ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ชื่อเรียกตนเอง
ลาหู่, ละหู่, ลาฮู (Lahu) เป็นชื่อที่ชนกลุ่มนี้เรียกตนเอง(ศรินทิพย์ 2529, อภิชาต 2552, ปนัดดา และหมี่ยุ้ม 2549) ซึ่งแปลว่า “คน” ชาวลาหู่มีเชื้อสายมาจากชาวโลโลซึ่งเคยมีความเจริญรุ่งเรือง และเคยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ได้รับการยอมรับจากจีนให้จัดการปกครองตนเองได้อย่างอิสระบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ก่อนที่ชนชาติไทใหญ่และจีนจะเข้าไปครอบครอง ต่อมาจึงได้อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ตลอดเวลาในแถบประเทศจีน เมียนมาร์ ลาว และไทย)
ชื่อที่คนอื่นเรียก
ชื่อที่ชนกลุ่มอื่นใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีคำเรียกหลายชื่อซึ่งได้ผู้มีกล่าวถึงไว้ด้วยข้อสันนิษฐานต่างๆ กันออกไป
หลอเหย ล่อเฮ เป็นชื่อที่ตนนจีนในมณฑลยูนนานเรียกกลุ่มลาหู่
ข่าเลาะ เป็นชื่อที่ชาวไทลื้อในสิบสองปันนาเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่
มูเซอ ในอดีตเอกสารของไทยมักใช้เมื่อกล่าวถึงกลุ่มชนนี้ Frank M. Lebar (อ้างใน ถาวร 2543, โสฬส 2539) สันนิษฐานว่าเป็นคำที่มาจากภาษาไทใหญ่ในรัฐฉาน เป็นภาษาพม่า หมายถึง นายพราน ขณะที่จิตร ภูมิศักดิ์ (2529) อธิบายไว้ว่า
“...อันที่จริงคำว่า มูเซอ ที่แปลว่า นายพรานป่า นั้นมิใช่ภาษาไทใหญ่ หากเป็นคำที่ไทใหญ่ยืมมาจากภาษาพม่า ซึ่งเรียกนายพรานว่า มกโซ สอดคล้องกับ โสฬส (2539) กล่าวว่าได้สัมภาษณ์ผู้รู้ชาวพม่า และได้รับคำอธิบายว่า คำว่า พราน ในภาษาพม่าเขียนว่า มุฉุยะ และอ่านออกเสียงได้ว่า มกโซ แต่ในวิถีชีวิตจริงเมื่อคนพม่าพูดถึงนายพรานจะออกเสียงว่า มูเซ เมื่อคนไทใหญ่เรียกชื่อชนกลุ่มนี้ตามอย่างชาวพม่า จึงอาจจะออกเสียงเป็น มูเซอ ซึ่งใกล้เคียงกับชาวโลโลบางกลุ่มในมณฑลยูนนานก็เรียก มูซู หรือ มูสซู ภายหลังเพี้ยนมาเป็น มูเซอ ชาวพม่าบางคนเรียก มูซา ชาวไทยในภาคเหนือรู้จักชนกลุ่มนี้ในชื่อ มูเซอ ชาวลาหู่กลุ่มที่อยู่ในเชียงตุงสามารถพูดภาษาไทยเขินได้ มักถูกชาวไทยใหญ่เรียกว่า ลาหู่หลวง หรือ มูเซอหลวง...”
ลาฮู ผู้เขียนสันนิษฐานว่า คำนี้คนไทยถอดเสียงจากรูปคำในภาษาอังกฤษ“La’hu” ที่นักวิชาการตะวันตกสมัยอาณานิคมใช้เขียนถึงคนลาหู่ คำว่า “ลาฮู” ปรากฏอยู่ในงานเขียนข้าราชการนักศึกษารุ่นที่ 18 โรงเรียนสงครามจิตวิทยา กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ, 2518: 7)
โลไฮ เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในงานของข้าราชการนักศึกษารุ่นที่ 18 โรงเรียนสงครามจิตวิทยา กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ชื่อ “ชาวเขาเผ่ามูเซอ” คำนี้ถอดคำมาจากคำว่า “Lo-Heir” ในภาษาอังกฤษที่ใช้โดย James A. Matisoff (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ, 2518: 6) นอกจากคำนี้แล้ว ยังมีอีกสองคำที่อ่านออกเสียงใกล้เคียงด้วย แต่เขียนสะกดไม่เหมือนกันคือ คำว่า “หล่อเฮย” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2562: 399) หรือ “หล่อเห่อ” (อาริยา เศวตามร์, 2559: 17) ประการสำคัญคือ ในภาษาอังกฤษเองก็มีการสะกดคำดังกล่าวอย่างแตกต่างกันด้วย เช่น “Leheirh” (Scott and Hardiman: 1900: 579 อ้างใน Walker (1974 : 257) หรือ Lo-hei (Ruey Yih-fu, 1937:1 อ้างใน Walker, 1974 : 257) สำหรับความหมายของในงานของนักมานุษยวิทยาจีนชื่อ ชี้ให้เห็นว่า คำดังกล่าวมีความหมายที่เชื่อมโยงกับ “blackness” ตามที่ในภาษาจีนนั้นคือดำคือคำว่า “hei” คำเรียกชื่อดังกล่าวจึงอาจเป็นคำเชิงดูถูกดูแคลนได้ อย่างไรก็ตามชื่อนี้ก็ไม่ได้เป็นชื่อทางการที่รัฐบาลจีนหลังการปฏิวัติปี ค.ศ. 1949 ใช้ในการเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในจีน แม้โดยภาพรวมในอดีตจะเคยเป็นคำที่ชาวจีนใช้ในการเรียกคนกลุ่มชาติพันธุ์นี้โดยรวมก็ตาม (SCMP, 1953 อ้างใน Walker, 1974: 257)
ทั้งนี้ เนื่องจากภายในกลุ่มลาหู่นั้น มีกลุ่มย่อยอยู่หลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มต่างมีชื่อเรียกตนเองเฉพาะเพื่อจำแนกความต่างระหว่างกัน จึงปรากฏชื่อที่ใช้เรียกกันเองภายในกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่อีกหลายชื่อ ได้แก่
ลาหู่หงี (Lahu Nyi) หรือเรียกกันในภาษาไทย ลาหู่แดง (Red Lahu) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยภายในกลุ่มใหญ่ของลาหู่ (อริยา เศวตามร์, 2559) คำว่าหงีในภาษาลาหู่ แปลว่า แดง ซึ่งสันนิฐานว่าน่าหมายถึงแถบผ้าสีแดงที่ติดอยู่ที่เสื้อของผู้หญิงลาหู่
ลาหู่นา/ลาหู่นะ (Lahu Na) เป็นกลุ่มที่คนไทยเรียกว่า ลาหู่ดำ (Black Lahu) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยภายในกลุ่มใหญ่ของลาหู่ โดยคำว่า นะหรือนา เป็นภาษาลาหู่แปลว่าดำ (Walker, 1974: 264) ซึ่งคำนี้สันนิฐานน่าน่าจะมาจากการใช้ชุดเสื้อของหญิงลาหู่ซึ่งมีสีดำเป็นสิ่งที่บ่งบอกความแตกต่างจากลาหู่กลุ่มอื่น
ลาหู่เซเล (Lahu Sheleh) เป็นคำที่กลุ่มลาหู่ที่เรียกตนเองว่าลาหู่หงีในไทยใช้เรียกใช้เรียกกลุ่มที่เรียกตนเองว่าลาหู่นาในไทย หรือคนไทยเรียก “มูเซอดำ”
ลาหู่ปาลิ (Lahu Pa Li) เป็นชื่อที่กลุ่มลาหู่เซเลใช้เรียกกลุ่มลาหู่หงี
ลาหู่แดง เป็นคำที่คนอื่นเรียกคนที่เรียกกลุ่มลาหู่ที่เรียกตนเองว่าลาหู่หงี
ลาหู่ดำ เป็นคำที่คนอื่นเรียกกลุ่มลาหู่ที่เรียกตนเองว่าลาหู่นะ/ลาหู่นา
ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์
แต่เดิมนั้น คนทั่วไปรู้จักชาวลาหู่ในชื่อ มูเซอ เนื่องจากเป็นชื่อที่หน่วยงานราชการบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกมูเซออนั้นไม่ได้มีนัยยะอคติเหมือนบางกลุ่มชาติพันธุ์ หากแต่เป็นชื่อในภาษาอื่นที่ใช้เรียกชาวลาหู่ จนแพร่หลายและถูกรู้จักในชื่อมูเซอมากกว่า ในขณะที่เจ้าของวัฒนธรรมจะยินดีกว่าหากเรียกขานพวกเขาด้วยชื่อที่แท้จริงที่พวกเขาใช้เรียกตัวเอง
ภาษา
ตระกูลภาษา
นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาข้อมูลทางภาษาแล้วระบุว่า ภาษาลาหู่เป็นภาษาหนึ่งในภาษาตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) สาขาทิเบต-พม่า กลุ่มภาษาโลโลดั้งเดิม (Proto-Lolo) และแตกสาขาย่อยลงมาในกลุ่มพม่า-โลโล สาขาโลโลกลาง (Central Lolo) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับภาษาลีซูและภาษาอ่าข่า
ภาษาพูด
ภาษาพูดของชาวลาหู่ มีหลายสำเนียงพูด ชาวลาหู่ในเขตประเทศไทย เมียนมาร์ และ สปป.ลาว ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาพูดสำเนียงของกลุ่มลาหู่ฌี หรือ ลาหู่แดง ซึ่งถือเป็นภาษากลาง (lingua franca) ที่ชาวลาหู่แต่ละกลุ่มใช้ติดต่อสื่อสารร่วมกัน ขณะที่ภาษาและวัฒนธรรมของชาวลาหู่ในเขตปกครองหลานชาง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสำเนียงภาษาพูดของกลุ่มลาหู่นะ ซึ่งเป็นประชากรชาวลาหู่กลุ่มใหญ่ที่สุดและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆมากที่สุด
ตัวอักษรที่ใช้เขียน
ภาษาลาหู่เป็นภาษาที่ไม่ตัวอักษรเขียนหรือระบบการเขียนเป็นของตนเองมาก่อน แต่ต่อมาภายหลังมีมิชชันนารีสอนศาสนาจากโลกตะวันตกได้ใช้อักษรโรมันสร้างระบบการเขียนภาษาลาหู่ขึ้นภาษาลาหู่เป็นภาษาที่มีระบบการเรียงคำแตกต่างจากภาษาไทย แต่เหมือนกับภาษาพม่าเพราะเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน กล่าวคือ มีโครงสร้างการเรียงคำในประโยคแบบ ประธาน-กรรม-กริยา (ขณะที่ภาษาไทยมีการเรียงคำแบบ ประธาน-กริยา-กรรม) เช่น ประโยคที่คนไทยพูดว่า ฉัน-กิน-ข้าว คนลาหู่จะพูดว่า หง่า-อ่อ-จ้า-เว (หง่า=ฉัน, อ่อ=ข้าว, จ้า=กิน, เว=คำลงท้าย) เป็นต้น
การที่ภาษาลาหู่ไม่มีเสียงพยัญชนะท้าย ทำให้คนลาหู่ที่เริ่มหัดพูดภาษาไทยมักประสบความยุ่งยากในการออกเสียงตัวสะกดในภาษาไทย จึงมักจะทำเสียงตัวสะกดของภาษาไทยหายไป เช่น คำว่า หมด กบ ตก ก็จะออกเสียงเป็น โหมะ โกะ โตะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรู้จักธรรมชาติการออกเสียงภาษาไทยของชาวลาหู่ ก็นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในการสืบสาวร่องรอยอิทธิพลทางวัฒนธรรมของชนชาติไทที่มีต่อวัฒนธรรมลาหู่ ตัวอย่างเช่น การศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของลาหู่ ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่ากลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทจากวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนใหญ่ เช่น คำว่า โตโบ ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาสูงสุดในชุมชน น่าจะมาจากคำว่า ตนบุญ ในภาษาไทยทางภาคเหนือนั่นเอง รวมทั้งคำว่า ปู่จอง ซึ่งอาจแปลว่า มัคทายก ในภาษาไทย (จอง ในภาษาไทใหญ่ แปลว่า วัด) (โสฬส 2539, ปนัดดา และหมี่ยุ้ม 2549)
เนื้อหาโดย ผศ. ดร.ปนัดดา บุณยสาระนัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เอกสารอ้างอิง
เว็บไซต์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา น่าน ตาก เพชรบูรณ์ | 80000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จังหวัด | อำเภอ | ตำบล | หมู่บ้าน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร | ละติจูด | ลองติจูด |
---|---|---|---|---|---|---|---|
เชียงใหม่ | อมก๋อย | ม่อนจอง | หมู่ 5 บ้านมูเซอปากทาง | 320 | 750 | ||
เชียงใหม่ | อมก๋อย | ม่อนจอง | หมู่ 5 บ้านมูเซอหลังเมืองเก่า | 18 | 104 | ||
เชียงใหม่ | อมก๋อย | ม่อนจอง | หมู่ 5 บ้านมูเซอหลังเมืองใหม่ | 27 | 150 | ||
เชียงใหม่ | เชียงดาว | ปิงโค้ง | หมู่ 1 บ้านออนใน(ป่าตึง) | 8 | 49 | ||
เชียงใหม่ | เชียงดาว | ปิงโค้ง | หมู่ 9 บ้านห้วยจะค่าน | 105 | 458 | ||
เชียงใหม่ | เชียงดาว | ปิงโค้ง | หมู่ 9 บ้านสรรเสริญ | 31 | 135 | ||
เชียงใหม่ | เชียงดาว | ปิงโค้ง | หมู่ 9 บ้านาน้อย | 13 | 69 | ||
เชียงใหม่ | เชียงดาว | ปิงโค้ง | หมู่ 9 บ้านห้วยจะค่านใหม่ | 48 | 212 | ||
เชียงใหม่ | เชียงดาว | ปิงโค้ง | หมู่ 11 บ้านกิ่วไฮ | 34 | 138 | ||
เชียงใหม่ | เชียงดาว | ปิงโค้ง | หมู่ 11 บ้านปางตองใหม่ | 15 | 89 |
กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา. (2559). ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2559. กรุงเทพฯ : กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“ลาหู่” เป็นชื่อที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า คน บางพื้นที่อาจเรียกว่า ลาฮู ลาฟู ฯลฯ ส่วนชื่อที่คนกลุ่มอื่นมักใช้เรียกคือ เมอเซอ มูเซ มกโซ หลอเหย ล่อเฮ ข่าเลาะ ฯลฯ ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานเรียกว่า “มูเซอ” แปลว่า พรานป่า สันนิษฐานว่าเป็นคำภาษาไทใหญ่ที่ยืมมาจากภาษาพม่า เนื่องจากชาวพม่ามักออกเสียงเรียกนายพรานว่า มกโซ หรือ มูเซ คนไทใหญ่ที่เรียกชนกลุ่มนี้ตามคนพม่าจะออกเสียงว่า มูเซอ ใกล้เคียงกับชาวโลโลในมณฑลยูนนานที่เรียก มูซู หรือ มุสซู และคนไทยในภาคเหนือรู้จักชนกลุ่มนี้ในชื่อ มูเซอ เช่นกัน
ชาวลาหู่มีเชื้อสายมาจากชาวโลโล แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ต่อมาคนไทใหญ่และจีนได้เข้าครอบครองพื้นที ชาวลาหู่จึงอพยพลงมาทางมณฑลยูนนานบริเวณแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขง อาศัยกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม รวมทั้งอพยพไปยังประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ สถานภาพของชาวลาหู่ในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ประเทศจีนมีประชากรจำนวนมากอยู่ในเขตปกครองตนเองหลานชาง มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการจัดการตนเองภายใต้กำกับของรัฐ ในขณะที่ชาวลาหู่ทั้งในประเทศไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว และเวียดนาม มีสถานะเป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในประเทศนั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ในประเทศไทยพบกลุ่มลาหู่ที่ใหญ่ที่สุด คือ ลาหู่แดง ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ลำปาง น่าน และ เพชรบูรณ์ จำนวน 800 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มักอาศัยปะปนกับชาติพันธุ์อื่น
กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น ลาหู่นะ (ดำ) ลาหู่ญี (แดง) ลาหู่ชี (เหลือง) ลาหู่ขาว ลาหู่เฌเล ลาหู่บาหลา ลาหู่บาเกียว ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันบ้างในทางภาษา เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมประเพณี อย่างไรก็ดี ชาวลาหู่ในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมกัน เกี่ยวกับตำนานการกำเนิดชาติพันธุ์ลาหู่ ตำนานความเชื่อที่สะท้อนอยู่ในประเพณี พิธีกรรม และแบบแผนปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ทำให้สามารถสืบทอดสำนึกความเป็นชาติพันธุ์เดียวกันได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับบริบทความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ตาม ในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ลาหู่ในแต่ละประเทศต่างต้องปรับตัวและวิถีชีวิตไปตามแนวนโยบายของแต่ละประเทศ อาจทำให้ไม่พบอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย สภาพหมู่บ้าน ภาษา วัฒนธรรมประเพณี ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์ลาหู่ได้อย่างชัดเจนนัก แต่ชาวลาหู่ทุกกลุ่มไม่ว่าจะยังคงนับถือแบบแผนวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิม หรือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีความทรงจำทางสังคม มีวิถีความเชื่อ และสำนึกทางชาติพันธุ์ความเป็นลาหู่ร่วมกัน
ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์
ประวัติศาสตร์ของชาวลาหู่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีความเชื่อกันว่าในอดีตชาวลาหู่เคยตั้งถิ่นฐานในบริเวณทิเบต ต่อมาได้อพยพลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่มณฑลยูนนานบริเวณแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน หลังจากอยู่ที่มณฑลยูนนานเป็นเวลาหลายร้อยปีจนกระทั่งมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงตั้งตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งเป็นเมือง “เปอเจ-นาเจ” ที่มีชื่อเสียงด้านทหารและเศรษฐกิจทำให้จีนยกกำลังมาตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จเนื่องจากมีชัยภูมิที่ดีและมีอาวุธที่ทันสมัยในเวลานั้นคือ “หน้าไม้” ที่ไม่ต้องประชิดตัวข้าศึก ทหารจีนจึงใช้เครื่องดนตรี “จ๊องหน่อง” เป่าให้ลูกเมียนักรบลาหู่ฟังเมื่อนักรบออกไปล่าสัตว์และทำไร่ โดยขอแลกกับไกและคันรั้งของหน้าไม้ เมื่อจีนยกทัพมาอีก ลาหู่จึงพ่ายแพ้ นักรบต้องทิ้งครอบครัวและเมืองออกไป ต่อมาจึงให้คนสอดแนมมานัดแนะให้ครอบครัวหนี แต่ทหารจีนได้เลี้ยงดูครอบครัวลาหู่อย่างดีจึงพากันปฎิเสธที่จะหนี นักรบลาหู่จึงเป่า “แคนน้ำเต้า” นอกกำแพงเมืองหลายวัน เพื่อให้คำมั่นสัญญาต่อฝ่ายหญิงว่าจะให้อยู่อย่างสุขสบาย อีกทั้งยอมรับใช้เป็นเวลา 7 ปี ครอบครัวลาหู่จึงหนีออกมาจากเมืองและไปตั้งเมืองใหม่และออกปล้นสดมภ์ตามหัวเมืองเล็ก ๆ ของจีน กองทัพจีนจึงยกทัพมาขับไล่ ทำให้ต้องหนีอพยพไปถึงที่แห้งแล้ง เป็นภูเขาหิน พบลิงอดอาหารตายจึงให้ชื่อแผ่นดินว่า “เหมาะโก” สันนิษฐานว่าเป็นประเทศมองโกลในปัจจุบัน ต่อมาจึงย้ายลงมาหาที่อุดมสมบูรณ์กว่า เมื่อมาตั้งค่ายพักแรมและล่าสัตว์พบกวางที่มีรากไทรยาว 11 วา 1 ศอกพันอยู่ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ จึงตั้งถิ่นฐานกันที่ทะเลสาบนั้นเรียกว่า “เหนอเลาะ – หนอแล” ขณะนั้นมีประชากร 99 ครอบครัวจาก 2 ตระกูลคือ ตระกูล “อออูพา” แปลว่า “น้องของภรรยา” 66 ครอบครัว และตระกูล “ออนูมา” แปลว่า “น้องสาว” 33 ครอบครัว เมื่อล่าสัตว์ได้จะชำแหละสัตว์ออกเป็น 99 ส่วนเพื่อแบ่งกัน ผู้ชายตระกูลอออูพาล่าเม่นได้และเก็บขนเม่นออกแบ่งเนื้อเป็น 99 ส่วน ได้ครอบครัวละเล็กน้อย ภายหลังเด็ก ๆ ของตระกูลเอาขนเม่นมาเล่นทำให้ตระกูลออนูมาเห็นและคิดว่าเม่นเป็นสัตว์ใหญ่จากขนที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ระแวงตระกูลอออูพาและอพยพหลบหนีไป ฝ่ายตระกูลอออูพาเมื่อทราบเรื่องจึงออกติดตามพบต้นกล้วยที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เห็นว่าถูกฟันมีใบใหม่ยาว 1 ศอก จึงคิดว่าตระกูลออนูมาไปไกลแล้วจึงเลิกติดตามและหาที่อยู่ใหม่ทางฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง เรียกว่า “มื่อแมหมี่แม” อยู่ระหว่างแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงซึ่งต้องรบกับไทยใหญ่และคนจีนเพื่อแย่งที่ทำกิน และสร้างเมืองปกครองตัวเอง เนื่องจากไม่มีอักษรของตัวเอง เจ้าเมืองลาหู่ได้ติดต่อชาวจีนมาเป็นราชเลขา ต่อมามีสงครามกับจีน ราชเลขาได้บิดเบือนข้อความสัญญาสงบศึกของจีน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจผิดกัน และจีนได้รวบกำลังคนจากไทยใหญ่และชนเผ่าอื่น ๆ เข้าตีเมือง ลาหู่จึงพ่ายแพ้ หลบหนีไปทั่วมณฑลยูนนาน มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่ม ๆ เช่น ลาหู่เฌเล ลาหู่กุเลา ลาหู่ลาบา เป็นต้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อถือได้ว่าในปี พ.ศ. 2430 จีนได้รุกรานลาหู่อีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2433 ลาหู่ก็พ่ายแพ้แก่จีนจึงถอยลงมาอยู่ทางใต้บริเวณประเทศเมียนมาร์ (ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว) มีบันทึกว่าดินแดนที่ลาหู่ปกครองมีความกว้างใหญ่ถึงพันลี้หรือ 300 ตารางกิโลเมตร ด้านตะวันตกจรดรัฐว้า ด้านใต้จรดเชียงตุง ด้านเหนือและตะวันออกจรดเมืองเบียนปิง ไวยวนและซือ เหมา มีหัวเมือง 36 หัวเมือง ส่วนตระกูลออนูมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศลาว การแยกกันอยู่ทำให้สำเนียงการพูดแตกต่างกัน ต่อมาตระกูลออนูมาได้แยกออกเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่า “ลาหู่ซี” หรือ มูเซอกุ้ย (เหลือง) และแยกเป็นลาหู่ไกซี และลาหู่บาเกียว
ลาหู่ญีและลาหู่เฌเลอพยพจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยเป็นพวกแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2418 ก่อนที่มิชชันนารีจะเข้ามาประกาศพระกิตติคุณในพม่า ดังนั้นจึงยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมผสานกับพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนไทย ลาหู่นะอพยพมาจากเมียนมาร์ประมาณปี พ.ศ.2494 โดยลาหู่ซีเข้ามาในปี พ.ศ.2507 สาเหตุหลักมาจากปัญหาการเมืองในพม่าและอพยพเข้ามาอีกหลายระลอก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 รัฐบาลไทยได้เข้มงวดการอพยพเข้าประเทศไทยเนื่องจากผิดกฎหมายและมีปัญหาที่ทำกิน การตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันลาหู่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัดเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตากและกำแพงเพชร
รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน
Anthony R. Walker นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันได้กล่าวถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลาหู่ไว้ว่า ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวลาหู่เป็นกลุ่มคนเร่ร่อนไม่ตั้งถิ่นฐานแน่นอน ต่อมาจีนได้ให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ลาหู่ โดยให้หัวหน้ากลุ่มเป็นผู้รับสาส์นตราตั้งจากพระเจ้าจักรพรรดิ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ลาหู่ยังคงยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักรพรรดิจีน แต่ต่อมาภายหลังจากที่จีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่ทางทหารเข้าไปปกครองท้องถิ่น รวมทั้งดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในแถบมณฑลยูนนาน อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลาหู่ส่วนใหญ่ ทำให้ชาวลาหู่ส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ และพากันกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจของจีน (ศาสตราจารย์ต้วน ลี่ เซิงนักมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ให้ข้อมูลไว้ว่าในปี 2525 มีชาวลาหู่ในจีนประมาณ 320,000 คน จากจำนวนนี้ได้อาศัยอยู่ในเขตอำเภอหลานชางถึง 154,000 คน จึงสันนิษฐานว่า ชุมชนใหญ่ของชาวลาหู่อยู่ที่อำเภอหลานชาง ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน) (สมาคม IMPECT 2545, โสฬส 2539, ปนัดดา 2549)
ในเวลาต่อมาผู้นำทางศาสนาคนหนึ่งได้รวบรวมศาสนิกตั้งตัวขึ้นเป็นขบถ จับอาวุธขึ้นต่อสู้ และมีการบันทึกว่า ชาวลาหู่พร้อมด้วยอาวุธซึ่งประกอบด้วยหน้าไม้และลูกธนูอาบยาพิษ ได้ทำการต่อต้านทหารจีนอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ลาหู่ส่วนใหญ่จำยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของจีน ยอมรับอำนาจการปกครองของจีนและยอมผสมผสานกับวัฒนธรรมจีนที่แผ่ขยายเข้ามาพร้อมกับอำนาจทางการเมืองจนกลายเป็นชาวจีน แต่ก็ยังมีลาหู่อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธการครอบงำทางวัฒนธรรม และไม่ยอมถูกกดขึ่ จึงได้พากันอพยพลงมาทางตอนใต้ของจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณชายแดนตอนล่างของมณฑลยูนนานลงไปจนถึงแคว้นเชียงตุงของพม่า
ขณะที่มีการอพยพนั้น เขตจังหวัดเชียงตุงของพม่าอยู่ในอำนาจการปกครองของอังกฤษ Walker ได้อ้างถึงรายงานของร้อยเอก Mc Leod นายทหารฝ่ายข่าวกรองของอังกฤษ ซึ่งได้บันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1837 เกี่ยวกับลาหู่ที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่อพยพมาจากจีนว่า ลาหู่ได้รับเอาวัฒนธรรมการปกครองจากชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน โดยเรียกผู้นำที่มีฐานะสูงทางสังคมว่า “พญา” (โสฬส 2539)
เมื่อชาวลาหู่เข้ามาอยู่ในเขตเชียงตุงของพม่า ก็พบกับปัญหาสำคัญอีกหลายประการ โดยเฉพาะกับความพยายามของกลุ่มคริสเตียนมิชชันนารีชาวอังกฤษ ซึ่งพยายามโน้มน้าวให้ลาหู่ละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม แล้วหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ลาหู่ซึ่งมีความศรัทธาต่อความเชื่อดั้งเดิมไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงเกิดการรวมกลุ่มกันโดยมีผู้นำศาสนาดั้งเดิมคนหนึ่งชื่อ มะแฮ ได้ตั้งตนขึ้นเป็นผู้วิเศษ เพื่อรวบรวมบริวารต่อต้านการครอบงำจิตสำนึกจากฝ่ายคริสตจักรอังกฤษ ซึ่งทำให้ชาวลาหู่จากท้องถิ่นต่าง ๆ เดินทางไปแสวงบุญและเข้าร่วมเป็นบริวารของปู่จองมะแฮเป็นจำนวนมาก จึงคิดวางแผนยึดเอาเมืองสาต (Hsat) เพื่อตั้งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรลาหู่ขึ้น ในที่สุดฝ่ายอังกฤษซึ่งปกครองพม่าอยู่ก็ต้องส่งกำลังเข้าปราบปราม แต่ฝ่ายของปู่จองมะแฮก็เตรียมรับมืออย่างแข็งขันด้วยการขุดคู ปักไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมไว้รอบ ๆ ที่มั่น และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บริวารด้วยการแจกเทียนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปู่จองมะแฮอ้างว่า เป็นตัวแทนแห่งอำนาจของพระเจ้าที่จะช่วยปกป้องบริวารมิให้ได้รับอันตรายจากอาวุธของฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อการสู้รบผ่านไปศรัทธาและความเชื่อถือของบริวารทั้งหลายก็ค่อย ๆ เสื่อมถอย เพราะทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผนที่เคยคุยกันไว้ ลาหู่บริวารพากันล้มตายลงทุกวัน เมื่อฝ่ายอังกฤษบุกเข้าถึงที่มั่นสุดท้าย ลาหู่ที่เหลือรวมทั้งปู่จองมะแฮต่างก็หนีเอาชีวิตรอด จนกระทั่งได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว
การอพยพครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษคืนเอกราชให้พม่า เพื่อเปิดโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเอง ชาวลาหู่ในพม่าก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการดำรงชีวิต ด้วยแรงกดดันจากนโยบายอันแข็งกร้าวของรัฐบาลที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ แรงกดดันจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของชาวลาหู่อีกครั้งหนึ่ง โดยมีปู่จองจะฟู ผู้นำทางศาสนาคนสำคัญคนหนึ่งของชาวลาหู่ ได้ตั้งตนขึ้นเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณขึ้นโดยใช้ชื่อว่า เหมาะนะโตโบ หรือ ฤษีลิงดำ (โดยทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อว่า ปู่จองหลวง) ดอยลาง เขตเมืองเชียงตุง จากนั้นมีการกระจายข่าวลือไปยังชาวลาหู่ทั้งที่อยู่ในเขตพม่าและเขตไทยว่า ได้มีพระเจ้าจากสวรรค์ลงมาประทานข้าวทิพย์ อาหารทิพย์แก่ชาวลาหู่ทุกคน ขอให้คนที่อยากได้ข้าวทิพย์ อาหารทิพย์ เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าที่ดอยลาง การเฝ้าพระเจ้าในที่นี้คือ การนำเงินหรือสิ่งของมีค่าไปเซ่นไหว้เหมาะนะโตโบ ซึ่งถือเป็นร่างทรง หรือเป็นตัวแทนของพระเจ้า เพื่อขอพรหรือเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
ปัจจุบันในประเทศไทย มีชนเผ่าลาหู่อาศัยโดยกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามแนวชายแดนไทย - พม่ากว่า 800 หมู่บ้าน พื้นที่ที่มีชาวลาหู่อาศัยอยู่มากได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง โดยเฉพาะตามพื้นที่ติดชายแดน ส่วนใหญ่แล้วชนเผ่าลาหู่ มักจะอาศัยปะปนกับชนเผ่าอื่น ๆ หรือคนไทย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นหมู่บ้าน เผ่าลาหู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ลาหู่แดง ซึ่งมีการนับถือผี โดยโตโบหรือผู้นำทางศาสนา ส่วนลาหู่ดำหรือลาหู่เหลือง ก็มีการนับถือผีเช่นกัน นอกจากนี้เผ่าลาหู่ก็ยังมีการนับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร
ลาหู่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ที่มีการกระจายตัวอาศัยอยู่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม และมีการอพยพไปยังประเทศโลกที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ
ในประเทศ สปป.ลาว จากการสำรวจเมื่อปี 2015 (ข้อมูลจาก ethnologue.com) พบว่ามีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่อยู่ประมาณ 19,200 คน กระจายตัวอยู่ในเมืองห้วยทราย เมืองผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว และเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา
ในประเทศเมียน มาร์ พบว่ามีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่อยู่ประมาณ 200,000 คน กระจายตัวอยู่ในเขตเมืองเชียงตุง รัฐฉาน (Bradley 2012 อ้างจาก ethnologue.com)
ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จากการสำรวจเมื่อปี 2010 (ข้อมูลจาก ethnologue.com) พบว่ามีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่อยู่ประมาณ 280,000 คน กระจายตัวอยู่ในเขตปกครองตนเองชาวไต ว้า และลาหู่ ในเขตเมืองซือเหมา และเมืองหลานชาง มณฑลยูนนาน
ในประเทศเวียดนาม จากการสำรวจเมื่อปี 2009 (ข้อมูลจาก ethnologue.com) พบว่ามีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่อยู่ประมาณ 9,650 คน กระจายตัวอยู่ในจังหวัดลายโจว บริเวณชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศ สปป.ลาว และประเทศจีน
ในประเทศไทย ชาวลาหู่แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม เช่น ลาหู่ญี ลาหู่นะ ลาหู่เฌเล ลาหู่ชี ฯลฯ จากการรวบรวมข้อมูลประชากรโดย กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2559) ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 116,126 คน แบ่งเป็นชาย 57,941 คน เป็นหญิง 58,185 คน มีจำนวน 452 กลุ่มบ้าน 23,167 หลังคาเรือน และ 24,250 ครอบครัว มีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ลำปาง น่าน และ เพชรบูรณ์
วิถีชีวิต
การผลิตอาหาร
ป่าเป็นแหล่งอาหารของชาวลาหู่ ชาวลาหู่ยังชีพด้วยการหาอาหารตามธรรมชาติ เช่น รถด่วนนำไปตำน้ำพริก นำไปคั่วแห้ง นอกจากนี้ยังหาปลาในแม่น้ำลำคลองด้วยวิธีการแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
วิถีชีวิตการยังชีพ
ชาวลาหู่มีทั้งที่อาศัยอยู่บนภูเขาและบนพื้นราบ การยังชีพของชาวลาหู่ 2 กลุ่มนี้ก็จะแตกต่างกัน ดังนี้
พื้นฐานของชาวลาหู่ที่อยู่บนภูเขาสูงนั้น ยังชีพด้วยการทำการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำไร่ ทำสวน ทำนา และการเลี้ยงสัตว์ สำหรับการทำไร่ ทำสวน ทำนานั้น ชาวลาหู่จะเลือกพื้นที่ที่จะเพาะปลูกพืชผลโดยต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 6 ประการ คือ พืชพันธุ์ต่าง ๆ ลักษณะดิน ปริมาณและลักษณะของหิน ระดับความสูง ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป และแหล่งน้ำในไร่ ทุกชนิดจะมีการสร้างกระท่อมเฝ้าไร่ไว้ด้วย (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 7-9)
การทำไร่ถือเป็นอาชีพหลักของชาวลาหู่ ซึ่งถ้าเทียบกับอาชีพอื่นแล้ว ชาวลาหู่จะทำไร่กันมากที่สุด เพราะพื้นที่ในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ โดยชาวบ้านจะทำไร่แบบหมุนเวียน คือ ที่หนึ่งปลูกข้าว อีกที่หนึ่งปลูกข้าวโพด และอีกที่หนึ่งอาจปลูกของกินต่าง ๆ เช่น มะเขือ พริก ผักชี ต้นหอม ปีนี้ปลูกข้าวที่นี่ ปีหน้าย้ายไปปลูกที่ข้าวโพด และข้าวโพดก็มาปลูกที่ปลูกข้าวสลับกันไป ชาวบ้านส่วนมากจะปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย หรือแบ่งปันให้แก่เพื่อนบ้านที่มีฐานะทางเศรษฐกิจฝืดเคืองกว่า และเวลาปีที่ผลผลิตทางการเกษตรไม่พอสำหรับการบริโภค ก็จะขอแบ่งปันจากผู้อื่น แล้วปีหน้าจึงทดแทนให้
ชาวลาหู่นิยมปลูกข้าว ซึ่งตามปกแล้วเกษตรกรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่างกันไป ดังนั้นเกษตรกรจึงมีพันธุ์ข้าวเป็นของตัวเองที่จะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอยู่ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ได้กล่าวถึงพันธุ์ข้าวที่สูงของชาวลาหู่ว่า พันธุ์ข้าวของลาหู่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวไร่ มากกว่าข้าวนา เช่นเดียวกับม้ง เมี่ยน และอาข่า พันธุ์ข้าวที่พบ เช่น ขะสอ จะพูมา จะนอยี จะนอแนะ จะแซะ จะลิ จะจอเหล เป็นต้น (ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรงเกษตรและสหกรณ์, 2553: 3-4) สำหรับวิธีการทำไร่ข้าวนั้น หลังจากเลือกทำเลแล้ว จะถางป่า แล้วรอให้แห้ง หลังจากนั้นจึงเผา เพราะเชื่อว่าหลังจากเผาป่าแล้ว ดินจะอุดมสมบูรณ์ และเมื่อฝนตกก็เริ่มเพาะปลูก โดยเอาเสียมที่ทำจากไม้ยาว ๆ เจาะดินให้เป็นรูจากนั้นให้ผู้หญิงใส่เมล็ดข้าวลงไป ถ้าหญ้าสูงระดับฝ่ามือ หัวเข่า หรือเอวก็ถอนหญ้าออกไป เมื่อข้าวเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ ก็เกี่ยวข้าว แล้วจึงมัดเป็นเครือใหญ่ ๆ และตากทิ้งไว้ เมื่อแห้งแล้วก็กองไว้เป็นจุด ๆ และเอาไม้ไปตี พอได้ผลผลิตมาก็จะนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าวที่ทำไว้
นอกจากชาวลาหู่จะมีข้าวที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ชาวลาหู่ยังมีการปลูกพืชต่าง ๆ โดยจะปลูกรวมกับข้าวด้วย เช่น ทานตะวัน แตงโม แตงกวา และยังมีการปลูกไว้ที่อื่นโดยเลือกที่ที่อุดมสมบูรณ์ โดยจะปลูกเอาไว้ไม่ค่อยห่างจากไร่ ได้แก่ ฟักทอง เผือก มัน ผักชี ข้าวโพด ต้นหอม และถั่วฝักยาว เป็นต้นภายในสวนหลังบ้านมักปลูกมันฝรั่ง กาแฟ กล้วย กะหล่ำปลี แตงกวา พริกแดง ฟักทอง และผักอื่น ๆ ซึ่งการเกษตรกรรมของชาวมูเซอมักทำโดยวิธีถางป่าและเผาป่าเพื่อปลูกติดต่อกัน 4-5 ปี เมื่อดินหมดปุ๋ยก็จะย้ายไปถางป่าที่อื่นทำการเพาะปลูกการทำไร่เลื่อนลอย พืชหลักที่ทำการเพาะปลูก คือ ข้าวและข้าวโพด พืชเงินได้แก่ ฝิ่นและพริก พืชรองอื่น ๆ มีอีกมาก ส่วนใหญ่เป็นประเภทพืชล้มลุกที่ปลูกปนแซมในไร่พืชหลักได้แก่ ผักต่าง ๆ เช่น ข้าวฟ่าง ถั่ว (วัลลภ นามวงศ์พรหม 2549, ชูชาติ อินทพงษ์ 2550)
อย่างไรก็ตาม การทำไร่ของชาวลาหู่จะสัมพันธ์กับประเพณีการจัดงานฉลองรับเทศกาลขึ้นปีใหม่ กล่าวคือ ระยะเวลาของการจัดงานขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตที่ได้ในปีที่แล้วดีหรือไม่ ถ้าผลผลิตดีก็อาจจะจัดงานได้หลายวัน แต่ถ้าผลผลิตไม่ดีก็จะจัดงานเพี้ยงสามวันเท่านั้น โดยปู่จารย์จะเป็นผู้กำหนดวัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ (วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558: 183)
แม้ว่าในอดีตชาวลาหู่จะปลูกฝิ่นไว้ขาย แต่ในปัจจุบันมีการปลูกพืชอย่างอื่น เช่น กาแฟ ส้ม มันฝรั่ง ถั่วแระแทน ชาวมูเซอทำไร่เป็นงานหลัก ส่วนประกอบเศรษฐกิจอย่างอื่นมีบ้างแต่มากนัก เช่น การเลี้ยงสัตว์ และการสะสมของป่า การค้าขาย เป็นต้น (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 7)
ส่วนการเลี้ยงสัตว์นั้น ชาวลาหู่นิยมการเลี้ยงไก่ หมู วัว ควาย ม้า และสุนัข ซึ่งจะเลี้ยงไว้แทบทุกบ้านเพื่อขาย ล่าสัตว์ และเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรม (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, 2563: 2) โดยหมูนั้นชาวลาหู่เลี้ยงไว้เพื่อขายให้แก่คนไทย (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8) และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำบุญ (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 34) หมูจึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่จำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน (ศรินทิพย์ สถีรศิลปิน, 2529: 3) ส่วนไก่ก็เช่นเดียวกันกับหมู ที่จะต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น การเซ่นผีร้าย การทำนาย การเสี่ยงทายโชคลาง (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8) นอกจากนี้ยังเลี้ยง วัว ควาย ม้า เลี้ยงไว้ใช้งานและเป็นอาหารส่วนหนึ่ง (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 33-34) โดยวัวและควายนั้น ชาวลาหู่มิได้เลี้ยงไว้เพื่อรีดนมหรือกินเนื้อ แต่เลี้ยงไว้ขายให้แก่คนไทยและใช้รับจ้างแรงงานให้แก่คนไทยในฤดูทำนา ส่วนม้านั้น นับเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ มีราคาสูงและเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีค่ามากที่สุดในระบบเกษตรกรรมของชาวมูเซอ (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8) ที่สำคัญที่สุดการเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่ชาวลาหู่นิยมเลี้ยงคือ สุนัข โดยจะเลี้ยงไว้เพื่อเวลาไปล่าสัตว์จะพาไปล่าสัตว์ด้วย (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 34) อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงทุกชนิดไม่ได้รับการเอาใจใส่มากนัก ชาวบ้านจะปล่อยให้สัตว์เลี้ยงของตนหากินตามลำพัง และไม่มีการล้อมคอก ยกเว้นไก่จึงจะสร้างเล้าไก่ไว้ใกล้บ้าน(วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8)
ส่วนในเวลาที่ไม่ได้ทำการเกษตรนั้น ชาวลาหู่จะออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานในตัวเมือง อาทิ การรับจ้าง การเป็นกรรมกรก่อสร้าง และชาวลาหู่อีกส่วนหนึ่งก็จะรับจ้างทั่วไปเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบเห็นชาวลาหู่อาศัยอยู่มักจะเป็นบริเวณดอยหรือภูเขาและบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำเป็นสำคัญ (พินิจนันท์ พรหมารัตน์, 2562: 204)
อย่างไรก็ตาม ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบนภูเขานั้นฐานะไม่ค่อยดีนัก เกือบทุกบ้านจะมีหนี้สินในการกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการเช่าที่ดินทำกิน นอกจากนั้น ที่ดินส่วนใหญ่ถูกนายทุนเข้ามาซื้อ จำนวนมาก จึงทำให้ หลายครอบครัวต้องไปรับจ้างทำงานในไร่ รับจ้างเก็บชา รับจ้างทำ และสวนส้ม เป็นต้น (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, 2563: 2)
ส่วนหมู่บ้านที่อยู่พื้นที่ราบมีชาวบ้านหลายรายที่ประกอบอาชีพค้าขาย เป็นพ่อค้า คนกลาง รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากภายในหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าในเมือง โรงงาน และโรงสี รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายข้าว ข้าวโพด และมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, 2563: 2)
ชาวลาหู่ แท้จริงไม่ได้สนใจเรื่องการค้าขาย และไม่ใช่พ่อค้าที่ดี อาจกล่าวได้ว่าการค้าขายของชาวลาหู่ไม่ได้มีบทบาทต่อระบบทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด ผลิตข้าวใช้กินเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งข้าวไม่พอกินต้องหาซื้อจากคนไทยบนพื้นราบ ผลิตผลอย่างอื่นที่ทำรายได้ให้บ้างได้แก่ ผลิตผลจากของป่าเช่นใบกล้วยป่า เมี่ยง ผักต่าง ๆ เขาสัตว์ น้ำผึ้ง และอื่น ๆ (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8)
นอกจากนี้ชาวล่าหู่ยังมีความชำนาญในการล่าสัตว์อีกด้วย (ศรินทิพย์ สถีรศิลปิน, 2529: 3) โดยเฉพาะการล่าสัตว์และการสะสมของป่า ชาวลาหู่เป็นนักล่าสัตว์และมักไม่ค่อยขาดแคลนเนื้อสัตว์ป่า นอกจากการล่าสัตว์แล้ว มูเซอยังมีรายได้จากการหาของป่ามาขายด้วย ทำให้ไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะเที่ยวเก็บสะสมของป่า ของป่าที่เก็บมาได้และเอามาขายให้คนไทยพื้นราบ ได้แก่ ใบกล้วย ไม้ป่ามวนมเหสี และเมี่ยง และการเก็บมาขายจะทำก็ต่อเมื่อมีราคาสูงเท่านั้น มูเซอมีความชำนาญในการล่าสัตว์รวมทั้งใช้ธนูและลูกศรอาบยาพิษเป็นอาวุธในการล่าสัตว์ (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8)
อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนที่ยังอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ก็ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวลาหู่หลายกลุ่มได้อพยพลงมาจากภูเขา และมาตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นราบ นอกจากอาชีพดังกล่าวมาแล้ว ชาวลาหู่บางกลุ่มก็ยังได้ทำการเกษตรดังเดิม โดยการทำนา และเช่าที่นา และตกลงกับเจ้าของที่นา หลังจากเก็บเกี่ยวจะจ่ายค่าเช่าเป็นเงิน นอกเหนือจากฤดูกาลทำนา จะทำอาชีพอิสระ รับจ้างทำงานทั่วไป เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างขุดหลุม อีกทั้งยังมีการทอผ้า ขายดอกไม้ ขายของป่า และเป็นผู้ประกาศเผยแพร่ศาสนาอีกด้วย การรับจ้างหาเงินนั้นจะดีกว่าการหาของป่า เพราะในหนึ่งวัน จะได้เงินจากการจ้างงานมาใช้ ซึ่งสามารถซื้ออาหารรับประทานได้หลายวัน แต่ถ้าหากหาของป่า บางวันเข้าป่า ก็หาของป่าไม่ได้อะไรกลับมาเลย จะเห็นได้ว่า พื้นฐานของชาวลาหู่ ดำรงชีพโดยอาศัยการเกษตรเป็นหลักโดยเลือกพื้นที่ทำกินบริเวณต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตร เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ (พินิจนันท์ พรหมารัตน์, 2562: 204)
โครงสร้างสังคม
โครงสร้างระดับกลุ่มบ้าน (หมอง)
“หมอง” หมายถึง กลุ่มหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน โครงสร้างทางสังคมระดับกลุ่มบ้าน (หมอง) ของชาวลาหู่ คือการรวมกลุ่มหลาย ๆ หมู่บ้านเป็น 1 กลุ่ม หรือ 1 หมอง ประกอบด้วยหมู่บ้านบริวารหลาย ๆ หมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ หรือ อาดอ) เป็นผู้นำ ส่วนการปกครองในระดับกลุ่มบ้านใน 1 กลุ่มบ้าน หรือ 1 หมองนี้จะมีผู้นำสูงสุดคือ พญา ซึ่งทำหน้าที่ปกครองดูแลหมู่บ้านต่าง ๆ ในหมองนั้น ๆ นอกจาก พญา แล้วยังมีตำแหน่งที่สำคัญอื่น ๆ อีกเช่น ป้อเมือง แสนหลวง ปู่หมื่น ปู่ลา ในแต่ละหมู่บ้านอาจมีครบหรือไม่ครบทุกตำแหน่งก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนประชากร จำนวนครัวเรือน และขนาดของหมู่บ้าน แต่ตำแหน่งปู่ลาจะต้องมีทุกหมู่บ้าน จะขาดไม่ได้เพราะปู่ลาทำหน้าที่เป็นคนประสานงานและส่งสาส์นต่าง ๆ ในหมู่บ้านและกลุ่มบ้าน
คุณสมบัติของ พญา จะต้องเป็นเพศชายที่ทายาทสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิตหรือเครือญาติเดียวกัน มีความสามารถในการปกครองชุมชน มีความรู้ในกฎจารีตประเพณีและวัฒนธรรมเป็นอย่างดี เป็นที่เคารพยอมรับนับถือของคนในชุมชน มีฐานะมั่นคง มีความเสียสละและมีความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น บทบาทหน้าที่ของ พญา คือจะมีหน้าที่ปกครองดูแลกลุ่มหมู่บ้าน 1 หมอง จะต้องรับฟังข้อคิดเห็นของชาวบ้าน ช่วยพิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นผู้แต่งตั้งผู้นำฝ่ายต่าง ๆ ให้แต่ละหมู่บ้าน
พญา อาจกระทำความผิดได้ เช่น กระทำผิดกฎจารตประเพณี หรือใช้อำนาจเกินขอบเขต หาก พญา กระทำผิดกฎจารีตประเพณี ก็จะต้องถูกปรับสินไหมเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป แต่จะถูกปรับสูงกว่าชาวบ้านเป็นสองเท่า เพราะถือว่า พญา เป็นผู้ที่รู้กฎจารีตประเพณีมากกว่าแต่กลับไม่ปฏิบัติตาม พญา จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อเสียชีวิตหรือลาออก ด้วยสาเหตุชราหรือลาออกเพราะไม่ต้องการเป็นต่อก็ได้
โครงสร้างระดับหมู่บ้าน
โครงสร้างทางสังคมระดับหมู่บ้านของลาหู่ ในหมู่บ้านหนึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน ซึ่งชาวลาหู่เรียกว่า “แซะ คือ แซะหละ” หมายถึง ก้นเส้าที่มี 3 ขา 3 มือ จึงจะสามารถตั้งขึ้นอย่างมั่นคงได้ นั่นคือ (1) ผู้นำหมู่บ้าน (อาดอ หรือ คะแซ) (2) นักบวช หรือ พระ (โตโบ) (3) ช่างตีเหล็ก (จาหลี) ชาวลาหู่เชื่อว่า หากหมู่บ้านใดไม่มีองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตั้งเป็นหมู่บ้านที่มั่นคงได้ โครงสร้างทางสังคมแบบดั้งเดิมนี้ชาวลาหู่ได้รับการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ และให้ความเคารพนับถือ ให้ความสำคัญกับบุคคลทั้งสามนี้เป็นอย่างมาก ในปีหนึ่ง ๆ สมาชิกของทุกครัวเรือนจะต้องไปช่วยกันทำงานให้แก่บุคคลทั้งสามนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ทำหน้าที่ให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นของชุมชน
การปกครองในชุมชนตามแบบจารีตดั้งเดิมของลาหู่ จะมีผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ชายเป็นผู้นำในด้านการปกครอง ซึ่งมีการสืบทอดตำแหน่งนี้ทางสายโลหิต หากผู้นำคนใดไม่มีลูกชาย ชาวบ้านจะประชุมและเลือกผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแทน คะแซจะสืบทอดทางทายาทได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรู้ที่มีด้วย ถ้าครอบครัวที่เป็นทายาทนั้น ชายมีความรู้มากกว่าหญิงชายก็ได้เป็น แต่ถ้าหญิงมีความรู้มากกว่าชาย และชาวบ้านยอมรับ หญิงก็สามารถเป็นคะแซ และสามารถช่วยเหลือชาวบ้านในยามทุกข์ยากได้เช่นกัน หรืออีกกรณีหนึ่งคือ หญิงจะเป็นคะแซได้ในกรณีที่สามีซึ่งเป็นคะแซตาย และหญิงซึ่งเป็นภรรยาของคะแซที่เสียชีวิตมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาก็เป็นคะแซต่อได้เช่นกัน
โครงสร้างทางการปกครองตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวลาหู่จะประกอบด้วย ผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) โดยมีที่ปรึกษาที่เป็นผู้นำความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิมเรียกว่า โตโบ ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้อาวุโสของชุมชนที่มีความรู้ด้านกฎจารีตประเพณีต่าง ๆ ได้แก่ ส่าหล่า อาจา ฟูกวาง ตาลา คะซ้อมา นอกจากนี้ที่ปรึกษาสำคัญอีกคนหนึ่งคือ ช่างตีเหล็ก ที่จะเป็นผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการเกษตร นอกจากนี้ผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) อาจมีผู้ช่วยอีก 3 คนคือ ปู่หมื่น เป็นผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ ปู่แส เป็นผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ และปู่ลา เป็นผู้ช่วยปกครอง
ความรู้และสติปัญญาที่ใช้ในการพิจารณาคดี ลงโทษ ปรับ ในภาษาลาหู่เรียกว่า “จูหยี่-หม่าหยี่” เป็นความรู้ที่เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ ลักษณะที่คะแซควรมีคือ “อ่อคือ อ่อกอ” หมายความว่า เป็นคนที่รู้จักแบ่ง รู้จักแยกแยะ ว่าส่วนไหนเป็นของใคร สำหรับใคร เมื่อมีการพิจารณคดี หากคะแซยืนยันว่าเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทุกคนจะไม่เถียงและเชื่อฟังโดยดี หากคะแซคนไหนไม่มีความรู้ก็จะไม่มีคนนับถือ และชาวบ้านก็จะเปลี่ยนคะแซคนใหม่โดยไม่บอกคะแซคนเก่า ด้วยการไปประชุมหรือไปรับการพิจารณาคดีที่บ้านคะแซใหม่ คะแซเก่าก็จะรู้เองว่าถูกปลดแล้ว
อาดอ หรือ คะแซ เป็นตำแหน่งทางการปกครองที่สูงสุดของหมู่บ้าน เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้าน คำหรือประโยคที่ใช้ในการปกครองคือ “คะ-ดะ-โกะ-หิ-อะ-ดะ-เว” หรือ “หิบี-กอบี-โบบี-สีบี” หมายความว่า บ้านเมืองจะดีได้นั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามของคนในสังคม อันจะนำไปสู่กฎระเบียบ จารีต ประเพณีที่ดี ทำให้ปกครองบ้านเมืองได้สงบสุข ผู้นำหมู่บ้านมีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแลหมู่บ้านให้เกิดความสงบสุข และป้องกันให้เกิดความปลอดภัย ชักจูงลูกบ้านให้ร่วมกันปฏิบัติงานของส่วนรวม อบรมสั่งสอนให้ลูกบ้านปฏิบัติตามหลักความเชื่อทางศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เป็นคนตัดสินคดีความต่าง ๆ ระหว่างชาวบ้าน สั่งสอนตักเตือน และปรับไหมตามกฎจารีตประเพณีที่ชาวลาหู่เรียกว่า “อ่อหิ-อ่อก่อ” ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานจนเป็นประเพณีถึงปัจจุบัน บางหมู่บ้านมีผู้ช่วยหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่แทนเวลาที่หัวหน้าหมู่บ้านไม่อยู่ได้
คุณสมบัติของผู้นำหมู่บ้าน หรือ คะแซ ที่ต้องมีคือ เป็นทายาทหรือเครือญาติสืบสายโลหิตของผู้นำคนเดิม เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องกฎจารีตประเพณีเป็นอย่างดี มีความประพฤติดีไม่ผิดศีลธรรม เป็นที่เคารพนับถือและยอมรับของชาวบ้าน มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความกล้าแสดงออก มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มีความอดทนอดกลั้นสูง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีฐานะครอบครัวที่มั่นคง ผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) จะได้รับการดูแลและค่าตอบแทนจากชาวบ้านโดย ลูกบ้านจะช่วยงานในการถางไร่ ปลูกข้าว เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แก่คะแซ 3 ครั้งต่อปี ได้รับเงินบริจาคและสิ่งของต่าง ๆ จากการร่วมทำบุญของชาวบ้านเรียกว่า “ป๊ะ-แก่-เว” และหากมีการพิจารณาคดีความขัดแย้ง ก็จะได้รับจากเงินค่าปรับสินไหมร้อยละ 20 การพ้นจากตำแหน่งของคะแซคือ เมื่อเสียชีวิต ลาออก ไล่ออกหากเป็นผู้นำที่ชาวบ้านไม่ยอมรับนับถือ
โครงสร้างระดับครอบครัว
ครอบครัวของชาวลาหู่ยึดถือแบบผัวเดียวเมียเดียว ประกอบด้วยหัวหน้าครอบครัว ภรรยา และลูก ซึ่งครอบครัวหลายครอบครัวจะรวมกันเป็น “ครัวเรือน” อยู่ภายใต้การปกครองของ “หัวหน้าครัวเรือน” บางครั้งถ้าครอบครัวมีขนาดเล็กเพราะมีสมาชิกน้อยเกินไปไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจหรือประกอบพิธีทางศาสนาได้ตามลำพัง ก็อาจจะไปอยู่ร่วมกับครอบครัวอื่นที่เกี่ยวดองเป็นญาติกันได้ แต่ก็มีหลายครัวเรือนที่ประกอบด้วยครอบครัวเพียงครอบครัวเดียว ครอบครัวเหล่านี้ต่อไปก็จะกลายเป็นครัวเรือนขึ้นมาโดยนับรวมญาติทางฝ่ายสามีภรรยาเข้าไปด้วย ผู้ชายชาวลาหู่เมื่อแต่งงานแล้วจะอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ดังนั้นหลายครัวเรือนจึงรวมถึงลูกสาวที่แต่งงานแล้ว สามี และลูก ๆ ด้วย
ครัวเรือนจะเป็นที่รวมความมั่งคั่งที่สำคัญของหมู่บ้าน ถึงแม้ว่าแต่ละครอบครัวในครัวเรือนจะมีสมบัติของตนเอง เพาะปลูกเอง แต่ผลผลิตส่วนหนึ่งจะถูกนำไปให้หัวหน้าครัวเรือน และหัวหน้าครัวเรือนจะเป็นผู้แบ่งให้ครอบครัวนั้นตามแต่เห็นสมควร หัวหน้าครัวเรือนจะรับผิดชอบเกี่ยวกับความเป็นอยู่และทุกข์สุขของทุก ๆ คนในครัวเรือน รวมทั้งเป็นผู้จัดหาอาหารเสื้อผ้าให้ด้วย เมื่อหัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิต ผู้เป็นภรรยาต้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าครัวเรือนแทนและจะแบ่งทรัพย์สินให้บุตรหลานที่อยู่ด้วยมากกว่าผู้ที่ย้ายออกไปแล้ว ซึ่งภรรยานั้น แม้ว่าจะได้รับตำแหน่งหัวหน้าครัวเรือนต่อจากสามี แต่ในความเป็นจริงก็จะทำหน้าที่ช่วยเหลือเท่านั้น ผู้ชายที่มีอายุมากที่สุดในครัวเรือน ซึ่งอาจเป็นลูกชายหรือลูกเขย ก็ต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนคนต่อไป แต่ละครัวเรือนจะช่วยเหลือหมู่บ้านเรื่องเงินในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หรือส่งคนไปร่วมในการทำกิจธุระต่าง ๆ และถ้าจะมีการแบ่งผลประโยชน์ก็จะแบ่งเท่า ๆ กันตามความรับผิดชอบของแต่ละครัวเรือนโดยไม่คำนึงถึงขนาดของครัวเรือนนั้น (ลาเคละ จะทอ 2548, อภิชาต ภัทรธรรม 2552)
ระบบเครือญาติ
ระบบเครือญาติของชาวลาหู่เป็นระบบการสืบตระกูลทางฝ่ายแม่ ตัวอย่างที่สนับสนุนความคิดเช่นนี้ได้แก่ การที่เด็ก ๆ ตั้งแต่เกิดมาก็อาศัยอยู่ในครอบครัวของฝ่ายแม่จนกระทั่งแต่งงาน ถ้าไม่ยอมลงไปสร้างบ้านเรือนใหม่ ผู้ชายแต่งงานแล้วก็ต้องออกจากบ้านไปอยู่บ้านภรรยา แต่เป็นที่สังเกตว่าผู้ชายลาหู่เฌเล เมื่อแต่งงานแล้วและได้อาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยาตามประเพณีแล้วมักจะหาเหตุขัดแย้งกับพ่อแม่ทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายภรรยาอยู่บ่อย ๆ เพื่อแยกตัวไปสร้างบ้านเรือนใหม่ โดยจะสร้างบ้านและจัดหาพื้นที่สร้างบ้านเอง เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมก็มักจะเข้ารวมกับญาติทางฝ่ายสามีและไม่ยุ่งเกี่ยวกับญาติทางฝ่ายภรรยาเท่าใดนัก ฝ่ายสามีจะเป็นผู้สืบสกุลแทนเมื่อบิดามารดาของตนเสียชีวิตไป
บุคคลสำคัญในกลุ่มชาติพันธุ์
จากการสัมภาษณ์อาจารย์เจริญ ธรรมบัณฑิต ประธานมูลนิธิโตโบลาหู่เอเชีย ได้ให้ข้อมูลและอธิบายว่า โตโบ ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณตามวิถีประเพณีดั้งเดิมของชาวลาหู่ ถือได้ว่าเป็นปราชญ์ผู้รู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่ท่าน ดังนี้
1. นายติแส จะสีปึ๊ อายุประมาณ 90 ปี ปราชญ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ บ้านติแส หมู่ที่ 5 ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย
2. นายอาแหล จะหวะ อายุประมาณ 80 ปี บ้านจะนะ ต.แม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
3. นายจะแฮ ลาส่อ อายุประมาณ 80 ปี บ้านหนองไผ่ ต.ม่อนปิน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
4. นายจะฟะ อายุประมาณ 60 ปี บ้านแกน้อย (ป๊อกน้ำแตง) อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
5. โตโบมา (ภรรยาพญาจะอื่อ ซึ่งเป็นทายาทของเหมาะนะโดโบ) บ้านแกน้อย (ป๊อกน้ำแตง) อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
เสื้อผ้าและการแต่งกาย
การได้มาของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้น ในอดีตชาวลาหู่มีศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ คือ การทอผ้า เมื่อว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ก็จะนำเอาสำลีจากต้นฝ้ายมารวมกัน จากนั้นดึงและพัน จนกลายเป็นด้ายและนำไปย้อมสี โดยการนำเปลือกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ดอกไม้สีต่าง ๆ มาต้มรวมกัน แยกเป็นสี ๆ ตากไว้ให้แห้ง แล้วค่อยนำมาปั่นเป็นด้าย จากนั้นจะเอาด้ายที่ปั่นแล้วไปทอเป็นผ้า สีนิยมใช้ทอกัน คือ สีดำ แดง น้ำเงิน ส่วนลายนั้นขึ้นอยู่กับผู้ทอว่าจะทอให้เกิดเป็นลายแบบไหน ผ้าทอส่วนใหญ่จะนำมาตัดเย็บเป็นสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่ากระเป๋า เสื้อผ้า ถุง กางเกง เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือสวมใส่ในงานประเพณีที่สำคัญ แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีผู้ที่ทอผ้าใช้เอง นอกจากจะทอของใช้ที่มีขนาดเล็ก ๆ เช่น ย่าม หรือสะพายย่ามเท่านั้น (ภิรมย์ แก้วมณี, 2555: 67)
เครื่องมือที่ใช้ทอผ้ามี 2 ประเภท คือ (1) กี่ใหญ่ (อุปกรณ์ขนาดใหญ่ใช้ทอผ้า) และ (2) กี่เอว (อุปกรณ์ขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายสะดวก) การใช้กี่ใหญ่จะใช้สำหรับทอเครื่องนุ่งห่ม ส่วนกี่เอวนั้น ชาวลาหู่มีการทอผ้าด้วยกี่เอวอยู่บ้าง แต่มักไม่ได้ทอเพื่อนำมาใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แต่หากเป็นการทอเพื่อนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าย่าม ใช้ใส่สิ่งของในชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันชาวลาหู่แทบจะไม่ทอผ้าเองแล้ว (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ,. 2557: 152).
ในอดีต ชาวลาหู่มีการแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเป็นปกติ ต่อมาด้วยกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปและสภาวะทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง จึงไม่มีเวลาละเมียดละไมในการถักทอและตกแต่งเครื่องแต่งกายมากนัก ทำให้ชาวลาหู่โดยเฉพาะชายชาวลาหู่หันมาแต่งกายอย่างคนพื้นราบ เช่น ใส่เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด ฯลฯ เป็นต้น แม้ว่าการแต่งกายของชาวลาหู่ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปตามการแต่งกายของสังคมสมัยใหม่ไปเกือบหมดแล้ว กล่าวคือในชีวิตประจำวันปัจจุบันนี้ชาวลาหู่แต่งกายเช่นเดียวกันกับคนทั่วไปในสังคม จะมีการแต่งกายตามแบบของชาวลาหู่บ้างเฉพาะในโอกาสสำคัญตามประเพณีวัฒนธรรม เช่น ประเพณีปีใหม่ การแต่งงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดีการแต่งกายของชาวลาหู่มีลักษณะของแต่ละกลุ่มย่อย ที่พอจะมีข้อมูลสรุปไว้ได้ดังนี้
การแต่งกายของลาหู่นะ
ผู้หญิง ชาวลาหู่นะสวมเสื้อแขนยาวสีดำกับผ้าถุงที่เย็บติดกันยาวถึงหน้าแข้ง ตรงแขนเสื้อจะขลิบด้วยผ้าขาวไว้ 3 ขลิบ มีเครื่องประดับต่างหู ห่วงคอและห่วงแขนทำด้วยโลหะเงิน ไม่ใช้เข็มขัด หญิงลาหู่ดำนิยมโพกผ้าดำหากไม่โพกผ้าจะมีลักษณะทรงผมกล้อนผมตั้งแต่หน้าผากขึ้น จนผมอยู่กลางศีรษะ ลาหู่ดำไว้ทรงผม 2 แบบ แบบแรกไว้ผมแบบหญิงในเผ่าเดียวกัน กลุ่มนี้จะพบได้ในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แบบที่ 2 คือไว้ทรงผมแบบคนเมือง กลุ่มนี้อาศัยอยู่ในจังหวัดตาก (ศูนย์วิจัยชาวเขาเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงมหาดไทย, 2519: 5-6 อ้างถึงในสุนิษา สุกิน, 2552: 19)
ผู้ชาย สวมเสื้อค่อนข้างหลวม ยาวถึงเอว สวมเสื้อสีดำแขนยาวทรงกระบอก ผ่าหน้าตลอดพร้อมติดกระดุมโลหะเงิน ขลิบขอบแขนเสื้อด้วยผ้าสีแดง แต่ไม่นิยมสวมเครื่องประดับ ส่วนกางเกงนั้น ผู้ชายลาหู่ดำจะสวมกางเกงขายาวหลวม ๆ ด้วยผ้าสีดำขลิบปลายขาด้วยผ้าสีแดง ผ้าคาดเอวไม่คาดทับบนเสื้อแต่คาดทับกางเกง แล้วผูกไว้ข้างหน้าทิ้งชายห้อง 2 ชาย (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 30-33) นอกจากนี้ก็มีผ้าพันแข้ง บางคนก็ชอบพัน บางคนก็ไม่พัน ลักษณะผ้าพันแข้งเป็นสีดำขลิบตรงริมด้ายแถบผ้าสีนวลหรือสีขาว (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 45) บางคนใช้ผ้าโพกศีรษะ บางคนไม่ใช้ผ้าโพกศีรษะ พวกนี้ใช้ผ้าโพกศีรษะ ผ้าโพกส่วนใหญ่เป็นสีดำผืนใหญ่ยาว ใช้พันแบบแบน ๆ รวบผมจุกซึ่งพวกมูเซอดำชอบโพนผมเป็นจุกอยู่กลางศีรษะ (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 30-33)
เด็กผู้หญิง สวมเสื้อสีดำแขนยาวเหนือข้อมือเล็กน้อย ตัวเสื้อยาวถึงครึ่งน่อง ผ่าอกกลางตรงและจากเอาข้างผ่าลงมา ตรงขอบผ้าที่ผ่าลงมานี้ ใช้ผ้าสีขาวหรือสีนวลเป็นขลิบจนถึงปลายชายผ้าข้างล่างรอบแขนและรอบคอ นอกจากนี้ยังเย็บผ้าสีขาวหรือสีนวลติดไว้จากต้นคอหน้าลงมาจนถึงใต้หัวไหล่หน้า บางทีเย็บผ้าสีขาวหรือสีนวลหรือสีแสดติดไว้จากต้นคอหน้าลงมาจนถึงใต้หัวไหล่หน้า และตรงแขนเสื้อแทนที่จะเป็นสีดำหมด ก็จะมีผ้าสีอื่นมาเย็บติดไว้ เช่น สีแสด สีเหลือง สีนวล สีแดง ซึ่งผ้าแต่ละสีมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ขนานกันตามความกว้างของแขนเสื้อ ผ้าสีเหล่านี้เย็บติดไว้เกือบตลอดแขนเสื้อ ส่วนนุ่งกางเกงสีดำขายาว แต่ยาวไม่ถึงข้อเท้า ลักษณะเหมือนกับกางเกงจีน คือ ตัวกางเกงหลวม หย่อนยาน บนศีรษะโพกผ้าด้วยผ้าโพกสีดำ ส่วนที่น่องก็มี ผ้าพันแข้งสีดำเย็บริมสีนวลหรือสีขาว ผ้าพันแข้งนี้เด็กบางคนก็พันบางคนก็ไม่พัน (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 45-46)
เด็กผู้ชาย เด็กชายลาหู่ดำ สวมเสื้อสีดำแขนยาวถึงข้อมือ ผ่าอกตรงกลางตลอดตัวเสื้อค่อนข้างหลวม ยาวถึงเอว ตรงเอวมีผ้าคาดทับกางเกงแต่ไม่ทับเสื้อ คอปล่อยเสื้อห้อยออกมาข้างนอก ส่วนกางเกง นุ่งกางเกงสีดำหลวม ๆ เหมือนกางเกงจีนยาวแค่เข่า เด็กผู้ชายลาหู่ดำไม่โพกผ้าโพกศีรษะ แต่จะไว้ผมเป็นจุกหย่อมหนึ่งตรงกลางศีรษะ ที่น้องมีผ้าพันแข้งสีดำ บางคนมีผ้าพันแข้งสีดำเย็บริมด้วยผ้าสีนวลหรือสีขาว กว้างประมาณ 1 นิ้ว ถึง 1 นิ้วครึ่ง ผ้าพันแข้งนี้พันทับกางเกงอีกทีหนึ่ง (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 46)
วัสดุที่ใช้และวิธีทำ เครื่องนุ่งห่มของชาวลาหู่ ส่วนใหญ่ทำจากฝ้าย คือนำฝ้ายมาปั่นเป็นด้าย และเอาด้ายมาทอเป็นผืนผ้า ด้วยวิธีทอง่าย ๆ หลังจากนั้นนำผ้าที่ทอได้เป็นผืนแล้วไปย้อมด้วยใบฮ่อม การย้อมในตอนแรก ๆ จะเป็นสีฟ้า เมื่อย้อมหลาย ๆ ครั้งสีฟ้าจะกลายเป็นสีน้ำเงิน จนกระทั่งกลายเป็นสีดำ แล้วจึงนำมาตัดเย็บด้วยมือ ประดับตกแต่งอย่างสวยงามด้วยผ้าสีอ่อน ๆ เช่น สีนวลหรือสีขาว (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 46)
เครื่องประดับและลวดลาย เครื่องประดับของชาวลาหู่ดำมีทั้งห่วงคอเงิน ต่างหูเงิน กำไลเงิน แหวน ลูกปัดสีขาว เครื่องประดับ เช่น ห่วงคอเงิน ต่างหูเงิน กำไลเงิน แหวนและกระดุมเงิน ทำจากวัสดุที่เรียกว่าเงินเหรียญรูปี โดยการนำมาหลอมให้ละลายแล้วจึงเทลงบนรางดิน ต่อจากนั้นนำมาตีให้ผิวหน้าเรียบ เพื่อสะดวกในการสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ห่วงคอเงินนี้ นิยมใส่ทั้งชายและหญิง ส่วนมากเด็กและผู้หญิงนิยมใส่ประดับคอ แสดงให้เห็นฐานะของผู้สวมใส่ เพราะถือว่าทำจากเหรียญรูปีซึ่งเป็นสิ่งมีค่า ลักษณะห่วงคอเงินเป็นรูปทรงกลม แต่ปลายทั้ง 2 ข้างไม่เชื่อมติดกัน เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ ห่วงคอเงินไม่กว้างใหญ่นัก มีลักษณะแบน ๆ บางอันมีลวดลายประดับหรือบางอันก็ไม่มี หากมีลวดลายประดับ จะเป็นลายดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ หรือ ลายก้านต่อดอกและลายไข่ปลา ส่วนกำไลข้อมือเงิน มีลักษณะแบนกว้างประมาณ 1 นิ้ว – 1 นิ้วครึ่ง ที่ปลายทั้งสองข้างของกำไลข้อมือนี้ไม่เชื่อมติดกัน เพื่อสะดวกในการสวมใส่ ลวดลายบนกำไลนี้ส่วนใหญ่เป็นลวดลายแบบเรขาคณิต เช่น รูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม มีเส้นนูนแบ่งลาย นอกจากนี้มีเส้นเฉียงตามริมของกำไลข้อมือ แต่กำไลข้อมือบางอันมีลักษณะเป็นวงกลม ปลายทั้ง 2 ข้างไม่เชื่อมติดกัน เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ ตรงปลายทั้งสองข้างบางกว่าตอนกลางของกำไลข้อมือ กำไลข้อมือแบบนี้กว้างประมาณครึ่งนิ้ว และบนกำไลข้อมือแบบนี้ไม่มีลวดลายสลักอยู่เลย ส่วนแหวนทำจากโลหะเงิน เป็นแหวนที่ใช้ตัวเรือนนี้สลักเป็นหัวแหวนไปในตัว ตรงหัวแหวนสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ และมีความกว้างมากกว่าตรงก้านแหวน นอกจากนี้ก็มีลูกปัดสี เช่น ลูกปัดสีขาว หรือสีเขียว นำมาร้อยมีความยาว 3 – 4 หลา ผู้หญิงมูเซอดำนำมาพันรอบคอหลายสิบชั้นไม่ปล่อยลงมาที่หน้าอก เครื่องประดับเหล่านี้จะใช้ตกแต่งในงานพิธีต่าง ๆ (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 46-47)
ส่วนกระดุมโลหะเงินหรือที่เรียกว่าดอนจันทน์นั้น เป็นวงกลมตรงกลางเจาะเป็นรูสำหรับใส่กระดุมโลหะเงิน ภายในมีลวดลายไข่ปลาสลับกับลายเส้นโค้ง และมีลวดลายเรขาคณิต เช่น รูปสามเหลี่ยม อยู่ภายในวงกลมเล็กซึ่งมีลายไข่ปลาและลายเส้นคั่นอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีต่างหูใส่ทั้งชายและหญิง ผู้ชายเจาะหูเดียวคือหูซ้าย ผู้หญิงใส่ทั้ง 2 หู ต่างหูเป็นรูปวงกลมหรือเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทำด้วยโลหะเงิน (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 47)
การแต่งกายของลาหู่แดง
ชาวลาหู่แดงนิยมใช้สีแดงอย่างชัดเจนในเครื่องแต่งกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดของผู้หญิง แต่เสื้อผ้าผู้ชายก็จะมีสีเข้มเป็นพื้น มีลวดลายไม่มากนัก และมักสะพายย่ามที่สายทอด้วยเส้นด้ายสีแดงสดเป็นเอกลักษณ์
เครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงลาหู่แดง คือ มีแถบผ้าสีแดง เย็บทาบบนพื้นผ้าสีดำ เป็นแถบใหญ่เล็กหลายตอน ตรงรอบคอ ชายผ้า และแขนเสื้อ (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 48) เสื้อของผู้หญิงลาหู่นั้น สั้นแค่ราวเอว บางคนสั้นมากเปิดให้เห็นท้อง เป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ผ่าอกตรงกลางตลอด บนตัวเสื้อสีดำ ตรงกลางติดแถบผ้าสีแดง แถบผ้าสีแดงนี้ติดจากริมคอลงมาถึงข้างล่าง ตลบขอบคอหน้ามีกระดุมโลหะเงินหรือเข็มกลัดเงิน บางคนเย็บแถบผ้าสีแดงไว้ที่รอบอกแถบหนึ่ง หรือมีแถบผ้าสีแดงตลอดชายเสื้อ แต่บางคนเย็บแถบผ้าสีแดงและเหลืองสลับกันตรงชายเสื้อ ตรงแถบทั้งสองข้างมีแถบผ้าสีแดง 2 แถบ รองแขนเสื้อ 2 ตอน คือ กลางแขนเสื้อใต้ไหล่ 1 แถบ กับตรงปลายแขนเสื้ออีก 1 แถบ กับตรงปลายแขนเสื้ออีก 1 แถบ หรือตรงข้อศอก 1 แถบ และที่ปลายแขนเป็นแถบผ้าสีแดงสลับเหลืองก็มี บนหน้าอกเสื้อด้านหน้าตรงแถบผ้าสีแดงมีเหรียญประดับสองแถวตั้งแต่คอลงมาเกือบถึงชายเสื้อและตรงชายเสื้อก็มีเหรียญประดับรอบ ส่วนตรงอกเสื้อมีกระดุมโลหะเงิน 3 อัน กระดุมโลหะเงินที่ใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ส่วนกระดุมโลหะเงินเล็ก 2 อันอยู่เหนือ 1 อันและอยู่ใต้กระดุมโลหะใหญ่ 1 อัน ส่วนเสื้อด้านหลังเป็นสีดำล้วนมีโลหะเงินกลม ๆ ประดับกลางหลังตั้งแต่ต้นคอลงมาถึงเกือบถึงชายเสื้อ (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 48) แขนเสื้อทรงกระบอกมีสีแดงหรือลายสีแดงคาดตรงข้อแขนท่อนบน (ศูนย์วิจัยชาวเขาเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงมหาดไทย, 2519: 5-6 อ้างถึงในสุนิษา สุกิน, 2552: 19)
ผู้หญิงชาวลาหู่แดงนิยมนุ่งผ้าถุง ที่ยาวถึงข้อเท้า วิธีนุ่งจะขมวดผ้านุ่งเหนือเอวหรือใช้เข็มขัดเงินคาดไว้ ผู้หญิงลาหู่แดงใส่ผ้านุ่งสีดำเป็นพื้น มีลายสีต่าง ๆ สลับกันตอนเอวบนประมาณ 1 คืบ สีที่ขาดไม่ได้คือสีแดง บางทีสลับสีเหลือง สีดำ ตามขวางของผ้านุ่ง ริ้วสีแดง เหลือง หรือดำเล็กใหญ่เท่ากันหรือไม่ก็ได้ แต่เห็นสีแดงชัดกว่าทุกสี (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 47-48)
ส่วนบนศีรษะบางคนก็ได้ใช้ผ้าโพกศีรษะ บางคนก็ไม่โพกศีรษะ แต่ทำเป็นมวยใหญ่ไว้บนศีรษะ ส่วนผู้หญิงที่โพกศีรษะนิยมโพกผ้าสีดำมากกว่าสีขาว ส่วนสีอื่นไม่นิยมใช้ ปล่อยชายผ้า ไว้ด้านหลัง ตามปกติอยู่กับบ้าน ผู้หญิงมูเซอแดงไม่โพกผ้าที่ศีรษะ บางคนไม่เกล้าผม ปล่อยลงมารุงรัง ทุกคนเจาะหูใส่ตุ้มหูเป็นเงินวงกลม (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 48) สาวชาวลาหู่นิยมใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน มีต่างหู ห่วงคอ ห่วงแขนและเข็มขัดชนิดที่นำเอาเหรียญรูปีอินเดียเชื่อมกับด้วยห่วงเล็ก ๆ ติดต่อกัน (ศูนย์วิจัยชาวเขาเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงมหาดไทย, 2519: 5-6 อ้างถึงในสุนิษา สุกิน, 2552: 19)
ผู้ชายลาหู่แดงนุ่งกางเกงยาวถึงข้อเท้า กางเกงสีดำคล้ายกับกางเกงจีน ปลายขากางเกงขลิบเย็บด้วยผ้าสีแดงขนาดเล็ก เสื้อสีดำแขนยาวถึงข้อมือ บางคนสวมเสื้อสีดำ ผ่าอกตรงกลางตลอด บางคนสวมเสื้อสีดำขลิบเย็บด้วยผ้าสีแดงและเหลืองรอบเสื้อคอกลม บนบ่าทั้งสองข้างขลิบเย็บด้วยผ้าสีแดง และเหลืองเช่นเดียวกับรอบคอ ส่วนชายเสื้อขลิบเย็บด้วยผ้าสีแดงขนาดเล็ก เสื้อผ่าอกด้านข้างและขลิบเย็บด้วยผ้าสีแดง นอกจากนี้ยังมีขลิบเย็บ เย็บด้วยผ้าสีแดงและเหลืองจากคอเฉียงมาทางซ้ายใต้แขน และประดับตกแต่งด้วยเหรียญเงินรูปีตามรอยขลิบบนเสื้อด้านหน้าเป็นระยะ ๆ เหรียญเป็นแบบกลมแบบสี่เหลี่ยมและโลหะเงินกลม ๆ เล็ก ๆ ผู้ชายนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีดำโพกแล้วมีลักษณะคล้ายขนมโดนัท นอกจากนี้ยังมีป่านสีแดง ซึ่งผู้ชายมูเซอแดงนิยมสะพาย มีลายเส้นสีเหลืองสีแสดสลับกันเป็นเส้นขนาน ตรงมุมย่ามทั้งสองข้างมีพู่สีด่างเช่นสีเหลืองสีเขียวห้อยตกแต่ง (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 48-49)
ปัจจุบันผู้ชายมักชอบสวมเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงินแก่ มีกระเป๋าพร้อมด้วยฝาปิดอยู่ตรงหน้าอกทั้งสองข้าง สวมกางเกงขาก๊วยสีเดียวกับเสื้อ คาดเข็มขัด ถ้าเดินทางไปไร่ จะพันน่องด้วยผ้าสีน้ำเงิน เมื่อมีโอกาสเดินเข้าไปในเมือง นิยมสวมรองเท้าฟองน้ำหรือรองเท้าหุ้มส้นและสวมถุงเท้า (ศูนย์วิจัยชาวเขาเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงมหาดไทย, 2519: 5-6 อ้างถึงในสุนิษา สุกิน, 2552: 19)
เด็กผู้หญิงลาหู่แดง แต่งตัวเช่นเดียวกับผู้หญิงลาหู่แดง คือนุ่งผ้านุ่งสีดำเป็นผืนมีแถบผ้าสีแดงขลิบเย็บติดไว้ตรงชายผ้านุ่งสลับกับผ้าสีดำ ส่วนตอนบนของผ้านุ่งก็มีแถบผ้าสีแดงขลิบเย็บ บางคนนุ่งโดยใช้ผ้านุ่งเหน็บ บางคนมีเข็มขัดเงินคาด เสื้อของเด็กผู้หญิงลาหู่เป็นเสื้อสีดำแขนยาวถึงข้อมือ ตัวเสื้อสั้นเปิดเห็นท้อง มีแถบผ้าสีแดงติดตรงแขน 2 แห่ง คือตรงแขนเสื้อเหนือข้อศอก และปลายแขน แถบผ้าสีแดงนี้ใหญ่ประมาณ 3 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีแถบผ้าสีแดงรอบคอกลม และตรงหน้าอกมีกระดุมโลหะเงินใหญ่ 1 อัน ส่วนผมของเด็กหญิงลาหู่แดง บางคนก็ตัดสั้นไม่ใช้ผ้าโพกศีรษะ บางคนก็เกล้าเป็นผมมวยใหญ่ไว้บนศีรษะ (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 49)
เด็กผู้ชายลาหู่แดง สวมเสื้อสีดำแขนสั้น มีผ้าขลิบเย็บสีแดงตรงคอกลม ตรงคอกลม ตรงชายเสื้อทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และที่ตรงผ่าอกเฉียงจากคอด้านหน้าเฉียงมาตรงเอวด้านขวา ส่วนที่แขนทั้งสองข้าวขลิบเย็บด้วยผ้าสีแดงและเหลืองสลับกัน และจากคอเฉียงไปด้านซ้ายถึงใต้แขนซ้ายมีผ้าสีแดงและเหลืองเย็บขลิบไว้ นอกจากนี้บริเวณหน้าอกยังประดับเหรียญรูปี และโลหะเงินกลม ๆ เป็นระยะ ๆ เด็กผู้ชายลาหู่แดงมีหมวกทำด้วยผ้าสีดำลักษณะกลมประดับด้วยผ้าสีแดง และโลหะกลม ๆ เล็ก ๆ ส่วนกางเกงนุ่งสีดำขายาว มีแถบผ้าสีแดงและเหลืองสลับกันตรงชายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 49)
วัสดุที่ใช้ทำและวิธีทำ เครื่องแต่งกายทำจากฝ้าย ซึ่งนำมาปั่นเป็นด้ายและทอเป็นผ้าด้วยเครื่องทอที่ทำขึ้นอย่างง่าย ต่อจากนั้นจึงไปย้อมด้วยใบฮ่อม จนกระทั่งเป็นสีดำ ส่วนผ้าสีแดงย้อมด้วยครั่ง แล้วจึงนำตัดและเย็บด้วยมือ นอกจากนี้ชาวลาหู่แดงยังซื้อผ้าจากชนพื้นราบมาตัดเย็บก็มี (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 49)
เครื่องประดับและลวดลาย เครื่องประดับของลาหู่แดงมีมากมายโดยเฉพาะผู้หญิงลาหู่แดงประดับห่วงคอเงิน ตุ้มหู เหรียญรูปี กระดุมโลหะเงิน และกำไลข้อมือ และลูกปัดสีขาว โดยเฉพาะกระดุมโลหะเงินหรือดอกจันทน์ มารดาของพวกลาหู่จะมอบให้ในขณะที่พูดได้แล้ว ถ้ากระดุมโลหะเงินเป็นแผ่นใหญ่ก็ได้เพียงอันเดียว ถ้าเป็นแผ่นเล็กก็จะได้หลายอัน กระดุมโลหะเงินนี้แสดงให้เห็นฐานะของหญิงด้วย เพราะถ้าหญิงยากจนมักไม่มีเครื่องประดับกายมาก ถ้าผู้หญิงแต่งงานแล้วมีเครื่องประดับตกแต่งน้อย ถ้าเป็นหญิงที่ยังไม่แต่งงานมีเครื่องประดับตกแต่งมาก และแต่งกายด้วยสีสันฉูดฉาด ตัดเย็บอย่างประณีต นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าหญิงที่แต่งงานแล้วมักไม่ติดกระดุมเสื้อเวลาอยู่บ้าน (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 49-50)
พวกเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะเงิน ซึ่งได้แก่ ห่วงคอเงิน ตุ้มหูกระดุมโลหะเงิน กำไลข้อมือ และโลหะเงินเม็ดกลมเล็ก ๆ เครื่องประดับเหล่านี้ทำจากเหรียญรูปีที่นำมาหลอมให้ละลาย แล้วเทบนพื้นดินที่ทำเป็นรางขนาดใหญ่เล็กตามที่ต้องการ แล้วจึงนำมาทุบให้เป็นบาง ๆ หรือหนาตามที่ต้องการใช้แล้วผิวให้เรียบ ต่อมาจึงนำมาสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ด้วยเหล็กแหลม ลวดลายบนห่วงคอเงิน เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และไข่ปลา ห่วงคอเงินมีลักษณะแบน ปลายทั้ง 2 ข้างไม่เชื่อมติดกัน เพื่อให้สวมใส่สะดวก นอกจากนี้ก็มีลายก้านขด และลายกลม ๆ เล็ก ๆ ตรงริมทั้งสองข้างห่วงคอเงิน ลายขีดโค้งขึ้นสลับกับลายขีดโค้งลง หรือบางที่ก็มีลายเหลี่ยมขีดไขว้กัน ส่วนตุ้มหูมีลักษณะกลม ๆ คล้าย ๆ กับขอ ถ้าเป็นตุ้มหูเด็กหญิง เป็นวงกลม ๆ แต่ตรงปลายอีกด้านหนึ่งของตุ้มหู ม้วนขดเหมือนก้นหอย กำไลข้อมือของผู้หญิงและเด็กหญิงมี 2 แบบ คือ แบบหนึ่งเป็นโลหะเงินแผ่นแบน ๆ กว้างประมาณ 1 นิ้วครึ่ง มีลวดลายเป็นรูปดอกไม้ รอยขีด ๆ ตรงริมทั้ง 2 ข้างของกำไล สายเรขาคณิต เช่น รูปสายเหลี่ยม รูปวงกลมเล็ก ๆ อยู่ระหว่างรูปสามเหลี่ยมและในสามเหลี่ยมและลายก้นหอย เป็นต้น ส่วนอีกแบบเป็นกำไลข้อมือกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร หนา ปลายทั้ง 2 ข้างไม่ติดกัน ตรงกลางเล็กกว่าตรงริม ไม่มีลวดลายประดับ กระดุมโลหะเงินหรือที่เรียกว่าดอกจันทน์ที่ใช้ประดับเสื้อมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 4-6 นิ้ว มีลวดลายสวยงามมาก เป็นลายดอกไม้อยู่ตรงกลาง มีเกสรดอกไม้ มีลายไข่ปลา ถัดออกมาเป็นลายใบไม้ขดสวยงามยิ่ง ดอกจันทน์นี้เป็นเครื่องหมายแสดงความยิ่งใหญ่ของผู้หญิง ส่วนลูกปัดสีขาว นำมาร้อยแล้วใช้ประดับรอบคอ โดยพันหลายรอบเต็มคอ ไม่ห้อยลงมาที่หน้าอก นอกจากนี้ยังใช้พันรอบมวยผมที่อยู่บนศีรษะของหญิงลาหู่แดง ส่วนเหรียญรูปี ที่ใช้ประดับเสื้อนั้น ด้านหนึ่งของเหรียญเป็นรูปใบไม้ดอกไม้ ลายเส้นนูนและลายไข่ปลา หรือเหรียญเงินด้านหนึ่งเป็นรูปสิงห์ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปลายก้านขดก็มี ซึ่งเหรียญเหล่านี้มีลวดลายสวยงามอยู่แล้ว เมื่อนำมาประดับเสื้อก็ยิ่งทำให้เสื้อนั้นสวยงามยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้มีโลหะเงินนูนรูปกลม ๆ เล็ก ๆ ใช้ประดับเสื้ออีก ซึ่งเหรียญรูปี และโลหะเงินรูปีกลม ๆ เล็ก ๆ นี้ใช้ประดับเสื้อทั้งหญิงชายรวมทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 50-51)
พอถึงประเพณีสำคัญอย่างปีใหม่ลาหู่ ก็จะสวมชุดสวยผ้ากำมะหยี่เนื้อนุ่มปักเลื่อมปักดิ้นพริบพราว ฝ่ายหญิงจะประดับประดาสวมใส่เครื่องเงินให้วูบวาบแวววาวไปทั้งเนื้อทั้งตัว (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน. ม.ป.ป.: 10)
แม้ว่าในอดีตชาวลาหู่แดงมีวิธีในการสร้างลวดลายผ้าหลายแบบ ทั้งการปักเดินเส้น ปักกากบาท การเย็บต่อผ้า ซึ่งล้วนทำด้วยมือ แต่ปัจจุบันมีจักรเย็บผ้าที่ผลิตงานได้เร็ว สามารถปักลวดลายต่าง ๆ ได้สะดวก รวมถึงมีผ้าลายและลวดลายสำเร็จรูปหาซื้อได้ง่ายขึ้น การทำด้วยมือจึงมีให้เห็นน้อยลง แต่ผู้หญิงลาหู่แดงหลายคนก็ยังคงชำนาญการปักผ้าแบบกากบาทหรือปักครอสติสเพื่อสร้างลวดลายบนถุงย่าม ซึ่งถ้ามีเวลาสักหน่อย หากไปเที่ยวบ้านผามอน แม่บ้านลาหู่แดงที่นั่นก็ยินดีสอนให้ด้วยความเต็มใจ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน. ม.ป.ป.: 10 )
การแต่งกายของลาหู่ชี
ผู้หญิงไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งผู้หญิงในเผ่าแต่งตัวไม่เหมือนกัน บางคนแต่งกายคล้ายพวกลีซอ บางคนแต่งกายคล้ายพวกลาหู่แดง ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะรู้แน่ว่าเป็นลาหู่กลุ่มใด (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 51)
ผู้ชายลาหู่ชี สวมเสื้อสีดำผ่าอกกลางหรือข้างมีกระดุมโลหะเงินเป็นรูปกลม ๆ ใส่กางเกงแบบจีนสีดำหลวม ๆ ความยาวอยู่บริเวณใต้หัวเข่าเล็กน้อย ถ้าเป็นชายหนุ่มชอบสวมกางเกงสีฟ้า ชาวลาหู่ชีนิยมโกนผม ให้เหลือเพียงหย่อมเดียว ตรงกลางศีรษะและผูกปลายผมด้วยเส้นด้าย หรือถักเป็นเปียอย่างผมชาวจีนโบราณ ดังนั้จึงต้องโพกศีรษะด้วยผ้าสีดำหรือสีขาว นอกจากนี้บางคนยังมีผ้าพันแข้งไว้กันหญ้าคาและหนาวด้วย (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 52)
เครื่องประดับของลาหู่ชี ได้แก่ ห่วงคอเงิน ตุ้มหูเงิน กำไลข้อมือเงิน เข็มขัดเงิน และกระดุมโลหะเงินหรือดอกจันทน์ เครื่องประดับดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำจากเงินเหรียญรูปี ซึ่งนำมาหลอมให้ละลาย แล้วจึงนำมาสลักเป็นลวดลายแบบเดียวกันกับเครื่องประดับของมูเซอแดง ซึ่งเครื่องประดับนี้แสดงให้เห็นฐานะของผู้สวมใส่ ห่วงคอเงินบางคนใส่ 4-5 อัน ห่วงนี้ไม่แบน มีทั้งที่มีลวดลายสลักและไม่มีลวดลายสลัก ลายสลักเป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และกิ่งไม้ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำลายนี้กัน ตุ้มหูเป็นแท่ง ๆ ห้อยเป็นพวง ส่วนกำไลข้อมือ มีแบน กลม ๆ ไม่มีลวดลายและแบบเป็นแผ่นบาง ๆ มีลวดลายที่ชอบกันคือลายเรขาคณิตและลายดอกไม้ไข่ปลา ฯลฯ กระดุมโลหะเงินนั้นลวดลายเหมือนมูเซอแดง ส่วนผู้ชาย มูเซอชีมีเพียงห่วงคอเงิน คือเป็นวงกลมปลายทั้งสองข้างไม่เชื่อมติดกันบางทีก็มีลาย บางทีก็ไม่มี ถ้ามีลวดลายสลักก็เป็นลายดอกไม้ใบไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพวกชาวเขานิยมทำกัน (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 52-53)
การแต่งกายของลาหู่เฌเล
ชาวลาหู่เฌเล มักจะถูกเรียกว่า ล่าหู่นะ หรือลาหู่ดำเช่นกัน แต่เป็นคนละกลุ่มกับลาหู่ดำแท้ที่มาจากยูนนานและพม่า เฌเล เป็นคำดั้งเดิมที่ลาหู่แดงเรียกขานชนกลุ่มนี้ แต่ชาวลาหู่เฌเลเรียกตนเองว่า “ล่าหูนะมื่อ” ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้อีก 3 กลุ่ม คือ ลาหู่พะคอ ลาหู่หมะลอ ลาหู่ละมื่อ ทั้งสามกลุ่มแต่งกายคล้ายกัน (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 31)
ชาวลาหู่เฌเลนั้น ทั้งชายและหญิงจะใช้ผ้าสีดำเป็นผ้าสีพื้นของเครื่องแต่งกาย แล้วตกแต่งด้วยผ้าสีต่าง ๆ โดยความเชื่อเรื่องสีที่ใช้ในเสื้อผ้านั้น ชาวบ้านหมู่บ้านจ่าโบ่เล่าว่าสีดำแทนความเป็นลาหู่ดำและหมูดำ สีขาวแทนข้าวปุก สีฟ้าหรือสีเขียวแทนพืชผัก สีแดงแทนเลือดหมู และสีเหลืองแทนน้ำชา
ผู้ชายลาหู่เฌเล แต่งกายเหมือนลาหู่แดง แตกต่างกันตรงขลิบเย็บด้วยผ้าสีต่าง ๆ กัน คือ ลาหู่แดงขลิบเย็บด้วยผ้าสีแดงเป็นส่วนใหญ่ แต่ลาหู่เฌเลขลิบเย็บด้วยผ้าสีดำ สีขาว และสีเหลือง (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 52-53) ผู้ชาย สวมเสื้อคอกลมแขนยาวทรงกระบอก ยาวเลยเอวเล็กน้อย ผ่าหน้าตลอดไม่มีสาบเสื้อ ตัวเสื้อมีซับในด้วยผ้าสีฟ้าหรือสีเขียวอ่อน ไม่มีลวดลายกระดุม และไม่มีรังดุม มักใช้เข็มกลัดแทน สวมกางเกงสีดำ ขาก๊วย เป้าหลวม ขอบกางเกงด้านบนเย็บทาบด้วยผ้าสีขาว มักจะมีเข็มขัดทำด้วยผ้าสีแดง เป็นซองยาวสำหรับซุกของมีค่าต่าง ๆ เอาไว้สวมผ้าพันแข้งสีดำยาวถึงข้อเท้า ปลายผ้าขลิบด้วยผ้าสีต่าง ๆ มูเซอเชเลนิยมสวมรองเท้ายางหุ้มข้อสีน้ำตาล (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 31)
ผู้หญิงลาหู่เฌเล สวมกางเกงขายาวคล้ายกับผู้ชาย และเสื้อสีดำแขนยาวทรงกระบอก ตัวเสื้อจะยาวและหลวม จนถึงหัวเข่า (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 32) หรือข้อเท้า ผ่าอก ข้างประดับกระดุมโลหะเงินจำนวนมาก หลายแถว และเรียงพาดไขว้ลงมาทางใต้รักแร้ ริมผ้าที่แหวกลงไป ประดับด้วยผ้าสีขาว เหลือง แดง เป็นลวดลายเล็กหนาขนาดหนึ่งฝ่ามือ ยาวถึงเหนือข้อเท้า แขนเสื้อหลวม ๆ มีผ้าลายเหลือง สลับสีขาว สีแดง เย็บขลิบติดถึง 3-4 ตอน ตรงปลายแขนมีผ้าเย็บติดอยู่กว้างราว 5-6 นิ้ว ตอนกลางของเสื้อจากหน้าอกลงมาไม่มีลวดลายหรือสีอื่นใดนอกจากสีดำเท่านั้น (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 52)
สำหรับเครื่องประดับ มีห่วงคอเงินและกำไลแขนโลหะเงิน สีอันเป็นสัญลักษณ์ของพวกมูเซอเชเลคือสีดำ สีขาว สีเหลืองนวล (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 52) และสวมผ้าพันแข้ง แถบขาวทาบติดเอวไว้ทั้งด้านบนและด้านล่าง ผู้หญิงมูเซอเฌเลมักนิยมใช้ผ้าสีดำพันรอบศีรษะคล้ายหมวก (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 32)
วัสดุที่ใช้ทำและวิธีทำ วัสดุที่ใช้ทำเครื่องนุ่งห่มของชาวเจาทุกเผ่ารวมทั้งลาหู่ชีและลาหู่เชเลทำจากฝ้าย แล้วนำฝ้ายมาปั่นเย็บด้วย แล้วทอเป็นผ้าด้วยเครื่องทอที่ทำขึ้นอย่างง่าย แล้วจึงย้อมด้วยใบฮ่อมให้เห็นสีดำแล้วจึงนำมาตัดและเย็บด้วยมือ (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 52-53)
เครื่องประดับและลวดลาย สำหรับผู้หญิงมีห่วงคอเงินเป็นแท่งเหลี่ยมห้อยคอ ไม่เหมือนห่วงคอเงินของหญิงลาหู่ชี แต่บางคนก็มีห่วงคอเงินแบบแบน ๆ แต่ใหญ่กว่าของหญิงลาหู่ชี ห่วงคอบางชิ้นก็กลม บางทีก็มีลูกปัดสีขาวประดับคอโดยพันเต็มรอบคอ ไม่ห้อยรุงรัง และมีเข็มขัดเงิน ส่วนเหรียญติดเสื้อเสื้อเป็นแบบเดียวกับของลาหู่แดง นอกจากนี้ก็มีโลหะเงินนูนกลม ๆ เล็ก ๆ เหมือนพวกลาหู่แดง ส่วนผู้ชาย ลาหู่ชีและผู้ชายลาหู่เชเล มีเพียงห่วงคอเงิน คือเป็นวงกลมปลายทั้งสองข้างไม่เชื่อมติดกันบางทีก็มีลาย บางทีก็ไม่มี ถ้ามีลวดลายสลักก็เป็นลายดอกไม้ใบไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งชาวเขานิยมทำกัน (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2511: 53)
จากคำอธิบายข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่าชาวลาหู่แต่ละกลุ่มจะมีลักษณะการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม แต่ในภาพรวมแล้ว ชาวลาหู่มีการแต่งกายที่คล้ายกันมากโดยเฉพาะลักษณะของเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และวิธีการแต่งกาย ฯลฯ
การแต่งกายในช่วงที่มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ชาวลาหู่ในอดีตสวมใส่ชุดประจำเผ่าเสมอ แต่ในปัจจุบันการใส่ชุดประจำเผ่าเริ่มหาดูได้ยาก เนื่องจากการพัฒนาของสังคมเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชาย ทำให้ค่านิยมการใส่เสื้อผ้าชุดประจำเผ่าเปลี่ยนไป หันมาใส่เสื้อผ้าแบบสมัยใหม่เหมือนคนไทยพื้นเมือง เช่น กางเกงยีนส์ เสื้อยีนส์ เป็นต้น เพราะหาซื้อง่าย ส่วนชุดชาวลาหู่แต่ละหมู่บ้านจะหาซื้อได้ยาก อีกทั้งสังคมไม่ยอมรับ เมื่อใส่ชุดชนเผ่าเข้าเมืองกลับเป็นจุดเด่นและอาจถูกมองอย่างแปลกใจ จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ชอบใส่ชุดประจำเผ่ากัน ผู้นำชุมชนหรือผู้เฒ่าผู้แก่จึงต้องสั่งสอนลูกหลานให้ภาคภูมิใจในประเพณีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สมควรจะต้องกลับมาอนุรักษ์ให้สืบทอดต่อไป เพื่อรักษาชุดชนเผ่าและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงไว้ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป นอกจากนี้ การแต่งกายของชาวลาหู่ยังใช้เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าและมีความสำคัญต่อชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ซึ่งเครื่องประดับที่สำคัญดังกล่าวประกอบด้วยตุ้มหู กำไลคอ เข็มกลัด กำไลเงินมือ และเม็ดกระดุมโลหะเงินเล็ก ๆ (มูลนิธิกระจกเงา, 2552 อ้างใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 129)
โดยสรุป เสื้อผ้าของผู้หญิงชาวลาหู่มักจะใช้ผ้าดำหรือผ้าสีฟ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นชาวลาหู่กลุ่มใด และตกแต่งด้วยผ้าหลากสีเป็นลวดลายสวยงาม ส่วนใหญ่มีผ้าแถบสีแดงเป็นหลัก หญิงชาวลาหู่จะสวมใส่เสื้อแขนยาว สีดำ สวมผ้าถุงยาวถึงข้อเท้า ตกแต่งด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ และมีเม็ดโลหะเงินเล็ก ๆ เย็บติดเสื้อ มีลวดลายต่าง ๆ แปะติดไว้ด้านหน้าและด้านหลังอย่างสวยงาม รูปแบบเสื้อและลวดลายที่ปักบนเสื้อผ้าจึงแตกต่างกันไปแต่ละกลุ่ม แต่ทุกกลุ่มจะนุ่งผ้าซิ่นเช่นเดียวกัน และมีการเจาะรูหูสำหรับใส่ตุ้มหู ส่วนเสื้อผ้าของผู้ชาย ชาวลาหู่ทุกกลุ่มจะสวมใส่เสื้อแขนยาวสีดำ ประดับด้วยเม็ดโลหะเงิน และมีลวดลายปักแบบต่าง ๆ กางเกงมักใช้สีดำ สีเขียว สีฟ้า เย็บปักด้วยมือที่สวยงาม ซึ่งทั้งเสื้อและกางเกงจะใช้ผ้า สีดำเป็นส่วนใหญ่ และใช้ผ้าสีต่าง ๆ ทำเป็นแถบยาวซ้อนกันบริเวณปลายขากางเกง ปลายแขนเสื้อ และด้านหน้าตัวเสื้อ แต่จะไม่มีลวดลายมากเหมือนกับเสื้อผ้าของผู้หญิง ปัจจุบันผู้ชายจะสวมกางเกงขายาว และเสื้อเชิ้ต หรือเสื้อยืดเช่นเดียวกับคนไทยภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นช่วงเทศกาลสำคัญ (มูลนิธิกระจกเงา 2552 อ้างใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 129)
ลักษณะเด่นของการแต่งกายประจำชนเผ่าลาหู่ คือ ผู้หญิง โพกผ้าโพกศีรษะ สวมเสื้อสีดำ แขนยาว ผ่ากลางด้านหน้า หรือด้านข้างสองข้าง สวมผ้าถุงยาว สวมกางเกงขาก๊วย พันผ้าพันแข้ง ส่วนผู้ชาย โพกผ้าโพกศีรษะ สวมเสื้อสีดำ แขนยาว กางเกงขาก๊วย พันผ้าพันแข้ง นิยมสะพายย่าม มีถุงผ้าเล็ก ๆ ไว้ใส่ข้าวของ เวลามีงานพิธีที่สำคัญจะมีชุดที่ประดับด้วยเม็ดเงินและเครื่องเงินที่สวยงาม โดยปกติแม่บ้านจะเย็บเสื้อผ้าชุดใหม่ให้ตัวเอง สามี และลูก ๆ ไว้ใส่เฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่ทุกปี เพื่อเป็นการเริ่มต้นปีที่สดใส ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีวิธีการตกแต่งเสื้อผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ คือ การตกแต่งด้วยผ้าแถบสีต่าง ๆ โดยจะนิยมนำแถบผ้ามาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ บริเวณคอเสื้อ ริมสาบเสื้อ ริมชายเสื้อ ปลายแขนเสื้อ ด้านหน้าตัวเสื้อ ปลายขากางเกง และตกแต่งเสื้อด้วยเหรียญรูปีหรือเม็ดโลหะเงิน
สำหรับเทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาหู่นั้น ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า เทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลาย หญิงชาวลาหู่จะเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ผ่าน 2 เทคนิคหลัก คือ การปักด้วยด้ายสีสันสดใสลงบนพื้นผ้า และการเย็บปะติดผ้าเป็นลวดลายต่าง ๆ ลักษณะของลวดลายเป็นการปักเรียงต่อกันในแนวนอนตามผืนผ้า ความยอดเยี่ยมในการสร้างสรรค์ลวดลายของชาวลาหู่นั้น วัดกันที่ขนาดความเล็กของลวดลาย ความละเอียดลวดลายยิ่งเล็กมากเท่าใดก็ยิ่งต้องอาศัยความละเอียด ความอดทนในการปักและการเย็บปะติดที่สูงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงพบว่า การเลือกใช้เทคนิคในการสร้างสรรค์ลวดลายบางครั้งก็สัมพันธ์กับอายุและความเชี่ยวชาญของผู้สร้างสรรค์ลวดลายนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยในกลุ่ใของหญิงชาวลาหู่ที่อายุน้อย ความเชี่ยวชาญยังไม่มาก มักจะเลือกใช้เทคนิคการเย็บปะติดที่ง่ายกว่า และเลือกใช้ลวดลายที่มีขนาดใหญ่กว่า ส่วนหญิงชาวลาหู่สูงอายุที่มีอายุมากขึ้นหรือมีสายตาดีจะเลือกใช้เทกนิกการปัก ซึ่งจะให้ลวดลายที่มีความละเอียดสู. เป็นการแสดงออกว่าผู้ปักมีฝีมืออยู่ในระดับดี (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, 2557: 152)
นอกจากนี้เอกลักษณ์ของงานหัตถกรรมผ้าและสิ่งทอของลาหู่นั้น คือการใช้แถบผ้าที่ทบเป็นริ้วตกแต่งเสื้อ และถุงย่าม ซึ่งชาวลาหู่ในแต่ละท้องถิ่นจะใช้ผ้าดังกล่าวในการตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาหู่ดำบ้านห้วยน้ำริน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จะใช้ผ้าแถบสีขาวเท่านั้นตกแต่งเสื้อคลุมสีดำ บริเวณปลายแขนและชายเสื้อ นอกจากนั้นยังใช้ตกแต่งผ้าพันน่องที่มีสีดำ โดยใช้แถบผ้าสีขาวเช่นกัน ซึ่งจะเข้าชุดกันกับเสื้อ ส่วนถุงย่ามนั้นจะใช้แถบผ้าสีขาวและครีมทำตัวถุง สำหรับสายย่ามจะใช้ไหมพรมสีต่าง ๆ ทอสวยงามมาก (รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์ และนุสรา เตียงเกตุ, 2552: 15)
การได้มาของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้น ในอดีตชาวลาหู่มีศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ คือ การทอผ้า เมื่อว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ก็จะนำเอาสำลีจากต้นฝ้ายมารวมกัน จากนั้นดึงและพัน จนกลายเป็นด้ายและนำไปย้อมสี โดยการนำเปลือกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ดอกไม้สีต่าง ๆ มาต้มรวมกัน แยกเป็นสี ๆ ตากไว้ให้แห้ง แล้วค่อยนำมาปั่นเป็นด้าย จากนั้นจะเอาด้ายที่ปั่นแล้วไปทอเป็นผ้า สีนิยมใช้ทอกัน คือ สีดำ แดง น้ำเงิน ส่วนลายนั้นขึ้นอยู่กับผู้ทอว่าจะทอให้เกิดเป็นลายแบบไหน ผ้าทอส่วนใหญ่จะนำมาตัดเย็บเป็นสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่ากระเป๋า เสื้อผ้า ถุง กางเกง เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือสวมใส่ในงานประเพณีที่สำคัญ ต่อมา ชาวลาหู่ไม่มีกระบวนการทำเส้นด้ายขึ้นมาเอง แต่จะต้องเข้าไปในตัวเมือง
เครื่องมือที่ใช้ทอผ้ามี 2 ประเภท คือ (1) กี่ใหญ่ (อุปกรณ์ขนาดใหญ่ใช้ทอผ้า) และ (2) กี่เอว (อุปกรณ์ขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายสะดวก) การใช้กี่ใหญ่จะใช้สำหรับทอเครื่องนุ่งห่ม ส่วนกี่เอวนั้น ชาวลาหู่มีการทอผ้าด้วยกี่เอวอยู่บ้าง แต่มักไม่ได้ทอเพื่อนำมาใช้เป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แต่หากเป็นการทอเพื่อนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าย่าม ใช้ใส่สิ่งของในชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันชาวลาหู่แทบจะไม่ทอผ้าเองแล้ว (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ,. 2557: 152).
การเลือกพื้นที่ตั้งบ้านเรือน
การเลือกสภาพพื้นที่ในการตั้งถิ่นฐาน (หมู่บ้าน) นั้น ชาวลาหู่เลือกพื้นที่ที่มีสภาพธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำการเกษตร ล่าสัตว์ และเลี้ยงสัตว์ โดยหมู่บ้านลาหู่มักจะตั้งอยู่บนที่ราบบนสันเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 – 4,500 เมตร ตั้งหมู่บ้านห่างไกลจากแหล่งน้ำประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยใช้รางไม้ไผ่ส่งน้ำเข้าหมู่บ้าน การเลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้านไม่พิถีพิถันนัก แต่จะเน้นเลือกพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ 2518, สุนิษา สุกิน, 2552, วัชรินทร์ จินต์วุฒิ 2558)
เมื่อเลือกสภาพพื้นที่ได้แล้ว ชาวลาหู่จะจัดสรรพื้นที่ภายในหมู่บ้านให้เป็นสัดส่วน โดยมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยสำหรับส่วนพื้นที่สาธารณะไว้ชัดเจน เช่น ลานเต้นรำของหมู่บ้าน (ลานจะคึ) ป่าช้าหมู่บ้าน เป็นต้น สำหรับตอนเหนือสุดของหมู่บ้าน ส่วนมากจะเป็นที่ตั้งของโบสถ์ ใช้เป็นสถานที่ประกอบการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวลาหู่ คือพระเจ้ากือซา บางโอกาสก็ใช้เป็นสถานที่เต้นรำในวันพระของเดือน (วันชียี) ผู้นำทางจิตวิญญาณหรือปู่จารย์มีอิทธิพลอย่างมากในการรักษาวัฒนธรรมของชุมชนทั้งในเชิงกายภาพของบ้านเรือน รวมทั้งรูปแบบการจัดวางผังของบ้านเรือนในชุมชน โดยมีผืนป่าล้อมรอบชุมชน ง่ายต่อการเข้าไปล่าสัตว์หรือหาพืชผักในป่า ในบริเวณของหมู่บ้านไม่พบแหล่งน้ำใกล้กับชุมชน (วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558: 183)
ส่วนการตั้งบ้านเรือนนั้น หมู่บ้านของชาวลาหู่จะรวมเป็นกระจุก แต่ละเรือนจะตั้งล้อมรอบเรือนของหัวหน้าหมู่บ้าน โดยเรือนลาหู่แต่ละหลังจะไม่ปลูกติดกันมากนัก คือ จะมีที่ว่างล้อมรอบตัวเรือน หรือมีถนนของหมู่บ้านผ่านด้านข้างตัวเรือน เพื่อให้เข้าถึงง่าย และใช้เส้นทางสัญจรนี้เพื่อแบ่งแนวอาณาเขตของบ้านแต่ละหลัง ในขณะที่บางชุมชนอาจปลูกบ้านใกล้กัน มีรั้วรอบขอบชิด
รูปแบบแบบแผนการสร้างบ้านเรือนลักษณะบ้านเรือน สถาปัตยกรรม
รูปแบบ แบบแผนการสร้างบ้านเรือน ลักษณะบ้านเรือน และสถาปัตยกรรมนั้น สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวลาหู่ที่ตามปกติแล้ว ชาวลาหู่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไม่นานนัก ราว 3-4 ปีเท่านั้น และจะโยกย้ายไปในที่อื่น ๆ เสมอ เช่นเดียวกับบรรพบุรุษ ลักษณะเรือนของชาวลาหู่จึงนิยมสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลับนอนชั่วคราวและไม่แข็งแรงมากนัก กล่าวคือ ด้านรูปแบบบ้านเรือนของชาวลาหู่ ปลูกยกพื้น มีใต้ถุนสูง ซึ่งใต้ถุนใช้เป็นที่เก็บฟืน ตั้งครกตำข้าว รวมทั้งใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์หลายชนิด ได้แก่ ไก่ เป็ด ม้า วัว ควาย สุนัข หมู ซึ่งอาจเลี้ยงไว้บริเวณใต้ถุนบ้านหรือมีคอกหรือเล้า ข้าง ๆ บ้าน บ้านแต่ละหลังของลาหู่จะมีขนาดไม่เท่ากัน ตัวเรือนเป็นเรือนโครงสร้างไม้เนื้อแข็ง เสาเรือนทำจากไม้เนื้อแข็ง พื้นเรือนทำจากฟากหรือไม้ไผ่ผ่าซีก ฝาเรือนหรือผนังเรือนทำจากฟากเช่นเดียวกับพื้นเรือน หรืออาจจะทำจากไม้ไผ่สานก็ได้ ส่วนหลังคาใช้ใบคา ใบก้อ หรือใช้ใบของต้นเต็งรัง นำมามุงหลังคา
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้สร้างเรือนลาหู่ อันได้แก่ ไม้เนื้อแข็ง (เสาและ คาน) ไม้ไผ่ (ไม้ไผ่ผ่าซีก-ฟาก หรือ ไม้ไผ่สาน) ใบคา ใบก้อ (หรือใบเต็งรัง) เรียบร้อยแล้ว ชาวลาหู่จะหาฤกษ์ยามและพื้นที่สำหรับการปลูกบ้าน โดยให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องการนับวันได้ดีเป็นผู้เลือกให้ มีความเชื่อว่าหากได้วันดี อยู่บ้านนั้นแล้วครอบครัวจะมีความสุข เมื่อผู้เฒ่าได้วันและสถานที่แล้ว ชาวลาหู่ก็จะเตรียมข้าวสาร 3 เมล็ด และเทียนไข 1 คู่เพื่อบวงสรวงเจ้าที่ แล้วก็จะขุดหลุมในที่ที่เลือกไว้ จากนั้นใส่ขาวสาร 3 เมล็ดลงไป เอาใบไม้ปิด จุดเทียน พร้อมกับกล่าวเพื่อเสี่ยงทาย โดยใจความสำคัญของการเสี่ยงทาย คือ ถ้าสามารถปลูกบ้านและอยู่ที่นี่ได้อย่างมีความสุข ขอให้ข้าวสารเกาะกลุ่มกัน แต่ถ้าหากปลูกบ้านตรงนี้แล้วไม่มีความสุข หรือไม่สามารถปลูกบ้านตรงนี้ได้ ขอให้ข้าวสารกระจายกันอยู่คนละที่ (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ 2518, สุนิษา สุกิน 2552,วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558, จันทกร จันดี 2560)
หลังจากที่เสี่ยงทายแล้ว ชาวลาหู่จะขุดหลุม แล้วนำน้ำเทลงไปในหลุม เพราะน้ำที่เทลงนั้นมีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุขดั่งน้ำ แล้วจึงนำเอาเสาลง เสาต้นแรกที่ชาวลาหู่จะตั้ง คือ เสาที่เป็นศาลพระภูมิและเป็นหัวนอนของเจ้าของบ้าน
หลังจากที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว ก็จะทำพิธีไล่สิ่งไม่ดีออกจากบ้าน เนื่องจากมีความเชื่อว่าถ้าไม่ไล่ออกแล้วจะอยู่บ้านหลังนี้อย่างไม่มีความสุข จากนั้นจะเป็นพิธีขึ้นบ้านใหม่ การขึ้นบ้านใหม่นั้นชาวลาหู่จะฆ่าไก่ 1 ตัวหรือมากกว่านั้นตามแต่ฐานะของเจ้าของบ้านเพื่อเสี่ยงทายเหตุการณ์ในอนาคต หลังจากนั้นก็ขนของเข้ามาอยู่ในบ้านอย่างมีความสุข
ลาหู่จะปลูกบ้านให้ตรงกับวันไก่ (ก๊ะญี้) และวันหมา (พือญี้) เพราะเชื่อว่าสมาชิกจะอยู่เย็นเป็นสุข และจะไม่ปลูกบ้านในวันหมู (หวะญี้) วันเสือ (ล่าญี้) และวันตาย (ซือญี้)
การปลูกเรือน ชาวลาหู่จะไม่ให้จั่วหลังคาบ้านตรงกับหลังอื่นเพราะอาจจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเจ็บป่วยได้ บ้านลาหู่ที่มีคนเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อย ๆ หรือมีการตายเสมอ ก็จะย้ายหนีไปปลูกสร้างที่แห่งใหม่ สำหรับตัวเรือนนั้น ส่วนใหญ่จะหันหน้าชานและประตูทางเข้าเรือนไปทางเรือนของปู่จารย์เพื่อแสดงความเคารพ แต่ทั้งนี้การหันหน้าเรือนก็ยังขึ้นอยู่กับลักษณะของสภาพพื้นที่ตั้งเป็นสำคัญด้วย (ชูชาติ อินทพงษ์ 2550, วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558)
ตัวเรือนแบบดั้งเดิม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้า เป็นส่วนชานซึ่งอยู่นอกชายคา ปูด้วยไม้ฟาก มีบันไดเป็นไม้ท่อนยาวพาดจากพื้นดินขึ้นไปสู่บ้าน ส่วนหลังเป็นส่วนห้องสี่เหลี่ยม 1 ห้อง กว้าง 4-5 เมตร บางหลังอาจมีห้องสี่เหลี่ยมยาว 3-4 เมตi หรือ 3-5 เมตร ตัวเรือนส่วนใหญ่ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงทางเข้าออกเพียงทางเดียว และมีฝาสานรอบทุกด้าน สูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่ล้วน ไม่มีเพดาน ภายในห้องไม่มีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยไว้ชัดเจน มีเตาไฟอยู่ 1 เตาตั้งอยู่กลางห้อง เรียกว่า “แม่เตาไฟ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเรือน นอกจากจะใช้ประกอบอาหารและถนอมอาหารแล้ว ควันของเตาไฟยังมีส่วนช่วยยืดอายุการใช้งานของหลังคาหญ้าคาได้ด้วย ซึ่งบางหลังใช้เวลา 3 ปี จึงจะเปลี่ยนหลังคาชุดใหม่ รอบ ๆ แม่เตาไฟเป็นทั้งที่นอนและที่ต้อนรับแขกด้วย โดยพ่อแม่จะนอนด้านลึกสุดของห้อง ส่วนลูกจะนอนอยู่ใกล้ประตู หากเจ้าของบ้านมีฐานะก็จะขยายเรือนเพื่อทำ “ห้องผี” ไว้ในห้องนอนของตนเอง
อย่างไรก็ตาม หากต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มจะทำการสร้างเรือนใหม่หรือสร้างห้องเพิ่ม ติดกับชานเดิม เรียกว่า “เรือนกลุ่ม” โดยใช้นอกชานเป็นตัวเชื่อมห้องต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น หากเรือนมีจำนวนห้องมากกว่า 2 ห้อง จะใช้สอยห้องหนึ่งเป็นครัวไฟ แยกออกจากห้องนอน ซึ่งเดิมอยู่ภายในห้องเดียวกัน โดยการปลูกเรือนหรือปรับปรุงเรือน ชาวลาหู่มักจะปลูกหรือปรับปรุงเรือนในช่วงฤดูหนาว ด้วยเหตุผลที่ว่าในฤดูหนาวมีแป้งในเนื้อไม้น้อย ทำให้เมื่อนำไม้มาใช้ปลูกเรือนจะไม่ค่อยมีแมลงกินไม้ มีอายุยืนยาวกว่าไม้ที่ตัดในฤดูร้อน
การสร้างเรือนยกพื้นสูงนี้ทำให้สามารถเก็บกวาดง่าย ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และทำให้ไม่มียุง มด แมลงต่าง ๆ มารบกวนอีกด้วย นอกจากนี้การใช้ไม้ไผ่สานหรือใช้ตอกมัดให้แน่น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรือพายุใหญ่พัดผ่าน เรือนก็จะไม่พัง เพราะเรือนลักษณะดังกล่าวจะไม่ขวางทางลม กล่าวคือ หญ้าคามีช่องว่างซึ่งเป็นทางลม ลมจึงสามารถพัดผ่านหญ้าคาเข้ามาได้อย่างสะดวก ส่วนการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูง ไม่ทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ได้ หากตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ต่ำ เมื่อฝนตก น้ำก็จะซัดพัดพาเชื้อโรคต่าง ๆ เข้ามาอยู่รอบตัว
สถาปัตยกรรมของเรือนลาหู่มีเอกลักษณ์ของเรือนอยู่ที่ “หลังคา” โดยเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกันโดยส่วนหลังคาจะมีการวางหญ้าคาหนึ่งมัดบริเวณยอดจั่ว ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกเรือนลักษณะนี้ว่า “บ้านทรงหางกระรอก” ส่วนบางบ้านมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเจ้าของเรือนที่มีฐานะดี เช่น มีการใช้ไม้แผ่นเป็นผนังแทนการใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ หรือการมุงหลังคาลอนคู่แทนหลังคาหญ้าคาเดิม เป็นต้น จากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสถาปัตยกรรมเรือนในหมู่บ้านจากเรือนไม้ไผ่เป็นเรือนไม้แผ่นหลังคาจากมุงด้วยหญ้าคาเป็นมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ และผนังเรือนมีหน้าต่างแม้ จะเพียงไม่กี่หลังก็ตาม ก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากค่านิยมภายนอกที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชน สภาพเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งเมื่อเทียบฐานะกับเผ่าอื่น ๆ พบว่าชาวลาหู่มีฐานะที่ยากจนที่สุด และนั่นทำให้ชาวลาหู่ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะไปซื้อวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่เพื่อปลูกสร้างหรือปรับปรุงเรือนของตนได้
วิธีมุงหลังคาด้วยหญ้าคาของชาวลาหู่ค่อนข้างแปลก คือ แทนที่จะมัดคาเป็นต้น ๆ เขาใช้มุงฟ่อนทับกันหนาแน่นเช่นเดียวกับวิธีมุงหลังคาด้วยหญ้าของชาวยุโรป การมุงแบบนี้ทำให้ใช้ได้ทน และอบอุ่นในฤดูหนาว
สำหรับบ้านของหัวหน้าหมู่บ้านจะใหญ่โตกว่าบ้านของลูกบ้านราว 2 เท่า มีห้องนอนสำหรับต้อนรับแขก กับห้องนอนของครอบครัว เตาไฟทำไว้ 2 แห่ง เพราะบรรดาแขกผู้ไปเยือนหมู่บ้านจะไปหาหัวหน้าหมู่บ้านก่อน และพักค้างแรมอยู่ภายในบ้านผู้เป็นหัวหน้า (ชูชาติ อินทพงษ์ 2550, วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558)
เรือนลาหู่สมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของเรือนลาหู่เพื่อให้รับกับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เรือนโฮมสเตย์แต่ละลักษณะจะสะท้อนวิถีชีวิตของชาวลาหู่และการจัดการเตรียมรับรองนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไป เรือนโฮมสเตย์ขนาดเล็กถึงเรือนโฮมสเตย์ขนาดใหญ่จะเป็นเรือนที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับเรือนที่อยู่อาศัยที่ใกล้เคียงกับเรือนดั้งเดิมในปัจจุบัน ซึ่งจะมีลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวลาหู่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ผ่านรูปทรง พื้นที่ใช้สอย และวัสดุประกอบเรือน แต่เรือนโฮมสเตย์ขนาดกลางบางส่วนจนถึงเรือนโฮมสเตย์ขนาดใหญ่จะมีรูปแบบในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเรือนที่อยู่อาศัยแบบเรือนดั้งเดิม ทั้งในด้านการใช้วัสดุอุตสาหกรรมซึ่งเข้ามามีบทบาทในการก่อสร้าง มีการปรับเปลี่ยนทั้งรูปทรง ขนาด สัดส่วน และเพิ่มขยายพื้นที่เรือนเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ถ่ายทอดผ่านสถาปัตยกรรมค่อย ๆ เลือนหายไปจากกระบวนการพัฒนา จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ โดยผสมผสานเอกลักษณ์เรือนพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมที่ใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก เข้ากับการใช้วัสดุอุตสาหกรรมช่วยเสริมในการก่อสร้างที่ไม่กระทบต่อคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เช่น ตะปู แผ่นเหล็ก และน็อต เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยในเรือนควรจัดลำดับความสำคัญของการเข้าถึงพื้นที่จากในสุดของเรือนมายังพื้นที่นอกสุดของเรือนอย่างเป็นสัดส่วน คือ ห้องนอนเจ้าของเรือน ห้องนอนลูก ครัว พื้นที่เก็บของ พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่ชาน และห้องนอนนักท่องเที่ยว
อัตลักษณ์และความเปลี่ยนแปลงของเรือนลาหู่ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่หมู่บ้านขอบด้ง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และหมู่บ้านห้วยน้ำริน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทำให้พบว่าเรือนลาหู่สามารถจำแนกตามลักษณะทางกายภาพภายนอกของเรือนได้เป็น 4 ลักษณะ คือ (1) เรือนแบบดั้งเดิม (2) เรือนแบบดั้งเดิมใช้วัสดุผสมผสาน (3) เรือนแบบประยุกต์หรือต่อเติม และ (4) เรือนแบบสมัยใหม่ ในเรือนแบบดั้งเดิมมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวสะท้อนสู่รูปทรง ขนาด สัดส่วน พื้นที่การใช้งาน และวัสดุที่นำมาใช้ ซึ่งแฝงไปด้วยภูมิปัญญา วิถีชีวิต และความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตลักษณ์ของชาวลาหู่ดำรงอยู่
ในปัจจุบันสภาพสังคมและวิถีชีวิตของชาวลาหู่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพราะการสื่อสารที่เข้ามา ประกอบกับอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะที่อยู่อาศัย นอกจากนี้การรับวัฒนธรรมการปลูกสร้างเรือนแบบอย่างคนไทยประยุกต์เข้ากับชาวลาหู่ ทำให้เรือนมีรูปแบบเปลี่ยนไปจากเดิม จนแทบจะไม่เหลือเค้าโครงของเรือนแบบดั้งเดิม สรุปว่า ปัจจัยที่ทำให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเรือนพื้นเปลี่ยนแปลง คือ สภาพแวดล้อมชุมชนที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้ง ความต้องการยกฐานะทางสังคม คติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์จึงมีผลอย่างมากต่อการรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ โดยสำหรับชาวลาหู่นั้น แรกชุมชนเป็นผู้สร้างความเชื่อขึ้นมา เพื่อรักษาความสงบสุขและดำรงอยู่ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตน ผ่านความเชื่อในเรื่องของผีและขวัญ โดยรูปแบบเรือนถูกกำหนดตามความเชื่อของผู้นำจิตวิญญาณ (ลลิตา จรัสกร และวิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง, 2558, วัชรินทร์ จินต์วุฒิ และ ศุภกิจ ยิ้มสรวล, 2558)
การผลิต และเข้าถึงอาหาร
ชาวลาหู่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ และใช้ชีวิตอยู่บนพื้นที่สูง รายล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้นานาพันธุ์ วัฒนธรรมอาหารของชาวลาหู่จึงต้องเกี่ยวข้องกับธรรมชาติด้วยเช่นกัน โดยปกติแล้ว ชาวลาหู่ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก คือ ปลูกข้าว ในขณะเดียวกันก็ทำไร่หรือปลูกพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ด้วย อาทิ ข้าวโพด พริก ฯลฯ เป็นต้น โดยใช้วิธีปลูกพืชแบบหมุนเวียน ชาวลาหู่จึงมีวัตถุดิบในการประกอบอาหารหมุนเวียนกันตลอดปี นอกจากนี้สภาพพื้นที่โดยรอบของชุมชนก็เป็นภูเขา ลำห้วย และป่าไม้ ซึ่งมีทั้งพืช เช่น หน่อไม้ ฯลฯ และแมลงหรือสัตว์เล็กต่าง ๆ เช่น ปลาจากลำห้วย รถด่วนจากกระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ สภาพพื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นแหล่งอาหารที่มีอาหารนานาชนิดตามฤดูกาลหมุนเวียนตลอดปีเช่นเดียวกัน ดังนั้นชาวลาหู่จึงมีอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัย ทั้งยังสามารถผลิตอาหารและพึ่งพาตนเองได้
การปรุงและบริโภคอาหาร
สำหรับการบริโภคอาหารของลาหู่นั้น ชาวลาหู่นิยมบริโภคอาหารประเภทน้ำพริกและอาหารประเภทต้ม โดยอาหารประเภทน้ำพริกนี้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวลาหู่ที่นิยมปลูกพริกไว้ขายกันทุกครัวเรือน น้ำพริกที่ขึ้นชื่อ คือ “น้ำพริกลาหู่” หรือที่เรียกว่า “อ๊ะเผะเต่” ปรุงจากพริกหนุ่มย่างไฟ โขลกรวมกับกระเทียม มะเขือเทศ ปรุงรสด้วยเกลือ ส่วนอาหารประเภทต้มนั้น ก็จะเป็นพวกผักและสมุนไพรซึ่งเก็บหาเก็บได้ตามป่า ห้วยน้ำ ไม่ใช้น้ำมันพืช หรือเครื่องปรุงรสที่ฟุ่มเฟือย โดยปกติแล้ว อาหารของชาวลาหู่มีเครื่องปรุงไม่มาก ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ใช้น้ำมันพืชหรือเครื่องปรุงรสที่ฟุ่มเฟือย เน้นพืชพรรณธัญญาหารเป็นหลัก ไม่เน้นเนื้อสัตว์ ในแต่ละมื้อจะไม่มีเนื้อสัตว์ นอกจากในช่วงที่มีงานเทศกาลหรืองานพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การบวงสรวงผีและบรรพบุรุษ ก็จะมีการฆ่าหมู ไก่ หลังจากการบวงสรวงจะนำเนื้อสัตว์ที่เหลือมาประกอบอาหาร (สาริณีย์ ภาสยะวรรณ, 2553)
เมนูอาหาร และวิธีการปรุง
เนื่องจากชาวลาหู่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง อากาศหนาวเย็น และเดินทางออกนอกพื้นที่ลำบาก จึงมีอาหารประเภทอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวลาหู่ด้วย เช่น การจี่ การหลาม อาหารที่ขึ้น คือ ข้าวปุกซึ่งประกอบด้วยข้าวเหนียวดำนึ่งแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ จากนั้นนวดกับงาหรือตำกับงา แล้วย่างไฟให้หอม เมื่อสุกแล้วโรยน้ำตาลอ้อยรสหวาน ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ “วะซาเอเดหู่กือจาเว” ทำจากเนื้อหมูสับผสมกับสมุนไพรต่าง ๆ แล้วนำไปใส่กระบอกไม้ไผ่เผาไฟจนสุกหอม (นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา 2511, Prinkprao 2560) ในที่นี้ขอเสนอเมนูอาหารลาหู่และวิธีทำไว้ 4 เมนูดังนี้ (มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา มปป., 2560)
เมนูที่ 1 แกงไก่ (งะส่าจ๊า) (บ้านจะบูสี ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย)
ส่วนผสม (สำหรับรับประทานประมาณ 10 คน)
พริกสด (อ๊ะเผะ) 3-5 เม็ด
ไก่ (งะส่า) ½ กิโลกรัม
ตะไคร้ (ย้อหม่า) 3 ต้น
หอมแดง (สุฟู) 5 หัว
ต้นหอม (ฉู่) 1 กำมือ
ผักชี (งะซอย) 1 กำมือ
เกลือ (อ๊ะแหละ) 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. ทุบหอมแดง สับตะไคร้เป็นท่อน แล้วพักไว้
2. หั่นไก่เป็นชิ้น ๆ ใส่ภาชนะแล้วพักไว้
3. ตั้งหม้อบนเตาไฟให้ร้อนด้วยไฟอ่อน ๆ แล้วนำไก่ที่สับเป็นชิ้นลงไปคั่วโดยไม่ใส่น้ำมัน จนกระทั่งไก่เหลืองและหอม
4. เติมน้ำเปล่าลงไปในหม้อ ให้ปริมาณน้ำท่วมไก่ แล้วต้มจนเดือด ใส่วัตถุดิบที่เตรียมไว้ในข้อ 1 ลงไปในหม้อ แล้วต้มต่อไปประมาณ 20 นาที เพื่อให้ไก่สุกและได้น้ำซุปที่มีรสชาติกลมกล่อม
5. ซอยต้นหอมและผักชีใส่ลงในหม้อ ต้มต่อไปอีกครู่เดียวแล้วยกลง ตักใส่ถ้วยพร้อมรับประทาน
(เคล็ดลับ ชาวลาหู่จะคั่วไก่ก่อนให้แห้งและหอม ก่อนที่จะใส่น้ำ เพื่อเป็นการดับกลิ่นคาว และจะทำให้อาหารอร่อยยิ่งขึ้น)
เมนูที่ 2 แกงหมู (หวะซาจ๊า) (บ้านจะบูสี ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย)
ส่วนผสม (สำหรับรับประทานประมาณ 10 คน)
ฟักเขียว (อ๊ะแท้ผื่อ) 1 ลูก
กระเทียม (สุฟูกิ๊) 3-5 กลีบ
พริกสด (อ๊ะเผะ) 5-10 เม็ด
หมู (หวะส่า) ½ กิโลกรัม
ตะไคร้ (ย้อหม่า) 2 ต้น
ต้นหอม (ฉู่) 1 กำมือ
ผักชี (งะซอย) 1 กำมือ
เกลือ (อ๊ะแหละ) 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. หั่นหมูเป็นชิ้น ๆ ใส่ภาชนะแล้วพักไว้
2. ปอกเปลือกฟักเขียว จากนั้นหั่นเป็นชิ้น ๆ พอดีคำ แล้วพักไว้
3. ทุบตะไคร้ กระเทียม และพริกสด
4. ตั้งหม้อบนเตาไฟให้ร้อนด้วยไฟปานกลาง เมื่อหม้อร้อนแล้ว นำตะไคร้ กระเทียมและพริกสดที่ทุบแล้วลงไปคั่วจนเหลืองหอม
5. หลังจากนั้นใส่น้ำเปล่าลงไปในหม้อ กะปริมาณให้ปริมาณให้พอดีกับหมูที่เราจะต้ม
6. เมื่อน้ำเดือดแล้ว นำหมูที่หั่นเป็นชิ้นแล้วใส่ลงในหม้อ ต้มไปประมาณ 5 นาที
7. แล้วใส่ฟักเขียวลงไปต้มในหม้อ จนกระทั่งสุก
8. เมื่อฟักเขียวเริ่มสุก ใส่เกลือเพื่อปรุงรส คนให้เข้ากันแล้วยกลง
5. ซอยต้นหอมและผักชีใส่ลงในหม้อ คนด้วยทัพพีเล็กน้อย ตักใส่ถ้วยพร้อมรับประทาน
เมนูที่ 3 น้ำพริกลาหู่ (อ๊ะเผะเต่) (บ้านจะบูสี ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย)
ส่วนผสม (สำหรับรับประทานประมาณ 10 คน)
พริกสด (อ๊ะเผะ) 1 กำมือ
ตะไคร้ (ย้อหม่า) 2 ต้น
หอมแดง (สุฟู) 2-3 หัว
กระเทียม (สุฟูกิ๊) 2-3 กลีบ
ต้นหอม (ฉู่) 2 ต้น
ผักชี (งะซอย) 1 กำมือ
เกลือ (อ๊ะแหละ) 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. คั่วหรือเผา พริกสด กระเทียม หอมแดง จนสุก แล้วซอยตะไคร้ให้ละเอียด
2. ใส่ทั้งหมดลงในครก เติมเกลือ แล้วตำให้เข้ากันจนเกือบละเอียด
3. ซอยต้นหอมและผักชี แล้วใส่ลงไปตำร่วมกันในครก ตำต่อไปให้เข้ากันจนทั่ว
4. จากนั้นตักใส่ถ้วย แล้วรับประทานร่วมกับเครื่องเคียง เช่น กะหล่ำปลีต้ม (วอจ๊าทิ) ใบบัวบก (อ๊ะจิกู) และยอดมะเดื่อป่า (ฉิปุ๊แกจ่า) เป็นต้น
(เคล็ดลับ ในการคั่วหรือเผาพริกให้สุก ต้องใช้ไฟไม่แรงมาก ให้พริกสุกนิ่มจึงจะได้รสหวานของพริก หากใช้ไฟแรงจะทำให้พริกไหม้แต่ข้างในยังสุกไม่ทั่ว พริกจะเผ็ดและไม่มีรสหวาน)
เมนูที่ 4 ลาบหมูใส่เปลือกอ่อนมะกอก (บ้านดอยมด ต. อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย)
ส่วนผสม
เปลือกอ่อนมะกอกป่า/บ้าน 1 ขีด
หมูแดง 1 ขีด
พริกขี้หนู (อ๊ะเผะ) 5-10 เม็ด
มะเขือเทศ 1 ลูก
กระเทียม 5 กลีบ
ตะไคร้ (ย้อหม่า) 1 ต้น
หอมแดง (สุฟู) 2 หัว
ผักชี (งะซอย) 1 ต้น
เกลือ (อ๊ะแหละ) 2 ช้อนโต๊ะ
พริกแห้งป่น 1-2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. ขูดเอาเยื่อมะกอกจากต้นมะกอกป่าหรือป้าน (ขูดเนื้อเยื่อข้างนอกทิ้ง เอาเฉพาะเนื้อเยื่อส่วนกลางหรือเนื้อเยื่ออ่อน ๆ )
2. ลาบหมูแดงให้ละเอียด ใส่เปลือกมะกอกและพริกขี้หนู มะเขือเทศ กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ผักชี เกลือ พริกแห้งป่น ลาบผสมด้วยกันให้ละเอียด ชิมรสตักใส่จานรับประทานได้เลย
หมายเหตุ: ถ้าไม่ทานดิบ ก็ปั้นเป็นก้อนแล้วต้มให้สุกก่อนรับประทาน
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
พิธีกรรมที่สำคัญของชาวลาหู่ มีดังนี้
พิธีฉลองปีใหม่ หรือที่เรียกว่า “เขาะเจ๊าเว” หมายถึง “ปีใหม่การกินวอ” ในแต่ละปีจะมี 1 ครั้ง พิธีฉลองปีใหม่ของลาหู่ไม่มีกำหนดการเฉพาะเจาะจงแน่นอน บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านพร้อมด้วยปู่จองและหัวหน้าจะเป็นผู้กำหนดเวลา ส่วนมากอยู่ในปลายเดือนมกราคมหรือเริ่มวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 เหนือ (เดือนอ้ายใต้) จนถึงวันเพ็ญ จะกำหนดจัดงานในช่วงที่สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ และเป็นช่วงที่เสร็จสิ้นภารกิจการทำงาน ทำไร่ ทำสวน หรือเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จแล้ว บางแห่งกล่าวว่าอาจตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม หรือเมษายนของแต่ละปีก็ได้ ในขณะที่บางแห่งกล่าวว่าปกติจะอยู่ในระหว่างเดือนที่สี่และเดือนที่ห้าของปีจันทรคติ อีกทั้งทุกหมู่บ้านก็ไม่จำเป็นต้องจัดฉลองปีใหม่พร้อมกัน เพราะแต่ละหมู่บ้านจะพร้อมไม่ตรงกัน แต่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็อยู่ในเดือนเดียวกันกับวันขึ้นปีใหม่ โดยหัวหน้าหมู่บ้านและผู้อาวุโสแห่งชุมชนจะเป็นคนกำหนดวันสำคัญและความสะดวกในการจัดพิธีฉลองทุกหมู่บ้านในชุมชนเดียวกัน (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550)
เมื่อถึงช่วงฉลองปีใหม่ สมาชิกของหมู่บ้านที่ไปทำงานอยู่ที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาร่วมงาน มีการฆ่าหมูดำ เพื่อนำเนื้อหมู และหัวหมูสังเวยต่อเทพเจ้ากื่อซา ต่อจากนั้นก็จะนำเนื้อหมูมาปรุงเป็นอาหารเลี้ยงกันอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ชาวลาหู่จะนำข้าวเหนียวนึ่งมาตำคลุกงา หรือนวดกับงา แล้วปั้นเป็นก้อนกลม จากนั้นนำไปปิ้ง แล้วโรยด้วยน้ำอ้อย เรียกว่า “อ่อผุ” หรือข้าวปุก เพื่อนำไปถวายต่อเทพเจ้ากื่อซา
พิธีฉลองปีใหม่มีเวลานานถึง 12 วัน โดยจะแบ่งการฉลองปีใหม่ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการฉลองปีใหม่ของผู้หญิง เรียกว่า “เขาะหลวง” หรือ “ปีใหญ่” มีระยะเวลา 6 วัน ช่วงที่สอง เป็นการฉลองปีใหม่ของผู้ชาย เรียกว่า “เขาะน้อย” หรือ “ปีเล็ก” มีระยะเวลา 6 วัน ระหว่างช่วงแรกกับช่วงที่สองจะมีช่วงหยุดพัก 1-2 วัน ปีใหม่ของแต่ละฝ่ายจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้พิทักษ์แห่งปี ในระหว่างวันฉลองบรรดาหนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยเครื่องประดับอย่างสวยงาม มีการแลกของขวัญกันด้วยขนมข้าวเหนียว และทุกครัวเรือนจะปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน เพื่อแสดงความปรารถนาจะให้ผลตามมาจากปีใหม่ได้มีส่วนแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน หลังจากสองวันนี้แล้วกลางคืนจะมีการเต้นรำทุก ๆ คืน ตั้งแต่หัวค่ำไปจนกระทั่งรุ่งสาง เรียกว่า “ก่าเคาะเว” ช่วงกลางวันชายหญิงชาวลาหู่จะมีการละเล่นที่แตกต่างกัน โดยผู้ชายจะเล่นขว้าง “ลูกข่าง” ส่วนผู้หญิงจะเล่น “ลูกสะบ้า” กัน (การเล่นโยนลูกบอลกลมขนาดเท่ากำปั้นมือ ลูกบอลนี้ทำโดยใช้ผ้าเย็บห่อข้างในก็จะเป็นแกลบหรือรำข้าว) สาเหตุที่ต้องมีการฉลองปีใหม่แยกกันระหว่างชายและหญิงนั้น มีผู้เฒ่าผู้แก่อธิบายว่า ในอดีตชายชาวลาหู่ต้องออกไปปฏิบัติภารกิจนอกหมู่บ้านเป็นเวลานาน เช่น ไปสงคราม ไปค้าขาย ไปล่าสัตว์ในป่า จึงทำให้กลับมาร่วมฉลองปีใหม่ไม่ทัน บรรดาผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้าน จึงจัดงานฉลองปีใหม่กันก่อน เมื่อพวกผู้ชายกลับมาถึง ปีใหม่ก็เสร็จพอดี บรรดาผู้ชายจึงจัดงานฉลองปีใหม่กันทีหลังอีกครั้งหนึ่ง (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545 อ้างถึงใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 139-140)
สำหรับพิธีปีใหม่นี้ ปัจจุบันพบว่าชาวลาหู่ยังจัดฉลองปีใหม่เป็น 2 ช่วงดังเดิม คือ “เขาะหลวง” และ “เขาะน้อย” แต่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะเข้าร่วมฉลองเทศกาลทั้งสองช่วงด้วยกัน ทั้งนี้เพราะผู้ชายและผู้หญิงต่างทำงานอยู่ใกล้กัน จึงทราบข่าวและชวนกันมาร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่พร้อมกันได้ โดยช่วงแรกปีใหม่จะมีความสนุกสนานมาก แต่ละคนมีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ช่วงหลังแต่ละคนเริ่มเหนื่อยล้าลง คนร่วมงานอาจจะน้อยลงไป
เทศกาลฉลองปีใหม่นี้ จะมีการจุดเทียนขี้ผึ้งสวดอ้อนวอนเทพเจ้าที่นับถือ เพื่อให้เกิดความสงบสุข และความอุดมสมบูรณ์แก่สมาชิกในชุมชน และถ้ามีลาหู่หมู่บ้านใกล้เคียงกันจัดงานพร้อมกัน ชาวลาหู่จะมีพิธีหนึ่งที่เรียกว่า “อ่อรี้เตดะเว” คือ การเดินทางไปเยือนหมู่บ้านอื่นพร้อมกับห่อเนื้อหมู และเอาข้าวปุก ไปทำบุญเพื่อนบ้าน รดน้ำให้ผู้อาวุโส เต้นรำรอบลานพิธีของหมู่บ้านนั้น ก่อนกลับมาหมู่บ้านตน และอีกไม่กี่วันเพื่อนบ้านจากมาหมู่บ้านนั้น ก็จะชวนกันมาประกอบพิธี“อ่อรี้เตดะเว” เป็นการตอบแทนเช่นกัน
เมื่อใกล้จะเสร็จงานปีใหม่จะต้องเซ่นไหว้ต้นวอและกื่อซา โดยจะขอให้เทพเจ้าคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข รวมทั้งขอให้มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงตลอดปี และขอให้มีน้ำ มีพืชผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์
ตลอดงานนี้ชาวลาหู่ทั้งชายและหญิงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ประดับอาภรณ์เต็มยศ ดูสวยงามหรูหราในวันแรก เขาตำข้าวปุก เรี่ยไรเงินกันซื้อหมูตัวใหญ่ 1 ตัว เพื่อใช้เป็นเครื่องเซ่นบูชาแก่เจ้ากื่อซา ใช้ข้าวปุกเพื่อรับประทานในบ้าน และเลี้ยงแขกระหว่างเทศกาลปีใหม่ ส่วนหมูที่เซ่นแล้ว จะนำมารับประทานได้ สำหรับวันแรก ชาวบ้านจะไปหาไม้ไผ่มาล้อมที่เต้นรำ ถ้าบางหมู่บ้านไม่มีลานเต้นรำ ก็เอามีดตัดไม้ไผ่ทำเป็นฟากนำมาล้อมรอบลานเต้นรำกลางหมู่บ้าน ในตอนกลางคืนมีการเต้นรำรอบกองไฟ ไม่ว่าหนุ่มเฒ่าสาวแก่ ส่วนวันที่ 2, 3 และ 4 ทุกคนจะแต่งกายอย่างสวยงาม เพราะมีการเต้นรำเช่นเดียวกับคืนแรก ซึ่งการเต้นรำดังกล่าวก็เพื่อทำบุญล้างบาป และพลีกรรมต่อเทพอือซาหรือผีฟ้า โดยผู้หญิงจะจับมือกันแปรแถวรูปหน้ากระดานแถวละ 2 บ้าง 4 บ้าง เดินแล้วหยุดถอยหลัง 1 ก้าว แล้วก้าวไปข้างหน้า ไม่แสดงท่าทางการเต้นแต่อย่างใด ดูเหมือนกับเดินรอบวงข้างใน ส่วนผู้ชายเต้นรำอยู่นอกวง ตอนกลางวันต่างคนก็ไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน งานปีใหม่นับว่าเป็นวันสำคัญ ที่ทุกครอบครัวจะไปร่วมรื่นเริง มีการเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่กัน พร้อมกับหยุดงาน และเป็นวันสำคัญสำหรับหนุ่มสาวเป็นอย่างยิ่ง
พิธีกินข้าวใหม่ หรือที่เรียกว่า “จาสือ จ่าเลอ” เป็นพิธีที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับวันขึ้นปีใหม่ พิธีนี้เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวและผลผลิตอื่น ๆ ในไร่ โดยชาวลาหู่เชื่อว่าผลผลิตข้าวได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเทพเจ้า ดังนั้นจึงต้องมีพิธีกินข้าวใหม่เพื่อบวงสรวงต่อเทพเจ้าโดยตรง เป็นการขออนุญาตเกี่ยวข้าวมาบริโภค พิธีนี้จะมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ช่วงเวลาประกอบพิธีมี 4 วัน คือ ประกอบพิธี 1 วัน รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ 1 วัน พักผ่อน 2 วัน
พิธีทำบุญเรียกขวัญ หรือที่เรียกว่า “บูตีเว จู่จือเลอ” เป็นพิธีทำบุญโดยการสร้างสะพานเล็กบริเวณริมทางเดินเข้า – ออกหมู่บ้าน โดยมีหมอพิธีเป็นผู้ทำพิธี ในงานนี้ต้องฆ่าหมูเพื่อเซ่นผีเรือน ผูกข้อมือ สวดอวยพร และเต้นรำบวงสรวงเทพเจ้า เพื่อขอให้สมาชิกในหมู่บ้านอยู่ดีกินดีปราศจากโรคร้าย พิธีดังกล่าวนี้จะกำหนดวันดี มงคล สำหรับการทำพิธี
พิธีวันศีล วันศีลของชาวลาหู่จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ แต่วันศีลในช่วงปีใหม่จะตรงวันที่สามของปีใหม่ ซึ่งในวันศีล ชาวลาหู่ต้องงดบริโภคเนื้อสัตว์ งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา นอกจากนี้ ชาวลาหู่ยังเชื่อว่าเป็นวันพักผ่อน ในตอนเย็นของวันศีลจะมีพิธีรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วโตโบจะกล่าวอวยพรสมาชิกในชุมชนทุก ๆ คน ในช่วงค่ำคืน จะมีการประกอบพิธีในหอแหย่ (โบสถ์) แล้วเต้นรำตีกลองและเป่าแคนกันอย่างสนุกสนานต่อหน้าต้นวอ
พิธีที่เกี่ยวกับชีวิต
พิธีเกี่ยวกับการเกิด
การคลอดบุตรของชาวลาหู่ มารดาของหญิงตั้งครรภ์จะเป็นผู้ทำคลอด ไม่มีหมอตำแย มีการผูกด้ายที่ข้อมือและรอบคอเด็ก ป้องกันปิศาจร้ายรบกวน วิธีปฏิบัติเมื่อมีเด็กเกิดในบ้าน การคลอดลูกนั้นต้องใช้ผ้าหรือเชือกผูกกับขื่อบ้านเพื่อให้แม่เด็กจับ และมีแรงในการเบ่งออกลูก เมื่อเด็กเกิดมาต้องตัดสายสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่หรือไม้เฮียะ จะไม่ใช้มีดตัดเพราะกลัวเด็กจะเป็นบาดทะยัก จากนั้นก็ใช้เชือกผูกสายสะดือเด็กเอาไว้เพื่อไม่ให้เลือดไหลออกมา แล้วพ่อเด็กจึงนำรกไปฝังไว้ใต้บันได โดยพยายามให้เรียบร้อยที่สุดมิให้สัตว์มาคุ้ยและต้องฆ่าไก่ดำให้แม่เด็กกิน เพราะเชื่อว่าจะทำให้น้ำนมแม่มีคุณค่ามากขึ้น เมื่อลูกกินนมจะทำให้ลูกมีร่างกายแข็งแรงขึ้น กรณีที่เด็กเกิดมาอย่างปลอดภัยจะเอารกไปฝังไว้ที่ใต้บันไดบ้าน แต่ถ้าเด็กเกิดมาแล้วเสียชีวิตต้องเอารกเด็กไปฝังในป่า คนทำคลอดส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้หญิง และมีประสบการณ์ในการทำคลอด ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วพ่อแม่เด็กต้องให้เงินแก่คนที่มาทำคลอด 10 บาท ซึ่งในสมัยนั้นเงิน 10 บาทถือว่าเยอะมาก (มูลนิธิกระจกเงา, 2552 อ้างใน อภิชาต ภัทรธรรม 2552, วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558) ปัจจุบันชาวลาหู่คลอดลูกที่โรงพยาบาล แต่ก็ยังคงทำพิธีให้แก่เด็กเกิดใหม่ตามวิถีความเชื่อของลาหู่แบบเดิมอยู่ตามฐานะของแต่ละครอบครัว
พิธีแต่งงาน
การเริ่มพิธีการแต่งงานโดยทางฝ่ายชายเป็นฝ่ายไปสู่ขอ การสู่ขอจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายหญิงยินยอมหรือยอมรับ หลังจากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจะนัดหมายเพื่อทำพิธีแต่งงานอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างนี้ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมข้าวของ ได้แก่ ไก่ 2 ตัว และค่าหมั้นอีก 30 บาท และต้องมีพ่อสื่อเพื่อเป็นตัวแทน พ่อ แม่ ของฝ่ายเจ้าบ่าวซึ่งต้องรับคำสั่งจากพ่อ แม่ ไปพูดคุยกับฝ่ายเจ้าสาว และฝ่ายเจ้าสาวก็มีพ่อสื่อแม่สื่อที่จะพูดคุยต่อรองเช่นเดียวกัน ในคืนที่เข้าทำพิธีแต่งงาน จะมีแก้วน้ำสำหรับใส่น้ำไว้ 1 ใบ และมีเชือกสำหรับผูกข้อมืออีก 2 เส้น จากนั้นพ่อหมอ (ปู่จารย์) ก็จะกล่าวคำอวยพรให้ทั้งสอง แล้วพ่อหมอก็เอาน้ำให้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวดื่ม แต่ต้องดื่มไม่ให้ย้อยออกจากปาก ถ้าย้อยออกจากปากเพียงหนึ่งหยดน้ำหมายถึงเด็กหนึ่งคนที่จะเสียไป ในเช้าวันรุ่งขึ้น วันนี้ต้องเป็นวันหยุดทั้งเจ้าบ่าว อันดับแรก เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องตักน้ำด้วยกัน ซึ่งการตักน้ำต้องสลับกันตัก คือ เจ้าบ่าวตักน้ำเข้าบ้านทางฝ่ายหญิง เจ้าสาวก็ตักน้ำเข้าบ้านทางฝ่ายชาย หลังจากตักน้ำเสร็จ ถ้าอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ในวันเดียวกันนั้นต้องตัดฟืน เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะพากันไปตัดฟืนคนละหนึ่งตะกร้า โดยเจ้าบ่าวก็ตัดฟืนไปให้ฝ่ายเจ้าสาว เจ้าสาวก็จะนำเอาฟืนไปให้ทางฝ่ายเจ้าบ่าวเหมือนกัน เช่นเดียวกับการตักน้ำ
แต่ถ้าอยู่คนละหมู่บ้านกัน การแต่งงานต้องไปที่หมู่บ้านฝ่ายเจ้าสาว เมื่อทำพิธีแต่งงานเสร็จ วันรุ่งขึ้นแต่เช้าก็ตื่นมาไปตักน้ำเข้าบ้านฝ่ายเจ้าสาว หลังจากทำพิธีแต่งงานแล้ว ยังจะต้องมีการกินเลี้ยงอีก ชาวลาหู่เรียกว่า “แคะจะเว” ครอบครัวที่มีฐานะดี เมื่อแต่งงานคืนนี้กินเลี้ยงวันรุ่งขึ้นก็ได้ แต่ครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีก็จะแต่งแล้วอยู่กันไป แต่ก่อนที่จะแต่งงาน พ่อแม่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวต้องบอกกล่าวว่าช่วงนี้ยังไม่มีเงินพอที่จะจัดงานเลี้ยง จึงต้องตกลงกับ พ่อ แม่ทางฝ่ายเจ้าสาวเอง โดยให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่งงานอยู่ด้วยกันไปก่อนแล้วค่อยกินเลี้ยงทีหลัง และเมื่อจะกินเลี้ยง จะมีการฆ่าหมู เนื้อหมูตรงคอจะต้องให้กับคนที่เป็นพ่อสื่อ แม่สื่อ ซึ่งพ่อสื่อ แม่สื่อนี้ ถ้าไม่ให้เนื้อหมูตรงส่วนคอวันหลังจะเกิดปัญหาจะไม่ช่วยให้ ก็เลยยกคอหมูต้องแบ่งให้เท่า ๆ กัน กับพ่อสื่อ แม่สื่อ ทั้งสองฝ่ายไป ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดกันมายาวนาน (มูลนิธิกระจกเงา, 2552 อ้างใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 132)
ประเพณีการแต่งงานของลาหู่ ไม่ทำกันอย่างใหญ่โต เมื่อชายหญิงรักใคร่ชอบพอกัน จะไปแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ หลังจากนั้นก็จะจัดการฆ่าหมูและไก่ เพื่อทำบุญเซ่นผีเรือนโดยให้ปู่จองเป็นผู้ประกอบพิธี เลี้ยงดูบรรดาผู้เฒ่าบิดามารดาทั้ง 2 ฝ่าย ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งเคียงกัน ปู่จองเอาเส้นด้ายผูกข้อมืออวยพรเป็นอันเสร็จพิธี ในวันนั้นเจ้าสาวไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ประดับประดาอาภรณ์แต่อย่างใด หลังจากนั้นฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงทำงานรับใช้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นเวลา 1-3 ปีแล้วจึงแยกไปตั้งบ้านเรือนต่างหาก
การหย่าร้าง
การหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดาของชาวลาหู่และชนกลุ่มอื่น ๆ เช่น หากพ่อแม่ผู้หญิงรู้สึกว่าลูกเขยพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็อาจจะบังคับให้ลูกสาวหย่าร้าง และให้ลูกสาวไปอยู่ที่อื่น กรณีอย่างนี้ถ้ามีสิ่งของมากเท่าไรก็จะต้องให้ทางฝ่ายผู้ชาย ส่วนผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ที่จะได้เพราะทางฝ่ายผู้หญิงเลิกเอง ถ้ากรณีนี้มีลูก ทั้งสองฝ่ายยินยอมจะหย่ากันแล้ว สิ่งของก็จะต้องแบ่งเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน ส่วนหนึ่งเพื่อลูก อีกสองส่วนเพื่อสามีและภรรยา จากนั้นต่างคนต่างไป ส่วนลูกใครจะดูแลก็ได้
การตาย
เมื่อมีคนตายในบ้าน ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะต้องนำข้าวสาร 1 ถ้วย และเทียนไข 1 เล่มไปให้ญาติผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิตต้องฆ่าไก่ 1 ตัว เพื่อทำพิธี โดยเอาปีกไก่และขาไก่เสียบไม้ และนำไปวางไว้ข้าง ๆ ศพ เชื่อกันว่าปีกไก่จะทำให้วิญญาณนั้นขึ้นไปสู่สวรรค์ ส่วนขาไก่จะทำให้วิญญาณนั้นหาอาหารกินได้ และต้องมีไม้กวาดจำลอง 3 มัดที่ทำจากหญ้าคานำไปวางตรงหัว เอว และตรงเท้าของศพ ตำแหน่งละมัดเพื่อไม่ให้ศพฟื้นขึ้นมา เพราะเชื่อกันว่าถ้าคนตายอยู่ในช่วงเกิดจันทรุปราคา ศพจะฟื้นคืนชีพจึงต้องมีไม้กวาดไว้สำหรับตีศพ นอกจากนี้ยังตัองมีไข่ไก่เพื่อใช้หาสถานที่ฝังศพในป่าช้า เชื่อกันว่า ถ้าโยนไข่ขึ้นไปแล้วตกลงมาแตกแสดงว่าศพอยากจะถูกฝังตรงนั้น แต่ถ้าโยนไข่ขึ้นไ่ปแล้วตกลงมาไม่แตก เชื่อว่าต้องหาที่ฝังใหม่่ เมื่อหาที่ฝังศพได้แล้วก็ขุดดินตรงที่ไข่แตกนั้นเอามาวางไว้ก่อน แล้วขุดหลุมให้ใหญ่ขึ้นพอที่จะฝังศพได้ นำไม้ที่ผ่าเป็นชิ้นเล็กมาเขี่ยลงในหลุมศพเพื่อไม่ให้วิญญาณของคนตายล่องลอยไปกับศพ คนที่มาร่วมพิธีฝังศพทุกคน เมื่อฝังศพเสร็จแล้ว ก็เอาก้อนดินที่ขุดไว้มาวางบนหลุม โดยวางให้ตรงกับหัวใจของศพ เมื่อฝังศพเสร็จแล้ว จะมีหมอพิธีมาทำพิธีกันวิญญาณ เพื่อไม่ให้วิญญาณออกมาจากป่าช้าได้ โดยเอาไม้ไผ่่มาปักเป็นเครื่องหมายกากบาท และทำประตูเพื่อให้คนมาร่วมงานศพกลับไปช่องประตูเท่านั้น หากคนใดที่ไม่กลับช่องประตู มีความเชื่อว่าวิิญญาณของคนคนนั้นไม่กลับมาด้วย(เช่น)กัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วชาวบ้านจะต้องเอาใบไม้กลับมาเพื่อนำมาประพรมน้ำมนต์ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เตรียมไว้ตรงทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกจึงจะเข้าหมู่บ้านได้ เมื่อเข้ามาในหมู่บ้านแล้ว จะต้องไปที่บ้านของผู้ตายก่อน แล้วถึงจะกลับไปบ้านของตนได้ หลังจากนั้นภายใน 3 คืนจะต้องมาเยี่ยมที่บ้านผู้ตาย โดยมีความเชื่อว่าจะไปรอรับวิญญาณที่ล่องลอยไปตามวิญญาณศพ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า คืนแรกนั้นวิญญาณจะกลับมาในบ้าน คืนที่สองวิญญาณจะมาถึงหัวบันไดบ้าน คืนที่สามวิญญาณจะมาอยู่นอกหมู่บ้าน และคืนที่สี่ วิญญาณจะยืนร้องไห้ที่ประตูป่าช้า อยากจะออกมาจากป่่าช้า มาใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่ก็ออกมาไม่ได้ เพราะหมอผีทำประตูผีกันไว้ เมื่อครบ 15 วันหลังการเสียชีวิต พวกพี่น้องจะต้องไปทำพิธีส่งผี โดยพาหมอพิธีและชาวบ้านไปร่วม และเอาไก่คู่หนึ่งไปทำพิธีส่งผี หมอพิธีก็จะกล่าวว่า ขอให้เป็นสุขเป็นสุข เช้าวันนี้ญาติพี่น้องก็จะอาลัย และอย่ามารบกวนญาติพี่น้อง ชาวลาหู่มีความเชื่อว่า ถ้าไม่ไปส่งผี ผีจะมารบกวนเรา เช่นฝันร้าย ฯลฯ หรือเมื่อทำไร่ทำสวนผลผลิตออก แล้วผีกลับมาเป็นในรูปแบบนก หรือแมลงมาทำลายผลผลิต จนเสียหายหมดสิ้น (มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์, 2550)
ศาสนาและความเชื่อ
ศาสนาดั้งเดิมและการผสมผสานกับศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ
ชาวลาหู่ประมาณสองในสามของประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมหรือนับถือบรรพบุรุษ ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ กลุ่มที่นับถือศาสนาดั้งเดิมเรียกตนเองว่า “แป๊ตู๊ป่า” กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์จะเรียกตนเองว่า “บูย้า” ชาวลาหู่ที่นับถือศาสนาคริสต์ จะเรียกกลุ่มตนเองว่า “เย่ซู” หรือ “เยซู” โดยชาวลาหู่พยายามปรับพิธีกรรมดั้งเดิมให้สอดคล้องสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์ทั้งหมด (สมัย สุทธิธรรม 2541 อ้างถึงใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 130)
ศึกษาประวัติคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 1970-1990 สรุปเป็น 3 ประเด็น ดังนี้(ปฏิพัทธ์ พัฒนะกายา 2534)
1. เบื้องหลังความเป็นมาของชนเผ่าลาหู่ ซึ่งมีบรรพบุรุษดั้งเดิมมาจากประเทศจีน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ลาหู่นะ (มูเซอดำ) และ ลาหู่ซี (มูเซอเหลือง) และศาสนาดั้งเดิมที่เชื่อในภูตผี วิญญาณและพระผู้เป็นเจ้า
2. การอพยพเข้าสู่ประเทศไทย และการเข้าเป็นสมาชิกของคณะกะเหรี่ยงแบ๊บติสท์ในประเทศไทยจนถึงการก่อตั้งและการดำเนินงานของคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทย
3. มูลเหตุพื้นฐานการกลับใจเชื่อในพระเยซูคริสต์ ได้แก่ ปัญหาความยากจน คำพยากรณ์ ตามศาสนาดั้งเดิมและการเปลี่ยนตามผู้นำ อิทธิพลต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อคริสตจักรลาหู่ ได้แก่ อิทธิพลจากศาสนาดั้งเดิม ข้อห้ามของคนโบราณ หลักศาสนศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง ความเป็นชนเผ่าที่มีหลายกลุ่ม และงานด้านต่างๆ ของคริสตจักรลาหู่
ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามทางวัฒนธรรม
แม้ว่าหลายชุมชนจะมีการปรับเปลี่ยนวิถีความเชื่อและการใช้ชีวิตไปจากวิถีประเพณีเดิมเป็นแบบสมัยใหม่มากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ารากฐานความคิดความเชื่อตามประเพณีเดิมก็ยังคงดำรงอยู่ ชุมชนของชาวลาหู่มีข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติที่สำคัญๆดังนี้
1. ก่อนเข้าหมู่บ้านอาจพบท่อนไม้หรือเสาไม้ที่มีเชือกผูกโยงไว้อยู่ริมทางเดินมีลักษณะที่ผ่านการประกอบพิธีไปแล้ว ไม่ควรเหยียบย่ำทำลาย
2. ในบริเวณวัดมูเซอ หรือ หอแหย่ สิ่งของที่อยู่ข้างในจะเป็นเครื่องเซ่นเทพเจ้า ห้ามแตะต้อง
3. ห้ามบุกรุกเข้าไปในศาลผีประจำหมู่บ้าน
4. ห้ามยิงปืนในหมู่บ้าน เพราะเป็นการนำความตายมาสู่ชุมชน
5. การปลูกบ้านจะไม่ให้จั่วหลังคาบ้านตรงกันอันจะเป็นสาเหตุให้สมาชิกในบ้านเจ็บป่วยได้ ฉ. ชาวล่าหู่จะไม่ให้วัวหรือม้าขึ้นบ้านเรือนหรือไก่ขึ้นไปไข่บนหลังคาบ้าน หรือมิให้สัตว์ป่าหรืองูเข้าในบ้าน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เจ้าของบ้านต้องสร้างบ้านใหม่
6. ห้ามมิให้ขึ้นบ้านผู้อื่นตามลำพัง และไม่ควรจับต้องหิ้งผีหรือห้องผีที่เป็นที่สักการะ
7. ห้ามจับต้อง “หน่อกู่มา” ที่วางหน้าห้องผี ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่ใช้ประกอบพิธีกรรม เพราะชาวลาหู่เชื่อว่าเสียงของแคนนั้นสามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้
8. ห้ามเหยียบย่ำทำลายเตาไฟ หรือแคร่เหนือเตาไฟ ซึ่งมีความผูกพันกับทุกชีวิตในครัวเรือน
9. ห้ามคู่หนุ่มสาวขึ้นไปนอนเล่นตามลำพังในบ้าน ห้ามทะเลาะในบ้านของผู้อื่น และห้ามเต้นรำบนบ้านของผู้อื่น
10. อย่าแตะต้องเครื่องป้องกันผีที่ติดไว้หน้าประตู และถ้ามีเฉลวติดอยู่ที่เชิงบันไดก็ไม่ควรเข้าไปในบ้าน
การรักษาโรค
การแพทย์พื้นบ้านนับเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของท้องถิ่นซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล เน้นความเชื่อหรือประสบการณ์เฉพาะท้องถิ่น มีการสืบทอดหลากหลายกระบวนการ ทั้งการถ่ายทอดโดยตรงระหว่างครูกับศิษย์ และการถ่ายทอดกันภายในครอบครัวจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ซึ่งยังไม่มีระบบแบบแผนการเรียนการสอนที่แน่นอน ทั้งยังมีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม (ยิ่งยง เทาประเสริฐ และธารา อ่อนชมจันทร์ 2536, มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ 2550, กัลยา พรหมวัชรานนท์, 2554)
ระบบการดูแลสุขภาพของชาวลาหู่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษและภูตผีที่ได้รับการถ่ายทอดจากชนรุ่นก่อน จึงทำให้มีระบบการดูแลสุขภาพพื้นบ้านดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ การคมนาคมและระบบสุขภาพของประเทศไทยทำให้ชาวลาหู่เข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพสมัยใหม่เช่นเดียวกัน
1. ระบบการดูแลสุขภาพเชิงพื้นบ้าน (folk health care system) การดูแลสุขภาพพื้นบ้านเป็นระบบการดูแลสุขภาพหลักของชาวลาหู่ใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพกาย จิตใจ และมิติจิตวิญญาณแก่สมาชิกของชุมชนทุกช่วงวัย ประกอบด้วย 6 ลักษณะ ได้แก่ พิธีกรรมบำบัด กัวซาบำบัด การใช้เหรียญฝรั่งประคบ การใช้สมุนไพร และการบำบัดด้วยความร้อน ดังนี้
1.1 พิธีกรรมบำบัด (ritual therapy) ชาวลาหู่เชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการทำผิดต่อภูตผีหรือบรรพบุรุษที่นับถือ ดังนั้นการรักษาโรคหรือการเจ็บป่วยจึงมีเป้าหมายเพื่อขอขมาและทำพิธีเรียกขวัญขอความคุ้มครองผู้เจ็บป่วยให้ปลอดภัย ผู้ประกอบพิธีกรรมต้องเป็น “หมอคาถา” หรือ “หมอผี” เรียกว่า “โตโบ” ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำศาสนาสูงสุดของชาวลาหู่ ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ติดต่อสื่อสารระหว่างคนกับพระเจ้า (กือซา) ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้เดียวที่สามารถสื่อสารกับภูตผีและบรรพบุรุษ โตโบเป็นผู้นำจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน สามารถบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ มีความเมตตาช่วยเหลือผู้อื่น ซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น เป็นคนที่มีจิตใจดี กายที่บริสุทธิ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและของมึนเมาทุกชนิด ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนคนในชุมชนให้เป็นคนดี รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี ตำแหน่งโตโบต้องเป็นเพศชายเท่านั้นและมีการสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิตหรือวงศาคณาญาติ ต้องเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับจารีตประเพณีเป็นอย่างดี สามารถสวดมนต์ได้ โตโบจะอ่านคาถาแล้วเป่าไปยังผู้ที่เจ็บป่วยหรือเป่าลงในน้ำแล้วให้ผู้ป่วยดื่ม เช่น รักษาอาการปวดฟันหรือก้างปลาติดคอ เรียกว่า “คาถาบำบัด (incantation therapy)” ซึ่งเป็นวิธีการรักษาวิธีแรกที่ชาวลาหู่จะเลือกใช้ก่อนวิธีอื่น ๆ หากเจ็บป่วยรุนแรง ชาวลาหู่จะทำบุญโดยการฆ่าหมูดำ ไก่ดำ แล้วทำบุญเลี้ยงอาหารคนในชุมชนเพื่อขอขมาและทำพิธีเรียกขวัญ โดยจะทำพิธีใน “หอแหย่” ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวลาหู่เปรียบเสมือนโบสถ์หรือวัดตามความเชื่อของชาวลาหู่ “หอแหย่” จะสร้างอยู่ที่สูงและใกล้ ๆ กับบ้านของ “โตโบ” หากเจ็บป่วยหลังจากการเดินทาง ชาวลาหู่จะไปทำพิธีขอขมาในสถานที่ที่ตนเองเดินทางมา เช่น หากเจ็บป่วยหลังจากการตัดต้นไม้ ก็จะกลับไปขอขมาบริเวณต้นไม้ที่ตนเองตัด สิ่งของสำคัญในหอแหย่ ได้แก่ โต๊ะบูชา หรือที่ชาวลาหู่เรียกว่า “กะปะแต” เป็นที่สำหรับเทพเจ้า “กือซา” ลงมาประทับ เป็นที่สื่อสารกับผู้นำทางศาสนาถือว่าเป็นที่สำคัญที่สุดในศาสนสถาน นกเทพเจ้าจะมี 2 ตัวคู่กันมีตัวผู้และตัวเมีย ชาวลาหู่เรียกตัวผู้ว่า “นานะบุจุแงะ” และตัวเมียเรียกว่า “นะสิจุแงะ” เชื่อกันว่านกของเทพเจ้าจะนำพาขวัญของผู้ที่เสียขวัญกลับคืนมาสู่ร่างกาย นกไม้ 2 ตัวนี้ จะอยู่คู่กับบ่อน้ำทิพย์ เรียกว่า “ลิเด่” ซึ่งผู้นำศาสนาจะคอยเติมน้ำทุก ๆ วันศีล โดยแต่ละเดือนจะมีวันศีลอยู่ 2 วัน คือ วันแรมและขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือน ชาวลาหู่จะหยุดทำงานเพื่อถือศีล มีการเตรียมจัดเครื่องบูชาเพื่อไปทำบุญที่หอแหย่และทำพิธีกรรมทางศาสนารดน้ำเพื่อล้างบาป โดยจะจัดเตรียมน้ำ เทียน เข้าไปในหอแหย่เพื่อบูชาสักการะตามความเชื่อ ตอนเย็นจะนำน้ำมาล้างมือให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนและผู้นำทางศาสนา ชาวลาหู่เชื่อว่าการรดน้ำเป็นการล้างบาปที่มือได้กระทำลงไป หลังจากนั้นตอนค่ำก็จะมีการเต้น “ปอยแตแว”หรือ “จะคึ” กันอย่างสนุกสนาน สำหรับท่าเต้น “จะคึ”ของชาวลาหู่ประยุกต์มาจากวิถีชีวิตของชนเผ่าในการประกอบอาชีพและเลียนแบบท่าทางจากสัตว์ตามธรรมชาติ เชื่อกันว่าผู้ที่เต้นมากจะได้บุญมาก
1.2 การใช้สมุนไพร (herbal therapy) เป็นวิถีการดูแลสุขภาพโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น มีสมุนไพรประจำชุมชน คือ “นาฟาเจ” หรือ “ฝาง” หากนำมาอุ่นไฟนำไปวางบนเก้าอี้แล้วนั่งทับจะช่วยขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอด หากนำลำต้นไปต้มแล้วดื่มน้ำ จะทำให้มีน้ำนมมาก จึงนิยมมาใช้ในการดูแลสตรีหลังคลอด ส่วนผลของนาฟาเจจะนำมาเคี้ยวและทาบริเวณที่มีบาดแผล เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น และใช้เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหล ชนชาติพันธุ์ลาหู่ใช้ใบของต้น “ลาจุย” เพื่อแก้อาการร้อนใน และอาการท้องเสีย และใช้ฝิ่นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยแต่ ปัจจุบันพบได้น้อยเนื่องจากฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากนี้พบว่า สตรีหลังคลอดชาติพันธุ์ลาหู่ใช้ชุมเห็ดเทศและใบชามาต้มแล้วใช้อาบทารกเพื่อป้องกันผื่นคัน และใช้น้ำเปล่าซักผ้าทารกโดยไม่ใช้สบู่หรือน้ำยาซักผ้าเพื่อป้องกันการแพ้ และระคายเคืองผิวหนังทารก
1.3 โภชนบำบัด (nutritional therapy) เป็นวิธีการดูแลตนเองโดยการเลือกรับประทานอาหารที่เชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์และงดอาหารแสลงซึ่งพบมากในสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด เช่น หญิงหลังคลอดในสัปดาห์แรกไม่รับประทาน อาหารชนิดอื่นยกเว้นเนื้อไก่และไข่เท่านั้น เนื่องจากเชื่อว่าการรับประทานอาหารประเภทอื่นจะทำให้มดลูกเข้าอู่ช้า หลังจากนั้นจะรับประทานน้ำแกงหัวปลีและดื่มน้ำต้ม “นาฟาเจ” หรือ น้ำต้มฝางเพื่อกระตุ้นน้ำนม หากรับประทานเนื้อหมูต้องรับประทานเฉพาะหมูดำ เพราะเชื่อว่าเป็นหมูสะอาด ส่วนหญิงให้นมบุตรต้องไม่รับประทานเกลือ ผงชูรสและผักใบเขียวเพราะเชื่อว่าจะทำให้ทารกอุจจาระเป็นสีเขียว ทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าทารกมีอาการถ่ายเหลวหรือไม่โดยทารกจะได้ดูดนมแม่จนกว่านมแม่จะหมดซึ่งจะใช้เวลาในการให้นมลูกประมาณ 2 ถึง 3 ปีโดยไม่ใช้นมชนิดอื่น ๆ
1.4 การใช้ความร้อน (heat therapy) ชาวลาหู่ใช้ความอบอุ่นจากเตาไฟที่อยู่กลางบ้านเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในฤดูหนาว ดื่มเครื่องดื่มร้อน เช่น น้ำชา หญิงชาวลาหู่จะนำก้อนดินผิงไฟประคบบริเวณท้อง เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน และเผานาฟาเจหรือฝางให้อุ่นแล้วนั่งทับเพื่อกระตุ้นการขับน้ำคาวปลา
1.5 กัวซาบำบัด (guaza therapy) เป็นวิธีการรักษาอาการเจ็บปวดโดยการใช้มือหยิก ดึง หรือใช้ด้ายดีดหรือใช้ของมีคม เช่น มีดปลายแหลมหรือช้อนขูดบริเวณเจ็บปวดให้เป็นห้อเลือด โดยเชื่อว่าเป็นการระบายโรคและสิ่งอัปมงคลออกจากร่างกาย รอยห้อเลือดดังกล่าวจะอยู่ประมาณ 2-3 วัน แล้วจะค่อย ๆ จางหาย นอกจากนี้บางรายทำกัวซาบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว การทำกัวซาสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน
1.6 เหรียญฝรั่งประคบ (coin therapy) เป็นการรักษาโรคโดยการนำไข่ไก่ไปต้มสุกแล้วผ่าเป็นสองซีก เอาไข่แดงออกแล้วใส่เหรียญฝรั่งหรือเหรียญที่หายากแทนที่ไข่แดง เสร็จแล้วประกบไข่ทั้งสองซีกไว้ด้วยกัน ห่อผ้าแล้วนำไปประคบบริเวณที่เจ็บปวด ชาวลาหู่เชื่อว่าเหรียญที่อยู่ในไข่จะสามารถดูดพิษหรือสิ่งชั่วร้ายที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย ภายหลังประคบเหรียญจะกลายเป็นสีดำ
2. ระบบการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์สมัยใหม่ (modern health care practice)
การพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยและการคมนาคมที่ดีขึ้นและการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ชนชาติพันธุ์ลาหู่ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้วยการแพทย์สมัยใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยชุมชนมีอาสาสมัครสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลและบุคลากรทางสุขภาพเพื่อให้บริการสุขภาพประชาชนได้ทั่วถึงตามหลักเกณฑ์ของหลักประกันสุขภาพและมีระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอหากอาการไม่ดีขึ้น ปัจจุบันสตรีตั้งครรภ์ชนชาติพันธุ์ ลาหู่มีการฝากครรภ์และคลอดในสถานบริการสุขภาพแทนการคลอดที่บ้าน เด็กเล็กได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานที่กำหนด เมื่อเจ็บป่วยจะเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลเพิ่มขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่และบุคลากรสุขภาพให้บริการสุขภาพเชิงวิชาชีพด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่เรียกว่า “หมออนามัย” เมื่อเจ็บป่วยรุนแรงจะมีระบบส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาล ในเมืองด้วยรถฉุกเฉินของหน่วยงานราชการ
เพลง
บทเพลงของชาวลาหู่นั้น ส่วนมากใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ ชูชาติ อินทพงษ์ (2552) ได้แบ่งประเภทของเพลงลาหู่ตามวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประเภท ได้แก่ เพลงสำหรับประกอบพิธีกรรม เพลงสำหรับกิจกรรมบันเทิง เพลงสำหรับเกี้ยวพาราสี ดังนี้
เพลงสำหรับประกอบพิธีกรรม
เพลงสำหรับประกอบพิธีกรรม มี 2 เพลง คือ หน่อกู่มาเมอะ และฮ้อนทูซึ
เพลง “หน่อกู่มาเมอะ” เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรม ตามความเชื่อของล่าหู่ คือใช้ในการติดต่อกับเทพเจ้า โดยเครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลง คือ “หน่อกู่มา” เป็นเครื่องดนตรีที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศประเภทลิ้นอิสระ
เพลง “ฮ้อนทูซึ” เป็นเพลงประเภทขับร้อง ใช้ขับร้องสำหรับพิธีศพ เพลงมีความหมายว่า ตายแล้วให้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ส่วนลูกหลานที่เหลืออยู่ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องมารบกวน ขอให้อยู่บนสวรรค์อย่างมีความสุข
เพลงสำหรับกิจกรรมบันเทิง มี 4 เพลง คือ โอทีม้า, เดาะจ่าง, มาแฮ่โดลี้ และ โป๊ะจ่าง ใช้สำหรับเต้นรำปีใหม่ เพลงทั้งสี่เพลงนี้เป็นเพลงบรรเลงโดยเครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงคือ “หน่อสึ” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของชาวลาหู่ เป็นเครื่องดนตรีที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศ ประเภทลิ้นอิสระ เพลงโอทีม้าเป็นบทเพลงที่ใช้ประกอบการเต้น “จะคึ”
เพลงสำหรับเกี้ยวพาราสี มี 2 เพลง คือ จินนอจอฮอ อ๊ะถ่าเมอะ และตึ่งเมอะ
เพลง “จินนอจอฮอ” เป็นเพลงประเภทขับร้อง เป็นบทเพลงขับร้องสำหรับการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว โดยเพลงชนิดนี้เป็นบทเพลงที่หนุ่มสาวแสดงความรักความคิดถึง ความหมายของเพลง พูดถึงวันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราสองคนได้มาเจอกันบนภูเขา ถ้าวันพรุ่งพี่มาใหม่แล้วไม่เจอเจ้า เจอแต่ใบไม้แล้วพี่จะทำอย่างไร คงกลุ้มใจน่าดู เสียงจั๊กจั่นร้อง ทำให้พี่คิดถึงเจ้า
เพลง “อ๊ะถ่าเมอะ” เป็นเพลงประเภทบรรเลง ใช้สำหรับการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว เครื่องดนตรีที่บรรเลง คือ อ๊ะถ่า เป็นเครื่องดนตรีที่เสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของมวลวัตถุในตัวเอง ประเภทดีด
เพลง “ตึ่งเมอะ” เป็นเพลงบรรเลง โดย “ตึ่ง” เป็นเครื่องดนตรีที่จัดอยู่ในตระกูลเครื่องสาย ประเภทพิณ ชนิดที่ใช้ดีด เครื่องดนตรีในตระกูลนี้ ผลิตเสียงโดยอาศัยการสั่นสะเทือนของสายเป็นแหล่งกำเนิดเสียง วิธีการผลิตเสียงทำได้โดยการใช้เขาสัตว์ดีดขึ้นหรือลงไปที่สายของตึ่ง มีสายจำนวน 3 สาย
นอกจากนี้ ธนพชร นุตสาระ (2560) กล่าวว่า ปราชญ์ชาวลาหู่ อธิบายถึงบทเพลงของชาวลาหู่ว่ามี 13 เพลง แต่ละเพลง มีความหมายดังนี้
1. เพลงเกี้ยวพาราสี ใช้ในการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในช่วงเทศกาลปีใหม่
2. เพลงอวยพร เป็นการอวยพรให้กันและกัน อยู่ดีมีสุข สุขภาพแข็งแรง ในช่วงปีใหม่
3. เพลงเต้นจะคึ มีความหมาย 2 แบบ คือ (1) เป็นการเต้นจะคึในพิธีกรรม และ (2) บอกเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับความรักครั้งแรก
4. เพลงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นลักษณะเพลงที่แสดงถึงความสนุกสนานที่อยู่ในลานเต้น โดยการใช้จังหวะการเต้นระหว่างหญิงและชาย ใช้ด้านข้างชนกัน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวของชาวลาหู่
5. เพลงชายหญิงเต้นกระทบด้านข้าง เป็นเพลงที่มีลักษณะการเต้นโดยการถอยหลังชนกัน ขณะที่ผู้หญิงเดินถอยหลัง ผู้ชายจะย่ำเท้าอยู่กับที่ หนุ่มสาวชาวลาหู่ถือว่าเป็นช่วงจังหวะสั้นๆ ที่สามารถได้ใกล้ชิดกัน
6. เพลงถอยหลังชนกัน เป็นเพลงที่ใช้จังหวะการเต้นโดยใช้สะโพกแนบหรือถูกันระหว่างหญิงชายในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วจะเดินต่อไปซึ่งเป็นต่างคนต่างเดิน
7. เพลงเต้นโดยใช้สะโพกระหว่างชาย-หญิง เป็นเพลงที่ใช้จังหวะการเต้นโดยใช้สะโพกแนวหรือถูกันระหว่างหญิงชายในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วจะเดินต่อไปซึ่งเป็นต่างคนต่างเดิน
8. เพลงจับมือกัน เป็นเพลงที่ใช้ในการเต้นจะคึ จะเป็นการเต้นที่มีจังหวะที่ผู้ชายและผู้หญิงจับมือกัน จังหวะเร็วขึ้น การก้าวเท้าจะยาวกว่าปกติ ซึ่งต่างคนต่างดึงมือ จะเป็นการสลับมือกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย เหมือนกับดึงไปมา การจับมือในการก้าวจะต้องก้าวไปพร้อมกัน
9. เพลงท่าตำพริกกับเกลือ เป็นการนำวิธีการตำพริกกับเกลือมาเป็นท่าเต้น ซึ่งการตำพริกกับเกลือจะใช้เท้าเหยียบกระเดื่องที่ต่อไปยังสากตำข้าว
10. เพลงท่าม้าเดิน เป็นการสร้างทำนองโดยใช้ท่าเดินของม้า จังหวะการเดินของม้าในช่วงที่ไม่ช้าไม่เร็ว ซึ่งนิสัยของม้าเมื่อเดินผ่านกันจะใช้หัวชนกันหรือดีดใส่กัน
11. เพลงท่าชนไก่ บทเพลงนี้มีสีสันมากขึ้นคล้ายกับท่าเดินของม้า
12. เพลงแม่หมูเรียกลูกหมู เป็นการสร้างจังหวะการเต้นจะคึ โดยการใช้เสียงเรียกของแม่หมูเพื่อให้ลูกหมูกลับมา
13. เพลงยินดีที่ได้รู้จัก เป็นเพลงที่แสดงถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการได้รู้จักมิตรสหาย ซึ่งเป็นวาสนาที่ได้เจอกัน รวมทั้งเป็นเพลงที่ใช้ในการโต้ตอบกันแบบด้นสด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีการสื่อสาร สื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คน นักร้องวัยหนุ่มสาวจึงมีการประพันธ์บทเพลงใหม่ๆ แล้วเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น www.youtube.com ฯลฯ โดยเฉพาะเพลงที่เกี่ยวข้องกับความรัก และพระเป็นเจ้า
Yoishi Nishimoto (2557) พบว่า เพลงแนวใหม่ๆ ซึ่งขับขานในภาษาลาหู่ด้วยท่วงทำนองเพลงตะวันตก คือสิ่งที่ค้ำจุนสนับสนุนชาวลาหู่คริสต์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมของการประกอบสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนาชาติพันธุ์ของชาวลาหู่
เครื่องดนตรี
ดนตรีมีความสำคัญต่อพิธีกรรมและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ เนื่องจากเครื่องดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพราะชาวลาหู่เชื่อว่าเสียงดนตรีนั้นจะสื่อถึงเทพเจ้าของชาวลาหู่ หากไม่มีเครื่องดนตรีก็จะไม่สามารถประกอบพิธีกรรมนั้นได้ นอกจากนี้เครื่องดนตรียังให้ความสนุกสนาน เป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาร่วมกันเต้นจะคึอีกด้วย ดังนั้น ชาวลาหู่จึงมีความสามารถในการเล่นดนตรี เครื่องดนตรีของชาวลาหู่ มี 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องเป่า เครื่องตี และเครื่องดีด ดังนี้ (องอาจ อินทนิเวศ 2557, ชูชาติ อินทพงษ์ 2550)
เครื่องเป่า
1. “หน่อกู่มา” หรือที่เรียกว่า “แคน” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ทำจากลำไม้ไผ่ ประกอบด้วยลูกน้ำเต้า กับเลาแคน 5 เลา ลิ้น และที่เป่า มี 3 คู่เสียง สำเนียงที่เป่ามีเสียงทุ้ม เครื่องดนตรีชนิดนี้สำคัญต่อชีวิตของชาวลาหู่และเป็นเครื่องดนตรีประจำเผ่า เนื่องจาก ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ ใช้เป่าประกอบการเต้นรำในโอกาสสำคัญๆ เช่น การฉลองปีใหม่ วันกินข้าวใหม่ หรือวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น ตามความเชื่อของชาวลาหู่จะไม่นำมาเป่าเล่น และไม่เป่าในตอนเช้า ก่อนออกจากบ้านไปทำงาน ซึ่งถือว่าจะโชคไม่ดี อย่างไรก็ตาม เครื่องดนตรีชนิดนี้อาจนิยมเป่ากันเป็นทีมในเวลาว่างๆ เพื่อที่จะให้รู้ว่าทีมใคร มีความสามารถมากกว่ากัน (โสฬส ศิริไสย์, 2532 อ้างถึงใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 140-141) ปัจจุบันชาวลาหู่ยังคงอนุรักษ์และหวงแหนไว้ โดยสืบทอดให้ลูกหลานเป็นผู้รักษาสืบต่อไปและห้ามให้สูญหาย (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 36)
2. “หน่อสี” (เป็นเครื่องเป่าเช่นเดียวกับ “หน่อกู่มา” ใช้บรรเลงเพื่อความบันเทิง
3. “แล้กาชุ่ย” หรือ “ขลุ่ยไม้ไผ่” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า เครื่องดนตรีประเภทนี้ทำจากไม้ไผ่ ส่วนองอาจ อินทนิเวศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอาจทำจากไม้เฮียะก็ได้ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ แบบ 1 รู, 2 รู 4 รู และ 5 รู ใช้เป่าในช่วงไปทำไร่ หรือในช่วงเดินทางไปเที่ยวตามหมู่บ้าน เช่น ไปเที่ยวสาว ฯลฯ ในขณะที่ องอาจ อินทนิเวศ กล่าวว่าใช้เป่าได้ทุกโอกาส (องอาจ อินทนิเวศ, 2557: 115)
4. “แล้ลู” หรือ “ขลุ่ยต้นข้าว” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ลักษณะการทำคล้ายกับแล้กาชุ่ย ต่างกันตรงที่วัตถุดิบ คือ แล้ลูจะใช้ต้นข้าวทำ โดยต้นข้าวจะต้องมีข้อต่อของต้นข้าวติดมาด้วย 1 ข้อ และจะต้องทำลิ้นด้วยเพื่อให้เกิดเสียง นิยมเล่นในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวเท่านั้น
5. “หน่อซื่อแหละ” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ทำจากไม้ไผ่ ประกอบด้วยน้ำเต้าทรงงาช้าง ท่อ (ไม้ไผ่) ลิ้น และขี้มิ้นหรือชันโรงสำหรับอุดรอบๆ ท่อเพื่อไม่ให้ลมหายใจออกมาด้านนอก หน่อซื่อแหละมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำเต้า ใช้เป่าในโอกาสสำคัญๆ ของชาวลาหู่ โดยเฉพาะการใช้เป่าเพื่อประกอบการเต้นจะคึ ช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังจากประกอบพิธีกรรมแล้วเสร็จ (ธนพชร นุตสาระ, 2560: 23-25)
เครื่องดีด
6. “อาถ่า” หรือ “จิ๊งหน่อง” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด ทำจากไม้ไผ่ที่ค่อนข้างแก่นำมาเหลาเซาะตรงกลางให้เป็นลิ้น ด้านหนึ่งเป็นที่มือจับ ด้านตรงข้ามเป็นบริเวณที่ใช้ดีด เวลาดีดใช้ประกบกับริมฝีปาก โดยให้กระทุ้งปากเป็นกล่องเสียง ลักษณะคล้ายจ๊องหน่องของภาคอีสาน แต่มีขนาดเล็กกว่า เสียงเบา ชาวลาหู่มักใช้ในงานรื่นเริง นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นเครื่องดนตรีแห่งความรัก และเป็นเครื่องดนตรีที่ติดตัวชายชาวล่าหู่อยู่เสมอในอดีต เนื่องจากใช้ในการเกี้ยวพาราสีหญิงสาวของฝ่ายชาย แต่ในปัจจุบันไม่นิยมนำมาติดตัวแล้ว เครื่องดนตรีชนิดนี้จะมีเฉพาะพวกชายที่มีอายุเท่านั้นที่ยังคงเก็บรักษาเอาไว้และยังสามารถบรรเลงได้อยู่ (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 42)
7. ติ่ง เป็นเครื่องดนตรีที่จัดอยู่ในตระกูลเครื่องสาย ประเภทพิณ ชนิดที่ใช้ดีด (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 36)
8. “เต่อซือโก่ย” หรือ “ซึง” หรือ “กีตาร์ลาหู่” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด ทำจากไม้เนื้อแข็งชนิดใดก็ได้ ขึงด้วยลวดหรือสายเอ็น เพื่อเป็นสายสำหรับดีด มีลักษณะคล้ายกับกีตาร์ขนาดเล็ก มีสาย 6 สาย การบรรเลงจะหงายขึ้นใช้นิ้วมือทั้งสองข้างในการดีด การบรรเลงสามารถเล่นได้ตลอดไม่เกี่ยวกับพิธี และประเพณีใดๆ (องอาจ อินทนิเวศ, 2557: 115)
เครื่องตี
9. “จะโก” หรือ “กลอง” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ทำจากไม้เนื้อแข็งคว้านกลวงภายใน ลักษณะคล้ายกลองยาว แต่มีขนาดสั้นกว่า ด้านหน้าขึงด้วยหนังวัว หรือหนังกวาง ยึดด้วยเชือก เครื่องดนตรีประเภทนี้ใช้ตีในเฉพาะพิธีกรรมเท่านั้น (องอาจ อินทนิเวศ, 2557: 115) ส่วนใหญ่จะใช้ตีช่วงปีใหม่ รองลงมาจะใช้ตีในวันศีล ซึ่งชาวลาหู่จะมีวันศีลเดือนละ 2 ครั้ง คือ ในเดือนขึ้น กับเดือนลง หรือขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำทุกเดือน
10. “โบโกโล” หรือ “ฆ้อง” ใช้เฉพาะในประเพณี เช่น ประเพณีกินวอ หรือปีใหม่ของชาวลาหู่ และฆ้องโตโบนี้ ผู้นำศาสนาในหมู่บ้านจะใช้ตีทุกครั้งที่ทำพิธีสวด (มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์, 2550)
11. “และแส่” หรือ “ฉิ่ง” ใช้เฉพาะในประเพณี เช่น ประเพณีกินวอ หรือปีใหม่ (เขาะจาเว) ของชาวลาหู่ (มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์, 2550)
เครื่องดนตรีทั้ง 2 ชนิด คือ โบโกโล และ และแส่ นี้ ชาวบ้านไม่สามารถทำขึ้นมาเองได้ ต้องไปหาซื้อมาจากที่อื่น หรือได้มาจากการ แลกเปลี่ยนสินค้ากับคนต่างถิ่น เนื่องจากชาวบ้านไม่มีวัสดุอุปกรณ์ในการทำ
บทบาทหน้าที่ของดนตรีนั้น ชาวลาหู่ใช้ดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรมและเพื่อสร้างความเพลิดเพลิน สำหรับการใช้ดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรมนั้น เช่น งานขึ้นปีใหม่ งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละพิธีกรรมจะมีบทร้องเฉพาะพิธี ในอดีตมีการตีเครื่องกระทบเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณบอกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน ส่วนการเล่นดนตรีเพื่อสร้างความเพลิดเพลินนั้นพบว่าชาวลาหู่จะเล่นดนตรีขณะเดินทางไปทำสวนไร่นา
วิธีการเผยแพร่ดนตรีของชาวลาหู่ คือ ครูพักลักจำ และมุขปาฐะ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ คือ หากผู้สอนจำทำนองเพลงไม่ถูกต้อง การถ่ายทอดทำนองเพลงอาจคลาดเคลื่อนได้ ส่วนข้อดีของวิธีการสอนแบบนี้ คือ ผู้เรียนเข้าใจสำเนียง วิธีการเล่น และเอกลักษณ์ความเป็นดนตรีลาหู่ได้อย่างรวดเร็ว
ปัญหาของการเผยแพร่ ได้แก่ ขาดผู้สนใจสืบทอดดนตรี เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ กิจกรรมยามว่างจึงเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนนอกพื้นที่ ทำให้เยาวชนขาดความใกล้ชิดและซึมซับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม อีกทั้งปัจจุบันนิยมให้เยาวชนได้รับการศึกษาในโรงเรียนไทยและโรงเรียนจีน ที่จัดการศึกษา 6 วัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการเรียน ทำให้เยาวชนต้องการพักผ่อนมากกว่าการทำกิจกรรม
กลุ่มเยาวชนชาวลาหู่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านดนตรี โดยการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และหัวหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนดนตรีให้แก่เยาวชนหลังเลิกเรียน อีกทั้งยังส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถด้านดนตรีได้มีโอกาสแสดงดนตรีในกิจกรรมต่างๆ ที่มีการเชิญบุคคลจากทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมกิจกรรม โดยมีค่าตอบแทนให้ผู้แสดง ทำให้เยาวชนสนใจและตื่นตัวในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านดนตรี
แนวทางการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาด้านดนตรีนั้น ชาวลาหู่มีการจัดโครงการส่งเสริมให้อนุรักษ์ สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมทางดนตรี โดยการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาของคริสตจักรประจำหมู่บ้าน มีการว่าจ้างผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรมมาเป็นวิทยากร ซึ่งเยาวชนสนใจมาก เนื่องจากมีรุ่นพี่ได้ไปแสดงศิลปวัฒนธรรมลาหู่ตามสถานที่ต่างๆ และมีค่าตอบแทนให้ จึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนสนใจและต้องการสืบทอดวัฒนธรรมดนตรี
การละเล่น
การละเล่นของชาวลาหู่นั้น โสฬส ศิริไสย์ (2532) กล่าวว่า การละเล่นของชาวลาหู่มีอย่างหลากหลายเช่นกัน ชาวลาหู่นิยมเล่นการละเล่นต่างๆ ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ การละเล่นในเวลาว่าง และการละเล่นในพิธีกรรม
การละเล่นในเวลาว่าง
เมื่อมีเวลาว่าง ชาวลาหู่จะมีการละเล่นชนิดหนึ่งเป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาดัดแปลง นั่นคือ การนำใบไม้มาดัดแปลงเป็นเครื่องดนตรี โดยการเป่าใบไม้นั้นให้เป็นเสียงดนตรี หรือเป่าให้เป็นเพลงต่างๆ ชาวลาหู่อาจเป่าในระหว่างทางไปไร่ เป่าในเวลาว่าง หรือเป่าเพื่อจีบสาวก็ได้
การละเล่นในพิธีกรรม
“การเต้นจะคึ” หรือที่เรียกว่า “ปอย เต เว” การละเล่นประเภทนี้เป็นการเต้นเป็นจังหวะ ตามเสียงกลอง (เจะโข่) ฉิ่งฉาบ (แซ) และฆ้อง (โบโลโก่) โดยจะมีท่าทางประกอบหลากหลายท่าอย่างพร้อมเพรียงกัน เช่น ท่าเกี่ยวข้าว ท่าตักข้าว และ ท่าตีข้าว เป็นต้น การเต้นจะคึจะมีอีกหลากหลายท่า คือ ท่าสวัสดี ท่าขอบคุณ และยินดีต้อนรับ ก็จะมี อยู่ในตัว ท่าสวัสดี และยินดีต้อนรับ นั้นจะอยู่ในจังหวะเดียวกันจะเต้นในช่วงที่มีงานประเพณีปีใหม่ เพื่อเฉลิมฉลอง ต้อนรับ และขอบคุณแขกที่มาร่วมในงานพิธีกรรม ซึ่งอาจมาจากต่างหมู่บ้าน หรือต่างท้องถิ่น ที่มาเที่ยว
ส่วน “ก่า เคอะ เว” เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานอีกแบบหนึ่ง โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้ คือ แคน ผู้ที่มีความชำนาญในการเป่าแคน จะเป็นผู้เป่าแล้วเต้น เฉลิมฉลองในงานประเพณีปีใหม่ให้กื่อซาทราบว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวลาหู่จะเฉลิมฉลองให้กับท่าน และขอให้ท่านอวยพร ให้แก่คนในชุมชนด้วย
การเล่นลูกข่าง หรือที่เรียกว่า “ค่อซือ” การละเล่นประเภทนี้ชาวลาหู่นิยมเล่นกันในช่วงปีใหม่ (กินวอ) โดยลูกข่างนั้นทำจากไม้เนื้อแข็ง วิธีการเล่น คือการทำเชือกสำหรับเหวี่ยงลูกข่าง แล้วมัดกับด้ามไม้ เมื่อเสร็จก็พันลูกข่างแล้วโยนไปยังเป้าหมาย แล้วดึงเชือกคืนอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ลูกข่างหมุน และถ้าลูกข่างของผู้ใดไปโดนลูกข่างของคู่ต่อสู้ ถือว่าลูกข่างของผู้นั้นเป็นฝ่ายชนะ
การโยนผ้า หรือที่เรียกว่า “แข่ปุกสื่อบ่าดะเว” เป็นการละเล่นชนิดหนึ่งที่ชายหนุ่ม หญิงสาวนิยมเล่นกันมากในช่วงปีใหม่ (กินวอ) วิธีการเล่นก็จะมีการแบ่งฝ่ายเป็น 2 ฝ่าย ชายหนุ่มก็จะอยู่ฝ่ายหนึ่ง และหญิงสาว ก็จะอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง มีกติกาว่าถ้าหนุ่มๆ โยนผ้าให้ฝ่ายหญิงสาว แล้วหญิงสาว รับไม่ได้และรับไม่ทันทำให้ตกสู่พื้น 3 ครั้ง แล้วแต่จะตั้งกติกากี่ครั้ง จะมีการยึดสิ่งของต่างๆ เช่น สร้อย นาฬิกา ข้อมือ ฯลฯ จากฝ่ายที่แพ้มา แต่ก็จะคืนให้กันหลังจากเสร็จการกินวอกัน (โสฬส ศิริไสย์, 2532 อ้างถึงใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 140-141)
ตำนานการกำเนิดของลาหู่
ชาวลาหู่มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับการกำเนิดของชาวลาหู่ว่า ลาหู่มีต้นกำเนิดมาจากบิดามารดา ซึ่งเป็น “ผีฟ้า” หรือ “กื่อซา” สร้างขึ้น กื่อซาหรือผีฟ้าเป็นเทพเจ้าของลาหู่ เป็นผู้สร้างโลก ดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดจนพืชและสัตว์ต่าง ๆ
ตำนานกล่าวว่า กื่อซาหรือผีฝ้าได้สร้างมนุษย์ผู้ชายขึ้นมาก่อน ซึ่งมีรูปร่างคล้ายลิง แล้วสร้างมนุษย์ผู้หญิงซึ่งมีรูปร่างคล้ายนางเงือกขึ้นมาทีหลัง ต่อมาทั้งสองได้รักใคร่เป็นคู่สามีภรรยากัน เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลก คนทั้งสองจึงเข้าไปอาศัยอยู่ในน้ำเต้ายักษ์จนรอดชีวิตมาได้และคลอดบุตรออกมามีจำนวนถึง 100 คน เป็นชาย 50 คน และหญิง 50 คน เมื่อน้ำแห้งลงลูกน้ำเต้ายักษ์ได้ลอยไปติดอยู่บนยอดเขาหิมาลัย ผู้คน 100 คนพากันออกมาจากน้ำเต้ายักษ์ จับคู่และแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ เป็นต้นตระกูลของมนุษย์ต่อมา
สำหรับพี่ชายและพี่สาวคนโตนั้น ลาหู่เชื่อว่าเป็นต้นตระกูลของตนเพราะเป็นผู้ที่อยู่บนภูเขาสูงดูแลพ่อแม่ที่ชรา ด้วยเหตุนี้ชาวลาหู่จึงรู้สึกผูกพันและชอบอาศัยอยู่บนเขาสูง ครั้นมีผู้คนมากขึ้น ลาหู่จึงได้อพยพลงมาอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลยูนนาน บริเวณดินแดนทิเบตแตกออกเป็นหลายสาขาหลายตระกูล บางพวกก็ลงมาทางใต้แล้วตั้งอาณาจักรตนเองขึ้นและเรียกตัวเองว่า “ล่าหู่” กล่าวกันว่าล่าหู่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศทิเบตหรือบริเวณใกล้เคียงแถบนั้น มีเมืองหลวงชื่อว่า “ลิเคียงกาซี” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ราบสูงทิเบต จีนเรียกดินแดนในแถบนี้ว่า “ดินแดนแห่งสิบแปดหัวหน้าเผ่า”
ในระหว่างศตวรรษที่ 17-18 ชาวลาหู่ได้ถูกจีนรุกราน ใช้กำลังกดขี่จำต้องอพยพลงมาทางใต้ และสามารถสร้างอาณาจักรลาหู่อิสระขึ้น ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในเขตแดนระหว่างจีนกับพม่า บริเวณรัฐว้ากับรัฐซูเมา โดยมีผู้นำทางศาสนาปกครองมาถึง 36 คน แต่ในบางครั้งลาหู่ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพม่าบ้าง ในปีพุทธศักราช 2433 ลาหู่ได้ถูกจีนรุกรานและขับไล่อีกจนต้องถอยร่นหนีลงมาทางใต้และเข้าไปอยู่ในเขตพม่าบ้างเขตลาวบ้าง ซึ่งขณะนั้นพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปแล้ว ลาหู่มีเชื้อสายทิเบต-พม่าหรือเป็นเชื้อสายมาจากพวกโลโลซึ่งชาวจีนเรียกว่าล่าหู่ อันมีความหมายว่า “สถานที่แบ่งเนื้อเสือ”การอพยพเข้าสู่เขตประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 70-75 ปีมานี้ เนื่องจากพม่าเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น การอพยพครั้งนั้นส่วนใหญ่มาจากเชียงตุงในรัฐไทยใหญ่ของพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาสูงตามแนวพรมแดน ไทย-พม่า ต่อมามีพวกมิชชันนารีหลายกลุ่มได้เดินทางมาพบชาวลาหู่และพยายามชักจูงให้หันมานับถือคริสต์ศาสนาได้เป็นผลสำเร็จ จึงทำให้ลาหู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เป็นต้นมา. (สมัย สุทธิธรรม, 2542)
ตำนานเกี่ยวกับประวัติของลาหู่
เดิมมีผู้ใหญ่บ้านชื่อ “จ่านู” ปกครองหมู่บ้านลาหู่ซึ่งขณะนั้นมีเพียงหมู่บ้านเดียว โดยตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของผู้ใหญ่บ้าน โดยมีพระผู้สร้างฟ้า สวรรค์และโลกคือ “แตวาล้า” ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนและมีพระดำรัสแก่จ่านูเป็นประจำ แต่จ่านูมักฝ่าฝืนคำสั่งเสมอทำให้ แตวาล้าโกรธ เพื่อเป็นการลงโทษจึงได้สร้างดวงอาทิตย์เพิ่มอีก 1 ดวงทำให้โลกร้อน แต่จ่านูไม่กลับใจและเอากระทะ 2 ใบทำเป็นหมวกแล้วออกไปไถนา ต่อมาแตวาล้าสร้างดวงอาทิตย์เพิ่มเป็น 3 ดวง จ่านูก็นำกระทะ 3 ใบมาเป็นหมวกแล้วไปไถนาต่อ จนในที่สุดแตวาล้าสร้างดวงอาทิตย์ถึง 7 ดวง ความร้อนทำให้หมวกกระทะ 7 ใบของจ่านูละลายเป็นน้ำ จ่านูจึงนำชาวบ้านไปอยู่ในอุโมงค์เพื่อหนีความร้อนและออกมาไถนาตอนกลางคืน โดยใช้ไม้สนมัดกับเขาควาย ทำให้เขาควายมีรอยหยักคล้ายเชือกมัดจนถึงปัจจุบัน
แต่ความร้อนทำให้น้ำบนโลกแห้ง จ่านูจึงให้น้องชายภรรยาและน้องสาวไปขออภัยโทษและขอฝนจากแตวาล้า โดยสัญญาว่าจะเชื่อฟังและปฎิบัติตามคำสั่งของพระองค์ตลอดไป แตวาล้าจึงเทน้ำใส่กระจาดและฝัดน้ำในกระจาด โดยการฝัด 1 ครั้ง จะทำให้ฝนตก 4 วัน น้องชายภรรยาและน้องสาวของจ่านูจึงขอให้แตวาล้าฝัดกระจาด 4 ครั้งทำให้ฝนตก 16 วัน เมื่อกลับไปถึงหมู่บ้านพบว่าชาวบ้านถูกน้ำท่วมตายหมด น้องชายภรรยาของจ่านูจึงบอกว่าถึงแม้ทั้ง 2 คนเป็นญาติกันแต่ตอนนี้ต้องแต่งงานกันเพื่อสืบสายพันธุ์มนุษย์ แต่น้องสาวของจ่านูคัดค้านเนื่องจากผิดประเพณี น้องชายภรรยาของจ่านูจึงหาวิธีแสดงว่าการที่จะแต่งงานกันไม่ผิด โดยพบหินโม่แป้งแตกเป็น 2 ส่วน จึงสัญญากันว่า ฝ่ายชายจะกลิ้งหินโม่แป้งส่วนบนลงจากภูเขาทางทิศตะวันออก ฝ่ายหญิงจะกลิ้งหินโม่แป้งส่วนล่าง ลงจากภูเขาทางทิศตะวันตก ถ้าหินโม่แป้งไปประกบกัน ณ ที่ซึ่งแม่น้ำสายตะวันออกและแม่น้ำสายตะวันตกมาบรรจบกัน ทั้ง 2 ก็จะแต่งงานกันได้ เมื่อทั้ง 2 กลิ้งหินแล้วตามไปดูพบว่าหินทั้ง 2 ส่วนประกบกันได้เหมือนเดิมจึงแต่งงานกัน
ต่อมานางตั้งครรภ์เป็นเวลาเกือบ 7 ปี แตวาล้าได้ลงมาเยี่ยม แล้วตรัสว่า นางจะให้กำเนิดแน่นอน และเมื่อคลอดออกมาก็ให้เลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุด เมื่อครบ 7 ปี นางคลอดลูกออกมาเป็นน้ำเต้าทำให้ทั้ง 2 เสียใจมากจึงเอาไปซ่อนไว้ในพงหญ้า ในวันเดียวกันแตวาล้าได้มาเยี่ยมอีกแล้วสอบถาม เมื่อทราบว่าทั้ง 2 เอาน้ำเต้าไปซ่อนจึงตรัสว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี ให้นำน้ำเต้ามาและบอกว่าภายในมีทารกอยู่มากมาย ให้สามีภรรยาฟังเสียงทารกในน้ำเต้า จากนั้นจึงใช้ถ่านขีดเป็นเส้นด้านหัวของน้ำเต้า และเรียกให้สัตว์ป่าทั้งหลายมาเจาะรูน้ำเต้าตรงที่ทำเครื่องหมายไว้ จากนั้นตรัสว่าถ้าใครเจาะรูน้ำเต้านี้ได้จะให้พรพิเศษจะได้อยู่สุขสบายไม่อดอยาก หรือดิ้นรนหากิน นกเขาและนกกระจาบลองอาสาแต่ทำไม่สำเร็จ แตวาล้าจึงให้นกเขาที่มีความพยายามแต่ไม่สำเร็จไปเก็บข้าวหล่นตามปลายไร่นา และนกกระจาบที่เจาะจนปากเปื่อยไปกินรวงข้าวอ่อนตามไร่นา สุดท้ายหนูจึงเจาะได้ จึงได้อยู่กินในบ้านและยุ้งฉาง ปรากฏว่าในน้ำเต้ามีผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ ถึง 120 เผ่าพันธุ์ แตวาล้าจึงให้ไปจับจองที่ดิน โดยใช้ก้อนหินฝังเป็นอาณาเขต
ส่วนลาหู่ใช้หญ้าคามัดเป็นกระจุกส่วนบนแล้ววางเป็นจุด ๆ จากนั้นแตวาล้าจึงตรวจดูอาณาเขตของแต่ละเผ่า โดยเผาป่าก่อนเพื่อความสะดวก ทำให้สัญลักษณ์การแบ่งอาณาเขตของลาหู่ถูกไฟเผาหมด ลาหู่จึงเชื่อว่าทำให้ลาหู่ไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง ต้องไปอาศัยอยู่กับเผ่าอื่น เมื่อแต่ละเผ่าได้อาณาเขตที่ดินแล้วแตวาล้าให้ตัวแทนของแต่ละเผ่าเลือกเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อประกอบอาชีพโดยให้โอกาสลาหู่เลือกก่อน โดยตัวแทนลาหู่ได้เลือกขวานด้ามทอง ด้วยเหตุนี้ลาหู่จึงเชื่อว่า การใช้ขวานล้มต้นไม้ ถางป่า ปลูกพืชเป็นอาชีพหลักของบรรพบุรุษ ลูกหลานส่วนใหญ่ก็ดำรงชีพตามอาชีพของบรรพบุรุษ
ตำนานเกี่ยวกับภาษา
พระผู้สร้างฟ้า สวรรค์และโลกโปรดปรานลาหู่มากเพราะลาหู่ยึดมั่นในพันธะสัญญาจึงประทานอักษรเขียนให้บนแผ่นข้าวปุก (อาหารพื้นบ้านของลาหู่) โดยลาหู่จะนำติดตัวไปตลอด วันหนึ่งเมื่ออดอยากไม่มีอาหารจึงปรึกษากันว่าจะนำข้าวปุกที่บันทึกอักษรมากิน เพราะหนังสือไม่สำคัญสามารถจดจำได้ ด้วยเหตุนี้ลาหู่จึงไม่มีตัวอักษรใช้ (ปฏิพัทธ์ พัฒนะกายา, 2534: 4-7)
สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง
ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวลาหู่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งจากนโยบายรัฐในด้านต่างๆ เช่น
นโยบายเรื่องการจำกัดที่ดินทำกินบนพื้นที่สูง ส่งผลให้การทำการเกษตรในชุมชนแบบที่เคยทำกันมามีข้อจำกัด ทำให้เกิดการย้ายถิ่นจากชุมชนบนพื้นที่สูงเข้ามาทำงานรับจ้างหรืองานอิสระในเมืองมากขึ้น
การสูญเสียพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้ชาวลาหู่บางหมู่บ้านในจังหวัดเชียงรายไม่สามารถปลูกพืชไร่รวมทั้งข้าวไร่ได้อีกต่อไป เพราะพื้นที่เหล่านี้ถูกยึดไปเป็นพื้นที่ปลูกป่าแทบทั้งหมด ชาวบ้านต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งของใช้ที่จำเป็นเหล่านี้ เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ นั่นคือออกไปเป็นลูกจ้างในโครงการหลวงต่างๆ มากขึ้น ซึ่งทีแรก ชาวบ้านยังไม่คุ้นเคยกับระบบการรับจ้างในลักษณะนี้เท่าใดนัก นอกจากการสูญเสียพื้นที่ทำกินดังกล่าว ชาวบ้านยังมีความรู้สึกว่าพวกเขาสูญเสียวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมานานหลายช่วงอายุคนไป เช่น วัฒนธรรมการมอบพืชผลไม้ใหม่ให้แก่ครอบครัวที่พวกเขาเคารพนับถือ เช่น ลูกๆ เมื่อแยกครัวเรือนออกไปแล้วและมีไร่ของตนเอง โดยทั่วไปพวกเขาจะปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ ตลอดจนข้าวไร่ เมื่อพืชผักเหล่านั้นสุกและกินได้แล้ว ก่อนที่พวกเขาและเด็กๆ ในครอบครัวจะเก็บมากิน พวกเขาจะต้องนำไปให้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้ใหญ่ที่พวกเขาเคารพนับถือก่อน เพื่อเป็นการแสดงถึงการให้เกียรติและไม่ลืมบุญคุณของพวกเขาที่มีให้มาตลอด หากครอบครัวใดได้มอบให้ผู้ใหญ่ แต่นำมากินเองก่อน ชาวบ้านเชื่อว่าจะทำให้เป็นโรคคอพอก ฉะนั้น ชาวลาหู่มีความคิดว่าผู้ที่เป็นโรคคอพอกคือผู้ที่ไม่รู้จักเคารพผู้ใหญ่และไม่รู้จักมอบพืชผลใหม่แก่ผู้ใหญ่ก่อนที่พวกเขาจะกิน (ชลดา มนตรีวัต, 2541: 46)
นโยบายด้านการศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษาในชุมชนบนพื้นที่สูงมีข้อจำกัดและไม่ทั่วถึง ทั้งด้านบุคลากรครูผู้สอน เทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน ความสะดวกในการเดินทางไปเรียนของเด็กนักเรียนและครู ทำให้ครอบครัวชาวลาหู่จำนวนหนึ่งอพยพเข้าสู่เขตเมืองเพื่อประกอบอาชีพอื่นๆ หารายได้และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุตรหลานในระดับที่สูงขึ้น ระบบการศึกษา มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาคนทั้งด้านความรู้ จิตวิญญาณคุณธรรมจริยธรรม กายภาพ และด้านสังคม ปัจจุบันระบบการศึกษาตามหลักสูตรมาตรฐานจากส่วนกลางมีการยึดโยงด้วยวัฒนธรรม และค่านิยมของคนท้องถิ่นน้อยมาก ความรู้ที่ได้รับภายในชุมชนกับความรู้ภายนอกชุมชนเป็นคนละชุดความคิด มีความแตกต่างและหักล้างกันอย่างสิ้นเชิงทำให้เยาวชนไม่สามารถผูกโยงเข้ากับบริบทเดิมของตนเองได้ และเสื่อมศรัทธาต่อความเชื่อดั้งเดิมในวัฒนธรรม ค่านิยม และจิตวิญญาณของชาวลาหู่
นโยบายด้านการสาธารณสุข เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแทบทุกด้าน รวมถึงด้านสาธารณสุข การกระจายตัวที่เพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลและสถานีอนามัย รวมถึงค่านิยมการใช้ยาแผนปัจจุบันของคนไข้ที่เข้ารับการรักษา เดิมชาวลาหู่ไม่ได้ใช้บริการจากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล แต่ดูแลสุขภาพตนเองตามภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา ทั้งการใช้สมุนไพรและพิธีกรรมตามความเชื่อของลาหู่ แต่เมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น มีสถานีอนามัยใกล้บ้าน การดูแลรักษาสุขภาพก็ปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากลาหู่มักซื้อยาจากร้านในเมือง หรือจากคนเร่ขายยา ทั้งยังเรียนรู้การฉีดยา ให้น้ำเกลือทำให้พบเห็นลาหู่ใช้ยามากเกินจำเป็น ผู้ป่วยบางรายดูแลสุขภาพด้วยตนเองในระดับหนึ่งก่อนมารักษากับสถานีอนามัย บางรายเมื่อมารับบริการแล้วก็อาจไปโรงพยาบาล หรือพึ่งพาหมอพื้นบ้านในหมู่บ้านหรือจากหมู่บ้านใกล้เคียง แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านลาหู่มีทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองหลากหลายขึ้น นอกจากนี้การแพทย์แผนปัจจุบันหรือบริการของรัฐ ก็ยังเข้ามามีบทบาทต่อแพทย์พื้นบ้าน ทำให้เกิดการรักษาแบบผสมผสานหรือพหุลักษณ์ เป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพตนเอง อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่ารัฐยังสนใจภูมิปัญญาทางเลือกพื้นบ้านค่อนข้างน้อย ทั้งยังมองข้ามศักยภาพในการพัฒนาสุขภาพของท้องถิ่นคือ ยังเป็นการกำหนดและหยิบยื่นจากรัฐส่งให้กับท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการ ไม่สอดรับกับบริบทแวดล้อมของท้องถิ่น (ยิ่งยง เทาประเสริฐ และธารา อ่อนชมจันทร์, 2536)
ส่วนปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อระบบวัฒนธรรมลาหู่ดั้งเดิม ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชน
ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมภายในชุมชนลาหู่ ปัจจุบัน พื้นที่ทำกินของชาวลาหู่บางหมู่บ้านถูกนายทุนซื้อไปเกือบหมด นอกจากนั้น ยังมีการกู้ยืมเงินที่เพิ่มขึ้น การรับจ้างบนที่ดินของนายทุน แต่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ชาวลาหู่รุ่นใหม่เห็นความสำคัญของ “มูลค่า” ของวัตถุมากกว่า “คุณค่า” ทางวัฒนธรรมลาหู่ดั้งเดิม
ระบบการปกครองจากส่วนกลาง ระบบการปกครองสมัยใหม่ มีความเป็นราชการจึงเป็นระบบที่มีกฎหมายรองรับและมีการบังคับใช้ มีผลกระทบอย่างมากต่อระบบการปกครองดั้งเดิมของชุมชนลาหู่ ตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการ ทำให้มีผู้นำในหมู่บ้านทั้งทางราชการและตามวัฒนธรรม บางหมู่บ้านโครงสร้างที่เป็นทางราชการจะมีอำนาจเหนือกว่าโครงสร้างแบบดั้งเดิม และพยายามทำให้โครงสร้างตามจารีตประเพณีเดิมค่อยๆ หายไป
ศาสนาและความเชื่อ ชาวลาหู่จำนวนไม่น้อยมีการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา บางกลุ่มไม่ค่อยเคร่งครัดต่อการปฏิบัติศาสนพิธี การเปลี่ยนแปลงศาสนาจึงเปรียบเสมือนการเปลี่ยนแปลงความเชื่อถือศรัทธาทั้งระบบ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยม พิธีกรรม จารีต และวิถีปฏิบัติต่างๆ ของคนลาหู่
ขณะที่ปัจจัยภายในที่มีผลต่อระบบวัฒนธรรมลาหู่ดั้งเดิมได้แก่ ผู้นำ ชุมชน ความขัดแย้งภายในชุมชน ความรู้สึกผูกพันต่อชุมชน และความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
ผู้นำ ชุมชน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความอยู่รอดของวัฒนธรรมลาหู่ เพราะผู้นำเป็นผู้มีบทบาทในการนำชักจูง และสร้างคุณค่า/ความหมายของวัฒนธรรมชุมชนให้คนในชุมชนได้รับรู้และตระหนักถึง รวมทั้งเสริมสร้างความรู้สึกผูกพันต่อชุมชน และความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอีกด้วย
ความเชื่อ/พิธีกรรมบางประการที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมสมัยใหม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของวัฒนธรรมลาหู่ เพราะอาจเป็นสาเหตุของความเสื่อมศรัทธา และความน่าเชื่อถือในแก่นคำสอนทางศาสนา และวัฒนธรรมล่าหู่ดั้งเดิมทั้งหมด
ความรู้สึกผูกพันต่อชุมชนและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อความรักในชุมชน บ้านเกิด วัฒนธรรมลาหู่ และคนในชุมชนถือเป็น “ทุนทางสังคม” ที่ดีของชาวลาหู่ แต่หากเกิดความขัดแย้งขึ้นจะทำ ให้กลไกกระบวนสร้างวัฒนธรรมชุมชนเกิดความอ่อนแอลงได้ (ธีรพงษ์ บุญรักษา และชูศักดิ์ สุวิมลเสถียร, 2559: 108-110)
การรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายในปัจจุบัน
นอกจากชาวลาหู่จะมีการรวมกลุ่มกันในทางระบบเครือญาติและการรวมกลุ่มกันประกอบพิธีกรรมตามประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมแล้ว ก็ยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร หรือสมาคมเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสังคมของชาวลาหู่ในด้านต่าง ๆ ดังองค์กรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
สมาคมลาหู่ในประเทศไทย
สมาคมลาหู่ในประเทศไทยได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม2562 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 79 ง หน้า 185 โดยมีวัตถุประสงค์ของสมาคม คือ เพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์และส่งเสริมความสามัคคีของชนเผ่าลาหู่ในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการศึกษา อาชีพ การท่องเที่ยว และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมด้านสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาพ และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และเพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมชนเผ่าลาหู่
สำนักงานใหญ่ของสมาคม ตั้งอยู่ เลขที่ 37 หมู่ที่ 9 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 57110 และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เลขที่ 289 หมู่ 8 ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
ข้อมูลในเว็บไซต์สมาคมลาหู่ในประเทศไทย (www.lahu-th.com) ระบุว่าสมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมลาหู่ในประเทศไทย” ชื่อย่อว่า “ สลห.ท.” และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า LAHU ASSOCIATION THAILAND ชื่อย่อว่า “LHAT” เครื่องหมายสมาคมมีลักษณะเป็นรูปน้ำเต้าในน้ำเต้ามีคนลาหู่อยู่สองคน ผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 1คน มีความหมายว่า ตำนานของชนเผ่าลาหู่ หญิงชาย คู่หนึ่ง ออกมาจากน้ำเต้า
มูลนิธิโตโบลาหู่เอเชีย (TOBO LAHU ASIA FOUNDATION)
มูลนิธิโตโบลาหู่เอเชีย ได้รับการประกาศจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137 ตอนที่ 27 ง หน้า 95 โดยมีวัตถุประสงค์คือ
1. เพื่อจัดสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน บุรุษและสตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนผู้พิการให้เข้าถึงหรือได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาอาชีพและพัฒนาทักษะชีวิตที่เหมาะสมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2. เพื่อจัดสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กฎจารีประเพณีทางวัฒนธรรมของชนชาติพันธุ์หรือชนเผ่าลาหู่สายดั้งเดิมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคคลทั่วไปตลอดจนกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่น ๆ
3. เพื่อจัดสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้กฎจารีตประเพณีทางวัฒนธรรม ตลอดจนแนวทางการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมในคุณลักษณะชนชาติพันธุ์ลาหู่สายดั้งเดิมและจัดทำเป็นหนังสือ คำสอนในการถ่ายทอดและสืบสานแก่ชนรุ่นหลังของชนชาติพันธุ์หรือชนเผ่าลาหู่ต่อไป
4. เพื่อจัดสนับสนุนและส่งเสริมให้ชนชาติพันธุ์หรือชนเผ่าลาหู่สายดั้งเดิม เกิดความรักความสามัคคี และเกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในสังคมอย่างเป็นเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน
5. เพื่อเป็นองค์กรกลางในการสานสัมพันธ์ที่ดีงาม โดยใช้อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ลาหู่ในประเทศไทยตลอดจนถึงทวีปเอเซีย
6. เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศล และองค์การสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์
7. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่จัดให้มีการเล่นการพนันทุกประเภท
สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ เลขที่ 6 หมู่ที่ 13 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 50170
วิสัยทัศน์ของมูลนิธิ คือ สืบค้นตัวตน เชื่อมโยงเอเชีย สร้างองค์ความรู้ใหม่ ส่งต่อลูกหลาน
พื้นที่ต้นแบบในการจัดการชุมชน
ด้านการท่องเที่ยวชุมชน
ชุมชนลาหู่บ้านจะบูสีกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ชุมชนบ้านจะบูสีตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นชุมชนลาหู่แดง ที่รักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี ชาวจะบูสีมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ดูงานให้กับชุมชนอื่น ๆ พร้อมกันนั้นก็ยังเป็นกรณีตัวอย่างของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมโครงการป่าชุมชน ซึ่งอนุมัติโดยอธิบดีกรมป่าไม้ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประเด็นเรื่องคนอยู่กับป่า และเผยแพร่วิถีชีวิตชนเผ่า ให้คนภายนอกรับรู้และมีทัศนคติที่ถูกต้องและยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมืองไทย ในอีกด้านหนึ่งการท่องเที่ยวก็เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนในชุมชน พัฒนาทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม การกล้าแสดงออก และการติดต่อประสานงานกับภายนอกชุมชนได้เรียนรู้ วิเคราะห์ศักยภาพตนเอง พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับจุดเด่น พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งด้านอื่น ๆ เช่น ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดต่อประสานงาน การประชาสัมพันธ์ และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีความสามารถในการติดต่อเจรจาต่อรองกับหน่วยงานอื่น ๆ
กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน
1. กิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน เรียนรู้การดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ชมวิถีชีวิตการทำงานเก็บผลผลิตในไร่ เช่น เก็บข้าวโพด แตงกวา ฟักทอง ให้อาหารหมู อาหารไก่ ตัดฟืน ตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง การทำไร่ ปลูกข้าวและข้าวโพด ชมความงามของหมู่บ้าน ที่มีความสวยงามสะอาดและอยู่อย่างพอเพียง การสร้างบ้านแบบดั้งเดิมจากไม้ไผ่และหญ้าคา ชมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เช่น การทำพิธีกรรมต่าง ๆ ที่บ้านโตโบ (ผู้นำทางศาสนา) การชมวัฒนธรรมในรอบปี ภูมิปัญญาต่าง ๆ การทำอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำกล้องยาสูบ การทำไม้กวาดก๋ง การทำหน้าไม้ การสานเสื่อ เย็บผ้า หายาสมุนไพร ตีมีด ทำเครื่องดนตรีชนเผ่า เช่น แคนลาหู่ ซึง ขลุ่ยแบบไม่มีลิ้น และการใช้ใบไม้เป็นเครื่องดนตรี เป็นต้น
2. กิจกรรมการเที่ยวชมธรรมชาติ น้ำตก ป่าไม้ เก็บผัก หาปู หาปลา และของป่าตามธรรมชาติ น้ำตกแม่กิ๊ก เป็นต้นน้ำแม่จัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ทำให้เกิดความร่มเย็น มีความเชื่อกันว่าเป็นแหล่งน้ำที่มีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ต้นกิ๊ก ที่ชาวลาหู่เชื่อว่าเป็นไม้มงคลต่อชีวิต
3. กิจกรรมสอนการทำงานหัตถกรรม การจักสาน เช่น สุ่ม ก๋วย กระด้ง เสื่อ ตะกร้า กับดักสัตว์ เช่น ที่ดักปลา ที่ดักนก การทอผ้า การทอสายกระเป๋า การเย็บผ้า ผ้าถุง เสื้อ หมวก
ปฏิทินการท่องเที่ยวบ้านจะบูสี
มกราคม เทศกาลปีใหม่ลาหู่
กุมภาพันธ์ เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
มีนาคม ถางไร่
เมษายน วันศีลพิธีก่อทรายล้างบาป
พฤษภาคม ทำศาลาหมู่บ้าน เริ่มปลูกข้าวโพด
มิถุนายน ปลูกข้าวไร่
กรกฎาคม วันศีลถวายข้าวโพด
สิงหาคม ถอนหญ้า ข้าวไร่
กันยายน เก็บเกี่ยวข้าวโพด
ตุลาคม วันศีลถวายข้าวไร่ พืชพันธุ์ต่าง ๆ พิธีกินข้าวใหม่
พฤศจิกายน เก็บเกี่ยวข้าวไร่
ธันวาคม ตีข้าว
ด้านการอนุรักษ์ป่าและด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม
ชุมชนลาหู่บ้านป่ายางและบ้านยะโป๋กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านป่ายาง และบ้านยะโป๋อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพื้นที่สูงที่มีลักษณะภูเขา สภาพป่ามีลักษณะหลายรูปแบบรวมกัน คือ มีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าสนเขา และมีไม้ที่สำคัญ คือ ไม้สัก แดง ประดู่ เต็ง รัง พลวง ก่อ สน รัก โดยในบริเวณบ้านป่ายางมีต้นยางเป็นไม้ที่พบเห็นได้มากที่สุดเป็นอันดับแรก
การใช้ทรัพยากรป่าไม้ จะแยกเป็นสองส่วนหลัก ๆ กล่าวคือ ส่วนแรก เป็นการใช้ไม้เพื่อสร้างบ้าน (แหย่) โดยรูปแบบบ้านในบ้านป่ายางและบ้านยะโป๋ มักสร้างโดยปลูกยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งใช้เป็นที่เก็บฟืน เสาบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง ฟื้นฟาก ฝาฟาก มุงด้วยหญ้าคาหรือใบก้อ โดยอุปกรณ์สำคัญที่ใช้สำหรับสร้างบ้านประกอบไปด้วย 4 อย่าง คือ เสาบ้าน (ทำจากไม้เนื้อแข็ง ซึ่งส่วนมากจะใช้ไม้สัก หรือไม้แดง) คาน แฝกหญ้าคา ไม้ไผ่สับฟากเพื่อทำฝา และพื้นบ้าน โดยไม้ที่นำมาสร้างบ้านไม่ว่าจะนำมาสร้างเป็นเสาบ้านก็ดี คานบ้านก็ดี ซึ่งต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง และการจะใช้ต้องขออนุญาตไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยประสานผ่านทางชุมชน และส่วนที่สองเป็นการใช้ไม้สำหรับกิจกรรมประเพณี ซึ่งประเพณีที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ คือ ประเพณีเขาะจาเลอ ซึ่งเปรียบเสมือนปีใหม่ของชาวลาหู่ โดยในการจัดงานต้องมีการไปตัดไม้มาทำฟืน เพื่อจุดกองไฟเพื่อความอบอุ่นรวมถึงเพื่อประกอบอาหารในเทศกาลดังกล่าว โดยไม้ที่ใช้ในการทำฟืนจะเป็นไม้สนหรือไม้ต้นพริก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ตัดได้เฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น และต้องไปตัดในป่าลึกและนำใช้พอสมควรโดยผู้ใหญ่บ้านจะเป็นผู้ประกาศว่าจะนำมาใช้ได้ในปริมาณเท่าใด ซึ่งตามความเชื่อของชาวลาหู่จะไม่นำไม้จากต้นไม้ที่ล้มแล้วมาประกอบพิธีเนื่องจากมีความเชื่อว่าต้นไม้ที่ล้มเป็นต้นไม้ไม่ดีไม่ควรนำมาใช้
การจัดการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ทั้งในบ้านป่ายางและบ้านยะโป๋นั้น มีการจัดการโดยอาศัยพื้นฐานความเชื่อเป็นหลัก เนื่องด้วยลักษณะการดำรงชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ มีความผูกพันเชื่อมโยงกับความเชื่อและความนับถือในเรื่องผี กิจกรรมของชุมชนส่วนมากจะเป็นกิจกรรมอันเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องผีเป็นสำคัญ เช่น การเลี้ยงผี ไหว้ผี (ซาบี) พิธีทรายก่อ (เซก่อเว) พิธีการไหว้ต้นไม้ ขอขมาต้นไม้ โดยบริเวณที่มีการประกอบพิธีกรรมจะมีความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่และห้ามตัดต้นไม้หรือเข้าไปบุกรุกในบริเวณนั้น โดยเฉพาะในบริเวณรอยพระพุทธบาทซึ่งชาวลาหู่ ในบ้านป่ายางเหนือเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ชาวบ้านมีความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีผีเฝ้า จะไม่ไปตัดต้นไม้และไม่มีการบุกรุกป่าในบริเวณนั้น ทรัพยากรป่าไม้ในบริเวณนั้นจึงมีความอุดมสมบูรณ์
ทรัพยากรน้ำในบ้านป่ายางนั้น ลำน้ำห้วยน้ำเติง และน้ำตกม่วงสร้อยถือเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชน ส่วนในบ้านยะโป๋ มีน้ำตกหมอแปง ซึ่งถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญของคนในชุมชนเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยตลอดทั้งปี การใช้น้ำจะแยกออกเป็นสองส่วนสำคัญ ส่วนแรก คือการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทั้งในบ้านป่ายางและบ้านยะโป๋จะใช้น้ำโดยการต่อท่อโดยตรงจากตาน้ำ (ต้นน้ำ) และต่อท่อมายังแปลงเกษตรของตน ซึ่งในบ้านป่ายางไม่พบเห็นฝายหรืออ่างกักเก็บน้ำที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ได้ในช่วงฤดูแล้ง แต่แถวบริเวณบ้านม่วงสร้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำลงมาจากบ้านป่ายาง เริ่มมีการสร้างฝายกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งแล้ว ในส่วนบ้านยะโป๋ยังไม่พบเห็นฝายเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำเช่นเดียวกัน แต่ชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญในการสร้างอ่างกักเก็บน้ำประกอบกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเติง กำลังเสนอเรื่องของบในการจัดสร้างบ่อภัยแล้ง 12 บ่อ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ในส่วนที่สองคือการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
ทั้งในบ้านป่ายางและบ้านยะโป๋ การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจะใช้น้ำประปา (ประปาภูเขา) ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นางเติง จัดให้มีโดยให้ชุมชนดูแลจัดการกันเองและเก็บค่าน้ำในอัตราที่ถูกคือ 70 บาทต่อปี โดยมีข้อตกลงระหว่างกันว่าต้องใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ห้ามใช้เพื่อการเกษตร โดยชุมชนได้ตกลงจัดสรรแบ่งเวลาในการใช้น้ำให้ใช้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการจัดสรรเช่นนี้ทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนได้
ในการจัดการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ทั้งในบ้านยะโป๋และบ้านป่ายาง กิจกรรมที่ชุมชนสร้างขึ้นมาเพื่อการดูแลและอนุรักษ์จะผูกพันเชื่อมโยงกับความเชื่อในเรื่องผีเช่นกัน ซึ่งสามารถเห็นได้ในพิธีกรรมการขอขมาต้นน้ำ โดยในบ้านป่ายางไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำให้เห็นเด่นชัดเท่ากับบ้านยะโป๋ ซึ่งชุมชนบ้านยะโป๋จะมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าน้ำตกหมอแปงมีเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักษ์รักษาคุ้มครอง ชาวบ้านจึงมักจะทำพิธีกรรมในบริเวณดังกล่าว เพื่อขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผีเจ้าป่าเจ้าเขา ช่วยปกป้องคุ้มครองและให้ผลผลิตทางการเกษตรดี โดยพิธีกรรมจะทำในบริเวณน้ำตก และชาวบ้านจะช่วยกันดูแลรักษาน้ำตก และตามพื้นฐานความเชื่อของชาวลาหู่ ว่าต้นน้ำเป็นต้นกำเนิดสรรพชีวิต ชุมชนจึงต้องดูแลให้ดี
กฎระเบียบของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในบ้านป่ายาง กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีเพียงข้อเดียว คือ ห้ามนำไม้แปรรูปออกนอกหมู่บ้าน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการนำไม้ในป่ามาใช้และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น และห้ามทำเพื่อการค้าหรือการพาณิชย์แต่อย่างใด ในส่วนบ้านยะโป๋มีกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอยู่ 2 ประการ คือ ข้อหนึ่ง การห้ามตัดต้นไม้บริเวณหัวน้ำตก เนื่องจากคนในชุมชนในบ้านยะโป๋ให้ความสำคัญในแหล่งน้ำโดยเฉพาะต้นน้ำอันถือเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต ทั้งป่าไม้ สัตว์ และมนุษย์ ชาวลาหู่ในบ้านยะโป๋จึงให้ความสำคัญในการดูแลแหล่งน้ำตลอดจนป่าไม้ที่อยู่ในบริเวณนั้นอย่างยิ่ง และข้อสองคือห้ามขายที่ดินให้บุคคลภายนอก (210) ซึ่งคนในชุมชนในบ้านยะโป๋นี้มีความรักและหวงแหนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นบ้านเกิดจึงไม่ยอมให้พื้นที่ไปอยู่ในมือของนายทุนที่จะนำไปทำรีสอร์ต หรือทำธุรกิจการค้าอย่างอื่น ๆ (พินิจนันท์ พรหมารัตน์. 2562: 209-211) ชาวลาหู่มีความคิดว่า “พ่อแม่คือต้นไม้” มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ มีอาหาร มีบ้าน มีน้ำ มียารักษาโรค ก็เพราะต้นไม้ ด้วยความคิดเช่นนี้จึงเป็นกลอุบายให้ชาวลาหู่รักและหวงแหนธรรมชาติและสภาพแวดล้อมมาก
การเลี้ยงควายของชาวลาหู่เป็นส่วนช่วยในการอนุรักษ์ป่า ดังนี้
ประการแรก การเลี้ยงควายมีส่วนช่วยทำให้ไม่เกิดไฟป่า ในแต่ละปีชาวลาหู่จะปล่อยควายให้อยู่ในป่าบนภูเขาเพื่อหากินหญ้าตามธรรมชาติของควาย และเมื่อควายกินหญ้าบริเวณใด บริเวณนั้นหญ้าจะโล่งเตียน ไม่รก ไม่มีวัชพืช ทำให้ไฟไม่ไหม้บริเวณดังกล่าว เมื่อหญ้าหมดก็เอาควายกลับมาที่ในหมู่บ้านของตน เพื่อทำไร่ไถนา (ไม่มีวัชพืช ทำให้ไม่มีไฟป่า)
ประการที่สอง การเลี้ยงควาย ไม่ทำให้ต้นไม้ล้มตาย เพราะควายจะไม่ขวิดต้นไม้ที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ต้นไม้เหล่านั้นเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนคลุมพื้นที่ ในขณะเดียวกันมูลควายที่อยู่ในป่านั้นก็ยังเป็นปุ๋ยเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับต้นไม้เหล่านั้นด้วย และต้นไม้บริเวณนั้นก็จะมีหลายรุ่น ทั้งใหญ่และเล็กปะปนกันไป
ประการที่สาม การเลี้ยงวัวควายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการอนุรักษ์ป่าชุมชนของชาวลาหู่ด้วย เพราะสัตว์เลี้ยงเหล่านี้สามารถดำรงชีพอยู่ได้จากแหล่งอาหารในป่าชุมชน หากชาวลาหู่ตัดไม้ทำลายป่า วัวควายก็จะไม่มีแหล่งอาหารอีกต่อไป
Access Point |
---|
No results found. |
กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดง
ภาพถ่ายจากการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือของประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และตาก ช่วงปี พ.ศ. 2504-2505 และ พ.ศ.2506-2508 โดย Hans Manndorff นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรีย และ Hermann Schlenker ช่างภาพจากสถาบันการผลิตภาพยนตร์ทางวิชาการ (The Institut für den Wissenschaftlichen Film – IWF)
แหล่งที่มาของภาพ - ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
https://www.sac.or.th/databases/anthroarchive/index.php