2023-06-13 17:46:40
ผู้เข้าชม : 605

ซำเร มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในบริเวณเชิงเขาทางตะวันตกของเทือกเขากุเลน ในจังหวัดเสียมเรียบใกล้กับนครวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรเขมรโบราณ คนกลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นกลุ่มเปราะบางจากการเผชิญความเสี่ยงด้านภาษาที่ใกล้สูญหาย ในขณะที่การปฏิบัติตามพิธีกรรมยังคงมีการยืดถือตามพิธีกรรมสำคัญ คือ การเล่นผีแม่มด ซึ่งมีความสำคัญในการปัดเป่าความเจ็บป่วย และเป็นพื้นที่ในการพบปะสังสรรของเครือญาติชาติพันธุ์เดียวกัน 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ซำเร
ชื่อเรียกตนเอง : ซำเร
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชอง, สำเหร,ซำแร, ปอร์
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : กะซอง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ซำเร เป็นชื่อเรียกตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตราด คำว่า ซำเร หมายถึงคนทำนา อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะรู้จักพวกเขาในชื่อ “ชอง” ซึ่งเป็นการเรียกเหมารวมกับชาวชอง กะซอง และซำเร ทั้งนี้ ผู้คนทั้งสามกลุ่มนั้นไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน การกล่าวถึงในทางวิชาการและการสื่อสารจึงควรใช้ชื่อที่เจ้าของวัฒนธรรมต้องการให้เรียกขานเป็นหลัก

ชาวซำเรจัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ในเป็นตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ที่รวมเป็นเขมรกลุ่มใหญ่ในเอเชีย มีถิ่นฐานเดิมในบริเวณเชิงเขาพนมกุเลนด้านตะวันตก ในเขตจังหวัดเสียมเรียบ โดย Jean Moura ชาวฝรั่งเศสให้ข้อมูลว่าชาวซำเรอาศัยอยู่ในแถบนี้มาเนิ่นนานทำหน้าที่เป็นทหารป้องกันราชสำนักและโบราณสถานบริเวณรอบนครวัด รวมถึงบางกลุ่มอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์เพื่อทำหน้าที่เก็บกระวานในเขตป่าแถบนั้น เมื่อเขมรแดงเรืองอำนาจ ทำให้พวกเขาถูกรุกไล่ ทารุณกรรม และเอารัดเอาเปรียบ จึงต้องเดินทางอพยพออกจากชุมชนกระจัดกระจายกันไปหลายทิศทาง ในประเทศไทยพบว่า ซำเรอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทางภาคตะวันออกในเขตอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ปัจจุบันมีคนพูดภาษาดั้งเดิมจำนวนไม่มากนัก ส่วนชาวซำเรในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันไม่สามารถพูดภาษาดั้งเดิมได้ เชื่อกันว่า ถูกกวาดต้อนมาจากกัมพูชาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีชาวซำเรในจังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันสามารถพูดภาษาซำเรได้ กลุ่มนี้เดินทางมาจากพระตะบองมาร่วมรบและอาศัยในประเทศไทยมายาวนานกว่าสองชั่วอายุคน

ชาวซำเร อาศัยปะปนกับคนไทยท้องถิ่น รวมทั้งชาวชอง และชาวกะซอง ทำให้เกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะมิติภาษาที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถพูดภาษาซำเรได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาษาของชาวซำเรมีความเสียงต่อการสูญหาย แต่ทว่าในด้านความเชื่อเรื่องผียังมีการปฏิบัติตามพิธีกรรมในชีวิตประจำวันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพิธีสำคัญ คือ การเล่นผีแม่มด ในช่วงเดือนสามตามปฏิทินจันทรคติถือเป็นพิธีกรรมสำคัญ เพื่อปัดเป่าความเจ็บป่วยและเป็นเทศกาลที่ชาวซำเรมารวมตัว พบปะ ร่วมสนุกรื่นเริงร่วมกัน

ชาวซำเรมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในบริเวณเชิงเขาทางตะวันตกของเทือกเขากุเลน ในจังหวัดเสียมเรียบ ใกล้กับนครวัดไปทางเหนือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรเขมรโบราณ Jean Moura ชาวฝรั่งเศส เป็นชาวตะวันตกรุ่นแรกที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวซำเรว่า ชาวซำเรในเสียมเรียบเป็นทหารป้องกันของราชสำนักและวัดโบราณจำนวนมากที่อยู่บริเวณรอบนครวัด สมาชิกของกลุ่มเหล่านี้ อยู่ใต้ปกครองของพระมหากษัตริย์เพื่อช่วยเก็บกระวาน คนซำเรเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามแนวป่า ถูกจัดให้มีสถานะทางสังคมต่ำที่สุดในสังคมเขมร นอกจากนั้น ยังพบว่า กลุ่มคนซำเรผู้พูดภาษาเพียริกของเสียมเรียบว่าเป็นชุมชนที่มีประชากรชาวซำเรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และยืนยันว่าเป็นสายเลือดดั้งเดิม พวกเขามีการใช้ภาษาเขมรโบราณซึ่งมีระบบเสียงเบา การออกเสียงควบกล้ำและเสียงลงท้ายปรากฏขึ้นเมื่อมีการร้องเพลงหรือแต่งเสียงที่ชัดเจน

ใน พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ได้ปรากฏหมู่บ้านซำเรที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงเขาและทางตะวันตกของเทือกเขากุเลน พวกเขาตระหนักว่า ตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมร แต่มีรากเหง้ามาจากกลุ่มชาติพันธุ์ซำเร ระหว่างสองทศวรรษสุดท้าย กลุ่มชาติพันธุ์เขมรจำนวนมากได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านเดิมของชาวซำเร จนทำให้ชาวซำเรถูกกลืนกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมรทั้งหมด (Schliesinger, 2011 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2559) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปี 2556 (ค.ศ. 2013) ยังพบว่า ชาวซำเรยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณเดิม ค.ศ. 2013)

Joachim Schliesinger (2011) กล่าวถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับกะซองและซำเรว่า เป็น กลุ่มที่พูดภาษามอญ - เขมร และกลุ่มในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ที่แบ่งเป็นกลุ่ม “จะไร” พบมากในจังหวัดรัตนคีรี และกลุ่ม “ระเด” ส่วนกลุ่มที่พูดภาษามอญ - เขมร แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ กะชก กรุงหรือ กรึง บราว กะแวด หรือ กะแวต, สเตรียง ที่มักสับสนกับกลุ่ม Degar (Montagnard) โกรล มีล กุย ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในที่สูงของกัมพูชา Phnong หรือ Mnong อาศัยอยู่ทางตะวันออกของจังหวัดมณฑลคีรี, ตำ ปวน กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดรัตนคีรี โดยซำเรในกัมพูชาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ ชอง ซะโอ (Sa'och) และ ซำเร

ในจังหวัดเกาะกง ของกัมพูชา มีข้อมูลการสำรวจเมื่อ ค.ศ. 2010 ระบุว่า มีหมู่บ้านซำเร จำนวน 21 ครัวเรือน ประมาณ 150 คน หมู่บ้านตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ Anlong ประมาณ 1 กิโลเมตร จากสะพานแห่งที่ 2 ตามทางหลวงหมายเลข 48 ในหมู่บ้านนี้มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวไทย ชาวจาม และชาวชอง ส่วนชาวซำเรสามารถสื่อสารภาษาไทยและภาษาเขมรได้อย่างคล่องแคล่ว มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ยังสามารถจดจำคำพูดในภาษาดั้งเดิมได้ ขณะที่การสื่อสารกับกลุ่มซะโอจ (Saoch) จากจังหวัดพระสีหนุ (Preah Sihanouk) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของซำเรไม่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาแม่ของตนเองได้ ต้องใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม

ชาวซำเรในหมู่บ้านพระสีหนุให้ข้อมูลว่า บ้านเดิมของพวกเขานั้นคือหมู่บ้าน Ruessei Chrum อำเภอ Thma Bang ต่อมาเมื่อเขมรแดงซึ่งเข้ามายึดครองกัมพูชาใน ค.ศ.1975 ได้รุกรานเข้ามาในถิ่นอาศัยของซำเรได้กระทำทารุณกรรม และเข่นฆ่าชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ชาวซำเรที่สามารถเอาชีวิตรอดได้จึงหลบหนีจากหมู่บ้านไปทางทิศใต้ทิศเหนือ ซึ่งอยู่ไกลออกไปในหมู่บ้าน Ou Saom, Veal Veng district จังหวัดโพธิสัตว์ (Pursat) และไม่หลงเหลือชาวซำเรในหมู่บ้านดั้งเดิม

พบอีกว่ามี คำนิยามชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียงคือ ซำไร หรือ ซำราย หรือ ซมราย (Samrai, Samray, Somray) ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อกลุ่ม มีประชากรประมาณ 4,000 คน (สถิติเมื่อ ปี ค.ศ. 2005 โดย SIL) และ 800 คน (อ้างอิงจาก Filippi, 2008) ซึ่งพบถิ่นอาศัยบริเวณจังหวัด Battambang หมู่บ้าน Puom Reo ในอำเภอ Samlot และ จังหวัด Pursat ในอำเภอ Veal Veng

นอกจากนี้ Marie –Alexandrine Martin นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ยังกล่าวถึง คนท้องถิ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ว่า กลุ่มคนผู้พูดภาษาเพียริกบริเวณเทือกเขาบรรทัด บางส่วนมาจากบริเวณนครวัด แถบจังหวัดเสียมเรียบ ก่อนวัฒนธรรมเขมรจะเริ่มต้นครอบครองบริเวณแถบนี้ กลุ่มผู้พูดภาษาเพียริกทั่วไปกลุ่มนี้ มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับ “กระวาน” พระมหากษัตริย์เขมรส่งพวกเขามาเก็บสมุนไพรและส่วย กระวานจึงถูกใช้เป็นสมุนไพรสำคัญ นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 พ่อค้าชาวเขมรควบคุมการค้ากระวานและทาสของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้พูดภาษาเพียริกถูกส่งไปยังเทือกเขาบรรทัดเพื่อหาและเก็บกระวาน รวมถึงหาสถานที่ปลูกกระวาน กลุ่มคนเหล่านี้ถูกจับบ่อยครั้งระหว่างบริเวณนี้ซึ่งมีกองทัพสยามเข้ามา พวกเขาจึงมีการต่อสู้เพื่อเก็บกระวาน จับช้างป่า และขุดเผือกมันที่แถบเทือกเขา (Schliesinger, 2011)

ชาวซำไรตามเทือกเขากุเลนในจังหวัดเสียมเรียบในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีชีวิตรอดจากการอพยพนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรนครวัด ในช่วงเวลานั้นกษัตริย์เขมรสั่งให้นายพรานชาวซำไรออกไปหาช้างบริเวณเทือกเขาบรรทัด เมื่อซำไรไปถุงบริเวณดังกล่าวไม่พบช้าง จึงได้นำกระวาน 2 ชนิด คือ krakaor และ meliec กลับมาแทน ภายหลังจากการที่พระมหากษัตริย์เขมรได้ชิมกระวาน ได้ชื่นชอบรสชาติของกระวานชนิด meliec เป็นอย่างมาก จึงส่งนายพรานให้กลับมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว โดยมีการก่อตั้งหมู่บ้านประมาณ 30 หลังคาเรือนขึ้น เป็นที่รู้จักในชื่อ Phum Ta Sanh หลังจากนั้นประมาณ 2 -3 ปี ชาวบ้านจึงเคลื่อนย้ายเข้าไปยังพื้นที่ Kranhung ที่พบกระวานมากขึ้น

ในประเทศไทยนั้น พบชาวซำเร อาศัยอยู่ในป่าทางภาคตะวันออก จังหวัดตราด และมีคนพูดภาษาดั้งเดิมของตัวเองได้ ไม่เกิน 50 คน นอกจากนี้ยังพบชาวซำเรในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ปัจจุบันพูดภาษาดั้งเดิมไม่ได้แล้ว เชื่อกันว่า คำว่า สำเหร่ อาจมาจากชนกลุ่มนี้ ซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากกัมพูชาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบชาวซำเรในจังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันยังคงพูดภาษาซำเรได้ ซึ่งภาษาซำเรมีความใกล้เคียงกับภาษาชอง ชาวซำเรกลุ่มนี้เดินทางมาจากพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ถูกเกณฑ์มาร่วมรบกับกองทัพแต่ไม่ระบุว่ากองทัพใด มานับ 2 ชั่วอายุคน ชาวซำเร หรือปอร์ที่อาศัยอยู่บ้านพนมเรย จังหวัดพระตะบอง เป็นเครือญาติกับคนซำเร ในอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด (ซำเร, ออนไลน์: 2561)

ด้านประวัติความเป็นมาของชาวซำเรบ้านมะม่วง สันนิษฐานว่า บุพการีของนางทอง เป็นผู้นำคนแรก ของชาวซำเร ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ต้นมะม่วง จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อหมู่บ้านในภาษาซำเรว่า “บ้านซอก” (ซอก หมายถึง มะม่วง) ต่อมาครอบครัวนี้ได้ย้ายบ้านไปยังสถานที่อื่นเพราะเกิดโรคระบาดและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก บริเวณบ้านเก่าได้กลายเป็นวัดมะม่วงและตั้งชื่อหมุ่บ้านว่า “บ้านมะม่วง” ในภาษาไทยตามชื่อเดิมในภาษาซำเร

ชาวซำเรยืนยันว่า บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ที่บ้านมะม่วงและบ้านนนทรีย์มาเป็นเวลาช้านาน บ้านนนทรีซึ่งอยู่ใกล้กัน มีชื่อเดิมในภาษาซำเร ที่มีความหมายว่า “ทุ่งนาที่อยู่ไกลออกไป” ลูกหลานของชาวซำเรตั้งรกรากอย่างถาวร ชาวซำเรจึงเป็นที่รู้จักว่าอาศัยอยู่บริเวณแถบนี้ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษของตัวเอง บางคนกล่าวว่า เคยตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณพื้นที่สูงตามแนวเทือกเขา ปัจจุบันทุกวันนี้บางคนได้มีการโยกย้ายจากบ้านเดิมมาเป็นบ้านที่อยู่ในบริเวณบ้านที่หน่วยงานภาครัฐจัดสรรให้ เป็นหมู่บ้านคลองโคน หมู่ที่ 4 ขณะที่บ้านคลองโคนถือเป็นหมู่บ้านใหม่จากการจัดตั้งขึ้นของหน่วยราชการ เป็นหมู่อาสาพัฒนาป้องกันตนเอง (อพป.) ซึ่งจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านปลูกบ้านเรือนกันครอบครัวละ 1 ไร่ จากเดิมที่เคยอาศัยอยู่กันอย่างกระจายตัวตามแนวเทือกเขา และเขตป่าไม้

ชาวซำเร ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ ตำบลนนทรีย์ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวชอง ชาวสำเหร่ (ซำเร) ที่สืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวซำเรเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่มีต้นนนทรีจำนวนมาก จึงตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “ชุมชนบ้านนนทรีย์” ต่อมาได้ถูกยกระดับให้เป็นตำบลด่านชุมพล อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด จากนั้นใน พ.ศ.2513 ได้มีการแบ่งเขตการปกครองอำเภอเขาสมิง ออกเป็นกิ่งอำเภอบ่อไร่ ตำบลด่านชุมพลจึงขึ้นกับกิ่งอำเภอบ่อไร่ ในปี 2524 ได้ยกฐานะกิ่งอำเภอบ่อไร่ เป็นอำเภอบ่อไร่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2529 ทางราชการได้แยกหมู่บ้านสระใหญ่ หมู่บ้านมะม่วง ออกจากตำบลด่านชุมพล มาจัดตั้งเป็นตำบลนนทรีย์ ขึ้นกับอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

ชาวซำเรในท้องที่องค์การบริการส่วนตำบลนนทรีย์นั้น ตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 3 บ้านมะม่วง และหมู่ที่ 4 บ้านคลองโอน จากข้อมูลการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2558 พบว่า ชุมชนบ้านมะม่วง มีพื้นที่ทั้งหมด 7,426 ไร่ มีพื้นที่ทำกิน 6,122 ไร่ จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 297 ครัวเรือน ประชากร 1,345 คน ส่วนบ้านคลองโอน หมู่ที่ 4 มีจำนวนครัวเรือทั้งหมด 97 ครัวเรือน ประชากร 314 คน

การดำรงชีพ

ชาวซำเรในประเทศไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร รับจ้างทำสวนปาล์ม รับจ้างเพาะพันธุ์กล้าไม้กฤษณา (ไม้หอม) สวนยางพารา สวนผลไม้และเก็บของป่าเพื่อจำหน่าย ชาวซำเรส่วนใหญ่อาศัยการเก็บของป่าแถบเทือกเขาบริเวณใกล้เคียง บางคนเก็บผลผลิตจากป่าเพื่อขายให้กับพ่อค้าที่อาจจะเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน ส่วนผู้หญิงจะรับผิดชอบในการดูแลบ้านเรือน เตรียมกับข้าว ทำอาหาร ชาวซำเรบางครอบครัวทำการเกษตร เพาะปลูกทำไร่สับปะรด ปลูกมะม่วง กล้วย พริกไทย พริก และผลไม้ ตลอดจนพืชผักอื่นๆ บางคนออกไปทำงานรับจ้างเป็นแรงงานในสวน บางรายที่มีที่ดินของตนเองจะทำการเกษตร ทำสวนยางพารา สวนผลไม้มากขึ้น ชาวซำเรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน รายได้ต่อปีของครัวเรือน ประมาณจำนวน 52,000 บาท มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี คนกลุ่มนี้มักจะประกอบอาชีพรับราชการครูและเป็นเจ้าของกิจการ แม้ว่าปัจจุบันสถานทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านของชาวซำเรจะดีขึ้น นอกจากนี้ผู้คนในชุมชนยังมีรายได้จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในการสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากกลุ่มภายใต้ชื่อกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน” แต่ถือว่า ผู้คนยังมีรายได้ค่อนข้างต่ำกว่าชาวบ้านทั่วไป

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ชาวซำเรนับถือภูตผีวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษ ชาวซำเรจะประกอบพิธีบูชาผี ด้วยการเซ่นไหว้ด้วยอาหารและเหล้า ในอดีตแต่ละครอบครัวจะทำพิธีเซ่นไหว้บูชาผีในช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 6 (ตามปฏิทินจันทรคติ) เป็นประจำทุกปีเพื่อขอให้ผีบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครองลูกหลาน และขอพรจากบรรพบุรุษ ปัจจุบัน ชาวซำเร ทั้งบ้านมะม่วงและบ้านคลองโอนได้เปลี่ยนแปลงมานับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก มีวัดมะม่วงเป็นศูนย์กลางทางศาสนา มีพระสงฆ์ที่เป็นชาวซำเร ตลอดจนชาวซำเรบางครอบครัวส่งเสริมให้ลูกชายบวชเป็นพระเพื่อเข้าไปศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนส่งลูกเข้าไปในเมืองเพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร เช่นเดียวกับชาวกะซองและคนไทยโดยทั่วไป

การแต่งงาน ใกล้เคียงกับชาวกะซอง และปฏิบัติตามประเพณีไทยร่วมสมัย

ความตาย และการทำศพ

ประเพณีตำนานและความเชื่อของชาวซำเรในกัมพูชา พบว่า เป็นเวลาช้านานมาแล้วที่ชาวซำเรนับถือพุทธศาสนาแต่ยังคงมีการเฉลิมฉลองตามความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณอยู่ เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่พูดภาษาเพียริก พวกเขาจะประกอบประเพณีประจำปีที่สำคัญในเดือน 5 บูชาพระและผีประจำหมู่บ้าน หมู่บ้านซำเรมีวัดและมีการเฉลิมฉลองตามประเพณีของพุทธศาสนาเช่นเดียวกับปฏิทินพุทธศาสนาของชาวเขมร เมื่อชาวซำเรเสียชีวิตจะใช้การเผาที่วัดในท้องถิ่น

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ชาวซำเรเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีประเพณีการเล่น “ผีแม่มด” ที่สืบทอดมาช้านานตั้งแต่โบราณ การที่ชาวซำเรเชื่อว่ามีผีอยู่รอบตัว ผีบางชนิดมาเข้าสิงหรือทำให้ร่างกายเจ็บป่วย เช่น ผีร้าย เสือสมิง ถ้าผีเข้าจะส่งผลทำให้เจ็บป่วยเป็นไข้หรือโชคร้าย จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ผี หรือแม้กระทั่งหากผีตนนั้นต้องการเพื่อนหรือต้องการมาเล่นกับคน ชาวซำเรจะเรียกพิธีนี้ว่า “เล่นผีแม่มด” ซึ่งจะทำในเวลากลางคืน ประเพณีนี้เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อว่าด้วยเรื่องผี และเชื่อว่าจะนำสิ่งดีมาให้กับชุมชนและครอบครัว ขณะเดียวกันก็เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป ชาวซำเรจึงทำพิธีผีแม่มดในช่วงเดือน 2 ถึงเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ และประกอบพิธีเล่นผีแม่มดเป็นประจำทุกปี บางครอบครัวจะเล่นผีแม่มดพร้อมเพรียงกันในขณะที่บางกลุ่มบางครอบครัวก็อาจจะแยกกันทำ ลักษณะของพิธีเล่นผีแม่มดค่อนข้างคล้ยคลึงกับกับชาวกะซอง

เมื่อทำพิธีจะมีร่างทรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีเครื่องประกอบพิธีเซ่นไหว้วางอยู่เบื้องหน้า เมื่อผู้ชายตีกลองอย่างต่อเนื่อง จะมีการร้องเพลงเชิญผีให้เข้ากับร่างทรง บรรยากาศของงานเล่นผีแม่มดเป็นไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริง เมื่อผีเข้าร่างทรงจะเริ่มแสดงแสดงอากัปกิริยา เมื่อผีออกจากร่างทรงแล้ว จะเชิญผีตนอื่นเข้ามาอีก

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ผีฝ่ายร้าย หรือที่ชาวกะซองเรียกว่า “ผีแม่มด” เป็นวิญญาณที่ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถก่อให้เกิดเภทภัยแก่ผู้คนได้ ซึ่งหากทำอันตรายหรือก่อภัย เชื่อกันว่าผีจะติดตามต้นไม้ ป่า เขา แม่น้ำ ลำคลอง หรือวัตถุต่างๆ หากมีคนไปทำให้ผีตนใดไม่พอใจอาจทำให้ผู้นั้นเจ็บไข้ เจ็บป่วย ไม่สบายได้ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยกะทันหัน มักเชื่อว่า เป็นการกระทำของผีร้ายต่างๆ ต้องให้ผู้ที่สื่อสารกับผี หรือแม่มด หรือผู้หมอดูว่า ผีชนิดใดทำให้เจ็บป่วย หรือมีผีตนใดติดตามมากับบุคคลผู้นั้นจนทำให้เจ็บป่วย จากนั้นจึงต้องบนบานขอขมาไถ่โทษให้ผู้เจ็บป่วยด้วยของเซ่นไหว้ เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ไข่ เหล้า ข้าวสาร นอกจากนั้นจะต้องทำพิธีเชิญผีมาร่วมในประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3 ของทุกปีอีกด้วย

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม พ่อหมอ แม่มด และครูเซ่น

เจตน์จรรย์ อาจไธสง และคณะ. (2561). ตำรับยาที่มีข้าวดำทำยาของชาวชองเป็นเภสัชวัตถุ: สำหรับแพทย์แผนไทย. ใน วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี, 194- 203.

ดำรงพล อินทร์จันทร์. (2559). “พลวัตทางชาติพันธุ์ ณ พรมแดนตะวันออก กรณีศึกษา กลุ่มภาษากะซองและซำเร” รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
พรสวรรค์ พลอยแก้ว. (2547). โครงการวิจัยศัพทานุกรมหมวดคำศัพท์ภาษาซัมเร: สื่อสะท้อนโลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาวะวิกฤติขั้นสุดท้าย. มหาวิทยาลัยขอนแก่น : สนับสนุนทุนการวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา.
สันติ เกตุถึก และคณะ. (2554). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัย “แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.
สุวิไล เปรมศรีรัตน์, และ พรสวรรค์ พลอยแก้ว. (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: กะซองและ ซัมเร. กรุงเทพฯ: เอกพิมพ์ไทย จำกัด.
องค์การบริหารส่วนตำบลนนทรีย์. เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2559. เข้าถึงได้จากhttp://www.nontrie.go.th/data6b.php และhttp://www.nontrie.go.th/tabAccordion3/tabbed2.html#
Joshua Project. (2020). Samre in Cambodia Retrieved April 1, from https://joshuaproject.net/people_groups/14679/CB
Ploykaew, Pornsawan. (2001). “Samre Grammar” PhD Thesis (Linguistics), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University.
Schliesinger, Joachim (2011). Ethnic Groups of Cambodia Volume 1 Introduction and Overview. Bangkok: White Lotus Press.
Schliesinger, Joachim (2011). Ethnic Groups of Cambodia Volume 2 Profile of Austro-Asiatic-Speaking Peoples. Bangkok: White Lotus Press.
Sokhom, Hean (editor), 2009). Ethnic Groups in Cambodia. Phnom Penh: Center for Advanced Study.

เกษร ลิ้มบุญยประเสริฐ. สมาชิกสภาตำบลนนทรีย์. ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. กรกฎาคม. 2559

เข็มน้อย รัตนมูล. บ้านมะม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด, กุมภาพันธ์/ มีนาคม/ กรกฎาคม/ สิงหาคม. 2559
ชำนาญ ปกคลุม. บ้านคลองโอน หมู่ที่ 4 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด, 14 กุมภาพันธ์.2559
ทอง ใจมาตร. บ้านมะม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด, 14 กุมภาพันธ์2559
ปอ หาญพัฒน์. บ้านคลองโอน หมู่ที่ 4 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด, 14 กุมภาพันธ์.2559
สมชาย วงษ์พระราม. ผู้ใหญ่บ้าน บ้านมะม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. กุมภาพันธ์/ สิงหาคม.2559
แหวว หาญพัฒน์. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน บ้านคลองโอน หมู่ที่ 4 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด, 14 กุมภาพันธ์. 2559

close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว