ชื่อที่เรียกตัวเอง
พวน หรือ ไทพวน คนพวนจะนิยมเรียกตนเองว่า ไท-พวน หรือแม้แต่คนลาว (คนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ก็นิยมเรียกคนพวนว่า ไท-พวน ซึ่งหมายถึงคนพวน ลูกหลานที่ได้สืบทอดเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นชาวพวนที่เกิดในประเทศไทยหลายชั่วอายุคนแล้ว จนได้กลายเป็นราษฎรไทยโดยสมบูรณ์จึงเรียกตนเองว่า “ไทยพวน” และไม่นิยมเรียกคนพวนว่า ลาวพวน เนื่องจากคนพวนมีเอกลักษณ์ทางขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจากลาว และมักเรียกคนลาวว่า ลาว (ชัชวาล สุคันธวิภัติ, 2539: 21 อ้างใน กาญจนรัตน์ แปลกวงศ์, 2554: 3)
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก
ลาวพวน เป็นคำกลางทั่วไปที่ชาวบ้านในไทยเรียกกลุ่มพวนในไทย เพื่อขยายถึงแหล่งที่มาดั้งเดิมจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ไทยพวน เป็นคำที่คนอีสานในประเทศไทยใช้เรียกชาวพวน
คนพวนพูดถึงตนเองว่าเป็นผู้มีความรักสงบ โอบอ้อมอารี ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ขยันขันแข็ง จะสังเกตุได้ว่าชาวลาวพวนในปัจจุบันนิยมเรียกตัวเองว่าไทยพวน เนื่องจากคำว่าไทยแสดงตัวตนของความเป็นชาติ ที่ต่างจากชาติพันธุ์ นั่นจึงหมายความว่าพวกเขาเป็นคนไทยเชื้อสายลาวพวน หรือไทพวน ส่วนคำว่าลาวกะเลอนั้นเป็นคำเรียกที่มาจากสำเนียงของชาวลาวพวนที่มีเสียงพูดที่อุดมประด้วยสระเออ ซึ่งภาษาของลาวพวนจะต่างไปจากลาวเวียงเพราะมีความคล้ายภาษาพูดในภาษาผู้ไท หรือไทยล้านนา และคำศัพท์ส่วนใหญ่จะคล้ายกับภาษาไทยอีสาน แต่ภาษาไทยพวนจะมีเสียงญ เพิ่มเสียงนาสิกเข้าไปด้วย และจะไม่มีเสียงช หรือฉ โดยจะออกเสียงเป็น ซ หรือ ส แทน ส่วนตัวรอเรือนั่นจะออกเสียงเป็นฮอ และลอแทน ดังนั้น ภาษาไทยพวนจึงไม่มีการออกเสียงควบกล้ำ
ภาษาไทยพวนเมื่อออกเสียงอักษรกลาง เป็นพยัญชนะต้นชาวไทยพวนจะออกเสียงเป็นเสียงตรีและในคำตายเสียงสั้น คนไทยพวนจะออกเสียงสูง ส่วนเสียงจัตวา ชาวไทยพวนจะออกเสียงต่ำ
ภาษาไทย | ภาษาไทยพวน |
พ่อ |
อี่พ่อ |
แม่ |
อี่แม่ |
จมูก |
ฮูดัง |
ฟัน |
แฮ้ว |
คุณเป็นคนบ้านไหน |
เจ้าเป็นไทบ้านเลอ |
ไปด้วยกันไหม |
ไปนำกันบ๊อ |
ส่วนภาษาเขียนในอดีตชาวพวนจะใช้อักษรไทยน้อย จารึกเรื่องราวทางโลก นิทานพื้นบ้าน และใช้อักษรธรรมจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาลงในใบลาน ปัจจุบันพบได้น้อย (บุษยมาส แดงขำ,2556: 62-63)
เนื้อหาโดย วัลยา นามธรรม นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวัฒนธรรมศึกษา (PhD candidates in Cultural Studies) มหาวิทยาลัยเทสปูร์ (Tezpur University) รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
เอกสารอ้างอิง
บังอร ปิยะพันธ์ (2529) ประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวลาวในหัวเมืองชั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2558) ราชอาณาจักรลาว, กรุงเทพ: เคล็ดไทย
บุษยมาส แดงขำ (2556) วิทยานิพนธ์เรื่อง แนวทางการจัดการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดฝั่งคลอง (ไทยพวน) ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปรารถนา แซ่อึ๊ง (2543) การปกครองของไทยที่มีต่อเมืองพวนและชาวพวนในราชอาณาจักรไทยระหว่าง พ.ศ. 2322-2436, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โพธิ์ แซมลำเจียก. (2537). ตำนานไทยพวน. กรุงเทพมหานคร: สามัคคีสาร
วิเชียร วงศ์วิเศษ. (2525). ไทยพวน กรุงเทพ : วัฒนพานิช
สิลา วีระวงศ์ (2535) ประวัติศาสตร์ลาว, กรุงเทพ: มติชน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) (2559). ความเป็นไทย/ความเป็นไท กรุงเทพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
สภาวัฒนธรรมอำเภอปากพลี และศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก (2548). ราชบุรี: ธรรมรักษ์การพิมพ์
อภิรัชศักดิ์ รัชรีวงศ์ (2543). คนพวนในประเทศไทย, มิถุนายน 2551 (อัดสำเนา)
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
กาญจนบุรี กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ สุโขทัย น่าน อุทัยธานี พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี อุดรธานี เลย พิษณุโลก เพชรบุรี แพร่ ยโสธร หนองคาย อุบลราชธานี | 200000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เมืองพวนและแม่น้ำพวนสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งพำนักดั้งเดิมของคนลาวพวน หรือไทพวน เพราะคนไทนิยมเรียกกลุ่มของตนเองตามภูมิศาสตร์หรือแหล่งกำเนิดของตน เมืองพวนนั้นตั้งอยู่ใกล้กับทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ในพงศาวดารล้านช้างปรากฏพบตำนานของคนไทพวนที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของคนไทสรุปความโดยย่อว่าขุนบรมมีลูกชายเจ็ดคน ได้แยกย้ายกันไปสร้างเมืองต่างๆ โดยบุตรชายคนที่เจ็ดชื่อว่า เจ็ดเจิงหรือเจ็ดเจืองนั้นเป็นผู้สร้างเมืองพวน หรือเชียงขวาง เมืองพวนมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองหลวงพระบาง ในตำนานเมืองพวนได้เล่าถึงการเป็นเมืองพี่เมืองน้องระหว่างเมืองพวนและเมืองหลวงพระบางเอาไว้ว่า “ขุนลอและเจ็ดเจืองผู้น้องตกลงแบ่งเขตแดนหลวงพระบางกับเขตแดนเมืองพวนไว้ต่อกัน คือ เขตแดนเมืองพวนอยู่ทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองเชียงขวางเวลานี้” (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ 2558 )
ชาวลาวพวนเชื่อว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อ้างถึงในกลุ่มไทกลุ่มอื่นๆ เช่น ไทยวน ไทเมา ไทใหญ่ ไทยและลาว ตามประวัติศาสตร์เล่าว่าชาวลาวพวนนั้นก่อตั้งบ้านเมืองของตนเองจนเป็นรัฐเล็กๆ มาเนิ่นนานแล้วบริเวณทุ่งไหหิน ชาวพวนเรียกเมืองของตนเองว่าเมืองพวน มีเมืองหลวงเป็นของตนเองในปัจจุบันคือเมืองคุน
ราวคริสตศตวรรษที่ 16 มีบันทึกว่าเมืองคุนเป็นเมืองที่ใหญ่และสวยงามมีปราการป้องกันเขตแดนทางธรรมชาติที่แวดล้อมไปด้วยภูเขา และป้อมปราการที่ชาวพวนสร้างขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเมืองพวนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนระหว่างเวียดนามและลาว ต่อมาคนสยามก็เข้ามาปกครองทางฝั่งตะวันตก ภายหลังปี 1975 รัฐบาลลาวได้ประกาศให้เมืองพอนสหวันเป็นเมืองหลวงของเชียงของ
ประวัติศาสตร์คนพวนในประเทศไทย
เมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรี ชาวลาวเวียงได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาเมื่อพ่ายต่อสงคราม ปลายพุทธศักราช 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทับไปตีเวียงจันทน์ ภายหลังกองทัพกรุงธนบุรีสามารถยึดเวียงจันทน์ได้สำเร็จใน พ.ศ. 2322 (สิลา วีระวงส์, 2535: 150) ทำให้เกิดการกวาดต้อนครัวเรือนชาวลาวลงมายังกรุงธนบุรี ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมานั้นถูกส่งไปยังเมืองต่างๆ เช่น สระบุรี ลพบุรี นครนายกฉะเชิงเทรา เป็นต้น
หลังจากปีพุทธศักราชที่ 2322 กองทัพกรุงธนบุรีโดยการนำทัพของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์สามารถยึดเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จ ทำให้ทั้งสองพระองค์คือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้นำทัพไปตีเมืองพวนและสามารถยึดเอาเมืองพวนเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีได้ในปีเดียวกันนั้นเอง (คำหมั้น วงกตรัตนะ, 2497:7) ในคราวนั้นยังไม่มีการกวาดต้อนชาวลาวพวนให้เข้ามาอยู่ในเขตพระนครและในพื้นที่อาณาจักรกรุงธนบุรี แต่การกวาดต้อนครัวชาวลาวเวียงและลาวพวนเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายหลังการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในปีพุทธศักราช 2369 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการกวาดต้อนครัวชาวลาวเข้มาในเขตพระนครหลายครั้ง มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ในปีพุทธศักราชที่ 2370, 2371, 2372, 2373, 2378, และ 2380 เพราะสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะมิให้เมืองเวียงจันทน์ตั้งเป็นบ้านเมืองได้อีกต่อไป ดังนั้น การกวาดต้อนครัวชาวลาวเวียงและหัวเมืองใกล้เคียงลงมาให้มากที่สุด (เจ้าพระยาบดินทรเดชา, 2514: 978-979) ผลของการกวาดต้อนดังกล่าวทำให้เมืองเวียงจันทน์มีสภาพกลายเป็นเมืองร้าง
ผลของการปราบกบฏอย่างรุนแรงของอาณาจักรไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้ชาวลาวเวียงและลาวพวนจำนวนมากถูกกวาดต้อนเข้ามาในอาณาจักรไทย จากนั้นครัวชาวได้ถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเมื่อสมัยกรุงธนบุรีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งบริเวณหัวเมืองตะวันออก เช่น เมืองชล เมืองฉะเชิงเทรา เมืองประจิมทบุรี และเมืองนครนายก (บังอร ปิยะพันธุ์, 2529: 77-82)
หลักฐานครั้งสุดท้ายที่ปรากฏว่ามีชาวลาวเวียงและชาวลาวพวนย้ายครัวเรือนมาตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกได้ปรากฏในช่วงปีพุทธศักราช 2403 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์มีนโยบายเกลียดกล่อมชาวลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลาวพวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเป็นจำนวนมาก ด้วยทรงตระหนักดีว่าเมืองพวนนั้นอยู่ใกล้ชิดกับเขตแดนของญวนมาก พระองค์ไม่สามารถดูแลควบคุมเมืองพวนไว้ได้ ทำให้ต้องใช้วิธีโยกย้ายประชากรออกจากพื้นที่เพื่อไม่ให้เหลือเป็นกำลังแก่ฝ่ายญวน ผลจากการย้ายครัวลาวพวนมาอยู่ในไทยทำให้ชาวลาวพวนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองพนมสารคาม เมืองฉะเชิงเทรา
ลาวเวียงและลาวพวนที่ถูกส่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยจะถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้ระบบไพร่เช่นเดียวกับการควบคุมคนไทย และชาวลาวทุกคนจะต้องขึ้นสังกัดและถูกสักข้อมืองบอกสังกัดโดยมีขุนนางลาวเป็นหัวหน้าปกครอง ซึ่งหัวหน้าปกครองชาวลาวจะอยู่ในความควบคุมดูแลของขุนนางไทยอีกต่อหนึ่ง ส่วนขุนนางลาวจะมีตำแหน่งตั้งแต่ปลัดเมือง จางวางกอง นายกอง ปลัดกอง ลงมาถึงนายหมวดและเจ้าหมู่ ซึ่งเป็นตำแหน่งปกครองที่ใกล้ชิดกับชาวลาวมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ชาวลาวปกครองกันเอง ขุนนางไทยมีหน้าที่ควบคุมขุนนางลาวระดับสูงตั้งแต่ตำแหน่งนายกองขึ้นไป เพื่อให้ปฏิบัติตามนโยบายและกฏหมายข้อบังคับของไทย แล้วขุนนางชาวลาวจึงเป็นปกครองและควบคุมชาวลาวอีกต่อหนึ่ง (ปรารถนา แซ่อึ๊ง, 2543: 56)
ทั้งชาวลาวเวียงและลาวพวนถูกบันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับว่าเป็นกำลังสำคัญในการทำส่วยเร่ว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และส่วนทองคำที่ส่งให้รัฐ ทองคำเป็นส่วยอีกประเภทหนึ่งที่รัฐต้องการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวัสดุที่สำคัญในการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัด รวมถึงหล่อพระพุทธรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลาวพวนผู้มีความชำนาญในการทำส่วยทอง เพราะภูมิประเทศเดิมที่เมืองพวน ประเทศลาวนั้นมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ทั้งทองคำ เงินและเหลือ ทำให้ชาวลาวพวนมีความชำนาญในด้านการทำส่วยทองคำเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นชาวลาวพวนจึงมีหน้าที่สำคัญคือทำส่วยทองคำให้แก่รัฐจึงกล่าวได้ว่าชาวลาวเวียงและลาวพวนนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทำนุบำรุงศาสนา มากไปกว่านั้นชาวลาวพวนเองในปัจจุบันสามารถธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องภาษา และธรรมเนียมประเพณีความเชื่อ
สภาพเศรษฐกิจและสังคมชาวไทยพวน
สังคมคนลาวพวนหรือไทพวนนั้นผูกพันอยู่กับอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ นิยมทำเครื่องจักสานไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ กระบุง กระบาย ตะกร้า กะโล่ กระด้ง หมวกกะโล่ งอบ ตะแกรง กระชอน ถังตักน้ำ บุ้งกี๋ กระจาด หรือพัด นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์จบปลา ได้แก่ ข้อง สุ่ม ไซ ชะนาง ตุ้ม อีจู้ กระสุน เป็นต้น ปัจจุบันนี้สังคมคนไทพวนมีพื้นฐานอาชีพเกษตรกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทจังหวัดที่มีชาวพวนอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในประเทศไทย โดยมีค่านิยมส่งลูกหลายให้เรียนสูงๆ เพราะอาชีพเกษตรกรรมนับเป็นอาชีพที่ต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ ทำให้ลูกหลานคนไทพวน ในปัจจุบันหันไปประกอบอาชีพตามค่านิยมของสังคม เช่น รับราชการ ทหาร ตำรวจ หมอ หรือพยาบาล
สังคมคนไทพวนส่วนมากเป็นสังคมชนบท หรือบางพื้นที่เป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท โดยมากในชุมชนจะมีผู้สูงวัย และเด็กอาศัยอยู่ ส่วนกลุ่มวัยกลางคนและวัยรุ่นมักจะนิยมไปศึกษาต่อและทำงานที่ต่างจังหวัดหรือในเมือง หรือในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
อาหารของชาวไทพวนที่มีประจำทุกครัวเรือนคือ ปลาร้า เมื่อมีงานบุญมักนิยมทำขนมจีนและข้าวหลาม ส่วนอาหารอื่น ๆ จะเป็นอาหารง่าย ๆ ที่ประกอบจากพืชผัก ปลา ที่มีในท้องถิ่น เช่น ปลาส้ม ปลาส้มฟัก เป็นต้น
ฮีต 12 หมายถึง จารีต 12 ประการ หรือประเพณี สิ่งที่นิยมนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นขนบธรรมเนียม เช่นเดียวกันประเพณี 12 เดือนในภาคกลาง โดยฮีต 12 ประกอบไปด้วย
ฮีตเดือนอ้าย ได้แก่ เกี่ยวข้าว เฮ้านา เอาแรง นวดข้าว
ฮีตเดือนยี่ ได้แก่ นำข้าวเข้ายุ้ง ทำบุญลานข้าว เอาฟืน เอาแวง งานกินดอง งานบวชนาค
ฮีตเดือนสาม ได้แก่ เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ทำบุญกำฟ้า ทานข้าวหลาม ทานข้าวจี่ เฮี่ยะขวัญ ข้าวเข้ายุ้ง สู่ขวัญข้าว
ฮีตเดือนสี่ ได้แก่ งานประจำปีปิดทองที่วัด งานกินดอง ขึ้นบ้านใหม่
ฮีตเดือนห้า ได้แก่ บุญสงกรานต์ อาบน้ำก่อนกา สูตรเสื้อสูตรผ้า สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ก่อพระทราย
ฮีตเดือนหก ได้แก่ ทำบุญเปตะพี เลี้ยงปู่ตา ส่งกระทง สะเดาะเคราะห์ ทำบุญกลางบ้าน
ฮีตเดือนเจ็ด ได้แก่ สู่ขวัญพระพุทธ บายสีพระสงฆ์
ฮีตเดือนแปด ได้แก่ ทำบุญเข้าพรรษา
ฮีตเดือนเก้า ได้แก่ ประเพณีสารทพวน สู่ขวัญควาย
ฮีตเดือนสิบ ได้แก่ ทานข้าวสะ บุญสลากภัตร
ฮีตเดือนสิบเอ็ด ได้แก่ บุญออกพรรษา ตักบาตรเทโว
ฮีตเดือนสิบสอง ได้แก่ ทำบุญกฐิน บุญพระเวส ลอยกระทง ทานข้าวเม่า เลี้ยงข้าวเม่าปู่ตา
ส่วน คอง 14 นั้นคือ ธรรมนองคลองธรรม 14 ประการ หมายถึงแบบแผนของสังคม แนวทางที่ควรประพฤติปฏิบัติ โดยคอง 14 ประการมีดังนี้
ปัจจุบันความเชื่อต่างๆ นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว แต่ทว่าฮีต 12 คอง 14 เป็นธรรมเนียมเคร่งครัด
ชาวไทพวนเรียกว่าพิธีแห่เขย หากใครจะมาเป็นลูกเขยไทพวนจะต้องสะพายดาบ คล้ายเป็นเครื่องแสดงความแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ และขยันทำมาหากิน นอกจากนั้นยังมีการให้เจ้าบ่าวเหยียบใบตอง แล้วให้สาวพรหมจรรย์ล้างเท้าให้ก่อนขึ้นเรือน และยังมีพิธีสู่ขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาว ให้ศีลให้พรการครองเรือน
มีการทำพิธีกรรมการชักบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย มีความเชื่อว่าผู้ป่วยที่จะไม่รอด ก็จะทำพิธีบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย เพื่อให้ผู้ป่วยตายแบบไม่ทรมาน หรือหากรอดก็คล้ายกลับชาติมาเกิด เนื่องจากมีความเชื่อว่าคนที่ป่วยอยู่นั้นได้ตายจากไปแล้วจึงชักบังสกุลตาย พอเกิดใหม่ก็ชักบังสุกุลเป็น
ประเพณีทานข้าวสะ หรือบุญสลากภัตร
ประเพณีดังกล่าวมักระทำหลังวันสารทพวน ที่เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย โดยมีการทำสลากให้พระจับ เพื่อที่จะได้ถวายของตามสลากนั้น โดยชาวบ้านจะนำข้าวสาร กล้วย อ้อย เผือก มัน และอาหารต่างๆ ที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน ๆ มาถวายพระโดยจะเขียนคาถาว่า กินบ่บก จกบ่ลง หมายถึง กินเท่าไหร่ก็ไม่พร่อง ตักเท่าไหรก็ไม่ยุบ เต็มอยู่เสมอ ใส่ในใบตองให้ทุกคนกลับบ้านไปใส่ในไหข้าวสาร หรือยุ้งฉาง โดยประเพณีดังกล่าวเป็นการทำบุญต่อเนื่องในเดือนเก้า เพราะถือว่าเป็นการทำบุญให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่าวิญญาณจะออกมาท่องเที่ยวได้ในเดือนสิบ
นอกจากนี้ยังมีฮีตเลี้ยงดูพ่อเฒ่า แม่เฒ่า อันหมายถึงปู่ย่า ตายาย บรรพบุรุษของครอบครอบ มีการทำหอ เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว พอถึงขวบปีก็จะเลี้ยงผีหนึ่งครั้ง ในวันแรมสองค่ำ เดือนหก โดยเครื่องเซ่นจะมีขันธ์ห้า หนึ่งชุด หมากพลู บุหรี่ ขันน้ำมนต์ สำรับอาหาร นำมาวางหน้าศาล เพื่อเป็นกุศโลบายให้ญาติพี่น้องมารวมตัวกัน
ประเพณีขึ้นบ้านใหม่
มีความเชื่อว่า เมื่อปลูกบ้านเสร็จได้ทำพิธีขึ้นบ้านใหม่จะได้อยู่เย็นเป็นสุข โดยการขึ้นบ้านใหม่เจ้าของบ้านจะต้องหาบสิ่งของขึ้นบ้าน อันประกอบไปด้วย ไซ หัวหมู แห ไม้ค้อน สิ่วและหอก หลังจากนั้นจะมีคนถือเสื้อ ที่นอน หมอน มุ้ง ถาดข้าวต้ม ขนมหวาน สำหรับทำวัญเรือนเมื่อญาติพี่น้องมาพร้อมหน้ากัน จะเริ่มพิธีสู่ขวัญเรือน โดยตามประเพณีแล้วการนอนเรือนใหม่จะต้องมีคนนอนให้ครบทุกห้องเป็นเวลาสามคืน และในคืนที่สี่เจ้าบ้านจะต้องจัดทำข้าวต้ม ขนมหวานเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่นอนเป็นเพื่อน
ประเพณีกำฟ้า
ประเพณีกำฟ้า กำหมายถึง ยึด หรือถือ กระทำในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 สำหรับชาวไทยพวนนั้น ถือเป็นวันระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษบนสวรรค์ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ หรือผู้นำชุมชน และยังมีการแสดงความเคารพต่อเทพยดาอีกด้วย เริ่มแรกของพิธีกรรมมักจะเป็นการแสดงความเคารพต่อกษัตริย์ ต่อมาจะเป็นผู้นำชุมชน และเทพยดา
ประเพณีกำฟ้าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้อง คือให้เริ่มกำฟ้า หรือหยุดทำงานทุกชนิด ตั้งแต่เช้าถึงเย็นทำใด้เฉพาะทำความสะอาดบ้านเรือน และหุงหาอาหารเท่านั้น เพราะเชื่อว่าห้ามทำงานที่ก่อให้เกิดเสียงดังแข่งกับเสียงฟ้าร้อง เป็นการลดบาปและฝนจะตกตามความเชื่อของชาวไทยพวนที่ว่า ฟ้าบ่ละเดือนสาม ฝนบ่อฮามเดือนสี่ หมายถึงฟ้าจะร้องในเดือนสามและฝนจะตกในเดือนสี่
การฟังเสียงฟ้าร้องของชาวไทพวนนั้นมีความหมาย กล่าวคือ หากฟ้าร้องมาจากทิศใต้ ทำนายว่าจะอดเกลือ หากฟ้าร้องมาจากทางทิศเหนือทายว่าจะอดข้าว หากฟ้าร้องมาจากทางทิศตะวนตก จะเอาจา หรือจอบมาทำหรอก ฟ้าร้องทางทิศตะวันออกจะเอาหอกมาทำจา หมายถึง หากฟ้าร้องทางทิศใต้ฝนจะแล้ง ข้าวกล้าในนาจะเสียหาย ชาบ้านจึงอดเกลือ หากฟ้าร้องทางทิศเหนือ ฝนจะตกดีทำนาจะดี หากฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ฝนจะน้อย เกิดคความแห้งแล้ง ทำนาไม่ได้ผล ทำนาลุ่มดี นาในที่ดอนเสียหาย ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านเดือดร้อน เกิดการทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟัน และหากฟ้าร้องมาจากทิศตะวันออก ชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีรบราฆ่าฟัน ไม่มีโจรผู้ร้าย เป็นต้น
ประเพณีสงกรานต์ของคนไทยพวน
ความเชื่อของประเพณีสงกรานต์หรือมหาสงกรานต์คือการเปลี่ยนผ่าน นับเป็นการขึ้นปีใหม่ และการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ถือว่ามีความสำคัญกับชาวไทยพวนเป็นอย่างมาก เพราะคนในชุมชนคือเครือญาติ นอกจากนี้แล้วชาวไทยพวนยังมีประเพณีอาบน้ำก่อนกา สูตรเสื้อสูตรผ้า ที่จะทำร่วมกันในช่วงประเพณีสงกรานต์ โดยประเพณีอาบก่อนนกกาจะเป็นการชำระสิ่งที่ไม่ดีออกจากร่างกายเพื่อความเป็นสิริมงคล ต้อนรับปีใหม่ โดยเป็นอุบายให้ผู้คนขยันทำงาน อาบน้ำก่อนกา มาก่อนไก่
ส่วนประเพณีสูตรเสื้อ สูตรผ้านี้ มักทำทุกบ้านไทพวน โดยชาวบ้านจะจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าบุคคลในครอบครัวทุกคน คนละหนึ่งตัว เทียนที่มีความยาวรอบศรีษะของทุกคน หรือความยาวจากศอกถึงปลายก้อย เรียก ศอกก้อย หรือจากคอหอยถึงสะดอก เรียก คาดคีง แล้วใช้เล็บหรือมีดจักรเทียนเบาๆ เป็นขีดให้เกินอายุของเจ้าของเทียนไปหนึ่งปี นอกจากนี้ยังต้องเตรียม ข้าวปั้นเก้าก้อน กล้วยเก้าผล ขนมตัดเก้าชิ้น หรือผลไม้ ขนมอื่นๆ ตามความต้องการอีกเก้าชิ้น ธูปและดอกไม้อย่างละห้าดอก
เมื่อเตรียมของเสร็จสิ้นแล้ว ชาวบ้านจะนิมนต์พระมาสวดสะเดาะเคราะห์เพื่อความสุขความเจริญ และความร่มเย็นของครอบครัว สุรีย์ สะเภาทองกล่าว่า ประเพณีสูตรเสื้อ สูตรผ้า เป็นเหมือนการสะเดาะเคราะห์ของคนไทยพวนทุกบ้าน จะต้องนำสิ่งของใส่ถาดสิ่งของไปกระทำกันที่วัด นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา ร่วมงานสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผุ้สูงอายุ ก่อกองทราย ทำบุญให้ผีบรรพบุรุษ รับพรจากพระสงฆ์ ร่วมพิธีสูตรเสื้อสูตรผ้าไทยพวน เพื่อความเป็นสิริมงคลในการรอบต้นปีใหม่ และยังมีกิจกรรมบันเทิงต่างๆ อีกมากมายในปัจจุบัน เช่น รำวงพื้นบ้าน วัฒนธรรมไทยพวน เป็นต้น
ชาวไทพวนนับถือศาสนาพุทธและเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ในแง่ของความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและผี ชาวไทพวนศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทพวนกับวัดและชุมชน ถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและธำรงสังคมของชาวไทพวนเอาไว้ นอกจากนั้นความเชื่อเรื่องผี โดยเฉพาะผีปู่ตาหรือผีตาปู่ ก็ยังปรากฏในทุกสังคมของชาวไทพวนในประเทศไทย สังเกตได้จากการมีศาลผีปู่ตาทุกหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าผีปู่ตาคือผีอารักษ์ ผู้ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน มักจะสร้างศาลหันไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือของหมู่บ้าน และจะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาทุกปีในเดือนสามและเดือนหก โดยจะจัดปีละสองครั้ง
พิธีเลี้ยงผีปู่ตานั้นจัดขึ้นปีละสองครั้ง โดยแต่ละบ้านในหมู่บ้านจะนำเครื่องเซ่นมาบูชาเช่น ไก่ต้ม เหล้า หมาก พลู บุหรี่ ธูปเทียนและเงิน 1 บาท เมื่อเสร็จพิธีจะมีการถวายพระและแจกจ่ายกันร่วมรับประทาน แต่จะไม่นำกลับบ้าน หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่วัดและทำกระทงขึ้นมาจากกาบกล้วย ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม ตัดกาบกล้วยให้เป็นรูปคนผู้หญิงหรือผู้ชาย และสัตว์ต่างๆ มีการปั้นข้าวดำ ปั้นข้าวแดง ให้ผีไม่มีญาติ ใส่ในกระทง ให้พระสงฆ์สวดสะเดาเคราะห์ และชาวบ้านจะร่วมกันอธิฐานว่าเศษอาหารมงคลนี้แบ่งเอามาให้ลูกหลานกินเป็นมงคล ขออย่าให้ได้เจ็บได้ป่วย ทำมาค้าขึ้น อยู่เย็นเป็นสุข มีโชคลาภ เพื่อให้มีเงินทองมาบูรณะศาลผีปู่ตาต่อไป
หลังจากนั้นอาจมีพิธีกรรมปลุกเสกหญ้าคา น้ำ และทราย โดยทุกบ้านจะมีการนำหญ้าคามาคนละหนึ่งกำ เสียบเอาไว้ที่หลังคาบ้าน น้ำหนึ่งแก้ว และทรายหนึ่งกระป๋อง นำไปหว่านรอบๆ บ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีจะเข้าบ้าน
ลำพวน
ลำพวนเป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทพวนที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นิยมร้องรำกันในอำเภอปากพลี โดยมีหมอลำชาย หมอลำหญิงจะร้องโต้ตอบกันครั้งละ 1 คู่ หรือ 2-3 คู่ สลับสับเปลี่ยนกันไป มีการเป่าแคนประกอบ เมื่อหมอลำร้องถูกใจ หรือร้องกลอนจบแต่ละตอน ลูกคู่หรือผู้ฟังจะพากันส่งเสียงร้องปี๊บ เพื่อความสนุกสนานเร้าใจ
การลำพวนนั้นแต่เดิมฝ่ายชายจะนั่งยองๆ เอามือเท้าคางหันไปทางฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงจะนั่งพับเพียบเอามือเท้าคางร้องโต้ตอบฝ่ายชาย ส่วนคนดูจะนั่งล้อมวงกัน แต่ปัจจุบันนี้ ผู้คนให้ความสนใจลำพวนกันมากขึ้น การนั่งยองหรือพับเพียบ ทำให้คนดูมองไม่เห็น จึงเปลี่ยนให้คนร้องทั้งสองฝ่าย ร่วมทังคนเป่าแคน ยืนขึ้น เพื่อให้คนดูสามารถมองเห็นได้อย่างทั่วถึง
เนื้อหาของเพลงลำพวน จะเป็นเรื่องการไถ่ถามสารทุกข์ สุกดิบ การเกี้ยวพาราสี ตลอดจนเรื่องทั่วๆ ไป โดยลำพวนจะมีการติดเพิงแคน หรือคนเป่าแคน มีการนำเงินไปเสียบที่ปลายแคนคล้ายเป็นรางวัล หรือค่าตอบแทน เนื่องจากการเล่นลำพวนนี้จะรำกันทั้งวัน เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านไม่มีอะไรทำ พอตกกลางดึกบ้านไหนบวชนาคหรือมีงานบุญ ก็มักจะมีลำพวน ซิงซู้กัน หรือต่อกลอนกันทั้งคืน คนดูก็จะนั่งล้อมวงกัน ผู้หญิงผู้ชายหันหน้าใส่กัน ตรงกลางมีเชี่ยนหมาก ขันน้ำ และคนเป่าแคน
การละเล่นดังกล่าวนิยมเล่นในเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุญกฐิน สงกรานต์ หรืองานบุญอื่นๆ ที่เล่นตั้งแต่เวลากลางคืนไปถึงรุ่งเช้า ปัจจุบันยังพบการเล่นลำพวนแต่พบน้อยมาก
รำโทน
การเล่นรำโทน จะใช้กลองรำมะนา หากไม่มีจะใช้ปี๊บน้ำมันแทน กองเชียร์ร้องเพลงก็แต่งกันในวงรำโทนนั้นเอง จะออกมารำกันเป็นคู่ๆ ผู้หญิงจะทำท่าไปตามเนื้อเพลงที่ร้อง ส่วนการแต่งกายนั้นนางรำมักจะนุ่งกระโปรงยาว เสื้อตามที่จะหากได้ ถ้าเล่นในหมู่บ้านก็จะนิยมใส่ผ้าถุง
ตีกลองทาน
กลองทานเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นกลองขนาดใหญ่นิยมตีที่วัด ในหมู่บ้านคนพวน ยามมีงานบุญ งานทานจะต้องตีบอกให้รูว่าตอนนี้มีงานบุญและขอเชิญให้มาร่วมช่วยกัน เมื่อชาวบ้านได้ยินเสียงกลอง แสดงว่ามีงานบุญแน่แล้ว ใช้ผู้แสดงหรือผู้เล่น 3 คน มีกลอง 1 ใบ ฆ้อง 2 ใบ และฉาบ 1 คู่ ร่วมกันตีให้เข้าจังหวะ
ตัวอย่างเพลงลำพวน
แม่น....ทว่าโอ้ .... คนงามเอย พี่น้องฮักเอย
เฮาก็เนาว์ไว้ในห้อง หวายทองบ้านเพิ่นว่า
ตำบลนั้นหนาชื่อเกาะหวาย อำเภอนั้นชื่อปากพลี
นครนายกนั้นคือจังหวัด เฮาอยุ่มาแต่น้อย
เฮากะกลอยใจเศร้า นำไทยพวนบ่ฮู้ส่วง
ชื่อบ่ดังสะท้าน ดั่งบ้านอื่นเขา
อันไทยพวนเฮานี้ จวบกันแล้วเว้าพวนกันแด่แม้
คนฮุ้จักพวนหลาย ชื่อพวนกะดังก้อง
คิดบึ่งแต่พี่น้องแม้ว ดอกแก้วฮ้อกะเหรี่ยง
ชื่อเพิ่มดังสะท้อน คนฮู้ยิ่งกว่าพน
หากว่าจวบกันแล้ว เฮ้อพากันเวว้าภาษาเหง้าแห่งพวน
อย่าเฮ้อเขาดูแคลน จั่งจี่มีคนฮู้
อย่าเฮ้อมันสูญเซี้ยง ภาษาพวนซิดับชาติ
อยากเฮ้อโลกฮู้ไว้ พวนนั้นก่หามี..นั่นละเนอ....
การละเล่น นางด้ง นางสุ่ม นางลิลม นางสะ และนางกวัก
เป็นการละเล่นที่แฝงไปด้วยความเชื่อเรื่องผี ของคนไทยพวน โดยกระทำเพื่อติดต่อวิญญาณของผู้ตายไปแล้ว ให้กลับมาเพื่อถามสารทุกข์สุกดิบและเรื่องเราวต่างๆ ว่าผู้ตายต้องการอะไรมีความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อทางญาติจะได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ มีการถามถึงเนื้อคู่ โชคลาภกับวิญญาณที่มาสิงสู่ได้อีกด้วย โดยการละเล่นดังกล่าวคล้ายกับการดูดวง ทำให้ผู้มาร่วมพิธีเกิดความกระจ่าง โดยมีตัวแทนของผู้เล่นที่มีอาวุโสเป็นคนเชิญดวงวิญญาณ แล้วทำพิธีขอขมาลาโทษต่อเจ้าที่เจ้าทางก่อนเล่นอีกด้วย
Access Point |
---|
No results found. |
ชาวพวน เคลื่อนย้ายมายังประเทศไทยและตั้งชุมชนมาอย่างยาวนาน กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน โดบเฉพาะชาวพวนที่บ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวีดลพบุรี ถือเป็นชุมชนชาวพวนที่คงอัตลักษ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งด้านอาหาร บ้านเรือน การแต่งกาย ประเพณีวัฒนธรรม โดยมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตนเองไว้ที่วัดบ้านทราย