กลุ่มชาติพันธุ์ : โส้

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : โส้
  • ชื่อเรียกตนเอง : โส้, โซร, ซี
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : โซ่, ข่า, กะโซ่, โส้, ข่าโซ่, ข่าพร้าว
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลออสโตรเอเซียติก สาขาย่อยมอญ-เขมร อยู่ในกลุ่มมอญ-เขมรตะวันออก และกลุ่มย่อยกะตู ภาษาโส้มีเฉพาะภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน หากแต่ใช้สัทอักษรสากลและสัทอักษรไทยแทนเสียงพูด
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              อย่างไรก็ตามเมื่อเอ่ยถึง ชาวโส้ ที่อาศัยในประเทศไทยมีคำเรียกชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์นี้แตกต่างกัน เช่น “กะโซ่” หรือ “ข่ากะโซ่” มาจากคำว่า “ข่ากะโซ่” อันหมายถึง ข่าพวกหนึ่งในกลุ่มมอญ-เขมร มีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับพวกข่า ภาษาจะคล้ายคลึงกับภาษาเขมรหรือภาษาส่วยในแถบสุรินทร์และศรีสะเกษ คำว่า “ข่า” และคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ที่ใกล้เคียงกันในกลุ่มที่พูดภาษามอญ-เขมร ในภาคอีสานซึ่งแบ่งเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1) เขมร (2) มอญและญัฮกูร (3) กูยมีสองกลุ่มย่อยเรียกตัวเองว่า “กูย” กับ “กวย” (คนไทยเรียกทั้งสองกลุ่มว่า “ส่วย”) และ เยอ บรู โส้ ซึ่งในสามกลุ่มหลังพูดภาษาใกล้เคียงกันมาก นักภาษาศาสตร์บางท่านจัดให้เยอและบรูเป็นกลุ่มย่อยของกูย (4) กลุ่มโส้ บางกลุ่มมีนักภาษาศาสตร์เสนอว่าไม่ใช่ “โส้” แต่เป็น “ทะวึง” และเรียกว่า “โซ่ (ทะวึง)”  (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2524)  การเรียกว่า “กะโซ่” นี้ยังพบในงานศึกษาของ สุรชัย ชินบุตร (2542) ซึ่งศึกษาเรื่องการใช้ภาษาของชาวโซ่ในอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยชาวโซ่นี้จะอาศัยปนอยู่กับชนพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ เช่น ย้อ แสกกะเลิง ผู้ไทย ซึ่งมีภาษาพูดแต่ ไม่มีภาษาเขียน ปัจจุบันชาวโซ่อยู่ใกลัชิดกับคนอีสานมาก ดังนั้นประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ตลอดจนการดำเนินชีวิต เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากและเด็กรุ่นใหม่จะพูดภาษาไทยได้มากกว่าภาษาโซ่ เมื่อพิจารณาคำว่า “ข่า” ซึ่งมักเป็นคำขึ้นต้นกลุ่มชาติพันธ์และคำว่า “ข่า” เป็นชนชาติหนึ่งของประเทศลาวโดยคำว่า ข่า ตรงกับภาษาไทยสำเนียงภาคกลางว่า “ข้า” หรือหมายถึง “ทาส” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524)  ซึ่งชาวโซ่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่ออพยพหรือถูกกวาดต้อนหรือย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทยจึงถูกเรียกรวมกันว่าเป็นพวกข่าซึ่งตามลักษณะของการจัดการกลุ่มตามชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชาวกะเลิง และชาวกะเลิงเองก็ถูกเรียกว่า “ข่าเลิง” ดังนั้น คำว่า “ข่า” จึงมักเป็นคำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเป็นการเรียกตามลักษณะของการจัดตามกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น ในบางพื้นที่ชาวโซ่จึงถูกเรียกว่า “ข่ากะโซ่”

              ส่วนข้อมูลของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเสด็จถึงเมืองกุสุมาลย์ได้บันทึกเกี่ยวกับชาวโส้ (ทรงใช้คำว่า “กะโซ้”) ว่าเป็นชื่อพลเมืองในมณฑลอุดรและมณฑลอีสานที่พบเป็นไทยลานช้างเป็นพื้น มีลักษณะผิดแผกไปจากไทยลานช้าง โดยอธิบายว่า 

    “ชาวเมืองนี้เปนข่าที่เรียกว่ากะโซ้ เดิมมาจากเมืองมหาไชยกองแก้ว ผู้หญิงไว้ผมสูงแต่งตัวนุ่งซิ่นสวมเสื้อกระบอกย้อมครามห่มผ้าแถบ ผู้ชายแต่งตัวอย่างคนชาวเมือง แต่เดิมว่านุ่งผ้าขัดเตี่ยวไว้ชายข้างหน้าชายหนึ่งข้างหลัง ชายหนึ่ง มีภาษาที่พูดคล้ายสำเนียงมอญ”

    “เป็นข่าผิวคล้ามกว่าชาวเมืองจำพวกอื่นและพูดภาษาของตนต่างหาก มีในมณฑลอุดรหลายแห่ง แต่รวมกันอยู่มากเป็นปึกแผ่นที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลขึ้นจังหวัดสกลนคร เจ้าเมืองกรมการและราษฎรล้วนเป็นข่ากะโซ้ทั้งนั้น...” (อ้างถึงใน ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2555)

     

              ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ให้ความหมายคำว่า “โซ่” ว่าหมายถึง กะเหรี่ยงหรือเหล็กที่เกี่ยวกันเป็นข้อ ๆ สายยาวสำหรับล่าว ซึ่งคำว่า “ไทยโซ่” นี้ น่าจะหมายความว่า คนกะโซ่เป็นคนเผ่ากะเหรี่ยง (ทรงคุณ จันทจร, พิสิฎฐ์ บุญไชย, แสงเพชร สุพร, 2536)  ส่วนการเรียกโดยคนดั้งเดิมหรือในหมู่ชาวโส้นั้น พบว่าชาวโส้กล่าวว่าตนเองไม่ใช่ “ข่า” หรือ “กะเหรี่ยง” มีลักษณะการออกเสียงเรียกตัวเองว่า “โซร” คือออกเสียงตัว “ซ” และ ตัว “ร” ควบกัน ซึ่งเป็นลักษณะของการออกเสียงสูงเป็นเสียงต่ำ ดังนั้น คนโส้จะออกเสียงเรียกตนเองว่า “โซร” น่าจะตรงกับคำว่า “โสร” ในการออกเสียงสูง และจากการประชุมของคณะดำเนินงานจัดทำประวัติความเป็นมาของชาวโส้ในอำเภอกุสุมาลย์ ได้มีมติให้เปลี่ยนจาก “โซร” เป็น “โส้” เพื่อจำแนกให้เข้าใจว่า “โส้” เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ไม่ใช่ แสก หรือ ส่วย เนื่องจากทั้งสามกลุ่มมีภาษาและขนบธรรมเนียมคล้ายกัน (วรรณา ทวีกิจ อ้างถึงใน แสงเพชร สุพร, 2533)

              อย่างไรก็ดี ยังพบว่ามีงานศึกษาทางวิชาการตลอดจนการเรียกชาวโส้นั้นมีการเพิ่มเติมคำว่า “ไทย” หรือ “ไท” เข้าไปซึ่งทำชาวโส้ถูกเรียกว่า “ไทยโส้” เช่น งานศึกษาของ ชาติชัย ฉายมงคล , 2543 อ้างถึงใน สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2558) ซึ่งศึกษาความเชื่อด้านการทรง มีพิธีกรรมและฟ้อนผีหมอและศึกษาเรื่องการรักษาพยาบาลแบบพื้นบ้านของชาวโส้ หรืองานศึกษาของธวัชชัย ไพใหล (2559) ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ชาวไทยไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ ต่างใช้คำว่า “ไทยโส้” ตลอดจนการเรียกจากหน่วยงานราชการหลายแห่งเรียกชาวโส้ ว่า “ไทยโส้” เช่น ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้ อำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลของบรรพชนคนไทโส้ในพื้นที่ ซึ่งการเรียกเช่นนี้ไม่มีความหมายหรือคำอธิบายปรากฎชัดเจน แต่คำว่า “ไทย หรือ ไท” มีความหมายดั้งเดิมของคำว่าหมายถึง “คน” ซึ่งคำว่า ไท ในภาษาลาวและภาษาอีสานที่มักปรากฎในลักษณะของการสื่อสารที่แสดงว่า เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นพรรคพวกเดียวกัน แต่ความหมายของคนนี้ หมายถึง คนที่อยู่ในกลุ่มหรือสังคมที่ได้รับการจัดระเบียบมีระบบ มีการจัดตั้งทางสังคมแล้ว ไม่ใช่กลุ่มคนป่า คนเขา นอกจากนั้น คำว่า “ไทยหรือไท” ยังมีความหมายถึง อิสระ เสรี ได้อีกด้วย (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524)

     

              หลักฐานที่กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์โส้ ในเอกสารต่างๆ ได้แก่ ประชุมพงศาวดาร ใบบอก และงานวิจัย ซึ่งจะได้นำมากล่าวถึงเป็นลำดับดังนี้

              พงศาวดารเมืองสกลนคร เมืองนครพนม ฉบับลายมืออำมาตย์โท พระยาประจันตประเทศธานี (โง้นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร) (2561 : 2) ได้กล่าวถึงการเกลี้ยกล่อมไพร่พลจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไว้ว่า "ท้าวกู่แก้วลาเจ้าจำปาศักดิ์ขึ้นมาในฮูเซบั้งไฟ เที่ยวเกลี้ยกล่อมเอาท้าวเพีย พวกล้อมเซ กระตาก กระปอง เมืองวัง เซียงฮ่ม ผาบัง เมืองพิน เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน จึงพาไพร่พลตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ตำบลบ้านนากระแด่งแก่งเหล็กตั้งขึ้นเป็นเมืองมหาชัยกองแก้ว และจากข้อมูลของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในขณะการตรวจราชการมณฑลอุดร ได้ทรงพบท้องตราที่เมืองสกลนครและได้คัดสำเนามา และพิมพ์ไว้ในหนังสือเทศาภิบาลในพวกจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ในหอพระสมุด ซึ่งคัดสำเนาลงในหนังสือเทศาภิบาลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 โดยมีใจความที่เกี่ยวข้องกับเพี้ยเมืองสูงซึ่งเป็นต้นตระกูลของกลุ่มโส้เมืองกุสุมาลย์ ความว่า "ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าสั่งว่ามีตราขึ้นมาแต่ก่อนว่าอุปฮาดเมืองมหาไชย ผู้ว่าราชการสกลนครป่วยถึงแก่กรรมเสียแล้ว ครอบครัวเมืองมหาไชย ยกมาตั้งอยู่เมืองสกลนครเป็นอันมาก ทรงเห็นว่าราชวงศ์เมืองมหาไชยได้เคยบังคับบัญชาว่ากล่าวท้าวเพี้ย ไพร่พล ครอบครัว ทั้งนี้มาแต่เดิมจะต้องจัดแจง ตั้งแต่งตามพวกพ้องที่นับถือกันมาแต่ก่อน จึงโปรดให้ราชวงศ์เมืองมหาไชยว่าราชการเมืองสกลนคร ให้ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ ว่าที่อุปฮาด ให้ท้าวจุลนี ว่าที่ราชวงษ์ช่วยกันรักษาบ้านเมือง ทะนุบำรุงครอบครัวไปพลาง ความแจ้งอยู่ในท้องตรา ซึ่งโปรดส่งขึ้นมาแต่ก่อนนั้นแล้ว บัดนี้ราชวงศ์ผู้ว่าราชการเมืองสกลนคร ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ ท้าวอิน ท้าวโสดา หลานราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ บุตรหลานท้าวเพี้ย ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแจ้งราชการ ณ กรุงเทพมหานคร จึงโปรดเกล้าให้พระราชทานราชวงศ์ผู้ว่าราชการเมืองสกลนคร พานเงิน เครื่องในถมสำรับหนึ่ง คนโทถมหนึ่ง กระโถนถมหนึ่ง กระบี่บั้งเงินหนึ่ง สัปทนปัสตูหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วหนึ่ง ส่วนปักทองหนึ่ง ผ้าโพกขลิบผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง แพรขาวหนึ่ง...ให้อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ยทั้งปวงฟังคำบังคับบัญชาพระยาประเทศธานี เจ้าเมืองโดยชอบด้วยราชการ จงพร้อมมูลเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามิภักดิ์จงรักภักดี ทำราชการสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพุทธิเจ้าอยู่หัว แล้วให้มีใจโอบอ้อมญาติพี่น้องท้าวเพี้ย เอาใจใส่ทะนุบำรุงไพร่พลครอบครัวเก่าใหม่ให้ได้ทำไร่นา ทำมาหากินเป็นปกติให้ไพร่พลบริบูรณ์มั่งคั่งขึ้น ให้บ้านเมืองไพร่พลอยู่เย็นเป็นสุข...ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเพี้ยเมืองสูง ซึ่งเป็นผู้นำของตากระโซ่ มีปรากฏในท้องตราด้วย โดยกล่าวถึงตอนที่ลงไปกรุงเทพมหานครเพื่อรับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ว่า "เพี้ยเมืองสูง นายตากระโซ่ เงินตรา 5 ตำลึง ผ้าไหมนุ่งผืนหนึ่ง แพรขาวห่มสองผืน เสื้อโหมดเมืองบนหนึ่ง ผ้าวิลาสมีนาหนึ่ง"

              สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2543 : 427) ได้กล่าวถึงโส้ในนิทานโบราณคดี เรื่องที่ 17 เรื่องแม่น้ำโขง ตอนคนต่างจำพวก ความว่า "พวกกะโซ้ เป็นข่าผิวคล้ำกว่าชาวเมืองจำพวกอื่นและพูดภาษาของตนต่างหาก มีในมณฑลอุดรหลายแห่ง แต่รวมกันอยู่มากเป็นปึกแผ่นที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลขึ้นจังหวัดสกลนคร เจ้าเมืองกรมการและราษฎรล้วนเป็นข่ากะโซ้ทั้งนั้น บอกว่าถิ่นเดิมอยู่ ณ เมืองมหาชัยกองแก้วทางฝั่งซ้าย...แต่พวกกะโซ้ที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลพูดภาษาไทยได้โดยมาก ขนบธรรมเนียมเช่นเครื่องแต่งตัวเป็นต้น ก็มาใช้ตามอย่างไทยเสียโดยมาก ถึงกระนั้นก็ยังรักษาประเพณีเดิมของข่าไว้บางอย่าง ฉันได้เห็นการเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งพระอรัญอาสาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑลเอามามีให้ดู เรียกว่า “สะลา” คนเล่นล้วนเป็นผู้ชายเปลือยตัวเปล่า นุ่งผ้าขัดเตี่ยวมีชายห้อยข้างหน้ากับข้างหลังอย่างเดียวกับพวกเงาะนุ่ง “เลาะเตี๊ยะ” ลักษณะที่เล่นนั้น มีหม้ออุตั้งอยู่กลางหม้อหนึ่ง คนเล่นเดินเป็นวงรอบหม้ออุ มีต้นบทนำขับร้องคนหนึ่ง สะพายหน้าไม้คนหนึ่ง ตีฆ้องเรียกว่า “พเนาะ” คนหนึ่ง ถือไม้ไผ่ 3 ปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะ 2 คน คนรำ 3 คน ถือชามติดเทียน 2 มือคนหนึ่ง ถือตะแกรงคนหนึ่ง ถือมีดกับสิ่วเคาะกันเป็นจังหวะคนหนึ่ง รวม ๘ คนด้วยกัน กระบวนเล่นก็ไม่มีอะไรนอกจากเดินร้องรำเวียนเป็นวง เล่นพักหนึ่งแล้วก็นั่งลงกินอุ แล้วก็ร้องรำไปอีกอย่างนั้น เห็นได้ว่าเป็นการเล่นของพวกข่าตั้งแต่ยังเป็นคนป่า เมื่อมาเล่นให้ดู ดูคนเล่นก็ยังสนุกกันดี พวกกะโซ้ยังผิดกับคนจำพวกอื่นอีกอย่างหนึ่ง ที่กินอาหารไม่เลือก"

              บุญยงค์ เกศเทศ (2551: 117) กล่าวว่า “โส้หรือกะโส้" เป็นข่าอีกกลุ่มหนึ่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน บริเวณหนองหานในเขตจังหวัดสกลนครและนครพนม ชาวโส้ยังรักษาการเล่น “สลา” และ “เซิ้งกะด้ง” มาจนทุกวันนี้” ส่วนเติม วิภาคย์พจนกิจ (2557: 294– 295)“เพี้ยเมืองสูง เพียบุตโคตหัวหน้าพวกข่ากะโซ่ พร้อมด้วยบ่าวไพร่ข่ากะโซ่ข้ามโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตแดนเมืองสกลนครเป็นอันมาก เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1204 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านกุดสุมาลย์เป็นเมืองกุสุมาลย์มณฑล ให้เพียเมืองสูงเป็นหลวงอรัญอาสาเป็นเจ้าเมืองคนแรก” และเรย์มอน เอส คาร์เนีย Raymond S.Kania (2553 : 76) กล่าวถึง โส้ไว้ว่า “มีคนจำนวนน้อยที่รู้จักความเป็นมาของชาวโส้ พวกเขามักเรียกตัวเองว่าโทร ชาวโส้ไม่มีภาษาเป็นของตนเอง ชาวโส้ที่กุสุมาลย์และหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จากการสำรวจสำมะโนประชากรของชาวโส้พบว่า มีชาวโส้ที่อพยพมาอาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนครและนครพนมประมาณ 5,000 ถึง 7,000 คน และชนกลุ่มไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง ชาวโส้อาศัยอยู่มากที่อำเภอกุสุมาลย์”ส่วนอีริก ไซเดนฟาเดน Seidenfaden (1943 : 151) ได้กล่าวถึงโส้ไว้ว่า ชาวโส้ส่วนมากมีผิวสีคล้ำถึงดำเป็นส่วนมาก มีผมหยิกทั่วศีรษะ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญในการสนับสนุนว่าชาวโส้เป็นกลุ่มชนที่มีความร่วมเผ่าพันธุ์กับกลุ่มนิกรอยด์ อย่างไรก็ตามผู้หญิงโส้ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีลักษณะที่สวยงาม มีรูปร่างใบหน้าที่สมส่วน และมีลักษณะนิสัยที่ขี้อายเล็กน้อย ชาวโส้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาด มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาด และบางคนมักจะมีเหา เวลาว่างมักจะชอบหาเหา แต่ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ เข้าไปส่งเสริมเรื่องสุขภาวะ จึงทำให้สุขภาพและการใช้ชีวิตดีขึ้น และที่สำคัญชาวโส้ยังคงยึดติดและมีความเชื่อเรื่องผีอย่างมาก

              นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีเอกสารและตำราหลายเล่มที่กล่าวถึงชาวโส้ โดยเฉพาะในหนังสือ เทศกาลโส้รำลึก โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ (มปป: 1) กล่าวถึง"โส้" ไว้ว่า “เมื่อ พ.ศ. 2381 ราชวงศ์คำได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร ได้นำเอากำลังไพร่พลไปเกลี้ยกล่อมเอาครอบครัวหัวเมืองลาวที่ค้างอยู่ฟากหนึ่งของแม่น้ำโขงให้ข้ามมาเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสนับสนุนของกองทัพญวน พ.ศ. 2384 ท้าวโรงกลาง บุตรเจ้าเมืองวัง ท้าวเพี้ยเมืองสูง ท้าวเพี้ย บุตรโคตร หัวหน้าข่ากะโซ่กับครอบครัวบ่าวไพร่ ได้เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารเป็นอันมาก และตั้งบ้านเรือนหากินอยู่ริมแม่น้ำโขงและรอบเมืองสกลนคร” ในปี พ.ศ. 2387 พระยาประเทศธานี นำหัวหน้าครอบครัวกลุ่มต่างๆ ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านกุดสุมาลย์ขึ้นเป็นเมือง ให้ท้าวเพียสูงเป็นพระอรัญอาสา เจ้าเมืองกุสุมาลย์ พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งให้ขึ้นตรงต่อเมืองสกลนคร พ.ศ. 2405 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองโพธิไพศาล (ปัจจุบันเป็นตำบลโพธิไพศาล) เพราะเกิดการแก่งแย่งตำแหน่งกัน ให้ท้าวขัติยะเป็นพระยาไพศาลเสนานุรักษ์เจ้าเมืองโพธิไพศาล และในปีเดียวกันได้ย้ายเมืองกุสุมาลย์จากที่เดิม (ปัจจุบันคือบ้านเมืองเก่า) มาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน เนื่องจากเกิดความแห้งแล้งและเกิดโรคระบาด เจ้าเมืองกุสุมาลย์ซึ่งเคยไปเรียนวิชาการปกครองที่กรุงเทพ ได้เป็นเจ้าเมืองกุสุมาลย์สืบต่อกันมาและได้บรรดาศักดิ์เป็น “พระอรัญอาสา”

              ชาวโส้เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมชายฝั่งแม่น้ำโขงมาเป็นเวลานาน และตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายตามภูเขาและที่ราบลุ่มต่างๆ ในตอนกลางของประเทศลาว กลุ่มชนชาวโส้ที่อาศัยอยู่ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ล้วนอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหลายเมือง ได้แก่ เมืองมหาชัยกองแก้ว เมืองภูวานากะแด้ง เมืองบ่ำ เมืองวัง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เป็นต้น

              การอพยพครั้งสำคัญของชาวโส้ปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ประมาณปี พ.ศ. 2369 จนถึงปี พ.ศ. 2371 มีการกวาดต้อนผู้คนเมืองต่างๆ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาในฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก และกลุ่มชนชาวโส้ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกกวาดต้อน เกลี้ยกล่อมให้อพยพมาด้วยเพื่อเป็นการตัดกำลังของฝ่ายเวียงจันทน์และฝ่ายญวน ผลจากการกวาดครัวหรือกวาดต้อนผู้คนทำให้ชาวโส้จากเมืองต่าง ได้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก ผู้นำคนสำคัญคือ เพี้ยเมืองสูง เพี้ยบุตรโคตร ท้าวบุตร ท้าวนามได้พาพลพรรคเข้ามาของพึ่งบารมีพระยาประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนครและขอตั้งบ้านเมือง พระยาประเทศธานีได้อนุญาตให้ครอบครัวชาวโส้ไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองสิม ริมห้วยขมานหรือคะมาน ให้ขึ้นตรงต่อเมืองสกลนคร

     

     

  • อื่น ๆ :

              ตระกูลภาษา  

              ภาษาโส้เป็นภาษาตระกูลหนึ่งในตระกูลออสโตรเอเซียติก สาขาย่อยมอญ-เขมร ซึ่งตามการจัดแบ่งของเจรารด์ ดิฟโฟลธ์ Gerard Diffloth (1974) ได้จัดแบ่งภาษาโส้อยู่ในกลุ่มมอญ-เขมรตะวันออก และกลุ่มย่อยกะตู 

              ภาษาโส้จัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมรตะวันออก และกลุ่มย่อยกะตู มีลักษณะร่วมกันกับภาษากูย กวย หรือส่วย ภาษาเญอ ภาษาบรู ซิดเวลล์และรอว์ (Sidwell & Rau, 2014 : 270) กล่าวว่า ภาษาย่อยกะตูนับว่ามีนักวิชาการได้ทำการวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดที่สุดจากมุมมองของการศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาเหล่านี้เผยให้เห็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางภาษารวมถึงชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายที่ทำให้เห็นว่า ภาษากะตูอิกมีผู้ที่พูดอยู่จำนวนมากกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาวทางตอนใต้และติดชายแดนของประเทศเวียดนาม และกลุ่มที่พูดภาษากะตูอิกส่วนมากอาศัยอยู่ในแขวงสาละวันทางตอนใต้ของประเทศลาว ติดกับชาวแดนประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบคำศัพท์ต่างๆ และจัดทำพจนานุกรมของภาษากะตูอิกไว้อย่างเป็นระบบ  ส่วนสุริยา รัตนกุล (2531 : 142) กล่าวว่า พวกโส้อพยพจากประเทศลาวบริเวณเมืองอู เมืองบำ เมืองวัง เมืองภูวา เมืองมหาชัย เข้ามาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 3 มีหัวหน้าชื่อเพี้ยเมืองสูง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองนครพนมและสกลนคร เมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามามาก รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าให้ยกฐานะบ้านกุดสุมาลย์เป้นเมืองกุสุมาลย์ และให้เพี้ยเมืองสูงเป็นหลวงอรัญรักษาเป็นเจ้าเมืองคนแรก กลุ่มชนชาวโส้ยังคงรักษาภาษาของเขาไว้ได้ส่วนมากและใช้ภาษาโส้ในการพูดจาติดต่อสื่อสารกัน และพบว่าภาษาโส้ใช้ระดับเสียงสูงต่ำ (pitch) ในภาษา แต่ยังไม่วิวัฒนาการเป็นระบบเสียวรรณยุกต์ ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ลักษณะน้ำเสียง (register) ในภาษาด้วย

              ภาษาพูด

              จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า ภาษาโส้มีเฉพาะภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน หากแต่ใช้สัทอักษรสากลและสัทอักษรไทยแทนเสียงพูด ปัจจุบันพบว่ามีการประดิษฐ์รูปตัวเขียนภาษาโส้ขึ้นมาใช้ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก มีเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่ใช้ตัวเขียน เช่น ครู อาจารย์ นักวิชาการ นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ไกรสร ฮาดคะดี กล่าวว่า ภาษาโส้มีหน่วยเสียงพยัญชนะต้น 22 หน่วยเสียงหน่วยเสียงพยัญชนะสะกดเดี่ยว 14 หน่วยเสียง หน่วยเสียงพยัญชนะสะกดควบกล้ำ 3 หน่วยเสียง  หน่วยเสียงสระเดี่ยว 22 หน่วยเสียง  และหน่วยเสียงสระประสมมี 5 หน่วยเสียง มีการแบ่งลักษณะน้ำเสียงปกติกับน้ำเสียงหนักโดยใช้ไม้ โทรฺ / ' / เพื่อลงเสียงหนักในคำ(ไกรสร ฮาดคะดี 26 พฤษภาคม 2562, สัมภาษณ์.)

              ภาษาโส้มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนหรือตัวอักษร กล่าวกันว่าแต่เดิมนั้นโส้มีตัวอักษรเหมือนกันแต่เขียนไว้บนหลังควายแห้งต่อมาชาวโส้นำมา “จี่” ไฟกิน จนในที่สุดหนังควายก็หมด ตัวอักษรของชาวโส้ก็หายไปด้วย ลักษณะภาษาโส้คล้ายกับภาษาเขมรและภาษาส่วย พวกโส้ออกเสียง ร และคำควบกล้ำ ร ล ชัดเจนมาก การออกเสียงคำต่างๆ มักจะมีเสียงหึ่งๆ ที่หน้าคำอาจจะเป็นเสียงอะ อัง หรือ อัน และสระเอียมักจะลากเสียงยาวเป็น เอีย – อา สอดคล้องกับข้อมูลของเรื่องเล่าในตำนานตัวหนังสือของชาวโส้ที่ไม่มีตัวหนังสือใช้ เหตุที่ภาษาโส้ไม่มีภาษาเขียน ตามตำนานได้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวอักษรของคนโส้ว่าแต่เดิมบรรพบุรุษของชาวโส้ได้เขียนตัวหนังสือและประวัติศาสตร์ของกลุ่มตนเองไว้ในหนังสัตว์ (หนังวัว และหนังควาย) แต่ต่อมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัยชาวโส้ก็ได้นำหนังวัวและหนังควายนั้นมาเผากินเป็นอาหาร บางสำนวนเล่าว่า มีสุนัขได้แอบมาขโมยหนังวัวและหนังควายที่เขียนบันทึกเรื่องราวของชาวโส้เอาไว้ไปกินจนหมดสิ้น จึงเป็นเหตุให้ชาวโส้ไม่มีตัวหนังสือใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มิตร ชิตบุตร (22 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกกสิณ ชาทิพฮด มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร

    ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564

      

    เอกสารอ้างอิง

              กองการศึกษาเทศบาลตำบลกุสุมาลย์. มปป.. ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้.สกลนคร:     กองการศึกษาเทศบาลตำบลกุสุมาลย์.

              กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. 2543. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:บรรณาคาร.

              เกรียงไกร ผาสุตะ และพจนวราภรณ์ เขจรเนตร. 2561.พงศาวดารเมืองสกลนคร เมืองนครพนม ฉบับลายมือ      อำมาตย์โท พระยาประจันตประเทศธานี (โง้นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร). สกลนคร: สมศักดิ์การพิมพ์.

              โดม ไกรปกรณ์. แหล่งที่มา การปกครองมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5.สืบค้นจาก http://www.kpi.ac.th/(26 พฤษภาคม 2562)

              ดวงเดือน  บุนยาวง.2540. แนวคิดและอุดมคติท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง. กรุงเทพฯ: มติชน.

              เติม วิภาคย์พจนกิจ. 2557. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

              บุญยงค์ เกศเทศ. 2551. วัฒนธรรมเผ่าพันธุ์มนุษย์. มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย มหาสารคาม.   

              พจนา มณีรัตน์. 2537. ความสัมพันธ์ของเครือญาติกับพฤติกรรมการใช้ส้วมของชาวโส้ : กรณีศึกษาบ้านโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร. วิทยานิพนธ์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

              ทรงคุณ จันทจรและปิติ แสนโคตร. 2540. การรักษาผู้ป่วยด้วยวิเหยาของชาวผู้ไทย :กรณีศึกษาชาวผู้ไทยอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

              สุริยา รัตนกุล. 2531. นานาภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล.

              สุวิไล เปรมศรีรัตน์. 2549. ความหลากหลายของภาษาและชาติพันธุ์ในประเทศไทย. นครปฐม:สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

              ศิราพร ณ ถลาง. 2557. ทฤษฎีคติชนวิทยา : วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

              อมรา ประสิทธิรัฐสินธุ์. 2542. ภาษาในสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

              Kania, Raymond S. and Siriphan Hatuwong Kania. 1979. "The So people of Kusuman,northeastern Thailand." JSS 67. 1:74-110 (Journal of the Siam Society, Bangkok).

              Seidenfaden, Erik. 1943. "The So and the Phuthai."Journal of the Siam Society 1941-1950 Vol. 34.2 1943 : 145-152.

              Paul Sidwell and Mathias Jenny. 2014. The Handbook of Austroasiatic Languages. Boston:Brill.

    สัมภาษณ์

              นายวินัจ เจ้านาม (อายุ 70 ปี)      เลขที่ 98 หมู่ 9 บ.โพธิไพศาล      เมื่อ 29 เมษายน 2562

              นางหวาน เสลียวโส้ (อายุ 64 ปี)   เลขที่ 73 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล      เมื่อ 29 เมษายน 2562

              นายเตียน สุดา (อายุ 55 ปี)        เลขที่ 184 หมู่ 3 บ. โพธิไพศาล    เมื่อ 30 เมษายน 2562

              นายตัง ลือวันคำ (อายุ 72 ปี)      เลขที่ 82 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล      เมื่อ 30 เมษายน 2562

              นางใบ เจ้านาม (อายุ 60 ปี)        เลขที่ 98 หมู่ 9 บ.โพธิไพศาล      เมื่อ 29 เมษายน 2562

              นางสุน ชิตบุตร (อายุ 76 ปี)        เลขที่75 หมู่ 9 บ.โพธิไพศาล        เมื่อ 22 พฤษภาคม 2562

              นายมิตร ชิตบุตร (อายุ 46 ปี)      เลขที่ 136 หมู่ 9 บ.โพธิไพศาล     เมื่อ 22 พฤษภาคม 2562

              นางทองกูล รันธิศาล (อายุ 55 ปี) เลขที่ 44 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล      เมื่อ 22 พฤษภาคม 2562

              น.ส.สังคม โพธิ์แสนหลี (อายุ 64 ปี) เลขที่ 35 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล    เมื่อ 22 พฤษภาคม 2562

              หลอด มุงแสน (อายุ 78 ปี)         เลขที่ 74 หมู่ 9 บ.โพธิไพศาลเมื่อ 23 พฤษภาคม2562)

              นางเพ็ชร สมสุวรรณ (อายุ 75 ปี) เลขที่ 47 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล      เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นายทองสวัสดิ์ นินจันทร์บุตร (อายุ 58 ปี) เลขที่ 16 หมู่ 3 บ. โพธิไพศาล  เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นางเรียน รูวันมอม (อายุ 74 ปี)    เลขที่ 69 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล      เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นางพจน์ ชิตบุตร (อายุ 65 ปี)      เลขที่ 4 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล       เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นายเปียง ฮาดปากดี (อายุ 57 ปี) เลขที่ 98 หมู่ 3 ต. โพธิไพศาล      เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นางคำโจม รมผาเมือง (อายุ 62 ปี) เลขที่ 25 หมู่ 3 บ. โพธิไพศาล     เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นายไกรศร ฮาดคะดี (อายุ 54 ปี) เลขที่ 76 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล      เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นายมีชัย สายอุราช (อายุ 55 ปี)   เลขที่ 205 หมู่ 3 บ. โพธิไพศาล    เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นางสกล ทุมธิลาด (อายุ 74 ปี)     เลขที่ 3 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล       เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

              นางบุญธรร งอยจันทร์ศรี (อายุ 74 ปี) เลขที่ 8 หมู่ 9 บ. โพธิไพศาล   เมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
สกลนคร นครพนม มุกดาหาร70000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              โส้ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตั้งหลักแหล่งกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร จากข้อมูลของสุวิไล เปรมศรีรัตน์ (2549 : 81) ได้กล่าวว่ามีกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเซียติกมากถึง 21 กลุ่ม โดยมากเป็นกลุ่มย่อยมอญ-เขมรมากที่สุด และกลุ่มโส้พบผู้พูดมากถึง 6 จังหวัด 18 อำเภอ 16 ตำบล และ 176 หมู่บ้าน ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ อีริก ไซเดนฟาเดน (Seidenfaden 1943 : 151) ที่กล่าวว่า โส้จัดเป็นกลุ่มมอญ-เขมรซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลออสโตรเอเซียติก โดยเปรียบเทียบลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของโส้ว่า คล้ายกับคนลาวที่อาศัยอยู่ในท่าแขก ที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในหุบเขาเล็ก ๆ และมีบางส่วนที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไประหว่างประเทศลาวและเวียดนาม หลังจากนั้นก็มีการอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังประเทศไทย และตั้งบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดนครพนมและสกลนคร ซึ่งเราสามารถพบกลุ่มชนที่เป็นชาวโส้ได้มากที่สุดที่อำเภอกุสุมาลย์ จากการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 1915 มีจำนวนประชากรโส้อยู่ที่ 4,250 คน และอีก 30 ปีต่อมามีการสำรวจอีกครั้งพบประชากรชาวโส้ไม่น้อยกว่า 7,000 คน และยังคงพบว่า มีชาวโส้อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมและสกลนครมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีชาวโส้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์และมุกดาหารด้วย

              นอกจากนี้ การแบ่งสาขาภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ของเจรารด์ ดิฟโฟลธ์ (Gerard Diffloth, 1974) อ้างถึงใน สุริยา รัตนกุล (2531 : 65) ได้แบ่งออกเป็นตระกูลภาษาใหญ่ (family) ประกอบด้วยตระกูลภาษาย่อย (subfamilies) 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลภาษาย่อยมุนดา ตระกูลภาษาย่อยนิโคบารีส และตระกูลภาษาย่อยมอญ-เขมร ซึ่งดิฟโฟลธ์ เรียกว่าเป็นภาษาเอเชียอาคเนย์บนภาคพื้นทวีป และตระกูลภาษาย่อยมอญ-เขมรยังแยกย่อยออกเป็น 12 สาขา ได้แก่ สาขากาศี สาขาปะหล่อง สาขามอญ สาขาขมุ สาขาเวียด-เหมื่อง สาขากะตู สาขาบาฮ์นาร์ สาขาเพียร์ สาขาเขมร สาขาจะฮาย สาขาเซนอย และสาขาเซเมลาย ซึ่งภาษาโส้จัดอยู่ในสาขากะตูพบผู้พูดอาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม ลาว ไทย และเขมร มีภาษาร่วมสาขา ได้แก่ ภาษากะตู ภาษาพวง ภาษาบรู ภาษาตะโอยฮ์ ภาษากะตาง ภาษากูย ภาษาซวย ภาษาอะรัก ภาษาเลอ เป็นต้น ข้อมูลดักล่างสอดคล้องกับการจัดแบ่งภาษาตระกูลต่าง ๆ ในเอเชียตะวันนออกเฉียงใต้และในประเทศไทยของอมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2542 : 31) ที่กล่าวว่า ภาษาที่ใช้ในสังคมไทยสามารถจำแนกตามตระกูลภาษาออกเป็น 5 ตระกูลใหญ่ ๆ ได้แก่ ตระกูลไท-กะได ตระกูลจีน-ทิเบต ตระกูลแม้ว-เย้า ตระกูลออสโตรเอเชียติกแต่ก่อนรู้จักในนามมอญ-เขมร ตระกูลออสโตรนีเชียน ตระกูลออสโตรเอเชียติก ประกอบด้วยภาษามอญ ญัฮกูร์(ชาวบน) เขมร ชอง กูย(ส่วย) บรู โส้ ขมุ มลาบรี ขะเมต ละว้า เป็นต้น ซึ่งภาษาโส้มีผู้พูดอยู่ในจังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย กาฬสินธ์ และมุกดาหาร

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

    การอพยพย้ายถิ่นฐาน

              การอพยพถิ่นฐานของชาวโส้ ได้มาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์คำบอกเล่าและประวัติศาสตร์ ที่มีการบันทึกจากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของชาวบ้านได้เล่าว่า "ต้นตอมาจากเมืองมหาชัยกองแก้วฝั่งน้ำของ"และในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณโดยหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ซึ่งคัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4 อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458 ได้มีข้อมูลกล่าวถึงการอพยพของผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีชาวโส้รวมอยู่ด้วยกล่าวว่า

    "..ลุศักราช 1192 ปีขาลโทศก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านแก่งน้อยขึ้นเปนเมืองคำทองน้อย (อยู่ฟากโขงตวันออก) ตั้งท้าวสารนายบ้านเปนพระพุทธพรหมวงษาเจ้าเมืองคำทองน้อยขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ...ฝ่ายทางเมืองยโสธร ตั้งแต่พระสุนทรราชวงษา (สีซา) เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังหาทันมีเจ้าเมืองไม่ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวฝ่ายผู้มีความชอบแต่ครั้งรบทัพเวียงจันทน์ เปนพระสุนทรราชวงษาเจ้าเมือง ให้ท้าวแพงเปนอุปฮาด เลื่อนราชบุตร (สุดตา) เปน ราชวงษ์ ให้ท้าวอินเปนราชบุตร รักษาเมืองยโสธรต่อไป โปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรราชวงษาเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิขาดในเมืองนครพนม (ในมณฑลอุดร) ด้วย พระสุนทรราชวงษาจึ่งได้ให้อุปฮาด รักษาราชการอยู่ทางเมืองยโสธร แล้วตนก็ไปจัดราชการอยู่ณเมืองนครพนม ได้เกลี้ยกล่อมพวกครัวเมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน เมืองมหาไชยกองแก้วเมืองวัง มาขึ้น ตั้งอยู่ในเขตรแขวงเมืองนครพนมเปนอันมาก แลต่อมาได้มีบอกมาขอตั้งเมืองสกลนคร เมืองวานรนิวาศ เมืองเรณูนคร เมืองท่าอุเทน (ในแขวงมณฑลอุดร) ขึ้น..."

              ข้อมูลข้างต้นพอที่จะบอกได้ว่า ครอบครัวของผู้ที่อาศัยอยู่เมืองมหาชัยกองแก้ว น่าจะมีชาวโส้อาศัยร่วมอยู่ด้วย และได้อพยพเข้ามาพร้อมกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ไท ญ้อ โย้ย และได้ตั้งรกรากอย่างหนาแน่นในเขตจังหวัดสกลนครและนครพนม  โดยเฉพาะใน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

              กองการศึกษา เทศบาลตำบลกุสุมาลย์ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้ (มปป. : 3) ได้กล่าวอ้างถึงการอพยพของชาวโส้เข้ามาในประเทศไทยว่า

    “...เมื่อ พ.ศ. 2381 ราชวงศ์คำได้รับตำแหน่งเป็นพระยาประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร จึงนำกำลังไพร่พลไปเกลี้ยกล่อมเอาครอบครัวหัวเมืองลาวที่ค้างอยู่ทางฟากฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกให้ข้ามมาเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสนับสนุนของกองทัพญวน พ.ศ. 2385 ท้าวโรงกลางบุตร เจ้าเมืองวัง ท้าวเพี้ยเมืองสูง ท้าวเพี้ยบุตรโคตร หัวหน้าข่ากระโซ่ กับครอบครัวบ่าวไพร่ได้เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมากและตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่แถบฝั่งแม่น้ำโขง และรอบเมืองสกลนคร พ.ศ. 2387 พระยาประเทศธานีนำครอบครัวลาวกลุ่มต่างๆ ลงไปเฝ้าเสด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านประขาวพันนา และบ้านกุสุมาลย์ขึ้นเป็นเมือง ให้ท้าวโรงกลางบุตรเป็นพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพันนา ท้าวเพี้ยเมืองสูง เป็นท้าวอรัญอาสา เจ้าเมืองกุสุมาลย์ พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่ง ให้ขึ้นตรงต่อเมืองสกลนคร...”

              สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูปการปกครองประเทศโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ การปฏิรูประยะแรก (พ.ศ. 2416-2417) ซึ่งเป็นช่วงแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และการปฏิรูประยะที่สอง (พ.ศ. 2435-2453) ซึ่งเป็นช่วงที่พระองค์ทรงจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ ภายหลังจากคนรุ่นเก่าที่มีอำนาจทางการเมือง และคัดค้านการปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ที่พระมหากษัตริย์ตามแนวพระราชดำริหมดอำนาจ โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนหัวเมือง และการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะการปกครองส่วนหัวเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำโดยการยกเลิกธรรมเนียมการจัดเมืองเป็นเมืองชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรีตามความสำคัญของเมืองและระบบ "กินเมือง "ที่ให้เจ้าเมืองซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นนั้น หรือสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองคนก่อน ทำหน้าที่บริหารปกครองและเก็บภาษีอากรจากราษฎรในท้องถิ่นโดยส่งเงินภาษีที่เก็บได้ส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลกลาง (ราชสำนัก) เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” ที่รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าด้วยกันเป็น "มณฑล"โดยมีข้าราชการที่รัฐบาลกลาง (กรุงเทพฯ) แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล ทำหน้าที่บริหารราชการภายในมณฑลนั้น    (โดม ไกรปกรณ์. สืบค้นจาก http://www.kpi.ac.th/26 พฤษภาคม 2562) 

              จังหวัดสกลนคร มีชาวโส้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นการตั้งถินฐานของช้าวโส้ที่เคลื่อนย้ายมาจากแม่ข้ำโขงฝั่งขวา โดยเฉพาะที่ชุมชนโพธิไพศาลนั้น ถือว่าเป็นชุมชนใหญ่ที่ชาวโส้อาศัยอยู่ โดยกองการศึกษา เทศบาลตำบลกุสุมาลย์ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้ (2546 : 30) จากตำนานการอพยพของชาวโส้ที่อำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชาวโส้บ้านโพธิไพศาล ได้กล่าวถึงสาเหตุของเมืองเก่าร้างว่าเกิดมาจากสาเหตุ 2 ประการ ได้แก่ ความแตกแยก และความอดอยากแร้นแค้น สาเหตุที่มาจากความแตกแยกเพราะเชื่อว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มเล่นคุณไสยอาคม ละเมิดกฎข้อห้าม เมื่อเกิดความวุ่นวายจากความแตกแยกทางความคิดจึงได้อพยพหนีจากที่เดิม ส่วนสาเหตุที่สองคือความอดอยาก แร้นแค้น เพราะพื้นที่ส่วนมากแห้งแล้งและจำนวนคนก็มากเกินที่จะรองรับได้ ดังนั้นจึงมีกลุ่มคนบางกลุ่มอพยพไปตั้งบ้านเรือนที่อื่น แต่ก็ไม่ได้ไกลจากที่เดิม บางพื้นที่ที่ อพยพไปสูงกว่าที่เดิม ส่วนพจนา มณีรัตน์ (2537 : 23) กล่าวว่า จากคำบอกเล่าของนายสุภา ฮาดปากดี และนายทด ฮาดปากดี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่า ยังคงมีหลักฐานตราประทับหรือหนังสือราชการที่ทำด้วยไม้อยู่ 3 ชิ้น และเหรียญตรารัชกาลที่ 5 มีหัวอักษรว่า โดยพระบรมราชานุญาต ร.ศ. 112 ซึ่งขณะนั้นตรงกับ พ.ศ. 2437 นอกจากนั้นยังมีเครื่องหมายอินธนูติดบ่าเขียนว่า “รัชชูปการ” ซึ่งมีหน้าที่เก็บส่วยอากร และทำหน้าที่ปกครองไปด้วยพร้อม ๆ กัน ส่วนตราประทับอีกอันหนึ่งพบที่บ้านนายโสม รันพิศาล ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองโพธิไพศาลนิคมเดิมนั่นเอง ในตำบลโพธิไพศาลมีหมู่บ้านที่ชาวโส้เข้าไปอาศัยอยู่แต่ดั้งเดิมได้แก่ บ้านโพธิไพศาล  บ้านหนองเค็มบ้านโพนแพง บ้านกุดสะกอย บ้านห้วยกอกบ้านหนองเค็ม บ้านกุดฮู  ทั้งนี้บ้านโคกกลาง บ้านโคกหนองผือ และบ้านกุดสะกอย เป็นหมู่บ้านที่ขยายออกมาจากบ้านโพธิไพศาล ส่วนบ้านอื่น ๆ ไม่ใช่หมู่บ้านชาวโส้ ไกรสร ฮาดคะดี (26 พฤษภาคม 2562)

              อาจสรุปได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์โส้ที่บ้านโพธิไพศาล ต.โพธิไพศาล อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับกลุ่มโส้ในจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดนครพนม โดยยังมีความเชื่อร่วมกันเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาเดียวกัน การมีเชื้อสายเดียวกัน มีประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ร่วมกันและเมื่ออพยพมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ก็ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่อำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์โส้ เฉพาะในตำบลโพธิไพศาล มีประชากรชาวโส้อาศัยอยู่มากกว่า 90% อีกทั้งบ้านโพธิไพศาลเป็นหมู่บ้านใหญ่และเคยเป็นเมืองโพธิไพศาลนิคมมาก่อน ดังนั้นจึงยังคงเหลือร่องรอยของที่ตั้งต่าง ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นกุดวัว (บ่อน้ำ) ซึ่งชาวโส้ได้อพยพเข้ามาครั้งแรก วัดโพนสิริมงคล (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) และสถานีตำรวจ (ปัจจุบันร้าง) มีคุกร้าง

              ด้านการกระจายตัวของหมู่บ้านใกล้เคียง นางนคร ไชยทองศรีให้สัมภาษณ์ว่า แม้ชาวโส้จะแยกกระจายกันไปตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้น ก็ยังคงใช้ภาษาโส้ในการติดต่อสื่อสารกัน แต่หากจะพูดกับคนกลุ่มอื่น ๆ ก็มักจะใช้ภาษาถิ่นนั้น ๆ หรือภาษาไทยมาตรฐานในการสนทนา จากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนของชาวบ้านโพธิไพศาล ก็พบว่า มักจะมีการเล่าประวัติต่าง ๆ ให้ลูกหลานรุ่นหลังฟังอยู่เสมอ โดยจะเล่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟัง แต่ส่วนมากประวัติที่เล่ามักจะถูกเล่าตั้งแต่การปกครองโดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีส่วนน้อยที่เล่าถึงการเดินทางมาจากถิ่นฐานเดิม แต่ชาวโส้ที่โพธิไพศาลก็จะรู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน แต่ก็มักจะถือว่าเป็นญาติพี่น้องกันหมด คือ สืบมาแต่ตระกูลเจ้าเมืองที่ปกครองเมืองโพธิไพศาลนิคม

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ชาวโส้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนาทำไร่ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มาตั้งแต่อดีต ด้วยความที่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ไท ญ้อ โย้ย ลาว   จึงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกับคนเหล่านั้น การประกอบอาชีพก็มีความคล้ายคลึงกัน ในฤดูฝนก็มีอาชีพทำนา ส่วนหลังฤดูทำนาก็มักจะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหน้าที่ในการทำนา ทำไร่ ทำสวน ผู้ชายเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ส่วนผู้หญิงเมื่อว่างเว้นจากการทำนามักจะทอผ้าเพื่อเอาไว้ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน

              ปัจจุบันการประกอบอาชีพของชาวโส้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการเดินทางไปขายแรงงานต่างถิ่นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บางส่วนกลายเป็นแรงงานรับจ้างภาคเกษตร เช่น รับจ้างตัดอ้อย รับจ้างปลูกมัน และรับจ้างกรีดยางพารา ซึ่งแรงงานดังกล่าวมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทำให้อาชีพของชาวโส้ในอดีตแตกต่าง บางครั้งทำให้อาชีพที่เคยสร้างรายได้เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรสูญหายไป เช่น อาชีพทอผ้า การมัดหมี่ การทำผ้ายก ซึ่งเคยเป็นองค์ความรู้สำคัญของผู้หญิงชาวโส้หายไปจากความทรงจำ และลดจำนวนลงไปอย่างน่าเสียดาย

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ครอบครัวของชาวโส้ในอดีตเป็นครอบครัวขยาย แต่ปัจจุบันมีทั้งครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยว  มีผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัวทำหน้าที่ในการปกครองคนในครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ในการบริหารจัดการภายในบ้าน เมื่อก่อนชาวโส้นิยมแต่งลูกสะใภ้เข้าบ้าน และมานับถือผีกับฝ่ายชาย จึงอาจกล่าวได้ว่า ชาวโส้นับถือผีฝ่ายชายเป็นใหญ่

              ครอบครัวใหญ่หรือครอบครัวขยายของชาวโส้ในอดีตประกอบด้วย ปู่ ย่า ป้า ลุง พ่อ แม่ อา อาว และลูกหลาน พี่ชายมักแต่งงานมีครอบครัวก่อนน้องเสมอ เมื่อสามารถแยกเรือนได้ พ่อกับแม่ก็จะให้สร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณบ้านใหญ่ ส่วนลูกคนสุดท้องมักจะได้รับหน้าที่ให้เลี้ยงดูพ่อกับแม่ และการจัดสรรมรดกจะเรียงลำดับจากพี่ไปหาน้อง คนที่เลี้ยงดูพ่อแม่จะได้รับทรัพย์สมบัติจากส่วนของพ่อแม่ด้วย

         

            

  • การนับญาติ การเรียกชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ครอบครัวของชาวโส้มีการลำดับนับญาติที่แสดงถึงการนับถือลำดับอาวุโสกล่าวคือ ให้ความสำคัญกับผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวและญาติฝ่ายพ่อ และนับถือสกุลของฝ่ายชายเป็นสำคัญ 

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ข้อมูลการแต่งกายของชาวโส้ ได้มีนักวิชาการกล่าวไว้ค่อนข้างละเอียด อีริก ไซเดนฟาเดน (Seidenfaden 1943 : 146) กล่าวถึงการแต่งกายของชาวโส้ว่า ผู้ชายโส้ส่วนมากนิยมสวมผ้าฝ้ายโพกหัว ผ้าฝ้ายนั้นนิยมย้อมหม้อนิล ส่วนผู้หญิงใส่ผ้าซิ่นสีดำทำจากผ้าฝ้ายใส่เสื้อแขนยาวมีปลอกแขน ส่วนเมื่ออยู่บ้านผู้หญิงมักจะไม่ใส่เสื้อ หรือบางครั้งจะใช้ผ้าคาดอก เมื่อไปงานบุญผู้ชายนิยมใส่ผ้านุ่งและมีผ้าคาดเอวส่วนผู้หญิงจะใส่ผ้าซิ่น และมีผ้าคลุมไหล่ ผู้ชายไว้ผมสั้น ส่วนผู้หญิงไว้ผมยาว เด็ก ๆ มักจะไว้จุก ในวันปกติผู้หญิงมักจะใช้ผ้าโพกหัว เมื่อไปงานบุญผู้หญิงมักจะใส่เครื่องประดับ เช่น กำไลแขน ต่างหู ซึ่งทำจากเหรียญเงิน ทองแดง ทองเหลือง โดยส่วนมากเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายจะประกอบไปด้วย 4 อย่าง คือ ผ้าขาวม้า ผ้านุ่ง เสื้อและกางเกง ส่วนผู้หญิงสวมใส่ผ้าซิ่น เสื้อ และผ้าคลุม ปัจจุบันผู้ชายนิยมส่วนใส่เสื้อตามยุคสมัยไม่สวมใส่ผ้าฝ้าย ส่วนผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปนุ่งกางเกง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังนุ่งผ้าซิ่น เด็กสมัยใหม่ไม่นิยมนุ่งผ้าซิ่น อีกทั้งไม่สามารถทอผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพสตรีชาวโส้ได้

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              การสร้างบ้านเรือนของชาวโส้ในอดีตส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ ใต้ถุนยกสูงจากพื้นประมาณ 1.5 – 2 เมตร เสาทำด้วยไม้เนื้อแข็งมีจำนวน 6 ต้นหรือ 9 ต้นเป็นส่วนใหญ่ พื้นบ้านปูด้วยไม้ไผ่เรียกว่า “ฟาก” ฝาบ้านใช้ใบตองกุงนำมาสานขัดแตะหลังคาทำด้วยหญ้าแฝกมัดกับไม้เครือ ส่วนบันไดบ้านมีเพียงด้านเดียว จำนวนขั้นของบันไดขึ้นอยู่กับความสูงของตัวบ้าน หากเป็นบ้านสูงมากจะมีบันไดจำนวน 7 ขั้น ส่วนความสูงโดยทั่วไปจะมีบันได 5 ขั้น ส่วนบ้านที่มีฐานะมากขึ้นจะใช้ไม้กระดานทำเป็นพื้นและฝาบ้านเพราะมีความคงทนมากกว่า ความยาวของบ้านประมาณ  4- 6 เมตร ส่วนจำนวนห้องมักแบ่งพื้นที่บ้านเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ห้องผีบรรพบุรุษ ห้องพักผ่อนและห้องนอน โดยมักใช้ผ้ากั้นอย่างง่าย ๆ ห้องครัว  ห้องน้ำแยกออกมาจากตัวบ้าน ส่วนใต้ถุนบ้านเอาไว้เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ เช่น ทอผ้า ทอเสื่อ เก็บฟืน เก็บอุปกรณ์การเกษตร เลี้ยงสัตว์ วินัจ เจ้านาม (29 เมษายน 2562).

              ส่วนเอกสารของ อีริก ไซเดนฟาเดน (Seidenfaden 1943 : 146) กล่าวว่าชาวโส้นิยมสร้างบ้านเรือนในเขตป่าที่อุดมสมบูรณ์ตามแนวเนินเขา บ้านแต่ละหลังจะถูกล้อมรอบด้วยรั้วไม้ ซึ่งจะสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวตัวบ้านสร้างจากผนังไม้ที่สร้างอยู่บนเสาไม้หลายต้น โดยผนังไม้จะใช้แบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ ขนาดพอสำหรับนอนเท่านั้นชาวโส้จะเก็บข้าวของเครื่องใช้ไว้ในบ้าน ทั้งเครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร เสื้อผ้า จอบ ตะกร้า เหยือกน้ำ เครื่องนอน  

              และข้อมูลตั้งบ้านเรือนของชาวโส้ที่ปรากฏในงานของ Raymond S.Kania and Siriphan Hatuwong Kania(1979 : 79) กล่าวว่า บ้านของชาวโส้จะสร้างบนเสาไม้สูงจากพื้นประมาณ 5 - 6 ฟุตเช่นเดียวกับบ้านส่วนใหญ่ในประเทศไทย บ้านแต่ละหลังจะมีรั้วล้อมรอบสนามหญ้าและประตูหน้าบ้านซึ่งมีขนาดของบ้านที่แตกต่างกันออกไปแต่ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก นิยมสร้างหลังคาทรงหน้าจั่วจากไม้ที่แข็งแรงและทนทาน ไม้แต่ละแผ่นมีความยาวประมาณ 3 ฟุต โครงสร้างภายในบ้านประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ ระเบียงขนาดใหญ่ที่ยาวขนานไปกับตัวบ้านที่ยื่นออกมาเพื่อให้ร่มเงาและไว้ใช้สอย แต่ละด้านของบ้านจะมีหน้าต่างเพื่อเปิดรับลม อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องที่ถูกจัดแบ่งออกเป็นห้องสำหรับวิญญาณบรรพบุรุษ ห้องนอนของพ่อแม่และห้องของสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ส่วนที่เหลือจะไว้เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของสมาชิก บ้านของชาวโส้ไม่มีห้องน้ำในตัว แต่มักจะสร้างแยกไว้ต่างหาก ห้องครัวของชาวโส้จะสร้างไว้ด้านหลังของตัวบ้าน โดยต่อไม้เป็นชานออกไปประมาณ 5 – 6 ฟุต ในครัวมักจะมีฝาหนึ่งด้าน แล้วเปิดกว้างเพื่อให้ระบายลมได้ พร้อมทั้งเป็นที่เก็บอุปกรณ์เครื่องครัว

              ในปัจจุบันการสร้างบ้านเรือนของชาวโส้มีการประยุกต์ดัดแปลงให้เป็นบ้านติดพื้น มีทั้งลักษณะที่ชั้นล่างทำจากปูนชั้นบนทำจากไม้และลักษณะที่ทำจากปูนทั้งหลังโดยมีการสร้างห้องน้ำไว้ภายในตัวบ้าน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนให้ตัวบ้านเกิดความแข็งแรงทนทานและสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าบ้านของชาวโส้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากแต่เดิมใช้ไม้เป็นวัสดุหลักจนถึงปัจจุบันที่นำปูนมาเป็นวัสดุหลัก แต่ชาวโส้ยังคงสร้างเล้าเก็บข้าวไว้ส่วนหน้าของบ้าน  และพื้นที่โล่งรอบบริเวณบ้านยังใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวเช่น นั่งเล่นพูดคุยสังสรรค์ ทอผ้า ทำเครื่องจักสาน วินัจ เจ้านาม (29 เมษายน 2562)

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              อาหารของชาวโส้มีความคล้ายคลึงกับชาวผู้ไท ญ้อและลาวโดยทั่วไป กล่าวคือ ชาวโส้รับประทานข้าวเหนียวและอาหารส่วนใหญ่หาได้จากในชุมชน เช่น ปลา ปู กบ เขียด หอย และพืชผักต่าง ๆ หน้าที่ของการหาอาหารส่วนมากจะเป็นผู้ชาย บางครั้งก็จะมีผู้หญิงเป็นผู้ออกไปหาอาหารด้วย โดยเฉพาะการหาปู หาปลาในนา แล้วนำมาประกอบอาหาร แหล่งอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นหนองน้ำหรือลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน นอกจากนั้นก็มีการไปหาอาหารตามป่า ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นป่าโคกป่าแพะ จึงมีเห็ดหลากชนิดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น  เห็ดระโงก เห็ดดิน เห็ดเผาะ เห็ดหาด เห็ดครก เห็ดน้ำหมาก เห็ดข้าวแป้ง ฯลฯ ซึ่งเห็ดส่วนมากนำมาปรุงเป็นอาหารด้วยการแกงและการนึ่ง  เมื่อจำนวนประชากรมากขึ้นทำให้การทำมาหากินและหาอาหารลำบากมากยิ่งขึ้น เห็ดที่เคยเก็บได้ในชุมชนก็มักจะเอาไปขายในอำเภอ และสัตว์น้ำที่จับได้ก็มักจะนำไปขายในตลาด อีกทั้งเด็กส่วนมากในปัจจุบันนี้ไม่นิยมรับประทานอาหารพื้นบ้านที่พ่อกับแม่เคยรับประทานมาก่อน จึงมีการจับจ่ายหาซื้ออาหารตามร้านค้าทั่วไป ซึ่งเป็นอาหารที่ได้มาจากตลาด ส่วนมากจะเป็นพวกเนื้อสัตว์และอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ปรุงมาแล้ว ส่วนครอบครัวที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจดีก็มักจะพึ่งพาอาหารจากตลาดสดเป็นส่วนมาก

              นางสุน ชิตบุตร กล่าวว่า อาหารของชาวโส้คล้ายคลึงกับอาหารอีสานทั่วไป อาหารที่ชาวโส้ใช้ในการรับประทานอาจแบ่งออกได้เป็น อาหารในชีวิตประจำวัน และอาหารที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ อาหารในชีวิตประจำวัน เป็นอาหารที่ใช้กรรมวิธีปรุงแบบอาหารอีสานทั่วไป กล่าวคือ ไม่นิยมการทอดเน้นการต้ม แกง ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นตามฤดูกาล เช่น ในฤดูฝน (ขณะที่สัมภาษณ์) ก็จะรับประทาน แกงหน่อไม้ แกงหอย แกงปลาใส่หน่อไม้ส้มต้มอึ่งอ่างใส่ข้าวคั่วผักแพว

              ส่วนอาหารที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ นางสุน ยกตัวอย่างพิธีกรรมการเลี้ยงผีมูล(ผีบรรพบุรุษ) การเลี้ยงผีมูลคือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษที่คนในบ้านต้องทำพิธีบูชาเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ครอบครัวโดยใช้อาหารเป็นเครื่องเซ่นอาหารคาวประกอบด้วย ข้าว 1 ถ้วย ไก่ 1 ตัว น้ำเปล่า 1ถ้วย เทียน 1 คู่ เหล้า 1 ขวดและอาหารหวานที่ใช้เซ่น คือ ข้าวเหนียวคลุกน้ำตาล เรียกว่า ข้าวหวาน นอกจากนี้ ในการเลี้ยงผีปู่ตานิยมทำอาหารที่เรียกว่า “สว้าไก่” คือ ใช้ไก่ต้มนำมาฉีกเนื้อปรุงกับพริก มะนาว น้ำปลา ผักชี ต้นหอม

              อาหารที่นับว่าเป็นอัตลักษณ์ของชาวโส้อีกอย่างหนึ่งหนึ่งคือ ตำกาบกล้วย ซึ่งชาวโส้จะนำกาบกล้วยและแกะเอาเฉพาะไส้ในของกาบกล้วย แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หลังจากนั้นก็นำไปตำผสมเข้ากับเครื่องปรุง ได้แก่ ปลาร้า ตะไคร้ พริก กระเทียม แล้วปรุงด้วยน้ำปลาหรือเกลือ เสร็จแล้วตักออกมารับประทานกับเครื่องเคียงประเภทผัก ได้แก่ ใบมะยม ใบชะพลู และห่อเป็นเมี่ยง บางครั้งเรียกเมี่ยงกาบกล้วย เป็นอาหารยอดนิยมของชาวโส้ เมื่อว่างเว้นจากการทำงาน นางสุน ชิตบุตร (22 เมษายน 2562)

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ประเพณี พิธีกรรมและเทศกาลของชาวโส้บ้านโพธิไพศาลแต่เดิมนั้นมีความผูกพันอยู่กับศาสนาผี ต่อมาเมื่อรับอิทธิพลของพระพุทธศาสนาก็ยอมรับเอาแนวคิดของพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้ในวิถีชีวิตด้วย จึงทำให้ประเพณี พิธีกรรมและเทศกาลหลายอย่างคล้ายคลึงกับชาวอีสานโดยทั่วไป ซึ่งแบ่งออกเป็นประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต และประเพณีพิธีกรรมในรอบปี

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ประเพณีการเกิดของชาวโส้ในอดีต คล้ายกับประเพณีของชาวอีสานกลุ่มอื่น ๆ คือเป็นไปเพื่อให้แม่และเด็กคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงการคะลำหรือทำผิดข้อห้ามต่า งๆ กล่าวคือ เมื่อหญิงชาวโส้ตั้งครรภ์ได้ 8 เดือนชาวโส้จะทำ “พิธีตัดกำเนิด” โดยใช้หมอที่มีวิชาอาคมซึ่งจะเป็นหมอผู้ชายหรือหญิงก็ได้แต่ต้องไม่เป็นหม้ายมาทำพิธีตัดกำเนิดโดยมีเครื่องคายในการทำพิธีกรรมได้แก่  กระทงสามเหลี่ยม 9 ห้อง จำนวน 1 กระทง ข้าวดำ ข้างแดง แกงส้ม แกงหวาน น้ำใบส้มป่อย 1 ขัน ด้าย ทำด้วยฝ้ายแท้สีขาว และสีดำ เครือสูด (เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง)

              ฝ้ายทำด้วยด้ายสีขาวและสีดำจะผูกคาดศีรษะของหญิงตั้งครรภ์ อีกปลายหนึ่งผูกไว้ที่กระทงและอีกข้างหนึ่งสามีของผู้ตั้งครรภ์จะจับไว้ผู้ตั้งครรภ์ก็จะนั่งเหยียดเท้าทั้งสองข้างไปทางกระทง โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้เบิกผี ได้แก่  ผ้าถุง 1 ผืน  ผ้าขาวม้า 1 ผืน  ไก่ต้มสุก 1 ตัว  เหล้า 1 ไห  เงิน 12 บาท

              เมื่อเสร็จแล้วหมอผีจะทำพิธีเอาข้าวดำ ข้าวแดงไปจ้ำตัวผู้ตั้งครรภ์เพื่อเอาแม่เสนียดออกจากตัวผู้ตั้งครรภ์ทิ้งไว้ในกระทงพร้อมกับนับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า ต่อไปหมอจะเบิกผีพรายด้วยคาถาแล้วหมอจะใช้ง้าว (ดาบ) ตัดด้าย และเถาวัลย์เสร็จแล้วจึงนำกระทงไปทิ้งตามทิศที่หมอบอก ผู้นำกระทงไปทิ้งเวลากลับจะต้องหักกิ่งไม้ติดมือมาด้วยเพื่อที่จะเอามาปัดสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านจึงเป็นเสร็จพิธีตัดกำเนิด

              ผู้หญิงตั้งครรภ์ชาวโส้ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 – 20 ปี มักจะทำคลอดเอง จากการสัมภาษณ์นางปิ่น ไมวงแสน เล่าว่า “ตอนนั้นมีลูกก็ทำคลอดเอง อยู่ที่ครัว และก็อยู่ไฟ” ซึ่งก็คล้ายกับนางหลอด มุงแสน ที่เล่าว่า “ทำคลอดเอง มีลูก 6 คนก็ทำคลอดเองทั้งหมด และก็อยู่ไฟ 15 วัน”

              การคลอดเองที่บ้านจะมีผู้ใกล้ชิดเช่น พ่อ แม่ ป้าหรือญาติที่สนิทเป็นผู้ตัดสายรกและเป็นผู้ช่วยทำคลอด นางใบ เจ้านาม (29 เมษายน 2562).  เล่าว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดสายรกคือ “ติ้วไม้ไผ่” ซึ่งก็คือ ไม้ไผ่ที่ตัดออกมาให้บางและคมคล้ายกับมีด รกของเด็กก็จะนำไปฝังไว้ใต้บันไดบ้าน แล้วก่อกองไฟไว้ใกล้ ๆ เพื่อไม่ให้สุนัขมาคุ้ยเขี่ยหลังจากคลอดแล้วก็จะอยู่ไฟ (นอนบนแคร่ไม้ไผ่ ก่อไฟใต้แคร่) และให้แม่เด็กดื่มน้ำร้อนที่ได้จากยาสมุนไพรพื้นบ้าน ได้แก่ ไม้แดง เป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ในชุมชนสมัยนั้น ส่วนการออกกรรมของแม่ลูกอ่อน จะมีผู้เฒ่าผู้แก่มาผูกแขนเรียกขวัญให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัวแม่และเด็ก จากนั้นจะวางเด็กใส่กระด้งเป็นเวลา 1-2 วันก่อนจะยกลูกไปหาแม่ โดยมักจะมีคำพูดประกอบในทำนองว่า ห้ามผีมาพาเด็กคนนี้ไปเพราะเขาเป็นลูกของฉัน 

              เมื่อคลอดลูกใหม่ ๆ จะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับทารกเกิดใหม่  เริ่มตั้งแต่การตัดสายรก เพื่อให้การตัดสายรกถูกต้องตามลักษณะจะทำให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งสายรกจะมี 3 ปล้อง ได้แก่ ปล้องอุจจาระ ปล้องปัสสาวะและปล้องตัน ปล้องสีดำเรียกว่าปล้องอุจจาระ ปล้องสีเหลืองคือปล้องปัสสาวะ ปล้องสีขาวคือปล้องตัน และนิยมตัดปล้องตัน และมักจะตัดสายรกของเด็กแรกเกิดด้วยเปลือกไม้ไผ่ที่เอามาทำให้คม เมื่อตัดเสร็จจะห่อเด็กแล้วเอาไปนอนในกระด้ง หลังจากนั้นจะนำรังมดดำ (หมาร่า) ที่อยู่ตามกิ่งไม้มาเผา เอาขี้เถ้าที่ได้จากรังมดดำมาโรยใส่สะดือเด็ก เพื่อให้แผลที่สะดือแห้งสนิท แล้วก็จะส่งเด็กคืนให้แม่ โดยมีคำกล่าวเป็นบทร้องขนาดสั้น 3 รอบ ว่า

              “จู้ฮุกกรู ถ้าแม้นลูกสู ให้เอาคืนมื้อนี้ ถ้ากายมื้อนี้สิเป็นลูกกู”

              เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะให้แม่เด็กอยู่ไฟประมาณ 15 วันเมื่อครบกำหนดแล้วก็มักจะทำพิธีตัดผมไฟให้กับเด็ก เรย์มอนด์ เอส คาเนียและสิริพรรณ หุตะวงษ์ คาเนีย (Raymond S.Kania and Siriphan Hatuwong Kania .1997 : 84) กล่าวเกี่ยวกับ การเกิดของชาวโส้ว่า เมื่อแม่รู้ตัวว่าใกล้จะคลอดคนที่มาอยู่เฝ้าก็จะหาผ้ามาผูกกับขื่อบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้แม่คลอดง่ายมากขึ้น ในระหว่างนั้นสามีก็จะตามหมอตำแยหรือไม่ก็ป้า น้าที่ใกล้ชิดมาดู เมื่อเด็กออกจากท้องแม่แล้วก็จะมีการตัดสายสะดือด้วยของมีคม สมัยก่อนนิยมตัดด้วยไม้ไผ่ และเอาสายรกบางส่วนไปฝังกลบไว้ที่ใต้ถุนบ้าน บริเวณบันไดทางขึ้นบ้าน ซึ่งชาวโส้เชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการปลูกฝังให้เด็กที่เกิดในบ้านรู้จักบ้านของตนเอง แม้จะเดินทางไปอยู่ที่ไหนก็ตามก็จะกลับมาบ้านของตนเอง เมื่อเด็กเกิดมาแล้วแม่ก็จะเข้าสู่กระบวนการอยู่ไฟ โดยต้องนั่งและนอนอยู่บนใบไม้และดื่มน้ำร้อนที่ได้จากการต้มยาสมุนไพร เพราะเชื่อว่าจะเป็นการดีต่อสุขภาวะของแม่และเด็ก โดยส่วนผสมและส่วนประกอบของน้ำต้มที่แม่จะต้องดื่มประกอบด้วย สมุนไพรหลายชนิด  เช่น เปลือกต้นแ รากไม้ระอาว และใบย่านางแดง  ากนี้ยังมีข้อห้ามต่าง ๆ ในการรับประทานอาหารที่แม่เด็กต้องระมัดระวัง อาหารที่อนุญาตให้รับประทานได้ ได้แก่ ข้าว ปลา ไก่ 

                สมัยปัจจุบันสถานีอนามัยเข้ามามีบทบาทต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยและรับผิดชอบเกี่ยวกับสุขอนามัยของคนในชุมชนการคลอดด้วยวิธีการแบบโบราณจึงลดลงและหายไปในที่สุด

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              การแต่งงานของชาวโส้เป็นประเพณีที่ถือกันมาแต่โบราณ โดยเริ่มจากชายหนุ่มและหญิงสาวตกลงจะแต่งงานกันหนุ่มชาวโส้พาฝ่ายหญิงหนี หลังจากนั้นค่อยมาเสียผีนับญาติหรือการขอขมา ก่อนจะส่งผู้ใหญ่มาทาบทามสู่ขอหญิงสาวจากบิดามารดาภายหลังมีการสู่ขอผ่านทางผู้ใหญ่เรียกว่า “ล่าม” การสู่ขอจะต้องจัดเตรียมสิ่งของเพื่อประกอบพิธีกรรมในการที่จะแต่งงานกัน เรียกว่าพิธีเจียขะนอบ ส่วนใหญ่จะใช้สิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นผ้าที่ทอด้วยมือของสาวชาวโส้ เช่นฟูก หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน เสื้อ ซิ่นและอื่น ๆ

              ตัวอย่างของการแต่งงานของชาวโส้บ้านโพธิไพศาลนั้น ไม่ได้เคร่งครัดเหมือนแต่ก่อน หลักเกณฑ์การเลือกคู่ครองจากการสัมภาษณ์ก็ได้คำตอบว่า “ต้องเลือกผู้จบผู้ดี คนที่จะคุ้มครองและพาเราทำมาหากินได้” ค่าค่าสินสอดสมัยก่อนก็ไม่แพงประมาณ 200 – 300 บาท ตามแต่ตกลงกัน ฝ่ายชายจะเป็นคนหาวัวมาล้มในงานแต่ง นอกจากนี้ในพิธีแต่งงานก็จะมีไก่ เหล้า พาขวัญ เมื่อเข้าสู่พิธีสู่ขวัญ หมอขวัญก็จะสูดขวัญและเอาหัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวชนกัน มีการไขว้แขนป้อนไข่ และเจ้าสาวจะต้องดื่มเหล้า ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับพิธีแต่งงานของลาวและไทกลุ่มอื่น ๆ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จูงแขนกันเข้าในส้วม (ห้องนอน) ก็เป็นอันเสร็จพิธี วันรุ่งขึ้นเจ้าสาวก็ต้องหาของไปสมมาฝ่ายสามีหรือไม่ก็สมมาในวันแต่งหลังจากการสู่ขวัญเสร็จแล้ว ส่วนของสมมานั้นพบว่า ชาวโส้สมัยก่อนนิยมทำเอง แต่ปัจจุบันซื้อจากตลาดนัด เพราะง่ายและสะดวก โดยของสมมาที่พบได้แก่ เสื่อ หมอน ผ้าซิ่น ผ้าแพร โดยเฉพาะแม่ผัวมักจะสมมาด้วยผ้าซิ่น เช่น ซิ่นหมี่ ซิ่นไหม  

              หากกรณีที่หญิงสาวจะไปอยู่บ้านสามี แม่ก็จะสั่งสอนลูกสาว ซึ่งคำสั่งสอนก็จะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตที่บ้านสามี ว่าจะต้องปฏิบัติอะไรบ้าง อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ จากการสัมภาษณ์คำสอนของแม่ที่ต้องสอนลูกสาวก็พบว่า ผู้หญิงโส้ส่วนมากนิยมความขยัน และรู้จักทำหน้าที

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ชาวโส้มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายและการทำศพที่มีเอกลักษณ์ กล่าวคือ เมื่อมีคนตายซึ่งเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บมิได้เกิดจากอุบัติเหตุแล้ว สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการบอกญาติพี่น้องให้ทราบและมาร่วมกันจัดพิธีศพ ในจำนวนญาติพี่น้องคนที่สำคัญคือน้าบ่าว หรือน้องชายของแม่เป็นรายแรกหลังจากนั้นก็จะบอกญาติคนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลในโอกาสต่อไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองคือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน การไปบอกน้าบ่าวนั้นเป็นธรรมเนียมว่าต้องเตรียมดอกไม้ ธูป เทียนไปด้วยเพื่อให้น้าบ่าวนำมาเคารพศพ

              เมื่อน้าบ่าวมาถึงจึงเริ่มการแต่งศพให้ผู้ตายมีใบหน้าสดสวยเสมือนยังมีชีวิตเช่นการใช้แป้งหรือขมิ้นทาหน้ามีการใส่เงินเหรียญ 1 อัน หรือ 2 อันไว้ในปากของผู้ตาย เพื่อให้ผู้ตาย ร่ำรวยถ้าจะไปเกิดใหม่ส่วนญาติมิตรอีกกลุ่มหนึ่งก็จะจัดการทำโลงศพเพื่อเตรียมไว้ในการนำไปเผา การดอยศพ (เก็บศพ) ก่อนนำไปเผานั้นขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ตายเป็นสำคัญทั้งนั้นเพราะถ้าเก็บศพไว้นานหลายคืนก็จะต้องเตรียมอาหาร เหล้า บุหรี่ไว้เลี้ยงแขก สำหรับชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผีก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดอภิธรรมหน้าศพด้วย กลางคืนจะมีการเล่นเกมในหมู่ญาติมิตรที่มาในงานศพหลายชนิด ที่นิยมกันมากคือเกมจับไม้สั้นไม้ยาวและปัจจุบันนิยมเล่นการพนันประเภทไฮโล เพื่ออยู่เป็นเพื่อนบ้านเจ้าภาพ

              พิธีซางกะมูด เป็นพิธีหนึ่งของชาวโส้ ก่อนที่จะนำศพลงจากเรือนไปเผา คำว่า "ซาง" ในภาษาโส้แปลว่า "สางหรือจัดให้เป็นระเบียบ" คำว่า "กะมูจ" แปลว่า ผี ซางกะมูจ จึงหมายถึงการจัดพิธีเกี่ยวกับผู้ตายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยก่อนที่จะนำศพไปเผา

              ชาวโส้เชื่อว่าผู้ตายด้วยอาการธรรมชาตินั้นเรียกว่า "ผีดิบ"การทำพิธีซางกะมูจก็เพื่อจะทำผีดิบให้เป็น "ผีสุก"มิฉะนั้นญาติพี่น้องจะได้รับอันตรายจากผีดิบ เช่น เจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุชาวโส้ที่เคร่งครัดและมีความเชื่อเช่นนี้ในเวลากลางคืนจะทำพิธีซางกะมูจหลายครั้งก่อนที่จะนำศพลงจากเรือนไปเผา

              พิธีจะเริ่มขึ้นในเวลาเย็นก่อนวันที่กำหนดจะนำศพไปเผาซึ่งบรรดาญาติพี่น้องจะอาบน้ำศพมัดตราสัง 3 เปลาะ ในท่าศพพนมมือแล้วจึงนำศพใส่โลงอาจมีการนำผ้าที่มีลวดลายสวยงามมาพาดประดับโลงศพหลังจากญาติพี่น้องผู้ตายที่เป็นสกุลผีเดียวกัน หรืออยู่ในจุ้มผีเดียวกันประมาณ 5 - 10 คน ก็จะยืนล้อมข้างโลงศพ ทั้งสองข้าง ๆ ละเท่า ๆ กัน ใกล้ ๆ ศีรษะของผู้ตายจะมีอุปกรณ์ประกอบพิธีคือมีขันกะหย่อง (พาน) สานด้วยไม้ไผ่ 2 ใบ ไม้ไผ่สานเป็นจักจั่น 5 ตัว ใส่ไว้ในขันกระหย่องใบละ 2 ตัว (จักจั่นมีความหมายว่าให้ผู้ตายมีความสุขสนุกสนานเช่นจักจั่นที่กรีดเสียงร้องบนต้นไม้) มีไม้ไผ่บางๆ 2 คู่แทนสัญลักษณ์ของผู้ตายวางบนขันกะหย่อง นอกจากนี้บางบ้านเรือนยังจัดให้มีจอกใส่น้ำหรือเหล้า ซองใส่ดอกไม้ 4 ซอง หรือ 16 ซอง หูช้างซึ่งมีลักษณะคล้ายพัดโบก ช้าง ม้าจำลองทำด้วยไม้ยอ ผ้าฝ้ายพันศีรษะขนาดยาว 4 ผืน สั้น 2 ผืน

              เมื่อได้เครื่องเซ่นบูชาวิญญาณแล้ว น้าบ่าวหรือญาติสนิทของผู้ตายจะกล่าวคำส่งวิญญาณ ส่วนญาติผู้ตายซึ่งถือเครื่องเซ่นบูชาวิญญาณจะอยู่ในอาการสงบหลังจากกล่าวคำส่งวิญญาณจบแล้วน้าบ่าวก็จะนำญาติที่ยืนอยู่รอบโลงศพเดินวนไปทางซ้าย 3 รอบ แล้วเดินกลับมาทางขวาอีก 3 รอบญาติผู้ตายบางคนจะถือเหล็กแท่งพังฮาดหรือฆ้องตีเป็นจังหวะ อีกอย่างหนึ่งคือการนำไหเปล่าขึงตึงด้วยยางที่ปากไห แล้วดีดเป็นเสียงและทุกคนจะร้อง เฮะ ๆๆๆๆ เป็นจังหวะพร้อมกับจังหวะของเครื่องมือที่จะดีดหรือตีให้เกิดเสียง ชาวโส้เชื่อและยืนยันกันว่าในสมัยโบราณญาติผู้ตายจะใช้บั้งหรือกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นลำยาว ๆ พอประมาณกระแทกกับพื้นเป็นจังหวะที่เดินวนรอบ ๆ ศพ และเป็นต้นกำเนิดการเล่นทั่งบั้ง หรือเรียกตามภาษาโส้ว่า "สะลา"

              เมื่อขบวนญาติพี่น้องเดินวนซ้ายและวนขวาครบ 3 รอบแล้ว ก็จะกราบและกล่าวขอขมาผู้ตายเพื่อมิให้มีเวรกรรมแก่กันและขอศีลขอพรตามจารีต หลังจากนั้นผู้เป็นน้าบ่าวจะนำด้ายหรือเชือกเส้นเล็ก ๆ มาวางไว้ที่ศพ ปลายเชือกอีกด้านหนึ่งให้ญาติพี่น้องถือไว้เมื่อกล่าวคำอำลาแล้วก็ตัดเชือกระหว่างกลางเป็นการแสดงว่าขาดจากสภาพเดิมหรือผู้ตายมีสภาพมิใช่มนุษย์แล้วจากนั้นจึงนำศพลงจากบ้านเรือน

              การนำศพไปป่าช้านั้น ชาวโส้นิยมหามศพโดยนำไม้ไผ่ประมาณ 10 ลำ ยาวประมาณ 5 เมตรมาผูกมัดให้แน่นคล้ายแพหรือแคร่ แล้วนำหีบศพตั้งข้างบนแคร่ชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนาจะนิมนต์พระสงฆ์มานั่งบนแคร่หน้าโลงศพเพื่อสวดมนต์ไปตลอดทางจนถึงป่าช้าท้ายหมู่บ้าน ส่วนคนหามนั้นก็ผลัดเปลี่ยนกันตลอดทาง ขณะที่ศพเคลื่อนไปนั้นจะมีการโปรยข้าวตอกหรือข้าวคั่วตามหลัง การทำเช่นนี้ชาวโส้มีความเชื่อหลายอย่าง เช่นต้องการให้ผู้ตายหาทางเดินกลับบ้านได้ หรือเชื่อว่าให้ผีที่อยู่บนแคร่หามลงมารับส่วนบุญ เพื่อจะทำให้น้ำหนักลดลง

              ปัจจุบันเมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อชาวโส้มากขึ้นการบวชหน้าศพทั้งเป็นสามเณรและภิกษุสงฆ์ก็มีจำนวนไม่น้อย สำหรับสตรีที่ต้องการไว้ทุกข์จะแต่งกายด้วยผ้าขาวคล้ายนางชีและใช้ผ้าขาวมัดผม เมื่อขบวนศพถึงป่าช้าแล้ว ชาวโส้จะหาฟืนในป่ามาทำเป็นกองฟอน (ที่เผาศพ) และตกแต่งให้เป็นกองฟอนขนาดใหญ่พอที่จะวางโลงศพ ก่อนเผาศพอาจมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมาติกาบังสุกุลแล้วเป็นผู้จุดไฟด้วย หลังจากนั้นบุคคลอื่น ๆ ก็จะหาฟืนมาสุมเพิ่มให้ลุกโชติช่วง ในกลุ่มที่มิได้จัดพิธีสงฆ์ก็จะทำการเผาศพทันทีอย่างไรก็ตามยังมีข้อปลีกย่อยสำหรับชาวโส้บางรายเช่น นำไก่มาจิกหรือเคารพที่โลงศพก่อนเผาศพ มีการทุบมะพร้าวที่เรียกว่าล้างหน้าผี แล้วหาเครือไม้มาตัดแสดงการตัดญาติจากลูกหลาน

              เมื่อเผาศพแล้วขบวนญาติพี่น้องและมิตรสหายต่างแยกย้ายกันกลับบ้านถ้าเส้นทางนั้นผ่านหน้าบ้านผู้ตายจะมีญาติผู้ตายที่สูงอายุคอยพรมน้ำมนต์ให้ทุกคนเพื่อเป็นสิริมงคลพร้อมกับกล่าวคำอวยพรว่า "มั่นยืนๆ" ซึ่งหมายถึงให้อายุยืนนานน้ำมนต์นี้มักผสมด้วยขมิ้นมีสีเหลืองอ่อน ๆ

              การเก็บกระดูกผู้ตายไม่กำหนดว่าจะกระทำในวันใดขึ้นอยู่กับความสะดวกของญาติพี่น้องชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนามักนิยมนำอัฐิไปฝังไว้ตามกำแพงวัดแต่ชาวโส้ส่วนมากจะเก็บอัฐิโดยฝังไว้ใกล้ๆ กับที่เผาศพแล้วเขียนชื่อผู้ตายใส่แผ่นไม้หรือทำเครื่องหมายอื่นให้เป็นที่สังเกตได้ชัดเจน

              ความผูกพันระหว่างผู้ตายและผู้อยู่ ในกลุ่มชาวโส้ที่มีความเชื่อว่าวิญญาณผู้ตายวนเวียนอยู่ในบ้านเดิมนั้น เห็นได้จากการที่ญาติพี่น้องจัดหากระติบใส่ข้าวเหนียวมาวางใกล้ ๆ ศพ จุดเทียนไว้ใกล้ ๆ กระติบข้าวเป็นเวลา 3 คืนเพื่อเซ่นผู้ตาย นอกจากนี้ชาวโส้ก็จะต้องทำพิธีเรียกวิญญาณผู้ตายให้กลับมาอยู่กับลูกหลานที่บ้าน พิธีกรรมดังกล่าวจะทำโดยผู้มีความรู้ในเรื่องพิธีกรรมโดยจัดหาเหล้า 1 ขวด ไก่ต้ม 1 ตัว และผู้ทำพิธีตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลายส่วนที่อยู่ของวิญญาณนั้นเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่ชาวโส้ก็คือมุมใดมุมหนึ่งของเรือนซึ่งเป็นห้องนอน และถือกันว่าเป็นมุมผีเรือนผู้ที่มิใช่ญาติโดยสายเลือดเดียวกันจะเข้าไปในบริเวณนั้นมิได้

              อล็องกะมูดหมายถึง เชิญวิญญาณผู้ตายที่เป็นญาติซึ่งตายไปแล้ว 1 เดือน กลับคืนบ้านเรือนมีขั้นตอนดังนี้

    1) พอได้กำหนด และญาติพร้อมแล้วก็ไปบอกยาฮีดและบอกน้าบ่าว

    2) จะต้องเซ่นวิญญาณผีเก่าเสียก่อนด้วยเหล้าไห ไก่ตัวโดยทำที่มุมห้องในบ้าน

    3) เชิญผีที่จะมาอยู่ใหม่โดยเชิญที่บันไดบ้านโดยยาฮีดจะหยิบข้าวสารหว่านลงไปพร้อมกับพูดว่า "...มาเดอมื้อสันวันดีพร้อมทั้งพาหวาน มีข้าวหว่านลงไป มีข้าวดำ ข้าวแดง ผีภูบ่ให้มาผีป่าบ่ให้เสือก ให้มาแต่ผู้เดียวเจ้าเด้อ มาค้ำมาคูน..."

    4) เสร็จแล้วเข้าไปทำพิธีข้างในบ้าน แต่งสำรับกับข้าว 1 สำรับขึ้นจ้ำผีคุณตัวเก่าที่เป็นหัวหน้าโดยบอกว่า"... ต่อไปนี้พวกเก่าและพวกมาอยู่ใหม่ให้กลมเกลียวสามัคคีกันมาค้ำมาคูณ ข่อยว่าผิดจึงผิด ข่อยว่าถูกว่าแม้นจึงถูกจึงแม้นเด้อ..."

    5) เสร็จแล้วมีการกินเลี้ยงกันร่วมสำรับกับข้าวกันระหว่างญาติทุกคน พร้อมกับยาฮีดด้วยเป็นเสร็จพิธี

              พิธีซางกะมูดและอล็องกะมูดทำให้เห็นความเชื่อในระบบภูติผีวิญญาณของชนชาวโส้ซึ่งนับถือผีมากกว่าพุทธศาสนา ชาวโส้เชื่อว่าการทำพิธีศพให้ถูกต้องจะทำให้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวหากไม่ปฏิบัติพิธีกรรมแล้วผีจะรบกวน ซึ่งจะนำสิ่งร้าย ๆ มาสู่ชีวิตได้ป ระเพณีชาวโส้บางหมู่บ้านจะให้นำศพลงจากเรือนด้านอื่นที่มิใช่บันไดขึ้นบ้าน เช่นทะลุฝาบ้านหรือลงด้านหลังบ้าน เป็นต้น

              อย่างไรก็ดีเมื่อจัดพิธีศพไปแล้ว ชาวโส้เชื่อว่า วิญญาณผีจะต้องมีอยู่เป็นหลักแหล่งมิฉะนั้นอาจไปทำให้ผู้อื่นเจ็บป่วยได้จึงต้องทำพิธีอล็องกะมูดเชิญวิญญาณผีมาไว้ที่มุมเรือนของตน จึงทำให้เกิดพิธีกรรมความเชื่อในเรื่องการเข้าออก ประตูด้านแจหรือมุมห้องผีเรือนรวมทั้งการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวบริเวณมุมผีเรือนของผู้ที่มิใช่สายตระกูลผีเรือนระบบผีเรือนยังมีบทบาทในการตรวจสอบความถูกต้องตามฮีตคองของผู้อยู่อาศัยในเรือนหลังนั้นทั้งภายในหมู่สายตระกูลเดียวกันและเขย-สะใภ้ต่างสายตระกูลอีกด้วยระบบผีเรือนจึงเป็นระบบความเชื่อที่ทำให้สังคมในชุมชนปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัดโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายข้อห้ามใด ๆ

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

          

  • ประเพณีอื่น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

     

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ศาสนาและความเชื่อของชาวโส้สามารถสรุปและแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ศาสนาผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  ดังนี้

              ศาสนาผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ  ชาวโส้มีความเชื่อเกี่ยวกับผี กล่าวคือ เชื่อว่าผีเป็นสิ่งที่มีอำนาจ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีงามหรือสิ่งที่ไม่ดีกับคนได้ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของชาวบ้านที่มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ และเกิดประเพณีปฏิบัติต่อผี ทั้งในประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและประเพณีในรอบปีความเชื่อในเรื่องผีจึงมีตั้งแต่ผีดีและผีร้าย ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีพ่อผีแม่ ผีหมอ ผีนา ผีโคก เหล่านี้ล้วนเป็นผีดี ควรค่าแก่การเซ่นไหว้และบัดพลี ส่วนปีเชื้อ ผีปอบ เป็นผีไม่ดีต้องขับไล่ไปให้พ้น

              พุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ชาวโส้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดเป็นศูนย์กลางของจิตใจ และนับถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับชาวพุทธทั่วไป ตักบาตรตอนเช้า และไปวัดในช่วงวันธรรมะสวนะ จึงมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก แสดงให้เห็นจากประเพณีสำคัญใน 12 เดือน ส่วนใหญ่แล้วเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น เช่น บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา บุญกฐิน บุญผะเหวด เป็นต้น

              ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  ร่องรอยของศาสนาพราหมณ์อาจจะไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากหมอพราหมณ์หรือหมอสูดขอชาวโส้ส่วนมากก็นับถือพระพุทธศาสนา เพียงแต่อาจจะใช้รูปแบบของการประกอบพิธีกรรมมาจากพราหมณ์ แล้วมาประกอบในพิธีกรรมการแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่หมอพราหมณ์จะมีบทบาทมากในพิธีกรรมนี้

  • พิธีกรรมสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

    เหยา

              เหยา คือ รูปแบบการรักษาโรคด้วยการเชิญเทพ ไท้ แถน ผีฟ้า ผีน้ำ ผีเชื้อ เข้ามาอยู่ในร่างทรงเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยตามความเชื่อของชนหลายกลุ่ม อาทิ ผู้ไท ญ้อ โย้ย กะเลิง รวมถึงโส้ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร นครพนม  มุกดาหาร  กาฬสินธุ์และบึงกาฬ รวมเรียกทั้งหมดว่า “พิธีกรรมเหยา” ซึ่งองค์ประกอบของพิธีกรรมประกอบด้วย ผู้ประกอบพิธีหรือเจ้าพิธี (หมอเหยา) ผู้ป่วย หมอแคน ลูกศิษย์ ญาติผู้ป่วย อาจกล่าวได้ว่า การเหยาเป็นการสู่ขวัญและปลอบประโลมขวัญผู้ป่วยหรือการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยวิธีการขับลำหรือขับร้อง โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่า อาการเจ็บป่วยนั้นเกิดจาก “ผี” แม้จะรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ได้ทุเลาลง หรือหาสาเหตุของอาการได้ไม่ชัดเจน ชาวบ้านจึงมักจะลงความเห็นว่าอาการป่วยแบบนี้เกิดจากการกระทำของ “ผี” ได้แก่ ผีเชื้อ (ผีบรรพบุรุษ) ผีนา ผีป่า ผีน้ำ ผีเจ้าที่ ฯลฯ และการรักษาอาการเจ็บป่วยชนิดนี้จะต้องพึ่งพา “หมอเหยา” ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นวิธีการรักษาแบบไสยศาสตร์ ที่ถือได้ว่ามีความถูกต้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากพิจารณาบริบทของเหยาอย่างแท้จริง จะพบว่าเหยามีความสำคัญในฐานะที่เป็นการแพทย์พื้นบ้านที่ให้ความสำคัญกับคน จิตใจของคน และมิติความสัมพันธ์ของคน  ธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างเป็นระบบ

              กลุ่มชนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ไท ญ้อ โย้ย กะเลิง รวมถึงโส้ มีความเชื่อและนับถือผีอย่างแน่นแฟ้น จึงมีประเพณี พิธีกรรมที่ผูกพันอยู่กับผี สอดคล้องกับมูลเหตุของการเหยาที่มาจากความเชื่อเรื่องผี โดยเชื่อว่าผีนั้นมีทั้งผีดีและผีร้าย และผีที่บันดาลความเจ็บป่วยได้ คือ ผีไท้ผีแถน  ผีบ้านผีเรือนผีบรรพบุรุษ  ผีภู  ผีป่า  ผีน้ำ  ผีนา  ผีไร่ ฯลฯ ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยมักจะไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร “หมอเหยา” ในฐานะผู้ที่มีบทบาทในการรักษา จึงเป็นผู้ปฏิบัติการรักษาและตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานนี้ นอกจากความเชื่อเรื่องผีแล้วยังมีความเชื่อว่าการกระทำผิดจารีตหรือฮีตคองของชุมชน อาทิ การแก่งแย่งมรดก การทะเลาะเบาะแว้งกันภายในครอบครัว การปล่อยปละละเลยไม่ดูแลบุพการี และการทำผิดกติกาหรือบรรทัดฐานที่พึงประสงค์ของชุมชน การผิดลูกเมียคนอื่น การขโมยสิ่งของจากวัด รวมถึงการบุกรุกทำลายป่าชุมชน ทำให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบสุขในหมู่บ้าน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วย และเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องผีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  นอกจากนี้ อาการเจ็บป่วยมักจะเกี่ยวกับ “ขวัญ” ที่ไม่อยู่ปกติสุขในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับความเจ็บป่วย แสดงว่า “ขวัญ” ผิดปกติ ไม่คงที่ และไม่สถิตอยู่ในร่างกาย สาเหตุที่ขวัญออกจากร่างกายก็มาจาก อาการตื่นตระหนกอย่างรุนแรง  การเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะเบาะแว้งกับบุคคลในครอบครัวจนขวัญเสีย  กระทั่งเกิดอาการขวัญหนีออกจากร่างกายในที่สุดและนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ

              จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะพบว่าอาการเจ็บป่วยของคนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเชื่อ  พฤติกรรม  และขวัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติและคนกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งทั้งธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับมิติทางกายและใจของมนุษย์โดยตรง ส่งผลต่อความเป็นไปของชีวิตรวมถึงภาวะความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ด้วย หากวันใดที่มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ในลักษณะที่ขาดระเบียบจะนำพาให้เกิดความผิดปกติของระบบทางกาย และหากเมื่อใดที่มนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่ในลักษณะที่ขาดระเบียบ ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติทางใจ และด้วยความชาญฉลาดของบรรพบุรุษที่ได้พยายามสร้างระบบของการเยียวยาทั้งทางกายและทางใจขึ้นมาผ่านระบบของพิธีกรรม  โดยใช้อำนาจเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับผีมาเป็นกลไกของการรักษาเยียวยา เกิดเป็นภูมิปัญญาการรักษาโรคที่ผูกโยงกับพื้นฐานของความเชื่อที่อยู่ในชุมชนของตนเอง กลายเป็นภูมิปัญญาของการรักษาโรคที่เหมาะสมกับภูมิวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน

              เหยา เป็นพิธีกรรมรักษาโรคที่เน้นการใช้ตัวบท (text) ควบคู่กับบริบท (context) รวมถึงการแสดง (performance) มาใช้ควบคู่กัน โดยสาระสำคัญอยู่ที่การอ้อนวอนร้องขอ การปลอบประโลมใจโดยผ่านบทร้องลำที่เป็นบทผญาและเสียงดนตรี อาจกล่าวได้ว่าเหยามีลักษณะเป็นการรักษาโรคด้วยดนตรีบำบัด (music therapy) อีกวิธีหนึ่ง จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อบำบัดอาการที่เกิดขึ้นทางจิตใจ ทำให้เกิดความอบอุ่นใจและกำลังใจในยามป่วยไข้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเหยาเป็นการใช้อำนาจของแถน (อำนาจเหนือธรรมชาติ) มาช่วยในการชี้แนะแนวทาง การตัดสินใจ การปลอบประโลมใจในช่วงเวลาคับขันของชีวิตหรือเวลาที่หาทางออกไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับการให้แนวทางการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการให้กำลังใจในชีวิตประจำวัน และกลวิธีสำคัญที่ปรากฏในพิธีกรรมเหยานิยมใช้บทผญา สำนวนโวหาร สัญลักษณ์ บทวินิจฉัยและถ้อยคำแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ดนตรี การใช้ศิลปะแสดง (เน้นการฟ้อนรำ)

              ดนัย ชาทิพฮด (2549 : 25) กล่าวว่า จากการสำรวจและศึกษาพิธีกรรมเหยา พบว่า ในบริบทพื้นที่ของแอ่งสกลนครมีการเหยา 2 ประเภท ได้แก่ การเหยารักษาผู้ป่วย และการเหยาเลี้ยงผี ทั้งที่ปรากฏในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดบึงกาฬและบางส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้การเยา 2 ประเภทเป็นส่วนสำคัญ อาจจะมีรายละเอียดเล็กน้อยที่เพิ่มเติมในพิธีกรรม รวมถึงชื่อเรียกที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในส่วนย่อยของการเยารักษาโรค กับเหยาเลี้ยงผี ซึ่งรายละเอียดของการเหยาทั้งสองประเภทนี้ อยู่ที่ระยะเวลาของการประกอบพิธีกรรม สำหรับเหยารักษาผู้ป่วย (healing rite) นั้นสามารถทำได้ตลอดปี ยกเว้นเฉพาะวันพระ แต่สำหรับการเหยาเลี้ยงผี (offering rite) จะทำ 1 ปี 1 ครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณและเลี้ยงประจำปี กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการพบปะเครือข่ายของหมอเหยาใน 1 ปี ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดดังนี้

              การเหยารักษาผู้ป่วย การเหยาประเภทนี้เป็นการเหยาเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเหยาเพื่อให้ชีวิตมีความอยู่เย็นเป็นสุข ทรงคุณ จันทจร  และปิติ แสนโคตร (2540 : 35)กล่าวถึงเหยารักษาผู้ป่วยว่า เหยาผู้ป่วยเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือการเหยารับขวัญเหยาเอาขวัญ ซึ่งในการเหยารักษาผู้ป่วยนั้นก็จะมีทั้งการเหยาเรียกขวัญ การเหยาต่ออายุ การเหยาแก้บนและการเหยาคุมผีออกด้วยการเหยารักษาผู้ป่วยนี้จะกระทำก็ต่อเมื่อการรักษาด้วยการรักษากับหมอพื้นบ้าน เช่น รักษาด้วยยาสมุนไพร (หมอยาฮากไม้) รักษาด้วยการเป่า (หมอเป่า) รักษาด้วยน้ำมนตร์ (หมอมนตร์) รักษาด้วยการนวด (หมอนวดหมอกระดูก) รักษาด้วยหมอธรรมแล้วไม่หาย รวมถึงการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ไม่หายเป็นปกติ จำเป็นต้องให้หมอเหยามาบำบัดรักษา บางแห่งจะให้หมอส่องตรวจดูสาเหตุว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่บางแห่งทั้งหมอส่องและเหมอเหยาเป็นคนคนเดียวกัน ถ้าหากพบว่าเกิดจากอำนาจของผี ก็จะเชิญหมอเหยามารักษา หมอเหยาจะใช้ระยะเวลา 1-2 วันในการรักษาอาการเจ็บป่วย เริ่มตั้งแต่ตั้งเครื่องคาย (เครื่องบูชา) และดำเนินการไปตามขั้นตอนของการรักษา กล่าวคือ การอัญเชิญเทพ แถน หรือผีประจำตัวลงมาประทับร่าง แล้วใช้กลวิธีการซักถาม เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย หลังจากทราบสาเหตุแล้ว จึงจะไต่ถาม สอบถามเพื่อหาทางแก้ไข ขั้นตอนนี้จะใช้กลวิธีการซักถามและการอ้อนวอนร้องขอ เมื่อสำเร็จตามที่ขอแล้วจึงจะเป็นการปฏิบัติตามคำขอของผีที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยด้วยการแต่งแก้ เสียเคราะห์ด้วยกระทง  โดยเฉพาะการทำกระทงจะทำกระทง 9 ห้อง 9 ชั้น แล้วนำสิ่งของ เสื้อผ้า เล็บหลังจากนั้นจึงจะดำเนินการเชิญขวัญผู้ป่วย และลำดับถัดมาจึงจะส่งผี พร้อมทั้งการลาผีแถนหรือผีร่างทรง กระทั่งเสร็จสิ้นพิธีก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน

              เหยาเลี้ยงผี เป็นการเหยาเพื่อไหว้ครูบาอาจารย์ รวมถึงไหว้ผีไท้ ผีแถน เทพ ตามความเชื่อและประเพณีการนับถือผีของกลุ่มชนต่าง ๆ ในบริบทของแอ่งสกลนคร คล้ายกับการไหว้ครูผีฟ้า (ฟ้อนผีฟ้า) ที่จะต้องทำทุกปี นอกจากนี้ยังพบว่าการเลี้ยงผี ยังปรากฏในวรรณกรรมชนชาติไทโบราณ คือ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ดวงเดือน  บุนยาวง (2540 : 153) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มไทดำ ซึ่งจุดประสงค์ของการเลี้ยงผีก็เพื่อแสดงออกถึงความเคารพ การขอให้ได้รับการคุ้มครอง ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร และการเลี้ยงผีเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ สำเร็จดังประสงค์ การเหยาเลี้ยงผีจึงมีรูปแบบที่แตกต่างจากการเหยารักษาผู้ป่วย กล่าวคือ การเหยาเลี้ยงผีสามารถทำได้ 1 ปี 1 ครั้ง แล้วแต่ช่วงเวลาที่กำหนด ส่วนมากนิยมจัดขึ้นในเดือน 3 หรือเดือน 4 ตามจันทรคติ (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน) ซึ่งภาษาของหมอเหยากล่าวไว้ว่า “เดือนสามดอกฮังหยี่ เดือนสี่ดอกฮังบาน” เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการละเล่นและการงานรื่นเริง การเหยาเลี้ยงผีมีหมอเหยาที่เป็นตำแหน่ง “แม่เมือง” เป็นผู้ทำพิธีหลักและ “ลูกเมือง” หรือ “ลูกศิษย์” เป็นผู้ช่วยและผู้ร่วมในพิธีกรรม นับเป็นการชุมนุมผู้ที่ผ่านการรักษาโรคกับหมอเหยาที่เป็นแม่เมืองจะเข้ามาร่วมเลี้ยงผี 1 ปี 1 ครั้ง และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นฮีตคอง (ธรรมเนียมปฏิบัติ) ทั้งนี้ก็มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเคารพและคารวะครูพร้อมทั้งผีประจำตัวของลูกเมืองแต่ละคนด้วย

              การเหยาเลี้ยงผีเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ “การเอาบุญผี” หรือ “การเลี้ยงสะคี” หมอเหยาจะเชิญวิญญาณผีประจำตัวที่เป็นร่างทรงมาอยู่ในหิ้งแล้วฟายน้ำเหล้า และจุดเทียนเชิญผีมาดื่ม เมื่อถึงวันทำพิธีก็จะนำขันหิ้งผีมารวมกันในผาม (ปะรำพิธี) ซึ่งมีจุดศูนย์กลางเป็นหอผี ประดับประดาด้วยดอกไม้และของบูชา บรรดาลูกเมืองก็จะนั่งรายลอบหิ้งผีเป็นลักษณะวงกลมหรือสี่เหลี่ยม เสมือนหนึ่งจำลองเมืองที่มีทั้ง 4 ทิศ โดยกำหนดเอาทิศใต้หรือทิศตะวันตกเป็นจุดเริ่มต้นและที่ตั้งของขันบูชาหมอเหยาที่เป็นแม่เมือง พิธีเหยาเลี้ยงผีจะจัดขึ้น 2 วัน วันแรกจะทำพิธีอัญเชิญผี ไท้ แถน เทพ ส่วนวันที่สองจะมีการฟ้อนรำและการละเล่นต่าง ๆ ที่สนุกสนาน ได้แก่ การแข่งเรือ ช้อนปู ช้อนปลา จระเข้ขวางห้วย อาบน้ำผีและการฟ้อนดาบ ซึ่งเป็นการเล่นเพื่อการเสี่ยงทาย เมื่อครบทุกกระบวนการแล้วก็จะมีการเชิญผีกลับไปอยู่บนหิ้งเหมือนเดิม รอจนถึงปีหน้าในเดือนครบรอบการเลี้ยงผีอีกครั้งหนึ่ง การเหยาเลี้ยงผีนับเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ อาจกล่าวได้ว่า เหยาเลี้ยงผีเป็นการสร้างเครือข่ายทางสังคมอีกวิธีหนึ่งโดยใช้รูปแบบประเพณีและพิธีกรรม ทำให้เกิดการรวมกลุ่มและการแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยวิธีการประนีประนอมและไกล่เกลี่ยปัญหาของคนในครอบครัว และทำให้เกิดการแสดงออกอย่างเสรีในรอบหนึ่งปี ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของคติชนในการเป็นทางออกให้กับความคับข้องใจของบุคคลอันเกิดจากกฎเกณฑ์ทางสังคม ศิราพร ณ ถลาง (2557 : 413) กล่าวว่า มนุษย์ย่อมมีความรู้สึกอึดอัดกับกฎเกณฑ์หรือข้อห้ามบางประการที่สังคมกำหนด คติชนบางประเภทก็จะช่วยทำหน้าที่เป็นทางออกเพื่อลดความอึดอัดและความรุนแรงในจิตใจของมนุษย์ รวมถึงในสังคมประเพณีมีกฎเกณฑ์หรือข้อห้ามต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ อำนาจของผู้ใหญ่กับผู้น้อย ความขัดแย้งของคนในครอบครัว คติชนจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างภาวะสมดุลในจิตใจให้แก่สมาชิกในสังคม  และเหยาเลี้ยงผีที่ 1 ปี ทำ 1 ครั้ง จึงช่วยลดแรงตึงเครียดของวิถีชีวิตในรอบปีของคนสังคมได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่มีได้พื้นที่ของการแสดงออกซึ่งความสนุกสนานรื่นเริงได้เหมือนกับผู้ชาย จึงได้อาศัยพื้นที่ของการเหยาปลดปล่อยและแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เก็บกดหลาย ๆ ประการ กิจกรรมการละเล่นในการเหยาเลี้ยงผีมีทั้งการปลดปล่อยเกี่ยวกับเรื่องเพศ การฟ้อนรำที่ปราศจากการควบคุม การดื่มสุรา การพูดจาหยาบคาย ซึ่งสามารถทำได้ในบริเวณพิธีกรรมนี้เท่านั้น

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

    การรักษาโรค

              รูปแบบการรักษาโรคของชาวบ้านที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมแอ่งสกลนคร อาจกล่าวได้ว่า การดำรงอยู่ของการรักษาโรคด้วยการทรงเจ้าเข้าผีนับเป็นการบำบัดทุกข์ทางกายและการหาที่พึ่งทางจิตใจในเวลาที่มนุษย์ขาดความมั่นคงทางใจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเหยาหรือพิธีกรรมเหยา เป็นมานุษยวิทยาทางการแพทย์ที่มีบทบาทหน้าที่ต่อสังคมของกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณแอ่งสกลนคร และบทบาทหน้าที่ดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เพื่อการสนองตอบต่อวิถีชีวิตที่ยังคงพึ่งพาความคิดและความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บนับเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงมีวิธีการแสวงหาแนวทางของการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ชาวโส้ ก็นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีภูมิปัญญาของการรักษาโรคมาตั้งแต่ดั้งเดิม จึงสามารถแบ่งการรักษาโรคของชาวโส้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การรักษาโรคแบบดั้งเดิม ซึ่งรักษาด้วยพิธีกรรมและสมุนไพร และการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน

    การรักษาโรคแบบดั้งเดิม

              ชาวโส้มีภูมิปัญญาการรักษาโรคมาแต่สมัยโบราณ คล้ายคลึงกับชาวผู้ไทและกลุ่มอื่น ๆ โดยมากมักใช้พิธีกรรมและสมุนไพรในการรักษาโรค ซึ่งจะกล่าวถึงการใช้พิธีกรรมในการรักษาโรค คือ พิธีกรรมเหยา

              ส่วนการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรนั้น ได้ข้อมูลจากเอกสารของกองการศึกษา เทศบาลตำบลกุสุมาลย์ (มปป : 60-62) กล่าวถึงภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรของชาวโส้ว่าเคยมีภูมิปัญญาของชุมชนในการรักษาโรคโดยเฉพาะสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่จะหาได้ตามหัวไร่ปลายนาและในเขตป่า ซึ่งในอดีตป่ายังมีความสมบูรณ์อยู่มากแต่ในปัจจุบันลดลงตามการขยายตัวของบ้านเรือน แต่ยังมีบางครัวเรือนปลูกสมุนไพรไว้ในสวนหรือไร่นา ตำรับยาที่รวบรวมไว้มีดังนี้ 

              ยาแก้ปวดท้อง มี ว่านไพล ใบทับทิม ใบฝรั่ง  ยาแก้โรคบิด ใช้เปลือกกระโดนทาเกลือ ย่างไฟ แช่น้ำดื่ม ยาแก้ท้องร่วง ใช้รากมะพร้าวเผาไฟ น้ำมะพร้าวแก่นจันทร์แดง ฝนผสมกันแล้วกิน

              ยาแก้ร้อนใน มีหลายชนิดเช่น ใช้ไส้เดือนแช่น้ำแล้วดื่ม ใช้น้ำโพรงไม้ นำมาผสมน้ำดื่ม ใช้ดินที่อยู๋ในโพรงไฟไหม้กับมูลไส้เดือน ผสมกับน้ำแล้วใช้ดื่ม

              ยาแก้โรคหนองใน ใช้ต้นจานเบี้ยต้มดื่ม

              ยาแก้โรคบวม ใช้ปลิงหรือปู นำแช่น้ำดื่มหรือใช้ปงแดงหรือหัวปงแดงกับหัวมันสำปะหลังฝนแล้วทา

              ยาแก้โรคตาฟาง ใช้ตับวัวดำกรีดเป็นตาหมากรุก แช่น้ำปัสสาวะของคน 7 วัน ตากแดดตากหมอก 7 วัน แล้วนำมาย่างไฟ วันแรกกิน 1 ชิ้น วันที่ 2 กิน 2 ชิ้น เพิ่มขึ้นจนถึง 7 วัน แล้วชุบตามองดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วกินต่อไปอีก 3 วัน ชุบตามองดูมองดูดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วกิน หลังจากนั้นให้เอาผ้าห่มคลุมให้หัวเหงื่อออก แล้วลุกไปอาบน้ำโรคจะหาย

              ยาแก้ไอ ใช้รากมะเขือขื่น รากถั่วพู และรากไพรกลุ่ม รากหมามุ่ย แช่น้ำแล้วดื่ม

    การรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน

              ชาวโส้ในปัจจุบันส่วนใหญ่นิยมรักษาโรคขั้นพื้นฐานด้วยตนเองทั้งอาการปวดหัว ปวดท้อง หรือการได้รับบาดแผลจากของมีคมที่ไม่ร้ายแรงด้วยยาสามัญประจำบ้าน เมื่อไม่หายหรือมีอาการเพิ่มมากขึ้นจึงไปหาเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมหรือรักษาอาการขั้นต้น หากมีอาการขั้นรุนแรงจะถูกส่งตัวไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลประจำจังหวัด ตามลำดับ

  • เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ชาวโส้ในสมัยก่อนเล่นเครื่องดนตรีหลายอย่าง เช่น แคน กระจับปี่ กลอง ปัจจุบันมีเพียงผู้สูงอายุในชุมชนเช่นตัวเขาที่ยังสืบทอดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอยู่ เครื่องดนตรีที่ถนัดคือกระจับปี่ (ภาษาโส้เรียกว่า “ตุงติง” ) มีลักษณะคล้ายซุงของคนอีสาน มีสาย 3 สาย 

              นายทองสวัสดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนเครื่องดนตรีต่าง ๆ มักใช้ในการประกอบพิธีเหยา ประกอบด้วย แคน กลอง กระจับปี่ ฉิ่ง ใช้เล่นในขณะที่เดินทางทั้งใกล้และไกลเพื่อผ่อนคลาย  ทำให้ไม่รู้สึกเหงา ไม่รู้สึกว่าเส้นทางนั้นเปลี่ยวหรือมืด ดนตรีจึงเป็นเสมือนเพื่อนเดินทางของชาวบ้านนอกจากนี้จุดเด่นอีกประการหนึ่งของดนตรีพื้นบ้านคือ นำไปใช้เล่นสาว  ทั้งนี้ การเรียนดนตรีของคนสมัยนั้นจะใช้วิธี “ครูพักลักจำ” กล่าวคือ เมื่อต้องการเล่นเครื่องดนตรีนั้นก็ใช้การสังเกตคนที่เล่นเป็นและนำไปฝึกเล่นเองจนชำนาญ

  • เพลงของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              หมอลำกลอนภาษาโทร  มีลักษณะของการขับลำโดยใช้บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของชาวโส้ ท่วงทำนองของเพลงคล้ายกับหมอลำกลอนในอีสาน และมีบทบาทหน้าที่ในการใช้ขับร้องเพื่อความสนุกสนาน ดังตัวอย่าง 

              การเล่นลายกลอง เป็นการแสดงลีลาท่าทางประกอบการตีกลอง มักเล่นเป็นหมู่คณะ ภายในคณะประกอบด้วย ผู้เล่นลายกลอง ผู้เล่นเครื่องดนตรีประกอบ ได้แก่ กลอง แคน ซอ กระจับปี่ ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง พังฮาด ไม้แก๊บ และผู้เล่นลายมวย ข้อมูลจากเอกสารกองการศึกษา เทศบาลตำบลกุสุมาลย์ กล่าวถึงรายละเอียดของการเล่นลายกลองเพิ่มเติมสรุปได้ว่า ด้านการแต่งกาย  ผู้เล่นลายกลองและลายมวยจะนุ่งผ้าแดงแบบโจงกระเบนแต่นุ่งให้รัดกุม ไม่สวมเสื้อแต่คาดผ้าแดงที่หัว ตามตัวเขียนด้วยลายหรือสักลายแบบคนโบราณ ส่วนคนอื่น ๆ จะนุ่งผ้าโสร่งเสื้อย้อมครามแบบชาวโส้ คาดเอวด้วยผ้าขิด

              วิธีการเล่น เริ่มจากวางกลองเส็งโดยหันหัวท้ายสลับกันอยู่ข้างหน้า ผู้เล่นลายกลองจะนั่งคุกเข่าใกล้กลอง สองข้างซ้ายขวาเป็นผู้เล่นลายมวย นั่งคุกเข่าเช่นกัน  ด้านหลังจะเป็นผู้ตีกลองตุ้มพร้อมด้วยกองตุ้มใบหนึ่งนั่งคุกเข่าพร้อมที่จะตี ข้างหลังเป็นนักดนตรียืนแถวหน้ากระดานโดยให้หมอแคนยืนอยู่กลาง ซ้ายขวาเป็นซอและกระจับปี่ ถัดออกไปเป็น ฉิ่ง ฉาบ พังฮาด และไม้แก๊บ โดยฉิ่งฉาบอยู่ทางซ้าย พังฮาดและไม้แก๊บอยู่ทางขวา เมื่อเริ่มเล่นลายกลอง ดนตรีจะเริ่มบรรเลง คนเล่นลายกลองและเล่นลายมวย จะก้มลงกราบแล้วยืนขึ้น คนเล่นลายกลองจะเริ่มตีลายเสือลากหาง ต่อด้วยลายไม้ลอดเขา ลายไก่เรียบครก และลายกาเต้นก้อน ในขณะที่ตีลายเหล่านี้ ก็จะสลับด้วยลายกลองเหลียวเหล่า นกเขากระพือปีก เคาะหลังงูสิง และลายลิงไขว้ข้างหลัง ในการเล่นลายกลองนี้จะเล่นลายใหญ่ 4 ลาย ซึ่งจะต้องเล่นให้ครบเสียก่อน 1 จบ พอเริ่มลายเสือลากหางอีกครั้งก็จะสลับด้วยลายกลองเหลียวเหล่าแล้วเริ่มลายไม้สอดขาสลับด้วยนกเขากระพือปีก แล้วเล่นลายไก่เสียบครกสลับด้วยลายเคาะหลังงูสิงปิดท้ายด้วยลายกาเต้นก้อนสลับด้วยลายลิงไขว้ข้างหลัง หรือจะเล่น 2 ลาย ก็ได้ตามแต่คนเห็นว่าจะเหมาะสมสวยงาม ในการเล่นลายกลองนี้ จะเล่นได้คนเดียวหรือสองคนพร้อมกันก็ได้  (กองการศึกษา เทศบาลตำบลกุสุมาลย์, มปป. : 58-60)

  • การละเล่นของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

    “โส้ทั่งบั้ง”

              “โส้ทั่งบั้ง” ภาษาโส้เรียกว่า “โส้อะติงเกา” ซึ่งแปลว่าโส้ทั่งบั้งนั่นเอง แต่ใช้คำว่า อะติงเกา คนทั่วไปจะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่า “โส้ทั่งบั้ง” การละเล่นโส้ทั่งบั้ง ได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพิธีเหยา คนป่วยลงสนาม (แซงสนาม) และพิธีเจี๊ยะสะลา มาประยุกต์รวมกัน สาเหตุที่นำมาประยุกต์เข้าด้วยกันคือ เพื่อเป็นรูปขบวนที่สวยงามและพิธีดังกล่าว จะทำขึ้นลอย ๆ ไม่ได้เพราะเป็นพิธีเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษของชาวโส้ ซึ่งชาวโส้ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์

              จำนวนผู้แสดง ล่ามผู้ชาย  1 คน   นางเทียม 1 คน  เพื่อนนางเทียม  3 คน นักดนตรีชาย 6 คน  คนทั่งบั้งชาย  6 คน ผู้แสดงประกอบ  6 คน  นางรำ10-12 คน

              วิธีการเล่นจะจัดรูปขบวนโดยล่าม นางเทียม และเพื่อนนางเทียมพร้อมด้วยนักดนตรี 3 คน จัดที่นั่งเป็นกลุ่มอยู่ข้างหน้าล้อมรอบคาย ขนาบข้างด้วยนางรำ ข้างละ 3-4-5 คู่ ปิดท้ายคนตีกลอง ข้างหลังพวกตีกลองจะเป็นพวกนักดนตรีและคนทั่งบั้ง เมื่อเริ่มแสดง ล่ามจะสะเหนิดโส้เชิญผีให้เข้าทรงนางเทียม ล่ามพร้อมด้วยนางเทียม เพื่อนนางเทียมและนักดนตรีจะลุกขึ้นร่ายรำไปรอบคาย เมื่อเสร็จพิธีจะนั่งลง คนตีกลองจะเริ่มรัวกลองเป็นสัญญาณ ให้นางรำลุกขึ้นรำ ดนตรีข้างหลังจะเริ่มบรรเลง ล่ามจะสะเหนิดโส้ไปเรื่อย ๆ จนจบท่ารำ ซึ่งท่ารำนั้นมีอยู่ 5 ท่ารำ ดังนี้คือ เชิญผีฟ้า, ส่งผีฟ้า, โส้ทั่งบั้ง, ถวายแถนและเลาะตูบ

              ปัจจุบันการเล่น “โส้ทั่งบั้ง” ถือว่าเป็นงานประเพณีของชาวโส้ที่จัดกันเป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร จะจัดงาน “โส้รำลึก” เป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 นอกจากจะมีการละเล่นต่างๆ แล้ว ยังเป็นการหวนรำลึกถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของกลุ่มคนโส้ให้ไม่สูญหายไป ท่ามกลางกระแสพัฒนาแบบสมัยใหม่ในปัจจุบัน(กองการศึกษา เทศบาลตำบลกุสุมาลย์, มปป. : 46-47)

    การเล่นลูกข่าง

              การละเล่นที่เป็นที่นิยมของเด็กผู้ชายชาวโส้สมัยก่อนคือ การเล่นลูกข่าง เพราะในสมัยนั้นมีลานนวดข้าวซึ่งเรียบและเหมาะกับการเล่นลูกข่าง (เรียกว่า “อะมันปวย”)  พวกเขาจะไปเสาะหาไม้แก่นที่มีความแข็งมาเกลาทำเป็นลูกข่าง วิธีการเล่นคือ ขีดวงกลมขนาดใหญ่ ผู้เล่นนำลูกข่างของตนขว้างลงไปบนลานให้หมุนอยู่ให้นานที่สุด ส่วนฝ่ายตรงข้ามจะต้องขว้างลูกข่างมาให้กระทบกัน เพื่อให้ลูกข่างของคู่ต่อสู้หยุดหมุนหรือกระเด็นออกจากวงจึงจะชนะ  หากทำไม่ได้ก็จะเป็นฝ่ายแพ้ นายมิตร (ชิตบุตร 23 พฤษภาคม 2562)

  • นิทานของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

    นิทานเรื่อง “เอ๊าะจะเกาะจะเก่ง” (หรือ “พ่อเฒ่าจะเกาะจะเก่ง”)

     นิทานที่เล่าปากต่อปากเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการปัดเป่าเภทภัยของชาวโส้ บ้านโพธิไพศาล ได้เล่าให้ฟังว่า กาลครั้งหนึ่ง เอ๊าะจะเกาะจะเก่งกำลังนั่งที่ริมแม่น้ำและใช้ขวานถากท่อนไม้เพื่อทำเรือข้ามลำน้ำนั้น  ทันใดนั้นก็มีจะรัว(พญานาค) ซุ่มมองดูชายที่ถากเรือ พญานาคนึกอยากแกล้งชายคนนั้น จึงแปลงกายเป็นคนเข้ามาถาม

                  “พ่อเฒ่า เจ้าชื่ออะไร”  

                  “เอ๊าะนี่ชื่อว่า จะเกาะจะเกง”

                  “พ่อเฒ่าทำอะไร ไม่กลัวหรือทำไมมานั่งอยู่คนเดียว”

                  “เอ๊าะไม่กลัว”

                  “อ้าว แล้วสิ่งที่เจ้ากลัวที่สุดคืออะไร  ? เสือ? จระเข้? พญานาคยกสิ่งที่น่ากลัวต่าง ๆ มาถามไปเรื่อยๆ แต่พ่อเฒ่าปฏิเสธทุกอย่าง จนพญานาคเริ่มโมโห

                  “เอ้า แล้วที่กลัวที่สุดคืออะไรบอกมาเถอะ”

                  “กล้วย”

              พญานาคได้ยินดังนั้นก็ขอลา  แกล้งเดินไปที่ที่ลับตาแล้วแอบลงน้ำไปแท้ที่จริงแล้ว พ่อเฒ่าจะเกาะจะเก่งรู้อยู่ก่อนแล้วว่าพญานาคไม่ใช่คน เพราะพ่อเฒ่าเป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า พ่อเฒ่าจึงแกล้งตอบไปดังนั้นเพราะรู้ว่าพญานาคต้องการมาทดสอบตน  หลังจากพญานาคเดินออกไปเขาจึงแกล้งตีหัวขวานให้หลวมจนเกือบหลุดจากด้ามรอเอาไว้จากนั้นไม่นานพญานาคก็เสกให้หงอนของตนเป็นกล้วยหวีใหญ่ แล้วลอยมาใกล้ๆ พ่อเฒ่าเห็นดังนั้นจึงแกล้งตกใจทำขวานหลุดมือลงไปในน้ำ  ขวานจึงปักลงไปที่กล้วยหรือหงอนของพญานาคพอดี  พญานาคเจ็บปวดมากจึงรีบหนีลงไปในเมืองบาดาลที่ตนอาศัยอยู่

               จากนั้นอีกสองสามวัน พ่อเฒ่าก็ออกมาถากไม้ทำเรือเหมือนเดิม  และได้พบกับพญานาคอีกตนที่เป็นน้องชายของนาคตนก่อน เขาเข้ามาขอร้องพ่อเฒ่าให้ช่วยเหลือพี่ชายของเขา พ่อเฒ่าได้ทีจึงบอกไปว่า วิธีการแก้ไขจะต้องทำพิธีเหยาซึ่งใช้เวลานาน พญานาคถามว่าพิธีเหยาต้องทำอย่างไรพ่อเฒ่าก็อธิบายให้ฟัง พญานาคตอบตกลงและพาพ่อเฒ่าไปเมืองบาดาล

              เมื่อถึงเมืองบาดาล พ่อเฒ่าเห็นพญานาคถูกขวานปักที่หงอนนอนเจ็บและทุกข์ทรมาน  เขาเริ่มทำพิธีเหยาแต่แสร้งทำเป็นว่าขวานนั้นดึงอย่างยากลำบากมาก  จนเวลาผ่านไปหลายชั่วโมงจึงดึงสำเร็จ พญานาคทั้งสองขอบคุณเขาและมาส่งที่ริมฝั่งแม่น้ำเหมือนเดิม

              เมื่อถึงฝั่ง พ่อเฒ่าจึงสั่งสอนพญานาคให้หยุดกลั่นแกล้งพ่อเฒ่า รวมถึงลูกหลานของพ่อเฒ่าด้วยเพราะมนุษย์ทุกคนมีวิชาเก่งกล้าสามารถ หากไม่เชื่อฟังอาจเจ็บตัวอย่างที่เคยได้รับ พญานาครับปากและกลับลงเมืองบาดาลไป

              ผู้เล่ากล่าวเพิ่มเติมว่า นิทานนี้เป็นที่มาของบทพูดหรือคาถากันสัตว์ร้ายในน้ำและภูตผีปิศาจของชาวโส้   เช่น ถ้าชาวโส้จะต้องสัญจรทางน้ำ  ก็จะพูดแปลได้ว่า “เราเป็นลูกหลานเอ๊าะจะเกาะจะเกง อย่าทำอันตรายอะไรเรานะ” บทพูดนี้ใช้เวลาไปอยู่ต่างถิ่น ภูตผีไม่กล้าเข้ามารบกวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน  (ทองสวัสดิ์ นินจันทร์บุตร 23 พฤษภาคม 2562)

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ตำนานเรื่อง “เหตุใดชาวโส้จึงไม่มีตัวหนังสือ” ตำนานที่อธิบายเกี่ยวกับตัวหนังสือของชาวโส้ที่หายไป เหตุใดจึงเหลือเพียงภาษาพูดนั้นได้มีการเล่าต่อกันมาว่า ชาวโส้สมัยก่อนมีตัวหนังสือใช้โดยบันทึกลงในหนังวัวหนังควายและวางไว้ ต่อมามีสุนัขเข้ามาคาบหนังดังกล่าวไป ชาวโส้จึงไม่มีตัวหนังสือใช้  (มิตร ชิตบุตร 23 พฤษภาคม 2562)

  • สำนวน - สุภาษิตของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

    ตัวอย่างภาษิต จากหนังสือ “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้” มีดังนี้

              บาป-บน เอิดนึงพูต๊ะ ปะระแยง เอิดนึงพูเทริง หมายถึง บาปบุญอยู่กับผู้กระทำ เงินคำอยู่กับคนขยัน

              ตะเมอเมิกบีนนาเวียะ ตะเมอจิเลียะ บีนเวียะ บิ หมายถึง ตื่นเช้าทำงานได้มาก ตื่นสายทำงานได้น้อย

              เฮิมถก เซอะพิวาวจีจัง เฮิมรับเซอะพิวาวซะเอิน หมายถึง เห็นยากจนอย่าด่วนหัวเราะเยาะ เห็นร่ำรวยอย่าด่วนหลงปลื้ม

              ปะแกก บีเปี๊ยะ เบาระนะ เปอะซะโอ๊ะหมายถึง โต้เถียงพ่อแม่ สิ่งไม่ดีมาเยี่ยม

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์โส้ :

              ปัจจุบัน ภาษาโส้ นับว่าอยู่ในภาวะวิกฤติเนื่องจากการสัมผัสภาษากลุ่มอื่น (โดยเฉพาะภาษาลาว) ทำให้ภาษาโส้แปรไปจากเดิมทั้งลักษณะการออกเสียง และคำศัพท์  การออกเสียงมีการแปรเสียงพยัญชนะต้นควบกล้ำ “ร”  หน่วยเสียงสระ เ-อะ ที่เริ่มหายไป ส่วนคำศัพท์ พบว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้คำศัพท์ภาษาลาวหรือคำศัพท์ภาษาไทยมาตรฐานแทนคำภาษาโส้ เช่น คำที่หมายถึง “เต่า”เด็กรุ่นใหม่ใช้คำภาษาไทยมาตรฐานเรียกแทนคำภาษาโส้

              ในระดับชุมชน มีปัญหาพื้นฐานของเด็กและเยาวชน ได้แก่ เยาวชนติดยาเสพติด  แม้จะได้รับการบำบัดแล้วก็มักจะกลับมาเสพใหม่  และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

     

Access Point
No results found.