กลุ่มชาติพันธุ์โย้ยจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได อาศัยอยู่หนาแน่นในเขตพื้นที่อำเภออากาศอำนวย อำเภอวานรนิวาส อำเภอพังโคน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ตามประวัติเล่าว่ากลุ่มชาติพันธุ์โย้ยแต่เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ต่อมาได้ถูกเกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนให้เข้ามายังฝั่งขวาแม่น้ำโขงในช่วงสงครามระหว่างเวียงจันท์กับกรุงเทพฯ อันเกิดจากกรณีของเจ้าอนุวงศ์หรือไชยราชาธิราชที่ 3 (พ.ศ.2369-70) เป็นเหตุ ซึ่งกลุ่มไทโย้ยที่อพยพเข้ามาในช่วงนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก เป็นพวกไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองห้อมท้าวฮูเซ แล้วไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านม่วงริมห้วยยาม ต่อมาในพ.ศ.2380 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวย ก่อนจะลดฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวยในเวลาต่อมา กลุ่มที่สอง เป็นพวกไทโย้ยที่อพยพติดตามพระสุนทรราชวงศาไปอยู่เมืองยโสธร โดยได้ไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านกุดลิงในท้องที่อำเภอเสลภูมิ (ติดเขตอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด) ภายหลังได้ย้ายครัวกลับมาใกล้กับที่ตั้งบ้านม่วงริมยามโดยยังใช้ชื่อบ้านเดิม ครั้นใน พ.ศ.2404 จึงได้รับโปรดเกล้าฯยกขึ้นเป็นเมืองวานรนิวาส กลุ่มที่สาม เป็นพวกไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว ได้มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง ครั้น พ.ศ.2405 ทรงโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นเมืองสว่างแดนดิน ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งเมืองอยู่หลายครั้งจนมาตั้งที่บ้านหัน (ตัวอำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน) นอกจากนี้ยังมีชุมชนโย้ยขนาดเล็กที่กระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่อำเภออากาศอำนวย อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส และอำเภอพังโคน
ปัจจุบันชุมชนไทโย้ยโดยภาพรวมกำลังอยู่ในสภาพเผชิญและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในสังคมไทย ทั้งนี้ชุมชนโย้ยในหลายพื้นที่ต่างมีความพยายามที่จะสืบสานและฟื้นฟูรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะเป็นพื้นที่ในการแสดงตัวตนและความภาคภูมิใจต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองแล้ว ยังเกิดจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ได้แสวงหาและหยิบยกเอาความหลากหลายของชาติพันธุ์เป็นจุดขายเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะตัวอำเภออากาศอำนวยนั้นนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวโย้ยอาศัยอยู่มากที่สุดและมีความโดดเด่นชัดเจนในการนำเสนอวัฒนธรรมไทโย้ยผ่านวิธีการและรูปแบบต่างๆ ดังเช่น การจัดงานไหลเรือไฟในช่วงออกพรรษา หรือ “วันไทโย้ย” เป็นประจำทุกปี โดยตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นการดำเนินที่เกิดจากการรวมตัวและสนับสนุนของผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ชาวไทโย้ยได้รำลึกถึงรากเหง้าความเป็นมาของชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ของชาวไทโย้ย นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอและจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดทั้งสถานศึกษาและโรงเรียน จนนำไปสู่การตั้งแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทโย้ยขึ้นมา เช่น การตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทโย้ยในโรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา หรือการตั้งศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชของเทศบาลตำบลอากาศอำนวย เป็นต้น
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย ไทโย้ย โย้ย โย่ย
เงื่อนไขที่ใช้ในการกำหนดชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ทางวิชาการ กลุ่มชาติพันธุ์โย้ยเรียกตัวเองว่า "ลาวย้อย" “โย้ย” หรือ “โย่ย” ในบางครั้งคนจะเรียกไทโย้ยว่า “อี้” หรือ “ไย” โย้ยแต่เดิมจะตั้งบ้านเรือนอยู่ที่มณฑลไกวเจา กวางสี ประเทศจีน คนจีนจะเรียกว่า "แข่" (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 10) หรือ “สร้อง” (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 37) ส่วนในเวียดนามจะเรียกว่า “โด้ย” (Dioi หรือ Dioy) (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 36) ซึ่งเขียนตามอักขระวิธีของภาษาสเปน ซึ่งคำว่าโย้ยแปลว่า “คน” และไทยังแปลว่า “คน” ดังนั้น เมื่อเรียกว่าไทโย้ยจึงมีความหมายว่า ”คน คน” " (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 10) เช่นเดียวกับชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ซึ่งคำว่า “ผู้” แปลว่า “คน” และความหมายดั้งเดิมของคำว่า “ไท” หรือ “ไต” คือ “คน” ซึ่งเป็นการยืนยันว่าตนเองเป็น “คน” โดยใช้คำว่า “ผู้” นำหน้าชื่อ การที่พวกผู้ไทนำเอาคำ “ผู้” เข้าประกอบข้างหน้า ดูเหมือนจะยืนยันให้หนักแน่นขึ้นอีกว่าตนคือ “คน” เป็นการซ้อนคำให้แจ่มชัด (จิตร ภูมิศักดิ์, 2544) ในฐานะ “คนที่มีอารยะ” (civilized man) ไม่ใช่คนป่า คนเถื่อน ไร้อารยธรรม
ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์โดยคนอื่น ไทโย้ย ไทย้อย อี้ ไย สร้อง โด้ย แข่
การเรียกขาน
การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์โย้ย ตามที่ปรากฏในเอกสารทางวิชาการและสื่อรูปแบบต่าง ๆ มักเรียกคนกลุ่มนี้ด้วยคำว่า “โย้ย” “ไทโย้ย” และ “ไทยโย้ย” เช่น “การปรับปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย ตำบลศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร” (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540) “วิถีการดำเนินชีวิตของชาวไทยโย้ยบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร” (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541) “ลักษณะชาติพันธุ์ไทโย้ยบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร” (พรรณอร อุชุภาพ, 2538) “วัฒนธรรมชาวไทโย้ย บ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร” (ลัดดา พนัสนอก, 2538) “วิถีครอบครัวและชุมชนชาติพันธุ์ไทยโย้ย บ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร” (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคณะ, อ้างแล้ว) และ “ศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิตของชาวไทโย้ยที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร” (ภัทราวุฒิ ปัญจันทร์สิงห์, 2561) ส่วนชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ในสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น สื่อประชาสัมพันธ์ การจัดงาน “วันไทโย้ย” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณหอปู่ตา อำเภออากาศอำนวย รายการนักข่าวพลเมือง ตอน “เผ่าไทโย้ย ในงานวันผู้ไทโลก” รายการวันใหม่ Thai PBS ตอน “วิถีไทโย้ย” กลุ่มสาธารณะบนโลกสื่อสารออนไลน์ภายใต้ชื่อกลุ่ม “สนทนาตามประสาไทโย้ย” สถานีวิทยุคนเมืองโย้ย FM100.00 MHz สกลนคร และเพลง “เมืองโย้ยที่รัก” (ดังตัวอย่างข้างบน) รวมถึงในบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้ทรงบันทึกไว้ขณะเดินทางมามาตรวจเยี่ยมมณฑลอุดรและมณฑลอีสาน ได้พบปะผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ความว่า “ในหมู่ราษฎรมีคนไทยโย้ยคนหนึ่งแต่งตัวอย่างคนพื้นเมือง ว่ามาจากเมืองอากาศอำนวย กับมีพวกกะโซ้ซึ่งจะได้พบต่อไปมาด้วย” (ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2555) เป็นต้น
เนื้อหาโดย ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
ปีงบประมาณ 2562 , วันที่อัพโหลด ; 27 กันยายน 2562
เอกสารอ้างอิง
สัมภาษณ์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
สกลนคร เป็นต้น | 50000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ตามประวัติอ้างว่ากลุ่มชาติพันธุ์โย้ยแต่เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่มณฑลไกวเจา กวางสี ประเทศจีน คนจีนจะเรียกโย้ย ว่า “สร้อง” ส่วนในเวียดนามจะเรียกโย้ย ว่า “โด้ย” ตามตำนานเล่าว่ากลุ่มโย้ยได้อพยพย้ายที่อยู่ในช่วงที่เกิดศึกเจือง ซึ่งเป็นการทำสงครามระหว่างแคว้นซำเหนือกับไทหว่า ซึ่งในการอพยพขณะนั้นมีพญาท้าวยี่หรือท้าวเจือง เป็นหัวหน้ากลุ่มในการอพยพ โดยมาตั้งที่อยู่ในบริเวณบ้าน “ห้อมท้าวฮูเซ” หรือ “ฮ่อมท้าวฮูเซ” แขวงคำม่วน สปป.ลาวปัจจุบัน (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 36) จากนั้นได้อพยพมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงในช่วงสงครามระหว่างเวียงจันท์กับกรุงเทพฯ ที่เกิดจากกรณีของเจ้าอนุวงศ์หรือไชยราชาธิราชที่ 3 (พ.ศ.2369-70) ได้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงเทพฯในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ครั้นกองทัพกรุงเทพฯปราบกบฏเสร็จแล้ว จึงได้เกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายให้ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งรวมทั้งกลุ่มครัวไทย้อยซึ่งมีท้าวสีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคดเป็นผู้นำด้วย โดยได้อพยพไพร่พลกว่า 2,339 คนเข้ามาอาศัยอยู่แถบแม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำยามตามลําดับ จนกระทั่งได้มาตั้งถิ่นฐานบริเวณ “บ้านม่วงริมยาม” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตเมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองสกลนครต่อกับเมืองนครพนม (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2396: เลขที่ 31)
ไทยโย้ยที่บ้านม่วงริมยามได้แยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีท้าวสีสุราชเป็นหัวหน้า กับกลุ่มที่มีท้าวจันโสมเป็นหัวหน้า ซึ่งกลุ่มหลังนี้ได้ขอสมัครไปขึ้นกับเมืองยโสธรเพราะมีความจงรักภักดีกับพระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย) ซึ่งเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วได้เดินทางกลับเมืองยโสธร ครัวโย้ยกลุ่มดังกล่าวจึงขอติดตามกลับไปด้วย โดยได้มาตั้งอยู่ที่บ้านกุดลิง(เขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ขึ้นกับเมืองยโสธร ต่อมาท้าวจันโสมเห็นว่าบ้านกุดลิงคับแคบลำบากในการทำมาหากิน จึงได้อพยพกลับมาใกล้ที่ตั้งถิ่นฐานครั้งแรกใกล้กับบ้านม่วงริมยาม โดยได้มาตั้งอยู่บ้านกุดแร่ (ตำบลแร่ อำเภอพังโคนในปัจจุบัน) และยังคงใช้ชื่อเดิมของ "บ้านกุดลิง" ด้วย ภายหลังได้อพยพครัวโย้ยหนีความแห้งแล้งมาอยู่ “บ้านชุมแสงหัวนา” โดยยังยังคงใช้ชื่อบ้านกุดลิงเช่นเดิม ต่อมาใน พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองสกลทวาปีน "เมืองสกลนคร" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็น “เมืองวานรนิวาส” ขึ้นกับเมืองสกลนคร โดยตั้งท้าวจารคำ (ผู้นำคนใหม่ที่รับช่วงต่อท้าวจันโสม) เป็นหลวงประชาราษฎร์รักษา (ต้นตระกูลศรีถาพร) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรก (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ, 2540: 32)
สำหรับกลุ่มโย้ยที่ยังอยู่ที่บ้านม่วงริมยามนั้น ต่อมาใน พ.ศ.2396 พระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย) เจ้าเมืองนครพนมและควบตำแหน่งเมืองยโสธรด้วย ได้ขอพระราชทานโปรดเกล้าฯยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองอากาศอำนวย โดยขอให้ท้าวสีสุราชเป็นเป็นหลวงพลานุกูลดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ท้าวจันทนามเป็นราชวงศ์ ท้าวนามโคดเป็นราชบุตร พร้อมทั้งราชทานเครื่องยศตามตำแหน่ง (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2396, เลขที่ 6) ครั้นต่อมาใน พ.ศ. 2457 เห็นว่าการคมนาคมและการติดต่อไปมาระหว่างอำเภออากาศอำนวยกับจังหวัดนครพนมไม่สะดวกเพราะอำเภออากาศอำนวยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภออากาศอำนวยเป็นตำบลอากาศ แล้วให้ขึ้นต่อกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ก่อนจะย้ายให้มาขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร (สํานักงานเทศบาลตําบลอากาศอํานวย, 2548: 4)
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้กับเมืองมหาชัยกองแก้ว ซึ่งมีท้าวเทพกัลยาเป็นผู้นำ โดยได้อพยพมาตั้งบ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง (บ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณานิคมในปัจจุบัน) ครั้นใน พ.ศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกบ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางเป็นเมืองสว่างแดนดิน ขึ้นกับเมืองสกลนคร และแต่งตั้งท้าวเทพกัลยาเป็นพระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์ ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งเมืองมายังบ้านเดื่อศรีคันไชย (บ้านเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาสในปัจจุบัน) จากนั้นในพ.ศ. 2424 จึงมีการย้ายที่ตั้งเมืองไปที่บ้านโคกสี (บ้านโคกสี อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน) ก่อนจะย้ายมาตั้งที่บ้านหัน (อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน) ภายหลังใน พ.ศ. 2445 โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนระเบียบการปกครองใหม่ โดยเปลี่ยนเมืองเป็นอำเภอ จึงตั้งอำเภอบ้านหันขึ้นมา โดยมีพระสิทธิศักดิ์เป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมา พ.ศ. 2482 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอบ้านหันมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 30)
ในส่วนของตำบลอากาศอำนวยนั้น ภายหลังใน พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มาตรวจราชการที่ภาคอีสาน และได้มาตรวจเยี่ยมที่ตำบลอากาศอำนวย ได้พิจารณาเห็นว่าตำบลอากาศอำนวยรวมทั้งตำบลวาใหญ่ ตำบลโพนแพง ตำบลโพนงาม ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวานรนิวาสมาก ซึ่งทำให้การติดต่อราชการของราษฎรกับอำเภอไม่สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นท้องที่ที่มีการแทรกซึมและเผยแพร่ลัทธิคอมมูนิสต์อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเห็นว่าทั้ง 4 ตำบลนี้มีราษฏรอาศัยอยู่หนาแน่นจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวย โดยขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2506 และต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 (องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร, 2528: 45)
จากข้างต้นอาจกล่าวกลุ่มชาติพันธุ์โย้ยได้อาศัยอยู่หนาแน่นในเขตตัวเมืองอากาศอำนวยและเมืองวานรนิวาสโดยในอดีตมีฐานะเป็นเมืองใหญ่ และบางส่วนได้อาศัยกระจัดกระจายในเขตพื้นที่รอบนอกตามหมู่บ้านต่างๆ รวมทั้งบางส่วนของอำเภอพังโคนและอำเภอสว่างแดนดินแต่มีจำนวนไม่มาก ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์โย้ย โดยเฉพาะในอำเภออากาศอำนวย ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวโย้ยอาศัยอยู่มากที่สุดนั้น โดยชาวโย้ยได้กระจุกตัวหนาแน่นแถบตำบลอากาศ ซึ่งประกอบด้วย 18 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนแดง บ้านนายอ บ้านนาเมืองใหญ่ บ้านหนองตาไก้ บ้านนาเมืองน้อย บ้านนายอใต้ รวมทั้งบ้านอากาศซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลอากาศอำนวยอีก 11 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 9, 10, 14,15,16,17,18 ทั้งนี้อำเภออากาศอำนวยได้มีความพยายามในการสืบสานและฟื้นฟูรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และสร้างอัตลักษณ์โย้ยอย่างโดดเด่นชัดเจน ผ่านการนำเสนอวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งการละเล่น ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ โดยมีการจัด “วันไทโย้ย” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรษ เฉลิมฉลองชาติพันธุ์ของตนเองและเผยแพร่อัตลักษณ์ของชาวไทโย้ยต่อสาธารณะ นับว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่ชาวโย้ยในอำเภออากาศอำนวยได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นมา โดยในงานจะมีทั้งการแสดงรำบูชาถวายหอปู่ตา การแสดงแสง สี เสียงเล่าเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ และขบวนแห่วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมต่างๆของไทโย้ย เป็นต้น
ตามประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานจะเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ได้อพยพมาจากบ้าน “ห้อมท้าวฮูเซ” หรือ “ฮ่อมท้าวฮูเซ” แขวงคำม่วน สปป.ลาวปัจจุบัน ซึ่งตั้งใกล้กับแม่น้ำโขง แล้วมาตั้งชุมชนอยู่ที่บริเวณ “บ้านม่วงริมยาม” (เทศบาลตำบลอากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร) ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำยามอันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทั้งนี้สภาพพื้นที่ตั้งชุมชนนั้นเนื่องจากที่ตั้งเทศบาลตำบลอากาศอำนวยมีอาณาเขตอยู่ใกล้กับเทือกเขาภูพานที่ทอดเป็นแนวยาวด้านทิศใต้ และค่อยลาดต่ำลงมายังทางทิศเหนือและทิศตะวันออกโดยมีแม่น้ำยามไหลผ่าน จึงทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม ดังนั้น ในช่วงหน้าฝนจึงทำให้พื้นที่แถบนั้นน้ำท่วมเกือบทุกปี ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นโคกและป่าโปร่ง ซึ่งในระยะแรกของการตั้งถิ่นฐานชาวโย้ยจะตั้งบ้านเรือนใกล้กับลำน้ำยาม โดยกระจายตัวเรียงยาวไปตามแนวการไหลของลำน้ำ (Line Settlement) จากนั้นจึงค่อยๆขยายตัวมาทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งในปัจจุบันพบว่าบ้านเรือนของผู้คนส่วนใหญ่ได้กระจายไปตามแนวยาวตามถนนที่ตัดผ่าน ดังนั้น ด้วยเหตุที่บริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ทามน้ำท่วมถึง (flood land) ในลักษณะเป็นลานตระพักซึ่งมีระดับน้ำขึ้นน้ำลง โดยมักเป็นบริเวณริมตลิ่งหรือชายฝั่งของลำน้ำที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ(wet land) ปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดส่วนใหญ่เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ทั้งไม้ยืนต้น พืชคลุมดินและพืชน้ำต่างๆ จึงทำให้ในอดีตบริเวณดังกล่าวถูกใช้เป็นพื้นที่ทำกิน เช่น เก็บหาอาหารป่าต่างๆ รวมทั้งหาปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ โดยเฉพาะทำนาทามเพราะมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทั้งยังได้อาศัยแม่น้ำยามและลำน้ำสงครามเป็นเส้นทางการคมนาคมเพราะสามารถเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงได้
เช่นเดียวกับชาวโย้ยที่ไปตั้งชุมชนอยู่ที่อื่นใกล้เคียงที่มักตั้งชุมชนใกล้แหล่งน้ำ เช่น กลุ่มโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาซึ่งได้มาตั้งบ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง (บ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณานิคมในปัจจุบัน) หรือกลุ่มที่ตั้งอยู่บ้านกุดลิง (อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน) ซึ่งได้อพยพกลับมาตั้งอยู่ใกล้ชุมชนบ้านม่วงริมยาม หลังจากย้ายตามพระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย) ไป ทั้งนี้ไทโย้ยที่มาจากบ้านกุดลิง เมืองยโสธรได้มาตั้งอยู่บ้านกุดแร่ (ตำบลแร่ อำเภอพังโคนในปัจจุบัน) แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมของ "บ้านกุดลิง" ด้วย ภายหลังได้อพยพครัวโย้ยหนีความแห้งแล้งมาอยู่ “บ้านชุมแสงหัวนา” โดยยังคงใช้ชื่อบ้านกุดลิงเช่นเดิม ต่อมาใน พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านกุดลิงและเปลี่ยนขึ้นเป็น “เมืองวานรนิวาส” ซึ่งเป็นชื่อที่ล้อกับชื่อเดิมนั้นเอง อย่างไรก็ตาม จากชื่อบ้านนามเมืองเดิมจะเห็นว่ากลุ่มไทโย้ยดังกล่าวได้ตั้งชุมชนอยู่ใกล้แหล่งน้ำ คือ กุด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำปลายด้วนอันเกิดจากการเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำสายหลัก เข้าใจว่าช่วงที่ไปตั้งชุมชนที่เมืองยโสธรนั้นคงไปตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำชี และแม้ย้ายกลับมาในบริเวณตัวอำเภอวานรนิวาสในปัจจุบันก็ยังคงตั้งชุมชนใกล้แหล่งน้ำ ทั้งนี้จากชื่อบ้านกุดแร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำยาม ที่ไหลผ่านเทศบาลตำบลวารนรนิวาสทางด้านทิศตะวันตกแล้วจึงค่อยขยายตัวชุมชนมาทางด้านตะวันออกดังปรากฏในปัจจุบัน
นอกจากชุมชนโย้ยที่กระจุกตัวในตัวเมืองอากาศอำนวยและวานรนิวาสแล้ว ยังมีชุมชนโย้ยที่อยู่รอบนอกอีกหลายชุมชนที่ได้แยกออกจากชุมชนใหญ่เพื่อแสวงหาแหล่งทำกินใหม่ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ชุมชนโย้ยที่บ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยเดิมนั้นชาวบ้านโพนแพงเองอยู่ที่บ้านชาด (ปัจจุบันเป็นบ้านร่าง) ซึ่งก็แยกออกจากบ้านกุดลิง(วานรนิวาส)อีกทอดหนึ่งเช่นกัน โดยบ้านชาดตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกห่างจากบ้านกุดลิงราว 1 กิโลเมตร สำหรับสาเหตุที่แยกจากบ้านชาดมาเพราะเกิดโรคระบาด บางพวกได้หนีกลับไปบ้านกุดลิง ส่วนพวกที่อพยพมาตั้งบ้านโพนแพงนั้นส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน ซึ่งบ้านโพนแพงนั้นตั้งขึ้นมาราวพ.ศ. 2407 (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ, 2540: 33) โดยตั้งห่างจากบ้านกุดลิงราว 14 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศของบ้านโพนแพงคล้ายกับบ้านม่วงริมยามและบ้านกุดลิง กล่าวคือ สถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัยจะเป็นพื้นที่สูง ส่วนพื้นที่ทำกินจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ด้วยเพราะที่ตั้งชุมชนอยู่ระหว่างแม่น้ำยามที่ไหลวกผ่านทั้งสองด้านคือทิศเหนือและทิศตะวันออก ทั้งยังมีลำห้วยเซียงลมไหลมาตกแม่น้ำยามทางทิศตะวันออกด้วย ดังนั้น พื้นที่ชุมชนจึงลาดต่ำลงไปทางด้านทิศเหนือและตะวันออกซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงเหมาะแก่การทำนาทามหรือนาหว่าน ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตกเป็นพื้นที่สูง เป็นโคกและป่าโปร่ง ชาวบ้านจะทำนาดำและใช้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์
จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของไทโย้ยตั้งแต่อดีต โดยจะนิยมตั้งใกล้กับแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำศรีสงคราม แม่น้ำยาม แม่น้ำชี หรือลำห้วยต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน โดยเฉพาะการทำประมงและยังนับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีการสั่งสมทับถมของซากพืชซากสัตว์เหมาะแก่การทำนาแม้จะเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก ส่วนที่อยู่อาศัยจะตั้งอยู่บนพื้นที่สูงหรืออยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพราะเป็นเรือนสูงสองชั้นจึงไม่เป็นปัญหาในการดำรงชีวิต อีกทั้งระดับน้ำของแม่น้ำยามในอดีตจะท่วมในช่วงสั้นๆ (คํามอญ เหง้าละคม, สัมภาษณ์) โดยจะนิยมตั้งบ้านเรือนในลักษณะปลูกติดกันเป็นกระจุกในหมู่เครือญาติสกุลเดียวกัน
สำหรับรูปแบบการเคลื่อนย้ายนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนชาวโย้ย โดยเฉพาะกลุ่มที่นำโดยท้าวจันโสม (บ้านกุดลิง) และกลุ่มที่นำโดยท้าวเทพกัลยา (บ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง) มีการย้ายที่ตั้งชุมชนอยู่หลายครั้ง ซึ่งในกรณีกลุ่มที่นำโดยท้าวจันโสมนั้น ระยะแรกเป็นการเคลื่อนย้ายตามผู้นำคือพระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย) เจ้าเมืองนครพนมและควบตำแหน่งเมืองยโสธร โดยข้ามจากลุ่มน้ำยามไปอยู่ที่ลุ่มน้ำชี จากนั้นจึงเป็นการเคลื่อนย้ายเพราะหนีความแห้งแล้งจนมาตั้งที่ตัวเมืองวานรนิวาสในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่นำโดยท้าวเทพกัลยานั้น มีรูปแบบการเคลื่อนย้ายที่เคลื่อนห่างจากเมืองสกลนครโดยเริ่มจากห่างบ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง (ปัจจุบันคือบ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณานิคม) และย้ายมาตั้งบ้านเดื่อศรีคันไชย (ปัจจุบันคือบ้านเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส) แล้วจึงย้ายไปที่บ้านโคกสี (ปัจจุบันบ้านโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน) ก่อนจะย้ายมาตั้งที่บ้านหัน อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบันซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการย้ายดังกล่าว แต่อาจเป็นไปได้ว่าอาจย้ายหนีภัยธรรมชาติ เช่น โรคระบาด ความแห้งแล้ง ดังกรณีชุมชนโย้ยบ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาสในปัจจุบัน ที่อพยพมาจากบ้านชาด เพราะเกิดโรคระบาด เป็นต้น
ในส่วนของกลุ่มชุมชนโย้ยที่นำโดยท้าวสีสุราช (บ้านม่วงริมยาม) แม้จะไม่มีการเคลื่อนย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ หากแต่หลังจากมีการยุบอำเภออากาศอำนวยลงเป็นตำบลในปี พ.ศ. 2458 แต่ยังปรากฏความพยายามที่จะตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอขึ้นมาอีก โดยระยะแรกใน พ.ศ. 2469 ได้มีการรวบรวมผู้คนจาก 7 ตำบล คือ บ้านแพง บ้านแวง บ้านนาทม บ้านข่า บ้านเดื่อ บ้านนาหว้า และบ้านสามผง ขอตั้งเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวยขึ้นที่บ้านสามผง แต่ที่ตั้งแห่งนี้มีปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จึงได้ย้ายมาที่บ้านเวินชัย ซึ่งอยู่ใกล้ลำน้ำสงครามแต่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอีก จึงย้ายมาที่บ้านท่าบ่อตั้งอยู่บริเวณปากน้ำสงครามบรรจบลำน้ำยาม ซึ่งถึงแม้ว่าจะอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ แต่ยังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมบริเวณที่ทำการสำคัญๆของราชการในฤดูน้ำหลากเสมอ จึงได้ย้ายมาตั้งที่บ้านศรีสงครามใน พ.ศ. 2496 จนภายหลังใน พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มาตรวจราชการและเห็นว่าพื้นที่ตั้งตำบลวาใหญ่ ตำบลอากาศ ตำบลโพนแพง และตำบลโพนงามนั้น อยู่ห่างไกลจากอำเภอวานรนิวาสทำให้การติดต่อกับอำเภอไม่สะดวก ประกอบกับมีปัญหาการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงให้รวมทั้ง 4 ตำบลยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวยโดยขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส และได้รับการยกขึ้นเป็นอำเภออากาศอำนวยใน พ.ศ. 2508
จากที่กล่าวแม้จะไม่มีการเคลื่อนย้ายผู้คน แต่การย้ายที่ตั้งที่ทำการกิ่งอำเภออากาศอำนวยในฐานะศูนย์กลางราชการนั้น มีผลต่อการเดินทางของราษฎรที่มาติดต่อราชการ นอกจากนี้การย้ายที่ทำการกิ่งอำเภอถึงห้าครั้งในช่วงสี่ทศวรรษซึ่งปัญหาสำคัญคือน้ำท่วม เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำคือแม่น้ำยามและแม่น้ำสงคราม ซึ่งด้านหนึ่งแม้ว่าการตั้งถิ่นใกล้แหล่งน้ำจะช่วยรับประกันความอยู่รอด ความมั่นคงทางด้านอาหารของผู้คน หากแต่ในแง่ของปฏิบัติราชการกลับเป็นปัญหาที่จะปรับตัวตามสภาพนิเวศดังกล่าว เช่นเดียวกับเหตุผลทางด้านความมั่นคงของรัฐที่เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงและย้ายกลับมาตั้งกิ่งอำเภออากาศอำนวยที่บ้านอากาศอีกครั้งหนึ่งในสมัยสงครามเย็น ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนย้ายศูนย์การราชการไปหลายแห่งดังกล่าวนี้ หากเชื่อมโยงกับภาพใหญ่เชิงประวัติศาสตร์แล้ว สามารถสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยหลักๆในการย้ายที่ตั้งชุมชนทั้งระดับและเมืองหรือศูนย์กลางเมืองของชุมชนโย้ย คือ ได้รับการขับเคลื่อนจากปัจจัยทางธรรมชาติ ทั้งโรคระบาด ความแห้งแล้ง โดยเฉพาะปัญหาจากน้ำท่วม รวมทั้งปัจจัยทางการเมือง เช่น ภัยความมั่นคง (ทั้งจากญวนในสมัยรัฐจารีตและภัยคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น) การย้ายตามผู้นำ (กรณีบ้านกุดลิงที่ย้ายตามพระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย) ไปเมืองยโสธร) หรือการแย่งชิงไพร่พลและผลประโยชน์ของเมืองใหญ่ ดังกรณีบ้านม่วงริมยามในระยะแรกที่ไม่ยอมสมัครใจอยู่กับพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร ดังนั้น พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองนครพนมและเมืองยโสธรจึงได้แจ้งมาที่กรุงเทพฯและขอโปรดเกล้าฯยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองอากาศอำนวยและให้ขึ้นกับเมืองนครพนม โดยได้ทรงมีสารตราถึงเมืองต่างๆ ให้จัดแบ่งเขตแดนให้แก่เมืองอากาศอำนวยเพื่อให้ไพร่พลทำมาหากิน เช่น เมืองหนองหาน เมืองสกลนคร เมืองไชยบุรี พร้อมทั้งรายงานเขตแดนให้กรุงเทพฯทราบด้วย (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2396: เลขที่ 31) ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ทางกรุงเทพฯตระหนักดี โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันท์ในปลายรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 4 ซึ่งได้มีนโยบายสนับสนุนการตั้งเมืองใหม่ๆขึ้น ทำให้มีการตั้งเมืองใหม่จำนวนมากในช่วงนี้ และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างผู้นำท้องถิ่น โดยเฉพาะปัญหาเขตแดนและไพร่พลซึ่งเป็นที่มาของผลประโยชน์ คือ แรงงานและผลผลิต ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีสารตราส่งไปยังเมืองต่างๆเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว “.... นายไพร่ยกครอบครัวอยู่กับหัวเมืองใด ยกให้อยู่ทำราชการขึ้นอยู่กับหัวเมืองนั้น ถ้าหัวเมืองบ่าวไพร่มาก ควรจะตั้งเป็นเมือง ก็ให้จัดแจงตั้งเป็นเมืองและให้ทำราชการกับหัวเมืองใหญ่ดังแจ้งอยู่แล้ว....” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2396: เลขที่ 65)
มิติทางประวัติศาสตร์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2503:430) ได้กล่าวในหนังสือเรื่อง “นิทานโบราณคดี” ถึงผู้คนกลุ่มต่างๆที่อาศัยอยู่ในท้องที่มณฑลอุดรและมณฑลอีสานเมื่อทรงประสบเจอคราวที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คราวเสด็จฯตรวจราชการหัวเมืองในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งมีกลุ่มไทโย้ยด้วย โดยมีใจความสำคัญว่า พวกโย้ยอยู่ที่เมืองอากาศอำนวยโดยขึ้นกับเมืองสกลนคร “ถามไม่ได้ความว่ามาจากถิ่นแถวไหน”
ลัดดา พนัสนอก (2538) ได้ทำการศึกษาเรื่อง “วัฒนธรรมชาวไทโย้ยบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร” โดยกล่าวว่า “โย้ย” หมายถึง คนไทกลุ่มหนึ่งซึ่งอพยพมาจากทางซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคอีสานบริเวณอำเภอวานรนิวาสและอำเภออากาศอำนวย ไทโย้ยมีรูปร่างลักษณะเหมือนกับคนไทยต่างเพียงสำเนียงพูดเท่านั้น ตามประวัติศาสตร์เล่าว่าไทโย้ยได้อพยพมาจากทางซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบันหลายครั้ง โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่ยกกองทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองบริวารในพ.ศ. 2321 โดยได้กวาดต้อนผู้คนจำนวนมากให้มาตั้งบ้านเรือนในเมืองต่างๆ เช่น กรุงธนบุรี ภายหลังใน พ.ศ. 2380 ท้าวสีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคตร พร้อมไพร่พลจำนวนกว่าสองพันเศษอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหาที่ตั้งบ้านเรือนทำกิน โดยเลือกแหล่งที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเป็นสำคัญ ในเวลาต่อมาพบว่าลำน้ำยามซึ่งเป็นลำน้ำย่อยของแม่น้ำสงครารมมีความเหมาะสม จึงทำการถางป่าและขุดแหล่ง น้ำเพิ่มแล้วสร้างบ้านเรือนขึ้น เรียกว่า "บ้านม่วงริมน้ำยาม" (ลัดดา พนัสนอก, 2538: 17-21) เพราะมีลำน้ำยามไหลผ่าน ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองชื่อ "เมืองอากาศอำนวย" โดยแต่งตั้งท้าวสีสุราชเป็นผู้ครองเมือง จึงมีฐานะเป็นเมืองขึ้นกับจังหวัดนครพนม
กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์ (2540) ได้ทำการศึกษาเรื่อง “การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย ตำบลศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร” ความว่า ไทโย้ยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มไท-ลาว มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองภูวา (ภูวดลสอางค์) ใกล้เมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองห้อมท้าวในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ในเขตของแขวงคำม่วน ประเทศสปป. ลาว ครั้นเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งไทโย้ยด้วยได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก โดยเมืองสกลนครได้ตั้งให้ราชวงค์อิน ซึ่งมีความคุ้นเคยกันดีกับชนเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาอาศัยอยู่ที่สกลนคร โดยสัญญาว่าเมื่อพาไพร่พลจำนวนมากอพยพมาอยู่แล้ว จะได้รับที่ดินทำมาหากินตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง และจะมีการปูนบำเหน็จรางวัล และพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้ตามสมควร ทำให้บรรดาอุฮาดราชวงค์ ท้าวเพี้ย กรมการเมืองต่างๆ เกิดความต้องการและพากันหารือกัน แล้วอพยพผู้คนเข้ามาสู่สกลนครเป็นอันมาก
กลุ่มไทโย้ยที่อพยพเข้ามาในช่วงนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก เป็นพวกไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองห้อมท้าว มีท้าวติ้วซอยเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยท้าวสีสุราช ท้าวจันทนาม และท้าวนามโคตร ได้พาผู้คนจำนวน 2,339 คนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านม่วงริมห้วยยาม ต่อมาในพ.ศ.2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงริมยามขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวยขึ้นต่อเมืองนครพนม และแต่งตั้งให้ท้าวสีสุราชเป็นหลวงผลานุกูล ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอากาศอำนวยคนแรก ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โอนมาขึ้นต่อเมืองสกลนคร และลดฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวยตั้งแต่นั้น
กลุ่มที่สอง เป็นพวกไทโย้ยที่อพยพติดตามพระสุนทรราชวงศาไปอยู่เมืองยโสธรใน พ.ศ.2396 โดยมีท้าวจารย์โสมเป็นหัวหน้า โดยได้ไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านกุดลิงในท้องที่อำเภอเสลภูมิ (ติดเขตอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด) ครั้นใน พ.ศ.2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมืองวานรนิวาสขึ้นต่อเมืองยโสธร พระราชบรรดาศักดิ์ท้าวจารย์โสมเป็นหลวงประชาราษฎร์รักษาตำแหน่งเจ้าเมือง ต่อมาไทโย้ยกลุ่มนี้ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านกุดแฮ่ชุมภู (ตำบลแร่ อำเภอพรรณนานิคมและได้ย้ายไปอยู่ที่ชุมแสงหัวนา ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอวานรนิวาสในปัจจุบัน)
กลุ่มที่สาม เป็นพวกไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว มีท้าวเทพกัลยาเป็นหัวหน้า ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองสกลนครให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางใน พ.ศ.2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวเทพกัลยาเป็นพระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง และยกบ้านโพนสว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางขึ้นเป็นเมืองสว่างแดนดินขึ้นกับเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ บ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณนานิคม) ต่อมาได้ย้ายเมืองสว่างแดนดินมาตั้งที่บ้านเดื่อศรีคันไชยริมห้วยปลาหาง (ปัจจุบันคือ บ้านเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส) จากนั้นในปีพ.ศ.2424 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายจากบ้านเดื่อศรีคันไชยไปอยู่ที่บ้านโคกสี (ปัจจุบันคือ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน) และย้ายไปตั้งที่บ้านหัน (อำเภอสว่างแดนดิน) ในเวลาต่อมา (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 29-30)
นอกจากนี้ยังมีชุมชนโย้ยขนาดเล็กที่กระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่อำเภออากาศอำนวย อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส และอำเภอพังโคน เช่น กลุ่มไทโย้ยที่ยังหลงเหลือที่บ้านเดื่อศรีคันไชย ซึ่งเดิมบ้านเดื่อศรีคันไชยนั้นมีครอบครัวอยู่ประมาณ 10 ครอบครัว ซึ่งอพยพมาจากบ้านสว่างเก่า (บ้านโพนสว่างหาดยาว) นำโดยปู่ฝ่าย และย่ารีย์ ต่อมาท้าวเทพกัลยาได้ย้ายเมืองสว่างแดนดินตามมาตั้งที่บ้านเดื่อศรีคันไชยเพราะเห็นเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีน้ำปลาหางไหลผ่าน ทางทิศเหนือ มีที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์เพราะเป็นป่าโคก มีพันธุ์ไม้หลายชนิดสามารถนำมาก่อสร้างเป็นบ้านเรือนได้ และใช้เป็นแหล่งอาหารป่า มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ทางทิศตะวันออกมีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีห้วยไผ่ไหลผ่านเหมาะที่จะเป็นพื้นที่ในการทำนาทำไร่ ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตกมีแม่น้ำปลาหางไหลผ่าน เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำสวนผัก ทำนาและเป็นแหล่งอาหาร และทำประมงเป็นอย่างดี ซึ่งบ้านเดื่อศรีคันไชยนั้นมีเจ้าเมืองปกครองคนแรกคือ ท้าวเทพกัลยา (พระเทพประสิทธิ์) และมีเจ้าเมืองปกครองติดต่อกันมาหลายคน ซึ่งที่มีชื่อเสียงคือขุนศรีคันไชย จึงได้เป็นที่มาของชื่อบ้านเดื่อศรีคันไชย เพราะทางเข้าหมู่บ้านมีต้นมะเดื่อต้นใหญ่มีใบปกคลุมปนาแน่นตลอดทั้งปี และคำว่า "ศรีคันไชย" มาจากชื่อดาบอาญาสิทธิ์ของเจ้าเมืองจึงนำมาต่อกันเป็นชื่อเมืองว่า "เดื่อศรีคันไชย" ส่วนปู่ฝ่ายและย่ารีย์ผู้บุกเบิกการตั้งบ้านเป็นกลุ่มแรกนั้น ได้เป็นต้นตระกูล "ฝ่ายรีย์" ซึ่งมีคนใช้นามสกุลนี้จำนวนมากในบ้านเดื่อศรีคันไชย ปัจจุบันบ้านเดื่อศรีคันไชยมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร บนถนนสายพังโคน-บึงกาฬและอยู่ห่างจากอำเภอวานรนิวาสประมาณ 28 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอพังโคน 6 กิโลเมตรโดยมีลำห้วยปลาหางเป็นเส้นกั้นเขตแดน (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 31-32)
หรือในกรณีของชุมชนไทโย้ยที่บ้านโพน ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครเดิมอยู่ที่บ้านชาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกจากบ้านวานรนิวาศอีกทีทอดหนึง โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านวานรนิวาส ประมาณ 1 กิโลเมตร สาเหตุที่ย้ายจากบ้านชาดเพราะเกิดโรคระบาด คือโรคฝีดาษ บางส่วนย้ายกลับไปอยู่บ้านวานรนิวาส และบางส่วนอพยพไปอยู่ที่บ้านโพนแพง ซึ่งตั้งขึ้นมาราว พ.ศ. 2407 โดยกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกได้ทำที่อยู่อาศัยในลักษณะ “ตูบ” หรือกระท่อมอยู่ริมน้ำยาม จึงได้เป็นที่มาของชื่อเรียกว่า "บ้านตูบหมู" เนื่องเพราะมีหมูป่าชุม ปัจจุบันบ้านชาดได้กลายเป็นหมู่บ้านร้าง และยังพอมองเห็นได้ไกลๆจากบ้านโพนแพง (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2540: 33)
ชุมชนโย้ยต่างมีพัฒนาการมาตามลำดับสอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะชุมชนโย้ยขนาดใหญ่ทั้งสามแห่ง คือ เมืองอากาศอำนวย เมืองวานรนิวาส และเมืองสว่างแดนดิน ซึ่งกรณีเมืองอากาศอำนวยนั้น หลังจากได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองใหม่ ต่อมาในพ.ศ. 2457 รัฐเห็นว่าการคมนาคมและการติดต่อไปมาระหว่างอำเภออากาศอำนวยกับจังหวัดนครพนมไม่สะดวกเพราะอำเภออากาศอำนวยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภออากาศอำนวยลงเป็นตำบลอากาศ แล้วให้ขึ้นต่อกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ก่อนจะย้ายให้มาขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร แต่ยังปรากฏความพยายามที่จะตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอขึ้นมาอีก โดยได้มีการย้ายที่ตั้งตัวอำเภอและสถานที่ราชการอยู่หลายครั้ง กระทั่งใน พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ จึงได้กลับไปยกฐานะบ้านอากาศขึ้นเป็นกิ่งอำเภออีกครั้ง โดยให้ขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส และต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวยเต็มตัวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2508 จนถึงปัจจุบัน (ลัดดา พนัสนอก, 2538: 12-13) ซึ่งปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์โย้ยในอำเภออากาศอำนวยนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวโย้ยอาศัยอยู่มากที่สุดนั้น โดยได้กระจุกตัวหนาแน่นแถบตำบลอากาศ ซึ่งประกอบด้วย 18 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนแดง บ้านนายอ บ้านนาเมืองใหญ่ บ้านหนองตาไก้ บ้านนาเมืองน้อย บ้านนายอใต้ รวมทั้งบ้านอากาศซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลอากาศอำนวยอีก 11 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 9, 10, 14,15,16,17 และ18 ส่วนชุมชนโย้ยที่เมืองวานรนิวาสได้ถูกลดฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2445 พร้อมกับอำเภอบ้านหัน ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2482 อำเภอบ้านหันได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเรียกเป็นอำเภอสว่างแดนดินตามชื่อเดิมอีกครั้ง
ปัจจุบันชุมชนโย้ยในหลายพื้นที่ทั้งชุมชนเล็ก ชุมชนใหญ่ต่างๆมีความพยายามในการที่จะสืบสานและฟื้นฟูรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยมีการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านวิธีการและรูปแบบต่างๆ ทั้งการละเล่น ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ดังเช่น ชุมชนโย้ยที่อากาศอำนวยได้มีการจัด “วันไทโย้ย” ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรษ เฉลิมฉลองชาติพันธุ์ของตนเองและเผยแพร่อัตลักษณ์ของชาวไทโย้ยต่อสาธารณะ ซึ่งนับว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่ชาวโย้ยที่มีความโดดเด่นและชัดเจนที่สุดในบรรดาชุมชนโย้ยในปัจจุบัน โดยในงานจะมีทั้งการแสดงรำบูชาถวายหอปู่ตา การแสดงแสง สี เสียงเล่าเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ และขบวนแห่วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมต่างๆของไทโย้ย รวมทั้งมีการประกวด แข่งขัน สาธิต การแสดงต่างๆ และยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าอื่นๆ เป็นต้น
รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของไทโย้ยตั้งแต่อดีตนิยมตั้งใกล้กับแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำศรีสงคราม แม่น้ำยาม แม่น้ำชี หรือลำห้วยต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน โดยเฉพาะการทำประมงและยังนับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีการสั่งสมทับถมของซากพืชซากสัตว์เหมาะแก่การทำนาแม้จะเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก ส่วนที่อยู่อาศัยจะตั้งอยู่บนพื้นที่สูงหรืออยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพราะเป็นเรือนสูงสองชั้นจึงไม่เป็นปัญหาในการดำรงชีวิต อีกทั้งระดับน้ำของแม่น้ำยามในอดีตจะท่วมในช่วงสั้นๆ โดยชาวบ้านแถบนั้นได้ใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามทั้งในรูปของ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค รวมทั้งรายได้ที่นำไปใช้จ่ายในการแสวงหาปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้น คนโย้ยตั้งอดีตจนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่จึงทำการเกษตร โดยมีอาชีพทำนาและประมงเป็นหลัก ซึ่งการปลูกข้าวในอดีตนั้นนิยมปลูกข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้ปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โดยจะเก็บข้าวเหนียวเอาไว้กินส่วนข้าวเจ้าจะปลูกเอาไว้ขาย นอกจากนี้ยังนิยมทำไร่ทำสวน เช่น ไร่ฝ้าย สวนครามและปลูกผักสวนครัวตามตลิ่งลำน้ำยาม และยังทอผ้าไว้ขาย (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 67,70,71) ปัจจุบันในชุมชนชนบทหลายๆแห่งเริ่มมีการเปิดร้านค้าที่ใต้ถุนบ้าน ขายสิ่งของเบ็ดเตล็ดหรืออาหารสดและสำเร็จที่ซื้อมาจากในตัวอำเภออีกทอดหนึ่ง เช่น กรณีบ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ส่วนหลังฤดูทำนามักจะทำอาชีพเสริมคือ รับจ้าง โดยช่วงแรกรับจ้างในหมู่บ้าน ต่อมาประมาณราวปลายทศวรรษ 2520 จึงเริ่มออกไปรับจ้างต่างถิ่น โดยเฉพาะในกรุงเทพ และบางคนยังนิยมไปทำงานรับจ้างในต่างประเทศด้วย อย่างกรณีบ้านโพนในช่วงทศวรรษ 2540 มีชาวบ้านออกไปทำงานต่างประเทศถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ, 2540: 63-72) ส่วนรับราชการและค้าขายนั้นมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นคนภายนอกเข้ามาประกอบกิจการดังกล่าวเพื่อทำการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ ซึ่งอาชีพค้าขายและอาชีพบริการต่างๆปรากฏเห็นได้ชัดในชุมชนตัวเมืองอากาศอำนวย วานรนิวาสและสว่างแดนดิน
สำหรับการทำประมงนั้น ตั้งแต่อดีตชาวโย้ยมักทำหาปลาตามลำน้ำยามเป็นหลัก รองลงมา คือ ห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งปัจจุบันนี้ยังได้รับการใช้ประโยชน์กันอยู่ เช่น บ่ออ้อ สบห้วย น้ำจั้น บ่อลุบ หนองพักกูด หนองดินดำ วังดินดำ หนองปลาซวาย หนองพักแว่น หนองหวาย หนองลาดควาย เป็นต้น ดังนั้น ด้วยรูปแบบของระบบนิเวศโดยรวมเป็นพื้นที่ทามน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้ก่อเกิดภูมิปัญญาการทำประมงและเครื่องมือในการจับปลาที่มีการปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของธรรมชาติดังกล่าว เช่น ซวาง ส่อน ไซ จั่น ตุ้ม โทงขา ลอบ เสือนอนกิน ผีน้อย ลัน แห มอง แหลมสอด เบ็ดโก่ง เบ็ดคัน เบ็ดเผียก เบ็ดสะโน สุ่ม จะดุ้ง(ยอ) เป็นต้น โดยต้องจดจำ ทดลองและสังเกตว่าในการจับปลาชนิดใด ต้องใช้เครื่องมือชนิดใด เช่น ปลาไหลต้องใช้ลันไปดัก ปลาค่าวต้องใส่ซวางหรือเบ็ดโก่ง เป็นต้น (ไพรี อินธิสิทธิ์, สัมภาษณ์) ส่วนอาชีพการล่าสัตว์ปัจจุบันไม่ค่อยปรากฏให้เห็น ส่วนหนึ่งเพราะสภาพพื้นที่ตั้งชุมชนโดยทั่วไปป่าโปร่งหรือป่าโคกและป่าบุ่งป่าทาม จึงไม่ค่อยมีสัตว์ใหญ่จะมีเฉพาะสัตว์เล็ก เช่น หนู นกต่างๆ ซึ่งเครื่องดักสัตว์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น จ่องเจ๊าะ ซิงนกคุ่ม ตางบาน ซุ่มแอ้ว เพนียด แฮ้ว ฮุบ เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดักนกและไก่ป่า สำหรับ ซิง หล่วง กั๊บหยัน เป็นเครื่องมือสำหรับดักกระต่าย หนู
ปัจจุบันชุมชนโย้ยได้มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างมาก ซึ่งปัจจัยหลักๆ มาจากภายนอกหมู่บ้าน ได้แก่ การพัฒนาชุมชนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน ทำให้เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เปลี่ยนไป และเมื่อมีไฟฟ้าในหมู่บ้าน ทำให้ไทโย้ยใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหาเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ทำให้เกิดการรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกมาใช้ภายในหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว เช่น อิทธิพลขอองการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือวิธีการแต่งตั้งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในงานบุญต่างๆ การแสดงแสงสีเสียง คอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นการจัดงานอย่างเรียบง่าย มีเพียงการบอกกล่าวกันภายในหมู่บ้าน มีการแสดงพื้นบ้านเพื่อผ่อนคลายความเครียดเท่านั้น (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540) อีกทั้งรูปแบบการปกครองแบบใหม่ยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะรูปแบบสุขาภิบาลและเทศบาล ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางกายภาพแวดล้อมและรูปแบบวิถีชีวิต การทำมาหากิน จากเดิมเป็นการหาเพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อเลี้ยงครอบครัวได้เปลี่ยนมาเป็นแบบหาสิ่งของต่างๆ เพื่อนำมาขายที่ตลาด (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541: 101-110,120)
ไทโย้ยจะอาศัยอยู่รวมกันในลักษณะเป็นแบบเครือญาติ ดังปรากฏจากประวัติของการตั้งหมู่บ้านหลายห่างที่หลายชุมชนได้รับการบุกเบิกจากระบบเครือญาติ ดังกรณีบ้านเดื่อศรีคันไชย ซึ่งในตั้งชุมชนครั้งแรกนั้นมีประมาณ 10 ครอบครัวที่มาอาศัยอยู่ และภายหลังได้นำชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุล "ฝ่ายรีย์" ซึ่งถือว่าเป็นนามสกุลที่คนในหมู่บ้านมีการใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540) นอกจากนี้ยังมีการสืบสกุลทางพ่อและเป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ลูกชายคนสุดท้องมักจะเป็นคนเลี้ยงดู และรับมรดกทั้งจากฝั่งพ่อและฝั่งแม่ด้วย มีการแบ่งงานกันทำตามเพศโดยพ่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วนในครอบครัวผู้หญิงจะทำหน้าที่ทอผ้าและเลี้ยงดูลูก พอหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะทำอาชีพเสริม เช่น ทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม ส่วนผู้ชายก็จะไปทำงานรับจ้างต่างๆ เช่น เป็นช่างไม้ ทำงานก่อสร้าง และอื่นๆ ซึ่งหากไปทำงานต่างจังหวัดจะกลับมาบ้านในช่วงฤดูเพาะปลูก (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 40) ในอดีตครอบครัวโย้ยมีลักษณะอยู่กันเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วย ปู่ ย่า ลุง ป้า พ่อ แม่ ลูก หลาน แม้เมื่อแต่งงานแยกบ้านไปแล้วก็ยังอยู่ในละแวกเดียวกัน ซึ่งเหตุผลในการมาอยู่รวมกันนั้นเพราะมีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ที่ดินทำกินยังไม่เพียงพอที่จะออกเรือน หรือขาดแรงงานหรือไม่มีคนดูแลปู่ย่าตายาย (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541: 35,36) แต่ปัจจุบันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ยิ่งเมื่อต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ยิ่งทำให้ห่างเหิน และบทบาทของพ่อแม่ลดลงอย่างมาก (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ, 2540: 42-46)
ในอดีตนั้นก่อนมีการแต่งงานต้องสืบลำดับญาติกัน โดยฝ่ายชายต้องมีศักดิ์เป็นพี่ถึงจะแต่งได้ และต้องเป็นคนในหมู่บ้านด้วย หากแต่ปัจจุบันไม่ค่อยยึดถือประเพณีกันแล้ว (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ, 2540: 145) ในอดีตการจัดพิธีแต่งงานนั้นหากหนุ่มสาวตกลงใจที่จะแต่งงานกันก็จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรียกว่า ”พ่อล่าม” ไปสู่ขอตกลงเรื่องค่าสินสอดและกำหนดวันแต่งงาน ก่อนการจัดพิธีแต่งงานฝ่ายหญิงจะเตรียมเครื่องสมมา เช่น ซิ่นหมี่ ผ้าขาวม้า เสื่อ ฯลฯเพื่อมอบให้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เมื่อใกล้วันแต่งงานทั้งสองฝ่ายจะเตรียมอาหารเพื่อไว้เลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน และก่อนวันจัดงานหนึ่งวันทั้งบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเตรียมพาขวัญหรือพานบายศรี ตอนกลางคืนจะเชิญญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมากินข้าวที่บ้านหรือเรียกว่า ” งันดอง” (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 23541: 63)
เมื่อถึงวันจัดงานเจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว แล้วจะมีญาติผู้ใหญ่มารับขันหมาก จากนั้นจึงมาที่บ้านเจ้าบ่าวเพื่อสู่ขวัญให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาว ขั้นต่อไปเมื่อบายศรีสู่ขวัญเรียบร้อยแล้วจะจัดเลี้ยงอาหารแขกที่มาเป็นเกียรติในงาน ในช่วงบ่ายเจ้าสาวก็จะกลับมาที่บ้านเพื่อเตรียมของสมมา เช่น ที่นอน หมอน และอื่นๆ และตอนเย็นญาติของทางเจ้าบ่าวก็จะไปรับตัวเจ้าสาวกลับมาที่บ้านเจ้าบ่าวพร้อมด้วยของสมมาที่ฝ่ายเจ้าสาวเตรียมไว้ ครั้นมาถึงจึงทำการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอ ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะอวยพรให้ทั้งสองมีแต่ความสุขความเจริญ ส่วนของสมมานั้นหลังผ่านวันส่งตัวประมาณ 2-3 วัน เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจึงนำของสมมาที่เตรียมไว้ไปมอบให้กับญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่นับถือ (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 23541: 64)
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ชายหญิงที่รักกัน ตั้งใจจะเลี้ยงดูอยู่ด้วยกันกัน แต่ฝ่ายชายไม่มีเงินค่าดอง (ค่าสินสอด) หรือพ่อแม่ไม่เห็นดีเห็นชอบด้วย ชายหญิงมักจะตกลงแต่งกันเอง ซึ่งเรียกว่า “ซู” กล่าวคือ ผู้ชายไปตกลงกับหญิงว่า คืนนั้น เวลาเท่านั้นจะมาหาที่บ้าน ขอให้พาดบันไดไขประตูให้ ตอนนี้หญิงจะต้องระวังชายให้มาก เพราะเคยปรากฎว่าฝ่ายชายแอบหนีไปโดยไม่บอกกล่าวหลังเสร็จกิจ ดังนั้น พอสว่างหญิงจะต้องไปบอกพ่อแม่ให้รู้ว่ามีชายมาซู พ่อแม่จะจัดให้คนไปบอกญาติพี่น้องของตนและพ่อแม่ของชายมาพูดจากันเป็นหลักฐาน รับรองว่าจะทำตามจารีตประเพณีบ้านเมือง จึงปล่อยให้ผู้ชายออกจากห้องได้ ในอกจากนี้ยังมีกรณีผู้หญิงไปซูผู้ชาย เรียกว่า “ไปซูผู้บ่าว” หรือ “แล่นนำผู้บ่าว” ซึ่งจะใช้วิธีการจัดการให้เรียบร้อยเหมือนฝ่ายชายจึงเป็นอันสิ้นสุด
ครั้นเมื่อแต่งงานฝ่ายหญิงจะมาอยู่บ้านฝ่ายชายเพื่อมาดูแลพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว ในลักษณะครอบครัวขยายแบบปิตาลัย (patrilocal) เมื่ออยู่จนมีเงินเก็บแล้วจึงจะแยกตัวออกไปสร้างบ้านหลังใหม่ (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 23541: 88,89) อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าเมื่อแต่งงานแล้วไม่ไปอยู่กับทั้งครอบครัวฝ่ายผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ออกไปตั้งหลักแหล่งใหม่ (neolocal) ทั้งนอกและในชุมชน โดยอาจไปเช่าหรือไปซื้อที่อยู่ใหม่ ซึ่งในปัจจุบันครอบครัวลักษณะดังกล่าวพบมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีเคลื่อนย้ายออกไปอยู่นอกชุมชน โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองเพราะทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงต้องใช้เป็นแหล่งทำงาน และส่วนใหญ่ไม่ได้ทำนาเหมือนบรรพบุรุษเนื่องจากมีทางเลือกของอาชีพเพิ่มขึ้นจากโอกาสทางการศึกษาและงานที่หลากหลายของสังคมเมือง จึงไม่ต้องพึ่งพาที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรม กอปรกับมรดกที่ดินเริ่มลดน้อยลงด้วย
หลังแต่งงานเรียบร้อยแล้วหากอยู่กันไปแล้วมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน พ่อล่ามก็จะเป็นคนอบรมและไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองคืนดีกัน แต่ทุกวันนี้คนไม่ค่อยอยากเป็นพ่อล่ามเพราะญาติของฝ่ายหญิงจะให้พ่อล่ามเป็นผู้จัดเลี้ยงภายหลังจัดพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้พ่อล่ามจะมีพ่อล่ามใหญ่ทำหน้าที่ประสานงานกับญาติเจ้าบ่าวเจ้าสาวและดูแลคู่บ่าวสาว ส่วนพ่อล่ามน้อยจะทำหน้าที่ช่วยเหลือพ่อล่ามใหญ่ ตัวอย่างเช่นถือขันเทียนและอื่นๆ สำหรับคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นพ่อล่ามจะต้องมีชีวิตการสมรสที่ดีไม่หย่าร้าง (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 47-48) โดยภาพรวมในอดีตสังคมไทโย้ยจะอยู่กันแบบญาติพี่น้องถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ญาติพี่น้องกันแท้ๆ และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขประกอบกับคนในชุมชนมีความเชื่อถือและเคารพผู้นำหมู่บ้านและผู้สูงอายุในหมู่บ้าน (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 36) หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่บ้านก็จะให้ผู้นำหมู่บ้านและผู้สูงอายุในหมู่บ้านเป็นคนตัดสินต่อปัญหาเหล่านั้น ซึ่งบทบาทของผู้นำในชุมชนไทโย้ยที่ได้นับการเคารพจึงทำให้สังคมมีความสมัครสมานสามารถต่อกัน (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 38)
ปัจจุบันไทโย้ยแต่งกายตามสมัยนิยม ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่มีมีลักษณะตามมีตามได้เพราะส่วนใหญ่ต้องผลิตใช้เอง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะสร้างเอกลักษณ์การแต่งการให้กับไทโย้ย ซึ่งคล้ายกับการแต่งกายของคนไทยอีสานทั่วไป โดยจะมีการแต่งในช่วงงานเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ เช่น วันพระ งานไหลเรือไฟ หรือต้อนรับแขกผู้ใหญ่ ทั้งนี้กำหนดให้ผู้ชายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือ เย็บมือ สีกรมท่าเข้มออกดำ เสื้อแขนทรงกระบอก กางเกงขาทรงกระบอก มีผ้าขาวม้าผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมผูกเอว ซึ่งไทโย้ยเรียกว่า “แพแลง” ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อทอสีครามแขนทรงกระบอก ผ่าด้านหน้า ซึ่งไม่สวยเด่นเท่าผ้ามัดหมี่เพราะมีสีดำมืดทั้งตัว ลางคนอาจนุ่งผ้าถุงมัดหมี่มีหัวซิ่นและตีนซิ่น ใช้ผ้าจ่องลวดลายสวยงามเป็นผ้าสไบพาดไหล่ สามารถแต่งได้ทุกเวลา (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 41-42) บ้างอาจนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีฉูดฉาด ลวดลายสวยงาม ใส่เสื้อแขนกระบอกฝ้ายย้อมครามหรือมัดหมี่ ใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน เช่น สร้อยคล้อง คอ แขน ต่างหู เข็มขัด เป็นต้น (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 10)
แต่จากคำบอกเล่าของผู้สูงในอดีตได้กล่าวว่าในอดีตเด็กหญิงนิยมให้สวมเสื้อคอกลม มีจีบรูดถี่ๆ สวมหัว ไม่มีแขนตัดด้วยผ้าฝ้าย นุ่งซิ่น ต่างๆ (ผ้าถุง) ทรงผมนิยมตัดสั้นแค่ใบหู ส่วนเด็กชาย เดิมไม่ค่อยให้สวมเสื้อเมื่อไปโรงเรียงจึงจะสวมเสื้อ นุ่งซ่งหรือกางเกง ผมตัดสั้น ในส่วนของหญิงสาวขณะอยู่บ้านจะสวมเสื้อต่องผ่าหน้าติดกระดุมหรือผ้าเคียนอกซึ่งเป็นผ้าขาวม้าฝ้ายย้อมคราม เมื่อไปทำบุญที่วัดจะใส่เสื้อแขนกระบอกบางครั้งจะห่มผ้าเบี่ยงทับตัวเสื้อ นุ่งซิ่นต่ง แบบเหน็บชายพก ไม่คาดเข็มขัด นิยมไว้ผมทรงซิงเกิ้ล ทรงดอกกระทุ่ม ทรงบ๊อบ และผมยาวเกล้ามวยสูง สำหรับหญิงที่แต่งงานมีบุตรแล้วนิยมเปลือยอก ส่วนหญิงที่มีฐานะจะสวมเสื้อทับเสื้ออ้องอีกชั้นหนึ่ง หญิงมีอายุ สวมเสื้อต่อง หรือเสื้ออ้อง บางครั้งใช้เพียงผ้าขาวม้ามาห่มพาดเบี่ยงพาดอก นุ่งซิ่นหมี่ลาดหรือหมี่คั่น ไว้ผมทรง ซิงเกิ้ลและผมยาวเกล้ามวยสูง
ในส่วนของชายหนุ่มนั้น โดยทั่วไปไม่นิยมสวมเสื้อยกเว้นตอนไปงานทำบุญจะสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้าแขนสั้น แต่เดิมนุ่งผ้าขาวม้าแบบนุ่งผ้าเตี่ยวเมื่ออกทำงานจะนุ่งผ้าโสร่ง เมื่อไปทำบุญหรืองานเทศกาลจะมีผ้าขาวม้าพาดไหล่ ระยะต่อมานิยมสวมกางเกงที่เรียกว่า “ซ่งอุดร” (ทรงอุดร) เป็นกางเกงขาสั้นคล้ายกางเกงนักเรียน และยังมีกางเกงอีกประเภทหนึ่งเป็นกางเกงขาสั้นหูรูด เรียกว่าทรงหูฮูด ภายหลังใช้เป็นกางเกงชั้นในต่อมามีกางเกงทรงฮั่งหรือกางเกงขาก๊วย ทรงผมไว้ทรงปีก (หวีผมแสกกลาง) ส่วนชายมีอายุ ถ้าอยู่บ้านจะนุ่งผ้าขาวม้าหรือนุ่งซ่งหูรูดไม่สวมเสื้อยกเว้นไปวัด ไปงานบุญจะแต่งกายเหมือนผู้ชายคนอื่นๆ แต่ปัจจุบันจะแต่งเฉพาะในเทศกาลเท่านั้น ในชีวิตประจำวันจะแต่งชุดธรรมดาเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ ถ้าเป็นงานศพจะแต่งกายไว้ทุกข์สีขาว สีดำหรือสีสุภาพ (ลัดดา พนัสนอก, 2538: 41-44) ส่วนทรงผมผู้สูงอายุชาย นิยมทรงผมหลังรถ (ตัดสั้นเกรียน เหลือส่วนหน้านิดเดียว) ส่วนหญิงนิยมทรงดอกท่ม (กลมรอบศีรษะ) คนหนุ่มสาว คนหนุ่ม นิยมทรงผมพระจันทร์ครึ่งซีก (ด้านหลังสั้นบางถึงหู ด้านหน้ายาว) ส่วนคนสาวนิยมไว้ทรงผมบ๊อบสั้น
ในการตั้งบ้านเรือนไทโย้ยนิยมปลูกติดกันเป็นกระจุกในหมู่เครือญาติสกุลเดียวกัน โดยเลือกสถานที่สร้างหมู่บ้านบนที่ดินที่เป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง ใกล้แหล่งน้ำ มีพื้นที่ราบลุ่มสำหรับทำนา โดยนิยมปลูกบ้านใต้ถุนสูง เล็กใหญ่
อาหารการกินของชาวโย้ยในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับอาหารพื้นถิ่นอีสานทั่วไป โดยสำรับอาหารจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตลอดปีตามวัตถุดิบที่หาได้ตามฤดูกาลซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากตลาด หากแต่ในอดีตแหล่งอาหารหลักของส่วนใหญ่เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติในชุมชนท้องถิ่นที่สำคัญ คือ แม่น้ำยาม แม่น้ำสงคราม ห้วย หนอง บึงต่าง รวมทั้งป่าโคกและป่าบุ่งทาม ซึ่งในส่วนของอาหารจากแหล่งน้ำนั้น การได้มาซึ่งอาหารจำเป็นต้องแสวงหาเองโดยอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์ เพราะวิธีการหาปลาและสัตว์น้ำนั้นจะมีความสัมพันธ์กับฤดูกาลและภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมา โดยเชื่อมโยงกับรูปแบบทางนิเวศน์ของแม่น้ำ และถ้าได้ปลาจำนวนมาก จะมีการแปรรูปปลาให้สามารถรับประทานได้นานนั้น อาจทำเป็นปลาแดก ปลาปิ้ง ปลาย่าง ปลาเอียบ ปลาแห้ง ส้มปลา ส่วนที่ได้จากป่าส่วนใหญ่จะเป็นพืชพันธุ์ผลไม้ ผักป่า เห็ด หน่อไม้ สัตว์ป่า โดยเฉพาะผักป่าเนื่องจากว่าในอดีตชาวบ้านไม่ค่อยนิยมปลูกผักกิน เพราะสามารถเก็บตามป่าโคก ป่าทาม ไร่นา ตามหมู่บ้านได้ หากจะมีการปลูกแล้วส่วนใหญ่จะเป็นพืชผักที่ไม่สามารถหาเก็บตามธรรมชาติได้และจำเป็นต้องใช้ประจำในสำรับข้าวแทบทุกวัน เช่น พริก ผักชี หอม เป็นต้น โดยจะปลูกตามฝั่งลำน้ำยามในหน้าแล้ง
ในส่วนของสำรับอาหารของไทโย้ยนั้น มีความแตกต่างหลากหลายตามวัสดุดิบที่ใช้ในการปรุง เช่น ซั่ว ซุบ ตำ อ่อม ต้ม ก้อย ป่น แจ่ว แกง ลาบ คั่ว หมก จี่ ปิ้ง เป็นต้น ในอดีตชาวโย้ยไม่นิยมฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย เพื่อกินเป็นอาหาร นอกเสียจากว่าสัตว์พวกนี้จะตายเอง จึงจะเอาเนื้อแล้วแบ่งปันเพื่อนบ้านกิน เรียกว่า “ปันพูด” ชาวโย้ยนอกจากไม่ฆ่าสัตว์ที่มีคุณแล้วยังพากันสู่ขวัญวัว ขวัญควาย ซึ่งในเช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะนำข้าวต้มห่อใบตองมัดผูกติดกับเขาควายทุกตัว แล้วจึงปล่อยวัว ควายไปหากินหญ้าโดยมีข้าวต้มแขวนติดควายไปด้วย ชาวโย้ยจึงเรียกข้าวต้มนี้ว่า “ข้าวต้มเขาควาย” อีกทั้งคนโย้ยในอดีตไม่นิยมกินอาหารสุกๆดิบๆ ภายหลังเมื่อมีโรงฆ่าสัตว์และการขายเนื้อแพร่หลายมากขึ้น จึงเกิดความขึ้นมา โดยเฉพาะ “ลาบปะไพ” ซึ่งหมายถึง ลาบเนื้อดิบๆ โดยนำเลือดสดๆใส่ลงไป ซึ่งอาจเรียกอีกชื่อว่าลาบเลือดหรือซอยแซ่
ปัจจุบันวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของโย้ยได้เปลี่ยนไปตามวันเวลา เนื่องจากมีอาหารหลากหลายแพร่กระจายทั่วไปในชุมชน ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารได้โดยไม่รอกินอาหารตามฤดูกาลด้วยการจับจ่ายตามร้านค้าประเภทต่างๆ ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของคนรุ่นใหม่ค่อยๆเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์และวัสดุประกอบอาหารกินเองในครัวเรือน รวมทั้งการซื้อหาทั้งในรูปแบบอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือกับข้าวถุงที่พ่อค้าแม่ค้าทำจำหน่ายตามร้านค้าในชุมชน ทั้งร้านของชำ ร้านอาหารตามสั่ง ตลาดนัดชุมชน รถพุ่มพวงหรือพ่อค้าแม่ค้าขายเร่ตามบ้าน โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อซึ่งเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีทั้งอาหารพื้นถิ่นอาหารภาคอื่นๆและอาหารสมัยนิยมที่มีความหลากหลายจากข้างนอก ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารเปลี่ยนไปนั้น อาจเกิดจากระบบนิเวศและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหารเดิมเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรม อีกทั้งการผลิตและแพร่กระจายสินค้าอาหารที่ถูกสนับสนุนโดยระบบทุนและตลาดทำให้ปริมาณอาหารมีจำนวนมากและราคาถูก หาได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ชาวบ้านจึงเน้นทำงานหาเงินเพื่อจับจ่ายซื้อหาแทน
ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญหลายอย่างของชาวไทโย้ยมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวอีสานทั่วไปคือการทำบุญฮีตสิบสองหรือประเพณีประจำเดือนซึ่งเป็นความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อพุทธศาสนา ผีและวัฒนธรรมข้าว โดยประกอบด้วย เดือนอ้ายทำบุญข้าวกรรม เดือนยี่ทำบุญคูณลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ เดือนสี่บุญพระเวส เดือนบุญสงกรานต์ เดือนหกบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ดบุญเลี้ยงอารักษ์หลักเมือง เดือนแปดบุญเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา และเดือนสิบสองบุญกฐิน ประเพณีดังกล่าวนี้ชาวไทโย้ยได้ยึดถือปฏิบัติมีสืบต่อกันจนถึงปัจจุบัน หากแต่ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวไทโย้ยคือ “การเลี้ยงผีปู่ตา” โดยเฉพาะไทโย้ยบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนครนั้น ในปัจจุบันได้จัดทำพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ตาอย่างยิ่งใหญ่ทั้งนี้เพื่อรองรับงานเทศกาล “วันไทโย้ย” ด้วย โดยกำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี เป็นพิธ๊ที่ถือว่ามีความสำคัญก่อนที่จะมีการดำเนินการขั้นตอนอื่นๆต่อไป ทั้งนี้ยังใช้บริเวณที่ตั้งศาลปู่ตาเป็นพื้นที่ในการจัดงานวันไทโย้ยอีกด้วย สำหรับประวัติความเป็นมาของปู่ตานั้นผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี้ได้มีการอัญเชิญวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สองตนมาจากบ้านฮ่อมท้าวฮูเซ แขวงคำม่วน สปป.ลาว นามว่า “พระภูมิ” และ “พระโพธิ์” โดยชาวบ้านเรียกรวมกันว่า “ปู่ตา” โดยได้ร่วมกันตั้งศาลขึ้นแล้วอัญเชิญปู่ตาไปสถิตอยู่ (ชาวบ้านเรียกหอเจ้าปู่) ซึ่งศาลแห่งแรกนั้นตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าอาคารเรียนหลังสุดท้ายของโรงเรียนบ้านอากาศศึกษา ฝั่งด้านทิศตะวันตกติดกับถนนรวมมิตรในปัจจุบัน โดยมี “กวานจ้ำ” ทำหน้าที่สื่อกลางระหว่างผีกับชาวบ้าน ซึ่งมักจะส่งต่อตำแหน่งนี้ในสายตระกูล เช่น พ่อเฒ่าเชียงไค ใครบุตร อดีตกวานจ้ำเมื่อเสียชีวิตลงพ่อเฒ่าโสม ใครบุตร บุตรชายได้รับหน้าที่เป็นกวานจ้ำต่อ จากนั้นเมื่อเสียชีวิตลงจึงได้ส่งต่อพ่อเฒ่าโงน ใครบุตร และพ่อเฒ่าสมเพศ ใครบุตรตามลำดับ จากนั้นได้มีการย้ายศาลผีปู่ตาไปตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของโรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา ต่อมาจึงได้ย้ายไปตั้งศาลอยู่ที่เขตดินนาของนายใบ ใชยเทศ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าปู่ในปัจจุบันนี้ ครั้นเมื่อมีคนจีนเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในชุมชนจึงได้ให้ความนับถือด้วย โดยได้มีการบนบานเมื่อสมหวังจึงได้มาแก้บน จึงเกิดความเลื่อมใสมากขึ้น นานวันจึงได้รวบรวมเงินกันสร้างศาลเจ้าปู่หลังใหม่ มีลักษณะเป็นเรือนก่อด้วยปูนชั้นเดียว ทาสีแดงทั้งหลังดังปรากฏในปัจจุบัน โดยทุกปีในช่วงเทศกาลต่างๆไ เช่น วันเซ่นไหว้ผีปู่ตา หรือวันตรุษ วันสารทตามความเชื่อจีน ทั้งชาวจีนและชาวโย้ยก็จะมาร่วมกันเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีการเซ่นไหว้บนบานตามโอกาสต่างๆในชีวิตประจำวันด้วย โดยเครื่องเซ่นไหว้สำหรับบนบานประกอบด้วย เทียน 1 คู่ ดอกไม้ 1 คู่ เงินตามศรัทธา ครั้นเมื่อสิ่งที่บนสัมฤทธิ์ผลแล้วจึงนำเครื่องเซ่นไหว้ไปแก้บน ซึ่งเครื่องแก้บนมีดังนี้ กระติบข้าวสุกหรือห่อข้าวสุก 1 ห่อ เทียน ดอกไม้ อย่างละ 5 คู่ เรียกว่า ขัน 5 ไก่ต้มสุก 1 ตัว เหล้า 1 ขวด (หรือตามที่ได้บนบานไว้) น้ำตาล 1 ห่อ เงินตามศรัทธา จากนั้นกวานจ้ำจะเป็นผู้ทำพิธีแก้บนให้
“บุญเข้ากรรม” โดยจะทำในช่วงเดือนอ้าย ในเดือนนี้พระสงฆ์จะเข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย ไทโย้ยจะไปร่วมทำบุญที่วัดและทำบุญเลี้ยงผี “บุญคูณลาน” โดยทำในเดือนยี่จุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นศิริมงคลกับข้าวใหม่ ในวันนี้จะมีการนิมนต์พระมาฉันอาหารเช้าที่นา แล้วทำพิธีสู่ขวัญข้าว
“บุญข้าวจี่” ทำในเดือนสาม พร้อมการทำบุญมาฆบูชา ช่วงเช้าจะนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นใส่กับไม้แล้วจี่ไฟจนมีสีเหลือง ทาด้วยไข่ไก่หรือไข่เป็ดจนข้าวสุก พอสุกแล้วจะดึงไม้ที่ใช้จี่ออกจากปั้นข้าวแล้วนำน้ำอ้อยใส่เข้าไปในช่องว่างที่ดึงไม้ออก จากนั้นจึงนำไปทำบุญถวายพระที่วัดพร้อมด้วยอาหารคาวหวาน
“บุญพระเวส” (พระเหวด) ทำในเดือนสี่ โดยจะจัดให้มีการเทศน์มหาชาติ ถ่ายทอดประวัติของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าถ้าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติจนจบจะได้บุญกุศลมากยิ่งนัก โดยจะทำกันจำนวน 3 วัน คือ วันแรก (วันรวมหรือวันโฮม) เป็นวันจัดเตรียมงาน มีมหรสพสมโภช วันที่สอง วันแห่พระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี เข้าเมือง และวันสุดท้าย วันฟังเทศน์มหาชาติและเทศน์แหล่ ในการเทศน์จะมี 13 กัณฑ์ (บท) ในแต่ละกัณฑ์จะมีโยมเจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์เครื่องบริขารต่างๆแก่พระสงฆ์ นอกจากนี้ยังอาจมีกัณฑ์หลอนซึ่งจัดทำขึ้นโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
“บุญสรงน้ำ” ทำในเดือนห้า มีการสงฆ์น้ำพระจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันนี้ในเวลา 16.00 น. พระจะตีกลองรวมหรือกลองโฮม เพื่อให้ชาวบ้านนำน้ำหอมมาที่วัด ทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป วันต่อมาจะทำบุญเลี้ยงพระ และวันที่สามจัดให้มีการสรงน้ำพระ โดยในระหว่าง 3 วันนี้ไทยโย้ยก็จะเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน
“บุญวันวิสาขบูชา” และ “บุญบั้งไฟ” ซึ่งทั้งพิธีนี้จะทำในเดือนหก โดยบุญฯบั้งไฟทำขึ้นเพื่อขอฝน ส่วนบุญวันวิสาขบูชา ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัดและเวียนเทียนตอนกลางคืน
“บุญซำฮะ” (ชำระล้าง) บุญเดือนเจ็ด มีการทำบุญและเซ่นไหว้เทวดา หลักเมือง ผีปู่ตา ผีตาแฮก
“บุญเข้าพรรษา” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรและถวายผ้าอาบน้ำฝน ส่วนตอนกลางคืนจะทำพิธีเวียนเทียนที่วัด
“บุญข้าวประดับดิน” หรือบุญเดือนเก้า ในวันแรม 13 ค่ำเดือน 9 การทำบุญในวันนี้จะแบ่งอาหารออกเป็น 4 ส่วนคือ อาหารถวายพระสงฆ์ อาหารไว้กินในบ้าน อาหารแบ่งให้ญาติๆ อาหารอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยในช่วงเช้ามืดจะนำอาหารที่อุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ได้แก่ ของหวาน 1 ห่อ ของคาว 1 ห่อ หมากพลูและบุหรี่ ไปวางไว้ตามบริเวณวัดและกรวดน้ำให้กับญาติที่เสียชีวิต จากนั้นจึงใส่บาตรพระและถวายอาหารเช้าแก่พระที่วัด
“บุญข้าวสาก” จัดเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบ โดยไทโย้ยจะทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และนำอาหารไปถวายพระที่วัด มีการกรวดน้ำอุทิศให้กับญาติที่เสียชีวิต เมื่อทำบุญแล้วจึงจะนำข้าวสากบางส่วนไปใส่ในนาเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลนาและเพื่อความเป็นศิริมงคล ให้ข้าวเติบโตได้ผลผลิตงอกงาม ในวันนี้จะจัดแข่งขันเรือยาวกับไหลห้าน (ร้าน) บูชาไฟหรือ “ไหลเรือไฟ” ด้วย
“บุญออกพรรษา” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ภายหลังจากที่พระจำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว ในคืนนั้นจะการจัดงานจะปล่อยโคม จุดประทัด ส่วนพิธีทางศาสนาคือ ฟังพระเทศน์ เวียนเทียนที่วัด โดยจะทำบุญติดต่อกันสามวันสามคืน
“บุญทอดกฐิน” โดยในปีหนึ่งจะทำเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น และในแต่ละวัดจะรับกฐินได้หนึ่งครั้งเท่านั้น
ความเชื่อเกี่ยวกับการทำศพ เมื่อมีคนเสียชีวิตไทโย้ยจะนำผ้ามามัดร่างผู้เสียชีวิต 3 ท่อน แล้วจึงจะบรรจุศพลงในโลง จากนั้นปิดหน้าศพด้วยผ้าขาวแล้วแต่จำนวนผืนที่ลูกอยากให้ปิดหน้าศพ ซึ่งผ้าที่ปิดหน้าศพดังกล่าวเชื่อว่าเป็นสมบัติของพ่อกับแม่ ถ้าหากลูกอยากเก็บเอาไว้บูชากราบไหว้ก็ให้ก้มแล้วใช้ปากคาบจากหน้าศพเอาเอง และเมื่อจะนำร่างผู้ตายใส่โลงก็จะเขียนคาถาบนมือซ้าย มือขวา และปาก เพื่อเป็นคาถาไปสวรรค์ และจะใส่เงินในปาก มือและเสื้อของผู้ตาย ด้วยเชื่อว่าจะเป็นค่าจ้างทางเพื่อไปสู่สวรรค์ ซึ่งการจัดพิธีศพส่วนใหญ่จะทำกัน 3 วัน 3 คืน ครั้นเมื่อครบตามกำหนดจึงจะนำศพไปทำพิธีที่ป่าช้า เมื่อจะนำศพไปยังป่าช้า หากสามีเสียชีวิตคนที่เป็นภรรยาจะตัดก้านกล้วยยาว 1 เมตร แล้วเวียนซ้ายรอบศพจำนวน 3 รอบ จากนั้นก็จะตัดก้านกล้วยที่นำมาใช้วนศพ เมื่อเวียนครบ 3 รอบ ให้บอกกล่าวแก่ผู้เสียชีวิตให้ไปสู่สุขคติ เมื่อไปถึงป่าช้าจึงนำศพออกจากโลง วางศพไว้บนกองฟอน จากนั้นจึงนำโลงมาครอบศพแล้วราดหน้าร่างผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมะพร้าว ช่วงนี้ถ้าลูกหลานของคนที่เสียชีวิตอยากได้ผ้าปิดหน้าศพให้ใช้ปากคาบผ้านั้นเพื่อเก็บไว้บูชา แล้วจึงค่อยนำโลงศพหรือที่ไทโย้ยเรียกว่า “หอกะโลง” ครอบร่างผู้ตาย จากนั้นพระก็จะสวดทำพิธีทางศาสนา ครั้นเมื่อจะเผาจึงให้หันหัวผู้ตายไปด้านตะวันออกเพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้ไปเกิดใหม่ เมื่อจุดไฟเผาจะจุดด้วยกระบองหรือไต้ เมื่อเผาเรียบร้อยแล้วจึงค่อยกลับบ้าน ส่วนช่วงเย็นจะมีการจัดหาอาหารเอาไว้ให้สำหรับคนตาย โดยจัดไว้ให้จนกว่าจะเก็บกระดูกเรียบร้อย ในช่วงนี้จะนิมนต์พระมาสวดเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนแต่ทุกวันนี้จะลดลงเหลือเพียงสวดวันเดียว
ประเพณีบุญเลี้ยงเจ้าปู่
ส่วนใหญ่ในปีหนึ่งจะจัด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะจัดในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ หลังจากขึ้นนาหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ โดยคนในหมู่บ้านจะนำอาหารมาเซ่นไหว้เจ้าปู่ เพื่อขอให้เจ้าปู่ดูแลคนในหมู่บ้านให้อยู่อย่างสงบร่มเย็น จากนั้นจะจัดอีกครั้งในระหว่างเดือน 6 ก่อนจะทำนาเพื่อขอให้เจ้าปู่ช่วยทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
บูชาพระอุปคุต
ทั้งนี้ในการจัดงานประเพณีหรือพิธีกรรมที่สำคัญของชุมชน เช่น บุญพระเวสสันดร ชาวโย้ยจะมีการอาราธนาพระอุปคุตมาช่วยปกป้องคุ้มภัยเพื่อให้การจัดงานดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยจะมีการดำเนินพิธีกรรมตั้งแต่เช้าตรู่ ราว 04.00 น. ณ บริเวณ “ปากอุปคุต” ซึ่งเป็นปากน้ำที่มีลักษระเป็นร่องน้ำไหลลงสู่ลำน้ำยาม ชาวบ้านเรียกว่า “ ปากฮ่องกะดัน” อยู่ติดกับวัดจอมแจ้ง (วัดเหนือ) รายละเอียดของพิธีกรรมจะมีการอาราธนานิมนต์พระอุปคุตที่เชื่อว่าอยู่สะดือสมุทรขึ้นมาประทับบนแท่นอาสนะสี่เสาที่เตรียมไว้ โดยมีเครื่องเซ่นไหว้ไทยทานประกอบด้วย ขัน 5 ผ้าไตร บาตร ร่ม รองเท้า ขันหมากเบ็ง 1 คู่ ดอกไม้ขาวหรือดอกพุดขาว ซึ่งผู้ที่นำในการทำพิธีกรรมคือพระสงฆ์ โดยทำหน้ากล่าวคำอาราชธนา เมื่อกล่าวจบแล้วจึงจะมีการลงไปงมเอาก้อนหิน 3-4 ในแม่น้ำ แล้วท่องพระคาถาใส่ก้อนหินว่า “อุปะคุตตัง มะหิริกัง ยามะอุปัททะวัง วิวังเสติ อัสสะติ” (สามครั้ง) จากนั้นจึงทำการตักน้ำใส่บาตรและนำหินก้อนดังกล่าวลงในบาตร แล้วจึงนำขบวนแห่มายังบริเวณอาราธนาเพื่อนิมนต์พระอุปคุตขึ้นประทับแท่นอาสน์ที่เตรียมไว้ เพื่อเป็นกำลังใจในการดำเนินกิจกรรมจนแล้วเสร็จ
งานบุญยอธาตุ
เพื่อแสดงความเคารพยกยอพระพุทธศาสนาและอัฐธาตุของบรรพบุรุษ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ มีกำหนด 2 วัน ตรงกับวันที่ 19-20 เมษายนของทุกปี วัตถุสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรมที่มีการเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องไทยทาน เครื่องสังฆทาน ส่วนวัตถุสิ่งของที่นำมาในวันงานคือ ดอกไม้ ธูปเทียน ดิน หิน ทราย ข้าวปลาอาหารคาว หวาน น้ำอบ น้ำหอม ปราสาทผึ้งและต้นกัณฑ์ สำหรับคติความเชื่อเกี่ยวกับงานบุญยอธาตุ แบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ คติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพุทธแบบพื้นบ้าน คติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์แบบพื้นบ้าน และคติความเชื่อเรื่องผี คติความเชื่อเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กล่าวคือ พิธีกรรมทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ที่ประกอบขึ้นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญ่าติพี่น้องผู้ล่วงลับหรือผีบรรพบุรุษ ชาวโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยมีความเชื่อดังกล่าวอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์ ทำให้ประเพณีการทำบุญยอธาตุคงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเพณีบุญยอธาตุถือเป็นประเพณีหนึ่งที่ชาวโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยให้ความสำคัญที่จะขาดเสียมิได้นอกเหนือจากประเพณีบุญเดือนห้าและบุญสงกรานต์
อนึ่ง บุญยอธาตุเป็นการจัดงานสืบเนื่องจากประเพณีสงกรานต์ กล่าวคือ เมื่อทำบุญสงกรานต์ครบเจ็ดวันแล้ว ชาวบ้านจะอัญเชิญพระพุทธรูปที่อัญเชิญลงมาสรงน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเสร็จพิธีสรงน้ำแล้วชาวบ้านจึงได้อัญเชิญยกหรือยอขึ้นประดิษฐ์ฐานไว้บนแท่นบูชาตามเดิม ชาวอีสานนิยมเรียกเจดีย์ว่าธาตุ บางครั้งเรียกเจดีย์ทั้ง 4 ว่า ธาตุสี่ ได้แก่ 1.พระธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า 2.พระธรรมเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระธรรมหรือคำสั่งสอนของพระศาสนา ได้แก่ ตู้พระไตรปิฎกและหอพระไตรปิฎก 3.บริโภคเจดีย์ คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงเคยใช้สอย 4. อุทเทสิกเจดีย์ คือ เจดีย์สร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ดังนั้น การทำบุญยอธาตุของไทโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยจึงหมายถึง การอัญเชิญ (ยก) การยอหรือการน้อมเอาธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นธาตุทั้งสี่ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ว่าเป็นเจติยานุสรณ์ คือ สิ่งที่ควรปฏิบัติ และน้อมนำมาปฏิบัติอยู่เสมอ ไทโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด มีการปฏิบัติตามฮีต 12 คอง 14 มาแต่โบราณ มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ โดยจะมีศาลปู่ตาหรือดอนปู่ตาอยู่ในหมู่บ้าน 1 แห่ง มีการเลี้ยงปู่ตาทุกปี มีเจ้าจ้ำหรือผู้ติดต่อระหว่างคนมีชีวิตกับวิญญาณผีปู่ตา (ผีบรรพบุรุษ) มีนางเทียม 1 คน หน้าที่เหยารักษาไข้ และดูแลลูกหลานมิให้ทำผิดประเพณีของหมู่บ้านเป็นร่างทรงของผีไท้ หรือผีเชื้อสายของหมู่บ้าน ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้ชาวบ้านจะให้ความเคารพนับถือยำเกรงมาก ก่อนจะทำอะไรต้องไปคอย (บอกกล่าว) ก่อน เช่น ลูกหลานจะแต่งงานหรือมาอยู่ใหม่และย้ายที่อยู่ ต้องมีการบอกกล่าวทุกครั้ง เวลาจะไปสอบหรือเดินทางไกลก็มักจะไปบนบานกับเจ้าจ้ำ เพื่อขอพรให้โชคดี ถ้าสำเร็จตามที่บนบานก็ต้องมาทำพิธี "แก้บะ" (แก้บน) กับจ้ำทุกครั้ง ส่วนเวลาป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุหรือทางโรงพยาบาลรักษาไม่หายก็จะมีการเหยารักษาโดย นางเทียม มีหมอธรรมอีกประมาณ 2-3 คน มีหน้าที่ทำพิธีเข้าทรงเพื่อชาวบ้านต้องการจะทราบอะไรบางสิ่งบางอย่าง เช่น เวลาของหาย คนหายก็จะลงธรรมดูว่า ขณะนี้อยู่ที่ไหน ซึ่งชาวบ้านจะเชื่อถือมากเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีหมอสูดประจำหมู่บ้านเป็นผู้นำในการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ในพิธีต่าง ๆ เช่น แต่งงาน บายศรีสู่ขวัญเมื่อคลอดลูกใหม่ เวลาไปอยู่ต่างถิ่นเป็นต้น
ประเพณีไหลเรือไฟ
(บูซาไพ-ชาวโย้ยจะออกเสียง “ฟ” เป็น “พ”) โดยจะจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งชาวโย้ยเรียกว่า “มื้อโฮม” หรือวันรวม ในอดีตนั้นช่วงกลางวันจะมีกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีและความสนุกสนานร่วมกัน คือ การแข่งขันเรือพายในลำน้ำยามระหว่างคุ้มวัด ซึ่งเรือที่ใช้ในการแข่งขันสามารถจุคนได้แต่ละลำไม่เกิน 10 คนโดยจะมีคนหนึ่งทำหน้าที่ตีกลองเป็นจังหวะการพาย คุ้มวัดใดชนะจะได้รับคำรางวัลเป็น เหล้าโท (สาโท) จากนั้นในช่วงกลางคืนหลังจากสวดมนต์เย็น(ทำวัตรเย็น)เสร็จ ญาติโยมจะทำการจัดเตรียมอุปกรณ์เรือไฟไปที่ท่าน้ำ ชาวคุ้มวัดต่างร่วมกันประดับตกแต่งเรือไฟของตนเอง ซึ่งเครื่องประดับตกแต่งบนเรือไฟ ประกอบด้วย ก้านจู้ ก้านกล้วย ต้นอ้อย กิ่งไผ่เพื่อแขวนกล้วย ขนม ข้าวต้ม เหมือนต้นกัลปพฤกษ์ บั้งไฟ (มีบั้งไพหาง บั้งไพตะไล บั้งไพนกคุ่ม) โดยจะจัดเตรียมอุปกรณ์ลงเรือไปที่ท่าน้ำวัดเหนือ (วัดจอมแจ้ง) บริเวณปากอุปคุต มีเครื่องดนตรีประโคม (กลองเลง) ครั้นพอถึงเวลา 19.00 น. จึงจะเริ่มพิธีปล่อย “แม่วอง” โดยจะมีการกล่าวขอขมาแม่คงคาและอัญเชิญผีเงือกทั้งหลายให้กลับไปยังแม่น้ำสายใหญ่ เพราะจากไปลำน้ำสายนี้จะลดระดับแห้งลง เมื่อกล่าวเสร็จจึงปล่อยแม่วองให้ไหลไปตามสายน้ำ แล้วจึงตามด้วยเรือไฟของคุ้มวัดทั้ง 6 คุ้มวัด ซึ่งในอดีตนั้นเมื่อไหลเรือไฟลำสุดท้ายแล้วเสร็จ ชาวบ้านที่มาชมจึงจะพากันเดินทางกลับบ้านเรือนเพราะไม่มีมหรสพสมโภช
ต่อมารวมทศวรรษ 2540 ประเพณีการไหลเรือไฟเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย กล่าวคือ ในช่วงกลางวันจะมีการจัดแข่งเรือพาย ซึ่งแต่ในอดีตจะใช้เวลาเพียง 1 วัน ต่อมาเพื่อให้งานยิ่งใหญ่ขึ้นได้ขยายระยะเวลาเป็น 2 วันในการแข่งขันเรือพาย อีกทั้งขนาดของเรือยังใหญ่ขึ้นสามารถจุคนได้ 30 - 40 คน โดยมีรางวัลเป็นเงินและถ้วยรางวัล มีการทำเสื้อทีม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านทั้งต่างอำเภอและต่างจังหวัดเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย ส่วนในช่วงกลางคืนได้จัดให้การประกวดไหลเรือไฟของ 6 คุ้มวัด โดยเทศบาลฯและนักการเมืองให้การสนับสนุนงบประมาณแก่คุ้มวัดต่างๆในการทำเรือไฟ เพราะมีการประกวดเรือไฟด้วย โดยจะมีการมอบถ้วยและเงินรางวัลสำหรับคุ้มที่ชนะ สำหรับรูปทรงลักษณะของเรือไฟยังคงมีเค้าโครงเดิมแต่มีการเปลี่ยนแปลงในแง่รายละเอียดและความคิดสร้างสรรค์ เช่น การทำเป็นรูปทรงแสดงเรื่องราวของวิถีชีวิต หรือทำเป็นรูปทรงเจดีย์ วัด เป็นต้น แต่ยังคงมีก้านจู้เครื่องประดับบางอย่างที่ยังคงเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีมหรสพสมโภชหลายคืน เช่น วงดนตรี วงหมอลำ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประกวดภูมิปัญญาชาวบ้าน การประกวดสาวงามลุ่มน้ำยาม การประกวดสาวประเภทสอง มีสวนสนุก ชิงช้า ม้าหมุน ต่างๆ เพราะหลังจากชมการไหลเรือไฟเสร็จ ชาวบ้านยังได้ชมดนตรี การประกวด ออกร้านต่างๆด้วย
เอาบุญโท่ง หรือการทำบุญที่ทุ่งนา ซึ่งคล้ายกับบุญคูณลาน ไทโย้ยจะออกเสียงยาวว่า “โท่ง” การจัดพิธีจะจัดในเดือนยี่หรือเดือนสาม หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเพราะยังไม่ขนข้าวเข้าเก็บในยุ้ง เรียกว่าบุญเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวโย้ยอากาศอำนวยด้วย เชื่อว่าเป็นวันศิริมงคล ดังคำกล่าวที่ว่า “วันหมากขามป้อมสุกหวาน แม่มานท้องแวบ ครกป่งใบ หัวจะไคออกดอก” ถือเป็นวันที่ขวัญของสรรพสิ่งต่างๆ แข็งแกร่งที่สุด จุดประสงค์ของการทำเพื่อแสดงความเคารพคุณข้าว เพื่อความเป็นมงคลแก่ทุ่งนาและเรียกขวัญข้าวขวัญนามารับส่วนบุญด้วย รวมทั้งสร้างความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว ให้มีชีวิต เจริญก้าวหน้าและทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การจัดงานจะทำ 2 วัน โดยวันแรก คือ “การสู่ขวัญข้าว” คือ ข้าวที่ได้เก็บเกี่ยวแล้วนำขึ้นมายังยุ้งฉางเรียบร้อย พอถึงเดือน 3 จะทำพิธีสู่ขวัญข้าว เครื่องบายศรีประกอบด้วย ข้าว ไข่ เทียน เผือก มัน กล้วย อ้อย น้ำหอม ใบยอ (ขมิ้นบดผสม-น้ำดอกไม้) กระติบข้าวเหนียว ทั้งนี้พิธีการจะเริ่มช่วงตอนเช้าตรู่ (ก่อนตักบาตร) ของเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ เจ้าของบ้านจะนำเอาเครื่องบายศรีที่เตรียมไว้ขึ้นไปเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) แล้วกล่าวเรียกขวัญข้าวที่ตกยังพื้นไร่พื้นนาให้เข้ามาในยุ้งฉางเพื่อในปีต่อไปจะได้ออกใบเจริญเติบโตเลี้ยงลูกหลานต่อไป บางแห่งจะเอาข้าวเปลือกมารวมกันที่ลานนวดข้าวเพื่อทำพิธี ซึ่งผู้ทำพิธีคือหมอพราหมณ์หรือคนที่ชาวบ้านนับถือเพื่อเรียกขวัญนาขวัญข้าว และผีไร่ ผีนา นอกจากนี้ยังมี “สู่ขวัญวัว สู่ขวัญควาย” จะทำหลังจากการสู่ขวัญข้าวเสร็จแล้วจะนำเอาน้ำหอมที่เตรียมไว้มารดตัววัวควาย พร้อมกล่าวคำที่เป็นศิริมงคล เช่น ให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์เพื่อจะใช้ลากเกวียน ลากไถในฤดูกาลทำนาต่อไป ตัวเมียให้ตกลูกดกเป็นต้น จากนั้นจึงนำฝ้ายมาผูกที่ขาหรือเชือกที่ผูกติดกับคอวัวควาย บ่างคนอาจผูกข้าวต้มมัดที่เขาวัวเขาควายด้วย ครั้นตอนกลางคืนจะมีมหรสพสมโภช เช่น ภาพยนตร์ หมอลำ เป็นต้น ในวันต่อมาช่วงเช้านิมนต์พระมาสวดและฉันอาหารเช้า ผู้ที่มาร่วมงานรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นจึงนำข้าวเปลือกไปขายเพื่อนำเงินไปทำบุญที่วัด
ชาวไทโย้ยนับถือศาสนาพุทธ ดังกรณีบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวยนั้นมีวัดอยู่ 6 วัดได้แก่ วัดกลางพระแก้ว วัดทุ่ง วัดศรีโพนเมือง วัดจอมแจ้ง(วัดเหนือ) วัดไตรภูมิ(วัดใต้) วัดอุดมรัตนารามหรือวัดป่า นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีบรรพบุรุษที่ช่วยดูแลลูกหลานในครอบครัว นับถือผีเจ้าปู่ และเชื่อเรื่องขวัญ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนั้นได้สะท่อนออกมาเป็นประเพณีต่างๆทั้งในชีวิตประจำวันตามโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่บ้าน เจิมรถใหม่ เป็นต้น หรือปรากฏผ่านประเพณีในแต่ละเดือนของรอบปีเรียกว่า “ฮีตสิบสอง” แต่ใช่ว่าทุกชุมชนโย้ยจะทำครบทุกประเพณี ดังกรณีไทโย้ยบ้านอากาศนั้น พบว่าฮีตหรือจารีตสิบสองเดือนที่ยังสืบทอดกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
ความเชื่อที่เกี่ยวกับแม่น้ำ
ชาวโย้ยนิยมจัดเกือบทุกชุมชนที่ตั้งใกล้แม่น้ำ คือ ประเพณีไหลห้าน (ร้าน) บูชาไฟ หรือบุญไหลเรือไฟ ซึ่งจะจัดในวันเพ็ญเดือน 10 จุดมุ่งหมายเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้และบูชาแม่น้ำ เพื่อให้สิ่งอัปมงคลต่างๆออกจากหมู่บ้านคงเหลือแต่สิ่งที่เป็นมงคล สำหรับการทำเรือไฟนั้นเมื่อก่อนจะทำด้วยต้นกล้วย เอามาต่อเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงหลายอย่าง มีความยาวราว 5 - 6 เมตร ใส่สิ่งต่างๆ ลงไปในเรือ เช่น ข้าวต้มมัด ขนม กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน เผือก และอื่นๆ ส่วนด้านนอกเรือตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้หรือผ้าชุบน้ำมันขี้ไต้ หรือที่ไทโย้ยเรียกว่า ”ก้านจู้” เพื่อจุดไฟในตอนกลางคืนช่วงไหลเรือไฟ ส่วนบนเรือไฟจะมีการเล่นดนตรีพื้นเมืองตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ และอื่นๆรวมทั้งมีคนเต้นรำอยู่บนนั้น นอกจากนี้ไทโย้ยยังประกอบพิธีการไหลเรือไฟบก โดยจะทำแท่นบูชาเป็นรูปเรือวางไว้ข้างโบสถ์ ซึ่งในเรือจะใส่ผลตูมกาผ่าครึ่งเอาไว้แล้วทำไส้ตะเกียงบรรจุไว้ในผลตูมกา โดยจะทำเอาไว้กว่า 200 อัน หลังจากประกอบพิธีออกพรรษา คนที่มาทำบุญก็จะจุดไฟในผลตูมกาที่ทำเอาไว้แล้ววางดอกไม้ธูปเทียนเอาไว้บนเรือบก เพื่อทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว
ความเชื่อเกี่ยวกับโชค ลาง ดวงชะตา การสะเดาะเคราะห์หรือแต่งแก้ รวมทั้งความเชื่อในฤกษ์ยามเพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมต่างๆด้วย รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับขวัญ โดยเชื่อว่าสิ่งต่างๆย่อมมีขวัญไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ เชื่อกันว่าถ้าขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวย่อมทำให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น จึงมีพิธีทำขวัญหรือเรียกขวัญ การทำขวัญมีหลายประเภท เช่น ทำขวัญคน ทำขวัญข้าว และทำขวัญควาย ซึ่งนิยมทำในฤดูทำนา เช่น สู่ขวัญผู้ที่จะบวช การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แม่และลูกที่เพิ่งคลอดใหม่ พิธีจัดหลังจากเด็กคลอด เมื่ออาบน้ำให้เด็กแล้วจะอุ้มเด็กมาวางลงกระด้งที่ปูผ้าเอาไว้ จากนั้นก็จะให้ผู้สูงอายุประกอบพิธี “พอกหนาย” แล้วก็จะวางปั้นข้าวสุก 1 ปั้นลงที่กระด้งแล้วจะกล่าวว่า “หากเป็นลูกผีก็ให้มารับเอาไป ถ้าเลยวันนี้ไปแล้วก็จะเป็นลูกของคน “ จากนั้นจะทำนายชะตาชีวิตของเด็กซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำทำนายที่เป็นศิริมงคลกับชีวิต ต่อมาญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธีก็จะให้พรเด็กที่เกิดใหม่ จากนั้นจึงรับประทานอาหารร่วมกัน และเมื่อแม่ลูกอ่อนออกจากการอยู่ไฟจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญแม่และเด็กอีกครั้ง
ความเชื่อเรื่องผี
ไทโย้ยแบ่งผีออกเป็นผีดีละผีร้าย เช่น “ผีตาแฮก” หรือผีไร่ผีนา เชื่อว่าเป็นผีที่อาศัยอยู่ที่ไร่นาและมีหน้าที่ช่วยดลบันดาลให้เพาะปลูกให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ไทโย้ยจะเลี้ยงผีตาแฮกก่อนจะเพาะปลูกในไร่นาทุกครั้งเพราะถ้าหากไม่ทำพิธีเลี้ยงผี เชื่อว่าจะทำให้เคราะห์ร้ายเป็นไข้ไม่สบายและเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ดี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้วก็จะทำพิธีเลี้ยงผีไร่ผีนา หากปลูกข้าวได้ผลผลิตเป็นจำนวนมากก็จะทำบุญกองข้าว ถ้าหากได้ผลผลิตน้อยก็จะไม่ทำ สำหรับการจัดพิธีจะอยู่ระหว่างเดือน 1 กับเดือน 2 ส่วน “ผีปู่ตา” “ผีแจ” คือ ผีบรรพบุรุษของไทโย้ยจะประจำอยู่ที่บ้าน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองคนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข การทำพิธีเซ่นไหว้จะทำเมื่อคนในบ้านเป็นไข้ไม่สบายหรือกรณีที่ลูกสาวจะแต่งงาน จะมีการทำพิธีบอกผีปู่ตาหรือผีแจได้รับรู้ สำหรับผีปู่ตานั้น ไทโย้ยจะทำเป็นห้องหรือที่เรียกว่า “ซ้อม” เพื่อเชิญผีปู่ตาไว้ที่ห้องนี้ และในห้องนี้ยังเป็นห้องบูชาพระพุทธรูปด้วยเช่นกัน มีลักษณะเป็นห้องโล่งและเจ้าของบ้านจะไม่นอนที่ห้องนี้ “ผีน้ำ” “ผีเงือก” เป็นผีที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง ผีชนิดนี้เป็นผีให้โทษมากกว่าให้ประโยชน์ ในอดีตไทโย้ยจะใช้พูดหลอกลูกหลานเพื่อป้องกันไม่ให้ลงไปเล่นน้ำ โดยมักอ้างว่าในน้ำมีผีน้ำอยู่เพื่อให้เด็กๆที่จะลงไปเล่นน้ำกลัว ดังนั้นไทโย้ยจึงนำมาใช้เพื่อป้องกันลูกหลานที่จะลงเล่นน้ำซึ่งอาจได้รับอันตรายจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งถ้าหากลงไปเล่นน้ำแล้วไม่สบายมีอาการละเมอ ไทโย้ยจะให้ “หมอจ้ำ” มาทำพิธีเซ่นไหว้ขอขมาผี แล้วเชิญผีให้ไปอยู่แม่น้ำโขงเพื่อจะให้คนในหมู่บ้านไม่ต้องได้รับความเดือดร้อน
ในอดีตแต่เดิมนั้นไทโย้ยมีข้อห้ามทางวัฒนธรรมที่มีต่อคนชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พวกตน โดยไม่อนุญาตให้คนกลุ่มหรือบ้านอื่นมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณหมู่บ้านตนเอง ดังเช่นกรณีของไทโย้ยโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร แต่ต่อมาก็ไม่ได้เข้มงวดแล้วเนื่องจากลูกหลานต้องออกไปทำงานที่อื่น ทำให้ได้แต่งงานกับคนนอกกลุ่มมากขึ้น ทั้งที่เป็นคนไทยต่างถิ่นและชาวต่างประเทศ (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ, 2540) นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเชื่อ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับผีวิญญาณ หรือสิ่งลึกลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะข้อห้ามข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับตาย อาทิ ผีตายโหงห้ามนำศพขึ้นบ้านโดยจะจัดสถานที่บำเพ็ญกุศลรอบบริเวณบ้านตนเองและจะไม่เผา ถ้าตายป่วยตายไข้ จะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านโดยหันศีรษะศพไปตามทิศที่เคยนอนก่อนตาย ถ้ามีคนตายหลาย ๆ ศพ ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน จะนำศพที่ตายที่หลังไปเผาหรือฝังก่อน ห้ามปลงผีวันพระขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ หรือวันฮับปากเดือน (วันขึ้น 1 ค่ำ) รวมทั้งชาวโย้ยไม่นิยมเผาศพหรือฝังศพในวันขึ้นและแรม 9 ค่ำ เดือน 9 (ชาวโย้ย เรียกว่า วัน 9 ค่ำ 9 กอง) เพราะไม่เป็นมงคล นิยมนำเงินใส่ที่เกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของผู้ตาย มากน้อยตามแต่จะให้เพื่อจ้าง (ให้สินบน) ขณะเดินทางไปสู่ปรโลก คนโย้ยมีความเชื่อว่า เมื่อคนตายไปแล้ว เป็นห่วงคนตายว่าจะลำบากจะอดอยากไม่มีอยู่มีกินเป็นต้น จึงเตรียมหาเครื่องใช้บางอย่าง เช่น เสียม มีด พร้า ขวาน หม้อหนึ่งข้าว หวด มวย กระติบข้าว ตะกร้าให้ผู้ตาย โดยนำไปป่าเฮ่ว (ป่าช้า) แล้วเผาหรือฝัง ถ้าเป็นพ่อแม่คนจะได้เพิ่มอีกคือไม้ชิ้นเล็กๆ 1 ชิ้นหรือมากกว่านั้นอาจจะเป็นกระดานพื้นหรือฝาก็ได้ เพราะเชื่อว่าได้สร้างบ้านมาด้วยกันจะต้องแบ่งให้กันไป ซึ่งบางรายเป็นห่วงผู้ตายมากยังไปปลูกบ้านหลังเล็กๆหนึ่งหลังคร่อมบริเวณเผาศพด้วย รวมทั้งก่อนจะนำศพไปเผาหรือฝังนั้น ญาติมิตรก็ต้องไปเลือกบริเวณเผาศพก่อนว่าจะเผาหรือฝัง
ตรงไหนดี ส่วนใหญ่ตามความเชื่อโบราณ มักจะเลือกบริเวณใกล้ญาติๆที่ตายก่อนแล้ว จากนั้นทำพิธีเสี่ยงไข่ก่อน โดยการโยนไข่ไก่ดิบไปรอบบริเวณที่ต้องการ ถ้าไข่ไก่แตกตรงไหนก็ถือว่าผู้ตายอยากอยู่ตรงนั้น ถ้าไข่ไก่ไม่แตกก็โยนไปเรื่อยๆจนกว่าไข่ไก่จะแตก หลังจากได้สถานที่แล้วลูกหลานญาติมิตร ก็พากันหาฟืนมากองทำเป็นเชิงตะกอนหรือขุดหลุมตรงนั้น แต่ไม่ลืมกำหนดว่าให้หันศีรษะศพไปทิศตะวันออก เป็นต้น
นอกจากนี้ในอดีตยังมีข้อห้ามข้อปฏิบัติเคร่งครัดเกี่ยวกับการเกิด เช่น ไม่ให้หญิงมีครรภ์นั่งขวางประตูหรือบันได ไม่ให้ลอดใต้ถุนบ้าน ไม่ให้ทำงานหนัก และไม่ให้กินอาหารรสจัด แต่จะกินได้เฉพาะปลาบางชนิด เช่น ปลาช่อน ปลาแม่สะแด้ง (แม่กะแด้ง) ปลาขาว เป็นต้น รวมทั้งยังเชื่อในเรื่องการฝังสายสะดือ(รก) หรือไทโย้ยเรียกว่า “ไส้แห่” เชื่อกันว่าถ้าคนถือไส้แห่ไปฝังด้วยมือข้างใด ทารกเกิดมาจะถนัดมือข้างนั้น การฝังไส้แห่นั้น คนโย้ยจะฝังที่ใต้บันไดบ้านโดยการขุดหลุมเล็กๆ ฝัง แล้วก่อไฟขึ้นบนหลุม บ้างให้เหตุผลว่าเกี่ยวกับการฝังรกใต้บันไดเชิงปรินาธรรมว่าเพื่อให้เด็กเมื่อโตขึ้นรู้จักทางขึ้น-ทางลง หรืออีกนัยหนึ่งว่าเพื่อเป็นเคล็ดว่าเมื่อเด็กโตขึ้นจะไปที่ไหนไกลใกล้ ก็จะกลับมาที่ฝังไส้แห่ที่แผ่ไส้บือ” (ไม่ลืมพ่อแม่ ถิ่นฐานบ้านเกิด) เป็นต้น
ส่วนข้อปฏิบัติอย่างอื่น เช่น เมื่อปลูกบ้านยังไม่เสร็จหรือเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ ห้ามทุกคนไปอยู่อาศัยหลับนอน ถ้านอนถือว่าขะลำ คนโย้ยนิยมหันหน้าบ้านไปทิศเหนือหรือทิศใต้ ทุกวันนี้เปลี่ยนไปตามถนนไม่เลือกทิศ นิยมกั้นห้องนอนเป็นสัดส่วนเหลือไว้ห้องเดียว โดยส่วนมากด้านทิศตะวันออกจะเป็นห้องพระเพราะมีหิ้งพระและผีแจก็อยู่ห้องนี้ เมื่อมีงานนิมนต์พระขึ้นบ้านจะให้พระนั่งห้องนี้ คนที่จะนอนห้องนี้ได้ต้องเป็นลูกชายที่ยังโสด ส่วนพ่อแม่ลูกสาวและลูกชายที่แต่งงานแล้วให้นอนในห้องที่กั้นไว้ เรียกว่า “ ส่วม” คนโย้ยนิยมนอนหันศีรษะไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนทิศอื่นถือว่าขะลำ เป็นต้น
ในอดีตก่อนที่ระบบสุขภาพและการการแพทย์จะก้าวหน้าและสามารถเข้าถึงได้สะดวกเหมือนปัจจุบัน ชาวไทโย้ยมักเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคต่างๆ บางโรคอาจร้ายแรงรักษาไม่ได้ จนอาจเป็นสาเหตุให้มีการย้ายถิ่นฐาน ดังปรากฏในกรณีบ้านชาดที่เดิมได้แยกออกมาจากบ้านวานรนิวาส ภายหลังบ้านชาดได้เกิดโรคห่าระบาดคร่าชีวิตผู้คน จนต้องพากันอพยพหนี บางส่วนได้อพยพมาตั้งบ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้โรคภัยที่ชาวโย้ยในอดีตประสบอยู่เสมอ เช่น ไข้อีสุกอีใส ไข้มาลาเรีย ท้องร่วง แตกต่างจากปัจจุบันที่ชาวโย้ยมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสะสมของสารพิษ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต เป็นต้น สำหรับความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและรพ.สต.มาให้ความรู้ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะอาหารประเภทสุกๆดิบๆ ทำให้ชาวโย้ยเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของตนเอง (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541: 94-95,118)
สำหรับการรักษาโรคภัยนั้น ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาปรากฏว่ามีทั้งการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันตามสถานีอนามัยที่ตั้งอยู่ในชุมชนและซื้อหาตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยแพทย์แผนโบราณ โดยการใช้สมุนไพร ส่วนใหญ่เป็นรากไม้ ด้วยวิธีต่างๆ ตามลักษณะโรค และยังมีการรักษาด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ด้วย เพราะเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากภูติผีปีศาจ เช่น ผีไร่ผีนา ต้องให้หมอเป่ารักษาให้ โดยหมอจ้ำจะถามว่าผีที่ทำให้ไม่สบายเป็นผีชนิดใด การรักษาจะจ่ายค่ายกครู 5-10 บาทกับธูปเทียน เมื่อหายจากการป่วยแล้วจะแก้บนด้วยเหล้ากับไก่ ถ้าการรักษาไม่หายก็จะให้หมอเหยามาทำพิธีให้ หากหายจากการเจ็บป่วยจะมีการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับคนป่วย (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 48) รวมทั้งยังมีความเชื่อเกี่ยวสุขภาพอย่างอื่น เช่น ผู้ที่มีครรภ์ต้องคลอดบุตรต้องมีการเตรียมคลอด โดยให้ไปนั่งตรงทางแยกโดยใส่ผ้าถุงสองผืนซ้อนกัน นั่งคุกเข่าเอาหินหรือทรายมาถูท้อง แล้วลุกขึ้นยืน ถอดผ้าถุงผืนหนึ่งออกโยนทิ้งไป เชื่อว่าจะทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้หลังคลอดยังมีขะลำหรือข้อห้าม เช่น การอยู่ไฟ หรือการ “อยู่คำ” (อยู่กำ) เมื่อคลอดลูกต้องอาศัยไฟ ความร้อนภายนอกและภายใน ทั้งอาบทั้งกินนั่งใกล้ไฟทั้งวันทั้งคืน ถ้าคลอดลูกคนแรก ต้องอยู่นาน 1 เดือน ต้องอดอาหารเกือบทุกอย่าง ให้กินได้เพียงปลาตัวเดียวโดยป่นใส่หัวข่าเผาหรือปลาป่น ปูป่น ข้าวจี่ เพราะมีความเชื่อว่าถ้ากินของคาว น้ำนมแม่และตัวเด็กจะเหม็นคาวด้วย และทำให้มดลูกเข้าอู่ได้ช้า เป็นต้น จะต้องกินน้ำร้อนและอาบน้ำร้อนที่ต้มด้วยเปลือกไม้ต่างๆ เช่น ไม้จิก ไม้กะเบา อาหารการกินระหว่างอยู่ไฟ ดังนั้น คำว่า “อยู่คำ” จึงหมายถึงอยู่เพื่อขะลำอาหารและรักษาร่างกาย เมื่อออกคำแล้วได้กินอาหารที่มีประโยชน์ไม่ต้องขะลำอีกร่างกายจึงคืนสู่สภาพเดิม
ในขณะที่เมียอยู่คำฝ่ายผัวต้อง “ปัวหม้อคำ” หมายถึง การดูแลรักษาผู้อยู่ไฟจนกว่าจะถึงกำหนดออกคำ ทั้งยังดูแลงานประจำทุกอย่างทั้งนอกบ้านในบ้าน ผัวจะต้องรับภาระคนเดียว ต้องคอยตักน้ำจากบ่อน้ำ ต้องหายาสมุนไพรจากหมอยาประจำหมู่บ้านนำมาต้มกิน เช่น ไม้หมากเป็น ยาชักมดลูกเข้าอู่เร็ว ยาแก้กินผิด เป็นต้น และต้องเตรียมหายาต้มอาบวันละ 2 - 3 ครั้ง เช่น ใบเป้า ใบหนาด เปลือกแดงไม้กะเบา เป็นต้น ต้องดูแลและหาอาหารให้กินทั้งแม่ทั้งลูก นอกจากนี้ผัวต้องทำ “พะซี” คือ การป่นขี้ซี (ชัน) ให้ละเอียด พอตกค่ำผัวจะใช้มือหนึ่งถือกะบอง (ขี้ไต้) อีกมือหนึ่งหยิบขี้ซีป่นซัดสดหว่านผ่านไฟกะบอง เมื่อไฟไหม้ขี้ซีจะมีแสงสว่างวาบดูน่ากลัวโดยต้องเดินทำล้อมตัวเรือนบ้านที่เมียอยู่คำ เพื่อป้องกันภูตผีเป้ามิให้มารังควาญลูกเมีย ชาวโย้ยเรียกว่า “ผอกผีพาย หนายผีเป้า” โดยให้เดินรอบบ้านคืนละ 1 รอบ ทำอยู่อย่างนี้ไม่ต่ำกว่า 7 คืน ครั้นเมื่ออยู่คำครบตามกำหนด จะมีการทำอาหารการกินอย่างดี เช่น ต้มไก่ขวัญ ถ้าได้ลูกชายให้ใช้ไก่ตัวเมีย ถ้าได้ลูกสาวให้ใช้ไก่ตัวผู้ และเชิญญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดและหมอตำแยมาร่วมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยมีการผูกข้อต่อแขนให้หมอตำแย แม่อยู่คำและลูกน้อย เมื่อญาติผู้ใหญ่ให้ศีลให้พรเสร็จจึงร่วมรับประทานอาหารกัน ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งระบบสาธารณสุขและการแพทย์แบบใหม่ได้มีอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก เช่น มีการสร้างห้องส้วมและห้องครัวรวมทั้งการปรุงอาหารการกินต่างๆ ให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้นด้วย (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่น, 2540: 97-108)
ศิลปะการแสดงของไทโย้ยได้ค่อยเลือนหายไปหลายอย่างราว 50 ปีที่ผ่าน เช่น โขน หนังตะลุง หมอลำคู่ รวมทั้งการลงข่วง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนุ่มสาวจะได้มาพบกันในเวลากลางคืน ตอนปั่นด้าย โดยหนุ่มที่ไปหาสาวจะเป่าแคนและดีดพิณเข้าไป จากนั้นหนุ่มสาวก็จะพูดคุยกันผ่านกลอนหรือผญาภาษิต ปัจจุบันมีหมอลำหมู่ หมอลำซิ่ง ภาพยนตร์ และวงดนตรีเข้ามาแทนที่
การเล่น “กลองเลง” ทั้งนี้ความหมายของคำว่า “เลง” คือ “การเที่ยว การเล่น” ดังนั้น การเล่นกลองเลงจึงหมายถึง “การตีกลองเที่ยวเล่น “ สำหรับลักษณะของกลองเลงนั้น จะเป็นแบบกลองแบนสองหน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 45 เซนติเมตรขึ้นไป ทำด้วยไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ไม้ขนุน โดยเวลาตีจะมีคนหามสองคน หันหน้าเข้าหากันเวลาตีกลอง ทั้งสองคนที่หามจะตีกลองพร้อมกัน ซึ่งขณะตีจะมีการประโคมเครื่องดนตรีอื่นประกอบด้วย เช่น กลองกิ่ง พิณ ซอ แคน ฉิ่ง ฉาบ พังฮาด (คล้ายกับฆ้องแต่ไม่มีปุ่ม ตรงกลางจะแบน) การเล่นกลองเลงจะเล่นในช่วงหน้าเทศกาลงานบุญมหาชาติ งานบุญพระเวสสันดร (บุญตูบ) ซึ่งไทโย้ยจะทำในเดือนยี่ถึงเดือนห้า ในอดีตนั้นการเล่นกลองเลงจะนิยมเล่นก่อนวันรวมบุญหนึ่งวัน พอค่ำลงเวลาราว 1 ทุ่ม จะมีหัวหน้าไปชักชวนผู้คนมารวมกัน แล้วแห่กลองเลงไปเล่นตามหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียงเพื่อแผ่ปัจจัย ข้าวต้ม ขนม สุรา สาโท เป็นต้น การเล่นกลองเลงจะตะเวนเล่นไปเรื่อยๆเกือบทุกหลังคาเรือน โดยจะมีผู้นำพาเซิ้งไปตามจังหวะ “โอ้ โฮ๊ะ โอ สา โอ้ โฮ๊ะ โอ” ทั้งนี้ในอดีตการเล่นกลองเลงจะเล่นจนสว่าง แล้วจึงนำเอาปัจจัยทั้งหลายไปถวายวัดในตอนเช้าของวันรวมบุญ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ครั้นเมื่อถึงเวลาราว 9-10 โมงเช้า จึงค่อยนำเอากลองเลงมาเล่นอีก จนถึงเวลาแห่พระเวสสันดรเข้าสู่วัด โดยชาวบ้านทั้งหลายที่มาร่วมจะมีการฟ้อนตามจังหวะกลองเลงเป็นที่สนุกสนาน
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 นายอำเภออากาศอำนวย (นายประสิทธิ์ หิมะคุณ ) ได้เล็งเห็นว่าการละเล่นกลองเลงเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวโย้ยบ้านอากาศ จึงได้ให้การสนับสนุนการเล่นกลองเลง โดยนำเอากลองกิ่งมาประยุกต์เพื่อตีประกอบท่ารำโย้ยกลองเลง และได้นำไปแสดงในงานสำคัญต่างๆ เช่น จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครร่วมกับเผ่าอื่นๆ ในเขตจังหวัดสกลนคร และได้รับคัดเลือกจากผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ให้เป็นตัวแทนจังหวัดสกลนคร ไปแสดงในงานสำคัญต่างๆสำหรับการแสดงท่าเล่นกลองเลงประกอบดนตรีนั้น แต่เดิมไม่มีการกำหนดท่ารำเป็นมาตรฐานแต่อย่างใด ต่อมาทางศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยได้ให้มีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อำเภออากาศอำนวย ได้นำเอาประเพณีวัฒนธรรมการเล่นกลองเลงออกไปแสดงที่งานฉลองครบรอบ150 ปี จังหวัดสกลนครด้วย ปรากฎว่าได้รับความชื่นชมมากในด้านเสียงดนตรี แต่ท่ารำประกอบยังขาดเอกลักษณ์และขาดความเป็นเอกภาพอันเนื่องจากแต่ละคนรำตามถนัด ดังนั้น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนครจึงขอให้ศูนย์วัฒนธรรมอำเภออากาศอำนวยดูแลและออกแบบท่ารำ ทั้งนี้โดยมีการประสานผู้รู้หลายฝ่ายมาร่วมกันกำหนดท่ารำให้เป็นเอกภาพโดยการประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันของไทโย้ย ดังนี้ ท่าที่ 1 ท่าออกเป็นท่าที่เดินทางกลับจากเรือกส่วนไร่นา ท่าที่ 2 มาถึงบ้านแล้วก็ลงอาบน้ำที่ลำน้ำยาม ในท่าวิดน้ำขึ้นอาบและถูเหงื่อไคลสับเปลี่ยนกัน ท่าที่ 3 แล้วมาผัดหน้า แต่งตัว หญิงนุ่งผ้า ห่มผ้าสไบ ชายนุ่งกางเกงแล้วใช้ ผ้าขาวม้าคาดพุง ท่าที่ 4 ผัดหน้าทาแป้ง ท่าที่ 5 ส่องกระจกสำรวจความสวยงาม ความเรียบร้อยของการแต่งกาย ท่าที่ 6 แต่งกายเรียบร้อยแล้วกวักมือเรียกเพื่อนบ้านไปร่วมงานเล่นกลองเลงกัน ท่าที่ 7 จังหวะดนตรีเปลี่ยนเป็นจังหวะที่เร็วขึ้น เข้าสู่การเล่นกลองเลง หนุ่มสาวไล่หยอกล้อกัน ท่าที่ 8 ท่าหนุ่มเกี้ยวสาว ท่าที่ 9 ท่าสาละวันเตี้ยลง ท่าที่ 10 ท่ารำมวยโบราณ และ ท่าที่ 11 นำต้นเทียนถวายวัด ซึ่งเป็นท่าสุดท้ายของรำโย้ยกลองเลง
อาจกล่าวได้ว่า “กลองเลง” (เลง คือ การเที่ยว การเล่น ดังนั้น การเล่นกลองเลงจึงหมายถึงการตีกลองเที่ยวเล่น) ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่โดดเด่นของไทโย้ย สำหรับลักษณะของกลองเลงนั้นจะเป็นกลองสองหน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 45 เซนติเมตรขึ้นไป ทำด้วยไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ไม้ขนุน โดยเวลาตีจะมีคนหามสองคน หันหน้าเข้าหากันเวลาตีกลอง ทั้งสองคนที่หามจะตีกลองพร้อมกัน ซึ่งขณะตีจะมีการประโคมเครื่องดนตรีอื่นประกอบด้วย เช่น กลองกิ่ง พิณ ซอ แคน ฉิ่ง ฉาบ พังฮาด (คล้ายกับฆ้องแต่ไม่มีปุ่ม ตรงกลางจะแบน) การเล่นกลองเลงจะเล่นในช่วงหน้าเทศกาลงานบุญมหาชาติ งานบุญพระเวสสันดร ปัจจุบันได้รับการแสดงในงานสำคัญต่างๆของจังหวัดและยังมีการประดิษฐ์ท่ารำประกอบการตีกลองเลงด้วย
นอกจากนี้ที่โดดเด่นและกลายเป็นเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยว คือ “ประเพณีบุญไหลเรือไฟ” (ชาวโย้ยพูดเฮือไพ หรือ ห้านบูชาไพ) จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งรูปแบบการทำเรือไฟของไทโย้ยมีความสวยงามและมีการปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยแต่ยังคงรูปทรงและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ โดยมีการประดับตกแต่งเรือไฟด้วย ก้านจู้ ก้านกล้วย ต้นอ้อย กิ่งไผ่เพื่อแขวนกล้วยขนม ข้าวต้ม เหมือนต้นกัลปพฤกษ์ บั้งไพมีบั้งไพหาง บั้งไพตะไล (บั้งไพกง) บั้งไพนกคุ่ม
นอกจากนี้ยังแต่งกลอนเซิ้งกลองเลงด้วยความว่า “โอ้โฮ๊ะโอ สาวโอ้โฮ๊ะโอ แม่เฒ่าเว้ยแม่เฒ่า ขอกินเหล้านำเจ้าสักโถ ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าสักโอ ขอเหล้าโทนำเจ้าสักถ้วย กล้วยและอ้อยเป็นสรรพสิ่งของทาน พวกลูกหลานขอทานกินแด่ เจ้าบ่อให้ข่อยกะบ่อหนี เอากลองเลงมาตีอยู่นี่ ตีใกล้ๆ ในหน่า ขันใด โอ้โฮ๊ะโอ สาโอโฮ๊ะโอ เจ้าอยากให้เจ้าอย่าสูนาน เจ้าอยากทานเจ้าอย่าสูช้า หลานกำพร้าสิไปเที่ยวหลายเฮือน โอ้โฮ๊ะโอ สา อ้โฮ๊ะโอ เจ้าให้แล้วข่อยกะสิขอลา ลาก่อนเด้อลาไปก่อนแหล่ว ตีนเบื้องซ้ายยับออกลีลา ตีนเบื้องขวายับออกลีล้าย ย้ายจากหนี่สิไปเที่ยวหลายเฮือน โอ้โฮ๊ะโอล่าโอ้โฮ๊ะโอ”
การละเล่นอื่นๆนั้น ปัจจุบันไม่ปรากฏสืบทอดแล้ว แต่ยังมีความพยายามที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาการละเล่นดังกล่าวขึ้นมาใหม่ ซึ่งทำให้ทราบว่าคนโย้ยในอดีตนั้น มีการละเล่นใดบ้าง เช่น “หมากพาด” (ฟาด) ซึ่งมีผู้เล่นสองคนขึ้นไป โดยผู้เล่นจะใช้มือฟาดที่เข่าของผู้เล่นที่ทำผิดกติกา อุปกรณ์ในการเล่น ประกอบด้วย หมาก (หมากเคี้ยว) เสียด (เปลือกไม้สีเสียดใช้เคี้ยวกินกับหมาก) ใบพลู ยาสูบเส้น โดยนำลูกหมากมาผ่าครึ่งเพื่อให้เล็กและวางง่ายไม่ลื่นไหล และนำใบพลูหนึ่งใบมาม้วนให้กลมมัดให้แน่นด้วยด้ายและยาสูบเส้น) หยิบเป็นก้อนเล็กๆ เท่ากับขนาดลูกหมาก ซึ่งสถานที่และเวลาในการเล่นต้องเป็นบ้านที่มีงานศพ และเล่นต่อไปจนถึงวันแจกข้าวเท่านั้น งานอื่นห้ามเล่น ส่วนผู้เล่นเป็นหนุ่มสาวชายหญิงจะช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่น และไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นแต่ควรมีประมาณ 3-6 คนขึ้นไปจะสนุก สำหรับวิธีเล่นนั้น เริ่มจากแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยฝ่ายหญิงมีหน้าที่พูดว่าหมาก พลู ยา เสียด ส่วนฝ่ายชายมีหน้าที่ตะครุบ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ฝ่ายหญิงพูดถึงครั้งสุดท้าย ซึ่งหากฝ่ายชายตะครุบผิดหรือช้าจะถูกฝ่ายหญิงที่เล่นด้วยกันทุกคนใช้กลีบสีเสียดฟาดที่ฝ่ามือ แขน ไหล่ หรือ เข่า แต่ถ้าตะครุบเร็วและถูกต้อง ฝ่ายหญิงจะถูกฝ่ายชายใช้กลีบสีเสียดฟาดเหมือนกัน โดยจะเล่นไปเรื่อยๆจนกว่าจะเลิกราระหว่างอยู่เป็นเพื่อนเจ้าของงานศพ
นอกจากนี้ยังมีการละเล่นอื่นๆ เช่น “เต้นกระทบสาก” ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวโย้ยที่ใช้เป็นกิจกรรมละเล่นในการคบงันงานศพ โดยเฉพาะเป็นศพของบุคคลที่มีอายุมากหรือเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป (อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป) การละเล่นจะกระทำกันหลังจากการสวดอภิธรรมในตอนเย็นเสร็จแล้ว ผู้เต้นกระทบสากส่วนใหญ่จะเป็นคนในวัยหนุ่มสาว เพื่อไม่ให้เกิดความเงียบเหงามากเกินไป ส่วน “หมากม้าหลังโปก” ซึ่งเป็นการเล่นของเด็กชายวัย 10 - 11 ปี เพื่อความสนุกสนาน หลังโปกคือ หลังอานเพราะถูกขี่นาน โดยผู้เล่นจะแบ่งคนหนึ่งเป็นม้า อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของม้า จะกี่คู่ก็ได้ ยืนเป็นวงกลม ห่างกันไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และไม่เกิน 4 เมตร อุปกรณ์การเล่น คือ ผ้าขาวม้า 1 ผืน โดยม้วนพันกันจนกลมแน่นเหมือนลูกบอลไม่หลุดง่าย สถานที่เล่นควรเป็นพื้นที่โล่งกว้างพอประมาณ ซึ่งวิธีจะเริ่มจากกลุ่มม้ายืนเป็นวงกลมก้มตัวลงสองมือค้ำเข่าให้มั่นคง กลุ่มคนขึ้นขี่บนหลังก็จะบรรจงโยนลูกผ้า (ทางซ้ายหรือขวาก็ได้) ให้กัน โดยต้องบรรจงรับให้ดี ห้ามหล่น เพื่อจะได้ขี่ม้านานๆ ถ้าลูกผ้าไม่หลุดมือเมื่อไรก็นั่งบนหลังม้าอยู่อย่างนั้นจนม้าหลังโปก แต่ถ้ารับลูกผ้าไม่ได้ ทุกคนรีบลงจากหลังม้าแล้ววิ่งหนี พวกม้า (ใครก็ได้) รีบคว้าลูกผ้าเหวี่ยงขว้างใส่คนให้แม่นๆ ถูกใครก็ได้ขอให้เป็นพวกคนขี่ ถ้าโดนก็เปลี่ยนทำหน้าที่สลับจากม้ามาเป็นคนได้ขี่หลัง แต่ถ้าไม่โดนก็ต้องเป็นม้าเหมือนเดิมจนหลังโปก (ขว้างได้หนเดียวเท่านั้น) บางคนก็มีเทคนิคในการเล่น คือ เมื่อลูกผ้าหลุดมือแทนที่จะลงดีๆ กลับผลักม้าให้ล้มแล้ววิ่งหนี ม้ากว่าจะลุกขึ้นมาตั้งหลักได้ก็ไม่ทันแล้ว ซึ่งความสนุกอยู่ตรงวิ่งหนีและได้ขี่ม้านานๆ
ตำนานเรื่องเล่าที่น่าสนใจของไทโย้ยส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆในชุมชน เช่น “ธาตุเก่าวัดศรีโพนเมือง” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดศรีโพนเมือง บ้านอากาศ ตำบลศรีโพนเมือง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร พระธาตุเก่าที่สร้างไม่เสร็จนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าขานสืบทอดกันมาว่า ในอดีตมีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโณ (พ.ศ.2404-2484) ซึ่งถือว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีผู้คนเคารพนับมาก พระอาจารย์สีทัตถ์เป็นพระที่มีบุญญาบารมีสูงยิ่ง สามารถก่อสร้างพระธาตุต่างๆสำเร็จมาแล้วถึง 3 แห่ง คือ พระธาตุท่าอุเทน (สร้างพ.ศ.2456) อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระธาตุพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และมณฑปโพนสัน วัดพระบาทโพนสัน เมืองพระบาท แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว เล่ากันว่าท่านได้ธุดงค์มาพักแรมที่บ้านอากาศหลายครั้ง จนคุ้นเคยกับชาวบ้านและนำไปสู่การก่อสร้างพระธาตุร้างแห่งนี้ขึ้นมา หากแต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ทราบเหตุผล จึงปล่อยทิ้งร้างเพียงธาตุในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เล่าต่อกันมาว่าในการสร้างฐานพระธาตุนั้นชาวบ้านเมืองอากาศอำนวยได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยอย่างเต็มศรัทธาความสามารถ โดยฐานของพระธาตุร้างมีขนาดความกว้าง 14.50 เมตร ความยาว 14.50 เมตร โดยชาวบ้านได้ช่วยกันปั้นดินอิฐ ครัวเรือนละ 600 ก้อน ซึ่งแหล่งปั้นดินอิฐคือ บริเวณริมฝั่งลำน้ำยาม (ท่าไฮ่) ด้านทิศตะวันออกของท่าวัดกลางลงมาประมาณ 100 เมตร พออิฐแห้งจึงช่วยกันนำเกวียนมาบรรทุกไปยังเตาเผาอิฐ ซึ่งสถานที่เผาอิฐในสมัยนั้นจะอยู่ที่ทุ่งศาล (ปัจจุบันเป็นตลาดสดเทศบาล 1) โดยก่อเป็นเตาเผาหลายเตาส่วนก้อนอิฐที่ปั้นนั้นจะมีทั้งก้อนเล็กและก้อนใหญ่ เพราะเพื่อสะดวกในการก่อสร้าง ซึ่งทุ่งศาลในสมัยนั้นเป็นที่ทำการเจ้าเมืองอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร มีบ่อน้ำตื้นอยู่ใกล้เคียง 2 บ่อคือ บ่อหลวงและบ่อต้นพอก ครั้นเผาอิฐได้ปริมาณมากมายพอที่จะก่อฐานให้พ้นพื้นดินได้แล้ว พระอาจารย์สีทัตถ์จึงได้ทำพิธีกรรม แล้วหาฤกษ์งามยามดีที่เป็นมงคล จากนั้นจึงระดมแรงชาวบ้านขุดร่องฐานธาตุล้อมรอบความกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร เสร็จแล้วก็ปักหลักเชือกขึงรอบไว้ เพราะกลัวสัตว์หรือคนจะพลัดตกลงไปกลัวว่าจะเป็นอันตรายหรือบาดเจ็บได้และอีกอย่างหนึ่งกลัวว่าจะไม่เป็นมงคล โดยได้จัดคนผลัดเปลี่ยนกันนอนเฝ้าทั้งวันทั้งคืน เล่ากันว่าการสร้างพระธาตุครั้งนั้นได้มีการแจ้งข่าวบอกบุญไปหลายหมู่บ้านทั้งในเขตเมืองและนอกเขตเมืองอากาศอำนวยมีคนนำทรัพย์สินมาช่วยงานมากมาย ซึ่งการสร้างพระธาตุได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง เล่ากันว่าก้อนอิฐที่เผาสุกแล้วได้ขอแรงญาติโยมชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธามาช่วยขน หาบ บางคนใช้วิธีสะพายด้วยแพเลง (ภาษาโย้ย) หมายถึง ผ้าขาวม้า ส่วนผู้หญิงใช้วิธีหาบด้วยกระบุงหรือแซกหวาย ข้างละ 2 - 3 ก้อน ตามแต่แรงกายตัวเอง อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างพระธาตุก็ได้หยุดชะงักลงโดยไม่ทราบสาเหตุจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหา
ปัจจุบันชุมชนไทโย้ยโดยภาพรวมกำลังอยู่ในสภาพเผชิญและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับหลายๆ กลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย ซึ่งโดยมากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากปัจจัยภายนอก ที่มาพร้อมกับนโยบายการพัฒนาในแต่ละช่วงเวลาทำให้ชาวบ้านค่อยๆถูกดูดกลืนเข้าสู่ระบบตลาดและทุนพร้อมๆกับการทำลายระบบเศรษฐกิจแบบเดิมลง โดยมีรัฐเป็นผู้แสดงบทบาทและสร้างเงื่อนไขสำคัญ อาทิ นโยบายพัฒนาระบบสาธารณูปโภค นโยบายส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตของชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่หัตถกรรมพื้นบ้านต่างๆถูกทำลายลง การเกษตรกรรมเพื่อขายขยายตัวอย่างมาก เศรษฐกิจยังชีพถูกลดลงบทบาทและถูกทำลายลง สถาบันต่างๆของสังคมแบบใหม่เข้ามาแทนที่หรือมีบทบาทมากกว่าสถาบันสังคมแบบเก่า แหล่งทรัพยากรธรรมชาติในฐานะแหล่งรับประกันความอยู่รอดของคนจน เช่น ป่า แม่น้ำ ถูกทำลาย ลดน้อยและเสื่อมโทรมลง ซึ่งทำให้เกิดการขาดท่อนของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน และส่งผลเชื่อมโยงต่อวิถีชีวิตของชุมชนเป็นห่วงโซ่ต่อไป ประกอบกับแรงเร้าและบีบคั้นของปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และด้วยโอกาสและระดับทางการศึกษาที่สูงขึ้นของคนรุ่นใหม่ทำให้ชาวบ้านออกไปทำงานต่างถิ่นมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนต้องปรับตัวไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่สะท้อนว่าชุมชนยังคงรักษาความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองได้ที่สำคัญ คือ ภาษา และประเพณีบางอย่างที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่อย่างเคร่งครัด เช่น พิธีลอยเรือไฟ งานบุญมหาชาติ การละเล่นกลองเลงและพิธีแต่งงาน เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีสถาบันครอบครัวและเครือญาติในการช่วยรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่ม เพราะกลุ่มไทยโย้ยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในเขตรอบนอกห่างจากตัวเมือง เช่น บ้านโพนแพง บ้านเดื่อศรีคันไชย มีลักษณะเหมือนเป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ที่เกิดจากสายสัมพันธ์ทางการแต่งงานกันภายในชุมชนมาแต่เดิม ทำให้เหมือนเป็นเครือญาติกันทั้งหมู่บ้านและเพิ่งมาในระยะหลังที่มีการทำงานนอกหมู่บ้านมากขึ้น ทำให้แต่งงานกับคนนอกมากขึ้น และสมาชิกที่เป็นไทโย้ยเริ่มจะลดน้อยลง ถึงอย่างนั้นภายในชุมชนเองยังพูดคุยกันด้วยภาษาโย้ย แม้คนรุ่นใหม่จะใช้คำไทยภาคกลางด้วยสำเนียงโย้ยเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่นั้นอาจเป็นรูปธรรมที่สามารถยืนยันถึงความมีอยู่ของไทโย้ยไว้ได้
นอกจากนี้สำหรับกลุ่มไทโย้ยที่อาศัยในเขตเมืองโดยเฉพาะกลุ่มที่กระจุกตัวอยู่หนาแน่นในเขตตัวเมืองอากาศอำนวยและเมืองวานรนิวาสซึ่งในอดีตมีฐานะเป็นเมืองใหญ่ซึ่งต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและชัดเจน แต่ยังมีความพยายามในการสืบสานและฟื้นฟูรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และสร้างอัตลักษณ์โย้ยอย่างโดดเด่นชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะเป็นพื้นที่ในการแสดงตัวตนและความภาคภูมิใจต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ได้แสวงหาและหยิบยกเอาความหลากหลายของชาติพันธุ์เป็นจุดขายเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้โดยผ่านการนำเสนอวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นของเดิมที่มีมาแต่เดิมหรือเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่บนฐานเดิม ดังเช่น การจัดงานประเพณีไหลเรือไฟ การรำกลองเลง เป็นต้น รวมทั้งการละเล่น ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะได้มีการจัด “วันไทโย้ย” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรษ เฉลิมฉลองชาติพันธุ์ของตนเองและเผยแพร่อัตลักษณ์ของชาวไทโย้ยต่อสาธารณะ นับว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่ชาวโย้ยในอำเภออากาศอำนวยได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นมา โดยในงานจะมีทั้งการแสดงรำบูชาถวายหอปู่ตา การแสดงแสง สี เสียงเล่าเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ และขบวนแห่วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมต่างๆของไทโย้ย เป็นต้น
ปัจจุบันไทโย้ยได้มีความพยายามในการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายกับภาคีต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานต่างๆได้มีพัฒนาการมาเป็นระยะ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าได้เริ่มปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมโดยการสั่งการจากภาครัฐก่อนตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยนายประสิทธิ์ หิมะคุณ นายอำเภออากาศอำนวย ในเวลานั้นได้เล็งเห็นว่าประเพณีการเล่นกลองเลงของชาวโย้ยบ้านอากาศมีความน่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์จึงเห็นควรให้มีการสนับสนุนการละเล่นกลองเลง โดยได้มีการคิดประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมาประกอบการตีกลองเลงทั้งนี้ด้วยความช่วยเหลือจากชาวไทโย้ยและครูโรงเรียนอากาศจนสามารถได้ท่ารำที่เป็นเอกภาพและใช้แสดงจนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการนำไปแสดงในงานสำคัญต่างๆ เช่น การแสดงร่วมกับเผ่าอื่นๆในเขตจังหวัดสกลนครที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และได้รับคัดเลือกจากผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครให้เป็นตัวแทนจังหวัดสกลนครไปแสดงในงานสำคัญ ต่างๆหลายครั้ง เช่น งานวันที่ 5 ธันวามหาราช ณ สนามหลวง กรุงเทพฯ ในปี 2536 รวมทั้งไปรำถวายต่อหน้าพระที่นั่ง ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ตลอดทั้งการแสดงที่งานกาชาดข้าวหอมใหม่ไทสกล จังหวัดสกลนครในปี พ.ศ. 2536 และยังข้ามไปแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมในงานเชิดชูเกียรติของจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. 2536 ตลอดทั้งไปแสดงที่ศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปี 2538 และที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฯ ใน พ.ศ. 2538 โดยเฉพาะการแสดงที่งานบุญประเพณีแข่งเรือไหลเรือไฟของอำเภออากาศอำนวยทุกปี
การนำเสนอวัฒนธรรมของไทโย้ยโดยเฉพาะผ่านการแสดงรำกลองเลงนี้นับเป็นรูปธรรมประการหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักไทโย้ยและคนไทโย้ยเกิดความตระหนักในศักยภาพและความภาคภูมิใจในรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนเอง ทำให้มีการสืบสานดำเนินต่อกันจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในระดับต่างๆ เช่น ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบลหรือเทศบาล ระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีการให้งบประมาณจัดงานสำคัญของไทโย้ยอย่างต่อเนื่องดังเช่น การจัดงานวันไทโย้ย รวมทั้งการจัดงานไหลเรือไฟของอำเภออากาศอำนวย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาด้วย เช่น สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอและจังหวัด ตลอดทั้งโรงเรียน มีการรวบรวม ศึกษาข้อมูลและวัตถุสิ่งของต่างๆของไทโย้ยอย่างเป็นระบบจนนำไปสู่การตั้งแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทโย้ยขึ้นมา เช่น การตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทโย้ยในโรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา หรือการตั้งศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชของเทศบาลตำบลอากาศอำนวย ซึ่งกรณีของศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชของเทศบาลตำบลอากาศอำนวยนั้น มีจุดเริ่มต้นจากโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลอากาศที่ได้รับการประเมินเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ระดับ 4 และได้มีการดำเนินกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชระดับดีเด่น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้น โดยเฉพาะที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมก็คือการรวมตัวกันของผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่นจัดงานวันไทโย้ยขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นหมุดหมายให้ชาวไทโย้ยได้รำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรษ รากเหง้าความเป็นมาของชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ของชาวไทโย้ย
Access Point |
---|
No results found. |