2023-06-17 10:36:54
ผู้เข้าชม : 5882

มลายู เป็นคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแหลมมลายูและหมู่เกาะมลายู  ในประเทศไทยมีชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา คนกลุ่มนี้มีวิถีการดำรงชีพที่หลากหลาย ชาวมลายูที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสมักจะทำอาชีพประมงชายฝั่ง และบางส่วนไปรับจ้างในเรือประมงพาณิชย์  ส่วนกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากชายฝั่ง ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม เน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยางพารา และผลไม้ท้องถิ่น เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง และอื่นๆ ในส่วนของวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชาวมลายูจะมีการประกอบพิธีตะละบาลา  เพื่อขจัดปัดเป่าเหตุร้ายต่างๆจากตนเอง ครอบครัว และชุมชน

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มลายู
ชื่อเรียกตนเอง : มลายู, ออแฆนายู, มลายูมุสลิม, ไทยมุสลิม
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : มุสลิม, อิสลาม, แขก
ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน
ตระกูลภาษาย่อย : มลายู/ยาวี
ภาษาพูด : มลายู
ภาษาเขียน : ยาวี, รูมี

มลายู หมายถึง ผู้คนในดินแดนมลายู ผู้คนในดินแดนนี้จึงเรียกตัวเองว่ามลายู หรือ ออแฆนายู นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังเรียกตัวเองว่า มลายูมุสลิม และไทยมุสลิมตามโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆขณะที่คนนอกวัฒนธรรมมักเรียกพวกเขาแบบเหมารวมว่า อิสลาม มุสลิม หรือแขกซึ่งเป็นการเรียกที่มีความคลาดเคลื่อนและไม่ได้ หมายถึง คนมลายูมุสลิม

กลุ่มชาติพันธุ์มลายูจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู ภาคใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันชาวมลายูส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาสจากประวัติศาสตร์นักโบราณพบหลักฐานว่า ชาวมลายูอาศัยอยู่บริเวณเมืองโบราณยะรัง เป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำปัตตานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแหล่งชุมชนโบราณทางภาคใต้ คาดว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงย้ายศูนย์กลางของเมืองไปที่ชายฝั่งทะเล ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19-23 ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณอาณาจักรปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างทางทะเลและทางบกที่รุ่งเรือง ระหว่างนี้ได้เกิดความขัดแย้งและสงครามระหว่างเมืองปาตานีกับสยาม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2330-2334 สยามได้เข้าปกครองปาตานี แต่ทว่า ช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของปาตานีกับข้าราชการสยามในเรื่องกฎระเบียบปฏิบัติและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ กระทั่งปี 2359 สยามยกเลิกระบบการปกครองระบบสุลต่านหรือราชามาเป็นการแต่งตั้งเจ้าเมืองจากกรุงเทพฯ พร้อมกับแยกปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยิริง (ยะหริ่ง) เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองรามันเมืองระแงะ เมืองยะลา แต่ละหัวเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าเมืองที่มีอำนาจในการปกครองกันเองอย่างเป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าเมืองสงขลา กระทั่งเมื่ออำนาจของราชาหรือสุลต่านปาตานีและเจ้าเมืองยุติลง คนมลายูในพื้นที่ต่อสู้กับอำนาจสยามอย่างต่อเนื่อง การต่อจึงสู้ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนจนกระทั่งปัจจุบัน ภายหลังจากการปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน รัฐบาลได้ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาเป็นการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัดอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มณฑลปัตตานีเดิมมี 4 จังหวัด จัดแบ่งเหลือเพียง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

อัตลักษณ์ความเป็นมลายูมีความชัดเจนในด้านการผสมผสานระหว่างจารีตดั้งเดิมกับศาสนาอิสลาม เนื่องจากผู้คนในคาบสมุทรมลายูนั้นประกอบด้วยผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม ความเป็นมลายู จึงสะท้อนผ่านรูปแบบบ้านเรือน สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และพิธีกรรมที่เกิดจากการผสมผสานของแนวคิดพราหมณ์-ฮินดูและแนวคิดอิสลามาภิวัตน์ที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นอิสลามบริสุทธิ์ เป็นมุสลิมเดียวทั่วโลก ส่งผลให้พิธีกรรมท้องถิ่นหลายประการได้ถูกเลิกปฏิบัติ

ประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนมลายูมีมิติที่หลากหลายและมีข้อสันนิษฐานหลากหลายแนวทางขึ้นอยู่กับหลักฐานและผู้เขียนประวัติศาสตร์ ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความพยายามทบทวนและเรียบเรียงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคนมลายูหลายครั้ง เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น ในที่นี้จึงจะนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ได้เรียบเรียงจากเอกสารต่างๆ ตามช่วงเวลา แบ่งออกเป็น ยุค ดังต่อไปนี้

ยุคแรก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักโบราณคดีที่พบหลักฐานว่ามีเมืองโบราณในบริเวณเมืองประแว อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และบริเวณสนามบินหรือทุ่งกาโล บริเวณใกล้เคียงกับบ้านท่าสาป ตลอดไปถึงถ้ำคูหาภิมุข จังหวัดยะลา

เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ จะเห็นว่า พื้นที่จังหวัดยะลาในปัจจุบันตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่ (ไม่ติดชายฝั่งทะเล) เป็นบริเวณที่ราบลุ่มขนานไปกับเทือกเขาและมีแม่น้ำปัตตานีซึ่งไหลมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ผ่านอำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอรามัน จนถึงอำเภอเมืองยะลา ไหลเข้าสู่เขตพื้นที่จังหวัดปัตตานีออกไปยังอ่าวไทย ภูมิประเทศเช่นนี้เรียกว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทร (Trans Peninsular Route) โดยเชื่อมต่อชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออก กับทะเลฝั่งมหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตก ซึ่งเหมาะกับการตั้งรกรากอยู่อาศัยของผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานเป็นเครื่องมือหิน จนถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบพระพิมพ์ดินดิบและพระพุทธรูปศรีวิชัยอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 บริเวณสนามบินเลยบ้านท่าสาปก่อนถึงวัดถ้ำคูหาภิมุข และบริเวณเขาในเขตวัดถ้ำและถ้ำศิลปะซึ่งมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์

สำหรับเมืองโบราณยะรัง นักโบราณคดีบางคน เชื่อว่า พื้นที่แห่งนี้ คือ เมืองลังกาสุกะ ตามหลักฐานเอกสารของจีนหลายฉบับ เมืองโบราณยะรัง เป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำปัตตานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแหล่งชุมชนโบราณทางภาคใต้ คาดว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สืบเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18-19 จึงย้ายศูนย์กลางของเมืองไปที่ชายฝั่งทะเล

ซากโบราณวัตถุสถานที่พบในเขตเมืองโบราณยะรัง เช่น พระสถูปเจดีย์จำนวนมาก ซากคูน้ำ คันดิน ศาสนสถาน และสระน้ำโบราณ ที่ครอบคลุมอาณาบริเวณ 9 ตารางกิโลเมตร แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ กลุ่มโบราณสถานบ้านปะแว หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นบ้านเมืองที่เจริญมั่งคั่งในอดีตกาลสืบเนื่องกันต่อมาหลายยุคหลายสมัย

อย่างไรก็ตาม การตั้งถิ่นฐานของผู้คน อาจแบ่งออกเป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณชายทะเลและบริเวณหุบเขา บริเวณปากน้ำของทุกหุบเขาจะเป็นพื้นที่เปิดต้อนรับผู้คนนานาเชื้อชาติให้เข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยสืบต่อกันมา

ยุคที่สอง ประวัติศาสตร์รายาแห่งปาตานีดารุสลาม

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-23 ภาคกลางของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยา ส่วนพื้นที่ทางใต้สุดของประเทศไทยมีรัฐที่มีความเจริญและเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างทางทะเลและทางบก คือ เมือง หรืออาณาจักรปัตตานี อย่างไรก็ตาม ในประเนดังกล่าวยังมีการถกเถียงกันในกลุ่มนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่สนใจประวัติศาสตร์ในดินแดนแถบนี้ว่าปัตตานีจะจัดเป็นเมืองแห่งหนึ่ง หรือเคยมีสถานะยิ่งใหญ่เท่ากับอาณาจักร

ขณะที่นักโบราณคดีบางคน เชื่อว่า พื้นที่ปัตตานีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 – 21 เป็นที่รู้จักกันในชื่อลังกาสุกะซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งในอดีต เมื่อชื่อลังกาสุกะหายไป และรัฐปัตตานีได้เข้ามาแทนที่ ทั้งสืบทอดบทบาทการเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลในพุทธศตวรรษที่ 21-23

ปัตตานีจึงนับได้ว่าเคยเป็นเมืองท่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในยุคการคมนาคมการค้าทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 พ่อค้าชาวต่างชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และโปรตุเกส ตามมาด้วยชาวยุโรปชาติอื่นๆ ที่เข้ามาค้าขายที่ปัตตานี ชาวต่างชาติเหล่านี้บางคนเพียงเข้ามาค้าขายแล้วกลับออกไป แต่บางคนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในปัตตานีเป็นการถาวร

ปัตตานีมีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องหลายราชวงศ์ ในสมัยที่มีกษัตริย์ปกครองนั้นปัตตานีสามารถขยายตัวทางด้านการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจได้นานกว่าหนึ่งศตวรรษ ปัตตานีจึงเป็นแหล่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของโลกมาเลย์ กษัตริย์องค์แรกที่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ปาตานี คือ พญาตู กรุป มหายานา ผู้ซึ่งนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ปกครองอาณาจักรลังกาสุกะหรือนักประวัติศาสตร์บางคนเรียกเมืองนี้ว่า โกตามะลิฆัย ในช่วงประมาณก่อน พ.ศ. 2043

พญาตู กรุป มหายานา มีโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า พญาตู อันตารา หรือ พญาอินทิรา หรือพญาตู นักปาซึ่งได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในเวลาต่อมา แล้วได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ชายทะเล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการย้ายเมืองว่าเกิดจากสภาพแม่น้ำลำคลองที่เคยใช้เป็นทางสัญจรจากเมืองโกตามะลิฆัยมาที่อ่าวปัตตานีเกิดตื้นเขินทำให้ไม่สะดวกในการลำเลียงสินค้า กษัตริย์ปาตานีต้องการขยายการติดต่อทางการค้า เพราะเมืองปาตานีในอดีตอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ทั้งทองคำ ดีบุก เกลือ หนังสัตว์ นอแรด ไม้ฝาง หวาย สมุนไพรต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผลไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ทำเลที่ตั้งใหม่บริเวณอ่าวปัตตานีที่พญาอินทิราเลือกจึงมีความเหมาะสมในการสร้างเมืองเพราะมีแหลมโพธิ์เป็นที่กำบังลม เรือสินค้าที่เข้ามาจอดจะปลอดภัย นอกจากนี้สาเหตุของการย้ายเมืองยังเกี่ยวข้องกับการนับถือศาสนา เนื่องจากพญาอินทิราเป็นกษัตริย์องค์แรกที่นับถืออิสลาม เพราะฉะนั้นจึงไม่เหมาะที่จะยังคงอยู่ในเมืองเก่าที่มีวัตถุและสถานที่ตามความเชื่อฮินดูและพุทธ

ตามตำนานการนับถือศาสนาอิสลามของพญาอินทิรา ระบุว่า พญาอินทิราได้ล้มป่วยเป็นโรคผิวหนังแตก หมอต่างชาติต่างเข้าไปรักษาแต่ไม่หาย ชีคซาอีดเป็นชาวปาไซ เมืองหนึ่งในเกาะสุมาตราได้ทราบข่าวจึงอาสาไปรักษาพญาอินทิรา แต่ขอสัญญาว่าหากพระองค์หายจากโรคผิวหนังนี้จะเข้ารับอิสลาม ชีคซาอีดจึงรักษาพญาอินทิราจนหายแต่พระองค์ไม่ได้ทำตามสัญญา ทำให้กลับมาเป็นโรคผิวหนังอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง ในที่สุดพญาอินทิราจึงยอมรับนับถือศาสนาอิสลามและให้ราชวงศ์ทุกคนเข้ารับอิสลามด้วย พญาอินทิราได้เปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลลอฮฺ ฟิลอาลัม และชีค ซาอีด ได้ตั้งชื่อเมืองปาตานีเป็น “ปาตานี ดารุส สาลาม” แปลว่า ปาตานีนครแห่งสันติ

อาณาจักรปาตานีดารุสสาลาม เริ่มต้นด้วยผู้ปกครองของราชวงศ์ศรีมหาวังสาของสุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ มีกษัตริย์ปกครอง 9 รัชกาล รวมเวลา 186 ปี ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรปาตานีมีความเจริญมั่งคั่งจากการค้าขายด้วยการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ เช่น เปอร์เชีย อาหรับ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อีกทั้งประเทศตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและการแต่งงานกับกษัตริย์ของเมืองและรัฐใหญ่น้อยในแหลมมลายู เช่น มะละกา ปาหัง ปาเล็มบัง ยะโฮร์

กษัตริย์แต่ละองค์มีกรณียกิจในแต่ละสมัยแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามในที่นี้จะขอกล่าวถึงเห็นเหตุการณ์สำคัญที่ยังคงทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้พบเห็นในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่สมัยของสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ ในรัชสมัยนี้มีชาวจีนคนหนึ่งได้นำกระสุนปืนใหญ่มาถวายสุลต่าน พระองค์จึงสนพระทัยที่จะสร้างปืนใหญ่ขึ้นเพื่อไว้ป้องกันเมือง จึงได้มีการระดมทองเหลืองจากประชาชนเพื่อมาสร้างปืนและห้ามไม่ให้มีการค้าขายทองเหลืองให้ชาวต่างชาติ แต่กลับมีชายผู้หนึ่งชื่อว่า ชีค ก็อมบ็อก หรือ แชะห์ก็อมบ็อค ลักลอบนำทองเหลืองไปขายจึงถูกสั่งประหารชีวิตพร้อมลูกศิษย์หนึ่งคน แล้วโยนศพลงในแม่น้ำ แต่ศพไม่จมน้ำ ชาวบ้านจึงช่วยกันนำศพขึ้นมาฝังที่หมู่บ้านดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก่อนจะฝังศพ ศพยาวออกมาจำนวนถึง 3 ครั้ง กุโบร์แห่งนี้จึงมีชื่อว่า กุโบร์ดาโต๊ะปาแยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในสมัยของสุลต่านอิสมาอีลได้สร้างปืนใหญ่ 3 กระบอก ชื่อว่า ศรีนครี ศรีปาตานี และมหาเลลา เมื่อครั้งสยามทำสงครามกับปัตตานีได้ยึดเอาปืนใหญ่ไป 2 กระบอก คือ ศรีนครี และศรีปาตานี เล่ากันว่า ศรีนครีนั้นตกลงไปในน้ำที่ปากอ่าวปัตตานี ส่วนศรีปาตานี ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ

ต่อมาในสมัยสุลต่านมูศ็อฟฟัร ชาห์ มีอูลามะห์ จากประเทศเยเมน ได้เข้ามาที่ปาตานีชื่อว่า ชีค ซาฟี ยูดดีน ได้แนะนำให้สร้างมัสยิดเพื่อเป็นสถานที่ให้ชาวมุสลิมสักการะบูชาองค์อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) สุลต่านมูศ็อฟฟัรจึงรับสั่งให้สร้างมัสยิดขึ้นหน้าประตูวัง เชื่อกันว่าเป็นมัสยิดก่ออิฐถือปูนศิลปกรรมแบบอาหรับแห่งแรกในแหลมมลายู

สุลต่านมูศ็อฟฟัรได้เดินทางไปช่วยอยุธยารบกับพม่า ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ระหว่างที่พักอยู่ที่อยุธยา กองทัพมลายูเกิดความขัดแย้งกับทัพสยามจนถึงขั้นสู้รบกัน และทหารมลายูเข้ายึดพระราชวังได้ แต่สุดท้ายทหารสยามได้ต่อสู้แย่งชิงคืนในที่สุด เชื่อกันว่า สุลต่านมูศ็อฟฟัรสิ้นพระชนม์ในการสู้รบ เหตุการณ์ครั้งนั้นในสายตานักประวัติศาสตร์ไทยมองว่าเป็นการกบฏ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเรียกว่าเป็นความขัดแย้ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

ต่อมาในสมัยรายาฮิเยา เป็นสมัยที่ปาตานีมีความมั่นคงทางการเมืองและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ช่วงเวลาดังกล่าวปาตานีมีสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศและรัฐต่างๆ พระขนิษฐาของรายาฮิเยา ชื่อว่า รายาอูงู ได้อภิเษกสมรสกับสุลต่านแห่งปาหัง นอกจากนี้รายาฮิเยายังมีบทบาทด้านการพัฒนาการเกษตรด้วยการขุดคลองระบายน้ำและปล่อยน้ำจืดลงในคลองกะดี ให้น้ำจืดไล่น้ำเค็มเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำจืดในการทำการเกษตร ทั้งยังสร้างฝายทดน้ำถาวรด้วย แต่ทว่า ในสมัยของรายาบิรู ชาวบ้านได้มาร้องเรียนว่าคลองแห่งนี้ทำให้น้ำเค็มเจือจางจนชาวบ้านที่กรือเซะไม่สามารถทำนาเกลือได้ อีกทั้งน้ำไหลเชี่ยวจนทำให้ตลิ่งพัง รายาบีรูจึงสั่งให้ทำทำนบกั้นน้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า “กำปงทาเนาะบาตู” ที่ยังคงเหลือร่องรอยจนถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่สมัยรายาฮิเยาเป็นต้นมา มีการบันทึกถึงความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานีเป็นระยะ เช่นใน พ.ศ. 2146 ออกญาเดชา แม่ทัพของพระนเรศวรมหาราช ได้เข้าโจมตีปาตานี แต่มีชาวต่างชาติเข้าช่วยทำให้สยามล่าถอยไป สมัยรายาอูงู เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ รายาอูงูไม่ทรงยอมรับจึงตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ไม่ส่งดอกไม้ทองไปบรรณาการ อีกทั้งรายาอูงูยังได้ส่งกองทัพไปโจมตีเมืองพัทลุงจนถึงนครศรีธรรมราชทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างปาตานีและอยุธยาต่อเนื่องมาถึง พ.ศ. 2177 ได้เกิดสงครามระหว่างอยุธยาและปาตานีขึ้นอีกครั้ง แต่ในที่สุดสยามได้ล่าถอยไป

กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ศรีมหาวังสา เป็นผู้หญิงมีพระนามว่า รายากูนิง (พระนางเหลือง) ต่อมารายาบากัล ผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์กลันตันมาปกครองปาตานี จึงได้เปลี่ยนราชวงศ์เป็นราชวงศ์กลันตันจนถึง พ.ศ. 2272 ปาตานีได้ประสบความวุ่นวายทางการเมืองเป็นเวลานาน ระหว่างนี้สยามได้ส่งกองทัพมาโจมตีเป็นระยะ สมัยของรายามัส กลันตัน พระเพทราชาได้ส่งกองทัพมาที่ปาตานี ต่อมาภายหลังความสัมพันธ์ปาตานีกับสยามดีขึ้น จนกระทั่งสยามส่งข้าวสารมาขายที่ปาตานี จากนั้นในสมัยรายามัส ชายัม สยามได้เข้ามาโจมตีปาตานีอีกครั้ง แต่ก็ล่าถอยไป

ในยุคสมัยของราชาอาลง ยูนุส ปาตานีได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะด้านศาสนา ปาตานีกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่ศาสนาอิสลามของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้รู้ทางศาสนาได้เดินทางมายังปาตานีทั้งเพื่อศึกษาเล่าเรียนและร่วมกันเขียนตำราศาสนาที่เรียกว่า “กีตาบยาวี” จนปาตานีได้ชื่อว่าเป็นระเบียงแห่งมักกะฮฺ

เมื่อราชาอาลงยูนุส สิ้นพระชนม์ ปาตานีว่างเว้นกษัตริย์ปกครองถึง 40 ปี บ้านเมืองอยู่ภายใต้การดูแลของขุนนาง ดาโต๊ะ และอูลามะอ์ (ผู้รู้ศาสนา) ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างราชวงศ์ต่างๆ จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสื่อมสลายของรัฐปัตตานีอันมั่งคั่ง

กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ได้ปกครองปาตานี คือ สุลต่านมูฮัมหมัด สยามได้บุกโจมตีปาตานีอีกครั้ง เป็นครั้งแรกที่ปาตานีแพ้สงครามกับสยาม ทหารสยามได้เผาพระราชวัง มัสยิดกรือเซะ และบ้านเรือน ยึดปืนใหญ่ 2 กระบอก รวมทั้งควบคุมราชวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ และประชาชน ระหว่างเดินทางไปกรุงเทพฯ

หลังจากสยามเข้าครอบครองปาตานี จึงแต่งตั้งเจ้าเมืองขึ้นปกครอง คือ ราชาเติงกู ลามีเด็น (พ.ศ.2330-2334) ซึ่งมีความโกรธแค้นสยามจากการทำสงครามระหว่างกัน จึงได้ส่งสาส์นกลับไปยังกษัตริย์อันนามหรือเวียดนามเพื่อขอให้โจมตีสยามพร้อมกัน แต่เจ้าองเชียงสือได้นำสาส์นไปให้กับกษัตริย์สยามซึ่งเมื่อทรงทราบเรื่องได้จัดทัพเข้าปราบปรามปาตานีทันที ต่อมาสยามได้แต่งตั้งดาโต๊ะปังกาลัน (พ.ศ.2334-2353) เป็นเจ้าเมืองปาตานี แต่เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของปาตานีกับข้าราชการสยามในเรื่องกฎระเบียบปฏิบัติ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ดาโต๊ะปังกาลันจึงได้ร่วมกับชาวมลายูขับไล่ขุนนางสยามออกจากปาตานี

จากนั้นสยามจึงแต่งตั้งคนสยามเชื้อสายจีนสลับกับคนสยามเชื้อสายไทยมาเป็นผู้ปกครองเมืองปาตานี จนกระทั่ง พ.ศ. 2359 สยามยกเลิกการปกครองระบบสุลต่านหรือราชา มาเป็นการแต่งตั้งเจ้าเมืองจากกรุงเทพฯ พร้อมกับแยกปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองหรือพระยาเมืองปกครองกันเองอย่างเป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าเมืองสงขลา อำนาจของราชาหรือสุลต่านปาตานีจึงหมดสิ้นลง ภายหลังจากสยามเข้าครอบครองปาตานีและแยกออกเป็น 7 หัวเมือง เจ้าเมืองที่เป็นคนมลายูในพื้นที่ต่อสู้กับอำนาจสยามอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเชื้อสายและอำนาจของเจ้าเมืองเริ่มเจือจางลงเรื่อยๆ การต่อจึงสู้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนถึงปัจจุบัน

ยุคที่สาม ประวัติศาสตร์ปัตตานี ในประวัติศาสตร์ของรัฐไทย

พงศาวดารเรื่องเมืองปัตตานี ซึ่งเขียนโดยพระยาวิเชียรคีรี เจ้าเมืองสงขลา และประวัติศาสตร์ 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเขียนโดยกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร หนังสือเล่มที่สอง เริ่มเรื่องราวประวัติศาสตร์ของของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ว่า....

“....ดินแดนของ 4 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) เป็นของประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีปรากฏข้อความอยู่ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่ามีอาณาเขตลงไปทางทิศใต้ถึงเมืองนครศรีธรรมราชและใต้ลงไปจดฝั่งมหาสมุทรตอนใต้สุดด้วย กล่าวกันว่าได้มีคนไทยอพยพลงมาอาศัยอยู่ในดินแดนนี้และบริเวณใกล้เคียงเมื่อราว 1,000 ปีมาแล้ว...”

ซึ่งตรงกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงอธิบายถึงเรื่องพงศาวดารเมืองปัตตานี ตามสำนวนที่พระยาวิเชียรคิรีได้เรียบเรียงขึ้นว่า “ที่จริงเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของสยามประเทศมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงทรงครองนครเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี ชาวเมืองปัตตานีเดิมถือพระพุทธศาสนาภายหลังเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม”

ยุคที่สี่ ปัตตานีในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

จากพระราชพงศาวดารกรุงเก่ามีบันทึกถึงเมืองปัตตานีในฐานะเมืองประเทศราชของอยุธยา แต่สมัยนั้นอยุธยาไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด ประกอบกับปัตตานีอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้อยุธยาไม่สามารถควบคุมปัตตานีได้อย่างเข้มงวดมากนัก ชาวพื้นเมืองจึงมีอิสระ ภายใต้การดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชอีกชั้นหนึ่ง ปัตตานีทำหน้าที่ในการส่งเครื่องราชบรรณาการซึ่งเป็นดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปอยุธยาทุก 3 ปี และส่งคนไปร่วมรบในช่วงที่เกิดศึกสงคราม

พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปัตตานีได้ก่อการกบฏต่ออยุธยาครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2106 ในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิแต่ไม่สำเร็จ ภายหลังจากการกบฏในครั้งนั้นจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก ไม่ปรากฏชื่อปัตตานีในประวัติศาสตร์อยุธยาอีก ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้นักประวัติศาสตร์ตีความว่าปัตตานีอาจตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอยุธยาและไม่ได้มีปัญหาหรือมีบทบาทที่ชัดเจน ในขณะที่อีกมุมมองหนึ่ง เห็นว่า ปัตตานีเป็นรัฐอิสระที่อยุธยาไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้

ยุคที่ห้า ปัตตานีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยกทัพไปปราบพม่า “มีข่าวเข้ามาว่าเมืองปัตตานีก่อการกำเริบขึ้นมาก” จึงได้ส่งกองทัพหลวงไปปราบปัตตานีจนประสบความสำเร็จ นับว่าเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ปัตตานีและสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การปกครองของรัฐสยาม โดยการควบคุมดูแลของเมืองสงขลา

ผู้ปกครองเมืองปัตตานีคนใหม่ คือ ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) ได้รับการแต่งตั้งจากสยามในสมัยการปกครองของพระยาปัตตานีคนที่สอง (พ่าย) ปกครองเมืองปัตตานี พวกสาเหยด และรัตนาวง ซึ่งเป็นชาวมลายูได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งพระยาสงขลาได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองยิริง (ยะหริ่ง) เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองยะลา แต่ละหัวเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของพระยาเมืองหรือเจ้าเมือง

เมืองที่มีคนไทยพุทธจำนวนมากจะให้เจ้าเมืองเป็นไทยพุทธ ส่วนเมืองที่มีชาวมุสลิมจำนวนมากให้เจ้าเมืองเป็นคนมุสลิม ในขณะนั้นมีเพียงยะหริ่งเมืองเดียวเท่านั้นที่เจ้าเมืองเป็นคนไทยพุทธ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกไว้ว่า “แลทรงตั้งข้าราชการไทยบ้าง แขกซึ่งมีความสวามิภักดิ์ ให้เป็นเจ้าเมืองทั้ง 7 เมืองเพื่อจะมิให้เมืองปัตตานีมีกำลังคิดขบถได้อย่างแต่ก่อน”

ประเด็นการแบ่งแยกเมืองออกเป็น 7 หัวเมืองนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือรัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์จักรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ แต่เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประวัติศาสตร์ปัตตานีที่จากเดิมในสมัยสุโขทัยและอยุธยาไม่ได้ถูกควบคุมทางการเมืองการปกครอง ปัตตานีมีผู้ปกครองของตนเองที่สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองราชวงศ์ต่างๆ ภายหลังจากการที่ปัตตานีถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 7 หัวเมือง ผู้ปกครองเมืองทั้ง 7 เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและถอดถอนได้จากส่วนกลาง ถือเป็นจุดเริ่มเริ่มต้นของการมีผู้ปกครองเป็นคนต่างศาสนาของชาวปัตตานี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยายะลา (ต่วนบางกอก) พระยาหนองจิก พระยาระแงะ และพระยาปัตตานี ได้ร่วมกันกบฏกบฏต่อสู้กับพระยายิริง (พ่าย) (พระยายิริงคนนี้เป็นสายตระกูลของปลัดจะนะที่ถูกแต่งตั้งมาจากเมืองสงขลา) ทางกรุงเทพฯ จึงส่งกำลังจากเมืองเพชรบุรีมาสมทบเมืองสงขลาปราบปรามกบฏดังกล่าวได้และได้ประหารชีวิตเจ้าเมืองกบฏและแต่งตั้งหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) รักษาการเมืองยะลา

ยุคที่หก สมัยปฏิรูปการปกครองและสร้างทางรถไฟ

สภาพการณ์ที่สงบของหัวเมืองมลายูเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากปัญหาการคุกคามของมหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะรวมอำนาจหัวเมืองสู่ศูนย์กลาง เจ้าเมืองหรือพระยาเมืองของหัวเมืองมลายูต่างไม่พอใจในการปฏิรูปครั้งนี้ พระยาเมืองบางคนจึงได้เขียนจดหมายหรือเดินทางไปร้องทุกข์ต่อกงสุลอังกฤษที่สิงคโปร์หลายครั้งเพื่อให้อังกฤษช่วยยับยั้งไม่ให้ส่วนกลางส่งข้าหลวงไปจัดการการปกครอง ข้าหลวงที่ถูกส่งไปยังหัวเมืองเหล่านี้จะเป็นผู้ตรวจตราและเก็บเงินส่วยอากร พระยาเมืองจะได้รับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บส่งเข้าท้องพระคลัง

พ.ศ. 2445 พระยาวิชิตภักดี (อับดุลกาเดร์) เจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้ายเป็นผู้นำการต่อต้านอำนาจรัฐ แต่ถูกจับตัวไปยังเมืองพิษณุโลก 2 ปี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษกลับมาอยู่ปัตตานีและได้คิดการกบฏอีกครั้ง เมื่อทางราชการทราบเรื่อง พระยาวิชิตภักดีจึงหนีไปยังรัฐกลันตัน และอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งถึงแก่กรรม

ปี 2449 รัฐบาลสยามประสบความสำเร็จในการตั้งมณฑลปัตตานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระยาศักดิเสนี (หนา บุนนาค) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปัตตานี โดยไม่ต้องขึ้นต่อมณฑลนครศรีธรรมราช หัวเมืองทั้ง 7 จึงถูกยุบรวมกันเป็น 4 เมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง รวมเป็นเมืองปัตตานี เมืองรามันรวมกับเมืองยะลา เป็นเมืองยะลา เมืองระแงะ กับเมืองสายบุรี คงไว้เช่นเดิม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหัวได้ทรงวางแผนการสร้างทางรถไฟสายใต้ยาวไปถึงหัวเมืองมลายูเพื่อประโยชน์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทางรถไฟสายใต้นี้สร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว การสร้างทางรถไฟจึงก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองในการเดินทางไปยังมณฑลปัตตานีได้สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งทำให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้ชาติตะวันตกที่ต้องการเมืองขึ้นไม่มีข้ออ้างที่จะเข้ามายึดครองเพื่อสร้างความเจริญได้อีก ส่วนประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับชาวจีนเพื่อกระจายประชากรชาวจีนอพยพทั้งหลายให้ไปตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ตามสองข้างทางรถไฟ และสนับสนุนให้แรงงานชาวจีนที่มีฝีมือในการทำเหมืองเข้าไปบุกเบิกทำเหมืองแร่ดีบุกในภาคใต้ เพื่อให้รัฐบาลมีข้ออ้าง ในการปฏิเสธการให้สัมปทานการทำเหมืองแร่แก่ชาวตะวันตก ซึ่งกำลังพยายามแสวงหาเมืองขึ้น

ยุคที่เจ็ด สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ยกเลิก การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนเป็นการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค แบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัดอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มณฑลปัตตานีเดิมมี 4 จังหวัด จัดแบ่งเหลือเพียง 3 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

พ.ศ.2476 เป็นปีที่อับดุลกาเดร์ผู้นำในการแบ่งแยกดินแดนสิ้นชีวิตที่รัฐกลันตัน ตนกูมะไหยิดดีนบุตรชายของอับดุลกาเดร์ ได้สืบทอดเจตนารมณ์โดยการสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทย ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ได้จัดตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะแยกจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับการปกครองของรัฐบาลไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ตนกูมะไหยิดดีนผู้นำในการแบ่งแยกดินแดนและผู้นำคนอื่นๆ ได้หันไปร่วมมือกับอังกฤษ รวมตัวกับชาวมลายูต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยคาดหวังความช่วยเหลือของอังกฤษเข้ามาบีบบังคับให้รัฐบาลไทยยินยิมให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของ “บริติช มลายา”

ยุคที่แปด สมัยการเปลี่ยนแปลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อังกฤษเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณี ชาวมุสลิมในดินแดนของไทย ทำให้ผู้นำในกรุงเทพฯ ต้องรีบเร่งหาหนทางแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อย รัฐบาลชุดต่อมาจึงมีนโยบายมาดึงการมีส่วนร่วมของชาวมลายูมุสลิม

รัฐบาลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนได้ประกาศใช้มาตรการหลายประการเพื่อลดกระแสความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติอุปถัมภ์อิสลาม ที่ได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชนและพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ประชาชนไทยในบางท้องถิ่นที่นับถือศาสนาอิสลามจะได้รับความช่วยเหลือคุ้มครองและอุปถัมภ์กิจการศาสนา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสถาบันต่างๆ ขึ้นหลายระดับเพื่อทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างชาวมุสลิมกับรัฐบาล นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามภายใต้การบริหารของมุสลิม และระบุเนื้อความที่มีความสำคัญยิ่งเกี่ยวกับการ“อุปถัมภ์” และ“ควบคุม”กิจการฝ่ายศาสนาอิสลาม ในมาตรา 5 มาตรา6 และมาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ในจังหวัดที่มีประชาชนนับถืออิสลามอยู่มากให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดตั้ง “กรรมการอิสลามประจำจังหวัด” ขึ้น เพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลและกรรมการจังหวัดในข้อราชการที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมโดยตรง การออกกฎหมายดังกล่าวสะท้อนความพยายามที่จะแสดงความเคารพต่อผู้คนที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกันและพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนมลายู

คนมลายูส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บางส่วนอยู่ในจังหวัดสงขลาจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯคือ เขตหนองจอก บางกะปิ มีนบุรี และหนองจอก ซึ่งกลุ่มคนมลายูในกรุงเทพฯ ที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่สามารถพูดภาษามลายูได้ อีกทั้งอาจไม่ได้สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมของปัตตานีมาจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนคนมลายูที่โยกย้ายเข้ามาทำงาน หรือ ศึกษาต่อในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงพูดภาษามลายูและสืบทอดวัฒนธรรมของมลายูปัตตานี

จำนวนประชากรมลายูในประเทศไทยมีความแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลต่างๆ หากใช้ข้อมูลจากรายงานประจำปีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า จำนวนประชากรมลายูประมาณ 1,613,000 คน(คำนวนจากข้อมูลประชากรของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี (พ.ศ.2558) ยะลา (พ.ศ.2557) และ นราธิวาส (พ.ศ.2555) ทั้งนี้ยังคงมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มลายูดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ประเมินว่าในปี 2547 มีประชากรมลายูประมาณ 900,000 คน

การดำรงชีพ

เนื่องจากคนมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชากรเป็นจำนวนมาก จึงประกอบอาชีพที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามในอดีตคนมลายูที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาสมักจะทำอาชีพประมงชายฝั่ง บางส่วนประกอบอาชีพเป็นแรงงานรับจ้างในเรือประมงพาณิชย์ ส่วนคนที่อาศัยเข้ามาในแผ่นดินใหญ่มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ คือ ยางพารา และผลไม้ท้องถิ่น เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง และอื่นๆ

ปัจจุบันจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจสังคม ส่งผลให้คนมลายูมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งค้าขาย ประมง เกษตรกรรม และรับราชการในหน่วยงานต่างๆ

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

คนมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ประเพณีในรอบปีจึงเกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ หากแต่มีประเพณีบางส่วนที่ปฏิบัติกันมานับตั้งแต่อดีต นับได้ว่าเป็นประเพณีเดิมของท้องถิ่น อันได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มุสลิมสายจารีตยังคงถือปฏิบัติกันอยู่

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ศาสนาอิสลามไม่ได้ใช้ปฏิทินหรือนับวันเวลาตามแบบสากล ที่นับเดือนมกราคมเป็นเดือนแรกของปี แต่จะนับเวลาตามระบบจันทรคติโดยใช้เหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺ หรือ การอพยพของนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) จากนครมักก๊ะฮฺไปสู่มะดีนะฮฺมาเป็นจุดเริ่มต้นของปี และเรียกศักราชว่าเป็นปีฮิจญ์เราะฮฺศักราช เดือนฮิจญ์เราะฮฺมีความสำคัญสำหรับมุสลิมเป็นอย่างมาก

การกำหนดวันเริ่มต้นและการสิ้นสุดของเดือนตามจันทรคติทำให้วันที่และเดือนไม่ตรงกับปฏิทินสากลของไทย เนื่องจากเดือนของอิสลามจะมี 30 วันทุกเดือน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่บางปีมีจำนวน 28 วันบางปีมีจำนวน 29 วัน การปฏิบัติศาสนกิจสำคัญของชาวมลายูมีรายละเอียดดังนี้

1) วันอาซูรอ ตรงกับวันที่ 9 – 10 ของเดือนมูฮัรรอม จะมีการถือศีลอดสุนัตหรือการถือศีลอดตามแบบอย่างของท่านนบี (ซ.ล.) สำหรับคนมลายูบางพื้นที่จะมีการกวนข้าวอาซูรอ การกวนอาซูรอไม่ใช่ประเพณีของศาสนาอิสลาม แต่เป็นประเพณีของคนในท้องถิ่น ตามตำนานระบุว่า ในสมัยท่านนบีนุฮฺหรือในศาสนาคริสต์ คือ ศาสดาโนอาห์ ซึ่งมีผู้ศรัทธาจำนวนน้อย พระผู้เป็นเจ้าจึงได้สั่งให้ท่านนบีต่อเรือ แล้วท่านจะบันดาลให้น้ำท่วมโลกเพื่อลงโทษผู้ไม่ศรัทธา นบีนุฮฺได้พยายามบอกแก่ผู้ศรัทธาให้ขึ้นเรือแล้วเอาสัตว์อย่างละคู่รวมทั้งพืชพันธุ์ต่างๆ ขึ้นบนเรือด้วย เมื่อน้ำท่วมโลก นบีนุฮฺ คนและสัตว์ได้อยู่บนเรือจนกระทั่งน้ำลดลง นบีนุฮฺได้สั่งให้เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เหลืออยู่ในเรือมากวนรวมกันในกะทะใบใหญ่ เรียกว่ากวนอาซูรอ ปัจจุบันนี้ อาซูรอ ประกอบด้วย ข้าว กะทิ เกลือ น้ำตาลโตนด มัน กล้วย ฟักทอง เม็ดผักชี (ตูมา) และอื่นๆ บางพื้นที่มีการใส่ไก่เข้าไปด้วย ในอดีตจะรับประทานอาซูรอโดยใส่ในกะลาแล้วนำใบมะพร้าวมาทำเป็นช้อนตัก ปัจจุบัน การรับประทานอาซูรอจะใช้จานช้อนทั่วไป วันสำคัญถัดมาเป็นวันเมาลิดตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบีอัล-เอาวัล ตรงกับวันเกิดของท่านบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) เรียกในภาษาถิ่นว่า “วันเมาะโล๊ะ”

2) เดือนรอมฎอน หรือเดือนที่ 9 เป็นเดือนแห่งการฝึกความอดทนของชาวมุสลิม คนมลายูจะเรียกการถือศีลอดว่า “ปอซอ” การถือศีลอดนับเป็นหลักปฏิบัติ 1 ใน 5 ประการของศาสนาอิสลาม เป็นการละและการงดเว้นจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ การรักษาอวัยวะทุกส่วนให้พ้นจากการทำความชั่วทั้งทางด้านร่างกาย คำพูดและจิตใจ ในช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นกระทั่งถึงหลังพระอาทิตย์ตกดิน ช่วงเดือนนี้คนมุสลิมจะตื่นตั้งแต่ตี 3 ตี 4 เพื่อเตรียมตัวทำอาหารและรับประทานอาหารก่อนที่พระอาทิตย์ขึ้น กระทั่งตอนเย็นเมื่อสิ้นแสงพระอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่จะมีเวลาที่คลาดเคลื่อนกันไม่มากนักจะเปิดปอซอหรือละศีลอดด้วยการทานผลไม้ ส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานอินทผลัมตามแบบอย่างท่านนบี (ซ.ล.)ทำให้อินทผลัมหรือผลไม้แห้งรสหวานมักกลายเป็นของฝากหรือของขวัญที่ดีสำหรับคนมุสลิมในเดือนถือศีลอด หลังจากรับประทานผลไม้จะละหมาดมัฆริบก่อนที่จะรับประทานอาหารต่อไป

คืนวันที่ 29 ของการถือศีลอดคนในชุมชน จะมารวมกันที่มัสยิดเพื่อดูดวงจันทร์และกำหนดวันอีดิลฟิตรี ในคืนนี้จะมีการบริจาคซะกาตฟิตเราะฮฺให้กับมัสยิด เป็นข้าวสารคนละ 3 ลิตร กับ 1 กระป๋องนม คิดเป็น 2.7 กิโลกรัม คิดเป็นเงินจำนวน 30 บาท

3) วันตรุษอีดิลฟิตรี ในภาษามลายูถิ่นว่า ฮารีรายอปอซอมุสลิมภาคกลางจะเรียกกันว่าวันอีดเล็ก ตรงกับวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล เป็นวันเฉลิมฉลองที่ได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ก่อนวันฮารีรายอปอซอหนึ่งวัน ผู้หญิงจะเตรียมทำข้าวต้มห่อใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกกันว่า “กะตูป๊ะ” ลักษณะเหมือนกับต้มที่ใช้ในการทำบุญเดือนสิบของชาวไทยพุทธ สำหรับแจกให้เครือญาติและเพื่อนบ้านในวันรายอ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมอาหารทั้งคาวหวานจำนวนมาก เช่น ข้าว แกง ข้าวหมก ตาแป (ข้าวหมาก) ขนมหวาน ประมาณ 7 - 9 โมงเช้าของวันรายอทุกคนจะไปมัสยิดเพื่อละหมาดร่วมกัน เสร็จจากการละหมาดแล้วจะไปที่กุโบร์ช่วยกันทำความสะอาด อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและดุอาร์ (ขอพร) แก่บรรพบุรุษ ขอให้อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ลดโทษแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว คนที่มีฐานะดีจะแจกเงินให้เด็กและคนชรา

หลังจากนั้นจึงไปเยี่ยมเยียนพบปะญาติพี่น้องเพื่อขออภัยในสิ่งที่ได้ทำผิดพลาดต่อกัน รวมทั้งการเชิญเพื่อนบ้านมาร่วมรับประทานอาหารและแจกอาหารให้แก่กัน หลังจากวันรายอหนึ่งวันมุสลิมบางคนจะถือศีลอดต่ออีก 6 วัน ซึ่งการถือศีลอดนี้ไม่ใช่ข้อบังคับบางคนจะถือโอกาสหยุดงานพักผ่อนและพาครอบครัวไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ ผู้หญิงจะเตรียมเสื้อผ้าที่ดีที่สุด หรือเสื้อใหม่ให้ทุกคนในครอบครัวสวมใส่ในวันสำคัญนี้

4) เดือนซุ้ลเก๊าะดะฮ์ หรือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เรียกว่า ซูลแกะเดาะห์ หรือเดือนฮายี หลังจากวันฮารีรายอปอซอและเดือนซูลแกะเดาะห์ เป็นช่วงเวลาสำหรับคนที่มีทรัพย์สินเพียงพอจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จนกระทั่งถึงวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจเยาะห์เป็นวันตรุษอีดิลอัฎฮาหรือรายอฮายี สำหรับคนมลายู ส่วนคนมุสลิมภาคกลางจะเรียกวันอีดใหญ่ กิจกรรมต่างๆ ในวันนี้จะเหมือนกับวันรายอปอซอ แต่มีกิจกรรมหนึ่งที่แตกต่างกันคือ การทำกุรบั่น คนมีฐานะ 7 คน จะมาร่วมกันซื้อวัว 1 ตัว เพื่อนำมาเชือด แล้วเอาเนื้อสดไปแจกจ่ายกับผู้ที่ยากจนในหมู่บ้านเป็นการฝึกความเสียสละ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ที่ด้อยโอกาส

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

พิธี “แนแง”เป็นพิธีลูบไล้ครรภ์ของหญิงตั้งครรภเพื่อให้คลอดง่าย และเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อทารก กระบวนการในช่วงแรกที่จะต้องให้หญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน พร้อมสามีของเขาใส่ผ้าถุงนั่งบนเก้าอี้ เพื่อรอให้โต๊ะบีแด (หมอตำแย) อาบน้ำให้ ทั้งสองคนจะต้องผ่านการอาบน้ำของโต๊ะบีแด หลังอาบเสร็จทั้งสองจะต้องกินข้าวเหนียวสีขาวกับข้าวเหนียวเหลืองจำนวนเล็กน้อยและดื่มน้ำของโต๊ะบีแด พิธีดังกล่าวจึงเกิดจากความเชื่อที่ว่าให้ลูกในท้องรู้สึกผูกพันรักทั้งพ่อและแม่ เป็นการสร้างความอบอุ่นของครอบครัว ส่วนขั้นตอนหลังคลอด โต๊ะบีแดจะทำพิธีกรรมต่างๆ อีกประมาณ 45 วัน โดยโต๊ะบีแดจะต้องอาบน้ำบนร่างกายของหญิงตั้งครรภ์เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรก รวมถึงภูตผีปีศาจ การอาบน้ำในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาด เนื่องจากตามความเชื่อว่าเลือดของหญิงคลอดหมดแล้วจะต้องอาบน้ำกับโต๊ะบีแด โดยโต๊ะบีแดจะอ่านคัมภีร์และเวทมนต์คาถาต่างๆ ตามความเชื่อของคนในอดีต

อุปกรณ์ในการทำพิธี ประกอบด้วย ผ้าโสร่งใหม่หนึ่งผืน กะละมังหนึ่งใบ ใบมะพร้าวสามใบประดิษฐ์เป็นดอกไม้ เปลือกไม้ที่เป็นสมุนไพร เพื่อถูบนร่างกายเอาไว้แทนสบู่อาบน้ำ นอกจากนี้ยังมีข้าวเหนียวสามสี คือ สีแดง สีขาว สีเหลือง หมากเจ็ดลูก พร้อมใบสีเขียวเป็นเงิน 100 บาท

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความนิยมในการใช้บริการโต๊ะบีแดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดน้อยลง เป็นผลมาจากการที่บุคคลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นโต๊ะบีแดมีจำนวนไม่มากนักประกอบกับความก้าวหน้าในการให้บริการสาธารณสุขสมัยใหม่ที่สามาสารถเข้าถึงทุกพื้นที่ของชนบท ทำให้หญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่หันมาใช้บริการทำคลอดกับโรงพยาบาลและสถานบริการของรัฐเป็นหลัก (เปรมสินี ศักดิ์สูง, 2558)

นอกจากพิธีแนแงเล้ว หลังจากการคลอดบุตรจะต้องมีการทำบุญโกนผมไฟ หรือ อะกีเกาะฮ์ เมื่อมีทารกแรกเกิดในครอบครัวพ่อและแม่ที่มีความสามารถทางด้านการเงินจะต้องการทำบุญ “อากี เกาะฮ์” ซึ่งเป็นการเชือดสัตว์พลีสำหรับทารกแรกเกิด ปกติจะทำกันหลังจากคลอด 7 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการขอบคุณพระเจ้าที่ได้ให้ทารกมาเกิดและขอให้ทรงคุ้มครองรักษาทารกนี้ต่อไปสำหรับทารกผู้ชาย จะให้เชือดแพะสองตัว ส่วนทารกผู้หญิงให้เชือดแพะหนึ่งตัว เนื้อที่ได้จากสัตว์ที่เชือดแล้วให้แบ่งออกเป็น 3ส่วน คือ ส่วนแรก เก็บไว้รับประทานในครอบครัว ส่วนที่สอง แจกจ่ายแก่ญาติพี่น้อง และส่วนสุดท้าย นำไปบริจาคแก่คนยากจน (สุนิติ จุฑามาศ, 2564)

การโกนผมและการเปิดปาก ในภาษามลายูเรียกว่า บือโละมูโละ แปลว่า ผ่าปาก เป็นประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น ในอดีตภายหลังจากโกนผมแล้วจะนำผมเด็กไปใส่ไว้ในผลมะพร้าวอ่อน แล้วนำไปฝังในบริเวณบ้าน บางครอบครัวอาจปลูกต้นไม้เป็นหมุดหลักที่บ่งบอกว่าบริเวณนี้เป็นที่ฝังเส้นผมของเด็ก ปัจจุบัน มีเพียงการนำเส้นผมไปฝังไว้ในบริเวณบ้าน สิ่งของที่ใช้ในพิธีโกนผม และเปิดปาก ประกอบด้วย น้ำผึ้งที่มีรสหวาน และน้ำที่ได้มาจากดอกไม้หอมหลายชนิด มีผู้รู้ตีความว่าการใช้น้ำผึ้งมีความหมายให้เด็กเติบโตขึ้นมาพูดจาไพเราะ เป็นที่รักของเพื่อนๆ เสมือนดอกไม้ที่หอมตลอดเวลาส่วนมะนาวเป็นการสอนให้เด็กรับรู้ว่าเมื่อเติบโตแล้ว ชีวิตไม่ได้มีแต่ความหวานเสมอไป ฉะนั้นจะต้องอดทนอดกลั้นจึงจะมีความสุขส่วนแหวนทองเพื่อความเป็นสิริมงคล (สุนิติ จุฑามาศ , 2564)

การเปลี่ยนช่วงวัย

มาโซะยาวี หรือ สุหนัดหรือสุนัต มาโซะยาวี เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึง พิธีกรรมการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ความหมายตามคำศัพท์ มาโซะ แปลว่า เข้า ยาวีหรือยาวา แปลว่าชวา หรือชาวชวาที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำเอาศาสนาอิสลามมาเผยแผ่

ส่วนคำว่า สุหนัด หรื สุนัต มาจากคำว่า “สุนนะฮฺ” ในภาษาอาหรับ แปลว่าแบบอย่าง หรือแนวทาง ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสดา เด็กผู้ชายมักจะเข้าสุหนัดตั้งแต่อายุ 7 - 10 ปี สำหรับผู้หญิงจะมีการเข้าสุหนัดเช่นกัน โดยจะทำตั้งแต่คลอดใหม่ๆ กระทั่งไม่เกิน 2 ขวบ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมทำพิธีระหว่าง7 – 10 ขวบ ถ้าไม่ทำสุนัตถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์

การทำสุนัตเด็กผู้ชายจะเป็นการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (Circumcision) แต่สำหรับเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะให้หมอตำแยทำการขริบ โดยเมื่อก่อนจะนำสตางค์ที่มีรูตรงกลางไปวางตรงกลีบเนื้อ ระหว่างอวัยวะเพศของเด็ก แล้วใช้มีดคมๆ หรือ เข็มสกิดให้มีเลือดออกเพียงแค่แมลงวันกินอิ่มเท่านั้น เรียกกันว่า คิตาน

อดีตคนมลายูเรียกพิธีนี้ว่าบาเกะซือมางะ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “เรียกขวัญ” ของที่ใช้ในพิธีประกอบด้วยไก่ย่าง (ไก่หมักกับเครื่องเทศแล้วนำไปย่าง) ข้าวเหนียวเหลือง ด้ายดิบ ข้าวสาร หมากพลู เทียน ขนมการาส (ขนมลา) บรือเตะห์ (ข้าวตอก) ขนมดาดา (ใช้เฉพาะในพิธีกรรม เป็นแป้งกลมๆ) ต้นกล้วย (ยาวประมาณสองศอก) เงิน 12 บาท (ต่อเด็กที่ทำพิธี 1 คน) โต๊ะมูเด็ง หรือคนทำหน้าที่ขริบ มีอุปกรณ์คือมีด 1 เล่ม ยาสมุนไพร ผ้าพัน และงาเปะ (ที่หนีบส่วนปลายอวัยวะเพศ) โต๊ะมูเด็งให้เด็กเข้ามาทีละ 1 คน เริ่มด้วยการป้อนอาหารที่เตรียมไว้ให้ครบทุกอย่างจากนั้นโต๊ะมูเด็งจะดอออ (ดุอาอฺ) หรือขอพรจากอัลลอฮฺ ให้เด็กนั่งบนลำต้นกล้วย แล้วจึงขริบส่วนปลายของอวัยวะเพศ สำหรับคนที่มีฐานะจะมีขบวนแห่อาเนาะตูนอ (เด็กๆ ที่เข้าสุนัต) ไปรอบๆ หมู่บ้าน บางที่จะมีสีละนำหน้าขบวน บางที่มีการแห่นกโดยให้อาเนาะตูนอนั่งบนนก เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และความเพลิดเพลิน ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นข้อกำหนดในหลักการอิสลาม

ปัจจุบันการทำมาโซะยาวีหรือสุนัตอาจทำที่โรงพยาบาล หรือเข้าพิธีสุนัตหมู่ โดยชมรมหมอมุสลิมจะรวมตัวกันไปขริบให้เด็กๆ ในอำเภอต่างๆ ช่วงวันหยุดปิดภาคการศึกษา

การแต่งงานและการหย่าร้าง

ประเพณีของคนมลายูแตกต่างกันไปในรายละเอียดตามแต่ละท้องถิ่น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างประเพณีการแต่งงานของคนบ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีที่มักจะทำกันเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน พิธีการแต่งงานเริ่มด้วยพิธีทางศาสนาโดยการเชิญอิหม่าม คอเต็บ บิหลัน ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวและเจ้าบ่าว และญาติมิตรมาที่บ้าน หรืออาจจัดที่มัสยิดโดยผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวจะมอบให้อิหม่ามกล่าวแต่งงานแทนว่า “ผม/ฉันมอบให้โต๊ะอิหม่ามแต่งงานลูกของผม/ฉันกับนาย……” โต๊ะอิหม่ามรับคำกล่าวของผู้ปกครองเจ้าสาว (วาลี) แล้ว โต๊ะอิหม่ามจะให้คอเต็บอ่านคำสอนที่ว่าด้วยการแต่งงานจบแล้ว โต๊ะอิหม่ามจะจับมือเจ้าบ่าว เอ่ยชื่อ “เจ้าบ่าว (ชื่อ)…. อากูนีเกาะห์ อากันดีเกา ดืองัน เจ้าสาว (ชื่อ) ยันดีวากีลลี บาเปาะยอ อากันดากู ดืองัน อีสีกาเวน (เงินสินสอด)… ตูนัย” เจ้าบ่าวรับคำกล่าวของโต๊ะอิหม่ามว่า “อากูตือรีมอ อากันนิเกาะห์ ยอดืองัน อีสีกาเวนยอ บาเยาะตือรสือโบะอีตู”เสร็จแล้วโต๊ะอิหม่ามจะขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นการเสร็จพิธีแต่งงาน

สำหรับการเลี้ยงฉลองแต่งงาน ส่วนใหญ่จะจัดงานที่บ้านเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวจะเตรียมอาหารเพื่อต้อนรับแขก ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำบัลลังก์ อุปกรณ์การจัดบัลลังก์เช่น ดอกไม้ เทียน ในคืนจัดงานจะมีการแห่ขบวนฝ่ายเจ้าบ่าว ที่ประกอบไปด้วย ขันหมาก(มูงอสีเระห์) เสื้อผ้าเจ้าสาว ผ้าสำหรับตัดเสื้อ ขนมหวาน ชุดครัวเรือน 1 ชุด เช่น แก้ว จานชาม หม้อข้าว ถาด ฝาชี ในระหว่างการแห่จะมีการร้องเพลงสรรเสริญศาสดามูฮัมหมัด เมื่อถึงหน้าบันไดบ้านเจ้าสาวจะมีผู้หญิงสูงอายุหลายคน มาต้อนรับด้วยการล้างเท้าให้เจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจะถามว่า “จะให้ขึ้นบ้านไหม” ฝ่ายเจ้าสาวจะตอบว่า “ขึ้นมาเถิด” ฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญเจ้าบ่าวนั่งบนบัลลังก์ แล้วผู้เฒ่าผู่แก่จะมาป้อนข้าวเหนียว “ปูโละซือมางัด” ต่างๆ จากนั้นจะมีญาติมิตรทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาอวยพร จับมือ และมอบเงินเล็กน้อยกับคู่บ่าวสาว จากนั้นฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญแขกรับประทานอาหารร่วมกัน

การเข้าหอ หลังจากแต่งงาน 3 วัน เจ้าบ่าวจะเข้าหอที่บ้านเจ้าสาวเป็นเวลา 7 วัน หลังนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจะเชิญฝ่ายเจ้าสาวไปที่บ้าน โดยทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะจัดอาหารต้อนรับฝ่ายเจ้าสาว เจ้าสาวจะอยู่บ้านเจ้าบ่าวประมาณ 7 วันตามประเพณีเจ้าบ่าวจะอยู่บ้านเจ้าสาวเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่คู่แต่งงานจะสร้างบ้านของตนเอง เมื่ออายุมากขึ้น

ความตายและการทำศพ

การจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิมการจัดพิธีงานศพของชาวมุสลิมจะใช้วิธีการฝัง โดยปกติแล้วจะต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมงมีทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังนี้คือ

1. อาบน้ำให้ศพ ชาวมุสลิมเชื่อว่ากายของคนเรานั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ กายหยาบหรือร่างกาย กับกายละเอียดหรือจิตวิญญาณ ซึ่งความตายเป็นการที่กายละเอียดแยกออกจากกายหยาบและไม่สามารถควบคุมกายหยาบได้อีกและเมื่อมีผู้เสียชีวิต ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับจะต้องทำหน้าที่จัดการดูแลกายหยาบของผู้ล่วงลับให้เรียบร้อยคือการอาบน้ำทำความสะอาดศพและห่อด้วยผ้าขาว โดยเป็นหน้าที่เฉพาะเพศเดียวกับผู้ล่วงลับเท่านั้น

2. การกะฝั่น(ห่อ) หลังจากที่ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับก็จะทำหน้าที่ห่อศพด้วยผ้าขาว จากนั้นจึงนำศพของผู้ล่วงลับมาใส่ไว้ในโลงศพ ซึ่งการประดับตกแต่งโลงศพจะเป็นไปอย่างเรียบง่ายคือ คลุมด้วยผ้าประดับลวดลายโองการจากพระคัมภีร์หรือตกแต่งด้วยดอกไม้หรือใบไม้ประเภทพืชตระกูลมินต์ที่ให้น้ำมันหอมระเหยอย่าง “ใบโหระพา” อันเป็นสัญลักษณ์ของพืชแห่งสรวงสวรรค์

3. ละหมาดให้แก่ผู้ล่วงลับ เมื่อนำศพของผู้ล่วงลับห่อด้วยผ้าขาวและใส่ในโลงศพแล้ว ครอบครัว ญาติพี่น้อง และชาวมุสลิมคนอื่น ๆ ที่มาร่วมงานศพจะทำการละหมาดหรือสวดวิงวอนพระเจ้าเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ

4. ฝังศพ ชาวมุสลิมจะใช้วิธีการฝังศพเพื่อให้ร่างสลายไปตามธรรมชาติเท่านั้น และจะต้องฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง หรือฝังให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนสถานที่ฝังศพหรือสุสานนั้น ชาวมุสลิมเรียกว่า “กุโบร์” ซึ่งกุโบร์นี้ถือเป็นสถานที่แรกที่ดวงวิญญาณจะพำนักรอคอยก่อนเข้าสู่การตัดสินในวันแห่งการพิพากษาที่เกิดขึ้นหลังวันสิ้นโลก การฝังศพจะฝังในท่านอนตะแคงให้ส่วนศีรษะและใบหน้าของศพหันไปทางทิศตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของวิหารกะบะฮ์ที่ตั้งอยู่ในนครเมกกะ นอกจากนี้การฝังศพของชาวมุสลิมจะไม่มีการฝังสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ลงไปในหลุมศพกับผู้ล่วงลับด้วย เนื่องจากชาวมุสลิมเชื่อว่าสิ่งที่จะติดตัวผู้ล่วงลับไปมีเพียงสามอย่างเท่านั้น ได้แก่ ความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและศาสนกิจที่ตนสั่งสมไว้, วิทยาทานหรือกุศลทานและการมีบุตรที่ดีเพื่อทำหน้าที่ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าให้แก่ตนหลังจากที่เสียชีวิตไป (มุสลิมไทยโพสต์ มปป.)

การเปลี่ยนสถานภาพ

พิธีตัมมัตอัลกุรอาน “ตัมมัต” มาจากภาษาอาหรับแปลว่า “จบ” หรือเสร็จสิ้นสมบูรณ เป็นพิธีที่เกิดหลังจากการเรียนจบของเด็กมุสลิมเป็นการแห่เด็กเข้าพิธีตัมมัตอัลกุรอาน เพื่อเป็นความภูมิใจของพ่อแม่ ครู อาจารย์ และคนในชุมชนว่ามีเมล็ดพันธุ์ของคนในหมู่บ้านได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาได้สมบูรณ์แล้ว(สุนิติ จุฑามาศ 2564 )

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

อิซิกุโบร์และอารวะฮ์: การทำบุญอุทิศแก่วิญญาณผู้วายชนม์ คือ พิธีการทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย หรือที่ “ทำอิซิกุโบร์” หรือ “ทำอา รวะฮ์” (สุนิติ จุฑามาศ 2564 )

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ตือรี การบรรเลงดนตรีประกอบการเข้าทรงเพื่อให้คนทรงกับหมอได้สื่อสารกับเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือดวงวิญญาณเพื่อสอบถามถึงวิธีการที่จะรักษาผู้ป่วยให้ หายจากการเจ็บป่วยนิยมแสดงเพื่อรักษาผู้ป่วยที่เชื่อว่ามีมูลเหตุมาจากการถูกคุณไสย เวทมนตร์คาถา การฝังรูป ฝังรอย เลขยันต์ ถูกเข็ม ถูกหนังอาคมเข้าท้อง ถูกวิญญาณ (อางิน) เช่น การละเล่นเซ่นไหว้ครูศิลปิน (สำหรับผู้มีเชื้อสายโนรา - มะโย่งและวายัง) โดยอาศัยโต๊ะตือรีเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณนำมาบอกกล่าวกับโต๊ะมี โนะ แนะแนวทางให้ทราบกรรมวิธีเพื่อรักษาคนไข้หรือถอดถอนอาถรรพณ์อย่างไร เช่นการเซ่นไหว้ ใช้บน ทำพิธีพลีกรรมขอขมาลาโทษความเชื่อเรื่องนี้แต่เดิมมีอยู่ในหมู่คนไทยมุสลิมในดินแดนกันดารบริเวณ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส แต่ปัจจุบันการแพทย์เจริญขึ้นประกอบทั้งเห็นว่าความเชื่อนี้ขัดกับหลักการ ทางศาสนา ความเชื่อนี้จึงแทบไม่เหลืออยู่อีกเลย

กระทรวงศึกษาธิการ. (2505). ประวัติศาสตร์สี่จังหวัดภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล.

กองบรรณาธิการ Halal Life Megazine. (2555). ศุกรีย์ สะเร็ม เราเป็นใครในบ้านของเรา . Halal Life Megazine. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก https://www.halallifemag.com/sukree-sarem/ เข้าถึงเมื่อ 27มิถุนายน 2565.

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ. (2549). รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.

ครองชัย หัตถา. (2552). ประวัติศาสตร์ปัตตานีสมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2.

ครองชัย หัตถา.(2541). ปัตตานี การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต ปัตตานี : โรงพิมพ์มิตรภาพ.

จันทรรัตน์ เหมเวช. (2544). เรือนไทยมุสลิมแบบประเพณีใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สตูล), วิทยานิพนธ์สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ฉวีวรรณ วรรณประเสริฐ และคณะ. (2524). ประเพณีที่ช่วยส่งเสริมการผสมผสานทางสังคม ระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิม.ปัตตานี : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2524 : 87-89

ชิดชนก ราฮิมมูลา. (2548). วิกฤตการณ์ชายแดนใต้. ในความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้. อุทัย ดุลยเกษม และ เลิศชาย ศิริชัย (บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ : สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.

ชุลีพร วิรุณหะ. (2551). บุหงารายา ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์.

ชูพันธ์ ตราชู. (2535). บทบาทของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในการพัฒนาเยาวชนมุสลิม จังหวัดชายแดนภาคใต้. งานวิจัยสังคมจิตวิทยา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 34 (วจ.).2535.

ถุงเงิน จงรักชอบ. มองอาเจะห์...ถึง 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย. ใน วารสารอินโดจีนศึกษา ฉบับวิกฤตการณ์ไฟใต้, 7,1 มกราคม – ธันวาคม.

ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2545). อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี:ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปัตตานี และบทสนทนาระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นในการเขียนประวัติศาสตร์. ในงานสัมมนา The First Inter-Dialogue Conference on Southern Thailand, โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 13-15 มิถุนายน 2545.

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2549). ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา.

ธานินทร์ผะเอม. (2527). นโยบายการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้.วิทยานิพนธ์สาขาการปกครองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นันทวรรณ ภู่สว่าง. (2521). ปัญหาชาวไทยมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้. รายงานวิจัย. สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

นานาวี กาโฮง. (2552). ปาตงอบรมสั่งสอน . ออนไลน์ เข้าถึงได้จาก https://www.langarchive-th.org/en/node/423 เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2565

นาวาวี กาโฮง. (2561). การสังเคราะห์องค์ความรู้จากปันตุนมลายูปาตานีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ .ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนาสังคม. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

นาวาวี กาโฮง และคณะ. (2553). ศึกษาและรวบรวม'ปาตงและปราชญ์'ปาตงมลายูถิ่นปาตานีในจังหวัดปัตตานี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ คณะ. ความรู้และความไม่รู้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ: อุษาการพิมพ์. 2549.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). ใน มลายูศึกษา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

บรรจง บินกาซัน. (2547). สารานุกรมอิสลามสำหรับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ. กรุงเทพฯ: อัลอะมีน. พิมพ์ครั้งที่ 2.

บุศรินทร์ แปะแนะ. (2556). ความเป็นมลายูมุสลิม:อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนา ในอำเภอ เบตง จังหวัดยะลา. ศิลปศาสตรบัณฑิต โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2540). บุหงาปัตตานี คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : มติชน.

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2548). เรื่องเล่าจากปัตตานี. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2548.

ประยูรศักดิ์ชลายนเดชะ. (2539). มุสลิมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้ป.

ประเวศ วะสี. (2550). ดับไฟใต้ด้วยจิตวิวัฒน์และพลังแห่งทางสายกลาง. กรุงเทพฯ : กรีนปัญญาญาณ.

ปรามินทร์ เครือทอง. (2547). สยาม-ปัตตานีในตำนานการต่อสู้มลายูมุสลิม. กรุงเทพฯ: มติชน.

ปรีดี พนมยงค์.(2517). “ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย.” ใน ความเป็นเอกภาพของชาติกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้, 1-16. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาชาวปักษ์ใต้แห่งประเทศไทย, รวบรวม. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์.

ปิยนาถ บุนนาค. (2531). นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2516). รายงานวิจัยโครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. (2547). ตามหา”มะโย่ง”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 25,12 ตุลาคม 2547. หน้า 72 – 73

แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. (2552). ทักษะวัฒนธรรม : คู่มือวิธีการขัดกันฉันมิตร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. (2546). ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมลายูมุสลิมกับชาวจีนในย่านสายกลาง จังหวัดยะลา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มุนีร มุฮัมหมัด. (2521). กฎหมายอิสลาม. กรุงเทพฯ: พิทักษ์การพิมพ์.

เมธี ธรรมรังสี. (2532). ชาวไทยมุสลิม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับความมั่นคงของชาติ . เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร.

ยุซุฟ ก็อรฺฏอวี (เขียน) บรรจง บินกาซัน (แปล). (2539). หะราลและหะรอมในอิสลาม.กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสืออิสลาม, พิมพ์ครั้งที่ 3.

รัตติยา สาและ. (2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2544.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ.(บรรณาธิการ). (2550). เสียงสะท้อนจากหมู่บ้านประมงอ่าวปัตตานี: เสียงจากคนตานี. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์.

วัฒนธธรรม. (ออนไลน์). วายังกูและหนังตะลุงมลายู สื่อพื้นบ้าน สามจังหวัดชายแดนใต้. ออนไลน์ . เข้าถึงได้จาก http://article.culture.go.th/index.php/layouts-modules-positions/3-column-layout-2/180-2019-12-06-08-50-03 เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2565

วัน มะโรหบุตร. (แปล). (2551). ฮิกายัต ปัตตานี เล่าเรื่องเมืองปัตตานี. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง “โลกอิสลามและมุสลิมในอุษาคเนย์. 28-29 พฤศจิกายน.

วาที ทรัพย์สิน. (2548). “มะโย่งในสถานการณ์ที่กำลังจะดับสูญ” ในวารสารรูสะมิแล, 26(1) ม.ค.-เม.ย.

วิเชียรคิรี,พระยา. (2471). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 3. พิมพ์ครั้งที่ 2 พระนคร:หอสมุดวชิรญาณ, 2471 (พิมพ์ในงานศพหลวงชนาธิกรณ์อนุมัติ (สิงโต ลิมปพันธุ์) .

แวมายิ ปารามัล.(2552). คู่มือระบบตัวเขียนภาษามลายูปาตานี. เอกสารประกอบโครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น)”ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2538). ชุมชนโบราณในสี่จังหวัดภาคใต้. ใน ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

ศรีศักร วิลลิโภดม.(2550). เล่าขานตำนานใต้. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมโชติ อ๋องสกุล. (2521). การปฏิรูปการปกครองมณฑลปัตตานี (พ.ศ. 2449 – 2474) วิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ. (2549). แนวทางด้านนโยบายในการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารถ่ายสำเนา.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2547). รัฐปัตตานีใน “ศรีวิชัย”. กรุงเทพฯ: มติชน.

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี และดอน ปาทาน. (2547). สันติภาพในเปลวเพลิง. กรุงเทพฯ : เนชั่นบุ๊คส์.

สุรชาติ บำรุงสุข. (2550). วิกฤติใต้ สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา. กรุงเทพฯ : ร่วมด้วยช่วยกัน, พิมพ์ครั้งที่ 2.

สุรินทร์พิศสุวรรณ. (2525). นโยบายประสมประสานชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์. ในการสัมมนาสองศตวรรษรัตนโกสินทร์ : ความเปลี่ยนแปลง ของสังคมไทยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525

เสมอ นาคพงศ์. (2530). โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในเขตการศึกษา 2 กับความมั่นคงแห่งชาติ. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วจ.).

เสาวนีย์ จิตต์หมวด. (2531). กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.

เสาวนีย์ จิตต์หมวด. (2535). วัฒนธรรมอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ทางนำ.

หะยีมูหัมหมัด อาดำ และคณะ. (2550). เราคือปอเนาะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.

อ.บางนรา. (2519). ปัตตานี อดีต-ปัจจุบัน. ชมรมแสงเทียน.

อนันต์ วัฒนานิกร. (2528). แลหลังเมืองตานี. จัดพิมพ์โดยศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

อรศิริ ปาณินท์. (2543). ปัญญาสร้างสรรค์ในเรือนพื้นถิ่นอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อับดุลลอฮฺ ลออแมน. (2547). มัสญิดบ้านตะโละมาเนาะ. กรุงเทพฯ : โฟร์พริ้นติ้ง จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2.

อารง สุทธาศาสน์. (2519). ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: พิทักษ์ประชา.

อารีฟีน บินจิ, อ.ลออแมน และอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง. (2543). ปาตานี ดารุสสลาม. ยะลา : มุสลิมนิวส์.

อุทัย หิรัญโต. (2521). มุสลิมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

กระทรวงศึกษาธิการ. (2505). ประวัติศาสตร์สี่จังหวัดภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล.

ครองชัย หัตถา. (2541). ปัตตานี การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต ปัตตานี : โรงพิมพ์มิตรภาพ.

ครองชัย หัตถา. (2552). ประวัติศาสตร์ปัตตานีสมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2.

ชุลีพร วิรุณหะ. บุหงารายา ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2551.

ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2545). อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี:ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปัตตานี และบทสนทนาระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นในการเขียนประวัติศาสตร์. ในงานสัมมนา The First Inter-Dialogue Conference on Southern Thailand, โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 13-15 มิถุนายน 2545.

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2549). ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา.

ปรีดี พนมยงค์. (2517). “ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย.” ใน ความเป็นเอกภาพของชาติกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้, 1-16. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาชาวปักษ์ใต้แห่งประเทศไทย, รวบรวม. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์.

ประยูรศักดิ์ชลายนเดชะ. (2531).มุสลิมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้ป.

ปรามินทร์ เครือทอง. (2547). สยาม-ปัตตานีในตำนานการต่อสู้มลายูมุสลิม. กรุงเทพฯ: มติชน.

วัน มะโรหบุตร. (แปล). (2551). ฮิกายัต ปัตตานี เล่าเรื่องเมืองปัตตานี. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง “โลกอิสลามและมุสลิมในอุษาคเนย์. 28-29 พฤศจิกายน.

วิเชียรคิรี,พระยา. (2471). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 3. พิมพ์ครั้งที่ 2 พระนคร:หอสมุดวชิรญาณ, 2471 (พิมพ์ในงานศพหลวงชนาธิกรณ์อนุมัติ (สิงโต ลิมปพันธุ์).

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2538). ชุมชนโบราณในสี่จังหวัดภาคใต้. ใน ค้นหาอดีตของเมืองโบราณ, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

ศรีศักร วิลลิโภดม. (2550). เล่าขานตำนานใต้. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2547). รัฐปัตตานีใน “ศรีวิชัย”. กรุงเทพฯ: มติชน.

สุรินทร์พิศสุวรรณ. (2525). นโยบายประสมประสานชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์. ในการสัมมนาสองศตวรรษรัตนโกสินทร์ : ความเปลี่ยนแปลง ของสังคมไทยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อ.บางนรา. (2519). ปัตตานี อดีต-ปัจจุบัน. ชมรมแสงเทียน.

อนันต์ วัฒนานิกร. (2528). แลหลังเมืองตานี.จัดพิมพ์โดยศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

อารีฟีน บินจิ, อ.ลออแมน และอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง. (2543). ปาตานี ดารุสสลาม. ยะลา : มุสลิมนิวส์.

สุนิติ จุฑามาศ. (2564). รายงานศึกษาการทำบุญ-กินบุญ: พิธีกรรม ประเพณีวิถีชีวิต พลวัตของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมกรณีศึกษาชุมชนมัสยิดยะวา กรุงเทพมหานคร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)

เปรมสินี ศักดิ์สูง .(2558) วิถีโต๊ะบีแด : การดารงภูมิปัญญาพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรมชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. รายงานวิจัย. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.กระทรวงวัฒนธรรม


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว