2023-06-13 18:14:42
ผู้เข้าชม : 2402

ไทโย้ย มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เมืองมณฑลไกวเจา กวางสี ประเทศจีน คนจีนจะเรียกว่า “สร้อง” ส่วนในเวียดนามจะเรียกว่า “โด้ย” คนกลุ่มนี้อพยพย้ายถิ่นในช่วงศึกเจือง จากนั้นได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองภูวา (ภูวดลสอางค์) ใกล้เมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองหอมท้าว แขวงคำม่วน สปป.ลาว และอพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงศึกเจ้าอนุวงศ์ ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานใกล้กับแหล่งน้ำในจังหวัดสกลนคร มีวิถีการดำรงชีพด้วยการทำนาและการทำประมง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามเพื่อเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค คนกลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ ประเพณีไหลเรือไฟในช่วงวันออกพรรษา เป็นประเพณีท้องถิ่นที่เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้สาธารณชนได้รู้จักและร่วมเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทโย้ย
ชื่อเรียกตนเอง : ไทย้อย, โย่ย, โย้ย, ไทย้อย, ผู้ย้อย, ย้อย, ลาวย้อย
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : แข่, สร้อง, โด้ย, อี้, ไย
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : ลาว, ไทย, โย้ย, ไทอีสาน
ภาษาเขียน : ไทโย้ย

ไทโย้ย เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แม้ว่าชาวไทโย้ยจะมีชื่อที่ใช้เรียกตัวเองที่หลากหลายชื่อ เช่น โย่ย โย้ย ไทย้อย ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ชื่อเรียกเหล่านี้ล้วนหมายความถึง “ไทโย้ย” ทั้งสิ้น หากแต่มีมิติทางภาษาศาสตร์ และสำเนียง ที่ส่งผลให้ออกเสียงและสะกดคำแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ คำว่า “ไทโย้ย” แปลว่า“คน คน” การซ้อนคำเช่นนี้เพื่อให้ความหมายชัดเจน ในฐานะของ “คนที่มีอารยะ”

กลุ่มชาติพันธุ์ไทโย้ยจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได แต่เดิมมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองภูวา (ภูวดลสอางค์) ใกล้เมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองหอมท้าวในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งในอดีตดินแดนในแถบนี้เป็นของประเทศสยาม เมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก ไทโย้ยที่อพยพเข้ามาในช่วงนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มแรก เป็นไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองห้อมท้าวฮูเซ แล้วไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านม่วงริมห้วยยาม ต่อมาใน พ.ศ. 2380 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวย ก่อนจะลดฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวยในเวลาต่อมา

กลุ่มที่สอง เป็นไทโย้ยที่อพยพติดตามพระสุนทรราชวงศาไปอยู่เมืองยโสธร ได้ตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านกุดลิง อำเภอเสลภูมิ ภายหลังได้ย้ายกลับมาบริเวณที่ตั้งบ้านม่วงริมยาม ยังคงใช้ชื่อบ้านเดิม ใน พ.ศ. 2404 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นเมืองวานรนิวาส

และกลุ่มที่สาม เป็นไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว ได้มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง เมื่อพ.ศ. 2405 ทรงโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นเมืองสว่างแดนดิน ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งเมืองอยู่หลายครั้งจนมาตั้งที่บ้านหัน (อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน) นอกจากนี้ยังมีชุมชนโย้ยขนาดเล็กที่กระจัดกระจายทั่วไปในอำเภออากาศอำนวย อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส และอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยได้ส่งผลโดยตรงต่ออัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทโย้ยเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ หน่วยงานหลายภาคส่วนในจังหวัดสกลนคร จึงมีความเห็นร่วมร่วมกันในการฟื้นฟูอัตลักษณ์ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมไทโย้ย ผนวกกับนโยบายรัฐที่สนับสนุนให้นำเสนออัตลักษณ์ชาติพันธุ์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว กลุ่มชาวไทโย้ยในพื้นที่อากาศอำนวยจึงฉกฉวยใช้ประเพณีไหลเรือไฟเนื่องในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่น และพื้นที่ของการแสดงออกทางวัฒนธรรม ทั้งการละเล่น ศิลปะการแสดง และเสื้อผ้าการแต่งกาย พร้อมประกาศว่าเป็นวันรำลึกไทโย้ยไปพร้อมกัน งานไหลเรือไฟมีกำหนดชัดเจนในวันขึ้นหกค่ำ เดือนหกของทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน และนำไปสู่การพัฒนาแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทโย้ยที่สำคัญสองแห่ง คือ 1) ศูนย์วัฒนธรรมไทโย้ย โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา และ 2) ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช เทศบาลตำบลอากาศอำนวย

แต่เดิมกลุ่มชาติพันธุ์ไทโย้ยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่มณฑลไกวเจา กวางสี ประเทศจีน ชาวจีนจะเรียกโย้ยว่า “สร้อง” ส่วนในเวียดนามจะเรียกโย้ย ว่า “โด้ย” ตามตำนาน ระบุว่า กลุ่มโย้ยได้อพยพย้ายถิ่นฐานในช่วงที่เกิดศึกเจือง ซึ่งเป็นการทำสงครามระหว่างแคว้นซำเหนือกับไทหว่า ในการอพยพขณะนั้นมีพญาท้าวยี่หรือท้าวเจือง เป็นหัวหน้ากลุ่มในการอพยพ มาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณบ้าน “ห้อมท้าวฮูเซ” หรือ “ฮ่อมท้าวฮูเซ” แขวงคำม่วน สปป.ลาว (พรรณอร อุชุภาพ, 2538:36) จากนั้นได้อพยพมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงในช่วงสงครามระหว่างเวียงจันท์กับกรุงเทพฯ ที่เกิดจากกรณีของเจ้าอนุวงศ์หรือไชยราชาธิราชที่ 3 (พ.ศ.2369-70) ได้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงเทพฯ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อกองทัพกรุงเทพฯ ปราบกบฏแล้วเสร็จได้เกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายให้ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง รวมทั้งกลุ่มไทโย้ยซึ่งมีท้าวสีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคดเป็นผู้นำได้อพยพไพร่พล ประมาณ 2,339 คนเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำยามตามลําดับ จนกระทั่งได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณ “บ้านม่วงริมยาม” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน สปป.ลาว กับเมืองสกลนครซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองนครพนม ประเทศไทย (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2396: เลขที่ 31)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2503: 430) ได้กล่าว ถึงผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในท้องที่มณฑลอุดรและมณฑลอีสานเมื่อทรงประสบเจอคราวที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คราวเสด็จฯ ตรวจราชการหัวเมืองในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งมีกลุ่มไทโย้ยด้วย โดยมีใจความสำคัญว่า “พวกโย้ยอยู่ที่เมืองอากาศอำนวยโดยขึ้นกับเมืองสกลนครถามไม่ได้ความว่ามาจากถิ่นแถวไหน” ในช่วงเวลาต่อมาได้มีงานศึกษาที่ระบุว่า

“โย้ย” เป็นคนไทกลุ่มหนึ่งซึ่งอพยพมาจากทางซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคอีสานบริเวณอำเภอวานรนิวาสและอำเภออากาศอำนวย ไทโย้ยมีรูปร่างเหมือนกับคนไทย แตกต่างเพียงสำเนียงพูด ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า ไทโย้ยได้อพยพมาจากทางซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยหลายระลอก โดยเฉพาะในพ.ศ. 2321 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่ยกกองทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองบริวารได้กวาดต้อนผู้คนจำนวนมากให้มาตั้งบ้านเรือนในเมืองต่างๆ เช่น กรุงธนบุรี (ลัดดา พนัสนอก, 2538)

ต่อมาใน พ.ศ. 2380 ท้าวสีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคตร พร้อมไพร่พลจำนวนประมาณสองพันคนได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหาที่ตั้งบ้านเรือน โดยเลือกแหล่งที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแหล่งน้ำจึงได้เลือกพื้นที่บริเวณลำน้ำยามซึ่งเป็นลำน้ำย่อยของแม่น้ำสงครามเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการตั้งถิ่นฐาน และเรียกว่า "บ้านม่วงริมน้ำยาม" เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีลำน้ำยามไหลผ่าน ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงริมยามเป็น"เมืองอากาศอำนวย" โดยแต่งตั้งท้าวสีสุราชเป็นผู้ครองเมือง มีฐานะเป็นเมืองขึ้นกับจังหวัดนครพนม (ลัดดา พนัสนอก, 2538)สอดคล้องกับงานศึกษาของกิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์ (2540) ที่ระบุว่าว่า ไทโย้ยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มไท-ลาว มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองภูวา (ภูวดลสอางค์) ใกล้เมืองมหาชัยกองแก้วและเมืองห้อมท้าว ปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วน สปป. ลาว เมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งไทโย้ยได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก โดยเมืองสกลนครได้ตั้งให้ราชวงค์อิน ซึ่งมีความคุ้นเคยกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยบริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาอาศัยอยู่ที่สกลนคร โดยให้สัญญาว่าเมื่อพาไพร่พลจำนวนมากอพยพมาอยู่แล้ว จะได้รับที่ดินทำมาหากินตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง จะมีการปูนบำเหน็จรางวัล และพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้ตามสมควร ทำให้บรรดาอุปฮาดราชวงค์ ท้าวเพี้ย กรมการเมืองต่างๆ เกิดความต้องการ จึงได้ปรึกษาหารือกันและอพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสกลนครจำนวนมาก กลุ่มไทโย้ยที่อพยพเข้ามาในช่วงเวลานั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

กลุ่มแรก เป็นชาวไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองห้อมท้าว มีท้าวติ้วซอยเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยท้าวสีสุราช ท้าวจันทนาม และท้าวนามโคตร ได้พาผู้คนจำนวน 2,339 คน ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านม่วงริมห้วยยาม ต่อมาใน พ.ศ.2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านม่วงริมยามขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวยขึ้นต่อเมืองนครพนม และแต่งตั้งให้ท้าวสีสุราชเป็นหลวงผลานุกูล ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอากาศอำนวยคนแรก ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โอนมาขึ้นต่อเมืองสกลนคร และลดฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวยนับตั้งตั้งนั้นเป็นต้นมา

กลุ่มที่สอง เป็นชาวไทโย้ยที่อพยพติดตามพระสุนทรราชวงศา มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองยโสธร ใน พ.ศ.2396 โดยมีท้าวจารย์โสมเป็นหัวหน้า ชาวไทโย้ยกลุ่มนี้ตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านกุดลิงในท้องที่อำเภอเสลภูมิ ติดกับอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาใน พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมืองวานรนิวาสขึ้นต่อเมืองยโสธร พระราชบรรดาศักดิ์ท้าวจารย์โสมเป็นหลวงประชาราษฎร์รักษาตำแหน่งเจ้าเมือง ต่อมาไทโย้ยกลุ่มนี้ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านกุดแฮ่ชุมภู ตำบลแร่ อำเภอพรรณนานิคมและได้ย้ายไปอยู่ที่ชุมแสงหัวนา ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอวานรนิวาสในปัจจุบัน

กลุ่มที่สาม เป็นชาวไทโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว มีท้าวเทพกัลยา เป็นหัวหน้า ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองสกลนครให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง ใน พ.ศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวเทพกัลยาเป็นพระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง และยกบ้านโพนสว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางขึ้นเป็นเมืองสว่างแดนดินขึ้นกับเมืองสกลนคร ปัจจุบันคือ บ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณนานิคม) ต่อมาได้ย้ายเมืองสว่างแดนดินมาตั้งที่บ้านเดื่อศรีคันไชยริมห้วยปลาหาง (ปัจจุบันคือ บ้านเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส) จากนั้นใน พ.ศ.2424 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายจากบ้านเดื่อศรีคันไชยไปอยู่ที่บ้านโคกสี (ปัจจุบันคือ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน) ในเวลาต่อมาได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหัน อำเภอสว่างแดนดิน (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 29-30)

นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวไทโย้ยขนาดเล็กที่กระจัดกระจายในพื้นที่อำเภออากาศอำนวย อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส และอำเภอพังโคน เช่น กลุ่มไทโย้ยที่ยังหลงเหลือที่บ้านเดื่อศรีคันไชย ซึ่งเดิมบ้านเดื่อศรีคันไชยนั้นมีครอบครัวอยู่ประมาณ 10 ครอบครัว ซึ่งอพยพมาจากบ้านสว่างเก่า (บ้านโพนสว่างหาดยาว) นำโดยปู่ฝ่าย และย่ารีย์ ต่อมาท้าวเทพกัลยาได้ย้ายเมืองสว่างแดนดินตามมาตั้งที่บ้านเดื่อศรีคันไชย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีน้ำปลาหางไหลผ่าน ทางทิศเหนือ มีที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์เพราะเป็นป่าโคก มีพันธุ์ไม้หลายชนิดสามารถนำมาก่อสร้างเป็นบ้านเรือนได้ และใช้เป็นแหล่งอาหารผืนป่านั้นมีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ด้านทิศตะวันออกมีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีห้วยไผ่ไหลผ่านเหมาะสำหรับการทำนาทำไร่ ส่วนด้านทิศใต้และทิศตะวันตกมีแม่น้ำปลาหางไหลผ่าน เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำสวนผัก ทำนาและเป็นแหล่งอาหาร และทำประมงเป็นอย่างดี ซึ่งบ้านเดื่อศรีคันไชยนั้นมีเจ้าเมืองปกครองคนแรก คือ ท้าวเทพกัลยา (พระเทพประสิทธิ์) และเจ้าเมืองปกครองติดต่อกันมาหลายคน ซึ่งที่มีชื่อเสียงคือขุนศรีคันไชย จึงได้เป็นที่มาของชื่อบ้านเดื่อศรีคันไชย เพราะทางเข้าหมู่บ้านมีต้นมะเดื่อต้นใหญ่มีใบปกคลุมหนาแน่นตลอดทั้งปี ส่วนคำว่า "ศรีคันไชย" มาจากชื่อดาบอาญาสิทธิ์ของเจ้าเมืองจึงนำมาต่อกันเป็นชื่อเมืองว่า "เดื่อศรีคันไชย" ส่วนปู่ฝ่ายและย่ารีย์ผู้บุกเบิกการตั้งบ้านเป็นกลุ่มแรกนั้น ได้เป็นต้นตระกูล "ฝ่ายรีย์" ซึ่งมีคนใช้นามสกุลนี้จำนวนมากในบ้านเดื่อศรีคันไชย ปัจจุบันบ้านเดื่อศรีคันไชยมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร บนถนนสายพังโคน-บึงกาฬและอยู่ห่างจากอำเภอวานรนิวาสประมาณ 28 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอพังโคน 6 กิโลเมตร โดยมีลำห้วยปลาหางเป็นเส้นกั้นเขตแดน (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540: 31-32)

หรือในกรณีของชุมชนไทโย้ยที่บ้านโพน ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เดิมอยู่ที่บ้านชาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกจากบ้านวานรนิวาศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านวานรนิวาส ประมาณ 1 กิโลเมตร สาเหตุที่ย้ายจากบ้านชาดเพราะเกิดโรคระบาด คือ โรคฝีดาษ บางส่วนย้ายกลับไปอยู่บ้านวานรนิวาส และบางส่วนอพยพไปอยู่ที่บ้านโพนแพง ซึ่งก่อตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2407 โดยกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกได้ทำที่อยู่อาศัยในลักษณะ “ตูบ” หรือกระท่อมอยู่ริมน้ำยาม จึงได้เป็นที่มาของชื่อเรียกว่า "บ้านตูบหมู" เนื่องจากมีหมูป่าชุกชุม ปัจจุบันบ้านชาดได้กลายเป็นหมู่บ้านร้าง (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2540: 33) จะเห็นว่า ชุมชนโย้ยล้วนมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะชุมชนไทโย้ยขนาดใหญ่ทั้งสามแห่ง คือ เมืองอากาศอำนวย เมืองวานรนิวาส และเมืองสว่างแดนดิน ซึ่งกรณีเมืองอากาศอำนวยนั้น หลังจากได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองใหม่ ต่อมาใน พ.ศ. 2457 รัฐเห็นว่าการคมนาคมและการติดต่อไปมาระหว่างอำเภออากาศอำนวยกับจังหวัดนครพนมมีความยากลำบากเพราะอยู่ห่างจากตัวจังหวัด จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภออากาศอำนวยลงเป็นตำบลอากาศ แล้วให้ขึ้นต่อกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ก่อนจะย้ายให้มาขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร แต่ยังปรากฏความพยายามที่จะตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอขึ้นมาอีกครั้ง โดยการย้ายที่ตั้งตัวอำเภอและสถานที่ราชการอยู่หลายครั้ง

กระทั่งใน พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้กลับไปยกฐานะบ้านอากาศขึ้นเป็นกิ่งอำเภออีกครั้ง โดยให้ขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภออากาศอำนวยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2508 จนถึงปัจจุบัน (ลัดดา พนัสนอก, 2538: 12-13)

ปัจจุบันอำเภออากาศอำนวยนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวไทโย้ยอาศัยอยู่มากที่สุด โดยได้กระจุกตัวหนาแน่นแถบตำบลอากาศ ประกอบด้วย 18 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนแดง บ้านนายอ บ้านนาเมืองใหญ่ บ้านหนองตาไก้ บ้านนาเมืองน้อย บ้านนายอใต้ รวมทั้งบ้านอากาศซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลอากาศอำนวย จำนวน 11 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 9, 10, 14,15,16,17 และ18 ส่วนชุมชนโย้ยที่เมืองวานรนิวาสได้ถูกลดฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2445 พร้อมกับอำเภอบ้านหัน ต่อมาใน พ.ศ. 2482 อำเภอบ้านหันได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเรียกเป็นอำเภอสว่างแดนดินตามชื่อเดิมอีกครั้ง

ชุมชนโย้ยในหลายพื้นที่ทั้งชุมชนขนาดเล็กและชุมชนขนาดใหญ่ล้วนมีความพยายามในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ด้วยการสืบสานและฟื้นฟูรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยมีการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านวิธีการและรูปแบบต่างๆ ทั้งการละเล่น ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ดังเช่น ชุมชนโย้ยที่อากาศอำนวยได้มีการจัด “วันไทโย้ย” ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรษ เป็นประจำทุกปีวันไทโย้ยจึงถือเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองชาติพันธุ์และเผยแพร่อัตลักษณ์ของชาวไทโย้ยต่อสาธารณชน ซึ่งนับว่าเป็นเทศกาลสำคัญที่ชาวไทโย้ยที่มีความโดดเด่นและปรากฎให้เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน ภายในงานจะการแสดงรำบูชาถวายหอปู่ตา การแสดงแสง สี เสียง การเล่าเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ และขบวนแห่วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมต่างๆของไทโย้ย รวมทั้งมีการประกวด แข่งขัน สาธิต การแสดงต่างๆ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าอื่นๆ เป็นต้น

ในระยะแรกเริ่มหลังจากการอพยพมาจากประเทศลาว ชาวไทโย้ยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่อำเภออากาศอำนวยอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้นำในการเคลื่อนย้ายหลากหลายกลุ่ม ประกอบกับพื้นที่ตั้งชุมชนส่วนใหญ่ประสบกับภัยพิบัติ น้ำท่วมน้ำแล้ง โรคภัยไข้ เจ็บการอพยพโยกย้ายเพื่อหาทำเลที่ตั้งชุมชนที่เหมาะสมจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งกระทั่งปัจจุบัน ชาวไทโย้ยในประเทศไทย กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน ในพื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดสกลนคร โดยมีการกระจายตัวอย่างหนาแน่นในอำเภออากาศอำนวยและอำเภอวานรนิวาส และมีการอาศัยอย่างกระจัดกระจายในอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอพังโคน และอำเภอบ้านม่วง

ตามประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ชาวไทโย้ยอพยพมาจากบ้าน “ห้อมท้าวฮูเซ” หรือ “ฮ่อมท้าวฮูเซ” แขวงคำม่วน สปป.ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจากนั้นจึงอพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งชุมชนบริเวณ “บ้านม่วงริมยาม” ปัจจุบันเป็นพื้นที่เขตเทศบาลตำบลอากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำยามอันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เช่นเดียวกับชาวโย้ยที่ไปตั้งชุมชนอยู่ที่อื่นใกล้เคียงที่มักตั้งชุมชนใกล้แหล่งน้ำ เช่น กลุ่มโย้ยที่อพยพมาจากเมืองภูวาซึ่งได้มาตั้งบ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง บ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณานิคมในปัจจุบัน หรือกลุ่มที่ตั้งอยู่บ้านกุดลิง (อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน) ซึ่งได้อพยพกลับมาตั้งอยู่ใกล้ชุมชนบ้านม่วงริมยาม ทั้งนี้ไทโย้ยที่มาจากบ้านกุดลิง เมืองยโสธรได้มาตั้งอยู่บ้านกุดแร่ (ตำบลแร่ อำเภอพังโคนในปัจจุบัน) แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมของ "บ้านกุดลิง" ด้วย ภายหลังได้อพยพครัวโย้ยหนีความแห้งแล้งมาอยู่ “บ้านชุมแสงหัวนา” โดยยังคงใช้ชื่อบ้านกุดลิงเช่นเดิม ต่อมาใน พ.ศ. 2404 บ้านกุดลิง ยกฐานะเป็น “เมืองวานรนิวาส”

นอกจากชุมชนไทโย้ยที่กระจุกตัวในตัวเมืองอากาศอำนวยและวานรนิวาสแล้ว ยังมีชุมชนโย้ยที่อยู่รอบนอกอีกหลายชุมชนที่ได้แยกออกจากชุมชนใหญ่เพื่อแสวงหาแหล่งทำกินใหม่ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ชุมชนโย้ยที่บ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยเดิมนั้นชาวบ้านโพนแพงอยู่ที่บ้านชาด (ปัจจุบันเป็นบ้านร่าง) ซึ่งก็แยกออกจากบ้านกุดลิง (วานรนิวาส) อีกทอดหนึ่งเช่นกัน โดยบ้านชาดตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกห่างจากบ้านกุดลิงราว 1 กิโลเมตร สำหรับสาเหตุที่แยกจากบ้านชาดมาเพราะเกิดโรคระบาด บางพวกได้หนีกลับไปบ้านกุดลิง ส่วนพวกที่อพยพมาตั้งบ้านโพนแพงนั้นส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ, 2540: 33)

เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนชาวไทโย้ย โดยเฉพาะกลุ่มที่นำโดยท้าวจันโสม (บ้านกุดลิง) และกลุ่มที่นำโดยท้าวเทพกัลยา (บ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง) มีการย้ายที่ตั้งชุมชนอยู่หลายครั้ง ซึ่งในกรณีกลุ่มที่นำโดยท้าวจันโสมนั้น ระยะแรกเป็นการเคลื่อนย้ายตามผู้นำคือพระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย) เจ้าเมืองนครพนมและควบตำแหน่งเมืองยโสธร โดยข้ามจากลุ่มน้ำยามไปอยู่ที่ลุ่มน้ำชี จากนั้นจึงเป็นการเคลื่อนย้ายเพราะหนีความแห้งแล้งจนมาตั้งที่ตัวเมืองวานรนิวาสในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่นำโดยท้าวเทพกัลยานั้น เคลื่อนย้ายห่างจากเมืองสกลนครโดยเริ่มจากห่างบ้านโพธิ์สว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง (ปัจจุบันคือบ้านสว่างเก่า อำเภอพรรณานิคม) และย้ายมาตั้งบ้านเดื่อศรีคันไชย (ปัจจุบันคือบ้านเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส) แล้วจึงย้ายไปที่บ้านโคกสี (ปัจจุบันบ้านโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน) ก่อนจะย้ายมาตั้งที่บ้านหัน อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน

ในส่วนของกลุ่มชุมชนโย้ยที่นำโดยท้าวสีสุราช (บ้านม่วงริมยาม) แม้จะไม่มีการเคลื่อนย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ หากแต่หลังจากมีการยุบอำเภออากาศอำนวยลงเป็นตำบลในปี พ.ศ. 2458 แต่ยังปรากฏความพยายามที่จะตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอขึ้นมาอีก โดยระยะแรกใน พ.ศ. 2469 ได้มีการรวบรวมผู้คนจาก 7 ตำบล คือ บ้านแพง บ้านแวง บ้านนาทม บ้านข่า บ้านเดื่อ บ้านนาหว้า และบ้านสามผง ขอตั้งเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวยขึ้นที่บ้านสามผง แต่ที่ตั้งแห่งนี้มีปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จึงได้ย้ายมาที่บ้านเวินชัย ซึ่งอยู่ใกล้ลำน้ำสงครามแต่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอีก จึงย้ายมาที่บ้านท่าบ่อตั้งอยู่บริเวณปากน้ำสงครามบรรจบลำน้ำยาม ซึ่งถึงแม้ว่าจะอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ แต่ยังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมบริเวณที่ทำการสำคัญของราชการในฤดูน้ำหลากเสมอ จึงได้ย้ายมาตั้งที่บ้านศรีสงครามใน พ.ศ. 2496 จนภายหลังใน พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มาตรวจราชการและเห็นว่าพื้นที่ตั้งตำบลวาใหญ่ ตำบลอากาศ ตำบลโพนแพง และตำบลโพนงามนั้น อยู่ห่างไกลจากอำเภอวานรนิวาสทำให้การติดต่อกับอำเภอไม่สะดวก ประกอบกับมีปัญหาการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงให้รวมทั้ง 4 ตำบลยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวยโดยขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส และได้รับการยกขึ้นเป็นอำเภออากาศอำนวยใน พ.ศ. 2508

ปัจจัยหลักในการย้ายที่ตั้งชุมชนทั้งระดับและเมืองหรือศูนย์กลางเมืองของชุมชนโย้ย คือ ได้รับการขับเคลื่อนจากปัจจัยทางธรรมชาติ ทั้งโรคระบาด ความแห้งแล้ง โดยเฉพาะปัญหาจากน้ำท่วม รวมทั้งปัจจัยทางการเมือง เช่น ภัยความมั่นคง (ทั้งจากญวนในสมัยรัฐจารีตและภัยคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น) การย้ายตามผู้นำ หรือการแย่งชิงไพร่พลและผลประโยชน์ของเมืองใหญ่ ดังกรณีบ้านม่วงริมยามในระยะแรกที่ไม่ยอมสมัครใจอยู่กับพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร ดังนั้น พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองนครพนมและเมืองยโสธรจึงได้แจ้งมาที่กรุงเทพฯและขอโปรดเกล้าฯยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองอากาศอำนวยและให้ขึ้นกับเมืองนครพนม โดยได้ทรงมีสารตราถึงเมืองต่างๆ ให้จัดแบ่งเขตแดนให้แก่เมืองอากาศอำนวยเพื่อให้ไพร่พลทำมาหากิน เช่น เมืองหนองหาน เมืองสกลนคร เมืองไชยบุรี พร้อมทั้งรายงานเขตแดนให้กรุงเทพฯทราบด้วย (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2396: เลขที่ 31) ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ทางกรุงเทพฯตระหนักดี โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันท์ในปลายรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 4ซึ่งได้มีนโยบายสนับสนุนการตั้งเมืองใหม่ๆขึ้น ทำให้มีการตั้งเมืองใหม่จำนวนมากในช่วงนี้ และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างผู้นำท้องถิ่น โดยเฉพาะปัญหาเขตแดนและไพร่พลซึ่งเป็นที่มาของผลประโยชน์ คือ แรงงานและผลผลิต ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีสารตราส่งไปยังเมืองต่างๆเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว “.... นายไพร่ยกครอบครัวอยู่กับหัวเมืองใด ยกให้อยู่ทำราชการขึ้นอยู่กับหัวเมืองนั้น ถ้าหัวเมืองบ่าวไพร่มาก ควรจะตั้งเป็นเมือง ก็ให้จัดแจงตั้งเป็นเมืองและให้ทำราชการกับหัวเมืองใหญ่ดังแจ้งอยู่แล้ว....” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2396: เลขที่ 65)

การดำรงชีพ

รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของไทโย้ยในอดีตจะนิยมตั้งใกล้กับแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำศรีสงคราม แม่น้ำยาม แม่น้ำชี หรือลำห้วยต่างๆ ซึ่งถือเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีการสั่งสมทับถมของซากพืชซากสัตว์ พื้นที่ดังกล่าวจึงเป้นทั้งเหล่งอาหารและพื้นที่ทำกินโดยเฉพาะการทำประมงและการทำนา แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก ส่วนที่อยู่อาศัยจะตั้งอยู่บนพื้นที่สูงหรืออยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เพราะเป็นเรือนสูงสองชั้นจึงไม่ส่งผลกระทบในการดำรงชีวิต อีกทั้งระดับน้ำของแม่น้ำยามในดีตจะท่วมในระยะสั้นชาวบ้านบริเวณนั้นได้ใช้ประโยชน์จากป่าบุ่งป่าทามทั้งในรูปของแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค รวมทั้งเป็นแหล่งรายได้ที่สามารถนำไปใช้จ่ายในการแสวงหาปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้น ชาวไทโย้ยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่จึงทำการเกษตร โดยมีอาชีพทำนาและประมงเป็นหลัก การปลูกข้าวในอดีต นิยมปลูกเฉพาะข้าวเหนียว แต่ปัจจุบันได้ปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โดยจะเก็บข้าวเหนียวเอาไว้บริโภค ส่วนข้าวเจ้าจะปลูกเอาไว้ขาย นอกจากนี้ยังนิยมทำไร่ทำสวน เช่น ไร่ฝ้าย สวนคราม และปลูกผักสวนครัวตามตลิ่งแม่น้ำ และยังทอผ้าไว้ขาย (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 67,70,71)

ปัจจุบันในชุมชนชนบทหลายแห่งเริ่มมีการเปิดร้านค้าที่ใต้ถุนบ้าน ขายสิ่งของเบ็ดเตล็ดหรืออาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากในตัวอำเภอ ส่วนหลังฤดูทำนามักจะทำอาชีพรับจ้างซึ่งเป็นอาชีพเสริม ช่วงแรกรับจ้างเป็นการรับจ้างภายในหมู่บ้าน ต่อมาประมาณปลายทศวรรษ 2520 จึงเริ่มออกไปรับจ้างต่างถิ่น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และบางคนยังนิยมไปทำงานรับจ้างในต่างประเทศด้วย อย่างกรณีบ้านโพนในช่วงทศวรรษ 2540 มีชาวบ้านออกไปทำงานต่างประเทศถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคณะ, 2540: 63-72) ส่วนอาชีพรับราชการและค้าขายนั้นยังคงมีส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นคนภายนอกเข้ามาประกอบกิจการดังกล่าวเพื่อทำการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ ซึ่งอาชีพค้าขายและอาชีพบริการต่างๆ ปรากฏเห็นได้ชัดในชุมชนที่อยู่ในอำเภออากาศอำนวย อำเภอวานรนิวาส และอำเภอสว่างแดนดิน

สำหรับการทำประมง ตั้งแต่อดีตชาวโย้ยมักทำหาปลาตามลำน้ำยามเป็นหลัก รองลงมา คือ ห้วย หนอง คลอง บึง ปัจจุบันยังมีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อทำประมง เช่น บ่ออ้อ สบห้วย น้ำจั้น บ่อลุบ หนองพักกูด หนองดินดำ วังดินดำ หนองปลาซวาย หนองพักแว่น หนอง หวาย หนองลาดควาย ด้วยรูปแบบของระบบนิเวศโดยรวมเป็นพื้นที่ทามน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้ก่อเกิดภูมิปัญญาการทำประมงและเครื่องมือในการจับปลาที่มีการปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของธรรมชาติดังกล่าว เช่น ซวาง ส่อน ไซ จั่น ตุ้ม โทงขา ลอบ เสือนอนกิน ผีน้อย ลัน แห มอง แหลมสอด เบ็ดโก่ง เบ็ดคัน เบ็ดเผียก เบ็ดสะโน สุ่ม จะดุ้ง (ยอ) โดยต้องจดจำ ทดลองและสังเกตว่าในการจับปลาชนิดใด ต้องใช้เครื่องมือชนิดใด เช่น ปลาไหลต้องใช้ลัน ปลาค่าวต้องใส่ซวางหรือเบ็ดโก่ง (ไพรี อินธิสิทธิ์, สัมภาษณ์) ส่วนอาชีพล่าสัตว์ปัจจุบันไม่ค่อยปรากฏให้เห็น ส่วนหนึ่งเพราะสภาพพื้นที่ตั้งชุมชนโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งหรือป่าโคกและป่าบุ่งป่าทาม จึงมีสัตว์ใหญ่จำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็ก เช่น หนู นกต่างๆ ซึ่งเครื่องดักสัตว์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น จ่องเจ๊าะ ซิงนกคุ่ม ตางบาน ซุ่มแอ้ว เพนียด แฮ้ว ฮุบ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดักนกและไก่ป่า สำหรับ ซิง หล่วง กั๊บหยัน เป็นเครื่องมือสำหรับดักกระต่าย และ หนู

ปัจจุบันชุมชนโย้ยไมีการดำรงชีพที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาชุมชนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน ไฟฟ้าในหมู่บ้าน ทำให้ไทโย้ยใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหาเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ทำให้เกิดการรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกมาใช้ภายในหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว เช่น อิทธิพลขอองการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือวิธีการแต่งตั้งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในงานบุญต่างๆ การแสดงแสงสีเสียง คอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งในอดีตเป็นการจัดงานอย่างเรียบง่าย มีเพียงการบอกกล่าวกันภายในหมู่บ้าน มีการแสดงพื้นบ้านเพื่อผ่อนคลายความเครียดเท่านั้น (กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์, 2540) นอกจากนี้ยังมีการปกครองแบบใหม่ในรูปแบบสุขาภิบาลและเทศบาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางกายภาพแวดล้อมและรูปแบบวิถีชีวิต การทำมาหากิน จากเดิมเป็นการหาเพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อเลี้ยงครอบครัวได้เปลี่ยนมาเป็นแบบหาสิ่งของต่างๆ เพื่อนำมาขายที่ตลาด (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541: 101-110,120)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทโย้ยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังกรณีบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย มีวัดอยู่ 6 วัดได้แก่ วัดกลางพระแก้ว วัดทุ่ง วัดศรีโพนเมือง วัดจอมแจ้ง(วัดเหนือ) วัดไตรภูมิ(วัดใต้) วัดอุดมรัตนารามหรือวัดป่า นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีบรรพบุรุษที่ช่วยดูแลลูกหลานในครอบครัว นับถือผีเจ้าปู่ และ

เชื่อเรื่องขวัญ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวได้สะท้อนออกมาเป็นประเพณีต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวันตามโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่บ้าน เจิมรถใหม่ เป็นต้น หรือปรากฏผ่านประเพณีในแต่ละเดือนของรอบปีเรียกว่า “ฮีตสิบสอง” ทั้งนี้ บางชุมชนอาจไม่ได้ปฏิบัติครบทุกประเพณี

นอกจากนี้ชาวโย้ยยังมีความเชื่อเกี่ยวกับโชค ลาง ดวงชะตา การสะเดาะเคราะห์ หรือแต่งแก้ รวมทั้งความเชื่อในฤกษ์ยามเพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับขวัญ โดยเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ย่อมมีขวัญไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ เชื่อกันว่า ถ้าขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวย่อมทำให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น จึงมีพิธีทำขวัญหรือเรียกขวัญ การทำขวัญมีหลายประเภท เช่น ทำขวัญคน ทำขวัญข้าว และทำขวัญควาย ซึ่งนิยมทำในฤดูทำนา เช่น สู่ขวัญผู้ที่จะบวช การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แม่และลูกที่เพิ่งคลอดใหม่ พิธีจัดหลังจากเด็กคลอด เมื่ออาบน้ำให้เด็กแล้วจะอุ้มเด็กมาวางลงกระด้งที่ปูผ้าเอาไว้ จากนั้นก็จะให้ผู้สูงอายุประกอบพิธี “พอกหนาย” แล้วก็จะวางปั้นข้าวสุก 1 ปั้นลงที่กระด้งแล้วจะกล่าวว่า “หากเป็นลูกผีก็ให้มารับเอาไป ถ้าเลยวันนี้ไปแล้วก็จะเป็นลูกของคน” จากนั้นจะทำนายชะตาชีวิตของเด็กซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำทำนายที่เป็นศิริมงคลกับชีวิต ต่อมาญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธีก็จะให้พรเด็กที่เกิดใหม่ จากนั้นจึงรับประทานอาหารร่วมกัน และเมื่อแม่ลูกอ่อนออกจากการอยู่ไฟจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญแม่และเด็กอีกครั้ง

ในส่วนของความเชื่อเรื่องผี ไทโย้ยแบ่งผีออกเป็นผีดีละผีร้าย เช่น “ผีตาแฮก” หรือผีไร่ผีนา เชื่อว่าเป็นผีที่อาศัยอยู่ที่ไร่นาและมีหน้าที่ช่วยดลบันดาลให้เพาะปลูกให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ไทโย้ยจะเลี้ยงผีตาแฮกก่อนจะเพาะปลูกในไร่นาทุกครั้ง หากไม่ทำพิธีเลี้ยงผี เชื่อว่าจะทำให้เคราะห์ร้าย มีอาการเจ็บป่วย เพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ดี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้วก็จะทำพิธีเลี้ยงผีไร่ผีนา หากปลูกข้าวได้ผลผลิตเป็นจำนวนมากก็จะทำบุญกองข้าว ถ้าหากได้ผลผลิตน้อยก็จะไม่ทำ สำหรับการจัดพิธีจะอยู่ระหว่างเดือน 1 กับเดือน 2

ส่วน “ผีปู่ตา” “ผีแจ” คือ ผีบรรพบุรุษของไทโย้ยจะประจำอยู่ที่บ้าน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองคนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข การทำพิธีเซ่นไหว้จะทำเมื่อคนในบ้านมีอาการเจ็บป่วยหรือกรณีที่ลูกสาวจะแต่งงาน จะมีการทำพิธีบอกผีปู่ตาหรือผีแจได้รับรู้ สำหรับผีปู่ตานั้น ไทโย้ยจะทำเป็นห้องหรือที่เรียกว่า “ซ้อม” เพื่อเชิญผีปู่ตาไว้ที่ห้องนี้ และในห้องนี้ยังเป็นห้องบูชาพระพุทธรูปด้วยเช่นกัน มีลักษณะเป็นห้องโล่งและเจ้าของบ้านจะไม่นอนที่ห้องนี้ “ผีน้ำ” “ผีเงือก” เป็นผีที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง ผีชนิดนี้เป็นผีให้โทษมากกว่าให้ประโยชน์ ในอดีตไทโย้ยจะใช้พูดหลอกลูกหลานเพื่อป้องกันไม่ให้ลงไปเล่นน้ำ โดยมักอ้างว่าในน้ำมีผีน้ำอยู่เพื่อให้เด็กที่จะลงไปเล่นน้ำกลัว ดังนั้น ไทโย้ยจึงนำมาใช้เพื่อป้องกันลูกหลานที่จะลงเล่นน้ำซึ่งอาจได้รับอันตรายจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งถ้าหากลงไปเล่นน้ำแล้วไม่สบายมีอาการละเมอ ไทโย้ยจะให้ “หมอจ้ำ”มาทำพิธีเซ่นไหว้ขอขมาผี แล้วเชิญผีให้ไปอยู่แม่น้ำโขงเพื่อจะให้คนในหมู่บ้านไม่ต้องได้รับความเดือดร้อน

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญของชาวไทโย้ยมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวอีสานทั่วไปคือ การทำบุญฮีตสิบสองหรือประเพณีประจำเดือนซึ่งเป็นความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อพุทธศาสนา

ผีและวัฒนธรรมข้าว ฮีตสิบสอง มีดังนี้เดือนอ้ายทำบุญข้าวกรรม เดือนยี่ทำบุญคูณลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ เดือนสี่บุญพระเวส เดือนบุญสงกรานต์ เดือนหกบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ดบุญเลี้ยงอารักษ์หลักเมือง เดือนแปดบุญเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา และเดือนสิบสองบุญกฐิน ทั้งนี้ฮีตหรือจารีตสิบสองเดือนที่ยังมีการสืบทอดกันอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน มีดังนี้

“บุญเข้ากรรม” โดยจะทำในช่วงเดือนอ้าย ในเดือนนี้พระสงฆ์จะเข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย ไทโย้ยจะไปร่วมทำบุญที่วัดและทำบุญเลี้ยงผี “บุญคูณลาน” โดยทำในเดือนยี่จุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นศิริมงคลกับข้าวใหม่ ในวันนี้จะมีการนิมนต์พระมาฉันอาหารเช้าที่นา และทำพิธีสู่ขวัญข้าว

“บุญข้าวจี่” ทำในเดือนสาม พร้อมการทำบุญมาฆบูชา ช่วงเช้าจะนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นใส่กับไม้แล้วจี่ไฟจนมีสีเหลือง ทาด้วยไข่ไก่หรือไข่เป็ดจนข้าวสุก พอสุกแล้วจะดึงไม้ที่ใช้จี่ออกจากปั้นข้าวแล้วนำน้ำอ้อยใส่เข้าไปในช่องว่างที่ดึงไม้ออก จากนั้นจึงนำไปทำบุญถวายพระที่วัดพร้อมด้วยอาหารคาวหวาน

“บุญพระเวส” (พระเหวด) ทำในเดือนสี่ โดยจะจัดให้มีการเทศน์มหาชาติ ถ่ายทอดประวัติของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าถ้าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติจนจบจะได้บุญกุศลมาก บุญพระเวสจะจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน คือ วันแรก (วันรวมหรือวันโฮม) เป็นวันจัดเตรียมงาน มีมหรสพสมโภช วันที่สอง วันแห่พระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี เข้าเมือง และวันสุดท้าย วันฟังเทศน์มหาชาติและเทศน์แหล่ ในการเทศน์จะมี 13 กัณฑ์ (บท) ในแต่ละกัณฑ์จะมีโยมเจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์เครื่องบริขารต่างๆ แก่พระสงฆ์ นอกจากนี้ยังอาจมีกัณฑ์หลอนซึ่งจัดทำขึ้นโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

“บุญสรงน้ำ” ทำในเดือนห้า มีการสงฆ์น้ำพระจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ในช่วงเวลา 16.00 น. พระจะตีกลองรวมหรือกลองโฮม เพื่อให้ชาวบ้านนำน้ำหอมมาที่วัด ทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป วันต่อมาจะทำบุญเลี้ยงพระ และวันที่สามจัดให้มีการสรงน้ำพระ ในระหว่าง 3 วันนี้ไทยโย้ยจะเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน

“บุญวันวิสาขบูชา” และ “บุญบั้งไฟ” ทั้งสองพิธีนี้จะทำในเดือนหก โดยบุญบั้งไฟทำขึ้นเพื่อขอฝน ส่วนบุญวันวิสาขบูชา ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัดและเวียนเทียนตอนกลางคืน

“บุญซำฮะ” (ชำระล้าง) บุญเดือนเจ็ด มีการทำบุญและเซ่นไหว้เทวดา หลักเมือง ผีปู่ตา และผีตาแฮก

“บุญเข้าพรรษา” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรและถวายผ้าอาบน้ำฝน ส่วนตอนกลางคืนจะทำพิธีเวียนเทียนที่วัด

“บุญข้าวประดับดิน” หรือบุญเดือนเก้า ในวันแรม 13 ค่ำเดือน 9 การทำบุญในวันนี้จะแบ่งอาหารออกเป็น 4 ส่วน คืออาหารถวายพระสงฆ์ อาหารไว้กินในบ้าน อาหารแบ่งให้ญาติ และอาหารอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ในช่วงเช้ามืดจะนำอาหารที่อุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ได้แก่ ของหวาน 1 ห่อ ของคาว 1 ห่อ หมากพลูและบุหรี่ ไปวางไว้ตามบริเวณวัดและกรวดน้ำให้กับญาติที่เสียชีวิต จากนั้นจึงใส่บาตรพระและถวายอาหารเช้าแก่พระที่วัด

“บุญข้าวสาก” จัดเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบ โดยไทโย้ยจะทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และนำอาหารไปถวายพระที่วัด มีการกรวดน้ำอุทิศให้กับญาติที่เสียชีวิต เมื่อทำบุญแล้วจึงจะนำข้าวสากบางส่วนไปใส่ในนาเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลนาและเพื่อความเป็นศิริมงคล ให้ข้าวเติบโตได้ผลผลิตงอกงาม ในวันนี้จะจัดแข่งขันเรือยาวกับไหลห้าน (ร้าน) บูชาไฟหรือ “ไหลเรือไฟ” ด้วย

“บุญออกพรรษา” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ภายหลังจากที่พระจำพรรษาครบ 3 เดือนแล้วในคืนนั้นจะการจัดงานจะปล่อยโคม จุดประทัด ส่วนพิธีทางศาสนา คือ ฟังพระเทศน์ เวียนเทียนที่วัด จะทำบุญติดต่อกันสามวันสามคืน

“บุญทอดกฐิน” ในปีหนึ่งจะทำเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น และในแต่ละวัดจะรับกฐินได้หนึ่งครั้งเท่านั้น

นอกจากนี้ไทโย้ยยังมีความเชื่อเฉพาะของตนหลากหลายประเพณี เช่น การเอาบุญโท่ง ประเพณีไหลห้าน (ร้าน) บูชาไฟ หรือบุญไหลเรือไฟประเพณีบุญเลี้ยงเจ้าปู่ การเลี้ยงผีปู่ตา การบูชาพระอุปคุต และบุญยอธาตุ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) การ “เอาบุญโท่ง” หรือ การทำบุญที่ทุ่งนา คล้ายคลึงกับบุญคูณลาน ไทโย้ยจะออกเสียงยาวว่า “โท่ง” การจัดพิธีจะจัดในเดือนยี่หรือเดือนสาม หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเพราะยังไม่ขนข้าวเข้าเก็บในยุ้ง เรียกว่าบุญเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวโย้ยอากาศอำนวย เชื่อว่า เป็นวันศิริมงคล ดังคำกล่าวที่ว่า “วันหมากขามป้อมสุกหวาน แม่มานท้องแวบ ครกป่งใบ หัวจะไคออกดอก” ถือเป็นวันที่ขวัญของสรรพสิ่งต่างๆ แข็งแกร่งที่สุด จุดประสงค์ของการทำเพื่อแสดงความเคารพคุณข้าว เพื่อความเป็นมงคลแก่ทุ่งนาและเรียกขวัญข้าวขวัญนามารับส่วนบุญด้วย รวมทั้งสร้างความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว ให้มีชีวิต เจริญก้าวหน้าและทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

การจัดงาน จะทำเป็นระยะเวลา 2 วัน วันแรก เป็น “การสู่ขวัญข้าว” คือ ข้าวที่ได้เก็บเกี่ยวแล้วนำขึ้นมายังยุ้งฉางเรียบร้อย เมื่อถึงเดือน 3 จะทำพิธีสู่ขวัญข้าว เครื่องบายศรีประกอบด้วย ข้าว ไข่ เทียน เผือก มัน กล้วย อ้อย น้ำหอม ใบยอ (ขมิ้นบดผสม-น้ำดอกไม้) กระติบข้าวเหนียว ทั้งนี้ พิธีการจะเริ่มช่วงตอนเช้าตรู่ (ก่อนตักบาตร) ของเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ เจ้าของบ้านจะนำเอาเครื่องบายศรีที่เตรียมไว้ขึ้นไปเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) แล้วกล่าวเรียกขวัญข้าวที่ตกยังพื้นไร่พื้นนาให้เข้ามาในยุ้งฉาง เพื่อในปีต่อไปจะได้ออกใบเจริญเติบโตเลี้ยงลูกหลานต่อไป บางแห่งจะเอาข้าวเปลือกมารวมกันที่ลานนวดข้าวเพื่อทำพิธี โดยมีหมอพราหมณ์หรือคนที่ชาวบ้านนับถือเป็นผู้ทำพิธีเพื่อเรียกขวัญนาขวัญข้าว และผีไร่ ผีนา นอกจากนี้ยังมีการ “สู่ขวัญวัว สู่ขวัญควาย” ที่ทำหลังจากการสู่ขวัญข้าวแล้วเสร็จจะนำน้ำหอมที่เตรียมไว้มารดตัววัวควาย พร้อมกล่าวคำที่เป็นศิริมงคล เช่น ให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์เพื่อจะใช้ลากเกวียน ลากไถในฤดูกาลทำนาต่อไป หรือตัวเมียให้ตกลูกดก จากนั้นจึงนำฝ้ายมาผูกที่ขาหรือเชือกที่ผูกติดกับคอวัวควาย บางคนอาจผูกข้าวต้มมัดที่เขาวัวเขาควายด้วย ครั้นตอนกลางคืนจะมีมหรสพสมโภช เช่น ภาพยนตร์ หมอลำ เป็นต้น ในวันต่อมาช่วงเช้านิมนต์พระมาสวดและฉันอาหารเช้า ผู้ที่มาร่วมงานรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นจึงนำข้าวเปลือกไปขายเพื่อนำเงินไปทำบุญที่วัด

2) ประเพณีไหลห้าน (ร้าน) บูชาไฟ หรือบุญไหลเรือไฟ

ชาวไทโย้ยมีความเชื่อที่เกี่ยวกับแม่น้ำ เป็นความเชื่อที่มีความโดดเด่นและเป็นที่นิยมของชาวไทโย้ยเกือบทุกชุมชนที่ตั้งใกล้แม่น้ำ ประเพณีไหลห้าน (ร้าน) บูชาไฟ หรือบุญไหลเรือไฟ ซึ่งจะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 จุดมุ่งหมายเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าและบูชาแม่น้ำ เพื่อให้สิ่งอัปมงคลต่างๆ ออกจากหมู่บ้าน คงเหลือแต่สิ่งที่เป็นมงคล สำหรับการทำเรือไฟนั้นในอดีตจะทำด้วยต้นกล้วย เอามาต่อเข้าด้วยกันเป็นหลากหลายรูปทรง มีความยาวประมาณ5 - 6 เมตร ใส่สิ่งต่างๆ ลงไปในเรือ เช่น ข้าวต้มมัด ขนม กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน เผือก และอื่นๆ ส่วนด้านนอกเรือตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้หรือผ้าชุบน้ำมันขี้ไต้ หรือที่ไทโย้ยเรียกว่า ”ก้านจู้” เพื่อจุดไฟในตอนกลางคืนช่วงไหลเรือไฟ ส่วนบนเรือไฟจะมีการเล่นดนตรีพื้นเมืองตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ และอื่นๆ รวมทั้งมีคนเต้นรำอยู่บนนั้น

ประเพณีไหลเรือไฟ (บูซาไพ-ชาวโย้ยจะออกเสียง “ฟ” เป็น “พ”) กรณีของไทโย้ยบ้านอากาศ จะจัดประเพณีไหลเรือไฟขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งชาวไทโย้ยเรียกว่า “มื้อโฮม” หรือวันรวม ในอดีตนั้นช่วงกลางวันจะมีกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีและความสนุกสนานร่วมกัน คือ การแข่งขันเรือพายในลำน้ำยามระหว่างคุ้มวัด ซึ่งเรือที่ใช้ในการแข่งขันสามารถจุคนได้แต่ละลำไม่เกิน 10 คน มีคนหนึ่งทำหน้าที่ตีกลองเป็นจังหวะการพาย คุ้มวัดใดชนะจะได้รับคำรางวัลเป็นเหล้าโท (สาโท) จากนั้นในช่วงกลางคืนหลังจากสวดมนต์เย็น (ทำวัตรเย็น) ญาติโยมจะทำการจัดเตรียมอุปกรณ์เรือไฟไปที่ท่าน้ำ ชาวคุ้มวัดต่างร่วมกันประดับตกแต่งเรือไฟของตนเอง ซึ่งเครื่องประดับตกแต่งบนเรือไฟ ประกอบด้วย ก้านจู้ ก้านกล้วย ต้นอ้อย กิ่งไผ่เพื่อแขวนกล้วย ขนม ข้าวต้ม เหมือนต้นกัลปพฤกษ์ บั้งไฟ (มีบั้งไพหาง บั้งไพตะไล บั้งไพนกคุ่ม) โดยจะจัดเตรียมอุปกรณ์ลงเรือไปที่ท่าน้ำวัดเหนือ (วัดจอมแจ้ง) บริเวณปากอุปคุต มีเครื่องดนตรีประโคม (กลองเลง) ครั้นพอถึงเวลา 19.00 น. จึงจะเริ่มพิธีปล่อย “แม่วอง” โดยจะมีการกล่าวขอขมาแม่คงคาและอัญเชิญผีเงือกทั้งหลายให้กลับไปยังแม่น้ำสายใหญ่ เพราะจากไปลำน้ำสายนี้จะลดระดับแห้งลง เมื่อกล่าวเสร็จจึงปล่อยแม่วองให้ไหลไปตามสายน้ำ แล้วจึงตามด้วยเรือไฟของคุ้มวัดทั้ง 6 คุ้มวัด ในอดีตนั้นเมื่อไหลเรือไฟลำสุดท้ายแล้วเสร็จ ชาวบ้านที่มาชมจึงจะพากันเดินทางกลับบ้านเรือนเพราะไม่มีมหรสพสมโภช

ต่อมาในทศวรรษ 2540 ประเพณีการไหลเรือไฟเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย กล่าวคือ ในช่วงกลางวันจะมีการจัดแข่งเรือพาย ในอดีตจะใช้เวลาเพียง 1 วัน ต่อมาเพื่อให้งานยิ่งใหญ่ขึ้นได้ขยายระยะเวลาเป็น 2 วันในการแข่งขันเรือพาย อีกทั้งขนาดของเรือยังใหญ่ขึ้นสามารถจุคนได้ 30 - 40 คน มีรางวัลเป็นเงินและถ้วยรางวัล มีการทำเสื้อทีม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านทั้งต่างอำเภอและต่างจังหวัดเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย ส่วนในช่วงกลางคืนได้จัดให้การประกวดไหลเรือไฟของ 6 คุ้มวัด โดยเทศบาลฯ และนักการเมืองให้การสนับสนุนงบประมาณแก่คุ้มวัดต่างๆ ในการทำเรือไฟ เพราะมีการประกวดเรือไฟ โดยจะมีการมอบถ้วยและเงินรางวัลสำหรับคุ้มที่ชนะเลิศ สำหรับรูปทรงลักษณะของเรือไฟยังคงมีเค้าโครงเดิมแต่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านรายละเอียดและความคิดสร้างสรรค์ เช่น การทำเป็นรูปทรงแสดงเรื่องราวของวิถีชีวิต หรือทำเป็นรูปทรงเจดีย์ วัด เป็นต้น แต่ยังคงมีก้านจู้เครื่องประดับบางอย่างที่ยังคงเดิม นอกจากนี้ยังมีมหรสพสมโภชหลายคืน เช่น วงดนตรี วงหมอลำ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประกวดภูมิปัญญาชาวบ้าน การประกวดสาวงามลุ่มน้ำยาม การประกวดสาวประเภทสอง มีสวนสนุก ชิงช้า ม้าหมุน หลังจากชมการไหลเรือไฟเสร็จ ชาวบ้านยังได้ชมดนตรี การประกวด ออกร้านต่างๆ

นอกจากประเพณีการไหลเรือไฟในน้ำแล้ว ชาวไทโย้ยยังมีการประกอบพิธีกรรมไหลเรือไฟบก โดยจะทำแท่นบูชาเป็นรูปเรือวางไว้ข้างโบสถ์ ในเรือจะใส่ผลตูมกาผ่าครึ่งเอาไว้แล้วทำไส้ตะเกียงบรรจุไว้ในผลตูมกา โดยจะทำเอาไว้กว่า 200 อัน หลังจากประกอบพิธีออกพรรษา คนที่มาทำบุญก็จะจุดไฟในผลตูมกาที่ทำเอาไว้แล้ววางดอกไม้ธูปเทียนเอาไว้บนเรือบก เพื่อทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว

3) ประเพณีบุญเลี้ยงเจ้าปู่

ชาวไทโย้ยจะจัดประเพณีบุญเลี้ยงเจ้าปู่ขึ้น 2 ครั้งต่อปี โดยครั้งแรกจะจัดในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ หลังจากขึ้นนาหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ โดยคนในหมู่บ้านจะนำอาหารมาเซ่นไหว้เจ้าปู่ เพื่อขอให้เจ้าปู่ดูแลคนในหมู่บ้านให้อยู่อย่างสงบร่มเย็น จากนั้นจะจัดอีกครั้งในระหว่างเดือน 6 ก่อนจะทำนาเพื่อขอให้เจ้าปู่ช่วยทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

4) การเลี้ยงผีปู่ตา

ชาวไทโย้ยบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนครมีการจัดพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ตาอย่างยิ่งใหญ่เพื่อรองรับงานเทศกาล “วันไทโย้ย” โดยกำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ซึ่งพิธีกรรมเซ่นไหว้และรำบวงสรวงผีปู่ตาถือว่ามีความสำคัญก่อนที่จะมีการดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ทั้งนี้ ยังใช้บริเวณที่ตั้งศาลปู่ตาเป็นพื้นที่ในการจัดงานวันไทโย้ยอีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของปู่ตานั้น ผู้อาวุโสเล่าว่า เมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี้ได้มีการอัญเชิญวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สองตนมาจากบ้านฮ่อมท้าวฮูเซ แขวงคำม่วน สปป.ลาว นามว่า “พระภูมิ” และ “พระโพธิ์” โดยชาวบ้านเรียกรวมกันว่า “ปู่ตา”โดยได้ร่วมกันตั้งศาลขึ้นแล้วอัญเชิญปู่ตาไปสถิตอยู่ (ชาวบ้านเรียกหอเจ้าปู่) ซึ่งศาลแห่งแรกนั้นตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าอาคารเรียนหลังสุดท้ายของโรงเรียนบ้านอากาศศึกษา ฝั่งด้านทิศตะวันตกติดกับถนนรวมมิตรในปัจจุบัน โดยมี “กวานจ้ำ” ทำหน้าที่สื่อกลางระหว่างผีกับชาวบ้าน ซึ่งมักจะส่งต่อตำแหน่งนี้ในสายตระกูล เช่น พ่อเฒ่าเชียงไค ใครบุตร อดีตกวานจ้ำเมื่อเสียชีวิตลงพ่อเฒ่าโสม ใครบุตร บุตรชายได้รับหน้าที่เป็นกวานจ้ำต่อ จากนั้นเมื่อเสียชีวิตลงจึงได้ส่งต่อพ่อเฒ่าโงน ใครบุตร และพ่อเฒ่าสมเพศ ใครบุตรตามลำดับ

จากนั้นได้มีการย้ายศาลผีปู่ตาไปตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของโรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา และ ย้ายไปตั้งศาลอยู่ที่เขตดินนาของนายใบ ใชยเทศ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าปู่ในปัจจุบันเมื่อมีคนจีนเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในชุมชนจึงได้ให้ความนับถือด้วย โดยได้มีการบนบานเมื่อสมหวังจึงได้มาแก้บน จึงเกิดความเลื่อมใสมากขึ้น จนกระทั่งมีการรวบรวมงบประมาณในการสร้างศาลเจ้าปู่หลังใหม่ มีลักษณะเป็นเรือนก่อด้วยปูนชั้นเดียว ทาสีแดงทั้งหลังดังปรากฏในปัจจุบัน

ในทุกปีของเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันเซ่นไหว้ผีปู่ตา หรือวันตรุษ วันสารทตามความเชื่อจีน ทั้งชาวจีนและชาวโย้ยจะมาร่วมกันเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีการเซ่นไหว้บนบานตามโอกาสต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเครื่องเซ่นไหว้สำหรับบนบานประกอบด้วย เทียน 1 คู่ ดอกไม้ 1 คู่ เงินตามศรัทธา เมื่อสิ่งที่บนสัมฤทธิ์ผลแล้วจึงนำเครื่องเซ่นไหว้ไปแก้บน ซึ่งเครื่องแก้บน ประกอบด้วย กระติบข้าวสุกหรือห่อข้าวสุก 1 ห่อ เทียน ดอกไม้ อย่างละ 5 คู่ เรียกว่า ขัน 5 ไก่ต้มสุก 1 ตัว เหล้า 1 ขวด (หรือตามที่ได้บนบานไว้) น้ำตาล 1 ห่อ เงินตามศรัทธา จากนั้นกวานจ้ำจะเป็นผู้ทำพิธีแก้บนให้

5) บูชาพระอุปคุต ในการจัดงานประเพณีหรือพิธีกรรมที่สำคัญของชุมชนไทโยยบ้านอากาศ คือ บุญพระเวสสันดร ชาวโย้ยจะมีการอาราธนาพระอุปคุตมาช่วยปกป้องคุ้มภัยเพื่อให้การจัดงานดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยจะมีการดำเนินพิธีกรรมตั้งแต่เช้าตรู่ ช่วงเวลาประมาณ 04.00 น. ในบริเวณ “ปากอุปคุต” ซึ่งเป็นปากน้ำที่มีลักษณะเป็นร่องน้ำไหลลงสู่ลำน้ำยาม ชาวบ้านเรียกว่า “ปากฮ่องกะดัน” อยู่ติดกับวัดจอมแจ้ง (วัดเหนือ) ในพิธีกรรมนั้นจะมีการอาราธนานิมนต์พระอุปคุตที่เชื่อว่าอยู่สะดือสมุทรขึ้นมาประทับบนแท่นอาสนะสี่เสาที่เตรียมไว้ โดยมีเครื่องเซ่นไหว้ไทยทาน ประกอบด้วย ขัน 5 ผ้าไตร บาตร ร่ม รองเท้า ขันหมากเบ็ง 1 คู่ ดอกไม้ขาวหรือดอกพุดขาว ซึ่งผู้นำในการทำพิธีกรรม คือ พระสงฆ์ โดยทำหน้าที่กล่าวคำอาราธนา เมื่อกล่าวจบแล้วจึงจะมีการลงไปงมเอาก้อนหิน 3-4 ในแม่น้ำ แล้วท่องพะคาถาใส่ก้อนหินว่า “อุปะคุตตัง มะหิริกัง ยามะอุปัททะวัง วิวังเสติ อัสสะติ” (สามครั้ง) จากนั้นจึงทำการตักน้ำใส่บาตรและนำหินก้อนดังกล่าวลงในบาตร แล้วจึงนำขบวนแห่มายังบริเวณอาราธนาเพื่อนิมนต์พระอุปคุตขึ้นประทับแท่นอาสน์ที่เตรียมไว้ เพื่อเป็นกำลังใจในการดำเนินกิจกรรมจนแล้วเสร็จ

6) บุญยอธาตุ เป็นประเพณีที่ชาวไทโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย จัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพยกยอพระพุทธศาสนาและอัฐิธาตุของบรรพบุรุษ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ มีกำหนด 2 วัน ตรงกับวันที่ 19 - 20 เมษายนของทุกปี วัตถุสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรมที่มีการเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องไทยทาน เครื่องสังฆทาน ส่วนวัตถุสิ่งของที่นำมาในวันงาน คือ ดอกไม้ ธูปเทียน ดิน หิน ทราย ข้าวปลาอาหารคาว หวาน น้ำอบ น้ำหอม ปราสาทผึ้งและต้นกัณฑ์ สำหรับคติความเชื่อเกี่ยวกับงานบุญยอธาตุ แบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ คติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพุทธแบบพื้นบ้าน คติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์แบบพื้นบ้าน และคติความเชื่อเรื่องผี คติความเชื่อเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กล่าวคือ พิธีกรรมทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ที่ประกอบขึ้นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับหรือผีบรรพบุรุษ ชาวไทโย้ย
บ้านเดื่อศรีคันไชยมีความเชื่อดังกล่าวอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์
ทำให้ประเพณีการทำบุญยอธาตุคงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเพณีบุญยอธาตุถือเป็นประเพณีหนึ่งที่ชาวโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยให้ความสำคัญที่จะขาดเสียมิได้นอกเหนือจากประเพณีบุญเดือนห้าและบุญสงกรานต์

อนึ่ง บุญยอธาตุเป็นการจัดงานสืบเนื่องจากประเพณีสงกรานต์ กล่าวคือ เมื่อทำบุญสงกรานต์ครบเจ็ดวันแล้ว ชาวบ้านจะอัญเชิญพระพุทธรูปที่อัญเชิญลงมาสรงน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเสร็จพิธีสรงน้ำแล้วชาวบ้านจึงได้อัญเชิญยกหรือยอขึ้นประดิษฐ์ฐานไว้บนแท่นบูชาตามเดิม ชาวอีสานนิยมเรียกเจดีย์ว่าธาตุ บางครั้งเรียกเจดีย์ทั้ง 4 ว่า ธาตุสี่ ได้แก่ 1.พระธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า 2.พระธรรมเจดีย์ คือ เจดีย์บรรจุพระธรรมหรือคำสั่งสอนของพระศาสนา ได้แก่ ตู้พระไตรปิฎกและหอพระไตรปิฎก 3.บริโภคเจดีย์ คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงเคยใช้สอย 4. อุทเทสิกเจดีย์ คือ เจดีย์สร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ดังนั้น การทำบุญยอธาตุของไทโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชยจึงหมายถึง การอัญเชิญ (ยก) การยอหรือการน้อมเอาธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นธาตุทั้งสี่ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ว่าเป็นเจติยานุสรณ์ คือ สิ่งที่ควรปฏิบัติ และน้อมนำมาปฏิบัติอยู่เสมอ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ความเชื่อเรื่องการคลอดบุตรนั้น ชาวไทโย้ย เชื่อว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์กำลังเตรียมคลอดบุตรนั้นให้ไปนั่งตรงทางแยกโดยใส่ผ้าถุงสองผืนซ้อนกัน นั่งคุกเข่าเอาหินหรือทรายมาถูท้อง แล้วลุกขึ้นยืน ถอดผ้าถุงผืนหนึ่งออกโยนทิ้งไป เชื่อว่าจะทำให้คลอดได้ง่าย

นอกจากนี้หลังคลอดยังมีขะลำหรือข้อห้าม เช่น การอยู่ไฟ หรือการ “อยู่คำ” (อยู่กำ) เมื่อคลอดลูกต้องอาศัยไฟ ความร้อนภายนอกและภายใน ทั้งอาบทั้งกินนั่งใกล้ไฟทั้งวันทั้งคืน ถ้าคลอดลูกคนแรก ต้องอยู่นาน 1 เดือน ควบคุมอาหารการกิน โดยให้กินเฉพาะปลาตัวเดียวป่นใส่หัวข่าเผาหรือปลาป่น ปูป่น ข้าวจี่ เพราะมีความเชื่อว่าถ้ากินของคาว น้ำนมแม่และตัวเด็กจะเหม็นคาว อีกทั้งทำให้มดลูกเข้าอู่ช้า จะต้องกินน้ำร้อนและอาบน้ำร้อนที่ต้มด้วยเปลือกไม้ต่างๆ เช่น ไม้จิก ไม้กะเบา ดังนั้น คำว่า “อยู่คำ” จึงหมายถึงอยู่เพื่อขะลำ (สิ่งต้องห้าม) อาหารและรักษาร่างกาย เมื่อออกคำแล้วได้กินอาหารที่มีประโยชน์ไม่ต้องขะลำอีกร่างกายจึงคืนสู่สภาพเดิม

ในขณะที่ภรรยาอยู่คำ สามีต้อง “ปัวหม้อคำ” หมายถึง การดูแลรักษาผู้อยู่ไฟจนกว่าจะถึงกำหนดออกคำ ทั้งยังดูแลงานประจำทุกอย่างทั้งนอกบ้านในบ้าน สามีจะต้องรับภาระคนเดียว ต้องตักน้ำจากบ่อน้ำ ต้องหายาสมุนไพรจากหมอยาประจำหมู่บ้านนำมาต้มกิน เช่น ไม้หมากเป็น ยาชักมดลูกเข้าอู่เร็ว ยาแก้กินผิด และต้องเตรียมหายาต้มอาบวันละ 2 - 3 ครั้ง เช่น ใบเป้า ใบหนาด เปลือกแดงไม้กะเบาต้องดูแลและหาอาหารให้กินทั้งแม่ทั้งลูก นอกจากนี้ต้องทำ “พะซี” คือ การป่นขี้ซี (ชัน) ให้ละเอียด ในช่วงค่ำจะใช้มือหนึ่งถือกะบอง (ขี้ไต้) อีกมือหนึ่งหยิบขี้ซีป่นซัดสดหว่านผ่านไฟกะบอง เมื่อไฟไหม้ขี้ซีจะมีแสงสว่างวาบดูน่ากลัวโดยต้องเดินทำล้อมตัวเรือนบ้านที่ภรรยาอยู่คำ เพื่อป้องกันภูตผีเป้ามิให้มารังควาญลูกและภรรยา ชาวโย้ยเรียกว่า “ผอกผีพาย หนายผีเป้า” โดยให้เดินรอบบ้านคืนละ 1 รอบ ทำอยู่อย่างนี้ไม่ต่ำกว่า 7 คืน เมื่ออยู่คำครบตามกำหนด จะมีการทำอาหารการกินอย่างดี เช่น ต้มไก่ขวัญ ถ้าได้ลูกชายให้ใช้ไก่ตัวเมีย ถ้าได้ลูกสาวให้ใช้ไก่ตัวผู้ และเชิญญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดและหมอตำแยมาร่วมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยมีการผูกข้อต่อแขนให้หมอตำแย แม่อยู่คำและลูกน้อย เมื่อญาติผู้ใหญ่ให้ศีลให้พรเสร็จจึงจะรับประทานอาหารร่วมกัน

การแต่งงานและการหย่าร้าง

ในอดีต ก่อนการแต่งงาน ต้องสืบลำดับญาติกัน โดยฝ่ายชายต้องมีศักดิ์เป็นพี่ถึงจะสามารถแต่งงานได้ และต้องเป็นคนในหมู่บ้านด้วย หากแต่ปัจจุบันไม่นิยมยึดถือประเพณีกันแล้ว (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคณะ, 2540: 145) ในอดีตการจัดพิธีแต่งงานนั้น หากหนุ่มสาวตกลงใจที่จะแต่งงานกันก็จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรียกว่า “พ่อล่าม” ไปสู่ขอตกลงเรื่องค่าสินสอดและกำหนดวันแต่งงาน ก่อนการจัดพิธีแต่งงานฝ่ายหญิงจะเตรียมเครื่องสมมา เช่น ซิ่นหมี่ ผ้าขาวม้า เสื่อ ฯลฯ เพื่อมอบให้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เมื่อใกล้วันแต่งงานทั้งสองฝ่ายจะเตรียมอาหารเพื่อไว้เลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน และก่อนวันจัดงานหนึ่งวันทั้งบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเตรียมพาขวัญหรือพานบายศรี ตอนกลางคืนจะเชิญญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมากินข้าวที่บ้านหรือเรียกว่า “งันดอง” (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541:63)

เมื่อถึงวันจัดงานเจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว จะมีญาติผู้ใหญ่มารับขันหมาก จากนั้นจึงมาที่บ้านเจ้าบ่าวเพื่อสู่ขวัญให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาว ขั้นต่อไปเมื่อบายศรีสู่ขวัญเรียบร้อยแล้วจะจัดเลี้ยงอาหารแขกที่มาเป็นเกียรติในงาน ในช่วงบ่ายเจ้าสาวก็จะกลับมาที่บ้านเพื่อเตรียมของสมมา เช่น ที่นอน หมอน และอื่นๆ และตอนเย็นญาติของทางเจ้าบ่าวก็จะไปรับตัวเจ้าสาวกลับมาที่บ้านเจ้าบ่าวพร้อมด้วยของสมมาที่ฝ่ายเจ้าสาวเตรียมไว้ ครั้นมาถึงจึงทำการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอ ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะอวยพรให้ทั้งสองมีแต่ความสุขความเจริญ ส่วนของสมมานั้นหลังผ่านวันส่งตัวประมาณ 2-3 วัน เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจึงนำของสมมาที่เตรียมไว้ไปมอบให้กับญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่นับถือ (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541 :64)

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ชายหญิงที่รักกัน ตั้งใจจะเลี้ยงดูอยู่ด้วยกัน แต่ฝ่ายชายไม่มีเงินค่าสินสอด (ค่าดอง) หรือพ่อแม่ไม่เห็นดีเห็นชอบด้วย ชายหญิงมักจะตกลงแต่งกันเอง ซึ่งเรียกว่า “ซู” กล่าวคือ ผู้ชายไปตกลงกับหญิงว่า คืนนั้น เวลาเท่านั้นจะมาหาที่บ้าน ขอให้พาดบันไดไขประตูให้ ตอนนี้หญิงจะต้องระวังชายให้มาก เพราะเคยปรากฎว่าฝ่ายชายแอบหนีไปโดยไม่บอกกล่าวหลังเสร็จกิจ ดังนั้น พอสว่างหญิงจะต้องไปบอกพ่อแม่ให้รู้ว่ามีชายมาซู พ่อแม่จะจัดให้คนไปบอกญาติพี่น้องของตนและพ่อแม่ของชายมาพูดจากันเป็นหลักฐานรับรองว่าจะทำตามจารีตประเพณีบ้านเมือง จึงปล่อยให้ผู้ชายออกจากห้องได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีผู้หญิงไปซูผู้ชาย เรียกว่า “ไปซูผู้บ่าว” หรือ “แล่นนำผู้บ่าว” ซึ่งจะใช้วิธีการจัดการให้เรียบร้อยเหมือนฝ่ายชายจึงเป็นอันสิ้นสุด

เมื่อแต่งงานฝ่ายหญิงจะมาอยู่บ้านฝ่ายชายเพื่อมาดูแลพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว ในลักษณะครอบครัวขยายแบบปิตาลัย (patrilocal) เมื่ออยู่จนมีเงินเก็บแล้วจึงจะแยกตัวออกไปสร้างบ้านหลังใหม่ (ฟองจันทร์ อรุณกมล, 2541:88,89) อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า เมื่อแต่งงานแล้ว มีบางคู่ที่ไม่ได้ไปอาศัยอยู่กับทั้งครอบครัวฝ่ายผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ออกไปตั้งหลักแหล่งใหม่ (neolocal) ทั้งนอกและในชุมชน โดยอาจไปเช่าหรือซื้อที่อยู่ใหม่ ปัจจุบันครอบครัวลักษณะดังกล่าวพบมากขึ้น เนื่องจากมีเคลื่อนย้ายออกไปอยู่นอกชุมชน โดยเฉพาะในตัวเมืองเพราะทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องใช้เป็นแหล่งทำงาน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำนาเหมือนบรรพบุรุษเนื่องจากมีทางเลือกของอาชีพเพิ่มขึ้นจากโอกาสทางการศึกษาและงานที่หลากหลายของสังคมเมือง จึงไม่ต้องพึ่งพาที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรม กอปรกับมรดกที่ดินเริ่มลดน้อยลง

หลังแต่งงานเรียบร้อยแล้ว หากอยู่กันไปแล้วมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน พ่อล่ามจะเป็นคนอบรมและไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองคืนดีกัน ปัจจุบัน ผู้คนไม่ต้องการเป็นพ่อล่ามเ พราะญาติของฝ่ายหญิงจะให้พ่อล่ามเป็นผู้จัดเลี้ยงภายหลังจัดพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ พ่อล่ามจะมีพ่อล่ามใหญ่ทำหน้าที่ประสานงานกับญาติเจ้าบ่าวเจ้าสาวและดูแลคู่บ่าวสาว ส่วนพ่อล่ามน้อยจะทำหน้าที่ช่วยเหลือพ่อล่ามใหญ่ เช่น ถือขันเทียนและอื่นๆ สำหรับคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นพ่อล่ามจะต้องมีชีวิตการสมรสที่ดีไม่หย่าร้าง (พรรณอร อุชุภาพ, 2538:47-48)

จะเห็นว่า ในอดีตสังคมไทโย้ยจะอาศัยอยู่ร่วมกันแบบญาติพี่น้อง แม้ว่าจะไม่ใช่ญาติพี่น้องกันอย่างแท้จริงก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประกอบกับคนในชุมชนมีความเชื่อถือและเคารพผู้นำหมู่บ้านและผู้สูงอายุในหมู่บ้าน (พรรณอร อุชุภาพ, 2538: 36) หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่บ้านจะให้ผู้นำหมู่บ้านและผู้สูงอายุในหมู่บ้านเป็นคนตัดสินต่อปัญหาเหล่านั้น ซึ่งบทบาทของผู้นำในชุมชนไทโย้ยที่ได้รับการเคารพจึงทำให้สังคมมีความสามัคคีกัน (พรรณอร อุชุภาพ, 2538:38)

ความตายและการทำศพ

เมื่อมีชาวไทโย้ยเสียชีวิต จะนำผ้ามามัดร่างผู้เสียชีวิต 3 ท่อน แล้วจึงจะบรรจุศพลงในโลง จากนั้นปิดหน้าศพด้วยผ้าขาวแล้วแต่จำนวนผืนที่ลูกต้องการให้ปิดหน้าศพ ซึ่งผ้าที่ปิดหน้าศพดังกล่าวเชื่อว่าเป็นสมบัติของพ่อกับแม่ ถ้าหากลูกอยากเก็บเอาไว้บูชากราบไหว้ก็ให้ก้มแล้วใช้ปากคาบจากหน้าศพเอาเอง เมื่อจะนำร่างผู้ตายใส่โลงก็จะเขียนคาถาบนมือซ้าย มือขวา และปาก เพื่อเป็นคาถาไปสวรรค์ และจะใส่เงินในปาก มือและเสื้อของผู้ตาย ด้วยเชื่อว่าจะเป็นค่าจ้างทางเพื่อไปสู่สวรรค์ การจัดพิธีศพส่วนใหญ่จะทำกัน 3 วัน 3 คืน เมื่อครบตามกำหนดจึงจะนำศพไปทำพิธีที่ป่าช้า เมื่อจะนำศพไปยังป่าช้า หากสามีเสียชีวิตคนที่เป็นภรรยาจะตัดก้านกล้วยยาว 1 เมตร แล้วเวียนซ้ายรอบศพจำนวน 3 รอบ จากนั้นก็จะตัดก้านกล้วยที่นำมาใช้วนศพ เมื่อเวียนครบ 3 รอบ ให้บอกกล่าวแก่ผู้เสียชีวิตให้ไปสู่สุขคติ เมื่อไปถึงป่าช้าจึงนำศพออกจากโลง วางศพไว้บนกองฟอน จากนั้นจึงนำโลงมาครอบศพแล้วราดหน้าร่างผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมะพร้าว ช่วงนี้ถ้าลูกหลานของคนที่เสียชีวิตต้องการได้ผ้าปิดหน้าศพให้ใช้ปากคาบผ้านั้นเพื่อเก็บไว้บูชา แล้วจึงค่อยนำโลงศพหรือที่ไทโย้ยเรียกว่า “หอกะโลง” ครอบร่างผู้ตาย จากนั้นพระจะสวดทำพิธีทางศาสนา เมื่อจะเผาจึงให้หันหัวผู้ตายไปด้านตะวันออกเพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้ไปเกิดใหม่ เมื่อจุดไฟเผาจะจุดด้วยกระบองหรือไต้ เรียบร้อยแล้วจึงค่อยกลับบ้าน ส่วนช่วงเย็นจะมีการจัดหาอาหารเอาไว้ให้สำหรับคนตาย โดยจัดไว้ให้จนกว่าจะเก็บกระดูกเรียบร้อย ในช่วงนี้จะนิมนต์พระมาสวดเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงการสวดเพียงวันเดียว

กิตติรัช พงษ์สิทธิศักดิ์. (2540). การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในบุญยอธาตุของไทยโย้ยบ้านเดื่อศรีคันไชย ตำบลศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร, หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา (เน้นมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

คมทวน สกลไท. (2537).” เที่ยวเมืองไทย : ไทยโย้ย”. ไทยรัฐ 22 สิงหาคม . หน้า 11.

จดหมายเหตุแห่งชาติ, กอง. (2396). จดหมายเหตุ ณ. 4 สารตราตั้งเมืองนครพนม เรื่องตั้งเมือง
อากาศอำนวย
จ.ศ.1215, เลขที่ 31.

จดหมายเหตุแห่งชาติ, กอง. (2396). จดหมายเหตุ ร. 4 สารตราถึงเมืองสกลนคร เรื่อง เมืองอากาศอำนวย จ.ศ.1215, เลขที่ 65.

จิตรภูมิศักดิ์. (2544). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2503). นิทานโบราณคดี. พระนคร: เขษมบรรณกิจ.

เทศบาลตําบลอากาศอํานวย, สํานักงาน. (2548). ประวัติศาสตร์ไทโย้ยบ้านอากาศ อําเภออากาศอํานวย จังหวัดสกลนคร. สกลนคร: สํานักงานเทศบาลตําบลอากาศอํานวย.

พรรณอร อุชุภาพ. (2538). ลักษณะชาติพันธุ์ไทโย้ย บ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร สถาบันราชภัฏสกลนคร.

ฟองจันทร์ อรุณกมล. (2541). วิถีการดำเนินชีวิตของชาวไทยโย้ยบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร. หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา(เน้นสังคมศึกษา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่นๆ. (2540). วิถีครอบครัวและชุมชนชาติพันธุ์ไทยโย้ย บ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร. กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะอนุกรรมการวิจัยวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร, สำนักงาน. (2528). ประวัติจังหวัดสกลนคร. กรุงเทพฯ: จินดาสาส์น.

นายคํามอญ เหง้าละคร, บ้านเลขที่ 70 หมู่ 17 ตําบลอากาศ อําเภออากาศอํานวย จังหวัดสกลนคร, วันที่ 8 พฤษภาคม 2548

นายไพรี อินธิสิทธิ์, อยู่บ้านเลขที่ 168 หมู่ที่ 3 ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร, วันที่ 8 พฤษภาคม 2548


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว