กลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวตี้

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวตี้
  • ชื่อเรียกตนเอง : ลาวตี้
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาวตี้
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลภาษา ไต-กระได (Tai-Kadai)
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ลาวตี้ เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่มีเชื้อสายลาวที่อพยพมาจากเมือง “เวียงจันทน์” สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่บางคนเรียกว่า “ลาวตี้” เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีคำลงท้ายประโยคว่า “ตี้” เสมอ โดยที่กลุ่มลาวตี้นั้นบางครั้งถูกเรียกรวมกับกลุ่มลาวเวียง ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่มีเชื้อสายลาวที่มาจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า ไทยเวียง หรือลาวตี้ เนื่องจากกลุ่ม ชนเหล่านี้มักพูดลงท้ายประโยคว่า “ตี้” (วันดี พินิจวรสิน, 2555: 95) 

              ลาวตี้เป็นกลุ่มชนที่มีการย้ายถิ่นฐานจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาอยู่อาศัยในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอันเป็นเวลามากกว่า 200 ปี (เติม วิภาคย์พจนกิจ, 2540; บังอร ปิยะพันธุ์, 2541) การย้ายถิ่นฐานของชาวลาวตี้มี  2  กลุ่ม (ศรีศักร วัลลิโภดม,  2546)  กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาเอง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึกโดยถูกส่งเข้ามาอยู่หัวเมืองชั้นในต่าง ๆ หรือในบริเวณภาคกลางของประเทศ ในอดีตการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวตี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนเข้ามานั้นมักถูกกำหนดให้อยู่กันเป็นกลุ่มเฉพาะของเชื้อชาติของตนโดยสลับไปกับหมู่บ้านไทย และให้อยู่ในแหล่งที่ตั้งที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกับถิ่นฐานเดิม อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวตี้ถูกกำหนดให้อยู่เป็นถิ่นที่ โดยมิให้มีการย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่อื่น ทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุผลความสำคัญด้านเศรษฐกิจและการปกครอง สำหรับชาวลาวตี้เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นก็มักมีการขยายชุมชนออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงชุมชนเดิม อย่างไรก็ตามการย้ายถิ่นของชาวลาวตี้เพื่อออกไปตั้งชุมชนต่างเมืองเริ่มปรากฏมากขึ้นตั้งแต่เมื่อมีการยกเลิกระบบไพร่ในปีพ.ศ.2417 ซึ่งปัจจุบันจะพบแหล่งของการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวตี้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคนอื่น ๆ, 2547)

  • อื่น ๆ :

    ภาษาพูด 

              ระบบเสียงภาษาลาวตี้ ประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว 20 หน่วยเสียง สามารถปรากฏเป็นพยัญชนะท้ายคำได้ 9 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระ 21 หน่วยเสียง หน่วยเสียงวรรณยุกต์มีการแตกตัวเป็นสามและมีจำนวนหน่วยเสียง 5 หน่วยเสียง ลักษณะโครงสร้างพยางค์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ

              ชาวลาวตี้อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ไม่พบหลักฐานด้านภาษาเขียนสันนิษฐานว่าเมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย ชาวลาวตี้ใช้การสื่อสารด้วยการพูดเป็นหลักจึงทำให้ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหลงเหลืออยู่ จากข้อมูลการสัมภาษณ์พบว่า ชาวลาวตี้ยังคงใช้ภาษาลาวตี้ในการสื่อสารกันในชุมชน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่และเยาวชนทั่วไป แต่มีการออกเสียงบางคำที่มีความแตกต่างจากลาวตี้ในจังหวัดอื่น ซึ่งอาจเป็นเพราะอิทธิพลของภาษาท้องถิ่นกลุ่มอื่นที่ชาวลาวตี้ได้ปฏิสัมพันธ์ด้วยทำให้มีการออกเสียงแตกต่างกัน (วิราพร หงษ์เวียงจันทน์. 2558)

              ในขณะเดียวกัน ในส่วนของชาวลาวตี้ที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดราชบุรี มีการพบคัมภีร์ใบลานที่จารไว้ด้วยภาษาโบราณ เรียกว่าภาษาขอมลาว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางภาษาลาวตี้สามารถอ่านออก ได้อธิบายว่า คล้ายกับอักษรธรรมของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ แต่จะเป็นภาษาที่ใช้เฉพาะที่นครเวียงจันทร์ ประเทศลาว ซึ่งคัมภีร์ใบลานที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดที่ถูกพบที่วัดบ้านสิงห์อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีอายุสืบย้อนไปช่วง พ.ศ. 2358 ซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์จักรี (สุเชษฐ์ เชิงทวี :สัมภาษณ์, 16 กรกฎาคม 2562)

              การใช้ภาษาลาวตี้เป็นภาษาสื่อสารกันในชุมชนทุกกลุ่มทุกเพศ รวมทั้งเมื่ออยู่นอกชุมชนเมื่อต้องติดต่อสื่อสารกับชาวลาวตี้ ก็จะใช้ภาษาลาวตี้ในการติดต่อสื่อสารด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามอิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ แต่ในด้านภาษานั้น ชาวลาวตี้บางพื้นที่ยังคงพยายามรักษาภาษาของตนเอง ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์เด่นอีกหนึ่งประการของชาวลาวตี้ไว้ได้อย่างเข้มแข็งและภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง ดังเช่นการบูรณาการภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์กับหลักสูตรการเรียนของกระทรวงศึกษาธิการของโรงเรียนอนุบาลโพธาราม (ชุมชนวัดบ้านสิงห์) ที่กำหนดให้มีการเรียนภาษาลาวตี้ จำนวน 40 ชั่วโมง ต่อหนึ่งภาคเรียน เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ซึมซับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ลาวตี้ และสามารถสื่อสารภาษาลาวตี้ได้ (สุเชษฐ์ เชิงทวี:สัมภาษณ์, 16 กรกฎาคม 2562)

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย นางสาวนภกานต์ คำภีระ  นักวิจัยอิสระ 

    ปีงบประมาณ 2562 , วันที่อัพโหลด ; 27 กันยายน 2562

    เอกสารอ้างอิง

    • Samiththicha Pumma.(2556). A Study of Language and Culture of “/khîː/” (feces)of Lao-Wiang in Nong Kop Subdistrict, Ban Pong District, Ratchaburi Province.
    • Samiththicha Pumma.(2556). A Study of Language and Culture of “/khîː/” (feces) of Lao-Wiang in Nong Kop Subdistrict, Ban Pong District, Ratchaburi Province. Doctor of Philosophy Program in Linguistics, Mahidol University.
    • Silpakorn University Journal of Social Sciences, Humanities, and Arts. (47 – 67)
    • Wilaisak Kingkham.(2544). A Comparative Study of Tai-Phuan, Tai-Phake and Lao-      Wiang.Kasetsart J. (Soc. Sci) 22. (193 – 198)
    • กิตติภัต นันท์ธนะวานิช. (2545). การศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมของชุมชนลาวเวียง กรณีศึกษา หมู่บ้านหาด สองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล.
    • ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล (2538). ลวดลายผ้า: สื่อสัญลักษณ์ของลาวเวียง (จันท์). วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
    • ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล. (2541). สื่อสัญลักษณ์ผ้าลาวเวียงจันท์. กรุงเทพฯ. สํานักงานกองทุนการวิจัย.
    • ชวลิต น่วมธนัง. (2555). การศึกษาซิ่นตีนจกลาวเวียงสู่การปรับปรุงศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • ชวลิต น่วมธนัง. (2555). การศึกษาซิ่นตีนจกลาวเวียงสู่การปรับปรุงศูนย์ผ้าทอลายโบราณ      บ้านผาทั่ง.  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • ณัฐพจน์ โพธิ์เจริญ, สุพรรณี เหลือบุญชู, ปัทมาวดี ชาญสุวรรณ. (2559). การสืบทอดและอนุรักษ์         ดนตรี ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ตำบลดอนคาอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  (Transmission and Preservation of music of the Laos Vieng Ethnics Group at Tumbol Don kha, U-thong Distric SuphanBuri province). วารสารศึกษาศาสตร์       มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 82 ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2559. (81 – 89)
    • นิภาพร โชติสุดเสน่ห์ (2541). พระราหู : ภาพสะท้อนการผสมกลมกลืนทางความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ ลาวเวียง. สารนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • บังอร  ปิยะพันธุ์. (2541). ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
    • บังอร บุญปั้น. (2561). กลุ่มชาติพันธุ์ลาวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา: ประวัติความเป็นมาวัฒนธรรม และแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Lao Ethnic Groups in Phra Nakhon Si Ayutthaya Province: History,Culture and Guidelines for the Cultural Tourism Promotion). วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม ; ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2561. (103 – 112)
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วันดี พินิจวรสิน. ภูมิปัญญาการปรับตัวในบ้าน-เรือนลาวเวียงบริเวณลุ่มนํ้าภาคกลาง. หน้าจั่ว: ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 27 ปีการศึกษา 2555. (45-60)
    • เพ็ญศรี ดุ๊ก, นารี สาริกะภูติ. (2529). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวลาวเวียงและลาวพวนในอำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา. รายงานการวิจัยโครงการไทยศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • วรรณพร  บุญญาสถิต, ฉันทัส เพียรธรรม, เทพธิดา  ศิลปรรเลง. (2560).  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (The Historical Development of LaoWiang People in U Thong District, Suphanburi Province).JOURNAL OF NAKHONRATCHASIMA COLLEGE Vol.11 No.1 January – April 2017. (26 – 38).
    • วรรณา รัตนประเสิรฐ (2528). คำและลักษณะคำในภาษาลาวเวียงในจังหวัดฉะเชิงเทรา. วิทยานิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • วลัยลักษณ์  ทรงศิริ. (2547). ลาวในเมืองไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่คลุมเครือ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2   (เม.ย.-มิ.ย. 2547) :74-88.
    • อิศราภรณ์ ประเสริฐศรี. (2560). การศึกษาประเพณีฮีตสิบสอง เพื่อออกแบบภาพประกอบกรณีศึกษาบุญเดือนห้า (ประเพณีสงกรานต์). ศิลปนิพนธ์ปริญญาศิลปประยุกต์บัณฑิต, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
    • เอมอร เชาวน์สวน. (2537). การศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาลาวในจังหวัดนครปฐมและภาษาลาวในแขวง บ่อแก้ว ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยศิลปากร.

    สารสนเทศออนไลน์

     สัมภาษณ์

    • นายสุเชษฐ์ เชิงทวี, (2562). สัมภาษณ์. 16 มิถุนายน

     

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก เป็นต้น10000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              “ชาวลาวตี้อพยพมาจากเมือง “เวียงจันทร์” ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ด้วยสาเหตุการเมืองการสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในเมืองไทย มีร่องรอยหลักฐานว่าอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี (จดหมายเหตุรัชกาลที่ 2, จ.ศ.1179) และอพยพเข้ามาอีกครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ หลายภูมิภาค (จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3, จ.ศ.1203) โดยส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้ตั้งถิ่นฐานเพื่อเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม ส่งส่วย และเกณฑ์ไพร่ (เกรียงไกร เกิดสิริ, 2554) โดยให้ตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่ทั้งในภาคกลาง อีสานและตะวันออก ในภาคกลางเช่น สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ภาคอีสาน เช่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ (หัวเมืองเขมรป่าดง) ภาคตะวันออก เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี” (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541และวลัยศักดิ์ ทรงศิริ, 2547)

              “คาดว่าจะเข้ามาทางจังหวัดหนองคาย ดังจะเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงอาศัยอยู่ เริ่มตั้งแต่จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเมื่อแรกเริ่มที่ถูกกวาดต้อน ผ่านมาทางจังหวัดหนองคายต้องผ่านดงพญาไฟ โรคภัยไข้เจ็บมันเยอะเราก็เกิดล้มป่วย เลยขออนุญาตเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ เพราะเดินทางไม่ไหวและจะเป็นภาระต่อผู้อื่น ดังนั้นจึงปรากฏครอบครัวของชาวลาวเวียงตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ระหว่างเส้นทางถูกกวาดต้อนเข้ามายังกรุงธนบุรี” (สุเชษฐ์ เชิงทวี:สัมภาษณ์, 16 กรกฎาคม 2562)

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              รองศาสตราจารย์ บังอร ปิยะพันธุ์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวกับการย้ายถิ่นของชาวลาวเวียงจันทน์ในสมัยกรุงธนบุรี ในหน้า ๓๐ ความว่า

              “ มีหลักฐานบ่งว่า มีชาวลาวเวียงจันทน์ย้ายถิ่นเข้ามาโดยการอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และโดยการถูกกวาดต้อนดังนี้ ครั้งแรกไม่ปรากฏปีที่เข้ามา ทราบว่าเป็นช่วงที่พม่ามีอำนาจในการปกครองเมืองเวียงจันทน์ ชาวลาวเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวใกล้เคียงเมืองเวียงจันทน์จำนวนหมื่น ลี้ภัยเข้ามาพักอยู่ที่เมืองนครราชสีมาพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอนุญาตให้ชาวลาวอพยพทั้งหมดนี้เข้ามาพักพิงตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี นับเป็นชนชาวลาวรุ่นแรกที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งหลัง พ.ศ. ๒๓๒๒ เมื่อกองทัพธนบุรีได้ยึดเมืองเวียงจันทน์แล้วได้กวาดต้อนครัวลาวเวียงจันทน์ทรัพย์สินและอาวุธต่าง ๆ ลงมา ในบรรดาครัวลาวดังกล่าวมีโอรสเจ้าสิริบุญสาร รวมอยู่ได้ ๓ องค์ ได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทร์วงศ์ เจ้าอนุวงศ์ โปรดให้ไปพำนักอยู่ที่บางยี่ขัน (วัดดาวดึงส์ ในปัจจุบัน) สำหรับครัวลาวเวียงจันทน์นอกนั้น โปรดให้รวมไว้ที่เมืองสระบุรีเป็นจำนวนหลายหมื่น มีบางส่วนส่งไปเมืองราชบุรี ตามหัวเมืองตะวันตกบ้าง เมืองจันทน์บ้าง ”

              และอธิบายไว้ในหน้า ๓๒ ว่า

              “ จำนวนชาวลาวในกรุงธนบุรี และหัวเมืองต่าง ๆ ไม่สามารถทราบได้เพราะไม่มีการบันทึกไว้ว่ามีจำนวนเท่าใด เป็นเพียงประมาณว่าถูกกวาดต้อนมาจำนวนหลายหมื่น จำนวนเหล่านี้เป็นยอดรวมโดยประมาณ เมื่อกวาดต้อนมานั้น ระหว่างการเดินทางจะต้องมีที่หลบหนีไปบ้าง ล้มตายอีกจำนวนมากเมื่อตั้งหลักแหล่งแล้วจำนวนที่ล้มตายลงไปคงมีมากเช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะความอดอยากความเจ็บป่วย ความลำบากมากจากการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นต้น ดังนั้นจำนวนประชากรลาวที่ถูกกวาดต้อนมาใหม่ คงมีจำนวนเหลืออยู่ไม่มากนัก และอยู่กันเป็นชุมชนใหญ่ที่เมืองสระบุรี และเมืองเพชรบุรีส่วนที่เมืองอื่น มีชาวลาวตั้งหลักแหล่งอยู่บ้าง เช่น เมืองราชบุรี เมืองบางกอก หัวเมืองตะวันตก และเมืองจันทร์บุรี เป็นต้น ”

              ท่านอาจารย์ชูชีพ เกสร ผู้นำชาวลาวตี้บ้านสิงห์ จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ริเริ่มฟื้นฟูประเพณีต่าง ๆ ของชาวลาวตี้ โดยเริ่มแรกได้เริ่มฟื้นฟูประเพณีแห่ดอกไม้ฉลองสงกรานต์ ลาวตี้บ้านสิงห์ ท่านได้แต่งเพลง “บ้านลาวตี้” เพื่อร้องปลุกขวัญชาวลาวตี้ ในงานบุญต่าง ๆ เล่าขานตำนานความเป็นมาของลาวตี้บ้านสิงห์ และเพื่อรำลึกถึงความทุกข์ยากลำบากของบรรพบุรุษลาวตี้ ขณะอพยพเดินทางมา บทเพลงนี้มีเนื้อหาสาระดังนี้

                        พื้นมาจากฝั่งโขง                     เดินตามดงมาจากเวียงจันทน์

    เพิ้นถูกกวาดต้อนมา                    จากเวียงจันทน์สู่ราชบุรี (ซ้ำ)

    โอ่ โอ้ ทุกข์ยากเหลือหลาย         บ้างก็ล้มตายบ้างก็หลบหนี

    ท่ามกลางป่าดงพงพี                    เส้นทางนี้สุดอันตราย (ซ้ำ)

    โอ่ โอ้ พระยาจักรี                    แม่ทัพแสนดีที่น่านับถือ

    ชื่อเสียงท่านนั้นระบือ                    เพราะท่านคือผู้ให้แผ่นดิน (ซ้ำ)

    โอ่ โอ้ ท่ามกลางแดนดง                    เสือสิงห์คงมากมายเหลือที่

    เพิ้นอยู่กันมาหลายปี                    จึงเอิ้นถิ่นนี้ว่าบ้านสิงห์เอย (ซ้ำ)

    โอ่ โอ้ บ่ฮู้ว่าเป็นอย่างได๋                    ไผเป็นไผบ่ฮู้กันนี้

    เพิ้นเอิ้นชาวบ้านสิงห์นี้                    ว่าลาวตี้หรือลาวเวียง (ซ้ำ)

              ว่ากันว่า ลูกหลานลาวตี้ในจังหวัดราชบุรี จะได้ยินคำบอกเล่าจากบรรพบุรุษของตนว่าพวกตนไม่ใช่พวกลาวอีสาน เป็นลาวตี้มาจากเวียงจันทน์หรือ ลาวนอก บ้างเป็นเพียพญาและนายกองลาวชั้นปกครองด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ว่า ชาวลาวตี้ที่บ้านสิงห์ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นลาวจากอีสาน ทั้งที่แท้จริงแล้วพวกตนคือคนลาวที่ “ถูกกวาดต้อน” มาจาก “นครเวียงจันทร์” ในฐานะเชลยศึก ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี

              ส่วนสาเหตุที่มีชาวลาวตี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดราชบุรีนั้น นายสุเชษฐ์ เชิงทวี อายุ 58  ปี ปราชญ์ท้องถิ่นได้อธิบายว่า

              “อดีตนั้น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกท่านเคยรับราชการอยู่ที่จังหวัดราชบุรี พอเมื่อพม่าตีรุกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ท่านก็ไปร่วมรบกับพระเจ้าตากสิน จึงได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาจักรี และได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อครั้งไปร่วมรบที่นครเวียงจันทน์ เมื่อเสร็จสิ้นสงครามในครั้งนั้น จึงได้รับชาวลาวตี้ส่วนหนึ่งมาอยู่ในความดูแล จึงเกณฑ์ผู้คนเหล่านี้มาอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากในสมัยนั้น เมืองราชบุรีมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอก ทำให้การหลบหนีทำได้ยากขึ้น เมื่อแรก ชาวลาวตี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณวัดพญาไม้ ในปัจจุบันเรียกว่าคลองลาว จนถึงสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีการประกาศเลิกทาส ชาวลาวตี้จึงได้แยกย้ายอพยพไปอยู่ที่ต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี” (สุเชษฐ์ เชิงทวี :สัมภาษณ์, 16 กรกฎาคม 2562)  

              ในปัจจุบัน ชาวลาวตี้ในจังหวัดราชบุรีตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเมืองเมือง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอจอมบึง และอำเภอโพธาราม

              เมื่อสืบย้อนกลับไป พบว่าภาษาเขียนที่ชาวลาวตี้ใช้นั้น เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์การอพยพถิ่นฐานจากนครเวียงจันทน์ ดังที่นายสุเชษฐ์ เชิงทวี อายุ 58  ปี ปราชญ์ท้องถิ่นได้อธิบายว่า ภาษาเขียนที่ชาวลาวตี้ใช้ มีลักษณะคล้ายกันกับภาษาราชการที่ใช้อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบัน 

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              การทอผ้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมาตั้งแต่โบราณ และถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้หญิงลาวตี้เพราะการทอผ้าได้งดงามฝีมือประณีตเป็นสิ่งสะท้อนว่ามีความพร้อมในการออกเรือนหรือการแต่งงาน

              ผู้หญิงลาวตี้จะใช้เวลาว่างจากงานบ้านงานเรือนและการทำไร่ไถนาทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มของคนในครอบครัว โดยใช้เวลากลางคืน เวลาหยุดพักเพื่อรอคอยการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยใช้ฝ้ายเป็นวัตถุดิบหลักในการทอ

              การเรียนรู้วิธีทอจะเป็นการเรียนโดยการปฏิบัติสืบทอดกันมาในครอบครัว หรือเครือญาติใกล้ชิด ลวดลายบนผืนผ้านั้นผู้ทออาจเรียนรู้จากบรรพบุรุษและออกแบบลายของตนเองขึ้นมา ทำให้ผ้าแต่ละผืนมีความเฉพาะตัว

              ชาวลาวตี้ ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ยังคงมีสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าแบบดั้งเดิมอยู่ โดยนำลายผ้าโบราณมาแกะลายแล้วทอตามลวดลาย แต่ไม่ได้ปั่นเส้นด้ายสำหรับทอผ้าเองเนื่องจากเสียเวลามากเพื่อความสะดวกจึงใช้เส้นด้ายทอสำเร็จรูปจากโรงงาน การทอผ้าด้วยเทคนิคการจกซึ่งก็คือการทอลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ

              การจก จะใช้ไม้หรือขนเม่นจกหรือควักเส้นด้ายสีสันต่าง ๆ ขึ้นมาบนเส้นยืนให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการโดยมีเส้นยืนเป็นด้ายสีแดงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผ้าลาวตี้ แล้วนำมาเป็นส่วนประกอบของตีนผ้าซิ่น หรือที่เรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก”

              ผ้าซิ่นตีนจกของชาวลาวตี้ซึ่งเป็นผ้านุ่งของผู้หญิง ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวลาวตี้ ผ้าผืนหนึ่งประกอบด้วยผ้าสองส่วนคือ ส่วนตัวที่เป็นการทอด้วยสีพื้นหรือลวดลายพื้นฐานโดยไม่ได้ทอแบบจก ส่วนตีนทอด้วยวิธีการจกแล้วนำไปต่อเชิงผ้า เรียกว่าตีนซิ่นหรือตีนจก ตรงส่วนนี้จะมีลวดลายงดงามมากใช้เวลานานในการทอ ผู้ทอต้องใช้ความละเอียดและมีความอดทนสูงในการทอให้มีความงดงาม และได้ลวดลายตามที่ต้องการ ลายตีนจกที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวตี้ก็คือลายซีกสามเหลี่ยม โดยทอลายเป็นสามเหลี่ยม 4 - 7 แถว และมีสร้อยเฉพาะตีนล่าง ส่วนด้านบนไม่มีสร้อย (ธิติมา นิลวงษ์, 2558) นอกจากนั้นมีลายอื่น ๆ เช่น ลายขิดหมานอน ลายดอกแก้ว ลายตวยน้อย ลายหัวเสือครึ่งซีก ผ้าจกนอกจากใช้ตกแต่งผ้าซิ่นให้สวยงาม ยังใช้ตกแต่งเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น หมอน ย่าม ผ้าห่ม

              เมื่ออยู่กับบ้าน สามารถแบ่งออกเป็นของผู้หญิงและของผู้ชายจากเครื่องนุ่งห่มที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

              ผู้หญิง แต่งกายด้วยเสื้อทอจากผ้าฝ้ายย้อมครามหรือย้อมดำ คอกลมติดคอหรือคอตั้ง ผ่าหน้าติดกระดุมเสื้อ แขนกระบอกหรือแขนยาว หรือเสื้อคอกระเช้า เสื้อห้าตะเข็บหรือใช้ผ้าแถบพันตัวเวลาอยู่บ้าน

              ซิ่นฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามเป็นเครื่องนุ่งของฝ่ายหญิง โดยนุ่งซิ่นซ้อนที่เป็นซิ่นฝ้ายสีขาว ใช้นุ่งข้างในซิ่นฝ้ายและซิ่นมัดหมี่ตีนจก เพื่อซับเหงื่อและยืดอายุตัวซิ่นตัวนอกที่ใช้ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เนื่องจากซิ่นฝ้ายและซิ่นมัดหมี่ตีนจกตัวนอกนั้น แทบจะไม่มีการซัก เมื่อนุ่งเสร็จจะสะบัดแล้วผึ่งในที่ร่มและพับเก็บ นอกจากนี้มีการนำซิ่นซ้อนไปใช้ในพิธีไสยศาสตร์ตามความเชื่อ เช่น การไล่ผี แก้การทำเสน่ห์ยาแฝด

              ผ้าของผู้หญิงที่ใช้ต่ำกว่าเอว ไม่สามารถตากราวเดียวกันกับผ้าขาวม้า ผ้าโสร่งของชายจะตากบนราวผ้าร่วมกับเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า ส่วนซิ่นและซับในของหญิงจะต้องแยกไปตากราวซิ่นหลังบ้าน หรือในห้องน้ำอย่างมิดชิด ซึ่งเป็นการแบ่งแยกเพศและสถานะภาพโดยนัย

              ผู้ชาย จะแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงขาก๊วย ทอด้วยผ้าฝ้ายย้อมคราม หรือย้อมจากเปลือกต้นคาง หรือจามจุรี (ดอกสีแดงต้องนำไปหมักโคลนครึ่งวัน จึงจะให้สีดำ) ถ้าไปทำนา มักเคียนเอวด้วยผ้าขาวม้า ถ้าอยู่กับเรือนมักไม่สวมเสื้อ หรือใส่เสื้อผ้าป่านคอกลมแขนสั้น หรือแขนสามส่วน

              ผ้าขาวม้าที่เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ของผู้ชายใช้นุ่ง ใช้พาดบ่าหรือใช้เคียนเอว มีหลายชนิด คือ ผ้าขาวม้าตามะกอก (ตาหมากรุก) ใช้เพียงสองสีประกอบกัน เช่น ขาวดำ เรียกผ้าขาวม้าผ้าป่า เนื่องจากฝ้ายที่นำมาทอมีเนื้อหยาบและห่าง มีหน้าผ้าแคบ แต่ในปัจจุบัน ผ้าขาวม้าตามะกอกใช้มากกว่าสองสีแล้วในการทอ ผ้าขาวม้าตาเล็ก มีหลายสี เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีขาว เป็นต้น ผ้าขาวม้าไส้ปลาไหล (ตาสะแคง) ซึ่งแคบกว่าผ้าขาวม้าทั่วไป ทอเป็นลายริ้วตามทางยาวสลับสี เช่น สีเขียว สีชมพู สีเม็ดมะขาม เป็นต้น ชายหนุ่มใช้คล้องคอหรือคาดเอวเวลาไปเที่ยวหรือเกี้ยวสาว ชายสูงอายุเป็นผ้าคาดเอวหรือพาดบ่า ผ้าขาวม้าตาหมู่ เป็นการนำลายไส้ปลาไหลและลายตามะกอกมาทอร่วมกัน เมื่อออกจากบ้าน ทั้งหญิงและชายมีการแต่งกายที่เหมือนกันกับเมื่ออยู่บ้านอยู่เรือน โดยมีย่ามเป็นของใช้สำคัญที่จะใช้ติดตัวออกไปทุกครั้ง ใช้สะพายใส่สิ่งของอาหารกลางวันไปไร่นา

              ซิ่นลาวตี้ รัชฏา สุขแสงสุวรรณ (2547: 91-99) กล่าวถึงการแบ่งซิ่นประเภทต่าง ๆ ไว้ว่า ในอดีตการแต่งกายของหญิงลาวตี้ มีหลักพื้นฐานอยู่เพียง “ใส่เสื้อนุ่งซิ่น” แม้บางสมัยจะมีการนุ่งโจงกระเบนบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมนัก การนุ่งซิ่นของชาวลาวตี้ มักจำแนกตามโอกาสใช้สอย สถานะภาพ กาลเทศะไว้อย่างน่าสนใจ โดยจำแนกออกเป็น 5 ประเภท คือ ซิ่นดำย้อมมะเกลือ ซิ่นดำดาน ซิ่นดอก ซิ่นสิบซิ่ว ซิ่นมัดหมี่ตีนจก ดังนี้

    • ซิ่นดําย้อมมะเกลือ หรือซิ่นมัดหมี่ฝ้ายย้อมคราม ไม่ต่อตีนซิ่น หญิงสูงอายุมักนุ่งขณะไปทํานา ทําไร่ หรืออยู่บ้านทั่วไป
    • ซิ่นดําดาน ซิ่นย้อมสีดําด้วยมะเกลือหรือคราม ช่วงล่างทอสลับเหลือง แดงเขียว หรือสีอื่นๆ ตามชอบ สําหรับเด็กหญิง
    • ซิ่นดอก เป็นซิ่นฝ้ายใช้ด้ายยืนสีแดงหรือสีดำ ทอขิดสลับจกทั้งผืนด้วยด้ายพุ่งสีต่าง ๆ ทอตีนซิ่นก่อนด้วยการขิดสลับจก แล้วทอตัวซิ่นต่อเป็นลายดอกไม้ ลายเรขาคณิต หรือลายอื่น ๆ ตามแต่ผู้ทอจะเห็นว่าสวย เป็นซิ่นแบบโบราณที่แทบไม่มีการทอขึ้นมาใหม่ เนื่องจากต้องใช้เวลาและแรงงานในการทอมาก ตีนซิ่นสีแดงสำหรับหญิงสาวใช้นุ่ง ตีนซิ่นสีดำสำหรับหญิงสูงอายุใช้นุ่งไปโอกาสพิเศษต่าง ๆ
    • ซิ่นสิบซิ่ว (ซิ่นสิบเขียว) เป็นซิ่นฝ้ายพื้นสีดำ ตัวซิ่นทอขิดด้วยฝ้ายสีเขียวเป็นลวดลายต่าง ๆ สลับกับการทอผ้าพื้นสีดำตามขวางลำตัวสิบแถวเป็นซิ่นสองตะเข็บ ทอตีนซิ่นก่อนด้วยวิธีการขิดสลับจก ทอตัวซิ่นเช่นเดียวกับการทอซิ่นดอก เป็นซิ่นสำหรับหญิงสาวใช้นุ่งไปในงานโอกาสพิเศษต่าง ๆ
    • ซิ่นมัดหมี่ตีนจก ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวซิ่น และตีนซิ่น นำมาประกอบกันเป็นซิ่นทั้งผืน มีกรรมวิธีที่แตกต่างกัน ดังนี
      • ตัวซิ่น ใช้ฝ้ายนำไปมัดหมี่เป็นลวดลายตามชอบ มีการเรียกชื่อตามวิธีการทอ ดังนี้คือ หมี่ลวด (หมี่โลด) ใช้เรียกซิ่นมัดหมี่ที่ทอต่อเนื่องโดยไม่มีเทคนิคการทออื่นประกอบ เช่น การทอคั่นด้วยสีพื้น หรือการทอขิดด้วยด้าย หมี่ลวดมีชื่อเรียกต่างกันไปตามลักษณะของลาย เช่น หมี่สำเภา หมี่รวงเล็ก หมี่รวงใหญ่ หมี่กลิล เป็นต้น หมี่น้อย ใช้เรียกซิ่นมัดหมี่ ฝ้ายที่มีการทอคั่นด้วยสีพื้น เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว หรือสีขาว เป็นเส้นคั่นขนานไปกับลำตัวตามความยาวของซิ่
      • ลายหมี่นิยมทำลายนาค หรือลายอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็ก หมี่ตา ใช้เรียกซิ่นมัดหมี่ ที่มีการทอขิดฝ้ายสีขาวหรือสีเหลือง สลับกับมัดหมี่เป็นลายริ้วขนานกับลำตัวเป็นระยะตลอดผืนผ้าจกในตีนซิ่นเป็นส่วนที่สวยที่สุดและแสดงฝีมือได้ดีที่สุด เมื่อทอจกเสร็จเรียบร้อยแล้วนำไปเย็บต่อกับตัวซิ่น ทำให้เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ซิ่นตีนจก”
      • ซิ่นมัดหมี่ตีนจกของสาวลาวตี้ไม่ใช้นุ่งในชีวิตประจําวันทั่วไป แต่มักใช้นุ่งในโอกาสสำคัญพิเศษต่าง ๆ เช่น พิธีแต่งงาน เจ้าสาวลาวตี้จะนุ่งซิ่นมัดหมี่ตีนจกสีแดง ที่ทอเตรียมไว้หรืออาจได้รับมรดกสืบต่อจากยายหรือแม่ เพื่อใช้ในพิธีแต่งงาน
  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              บ้านเรือนอดีตของชาวลาวตี้เป็นเรือนใต้ถุนสูงมีเรือนชานโปร่งตรงกลาง โดยบริเวณใต้ถุนจะเป็นที่ทำงานบ้าน งานจักสานทั่วไป และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมูหรือวัว ชาวลาวตี้นิยมสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันกับเครือญาติ ในบริเวณที่มีน้ำไหลผ่านเหมาะแก่การทำนา การเกษตร ลักษณะบ้านจะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติ แต่เดิมหลังคาบ้านมักมุงด้วยหญ้าคา ส่วนฝาบ้านจะเป็นไม้ขัดแตะ บริเวณหน้าบ้านจะมีนอกชานเพื่อใช้เป็นที่นั่งคุยกัน เรียกว่า บ้านท่อง ใต้ถุนบ้านสูง พอประมาณให้คนค้อมหัวได้ เรียกว่า ขัดเกล้า ภายในบ้านมีห้องสำหรับลูกสาวเรียกว่า ในเปิง หรือ ในเฮือน ส่วนพ่อแม่จะนอนนอกห้องลูกสาว เรียกว่า นอกเปิง และจะมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษอยู่ในบ้านด้วย เตาไฟของชาวลาวตี้เป็นเตาดินเหนียวครึ่งวงกลม โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อ ส่วนห้องน้ำจะอยู่นอกตัวบ้าน นอกจากนี้ยังมียุ้งข้าวอยู่ทางทิศตะวันออกและหันหน้าไปทางทิศเหนือของบ้าน ยุ้งข้าวทำจากไม้ไผ่สาน ยาด้วยมูลวัว หรือทำจากไม้กระดาน หลังคามุงด้วยจากหรือหญ้าคา (ลาวเวียง, 2553, เข้าถึงได้จาก www.province.prd.go.th, อ้างถึงใน สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ, 2555 : 99)

              ในจังหวัดราชบุรี การตั้งถิ่นฐานของชาวลาวตี้ทั้ง 7 หมู่บ้าน ในตำบลบ้านเลือก มีลำดับความเป็นมาเป็นอย่างไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่จากหลักฐานที่ปรากฏในชุมชนทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณหมู่ 3 (บ้านขนุน) และหมู่ 4 (บ้านเลือก) น่าจะเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวตี้ในบริเวณตำบลนี้ ซึ่งมาพร้อมกับชาวลาวตี้ในบ้านฆ้อง บ้านสิงห์ บางลานและดอนทราย (สะท้าน เสลาหลัก, มปป.) เนื่องจากในตำบลบ้านเลือกจะพบศาลศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพของชาวบ้านอยู่ 2 แห่งคือศาลปู่ตาและศาลปู่โท่ง “ศาลปู่ตา” (หรือศาลปู่ตาเจ้านาย) เป็นศาลกลางบ้านที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2322 ตั้งอยู่บริเวณกลางชุมชนหมู่ 3 เพื่อเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษและเจ้านายที่เคารพที่ตกค้างอยู่เมืองเวียงจันทน์ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข “ศาลปู่โท่ง” (หรือศาลปู่ทุ่ง) ตั้งอยู่บริเวณชายทุ่งหนองแข้ ทางทิศตะวันตกของชุมชนหมู่ 4 และตั้งอยู่ห่างไกลจากบ้านเรือนโดยมีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ ศาลนี้สร้างขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองไร่นาและการทำมาหากินของลูกหลาน ดังนั้นบริเวณหมู่ 3 และหมู่ 4 น่าจะเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวตี้ในพื้นที่ตำบลและการขยายตัวของชุมชนก็น่าจะมีการขยายออกจากบริเวณนี้ด้วย นอกจากนี้ยังพบการขยายตัวของของชุมชนมาจากพื้นที่ใกล้เคียงด้วยโดยเฉพาะในหมู่  2  (บ้านดอนกลาง) ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ในการทำนาของชาวบ้านในบ้านฆ้อง ชาวบ้านกล่าวว่าในอดีตมีการตั้งบ้านเรือนตามแหล่งที่ปรากฏในชุมชนกันมานานแล้ว การแบ่งเป็นหมู่บ้านเริ่มมีขึ้นตามการปกครองในระบบเทศาภิบาลปี พ.ศ.2457 โดยนับจากบ้านวัดโบสถ์เป็นหมู่ที่ 1 เนื่องจากกำนันในสมัยนั้นอยู่ในพื้นที่หมู่นี้ นอกจากนี้ในอดีตบ้านเรือนมักกระจุกตัวอยู่รวมกัน แต่หลังจากการตัดถนนเพชรเกษมทั้งสายเก่าและสายใหม่ และการตัดถนนในชุมชนมีผลให้การเพิ่มจำนวนบ้านเรือนและกระจายออกสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนมากขึ้น การจำแนกเป็นหมู่บ้านและการขยายตัวของชุมชนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบที่เป็นศูนย์รวมทางความเชื่อและประเพณีไปด้วย ในอดีตชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกจะมีประเพณีในการทำงานบุญเบิกบ้านและทำงานบุญกลางบ้านร่วมกัน งานบุญเบิกบ้านจะเริ่มมีขึ้นก่อน โดยจะมีพิธีกรรมทำขวัญและการบำบัดรักษาในหมู่บ้านและมีพิธีกรรมเบิกบ้าน ณ บริเวณศาลปู่โท้ง ในหมู่ 4 ส่วนงานบุญกลางบ้าน จะทำที่ศาลปู่ตาในหมู่ 3 แต่เมื่อมีการแยกกันเป็นหมู่บ้าน การทำงานบุญกลางบ้านของแต่ละหมู่จึงได้แยกกันไปด้วย โดยบางหมู่ก็ใช้ที่ว่างส่วนกลางของชุมชนเพื่อประกอบพิธีกรรม และในบางหมู่ก็จะมีการสร้างตำนานพร้อมกับสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะของคนในหมู่บ้านของตนขึ้น เช่นในบ้านหนองเต่าดำ หมู่ 6 มีการตั้งศาล“เจ้าพ่อสายบัว” ขึ้น

              ปัจจุบันชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือก ยังคงมีประเพณีการทำบุญเบิกบ้านร่วมกันในหมู่ 4 แต่เฉพาะในหมู่คนที่ยังเคารพและเชื่อถือซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กเล็ก ส่วนงานบุญกลางบ้านก็จะมีการกระจายกันไปทำตามแต่ละหมู่บ้าน

              บ้านเรือนในอดีตของชาวลาวตี้ในตำบลนี้ มีทั้งที่เป็นเรือนจั่วเดี่ยวและเรือนหลังคาแฝด โดยเรือนในอดีตดั้งเดิมของชุมชนจะประกอบด้วยเรือนนอนไม้แป้นถ้อง ระเบียงนอกชานเรือนครัว และยุ้งข้าว เรือนนอนซึ่งเป็นเรือนหลักมีขนาด 3 ช่วงเสา วางอาคารตามยาวไปทางทิศตะวันออก-ตะวันตก ภายในเรือนนอนจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือในเรือนและนอกเปิง ในเรือนเป็นห้องที่มีขนาด 2 ช่วงเสามีประตูเข้าออกจากนอกเปิง ใช้เป็นห้องนอนของลูกสาว ส่วนนอกเปิงเป็นที่ว่างในเรือนใช้เป็นที่ตั้งวางหิ้งพระ บางครั้งพื้นที่นี้ถูกเรียกว่าห้องศพ หรือห้องผี ซึ่งในบางเรือนจะมีหิ้งคุณพระตั้งอยู่ และหันออกสู่หน้าบ้าน นอกเปิง นอกจากจะเป็นที่นอนของผู้เฒ่าผู้แก่และห้ามคนนอกสายตระกูลเข้าพื้นที่นี้แล้ว ยังถูกใช้เป็นพื้นที่ในการตั้งศพผู้ที่เสียชีวิตอีกด้วย และในช่วงที่มีการจัดงานพิธีศพก็มักมีการขยับผนังที่กั้นระหว่างในเรือนและนอกเปิงเพื่อให้นอกเปิงมีขนาด 2 ช่วงเสา เรือนนอนมักมีการปิดล้อมด้วยผนังฝาประกน และมีหลังคาจั่วทรงสูง จากเรือนนอนจะเป็นพื้นที่ไม้แป้นถ้องซึ่งเป็นไม้กระดานขนาดใหญ่ วางขนานไปกับพื้นเรือนนอนในระดับเดียวกันโดยมีพรึงกั้นไม้แป้นท่องใช้เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มาเยือนบ้าน และมีระดับสูงจากพื้นระเบียงประมาณ 45 เซนติเมตรส่วนระเบียงจะอยู่ต่ำลงไปและเป็นที่นอนสำหรับพ่อแม่ ส่วนต่างระดับระหว่างไม้แป้นท่องและระเบียงนี้ จะเป็นช่องว่างเปิดโล่งระเบียงมีการคลุมหลังคาใน 2 ลักษณะคือ

    • หลังคาจั่วที่มักมีขนาดเล็กกว่าและมีระดับความสูงของยอดจั่วที่ต่ำกว่าหลังคาเรือนนอน ทำให้เกิดเป็นลักษณะเรือนแฝดและมีลักษณะโครงสร้างเช่นเดียวกับเรือนในเวียงจันทน์

    • หลังคาลาดเอียงซึ่งทำให้รูปทรงของเรือนมีลักษณะเช่นเดียวกับเรือนไทยภาคกลางจากระเบียงลงไปเป็นพื้นนอกชาน จากนอกชานมีบันไดลงไปพื้นชั้นล่าง

              นอกจากนี้เรือนส่วนใหญ่ในอดีตมักมีพื้นที่ระเบียงอยู่ทางด้านสกัดของเรือนนอน และระเบียงบริเวณหน้าบ้าน ระเบียงนี้จะมีหลังคาลาดเอียงหรือเทิบ (การเทินวัสดุที่ใช้ทำหลังคาเป็นชั้น ๆ ) คลุมยาวตลอดและมีผนังกั้นเรือนครัวจะอยู่ทางด้านหลังของเรือนทางทิศตะวันตกโดยวางขวางกับตัวเรือนหลักและมีหลังคาคลุมแยกนอกจากนี้ภายในบริเวณบ้านของแต่ละบ้านจะมียุ้งข้าว และในแต่ละกลุ่มบ้านจะมีบ่อน้ำบาดาลอยู่ด้วย ในปัจจุบันเรือนตามแบบแผนดั้งเดิมในชุมชนไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว จะพบแต่เพียงโครงสร้างบางส่วนของเรือนเก่าที่ถูกเก็บไว้ อย่างไรก็ตามจะพบเรือนพื้นถิ่นที่สร้างขึ้นในช่วง 40-60 ปี ซึ่งมีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในบริเวณหมู่ 1 เรือนเหล่านี้มีรูปแบบที่หลากหลายแต่มีองค์ประกอบของเรือนในชั้นสองที่คล้ายคลึงกัน คือเรือนนอนโถงและระเบียงเรือนนอนมี 3 ช่วงเสาวางตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เรือนนอนจะมีห้องในเรือนขนาด 1 ห้องเสาโดยมีประตูเข้าออกจากพื้นที่โล่งหน้าห้อง    จากเรือนนอนเป็นโถงเปิดโล่งขนานไปกับเรือน และมีระดับพื้นต่ำกว่าเรือนนอนประมาณ 15 เซนติเมตร ในบ้านส่วนใหญ่โถงนี้จะถูกเปิดโล่งแต่ในบางหลังพื้นที่โถงจะถูกกั้นเป็นห้องด้วย นอกจากนี้ในบ้านส่วนใหญ่จะพบพื้นที่โล่งอีกหนึ่งช่วงเสาขนานไปตามยาวกับโถงซึ่งมีทั้งที่มีระดับพื้นเดียวกับโถงและลดระดับลงไปประมาณ 15 เซนติเมตร การปิดล้อมมีทั้งผนังมีหน้าต่างและผนังระแนงไม่โปร่ง จากพื้นที่ภายในจึงเป็นระเบียงและมีบันไดลงสู่พื้นชั้นล่าง ในบ้านหลายหลังยังพบพื้นที่คล้ายระเบียงคลุมด้วยหลังคาลาดเอียงและปิดล้อมด้วยผนังมีหน้าต่างอยู่ ด้านสกัดของเรือนนอนและโถงบริเวณหน้าบ้านที่ติดกับทางสัญจรของชุมชน นอกจากนี้ยังพบโครงสร้างของเรือนครัวและยุ้งข้าวเดิมอยู่ทางด้านหลังบ้านแต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนการใช้สอย มีเพียงบางหลังที่มีห้องน้ำอยู่บนพื้นชั้นสองในบ้าน ส่วนใหญ่พื้นที่ใต้ถุนบ้านจะพบพื้นที่ครัว ซึ่งส่วนใหญ่มีการปิดล้อมแบบโปร่ง มีเพียงบางหลังที่มีการปิดล้อมด้วยผนังก่ออิฐฉาบปูนในบางส่วน และมักใช้เป็นห้องนอนนอกจากนี้จะพบห้องน้ำอยู่ในบริเวณบ้านชั้นล่างด้วยการคลุมหลังคาของเรือนที่สร้างขึ้นในช่วง 40-60 ปีพบใน 3 ลักษณะ คือ

    • เรือนหลังคาแฝด ซึ่งพบเป็นจำนวนน้อย หลังคาแฝดจะคลุมพื้นที่บริเวณเรือนนอนและโถงซึ่งเป็นโครงสร้าง 2 หลัง 9 เสา หลังคาบริเวณโถงมีขนาดเล็กและมีความสูงต่ำกว่าหลังคาเรือนนอน นอกจากนี้บริเวณระเบียงจะถูกคลุมด้วยหลังคาลาดเอียง

    • เรือนหลังคาเดี่ยวคลุมบริเวณเรือนนอน และโถงส่วนระเบียงจะถูกคลุมด้วยหลังคาลาดเอียงเรือนหลังคาเดี่ยวคลุมโครงสร้างบ้านทั้งหลังซึ่งมักเป็นหลังคาลาดเอียงต่ำและยื่นออกมาคลุมพื้นที่ชั้นล่างด้วย เรือนที่คลุมหลังคาในลักษณะนี้โดยมากไม่มีพื้นที่ระเบียง มีเพียงชานขนาดเล็กบริเวณบันไดเท่านั้น

    • นอกจากนี้ในบริเวณหมู่  1  ที่อยู่บริเวณริมถนนทางเข้าวัดโบสถ์ จะพบการสร้างหลังคาลาดเอียงจากผนังของชั้นสองเพื่อคลุมพื้นที่ใช้สอยชั้นล่างทำให้เกิดสุนทรียภาพการหลดหลั่นของอาคารกับสภาพแวดล้อมและสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับชุมชนหมู่ 1 อีกด้วย

              ในส่วนของลักษณะเรือน การปลูกสร้างเรือนหลายส่วนทำให้เห็นถึงการสืบทอดแบบแผนทางสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิมจากเวียงจันทน์ และในขณะเดียวกันมีการยอมรับทางวัฒนธรรมใหม่ร่วมไปด้วย การปลูกเรือนของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกที่เป็นเรือนไม้จริงในอดีตดั้งเดิม แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่อยู่อาศัยและวัฒนธรรมตั้งต้นของตนเอง เห็นได้ชัดจากการใช้แบบแผนของเรือนไทยภาคกลางอันได้แก่ลักษณะของผังเรือนที่มีเรือนนอนระเบียงและนอกชานและเรือนนอนที่มีห้องในเรือนมีผนังฝาปะกนและมีหลังคาจั่วทรงสูงแบบมีตัวเหงาการรับแบบแผนของเรือนไทยภาคกลาง น่าจะมาจากการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคซึ่งมีความร้อนชื้นสูงกว่าที่เมืองเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังน่าจะเป็นเหตุผลมาจากการแสดงสถานภาพทางสังคมของเจ้าของเรือน และการแสดงออกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในท้องถิ่นส่วนที่แสดงถึงการสืบทอดแบบแผนมาจากเรือนในเวียงจันทน์ ปรากฏในองค์ประกอบสถาปัตยกรรมบางส่วนรวมถึงภาษาที่ใช้เรียกองค์ประกอบเรือนในบางส่วนด้วยซึ่งมีดังนี้

    • เรือนไม้จริงส่วนใหญ่มิได้เป็นเรือนเดี่ยวล้อมรอบนอกชานแบบเรือนไทยภาคกลาง แต่มักเป็นเรือนหลังคาแฝดที่มีการลดหลั่นของโครงสร้างระหว่างเรือนนอนและโถงโครงสร้าง ภายในมีเสา  9  ต้นโดยมีองค์ประกอบต่าง ๆ ฝากไว้กับเสากลางเรือนซึ่งลักษณะคล้ายกับการมีเรือนใหญ่และเรือนน้อยตามแบบที่ปรากฏในเรือนเวียงจันทน์

    •  การปลูกสร้างเรือนในหมู่เครือญาติที่ต้องมีแนวอาคารที่ไม่เหลื่อมกันเพื่อเป็นการแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน

    •  พื้นที่ระเบียงด้านหน้าบ้านที่เชื่อมกับทางสัญจรหลักของชุมชนซึ่งคลุมด้วยหลังคาลาดเอียงโดยเรียกว่า“เทิบ” เช่นเดียวกับในเวียงจันทน์

              แบบแผนของการปลูกสร้างเรือนดั้งเดิมในตำบลบ้านเลือกเหล่านี้ ยังมีความคล้ายคลึงกับบ้านเรือนพื้นถิ่นที่พบในแหล่งที่เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวลาวตี้ในที่อื่น ๆ นอกเหนือจากในจังหวัดราชบุรี เช่น บ้านจร้าเก่า ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีและตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น นอกจากนี้แม้ว่าเรือนดั้งเดิมของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกจะมีลักษณะลำดับของพื้นที่ใช้สอยตามแบบเรือนไทยภาคกลาง ซึ่งมีเรือนนอน (ประกอบด้วยในเรือนและนอกเปิง) ระเบียงและนอกชาน แต่การใช้สอยที่ว่างในเรือนและการมีหิ้งคุณพระในพื้นที่นอกเปิง แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดแบบแผนวิถีชีวิตและความเชื่อจากเวียงจันทน์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการตั้งถิ่นฐานมาเป็นระยะเวลานานมากกว่า 200 ปี บ้านเรือนของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือก มีการปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของท้องที่โดยเฉพาะเรือนดั้งเดิมได้ถูกปรับเปลี่ยนไปมากและแม้ว่าจะพบความหลากหลายของลักษณะรูปทรงอาคารในกลุ่มเรือนที่มีอายุในช่วง 40-60 ปี ซึ่งมีทั้งเรือนที่มีรูปทรงภายนอกที่ยังคงแบบแผนของบ้านเรือนในอดีตและเรือนที่มีรูปทรงที่เรียบง่ายมากขึ้นแต่เรือนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำให้ทราบถึงการสืบทอดลักษณะทางสถาปัตยกรรมจากเรือนในอดีตของท้องถิ่นได้แก่ลักษณะของการวางทิศทางของเรือนและองค์ประกอบหลักของผังเรือนในพื้นชั้นบนซึ่งประกอบด้วยในเรือน นอกเปิง โถงนอกชานที่ถูกเปลี่ยนเป็นระเบียง เป็นต้น นอกจากนี้ในบางเรือนยังมีระเบียงที่คลุมด้วยเทิบบริเวณด้านหน้าบ้านที่ติดกับทางสัญจร ในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของเรือนในกลุ่มนี้ จะพบว่ามีการปรับเปลี่ยน การลดทอน เสื่อมสูญไป และการเพิ่มเติมขององค์ประกอบอาคารในหลายส่วน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิทัศน์ของชุมชน นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริเวณหน้าบ้านในหมู่ 1 ตำบลบ้านเลือก โดยการต่อเติมหลังคาต่อเนื่องจากชั้นสองเพื่อปกคลุมพื้นที่ชั้นล่างทำให้เกิดที่ว่างต่อเนื่องระหว่างภายในและภายนอก ในภาพรวมทำให้เกิดสุนทรียภาพของการลดหลั่นของเรือนกับสภาพแวดล้อมและเป็นการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้กับชุมชนเรือนพื้นถิ่นของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกที่ปลูกสร้างในช่วงหลังเหล่านี้ยังคงมีรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมบางประการที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาวลาวตี้ โดยเฉพาะในเรือนหลังคาจั่วแฝดและการมีพื้นที่ที่คล้ายระเบียงคลุมหลังคาลาดเอียงหน้าเรือน ในขณะเดียวกันเนื่องจากการแปรเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเรือนที่มีการผสมผสานกับลักษณะของเรือนไทยภาคกลางตั้งแต่ต้นจึงทำให้เรือนเหล่านี้มีความแตกต่างจากเรือนพื้นถิ่นของเวียงจันทน์อยู่หลายประการ การเปรียบเทียบเรือนพื้นถิ่นในทั้งสองสถานที่นี้ จะพบว่าในภาพรวมเรือนพื้นถิ่นของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกจะมีลักษณะของที่ว่างภายในที่โปร่งโล่งมากกว่า และมีพื้นที่ใช้สอยระหว่างภายในและภายนอกอาคารที่มากกว่าหรือมีพื้นที่ที่สร้างความต่อเนื่องที่ชัดเจนมากกว่าที่ปรากฏในเรือนพื้นถิ่นของเวียงจันทน์

              ในส่วนของลักษณะหมู่บ้าน หากพิจารณาจากองค์ประกอบของหมู่บ้านรูปแบบดั้งเดิม จะพบว่าหมู่บ้านของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกมีองค์ประกอบหลักคล้ายกับหมู่บ้านในเวียงจันทน์ กล่าวคือนอกจากบ้านเรือนแล้ว จะมีวัดและหอผีบ้าน (หรือศาลปู่โท่งในตำบลบ้านเลือก) ซึ่งทั้งสององค์ประกอบนี้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนที่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามในตำบลบ้านเลือกจะพบองค์ประกอบเพิ่มเติมคือ ศาลปู่ตาเจ้านายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความอบอุ่นใจและการอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขในบริบทสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนี้ ส่วนความคล้ายคลึงของลักษณะผังหมู่บ้านในตำบลบ้านเลือกเมื่อเปรียบเทียบกับในเวียงจันทน์นั้น ไม่ค่อยชัดเจนนักแต่ใน ตำบลบ้านเลือกจะพบว่ายังมีความเชื่อของการปลูกสร้างเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มของเครือญาติที่ควรเรียงแถวกัน โดยไม่เอามุมบ้านเข้าหากันมิฉะนั้นจะเกิดการทิ่มแทงกันระหว่างพี่น้องซึ่งมีความคล้ายคลึงกับหมู่บ้านในเวียงจันทน์

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              จากการสัมภาษณ์ชาวลาวตี้ถึงอาหารที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชน (วลัยภรณ์ บุญศรีสุทธิ์,2558) พบว่ามีอาหารหลายชนิดที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ และที่สำคัญคือใช้ปลาร้าเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับอาหารคาวแทบทุกชนิดรวมทั้งอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชุมชนอื่น เช่นแกงกะทิก็มักใส่ปลาร้า แกงลาวหรือแกงเปอะ ป่นปลา แกงผา ส่วนอาหารหวานชาวลาวตี้ เช่น ข้าวต้มหัวหงอก ขนมก้นกระทะ แป้งจี่ ข้าวจี่ ขนมข้าวปาดดา เป็นต้น

     

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              งานบุญ

              ชาวลาวตี้ประพฤติปฏิบัติตามครรลองฮีตสิบสองคลองสิบสี่เช่นเดียวกับชาวลาว ชาวอีสานโดยทั่วไป

              “ คําว่า ฮีตเป็นคำภาษาไทยอีสาน หมายถึง จารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งฮีตนี้จะต้องปฏิบัติเหมือนกันตั้งแต่ประชาชนธรรมดาจนถึงเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์เมื่อถึงคราววาระ และเดือนที่จะต้องประกอบพิธีกรรมตามฮีตแห่งแต่ละแห่ง แต่ละชุมชนจะต้องปฏิบัติเหมือนกันซึ่งมีทั้งหมด 12 ฮีตด้วยกัน แต่หากใครประพฤติฝ่าฝืนหรืองดเว้นไปไม่กระทําตามที่กําหนดไว้จะถือว่าผิดเป็นชั่ว

              ฮีตสิบสองของชาวอีสานเป็นฮีตที่บริสุทธิ์เป็นเรื่องของความเชื่อในพระพุทธศาสนาและประเพณีนิยม พื้นบ้านเป็นประเพณีที่สมาชิกในสังคมจะได้มีโอกาสร่วมชุมชนกันทําบุญประจําทุกๆ เดือนของรอบปีผลที่ได้รับคือทุกคนจะได้มีเวลาเข้าวัดใกล้ชิดกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นทําให้ได้มีโอกาสพบปะและรู้จักมักคุ้นกันรวมทั้งเป็นจารีตบังคับให้ทุก ๆ คนเสียสละและมาทํางานร่วมกัน เมื่อว่างจากงานประจําแล้ว ดังนั้นประเพณีฮีตสิบสองก็คือ ประเพณีสิบสองเดือน จึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปี

              ประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมานั้นล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กัน เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสมานสามัคคีมีความรักใคร่กันของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน ” (อิศราภรณ์ ประเสริฐศร, 2560 : 6-7)

              “ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ก็คือขนบธรรมเนียมประเพณี อ้างตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ฆราวาสกระทำต่อพระพุทธศาสนา กระทำต่อสงฆ์ และบุคคลกระทำต่อผู้มีพระคุณ แต่ส่วนมากจะอยู่ที่เรื่องการแสดงออกถึงความกตัญญู” (สุเชษฐ์ เชิงทวี, 16 กรกฎาคม 2562)  

              หากจะแยกประเภทของงานบุญ หรือฮีต 12 ตามจุดมุ่งหมายแล้วอาจแยกได้ดังนี้

    1. บุญที่เกี่ยวกับพระสงฆ์โดยตรง บุญลักษณะนี้จะมี6 บุญ หรือ 6 เดือน คือบุญเข้ากรรม บุญข้าวจี บุญเผวส บุญเข้าพรรษา บุญออก พรรษาและบุญกฐิน

    2. บุญที่เกี่ยวกับการทํามาหากิน บุญลักษณะนี้จะเกี่ยวกับการ ขอพรหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้เช่น ฟ้าฝน ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น จะมีอยู่ 2 บุญ คือ บุญคูณลาน และบุญบั้งไฟ

    3. บุญเกี่ยวกับขวัญกําลังใจในการดํารงชีพ บุญลักษณะนี้เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะอํานวยความสุข สวัสดิภาพให้มี2 บุญคือ บุญสงกรานต์และบุญซ้ําฮะ

    4. บุญที่เกี่ยวกับความกตัญญ บุญลักษณะนี้จะเน้นที่การ ทําบุญอุทิศเป็นสําคัญมี2 บุญคือ บุญข้าวประดับดิน และบุญข้าวสาก

  • ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • ประเพณีบุญข้าวกรรม หรือบุญเดือนอ้าย

              บุญเข้ากรรม คือบุญที่ทำขึ้นในเดือนอ้าย (เดือนเจียง) ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีที่ชาวอีสานจะต้องประกอบพิธีบุญกันจนเป็นประเพณีซึ่งอาจจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้พิธีบุญนี้จะเกี่ยวกับพระโดยตรงซึ่งความจริงน่าจะเป็นเรื่องของพระสงฆ์โดยเฉพาะ แต่มีความเชื่อกันว่าเมื่อทำบุญกับพระที่ทำพิธีนี้จะทำให้ได้อานิสงส์มาก ญาติโยมจึงคิดวันทำบุญเข้ากรรมขึ้นบุญเข้ากรรมที่บอกว่าเป็นบุญสำหรับพระโดยตรงนั้นเพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักรองจากปาราชิก) ซึ่งถือว่าเป็นครุกาบัติประเภทหนึ่ง ภิกษุเมื่อต้องอาบัตินี้แล้วจะต้องทำพิธีที่เรียกว่า “วุฏฐานวิธี”หรือพิธีเข้ากรรมตามที่ชาวพุทธทั่วไปรู้จักกัน

              ชาวลาวตี้จะทำบุญเมื่อพระสงฆ์เสร็จสิ้นทางการปฏิบัติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าท่านเป็นผู้ถือศีลบริสุทธิ์ เป็นระยะประมาณ 7 วัน

    “คนลาว เมื่อเห็นพระออกจากปริวาสกรรม ก็จะนำอาหาร ข้าวตอก ดอกไม้ ไปถวายแด่ท่าน ถือว่าเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ เพราะทำแด่พระผู้ถือศีลบริสุทธิ์”  (สุเชษฐ์ เชิงทวี, 16 กรกฎาคม 2562)

    • บุญข้าวจี่

              คือการนำข้าวเหนียวที่ปั้นแล้ว โรยเกลือทาไข่ไก่นำไปจี่ไฟให้สุกเรียกว่าข้าวจี่ การทำบุญ มีการให้ทานข้าวจี่เป็นต้น เรียกบุญข้าวจี่ การทำบุญข้าวจี่มีคนนิยมทำมาก เพราะถือว่าได้บุญกุศลมาก และเป็นการให้ทานชนิดหนึ่ง เวลาทำกำหนดเอาเดือนสาม เพราะมีกำหนดเช่นนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนสาม พิธีทำข้าวจี่ ชาวบ้านตัดฟืน และไม้เสียบมาไว้ที่เรือนของตน รุ่งเช้าจุดไฟขึ้นเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นปั้น ๆ โรยเกลือจี่ไฟเอาไข่ไก่ทาให้ทั่วแล้วจี่ไฟให้สุก เอาน้ำอ้อยยัดเข้าข้างในปั้นข้าวจี่กะให้พอดีที่จะกินและทาน แล้วนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันที่ศาลาโรงธรรม ญาติโยมก็มาพร้อมกันแล้วอาราธนาศีล ว่าคำถวายด้วยข้าวจี่ ญาติโยมยกอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วอนุโมทนาเสร็จพิธีถวายข้าวจี่ ต่อไปนี้พระสงฆ์ จะเทศน์ฉลองข้าวจี่และเทศน์หนังสือลำต่าง ๆ ตลอดวัน ปัจจุบันชาวไทยลาวตี้บางพื้นที่ ได้พัฒนาวิธีการทำข้าวจี่มาเป็นข้าวหลามแทนข้าวจี่ อาจจะเห็นว่าการทำข้าวจี่มีวิธีทำขั้นตอนมากไม่สะดวกต่อการนำไปทำบุญที่วัด จึงเปลี่ยนเป็นข้าวหลามแทนก็คงจะเป็นได้

    • บุญผะเหวด

              เป็นประเพณีเทศมหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ โดยมีที่มาเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 4 ปี ท่านก็ได้เสด็จกลับไปกรุงราชคฤห์เพื่อโปรดพระบิดา และได้เล่าเรื่องอดีตชาติให้พระบิดาของพระองค์ฟัง จึงเป็นที่มาของการเทศน์มหาชาติ กัณฑ์ แต่ในปัจจุบันชาวลาวตี้ในบางพื้นที่ได้ย้ายไปทำรวมกับประเพณีออกพรรษาเนื่องจากมีพระสงฆ์ไม่เพียงพอ

              บุญเผวส หรือพระเวสี คือคนที่ทำเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเวสสันดร นิยมทำ กันในวันใดวันหนึ่งของเดือนสี่ จึงเรียกบุญเผวส หรือบุญเดือนสี่ เป็นบุญที่มีการเทศมหาชาติ หรือ พระเวสสันดรชาดก ซึ่งแสดงถึงจริยวัตรของพระพุทธเจ้าคราวพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นหนังสือชาดกเรื่องยาว 13 ผูก (13 กัณฑ์) ภาคอีสานนั้นยึดถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ถือได้ว่าเป็นบุญใหญ่ผู้ใดที่ได้ฟังธรรม 13 กัณฑ์ได้วันเดียวให้หมดผูก จะได้ไปพบองค์เอกเจ้าศรีอาริยะทวยเทพ หรือ พระศรีอาริยะเมตไตรทั้งเมื่อได้ฟังแล้วจำจือปฏิบัติศีลทานธรรมดั่งพระองค์มีไว้ก็สามารถที่จะไปสู่นิพพาน ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดว่าอย่างงั้น เลยเป็นสาเหตุที่มีบุญเดือนสี่ หรือบุญพระเวสสืบต่อกันเรื่อยมา แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน บุญพระเวสถือเป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไป ของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน ๓ พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดีจะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า

    • ประเพณีเข้าพรรษา

              คำว่า “พรรษา” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายไว้ว่า ฤดูฝน, ฝน, ปีบุญนี้ชาวอีสานโบราณจะออกสำเนียงว่า “บุญเข้าวัดสา” คำว่า “วัดสา” ก็คือพรรษานั่นเอง เพราะคำว่าสาหรือวัดสา เป็นภาษาบาลีพรรษา เป็นภาษาสันสกฤตส่วนไทยปัจจุบันรวมทั้งคนไทยอีสานด้วยนิยมใช้คำว่า “พรรษา”

              ฮีตหรือบุญนี้ถือเป็นบุญที่มีความสำคัญมากต่อชาวอีสานและชาวไทยพุทธทั่วๆไป เพราะเป็นช่วงที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องเข้าจำพรรษาเป็นโอกาสที่พระจะต้องพักผ่อนศึกษาธรรมะ ไม่เดินทางสัญจรไปพักค้างที่คืนที่ไหน ชาวอีสานเชื่อกันว่าการทำบุญในวันเข้าพรรษาจะได้กุศลมากเหมือนการทำบุญวันออกพรรษา เพราะถือว่าพระที่จะเข้าพรรษาคือพระที่มีเจตนาสร้างบุญ สะสมบารมีมีจิตใจแน่วแน่มั่นคงในคำสอนหากไม่มั่นคงไม่ศรัทธาจริงจะต้องสิกขาไปก่อนแล้ว การทำบุญกับพระที่มีเจตนาดีจึงถือว่าได้อานิสงส์มาก

              ด้วยฮีตประเพณีนี้เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล ชาวอีสานจึงให้ความสำคัญมากดังจะเห็นจากลูกหลานแม้ไปทำงานอยู่ต่างถิ่นห่างไกลเมื่อถึงฤดูทำบุญนี้ก็จะต้องกลับบ้านเพื่อร่วมพิธีทำบุญเป็นการมาปวารณาตนเองต่อพระและญาติพี่น้องว่าเข้าพรรษานี้จะทำอะไรที่ดีมีประโยชน์บ้าง โดยไปร่วมทำบุญที่วัดและตั้งปรารถนา - ปวารณาในสถานที่เป็นบุญคือวัด แต่บางคนก็ไม่มีการปวารณาหรือตั้งตบะ เพียงกลับบ้านมาทำบุญร่วมกันญาติๆ เฉย ๆ

              นอกจากจะทำบุญ ตั้งตบะมาเพื่อสร้างบุญกุศลให้ตัวเองแล้ว บางแห่งยังมีการนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำใส่ขันไปเคารพบุคคลที่ตนเองนับถือ ชาวอีสานเรียกว่า “พ่อทำธรรม” บ้าง “พ่อฮักษา” บ้างเป็นเหมือนตัวแทนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวดา อาฮัก ชาวบ้านที่นำดอกไม้ธูปเทียน ไปเคารพเรียกว่า “ขึ้นต่อ” หรือ ลูกเผิ่งลูกเทียน” ใครเป็นลูกเผิ่งลูกเทียนของใครก็จะต้องนำสิ่งของดังกล่าวไปเคารพผู้นั้นแล้วให้ท่านผูกข้อมือประพรมน้ำมนต์บอกกล่าวฝากฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ลูก หลาน (ลูกเผิ่งลูกเทียน) อยู่เย็นเป็นสุข ครั้นถึงฤดูออกพรรษาก็จะกลับมาขอออกพรรษากับพ่อธรรมหรือพอหาฮักษาอีกที (อิศราภรณ์ ประเสริฐศร, 2560)

    • ประเพณีบุญออกพรรษา

              คำว่า “ออกพรรษา” ในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้ ความหมายไว้ว่า “ออกพรรษา น. เรียกวันที่สิ้นการจำพรรษาแห่งพระสงฆ์คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ว่าวันออกพรรษา, วันปวารณา หรือวันมหาปวารณาก็เรียก”

              จากความหมายที่ให้ไว้ข้างบนนั้นมีความชัดเจนมาก เมื่อดูพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคอีสาน ของสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติและของพจนานุกรมของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวก็มีความหมายเช่นเดียวกัน

              ส่วนความสำคัญนั้นย่อมแน่นอนที่สุดเพราะเป็นพิธีที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ที่สุดที่เป็นของพุทธ แต่มีพิธีกรรมบางอย่างที่เป็นของพราหมณ์มาแฝงเท่านั้น ดังนั้นพระและญาติโยมจึงเห็นความสำคัญ และให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านญาติโยมจะรอวันนี้กันมาก เพราะเชื่อกันว่าพระสงฆ์ได้อยู่จำ พรรษาเป็นเวลาไตรมาส( 3 เดือน)ย่อมมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องมีจริยวัตรงดงามจะนำมาซึ่งบุญ หากได้ ทำบุญกับพระในวันออกพรรษาจะได้บุญมาก ชาวอีสานสอนว่าเหมือนได้บุญกับพระที่กำลังออกจาก นิโรธสมาบัติ(การออกจากการพักผ่อนของพระอรหันต์) ย่อมได้ผลานิสงส์มากดังนั้นลูกหลานที่ไป ทำงานต่างถิ่นก็จะกลับคืนบ้านเกิดเพื่อมาทำบุญนี้และจะได้ไปออกพรรษาจาก “พ่อธรรม” หรือ “ของฮักษา” ที่ตนเองได้ไปบอกกล่าวเข้าพรรษาไว้แล้วด้วย (อิศราภรณ์ ประเสริฐศร, 2560)

    • ประเพณีบุญกฐิน  

              คำว่า “ กฐิน ” เป็นคำภาษาบาลีหมายถึง “ ไม้สะดึง” คือไม้ที่ทำเป็นกรอบสำหรับขึงผ้า เวลาจะเย็บผ้า (สมัยก่อน) ช่วยให้เย็บผ้าได้สะดวกขึ้นเพราะสมัยก่อนการจะทำจีวรหรือผ้านุ่งของพระ จะต้องนำผ้าเป็นชิ้น ๆ มาเย็บเป็นตา ๆ จำเป็นต้องใช้ไม้สะดึงเพื่อขึงผ้าให้ตึงจะได้เย็บง่ายดังกล่าว ดังนั้นผ้ากฐินคือผ้าสบง จีวร หรือผ้านุ่งห่มที่จะนำไปถวายพระนั้นเอง บุญกฐินจึงคือบุญที่ต้องนำเข้า ไปถวายพระเป็นสำคัญ

              บุญกฐินคือเป็นฮีตที่ 12 หรือประเพณีสุดท้ายของฮีตสิบสองของชาวอีสาน ที่ผู้นับถือ พระพุทธศาสนาจะพึงกระทำในการกำหนด หรือหมายรู้กันว่าจีวรที่ต้องนำไปถวายตามวัดนั้น ๆ ใน กาลกำหนดเพราะเหตุที่การทอดกฐินต้องทำในกาลและเวลากำหนดเช่นนี้เมื่อถึงกาลนั้นหรือถึงฤดูนั้น ถึงหน้านั้น เราจึงเรียกกันว่าเทศกาลกฐิน การทำเช่นนั้นจึงกลายเป็นประเพณีขึ้น ถ้าเป็นของพระสงฆ์ ก็หมายถึงว่าวินัยกรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นกิจของสงฆ์อันต้องทำในจีวรกาล ดังนั้นจึงมีกำหนดของการ ทอดกฐินในระหว่างข้างขึ้นเดือน 12

              บุญกฐินนับเป็นบุญที่มีความสำคัญมากกว่าชาวอีสาน เนื่องจากชาวอีสานถือว่าเป็นบุญที่จะ ให้อานิสงส์แก่ผู้ทำบุญอย่างมากเพราะมีความเชื่อว่าจะได้ทำบุญกับพระที่อยู่จำพรรษาครบไตรมาสคือ ว่าจะได้ถวายจีวรหรือกฐินให้พระที่มีความเพียรอดทนอยู่จำพรรษา และบุญกฐินถือเป็นบุญที่อยู่ ในช่วงข้าวใหม่ปลามัน ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เก็บเกี่ยวผลผลิตมีความภูมิใจกับจุดประสงค์ของตนเอง โดยเฉพาะได้นำเข้าใหม่มาร่วมทำบุญจึงถึงว่าการทำบุญในเดือนนี้ได้ผลานิสงค์มาก (อิศราภรณ์ ประเสริฐศร, 2560)

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              รัชฎา สุขแสงสุวรรณ (2547) ได้กล่าวถึงประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชาวลาวตี้ที่บ้านเนินขาม จังหวัดชัยนาท ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีว่า เด็กเมื่อแรกเกิด ชาวลาวตี้จะนำ “เด็กไปใส่ในกระด้ง” ใช้ผ้าปูเรียบร้อยบริเวณกระด้ง จะนำต้นไม้ที่มีหนาม นำกิ่งไม้ที่มีหนามมาวางไว้รอบ ๆ กระด้ง เชื่อกันว่าเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจมาทำอันตราย

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              การแต่งงานหรือพิธีกินดองของคนลาวตี้ ถือได้ว่าเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตประเพณีหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของตน สมัยก่อน เมื่อหนุ่มสาวชาวลาวตี้ตกลงที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฝ่ายชายจะจัดขันหมากมาสู่ขอหญิงเพื่อมาเป็นภรรยา เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเตรียมจัดหาของสำหรับพิธีกินดอง ในวันพิธีกินดองฝ่ายชายจะเตรียมยกขันหมากไปที่บ้านของฝ่ายหญิง เมื่อไปถึงบ้านของหญิงก็จะมีตรวจนับเงินค่าดอง และมอบให้พ่อแม่ของเจ้าสาว จากนั้นคู่บ่าวสาวจึงมานั่งเพื่อทำการผูกข้อมือ และป้อนไข่ขวัญให้แก่กัน เสร็จแล้วบ่าวสาวจะนำดอกไม้ ธูป เทียน และผ้าไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย เสร็จแล้วเจ้าบ่างและญาติพี่น้องก็จะกลับไปบ้านของตน เมื่อได้เวลา ๒ – ๓ ทุ่ม ญาติพี่น้องเจ้าบ่าวจะนำเจ้าบ่าวไปส่งที่บ้านสาวเพื่อทำพิธีปูที่นอน และสั่งสอน อบรมคู่บ่าวสาวในเรื่องของการใช้ชีวิตคู่

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              เมื่อมีคนตายในบ้าน สมัยโบราณของชาวลาวตี้ มักจะนำกระดาน อาจเป็นกระดานพื้นบ้าน หรือเลื่อยไม้อื่นออกเป็นแผ่นนำมาประกอบกันเข้าใช้ทำเป็นโลงศพ ตั้งศพไว้ในบ้าน 1 หรือ 2 คืน นิมนต์พระมาสวดอภิธรรม เสร็จแล้วเช้าของวันรุ่งขึ้นของการสวดพระอภิธรรมก็จะถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุที่มาสวดที่บ้าน เมื่อบำเพ็ญกุศลภายในบ้าน 1 หรือ 2 คืนแล้ว ก็จะนำศพออกนอกบ้านไปยังป่าช้า ส่วนใหญ่อยู่ในวัด นำศพตั้งไว้บนกองฟอน ส่วนใหญ่จะตั้งเสาสี่ต้น นำฟืนสุมไว้ในบริเวณเสาทั้งสี่ต้น ชาวบ้านที่ไปเผาจะช่วยกันนำฟืนคนละท่อนสองท่อน หรือขี้ไต้ นำไปวางกองที่กองฟอน สัปเหร่อก็จะทำพิธีเปิดโลงนำมะพร้าวที่ปอกเปลือกแล้ว ผ่าเอาน้ำมะพร้าวรดศพตั้งแต่หัวจนถึงเท้า การเผาศพจะหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ชาวบ้านที่ไปเผาก็จะทยอยใช้ไต้จุดฟืน พระสงฆ์ก็จะสวดมาติกา เผาเสร็จแล้วเช้าก็จะนิมนต์พระไปสวดและเก็บกระดูกส่วนต่าง ๆ ใส่ในโกศ นำไปไว้ที่บ้านหรือฝากไว้ในเจดีย์วัด เพื่อรอทำบุญกระดูกต่อไป

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • ประเพณีบุญชำฮะ

                        เป็นประเพณีการทำบุญก่อนเข้าพรรษา ชาวลาวตี้จะทำความสะอาดบ้านให้สะอาดก่อนจะเข้าหน้าฝน จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด

              บุญชำฮะ คือบุญที่จัดทำขึ้นเพื่อทำพิธีปัดรังควาน ขับไล่ความเสนียดจังไรภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน บางแห่งเรียกว่า “บุญเบิกบ้าน” บางแห่งเรียกว่า “บุญบ้าน” เฉยๆบางบ้านที่เป็นหมู่บ้านใหญ่อาจแบ่งกันทำเป็นคุ้มไป จึงเรียกว่า “บุญคุ้ม” ก็มีแม้จะเรียกต่างกันแต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้านนั่นเอง

              สำหรับความสำคัญของบุญนี้นั้นชาวอีสานถือว่าสำคัญมากจะเรียกว่ามากกว่าฮีตอื่นๆ ก็ว่าได้เพราะฮีตหรือบุญนี้แต่ละหมู่บ้านจะทำกันมิได้ขาด ถือว่าเป็นบุญที่เกี่ยวกับภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีประจำหมู่บ้านมีผีปู่ตาผีตา ผีตาแฮก มเหศักดิ์หลักเมือง ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้านเป็นต้น บุญนี้จะเลี้ยงทั้งหมดที่กล่าวมาซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นผีที่ใกล้ตัวมาก เพราะเป็นที่รวมของผีอาฮักหรืออารักษ์ที่ผีบรรพบุรุษรวมอยู่ด้วย บรรดาผีดังกล่าวจะช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข (อิศราภรณ์ ประเสริฐศร, 2560)

    • ประเพณีบุญข้าวประดับดินหรือบุญย้ายหม้อข้าว

              คำว่า “ข้าวประดับดิน” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2538 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ข้าวประดับดิน (ถิ่นอีสาน) น. ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพและพระเจดีย์เวลาเช้ามืดเดือน 9”

              ความหมายตามพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ข้าวประดับดิน น. ชื่องาน บุญสิ้นเดือน 9 บุญข้าวสากน้อยก็เรียก : ชื่ออาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ที่จัดใส่กระทงหรือภาชนะอื่น ๆ วางไว้ตามพื้นดินหรือโคนต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ

              บุญนี้มีความสำคัญต่อชาวอีสานมากเพราะชาวอีสานจะมีความเชื่อเดิมเกี่ยวกับผีมาตั้งแต่โบราณกาลและฝังรากลึกจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของชาวอีสาน บุญประเพณีนี้จึงได้รับการปฎิบัติสืบทอดมาไม่ขาดระยะ ชาวอีสานจะมีความเชื่อเกี่ยวกับฮีตนี้คล้าย ๆ กับฮีตที่ 10 คือบุญข้าวสากที่จะต้องส่งส่วยให้ผีอาฮักและผีบรรพบุรุษ เพื่อให้ผีดังกล่าวช่วยดลบันดาลให้ชีวิตความเป็นอยู่ ทรัพย์สิ่งของ ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่มีภัยร้ายใด ๆ มาเยือน (อิศราภรณ์ ประเสริฐศร, 2560)

     

    • ประเพณีบุญข้าวสาก

              เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อทำการขอสุมาลาโทษต่อกัน ตามความเชื่อของชาวลาวตี้

              บุญข้าวสากเป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายหรือเปรต เป็นการทำบุญอุทิศให้เปรตอีก

              ครั้งหนึ่ง โดยมีเวลาห่างจากเวลาของบุญข้าวประดับดินเพียง 15 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เปรตต้องกลับไปที่อยู่ของตน บุญทั้ง 2 บุญนี้มีลักษณะคล้ายกันคือการทำข้าวห่อส่งให้เปรต ซึ่งรวมถึงบรรพบุรุษญาติพี่น้องของผู้ทำบุญ และเปรตไม่มีญาติด้วย ด้วยเหตุเป็นบุญที่ทำเพื่อคนนับถือนี้เองชาวอีสานจึงทำบุญต่อเนื่องไม่เคยขาดแม้แต่ปีเดียว และทุกคนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับบุญมีมาก จะพากันทำอย่างกระตือรือร้นเพราะเชื่อกันว่าผีบรรพบุรุษจะมีความหิว กำลังรอส่วนบุญจากนานี้เมื่อถึงงานบุญจึงพากันทำอย่างศรัทธา

              ที่สำคัญของงานนี้คือญาติพี่น้อง แม้จะอยู่ต่างถิ่นก็ต้องกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนกัน ลูกหลานไปเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย โดยนำผลไม้ข้าว หมาก พลูบุหรี่ ไปฝากด้วย ส่วน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็จะตอบแทนด้วยสิ่งของลักษณะคล้ายกัน แต่บางแห่งนิยมให้เงินแก่ละหลาน ๆ จึงทำให้บรรดาหลาน ๆอาสาพ่อแม่ไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย เพราะได้เงินตอบแทน และสิ่งที่เกือบทุกท้องที่มีเหมือนกันคือข้าวตอกและเข้าพอง ลูกหลานเมื่อไปเยี่ยม พ่อแม่ ปู่ย่า มักจะได้สิ่งดังกล่าวเสมอ (อิศราภรณ์ ประเสริฐศร, 2560)

     

  • ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • วันสารทลาว (แก้ข้าวห่อ)

              เป็นประเพณีของชาวไทย เชื้อสายลาวตี้ จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เพื่อให้พี่น้อง ลูกหลานที่ไปทำมาหากินต่างถิ่นกลับมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันนี้ชาวลาวตี้จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามแบบชาวลาวตี้โดยเริ่มพิธีตั้งแต่ เวลาประมาณ 09.00 น. จะนำสำรับอาหารคาว หวาน ที่เรียกว่า “พาเวน” โดยจะมีอาหารคาว 2 - 3 อย่าง อาหารหวานจำพวกขนมหม้อแกง ทองหยิบ ทองหยอดและผลไม้ต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้คือ กระยาสารท โดยนำอาหารมาถวายเพลที่วัด เจ้าของพาเวนจะต้องจุดเทียนไว้ที่พาเวนของตน เมื่อพระสงฆ์มาติกาบังสุกุล ผู้ที่มาทำบุญจะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีทางสงฆ์ ญาติโยมทั้งหลายจะนำห่อข้าวน้อย เป็นห่อข้าวที่ทำเป็นคู่ ๆ ข้างในจะมีข้าวปลาอาหาร นำไปวางไว้ที่บริเวณเจดีย์เก็บอัฐิ โดยการแก้ข้าวที่ห่อมาวางเรียงรายไว้ และจุดธูปปักไว้เป็นการเชื้อเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อมารับเอาส่วนบุญส่วนกุศล และนำบางส่วนไปแขวนไว้ตามต้นไม้ โดยมีความเชื่อว่า เป็นการทำบุญให้กับผีที่ไม่มีญาติ การทำบุญสารทลาวนี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งตามกิริยาที่มีการแก้ข้าวของที่มาห่อมา ว่าการทำบุญแก้ข้าวห่อ

  • ประเพณีอื่น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • การบวช

              ชาวลาวตี้โดยปกตินับถือพุทธศาสนา เมื่อลูกชายอายุครบบวชคืออายุ 20 ปีบริบูรณ์ทุกคนจะต้องบวชเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ และถือกันว่าคนบวชแล้วเป็นผู้ใหญ่ บรรลุนิติภาวะ เป็นคนสุกไม่เป็นคนดิบ ถ้ายังไม่ได้บวช พ่อแม่ที่มีลูกสาวจะไม่ยอมให้แต่งงานด้วย การจัดงานบวชก็จะเชิญญาติพี่น้องที่เคารพนับถือมาแห่แหนนำนาคไปอุปสมบท ส่วนใหญ่ก็จะมีแตรมโหรี หรือกลองยาวแห่นาครอบพระอุโบสถ 3 รอบ และมีผ้าคลุมหัวนาคที่แม่ของนาคเป็นผู้ทอขึ้น การทอจะประณีตงดงามเป็นพิเศษ (ผ้าพื้นเป็นผ้าสีขาวแต่ต่างจากซิ่นตีนจกซึ่งเป็นสีแดง ลายหลักตรงกึ่งกลางผ้าเป็นลายจกที่โดยปกติเป็นลายนาค  ส่วนลายประกอบขนาบสองด้านเป็นลายจกสลับขิด)  แล้วจึงเข้าพระอุโบสถเป็นเสร็จพิธีประเพณีการบวช

    • ประเพณีไต้ดอกไม้

              เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายลาวตี้ในจังหวัดราชบุรี ได้สูญหายไปเกือบ 30 ปี แล้วได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยพระครูวิธาณปุญญาวัตนจิรปุญโญ เจ้าอาวาสวัดสระพัง คุณฉวี ใจภักดี ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลคนแรก และคณะกรรมการหมู่บ้านตามตำนานทางพุทธศาสนา กล่าวไว้ว่า ในระหว่างฤดูเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อแสดงธรรมในให้พระมารดาฟัง เมื่อเสร็จกิจแล้ว ได้เสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ และได้รับการต้อนรับจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อเป็นการระลึกถึงวันนี้ในพุทธกาล ชาวลาวตี้จึงได้จัดงานประเพณี “ไต้ดอกไม้” ในเวลากลางคืน มีกำหนด 3 วัน คือ ขึ้น 15 ค่ำ และ แรม 1 ,2 ค่ำ เดือน 11 ในช่วงออกพรรษา

  • การขึ้นปีใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • บุญเดือนห้าหรือบุญสงกรานต์

              เป็นงานประเพณีของชาวไทยทุกภูมิภาค และอยู่ในฮีตสิบสองของชาวลาวชาวอีสาน ชาวบ้านทักเรียกว่า บุญเดือนห้า หรือ บุญรดน้ำ โดยมี วันที่ 13เมษายน เรียกว่า มื้อสงกรานต์ล่อง หรือ มื้อสงกรานต์พ่าย วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า มื้อเนา ทำการแห่ดอกไม้ ตกแต่งขบวนด้วยดอกไม้ต่าง ๆ สรงน้ำพระและผู้สูงอายุ รวมทั้งคนในหมู่บ้านมอบเสื้อผ้าใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุ วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า มื้อสงกรานต์ขึ้น เป็นการรดน้ำผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัว ชาวลาวจะมีงานบุญต่อเนื่อง 7 วันบ้าง 14 วันบ้าง เพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่ว่างจากฤดูเก็บเกี่ยว อีกประการหนึ่งชาวลาวจะถือกันว่าเป็นการรื่นเริง มีใจเบิกบาน สนุกสนาน ร่วมงานบุญงานกุศลในวันสงกรานต์ เป็นนิมิตอันดีที่จะรับโชคชัย ได้รับความสำเร็จในปีใหม่ ฉะนั้นทุกคนจะละจากหน้าที่การงานเพื่อร่วมกิจกรรมบุญประเพณีตลอดงานบุญสงกรานต์ นอกจากการสาดน้ำแล้วฮดสรงอันหมายถึง การรดน้ำ (หรือสรงน้ำ) ยังเป็นสิ่งที่ชาวลาวตี้ทำในงานบุญเดือน 5 อีกด้วย ซึ่งมีการรดน้ำพระสงฆ์ พระพุทธรูป ตลอดไปถึงเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เป็นการแสดงความเคารพนับถือ ศรัทธาต่อสิ่งที่กรดนั้นการรดก็ต้องใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล คือ น้ำพระพุทธมนต์ หรือน้ำที่ผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์มาแล้วทั้งสิ้น (บุญเดือนห้า, 2555; รัชฎา สุขแสงสุวรรณ, 2547 : 39 - 40)

  • เทศกาลเพาะปลูกของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • ประเพณีบุญบั้งไฟ

              จัดขึ้นตามความเชื่อแต่ดั้งเดิมเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาลจะได้มีน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวลาวตี้ โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึงการที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟ หากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้าน ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหก หรือพฤษภาคมของทุกปี ปัจจุบันยังคงสืบทอดประเพณีนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี (กานต์ชนิด จาวิเศษ และ พันธ์นี ตุ่มศรียา, 2558)

  • เทศกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • ประเพณีบุญคูณลาน

              บุญคูณลาน หากจะให้ความหมายตามสาระพิธีแล้วก็คือ บุญที่ทำขึ้นเพื่อทำขวัญข้าวเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชาวบ้านและเป็นการบูชาขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าว ไม่ว่าจะเป็นผีปู่ตา ผีตาแฮก หรือเจ้าแม่โพสพเป็นต้น ที่ประทานข้าวมาอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นการทำบุญเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ปัจจุบันไม่ปรากฏประเพณีแล้วเนื่องจากวิถีชีวิตของชาวลาวตี้ที่เปลี่ยนไป และชาวลาวตี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมน้อยลง

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              นอกจากพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่ชาวลาวตี้นับถือเหมือนชาวไทยโดยทั่วไปแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ การนับถือผีของชาวลาวตี้เป็นการนับถือผีตามบรรพบุรุษ 2 ฝ่าย คือผีเจ้านายและผีเทวดา ซึ่งการนับถือผีนี้มีอิทธิพลต่อพวกเขามากในแง่ของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรมหรือการดำรงชีวิตประจำวัน ก็จะต้องไปข้องเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ หากจะมีงานพิธีใดที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิต ชาวลาวตี้จะทำการบอกกล่าวผีของตนให้ทราบ ในการติดต่อกับวิญญาณตลอดจนพิธีกรรมเลี้ยงผีต่าง ๆ จะเป็นหน้าที่ของคนต้น หากเป็นผีฝ่ายเทวดาซึ่งตำแหน่งคนต้นนี้จะเป็นตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิต ส่วนผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณของฝ่ายเจ้านายคือกวน ชาวบ้านจะให้ความเคารพนับถือคนต้นและกวนเป็นอันมาก (วีรวัฒน์ วรายน, 2548: 18-20)

    “ก่อนที่จะนับถือศาสนาพุทธ เราก็นับถือผี ดังนั้นความเชื่อจึงมีอยู่ 2 อย่าง ผี คือ ผีบ้าน ผีเรือน สารพัดผี อะไรที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อะไรที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ก็เรียกว่าผี แต่พอมีศาสนาเข้ามา เราก็มาเชื่อตามศาสนาพุทธ สมัยก่อนเมืองไหนมีศาสนาเข้ามา ก็มีแต่ความเจริญ แถมยังใช้ศีล 5 เป็นรัฐธรรมนูนในการปกครองคนด้วย” (สุเชษฐ์ เชิงทวี, 16 กรกฎาคม 2562)

  • พิธีกรรมสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :
    • พิธีเบิกหอบ้าน

              เป็นพิธีที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อแสดงความเคารพสักการะผีบรรพบุรุษซึ่งเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะเป็นผีที่ให้ความคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งชาวบ้านที่อยู่ในชุมชน และชาวบ้านที่เดินทางไปหางานนอกชุมชน แต่เดิมนั้นจะเป็นพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษโดยเฉพาะ แต่เมื่อได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ชาวลาวตี้จึงได้นาเอาพิธีทางศาสนาพุทธเข้ามาผสมผสานด้วยโดยจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในพิธี สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่าง ผี และพุทธ ในพิธีเดียวกัน

    • พิธีไต้หางประทีป

              เป็นพิธีที่ชาวลาวตี้ตลอดจนภิกษุสามเณรจุดประทีปโคมไฟ เพื่อเป็นพุทธบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันออกพรรษาเป็นเวลา 3 วันชาวบ้านจะร่วมกับวัดจัดสร้าง “ฮ้านประทีป” ขึ้นที่หน้าพระอุโบสถ ฮ้านประทีปสร้างด้วยเสาสี่ต้นใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นได้ตามความเหมาะสม ประดับด้วยต้นกล้วยต้นอ้อยระหว่างเสาสี่ต้นนั้น ยกพื้นสูงประมาณหนึ่งเมตรพื้นของฮ้านประทีปทำด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะตาห่างๆ ทาพิธี 3 วันในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 11

    • พิธีไต้หางพระทราย

              คือการบูชาพระทรายในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในพิธีนี้จะเริ่มจากการการสรงน้ำพระและแห่ดอกไม้รอบหมู่บ้านในช่วงเย็นของแต่ละวันเป็นเวลา 3 วัน หลังจากการแห่งดอกไม้แล้วชาวลาวตี้จะช่วยกันขนทรายเข้ามาก่อกองทรายหลาย ๆ กองไว้ในบริเวณวัด มีไม้ไผ่ปักไว้เป็นเสากลางนาดอกไม้ธูปเทียนมามาปักไว้รอบกองทรายที่ก่อไว้ จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และตามด้วยกิจกรรมรื่นเริง รำวง ลำแคน ด้วยความสนุกสนาน

    การบายศรีสู่ขวัญ

    เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตัว อวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน เจริญก้าวหน้าประสบโชคชัย ปลอบประโลมจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง ปราศจากความกลัว หากเดินทางก็ให้ปลอดภัย นิยมทำพิธีในโอกาสอันเป็นมงคลต่าง ๆ เช่น การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญแต่งงาน การสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ การสู่ขวัญโชคชัย

     

    • พิธีไหว้ครูบูชาเตา

              เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในชุมชนลาวตี้บ้านไผ่หนอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มชาติพันธุ์ลาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ มีประวัติความเป็นมาว่า เป็นชาวลาวเวียงจันทน์ หรือเรียกว่าลาวตี้จากประเทศลาว เดินทางอพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวลาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้เดิมประกอบอาชีพช่างทองและช่างตีเหล็กเป็นหลัก (ชุมชนบ้านไผ่หนอง, 2553) ประกอบพิธีกันในวันข้างขึ้นเดือน 6 ซึ่งตรงกับวันพฤหัส ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพตีมีดจะทำทุกปี โดยถือเป็นการไหว้บูชาพระภูมิ พระแม่ธรณีบูชาเทพเจ้า (พระวิษณุกรรม) รวมถึงนำ เครื่องมือที่ใช้ในการตีมีดทุกชิ้นที่ใช้มาตลอดปีที่มีการชำรุดเสียหาย มาทำการซ่อมให้อยู่ในสภาพดี ทำความสะอาด ทาสี ปั้นเตาใหม่ ก่อนจะมีการประกอบพิธีไหว้ครูบูชาเตา

              การไหว้ครูหรือไหว้ครูบูชาเตา เป็นประเพณีที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและจิตวิญญาณของชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยจะทำกันปีละครั้ง หลังวันสงกรานต์ ผู้ใหญ่จะประชุมหารือกำหนดวันไหว้ครู ซึ่งจะจัดบูชาในวันพฤหัสบดี ช่วงเช้าตรู่ของวันที่เป็นข้างขึ้น เดือน 6 (ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม) ตามแต่ความสะดวก (กระทรวงวัฒนธรรม,2556) เมื่อตกลงวันทำพิธีได้แล้วทุกบ้านจะลงมือซ่อมเครื่องมือต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนกำหนดหนึ่งหรือสองวันและทำความสะอาด เครื่องมือ จากนั้นนำมาวางไว้ในที่อันสมควรและเตาเผาเหล็กจะต้องปั้นกันขึ้นมาใหม่ ต้องเตรียมเครื่องสังเวยไหว้ครูให้ครบ มีเครื่องบูชาพระพุทธแต่งเป็นขันธ์ห้า มีข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน กรวยดอกไม้ 5 กรวย เครื่องบูชา มีดอกไม้ ธูปเทียน ด้ายสายสิญจน์ ทองคำเปลว น้ำหอม แป้งกระแจะ เครื่องนุ่งห่ม แก้วแหวนเงินทอง ผ้าไหม-ผ้าม่วง โตก บายศรี ขนมต้มขาว และเตรียมดอกไม้ เช่น ใบคูณ ดอกดาวเรือง ดอกบานชื่น ดอกบานไม่รู้โรย ใบทอง ใบเงิน ใบนาค ใบยอเล็ก ใบชมชื่น (หรือจะเป็นดอกไม้ชนิดอื่นที่มีในพื้นที่ บางทีอาจหาไม่ได้ทั้งหมดดังที่กล่าวมา) ใส่ไว้ในกรวย ส่วนเครื่องสังเวยก็มี หมู ไก่ เหล้า หมากพลู-บุหรี่ เป็นต้น เมื่อวันพิธีผู้ใหญ่ภายในบ้าน หรือบางทีเรียกว่า “นายเตา”จะนำเครื่องบูชาพระ อาหารคาวหวาน เครื่องบูชาพระภูมิ พระแม่ธรณี ส่วนเครื่องสังเวยต่าง ๆ ที่ตระเตรียมไว้ต้องนำมาวางไว้ที่เครื่องมือ แล้วทำพิธีสวดโองการเชิญเทพเจ้ามาเป็นสิริมงคลแล้วในพิธีไหว้ครูบูชาเตา จะมีคำอัญเชิญครู (คาบมีด) ซึ่งเป็นบทสวดสำคัญในการทำพิธี และหลังจากกล่าวคำอัญเชิญครูเสร็จสิ้น ผู้ใหญ่จะเรียกลูกหลานมากราบไหว้ ขอพรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นมงคลแก่ทุกคน พอธูปหมดดอกแล้ว ผู้ใหญ่จะเสสัง (เลิกพิธี) และจะเรียกทุกคนมาช่วยกันผูกกรวยดอกไม้ติดกับเครื่องมือทุกชิ้น เจิมด้วยแป้งกระแจะหอม และติดด้วยทองคำเปลว เหล้าที่นำไปไหว้นั้นทุกคนจะต้องดื่ม เพราะถือว่าเป็นน้ำอำมฤตของครูบาอาจารย์ ซึ่งประสิทธิ์ประสาทให้เขาเหล่านั้นประสบแต่ความสำเร็จ จากนั้นยกขันโตกบายศรีมาวางไว้กลางหมู่บ้าน ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ จะผูกขวัญ (ด้วยสายสิญจน์ผูกข้อมือ) ให้ศีลให้พรแก่ลูกหลานทุกคน ผู้ใหญ่จะให้ลูกหลานเรียกญาติและผู้ที่เคารพนับถือมาที่บ้านตนซึ่งทำอย่างนี้ทุกบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลระหว่างกัน สำหรับในวันนั้นทุกบ้านจะต้อนรับทุกคนที่มาเยือนด้วยเหล้า อาหาร อย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ทุก ๆ ปี ชุมชนแห่งนี้ยังรักษาประเพณี ไว้เสมอนับเป็นประเพณีอันดีงาม โดยเฉพาะวันนั้นเขาถือเป็นวันมงคล เรื่องอัปมงคลจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งการประกอบพิธีไหว้ครูบูชาเตานี้ ถ้าตรงกับวันพระก็จะเลื่อนไปเพราะในสมัยโบราณการทำมีดก็จะหยุดทุกวันพระเช่นกัน

    • การไหว้พระพิษณุกรรม

              การไหว้พระวิษณุกรรม ซึ่งเชื่อว่าเป็นครูใหญ่ของช่างทั้งปวง โดยเฉพาะช่างตีมีด ซึ่งชาวบ้านที่ประกอบอาชีพตีมีดเมื่อถึงพิธีไหว้ครูบูชาเตาจะต้องเตรียมเครื่องบูชาเทพเจ้า (พระวิษณุกรรม) ด้วย พ่อกำนันบัญญัติ คำศรี เป็นผู้สร้างพระวิษณุกรรม เข้าใจว่า คือ พระเพชรฉลูกรรณ เป็นองค์เดียวกัน เป็นเทพเจ้าแห่งช่างยึดมั่นในเครื่องมือเครื่องใช้ไม่ให้ข้ามเพราะเป็น สิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตซึ่งการไหว้พระวิษณุกรรมสำหรับเครื่องเซ่นไหว้ พระวิษณุกรรม เป็นอาหารคาวหวาน ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน ในการไหว้พระวิษณุกรรมของชุมชนในปัจจุบันพบว่า มีผู้ยึดถือปฏิบัติกันมีไม่กี่ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ หลังพิธีไหว้ครูบูชาเตาเสร็จสิ้น หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะเดินทางมาไหว้พระวิษณุกรรมที่วัดมเหยงค์ ในหมู่บ้านไผ่หนองต่อเป็นอันเสร็จพิธีกรรม (บัญญัติ คำศรี, สัมภาษณ์ 28 เมษายน 2559)

  • การทำนาย โหราศาสตร์/ไสยศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตชาวลาวตี้ บ้านทุ่งนา ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นชุมชนชาวตี้ใกล้กับบ้านผาทั่งพบว่า ระบบเวลา เป็นกระบวนทางความคิดที่สำคัญของสังคมลาว เวลาและพื้นที่เป็นแบบแผนการประพฤติของมนุษย์ในสังคมลาว เพื่อสร้างสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยมีตำราพรหมชาติ เป็นบทบันทึกเป็นขุมความรู้นอกระบบพุทธศาสนาและเป็นแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ การเลือกคู่และการสร้างบ้านที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของนาคเกี่ยวข้องกับพื้นที่และเวลา กฎการเปลี่ยนแปลงของคู่ขัดแย้ง พลังของคู่ตรงข้าม การเคลื่อนที่และการหยุดนิ่งของร่างบนพื้นที่และเวลากระทำเป็นรูปพฤติกรรมการนอนหมุนของนาคในรอบปี

              นาคสมพงษ์ เป็นวิธีการดูคู่ชายหญิงที่มาอยู่ร่วมกันว่าเหมาะสมกันดีหรือไม่ ผ่านปีเกิดของคนทั้งสอง ฝ่ายชายนับเวลาจากทางหัวนาค แต่ฝ่ายหญิงนับเริ่มต้นจากทางหางนาค หากเวลาของทั้งคู่นับลงในภาพนาคที่มีจุดเวลาที่มีเส้นกำกับอยู่ถ้าเส้นเวลาของทั้งสองฝ่ายมาบรรจบกัน จากเส้นในภาพนาคถือว่าดี ถ้าจุดเวลาของทั้งคู่ไม่มีเส้นที่บรรจบกันก็ถือเป็นคู่ที่ไม่เหมาะสม ฉะนั้นเส้นทั้งสองที่เกิดตรงข้ามกันเดินมาบรรจบกันเป็นมุมแหลม ย่อมชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่ลงตัวของชีวิตคู่

              ราปลูกเรือน ทั้งเสาบ้านและเสาหลักเมืองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสถาปัตยกรรม การตัดไม้เพื่อทำเสาบ้านของคนลาวจำต้องผ่านการคัดเลือกลักษณะไม้อย่างเคร่งครัด บางครั้งไม้ที่ตัดมาเป็นจำนวนมาก สามารถนำมาเป็นเสาบ้านได้เพียงครึ่งเดียว ก่อนตัดไม้ ต้องกระทำพิธีการทักไม้ ดังนี้ “ไม้ต้นนี้อูดหลูดคือหมูสี ง่ายาวฮีคือหางนาค ง่าซูกลูกซากลากคือหางหงษ์ ง่าโซงโลงคือเพิ่นซิงเอาถางคำมาห้อย ง่าอู้ซู้อ้อยซ้อยคือเพิ่นไถ่ข้อยแล่นมา โฮม โอม สหมติด” (ทองไร เพ็งอุ่น, 2537) การขุดหลุมผังเสาบ้านต้องเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของนาคในกรอบของพื้นที่และเวลา

              นาคเป็นความรู้ที่เป็นระเบียบแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ที่สำคัญในการเลือกคู่ครอง และการปลูกบ้านสร้างเรือน โดยแนวความคิดเรื่องนาคนี้มีบทบาทโดดเด่นต่อสถาบันครอบครัวในโครงสร้างสังคม การปรากฏตัวของนาคในสังคมบ้านทุ่งนา และสังคมลาว โดยทั่วไปเป็นในลักษณะการเลือกคู่ครองและการสร้างบ้าน

              บ้านถือเป็นศูนย์กลางของสังคมมนุษย์ที่มีความสำคัญในสถาบันครอบครัวและสถาบันความเชื่อ โดยมองจากเงื่อนไขการกำเนิดบ้านและความสำคัญของบ้าน สังคมลาวจะสร้างบ้านขึ้นเมื่อเกิดโครงสร้างคู่และการกำเนิดสมาชิกใหม่ในครอบครัว โดยจะให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงคือน้องสาวแต่งงาน และในท้ายที่สุดบ้านกลายเป็นมรดกของลูกสาวคนสุดท้องหรือสุดท้ายที่แต่งงาน และพื้นที่ในการสร้างเรือนนั้นอยู่ในอาณาเขตของตระกูลฝ่ายหญิง

              ในประเด็นนอกเหนือการรวมคู่ตรงข้ามเป็นหนึ่งเดียวของบ้าน ก็คือ รากฐานของบ้านต้องได้รับการกระทำภายใต้กฎระเบียบของนาคเดือน ที่เป็นจุดเชื่อมต่อของพฤติกรรมความคิดและพฤติกรรมการกระทำระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเพราะการขุดดินฝังเสาเรือน

              การกระทำทางสังคมตอกย้ำพันธะระหว่างนาคกับมนุษย์นั้น ได้รับการประพฤติปฏิบัติผ่านกระบวนการทางสังคมในการสร้างบ้าน สังคมลาวบ้านทุ่งนา มีเงื่อนไขในการปลูกบ้านวางอยู่บรรทัดฐานและค่านิยมของสังคมที่การสร้างเกิดจากการเกิดโครงสร้างคู่ใหม่และการเกิดบุตรในครอบครัว และในอีกขั้ว คือความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างคู่ของนาค ค่านิยมของสถาบันครอบครัวที่สร้างอุดมคติการเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์หรือคนสมบูรณ์ คือคู่หญิงชายที่มีสถานะเป็นสามีภรรยาที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกัน จะได้รับอภิสิทธิ์และอำนาจพิเศษทางสังคมซึ่งต้องปฏิบัติผ่านการแต่งงาน ด้วยการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันครอบครัวกับสถาบันความเชื่อ ได้สร้างพันธะระหว่างโครงสร้างคู่กับรูปร่างวัตถุทางวัฒนธรรม โดยผูกพันกับเงื่อนไขโครงสร้างคู่ต่าง ๆ ของธรรมชาติและมนุษย์ รูปธรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างคู่ของมนุษย์คือบ้าน ที่รากของมันเป็นนาคหรือตั้งอยู่บนบ้านของนาคด้วยการสรรค์สร้างการกระทำของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ได้ผลิตพฤติกรรมที่มนุษย์ทำต่อดินที่มีพฤติกรรมของนาคกำกับอยู่ เน้นให้เห็นการเคารพพื้นดิน (ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล, 2541 : 52- 71, อ้างถึงใน ตำราพรหมชาติ, ม.ป.ป.)

  • ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

              ชาวลาวตี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเครื่องดนตรีสำคัญประจำชุมชนคือแคน แคน ถือได้ว่าเป็น   อัตลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งของชนชาติลาว และเมื่อชาวลาวได้เข้ามาอยู่ในสยามก็ได้นำแคนเข้ามาด้วย และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสยามจนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 การเล่น "แอ่วลาวเป่าแคน" ขยายอิทธิพลเป็นอย่างมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไม่เว้นแม้แต่ในราชสำนัก โดยพระอนุชาของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการแอ่วลาวเป่าแคนมาก การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดแอ่วลาวมากยังเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 4 ทรงไม่พอพระทัยถึงความนิยมในการเล่นแอ่วลาวเป่าแคนในสมัยนั้น เนื่องจากทรงเห็นว่าชาวไทยพากันละทิ้งการละเล่นของไทย ทรงออกประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2409 ทรงอ้างด้วยว่า เมืองที่เล่นลาวแคนมาก ๆ ฝนจะแล้ง และทรงคาดโทษผู้ที่เล่นลาวแคนว่าจะจับและให้เสียภาษีเพิ่มอีกหลายเท่า (อดิศร เสมแย้ม, 2552) อย่างไรก็ตามแม้ว่า การเป่าแคน การละเล่นแอ่วลาวจะถูกประกาศห้ามมิให้เล่นในครั้งนั้น แต่แคนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่อยู่คู่ชนชาติลาวกลับมิได้สูญหายไปด้วย ยังคงอยู่คู่ชาวลาวในสยามจนถึงปัจจุบัน

              ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นดนตรีของวัฒนะธรรมชาวลาวตี้ ที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ทั้งทางดนตรี ที่มีลักษณะเป็นดนตรีแบบเดียวกับทางภาคอีสานหรือประเทศลาว (สุธีร์ ธีระปัญญาพงศ์, 2540: 97) บ้านดอนคาเป็นตำบลที่อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งอยู่ในภาคกลาง แต่สังคมของชาวบ้านดอนคามีวัฒนธรรมแบบเดียวกับชาวอีสาน ทั้งทางด้านการใช้ภาษาก็พูดภาษาลาวหรือภาษาอีสาน ดนตรีของชาวลาวมีดีด สี ตี เป่า สอดคล้องกับ (ประดิษฐ์ เมฆไชยภักดิ์,2545: 8 – 9) เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เป็นเครื่องดนตรีที่คิดประดิษฐ์ขึ้นจากมือชาวบ้านโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานไม่มีความละเอียดประณีตในการทำ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดนตรีสากล 

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

    ตำนานความเชื่อเรื่องพระราหู

    ราหูสำหรับชาวลาวตี้ชุมชนศีรษะทองอำเภอ นครชัยศรี จังหวัด นครปฐม นั้น เป็นยักษ์ตัวใหญ่ มีพละกำลังมาก ผิวตำมันวาวเหมือนนิล มีหางเป็นนาคมีครุฑเป็นพาหนะ โดยจากตำนานที่ชาวบ้านได้รับเกี่ยวกับราหู และเป็นตำนานที่วัดศีรษะทองได้เผยแพร่ในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ คือตำนานที่อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 24 หน้า 340 ครบสองร้อยปีรัตนโกสินทร์กล่าวว่า

              ในช่วงที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาบนโลกนั้น มีพี่น้องที่เป็นชายด้วยกัน 3 คน คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระราหู เกิดความเลื่อมใสพระพุทธเจ้าจึงอยากทำบุญถวายภัตตาหาร พี่ชายคนที่หนึ่งได้นำขันทองบริสุทธิ์ใส่อาหารถวายแด่พระพุทธเจ้า แล้วขอให้ตนเองมีแสงสว่างส่องแสงเรืองรองตลอดเวลา ส่วนพี่ชายคนที่ 2 คือพระจันทร์นำขันเงินบริสุทธิ์ ใส่อาหารแล้วอธิษฐานขอให้ตนเองมีร่างกายที่สวยงามคนเห็นแล้วหลงใหลเหมาะที่จะอยู่เคียงข้างพี่ชาย ส่วนน้องคนสุดท้ายเกิดอาการน้อยใจเนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาอะไรใส่อาหารถวายพระพุทธเจ้าจึงเอากระบุงใส่อาหารแล้วถวาย พระพุทธเจ้าแล้วขอให้ตนเองเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ มีพละกำลังมหาศาล และคอยบดบังรัศมีของพี่ชาย

              ผลบุญดังกล่าวนั้นได้ทำให้ พระอาทิตย์พี่ชายเกิดเป็นสุริยเทพบุตร พี่ชายคนที่สองเกิดเป็นจันทรเทพบุตร ส่วนราหูนั้นเกิดเป็น อสุทินราหู เป็นยักษ์ที่มีกำลังมาก สามารถดลบันดาลโชคลาภได้ อีกทั้งมีฤทธิ์มากเทพทั้งหลายต้องเกรงใจ

              ส่วนความเชื่อเรื่องสุริยุปราคาและเรื่องจันทรุปราคาของชาวลาวตี้นั้นมีความเชื่อที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่มองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นการที่ราหูกำลังต้องการบดบังรัศมีของพี่ชายตน แต่ชาวลาวตี้กลับมองว่าเป็นการพบกันระหว่างพี่น้องทั้งสามคน โดยชาวบ้านจะเคาะกะลาและสิ่งต่าง ๆ เพื่อแสดงความยินดีและเพื่อให้พี่น้องทั้งสามตกใจไม่ลืมตัวจนไม่จากกัน จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนได้

    ตำนานความเชื่อเรื่องนาค

              นาคนั้นเป็นสัญลักษณ์ของชาวลาวเนื่องจากคนลาวเชื่อว่าตนเองสืบสกุลมาจากนาค และมักปรากฏรูปลักษณ์ของนาคอยู่ในช่อฟ้า หรือในภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า โหง่

              พระยานาคความเชื่อของคนอีสานผูกพันอยู่กับตำนานเรื่องครุฑจับนาคโดยมีตำนานว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อพระยาครุฑจับพระยานาคได้และหมายจะฉีกกินเป็นอาหาร ฝ่ายพระยานาคกลัวตายจึงนิมิตลำตัวให้ยาวออกไป แล้วเอาหางเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ไว้ฝ่ายพระยาครุฑก็ใช้กำลังฉุดจนกระทั่งต้นไม้ใหญ่ถอดรากล้มลงไป จนกระทั่งผ่านมาถึงกุฏิอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยานาคก็นิมิตหางให้ยาวออกเอาหางไปพันไว้ที่อกไก่ของกุฏินั้น พระยาครุฑดึงจนกุฏินั้นสะเทือน พระพุทธเจ้าซึ่งประทับในนั้นเห็นดังนั้นจึงสงสารเลยกล่าวพระคาถาไล่ครุฑ ฝ่ายพระยาครุฑตกใจจึงปล่อยนาคเอาไว้ แล้วหนีไป นาคเมื่อเห็นพระยาครุฑหนีไปจึงหดตัวมาพันที่อกไก่และมาพิจารณาว่า หากแม้นไม่ได้อกไก่บนกุฏิของพระพุทธเจ้าแล้วคงโดนพระยาครุฑฉีกกินเป็นแน่ เมื่อรำลึกถึงคุณเช่นนี้แล้วจึงคลายตัวออกจากอกไก่นิมิตตนเป็นคนแล้วเข้าไปกราบพระพุทธเจ้า โดยปวารณาขอเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บริเวณอกไก่ของกุฏิ วิหารเป็นโหง่มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นก็เลื้อยเป็นส่วนประดับอาคารส่วนอื่น ๆ อีกเช่น หน้าบัน คันทวย บัวหัวเสา บันได เป็นต้น

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ :

    สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหา 

              บ้านเรือน วิถีชีวิต การแต่งกาย การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายในปัจจุบัน

              ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปรับเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล ยกเลิกระบบไพร่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญส่งผลประชาชนทุกกลุ่มสามารถเดินทาง โยกย้าย ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ต้องการได้โดยสะดวกและในช่วงเวลานั้นระบบเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าว การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการโยกย้ายถิ่นของประชากร เนื่องจากรัฐต้องการผลิตข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ชุมชนหลายแห่งต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปยังบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่า ในช่วงเวลานั้นมีหลายชุมชนที่เห็นว่าที่ดินของตนไม่อุดมสมบูรณ์หรือไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม จึงโยกย้ายไปหาที่ดินถิ่นฐานใหม่ตั้งชุมชนใหม่ในพื้นที่ห่างไกลออกไป รวมถึงความต้องการติดตามหาญาติพี่น้องที่พลัดพรากจากกัน ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานก่อนหน้ากลุ่มของตน และในทางกลับกัน มีบางชุมชนที่มีที่ดินอุดมสมบูรณ์แต่ถูกรุกไล่จากผู้ที่มาใหม่ทำให้ต้องอพยพย้ายถิ่นออกไปและหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน

              ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บ้านเมืองเผชิญภาวะสงครามและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม พยายามรักษาเสถียรภาพบ้านเมืองด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมความเป็นไทย โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่ให้เปลี่ยนมาใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นภาษาหลักเพื่อแสดงถึงความเป็นไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ ภาษาท้องถิ่นได้รับผลกระทบจากนโยบายชาตินิยม กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาถิ่นเป็นของตนเองก็ได้รับผลกระทบ ในช่วงเวลานั้นพบว่ามีคนลาวในหลายพื้นที่รู้สึกว่าการพูดภาษาลาวไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประจำชาติและความทันสมัย มีชาวลาวจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พ่อหรือแม่แต่งงานกับคนไทยมาก่อนหน้านี้เริ่มเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นไทย

              ภายหลัง พ.ศ.2500 เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รัฐบาลพัฒนาความเจริญและสร้างทางหลวงจากเมืองใหญ่ไปสู่หมู่บ้านชนบท ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร ชุมชนได้รับความเจริญและเกิดการขยายตัวมีการขยายหมู่บ้านและแยกบ้านไปตามทางหลวงหรือเขตที่มีความเจริญ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ทั้งสระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตและประเพณีก็ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความทันสมัยและมีค่านิยมที่เน้นความศิวิไลซ์

              อาหารเป็นตัวอย่างที่สะท้อนอัตลักษณ์และการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในวิถีการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดีเนื่องจากชาวลาวตี้ในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ซึ่งแตกต่างจากชาวลาวโดยทั่วไปที่จะกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก สันนิษฐานว่าเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของภูมิประเทศที่เหมาะในการปลูกข้าวเจ้ามากกว่ากว่าข้าวเหนียว ข้าวเหนียวจึงเป็นข้าวที่ชาวลาวเวียงใช้ทำเป็นขนม หรืออาหารที่ไม่ใช่อาหารหลัก

              ปัจจุบันชาวลาวตี้ยังนิยมแต่งกายด้วยผ้าทอมือในชีวิตประจำวัน และจะพิถีพิถันในการแต่งกายแบบลาวตี้เต็มรูปแบบในเทศกาลสำคัญ แต่การทอผ้าเพื่อใช้นั้นได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้หญิงลาวตี้ที่ทอผ้าได้มีไม่มากนัก มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ และเยาวชนผู้สนใจจำนวนหนึ่งที่พยายามสืบทอดการทอผ้าแบบลาวตี้ไว้ ผ้าซิ่นส่วนที่เป็นส่วนตัวชาวลาวเวียงมักใช้วิธีการซื้อสำเร็จรูปมาจากตลาดทั่วไปแล้วนำตีนจกที่ทอในชุมชนมาต่อ ซึ่งปัจจุบันตีนจกไม่เพียงพอแก่ความต้องการเนื่องจากมีผู้สนใจจากนอกชุมชนสั่งซื้อแต่มีผู้ทอเป็นจำนวนน้อยและต้องใช้เวลานานในการทอ ซิ่นตีนจกจึงมีราคาแพง เฉพาะตีนจกสำหรับผ้านุ่งหนึ่งผืนนั้นมีราคาหลายพันบาทจนถึงหลักหมื่น ราคาขึ้นอยู่กับความกว้างของตีนจก การตัดเย็บและตกแต่งผ้าให้สวยงามยังนิยมใช้การด้นมือ เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีเครื่องจักร

              เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงผู้หญิงชาวลาวตี้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การทอผ้าไม่ใช่ส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของผู้หญิงลาวตี้อีกต่อไป เนื่องจากผู้หญิงลาวตี้มีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นและสามารถซื้อหาผ้าที่ทอสำเร็จแล้วมาใช้ได้ การทอผ้าในชุมชนเป็นเรื่องของการประกอบอาชีพเสริม การอนุรักษ์ความงดงามของลายผ้าและการสร้างอัตลักษณ์เพื่อความโดดเด่นของชุมชนลาวตี้มากกว่าเป็นเรื่องของคุณค่าของผู้หญิงหรือปัจจัยในการเลือกคู่ครองของผู้ชาย ค่านิยมของการเป็นแม่เรือนที่ดีเปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องทอผ้าได้ก็สามารถเป็นแม่เรือนที่สมบูรณ์ได้ ส่งผลให้ผู้หญิงที่ทอผ้าเป็นลดน้อยลงจากในอดีต ความหมายที่เคยอยู่คู่กับการทอผ้าโดยเฉพาะค่านิยมในการเลือกคู่ครองของผู้ชายที่จะเลือกผู้หญิงที่ทอผ้าได้งดงาม และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์และเป็นแม่เรือนที่ดีถูกลดทอนให้เลือนหายไปจากวิถีชีวิตชาวลาวตี้ด้วยเช่นกัน

              ชาวลาวตี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำภาคกลางมาเป็นเวลานานมากกกว่า  200  ปีและมีการปรับเปลี่ยนลักษณะของหมู่บ้านและเรือนมาโดยตลอด หลายชุมชนในแถบท้องที่นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจนบ้านเรือนในลักษณะพื้นถิ่นคงเหลืออยู่น้อยหรือสูญหายไปแล้ว แต่สำหรับที่อยู่อาศัยของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือก จังหวัดราชบุรี มีภูมิปัญญาการปรับตัวที่อยู่บนรากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองต่อการอยู่ร่วมกับบริบทในท้องที่ ภูมิปัญญาเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมและอยู่ในการปฏิบัติของชาวบ้าน

              ภูมิปัญญาที่เป็นรูปธรรมปรากฏใน 2 ส่วน ส่วนแรกปรากฏในเรือนดั้งเดิมของชุมชนซึ่งปัจจุบันมีอายุมากกว่าร้อยปีและแม้ว่าจะถูกปรับเปลี่ยนไปมากจนเกือบไม่เหลือเค้าโครงเรือนเดิม แต่จากหลักฐานและคำบอกเล่าของชาวบ้านทำให้เห็นภูมิปัญญาในการนำสัมภาระทางวัฒนธรรมมาผสมผสานกับการอยู่ในบริบทใหม่โดยการใช้รูปแบบและแบบแผนของเรือนไทยภาคกลางมาผสมกับลักษณะของเรือนเวียงจันทน์ อาทิการใช้เรือนแฝดเก่า การมีเทิบด้านหน้าเรือนที่ติดกับทางสัญจร และการมีองค์ประกอบหิ้งคุณพระบริเวณนอกบ้าน แม้ว่าในภาพรวมของเรือนในตำบลบ้านเลือกมีลักษณะเป็นที่โล่งมากกว่าเรือนในเวียงจันทน์ แต่ก็ยังสามารถดำเนินชีวิตและความเชื่อตามแนวทางที่มีการปฏิบัติที่เวียงจันทน์โดยเฉพาะการใช้พื้นที่บริเวณเรือนนอนส่วนที่สองปรากฏในเรือนในที่มีอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นเรือนที่ทำให้เห็นภูมิปัญญาการปรับตัวตามเงื่อนไขของบริบทที่เปลี่ยนไป รูปทรงเรือนมีทั้งที่ยังคงใช้รูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบที่เรียบง่ายมากขึ้น แต่ทั้งหมดมีลักษณะผังเรือนที่ปรับมาจากแบบแผนของเรือนดั้งเดิมของชุมชน

              นอกจากนี้กลุ่มเรือนในหมู่ 1 ชุมชนบ้านเลือก มีลักษณะของการลดหลั่นที่ทำให้เกิดความร่มรื่นและเกิดสุนทรียภาพให้กับชุมชน ส่วนภูมิปัญญาที่ปรากฏในการปฏิบัติได้แก่ การปรับประเพณีในการทำบุญกลางบ้านให้สามารถประกอบพิธีกรรมที่แยกไปตามแต่ละหมู่บ้านเพื่อความสะดวกและคล่องตัว การสร้างสรรค์ และการรณรงค์ให้เกิดการคงรักษาของวัฒนธรรมประเพณีการแต่งกายแบบชาวลาวตี้ที่มีรูปแบบเฉพาะของราชบุรีร่วมกับชุมชนลาวตี้อื่น ๆ ของจังหวัด และการปรับใช้กระแสของสังคมในการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก โดยนอกจากมีการดำเนินงานเป็นเครือข่ายร่วมกับชุมชนลาวตี้อื่น ๆ ในอำเภอโพธารามแล้ว ยังร่วมกับผู้ที่เป็นที่เคารพของชุมชนโดยเฉพาะพระครูโพธารามพิทักษ์ ในการผลักดันให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรักษาความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมรวมถึงการสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกลับไปยังแหล่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนในสปป.ลาว (วันดี พินิจวรสิน, 2555)

              ราชบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งที่ชาวลาวตี้ได้ถูกกวาดต้อนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานรวมกับชาวลาวและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541; สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ, 2545) แหล่งที่ตั้งของชาวลาวตี้ในราชบุรีในสมัยแรกๆอยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองจากบริเวณอำเภอบ้านโป่ง จนถึงอำเภอโพธาราม (ฉลอง สุนทราวณิชย์, 2550) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลองในบริเวณอำเภอบ้านโป่งจนถึงอำเภอโพธาราม ชาวลาวตี้จึงได้อพยพและถอยร่นเข้าสู่ตอนในของแผ่นดินโดยเฉพาะทางทิศตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ดอน และเป็นภูมิประเทศที่ชาวลาวตี้มีความคุ้นเคยมากกว่า (ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา, 2541; พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี, 2544; สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2547; สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก, 2552)

              ตำบลบ้านเลือกตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอโพธาราม มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ  12  ตารางกิโลเมตรลักษณะของตำบลเป็นที่ราบลุ่มกว้าง มีบ้านเรือนตั้งอยู่บนที่ดอนและถูกโอบล้อมด้วยท้องทุ่งสำหรับทำนาในทุ่งเหล่านี้จะมีหนองน้ำที่สำคัญ ๆ อยู่หลายหนอง บริเวณตำบลมีถนนเพชรเกษมสายเก่าและสายใหม่ตัดผ่านและมีคลองวัดโพซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน นอกจากนี้ในบริเวณตำบลยังมีฮวงซุ้ยของคนจีนและโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อยู่ประปราย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษม ตำบลนี้มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 10,022 คน 3,551 ครัวเรือนและแบ่งเป็น 9 หมู่บ้านทั้งนี้มี 7 หมู่บ้านที่ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวลาวตี้ (หมู่ 1-6 และหมู่ 8 โดยที่หมู่ 6 จะมีชาวจีนรวมอยู่ด้วย) ส่วนอีก 2 หมู่บ้านนั้นมีทั้งที่เป็นหมู่บ้านไทย (หมู่ 9) และหมู่บ้านมอญและจีน (หมู่ 7)

              ในอดีตชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกมีอาชีพหลักคือทำนา ทำสวน ทำไร่และเลี้ยงสัตว์ (ณรงค์ ธำรงโชติ, 2502) เดิมมีการทำนาปีที่เน้นการใช้แรงงานในครัวเรือนและใช้วัวช่วยในการผลิต มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยน้อย ในช่วงว่างเว้นจากการทำนาชาวบ้านก็จะมีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ สลับกันไป การปลูกพืชโดยมากเอาไว้บริโภคกันเอง ส่วนที่เหลือจึงนำไปจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการต่ำหูกหรือการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย การทอผ้าก็เพื่อนำมาตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ใช้ในครอบครัว และบางครั้งก็ใช้เป็นของฝาก

              อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือกมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ และอยู่บนเส้นทางคมนาคมสู่ภาคใต้ นโยบายของรัฐจึงมีอิทธิพลต่อชุมชนมากต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของตำบลนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนโยบายมุ่งจัดระเบียบสังคมให้เป็นแบบอารยประเทศ จึงทำให้เกิดการยกเลิกวัฒนธรรมท้องถิ่นต่าง ๆ เช่นการแต่งกาย การร้องรำประเพณีความเชื่อ และโดยเฉพาะการห้ามใช้ภาษาของท้องถิ่นซึ่งมีผลทำให้ชุมชนเกิดความอ่อนแอ และเกิดการลบล้างวิถีการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมและความเชื่อท้องถิ่นไปและยังผลสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

              ในส่วนของอาชีพของชาวบ้าน โดยเฉพาะการทำนา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากซึ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณปีพ.ศ.2532-2533 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินนโยบายของรัฐในช่วงนี้ทำให้ที่ดินในท้องถิ่นต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้นมากโดยเฉพาะที่ดินในบริเวณอำเภอโพธาราม ซึ่งมีถนนเพชรเกษมตัดผ่านได้ถูกกว้านซื้อไปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับคนที่ทำนาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่มีลูกหลานสืบต่ออาชีพ ชาวลาวตี้ที่ทำนาส่วนใหญ่จึงขายที่นาให้กับนายทุนและเลิกอาชีพไป หรือบางรายก็ยังทำนาต่อแต่ด้วยวิธีการเช่าที่ต่อจากนายทุนอีกทอดหนึ่ง ในปัจจุบันมีชาวบ้านเพียงส่วนน้อยที่ยังคงถือครองที่นาเอาไว้ และเป็นส่วนน้อยที่ยังคงทำนาเอง โดยมากเป็นผู้สูงอายุและทำนาปีที่เก็บเกี่ยวด้วยมือ บางส่วนที่ยังคงมีที่นาก็ไม่ได้ทำนาเองแต่เป็นการปล่อยให้เช่ากับคนจากต่างพื้นที่ ชาวนากลุ่มหลังนี้มักทำนาปรังและมักทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำกับรายที่ยังคงทำนาปี ถึงแม้ว่ายังมีชาวลาวตี้บางส่วนที่ยังคงทำนา แต่ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาที่เคยปฏิบัติในอดีตนั้นได้ถูกยกเลิกไป

              ในปัจจุบันชาวลาวตี้ในตำบลบ้านเลือก ประกอบอาชีพหลากหลายอาทิรับจ้างทั่วไป ทำตุ๊กตา รับราชการ  ค้าขาย ประกอบธุรกิจของตนเอง ทำเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงด้านการทำกิน แต่ชาวลาวตี้ในตำบลนี้ยังคงมีความเป็นอยู่เหมือนพี่น้อง มีกิจกรรมการทำบุญตามประเพณีลาวร่วมกันที่วัดอย่างสม่ำเสมอและในวันสำคัญต่าง ๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะร่วมกันแต่งกายในแบบเฉพาะของชาวลาวตี้ราชบุรี (วีรพงศ์ มีสถาน, 2550, น. 169) แม้ว่าการดำเนินงานจากนโยบายของภาครัฐทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นอ่อนแอลง แต่ด้วยกระแสสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่กระตุ้นให้เกิดการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ของแต่ละทาองถิ่นมากขึ้น (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ,  2547)  ประกอบกับประเทศไทยมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนตำบลพ.ศ.2549 สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกจึงได้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขมวลรวมของคนในชุมชนและพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน ซึ่งนอกจากจะมีการดำเนินงานเป็นเครือข่ายร่วมกับชุมชนลาวเวียงอื่น ๆ ใน อำเภอโพธารามแล้ว ยังร่วมกับพระครูโพธารามพิทักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ในปัจจุบันในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมให้กับชุมชนโดยเฉพาะการผลักดันให้มีการจัดตั้ง“หอวัฒนธรรมลาวเวียง” ขึ้นในวัดโบสถ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาและวัฒนธรรมประเพณีของชาวลาวตี้ สำหรับลูกหลานของชุมชนและผู้สนใจทั่วไป นอกจากนี้จากการที่พระครูโพธารามพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านไม่เพียงเฉพาะในแถบท้องที่ตำบลบ้านเลือก แต่ยังรวมถึงผู้คนในเวียงจันทน์ จึงทำให้เกิดกิจกรรมเยี่ยมเยือนกันระหว่างประชาชนจากทั้งสองท้องถิ่น

              กลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนลาวตี้ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเวียงจันทน์ด้วยสาเหตุหลักคือการเมืองการสงคราม ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองไทยโดยอพยพเคลื่อนย้ายมาเป็นระรอกจนได้พบพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานและตั้งเป็นชุมชนมาเป็นเวลานาน ชาวลาวตี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาโดยตลอด นับตั้งแต่อดีตที่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนจากเวียงจันทร์จนกระทั่งมาอยู่ใน ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในบางช่วงรัฐพยายามสร้างความเป็นไทยจนทำ ให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งลาวตี้เลือนหายไปจากการรับรู้ในสังคมทั้งที่ยังมีอยู่ แต่ชาวลาวตี้ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีก็ยังคงธำรงอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเข้มข้นแม้ต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์บางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การลำแคนเป็นวงแคนประยุกต์ รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในการเป็นชาวลาวตี้แม้ว่าความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวตี้ที่จดจำจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแพ้สงคราม การถูกกวาดต้อนก็ไม่ได้ทำให้ชาวลาวตี้ รู้สึกถึงความด้อยกว่าชุมชนอื่น ๆ  ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ชุมชนลาวตี้แห่งนี้มีความเข้มแข็ง จากอัตลักษณ์ที่โดดเด่นดังกล่าวและกระแสการท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังเฟื่องฟูทั่วทุกหนแห่ง รัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ จึงนำวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศ ความเป็นชาติพันธุ์กกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตในสังคม ภาครัฐจึงเข้ามาสนับสนุนการจัดประเพณีต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น จากในอดีตประเพณีบุญบั้งไฟมีคุณค่าและความหมายต่อวิถีการดำเนินชีวิตในด้านความเชื่อเรื่องขอฝนสำหรับการเกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันกล่าวได้ว่าความหมายเหล่านี้ได้ลดลง การเกษตรกรรมไม่จำเป็นต้องพึ่งน้ำฝนเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต เพราะมีระบบชลประทานเข้ามาช่วยสนับสนุน ส่งผลให้คุณค่าและความหมายทางอัตลักษณ์ที่ของชาวลาวตี้เด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งชาวลาวตี้ในตำบลดอนคาที่ยังคงมีความความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคี ช่วยกันรักษาประเพณีบุญบั้งไฟไว้ และส่งเสริมให้เป็นเทศกาลหรือสินค้าการท่องเที่ยวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมประเพณี ปัจจุบันประเพณีบุญบั้งไฟของตำบลดอนคา ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับจังหวัด ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี  

              อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การจัดงานประเพณีร่วมกับภาครัฐก็อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของชุมชนได้ เนื่องจากงานจะเน้นที่ความสวยงามตระการตาและการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มองข้ามที่มาและวัตถุประสงค์ที่แท้ของประเพณีต่าง ๆ และขาดการตั้งคำถามว่า กิจกรรมและงานต่าง ๆ ช่วยยกระดับจิตใจอย่างไรหรืออะไรคือความหมายภายในที่ซ่อนอยู่ (วรรณพร  บุญญาสถิต, ฉันทัส เพียรธรรม, เทพธิดา  ศิลปรรเลง, 2558)

              ภูมิปัญญาการทำมีดอรัญญิก เป็นการตีมีดแบบดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว คือ การใช้แรงงานคนในการผลิตมีด ซึ่งมีด 1 ด้ามใช้แรงงานอย่างน้อย 3 คน การตีมีดอรัญญิกที่นี่เป็นการใช้แรงงานคนทุกขั้นตอน มีดอรัญญิกเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลิตภัณฑ์มีดอรัญญิกมีลักษณะเฉพาะตัว คือ ความทนทาน ประณีต สวยงามแข็งแกร่งเพราะเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุกกระบวนการ ในด้านการใช้ภูมิปัญญาในการทำมีดนั้น มีทั้งหมด 10 ขั้นตอน คือ การกูน การซ้ำการสำเรียบหรือไห่ การตะไบหรือการแต่ง การขูด การโสกการพานคมมีด การชุบ การลับคม และการเข้าด้ามทาน้ำมันกันสนิม ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนแต่ต้องผู้มีประสบการณ์อย่างมาก ทำให้ ในปัจจุบันการทำมีดอรัญญิกแบบดั้งเดิมหรือใช้แรงงานคนทุกขั้นตอน มีผู้สืบทอดภูมิปัญญานี้น้อยลงไปมาก เพราะต้องใช้ทั้งความแข็งแรงของร่างกาย มีความสามัคคี และมีประสบการณ์ยกตัวอย่าง ขั้นตอนการตัดและหลามเหล็ก ต้องใช้แรงงานคนถึง3 คน ในการใช้พะเนิน (อุปกรณ์ใช้ตีเหล็ก หรือค้อนเหล็ก) ตีเหล็กให้แผ่ขยาย

              ซึ่งในปัจจุบันการทำมีดอรัญญิกที่ใช้แรงงานคนทุกขั้นตอนพบไม่กี่ครัวเรือน เพราะการตีมีดแบบดั้งเดิมจะผลิตมีดได้น้อยและใช้เวลานาน บางครัวเรือนจึงนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยเพื่อให้งานรวดเร็วและง่ายขึ้น อาจจะไม่ครบทุกขั้นตอนจึงมีการผลิตมีดแบบใหม่ คือ การปั้มและเจียรมีดให้เกิดความคม แต่ระยะการใช้งานอาจไม่นานเท่าการตีมีดกับไฟ อีกทั้งลูกหลานในชุมชนเลือกที่จะประกอบอาชีพอื่น ๆ มากขึ้น เช่น รับราชการ หรือเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง

              ส่วนประเพณีไหว้ครูบูชาเตา ที่ต้องทำกันทุกบ้านที่มีอาชีพทำมีด ในชุมชนไผ่หนอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ทุกวันนี้บางบ้านรวมตัวกันทำที่บ้านหลังใดหลังหนึ่งแทน พอประกอบพิธีเสร็จ ถ้าเป็นสมัยก่อนชาวบ้านจะไปมาหาสู่กันระหว่างบ้านที่ทำพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งบ้านที่ประกอบพิธีจะต้อนรับอย่างดีแล้วทำการให้ศีลให้พรลูกหลานที่มาเยี่ยมหา แต่ปัจจุบันก็แทบจะไม่ได้ทำแบบนี้แล้ว

Access Point
No results found.