2023-06-13 17:57:14
ผู้เข้าชม : 10151

ญัฮกุร เป็นกลุ่มคนที่คาดว่ามีการสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวมอญโบราญสมัยทวารวดี ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ มีวิถีการดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียน รวมทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด อ้อย พริก มะเขือ ที่สามารถป้อนเข้าโรงงานในพื้นที่ได้อย่างสะดวก ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น ปัจจุบัน มีความพยายามในการฟื้นฟูและสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนผ่านการรื้อฟื้นอัตลักษณ์วัฒนธรรมผ่านการขับร้องเพลงพื้นบ้าน หรือที่เรียกว่า "ปะเรเร" 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ญัฮกุร
ชื่อเรียกตนเอง : ​ญัฮกุร, เนียะกุร
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : มอญโบราณ, ชาวบน, ชาวดง, คนดง, ละว้า
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : ญัฮกุร
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ญัฮกุร หรือ เนียะกุร เป็นคำที่ชาวญัฮกุรเรียกตนเอง คำว่า “ญัฮ” และ “เนียะ” แปลว่า “คน” ส่วนคำว่า “กุร” แปลว่า “ภูเขา” รวมความจึงแปลว่า “ชาวเขา” หรือคนภูเขา ขณะที่ชื่อที่คนส่วนใหญ่รู้จักคือ ชาวบน หรือ ชาวดง หมายถึง คนที่อยู่ในเขตภูเขาเช่นเดียวกัน ขณะที่ในแวดวงวิชาการได้จัดชาวญัฮกุรอยู่ในกลุ่มมอญโบราณ ทำให้ชื่อ มอญโบราณ ถูกใช้เรียกชาวญัฮกุรด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าของวัฒนธรรมได้ให้นิยามชื่อเรียกของตัวเองแล้วนั้น การเรียกชื่อตามที่เจ้าของวัฒนธรรมใช้เรียกตัวเอง จึงถือเป็นความเคารพและให้เกียรติไปพร้อมกัน

ชาวญัฮกุร อาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานมาอย่างยาวนาน มากกว่า 100 ปี จากข้อมูลการสำรวจของอีริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) ชาวต่างชาติที่รับราชการในราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทำการสำรวจกลุ่มคนที่เรียกว่า “ชาวบน” เมื่อ พ.ศ.2461 พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ ใน พ.ศ. 2464 พระยาเพชรบูรณ์ได้กล่าวถึงชาวญัฮกุร ว่ามีการเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า “ละวา” ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2523 เจอราร์ด ดิฟโฟลธ (Gérand Diffloth) ได้ทำการสำรวจภาษาของชาวญัฮกุรเพื่อจัดทำเป็นพจนานุกรมพบว่า ยังมีชาวญัฮกุรในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา นั่นหมายความว่า รัฐไทย รับรู้การมีของพวกเขาในแถบนี้มาเนิ่นนานด้วยชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม การเป็นกลุ่มชนที่มีจำนวนน้อย และอาศัยในพื้นที่ป่า เมื่อต้องเผชิญกับการพัฒนา และกฏหมายป่าไม้ที่เข้ามามีผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีการเคลื่อนย้ายต้องยุติลง และเปลี่ยนแปลงมาตั้งถิ่นฐานถาวร นอกจากนี้ยังมีการปรับวิถีชีวิตจากการทำไร่หมุนเวียนและมีความหลากหลายมาสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เน้นการขายเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ ในแถบนั้น ปัจจุบันชาวญัอกุรกระจายตัวอยู่ใน 3จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเทพสถิต อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอบ้านเขว้า อำเภอซับใหญ่ 2) จังหวัดนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และ 3) จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอเมือง และอำเภอหนองไผ่

ชาวญัฮกุร มีอัตลักษณ์ทางภาษา ที่นับได้ว่าเป็นภาษาโบราณที่หาฟังได้ยาก ขณะเดียวกันอัตลักษณ์ดังกล่าวกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่นิยมพูดภาษาตัวเอง เปลี่ยนไปพูดภาษาไทยกลาง ภาษาไทโคราช หรือภาษาลาวอีสานแทน ขบวนการฟื้นฟูภาษาญัฮกุรเกิดขึ้นหลังจากการทำงานวิจัยทางภาษาศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการรับรู้ และสร้างการเรียนรู้ต่อสาธารณะและชุมชนชาติพันธุ์ในการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการแต่งกาย ตามวัฒนธรรม ที่ถูกหยิบมาสวมใส่ในพิธีกรรมหรือกิจกรรมสำคัญเและการขับร้องพื้นบ้าน หรือ ปะเรเร ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการฟื้นฟูอัตลักษณ์ชาติพันธุ์

งานศึกษาทางโบราณคดีในแนวเทือกเขาพังเหยของ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (2559) ระบุชัดว่า ช่วงหนึ่งร้อยปีก่อนชาวญัฮกุรที่บ้านไร่และเทพถิตย์นิยมเดินทางไปยังบ้านชวน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีจุดหนึ่งที่พิพัฒทำการศึกษา พวกเขาเดินทางไปหมู่บ้านนี้เพื่อซื้อเกลือ ไห และถ้วยจีน สันนิษฐานได้ว่ชุมชนโบราณของชาวญัฮกุร มีอยุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-19 เนื่องจากในช่วงนั้นเส้นทางการค้าในเขตเขาพังเหยเป็นเส้นทางการค้าเกลือโบราณ อนุมานได้ว่า พวกเขาอาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาพังเหยมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อเมื่ออิทธิพลของเขมาได้ขยายขึ้นมาควบคุมเส้นทางระหว่างที่ราบสูงโคราชกับที่ราบภาคกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เริ่มต้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ซึ่งชุมชนโบราณชาวญัฮกุรตั้งอยู่แล้วในช่วงนั้น ชุมชนโบราณเหล่านี้เติบโตขึ้นราวสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6-7 จึงเป็นเหตุให้ภาษาของชาวญัฮกุรมีภาษาเขมรปะปนอยู่พอสมควรเนื่องจากอดีตนั้นมีการปฏิสัมพันธ์กับชาวเขมรนั่นเอง (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ 2559) ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ถ่ายทอดออกมาเป็นประวัติศาสตร์คำบอกเล่าจากชาวญัฮกุรในชุมชน ดังนี้

ชาวญัฮกุรมีการจัดแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ในแบบตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ง โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1 ยุคสมัยนิทานหรือยุคยักษ์ ภาษาญัฮกุรเรียกว่า มารยักษ์ ในอดีตคนกับสัตว์สามารถสื่อสารกันเข้าใจ และมีเรื่องเล่าว่าสมัยก่อนยักษ์จะกินเนื้อกินตับและกินเลือดคน

ยุคที่ 2 ยุคทำมาหากิน ภาษาญัฮกุรเรียกว่า ชีร เพื่อ ปาจา? มีคำทำนายไว้แบบปู่สอนหลานว่า

“ดูคอยดูนะ พวกเจ้าจะได้พลิกแผ่นดินทำกิน” คำดังกล่าวสะท้อนถึงยุคที่มนุษย์เริ่มทำการเพาะปลูกหากินกัน (ภาษาญัฮกุรคือ “นอมทำนาย เอ็ล ญัง เปญ ปะโตว เจา คอย กะคัฮ เนอ มึง นะ โค่ะ กะลับ แผนตี ปาคูจา?”)

ยุคที่ 3 ยุคทำมาหาใช้ ภาษาญัฮกุรเรียกว่า ชีร จา? อวร เป็นยุคที่มีแต่ใช้เงิน ไม่มีเก็บ ตรงกับในสมัยปัจจุบัน

ยุคที่ 4 ยุคอนาคต มีคำทำนายว่า ในภาษาไทยว่า “บอกกับลูกหลานไว้ว่าให้ระวัง จะไม่มีไม้กว้างไล่กา หินจะลอย น้ำเต้าจะจม ทางถนนจะกลายเป็นขนมเส้น ผู้หญิงจะหูเบา” (ในภาษาญัฮกุรว่า “ปะโตว เจาจัฮ ระวัง นะ กุนอม ชูงนะ กะวาง กัลป์อาก ฮมอง นะ ลอย ลุ่ล นะ จ็อม โตรว นะ คือ คะนมเซ่น เพราะ เพราะ กะตวร นะ คะยาล”)

การจัดแบ่งยุคสมัยข้างต้นเป็นที่รับรู้กันในกลุ่มผู้สูงอายุชาวญัฮกุร เช่น นายทองอยู่ บัวจัตุรัส อายุ 63 ปี นางผอม แยกจัตุรัส อายุ 65 ปี นายเติม โย้จัตุรัส อายุ 73 ปี เป็นต้น

ชาวญัฮกุรมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับชาวเขมร และชาวไทย-ลาว ตามตำนาน ระบุว่าก่อนการประกอบพิธีกรรม จะให้ผู้คนแต่ละกลุ่มดึงเชือกเส้นด้าย คนไทย ญัฮกุร และเขมร ที่เคยเป็นพี่น้องกันมาก่อน ทั้งหมดจับได้เส้นด้ายที่เป็นเส้นแห่งการพลัดพราก คนอีสานได้ปั่นด้ายไป (พรืม) ทำให้คนอีสานกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการทำด้ายและเสื้อผ้า ส่วนคนญัฮกุรได้ของสานเสื้อหวาย (บุ่นเตาว) ทำให้คนญัฮกุรต้องขึ้นมาอยู่บนป่าบนเขาเพื่อหาหวายมาสานเสื้อ เพื่อเอาไปแลกกับด้าย ส่วนคนเขมรไม่ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งของที่ได้รับ แต่ผู้เล่าบอกว่า ชาวเขมรมีความสามารถในการทำเครื่องเงิน (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2557)

อย่างไรก็ตาม ตำนานของชาวญัฮกุร ได้ระบุถึงความขัดแย้งระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ดังนี้

ชาวญัฮกุรมีตำนานที่เกี่ยวกับการทำสงครามกับชาวเขมร จำนวน 3 เรื่อง

เรื่องแรก ระบุว่า “ชาวญัฮกุรเคยไปช่วยทำสงครามกับลพบุรี และทำสงครามกับชาวเขมร ซึ่งการรบกับเขมรใช้ระยะเวลายาวนาน เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าเก่าๆ นานมากจนไม่รู้เรื่องว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่” (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2555)

เรื่องที่สอง ระบุว่า“ในสมัยก่อนชาวญัฮกุรเคยทำสงครามแย่งปราสาทกับชาวเขมร ชาวญัฮกุรแพ้จึงต้องอพยพหนีขึ้นมาอยู่บนภูเขา” (สัมภาษณ์ นายสวิทย์ วงษ์ศรี, 2556) ตำนานนี้ได้ถูกเล่าสืบกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบัน

เรื่องที่สาม ระบุว่า “นานมาแล้ว เมื่อปราสาทสร้างเสร็จ จึงมีการแข่งกันเพื่อชิงความเป็นเจ้าของ จึงแข่งขั้นด้วยการชื่อลงบนปราสาท ชาวญัฮกุรเขียนตัวหนังสือช้ากว่าชาวเขมรจึงพ่ายแพ้ ต้องยกปราสาทให้กับชาวเขมร” (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2557) ตำนานนี้เป็นเรื่องเล่าที่ผู้ให้สัมภาษณ์ได้รับการถ่ายทอดจากหญิงสูงอายุคนหนึ่งที่บ้านวังอ้ายโพธิ์

จะเห็นว่า เรื่องเล่าตำนานข้างต้น ชาวญัฮกุรจะเรียกชาวเขมรว่า “คเมร” ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ขแมร์” (Khmer) ปัจจุบันชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับชาวไทยอีสาน และชาวกูย (ส่วย) ส่วนชาวเขมรไม่ได้ติดต่อกับชาวเขมรมานานเนื่องจากอาศัยอยู่ห่างไกลกัน อนึ่ง ตำนานเรื่องนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเสื่อมอำนาจลงของรัฐทวารวดี ซึ่งเคยมีการตีความว่ารัฐทวารวดีล่มสลายจากการทำสงครามกับอาณาจักรเขมรโบราณ

นอกจากตำนานที่เกี่ยวข้องกับชาวเขมรแล้ว ยังมีเรื่องเล่าที่เชื่มโยงกับคนไทย ความว่า “ชาวญัฮกุรสมัยก่อนเล่าว่าเมื่อเจอคนไทยให้รีบหนี เพราะคนไทยจะจับตัวเอาไปแล้วเอาเล็บไปทำหลังคาปราสาท” (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556) ในอดีตจึงมีเรื่องเล่าเพื่อให้ระมัดระวังคนไทย และให้หนีเมื่อเจอกับคนไทย (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2557) เมื่อชาวญัญกุรพบเจอกับคนไทยจะวิ่งหนีเข้าป่า โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่เข้ามาในหมู่บ้าน ชาวญัฮกุรจะหลบหนีทันที เหลือไว้แต่ผู้นำหมู่บ้านเท่านั้น

นอกจากตำนานที่กล่าวมาข้างต้น ชาวญัฮกุรยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับย่าโมหรือท้าวสุรนารี ที่เป็นวีรสตรีที่คนอีสานนับถือกันมาก เพราะเป็นบุคคลที่กล้าหาญต่อสู้กับกองทัพลาวของเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ.2369 ตรงกับรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สายพิน แก้วงามประเสริฐ, 2536ชาวญัฮกุรเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าพวกเขาถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงคราม ดังคำบอกเล่าของนายพนม จิตร์จำนงค์ ที่ว่า “ในตอนนั้นที่ย่าโมถูกจับเป็นเชลย ชาวญัฮกุรได้เดินทางไปช่วยออกหัวคิดให้แอบเอาน้ำกลอยผสมลงไปกับเหล้าสาโทเพื่อให้ทหารลาวดื่ม ทหารลาวจึงเมา ทำให้ย่าโมสามารถเอาชนะทหารลาวได้ ประกอบกับทหารจากทางลพบุรีได้ถูกส่งเข้ามาช่วยสมทบทำให้ชนะทหารลาวได้อย่างง่ายดายขึ้น” (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2556; นายเติม โย้จัตุรัส, 2556) ชาวญัฮกุรให้เหตุผลว่า “ปกติการดื่มเหล้าไม่มีทางเมากันง่ายๆ ถึงขนาดลุกไม่ได้ ต้องผสมน้ำกลอยลงไปแน่ๆ จึงทำให้เมาจนสลบจนไม่สามารถฟื้นได้” (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2556)

เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน อีริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) ชาวต่างชาติที่รับราชการในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 6 ในตำแหน่ง Provincial gendarmerie ได้ทำการสำรวจชาวบน (Chaubun) หรือญัฮกุร พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ (Seidenfaden, 1918; 1919)

ในปี ค.ศ.1980 เจอราร์ด ดิฟโฟลธ (Gérand Diffloth) ได้ทำการสำรวจภาษาของชาวญัฮกุรเพื่อจัดทำเป็นพจนานุกรม พบว่า ยังมีชาวญัฮกุรในจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา แต่การใช้ภาษาญัฮกุรในจังหวัดนครราชสีมาและเพชรบูรณ์อยู่ในสภาวะถดถอย เนื่องจากเหลือผู้พูดจำนวนน้อย ส่วนในจังหวัดชัยภูมิ ไม่พบชาวญัฮกุรใน อำเภอบำเหน็จณรงค์ และอำเภอจัตุรัส อย่างไรก็ตาม ชาวญัฮกุรในเขตอำเภอเทพสถิตยังคงมีเครือญาติอยู่ในอำเภอบำเหน็จณรงค์ (พนม จิตร์จำนงค์, 2557: สัมภาษณ์)

งานศึกษาของสุวิไล เปรมศรีตน์ ในปี (2549) ระบุข้อมูลว่า จากการสำรวจจำนวนประชากรชาวญัฮกุร มีอยู่ประมาณ 6,000 คน ในช่วง 50-70 ปีที่ผ่านมาชาวญัฮกุรได้อยู่อาศัยปะปนกับชาวไทยทำให้มีการผสมผสานทางเชื้อสายและวัฒนธรรม จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนที่แน่นอนได้ ปัจจุบันชาวญัฮกุรกระจายตัวอย่างหนาแน่นในอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ทั้งนี้ จากข้อมูลการสัมภาษณ์สามารถจำแนกชาวญัฮกุรออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มเทือกเขาพังเหย ตั้งถิ่นฐานอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ บ้านไร่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านวังอ้ายคง บ้านน้ำลาด บ้านเสลี่ยงทอง บ้านวังตาเทพ บ้านโคกสะอาด บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาว บ้านเทพอวยชัย และบ้านโคกกระเบื้องไห ในอำเภอบ้านเขว้า พบที่บ้านวังกำแพง ในอำเภอหนองบัวระเหว พบที่บ้านท่าโป่ง และบ้านห้วยแย้ ในอำเภอซับใหญ่ พบที่บ้านหนองบัว บ้านหนองใหญ่ และบ้านบุฉนวน

กลุ่มกลุ่มเทือกเขาสันกำแพง ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครราชสีมา พบในอำเภอปักธงชัย ในบ้านกลาง บ้านพระบึง บ้านวังตะเคียน บ้านคลองสาลิกา และบ้านตะขบ อำเภอครบุรี พบที่บ้านมาบกราด และบ้านตลิ่งชัน ส่วนอำเภอหนองบุนนาก พบที่บ้านไทรน้อยพัฒนา

กลุ่มเทือกเขาเพชรบูรณ์ตะวันออก ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในอำภอเมือง ได้แก่ บ้านน้ำเลา บ้านห้วยไคร้ บ้านท่าด้วง (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2549)

การดำรงชีพ

วิถีการดำรงชีพของชาวญัฮกุรมีความหลากหลายทั้งการล่าสัตว์ การเพาะปลูกแบบดั้งเดิมและการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยมีรายละเอียดดังนี้

การล่าสัตว์

ในอดีตชาวญัฮกุรมีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับป่าทำให้ชาวญัฮกุรบางคนมีความสามารถในการเป็นนายพรานผู้ชำนาญการล่าสัตว์ การล่าสัตว์ถือเป็นหน้าที่ของผู้ชายชาวญัฮกุรที่มักล่าในกันช่วงฤดูแล้ง เพราะสามารถตามรอยสัตว์ได้ง่าย ยุงไม่ชุกชุม นอนในป่าได้อย่างปลอดภัย และช่วงที่ว่างเว้นจากการทำงาน

ในขณะที่หน้าฝนจะไม่นิยมล่าสัตว์ เพราะเดินป่าลำบาก ยุงชุกชุม และยังมีสัตว์มีพิษชนิดอื่นๆ เช่น ตะขาบ งู ชาวญัฮกุรมักล่าสัตว์และหาปลาในเขตป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เพราะเป็นผืนผ่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, 2555) เครื่องมือล่าสัตว์แบบดั้งเดิมที่ชาวญัฮกุรใช้คือ หน้าไม้ ปัจจุบันเครื่องมือการล่าวัตว์เบบดั้งเดิมยังมีหลงเหลือจำนวนน้อย

ปัจจุบัน ชาวบ้านไม่มีการล่าสัตว์ เนื่องจากการลดลงของสัตว์ป่า เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานรัฐมีการสัมปทานป่าไม้ การบุกเบิกพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และการประกาศพื้นที่ป่าสงวน ด้วยเงื่อนไขข้างต้นทำให้ไม่สามารถล่าสัตว์ได้ดังเช่นในอดีตชาวบ้านจึงหันไปพึ่งพาระบบตลาดในชุมชนในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ (สัมภาษณ์ นายสิทธิศักดิ์ ทองสะอาด, 2556) นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนที่มีประสบการณ์การทำงานในกรุงเทพฯ จนเกิดการรับค่านิยมจากในเมือง จนเกิดความรู้สึกไม่ต้องการกินเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น แย้ “เพราะรู้สึกขยะแขยง” (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, 2555)

การเพาะปลูกแบบดั้งเดิม

จากการตั้งถิ่นฐานเป็นพื้นที่สูงทำให้การปลูกข้าวเป็นการปลูกข้าวไร่ (Dry rice) ชาวญัฮกุรจะใช้วิธีการปลูกข้าวไร่ ด้วยการใช้ไม้แหลมสักลงดินเป็นหลุม เพื่อหยอดเมล็ดข้าวลงไป และรอให้น้ำฝนตกลงมา มีทั้งปลูกข้าวเหนียวและปลูกข้าวเจ้า ในอดีตครอบครัวหนึ่งจะปลูกข้าวประมาณ 3-5 ไร่ บางครอบครัวที่มีความขยันจะปลูกข้าวในพื้นที่ที่มากขึ้น ไร่หนึ่งได้ข้าวประมาณ 2 เกวียน ครอบครัวที่มีสมาชิกประมาณ 4-7 คน สามารถบริโภคข้าวเกือบพอกินตลอดทั้งปี ในการทำไร่นั้นแต่ละคนจะทำไร่เว้นระยะห่างกัน แต่ไม่ได้ไกลกันมากนัก โดยทำแบบหมุนเวียน เมื่อทำแล้วจะทิ้งให้ต้นไม้เติบโต ฟื้นฟู แล้วจะย้ายกลับมาทำที่เดิมอีกประมาณสามปี การเว้นช่วงสามปีเช่นนี้ ต้นไม้ จะเริ่มฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อต้นไม่มีการเจริญเติบโตจึงจะกลับมาถางเพื่อทำไร่ใหม่อีกครั้ง การเว้นช่วงการทำไร่เช่นนี้ สัตว์ป่าจะไม่สูญหาย (สัมภาษณ์ นายเปลี่ยน เย็นจัตุรัส, 2556)

ส่วนการปลูกข้าวนั้น หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วในกรณีบางครอบครัวที่ไม่มีการย้ายที่ทำไร่ชาวบ้านจะทำการเตรียมแปลงไร่ สับฟางข้าว จุดไฟหอบกองฟางเป็นจุดๆ เพื่อเตรียมไร่ไว้สำหรับปลูกข้าว หากมีการบุกเบิกแปลงไร่ใหม่จะมีช่วงเวลาในการจัดการไปแต่ละเดือน (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, นางดำ จันทิม, นางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556) ดังนี้

เดือน 4 (มีนาคม) เป็นช่วงของการเตรียมทำไร่ จะมีการจองด้วยการทำรูปกากบาทด้วยไม้ติดไว้บนต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ ว่าพื้นที่จุดนี้มีผู้คนจับจองไว้แล้ว เมื่อจะถางป่าใหม่เพื่อการทำไร่นั้น เริ่มด้วยหากนอนฝันดีแล้วเช้าวันนั้นสามารถถางป่าได้ วิธีการถางจะถางเป็นรูปวงกลม ล้อมเศษกิ่งไม้มากองรวมไว้ตรงกลาง ทิ้งไว้ให้แห้งประมาณหนึ่งเดือนแล้วค่อยกลับมาเผา

เดือน 5 เป็นช่วงของการเผาป่า เนื่องจากการล้อมเศษต้นไม้มาไว้ตรงกลางของพื้นที่ และปล่อยให้แห้งเพื่อเผาง่าย อีกทั้งการจัดไฟเผาตรงกลางไร่ทำให้ไฟไหม้เฉพาะตรงกลาง สามารถควบคุมการลุกลามได้ หรือหากมีเพื่อนบ้านที่ทำไร่ใกล้กันจะนัดมาเผาไร่พร้อมกันเพื่อช่วยเหลือในกรณีเกิดไฟลุกลาม ในการเผาไร่ จะคำนึงถึงหลักการว่า บุคคลที่เผาไร่จะต้องเป็นคนดวงแข็ง หรือบุคคลที่เกิดในเดือนแข็ง ปีแข็งตามความเชื่อของชาวญัฮกุร

เดือน 6 เป็นช่วงของการเริ่มเพาะปลูกข้าว หลังจากที่เผาเตรียมไว้แล้ว เก็บกวาดพื้นที่แล้วจึงเริ่มมานอนไร่เพื่อเตรียมเพาะปลูก ส่วนใหญ่จะเอาแรงมาช่วยกัน โดยใช้ไม้แหลมแทงหลุม มีคนหยอดข้าวและกลบตามหลัง รวมถึงเริ่มปลูกพืชผักต่างๆ เช่น มัน เผือก ข้าวโพด ช่วงนี้ยังเป็นช่วงของการหาอึ่งและเก็บผลไม้ป่า หนุ่มสาวมักชวนกันไปเก็บหาผลลำดวน ถือเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบปะพูดคุยกัน

เดือน 7 เป็นช่วงของการดูแลข้าวในไร่ ดายหญ้าเก็บออกจากไร่ทิ้งไว้ริมไร่ พื้นที่ริมไร่จะปลูกพืชผักต่างๆ ไว้กิน เช่น พริก ถั่ว ฟักทอง มะเขือ แตงไทย แตงโม แตงกวา ข้าวฟ่าง ใบแมงลัก โหระพา ข่า ตะไคร้และผักชีโบราณ

เดือน 8-9 เป็นช่วงของการดูแลข้าวในไร่ เข้าป่าหาเห็ด

เดือน 9-10 เป็นช่วงที่ข้าวโพด เผือก มัน ที่ปลูกไว้ในไร่เริ่มเก็บเกี่ยวได้

เดือน 10-11 เป็นช่วงของการเริ่มหากลอยในป่า เนื่องจากข้าวที่เก็บไว้ของปีก่อนนั้นเริ่มไม่พอกิน

เดือน 12 เป็นช่วงของการเริ่มเก็บเกี่ยวข้าว ส่วนใหญ่มักลงแขกช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

จะเห็นได้ว่า วัฏจักรการเพาะปลูก ตามปกติข้าวที่ปลูก มักไม่เพียงพอต่อการบริโภค ในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนกันยายน ชาวญัฮกุร ต้องไปขุดหากลอยมากินผสมกับข้าว และไปเอาข้าวที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ 1 วัน มีเพียงส่วนน้อยที่ชาวบ้านจะไปเอาข้าวที่อำเภอศรีเทพเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล (สัมภาษณ์ นายยัง ยี่จัตุรัส, 2555) นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคเนื่องจากในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมักมีสัตว์ โดยเฉพาะลิงมาขโมยข้าว (สัมภาษณ์ นางแถ่ว น้อยเสลา, 2555)

จะเห็นว่า ช่วงเวลาในการทำไร่ข้าว ใช้ระยะเวลาเกือบตลอดทั้งปี ในช่วงหน้าแล้งจึงเป็นช่วงเวลาของกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูก เช่น การล่าสัตว์ การหีบน้ำอ้อย งานหัตถกรรม เครื่องจักสาน เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเพื่อการค้า (สมัยใหม่)

ผลจากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบเนื่องมาจากในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ภาคอีสานมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ พื้นที่เพาะปลูก และการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรจากการปลูกพืชหลากหลายชนิดไปสู่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากผลิตออกสู่ตลาด (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2546)

เมื่อชาวไทยอีสานและชาวไทยโคราชอพยพเข้ามาแสวงหาที่ทำกินเพื่อทำการเพาะปลูกเข้ามาในหมู่บ้านชาวญัฮกุร ซึ่งในขณะนั้นยังไม่รู้จักการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชอาหารหลักที่นิยมปลูกจึงมีข้าวไร่และเดือย ส่วนพืชชนิดอื่น เช่น อ้อย จะปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น (สัมภาษณ์ นายวรรณชัย มูลมณี, 2556)

ผลจากการปลูกพืชเชิงเดียวของบุคคลภายนอก ทำให้ชาวญัฮกุรเริ่มมีความต้องการมีรายได้ในการส่งลูกเรียนหนังสือ ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์เพื่อขนพืชไร่ เช่นเดียวกับชาวไทยอีสาน ชาวญัฮกุรจึงเริ่มทำการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การปลูกแบบดั้งเดิมจึงค่อย ๆ เลือนหายไป ต่อมา ในปี 2510 ชาวบ้านเริ่มทำการบุกเบิกที่ดิน เพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย พริก มะเขือ ปอ ยาสูบ และมันสำปะหลัง สำหรับมันสำปะหลังเริ่มปลูกกันอย่างแพร่หลายเมื่อ พ.ศ.2518 และเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2530 - 2532 เพราะเป็นช่วงที่มันสำปะหลังราคาสูง มีการตั้งโรงแป้งมันสำปะหลังขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิ ใน พ.ศ. 2541 ทำให้สามารถป้อนเข้าโรงงานได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลทำให้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากขึ้น (สัมภาษณ์ นายวรรณชัย มูลมณี, 2556) ประกอบกับพ.ศ. 2541 ได้

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวญัฮกุรมีความเชื่อในเรื่องภูตผีวิญญาณเวทย์มนต์คาถา เครื่องรางของขลัง ฤกษ์ยาม ความฝัน และมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการประกอบอาชีพ เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ความเชื่อข้างต้นได้เสื่อมคลายลงไปมาก ในขณะเดียวกัน บางครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงมานับถือศาสนาพุทธ มีการทำบุญ ไปวัด และประกอบพิธีกรรมตามแบบพุทธศาสนิกชน

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณีสำคัญในชุมชน

ประเพณีสำคัญในระดับชุมชน แบ่งออกเป็น 2 ประเพณีสำคัญ ได้แก่ 1) ประเพณีสงกรานต์และแห่หอดอกผึ้ง และ 2) ประเพณีสงกรานต์ ในช่วงเดือนเมษายน ชาวญัฮกุรจะมีพิธีสงกรานต์จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ สงกรานต์น้อย และสงกรานต์ใหญ่

สงกรานต์น้อย ตรงกับเดือน 4 แรม 15 ค่ำ มีการทำพิธีเช่นเดียวกับสงกรานต์ของคนไทย ในวันดังกล่าวจะห้ามไปทำงานในไร่ไปสวน จะเล่นสงกรานต์กัน 7 วัน สาดน้ำกันตั้งแต่ตี 5 บางคนจะเอาเขม่าหม้อดินทาหน้า เอาน้ำปลาร้าไปสาด นอกจากนี้ยังมีการการเล่นสะบ้า ร้องเพลงปะเรเร กลางวันเล่นกันอยู่ในบ้าน ทำขนมข้าวโปง (คล้ายข้าวเกรียบว่าว) ขนมนางเล็ด สามารถรับประทานได้ทุกบ้าน ในช่วงเวลากลางคืนจะมีการก่อกองไฟพูดคุยและร้องเพลง

การเล่นสงกรานต์น้อยหายไปจากหมู่บ้านไร่และหมู่บ้านต่างๆ ได้สูญหายไปประมาณ 40-50 ปีมาแล้ว เพราะคนในหมู่บ้านต้องทำงานมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาว่างสำหรับการจัดประเพณีนี้

สงกรานต์ใหญ่ ตรงกับเดือน 5 แรม 15 ค่ำ วันแรก จะมีการแห่หอดอกผึ้ง โดยจะมีการเตรียมหอดอกผึ้ง และมีการทำขนมเลี้ยง วันที่สอง จะละลายขี้ผึ้งและช่วยกันติดดอกผึ้ง วันที่สาม เริ่มแห่หอดอกผึ้ง มีการทำพิธีทางสงฆ์ สรงน้ำพระ และมีการเล่นสงกรานต์ มีการเล่นชักกะเย่อ ในพิธีจะมีพระมาร่วมละเล่น ในเดือนนี้จะเล่นสงกรานต์สาดน้ำกันทั้งเดือน ปัจจุบันการเล่นสงกรานต์ใหญ่ เหลือเพียง 3 วันเช่นเดียวกับสงกรานต์ของคนไทย สาเหตุที่ลดระยะเวลาลง เนื่องจากความเร่งรัดทางด้านเศรษฐกิจ และไม่มีวันหยุดยาวดังเช่นในอดีต (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, นางดำ จันทิม, นางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556)

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ประเพณีการคลอดของชาวญัฮกุร หมอตำแยจะใช้ผิวไม้ไผ่ลนไฟตัดสายรก แล้วนำรกไปฝังไว้ที่ข้างบันไดบ้าน และมีการก่อไฟบนหลุมที่ฝังรกอีกที จากนั้นหมอตำแยจะทำการเซ่นผี และทำการรับขวัญเด็ก

ความตาย และการทำศพ

เมื่อมีคนเสียชีวิต ชาวญัฮกุรจะห่อศพด้วยฟากไม้ไผ่ ใช้เถาวัลย์มัดด้านหัว กลางลำตัว และด้านเท้า จากนั้นจะรื้อฝาบ้านเพื่อนำศพออกจากบ้าน ชาวญัฮกุรจะไม่หามศพลงทางบันไดโดยเด็ดขาดเนื่องจากมีความเชื่อว่าผีจะแรง เมื่อนำศพลงจากบ้านแล้ว ศพจะถูกนำไปที่ป่าช้า

ในชุมชนบ้านไร่ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อมีคนเสียชีวิจ ชาวญัฮกุรจะใช้วิธีการฝังศพ ไม่เผา เพราะไม่มีพระและไม่มีวัด ปัจจุบันจะใช้การฝังในพืน้ที่ป่าช้าด้านหลังหมู่บ้าน แบ่งแยกพื้นที่ป่าช้าเด็กกับป่าช้าของผู้ใหญ่ออกจากกัน

การนำศพไปฝัง ชาวบ้านจะมากันประมาณ 3-4 คน ศพจะถูกวางบนหินก้อนใหญ่ หากมีพระสงฆ์จะทำการสวด เมื่อพระสวดจบ ชาวบ้านจะช่วยกันขุดหลุมฝัง บางครั้งจะเอามีดมาช่วยขุดดิน หลุมที่ขุดจะลึกประมาณ 1-1.5 เมตร ศพจะถูกวางในเสื่อหวาย คว่ำหน้าลง หันหัวของศพไปทางทิศตะวันตก จากนั้นเอาดินกลบ เอาไม้ปูทับ สะกดวิญญาณ สาดข้าวสาร เอาดินกลบอีกชั้นหนึ่ง และหนามวางด้านบนสุด เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มาคุ้ย

เมื่อฝังไว้ประมาณ 3-5 ปี หากมีพระธุดงค์ผ่านมาจะนิมนต์ขุดกระดูกขึ้นมา แล้วนำไปไว้ที่บ้านเพื่อทำบุญ แต่ถ้าไม่มีก็จะขุดขึ้นมาเช่นกัน จากนั้นจะเอากระดูกเก็บใส่หม้อธาตุไปไว้ที่ถ้ำ กรณีชาวญัฮกุรที่บ้านไร่จะนำไปวางไว้ที่ซับหวาย ซึ่งถือกันว่าเป็นป่าช้าของชาวญัฮกุร มีการนำสิ่งขอเครื่องใช้ของผู้ตายมาใส่หรือวางไว้ด้านข้างถ้าเป็นผู้หญิงจะนำสร้อย ต่างหู กำไล เครื่องประดับ ซึ่งลูกหลานสามารถขอยืมกลับนำไปใช้ได้ในวันเทศกาลต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ เมื่อพ้นเทศกาลก็นำกลับมาคืน

ในอดีตหากมีผู้เสียชีวิตจะต้องย้ายบ้านหนี โดยจะขนฝาบ้าน โครงหลังคา และพื้นบ้านไปด้วย ส่วนเสาเรือนจะทิ้งเอาไว้ ไม่นำไปด้วย เพราะเชื่อว่าจะนำความหายนะมาสู่ครอบครัว

การฝังศพและการย้ายบ้านได้ล้มเลิกไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 เพราะมีเริ่มมีการสร้างวัด และมีการสร้างเมรุขึ้นเมื่อ พ.ศ.2540 (สัมภาษณ์ นายเปลี่ยน เย็นจัตุรัส, 2556)

กฤษฎา พิณศรี และคณะ. (2550). ศึกษาศักยภาพแหล่งโบราณสถานวัฒนธรรมล้านช้างในอีสานใต้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. สุรินทร์: มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2545). ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

บุญยงค์ เกศเทศ. (2539). การดำรงค์อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุรในจังหวัดชัยภูมิ. ชัยภูมิ: มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ.

ปรีชา อุยตระกูล และกนก โตสุรัตน์. (2519). สังคมและวัฒนธรรมของชาวบน. นครราชสีมา: วิทยาลัยครูนครราชสีมา.

พระเพ็ชร์บูรณ์บุรี, อำมาตย์ตรี (Phra Petchabunburi). (1921).“The Lawa or Chaubun in Changvad Petchabun” JSS. Vol.14 (pt.1)

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ และคณะ. (2557). “จาก “มะนิ่ฮ ญัฮกุร” (ชาวญัฮกุร) สู่การเป็นมอญทวารวดี และกระบวนการคืนความรู้สู่ชุมชนบ้านไร่”. วารสารอารยธรรมโขง-สาละวิน. นครสวรรค์: กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร. (2559). โบราณคดีและชาติพันธุ์ในเขตหมุ่บ้านชาวญัฮกุรที่ อ.เทพสถิตย์ จ. ชัยภูมิ. ใน ดำรงวิชาการ. ปีที่ 18 ฉบับที่ 1(มกราคม-มิถุนายน 2562). หน้า 11-39.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2549). ญัฮกุร มอญโบราณแห่งเทพสถิต. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย.

อนันต์ ลิมปคุปตถาวร และคณะ. (2549). ญัฮกุร มอญโบราณแห่งเทพสถิต. กรุงเทพฯ: บริษัท โอ.เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์ จำกัด.

อภิญญา บัวสรวง และสุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2541). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ ญัฮกุ้ร. นครปฐม: สำนักงานวิจัยและวัฒนธรรมเอเซียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

อภิญญา บัวสรวง. (2541). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุ้ร. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

Diffloth, Gérard. (1984). The Dvaravati Old Mon Language and Nyah Kur. Monic language studies, vol. 1. Bangkok, Thailand: Chulalongkorn University Print. House

Seidenfaden. (1919). Erik. Further Notes about the Chaubun, etc. Journal of the Siam Society, Vol. 13.3, pp. 47-53.

Seidenfaden, Erik. (1918). Some notes about the Chaubun. Journal of the Siam Society, Volume XII. (Part 3) Bangkok

Seidenfaden, Erik. (1918). Some Notes about the Chaubun; A Disppearing Tribe in the Korat Province. Journal of the Siam Society, Vol. 12.3 1918. Bangkok.

สืบค้นค้นออนไลน์

ไทยพีบีเอส (2561, 22 ตุลาคม). รายการนารีสนทนา: สัมผัสวิถีญัฮกุร หมู่บ้านมอญโบราณ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ. สืบค้นจาก Youtube

ไทยพีบีเอส. (2560, 28 กรกฎาคม). รายการเที่ยวไม่ตกยุค: เรียนรู้วิถี คนบนดง ที่หมู่บ้านญัฮกุร จังหวัดชัยภูมิ. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=myvxWZGGDfE.

ไทยพีบีเอส. (2558, 10 ตุลาคม). รายการพันแสงรุ้ง ตอน ภาษาญัฮกุร. สืบค้นจาก Youtube

คูน แยกจัตุรัส, นาย,อายุประมาณ 70 กว่าปี (ชาวญัฮกุร) , ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 6 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ดำ จันทิม, นาง, อายุประมาณ 60 ปี (ชาวญัฮกุร). บ้านเลขที่ 43 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ,วันที่ 6 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

เติม โย้จัตุรัส, นาย, อายุ 73 ปี (ชาวญัฮกุร),บ้านเลขที่ 128 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

แถ่ว น้อยเสลา, นาง, อายุ 70 ปี, (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 156 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ,วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ทองอยู่ บัวจัตุรัส, นาย, อายุ 63 ปี (ชาวญัฮกุร), ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 5 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ทด ชัยขุนทด, นาง, อายุประมาณ 50 ปี (ชาวญัฮกุร), ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 7 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

บุญช่วย ชำนาญดี, นาย, อายุ 63 ปี (ชาวลพบุรี), อดีตกำนันบ้านหนองผักบุ้ง. บ.หนองผักบุ้ง ต.หนองรี อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี, วันที่ 18 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ประยูร มองทองหลาง, นาย, อายุ 42 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 197 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555, วันที่ 5-8 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

เปลี่ยน เย็นจัตุรัส, นาย, อายุ 64 ปี, (ชาวญัฮกุร+ลาว), บ้านเลขที่ 653 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ผอม แยกจัตุรัส, นาง, อายุ 65 ปี (ชาวญัฮกุร), ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 5 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

พนม จิตร์จำนงค์, นาย, อายุ 42 ปี ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555, วันที่ 5-8 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

มงคล แยกจัตุรัส, นาย, อายุ 52 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 568 ม.11 บ้านไร่พัฒนา ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 5 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ยัง ยี่จัตุรัส, นาย, อายุ 65 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 53 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 19 พศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

เรียง ยี่จัตุรัส,นาง, อายุ 63 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 237 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ. สัมภาษณ์วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

วรรณชัย มูลมณี, นาย, อายุ 56 ปี (ชาวไทยอีสานจากร้อยเอ็ด), ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 5 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ศรี ประจิต, นาย, อายุ 77 ปี, (ชาวไทยอีสานจากนครราชสีมา), บ้านเลขที่ 272 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ,วันที่ 10 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

สวิทย์ วงษ์ศรี, นาย, อายุ 55 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 98 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555, วันที่ 5-8 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

สิทธิศักดิ์ ทองสะอาด, นาย, อายุ 50 ปี (ชาวกุย/ส่วย), ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 5 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

แสง ญาติรัก, นาย, อายุ 80 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 53 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

สุเคน ยามจัตุรัส, นาย, อายุ 48 ปี (ชาวมอญจากพม่า), บ้านเลขที่ 29 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 7 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

หนิ่ม แยกจัตุรัส, นาง, อายุประมาณ 60 กว่าปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 653 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 6 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

หอม ญาติรัก, นาง, อายุ 70 กว่าปี (ชาวญัฮกุร), ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 7 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

เหลียว บัวจัตุรัส, นาง, อายุ 57 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 29 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ,วันที่ 7 มกราคม 2556. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

อยู่ คูเกษตร, นาง, อายุ 70 ปี (ชาวญัฮกุร), บ้านเลขที่ 339 ม.1 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 18 พฤศจิกายน 2555. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

สุรีย์ แนบกลาง, นาย, อายุ 49 ปี, ผู้ใหญ่บ้านเทพอวยชัย, บ้านเลขที่ 133 ม.16 บ้านเทพอวยชัย ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 16 สิงหาคม 2557. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

สมนึก แซ่เจียม, นาย, อายุ 52 ปี, ผู้ใหญ่บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านเลขที่ 5 บ้านวังอ้ายโพธิ์ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 24 มกราคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ต่ำ วัดตะขบ, นาง, อายุ 89 ปี, บ้านเลขที่ 26 บ้านวังอ้ายโพธิ์ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 24 มกราคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

อ๊าด ยุมจัตุรัส, นาย, อายุ 73 ปี, บ้านเลขที่ 147 บ้านวังอ้ายโพธิ์ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 17 สิงหาคม 2557. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

นง ชัยเพชร, นาง, อายุ 77 ปี, บ้านเลขที่ 5 บ้านวังอ้ายโพธิ์ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 25 มกราคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

หนอน สีจัตุรัส,นาง, อายุ 70 ปี, บ้านเลขที่ 54 บ้านวังอ้ายคง ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 9 มกราคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

อิ้ง ชัยขุนทด, นาง, อายุ 56 ปี, บ้านเลขที่ 119 ม.6 บ้านวังอ้ายคง ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 9 มกราคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

วุ้น เศรษฐจัตุรัส, นาง,อายุ 84 ปี, บ้านเลขที่ 146 บ้านวังอ้ายคง ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 9 มกราคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

เคลน ญาติตะขบ, นาย, อายุ 84 ปี, บ้านเลขที่ 18 บ้านวังอ้ายโพธิ์ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, วันที่ 24 มกราคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว