กลุ่มชาติพันธุ์ : อิ้วเมี่ยน

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : อิ้วเมี่ยน
  • ชื่อเรียกตนเอง : เมี่ยน, อิ้วเมี่ยน
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เย้า, เมี่ยน
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลภาษาจีน- ธิเบต กลุ่มภาษาแม้ว – เย้า
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

              ชื่อเรียกตนเอง

              เมี่ยน (Mien) นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมี่ยนชี้ให้เห็นว่า คำนี้เป็นคำเรียกชื่อของคนเมี่ยนจำนวน 5 กลุ่ม คือ “อิ้วเมี่ยน” (Iu Mien) กิมเมี่ยน (Kim Mien) เกียมเมี่ยน (Keim Mien) กัมเมี่ยน (Kam Mien) เก็มเมี่ยน (Kem Mien) ใช้เรียกตนเองแบบกลาง ๆ โดยไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่างภายในกลุ่มของพวกเขา ขณะเดียวกัน ก็เป็นการบ่งบอกความแตกต่างของตนเองว่าพวกเขานั้นแตกต่างจากคนอีก 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กิมมุน (Kim Mun) บัว มิน (Byau Min) และ ยัวมิน (Yau Min) (Pourret 2002: 1) โดยคำว่า “เมี่ยน” ในภาษาเมี่ยนแล้วแปลว่า “มนุษย์หรือคน” (องไหน เตรียมพนา ตั่งจั่นย่าน, มปป.: 75)  

              อิ้วเมี่ยน (Iu-Mien) เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เมี่ยน” โดย พูเรต์ พบว่า กลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนั้นเป็นกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “อิ้วเมี่ยน” และมีภาษาคล้ายคลึงกับกลุ่มกิมมุนมากที่สุด (Pourret, 2002: 1) สอดคล้องกับที่ผู้เขียนเห็นว่าคนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทยเริ่มมีการนิยามตัวตนของพวกเขาอย่างชัดเจนว่าพวกเขาคืออิ้วเมี่ยนตามสื่อต่าง ๆ ของพวกเขา โดยคำว่า “อิ้วเมี่ยน” ตามที่ องไหน เตรียมพนา ตั่งจั่นย่าน (มปป.: 75) ซึ่งเป็นคนอิ้วเมี่ยน ได้ให้ความหมายของคำนี้ว่าหมายถึง “ชนชาติมนุษย์” หรือ “คน” โดยคำว่า “อิ้ว” ในภาษาอิ้วเมี่ยนนั้นแปลว่า “ชนชาติ” ส่วนคำว่า “เมี่ยน” แปลว่า “มนุษย์หรือคน” ฉะนั้นเมื่อรวมสองคำนี้แล้วจึงหมายถึง “ชนชาติมนุษย์หรือคน”

              อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชื่อ “อิ้วเมี่ยน” ดังกล่าวนั้นเป็นชื่อที่พวกเขาใช้เรียกและรับรู้กันเฉพาะภายในกลุ่มวัฒนธรรมเมี่ยน/เย้าเป็นหลัก ทำให้คนนอกวัฒนธรรมอย่างเราที่ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในพวกเขา เวลาเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา เราจึงได้ยินเขานิยามตนเองจากฐานความเข้าใจทั่วไปของคนข้างนอกที่เรียกและรู้จักอยู่แล้วคือ “เย้า” เพื่อให้เราและเขาสามารถจัดความสัมพันธ์หลวม ๆ ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งในมุมของคน อิ้วเมี่ยนแล้ว คำดังกล่าวยังไม่สื่อถึงตัวตนที่แท้จริงที่เขาเป็นอยู่เสียทีเดียว

              ในยุคที่คนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการเขียนบันทึกเรื่องราวของตนเองและไม่มีสื่อต่าง ๆ ในการสื่อสารกับสาธารณชนอย่างในปัจจุบัน พวกเขาได้รับการเขียน บันทึก และทรงจำด้วยชื่อ “เย้า” เป็นหลัก ดังปรากฏในงานเขียนก่อนทศวรรษ 2540 เขียนโดยกลุ่มคนนอกที่ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองอย่างบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506; 2551) โดยการเรียกคนอิ้วเมี่ยนว่า “เผ่าเย้า” งานเขียนของข้าราชการฝ่ายวิชาการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสถาบันวิจัยชาวเขาที่มีการเติมอัตลักษณ์ของความเป็นอื่นให้กับพวกเขาด้วยการใช้คำว่า “ชาวเขาเผ่าเย้า” (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, 2518; มงคล จันทร์บำรุง, 2529; จันบูรณ์ สุทธิ และคณะ, 2539) ก็ล้วนแล้วแต่ใช้คำดังกล่าวให้หมายถึงคนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา เราก็จะเห็นงานเขียนทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ที่ใช้คำว่า “เมี่ยน” และ “อิ้วเมี่ยน” อย่างประปรายด้วย เช่น งานของ วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์ (2545) ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในครอบครัว เครือญาติ และผู้หญิงอิ้วเมี่ยน ประสิทธิ์ ลีปรีชาและคณะ (2547) ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์การเข้ามาทำงานในเมืองของคนเมี่ยน และตามมาด้วยงานเขียนต่างประเทศของ Jonsson (2002) ที่ก็ใช้คำว่า “Mien” ในงานศึกษาของเขาที่เกี่ยวกับคนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย และยิ่งในกระแสปัจจุบันที่โลกาภิวัตน์ได้ทำให้ความเป็นท้องถิ่นหรือชาติพันธุ์นั้นมีความโดดเด่นขึ้นมา ประกอบกับสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้านั้น ก็ยิ่งส่งผลให้เราเริ่มได้ยินเสียงจากคนในมากยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ที่คนอิ้วเมี่ยนนิยามตนเองต่อสาธารณชนว่า “อิ้วเมี่ยน” นั้นจึงเป็นเรื่องใหม่ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ดังเห็นได้จากตั้งชื่อเครือข่ายและองค์กรกุศลของพวกเขา “เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน” “มูลนิธิพัฒนาอิ้วเมี่ยน” และการนำเสนอตัวตนบนโลกออนไลน์ด้วยชื่อเพจต่าง ๆ ที่มีคำว่า “อิ้วเมี่ยน” ปรากฏอยู่ รวมตัวกันจัดการประชุมเสวนาวิชาการระดับชาติในหัวข้อ “อิ้วเมี่ยนศึกษา” ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีสถาบันวิชาการต่างประเทศเคยจัดงานประชุมเสวนาในปี 1986 หัวข้อ “Yao Studies” (เย้าศึกษา) 3  (Lemoine and Chien, 1991: 3-4) นอกจากนั้นแล้วในประชุมที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ยังก็มีการจัด “งานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนโลก” ที่แสดงถึงอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และการละเล่นของคนอิ้วเมี่ยน  ความพยายามดังกล่าวข้างต้น จึงอาจมองได้ว่าเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากกลุ่มเมี่ยนหรือเย้ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีนัยยะที่ต้องการสื่อสารให้ลูกหลานอิ้วเมี่ยนสมัยใหม่ที่ถูกวัฒนธรรมกระแสหลักกลืนกลาย รวมถึงต้องการให้สังคมภายนอกนั้น เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ที่มีต่อพวกเขาจาก “เย้า” และ “เมี่ยน” ไปสู่ “อิ้วเมี่ยน” ซึ่งที่ผ่านมา เราก็เห็นการเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนด้วย เริ่มต้นจากองค์กรภาคประชาชนอย่างสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทยที่เดิมทีเคยใช้คำว่า “ชนเผ่าเมี่ยน” แต่ปัจจุบันก็หันไปใช้คำว่า “ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน” แทน (สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย, 2559) รวมถึงสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวและสารคดีก็เริ่มใช้ชื่อ “อิ้วเมี่ยน” (ไทยพีบีเอส., 2560) 

              กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนก็สังเกตเห็นว่า พวกเขาก็ไม่สามารถปฏิเสธคำว่า “เย้า” เสียทีเดียว เพราะคำดังกล่าวนั้นแฝงฝังไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับบันทึกไว้ในเอกสารสำคัญของจีน โดยเฉพาะเอกสารที่มีชื่อว่า “ พระราชโองการกษัตริย์ผิง” หรือ “เกียเซ็นป๊อง” ในภาษาเมี่ยน และภาษาจีนคือ “กั้วซานป่าง” ที่ระบุถึงประวัติศาสตร์เย้าในบางแง่มุมอย่างชัดเจน รายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ชาวเย้าพึงได้รับในฐานะที่เป็นชนชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร (พูเรต์, 2545: 9-11; Yu, 1991) ซึ่งแสดงถึงตัวตนที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองจีนในอดีต เราจึงมักจะเห็นพวกเขาพยายามใส่คำว่า “เย้า” ในวงเล็บต่อจาก “อิ้วเมี่ยน” ด้วย เพื่อให้มีตัวตนทางประวัติศาสตร์ ดังเอกสารที่เรียบเรียงขึ้นมาของ ตั่งจันย่าน (มปป.) ที่มักจะใช้คำว่า “Yao” กำกับหลังคำว่า “อิ้วเมี่ยน” ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวอิ้วเมี่ยนนั้นมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยและยาวนานของเย้าที่ถูกบันทึกและรับรู้ในวงกว้างตามเอกสารสำคัญของจีนด้วย รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงสำนึกร่วมของพวกเขาที่มีร่วมกับเย้ากลุ่มอื่น ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่ของพวกเขานั้นยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในจีนอัน เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของบรรพบุรุษของชาวอิ้วเมี่ยน ขณะเดียวกัน การวงเล็บดังกล่าว ก็ช่วยลดความงุนงงให้กับผู้คนที่อยู่นอกวัฒนธรรมไม่น้อย 

              ชื่อที่คนอื่นเรียก

              เย้า (Yao) เป็นชื่อที่คนจีนมักจะใช้เรียกเหมารวมกลุ่มประชากรทั้งหมดที่มีระบบภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันซึ่งประกอบไปด้วย 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เมี่ยน (Mien) กิมมุน (Kim Mun) บัว มิน (Byau Min) และ ยัวมิน (Yau Min) โดยที่ภายใน 4 กลุ่มใหญ่นี้ ก็สามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็นหลายกลุ่มอีก เฉพาะในกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “เมี่ยน” ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าก็สามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็น 5  กลุ่มย่อยอีก (อิ้วเมี่ยน, กิมเมี่ยน, เกียมเมี่ยน, กัมเมี่ยน, เก็มเมี่ยน) โดย Pourret (2002: 1) พบว่า กลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนั้นเป็นกลุ่ม “อิ้วเมี่ยน” และมีภาษาคล้ายคลึงกับกลุ่มกิมมุนมากที่สุดในบรรดาสามกลุ่มดังกล่าวประมาณ 60-70 อย่างน้อย (พูเรต์, 2545: 5-6; Pourret, 2002: 11; Chengqian, 1991: 47-48) ทั้งนี้ ในบริบทของประเทศจีนนับตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา ชื่อ “เย้า” กลายเป็นชื่อทางการที่รัฐบาลจีนรับรองว่าเป็นชนชาติหนึ่ง (Yao nationality) เขียนเป็นภาษาจีนคือ “瑶” (Wanjiao, 2020) โดยประกอบไปด้วยกลุ่มย่อย ๆ จำนวนมากกว่าอีก 30 กลุ่มย่อย (minzu zhixi) และยิ่งก่อนหน้านั้น คนจีนมีคำนิยามคนเย้ามากกว่า 300 คำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำมีความหมายเชิงลบ เช่น “nan man” แปลว่า “คนเถื่อนทางภาคใต้” (southern barbarians) และอีกส่วนหนึ่งเป็นคำที่เน้นถึงตัวตนที่สัมพันธ์กับพื้นที่สูง เช่น “เย้าภูเขาชา” (Tea-mountain Yao) หรือ “เย้าข้ามภูเขา” (Yao who cross mountains) และยังมีส่วนหนึ่งที่เน้นอัตลักษณ์ของการแต่งกายที่โดดเด่น เช่น “เย้ากางเกงแดง” (Red trouser Yao) เป็นต้น การจัดแบ่งดังกล่าว แม้จะมีเกณฑ์ในการแบ่งคือวัฒนธรรมและภาษาเป็นหลัก แต่บางครั้งพวกเขามีประวัติศาสตร์หรือที่มาของตนเองแตกต่างกัน (Litzinger, 2000: x, 9, 99) ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ “อิ้วเมี่ยน” ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เมี่ยน” และ “เมี่ยน” เองก็นั้นก็เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เย้า” ดังนั้น ถ้าหากจะกล่าวว่า “อิ้วเมี่ยน” หมายถึง “เมี่ยน” หรือ “เย้า” ก็อาจไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะทั้งสองชื่อดังกล่าวยังหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับอิ้วเมี่ยนด้วย จึงไม่แปลกที่กลุ่มอิ้วเมี่ยนในประเทศไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน มีความพยายามในการนำเสนอตัวตนของพวกเขาให้สังคมทรงจำพวกเขาในนาม “อิ้วเมี่ยน มากกว่า “เมี่ยน” หรือ “เย้า” เพื่อสื่อถึงตัวตนทางชาติพันธุ์ที่เป็นพวกเขามากที่สุด กระนั้นก็ตาม บางครั้งชาวอิ้วเมี่ยนก็มักนิยามตนเองกับคนนอกวัฒนธรรมแบบหลวม ๆ ว่า “เมี่ยน” ด้วยเช่นกัน 

              สำหรับการเรียกชื่อชาวอิ้วเมี่ยนที่อยู่ในประเทศไทยนั้น คนไทยเรียกชาวอิ้วเมี่ยนว่า “เย้า” ในสำเนียงภาษากลาง “ย้าว” ในสำเนียงภาษาถิ่นภาคใต้ และ “ญ้าว” ในสำเนียงภาษาถิ่นภาคเหนือ (ญ = เสียง ย ขึ้นจมูก) คำเรียก “เย้า” ดังกล่าวน่าจะเรียกเลียนจากคำว่า “ย้าว” ของชาวไตลื้อและลาว ซึ่งเรียกชนเผ่าอิ้วเมี่ยนที่อพยพผ่านสิบสองปันนาและประเทศลาว ก่อนอพยพมาประเทศไทย โดยคำนี้อาจจะมาจากคำว่า “หยาว” ในภาษาจีน (สถาบันวิจัยชาวเขา, 2539, หน้า 9)

              เมี้ยน เป็นคำที่นักวิชาการไทยใช้ (ชนัญ วงษ์วิภาค, 2530) เข้าใจว่าเป็นการสะกดที่เพี้ยนมาจากการออกเสียงว่า “เมี่ยน” ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป

              ชาวจีนในยุคแรกเรียกชนเผ่าอิ้วเมี่ยนว่า เผ่า “เปี้ยน ฮู่ง” (P’an Hu chung) ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจาก“เปี้ยนฮู่ง”หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “พ่านฮูจู๋” โดยนักประวัติศาสตร์ชาวจีนที่ชื่อ Fan Yeh ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่ 5 เป็นผู้แรกที่กำหนดชื่อเรียกนี้ในจดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่น (Chronicles of the Later Han Dynasty) โดยระบุถึงชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณทางตอนใต้ของภาคกลางของประเทศจีนในปัจจุบันว่า เป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากเปี้ยนฮู่ง ผู้ที่อาสาไปช่วยสังหารศัตรูของจักรพรรดิผิงหวาง จนได้แต่งงานกับธิดาของจักรพรรดิ จักรพรรดิผิงหวางจึงมีพระบรมราชโองการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวอิ้วเมี่ยนในการละเว้นการถูกเรียกเก็บส่วยภาษี เกณฑ์แรงงานและเกณฑ์ทหาร รวมถึงให้อิสระและสิทธิแก่ชาวอิ้วเมี่ยนในการเคลื่อนย้ายเพื่อเลือกหาที่ทำกินบนภูเขาทั่วราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามจดหมายเหตุของ Fan Yeh ยังได้เรียกชื่อชนเผ่า“เปี้ยน ฮู่ง”เหมารวมอยู่ในกลุ่มชนเผ่าอื่น ๆ ทางจีนตอนใต้ว่า “Man Yi” ซึ่งหมายถึงชนป่าเถื่อน อันสะท้อนถึงทัศนคติของชาวฮั่นในสมัยนั้นว่าชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวฮั่นเป็นพวกป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม (Jacues Lemoine,1983, pp.194-211 อ้างถึงใน พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550,หน้า 12, 14) 

              ในยุคกลาง ทุกราชวงศ์มักจะเรียกชื่อชาวอิ้วเมี่ยนแตกต่างกันตามแหล่งที่ตั้งของชุมชน โดยผนวกเอาเหตุการณ์หรือภูมิประเทศที่ชาวอิ้วเมี่ยนอาศัยอยู่เป็นที่มาของชื่อประจำของกลุ่ม เช่น ในสมัยจักรพรรดิ Ching Ting (ค.ศ.1260) ของราชวงศ์ซ่งใต้ ได้เรียกชื่อใหม่ว่า “Shan tse” หมายถึงบุตรแห่งภูเขา อันแสดงถึงการที่ชนเผ่าอิ้วเมี่ยนไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของทางการจีนมากนัก แต่ปลีกตัวอยู่อาศัยอย่างเป็นอิสระบนภูเขาสูงที่ห่างไกลจากสังคมเมือง ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังมีการใช้คำว่า “มอเย้า” (Mo Yao) ในเอกสารของทางการครั้งแรก อันหมายถึง “ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน” อันแสดงถึงความเป็นชนเผ่าที่มีสิทธิพิเศษกว่าชนเผ่าอื่น (พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550, หน้า 13-14 ) จนกระทั่งในยุคก่อนสมัยใหม่ ชาวจีนเรียกชาวอิ้วเมี่ยนว่า “เย้า” (Yao) ซึ่งตามอักษรจีนหมายถึง “เกณฑ์แรงงาน” โดยคำนี้ปรากฏครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ โดยการเป็นการตัดแต่งตัวหนังสือที่ใช้ในศตวรรษที่ 7 สมัยราชวงศ์ถังที่ใช้คำว่า “มอเย้า” ที่มีความหมายว่า ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ให้เหลือเพียง “เย้า” ที่หมายถึง ถูกเกณฑ์แรงงาน ส่วยแรงงาน ชาวเมืองประเทศราช และตัวอักษรที่ใช้เขียนก็มีความหมายว่า ป่าเถื่อน แต่ภาษาพูดของชาวอิ้วเมี่ยนไม่เคยปรากฏคำดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตาม การใช้คำเรียกว่า เย้า เป็นคำที่ใช้ในภาษาจีนอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 (จิตร ภูมิศักดิ์, 2540; พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550, หน้า 15 )

              ช่วงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบจักรพรรดิจีนเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนสำเร็จแล้ว จึงได้มีการศึกษาและสำรวจทำประวัติเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในประเทศจีนมากขึ้นโดยชาวอิ้วเมี่ยนสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นได้แสดงบทบาททางวิชาการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงคำเรียกชาวอิ้วเมี่ยนใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงตัวอักษรที่ใช้เขียนคำว่า Yao ใหม่ทำให้มีความหมายใหม่ว่า “หยก” หรือหินมีค่า อันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงความหมายของชนเผ่าอิ้วเมี่ยนจาก “ชนเผ่าที่ป่าเถื่อน” เป็น “ลูกหลานของกษัตริย์” ชาวอิ้วเมี่ยนออกเสียงคำนี้ว่า Yiu ซึ่งเป็นคำใหม่ที่นิยมใช้มากกว่าตัวอักษรอื่น ๆ ในอดีต ปัจจุบันจึงเรียกชื่อว่า อิ้วเมี่ยน โดยตัวอักษรภาษาจีนที่ใช้เขียนคำนี้ คือ 瑶族 (ออกเสียงว่า “เหยา จู๋” / Yao Zu) ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Iu-Mien (พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550, หน้า 15 - 16)

              ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์ 

              เย้า เป็นชื่อเรียกที่ปรากฏในเอกสารทางราชการในยุคแรก ๆ ก่อนที่จะปรากฏชื่อเมี่ยน หรืออิ้วเมี่ยนตามมาในช่วงหลัง อย่างไรห็ตาม ชื่อเรียก เย้า ไม่เป็นที่พึงใจของชาวเมี่ยนมากนัก เนื่องจากกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มเย้า และไม่สามารถหมายรวมว่าอิ้วเมี่ยนคือเย้าได้ เนื่องจากเป็นคนละกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงแม้จะเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันก็ตาม อีกประการหนึ่ง คำว่าเย้า ในสมัยราชวงศ์ถังหมายถึง ถูกเกณฑ์แรงงาน ส่วยแรงงาน ชาวเมืองประเทศราช และตัวอักษรที่ใช้เขียนก็มีความหมายว่า ป่าเถื่อน แต่ภาษาพูดของชาวอิ้วเมี่ยนไม่เคยปรากฏคำดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตาม การใช้คำเรียกว่า เย้า เป็นคำที่ใช้ในภาษาจีนอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ดังนั้น คำเรียกเย้า จึงไม่เป็นที่พึงใจต่อชาวอิ้วเมี่ยนเนื่องจากชื่อนี้ไม่ได้หมายถึงชาวอิ้วเมี่ยนนั้นเอง 

              ภาษา

              ตระกูลภาษา 

              ชาวอิ้วเมี่ยนถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่พูดภาษาแม้ว – เย้า ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาย่อยในตระกูลภาษาจีน- ธิเบต (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2547, หน้า 2)

              ภาษาพูด 

              ภาษาพูดของชาวอิ้วเมี่ยนมีทั้งหมด 4 ภาษา คือ ภาษาเมี่ยน ภาษาเหมียว (ม้ง) ภาษาจ้าง (ต้ง) และภาษาจีนแมนดาริน โดยภายใต้กลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนยังประกอบด้วยสี่กลุ่มภาษาย่อยอีก คือ เมี่ยน มัน บะเยามิน และเยามิน ซึ่งในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่รัฐบาลจีนรวมไว้ภายใต้ชนชาติเย้านั้น กลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนกับภาษามันเป็นสองกลุ่มหลักในสี่กลุ่มภาษาย่อย โดยประกอบด้วยประชากรประมาณร้อยละ 80 – 85 ของทั้งสี่กลุ่มย่อยที่พูดภาษาเมี่ยน (Pourret, 2002, p.11 อ้างถึงใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 3) โดยในประเทศไทยนั้นพบกลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนเป็นหลัก ซึ่งเรียกตนเองว่าเมี่ยนหรืออิ้วเมี่ยน ส่วนกลุ่มที่พูดภาษามันเป็นกลุ่มที่รู้จักกันในชื่อมันและแลนแตนในประเทศลาวและเวียดนาม (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 3) 

              ตัวอักษรที่ใช้เขียน 

              ชาวอิ้วเมี่ยนได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า นับตั้งแต่สมัยก่อตั้งชุมชนอิ้วเมี่ยนครั้งแรกที่ภูเขาหุ้ยจี้ซาน เมืองหูหนาน บริเวณภาคกลางของประเทศจีน บรรพบุรุษของชาวอิ้วเมี่ยนได้ประดิษฐ์อักษรเขียนเป็นของตนเอง โดยนายว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน ผู้รู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านห้วยเฟือง (สัมภาษณ์, 28 ธันวาคม, 2562) กล่าวว่า แต่เป็นเพราะไฟสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุคสมัยนั้นได้ทำลายล้างตำราและองค์ความรู้ดั้งเดิมมากมาย ประกอบกับชาวอิ้วเมี่ยนต้องสาละวนกับการอพยพหนีภัยสงครามลงมาทางใต้ จึงไม่มีโอกาสถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นหลังได้อีก อย่างไรก็ตาม การมีตัวอักษรเขียนโบราณของชาวอิ้วเมี่ยนเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาในลักษณะตำนาน โดยปราศจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับ แต่เป็นที่แน่ชัดว่า ในยุคหลังที่ชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพมาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน พวกเขาได้สร้างตัวอักษรเขียนของตนเอง โดยดัดแปลงจากตัวอักษรจีนในภาษาฮั่น เพื่อนำมาใช้เป็นภาษาเขียนใหม่ของตัวเองที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีรูปแบบการเขียนแบบ “ถู้สูจื้อ” (ตัวหนังสือสามัญของท้องถิ่น) ของชาวอิ้วเมี่ยน และรูปเขียนตัวหนังสือฮั่นในอักษรฮั่น ซึ่งเป็นตัวเดียวกัน แต่ในอักษรเมี่ยนจะเขียนคนละอย่างกัน แต่อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ก็มีจำนวนไม่มากเพียงพอที่จะใช้เขียนข้อความให้สมบูรณ์ได้ จึงต้องใช้ปนกับตัวหนังสือฮั่น สำหรับหลักการออกเสียง คือ ถ้าเป็นคำศัพท์ในภาษาเมี่ยนจะอ่านเป็นสำเนียงชาวอิ้วเมี่ยน  แต่ในบางคำศัพท์นั้น ถ้าเป็นคำศัพท์ที่ใช้ตัวหนังสือเขียนตัวเดียวกันในภาษาฮั่นจะอ่านเป็นสำเนียงภาษาย่อยชนิดหนึ่งของภาษาถิ่นกวางตุ้ง ภาษาเขียนดังกล่าวถูกใช้ในหนังสือคัมภีร์ทางศาสนา หนังสือคัดเพลง หนังสือลำดับญาติวงศ์ต่าง ๆ ของชาวอิ้วเมี่ยน (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 2)

              ชาวอิ้วเมี่ยนรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ลูกชายเรียนภาษาจีนเป็นอย่างมาก เพราะตัวอักษรเมี่ยนเป็นตัวอักษรจีนโบราณที่ใช้บันทึกตำราทางศาสนา และพิธีกรรมต่าง ๆ  ลูกชายจึงจำเป็นต้องรู้หนังสือเพื่อเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว โดยเรียนการอ่านและเขียนจากบิดา หรือครูภาษาจีนประจำหมู่บ้าน หรือคนในหมู่บ้านเปิดสอน ส่วนลูกสาวไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนภาษาจีน (วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์,2545, หน้า 82) แม้กระทั่งในบริบทของยุคสงครามเย็นที่การเรียนการสอนภาษาจีนถูกรัฐบาลไทยเพ่งเล็งว่า อาจมีส่วนสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนก็ยังให้ส่งเสริมการสอนภาษาจีนแก่ลูกหลานอย่างไม่ลดละ แม้จะประสบความยากลำบากเพียงใดก็ตาม อาทิเช่น กรณีของชุมชนอิ้วเมี่ยนที่บ้านละเบ้ายา ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ชาวบ้านได้แอบสร้างโรงเรียนสอนภาษาจีนที่มีการเรียนการสอนทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยสร้างเป็นกระต๊อบในบริเวณป่าลึกที่หลบเข้าไปในลำห้วยกลางหมู่บ้าน เพื่อทางราชการจะไม่สามารถเห็นได้ (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2547 และคณะ,หน้า 30)

              การที่ชาวอิ้วเมี่ยนใช้ตัวอักษรเขียนภาษาจีนกวางตุ้งมาดัดแปลงเป็นภาษาของตนเอง ทำให้มีการจดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรมและสืบทอดประวัติศาสตร์ของตนเองให้ลูกหลานได้ยาวนาน อีกทั้งยังกลายเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการค้าขาย เพราะว่าสามารถใช้ตัวหนังสือในการจดบันทึกรายละเอียดของลูกค้าและการคิดคำนวณในระบบบัญชี ที่มากไปกว่านั้น คือ ระบบความคิดและอุดมการณ์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและการค้าของชาวจีนกวางตุ้งยังถูกซึมซัมพร้อม ๆ กับการยืมตัวหนังสือเขียนของจีนกวางตุ้งด้วย กล่าวคือ วัฒนธรรมความเชื่อที่ได้รับจากชาวจีนกวางตุ้งและระบบจักรวาลวิทยาของอิ้วเมี่ยน ทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องขยันขันแข็งทำมาหากินเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แสวงหาความร่ำรวยเพื่อความสุขและชื่อเสียงบารมีสำหรับตนเองในโลกนี้ อีกทั้งยังเป็นการสะสมผลบุญสำหรับชีวิตภายหลังจากการตายแล้ว โดยมีเงินเป็นปัจจัยหลักในการที่จะบรรลุถึงสิ่งเหล่านี้ (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2547 และคณะ, หน้า 174-175) ความรู้ทางภาษาจีนจึงเป็นหนึ่งในทุนทางสังคมที่สำคัญที่ส่งเสริมให้ชาวอิ้วเมี่ยนสามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้เป็นอย่างดี ชาวอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพค้าขายในเมือง  ในขณะที่บางส่วนสามารถใช้ความรู้ทางภาษาจีนในการประกอบอาชีพเป็นล่ามภาษาจีน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มของครอบครัวที่เป็นลูกครึ่งจีน-อิ้วเมี่ยน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่าชาวอิ้วเมี่ยนรุ่นใหม่ในประเทศไทยที่รู้ตัวภาษาเขียนของอิ้วเมี่ยนมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้อาวุโสโดยเฉพาะหมอผีผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ยังคงสามารถอ่านภาษาเขียนนี้ได้ (นางจุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา, สัมภาษณ์ 16 มีนาคม 2562) 

  • อื่น ๆ :

              ภาษา

              ตระกูลภาษา  ชาวอิ้วเมี่ยนถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่พูดภาษาแม้ว – เย้า ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาย่อยในตระกูลภาษาจีน- ธิเบต (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2547, หน้า 2)

              ภาษาพูด  ภาษาพูดของชาวอิ้วเมี่ยนมีทั้งหมด 4 ภาษา คือ ภาษาเมี่ยน ภาษาเหมียว (ม้ง) ภาษาจ้าง (ต้ง) และภาษาจีนแมนดาริน โดยภายใต้กลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนยังประกอบด้วยสี่กลุ่มภาษาย่อยอีก คือ เมี่ยน มัน บะเยามิน และเยามิน ซึ่งในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่รัฐบาลจีนรวมไว้ภายใต้ชนชาติเย้านั้น กลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนกับภาษามันเป็นสองกลุ่มหลักในสี่กลุ่มภาษาย่อย โดยประกอบด้วยประชากรประมาณร้อยละ 80 – 85 ของทั้งสี่กลุ่มย่อยที่พูดภาษาเมี่ยน (Pourret, 2002, p.11 อ้างถึงใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 3)  โดยในประเทศไทยนั้นพบกลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนเป็นหลัก ซึ่งเรียกตนเองว่าเมี่ยนหรืออิ้วเมี่ยน  ส่วนกลุ่มที่พูดภาษามันเป็นกลุ่มที่รู้จักกันในชื่อมันและแลนแตนในประเทศลาวและเวียดนาม (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 3) 

              ตัวอักษรที่ใช้เขียน ชาวอิ้วเมี่ยนได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า นับตั้งแต่สมัยก่อตั้งชุมชนอิ้วเมี่ยนครั้งแรกที่ภูเขาหุ้ยจี้ซาน เมืองหูหนาน บริเวณภาคกลางของประเทศจีน บรรพบุรุษของชาวอิ้วเมี่ยนได้ประดิษฐ์อักษรเขียนเป็นของตนเอง โดยนายว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน ผู้รู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านห้วยเฟือง (สัมภาษณ์, 28 ธันวาคม, 2562) กล่าวว่า แต่เป็นเพราะไฟสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุคสมัยนั้นได้ทำลายล้างตำราและองค์ความรู้ดั้งเดิมมากมาย ประกอบกับชาวอิ้วเมี่ยนต้องสาละวนกับการอพยพหนีภัยสงครามลงมาทางใต้ จึงไม่มีโอกาสถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นหลังได้อีก  อย่างไรก็ตาม การมีตัวอักษรเขียนโบราณของชาวอิ้วเมี่ยนเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาในลักษณะตำนาน โดยปราศจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับ  แต่เป็นที่แน่ชัดว่า ในยุคหลังที่ชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพมาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน พวกเขาได้สร้างตัวอักษรเขียนของตนเอง โดยดัดแปลงจากตัวอักษรจีนในภาษาฮั่น เพื่อนำมาใช้เป็นภาษาเขียนใหม่ของตัวเองที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีรูปแบบการเขียนแบบ “ถู้สูจื้อ” (ตัวหนังสือสามัญของท้องถิ่น) ของชาวอิ้วเมี่ยน และรูปเขียนตัวหนังสือฮั่นในอักษรฮั่น ซึ่งเป็นตัวเดียวกัน แต่ในอักษรเมี่ยนจะเขียนคนละอย่างกัน  แต่อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ก็มีจำนวนไม่มากเพียงพอที่จะใช้เขียนข้อความให้สมบูรณ์ได้ จึงต้องใช้ปนกับตัวหนังสือฮั่น  สำหรับหลักการออกเสียง คือ ถ้าเป็นคำศัพท์ในภาษาเมี่ยนจะอ่านเป็นสำเนียงชาวอิ้วเมี่ยน  แต่ในบางคำศัพท์นั้น ถ้าเป็นคำศัพท์ที่ใช้ตัวหนังสือเขียนตัวเดียวกันในภาษาฮั่นจะอ่านเป็นสำเนียงภาษาย่อยชนิดหนึ่งของภาษาถิ่นกวางตุ้ง  ภาษาเขียนดังกล่าวถูกใช้ในหนังสือคัมภีร์ทางศาสนา หนังสือคัดเพลง หนังสือลำดับญาติวงศ์ต่าง ๆ ของชาวอิ้วเมี่ยน (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 2)

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย สกุลกร ยาไทย  นักวิจัยอิสระ 

    ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด : 26 กันยายน 2562

    เอกสารอ้างอิง

    ภาษาไทย

              ​เครือข่ายวัฒนธรรมเมี่ยน (2545) สาระองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นอิ้วเมี่ยน (เย้า). เชียงใหม่ : เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน องค์กรชุมชนบ้านปางค่า – บ้านปางพริก  สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย สำนักงานประถมศึกษาอำเภอปง และสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพะเยา

               จันทรบูรณ์ สุทธิ (2539) การเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาของเย้า – แรงงาน ใน วิถีเย้า, จันทรบูรณ์ สุทธิ และคณะ (บก.) เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา. หน้า 169 - 240

              จันทรบูรณ์ สุทธิ, สมเกียรติ จำลอง และ ทวิช จตุวรพฤกษ์ (2539).วิถีเย้า.เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

              จิตร ภูมิศักดิ์ (2540) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริง ว่าด้วยชนชาติขอม. พิมพ์ครั้งที่ 4 : เคล็ดไทย

              ประสิทธิ์ ลีปรีชา, ยรรยง ตระการธำรง และวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ (2547) เมี่ยน หลากหลายชีวิตจากขุนเขาสู่เมือง .เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

              พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน (2550) การปรับตัวของระบบจารีตประเพณีเพื่อการจัดการปัญหาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนอิ้วเมี่ยน.รายงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นข้อมูลได้ที่ http://research.culture.go.th/index.php/research/item/652-2012-09-18-01-52-22.html

              พูเรต์ม เจมส์ จี (2545) ชนชาติเย้า : เย้าเมี่ยนและเย้ามุนในจีน เวียดนาม ลาว และไทย. มงคล จันทร์บำรุง และสมเกียรติ จำลอง (แปล). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิทธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ (2550) ชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) กีฬาอิ้วเมี่ยน.  สืบค้นจาก http://www.openbase.in.th/node/1039?fbclid=IwAR0OAI6Vv62HMNpMpBykzxSCD9_8xf6aAwddtmnl7G2x4fQu6Naf28wevvs มูลนิธิกระจกเงา (2552) พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า : เมี่ยน.  มูลนิธิกระจกเงา, เชียงราย.  แหล่งที่มา : http://lahu.hilltribe.org/thai/mien/.   5  กันยายน 2552.

              มูลนิธิพัฒนาอิ้วเมี่ยนไทย (2014) สรุปการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “องค์กรอิ้วเมี่ยนเพื่อวัฒนธรรมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน”  วันที่ 28 มีนาคม 2552 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ วัดพระนอน บ้านหนองบัว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-Thai-Iu-mien-Development-Foundation-1052698758083454/?tn-str=k*F

              มงคล จันทร์บำรุง (2529) ประเพณีการแต่งงานของชาวเขาเผ่าเย้า. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา

              มงคล จันทร์บำรุง (2535) “ชาวเขาเผ่าเย้า” ใน เอกสารทางวิชาการประกอบการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการพิเศษด้านวิจัยชาวเขา (เผ่าเย้า) “ตำแหน่ง นักวิจัยสังคมศาสตร์ 7” ของนายมงคล จันทร์บำรุง นักวิจัยสังคมศาสตร์ 6 สถาบันวิจัยชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย

              รฐษร ศรีสมบัติ (2559. บทบาทของผู้หญิงเมี่ยนกับการสร้างอัตลักษณ์ในบริบทความเชื่อแบบประเพณีและเศรษฐกิจสมัยใหม. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

              วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ (2545) พลวัตรของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตครอบครัวและบทบาททางเพศสภาพของผู้หญิงอิ้วเมี่ยน (เย้า) ภายใต้ผลกระทบของการพัฒนา.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

               สมเกียรติ จำลอง (2545) ปราชญ์แห่งการรักษาพยาบาลตามจารีตของอิ้วเมี่ยน. ข่าวสารสถาบันวิจัยชาวเขา,20 (1) : 61 - 80

              สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (2539). วิถีเย้า.สถาบันวิจัยชาวเขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

              อภิชาต ภัทรธรรม (2552) เย้า (ข้อมูลทางวัฒนธรรม) ใน วารสารการจัดการป่าไม้ 3(6) : 134-146 (2552) ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ

     

     ภาษาอังกฤษ

              Chob Kacha – ananda (1997) Thailand Yao : past, present, and future. Tokyo : Institute forthe study of language and cultures of Asia and Africa

              Kandre, Peter (1967) Autonomy and Integration of Social Systems : The Iu Mien (“Yao” or Mian”) Moutain Population and their Neighbors. In Southeast Asian Tribes, Minorities and Nationes and Nations, edited by Kunstadler, Piter, Ed.2 Princeton University Press

              Lemoine, Jacques (1983).  Yao Religion and Society, in Highlander of Thailand edited by John Mckinnon and Wanat Bhruksasri, Oxford University Press, Kuala Lumper

              Perve, Emmanuel (2006) The Hill Tribes Living in Thailand. Prachakorn, Publised by Alligator Service Co Ltd.Chiang Mai

     

    ข่าว

              MGR Online (2560). “ดอยซิลเวอร์” เพิ่มค่าภูมิปัญญาเครื่องเงินชาวเขาผงาดเวทีโลก.  (21 มีนาคม 2560). สืบค้นจาก  https://mgronline.com/smes/detail/9600000027428

              ท้องถิ่นนิวส์ (2562). งานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนสัมพันธ์ ครั้งที่ 2 เล็งยกระดับเป็นงานอิ้วเมี่ยนโลกในปี หน้า. (10 กุมภาพันธ์ 2562). สืบค้นจาก  http://www.localnews2010.com/archives/10187

     

    สัมภาษณ์

              จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา (แซ่ตั้ง) อดีตประธานชมรมสตรีแม่บ้านอิ้วเมี่ยนและสมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบล บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา  ปัจจุบันเป็นแม่บ้านที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ อำเภอมหาชัย จ.สมุทรสงคราม อายุ 63 ปี

              เจี้ยว แซ่จาว เกษตรกร บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 82 ปี

              เลาเถา คิริพานกุล หมอผีของชุมชน บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง  จังหวัดพะเยา อายุ 82 ปี

              ว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน เจ้าของกิจการร้านขายของชำ/ผู้รู้ทางด้านประวัติศาสตร์และภาษาอิ้วเมี่ยนของบ้านปางพริก ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 78 ปี

              สิริวรรณ โชติชัยชุติมา พนักงานบริษัท มีภูมิลำเนาเกิดที่บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา  ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสงคราม อายุ 33 ปี

              เหมยย่าน วารีวิโรจน์ เจ้าของร้านเหมยย่าน ชุดเมี่ยนปังค่า บ้านปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 55 ปี

              เหยนเกี๋ยว แซ่เติ๋น เกษตรกรและช่างย้อมผ้า บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย  อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 68 ปี

     

    สื่อประกอบ 

              พรพิมล ทาฤทธิ์ (2016) ประเพณีการสู่ขวัญของชาวเมี่ยน (25 พฤษภาคม 2016). สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=XDWHjLlBH38&t=78s

              พรชัย เอี่ยมโสภณ (2015) สกู๊ป-ชาวเมี่ยนในระนอง  (เผยแพร่เมื่อ 7 มกราคม 2015) สืบค้นวันที่ 5 มิถุนายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=icSEDx8mAqw&t=201s

              วิถีชีวิตแห่งอิ้วเมี่ยน Lifestyle or Style of Life (2017) เครื่องดนตรีของอิ้วเมี่ยนที่ใช้ประกอบในพิธีต่าง ๆ มี อะไรบ้าง คลิกเข้าไปชม (เผยแพร่เมื่อ 6 มีนาคม 2017) สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=UFzQ7IYbLiA

              วิถีชีวิตแห่งอิ้วเมี่ยน Lifestyle or Style of Life (2016) เพลงเมี่ยน ชื่อเพลง เอี้ยวเอ้า (เผยแพร่เมื่อ 7 พฤษภาคม 2016) สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=LpRIOS0Ka2o

              วิถีชีวิตแห่งอิ้วเมี่ยน Lifestyle or Style of Life (2017) หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ (อิ้วเมี่ยน) (เผยแพร่เมื่อ 1 มีนาคม 2017) สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=KLZ73N5NtJg

              วิถีชีวิตแห่งอิ้วเมี่ยน Lifestyle or Style of Life (2016) อิ้วเมียนเซียะเต้นรำ (เผยแพร่เมื่อ 23 ตุลาคม 2016) สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=mu5h1rtP7KM

              Artthaphan Sitti (2015) ปัดเคราะห์แบบชาวอิ้วเมี่ยน (เผยแพร่เมื่อ 30 สิงหาคม 2015) สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=3GiWpdAtb9M

              Natdanai Thammanuwat (2013) PostTV ชาติพันธุ์ ตอน 9 เครื่องเงินภูมิปัญญายกระดับคนเมี่ยน    By TVRB2. (เผยแพร่เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013) สืบค้นวันที่ 5 มิถุนายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=b2XMEkB8nww

              Nattawut Fuchuen (2013) ตรุษจีน อิ้วเมี่ยน ผาลาด ลำปาง (เผยแพร่เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2013) สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=hsaMoXCcxdg

              NYZ CHANEL (2019) งานมหกรรมอิ้วเมี่ยนสัมพันธ์ @ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (เผยแพร่เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2019) สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=oZbwBT1ZB0Y&t=324s

              Sacvdochannel (2015). งานแต่งงาน (กลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน) บ้านใหม่ร่มเย็น ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา วันที่ 4 – 6 มกราคม 2558 (เผยแพร่เมื่อ 22 เม.ย. 2015). สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=cuEbP7RPCL0

              ThaiPBS (2017). อิ่มมนต์รส : "หยั่วเจี๊ยะ" ขนมดำอิ้วเมี่ยน (เผยแพร่เมื่อ22 ก.ย. 60). สืบค้นวันที่ 5 มิถุนายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=1_Du0plMGMI

              Thanawat 325 (2018) งานบวชคนเมี้ยน (กว๋าตัง) (เผยแพร่เมื่อ 28 เม.ย. 2018). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=8G5iOr1murM&t=208s

              You Watch (2018). งานศพแบบดั้งเดิมของอิ้วเมี่ยน. (เผยแพร่เมื่อ 9 กันยายน 2018). สืบค้นวันที่ 13 กันยายน 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=n6J9jXwLQJk

     

ชุดข้อมูล : กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

ที่มา:

กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2540 


ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย เพชรบูรณ์40000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” มักเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “เย้า” ซึ่งเป็นคำที่คนอื่นใช้เรียกพวกเขา อิ้วเมี่ยนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงที่ตั้งชุมชนกระจายอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย นอกจากนั้นแล้วยังพบในบริเวณรอยต่อของประเทศจีน เวียดนาม ลาว และไทย กับบางส่วนที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศตะวันตก ภายหลังจากสงครามอินโดจีน โดยชาวอิ้วเมี่ยนที่อยู่ในประเทศไทยได้อพยพเข้ามาสู่ดินแดนล้านนาเมื่อ 200 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่อำนาจของระบบจักรวรรดินิยมตะวันตกและรัฐไทยได้แผ่ขยายเข้ามาบริเวณนี้ ชาวอิ้วเมี่ยนเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณไหล่เขาห่างไกลจากชุมชน เพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกฝิ่น โดยตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง น่าน สุโขทัย ตาก

              ชาวอิ้วเมี่ยนถูกจัดอยู่ในเชื้อชาติมองโกลอยด์ มีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงกับชาวฮั่น มีถิ่นฐานกำเนิดบริเวณเขตภูเขาสูงทางตอนกลางของประเทศจีน ดำรงชีพด้วยการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผา (Swidden Agriculture) ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อหาพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่า ภัยทางการเมืองและความจำเป็นทางเศรษฐกิจได้ผลักดันให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องอพยพกระจายไปยังตอนใต้ของประเทศจีน ภาคเหนือของเวียดนาม ลาว และไทย ในขณะที่บางส่วนได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศตะวันตกช่วงหลังสงครามอินโดจีน ในประเทศไทยชาวอิ้วเมี่ยนตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายบริเวณภาคเหนือตอนบนเป็นส่วนใหญ่ อันได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง น่าน กำแพงเพชร บางส่วนเคลื่อนย้ายลงมาและกระจายไปยัง จ. สุโขทัย และ ตาก อีกทั้งยังมีกลุ่มเล็ก ๆ ที่กระจายตัวไปภาคอีสาน ในจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และภาคใต้ ในจังหวัดระนอง

              การตั้งถิ่นฐานในประเทศจีนยาวนานนับพันปีทำให้วัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและสังคมอิ้วเมี่ยนเป็นอย่างสูง เห็นได้การมีระบบกลุ่มเครือญาติเดียวกัน โครงสร้างของระบบครอบครัว และระบบสังคมชายเป็นใหญ่ สร้างตัวอักษรของตนเองโดยดัดแปลงจากตัวอักษรฮั่นของชาวจีน การรับอิทธิพลจากลัทธิเต๋ามาผสมสานกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติกับผีบรรพบุรุษ ค่านิยมในเรื่องการขยันทำงานและแสวงหาความร่ำรวย เนื่องด้วยชะตากรรมของชนเผ่าที่ต้องอพยพโยกย้ายอยู่เสมอและอาศัยปะปนกับชนเผ่าอื่น ชาวอิ้วเมี่ยนพยายามปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ แต่ยังคงรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้ โดยเฉพาะการสวมใส่เสื้อผ้าของชนเผ่าที่มีลายปักประณีตงดงามและเครื่องประดับเงินตามจารีตประเพณี

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน :

              ประวัติศาสตร์

              ชาวอิ้วเมี่ยนเป็นชนกลุ่มน้อยโบราณที่อาจมีอายุเก่าแก่เท่ากับกลุ่มชาวฮั่นหรือชาวจีน (พูเรต์ 2545 : 5 อ้างถึงใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547 หน้า 4 ) โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณหุบเขาลุ่มแม่น้ำเหลือง (หวงเหอ) ทางตอนเหนือของประเทศจีนเมื่อลงมาทางตอนใต้ของจีน ถูกรุกรานจากภัยทางการเมืองอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะในรอบหนึ่งร้อยปีของราชวงศ์หมิง เมื่อถูกกดดันและถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ชาวอิ้วเมี่ยนส่วนหนึ่งจึงอพยพไปยังมณฑลกุ้วโจวและยูนนาน อีกส่วนหนึ่งได้อพยพไปยังประเทศเวียดนาม ลาว และต่อมายังประเทศไทย หลังการสิ้นสุดของสงครามปลดแอกในประเทศลาวเมื่อปี พ.ศ.2518 ชาวอิ้วเมี่ยนนับหมื่นได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส และบางประเทศในยุโรป (จันทรบูรณ์ สุทธิ และคณะ, 2539, หน้า 2-3)

              สำหรับดินแดนในล้านนาพบว่า ชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทยในระยะเวลาเดียวกันกับกลุ่มม้ง คือ ประมาณหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมาโดยการเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนาโดยเฉพาะเจ้าผู้ครองนครน่านที่ในระยะต่อมาได้แต่งตั้งนายจั่นควน แซ่เติ๋น ที่อยู่ดอยผาช้างน้อย (ปัจจุบันอยู่อำเภอปง จังหวัดพะเยา) เป็นพญาคีรีศรีสมบัติ ทำหน้าที่ปกครองชาวอิ้วเมี่ยนและกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงอื่น ๆ ในพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดน่านกับจังหวัดพะเยาในปัจจุบัน (ประสิทธิ์ลีปรีชาและคณะ, 2547 หน้า 5 )

              ในประเทศไทย หากจะแบ่งกลุ่มการอพยพของชาวอิ้วเมี่ยน โดยพิจารณาจากเส้นทางการอพยพและช่วงระยะเวลาที่เข้าสู่ในบริเวณนี้แล้ว จะพบว่า ทุกกลุ่มมีเส้นทางการอพยพมาจากประเทศลาว (มงคล จันทร์บำรุง, 2533 และเครือข่ายวัฒนธรรมเมี่ยน 2545) ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

              1) กลุ่มเชียงราย – น่าน ถือเป็นกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามา ประมาณ 150 ปีที่แล้ว เป็นชาวอิ้วเมี่ยนที่อพยพมาจากหลวงพระบาง เข้ามาตามแนวชายแดนไทย – ลาว ตั้งแต่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดน่านจนถึงเขตอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาและได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาสูงในบริเวณดังกล่าว จากนั้นจึงกระจายตัวไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่าง ๆ โดยในยุคที่การปกครองในล้านนายังเป็นระบบเจ้าเมืองนั้น ศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ดอยผาช้างน้อยและดอยภูลังกา

              2) กลุ่มดอยอ่างขาง เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากลาว เข้าสู่ประเทศไทยทางเขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย-น่าน โดยตั้งถิ่นฐานบริเวณดอยอ่างขางและบริเวณใกล้เคียงกันทั้งในเขตประเทศไทยและประเทศพม่า รวมทั้งในเขตบริเวณอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอเมือง และอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

              3) กลุ่มเชียงรายตอนบน เป็นกลุ่มที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแขวงห้วยซ้าย ประเทศลาว อพยพเข้าสู่ประเทศไทยทางเขตอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อประมาณ 90 ปีที่ผ่านมา อิ้วเมี่ยนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อำเภอวังเหนือและอำเภองาว (บางหมู่บ้าน) จังหวัดลำปาง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก

              4) กลุ่มผู้อพยพ เป็นกลุ่มที่ลี้ภัยทางการเมืองจากเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว โดยอพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยขุนบง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา นอกจากที่บ้านห้วยขุนบงแล้วยังมีอิ้วเมี่ยนที่อพยพลี้ภัยทางการเมืองจากที่ต่าง ๆ ในประเทศลาวเข้ามาอยู่กับญาติในหมู่บ้านต่าง ๆ ในประเทศไทย และมีบางส่วนที่ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น

              นายว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน ผู้รู้ทางด้านประวัติศาสตร์ของบ้านปางพริก ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา (สัมภาษณ์ 27 ธันวาคม, 2562) ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวการอพยพจากประเทศจีนตอนใต้ของบรรพบุรุษของตน ที่ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อน โดยกลุ่มของบรรพบุรุษชาวอิ้วเมี่ยนกับกลุ่มของชาวม้ง เป็นชนเผ่าผู้บุกเบิกมาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ซึ่งแต่ก่อนเป็นป่าทึบ จนกระทั่งมีกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนจากประเทศลาวจำนวนมากที่หนีภัยสงครามอินโดจีนมาอาศัยอยู่กับญาติที่หมู่บ้านนี้ โดยบรรพบุรุษรุ่นแรกที่อพยพมาประเทศไทยได้นำหนังสือเดินทางข้ามภูเขา “เจี่ยเซียนป๊อง” ฉบับจริงติดตัวมาด้วย ซึ่งกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของชนเผ่าอิ้วเมี่ยนที่สืบเชื้อสายมาจากเปี้ยนฮู่ง เทพสุนัขสุนัขมังกรผู้อาสากษัตริย์ผิงหวางไปสังหารกษัตริย์เกาหวาง จนประสบชัยชนะ กษัตริย์ผิงหวางจึงทรงแบ่งเมืองให้ปกครองและให้อภิเษกกับพระธิดาองค์ที่สามของพระองค์ นับตั้งแต่นั้นมา เปี้ยนฮู่งจึงมีสถานะเป็นปฐมกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรอิ้วเมี่ยนและเป็นบรรพบุรุษผู้ให้กำเนิดชนเผ่าอิ้วเมี่ยน จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งจึงมีพระบรมราชโองการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวอิ้วเมี่ยน ในการละเว้นการถูกเรียกเก็บส่วยภาษี เกณฑ์แรงงานและเกณฑ์ทหาร รวมถึงให้อิสระและสิทธิแก่ชาวอิ้วเมี่ยนในการเคลื่อนย้ายเพื่อเลือกหาที่ทำกินบนภูเขาทั่วราชอาณาจักร โดยชาวอิ้วเมี่ยนใช้หนังสือเดินทางข้ามภูเขา “เจี่ยเซียนป๊อง”เป็นใบเบิกทางเวลาเดินทางข้ามเขตแดน และเพื่อขอสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ชนเผ่าพึงได้รับตามที่ระบุไว้ในหนังสือเดินทางกับเจ้าเมือง นอกจากนี้ หนังสือเดินทาง “เจี่ยเซียนป๊อง” ยังได้จารึกถึงตำนานของเทพสุนัขมังกรที่อาสาเดินทางข้ามทะเลสาบไปสังหารกษัตริย์เกาหวาง และบอกเล่าถึงเรื่องราวการอพยพของชาวอิ้วเมี่ยนที่เดินทางจากมณฑลกวางตุ้งจนมาถึงลุ่มแม่น้ำโขง โดยจารึกด้วยอักษรจีนโบราณและอ่านเป็นภาษาอิ้วเมี่ยน (ปัจจุบันยากที่จะหาผู้รู้ภาษาจีนโบราณนี้ในกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย) โดยนายว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน ได้ถอดความเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือเดินทาง “เจี่ยเซียนป๊อง” ฉบับคัดลอก ดังต่อไปนี้

              “คนอิ้วมีกระดูกและสายเลือดมาจากเทพสุนัขมังกร ...วันที่ประชุมนั้น กษัตริย์ผิงหวางตรัสถามว่า ผู้ใดจะอาสาข้ามทะเลสาบไปรบกับกษัตริย์เกาหวังบ้าง ขอให้ยกมือ แต่เมื่อประชุมเสร็จก็ไม่มีผู้ใดกล้าอาสาไป ในขณะนั้น เทพสุนัขมังกรหายตัวไปและมุ่งหน้าข้ามทะเลสาบ เพื่อไปสังหารกษัตริย์เกาหวาง”

              หนังสือเดินทางฉบับจริง “เจี่ยเซียนป๊อง” ที่ชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่ามีอยู่แค่ฉบับเดียวตามประวัติศาสตร์นั้น เป็นที่เข้าใจว่า ปัจจุบัน หนังสือเดินทางฉบับนี้ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่กำนันรุ่นแรก ๆ ของชุมชนอิ้วเมี่ยนที่หมู่บ้านปางค่า ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา (ปัจจุบันกำนันอายุ 90 กว่าปีแล้ว) หนังสือเดินทางฉบับจริงนี้ถูกเก็บรักษาไว้ โดยห้ามเปิดอย่างเด็ดขาด เพราะชาวอิ้วเมี่ยนมีความเชื่อว่า หากเปิดหนังสือเดินทางฉบับจริงจะทำให้เกิดเพศภัย ฝนตก ฟ้าร้องอย่างไรก็ตาม ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนได้จัดทำหนังสือเดินทางฉบับคัดลอกขึ้นหลายฉบับ (ปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการจะคัดลอกหนังสือเดินทางต้องเสียเงินค่าดำเนินการ 10,000 บาท)สำหรับหนังสือเดินทางฉบับคัดลอกที่ผู้เขียนได้พิจารณาในระหว่างการลงพื้นที่ชุมชนอิ้วเมี่ยน หมู่บ้านห้วยเฟือง ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา เป็นฉบับที่ถูกเก็บรักษาโดยกำนันคนปัจจุบันทว่าไม่ปรากฏข้อมูลที่แน่ชัดว่า หนังสือเดินทางฉบับนี้ถูกคัดลอกมาตั้งแต่สมัยใดโดยหนังสือเดินทางฉบับนี้มักจะถูกนำมาจัดแสดงต่อสาธารณชนเพื่อบอกเล่าถึงตำนานประวัติความเป็นมาของชนเผ่าตามงานประเพณีสำคัญต่าง ๆ อาทิเช่น งานปีใหม่ ที่มักจะจัดแสดงหนังสือเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยว หรือนำไปจัดแสดงเมื่อมีรายการโทรทัศน์เดินทางมาถ่ายทำในชุมชน ทั้งนี้ หากชาวอิ้วเมี่ยนต้องการนำหนังสือเดินทางฉบับนี้ไปจัดแสดงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ก็ย่อมกระทำได้ แต่จะต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกำนันเสียก่อน (สัมภาษณ์,นายว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน, 27 ธันวาคม, 2562)

     

              การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร

              ชาวอิ้วเมี่ยนตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายบริเวณภาคเหนือตอนบนเป็นส่วนใหญ่ อันได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมือง อ.เชียงของ อ.เชียงแสน อ.เทิง อ.พาน อ.แม่จัน อ.แม่สรวย อ.เวียงป่าเป้า อ.เวียงชัย อ.พญาเม็งราย อ.เวียงแก่น อ.แม่ฟ้าหลวง กิ่ง อ.ดอยหลวง กิ่ง อ.เชียงรุ้ง )จ.เชียงใหม่ (อ.ฝาง อ.แม่แจ่ม อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.แม่อาย อ.สะเมิง)จ.พะเยา (อ.เมือง อ.แม่ใจ อ.ดอกคำใต้ อ.ปง อ.เชียงคำ อ.เชียงม่วน กิ่ง อ.ภูซาง อ.แม่ใจ)จ.ลำปาง (อ.เมือง อ.งาว อ.แจ้ห่ม อ.วังเหนือ อ.เมืองปาน) จ.น่าน (อ.เมือง อ.ทุ่งช้าง อ.ปัว อ.เวียงสา อ.สองแคว อ.ท่าวังผา) จ.กำแพงเพชร (อ.เมือง อ.คลองขุง กิ่ง อ.ปางศิลาทอง) บางส่วนเคลื่อนย้ายลงมาและกระจายไปยัง จ. สุโขทัย (อ.ศรีสัชนาลัย) และ จ.ตาก (อ.พบพระ) (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 15 - 16) อีกทั้งยังมีกลุ่มเล็ก ๆ ที่กระจายตัวไปภาคอีสาน (จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี) และภาคใต้ (บ้านในกรัง อ.กระบุรี จ.ระนอง) (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 48; พรชัย เอี่ยมโสภณ, 2015

              รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน

              รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชาวอิ้วเมี่ยนในอดีต เป็นการตั้งถิ่นฐานแบบชั่วคราว โดยความสัมพันธ์กับวิถีการทำเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผา ซึ่งจะต้องถางป่าเพื่อทำไร่และเมื่อใช้ที่ดินทำการเกษตรอย่างต่อเนื่องจะทำให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ปริมาณป่าไม้และแหล่งอาหารในป่าลดลง ประกอบกับการขยายตัวของประชากร อันส่งผลทำให้พื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ ชาวอิ้วเมี่ยนจึงต้องอพยพโยกย้ายบ่อยครั้ง เพื่อไปหาพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า โดยเป็นการอพยพแบบทยอยตามกันมาเริ่มต้นจากกลุ่มเล็ก เช่น กลุ่มครอบครัวประมาณ 2-3 หลังคาเรือน หรือย้ายไปเป็นกลุ่มเครือญาติบางครั้งก็ย้ายไปสมทบกับหมู่บ้านอื่น หรืออาจย้ายไปหาที่ตั้งหมู่บ้านในที่แห่งใหม่แบบยกกันไปทั้งหมู่บ้าน (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 7)

              ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจประกอบกับภัยทางการเมืองในประเทศจีนได้ส่งผลทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องเริ่มเคลื่อนย้ายอย่างช้า ๆ จากบริเวณภาคกลางสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งต้องมาอาศัยปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว โดยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็ทำการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาเช่นกัน ยิ่งส่งผลทำให้ปริมาณที่ทำกินไม่เพียงพอชาวอิ้วเมี่ยนจึงเกิดการแตกตัวออกมาเป็นหลายกลุ่มหลัก หลายกลุ่มย่อย หลายสาขาย่อย ๆ และอพยพเข้าสู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ลาว และไทยต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอิ้วเมี่ยนได้ยอมรับวัฒนธรรมการปลูกฝิ่นเหมือนกับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในมณฑลกวางสี มณฑลยูนนาน ในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ประเทศลาว รัฐฉานในประเทศพม่า และท้ายที่สุดคือ ประเทศไทย  จนกลายเป็นชนเผ่าที่ชำนาญการปลูกฝิ่น และฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวของชาวอิ้วเมี่ยนที่ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามีความสะดวกสบายขึ้น (พูเรต์, 2545, หน้า 14)  นับตั้งแต่นั้นมา เหตุผลหลักในการเลือกที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอิ้วเมี่ยนจึงเป็นการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกฝิ่นมากที่สุด  ส่วนความเหมาะสมของพื้นที่ต่อการเพาะปลูกพืชอาหารหลักดั้งเดิมดังเช่นข้าวไร่และข้าวโพด จึงเป็นเหตุผลรองลงมา  ทั้งนี้ เนื่องจากการปลูกฝิ่นจะต้องปลูกบนพื้นที่สูงระดับหนึ่ง มีทิศทาง ทำเลที่ถูกต้อง และดินที่เป็นแบบเฉพาะ  ชาวอิ้วเมี่ยนจึงนิยมตั้งหมู่บ้านอยู่บนไหล่เขา เนื่องจากมีความเชื่อว่า บนยอดเขาหรือสันเขาเป็นบริเวณที่ง่ายต่อการปะทะทั้งลมทั้งฝน อีกทั้งต้องมีแหล่งน้ำอยู่สูงกว่าตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้าน เพื่อจะใช้รางรินต่อน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน และต้องมีภูเขาล้อมรอบอีกด้วย  นอกจากนี้ พื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมกับการปลูกฝิ่นจะต้องอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่นอีกด้วย  โดยที่ดินแปลงหนึ่ง ๆ สามารถปลูกฝิ่นได้เป็นเวลา 8 – 10 ปี บางแห่งสามารถปลูกได้นานถึง 20 ปี เมื่อที่ดินบริเวณหมู่บ้านหมดความอุดมสมบูรณ์  ชาวอิ้วเมี่ยนจึงต้องอพยพไปหาที่ทำกินใหม่ (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, 7, 16, 48; พูเรต์, 2545, หน้า 14)

              อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวอิ้วเมี่ยนอพยพมาประเทศไทยในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา และตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายบริเวณภาคเหนือตอนบนเป็นส่วนใหญ่ อันได้แก่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.พะเยา จ.ลำปาง

              จ.น่าน และไกลออกไปใน จ.สุโขทัย และ จ.ตาก วัฏจักรการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวอิ้วเมี่ยนต้องยุติลง เมื่อพื้นที่ชายแดนบริเวณนั้นกำลังประสบกับการแผ่ขยายของระบบรัฐชาติของไทย จักรวรรดินิยมตะวันตก สงครามเย็นและประเด็นเรื่องเขตแดนของรัฐชาติ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนถูกบังคับให้ตั้งถิ่นฐานอยู่กับที่หรืออย่างน้อยที่สุดก็เคลื่อนย้ายอยู่ในขอบเขตประเทศที่ตนอยู่ เพราะไม่มีพื้นที่กว้างพอให้อพยพอีกต่อไป(พูเรต์, 2545, หน้า 15) โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 เหตุผลในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวอิ้วเมี่ยนเกิดจากการผลักดันของอำนาจรัฐไทย อันเนื่องมาจากสาเหตุ 2 ประการ ประการแรกการดำเนินนโยบายปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์เนื่องจากในช่วงสมัยนั้นพื้นที่ป่าเขาทางภาคเหนือหลายแห่งได้กลายเป็นฐานปฏิบัติการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ได้แทรกซึมเข้าไปในชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รัฐบาลไทยจึงเกรงว่าชาวบ้านจะหันไปฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จึงสั่งให้อพยพลงมายังพื้นราบ เพื่อที่ทางราชการจะสามารถควบคุมสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือได้ง่าย แต่ชาวบ้านบางส่วนก็สมัครใจที่จะอพยพลงมาเอง เพื่อหนีภัยจากการสู้รบระหว่างทหารไทยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนไทย-ลาว (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 7, 25)ชาวอิ้วเมี่ยนหลายหมู่บ้านจากบริเวณภาคเหนือตอนบนได้ถูกทางการอพยพให้ไปอยู่ที่คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวอิ้วเมี่ยนกลุ่มแรก ที่อพยพไปจึงชักชวนให้คนอื่น ๆ ให้อพยพตามกันมาต่อมาเมื่อทหารได้สร้างเส้นทางยุทธศาสตร์จาก อ.คลองลาน ไปยัง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ทางราชการได้ชักชวนให้ชาวบ้านไปถางป่าทำไร่ข้าวโพด ในรัศมีหนึ่งกิโลเมตรตามสองข้างทางเพื่อเป็นการยึดพื้นที่จากคอมมิวนิสต์และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับทหารและเจ้าหน้าที่จากบริษัทที่สร้างทางชาวอิ้วเมี่ยนจากทั่วประเทศจึงอพยพไปทำไร่ข้าวโพดที่อุ้มผาง จนกระทั่งภายหลังจากการประกาศนโยบาย 66/23 ให้คอมมิวนิสต์มอบตัวกับทางการทางราชการจึงบังคับให้ชาวอิ้วเมี่ยนที่เข้าไปทำไร่ข้าวโพดอพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมดในปี พ.ศ.2527 (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 91)ประการที่สอง การดำเนินมาตรการเด็ดขาดในการห้ามปลูกฝิ่น และส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว รวมทั้งการดำเนินนโยบายขจัดคนออกจากป่าของรัฐบาล ส่งผลทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนไม่สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อทำการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาและปลูกฝิ่นได้อีกต่อไปและจำเป็นต้องตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีพเป็นการเพาะปลูกพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว

              อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบความล้มเหลวในการทำเกษตรแบบทันสมัยบนพื้นที่สูงในชุมชน ประกอบกับชุมชนอิ้วเมี่ยนบางส่วนถูกรัฐบาลผลักดันให้ย้ายออกจากพื้นที่เขตป่าสงวนชาวอิ้วเมี่ยนจำนวนมากจึงเคลื่อนย้ายเข้ามาหาอาชีพทางเลือกในเมือง โดยเคลื่อนย้ายทั้งในระดับครอบครัวและระดับปัจเจกกระจายตัวไปยังเขตเมืองในภาคเหนือและภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีกลุ่มเล็ก ๆ ที่กระจายตัวไปภาคอีสาน (จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี) และภาคใต้ (บ้านในกรัง อ.กระบุรี จ.ระนอง) (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 48; พรชัย เอี่ยมโสภณ, 2015) เมื่อสามารถปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและวิถีชีวิตในเมืองได้อย่างดี ชาวอิ้วเมี่ยนจำนวนมากจึงเลือกตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในเมืองโดยกลุ่มที่ทำธุรกิจการค้ามักเลือกตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเป็นทำเลการค้าแต่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเดิมของตนมากนัก เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย ในขณะที่บางส่วนอพยพไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ อาทิเช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้

              บริบทด้านประชากร

              งานศึกษาของพิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน (2550) ได้สำรวจข้อมูลเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับจำนวนประชากรอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย นับตั้งแต่อดีตจนถึงการสำรวจประชากรอิ้วเมี่ยนในครั้งล่าสุดโดยพบว่ามีเพียงกลุ่มอิ้วเมี่ยนที่ทางการจีนนับรวมอยู่ในชนชาติเย้าเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยทางราชการไทยนั้นได้เรียกชาวอิ้วเมี่ยนว่า “เย้า” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 โดยเจมส์ แม็คคาที หรือพระยาวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่คนแรกของประเทศไทยเป็นผู้แรกที่ริเริ่มใช้คำเรียกนี้ ซึ่งพบว่า ชาวอิ้วเมี่ยนได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้ระบุตัวเลขไว้ในเวลาต่อมา กรมประชาสงเคราะห์ได้เคยรายงานเมื่อปี พ.ศ.2527 ว่า ชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2343 (กรมประชาสงเคราะห์, 2527) นับได้ประมาณ 208 ปี ที่ชาวอิ้วเมี่ยนเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยแต่จำนวนประชากรไม่ได้มีการขยายตัวมากนักต่อมาในปี พ.ศ.2504 ระบุว่ามีจำนวน 10,200 คน ในหมู่บ้าน 74 แห่ง เมื่อปี พ.ศ. 2510 จากการสำรวจของสหประชาชาติพบว่า มีประชากรอิ้วเมี่ยนทั้งหมด 16,119 คนในปี พ.ศ.2526 กองประชาสงเคราะห์ชาวเขาได้สำรวจ พบว่ามีจำนวน 31,420 คน อาศัยอยู่ 160 หมู่บ้านในปี พ.ศ.2533 นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญชาวอิ้วเมี่ยนอย่าง ดร.ชอบ คชาอนันท์ ระบุว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 35,652 คน มี 4,823 ครอบครัว อาศัยใน 181 หมู่บ้านในปีพ.ศ.2540 กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ระบุว่ามีจำนวนประชากร 48,357 คน จำนวน 9,501 หลังคาเรือน อาศัยใน 98 หมู่บ้านซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของนักวิชาการในปี พ.ศ.2545 Jess G. Pourret กล่าวว่า มีจำนวนประมาณ 40,000 คน (แต่ไม่ได้ระบุจำนวนของหมู่บ้านไว้) ในปี พ.ศ.2549 Emmanuel Perve (2006) กล่าวว่า ประชากรอิ้วเมี่ยนมีจำนวนทั้งสิ้น 45,571 คน แต่เป็นข้อมูลที่สำรวจในปี 2546 โดยอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย 178 หมู่บ้าน ข้อมูลสำรวจประชากรอิ้วเมี่ยนทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ชาวอิ้วเมี่ยนมีการขยายตัวของประชากรน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก หรือเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยด้วยกันก็ตาม 

              อย่างไรก็ตาม การสำรวจข้อมูลจำนวนประชากรอิ้วเมี่ยนในปัจจุบัน อาจต้องประสบข้อจำกัดในปัญหาการนิยามความเป็นชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนและการระบุจำนวนที่แน่ชัดเนื่องจากชาวอิ้วเมี่ยนมีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเสมอ ตั้งแต่การอพยพจากหมู่บ้านเดิมสู่เขตเมืองภายในประเทศจนถึงการอพยพไปขายแรงงานในประเทศอุตสาหกรรมอีกหลายประเทศอีกทั้งชาวอิ้วเมี่ยนยังปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนให้มีความลื่นไหลเพื่อให้สามารถดำรงอยู่อย่างผสมกลมกลืนไปกับคนเมืองในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อแซ่นามสกุลให้กลายเป็นชื่อภาษาไทย และบางส่วนได้แต่งงานกับคนนอกชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพื้นราบภาคเหนือ ชาวไทยภาคกลาง หรือชาวม้ง ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาในการนิยามชาติพันธุ์ของเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดจากการสมรสในลักษณะนี้พลวัตดังกล่าวได้ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีจนทำให้เป็นการยากที่จะจำแนกแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลใดเป็นชาวอิ้วเมี่ยน

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน :

    รูปแบบการดำรงชีพ

              การเกษตรแบบยังชีพ (Subsistence Agriculture) คือ การเกษตรแบบดั้งเดิมของชาวอิ้วเมี่ยน เป็นการปลูกพืชเพื่อสนองความต้องการของสมาชิกภายในชุมชนเท่านั้น  เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่กระจัดกระจายห่างจากเส้นทางคมนาคม  ผลผลิตต่าง ๆ ที่ผลิตได้ภายในชุมชนมีการใช้หรือแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชนเท่านั้น (จันทรบูรณ์ สุทธิ, 2539, หน้า 229)  ชาวอิ้วเมี่ยนในแต่ละครอบครัวจะมีไร่เป็นของตนเอง โดยทำการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาเพื่อปลูกพืชเพื่อไว้บริโภค โดยเฉพาะข้าวไร่ซึ่งปลูกไว้สำหรับบริโภคภายในครอบครัวเท่านั้น หากเหลือจึงนำไปขาย  ส่วนพืชอื่น ๆ ก็ปลูกไว้เช่นเดียวกัน เช่น ผักโขม ผักกาด มัน กล้วย บางชนิดปลูกไว้เพื่อรับประทานเอง บางชนิดปลูกไว้เพื่อเลี้ยงสัตว์ อาทิ เช่น ข้าวโพด อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 200 ปีก่อนและได้รับวัฒนธรรมการปลูกฝิ่นเช่นเดียวกับชนเผ่าต่าง ๆ ในตอนใต้ของประเทศจีน  นับตั้งแต่นั้นมา ฝิ่นกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักชนิดเดียวที่ทำรายได้ให้กับครอบครัว โดยชาวอิ้วเมี่ยนนิยมปลูกฝิ่นในไร่ข้าว ซึ่งฝิ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีและเป็นพืชที่ไม่ทำให้ดินเสื่อมเร็ว จึงสามารถปลูกได้หลายปีติดต่อกัน  นับตั้งแต่นั้นมา ระบบการผลิตของชาวอิ้วเมี่ยนจึงเปลี่ยนไปเป็นระบบการเกษตรแบบกึ่งยังชีพ (Semi -Subsistence Agriculture)  นอกจากการเพาะปลูกแล้ว ชาวอิ้วเมี่ยนยังมีการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย แต่จุดประสงค์หลักในการเลี้ยงสัตว์ คือ เพื่อทำพิธีกรรม แล้วหลังจากพิธีกรรมจึงรับประทานได้  สัตว์ที่ชาวอิ้วเมี่ยนนิยมเลี้ยง คือ หมู ไก่ ในบางทีอาจพบม้าด้วย ซึ่งเอาไว้ต่างสัมภาระเวลาเดินทาง

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน :

    โครงสร้างครอบครัว

              ครอบครัวของชาวอิ้วเมี่ยนเป็นครอบครัวแบบขยายที่มีความสัมพันธ์กับวิถีการผลิตแบบเกษตรกึ่งยังชีพบนพื้นที่สูง  โดย Chob Kacha Ananda (1997) ได้ระบุถึงโครงสร้างของครอบครัวอิ้วเมี่ยนตามจารีตว่า ในบ้านหนึ่งหลังหรือหนึ่งครัวเรือนจะมีครอบครัวอยู่ร่วมกันหลายครอบครัว ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกในโคตรตระกูลเดียวกัน  โครงสร้างของครอบครัวเริ่มต้นจากการที่ชายหนึ่งหญิงหนึ่งมาแต่งงานกัน เป็นครอบครัวเดี่ยวอยู่ในบ้าน หรือครัวเรือนหนึ่ง ๆ ก่อน  พอนานวันเข้าก็มีลูก พอลูกโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว ลูกสาวที่แต่งงานก็จะย้ายออกไปอยู่กับสามี  ส่วนลูกชายแต่ละคนเมื่อแต่งงานแล้วก็ยังอาศัยกับพ่อแม่ของตนในบ้านหลังเดิมสักระยะหนึ่ง เพื่อตอบแทน (render) หรือคอยบริการพ่อแม่ แล้วจึงค่อย ๆ ทยอยออกไปสร้างบ้านอยู่เป็นของตัวเองในละแวกใกล้เคียงกัน  แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ก่อน โดยฝ่ายลูกชายมักจะให้เหตุผลในเรื่องบ้านคับแคบเกินไปหรือจำเป็นต้องย้ายไปทำงานที่อื่น  ทั้งนี้ ตามจารีตประเพณีดั้งเดิมนั้น ลูกชายคนโตมักจะได้ครอบครองบ้านและทรัพย์สินส่วนใหญ่ เพราะต้องเป็นหลักในการดูแลพ่อแม่ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนในการดูแลพี่สาว/น้องสาวที่ยังไม่แต่งงานที่อยู่ร่วมในบ้านหลังเดิม  อย่างไรก็ตาม หากลูกชายคนโตไม่มีความสามารถในการดูแลพ่อแม่ เช่น มีฐานะยากจน หรือปัญหาสุขภาพ ลูกชายคนอื่นก็จะทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่แทน  อย่างไรก็ตาม กรณีของลูกชายคนอื่น ๆ ที่แต่งงานแยกครอบครัวไปแล้วก็ต้องนำเงินส่วนใหญ่มาตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ หรือกรณีที่เสียชีวิต ทรัพย์สินของลูกชายก็จะต้องตกเป็นของพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยภรรยาของลูกชายไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินของสามีตนเอง  (สัมภาษณ์, นางจุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา, วันที่ 16 มีนาคม 2562)  

              ชาวอิ้วเมี่ยนให้ความนับถือและสืบเชื้อสายจากทางฝ่ายชาย โดยลูกจะใช้แซ่ตามพ่อ และถือวิญญาณบรรพบุรุษตามพ่อ หากครอบครัวใดไม่มีบุตรชายที่จะสืบผีของตระกูลก็มักจะนิยมรับบุตรบุญธรรม หรือที่ชาวอิ้วเมี่ยนเรียกว่า “ลูกอุ้ม” เป็นการนำลูกคนอื่นมาเลี้ยงดูเสมือนลูกที่ถือกำเนิดจากตนเองจริง ๆ โดยจ่ายเงินให้กับพ่อแม่เดิมของเด็กเป็นค่าตอบแทนที่ให้กำเนิดและเลี้ยงเด็กคนนั้นมา  ส่วนใหญ่นิยมเลือกเด็กแรกเกิดหรือยังเล็กอยู่จากคนรู้จัก เช่น ลูกที่เกิดจากเครือญาติ หรือเลือกจากเด็กที่พ่อแม่ยากจน แต่เป็นคนดี เด็กที่ถูกซื้อมาเลี้ยง ส่วนใหญ่จะเลือกเด็กผู้ชายเชื้อสายอิ้วเมี่ยนมาเป็นผู้สืบตระกูลและดูแลพ่อแม่ยามชรา (แต่บางครอบครัวก็รับเด็กชาติพันธุ์อื่นมาเลี้ยงหรือรับเด็กหญิงมาเลี้ยงเพราะถูกชะตามากกว่าเหตุผลในเรื่องการสืบตระกูล) โดย“ลูกอุ้ม” ถือว่ามีศักดิ์และสิทธิ์ตามประเพณีเหมือนกับเด็กอิ้วเมี่ยนทุกประการ (วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545, หน้า 69)  สำหรับกรณีเด็กที่เกิดมาโดยไร้ผู้ที่เป็นบิดา เป็นเรื่องที่จารีตประเพณีอิ้วเมี่ยนยอมรับได้ โดยบุตรจะต้องนับถือผีทางฝ่ายมารดาและใช้แซ่ตระกูลเดียวกับมารดา (พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550, หน้า 108)  แต่ถ้าเป็นกรณีพิเศษดังเช่นการให้กำเนิดลูกแฝดชาย – หญิง ชาวอิ้วเมี่ยนมีความเชื่อว่า ทั้งสองคนเป็นเนื้อคู่กันมาต้องแบ่งลูกสาวให้คนอื่นไปรับเลี้ยงดู เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะต้องให้ทั้งสองคนได้แต่งงานกัน หากมิเป็นเช่นนั้น จะทำให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับพี่น้องทั้งสองคนนี้คนใดคนหนึ่ง (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 22, 26)  สำหรับหลักเกณฑ์ในการรับมรดกตามจารีตประเพณีนั้น สิทธิ์ในมรดกส่วนใหญ่จะตกเป็นของลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่จะได้รับมากกว่าคนอื่น (มรดกในที่นี้คือที่ดิน) ส่วนลูกสาว ตามจารีตประเพณีดั้งเดิมจะไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก  เพราะต้องไปนับถือผีตระกูลสามีและรับสมบัติกับทางฝ่ายสามีแทน ลูกชายทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตก็ต้องทำพิธีศพ ออกเงิน และทำหน้าที่สืบผี  ส่วนลูกสาวก็มาช่วยเตรียมงาน ดูแลเรื่องอาหารและต้อนรับแขก (วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545, หน้า 78) 

              ระบบครอบครัวของชาวอิ้วเมี่ยนมีการแบ่งงานกันทำตามเพศสภาพระหว่างหญิงกับชายอย่างชัดเจน  โดยชายมีหน้าที่เป็นผู้นำทางสังคม ประเพณี และพิธีกรรม  รวมทั้งเป็นผู้ชี้ขาดตัดสินปัญหาทุกอย่างภายในบ้าน  ส่วนหญิงมีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าชาย มีหน้าที่เลี้ยงลูก ทำงานบ้าน ปรนนิบัติผู้สูงอายุ รวมถึงงานในไร่นา โดยอำนาจในการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ของครอบครัว ทั้งในแง่ของการผลิตและการใช้เงินและจัดสรรทรัพยากรส่วนใหญ่เป็นของผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว  ผู้หญิงต้องเคารพและเชื่อฟังสามี โดยไม่มีสิทธิ์ตอบโต้ใด ๆ  อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของหัวหน้าครอบครัวก็กำกับด้วยความหมายทางสังคมของอิ้วเมี่ยนว่าควรต้องมีจริยธรรมกำกับ เช่น ไม่แสดงความก้าวร้าวรุนแรงต่อสตรีและเด็กหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอกว่า และควรต้องมีความเห็นอกเห็นใจกันในครอบครัว  หลักจารีตนี้มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกันมากเกินไป  อย่างไรก็ตาม อำนาจต่อรองของผู้หญิงในบ้านก็มีอยู่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอาวุโสที่มีสิทธิจะได้รับการเอาอกเอาใจ เคารพนับถือและปรนนิบัติจากลูกหลาน  ส่วนเด็กผู้หญิงและหญิงสาวมีอำนาจต่อรองน้อย (วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545, หน้า 140)  นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษยังมีอิทธิพลต่อการกำหนดพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมและพื้นที่ทางกายภาพของผู้หญิง  โดยพื้นที่ในบ้านที่จัดไว้เป็นสัดส่วนสำหรับผู้หญิงก็คือ ห้องครัวและห้องน้ำ  ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ย่างกรายเข้าไปในห้องรับแขกและหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษโดยไม่จำเป็น เพราะนั่นเป็นพื้นที่ของผู้ชาย  นอกจากนี้ ผู้หญิงยังไม่สามารถเดินทางออกนอกหมู่บ้านตามลำพัง หรือไปค้างคืนที่อื่น หากละเมิดก็จะถือเป็นการกระทำที่ผิดจารีต และต้องทำพิธีขอขมาต่อบรรพบุรุษ และถูกสังคมมองว่าเป็น “ผู้หญิงไม่ดี”  ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงเมี่ยนจึงเป็นเพศที่สังคมจารีตคาดหมายให้อยู่ในการคุ้มครอง ดูแล และควบคุมของผู้ชายเมี่ยนมาตลอด แม้ว่าจะไม่ใช้วิธีการแข็งกร้าวก็ตามตลอด ไม่ว่าเธอจะมีอายุเท่าใด หรือมีสถานภาพสมรส สถานะทางเศรษฐกิจอย่างไร เธอไม่ได้รับสิทธิในการแยกบ้านของตนเอง และไม่มีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเป็นของตนเอง (วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545, หน้า 140) 

              สำหรับระบบครอบครัวของชาวอิ้วเมี่ยนในปัจจุบัน ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาแบบทันสมัยและกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ผลักดันให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องยุติวิถีการผลิตแบบการเกษตรกึ่งยังชีพบนพื้นที่สูง และหันมาทำการเกษตรแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบครอบครัวและระบบสังคมตามจารีตประเพณีของชาวอิ้วเมี่ยนโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ โครงสร้างระบบครอบครัวแบบขยายที่ให้อำนาจผู้ชายในการควบคุมจัดการระบบการผลิตและพื้นที่ทางสังคมมากกว่าผู้หญิง ได้ถูกแทนที่ด้วยระบบครอบครัวเดี่ยวซึ่งเริ่มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากในช่วงแรกที่ชาวอิ้วเมี่ยนมีรายได้จากการเกษตรเชิงพาณิชย์มากขึ้น จึงแยกตัวออกจากครอบครัวเดิม มาสร้างครอบครัวใหม่ในละแวกใกล้เคียงกันจนส่งผลทำให้หมู่บ้านขยายตัวขึ้น  และเมื่อชาวอิ้วเมี่ยนประสบความล้มเหลวในการทำเกษตรบนพื้นที่สูงในเวลาต่อมา  คนหนุ่มสาวจึงได้ย้ายเข้าไปหาอาชีพทางเลือกในเมือง และเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานในเมืองเป็นจำนวนมาก  ครอบครัวเดิมที่อยู่ในหมู่บ้าน

              อิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่จึงมักเหลือแต่คนชราและเด็กที่ไม่สะดวกจะเคลื่อนย้ายตามไป  ระบบครอบครัวในปัจจุบันจึงเป็นครอบครัวเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่  ในขณะที่ครอบครัวแบบขยายเหลือจำนวนไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้ หลักการแบ่งงานกันทำตามเพศและการควบคุมทางเพศผู้หญิงซึ่งมีสถานะเป็นแรงงานผู้ผลิตในระบบการผลิตแบบดั้งเดิมจึงค่อย ๆ หมดความสำคัญลง  แต่สภาพการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเกิดกับชุมชนอิ้วเมี่ยนที่ปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือย้ายมาอาศัยอยู่ในพื้นราบใกล้กับเขตเมือง ซึ่งพบว่าไม่มีการแบ่งงานกันทำตามเพศสภาพที่ตายตัว ชายและหญิงในครอบครัวต่างทำงานหนักพอ ๆ กัน แต่สำหรับชุมชนอิ้วเมี่ยนที่ห่างไกลจากสังคมเมืองและยังคงดำรงชีพด้วยการเกษตรแบบยังชีพก็ยังคงยึดถือตามจารีตประเพณีอยู่นอกจากนี้ การศึกษาแบบสมัยใหม่ของภาครัฐและระบอบทุนนิยมยังได้หล่อหลอมให้ผู้หญิงชาวอิ้วเมี่ยนมีสถานะเป็นแรงงานที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยมทัดเทียมกับผู้ชาย  ผู้หญิงอิ้วเมี่ยนรุ่นใหม่จึงมีทักษะการประกอบอาชีพสมัยใหม่และมีการศึกษาในระดับสูง ตลอดจนมีสินทรัพย์เป็นของตนเอง พวกเธอจึงเริ่มมีบทบาทและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจทั้งในครอบครัวและสังคมมากขึ้น (วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545)

    ระบบเครือญาติ

              สำหรับระบบเครือญาติ สมเกียรติ จำลอง (2545) ระบุว่า ชาวอิ้วเมี่ยนถือว่า กลุ่มเครือญาติมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่า ความเป็นเครือญาติเป็นระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานของทุกคนในชุมชน เพราะทุกชีวิตต้องเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตาย  โดยให้ความสำคัญกับญาติตามลำดับต่าง ๆ

              1.) ญาติใกล้ (เชี่ยนฟัด) หรือญาติร่วมสายเลือดที่ต้องรับผิดชอบผีบรรพบุรุษร่วมกัน ชาวอิ้วเมี่ยนจะถือเป็นที่พึ่งแรก 

              2.) ญาติห่าง ๆ (เชี่ยนไง) หมายถึงผู้ที่มีบรรพบุรุษร่วมสายเลือดเดียวกันมาช่วงหนึ่ง ต่อมาได้แยกสาแหรกไป แม้จะถือแซ่เดียวกัน แต่มีผีบรรพบุรุษ (จ่าฟินเจี๊ยว) ต่างกัน ถือเป็นที่พึ่งถัดมา

              3.) ญาติทางการแต่งงาน (ชิ่งจาหมั่วต่อย) ถือเป็นที่พึ่งถัดมา 

               4.) ญาติร่วมหมู่บ้าน (โต้งอั๋งจ่วงหลางเมี่ยนหมั่วต่อย) ถือเป็นที่พึ่งถัดมา 

              5.) ญาติร่วมเผ่า (เมี่ยมั่วต่อย) สำหรับแซ่ตระกูลอิ้วเมี่ยนนั้น เท่าที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 12 แซ่ ได้แก่ 1.) แซ่พ่าน  2.)  แซ่ลี  3.) แซ่จ๋าว  4.) แซ่ตั้ง เติ้น เต็น หรือเติน  5.) แซ่ล่อ  6.) แซ่ว่าง  7.) แซ่ฟุ้ง  8.) แซ่เฉิน หรือฉิ่น  9.) แซ่เลี้ยว  10.) แซ่ล่วย  11.) แซ่ตั๊วะ  12.) แซ่ท้าว  ซึ่งในแต่ละแซ่ตระกูลจะมีรุ่นของตระกูล  บางตระกูลมี 4 รุ่น หรือ 5 รุ่น  การนับรุ่นจะนับตั้งแต่รุ่นแรกไปเรื่อย ๆ จนครบ 4 หรือ 5 รุ่น (ขึ้นอยู่กับแต่ละตระกูล) แล้วก็จะวนเวียนกลับมานับที่รุ่นแรกใหม่ เวียนไปเรื่อย ๆ เช่นนี้  หากต้องการทราบว่า คน ๆ นั้นเป็นญาติหรือไม่ก็ต้องทราบก่อนว่ามาจากตระกูลไหน  เมื่อทราบว่ามาจากตระกูลเดียวกันก็หมายความว่าเป็นญาติกัน ก็มักจะถามต่อเพื่อให้ทราบว่าเป็นลูกของใคร  การถามเช่นนี้จะทำให้ทราบว่า เป็นรุ่นไหน และเป็นญาติกันอย่างไร จะเรียกกันแบบไหน เช่น เป็นปู่ ลุง ป้า น้า อา หลาน หรือเป็นรุ่นเดียวกัน  เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน (2545, หน้า 26 - 27)

              สำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในกลุ่มที่เข้าไปเรียนหนังสือและทำงานในเมืองนั้นระบบแซ่ตระกูลและการนับเครือญาติดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เช่นการเปลี่ยนไปใช้นามสกุลไทยแทนระบบแซ่เดิม รวมทั้งการยืมคำศัพท์เรียกเครือญาติที่เป็นภาษาไทยมาใช้แทนคำในภาษาเมี่ยน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ได้มีนัยของการแสดงความสัมพันธ์ทางเครือญาติแบบอิ้วเมี่ยนหลงเหลือเลย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 10) อย่างไรก็ตาม นส.สิริวรรณ โชติชัยชุติมา (สัมภาษณ์, วันที่16 มีนาคม 2562) ลูกครึ่งชาวอิ้วเมี่ยน-จีนที่นับถือศาสนาคริสต์ กล่าวว่าแม้ว่าชาวอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อและนามสกุลแบบไทยเป็นส่วนใหญ่แล้วแต่ในยามที่พบปะสังสรรค์ภายในกลุ่มของตนก็ยังคงรักษาธรรมเนียมการซักถามคู่สนทนาว่ามีแซ่ตระกูลอะไร ถ้าพบว่ามาจากแซ่ตระกูลเดียวกันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายมีความใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น ธรรมเนียมดังกล่าวยังถือปฏิบัติกันทั้งในกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนที่นับถือผีและไม่ได้นับถือผี  

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน :

    เสื้อผ้าและการแต่งกาย 

              จากตำนานที่บันทึกไว้ในหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขา (เจี่ยเซียนป๊อง) ที่ชาวอิวเมี่ยนในประเทศไทยได้คัดลอกต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน ได้ระบุไว้ว่า ให้ลูกหลานชาวอิ้วเมี่ยนปกปิดร่างกายโดยใช้เสื้อลายห้าสีคลุมร่าง เข็มขัดรัดเอว ผ้าเช็ดหน้าลายดอกไม้ผูกที่หน้าผาก กางเกงลายปิดก้น ผ้าลายสองผืนปิดที่ขา เชื่อกันว่า จากตำนานนี้เองทำให้อิ้วเมี่ยนใช้เสื้อผ้าคาดเอว ผ้าโพกศีรษะ และกางเกงที่ปักด้วยห้าสี (อภิชาต ภัทรธรรม, 2552, หน้า 136)  ชาวอิ้วเมี่ยนในประเทศไทยยังคงสืบสานการแต่งกายตามประเพณี  โดยผู้หญิงจะมีผ้าโพกศีรษะ ผ้าคาดเอวซึ่งมีลายปักที่ชายแต่ละข้าง เสื้อคลุมยาวซึ่งสาบเสื้อด้านในรอบคอลงมาจนถึงเอว จะติดไหมพรมสีแดง และกางเกงขาก๊วยซึ่งเป็นผ้าสีดำและปักลวดลายด้านหน้า  ส่วนใหญ่ผู้หญิงอิ้วเมี่ยนเป็นผู้แต่งกายหรูหราด้วยเสื้อผ้าที่มีการปักลวดลายอย่างประณีต งดงาม อีกทั้งยังสวมใส่เครื่องประดับเงินนานาชนิด โดยเฉพาะในช่วงงานพิธีกรรมหรือประเพณีสำคัญ  ผู้หญิงอิ้วเมี่ยนมักจะนิยมสวมเครื่องประดับเงินต่าง ๆ ทั้งแหวน กำไลมือ สร้อยคอ จี้ และยังมีเครื่องประดับเงินที่ติดกับสร้อยคอ รวมทั้งกระดุมเงินที่ประดับกันอย่างมากมายอยู่บนเสื้อปักลายและผ้าที่ประดับด้วยผ้าตัดปะ  ส่วนผู้ชายมีเสื้อตัวสั้นหลวม คอกลม  ชิ้นหน้าห่ออกอ้อมไปติดกระดุมลูกตุ้มเงินแปดถึงสิบเม็ดเป็นแถวทางด้านขวา  กางเกงจะเป็นกางเกงขาก๊วยไม่มีการปักลาย ทั้งเสื้อและกางเกงจะตัดเย็บด้วยผ้าทอมือย้อมครามสีน้ำเงินหรือสีดำ  ส่วนเด็กมีเพียงหมวก ซึ่งหมวกเด็กชายจะเย็บด้วยผ้าดำสลับผ้าแดงเป็นแฉก ประดับด้วยผ้าตัดเป็นลวดลายขลิบริมด้วยแถบไหมขาวติด หมวกปุยไหมสีแดงบนกลางหัว  ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง หมวกจะทำด้วยผ้าดำหรือน้ำเงินเข้มปักลวดลาย ประดับไหมพรมสีแดงสดบนกลางกระหม่อมและข้างหู  (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 104; (พูเรต์, 2545 หน้า 4) ) 

    การแต่งกายตามจารีตประเพณีของชาวอิ้วเมี่ยน

    ที่มาภาพ : Farm Fou Phan (28 มกราคม 2015). สืบค้นจาก https://www.facebook.com/myIuMien/

              เมื่อชาวอิ้วเมี่ยนแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานกระจายยังพื้นที่ต่าง ๆ ก็ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ไปผสมผสานกับวัฒนธรรมของตน  อันส่งผลทำให้การแต่งกายและการใช้สีสันของชาวอิ้วเมี่ยนในประเทศไทยมีลักษณะแตกต่างกันไปเพียงเล็กน้อย  ซึ่งเอกลักษณ์การแต่งกายของแต่ละท้องถิ่นได้แสดงให้เห็นว่ามีถิ่นฐานอยู่ที่ใด หรือมาจากกลุ่มตระกูลใด  นอกจากนี้ บางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันก็จะมีการลอกเลียนแบบซึ่งกันและกัน (อภิชาต ภัทรธรรม, 2552, หน้า 136)   อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของเอกลักษณ์การแต่งกายอิ้วเมี่ยนในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่สังเกตได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ การโพกศีรษะของผู้หญิง  โดยผู้หญิงอิ้วเมี่ยนกลุ่มเชียงราย – น่าน จะโพกศีรษะแบบหัวโต (ก้อง เป้ว ผาน) และนิยมใช้ลายปักสีแดงเป็นหลัก  ส่วนผู้หญิงอิ้วเมี่ยนกลุ่มอื่นจะโพกศีรษะแบบแหลม (ก้อง เป้ว พิง) และนิยมใช้ลายปักสีเขียวมากกว่าสีอื่น (มงคล จันทร์บำรุง, 2535)

              สำหรับกรรมวิธีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายนั้น นางจุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา (อายุ 63) ชาวอิ้วเมี่ยนที่มีภูมิลำเนาที่บ้านห้วยเฟือง อ.ปง จ.พะเยา กล่าวว่า ชาวอิ้วเมี่ยนในสมัยก่อนทอผ้าด้วยใยกัญชา แต่เมื่อกัญชากลายเป็นพืชที่ผิดกฎหมายในเวลาต่อมา จึงเลิกทอผ้าและนิยมซื้อผ้าทอซึ่งเป็นผ้าดิบจากชาวไทลื้อมาย้อมสีและปักลายเอง เพราะผ้าทอของชาวไทลื้อเหมาะสมแก่การนำมาปักผ้าแบบอิ้วเมี่ยน  อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาและแรงงานไปทำกิจกรรมอื่นที่ให้ผลประโยชน์มากกว่า  ทั้งนี้ การซื้อผ้าทอจากไทลื้อเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นแม่ของเธอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ชาวอิ้วเมี่ยนบนดอยจะนำฝิ่นไปแลกซื้อผ้าทอ ด้าย และอุปกรณ์ตัดเย็บอื่น ๆ จากกองคาราวานพ่อค้าชาวจีนฮ่อที่เดินทางมาเร่ขายสินค้าในหมู่บ้าน  หรือนาน ๆ ครั้งก็จะลงจากดอยไปหาซื้อผ้าทอที่ตลาดในอำเภอเชียงคำ (สัมภาษณ์, 16 มีนาคม 2562)  ทั้งนี้ นางเหยนเกี๋ยว แซ่เติ๋น ช่างย้อมผ้าของบ้านห้วยเฟืองได้อธิบายกรรมวิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมว่า ชาวอิ้วเมี่ยนนิยมย้อมผ้าด้วยสีเดียวเป็นสีดำปนกับสีแดง  โดยเริ่มจากการซื้อผ้าดิบสีขาวจากเมืองเชียงคำ (บางครั้งก็ซื้อผ้าดิบสีดำมาย้อมสีแดงเลย) นำมาผสมกับน้ำปูนขาว แช่ผ้าทิ้งไว้ตอนกลางคืน ตอนเช้านำผ้าไปต้มและกรองด้วยน้ำขี้เถ้า จากนั้นนำผ้าไปตากให้แห้ง เมื่อย้อมสีดำเสร็จแล้วก็ย้อมด้วยสีแดงต่อไป โดยใช้ไม้ไผ่และเปลือกไม้มะดู่มาให้สีแดง โดยนำเปลือกไม้เหล่านี้มาต้มกับแป้งข้าวเหนียว เพื่อให้สีแดงที่สกัดจากต้นมะดู่สามารถย้อมติดผ้า และแช่ผ้าทิ้งไว้ จากนั้นจึงนำผ้าที่ย้อมมาต้มและกรองด้วยน้ำขี้เถ้าและน้ำปูนใส โดยย้อมสีไปเรื่อย ๆ จนครบ 5 ครั้งเพื่อให้ได้สีที่สวย ติดทนนาน ผ้าที่ย้อมจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีจากสีดำสนิทกลายเป็นสีดำปนสีแดงเรื่อ ๆ  จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และตากให้แห้ง  ม้วนผ้าและห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อนำไปปักผ้าต่อไป (สัมภาษณ์, 30 ธันวาคม 2561)