อูรักลาโวยจ

2023-06-17 11:35:25
ผู้เข้าชม : 4652

อูรักลาโวยจ เป็นคนดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของมลายูที่ยังเหลืออยู่ พวกเขาอพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายูสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัยอยู่ มีวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบเคลื่อนย้ายในท้องทะเลโดยมีเรือที่เปรียบเสมือนบ้าน ปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งในพื้นที่จังหวัดสตูล กระบี่ และภูเก็ต  แผ่นดินแห่งแรกที่ชาวอูรักลาโวยจลงหลักปักฐานอยู่บริเวณ “ซาตั๊ก” หรือเกาะลันตา ก่อนที่จะแยกย้ายขยายถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่นๆ เกาะลันตาจึงเปรียบเสมือนเมืองศูนย์กลางของชาวอูรักลาโว้ย คนกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตผูกพันกับท้องทะเล ด้วยการใช้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมในการใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมสำคัญ คือ พิธีลอยเรือปลาจั๊ก เพื่อสะเดาะเคราะห์และส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไปยัง “ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นดินแดนบ้านเกิด 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : อูรักลาโวยจ
ชื่อเรียกตนเอง : อูรักลาโวยจ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวเล, ชาวน้ำ, ชาวไทยใหม่, ยิปซีทะเล, นอแมด
ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน
ตระกูลภาษาย่อย : อูรักละโว้ย
ภาษาพูด : อูรักลาโวยจ
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

อูรักลาโวยจ เป็นคำเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตนเอง คำว่าอูรักลาโวยจ มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู หมายถึง“ชาวทะเล” บุคคลทั่วไปเรียกพวกเขาในหลากหลายชื่อ เช่น ชาวน้ำ ชาวเล ยิปซีทะเล โดยเฉพาะชื่อเรียก”ชาวเล” เป็นชื่อที่เหมารวมกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานบนชายฝั่งและเกาะแก่งทั้งสามกลุ่ม ขณะที่หน่วยงานราชการเรียกว่า “ชาวไทยใหม่” ทั้งนี้ชื่อเรียกหลายชื่อที่บุคคลนอกวัฒนธรรมใช้เรียกพวกเขานั้นไม่เป็นที่ชอบใจนักเนื่องจากมีแง่มุมของการกดทับและเหยียดหยามอยู่บ้านและหากจะเรียกอย่างถูกต้องตามสำเนียงในภาษาอูรักลาโวยจ ที่ใช้เรียกตัวเองนั่นคือ “อูรักลาโวยจ”

ประวัติความเป็นมาของอูรักลาโวยจ มอแกน และมอแกลน ในนามของชาวเล จำแนกออกเป็นสองแนวทาง แนวทางที่หนึ่ง เชื่อว่า ชาวเลเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่แถบหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือหมู่เกาะ เมลานีเซีย ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานกระจายไปหมู่เกาะทะเลใช้ชีวิตเดินทางเลอพยพจากทะเล จากดินแดนหมู่เกาะทางใต้ขึ้นมายังฝั่งอันดามันทางใต้ของไทย ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายูสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัยอยู่ ส่วนแนวทางที่สองเชื่อว่า มีการอพยพจากเหนือลงใต้ โดยมีความเห็นว่าเดิมนั้นอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน แล้วได้อพยพหนีภัยเร่ร่อนลงมาทางใต้เป็นกลุ่ม โดยอาศัยลำแม่โขง ล่องเรือเรื่อยลงมาตลอดแหลมอินโดจีน เมื่อออกทะเลได้อาศัยเรือเร่ร่อนอยู่ไปตามเกาะต่างๆ ตลอดลงไปถึงพม่าและมลายู อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวในแถบอันดามันนั้น ยุคโบราณมีร่องรอยคนพื้นเมือง “ชาวเลโอรังลอนตา” ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลแถบชายฝั่งอันดามัน เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาพักพิงในหมู่เกาะลันตาและเกาะจำมานานแล้ว ต่อมา ประมาณ 600-500 ปีที่ผ่านมา “ชาวเล โอรังลาอุ๊ต” อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบมะละกาได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณหมู่เกาะลันตา จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวเลบนเกาะลันตา และชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ กล่าวถึงเส้นทางการอพยพที่ใกล้เคียงกันว่าหนีภัยโรสลัดจนแตกแยกกันไปคนละทิศละทาง กระทั่งปัจจุบัน ชาวเลทั้งสามกลุ่มกระจายอยู่ในหลายเกาะและพื้นที่ชายฝั่งอันดามันในหลายจังหวัดในส่วนของชาวอูรักลาโวยจนั้น อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล กระบี่ และภูเก็ต

วิถีชีวิตดั้งเดิมของอูรักลาโวยจอาศัยเรือทำมาหากินเคลื่อนย้ายตามหมู่เกาะในทะเล พวกเขาจึงมีความผูกพันและสัมพันธ์กับทะเล ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวเลสามารถเก็บเกี่ยวจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติในทะเลและริมฝั่งทะเลทั้งสิ้น ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจบางกลุ่มเริ่มตั้งถิ่นฐานถาวรบนฝั่งมากขึ้น เนื่องจากแหล่งพักพิงแบบเคลื่อนย้ายถูกยึดครองโดยกลุ่มชนอื่น ปรับตัวเข้าสู่วิถีเกษตรกรรมเพื่ยังชีพร่วมกับการออกเรือหาปลา มีพิธีกรรมสำคัญคือพิธีลอยเรือปลาจั๊ก เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และส่งวิญญานบรรพบุรุษกลับไป “ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษ และส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป พิธีลอยเรือนี้ถือปฏิบัติสทบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยจัดขึ้นปีละสองครั้งในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และเมื่อเริ่มมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

อูรักลาโวยจ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกเรียกโดยรวมว่า “ชาวเล” ดังนั้นเอกสารหลายชุดจึงเรียกโดยรวมโดยที่ไม่ได้จำแนกกลุ่มย่อยเพื่อเข้าใจมิติของชาวอูรักลาโวยจ จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจชาวเลโดยภาพรวมไปพร้อมกัน

ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของมลายูที่ยังเหลืออยู่ ชนพวกนี้อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายูสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัยอยู่ (ราชบัณฑิตสถาน, 2513, 6225-6226 ; อ้างถึงใน จรัสง๊ะสมัน, 2534, 11) ชาวมลายูเรียกว่า “โอรังละอุต” (Orang- Laut) แปลว่าคนทะเล (โอรัง-คน,ละอุต-ทะเล) เชื่อว่า ชาวเลเข้าไปอาศัยอยู่พร้อมกับชนกลุ่มหนึ่ง คือ โอรัง บูกิต (Orang-Bukit) แปลว่า คนภูเขา (โอรัง-คน, บูกิต-ภูเขา) ชาวพม่าเรียกชาวเลว่า “ฉลาง” ไทยเพี้ยนมาเป็นถลาง ชาวอังกฤษเรียกชาวเลว่า Sea Gypsy แปลว่า ยิปซีทะเล สันนิษฐานว่า สมัยที่อังกฤษเข้ามาค้าขายและแสวงหาอาณานิคมในดินแดนแถบเอเซียอาคเนย์นี้ เห็นชาวเลอพยพเร่ร่อนอยู่ในทะเลอาศัยอยู่ตามเกาะจึงเรียกว่า “Sea Gypsy” บางที่เรียกทับศัพท์ว่า “Chaonam”(ชาวน้ำ ซึ่งพวกเขาไม่ชอบให้เรียก)

ประวัติความเป็นมาของชาวเล จำแนกออกเป็น 2 แนวทางดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง เชื่อว่า ชาวเลอพยพจากทะเลทางใต้ขึ้นมายังฝั่งอันดามันทางใต้ของไทย ปรากฎผ่านงานศึกษาของประทีป ชุมพล (2524, 25-27 ; อ้างถึงใน พิมพิไล ตั้งเมธากุล, 2529, 18) ที่มีความเห็นว่า ชาวเลเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่แถบหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือหมู่เกาะ เมลานีเซีย (เกาะของคนผิวดำ) ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานกระจายไปหมู่เกาะทะเลใต้ พวกนี้มีรูปร่างลักษณะตัวค่อนข้างเล็ก ผิวดำ ตาดำ ผมหยิกหยอยเป็นกระจุก มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันมักจะถูกกลืนจากประเทศที่ตนอยู่อาศัย งานศึกษาของเจน จรจัด (2530 : 136) กล่าวถึง บรรพบุรุษของชาวเล เป็นชาวอินโดนีเซีซียน ที่อพยพจากแผ่นดินสู่ทะเลแถบเกาะบอเนียว นับเป็นการอพยพจากแผ่นดินไปสู่ทะเลและเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบชาวเกาะที่นี่ เกิดเผ่าพันธ์ดยัค (Dyak) ดยัค กลุ่มหนึ่งปักหลักบนฝั่งจนกลายเป็นบรรพบุรุษของคนพื้นเมืองของแห่งเกาะบอเนียว แต่ดยัคอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “ดยัคทะเล” (Sea Dyak) เป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนทำมาหากินอยู่ในท้องทะเล มีการอพยพเคลื่อนย้ายตามแนวหมู่เกาะเรื่อยมาจนถึงแหลมมลายู บางกลุ่มขึ้นฝั่งที่แหลมมลายูกลายเป็นบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวมลายู แต่ยังมีบางพวกที่ไม่ได้หยุดยั้งการเดินทางแสวงหา พวกเขาแล่นเรือร่อนเร่มาทางช่องแคบมะละกาออกสู่บริเวณทะเลอันดามันตามแนวหมู่เกาะฝั่งตะวันตกของไทย และเคลื่อนย้ายขึ้นไปทางหมู่เกาะตอนใต้ของสหภาพพม่า ชนเผ่าผู้ท่องทะเลเหล่านี้ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย และยังคงสืบทอดการดำรงชีวิตแบบเคลื่อนย้ายท่ามกลางหมู่เกาะชายฝั่งทะเลอันดามันต่อมาจึงได้ฉายานามใหม่ว่า “ยิปซีทะเล” (Sea Gypsy) ในช่วงเวลาต่อมาพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการตั้งถิ่นฐานถาวร บริเวณหมู่เกาะลันตา ในขณะที่ชาวมอเกล็น (Moklen) และชาวมอเก็น (Moken) ได้เดินทางสู่หมู่เกาะทางตอนใต้ของประเทศสหภาพพม่าและกลายเป็นพลเมืองชาวเกาะกลุ่มแรกบนหมู่เกาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

แนวทางที่สอง เชื่อว่า ชาวเล เป็นกลุ่มคนที่อพยพจากเหนือลงใต้ ปรากฎผ่านงานศึกษาของ อุทัย หิรัญโต (2526, 47-50 ; อ้างถึงใน พิมพิไล ตั้งเมธากุล, 2529, 16) ที่ระบุว่า เดิมชาวเลอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน ต่อมาได้อพยพหนีภัยลงมาทางใต้โดยอาศัยลำแม่โขง ล่องเรือตามยถากรรมบนเส้นทางในแหลมอินโดจีน วิถีการดำรงชีพส่วนใหญ่จึงอาศัยเรือเร่ร่อนไปตามเกาะต่างๆ ข้ามพรมแดนไปถึงพม่าและมลายู

ในด้านบทเพลงที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะในพิธีลอยเรือ ส่วนหนึ่งจะมีเนื้อร้องที่สัมพันธ์กับตำนานความเชื่อและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ดังเช่น เพลงปูกุยฆึนัง (เป่าขลุ่ย) ที่กล่าวถึง การเดินเรือไปยังปริส เพลง ติมา ติมา (วิดน้ำเรือ) กล่าวถึง การเดินทางไปยังรัฐกลันตัน บ่งบอกว่าในอดีตพวกเขามีความสัมพันธ์กับรัฐทั้งสอง ปัจจุบันตั้งอยู่ในสหพันธรัฐมาเลเซียทางตอนใต้ของไทยและมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐไทรบุรี (เคดาห์) อันเป็นที่ตั้งของเทือกเขาฆูนุงฌึรัย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นถิ่นฐานเดิมของพวกเขา ก่อนอพยพเข้าสู่น่านน้ำไทยและเป็นจุดหมายปลายทางที่เรือปลาจั๊ก (ลาจัง) จะต้องนำวิญญาณบรรพบุรุษ โรคภัยไข้เจ็บและวิญญาณสัตว์ที่เคยฆ่ากินเป็นอาหาร บรรทุกเรือกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ดังที่ระบุไว้ในบทเพลงลาจัง ที่ว่า

“ลาจัง มวด บารัง นะปี ฆูนุงฌึรัย (ลาจังบรรทุกของจะไปภูเขาฆูนุงฌึรัย)

ปริฆี บาวา ซาเก็ต ดีรัม บาวา ปี (ให้พาความเจ็บความไข้ไปด้วย)

มีตะ ซึมาอัส บาด ดูลู (ขอโทษความผิดที่ทำไป)

มีตะดูโด๊ะ ซินัง ซินัง (ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข)

ลาติ ปราฮูกะลูวัก ปาฆี(เมื่อเรือลอยออกไป)

จูจู อานะ ดูโด๊ะ ซินัง (ขอให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข)”

ในเนื้อเพลงบางสำนวนยังกล่าวถึงเส้นทางการเดินทาง ตั้งแต่ลันตาจนถึงฆูนุงฌึรัย (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532) อย่างน้อยที่สุด บทเพลงลาจัง สามารถบ่งบอกว่า ในอดีตอย่างน้อยประมาณ 500 ปีที่ผ่านมาชาวเลอูรักลาโวยจน่าจะมีถิ่นฐานเร่ร่อนอยู่บริเวณน่านน้ำแถบเทือกเขาฆูนุงฌึรัย ตามคำบอกเล่าของพวกเขา

ยุคโบราณมีร่องรอยคนพื้นเมือง “ชาวโอรังลอนตา” ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลแถบชายฝั่งอันดามัน เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาพักพิงในหมู่เกาะลันตาและเกาะจำมานานแล้ว ต่อมา ประมาณ 600-500 ปีที่ผ่านมา “ชาวโอรังลาอุ๊ต” อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบมะละกาได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณหมู่เกาะลันตา จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวเลบนเกาะลันตา และชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ กล่าวถึง เส้นทางการอพยพที่ใกล้เคียงกันว่า เดิมเป็นพวกเดียวกันแต่หนีโจรสลัดจนแตกแยกกันไป เนื่องจากสมัยหนึ่งดินแดนทางภาคใต้แถบประเทศมาเลเซียมีการสร้างเมืองใหม่ต้องการกำลังคน จึงให้โจรสลัดดักจับคนที่หากินในทะเลไปขายเจ้าเมือง ผู้ชายจะถูกจับไปเป็นทหาร ผู้หญิงถูกจับไปให้กำเนิดบุตร เนื่องจากต้องการเพิ่มจำนวนประชากรที่จะกลายมาเป็นพลเมือง คำบอกเล่านี้ แม้จะเป็นตำนานแต่มีประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับบรรพบุรุษของพวกเขาที่ได้เล่าเกี่ยวกับภัยที่เกิดจากโจรสลัดทำให้ต้องอพยพหนีขึ้นมาในน่านน้ำไทย

คำบอกเล่าดังกล่าวสอดคล้องกับเบอร์นาซิค (Bernazik, 1958, 42 ; อ้างถึงใน อาภรณ์อุกฤษณ์, 2532, 10) บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวมอแกนที่มะริดว่าชาวเลกลุ่มหนึ่งถูกชาวมาเลย์จับตัวไปและแต่งงานกับชาวมาเลย์ ชาวจีนและนิกริโต กลายเป็นโอรังลาอุอุต (อูรักลาโวยจ) หรือโอรังลอนตา ซึ่งเป็นชื่อที่มอแกนเรียกชาวอูรักลาโวยจเกาะลันตา และใกล้เคียงกับคำบอกเล่าของชาวเกาะลันตาที่ว่า “...ตอนเด็กๆ เคยเห็นชาวเล ที่เร่ร่อนบริเวณเกาะลันตาเป็นชาวเลสิงห์ (มอแกน) มาจากพม่าอาศัยเรือง่าม (ก่าบาง) แบบชาวเลเกาะสุรินทร์ และมีลูกมีหลานทิ้งไว้ ต่อมามีการแต่งงานผสมผสานกับชาวมลายูที่เรียกว่า แขกชวา ซึ่งเป็นลูกเรือชาวจีนที่เข้ามาค้าขาย กลายเป็นอูรักลาโวยจ...” (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554 : 76) ในขณะที่ประพนธ์ เรืองณรงค์ [SS2] ได้กล่าวถึงชาวเลที่อาศัยในแถบสตูล กระบี่ พังงาและภูเก็ตในปัจจุบันว่าเป็นชาวเลผสมเกือบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชาวมะละกาและชาวลิงคาและผสมกับชาวมาซิง บางส่วนได้แต่งงานกับคนพื้นเมือง และเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนามาเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และปัจจุบันมีศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในกลุ่มนี้เช่นกัน แนวคิดนี้ได้ถูกวิพากษ์จากทัศนะของโฮเก็น (Hogen, 1972, 208 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 76) ที่มองว่าการแต่งงานข้ามกลุ่มที่เกิดขึ้นจำนวนน้อย อาจเป็นไปได้ยากที่ชาวเลทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมีบรรพบุรุษร่วมกัน เนื่องจากภาษาและวัฒนธรรมมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่าในอดีตชาวเลมอแกนเคยเร่ร่อนหากินบริเวณหมู่เกาะลันตาด้วย(อาภรณ์ อุกฤษณ, 2554, 76)

จากการสืบย้อนอดีตพบหลักฐานที่บ่งบอกว่าดินแดนที่เรียกว่า “เกาะลันตา”มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดังปรากฏในแผนที่และบันทึกการเดินเรือของนักเดินเรือชาวอาหรับ (Wheatley, 1966, 241) ที่ทำไว้เมื่อประมาณ 600 ปีก่อนได้ระบุชื่อ “เกาะลันตา” (pulau lanta) ไว้ 3 แห่ง แห่งแรก คือ เกาะลันตาในตำแหน่งที่ตั้งเกาะมะลิวัลย์หรือเกาะย่านเชือก แห่งที่สอง คือ เกาะลันตาในตำแหน่งที่ตั้งเกาะสุรินทร์ และแห่งที่สาม คือ เกาะลันตาจานับหรือเกาะลันตาใต้ ในตำแหน่งที่ตั้งเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า เกาะเหล่านี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเลกลุ่มอูรักลาโวยจและมอแกนทั้งสิ้น ปัจจุบันชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ยังคงเรียกชาวอูรักลาโวยจที่เกาะลันตาว่า “โอรังลอนตา”

ในขณะที่งานานวิจัยของ สุพัฒน์ธัญญวิบูลย์(2539,92-97 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 76 )กล่าวถึงชาวเลว่า กษัตริย์ปรเมศวร ได้สร้างเมืองมะละกาให้รุ่งเรืองทางการค้าและพัฒนาให้เป็นเมืองท่าที่ปลอดภัยจากโจรสลัดด้วยการดึงชนพื้นเมืองที่มีพฤติกรรมเป็นโจรสลัด คือ พวกชาวทะเลหรือชาวเล (Orang Laut) ซึ่งเป็นประชาชนส่วนหนึ่งของภูมิภาคนี้เข้ามาสวามิภักดิ์กลายเป็นกองกำลังในเรือและเป็นแรงงานในการหาของทะเลเป็นสินค้า ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เมืองท่ามะละกะมากขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การระบุว่าชาวเล (Orang Laut) เป็นโจรสลัดซึ่งตรงกันข้ามกับงานวิจัยของ Hogen (1972, 207-208 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 78) ที่ระบุลักษณะนิสัยของชาวเลในปัจจุบันขัดแย้งกับพฤติกรรมของโจรสลัด ที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ มะละกา ซึ่งหากเป็นโจรสลัดอาจถูกบังคับให้เป็นจึงอพยพหนีเข้ามาในเขตประเทศไทย เมื่อตรวจสอบจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ ฮอลล์ (Hall, 2549,212 ; อ้างถึงในอาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 76) มีการบันทึกว่าประมาณ พ.ศ. 1941-1943 หรือประมาณ 589-587 ปีมาแล้วกษัตริย์ปรเมศวรได้รับความช่วยเหลือจากโจรสลัดและชาวมลายูจากปาเล็มบังในการสร้างเมืองมะละกาจนกลายเป็นนิคมขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว เริ่มต้นด้วยการเป็นตลาดสินค้าหายาก และเป็นศูนย์กลางของโจรสลัด อีกช่วงหนึ่งประมาณ พ.ศ. 2367-2386 เป็นช่วงที่มีการปราบปรามโจรสลัด โดยความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับฮอลันดา โดยใช้เรือรบขนาดใหญ่ออกตระเวนจับกุมชาวบ้าน ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจรสลัดในน่านน้ำตั้งแต่ช่องแคบมะละกาลงไป จากเหตุการณ์นี้ผลักดันให้ผู้ที่ทำมาหากินบริเวณนั้น ซึ่งอาจจะมีชาวเลปะปนอยู่ด้วยต้องอพยพหนี (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532, 11 )

ในอดีตชาวเลอูรักลาโวยจเร่ร่อนตามหมู่เกาะแถบทะเลอันดามันตั้งแต่ช่องแคบมะละกาขึ้นมาบริเวณเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลนดอน และเกาะบูโหลนเล จังหวัดสตูล เกาะพีพี (แหลมตง) เกาะจำ (ชุมชนโต๊ะบุหรง ชุมชนท่าเรือมูตู ชุมชนกลาโหม ชุมชนบ้านกลาง)เกาะลันตา (บ้านคลองดาว บ้านในไร่ บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านหัวแหลมกลาง และบ้านสังกาอู้) จังหวัดกระบี่ เกาะสิเหร่ (แหลมตุ๊กแก) บ้านราไวย์ และบ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต รายละเอียดการตั้งถิ่นฐานของชาวอูรักลาโวยจในปัจจุบันนั้นกระจายอยู่ตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ในจังหหวัด สตูล กระบี่ และภูเก็ต

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “อูรักลาโวยจ” อพยพเข้ามาอาศัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในแถบทะเลอันดามัน และมีการแต่งงานกับกลุ่มดั้งเดิมบริเวณหมู่เกาะลันตา หรือ“ปูเลาลอนตา” การตั้งถิ่นฐานปรากฎผ่านร่องรอยหลักฐานในพื้นที่สุสานที่บ้านแต้เหล็งและบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองดาว ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนที่มีการคำนวณอายุของบรรพบุรุษที่เข้ามาพักพิง ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ สิ่งเหนือธรรมชาติ และชื่อสถานที่ต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะลันตาที่เป็นภาษาอูรักลาโวยจ ก็บ่งบอกว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะลันตา แต่ด้วยวัฒนธรรมเร่ร่อนหากินทางทะเลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีวัฒนธรรมในการจับจองพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานถาวรอาศัยพักพิงชั่วคราวตามชายฝั่งทะเลเฉพาะช่วงฤดูมรสุม ในระยะหลังเมื่อหวนกลับมายังแหล่งเดิม มักจะพบว่าชนกลุ่มอื่นเข้ามายึดครองแล้วจึงต้องหาแหล่งพักพิงใหม่ และมีการเคลื่อนย้ายเริ่มจากบริเวณ บ้านทุ่งหยีเพ็ง บ้านทุ่งโต๊ะเขียว บ้านเจ๊ะหลี บ้านบ่อแหน (ที่ตั้งศาล “โต๊ะบาหลิว” ดั้งเดิม) บ้านในไร่ แหลมคอกวาง และคลองดาว ด้านหน้าเกาะเดิมอาศัยบริเวณตลาดศรีรายา ขยับไปหัวแหลมแค่ (หัวแหลมใกล้) ปัจจุบันขยับมาอาศัยบริเวณบ้านหัวแหลมกลาง และบ้านสังกาอู้(อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554: 77-78)

สันนิษฐานว่า ชาวเลบนเกาะลันตาเริ่มตั้งถิ่นฐานบนชายฝั่งอย่างน้อยประมาณ 200 - 300-ปีมาแล้ว แต่ยังเคลื่อนย้ายทำมาหากินตามฤดูกาล ทำให้พื้นที่ที่เคยพักพิงมีผู้อื่นเข้ามาครอบครอง จนกระทั่งทำให้ชาวอูรักลาโวยจต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาตั้งถิ่นฐานถาวรบนฝั่ง ตามคำบอกเล่าว่า ในอดีตเกาะลันตา บริเวณบ้านหัวแหลมกลางเป็นศูนย์รวมของชาวอูรักลาโวยจ และเป็นพื้นที่แรกที่ชาวอูรักลาโวยจตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย นับได้ว่าเกาะลันตาเป็นเมืองหลวงของชาวอูรักลาโวยจ (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2554: 78) นอกจากนั้นชาวเลอูรักลาโวยจยังกระจายตัวอาศัยตามชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดกระบี่ บริเวณเกาะจำและเกาะพีพี สำหรับชาวเกาะพีพี จะมีการแต่งงานข้ามกลุ่มระหว่างชาวมอแกนกับชาวอูรักลาโวยจ

จากคำบอกเล่าของชาวเกาะลันตา เล่าว่า ประมาณปี พ.ศ. 2452 (รัชกาลที่ 5) โต๊ะฆีรี ซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากสตูล (ภรรยาเป็นชาวเล) ได้มาชักชวนชาวเลจากเกาะลันตาและเกาะสิเหร่ไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะอาดัง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของไทยในการปักปันเขตแดนระหว่าง ไทย-มาเลเซีย(อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554 : 78)โต๊ะคีรีถือเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญคาถาอาคม จึงได้รับยกย่องให้เป็นผู้นำ ทุกคนให้ความเคารพนับถือโต๊ะฆีรี เมื่อโต๊ะฆีรีเสียชีวิตจึงมีการบวงสรวงวิญญาณโต๊ะฆีรีในพิธีลอยเรือ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน

จรัส ง๊ะสมัน (2534 : 27)ได้กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มอูรักลาโวยจที่เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังว่า ผู้ที่มาอาศัยอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะคนแรก คือ โต๊ะมาหมาด หลังจากนั้นอีก 1 ปี โต๊ะฆีรีได้โยกย้ายเข้ามาอาศัยอยู่พร้อมกับโต๊ะสะนู และได้ชักชวนคนอื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ด้วยเนื่องจาก ใน พ.ศ. 2452 อังกฤษต้องการดินแดนฝั่งตะวันตกของไทย โดยเฉพาะเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง พระยาภูมินารถภักดี เจ้าเมืองสตูลขณะนั้น จึงได้นำชาวเลจากเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต และจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มาอยู่ที่เกาะทั้งสองนี้เพื่อเป็นหลักฐานว่าเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังเป็นส่วนหนึ่งของไทย ปัจจุบันชาวเลเหล่านี้ได้เป็นต้นตระกูลของชาวเลเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้นามสกุล “หาญทะเล” และ “ทะเลลึก”

บนเกาะบูโหลนเล อูรักลาโวยจคนแรกที่ขึ้นไปอาศัยอยู่ คือ โต๊ะลอยัง ต่อมาชาวเลจากเกาะลันตาเข้ามาอยู่อีก 2-3 ครอบครัว หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่เกาะบูโหลนดอน โดยมีโต๊ะสินตาลูกชายของโต๊ะลอเป็นผู้นำและมีชาวเลบางคนกลับไปอยู่เกาะบูโหลนเล แต่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้นานเนื่องจากไม่มีผู้นำในการประกอบพิธีลอยเรือบูชาเจ้าเกาะ ทำให้เกิดการเจ็บไข้ บางส่วนกลับมาอยู่ที่เกาะบูโหลนดอน บางส่วนไปอยู่ที่เกาะอาดังเกาะบูโหลนเลจึงเป็นเกาะร้าง

กลุ่มที่อาศัยอยู่ที่เกาะบูโหลนดอน มีการตั้งโรงเรียนขึ้นใน พ.ศ. 2515 เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ต่อมา พ.ศ. 2524 ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นเห็นว่า เกาะบูโหลนดอนมีขนาดเล็กไม่มีพื้นที่สำหรับทำเกษตร การทำประมงเพียงอย่างเดียงไม่สามารถหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตได้ อีกทั้งทรัพยากรในทะเลก็มีจำนวนน้อยลง จึงได้ชักชวนให้ย้ายไปอาศัยบนเกาะบูโหลนเล พร้อมกับมีข้อเสนอต่อทางราชการให้ย้ายโรงเรียนไปที่เกาะบูโหลนเล อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ไม่ยินยอมโยกย้ายผู้ใหญ่บ้านจึงชักชวนคนจากเกาะอาดังส่วนหนึ่งมาอยู่ที่บูโหลนเล (หลี องศาราม 2532: สัมภาษณ์ ; อ้างถึงใน จรัส ง๊ะสมัน, 2534: 27-28)

ส่วนจุดแรกที่อูรักลาโวยจเกาะสิเหร่ขึ้นมาอาศัย คือ บริเวณแหลมกลาง ใกล้แหลมตุ๊กแก ต่อมาบริษัทเหมืองแร่ได้ซื้อที่ดินจากผู้ที่อ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน เพื่อทำเป็นสำนักงาน จนกระทั่งเกิดการฟ้องร้องกัน ศาลจึงตัดสินให้บริษัทชนะคดี ทำให้บริษัทได้มีการฟ้องร้องผู้นำ 4 คน เพื่อเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณดังกล่าว ในพ.ศ. 2502 พวกเขาจึงต้องย้ายมาอยู่ที่แหลมตุ๊กแกซึ่งมีเจ้าของอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขว่าห้ามตั้งร้านค้าแข่งขันกับเจ้าของที่ดิน และจะต้องขายปลาที่หาได้กับเจ้าของที่ดินเท่านั้น ชาวอูรักลาโวยจกลุ่มนี้จึงปักหลักอยู่บริเวณดังกล่าว ภายใต้การถูกผูกขาดการซื้อสินค้าที่มีราคาแพงจากร้านเจ้าของที่ดินและต้องขายของทะเลในราคาถูกให้กับเจ้าของที่ดินเพื่อแลกกับที่อยู่อาศัย (พิมพิไล ตั้งเมธากุล, 2529, 21-22)ขณะที่บรรพบุรุษของชาวเลอูรักลาโวยจที่สะปำ ในอดีตเคยอาศัยอยู่ร่วมกับกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจที่แหลมตุ๊กแก ต่อมาบางครอบครัวได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่สะปำจนถึงปัจจุบัน (สิทธิ์ ประโมงกิจ, สัมภาษณ์, 2559)

การดำรงชีพ

ชาวอูรักลาโวยจดั้งเดิมจะอาศัยเรือเร่ร่อนอยู่ในทะเล วิถีชีวิตจึงผูกพันกับทะเล ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวเลส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวจากทรัพยากรธรรมชาติในทะเลและชายฝั่ง การทำมาหากินแบบดั้งเดิม คือ การตกเบ็ด ดำน้ำแทงปลา หาหอย และล่าสัตว์ทะเลเป็นอาหาร ในช่วงมรสุมพวกเขาไม่สามารถออกทะเลได้ จึงต้องหลบลมหลบฝนตามชายฝั่ง หรือขึ้นฝั่งมาหาน้ำจืด ในการบริโภคอาหารในฤดูลมมรสุมพวกเขาจะเก็บมะพร้าว ยอดผัก ล่าสัตว์เล็ก หรือหาหอย ปู ปลา ปลิงทะเล เพรียงทะเลตามชายฝั่งสำหรับปรุงอาหาร หลังจากที่อูรักลาโวยจบางกลุ่มเริ่มขึ้นมาตั้งหลักแหล่งบนชาวฝั่ง เนื่องจากที่พักอาศัยแบบเคลื่อนย้ายถูกยึดครองโดยกลุ่มชนอื่น พวกเขาจึงเริ่มเรียนรู้ในการทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ทำสวนยางพารา ฯลฯ ส่วนบางกลุ่มที่อาศัยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงยังคงมีการทำมาหากินในทะเล

ต่อมา ชาวอูรักลาโวยจได้มีการติดต่อกับผู้คนต่างวัฒนธรรม โดยนำของทะเลที่เป็นส่วนเกินไปแลกเปลี่ยนกับของใช้ที่มีความจำเป็น บางกลุ่มหันไปประกอบอาชีพรับจ้างแรงงานกับชาวจีน และได้ค่าตอบแทนเป็นเสื้อผ้าเก่า ข้าวสาร อาหารแห้ง และสุรา บางกลุ่มนายทุนให้ยาเสพติดเป็นค่าแรงเพื่อผูกมัดให้ทำงานด้วย ในช่วงหลังอูรักลาโวยจบางกลุ่มตกอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพา ด้วยการเช่าซื้ออวน เรือหางยาวพร้อมเครื่องเรือจากนายทุน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องจับกุ้ง หรือปลาส่งขายให้กับนายทุนเท่านั้นเพื่อหักหนี้สิน ค่าเรือ ค่าอวน และค่าข้าวและอาหารที่เบิกล่วงหน้าในช่วงที่มีพายุออกทะเลไม่ได้ จึงทำให้เป็นหนี้สินผูกพันตลอดไป จนกระทั่ง หลังเหตุการณ์สึนามิ ชาวอูรักลาโวยจได้รับเรือและเครื่องมือหากินเป็นของตนเอง ประกอบกับธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น อูรักลาโวยจที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว สามารถปรับตัวให้สามารถอยู่รอดในสังคมได้ด้วยการออกทะเลหาปลาเพื่อขายให้กับร้านอาหาร การเป็นแรงงานรับจ้าง การเป็นพนักงานเสิร์ฟในสถานประกอบการตามแหล่งท่องเที่ยว และการเป็นพนักงานในบริษัท ปัจจุบันอูรักลาโวยจบนเกาะลันตา และบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ตบางครอบครัว มีฐานะดีเปิดร้านขายของชำในหมู่บ้าน ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงลูกกุ้งขาย เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อสัตว์ทะเลส่งขายต่อ(อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532 : 71-72) ส่วนอูรักลาโวยจบนเกาะบูโหลน นอกจากประกอบอาชีพทางทะเลแล้วทางราชการได้ส่งเสริมให้เพาะปลูกและเลี้ยงแพะ

ในการดำรงชีพทางทะเลมีความเชื่อที่สัมพันธ์กับความปลอดภัยในชีวิตและการทำมาหากิน เช่น
การไหว้หัวเรือทุกครั้งก่อนออกเรือประมง โดยใช้เครื่องเซ่นเช่นเดียวกับพิธีกรรมทั่วไป ในขณะทำพิธีจะระลึกถึงผีบรรพบุรุษที่ตนนับถือและผีที่อยู่ตามธรรมชาติทั่วไป เช่น ผีเจ้าทะเล เจ้าเกาะ เจ้าเขา ฯลฯ พร้อมทั้งอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวช่วยคุ้มครองให้มีชีวิตรอดปลอดภัยและทำมาหากินได้คล่อง การทำยันต์ลงในผ้าขาว ฉีกม้วนเป็นเส้นผูกที่ต้นแขนทั้งสองข้าง ทำให้ผีกลัว เวลาดำน้ำผีไม่กล้าเข้าใกล้ (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532, 94, จรัส ง๊ะสมัน, 2534, 43)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

จากความเชื่อดั้งเดิมของอูรักลาโวยจเป็นความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชาวไทย และชาวมุสลิม อูรักลาโวยจบางกลุ่มรับนับถือศาสนาอิสลามเรียกกันว่า “ชาวเลแขก” เช่นอูรักลาโวยจบนเกาะปอ และเกาะบูโหลน อย่างไรก็ตาม อูรักลาโวยจ ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับศาสนาพุทธด้วยวิถีชีวิตที่อิสระทำให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามได้ยาก อูรักลาโวยจส่วนใหญ่จึงไปวัดตามแบบพุทธศาสนิกชนทั่วไปและหากมีใครถาม จะบอกว่านับถือศาสนาพุทธ แม้จะไม่เคยมีกรณีอูรักลาโวยจบวชพระ เนื่องจากอาจมีข้อจำกัดด้านการอ่าน การท่องบทสวด และวัตรปฏิบัติ แต่ก็สามารถไปทำบุญที่วัด ไหว้พระฟังธรรม และร่วมฟังพระสวดอภิธรรมในพิธีศพของชาวจีน ขณะเดียวกันสามารถอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมได้โดยไม่มีความขัดแย้ง

นอกจากนี้ชาวอูรักลาโวยจยังมีความสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ซึ่งเชื่อว่ามีต้นกำเนิดจากแหล่งเดียวกันมาก่อน ดังเช่นปรากฏในตำนานที่สอดคล้องกันว่า พระเจ้าให้กำเนิดมนุษย์โลกคู่หนึ่ง คือโต๊ะอาดั๊บ (อาดัม) กับโต๊ะซิตีฮาวา (อีวา) แล้วทั้งคู่ให้กำเนิดมนุษย์หลายชาติหลายภาษา ต่อมามนุษย์เหล่านั้นได้ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม จนกระทั่งงพระเจ้าดลบันดาลให้น้ำท่วมโลก เหลือแต่นบีโน๊ะ (โนอาห์) และครอบครัวซึ่งต่อเรือขึ้นตามคำเตือนของพระเจ้า เมื่อน้ำแห้งแล้วลูกของนบีโน๊ะได้กลายเป็นผู้นำเผ่าพันธุ์มนุษย์ และมีลูกหลานสืบมา มีบุคคลสำคัญ 7 คน ที่เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าองค์เดียวกันทั้งสิ้น แม้ว่าชื่อของบุตรทั้ง 7 คนของชาวคริสต์ และชาวมุสลิมแต่ละถิ่นแตกต่างกันไปบ้าง (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532 : 93)และความเชื่อนี้ก็ได้ปรากฏในพิธีปักไม้กันผี 7 ต้น (คล้ายไม้กางเขน) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งในพิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโวยจ และความเชื่อเกี่ยวกับหมายเลข 7 ในชีวิตประจำวันของชาวเลอูรักลาโวยจ (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2545-2547 : 27)ต่อมาจะมีกลุ่มบุคคลเข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยตรงในชุมชนชาวเลหลายแห่งนอกเหนือจากชุมชนชาวอูรักลาโวยจ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากประสบภัยสึนามิ ชาวเลหันไปนับถือศาสนาคริสต์โดยตรงมากขึ้น เนื่องจากไปร่วมกิจกรรมร้องเพลงและรับของแจกจากกลุ่มที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาแล้วได้รับการชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา

ความเชื่อดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโวยจ จะผูกพันกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวงนอกจากอูรักลาโวยจแต่ละกลุ่มจะมีผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มที่ยึดถือร่วมกันแล้ว ยังมีผีบรรพบุรุษประจำชุมชนแต่ละชุมชนด้วย ซึ่งพวกเขาเชื่อกันว่า วิญญาณบรรพบุรุษเหล่านั้นจะสิงสู่อยู่ในตัวสัตว์ สถานที่ หรือสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ อย่างไรก็ตามแม้ชาวเลแต่ละกลุ่มจะมีผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มแต่เมื่อทำพิธีต่างๆ เช่น พิธีลอยเรือ พิธีแก้บน ฯลฯ ก็จะเชิญผีบรรพบุรุษของแต่ละชุมชนและผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวมาร่วมในพิธีกรรมด้วย

การเรียกชื่อวิญญาณบรรพบุรุษจะมีคำนำหน้าว่า “ดาโต๊ะ” หรือ “โต๊ะ” ซึ่งเป็นคำนับญาติที่ชาวเลและมุสลิมภาคใต้ใช้เรียกปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้สูงอายุทั่วไป แล้วตามด้วยชื่อบรรพบุรุษ หรือ “กามัย” หรือ“กาหมาด” ซึ่งแปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มแต่ละกลุ่มจะมีตำนานความเป็นมาและความสามารถพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ดังรายละเอียดที่กล่าวไว้ในหัวข้อเกี่ยวกับตำนาน

นอกจากนั้นยังมีความเชื่อในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีทั้งความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลังที่สัมพันธ์กับการทำมาหากิน ชีวิตประจำวัน และการรักษาพยาบาล ความเชื่อเหล่านี้บางส่วนเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บางส่วนได้รับอิทธิพลความเชื่อของชาวจีน ชาวมุสลิมและชาวไทยที่ตั้งถิ่นฐานใกล้เคียงกันมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมความเชื่อของชาวอูรักลาโวยจ มีดังนี้

ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง ในกลุ่มชาวอูรักลาโวยจจะมีความเชื่อเกี่ยวกับวัตถุที่เป็นเครื่องรางของขลังซึ่งมีไว้ประจำบ้าน ประจำตัว หรือเป็นเครื่องเซ่นในพิธีกรรม เพื่อเป็นศิริมงคล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมภายนอกที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง เช่น การใช้หอยหนามแขวนไว้บนขอบประตูด้านบนหน้าบ้านและหลังบ้าน หรือใช้แผ่นทองเหลืองเล็ก ๆ ตอกไว้บนธรณีประตูทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เพื่อให้หนามที่มีอยู่รอบตัวหอยหนาม หรือแผ่นทองเหลืองเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้าบ้าน และมีการลงเสาเอกก่อนสร้างบ้านโดยใช้ลูกมะพร้าวผูกไว้ที่ปลายเสาลูกหนึ่งพร้อมผูกผ้าแดง รวงข้าว และดอกไม้ เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากชาวมุสลิม ชาวไทยพุทธ และชาวจีนที่อาศัยบนเกาะลันตา (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532 : 95)

ความเชื่อเรื่องการทำยาเสน่ห์ วิธีหนึ่งที่ปรากฏในกลุ่มชาวอูรักลาโวยจและชาวมุสลิมที่อาศัยในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยใช้น้ำตาปลาดุหยง หรือปลาพยูน ผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ นำไปแตะบนร่างกายของเพศตรงข้าม เพื่อให้ผู้นั้นหลงรักและคิดถึงตน เชื่อว่าหากผู้ใดโดนเสน่ห์น้ำตาปลาดุหยงจะหลงใหลใฝ่ฝันถึงฝ่ายตรงข้ามจนไม่เป็นอันจะกินจะนอน ถึงกับต้องไปให้เห็นหน้า แม้ต้องว่ายน้ำข้ามทะเลไปก็ยอม ดังบทเพลงรองแง็งที่ร้องขับกันในกลุ่มชาวบ้านบนเกาะลันตาและหมู่เกาะใกล้เคียง ที่ว่า

“หลบบ้านไม่รอดแล้วเด

มาถูกเสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง

คดข้าวสักหวัก

นึกถึงยอดรักกินข้าวไม่ลง

มาถูกเสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง

กินข้าวไม่ลงสักคำเดียว”(อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2531 : 97)

นอกจากนี้ การทำเสน่ห์ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้น้ำล้างหน้าตอนเช้าของผู้ที่ต้องการทำเสน่ห์มาเสกและประพรมบนร่างกายเพื่อปลูกเกลื้อน ผู้มีประสบการณ์เล่าว่าเกลื้อนเสน่ห์นี้หากเพศตรงข้ามที่ตนรักเห็นเข้าจะหลงใหลคลั่งไคล้จนทุรนทุรายไม่แพ้เสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532: 94)

นอกจากนี้ยังมีการทำนายและโหราศาสตร์เนื่องจากในสังคมชาวเลอูรักลาโวยจ ซึ่งผูกพันกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ นอกจากโต๊ะหมอจะเป็นผู้นำทางความเชื่อและเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆเช่นพิธีลอยเรือ พิธีแก้บน พิธีรักษาโรค ดูฤกษ์ยามในการสร้างบ้าน ฯลฯ ซึ่งในพิธีกรรมเหล่านี้โต๊ะหมอจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณที่เชื่อว่าสิงอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อสอบถามว่าต้องการอะไร จะให้ แก้บนด้วยอะไรโต๊ะหมอจะมีความสามารถในการทำนายโชคชะตาของสมาชิกด้วย เช่น ในพิธีลอยเรือ ในช่วงที่ทำน้ำมนต์ แต่ละครอบครัวจะนำตุ่มใส่น้ำมาวางเรียงกันไว้โต๊ะหมอจะจุดเทียน แล้วหยดลงไปตุ่มทีละตุ่มและทำนายว่าหลังจากผ่านพิธีลอยเรือแล้วครอบครัวของเจ้าของตุ่มจะมีวิถีชีวิตอย่างไร ซึ่งหากหยดเทียนไม่สวยก็จะหยดใหม่ 2-3 ครั้ง ก่อนจะทำนาย

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณีแต่งเปรว (เปอตัดเยลัย) ชาวเลอูรักลาโวยจบนเกาะลันตาจะมีประเพณีตกแต่งหลุมฝังศพและเซ่นไหว้บรรพบุรุษซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเพณี “เช็งเม้ง” ของชาวจีน พิธีแต่งเปรวหรือหลุมฝังศพหินทรายจะทำในเดือน 4 ส่วนเปรวบ้านเก่าจะทำในเดือน 5 ของทุกปี ปัจจุบันชาวเลได้ย้ายเปรวบ้านเก่ามาไว้ใกล้ศาลโต๊ะ อาโฆ๊ฮฺเบอราตัย ทางทิศเหนือของชุมชนในวันพิธีช่วงเช้าผู้ชายจะดายหญ้าตกแต่งหลุมฝังศพ ผู้หญิงเตรียมทำขนมไปเซ่นไหว้ ไปร่วมพิธีในตอนบ่าย สำหรับเปรวบ้านเก่า ในช่วงบ่ายมีการร้องรำทำเพลงและเลี้ยงข้าวปลาอาหาร ดื่มเหล้ากันด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554 : 194)

ประเพณีลอยเรือปลาจั๊ก (เปอ-ลาจั๊ก หรือลาจัง) เป็นประเพณีความเชื่อที่ชาวเลอูรักลาโวยจให้ความสำคัญมากที่สุด และถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 13 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 6 เมื่อเริ่มมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือ“ลมพลัด”และวันขึ้น 13 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เมื่อเริ่มมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ลมออก” โดยมีจุดประสงค์ที่จะสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไป“ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษ และส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป

“ฆูนุงฌึรัย” หรือภูเขาต้นไทร หมายถึง เทือกเขาที่อยู่ในเมืองไทรบุรี ซึ่งเดิมเป็นของไทย ปัจจุบันคือรัฐเกดะห์ ขึ้นอยู่กับประเทศสาธารณรัฐมาเลเซีย (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 194) คนไทยในไทรบุรีเล่าว่า “ที่ไทรบุรีเมื่อก่อน มีชาวโอรังลาอุ๊ต (อูรักลาโวยจ) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจได้กลายเป็นชาวมุสลิมทั้งหมด เพราะมีธรรมทูตชาวมุสลิม ชักชวนให้นับถือศาสนาอิสลาม มีสมาคมให้ทุนการศึกษา สร้างบ้านให้อยู่ และอบรมให้ความรู้เรื่องศาสนาจนกลมกลืนเข้าด้วยกัน”

ในช่วงที่มีพิธีลอยเรือ ชาวเลอูรักลาโวยจทุกคนจะต้องมาร่วมงานดังเช่น ในพิธีลอยเรือของชาวอูรักลาโวยจบ้านหัวแหลมกลางและบ้านสังกาอู้ บนเกาะลันตาจัดขึ้นที่บ้านหัวแหลมกลางอูรักลาโวยจทุกครอบครัวจากทั้งสองชุมชนจะต้องหยุดงานมาร่วมฉลอง มีการดื่มเหล้า ร้องรำทำเพลงตลอด 3 วัน 3 คืน ในอดีตช่วงเวลาดังกล่าวคลื่นลมแรงเรือเล็กไม่สามารถออกทะเลได้จำเป็นต้องหยุดงานอยู่แล้ว ปัจจุบันใช้เรือหางยาวลำใหญ่ ส่วนคนที่ต้องการออกทะเลวางอวน จะอนุโลมให้บริจาคเป็นเงินหรือเหล้าแทนการเข้าร่วมได้ พิธีลอยเรือของแต่ละแห่งจะจัดไม่พร้อมกันเพื่อให้ญาติพี่น้องจากชุมชนอื่นบนเกาะลันตาและเกาะอื่น ๆ เช่น เกาะจำ เกาะพีพี เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ และเกาะภูเก็ต มาร่วมงานด้วย

ในพิธีลอยเรือปลาจั๊กที่บ้านหัวแหลมกลาง เกาะลันตานี้ มีกิจกรรมและพิธีกรรมซับซ้อนหลายขั้นตอน เริ่มจากสมาชิกที่มาร่วมงานช่วยกันการสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว (ซาเราะ) การเตรียมสถานที่ อุปกรณ์และทำขนมเครื่องเซ่น หลังจากนั้นทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ “โต๊ะกรามั้ย” พิธีตัดไม้ (ไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด)นำกลับมาแห่รอบศาลบรรพบุรุษ (โต๊ะอาโฆฮฺเบอราตัย) พิธีต่อเรือปลาจั๊ก พิธีฉลองเรือ พิธีสาดน้ำ (เลฮฺบาเลฮฺ) พิธีลอยเรือ พิธีตัดไม้ทำไม้กันผี (ไม้ตีนเป็ด)พิธีปักไม้กันผี (กายูพาฮาดั๊ก)พิธีฉลองไม้กันผีและพิธีทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์และทำขวัญ ความซับซ้อนของพิธีกรรมแต่ละขั้นตอนดังกล่าวบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญและความตั้งใจของเจ้าของวัฒนธรรมในการประกอบพิธีกรรม

ปราฮู ปลาจั๊ก หรือ ปราฮู ลาจัง เป็นเรือที่ชาวเลใช้ในพิธีลอยเรือ ที่ต่อเรือด้วยไม้ระกำเป็นรูปย่อส่วนของเรือสำเภาขนาดใหญ่ หัวแหลม ท้ายยกสูงโค้งมน แล่นใบ ติดแจวข้าง 7 คู่หรือ 12 คู่ เป็นเรือที่งดงามมาก จากการศึกษาพบว่ามีลักษณะคล้ายเรือใบขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์) ซึ่งมีหัวเรือแหลมยาวยื่นไปข้างหน้า เรียกว่า Perahu Pinisi หรือ Kapal Pinisi แต่ อัมรี (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 195)ไกด์ชาวอินโดนีเซียและเพื่อนชาวเรือ มีความเห็นว่า “ปราฮู ลาจัง” น่าจะมาจาก คำว่า Perahu Layar ในภาษาอินโดนีเซีย หมายถึงเรือใบขนาดเล็ก ซึ่งใช้กันในแถบทะเลอินโดนีเซียในอดีต แต่จากภาพเขียนและเรือใบจำลอง ที่เป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เมืองมากัสซ่าไม่ปรากฏว่ามีกรรเชียง 7 คู่ หรือ12 คู่ บริเวณแคมเรือทั้งสอง ทำนองเดียวกันในภาษามลายู คำว่า “ลาจัง” หมายถึง “เรือใบ” แต่รายละเอียดของรูปแบบเรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตามพบว่ารูปแบบเรือ “ปลาฮูปลาจั๊ก ของชาวเลอูรักลาโวยจเกาะลันตา จะใกล้เคียงกับเรือใบเสาเดียวของชวา (Javanese fusta) ซึ่งเป็นเรือโบราณที่ใช้ทั้งใบทั้งพายเหมือนเรือที่ใช้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่เรือปลาจั๊กมี 2 เสา (Kemp, 2002, : 68-69 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554 : 195)

ในบทเพลงที่ชาวเลเกาะลันตาร้องขับในพิธีลอยเรือ กล่าวถึง “อาเจ” หรือ “เรือแห่งอาเจ (อาเจ๊ะ)” นอกจากนั้นบันทึกของ สมิธ (ธนัญญา ทองซ้อนกลีบ, (ผู้แปล)2539 : 185-187; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554: 195) มีภาพลายเส้นรูปเรือของโอรัง เล้าท์ หรือ โอรังลาอุ๊ต (Urang Laut) มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาฮูลาจัง หรือปลาจั๊กของชาวเลอูรักลาโวยจ รูปแบบของเรือลาจัง หรือปลาจั๊กซึ่งไม่เคยมีใช้ในน่านน้ำไทย จึงมีข้อสรุปได้ว่าเป็นเรือแบบอุดมคติที่ชาวเลสร้างขึ้น โดยอาจจะประสมประสานรูปแบบของเรือใบท้องถิ่นเข้ากับรูปแบบของเรือยุโรปยุคล่าอาณานิคม

ประเพณีลอยเรือ จึงน่าจะมีมาก่อนที่อูรักลาโวยจจะอพยพเข้ามาในเขตประเทศไทยและอาจจะมีการประดิษฐ์เรือลาจัง หรือปลาจั๊ก เลียนแบบเรือที่ใช้ทำสงครามในมะละกา ในช่วงที่เร่ร่อนบริเวณเทือกเขา“ฆูนุงฌึรัย” หากพิจารณาถึงความซับซ้อนของพิธีกรรมในประเพณีลอยเรือ ความงดงามของลวดลาย และความประณีตของงานศิลปะการต่อเรือ ตลอดจนสัญลักษณ์และการให้ความหมายของวัตถุที่บรรจุในเรือแต่ละชิ้น ลักษณะเฉพาะของดนตรี บทเพลงรำมะนา และท่ารำ บ่งบอกว่า งานศิลปะเหล่านี้มิใช่พึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้แต่ได้ผ่านขบวนการสร้างสรรค์ สืบทอด ปรับเปลี่ยน และสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งกลมกลืนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม ดังนั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาน่าจะเคยเร่ร่อนแถบน่านน้ำอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเจริญมาก่อน และชื่อเรือน่าจะมาจากคำว่า “Perahu Layar” ตามภาษาอินโดนีเซียหรือ “Prahu Lacang” ในภาษามลายู

ส่วนวัตถุประดิษฐ์ในพิธีลอยเรือ แสดงถึงร่องรอยหลักฐานของอัตลักษณ์ทางวัตถุที่สูญหายไปจากวิถีชีวิตของอูรักลาโวยจ เช่น ไม้ระกำที่ใช้ประดิษฐ์เรือปลาจั๊กเคยใช้เป็นวัสดุสำหรับต่อเรือที่ใช้ในชีวิตประจำวันในอดีต ชิ้นส่วนวัตถุประดิษฐ์ด้วยไม้ระกำที่บรรจุในเรือลาจังบางชิ้น เช่น ซัมปัง (ฉมวก) เป็นเครื่องมือแทงปลาเพื่อยังชีพ ปัจจุบันเปลี่ยนไปจับสัตว์น้ำด้วยบูบู หรือไซดักปลา ประดิษฐ์กรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น แห อวน ระเบิดฯลฯ ที่เรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเพื่อนำส่วนเกินไปจำหน่าย ฆ้องเครื่องมือสื่อสารประจำเรือ สำหรับส่งสัญญาณตามรหัสลับที่ตกลงกันไว้ เพื่อบอกกล่าวให้รับรู้ว่า “เป็นพวกเดียวกันเข้ามาได้” หรือ “มีภัยอันตรายให้รีบหนี” หรือ “ขอความช่วยเหลือ” ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้วหลังจากที่เปลี่ยนวิถีชีวิตขึ้นมาตั้งถิ่นฐานบนบก (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554 : 196).

ในบางขั้นตอนของพิธีกรรมลอยเรือมีร่องรอยที่บ่งบอกว่าในกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจมีความเชื่อเรื่องคู่ตรงข้ามที่ใกล้เคียงกับทฤษฎีคู่ตรงข้ามของเลวี่เสตร๊าส์ (Levi-Struss ,1963,1969 ; อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 196) เช่น เครื่องเซ่นที่มีไก่ดิบ-ไก่สุก แป้งดิบ 7 สี-ข้าวสุก 7 สี โดยให้เหตุผลว่า ผีบรรพบุรุษมีทั้งที่ชอบกินของดิบและของสุก (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2532 : 171,197)และยังใกล้เคียงกับความเชื่อเรื่องคู่ตรงข้ามหรือหยิน-หยางของชาวจีน ที่ปรากฏในธรรมชาติและสัมพันธ์กับอาหารการกินในชีวิตประจำวันและการรักษาผู้ป่วย

นอกจากนั้น ในกลุ่มอูรักลาโวยจยังมีความเชื่อเกี่ยวกับหมายเลข 7 ที่อาจสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่อง บุตร 7 คน ของโต๊ะอาดั๊บและโต๊ะสิตีฮาวา เช่น ในพิธีลอยเรือ ตัวเรือปลาจั๊ก หรือลาจัง ยาว 7 ศอก มีกรรเชียง 7 คู่ ไม้กันผี 7 ต้น ยาวต้นละ 7 ศอกบทเพลงรำมะนาที่ใช้ในพิธีลอยเรือและพิธีแก้บนเริ่มด้วยเพลงบรรพบุรุษ 7 เพลง ในบทเพลงกล่าวถึงการไว้เกลื้อน 7 ดอก และมีพิธีแก้บนด้วยการสร้างบ้าน 7 ชั้น เป็นต้น (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2532 : 211)

ปัจจุบันรูปแบบและรายละเอียดของพิธีลอยเรือของอูรักลาโวยจแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป บางกลุ่มไม่จัดพิธีลอยเรือแล้ว เช่นที่เกาะบูโหลนเล และเกาะบูโหลนดอน (ธานี สิงขโรทัย,สัมภาษณ์, 2559) ที่บ้านราไวย์ไม่มีพิธีลอยเรือแต่มีพิธีทำน้ำมนต์ (ชนะ หาดทรายทอง, สัมภาษณ์, 2559) บ้านเกาะจำในอดีตไม่มีพิธีลอยเรือ มีแต่พิธีเซ่นไหว้โต๊ะบุหรง ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำพิธีลอยเรือและเซ่นไหว้โต๊ะบุหรงพร้อมกัน (อูลิน ช้างน้ำ, สัมภาษณ์, 2559) ที่แหลมตง เกาะพีพี เลิกทำพิธีลอยเรือมานานแล้วหลังจากที่โต๊ะหมอแต่งงานไปอยู่เกาะอื่น แต่ปัจจุบันได้กลับมาทำพิธีลอยเรืออีกโดยเชิญโต๊ะหมอจากเกาะลันตาไปประกอบพิธีให้ (พรสุดา ประโมงกิจ, สัมภาษณ์, 2559)

ประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรต

อูรักลาโวยจดั้งเดิมบนเกาะลันตา จะนำของทะเลไปแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า อาหาร ของใช้ที่ต้องการกับชาวจีนในตลาดศรีรายา ในงานประเพณีวันสารทไทย หรือสารทเดือน 10 ของชาวไทยพุทธ ก็เช่นกัน พวกเขาจะเดินทางขึ้นบกไปยังตัวเมืองกระบี่และอำเภอใกล้เคียง ล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อนำผลผลิตที่ได้จากทะเล เช่น ปลาเค็ม ปลาย่าง ปะการัง กัลปังหา เปลือกหอย ไข่มุก และกำไลกระ ฯลฯ ไปแลกกับเสื้อผ้า อาหารของใช้จำเป็นกับคนเมือง และไปร่วมพิธีชิงเปรต เพื่อเก็บขนมพอง ขนมลา ข้าวปลาอาหาร และเงินที่ชาวไทยพุทธนำไปตั้งไหว้เปรต ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน10 ในช่วงนี้คนเมืองจะเตรียมเสื้อผ้าอาหารมาบริจาคด้วย ในทัศนะของอูรักลาโวยจไม่ใช่เรื่องที่น่าอายเพราะเป็นน้ำใจที่คนรวยจะแบ่งปันช่วยเหลือ คนยากจน และเป็นความเชื่อว่าต้องไปรับบุญไม่เช่นนั้นวิญญาณบรรพบุรุษจะอดอยาก ไม่ได้กินบุญ แม้ชาวเล อูรักลาโวยจที่มีฐานะร่ำรวยก็ต้องมาร่วมในประเพณีนี้ ปัจจุบันอูรักลาโวยจผู้สูงอายุและเด็ก ๆ ยังคงปฏิบัติอยู่ แต่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ไปร่วมแล้ว (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2554: 197)นอกจากชาวเลอูรักลาโวยจบนเกาะลันตาแล้วกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และสตูล ก็เข้าร่วมพิธีประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรตตามวัดในตัวอำเภอ และตัวจังหวัดที่อาศัยอยู่ หรือเดินทางไปต่างจังหวัดก็มี แต่ปัจจุบันเดินทางไปเข้าร่วมน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและเด็ก ๆ เท่านั้น

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

เมื่อสาวชาวอูรักลาโวยจตั้งครรภ์ถึงกำหนดจะคลอด “โต๊ะบิดัด” หรือหมอตำแยจะทำคลอดให้โดยใช้ไม้ไผ่เหลาบางตัดสายสะดือ และอาบน้ำเย็นก่อนอาบน้ำอุ่นให้เด็กดื่มน้ำผึ้งจนกระทั่งครบ 3 วัน เพื่อให้เด็กถ่ายของเสียออก แล้วให้ดื่มนมแม่จนกระทั่งหย่านมหลังคลอดได้ 3 วัน จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายและเลี้ยงฉลองหรือ “ทำนู้หรี” โต๊ะบิดัดจะช่วยดูแลแม่และลูกในช่วงที่แม่อยู่ไฟ 7-9 หรือ 15 วัน ในช่วงนี้ผู้เป็นแม่จะต้องปฏิบัติตัวตามกฎข้อห้ามอีกหลายประการ เมื่อครบ 44 วัน พ่อแม่จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายอีกครั้ง

การแต่งงาน การหย่าร้าง

ประเพณีการแต่งงานของอูรักลาโวยจผู้ชายจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อนำแรงงานเข้าบ้านเช่นเดียวกับสังคมเกษตรกรรมทั่วไป หนุ่มสาวชาวอูรักลาโวยจจะแต่งงานประมาณอายุ 14-18 ปี บางคู่จะมีการสู่ขอหมั้นและแต่งงานตามประเพณีแต่บางคู่อยู่กินกันก่อนจึงจัดพิธีแต่งงาน หรือพาหนีแล้วค่อยกลับมาขอขมา ก่อนพิธีหมั้น ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะไปขอถึง 3 ครั้งหากได้รับการตอบรับจะไปขอหมั้น หรือ “ปากัยตูนัง” และนัดแนะวันแต่งงาน ก่อนแต่งงาน 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องมาอาสางานบ้านผู้หญิง เช่น หาบน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ ในวันแต่งขบวนแห่จะให้เจ้าบ่าวขี่คอเดินวนซ้ายรอบบ้านเจ้าสาว 3 รอบ ก่อนย่างเข้าประตูผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะถามว่า “มีเรือไหม มีแหไหม มีซัมปัง (ฉมวก) ไหม”หากเจ้าบ่าวตอบว่า “มี” ก็อนุญาตให้เข้าบ้านได้ก่อนเข้าบ้านจะมีคนล้างเท้าให้ก่อนข้ามธรณีประตู เพื่อนเจ้าบ่าวจะนำเสื่อและหมอนไปวางในห้องเจ้าสาว เจ้าภาพจะปะแป้งให้แขกเหรื่อที่มาร่วมงานเลี้ยง บางแห่งจะมีการแจกบุหรี่คนละตัวเป็นของชำร่วยแก่แขกที่ให้เงินช่วยงาน

เช้าวันรุ่งขึ้นแขกที่เหลือและพ่อแม่ญาติพี่น้องจะส่งตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ กลางทะเล พร้อมกับข้าวสาร น้ำจืดและเครื่องมือจับปลา เพื่อให้ฝ่ายชายพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำมาหาเลี้ยงภรรยาได้ขาไปผู้ชายเป็นฝ่ายกรรเชียงเรือให้ผู้หญิงนั่งหัวเรือ ตอนขากลับหากผู้หญิงกรรเชียงเรือให้ผู้ชายเป็นฝ่ายนั่งหัวเรือ เป็นที่เข้าใจกันว่าทั้งคู่ได้เสียกันแล้ว หากตรงกันข้ามแสดงว่าผู้หญิงยังบริสุทธิ์ ระยะแรกที่แต่งงานกันสามีภรรยาจะนอนหมอนใบเดียวกัน หากนอนคนละใบแสดงว่าผู้หญิงไม่รักฝ่ายชาย (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2532 : 100)

พิธีแต่งงานของชาวอูรักลาโวยจแต่ละแห่ง ปัจจุบันปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไปตามสังคมภายนอกที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วย เจ้าบ่าวจะสวมสูท และเจ้าสาวสวมชุดเจ้าสาวแบบสากล และแต่งหน้าเช่นเดียวกับชาวไทยและชาวจีน มีการจัดงานเลี้ยงแขกเหรื่อที่ไปร่วมงาน บางกลุ่มมีการรดน้ำสังข์ด้วย ไม่มีการถามคำถามที่ว่า “มีเรือไหม มีแหไหม มีซัมปัง (ฉมวก) ไหม” และไม่มีการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามหมู่เกาะต่างๆ กลางทะเล เพื่อให้ฝ่ายชายพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำมาหาเลี้ยงภรรยาได้เหมือนในอดีต

การหย่าร้าง

สามีภรรยาชาวเลคู่ใดอยู่กินกันแล้วมีความขัดแย้งจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไปสามารถหย่าร้างกันได้ด้วยวิธีตกลงด้วยวาจา โดยนั่งหันหน้าเข้าหากัน แล้วผลัดกันพูดว่า “เกาตีดะสูกา กูตีดะสูกา กีตาเบอตางัน” หมายถึง เธอไม่รักฉันแล้ว ฉันไม่รักเธอแล้ว เราเลิกกันดีกว่า หลังจากนั้นหากไม่กลับมาคืนดีกันต่างฝ่ายมีสิทธิแต่งงานใหม่ได้ แม้ค่านิยจะเข้มงวดในเรื่องการแตะเนื้อต้องตัว หรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานแต่ทัศนะเกี่ยวกับแม่หม้าย จะน่าเห็นใจและน่าสงสาร มากกว่าเป็นเรื่องเสียหายหรือน่ารังเกียจ (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2532 : 101)

ความตาย และการทำศพ

ชาวอูรักลาโวยจที่เกาะลันตา หากบ้านใดมีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตจะก่อกองไฟไว้หน้าบ้าน และนำข้าวปลาอาหารวางไว้หน้ากองไฟตลอด 3 วัน 3 คืน หากเสียชีวิตในช่วงเช้าจะทำพิธีฝังศพตอนเย็น หากเสียชีวิตหลังเที่ยงวัน จะทำพิธีฝังในวันรุ่งขึ้นเช่นเดียวกับมุสลิม ในช่วงที่รอเวลา เจ้าภาพจะเลี้ยงข้าวปลาอาหารและเหล้าแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่นำข้าวสารน้ำตาลและสิ่งของจำเป็นมาช่วยงานและให้กำลังใจ ผู้ชายจะช่วยกันทำโลงศพ ซึ่งเดิมใช้ไม้ไผ่สานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันใช้ไม้กระดานแบบโลงศพทั่วไป พิธีอาบน้ำศพ วางศพพาดลงบนตักลูก ๆ ที่นั่งเหยียดเท้าเรียงกันตามลำดับจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ศีรษะอยู่บนตักของลูกคนโตที่นั่งทางทิศใต้ ลำตัวอยู่บนตักลูกคนกลาง เท้าวางบนตักลูกคนเล็กทางทิศเหนือ หากไม่มีลูกจะเป็นหน้าที่ของญาติสนิท โต๊ะหมอจะทำพิธีอาบน้ำศพเป็นคนแรก ต่อด้วยญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เมื่อเสร็จพิธีลูก ๆ หรือญาติที่ประคองศพจะต้องล้างตัวด้วยน้ำมะนาวผสมใบสะบ้า เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายติดตัว ศพจะถูกทาแป้งแต่งตัวและทาน้ำมันหอมก่อนบรรจุในโลงศพที่ปูด้วยเสื่อ และใช้ผ้าขาวยาว 9 ศอกคลุมบนศพ นำข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายบรรจุลงไปในโลงด้วย สำหรับเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานจะใช้ผ้าขาวยาว 1 ศอก ที่เหลือฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผูกคอขณะยกโลงศพไปป่าช้าให้ลอดโลงศพคนละ 3 รอบ ขบวนแห่ศพไปฝังที่ชายทะเล เมื่อหย่อนโลงศพลงในหลุม ผ่ามะพร้าวที่เตรียมไว้ เป็น 2 ซีก ราดน้ำมะพร้าว ลงบนศพมะพร้าวซีกที่มีตา คว่ำลงบนตำแหน่งสะดือของศพ อีกซีกให้ลูกหลานไปกินที่บ้าน เมื่อโต๊ะหมอทำพิธีและญาติพี่น้องช่วยกันกลบหลุมแล้ว จะปลูกมะพร้าวอีกลูกที่มีหน่อไว้ปลายเท้าศพและให้ผู้ที่หามศพ จับคู่กันทีละ 2 คน ยืนหันหลังให้กันคนละฟากของปากหลุม ทำพิธีเวียนผ้าขาวม้า เป็นอันเสร็จพิธี ระหว่างทางกลับบ้านล้างมือล้างเท้า ด้วยน้ำผสมมะนาวและใบสะบ้าที่วางไว้ริมทางตอนขาไป และเด็ดใบไม้หรือดอกไม้ทัดหู เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายจำได้และติดตามกลับไปบ้าน หลังจากนั้นอีก 3 วัน จะเลี้ยงอาหาร ดับกองไฟ และทำบุญผู้ตายอีกครั้งในพิธีแต่งเปรวในเดือน 4 หรือเดือน 5 ปัจจุบันมีการวางรูปถ่ายหน้าโลงศพ และหลังจากดับกองไฟแล้ว นำรูปถ่ายไปวางบนหิ้งในบ้านพร้อมกับกระถางธูป ตามแบบอย่างของชาวจีน (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2532 : 107)

พิธีฝังศพของอูรักลาโวยจแต่ละชุมชนจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่นที่แหลมตุ๊กแก จังหวัดภูเก็ต ญาติผู้ตายจะต้องนำของ 3 อย่างไป คือ หน่อมะพร้าว 1 หน่อ มะพร้าวปอกเปลือกแล้ว 3 ลูก และน้ำ 1 กะละมัง (สมัยก่อนจะผสมเปือกต้นสะบ้าลงในน้ำด้วย)เพื่อใช้สำหรับล้างมือล้างหน้าก่อนกลับบ้านหลังเสร็จพิธีฝังศพและผู้ไปร่วมพิธีฝังศพจะต้องพกของมีคมติดตัวไปคนละชิ้นเมื่อวางศพลงหลุม โต๊ะหมอผู้ประกอบพิธีจะผ่ามะพร้าว 2 ผล เทน้ำมะพร้าวบนโลงศพและคว่ำกะลามะพร้าวบนโลงศพ ตัวแทนผู้หามศพ 2 คน จะยืนตรงกันสองฝั่งปากหลุมโดยหันหลังให้กันแล้วทำพิธีเวียนผ้าชุบ (ผ้าขาวม้า) โดยส่งผ่านจากขาวมือของคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่งด้วยมือซ้าย ซึ่งอีกคนจะรับด้วยมือขวาเช่นกัน แล้วส่งกลับมาให้คนแรกด้วยมือซ้าย จนครบ 3 รอบเพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ตายลืมเหตุการณ์สมัยยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไม่มาหลอกหลอนลูกหลานหลังจากนั้นผู้หามทุกคนนั่งรอบปากหลุม โต๊ะหมอกำดินทั้งสองมือวางบนบ่าของผู้หาม ว่าคาถาแล้วซัดดินในมือลงในหลุมคนละ 3 ครั้ง จนครบทุกคน แล้วผู้มาร่วมพิธีช่วยกันหยิบดินโรยบนโลงศพเพื่อกลบดินให้สูงขึ้น พร้อมกับปลูกมะพร้าว 1 ต้น หลังจากนั้น 3 วัน หรือ 7 วัน ญาติพี่น้องก็มานำข้าวปลาอาหารมาทำบุญให้ผู้ตาย(พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 50,55 )

ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจที่นับถือศาสนาพุทธจะนิมนต์พระไปสวดในงานศพด้วย ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ชาวเลเกาะปอ และเกาะบูโหลนจะปฎิบัติศาสนกิจและทำพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลามและกลุ่มที่นับถือคริสต์ก็จะทำพิธีตามหลักศาสนาคริสต์

ประเพณีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ

เดิมอูรักลาโวยจอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันจะทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษร่วมกัน เช่น บ้านหัวแหลมเกาะลันตา แยกย้ายกันอยู่ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านหัวแหลมกลางกลุ่มอ่าวสังกาอู้กลุ่มอ่าวบาเระ และกลุ่มอ่าวคลองปอ (ปัจจุบันย้ายกลับมารวมกับกลุ่มสังกาอู้) แต่ละกลุ่มจะมีวิญญาณบรรพบุรุษประจำชุมชนของตนเอง ต่างกลุ่มต่างทำพิธีเซ่นไหว้ปีละครั้ง (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2532 : 108) นอกจากนั้น ในอดีตเคยมีพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษที่สิงสถิตอยู่ตามธรรมชาติ เช่น เจ้าทะเลเจ้าถ้ำ เจ้าเกาะ เจ้าแหลม ฯลฯก่อนหรือหลังพิธีลอยเรือในเดือน 6 และเดือน 11 เพื่อร้องขอว่าเมื่อลมพลัด (ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้) หรือลมออก (ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) พัดมาขอให้ลูกหลานหาปลาได้มาก ๆ อย่าเจ็บ อย่าไข้ และขอให้ปลอดภัยในการออกทะเล แต่ปัจจุบันพิธีนี้เลิกไปแล้ว (อาภรณ์อุกฤษณ์,. 2532 : 108) ชาวอูรักลาโวยจกลุ่มอื่น ๆ ต่างมีบรรพบุรุษประจำกลุ่มเช่นกัน แต่เมื่อมีพิธีสำคัญ เช่น พิธีลอยเรือนอกจากแต่ละกลุ่มจะเชิญบรรพบุรุษประจำกลุ่มของตัวเองมาร่วมในพิธีแล้ว ยังเชิญบรรพบุรุษของกลุ่มอื่นมาร่วมพิธีด้วย

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ประเพณีรักษาพยาบาลและการแก้บนเป็นความเชื่อในกลุ่มชาวเล เมื่อเกิดการเจ็บป่วย หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น เกิดภัยพิบัติทางทะเล เกิดมรสุมไม่ตรงตามฤดูกาล ทำมาหากินฝืดเคือง หรือสมาชิกในชุมชนประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บ เชื่อกันว่าเป็นการลงโทษจากสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีบรรพบุรุษ ดังเช่น ที่แหลมตุ๊กแก เดิมอูรักลาโวยจเชื่อว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นสาเหตุมาจาก “ผีกิน” การรักษาพยาบาลจึงเป็นหน้าที่ของหมอผีประจำบ้าน ที่จะต้องปัดรังควานขับไล่ หรือทำพิธีเชิญให้ผีออกไป วิธีบำบัดรักษาส่วนมากใช้วิธีร่ายเวทย์มนต์คาถา เป่ามนต์บนศีรษะผู้ป่วย แล้วทำน้ำมนต์ให้ดื่มระยะเวลาในการรักษาใช้เวลา 3 วัน หยุด 1 วัน หากอาการมาทุเลาก็รักษาต่ออีก 3 วัน หยุด 1 วัน เป็นระยะๆ ไปเรื่อยจนกว่าอาการไข้จะหาย หรืออาจใช้วิธีเสกหมากเสกพลูให้กินหรือทา บางครั้งก็ใช้รากไม้ฝนกับน้ำแล้วทาตามร่างกาย หรือรักษาหลายวิธีผสมกันไป หากอาการไข้ไม่หายจึงนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย (พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 37-38)

เช่นเดียวกันกับชุมชนชาวเล เกาะลันตา หากมีเด็กเจ็บไข้เล็กน้อย ปวดท้อง เป็นชันตุจะรักษากันเองด้วยการ เคี้ยวหมากพลูหรือใบไม้ พอกลงไปตรงที่เจ็บ และร้องขอต่อผีบรรพบุรุษไม่ให้ลงโทษเด็ก หากอาการป่วย หรือประสบเคราะห์ร้ายที่รักษาเองไม่ได้ก็ให้โต๊ะหมอรักษา โดยหยดเทียนเพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษ และทำน้ำมนต์ ให้ดื่มหรืออาบไล่ผีร้ายออกจากตัว หากเจอคนไข้หรือประสบภัยพิบัติที่ค่อนข้างหนัก โต๊ะหมอจะดูหยดเทียนว่าผีบรรพบุรุษคนใดต้องการอะไร และ บนว่าหากช่วยได้สำเร็จจะแก้บนด้วยการเล่นเพลงรำมะนาของบรรพบุรุษ 7 เพลง หรือเล่นรองแง็ง หรือโนรากาบงให้ดู หรือหากเด็กหายป่วยจะยกเป็นลูกบุญธรรมให้ใคร ฯลฯ และหากอาการป่วยหนักจนอาจถึงชีวิตหรือประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง เช่น โดนมรสุมกลางทะเลยังไม่กลับเข้าฝั่ง หรือเกิดโรคระบาด เกิดเหตุอาเพศในชุมชน ก็จะบนด้วยการทำ “รูมะปลีเมา” หรือสร้างบ้านจำลอง 7 ชั้น โดยใช้ไม้พังแหลลักษณะกลมและยาวทั้งต้น วางซ้อนขึ้นไปทีละคู่ สลับกันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เหลื่อมเล็กลงเรื่อย ๆ จนถึงชั้นที่ 7 จะเป็นที่นั่งสำหรับผู้ที่จะเข้าพิธีแก้บน ผู้ชายทำหน้าที่สร้างบ้าน ส่วนผู้หญิงจะทำขนมต้ม (ข้าวต้มลูกโยน)ผูกโยงไว้บนบ้านจำลองทั้ง 7 ชั้น ในงานพิธีจะมีการเลี้ยงฉลอง ร้องรำทำเพลงตลอดเวลา 1 วัน 1 คืน ก่อนเสร็จพิธี สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีทุกคนจะตักน้ำมนต์ในตุ่มใหญ่ที่โต๊ะหมอเสกไว้ สาดไปที่ตัวผู้นั่งแก้บนบนบ้าน 7 ชั้น จนน้ำมนต์หมดตุ่ม พิธีนี้ปัจจุบันเลิกทำไปแล้ว มีการทำครั้งสุดท้ายประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว โดยนายเหง็ม ทะเลลึก เป็นผู้บนหลังจากมีการสร้างโรงพยาบาลรัฐขึ้นใกล้บ้านหัวแหลมกลาง โรคบางโรคที่โต๊ะหมอรักษาไม่หายก็จะแนะนำให้ไปหาหมอที่โรงพยาบาล (อาภรณ์อุกฤษณ์,2532: 101-104)

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

ในระดับผู้นำกลุ่ม นอกจากจะมีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากทางราชการแล้ว ชาวอูรักลาโวยจจะมี “โต๊ะหมอ” ซึ่งผู้นำกลุ่มที่ผ่านการเรียนวิชาทางด้านไสยศาสตร์ จนสามารถเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมได้และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม

โต๊ะหมอ เป็นผู้นำกลุ่มที่ได้รับเลือกจากสมาชิกในกลุ่มให้สืบทอดตำแหน่งและหน้าที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อ สมาชิกในกลุ่มจะเชิญโต๊ะหมอไปเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เช่น พิธีแก้บน พิธีศพ พิธีเกี่ยวกับการให้กำเนิดทารก พิธีลอยเรือ พิธีรักษาผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนั้นโต๊ะหมอยังมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุข และแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนด้วย จึงนับว่า โต๊ะหมอเป็นผู้นำกลุ่มที่มีบทบาทหน้าที่ทั้งทางโลกและทางธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของโต๊ะหมอจะมีผู้ช่วยที่มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน เช่น ผู้ช่วยฝ่ายจัดยาสมุนไพรตามคำสั่งของโต๊ะหมอ หมอตำแยซึ่งทำหน้าที่ทำคลอดให้สมาชิกในกลุ่ม ผู้ช่วยฝ่ายพิธีกรรมซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนโต๊ะหมอได้ (เฉพาะที่โต๊ะหมออนุญาตให้เป็นตัวแทน) และผู้ช่วยฝ่ายประสานงาน

ทั้งนี้ ผู้ช่วยฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกในชุมชนจะให้ความเคารพและนับถือโต๊ะหมอทั้งในฐานะที่เป็นผู้อาวุโสที่มีความรู้ความสามารถและเป็นญาติผู้ใหญ่ด้วย เนื่องจากในชุมชนอูรักลาโวยจต่างก็มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน

จรัส ง๊ะสมัน. (2534). การศึกษานิทานชาวเลจังหวัดสตูล. ปริญญานิพนธ์หลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สงขลา.

เจน จรจัด. (นามแฝง) (2525). “อูรักลาโวยจ ; วิญญาณอิสระแห่งท้องทะเล” อนุสาร อสท. ปีที่ 22 ฉบับที่ 8 (มีนาคม 2525) หน้า 47-53.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2513). สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน เล่ม 10. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ รุ่งธรรม.

ดี.จี.ฮอลล์.(2549). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (แปลโดยท่านผู้หญิงวรุณยุพาและคณะ) พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

สมิธ, เอช. วาริงตัน.(2539). “บันทึกการเดินทางไปยังบางจังหวัดทางภาคตะวันตกเฉียงใต้,”ในรวมเรื่องแปล หนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 1. (แปลโดย ธนัญญา ทองซ้อนกลีบ) หน้า 139-208กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร

ประทีป ชุมพล. “ชาวเล ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับสังคม ชีวิต การศึกษา”. แลใต้, ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2524)

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2517). “ชาวน้ำเกาะอาดัง”. วิทยาสาร, 25 (เมษายน 2517)หน้า 25-27

พิมพิไล ตั้งเมธากุล. (2529). การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม. ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนชาวเลเกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สารนิพนธ์ ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

สแตนตัน, แมรี่ บัลค์ลีย์. (2550).สยาม คือบ้านของเรา. (แปลโดย เด็กวัฒฯ รุ่น 100). กรุงเทพมหานคร :คณะบุคคลวัฒนา รุ่น 100

สิริพงษ์ มุกดา. (2009). “ตำนานโต๊ะแซะ”. นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน. VOL.7 No.82 March 2009 สืบค้นเมื่อ 1/9/ 2016 จาก www.phuketbulletin.co.th

สุพัฒน์ธัญญวิบูลย์.(2539).เมืองท่ามะละกาในคริสต์ศตวรรษที่15.สารนิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุวัฒน์ คงแป้น. (2558). รวมญาติชาวเล เพื่อศักดิ์ศรีที่ทัดเทียม. สืบค้น เมื่อ 29/8/2016 chumchonthai.or.th>node

อมร ทวีศักดิ์. (2529). ภาษาชาวเล. กรุงเทพฯ : ปิ่นเกล้าการพิมพ์,

อาณัติ อนันตภาค. (2554).ตำนานโจรสลัด. กรุงเทพมหานคร : ยิปซี.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2531). “ตำนานชาวเล”. เมืองโบราณ. ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน2531) หน้า 70-75.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2532). พิธีลอยเรือ : ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของชาวเล กรณี ศึกษา ชุมชนบ้านหัวแหลม เกาะลันตา กระบี่. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิจิมทอมสัน

อาภรณ์อุกฤษณ์.(2545 - 2547).ชาวเล : แหล่งอาศัยและวิถีชีวิต.การวิจัยเพื่อเขียนคำโครงการแผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้. สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2554). พลวัตการปฏิสัมพันธ์และชาติพันธุ์ธำรงของชาวเลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่.ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2554

อุทัย หิรัญโต. (2516). “เรื่องของชาวน้ำ” วารสารกระบี่ 1. (ฉบับปฐมฤกษ์). (มกราคม 2516) หน้า47-50

Bernazik,H.A. (1958). The Spirits of the Yellow Leaves.London : Robert Hale Ltd.

Court, Chistopher. (1971). “A Fleeting Encounter with the Moken (The Sea gypsies in southern Thailand). Some Linguistic and General note,” The Journal of the Siam Societhy. 5,1 (January 1971).

Hogen, David, W. (1972). “Man of the Sea : Coastal Tribs of South Thailand’s West Coast,” The Journal ofThe SiamSociety. 60, 1 (January 1972), pp.205-235.

Kemp, Peter. ( 2002). The History ofShips. (Reprinted 4th edition). New York : Barnes&Noble

Levi-Struss, Claude. (1963). Structural Antroprology. New York : Basic Books.

Levi-Struss, Claude. (1969). “The Raw and The Cooked,” Introduction to a Science of Mythology. New York : Harper & Row.

Sorat Makboon, (1981). A Survey of Sea People’s Along The West Coat of Thailand. Unpublised M.A. Mahidol University.

กานดา ประโมงกิจ. 44/3 หมู่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2559)

กิมสี้ กิจค้า. บ้านแต้เหล็ง ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2516. ปัจจุบันถึงแก่กรรม)

เกม ช้างน้ำ.หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อ 2530)

ชนะ หาดทรายทอง. 50/16 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2559)

ชัยรัตน์ ทะเลลึก. หมู่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

ซาเย้ ทะเลลึก.หมู่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อ 2530)

เดียว ทะเลลึก.85 หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559)

ธานี สิงขโรทัย.37 หมู่ 3 บ้านเกาะบูโหลน ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

นพรัตน์ กาญจนวโรดม. 143 หมู่ 1 ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553)

นิกร ไหวพริบ. ตลาดศรีรายา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 เมษายนพ.ศ. 2530. ปัจจุบันถึงแก่กรรม).

บูเด็น คบคน. 42 หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550)

ประชาทะเลลึก. หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2550)

ประสมกิจค้า. 49 หมู่ 2 ตลาดศรีรายา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550. ปัจจุบันเสียชีวิต).

พยนต์ ทิมเจริญ. พยนต์ ทิมเจริญ. 4/1127 หมู่บ้านสหกรณ์เคหสถาน 4แขวงคลองกลุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ.(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2546)

พรสุดา ประโมงกิจ. 24 หมู่ 8 บ้านแหลมตง เกาะพีพี อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2559)

มะสีทะเลลึก. หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19ตุลาคม 2551)

ลู่ดน ทะลึก หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2530ปัจจุบันถึงแก่กรรม)

สิทธิ์ ประโมงกิจ.42/2 หมู่ 3 บ้านสปำ ตำบลเกาะแก้ว อ.เมือง จ. ภูเก็ต(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

สิริพงษ์ มุกดา. (2009). “นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน”. VOL.7 No.82 March 2009 สืบค้นเมื่อ 1/9/ 2016 จาก www.phuketbulletin.co.th

แสงโสม หาญทะเล. 316 หมู่ 7 เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

หีม ดำรงเกษตร. 112 หมู่ 2 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่พ.ศ. 2559)[SS1]

อูลิน ช้างน้ำ. 164 หมู่ 3 บ้านมู่ตู ตำบลศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

อัมรี สิเดะ (Amri Sidik) ไกด์ชาวอินโดนีเซีย (สัมภาษณ์เมื่อ March 30, 2008)


[SS1]ข้อมูลขาดความครบถ้วน


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว