การกำหนดชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนนั้น ในทางวิชาการไทยได้อาศัยการนิยามที่มาจากตำนาน บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ได้จากการรวมรวมและศึกษาวิจัย เช่น
1. จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์และสังคีตวงศ์ได้ระบุชื่อถึงล้านนามีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ชื่อ “พิงครัฐ” และมีคำว่า โยนรัฐและโยนประเทศ ที่หมายถึงแคว้นโยนก แต่ชาวล้านนาในสมัยดังกล่าวจะนิยามตนเองหลากหลายชื่อ เช่น ไตหรือไท ไทโยน ไทยวน
2. ตำนานสุวรรณคำแดง ตำนานเจ้าอินทขีล ที่ใช้ชื่อเรียกชาวล้านนาว่า “ไทยวน” อย่างชัดเจน ซึ่งในตำนานได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยวนกับลัวะ หรือคำบวงสรวงในพิธีไหว้ปู่แสะย่าแสะที่กล่าวว่า “ลัวะเยียะไร่ อย่าหื้อตายคา ไทยเยียะนา อย่าหื้อตายแดดและเหี่ยวแห้ง”
3. พิจารณาจากบันทึกของชาวอยุธยา ที่ระบุใน ลิลิตยวนพ่าย ที่เล่าถึงความพ่ายแพ้ของกษัตริย์เชียงใหม่ต่อกษัตริย์อยุธยา และในตำนานดังกล่าวยังเรียกชาวล้านนาว่า “ลาว”
4. ตามเอกสารในสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรียกชาวล้านนาว่า “ลาว” “ลาวโยน” ซึ่งการเรียกลักษณะนี้อาจจะเรียกตามอย่างพม่าที่เคยปกครองล้านนา โดยพม่าจะเรียกล้านนาว่า “โยน”
ฉะนั้นจากตำนาน บันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์ ทำให้ในทางวิชาการไทยได้นิยามชื่อเรียกว่าชาวไทยวน โดยอ้างอิงจากตำนานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คนล้านนา ได้นิยามตนเองในชื่อที่รู้จักกันดี คือ คนเมือง ซึ่งชื่อนี้ได้ปรากฏในช่วงรอยต่อการปกครองของพม่าจนถึงปัจจุบัน (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว 2543: 37-38)
ชาวล้านนาจะเรียกชื่อตนเองว่า “คนเมือง” แต่ชาวล้านนาถูกเรียกชื่อจากคนนอกหรือคนอื่น ๆ แตกต่างกันไป เช่น ชาวพม่าเรียกชาวล้านนาว่า “โยน” และจะลงท้ายด้วยชื่อเมือง เช่น โยนเชียงใหม่ โยนลำปาง หรือแม้แต่การเรียกชื่อจำพวกผลิตภัณฑ์จากล้านนาอย่างเครื่องเขินแบบเชียงใหม่ว่า “โยนเถ่” และยังเรียกนิกายศาสนาจากเชียงใหม่ ว่า “เกิ้งโยน” (เกิ้ง แปลว่า นิกาย)
เช่นเดียวกันนี้ ชาวอยุธยา เรียกชาวล้านนา ว่า “ยวน” ดังที่พบจากวรรณกรรมเรื่อง “ลิลิตยวนพ่าย” หมายถึง ล้านนาพ่ายแพ้ให้แก่อยุธยา ลิลิตยวนพ่ายเขียนขึ้นมาเพื่อสดุดีสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงมีชัยชนะในสงครามกับพญาติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ในราวพ.ศ. 1990 จากลิลิตดังกล่าวนี้ทำให้ทราบว่า ชาวอยุธยาสมัยนั้นเรียกคนล้านนาว่า “ยวน” ทั้งนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์กลับนิยามคนล้านนาว่า “ลาว” ดังที่เอกสารในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกชาวล้านนาว่า”ลาว” “ลาวโยน” “ลาวเฉียง” และ”ลาวพุงดำ” “ลาวพุงขาว” ซึ่งจะพบว่าในสมัยดังกล่าวสยามเรียกเมืองประเทศราชทางเหนือว่า “ลาว” แต่ต่อมาในช่วงการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปหัวเมืองในล้านนาโดยใช้ชื่อใหม่เป็น “มณฑลพายัพ (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว 2555: 43-45)
ชื่อเรียกตนเอง
“คนเมือง” หมายถึง คนที่อยู่มาก่อน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมือง/เวียง หรือพื้นราบในภาคเหนือ
คำว่า “ยวน” มาจากคำว่า “โยนก” มาจากชื่อเมือง “โยนกนาคพันสิงหนวัติ” ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่เชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ชื่อที่คนอื่นเรียก
“ไตยวน” “ไตยน” “โยน” เป็นคำเรียกจากกลุ่มชาวไทใหญ่ ลัวะ กะเหรี่ยงและชาวพม่า
ยวน มาจากคำว่า ยูนนาน โดยมองจากกลุ่มนักเขียนบางกลุ่ม ที่ให้ความหมายว่าเป็นที่อยู่ของคนยวนมาก่อน ก่อนจะอพยพลงมาทางใต้ คำว่ายู-นานกับยวน มีความใกล้เคียงกันมาก และภาษาไทยเป็นคำโดด ยู-นาน จึงเหลือเพียงคำว่า ยูน-ยวน แต่คำนี้ยังไม่มีข้อสรุป (นพคุณ ตันติกุล, 2548: 45)
“โยน” “ยวน” ปรากฏในตำนานสิงหนวัติ ที่กล่าวถึงสิงหนวัติกุมาร โอรสของท้าวเทวกาล ที่ปกครองเมืองในยูนนาน ได้ทำการอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และตั้งชื่อเมืองว่า โยนกนคร คนทั่วไปเรียกเมืองนี้ว่าโยนก ยูนหรือ ยวน (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, 2541: 43)
“ยวน” เป็นคำเรียกที่พบได้จากชาวอยุธยาเรียกชาวล้านนา ว่า “ยวน” ดังที่พบในวรรณกรรมเรื่อง “ลิลิตยวนพ่าย” หมายถึง ล้านนาพ่ายแพ้ให้แก่อยุธยา ลิลิตยวนพ่ายเขียนขึ้นมาเพื่อสดุดีสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงมีชัยชนะในสงครามกับพญาติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ในราวพ.ศ. 1990 จากลิลิตดังกล่าวนี้ทำให้ทราบว่า ชาวอยุธยาสมัยนั้นเรียกคนล้านนาว่า “ยวน” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2533)
”ลาว” “ลาวโยน” “ลาวเฉียง” และ”ลาวพุงดำ” “ลาวพุงขาว”เป็นคำเรียกชาวไทยวนของชาวไทยสยาม ในสมัยรัตนโกสินทร์กลับนิยามคนล้านนาว่า “ลาว” ดังที่พบเอกสารในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, 2541; เคอร์ติส, 2543 และ Curtis, 1903)
“ยวน” ตามที่พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค,2515) อธิบายไว้ในพงศาวดารโยนกว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ยุนซาง” หรือ “ฮวนซาน” ในภาษาจีนแปลว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งหมายถึงคนซานหรือสยามนั่นเอง คำว่า ไทยยวน จึงหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ในตระกูลไท-กะได หรือที่รู้จักกันในนามล้านนา (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548: 6)
จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์และสังคีตวงศ์ได้ระบุชื่อถึงว่าล้านนามีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ชื่อ “พิงครัฐ” และมีคำว่า โยนรัฐและโยนประเทศ ที่หมายถึงแคว้นโยนก แต่ชาวล้านนาในสมัยดังกล่าวจะนิยามตนเองหลากหลายชื่อ เช่น ไตหรือไท ไทโยน ไทยวน
ตำนานสุวรรณคำแดง ตำนานเจ้าอินทขีล ที่ใช้ชื่อเรียกชาวล้านนาว่า “ไทยวน” อย่างชัดเจน ซึ่งในตำนานได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยวนกับลัวะ หรือคำบวงสรวงในพิธีไหว้ปู่แสะย่าแสะที่กล่าวว่า “ลัวะเยียะไร่ อย่าหื้อตายคา ไทยเยียะนา อย่าหื้อตายแดดและเหี่ยวแห้ง” (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, 2543: 37-38)
คนไตลื้อ เรียกคนเมืองว่า “กะหลอม” “ขะหลอม” และเรียกอีกคำหนึ่งว่า โยน หรือ ยน
ชาวม้ง เรียกคนเมืองว่า “ก้อหล่ง” กู้หล่ง”
ชาวขมุ จะเรียกคนเมืองว่า “แจ๊ะ” หรือ “แชะ” และบางครั้งก็จะเรียก “ก้อลอม” “ก้อลม” ตามที่ได้รับอิทธิพลจากไตลื้อ
ชาวลาหู่ ทุกกลุ่ม ลาหู่เฌเล ลาหู่แดง ลาหู่ลาบา ลาหู่ดำ ลาหู่กุย และชาวอาข่าทุกกลุ่ม และชาวลีซู ทั้งสามกลุ่มชาติพันธุ์ เรียก คนเมืองว่า “กอเลาะ” คำนี้เกิดขึ้นจากการเรียกเลียนแบบกันจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาใหม่ในยุคนั้น
กลุ่มชาติพันธุ์เมียน เรียกคนเมืองว่า “จั่นขะหลอม” (จันทบูรณ์ สุทธิ ,2539:3-9)
ชื่อที่นักวิชาการเรียก
ราชบัณฑิตยสถาน (2556) ได้ให้ความหมายของคำว่า “ยวน” ไว้ว่า เป็นชื่อเรียก ชาวไทยทางล้านนา เพี้ยนเป็น เยาวนะ โยน หรือ โยนก
ไต๋มุง เป็นชื่อเดิมที่อาศัยอยู่ในยูนนาน และค่อยๆ อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำกก
ยวน เพี้ยนมาจากชื่อเมือง “โยนกนาคพันธุ์นคร” จากชื่อเมืองโยนกนครกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกของกลุ่มคนในเมืองโยนกเพื่อระบุตัวตนสร้างความแตกต่างไปจากกลุ่มตระกูลไทและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ (อานันท์ กาญจนพันธ์, 2560: 52-55)
ไปเยว่/เตี้ยนเยว่ เป็นชื่อโบราณที่เป็นต้นตระกูลชาวไทยวนที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองเจียวจื่อ (อยู่ทางเหนือของเวียดนาม) พบได้ในบันทึกโบราณจีน ที่บันทึกเรื่องราวชนชาติไทย รวบรวมโดยศาสตรจารย์เจียงอึ้งเหลียง แห่งมหาวิทยาลัยยูนนาน (นพคุณ ตันติกุล, 2548: 46-56)
“ชาวลาว” เป็นชื่อเรียกชาวล้านนาจากมิชชันนารี ชื่อ เดเนียว แม็คกิลวาลี ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เกือบ 50 ปี (พ.ศ. 2410-2453) และเขียนหนังสือ กึ่งศตวรรษในหมู่ชาวสยามและชาวลาว โดยเรียกคนล้านนาว่า ชาวลาว
คนยวน ได้ถูกเรียกโดยมิชชันนารีอเมริกา ชื่อ วิลเลียม คลิฟตัน ด็อดด์ ซึ่งทำงานในพื้นที่จังหวัดชายราย กล่าวว่าคนในพื้นที่ภาคเหนือนิยามตนเองว่าเป็น “คนยวน” มิใช่คนลาวอย่างที่หลายคนเข้าใจ (ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2544: 11)
“คนเมือง” ชาวไทยวนหันมานิยามตนเองในชื่อ “คนเมือง” อธิบายว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยที่ล้านนาอยู่ใต้อำนาจของชาวพม่า ชาวไทโยนจึงประดิษฐ์คำนิยามตนเองใหม่เพื่อต้องการแบ่งแยกความแตกต่างไปจากชาวพม่า โดยนิยามตนในคำว่า “คนเมือง” ที่ให้ความหมายถึง คนที่อยู่มาก่อน ตั้งถิ่นฐาน ทำไร่ทำนามาก่อนชาวพม่าจะเข้ามายึดครอง ฉะนั้น การนิยามชื่อใหม่จึงมีวัตถุประสงค์ให้เกิดความแตกต่างระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง คือ ม่าน (พม่า) กับ คนเมือง (คนยวน) (สงวน โชติสุขรัตน์, 2561)
คนเมือง มีการยืนยันปรากฏการณ์เรียกชื่อนี้ในงานของธเนศ เจริญเมือง (2554) ได้วิเคราะห์การนิยามคำว่า “คนเมือง” ขึ้นมาแทนที่คำว่า “ยวน” คือ ระยะแรก พ.ศ. 2325-2416 เป็นช่วงที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามแบบหลวม ๆ ของสยาม ทำให้เจ้าเมืองที่เป็นชาวไทยวน ค่อย ๆ รื้อฟื้นประเพณี ภาษาและรวบรวมชาวไทยวนให้หันมาสร้างเมืองอีกครั้ง แต่ช่วงดังกล่าว ในล้านนามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทำให้ต้องเรียกแทนตนเองในคำใหม่ว่า “คนเมือง” ขึ้นมาเพื่อระบุว่าใครเป็นใคร ซึ่งระยะแรกการนิยามตน ด้วยคำว่า “คนเมือง” เพื่อประสงค์บอกว่า ตนเป็นคนที่นี่ เป็นคนที่อยู่เดิม เป็นชาวพื้นเมืองที่ไม่ใช่กลุ่มที่มาจากการกวาดต้อน ระยะที่สอง พ.ศ. 2416-2445 เป็นช่วงที่ใช้คำว่า “คนเมือง” เพื่อผลิตใช้เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม และนัยทางการเมือง คือ เป็นช่วงที่คนยวนต้องการจำแนกความแตกต่างระหว่างคนไทยวนกับคนสยาม เนื่องจากสยามได้ส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามาปกครองประจำการในล้านนา ซึ่งเป็นช่วงต้นของการกระชับอำนาจไปยังหัวเมืองต่าง ๆ และจัดรวบเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน รวมเป็นหัวเมืองเดียว ภายใต้ชื่อ “ลาวเฉียง” (ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2554: 17-20)
“คนเมือง” ปรากฏยืนยันการเรียกชื่อนี้จาก จิตร ภูมิศักดิ์ (2533) ได้ชี้ว่าการเกิดขึ้นของคำว่า คนเมือง ว่า คำนี้มาจากการเลือกใช้คำเพื่อตอบโต้และปลดปล่อยตนเองจากการดูถูกเหยียดทางชาติพันธุ์ทั้งในกลุ่มชาวไทยด้วยกันเองและกับชาวพม่า ฉะนั้นการประกาศใช้คำว่าคนเมือง เพื่อแสดงว่าตนเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมไม่ใช่คนป่าหรือชาวดอย (จิตร ภูมิศักดิ์ 2533, อ้างในชยันต์ วรรธนะภูติ, 2549)
“คนเมือง” ชื่อนี้ได้ถูกวิเคราะห์ โดยชยันต์ วรรธนะภูติ (2549) ถึงที่มาของการใช้คำว่า “คนเมือง” ในระดับลึกถึงจักรวาลวิทยาความเชื่อ โดยชี้ให้เห็นคำว่า คนเมืองมาจากกลุ่มคนที่มีองค์กรทางสังคมและการปกครองแบบ “เมือง” เป็นพื้นที่ของอำนาจมีเจ้าเมืองและลำดับชั้นการปกครองในสังคมที่สะท้อนตำแหน่งแห่งที่ของตัวตนเชื่อมโยงกับจักรวาลวิทยาแบบเมืองอีกด้วย ฉะนั้น คำว่า “คนเมือง” จึงเกิดขึ้นจากความเชื่อจากสถานะทางสังคมภายใต้กรอบคิด “เมือง” โดยทั่วไปการจัดองค์กรทางสังคมของกลุ่มตระกูลไท/ไต พบว่าเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบหนึ่ง (Political Domain) หรือระบบการปกครองแบบเจ้าเมือง/อาณาจักร โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง ระบบเช่นนี้จะเรียกว่ารัฐในหุบเขาที่มี “เวียงเจ้าเมือง” เป็นศูนย์กลางการปกครองและใช้เป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกอีกด้วย นอกจากนี้ แนวคิดเรื่อง “เมือง” ยังเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อของจักรวาลวิทยาที่ว่า “เมือง” คือ พื้นที่และศูนย์รวมของอำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้แก่กษัตริย์หรือผู้ปกครอง ชยันต์ (2549) ได้ยกตัวอย่าง เมืองในฐานะศูนย์อำนาจนั้น ดำรงอยู่ภายใต้ชุดความเชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยให้การคุ้มครอง เช่น ผีเมือง และมีความเชื่อว่าในเมือง ๆ หนึ่งมีมิติดำรงซ้อนทับอยู่ 3 มิติ คือ “เมืองผี” “เมืองคน” และ “เมืองฟ้า” (เป็นที่อยู่ของ “แถน”)
ไทยวน คือประชาชนที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองล้านนา ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสน เมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองน่าน และเมืองแพร (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541)
ยน ยวน ยูน หรือ โยน เป็นชื่อเรียกชาวไทยวนจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่ใกล้เคียง เช่นเดียวกัน ชาวลื้อสิบสองปันนาและชาวเมืองยองพากันเรียกชาวล้านนาว่า “ยน” หรือ “ยวน” เช่น ยนเจงใหม่ (คนยวนเชียงใหม่) ยนละกอน (คนยวน ลำปาง) (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2493)
การสะกดชื่อตามอักขระ ไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน) หรือ ไตยวน (อ่านว่า ไต-ยวน) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษาไท-กะไดในกลุ่มภาษาเชียงแสน กลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของประเทศไทยที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนา (สุเทพ สุนทรเภสัช, 2548: 197 และ ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2554: 7-8)
คำว่า “ล้านนา” ถูกใช้ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1984-2030) รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2554)
คนเมือง เกิดขึ้นจากการเรียกกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ผสมผสานในเขตเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2348 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่อยู่พื้นที่ราบ เช่น ไตเขิน ไตญอง ไตลื้อ ไตใหญ่ หรือชาวจีน แขก ฝรั่ง และกลุ่มชาวเขาต่าง ๆ ที่อพยพเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือ และได้ผสมผสานกับกลุ่มชนที่เรียกว่า “ยวน” จนเกิดกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ขึ้นมา ดังนั้น กลุ่มคนเมืองจึงไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่บริสุทธิ์ แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ (กัญญา ลีลาลัย, 2544)
คำว่า “ยูน” เป็นคำเรียกของชาวพม่าที่ปกครองล้านนา ซึ่งคำว่า ยูน ในภาษาพม่า แปลว่า “ทาส” ดังนั้น การเรียก “คนเมือง” ในชื่อใหม่ เป็นไปได้ที่ใช้เพื่อตอบโต้การเรียกชื่อเชิงดูถูกของชาวพม่า แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสันนิฐานว่า การเรียกคำว่า “ยูน” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ยวน” (จันทบูรณ์ สุทธิ, 2539: 34)
ข้อมูลจากสารภี ศิลา นักวิจัยสังกัดสถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่ บุตรหลานของชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนไปยังจังหวัดราชบุรี และนานเขียน กองจันทึก อดีจข้าราชการบำนาญ สังกัดสถาบันวิจัยข้าว เป็นบุตรหลานชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดตอนไปยังอำเภอเสาไห้ ต่างยินยันว่าพวกเขายังคงเรียกตัวเองว่าเป็น “คนยวน” หรือเป็น “ไทยยวน” (จันทบูรณ์ สุทธิ ,2539)
ยวนสีคิ้ว เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนที่ถูกอพยพตั้งถิ่นฐานที่บ้านโนนกุ่มและบ้านสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา (สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา, 2544)
ตระกูลภาษา
คำเมือง เป็นภาษาที่จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได มีผู้พูดกระจายตัวในภาคใต้ของจีนประมาณ 6 ล้านคนในภาคเหนือและหลายหมื่นคนในประเทศลาว ภาษาคำเมืองยังมีความใกล้ชิดกับภาษาไทยกลาง แต่นักมานุษยวิทยาชื่อ ริชาร์ด เดวิส ได้ศึกษาเปรียบภาษาไทเหนือกับไทยกลาง โดยใช้รายการคำศัพท์ของสวาเดซ (Swadesh List) เปรียบเทียบ 200 คำ ถ้าภาษาพ้องกัน 80 % ถือว่า เป็นภาษาเดียวกัน แต่เมื่อริชาร์ดได้ศึกษาเปรียบเทียบกลับพบว่า ภาษาไทเหนือมีความพ้องกับภาษาไทยกลางเพียง 61% เท่านั้น จึงถือว่า ภาษาไทเหนือหรือคำเมืองมีอิสระจากภาษาไทยกลางและเป็นภาษาเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง (สุเทพ สุนทรเภสัช 2548: 197, ธเนศวร์ เจริญเมือง 2554:7-8)
ภาษาพูด: คำเมือง
ภาษาไทยวนหรือที่เรียกว่า คำเมือง นั้นมีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เฉพาะของตนเองไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยกลาง เขมรและมอญ แต่โครงสร้างประโยคของภาษาไทยวนไม่ได้แตกต่างไปจากภาษาไทยกลาง จะมีความแตกต่างเฉพาะบางคำศัพท์ที่เป็นศัพท์ท้องถิ่นและการออกเสียงวรรณยุกต์เท่านั้น เช่น พูดว่า ไปเที่ยวมาสนุกไหม ในภาษาคำเมือง จะพูดว่า “ไปแอ่วมาม่วนก่” คำพูดว่า “ทำอะไร” ภาษาคำเมืองว่า “เญียะอิหยัง” หรือ คำว่า กิ๋นเข้าบ่ลำ ที่หมายถึง กินข้าวไม่อร่อย ในภาษาไทยกลาง
สำหรับหน่วยเสียงพยัญชนะในภาษาไทยวนหรือคำเมือง พบว่า มีทั้งหมด 20 หน่วยเสียง คือ ป/พ/บ/ต/ท/ด/จ/ก/ข/อ/ฟ/ส/ห/ม/น/ญ/ล/ว/ย/ สำหรับภาษาคำเมืองกับภาษาไทยกลางจะมีคำอ่านที่สามารถเปรียบเทียบคำเหมือนในบางรูปคำ เช่น
ในภาษาไทยกลางตัว /ค/ มักจะออกเสียง /ก/ ในภาษาคำเมือง เช่น “คาง” จะอ่านว่า “กาง”
ในภาษาไทยกลางตัว /ช/ จะออกเสียง /จ/ ในภาษาคำเมือง เช่น “ช้อน” จะอ่านว่า “จ๊อน”
ในภาษาไทยกลางตัว /พ/ จะออกเสียง /ป/ ในภาษาคำเมือง เช่น “พ่อ” จะอ่านว่า “ป้อ”
ในภาษาไทยกลางตัว /ร/ จะออกเสียง /ฮ/ ในภาษาคำเมือง เช่น “เรือน” จะอ่านว่า “เฮือน”
นอกจากนี้ ในคำเมืองยังมีเสียงสระ 21 หน่วยเสียง สระเดี่ยว 18 เสียง สระประสม 3 เสียง แต่สระบางคำมีความคล้ายกับภาษาไทยกลาง เช่น เสียง /เอ/ เป็นเสียง /แอ/ ดังเช่น ภาษาไทยกลาง คำว่า /เอว/ ภาษคำเมือง อ่านว่า /แอว/ หรือ ในภาษาไทยกลาง เสียง /อุ/ ในภาษาคำเมือง อ่านว่า /โอะ/ ดังเช่น คำว่า “ตุ๊กแก” ในคำเมืองอ่าน “ต๊กโต” และคำว่า “ถุง” ในคำเมืองอ่านว่า “ถง” (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548:11-12)
ในงานของ วนิดา สารพร (2531) ในงานศึกษาดังกล่าวได้พบว่า หน่วยเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยวนหรือคำเมือง ที่ตำบลดอนแร่ ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี มีความแตกต่างไปจากคำเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ คือ มีเสียงวรรณยุกต์เพิ่มเติม 4 หน่วยเสียง คือ
1. เป็นเสียงต่ำ-ขึ้น เช่น คำว่า “หู” “กิน”
2. เป็นเสียงกลางระดับ เช่น คำว่า “แดง” นา
3. เป็นเสียงกลาง-ตก เช่น คำว่า “พ่อ” “ลูก”
4. เป็นเสียงสูงระดับ เช่น คำว่า “บ้า” “นก”
ตัวอักษรที่ใช้เขียน: ตัวอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขาม
อักษรธรรมล้านนา :อักษรธรรมล้านนาหรือตัวเมือง พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณ อักษรธรรมล้านนาได้แพร่กระจายไปพร้อมกับการขยายตัวของศาสนาพุทธทั้งในเขตอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรล้านช้าง อักษรดังกล่าวจะพบมากในเอกสาร คัมภีร์ใบลานทางศาสนา ตำราโหราศาสตร์ ตำราแพทย์ บทกวีนิพนธ์ แต่การใช้อักษรธรรมล้านนาได้หยุดชะงัก เนื่องจากการแพร่ขยายของภาษาไทยกลางที่มีพร้อมกับการปกครอง การสื่อสาร และระบบการศึกษา ทำให้อักษรธรรมจึงเสื่อมลงตามลำดับ
เนื้อหาโดย นายอัสรี มาหะมะ นักวิจัยอิสระ
ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด :24 กันยายน 2562
เอกสารอ้างอิง
อ้างอิงอิเล็กทรอนิกส์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สระบุรี ราชบุรี เป็นต้น | 6000000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ชาติพันธุ์ไทยวนเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีรากบรรพบุรุษจากเมืองเชียงแสนหรืออาณาจักรโยนก ชื่อโยนกจึงเพี้ยนมาเป็นชื่อชาติพันธุ์ “ยวนหรือโยน”กระทั่งอาณาจักรโยนกได้ล่มสลายจากภัยธรรมชาติ คนเหล่านี้ได้เคลื่อนย้ายมาสร้างเมืองใหม่ คือ “เชียงใหม่” และเรียกขอบเขตของอำนาจแห่งนี้ว่าอาณาจักรล้านนา หลังจากนั้นเชียงใหม่จึงเป็นอู่วัฒนธรรมของชาวไทยวน ก่อเกิดของความเชื่อ กฎเกณฑ์ จารีต วิถีชีวิตและการผลิต การรักษาโรค ศิลปะการศึกษา โดยมีลักษณะทางวัฒนธรรมภายใต้ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและศาสนาพุทธ การรวมกลุ่มภายใต้โครงสร้างเครือญาติ ศิลปวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ล้านนาและจากกลุ่มอำนาจที่เข้ามามีอิทธิพลต่อล้านนา ทำให้ประวัติศาสตร์ของชาวไทยวนมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลง ช่วงชิงในบางช่วงเวลา ก่อให้เกิดการนิยามตัวตนใหม่ เรียกว่า “คนเมือง” เพื่อสร้างความแตกต่างและคามสัมพันธ์เชิงอำนาจกับกลุ่มอื่น ๆ เหล่านั้น แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่และการเข้ามาของแนวคิดใหม่ ๆ เช่น การสร้างความเป็นไทย การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตและการผลิตแบบใหม่ ค่านิยมและคุณค่าใหม่ ๆ ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้วิถีชีวิต ความเชื่อและระบบโครงสร้างเดิมของชาวไทยวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามมีชาวไทยวนบางกลุ่มได้พยายามที่ชะลอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความทันสมัยเหล่านั้นด้วยการหันกลับมารวมกลุ่มฟื้นฟูวัฒนธรรมความเชื่อบางอย่างเพื่อดำรงอัตลักษณ์ของคนไทยวนในสังคมปัจจุบัน
คนไทยวน จะเรียกตนเองว่าชาวยวน ยังนิยามตนเองตามชื่อเมือง เช่น ชาวเชียงใหม่ ชาวลำพูน ชาวลำปาง เป็นการเรียกตนเองตามพื้นที่และขึ้นอยู่กับบริบทที่ต้องเผชิญว่าเขานิยามว่าเป็นใครมาจากไหน นอกจากนี้ ชาวไทใหญ่ ลัวะ พม่า กะเหรี่ยง เรียกคนไทยวน ว่า “ไตยวน” “ไตยน” “โยน” หรือ เรียกลาวโยน ลาวเฉียง อีกทั้งยังเรียกแบ่งแยกลาว ออกเป็น “ลาวพุงดำ” ลาวพุงขาว” โดยแยกตามการนิยมสักตามร่างกายของชาวลาวพุงดำ ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 5 มีการนิยามใหม่เรียกว่า “ลาวเฉียง” (เตือนใจ 2535 :39-41) แต่อย่างไรก็ตาม คำว่าลาว มีความหมายในเชิงลบเป็นการดูถูกในเชิงชาติพันธุ์ที่ต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม คนยวน นิยามตนเองว่าเป็น “คนเมือง” นั้นมีพัฒนาการทางบริบทสังคมและประวัติศาสตร์ ดังที่ สงวน โชติสุขรัตน์ (2512) อธิบายว่า เป็นคำนิยามตนเองเพื่อต้องการแบ่งแยกความแตกต่างไปจากชาวพม่าที่ปกครองล้านนา โดยนิยามคำว่าคนเมือง ที่ให้ความหมายถึง คนที่อยู่มาก่อน ตั้งถิ่นฐาน ทำไร่ทำนามาก่อนชาวพม่าจะเข้ามายึดครอง ฉะนั้น จึงเกิดความแตกต่างระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง คือ ม่าน (พม่า) กับ คนเมือง (คนยวน) คำว่า คนเมืองยังให้นิยามที่แตกต่างไปจากคนชาติพันธุ์อื่น ๆในพื้นที่อีกด้วย พร้อมกับความแตกต่างไปจากคนไทสยามที่มาจากทางใต้ แต่ชาวสยามจะเรียกคนล้านนาว่า เป็น “ลาว” ซึ่งไม่พอใจให้กับคนเมือง อย่างไรก็ตามปัจจุบันคำว่า คนเมือง เป็นคำเรียกที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของตนเองให้กับคนอื่น ดังที่มีคำว่า “หมู่เฮาคนเมือง” ดังที่จิตร ภูมิศักดิ์ (2524)ได้อธิบายการเกิดขึ้นของคำว่า คนเมือง ว่า คำนี้มาจากการเลือกใช้คำเพื่อตอบโต้และปลดปล่อยตนเองจากการดูถูกเหยียดหยามทางชาติพันธุ์ทั้งในกลุ่มชาวไทยด้วยกันเองและกับชาวพม่า ฉะนั้นการประกาศใช้คำว่าคนเมือง เพื่อแสดงว่าตนเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมไม่ใช่คนป่าหรือชาวดอย
การนิยามคนเมือง จึงมีความหมายที่ต้องการบ่งบอกสถานะของตัวตน และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชาวพม่า และชาวสยามที่ทั้งสองอาณาจักรต่างเคยมีสถานะคู่สงครามกับอาณาจักรล้านนาอย่างทัดเทียมกัน ถึงแม้สุดท้ายต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และตกเป็นเมืองขึ้นในที่สุด ด้วยเหตุนี้การนิยามตนเองว่าคนเมือง แสดงให้เห็นความมีอารยธรรมและมีความแตกต่างไปจากชนกลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่ล้านนาอีกทั้งความต่างระหว่างกลุ่มคนจากสองอาณาจักรที่เป็นชาวไทยและชาวพม่า
ในบทความของชยันต์ วรรธนะภูติ (2549) ได้อธิบายว่า การใช้คำว่า “คนเมือง” ในการนิยามตนเองนั้น ต้องย้อนสำรวจลักษณะวิถีชีวิตของคนยวนที่ผูกติดตนเองกับการสร้าง “เมือง” “เวียง” คือ คนไตยวนนิยมการสร้างเมือง ดังที่พบว่า ชาวยวนมีการสร้างเมืองในบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ปรากฏเมืองหรือเวียงต่าง ๆ เช่น ในเชียงใหม่ ลำพูน เชียงแสน พร้าว ลำปาง เมืองเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเชื่อที่เป็นวัฒนธรรมไทยวน-ไทลื้อ โดยเฉพาะในด้านจักรวาลวิทยาที่ผูกโยงกับระบบความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษหรือผีเมือง (ผีประจำโคตรวงศ์) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และอำนาจในการจัดโครงสร้างการปกครองในล้านนา ฉะนั้น ชาวยวนจึงมีความสัมพันธ์กับเมืองและอยู่อาศัยในเมืองเป็นหลัก เนื่องจากความสัมพันธ์ทางความเชื่อต่อผีเมือง ทำให้เกิดความเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกันระหว่างเจ้าเมืองและไพร่ โดยเฉพาะในการทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ประจำปีหรือกิจกรรมอื่นที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าลักษณะสังคมชาวยวนมีการจัดองค์กรทางสังคมและการปกครองแบบ “เมือง” นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตรบนที่ดินในพื้นที่ราบลุ่ม มีอิสระในการใช้ที่ดิน และมีการจัดระบบเหมืองฝายในการทำนา ฉะนั้นความเป็นเมืองที่มีการจัดระบบการปกครองลักษณะนี้ จึงเป็นตัวบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ข่า”
คนเมือง จึงหมายถึงคนที่อยู่ในระบบการปกครองแบบเมือง อยู่ในพื้นที่ของอำนาจ ซึ่งแตกต่างไปจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่นที่อยู่ในพื้นที่หรือพื้นที่ไร้อำนาจ นอกจากนี้ยังมีนัยยะที่บ่งบอกสถานะตนเองที่แตกต่างไปจาก คนม่าน และ คนไทย
อาณาจักรล้านนามีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นแนวภูเขาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้การติดต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการติดต่อระหว่างพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เนื่องจากเมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มที่ติดต่อเป็นแนวเดียวกัน หรือแม้การติดต่อเดินทางขนถ่ายสินค้าไปยังเมืองใหญ่ใกล้เคียง เช่น สุโขทัย พม่า อยุธยา สิบสองปันนา ผู้คนในล้านนายังสามารถเดินทางไปยังเมืองเหล่านี้ได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค ล้านนา ถือว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้า เป็นทางผ่านของบรรดาพ่อค้าและสินค้าต่าง ๆ ที่ลำเลียงไปมาระหว่างเมืองใหญ่ ๆ เช่น สุโขทัย อยุธยา มอญ เวียงจันทน์ เชียงแสน และสิบสองปันนาระหว่างอาณาจักรหรือเมืองใหญ่ ล้านนาจึงมีรายได้และผลประโยชน์จากการค้าทางบก ทำให้การสร้างเมืองล้านนา เติบโตและขยายอาณาเขตได้อย่างรวดเร็ว (ลมูล จันทร์หอม 2547: 12) ล้านนาเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางรับซื้อสินค้าและเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนต่าง ๆ ในอาณาจักร โดยเฉพาะการดึงสินค้าประเภทของป่าจากชุมชนภูเขาเข้าสู่พื้นที่ราบและส่งต่อไปยังเมืองท่าต่าง ๆ
ก่อนหน้าที่ล้านนาจะเป็นอิสระและในช่วงการตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ช่วงดังกล่าวไม่ปรากฏการใช้คำว่า “คนเมือง” แต่มักจะเป็นที่รู้จักในฐานะ “คนยวน” แต่เมื่อสถานการณ์ในล้านนาเริ่มเปลี่ยนแปลงเนื่องจากต้องเผชิญกับสงครามและการตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า 200 กว่าปี ทำให้ชาวไทยวนในล้านนาถูกเคลื่อนย้ายหรือเกณฑ์ไปรบไปมาระหว่างอยุธยาหรือถูกกวาดต้อนไปยังหงสาวดี ด้วยเหตุนี้ชาวไทยวนในล้านนาจึงลดลงเนื่องจากการถูกเกณฑ์ไปรบตามเมืองต่าง ๆ และส่วนใหญ่หลบหนีเข้าป่า แต่เมื่อพระยากาวิละ จากเมืองลำปางพยายามตอบโต้ด้วยการทำสงครามกับพม่าในล้านนา ทางล้านนาได้ขอความช่วยเหลือจากกองทัพสยามในการต่อต้านพม่า จนสามารถขับไล่พม่าไปจนถึงเชียงแสน ถึงแม้ล้านนาจะสามารถขับไล่พม่าได้ แต่อำนาจสยามได้เข้าแทนที่และมีอิทธิพลเหนือล้านนาเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามในช่วงต้นการปกครองของเจ้ากาวิละ ทั้งเมืองเชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน พะเยา เมืองเหล่านี้หลงเหลือชาวไทยวนเพียงน้อยนิด เนื่องจากในช่วงดังกล่าวหรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1-3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองดังกล่าวถูกกลายสภาพเป็นเมืองร้างเป็นเวลาราว 30 ปี บางเมืองถูกทิ้งร้างถึง 60 ปี สภาวะขาดแขลนกำลังเช่นนี้ ในช่วง พ.ศ. 2325-2356 เจ้ากาวิละและกองทัพสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ออกทำสงครามขึ้นเหนือกวาดต้อน คนยอง คนลื้อ คนขึน และคนไทใหญ่จำนวนมากเข้าสู่ดินแดนล้านนา พร้อมกันนั้นได้ตีเมืองเชียงแสนของชาวไทยวนและทำการกวาดต้อนชาวไทยวนเชียงแสนประมาณ 22,000 คน โดยจัดแบ่งไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง น่าน และกรุงเทพฯ ซึ่งในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้จัดตั้งชุมชนไทยวนที่ตำบลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และที่ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี กระทั่งชาวไทยวนจากตำบลเสาไห้บางส่วนได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา(สุรพล ดำริห์กุล 2539: 52-56)
ช่วงดังกล่าวจึงเรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” เนื่องจากชาวไทยวนในพื้นที่มีจำนวนน้อย ฉะนั้นการกวาดต้อนผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เข้าสู่ล้านนา ทำให้เกิดสภาวะความหลากหลายแตกต่างกันในวิถีชีวิต ดังที่ โฟลค์เค่อร์ กราโบว์สกี้ (Volker Grabowsky) จากการศึกษาการกวาดต้อนคนไทเข้ามาในล้านนา เขาประเมินว่า ในปี 2386 สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงบ้านเมืองสงบ เนื่องจากพม่าติดพันสงครามกับอังกฤษ เขาชี้ว่าในเมืองเชียงใหม่มีประชากรชาวยวนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวไท ชาวพม่าและชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่กวาดต้อนเข้ามา เช่นกันกับ ธเนศวร์ เจริญเมือง (2554) ได้กล่าวว่า ความหลากหลายของผู้คนในเมืองเชียงใหม่ โดยการศึกษาผ่านภาพเก่า ๆ ที่มีการบันทึกในช่วง พ.ศ. 2420 ที่ให้ภาพของผู้คนในพื้นที่ตลาดท่าแพ ว่ามีชาวพม่าตองซู่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในเขตกำแพงเมืองจะเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองและบุตรหลาน ส่วนชาวไทที่กวาดต้อนเข้ามาในเชียงใหม่จะถูกจัดสรรพื้นที่นอกกำแพงเมือง เข่น ชาวไทขึนจากเชียงตุง ตั้งชุมชนทางทิศใต้ใกล้ประตูเชียงใหม่ ชาวพม่าจะอาศัยอยู่บริเวณคลองแม่ขาที่เป็นจุดรับสินค้า ชาวจีนจะตั้งชุมชนค้าขายใกล้บริเวณแม่น้ำปิงด้านตะวันออกของวัดเกต ส่วนชาวยองและไทลื้อ ถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่อื่นต่างอำเภอเพื่อทำการเกษตรตามความถนัด (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2554)
อย่างไรก็ตาม ล้านนาภายใต้สยาม ทำให้เจ้าเมืองล้านนาได้กลับมามีบทบาทในด้านการปกครองอีกครั้ง ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง การกลับเข้ามาปกครองเมือง ส่งผลให้สามารถฟื้นฟู รื้อฟื้นวัฒนธรรม ประเพณีของไทยวนขึ้นมา เช่น ภาษาเขียน ภาษาพูด ความคิด ศิลปะจึงได้รับการสืบทอดอีกครั้ง จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการนิยามชื่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จากที่เรียกว่า คนยวน มาสู่ นิยามใหม่ว่า “คนเมือง” ซึ่งกรณีการนิยามชื่อใหม่นี้ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาในช่วงใด (ธเนศ เจริญเมือง 2554:12-14)
ประวัติศาสตร์ของคนไทยวนและการนิยามคำว่า “คนเมือง” ขึ้นมาแทนที่คำว่า “ยวน” นั้น ธเนศ เจริญเมือง (2554) ได้วิเคราะห์และสรุปบริบททางสังคมในล้านนาที่นำไปสู่การนิยามตัวตนใหม่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะแรก พ.ศ. 2325-2416 เป็นช่วงที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบหลวม ๆ ของสยาม ทำให้เจ้าเมืองที่เป็นชาวยวน ค่อย ๆ รื้อฟื้นประเพณี ภาษาและรวบรวมชาวยวนให้หันมาสร้างเมืองอีกครั้ง แต่ช่วงดังกล่าว ในเมืองเชียงใหม่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนไทและกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม ทำให้เกิดคำเรียกแทนตนเองว่า “คนเมือง” ขึ้นมาเพื่อระบุว่าใครเป็นใคร ซึ่งระยะแรกการนิยามตน ด้วยคำว่า “คนเมือง” เพื่อประสงค์บอกว่า ตนเป็นคนที่นี่ เป็นคนที่อยู่เดิม เป็นชาวพื้นเมืองที่ไม่ใช่กลุ่มที่มาจากการกวาดต้อน ในช่วงดังกล่าวจึงค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นความแตกต่างในด้านอื่น ๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น คนเมืองเริ่มนิยามภาษาว่ากำเมือง/ตั๋วเมือง อาหารเมือง เสื้อผ้าเมือง หมอเมือง ดนตรีพื้นเมือง เพลงเมือง เพื่อให้เกิดความแตกต่างและได้กลายเป็นการจำแนกทางวัฒนธรรมจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น จากคนสยาม ไทยอง ไทขึน ไทลื้อ อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของคำว่า คนเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้สภาวะความขัดแย้งหรือสร้างขึ้นเพื่อดูถูก รังเกียจคนที่อพยพเข้ามา แต่เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างและระบุตนเองว่าเป็นผู้อยู่มาก่อน
2. ระยะที่สองพ.ศ. 2416-2445 เป็นช่วงที่ใช้คำว่า “คนเมือง” เพื่อผลิตใช้เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม และนัยยะทางการเมือง คือ เป็นช่วงที่คนยวนต้องการจำแนกความแตกต่างระหว่างคนไทยวนกับคนสยาม เนื่องจากสยามได้ส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามาปกครองประจำการในล้านนา ซึ่งเป็นช่วงต้นของการกระชับอำนาจไปยังหัวเมืองต่าง ๆ และจัดรวบเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน รวมเป็นหัวเมืองเดียว ภายใต้ชื่อ “ลาวเฉียง” ในขณะเดียวกันข้าราชการสยามและกรุงเทพนิยามล้านนาว่าเป็น “ลาว” ที่มีความหมายในเชิงดูถูกชาวไทยวน ในงานของสรัสวดี อ๋องสกุล (2539) ชี้ว่า ชาวสยามเรียกชาวยวนว่า “ลาวพุงดำ” และเรียกเจ้าเชียงใหม่ว่า “เจ้าลาว” ด้วยเหตุนี้ การใช้คำว่า “คนเมือง” จึงเป็นการตอบโต้การนิยามของคนสยาม ทำให้ชาวไทยวนได้นิยามตนเองว่า คนเมือง ที่ไม่ใช่คนไทยและไม่ใช่ลาว
การเปลี่ยนชื่อเรียกจาก ยวน มาเป็น คนเมือง จึงเริ่มต้นมาจากเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการปกครองในหัวเมืองล้านนาที่ต้องเผชิญกับการคุกคามทางอำนาจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ วัฒนธรรมที่ถูกดูแคลน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีอากรใหม่จากข้าราชการสยามในช่วง พ.ศ. 2416 เป็นต้นมา ทำให้คนไทยวนหรือคนท้องถิ่นเกิดความไม่พอใจต่อพฤติกรรมและการปกครองของข้าราชการสยาม
ดังนั้น การใช้คำว่า คนเมือง ได้ปรากฏชัดขึ้นในเชียงใหม่และกระจายไปยังพื้นที่และเมืองอื่น ๆ ในล้านนา โดยเฉพาะชาวไทยวนในเมืองใกล้เคียงได้ตอบรับการนิยามใหม่นี้อย่างรวดเร็ว อัตลักษณ์ใหม่นี้จึงเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับการดูถูก และการลิดรอนประโยชน์ของชาวยวนจากคนสยาม ชื่อคนเมืองจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการนต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้คนในพื้นที่ล้านนา ภายใต้บริบทนี้ คนเมือง จึงมีความหมายทั้งคนไทยวนและครอบคลุมชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ชาวลัวะ กะเหรี่ยงและคนไทที่ถูกอพยพเข้ามา หรือคนที่พูดคำเมืองได้ (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2554: 17-20)
ก่อนหน้าทศวรรษ 2500 วิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยวนจะมีความเรียบง่าย เช่น เมื่อมีการพบปะกันจะมีคำทักทายว่า “ไปไหนมาเจ้า” และจะตอบกลับว่า “ไปแอ่วมา” ที่หมายถึง ไปเที่ยว หรือเมื่อมีการไปเยี่ยมบ้านไทยวน เจ้าบ้านจะทักว่า มาแอ่วกาเจ้า ถ้าช่วงเวลามื้ออาหารจะมีการทักทายว่า “กินข้าวแล้วกาเจ้า” จึงจะชวนกินข้าวด้วยกัน ถ้าแขกปฏิเสธก็จะถือเป็นการรังเกียจเจ้าบ้าน สำหรับคนหนุ่มสาวในยามเย็นของหนุ่ม ๆ จะไปนั่งล้อมวงและแอ่วสาว
สำหรับวัฒนธรรมการเลือกคู่ครองของหญิงชายชาวไทยวน จะให้สิทธิเสรีในการเลือกคู่ครอง แต่อยู่ในขอบเขตภายใต้ผู้ปกครอง โดยจะเปิดโอกาสให้มีการ “อู้สาว” ภายในบ้านฝ่ายหญิงเพื่อพ่อแม่ได้สังเกตและควบคุมอยู่ห่าง ๆ เพราะว่าถ้ามี “การผิดผี” ที่มีการสัมผัสแตะเนื้อต้องตัวกัน จะต้องมีกระบวนการทำพิธีสู่การกินอยู่ตามประเพณี งานแต่งงานฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายจัดเลี้ยงและทำพิธีเลี้ยงผี และเรียกว่า “การเอาผัวเอาเมีย หรือ กินแขก” เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะต้องเข้ามาอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ประมาณหนึ่งปีเพื่อช่วยงานในไร่นาและรับคำแนะนำในการทำมาหากินหรือแนวทางการครองชีพ ดังที่คำกล่าวในคำเมืองว่า “ หนุ่มสาวเอากันใหม่น้ำพริกน้ำเกลือยังบ่เข้าฮูดัง ยังบ่รู้จักทุกข์เทื่อ” (หมายถึง สาวแต่งงานใหม่ ยังไม่รู้รสของความทุกข์ลำบาก จึงต้องอบรมเสียก่อน) หลังจากนั้นเมื่อคู่บ่าวสาวจะต้องแยกไปตั้งครอบครัวสร้างเรือนใหม่ การแยกครัวใหม่นี้อาจจะมีการตั้งบ้านเรือนในละแหวกใกล้เคียง พ่อแม่จะคอยแนะนำอาชีพที่ส่วนใหญ่จะคล้อยตามวิธีการดำรงชีพของพ่อแม่ คือ ทำไร่ทำนา ฉะนั้นพ่อแม่จึงคล้ายกับเป็นพี่เลี้ยงจนกว่าลูก ๆ จะมีฐานะการครองชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อใช้ชีวิตแยกจากพ่อแม่ ผู้ชายและผู้หญิง จะมีการแบ่งหน้าที่กันตามจารีตประเพณี คือ ผู้ชาย จะมีหน้าที่ดูแลสี่มุมบ้าน เช่น การแผ้วกวาดบริเวณนอกบ้านและทำงานที่ติดกับนอกบ้าน ส่วนผู้หญิง จะทำหน้าที่ในการดูแลสี่มุมในเรือน/บ้าน จะเป็นการกวาดบ้าน ดูแลเรื่องอาหาร น้ำ เครื่องใช้และเสื้อผ้าให้สามีและลูก ๆ ในบ้านเมื่อถึงเวลามื้ออาหาร จะมีการเรียกมาทานข้าวร่วมกันหลังจากเสร็จกับมื้ออาหาร ผู้ชายและผู้หญิงจะนั่งเคี้ยวเมี่ยงหรือสูบบุหรี่
สำหรับการดำรงชีพของชาวไทยวน โดยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน เช่นการทำสวนลำไย มะม่วง และการเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน เช่น วัว ควาย หมู ยามว่างจากงานในไร่ผู้คนจะออกไปหาของป่าล่าสัตว์ จับปลาตามท้องทุ่ง เก็บผักเก็บฟืนเพื่อใช้ในครัวเรือน ส่วนในยามว่างคนไทยวนนิยมทำเครื่องจัดสานตะกร้า กระบุง และการทอผ้าจากฝ้ายและใช้สีธรรมชาติ การประดิษฐ์หรือผลิตปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เพื่อใช้ในการยังชีพในระดับครัวเรือน แต่หากวัตถุดิบและปัจจัยเหล่านี้หลงเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็จะเป็นสินค้าที่สร้างรายได้จำนวนหนึ่ง เช่น จะมีการขายสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตลาด พื้นที่ตลาดจึงเป็นพื้นที่กลางของคนยวนที่มักมาพบปะกัน สังสรรค์ และร่วมค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ฉะนั้นเศรษฐกิจของชาวยวนในอดีตจึงเป็นเศรษฐกิจแบบกึ่งยังชีพ (ระวิวรรณ โอฬารัตน์มณี 2558: 84)
ภายหลังทศวรรษ 2500 หลังเริ่มใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นต้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเพิ่มจำนวนของจำนวนประชากรมากขึ้น จึงมีการขยายตัวออกไปบุกเบิกพื้นใหม่ ๆ อย่างกว้างขวาง มีการตั้งบ้านในบริเวณเขตเมืองและชนบท ทำให้ปัจจุบันมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำอาชีพค้าขาย รับราชการ และเป็นพนักงานรับจ้างต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการเกษตรมีการเปลี่ยนสภาพที่นามาปลูกลำไย มันสำปะหลัง ไร่ส้ม นอกจากนี้การเข้ามาลงทุนทางอุตสาหกรรมในพื้นที่ ยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการถางป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น จำพวกถั่ว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ลิ้นจี่ และการปลูกผักหลากหลายชนิด เพื่อส่งขายไปยังแหล่งอุตสาหกรรมและตามความต้องการของตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย หรือแม้แต่อาชีพการเลี้ยงสัตว์ของชาวไทยวน ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นการเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์มากขึ้นมีการลงทุนจากนายทุนภายนอกเพื่อเป็นสินค้าแปรรูปเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ วัว หมู
ในช่วงสามสิบที่ผ่านมา นอกจากการเปลี่ยนสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรมแล้ว สินค้าประเภทหัตกรรม จักสาน ทอผ้า แกะสลัก และการประดิษฐ์ของชาวบ้านในท้องถิ่น ได้รับการส่งเสริมให้การผลิตเชิงอุตสาหกรรมขนาดกลาง เพื่อส่งขายในตลาดเชียงใหม่ หลักจากการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหรือที่เรียกว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้สินค้าประเภทที่มีจากวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านั้น ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวที่เยือนเชียงใหม่
การเติบโตจากการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เชียงใหม่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ธุรกิจในภาคบริการ จะพบเห็นได้จากการเกิดขึ้นของห้างร้านใหญ่ และร้านค้าต่าง ๆ ในย่านช้างคลาน นิมมานเหมินทร์ จึงเกิดร้านค้าที่หลากหลายเพื่อรับการบริการนักท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม ร้านบาร์เหล้าเบียร์ สถานบันเทิง ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านขายและซ่อมเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยี หรือบริการรถท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีร้านค้าพาณิชย์ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจบ้านจัดสรร ทำให้สังคมชาวยวนหรือสังคมเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะพบว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่ได้มีวิถีชีวิตการทำงานที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนที่มีอาชีพทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์และทำกิจกรรมตามประเพณีในชีวิต
ชุมชนชาวไทยวนอาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมเครือญาติอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสร้างบ้านอยู่ในรั้วเดียวกัน มีการปลูกบ้านสามารถเชื่อมต่อกันไปมาได้ สามารถเรียกระบบครอบครัวเช่นนี้ว่า “แบบครอบครัวรวม” (Compound family) และในแต่ละบ้านประกอบด้วยพ่อ แม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลูกหลานอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน มีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม หากมีการแต่งงานเกิดขึ้นจะมีการปลูกบ้านเรือนใกล้เคียงกับบ้านเดิม ภายในบ้านผู้หญิงจะมีอำนาจในการตัดสินใจ ส่วนเรื่องนอกบ้าน พ่อจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่บางเรื่องจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแม่เสียก่อน อาจกล่าวได้ว่าในสังคมชาวไทยวน แม่จะมีอำนาจบังคับบัญชาสมาชิกในครอบครัว
ในบ้านไทยวนจะมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างชายหญิง คือ ผู้หญิงหรือแม่ โดยตามจารีตประเพณีแล้ว หน้าที่ของแม่จะต้องดูแลทุกเรื่องในบ้าน เป็นผู้รู้เห็นการเคลื่อนไหวทุกอย่างในบ้าน เป็นผู้ควบคุมการใช้จ่ายหรือการเงินในบ้าน และเป็นผู้สั่งสอนลูกๆ ในเรื่องมารยาทในสังคม โดยเฉพาะกับลูกสาวที่จะต้องรับหน้าที่แบ่งเบาภาระของแม่ในบ้าน ผู้หญิงจึงมีความตระหนักในความรับผิดชอบต่อครอบครัวสูง และหากเป็นลูกสาวคนโตยังจะต้องเป็นผู้สืบทอดผีบรรพบุรุษ ส่วนลูกคนเล็กที่เรียกว่า อีหล้า จะเป็นผู้รับมรดกบ้านเรือน ไร่นา รวมทั้งต้องดูแลคนในครอบครัว สำหรับผู้ชาย จะทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการเลี้ยงชีพ เช่น ทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวควายและแผ้วถางปลูกพืชผัก ลูกชายจะไม่มีหน้าที่ในบ้าน โดยจะอยู่นอกบ้าน เล่นและเรียนรู้กับญาติพี่น้อง แต่ต้องมีหน้าที่บวชเรียนในพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังเรียนรู้การแอ่วสาว การพูดเกี้ยวพาราสี และการดำรงชีพ โดยมากเด็กผู้ชายจะนิยมออกจากบ้านหาประสบการณ์ภายนอกเป็นส่วนใหญ่ สังเกตว่าในบ้านชาวไทยวน พ่อแม่ให้ความสำคัญในการสั่งสอน เอาใจใส่ลูกชายมากกว่าลูกผู้หญิง ผู้ชายดูเหมือนจะเป็นที่คาดหวังเป็นหน้าเป็นตาของตระกูลในการสร้างสัมพันธ์กับเครือญาติและสังคม (วิถี พานิชพันธ์ 2548: 34-41)
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในบ้านของชาวไทยวนแล้ว หากมองในระดับความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในระบบเครือญาติ สามารถสรุปแบ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวออกเป็น
ประการแรก ระบบโครงสร้างระดับกว้างของชาวไทยวน จะให้ความสำคัญกับการลำดับความสัมพันธ์ในระบบ “เค้าผี” คือ เป็นการนับจากต้นตระกูลของบรรพบุรุษหรือผีบรรพบุรุษ เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่นับเค้าผีเดียวกันจะถือว่าเป็นญาติ (ถือว่ามีความสำคัญมากกว่าตระกูลหรือนามสกุล) สำหรับคนในเค้าผีเดียวกันจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น คอยให้การช่วยเหลือ และได้รับความเคารพนับถือกัน ในระบบเค้าผี
วัฒนธรรมชาวไทยวนมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน มีการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองค่อนข้างชัดเจนและแตกต่างไปจากชนกลุ่มอื่น ๆ เครื่องแสดงความแตกต่างเหล่านี้จะมีให้เห็นได้ชัดผ่าน “เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม” ในอดีตการแต่งกายของผู้หญิงชาวไทยวน จะนุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุง มีความยาวเกือบถึงตาตุ่ม ซึ่งเป็นที่นิยมของทั้งหญิงสาวและผู้สูงวัย ลักษณะผ้าถุงจะถูกทอด้วยลวดลายหลายแบบ จะมีความประณีต งดงาม โดยเฉพาะตีนซิ่น ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงามหรือบางคนมีห่มสไบทับและตามด้วยเกล้าผม การแต่งกายลักษณะนี้จะนิยมใส่ออกงานสังคมตามประเพณี
สมัยเจ้าดารารัศมี ได้สร้างรูปแบบการแต่งกายแบบใหม่ ที่นำรูปแบบจากกรุงเทพมาผสมผสานกับชุดวัฒนธรรมล้านนาและเผยแพร่ในสังคมเชียงใหม่ในเวลานั้น คือ การนุ่งผ้าถุงลายขวาง สวมเสื้อแขนสามส่วนหลวม ๆ คอเสื้อปกปิดมิดชิด มีระบายลูกไม้สีขาวแบบฝรั่ง เกล้าผมแบบญี่ปุ่น ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 7 ข้าราชการต้องนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาว คอจีน ผ่าหน้าติดกระดุม สวมถุงเท้าและรองเท้าหนังหุ้มส้น กระทั่งในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลสั่งให้ยกเลิกการแต่งกายแบบดั้งเดิม โดยให้หันมาแต่งกายแบบตะวันตก ทำให้ชาวไทยวนปรับเปลี่ยนการแต่งกายไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางจนไม่เหลือความเป็นวัฒนธรรมล้านนาเดิมอยู่ กระทั่งเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมาได้เกิดปฏิกิริยาของกระแสท้องถิ่นที่เริ่มหวงแหนความเป็นล้านนา การแต่งกายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอัตลักษณ์ของล้านนา จึงมีกระแสการนำชุดเสื้อผ้าที่เรียกว่า “ล้านนาประยุกต์” คือผู้หญิงนุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อคอกลม แขนกระบอก ผ่าหน้าติดกระดุม ทัดดอกเอื้องสีเหลืองสดมวยผม การแต่งกายเช่นนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อมีการจัดทำละครเรื่อง “สาวเครือฟ้า” (วิถี พานิชพันธ์ 2548: 91-94)
สำหรับผู้ชาย มีรูปแบบการแต่งกายที่นิยมจนถึงปัจจุบัน คือ นิยมใส่เสื้อหม้อฮ่อมคอจีนแขนยาว อาจมีผ้าคาดเอว ผ้าพาดบ่า และมีผ้าโพกศีรษะ นุ่งกางเกงขาก๊วย เรียกติดปากว่า "เตี่ยว" "เตี่ยวสะดอ" หรือ "เตี่ยวกี" ทำจากผ้าฝ้ายสีกรมท่า หรือสีน้ำเงิน หรือเสื้อผ้าที่ของผู้ชายมักใส่ไปทำงานในป่าในไร่ จะนุ่งกางเกงชักปกลักษณะคล้ายกางเกงชาวจีน ย้อมด้วยสีคราม สวมเสื้อแถบแดง มีกระดุมเงิน และคาดเอวด้วยกระเป๋าผ้าสำหรับใส่สัมภาระ (http://thanyamairungsang3.blogspot.com/)
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นเสื้อผ้าในวัฒนธรรมชาวไทยวนในอดีต ปัจจุบันการแต่งกายลักษณะดังกล่าวจะมีให้เห็นทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยในวัยผู้ใหญ่จะนิยมใส่ออกงานในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์งานประกวดธิดาเทพีต่างๆ งานแต่งงาน ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ พิธีทำบุญเมือง พิธีทางศาสนา หรืองานที่เกี่ยวข้องกับทางราชการในท้องถิ่น แต่สำหรับคนหนุ่มสาวในปัจจุบันนั้น จะพบเห็นได้ยากและจะไม่นิยมแต่งงานชุดพื้นเมืองมากนัก โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมสวมเสื้อผ้าตามยุคสมัยนิยม
บ้านเรือนของชาวไทยวน จะเป็นทรงบ้านที่สัมพันธ์กับลักษณะภูมิอากาศ และมีลักษณะร่วมในกลุ่มวัฒนธรรมไทต่าง ๆ ในพื้นที่ทางภาคเหนือ กล่าวคือ บ้านเรือนของชาวไทยวนจะสร้างบ้านให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่มีฝนตกและร้อนชื้น ตัวบ้านจึงมีการสร้างขึ้นมาจากวัสดุ เช่น ไม้และไม้ไผ่ โดยเฉพาะคนล้านนานิยมสร้างบ้านจากไม้สักที่มีสภาพคงทนถาวร และมีการสร้างโครงบ้านที่มีลักษณะทรงบ้านเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกว่า “เรือนกาแล” ซึ่งเป็นทรงบ้านตามวัฒนธรรมของชาวยวนในอดีต (เฉลียว ปิยะชน: 2552)
เมื่อกล่าวถึงบ้านเรือนของชาวไทยวน จะนิยมสร้างบ้านในพื้นที่กว้างตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ร่มไม้และสวนผลไม้รอบบ้าน และรอบบ้านจะมีรั้วที่ทำมาจากไม้ไผ่ เรียกว่า “รั้วสะลาบ” บริเวณรั้วจะปลูกพืชผักเลื้อย เช่น ตำลึง รางจืด อัญชัน ในบริเวณรอบ ๆ บ้านจะมีการแบ่งสรรพื้นที่เป็นส่วน ๆ คือ 1.พื้นที่แปลงพืชสวนครัว จะปลูกพริก ตะไคร้ ขิงข่า หอม โหระพา 2. พื้นที่หลังบ้านจะมีต้นหมาก ต้นกล้วย และไกลออกไปจะปลูกต้นไผ่เพื่อใช้ประโยชน์ในการจักสาน 3. พื้นที่ผามวัวผามควายหรือ “คอก” ไว้ผูกวัวควายของชาวเจ้าของบ้าน 4. พื้นที่สิ่งก่อสร้าง เช่น ยุ้งข้าว (หลองข้าว/เล้าข้าว/เยียข้าว) เป็นที่เก็บข้าวเปลือกไว้บริโภคเป็นเรือนชั้นเดียวที่มีใต้ถุนสูง มักจะสร้างไว้ใกล้บ้านและภายหลังได้การสร้างห่างจากตัวบ้าน การสร้างยุ้งดังกล่าวยังมีความเชื่อตามประเพณีที่ว่า “ยุ้งข้าวอยู่เหนือ โรงเกลืออยู่ใต้” คือ ยุ้งข้าวอยู่ทิศเหนือของเรือนนอน ส่วนครัวหรือที่เรียกว่าโรงเกลืออยู่ทิศใต้ และยังเชื่ออีกว่า ยุ้งข้าวที่ดีต้องยกสูงขึ้นกว่าเรือนนอน เพราะโรงยุ้งข้าวเป็นที่อยู่ของ “พระแม่โพสพ”
สภาพบริเวณบ้านเรือนของชาวไทยวน จึงมีการแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบระเบียบ ในบริเวณลานหน้าบ้านที่กว้างและสะอาดตา เจ้าบ้านมีการปัดกวาดเป็นงานประจำเช้าเย็นโดยผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้าน และจะมีการรดน้ำต้นไม้พืชพันธุ์ โดยนำน้ำจากบ่อน้ำข้าง ๆ ตัวบ้าน ลานบ้านยังสามารถวิ่งเล่น ตากผ้าหรือตากอาหารแห้ง ทั้งนี้รอบ ๆ จะเต็มไปด้วยต้นไม้และพืชสวนครัวที่มีประโยชน์เพื่อบรรยากาศที่ร่มเย็นของบ้าน และยังมีสัตว์เลี้ยงเฝ้าบ้านสุนัขที่ทำหน้าที่ดูแลภัยและส่งสัญญาณเมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาในอาณาบริเวณบ้าน (ฐาปนีย์ เครือระยา 2560)
สำหรับในตัวบ้าน จะมีการจัดสรรพื้นที่ใช้คือ 1. ด้านหน้าเมื่อขึ้นบันได จะเจอกับ “ชายคาหน้าเรือน”เป็นชานโล่งรับแดดและฝน 2. พื้นที่ที่เรียกว่า “เติ๋น” เป็นพื้นที่รับแขกหรือที่พักผ่อนของครอบครัวซึ่งอยู่หน้าห้องนอนใหญ่ 3. ห้องนอนใหญ่ ตั้งในด้านทิศตะวันออก โดยปกติสมาชิกจะนอนรวมกันแต่แยกมุ้ง 4. ห้องนอนเล็กด้านตะวันตก จะเป็นห้องเก็บของ บางครั้งจะปรับเป็นหอของลูกสาวกับลูกเขย 5.ห้องครัว จะแยกออกเป็นเรือนเล็กๆ ติดชานหลังบ้าน ด้านหลังบ้านจะมีบันไดลงหลังบ้าน 6.หิ้งพระ มักจะไว้ด้านตะวันออกของพื้นที่เติ๋น 7.ใต้ถุนบ้าน จะมีลักษณะโล่ง เพื่อใช้ในกิจกรรม เช่น ทอผ้า ที่เก็บของเครื่องใช้ต่าง ๆ และเป็นที่พักผ่อนในช่วงกลางวัน (วิถี พานิชพันธ์ 2548: 49-51)
ส่วนขนาดของอาณาบริเวณบ้านหรือตัวบ้านจะขึ้นอยู่กับสถานภาพทางเศรษฐกิจและจำนวนสมาชิกของครอบครัวนั้น ๆ โดยสามารถสังเกตจากจำนวนช่วงเสาและจั่ว เช่น เมื่อมีการแต่งงานแยกครอบครัวสร้างบ้านใหม่ บ้านจะมีขนาดเล็ก สร้างง่าย ๆ แบบเรือนไม้จั่วเสาปักดิน และเมื่อมีสมาชิกใหม่ จะมีการสร้างบ้านไม้จริง-ฝาบั่ว ที่มีห้องนอนเป็นสัดส่วน เมื่อฐานะดีขึ้นจึงขยายเรือนให้เป็นบ้านไม้ทั้งหลังตามฐานะ บางบ้านมีการต่อเติมกว้างยาวมากขึ้นตามจำนวนสมาชิก ตามที่ วิวัตน์ เตมียพันธ์และอนุทิย์ เจริญศุภกุล (2521) ได้แบ่งชนิดของเรือนล้านนาไทยวนแบบต่าง ๆ ไว้ดังนี้ คือ 1.เรือนชนบท 2.เรือนไม้ 3.เรือนกาแล
เรือนชนบท คือ เรือนทั่วไปที่มีการสร้างตามมาตรฐานเพื่อใช้ตามสะดวก มี 1 ห้องนอนเป็นเกณฑ์ ยกพื้นประมาณ 60 ซม. ช่วงเสาจะแคบประมาณ 2-3 เมตร ใช้เสาไม้จากป่าละเมาะที่หาได้ง่าย โครงสร้างหลังคาใช้ไม้ไผ่ มุงด้วยตับใบตองตึง ตับแฝก ส่วนผนังใช้ไม้แผ่นสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่สามารถยกตั้งขึ้นได้ ส่วนพื้นใช้ฟากไม้ไผ่ทุบเนื้อวางเรียงกัน จะเห็นได้ว่าเรือนประเภทนี้ จะนิยมสร้างเป็นเรือนใกล้ทุ่งเพื่อใช้งานในช่วงทำนา เฝ้าฝูงปศุสัตว์
เรือนไม้ คือเรือนของผู้มีฐานะระดับกลาง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งเรือน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ยกพื้นสูง ตัวโครงสร้างบ้านจะขยายใหญ่และมีสองห้องนอนหรือขยายเพิ่มตามกำลังทรัพย์ของเจ้าบ้าน บ้านเรือนประเภทนี้จะพบได้มากในหมู่บ้านหรือย่านตลาด ซึ่งแต่ละหลังจะมีลักษณะโครงบ้านที่แตกต่างกัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรูปทรงตามความต้องการและขึ้นอยู่กับช่างไม้ที่ออกแบบทรงบ้าน
เรือนกาแล เป็นเรือนพักของผู้มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจหรือเป็นผู้นำชุมชนซึ่งถือว่าเป็นบ้านของบุคคลชั้นสูงล้านนา เรือนกาแล จึงเป็นสถาปัตยกรรมทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนในอดีต เป็นบ้านเรือนที่สร้างขึ้นมาจากไม้สัก การจัดโครงสร้างบ้าน ตำแหน่งและการแบ่งห้องการใช้งานต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับความเชื่อประเพณี รวมทั้งตัวบ้านมีการแกะสลักเพื่อความสวยงามและบ่งบอกสถานะทางสังคม บ้านเรือนกาแล ปัจจุบันหาพบได้ยากและเหลืออยู่น้อยลงไปทุกที่ ประกอบกับค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่นิยมสร้างบ้านทรงสมัยใหม่มากขึ้น (ลมูล จันทน์หอม 2547)
โดยหลัก ๆ แล้วแบบบ้านของชาวไทยวน จะยกพื้นสูงเพื่อประโยชน์หลายประการดังนี้ คือ 1. ใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่เก็บของต่าง ๆ เช่น ไม้ฟืน เกวียน หรือเป็นที่ทำกิจกรรมอุตสาหกรรมครัวเรือน เช่น ปั้นหม้อ จักสาน ทอผ้า ทำเครื่องเงิน 2.ใช้เป็นที่พักผ่อนในยามที่อากาศร้อนอบอ้าว และเป็นที่นั่งเล่นของเด็ก ๆ 3.สามารถป้องกันในฤดูน้ำท่วม และปลอดภัยจากสัตว์ร้ายที่อาจเข้ามารบกวน หรือไว้เป็นที่อาศัยของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข ไก่ สุกร วัว 4. ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก โล่งโปร่ง ผู้คนที่เดินผ่านไปมา สามารถมองเห็นสภาพของเรือนได้
แต่บ้านเหล่านี้จะสัมพันธ์กับชุดความเชื่อของชาวไทยวน ดังที่ วัฒนะ วัฒนาพันธ์ (2531:119) ได้กล่าวถึงกฎเกณฑ์การสร้างบ้านของชาวยวนหรือชาวล้านนา มีกฎระเบียบและประเพณีดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องทิศทาง คือ การตั้งทิศทางของอาคารบ้านเรือนต้องเป็นไปตามหลักความเชื่อ เช่น ความเชื่อเรื่องทิศที่เป็นศิริมงคล ได้แก่ ทิศเหนือและทิศตะวันออก เพราะเป็นทิศที่เชื่อว่าจะให้พละกำลังเจริญงอกงาม ส่วนทิศใต้และตะวันตก หมายถึง ความตายและความเสื่อม ฉะนั้นจะสังเกตได้ว่า วัดวาอารามในทางภาคเหนือจะสร้างอาคารหันหน้าตามทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่
ฉะนั้นบ้านเรือนของชาวล้านนาจะนิยมหันหน้าตามทิศเหนือและใต้ และวางขื่อหรือแกนตามตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งรูปแบบตามความเชื่อนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยการสร้างเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า “แปงเมือง” ฉะนั้นแกนบ้านเรือนของชาวล้านนาจึงวางแกนตามทิศตะวันออก-ตะวันตก และหันหน้าทางทิศเหนือใต้ แนวทางเช่นนี้ อาจเรียกว่า “การวางเรือนขวางตะวัน” การวางเช่นนี้มีข้อสันนิษฐานว่า เกิดจากคติทางภูมิศาสตร์ที่ชาวเหนืออยู่ในพื้นที่เขตหนาว จึงวางขวางตะวันเพื่อรับแสงแดด ที่สำคัญในบ้านชาวไท ยวนล้านนายังเชื่อเกี่ยวกับการหันหัวนอนที่ตรงกันข้ามกับทิศวางบ้านเรือน คือ เชื่อว่านอนหันหัวไปทางทิศใต้ ถือว่าดีมีอายุยืนยาว นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก จะมีความเดือดร้อนใจ หันทางทิศเหนือจะมีมักมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548)
คนไทยวนนิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และมีการเพาะปลูกข้าวเหนียวหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะมีการปลูกประจำปีในฤดูกาลเพาะปลูกตามต้องการอย่างเพียงพอ หลังจากนั้นจะมีการเพาะปลูกข้าวเจ้าไว้ส่วนหนึ่ง ตามวิถีชีวิตของชาวไทยวนเกี่ยวกับการบริโภคนั้นจะมีความคล้าย ๆ กับชาวไทยทั่วไป คือ การบริโภคอาหารสามเวลา แต่ละเวลาจะมีคำเรียกที่แตกต่างกันในภาษาคำเมือง คือ มื้อเช้า จะเรียกว่า “กิ๋นข้าวงาย” มื้อกลางวันเรียก “กิ๋นข้าวต๋อน มื้อเย็นจะเรียกว่า “กิ๋นแลง” และจะมีมื้อพิเศษในงานเลี้ยงขันโตก ซึ่งมีเตรียมสำรับอาหารเฉพาะ แต่การบริโภคเมนูอาหารต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ โดยปกติชาวไทยวนจะนิยมรสชาติอาหารที่ไม่รสจัด จะมีรสนำสามรส คือ เค็ม เปรี้ยวและเผ็ด ไม่นิยมรสหวาน (ณรงค์ ศิชิรัมย์ 2557:365-367)
สำหรับกับข้าว ชาวไทยวนล้านนาจะมีเมนูอาหารประจำและพบได้บ่อย เช่น แกงอ่อม แกงโฮะ แกงจิ้นเนื้อ และเมนูชนิดต้มจำพวกผักต้ม ต้มปลา นอกจากนี้ยังนิยมบริโภคเมนูผัด เช่น ผัดผัก ผัดแตง และตามด้วยเมนูชนิดน้ำพริก น้ำพริกอ่อง และของดอง เช่น ปลาร้า แหนม จิ้นส้ม สำหรับของแห้ง เช่น แคบหมู หนังปอง น้ำหนัง ปลาแห้ง ปลาริ้ว นอกจากนี้ยังมีอาหารจำพวกไข่เป็ด ไก่ ที่มีเลี้ยงในครัวเรือนหรือปัจจุบันมีการซื้อขายตามห้างร้าน ส่วนเครื่องปรุงในครัวของชาวยวน จะพบเห็นเครื่องปรุงประเภท หอมแดง หอมใหญ่ กระเทียม ถั่วเน่า ส้มมะขาม เกลือ พริกไทย พริกขี้หนู ปลาร้า น้ำตาล น้ำปลา และอื่น ๆ (สงวน โชติสุขรัตน์ 2561) นอกจากเมนูอาหารและสิ่งที่พบในครัวของชาวไทยวนแล้ว สิ่งที่ชาวไทยวนนิยมบริโภคและนำมาทำเป็นเมนูอาหาร คือ พืชผักของป่า พืชพันธ์อาหารจากป่า จะมีขายที่ตลาดในหมู่บ้านและในเขตเมือง ซึ่งจะมีการนำมาขายในตลาดประจำสัปดาห์หรือพืชพันธ์เหล่านี้จะมีขายเฉพาะฤดู เช่น เห็ดเผาะ เห็ดลม เห็ดหูลิง เห็ดโคน หรือจะเป็นพวกหน่อไม้ มะระ ผักหวาน นอกจากนี้ยังมีอาหารประเภทสัตว์ป่า เช่น กระต่าย นก หนู หมูป่า (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548)
อย่างไรก็ตาม ณรงค์ ศิชิรัมย์ (2557) ได้แบ่งรูปแบบการประกอบอาหารของชาวไทยวน ได้ดังนี้คือ
1.อาหารประเภทแกง ที่ใช้เครื่องปรุง เช่น แกงพริก กระเทียม หอมแดง ถั่วเน่า กะปิ ปลาร้า และสามารถแยกออกเป็นแกงผัก แกงเนื้อสัตว์ เช่น กลุ่มแกงส้ม กลุ่มแกงคั่ว กลุ่มแกงเลียง หรือกลุ่มแกงอ่อม
2. อาหารประเภท ปิ้ง ย่าง เป็นอาหารที่มีลักษณะแห้ง โดยนำอาหารมาคลุกเคล้ากับส่วนผสม เช่น เกลือ ขมิ้น กระเทียมที่โขลกเข้าด้วยกัน เช่น หมูปิ้ง ไก่ย่าง
3. อาหารประเภทคั่วหรือผัด เป็นอาหารที่นำไปผัด คั่วในกระทะ ในภาคเหนือเรียกว่า “จ่าว” หรือโซ่น้ำมัน เช่น คั่วยอดฟักแก้ว คั่วผักโคมหนาม คั่วเห็ดถอบ คั่วลาบ
4. อาหารประเภทลาบ อาหารประเภทนี้จะใช้เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อปลา จากนั้นจะนำเครื่องเทศมาคลุกเข้ากัน คนไทยวนมักจะนิยมบริโภคลาบ ประเภท ลาบหมู ลาบปลาตอง (ปลากราย)
5.อาหารประเภทอ่อม การอ่อม คือ การเคี่ยวเนื้อสัตว์ให้เปื่อยนุ่มด้วยไฟอ่อน ๆ และใช้เวลานาน อ่อมเป็นอาหารรสเผ็ดและหอมเครื่องเทศ โดยมากจะทำเป็นแกงอ่อมเนื้อ แกงอ่อมควายหรือไก่
6. อาหารประเภทน้ำพริก เป็นทั้งอาหารและเครื่องปรุง โดยมีส่วนประกอบ คือ พริก กระเทียม เกลือ หอม หรืออาจจะมีส่วนผสมอื่น ๆ เข้าไปเพิ่มได้ โดยมักจะเรียกชื่อน้ำพริกตามส่วนประกอบ เช่น น้ำพริกขิง น้ำพริกปลา น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปู
7. อาหารประเภทยำ ต๋ำ และส้า เป็นการปรุงอาหารที่มีลักษณะการคลุกส่วนประกอบหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยเน้นรสชาติเปรี้ยวนำ เค็ม หวานเล็กน้อย ซึ่งเมนูประเภทนี้จะมีหลากหลาย เช่น ยำหน่อไม้ ยำผัก ยำไข่มดส้ม ฯลฯ
8. อาหารประเภทห่อหนึ่ง เป็นอาหารที่มีลักษณะห่อหมกของภาคกลาง จะนิยมบริโภคเช่น ห่อนึ่งหน่อ ห่อนึ่งไก่ หอนึ่งปลี
9. อาหารประเภทแอ๊บ (แหนบ) เป็นเมนูห่อใบตอง แล้วนำไปปิ้งหรือย่างไฟให้เครื่องปรุงข้างในสุก อาหารประเภทนี้ได้แก่ แอ๊บปลา แอ๋บอ่องสมองหมู แอ๊บจิ้นหมู หรือเครื่องในหมู
10. อาหารประเภทจิ๋น อาหารที่ใช้น้ำมันปริมาณมากในการทอด หรือเป็นการทอดแบบน้ำมันท่วม นิยมใช้ในการทอดหนังหมู เช่น แคบหมูจื๋น แคบไขจื๋น และหนังปองจื๋น (ณรงค์ ศิชิรัมย์ 2557:368-371)
ที่กล่าวข้างต้น จะเป็นเมนูจำพวกอาหารคาว นอกจากนี้ชาวไทยวนยังมีการทำอาหารที่เป็นของที่เป็นของหวานเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันและในช่วงเทศกาลในงานสำคัญ ๆ เช่น ทำขนมเทียนในช่วงเข้าพรรษาจะนิยมทำข้าวต้มมัด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือในชีวิตประจำวันจะพบว่าอาหารหวานนิยมที่นิยมและมีขายในท้องตลาด เช่น ขนมกาละแม ข้าวเหนียวแดง ในอดีตเป็นขนมที่เป็นอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวที่มาจะซื้อเป็นของฝาก
ปัจจุบันการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันของชาวไทยวนได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการบริโภค โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่ดึงดูดความหลากหลายเข้ามา ตั้งผู้คนหลากหลายทั้งภายในประเทศและชาวต่างชาติ แล้วยังรับวัฒนธรรมอาหารต่างถิ่นหรือจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ทำให้ ชาวไทยวนมีการบริโภคอาหารที่หลากหลายต่างวัฒนธรรม หากสำรวจอาหารในเขตพื้นที่เมือง จะพบร้านอาหารมากมายที่เปิดขายตามริมทาง ดังเช่น ร้านอาหารพื้นถิ่นล้านนา ร้านอาหารไทย ร้านอาหารนานาชาติ ร้านประเภทกินเส้น ร้านถิ่นอีสาน ร้านกินสะป๊ะ และร้านกินเล่น ร้านบาร์เบียร์ จากสภาพของความหลากหลายของร้านอาหาร ทำให้ชาวไทยวนได้สัมผัสกับเมนูอาหารใหม่ ๆ ตั้งแต่ ข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ข้าวเงี้ยว น้ำเงี้ยว โจ๊ก ข้าวต้มหมูเยาวราช กระเพาะปลา ลูกชิ้น สะเต๊ะ ต้มยำทะเลหรือเมนูทะเล เฉาก๊วย ลอดช่อง ไอศกรีม ขนมหวาน เครื่องดื่มทั้งน้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร และมีร้านชา กาแฟ มากมายที่พบได้ในสังคมเมือง นอกจากยังมีเมนูอาหารรสจัดที่นิยมกันบริโภค เช่น ส้มตำ ตำปู ตำปลาร้า ตำลาว ไก่ย่าง หมูยอ หมูย่าง และเมนูยำอื่น ๆ แต่ร้านที่ได้รับความนิยมมากในย่านเมือง คือ ร้านหมูกระทะ สำหรับเมนูต่างประเทศ จะพบได้จากร้านอาหารญี่ปุ่น หรือร้านไก่ KFC ร้านพิซซ่า เบอร์เกอร์ ฯลฯ
ฉะนั้นปัจจุบันการบริโภคอาหารของชาวไทยวน ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปกับยุคสมัยใหม่ที่สามารถให้เลือกบริโภคอาหารที่หลากหลายและแปลกใหม่ อย่างไรก็ตามเมนุอาหารดั่งเดิมของชาวไทยวนก็ยังมีความนิยมบริโภคกันอยู่ทั้งในเขตเมืองและในชุมชนโดยรอบ (เจ้าหมูอ้วนกับยัยตัวเล็ก 2556)
ในงานของ วิถี พานิชพันธ์ (2548)ได้กล่าวถึงกิจกรรรม พิธีกรรมของชาวไทยวนล้านนาโดยจำแนกตามเดือนปฏิทินล้านนา ซึ่งมีกิจกรรมมากมายตลอดทั้งปี บางกิจกรรมพิธีกรรมมีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนและบางกิจกรรมเป็นการกำหนดอย่างคร่าว ๆ โดยสามารถจำแนกกิจกรรมตามปฏิทินโดยสังเขปดังนี้ (วิถี พาณิชพันธ์ 2548 หน้า 8)
เดือน |
กิจกรรมในรอบเดือน |
เดือนห้า (กุมภาพันธ์) |
งานศพพระสงฆ์ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ งานปอยหลวง งานตานตุง ประเพณีไหว้พระธาตุดอยตุง |
เดือนหก (มีนาคม) |
งานปอยหลวง สมโภชวัดอาราม ปอยสังฆ์ ประเพณีผีมด ผีเม็ง ประเพณีไหว้พระธาตุหกเป็ง |
เดือนเจ็ด (เมษายน) |
สงกรานต์ปีใหม่ การสรงน้ำ พระพุทธรูป ประเพณีดำหัว ก่อเจดีย์ทราย สืบชะตาวัย สะเดาะเคราะห์ บวชลูกแก้ว ขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงผีปู่ย่า |
เดือนแปด (พฤษภาคม) |
สร้างบ้านเรือน งานบวชลูกแก้ว การแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานแช่งขันบอกไฟหมื่นบอกไฟแสน ประเพณีไหว้พระธาตุแปดเป็ง (ดอยสุเทพ พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุศรีจอมทอง) |
เดือนเก้า (มิถุนายน) |
ประเพณีเลี้ยงผีเมือง ผีเจ้านาย เลี้ยงผีขุนน้ำ งานไหว้ครู การหว่านกล้า ซ่อมฝาย เลี้ยงผีฝาย |
เดือนสิบและสิบเอ็ด (กรกฎาคม-สิงหาคม |
ประเพณีเข้าพรรษา การดำนาปลูกข้าว แฮกนา |
เดือนสิบสอง (กันยายน) |
งานตานก๋วยสลาก ประเพณีแข่งเรือ |
เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) |
ออกพรรษา ประเพณีตานก๋วยสลาก ตานธรรม ตั้งธรรมหลวง ลอยสะเปา เกี่ยวข้าวดอ |
เดือนยี่ (พฤศจิกายน |
ลอยสะเปา ตั้งธรรมหลวง งานบูชาพระธาตุลำปางหลวง ประเพณียี่เป็ง |
เดือนสาม (ธันวาคม) |
เกี่ยวข้าวปี ประเพณีสู่ขวัญควาย สู่ขวัญข้าว การเก็บข้าวใส่ยุ้ง |
เดือนสี่ (มกราคม) |
กวนข้าวทิพย์ ตานข้าวใหม่ ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า |
จากตารางข้างต้นแสดงให้เห็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวนล้านนา ตารางกิจกรรมดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า วิถีชีวิตทางสังคมของชาวไทยวนนั้นดำรงอยู่ภายใต้กิจกรรมทางประเพณีที่หมุนเวียนในรอบปี ฉะนั้นกิจกรรมเหล่านี้จึงมีความสำคัญและเป็นเครื่องมือในดำรงอยู่ของวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยวนล้านนา ซึ่งมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน (สงวน โชติสุขรัตน์. 2512)
การกำหนดประเพณีปฏิบัติในชีวิต โดยมีจารีต (ฮีตเมือง) ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมในครอบครัวและชุมชน มีประเพณี (ปาเวณีเมือง) ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานและจะทำทุกปีเป็นเทศกาลหรือประเพณีประจำเดือน เช่น ประเพณีปีใหม่สงกรานต์ ประเพณีอินทขีล ประเพณีสืบชะตาเมือง ประเพณีลอยโขมดหรือลอยกระทง ประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา และยังมีประเพณีที่ทำกันเป็นครั้งคราว เช่น ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ หรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในสังคมไทยวน
ประเพณีปอย
สำหรับกิจกรรมในชุมชนชาวไทยวนที่เห็นได้ชัด คือ เทศกาลปอย (งานฉลอง) งานปอยสามารถแบ่งเป็น สามรูปแบบด้วยกันคือ ปอยหลวง ปอยน้อย ปอยเข้าสังฆ์
1. ปอยหลวง หรืองานมหกรรมฉลองสมโภชสิ่งปลูกสร้าง เช่นโรงเรียน กำแพงวัด ศาลา โบสถ์วิหาร การจัดทำกิจกรรมปอยนี้จะมีการเตรียมงานด้านการพิมพ์ใบฎีกาบอกบุญเพื่อประกาศและส่งไปตามวัดและศรัทธาชนทั่วไปให้มาร่วมทำบุญด้วยกัน งานปอยหลวงโดยปกติจะมีการจัดทำกัน ๓-๕ วัน ซึ่งแต่ละวันจะมีงานทำบุญทางศาสนาและจะมีการจัดมหรสพเฉลิมฉลอง
2. ปอยน้อย เป็นงานบวชสามเณร หรือเรียกอีกชื่อว่า “บวชลูกแก้ว” เป็นการบวชเด็กผู้ชายอายุไม่เกิน ๒๐ ปี ชาวเหนือนิยมบวชลูกแก้ว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้หลักธรรม จริยธรรมทางศาสนาพุทธ และด้านการอ่านภาษาและอักษรพื้นเมืองในเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างให้เด็กได้เข้าใจและดำรงตนในหลักพุทธศาสนา ก่อนการทำพิธีบวชลูกแก้ว จะมีการพิมพ์ใบ “แผ่นาบุญ” เพื่อบอกกล่าวเชื้อเชิญมาร่วมงานบุญ ในงานจะมีพิธีซอ เพื่อดึงดูดและสร้างบรรยากาศในงานบุญ
3. ปอยเข้าสังฆ์ คือ เป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย โดยส่วนใหญ่จะจัดขึ้นกรณีผู้มีฐานะบารมีในหมู่บ้านเสียชีวิต หรือกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการคลอดบุตร ที่เรียกว่า “การตายพราย” หรือตายกลม การตายพรายนี้คนหมู่บ้านจะถือว่าเป็นการตายที่มีบาปกรรมและต้องเสวยทุกขเวทนา ความเชื่อเช่นนี้ จึงทำให้ชาวบ้านร่วมมือกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อช่วยเหลือดวงวิญญาณของผู้ตายให้รอดพ้นจากบาปกรรมเหล่านั้น ในพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศล ชาวบ้านจะทำเรือบรรจุสิ่งของไทยทานให้ผู้ตาย จะใช้สิ่งของ เช่น เสื้อผ้า หม้อข้าวหม้อแกง และของที่ผู้ตายชอบใส่ลงไปในเรือและมีการสวดภาวนาอุทิศให้ผู้ตายรอดพ้นในภพใหม่ นอกจากนี้ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่ทำกันโดยทั่วไป จะเรียกว่า “ทานขันข้าว” (สงวน โชติสุขรัตน์ 2561: 171-177)
ประเพณีการเกิด เมื่อผู้หญิงชาวไทยวนคลอดลูก สมัยก่อนจะมีหมอตำแยมาทำคลอดและดูแลผู้คลอด โดยลักษณะภูมิปัญญาหลังการคลอด จะมีประเพณีคล้ายกับคนไทยทั่วไป เช่น การอยู่ไฟ การประกอบพิธีกรรมรับขวัญเด็ก การตัดผมไฟ ในอดีตหมอตำแยจึงมีบทบาทสำคัญในระบบความสัมพันธ์ของสังคมชาวไทยวน แต่ปัจจุบัน หมอตำแยหรือความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้ ได้เลือนหายไปจากสังคมชาวไทยวน โดยเฉพาะหลังการเข้ามาของความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ และการสาธารณสุขที่เป็นการบริการจากภาครัฐ ทำให้ชาวไทยวนเข้ามาใช้บริการการรักษาและดูแลผู้ป่วยหรือการคลอดจากโรงพยาบาล ทำให้ความรู้ของหมอตำแยค่อย ๆ หายจากชุมชนพร้อมกับการเสียชีวิตของหมอพื้นบ้าน อย่างไรก็ตามความรู้ดังกล่าวอาจมีการจดบันทึกเป็นตำราที่เก็บไว้เป็นตำราภูมิปัญญาไทย
ประเพณีการแต่งงาน
ในอดีตการแต่งงาน ก่อนจะมีการแต่งงานฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องมีพิธีบอกกล่าวผีประจำตระกูลให้รับรู้ โดยทั้งสองต้องไปไหว้ขอพรที่บ้านหลักของผีอยู่ คือ ที่บ้านของหัวหน้าตระกูลผีนั้น ๆ ที่ได้รับสืบทอดกันมา หรือ กรณีฝ่ายหญิงมีแม่เป็นหัวหน้าตระกูลสืบทอดผี ก็จะทำที่บ้านได้ทันทีการแต่งงานตามวัฒนธรรมของชาวไทยวนแล้ว ผู้ชายจะแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง และฝ่ายชายจะต้องหันมารับนับถือผีในตระกูลฝ่ายหญิง แต่ตามกฎหมายแล้วผู้หญิงจะต้องเปลี่ยนนามสกุลตามฝ่ายชาย และลูกต้องนับถือผีฝ่ายแม่
ประเพณีการตาย
ในหมู่บ้านชาวไทยวนในอดีต เมื่อมีผู้เสียชีวิต ชาวบ้านจะบอกต่อ ๆ กัน เพื่อให้คนในหมู่บ้านรับทราบ และเรียกญาติมิตรมาร่วมพบปะให้กำลังใจและร่วมช่วยงานอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะการจัดงานศพ เป็นหน้าที่ของสังคมในการดำเนินทำพิธี ตามความเชื่อของชาวไทยวนเกี่ยวกับการจัดการศพนั้น คือ 1.หากผู้ใดเสียชีวิตข้างนอกหรือตายผิดธรรมชาติ เช่น อุบัติเหตุ ญาติจะไม่นำศพเข้าบ้าน แต่จะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดทันที 2.สำหรับกรณีการเสียชีวิตตามธรรมชาติ เช่น โรคชราหรือป่วยที่บ้าน โรงพยาบาล จะนำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้าน จะตั้งศพสวดอภิธรรมประมาณ 3-5 วัน นอกจากเรื่องการเผาศพ ชาวไทยวนมีสำนวนโบราณว่า “วันศุกร์ไม่ให้เผา วันเสาร์ไม่ให้จี่ (จี่หมายถึงเผา) ดังนั้นจึงไม่นิยมเผาศพในวันอังคาร วันพุธ วันศุกร์ วันเสาร์ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา วันออกพรรษา วันพระที่ตรงกับวันดับหรือวันสิ้นเดือน
การเผาศพ
เริ่มด้วยการเคลื่อนศพออกจากบ้าน โดยจะไม่ลงทางบันไดของบ้าน แต่จะทำบันไดใหม่ที่จะใช้ในการเคลื่อนศพลงมาจากบ้านไปถึงวัดในตอนเช้า และตอนบ่ายถึงจะทำพิธีเผาศพ ผู้เข้าร่วมจะถือไม้ฝืนคนละท่อนเพื่อใช้ในการเผา และจะจกน้ำในกระป๋องที่เตรียมไว้เพื่อล้างมือ ผู้ร่วมงานจะอยู่คอยจนสัปเหร่อเผาฟืน จากนั้นจึงแยกย้ายกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจัดงานศพมีความสะดวกเรียบง่ายมากขึ้น เน้นความสะดวกสบาย การจัดการศพจะมีการจ้างคนมาช่วยทำศพ แต่การกำหนดงานศพยังคงปฏิบัติตามความเชื่ออยู่ แต่ก็มีการเลือกวันตามที่เจ้าภาพสะดวก มีการแจกของชำร่วยไว้ทุกข์ และละทิ้งการปฏิบัติตามประเพณีบางอย่าง เช่น การไม่หันหัวบันไดในการเคลื่อนศพ หรือไม่ทำบันไดพิเศษที่ใช้ในการนำศพลงจากบ้านที่เหมือนในอดีต เนื่องจากปัจจุบันบ้านชาวไทยวนมีสภาพเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ ไม่ได้มีบันไดเสมือนบ้านในสมัยก่อน จึงทำให้ประเพณีดั้งเดิมในการจัดการศพถูกตัดทิ้ง เพื่อความง่ายและสะดวกมากขึ้น (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548:17-18)
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ยา
ผีปู่ย่า ตายาย คือผีประจำตระกูลหรือผีบรรพบุรุษ เกือบทุกบ้านของชาวไทยวนมักจะมีหิ้งผีที่ตั้งอยู่ในห้องนอนด้านทิศตะวันออก บนหิ้งจะมีเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น โดยเชื่อว่าผีปู่ย่าจะคอยดูแลช่วยเหลือ คุ้มครองสมาชิกในครอบครัว ถ้าสมาชิกในครอบครัวไม่ทำผิดจารีต ผีปู่ย่าจะช่วยให้เจริญรุ่งเรือง สมัยก่อนจะมีการส่งอาหารให้ทุกมื้อ เดือนละครั้งและจะเป็นหน้าที่ของลูกผู้หญิงโดยเฉพาะลูกสาวคนหัวปี
การกำหนดเลี้ยงผีปู่ย่ามักจะมีเลี้ยงระหว่างเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน แต่จะยกเว้นวันพระและวันพุธที่เชื่อว่าผีประชุม ผีไม่กิน สำหรับในพิธีจะมีการเตรียมเครื่องไหว้ผี คือ ไก่ต้ม 2 ตัว ข้าวสุก น้ำ สุราและดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นลูกหลานในบ้านจะช่วยกันยกเครื่องเซ่นไหว้ไปตั้งที่มุมห้องนอน และจะทำการขอพร ให้ผีปู่ย่าช่วยคุ้มครอง ช่วยเหลือให้มีความสุขความเจริญ หากมีใครทำเสียผีที่ไม่ร้ายแรง เช่น เคยให้ผู้ชายแตะเนื้อต้องตัว จะต้องมีการทำพิธีขอขมาด้วย ปัจจุบันบางครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธที่เคร่งครัดก็จะไม่มีการทำพิธีดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ยังมีการนับถือผีกันอยู่และมีการผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้พิธีเลี้ยงผีมีการนำประเพณีพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดมนต์ เช่น การเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ (กรวรรณ ชีวสันต์และธิตินัดดา จินาจันทร์ 2546:81-83)
ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง
ผีมดผีเม็งเป็นความเชื่อที่สืบทอดมาจากชาวมอญ มักจะทำพิธีในช่วงเดือน 8 หรือ 9 (พฤษภาคม-มิถุนายน) จะทำการสืบทอดโดยผู้หญิง ผู้เลี้ยงจะต้องดูแลเอาใจใส่ให้ดี หากดูแลไม่ดี ผีดังกล่าวจะกลายเป็น “ผีกะ” เที่ยวออกอาละวาดเข้าสิงร่างผู้หญิง ฉะนั้น การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะต้องทำพิธีฟ้อนเพื่อเป็นการสังเวยให้กับบรรพบุรุษและวงศ์คณาญาติในตระกูล การทำพิธีนั้นเจ้าภาพจะต้องเชิญญาติ ๆ ให้รวมตัวกัน จะมีการจัดผาม (ปะรำพิธี) ขึ้นกลางลานบ้าน มีสำรับพิธีเช่น หมู ไก่ เหล้า ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย พานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนต่าง ๆ ในพิธีประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมือง กลอง ระนาด ฉิ่ง ฆ้องวง ฯลฯ
ผู้ทำพิธีจะเป็นสตรีอาวุโสในตระกูล จะจดเทียนไว้หน้าหอผีและขอขมาให้ช่วยปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อผีเข้าในร่างผู้ทำพิธีแล้วจะมีการถามสารทุกข์สุขดิบ คนทรงจะเรียกลูกหลานว่า “เหลนน้อย” จะมีการมัดมือสู่ขวัญลูกหลาน หลังจากนั้นจะมีการฟ้อนรำ โดยมีดนตรีประกอบ ผู้หญิงจะฟ้อนส่วนผู้ชายจะฟ้อนดาบ สำหรับการทำพิธีฟ้อนผีมดผีเม็งนี้มีผลให้เกิดความสามัคคี ทำให้เครือญาติได้มีโอกาสพบปะพูดคุย สร้างความคุ้นเคย แสดงความกตัญญูรู้คุณ เนื่องจากในพิธีจะมีการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (กรวรรณ ชีวสันต์และธิตินัดดา จินาจันทร์ 2546: 86-87)
ประเพณีสืบชะตา
นอกจากนี้ พิธีกรรมที่ชาวไทยวนนิยมจัดทำพิธีตามวาระ สถานภาพ เช่น การสืบชะตา การสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาอายุเสีย มักจะทำกันในช่วง การขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด กรณีการเจ็บป่วย โดยมีหลักฐานความเชื่อนี้ระบุในคัมภีร์สืบชะตาที่เป็นตำนานมาแต่อดีต พิธีกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เป็นมงคล หรือการต่ออายุให้ยืดยาว มีชีวิตอย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและทำให้เจริญรุ่งเรื่อง
พิธีสืบชะตานี้ มณี พยอมยงค์ (2529: 89-91) ได้แบ่งประเพณีสืบชะตาออกเป็น 3 ประเภท ด้วยกันคือ 1.ประเพณีสืบชะตาคน 2.ประเพณีสืบชะตาบ้าน 3.ประเพณีสืบชะตาเมือง
พิธีสืบชะตา ชาวยวนมักนิยมจัดในวาระการขึ้นบ้านใหม่ ที่ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่การสร้างชีวิตในพื้นที่ใหม่ คนในครอบครัวจะรวมตัวเพื่อจัดพิธีกันบนบ้านหรือห้องโถง ในพิธีกรรมจะมีเครื่องเซ่นไหว้บูชา 20 กว่าชนิด โดยแต่ละชนิดจะมีความหมายที่แสดงถึงการให้เจ้าชะตามีอายุยืนยาว เช่น กระบอกน้ำ กระบอกทราย บันไดชะตา ไม้ค้ำ ขัวไต่ (สะพานข้ามน้ำ กล้ามะพร้าว เสื่อ หมอน หม้อใหญ่ และอื่นๆ
ในพิธีกรรม เจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระ 9 รูปขึ้นไปตามประเพณี พระสงฆ์จะทำพิธีสวดหลังจากเจ้าภาพจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย เจ้าภาพและครอบครัวต้องมานั่งในพิธีด้านเครื่องเซ่นไหว้ และใช้ด้ายสายสิญจน์เวียนรอบศีรษะของผู้เข้าพิธี โดยนั่งประนมมือเพื่อรอฟังการสวดมนต์ หลังจากนั้นพระผู้นำพิธี นำไหว้พระอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีลอาราธนาพระปริตร แล้วจึงสวดบทชุมนุมเทวดา หลังจากจบการสวดมนต์ ผู้สืบชะตาจุดเทียน น้ำมนต์ จุดฝ้ายค่าคิง (ยาวเท่าตัวผู้สืบชะตา) และเทียนสืบชะตา หลังจากสวดจบมีเทศน์ 1 กัณฑ์ เมื่อพิธีแล้วเสร็จ จะมีการผูกข้อมือให้เจ้าของบ้านชายหญิงพร้อมประพรมน้ำพุทธมนต์ หลังจากนั้นเจ้าภาพถวายภัตตาหารและไทยทานเป็นเสร็จพิธี
ความสำคัญของการผูกข้อมือ จะเป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวผู้สืบชะตา โดยจะต้องใช้ขันพายบายศรีเพื่อใช้ในพิธีเรียกขวัญ หรือเรียกว่า “ฮ้องเฮียก” โดยพระผู้สวด(อาจารย์ปู่) จะทำการปัดเป่าเคราะห์ ไล่เสนียดจัญไรออกจากตัวเจ้าของเรือนแล้วจึงทำพิธีผูกข้อมือทั้งสองให้กับเจ้าภาพ เสร็จแล้วญาติผู้ใหญ่จะร่วมผูกข้อมือเพื่อเป็นศิริมงคลต่อไป (ลมูล จันทร์หอม 2547:90-92)
ประเพณีอินทขีล
ประเพณีอินทขีล เป็นการสักการะบูชาเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมือง เป็นความเชื่อที่มาจากชาวลัวะ ที่เชื่อว่าเป็นเสาหินที่พระอินทร์ส่งลงมาช่วยเหลือชาวเมือง เมื่อพระญามังรายครองเมืองเชียงใหม่ได้ย้ายมาไว้ที่ใจกลางเวียงและได้สร้างเป็นวัดอินทขีลหรือวัดสะดือเมือง ซึ่งเป็นเสาหลักคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชามาตั้งแต่อดีต สมัยก่อนจะมีทำพิธีบูชาเป็นประจำปีในช่วงเดือนแปดข้างแรมแก่ ๆ ชาวบ้านจะเริ่มพิธีตั้งแต่เอาดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานไปทำการสักการะบูชาเสาอินทขีล จะมีบรรดาพ่อหมอพฤฒาจารย์ทั้งหลายจะมาทำพิธีขึ้นครู ไหว้ครู มีการซอพื้นบ้านพร้อมกับช่างฟ้อนดาบ หอกเพื่อสังเวยแก่เทพยดาอารักษ์ผีบ้านผีเมือง ประเพณีสักการะเสาอินทขีลได้กลายเป็นประเพณีใหญ่โตทุกปีในสมัยเจ้านครเชียงใหม่ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พิธีดังกล่าวได้ยกเลิกไป จนกระทั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รื้อฟื้นและจัดประเพณีนี้ขึ้นมา และทำหน้าที่ในการจัดพิธีกรรมดังกล่าว โดยวันแรกจะมีการแห่พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นการปกป่าวแก่เหล่าเทพ ยดา ผีบ้านผีเมืองให้ช่วยปกป้องคุ้มครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป แต่ส่วนพิธีกรรมที่เห็นว่าไม่จำเป็นเช่น การฟ้อนดาบ ฟ้อนหอกและการเข้าทรงได้ถูกยกเลิกไป
สำหรับพิธีในช่วงประเพณีสักการะบูชาเสาอินทขีลในปัจจุบัน เทศบาลนครเชียงใหม่กับวัดเจดีย์หลวงเป็นผู้ดำเนินงานประเพณีเข้าอินทขีล ซึ่งจะมีการผสมผสานคติความเชื่อระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม ในงานดังกล่าวประชาชนจะนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยนั้น จะถูกนำไปประกอบในพิธีต่าง ๆ เช่น ใช้บูชากราบไหว้เสาอินทขีล โดยวิหารอินทขีลจะเปิดให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้บูชา รวมทั้งกราบไหว้ต้นยางหลวง บูชากุมภัณฑ์สองตน บูชาฤษี และบูชาช้างเจ็ดตนในวัดเจดีย์หลวง (กรวรรณ ชีวสันต์และธิตินัดดา จินาจันทร์ 2546: 92-94)
ประเพณีเลี้ยงผีปูแสะ ย่าแสะ
ผีปู่แสะย่าแสะ เป็นผีที่มีการนับถือมาตั้งแต่อดีต เป็นผีบรรพบุรุษของชาวลัวะเจ้าของพื้นที่เดิม ปัจจุบันมีผู้นับถือไปทำพิธีเซ่นไหว้บวงสรวง โดยเฉพาะชาวตำบลสุเทพ บ้านดอยคำ อำเภอเมือง การทำพิธีจะจัดทำขึ้นในบริเวณดงไม้ใหญ่ในหมู่บ้านดอยคำ เรียกว่า “ดงปู่แสะ” ส่วนพิธีย่าแสะ จะทำที่เชิงดอยสุเทพ (ตำนานว่าทำที่วัดฝายหิน) ความเชื่อดังกล่าวนี้มีระบุในพระธาตุดอยคำ ที่ว่า “เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงดอยคำได้พบยักษ์สามตน คือ ปู่แสะย่าแสะและลูก ทั้งสองตนยังชีพด้วยเนื้อสัตว์กับเนื้อมนุษย์ เมื่อทั้งสามตนเห็นพระพุทธเจ้าจึงต้องการจับกิน แต่พระพุทธเจ้าทรงแผ่เมตตาและเทศนาขอให้ยักษ์ทั้งสามรับศีลห้าตลอดไป แต่ปู่แสะย่าแสะไม่สามารถกระทำได้จึงอ้อนวอนขอกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน แต่พุทธเจ้าเห็นว่าเป็นการกระทำบาปหนัก จึงขอเป็นเนื้อสัตว์ แต่พระพุทธเจ้ายังไม่รับปากและให้ไปถามเจ้าผู้ครองนคร จนได้รับอนุญาตให้กระทำได้” (สุทวารี สุวรรณภาชน์ อ้างใน สงวนโชติสุขรัตน์ 2512)
ปัจจุบันมีการทำพิธีที่ดงปู่แสะ บ้านดอยคำ ที่หน้าหอผียักษ์เป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เป็งเดือนเก้า)จะทำพิธีโดยการฆ่าควายหนุ่ม โดยฆ่าควายสีดำเพื่อปู่แสะ และควายสีเผือกสำหรับย่าแสะ เมื่อฆ่าควายแล้วจะนำเนื้อมาปรุงทำลาบ แกงอ่อมแจกจ่าย สำหรับสังเวยผีปู่แสะย่าแสะ จะนำเนื้อสดห้อยไว้ที่หน้าหอผียักษ์ หลังจากนั้นเจ้าทรงจะทำพิธีกินเนื้อสด พร้อมกับเหล้า โดยนั่งบนหนังและหัวควายเพื่อแสดงถึงการทำพิธี จากนั้นมีการแคะขี้ฟันโดยไม้ท่อนใหญ่เป็นพิธี เมื่อเสร็จพิธีเจ้าทรงจะนอนแผ่กับพื้นครู่หนึ่งเพื่อแสดงว่ายักษ์ปู่แสะได้ออกจากร่างทรงไปแล้ว ในการเซ่นไหว้นั้นจะต้องมี “ผ้าพระบฏ” เป็นผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าปางโปรดสัตว์ เพื่อเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ และจะมีการทำนายจากการแกว่งของผ้าพระบฏ เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง หากมีการแกว่งจะถือว่าเป็นลางดี แต่ถ้าไม่แกว่งจะถือว่าไม่ดีจึงจะนิมนต์พระมาสวดมนต์และฉันเพลด้วย (กรวรรณ ชีวสันต์และธิตินัดดา จินาจันทร์ 2546:83-85)
ประเพณีปีใหม่สงกรานต์
สงกรานต์ถือว่าเป็นวันตรุษขึ้นปีใหม่ ระหว่างวันที่ 13 14 15 เมษายนของทุกปี เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ ชาวไทยวนรวมทั้งชาวไทยทั่วไปจะเฉลิมฉลองปีใหม่ มีการรดน้ำดำหัวกันอย่างสนุกสนาน เป็นประเพณีที่นิยมมากที่สุดของคนไทยตลอดมา โดยช่วงสงกรานต์ทุกคนจะรวมตัวกันในครอบครัว ทำความดีต่อชุมชน บ้านเมือง ในช่วงสามวันของเทศกาลสงกรานต์ จะมีกิจกรรมของแต่ละวันแตกต่างกัน ชาวไทยวนจะเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่า วันสงขานล่อง ที่หมายถึงการก้าวล่วงของพระอาทิตย์จากราศีมีนสู่ราศีเมษ กิจกรรมในวันนี้จะมีพิธีส่งสังขาร จัดขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง แต่ปัจจุบันนี้จะมีการจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน จะมีการนัดเล่นน้ำที่เรียกว่าวันลองไฟ ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่าวันเน่า จะเป็นวันขึ้นของพระอาทิตย์จากราศีมีนและอยู่กึ่งกลางระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในวันนี้เชื่อว่าเป็นวันที่ไม่ค่อยดี ฉะนั้นจะห้ามการกระทำที่ไม่ดีต่าง ๆ ที่ไม่เป็นมงคล ทำให้วันนี้ชาวบ้านจะทำดี พูดจาดีไม่ด่าทอกัน และในวันเน่านี้ จะเรียกว่า “วันดา” ชาวบ้านจะนิยมทำอาหารของคาวของหวานเพื่อไปทำบุญที่วัด และเป็นวันที่ดีสำหรับการเริ่มสร้างบ้านใหม่ เช่นเดียวกันวันนี้จะเป็นที่คนหนุ่มสาวจะขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทราย สำหรับวันที่ 15 เมษายน เรียกว่าวันพญาวัน พระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันเริ่มต้นของปีนักกษัตรใหม่ โดยตอนเช้าชาวบ้านจะไปที่วัดเพื่อถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ และถวายทานอุทิศแต่บรรพชน เมื่อทำบุญที่วัดเสร็จ จะเตรียมอาหารไปให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย วันนี้จึงอาจถือว่าเป็นวันรวมญาติ และในช่วงเที่ยงจะมีการนำน้ำส้มป่อยไปเทรวมกลางวิหาร ที่เรียกว่า พิธีทานตุง และพิธีสรงน้ำ อีกทั้งจะมีการปล่อยนกปล่อยปลา และช่วงสุดท้ายของวันจะมีการทำพิธีดำหัวพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออีกด้วย (กรวรรณ ชีวสันต์และธิตินัดดา จินาจันทร์ 2546: 85-90)
ประเพณีการบวช
คนไทยวนนิยมบวชลูกชายเป็นสามเณรเมื่ออายุ 10 ปี เมืองได้บวชแล้วจะให้สามเณรศึกษาต่อจนอายุ 20 ปี จึงจะอุปสมบท หรือที่เรียกว่า “เป๊กข์เป็นตุ๊” การบรรพชาอุปสมบท นอกจากเป็นการเล่าเรียนพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการตอบแทนบุญคุณของบุพการี ลูกผู้ชายทุกคนจึงต้องบวชสักครั้งในชีวิต แต่ก่อนที่เด็กจะบวชต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้กับพระพี่เลี้ยงก่อน ถึงจะได้รับอนุญาตเข้าบวชเป็นพระได้ งานบวชของชาวไทยวน มักนิยมจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเข้าพรรษา สมัยก่อนจะบวชร่วมเวลา 2-3 พรรษา แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะบวช 3 ถึง 7 วัน
สมัยก่อนการจัดงานบวช จะทำพิธีถึง 3 วัน คือวันที่หนึ่งเรียกว่าวันดาน้อย คือ วันแรก จะเป็นการเตรียมการและเป็นวันรวมญาติ จะมีการทำขนม นำข้าวของที่ต้องใช้ในงานบวช วันที่สอง คือ วันดาใหญ่ เป็นวันโกนหัว ที่เรียกว่าพิธียื่นโยง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติ ในงานจะมีพ่อแม่ ญาติใกล้ชิดและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ร่วมโกนหัวและอวยพรให้กับผู้บวช ผู้บวชนี้จะเรียกว่า “นาค” จากนั้นนาคจะกลับบ้านบอกลาปู่เสี้ยวบ้าน เจ้าพ่อเจ้าแม่และทำพิธีล้างเท้าให้พ่อแม่เพื่อเป็นการขมาลาโทษในสิ่งที่เคยทำไม่ดีหรือล่วงเกิน หลังจากนั้นจึงจะเป็นพิธีสู่ขวัญนาค เรียกขวัญและให้พรนาค วันที่สาม คือ วันบวช งานเริ่มด้วยการแห่นาคเข้าวัดเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทตั้งแต่เช้า ในขบวนจะประกอบด้วยนาค อาจขึ้นเสลี่ยงหรือเดิน พร้อมด้วยเครื่องอัฐบริขาร พ่อของนาคจะอุ้มบาตร ส่วนแม่อุ้มผ้าไตร เมื่อถึงอุโบสถจะเดินเวียนรอบอุโบสถ 3 รอบ จากนั้นนาคจะเข้าอุโบสถและจะจูงพ่อแม่เข้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะเชื่อว่า จะทำให้พ่อแม่เอากุศลจากการบวชในครั้งนี้ด้วย แต่ปัจจุบัน การบวชนาคได้ลดขั้นตอนจากที่ทำกันสามวันลดเหลือสองวัน เรียกว่าวันสุกดิบและวันบวช และไม่ต้องเตรียมอาหาร ขนมหวานเหมือนสมัยก่อน ในวันสุกดิบจะมีการลาปู่เสี้ยวบ้าน เจ้าพ่อเจ้าแม่ ตอนบ่ายจะล้างเท้าให้พ่อแม่และสู่ขวัญนาค ปัจจุบันนี้จะพบว่ามีการเลี้ยงอาหารโต๊ะจีน มีมหรสพ และกิจกรรมทุกอย่างต้องมีการจ้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากขึ้น
ชาวไทยวนมีความเชื่อพื้นฐานเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เช่น ความเชื่อพื้นบ้านที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อในศาสนาพุทธ ทั้งสามความเชื่อนี้ได้ถูกบูรณาการผสมผสานเป็นชุดความเชื่อในวัฒนธรรม ศาสนา และมีบทบาทต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของชาวไทยวนในล้านนา อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและจิตวิญญาณที่สำคัญของชาวไทยวนนั้น สามารถแยกความเชื่อหลัก ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ ความเชื่อเรื่องการนับถือผี ความเชื่อเรื่องการนับถือพุทธศาสนา (วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ 2542)
ความเชื่อเรื่องการนับถือผี
ในชีวิตประจำวันของชาวไทยวน จะผูกโยงกับความเชื่อเรื่องผีและผิดผี ความเชื่อดังกล่าวได้เป็นแบบแผนในการดำรงชีวิตและกรอบในการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยผีที่เป็นฐานสำคัญในชีวิตของชาวไทยวน คือ “ผีบรรพบุรุษ” ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานและมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ทุกบ้านมีผีประจำตระกูลที่เรียกว่า “ผีปู่ย่า” โดยพี่สาวคนโตของตระกูลนั้นจะต้องเป็นผู้สืบทอดและรับทำพิธีเซ่นไหว้เลี้ยงผี
ความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษ จะพบได้ในบ้านเรือนไทยวน คือ มีการสร้างหิ้งผี “หิ้งผีย่า” และ “หิ้งผีปู่”บนหิ้งมีกระถางธูปและแจกันดอกไม้ โดยหิ้งผีย่านี้จะตั้งอยู่ในห้องเฉพาะในบ้าน และห้ามคนนอกตระกูลเข้ามาในห้องหิ้งผี ถ้ามีคนนอกเข้ามาจะถือว่าเป็นการผิดผี และจะต้องทำพิธีขอขมา สำหรับหิ้งผีปู่ จะสร้างขึ้นเป็นศาลให้อยู่ภายนอกบ้าน คล้ายกับศาลเจ้าที่ ภายในจะมีเพียงกระถางธูป ถาดรอง พวงมาลัยและขวดน้ำ
การเซ่นไหว้บูชาผีประจำตระกูล จะเกิดขึ้นในช่วงโอกาสต่าง ๆ เช่น การจัดงานแต่งงาน เมื่อมีคนในตระกูลทำผิดผี หรือโอกาสการเลี้ยงผีประจำปี ในพิธีการเลี้ยงผีจะมีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ไก่ หรือหมู ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะหรือสถานภาพของแต่ละบ้าน นอกจากการนับถือต่อผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวไทยวนในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ยังมีการนับถือผีประจำหมู่บ้านร่วมกัน ที่เรียกว่า “ปู่เสี้ยวบ้าน” การบูชาเซ่นไหว้ต่อผีประจำหมู่บ้านนี้จะเกิดขึ้นในโอกาสการจัดงานประจำปีในหมู่บ้าน เช่น งานวัด หรืองานบวช (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548 หน้า 14-16)
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องผีของชาวไทยวนในล้านนานั้นมีหลากหลาย แต่โดยหลัก ๆ ผีที่อยู่ในความเชื่อของชาวล้านนา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ผีดี ที่คอยให้ความคุ้มครองคน และ ผีร้าย ที่มักจะทำร้ายอันตรายให้แก่คน
1. ผีดี เป็นกลุ่มผีที่ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ ความเชื่อเกี่ยวกับผีดีของชาวไทยวนล้านนามีมากหลายระดับตามเมือง ชุมชน โดยสามารถแยกออกมาได้ดังนี้
1.1 ผีแถน เป็นผีที่มีความสำคัญในสังคมล้านนา เนื่องจากเป็นผีที่มีฐานะสูงสุดเป็นเทพเจ้าที่ไม่มีรูปร่างตัวตน โดยเชื่อว่าเป็นผู้สร้างโลก และกุมชะตามนุษย์ ชาวล้านนาเชื่อว่าเวลามนุษย์เดือดร้อนผีแถนจะลงมาช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้นจากความเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้ในสังคมไทยวนจึงมักทำพิธีเซ่นไหว้ผีแถน เพื่อพึ่งพิงในด้านการรักษาโรค
1.2 ผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษของครอบครัว เป็นบุคคลที่เคยกระทำความดีสร้างคุณประโยชน์ให้กับลูกหลาน จนได้รับความเคารพนับถือ ยกย่องให้เป็นผู้ที่คุ้มครองครอบครัว ลูกหลานในตระกูล ส่วนใหญ่จะเป็นผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง โดยทั่วไปผีปู่ย่าจะเรียกอีกชื่อว่า “ผีเรือน” ในความเชื่อชาวไทยวนจะมีการกราบไหว้ประจำทุกปีหรือทุกสามปี สำหรับผีปู่ย่า ยังสามารถจำแนกออกสองประเภท คือ ผีมด ผีเม็ง
ผีมด คือ บรรพบุรุษของสามัญชนหรือไพร่ของขางชาวไทยวนหรือล้านนาโดยทั่วไป
ผีเม็ง คือ เป็นนักรบ นักปกครองที่สร้างคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง โดยเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายมาจากชาวมอญหรือไตจากรัฐฉาน
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องผีมด ผีเม็งนี้ ชาวไทยวนรับและสืบทอดจากวัฒนธรรมชาวมอญ สังเกตได้จากเครื่องพิธีหลายอย่างที่ทำตามแบบชาวมอญ เช่น เครื่องดนตรีที่เป็นฆ้อง กลองสองหน้า เครื่องทรงและการแต่งกาย รวมทั้งรูปแบบการฟ้อนรำ
1.3 ผีอารักษ์ ผีเจ้านาย ผีเสื้อบ้าน เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง มีคุณงามความดีสร้างประโยชน์ต่อบ้านเมือง อาจเป็นวีรบุรุษหรือผู้นำ เมื่อตายไปแล้วจะได้รับการบูชาในฐานะผู้ปกป้องชุมชน โดยจะมีพิธีเซ่นไหว้คล้ายๆ กับพิธีไหว้ผีปูย่า ทั้งนี้ ผีขุนน้ำ ผีดง ผีฝาย ก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้เช่นกัน
1.4 เสื้อเมือง เป็นผีอารักษ์ที่ช่วยปกป้องบ้านเมือง โดยในอดีตเคยเป็นเจ้านายหรือกษัตริย์ การทำพิธีจะต้องให้เจ้าเมืองเป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวง ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่ยังมีพิธีเลี้ยงผีเสื้อเมืองทุกปี เช่น พิธีบูชาเสาอินทขีล วัดเจดีย์หลวง หรือพิธีเลี้ยงดงหรือพิธีไหว้ปู่แสะย่าแสะ
2. ผีร้าย คือ ผีให้โทษในแบบต่าง ๆ โดยจำแนกออกเป็นสองลักษณะ คือ
2.1 ผีร้ายที่ตายผิดธรรมชาติ คือ เป็นผีที่ตายไม่ดี เช่น เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พิธีศพของผู้เสียชีวิตเหล่านี้จะกระทำอย่างเร่งด่วน โดยทั่วไปจะเชื่อว่าวิญญาณของคนเหล่านี้จะกลายเป็นผีร้ายกลับมาทำร้ายคนในชุมชนได้ เช่น การกลับมาสิงร่าง หรือที่เรียกว่า ผีเข้า ทำให้ต้องมีพิธีไล่ผี หมอบ้านจะใช้คาถาอาคมหรือวิชาไสยศาสตร์ในการแก้ไข
2.2 ผีดีที่ลูกหลานปรนนิบัติดูแลไม่ดี ผีเหล่านี้เดิมเป็นผีดี แต่ต่อมากลายเป็นผีร้าย อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีการเซ่นไหว้เลี้ยงดู ทำให้หิวโหยจึงต้องออกหาอาหารกินเองเป็นผลให้ชุมชนรอบข้างเดือดร้อน จะเรียกผีเหล่านี้ว่า ผีกะ หรือ ผีปอบ บ้างก็เรียกว่าผีกระสือ ผีเหล่านี้จะเข้าสิงร่างคนที่อ่อนแอ ซึ่งจะทำให้บุคคลเหล่านั้นมีพฤติกรรม พูดจาที่ผิดปกติจากเดิม เช่น ชอบกินของสด ของคาว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะมีการรักษาโดยพระสงฆ์เพื่อทำลายวิญญาณ หรือไล่วิญญาณผีร้ายเข้าป่า (วิถี พานิชพันธ์ 2548 16-22) ปัจจุบันถึงแม้ความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าครอบครองและกำหนดวิถีชีวิตของชาวไทยวนมากขึ้น แต่ความเชื่อในเรื่องผีและวิถีปฏิบัติตามจารีตของบรรพบุรุษ ยังคงมีให้เห็นผ่านประเพณีต่าง ๆ ที่มาจากความเชื่อเรื่องผี แต่ปัจจุบันได้มีการผสมผสานระหว่างพิธีกรรมเกี่ยวกับผีกับพิธีกรรมของพุทธศาสนา เช่นมีการนิมนต์พระมาสวดมนต์ร่วมในงานพิธี
ความศรัทธาในศาสนาพุทธ
ชาวไทยวนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมดในภาคเหนือ ตามประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงการรับนับถือศาสนาพุทธมาอย่างยาวนาน โดยมีตำนานระบุการรับพุทธศาสนามายังล้านนาที่เก่าแก่ คือ ตำนานสิงหนวัติและตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน ตามตำนานทั้งสองได้กล่าวถึงพุทธศาสนาที่เข้ามาในล้านนาไทยตั้งแต่ พ.ศ.1 ซึ่งจะแตกต่างไปจากที่ว่าคนไทยรับพุทธศาสนามาจากจีนเมื่อ พ.ศ. 612 สำหรับตำนานสิงหนวัติได้กล่าวถึงการสร้างเจดีย์ พระธาตุดอยตุง อันเป็นปฐมเจดีย์ในล้านนาและกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์อื่น ๆ เช่น การสร้างพระธาตุดอยตุง ในช่วง พ.ศ.1 ประวัติการสร้างพระธาตุดอยกู่แก้ว ถูกสร้างขึ้นมาใน พ.ศ. 2 สร้างเพื่อถวายให้กับพระเจ้าอชุตราช ยังมีประวัติการสร้างพระธาตุอื่น ๆ อีกมากมายที่แสดงถึงการรับนับถือศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธได้เจริญงอกงามอีกครั้งภายหลังจากการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระยามังราย ได้เริ่มทำนุบำรุงปูชนียสถานหลายแห่ง เช่น พระธาตุหริภุญชัย สร้างเจดีย์กู่คำ สร้างวัดอุโมงค์ สร้างวัดอาราม เช่น วัดเชียงมั่น วัดพระเจ้าเม็งราย ทั้งนี้ศาสนาได้ขยายตัวมากขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา ที่เปิดให้พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยและนำภาษาอักขรตัวฝักขามมาใช้ในล้านนา เพื่อปฏิรูปพุทธศาสนาในล้านนา สมัยพระเจ้ากือนา ราชสำนักได้สร้างวัดสวนดอก จึงเกิดเป็นนิกายใหม่ คือ “นิกายสวนดอก” นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้พระเณรศึกษาแตกฉานในบาลี โดยการส่งไปเรียนศรีลังกา ทำให้เมืองเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าวมี 2 นิกาย คือ นิกายหริภุญไชย(พุทธศาสนาหินยาน) เรียกว่าพระเชื้อเก่า และนิกายสวนดอก(พุทธศาสนาเถรวาท) แต่เมื่อล้านนาตกอยู่ภายใต้ปกครองของพม่า ทำให้พุทธศาสนาในล้านนาเริ่มเสื่อมถอยลง จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละสามารถขับไล่พม่าและปกครองเมืองเชียงใหม่ จึงมีการกลับฟื้นฟูทำนุบำรุงศาสนาพุทธอีกครั้ง เช่น การซ่อมแซมวัดพระสิงห์ และปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุลำปางหลวง ศาสนาพุทธในล้านนาจึงค่อยเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งจนถึงทุกวันนี้ (นพคุณ ตันติกุล 2548: 95-100)
ที่กล่าวข้างต้น จะเป็นเรื่องประวัติศาสนาพุทธที่สัมพันธ์กับรัฐและผู้ปกครองในสมัยสร้างอาณาจักร แต่ในภาคเหนือการขยายตัวของพุทธศาสนาไปยังชาวบ้านนั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ “พระผู้นำ” ความเชื่อเรื่อง “ต๋นบุญ” เป็นชุดความเชื่อเกี่ยวกับผู้นำศาสนาที่มีบทบาทในกิจกรรม ประเพณีทางศาสนาจากพุทธเถรวาทนิกายโยน (Yuan Buddhism) โดยตั้งอยู่บนฐานคิดความเชื่อในเรื่องพระโพธิสัตว์ที่มีหลักปฏิบัติ เช่น การออกธุดงค์เผยแพร่ศาสนา ประเพณีการเดินไกลเพื่อจาริกแสวงบุญและการทำนุบำรุงวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลักการเหล่านี้จะพบเห็นได้จากการปฏิบัติของพระสงฆ์ที่มีบารมีหรือพระที่ได้รับการเคารพนับถือจากชาวบ้าน ที่เรียกว่า “ครูบา” ภายใต้การนำและการดำเนินการตามหลักปฏิบัติเหล่านั้น ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสในการเข้าร่วมสร้างบุญและเกิดการรวมกลุ่มรอบ ๆ “ครูบา”
ความเชื่อในพุทธศาสนาสายเถรวาทนิกายโยนได้ขยายตัวไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ในภาคเหนือ แคว้นสิบสองปันนาของประเทศจีน และภาคเหนือของลาว การเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายโยนในพื้นที่เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดจุดร่วมทางความเชื่อ คือ 1. การใช้ อักษรธรรมหรือตัวเขียน 2. การมีวรรณกรรมศาสนา คติชน ตำนานต่าง ๆ ในชุดเดียวกัน 3.ความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษเดียวกัน 4. การมีแนวคิดความเชื่อเรื่อง “ต๋นบุญ” ที่ถูกนิยามจากการสังเกตกิจกรรมทางศาสนาของพระสงฆ์และบารมีที่เกิดขึ้นจากการยอมรับนับถือจากชาวบ้านในฐานะผู้มีพลังพิเศษ ความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวกับบุคคลเช่นพระสงฆ์ จึงเป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญและมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมศาสนาในพื้นที่ล้านนาและบริเวณลุ่มน้ำโขงจากอดีตถึงปัจจุบัน
ครูบาหรือต๋นบุญ ในโลกทัศน์ของชาวล้านนา คือ พระสงฆ์ที่ดำรงตนอยู่ในธรรมมะและสะสมความดีบารมีผ่านการช่วยเหลือผู้คนและสื่อกลางในการนำผู้อื่นไปสู่ผลบุญ และปฏิเสธเรื่องราวทางโลก ดังที่มีตัวแบบต๋นบุญที่มีบทบาทสำคัญและได้ความเคารพนับถือจากชาวล้านนา เช่น กรณี ครูบาศรีวิชัย (วสันต์ ปัญญาแก้ว 2555: 27-33)
ถึงแม้ศาสนาพุทธจะมีความเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันด้วยสังคมเชียงใหม่ที่ถูกให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้พื้นที่วัดและวัตถุมงคลถูกกลายสภาพให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น มีวัดบางแห่งถูกนายทุนเข้าแปลงที่ดินวัดให้เป็นโรงแรม หรือทำโรงแรมให้เหมือนวัด พระเครื่องได้กลายเป็นสินค้าที่ขายสร้างกำไร สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ศาสนาพุทธกลายสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการทำลายศาสนาและจิตวิญญาณของชาวพุทธ (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ 2555: 206-207 )
ในสังคมชาวไทยวนล้านนา จะมีคำสอนมากมายที่เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามตามจารีตในครอบครัวและสังคม ชาวไทยวนมีระบบกฎเกณฑ์ในการจัดระเบียบทางสังคมที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องราวเกี่ยวกับมารยาทในบ้าน ความสัมพันธ์ในครอบครัวเครือญาติ ความสัมพันธ์ในระดับสังคมภายนอกทั่วไป หลักปฏิบัติและข้อห้ามตามจารีตในสังคมเหล่านี้ สืบทอดมาจากข้อกฎหมายของอาณาจักรล้านนาในอดีต นั่นคือ “กฎหมายมังรายศาสตร์” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมบังคับชาวล้านนาในอดีต กฎหมายฉบับนี้ได้กลายเป็นจารีตและข้อปฏิบัติในสังคมล้านนาจนถึงปัจจุบัน
แต่สำหรับชาวบ้านในชุมชน จะพบว่ามีคำสอนข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สัมพันธ์กับความเชื่ออยู่ด้วย เช่นจะพบคำสอนของชาวไทยวนที่สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้ “เมื่อค่ำกวาดเข้า เมื่อเช้ากวาดออก (เวลาของตกจะได้เห็น)” “บ่ดีนอนคาประตู (คนจะเหยียบเอา)” “บ่กินข้าวยามดึก (อาจจะทำให้เสียสุขภาพ)” “บดีละตังผัว มาหนัวตังชู้ (ไม่ควรทิ้งผัว มาคบชู้)” “อย่าไปเก็บคำไปมา (คืออย่าเชื่อคนที่ชอบนินทากัน)” “คนหลวกได้คำจ๋า คนมีผะหญาแพ้เพิ่ม (คนฉลาดดูที่วาจาก็รู้ คนมีปัญญาย่อมชนะผู้อื่น) “เฒ่าบ่มีเงินมีคำ ลูกหลานชังหัว (ไม่สะสมทรัพย์ไว้แก่เฒ่าลง ไม่มีมรดกลูกหลานเกลียด) “หนุ่มเอาเก้า เฒ่าเอาทางปลาย (ความสามัคคีช่วยกัน)” (สงวน โชติสุขรัตน์ 2561229-230)
สำหรับความเชื่อเรื่องข้อห้าม คือ “ขึด” หรือเสนียดจัญไร อัปมงคล มีบทบาทในชีวิตของชาวยวนหรือในล้านนาอย่างหนึ่ง เป็นข้อห้ามโดยใช้ความเชื่อปรามผู้คนมิให้กระทำในสิ่งที่ผิดหรือเสี่ยงต่ออันตรายในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น จะนำศพไปเผาในวันที่ตรงกับวันที่เสียชีวิต หรือที่เรียกว่า “วันจน” เพราะเชื่อว่า หากมีการนำศพไปเผาตรงกับวันตาย จะทำให้มีผลต่อญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดผู้ตาย ลูกหลานจะมีอันตราย จะมีคนตายในบ้านมากขึ้น ฉะนั้นคนล้านนาจึงถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ
ในชีวิตประจำวันของชาวไทยวน เรื่องขึดจึงเป็นกฎเกณฑ์ในการควบคุมจัดระเบียบความสัมพันธ์อย่างหนึ่ง โดยจะพบมากในการใช้ชีวิตในบ้านเรือนของชาวไทยวน ที่จริงแล้ว “ขึด” เป็นความเชื่อที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ เป็นชุดความเชื่อมาแต่สมัยโบราณที่มีการปริวรรตและสืบทอดปฏิบัติกันมา ขึดหรือข้อห้าม ในที่นี้สามารถแบ่งกฎข้อห้ามตามสถานที่ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น 1.เกี่ยวกับเมือง 2.เกี่ยวกับบ้าน 3.ขัว หรือสะพาน 4. เกี่ยวกับศาสนสถาน พระพุทธรูป และศรัทธาวัด 5.เกี่ยวกับพื้นที่และจอมปลวก 6. แหล่งน้ำ 7.พื้นที่ดอย ภูเขา ถ้ำ 8.พื้นที่นา ที่สวน ที่ไร่ 9.ต้นไม้ที่ห้ามตัดฟันทำลาย 10. สัตว์ที่ไม่ควรนำมาเลี้ยง 11.การปฏิบัติตนของเด็กและหนุ่มสาว 12.เด็กหรือทารกตาย 13. หญิงมีครรภ์ตาย 14.พระภิกษุ สามเณร ศิษย์วัดตาย 15.อาการตาย และการจัดพิธีศพทั่วไป 16.กิริยามารยาทในลักษณะต่าง ๆ 17. ขึดกับเหตุการณ์แปลกประหลาด
ในที่นี้จขอะยกตัวอย่างหลักข้อห้ามต่าง ๆ และความหมายเบื้องต้น ดังนี้
1. เมืองก็ดี วัดวาอารามก็ดี บ้านสวนก็ดี เฮือนก็ดี กันจักแป๋งเฮือนอยู่นั้น อย่าหื้อซื่อสายน้ามมาต้อง ตัดสายกองใหญ่-หน้อยมาต๋ำ ตั้ดสายตำพระเจ้า และสายตำแม่ยักขณีมาต๋ำ อย่าหื้อตั้ดตี้จักตั้งแป๋งเฮือนอยู่นั้น ก็บ่ดีและ บ่วุฒิฉิบหายแล (หมายความว่า บ้านเมือง วัดวาอาราม บ้าน สวน หรือเรือนก็ดี ถ้าจะปลูกสร้างเรือนอยู่นั้น อย่าได้สร้างให้ตรงกับแม่น้ำ หรือสร้างตรงกับถนนใหญ่-เล็ก หรือสร้างตรงกับสายตาพระประธานที่วัด หรือตรงกับสายตายักษ์ ไม่เช่นนั้นจะไม่ดีขึด)
2. สนามเดิมมีไว้กับเมืองนั้น ก็ไปเตเสียหั้นแล (หมายความว่า อาคารว่าราชการที่มีคู่บ้านคู่เมืองมาแต่เดิม ต่อมาไว้ไปรื้อออกเสีย การกระทำเช่นนี้ไม่ดีขึด)
3.แม่มานนั่งหัวขั้นไดมันขึด (หมายความว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์หากนั่งหัวบันไดด้านบนซึ่งเป็นที่สูงถือว่าขึด (เพราะอาจเป็นอันตรายหากลุกขึ้นแล้วอาจพลัดตกบันได)
4. ผู้ใดม้างกระแสถือว่าขึด (หมายความว่าผู้ใดก็ตามถ้าขุดสายน้ำใหม่เปลี่ยนย้ายสายน้ำลำเหมืองที่ใช้กันมานานนมมักฉิบหาย (เพราะผู้ที่ได้เคยใช้สายน้ำเดิมต้องลำบากไม่มีสายน้ำลำเหมืองใช้อีกต่อไป)
5.เอาบ้านแป๋งนา เอานาแป๋งบ้านบ่ดีขึดนักแล อยู่มักฉิบหายจ้ะแล (หมายความว่า ห้ามไม่ให้เอาที่บ้านทำเป็นที่นา หรือเอาที่นาทำเป็นที่บ้านไม่ดี อยู่ก็จะฉิบหายล่มจมได้)
6.ควากนาหื้อเป๋นไฮ่ก็ขึด หมายความว่า ขยายที่นาให้เป็นที่ไร่ก็ไม่ดีขึด
7.คนตังหลายฝูงเป๋นเจ้าติเจื๊อเครือเดียว เฮือนเดียวกั๋นนั้น บ่กวรกระตำปลูกแป๋งเป๋นเฮือนฮ่วมเดียวกั๋น มักปั้ดพรากจากกั๋นแล (หมายความว่า คนที่เป็นญาติในตระตูลเดียวกัน หรืออยู่ในเรือนเดียวกัน ไม่ควรแต่งงานกัน หากแต่งมักจะเกิดการหย่าร้าง หรือตายจากกันได้ภายหลัง
8. อย่าขนดังกล๋างเฮือนเปิ้น หมายความว่า นอนหลับบ้านคนอื่น อย่านอนกรนเสียงดัง
9. ไม้โลงผีนั้นเอาไปตุมแล้ว ป๊อยว่าเก็บเอามาบ้านมาเมืองนั้น บ่ดีขึดแล (หมายความว่า ไม้โลงศพที่ใส่ศพไปเผาแล้ว อย่าเก็บเอาเข้ามาในบ้านในเมือง ไม่ดี เป็นขึด (สงวน โชติสุขรัตน์ 2561: 213-228)
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทันสมัย มีชุดค่านิยมจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีกฎเกณฑ์กติกาที่มาจากรัฐ ทำให้วัฒนธรรมความเชื่อและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมการดำเนินชีวิตแบบเดิมถูกเปลี่ยนแปลงและเลือนลางไปจากความคิดความเชื่อของคนรุ่นใหม่ ฉะนั้นการปฏิบัติตามในเรื่องขึด จะพบเห็นได้น้อยมาก โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคมเมือง หากแต่เยาวชนหนุ่มสาวในแถบชุมชนอาจมีการสืบทอดความเชื่ออยู่บ้างไม่น้อย
ชาวไทยวนตั้งอยู่บนฐานความเชื่อและเกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม โดยมิได้แยกขาดจากวิถีการดำรงชีวิตประจำวัน ประเพณีและความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในชุมชน โดยเชื่อว่าโรคและอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความไม่สมดุลทางสังคม ดังที่ มาลี สิทธิเกรียงไกร (2541) ได้กล่าวว่า ความเชื่อของชาวไทยวนต่อสาเหตุของอาการเจ็บป่วย มาจากอำนาจเหนือธรรมชาติที่ลงโทษต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามความเชื่อหรือละเมิดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางกายหรือจิตใจ
1. ความเชื่อที่มีส่วนสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยและความผิดปกติ เกิดขึ้นมาจากชุดความเชื่อ ได้แก่ 1.ความเชื่อเกี่ยวกับผี คือ ชาวไทยวนเชื่อว่าผีมีอำนาจ อิทธิฤทธิ์ โดยเฉพาะผีร้าย เช่น ผีตายโหง ผีพราย ฯลฯ ผีจึงสามารถทำร้ายร่างกายคนเราได้ จึงเกิดอาการเจ็บป่วยหรือตายได้ แต่สำหรับ ผีดี เช่น ผีปู่ย่า ผีอารักษ์ เช่น ผีเจ้าบ้าน ผีเสื้อวัด ก็สามารถทำอาการเจ็บป่วยได้ หากลูกหลานเลี้ยงดูเซ่นไหว้ หรือไม่ทำบุญส่งไปให้ หรือ กรณีลูกหลานไม่ปรองดองกัน ทำผิดประเพณีนี้ ผีปู่ย่าก็จะมาเตือนสติด้วยการทำให้อาการเจ็บป่วย นอกจากนี้หากมีการกระทำใด ๆ ที่ไม่สมควร เช่น การลบหลู่ดูหมิ่น หรือรบกวนหอผี ปัสสาวะรดบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ จากกรณีที่กล่าวนี้ชาวไทยวนเชื่อว่าจะมีผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ (มาลี สิทธิเกรียงไกร 2541:11) การรักษาอาการที่เชื่อว่าเกิดขึ้นจากผี การรักษาโรคดังกล่าวจะกระทำผ่านพิธีบนบานศาลกล่าว ขอขมาลาโทษเมื่อหายแล้วจะเลี้ยงผีแก้บนตามชนิดของผีนั้น ๆ (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548: 26)
2. ความเชื่อเกี่ยวกับโหราศาสตร์ เป็นชุดความเชื่อเกี่ยวกับโลกราหู ที่เชื่อว่าโลกเป็นแกนกลางและมีบริเวณล้อมรอบ 9 ดวง คือ ดาวเคราะห์ 9 ดวง ที่มีอิทธิพลต่อชะตาและชีวิตของมนุษย์ว่าจะก้าวหน้าหรืออับเฉา จึงเกิดตำราโหราศาสตร์ขึ้นมาทำนายทายทักให้กับผู้คน ตำราโหราศาสตร์จึงมีบทบาทต่อชาวไทยวนและมีการนำไปใช้กับวิชาไสยศาสตร์และพิธีกรรม โดยใช้เพื่อทำนายดวงชะตา เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาชะตาชีวิตและอาการเจ็บป่วย และเป็นศาสตร์ในการกำหนดวันในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วย
3. ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ คือศาสตร์ของการใช้เวทมนต์คาถา เป็นชุดความรู้ที่มีมาอย่างยาวนานมีการบันทึกในวรรณกรรม เช่น การตู้ การฝังรูปทำเสน่ห์ การบนบาน สิ่งเหล่านี้อำนาจที่มองไม่เห็น แต่ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เจ็บป่วยได้ อาการที่พบเช่น เพ้อ พูดไม่รู้เรื่อง คุ้มดีคุ้มร้าย หรืออาการปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. ความเชื่อเกี่ยวกับขึด “ขึด” เป็นภาษาคำเมือง ที่หมายถึงการกระทำที่ไม่ดีไม่งาน เป็นเสนียดจัญไร หรือการประพฤติที่ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์จารีต ขึด จึงเป็นการผิดระเบียบของจารีต และอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือเกิดความเสื่อมเสียและวิบัติได้
5. ความเชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แนวคิดนี้ได้รับจากอิทธิพลจากพุทธศาสนา ดังปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ชาวไทยวนเชื่อว่า หากธาตุทั้ง 4 ไม่สมดุลกัน ทำให้ร่างกายมีความผิดปกติจะเกิดอาการเจ็บป่วยได้ วิธีแก้ไขคือการใช้สมุนไพรเพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกาย (มาลี สิทธิเกรียงไกร 2541: 11-16)
วิธีการรักษาและการดูแลสุขภาพของชาวไทยวน สามารถพบได้ดังนี้ เช่น
1. การรักษาโรคด้วยสมุนไพร ชาวไทยวนจะมีความรู้และเชี่ยวชาญการใช้พืชสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาในการรักษาโรคมาแต่อดีต ความรู้เหล่านี้ผ่านประสบการณ์การทดลองใช้และส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยวนเชื่อว่า โรคเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระบบธาตุในร่างกาย ที่เกิดจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหนาว ร้อน ตามฤดูกาล หรือเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกายรวมทั้งปัญหาอาจเกิดจากระบบย่อยอาหาร ฉะนั้นการรักษาโรคด้วยหลักการสมุนไพรต่าง ๆ ที่มีสรรพคุณหลากหลายเหล่านั้นเพื่อบริโภคเป็นยาเข้าไปสมาน ปรับสภาพของธาตุและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานในร่างกายให้กลับสู่ภาวะปกติ ยาสมุนไพรจะพบเห็นได้เป็นชนิด นำไปต้มดื่ม หรือทำเป็นผง เป็นเม็ดลูกกลอน ปัจจุบันจะพบว่า มีผู้เชี่ยวชาญการใช้สมุนไพรทั้งในหมู่บ้าน มีหมอยากลางบ้าน ซึ่งคนเหล่านี้จะมีบทบาทในการให้คำปรึกษาหรือขายยาสมุนไพรแก่ผู้ป่วยหรือคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยในหมู่บ้าน (กรด เหล็กสมบูรณ์ 2560)
หมอยาพื้นบ้านเหล่านี้ ชาวไทยวนเรียกว่า “หมอเมือง” ปัจจุบันยังถือว่ามีบทบาทในการรักษาโรค ด้วยวิชาที่มีการสืบทอดกันมา มีตำราสมุนไพรที่เรียกว่า “ปั๊บ” เป็นตำราการผสมสูตรสมุนไพร โดยหมอเมืองจะเน้นการรักษาที่คำนึงถึง กาย จิต และวิญญาณ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่แพร่อยู่ในกลุ่มหมอเมือง ปัจจุบันการรักษาจากหมอพื้นบ้านที่ได้รับความนิยม เช่น 1. การตอกเส้นสิบสองไม้ครู เป็นการรักษาโรคปวดเส้น ปวดเอ็น โรคปวดหลังเจ็บเอว (กระดูกทับเส้น) โรคลมโป่งลมพิษ โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ปวดไหล่เอ็นเข้าแค๊ป (สะบักจม) โรคอันเกิดจากถูกกระทำด้วยคุณไสย และโดนพิษผีพิษโป่งพิษพรายไร้ร่องรอย 2. ยาฝนยาต้ม คือ สมุนไพรมาฝนกับกระสายให้ผู้ป่วยดื่ม อาจเรียกว่าเป็นยาแก้ เช่น ยาฝนแก้ตุ่มแก้คัน ยาฝนแก้สันนิบาต ยาฝนแก้ขาง ยาฝนแก้ฝี ยาฝนแก้อีสุกอีใส ยาฝนแก้มะเฮ็งคุด ยาฝนแก้ลมบ้าหมู ยาฝนแก้นิ่ว ยาฝนแก้ห้ามฮาก (อาเจียน) แก้ปวดหลัง ปวดเอว บำรุงร่างกาย เพิ่มพลัง เป็นต้น 3. การย่ำขาง คือ วิธีการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพื้นบ้านล้านนาอีกประเภทหนึ่ง โดยมากใช้สำหรับบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย โดยใช้เท้าชุบน้ำยา(น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย (https://www.hfocus.org/content/2018/09/16344)
2. การรักษาด้วยคาถาอาคม จะเป็นภูมิปัญญาความรู้ทางศาสตร์มนตราที่สืบทอดกันมาในสังคมล้านนา ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้จะเป็นความรู้ที่สืบทอดและเรียนรู้เฉพาะบุคคลเท่านั้น เช่น ฤษี พระ หมอผี หมอพื้นบ้านต่าง ๆ วิธีการรักษาสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ 1. ใช้คาถาอาคมเสกเป่าในน้ำหรือใช้น้ำมันทา หรือใช้วิธีการสวดมนต์คาถาภาวนาแล้วปัดเป่า โดยวิธีนี้จะนิยมใช้ในการรักษาโรคเช่น งูสวัด ไฟลามทุ่ง โรคกระดูก ปวดเส้น กรณีผู้เชี่ยวชาญเรื่องคาถาอาคมจะมีพบได้ในแต่ละหมู่บ้านและจะเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพเชื่อถือจากชาวบ้าน 2. กรณีการใช้คาถาอาคมในการรักษาไสยศาสตร์ คุณไสย วิธีนี้จะมีใช้มากกับผู้ป่วยที่รักษาแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย ผู้ป่วยจะเข้าไปหาหมอพื้นบ้านเพื่อปัดเป่าสิ่งเลวร้ายที่ทำร้ายสุขภาพของบุคคลนั้น การรักษาจะใช้วิธีการสวดคาถาร่วมกับการทำพิธีบวงสรวงจะมีเครื่องมือที่เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ หรือการให้อาบน้ำมนต์และดื่มน้ำสมุนไพรที่ลงอาคมเพื่อแก้โรคและปัดเป่าคุณไสยต่างๆ ออกจากตัว
3. การสู่ขวัญ สะเดาะเคราะห์ ชาวไทยวนเชื่อว่าคนเรามีขวัญทั้งสิ้น 32 ขวัญ หากขวัญหายตกหล่นไม่อยู่กับคนนั้น จะทำให้ไม่สบาย จำเป็นต้องทำพิธีสู่ขวัญหรือพิธีเรียกขวัญ เพื่อให้กลับมาสุขภาพดีหายจากอาการไม่สบาย สำหรับการทำพิธีกรรม ต้องเตรียมข้าวสุก ไก่ ใบพลู บุหรี่ เมี่ยง หมาก กล้วย เหล้าขาว ผ้าขาว ผ้าแดง น้ำส้มป่อย เทียน ดอกไม้ และเสื้อผ้าผู้ป่วย รวมทั้งสายสิญจน์ โดยทั่วไปหมอที่ทำพิธีจะกล่าวเชิญให้ขวัญกลับมาอยู่กับผู้ป่วยเพื่อให้หายจากอาการป่วย และหลังทำพิธีสู่ขวัญแล้ว จะทำการสะเดาะเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อเป็นการปัดเป่าความไม่ดีออกไปให้ไกลจากผู้ป่วย
4. การดูหมอ หรือดูเมื่อ ชาวไทยวนนิยมดูหมอ เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยทุกข์ยากก็จะไปดูหมอ หรือหมอเมื่อ จะมีการซักถามวัน เดือน ปีเกิดและเวลาตกฟากมาคำนวณตามหลักโหราศาสตร์ เพื่อทำนายสาเหตุของอาการเจ็บป่วยและวิธีการรักษา แต่ถ้าอาการไม่รุนแรงมากนัก หมอเมื่ออาจกะรักษาเองได้ แต่หากอาการรุนแรงจะต้องหาแหล่งรักษากับหมอที่เหมาะสม
5. การเข้าทรง ตามความเชื่อของชาวไทยวนหรือในล้านนามักจะนิยมเข้าถามเจ้าทรงหรือร่างทรงในการทราบสาเหตุของอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งร่างทรงจะเป็นตัวกลางระหว่าผีกับผู้ป่วย เพื่อบอกกับผู้ป่วยหรือญาติว่า ผีตนใดมาทำร้ายให้เกิดอาการเจ็บป่วยดังกล่าว และเพื่อจะได้ทำพิธีกรรมขอขมาโทษได้ถูกต้อง (มาลี สิทธิเกรียงไกร 2541: 18-20)
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจุบันการรักษาโรคตามที่ได้กล่าวข้างต้น อาจจะมีสถานะความนิยมลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทและการรักษาชีวิตของมนุษย์ได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพ เรียกวิธีการรักษานี้ว่า “การรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน” การรักษาแบบใหม่นี้เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย เป็นองค์ความรู้ที่นำเข้าจากโลกตะวันตกเพื่อรักษาโรคและสร้างคุณภาพชีวิตของชาวไทยให้ดีขึ้น ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย การรักษาได้ใช้ยาเคมีภัณฑ์ และมีเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ให้ประสิทธิภาพในการวินิจฉัยสาเหตุของโรค ทำให้การรักษาตรงจุดและหายขาดอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นการเข้ามาของการรักษาโรคแบบใหม่นี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและลดบทบาทขององค์ความรู้ในการรักษาโรคแบบเดิมของชาวไทยและรวมทั้งชาวไทยวนในภาคเหนือ ปัจจุบันชาวไทยวนในภาคเหนือหันมารักษาโรคในโรงพยาบาลรัฐหรือแม้แต่การหาซื้อยาตามร้านยาแผนปัจจุบันกันมากขึ้น (สัมภาษณ์ ป้าเพ็ญ แย้มปลี 15/5/2562)
วิถีชีวิตของชาวไทยวนในล้านนา มีความเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อและประเพณีมากมาย ในพิธีเหล่านี้จะพบว่า ศิลปะการแสดง ดนตรีจะมีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะในพิธีกรรมเกี่ยวกับแนวผีหรือพิธีเลี้ยงผี ที่เรียกว่า การฟ้อนผี (การฟ้อนรำ) การฟ้อนจึงเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนาเกือบทุกชาติพันธุ์ ทั้งไทยวน ไทยอง ไทเขิน ลักษณะของการฟ้อน แบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบดั้งเดิมและแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของลีลาท่ารำที่อ่อนช้อยรวมทั้งการแต่งกายตามชุดวัฒนธรรมร่วมกับการบรรเลง ขับร้องด้วยวงเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนา เช่น วงซอ ซึง วงกลองแอว วงปูเจ่ กิจกรรมการละเล่นเหล่านี้จะนิยมเล่นในงานประเพณีหรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
เครื่องดีด สี ตีและเป่า ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีสำคัญของการแสดงในวัฒนธรรมไทยวนล้านนา จะมีเครื่องดนตรีประเภทเป่า ประกอบด้วย ปี่ แนและขลุ่ย ประเภทเครื่องดีดมีสองชนิด คือ เพียะ (อ่าน “ เปี๊ยะ ” ) และ ซึง ส่วนประเภทเครื่องสี ใช้สายคันชักกับสายเส้นลวดทองเหลืองที่ขึงตึงอยู่ คือ ซอ จะเรียกว่า สะล้อ ที่นิยมบรรเลงคือซอ 2 สาย ส่วนซอ 3 สายไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่น เพราะเล่นยากกว่า ประเภทเครื่องตีที่ทำด้วยไม้ เช่น เกราะพาทย์ (อ่าน “ ป้าด ” ) คือ ระนาด เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ฆ้อง กังสดาล ฉิ่ง ฉาบ และเครื่องตีที่ทำด้วยการขึงหนังสัตว์ให้ตึงเป็นแผ่น ได้แก่ กลอง
เพลงขับร้อง มีบทขับร้องหลายแบบที่นิยมเล่นกัน เช่น 1. เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเพลงบรรเลง คือ เพลงที่เกิดจากการ บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วนๆ โดยไม่มีการขับร้อง เป็นการเล่นขับกล่อมอารมณ์ในยามว่าง 2.เพลงที่มีเนื้อร้องโดยไม่มีดนตรีประกอบ คือ ลักษณะของการขับร้องเพลงพื้นบ้านที่จดจำหรือสืบทอดกันมา เช่น ช้อย (อ่าน “ จ๊อย ” ) หรือบทขับทำนองเสนาะ ที่เป็นคำประพันธ์ประเภทคร่าว-ค่าว (อ่าน “ ค่าว ”) 3. เพลงผสมที่มีทั้งเนื้อร้องและเสียงดนตรีประกอบ เพลงประเภทนี้ คือ ซอ ซึ่งคำว่า ซอ ในภาษาพื้นบ้านล้านนาหมายถึงเพลงพื้นบ้านที่จัดอยู่ในลักษณะ เพลงปฏิพากย์ คือมีผู้ขับชายหญิงซึ่งเรียกว่า ช่างซอ (อ่าน “ จ้างซอ ” ) ขับโต้ตอบกัน เรียกว่าเป็น คู่ถ้อง (ถ้อง-โต้ตอบกัน)
การละเล่นดนตรีพื้นเมืองดังกล่าว ในสมัยก่อนจะเล่นดนตรีเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ใช้ประกอบในงานต่าง ๆ เช่น งานปอยหลวง ปอยน้อย หรืองานศพ งานที่มีการรวมกลุ่มในชุมชน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็เป็นผู้คนในหมู่บ้านจะเล่นฟังกันเอง แต่ปัจจุบันนี้จุดประสงค์ของการเล่นดนตรีได้แปรเปลี่ยนไปเป็นแนวธุรกิจ คือ เป็นการเล่นดนตรีอาชีพตามการว่าจ้างไปในงานต่าง ๆ (สงวน โชติสุขรัตน์ 2512: 182)
การฟ้อน ในวัฒนธรรมไทยวนล้านนาจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การฟ้อนเล็บ การฟ้อนเทียน การฟ้อนเงี้ยวและฟ้อนสาวไหม เป็นต้น (http://www.openbase.in.th/node)
การฟ้อนเล็บ จะสามารถพบเห็นได้บ่อยในงานแสดงในโอกาสต่าง ๆ ถือว่าเป็นศิลปะที่มีความงดงามจะแสดงกันเป็นหมู่ โดยจะสวมเล็บยาวทุกนิ้วยกเว้นนิ้วแม่มือ เป็นการโชว์ลีลาการฟ้อนเล็บที่อ่อนช้อยความพร้อมเพรียงในการฟ้อนร่วมกันของผู้แสดง นอกจากนี้การโชว์ความสวยงามนอกจากการฟ้อนรำแล้ว ที่สำคัญรวมด้วยคือ ชุดการแต่งกายของผู้แสดง โดยจะนุ่งผ้าซิ่นเชิงยาวถึงเท้า สวมเสื้อแขนยาวสีเดียวกันทั้งวง ห่มสไบ เกล้าผมมวยสูง ติดดอกไม้ ห้อยอุบะ ปล่อยชายลงข้างแก้ม ความสวยงามของการฟ้อนกับชุดในวัฒนธรรมจึงทำให้งานแสดงฟ้อนเล็บเป็นที่นิยมจัดแสดงมากที่สุด
การฟ้อนเทียน เป็นการฟ้อนที่มีลักษณะศิลปะที่อ่อนช้อยงดงาม มีลักษณะการแสดงไม่ต่างจากการแสดงฟ้อนเล็บ ถ้าเป็นการแสดงฟ้อนเทียน นิยมแสดงในเวลากลางคืนเพื่อเน้นความสวยงามของแสงเทียนระยิบระยับสว่างไสว จุดเด่นของการแสดงชนิดนี้ จึงอยู่ที่แสงเทียนที่ผู้แสดงถือในมือข้างละหนึ่งเล่ม เดิมทีการฟ้อนเทียนใช้เป็นการแสดงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะเทพเจ้าที่เคารพนับถือในงานพระราชพิธีหลวง ผู้ฟ้อนมักใช้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน ปัจจุบันจะไม่ค่อยได้พบเห็นมากนัก แต่จะพบเห็นได้เฉพาะในงานพระราชพิธีหรือวันสำคัญทางศาสนา ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองชาวต่างชาติ
การแสดงฟ้อนเทียน ใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน นิยมแสดงหมู่คราวละหลายคน โดยจำนวนคนเป็นเลขคู่ เช่น 8 -10 คน โดยผู้แสดงแต่งกายแบบฟ้อนเล็บ คือ การสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่นมีเชิงกรอมเท้า มุ่นผมมวย มีอุบะห้อยข้างศีรษะ ในมือถือเทียน 1 เล่ม จะมีความสวยงามตรงที่การบิดข้อมือที่ถือเทียนอยู่ แสงวับๆ แวมๆ จากแสงเทียนจึงเคลื่อนไหวไปกับลีลาอ่อนช้อยลีลา และลักษณะของเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ
ฟ้อนเงี้ยว เป็นการฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลมาจากไทใหญ่ ประกอบด้วย ช่างฟ้อนหญิงชายหลายคู่ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองไทใหญ่ การฟ้อนเงี้ยวเหมาะสำหรับผู้ชาย แต่ต่อมาเพื่อให้เกิดความสวยงาม จึงมีการใช้ผู้หญิงล้วนหรือใช้ทั้งชายและหญิงแสดงเป็นคู่ๆ มีลีลาการฟ้อนที่แปลกแตกต่างไปจากการฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ในการแสดงจะแต่งกายเลียนแบบชุดชาวไทใหญ่ โดยมีการดัดแปลงเครื่องแต่งกายออกไปบ้าง เช่น ใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก นุ่งโสร่งสั้นเพียงเข่าหรือกางเกงขากว้าง ๆ ใช้ผ้าโพกศีรษะ มีผ้าคาดเอว ใส่เครื่องประดับ เช่น กำไลมือ กำไลเท้า สร้อยคอ และใส่ตุ้มหู งานดังกล่าวนี้จะพบเห็นในงานรื่นเริงทั่วไป
ฟ้อนสาวไหม เป็นศิลปะการฟ้อนรำประเภทหนึ่งของชาวล้านนาที่มีพัฒนาการทางรูปแบบมาจากการ เลียนแบบอากัปกิริยาการสาวไหม ผู้ฟ้อนส่วนใหญ่มักเป็นหญิงสาว ลีลาในการฟ้อนดูอ่อนช้อยและงดงาม การฟ้อนสาวไหมเป็นฟ้อนทางภาคเหนือ ได้ปรับปรุงสืบทอด มาจาก ครูพลอยศรี สรรพศรี ทั้งนี้ ครูพลอยศรีได้ถ่ายแบบรับท่ามาจากหญิงชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย ชื่อ บัวเรียว รัตนมณีกรณ์ นักแสดงจะแต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้ ในการฟ้อนรำจะมีดนตรีประกอบ เช่น ละล้อ ซอ ซึง แต่จะไม่มีเพลงประกอบร่วม
ในกิจกรรมการแสดงฟ้อนรำต่าง ๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ เครื่องดนตรีชุดต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบให้งานฟ้อนงานแสดงมีความสนุกสนานเป็นจังหวะ เช่น กลองสะบัดชัย เครื่องดีด สี ตี เป่า (พงศธร จุนตระกูล 2545)
ตำนานในอาณาจักรล้านนา เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงเรื่องราวและที่มาของอาณาจักรล้านนา ตำนานเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของศาสนาและผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันตำนานดังกล่าวได้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เช่น ตำนานมูลศาสนา ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานจามเทวีวงศ์ นิทานพระพุทธสิหิงค์
ตำนานเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นโดยพระสงฆ์ เป็นการบันทึกเรื่องราวพุทธศาสนาในล้านนา ดังที่พบเช่น ตำนานมูลศาสนา ที่ถูกเขียนโดยพระสงฆ์จากวัดสวนดอก พ.ศ.1960 เรื่องราวของเนื้อหาจึงเน้นการสืบสานในกิจกรรมของวัดสวนดอก ส่วนตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นงานที่เขียนขึ้นหลังจากการเข้ามาของพระรัตนปัญญา ที่เป็นสายสำนักลังกาใหม่ เข้ามาเผยแพร่ในพ.ศ. 1973 และมีการส่งพระไปศึกษาต่อที่ลังกาประเทศ ตำนานนี้เขียนยกย่องพระเมืองแก้วผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราชผู้สนับสนุนนิกายลังกาใหม่ นิกายนี้ได้สืบสานต่อโดยวัดป่าแดง
ส่วนตำนานจามเทวีวงศ์นั้น เป็นประวัติความเป็นมาของการสร้างเมืองลำพูน พระธาตุหริภุญชัย พร้อมด้วยนิทานพระพุทธสิหิงค์ ที่เป็นเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในเมืองลำพูนในยุคของพระสิหิงค์ ตำนานเหล่านี้เขียนเป็นภาษาบาลี โดยพระโพธิรังสี และตำนานรัตนพิมวงศ์ เป็นประวัติความเป็นมาของพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต เขียนเป็นภาษาบาลี ในพ.ศ.2272
นอกจากนี้ยังมี ตำนานที่ระบุถึงเรื่องราวการอพยพของชาวไทยวนจากยูนนานเข้าสู่ลุ่มน้ำแม่กกและสร้างเมืองโยนกนคร เช่น ตำนานโยนกหรือตำนานเมืองยวน ตำนานเมืองหิรัญญนครเงินยางเชียงแสน ตำนานสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ นิทานชาดก 50 เรื่อง มังคลัตถทีปนี ฎีกาสังขยาปกาสก เวสสัตรทีปนี (ว่าด้วยคาถาและศัพท์) แล้วยังตำราอีกมากมายที่เขียนบันทึกเป็นคัมภีร์ใบลานที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดหรือแปลเป็นภาษาไทยกลาง
ตำนานข้างต้นเหล่านี้ เป็นตำนานที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์และความรุ่งเรื่องของศาสนา พระสงฆ์และเมืองเชียงใหม่ในอดีต โดยตำนานเหล่านี้เขียนถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังการเข้ามาของพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกา ซึ่งถือว่าเป็นตำนานในระดับรัฐและศาสนา (อานันท์ กาญจนพันธ์ 2560: 35-37)
แต่สำหรับวิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยวนในชุมชนแล้ว ในอดีตจะนิยมเล่านิทานต่าง ๆ หลายประเภท เช่น 1.นิทานมุขตลก เช่น นิทานขมุกับรถถีบ ขมุเจ้าเล่ห์ นิทานคนขี้เห่อ ฯลฯ 2.นิทานผี จะมีเช่น นิทานผีกองหลัว ผีตามอย นิทานผีปกกะโหล้งจำแลง นิทานผีพราย นิทานเสื้อเย็น 3.นิทานมหัศจรรย์ เช่น นิทานฆ่ายักษ์ นิทานช้างเจ็ดหัวเจ็ดหาง นิทานพรานป่า 4.นิทานศาสนา เช่น นิทานเมืองเงี้ยว ประวัติกินสลาก นิทานอานิสงส์ของการทำบุญ ฯลฯ นิทานรวมทั้งคำสอนที่มีอยู่เหล่านี้จะถูกส่งต่อให้กับลูกหลาน โดยเฉพาะพ่ออุ้ยแม่อุ้ย ” โดยนิทานเหล่านี้จะเรียกว่า “เล่าเจี้ย” ซึ่งเป็นนิทานสั้น ๆ ที่ใช้เล่าให้เด็กฟัง นิทานที่ได้รับความนิยมชื่นชอบในหมู่คนไทยวน จะเป็นนิทานแนวตลกขบขัน เช่น คันธะปาค่ำตุ๊และปู่เส็ดค่ำลัวะ หรือจะรับคำสอนเรื่องราวจากการฟังเทศนาธรรมชาดกจากวัดในชุมชน มาเล่าต่อให้ลูกหลานที่บ้าน โดยเรียกการถ่ายทอดคำสอนเหล่านี้ว่า “ธรรมค่าว” เหล่านี้จะพบว่ามีนิทานเชิงคำสอนที่เป็นตำราและสำนวนมากมายที่พบ เช่น ค่าวหงส์หิน เจ้าสุวัตนางบัวคำ มหาวงศ์แตงอ่อน หมาขนดำ สุวรรณหอยสังข์ จำปาสี่ต้น ปูร้อยเอ็ด เปราบ่าวน้อย ค่าวพระยาพรหม คำจ่ม คำสอนหรือวรรณกรรมเหล่านี้ ปัจจุบันได้เป็นวรรณคดีล้านนาไทยที่สำคัญ (สงวน โชติสุขรัตน์ 2561:181) ยังมีวรรณกรรมที่หลากหลาย มุขปาฐะและกลอน เรื่องแต่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่งทอดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ เช่น “จ๊อย” เป็นการเล่นคำพูดเชิงทำนอง มีเนื้อหาสาระ สื่อสารไปยังผู้ฟังเพื่อความบันเทิง จะเห็นได้ว่า ทั้งค่าวและจ๊อย สมัยก่อนมักนิยมแสดงในชุมชนเนื่องในงานสำคัญ ๆ เช่น งานบวชนาค งานทอดกฐิน งานวัด หรือช่วงการลงแขกเกี่ยวข้าว แต่นิทานที่ได้รับความนิยมชื่นชอบในหมู่คนไทยวน จะเป็นนิทานแนวตลกขบขัน เช่น คันธะปาค่ำตุ๊และปู่เส็ดค่ำลัวะ (เรณู เหมือนจันทร์เชย 2548: 12)
ในสังคมชาวไทยวนปัจจุบันถูกล้อมรอบภายใต้สังคมที่เรียกว่า “สังคมสมัยใหม่หรือยุคบริโภคนิยม” ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงในสังคมระดับต่าง ๆ ตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิต เกิดชนชั้นแบบใหม่ รสนิยมค่านิยมหรือการโยกย้ายเข้าเมือง แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กสุดที่สามารถสะท้อนถึงความเปลี่ยนของโครงร้างสังคมชาวไทยวนกลับไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก ในที่นี้จะกล่าวและวิเคราะห์เรื่องการมีบ้านใหม่ในเมือง คือ “บ้าน” ปัจจุบันนี้สามารถซื้อขายเป็นตัวสินค้าตามความต้องการได้ โดยบ้านใหม่เหล่านี้แตกต่างตั้งแต่รูปทรงที่มีลักษณะตึกแถวหรือทรงยุโรป การวางตำแหน่งพื้นที่และไม่มีเค้าของบ้านในวัฒนธรรมความเชื่อแบบไทยวนล้านนา ทำให้ความหมาย “บ้าน” ที่ประกอบด้วยความเชื่อ กฎข้อห้ามและข้อปฏิบัติในจารีต รวมทั้งระบบความสัมพันธ์ในบ้านและเครือญาติแบบชาวไทยวนในอดีตเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่เหล่านี้ถูกแยกและตัดจากความหมายบ้านในวัฒนธรรมเดิม เช่น ไม่มีเรื่องขึด ไม่มีกฎข้อปฏิบัติในแบบจารีต ไม่มีการจัดตำแหน่งตามความเชื่ออีกต่อไป นอกจากนี้การย้ายสู่สังคมเมือง ที่มุ่งเน้นการผลิตหรือหารายได้แบบใหม่เพื่อใช้จ่ายไปกับค่านิยม และการบริโภคสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดสภาพครอบครัวเดียวมากขึ้น สร้างระยะห่างระหว่างพ่อแม่ ตายายอาศัยอยู่ที่บ้านในชุมชน การพบปะเหลือเพียงในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น ช่วงสงกรานต์ ปีใหม่เมือง เข้าพรรษา หรือญาติเสียชีวิต งานแต่งงาน ทั้งนี้ความสัมพันธ์ในระบบสมาชิกตระกูลบรรพบุรุษได้ห่างหายไป คนในเมืองกลับสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างกลุ่มคนในเมือง เช่นมีการสร้างกิจกรรมทางสังคม สถานที่ออกกำลังกาย สมาคม ร้านกาแฟ งานเลี้ยงสังสรรค์ตามร้านและสถานบันเทิง ถือว่าเป็นกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในเมือง (สุทธินี บิณฑวิหค 2552)
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นมาจากการพัฒนาในระดับมหภาคของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างเร็วรวดตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2530 ที่นำสังคมเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมและทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกัน เกิดกระแสของคนท้องถิ่นที่ยังคงต้องการรักษาสภาพความเป็นคนเมืองและวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ พบว่ามีการพยายามกลับมาสิ่งที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมและประดิษฐ์สร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อรับใช้หรือเป็นเครื่องมือในการชะลอความรวดเร็วของความทันสมัย จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มคนที่หันให้ความสนในเรื่องของศาสนาพื้นที่และ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น กรณีการเข้าหาพิธีเข้าทรงผีเจ้านาย ซึ่งเป็นการให้ความสนใจเรื่องไสยศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้มีความหมายต่อผู้คนชาวไท ยวนหรือชาวล้านนา ดังที่มอริสหรือ ชิกาฮารุ (2553) ชี้ว่า เป็นการดิ้นรนต่อสู้ของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมเมือง เป็นการตอบโต้ทิศทางการพัฒนาความเป็นเมืองที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของชาวบ้าน เช่นเดียวกัน ความเป็นเมืองนั้น ได้สร้างให้คนในพื้นที่มีความเป็นปัจเจกชน และทำลายคุณค่าของโครงสร้างเครือญาติสังคมแบบเดิม
ฉะนั้น การเกิดหรือการรื้อฟื้นพิธีกรรมบางอย่าง เช่น ทานาเบ้ (2553) ศึกษาเรื่องพิธีบูชาเสาอินทขีลแห่งเชียงใหม่ ที่เป็นเสมือนเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันถูกครอบครองโดยรัฐและเทศบาลเป็นผู้จัดทำพิธีกรรมแทนคนท้องถิ่น โดยในพิธีกรรมดังกล่าวจะมีพิธีบางส่วนถูกห้ามและตัดออกไป เนื่องจากพิธีกรรมบางอย่างเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ในอดีต แต่การโต้ตอบของคนเมือง ก็คือ การย้ายพิธีกรรมที่ถูกห้ามไปทำต่างสถานที่ใหม่ คือ จัดที่บริเวณหอผีประจำแจ่งศรีภูมิ และมีเจ้าทรงมาร่วมทำพิธีบูชาบวงสรวงฟ้อนรำถวายผีอารักษ์ที่หอผีถึง 7 วัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ การแสดงออกถึงความต้องการหลุดออกจากการครอบงำหรือการทำพิธีจากรัฐที่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากคนเมือง และช่วงชิงเอาพิธีกรรมเหล่านี้กลับมาอยู่ภายใต้การบวงสรวงที่เป็นพิธีแบบเดิมที่มีการประดิษฐ์เพิ่มเติมจากอดีต และกลายเป็นการสร้างสำนึกในท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับระบบเครือญาติและเค้าตระกูล เช่น การทำพิธีสืบชะตาเมือง
การพยายามช่วงชิงทางวัฒนธรรมของคนเมือง นั้นเกิดขึ้นภายใต้สภาวะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการนำวัฒนธรรมในล้านนามาปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว ประเพณีต่าง ๆ ของล้านนาจึงถูกลดทอนคุณค่าและความหมายจากเดิมเป็นเพียงเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวหรือบริโภค เช่น กรณี ประเพณีสงกรานต์ถูกขยายกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยข้ออ้างเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรม
หรือแม้แต่กรณีการใช้ความกลัวและอำนาจเรื่องพื้นที่สิงสถิตของอำนาจผีอารักษ์ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อการสกัดแผนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่หรือเปลี่ยนสภาพให้เป็นตึกอาคารพาณิชย์สูง ๆ การใช้วาทกรรมเหล่านี้จึงเป็นการรื้อฟื้นอำนาจเดิมและนำเรื่องราวยุคทองในอดีตมาต่อรองกับแผนการพัฒนาเมือง ทำให้การสร้างเมืองเชียงใหม่และการวางผังเมืองใหม่ถูกชะลอและกลับกลายเป็นเรื่องของการรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีตของชาวเชียงใหม่ขึ้นมา ฉะนั้นปัจจุบันในเวียงเชียงใหม่จึงไม่มีการสร้างตึกสูงและไม่มีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองในเวียงเชียงใหม่เกิดขึ้น ฉะนั้นถึงแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเข้ามาอย่างรวดเร็ว แต่คนท้องถิ่นพยายามชะลอ ด้วยการกลับไปหาคุณค่าในอดีต เพื่อรักษาจารีต คุณค่าของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไท ยวนและวัฒนธรรมล้านนาเอาไว้ (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2560: 184)
การรวมกลุ่มของคนไทยวนหรือคนเมืองเชียงใหม่ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2489 จัดตั้งเป็นสมาคมชาวเหนือ ในกรุงเทพมหานครโดยกลุ่มนักศึกษาที่มีฐานะ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสมาคม คือ ไกรศรี นิมมานเหมินท์ โดยให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรม และใช้คำว่า “คนเมืองคนดี” เพื่อปลุกสำนึกท้องถิ่นนิยมผ่านหนังสือพิมพ์รายวัน กระแสท้องถิ่นจึงค่อย ๆ เกิดขึ้นผ่านความรู้สึกหวนกลับให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ล้านนา เช่น เสื้อผ้าหม้อห้อม การเลี้ยงขันโตก
ต่อมา ในช่วงของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงจอมพลสฤษดิ์และการเดินสายพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพื้นที่ภาคเหนือ รัฐได้เข้าวางแผนการพัฒนาและสร้างสาธารณูปโภคเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่เชียงใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้ในช่วงปี 2507 มีการรื้อกำแพงเมืองและทำลายโบราณสถาน ทำให้สังคมไทยวนในเมืองตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จึงเกิดแนวคิดการอนุรักษ์ขึ้นมาเพื่อค้านกับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ จึงเกิดกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่น ที่หันมาเขียนงานประวัติศาสตร์บ้านเมือง นักวิชาการกลุ่มนี้ เช่น สงวน โขติสุขรัตน์, ศักดิ์ รัตนชัย, ปราณี ศิริธร พัทลุง ฯลฯ
ช่วงทศวรรษที่ 2520 จรัลมโนเพ็ชร เป็นศิลปินชาวเชียงใหม่ที่มีแนวคิดฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาผ่านเสียงเพลง จนสามารถปลุกสำนึกชาวไทยวนหรือคนเมือง การถ่ายทอดของจรัลได้นำเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนา การแต่งกายแบบล้านนา ของกิ๋นคนเมือง เสียงเพลงคำเมือง และประกาศใช้ภาษาเมือง และประดิษฐ์ของเครื่องใช้และเครื่องประดับต่าง ๆ ของคนเมือง กระบวนการเหล่านี้ทำให้คนเมืองหันเข้าหาและล้อมรอบจรัล เกิดเป็นกลุ่มวงเพลงพื้นบ้านและผลิตสร้างเพลงภาษาคำเมือง
ต่อมาในช่วง 2535 เกิดการรวมตัวเป็นสมาคมเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านการขยายทางหลวงผ่านหน้าวัดเจ็ดยอด ซึ่งการขยายถนนดังกล่าวจะกินพื้นที่ทำลายโบราณสถานสมัยพระเจ้าติโลกราช หรือการรวมกลุ่มระหว่างคนเมืองกับชาวเขา (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ 2555:180-212)ในกรณีปัญหาความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร ระหว่างคนต้นน้ำคือ ชาวเขา กับคนปลายน้ำ คือ คนเมือง ปัญหาเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันเกี่ยวกับทรัพยากร จนก่อตั้งเป็นกลุ่ม “เครือข่ายเกษตรภาคเหนือ”หรือ “สมัชชาป่าชุมชน”
นอกจากนี้ชยันต์ วรรธนะภูติ (2549) ได้ชี้ว่าการรุกคืบของอำนาจส่วนกลางที่เข้ามาจัดการต่อพื้นที่เชียงใหม่ จนคนในพื้นที่ถูกมองข้าม ละเลยไม่มีอำนาจในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระแสการรวมกลุ่มเพื่อทวงอำนาจในการตัดสินใจและไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาที่ออกแบบโดยส่วนกลาง กรณีนี้จึงเกิด “ชมรมเพื่อเชียงใหม่” เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว หรือในช่วงที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนมีปัญหาสิ่งแวดล้อม คนในจังหวัดลำพูนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันตั้ง “กลุ่มเสวนาลำพูน” เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยและหาทางแก้ไขปัญหาและเรียกร้องต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น
การรวมกลุ่มของคนไทยวน/คนเมือง ได้ตอกย้ำกระแสการเมืองระดับชาติในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนเชียงใหม่ ทำให้ความเป็นคนเมืองถูกสร้างให้เกิดความแตกต่างไปจากคนกลุ่มอื่น และแสดงอัตลักษณ์คนเมือง และจัดรวมตัวตนในตำแหน่งแห่งที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเรียกใช้ คำว่า “หมู่เฮาคนเมือง”
แต่ปัจจุบันการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนของคนเมือง จะมีความแตกต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและบริบททางการเมืองสังคมเปลี่ยนแปลงไป คือ คนรุ่นก่อนสร้างกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อต่อรอง คัดค้านกับสภาพปัญหาความสัมพันธ์กับรัฐและคนในท้องถิ่น จึงนำความเป็นวัฒนธรรมล้านนาและสร้างตัวตนคนเมืองขึ้นมา แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ได้รับเอาความเป็นไทยและมีความทันสมัยมากกว่าที่จะเป็นคนเมือง นอกจากนี้สังคมคนไทยวนหรือคนเมือง สามารถแยกออกเป็นคนรวยชั้นกลางในเมืองกับชาวไทยวนในชนบทที่ทำไร่ทำนา จะมีความแตกต่างตรงที่คนในสังคมเมือง จะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์วัฒนธรรมของคนเมืองหรือล้านนาที่ผลิตสร้างผ่านงานวิชาการ การสร้างสินค้าล้านนาเพื่อขยายต่อการรับรู้ให้กว้างขวาง หรือการใช้เพลงท้องถิ่นลูกทุ่งคำเมือง และภาพถ่ายศิลปะในอดีต แต่สำหรับคนเมืองในชนบทชาวไร่ชาวนา ต้องเผชิญกับปัญหาเข้าถึงทรัพยากร นโยบายการพัฒนาและประเด็นการกีดกัน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้คนเมืองในชนบทต้องรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายต่าง ๆ เช่น สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาภาคเหนือ เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายป่าชุมชน เพื่อต่อรองกับรัฐหรือเพื่อสร้างอำนาจในการเข้ามีส่วนรวมในกากำหนดนโยบายการพัฒนา นอกจากปัญหาจากการพัฒนาและเศรษฐกิจนำไปสู่การรวมกลุ่มเชิงองค์กรแล้ว ชาวไทยวน/คนเมือง ยังรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ โดยการเข้ารวมกลุ่มในพื้นที่ทางศาสนาความเชื่อ เช่น เกิดลัทธิพิธีกรรม ผีเจ้านาย เพื่อปรับพิธีเหล่านี้มาสร้างฐานให้คนเมืองมีที่ยืนในพื้นที่ของอำนาจ (อานันท์ ฉลาดชาย 2530 ไพโรจน์ 2542 Morris 2000 อ้างในชยันต์ วรรธนะภูติ 2549:58-61)
Access Point |
---|
No results found. |