2023-06-17 11:43:39
ผู้เข้าชม : 655

ซะโอจ มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณป้อมปราการ Banteay Prey ซึ่งตั้งตามชายฝั่งทะเล ในจังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในจังหวัดกาญจนบุรี ในอดีตมีวิถีการดำรงชีพด้วยการทำไร่  ทำนา  ปลูกพริกขี้นก  ปลูกละหุ่งบนเขาสำหรับจำหน่ายให้กับพ่อค้าชาวจีน ปัจจุบัน ชาวซะโอจเริ่มมีการหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด  ด้านประเพณีวัฒนธรรมยังคงมีประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และมีการรักษาด้วยสมุนไพรในท้องถิ่นจากหมอพื้นบ้านที่ได้เล่าเรียนสืบทอดต่อกันมา หรือเรียกว่า "หมอฝาละมีหม้อ"

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ซะโอจ
ชื่อเรียกตนเอง : ซะโอจ, ชอง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : อูด, ชุอุ้ง, ซะอูด
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : -
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

กลุ่มชาติพันธุ์ ซะอูด หรือ ซะโอจ เป็น ชนเผ่าโบราณจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก กลุ่มภาษาเปียริก มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียนใกล้เคียงกับ ภาษาสำเร ภาษาซูโอยและภาษาเปียร์ผู้พูดภาษานี้กำลังลดจำนวนลง เหลือประมาณ40-50 คน ในบ้านทุ่งนา หมู่ที่ 4ตำบลหนองเป็ดอำเภอศรีสวัสดิ์จังหวัดกาญจนบุรี

คำว่า อูด นี้ถูกเรียกจากกลุ่มชาวขมุและละว้าก่อน พันตรีอิริคไซเด็นฟาเด็นได้พบพวกชาวพื้นเมืองที่นั่นเรียกกันว่าอูดหรือเขมรดงอยู่ที่แควใหญ่กิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์และได้ลองสอบคำพูดอูดดูปรากฏว่าคล้ายพวกชอง

ในอดีตชาวซะอูดทำไร่ทำนาปลูกพริกขี้นกปลูกละหุ่งบนเขา เอาไว้ขายให้กับพ่อค้าชาวจีนทางกลับจะซื้อกะปิน้ำตาลขนมแห้ง เป็นปี๊บ เกลือ มีการช่วยเหลือกันเอาแรงกันเรียกว่า การลงแขกเริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆได้แก่มันสำปะหลังข้าวโพดพริกผักมะละกอ ละหุ่ง ข้าวข้าวเหนียวดำ

ชาวซะอูดอาศัยในครอบครัวเดี่ยว เป็นครอบครัวใหญ่ มีนามสกุลหลัก อยู่ 6 นามสกุล คือกากีประเนติสายสร้อยทองหงส์ยนต์ ยอดน้ำสร้อยทอง การแต่งกาย ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อคอกระเช้า ส่วนผู้ชาย นุ่งโสร่งหรือใส่กางเกงแพร เสื้อบางครั้งใส่บ้างไม่ใส่บ้าง เมื่อไปทำบุญจะใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว กางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้าคาดเอว

ชาวซะอูดที่กระจุกตัวและอาศัยอยู่ในบ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีเดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากลำแม่น้ำแควใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร ต่อมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนศรีนครินทร์ได้ทำการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงได้ทำการอพยพมาตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านหนองหว้า(บ้านทุ่งนาปัจจุบัน) กลุ่มชาติพันธุ์ ในบ้านทุ่งนามี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเชื้อสายขมุ กลุ่มเชื้อสายกะเหรี่ยง และกลุ่มเชื้อสายซะอูด เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านทำให้วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างถูกกลมกลืนเข้าด้วยกัน ทำให้อัตลักษณ์ของชาวซะอูดในอดีตหายไปแม้แต่ภาษาซะอูด ผู้ที่พูดภาษาซะอูดได้ กำลังลดจำนวนลง ส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ยังคงพูดและสื่อสารกันได้

"ซะโอจ" ชนเผ่าโบราณ ซึ่งอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก กลุ่มภาษาเปียริก ที่ไม่มีภาษาเขียน นอกจากนั้นยังรวมถึงภาษาที่รู้จักกันในชื่อ ชอง, กะซอง, ปอร์ และ สำเหร่ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้มักกระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา Banteay Prey ซึ่งตั้งอยู่ที่ตั้งตามชายฝั่งทะเลในจังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา (ดำรงพล อินทร์จันทร์,ออนไลน์ :ม.ป.ป) ชาวซะโอจเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาใช้ป้อมแห่งนี้เพื่อต่อต้านการโจมตีของชาวไทย หลังจากพ่ายแพ้แก่ชาวไทยประชากรของพวกเขาลดลงอย่างรวดเร็ว มีหมู่บ้านซะโอจชื่อ Long Leh อยู่ริมทะเลกัมปงโสม พวกเขาอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากชาวเขมร ซึ่งพวกเขาสามารถรักษาภาษาของตนได้ในช่วงระบอบการปกครองของเขมรแดงในทศวรรษ 1970 ชาวบ้านซะโอจถูกย้ายออกจากชายฝั่งและบางส่วนถูกสังหารโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์ (Isara Choosri,2009: 72)

โดยในช่วงทศวรรษที่ 1830 ชาวซะโอจบางส่วนถูกจับโดยกองทหารสยามในช่วงสงครามระหว่างสยามกับอันนัม (อยู่ในประเทศลาว) (Isara Choosri, 2009: 89-70) สันนิษฐานว่ามีการกวาดต้อนมาทั้งบางบกและทางเรือ ยุคนั้น ชาวสโอจ หรือชอุ้งในกัมพูชาไม่ใคร่จะพอใจรูปแบบการปกครองของเขมรจึงมาขอความคุ้มครองจากกองทัพไทยที่ตั้งอยู่ที่เมืองโจดกในเวียดนามใต้ กระนั้น พวกเขาได้ถูกส่งมายังสยามโดยทางเรือ ขึ้นบกที่ราชบุรี และถูกโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานทางด้านเหนือตามลำน้ำแควใหญ่ ในจังหวัดกาญจนบุรี ในพระราชนิพนธ์เสด็จประภาสไทรโยค ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีข้อความที่กล่าวถึง ข่าสอูด ซึ่งน่าจะหมายถึงกลุ่มชาวอูด เช่นเดียวกับในบทความของ ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี ที่กล่าวถึงชาวอูดที่จังหวัดกาญจนบุรี อย่างไรก็ดี คำเรียกชื่อ ข่าสอูดนั้น มาจากคำว่าสโอจ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกกวาดต้อนมายังประเทศไทยเมื่อครั้งสงครามไทยและเวียดนาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 ( อิสระ ชูศรี .2558.68-70)

ภาษาพูดตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic) ที่ใช้พูดกันในจังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษามอญ ภาษาชอง (เขมรชอง) ภาษาขมุ และภาษาละว้า ภาษาชอง มีผู้พูดภาษาเหล่านี้ประมาณ 60 คน พบเฉพาะบริเวณเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ เท่านั้น จากการสัมภาษณ์ ชาวซะโอจในพื้นที่โดยเฉพาะผู้สูงวัยจะเรียกตัวเองว่าชอง โดยผู้เฒ่าชาวชองที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป บอกว่า ทวดของเขานั้นได้เดินทางมาจากจังหวัดพระตะบอง ของประเทศกัมพูชา เมื่อกว่า 200 ปีที่ผ่านมา และเดินทางผ่านทุ่งลาดหญ้า มาตั้งหลักปักฐาน ณ ที่บ้านทุ่งนา (เก่า) ปัจจุบันเหลือผู้ที่พูดภาษาชองได้น้อยลงเนื่องจากมีภาษาต่าง ๆ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่นี้มาก คนรอบข้างมักจะมองและพูดจาดูถูกคนเหล่านี้และมักจะเรียกเขาว่า "อูด" (เจตน์จรรย์ อาจไธสง และคณะ. 2560 น.64)

การเรียกขานชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ซะโอจนี้ มีชื่อที่เรียกตนเองและคำเรียกขานจากกลุ่มบุคคลภายนอกคำว่า อูด นี้ถูกเรียกจากกลุ่มชาวขมุและละว้ามาก่อน เรียกพวกกลุ่มซะอูดที่ไปหาไม้ฟืนเพื่อนำมาก่อไฟเพื่อหุงหาอาหาร ว่า อูด ๆ ซึ่ง อูด แปลว่าไม้ฟืน กลุ่มซะอูดนี้ เมื่อได้ยินดังนั้นก็ไม่พอใจและโกรธเป็นอันมากก็เลยว่ากลับไปว่า "รู้ไหมว่าฟืนจะเผาหัวพ่อหัวแม่มึง" (ทรง กากี. สัมภาษณ์ 9 พฤษภาคม 2562)

พันตรีอิริค ไซเด็นฟาเด็น นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก กล่าวว่า "อยู่ที่จังหวัดจันทบุรีและตราด นอกจากนี้ในระหว่างที่ผมไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้พบพวกชาวพื้นเมืองที่นั่นเรียกกันว่า อูด หรือ เขมรดง อยู่ที่แควใหญ่ กิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ ผมได้ลองสอบคำพูดอูดดู ปรากฏว่าคล้ายพวกชอง" เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พบเรื่องการอพยพของพวกอูดเหล่านี้ ในงานวิจารณ์เรื่องพวกสำเหร่และพวกพอร์ ในจดหมายเหตุสยามสมาคมเล่ม 34 ตอน 1 หน้า 75 กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2376 พวก ซา-ออค (Sa-och) ในเมืองกำปอทได้รับความเดือดร้อนจึงไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตที่เมืองโชดึก เจ้าพระยาบดินทรจึงช่วยส่งพวกเหล่านี้ทางทะเลไปขึ้นที่ราชบุรี พวกนี้ได้ขึ้นไปอาศัยอยู่ตามลำแควใหญ่ในกาญจนบุรีตอนเหนือแถวตำบลหนองบัว, ลาดพร้าว เกาะบุก ต่อมามีผู้เรียกว่าข่าหรือชองอูด ฉะนั้นเท่าที่ทราบในขณะนี้พวกชองอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด (ชิน อยู่ดี. (2506) อ้างจาก อิริค ไซเด็นฟาเด็น 2501)

แต่เดิมชาวซะโอจตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากลำแม่น้ำแควใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร ต่อมา ปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลไทยมีความพยายามจะสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ส่งผลให้ชุมชนเดิมที่เคยอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแควใหญ่ถูกน้ำท่วม อันเป็นผลกระทบมาจากการสร้างอ่างเก็บน้ำทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนศรีนครินทร์ได้ทำการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงได้ทำการอพยพมาตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านหนองหว้า (บ้านทุ่งนาปัจจุบัน) กลุ่มชาติพันธุ์ ในบ้านทุ่งนามี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเชื้อสายขมุ กลุ่มเชื้อสายกะเหรี่ยงและกลุ่มเชื้อสายซะโอจ เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านทำให้วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างถูกกลมกลืนเข้าด้วยกัน ทำให้อัตลักษณ์หายไปแม้แต่ภาษา ผู้ที่พูดภาษาซะโอจได้กำลังลดจำนวนลง ส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ยังคงพูดและสื่อสารกันได้ (อิสระ ชูศรี .2558. 68) โดยในพื้นที่บ้านทุ่งนายังคงเหลือครอบครัวชาวซะโอจอยู่เพียง 10 หลังคาเรือน จำนวนประชากรประมาณ 40-50 คน (องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเป็ด. 2558)

ชาวซะอูดที่อาศัยอยู่ในบ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากลำแม่น้ำแควใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร ต่อมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนศรีนครินทร์ได้ทำการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงได้ทำการอพยพมาตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านหนองหว้า(บ้านทุ่งนาปัจจุบัน) กลุ่มชาติพันธุ์ ในบ้านทุ่งนามี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเชื้อสายขมุ กลุ่มเชื้อสายกะเหรี่ยง และกลุ่มเชื้อสายซะอูด เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านทำให้วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างถูกกลมกลืนเข้าด้วยกัน ทำให้อัตลักษณ์ของชาวซะอูดในอดีตหายไปแม้แต่ภาษาซะอูด ผู้ที่พูดภาษาซะอูดได้ กำลังลดจำนวนลง ส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ยังคงพูดและสื่อสารกันได้

ปี พ.ศ. 2519 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนศรีนครินทร์ได้ทำการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า หมู่บ้านทุ่งนาจึงได้ทำการอพยพมาตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านหนองหว้า ซึ่งทางการไฟฟ้าได้จัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 2 ไร่ และที่ดินทำการเกษตร 48 ไร่ แทนที่ดินที่ถูกน้ำท่วม โดยที่อยู่อาศัยทางการไฟฟ้าได้จัดทำถนนเป็นซอยต่าง ๆ และทำประปาหมู่บ้านรวมทั้งจัดระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้หมู่บ้าน

ปัจจุบัน หมู่บ้านทุ่งนามีระยะทางห่างจากอำเภอศรีสวัสดิ์ 17 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี 88 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้รถโดยสารประจำทาง และรถยนต์ส่วนตัว

การตั้งถิ่นฐานเดิม จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของกลุ่มชาติพันธุ์ซะอูดนี้มาจากจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา โดยมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านทุ่งนา (เก่า) ส่วนใหญ่บริเวณนี้มีคนชองอาศัยอยู่ร่วมกันเฉพาะคนชองประมาณ 10 หลังคาเรือน ประชากร 40-50 คน แล้วย้ายมายังบ้านทุ่งนาในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2519 เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งผลให้เกิดน้ำท่วม จึงมีการอพยพประชาชนจากบ้านท่ากระดาน บ้านเกาะบุก บ้านทุ่งนา โดยให้สัมปทานที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จำนวนครัวเรือนละ 20 ไร่ การดำรงชีวิตของผู้คนที่นี่ มีวิถีชีวิตที่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าเขาที่อยู่รอบ ๆ ตัวจนสามารถดำรงชีวิตมาได้ จนกลายเป็นชุมชนที่กระจายอยู่ริมฟากเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีการผสมผสานประสบการณ์ และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ศาลประจำหมู่บ้านใช้ในการประกอบพิธีในช่วง เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ มีลักษณะการยกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสำหรับไว้รูปเจ้าที่เล็ก ๆ ประจำศาล และมีนางรำ โอ่งเล็ก ๆ ไห กระถางธูป เชิงเทียน ชั้นที่ 2 ไว้สำหรับวางเครื่องเซ่น ชั้นที่ 3 สำหรับผู้ที่มาสักการะศาลหลังเก่ามีเสา ทั้งหมด 6 ต้น เป็นเสาไม้ มุงด้วยสังกะสี คล้ายกับมีเพิงยื่นออกมา พื้นเป็นไม้ ล้อมด้วยฝา 3 ด้าน ในส่วนบน ส่วนศาลปัจจุบันยังมีโครงสร้างคล้าย ๆ กับศาลเก่าซึ่งยกอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ปรับเปลี่ยนมาใช้เสาเหล็กแทนมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง พื้นปูกระเบื้องดูสวยงาม อาจจะเป็นเพราะเพื่อลดการชำรุดและยืดอายุการใช้งาน ไม่มีเพิงเหมือนหลังเก่าแต่ยกมุงหน้าจั่วครอบยาวออกมา

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

การเกิด

หมอตำแย เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งท้องและเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำคลอดร่วมกับคนในครอบครัว ตั้งแต่หญิงสาวเริ่มตั้งท้องจนถึงวันคลอดและดูแลจนกระทั่งการอยู่ไฟสิ้นสุดลง ซึ่งเมื่อใกล้คลอดผู้เป็นสามีจะต้องเตรียมไม้ฟืน ไม้ที่นิยมใช้สำหรับการอยู่ไฟ คือ ไม้ลาย ไม้ตะคร้อ ขี้เหล็กป่า ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง เมื่อติดไฟจะลุกไหม้อยู่ได้เป็นเวลานาน โดยตั้งเอาไว้แล้วนำหนามมาวางทับเอาไว้ที่กองไม้ฟืนเพื่อป้องกันผีกระสือคาบและกันสัตว์มาฉี่รดกองไม้ฟืน และจะต้องไปตามหมอก่อนเมื่อมีอาการปวดท้องใกล้คลอด

การทำคลอดของหมอตำแยจะมีผู้ช่วยอีกหลายคน บ้างก็ช่วยจับหัวเข่า บ้างก็ช่วยต้มน้ำร้อน บ้างก็ใช้เชือกหรือผ้าขาวม้าผูกโยงเพื่อให้คนท้องยึดเหนี่ยวออกแรงเบ่ง นางเย็น อินทผลัม ลูกสะใภ้นางนกแก้ว ประเนติ กล่าวว่า "เคยช่วยเขาทำคลอดมาประมาณ 30 กว่าปี ช่วยเขาล้วงรก สะเดาะท้องบ้าง ต้มน้ำบ้าง (หมอสมัยก่อนมี นางนกแก้ว ประเนติ, นางแต๋ม ยอดน้ำ, นางเย็น วรรณทอง) หลังจากนั้นหมอตำแยก็จะทำการโกยท้องเพื่อให้เด็กกลับหัวพร้อมกับทำน้ำมนต์สะเดาะแล้วพ่นไปที่ท้อง" (เย็น อินทผลัม. สัมภาษณ์) หมอตำแยบางคนก็จะให้ดื่มน้ำที่หมอปลุกเสกเพื่อให้คลอดลูกง่าย ตอนคลอดจะคลอดที่บ้านจะทำที่จับไว้สำหรับให้แม่จับเพื่อให้มีลมเบ่งลูกออกจากท้อง เมื่อแม่แข็งแรงจะต้องนำขมิ้นและน้ำส้มป่อยไปล้างมือและเท้าหมอตำแยเพื่อขอสมุกสมา (เลียบ เษมสันต์. สัมภาษณ์)

การอยู่ไฟ เตาไฟสำหรับการอยู่ไฟ (เพาะฮ์นาด) ที่นอนไม่ให้กว้างจนเกินไปสามารถนอนได้พอดีเพื่อไม่ให้แม่นอนพลิกซ้ายพลิกขวาหรือไม่ให้หนีไฟนั่นเอง แต่ให้นอนสบาย นอนระดับเสมอกับไฟหรือสูงกว่าเล็กน้อยข้าง ๆ กองไฟ เมื่อก่อไฟแล้วจึงทำการดับพิษไฟก่อนเพื่อไม่ให้แม่ที่นอนไฟร้อน โดยหมอตำแยเป็นผู้ทำการดับพิษไฟก่อน โดยการอมเม็ดเกลือแล้วท่องคาถาดับพิษไฟแล้วก็เป่าไปที่กองไฟ 3 ครั้ง เชื่อว่าคนนอนอยู่ไฟจะไม่พอง ไม่มีอาการปวดแสบปวดร้อน การนอนไฟนั้นจะนอนกัน 15-30 วันเลยทีเดียว เชื่อว่าการนอนไฟนั้นจะทำให้มดลูกแห้งเข้าอู่เร็ว ในขณะอยู่ไฟหมอตำแยอาจจะให้กินยาซึ่งมีอยู่หลายตำหรับเช่น ยาขับน้ำคาวปลา ยาบำรุงเลือด ยาขับเลือดเสีย เมื่อทำคลอดต้องจ่ายค่ายกครู 12 บาท ให้กับหมอตำแย แต่บางหมอก็ไม่รับค่ายกครู (เลียบ เษมสันต์. สัมภาษณ์ 9 พฤษภาคม 2562) มีข้อห้ามสำหรับการอยู่ไฟ คือ คนที่มาหาหรือมาเยี่ยมห้ามพูดว่าอยู่ไฟร้อนไหมถ้าพูดจะเกิดพิษไฟเป็นเม็ดเต็มตัวทำให้อยู่ไฟไม่ได้

การแต่งงาน

ก่อนวันทำพิธีเจ้าสาวจะต้องมาอยู่บ้านเจ้าบ่าว 3 คืน หากไม่มีการเซ่นผีหรือเซ่นไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีเงินหรืออุปกรณ์ในพิธีไม่ครบอาจจะทำให้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น มีลมหมุนอย่างรุนแรงจะต้องจุดธูปขอขมาและทำให้ถูกต้องต่อไป ถ้าหากมาอยู่ด้วยกันภายในบ้านก่อนโดยไม่มีการสู่ขอเรียกว่า ผิดผี หากอยู่บ้านของฝ่ายชาย ผู้เป็นบิดามารดาฝ่ายชายจะมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อไปหาหมอก็จะไม่ทราบสาเหตุ พ่อแม่ฝ่ายนั้นจะต้องทำพิธีเซ่นผีอาการเหล่านั้นก็จะหาย พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้ทำการเซ่นผีเองไม่มีผู้นำพิธี สำหรับสินสอดในพิธีหากเจ้าบ่าวไม่มีเงินมากนักให้เตรียมเงิน 12 บาท ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ไก่ เหล้าอุ มะพร้าว ในอดีตต้องพูดเป็นภาษาชองเท่านั้นห้ามคนต่างกลุ่มเข้าร่วมพิธี (อึ่ง ยอดน้ำ. สัมภาษณ์) หากมาเข้าร่วมหรือมาแอบดูจะมีเลือดออกทางปากทางจมูก

การตายและการทำศพ

นายสนิท ประเนติ อายุ 65 ปี เล่าว่า

"ลุงเป็นสัปเหร่อมาประมาณ 20 ปี เป็นผู้ช่วยสัปเหร่อมาก่อน เมื่ออาจารย์ทำพิธีไม่ไหวก็ให้ผมเป็นผู้ทำพิธี อาจารย์ผมชื่อนายกฤช เษมสันต์ เมื่อมีคนตายเจ้าภาพก็มาหาให้ไปช่วยทำพิธี ก่อนอื่นก็ต้องทำพิธีเบิกโลงก่อน โดยการทำน้ำมนต์ธรณีสารเป็นลำดับแรก ต้องเตรียมดอกไม้สีขาว เหล้า 1 ขวด บุหรี่ 1 ซอง ธูป เทียน ตั้งครูก่อนทำน้ำมนต์ แล้วจึงนำศพใส่โลง ถ้าหากเป็นศพผีตายทั้งกลม จะต้องผ่าเอาศพเด็กมาก่อนถ้าผ่าศพเด็กข้างไหนก็จะเอาไว้ข้างไหน กล่าวคือ ผ่าออกจากท้องแม่ทางด้านขวามือก็เอาศพเด็กวางไว้ข้างขวามือศพแม่ของเด็ก แล้วก็เย็บแผลให้เรียบร้อย นำไปใส่โลงพร้อมประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป"

หากมีคนตายจะต้องตามสับปะเหร่อมาทำพิธีทันที สัปเหร่อจะต้องมีเวทมนตร์ คาถา เพื่อป้องกันตนเองจากสิ่งไม่ดี ในอดีตทำโลงเองหรือเอาฟากมาห่อศพมัดกับตอกไม้ไผ่รวก ศพส่วนใหญ่จะไว้ประมาณ 3 วัน ถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะค่อนข้างดีจะไว้ศพที่บ้านประมาณ 7 วัน แล้วนิมนต์พระมาสวดตามปกติ เมื่อถึงกำหนดพิธีฌาปนกิจศพ จะนำศพออกจากบ้าน นำข้าวสาร 1 ถ้วย ถ่าน 9 ก้อน เกลือ 9 ก้อน ใส่รวมไว้บนถ้วยข้าวสาร แล้วถือถ้วยข้าวสารสาดข้าวสารที่หน้าบ้านศพ 1 ครั้ง แล้วก็ปาชามให้แตกจากนั้นจึงโปรยเหรียญตามทางไปจนถึงวัดเพื่อซื้อทางเพราะคิดว่าวิญญาณผู้ตายจะไปไม่ถูก บางคนมีความเชื่อเมื่อไปงานศพจะต้องนำใบทับทิมติดตัวไปด้วย

ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

การเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ เดิมทำบุญเซ่นไหว้ที่ศาลซึ่งตั้งอยู่ข้างหลังโรงเรียนบ้านทุ่งนา แต่ปัจจุบันได้ย้ายมาทำบุญศาลประจำหมู่บ้านหลังปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างเหนือจากโรงเรียนบ้านทุ่งนาทางทิศตะวันออก ประมาณ 100 เมตร โดยจะมีพี่เลี้ยงเป็นผู้ดูแลศาลและดำเนินการในการประกอบพิธี ปัจจุบันพี่เลี้ยง คือ นางอึ่ง ยอดน้ำ อุปกรณ์ในพิธี ไก่สุก ส้ม หมูสุก ขนมทองโย๊ะ ข้าวหลาม ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ขนมห่อ ขนมเทียน ขนมจีน เหล้า น้ำส้ม น้ำแดง บายศรีปากชาม 4 อัน พร้อมไข่ยอดบายศรี หัวหมู และสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับการทำบุญของชาวซะอูดในการทำบุญเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ นั่นก็คือขนมจีนและข้าวหลาม ซึ่งก่อนที่จะทำบุญช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้นเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ 1 วัน จะต้องเตรียมหาไม้ไผ่มาเผาข้าวหลาม ไม้ไผ่ที่ใช้ได้แก่ไม้ไผ่ลำลอกหรือไม้ไผ่ป่า ที่มีเยื่อมันขาวสวยเยื่อบาง ต้นไม่แก่เกินไป ก็จะตัดเอามาไว้สำหรับเผาข้าวหลาม หลายกระบอกเผื่อไว้ทำบุญและแจกญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน พิธีการเซ่น จะจุดธูปบอกเจ้าพ่อเขาแดง นิมนต์พระมาสวด เลี้ยงพระเช้าหลังจากเสร็จพิธีทางสงฆ์จึงเริ่มพิธีการเซ่นไหว้ โดยต้องเซ่นที่เสาศาลเพียงตา ด้วยเหล้าขาว (ศาลเพียงตามี 2 ชั้น ทำจากเสาไม้ไผ่มีเสา 6 ต้น กางร่มสูงเพียงระดับคิ้ว โดยศาลนี้ต้องยกใกล้กับศาลเจ้าพ่อเขาแดง) หลังจากนั้นก็จะเริ่มพิธีมีการฟ้อนรำของพี่เลี้ยงและผู้มาร่วมงาน ผู้ที่มาจะมีการนำข้าวสารมาร่วมพิธีโดยนำไปวางไว้ที่ถ้วยสำหรับทำพิธี (คล้ายกับการปลุกเสกวัตถุมงคล) บนศาลเพียงตา หลังจากนั้นพี่เลี้ยงจะนำข้าวสารมาถือเพื่อทำพิธีปลุกเสกสำหรับให้ผู้ที่มาร่วมงานนำไปไว้ที่ก้นถังข้าวสารที่บ้านเพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ไม่อดไม่อยากเกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว

ศาลประจำหมู่บ้านใช้ในการประกอบพิธีในช่วงเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ มีลักษณะการยกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสำหรับไว้รูปเจ้าที่เล็ก ๆ ประจำศาล และมีนางรำ โอ่งเล็ก ๆ ไห กระถางธูป เชิงเทียน ชั้นที่ 2 ไว้สำหรับวางเครื่องเซ่น ชั้นที่ 3 สำหรับผู้ที่มาสักการะ ศาลหลังเก่ามีเสา ทั้งหมด 6 ต้น เป็นเสาไม้ มุงด้วยสังกะสี คล้ายกับมีเพิงยื่นออกมา พื้นเป็นไม้ ล้อมด้วยฝา 3 ด้าน ในส่วนบน ส่วนศาลปัจจุบันยังมีโครงสร้างคล้าย ๆ กับศาลเก่าซึ่งยกอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ปรับเปลี่ยนมาใช้เสาเหล็กแทนมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง พื้นปูกระเบื้องดูสวยงาม อาจจะเป็นเพราะเพื่อลดการชำรุดและยืดอายุการใช้งาน ไม่มีเพิงเหมือนหลังเก่าแต่ยกมุงหน้าจั่วครอบยาวออกมา

เจตน์จรรย์ อาจไธสง และคณะ. (2560). รายงานผลการวิจัย เรื่อง อัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม “ชาวชอง-ชาวซำเร” ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย-กัมพูชา. (จันทบุรี : คณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี). น.64

ชิน อยู่ดี. (2506). เผ่าชอง รายงานเสนอกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2506 ยังไม่เคยตีพิมพ์.

ฐานความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม. (2557). ขนมทองโย๊ะ ชุมชนบ้านหนองบาง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก https://www.thailocalwisdom.com/index.php/commun/west/item/93-066

เทคโนโลยีชาวบ้าน. (2561). ทราบหรือไม่ ไผ่รวกไทยมีกี่ชนิด. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_74974

โลกละไม. (2554). ขนมทองโยะ. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก http://pleasant-wanderer.blogspot.com/2011/01/blog-post_26.html

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2562). ภาษาซะโอจ. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%88

สุดารัตน์ หอมหวน, ปาริฉัตร สารรัตน์, สุจิตรา ใยงูเหลือม, พีรญา อัครกนกสิน, ลลิตา รามศักดิ์, กมลชนก ขันทะ,...กรรณิการ์ ตรวจนอก. (2552). เทียนตาตั๊กแตน. จากฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=70

ห้องสมุดออนไลน์. (ม.ป.ป.). ศิลปวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงเหย่ย. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก https://sites.google.com/site/library2u/silpa-wathnthrrm/kvs-thradl-cha-ti-nanth/phe-lng-hey-y

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเป็ด. (2558). ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก http://www.nhongped.go.th/information/

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเป็ด. (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น ชนเผ่าขมุ-ฌอง. เอกสารอัดสำเนา.

อิสระ ชูศรี. ชอุง ภาษาพลัดถิ่นจากกัมพูชา ที่กาญจนบุรี. หน้า 66-73. ใน วัฒนธรรม ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2558. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์. กรุงเทพมหานคร

MGR Online. (19 ม.ค. 2553). ภาษาถิ่นที่สูญหาย ความตายของวัฒนธรรม. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562, จาก https://mgronline.com/live/detail/9530000008089

Choosri, I. (2007). Investigating Contact-induced Language Change: Cases of Chung (Saoch) in Thailand and Cambodia. The degree of doctor of Philosophy (Linguistcs), Faculty of Graduate studies Mahidol University.

Choosri, I. (2009). Chung (Saoch) of Thailand and Cambodia: phonological and lexical comparisons. A Journal of Southeast Asian Languages and Cultures: Special Volume Dedicated to Dr. David Thomas, 69-85.

กุหลาบ วันทอง. อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งนาหมู่ที่ 4. อายุ 61 ปี. 99 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (6 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

จินดา หม่องสาย. หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (9 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

ใจ วรรณทอง. อายุ 69 ปี. หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (7 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

ดอกเทียน สร้อยทอง. อายุ 54 ปี. 21 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (7 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

ทรง กากี. อายุ 87 ปี. 19/1 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (9 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

บุญปลูก สร้อยทอง. หมอพื้นบ้าน. อายุ 82 ปี. 21 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (9 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

มน กากี. อายุ 66 ปี. 19/1 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (7 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

มนัส ประเนติ. อายุ 65 ปี. หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (9 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

เย็น อินทผลัม. หมอตำแย. อายุ 73 ปี. 18/1 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (9 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

เลียบ เษมสันต์. อายุ 81 ปี. 10 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (9 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

สนิท ประเนติ. ผู้ประกอบพิธีกรรมเผาศพ. อายุ 65 ปี. 5/2 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (8 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

สมควร ประเนติ. อายุ 73 ปี. 24/1 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (8 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

สุภาพ บุญสุวรรณ. ผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งนาหมู่ที่ 4. อายุ 39 ปี. 134 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (7 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

อุดม กากี. อดีตข้าราชการครู. อายุ 61 ปี. 73 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (9 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.

อึ่ง ยอดน้ำ. หมอหรือพี่เลี้ยงประจำหมู่บ้าน. อายุ 80 ปี. 25 หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. (8 พฤษภาคม 2562). สัมภาษณ์.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว