2023-06-13 17:51:11
ผู้เข้าชม : 716

โซ่ทะวืง เดิมอาศัยอยู่บริเวณแขวงคำเกิด คำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อพยพเข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 2385 - 2386 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และสมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ คนกลุ่มนี้มีความเชื่อดั้งเดิมในการบูชาและการนับถือผีปู่ตา ในด้านภาษาและวัฒนธรรมมีความเสี่ยงต่อการสูญหายเนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่นิยมใช้ภาษาโซ่ทะวืงในการสื่อสาร รวมทั้งมีการกลืนกลายทางวัฒนธรรมกับคนกลุ่มอื่น

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : โซ่ทะวืง
ชื่อเรียกตนเอง : โซ่ทะวืง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ​ข่า, ข่าโซ่, ข่าโส้
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : โซ่ทะวืง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

โซ่ทะวืง เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง ชนกลุ่มนี้มีภาษาพูดที่อยู่ในสาขาเวียดติกในกลุ่มมอญ-เขมร ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ซึ่งแตกต่างจากภาษาโส้ที่ใช้พูดกันอยู่ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนครและอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร จึงได้กำหนดชื่อตามกลุ่มภาษาที่แตกต่างนี้ว่า “โซ่ทะวืง” นักภาษาศาสตร์จึงกำหนดชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามภาษาสามารถเขียนได้สองรูปแบบ คือ “โซ่ (ทะวืง)” หรือ “โซ่ทะวืง” คำว่า “ทะวืง” มีความหมายหลายประการ ความหมายแรก หมายถึง “ยุง” อีกความหมายหนึ่ง หมายถึงเขตแดนหรือบริเวณที่อยู่อาศัย

กลุ่มชาติพันธุ์โซ่ทะวืง อพยพเข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 2385 - 2386 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และสมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์สันนิษฐานเดิมอาศัยอยู่บริเวณแขวงคำเกิด คำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง จึงเริ่มอพยพครั้งใหญ่เข้ามาในประเทศไทย ในระยะแรก ชนกลุ่มนี้ได้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านท่าขอนยาง ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จากนั้นจึงมีการอพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่อาศัยที่บ้านดงมูล บ้านดงบัง บ้านหนองไม้ตาย ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และอพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแวง เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ สงบ เหมาะกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ ปัจจุบันชาวโซ่ทะวืง อาศัยอยู่ในตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองแวง บ้านหนองม่วง บ้านหนองเจริญ และบ้านดงสร้างคำ จากข้อมูลการสำรวจประชากร เมื่อพ.ศ. 2556 ระบุว่า ชาวโซ่ทะวืงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวน 2,400 คน

ในด้านสังคมด้านวัฒนธรรม และประเพณีของชาวโซ่ทะวืงนั้นได้รับอิทธิพลทางความเชื่อของพุทธศาสนาค่อนข้างมาก จึงสืบทอดประเพณีปฏิบัติตามแบบพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งนี้ ยังคงมีร่องรอยของความเชื่อดั้งเดิม ผ่านประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาและนับถือผีปู่ตาที่เป็นพิธีกรรมสำคัญของชุมชน ปัจจุบันประชากรของชาวโซ่ทะวืงลดจำนวนลงค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลต่อการสืบทอดวัฒนธรรมและภาษาที่มีความเสี่ยงต่อการสูญหาย เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่นิยมที่จะใช้ภาษาโซ่ทะวืงในการสื่อสาร ประกอบกับการส่งเสริมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่แพร่หลาย ทำให้อัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกกลืนกลายไปกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ล้อมรอบ อาทิ ผู้ไทย ญ้อ และลาว

เรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ทะวืง ไม่ค่อยปรากฏหลักฐานมากนัก หลักฐานที่ได้ส่วนใหญ่มาจากประวัติศาสตร์ความทรงจำผ่านคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ชาวโซ่ทะวืงอพยพเข้ามาประประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยถูกกวาดต้อนหรือการเกลี้ยกล่อมมาพร้อมกับชนกลุ่มคนอื่นและได้ตั้งหลักปักฐานในหลายจังหวัด ได้แก่ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์

ชาวโซ่ทะวืง ที่ถูกกวาดต้อนหรือเกลี้ยกล่อมมายังประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากเมืองวัง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองรม เมืองนอง เมืองผาบัง เมืองมหาชัยกองแก้ว เมืองภูวานากะแด้ง แล้วกระจัดกระจายกันไป บางส่วนไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าขอนยาง สอดคล้องกับที่พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 ได้กล่าวถึงการตั้งเมืองท่าขอนยาง ไว้ว่า

“ลุจุลศักราช 1207…..โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระคำดวน (ฤาคำกอน) เมืองคำเกิด ซึ่งตั้งอยู่บ้านท่าขอนยาง เป็นพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง ให้อุปฮาดเมืองคำเกิดเป็นอุปฮาด ราชวงษ์เมืองคำเกิดเป็นราชวงษ์ ราชบุตรเมืองคำเกิดเป็นราชบุตร ยกบ้านท่าขอนยางขึ้นเป็นเมืองท่าขอนยาง ผูกส่วยผลเร่วในจำนวนคน 407 คน”

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีหลงเหลืออยู่ที่เป็นเอกสาร ได้แก่ บันทึกที่อยู่ในวัดคีรีวิหาร บ้านหนองแวง มีอายุมากกว่า 100 ปี และวัดโชติการาม บ้านหนองบัว

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นสถานที่ ได้แก่ “ดอนเจ้าปู่ หรือ ดอนปู่ตา” หรือ “ดอนย่าปู่” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ใช้สรรพนามเรียกแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำที่นี่ว่า “ท่าน” โดยเชื่อว่าท่านเป็นเสมือนเทพที่คอยดูแลรักษาและปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้มีความสุข และอีกสถานที่หนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนภูเขา คือ “วัดถ้ำพวง” เป็นสังเวชนียสถาน 4 ตำบล และ “วัดถ้ำเป็ด” ชาวโซ่ทะวืงเชื่อกันว่าสถานที่ทั้งสองแห่งนี้มีองค์เทพสถิตอยู่เพื่อคอยคุ้มครองชาวบ้าน

ชาวบ้านหนองแวงในอดีตมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณนี้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2385-2386 สมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย และสมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ โดยเป็นชาวโซ่ทะวืง ที่อพยพมาจากแขวงคำเกิด คำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องจากเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างคนที่สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับอุดมการณ์ของเจ้าอนุวงศ์และคนที่ต้องการแยกตัวออกมา ทำให้ชาวโซ่ทะวืง เกิดการอพยพครั้งใหญ่ 3 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกอพยพมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปยังบ้านท่าขอนยาง (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม) เนื่องจากไม่ชอบความวุ่นวาย ชอบอยู่ตามป่าเขา อาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งได้สักระยะจึงย้าย แล้วเปลี่ยนมาอยู่ที่บ้านดงมูล บ้านดงบัง บ้านหนองไม้ตาย (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์) แต่อยู่ได้สักพักก็เห็นว่าไม่เหมาะสม สุดท้ายจึงได้อพยพคนมาอยู่ที่บ้านหนองแวง เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่า มีความอุดมสมบูรณ์และมีต้นยางจำนวนมาก

ชาวโซ่ทะวืง เมื่อเข้ามาในดินแดนรกร้างบริเวณนี้ ได้เลือกที่ตั้งบ้านเรือนโดยพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศที่มีต้นยางใหญ่ เนื่องจากน้ำยางจากต้นยางสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจุดไฟ ชาวบ้านจะนำยางไปแลกเปลี่ยนกับเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ เป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “กะบองแลกซ่าง” หมายถึง เอากะบองไฟไปแลกกับช้าง กะบองนี้เรียกว่า “กะบองโซ่” สำหรับการแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ของป่า ที่นอนหมอนมุ้ง ข้าว ปลาร้า เกลือ ฯลฯ เป็นต้น อีกประการหนึ่งคือเลือกจากการที่มีต้นเตยที่นำมาทำเสื่อ นอกจากนี้ชาวโซ่ทะวืง ยังมีความเชี่ยวชาญในการล่าสัตว์ จึงนำสัตว์ป่าไปแลกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอีกทางหนึ่งด้วย

สมัยก่อนที่จะมีการก่อตั้งบ้านหนองแวง บริเวณนี้เป็นป่าดงดิบ มีช้างป่าและสัตว์น้อยใหญ่จำนวนมาก รวมทั้งยังมีความเชื่อกันว่ามีผีสิงสถิตอยู่มาก ทำให้ไม่มีใครเข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ แต่ชาวโซ่ทะวืงไม่กลัวเรื่องผี กลับเห็นว่าทั้งสัตว์ป่าและผีเป็นเพื่อน ประกอบกับป่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีหญ้าแวงอยู่ในหนองน้ำจำนวนมาก ซึ่งหญ้าชนิดนี้สามารถนำมาสานเป็นเสื่อได้ จึงเลือกมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ชาวบ้านหนองแวงในอดีตเคยอยู่รวมกันแล้วแบ่งเป็น 3 บ้าน ได้แก่ บ้านโพนสวาง ซึ่งเป็นชาวผู้ไทย และบ้านดงสร้างคำ ซึ่งเป็นชาวญ้อ และบ้านหนองแวง ชาวโซ่ทะวืง ต่อมาเกิดโรคระบาดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ชาวโซ่จากบ้านหนองแวงหนีตายขึ้นไปอยู่แถบป่ามะม่วง ต่อมากลายเป็นบ้านหนองม่วง และอีกกลุ่มหนึ่งย้ายมาอยู่บริเวณนี้ซึ่งในปัจจุบันคือบ้านหนองเจริญ และกลุ่มสุดท้ายคือที่บ้านหนองแวง

ปัจจุบันชาวโซ่ทะวืง อาศัยอยู่ในตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร จำนวนสี่หมู่บ้านได้แก่ บ้านหนองแวง บ้านหนองม่วง บ้านหนองเจริญ และบ้านดงสร้างคำ จากข้อมูลการสำรวจประชากรพ.ศ. 2556 ระบุว่า ชาวโซ่ทะวืงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีจำนวน 2,400 คน ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ เล่าว่า ถิ่นฐานเดิมของพวกเขาเมื่อร้อยกว่าปีนั้นอยู่ที่หมู่บ้านทะวืง แขวงคำม่วน ประเทศลาว สาเหตุการอพยพมาจากการหนีภัยสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม ทำให้ชาวโซ่ทะวืงได้พาลูกหลานหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยพร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตาม ตาวัน จันทร์โคตรแก้ว อายุ 86 ปี ชาวบ้านหนองแวงเล่าว่า ก่อนอพยพมา ชาวโซ่ ทะวืง มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านค่างเหล็ก แขวงคำเกิดคำม่วน ในช่วงเรกของการอพยพได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านหนองไม้ตาย อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนที่สองพี่น้องต้นตระกูล จันทะดา จะพาชาวบ้านอพยพมาอยู่ที่บ้านหนองม่วง เมื่อ พ.ศ. 2461 จนเกิดเหตุการณ์โรคระบาดผู้คนส่วนหนึ่งจึงได้ย้ายครอบครัวหนีไปตั้งบ้านหนองม่วง ใน พ.ศ. 2480 หมู่บ้านหนองม่วงนี้เป็นพื้นที่ราบสูงมีป่าไม้รอบล้อม ชาวบ้านดำรงชีพด้วยการทำเกษตรและหาของป่า เนื่องด้วยบ้านหนองแวงเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่และจำนวนประชากรมากจึงได้แยกย่อยออกเป็นหมู่บ้านหนองเจริญ เมื่อ พ.ศ. 2525

ต่อมาในปี 2546 จึงแยกอีกเป็นหนึ่งหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านดงสร้างคำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั้งสี่หมู่บ้านมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวโซ่ ทะวืง (เทวี โคตรสระ, 2556) ซึ่งมีจำนวนประชากรและครัวเรือน ดังนี้

1) บ้านดงสร้างคำ มีจำนวนครัวเรือน 176 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 10 ครัวเรือน ประชากร จำนวน 50 คน

2) บ้านหนองเจริญ มีจำนวนครัวเรือน 110 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 100 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 200 คน

3) บ้านหนองแวง มีจำนวนครัวเรือน 208 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 150 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 450 คน

4) บ้านหนองม่วง มีจำนวนครัวเรือน 240 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 200 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 800 คน

การดำรงชีพ

ในอดีตชาวโซ่ทะวืง มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น การดำรงชีพของชนกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) การทำขี้ไต้ โดยการนำยางจากต้นยางใหญ่ไปทำไต้สำหรับจุดไฟ-2) การทอเสื่อใบเตย โดยการนำต้นเตยมาตากแห้งและนำมาทอเป็นเสื่อ และ 3) การล่าสัตว์

ชาวโซ่ทะวืง จะนำกระบองขี้ไต้ เสื่อเตยเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน ส่วนสัตว์ป่าที่ล่ามาได้จะเก็บไว้กินในครัวเรือน แต่แบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนอาหารและเครื่องใช้กับผู้คนในชุมชนโดยนำสัตว์ป่าไปแลกเปลี่ยนกับข้าวของเครื่องใช้สำหรับอุปโภคและบริโภค อาทิ ที่นอน หมอน มุ้ง ข้าว ปลา ปลาร้า เกลือ เสื้อผ้า และอาหารอื่นๆ

ต่อมาชาวโซ่ทะวืง เริ่มเรียนรู้วิธีการทำนาจึงมีการทำ “ข้าวไร่” เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น เมื่อมีความต้องการบริโภคข้าวมากขึ้นจึงเริ่มทำนาข้าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชสวนสำหรับบริโภคในครัวเรือน ส่วนการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ เริ่มเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2516 เริ่มต้นด้วยการปลูก ต่อมาในพ.ศ. 2518-2519 เริ่มปลูกมันสำปะหลัง จากนั้นใน พ.ศ.2520 เริ่มมีการปลูกอ้อย และ พ.ศ.2540 เริ่มปลูกยางพารา

ปัจจุบันชาวโซ่ทะวืงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมา ประกอบอาชีพรับจ้างทั้งในชุมชน นอกชุมชน และต่างประเทศ และมีชาวโซ่ทะวืงเพียงส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพรับราชการ

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวโซ่ทะวืง นับถือป่าและอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเรื่องผีหลายประเภท เช่น ผีปู่ผีย่า ผีพ่อ ผีแม่ ผีไร่ผีนา แม่ธรณี ผีป่า ผีเขา ผีปอบ ผีเป้า ผีโพง ปัจจุบัน ยังคงมีความเชื่อเหล่านี้ผสมผสานเข้ากับความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธ

ปัจจุบัน ชาวโซ่ทะวืง ได้หันมานับถือพุทธศาสนาเป็นหลักควบคู่กับการนับถือผี เพราะเชื่อว่า ผีช่วยปกปักรักษาชาวบ้าน ศาสนสถานที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวโซ่ทะวืง บ้านหนองแวง คือ วัดคีรีวิหาร (บ้านหนองแวง) เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่กับชุมชนมายาวนานกว่า 100 ปี พื้นที่ดังกล่าวศูนย์รวมคนให้มีความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ชาวโซ่ทะวืงจะมา ร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา ส่วนที่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ได้แก่ ดอนปู่ตาและบริเวณป่าโดยรอบ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของชุมชน ศาลปู่ตาตั้งอยู่ในดอนปู่ตา เป็นที่พำนักของ “ผีย่าปู่” นับเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวโซ่ทะวืง

ความเชื่อเรื่องผี

ชาวโซ่ทะวืงมีความเชื่อเรื่องผีต่างๆ ทั้ง ผีย่าปู่ ผีบรรพบุรุษ ผีไร่ผีนา โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผีย่าปู่ มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่นผีปู่ตา ผีเจ้าปู่ ผีปู่ตา มเหสักข์ เป็นผีประจำชุมชนทั้ง 4 ชุมชน ทั้งบ้านหนองแวง บ้านหนองเจริญ บ้านหนองม่วง และบ้านดงสร้างคำ เชื่อกันว่า ปู่ตามาจากเมืองผาผงดงก่อ (เมืองในนิทานเรื่องผาแดงนางไอ่) ชาวโซ่ (ทะวืง) จะจัดพิธีเลี้ยงผีย่าปู่ทุกปีในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ (จันทรคติ) ชาวบ้านจะรวมเงินกันซื้อหมูมาเลี้ยงถวายผีย่าปู่ และมีไก่ต้ม ขัน 5 หรือ ขัน 8 เหล้าขาว เป็นเครื่องประกอบพิธี โดยมี “ตุ๊เจ้า” หรือ “เฒ่าจ้ำ” เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันนายรุณ จันทะดา เป็นตุ๊เจ้าของชุมชน ในวันเลี้ยงผีย่าปู่ ชาวบ้านจะทำพิธีไหว้และบอกกล่าว แล้วนำหมูมาเชือดที่ดอนย่าปู่ในตอนเช้ามืดและกว่าจะเชือดหมูเสร็จก็จะเป็นเวลาช่วงเช้าพอดี จากนั้นจึงมารวมกันรับประทานอาหารเช้าที่ศาลากลางบ้าน

ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีพ่อผีแม่ เป็นผีบรรพบุรุษของชาวโซ่ทะวืงที่นับถือผีทางบิดา

ผีไร่ผีนา มีการไหว้ผีนาด้วยขัน 5 หรือขัน 8 และพาหวาน ข้าวที่ใช้ในพาหวานนิยมใช้ข้าวกล่ำ เพื่อเลี้ยงผีนาให้อิ่มหนำสำราญ และขอให้ผีไร่ผีนาดูแลรักษาผลผลิตในท้องนา หลังจากพิธีนี้เสร็จสิ้นชาวบ้านถึงจะเริ่มทำนา

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมของชาวโซ่ทะวืง ยึดถือตามระบบฮีตสิบสองคองสิบสี่คล้ายกับชาวอีสานโดยทั่วไป แต่ไม่ได้มีการประกอบประเพณี พิธีกรรมหรือเทศกาลครบถ้วนเหมือนที่เคยปฏิบัติมา จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน พบว่า ในช่วงเดือน1 เดือน 2 เดือน 5 และเดือน 7 จะไม่มีการจัดงานประเพณีใดๆ ภายในชุมชน ส่วนเดือนที่มีความสำคัญกับชาวโซ่ (ทะวืง) มากที่สุดได้แก่ บุญเดือน 3 นอกจากนั้นจะเป็นเดือนที่มีการจัดงานประเพณีตามเดือนต่างๆ ได้แก่ บุญเดือน 4 บุญเดือน 8 บุญเดือน 9 บุญเดือน 10 บุญเดือน 11 และบุญเดือน 12 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เดือน 3 “บุญเดือน 3” มีการเลี้ยงเจ้าปู่ มเหสักข์หลักเมือง หรือ ย่าปู่ หรือดอนย่าปู่ ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ชาวโซ่ (ทะวืง) เชื่อว่า เจ้าปู่ที่ดอนย่าปู่ มีหูทิพย์ตาทิพย์ ถือเป็นเทพเจ้าของชาวโซ่ (ทะวืง) หากปีใดที่ชาวบ้านไม่จัดงานพิธีเพื่อเลี้ยงเจ้าปู่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ชาวบ้านได้เห็น เช่น บันดาลน้ำให้มีจำนวนมากกว่าปกติ สาเหตุที่ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือ เกิดจากการที่ผู้บุคคลหนึ่งเคยมาขอพรและสมหวังตามที่ปรารถนา จึงเชื่อกันว่า บริเวณดอนย่าปู่เป็นเมืองเก่ามีชื่อว่า “เมืองผาพงดงก่อ” (ในปัจจุบันติดกับบ้านพันนาและอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี) เกิดในยุคบ้านเชียง โดยมีหลักฐานปรากฏอยู่บนภาพเขียนสีที่ผาผักหวาน ตำบลภูตะคาม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

สำหรับพิธีกรรมในวันดังกล่าวจะเป็นการบนและไหว้โดยใช้หมู ไก่ต้ม เหล้าขาว และขัน 5 สำหรับการจัดเตรียมงานชาวบ้านจะระดมทุนทรัพย์จากทั้ง 3 หมู่บ้าน เพื่อมาซื้อหมู จำนวนหมูที่ใช้ในพิธีขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี ส่วนผู้นำประกอบพิธีกรรมเรียกว่า “ตุ๊จ้ำ” ซึ่งเป็นการสืบทอดจากการคัดเลือกของชาวบ้านที่เล็งเห็นว่า บุคคลนั้นสามารถสื่อสารกับเจ้าปู่ รวมทั้งเป็นบุคคลที่มีความอาวุโส ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ บุคคลนั้นจึงจะได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งนี้ต่อไป ขั้นตอนตามพิธีกรรม เริ่มจากวันแรม 14 ค่ำ จะมีการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมโซ่ (ทะวืง) ต่อมาในคืนวัน 2 ค่ำ จะมีการบวงสรวง เชือดหมูบูชายัญให้ย่าปู่ ต้องให้ชาวบ้านมาในงานอย่างพร้อมเพรียงกัน จึงเริ่มเชือดหมูต่อหน้าย่าปู่ ก่อนเชือดหมูต้องทำให้หมูร้องเสียงดังเพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่ากำลังจะเข้าสู่พิธีกรรม คนที่บนหรือขอพรต่อเจ้าปู่ไว้จะมาร่วมพิธรกรรมในวันนี้ทั้งช่วงเช้า ช่วงเที่ยง จนถึงช่วงบ่าย หมูที่เชือดแล้วจะทำเลี้ยงกันเองภายในบริเวณที่ประกอบพิธีกรรม เพื่อให้เจ้าปู่อิ่มหนำสำราญและแสดงความขอบคุณ ในพิธีกรรมจะไม่มีการเสี่ยงทายบางปีมีดนตรี ประกอบด้วยที่บุคคลจากภายนอกชุมชนสามารถเข้าไปร่วมในพิธีกรรมนี้ได้ จากนั้นวัน 3 ค่ำ จะมีการเลี้ยงพระที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน

เดือน 4 มีงานบุญสงกรานต์ ส่วนงานบุญผะเหวดจะจัดขึ้นในบางปี

เดือน 6 มีงานเลี้ยงผีถ้ำวังแช่กลอย

เดือน 8 มีงานบุญเข้าพรรษา

เดือน 9 มีงานบุญข้าวประดับดิน

เดือน 10 มีงานบุญข้าวสาก

เดือน 11 มีงานบุญออกพรรษา

เดือน 12 มีงานบุญกฐิน และงานลอยกระทง

นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ดังนี้

ประเพณีเกี่ยวกับการคลอดบุตร ชาวโซ่ทะวืง มีความเชื่อเรื่องผี หรือ “ญาณ” และผีบ้านผีเมือง และยังเชื่อว่า บรรพบุรุษของตนมาเกิดเป็นลูกหลาน เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ ดังนั้น เด็กเกิดมาต้องรับขวัญ เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ส่งเสียให้เรียน และต้องมีการผูกข้อต่อแขน

ประเพณีเกี่ยวกับการบวช มีทั้งการบรรพชาฤดูร้อนและบวชศึกษาธรรม ส่วนใหญ่จะบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่

ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งงาน สำหรับชาวโซ่ทะวืง ไม่มีวัฒนธรรมการคลุมถุงชน สามารถแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ได้ ส่วนประเพณีการแต่งงานของชาวโซ่ทะวืง จะแต่งเข้าหรือแต่งออกก็ได้ตามความพึงพอใจ ลักษณะการจัดงานเป็นแบบโบราณผสมผสานกับแบบสมัยใหม่ มีทั้งการพาขวัญแบบโบราณ และจัดงานกินเลี้ยงแบบสมัยใหม่ และมีการสูดขวัญหรือสู่ขวัญบ่าวสาว

ประเพณีเกี่ยวกับการตาย เมื่อมีชาวโซ่ทะวืงเสียชีวิต จะตั้งศพไว้ที่บ้าน มีการสวดเป็นภาษาไทยกลาง นำสวดโดยผู้นำทางพิธีกรรม และใช้วิธีการเผาศพกลางแจ้ง

ประเพณีเกี่ยวกับการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ จัดขึ้นในเดือน 3 ซึ่งจะมีการจัดงาน “บุญเดือน 3” เป็นประเพณีการเลี้ยงเจ้าปู่หรือย่าปู่ที่ดอนย่าปู่ ชาวโซ่ (ทะวืง) เชื่อว่า เจ้าปู่หรือย่าปู่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองปกปักรักษาให้คนในชุมชนอยู่ดีมีสุข หากปีใดไม่จัดงานเลี้ยงผีเจ้าปู่จะไม่พึงพอใจและบันดาลภัยพิบัติต่างๆ ให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน เจ้าปู่จึงถือเป็นเทพเจ้าของชาวโซ่ (ทะวืง)

ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน มีการสวดมนต์คาถาก่อนลงทำนาเพื่อไหว้ผี แต่ไม่มีการจัดงานเป็นพิธีกรรมใดๆ นอกเหนือจากการสวดคาถา

กุมารี ลาภอาภรณ์ และศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร. (2560). การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น: กรณีศึกษาคนสี่กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร. ใน วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ 35(2). สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/joling/article/download/127572/96182.

กุมารี ลาภอาภรณ์และคณะ. (2558). การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น : พี่เลี้ยงทำงานอย่างไร ใน วารสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 (เมษายน - กันยายน 2558) หน้า 54-55.

คุรุสภา. (2506). ประชุมพงศาวดารภาค 3 และภาค 4 เล่ม 3. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.

ชยันต์ วรรธนะภูติ (2554). โครงการมิติทางสังคม การเมืองของการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

เทวี โคตรสระ. (2556). แนวทางการฟื้นฟูภูมิปัญญาในการรักษาและดูแลสุขภาพขางชาวโซ่ (ทะวืง) (รายงานฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

นิตยา กาญจนะวรรณ. (2560). 13 สิงหาคม. ภาษาโซ่ (ทะวืง) อักษรไทย: มองไทยใหม่. มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_48517.

ประมงค์ สุขชิน. (2556). แนวทางการพัฒนาภาษาโซ่ (ทะวืง) จากชุมชนเข้าสู่ระบบโรงเรียน ต.ปทุมวาปีอ.ส่องดาว จ.สกลนคร (รายงานฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ. (2562). แผนที่ภาษาในภาวะวิกฤติใกล้สูญในประเทศไทย. สืบค้นจาก http://www.langrevival.com/project/endangered-lang-map-thailand.

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (2557). 10 ธันวาคม. พันแสงรุ้ง ตอน โซ่ทะวืงที่ส่องดาว. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=BrME163-3vs

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2560). คู่มือระบบเขียนภาษาโซ่ (ทะวืง) อักษรไทย. กรุงเทพฯ:สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.

สีลา สีดาดิษฐ์ (2555). แนวทางการสร้างศูนย์การเรียนรู้ภาษา-วัฒนธรรมชุมชน ต.ปทุมวาปีที่เหมาะสมกับกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) ญ้อ ภูไท และลาว ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร. (รายงานฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สุริยา รัตนกุล. (2531). นานาภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2549). ความหลากหลายของภาษาและชาติพันธุ์ในประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

Eberhard, David M., Gary F.Simons, and Charles D.Fennig (Eds.). (2019). https://www.ethnologue.com/map/TH_n. เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.

Miller, John D. and Miller, Carolyn. (1967). An Acoustical Study of Brôu Vowels. Phonetica. oai:sil.org:59599. OLAC resources in and about the Eastern Bru language เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.

นางทอง ต้นประทุม, บ้านเลขที่ 23 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร, วันที่ 22 เมษายน 2562, พรรณวดี ศรีขาว และนิโลบล ภู่ระย้า ผู้สัมภาษณ์

นางมุนทา มุกดาพันธ์, บ้านเลขที่ 61 ม.8 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร, วันที่ 22 เมษายน 2562, พรรณวดี ศรีขาว และนิโลบล ภู่ระย้า ผู้สัมภาษณ์

นายกา พรหมสะอาด, บ้านเลขที่ 125 ม.3 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร, วันที่ 22 เมษายน 2562, พรรณวดี ศรีขาว และนิโลบล ภู่ระย้า ผู้สัมภาษณ์

นายพัง ต้นประทุม, บ้านเลขที่ 23 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร , วันที่ 22 เมษายน 2562, พรรณวดี ศรีขาว และนิโลบล ภู่ระย้า ผู้สัมภาษณ์

นายศิลา พรหมสะอาด, บ้านเลขที่ 31 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร, วันที่ 22 เมษายน 2562, พรรณวดี ศรีขาว และนิโลบล ภู่ระย้า ผู้สัมภาษณ์

นายสมปอง ต้นประทุม, บ้านเลขที่ 94 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร, วันที่ 22 เมษายน 2562, พรรณวดี ศรีขาว และนิโลบล ภู่ระย้า ผู้สัมภาษณ์

นายสมปอง ต้นประทุม, อยู่บ้านเลขที่ 94 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร, วันที่ 27 พฤษภาคม 2562, พรรณวดี ศรีขาว และนิโลบล ภู่ระย้า ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว