กลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยงคอยาว

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยงคอยาว
  • ชื่อเรียกตนเอง : กะยัน, แลเคอ
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยงคอยาว, แลเคอ, คะยัน, กะจ๊าง, ปะดอง, ปาด่อง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูล ทิเบต-พม่า
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ชาวกะยัน หรือเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ กะเหรี่ยงคอยาว (Longneck Karen) จะเรียกตนเองว่า แลเคอ ซึ่งประกอบไปด้วยชนกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น กะยันกะเคาะ Kayan Ka Khaung (Gekho), กะยันลาห์ตา (Kayan Lahta) กะยันกะง่าง (Kayan Ka Ngan), กะยันจิบา (Kayan Gebar), กะยันกะกิ (Kayan Kakhi) และ กะเหรี่ยงแบรหรือบเว (Bwe people หรือ Kayaw) แต่ชนเผ่ากะยันละห่วย (Kayan Lahwi) จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุด

              ในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้กระทั่งในปัจจุบันยังมีการเข้าใจและเรียกกันอย่างผิดๆ ว่า ปาดอง ปะด่องหรือปาด่อง ซึ่งสันนิษฐานว่า ในขณะที่อพยพมาจากประเทศพม่าได้เดินทางผ่านรัฐฉานซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของไทใหญ่จึงได้ชื่อในภาษาไทใหญ่ว่า "ปาดอง" โดยในภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทใหญ่ "ปาดอง" หมายถึง ผู้สวมห่วงทองเหลือง แต่เนื่องจากชื่อและธรรมเนียมการใส่ห่วงทองเหลืองนี้จำกัดอยู่แค่บางกลุ่มที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์และกะเหรี่ยงคอยาวส่วนใหญ่ปฏิเสธว่า "ปาดอง" ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันกับกะเหรี่ยงคอยาว นอกจากนี้การใส่ห่วงทองเหลืองแบบนี้ไม่ใช่ปฏิบัติกันเฉพาะในกลุ่มปาดองเท่านั้น แต่ยังอยู่ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นในประเทศพม่า คือ "ละมุง" ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่ากะเหรี่ยงคอยาว

              ปาดองเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงเหนือแม่น้ำสาละวินในรัฐกะยา ประเทศพม่า ใกล้เขตแดนไทยทางตอนเหนือ ส่วนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีชาวปาดองอยู่เพียงไม่กี่ครอบครัว ซึ่งข้อมูลจาก นายขิ่น จองนัน กลุ่มผู้นำเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ปะโอ ได้ให้ข้อมูลว่า มีปาดองในเขตอำเภอเมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยมะเขือส้ม ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยกลุ่มปาดองนั้นเป็นคนละกลุ่มกับกะเหรี่ยงคอยาว ชาวกะเหรี่ยงคอยาวส่วนใหญ่ในปัจจุบันต้องการให้เรียกชื่อว่า "กะยัน" บางคนก็เรียกตัวเองว่ากะเหรี่ยงคอยาวอย่างคนไทย 

              ชื่่อเรียกตัวเอง 

              กะยัน เป็นคำเรียกตัวเองของชาวกะยัน ซึ่งยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ว่าการเรียกชื่อ กะยัน นั้นมีรากฐานมาจากไหน อย่างไรก็ตามชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็น เกอะญอ คะเรนนี กะยิ่น หรือแม้แต่คำว่า "ยาง" ที่คนล้านนาใช้เรียกชาวกะเหรี่ยง สันนิษฐานว่าจะมาจากรากศัพท์โบราณของพม่าว่า ‘karyan’ (สุริยา รัตนกุล 2529, อ้างใน ขวัญชีวัน บัวแดง, 2546: 4) 

              แลเคอ เป็นอีกชื่อที่ชาวกะยันนิยมเรียกตัวเอง แปลว่า "ตอนบนของลำธาร" หมายถึงถิ่นดั้งเดิมของพวกเขาในรัฐคะเรนนี (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข, 2555: 39) 

              ชื่อที่คนอื่นเรียก 

              กะเหรี่ยงคอยาว เป็นคำที่คนไทย (โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว) ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์กะยัน เนื่องจากผู้หญิงในกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมนิยมสวมห่วงทองเหลืองรอบคอ โดยอาจเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง หรืออาจเนื่องมาจากความเชื่อซึ่งเล่าขานกันมาหลากหลายตำนานด้วยกัน บางตำนานก็เชื่อว่าเพื่อความปลอดภัย บ้างก็ว่าเพื่อความสวยงามหรือไม่ก็มาจากตำนานอันเกี่ยวเนื่องกับสงคราม เช่นเดียวกับกลุ่มกะยอ คนไทยเริ่มรู้จักชาวกะยันในฐานะกะเหรี่ยงคอยาวในช่วงปี พ.ศ. 2528-2529 ที่มีบริษัทนำเที่ยวของไทยได้ติดต่อกับชาวกะเหรี่ยงในเขตพม่าเพื่อขอนำชาวกะเหรี่ยงข้ามมาอาศัยที่บ้านน้ำเพียงดินที่ฝั่งไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข 2555:38) โดยกลุ่มกะยันถือเป็นกลุ่มแรกและกลุ่มใหญ่ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว 

              ปาดอง เป็นคำที่ชาวไทใหญ่ใช้เรียกชาวกะยัน หมายถึงผู้สวมห่วงทองเหลือง แต่เนื่องจากชื่อและธรรมเนียมการใส่ห่วงทองเหลืองนี้จำกัดอยู่แต่บางกลุ่มที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ปาดองส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงต้องการให้เรียกชื่อว่า "กะยัน" ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยง อันที่จริงการใส่ห่วงทองเหลืองแบบนี้ไม่ใช่ปฏิบัติกันเฉพาะในกลุ่มปาดองเท่านั้น แต่ยังอยู่ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นในพม่าคือ "ละมุง" ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าปาดอง (รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์. 2550, ออนไลน์) นอกจากนั้นสันนิษฐานว่า คำอื่นๆ เช่น กะยัง/กะยาง/กะย้าง/กะจ้าน/คะยัน/กะจ๊าง เป็นคำพ้องเสียงที่สะกดต่างกันกับคำว่า กะยัน เช่นในงานของวันดี สันติวุฒิเมธี นักเขียนเชิงสารคดีใช้คำว่า "กะยาง" (วันดี สันติวุฒิเมธี ออนไลน์) และคำว่า ปะต่อง/ป่ะดอง/ปาดอง/ปะดอง ก็เป็นคำพ้องเสียงที่สะกดต่างกันของคำว่า "ปาดอง" 

              สตรียีราฟ เป็นการแปลมาจากคำที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมักจะเรียกพวกเขาว่า "giraffe women" สันนิษฐานว่าคำนี้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1935 เพราะมีการนำเอาสตรีชาวกะยันไปถ่ายแบบโชว์ในลอนดอนโดยมีการตั้งฉายาให้พวกเขาว่าสตรียีราฟ (Alex Q. Arbuckle, ออนไลน์)  

     

  • อื่น ๆ :

              ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ หัวหน้าโครงการ วิจัยภาษาศาสตร์ภาษากะเหรี่ยง ได้พิสูจน์โดยใช้แนวคิดทางภาษาศาสตร์เปรียบเทียบและเชิงประวัติ พบว่า ภาษากะเหรี่ยง รวมทั้งภาษากะเหรี่ยงคอยาวเป็นสาขาหนึ่งในตระกูล ทิเบต-พม่า และ สรินยา คำเมือง ได้อธิบายว่า ภาษากะเหรี่ยงคอยาวมีหน่วยเสียงพยัญชนะ 22 หน่วยเสียงคือ / b, p, ph, d, t, th, j, c, ch, g, k, kh, ?, s, h, m, n, (...), r, l, w, y / หน่วย เสียงสระมี 13 หน่วยเสียงคือ / i, e, (...), a, (...), (...), (...), u, o, ia, ai, (...), ua / หน่วยเสียงวรรณยุกต์มี 4 หน่วยเสียงคือ วรรณยุกต์กลาง วรรณยุกต์ต่ำตก วรรณยุกต์สูงตกและวรรณยุกต์สูงขึ้น โครงสร้างพยางค์ประกอบด้วย C(C)V(T)(C) พยางค์ประกอบด้วย พยางค์นำ พยางค์หลักและพยางค์รอง ลักษณะคำ ประกอบด้วยคำพยางค์เดียว คำสองพยางค์และคำสามพยางค์ ทำนองเสียงมีสองประเภทคือ ทำนองเสียงขึ้นและทำนองเสียงตก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับเสียงวรรณยุกต์ของพยางค์สุดท้ายในประโยคเป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะเสียงพูดลมแทรกในภาษาปาดองมีปรากฎน้อยมาก สันนิษฐานว่าลักษณะเสียงพูดลมแทรกนี้อาจจะหายไปในที่สุด นอกจากนี้ในการออกเสียงของแต่ละหมู่บ้านอาจจะมีออกเสียงแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ รวมทั้งสามารถสื่อสารพูดคุยกับกะเหรี่ยงแดงและกะเหรี่ยงหูใหญ่ได้

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ว่าที่ร้อยตรีมนตรี วงษ์รีย์  ครู วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

    ปีงบประมาณ 2561, วันที่อัพโหลด ; 20 กันยายน 2561 , วันที่แก้ไข ; 29 กันยายน 2562

    เอกสารอ้างอิง

    • ชมลมชมไทย. กะเหรี่ยงคอยาวบ้านน้ำเพียงดิน, http://www.chomthai.com/forum/view.php?qID=1512
    • ชัยโฟโต้, oknation. กะเหรี่ยงคอยาวกับชีวิตที่ไม่รู้จักอนาคต, http://oknation.nationtv.tv/blog/chaiphoto/2008/02/24/entry-1
    • เดลินิวส์ออนไลน์. 'แม่ฮ่องสอน' สืบสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ จัดงานประเพณี'ปอยต้นธี',  https://www.dailynews.co.th/article/635598
    • ทริปดีดี. ข้อมูลและรูปภาพ หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว, http://www.tripdeedee.com/traveldata/maehongson/maehongson13.php
    • ท่องเที่ยว.com. กะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, http://www.thongteaw.com/Travel_tour_content_แม่ฮ่องสอน/กะเหรี่ยงคอยาว.html
    • นักรบชายขอบ. การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยชายแดนไทย-ประเทศพม่า , https://www.sarakadee.com/feature/2000/03/soldiers-2.htm
    • บ้านจอมยุทธ์. กะเหรี่ยง, https://www.baanjomyut.com/library/karen/07.html
    • ประชาไทย. สั่งย้ายกะเหรี่ยงคอยาว หวังบูมการท่องเที่ยว ขู่หากดื้อส่งกลับประเทศพม่า-ศูนย์อพยพ, https://prachatai.com/journal/2006/07/8943
    • ไปด้วยกัน.คอม. หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว, https://www.paiduaykan.com/76_province/north/maehongson/LongNeckKaren.html
    • พันธ์ทิพย์. พันธการห่วงรอบคอสตรีกะเหรี่ยงคอยาว, https://pantip.com/topic/33266422
    • รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์. (2550). "กะเหรี่ยงกะยัน", http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/Ka%20yan.htm
    • วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข. เรื่องเล่าจากชายแดนไทย-ประเทศพม่า: ประกายไฟทางปัญญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน = Stories from the Thai-Burmese Border: Intellectual Sparks for Sustainable Development). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2555.
    • ศูนย์ปฎิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา. กะเหรี่ยงคอยาว11คนสูญหาย นายทุนลักพาตัวจากหมู่บ้าน (ค้ามนุษย์) , http://www.notforsale.in.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=58&auto_id=1
    • ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน. ปะดอง  PADAUNG , http://www.mhsdc.org/interest111.htm
    • สรินยา คำเมือง. (2541). การศึกษาระบบเสียงภาษาปาดอง (กะเหรี่ยงคอยาว) บ้านในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.
    • สำนักข่าวชายขอบ. ตอนที่ (2) การร้องขอเขตปกครองรัฐกะเหรี่ยง , http://transbordernews.in.th/home/?p=11148 .
    • สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่. พ่อเมืองแม่ฮ่องสอน ผลักดันประเพณีปอยต้นธีบ้านห้วยปูแกง เพื่อขยายด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง  , http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=180330232003
    • อานานนนนน oknation blog. ต่างอะไรกับสวนสัตว์ : จ้างกะเหรี่ยงคอยาวใส่ห่วงคอให้นักท่องเที่ยวดูวิถีชีวิต , http://oknation.nationtv.tv/blog/Anan/2007/09/12/entry-1
    • 108 พันเรื่อง. แทบไม่เชื่อสายตา ! เปิดเบื้องหลังชีวิต "สตรีกะเหรี่ยง" และ "สภาพคอ" หลังถอดห่วงออก! , http://www.108panrueng.com/post_150349.html
    • Bloggang. นายทุนดึง"กะเหรี่ยงคอยาว" โชว์สวนสัตว์มนุษย์ถึงเมืองชล , https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=hit&month=09-2008&date=12&group=9&gblog=15
    • Free Burma Rangers. RELIEF MISSION TO KARENNI PEOPLE JUNE/JULY 2004 , http://www.freeburmarangers.org/2004/07/09/relief-mission-to-karenni-people-june-july-2004/
    • grim-fascination. X-rays showing the effects of Burmese neck coils on the human skeleton , http://grim-fascination.tumblr.com/post/2834133254/x-rays-showing-the-effects-of-burmese-neck-coils
    • James George Scott. Tales of Asian Venturers No. 2
    • Sir George Scott of the Shan States , http://www.inwa-advisers.com/Sir-James-George-Scott.html
    • James George Scott. wikimedia commons , https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Scott%27s_portrait_of_Padaung_%27giraffe_women%27_in_the_1890s.jpg#filehistory
    • Openbase. กะเหรี่ยงคอยาว จ.แม่ฮ่องสอน , http://www.openbase.in.th/node/11030
    • Openbase. ชาติพันธุ์ล้านนา – ปะด่อง , http://www.openbase.in.th/node/6442
    • Sanook. ทำไมกะเหรี่ยงคอยาวต้องใส่ห่วงทองเหลือง? , https://guru.sanook.com/13653/
    • tnew. “กะเหรี่ยงคอยาว” ถอดห่วง , http://www.tnews.co.th/contents/375130
    • vStudyApp. กะเหรี่ยง "คอ" ยาว , http://vstudyapp.blogspot.com/2013/10/blog-post_3.html

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              ชาวกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาว เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกับรัฐบาลทหารพม่าได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยตามตะเข็บแนวชายแดน และบางส่วนได้เข้ามาอาศัยในเขตประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กะเหรี่ยงคอยาวเกือบทั้งหมดอพยพลี้ภัยจากบริเวณอำเภอเดโมโซ (Demoso District) เมืองลอยก่อ (Loikaw) รัฐคะเรนนี (Karenni State) ประเทศพม่า โดยปัจจุบันเมื่อลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้นวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีจะเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และหาของป่า เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยจะไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงปรับเปลี่ยนไปเป็นการทอผ้าและขายของที่ระลึก บางหมู่บ้านจะมีการรับเงินเดือนเป็นรายเดือนเพื่อยังชีพจากกลุ่มนายทุน บางหมู่บ้านจะอยู่ในสภานะผู้ลี้ภัยทางสงคราม แต่หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวก็ได้รับความนิยมแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตลอดมาไม่เปลี่ยนแปลง

           

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              สำหรับถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงรวมทั้งกะเหรี่ยงคอยาวนั้น มีนักวิชาการตั้งข้อสันนิษฐานแตกต่างกันออกไป บางกลุ่มได้อ้างอิง เรื่องเล่าของชาวกะเหรี่ยงที่เล่าถึงการเดินทางของบรรพชนที่ต้องอพยพข้ามผ่าน "กระแสสายธารทราย" สันนิษฐานว่า หมายถึง พื้นที่อันกว้างใหญ่ที่มีแต่ทรายไหลเหมือนกระแสน้ำ ประกอบกับมีผู้เล่าขานนามแดนถิ่นเดิมของพวกเขา (ชาวกะเหรี่ยง) ว่า คือ "ธิบิ-โกวบิ" ทำให้มีผู้ตีความว่า ทิเบตและทะเลทรายโกบี คือ ถิ่นเดิมของชาวกะเหรี่ยง (พอลและอีเลน ลูวิส, 2528: 70) ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง สันนิษฐานว่า ถิ่นฐานเดิมของชาวกะเหรี่ยง น่าจะอยู่แถบมองโกเลีย ต่อมาได้หนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานด้านทิศตะวันออกของทิเบตก่อนจะอพยพมาอยู่ที่ประเทศจีน ชาวจีนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า "ชนชาติโจว" (สุริยา รัตนกุล และสมทรง บุรุษพัฒน์, 2538: 1) ส่วนนักวิชาการ ชาวตะวันตกและกลุ่มมิชชันนารีที่ทำงานเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงได้สันนิษฐานว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงน่าจะอยู่ทางแถบตะวันตกของจีนก่อนที่จะอพยพลงมายังบริเวณประเทศพม่า โดยเชื่อว่ากะเหรี่ยงเดิมอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำยางซี  อันหมายถึง "ลุ่มน้ำของชาวยาง" (Rajah A., 2008: 307) โดยคำว่า "ยาง" ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของชาวกะเหรี่ยง คนทางภาคเหนือของประเทศไทยและในรัฐฉานของประเทศพม่านิยมเรียกชาวกะเหรี่ยงว่า "ยาง" (สุนทร สุขสราญจิต, 2547: 11)

              ราจาห์ (2008) ได้เสนอแนวคิดการวิเคราะห์ถิ่นฐานดั้งเดิมและเส้นทางการอพยพของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กันกับนักวิชาการท่านอื่นที่ได้เสนอไว้ข้างต้นว่า ราว 2,617 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกะเหรี่ยง น่าจะมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่มองโกเลีย ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาทางแถบตะวันออกของเตอร์กิสถาน (Turkistan) ราว 2,013 ปีก่อนคริสตกาล และได้อพยพออกจากเตอร์กิสถานมาตั้งถิ่นฐานที่ทิเบต ราว 1,864 ปีก่อนคริสตกาล อพยพลงมายังมณฑลยูนนานของจีนราว 1,385 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนจะเคลื่อนย้ายมายังดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกลุ่มแรกเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 1,125 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพลงมาสมทบราว 759 ปีก่อนคริสตกาล (Rajah A., 2008: 309) ดินแดนที่กะเหรี่ยงลงมาตั้งถิ่นฐาน คือ ทางฝั่งตะวันออกของสหภาพประเทศพม่าและทางภาคเหนือไล่ลงมาตลอดแนวฝั่งตะวันตกของประเทศไทย และจากการพูดคุยกับพ่อหลวงหน่อง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านห้วยปูแกง ซึ่งได้เล่าว่า พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ปู่ของปู่ ได้เล่ามาปากต่อปาก ว่าปู่ของปู่ หรือปู่ของปู่ของปู่ของปู่ ไม่รู้กี่รุ่นมาแล้ว ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทรายมาอพยพย้ายถิ่นฐานไปโน่นบ้าง ไปนี่บ้าง อพยพมาเรื่อย ๆ จนมาถึงพม่า แต่อยู่พม่าก็มีสงคราม ก็ต้องอพยพต่อจนมาอยู่ที่บ้านห้วยปูแกง

              สำหรับกะเหรี่ยงคอยาว (Longneck Karen) หรือกะยัน (Kayan) นั้น เริ่มมาตั้งรกรากที่ประเทศพม่าในปี พ.ศ. 1282 โดยเริ่มมาอาศัยในเขตดีม่อโซ่ (Demawso) ของรัฐคะเรนนีหรือรัฐคะยาห์ (Kayah State) แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ในรัฐคะเรนนีหรือรัฐคะยาห์ (Kayah) เขตดีม่อโซ่ (Demawso) หลอยก่อ (Loikow) ในภาคใต้ของรัฐฉาน เมืองยองชเว (Nyaungshwe) รัฐฉานและในเปียงมานา (Pyinmana) มัณฑะเลย์ และเขตตานดองในรัฐกะเหรี่ยง ในท่าขี้เหล็ก (Tachilek) เชียงตุง รัฐฉาน

              แผ่นดินคะเรนนี อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาล เฉพาะแร่ธาตุมีไม่น้อยกว่า 10 ชนิด อาทิ ทองคำ ทองคำขาว เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วูลแฟรมและก๊าซธรรมชาติ ส่วนไม้สัก โดยเฉพาะไม้สักดำซึ่งเป็นไม้สักหายากกที่มีมูลค่ามหาศาล ด้วยทรัพยากรดังที่กล่าวมารัฐบาลประเทศพม่าจึงปรารถนาที่จะครอบครองแผ่นดินคะเรนนี ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งครอบครองได้แค่โรงไฟฟ้าหนึ่งโรงกับเหมืองทังสเตนหนึ่งแห่งเท่านั้น แต่ชาวคะเรนนีก็ไม่ยอมให้ศัตรูเข้ามายึดแผ่นดินเกิดได้ง่าย ๆ กองทัพคะเรนนีต่อสู้อย่างเข้มแข็งมาตลอดเวลากว่า 50 ปี และจนถึงวันนี้รัฐบาลประเทศพม่าก็ยังไม่ได้ครอบครองทรัพยากรบนแผ่นดินผืนนี้อย่างที่ใจต้องการ

              ในสงครามระหว่างประเทศพม่ากับอังกฤษ หลังจากที่กองทัพอังกฤษโจมตีประเทศพม่าครั้งที่ 3 ยึดเมืองทางเหนือได้ทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2428 และประกาศให้ประเทศพม่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปีถัดมา ซึ่งขณะนั้นคนกะเหรี่ยงจำนวนมากเริ่มเข้ารับราชการภายใต้การปกครองของอังกฤษ กะเหรี่ยงเป็นทหารที่สำคัญในกองทัพ ในสงครามประเทศพม่า-อังกฤษ ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้นำทางให้กองทัพอังกฤษ ฝ่ายประเทศพม่าได้ลงโทษชาวกะเหรี่ยงที่เข้าข้างอังกฤษ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพไปยังดินแดนที่อังกฤษปกครองและเกิดกลุ่มต่อต้านประเทศพม่า หลังจากอังกฤษได้ปกครองประเทศพม่าทั้งหมด และยึดมัณฑะเลย์ได้ในสงครามประเทศพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 กะเหรี่ยงได้เป็นผู้ช่วยอังกฤษเมื่อชาวประเทศพม่าก่อกบฏ มิชชันนารีได้เข้ามามีบทบาทในการชักนำชาวกะเหรี่ยงกดดันการก่อกบฏของประเทศพม่า จนอังกฤษปราบปรามได้สำเร็จ

              ช่วงปี พ.ศ. 2470 หลังจากที่ประเทศพม่าตกเป็นของอังกฤษอย่างเต็มตัว เซอร์ ซานซีโพ (Sir San C. Po) หนึ่งในคนกะเหรี่ยงที่รับราชการภายใต้การปกครองอังกฤษ ได้เขียนหนังสือชื่อว่า "ประเทศพม่ากับชาวกะเหรี่ยง (Burma and the Karens)" โดยหนังสือเล่มนี้มีใจความสำคัญตอนหนึ่งเหมือนเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอังกฤษว่า "ขอให้มีการประกาศรับรองภาคตะนาวศรีเป็นเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยง" ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 เซอร์ ซานซีโพ ทำเรื่องร้องขอการประกาศเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยงอีกครั้งกับรัฐบาลอังกฤษ แต่เรื่องนี้ทางอังกฤษไม่มีการพูดคุยและดำเนินการอะไรเลย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 ประเทศพม่าถูกแยกออกเป็นหนึ่งประเทศ โดยไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียอีกต่อไปแต่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอังกฤษ

              ภายหลังการประกาศให้พม่าเป็นหนึ่งประเทศ ช่วงปี พ.ศ. 2482 เกิดกระแสความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและประชาชนอังกฤษขึ้นทั่วประเทศพม่า มีการจัดประชุมใหญ่ของหลายฝ่ายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษคืนเสรีภาพในการปกครองให้กับประเทศ กระทั่งนายกรัฐมนตรี อู ซอ เข้าพบรัฐบาลอังกฤษเพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วงปี พ.ศ. 2484 และในวันที่ 8 ธันวาคม ของปีนี้เอง สงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายวงเข้าสู่ประเทศพม่า โดยทหารพม่ากลุ่ม Burmese Independence Army (BIA) เป็นกลุ่มที่นำทัพทหารญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศเพื่อให้ญี่ปุ่นช่วยรบกับกองทัพอังกฤษ

              ในปี พ.ศ. 2485 ทหารพม่ากลุ่ม BIA เคลื่อนทัพเข้าสู่พื้นที่ วิกตอเรีย พอยท์ (Victoria Point) และเมืองย่างกุ้ง ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษต้องหนีขึ้นไปยังเมืองมัณฑะเลย์และหนีต่อไปยังประเทศอินเดีย การถอยทัพของอังกฤษครั้งนี้มีทหารกะเหรี่ยงสังกัดกองทัพอังกฤษ 2,000 นายติดตามเข้าไปยังประเทศอินเดียด้วย

              จากเหตุการณ์ที่มีทหารกะเหรี่ยงติดตามกองทัพอังกฤษครั้งนั้นทำให้ทหารพม่ากลุ่ม BIA ประกาศว่าประชาชนกะเหรี่ยงเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอังกฤษและจะคอยเป็นหูเป็นตาให้กับกองทัพอังกฤษ ทหารพม่ากลุ่ม BIA จึงบุกไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ของกะเหรี่ยงจับตัวผู้นำหลายคนสังหาร และปล้นทำลายหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ถูกโจมตีโดยทหารพม่ากลุ่ม BIA ได้แก่ หมู่บ้านแถบปากน้ำอิระวดีทั้งหมด, เมืองปะเตง, เมืองมยอ มยะ, เมืองฮอ กะติ, เมืองมอ รวมถึงชุมชนฝั่งตะวันออกด้วย ได้แก่ เมืองผาปูน, เมืองส่วยจีน, และเมืองตะโถ่ง ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทางปากน้ำอิระวดี มาน รวย ทู จ่า จัดตั้งระดมประชาชนกะเหรี่ยงรบกับทหารพม่ากลุ่ม BIA

              หลังจากประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 รัฐคะเรนนีถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าทันที ก่อนหน้านี้ชาวคะเรนนีไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของใคร แม้ในช่วงที่อังกฤษปกครองประเทศพม่า รัฐคะเรนนีก็ได้ทำข้อตกลงพิเศษกับรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2418 ให้ยอมรับอิสรภาพของรัฐคะเรนนี โดยคะเรนนียอมเปิดเส้นทางคมนาคม และเส้นทางการค้าสู่ประเทศจีนเป็นข้อแลกเปลี่ยน ชาวคะเรนนีจึงถือว่าตนไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของใคร เมื่อรัฐบาลประเทศพม่าต้องการปกครองรัฐคะเรนนีโดยส่งกองกำลังทหารเข้ามายึดครองและเข่นฆ่าชาวคะเรนนี ชาวคะเรนนีจึงลุกขึ้นจับปืนสู้กับรัฐบาลประเทศพม่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 มาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี หรือ KNPP (Karenni National Progressive Party) นับเป็นตัวแทนทางการเมืองของชาวคะเรนนีที่มีเอกภาพและต่อสู้มายาวนานที่สุดในบรรดาชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า

              กองทัพประเทศพม่าเริ่มบุกรัฐคะเรนนีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2505 กองทัพประเทศพม่าส่งกองทัพบุกยึดรัฐคะเรนนีจนเกือบครบทุกหัวเมือง ฝ่ายกองกำลัง KNPP จึงใช้วิธีรบแบบกองโจร แอบซุ่มโจมตีในป่าแทนการตั้งฐานทัพในเมืองและเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ไม่ตั้งฐานทัพอยู่ที่ใดที่หนึ่ง        

              หลังจากใช้ยุทธวิธีตัดสี่ไม่สำเร็จ กองกำลัง KNPP ยังคงสู้รบกับทหารประเทศพม่าอย่างเข้มแข็งและประเทศพม่าไม่สามารถช่วงชิงทรัพยากรบนแผ่นดินคะเรนนีได้ดังหวัง ในปี พ.ศ. 2519 รัฐบาลประเทศพม่าจึงปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดด้วยการอพยพผู้คนออกจากหมู่บ้านในชนบทที่อยู่ใกล้กองกำลังคะเรนนีในป่าเข้าสู่พื้นที่ควบคุมในเมือง (เช่นเดียวกับการอพยพชาวบ้านทางตอนกลางของรัฐฉานในปี พ.ศ. 2539) และทำการอพยพในพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อทราบว่าพื้นที่นั้น มีกองกำลังคะเรนนี แต่จนแล้วจนรอดรัฐบาลประเทศพม่าก็ไม่สามารถปราบกองกำลังคะเรนนีให้ราบคาบได้ ความหวังเรื่องเหมืองแร่และสัมปทานป่าไม้บนแผ่นดินผืนนี้จึงยังคงเป็นหมัน

              ในที่สุดรัฐบาลประเทศพม่าจึงหันมาใช้ไม้อ่อนดูบ้าง โดยยื่นข้อเสนอเจรจาหยุดยิงกับ KNPP ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2538 ยอมให้ชาวคะเรนนีทำมาหากินได้ตามปรกติ รวมทั้งหาผลประโยชน์จากผืนดินคะเรนนีได้ โดยรัฐบาลประเทศพม่าขอมีส่วนแบ่งในทรัพยากรของชาวคะเรนนีบ้าง แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันทั้งสองฝ่ายก็มีอันต้องกลับมายิงกันอีกครั้งหลังจากเซ็นสัญญาหยุดยิงแค่เพียง 3 เดือนเท่านั้น

              พรพิมล ตรีโชติ กล่าวถึงการกลับมาสู้รบกันใหม่ หลังควันปืนยังไม่จางหายว่า "สาเหตุของการสู้รบอีกครั้ง เป็นเพราะข้อตกลงในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้นำกองกำลัง KNPP กับรัฐบาลทหารประเทศพม่าไม่ลงตัว ด้วยในเงื่อนไขหนึ่งของการเจรจาหยุดยิง คือ รัฐบาลทหารประเทศพม่าอนุญาตให้ KNPP จัดการเรื่องไม้ ในเขตของตนได้ ฝ่าย KNPP จึงได้ขายสัมปทานการตัดไม้ให้แก่บริษัทของไทย ในขณะที่รัฐบาลได้ตกลงขายสัมปทานให้แก่บริษัทของสิงคโปร์เมื่อตกลงกันไม่ได้กองทัพประเทศพม่าจึงส่งทหารเข้าประชิดฐานที่มั่นของ KNPP ทันที"    

              นับตั้งแต่การละเมิดสัญญาหยุดยิงปี พ.ศ. 2538 ผู้นำพรรค KNPP พยายามติดต่อเจรจาหยุดยิงกับทหารประเทศพม่าหลายครั้งแต่การเจรจาก็ไม่เคยสำเร็จ เดวิด ซอวา ผู้นำชาวคะเรนนี ในค่ายผู้อพยพกล่าวถึงปัญหาในการเจรจายุติสงครามกลางเมืองคะเรนนีที่มีมากว่า 50 ปีว่า

              จากสงครามล้างเผ่าพันธ์ชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารประเทศพม่าในระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้กะเหรี่ยงคอยาวต้องอพยพเข้าประเทศไทยประมาณปลายปี พ.ศ. 2527 ในช่วงที่กองกำลังทหารประเทศพม่าทำการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยบริเวณพรมแดนไทย - ประเทศพม่า ตรงข้ามกับพื้นที่ตำบลผาบ่องและตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน การสู้รบทำให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้งกะเหรี่ยงคอยาวจำนวนหนึ่ง อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่ห้วยพูลอง บ้านน้ำเพียงดิน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นสถานที่แห่งแรกของประเทศไทยที่กะเหรี่ยงคอยาวได้โยกย้ายอพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่ภายหลังบริเวณดังกล่าวนี้ได้ถูกทหารประเทศพม่ายกกำลังเข้าโจมตี ทำให้กะเหรี่ยงคอยาวบางส่วนต้องอพยพไปอยู่รวมกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ ที่หมู่บ้านใหม่ในสอย ซึ่งทางประเทศไทยได้ให้การช่วยเหลือและควบคุมให้อยู่ในฐานะผู้อพยพในศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยสงครามบ้านในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจากยอดของผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-ประเทศพม่า ที่สำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 มีจำนวนยอดรวมของผู้อพยพทั้งสิ้น 36,379 คน

              จากจำนวนของผู้อพยพข้างต้น เป็นกะเหรี่ยงคอยาวทั้งหญิงและชายจำนวน 321 คน  ซึ่งเกือบทั้งหมดอพยพลี้ภัยจากบริเวณอำเภอเดโมโซ (Demoso District) เมืองลอยก่อ (Loikaw) รัฐคะเรนนี (Karenni State) ประเทศพม่า ซึ่งในปี พ.ศ.2494 รัฐดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐคะยา

              ในราวปี พ.ศ. 2528 ซึ่งบางแหล่งข้อมูลบอกว่า ปี พ.ศ. 2535 ได้มีผู้ประกอบการนำเที่ยวเข้าไปเจรจาตกลงกับรองนายกของกลุ่มกะเหรี่ยงชื่อ “ตูยีมู” เพื่อขอพาชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวเข้ามาให้นักท่องเที่ยวได้ชมในประเทศไทยโดยจ่ายเงินให้เป็นการตอบแทนแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้นำกลุ่มกะเหรี่ยงจะนำเงินจำนวนนี้บางส่วนไปใช้ซื้ออาวุธเพื่อสู้รบกับรัฐบาลทหารประเทศพม่า ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งไว้ใช้เป็นค่ากินอยู่รวมถึงเป็นเงินตอบแทนประจำเดือนของครอบครัวกะเหรี่ยงคอยาวที่ตกลงใจย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ภายในอาณาเขตประเทศไทย โดยได้ตั้งหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวไว้บริเวณหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าและจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นประจำทุกเดือน ผู้ใหญ่ เดือนละ 1500 เด็กเดือนละ 750

              จากการที่กะเหรี่ยงคอยาวอพยพหนีสงครามเข้ามา ทำให้มีสถานะเป็นเพียง "ผู้อพยพหนีภัยสงคราม" ซึ่งเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายทางการไทยจึงไม่อนุญาตให้ครอบครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงทำได้แค่เพียงรอรับอาหารและเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพจากผู้ประกอบการนำเที่ยว และขอความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนจากทางการไทย หาของป่าเล็กน้อยใกล้ ๆ กับเขตที่พักอาศัย หรือจำหน่ายผ้าทอรวมถึงของที่ระลึกต่าง ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ผนวกกับการกระทำของผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางแห่ง ทำให้กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการและหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงเกิดความไม่พอใจที่มีการกักขังกะเหรี่ยงคอยาวไว้ให้คนดูเสมือนสัตว์ ก่อให้เกิดคำว่า "สวนสัตว์มนุษย์" ขึ้นมา โดยเฉพาะที่หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเก็บเงินนักท่องเที่ยวเป็นค่าเข้าชม รวมทั้งจำกัดพื้นที่กะเหรี่ยงคอยาว ไม่ให้ออกนอกพื้นที่ จึงก่อให้เกิดข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยคืนกะเหรี่ยงคอยาวให้ประเทศพม่าหรือส่งไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป

              ในปี พ.ศ. 2528 นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ในขณะนั้น) ได้มีนโยบายให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดท่องเที่ยวและมีความเห็นว่าชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาแม่ฮ่องสอน จึงได้มีการเจรจากับผู้นำชนกลุ่มน้อยเผ่าคะยาเพื่อเปิดหมู่บ้านตามชายแดนและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ในแรกเริ่มมีชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวเพียง 8 คน ต่อมามีการอพยพเข้ามาเพิ่มเติม จึงได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมกะเหรี่ยงคอยาวขึ้นที่บ้านใหม่ในสอย ปัจจุบันมีกะเหรี่ยงคอยาวเฉพาะกลุ่มที่ยังใส่ห่วงคอประมาณ 40 คน

              และในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนขณะนั้น ได้มีแนวความคิดที่จะย้ายหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวบ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวบ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง มารวมกันอยู่ที่บ้านน้ำเพียงดิน (บ้านห้วยปูแกง) ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยใช้ชื่อว่า หมู่บ้านโครงการอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่าปะต่อง (กะเหรี่ยงคอยาว) เพื่อความมั่นคง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านห้วยปูแกง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดโดยมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มคัดค้านและมีชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวไม่กี่ครอบครัวย้ายไปตามแนวความคิดของผู้ว่าราชการจังหวัด

              ทั้งนี้ การย้ายหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวให้อยู่ในที่เดียวกัน เกิดขึ้นเนื่องจาก กลุ่มองค์กรเอกชนจากประเทศนิวซีแลนด์เดินทางเข้ามาสัมภาษณ์กะเหรี่ยงคอยาวเพื่อที่จะคัดเลือกเข้าไปอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยอ้างว่าทางจังหวัดให้กะเหรี่ยงคอยาวอยู่เหมือนสวนสัตว์ โดยประเทศนิวซีแลนด์จะสร้างหมู่บ้านถาวรให้กะเหรี่ยงคอยาวอยู่ โดยจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมดและกะเหรี่ยงคอยาวอพยพมาจากประเทศพม่าไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมาก่อนไทยจึงไม่มีสิทธิ์เหนี่ยวรั้ง หากประเทศไทยปล่อยให้กะเหรี่ยงคอยาวไปอยู่ประเทศนิวซีแลนด์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยลง ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางเข้ามาเที่ยวชุมชนกะเหรี่ยงคอยาวที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนตลอดเวลา ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้มีหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ยับยั้งการอนุญาตให้กะเหรี่ยงคอยาวเดินทางไปยังนิวซีแลนด์

              สำหรับหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวที่ตั้งใหม่ใช้ชื่อว่า "หมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตกะเหรี่ยงคอยาว" ที่บริเวณบ้านน้ำเพียงดินหรือบ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยย้ายกะเหรี่ยงจาก 2 หมู่บ้านดังกล่าวมารวมอยู่ที่บ้านน้ำเพียงดิน ประมาณ 70 ครอบครัว บนเนื้อที่ดินกว่า 103 ไร่ โดยให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าไปดำเนินการวางผังหมู่บ้านให้ถูกลักษณะโดยให้กำหนดระยะเวลา 3 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ไปสิ้นสุดเดือนกันยายน พ.ศ. 2549

             ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวจะมีการแบ่งโซนการแสดงศิลปวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงคอยาวให้นักท่องเที่ยวได้ชม โดยจะมีการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวไทยคนละ 20 บาท นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนละ 250 บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวเข้าภายในหมู่บ้านและให้มีการบริหารจัดการแบบกันเอง จังหวัดจะเป็นเพียงแต่กำกับดูแลเท่านั้น

              จากนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (ทีบีซี) ที่ อ.แม่แจ๊ะ จ.ลอยก่อ ประเทศพม่า โดยพันตรี ส่อไหน่อู รักษาการ ผบ.พัน 430 ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ประเทศพม่า (ทีบีซี) ได้ทวงคืนกะเหรี่ยงคอยาว ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับคืนประเทศพม่า โดยที่ประชุมได้ระบุว่า กะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ถูก นายอ่องเมี๊ยะ ผู้นำกะเหรี่ยง เค เอ็น พี พี ให้การคุ้มครองและเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยนำเงินที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวที่เข้าชมกะเหรี่ยงคอยาวนำไปซื้ออาวุธและเสบียงอาหารไปต่อสู้กับทหารรัฐบาลประเทศพม่า ดังนั้นทางการไทยจะต้องส่งกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนคืนให้แก่รัฐบาลประเทศพม่าโดยเร็ว ทางด้าน พ.อ.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จ.แม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ที บี ซี ฝ่ายไทย ระบุว่า จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบตามที่ ที บี ซี ฝ่ายประเทศพม่าได้นำเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องของความเคลื่อนไหวของนายอ่องเมี๊ยะ ในส่วนของผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อยู่ในศูนย์พักพิงในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเรื่องระหว่างประเทศโดยมีองค์กรนานาชาติเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จะไม่ให้กลุ่มบุคคลใดเข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทยเป็นเด็ดขาด

              และในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จากการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมาร์-เมียนมาร์-ไทย ครั้งที่ 13/50 (TBC.-13) ที่ห้องประชุมโรงแรมฮอลิเดย์ อำเภอเมือง ทาง พ.ต. ส่อไหน่อู รักษาการ ผบ.พัน. 430/ประธาน (TBC.) เมียนมาร์ ได้ร้องขอ กับ พ.อ.นพพร เรือนจันทร์ ผบ.ฉก.ร.7  ประธาน (TBC.) ฝ่ายไทย ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าชนกลุ่มน้อยปะต่อง (กะเหรี่ยงคอยาว) ในการดูแลของเมียนมาร์ ได้ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้าย KNPP ซึ่งต่อต้านรัฐบาลประเทศพม่าอยู่เบื้องหลังการจัดแสดงวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวและเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมหมู่บ้านจากนักท่องเที่ยว...การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติชนกลุ่มน้อย อีกทั้งยังอาจถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ทางการไทยส่งชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวกลับคืนสู่บ้านเกิด

              ซึ่งในครั้งนั้นทางการไทยได้ให้เหตุผลโต้แย้งว่า "ทางการไทยได้สอบถามพูดคุยกับกะเหรี่ยงคอยาวตามเงื่อนไขที่ได้ประชุมคราวที่แล้ว แต่ชาวกะเหรี่ยงคอยาวบอกว่าสักวันหนึ่งเมื่อถึงเวลา พวกเขาจะเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนด้วยตนเอง เนื่องจากขณะนี้เด็กบางคนยังเรียนหนังสืออยู่ ส่วนการจัดแสดงวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวและเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวนั้นเป็นการตกลงกันเอง ทางการไทยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยและสัญญาว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงคอยาวยังได้มีโอกาสจำหน่ายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้เพื่อนำมาจุนเจือครอบครัวและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองอีกทางหนึ่งด้วย ผลสรุปสุดท้ายจากการประชุมคณะกรรมการชายแดนฯ ในครั้งนั้นทำให้กะเหรี่ยงคอยาวซึ่งข้ามชายแดนไทยเข้ามายังคงปักหลักพักอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนดังเดิมต่อไป

              นอกจากการพยายามขอให้ทางประเทศไทยส่งกะเหรี่ยงคอยาวกลับประเทศพม่าและทางกลุ่มองค์กรเอกชนจากประเทศนิวซีแลนด์ขอให้ส่งกะเหรี่ยงคอยาวไปยังประเทศนิวซีแลนด์แล้ว ภายในประเทศไทยยังมีกรณีการลักลอบพากะเหรี่ยงคอยาวออกนอกพื้นที่อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อไปทำงานในแหล่งท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งครั้งหลังสุดได้มีการลักลอบนำกะเหรี่ยงคอยาวจำนวน 11 คน เป็นผู้หญิง 5 คน และผู้ชาย 6 คน จากหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านห้วยปูแกง ให้ไปโชว์ตัวและวิถีชนเผ่าที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 และมีการพากะเหรี่ยงคอยาวจาก อ.แม่อาย และ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ไปอยู่ยังเขาชีจรรย์ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

              โดยนายโชติ นรามณฑล นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ในขณะนั้นกล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า กะเหรี่ยงคอยาวที่อาศัยใน จ.แม่ฮ่องสอน ถูกล่อลวงและลักพาตัวไปอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และพัทยา แล้วจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของ จ.แม่ฮ่องสอน อย่างมาก เนื่องจากกะเหรี่ยงคอยาวถือเป็นตัวชูโรงด้านการท่องเที่ยว แต่ละปีจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรป อเมริกา ฯลฯ ที่นิยมเดินทางมาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกะเหรี่ยงคอยาว ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยผู้ดูแลกะเหรี่ยงคอยาวตามหมู่บ้านต่าง ๆ จะเก็บค่าเข้าชมหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายดูแลจากนักท่องเที่ยวคนละ 250 บาท โดยจะเก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ละปีคำนวณแล้ว จ.แม่ฮ่องสอน มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละนับหนึ่งพันล้านบาท และส่งผลถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นในห่วงโซ่การท่องเที่ยวโดยภาพรวม

              ส่วน นายสุพจน์ กลิ่นปราณีต อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า "การนำกะเหรี่ยงคอยาวออกนอกพื้นที่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหามานานแล้วโดยมีกลุ่มนายทุนและนักธุรกิจที่หวังผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง แม้รู้ว่ากะเหรี่ยงคอยาวถูกนำไปอยู่ที่ไหนแต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหาจนส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวของ จ.แม่ฮ่องสอน" และการดูแลกะเหรี่ยงคอยาวที่มีมากกว่า 300 คน แม้จังหวัดจะจัดสรรงบประมาณแต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งแต่ละเดือนต้องใช้เงินดูแลไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 แสนบาท ดังนั้นกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในความดูแลของเอกชนแต่ละแห่ง อาศัยรายได้หลักจากการเก็บค่าเข้าชมหัวละ 250 บาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายซึ่งแต่ละปีมีการเก็บค่าเข้าชมได้รวมกันไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท แต่เมื่อถึงโลว์ซีซันจะมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าชม ทำให้เกิดขบวนการนำกะเหรี่ยงคอยาวออกนอกพื้นที่ไปขายให้กับนายทุน

              จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีกะเหรี่ยงคอยาวอาศัยอยู่ในพื้นที่สำคัญ 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่

              บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) หมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยยังคงดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่มาก หมู่บ้านตั้งอยู่ริมน้ำปาย สามารถล่องเรือตามแม่น้ำปายเข้าไปยังหมู่บ้านหรือขับรถไปยังหน้าหมู่บ้านแล้วนั่งเรือข้ามฟากเข้าไปในหมู่บ้านได้ นอกจากนี้ยังมีสินค้าของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างรายได้ สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เล็ก ๆ น้อย ๆ พื้นที่บ้านห้วยปูแกงนั้นมีพ่อหลวงหน่องเป็นผู้ดูแล โดยก่อนหน้านี้มีกลุ่มนายทุนร่วมกับทางผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารพานักท่องเที่ยวล่องเรือมาจากบ้านห้วยเดื่อโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์จากค่าเช่าเรือและเก็บค่าเข้าชมหมู่บ้านจากนักท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งในช่วงแรกมีการแบ่งให้ทางชุมชนบ้าง แต่ภายหลังไม่มีการแบ่งให้กับทางชุมชน ประกอบกับก่อนหน้านี้ทางกลุ่มนายทุนนำชุมชนต่อต้านการสร้างสะพานข้ามฟากแม่น้ำปาย บริเวณกลางหมู่บ้าน โดยชี้ไปที่ธุรกิจเรือข้ามฟากของหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีการก่อสร้างสะพานซึ่งต่อมากลุ่มนายทุนให้ชุมชนรื้อป้ายทางเข้าหมู่บ้านบริเวณเรือข้ามฟากออก เนื่องจากกลุ่มนายทุนไม่พอใจที่รายได้จากธุรกิจพานักท่องเที่ยวล่องเรือลดลง ทำให้ทางหมู่บ้านพัฒนาทางเข้าหมู่บ้านและเก็บค่าเข้าชมหมู่บ้านจากนักท่องเที่ยวเอง โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรายรับรายจ่ายของหมู่บ้าน

              บ้านห้วยเสือเฒ่า เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ใกล้เมืองมากที่สุด รถยนต์สามารถเข้าถึง มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเที่ยวชมกะเหรี่ยงคอยาวที่นี่เป็นจำนวนมาก กะเหรี่ยงคอยาวที่นี่จะมีประมาณ 20 หลังคาเรือน นอกจากนี้ยังมีสินค้าของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างรายได้

              พื้นที่บ้านห้วยเสือเฒ่า ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี ยายเป็ง เป็นผู้ดูแลในระยะเริ่มแรก และเมื่อยายเป็งเสียชีวิตแล้ว จะมีป้ารัตน์และสามีเป็นผู้ดูแล โดยในช่วง ปี พ.ศ. 2551-2554 กะเหรี่ยงคอยาวไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือน และมีปัญหากะเหรี่ยงคอยาวหลายคนขอออกพื้นที่ไปอาศัยหรือไปทำงานต่างจังหวัดไม่ได้ เช่น มีสตรีผู้หนึ่งที่นับถือในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า อยากจะไปบวชชีอยู่ที่เชียงใหม่ ทางกลุ่มนายทุนก็ไม่ยอมให้ออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มนายทุนคอยดูแลให้ความช่วยเหลือมาตลอดอยากให้นึกถึงบุญคุญในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับกลุ่มนายทุนเริ่มเก็บค่าเข้าชมของนักท่องเที่ยวชาวไทย ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเมื่อไปถึงหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าแล้วไม่ลงไปเที่ยวที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว จะนั่งรอบริเวณทางลงหมู่บ้านและเลือกซื้อของที่ระลึกจากกลุ่มไทใหญ่ กะเหรี่ยงแดง และม้งในพื้นที่ทางบริเวณทางลงหมู่บ้านแทน ทำให้กะเหรี่ยงคอยาวไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ โดยกลุ่มนายทุนให้ข้อมูลว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อย จึงไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนและต้องเก็บเงินนักท่องเที่ยวชาวไทย ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจึงรวมตัวกันประท้วง ว่าหากยังไม่จ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและยังเก็บเงินนักท่องเที่ยวชาวไทย กะเหรี่ยงคอยาวจะอพยพไปอยู่ที่อื่น และขอให้ทางกลุ่มนายทุนย้ายม้งออกจากพื้นที่และขออนุญาตให้กะเหรี่ยงคอยาวสามารถออกนอกพื้นที่ได้จากการเจรจาต่อรอง ทำให้กะเหรี่ยงคอยาวได้รับค่าตอบแทนรายเดือนเหมือนเดิมและม้งบางส่วนต้องออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้กะเหรี่ยงคอยาวได้แต่งตั้งให้พ่อหลวงหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวมาเป็นผู้ดูแลรายรับของนายทุนเพื่อยืนยันรายได้ว่าเป็นตามที่นายทุนบอกหรือไม่

              บ้านในสอย เป็นกะเหรี่ยงคอยาวที่อพยพมาจากบ้านน้ำเพียงดิน บ้านในสอยเป็นชุมชนกะเหรี่ยงขนาดใหญ่พอ ๆ กับที่บ้านน้ำเพียงดินมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่คล้ายกัน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหุบเขา มีลำห้วยไหลผ่าน มีทางรัฐบาลเป็นผู้ดูแลการเข้าออกเนื่องจากเป็นศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยสงคราม

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              เนื่องจากกะเหรี่ยงคอยาวอพยพหนีสงครามเข้ามา ทำให้มีสถานะเป็นเพียง "ผู้อพยพหนีภัยสงคราม" เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ทางการไทยจึงไม่อนุญาตให้ครอบครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ที่ผ่านมาจึงไม่มีที่ดินทำกิน ผู้ชายส่วนมากจึงรับจ้างทั่วไป ล่าสัตว์และหาของป่ามาขาย และผู้ชายบางคนที่เก่งงานฝีมือ ก็อาจจะทำการแกะสลักตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาว หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อจำหน่าย ส่วนผู้หญิงและเด็กก็จะทอผ้าพันคอรวมถึงจำหน่ายของที่ระลึก โดยซื้อด้ายมาจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน แล้วนำมาทอเป็นผ้าพันคอ เสื้อ หรือสินค้าอื่น ๆ นอกจากนี้บางหมู่บ้านจะได้รับค่าตอบแทนจากการเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ในบางหมู่บ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวบางคนเริ่มได้สัญชาติ เริ่มซื้อที่ดินหรือแผ้วถางป่า ทำให้สามารถซื้อที่ดินเป็นของตนเองเพื่อสร้างบ้านหรือเพื่อทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ภายในหมู่บ้านหรือบริเวณใกล้เคียง

     

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              ครอบครัวกะเหรี่ยงคอยาวเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก ในบางครอบครัวอาจมีพ่อแม่ของฝ่ายหญิงหรือชายอาศัยอยู่ด้วย

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              ในอดีต พ่อแม่ของหนุ่มสาวกะเหรี่ยงคอยาวจะเป็นผู้เลือกคู่ครองให้กับลูกของตนเอง โดยจะดูจากคนใกล้ชิด ญาติ เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ทุกวันนี้บรรดาหนุ่มสาวจะเลือกคู่ครองกันเอง แต่ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อ แม่และญาติผู้ใหญ่ด้วย

              การแต่งงานในอดีตนั้นจะต้องมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นการแต่งงานระหว่างคนรุ่นเดียวกัน ห้ามไม่ให้มีการแต่งงานข้ามรุ่นเป็นอันขาด และควรอยู่ในตระกูลเดียวกัน สามารถแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องได้ จะแต่งงานกับคนในเผ่าอื่นไม่ได้ นอกจากนี้การแต่งงานกับญาติที่มาจากการแต่งงาน เช่น พี่เขย น้องเขย พี่สะใภ้ น้องสะใภ้ รวมไปถึงการแต่งงานกับตระกูลที่มีสัญญาหรือมีข้อตกลงกันว่าห้ามแต่งงานกันหรือชนเผ่าที่มีความขัดแย้งกันเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากมีผู้ที่ทำผิดดังกล่าวจะนำโชคร้ายมาสู่ญาติพี่น้องและคนในหมู่บ้าน ส่วนคนที่ทำผิดอาจจะไม่ได้รับผลอะไรจากการกระทำ หากมีผู้กระทำผิดดังกล่าวก็จะถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันด้วยความเจริญและมีเรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงคนในหมู่บ้านออกมาเรียนหนังสือหรือทำงานภายในเมือง และคนภายในเมืองมีการเดินทางไปมาหาสู่ในชุมชนหลายครั้งตลอดจนในบางชุมชน เผ่ากะเหรี่ยงคอยาวมีการอาศัยร่วมกับชนเผ่าอื่น ๆ จึงเริ่มมีการแต่งงานข้ามเผ่าหรือข้ามรุ่นและข้อห้ามต่าง ๆ เหล่านี้ก็เริ่มลดเลือนจนหายไปในที่สุด

     

  • การสืบผีและมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              กะเหรี่ยงคอยาวมีการสืบผีและสายสกุลเป็นลักษณะตระกูล โดยในประเทศไทยจะมี 3-4 ตระกูลหลัก เช่น ซับโพปาจา ซับมังปาจา ซับเพาะปาจา ช่องปาจา ซึ่งบางตระกูลจะสามารถแต่งงานกันได้ แต่บางตระกูลจะมีสัญญาหรือข้อตกลงกันว่าจะไม่แต่งงานกันข้ามตระกูล

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              การแต่งกายของผู้ชายกะเหรี่ยงคอยาวจะแต่งกายเหมือนกะเหรี่ยงชนเผ่าอื่น ๆ คือ นุ่งกางเกงขาก๊วยแบบจีน เสื้อที่สวมใส่เป็นสีขาวคอวีทรงกระสอบ ตัวยาวถึงสะโพก ด้านหลังสีขาว ส่วนด้านหน้าท่อนบนจะเป็นสีขาว ตั้งแต่อกลงมาจะเป็นสีแดง ศีรษะโพกผ้าสีขาว ถ้ามีกิจกรรมหรืองานประเพณีจะสวมกำไลข้อเท้าที่ทำจากลูกปัดสีขาว น่องตอนบนจะใส่กำไลไม้ไผ่หรือหวาย

              ส่วนผู้หญิงชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว บริเวณรอบคอจะสวมใส่ห่วงทองเหลืองที่มีการขดม้วนเรียงกันหลายชั้น ตั้งแต่ไหปลาร้าจรดคาง ทรงผมด้านหน้าจะไว้หน้าม้า ด้านหลังจะมัดเป็นมวยแล้วใช้ผ้าสีเขียว สีชมพูคาดทับทิ้งชายห้อยระบ่า แขนจะใส่กำไลที่ทำจากอะลูมิเนียมข้างละ 3-5 วง และที่ขาบริเวณใต้หัวเข่าจะสวมห่วงทองเหลืองไว้อีกข้างละประมาณ 10-15 วง รองด้วยผ้าสีชมพู และจากน่องลงมาถึงข้อเท้าจะพันด้ายผ้าสีน้ำเงิน เสื้อที่สวมใส่เป็นสีขาวคอวีทรงกระสอบ ตัวยาวถึงสะโพกล่าง ผ้าถุงสีกรมท่าสั้นแค่หัวเข่า มีลวดลายเป็นเส้นสีชมพูรอบ ชายผ้าถุงแคบและนุ่งพับทบกันด้านหน้า

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              ที่อยู่อาศัยของกะเหรี่ยงคอยาวมักสร้างด้วยไม่ไผ่ ฝากั้นด้วยไม้ขัดแตะหรือพื้นอาจเป็นไม้สัก หรือไม้เนื้อแข็งที่หาได้ในพื้นที่ โดยพื้นไม้สักจะขัดด้วยขี้ผึ้งและถูด้วยเปลือกมะพร้าว ทุกบ้านจะมีชานบ้านหรือเฉลียง ไว้สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จักสาน ทอผ้า ห้องครัวจะอยู่ทางด้านข้างหรือด้านหลังของบ้าน ห้องน้ำจะแยกออกไปจากตัวบ้าน หลังคามุงด้วยตองตึงหรือใบตองก๊อ ส่วนมากในปัจจุบันนิยมใช้ใบตองตึงเพราะหาง่ายกว่า โดยในการใช้ใบตองตึงจะมีการทำเป็นเย็บเข้าด้วยกัน มีทั้งแบบ 1 ใบ หรือ 2 ใบซ้อนกัน โดยหากใช้ 2 ใบซ้อนกันและเย็บอย่างประณีต และเรียงบนหลังคาแบบถี่ ๆ ก็สามารถอยู่ได้ถึง 4 ปี

              บ้านจะเป็นแบบยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้านไว้สำหรับเก็บฟืนและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ และจะมีห้องน้ำเล็ก ๆ ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับตัวบ้าน โดยอาจมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู โดยอาจมีเล้าหมูเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ บริเวณบ้านและอาจมีการเลี้ยงหมูแบบปล่อยบ้างเล็กน้อย

     

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

    ข้าวเบ๊อะ

              ข้าวเบ๊อะเป็นอาหารของกะเหรี่ยงคอยาว หรืออาหารร่วมวัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจุดกำเนิดนั้นมาจากกลุ่มใดกันแน่ ข้าวเบ๊อะจะเป็นการรวบรวมอาหาร พืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่มีอยู่ เท่าที่หาได้ใส่รวมกันลงไปในหม้อ พร้อมด้วยข้าวสารเล็กน้อย ต้มจนเดือดแล้วใส่เครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ ที่มีในไร่ เช่น หอม พริก กระเทียม

              ในส่วนของข้าวเบ๊อะนั้น ตามตำนานของชาวปกาเกอะญอได้เล่าถึงชีวิตในอดีตที่ลำบากว่า การประกอบอาชีพนั้นจะปลูกข้าวไร่ ปลูกพืชผักต่าง ๆ ลงไปในไร่ของตนเองด้วย เมื่อผลผลิตออกดอกออกผลก็จะมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก หนู หมูป่าเข้ามาขโมยผลผลิตของชาวบ้าน ในบางปีก็เกิดโรคระบาดพืชผลเสียหายเกือบหมด เพื่อให้มีข้าวพอกินและได้กินอิ่มกันทุกคนทุกมื้อ ชาวบ้านจึงมีความคิดว่าต้องเก็บรวบรวมพืชผักผลไม้ที่หาได้ใส่รวมกันลงไปในหม้อเพื่อทำอาหารจึงเกิดเป็นข้าวเบ๊อะขึ้นมา

    หมาก

              ผู้สูงอายุส่วนมากรวมไปถึงวัยกลางคนนิยมเคี้ยวหมาก เหมือนกับคนไทยในภาคอื่น ๆ นอกจากนี้เด็กบางคนในหมู่บ้านก็มีการเคี้ยวหมากด้วย โดยในการกินหมากจะใส่เครื่องกินหมาก 4 อย่าง เป็นหลัก คือ หมาก ใบพลู ปูนแดงและยาเส้น บางครั้งอาจมีการใส่เครื่องหอมหรือเปลือกไม้อื่นเพิ่มเติม เช่น กานพลู การบูร พิมเสน เปลือกตะเคียน เปลือกสีเสียด

              ในอดีตนั้น หมากพลู ถือเป็นของสำคัญในการต้อนรับขับสู้ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูง รวมถึงคนที่เดินทางไปเยี่ยมเยือนอีกด้วย นอกจากนั้นในป่าเขาลำเนาไพร การที่จะหายาสีฟันแปรงสีฟัน รวมถึงสิ่งที่จะมาทำความสะอาดฟันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้คนในสมัยก่อนจึงนิยมเคี้ยวหมากเพื่อรักษาฟันให้สะอาดและไม่มีกลิ่นปากอยู่เสมอ

              เครื่องใช้ในการกินหมากประกอบด้วยของต่าง ๆ ดังนี้

                        1. เต้าปูน เป็นภาชนะที่ใส่ปูนหมาก มาพร้อมกับไม้ควักปูน

                        2. ซองพลู เป็นภาชนะสำหรับใส่พลูจีบ

                        3. ที่ใส่หมาก ใช้ใส่ทั้งหมากสดและหมากแห้ง นอกจากนี้ยังมีพวกตลับ ผอบต่าง ๆ ที่ใส่ยาเส้น กานพลู การบูร สีเสียด มักใช้ในชุดเชี่ยน 3 – 8 ใบ

                        4. มีดเจียนหมาก เป็นมีดขนาดเล็กใช้ผ่าหมากดิบและเจียนพลู

                        5. กรรไกรหนีบหมาก เป็นกรรไกรที่ใบมีดข้างหนึ่งใหญ่และคมกว่าอีกข้าง ใช้สำหรับผ่าลูกหมากและเนื้อหมาก

                        6. ตะบันหมาก มีลักษณะทรงกระบอกเรียวเล็กลงด้านปลาย ใช้ตำหมากพลูให้แหลก มาพร้อมกับสากตะบัน

                        7. กระโถน ใช้สำหรับบ้วนน้ำหมาก หรือคายชานหมากที่จืดแล้ว

              ประโยชน์ของหมากพลู

              ใบพลูสด แก้ปวดฟัน รำมะนาด แก้อาการมีกลิ่นปาก ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อและทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า

              ปูนแดง นิยมใช้เป็นกระสายยา แก้บิดและท้องเสีย

              หมาก และใบพลู มีสารอัลคาร์ลอยด์ที่เชื่อว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มอุณหภูมิของผิวหนังในร่างกาย

     

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะมีความเชื่อว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ค่าง ลิง เห็ด และเนื้อสัตว์ซึ่งใช้เลี้ยงแขกในงานศพ

    การคลอด

              เมื่อก่อนการคลอดของผู้หญิงชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวนั้นจะต้องคลอดภายในบ้านของตนเองเท่านั้นโดยจะใช้ไม้ไผ่ตัดสายรก แต่ปัจจุบันด้วยวัฒนธรรมและประเพณีที่เปลี่ยนไป หลาย ๆ คนจึงนิยมหันไปคลอดที่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก

    หลังคลอด

              หลังคลอด ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะต้องนั่งบนหม้อน้ำร้อน ในตอนเช้าและตอนเย็นทุกวันเป็นระยะเวลาสองเดือน ซึ่งเป็นการรักษาอาการปวดและยังป้องกันการเปลี่ยนสีผิว ซึ่งเป็นหน้าที่ของสามีที่จะคอยเติมฟืนสำหรับต้มน้ำ แต่ถ้ามีคนอื่นมาทำให้ แม่ของเด็กจะต้องทำพิธีขอขมาด้วยไก่เพื่อเป็นการล้างมือให้กับคนที่ทำหน้าที่แทนพ่อของเด็ก

              นอกจากนี้ฝ่ายสามีจะต้องทำหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่นจะต้องทำอาหารให้ภรรยา รวมไปถึงคอยซักเสื้อผ้าให้ภรรยาและลูก โดยห้ามซักในแม่น้ำที่คนอื่น ๆ ใช้ น้ำที่ให้ทำอาหารหรือให้ภรรยาและลูกดื่มต้องถูกเก็บไว้ในท่อไม้ไผ่ที่ตัดใหม่

              เมื่อสายสะดือหลุดก็จะนำใส่ไม้ไผ่และฝังไว้ใต้บันไดบ้าน เด็กจะถูกผูกด้วยฝ้ายยันต์ (เป็นการผูกพันคนและจักรวาลเข้าด้วยกัน) ไว้รอบข้อมือหรือคอ เพื่อเป็นการต้อนรับทารกหรือเพื่อปกป้องจากอันตราย ในอดีตเมื่อทารกหย่านมแม่ แม่จะเคี้ยวอาหารให้ละเอียด แล้วป้อนให้ลูกเหมือนกับนก

              บางครั้งหลังคลอดเมื่อตั้งชื่อให้เด็กแล้ว เด็กร้องไห้งอแงก็จะเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ชื่อของชนกะเหรี่ยงคอยาวนอกจากจะบ่งบอกเพศแล้ว ยังบ่งบอกว่าเป็น ลูกคนแรก คนที่สองหรือคนที่สามอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ชื่อลูกสาวคนแรกมักจะนำด้วยคำว่า "หมู่" หลังจากคลอดลูกคนแรกแล้ว พ่อแม่ของเด็กก็จะเป็นที่รู้จักกันจากนั้นในฐานะ "แม่ / พ่อของ ..." และชื่อของแม่หรือพ่อของเด็กก็จะไม่ค่อยมีใครใช้ จะเรียกว่าเป็นแม่ของ… หรือ พ่อของ… แทน

              นอกจากนี้หลังจากคลอดแล้ว บ้านหลังนั้นจะไม่ต้อนรับแขก ถ้ามีคนไปเยี่ยมเยือนหรือไปช่วยดูแลหรือไปช่วยงาน ทางผู้คลอดจะต้องทำพิธีขอขมาด้วยไก่ให้กับผู้นั้น  ทำให้หลังคลอดแล้วบ้านที่คลอดเด็กออกมาจะไม่ค่อยรับแขกที่ไปเยี่ยมเยือน

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

               ในการแต่งงานนั้น หากหนุ่มสาวชอบพอกันและตกลงใจที่จะแต่งงานกัน ฝ่ายชายก็จะพาพ่อแม่ไปพบพ่อแม่ของฝ่ายหญิง พร้อมด้วยของติดไม้ติดมือไปสู่ขอ หากหญิงสาวยอมรับแล้วก็จะมีการหมั้นหมายเอาไว้ก่อน

              ในการหมั้นครอบครัวฝ่ายชายต้องให้สินสอดทองหมั้นเหมือนเป็นการให้คำสัญญา เมื่อแต่งงานแล้วโดยปกติแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย ซึ่งจะมีการเสียสินสอดทองหมั้นมากกว่าการที่ฝ่ายชายย้ายมาอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง โดยหลังจากพูดคุยกันแล้วก็จะมีการกินไก่ร่วมกันระหว่างครอบครัวฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยจะต้องเป็นไก่ที่ครอบครัวฝ่ายชายเตรียมมาเพื่อให้ทั้งคู่รักกันและอยู่กินกันตลอดไป

              สำหรับสินสอดนั้นจะประกอบไปด้วย

              ลาสเคี่ยน หรือ คำสัญญา ยุคก่อนนั้นยังไม่มีกระดาษหรือปากกา จึงทำสัญญาโดยการดื่มเหล้าแทน

              ทาชู หรือ ค่าเลี้ยงดู ที่ฝ่ายชายจะมอบให้กับพ่อของฝ่ายหญิง เช่น เงิน วัว ควาย 

              ไมตู หรือ ค่าน้ำนม ที่จะต้องให้กับแม่ของฝ่ายหญิงที่เลี้ยงฝ่ายหญิงมาตั้งแต่เล็ก มักจะเป็นเหรียญเงิน หรือลูกวัว ลูกควาย เพื่อที่แม่ของฝ่ายหญิงจะได้เลี้ยงไว้สำหรับใช้ในงานศพของตัวเอง เพราะถือว่าลูกไม่อยู่แล้วต่อไปต้องหาเลี้ยงตัวเองและต้องหาสิ่งของไว้สำหรับจัดงานศพของตนเอง

              ทาลิว หรือ ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน เช่น หม้อ กระทะ  ส้อม เสื่อ สำหรับแบ่งให้บรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายหญิง

              ทิกิ หรือ ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเป็นเงินที่ต้องมอบให้กับเจ้าสาวก่อนที่จะแต่งงานกัน

              ข้าว หมู เหล้า และอาหารอื่น ๆ ที่จะใช้เลี้ยงในวันฉลองวันแต่งงาน

              หลังจากที่มีการหมั้นหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งานแต่งงานก็จะจัดขึ้นภายในระยะเวลาไม่นานจากวันที่หมั้นหมายมากนักหรืออาจจะจัดในวันถัดไป โดยจะมีการดูกระดูกไก่เพื่อทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นสำหรับคู่แต่งงานและหาวันที่เหมาะสม แต่ถ้าการทำนายกระดูกไก่ออกมาไม่ดีอาจจะต้องยกเลิกการจัดงานแต่งงาน

              พิธีแต่งงานจะจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย โดยชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะมารวมกันที่บ้านงาน เริ่มจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะผูกข้อมือของทั้งคู่เข้าด้วยกันด้วยด้ายสายสิญจน์ และอาจผูกข้อมือด้วยเงินหรือทองเพื่อให้คู่บ่าวสาวได้มีเงินไว้ตั้งต้นครอบครัว

              จากนั้นทั้งคู่ก็จะดื่มเหล้าด้วยกัน ถือเป็นการสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกันตลอดไป หลังจากนั้นทุกคนก็จะร่วมกันฉลองให้กับคู่แต่งงาน จะมีอาหารต้อนรับแขกตลอดทั้งงาน ซึ่งมีทั้ง เหล้า หมู ไก่ และข้าว การเตรียมการสำหรับงานเลี้ยงสุดท้ายทั้งคืน

    การยกเลิกงานแต่งหรือการหย่า

              หากมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางติดต่อให้ ก็จะเป็นหน้าที่ของคนกลางในการแก้ปัญหาระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

              ถ้าฝ่ายชายเป็นฝ่ายยกเลิก จะต้องถูกริบสินสอดทองหมั้นและอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง และบางครั้งพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็อาจจะเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม เป็นค่าชดเชยความอับอายในครั้งนั้น

              ถ้าฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายยกเลิก ฝ่ายหญิงต้องคืนสินสอดทองหมั้น และจะต้องจ่ายเงินให้กับ

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

              พิธีศพของกะเหรี่ยงคอยาวมีความสำคัญกับจิตวิญญาณและความรู้สึก พิธีศพที่ไม่เหมาะสมและถูกต้องจะทำให้มีปัญหาในครัวเรือน และอาจนำโรคภัยและความโชคร้ายมาสู่หมู่บ้าน ทันทีที่มีคนตายในหมู่บ้าน กะเหรี่ยงคอยาวทุกคนจะละวางจากสิ่งที่กำลังทำ เพื่อมาช่วยงานศพซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน พวกเขามักจะถูกเรียกด้วยเสียงของกลองหรือฆ้อง ทั้งหมู่บ้านจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการทำโลงศพ เตรียมหลุมฝังศพ ฆ่าหมู ไก่ เตรียมอาหารสำหรับงานเลี้ยงแขกในงาน ผู้ตายจะถูกนำมาไว้หน้าห้องหรือห้องรับแขก สถานที่กว้างพอที่จะต้อนรับแขกได้ โดยมีตะกร้า กล่องและสิ่งของวางไว้รอบตัวเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ข้ามได้ ก่อนที่จะถูกวางไว้ในโลงศพจะมีการอาบน้ำศพและเอาเหรียญเงินใส่ไว้ในปาก มีการนำไม้ไผ่ใส่น้ำและผ้าฝ้ายมาทำการล้างศพและโลงศพ และนำไปไว้ที่ต้นไม้นอกหมู่บ้าน ในช่วงเย็นคนหนุ่มสาวเริ่มต้นในการร้องเพลงไว้อาลัยในงานศพที่บ้านของผู้ตายและอาจอยู่จนถึงเช้า โดยจะมีการยืนจับมือเป็นวงกลมและแกว่งไปแกว่งมาซึ่งจะช่วยให้จิตวิญญาณของผู้ตายมีการเดินทางที่ราบรื่นไปยังโลกหน้า และเชื่อกันว่าหากไม่มีการร้องไห้ผู้ตายจะได้ไปสู่สุขคติ เมื่อนำศพออกจากบ้านจะไม่สามารถนำออกทางประตูบ้านได้จะต้องนำออกทางหน้าต่างหรือนำออกทางข้างบ้าน เพราะเชื่อว่าประตูเป็นเส้นทางของคนเป็นของคนปกติ เมื่อตายแล้วจะมาใช้ร่วมกับคนเป็นไม่ได้ ศพจะถูกเก็บไว้เป็นเวลา 2 ถึง 3 วัน แล้วฝังพร้อมกับอาหาร เครื่องมือ เหรียญ เสื้อผ้า บางส่วนซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย มีความเชื่อว่าในชีวิตหลังความตายจะได้พบกับบรรพบุรุษของตนและยังคงทำงานและมีเหงื่อและกินข้าวต่อไป ทรัพย์สมบัติที่ฝังจะทำให้ผู้ตายสะดวกสบายมากขึ้นในดินแดนหลังความตาย ไม้ไผ่ที่ใช้ในการแบกโลงศพจะถูกตัดในแนวขวาง ด้วยเชื่อว่าแผ่นดินนี้เป็นของคนเป็นและแผ่นดินฝั่งตรงข้ามนั้นเป็นของคนตาย สิ่งของต่าง ๆ ที่นำไปใช้ที่สุสานจะไม่ถูกนำกลับมาที่หมู่บ้าน เมื่อกลับไปที่หมู่บ้านแล้ว ทุกคนที่เข้าร่วมพิธีจะชำระล้างในหน้า มือ แขนขา เท้า ด้วยน้ำส้มป่อย ทั้งนี้หากผู้ตายไม่ได้ตายโดยธรรมชาติ เช่น จากอุบัติเหตุ โรคติดต่อหรือหญิงตั้งครรภ์ ในลักษณะนี้จิตวิญญาณของผู้ตายจะแรง จะต้องมีการเรียกจิตวิญญานกลับมา โดยจะมีการแขวนชิ้นเหล็กเกี่ยวไว้กับโลงศพและวางเหล็กอีกชิ้นไว้บนโลงศพ เพื่อให้เมื่อเหล็กกระทบกันแล้วเกิดเสียงดัง เมื่อวิญญานได้ยินเสียงนั้นก็จะกลับมาตามเสียงและจะไม่สร้างความวุ่นวายในอนาคต 

     

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว :

    การเลี้ยงผี

              กะเหรี่ยงคอยาวนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการเชื่อเรื่องผีและสิ่งที่เหนือธรรมชาติ หากกระทำให้ผีไม่พอใจจะทำให้เกิดภัยอันตรายมาสู่คนในบ้านเรือนและชุมชน ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งศาลที่บ้าน ที่ทุ่งนา ริมลำห้วย ในป่า เมื่อจะประกอบพิธีกรรมจะต้องมีการเสี่ยงทายด้วยกระดูกไก่ เพื่อหาฤกษ์ เช่น การปลูกบ้าน ถางไร่ หว่านเมล็ดพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การล่าสัตว์ ถ้ามีการเจ็บป่วยเชื่อว่าผีและวิญญาณมาเอาขวัญผู้ป่วยไป ต้องให้หมอผี หรือ ควางป๋วยซา เป็นผู้ติดต่อสอบถามว่าต้องการให้เซ่นด้วยอะไร เช่น หมู ไก่ ข้าว สุรา บางครั้งถ้ามีโรคระบาดป่วยกันเกือบทั้งหมู่บ้านพวกเขาต้องจัดพิธีกรรมบวงสรวงผีและวิญญาณเพื่อชำระล้างหมู่บ้าน

     

    ชาวบ้านช่วยกันเตรียมสิ่งต่างๆ ที่ต้องใช้ในพิธี