2024-03-05 20:08:18
ผู้เข้าชม : 7203

ผู้ไท มีถิ่นฐานดั้งเดิมเดิมอยู่บริเวณลุ่มน้ำแดง - ดำ ทางตอนเหนือของเวียดนาม  ตอนเหนือของลาว เชื่อมต่อกับตอนใต้ของจีน ต่อมาใน พ.ศ 2369 ช่วงศึกเจ้าอนุวงศ์ ผู้ไทและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคอีสาน อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของคนกลุ่มนี้ ปรากฎผ่านภาษาและการแต่งกาย รวมทั้งความเชี่ยวชาญในการทอผ้า ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยเฉพาะผ้าฝ้ายย้อมครามและผ้าไหมแพรวา ที่นิยมนำมาตัดเย็บเป็นชุดประจำกลุ่มเพื่อรำถวายพระธาตุเรณู

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ผู้ไท
ชื่อเรียกตนเอง : ผู้ไท, ภูไท
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ผู้ไท
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : ผู้ไท
ภาษาเขียน : -

ผู้ไท หรือ ภูไท เป็นชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ผู้ไท ในที่นี้หมายถึง “คนผู้เป็นไท” ขณะที่ ภูไทนั้นหมายถึง “ชนเผ่าไทที่อาศัยอยู่บนภู” ถึงแม้ว่าชื่อเรียกทั้งสองชื่อนี้จะยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะใช้ชื่อใดเป็นหลักเนื่องจากในแวดวงวิชาการและในกลุ่มชุมชนชาวผู้ไทเองนั้นใช้ทั้งสองชื่อหากแต่เอกสารชิ้นนี้จะใช้ชื่อเรียกว่า “ผู่ไท” ตามอย่างสมาคมผู้ไทโลก ที่เป็นแกนหลักในการจัดงานวันผู้ไทโลกมาอย่างต่อเนื่องหลายปี อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกของชาวผู้ไทนี้ยังปรากฎการใช้ “ผู้ไทย” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกสารทางราชการ เนื่องจากผูกโยงกับความเป็นสมาชิกของรัฐชาติ

ชาวผู้ไทแต่เดิมนั้นตั้งชุมชนในแถบลุ่มน้ำแดง -ดำ ทางตอนเหนือของเวียดนาม ตอนเหนือของลาว เชื่อมต่อกับตอนใต้ของจีน หรือเรียกว่าบริเวณสิบสองจุไท มีเมืองหลักสิบสองเมือง มีกลุ่มคนที่เรียกว่า ผู้ไทดำ และผู้ไทขาว ปัญหาความขัดแย้ง และการรุกรานของชนต่างกลุ่ม ส่งผลให้ผู้ไทดำเริ่มอพยพโยกย้ายจากเมืองแถงลงสู่ดินแดนที่ราบทางตอนใต้ จวบจนถึงที่ราบเชียงขวางต่อมาเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินสั่งการให้นำกำลงไปตีเมืองลาว จนได้ผนวกเมืองลาวทั้งหมดเป็นเมืองประเทศราช และกวาดต้อนผู้คนจากเมืองทันต์ และเมืองม่วยกลับมายังประเทศไทย แล้วให้ไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรีและลพบุรี ในสัมยเจ้าอนุวงศ์ครองนครเวียงจันทน์นั้นท้าวก่า ผู้นำชาวผู้ไทดำจากเมืองนาน้อยอ้อยหนู ได้นำพาชาวผู้ไทดำราวหมื่นคนเศษ อพยพหนี้การรุกรานจากชาวฮ่อ มาสู่เมืองวังต่อมา พ.ศ. 2388 ญวนแผ่อำนาจมายังเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงได้แต่งตั้งเจ้าราชบุตรของเขจ้าอนุวงษ์ให้เครองเมืองจำปาศักดิ์ เพื่อป้องกันการขยายอำนาจของญวนต่อมาใน พ.ศ 2369 เจ้าอนุวงศ์ก่อกบฎต่อกรุงเทพ ได้ยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมาและสระบุรี กวาดต้อนผู้คนไปอยู่ยังเวียงจันทน์ สมเด็จพระนั่งเกล้าจึงโปรดให้ยกทัพไปราบกบฏ ตีหัวเมืองฝ่ายลาวหลายเมือง ผู้คนในเมืองเหล่านี้มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยกัน ทั้งผู้ไท กะเลิง ฯลฯ และกวาดต้อนผู้คนกลับมายังประเทศไทยแปดกลุ่มด้วยกันโดยการกวาดต้อนครัวลาวครั้งนี้ได้จัดไปอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นหลักปัจจุบัน พบว่ากลุ่มผู้ไท กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดยโสธร

ภาษาและการแต่งกายของชาวผู้ไท ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ภาษาของชาวผู้ไทจัดอยู่ในตระกูล ไต- กะได มีความคล้ายคลึงกับภาษาลาว ภาษาอีสาน และภาษาไทดำ อัตลักษณ์ทางภาษายังส่งต่อสืบมาจนปัจจุบัน ลูกหลานชาวผู้ไทส่วนใหญ่ยังพูดกันอยู่เป็นปรกติวิศัยในชีวิตประจำวันขณะเดียวกันด้านการแต่งการนั้น ทักษะและเทคนิคการทอผ้าของชาวผู้ไทถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อ และพัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ้าฝ้ายย้อมคราม และผ้าไหมแพรวาผ้าย้อมคราม ได้นำมาตัดเย็บเป็นชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อใช้ในการรำถวายพระธาตุเรณู หรือในกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของการฟ้อนรำอันอ่อนช้อยในชุดสาวผู้ไทโดดเด่นและงดงามยิ่งนัก

การอพยพของชาวผู้ไท เข้าสู่ประเทศไทยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกวาดต้อนครัวเรือน เมื่อปี พ.ศ. 2388 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 สรุปความได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ญวนแผ่อำนาจเข้ามาทางหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงและทางเขมร ขณะนั้นอยู่ในพระราชอาณาเขตไทย สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงไว้วางพระราชหฤทัยในเจ้าอนุวงศ์เจ้านครเวียงจันทร์ ด้วยเป็นผู้เข้มแข็ง และขึ้นตรงต่อกรุงเทพมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และในรัชกาลที่ 2 ได้ทรงตั้งเจ้าราชบุตร (โย้) บุตรของเจ้าอนุวงศ์เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ เพื่อป้องกันญวนขยายอำนาจเข้าครอบงำเมือง นครจาปาศักดิ์ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชยสมบัติสืบต่อมา เจ้าอนุวงศ์เห็นว่า กรุงเทพฯ มีแต่เจ้านายอายุไม่มากนัก ขุนนางผู้ใหญ่น้อยฝีมือ ทัพศึกอ่อนแอ ทั้งเจ้านายนครราชสีมาก็ไม่อยู่หัวเมืองรายทางไม่มีที่กีดขวาง เห็นควรยกไปตีเอากรุงเทพฯ ได้โดยง่าย

ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏต่อกรุงเทพมหานคร โดยยกทัพเข้ายึดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 และยึดเมืองสระบุรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 กวาดต้อนผู้คน ชาวสระบุรีและเมืองนครราชสีมาไปยังเมืองเวียงจันทน์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพไปปรากบฏเจ้าอนุวงศ์ ตีเมืองวัง เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง เมืองเชียงรม เมืองผาบัง เมืองพร้าว เมืองหาว เมืองเชียงดีและเมืองกาย เมืองเหล่านี้มีกลุ่มหลายชาติพันธุ์ทั้งผู้ไท กะเลิง ข่า ฯลฯ พร้อมกันนี้ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวผู้ไท จากเมืองดังกล่าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ดังนี้

กลุ่มแรก เป็นผู้ไทจากเมืองวัง มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอสหัสขันธ์และอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

กลุ่มที่สอง เป็นผู้ไทจากเมืองวัง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีประชากรมาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอนาคู อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

กลุ่มที่สาม เป็นผู้ไทจากเมืองวัง มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพรรณานิคม อำเภอเมือง อำเภอพังโคน อำเภอบ้านม่วง อำเภอวานรนิวาส อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอกุดบาก และอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

กลุ่มที่สี่ เป็นผู้ไทจากเมืองวังและเมืองคำอ้อ มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอหนองสูงและอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร

กลุ่มที่ห้า เป็นผู้ไทจากเมืองวัง มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอเรณูนคร อำเภอนาแก อำเภอธาตุพนม อำเภอศรีสงคราม และอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

กลุ่มที่หกเป็นผู้ไทจากเมืองตะโปน มาตั้งถิ่นฐานอำเภอเสนานิคม และอำเภอชานุมานจังหวัดอำนาจเจริญ

กลุ่มที่เจ็ด เป็นผู้ไทจากเมืองตะโปน มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

กลุ่มที่แปด เป็นผู้ไทจากเมืองกะปอง มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอวาริชภูมิจังหวัดสกลนคร

เรื่องราวการอพยพของชาวผู้ไทสอดคล้องกับเนื้อหาในบทเพลง “แหล่ประวัติภูไท” (เอกสารต้นฉบับใช้เขียนว่า “ภูไท”) บอกเล่าตำนานชาวผู้ไทซึ่งประพันธ์โดย แสง สกุลโพน ศิลปินพื้นบ้านชาวผู้ไทเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งบรรยายความเป็นมาของภูไทรวมถึงความยากลำบากทุกข์ระทมในการเดินทางจากการถูกกวาดต้อนมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง

...เล่าเริ้งราว ความเป็นมา อีปู่อีย่าอีตาอีนาย

เป็นเริ้งจริง อิงตำนาน เฮาลุงหลานศึกษาไว้

พี่น้องเฮาเผ่าภูไท สืบเซ้อสายมาแต่ซิเลอ

ปู่สั่งมาอีตาสั่งไว้ คนภูไทฮักแพงเด๋วเด้อ

ไล่เซ้อสายมีไกลมีเขอ เป็นจุ้มเป็นเจ้อ เซ้อแซงอันเก่า

อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เด๋วนี้เอิ้นว่าเมิ่งลาว

หลายฮ้อยปีแต่กี้แต่เก่า เป็นฮ่มเงา หองกรุงสยาม

สองสามแปดแปดคือปีพ.ศ. กบฏฮ่อหึกเหิมซ้ำ

องค์เจ้าฟ้ารัชกาลที่สาม ยกทัพสยามไปปราบเศิ๊กฮ่อ

ตีเมิงพิณ เมิงนอง เมิงวัง เซงรมผาบังตะโปนเมิงญ้อ เมิงคำโม้นมียังเหลอหลอ

จนทัพฮ่อแตวแตนหนีตาย เพิ้นกวาดต้อนพี่น้องเฮา เพิ้นกวาดต้อนภูไทเฮา

ถิ่มบ้านเก่าทางฝั่งซ้าย พาเด๋วย้างทางกะไกล ทังหับทังพายอีลุงตุงนัง

หม้อแฮวแตะจะเอิง อีเลิ้งไหกั๊บ ผุกะตั๊บฮึ่นหลังโงต่าง หุบลุผุ่หมาดึงหน้าจ่องหลัง

ผะลุงผะลังทังผ้าทังหมอน หนามคองเกาะ เต้นเหยาะเต้นหย่อง ฮึ่นภูลงหนองแดดกะฮ้อน

ตกกลางคืนเจ๋อวีวอน กินกลางดอน นอนกลางทราย

ห้ามน้ำของล่องแพมา ฮึ่นฝั่งขวามาละด๊าย พี่น้องเฮาเผ่าภูไท พาแด๋วหยายลงหลักปักฐาน

ทางกะสินดินน้ำดำ พาเด๋วห้ามดงภูพาน ไปทางซ้งภูสีฐาน มุกดาหารบ้านคำชะอี

ทางเมิงเวเรณูนคร เพิ่นมาก่อนเฮาหลายปี สร้างบ้านแปงเมืองเอ๊ย จนได้ดี

ภูไทเด๋วนี้ทั้งมีกันหลาย... (แหล่ประวัติภูไท ขับร้องโดย แสง สกุลโพน, ม.ป.ป.)

จากบันทึกของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจม แสง-ชูโต) แต่ครั้งยังเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อในบริเวณแคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันห้าทั้งหก เมื่อปี พ.ศ.2428 ได้บันทึกสภาพของบ้านเมืองไว้ว่า

“...แต่ในเดือน 6 นี้ได้ถามคนในประเทศนี้เขาบอกว่า เดือน 6 นี้ยังเป็นเดือนดีอยู่ต่อไปเดือน 7-9 ความไขจะมีมากขึ้นอีกเมื่อเวลาที่น้ำขังนา ยุงก็ชุมขึ้นชาวบ้าน ต้องนอนกลางวัน เวลากลางคืนนอนไม่ได้ความไข้ก็ร้ายมากเป็นกันชุกชุม แม่ทับได้ตรวจดูคนในเมืองหัวพันห้าทั้งหก และพวกขาแจะนั้น หาได้พบปะชายหญิงที่มีอายุ ถึง 60 ปีไม่ได้ถามชาวเมืองเขาดูก็บอกว่าไม่มีเลยทั้งพวกข่าแจะและลาว ภูไทหรือแม้ว คนที่อยู่ในประเทศนี้มีอายุอย่างมากเพียง 50 เศษเท่านั้น เวลาป่วยลงแล้วหยกยาที่จะเยียวยารักษาโรคนั้นไม่มีเจ็บเองหายเองตายเองและพื้นภูมิประเทศก็ไม่ดี ถ้าฤดูฝน ๆ ตกลงมาก็ตายปีละมาก ๆ ดูเหมือนคนเกิดกับตายจะเท่ากัน จึงไม่มีคนมาก พลเมืองมีอยู่เท่าใดก็มีอยู่เท่านั้น...”

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้ทรงพบเห็นเมื่อคราวเสด็จไปตรวจราชการมณฑลอีสานเมื่อปี พ.ศ.2449 ไว้ว่า

“...พวกภูไท ว่าถิ่นเดิมอยู่ทางเมืองพวนฝ่ายข้างเหนือ พูดภาษาไทย ใช้ถ้อยคำผิดกับไทยล้านช้างบ้างเสียงแปร่งไปอย่างหนึ่ง ฉันพบตามเมืองต่าง ๆ ในสองมณฑลนั้นหลายแห่ง แต่ที่เมืองเรณูนครขุนเมืองสกลนครดูเหมือนจะมีมากกว่าที่อื่น สังเกตดูผิวพรรณผ่องกว่าจำพวกอื่น ผู้หญิงหน้าตาอยู่ค่อนข้างหมดจด เคยมีการฟ้อนรำให้ฉันดูเป็นคู่ ๆ คล้ายกับจับระบำตามภาษาของเขา”

การอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศหลายครั้งหลายครานี้ พิเชฐ สายพันธ์ และนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2541) ได้ชี้ว่าผู้คนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาประกอบด้วยคนหลายกลุ่มที่มีที่มาแตกต่างกันทั้งช่วงเวลาและพื้นที่ ส่วนใหญ่มาจากบริเวณรอยต่อชายแดนของประเทศลาวและเวียดนาม ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณสิบสองจุไทในเวียดนามกับแขวงหัวพัน เชียงขวาง คำม่วน และสะหวันนะเขต ประเทศลาว บริเวณนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่หลายสิบกลุ่ม แต่กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กลุ่มที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะไดร่วมกัน แต่แยกย่อยเป็นกลุ่มต่าง ๆ และมีชื่อเรียกกลุ่มของตน ต่อมามีบางกลุ่มที่มีการพัฒนาวัฒนธรรมในลักษณะเฉพาะ เรียกว่า “ผู้ไท”

คำว่า“ผู้ไท” ถูกนำมาเรียกชื่อกลุ่มคนในสองระดับ คือ ระดับแรก ถูกนำมาเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเป็นทางการของประเทศลาว เพื่อจัดกลุ่มให้ชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่ด้วยกัน คือ ไทแดง ไทดำ ไทขาว ไทเหนือ ผู้ไท ไทแอด ไทม้อย ไทวาด ไทแมน ไทวัง ไทโก ไทซ้ำ ไทปาว ไทแอ ไทโอ ไทกวน ไทย้าย ไทแกง ไทอ่างคำ ไทพัก ไทซ้ำเก่า ไทเยือง ไทกะตา ไทกะปอง ไทโซย ไทกา ไทกาแดบ และไทกะปุง ส่วนระดับที่สอง คือคำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เฉพาะที่มีลักษณะทางอัตลักษณ์ชาติพันธุ์แตกต่างไปจากกลุ่มอื่น เช่นการศึกษาของนักวิชาการเวียดนามได้แยกกลุ่มผู้ไทเป็นหนึ่งกลุ่มต่างจากไทตง ไทดำ ไทแดง ไทเชียง ไทเมือง ไทแถง ไทเมือย ที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม และหากพิจารณาจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่พูดภาษาไท-กะได จะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ไทอยู่คนละกลุ่มตระกูลย่อยกับไทดำและไทแดง

จากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยรวมทั้งการอพยพโยกย้ายเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้งด้วยเหตุผลทางด้านการเมือง สงคราม และการหาแหล่งที่ทำกินใหม่ ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่ากลุ่มผู้ไทในประเทศไทยเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มใด เมื่อเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้วจึงถูกเรียกแบบรวม ๆ ว่า “ผู้ไทย” ซึ่งเป็นการตั้งชื่อที่มีความหมายทางการเมืองแฝงอยู่ในแง่ที่บ่งบอกว่าพวกเขาคือประชากรของรัฐไทย รวมถึงการอ้างความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ก็มักใช้เอกสารประวัติศาสตร์ในรูปแบบของพงศาวดารเมืองต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นโดยชนชั้นสูงของไทยในอดีตเป็นแหล่งอ้างอิงที่ปราศจากข้อสงสัยและการตรวจสอบ เช่น การตั้งเมืองเรณูนคร เมืองพรรณนานิคม เมืองกุฉินารายณ์ เมืองภูแล่นช้าง ปัจจุบันคือ อำเภอเขาวง เมืองหนองสูง เมืองเสนางคนิคม และเมืองคำเขื่อนแก้ว จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 56 หอสมุดแห่งชาติ (จุฬา ศรีบุตตะ, 2561)

นอกจากประวัติศาสตร์ที่ถูกผลิตขึ้นจากหน่วยงานราชการและนักวิชาการแล้ว ในระดับท้องถิ่นเองก็มีการนำเสนอประวัติความเป็นมาของตนตามแบบฉบับของแต่ละถิ่นที่ เนื่องจากการเข้ามาของชาวผู้ไทในประเทศไทยมาจากหลากหลายที่และหลายระลอกดังข้อมูลที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ชาวผู้ไทเมื่อกระจายไปอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ จึงมักมีชื่อเรียกที่บ่งบอกความเฉพาะเจาะจงลงไปด้วยส่วนใหญ่จะใช้ชื่อถิ่นฐานดั้งเดิมของตนเองมาตั้งเป็นชื่อต่อท้าย เช่น ผู้ไทเมืองเว (อำเภอเรณูนคร) ผู้ไทกะปองหรือผู้ไทกะป๋อง (อำเภอ วาริชภูมิ) ผู้ไทกะตาก (บ้านโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) และผู้ไทกระแตบ (ตำบลกุดหว้า อำเภอ กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์) ผู้ไทวัง (อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร) เป็นต้น ดังตัวอย่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทที่จะกล่าวต่อไปนี้

ผู้ไทเรณูนคร (ผู้ไทเมืองเวเรณู)

ชาวผู้ไทเรณูนคร เดิมอาศัยอยู่ที่เมืองแถง เมืองไล ปัจจุบันคือเดียนเบียนฟู ตามพงศาวดารล้านช้างเรียกว่า เมืองนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาท้าวก่าผู้นำกลุ่มภูไทเกิดขัดแย้งกับเจ้าเมืองจึงชักชวนผู้คนมาอยู่เมืองวังใต้เขตปกครองของเวียงจันทน์ แต่เมืองวังนั้นมีชาวข่าอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ท้าวก่าได้ใช้ความฉลาดในการปราบชาวข่าให้เชื่อฟัง เจ้าอนุรุทกุมารหรือเจ้าอนุวงศ์จึงแต่งตั้งให้ท้าวก่าปกครองเมืองวังพร้อมทั้งมอบสนมชื่อนางลาวให้ด้วย เวลาผ่านไปมีชาวฮ่อมารุกรานเผาบ้านเผาเมืองทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่เมืองวังได้ ท้าวเพชร ท้าวสายจึงต้องพาชาวบ้านทิ้งบ้านเรือนอพยพข้ามฝั่งโขงมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร แต่สภาพภูมิประเทศที่เลือกตั้งบ้านเรือนนั้นเป็นที่โล่งเตียนไม่เหมาะกับวิถีที่ชอบอาศัยตามป่าเขา ประกอบกับลูกหลานเกิดเจ็บไข้ล้มป่วยและความคิดถึงบ้านเมืองเก่า จึงชักชวนกันกลับเมืองวัง ระหว่างที่เดินทางกลับได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านจึงถามไถ่และแนะนำให้ไปลงหลักปักฐานทางบ้านดงหวาย แล้วจึงตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ว่า เมืองเว มีความหมายว่า วกวนไปมา อันเป็นที่ตั้งของอำเภอเรณูนครปัจจุบัน ภายหลังรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จเยือนเมืองนี้และได้พระราชทานนามใหม่ว่า เรณูนคร ดังบทแหล่ ประวัติผู้ไทเรณูนคร ตอนที่ 1 ถิ่นฐานเดิมผู้ไทย ประวัติผู้ไทยเรณูนคร ตอนที่ 2 การอพยพของชาวผู้ไทย และประวัติผู้ไทยเรณูนคร ตอนที่ 3 เรณูนครปัจจุบัน ตามลำดับ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความว่า

“...ประวัติเก่าแก่มีแต่นมนาน เพื่อให้ลูกหลานทราบความเป็นมา ...เจดีย์งดงาม อร่ามวัดวา บ้านเรือนงามตา สมถิ่นผู้ไทย ถิ่นฐานดั้งเดิมแรกเริ่มพงศ์เผ่า บรรพบุรุษของเฮาก่อนอยู่ที่ไหน...ว่าโอ้โอ เรณูนครดินดอนเวียงไพร ประวัติกล่าวไว้เมื่อหลายร้อยปี เดิมตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองก่อนนี้ อาศัยอยู่ที่สิบสองจุไท ดินแดนกว้างขวาง ข้างเหนือจรดจีน ตะวันออกจรดถิ่นตังเกี๋ยแดนไกล ผู้ไทยเฮาอยู่เมืองแถงเมืองไล ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นเดียนเบียนฟู...พงศาวดารว่าล้านช้างอ้างมา เรียกเมืองนี้ว่า เมืองน้ำน้อยอ้อยหนู ตอนนั้นท้าวก่า เป็นหัวหน้าหมู่ ขัดแย้งกับผู้เป็นเจ้าเมืองนี้ จึงอพยพผู้คนมากมาย กระจัดกระจายไปทุกถิ่นที่ เวียงจันทน์ เชียงขวาง หลวงพระบางก็มี ท้าวก่าพาน้องพี่ อยู่ที่เมืองวัง เมืองวังอยู่ในอาณาเขตเวียงจันทน์ เจ้าอนุรุทกุมารจึงได้แต่งตั้ง ให้ท้าวก่า เป็นพระยาเมืองวัง พร้อมประทานนาง สนมชื่อนางลาว ตอบแทนความดีที่ช่วยปราบปราม พวกข่าเสี้ยนหนาม สวามิภักดิ์คุกเข่า นี่คือต้นตอบรรพบุรุษของเฮา สืบต่อพงศ์เผ่ามาหลายชั่วคน...เออ...เอย” (วันชัย ทองธรรมชาติ, 2559)

“...ผู้ไทยเฮาต้องทิ้งถิ่นเมืองวัง ถูกฮ่อโจมตี ราวีอีกครั้ง เผาเมืองภินท์พัง สุดจะต้านทาน ตอนนั้นพระยาเตโชเจ้าเมือง ถือดาบเล่มเขื่องปกป้องลูกหลาน ไม่เกรงศัตรูต่อสู้ฟาดฟัน ชีวิตไม่หวั่นแม้จะลาลับ ท่านสู้ไม่ถอย น้ำน้อยแพ้ไฟ สุดท้ายแพ้พ่าย ถูกพวกฮ่อจับ มัดใส่แคร่หามคุมขังบังคับ ถูกนำตัวกลับเมืองฮ่อทรมาน ท่านได้ร้องสั่ง พี่น้องลูกหลาน อย่าอยู่เมืองวัง จงข้ามฝั่งโขงธาร ไปสร้างเมืองบ้าน ฝั่งขวาแดนไทย ท้าวเพชร ท้าวสาย ได้เป็นหัวหน้า ได้นำพาอพยพครั้งใหญ่ หอบลูกจูงหลานซมซานหนีภัย หาแผ่นดินใหม่สร้างบ้านแปงเมือง ข้ามเขาโขดเขิน ลงเนินข้ามห้วย บ้างก็ล้มป่วย ไข้ป่าผอมเหลือง สุดแสนลำบาก อดอยากนับเนื่อง คิดยิ่งแค้นเคืองพวกฮ่อนักหนา บ้างก็ท้องแก่ยักแย่ยักยัน อุ้มท้องอุ้มครรภ์คลอดลูกกลางป่า ต่อแพล่องน้ำ ข้ามโขงฝั่งขวา เดินทางมุ่งหน้าสู่สกลนคร...สร้างหลักปักฐานอยู่หนองหานก่อน ไม่ต้องเร่ร่อนอีกแล้วผู้ไทย...ครั้นสร้างบ้านเรือนสี่ห้าเดือนกว่า ต้องสบปัญหาลูกหลานป่วยไข้ เคยอยู่ดงหนา ป่ามืดพงไพร ต้องมาอาศัยทุ่งกว้างโล่งเตียน ผิดน้ำผิดลม ล้มไข้ได้ป่วย ทุกข์ซ้ำกรรมซวย ดินฟ้าแปรเปลี่ยน เห็นต้องหวนกลับเมืองวังวนเวียน ขืนอยู่มอดเมี้ยนเผ่าพันธุ์ผู้ไทย จึงอพยพครอบครัวอีกครั้ง คืนสู่เมืองวังถิ่นเดิมพงไพร...ระหว่างทางที่โพธิ์สามต้น ก่อนพาฝูงชนข้ามโขงคืนสู่ ท้าวเพชร ท้าวสาย ได้พบญาคู ท่านพำนักอยู่ที่พระธาตุพนม ชื่อภิกขุทา ท่านได้ถามไถ่ ทราบความเป็นไปถึงความขื่นขม จะกลับเมืองวัง ขอให้เลิกล้ม พื้นที่เหมาะสมยังมีมากมาย...ก่อนจะมาเป็นเรณูผู้ไทย ปู่ย่าตายายลำบากเหลือเกิน...” (วันชัย ทองธรรมชาติ, 2559)

“โอ่เด้ เพอว้า เมิงเวฮ้าง เยอะจูงแหนเพิ่งไปเบิ่ง ฮ้างจั่งใด๋ ป่าไผ่ยังโซ้ยโล้ย ป่าโก้ยยังซ้ายล่าย สิไปฮ้างบ่อนเลอน้อ...ท่านหลวงพ่อเมตตาซ่อยเหลือ ทางด้านเหนือมีป่าใหญ่กว้าง ให้ครวญช้างบักเอกพาไป ป่าดงหวาย บ่อแกไหลผ่าน เป็นสถานดินดำน้ำซุ่ม แยกสามกลุ่ม สร้างบ้านสร้างครัว บ้านห้วยหัวขัว และบ้านหนองจันทร์ อีกแห่งนั้นคือบ้านดงหวายสายบ่อแก พากันแปงสร้าง เป็นที่ตั้งอำเภอเรณู คือที่อยู่ เฮาซูมื้อนี้ ต่อมามีคนอพยพ มาสมทบสร้างบ้านสร้างเมือง จนได้ฮุ่งเฮือง เป็นเมืองสร้างใหม่...ถิ่นสาวสวย เรณูผู้ไทย กินเหล้าไห ดูดอุ สุขี ประเพณีวัฒนธรรม งามเลิศล้ำ ฟ้อนรำผู้ไทย การแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ คนฮู้จัก อยากเบิ่งอยากเห็น มีความโดดเด่นต้องตาต้องใจ เว้าผู้ไทย น้องไปสิเลอ แมงกะเบ้อ บินมาจับโห น้องมีโผ อ้ายเสเจอเด้ เยอะมีเม อีเม๊ะอีโพ๊ะ เพอขี้โต๊ะ เห๋อไปโลงเลน ไปจับเอน เซอเส้อแหนยาว แอ่นผุสาว หื้นเฮินมิได้ อย่าสะล้ายคันเจ้ามิมัก...” (วันชัย ทองธรรมชาติ, 2559)

ผู้ไทกะป๋อง

ชาวผู้ไทกลุ่มนี้อพยพมาจากเมือง “กาปอง” หรือที่เรียกกันว่า “ผู้ไทสายน้ำกะป๋อง” อยู่บริเวณเมืองตะโปนหรือเมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว เมื่ออพยพมาอยู่ที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร จึงเรียกตนเองให้แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นตามเมืองเดิมที่เคยจากมาและออกเสียงให้แตกต่างจากเดิมเป็น “ผู้ไทกะป๋อง” (สุทธิดา จันทร์ดวง, 2561) คนผู้ไทวาริชภูมิต่างยืนยันว่าพวกตนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ “ผู้ไทกะป๋อง” คำว่า “กะป๋อง” หมายถึง สมอง หรือ ฉลาดมีสติปัญญา เช่น คำว่า “กะป๋องโห” หมายถึง กะโหลกศีรษะ ส่วนการขยายตัวของชุมชนผู้ไทกะป๋องนั้น เล่ากันว่า ประมาณ พ.ศ. 2440 เย็นวันหนึ่งในฤดูแล้งชาวบ้านก่อไฟหุงหาอาหารและเผาเม็ดขนุน เม็ดขนุนที่ถูกความร้อนได้แตกกระจายเป็นสะเก็ดไฟลามติดหลังคาหญ้าคาประกอบกับมีลมพัด ทำให้ไฟลุกลามเผาบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวผู้ไทกะป๋องต้องไปตั้งครัวเรือนใหม่ที่บ้านธาตุ บ้านกุดพร้าว บ้านดงเชียงเครือ บ้านโนนอุดม และบ้านไฮ่ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันกระจายตัวไปตามเส้นทางคมนาคมเริ่มจากถนนจากอำเภอพังโคนมุ่งหน้าสู่อำเภอวาริชภูมิ (สพสันติ์ เพชรคำ, 2556)

ผู้ไทกะตาก

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, วิศักดิ์ แก้วศิริ, อุทัย อภิวาทนสิริ และ จรัส รมวาศรี (2544) ทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาโครงสร้างชุมชนชาติพันธุ์ผู้ไทย บ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร” โดยสัมภาษณ์ผู้อาวุโสบ้านโนนหอมถึงประวัติความเป็นมาของชุมชน พบว่า เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ชาวผู้ไทได้อพยพมาจากบ้านกะตาก เมืองภูวานากระแด้ง ประเทศลาว อพยพข้ามแม่น้ำโขงลัดเลาะตามแนวเทือกเขาภูพาน มายังหนองน้ำใหญ่คือหนองหาน บรรพบุรุษของพวกเขาได้บ้านเรือนกระจายอยู่ตามทุ่งนาริมป่าบุ่งป่าทาม มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่ ทุ่งนาพ่อซม ทุ่งนาโพ วังจันทบ นาตาหลุบ และฮ่องขี้ควาย บริเวณทั้งห้า แห่งนี้มีบ้านเรือนตั้งอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่มากจึงได้ขยับขยายขึ้นมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งก็คือบ้านโนนหอมในปัจจุบัน ตปกกสิณ ชาทิพฮด (2562) ได้สัมภาษณ์ชาวผู้ไทบ้านโนนหอมถึงที่มาของคำว่า “กะตาก” พบว่า นอกจากการอพยพมาจากบ้านกะตาก เมืองภูวานากระแด้ง แล้ว “กะตาก” ยังมาจากลักษณะการพูดคุยกันเสียงดัง เหมือนเสียงไก่กะต๊าก ทำให้คนอื่นที่ได้ยินมักเข้าใจผิดคิดว่าชาวผู้ไทบ้านโนนหอมชอบทะเลาะกัน หากความจริงแล้วนี่คือลักษณะเฉพาะตัวของชาวผู้ไทบ้านโนนหอมและผู้ไทกะตากที่อื่น ๆ

ข้อมูลข้างต้นได้ฉายภาพให้เห็นความเลื่อนไหลของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทว่ามีความหลากหลายของแหล่งที่มาถิ่นฐานดั้งเดิม ถึงแม้ว่าชนกลุ่มนี้เคยอาศัยอยู่สิบสองจุไทและมีรากทางวัฒนธรรมร่วมกันคือกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะไดแต่ก็ประกอบด้วยหลายกลุ่มย่อย เมื่อมีเหตุให้ต้องโยกย้ายถิ่นฐานรอนแรมกระจัดกระจาย จนบางส่วนได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยหลายสาเหตุ ทั้งภัยสงคราม การเมือง และการหาแหล่งทำมาหากิน ชนกลุ่มนี้มีภาษาพูด ประเพณี วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะสร้างและธำรงอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนไว้ด้วยเช่นกัน ดังเห็นได้จากการนิยามตัวตนและการฟื้นความทรงจำให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองผ่านบทเพลงในแบบฉบับเฉพาะของตน เช่น เพลงลำภูไท ปูมเมิงเก่าเว้าเลิ่งเมิงวาลิด การแหล่ ประวัติภูไท เพลงคึดฮอดเซโปน และลำผู้ไทตำนานเมิงหนองสูง ส่วนคำเรียกแทนตนเองนั้น ชาวภูไท เรียกแทนตัวเองว่า “ภูไท” บางกลุ่มเรียกแทนตนเองว่า “ผู้ไท” ตามทัศนะของจุฬา ศรีบุตตะ (2561) ลูกหลานชาวภูไท ให้ความเห็นว่า คำว่า “ผู้” หรือ “พู้” เป็นสำเนียงออกเสียงคำพูดของคนภูไท นอกจากการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์แล้วสำเนียงภาษาภูไทที่อาจแตกต่างกันบ้างตามถิ่นฐานยังมีความงดงาม อ่อนหวาน ไพเราะอีกด้วย สะท้อนผ่านคำพูดของลูกหลานชาวภูไทคำตากล้าคนหนึ่งที่ว่า “หนูรู้สึกว่าภูไททุกคนจะภูมิใจในสำเนียงของตนเอง” (รัชนียากร คำยอด, 2563)

ชาวผู้ไทได้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่างๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดยโสธร ทั้งนี้ ชาวผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์มีจำนวนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอเขาวง และอำเภอสมเด็จ ส่วนที่จังหวัดสกลนคร มีประชากรที่เป็นชาวผู้ไทอาศัยอยู่มากที่สุดในอำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิและอำเภอวานรนิวาส ส่วนที่อำเภอเมืองมีเฉพาะเขตพื้นที่ติดต่อกับอำเภอพรรณานิคม และเขตแดนติดจังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนมเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประชากรชาวผู้ไทอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะที่อำเภอเรณูนคร อำเภอธาตุพนม อำเภอนาหว้า อำเภอนาแกและอำเภอศรีสงคราม ส่วนจังหวัดมุกดาหาร ประชากรชาวผู้ไทอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเขตอำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี อำเภอดงหลวงและอำเภอดอนตาล การตั้งถิ่นฐานของชาวผู้ไทมักจะอยู่บนพื้นที่ราบสูงบริเวณเทือกเขาภูพาน มีบางส่วนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ เช่น หนองหาร แม่น้ำสงคราม ลำน้ำยาม ลำน้ำอูน ลำน้ำก่ำ (ลักษณากร สัตถาผล, 2550; เจษฎ์ศิริ เถื่อนมูลละ, 2553; เบญญาดา เพิ่มพูน 2553; พงษ์เกษม สิงห์รุ่งเรือง, 2553; พงค์ธร พันธุ์ผาด, 2554; ทศพล คำตันบุญ, 2557)

การดำรงชีพ

กรณีของชาวผู้ไทบ้านโคกโก่ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านเชิงเขาทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากมีภูเขาและป่าไม้ล้อมรอบเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ โดยเฉพาะลำห้วยแดงที่มีต้นกำเนิดจากภูเขาในพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติภูผาวัวไหลผ่านบ้านขุมขี้ยางและบ้านโคกโก่ง ลำห้วยแดงเปรียบเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีลำธารเล็กๆ ที่ไหลเลาะลงมาจากภูมะตูม ภูถ้ำเม่นและภูผางัว ผ่านโตรกหินจนก่อให้เกิดน้ำตกตาดยาวและน้ำตกตาดสูง แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของหมู่บ้าน ก่อนจะไหลผ่านหมู่บ้านออกสู่ทุ่งนา การมีภูเขาล้อมรอบทำให้หมู่บ้านมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้เป็นแหล่งอาหารสำคัญ ชาวบ้านจะเข้าเก็บของป่า เช่น หน่อไม้ ผักหวาน ผักติ้ว ดอกกระเจียว ยอดหวาย แมลงและเห็ดชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง สัตว์ป่าจำพวก นก หนู กระต่ายป่า เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบอาหารหรือหากเหลือจะนำไปขายในตลาด (เจษฎ์ศิริ เถื่อนมูลละ, 2553)

ส่วนชาวผู้ไทเรณูนครจะประกอบอาชีพมีอาชีพเกษตรกรรม งานฝีมือ และค้าขายเป็นหลัก ในอดีต ฝ่ายหญิงจะทอผ้า เย็บปักถักร้อย ส่วนฝ่ายชายจะทำการค้า โดยเป็นพ่อค้านำสินค้าไปขายยังต่างเมือง ซึ่งในสมัยก่อนจะมี “นายฮ้อย” นำฝูงคาราวานวัวและควายไปขายยังกรุงเทพมหานคร และบางคณะจะนำฝั่งคาราวานควายไปขายยังต่างแดน ดังนั้น จึงได้พบเห็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองอื่นๆอยู่เสมอพร้อมกับได้แลกเปลี่ยนสินค้ากลับเข้ามาสู่หมู่บ้าน ปัจจุบันชาวผู้ไท นอกจากมีรายได้จากภาคเกษตร ยังมีรายได้เสริมจากการทอผ้า การทำเครื่องจักสาน ทำขนม ค้าขาย และจากกิจกรรมอื่นๆ จากการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน และเงินงบประมาณสนับสนุนจากทางภาครัฐบาลให้มาลงทุน ทำใหม่โครงการต่างๆ ในชุมชนเกิดขึ้น เกิดการรวมกลุ่มกันทำสินค้าอุปโภคบริโภคออกมาจำหน่าย ทำให้เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง (สิริยาพร สาลีพันธ์, 2554)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ชาวผู้ไทแต่เดิมนับถือผีหรือวิญญาณบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยที่อยู่ในเดียนเบียนฟู ถือว่าเป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่งในการดลบันดาลให้การดำรงวิถีชีวิตมีความสงบสุขเมื่อมีการกระทำการให้ผีที่สถิตอยู่ในที่ดังกล่าวไม่พอใจ จะทำให้มีการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุได้ ต้องมีการขอขมาผีและวิญญาณ นอกจากนี้แล้วเมื่อมีการใดที่ปรารถนา ก็จะขออธิษฐานจากผีและวิญญาณให้ช่วยในสิ่งที่ตนต้องการ เมื่อได้สมดังคำอธิษฐานแล้วกจะมีการแก้บนเลี้ยงผีแม้จะมีการนับถือศาสนาพุทธยังควบคู่กับการนับถือผี มีพิธีกรรมต่างๆ ที่ได้สืบทอด สั่งสมกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ต้องอัญเชิญผีสางเทวดามาร่วมเสมอ (สิริยาพร สาลีพันธ์,2554) ชาวผู้ไทมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือภูติ ผี บรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามธรรมชาติ ได้แก่

ผีแถน ตามคติความเชื่อนั้น มีสถานะภาพเป็นเทวดา สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆแก่ผู้คนได้ ทั้งสิ่งที่ร้ายและดี หรือเรียกว่าให้ทั้งคุณและให้ทั้งโทษ ดังนั้นต้องไม่ทำให้แถนโกรธ หากใครที่เซ่นสรวงแถนก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีหรือได้รับการอวยพรจากแถน มีความเชื่อในหมู่คนที่นับถือแถนว่าเหตุที่เกิดเภทภัยเจ็บไข้ได้ป่วย
น้ำท่วม ฝนแล้งนาล่มหรือพืชพันธุ์ธัญญาหารเหี่ยวแห้ง เป็นสิ่งที่เกิดมาจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของแถนหรือของผีสางเทวดาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องเซ่นไหว้บวงสรวงผีแถน ทุกครั้งที่มีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกฤดูกาลจะเกิดแต่ความสุขไปทั่ว ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็หาย ข้าวกล้าในนาก็อุดมสมบูรณ์ดี อาจกล่าวได้ว่าผีแถนหรือแถนเป็นเทวดาหรือเทพแห่งเกษตรกรรมและเทพแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย เพียงแต่แถนในความหมายของคนเผ่าผู้ไทจะกว้างขวางและครอบคลุมทุกวิถีชีวิต (เกรียงไกร หัวบุญศาล, 2554)

ผีบรรพบุรุษ บนเรือนของคนผู้ไทจะทำหิ้ง (ภาษาผู้ไทเรียกว่าฮ้าน) คือที่สถิตของผีเรือนและ
ผีบรรพบุรุษ ซึ่งผีบรรพบุรุษก็คือผีของพี่ปู่ย่าตายาย เป็นผีที่ปกป้องคุ้มครองลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข การสักการบูชาจะมีการบูชาทุกวันเพ็ญทั้งวันขึ้นวันแรม เช่น 8 ค่ำ 14 หรือ 15 ค่ำ
(เกรียงไกร หัวบุญศาล, 2554)

ผีเรือน เป็นผีที่ปกป้องคุ้มครองบ้านเรือนให้อยู่เย็นเป็นสุข จะมีห้องผีเรือนหรือหิ้งผีเรือน ซึ่งผีวิญญาณบรรพบุรุษก็จะถูกเชิญมาไว้ด้วยกัน (เกรียงไกร หัวบุญศาล, 2554)

ผีประจำหมู่บ้าน จะปลูกศาลให้อยู่เพื่อให้คุ้มครองคนในหมู่บ้าน มีกาะทำบุญเซ่นไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านในทุกปีของแต่ละหมู่บ้าน และอาจเรียกว่าศาลเจ้าปู่หรือศาลปู่ตาตามแต่หมู่บ้านนั้นจะเรียก
(เกรียงไกร หัวบุญศาล, 2554)

ผีนาหรือผีตาแหะ(ผีตาแฮก) ในสำเนียงภาษาผู้ไทเรียกว่าผีตาแหะ เป็นผีที่อยู่ตามทุ่งนาเพื่อคุ้มครองไร่นาให้กับคนผู้ไท จะเริ่มทำพิธีกรรมเซ่นผีนาหรือผีตาแหะในต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ทั้งนี้อยู่ที่ว่าฤดูฝนจะมาช้าหรือเร็ว โดยจะเซ่นผีนาหรือผีตาแหะจำทำก่อนจะทำการไถคราด พิธีเซ่นก็ทำอย่างง่าย ๆ คือ นำข้าวปลาอาหารใส่กระทง(ซึ่งทำด้วยกาบกล้วยสด) รวมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน พิธีนี้เรียกว่า เลี้ยงผีตาแฮก หรือเลี้ยงผีครั้งแรก การเลี้ยงผีนาหรือผีตาแหะเสร็จแล้วจึงจะเข้าสูงการแหะนา การแหะนานี้จะไถนาทั้งแปลหรือไถพอเป็นพิธีก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการ (เกรียงไกร หัวบุญศาล, 2554)

ผีมเหสักข์ เป็นความเชื่อหนึ่งของคนผู้ไท โดยเฉพาะของผู้ไทพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร โดยจะเรียกว่าผีเจ้าปู่ บางคนเรียกเจ้าหาญแดง การเซ่นหรือพีฑะบูชาจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 19 ค่ำ เดือน 4 โดยนำข้าวปลาอาหารอย่างพวกอาหารคาวที่มีเลือด จัดทั้งหมด 8 สำรับ ไปถวายพร้อมกับเหล้า โดยมีผู้ทำพิธีกรรมที่เริ่มด้วยพิธีกร คือ จ้ำ หรือกวานจ้ำ (เกรียงไกร หัวบุญศาล, 2554)

การบูชาพระพุทธบาท มีเรื่องปรากฏในอรรถกถาปุณวาทสูตรว่า ในครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปแสดงธรรมในภพนาคก่อนเสด็จกลับภพโลก พญานาคได้ทูลขอให้พรพะองค์ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำมหานที รอยพระบาทที่พระองค์ประทับรอยไว้นี้ ต่อมาได้เป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของเหล่าเทวดา มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย การไหลเรือไฟจึงเชื่อว่าทำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ แม่น้ำมหานที

วันพระเปิดโลก การประกอบพิธีถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์เทวโลกลงมาสู่มนุษย์โลกหลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาในปีที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรด พระพุทธมารดาเป็นการตอบแทนคุณพระมารดาจนกระทั้งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ครั้นถึงวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาพระองค์ก็เสด็จสู่เมืองมนุษย์ ทรงประทับยืนบนยอดเขาสิเนรุราช ทำโลกนิวรณ์ปาฏิหาริย์ ทำให้สวรรค์มนุษย์และนรกต่างมองเห็นกันและกัน เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” ในบางท้องถิ่นจะมีการทำปราสาทผึ้งแห่ร่วมกับการทำเรือไฟในวันนั้นด้วย

การขอขมารำลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา ชาวผู้ไทยังมีความเชื่อในการทำเรือไฟที่แตกต่างออกไปอีก หากแต่กล่าวโดยรวมแล้ว การไหลเรือไฟนี้มักผูกพันและเกี่ยวข้องกับไฟแทบทั้งนั้นรวมทั้งประเพณีอื่นๆ เช่น งานแห่เทียนเข้าพรรษา งานบุญบั้งไฟ การจุดไต้ จุดประทีปตามไฟ สิ่งเหล่านี้อาจจะสอดคล้องกับความเชื่อของคนอีสานที่มีความเชื่อว่า “ไฟจะเผาผลาญ มลายความชั่วร้าย และขจัดปัดเป่าความทุกข์ยาก ความทุกข์เข็นให้หนีพ้นไป”

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ชาวผู้ไท มีประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมคล้ายคลึงกับคนอีสานท้องถิ่น มีฮีตสิบสอง เป็นแกนหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้ (สิริยาพร สาลีพันธ์, 2554; หยกทิพย์ และในสิงห์, 2554)

1. เดือนอ้าย “บุญเข้ากรรม” เป็นการออกจากอาบัติประจำปีตามวิถีทางของพระสงฆ์เป็นเวลา 6 วัน ในระยะเวลาบุญเข้ากรรม ชาวบ้านจะจัดถวายอาหารน้ำปานะและเครื่องใช้ เพื่อให้การปฏิบัติบุญเข้ากรรมของพระสงฆ์ดำเนินไปได้ด้วยดี

2. เดือนยี่ “บุญคูลาน” เป็นการประกอบพิธีทำบุญเพื่อบูชาแม่โพสพทำบุญข้าวในลาน ก่อนที่จะขนข้าวขึ้นเล้าจะมีการละเล่นทำให้เกิดศิลปะการละเล่นฟ้อนรำที่สวยงาม เรียกว่า “ฟ้อนแถบลาน” การทำบุญนี้ต่างคนต่างทำในครอบครัวตามความสะดวก ไม่ได้ทำพร้อมกันทั้งชุมชน

“บุญกองข้าว” เป็นการทำบุญร่วมกันของชาวผู้ไททั้งหมู่บ้าน เพื่อหาทุนทรัพย์ทำนุบำรุงวัดและพระศาสนาโดยชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมาถวายวัด แล้วคณะกรรมการวัดจะนำข้าวเปลือกไปขาย นำเงินมาบำรุงวัดและพระพุทธศาสนา

3. เดือนสาม “บุญข้าวจี่” ชาวบ้านจะประชุมกันว่ากำหนดบุญข้าวจี่วันไหน แล้วจะตระเตรียมข้าวจี่ (ข้าวเหนียวสุกปั้นโรยเกลือทาไข่ แล้วย่าง) ไปตักบาตรถวายภัตตาหารต่อพระสงฆ์ อาหารหวานคาว สมาทานศีล ฟังเทศน์ รับพรเป็นอันเสร็จพิธี มีคำคมกล่าวล้อเลียนสามเณรเกี่ยวกับบุญข้าวจี่ว่า “เดือนสามค้อย เจ้าโหคอยปั้นข้าวจี่ ปั้นข้าวจี่มิเส่อน้ำอ้อยโจ๋น้อยเซ็ดน้ำตา”

4. เดือนสี่ “บุญเดือนสี่” หากเป็นที่เรณูนครการทำบุญสมโภชองค์พระธาตุเรณู มีในวันขึ้น 11 ค่ำ และ 15 ค่ำ มีการทำบุญตักบาตร จะมีมหรสพ เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้ไปทำบุญและพบปะสนทนากันมีการเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุเรณูในค่ำคืนขึ้น 15 ค่ำ

5. เดือนห้า “บุญสงกรานต์” จะมีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระองค์แสน สรงนาพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่อาวุโสประจำหมู่บ้าน และมีขบวนแห่นางสงกรานต์ในวันที่ 13 เมษายน ชาวบ้านจะหยุดทำงานมาสนุกสนานสรงน้ำซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นวันรวมญาติที่มีความหมายต่อครอบครัว

ทั้งนี้ การทำบุญวันสงกรานต์ คือ คืนก่อนวันเนา 3 วัน พระสงฆ์ในวัดได้นำพระพุทธรูป 5 องค์เล็ก ๆ มาตั้งบนลานกลางวัด รุ่งขึ้นเป็นวันเนา เวลาเย็น ชาวบ้านจะพากันเอาดอกไม้ น้ำอบ น้ำหอม ไปประพรมพระพุทธรูปในวันเนาถือกันไม่ให้ทำกิจใดๆ เว้นแต่การ ทำบุญ โดยถือว่าถ้าใครทำในวันนี้จะเป็นเสนียดจัญไร ในระหว่างตั้งแต่นี้ต่อไปถือว่าเป็นวันรื่นเริง มีการประชุมก่อพระเจดีย์ทราย หญิงสาว ชายหนุ่มตักน้ำรดสาดกัน และพากันไปเที่ยวกินข้าวป่า เก็บดอกไม้มาจากป่ามาถวายพระพุทธรูป ทุกๆ วัดยังมีทำบุญข้าวพันก้อน พวกชาวบ้านจัดการข้าวเหนียวของหวานใส่ถาด เอาด้ายดิบหรือไหมผูกเป็นสาแหรกหาม ให้ผู้หญิงหาม และมีพระสงฆ์นำหน้าไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ

6. เดือนหก “บุญบั้งไฟ และแห่บุญผเหวต (พระเวส)” ชาวบ้านจะจัดตรงกับวันวิสาขบูชาในพระพุทธศาสนา มีการแห่ต้นกัณฑ์ผเหวต แห่พราหมณ์ (ชูชก) แห่พระเวสสันดรเข้าเมือง แห่บั้งไฟ จัดบั้งไฟ ทำบุญตักบาตร

7. เดือนเจ็ด “บุญซำฮะ” บุญบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีบ้าน ผีเรือน เพื่อชำระจิตใจให้ผ่องใส

8. เดือนแปด “บุญเข้าพรรษา” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หล่อเทียนไปถวายวัดทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมตลอดเวลา 3 เดือน

9. เดือนเก้า “บุญข้าวประดับดิน” เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับจะจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร และนำข้าวปลาอาหารไปวางไว้ตามต้นไม้ โบสถ์ กำแพงวัด พื้นดินวัด จึงเรียกว่า บุญข้าวประดับดิน ถือว่าทำบุญให้เปรตที่ไม่มีญาติอุทิศส่วนกุศลให้ได้มารับส่วนบุญ

10. เดือนสิบ “บุญข้าวสาก” เป็นการทำบุญต่อเนื่องจากเดือนเก้า กำหนดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ แต่เป็นการทำบุญโดยถวายสลากภัตแด่พระสงฆ์ มีการเตรียมล่วงหน้าในการห่อข้าวต้ม ข้าวตอกคลุกน้ำตาล ใส่ถั่ว งา มะพร้าว

11. เดือนสิบเอ็ด “บุญออกพรรษา” เฉลิมฉลองการออกพรรษา มีการจัดไฟใต้ประทีปในวันขึ้น 13 -15 ค่ำ

ขณะที่ชาวผู้ไทบางพื้นที่อย่างที่จังหวัดนครพนมยังจัดงานบุญส่วงเฮือ หรืองานบุญพายเรือ เนื่องจาก“ส่วงเฮือ” เป็นคำที่สื่อลักษณะของการพายเรือที่ทุ่มเทพลังกายและพลังใจ ออกกำลังพายเรืออย่างสุดกำลัง ได้แก่การแข่งเรือยาว เรือที่ใช้สำหรับแข่งขันเป็นเรือชนิดขุดทำด้วยไม้ตะเคียนเป็นส่วนใหญ่มีหัวท้ายงอนสูง บรรจุระหว่าง 25 ถึง 55 ฝีพาย (สิริยาพร สาลีพันธ์, 2554)

เมื่อเข้าสู่เทศกาลแข่งเรือ ตามวัดต่างๆ จะต้องจัดหาเรือแข่งไว้ประจำอย่างน้อยที่สุด 1 ลำ โดยเฉพาะอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีการแข่งขันเรือยาว ตามลุ่มแม่น้ำโขงกันมาตั้งแต่โบราณ และในทุกๆ ปี คณะผู้จัดงาน ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันรับผิดชอบ และเชิญชวนคณะชาวเรือจากหมู่บ้าน อำเภอและจังหวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาร่วมการแข่งขัน

ในการร่วมแข่งนั้น นอกจากลูกพายของเรือแต่ละลำแล้ว ยังมีพระสงฆ์ ญาติพี่น้อง ลูกเล็ก เด็กแดงได้ติดตามเรือมาเพื่อให้กำลังใจอีกเป็นจำนวนมาก หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ถือธรรมเนียมปฏิบัติกันมาโดยตลอด หรือจะถือว่าเป็นประเพณีของชาวธาตุพนม คือ“ค่ำเฮือ” (การต้อนรับ) หรือบ้างเรียกว่า “ค่ำข้าว” หมายถึงเฉพาะหมู่บ้านคุ้มบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเท่านั้น ที่มีหน้าที่ต้อนรับ จัดเลี้ยงข้าวปลาอาหาร การให้ที่พักอาศัยอย่างอบอุ่นและพอเพียง

งานบุญส่วงเฮือ ตามคุ้มบ้านต่างๆ จะมีการประกวดบ้าน คือ การปลูกสร้างร้านค้า เครื่องดื่ม จำพวกเหล้าแดง เหล้าขาว เหล้าดองยา กับแกล้ม เป็นต้น สิ่งที่สำคัญจะประดับตกแต่งร้านค้าให้สวยงามสะดุดตาเป็นอย่างยิ่งพร้อมทั้งมีหนุ่มสาว แต่งกายสวยงามเรียบง่ายจับคู่คุยกันตามฮ้านของคุ้มต่างๆ อย่างประทับใจ

ส่วนประเภทเรือแข่งแบ่งออกเป็นประเภทชายและหญิง สำหรับเรือประเภทชายทุกลำ เมื่อได้เวลาแข่งขันจะต้องนำเรือเข้ามาร่วมแข่งในรอบพิเศษ เรียกว่า ตีช้างน้ำนอง เพื่อเป็นพุทธบูชาถวายแด่องค์พระธาตุพนมพญานาคเจ้าแม่คงคามหานที และยังมีเรืออีกประเภทหนึ่งเรียกว่า เรือเซิ้ง คือมีทั้งชายและหญิงแต่งกายงาม ร่วมกันขับร้องรำทำเพลง ลำผญาเกี้ยวพาราสีเป็นที่สนุกครื้นเครงกันตลอดทั้งวัน ทั้งนี้การไหลเรือไฟของชาวธาตุพนมจะทำกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจัดทำ กะโป๊ะ จำนวนมากเพื่อใช้ในการ“ลอยกะโปะ”

กะโป๊ะ ที่ใช้ลอยนั้น ทำมาจากกะลามะพร้าวครึ่งซีกเป็นภาชนะแทนเรือไฟบรรจุ “ขี้ไต้” หรือ “ขี้กบอง” คือการเอาขี้สูตร หรือ น้ำมัน ยางมาห่อด้วยใบตองให้เป็นแท่ง แล้วจุดด้วยไฟให้สว่าง เช่นเดียวกับเรือไฟขนาดใหญ่ แล้ว ปล่อยให้ไหลควบคู่ไปกับ “เฮือไฟ” เป็นบริวารหลายร้อยหลายพันดวง ดูแล้วระยิบระยับด้วยแสงไฟขนาดใหญ่ และเล็กทั่วไปตลอดแนวลำน้ำโขงนอกจากนั้นก็จะมีชาวบ้านตามคุ้มต่าง ๆ จะนำเรือและคณะล่องเรือขึ้นลงร่วมกันร้องรำทำเพลง “ลำเซิ้งเฮือไฟ” อย่างสนุกสนานครื้นเครงตลอดทั้งงาน

12. เดือนสิบสอง “บุญกฐิน” ถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุสงฆ์ก่อนหมดเขตรับอานิสงส์ พรรษาหลงวันปวารณาออกพรรษา

ประเพณีการต้อนรับ

พิธีบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีการต้อนรับของชาวภูไทเรณูนครถือปฏิบัติเป็นประเพณีการต้อนรับด้วยประกอบด้วยพานบายศรีเย็บด้วยใบตอง เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ดอกรักดอกดาวเรือง ด้ายผูกแขน ขนมข้าวสุก ไข่ไก่ต้ม ไก่ 1 ตัว เหล้า 1 ขวด ผู้ฟ้อนเชิญพาขวัญประมาณ 6 คน หมอสูตร ขวัญ 1 คน เป็นผู้ทำพิธีอันเชิญเทวดาด้วยบทร่ายสำเนียงเป็นภาษาท้องถิ่นเป็นการบอกกล่าวต่อเทพาอารักษ์ทั้งหลายให้ช่วยดูแล “ขวัญ” ที่หลงไปอยู่ตามที่ต่างๆ ให้กลับคืนมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ เมื่อเสร็จพิธีสู่ขวัญแล้วมีการมอบพาขวัญสูตรโดยเริ่มใช้ด้ายผูกแขนให้กับแขกผู้มาเยือน และให้ไข่ไก่ต้มสุกแล้วคนละฟองไว้กินเป็นสิริมงคล ส่วนผู้ที่จะเข้ามาผูกแขนผู้มาเยือนจนครบหมดทุกคนเป็นอันเสร็จพิธีบายศรีสู่ขวัญ (สิริยาพร สาลีพันธ์, 2554)

หลังจากนั้นจะเป็นการดูดอุ (การดูดเหล้าจากไหโดยใช้หลอด) เป็นรายการปิดท้ายประเพณีการต้อนรับในงานเลี้ยงพิธีการจะกล่าวเชิญชวนแขกที่มาเยือนด้วยการดุดอุที่เรียกว่า ขี่ช้างคู่ หรือขี่ช้างรอบเมือง ร่วมกับสาวผู้ฟ้อนภูไท ในอุ (ในไห) ใบเดียวกันแต่ใช้หลอดไม้ดูดคนละแบบ ผู้ชายใช้หลอดไม้ดูดจะสั้นกว่าฝ่ายหญิง มีกติกาคือห้ามเอาหน้าชนกัน และฝ่ายใดเอาปากออกจากหลอดก่อนก็จะเป็นฝ่ายแพ้


ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

สมัยก่อนนั้นชาวผู้ไทคลอดเองที่บ้านโดยมีหมอตำแยเป้นผู้ทำคลอดให้ และมีพิธีเกี่ยวกับการอยู่ไฟ หลังคลอด เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปประเพณีเกี่ยวกับการเกิดของชาวภูไทได้เปลี่ยนแปลงไปมาก พ่อแม่นิยมฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาลและคลอดที่โรงพยาบาล ทำให้การคลอดโดยธรรมชาติไม่มีให้พบเห็น เพราะการคลอดโดยธรรมชาติจะอันตรายมากกว่าการคลอดด้วยการแพทย์สมัยใหม่ ยังคงเหลือเพียงการอยู่ไฟหลังจากทำคลอดแล้วเท่านั้น หลังจากที่แม่คลอดลูกและกลับมาจากโรงพยาบาล ทางครอบครัวและชาวบ้านใกล้เคียงจะมาช่วยกันทำตูบสำหรับให้แม่อยู่ไฟ จากนั้น ญาติพี่น้องจะเชิญหมอปล่องมาทำพิธีไล่ผีบริเวณตูบนั้น มีการล้อมสายสิญจน์และให้สวมคอแม่ด้วย ส่วนเด็กจะวางอยู่ด้านข้างแม่ พร้อมกับมีเข็มและหนังสือวางอยู่ข้างล่าง เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กเป็นคนฉลาดหลักแหลมและขยันขันแข็ง หลังจากนั้นจะมีพิธีผูกข้อมือเพื่ออวยพรให้กับเด็ก ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่จัดยาสมุนไพรให้กับแม่ของเด็กคือ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีประสบการณ์ในการอยู่ไฟมาก่อน ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดยังคงเหลือเพียงการผูกข้อมือหลังจากอยู่ไฟเสร็จแล้วเท่านั้น ไม่พบว่ามีการนำเด็กใส่กระด้งแล้วนำอุปกรณ์ต่างๆ มาทำพิธีเหมือนสมัยก่อน(เจษฎ์ศิริ เถื่อนมูลละ, 2553)

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

การแต่งงานของชาวภูไท สมัยก่อนจะนับถือฝ่ายชายเป็นใหญ่และแต่งลูกสะใภ้เข้าบ้าน แต่ปัจจุบันนิยมแต่งลูกเขยเข้าบ้านด้วยเช่นกัน ขั้นแรกจะมีการสู่ขอโดยฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมาพูดทาบทาม เมื่อตกลงกันแล้วจะมีการ “ปะซู” หรือการแต่งงานโดยการเข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญ จากนั้นเจ้าบ่าวจะแห่ขันหมากมาที่บ้านเจ้าสาว เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว เพื่อนเจ้าสาวจะจูงเขยขึ้นบ้าน ระหว่างทางจะมีผู้ที่ทำหน้าที่กั้นประตูเงินประตูทองก่อนขึ้นบ้าน เมื่อถึงพิธีการปะซูจะมีการสู่ขวัญอีกครั้ง จากนั้นมีการป้อนไข่ระหว่างเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ส่วนพ่อแม่ญาติ พี่น้องจะร่วมผูกแขนคู่บ่าวสาวและส่งตัวเข้าเรือนหอ ในตอนเย็นจะมีการกินเลี้ยงฉลองตามประเพณี ถือเป็นอันเสร็จพิธีในตอนเย็น(อัมพร นันนวล, 2552)

วันรุ่งขึ้น คู่บ่าวสาวจะนำเครื่องสมมาไปขอขมาลาโทษผู้ใหญ่ที่นับถือ พร้อมทั้งกล่าวฝากเนื้อฝากตัวเป็นสะใภ้หรือเขยเหมือนกัน การสมมา ฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมเครื่องสมมาพ่อแม่และญาติของฝ่ายชาย โดยเริ่มทำการสมมาพ่อแม่และญาติของฝ่ายชายเรียงตามลำดับความอาวุโส หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปสมมาผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านครบทุกหลังคาเรือน ธรรมเนียมในการสมมาของพิธีปะซูสะท้อนให้เห็นข้อปฏิบัติที่ดีจากบุคคลหลายหลายครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การครองเรือนและการปฏิบัติตนให้อยู่ในทางที่ถูกที่ควรและอยู่ในกรอบของสังคม (เจษฎ์ศิริ เถื่อนมูลละ, 2553)

ความตาย และการทำศพ

เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน เจ้าของบ้านจะบอกกับเพื่อนบ้านเพื่อให้มาช่วยเหลืองานศพ กิจกรรมทุกอย่างในหมู่บ้านจะต้องหยุดลงทันที ชาวภูไทมีความเชื่อว่า ห้ามนำฟืนสำหรับเผาศพเข้ามาในบ้าน เพราะจะไม่เป็นมงคลต่อครอบครัว เปรียบเสมือนนำฟืนมาเผาคนในบ้านให้ตายตาม การจัดงานศพ ฝ่ายชายจะมีหน้าที่ทำโลงศพ โดยการสั่งซื้อแล้วนำมาประกอบเอาเอง ฝ่ายหญิงจะช่วยกันตระเตรียมอาหารสำหรับผู้ที่มาช่วยงานเป็นการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อทำงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะมีพิธีอาบน้ำศพและแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม ถ้าผู้ตายเป็นผู้ใหญ่บ้านจะนำชุดผู้ใหญ่บ้านมาสวมใส่ให้ หรือถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะแต่งตามสากลนิยม เป็นต้น หลังจากนั้น จะนำสายสิญจน์มาผูกศพ โดยมีหมอพื้นบ้านผู้เชี่ยวชาญเรื่องศพเป็นผู้ทำพิธี ช่วงเวลาดังกล่าว ญาติจะนำอาหารมาให้ผู้ตายกินตลอด เมื่อเสร็จจากการทำพิธีสงฆ์แล้ว จะนำศพไปป่าช้า หรือสถานที่ที่ผู้ตายต้องการเผา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของลูกหลาน พอวันรุ่งขึ้นจะมีการทำพิธีเลี้ยงพระเป็นอันเสร็จพิธี (เจษฎ์ศิริ เถื่อนมูลละ, 2553)


การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

เลี้ยงผีตาแฮก

ก่อนทำนาชาวนา ต้องทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮกก่อน โดยเตรียมไก่ต้ม ข้าวเหนียว หมากพลูสองคำ ยาสูบสองมวน น้ำหนึ่งขวดเล็ก ไปเลี้ยงผีตาแฮกด้วยการจ้ำแห่และอธิษฐานให้ฝนฟ้าดี ข้าวนาอุดมสมบูรณ์ อยู่เย็นเป็นสุข หลังจากนั้นท าการแฮกนา ชาวบ้านเตรียมไถลงแฮกนา แล้วจึงทำการปักกก แฮกหรือพิธีแฮกนาปักดำ ซึ่งการปักดำวันแรกจะต้องเลือกวันดี (วันฟู) ไปถอนกล้ามา (ปลูกกล้าประมาณเดือนห้าถึงเดือนหก) และปักดำ (ช่วงดำนาตรงกับเดือนหกเดือนเจ็ด) เจ็ดต้น เป็นวงในที่นาตรงมุมคันนาที่ปู่ย่าตายายเคยปักไว้ นำไม้มาปักกันไว้รอบๆ ไม่ให้วัว ควายมากิน เรียกว่า “นาตาแฮก” คือ นาที่ลงมือทำทีแรกแล้วอธิษฐานบอกกล่าวให้น้ำอุดมสมบูรณ์ ต้นข้าวเจริญงอกงาม ไม่ให้มีแมลงและโรงภัยมาเบียดเบียน แล้วทำพิธี เลี้ยงผีตาแฮกอีกครั้งเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เป็นการขอบคุณผีตาแฮกที่ให้ข้าวอุดมสมบูรณ์แก่ชาวนา (สมใจ ดำรงสกุล, 2542)

พิธีเลี้ยงผีปู่ตา

ผีปู่ตา หรือผีบรรพบุรุษ เป็นผีรักษาหมู่บ้าน ดูแลความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านไม่ให้ข่มแหงรังแกเอาเปรียบกัน หากมีการทำกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านก็จะมีการบอกเล่าผีปู่ตาเสมอ เช่น ทำบุญหมู่บ้าน ลูกสาวแต่งงานแยกเรือน รับเขยเข้าบ้านประเพณีเลี้ยงศาลปู่ตานี้จะต้องมาร่วมกระทำทั้งหมู่บ้าน

ในแต่ละชุมชนจะมีการตั้งศาลให้ปู่ตาบริเวณพื้นที่สูงกว่าชุมชน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า จึงเรียกว่า “ดอนศาลปู่ตา” การเลี้ยงผีปู่ตา จะจัดขึ้นในช่วงเดือนหกของทุกปี โดยมี “เฒ่าจ้ำ” ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารระหว่างผีกับมนุษย์ รวมถึงการดูแลพื้นที่ศาลปู่ตา ประกอบพิธีกรรม เฒ่าจ้ำจึงเปรียบเสมือนทหารคนสนิทของปู้ตา ลูกหลานกระทำผิดหรือมีเหตุให้ไม่พึงพอใจ จะถ่ายทอดความต้องการผ่านเฒ่าจ้ำไปยังบุคคลที่กระทำความผิด

พิธีเลี้ยงปู่ตาจะมีเครื่องสังเวย เช่น เหล้าไห (ภูไทเรียกช้าง) เหล้าขาว (ภูไทเรียกม้า) พวงมาลัยดอกจำปา (จำปาเป็นสัญลักษณ์เมืองลาว) อาหารคาวหวาน พร้อมเสพกล่อมด้วยเสียงดนตรีภูไท (เล่นผสมโรงกันระหว่างปี่แคนซอกระบั้ง) เชื่อว่าดนตรีจะเป็นเครื่องเสพกล่อมให้ปู่ตา ให้บรรพบุรุษภูไทผู้ล่วงลับแล้วมารวมกันที่ปู่ตา ให้ปู่ตามีความสุขจากเสียงเพลงที่ลูกหลานภูไท เป็นผู้ขับกล่อมเจ้าปู่ ขอให้เจ้าปู่คุ้มครองลูกหลานให้พ้นภัยอันตรายทั้งปวง (พงค์ธร พันธุ์ผาด, 2554)

เจ้าปู่ถลา ผีมเหศกดิ์ ของชาวผู้ไทเรณูนคร

เจ้าปู่ถลา คือ ผีหรือวิญญาณบรรพบุรุษของชาวภูไทเรณูนคร เป็นมเหศักดิ์หลักเมืองที่ชาวภูไทเรณูนครให้ความเคารพนับถือมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันต่อมาว่า อัญเชิญเจ้าปู่มาจากเมืองวัง เจ้าปู่ถลาเป็นหัวหน้าชาวภูไทคนหนึ่ง เป็นนักรบถือดาบสองมือ มีความเก่งกล้าสามารถเป็นที่ยำเกรงของข้าศึกศัตรูที่ยกทัพมารุกราน ก่อนท่านจะถูกจับตัวไปเมืองญวน เพราะกลอุบายคิดว่าตนต้องตาย จึงสั่งเสียว่า หากบุตรหลาน อยากจะให้ท่านช่วยเหลือเรื่องอะไรเมื่อไปสร้างบ้านแปงเมืองอยู่แห่งหนใด จึงตั้งศาลให้ท่าน แล้วเซ่นไหว้ปีละครั้ง ท่านจะช่วยคุ้มครองลูกหลานชาวภูไทให้อยู่เย็นเป็นสุข ลูกหลานชาวภูไทเรณูนครทุกคนไม่ว่าจะเกิดที่แห่งหนตำบลใดจะถือว่าตนเองเป็นหลานเจ้าปู่ถลา

ศาลปู่ถลาตั้งอยู่ที่ท้ายเมืองเรณูนครทางทิศตะวันตก มีพิธีเซ่นไหว้ปีละครั้งในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เครื่องไหว้ ได้แก่ ช้าง (เหล้าไห) ม้า (สุรากลั่น) อาหาร และวัวเป็นๆ นำไปเชือดที่บริเวณหลังศาลเจ้าปู่ แล้วทำลาบเลือดและต้มเนื้อวัว ซึ่งเป็นอาหารที่เจ้าปู่โปรดปรานเป็นอันมาก พร้อมด้วยบุหรี่ เหล้า และของคาวหวาน อื่นๆ

เมื่อผู้ใดบนหรือร้องขอเจ้าปู่ให้ช่วย เมื่อสำเร็จแล้วทุกครั้งจะต้องแก้บน โดยมีอาหาร 2 อย่างเป็นสำคัญ คือ “พาข้าวแดงพาแกงร้อน” คือ คือจัดสำรับอาหสรอันประกอบด้วยลาบเลือดและต้มเนื้อ ซึ่งเป็นการแก้บนเล็กทั่วๆ ไป สวนการแก้บนใหญ่ สำหรับผู้ที่ร้องขอให้เจ้าปู่ช่วยในเรื่องใหญ่ ๆ เมื่อสำเร็จจะต้องแก้บนแบบล้มวัวเป็นตัว มอบให้เจ้าปู่ทั้งตัว โดยการตัดหัว ตัดหาง และขาทั้งสี่ขามาถวาย แล้วนำที่เหลือไปประกอบอาหาร ลาบเลือดและต้ม จัดสำรับกับข้าวแล้วนำมาถวายปู่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าปู่อิ่มแล้วให้สังเกตจากธูปและเทียนจะหมด จึงจะสามารถนำอาหารนั้นมากินต่อได้ หากผู้ใดละเลยไม่แก้บนจะเกิดภัยพิบัติทันที เจ้าปู่ถลาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยว และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูไทเรณูนครให้ลูกหลานประพฤติ ปฏิบัติแต่สิ่งอันดีงาม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เชื่อว่าถ้าผู้ใดประพฤติไม่ดี ปู่จะไม่ช่วย


การรักษาโรค

ในเรื่องของการรักษาโรคนั้นในอดีต ไม่ปรากฏผู้ที่มีอาชีพแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะ จะมีผู้เชี่ยวชายหรือสามารถใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเป็นหลัก เรียกว่าหมอรากไม้ สามารถปรุงยาเพื่อรักษาโรคได้ นอกจากนี้ยังมีหมอกระดูก ที่ทำหน้าที่รักษากระดูกหันกระดูกแตกใช้การเก็บหาสมุนไพรในป่า หรือปลูกไว้เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย โดยญาติผู้ป่วยจ่ายค่าสินน้ำใจเล็กน้อยเท่านั้น หากคนป่วยไม่มีเงินก็รักษาฟรี

หมอเป่า จะรักษาคนใช้ด้วยการใช้คาถาเป่า เมื่อเจ็บป่วยเล็ก อุบัติเหตุ ตกต้นไม้ บวมช้ำ ก็ไปหาหมอเป่าเพื่อรักษา โดยมากมักบอกกล่าวต่อกันมาว่าผีเป็นผู้กระทำ ต้องใช้ผู้มีคาถาอาคมในการปัดเป่าขับไล่

หมอทรง เป็นหมอที่ทำพิธีอัญเชิญวิญญาณต่างๆ ตามที่ผู้มาหาบอก เพื่อให้เข้าร่างหมอทรงแล้วจะได้บอกกล่าวเรื่องราวระหว่างวิญญาณกับผู้มาหาหมอ

หมอธรรม เป็นหมอที่นั่งทรงทางในเพื่อดูดวงชะตา หรือสิ่งที่มากระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่มาหาหมอ หรือไล่เลขไล่ยาม ผู้ไทยเรียกว่า "นั่งธรรม" หมอธรรมจะเป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับคน คล้ายหมอทรง แต่ไม่มีพิธีสลับซับซ้อนเท่าหมอทรง

หมอเหยาเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมการเหยา เป็นพิธีกรรมในการรักษาคนป่วยของคนภูไท เพราะเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เนื่องมาจากถูกผีกระทำ อาจจะเป็น ผีดง ผีป่า ผีแถน ผีปอบ ผีเป้า ผีบรรพบุรุษหรือถูกคุณไสย ผู้ที่เก่งกล้าในการขจัดปัดเป่าความเจ็บความไข้ออกไปได้(ประตูสู่อีสาน, 2558)

ในอดีตนั้นชาวผู้ไทเมื่อเจ็บป่วยไม่สบายจะรักษาตัวเองด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน รวมถึงการทำพิธีเหยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย เมื่อระบบการดูแลสุขภาพ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ขยายตัวเข้ามาดูแลผู้คนในชุมชนได้กว้างขวางครอบคลุมขึ้น พิธีเหยาก็ถูกลดบาบาทลง อย่างไรก็ตาม”เมื่อมีการป่วยไข้ที่สาสาเหตุไม่ได้ หรือรักษาโดยแพทย์พื้นบ้าน หรือเข้ารับการักษาในโรงพยาบาลแล้วยังไม่หาย คาดเดาว่าจะกระทำผิดผี หรือผิดจารีตส่งผลให้เจ็บป่วยนั้น ญาติพี่น้องมักจะนำผู้ป่วนเข้าพิธีเหยา เพื่อเสี่ยงทายหาสาเหตุการเจ็บป่วย และเป็นการหาวิธีการรักษาไปพร้อมกัน

หมอลำเหยา

เมื่อมีผู้ป่วยที่ประสงค์จะทำพิธีเหยาแล้วนั้น ญาติพี่น้องจะไปหาหมอลำส่อง หรือหมอลำเหยามาลำส่องเพื่อเสี่ยงทาย ก่อนทำพิธีลำส่องต้องจัดหาเทียน หนัก 1 บาท 2 คู่, เทียนเล็ก 5 คู่, ดอกไม้ขาว 5 คู่, บุหรี่ 4 มวน, หมากกลีบ 5 คำ, กรวย 32 กรวย, เงินฮ่อย (เป็นเงินรางอย่างเก่าหนักรางละ 4 บาท) 4 ฮ่อย, ขันหมากเบ็ง (บายศรี) 1 คู่, สะพายผ้า คือ เอาผ้าขาวโยงลงมาจากที่ตั้งเครื่องบูชาเอามาไว้ที่บายศรี, ไข่ไก่ 2 ฟอง, ข้าวสารเหนียว 1 ถ้วย, แช่หวาย (หวายลำเล็ก) 1 ต้น, ดอกไม้พุ่ม 1 พุ่ม ของเหล่านี้ตั้งรวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน หมากพลูเงิน 1 สลึง ใส่ในพานตั้งไว้ และหาเครื่องแต่งตัวสำหรับผู้หญิงและผู้ชายเตรียมไว้ คือ ผ้าซิ่น ผ้านุ่ง ผาห่ม เสื้อหญิง แพรห่มสีต่าง ๆ แหวนกำไลหรือสายสร้อย

เมื่อเตรียมสิ่งของพร้อม มีคนนำแคนมาเป่าเรียกว่าหมอม้า แล้วหมอลำส่อง (คนทรงผี) จึงยกคายเล็ก พานดอกไม้ขึ้นขับคำกล่าวเป็นคำลาวโบราณ แปลความได้ว่า “ เชิญผีเจ้าที่ให้ลงมาทรงคนที่เป็นหมอลำส่อง” เมื่อผีลงมาเข้าทรง จะสังเกตเห็นคนทรงมีอาการตัวสั่นเสียงสั่น จะวางพานดอกไม้ลง ลุกขึ้นเรียกเอาของที่เตรียมไว้ให้มาแต่งตัว เสร็จแล้วกินเหล้า ผีจะเข้าทรงครั้งแรกมีชื่อตามลำดับว่า 1) หมอเฒ่า, 2) หมอน้อยบริศาจ, 3) หุลระมาน, 4) พระยาข่าสามแสน ผีสี่ตนแรกนี้เป็นผู้ชาย เมื่อผีตนหนึ่งออก ผีอีกตนหนึ่งก็เข้าสิงสู่แทน เมื่อผีชายเข้าสิงสู่หมดทั้ง 4 ตนแล้ว ผีผู้หญิงจึงเข้าสิงสู่แทน มีชื่อ 1) นางสีดา, 2) นางอำคา,3) นางเมขลา, 4) นางอั้วข่า แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสิงสู่ คนทรงชอบกินน้ำดอกไม้ ในขณะผีเข้าคนทรง คนทรงจะมีการร้องรำและทำนายอาการป่วยของคนไข้ซึ่งนอนอยู่ข้างที่ตั้งเครื่องบูชาว่าเป็นอาการเนื่องมาจากสิ่งนั้นๆ ถ้าทำอย่างนั้น ๆ อาการจะหาย เวลาที่ผีทรงชี้แจงโรคคนป่วยต้องมีหมอสอย (คนถาม) คอยถามอาการอยู่ที่นั้นด้วย ในพีกรรมเหยานั้น จะมีการบรรเลงดนตรี ประกอบด้วยปี่ แคน โดยเชื่อว่าเสียงดนตรีเหล่านี้จะเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารวิญญาณของผีและบรรพบุรุษและให้รับรู้ว่าเป็นลูกหลานผู้ไท

นอกจากพิธีเหยาเมื่อมีผู้เจ็บป่วยไม่สบายแล้วนั้นยังมีพิธีเลี้ยงผีหมอเหยาที่ชาวผู้ไทจัดขึ้นในช่วงเดือนสามของทุกปีเป็นการที่หมอเหยาทั้งหลายได้มารวมเพื่อทำพิธีเลี้ยงผี ขอขมาและสักการะผีหมอเหยาที่ได้ช่วยดูแลปกป้องรักษาลูกหลานทำให้ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดปี ซึ่งหมอเหยาที่เป็นเจ้าภาพจะเป็นผู้นัดวันและชวนหมอเหยาทั้งหลายมา (หมอเหยาจะผลัดเป็นเจ้าภาพแต่ละปี) โดนนำดอกจำปา (ลั่นทม) มาประดับสถานที่ เครื่องคาย (เครื่องยกครู) และเครื่องประกอบ (จำลองเครื่องข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าเมือง) เช่น หมู เป็ด เหล้าไห (ช้าง) เหล้าขาว (ม้า) จากนั้นพ่อเมือง (หมอเหยาอาวุโสสูงสุด) อัญเชิญผีลงมาด้วยการลำเหยาเข้ากับเสียงปี่ภูไท เสียงแคน

เสียงดนตรีจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างลูกหลานและผีบรรพบุรุษซึ่งการลำเหยาจะจัดตอนใกล้ค่ำและจะทำกันตลอดทั้งคืน หมอเหยาจะผลัดกันดื่มเหล้าเป็นช่วงๆ มีผีเข้าสิงก็จะแสดงอาการต่างๆ ออกมา เช่น ทำท่าทางรำฟ้อน (ผีฟ้า) ถือผ้าแพรแข่งกันสวย (ผีนางสีดา) เสียงคนแก่ (ผีผู้เฒ่า) พอใกล้เสร็จพิธีก็เหยาส่งผีที่อัญเชิญลงมาแล้วรื้อคาย แล้วเจ้าภาพก็อัญเชิญผีไปยังหอผีบ้านเหนือหอนอน แล้วบอกกล่าวให้ผีหมอเหยาให้ได้ดูแลรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข จากนั้นจะนำเครื่องประกอบขึ้นหอผี ส่วนหมอเหยาร่วมกินข้าวปลาแล้วแยกกันกลับบ้านของตนเอง

กล่าวได้ว่า ปี่ภูไทมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีกรรมดังข้างต้น และปี่ภูไทยังมีหน้าที่ในการสื่อถึงความเป็นลูกหลานภูไทด้วยกัน เมื่อมีการบรรเลงเสียงปี่ เสียงแคนประกอบกันกับการทำพิธีกรรม เสียงดนตรีโบราณประจำท้องถิ่นจะเป็นสื่อกลางให้ผีบรรพบุรุษรับทราบในสิ่งที่ลูกหลานกระทำให้

เจษฎ์ศิริ เถื่อนมูลละ. (2553). การศึกษาองค์ประกอบทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม กรณีศึกษา: ชุมชนบ้านโคกโก่ง จังหวัดกาฬสินธุ์. การค้นคว้าอิสระหลักสูตรปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภูมิสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ทศพล คำตันบุญ. (2557). แนวทางการสืบทอดและพัฒนาการทำปี่ภูไท ของหมู่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ จังหวัดนครพนม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

เบญญาดา เพิ่มพูน. (2553). กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมแพวากลุ่มทอผ้าไหมแพรวา ชุมชนภูไทดำ บ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์). มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

พงษ์เกษม สิงห์รุ่งเรือง. (2553). การศึกษากิจกรรมนันทนาการเชิงวัฒนธรรมของชาวภูไทเพื่อการท่องเที่ยว. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พงค์ธร พันธุ์ผาด. (2554). ปี่ภูไท (ผู้ไทย) บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

รัตติกาล โกฒินทรชาติ. (2549). การฟ้อนของชาวภูไท: กรณีศึกษาหมู่บ้านวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (นาฏศิลป์ไทย). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ลักษณากร สัตถาผล. (2550). การศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนชาวภูไทในอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยศึกษา). มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สิริยาพร สาลีพันธ์. (2554). บทบาทศูนย์วัฒนธรรมบ้านภูไทในการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมภูไทเรณูนคร ท่ามกลามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา). มหาวิทยาลัยมหิดล.

หยกทิพย์ และในสิงห์. (2554). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชาวภูไท บ้านห้วยหีบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร. รายงานการศึกษาอิสระปริญญาธุรกิจมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

อัมพร นันนวล. (2552). ประเพณีกินดองของชาวภูไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยศึกษา). มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว