กลุ่มชาติพันธุ์ : กะเลิง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะเลิง
  • ชื่อเรียกตนเอง : กะเลิง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ข่า, ข่าเลิง, ข่ากะเลิง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษากะเลิงจัดอยู่ในภาษาศาสตร์กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Astro-Asiatic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Kkmer)
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              "กะเลิง" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเดิมอาศัยอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแถบลุ่มแม่น้ำโขงก่อนจะอพยพมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยตั้งถิ่นฐานและกระจายตัวอยู่ในอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร, อำเภอเรณู จังหวัดนครพนม และอำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ในประเด็นด้านภาษาของชาวกะเลิงนั้นเดิมพูดภาษากลุ่มมอญ-เขมร (Mon-Khmer) อันเป็นหนึ่งในตระกูลภาษาที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในสองฝั่งโขง (ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2555) และจัดอยู่ในภาษาศาสตร์กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Astro-Asiatic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Kkmer) (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540)

              ชาวกะเลิง มักเรียกตนเองว่า "กะเลิง" ซึ่งไม่พบความหมายเดิมในความทรงจำของกลุ่มที่จะบอกได้ แต่พบความหมายในภาษามอญซึ่งแปลว่า “คน" หรือ “มนุษย์" (วีระพงศ์ มีสถาน, 2548) นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานว่า คำนี้มาจากภาษาจาม คือ กะลุง (klung) เพี้ยนจากภาษาจีนคำว่า "คุณ-ลุน" (K’un-lun) หรือ กุรุง (Kurung) ซึ่งชาวจีนใช้เรียกคนกลุ่มนี้ ภายหลังอารยธรรมเขมรขึ้นมามีอิทธิพลในลาวจรดเวียดนามเหนือ เขมรก็ใช้คำว่า กะลุง (ซึ่งยืมมาจากภาษาจาม) เรียกคนกลุ่มนี้ พร้อมทั้งระบุว่า ถิ่นฐานของชาวกะลุงมีอยู่ในเทือกเขาทางทิศตะวันตก (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2539) มีความสอดคล้องกับการศึกษาในข้างต้นโดยคำว่า คำว่า "กะเลิง" อาจมาจากการกล่าวถึงลักษณะแหล่งที่อยู่ เมื่อพิจารณาตามหลักนิรุกติศาสตร์ พบว่าคำว่า "กะเลิง" มีที่มาจากคําว่าคุณ-ลุน (Kun-Lun) หรือ กุรุง (kurung) ในภาษาจีน และต่อมาเพี้ยนเสียงเป็นคําว่า "กะลุง" (klung) ในภาษาจาม ตัวอย่างเช่นชื่อของกษัตริย์โปกะลุง (po kloung) เข้าใจว่าหลังจากที่คนเขมรได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนามจึงได้ยืมคํานี้มาจากพวกจาม โดยบริเวณที่คนกะเลิงอาศัยอยู่ใกล้กับเมืองเง่อานทางทิศตะวันตกของเทือกเขาอาก (เจมส์ อาร์ เชมเบอร์เลน, 2527 อ้างถึงใน สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2530) และยังกล่าวถึงถิ่นฐานแหล่งใหญ่ของกะเลิงว่า ชาวกะเลิงอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำตะโปน (Tchepon) และที่ต้นน้ำเซบังเหียน (Se’Ban-Hean) ซึ่งชาวกะเลิงนี้มีลักษณะเป็นคนป่าที่รักความสงบ (Le Capitaine De Malglaive et par Le capitainine Rivere, 1902 อ้างถึงใน สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2530)   

              นอกจากนั้น คำว่า "เลิง" ในคำเรียก "กะเลิง" โดยที่คำว่า “เลิง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2554: 1081) ให้ความหมายว่า “น. หนองน้ำ” และในภาษาลาว/ไทยถิ่นอีสาน  หมายถึง  ที่ลุ่มที่มีแอ่งน้ำ คำว่า กะเลิง หรือข่าเลิง จึงอาจเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชนที่มักอาศัยอยู่ในที่ลุ่มมีแอ่งก็เป็นได้ (ปุณชญา ศิวานิพัทน์ และราชันย์ นิลวรรณาภา, 2548) ส่วนข้อมูลของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ชี้ว่าถิ่นฐานเดิมของชาวกะเลิงว่าอยู่บริเวณเทือกเขาอาก โดยทรงอธิบายว่า กะเลิง (หรือในลายพระหัตถ์ว่า “เกลิง”) เป็นพวกที่พูดภาษาอีกแบบหนึ่งต่างหาก อพยพจากเมืองกะตากซึ่งไม่ทรงทราบว่าอยู่ที่ไหน เพราะชาวกะเลิงมาตั้งอยู่ในมณฑลอุดรกันหลายชั่วคน

     

  • อื่น ๆ :

              ภาษากะเลิงจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) สาขาภาษามอญ-เขมร (Schliesinger, 2000:61; สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นักภาษาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะจัดจำแนกภาษากะเลิงอยู่ในสาขาตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มภาษาไต-กะได (southwestern branch of the Tai-Kadai language group) ในหมวดภาษาออสโตรเอเชียติก (Schliesinger, 2000:61) ในเรื่องนี้ ชลิซิงเกอร์ (Schliesinger, 2000:62) มีความเห็นว่า ในประเทศไทย เขาพบคนเฒ่าคนแก่ชาวกะเลิงส่วนหนึ่งที่ยังสามารถพูดภาษาเดิม (ภาษากะเลิง) ได้ โดยที่ลักษณะภาษานั้นมีต้นกำเนิดใกล้กับภาษามอญเขมรไม่ใช่ภาษาไทย แต่ความเปลี่ยนแปลงของการจำแนก (classification) เช่นนี้ อาจจะเป็นผลมาจากการที่ชาวกะเลิงอาศัยอยู่รวมกับคนไทยเป็นเวลานานจนลืมภาษาเดิมของตัวเอง

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย อาจารย์เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

    เอกสารอ้างอิง

              กธิการ ตริสกุล. (2550). กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยกะเลิง. ใน สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน (บรรณาธิการ), กลุ่มชาติพันธุ์ในอีสาน. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

              เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2558). ชุมชนชาติพันธุ์ "บรู" ร่วมสมัยบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว: วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ดุษฎีนิพนธ์ สาขามานุษยวิทยา).

              คำภา กระทุ่มขันธ์. (2526). วิเคราะห์ภาษากะเลิง บ้านเชิงชุม ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2526.

              ดำรงราชานุภาพ, ส. (2466). เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 4. พระนคร: โรงพิมพ์โสภรพิพรรฒธนากร.

              ทรงคุณ จันทจร. (2010). การถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านในเรื่องทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง. มหาสารคาม : คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.

              พิสิฏฐ์ บุญไชย. (2546). กะเลิงจังหวัดสกลนคร เจ้าสมุนไพรแห่งเขาภูพาน. อีสานศึกษา 2,3 (ต.ค.-ธ.ค. 2546), 26-34.

              ภานุพงศ์ พิลาศรี. (2533). 'กะเลิง' สกลนครชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขงผู้รักความสงบ. มติชน, 19 กุมภาพันธุ์ 2533 (17).

              รัตนา วรรณชาติ. (2559). การปรับตัวทางวัฒนธรรมในบริบทสังคมอีสานภายใต้รัฐไทยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง บ้านดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร . พัฒนานิพนธ์ สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

              วีระพงศ์ มีสถาน. (2005). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย : กะเลิง. นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2548.

              สุระ อุณวงศ์ และคณะ. (2542). หนังสือประวัติวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยกะเลิงบ้านดอนตาล. เอกสารอัดสำเนาเย็บเล่ม.

              สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2524). กะเลิง. เมืองโบราณ 7,3 (ส.ค.-พ.ย. 2524), 108-114.

              สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2530). การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2530.

              สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2530). ศักยภาพในการรักษาป่าชุมชนของชนกลุ่มผู้ไทย โซ่ กะเลิง กรณีศึกษา จ.มุกดาหาร นครพนม และสกลนคร. สกลนคร: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสกลนคร.

              สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2535). กะเลิงบ้านกุดแฮด. สกลนคร : ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูสกลนคร, 2535.

              สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2539). กะเลิงบ้านบัว. สกลนคร : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2531.

              สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์. (2540). การเปลี่ยนแปลงวิถีครอบครัวและชุมชนอีสาน : กรณีกะเลิง จังหวัดมุกดาหาร. กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

    ภาษาอังกฤษ

              Schliesinger, J. Ethnic groups of Laos. White Lotus Press.

              Schliesinger, J. (2000). Ethnic groups of Thailand : Non-Tai-speaking peoples. Bangkok : White Lotus Press, c2000.

              Schliesinger, J. (2003). Ethnic groups of Laos. 1. Introduction and overview. White Lotus Press.

              Schliesinger, J. (2003). Ethnic groups of Laos. 2. Profile of Austro-Asiatic-speaking peoples. White Lotus Press.

    สัมภาษณ์

              นางหลาย  หมั่นสิงห์. อายุ 77 ปี. บ้านดอนตาล อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร. สัมภาษณ์

              นางบุญพะมา  ประสานชม. อายุ 80 ปี. บ้านดอนตาล อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร. สัมภาษณ์

              นางร่วม  อุทธศรี. อายุ 76 ปี. บ้านดอนตาล อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร. สัมภาษณ์

              นางซุม  ปริปุณะ. อายุ 77 ปี. บ้านดอนตาล อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร. สัมภาษณ์

              นางบัวผัน  บุทธจักร. อายุ 65 ปี. บ้านดอนตาล อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร. สัมภาษณ์

              นางลี  อุทธศรี. อายุ 76 ปี. บ้านดอนตาล อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร. สัมภาษณ์

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
สกลนคร นครพนม หนองคาย70000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              ชาวกะเลิงเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของลาว ติดกับเวียดนาม ชาวกะเลิงอพยพข้ามมาจากลาว เช่น แขวงสะหวันนะเขต เข้าสู่ประเทศไทยหลายระยะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเงื่อนไขของภัยทางการเมืองการปกครอง เช่น ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และครั้งศึกจีนฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2524) ในเหตุการณ์เหล่านี้ ชาวกะเลิงร่วมเป็นหนึ่งในบรรดาผู้คนที่หนีภัยสงคราม หรือถูกกวาดต้อนอพยพมายังดินแดนอีสาน เช่น ในจังหวัดสกลนคร และมุกดาหาร (วีระพงศ์ มีสถาน, 2005; กธิการ ตริสกุล, 2550) พระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการที่เมืองนครพนม (ปี 2449) ได้กล่าวถึงกลุ่มกะเลิงไว้ว่า  "...ชาวกะเลิงพบในแขวงสกลนครมีมาก ว่าถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองกะตาก แต่ไม่รู้ว่าเมืองกะตากอยู่ที่ไหน เพราะอพยพมาอยู่ในแดนล้านช้างมาหลายชั่วคนแล้ว ..." เมืองกะตากในฝั่งลาวไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอยู่ที่ใด  อย่างไรก็ตาม มีชาวกะเลิงที่อพยพมาฝั่งไทยยังทรงจำได้ (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2524) ถึงการที่พวกเขาอพยพมาจากเมืองภูวานากะแด้งหรือบ้านภูวานากะแด้ง แขวงเมืองภูวดลว่าง ต่อเขตเมืองคำเกิดคำม่วน ลุ่มน้ำตะโปนและแม่น้ำบังเหียน บ้านภูวานากะแด้งนี้อยู่แถบเมืองมหาชัยกองแก้ว เชิงเขาอาก สปป.ลาว (ภานุพงศ์ พิลาศรี, 2533) ซึ่งก็คือบริเวณภาคกลางของลาว (แขวงคำม่วงและแขวงสะหวันนเขต) ในปัจจุบัน

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              ชาวกะเลิงอาศัยกระจายตัวอยู่เป็นชุมชนในหลายจังหวัดของภาคอีสาน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดสกลนคร โดยในงานชิ้นนี้ขอยกตัวอย่างชุมชนชาวกะเลิงมาบางชุมชน อันมีรายละเอียดดังนี้ 

              บ้านโนนสังข์ศรี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

              ประมาณปี 2301 ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดสงครามระหว่างเวียงจันทร์กับเมืองนครพนม ชาวกะเลิงที่บ้านกุดน้ำแล้ง เมืองดงเห็น แขวงสะหวันนะเขต ได้อพยพมาตั้งชุมชนทางฝั่งขวาแม่น้ำซึ่งเป็นภาคอีสานในปัจจุบัน สถานที่ตั้งหมู่บ้านครั้งแรกคือบริเวณบ้านนาเสียงแคนหรือบ้านโนนตูม ริมห้วยน้ำเช็ดทางด้านทิศเหนือ (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 15-20) ต่อมาในปี 2501 บ้านนาเสียงแคนเกิดไฟไหม้ป่าลุกลามมาติดบ้านเรือน ชาวบ้านจึงได้ย้ายออกมาตั้งบ้านเรือนห่างจากที่เดิมประมาณ 2 กิโลเมตรและได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านโนนสังข์ศรี เพราะบริเวณดังกล่าวมีต้นสังข์ขนาดใหญ่ ประชากรชาวกะเลิงบ้านโนนสังข์ศรีในปี 2535 มีประมาณ 193 ครัวเรือน ภายหลังต่อมาเกิดโรคระบาดทำให้ชุมชนชาวกะเลิงย้ายออกไปตั้งชุมชนใหม่ทั้งไกลและใกล้จากชุมชนเดิม เช่น บ้านโนนก่อ บ้านโพธิ์ศรี บ้านนาสีนวล บ้านแสนพัน เป็นต้น

              บ้านดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร

              ชาวกะเลิงบ้านดอนตาล มีประวัติความเป็นมาว่า เดิมที่พ่ออัญญาพร และญาแม่หม่อมการ  เป็นคนลาว ได้พาลูกหลานอพยพมาจากเมืองหนองบัวลำภูเพื่อแสวงหาที่สร้างบ้านเรือน ครั้งแรกได้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบเมืองอุบล แต่ก็พบความแห้งแล้งจึงได้อพยพข้ามไปยังฝั่งลาว บ้านแก้งกอกดงคเนย ที่นี่พวกเขาได้พบข่าเลิงที่มีท้าวราชบุตรโคตรเป็นหัวหน้า จึงได้ขอสร้างบ้านเรือนอยู่ร่วมกันในที่นั้น แต่อยู่มาไม่นานก็ต้องพบความแห้งแล้งอีก ครั้งนี้ท้าวกินรี ชาวกะเลิงจากจำปาสัก ได้มาสมทบกับข่ากะเลิงที่นี่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งหมดจึงได้พาครอบครัวชาวกะเลิงเสาะหาสถานที่อันอุดมสมบูรณ์เพื่อสร้างบ้านเรือน จนมาพบที่หัวดอนตาลอันเป็นเกาะกลางน้ำ จึงได้พากันตั้งบ้านเรือนที่หัวเกาะริมฝั่งแม่น้ำโขง อยู่ต่อมาก็เกิดโรคระบาดหนัก ผู้คนล้มตายจำนวนไม่น้อย พวกเขาจึงอพยพเคลื่อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านใต้ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 100 เมตร เป็นบ้านดอนตาลและกลายเป็นอำเภอในปัจจุบัน (ลี  อุทธศรี และบุญพะมา ประสานชม, สัมภาษณ์ : สิงหาคม 2560) ในปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชาวกะเลิงโดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายและการตั้งบ้านเรือน ชาวกะเลิงมักจะอ้างอิงถึงผู้นำสำคัญที่ได้กล่าวมา คือ พ่ออัญญาพร และญาแม่หม่อมการ (มีลูกคนสำคัญคือ พ่ออาชญาชาวมุงคุณ), ท้าวราชาบุตรโคตร, และท้าวกินรี (สิทธิศักดิ์ สุวรรณเก, สัมภาษณ์ : สิงหาคม 2560) ในปัจจุบัน ประชากรทั้งหมด 7,684 ครัวเรือน 42,298 คน ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านบ้านดอนตาลได้ถูกยกขึ้นเป็นตำบลดอนตาล ในปี 2506 และเป็นอำเภอดอนตาลในปี 2517 ตามลำดับ (สุระ อุณวงศ์ และคณะ, 2542 : 16-20)

              การอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคนลาวทำให้ชาวกะเลิงบ้านดอนตาลค่อย ๆ รับวัฒนธรรมลาว ผนวกกับอำนาจและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปัจจุบันภาษากะเลิงได้สูญหายไปแล้ว (สิทธิศักดิ์  สุวรรณเก, สัมภาษณ์ พ.ศ. 2560) แต่ชาวกะเลิงที่นี่ยังเลือกเอาสัญลักษณ์วัฒนธรรม เช่น ชื่อเรียกชาติพันธุ์ ความทรงจำร่วม ความเชื่อ มาประกอบสร้างเป็นอัตลักษณชาติพันธุ์ ผสมผสานกับวัฒนธรรมลาว โดยเฉพาะในกระแสการท่องเที่ยว

              บ้านบัว ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร     

              ชาวกะเลิงในจังหวัดสกลนคร สันนิษฐานกันว่า ได้อพยพมาแต่ครั้งศึกตามฮ่อในรัชกาลที่ 5 พวกเขาได้อพยพจากเมืองภูวานากะเด้ง (ภานุพงศ์ พิลาศรี, 2533) ติดตามแม่ทัพนายกองเข้ามาอยู่เมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริเวณใกล้ตัวเมืองสกลนคร เช่น บ้านนายอ บ้านนามน บ้านโพนงาม ต่อมามีชาวกะเลิงอีกส่วนหนึ่งสมัครใจอพยพขึ้นไปตั้งหลักแหล่งบนเทือกเขาภูพาน ในบ้านบัว อำเภอกุดบาก ต่อมาในปี 2460 ได้เกิดโรคระบาดที่เรียกว่า โรคห่า อย่างรุนแรง จึงมีการอพยพเคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านเหล่าห่างจากบ้านบัว 1 กิโลเมตร

              บ้านกุดแฮด อ.กุดบาก จ.สกลนคร

              ชาวกะเลิงที่นี้มีเชื้อสายเดียวกับกับบ้านบัว ได้อพยพจากบ้านภูวานากะแด้ง เมื่อครั้งศึกปราบฮ้อในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเกรงภัยตรายจากจีนฮ่อบ้านกุดแฮด เดิมชื่อบ้านกกพง เพราะมีต้นพงขนาดใหญ่บริเวณนั้น ต่อมาจึงเรียกว่าบ้านกุดแฮด มาจากคำ 2 คำคือ กุด ซึ่งหมายถึงหนองน้ำหรือบึง และ แฮด หมายถึง แรด บ้านกุดแฮดจึงเคยเป็นหนองน้ำที่เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของแรดมาก่อน ปัจจุบันชาวบ้านยังเคารพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน (พิสิฏฐ์ บุญไชย, 2546) ซึ่งทั้งบ้านกุดแฮดและบ้านบัวถือว่าเป็นชุมชนที่มีชาวกะเลิงมากที่สุด ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              เดิมชาวกะเลิงมีลักษณะทางวัฒนธรรม เช่น ชื่อเรียกชาติพันธุ์ ภาษา ความเชื่อและจารีตเฉพาะตัว ระบบความเชื่อได้ทำให้เกิดจารีตที่ควบคุมพฤติกรรม และความสัมพันธ์ภายในของชาวกะเลิงไว้อย่างเฉพาะ เป็นต้นว่า ข้อห้ามที่กำกับพฤติกรรม/มารยาทของเขยหรือสะใภ้, การแต่งงานกันเองภายในกลุ่ม เพื่อให้ถูกต้องตามจารีตและผีที่นับถือ ลักษณะดังกล่าวทำให้ชาวกะเลิงปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นน้อย ยกเว้นในเงื่อนไขจำเป็น เช่น การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ อาทิ นำข้าวหรือผลผลิตมาแลกเกลือกับคนลาว สิ่งนี้ทำให้ชาวกะเลิงมีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แตกต่างจากกลุ่มอื่น ขณะเดียวกัน ชาติพันธุ์กลุ่มอื่นเช่น คนลาว ก็รับรู้ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ เช่น ภาษา ความเชื่อและจารีตของชาวกะเลิงไปพร้อมกัน โดยเฉพาะสถานฐานะทางสังคมของการเป็น “ข่า” อันแสดงความเป็นอื่น ดังในเอกสารพื้นเวียงของจารุบุตร เรื่องสุวรรณ (อ้างใน ทรงคุณ จันทจร, 2553 : 67) ตอนหนึ่งว่า “...ฝูงใดเป็นพี่น้องพลัดพรากหนีกัน เขาก็กุมเอากวาดต้อนเมือเลี้ยง ฝูงหมู่ชาวกะเลิงข่าออกกะซอนขัดง่อน เขาก็เต้นไต่ก้อนผาขึ้นฮอดดอย ไปลอดลี้ตนอยู่ภูซัน เขาก็นำเอากันผูกมือเมือไว้...”  อันแสดงนัยถึงชาวกะเลิงที่เป็นข่า ที่ถูกกวาดต้อนมาเลี้ยงไว้ แม้พวกเขาจะหลบลี้หนีไปซ่อนตามภูตามผาก็ตาม

              แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวกะเลิงอพยพข้ามมาอยู่ฝั่งอีสานของประเทศไทย พวกเขาอยู่ร่วมและปฏิสัมพันธ์กับคนลาวและผู้ไท ทำให้เกิดการรับวัฒนธรรมมาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตัวเอง ในปัจจุบันภาษาพูดของชาวกะเลิงแทบจะหมดไปในหมู่บ้านโนนสังข์ศรี อ.คำชะอี และบ้านดอนตาล อ.ดอนตาล ไม่มีผู้ที่สามารถพูดภาษากะเลิงได้มาอย่างน้อย 2-3 ชั่วอายุคนแล้ว ระบบความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาวกะเลิงได้ถูกปรับเปลี่ยนไปคล้ายกับคนลาวหรือผู้ไทอย่างมาก

    อาชีพ

              ในอดีต ชาวกะเลิงมักจะทำข้าวไร่และเก็บของป่าล่าสัตว์ แต่เมื่ออยู่ร่วมกับคนลาวมากขึ้น ชาวกะเลิงได้หันมาทำนาในที่ลุ่มใช้เทคนิควิธีเหมือนกับคนไทย/ลาว ชาวกะเลิงบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก ส่วนข้าวจ้าวนั้นเป็นส่วนเสริม พวกเขาปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง มัน แตงกวา หอม มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มะนาว ขนุนและผักผลไม้อื่น ๆ ในอดีตเคยปลูกฝ้ายและทอผ้าแต่ปัจจุบันไม่ได้ปลูกแล้ว ชาวกะเลิงจะเลี้ยงสัตว์ เช่น ควาย วัว หมู เป็ด ไก่ 

              ชาวกะเลิงล่าสัตว์ในป่าหรือในทุ่ง เช่น นก กระต่าย ลิง กระรอก งูและสัตว์อื่น ๆ โดยใช้ปืนไฟหนังสติ๊กหรือกับดัก และบางกลุ่มที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำใหญ่ การตกปลาหรือการหาปลา (โดยใช้ตะขอหรือกับดัก) ก็เป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน ในการหาของป่าชาวกระเลิงยังเก็บเห็ด หน่อไม้ ตะไคร้ หอยเชอรี่ จั๊กจั่นและลูกน้ำมาบริโภคด้วย พวกเขารู้จักใช้สมุนไพรที่หามาจากป่าเพื่อรักษาโรค เช่น มาลาเรีย ปวดท้องหรือไข้หวัด

              ปัจจุบันชาวกะเลิงส่วนใหญ่ทำนาลุ่มแบบคนไทยอีสาน นอกจากนี้ในกระแสความเปลี่ยนแปลงในชาวกะเลิงก็ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำกิน เช่น การปลูกพืชพาณิชย์ มันสำปะหลัง อ้อย รวมถึงยางพาราด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามชาวกะเลิงจำนวนหนึ่งยังคงออกไปหาทำงานรับจ้างตามโรงงาน เช่น กรุงเทพฯ 

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              ชาวกะเลิงจะเป็นหน่วยครอบครัวขนาดเล็กที่ผู้ชายเป็นใหญ่ สามีหาเลี้ยงครอบครัว สมาชิกในครอบครัวจะให้ความเคารพพ่อบ้าน เช่น ยามกินข้าว จะต้องให้พ่อบ้านกินก่อน 3 คำ แล้วจึงจะให้สมาชิกกินตาม (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 41) ในการสืบสกุลนั้น ผู้หญิงเป็นผู้สืบมรดก (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 42) 

              ในอดีต ชาวกะเลิงมีผู้นำชุมชนโดยสัมพันธ์กับจารีตประเพณีของกลุ่ม ซึ่งมักจะเป็นบรรดาผู้อาวุโสจากกลุ่มตระกูล พวกเขาจะเป็นคนตัดสินปัญหาความขัดแย้งในชุมชน คอยให้คำแนะนำสมาชิกครัวเรือน เช่น การจัดงานแต่งงาน จัดการพิธีกรรมและการบูชาเซ่นไหว้ผี (Schliesinger, 2000:64)

         

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              การแต่งงานชาวกะเลิงนิยมแต่งงานกันภายในกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกลุ่มตระกูลทั้งสองจะเจรจากันเพื่อตกลงค่าสินสอดและกำหนดวันแต่งงานให้กับคู่บ่าวสาว กล่าวคือ พ่อแม่ของฝ่ายชายจะส่งหมอสื่อเป็นตัวแทนไปเจรจาสู่ขอที่กลุ่มตระกูลฝ่ายหญิง เจ้าโคตรของกลุ่มตระกูลฝ่ายหญิงจะเป็นตัวแทนเรียกร้องค่าสินสอด ในกระบวนการนี้อาจมีการต่อรองกันหากค่าสินสอดแพงกว่าที่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อกำหนดวันเวลาได้แล้ว เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมเงินสินสอดและของ 7 สิ่ง มาให้ฝ่ายหญิง คือ ค่าน้ำนม 3 บาท ค่านำหัวหมู (เดิมใช้หมูที่ยังมีชีวิต) ค่าตำเนืองเครื่องบ้าน ไก่ 12 ตัว กระบุงกะสัดใส่พริกป่น เกลือ ด้าย เงิน 10 สตางค์ พาข้าวและเนื้อสด เจ้าโคตรฝ่ายหญิงจะทำพิธีเลี้ยงผีตระกูลเพื่อบอกกล่าวให้รับรู้ และนำเขยเข้าสู่กลุ่มตระกูล ฝ่ายเจ้าสาวจะเตรียมของสมมาให้กับแขก มีที่นอน ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า เป็นต้น เมื่อแห่เจ้าบ่าวมาถึงจะมีการสูตรขวัญเจ้าป่าว หมอสื่อป้อนไข่และเอาไก่กวาดหลังบ่าวสาว เอาศีรษะกระทบกัน และที่สำคัญคือ “วังคอง” หมายถึง ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะทำพิธีเฆี่ยนเขย ซึ่งมีนัยถึงการอบรมสั่งสอนให้ทราบถึงหน้าที่ของสามีต่อภรรยาและต่อไป วังคอง จะเป็นผู้พิจารณาพฤติกรรมของเขย รวมถึงมีอำนาจตัดสินลงโทษหรือปรับไหมเขยได้ เมื่อส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวแล้วพวกเขาจะต้องพาเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาทำพิธีสมมาญาติเจ้าบ่าว 

          ปัจจุบัน ชาวกะเลิงมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มกับคนลาวและคนไทย ค่าสินสอดสำหรับการแต่งงานประมาณสามหมื่นบาท หลังจากแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง  มรดกของตระกูลจะตกทอดไปสู่ลูกหลานเท่ากัน เรือนตระกูลจะถูกสืบทอดไปยังลูกคนที่ดูแลพ่อแม่ (Schliesinger, 2000:64) 

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              ในอดีตชาวบ้านกะเลิงจะสวมใส่เสื้อผ้าประจำกลุ่มตามจารีตของตัวเอง ชุดแต่งกายของผู้หญิงนั้นจะเป็นผ้าย้อมคราม เช่น ผ้าโสร่งย้อมคราม และผ้าโพกศีรษะขาวหรือดำ (Schliesinger, 2000) เสื้อย้อมครามของผู้หญิงนั้นทำจากผ้าผืนชิ้นเดียวกว้างประมาณศอกเศษ นำมาทบเย็บด้านข้าง แต่เหลือช่องไว้สอดแขน แล้วตัดหรือแหวกช่องตรงรอยทบให้เป็นช่องซึ่งบริเวณที่ตัดเป็นแนวยาวนี้จะเป็นคอเสื้อ เรียก เสื้อกระสอบ ผู้หญิงยังนุ่งผ้าถุงสีดำหรือสีน้ำเงินคราม โพกหัวด้วยผ้าด้ายดิบสีขาวหรือสีดำ (วีระพงศ์ มีสถาน, 2005 : 12) ผู้ชายจะใส่ผ้าขาวม้าและเสื้อย้อมครามหรือเปลือยกายท่อนบน (Schliesinger, 2000) บ้างก็นุ่งผ้าแพรวาสีดำหรือสีครามปล่อยชายหรือรวบชายเหน็บเตี่ยว สวมเสื้อกระสอบคล้ายผู้หญิงและอาจโพกหัวด้วยผ้าสีดำ (วีระพงศ์ มีสถาน, 2005 : 12)

              ในสมัยโบราณชาวกะเลิงนิยมสักนกที่แก้มและสักขาให้เป็นลาย นิยมสักนับตั้งแต่เหนือหัวเข่าสะโพก เอว ข้อมือ ข้อเท้า โดยเชื่อว่า ชายใดจะได้ก่ายกอดหญิงจะต้องสักให้ลายที่ขา ที่เอว ที่แก้มด้วย (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2524) ในเรื่องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้กล่าวถึงกลุ่มกะเลิงไว้ว่า ผู้ชายไว้ผมปะบ่าและมักสัตว์เป็นลูกนกที่แก้ม (ดำรงราชานุภาพ, 2466) การสักลายตามตัวยังแฝงความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ การอยู่คงกระพันและแสดงความเป็นชายเต็มตัว (กธิการ ตริสกุล, 2550: 84)

              ชาวกะเลิงมีความสันทัดในการทำผลิตภัณฑ์จากป่านจนเป็นรู้จักของชุมชนข้างเคียงโดยเฉพาะคนลาว มักนิยมปลูกฝ้ายและนำมาทอเป็นเสื้อผ้าย้อมครามซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะพวกเขาเชื่อว่า ครามเป็นต้นไม้ที่ศักดิสิทธิ์ เมื่อนำมาย้อมผ้าสวมใส่ก็จะเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้อง ทำให้ผู้สวมใส่สุขกาย สบายใจและในการประกอบพิธีกรรม ชาวกะเลิงจะนำผ้าย้อมครามไปใช้ในการประกอบพิธีเลี้ยงผีต่าง ๆ เช่น เป็นเครื่องคายใช้ในการประกอบพิธีเหยารักษาอาการเจ็บป่วย ถ้าไม่ใช้ผ้าย้อมครามในการประกอบพิธีเหยา อาการเจ็บป่วยก็จะไม่หาย ผีบรรพบุรุษที่ลงมาเหยาแต่ละครั้งจะจำผ้าย้อมครามที่เคยใส่ได้ (รัตนา วรรณชาติ, 2559)

              นางร่วม  อุทธศรี อายุ 76 ปี (สัมภาษณ์ : สิงหาคม 2560) ชาวกะเลิงบ้านดอนตาลเล่าว่า ชาวกะเลิงบ้านดอนตาลนั้น ผู้ชายสมัยก่อนไม่นิยมใส่เสื้อ นิยมสักรอยสักตามลำตัว แขน ขา ศีรษะ และแก้ม ส่วนผู้หญิงจะนิยมไว้ผมยาว เกล้ามวย ใส่ต่างหูเงินขนาดใหญ่ทั้งสองข้าง นุ่งผ้าถุงสีดำ ตีนผ้าถุงลายแดงสลับขาว ใส่เสื้อแขนกระบอกผู้หญิงชาวกะเลิงจะเจาะติ่งหูและใส่ตุ้มหูงาช้างหรือไม้ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับเงิน (Silver) และสร้อยคอลูกปัด        

              ในยุคต่อมา ชาวกะเลิงได้ปรับตัวรับเอาประเพณีของคนไทยและลาว ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อหลายรูปแบบทั้งเสื้อคอกะเช้า เสื้อยืด เสื้อสมัยนิยมจากโรงงาน ผู้ชายนุ่งกางเกงและเสื้อเชิ้ตหรือไม่ก็เปลือยกายท่อนบน ปัจจุบันชาวกะเลิงซื้อเสื้อผ้าจากตลาดในท้องถิ่น 

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

     

     

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              เนื่องจากชาวกะเลิงอาศัยร่วมกับคนลาวอีสาน ผู้ไทและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ส่งผลให้เกิดการหยิบยืมและผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีบางชุมชนที่สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีไว้ได้อย่างแข็งเรง โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง พิธีเลี้ยงผีชุมชนชาวกะเลิงบ้านดอนตาล มีรายละเอียดดังนี้ 

              ประเพณีสำคัญในชุมชนกล่าวเฉพาะชาวกะเลิงดอนตาล ทุกปีจะมีการทำพิธีเลี้ยงผีชุมชน คือ เจ้าโฮงแป้นแผ่นทองเหลือ ในเดือน 6 เจ้าปู่ถือว่าเป็นผีมเหสักข์ที่บรรดาผู้เฒ่าหรือผู้อาวุโสของชุมชนอัญเชิญมาจากหนองบัวลำภู (หลาย หมั่นสิงห์, สัมภาษณ์ : สิงหาคม 60) เพื่อมาเป็นสิ่งสูงสุดในการนับถือให้คอยปกป้องดูแลหมู่บ้านและชุมชน โดยได้มีการสร้างหอโฮง เพื่อเชิญท่านให้ประทับ ต่อมาชาวบ้านได้เรียกเจ้าปู่ว่า “เจ้าโฮงแป้นแผ่นทองเหลือง” หรือเจ้าจอมหัวเจ้าปูมหัว (สุระ อุณวงศ์ และคณะ, 2542 : 18) ชาวบ้านเชื่อว่า เจ้าปู่ชอบสีแดง ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงบุญพิธีเลี้ยงประจำปี ชาวบ้านจะนำเสื้อผ้าสีแดงพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าขาว หมูหรือไก่ อันเป็นเครื่องเซ่นไปถวายท่านและร่วมเฉลิมฉลองกินดื่ม เพื่อให้เจ้าปู่พึงพอใจ อันยังผลให้เกิดการปกป้องคุ้มครองดูแลลูกหลาน รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ในผลผลิต เช่น ข้าวกล้า เป็นต้น (บุญพะมา ประสานชม, สัมภาษณ์ : สิงหาคม 2560) อย่างไรก็ดี งานเลี้ยงผีสูงสุดของชุมชนกะเลิงดอนตาลนี้ ถือว่าเป็นพิธีสำคัญที่พวกเขาใช้แสดงออกซึ่งความเป็นกลุ่มชาวกะเลิง เพราะชุดแต่งกายด้วยผ้าซิ่นและเสื้อสีดำหรือสีย้อมครามที่ใช้สื่อถึงความเป็นกะเลิงจะถูกสวมใส่เพื่อมาร่วมพิธีและฟ้อนรำถวายเจ้าปู่ด้วย ในการนี้ยังได้ถูกนำมาผนวกร่วมกับการท่องเที่ยวอีกด้วย ในงานจะมีคณะนางรำจากเทศบาลหรือต่างถิ่น หมอลำหมอแคน มาร่วมเฉลิมฉลองในงาน นอกจากนี้ในบางปีจะมีการจ้างคณะหมอลำหรือลำซิ่งมาตั้งเวทีแสดง โดยมีผู้คนต่างถิ่นที่ศรัทธาในเจ้าปู่มาบะบนขอพร รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนจำนวนมาก

     

        

    พิธีเลี้ยงผีเจ้าปู่ “เจ้าโฮงแป้นแผ่นทองเหลือง” ของชาวกะเลิงดอนตาล มุกดาหาร

    ภาพโดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง

     

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              ในวิถีการคลอดบุตร ชาวกะเลิงจะคลอดที่เรือนของตนเองโดยมีหมอตำแยมาทำคลอดและภายหลังจากคลอดจะมีการอยู่ไฟ มีการควบคุมการกินอาหาร อาหารที่เชื่อว่าปลอดภัยสำหรับคนอยู่ไฟคือ ปลาย่าง เกลือและข้าว อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กงอแง เจ็บป่วย เลี้ยงยากจะมีการเชิญหมอเยามารักษา (วีระพงศ์ มีสถาน, 2005) 

     

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              เมื่อมีคนตาย ชาวกะเลิงจะเผาศพ (Schliesinger, 2000 : 64-65) แต่สำหรับกรณีที่ตายด้วยอุบัติเหตุหรือตายตั้งแต่ยังอายุยังน้อยต่ำกว่า 7 ปี จะใช้วิธีฝังศพ (Schliesinger, 2000) ปัจจุบัน เมื่อหันมานับถือพุทธศาสนาแล้วก็มีการจัดการศพแบบพุทธศาสนา แต่ความเชื่อเดิมยังมีอิทธิพลอยู่ส่วนหนึ่ง คือ เมื่อตายในหมู่บ้านหรือชุมชน ชาวกะเลิงจะตั้งศพไว้ที่บ้านของผู้ตาย แต่หากเป็นการตายผิดปกติที่เรียกว่า ตายโหง จะนำศพไปตั้งไว้ที่วัดไม่นิยมตั้งไว้ที่บ้าน (วีระพงศ์ มีสถาน, 2005:19) ชาวกะเลิงมีพิธีส่งวิญญาณผู้ตายสู่สวรรค์ โดยจะให้หม้อดินใส่กระดูก เอาเชือกผูกคอหม้อโยงกับคันแร้ว เสร็จแล้วปล่อยทิ้งไว้กระทั้งเมื่อเชือกเปื่อยจนขาด คันแร้วจะตวัดหม้อขึ้น ชาวกะเลิงเชื่อว่าเป็นการนำวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเปลี่ยนจากหม้อมาใช้ขวดบรรจุกระดูกผู้ตาย แล้วใช้เทียนจุดรนเชือกให้ขาด แล้วคันแร้วก็จะตวัดขวดขึ้นถือว่าเป็นการส่งวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 287)

     

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              เนื่องด้วยระบบความเชื่อของชาวกะเลิงคือการนับถือผี พิธีกรรมที่ปฏิบัติในกลุ่มจึงเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผี ทั้งผีเรือนและผีสูงสุดหรือผีชุมชน

              การเลี้ยงผีเรือนนั้น ไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่จะเลี้ยง เมื่อเขยหรือสะใภ้ทำผิดผีและมีการปรับไหม โดยที่ ผู้เฒ่าผู้แก่ในกลุ่มตระกูลเป็นผู้มีอำนาจในการปรับไหม เขยหรือสะใภ้จะต้องแต่งขันธ์ 5 ยอมขอขมาและหาควายหรือหมูมาให้โดยทำเป็นอาหารใส่ถาด (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 149) พร้อมทั้งแต่งขันธ์ 5 มีหมากจีบกอกยา ดอกไม้เทียนคู่ เหล้า 1 ขวด และไข่ไก่ 1 ฟอง เสร็จแล้วนำถาดข้าวและขันธ์ 5 ไปที่ห้องเปิง เจ้าโคตรจะจ้ำผีที่ห้องเปิงเพื่อบอกกล่าวขอขมาความผิดให้กับเขยหรือสะใภ้ เสร็จแล้วนำขันธ์ 5 ขึ้นไว้ที่หัวนอนตามเดิม

              การนับถือผีสูงสุดของชุมชนของชาวกะเลิงทำให้เกิดพิธีขึ้นผี พิธีเลี้ยงขึ้นและพิธีเลี้ยงลง  

              พิธีขึ้นผี เป็นเสมือนการเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าวผีสูงสุดให้รับรู้หรือขออนุญาต เช่น เมื่อจะเอากระดูกคนตายมาทำพิธีเข้าธาตุเจดีย์, ลูกสาวแต่งงาน, ครัวเรือนในหมู่บ้านจะจัดงาน, ชุมชนจัดงานบุญ โดยจะมีเครื่องเซ่นที่จะต้องถือไปเซ่นผีสูงสุด คือ ดอกไม้เทียนคู่ ไก่ต้ม 2 ตัวหรือหมู ขันธ์ 5 ขันธ์ 8 ซิ่นไหมแพรวา กล้วยสุก 1 ลูก เหล้า 1 ขวด เงิน 12 บาท น้ำ 1 แก้ว (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 151-154) ในการนี้หากลูกสาวของใครท้องก่อนแต่งจะถือว่าผิดผี พ่อแม่และเครือญาติจะต้องทำพิธีขึ้นผีเพื่อเลี้ยงขอขมาผีสูงสุด 

              พิธีเลี้ยงลง เป็นการเลี้ยงสำคัญในรอบปีโดยกำหนดเอาในเดือน 6 ของทุกปี (มักเป็นวันอังคารแรกของเดือน) พิธีนี้เป็นการเลี้ยงเพื่อบอกให้ผีสูงสุดทราบว่าชาวบ้านจะลงทำนา ขอให้ฝนฟ้าโปรยปรายลงมา โดยจะมีเครื่องเซ่นเนื้อควาย หัวควาย หูควาย ตีนควาย โดยมีเจ้าจ้ำนำทำพิธีบอกกล่าวให้ผีมารับเครื่องเซ่น ลูกหลานจะลงนาขอให้ดูแลลูกหลานและให้การทำนาสะดวก ฟ้าฝนตกลงมา 

              พิธีเลี้ยงขึ้น เป็นการเลี้ยงตอนใกล้จะเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะทำข้าวเม่าแล้วแบ่งให้เจ้าจ้ำนำไปเซ่นผีสูงสุดของชุมชน เจ้าจ้ำจะเก็บรวบรวมข้าวเม่าจากชาวบ้านไว้ 1-2 วันแล้วนำไปทำพิธีที่ตูบของผี ลักษณะเช่นนี้เจ้าจ้ำอาจจะเทียวไปทำพิธีหลายครั้งเนื่องจากชาวบ้านทำข้าวเม่าไม่พร้อมกัน การเก็บข้าวเม่าไว้นานก็อาจจะเน่าเสียได้

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              ในสังคมจารีต ชาวกะเลิงนับถือศาสนาผีหรือวิญญาณนิยม (animism) หลายระดับ ผีที่มีบทบาทหลักคือ ผีสูงสุดและผีบรรพบุรุษ (Schliesinger, 2000) ชาวกะเลิงจะนับถือผีในเรือน ป่า ต้นไม้ และแม่น้ำ ซึ่งปรากฏผ่านการปฏิบัติพิธีกรรมเกี่ยวกับไร่นาต่าง ๆ ในการนับถือผีเรือนนั้น ชาวกะเลิงจะจัดห้องไว้ห้องหนึ่งสำหรับเป็นห้องผี ที่ฝาของห้องนี้ ด้านหัวนอนจะมีหิ้งผีตั้งไว้ด้านเหนือ หิ้งผีนั้นเป็นขั้นกะหย่องที่สานด้วยไม้ไผ่มีลักษณะคล้ายตะกร้า (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540) ห้องผีซึ่งเป็นที่ไว้ขันกะหย่องนี้ จะห้ามไม่ให้เขยและสะใภ้ล่วงเข้าไปเด็ดขาด มิฉะนั้นจะผิดผี แล้วอาจทำให้สมาชิกในบ้านคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วย ในการนี้จึงมีการกำหนดการปรับไหมไว้ว่า “ไหมเขยกินควาย ไหมสะใภ้กินหมู” เพื่อป้องกันการล่วงเข้าไปในห้องผี ห้องผีจะเป็นห้องนอนของลูกชาย ผู้ที่สามารถเข้าไปได้คือ พ่อ แม่ ลูกสาว ลูกชาย และหลานหลาน ๆ เท่านั้น

              ผีสูงสุดจะถูกเคารพนับถือให้เป็นผู้ปกป้องดูแลผืนป่าและชุมชน ซึ่งจะถูกนับถือมานับตั้งแต่ตั้งบ้านเรือน หมู่บ้านของชาวกะเลิงส่วนมาก จะมีตูบผีนอกหมู่บ้านเพื่อเป็นที่อยู่ของผีชุมชน (ซึ่งปัจจุบันเรียกเหมือนคนลาวว่า ผีปู่ตา) เพื่อเป็นที่เคารพบูชาประจำปีด้วยดอกไม้ เทียน ข้าวและไก่ ในหมู่บ้านโนนสังข์ศรี ได้พากันไปเชิญผีมเหสักข์มาจากบ้านตากแดด อ.เมือง จ.มุกดาหาร เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองของหมู่บ้าน (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 149) ด้วยการนับถือผีสูงสุดของชุมชน จึงมีการจัดองค์กรทางสังคม โดยมีผู้นำในการทำพิธีคือ “เจ้าจ้ำ”  เป็นเสมือนสื่อกลางระหว่างสมาชิกชุมชนกับผี การสืบทอดเจ้าจ้ำนั้นจะสืบทอดตามสายตระกูลจากบรรพบุรุษ การเป็นเจ้าจ้ำจะมีหน้าที่เซ่นไหว้ผีสูงสุดทั้งเลี้ยงขึ้น เลี้ยงลง และตามที่มีผู้คนมาบนบานขอให้ผีสูงสุดปกป้องคุ้มครองและอำนวยพรให้ ผีสูงสุดจะเป็นแหล่งอ้างอิงของการปกป้องคุ้มครองโชคชะตาชีวิตชาวกะเลิง และยังเป็นที่มาของข้อห้ามกำกับควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกชุมชนทั้งหมดไม่ให้ทำผิดจารีต มิฉะนั้นจะมีบทลงโทษให้ได้รับผลร้าย เช่น เจ็บป่วย เป็นบ้าหรือตาย

              ในฤดูการทำการเกษตร ก่อนเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ชาวกะเลิงจะจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรเพื่อเซ่นไหว้ผี ให้ได้รับการปกป้องดูแลและให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ในอดีตชาวกะเลิงจะฆ่าหมูและควายสำหรับประกอบพิธีเกี่ยวกับการผลิตเพื่อบูชาผีศักดิ์สิทธิ์ (Schliesinger, 2000 : 64-65)

              ในหมู่บ้านโนนสังข์ศรี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ชาวกะเลิงจะนับถือผีทั้งผีเรือน ผีสูงสุดของชุมชน ผีหมอเหยา โดยเชื่อว่า ผีเหล่านี้จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ในการผลิต (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 148) อีกทั้ง ผีที่นับถือยังสามารถเป็นการจัดองค์กรทางสังคม คอยเป็นกรอบหรือข้อห้ามควบคุมกำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของสมาชิก  หากใครประพฤติผิดข้อห้าม กฎเกณฑ์ หรือประเพณี จะถือว่าผิดผี อาจได้รับผลร้าย เช่น ความเจ็บไข้ ซึ่งจะมีพิธีกรรมตามมาคือการปรับไหมเพื่อเซ่นไหว้ผี

              ปัจจุบันชาวกะเลิงนับถือพุทธศาสนา ไม่ได้ทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยสัตว์แล้ว แต่พวกเขาจะมารวมตัวกันเฉลิมฉลองก่อนการทำเกษตร ด้วยการกินดื่มเหล้าขาว (Schliesinger, 2000) พวกเขาไม่เชื่อผีร้ายที่คอยทำร้ายคนมากเท่าเมื่อก่อน หมู่บ้านชาวกะเลิงส่วนใหญ่ไม่มีหมอผี/คนทรงเหมือนในอดีต เมื่อชาวกะเลิงเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาจะใช้วิธีการรักษาแบบแพทย์สมัยใหม่มากกว่าไสยศาสตร์ 

     

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              ในอดีตเมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวกะเลิงจะรักษาการตามความเชื่อ คือ การรักษาด้วยสมุนไพร รักษาด้วยหมอมอ รักษาด้วยหมอเหยา เป็นต้น (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540 : 123) 

  • ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              แต่เดิมดนตรีของชาวกะเลิงส่วนใหญ่เกิดจาการใช้วัสดุธรรมชาติมาประดิษฐ์ และยังสัมพันธ์กับวิถีชีวิตประจำวันและการประกอบพิธีกรรม อย่างการเลี้ยงผี เช่น กะลอ ทำจากไม้ไผ่แขวนไว้ที่เถียงนา ยามว่างเว้นจากงานก็จะนำมาตีเป็นทำนอง (กธิการ ตริสกุล, 2550) นอกจากนี้ยังมี โหวด แคน กลองแต เป็นต้น เป็นที่สังเกตว่า เครื่องดนตรีหลายชนิดคล้ายกับเครื่องดนตรีลาว

     

  • เรื่องเล่า/ตำนาน/วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              ชาวกะเลิงมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับกำเนิดชาวกะเลิง ซึ่งอ้างอิงตำนานน้ำเต้าปุงอันเป็นความเชื่อของชาวลาว/อีสานทั่วไป กล่าวคือ เมื่อครั้งขุนทั้งสามผู้เป็นใหญ่ คือ ขุนเค็ก ขุนคาน และปู่ลางเซิง ได้ขอร้องพระยาแถน เทพเจ้าผู้คุ้มครองโลก เพื่อขอกลับลงมาอยู่โลกมนุษย์ โดยอ้างว่า ข่อยนี้อยู่เมืองบนบ่แก่น แล่นเมืองฟ้าบ่เป็น พญาแทนจึงให้ลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ที่เมืองแถนหรือเมืองนาน้อยอ้อยหนู แขวนสิบสองจุไทย พร้อมกับส่งควายลงมาเพื่อให้ใช้ทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีพ ต่อมาควายได้ตาย ซากของควายเกิดเป็นน้ำเต้าปุง ต่อมาน้ำเต้าปุงใหญ่ขึ้น ภายในน้ำเต้าปุง เกิดมีมนุษย์หลายเผ่าพันธุ์ ต่างก็ร่ำร้องอยากออกมาสู่ภายนอก (กธิการ ตริสกุล, 2550) ขุนทั้งสามจึงเอาเหล็กซีเจาะรูน้ำเต้าปุงเพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นออกมา มนุษย์พวกแรกที่ออกมาคือพวกข่า กะโซ่ และกะเลิง ต่อมายังมีเผ่าอื่นออกมาอีก เช่น ไทยเลิง ไทยญ้อ ไทยกวาง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของไทย ลาว ผู้ไทย ผู้ที่ออกมาทีหลังเหล่านี้ได้รีบไปอาบน้ำชำระล้างกายในหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์จึงมีผิวกายขาว ส่วนพวกข่า กะโซ่และกะเลิง ซึ่งออกจากรูน้ำเต้าปุงที่เจาะด้วยเหล็กซีเผาไฟ มีคาบเขม่าไฟติดตามร่างกายและกลัวความหนาวเย็นไม่ยอมไปชำระร่างกาย จึงมีผิวคล้ำจนทุกวันนี้ พวกข่า กะโซ่ และกะเลิง ที่ออกมาจากน้ำเต้าปุงก่อนจึงถือว่าเป็นพี่หรืออ้ายกก ของไทย ลาวและผู้ไท

              ชาวกะเลิงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเคยมีตัวหนังสือว่า ในอดีต พวกเขามีตัวหนังสือโดยจารึกตัวหนังสือไว้ในหนังควาย แต่พวกข่า กะโซ่ และกะเลิง ได้ทำสงครามแย่งชิงถิ่นที่อยู่กับชาวผู้ไทมาตลอด จนแม่ทัพนายกองสิ้นชีพไปหลายคน (กธิการ ตริสกุล, 2550) ในระหว่างทำสงครามได้ถูกสุนัขลักลอบเข้าไปในวังของกษัตรย์แล้วคาบเอาหนังควายที่จารึกอักษรข่า กะโซ่และกะเลิงไปกินเป็นอาหาร พวกข่า กะโซ่และกะเลิงจึงไม่มีตัวหนังสือเขียนจนถึงทุกวันนี้

     

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

              กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างวัฒนธรรมเฉพาะที่แตกต่างจากลุ่มอื่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งภาษาพูด ความเชื่อ และจารีตประเพณี  แต่การอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นโดยเฉพาะกลุ่มไทย-ลาว ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม โดยที่ชาวกะเลิงจะปรับตัวและรับวัฒนธรรมของคนกลุ่มหลังมากกว่า อีกทั้งวัฒนธรรมไทย-ลาว นั้นเป็นวัฒนธรรมที่มีโครงสร้างใหญ่กว่าทั้งในแง่ประชากร ภูมิภาคท้องถิ่นและอำนาจรัฐ (รวมถึงนโยบายทางวัฒนธรรมในระบบการปกครอง) จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงกลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่น้อยกว่า มีผลให้เกิดช่วงชั้นทางสังคมที่แตกต่าง โดยที่วัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่มีสถานะเหนือกว่า ทำให้ชาวกะเลิงรับวัฒนธรรมไทย-ลาว ไปในที่สุดเป็นเสมือนการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงสถานะทางสังคม ลักษณะเช่นนี้อาจสันนิษฐานว่า จะเกิดขึ้นมาก่อนที่ชาวกะเลิงจะอพยพเคลื่อนย้ายมาสู่ประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ

              อย่างไรก็ดี เมื่อความเป็นรัฐชาติก่อตัวขึ้นอย่างเข้มข้นภายใต้รัฐไทย ชาวกะเลิงได้รับการหล่อหลอมไปสู่ความเป็นไทยทั้งการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในระดับท้องถิ่น ยังอยู่ท่ามกลางการรายล้อมด้วยวัฒนธรรมลาวหรือไทยอีสาน สิ่งนี้ส่งผลให้วัฒนธรรมกะเลิงถูกปรับเปลี่ยนมากยิ่งขึ้นและจะยิ่งเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การคมนาคม ไฟฟ้า เทคโนโลยี ซึ่งเรียกกันว่า ความเจริญ ได้เข้ามามีอิทธิพลในชุมชนชาวกะเลิง

              แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นจะถึงกลับทำให้ความเป็นกลุ่มกะเลิงล้มหายตายจากไปก็หาไม่ เพราะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านั้น ชาวกะเลิงได้ปรับตัวต่อรองด้วยการเลือกลักษณะวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์” (ดังที่จะพบว่า ชาวกะเลิงมักบอกเล่าความทรงจำว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นกะเลิงอพยพมาจากจากฝั่งลาว) “ชื่อเรียกชาติพันธ์ุ” รวมถึงความเชื่อและพิธีกรรม (เช่น การเลี้ยงผี) มาประกอบสร้างความเป็นกะเลิง โดยเฉพาะบริบทของพหุวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่ถูกให้ความสำคัญจากรัฐหรือนโยบายรัฐ ทำให้มีพื้นที่ที่ชาวกะเลิงได้นำเสนอความเป็นกะเลิง เช่น ชาวกะเลิงที่บ้านดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เปิดรับนักท่องเที่ยวและจัดบ้านเรือนให้เป็นโฮมสเตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวกะเลิง ปรากฏการณ์ทำนองนี้ยังอาจพบในชุมชนกะเลิงที่อื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน

              ในแง่ของวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างวัฒนธรรมตามที่ได้กล่าวมา วิถีชีวิตของชาวกะเลิงดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับคนลาวหรือไทยอีสาน เช่น ทำนา หรือปลูกพืชเศรฐกิจ เป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป และบางส่วนก็ออกมาเป็นแรงงานตามโรงงานในเมืองต่าง ๆ ด้านประเพณีวัฒนธรรม ชาวกะเลิงปรับตัวผสมผสานไปกับประเพณีของคนลาว/อีสาน คือ ประเพณีฮีตสิบสองครองสิบสี่โดยยึดโยงกับพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

     

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง :

    ภาษาเดิมที่กำลังสูญหาย

              หากยอมรับว่า ชาวกะเลิงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูดเฉพาะของตัวเอง ลักษณะภาษานั้นมีต้นกำเนิดใกล้กับภาษามอญเขมรไม่ใช่ภาษาไทยหรือลาว  ปัจจุบันในประเทศไทยแทบไม่เหลือชาวกะเลิงที่จะสามารถพูดภาษาเดิมได้ ปรากฏการณ์นี้อาจดำเนินมาได้ประมาณ 2-3 ชั่วอายุคนแล้ว ภาษาปัจจุบันที่ชาวกะเลิงใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันคือภาษาไทยและภาษาลาว โดยเฉพาะภาษาลาว อันเป็นภาษาของภูมิภาคอีสานที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่

     

Access Point
No results found.

          ชาวกะเลิง  บ้านดอนตาล อ. ดอนตาล จ. มุกดาหาร มีพิธีกรรมสำคัญคือ  พิธีเลี้ยงผีเจ้าปู่ “เจ้าโฮงแป้นแผ่นทองเหลือง” ชาวบ้านเชื่อว่า เจ้าปู่ชอบสีแดง ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงบุญพิธีเลี้ยงประจำปี ชาวบ้านจะนำเสื้อผ้าสีแดงพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าขาว หมูหรือไก่ อันเป็นเครื่องเซ่นไปถวายท่านและร่วมเฉลิมฉลองกินดื่มเพื่อให้เจ้าปู่พึงพอใจอันยังผลให้เกิดการปกป้องคุ้มครองดูแลลูกหลาน รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ในการผลผลิต