ไทยโคราช หรือ ไทโคราช เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้เรียกกลุ่มของตนเองซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน รวมไปจังหวัดลพบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ และในบางอำเภอของจังหวัดชัยภูมิ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกจำแนกจากภาษาพูดที่เหน่อ และเป็นเอกลักษณ์มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งจากภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษ ทำให้กลุ่มคนโคราช มักถูกเรียกจากกลุ่มอื่น ๆ ว่าเป็นชาวไทยเดิ้ง ไทยเบิ้ง หรือ ไทดา ซึ่งเป็นคำลงท้ายประโยคของชาวไทยโคราชที่แปลว่า “บ้าง หรือ ด้วย” ทำให้กลุ่มไทยโคราชจึงไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในโคราชเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกจำแนกผ่านการใช้ภาษาพูดที่เป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของกลุ่มซึ่งพยายามสร้างขึ้นผ่านการกลืนกลายความเป็นอื่นของรัฐส่วนกลาง
“ไทยโคราช” เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง โดยมีที่มาจากการถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นทั้งถิ่นที่อยู่ปัจจุบันและถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม โดยนำคำว่า “ไทย” มาผสมกับถิ่นที่อยู่อาศัยเนื่องจากลักษณะของชาวโคราชมีความพิเศษไม่มีลักษณะที่คล้ายกับชาวอีสาน ไทยอีสาน หรือลาวอีสาน ผู้คนจึงมักเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาเป็นชาวไทยโคราช ซึ่งการนำคำว่า “ไทย” ขึ้นต้นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อแสดงความเป็นคนไทยเหมือนกันกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น ชาวไทยเชื้อสายจีน แต่สำหรับชาวไทยโคราช ยังมีการใช้อีกหนึ่งคำ คือ “ไทโคราช” ซึ่งมีงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่ใช้คำนี้หรือใช้ควบคู่กัน ซึ่งคำว่า “ไท” (Tai) ซึ่งหมายถึงภาษาในตระกูลไท ซึ่งกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยังมีกลุ่มอื่นที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทยด้วย การใช้คำว่า ไท ขึ้นต้นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อาจเพื่อแสดงออกถึงกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังคงอาศัยอยู่นอกประเทศไทย เช่น ไทกะเลิง ไทโย้ย ผู้ไท แต่สำหรับ “ไทโคราช” ที่ปรากฏในหนังสือและงานศึกษาไม่ได้มีการอ้างอิงถึงการใช้คำที่แตกต่างกัน (พัชรินทร์ เวียงชัย, 2546; นฤมล ปิยวิทย์, 2550) แต่ได้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราชและถิ่นที่มาในลักษณะเดียวกันกับงานศึกษาที่ใช้คำว่า “ไทยโคราช” (ปรีชาอุยตระกูล, 2537; สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558) ดังนั้นในงานศึกษานี้จึงจะเลือกใช้คำว่า “ไทยโคราช” ที่หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ซึ่งมีประวัติศาสตร์เป็นคนไทยมาตั้งแต่ตั้งแต่ยุคพุทธกาลที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ที่แอ่งโคราช ตั้งอยู่บนพื้นที่เส้นทางค้าขายไปยังเมืองต่าง ๆ แถบฝั่งทะเลมหาสมุทรแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย รากเหง้าของไทยโคราช มีการผสมผสานเชื้อชาติและวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้ามา ซึ่งทำให้วัฒนธรรมของชาวไทยโคราชแตกต่างจากวัฒนธรรมอีสานทั่วไป เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่อพยพมาจากอยุธยาและหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงที่ศรีอยุธยากำลังเสียเมืองใน พ.ศ. 2309 (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558) และการเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ตามถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณ “โคราช” มีที่มาของคำว่าโคราชหลากหลาย โดยข้อแรกคือสันนิษฐานมาจากชื่อเมืองเก่าเมืองเดิมคือชื่อ “โคราค” ซึ่งตั้งใกล้กับอีกเมืองคือเมืองสีมา เมื่อย้ายเมืองทั้งสองมาอยู่ที่แห่งใหม่ จึงมีการเอาชื่อของสองเมืองมาเรียกรวม ๆ กันว่า “นครราชสีมา” ข้อที่สองสันนิษฐานว่ามาจากการกร่อนเสียง โดยเชื่อว่า “โคราค” หรือ “โค-รา-คะ” หมายถึงเมืองอันเป็นที่ยินดีของโค คือเมืองที่มีแหล่งน้ำและทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ แต่ภายหลังมีการออกเสียงเป็น “โคราด” ซึ่งไม่มีความหมาย เวลาต่อมาก็มีการเรียกให้มีความหมาย คือ “โคราช” (ถาวร สุบงกช, 2521)
ตระกูลภาษา
ตระกูลภาษาไทย-ลาว สำเนียงโคราช มีรากเหง้าจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนยุคต้นอยุธยาที่พูดเหน่อ(แบบลาว) มีสำเนียงต่างจากคนไทย แต่มีความใกล้เคียงสำเนียงระยองและจันทบุรีทางชายทะเลฝั่งตะวันออกเพราะมีรากเหง้าจากสองฝั่งโขงด้วยกัน (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 180)
ภาษาพูด
ภาษาโคราชมีทั้งภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน ภาษามอญ-ขะแมร์ปะปนอยู่ (ธีรภาพ โลหิตกุล, 2551: 114) มีคำศัพท์ สำเนียง และสำนวนแบบโคราช สำเนียงภาษาโคราช คือการนำภาษาไทยกลางมาปรับเสียงวรรณยุกต์ให้เพี้ยนเหน่อเป็นเสียงโคราช ได้แก่ อักษรต่ำเสียงตรีปรับมาเป็นเสียงโท เช่น ม้า เป็น ม่า ค้า เป็นค่า น้อย เป็นน่อย เล็ก เป็นเล่ก ซด เป็นซ่ด พิษ เป็นพิ่ษ มด เป็นม่ด น้อง เป็น น่อง อักษรสูงเสียงโทปรับเป็นเสียงเอก เช่น ผ้า เป็น ผ่า ขี้ข้า เป็นขี่ข่า หน้า เป็น หน่า อักษรกลางและอักษรสูงคำตายเสียงเอกปรับเป็นเสียงตรี เช่น กบ เป็น ก๊บ กับ เป็น กั๊บ แกะ เป็น แก๊ะ ปด เป็น ป๊ด ขด เป็น คด หมด เป็น มด สด เป็น ซด อด เป็นอ๊ดยกตัวอย่างคำศัพท์บางคำที่มาจากภาษาอีสาน เช่น เมี่ยน หมายถึง เก็บ มูลมัง หมายถึง ทรัพย์ มรดก
คำศัพท์บางคำที่มาจากภาษาเขมร เช่น ตะลุก หมายถึง หลุมเล็ก ๆ ฝนล่ะลึม หมายถึง ฝนปรอยๆ สระเพลง หมายถึง สระน้ำฝน
คำศัพท์บางคำที่เป็นภาษาโคราช เช่น ก้ะดิ๊บ หมายถึง ผลอ่อนๆ ก้ะต๊ะก้ะเติ้ง หมายถึง ครึ่ง ๆ กลาง ๆ แง็ด หมายถึง ผ้าเช็ดหน้า ป้ะวะ หมายถึง เจียดเวลามาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขี่สึก หมายถึง น้ำโสโครก ล่ะโลก หมายถึง หล่มโคลน สวอย หมายถึง หมดแรง (สุนทรี ศิริอังกูร บก., 2555: 11-12)
ตัวอักษรที่ใช้เขียน อักษรไทย
เนื้อหาโดย ปราโมทย์ ภักดีณรงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด ; 29 กันยายน 2562
เอกสารอ้างอิง
การุณย์ ศุภมิตรโยธิน. 2562. เรือนพ่อคง: ปัญญาสร้างสรรค์และอัจฉริยภาพของช่างท้องถิ่นโคราช [On-line]. ได้จาก: http://www.koratmuseum.com/bankorat/bankorat-karun.pdf
กำปั่น บ้านแท่น 2554. เรื่องเล่าจากครูเพลง. นครราชสีมา: สำนักพิมพ์ตะวันรุ่งซินดิเคท.
ขุนสุบงกชศึกษากร. 2520. “เพลงพื้นเมืองโคราช” ใน วัฒนธรรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. นครราชสีมา: วิทยาลัยครูนครราชสีมา. หน้า 133-15.
ถาวร สุบงกช. 2521. “ภาษาสำเนียงโคราช” (ขุนสุบงกชศึกษากร, ผู้บอกเล่า), ใน ของดีโคราช นิทรรศการวัฒนธรรมไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2 11-15 กันยายน 2521 วิทยาลัยครูนครราชสีมา. นครราชสีมา; หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูนครราชสีมา, หน้า61-63.
ทองพูล ศรีจักร. 2479. เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทร์. พระนคร: โรงพิมพ์บางขุนพรม, น. ก-ค (อ้างในสายพิน แก้วงามประเสริฐ, 2538)
ไทยโชว์ (รายการ). 2552. เพลงโคราช. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. ออกอากาศ 3 กรรกฎาคม 2552.
ธีรภาพ โลหิตกุล. 2551. “หลายชีวิต หนึ่งตัวตน คนโคราช” อนุสาร อสท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 1 (สิงหาคม 2551), หน้า 108-116.
นิคม จารุมณี. “กบฎบวรเดช”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บันเทิงคมชัดลึก. 2553. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2553) หน้า 25.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. 2539. เศรษฐกิจการเมืองสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุคส์.
พันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส และกมลทิพย์ กสิภาร์. 2546. “อาหารพื้นเมืองโคราช” ใน ของดีโคราช เล่มที่ 3 สาขาคหกรรมศิลป์, เปรมวิทย์ ท่อแก้ว และคณะ (บก.). นครราชสีมา: สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎนครราชสีมา. หน้า 37-44.
พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ. 2552. “แม่...คนธรรมดาที่ยิ่งใหญ่ ฟ้าเปิด..ให้ดาวส่องแสง”. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับที่ 1521 ปีที่ 29 (9-15 ตุลาคม 2552), หน้า 69-70.
แพรวพโยม พัวเจริญ. 2554. การศึกษาอัตลักษณ์และคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมเพลงโคราชสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวเยาวชน. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา.
ยุวพันธ์ ศิวพรรักษณ์. 2530. “การละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านหนองน้ำขุ่น ต.ขามทะเลสอ” ใน วัฒนธรรมพื้นบ้านนครราชสีมา. นครราชสีมา: ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น คณะวิชามนุษยศาสตร์ วิทยาลัยครูนครราชสีมา, หน้า 83-101.
โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์. 2562. กราบเท้าย่าโม - สุนารี ราชสีมา (Official Audio) [On-line]. ได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=q4lCqLyRrag
วิทยา อินทะกนก. 2520. “เล่าเรื่องเมืองนครราชสีมาแต่โบราณ” เอกสารเผยแพร่วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. นครราชสีมา: หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูนครราชสีมา.
ศรีศักร วัลลิโภดม. 2546. “อีสาน: ความสัมพันธ์ของชุมชนที่มีคูน้ำคันดินกับการเกิดของรัฐในประเทศไทย” ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 29-56.
ศรีศักร วัลลิโภดม. 2546. “บาราย (Barai)” สระน้ำโบราณในอีสาน บทบาทลดจนหมดความสำคัญ”ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 57-68.
ศรีศักร วัลลิโภดม. 2546. “เกลืออีสาน” ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 29-56.
สนุกดอทคอม. 2562. "ไอ้แรมโบ้" รัตนพล ส.วรพิน ชีวิตที่ผกผัน เกือบฆ่าตัวตาย สุดท้ายเดินขายซีดีเรื่องราวชีวิตตัวเอง [On-line]. ได้จาก: https://www.sanook.com/sport/156585/
สยามดาราดอทคอม. 2556. “ตั๊กแตนถือฤกษ์ดี วันที่ 7 เดือน 7 ร้องเพลงใหม่ ให้ย่าฟัง” [On-line]. ได้จาก: http://www.siamdara.com/music/130710_17825.html
สยามสปอร์ต. 2556ก. บรรยากาศทัพนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยเดินทางแก้บนต่อแม่ย่าโม ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี [On-line]. ได้จาก: http://www.siamsport.co.th/tablet/viewsclip.php?clip=0004178
สยามสปอร์ต. 2556ข. “ประมวลภาพสาวไทยแก้บน-สักการะย่าโม” [On-line]. ได้จาก: http://www.siamsport.co.th/sport_volleyball/130922_242.html
สายพิน แก้วงามประเสริฐ. 2538. การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา. 2560. มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เรือนโคราช [On-line]. ได้จาก: https://www.youtube.com/watch?time_continue=3&v=2QlhCvQZWdA
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. 2562. นิทรรศการวิถีชีวิตชาติพันธุ์ไทยโคราช [On-line]. ได้จาก: http://cul.bru.ac.th/นิทรรศการวิถีชีวิตชาติ-4
ทิม สุขยางค์. 2533. นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา ผนวกนิราศหนองคาย, ในสิทธิ ศรีสยาม (จิตร ภูมิศักดิ์). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ส่องสยาม.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2538. “คำนำเสนอ” ใน การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, สายพิน แก้วงามประเสริฐ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 10-23.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2558. โคราชของเรา. กรุงเทพฯ: มติชน
สุนทรี ศีริอังกูร (บก.). 2555. เพลงโคราชเล่ม 1 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโวกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 7 รอบ. นครราชสีมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา.
สุนารี ราชสีมา. 2556. “เปาวลี-สุนารี 'We Love ลูกทุ่ง'” เรื่องโดยมนัชญา นามละคร http://www.manager.co.th/Taste/ViewNews.aspx?NewsID=9560000150240 (access 7 December 2013)
สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา, ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล, จันทนา สุระพินิจ. 2540. วิธีคิดของคนไทย: พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของลาวข้าวเจ้า” จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สาขาวิชาศึกษาทั่วไป, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
สุริยา สมุทคุปติ์; พัฒนา กิติอาษา. 2544. ยวนสีคิ้ว: เรื่องเล่า ความทรงจำ และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยยวนในจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สาขาวิชาศึกษาทั่วไป, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา. 2540. รายงานประจำปี 2539. นครราชสีมา: สมบูรณ์การพิมพ์.
องอาจ สายใยทอง. 2546. เพลงกล่อมลูกโคราช. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ เนื่อง (อินทรนุชิตร์ ณ ราชสีมา) อินทะกนก ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2521
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ลพบุรี เป็นต้น | 650000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
คนไทโคราช ไม่ใช่ชื่อเรียกชนชาติและเชื้อชาติ ไม่ใช่อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ตายตัว แต่เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ผ่านการกรองและการต่อรองกับอำนาจของรัฐศูนย์กลางของคนกลุ่มวัฒนธรรมไทย จนตกผลึกเป็น “ไทโคราช” นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชุมชนที่อาศัยอยู่บนแอ่งโคราชคือชุมทางของการแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างดินแดนแถบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและฝั่งมหาสมุทรอินเดีย พัฒนาการของชุมชนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์เติมเต็มไปด้วยการพบปะแลกเปลี่ยนเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับผู้คนจากโลกภายนอก ทั้งเขมร ทวารวดี ลาว มอญ จีน และไทย เมื่อรัฐศูนย์กลางสถาปนาราชอาณาจักรได้สำเร็จ เมืองนครราชสีมาคือดินแดนปะชิดระหว่างไทยและลาว สถานะของเมืองหน้าด่านของรัฐศูนย์กลางทั้งอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ทำให้ความรับรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนเมืองนครราชสีมา ขึ้นอยู่กับรัฐศูนย์กลางแต่ละฝ่าย เวียงจันทน์มองว่าคนเมืองนครราชสีมาเป็นไทย แต่กรุงเทพฯ กลับมองว่าเป็นลาว ทั้งที่การได้ผัวได้เมียข้ามชนชาติและความหลากหลายทางชาติพันธุ์คือภาพความจริงในพื้นที่ เมื่อรัฐสมัยใหม่กำเนิดขึ้นและได้กำหนดสถานะของคนชาติไทยบังคับสยาม คนนครราชสีมาส่วนใหญ่ตั้งนามสกุลให้ผูกพันกับถิ่นอาศัย ซึ่งบางชุมชนก็พัฒนาการมาจากชุมชนทางชาติพันธุ์เดิมของตนเอง จนกระทั่งรัฐศูนย์กลางได้หลอมรวมคนเมืองนครราชสีมา เข้ากับความเป็นไทยได้อย่างแนบเนียนโดยผ่านการเมืองในอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารี คนเมืองนครราชสีมา ก็ได้สถาปนาสัญลักษณ์ของไทโคราชได้อย่างตกผลึก ทั้งการนิยามตัวตนว่า “หลานย่าโม” หรือแสดงผ่านภาษาโคราช อาหารโคราช การแต่งกาย และการละเล่นต่าง ๆ ที่มีความคล้ายไปทางวัฒนธรรมไทยภาคกลางมากกว่าวัฒนธรรมลาวในอีสาน
คนไทโคราช ไม่ใช่ชื่อเรียกชนชาติและเชื้อชาติ ไม่ใช่อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ตายตัว แต่เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ผ่านการกรองและการต่อรองกับอำนาจของรัฐศูนย์กลางของคนกลุ่มวัฒนธรรมไทย คนไทโคราชแสดงถึงกลุ่มคนที่ใช้ภาษาโคราชเป็นหลัก มีวัฒนธรรมการกิน การอยู่อาศัย และลักษณะของแต่งกายแตกต่างจากคนอีสานบริเวณอื่น แต่ก็ไม่เหมือนคนภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพ คนโคราชในอดีตได้รับการดูถูกจากคนไทยจนรู้สึกตัวเองเป็นคนต่ำต้อยบ้านนอกเมื่อเปรียบเทียบกับคนไทยภาคกลาง แต่จากการสถาปนาวีรสตรีแห่งชาติของท้าวสุรนารีขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งโดยรัฐศูนย์กลาง คนโคราชก็สามารถใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ของท้าวสุรนารีเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของตนได้อย่างภาคภูมิใจ
กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทโคราช หรือไทยโคราชนั้นผูกพันกับชื่อของเมือง นครรราชสีมา ซึ่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาลในฐานะชุมชนบนแอ่งโคราชที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายเส้นหนึ่งระหว่างเมืองต่าง ๆ แถบชายฝั่งทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย รากเหง้าของไทโคราชก็พัฒนาการมาจากการผสมเชื้อชาติและการผสานวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่าง ๆ นักวิชาการส่วนใหญ่มีข้อสรุปตรงกันว่าบรรพบุรุษกลุ่มใหญ่ของไทโคราชคือผู้คนที่อพยพมาจากอยุธยาและหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงเวลาที่ศรีอยุธยากำลังแตกในปี พ.ศ. 2309 ทำให้วัฒนธรรมโคราชแตกต่างจากคนอีสาน
ในปัจจุบัน ความเข้าใจโดยทั่วไปมักเหมารวมว่าคนโคราชก็คือคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ตาม คนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดเองก็มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ยวนที่อำเภอสีคิ้ว ลาวที่อำเภอสูงเนิน มอญที่ปักธงชัย หรือแม้แต่ภายในตัวเมืองนครราชสีมาเองก็มีทั้งคนจีน คนแขก คนไทย และคนโคราช เป็นต้น สิ่งบ่งชี้อัตลักษณ์ของไทโคราชได้นั้นอาจพิจารณาจากคนที่พูดด้วยภาษาโคราช หรือคนที่ดูหรือคนที่แสดงเพลงโคราช หรืออาจรวมถึงคนที่เคารพบูชาท้าวสุรนารี กล่าวได้ว่าทั้งหมอเพลงโคราชและคนดูเพลงโคราชคือกลุ่มตัวแทนของไทโคราชที่ชัดเจนที่สุด ส่วนไทโคราชอื่น ๆ ส่วนใหญ่ได้รับเอาวัฒนธรรมไทยมาสร้างอัตลักษณ์ของตนเองจนกลายคนไทยเรียบร้อยแล้ว
สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 9) อธิบายคำว่า “โคราช” หมายถึงกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมแบบ “ไทโคราช” ส่วนคำว่า “นครราชสีมา” หมายถึงเขตการปกครองมีแบ่งการปกครอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีว่ าชุมชนตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคหินใหม่ เมืองนครราชสีมามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ได้แก่ ไท-อีสาน ไท-จีน ไท-ยวน ไท-เขมร ไท-มอญ ไท-กุย ไท-ซิกข์ และกลุ่มไท-โคราช
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 32) อธิบายว่า นครราชสีมา มีขอบเขตอยู่ทางทิศใต้ของแอ่งโคราชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกมีทิวเขาเพชรบูรณ์ตะวันออก และทิวเขาดงพญาเย็นเป็นขอบแอ่ง ทิวเขาเพชรบูรณ์ตั้งต้นในอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย พาดผ่านแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดเพชรบูรณ์กับจังหวัดชัยภูมิ สิ้นสุดที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พาดไปตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างจังหวัดสระบุรีกับจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดนครนายก ทิศใต้มีทิวเขาสันกำแพงและทิวเขาพนมดงรักเป็นขอบแอ่ง ทิวเขาสันกำแพงตั้งต้นจากเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ผ่านตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัด ระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดบุรีรัมย์กับจังหวัดสระแก้ว ไปสิ้นสุดทิวเขาที่ช่องตะโกอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ทิวเขาพนมดงรัก ตั้งต้นที่ช่องตะโกผ่านไปตามแนวเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับกัมพูชาจากจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี พื้นที่ของแอ่งโคราชมีลักษณะลาดเทไปทางทิศตะวันออก มีแม่น้ำสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกไปสิ้นสุดที่แม่น้ำโขง
ก่อนประวัติศาสตร์เป็นแหล่งผลิตเหล็กและเกลือสินเธาว์ในภูมิภาค
ศรีศักร วัลลิโภดม (2546 : 33, 41) บรรยายถึงสภาพแอ่งโคราชว่าเป็นแอ่งกระทะบริเวณกว้างใหญ่ หล่อเลี้ยงด้วยลำนำมูล ลำน้ำชี และลำน้ำอื่น ๆ ที่เป็นสาขา มีพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงอยู่ตรงกลางและขนาบด้วยที่ลาดสูงทั้งด้านเหนือและด้านใต้ ทางด้านเหนือและใต้มีลำน้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีไหลผ่าน ทำให้บริเวณที่ลำน้ำเหล่านั้นผ่านไปมีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม จากภูมิประเทศนี้ได้มีชุมชนโบราณตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปี มาแล้ว โดยมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือแหล่งถลุงเหล็กและเกลือสินเธาว์ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ทางการค้าขายกับโลกภายนอกตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 52- 58, 82-83) ระบุว่าแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณแอ่งโคราชยืนยันการตั้งถิ่นฐานของชุมชนราว 3,000 ปีมาแล้ว ทั้งที่เนินอุโลก อำเภอโนนสูง ภาพเขียนที่เขาจันทน์งาน อำเภอสีคิ้ว หินตั้ง อำเภอสูงเนิน บ้านโนนวัดและบ้านปราสาท อำเภอโนนสูง
ศรีศักร วัลลิโภดม (2546ข: 61-64) บรรยายให้เห็นว่าชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งโคราชเป็นชุมทางของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เนื่องด้วยชุมชนโบราณบริเวณบ้านปราสาทมีประเพณีการฝังศพในไหแบบเดียวกับชุมชนโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลของเวียดนาม ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น กลองสำริด อาวุธ และเครื่องประดับ ที่บ่งบอกได้ว่าชุมชนจากทั้งสองดินแดนนี้มีการเดินทางติดต่อกันและกัน
พุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 18 เป็นชุมทางของฮินดูและพุทธ
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2538: 10-11) ระบุว่าหลัง พ.ศ. 1200 อิทธิพลของทวารวดีได้เผยแพร่พระพุทธศาสนามาถึงบริเวณแอ่งโคราช เมืองเสมาเป็นศูนย์กลางของคติหีนยาน และเมืองพิมายนับถือคติมหายาน ส่วนศาสนาฮินดูยังได้รับอิทธิพลมาจากขอม ศรีศักร วัลลิโภดม (2546: 52) ยืนยันด้วยหลักฐานจากการสร้างเมืองพิมายเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ที่มีการสร้างศาสนสถาน อ่างเก็บน้ำหรือบาราย และชุมชน แบบขอม นอกจากนี้สุจิตต์ วงษ์เทศ (2538: 11) ได้อธิบายว่าปราสาทหินพิมายเป็นวัดพุทธคติมหายาน มีความเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์ขอม ทั้งนี้ในส่วนของความสัมพันธ์ของการค้าขาย สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 112, 144) อธิบายว่าเมืองพิมายยังเป็นชุมทางค้าเกลือและเหล็กซึ่งเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างแอ่งโคราชและโตนเลสาบ กัมพูชา และชัดเจนว่าหลังราว พ.ศ. 1700 บริเวณโคราช รวมทั้งฝั่งโขง-ชี-มูล อีสานอยู่ในอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของพระเจ้าชัยวรมันที่7 มหาราชของอาณาจักรกัมพูชา ศรีศักร วัลลิโภดม (2546ก: 52) ระบุว่าราวพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมขอมได้เริ่มเสื่อมลง และสุจิตต์ วงษ์เทศ (2538: 11) อธิบายว่าเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 พระพุทธศาสนาคติเถรวาทจากลังกาเฟื่องฟูขึ้นมา
พุทธศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ชุมทางการค้าขายของคนพื้นถิ่น เขมร ลาว ไทย และจีน
การเปลี่ยนผ่านจากการรับอิทธิพลของขอมมาสู่การรับอิทธิพลของอยุธยาเริ่มช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 สุริยา สมุทคุปติ์ พัฒนา กิติอาษา ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล และจันทนา สุระพินิจ (2540: 135-136) อ้างถึงงานของมหาสิลา วีระวงส์ นักปราชญ์ชาวลาว เล่าว่าพระเจ้าฟ้างุ่มแห่งเมืองเชียงทอง หรือเมืองหลวงพระบาง (พ.ศ. 1893) ขยายอิทธิพลลงมาถึงเขตที่ราบสูงโคราช ดังนั้นหัวเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลาวและมีคนลาวอาศัยอาศัยอยู่ โดยที่กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้มีความประสงค์จะมีอำนาจเหนือบริเวณนี้ อย่างไรก็ตาม สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 169) อธิบายว่าในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนั้น คือราว พ.ศ. 1980-1984 อำนาจของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาสถาปนาอำนาจเหนือเมืองพิมายบนลุ่มน้ำมูลได้สำเร็จ
สุริยา สมุทคุปติ์ พัฒนา กิติอาษา ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล และจันทนา สุระพินิจ (2540: 135-136) อธิบายต่อว่าถึงช่วงปี พ.ศ. 2083-2086 รัชกาลของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าแห่งนครเชียงทอง กษัตริย์ลาวได้ร่วมมือกับพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยสร้างพระธาตุศรีสองรักให้เป็นหลักเขตแดน (ในปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) ระหว่างสองอาณาจักร แต่หัวเมืองท้องถิ่นต่าง ๆ ก็มีอิสระในการปกครองตนเอง และยังเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนลาว ส่วย กวยหรือเขมร
นอกจากนี้ ศรีศักร วัลลิโภดม (2546ค: 99, 106-107) อธิบายถึงแอ่งโคราชในฐานะ “ชุมทางชาติพันธุ์” จากหลักฐานภาชนะดินเผาสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ปรากฏว่ามีความเกี่ยวข้องกับคนลาวในแคว้นล้านช้าง คนจีนในสมัยราชวงศ์เหม็ง และคนจากสุโขทัย หลักฐานของชุมชนโบราณที่ทำนาเกลือในเขตบ้านวัง อำเภอโนนไทย พบทั้งภาชนะดินเผาแบบแกร่งตามลักษณะของพวกลาวล้านช้าง ดินเผาแบบเคลือบตามลักษณะของจีนและของสุโขทัย ขณะที่แหล่งทำเกลือโนนพญามวย อำเภอโนนไทย พบเศษภาชนะเคลือบแบบของสมัยลพบุรี อีกทั้งเครื่องปั้นดินเผาแบบพิมายดำก็บ่งชี้ว่าได้รับอิทธิพลขอมสมัยลพบุรีด้วย
พุทธศตวรรษที่ 20 ปรากฏคำเรียก “นครราชสีมา” และ “โคราช” เป็นเมืองขอบราชอาณาเขต
ถาวร สุบงกช (2521: 61) อ้างถึงคำบอกเล่าของขุนสุบงกชศึกษากร แสดงข้อสันนิฐาน 2 ข้อต่อที่มาของ “โคราช” ข้อแรกคือสันนิฐานมาจากชื่อเมืองเดิมคือชื่อ “โคราค” ซึ่งตั้งใกล้กับอีกเมืองคือเมือง "สีมา" เมื่อย้ายเมืองทั้งสองมาอยู่ที่แห่งใหม่ จึงมีการเอาชื่อของสองเมืองมาเรียกรวม ๆ กันว่า “นครราชสีมา” ข้อที่สองสันนิฐานว่ามาจากการกร่อนเสียง โดยเชื่อว่า “โคราค” หรือ “โค-รา-คะ” หมายถึงเมืองอันเป็นที่ยินดีของโค คือเมืองที่มีแหล่งน้ำและทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ แต่ภายหลังมีการออกเสียงเป็น “โคราด” ซึ่งไม่มีความหมาย เวลาต่อมาก็มีการเรียกให้มีความหมาย คือ “โคราช”
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2538: 11) เสนอว่าชื่อ “นครราชสีมา” นั้นปรากฎในกฎมณเฑียรบาล หมายถึงนครที่เป็นชายขอบของราชอาณาจักร แต่ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า “ครราช” (คอน-ราด) แล้วเพี้ยนเป็น “โคราช” ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 176, 180, 182) ได้อธิบายเพิ่มว่าเมื่อ พ.ศ. 2000 เมืองนครราชสีมาต้องถือน้ำพระพัทธ์ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1991-2031 นครราชสีมาจึงถือเป็นพระราชอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา ในเวลานั้นอยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐโดยนำกำลังคนของอยุธยาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยามาตั้งหลักแหล่ง ซึ่งปรากฏหลักฐานทางวัฒนธรรมว่า คนนครราชสีมา มีวัฒนธรรมกลุ่มเดียวกันกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยาและโตนเลสาบ เช่น กินข้าวเจ้า นุ่งโจงกระเบน รวมถึงเพลงโคราชมีรากเหง้าร่วมกับเพลงฉ่อยของคนภาคกลาง คนนครราชสีมามีวัฒนธรรมต่างไปจากวัฒนธรรมลาว
ไม่ใช่แค่ลูกผสมแล้วกลายเป็นเป็นไทโคราช แต่ยังต่อรองเรียกร้องศักดิ์ศรีจากรัฐศูนย์กลาง
ผลจากเมืองพิมายยอมอ่อนน้อมต่ออยุธยา อยุธยาได้ผลักดันให้เมืองนครราชสีมาขึ้นเป็นศูนย์กลางแทนเมืองพิมาย เพื่อควบคุมบ้านเมืองและทรัพยากรทางลุ่มน้ำโขงกับโตนเลสาบในกัมพูชา มีศิลปวัฒนธรรมแบบอยุธยาปนเขมร เช่น นุ่งโจงกระเบน ตัดผมสั้นเกรียน กินข้างเจ้า สำเนียงเหน่อ เล่นเพลงโคราช โคราชเพี้ยนจากคำกร่อนว่าครราช จากชื่อเรียกว่านครราชสีมา ส่วนสำเนียงโคราชน่าจะมีรากเหง้าจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนยุคต้นอยุธยาที่พูดเหน่อ (แบบลาว) จัดอยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทย แต่มีความใกล้เคียงสำเนียงระยองและจันทบุรีทางชายทะเลฝั่งตะวันออกเพราะมีรากเหง้าจากสองฝั่งโขงด้วยกัน ( สุจิตต์ วงษ์เทศ 2558: 172, 176, 180)
พ.ศ. 2199 – 2231 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมืองนครราชสีมาเป็นฐานอำนาจที่สำคัญมาก เป็นเมืองใหญ่มีกำลังไพร่พลมาก พระองค์จึงส่งพระยายมราช (สังข์) มาปกครอง สถานะของเมืองนครราชสีมาในสัมยนั้นคือเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้สุจิตต์ วงษ์เทศ (2538: 12-13) อ้างเอกสารของลาลูแบร์ ราชฑูตฝรั่งเศสบันทึกว่าเมืองนครราชสีมา เป็นเมืองชายแดนที่อยู่ติดพรมแดนลาวสันนิฐานว่าตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 (2411-2453) แห่งรัตนโกสินทร์ เมืองนี้เป็นเมืองที่อยู่ระหว่างพรมแดนลาวกับสยาม (สุจิตต์ วงษ์เทศ 2558: 187)
ธีรภาพ โลหิตกุล (2551: 14) สัมภาษณ์นฤมล ปิยวิทย์ ผู้วิจัยภาษาโคราช สันนิฐานว่าคนพื้นถิ่นเดิมจะมีทั้งมอญ ขะแมร์ ลาว และอีกหลายชาติพันธุ์ จนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (2199-2231) อาณาจักรอยุธยา ได้ส่งขุนนางมาสร้างเมืองขึ้น พวกขุนนางและครอบครัวที่ติดตามมา ก็ได้นำวัฒนธรรมจากกรุงศรีอยุธยาเข้ามาผสมกลืนกับวัฒนธรรมของคนดั้งเดิมด้วย นานวันเข้าก็กลายเป็นอัตลักษณ์ใหม่เรียกว่า คนโคราช เช่น การแต่งกายนุงโจงกระเบน ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม กินข้าวเจ้า สร้างคำศัพท์และภาษาของตนเองขึ้นมา
สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 10) สรุปว่า คนไทโคราช เกิดจากครอบครัวข้าราชการจากกรุงศรีอยุธยามากลมกลืนทางชาติพันธุ์วัฒนธรรมและภาษากับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่มีพัฒนาการมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่ยุคทวารวดีและขอม
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 197) ระบุว่าหลัง พ.ศ. 2200 โคราชมีชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในเอกสารจากหอหลวงว่า “พวกโคราช” อยู่คู่กับ “พวกเขมร”
วิทยา อินทะกนก (2520: 7) เมื่อ พ.ศ. 2231 สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชายึดอำนาจตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา ไม่ยอมอ่อนน้อมตั้งเมืองนครราชสีมาเป็นอิสระ จนพระเพทราชาส่งกองทัพมาล้อมปราบถึง 2 ปี ต่อมาเมืองนครราชสีมาเกิดขบถลาวชื่อบุญกว้างตั้งตัวเป็นผู้วิเศษจนสร้างความเกรงกลัวแก่พวกขุนนางกรมการเมือง จนพระเพทราชายกกำลังจากลพบุรีมาปราบปราม
ในสมัยนั้น “คนเมืองนครราชสีมา” จึงน่าจะยังหมายถึงผู้คนที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยที่เมืองนครราชสีมา ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทในการแย่งอำนาจการปกครองจากรัฐศูนย์กลางได้มากกว่าเพื่อนน่าจะเป็นคนลาว ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 211, 218-219) บรรยายว่า พ.ศ. 2309 ก่อนศรีอยุธยาแตก 1 ปี กรมหมื่นเทพพิพิธ ยกกำลังชาวเมืองจันทบุรี เมืองระยอง และเมืองฝ่ายตะวันออก หวังจะรบพม่า แต่ฝ่ายแพ้ต่อพม่า จึงพากันหนีมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนครราชสีมา ราว 400 คน เช่นเดียวกับอีกพวกหนึ่งที่พาไพร่พลมาจากเมืองนครนายก หลังจากนั้นพวกผู้ดีขุนนางจากกรุงศรีอยุธยาก็พากันพาพึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธ เหตุผลที่ทรงเลือกโคราชก็เพราะมีหลักฐานบางแห่งที่ส่อเค้ามูลว่าพระมารดาเป็น “ลาว” หลังจากกรมหมื่นเทพพิพิธ ไม่สามารถเมืองนครราชสีมาไว้ได้นานจึงร่วมมือกับเจ้าเมืองพิมายตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย จากนั้นพระเจ้าตากจึงยกทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีพิมาย
คนโคราชที่มีรากฐานมาจากหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลังจากปี พ.ศ. 2310 เพราะกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย สุจิตต์ วงษ์เทศ (2538: 14-15) สันนิฐานว่าคนโคราชอาจเป็นกลุ่มคนที่มาจากหัวเมืองจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี เข้ามาผสมปนกับคนสยามจากเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ซึ่งมีการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มก๊กต่าง ๆ ก๊กที่สำคัญคือก๊กของหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งรวมกองกำลังจากหัวเมืองชายทะเลทางด้านตะวันออก ขึ้นมาตั้งทัพเมืองนครราชสีมา ก่อนจะถูกก๊กพระเจ้าตากสินพาคนจากกรุงธนบุรีขึ้นมาตี วัฒนธรรมต่าง ๆ และสำเนียงภาษาของคนโคราชหลายอย่างจึงแตกต่างจากวัฒนธรรมอีสานส่วนอื่น แต่จะมีความคล้ายกับวัฒนธรรมทางภาคตะวันออกและภาคกลางมากกว่า เช่น สำเนียงภาษา และการกินข้าวเจ้า
คนโคราชที่มีรากฐานมาจากมอญก็เข้ามาอยู่ในช่วงใกล้ ๆ กัน วิทยา อินทะกนก (2520: 8) บรรยายว่า พ.ศ. 2316 พระยานครราชสีมา (บุญคง) ยกกองทัพไปช่วยรบพม่าที่ค่ายเขาชะงุ้ม และที่พิษณุโลกได้ช่วยเจ้าพระยาจักรี เมื่อเสร็จศึกในปี พ.ศ. 2318 พระยานครราชสีมาได้รับพระราชทานครัวมอญมาด้วย โดยให้ตั้งถิ่นฐานที่ลำพระเพลิง (เขตอำเภอปักธงชัย) บ้านพลับพลา (เขตอำเภอโชคชัย) ส่วนในบริเวณเมืองนครราชสีมาตั้งอยู่ ณ บ้านมอญ
เมื่อสิ้นอยุธยา เจ้าเมืองนครราชสีมาที่มีเชื้อสายเจ้านายในกรุงศรีอยุธายาได้รับการแต่งตั้ง โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 230, 232, 242-245) บรรยายว่าพ.ศ. 2323 พระเจ้าตากตั้งหลวงนายฤทธิ์เป็นพระยาสุริยอภัยขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา และนายจ่าเรศ ผู้เป็นน้องชาย เป็นพระอภัยสุริยาขึ้นเป็นปลัดเมืองนครราชสีมา ทั้งสองคนมาจากเชื้อสายเจ้านายในอยุธยา แต่อีกสมมติฐานอ้างว่าทั้งสองคนไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าเมืองและปลัดเมือง แต่เป็นตำแหน่งนายกองสักเลกรวบรวมกำลังไพร่พล เมื่อถึงปี พ.ศ. 2325 กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนาขึ้น พระยาสุริยาอภัยได้รับสถาปนาเป็นเจ้าในพระนามกรมพระราชวังหลัง (กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง) พระพิมาย (ปิ่น ณ ราชสีมา) ได้เป็นพระยานครราชสีมาขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา โดยได้รับการส่งเสริมจากรัชกาลที่ 1 ที่ต้องการให้เมืองนครราชสีมาทำหน้าที่ดูแลควบคุมหัวเมืองทั้งหมดภายในภูมิภาคอีสาน-ลาว รวมทั้งหัวเมืองประเทศราชเวียงจัน นครพนม และจำปาศักดิ์
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ (2539: 23-24) อธิบายว่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สยามเป็นศูนย์กลางที่มีอำนาจอยู่เหนือลาวและ เขมร เมื่อสยามชนะสงครามเหนือลาว แม่ทัพก็กวาดต้อนเชลยชาวลาวมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่สระบุรี โดยเฉพาะทศวรรษ 2320 สยามไปกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์ 5,000 คน เพื่อมาทำงานก่อสร้าง ความมั่งคั่งของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นยังดึงดูดผู้คนจากเขตแดนรอบ ๆ ให้อพยพเข้ามาอยู่ในสยามด้วย จนกระทั่งปลายทศวรรษ 2360 กองทัพสยามตีเวียงจันทน์แตก และได้กวาดต้อนเชลยศึกลาวเป็นจำนวนมากข้ามโขงมาตั้งถิ่นฐานฟากอีสานของสยาม
สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิตติอาษา และคณะ (2544: 54) อ้างถึงงานเขียนของนักวิชาการจากวิทยาลัยครูนครราชสีมา เสนอว่าเมืองนครราชสีมายังมีกลุ่มชาติพันธ์ยวน ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงแสนของอาณาจักรล้านนา พวกยวนเหล่านี้ถูกกวาดต้อนมาไว้ที่เสาไห้ (เขตสระบุรี) ใน สมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากนั้นพวกเขาได้ย้ายถิ่นฐานมาที่เมืองจันทึก หรืออำเภอสีคิ้วในปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ตามแนวลำตะคอง ในช่วงปี พ.ศ. 2364-2370 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์พยายามเป็นอิสระจากการปกครองของสยาม ท่านได้ยกกองทัพลงไปกวาดต้อนเชลยทั้งลาวและยวนที่สระบุรีกลับเวียงจันทน์ แต่ท่านก็พ่ายต่อกองทัพของสยาม เชลยชาวยวนจึงหลงเหลือและตั้งชุมชนอยู่ที่บริเวณจันทึกตั้งแต่นั้นมา
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2538: 15) บรรยายว่าคนลาวจากอีสานและในเขตลุ่มแม่น้ำโขงได้ถูกเจ้าเมืองนครราชสีมานำเข้ามาเป็นแรงงานทาสระหว่างช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งรัตน์โกสินทร์ (2367 – 2394) ด้วย จนพวกลาวและข่าตามหัวเมืองต่างๆ ในอีสานและลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจากเจ้าเมืองนครราชสีมาที่ทำหน้าที่ “ตีข่า” มาเป็นทาสแล้วเกณฑ์ส่วยและแรงงานส่งให้กรุงเทพ พวกลาวและข่าจึงหันไปพึ่งเจ้าอนุวงศ์
วิทยา อินทะกนก (2520: 10) เมื่อ พ.ศ. 2367 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ทูลสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ขอเอาครัวลาวที่สระบุรีกลับไปเวียงจันทน์ แต่ทรงไม่โปรดให้ ที่เมืองนครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาตั้งขุนแพงผู้เป็นขุนนางลาวที่เมืองปักธงไชยเป็นหลวงเพ็ชรสงคราม ภายหลังขุนนางลาวที่เมืองปักธงไชยมีส่วนช่วยเหลือพระเจ้าอนุวงศ์ยึดเมืองนครราชสีมา
จดหมายเหตุนครราชสีมา (อ้างในอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ, 2521: 3-6) คัดบอกในรัชกาลที่ 3 เล่ม 19 จ.ศ. 1188 แสดงถึงการเรียกชื่อเมืองนครราชสีมา ด้วยเรียกทั้ง “นครราชสีมา” และ “โคราช” แต่ยังไม่ระบุชัดว่าเป็นคำเรียกผู้คนหรือกลุ่มคน หรือไม่ก็มีทั้ง 2 ความหมาย คือหมายถึงทั้งชื่อเมืองและหมายถึงคนที่มาจากเมืองนั้น
“ข้าพเจ้า พญาปลัด พญายกกระบัตร หลวงพิชัย หลวงเมือง กรมการเมืองนครราชสีมา บอกลงมาว่า ด้วยอยู่ ณ วันเดือน 3 แรม 7 ค่ำ ปีจออัฐศก เจ้าเวียงจันทน์เข้ามาถึงเมืองนครราชสีมา เจ้าเวียงจันทน์ให้หาพญายกกระบัตร หลวงสัสดี หลวงเมือง หลวงนา หลวงนรา หลวงปลัดเมืองพิมายออกไป เจ้าเวียงจันทน์ว่ากับกรมการว่า ถ้าผู้ใดมิยอมไปด้วยเจ้าเวียงจันทน์จะฆ่าให้สิ้น แล้วจะกวาดเอาครัวขึ้นไปเวียงจันทน์ กรมการกลัวจึงยอมเข้าด้วยเจ้าเวียงจันทน์ เจ้าเวียงจันทน์ให้กองทัพไล่ครัวนอกเมืองในเมืองออกแล้วแต่งกองทัพคุมครัวยกไป ครั้นกรมการจะบอกข้อความลงมากลัวเจ้าเวียงจันทน์จะฆ่ากรมการจึงพาครอบครัวยกไปตั้งอยู่ ณ บ้านลุมเขา เจ้าเวียงจันทน์เก็บเอาปืนหลวงไปสิ้น ครั้ง ณ วันเดือน 4 ข้าพเจ้ามาแต่งบ้านจงกัน ข้าพเจ้าไปเฝ้าเจ้าเวียงจันทน์ ๆ ว่าครอบครัวยกไปแล้ว ให้ข้าพเจ้ายกไปตามครัว ณ เมืองเวียงจันทน์ ข้าพเจ้ายกไปทันครัว ณ บ้านปราสาท พญายกกระบัตร หลวงวัง หลวงนา หลวงนรา หมื่นศรีธนรัตน หลวงปลัดพิมาย เข้ามาหาข้าพเจ้ากับกรมการ ปรึกษาพร้อมกันให้ไล่ครัวเข้ามาตั้ง ณ บ้านสำริดแขวงเมืองพิมาย ข้าพเจ้ากรมการได้บอกข้อความให้ขุนพลถือลงมาบอกกองทัพยกขึ้นไปช่วย ก็หากองทัพยกขึ้นไปไม่ ครั้น ณ วันเดือน 4 แรม 8 ค่ำ เจ้าเวียงจันทน์ให้ยกกองทัพประมาณพันเศษไปตีชิงเอาครัวได้ 5000 เศษยกออกรบ ตีกองทัพเจ้าเวียงจันทน์แตก ข้าพเจ้ากรมการฆ่ากองทัพเจ้าเวียงจันทน์ตายประมาณ 100 เศษ ครั้น ณ วันเดือน 4 แรม 9 ค่ำ เจ้าเวียงจันทน์แต่งให้เจ้าสุทธิสาร บุตร คุมคนประมาณ 6000 เศษ ยกไปตีข้าพเจ้ากรมการอีก ข้าพเจ้ากรมการกับหมื่นศรีธนรัตน หลวงปลัดพิมาย พระณรงค์เดชะยกออกตีกองทัพเจ้าสุทธิสารแตก ข้าพเจ้ากรมการฆ่ากองทัพเจ้าสุทธิสารตายประมาณ 1000 เศษ ได้ปืนเชลยศักดิ์ 50 บอก ครั้งข้าพเจ้ากรมการพระหลวงขุนหมื่นจะยกเข้าตีเจ้าเวียงจันทน์เกลือกกองทัพเจ้าอุปราชเจ้าป่าสัก จะยกกองทัพมากวาดครัวไป ข้าพเจ้ากรมการจึงงดอยู่ คอยกองทัพหลวงขึ้นไป ข้าพเจ้ากรมการจึงบอกให้ขุนโอฐ หมื่นวอถือลงมารับพระราชทานกองทัพหลวงยกขึ้นไปโดยเร็ว ข้าพเจ้ากรมการกับหมื่นศรีธนรัตน หลวงปลัดพิมาย พระณรงค์เดชะ ยกเข้าตีบรรจบกัน ถ้าช้าเห็นจะเสียท่วงทีแก่เจ้าเวียงจันทน์ ข้าพเจ้ากรมการบอกมาให้ทราบ ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 11 ค่ำ ปีจออัฐศก”
คำเรียกว่า “โคราช” ที่มีความหมายว่าคนปรากฏในจดหมายเหตุนครราชสีมา คัดบอกในรัชกาลที่ 3 เล่ม 1 จ.ศ. 1189 (อ้างในอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ, 2521: 7) อย่างไรก็ตามยังคงมีความหมายได้ทั้ง 2 ความหมาย คือหมายถึงได้ทั้งคนและชื่อเมือง
“วันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุนนพศก (พ.ศ. 2370) พญาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่าบอกลงมาว่า พระเสนาพิพิธ เป็นผู้ช่วยราชการกรุงเก่า พานายช้าง มหาดเล็ก ซึ่งถือหนังสือบอกพญาสมบัติบาลกับนายจำรงนั้นนำขึ้นไปเฝ้าล้าเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ณ ค่ายขอนขว้าง กลับลงมาได้ความว่า ขุนพลให้หนังสือไปถึงค่ายเวียงจันทน์ว่า อ้ายเคอะมาหลงเชอะกวาดครัวโคราชอยู่ พวกเมืองเชียงใหม่เขายกไปกวาดครัวเมืองเวียงจันทน์ตื่นกันไปสิ้นแล้ว ทัพเมืองเวียงจันทน์ เลิกกลับไปจากโคราชแต่ ณ วันเดือน 4 แรม 14 ค่ำแล้ว ทิ้งข้าวของช้างม้าเสียเป็นอันมาก กำหนดล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จะได้ยกจากขอนขว้างขึ้นไปเมืองโคราช ณ วันเดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ เป็นแน่แล้ว”
“ครัวโคราช” ในสมัยนั้นน่าจะหมายถึงผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยถิ่นที่เมืองนครราชสีมา ดังปรากฏในสมุดไทยดำ ร.3 จ.ศ. 1207 เลขที่ 277 (อ้างในอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ, 2521: 31-32) สารตราถึงพระยาสุริยเดช พระพรหมภักดี พระพิไชย เมืองนครราชสีมา เรื่องนำตั้งอากรสุรา ความตอนหนึ่งว่า
“แลให้ขุนอินทรสมบัติต้มสุราจำหน่ายสุรา แก่ราษฎรแต่ในจังหวัดแขวงเมืองนครราชสีมาเมืองขึ้นนครราชสีมา 10 เมือง ห้ามอย่าให้ขุนอินทรสมบัติเอาน้ำสุราไปจำหน่ายล่วงแขวง และหัวเมืองอื่นนอกกว่า 10 เมืองนี้เป็นอันขาดทีเดียว และให้ผู้รักษาเมืองให้กรมการ หมายห้ามแขวงนายบ้านนายอำเภอ ราษฎร ไทย จีน ลาว ญวน ฉวงฉราย และอาณาประชาราษฎร์ให้ทั่ว อย่าให้ต้มเหล้าปิดตา ทำน้ำตาลส้ม น้ำตาลกระแช่ น้ำตาลมะพร้าว น้ำข้าวหมากดองเป็นเหล้ากิน และซื้อขายแก่กันเป็นอันขาดทีเดียว”
สายพิณ แก้วงามประเสริฐ (2538: 237-238) อ้างถึงผลงานปริวรรตเอกสารพื้นเวียงเมืองเวียงจันทน์ของทองพูล ศรีจักร ให้ภาพเหตุการณ์ชาวโคราชจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพลาวเจ้าเวียงจันทน์ โดยนับชาวโคราชในความหมายที่เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับ “คนไทย” มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“... หญิงชายพร้อมแจงกันเป็นหมู่ ถือค้อนโป้งปืนนั้นสู่คนเขาก็ตกตื่นเต้นปบแล่นสนสวาน มือถือปืนหอกทวนทั้งง้าว ... ครัวเยือกออกฟันเข้าสู่ภาย หั้นแล้วครัวก็ฟันแทงเข้าญิงชายพร้อมพร่ำ เขาก็ตีม้าล้อมระวังเข้าช่วยกัน เสียงปืนพร้อมกุมกันเค็งคื่น ... ไทยก็ตายมากล้นเสมอเพี้ยงดั่งเดียว หั้นแล้ว นับแต่กุมกันเข้ากลองงายใกล้เที่ยงจริงแล้ว ลาวก็ทนบ่ได้เลยเต้นแตกหนี ไทยก็ตียังม้านำแทงฝูงบ่าว คับท่งกว้างเสียงฮ้องดั่งความย หั้นแล้ว...”
อย่าไรก็ตาม ในมุมมองของบางกอกที่มีต่อคนเมืองนครราชสีมากลับมีความหมายว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกับลาว สุริยา สมุทคุปติ์ พัฒนา กิติอาษา ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล และจันทนา สุระพินิจ (2540: 143-145) อธิบายว่าในปี พ.ศ. 2434 รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำการปฏิรูปการปกครองต่อ “หัวเมืองลาว” ที่อยู่ใต้การปกครอง โดยได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองนครราชสีมา จากตอนนั้นเรียกว่า “ลาวฝ่ายกลาง” ให้เป็นชื่อ “ลาวกลาง” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสยามมองเมืองนครราชสีมาในฐานะ “ลาว” หรือคนที่ไม่ใช่สยาม แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2436 เมื่อสยามยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส สยามเริ่มสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ จึงทำให้กลุ่มคนชาติพันธุ์ลาวและกลุ่มอื่น ๆ เป็นคนชาติไทยบังคับสยาม
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 255-265) พ.ศ. 2418 รัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกองทัพกรุงเทพไปปราบฮ่อที่หนองคาย มีการพักทัพที่เมืองนครราชสีมาหลายคืน เหล่านายทหารและไพร่พลจำนวนมากได้เสียเป็นสามีภรรยากับหญิงสาวเมืองนครราชสีมา ซึ่งทิม สุขยางค์ หรือหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (2533) แต่งนิราศหนองคาย (พิมพ์ใหม่ร่วมกับบทวิเคราะห์ของสิทธิ ศรีสยามหรือจิตร ภูมิศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2533) เมื่อครั้งนายทิมทำหน้าที่เป็นทนายของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง แม่ทัพในกองทัพที่ยกไปปราบฮ่อ ได้บรรยายลักษณะของธรรมชาติ สังคม และผู้คน ของนครราชสีมา ซึ่งในภาพรวมนั้นแสดงถึงวิธีคิดของคนจากกรุงเทพฯที่ยังเรียกคนนครราชสีมาว่าเป็น “ลาว”
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 266-268, 270) บรรยายว่า พ.ศ. 2434 รัชกาลที่ 5 โปรดให้เมืองนครราชสีมา เมืองบุรีรัมย์ เมืองนางรอง และเมืองชัยภูมิ รวมเป็นมณฑลนครราชสีมา ตำแหน่งเจ้าเมืองเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการเมือง พระยากำแหงสงคราม (กาจ สิงหเสนี) เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมาคนแรก (พ.ศ. 2439-2444) ชาวเมืองนครราชสีมาได้เป็นคนชาติไทยบังคับสยามหัวเมืองในมณฑลนครราชสีมามี 4 บริเวณ คือเมืองนครราชสีมา เมืองพิมาย เมืองปักธงชัย เมืองนครจันทึก รวมเรียกว่าเมืองนครราชสีมา
วิทยา อินทะกนก (2520: 5-6, 14-15) บรรยายถึงการผนวกรวมคนเมืองโคราชให้เป็นคนชาติไทยว่ายังรวมถึงการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือให้ประชาชนในรัชกาลที่ 5 โรงเรียนหลวงแห่งแรกเรียกว่าโรงเรียนตัวอย่าง ตั้งขึ้นในวัดกลาง ต่อมาราว พ.ศ. 2456 จึงย้ายมาตั้งที่ศาลากลางเก่าและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประจำมณฑล เมื่อพ.ศ. 2471 มีนักเรียนหญิงร่วมเรียน จนต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสุรนารีเมื่อพ.ศ.2476 รวมทั้งการดำเนินการเชิงสัญลักษณ์ในการผนวกรวมเมืองนครราชสีมาเข้ากับ “ไทย” ที่บางกอก คือการตั้งชื่อถนนด้วยชื่อเจ้านายข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 เช่น ถนนสรรพสิทธิ์ ถนนอัษฎางค์ ถนนประจักษ์ ถนนมหาดไทย ถนนยมราช ถนนจักรี ถนนจอมพล เป็นต้น รวมทั้งถนนจอดสุรางค์ยาตรก็เป็นถนนเสด็จราชดำเนินของพระศรีพัชรินทร์บรมราชินีพระพันปีหลวงคราวเสด็จประพาสทอดพระเนตรปราสาทหินพิมายเมื่อ พ.ศ. 2454
สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ (2540: 132-133) บรรยายว่าภายใต้กระบวนการสร้างรัฐชาตินั้น การทำให้ทุกชาติพันธุ์เป็นคนไทยต้องต่อสู้กับวิธีคิดเดิมของคนบางกอก ที่ยังมองคนเมืองนครราชสีมาเป็น “คนอื่น” อัตลักษณ์ของคนโคราชที่เกิดขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มวัฒนธรรมภาคกลางและภาคตะวันออ กมากกว่ากลุ่มวัฒนธรรมลาวหรือ ไทยอีสาน ความเป็นคนโคราชนี้แสดงด้วยอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมอาหาร คนโคราชบางแห่งแสดงตัวตนว่าไม่ใช่ไทย แต่ก็ไม่ใช่ลาว คนโคราชทั่วไปจะกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ไม่เหมือน “ลาว” ซึ่งกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก รวมทั้งคนโคราชมีสำเนียงภาษาที่เรียกว่า “ภาษาโคราช” แสดงถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในแถบภาคกลาง และภาคตะวันออก มากกว่าการใกล้ชิดกับลาวและอีสาน
จากชาติพันธุ์อันหลากหลายกลายเป็นนามสกุลบอกถิ่นฐาน
องอาจ สายใยทอง (2546: 18) อ้างหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา (2540) แบ่งกลุ่มคนนครราชสีมาเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มสังคมเก่า หรือกลุ่มไทยโคราช เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด ใช้ภาษาไทยภาคกลางและภาษาไทยโคราช ซึ่งมีสำเนียงเพี้ยนน้ำเสียงค่อนข้างห้วน สั้น กร่อนเสียง คำพื้นฐานทั่วไปตรงกับไทยภาคกลาง แต่มีบางคำใช้ภาษาอีสานปะปน ชาวไทยโคราชตั้งภูมิลำเนาในจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นบางอำเภอที่มีชาวไทยอีสานมากกว่า เช่น บัวใหญ่ สูงเนิน
2. กลุ่มชาวไทยอีสาน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมทั่วไปเป็นแบบกึ่งไทย-ลาว ภาษาที่ใช้คือภาษาไทยอีสาน (ไทย-ลาว) มีชุมชนมากในอำเภอบัวใหญ่ อำเภอห้วยแถลง อำเภอชุมพวง และอำเภอสีคิ้ว
3. กลุ่มสังคมใหม่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาใหม่ มีภาษาและวัฒนธรรมตามกลุ่มชาติพันธุ์เดิม ประกอบด้วยกลุ่มเขมร มอญ ยวนพุงดำ จีน ยวนบน(ญัฮกุร) ส่วย(กุย) แขกซิกข์
ถาวร สุบงกช (2521: 63) ชี้ให้เห็นว่าคนโคราชยังไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันทั้งหมด เพราะหลายชุมชนยังคงปรากฏรากทางวัฒนธรรมของหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชื่อเรียกชุมชนที่เป็นตัวบ่งบอกความเป็นชาติพันธุ์ เขาบรรยายว่า “ภายในกำแพงเมืองมีบ้านน่าสนใจอยู่คือ บ้านสวนข่า (บ้านข่า) บ้านญวน บ้านมอญ ภายนอกเมืองทางทิศใต้มีบ้านศก (บ้านเขมร) บ้านลาวก็มีบ้านตะคุ คืออำเภอปักธงชัย เป็นลาวชาวเวียงจันทร์ บ้านสันเทียะ คืออำเภอโนนลาว (เปลี่ยนเป็นโนนไทยภายหลัง) ที่อำเภอจันทึก (สีคิ้ว) เป็นลาวพวน บ้านพุทรามี 2 บ้าน คือพุทรามอญ และบ้านพุทรากะซอน”
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 284-287) บรรยายว่าหลัง พ.ศ. 2456 ชาวโคราชมีนามสกุลตามประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล สมัยรัชกาลที่ 6 นามสกุลของคนโคราช สมัยแรก ๆ มีลักษณะพิเศษบ่งชี้ภูมิประเทศของถิ่นกำเนิดเป็นสำคัญ เป็นชื่ออำเภอของผู้เป็นต้นสกุลต่อท้ายนามสกุล เช่น
“กลาง” เป็นชื่ออำเภอกลาง ปัจจุบันอำเภอโนนสูง
“ขุนทด” เป็นชื่อด่าน มีขุนทดเป็นผู้ปกครองดูแล ปัจจุบันคืออำเภอด่านขุนทด
“จันทึก” เป็นชื่อเมืองหน้าด่าน ปัจจุบันคืออำเภอสีคิ้ว
“ไธสง” เป็นชื่อเมืองพุทธไธสง ปัจจุบันคืออำเภอพุทธไธสง จังหวัดบุรีรัมย์
“นอก” เป็นชื่อด่าน ปัจจุบันคืออำเภอบัวใหญ่
“สันเทียะ” เป็นชื่อแขวง
“สูงเนิน” เดิมเรียกเมืองเสมา ปัจจุบันคืออำภอสูงเนิน
ธีรภาพ โลหิตกุล (2551: 110-111) อ้างถึงงานของนฤมล ปิยวิทย์ และสัมภาษณ์พิศ ป้อมสินทรัพย์ สองนักวิชาการท้องถิ่น ซึ่งชี้ว่าคนโคราชนิยมตั้งนามสกุลจากฐานภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ เช่น
“กระโทก” เป็นชื่อมาจากอำเภอโชคชัย
“สันเทียะ” มีถิ่นฐานอยู่อำเภอโนนไทย (ในอดีตชื่อโนนลาว)
“กลาง” เป็นชื่อเรียกเดิมของอำเภอกลาง คือคนที่มีถิ่นฐานอยู่อำเภอโนนสูงและขามสะแกแสง
“จะโป๊ะ” คือคนที่มีถิ่นฐานอยู่อำเภอปักธงชัย
นอกจากนี้บางนามสกุล เช่น “โพธิ์กลาง” และ “ในเมือง” ก็เป็นชื่อเรียกที่ผูกพันกับแต่ละท้องถิ่นในนครราชสีมา
วิทยา อินทะกนก (2520:5) ระบุว่า “จอหอ” เป็นชื่อด่าน (ปัจจุบันเป็นตำบลจอหอ) เช่นเดียวกับด่านขุนทด ด่านจาก ด่านเกวียน ด่านกระโทก ด่านสะแกราช เป็นต้น ซึ่งหลายนามสกุลที่ลงท้ายด้วยชื่อด่านเหล่านี้
จาก “ลาว” และ “คนอื่น” เป็น “คนโคราช” และ “หลานย่าโม”
สายพิน แก้วงามประเสริฐ (2538: 58, 72) บรรยายว่าในทศวรรษ 2470 เครื่องมือสร้างชาติของรัฐบาลคณะราษฎร ผลงานของรัฐบาลคณะราษฎรที่ปรากฏในจังหวัดนครราชสีมาที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง คืออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของสามัญชนที่จงรักภักดีต่อชาติ มันเป็นการเชื่อมโยงอำนาจในกรุงเทพกับคนท้องถิ่นในทางสัญลักษณ์ อนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารีถูกเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2477 โดยมีนัยสำคัญต่อเหตุการณ์รัฐบาลคณะราษฎรได้ปราบปรามกบฏฝ่ายกษัตริย์คือเจ้าบวรเดช ซึ่งนำตั้งฐานกำลังที่เมืองนครราชสีมา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เหตุการณ์นี้ทำให้ข้าราชการพลเรือนและทหารของจังหวัดนครราชสีมาจำนวนมากถูกสอบสวนและลงโทษในฐานที่ร่วมมือกับฝ่ายกบฏ ส่วนเรื่องของท้าวสุรนารีนั้นเดิมเป็นรูปสถูปเจดีย์เล็ก ๆ สำหรับบรรจุอัฐิ ตั้งอยู่ที่วัดกลาง หรือวัดพระนารายณ์ ซึ่งเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สายพิน แก้วงามประเสริฐ จึงวิเคราะห์ว่าอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารีที่สร้างอยู่กลางเมืองเกี่ยวข้องกับการเมืองของคณะรัฐประหารปี พ.ศ. 2475 ที่มาจากฝ่ายสามัญชน อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นทั้งอนุสาวรีย์ของสามัญชนแห่งแรกและเป็นอนุสาวรีย์ของสตรีแห่งแรก ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลคณะราษฎรในการโฆษณาเพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของคนนครราชสีมา จากกบฏให้กลายเป็นผู้จงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ (เพิ่งอ้าง: 60-64) ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2476 รัฐบาลเวลานั้นได้จัดงานทำขวัญเมืองเพื่อเรียกกำลังใจและเปลี่ยนความรู้สึกของคนโคราช จากความรู้สึกว่าตนเป็นกบฏมาเป็นความรู้สึกว่าตนเป็นผู้รักชาติ รัฐบาลได้ทำพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และพิธีวางพวงมาลาสักการะสถูปของท้าวสุรนารี (เพิ่งอ้าง: 67) แต่ผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับการตกแต่งกู่บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี (เพิ่งอ้าง: 73) ต่อมาพระยากำธรพายัพทิศ ข้าหลวงจังหวัด ได้ริเริ่มขอรัฐบาลก่อสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยให้มาตั้งอยู่ที่หน้าประตูชุมพล อันเป็นสถานที่ที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมาสามารถเห็นความสง่าของเธอได้สะดวก อนุสาวรีย์ถูกทำพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 16 มกราคม 2477และได้รับการกระจายข่าวโดยหนังสือพิมพ์ระดับชาติเพื่อเชิญชวนคนมาร่วมเฉลิมฉลอง มีการลดค่ารถไฟจากกรุงเทพมายังนครราชสีมา (เพิ่งอ้าง: 76-77)
สายพิน แก้วงามประเสริฐ (2538: 62, 67) อ้างคำแถลงการณ์ของกองทหารแห่งรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานวิทยานิพนธ์ของนิคม จารุมณี (2519) ว่า
“พระองค์เจ้าบวรเดช (...) ได้หลอกลวงทหารโคราชให้ต่อสู้กับทหารของรัฐบาล (...) ชาวโคราชหลงเข้าใจผิด (...) แต่บัดนี้ไปขอให้ประชาชนชาวโคราชซึ่งได้ถูกพวกกบฏหลอกเสียจนงวยงงจงเชื่อแต่คำประกาศและคำแถลงการณ์ของรัฐบาลเท่านั้น (...)” และยกรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์หลักเมืองฉบับวันที่ 21 พฤศจิการยน พ.ศ. 2476 ว่า “(...) งานฌาปนกิจศพชาวนครราชสีมาซึ่งต้องเสียชีวติไปในสนามรบเพราะถูกพวกหัวหน้ากบฎหลอกลวงมาสู้รบกับฝ่ายรัฐบาล (...) โดยเริ่มตั้งศพทหารชาวนครราชสีมา ณ สนามหน้าที่ว่าการจังหวัดทหารบกนครราสีมาที่ตั้งศพนี้จัดอย่างวิจิตรพิสดารและดูงามตายิ่งนัก เกือบจะกล่าวได้ว่าทหารนครราชสีมาไม่เคยได้รับเกียรติยสอย่างสูงในเมื่อสิ้นชีวิตอย่างนี้เลย (...)”
จากงานที่สายพิน แก้วงามประเสริฐ อ้างถึง จะเห็นว่าคำว่า “ชาวโคราช” ถูกใช้เรียกแทนคนเมืองนครราชสีมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ชาวนครราชสีมา” ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ได้บ่งชี้ถึงเรื่องชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงผู้คนต่างชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันที่เมืองนครราชสีมา
สายพิน แก้วงามประเสริฐ (2538: 98) ยังบรรยายถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ามีการรณรงค์เรื่องชาตินิยมเพื่อเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจากฝรั่งเศส รัฐบาลได้เผยแพร่แนวคิดชาตินิยมในความหมายของท้าวสุรนารี ด้วยเพลงปลุกใจ ชื่อเพลง “ราชสีมา” ซึ่งแต่งขึ้นโดยหลวงวิจิตรวาทการ ในปี 2479 ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกนำไปร้องในกิจกรรมต่างๆ ภายในจังหวัด และมันยังถูกใช้เป็นเพลงประจำจังหวัดมาจนถึงทุกวันนี้ (เพิ่งอ้าง: 172) ความทรงจำในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีย้ำถึงเหตุการณ์กบฎเจ้าอนุวงศ์ที่ท้าวสุรนารีได้ต่อสู้กับทหารเวียงจันทน์จนทหารลาวพ่ายแพ้ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามขจัดการแบ่งแยกว่าเป็นคนไทยอีสาน คนไทยกลาง คนไทยเหนือ หรือใต้ แต่ให้ทุกคนมีสำนึกของความเป็นไทยเหมือนกัน (เพิ่งอ้าง: 122) หรือแม้แต่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2502-2506) ซึ่งปลุกชาตินิยมผ่านประวัติศาสตร์วีรกรรมท้าวสุรนารีซึ่งเกี่ยวพันกับการต่อสู้ระหว่าง “ความเป็นไทย” และ “ความเป็นลาว” (เพิ่งอ้าง: 107)
แม้รัฐศูนย์กลางได้ดำเนินนโยบายของการสร้างความเป็นคนไทย แต่การกลืนกลายเป็นไทยไม่ค่อยได้ลบเลือน “ความเป็นอื่น” ของคนโคราชเท่าใดนัก ความรับรู้ต่อคนโคราชทั้งที่มาจากสายตาของคนอื่นและของคนโคราชเองนั้นแสดงให้เห็นความไม่เป็นไทยในคนโคราช วิทยา อินทะกนก (2520: 14) มีเรื่องเล่าว่าเด็กนักเรียนที่ไปเรียนกรุงเทพมักวางมวยกัยเพื่อนบ่อย ๆ เพราะถูกเย้ายั่วว่าเป็น “หมูโคราช” บ้าง “ลาวโคราชบ้าง”
หลังจากความเชื่อเกี่ยวกับท้าวสุรนารี ได้พัฒนาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองชาวนครราชสีมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 2530 วิกฤติการณ์ร้ายเกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา อย่างน้อย 2 เหตุการณ์คือ เขื่อนมูลบนกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะพังในเดือนตุลาคม 2533 และโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มในเดือนสิงหาคม 2536 เรื่องปาฏิหารย์เกี่ยวกับท้าวสุรนารีได้รับการกล่าวขวัญ (เพิ่งอ้าง: 137-138) รวมทั้งคนท้องถิ่นเน้นความหมายของท้าวสุรนารีในฐานะบรรพบุรุษและเรียกท้าวสุรนารีว่า “ย่าโม” และเรียกตัวเองว่า “ลูกย่าโม” และ “ห
การแต่งกายของไทยโคราชในปัจจุบันนั้นจะเป็นไปตามสมัยนิยม หากมีงานบุญงานพิธีต่าง ๆ จึงจะสวมเสื้อผ้าตามอัตลักษ์ โดยสวมเสื้อแขนกระบอก ซิ่นไหม หรือซิ่นผ้าย ตามแต่พื้นที่ โดยเฉพาะซิ่นไหมหางกระรอกเมืองโคราชนั้นนับว่าเลื่องชื่อ มีการถักทอและสวมใส่กันมาแต่อดีต อันเป็นภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบต่อกันมา ผ้าไหมโคราชมีลักษณะกรรมวิธีการผลิตแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือประเภทหัตถกรรม ได้แก่ ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่ข้อ ผ้าไหมลูกแก้ว ฯลฯ ชาวไทยโคราชทอผ้ากันทุกอำเภอ หากแต่ลดเหลือน้อยลงเนื่องจากคนรุ่นใหม่ออกไปทำงานนอกบ้าน ยังคงเหลือแต่ผู้แก่ผู้เฒ่าที่ยังคงทอผ้ากันอยู่ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มของผู้หญิงเป็นกลุ่มอาชีพที่หน่วยงานราชการเข้ามาส่งเสริมกิจกรรมการทอผ้า โดยมีแหล่งผลิตสำคัญแถบ อำเภอบัวใหญ่ อำเภอประทาย อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอเสิงสาง อำเภอห้วยแถลง อำเภอสีดา อำเภอบัวลาย ในส่วนของประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ ผ้าไหมลายประยุกต์ ผ้าไหมพิมพ์ลาย ผ้าไหมพื้นเรียบ การแปรรูปผ้าไหม โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่อำเภอปักธงชัย
รูปแบบการแต่งกายในอดีตนั้น องอาจ สายใยทอง (2546: 18) อธิบายการแต่งกายของไทโคราชว่าผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้าหรือกางเกงสายรูด เสื้อคอกลม ผู้หญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบทับเสื้อ เวลาอยู่บ้านนิยมใช้ผ้าผืนเดียวคาดอก ส่วนธีรภาพ โลหิตกุล (2551: 113) อธิบายว่าสตรีไม่นิยมนุ่งซิ่นเหมือนชาวอีสาน แต่นิยมนุ่งโจงกระเบนผ้าไหมพื้นลายหางกระรอก เป็นลายเฉพาะคนโคราชที่แตกต่างจากโจงกระเบนของคนภาคกลาง รวมทั้งสุนทรี ศิริอังกูร (2555: 10) ที่ระบุว่าไทโคราชนุ่งผ้าโจงกระเบนตามแบบอยุธยาทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผ้าหางกระรอกถือเป็นผ้าโจงกระเบนชั้นดี คือผ้าไหมพื้นเส้นพุ่งเป็นเส้นไหมควบ เมื่อทอแล้วจะทำให้เกิดลูกลายเหมือนพวงหางกระรอก เมื่อไปวัดหรือไปทำบุญ ผู้หญิงสวมเสื้อผ่าหน้าแขนกระบอก ผู้ชายสวมเสื้อคอพวงมาลัย และมีผ้าสไบ เฉวียงไหล่ทั้งหญิงและชาย ส่วนชุดอยู่กับบ้าน ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะสวมเสื้อก้ะแล่ด (ปักกะแหล่ง) นุ่งผ้าโจงกระเบน ผู้ชายไม่สวมเสื้อ อาจนุ่งกางเกงสายรูดหรือผ้าขาวม้าลอยชาย เรื่องทรงผมนั้นผู้ชายตัดผมสั้น ผู้หญิงตัดผมทรงดอกกระทุ่ม
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (2562) บรรยายว่าผู้หญิงจะสวมเสื้อลายคล้องไหล่ หรือเป็นเสื้อคอกระเช้า ดอกกระโจมหรืออีแปะ ใช้ผ้าขาวม้าคาดพุงเรียก “เคียนพุง” และใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่แทนสไบ บางคนนิยมที่จะสะพายย่าม นุ่งผ้าโจงกระเบนสีเข้ม หรือผ้าไหมหางกระรอก คาดเข็มขัดเงิน ทอง หรือนาค นิยมใส่ตุ้มหูมากกว่าสร้อยหรือแหวน หญิงสูงอายุจะนุ่งโจงกระเบน ส่วนวัยกลางคนนุ่งผ้าถุง เสื้อคอกระเช้า ผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงขาก๊วย ทั้งขาสั้นและขายาว หากอยู่บ้านอาจนุ่งผ้าถุง ไม่สวมเสื้อ หากต้องไปในงานพิธี ผู้สูงอายุจะนุ่งผ้าไหมโจงกระเบน สวมเสื้อสีขาว คอกลม หรือผ่าหน้าติดกระดุม หากออกนอกบ้านจะแต่งตัวเรียบร้อย สวมเสื้อมีคอปกฮาวาย หรือคอปกเชิ้ต มีผ้าขาวม้าพาดบ่าเหมือนสไบ หรืออาจสะพายย่ามใช้เก็บสิ่งของ
องอาจ สายใยทอง (2546: 18, 29) อธิบายว่าการตั้งหมู่บ้านและบ้านเรือนของคนโคราชนิยมรวมกันเป็นกลุ่ม ตั้งอยู่ตามลำแม่น้ำ เรือนมีใต้ถุนสูง หลังคาหน้าจั่วแบบเรือนไทย ฝาเรือนใช้ฝากระดานกั้นด้านตั้ง แล้วใช้กระดานแผ่นเล็ก ๆ ปิดทับตามแนวต่อของฝากระดาน ตัวบ้านมีชานต่างระดับ ใช้เป็นที่รับแขก หรือใช้นั่งล้อมวงรับประทานอาหาร บางบ้านใช้เป็นที่นั่งทำงาน เช่น จักสาน ตัวบ้านจะกั้นห้องนอน ประมาณ 1-2 ห้อง โดยใช้ตู้เสื้อผ้าเป็นฝากั้นแบบง่าย ๆ บริเวณใต้ถุนมักเป็นที่เก็บของ หรือมีแคร่ไว้นั่ง ส่วนเรือนแบบใหม่มักเป็นแบบติดพื้นดิน มี 2 ชั้น ชั้นล่างทำด้วยอิฐฉาบปูน ใช้เป็นพื้นที่รับแขก นั่งเล่น มีโองน้ำรองน้ำฝนไว้ดื่มกิน ชั้นบนทำด้วยไม้แผ่นเป็นส่วนห้องนอน นอกจากนี้ในชุมชนเมืองพบว่ามีบ้านแบบตึกดินซึ่งใช้โครงไม้ แต่ฝาเรือนใช้ดินต่อเรียงกัน แล้วฉาบด้วยปูนขาว
ทิม สุขยางค์ (2533: 198) บรรยายว่าลักษณะบ้านเรือนที่เป็นร้านค้าในเมืองนครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีผนังเป็นอิฐดินทาสีแดง หลังคามุงด้วยหญ้าแฝก ขณะที่พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ (2552ก: 69-70) กล่าวถึงลักษณะบ้านเรือนร้านค้าในเมืองช่วงทศวรรษ 2500 ว่าเป็นตึกปูนสูงสองชั้น หลังจากนั้นก็ถูกสร้างเป็นตึกสามชั้นติดกันห้าคูหา เป็นที่ทำการของธนาคารและร้านขายผ้าไหม สินค้าพื้นเมือง
สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 11) กล่าวว่าคนโคราชนิยมปลูกเรือนใต้ถุนสูงราว 2 เมตร รูปทรงอาคารเป็นรูปหน้าจั่ว พื้นเรือนมี 3 ระดับ ระดับบนสุดเป็นเรือนนอนและมีห้องสำหรับรับแขก ระดับลดหลั่นในระดับสองเรียกว่าระเบียง เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมอเนกประสงค์ และระดับสามคือชานสำหรับพาดบันไดหรือเชื่อมต่อไปยังเรือนครัว ร้านน้ำ ใต้ถุนจะให้เป็นคอกวัว เก็บเกวียน เครื่องมือทำนา หรือเล้าไก่ และทอผ้า เป็นต้น
การุณย์ ศุภมิตรโยธิน (2562) บรรยายว่าลักษณะเรือนของคนโคราชมีองค์ประกอบและรายละเอียดใกล้เคียงกับเรือนไทยภาคกลาง เรือนของคนโคราชส่วนใหญ่ยกพื้นสูง เป็นเรือนเดี่ยวใต้ถุนโล่ง หลังคาทรงจั่วที่มีความชัน ตัวเรือนแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 4 ส่วน คือ เรือนนอน ระเบียง นอกชาน และครัว ถ้าครอบครัวมีลูกหลานญาติพี่น้องเพิ่มมากขึ้น หรือมีฐานะมั่นคงดีขึ้น จึงต่อเติมพื้นที่ใช้สอย จากเรือนเดี่ยวเป็นเรือนแฝด เรือนสามจั่ว หรือต่อเติมลักษณะอื่น ๆ เรือนแฝดประกอบด้วยเรือนนอน เรือนจั่วหลังที่สองเป็นโถงโล่งที่มีระดับพื้นต่ำกว่าเรือนนอน ส่วนเรือนจั่วหลังที่สามอาจเป็นโถงโล่ง หรือกั้นฝาเป็นเรือนนอนอีกหลังหนึ่งที่มีระดับความสูงของพื้นเท่ากับเรือนนอนหลังแรก ลักษณะของการก่อสร้างของเรือนโคราชมักไม่มีการยึดหรือตอกด้วยตะปู แต่จะนำแผ่นไม้แต่ละแผ่นมาประสานกันด้วยวิธีการเข้ารางลิ้น สอดสลักเดือย
การุณย์ ศุภมิตรโยธิน อธิบายโครงสร้างของเรือนจากตัวอย่างบ้านที่จัดแสดงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประกอบด้วยสามส่วน คือส่วนเดี่ยล่าง ส่วนเดี่ยวบน และส่วนเครื่องบน ส่วนเดี่ยวล่าง คือโครงสร้างส่วนพื้น ก่อสร้างด้วยระบบเสาคาน โดยตั้งเสาฝังลงดิน แล้วสอดรอดคานเชื่อมเสาสองต้นด้านสกัดซ้ายและขวาเข้าด้วยกัน ตลอดแนวทั้งสี่แถว ช่างจะวางรอดยื่นเลยออกมาจากแนวเสาประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อวางพรึงและเพิ่มความแข็งแรง จากนั้นจึงวางขื่อสวมลงบนหัวเทียนบริเวณปลายเสาเพื่อล็อคเสาช่วงบนให้มั่นคง วางพรึงด้านยาวบนรอดและวางพรึงด้านสกัดทั้งสองด้าน ซึ่งจุดที่พรึงด้านยาวและด้านสกัดมาบรรจบกันจะบากไม้เข้าเดือยรับกันพอดี พรึงทำหน้าที่ยึดช่วงล่างส่วนพื้นเรือนให้แน่น และช่วยรับแผงฝาทุกด้าน เมื่อวางพรึงครบทุกด้านแล้วจึงวางไม้ตงตามแนวยาวของเรือนเป็นระยะ แล้วจึงวางแผ่นกระดานพื้นตามแนวขวางทับลงไป การวางไม้ตงและแผ่นกระดานพื้นนี้จะไม่มีการตอกด้วยตะปู
ส่วนเดี่ยวบน คือองค์ประกอบส่วนฝาเรือน ฝาแต่ละแผงวางบนพรึงและยึดช่วงบนด้วยเต้าที่สอดทะลุเสาช่วงบนออกไปยึดแผงฝาและไม้เชิงกลอน หรือเชิงชาย โดยรอบ
ส่วนเครื่องบน คือ องค์ประกอบส่วนโครงหลังคา ประกอบด้วย โครงจั่ว หน้าจั่ว วัสดุมุงหลังคา และส่วนอื่น ๆ เช่น เต้า เชิงชาย ตะพานหนู รางน้ำ รวมถึงขื่อคัดและตุ๊กตา ซึ่งเป็นโครงสร้างหลังคาส่วนโถงกลาง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา (2560) ฉายภาพให้เห็นว่าเรือนของคนโคราชเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง หลังคนจั่วทรงสูง โดยทั่วไปวางเรือนตามตะวัน หันด้านสกัดของเรือนนอนไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก จำแนกประเภทได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ เรือนสองห้องและเรือนสามห้อง เรือนสองห้องประกอบด้วยเรือนนอนขนาดสองช่วงเสา มีพื้นที่ที่ต่อจากด้านสกัดของเรือนนอนอีกหนึ่งช่วงเสา แล้วเป็นระเบียง นอกชานและครัว เรือนสามห้อง มีเรือนนอนยาวขนาดสามช่วงเสา มีหลายรูปแบบ เช่น แบบเรือนระเบียง ประกอบด้วยเรือนนอน ระเบียง นอกชาน และครัว เรือนสองจั่วเป็นเรือนที่มีหลังคาสองจั่วต่อเนื่องกัน เรือนจั่วแรกเป็นเรือนนอน ส่วนเรือนจั่วที่สองเป็นโถงโล่งที่ตีฝาปิดรอบเพียงสามด้าน โครงสร้างพื้นและหลังคาจั่วที่สองจะฝากกับโครงสร้างของเรือนนอน บริเวณที่จั่วทั้งสองของเรือนนอนมาชนกันมักจะติดตั้งรางน้ำฝนตลอดแนว มีการแบ่งพื้นที่เป็นหลายระดับ เรียกว่า พักต่ำและพักบน เรือนสามจั่วเป็นเรือนที่มีการสร้างสามจั่วต่อเนื่องกัน แบ่งเป็นสามระดับคือเรือนนอน พักต่ำและพักบน เอกลักษณ์ของเรือนของคนโคราชคือฝา คือเป็นฝาสำเร็จรูป ลักษณะเป็นแผงฝาซึ่งยกขึ้นประกอบติดตั้งกับโครงสร้างเรือน มี 3 แบบ คือแบบที่หนึ่ง ฝาปรือกรุเซงดำ โดยการนำปรือ (พืชตระกูลกก) สอดเบียดกันแน่น แล้วประกบด้วยไม้ไผ่ผ่าเสี้ยวรมควัน และทาน้ำมันยางจนดำทั้งด้านนอกและด้านในเพื่อป้องกันมอดและแมลง ชาวบ้านจึงเรียกเซงดำ ปลายไม้ไผ่สอดเข้าลูกตั้งไม้จริง วางห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร โดยเซาะร่องให้โค้งรับกับรูปร่างของไม้ไผ่ทั้ง 2 ท่อน ทำให้หนีบต้นปรือไว้แน่น แบบที่สอง ฝาเข้าลิ้นไม้ซ้อนเกร็ดแนวนอน ไม่มีการยึดหรือตอกด้วยตะปู แต่นำไม้กรุฝามาสอดเข้ากับเคร่าตั้งด้วยวิธีการเข้ารางลิ้น ประกอบเป็นแผงฝา ตกแต่งช่วงล่างด้วยร่องตีนช้าง แบบที่สาม ฝากระดานตีนอนซ้อนเกร็ด วางแผ่นไม้ตามแนวนอนในกรอบไม้ แล้วตีไม้แนวตั้งทับเกร็ดเป็นช่วง ๆ เป็นแนวตรงกันทั้งด้านนอกและด้านใน บางแผงอาจตกแต่งช่วงล่างด้วยร่องตีนช้าง แผ่นกระดานไม้เข้าตั้งยึดกันด้วยตะปูขนาดเล็ก ประตูของเรือนมักเป็นบานคู่ขนาดเล็ก อาจมีการแกะสลักวงกบ อกเลา และดอกจัน บานประตูจะเปิดเข้าภายในเรือน ใช้เดือยเป็นจุกหมุนบนล่างแทนบานพับ นิยมเจาะหน้าต่างบนแผงฝาด้านยาว แผงฝาละหนึ่งช่อง ไม่นิยมเจาะแผงฝาด้านสกัด มักมีหน้าต่งขนาดเล็กและแคบ เปิดบานหน้าต่างเข้าในเรือน เจาะธรณีหน้าต่างเพื่อใส่กลอน แล้วนำไม้แผ่นแบนเสียบในรูที่เจาะไว้
สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 10) อธิบายภาพรวม ๆ ว่าคนไทโคราชรับประทานข้าวเจ้า กับข้าวมีน้ำพริกและผักจิ้ม มีต้มแกงจากพืชผักตามฤดูกาล ต้มแกงจะมีปลาสดหรือปลาย่างเป็นเหมือด(ผสมกับพืชผัก) ปรุงรสด้วยปร้า(ปลาร้า) คนไทโคราชจะรับประทานอาหารที่มีผักปลาไปตามฤดูกาล ทุกท้องถิ่นมีขั่วหมี่ แกงหมี่ อาหารของไทโคราชแต่ละท้องที่มีรายละเอียดแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น บ้านโคก บ้านดอน บ้านทุ่ง มีพืชผักและสัตว์ที่เป็นอาหารหลากชนิดต่างกันออกไป คือบ้านโคกบ้านดอนมียอดย่างในเดือนสาม บ้านทุ่งมีดอกตะเกียดเอาไว้ต้มจิ้มน้ำพริก วัฒนธรรมกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักทำให้การนิยามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แตกต่างจากลาวอีสาน
แต่ทิม สุขยางค์ ผู้แต่งนิราศหนองคายไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็นทนายของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง แม่ทัพในกองทัพที่ยกไปปราบฮ่อ ได้บรรยายลักษณะอาหารของคนโคราช โดยเขาไม่แบ่งแยกลักษณะทางชาติพันธุ์ของไทโคราชกับลาว ดังนั้นแม้แต่คนกินข้าวเหนียวก็นับรวมว่าเป็นคนโคราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขามองเห็นว่าคนโคราชที่เขาพบเป็นพวกยากไร้
“พอข้ามลำตะคองถึงสองเนิน
ดูน่าเพลินวัดมีพร้อมวิหาร
ในใจฉันบันเทิงเริงสำราญ
เห็นมีบ้านไม่น้อยหลายร้อยเรือน
มองเห็นลาวหญิงชายนั่งรายเรียง
ถือข้าวห่อนั่งเคียงอยู่กลาดเกลื่อน
แถวยาวนั่งตั้งจิตไม่คิดเชือน
พอช้างเคลื่อนถึงที่ลงอยู่ตรงกัน
(...)
พวกกองทัพรับเอาห่อข้าวเหนียว
วิ่งกรูเกรียวยินดีเสี่ยงมี่ฉาว
แก้ดูกันออกสอข้าวห่อลาว
เกลือสินเธาว์มีอยู่ริมให้จิ้มกิน (ทิม สุขยางค์, 2533: 182)
ครั้นถึงหนองเป็ดน้ำมีน้ำจืด
วิปริตแปรปรวนดูผวนผัน
นกเป็นน้ำดีเหลือหนอเนื้อมัน
ในใจฉันอยากกินด้วยยินดี
(...)
ซึ่งคนเหล่าชาวบ้านแถวย่านนั้น
บ้างชวนกันจัดเอาซึ่งข้าวของ
บ้างมันต้มจิ้มน้ำตาลใส่พานรอง”
คอยนั่งมองตั้งใจให้เจ้าคุณ (เพิ่งอ้าง: 187 )
ธีรภาพ โลหิตกุล (2551: 111-115) สัมภาษณ์กมลทิพย์ กสิภาร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ได้อธิบายว่าคนโคราชกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ไม่ใช่ข้าวเหนียว นิยมนำปลาร้ามาปรุงอาหาร น้ำพริกปลาป่นหรือน้ำพริกปลาผงปรุงให้มีกลิ่นหอมด้วยปลาร้า และขั่วหมี่หรือ หมี่โคราช อาหารโคราชที่หายากในปัจจุบันคือ “ข้าวแผะ” สำเนียงโคราชออกเสียงว่า “เข่าแพะ” มีลักษณะเป็นข้าวต้มผสมแกงเลียงของชาวภาคกลาง แต่ใส่กะทิและชูรสกับกลิ่นด้วยน้ำปลาร้าแบบชาวอีสาน ที่สำคัญคือใช้พืชผักหลายชนิดตามฤดูกาล โดยมีบวบ ฟักทอง ข้าวโพด ใบตำลึง เป็นเครื่องปรุงหลักเหมือนแกงเลียง” การทำข้าวแพะเริ่มจากคั้นกะทิใส่ข้าวสารต้มพอเดือด ผัดหมูหรือไก่กับพริกแกงใส่ลงไป หากเป็นปลาย่างแห้งให้ฉีกเป็นชิ้น ๆ ใส่ในพริกแกง จากนั้นใส่ฟักทอง บวบ ข้าวโพด น้ำปลา น้ำปลาร้า พอใกล้สุกก็ใส่ยอดฟักทอง ใบตำลึง ก่อนจะยกลงจากเตาใส่ใบแมงลัก
พันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส และกมลทิพย์ กสิภาร์ (2546: 37-43) บรรยายว่าอาหารที่ขาดไม่ได้สำหรับอาหารโคราชคือน้ำพริกปลาผง ทำมาจากพริกผงผสมกับปลาฉลาดป่น เริ่มจากเผาหรือคั่วพริกแห้งให้หอม ผสมเกลือแกงเล็กน้อย จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด นำมาผสมกับปลาฉลาดป่น ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่นำมาย่างไฟให้กรอบ แล้วบดละเอียดทั้งตัว เวลากินก็นำพริกปลาผงผสมกับน้ำปลาร้าต้มเพิ่มความหอม กินกับผักต่าง ๆ เช่น มะเขือพวง เป็นเครื่องเคียงช่วยให้มีรสเปรี้ยว หรือกินกัผักพื้นบ้านตามฤดูกาล น้ำพริกผงยังใช้เป็นส่วนประกอบของแกงป่า ใส่ส่วนผสมของข่า ตะไคร้ กระชาย หอม กระเทียม ที่โขลกละเอียด แกงป่าของคนโคราช อาทิ แกงป่าหน่อไม้ มัน เผือก ไข่น้ำ กระบุก บวน ผักหวาน หัวตาล และแกงขี้เหล็ก สำหรับแกงขี้เหล็กจะใส่กะทิกับเนื้อย่าง เมนูข้าวมันส้มตำเป็นอาหารพื้นเมือง เป็นวิธีการทำข้าวมันเหมือนกับการหุงข้าวมันเช็ดน้ำ แต่ใส่กะทิหุงแทนน้ำ ส่วนส้มตำเป็นสูตรตำไทย ไม่ใส่ปลาร้า ใส่ขิงและปลาฉลาดป่นลงไปด้วย กินแกล้มกับผักยอดมะยม ยอดละมุด อาหารที่กะทิเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างคือข้าวแผะ ใช้หางกะทิต้มข้าวให้สุกแล้วใส่เครื่องแกง เนื้อสัตว์ และผักต่าง ๆ ลงไป มีลักษณะคล้ายข้าวต้มแห้ง นอกจากนี้ก็มีเมี่ยงคำที่ใช้ใบทองหลางห่อ เมี่ยงมดแดง เป็นต้น
กำปั่น บ้านแท่น (2554: 11-13, 60-61, 84-85) เล่าถึงอาหารท้องถิ่นของชาวไร่ชาวนาชนิดหนึ่งคือตั๊กโต่งหมก หรือตั๊กแตนหมก เริ่มจากโยนตั๊กแตนเข้ากองไฟ ระวังไม่ให้ตั๊กแตนไหม้ เอาแค่พอตัวมันพองขึ้นให้สีเหลืองอมแดง มีกลิ่นหอม กินกับข้าวห่อใบตองรมไฟ จิ้มเกลือพริกป่นหรือผสมปลาร้ายิ่งทำให้กลิ่นหอมแตะจมูก อาหารจากทุ่งอย่างอื่นมีต้มเปรตปลาไหลย่างใส่ใบผักอีออม (ผักคะแยง) แกงไข่น้ำ (ไข่ผำ) ใส่ใบส้มซ่า แกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง ที่สำคัญคือต้มยำอึ่งใส่ใบมะขามอ่อน เพิ่มรสชาติด้วยพริกโลกผสมขมิ้น กินกับข้าวสวยร้อน ๆ แล้วซดน้ำต้มยำอึ่งตามพร้อมกับเคี้ยวชิ้นอึ่งที่มัน หรือจะกินไข่อึ่งไปด้วยยิ่งเติมความอร่อย นอกจากนี้ก็เล่าถึงการทำหมี่ เริ่มจากเทแป้งหมี่ลงไปบนปากหม้ออังโล่ที่มีผ้าผืนบาง ๆ จากนั้นค่อย ๆ เอาแผ่นไม้ไผ่มาม้วนผืนแป้งมาพักไว้พอประมาณแล้วจึงนำไปผึ่งแดด เมื่อแผ่นแป้งหมี่แห้งพอหมาด ๆ ก็นำมาจับวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ใช้น้ำมันหมูทาหน้าแผ่นแป้งเพื่อไม่ให้แผ่นหมี่ติดกัน พอพลบค่ำหนุ่มสาวก็นำแผ่นหมี่ที่กลม ๆ บาง ๆ มาซอยเป็นเส้น
วิทยา อินทะกนก (2520: 15) อธิบายขนบประเพณีในรอบปีไว้ว่าเมื่อตรุษสงกรานต์ ก็มีก่อพระเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด บังสุกุลกระดูก ทำทานอุทิศบรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว ช่วงเย็นหนุ่งสาวเล่นชักชา หรือชักคะเย่อ เล่นเพลงเจ้าหวษ์ดงลำไย ช่วงค่ำเล่นสะบ้า เมื่อพ้นสงกรานต์ก็ถึงวันเพ็ญเดือนหกวิสาขบูชามีประเพณีเวียนเทียน จากนั้นเข้าพรรษาแรม 1 ค่ำ เดือน 8 วัดต่าง ๆ ตกแต่งเทียนพรรษาประกวดกัน มีการตกแต่งเทียนเป็นเรื่องราวในคัมภีร์ ชาดก หรือมุขตลก ในระหว่างแห่เทียนมีการเล่นม้าล่อช้าง ในระหว่างพรรษาเดือน 11 เป็นวันสารท ทุกบ้านเตรียมกวนกระยาสารทสำหรับใสบาตรและแบ่งให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน พอถึงวันเพ็ญ เดือน11 วันออกพรรษามีเทศน์มหาชาติ ทอดกฐินผ้าป่า
กำปั่น บ้านแทน (2554: 18, 26) เล่าว่าเดือนหกมีแห่นางแมวขอฝน ถ้าปีไหนไม่มีแววว่าฝนจะตก คนในหมู่บ้านนำเด็ก ๆ แห่นางแมว หาแมวตัวเมียหนึ่งตัวใส่ตระกร้าสานห่าง ๆ ด้วยตอกไม้ พอค่ำลงก็นัดกันออกมารวมที่ถนนกลางหมู่บ้าน แล้วก็ชวนกันร้องเพลงแห่ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อไปถึงหน้าบ้านใคร เจ้าของบ้านก็สาดน้ำลงมา บางคนก็ให้พริก เกลือ หอมกระเทียม ไก่ เมื่อแห่มาถึงศาลปู่ตาบ้านก็ต้มไกทำอาหารถวายปู่ตา จากนั้นก็แบ่งกันกิน เพลงที่ร้องจะมีเนื้อหาเตือนสิ่งเหนือธรรมชาติว่าถึงเวลาให้ฝนแล้ว “นางแมวเอยร้องแจว ๆ นางแมวขอฝน ขอน้ำมนต์รดแมวข้าที แมวข้านี้มีแก้วในตา ขึ้นหลังคาลงมาไม่ได้ พอลงมาได้คาบไก่วิ่งหนี พอถึงเดือนหกฝนตกทุกที แต่มาปีนี้ไม่มีฝนเลย พ่อเฒ่ากับลูกเขยนอนเกยหน้ผาก ลูกมากหลานมากแกกลัวอดเข่า(ข้าว) วันศุกร์วันเสาร์ชวนกันแห่นางแมว ฝนเทลงมา ฝนเทลงมา”
งานศึกษาเกี่ยวกับศิลปะการแสดง มหรสพ และการละเล่นของไทโคราชที่ผ่านมา นักวิชาการได้จัดเป็นอย่างน้อย 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มที่ 1 เพลงและดนตรี กลุ่มที่ 2 กิจกรรมสันทนาการหรือกีฬา สำหรับกลุ่มเพลงและดนตรี ศิลปะการแสดงที่โดดเด่นในการแสดงอัตลักษณ์ของไทโคราชคือเพลงโคราช เนื่องจากเป็นการแสดงที่เคร่งครัดกับการร้องด้วยภาษาโคราชและสำเนียงโคราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื่อกันว่าเป็นมหรสพที่ท้าวสุรนารีชื่นชอบเป็นพิเศษ ส่วนกิจกรรมนันทนาการนั้นการละเล่นของผู้ใหญ่มักมีการร้องเพลงหรือว่ากลอนประกอบการเล่น การละเล่นของเด็กมีหลายการละเล่นที่เหมือนกับภาคกลาง สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 13) อธิบายว่าการเล่นของเด็กมีเพลงร้องประกอบการเล่น ทำให้การเล่นสนุกสนาน ท่วงทำนองคล้องจองกันและเพลิดเพลิน เด็กเล่นด้วยกันเป็นกลุ่ม เช่น การเล่นซุก(ซ่อนหา) มอญซ่อนผ้า เป็นต้น
สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 13) อธิบายดนตรีของไทโคราชมีวงปี่พาทย์และวงมโหรี วงปี่พาทย์มีความเหมือนภาคกลางที่เล่นประกอบการแสดงลิเกและงานสมโภชงานบุญต่าง ๆ ตลอดจนการเทศน์มหาชาติ ส่วนวงมโหรีโคราชใช้บรรเลงในงานบวชและงานต่าง ๆ วงมโหรีมีเครื่องดนตรี คือกลองตุ้ม ปี่นอก ซอด้วง ฉิ่ง ฉาบ ส่วนพชร สุวรรณภาชน์ (2543: 42) อธิบายว่ามโหรีเป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดีด สี ตี เป่า ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน หรือปัจจุบันนำเครื่องดนตรีสากลมาร่วมบรรเลง เช่น แซ็กโซโฟน กลอง ด้วยเหมือนกัน
เนื่องจากเพลงโคราชได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นด้วยภาษาและสำเนียงแบบโคราช ดังนั้นงานศึกษาเพลงโคราชจึงถือว่าเป็นงานศึกษากลุ่มใหญ่ของวัฒนธรรมไทโคราช ปัจจุบันเพลงโคราชที่ดัดแปลงให้สมัยใหม่เรียกรวม ๆ ว่า “เพลงโคราชประยุกต์” หรือ “เพลงโคราชซิ่ง” ส่วนเพลงโคราชแบบ “ดั้งเดิม” โดยปกติแสดงเป็นเพลงโคราชแก้บน ทั้งเพื่อบนบานท้าวสุรนารีหรือผีปู่ตาเจ้าที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการจัดแสดงเพื่อความบันเทิงขึ้นในชุมชนหมู่บ้าน แม้หมอเพลงจะได้รับงานให้แสดงเพลงโคราชประยุกต์ แต่ก็จะแทรกการแสดงเพลงโคราชแบบดั้งเดิมเข้าไปในบางช่วงด้วย
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 182-183) บรรยายว่าต้นกำเนิดของเพลงโคราชไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เล่าต่อ ๆ กันว่าสมัยท้าวสุรนารี (คุณย่าโม) ยังมีชีวิตอยู่ (พ.ศ. 2313-2395) ท่านชอบเพลงโคราชมาก บางกลุ่มเล่าว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ มีสงครามระหว่างไทยกับเขมร เมื่อไทยชนะสงครามเขมร ชาวบ้านจะมีการเฉลิมฉลองชัยชนะด้วยการขับร้องและร่ายรำกันที่บ้านสก เรื่องราวของเพลงโคราชชัดเจนใน พ.ศ. 2456 เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จนครราชสีมา หมอพลงชื่อนายหรี่ บ้านสวนข่า เล่นเพลงโคราชถวาย
บุญสม สังข์สุข (2552 อ้างในไทยโชว์ 2552) บรรยายความเป็นมาของเพลงโคราชด้วยตำนานและเรื่องเล่า 4 เรื่อง
เรื่องแรกเล่าว่า คืนหนึ่งมีนายพรานคนหนึ่งชื่อเพชรน้อย บ้านอยู่หนองบุญนาค ไปล่าสัตว์ในป่า เขาบังเอิญไปพบลูกสาวพญานาครูปร่างงดงามขึ้นมาจากหนองน้ำ มานั่งร้องเพลงคนเดียว พรานเพชรน้อยได้ยินเสียง จึงแอบเข้าไปฟังใกล้ ๆ แล้วเกิดความประทับใจในความไพเราะและเนื้อหาของเพลง จึงจำเนื้อเพลงและทำนองมาร้องให้คนอื่นฟัง
เรื่องที่สองเล่าว่า เกิดจากคนโคราช มีนิสัยชอบพูดเป็นกลอน จนกลายเป็นเพลงก้อมซึ่งเป็นเพลงกลอนสั้น ๆ และเพลงโคราชพัฒนาการต่อมาจากเพลงก้อม
เรื่องที่สามเล่าว่า พระยาเข็มเพชรเดินทางไปอินเดีย และเป็นผู้นำเพลงต่าง ๆ เข้ามาในไทย พร้อม ๆ กับลิเกและลำตัด โดยให้ลิเกอยู่กรุงเทพฯ ลำตัดอยู่ภาคกลาง และเพลงโคราชอยู่ที่นครราชสีมา พระยาเข็มเพชรได้ยกเพลงให้กับนายจัน นำเอามาเผยแพร่ที่โคราช จึงเรียกว่าเพลงโคราช
เรื่องที่สี่เล่าว่า สมัยท้าวสุรนารีมีชีวิตอยู่มีความชื่นชมในเพลงโคราชอย่างมาก หลังจากท้าวสุรนารีรบชนะกองทัพของเจ้าอนุวงศ์จากเวียงจันทน์แล้ว ก็กลับมาฉลองชัยชนะที่เมืองนครราชสีมาโดยจัดการแสดงเพลงโคราช
ขุนสุบงกชศึกษากร (2520: 145) บรรยายว่าเพลงโคราชเล่นกันทั้งในงานมงคลและงานศพ งานบุญงานฉลองต่าง ๆ เพลโคราชจะแสดงบนโรงเพลงที่ทำขึ้นง่าย ๆ มีเสา 4 เสา ฝั่งห่างกันกว้างประมาณ 6 ศอก หรือ 3 เมตร ยาว 3 เมตร ยกพื้นสูงประมาณเพียงอก ใช้คานและตงแข็งแรง ปูกระดาน ส่วนสูงจากพื้นกระดานประมาณ 5 หรือ 6 ศอก หลังคาราบแนบปะรำ มุงด้วยใบมะพร้าวหรือใบตาล คนดูนั่งดูได้ทั้ง 4 ด้าน
สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 21) บรรยายพิธียกครูของเพลงโคราชว่าเมื่อหมอเพลงฝึกหัดไปฝากตัวเป็นศิษย์กับครูก็จะนำเครื่องยกครู ซึ่งประกอบด้วยกรวยครู 6 กรวย ดอกไม้ขาว 6 คู่ เทียน 6 เล่ม ธูป 12 ดอก ผ้าขาว 1 ผืน เงินบูชาครู เหล้าขาว บุหรี่ ครูจะนำกล่าวคำบูชาครูให้ศิษย์ว่าตาม ครูจะเทน้ำมนต์รดศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล
แพรวพโยม พัวเจริญ (2554: 127-129) สัมภาษณ์นฤมล ปิยวิทย์ นักวิชาการท้องถิ่น อธิบายว่าลักษณะของเพลงโคราชเป็นการเล่นเพลงที่ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรี เป็นการแสดงสด และใช้เสียงโอ่แทนเสียงของเครื่องดนตรี หมอเพลงคิดคำภาษาคล้องจอง ฉลาดใช้คำใช้ภาษาทั้งการจำกลอนครูและมีปฏิภานในการโต้ตอบอีกฝ่ายได้ เพลงกลอนไหนที่มาสามารถร้องแก้กันได้ คนฟังจะใช้เสียงโห่ เพื่อความสนุกสนาน การแสดงเพลงโคราชแบบเดิมนั้น เริ่มจากหมอเพลงทั้งชายหญิงไหว้ครู จากนั้นฝ่ายชายขึ้นเวทีก่อนแล้วก็ร้องเพลงหรือ “ว่าเพลง” ที่เรียกว่า “เพลงเชิญ” เพื่อเชิญชวนฝ่ายหญิงขึ้นมาบนเวที เมื่อฝ่ายหญิงรับคำเชิญก็ขึ้นเวที แล้วร้องเพลงโต้ตอบกันด้วยเพลงที่มีเนื้อหาต่าง ๆ ตามแนวของแต่ละเพลง เรียงตามลำดับดังนี้ เพลงประกาศ(ข่าว) เพลงทักทาย เพลงถามข่าว เพลงขออภัย เพลงไหว้ครู ต่อมาแสดงเพลงตัดเชิญ เพลงปรึกษาหารือ เพลงลองภูมิปัญญา เพลงเปรียบเทียบ เพลงท้าทาย เพลงเรื่อง(เล่าเรื่อง) เพลงเปรียบเย้ย เพลงเกี้ยว เพลงชวน เพลงลา เพลงอวยพร
บุญสม สังข์สุข (2552 อ้างในไทยโชว์ 2552) อธิบายว่า เพลงโคราชมีลักษณะเด่นเป็นของตัวเอง คือ นอกจากใช้ภาษาโคราชแล้ว การที่หมอเพลงหรือนักแสดงใช้มือขวาป้องหูเพื่อฟังเสียงร้องของตัวเองและการรำตั้งวงที่กว้างกว่าทางภาคกลางก็เป็นลักษณะเฉพาะของเพลงโคราช การขึ้นต้นร้องกลอนด้วยร้องว่า “ไชยะ ระ ชิ ช่า ไชยะ ระ ชิ ไช” นอกจากนี้เพลงโคราชจะร้องด้วยเนื้อหาสั้นกว่า โครงสร้างของกลอนเพลงโคราช จะบังคับให้จบเรื่องภายในหนึ่งบทกลอน หนึ่งบทกลอนมี 5 ท่อน ได้แก่ ท่อนขึ้น ท่อนเดินกลอนหรือท่อนกระทู้ ตบมือกลางกลอน ท่อนกระทู้ลง และท่อนลงหรือท่อนปลาย
ตัวอย่างเพลงเกี้ยวของเนื่อง พันดุง (2554: 152 อ้างในสุนทรี ศิริอังกูร, 2554)
“วันนี่มาเจอ แม่ดอกบัวงาม อยู่ในน้ำ....สระลอย พี่นี่เป็นหนุ่มใหญ่ มารักใคร่ แม่สาวน้อย พี่จะเอาความอาย ทิ้งมันไปเดี๋ยวนี่ซะเลย
ไดขึ้นม้าอาชาไนย แล้วพี่จะให้นางนั่งอาน แก่มะพร้าวแก่ตาล ให้น้องเอาเถอะนางเอย เอาเถอะนางเอย เหมือนน้ำใหม่ไหลเคย....ล้นพนังเอ่อ
คนแก่ได้เมียสาว จะรักยืนยาว แต่เมียสา ตำโบราณท่านก็ว่า จะนอนสอดเมียส่อง อันเพชรนิลจินดาไม่สูงค่า ไปเลยทอง มะพร้าวเหี่ยวไปเคี่ยวกะทิ อย่าติมันเลย....เธอ”
แพรวพโยม พัวเจริญ (2554: 129) อธิบายว่าเสื้อผ้าของหมอเพลง หมอเพลงโคราชจะนุ่งโจงกระเบนที่ยาวถึงคอนหน้าแข้ง พันหางโจงกระเบน จับจีบที่เอว หมอเพลงผู้ชายสวม เสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคาดเอว ปล่อยชายผ้าคาดไว้ตรงกลาง ส่วนหมอเพลงผู้หญิงสวมเสื้อลูกไม้แขนสั้น รัดรูป ไม่มีปกเสื้อ มีระบายที่ชายเสื้อและคอเสื้อ ไม่ใช้ผ้าคาดเอว และไม่มีเครื่องประดับ นอกจากนี้สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 21) อธิบายเช่นกันว่าการแต่งกายหมอเพลงโคราชทั้งหญิงและชายจะนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อหมอเพลงชายใช้เสื้อคอกลมหรือคอฮาวายแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคาดพุง หมอเพลงหญิงนิยมสวมเสื้อรัดรูปไม่มีปก แขนสั้น
งานศึกษากลุ่มเพลงและดนตรีของไทโคราชแนวที่สองคือการศึกษาเพลงกล่อมลูก สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 13) เพลงกล่อมลูก คือเพลงร้องปลอบโยนแสดงความรัก การสั่งสอนอบรม หรือทำให้เด็กเพลิดเพลิน เพื่อทำให้เด็กนอนหลับเร็วขึ้น เพลงกลุ่มลูกมี 3 ระดับ คือเพลงกล่อม เพลงปลอบ และเพลงขู่ งานศึกษาขององอาจ สายใยทอง (2546: 56-57, 97) อธิบายถึงเพลงกล่อมลูกโคราชว่าเป็นเพลงท่อนเดียว มีลักษณะการใช้ภาษาไทยภาคกลาง ภาษาโคราช และภาษาอีสาน เป็นกลอนด้น ไม่จำกัดความยาว ไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพของเด็กว่าจะหลับลงเมื่อใด เวลาร้องกล่อมลูกมักเป็นเวลาไกวเปลตอนกลางวัน ไม่นิยมร้องกล่อมในเวลากลางคืน เพราะเสียงเพลงที่โหยหวนเยือกเย็น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการร้องเรียกผี ลักษณะคำประพันธ์ของเพลงกล่อมลูกโคราชมีลักษณะเป็นคำกลอนตั้งแต่ 2 วรรคขึ้นไป จำนวนคำในแต่ละวรรคก็ไม่แน่นอนตายตัว อาจมีจำนวนคำวรรคละ 6-8 คำ ในแต่ละวรรคหรือแต่ละบทจะมีสัมผัสระหว่างวรรคอย่างน้อย 1 แห่ง
ตัวอย่างจากงานขององอาจ สายใยทอง (2546: 57)
“แมวขาวเอย ไต่ไม่ราวหางยาวเป็นหมื่น
ช่างเอ๋ยพากันมาเหยียบกองฟืน
พ่องามชื่นของแหม่ะจินอน”
พชร สุวรรณภาชน์ (2543: 33) อธิบายลักษณะของเพลงกล่อมลูกเป็นกลอนด้นที่ไม่มีข้อจำกัดตายตัว โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นคำกลอนตั้งแต่ 2 วรรค ขึ้นไป จำนวนคำในแต่ละวรรคตั้งแต่ 3 คำขึ้นไป มีสัมผัสบังคับระหว่างวรรคอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
งานศึกษากลุ่มเพลงและดนตรีของไทโคราชกลุ่มอื่น ๆ มีการอธิบายบ้าง ได้แก่
ยุวพันธ์ สิวาพรรักษ์ (2530:84-86) อธิบายเพลงช้าโกรก หรือ ช่าโกรก การละเล่นหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้ว ในอดีตเมื่อพระจะสร้างกุฏิ ศาลการเปรียญ โบสถ์ หรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ตาม ชาวบ้านชายหญิงไปช่วยกันตัดและลากไม้มาสร้าง ตอนเย็นพากันเดินเป็นขบวนไปช่วยรับล้อ ในการล้อเขาจะเอาเชือกมัดไม้ติดกับล้อ หญิงชายจะเรียงแถวจับหางฝ่ายละเส้น คือเดินเป็นแถวชายหญิงคู่กันไปในระหว่างที่ลากล้อกลับวัด หญิงชายร้องเพลงโต้ตอบกันไปตลอดทางเพื่อสร้างบรรยากาศให้ครึกครื้น หญิงชายจะว่าเพลงโต้ตอบกันไปด้วยความสามารถปฏิภานในการคิดหาคำมาแก้จนกว่าจะถึงวัด ส่วนมากเป็นเวลาเย็นมากแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านไปรับประทานอาหาร อาบน้ำแต่งตัวใหม่เสร็จ พวกผู้หญิงจะมาตีโทนและก่อไฟให้สว่าง ฝ่ายชายก็จะตามเสียงโทนเพื่อมาร่วมเล่นกันในตอนค่ำ ยุวพันธ์ สิวาพรรักษ์ อ้างถึงตัวอย่างดังนี้
“ช่าเจ้าเอ๋ยมาโกรกเอ๋ย ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ช่วยกันดึงกันดัน จะได้ถึงบ้านไวไว เอ๋ยช่าเจ้าเอ๋ยโกรกเอ๋ย
ช่าเจ้าเอ๋ยมาโกรกเอ๋ย ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ลากมาถึงตรงนี่ขอให้พี่ลากไป เอ๋ยช่าเจ้าเอ๋ยโกรกเอ๋ย
ช่าเจ้าเอ๋ยมาโกรกเอ๋ย ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ลากมาถึงต้นหว้า ก็ให้สีกาลากไป เอ๋ยช่าเจ้าเอ๋ยโกรกเอ๋ย
ช่าเจ้าเอ๋ยมาโกรกเอ๋ย ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ลากมาแต่โคกก็ยังลากมาได้ ลากมาถึงหนองกก มันให้อ่อนอกอ่อนใจ เอ๋ยช่าเจ้าเอ๋ยโกรกเอ๋ย (...)” (ยุวพันธ์ สิวาพรรักษ์, 2530: 84-86)
ขุนสุบงกชศึกษากร (2520:137 ) เล่าเกี่ยวกับเพลงอื่น ๆ ที่เคยเล่นกัน ดังนี้ เพลงกลองยาว เพลงเซิ้งบั้งไฟ (เป็นเพลงหยาบคายที่แสดงท้ายขบวนแห่เทียนพรรษา) เพลงแห่นางแมว (สำหรับขอฝน) เพลงปี่แก้ว เพลงเพียะ (มีเนื้อหาหยาบคายเช่นเดียวกับเพลงเซิ้งบั้งไฟ) เพลงหม่งเหม่ง (เพลงงานศพ โดยเฉพาะศพของคนมีเงิน เป็นเพลงที่บรรเลงด้วยปี่ กลอง ฆ้อง ใช้บรรเลงประกอบขบวนแห่ศพซึ่งในอดีตเชื่อว่าต้องนำศพออกจากเมืองตอนกลางคืนทางประตูไชยณรงค์ (ประตูผี) เท่านั้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เพลงหม่งเหม่งก็หายไป
สุนทรี ศิริอังกูร (2555: 23-26) อธิบายว่า ท่ารำของหมอเพลงโคราชแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ท่ารำช้า ลักษณะการร่ายรำ ฝ่ายชายจะควงแขนทั้งสองข้างออกพองาม แบมือออกรำขึ้นรำลงข้างตัว โดยย่างก้าวขาตามจังหวะของกลอนเพลง ฝ่ายหญิงรำเหมือนฝ่ายชายต่างกันที่มีจีบมือและวงแขนแคบ 2. ท่ารำเร็ว ฝ่ายชายจะรำเหมือนท่ารำช้า แต่เร่งจังหวะให้เร็วขึ้นตามลีลาของกลอนเพลง และย่างรุดหน้าเข้าหาฝ่ายหญิงทำนองว่าจะไปถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงท่ารำเหมือนท่ารำช้าฝ่ายชายรุกมาก็จะทำท่าถอยหนี มือทั้งสองต้องคอยรำปัดป้องมิให้ฝ่ายชายรำถูกเนื้อต้องตัวได้ เรียกว่าในตอนแรกฝ่ายชายจะรุกฝ่ายหญิงจะถอยและตอนหลังหญิงจะรุกชายจะถอยสลับกัน ท่ารำหลักใหญ่มี 6 ท่า ได้แก่ ท่ายืนโอ่ ท่าย่อง ท่าประจัญบาน ท่าช้างเทียมแม่ ท่าปลาพันพวง ท่าจ๊ก
วิทยา อินทะกนก (2520: 15) อธิบายการเล่นม้าล่อช้างในวันประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาว่ าระหว่างรอการตัดสินประกวดเทียน พวกคนต่างบ้านต่างวัดก็เล่นม้าล่อช้าง คือพวกช้างมักไปพักรวมตัวเป็นกลุ่ม ขวกขี่ม้าจะรวมพรรคพวกขี่เข้าไปเย้าแหย่ให้พวกช้างวิ่งไล่ พอพวกช้างออกไล่ ม้าก็พากันหนีคนละทางสองทาง ถ้าช้างตัวไหนคึกมันจะวิ่งไล่กวดม้าตัวใดตัวหนึ่งไปได้อย่างหวุดหวิด คนดูก็จะลุ้นอย่างหวาดเสียว แต่เจ้าของช้างจะคอยบังคับช้างไม่ให้เกิดอันตราย
ยุวพันธ์ สิวาพรรักษ์ (2530:84-93) แสดงให้เห็นว่าไทยโคราชมีการละเล่นอย่างน้อย 7 ประเภท ได้แก่ การวิ่งวัว การเล่นเข้าผี การเล่นชักช้า การเล่นแม่กระซิบ การเล่นไสส่าว การเล่นต่อไก่ การเล่นเบี้ยแหวน
การเล่นวิ่งงัว (วิ่งวัว) ผู้เล่นแบ่งข้างเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายชายฝ่ายหญิง จำนวนเท่า ๆ กัน ตั้งหลักห่างกันประมาณ 10 วา วิ่งกันทีละคู่คือชายหนึ่งหญิงหนึ่ง วิ่งประมาณ 2-3 รอบ จึงผลัดกัน บางทีจะท้าพนันเรียกว่าเล่นกินตัว คือวิ่งจนแพ้ชนะไม่ต้องมีคนผลัด ถ้าฝ่ายใดแพ้ถือว่าเป็นการเสียหน้าเพราะต้องออกมารำ คือถ้าฝ่ายหญิงแพ้ ฝ่ายชายทั้งหมดจะออกมายืนกอดคอกันเรียงแถวหน้ากระดาน แล้วร้องเชิดหรือร้องเพลงประกอบจังหวะโทนให้ฝ่ายหญิงรำ เนื้อเพลงเป็นเรื่องการหยอกล้อเกี้ยวแก้กัน หากผู้ชายซึ่งเป็นฝ่ายชนะและยืนกอดคอกันร้องเพลงอยู่นั้น ถ้าหญิงคนใดรำไม่เป็นคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรือเดินตามเขาไปเฉย ๆ ฝ่ายชายจะต้องออกมาคุมคือหาไม่เรียวตีให้รำจนได้ หากฝ่ายหญิงชนะ ฝ่ายชายก็จะต้องออกมารำบ้าง ถ้ารำไม่เป็นก็จะต้องถูกตีเหมือนกัน การร้องเพลงเชิดจะใช้วิธีตบมือให้จังหวะและร้องพร้อมกันทุกคน สถานที่เล่นคือวัดหรือทุ่งนา ยุวพันธ์ สิวาพรรักษ์ อ้างถึงตัวอย่างเพลงเชิดที่ใช้ร้องดังนี้
“เจ้าไข่ปลา ขอเชิญเจ้ามาจะให้เจ้าเลี้ยงน้อง งานหนักพี่มิให้เจ้าต้อง เชิญมาเลี้ยงน้องเจ้าไข่ปลาเอย เชิญมาเลี้ยงน้องเจ้าไข่ปลาเอ่ย
เจ้าพวงมาลีเอย อย่าโศกโศกีเลยว่าพี่ไม่รัก ยามร้อนจะให้นอนหนุนตัก สายทองน้องรักอย่าหนักใจเอย สายทองน้องรักอย่าหนักใจเอ่ย
พ่อพวงมาลัยเอย เหลอยไปลอยไปก็ลอยมา นานแล้วน้องไม่ได้เห็นหน้า พวงเอยมาลาพวงมาลัยเอย พวงเอยมาลาพวงมาลัยเอ่ย
เจ้างามเลิศเอย รำไปเถิดน้องจะหาเมียให้ รูปร่างอย่างนี้จะหาดีอย่างไร หน้าขาวเป็นใยใจน้องจะขาดเอย หน้าขาวเป็นใยใจน้องจะขาดเอ่ย”
การเล่นเข้าผี ผู้เล่นเข้าผีจะต้องเป็นหญิง ให้ผู้ที่จะเป็นตัวแม่สีนั่งกลางวง ชายหญิงคนอื่น ๆ ตีวงล้อมรอบตัวแม่สี คนเป็นแม่สีนั่งขัดสมาธิใช้ผ้าผืนใหญ่คลุมศีรษะและตัวจนมิดชิด แล้วชายหญิงที่นั่งล้อมวงจะตบมือเป็นจังหวะเชิดพร้อม ๆ กันว่า “แม่สีเอย แม่สีสคร นมยานเนื้ออ่อนอย่าร้องอย่าไห้ เชิดแม่นางหงส์เข้าดงสายทอง เชิดที่เชิดน้องเข้าดงเหรา ปลูกศาลาไว้ให้พระท่านเล่น ลงรำลงเต้นเล่นแม่สีเอย ลงรำลงเต้นเล่นแม่สีเอย” คำร้องอีกบทหนึ่งว่า “แม่สีเอย แม่สีตกสระ ยกมือไหว้พระไม่มีคนชม ซักผ้ามาห่มชมแม่สีเอย ซักผ้ามาห่มชมแม่สีเอย” เวลาเล่นจะร้องทั้งสองเพลงนี้สลับกันไปประมาณ 15-20 นาที คนที่เป็นแม่สีก็จะเริ่มมีอาการสั่นทีละน้อย ๆ และทวีความแรงขึ้นเป็นลำดับ แล้วตัวแม่สีค่อย ๆ ลุกขึ้นยืนและรำไปตามจังหวะเสียงเพลงเชิด ตอนนี้จะมีคนคอยถามว่าชื่ออะไร มาจากไหน ตัวแม่สีจะตอบปัญหาต่าง ๆ ตามที่ผู้เล่นถาม ชายหญิงที่เป็นคนเชิดจะขอไม้ขอมือ คือให้แม่สีรำให้ดู เมื่อร่วมเล่นพอสมควรแล้วแม่สีก็จะลากกลับ โดยอาจจะยกมือไหว้ผู้เล่นแล้วล้มตัวลงนอน ฝ่ายชายหญิงที่ร่วมเล่นอยู่ด้วยจะพากันกระโดดข้ามตัวแม่สี ข้ามกลับไปมาเป็นการแก้อาถรรพณ์ให้แม่สีออกจากตัวคนทรง
การเล่นชักช้า ต้องแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่ายเท่า ๆ กัน คือฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย การเล่นชักช้าจะต้องใช้เชือกหนังยาวประมาณ 5-6 วา ให้ผ้าเช็ดหน้าหรือสิ่งใดผูกไว้ตรงกลาง ขีดเส้นกับพื้นดินตรงที่แบ่งกึ่งกลาง จะจับหางหนังที่ใช้ดึงฝ่ายละหาง มีผู้ให้สัญญาณว่าเริ่มดึงได้ ทั้งสองฝ่ายจะออกแรงดึงเพื่อให้เชือกหนังเข้าไปอยู่ในฝ่ายของตน เมื่อแพ้ชนะกันแล้วฝ่ายชนะก็จะเชิดให้ฝ่ายแพ้รำเหมือนการเล่นวิ่งงัว เพลงเชิดให้รำก็ใช้เพลงเช่นเดียวกัน
การเล่นแม่กระซิบ ผู้เล่นแบ่งจำนวนคนสองฝ่าย ๆ ละเท่า ๆ กัน ผู้เล่นต้องรู้จักชื่อกันหมดทุกคนหญิงชายอาจอยู่ฝ่ายเดียวกัน แล้วตั้งคนกลางที่ไว้ใจได้หนึ่งคน ให้นั่งอยู่ในระหว่างกลาง ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ห่างคนกลางประมาณ 3-4 วา เมื่อแบ่งพวกและวางกติกากันเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายใดจะออกมากระซิบก่อนตามตกลงกัน กระซิบทีละคน ไปกระซิบบอกคนกลางว่าต้องการคนชื่อ นาย ก. (ชื่อสมมติ) เมื่อกระซิบเสร็จแล้วเข้าไปอยู่ในบริเวณฝ่ายของตน อีกฝ่ายก็จะไปกระซิบเหมือนกัน หากผู้ที่ฝ่ายตรงข้ามระบุชื่อไว้ออกไป ต้องตาย โดยคนกลางจะบอกว่า “เตลิด” คือแทนที่จะได้กระซิบก็ให้เลยไปอยู่ในแดนของฝ่ายตรงกันข้ามผลัดเปลี่ยนกันไปกระซิบเช่นนี้เรื่อยไปทีละฝ่าย ทีละคนจนหมด ผู้ที่ตายแล้วไม่มีสิทธิ์ไปกระซิบอีก ฝ่ายใดหมดก่อนก็แพ้ ต้องถูกฝ่ายชนะเชิดให้รำ ถ้ายังไม่เบื่อก็อาจจะเริ่มเล่นต่อไปใหม่
การเล่นไสส่าว ผู้เล่นหาไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 2 วา เป็นการเล่นตัวต่อตัวระหว่างหญิง 1 คน ต่อชาย 2 คน หรือชาย 1 คน ต่อ หญิง 2 คน ฝ่ายชายหญิงจับปลายไม้คนละทาง คนกลางจะให้สัญญาณ “เริ่มใส” ทั้งสองฝ่ายจะไสกันอย่างเต็มกำลัง ฝ่ายชนะจะไสฝ่ายแพ้ให้ถอยล้ำเส้นเข้าไป ฝ่ายถอยคือฝ่ายแพ้ เมื่อไสกันแพ้ชนะแล้วก็จะเชิดให้รำวง
การเล่นต่อไก่ แบ่งกันออกเป็นสองพวกเท่า ๆ กัน หญิงชายอยู่ปนกันก็ได้ ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างกันประมาณ 4-5 วา คัดเลือกเจ้าของไก่ข้างละหนึ่งคน การเล่น ให้เอาไก่ออกไปต่อทีละตัว (ทีละคน) ก่อนออกต้องหาผ้าคลุมไก่ให้มิดชิด เจ้าของไก่ทั้งสองฝ่ายจะนำไก่ของตนไปหยุดอยู่ตรงกึ่งกลาง แล้วให้ไก่ที่เอามาต่อผลัดกันขันให้เจ้าของทาย ถ้าไก่ฝ่าย ก. ขันจะต้องให้เจ้าของไก่ทางฝ่าย ข. เป็นผู้ทาย ทายว่าเป็นไก่ตัวใด (ชื่ออะไร) ถ้าเจ้าของฝ่ายใดทายถูกก็ได้เชลยไป ถ้าทายผิดไก่ตัวที่เอาผ้าคลุมมานั้นก็จะได้กลับเข้าพวกของตนเหมือนเดิม แล้วเอาไก่ออกต่อใหม่เรื่อยไป ทำเช่นนนี้หมุนเวียนอยู่จนหมดไก่ในเล้า ตัวที่เคยออกแล้วหากยังไม่ถูกเป็นเชลยก็มีสิทธิ์ออกได้อีก ถ้าฝ่ายใดหมดไก่ก่อนเป็นอันว่าแพ้ คนที่จะเป็นเจ้าของไก่ต้องมีความจำดี รู้จักสังเกต และจำเสียงไก่จึงจะทายได้ถูกต้อง
การเล่นเบี้ยแหวน ใช้สตางค์แดงหมุนเล่นทายหัวทายก้อย หญิงหรือชายผลัดกันเป็นเจ้ามือ ใช้สมบัติทุกชิ้นที่ติดตัวมาเดิมพัน แทงได้แทงเสีย เล่นจนกว่าฝ่ายใดจะหมดตัวก่อน มีการกำหนดส่งคืนเมื่อสิ้นเทศกาลตรุษสงกรานต์ โดยต้องทำความสะอาดก่อน ถ้าไม่ทำก็จะนินทากันว่าเป็นคนไม่ดี
การเล่นโบก ซึ่งเป็นการพนันชนิดหนึ่งว่า เริ่มจากผ่าเม็ดมะขาม 2 เม็ด เป็น 4 เสี่ยง ใช้กระป๋องหรือกระบอกไม้ไผ่ตัดประมาณ 4 นิ้ว เอาเม็ดมะขามผ่าลงไปแกว่ง ๆ ครอบลง แล้วก็ลงเงินเสี่ยงทายกันว่าเม็ดมะขามจะออกมาเป็นคู่หรือคี่ เป็นคู่คือหงายสองเม็ด คว่ำสองเม็ด หรือคว่ำทั้งหมด หรือหงายหมด ถ้าคว่ำสามเม็ด หงายเม็ดเดียว หรือหงายสามเม็ด คว่ำเม็ดเดียวคือคี่ (กำปั่น บ้านแท่น 2554: 23)
ถาวร สุบงกช (2521: 62) อ้างเรื่องเล่าตำนานเมืองโคราชฉบับขุนสุบงกชศึกษากรว่า “ที่ตั้งเมืองโคราชนี้เดิมเป็นที่เลี้ยงโคของเศรษฐีคนหนึ่ง เศรษฐีบ้านนอกนี้ชื่อประสาท มีเคหะสถานอยู่ที่โคกประสาท ผู้เลี้ยงวัวอยู่บ้านต่างตา คอกวัวก็อยู่ที่บ้านโคกงัว เนื่องจากวัวมากต้องไล่กลับแต่ละวันเสมอ ก่อนจะนำวัวเข้าคอกก็ให้กินที่หนองหญ้างาม”
วิทยา อินทะกนก (2520: 1-3) เล่าถึงตำนานเมืองโบราณ 3 เมือง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่มาของเมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน เรื่องแรก เมืองโคตรบูร ว่าเป็นดิแดนของละว้าต่อมาเมื่อขอมมีอำนาจปกครองดินแดนนี้ ขอมได้สร้างปราสาทหินพิมายตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เรื่องที่สอง เมืองพิมานบุรี (พิมาย) เป็นเมืองลูกหลวงสำคัญของขอมที่ใช้เป็นตัวแทนเพื่อปกครองดินแดนแถบนี้ สร้างขึ้นก่อนสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เมื่อถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ. 1561 ขอมจึงได้รับวัฒนธรรมและศาสนาของพราหมณ์ เรื่องสุดท้ายว่าด้วยเมืองเสมา และเมืองโคราคะปุระ ตั้งอยู่ริมลำน้ำตะคอง เขตอำเภอสูงเนิน สร้างในสมัยเดียวกันกับเมืองพิมาย ได้รับวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ เมืองโคราคะปุระถูกสร้างขึ้นแทนเมืองเสมารกร้างหักพังลง หลังจากขอมเสื่อมอำนาจลง พวกคนไทยก็เข้าครอบครองความเป็นใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่าเมืองโคราคะปุระว่า “เมืองโคราช” ดังนั้นที่มาของชื่อเมืองนครราชสีมาเกิดขึ้นมาจากการเอาชื่อเมืองเสมากับเมืองโคราชมารวมกันแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า “นครราชสีมา”
Access Point |
---|
No results found. |