กลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวแง้ว

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวแง้ว
  • ชื่อเรียกตนเอง : ลาวแง้ว
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาวแง้ว
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลภาษาไท-กะได กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกตนเอง  

              ลาวแง้ว สันนิษฐานว่า ลาวแง้วน่าจะเป็นกลุ่มลาวกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนกันมาในครั้งนี้ก็เพราะ การสำรวจในปัจจุบันพบว่า มีกลุ่มผู้เรียกตนเองว่าลาวแง้วตั้งเป็นชุมชนจำนวนมากกระจัดกระจายตั้งแต่เขตสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ 

    ชื่อที่ผู้อื่นเรียก  

              ลาวแง้ว  เหตุที่มีชื่อว่า “ลาวแง้ว” ตามคําบอกเล่าของชาวแง้วรุ่นแรกๆ กล่าวว่า เป็นชื่อที่ชาวเวียงจันทน์รียกขานชุมชนกลุ่มนี้ว่า “แง้ว” เพราะการออกเสียงของลาวกลุ่มนี้ แม้จะคล้ายคลึงกับชาวเวียงจันทน์ แต่สําเนียงเปล่งและแปลกไปจากลาวเวียงจันทน์ ชาวเมืองหลวง เหตุนี้ชาวลาวในเมืองหลวงจึงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ลาวแง้ว (พนิตสุภา ธรรมประมวล และกาสัก เตะขันหมาก, 2561: 9) 

  • อื่น ๆ :

    ลาวแง้วเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำเนินชีวิตอยู่บริเวณภาคกลางของไทย จากการเก็บข้อมูลราวพ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๔ โดยคุณรุจิรา เชาว์ธรรม พบว่า กลุ่มลาวแง้วเพิ่งจะมามีชื่อเป็นที่รู้จัก เมื่อไม่นานมานี้ และโดยมากอยู่ในเขตวัฒนธรรมของกลุ่มพวนในจังหวัดลพบุรีและสิงห์บุรี อยู่อาศัยรวมกันกับคนไทยภาคกลางหรือที่มักถูกเรียกว่า คนไทยแม่น้ำ รวมทั้งคนจีน คนมอญ จะเห็นว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย หากมองแค่ภายนอกจะไม่ทราบเลยว่าเป็นลาวแง้ว เพราะวิถีชีวิตและปัจจัยการดำรงชีวิตไม่ต่างกัน แต่สามารถทราบได้ว่า ใครคือกลุ่มชาติพันธุ์ใด สำหรับคนในพื้นที่เองมีการแบ่งโดยการรับรู้เองตามธรรมชาติ ผ่านภาษา การลำดับเครือญาติและการนับถือผี แต่ในปัจจุบันมีการผสมผสานของเผ่าพันธุ์ จนไม่อาจพิสูจน์และสืบหาเชื้อสายบริสุทธิ์

              ตระกูลภาษา  ภาษาลาวแง้วอยู่ใน ตระกูลภาษาไท-กะได กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้

              ภาษาพูด  จากการแยกเสียงวรรณยุกต์พบว่าภาษาลาวแง้วมีความใกล้เคียงกับสำเนียงภาษาแบบหลวงพระบางและลาวครั่ง ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเพวิง เมืองเลย เมืองแก่นท้าวบริเวณอำเภอท่าลี่ไม่ไกลจากเลยด่านซ้าย ซึ่งอยู่ในเขตหลวงพระบาง เมืองลม ปากลาย ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

              การพูดลาวแง้วในปัจจุบันมักถ่ายทอดจากฝั่งแม่หากบ้านใดแม่พูดลาวแง้วลูกก็จะพูดตาม จากการเก็บข้อมูลโดยการพูดคุยด้วยภาษาลาว ทำให้รู้ว่าภาษาลาวแง้วไม่เหมือนไทยอีสาน ไม่เหมือนลาวครั่ง ไม่เหมือนลาวเวียง มีข้อสังเกตคือ เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยคนหลากหลาย อาทิ อยู่รายรอบคนไทยแม่น้ำ สำเนียงการพูดลาวแง้วก็จะแปร่งไป ไม่มีใครทราบว่า แง้ว แปลว่าอะไร แต่คนลาวแง้วจะรู้กันเองด้วยสำเนียงการพูด จากการลงเก็บข้อมูล (รุจิรา, ๒๕๓๕) ที่มักใช้ภาษาลาวแง้วหรือภาษาลาวในการสื่อสาร ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ดีใจที่ผู้มาเก็บข้อมูลเป็นลาวเหมือนกัน ยังให้บรรยากาศการให้ข้อมูลราบรื่นและเป็นกันเอง มีการพูดถึงการพูดลาวแง้วในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย เช่น ลาวแง้วบ้านทองเอน สิงห์บุรี จะพูดคล้ายลาวจังหวัดเลย ลาวแง้วบ้านหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี จะพูดช้ากว่าลาวแง้ว จันเสน นครสวรรค์ เป็นต้น ปัจจุบันมีการพูดในสำเนียงนี้แถบบริเวณเมืองเลย เชียงคาน ด่านซ้าย บางส่วนของนครไทย จนถึงหล่มเก่า-หล่มสัก (รุจิรา, ๒๕๔๕)

              ตัวอักษรที่ใช้เขียน  -

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย  ยุวดี ศรีห้วยยอด นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)

    ปีงบประมาณ 2561 , วันที่อัพโหลด ; 30 กันยายน 2562 

    เอกสารอ้างอิง

    • สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (๒๕๔๕). รายงานการประชุมเสนอผลงานการวิจัย ชุดโครงการความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคกลาง วันที่ ๒๒-๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๕.
    • รุจิรา เชาว์ธรรม และคณะ. (๒๕๔๕). “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว.” เอกสารประกอบการเสนอผลงานการวิจัยชุดโครงการความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคกลาง.

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี เป็นต้น30000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              เมื่อครั้งสงครามศึกเจ้าอนุวงศ์ ช่วง พ.ศ. ๒๓๗๑-๒๓๗๓ รัชกาลที่ ๓ สั่งเผาเมืองเวียงจันทร์เสียจนสิ้น กวาดต้อนผู้คนระลอกใหญ่อย่างต่อเนื่องอีก ๒-๓ ปี เดินทางจากหลวงพระบาง มาพักที่พิษณุโลกและพิชัย และอีกทางหนึ่งคือมาทางที่ราบเมืองหล่มเก่าหล่มสักและเพชรบูรณ์ ซึ่งสามารถเดินทางมายังพิษณุโลกหรือเข้าเมืองสระบุรี น.65 การกวาดต้อนครั้งนั้นปรากฏในเอกสาร แต่จะเรียกรวม ๆ ว่าลาวเวียง สันนิษฐานว่าการกวาดต้อนครั้งนั้นมีทั้ง ลาวเวียง ลาวครั่ง และ ลาวแง้ว เพราะมีการสำรวจพบว่าในปัจจุบันมีกลุ่มผู้เรียกตนเองว่าลาวแง้ว และตั้งเป็นชุมชนกระจายอยู่แถบสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์

              เรื่องเล่าการเดินทางอพยพ ที่ตกทอดสู่ลูกหลาน บ้างว่ามาจากเมืองหลวงพระบาง บ้างว่ามาจากเมืองใกล้ ๆ หลวงพระบาง (แต่ในขณะที่บางคนเล่าว่ามาจากเวียงจันทน์ในครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ เห็นได้ว่ามีการรวมกลุ่มกันกับกลุ่มลาวเวียง ลาวเมืองอื่น ๆ แต่ภายหลังคงมีการแยกหมู่บ้านตามกลุ่มตน ความทรงจำจึงค่อนข้างสับสนว่าตนเป็นลาวกลุ่มใด  และถูกต้อนมาครั้งใด ลาวแง้วจึงน่าจะเป็นกลุ่มลาวที่อพยพมาจากหัวเมองแถบรอบ ๆ เมืองหลงพระบางในศึกเจ้าอนุวงศ์มากกว่าจะเป็นกลุ่มลาวเวียงหรือบ้านเองที่อยู่ใกล้เคียงเมืองเวียงจันทน์

              ในปัจจุบัน กลุ่มลาวแง้วที่สำรวจพบ อยู่ในเขต อำเภอเมือง อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี มากที่สุด นอกนั้น ก็เป็นกลุ่มที่อยู่ดั่งเดิมคือในตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งมีชาวลาวแง้ว อยู่เกือบทั้งตำบลแล้ว ในเขตวัดม่วง วัดโพธิ์ศรี ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี มีคนเชื้อสายลาวแง้วอาศัยอยู่มากด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีที่วัดท่าอิฐ วัดเกาะแก้ว วัดตุ้มหู บางโฉมศรี ตำบลชีน้ำรายอำเภออินทร์บุรี และ แถบตำบลบ้านสิงห์ วัดสาธุ ตำบลโพงพางเสือ อำเภอบางระจัน ก็มีลาวแง้วอาศัยอยู่ ส่วนใน เขตตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีก็มีบ้าง เป็นต้น

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              จากงานวิจัยต่าง ๆ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาของกลุ่มคนลาวในอดีต จากเอกสารประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่อย่างไม่ชัดเจนบ้าง จากคำบอกเล่าบ้าง พบว่า

              ลาวแง้วน่าจะถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับกลุ่มลาวจากหัวเมืองแถบหลวงพระบาง เดินทางมาจากลาวในช่วงเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ (การเรียกว่า กบฏเจ้าอนุวงศ์ เรียกโดยรัฐไทยในกรุงเทพ ฝั่งลาวไม่เรียกเช่นนี้) ศึกเจ้าอนุวงศ์เกิดขึ้น ๒ ครั้ง คือ พ.ศ. ๒๓๗๑ และ ๒๓๗๓ รัชกาลที่ ๓ สั่งเผาเมืองเวียงจันทน์ แล้วต้อนผู้คนมายังพระนครหลายระลอกเป็นจำนวนมาก มากจนมีคำกล่าวว่า กวาดลาวมาครึ่งประเทศ ความรู้สึกนั้นยังถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลานลาวจนปัจจุบัน กลุ่มคนลาวถูกกวาดต้อนมาดั่งเชลยศึกมีทั้งกลุ่มพวนและไทดำเดินทางมาด้วย

              ย้อนกลับไปเมื่อครั้งสมัยอยุธยาที่มีการกวาดต้อนผู้คนมาจากที่ต่าง ๆ ก็ไม่ได้จำแนกคนที่ถูกกวาดต้อนมาว่าเป็นคนกลุ่มใด เรียกรวม ๆ ว่า ลาว ซึ่งเป็นการเรียกที่ดูถูก หมายถึงคนที่อยู่ทางเหนือ หัวเมืองภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงใหม่ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ เรื่อยไปถึงสิบสองจุไท กลุ่มไทดำ ลาว ซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษาไท-ลาว อย่างคำเรียกมณฑลลาวพุงดำ ลาวพุงขาว ลาวพุงดำคือคนที่สักร่างกาย สักขา สักรูปมอมหรือสักดำทึบ การเรียกที่ดูถูกยังปรากฏอยู่ในวรรณกรรม เช่น ขุนช้างขุนแผน ผู้หญิงลาวถูกเรียก อีลาว กินกบ กิ้งก่า

              จนกระทั่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์ คนลาวถูกกวาดต้อนยกครัวมาอีกระลอก ให้อยู่นอกพระนครทำงานเป็นไพร่หลวงต้องส่งส่วยให้ราชสำนัก มีการกวาดต้อนผู้คนจากเชียงแสนเข้ามาอยู่รอบ ๆ พระนคร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่เดินทางมาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลาวพวน แต่จะมีกลุ่มอื่นปะปนมาบ้าง ไม่มีการบันทึกจากเอกสารประวัติศาสตร์ว่าพวนทำไมถึงเข้ามาอยู่บ้านหมี่ ลพบุรีจำนวนมาก และทำไมกระจายอยู่บ้านหนองเมืองและทองเอนสิงห์บุรี แต่มีสิ่งที่ติดตัวมาคือ การร่อนทองคำผุยในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงต้นรัชกาลที่ ๓ มีเอกสารพูดถึงการส่งทองคำผุย หากเป็นไพร่หลวงต้องส่งส่วยให้รัฐแล้วรัฐเอาไปขาย ต่อมามีการร่อนทองกันน้อยลง หันมาปลูกข้าวทำนา

              จากตารางแสดงลำดับของการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้ที่ถูกเรียกว่าลาว ในเอกสาร (รุจิรา เชาว์ธรรม, ๒๕๔๕) ในสมัยกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ ที่ระบุถึง ลาวแง้ว แต่ยังอยู่ในข้อสงสัย อาทิ ช่วง พ.ศ. ๒๓๓๒ เมืองหลวงพระบาง ส่งครัวลาวจากเมืองสามมิ่น เมืองเพวิง เมืองเลย เมืองแก่นท้าวมายังเมืองพิษณุโลกก่อน แล้วให้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่กับพวกเดียวกัน และในปีเดียวกันนั้นได้ส่งครัวลาวหลวงพระบางไปอยู่ยังเมืองพรม ๖๐๐ กว่าคน และแบ่งไปยังบ้านอรัญญิกและกรุงเทพฯ ด้วย จากเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

              พ.ศ. ๒๓๗๓ โปรดเกล้าฯ ให้ไปชำระครัวลาวที่เมืองหลวงพระบางกวาดต้อนมาจากเมืองเลย เมืองลม เมืองแก่นท้าว เมืองปากลาย เมืองเวียงจันทน์ เมืองภูเวียง เมืองภูครัง มาไว้ที่เมืองพิชัย ซึ่งมีการส่งมาถึง ๗ ครั้ง รวมประมาณหมื่นหกพันคนเศษ โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่กับพวกที่เคยอยู่มาก่อน จากเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

              สันนิษฐานว่ากลุ่มลาวแง้ว มาจากสองทิศทาง หนึ่งเดินทางมาจากปากลาย (สปป.ลาว) มาอุตรดิตถ์ เข้าเขตเพชรบูรณ์ เรื่อยมาจนแวะพักที่เมืองพิชัย จังหวัดพิษณุโลก และอีกกลุ่มหนึ่งมาจากเมืองแก่นท้าวข่ามน้ำเหือง ลงมาทางเมืองหล่ม จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย

              จากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี สระบุรี และนครสวรรค์ โดย รุจิรา เชาว์ธรรม สมปอง บุณเติร และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ทีมวิจัยนรินทร์ พันธ์รอบ สุนทรีย์ นิมาภัณฑ์ (๒๕๔๕) พบว่า มีลาวแง้วอยู่ ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี และกลุ่มบ้านทองเอน บ้านไผ่ดำ ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี สิงห์บุรี ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังกระจายอยู่บริเวณ อำเภอโคกสำโรงจังหวัดลพบุรี อำเภอหนองโดน บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ลาวแง้วแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน

              คนเชื้อสายลาวแง้วในสิงห์บุรีเล่าถึง ครั้งแรกเมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณวัดสาธุการาม บ้านสิงห์ ตำบลโพงพางเสือ อำเภอบางระจัน ต่อมากระจายย้ายที่อยู่ตามลำน้ำเจ้าพระยา อำเภออินทร์บุรี แถบวัดม่วงและวัดโพธิ์ศรี และตำบลทองเอน และยังอยู่รวมกันแถววัดท่าอิฐ วัดเกาะแก้ว วัดตุ้มหู บางโฉมศรี ตำบลบุ่งน้ำร้าย นอกจากนี้ยังขยับขยายพื้นที่ทำกินไปยัง อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอชัยบาล จังหวัดลพบุรี อีกด้วย

              ในอดีตลาวแง้ว ลาวพวนอยู่ในเขตสนามแจง อำเภอบ้านหมี่ ชุมชนคมนาคมทางเรือคลองสนามแจงบริเวณแถบนี้มีบ้านอยู่อาศัยไม่กี่หลัง จนมีการแต่งงานเป็นชุมชนขยายไปอยู่จันเสน รวมถึงคนพวน คนจีน และคนแม่น้ำที่ไม่มีที่ทำกินต่างขยับเข้าไปในดินแดนห่างฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางคลองสนามแจง

              สำหรับการตั้งชื่อหมู่บ้านหากเกิดการย้ายบ้านจะนำชื่อเดิมจากถิ่นที่เคยอยู่ มาใช้ตั้งเป็นชื่อบ้านใหม่ด้วย เช่น ย้ายมาจากบ้านน้ำจั้นที่ลาว มาอยู่อำเภอเมืองลพบุรี ก็ตั้งชื่อว่าบ้านน้ำจั้นตาม

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              ส่วนใหญ่ลาวแง้วที่อยู่ภาคกลางมักทำการเกษตร โดยเฉพาะทำนาปลูกข้าว พื้นที่ทำนาถูกปรับพัฒนาอยู่เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จากอดีตมีการส่งส่วยให้รัฐเพราะเป็นเชลยศึกสงคราม ต่อมารัฐมีการพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง ทำระบบชลประทาน เพื่ออำนวยการปลูกข้าวของราษฎร

              การทำนาบ้านน้ำจั้นอดีตทำนาแบบไว้บริโภคเองในครอบครัว หากเหลือก็เก็บไว้ บ้างนำไปแลกอย่างอื่นเป็นการทำนาแบบยังชีพรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว หากใครต้องการข้าวมากขึ้นก็จะซื้อที่นาเพิ่มหรือถางเพิ่ม จับจองเพิ่ม ต่อมาช่วงปี ๒๔๘๙ มีชลประทาน สามารถทำนาแบบไม่ต้องรอฝน มีน้ำใช้ระหว่างฤดู เริ่มใช้วัวควายมาช่วยทำนาเป็นเครื่องทุ่นแรง ต่อมาใช้รถไถนา พอหมดหน้านาชาวบ้านปลูกถั่วดิน หรือ ถั่วลิสง งา ต่อมามีการทำนา ๒ ครั้ง เรียก นาปรัง การทำนาปรัง ทำให้ชาวนาเริ่มใช้เงิน เมื่อเงินไม่พอก็กู้เงินเจ๊กหรือรายทุนในตลาด เอาที่ดินไปจำนอง เอาเงินมาใช้ พอครบสัญญาไม่มีเงินส่ง เจ๊กจะคิดดอก บางทีก็ต้องซื้อรถ ซื้อวัว ซื้อควาย เงินไม่พอคืนเจ็กก็ถูกคิดดอกทบต้นทบดอก จนต้องขายที่นา (รายงานการประชุมเสนอผลการวิจัย.)

              วิธีการทำนาปรังเริ่มจากใช้รถไถผืนดิน คราดดินให้เตียน รวมทั้งปั่นดินให้เตียน เรียกว่า การทำนาน้ำตม พอผืนดินเตียนเริ่มหว่านข้าว ก่อนหว่านข้าวจะนำไปแช่น้ำไว้ ๒ คืน ให้ข้าวงอก แล้วจึงนำข้าวไปหว่าน ก่อนจะเกี่ยวข้าวจะคอยสังเกตดูว่ามีหนอนและเพลี้ยหรือไม่ ถ้ามีเกษตรอำเภอจะมาให้คำแนะนำ บางครั้งนำยาฆ่าแมลงมาให้ พอข้าวเหลืองเตรียมจ้างรถมาเกี่ยว  ได้ข้าวมานำข้าวมาตากให้แห้งเพื่อรอจำหน่าย หากไม่ขายเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูต่อไป

              การทำนาที่บ้านหนองเมือง มักปลูก “หอม” เป็นอาชีพเสริม ทอผ้า และมีบางที่ให้เช่าทำสวนส้ม มีกรณีที่ชาวบ้านให้เช่าพื้นที่ที่ใกล้คลองชลประทานเพื่อทำสวนส้ม ถึงคราที่ชาวนาเจ้าของที่จะทำนาปรัง ซึ่งต้องใช้น้ำ ๒ ครั้งต่อปีในการทำนา และการนำน้ำมาใช้เพื่อทำนาต้องผ่านพื้นที่ของสวนส้ม จึงทำให้ผู้ที่มาเช่าที่ทำสวนส้มไม่ยอมให้สวนเป็นทางน้ำผ่าน จึงมีการขายน้ำเพื่อให้ชาวนาได้ทำนาปรัง นอกจากนี้ในการทำสวนส้มต้องพึ่งยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก

              และยังมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น เมื่อชาวนาต้องปลูกข้าวเพื่อได้ปริมาณมาก การใช้สารเคมีต่าง ๆ มักมาพร้อมกันเสมอ รวมทั้งการกู้เงินเพื่อทำนาทั้งในระบบและนอกระบบ ทำให้ชาวนาต้องรีบทำการปลูก เก็บเกี่ยว และส่งขาย ส่งผลให้บางพิธีกรรม เช่น การเอิ้นขวัญข้าว หรือทำขวัญข้าว เชิญข้าวเข้ายุ้ง เริ่มไม่มีและลดน้อยลง เพราะชาวนาไม่มีเวลา ทุกอย่างต้องรีบเพื่อขายและนำรายได้ไปใช้หนี้

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              ด้วยไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนถึงการแต่งกายของชาวลาวแง้วในเอกสารประวัติศาสตร์ทำให้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าถึงความยากลำบากในการเดินทางอพยพมาของบรรพบุรุษลาวแง้ว ในช่วงขณะสงครามและจังหวะที่ถูกกวาดต้อน ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติอยู่ ทำให้ไม่มีเวลาเก็บข้าวของ หรือเตรียมตัวเดินทางมายังสยาม

              แต่ในปัจจุบันชาวลาวแง้ว บ้านทองเอนได้ออกแบบและรณรงค์ให้การแต่งกาย โดยนุ่งซิ่นและพาดสไบ จากผ้าที่ทอด้วยลวดลายแบบลาว

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              ชาวลาวแง้วที่อาศัยอยู่ภาคกลางมักปลูกบ้านอยู่รวมกันเป็นชุมชน ส่วนที่นาและสวนจะอยู่นอกชุมชน บ้านในปัจจุบันไม่ต่างกับบ้านคนไทยภาคกลาง

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              ชาวลาวแง้วปัจจุบันส่วนใหญ่รับประทานอาหารเหมือนคนไทยภาคกลาง และด้วยการตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำจึงมีการถนอมอาหารโดยเฉพาะการทำปลาร้า ปลาส้ม และทุกมื้อต้องมีเมนู น้ำพริก ผักสด ผักต้ม เป็นหลัก

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              ประเพณีเพาะกระจาด โดยมากจะจัดช่วงปลายเดือนกันยายน ผู้มาร่วมประเพณีต้องเอาของกำนัล อาหาร หรืออะไรที่พอจะติดไม้ติดมือมาให้เจ้าภาพ มาร่วมทำบุญติดกันเทศน์ในบุญผเวส เทศน์มหาชาติ ทำบุญด้วยผลไม้เพราะเชื่อว่าผลไม้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังอิงกับพระเวชสันดรชาดกตอนนางมัทรีเดินทางอยู่ในเขาวงกต เจ้าบ้านหรือเจ้าภาพจะทำการเลี้ยงอาหารเป็นการตอบแทนผู้มาร่วมบุญ จะทำอาหารเลี้ยงโดยเฉพาะขนมเส้นหรือขนมจีนด้วยความเชื่อที่ว่าชีวิตยืนยาวมีหลักธรรมสามัคคี และขนมมัด พร้อมทั้งจะรวบรวมปัจจัยไปทำบุญที่วัด มีการเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว บรรยากาศที่ตกแต่งในวัดคล้ายป่าหินพานต์ ตกแต่งด้วยผลไม้ กล้วย อ้อย รวงผึ้ง อิงกับเรื่องเล่าเมื่อสมัยพุทธกาลตอนพระพุทธเจ้าปฏิบัติธรรมในป่า มีช้างถวายกล้วยให้พระพุทธองค์ และลิงเห็นช้างถวายจึงถวายรวมผึ้งให้พระพุทธองค์บ้าง ก่อนถึงวันงานบุญชาวบ้านจะร่วมทำเส้นขนมจีนเป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชน สำหรับการเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ทั้ง ๑๓ ชาวบ้านจะมาจับฉลากว่าตนเองได้ดูแลกัณฑ์เทศน์ใด และจัดทำต้นกัณฑ์เทศน์ถวายวัด

              ระหว่างช่วงงานเทศน์มหาชาตินี้บ้านทองเอนมีประเพณีแห่ข้าวพันก้อน มักจัดขึ้นช่วง ๑๒ และ ๑๓ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นพิธีกรรมหนึ่งในเทศน์มหาชาติ ตกแต่งบนวัดคล้ายป่าหินมาพานต์ ชาวบ้านจะนำธงจำนวนเท่าอายุมาประดับตามเสาเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ชาวบ้านจัดเตรียมข้าวของเพื่อประกอบพิธี ได้แก่ เมี่ยงห่อใบชะพลู ปั้นข้าวเหนียวนึ่งใส่กระทงใบตอง แล้วนำไปวางไว้หน้าธรรมมาสตร์ การปั้นข้าวเหนียวเรียกว่า การพันข้าว ไม่ใช่จำนวนหนึ่งพันก้อน เพื่อนำมาบูชาคถากัณฑ์ การบูชาจะทำตอนกลางวันบนศาลาการเปรียญ โดยจุดเทียนปักไว้ในจานที่มีข้าวเหนียวปั้น และเดินรอบธรรมมาสตร์บนศาลาจำนวน ๓ รอบการฟังเทศน์มหาชาติ

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              นอกจากภาษาแล้ว การสืบเชื้อสายลาวแง้วยังสามารถถามจากเรื่องการนับถือศาลตาปู่ได้ หากมีการนับถือและเรียกว่า ผีตาปู่ สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นลาวแง้ว ส่วนใหญ่ลาวแง้วจะนับถือผีตาปู่ (ไทยอีสานจะเรียกผีปู่ตา) ผีตาปู่เป็นผีดีคอยคุ้มครองสมาชิกในหมู่บ้าน หากชาวบ้านเกิดมีปัญหา อาทิ ของหาย มีเคราะห์ จะพากันไปบอกและบนบานผีตาปู่ประจำหมู่บ้าน การเลี้ยงผีตาปู่ประจำหมู่บ้านจะจัดขึ้นประมาณเดือน ๖ วันอังคาร ในพิธีจะเลี้ยงผีตาปู่ด้วยไก่ต้มเป็นตัว หมูต้มยกมาทั้งแถบไม่ใช่เป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนมต้ม (ขนมก้อนกลม ๆ แป้งต้มกับน้ำตาลมีตัวขาวตัวแดง) และ เหล้า

              จากเดิมมีเพียงศาลตาปู่ที่คนเคารพนับถือ และส่วนใหญ่ศาลจะอยู่ในป่า ในปัจจุบันการนับถือปรับเปลี่ยนไป บางบ้านเรียกผีตาปู่เป็นเจ้าพ่อตาปู่ อาทิ บ้านน้ำจั้น ลพบุรี ในพื้นที่นี้ไม่ปรากฏการนับถือผีตาปู่ที่อยู่ในป่าลึกครึ้ม แต่จะมีผีตาปู่หนองน้ำแทน เนื่องจากพื้นที่น้ำจั้นเป็นพื้นที่มีน้ำผุด และบริเวณนั้นจะไม่ให้จับปลา การตั้งศาลจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของชุมชน  บ้างบ้านมีคนทรงเจ้าพ่อตาปู่ ได้แก่ บ้านโป่งน้อย อำเภอเมือง บ้านหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี ส่วนบ้านไผ่ใหญ่ อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรีไม่มีคนทรง การเลือกคนทรงจะเป็นผู้หญิงที่มีความพฤติกรรมดี เวลาเข้าทรงจะดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พูดภาษาไทยอีสานไม่พูดภาษาลาวแง้ว มีการแสดงรำวงรื่นเริงต่าง ๆ ผิดจากแต่ก่อนมีเพียงแค่อาหารใส่ถาด ไม่มีการแสดงใด ๆ

              การนับถือผีตาปู่แต่ก่อนจะมี จ้ำ หรือคนที่ดูแลพิธีกรรมในการไหว้ผีตาปู่ ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ในตอนนั้นไม่ได้เรียกว่านางเทียม จะเรียกเทียม หมายถึงอาการทรง เรียกคนทรงว่า ร่างทรง มีการเข้าทรงเจ้าพ่อ ช่วง ๒๐ ปีหลัง (อ้างรุจิรา, ๒๕๔๕)  มีการสร้างเรื่องราวของบรรพบุรุษขึ้นมาให้ เมื่อสอบถามเจ้าพ่อว่ามาจากไหน มักตอบว่า “มาจากเวียงจันทน์ ขี้ม้าแก่มา เหนื่อยมาก” เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนลาวแง้วส่วนใหญ่มักตอบเสมอว่า บรรพบุรุษมาจากเมืองเวียงจันทน์ แต่ตอบไม่ได้ว่ามาจากเมืองอะไร เพราะความทุกข์มันถูกสะสมอยู่ที่เวียงจันทน์ สร้างความรู้สึกร่วมว่า เรายังเป็นเชลยศึก มีความต่ำต้อยอพยพมาอยู่กับคนที่ชนชั้นสูงกว่า

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว :

              เครือข่ายของกลุ่มลาวแง้วมีการรวมตัวกันหลายหมู่บ้าน อาทิ ลาวแง้วจากนครสวรรค์ บ้านหมี่ อำเภอเมืองลพบุรี และทองเอนสิงห์บุรี มีการรวมตัวและเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวแง้ว นอกจากนี้ลาวแง้วบ้านทองเอนยังมีการจัดทำเว็บไซค์และสื่อโซเชียลมีเดียว เช่น http://www.tong-en.com ที่ให้ข้อมูลเรื่องราวประวัติศาสตร์ และนำเสนอข่าวปัจจุบัน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในสิงห์บุรี Facebook page ข่าวทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีhttps://web.facebook.com/tong2014news/?fref=ts&_rdc=1&_rdr เป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตประจำวัน ประเพณี รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดในชุมชนแต่ละวันของคนบ้านทองเอน

Access Point
No results found.

ชาวลาวแง้ว กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง บริเวณจังหวัดสิงบุรี ลพบุรี เป็นชุมชนดั้งเดิมก่อร่างสร้างชุมชนมาเนื่นนาน    ส่วนใหญ่ทำกสิกรรม ทั้งปลูกข้าว  ทำไร่ ทำสวน  รวมถึงการแปรรูปผลผลิต ในด้านประเพณีนั้นยังคงสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิม อาจจะมีการปรับปรนให้สอดคล้องกับยุคสมัยบ้างในบางประเพณี