2023-06-17 11:23:16
ผู้เข้าชม : 2522

โส้  มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณตอนกลางของ สปป.ลาว  บริเวณเมืองภูวานากระแด้ง เมืองพิณ เมืองนอง เมืองวัง-อ่างคำ และเมืองตะโปน เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวโส้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ปลูกพืช ทอผ้า และเลี้ยงสัตว์ จากความใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ไท ญ้อ และไทโย้ย  จึงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน ปัจจุบันชาวโส้บางส่วนได้กลายเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในกรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี และระยอง  คนกลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นปรากฎผ่านประเพณีการเหยาเพื่อเลี้ยงผี เหยาเรียกขวัญ และเหยารักษาคนป่วย นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโส้ทั่งบั้ง ซึ่งเป็นการแสดงประกอบพิธีเหยา ที่ภายหลังได้รับการยกระดับมาสู่การแสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : โส้
ชื่อเรียกตนเอง : โส้, โซร, โทร
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : โซ่, ข่า, กะโซ่, ไทโส้, ข่าโซ่, ข่าพร้าว
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : โส้
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

โส้ เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ “โทรฺ (Thro)” ใช้เรียกแทนชื่อตนเอง เนื่องจากการออกเสียงโทร ต้องออกเสียงแบบห่อลิ้นระหว่างสระออกับสระโอ ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถออกเสียงได้ ดังนั้น จึงเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ว่า “โส้” ซึ่งเป็นการสะกดคำในภาษาไทยและง่ายต่อการออกเสียงของคนทั่วไป

ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวโส้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณตอนกลางของเมืองภูวานากระแด้ง เมืองพิณ เมืองนอง เมืองวัง-อ่างคำ และเมืองตะโปน จากนั้นได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีแนวทางการสร้างเมืองใหม่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเพื่อเป็นพื้นที่กันชนจากการรุกรานของอาณาจักรใกล้เคียง ราชสำนักสยามได้มีการเจรจาให้มีการโยกย้ายราษฎรจากฝั่งซ้ายมาตั้งบ้านเมืองยังฝั่งขวาของแม่น้ำโขง การอพยพเคลื่อนย้ายระลอกแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2371 เป็นช่วงเวลาที่สยามเข้ายึดเวียงจันทน์ครั้งแรกในสมัยของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ การทำสงครามทำให้เจ้าอนุวงศ์หลบหนีมายังเมืองมหาชัยกองแก้ว และเมืองตะโปน เมื่อกองทัพสยามติดตามมาจึงได้กวาดต้อนผู้คนมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขงและให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองกุสุมาลย์ ส่วนการอพยพเคลื่อนย้ายระลอกที่สองช่วง พ.ศ. 2376 - พ.ศ. 2388 ที่การแย่งชิงการมีอิทธิพลในประเทศกัมพูชา (เขมร) ระหว่างไทยกับเวียดนาม ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จำนวน 15 เมือง มายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันและตัดกำลังการเข้าร่วมกับกองทัพเวียดนาม ส่วนการเกลี่ยกล่อมให้เคลื่อนย้ายมาโดยสมัครใจนั้นมีชาวโส้จำนวนมากที่ได้ติดตามเจ้าโฮงกลาง มายังสยาม ต่อมาเจ้าโฮงกลางได้เป็นเจ้าเมืองปะขาวพรรณานิคม ซึ่งเป็นเมืองที่มีชาวโส้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การเคลื่อนย้ายของชาวโส้ทั้งสองระลอกนั้นส่งผลให้ปัจจุบันในประเทศไทยมีชาวโส้ตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ในทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดสกลนคร ในอำเภอกุสุมาลย์ และอำเภอพรรณนานิคม 2) จังหวัดมุกดาหาร ในอำเภอดงหลวง อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอเมือง 3) จังหวัดนครพนม ในอำเภอท่าอุเทน อำเภอเมือง อำเภอศรีสงคราม อำเภอบ้านแพง อำเภอโพนสวรรค์ และอำเภอนาแก 4) จังหวัดกาฬสินธุ์ ในอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ และ 5) จังหวัดบึงกาฬ ในอำเภอโซ่พิสัย เดิมอยู่ในจังหวัดหนองคาย

ด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรม ชาวโส้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในแถบลุ่มน้ำโขง มีความเชื่อสัมพันธ์กับระบบวิญญาณนิยม นับถือผีหลายระดับที่มีบทบาทในการควบคุมระบบสังคม ชาวโส้จึงมีพิธีกรรมเพื่อบวงสรวงผีควบคู่กับการนับถือพุทธศาสนา พิธีกรรมสำคัญของชาวโส้ ได้แก่ พิธีซางกะมูดและอล็องกะมูดเป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณ และความเชื่อเกี่ยวกับการทำพิธีศพให้ถูกต้องจะทำให้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว หากไม่ปฏิบัติพิธีกรรมผีจะรบกวนจนอาจส่งผลต่อสู่ชีวิต นอกจากนี้ ชาวโส้ยังมีความเชื่อ ด้านการทรง และการเหยาที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน โดยเฉพาะพิธีกรรมฟ้อนผีหมอเป็นพิธีที่ได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดทำขึ้นในเดือนสี่ของทุกปี ส่วนประเพณีการเหยาเพื่อเลี้ยงผี เหยาเรียกขวัญ และเหยารักษาคนป่วย ที่จะมีการแสดง “โส้ทั่งบั้ง” ประกอบพิธีเหยา ปัจจุบัน การแสดงดังกล่าวได้รับการยกระดับมาสู่การแสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ชาวโส้มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เมืองมหาชัยกองแก้ว เมืองอู่ เมืองวัง และเมืองบ้ำ (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2524) สอดคล้องกับงานศึกษาของแสงเพชร สุพร (2533) ที่ได้กล่าวถึงถิ่นฐานเดิมของ

ชาวโส้ที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายบริเวณแถบภาคกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณเมืองภูวานากระแด้ง ประกอบด้วย เมืองพิณ เมืองนอง เมืองวัง – อ่างคำ และเมืองตะโปนหรือเมืองเซโปนในปัจจุบัน จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวโส้จากเมืองเชียงฮ่ม และจากเมืองมหาชัย แขวงคำม่วน (ยงยุทธ บุราสิทธิ์, 2552)การอยู่อาศัยในประเทศลาวส่วนใหญ่อยู่เป็นกลุ่มชุมชนขนาดเล็ก ประมาณ 5-20 ครัวเรือน โดยอาศัยอยู่บริเวณหลังเขาและหุบเขา มีอาชีพทำข้าวไร่ ทำสวนและปลูกพืชผัก เป็นสังคมเกษตรกรรมที่ไม่มีความสลับซับซ้อน

ชาวโส้ มีความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เชื่อมโยงกับการอพยพมายังบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยการอพยพเกิดจากสาเหตุการถูกกวาดต้อน การหลบหนีจากเหตุการณ์ไม่สงบ รวมทั้งการทำนายของผู้ทรงเจ้าทรงผีของชาวโส้ที่ระบุว่า พื้นที่หรือเมืองตะโปนที่อยู่อาศัยจะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เกิดกลียุค ชาวโส้จึงต้องอพยพข้ามแม่น้ำโขงไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีหนองน้ำที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน (นัยน์ปพร ชุติภาดา, 2552) เมื่อพิจารณาบริบทของเทือกเขาภูพานเชื่อมโยงกับสาเหตุการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติโดยมีที่ราบลุ่มและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราชสำนักได้มีนโยบายสำคัญในการสร้างเมืองใหม่ขึ้นบริเวณริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อเป็นแนวกันชนจากการรุกรานของอาณาจักรใกล้เคียง ได้แก่ เวียดนามหรือญวน จากเหตุผลดังกล่าว ราชสำนักสยามจึงใช้ทั้งวิธีการเกลี้ยกล่อมราษฎรแบบสมัครใจ และการกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร
นครพนม กาฬสินธุ์ และหนองคาย (ธวัชชัย ไพใหล, 2559)การอพยพและย้ายถิ่นของชาวโส้ มีรายละเอียดดังนี้

การอพยพระลอกที่ 1 จากการกวาดต้อนครัวเรือนราษฎรฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงระยะที่ 1
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งตรงกับรสมัยของเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ ไทยได้ยกทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2371 และได้ทำลายเมืองเวียงจันทร์อีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เจ้าอนุวงศ์ได้หลบหนีมาอยู่ที่เมืองมหาชัยกองแก้วซึ่งเป็นเมืองที่มีชาวโส้อาศัยอยู่จำนวนมาก เมื่อกองทัพไทยเข้าตีเมืองมหาชัยกองแก้ว เจ้าอนุวงศ์จึงได้หลบหนีไปที่เมืองตะโปนและเมืองปอม ซึ่งเป็นบริเวณที่ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย จากเหตุการณ์นี้ ทำให้กองทัพไทยได้กวาดต้อนชนกลุ่มน้อย รวมทั้งชาวโส้มายังประเทศไทยเป็นจำนวนมากโดยเข้ามาที่เมืองกุสุมาลย์ (อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“...พระมหาสงครามเจ้าอุปราช เวียงจันทร์ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเมื่อครั้งก่อนกองทัพกรุงเทพฯ พระมหานครยกขึ้นตีเมืองมหาไชย เพี้ยเมืองสูง เพี้ยบุตตโคตร์ ท้าวบุตร ท้าวนาน พวกกะโซ่ได้เข้าหากองทัพสมัครหา ท้าวเพี้ยครอบครัวสวามิภักดิ์เข้าสู่พระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระยาอำมาตย์นายทัพนายกอง บุตรหลานท้าวเพี้ยจัดแจงให้ครอบครัวกะโซ่ตั้งอยู่บ้านกุดบากขมาน แขวงสกลนคร เป็นคนท้าวเพี้ย 67 ฉกรรจ์ 612 รวม 679 คน ครัว 2503 รวมฉกรรจ์ 3209 ครัว 2000…”(ขบวน พลตรี อ้างถึงใน แสงเพชร สุพร, 2533)

การอพยพระลอกที่สอง (พ.ศ. 2376-2388) จากเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับเวียดนาม กรณีการเปิดศึกแย่งชิงอิทธิพลในเขมร ไทยจึงมีนโยบายกวาดต้อนราษฎรจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเพื่อป้องกันการเข้าร่วมเป็นกองกำลังของเวียดนามในการทำสงครามกับไทย ไทยจึงยกกองทัพไปตีเมือง จำนวน 15 เมือง และทำการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองมหาชัย เมืองพวน เมืองเชียงขวาง เมืองชุมพร เมืองพวง เมืองพะลาน เมืองเชียงคำ เมืองเชียงแมน เมืองกาย เมืองเชียงดี เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองพร้าว เมืองหาว และเมืองวัง ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้มีผู้คนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่มีทั้งผู้ไท กะเลิง โซ่ ญ้อ ข่า ไทลาว ฯลฯมาไว้ที่เมืองนครราชสีมาและเมืองใกล้เคียงในแอ่งสกลนคร ดังใจความที่ปรากฏในเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 1 (2514, หน้า 148 –149) ที่ระบุว่า “...เมื่อเดือน 3 ข้างขึ้นปีมะเส็งเบญจศกได้กวาดต้อนผู้คนครอบครัวข้ามฟากประมาณ 6,000 คน ส่งมาเมืองนครราชสีมา...” (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, อ้างถึงใน ธวัชชัย ไพใหล, 2559)

จากนโยบายการเกลี้ยกล่อมครอบครัวชาวโส้จากหัวเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามมายังฝั่งไทยด้วยความสมัครใจไม่มีการบีบบังคับ มีครัวเรือนที่สมัครใจข้ามมายังฝั่งไทยจำนวนมากที่อพยพมาพร้อมกับเจ้าโฮงกลางผู้นำชาวผู้ไทยต่อมาเจ้าโฮงกลางก็ได้เป็นเจ้าเมืองปะขาวพรรณานิคม และบางส่วนมีชาวโส้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองกุสุมาลย์ซึ่งชาวโส้ที่อพยพได้ตั้งถิ่นฐานนั้นมีการอยู่อาศัยกันมากใน 1) จังหวัดสกลนคร เป็นชาวโส้ที่อพยพมาจากเมืองวัง เมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน และเมืองอูซึ่งอยู่ในเขตปกครองของแขวงพงสาลี และเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในท้องที่อำเภอกุสุมาลย์ และอำเภอพรรณนานิคม2) ชาวโส้ในจังหวัดมุกดาหาร อพยพมาจากเมืองวัง-อ่างคำ เมืองตะโปน หรือ เซโปนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กลุ่มนี้อพยพข้ามแม่น้ำโขงที่บริเวณแก่งกะเบาห่างจากอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบันและกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอดงหลวง อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร และ 3) ชาวโส้ในจังหวัดนครพนม อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ในระหว่าง พ.ศ. 2385-2387 โดยถูกกวาดต้อนจากเมือง ตะโปน และเมืองเชียงฮ่ม (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ของประเทศลาว) เข้ามาและให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองรามราช ให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครพนม (ปัจจุบันเมืองรามราชก็คือ ตำบลรามราช อยู่ในเขตอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม)และตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอท่าอุเทน อำเภอเมือง อำเภอศรีสงคราม อำเภอบ้านแพง อำเภอโพนสวรรค์ และบางส่วนของอำเภอนาแก (ธวัชชัย ไพใหล, 2559)

การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของชาวโส้เกิดขึ้นจำนวนสองระลอกใหญ่ ในครั้งแรก เป็นการอพยพในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต่อมาได้มีการอพยพระลอกที่สอง และได้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกับชาวโส้ที่อพยพมาระลอกแรก ปัจจุบัน แม้ว่าชาวโส้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการกระจายตัวในการตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัด ด้วยเงื่อนไขสำคัญด้านการแสวงหาพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ จนปัจจุบัน ชาวโส้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด (ธวัชชัย ไพใหล, 2559) ดังนี้ 1) จังหวัดสกลนคร ที่อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอพรรณนานิคม 2) จังหวัดมุกดาหาร ที่อำเภอดงหลวง อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอเมือง 3) จังหวัดนครพนม ที่อำเภอท่าอุเทน อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอศรีสงคราม อำเภอปลาปาก อำเภอเมือง อำเภอบ้านแพง และอำเภอนาแก 4) จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ 5) จังหวัดหนองคาย ที่อำเภอโซ่พิสัย (ธวัชชัย ไพใหล, 2559)

การดำรงชีพ

ชาวโส้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มาตั้งแต่อดีต ด้วยความที่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ไท ญ้อ โย้ย ลาว จึงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน ในช่วงฤดูฝนจะประกอบอาชีพทำนา ส่วนหลังฤดูทำนามักจะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในการประกอบอาชีพเกษตรจะใช้เรงงานเพศชายเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ส่วนผู้หญิงเมื่อว่างเว้นจากการทำนามักจะทอผ้าเพื่อเอาไว้ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันการประกอบอาชีพของชาวโส้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการเดินทางไปทำงานต่างถิ่นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บางส่วนกลายเป็นแรงงานรับจ้างภาคเกษตร เช่น รับจ้างตัดอ้อย รับจ้างปลูกมัน และรับจ้างกรีดยางพารา ซึ่งแรงงานดังกล่าวมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทำอาชีพในอดีตที่เคยสร้างรายได้เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรสูญหายไป เช่น อาชีพทอผ้ามัดหมี่ และการทำผ้ายก อาชีพดังกล่าวเป็นองค์ความรู้สำคัญของผู้หญิงชาวโส้ที่สูญหายไป

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

พุทธศาสนา

ปัจจุบันนี้ชาวโส้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดเป็นศูนย์กลางของจิตใจ และปฏิบัติตามคำสอนและมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับชาวพุทธทั่วไป เช่น ตักบาตรตอนเช้า และเข้าวัดในช่วงวันธรรมะสวนะ จึงมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก แสดงให้เห็นจากประเพณีสำคัญใน 12 เดือน ส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา บุญกฐิน และบุญผะเหวด เป็นต้น

ศาสนาผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ

ในอดีตชาวโส้มีความเชื่อเกี่ยวกับผี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอำนาจ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีงามหรือสิ่งที่ไม่ดีกับผู้คนได้ ความเชื่อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของชาวบ้านที่มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ และเกิดประเพณีปฏิบัติต่อผี ทั้งในประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและประเพณีในรอบปี

ผีตามความเชื่อของชาวโส้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผีดี และผีร้าย ดังนี้ ผีดี ประกอบด้วย 1) ผีบรรพบุรุษ ผีพ่อผีแม่ปู่ย่าตายาย (เรียกว่า “กะมู่จ เอาะ นี่ยาย”) 2) ผีหมอ (เรียกว่า “กะมู่จ ปรั่ฮ”) 3) ผีนา/ผีตาแฮก (เรียกว่า “กะมู่จ ตะลีง”) 4) ผีป่าผีโคก (เรียกว่า “กะมู่จ โก่ก”) ซึ่งผีเหล่านี้มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองคนในครอบครัว รวมถึงไร่นาป่าเขา ให้การปกป้องคุ้มครองผู้คน และยังเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่วนผีร้าย ประกอบด้วย 1) ผีเสื้อ คือผีที่มาเยี่ยมลูกหลาน ไม่ได้ทำบุญแจกข้าว 2) ผีปอบ (เรียกว่า “มะนั่ฮ”) 3) ผีห้วยผีโสก หรือ “เบรายี่ยาง” ผีเหล่านี้มักจะให้ร้ายกับคนและสร้างความเดือดร้อน จึงต้องมีพิธีกรรมขับไล่หรือบูชาให้ผีเหล่านั้นได้รับความพึงพอใจ (Seidenfaden, 1943: 150)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี พิธีกรรมและเทศกาลของชาวโส้ แต่เดิมมีความผูกพันอยู่กับศาสนาผี ต่อมาเมื่อรับอิทธิพลของพระพุทธศาสนาก็ยอมรับเอาแนวคิดของพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้ในวิถีชีวิต ทำให้ประเพณี พิธีกรรมและเทศกาลส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับชาวอีสาน ซึ่งแบ่งออกเป็นประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต และประเพณีพิธีกรรมในรอบปี ดังนี้

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ชาวโส้ มีประเพณี พิธีกรรมซึ่งปฏิบัติในรอบปีคล้ายกับฮีตสิบสอง คองสิบสี่ของชาวอีสาน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวโส้นับถือทั้งพุทธ พราหมณ์และผีปะปนกันไป ซึ่งจะแสดงในแผนภูมิของปฏิทินประจำปี ดังนี้

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา

ประเพณีของชาวโส้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ได้แก่ บุญเดือน 8เข้าพรรษา เดือน 11 บุญออกพรรษา และเดือน 12 บุญกฐิน ชาวบ้านจะออกไปทำบุญตักบาตรที่วัดกลาง และนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ ในช่วงเวลาเย็นจะมีการเวียนเทียน ฟังเทศน์ ฟังธรรม ปัจจุบันมีผู้อาวุโสนิยมปฏิบัติธรรมถือศีลที่วัด

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ

ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตาประจำหมู่บ้านและประเพณีเลี้ยงผีหมอเหยา ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตาจัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ที่บริเวณศาลปู่ตาด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และถูกจัดขึ้นอีกครั้งในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน11 นิยมเรียกกันว่า “เลี้ยงกินข้าวใหม่”ปัจจุบันจ้ำผู้นำในการทำพิธี คือ พ่อธง ส่วนประเพณีเลี้ยงผีหมอเหยา จัดขึ้นในเดือน 5 หรือ 6 ของแต่ละปี (วินัจ เจ้านาม, 2562: สัมภาษณ์)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ในอดีต เมื่อหญิงชาวโส้มีอายุครรภ์ใกล้จะคลอด คนที่มาอยู่เฝ้าก็จะหาผ้ามาผูกกับขื่อบ้าน เพราะเชื่อว่า จะทำให้แม่คลอดง่ายมากขึ้น ส่วนสามีจะตามหมอตำแยหรือป้า น้าที่ใกล้ชิดมาดูแลภรรยา เมื่อเด็กคลอดจะมีการตัดสายสะดือด้วยของมีคม ที่นิยมตัดด้วยไม้ไผ่ และเอาสายรกบางส่วนไปฝังกลบไว้ที่ใต้ถุนบ้าน บริเวณบันไดทางขึ้นบ้านเพราะเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการปลูกฝังให้เด็กที่เกิดในบ้านรู้จักบ้านและไม่หลงลืมบ้านของตนเอง เมื่อเด็กคลอดแล้ว แม่ก็จะเข้าสู่กระบวนการอยู่ไฟ โดยต้องนั่งและนอนอยู่บนใบไม้และดื่มน้ำร้อนที่ได้จากการต้มยาสมุนไพร เพื่อสร้างสุขภาวะของแม่และเด็ก ส่วนประกอบของน้ำต้มที่แม่จะต้องดื่มประกอบด้วยสมุนไพรซึ่งได้จากเปลือกไม้และรากของต้นไม้ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามต่างๆ ในการรับประทานอาหารที่แม่เด็กต้องระมัดระวัง อาหารที่อนุญาตให้รับประทานได้ ได้แก่ ข้าว ปลา ไก่ ส่วนอาหารสำหรับเด็กแรกเกิดนั้น ประกอบด้วยข้าวเหนียวบด กล้วยแล้วนำไปหมกในกองขี้เถ้าให้ร้อน แล้วค่อยนำมาป้อนเด็ก (Raymond S.Kania and Siriphan Hatuwong Kania, 1997 : 84)

ประเพณีการเกิดของชาวโส้ในอดีต คล้ายกับประเพณีของชาวอีสานกลุ่มอื่น ที่เน้นให้แม่และเด็กมีความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีข้อห้ามหรือที่เรียกว่าการคะลำเช่น เมื่อหญิงชาวโส้ตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน ชาวโส้จะทำ “พิธีตัดกำเนิด” โดยใช้หมอที่มีวิชาอาคม ซึ่งจะเป็นหมอผู้ชายหรือหญิงก็ได้แต่ต้องไม่เป็นหม้ายมาทำพิธี โดยมีเครื่องคายในการทำพิธีกรรมได้แก่ 1) กระทงสามเหลี่ยม 9 ห้อง จำนวน 1 กระทง2) ข้าวดำ ข้างแดง แกงส้ม แกงหวาน 3) น้ำใบส้มป่อย 1 ขัน 4) ด้าย ทำด้วยฝ้ายแท้สีขาว และสีดำ 5) เครือสูด (เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง)

ฝ้ายที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมจะทำด้วยด้ายสีขาวและสีดำ ผูกคาดศีรษะของหญิงตั้งครรภ์ อีกปลายหนึ่งผูกไว้ที่กระทง และอีกข้างหนึ่งสามีของผู้ตั้งครรภ์จะจับไว้ ผู้ตั้งครรภ์ก็จะนั่งเหยียดเท้าทั้งสองข้างไปทางกระทง โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้เบิกผี ได้แก่ผ้าถุง 1 ผืน ผ้าขาวม้า 1 ผืน ไก่ต้มสุก 1 ตัว เหล้า 1 ไหเงิน 12 บาท

เมื่อเสร็จแล้วหมอผีจะทำพิธีเอาข้าวดำ ข้าวแดง ไปจ้ำตัวผู้ตั้งครรภ์เพื่อเอาแม่เสนียดออกจากผู้ตั้งครรภ์ทิ้งไว้ในกระทง พร้อมกับนับหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า ต่อไปหมอจะเบิกผีพรายด้วยคาถา แล้วหมอจะใช้ง้าว (ดาบ) ตัดด้าย และเถาวัลย์ เสร็จแล้วจึงนำกระทงไปทิ้งตามทิศที่หมอบอกผู้นำกระทงไปทิ้งเวลากลับจะต้องหักกิ่งไม้ติดมือมาด้วยเพื่อที่จะเอามาปัดสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน จึงเป็นเสร็จพิธีตัดกำเนิด

จะเห็นว่า ในอดีตประมาณ 10 – 20 ปีที่ผ่านมา หญิงชาวโส้มักจะคลอดลูกด้วยตนเอง ดังเช่นกรณีนางปิ่น ไม้วงแสน ที่เล่าว่า “ตอนนั้นมีลูกก็ทำคลอดเอง อยู่ที่ครัว และก็อยู่ไฟ” สอดคล้องกับคำบอกเล่าของนางหลอด มุงแสน ที่เล่าว่า “ทำคลอดเอง มีลูก 6 คนก็ทำคลอดเองทั้งหมด และก็อยู่ไฟ 15 วัน”

การคลอดเองที่บ้านจะต้องมีผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อ แม่ ป้า หรือญาติที่สนิท เป็นผู้ตัดสายรกและเป็นผู้ช่วยทำคลอด อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดสายรก คือ “ติ้วไม้ไผ่” เป็นไม้ไผ่ที่ตัดออกมาให้บางและคมคล้ายกับมีด รกของเด็กก็จะนำไปฝังไว้ใต้บันไดบ้าน แล้วก่อกองไฟไว้ใกล้ๆ เพื่อไม่ให้สุนัขมาคุ้ยเขี่ยหลังจากคลอดแล้วก็จะอยู่ไฟ (นอนบนแคร่ไม้ไผ่ ก่อไฟใต้แคร่) จะเห็นว่าพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับทารกเกิดใหม่ เริ่มตั้งแต่การตัดสายรกที่ต้องตัดให้ถูกต้องตามลักษณะเพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุข สายรกจะมี 3 ปล้อง ได้แก่ ปล้องอุจจาระ ปล้องปัสสาวะและปล้องตัน ปล้องสีดำเรียกว่า ปล้องอุจจาระ ปล้องสีเหลือง คือ ปล้องปัสสาวะ ปล้องสีขาว คือ ปล้องตัน และนิยมตัดปล้องตัน และมักจะตัดรกของเด็กแรกเกิดด้วยเปลือกไม้ไผ่ที่เอามาทำให้คม เมื่อตัดเสร็จจะห่อเด็กแล้วเอาไปนอนในกระด้ง หลังจากนั้นจะนำรังมดดำ (หมาร่า) ที่อยู่ตามกิ่งไม้มาเผา เอาขี้เถ้าที่ได้จากรังมดดำมาโรยใส่สะดือเด็ก เพื่อให้แผลที่สะดือแห้งสนิท แล้วก็จะส่งเด็กคืนให้แม่ โดยมีคำกล่าวเป็นบทร้องขนาดสั้น 3 รอบ ว่า “จู้ฮุกกรู ถ้าแม้นลูกสู ให้เอาคืนมื้อนี้ ถ้ากายมื้อนี้สิเป็นลูกกู” เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะให้แม่เด็กอยู่ไฟประมาณ 15 วันแม่เด็กดื่มน้ำร้อนที่ได้จากยาสมุนไพรพื้นบ้าน ได้แก่ ไม้แดง เป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ในชุมชนสมัยนั้น เมื่อครบกำหนดในการอยู่ไฟจะต้องมีการออกกรรมของแม่ลูกอ่อน ผู้อาวุโสจะผูกแขนเรียกขวัญให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัวแม่และเด็ก จากนั้นจะวางเด็กใส่กระด้งเป็นเวลา 1-2 วันก่อนจะยกลูกไปหาแม่ โดยมักจะมีคำพูดประกอบในทำนองว่า ห้ามผีมาพาเด็กคนนี้ไปเพราะเขาเป็นลูกของฉัน เมื่อครบกำหนดแล้วก็มักจะทำพิธีตัดผมไฟให้กับเด็ก (ใบ เจ้านาม, 2562: สัมภาษณ์)

ปัจจุบัน เมื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุขมีความทัยสมัยมากขึ้น ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีการกระจายสถานบริการไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่เข้ามามีบทบาทในการรักษาอาการเจ็บป่วยและรับผิดชอบเกี่ยวกับสุขอนามัยของคนในชุมชนมากขึ้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้วิธีการคลอดแบบโบราณลดจำนวนลงและหายไปในที่สุด

การแต่งงานและการหย่าร้าง

การแต่งงานของชาวโส้เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อถือกันมาแต่โบราณ โดยเริ่มจากชายหนุ่มและหญิงสาวตกลงจะแต่งงานกัน หนุ่มชาวโส้จะพาฝ่ายหญิงหนี หลังจากนั้นจึงจะกลับมาเสียผีนับญาติหรือการขอขมา ก่อนจะส่งผู้ใหญ่มาทาบทามสู่ขอหญิงสาวจากบิดามารดา ภายหลังมีการสู่ขอผ่านทางผู้ใหญ่ เรียกว่า “ล่าม” การสู่ขอจะต้องจัดเตรียมสิ่งของเพื่อประกอบพิธีกรรมในการที่จะแต่งงานกัน เรียกว่า พิธีเจียขะนอบ ส่วนใหญ่จะใช้สิ่งของต่างๆ ที่เป็นผ้าที่ทอด้วยมือของสาวชาวโส้ เช่น ฟูก หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน เสื้อ ซิ่นและอื่นๆ

การแต่งงานของชาวโส้ไม่ได้มีความเคร่งครัด ผู้หญิงมาสู่บ้านผู้ชายหรือผู้ชายมาสู่บ้านผู้หญิงก็ได้หลักเกณฑ์การเลือกคู่ครอง คือ “ต้องเลือกผู้จบผู้ดี คนที่จะคุ้มครองและพาเราทำมาหากินได้” ส่วนสินสอดหรือค่าดอง ในอดีตอยู่ที่ประมาณ 200 – 300 บาท ตามแต่ตกลงกัน ฝ่ายชายจะเป็นคนหาวัวมาล้มในงานแต่ง นอกจากนี้ในพิธีแต่งงานจะต้องมีไก่ เหล้า พาขวัญ เมื่อเข้าสู่พิธีสู่ขวัญ หมอขวัญก็จะสูดขวัญและเอาหัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวชนกัน มีการไขว้แขนป้อนไข่ และเจ้าสาวจะต้องดื่มเหล้า ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับพิธีแต่งงานของลาวและไทกลุ่มอื่นๆ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จูงแขนกันเข้าในส้วม (ห้องนอน) เป็นอันเสร็จพิธี วันรุ่งขึ้นเจ้าสาวก็ต้องหาของไปสมมาฝ่ายสามีหรืออาจสมมาในวันแต่งงานหลังจากการสู่ขวัญเสร็จแล้ว ส่วนของสมมานั้น ได้แก่ เสื่อ หมอน ผ้าซิ่น ผ้าแพร โดยเฉพาะแม่สามีมักจะสมมาด้วยผ้าซิ่น เช่น ซิ่นหมี่ ซิ่นไหม ซึ่งในอดีตชาวโส้นิยมทำขึ้นเอง แต่ปัจจุบันของสมมาเป็นสิ่งที่หาซื้อจากตลาดนัด เพราะง่ายและสะดวก

ในกรณีที่หญิงสาวจะไปอยู่บ้านสามี แม่จะสั่งสอนลูกสาว เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนเพื่อการใช้ชีวิตที่บ้านสามี ผู้หญิงโส้ส่วนมากนิยมความขยัน และรู้จักทำหน้าที่การงานของตน โดยสะท้อนผ่านในรูปแบบคำสอน ความว่า “...ลูกเอ๊ย เป็นดงเป็นซูแล้ว เฮ็ดจบ เฮ็ดงามดิเด้อ ไปอยู่เฮือนเพิ่น ฮู้จักเวียก ฮู้จักงาน ให้เพิ่นฮัก ให้เพิ่นแพง...” (หลอด มุงแสน, 2562: สัมภาษณ์)

ความตายและการทำศพ

ชาวโส้มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายและการทำศพที่มีอัตลักษณ์ เมื่อมีผู้เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ มิได้เกิดจากอุบัติเหตุ จะต้องมีการบอกญาติพี่น้องให้ทราบและมาร่วมกันจัดพิธีศพ ในจำนวนญาติพี่น้องคนที่สำคัญ คือ น้าบ่าว หรือน้องชายของแม่เป็นรายแรก การไปบอกน้าบ่าวเป็นธรรมเนียมว่าต้องเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ไปด้วยเพื่อให้น้าบ่าวนำมาเคารพศพ หลังจากนั้นจะบอกเครือญาติที่อยู่ห่างไกลรวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน

เมื่อน้าบ่าวมาถึง จึงเริ่มการแต่งศพให้ผู้ตายมีใบหน้าสดใสเสมือนยังมีชีวิต เช่น การใช้แป้งหรือขมิ้นทาหน้า มีการใส่เงินเหรียญ 1 อัน หรือ 2 อันไว้ในปากของผู้ตาย เพื่อให้ผู้ตายร่ำรวยถ้าจะไปเกิดใหม่ ส่วนเครือญาติอีกกลุ่มหนึ่งจะจัดการทำโลงศพเพื่อเตรียมไว้ในการนำไปเผา

การดอยศพ (เก็บศพ) ก่อนนำไปเผานั้น ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ตาย หากเก็บศพไว้หลายคืนจะต้องเตรียม อาหาร เหล้า บุหรี่ ไว้เลี้ยงแขก สำหรับชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผี จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดอภิธรรมหน้าศพ ในช่วงเวลา กลางคืนจะมีการเล่นเกมในกลุ่มเครือญาติโดยเกมที่นิยม คือ เกมจับไม้สั้นไม้ยาว ปัจจุบัน นิยมเล่นการพนันประเภทไฮโลเพื่ออยู่เป็นเพื่อนบ้านเจ้าภาพ

พิธีซางกะมูด เป็นพิธีหนึ่งของชาวโส้ ก่อนที่จะนำศพลงจากเรือนไปเผา คำว่า "ซาง" ในภาษาโส้ แปลว่า "สาง หรือ จัดให้เป็นระเบียบ" คำว่า "กะมูจ" แปลว่า ผี โดยสรุป ซางกะมูจ จึงหมายถึง การจัดพิธีเกี่ยวกับผู้ตายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยก่อนที่จะนำศพไปเผา

ชาวโส้ เชื่อว่า ผู้ที่เสียชีวิตด้วยอาการธรรมชาติเรียกว่า "ผีดิบ" การทำพิธีซางกะมูจจะทำผีดิบให้เป็น "ผีสุก" มิฉะนั้นญาติพี่น้องจะได้รับอันตรายจากผีดิบ เช่น เจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ ชาวโส้ที่เคร่งครัดและมีความเชื่อเช่นนี้ ในเวลากลางคืนจะทำพิธีซางกะมูจหลายครั้งก่อนที่จะนำศพลงจากเรือนไปเผา

พิธีจะเริ่มขึ้นในช่วงเวลาเย็น ก่อนวันที่กำหนดจะนำศพไปเผา ญาติพี่น้องจะอาบน้ำศพมัดตราสัง 3 เปลาะ ในท่าศพพนมมือแล้วจึงนำศพใส่โลง อาจมีการนำผ้าที่มีลวดลายสวยงามมาพาดประดับโลงศพ หลังจากญาติพี่น้องผู้ตายที่เป็นสกุลผีเดียวกัน หรืออยู่ในจุ้มผีเดียวกันประมาณ 5 - 10 คน จะยืนล้อมข้างโลงศพ ทั้งสองข้างๆ ละเท่ากัน ใกล้ศีรษะของผู้ตายจะมีอุปกรณ์ประกอบพิธี คือ ขันกะหย่อง (พาน) สานด้วยไม้ไผ่ 2 ใบ ไม้ไผ่สานเป็นจักจั่น 5 ตัวใส่ไว้ในขันกระหย่องใบละ 2 ตัว (จักจั่น มีความหมายว่า ให้ผู้ตายมีความสุขสนุกสนานดังเช่นจักจั่นที่กรีดเสียงร้องบนต้นไม้) ไม้ไผ่บาง 2 คู่ แทนสัญลักษณ์ของผู้ตายวางบนขันกะหย่อง นอกจากนี้ บางหลังคาเรือนยังจัดให้มีจอกใส่น้ำหรือเหล้า ซองใส่ดอกไม้ 4 ซอง หรือ 16 ซอง หูช้างซึ่งมีลักษณะคล้ายพัดโบก ช้าง ม้า จำลองทำด้วยไม้ยอ ผ้าฝ้ายพันศีรษะขนาดยาว 4 ผืน สั้น 2 ผืน

เมื่อได้เครื่องเซ่นบูชาวิญญาณแล้ว น้าบ่าว หรือญาติสนิทของผู้ตายจะกล่าวคำส่งวิญญาณ ส่วนญาติผู้ตายซึ่งถือเครื่องเซ่นบูชาวิญญาณจะอยู่ในอาการสงบ หลังจากกล่าวคำส่งวิญญาณจบ น้าบ่าวจะนำญาติที่ยืนอยู่รอบโลงศพเดินวนไปทางซ้าย 3 รอบ แล้วเดินกลับมาทางขวาอีก 3 รอบ ญาติผู้ตายบางคนจะถือเหล็กแท่งพังฮาดหรือฆ้องตีเป็นจังหวะ นอกจกานี้ยังมีการนำไหเปล่าขึงตึงด้วยยางที่ปากไห แล้วดีดเป็นเสียง และทุกคนจะร้อง เฮะ ๆๆๆๆ เป็นจังหวะ พร้อมกับจังหวะของเครื่องมือที่จะดีดหรือตีให้เกิดเสียง ชาวโส้เชื่อและยืนยันว่า ในสมัยโบราณญาติผู้ตายจะใช้บั้งหรือกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นลำยาวพอประมาณ กระแทกกับพื้นเป็นจังหวะที่เดินวนรอบๆ ศพ และเป็นต้นกำเนิดการเล่นทั่งบั้ง หรือ เรียกตามภาษาโส้ว่า "สะลา"

เมื่อขบวนญาติพี่น้องเดินวนซ้ายและวนขวาครบ 3 รอบจะกราบและกล่าวขอขมาผู้ตายเพื่อมิให้มีเวรกรรมแก่กัน และขอศีลขอพรตามจารีต หลังจากนั้นน้าบ่าวจะนำด้ายหรือเชือกเส้นเล็กมาวางไว้ที่ศพ ปลายเชือกอีกด้านหนึ่งให้ญาติพี่น้องถือไว้ เมื่อกล่าวคำอำลาแล้วก็ตัดเชือกระหว่างกลาง เป็นการแสดงว่าขาดจากสภาพเดิมหรือผู้ตายมีสภาพมิใช่มนุษย์แล้วจากนั้นจึงนำศพลงจากบ้านเรือน

การนำศพไปป่าช้านั้น ชาวโส้นิยมหามศพโดยนำไม้ไผ่ประมาณ 10 ลำ ยาวประมาณ 5 เมตร มาผูกมัดให้แน่นคล้ายแพหรือแคร่ แล้วนำหีบศพตั้งข้างบนแคร่ ชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนาจะนิมนต์พระสงฆ์มานั่งบนแคร่หน้าโลงศพ เพื่อสวดมนต์ไปตลอดทางจนถึงป่าช้าท้ายหมู่บ้าน ส่วนคนหามนั้นก็ผลัดเปลี่ยนกันตลอดทาง ขณะที่ศพเคลื่อนไปนั้นจะมีการโปรยข้าวตอก หรือข้าวคั่วตามหลัง การทำเช่นนี้ชาวโส้มีความเชื่อว่าหากต้องการให้ผู้ตายหาทางเดินกลับบ้านได้ หรือเชื่อว่าให้ผีที่อยู่บนแคร่หามลงมารับส่วนบุญ เพื่อจะทำให้น้ำหนักลดลง

ปัจจุบันเมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อชาวโส้มากขึ้น การบวชหน้าศพทั้งเป็นสามเณรและภิกษุสงฆ์ก็มีจำนวนไม่น้อย สำหรับสตรีที่ต้องการไว้ทุกข์จะแต่งกายด้วยผ้าขาวคล้ายนางชี และใช้ผ้าขาวมัดผม

เมื่อขบวนศพถึงป่าช้า ชาวโส้จะหาฟืนในป่ามาทำเป็นกองฟอน (ที่เผาศพ) ไว้และตกแต่งให้เป็นกองฟอนขนาดใหญ่พอที่จะวางโลงศพ ก่อนเผาศพอาจมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมาติกาบังสุกุลแล้วเป็นผู้จุดไฟ หลังจากนั้นบุคคลอื่นๆ ก็จะหาฟืนมาสุมเพิ่มให้ลุกโชติช่วง ในกลุ่มที่มิได้จัดพิธีสงฆ์ก็จะทำการเผาศพทันที อย่างไรก็ตาม ชาวโส้บางรายจะนำไก่มาจิกหรือเคารพที่โลงศพก่อนเผาศพ มีการทุบมะพร้าวที่เรียกว่าล้างหน้าผี แล้วหาเครือไม้มาตัดแสดงการตัดญาติจากลูกหลาน

เมื่อเผาศพแล้ว ขบวนญาติพี่น้องและมิตรสหายต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน ถ้าเส้นทางนั้นผ่านหน้าบ้านผู้ตาย จะมีญาติผู้ตายที่สูงอายุทำหน้าที่พรมน้ำมนต์ให้ทุกคนเพื่อเป็นสิริมงคล พร้อมกับกล่าวคำอวยพรว่า "มั่นยืนๆ" หมายถึง อายุยืนนาน น้ำมนต์นี้มักผสมด้วยขมิ้นมีสีเหลืองอ่อนๆ

การเก็บกระดูกผู้ตาย ไม่ได้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของญาติพี่น้อง ชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนามักนิยมนำอัฐิไปฝังไว้ตามกำแพงวัด แต่ชาวโส้ส่วนมากจะเก็บอัฐิโดยฝังไว้ใกล้กับที่เผาศพ แล้วเขียนชื่อผู้ตายใส่แผ่นไม้หรือทำเครื่องหมายอื่นให้เป็นที่สังเกตได้ชัดเจน

ชาวโส้ทมีความเชื่อว่า ผู้ตายมีความผูกพันกับชาวโส้ด้วยกัน วิญญาณผู้ตายจึงวนเวียนอยู่ในบ้านเดิมญาติพี่น้องต้องจัดหากระติบใส่ข้าวเหนียวมาวางใกล้ศพ จุดเทียนไว้ใกล้ๆ กระติบข้าวเป็นเวลา 3 คืน เพื่อเซ่นผู้ตาย นอกจากนี้ ชาวโส้จะต้องทำพิธีเรียกวิญญาณผู้ตายให้กลับมาอยู่กับลูกหลานที่บ้านพิธีกรรมดังกล่าวจะทำโดยผู้มีความรู้ในเรื่องพิธีกรรม โดยจัดหาเหล้า 1 ขวด ไก่ต้ม 1 ตัว และผู้ทำพิธีตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ส่วนที่อยู่ของวิญญาณนั้นมักเป้น มุมใดมุมหนึ่งของเรือนซึ่งเป็นห้องนอน และถือกันว่าเป็นมุมผีเรือน ผู้ที่มิใช่ญาติโดยสายเลือดเดียวกันจะเข้าไปในบริเวณนั้นมิได้

อล็องกะมูด หมายถึง เชิญวิญญาณผู้ตายที่เป็นญาติซึ่งตายไปแล้ว 1 เดือน กลับคืนบ้านเรือน มีขั้นตอนดังนี้

1. เมื่อได้กำหนด และญาติพร้อมแล้ว จะไปบอกยาฮีดและบอกน้าบ่าว

2. จะต้องเซ่นวิญญาณผีเก่าเสียก่อนด้วยเหล้าไห ไก่ตัว โดยทำที่มุมห้องในบ้าน

3. เชิญผีที่จะมาอยู่ใหม่ โดยเชิญที่บันไดบ้านโดยยาฮีดจะหยิบข้าวสารหว่านลงไปพร้อมกับพูดว่า
"มาเดอ มื้อสันวันดีพร้อมทั้งพาหวาน มีข้าวหว่านลงไป มีข้าวดำ ข้าวแดง ผีภูบ่ให้มา ผีป่าบ่ให้เสือก ให้มาแต่ผู้เดียวเจ้าเด้อ มาค้ำมาคูน"

4. เสร็จแล้วเข้าไปทำพิธีข้างในบ้าน แต่งสำรับกับข้าว 1 สำรับ ขึ้นจ้ำผีคุณตัวเก่าที่เป็นหัวหน้าโดยบอกว่า ต่อไปนี้พวกเก่าและพวกมาอยู่ใหม่ ให้กลมเกลียวสามัคคีกันมาค้ำมาคูณ ข่อยว่าผิดจึงผิด ข่อยว่าถูกว่าแม้น จึงถูกจึงแม้นเด้อ เด้อๆ

5. เสร็จแล้วมีการกินเลี้ยงกัน ร่วมสำรับกับข้าวกันระหว่างญาติทุกคน พร้อมกับยาฮีดด้วย เป็นเสร็จพิธี

พิธีซางกะมูดและอล็องกะมูด สะท้อนให้เห็นความเชื่อในระบบภูติผีวิญญาณของชาวโส้ ที่นับถือผีชาวโส้เชื่อว่า การทำพิธีศพให้ถูกต้องจะทำให้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว หากไม่ปฏิบัติพิธีกรรมแล้วผีจะรบกวน และนำสิ่งร้ายๆ มาสู่ชีวิตได้ ประเพณีชาวโส้บางหมู่บ้านจะให้นำศพลงจากเรือนด้านอื่นที่มิใช่บันไดขึ้นบ้าน เช่น ทะลุฝาบ้านหรือลงด้านหลังบ้าน

อย่างไรก็ดี เมื่อจัดพิธีศพเสร็จสิ้นแล้ว ชาวโส้ เชื่อว่า วิญญาณผีจะต้องมีอยู่เป็นหลักแหล่ง มิฉะนั้นอาจไปทำให้ผู้อื่นเจ็บป่วยได้ จึงต้องทำพิธีอล็องกะมูดเชิญวิญญาณผีมาไว้ที่มุมเรือนของตน จึงทำให้เกิดพิธีกรรม ความเชื่อในเรื่องการเข้าออก ประตูด้านแจหรือมุมห้อง ผีเรือนรวมทั้งการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวบริเวณมุมผีเรือนของผู้ที่มิใช่สายตระกูลผีเรือน ระบบผีเรือนยังมีบทบาทในการตรวจสอบความถูกต้องตามฮีตคองของผู้อยู่อาศัยในเรือนหลังนั้น ทั้งภายในหมู่สายตระกูลเดียวกันและเขย-สะใภ้ ต่างสายตระกูลอีกด้วยระบบผีเรือนจึงเป็นระบบความเชื่อที่ทำให้สังคมในชุมชนปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายข้อห้ามใดๆ

การรักษาโรค

ชาวโส้ รวมทั้งผู้ไท ญ้อ โย้ย กะเลิง มีความเชื่อในการรักษาโรคด้วยพิธีเหยา เป็นรูปแบบการรักษาโรคด้วยการเชิญเทพ ไท้ แถน ผีฟ้า ผีน้ำ และผีเชื้อ เข้ามาอยู่ในร่างทรงเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยตามความเชื่อ การเหยาเป็นการสู่ขวัญและปลอบประโลมขวัญผู้ป่วยหรือการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยวิธีการขับลำหรือขับร้อง โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่า อาการเจ็บป่วยนั้นเกิดจาก “ผี” แม้จะรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันแต่อาการยังไม่ได้ทุเลาลง หรือหาสาเหตุของโรคได้ไม่ชัดเจน ชาวบ้านจึงมักจะลงความเห็นว่า อาการป่วยเช่นนี้เกิดจากการกระทำของ “ผี” การรักษาอาการเจ็บป่วยชนิดนี้จะต้องพึ่งพา “หมอเหยา” ซึ่งผู้คนทั่วไปมักมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นวิธีการรักษาแบบไสยศาสตร์ หากพิจารณาบริบทของเหยาอย่างแท้จริง จะพบว่า เหยามีความสำคัญในฐานะที่เป็นการแพทย์พื้นบ้านที่ให้ความสำคัญกับคนจิตใจของคน และมิติความสัมพันธ์ของคนธรรมชาติ และอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างเป็นระบบ

องค์ประกอบของพิธีกรรม ประกอบด้วย ผู้ประกอบพิธีหรือเจ้าพิธี (หมอเหยา) ผู้ป่วย หมอแคน ลูกศิษย์ และญาติผู้ป่วย

ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวยังมีความเชื่อและนับถือผีอย่างแน่นแฟ้น จึงมีประเพณีพิธีกรรมที่ผูกพันอยู่กับผี สอดคล้องกับสาเหตุของการเหยาที่มาจากความเชื่อเรื่องผี ที่มีทั้งผีดีและผีร้าย ผีที่บันดาลความเจ็บป่วยได้ คือ ผีไท้ ผีแถนผีบ้าน ผีเรือนผีบรรพบุรุษผีภูผีป่าผีน้ำผีนาผีไร่ ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยมักจะไม่ทราบสาเหตุของโรค “หมอเหยา” ในฐานะผู้ที่มีบทบาทในการรักษา จึงเป็นผู้ปฏิบัติการรักษาและตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานนี้

นอกจากความเชื่อเรื่องผีแล้วชาวโส้ยังมีความเชื่อว่าการกระทำผิดจารีตหรือฮีตคองของชุมชน อาทิ การแก่งแย่งมรดก การทะเลาะเบาะแว้งกันภายในครอบครัว การปล่อยปละละเลยไม่ดูแลบุพการี และการทำผิดกติกาหรือบรรทัดฐานที่พึงประสงค์ของชุมชน การผิดลูกเมียคนอื่น การขโมยสิ่งของจากวัด รวมถึงการบุกรุกทำลายป่าชุมชน ทำให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบสุขในหมู่บ้าน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องผีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนอกจากนี้ อาการเจ็บป่วยมักจะเกี่ยวกับ “ขวัญ” ที่ไม่อยู่ปกติสุขในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับความเจ็บป่วย หมายความว่า “ขวัญ” ผิดปกติ ไม่คงที่ และไม่สถิตอยู่ในร่างกาย สาเหตุที่ขวัญออกจากร่างกายอาจเกิดจากอาการตื่นตระหนกอย่างรุนแรงการเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะเบาะแว้งกับบุคคลในครอบครัวจนขวัญเสียกระทั่งเกิดอาการขวัญหนีออกจากร่างกายและนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่า อาการเจ็บป่วยของคนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเชื่อพฤติกรรมและขวัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งทั้งธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับมิติทางกายและมิติทางใจของมนุษย์ ส่งผลต่อความเป็นไปของชีวิตรวมถึงภาวะความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ขาดระเบียบกติกาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติจะนำพาให้เกิดความผิดปกติของระบบร่าง เช่นเดียวกันกับการที่มนุษย์ไม่มีระเบียบในการอยู่ร่วมกับอำนาจเหนือธรรมชาติจะเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติทางใจ จากความชาญฉลาดของบรรพบุรุษของชาวโส้ที่ได้พยายามสร้างระบบของการเยียวยาทั้งทางกายและทางใจขึ้นมาผ่านระบบของพิธีกรรมโดยใช้อำนาจเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับผีมาเป็นกลไกของการรักษาเยียวยา เกิดเป็นภูมิปัญญาการรักษาโรคที่ผูกโยงกับพื้นฐานของความเชื่อที่อยู่ในชุมชนของตนเอง กลายเป็นภูมิปัญญาของการรักษาโรคที่เหมาะสมกับภูมิวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน

เหยา จึงเป็นพิธีกรรมรักษาโรคที่มีการอ้อนวอนร้องขอ การปลอบประโลมใจโดยผ่านบทร้องลำที่เป็นบทผญาและเสียงดนตรี อาจกล่าวได้ว่าเหยามีลักษณะเป็นการรักษาโรคด้วยดนตรีบำบัด (music therapy) อีกวิธีหนึ่ง จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อบำบัดอาการที่เกิดขึ้นทางจิตใจ ทำให้เกิดความอบอุ่นใจและกำลังใจในยามป่วยไข้ หรืออีกนัยหนึ่ง การเหยาเป็นการใช้อำนาจของแถน (อำนาจเหนือธรรมชาติ) มาช่วยในการชี้แนะแนวทาง การตัดสินใจ การปลอบประโลมใจในช่วงเวลาคับขันของชีวิตหรือเวลาที่หาทางออกไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับการให้แนวทางการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการให้กำลังใจในชีวิตประจำวัน และกลวิธีสำคัญที่ปรากฏในพิธีกรรมเหยานิยมใช้บทผญา สำนวนโวหาร สัญลักษณ์ บทวินิจฉัยและถ้อยคำแบบต่างๆ รวมไปถึงการใช้ดนตรี การใช้ศิลปะแสดง (เน้นการฟ้อนรำ)

ในบริบทพื้นที่ของแอ่งสกลนครมีการเหยา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเหยารักษาผู้ป่วย และการเหยาเลี้ยงผี ปรากฏในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดบึงกาฬแ ละบางส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้การเยา 2 ประเภท อาจจะมีรายละเอียดเล็กน้อยที่เพิ่มเติมในพิธีกรรม รวมถึงชื่อเรียกที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในส่วนย่อยของการเยารักษาโรค กับเหยาเลี้ยงผี ซึ่งรายละเอียดของการเหยาทั้งสองประเภทนี้ อยู่ที่ระยะเวลาของการประกอบพิธีกรรม สำหรับเหยารักษาผู้ป่วย (healing rite) สามารถทำได้ตลอดปี ยกเว้นวันพระ สำหรับการเหยาเลี้ยงผี (offering rite) จะทำ 1 ปี 1 ครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณและเลี้ยงประจำปี กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการพบปะเครือข่ายของหมอเหยาใน 1 ปี ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดดังนี้

ประเภทที่หนึ่ง การเหยารักษาผู้ป่วย หรือการเหยารับขวัญ เป็นการเหยาเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเหยาเพื่อให้ชีวิตมีความอยู่เย็นเป็นสุข เหยาผู้ป่วยเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือในการเหยารักษาผู้ป่วยนั้นก็จะมีทั้งการเหยาเรียกขวัญ การเหยาต่ออายุ การเหยาแก้บน และการเหยาคุมผีออก การเหยารักษาผู้ป่วยนี้จะกระทำก็ต่อเมื่อการรักษาด้วยการรักษากับหมอพื้นบ้าน เช่น รักษาด้วยยาสมุนไพร (หมอยาฮากไม้) รักษาด้วยการเป่า (หมอเป่า) รักษาด้วยน้ำมนตร์ (หมอมนตร์) รักษาด้วยการนวด (หมอนวดหมอกระดูก) รักษาด้วยหมอธรรมและรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่แล้วไม่หายจากอาหารเจ็บป่วย จำเป็นต้องให้หมอเหยามาบำบัดรักษา บางแห่งจะให้หมอส่องตรวจดูสาเหตุ แต่บางแห่งทั้งหมอส่องและเหมอเหยาเป็นคนคนเดียวกัน หากพบว่าเกิดจากอำนาจของผี จะเชิญหมอเหยามารักษา หมอเหยาจะใช้ระยะเวลา 1-2 วันในการรักษาอาการเจ็บป่วย เริ่มตั้งแต่ตั้งเครื่องคาย (เครื่องบูชา) และดำเนินการไปตามขั้นตอนของการรักษา กล่าวคือ การอัญเชิญเทพ แถน หรือผีประจำตัวลงมาประทับร่าง แล้วใช้กลวิธีการซักถาม เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย หลังจากทราบสาเหตุแล้ว จึงจะไต่ถาม สอบถามเพื่อหาทางแก้ไข ขั้นตอนนี้จะใช้กลวิธีการซักถามและการอ้อนวอนร้องขอ เมื่อสำเร็จตามที่ขอแล้วจึงจะเป็นการปฏิบัติตามคำขอของผีที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยด้วยการแต่งแก้ เสียเคราะห์ด้วยกระทงโดยเฉพาะการทำกระทงจะทำกระทง 9 ห้อง 9 ชั้น แล้วนำสิ่งของ เสื้อผ้า เล็บหลังจากนั้นจึงจะดำเนินการเชิญขวัญผู้ป่วย และลำดับถัดมาจึงจะส่งผี พร้อมทั้งการลาผีแถนหรือผีร่างทรง กระทั่งเสร็จสิ้นพิธีก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน (ทรงคุณ จันทจรและปิติ แสนโคตร, 2540 : 35)

ประเภทที่สอง การเหยาเลี้ยงผี เป็นการเหยาเพื่อไหว้ครูบาอาจารย์ รวมถึงไหว้ผีไท้ ผีแถน เทพ ตามความเชื่อและประเพณีการนับถือผีของกลุ่มชนต่างๆ ในบริบทของแอ่งสกลนคร คล้ายกับการไหว้ครูผีฟ้า (ฟ้อนผีฟ้า) ที่จะต้องทำทุกปี นอกจากนี้ยังพบว่าการเลี้ยงผียังปรากฏในวรรณกรรมชนชาติไทโบราณ คือ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มไทดำ จุดประสงค์ของการเลี้ยงผีเพื่อแสดงออกถึงความเคารพ
การขอให้ได้รับการคุ้มครอง ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร และการเลี้ยงผีเพื่อให้สิ่งต่างๆ สำเร็จดังประสงค์ การเหยาเลี้ยงผีจึงมีรูปแบบที่แตกต่างจากการเหยารักษาผู้ป่วย กล่าวคือ การเหยาเลี้ยงผีสามารถทำได้ 1 ปี 1 ครั้ง แล้วแต่ช่วงเวลาที่กำหนด ส่วนมากนิยมจัดขึ้นในเดือน 3 หรือเดือน 4 ตามจันทรคติ (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน) ซึ่งภาษาของหมอเหยากล่าวไว้ว่า “เดือนสามดอกฮังหยี่ เดือนสี่ดอกฮังบาน” เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการละเล่นและการงานรื่นเริง การเหยาเลี้ยงผีมีหมอเหยาที่เป็นตำแหน่ง “แม่เมือง” เป็นผู้ทำพิธีหลักและ “ลูกเมือง” หรือ “ลูกศิษย์” เป็นผู้ช่วยและผู้ร่วมในพิธีกรรม นับเป็นการชุมนุมผู้ที่ผ่านการรักษาโรคกับหมอเหยาที่เป็นแม่เมืองจะเข้ามาร่วมเลี้ยงผี 1 ปี 1 ครั้ง และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นฮีตคอง (ธรรมเนียมปฏิบัติ) ทั้งนี้ก็มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเคารพและคารวะครูพร้อมทั้งผีประจำตัวของลูกเมืองแต่ละคนด้วย (ดวงเดือนบุนยาวง 2540 : 153)

การเหยาเลี้ยงผีเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ “การเอาบุญผี” หรือ “การเลี้ยงสะคี” หมอเหยาจะเชิญวิญญาณผีประจำตัวที่เป็นร่างทรงมาอยู่ในหิ้งแล้วฟายน้ำเหล้าและจุดเทียนเชิญผีมาดื่ม เมื่อถึงวันทำพิธีก็จะนำขันหิ้งผีมารวมกันในผาม (ปะรำพิธี) ซึ่งมีจุดศูนย์กลางเป็นหอผี ประดับประดาด้วยดอกไม้และของบูชา บรรดาลูกเมืองก็จะนั่งรายลอบหิ้งผีเป็นลักษณะวงกลมหรือสี่เหลี่ยม เสมือนหนึ่งจำลองเมืองที่มีทั้ง 4 ทิศ โดยกำหนดเอาทิศใต้หรือทิศตะวันตกเป็นจุดเริ่มต้นและที่ตั้งของขันบูชาหมอเหยาที่เป็นแม่เมือง พิธีเหยาเลี้ยงผีจะจัดขึ้น 2 วัน วันแรกจะทำพิธีอัญเชิญผี ไท้ แถน เทพ ส่วนวันที่สองจะมีการฟ้อนรำและการละเล่นต่างๆ ที่สนุกสนาน ได้แก่ การแข่งเรือ ช้อนปู ช้อนปลา จระเข้ขวางห้วย

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. (2543). นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร.

กองการศึกษาเทศบาลตำบลกุสุมาลย์. (มปป). ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้. สกลนคร: กองการศึกษาเทศบาลตำบลกุสุมาลย์.

เกรียงไกร ผาสุตะ และพจนวราภรณ์ เขจรเนตร. (2561). พงศาวดารเมืองสกลนคร เมืองนครพนม ฉบับลายมืออำมาตย์โท พระยาประจันตประเทศธานี (โง้นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร). สกลนคร: สมศักดิ์การพิมพ์.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2524). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์ดวงกมล.

ดวงเดือนบุนยาวง.(2540). แนวคิดและอุดมคติท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง. กรุงเทพฯ. มติชน.

โดม ไกรปกรณ์. (2562). แหล่งที่มา การปกครองมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5. สืบค้นจากhttp://www.kpi.ac.th/ (26 พฤษภาคม 2562)

เติม วิภาคย์พจนกิจ. (2557). ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ทรงคุณ จันทจร, พิสิฎฐ์ บุญไชย, แสงเพชร สุพร. (2536). ผ้าชาวโส้ : ศึกษากรณีชาวโส้ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร. สืบค้นจากhttp://research.culture.go.th/index.php/interest/gm/item/759-2014-03-04-17-56-41_759.html.

ทรงคุณ จันทจรและปิติ แสนโคตร. (2540). การรักษาผู้ป่วยด้วยวิเหยาของชาวผู้ไทย : กรณีศึกษาชาวผู้ไทยอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร. มหาสารคาม. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ธวัชชัย ไพใหล. (2559). กลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ในแอ่งสกลนคร. วารสารบัณฑิตศึกษา 16(74), สืบค้นจากhttps://so02.tci-thaijo.org/index.php/SNGSJ/article/view/187999.

ธวัชชัย ไพใหล. (2559). ประวัติศาสตร์ชาวไทยไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร. วารสารบัณฑิตศึกษา. 13(60).จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/SNGSJ/article/view/65854.

นัยน์ปพร ชุติภาดา (2552). ฟ้อนโส้ทั่งบั้ง จังหวัดสกลนคร (วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบค้นจากhttps://cuir.car.chula.ac.th/xmlui/handle/123456789/19071.

บุญยงค์ เกศเทศ. (2551). วัฒนธรรมเผ่าพันธุ์มนุษย์. มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (2555). ผู้คนและชาติพันธุ์ลุ่มน้ำ โขงในงานค้นคว้าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สืบค้นจากhttp://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/765/fulltext.pdf?sequence=1&isAllowed=y.

พจนา มณีรัตน์. (2537). ความสัมพันธ์ของเครือญาติกับพฤติกรรมการใช้ส้วมของชาวโส้ : กรณีศึกษาบ้านโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร. วิทยานิพนธ์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ยงยุทธ บุราสิทธิ์. (2552). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: โส้. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

ศิราพร ณ ถลาง. (2557). ทฤษฎีคติชนวิทยา : วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2558). โสวัฒนธรรมอีสาน. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สุรชัย ชินบุตร. (2542). ภาษาโซ่ บ้านดอนแดง ตำบลจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากก

สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2524). การศึกษาเปรียบเทียบประเพณีวัฒนธรรมชาวผู้ไทย-ชาวโซ่. สกลนคร. สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร.

สุริยา รัตนกุล. (2531). นานาภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2549). ความหลากหลายของภาษาและชาติพันธุ์ในประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

แสงเพชร สุพร. (2533). โลกทัศน์กลุ่มชาติพันธุ์โซ่ : กรณีศึกษาบ้านหนองยาง ตำบลชะโนดน้อย อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม. สืบค้นจากhttp://khoon.msu.ac.th/auth/reader/web/index.php?pdf=/full117/sangpecth11452/chapter1.pdf&refid=.

อมรา ประสิทธิรัฐสินธุ์. (2542). ภาษาในสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Kania, Raymond S. and Siriphan Hatuwong Kania. (1979). "The So people of Kusuman, northeastern Thailand." JSS 67. 1:74-110 (Journal of the Siam Society, Bangkok).

Paul Sidwell and Mathias Jenny. (2014). The Handbook of Austroasiatic Languages. Boston: Brill.

Seidenfaden, Erik. (1943). "The So and the Phuthai." Journal of the Siam Society 1941-1950 Vol. 34.2 1943 : 145-152.

ไกรศร ฮาดคะดี, นาย, เลขที่ 76 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

คำโจม รมผาเมือง, นาง, เลขที่ 25 หมู่ 3 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

เตียน สุดา, นาย, 184 หมู่ 3 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 30 เมษายน2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

ทองกูล รันธิศาล, นาง, เลขที่ 44 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 22 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

ทองสวัสดิ์ นินจันทร์บุตร, นาย, เลขที่ 16 หมู่ 3 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

บุญธรร งอยจันทร์ศรี, นาง, เลขที่ 8 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, วันที่ 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

เปียง ฮาดปากดี, นาย, เลขที่ 98 หมู่ 3 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

พจน์ ชิตบุตร, นาง, เลขที่ 4 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

เพ็ชร สมสุวรรณ, นาง, เลขที่ 47 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

มิตร ชิตบุตร, นาย, เลขที่ 136 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 22 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

มีชัย สายอุราช, นาย, เลขที่ 205 หมู่ 3 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

เรียน รูวันมอม, นาง, เลขที่ 69 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

วินัจ เจ้านาม, นาย, เลขที่ 98 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 29 เมษายน 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

สกล ทุมธิลาด, นาง, เลขที่ 3 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, วันที่ 26 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

สมบูรณ์ ฤทธิวงจักร, นาย, เลขที่ 78 หมู่ 3 บ้านบอน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 23 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

สังคม โพธิ์แสนหลี, นางสาว, เลขที่ 35 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 22 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

หลอด มุงแสน, นาง, เลขที่ 74 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 23 พฤษภาคม 2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์

หวาน เสลียวโส้, นาง, เลขที่ 73 หมู่ 9 บ้านโพธิไพศาล ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, 29 เมษายน2562. ปกกสิณ ชาทิพฮด ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว