพณีวัฒนธรรม เช่น การแต่งงานกับญาติของตนเอง (แต่งงานภายในสายตระกูลเดียวกัน หรือการเอาภรรยาของอีกคนมาเป็นภรรยาของตนเอง เช่น เอาภรรยาของพี่มาเป็นภรรยาของตนเอง) เป็นต้น ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวนั้น จะต้องแยกออกไปจากสายตระกูลเดิมแล้วต้องไปเริ่มสายตระกูลใหม่ของตนเอง ซึ่งจะกลายเป็นตระกูลอื่นไป (ผาปา คือ พี่น้องร่วมบิดาทั้งหมดแยกออกไปจากตระกูลเดิมและตั้งตระกูลใหม่เป็นของตนเอง) แต่ถ้าหากพี่น้องร่วมบิดาที่ไม่ได้กระทำความผิดต่อจารีตประเพณีวัฒนธรรมของอ่าข่า และไม่สมัครใจที่จะแยกออกจากสายตระกูลเดิมของตน สามารถให้คู่สามีภรรยาที่กระความทำผิดนั้นแยกออกไปแค่สองคน ซึ่งชาวอ่าข่าเรียกว่า “ผาเจอะ”  (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, มปป., ออนไลน์)

              การสำรวจการกระจายตัวของ จึ (Tseevq) หรือระบบการสืบสายตระกูลของชาวอ่าข่าในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยเครือข่ายอ่าข่าลุ่มน้ำโขง (NADA) ร่วมกับสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม พบว่าสายตระกูลของชาวอ่าข่าในประเทศไทยมีจํานวนทั้งหมด 50 สายตระกูล ตระกูลที่มีการกระจายตัวมากที่สุด คือ ตระกูล เชอมื่อ (35) รองลงมาคือตระกูลมาเยอะ (25) ตระกูลแลเชอ (22) ตระกูลเมอแล (19) ตระกูลเมอโป (14) ตระกูลวุ่ยแมและตระกูลอางิ (12)  ตระกูลเยเปียงและเปียงแหล (10) ตระกูลค๊ะแล (7) ตระกูลอะซองและแซพ่า (6) ตระกูลเยส่อและเบเช่ (5) ตระกูลเบทู  (4) ตระกูลอามอและซาเดอ (3) ตระกูลอาจอ ปอแฉ่ วุ่ยแม (ผ่าวอ) วุ่ยยือ โจ่ลือ ละมื่อ โพเมีย เซาะหล่อง แซดู่ แซซอ และแซหลุ่ม (2)

              ระบบครอบครัวของอ่าข่าในไทย มีความคล้ายคลึงกับอ่าข่าในประเทศลาว จากการศึกษาของคาราเต้ สินชัยวอระวงส์ (2546) พบว่า ครอบครัวของอ่าข่าเป็นครอบครัวขยายทางฝ่ายพ่อ ครอบครัวของอ่าข่าครัวเรือนหนึ่งอาจมีหลายครอบครัวอยู่ร่วมกัน แต่ละครอบครัวอาจมี ปู่ ย่า พ่อแม่ ลูก สะใภ้และหลาน ครัวเรือนเป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมและเศรษฐกิจ เมื่อหัวหน้าครอบครัวตายลง ลูกชายคนโต ที่ยังอยู่ในครัวเรือนจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบเป็นหัวหน้าครัวเรือนและรับช่วงหิ้งผีบรรพบุรุษแทนพ่อของตน แต่ในกรณีที่ลูกชายคนโตยังเล็กอยู่ ภรรยาของหัวหน้าครอบครัวจะเป็นหัวหน้าครอบครัวแทน

              ชาวอ่าข่าในลาวมีการสืบสกุลทางฝ่ายพ่อ และผู้ชายอ่าข่าทุกคนต้องมีความรู้เกี่ยวกับสกุลของฝ่ายตนและฝ่ายภรรยา ลูกชายคนโตต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาสกุลไว้ และต้องถ่ายทอดให้น้องของตนได้รู้ต่อไป ระบบเครือญาติของคนอ่าข่ามีความผูกพันกับบรรพบุรุษ พิธีกรรม และการสืบสกุล คนที่ไม่ใช่อ่าข่า แม้ได้รับการยอมรับให้อยู่ในหมู่บ้าน หรือได้แต่งงานกับคนอ่าข่า แต่จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากผีบรรพบุรุษ และไม่อาจถือสกุลของอ่าข่าได้ สำหรับผู้หญิงอ่าข่าหากแต่งงานไปจะถือว่าขาดจากสกุลเดิม ไปใช้สกุลของฝ่ายสามีแทน หากผู้หญิงนั้นหย่าขาดจากสามีในภายหลัง สามารถกลับไปใช้สกุลเดิมของพ่อตนเองได้ อ่าข่ามีข้อห้ามในการแต่งงาน คือ ห้ามไม่ให้ชายหญิงที่อยู่ในตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน ส่วนการจัดพิธีศพ จะต้องจัดให้ถูกต้องตามสายสกุล หากผู้ตายอยู่ในสกุลใด ก็ต้องไปอยู่ตามสายสกุลนั้น เพื่อที่จะได้ขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผีบรรพบุรุษประจำตระกูลได้

              ในระบบสังคมชุมชนหมู่บ้านอ่าข่าในลาว มีช่างตีเหล็ก (บะจี) ทำหน้าที่ผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตร ให้กับชาวบ้าน มีผิมะหรือหมอผี คอยทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน หากคนในหมู่บ้านกระทำความผิด หัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นผู้ลงโทษ แต่หากเป็นโทษที่ร้ายแรง ทางราชการจะเป็นผู้ตัดสิน (คาราเต้ สินชัยวอระวงส์ 2546)

     

              การปกครองชุมชน / การจัดการชุมชน

              ในอดีตก่อนการก่อกำเนิดของรัฐชาติและการบริหารการปกครองในรูปแบบสมัยใหม่ โครงสร้างทางสังคมและการปกครองตามจารีตประเพณีของชาวอ่าข่า ให้ความสำคัญกับบุคคลต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านกฎจารีตประเพณี (โจ่ว - Dzoeq) ด้านการปกครองและความมั่นคง (คะ - Khav) ด้านช่าง (จิ - Civq) ด้านวิญญาณ (โจ่ว พิ - Dzoeq Pir) และด้านให้คำปรึกษา (คะมา - Khavma) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, มปป., ออนไลน์)

              ฝ่ายกฎจารีตประเพณี (โจ่ว - Dzoeq) ประกอบด้วย “โจ่วมา” (Dzoeq-ma) หมายถึงผู้นำด้านกฎจารีตประเพณี และผู้ช่วยคือ โจ่วหย่า (Dzoeq-zaq) (มีหรือไม่มีก็ได้)

              “โจ่วมา” (ผู้นำพิธีกรรมของหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการสืบทอดผ่านทายาท นับเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในหมู่บ้านชาวอ่าข่า ทำหน้าที่เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามจารีตประเพณี ของชุมชนทั้งหมด ตลอดจนกำหนดวันสำคัญเกี่ยวกับพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่ม ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชนก่อนชาวบ้านคนอื่นๆ เช่น การทำประตูหมู่บ้าน การปลูกข้าว การประกอบพิธีกรรมต่างๆในรอบปีของชาวอ่าข่า

              ชุมชนอ่าข่าตามจารีตประเพณี ที่ถือความอยู่รอดของชุมชนว่าขึ้นอยู่กับการประกอบพิธีกรรมประจำปี ให้ความสำคัญกับ ”โจ่วมา” ที่เป็นผู้นำการประกอบพิธีกรรมอย่างมาก เพราะหากไม่มี”โจ่วมา” ก็ไม่สามารถตั้งเป็นชุมชนหมู่บ้านได้ “โจ่วมา” เป็นบุคคลเพียงผู้เดียวที่มีความรู้เกี่ยวกับขบวนการ ขั้นตอน รายละเอียด ของพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งชาวอ่าข่าที่นับถือความเชื่อดั้งเดิมถือว่า การประกอบพิธีกรรมต่างๆจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องเป็นไปตามกฎจารีตประเพณีโดยเคร่งครัด ซึ่งมีเพียง ”โจ่วมา” เท่านั้นที่เป็นผู้รู้และสามารถประกอบพิธีกรรมได้

              ฝ่ายการปกครองและความมั่นคง ประกอบด้วย

              “บู่แซะ” (Buq saer) หมายถึง ผู้ใหญ่บ้าน

              “หน่าบิ๊/หน่าเหง่อ” (Naq bir/ Naq ngeq) หมายถึง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและกรรมการ

              “บื้อลา/บู่” (Beer la/Buq la) หมายถึง หัวหน้าฝ่ายการจัดการอาหารในงานชุมชน

              บุคคลเหล่านี้ เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจ หน้าที่ ในการรักษาความสงบและความมั่นคงในชุมชน บังคับใช้กฎระเบียบชุมชน ตัดสินคดีความปรับสินไหมออกแบบการพัฒนาชุมชนและประสานงานกับบุคคลภายนอก ในการศึกษาหมู่บ้านอ่าข่าในจังหวัดเชียงรายของอุไรวรรณ แสงศร (2542, น. 15) ซึ่งเคยทำงานเป็นนักวิจัยของสถาบันวิจัยชาวเขาในขณะนั้น ระบุว่า บางครั้งกลุ่ม “หน่าเหงอะ” มีการตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ (จำนวน 3-4 คน) โดย”โจ่วมา” เป็นผู้แต่งตั้ง มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และทำงานตามคำสั่งของผู้นำตามกฎจารีต หรือตามที่ผู้อาวุโสสั่งการ

              ฝ่ายช่างฝีมือ หรือ “จิ” (Civq) ประกอบด้วย

              “บาจี่” (Bajiq) หมายถึงช่างตีเหล็ก และ“จาข่า” (JAqkaq) หมายถึง ช่างเงินช่างทองทำหน้าที่ผลิตหรือซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตรทุกชนิด ให้กับสมาชิกในชุมชน สำหรับ”บาจี่” นับเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากกับชุมชนเกษตรกรรมแบบชุมชนอ่าข่า เพราะทำหน้าที่ตีเหล็กซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรให้กับชาวบ้านในชุมชน ตำแหน่งนี้ มีการสืบทอดตามสายตระกูล เพราะถือเป็นสมบัติเฉพาะคนในตระกูล อย่างไรก็ตาม สามารถถ่ายทอดให้คนนอกได้ในทางปฏิบัติ (อุไรวรรณ แสงศร 2542, น. 14)

              ฝ่ายจิตวิญญาณและสุขภาพ หรือ “พิ” (Pir) ประกอบด้วย

              “โบ๊วหม่อ” (Boermawq) หรือบางทีก็เรียกว่า “พิมะ” หมายถึง หมอสวดพิธีกรรม ซึ่งอาจมีผู้ช่วยคือ “พิหย่า” มีหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมและการรักษาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจหาสาเหตุทางกายที่เด่นชัด หรือรักษาด้วยยาไม่หาย

              “ญี้ผ่า” (Nyirpaq) หมายถึง คนทรง หรือ หมอทรง ทำหน้าที่วินิจฉัยโรคด้วยการเข้าทรง หรือเสี่ยงทาย เพื่อหาสาเหตุของความเจ็บป่วย จากนั้น จะทำหน้าที่ส่งต่อให้กับ“โบ๊วหม่อ” หรือผู้ช่วย หรือ หมอสมุนไพร ทำหน้าที่ในการรักษาต่อไป (อุไรวรรณ แสงศร 2542, น. 15)

              “ซามา” (Xavma) หมายถึง หมอทำนาย ทำหน้าที่สื่อสารกับวิญญาณ หรือทำนายทายทัก และรักษาคนไข้ โดยใช้ยาสมุนไพรคาถาอาคม และการเข้าทรง

              “คะมา” (Khavma) หมายถึง ที่ปรึกษา ประกอบด้วย“โจ่วคะ/หม่อคะ” (Dzoeq khav/

    Mawqkhav) หรือบางทีก็เรียกว่า อะบ๊อเชาะหม่อ (คณะผู้อาวุโส) “จิคะพิคะ” (Civqkhav Pirkhav) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อาวุโส ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ มีความสำคัญในการตัดสินคดีพิพาทต่างๆ ในชุมชนและมีจิตอาสาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและหนุนเสริมกิจกรรมของฝ่ายงานต่างๆ

              ปัจจุบันระบบการปกครองของชุมชนอ่าข่าเป็นการปกครองแบบผสมผสานระหว่างการปกครองแบบจารีตประเพณีและแบบทางราชการ (วิไลลักษณ์ เยอเบาะ, มปป., ออนไลน์)

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า :

              เสื้อผ้าและการแต่งกาย 

              กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศจีน มีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่ม และมีความหมายทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการแต่งกายของหญิงอ่าข่า ที่สะท้อนถึงความหมายที่เกี่ยวกับอายุ การเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยรุ่นและผู้หญิงที่พร้อมสำหรับความสัมพันธ์ทางเพศ และการแต่งงาน โดยเสื้อผ้าของแต่ละกลุ่มย่อยของชาติพันธุ์อ่าข่า จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับบริบทสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปประกอบด้วยเสื้อผ้าและกระโปรง รวมทั้งหมวกและเครื่องประดับตกแต่งในกรณีของผู้หญิง และเสื้อผ้า กางเกง ผ้าโพกศีรษะ และเครื่องประดับตกแต่งสำหรับผู้ชาย

              ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่าในอดีต คนอ่าข่าจะปลูกฝ้ายเพื่อปั่นฝ้ายใช้เอง แต่ในปัจจุบันจะซื้อฝ้ายดิบจากคนไทยนำมาอัดเป็นก้อนใหญ่ ยาวประมาณ 20 ซม. บรรจุในปล้องหรือกล้องไม้ไผ่ เวลากรอด้ายผู้หญิงจะผูกกล่องฝ้ายไว้กับเอว เกี่ยวใยเข้ากับตะขอกง ซึ่งเกาะไว้กับต้นขาแล้วปั่นอย่างรวดเร็วออกมาเป็นฝ้ายหนา และเหนียวทนทาน ในสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่านั้น ผู้หญิงจะได้รับการสอนให้ปั่นด้ายตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงอายุ 6-7 ขวบ โดยผู้หญิงอ่าข่าทุกวัยจะปั่นด้ายกันตลอดเวลา แม้ระหว่างเดินทางไปไร่ ขณะแบกฟืน หรือหาบน้ำ หรือแม้ขณะที่นั่งผิงไฟอยู่ในบ้านยามค่ำ สาวอ่าข่ามักแข่งขันกันว่า ใครจะปั่นด้ายได้มากที่สุดในแต่ละวัน ด้ายนี้จะถูกนำไปทอผ้าเนื้อแน่นหน้ากว้างประมาณ 17-20 ซม. จากนั้นนำไปย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตผลพื้นบ้าน ใช้เวลาย้อมร่วมเดือน ให้ได้สีน้ำเงินเข้มที่ต้องการ (พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา)

              ความขยันขันแข็งในการทำงานของผู้หญิงชาวอ่าข่าไม่ว่าจะเป็นอ่าข่าในประเทศไทย ลาว พม่า หรือจีน ได้รับการนำเสนอในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะการปั่นฝ้ายในระหว่างเดินทางไปไร่ มีให้เห็นจนชินตาในสื่อโทรทัศน์ และภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอวิถีชีวิตของคนชาติพันธุ์อ่าข่าในภูมิภาคนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า ที่บันทึกไว้ในหนังสือ “เครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย” (2562) ระบุว่า ชุดแต่งกายของสตรีชาวอ่าข่าแต่ละกลุ่มย่อยมีลวดลายและลักษณะแตกต่างกัน แต่มีองค์ประกอบหลักของชุดแต่งกายที่เหมือนกันทุกกลุ่ม คือ หมวก เสื้อคลุม เสื้อชั้นในสายเดียว กระโปรง ผ้าคาดเอว (ด้านในทำกระเป๋าลับใส่ของสำคัญ) และถุงน่อง โดยทุกกลุ่มจะมีเครื่องประดับเงินและลูกปัดเป็นเครื่องประดับหลักของชุดแต่งกาย ส่วนชุดแต่งกายของผู้ชายจะมีลวดลายและลักษณะแตกต่างกันตามกลุ่มย่อยเช่นกัน และมีองค์ประกอบหลักของชุดที่เหมือนกัน คือ ผ้าโพกหัว เสื้อ กางเกง เข็มขัด และย่าม มีเครื่องเงินเป็นเครื่องประดับ แต่ไม่ตกแต่งมากเท่าของสตรี สำหรับชุดแต่งกายของเด็กนั้น จะไม่มีองค์ประกอบหลักบางส่วน เช่น เด็กผู้หญิงจะไม่มีเสื้อชั้นในสายเดียวและผ้าคาดเอว ซึ่งจะเริ่มใส่ได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ส่วนเด็กผู้ชายจะสวมหมวกผ้าจนกว่าจะเข้าสู่วัยรุ่นแล้วจึงค่อยเปลี่ยนมาใช้ผ้าโพกหัวเหมือนผู้ใหญ่

              สำหรับผู้หญิงอ่าข่าในเมืองไทยมีแบบแผนการแต่งกายและการสวมหมวกเครื่องประดับศีรษะสามแบบด้วยกัน (พิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา, มปป., ออนไลน์)

              แบบแรก "อู่โล้อ่าข่า" สวมหมวกแหลม แบบที่สอง "โลมี้อ่าข่า" สวมหมวกแบน แบบที่สาม "ผาหมีอ่าข่า" สวมหมวกแบนเช่นกันแต่รูปทรงของหมวกต่างกัน เครื่องเงินที่ใช้ตกแต่ง มีความละเอียดกว่าแบบ "โลมี้อ่าข่า"

              การแต่งกายแบบ "อู่โล้อ่าข่า"

              เสื้อผู้หญิงอ่าข่าอู่โล้ เป็นผ้าฝ้ายย้อมคราม แขนยาวตกแต่งด้วยผ้าหลากสี ตัวเสื้อยาวขนาดสะโพก ด้านหลังปักด้วยลวดลาย สาบเสื้อตกแต่งด้วยผ้าสี แผ่นเสื้อด้านหน้าจะไม่ค่อยเน้นปักลวดลายมากเท่ากับด้านหลัง ส่วนกระโปรงเป็นผ้าชนิดเดียวกัน ทำจีบเฉพาะด้านหลัง ยาวเหนือเข่า และมีผ้าชิ้นเล็กตกแต่ง ด้วยเครื่องเงิน และพู่สีแดงสำหรับคาดทับกระโปรงด้านหน้า ส่วนผ้าพันน่องนั้น ตกแต่งด้วยผ้าหลากสีและลูกเดือย

              สำหรับหมวกเครื่องประดับศีรษะเป็นรูปทรงกรวยแหลม แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนฐานซึ่งเป็นผ้าคาดศีรษะประดับด้วย เหรียญตรา กระดุมเงิน และลูกปัดส่วนยอดมี โครงไม้ไผ่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าฝ้ายย้อม ครามตกแต่งด้วยเครื่องเงิน ลูกปัด ลูกเดือย พู่แดงที่ได้จากขนไก่ย้อมสี และของแปลกๆที่สรรหามา ทั้งนี้จำนวนและชนิดของวัสดุตกแต่ง จะแตกต่างกันไปตามฐานะ สภาพ อายุ และการมีบุตร

              ผู้ชายชาวอู่โล้อ่าข่า จะสวมเสื้อแขนยาวตกแต่งด้วยผ้าหลากสี และปักลวดลายคล้ายของผู้หญิง แต่ตัวเสื้อจะสั้นกว่า ส่วนกางเกงคล้ายกางเกงสะดอของชาวไทยภาคเหนือ แต่เป็นผ้าฝ้ายย้อมคราม สำหรับหมวกทำเป็นผ้าหนาแล้วม้วนปลายสองด้านเข้าหากันแล้วเย็บติด นำผ้าฝ้ายย้อมพันอีกที ตกแต่งด้วยพู่สีแดง

              การแต่งกายแบบ "โล้มี้อ่าข่า"

              ผู้หญิงชาวโล้มี้อ่าข่า สวมเสื้อซึ่งด้านหลัง แต่งด้วยลายปะเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลากสีสลับกับลายปักงามวิจิตร แต่งด้วยกระดุมเปลือกหอย กระดุมเงิน ลูกเดือย ลูกปัด และพู่ห้อย ส่วนผ้ารัดน่องและย่ามก็ปักแต่งในทำนองเดียวกัน ผ้าผูกเอวจะแต่งด้วยเปลือกหอย และลูกเดือย โดยที่ผ้าผูกเอวของสาวโสดจะกว้างกว่าหญิงที่แต่งงานแล้ว ส่วนกระโปรงนั้นชาวอ่าข่าจะสวมเหมือนกันหมด

              สำหรับหมวกเครื่องประดับศีรษะของผู้หญิงโล้มี้อ่าข่า มีลักษณะแบนและมีแผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเชิดขึ้นมาทางด้านหลัง ด้านหน้าแต่งด้วยแถวลูกปัด สลับกับแถวกระดุมเงิน ล้อมกรอบใบหน้าด้วยลูกบอลเงิน เหรียญและลูกปัดห้อยเป็นสายประบ่า

              ส่วนเสื้อของผู้ชายอ่าข่าโล้มี้ จะมีลายปักประดับชายเสื้อโดยรอบและรอบตะเข็บข้างทั้งซ้ายขวา หรือบางที่ไม่มีปักชาย แต่เปลี่ยนเป็นปักประดับอย่างงดงามที่สาบหน้า

              การแต่งกายแบบ "ผาหมีอ่าข่า" หรือ “อู่เบียะอ่าข่า”

              ผู้หญิงอ่าข่าอู่เบียะ สวมเสื้อซึ่งด้านหลังมักเย็บด้วยแถบผ้าครามเข้มกุ๊นขาวเล็กๆ เรียงซ้อนกัน แต่ละแถบยังปักลายละเอียด เช่นเดียวกับแขนเสื้อ ผ้าผูกเอว และย่าม เสื้อผ้าของอ่าข่ากลุ่มนี้ จะแตกต่างจากอีกสองกลุ่มคือ จะมีตัวเสื้อชั้นในอีกตัวหนึ่ง เป็นผ้าฝ้ายย้อมตกแต่งด้วยกระดุมเงินเหรียญ และแผ่นเงิน

              สำหรับหมวกเครื่องประดับศีรษะ มีรูปร่างคล้ายหมวกเกราะของนักรบโบราณและประดับด้วย กระดุมเงิน เหรียญ ลูกปัด ไม่เว้นช่องว่างเลย ด้านข้างห้อยสายลูกปัดสีแดงร้อยยาวเกือบถึงเอว

              ส่วนผู้ชายสวมเสื้อตัวยาวกว่าอ่าข่ากลุ่มอื่น เย็บด้วยแถบผ้ากุ๊นขาวเรียงซ้อนกัน อาจติดกระดุมหน้าหรืออ้อมไปติดกระดุมข้างซ้าย มักประดับสาบหน้าด้วยเหรียญเงิน หรือสร้อยเงินร้อยลูกกระพรวน กางเกงคล้ายกับกลุ่มอื่น (พิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา, มปป., ออนไลน์)

              นอกจากนี้ งานศึกษาของ Jaafar and Walker (1975) ระบุว่า ชาวอ่าข่าสวมเสื้อผ้า ที่ทำด้วยผ้าฝ้ายหรือป่านทอเอง ทอมือและย้อมสีน้ำเงินเข้มหรือดำด้วยสีย้อมที่มาจากพืช ผู้ชายอ่าข่า สวมเสื้อตัวนอกสั้นหลวมๆ และกางเกงหลวมเป้าหย่อน บางครั้งสวมหมวก หรือผ้าโพก ในโอกาสมีงานเทศกาล ผู้ชายจะสวมเสื้อตัวนอกที่มีลายเย็บปักริมขอบที่ประณีตมีสีสันมากขึ้น อาจสวมเครื่องประดับเงินหรือทองเหลืองที่คอและกำไลมือ เด็กชายสวมชุดแบบผู้ใหญ่แต่ตัวเล็กกว่า สวมหมวกผ้าที่มีหลากสีสัน เด็กเล็กไม่สวมกางเกง สำหรับชุดหญิงอ่าข่า จะประณีตมากกว่า สวมเสื้อนอกตัวสั้น และมีแถบรัดหน้าอกเป็นผ้าแถบกว้างสีน้ำเงินเข้ม ผูกไว้ด้านข้างลำตัว กระโปรงสีพื้นน้ำเงินเข้มหรือดำ ด้านหน้าเรียบ ด้านหลังเป็นจีบ ใส่ต่ำกว่าสะดือ ชายกระโปรงมักอยู่เหนือเข่าคล้ายๆ กระโปรงสั้นในชุดสมัยใหม่ ใส่สนับแข้งผ้ายาวจากใต้เข่าถึงข้อเท้า ลักษณะโดดเด่นที่สุดของเครื่องแต่งกายของหญิงอ่าข่าคือ หมวกที่ประดับอย่างประณีตและไม่เคยถอดออก เด็กหญิงสวมหมวกผ้าซึ่งปิดหูทั้งสองข้าง เริ่มแรกหมวกยังไม่มีการประดับ แต่เมื่อเด็กหญิงใกล้ถึงวัยสาว จะแสดงการสร้างสรรค์ของตนด้วยการตกแต่งกระดุมเงินและตุ้มลูกปัดสีและพู่

              หมวกที่มีการประดับมากขึ้นตามวัย เป็นเครื่องหมายของหญิงสาวเต็มวัย สำหรับหมวกของหญิงอ่าข่าส่วนใหญ่ในไทย จะมีทรงกรวยกลม หุ้มด้วยแถวของกระดุมกลม ลูกปัด ไผ่ และตกแต่งด้วยขนลิงย้อมสี ด้านล่างของหมวกเป็นแถบผ้ากว้างที่พันหน้าผากห้อยเหรียญเงินรูปีของอินเดียเป็นแถว นอกเหนือจากผ้าโพกศีรษะแล้ว เครื่องประดับของหญิงสาวยังเปลี่ยนแปลงตามอายุ หญิงสาวที่แต่งงานแล้วใส่เครื่องประดับน้อยกว่าหญิงที่ยังไม่แต่งงาน และหญิงสูงอายุใส่เครื่องประดับน้อยลง (Jaafar and Walker 1975: 170-171)

              การแต่งกายในชีวิตประจำวัน

    การแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวอ่าข่า มีความแตกต่างกันไปตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่เรียนหนังสือ หรืออาศัยในเขตเมือง ที่มักแต่งตัวตามแฟชั่นสมัยนิยม จะสวมใส่เครื่องแต่งกายที่บ่งบอกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของหมู่บ้าน และวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยในเขตชนบทและเขตเมือง ในชุมชนหมู่บ้านอ่าข่าที่ทำการเกษตร ยังพบเห็นการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ทั้งในประเทศจีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม แต่สำหรับชาวอ่าข่าที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในเขตเมือง มักจะสวมใส่เสื้อผ้าทั่วๆไป เนื่องจากความสะดวก และคล่องตัว และเพื่อให้กลมกลืนกับคนอื่นๆในสังคมและชุมชน 

              การประประดิษฐ์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย

              ในอดีต คนอ่าข่าจะมีการปลูกฝ้ายเพื่อผลิตเส้นฝ้ายที่จะนำมาทำเป็นเสื้อผ้าใส่เอง รวมทั้งมีการประดิษฐ์กี่ทอผ้าเพื่อใช้ในการทอเสื้อผ้า มีการย้อมสีโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น คราม หรือเปลือกไม้อื่นๆ อย่างไรก็ตาม บริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สามารถซื้อหามาสวมใส่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทำให้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องการแต่งกายเป็นแบบปัจจุบัน หรือมีการผสมผสานระหว่างเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตามอัตลักษณ์วัฒนธรรม กับเสื้อผ้าตามสมัยนิยม นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเสื้อผ้า เมื่อมีความจำเป็นลดน้อยลงไป ทำให้มีการผลิตน้อยลง หากยังหลงเหลืออยู่บ้าง ก็เป็นในพื้นที่หมู่บ้านที่ห่างไกลจากตลาดและเขตเมือง เช่น ในหลายเขตในประเทศลาว ที่ยังคงมีการผลิตเสื้อผ้าใช้เอง โดยมีขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย แยกฝ้ายจากเมล็ดฝ้าย ทอผ้า ย้อมสี จนไปถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ได้ผืนผ้าที่จะนำไปทำเป็นเสื้อ กางเกง หมวก และอื่นๆ ด้วยการปักและประดับตกแต่งตามลายปักที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่ม ดังตัวอย่างในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Laos: The Village Above the Cloud (หมู่บ้านเยี่ยมเมฆในลาว) ที่นำเสนอวิถีชีวิตของคนอ่าข่าในหมู่บ้านในแขวงพงสาลีติดชายแดนจีน ที่ยังคงทำเสื้อผ้าใส่เอง ทำสีย้อมเอง จากส่วนผสมของคราม และปูนขาว (ซึ่งบางครั้งต้องหาซื้อมา) และตอนกลางวันผู้หญิงจะทำงานที่เครื่องแยกฝ้ายจากเมล็ดฝ้าย ก่อนจะปั่น ทอ และย้อมสี หลังจากนั้นต้องตากแดดไว้หนึ่งปีก่อนจะเอามาทำเป็นเสื้อผ้าได้ ในสารคดีชุดนี้ ยังทำให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่ปล่อยให้มือว่างของผู้หญิงชาวอ่าข่า ที่ไม่ว่าเด็กหรือสาว เมื่อยามเดินไปไร่ก็ใช้มือปั่นเส้นด้ายไปตลอดทาง (สารคดี Laos: The Village Above the Cloud 2019, ออนไลน์) 

     

    การการทอผ้าดั้งเดิมของชาติพันธุ์อ่าข่า ภาพโดย Dr. Leo Alting Von Geusau ราวปี พ.ศ. 2559