2023-06-15 19:57:16
ผู้เข้าชม : 2991

โพล่ง เป็นกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพรมแดนไทย - เมียนมา ประมาณ 700 ปี ชาวโพล่งที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันตกและภาคเหนือของประเทศไทย ในสมัยรัฐกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามสกุล “เสตะพันธุ์” ให้กับเจ้าเมืองคนกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี คนกลุ่มนี้มีวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่นด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า โดยมีการผสมผสานองค์ความรู้เชิงนิเวศกับวิถีวัฒนธรรม โดยใช้ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นกลไกสำคัญในการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : โพล่ง
ชื่อเรียกตนเอง : โพล่ง, โผล่ง, โผล่ว, ซู, กะเหรี่ยง,
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะหรี่ยงโป, โปว์, พล่อ, โพล่ง, ยางเด้ะแด้, ยางบ้าน, ยางแดง, ฮซู่, โปว์กะเรน, กะหยิ่น, ยางเปียง, ตะเลงกะริน
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : กะเหรี่ยง
ภาษาพูด : โพล่ง
ภาษาเขียน : ลิวา, ลิโรเหม่

โพล่ง/โผล่ง/โผล่ว (Pwo) เป็นคำใช้เรียกตนเองของกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง ในขณะที่กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือจะเรียกพวกเขาว่า กะเหรี่ยงโป มีความหมายว่า "คน" ส่วนชาวพม่าจะเรียกกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ว่า "ตะเลงคะยิน" หมายถึง กะเหรี่ยงมอญ นอกจากนี้ยังมีคำเรียกที่เป็นคำไม่สุภาพและสะท้อนอคติทางชาติพันธุ์ ที่ที่เจ้าของวัฒนธรรมไม่ชื่นชอบให้เรียกมากนัก คือ คำว่า “ยาง” และยังมีชื่อเรียกที่ถูกใช้อย่างเป็นทางการในแวดวงราชการไทยในช่วงการตั้งคณะกรรมการเพื่อสงเคราะห์ชาวเขา ที่เรียกชนกลุ่มนี้ว่า“กะเหรี่ยง”

ชาวตะวันตกเชื่อว่า บ้านเมืองเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่ทางตะวันตกของจีนในเขตกวางสีก่อนอพยพสู่ดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ชาวจีนเรียกแม่น้ำแยงซีเกียงว่า แม่น้ำของพวกยาง หรือแม่น้ำของพวกกะเหรี่ยง" การอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่ดินแดนอินโดจีนเกิดขึ้นผ่านสายน้ำสำคัญ 3 สาย คือ สายน้ำอิระวดี สายน้ำสาละวิน และสายน้ำแม่น้ำโขง กลุ่มกะเหรี่ยงโปเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาตามสายดังกล่าว ในอาณาบริเวณสายน้ำสาละวิน สายน้ำโขง สายน้ำเมย เชื่อมต่อถึงสายน้ำตะนาวศรี จึงปรากฏผู้คนและชุมชนคนโพล่งอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนไทย-พม่า ราว 600-700 ปีมาแล้ว อีกทั้งบางส่วนเป็นเชลยสงคราม ที่ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่เชียงใหม่โดยพระเจ้ากาวิละใน ค.ศ. 1802 (พ.ศ. 2355)หลายกลุ่มย้ายจากพม่าในระยะเวลาที่ต่างกันตั้งแต่ 100 - 400 ปี บางชุมชนส่งส่วยและช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นประจำทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่อยู่อาศัย แต่บางชุมชนต้องส่งส่วยให้ลัวะที่เป็นเจ้าของที่ดินในอัตราสิบเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าว โผล่งในประเทศไทยมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับที่สองรองจากกาเกอะญอ ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่แถบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ากะเหรี่ยงสะกออาศัยอยู่เฉพาะทางภาคเหนือ และกะเหรี่ยงโพล่งอาศัยอยู่เฉพาะทางภาคตะวันตกเท่านั้น แตแท้ที่จริงแล้วจะพบกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มอยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่แยกหมู่บ้านไม่ปะปนกัน เนื่องจากมีภาษาและวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

โพล่ง มีความโดดเด่นด้านภาษาที่หลากหลายสำเนียงและถิ่นที่แต่สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจภายในกลุ่ม การแต่งกายที่บ่งบอกถึงธรรมเนียมปฏิบัติและสถานภาพ ขณะเดียวกันก็มีความเข้มแข็งด้านความเชื่อ ประพณี และวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันบูรณาการความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับศาสนาสากล และยังคงรักษาวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมในการทำไร่หมุนเวียนอันเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่แสดงถึงความเคารพและนอบน้อมต่อธรรมชาติ ถือเป็นวิถีวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานและสะท้อนให้เห็นการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ชาวตะวันตกเชื่อว่า บ้านเมืองเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่ทางตะวันตกของจีนในเขตกวางสี ก่อนที่พวกเขาจะอพยพสู่ดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ชาวจีนเรียกแม่น้ำแยงซีเกียงว่า "แม่น้ำของพวกยาง หรือแม่น้ำของพวกกะเหรี่ยง"

ชนชาติกะเหรี่ยงเข้าสู่ดินแดนอินโดจีนตามสายน้ำสำคัญ 3 สาย คือ สายน้ำอิระวดี สายน้ำสาละวิน และสายน้ำแม่น้ำโขง กลุ่มกะเหรี่ยงโปเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาตามสายน้ำสาละวิน แม่น้ำโตง แม่น้ำเมยและแม่น้ำตะนาวศรี โดยมีชุมชนหนาแน่นอยู่ที่เมืองตองอู, ผาปูน, ผาอ่าง, ท่าตอน, เมาะละแหม่ง, พะโค (หงสาวดี) กะเหรี่ยงกลุ่มนี้อยู่ปะปนกับชาวมอญจึงถูกเรียกว่า "ตะเลงกะยิน" กะเหรี่ยงโปนั้นมีเมืองดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้ตั้งถิ่นฐานมั่นคง เรียกเมืองนั้นว่า กวยเกอบ่อง (กวยเกอบ่อ) เมืองดูยอ เมืองนี้เป็นที่ราบ มีภูเขาตั้งอยู่เด่นเป็นสง่าท่ามกลางที่ราบเป็นที่นาเวิ้ง พวกเขาถูกพม่า มอญ และคนไทยกวาดต้อนกระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ พวกเขามีความเชื่อว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่เมืองกวยเก่อบ่อ

ชนกะเหรี่ยงอพยพจากบาบีโลนในปี 2234 ก่อนคริสตศักราชเดินทางไปถึงอาณาจักรมองโกเลียปี 2197 ก่อนคริสตศักราช... เมื่อปี 2017 ก่อนคริสตศักราชเดินทางไปเตอร์กิสถานตะวันออกและถึงเมื่อปี 2013.....เมื่อปี 1866 ก่อนคริสตศักราช... โยกย้ายไปยังธิเบต...
ถึงธิเบตเมื่อปี 1864 ก่อนคริสตศักราช ออกเดินทางจากธิเบตปี 1388 ก่อนคริสตศักราช... ไปถึงราชอาณาจักรยูนนาน ปี 1385...ในปี 1128 ก่อนคริสตศักราช รุ่นแรกเดินทางไปถึงพม่า 1125 ก่อนคริสตศักราช...รุ่นที่สอง จากยูนนานปี 741 ก่อนคริสตศักราช ไปถึงพม่าปี 739 ก่อนคริสตศักราช...นี่หมายความว่าระยะเวลาที่กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในพม่าทั้งหมดคือ739 ปี รวม 2000 ปีเป็น 2739 ปี
(News, 2000: 2)

ประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชนชาติกะเหรี่ยงได้อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าก่อนชนชาติพม่า และได้สร้างประเทศของตนที่เรียกว่า กอทูเลซึ่งหมายถึง ดินแดนแห่งดอกไม้ หรือดินแดนสีเขียว ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่สุขสบาย อุดมสมบูรณ์ และมีสันติภาพ ต่อมาชนชาติพม่าผู้มาทีหลังได้มายึดครองประเทศของกะเหรี่ยง

สำหรับกะเหรี่ยงในเขตประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ปรากฏมีหนังสือหรือเอกสารที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของคนกะเหรี่ยงโดยรวม จากการที่กะเหรี่ยงในประเทศไทยมีจำนวนน้อย อยู่กระจัดกระจายและไม่ได้รวมกลุ่มกันในฐานะที่เป็นชาติพันธุ์หนึ่ง นักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างประเทศได้เขียนประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงในลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่รวบรวมจากเอกสาร วิเคราะห์จากชื่อหมู่บ้าน และตำนานเพื่อทำความเข้าใจว่ามีการโยกย้ายจากที่ไหนมาบ้าง เช่น งานของเรนาร์ด (Renard, 1980: 132) ที่ระบุว่า กะเหรี่ยงโปบางส่วนเป็นเชลยสงครามที่ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่เชียงใหม่โดยพระเจ้ากาวิละในปี ค.ศ. 1802 (พ.ศ. 2355) งานของกุนสตัดเตอร์(Kunstadter, 1967: 69) ระบุว่า กลุ่มกะเหรี่ยงหลายกลุ่มย้ายจากพม่าในระยะเวลาที่ต่างกันตั้งแต่ 100 ถึง 400 ปี มิสชุง (Mischung, 1980:20) ระบุว่า ชุมชนกะเหรี่ยงบางชุมชนส่งส่วยและช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นประจำทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่อยู่อาศัย แต่บางชุมชนต้องส่งส่วยให้ลัวะที่เป็นเจ้าของที่ดินในอัตราร้อยละ 10 ของผลผลิตข้าว

สำหรับกะเหรี่ยงในภาคตะวันตกของประเทศไทยได้เคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในความปกครองของกษัตริย์สยามและเคยเข้าร่วมในกองทัพของสยามเพื่อต่อสู้กับพม่าเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ทำให้บางคนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงในกองทัพ (สยามอารยะ, 2543: 30) นอกจากนี้ การที่พระเจ้าอลองพญาได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดจากการทำสงครามกับกษัตริย์มอญ ในปี พ.ศ. 2298 (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และ สรินยา คำเมือง 2540) ทำให้กะเหรี่ยงซึ่งอยู่ใต้อาณัติของมอญ ต้องอพยพโยกย้ายเข้ามาในเขตปกครองของอาณาจักรไทย แถบพื้นที่ป่าเขาของจังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และต่อมาทางกษัตริย์สยามก็ได้แต่งตั้งเจ้าเมืองคนกะเหรี่ยง ให้ดำรงตำแหน่งพระศรีสุวรรณคีรี คอยดูแลหัวเมืองหน้าด่าน มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองต่อเนื่องกันมาห้าคน ก่อนที่จะมีการปรับปรุงระบบบริหารราชการใหม่และยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง เจ้าเมืองคนสุดท้ายได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านสะเนพ่อง อำเภอสังขละบุรี และได้รับพระราชทานนามสกุล “เสตะพันธุ์” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2459

จากการสันนิษฐานของนักวิชาการ กะเหรี่ยงในประเทศไทยเป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่า ในยุคแรกมีสาเหตุมาจากการหนีภัยสงคราม ในสมัยพระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ) ทำสงครามกับพวกมอญ และใน พ.ศ. 2428 อังกฤษยึดพม่าตอนเหนือและปราบปรามกะเหรี่ยงที่แข็งข้อทำให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอีกระลอกหนึ่ง ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ากะเหรี่ยงอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไร แต่ในหนังสือไทยรบพม่าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่ากะเหรี่ยงเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองตองอู ได้มีแม่ทัพคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 18 รัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (Karen) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลพม่า-ทิเบต ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั้งประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย โดยมีหลักฐานว่า คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนไทย - พม่า ราว 600-700 ปีมาแล้ว (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562: 13) คนกะเหรี่ยงมีความใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่และไทยวน โดยพวกเขามองกะเหรี่ยงว่าเป็นผู้อยู่ป่าดั้งเดิม (native forest) ที่มีลักษณะคล้ายมอญแต่มีความใกล้ชิดกับป่ามากกว่า แต่ก็มีความเจริญกว่ากลุ่มคนลัวะ (ที่เป็นผู้อยู่ป่าดั้งเดิมเช่นกัน) (Hiyami, 2006) กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ดังนี้

1) กะเหรี่ยงสะกอ (Skaw/Sgaw) 2) กะเหรี่ยงโป (P’wo/Pwo) 3) กะเหรี่ยงคะยา (Kayah) และ 4) กะเหรี่ยงตองสู/ตองตู (Taungthu/Tuang Tsu) หรือปาโอ/พะโอ (Pa-O) โดยกะเหรี่ยงสองกลุ่มแรกเป็นกะเหรี่ยง
กลุ่มใหญ่ในประเทศไทยและกระจายตัวอยู่บริเวณภาคเหนือฝั่งตะวันตกลงไปจนถึงภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง ในขณะที่สองกลุ่มหลังมีจำนวนประชากรไม่มาก โดยอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน
(สุริยา รัตนกุล และ สมชาย บุรุษพัฒน์, 2538: 4-5; ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560: 3; ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562: 13)

กะเหรี่ยงโพล่ง หรือ กะเหรี่ยงโป คนไทยในภาคเหนือเรียกว่า "พล่อ" "โพล่ง" "ยางเด้าะแด้ ยางบ้าน" โพล่ง มีจำนวนประชากรจำนวนมากเป็นที่สอง รองจากกะเหรี่ยงสะกอหรือปกาเกอะญอ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าปกาเกอะญออาศัยอยู่เฉพาะทางภาคเหนือและกะโพล่งอาศัยอยู่เฉพาะทางภาคตะวันตกเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วจะพบกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มอยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่แยกหมู่บ้านไม่ปะปนกัน เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งกะเหรี่ยงปกาเกอะญอและกะเหรี่ยงโผล่ง โดยกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ มักตั้งถิ่นฐานในอำเภอแม่แจ่มและกะเหรี่ยงโผล่งมักตั้งถิ่นฐานในอำเภออมก๋อย นอกจากนี้ในจังหวัดลำพูนซึ่งอยู่ในภาคเหนือกลับมีกะเหรี่ยงโผล่งอาศัยอยู่หนาแน่นโดยเฉพาะที่อำเภอลี้ ส่วนาคตะวันตก แม้จะมีกะเหรี่ยงโปอาศัยอยู่หนาแน่น แต่ก็พบกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่จังหวัดกาญจนบุรีเช่นกัน (สุริยา รัตนกุล และคณะ, 2529)

การดำรงชีพ

ในอดีต อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงจะยึดเป็นอาชีพหลัก เช่น การทำไร่ ทำนา สมัยก่อนจะชอบทำไร่ข้าว แต่ภายหลังหันมาดำนาโดยใช้ช้างเป็นเครื่องมือบุกเบิก ระบบการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยง เป็นระบบการทำไร่ลักษณะหมุนเวียน โดยมีการหมุนเวียนใช้เวลาประมาณ 7-10 ปี เพื่อทำให้ระบบนิเวศมีการฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมมี อย่างไรก็ตามชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่า การทำไร่เปรียบเสมือนการเหยียบบนท่อนไม้ไผ่ อันหมายถึง ความไม่แน่นอนในด้านผลผลิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดินและสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี นอกจากนี้ยังปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้กินเอง พืชที่นิยมปลูกเป็นจำพวก ถั่ว ข้าวโพด ขิง มะเขือ หัวหอม ผักประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ยังปลูกฝ้ายเอาไว้เองในครัวเรือนเพื่อถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม มีบางส่วนปลูกฝ้ายส่งออกสู่ตลาดเพื่อนำรายได้มาใช้จุนเจือครอบครัว

การค้าขาย การค้าขายในอดีตจะไม่มีการใช้เงินตรา ส่วนใหญ่จะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเฉพาะการนำของป่าไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของเครื่องใช้ในเมืองหรือแลกเปลี่ยนกันเองภายในกลุ่มตามความพอใจและการตกลงกันระหว่างสองฝ่าย เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไปทำให้มีการค้าขายโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

การรับจ้าง ในอดีตไม่มีการรับจ้าง ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในลักษณะของการเวียนกันในบ้านแต่ละหลัง เมื่อบ้านหลังแรกทำงานบ้านอื่น ๆ จะมาช่วยกันและผลัดเปลี่ยนกันไปจนครบทุกบ้าน การตอบแทนมักจะเป็นข้าว อาหาร ที่นำมาเลี้ยงดูปูเสื่อกัน ปัจจุบันเป็นการทำงานรับจ้างแบบขายแรงงานได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน

การเลี้ยงสัตว์ ในอดีตจะนิยมเลี้ยงสัตว์จำพวกเป็ด ไก่ สุกร เพื่อนำมาเป็นอาหาร โค กระบือ นำมาใช้ไถนาและช้าง นำมาใช้ในงานลากไม้ซุง ปัจจุบันแรงงานสัตว์ถูกนำมาใช้ในเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น ช้าง จะนำมาใช้ในการทำทัวร์ ส่วนเป็ด ไก่ สุกร มีการเลี้ยงเพื่อส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์และนำเนื้อที่ได้มาขายให้กับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ระบบความเชื่อของกะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ดังนั้น คนกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญกับศาสนา คนกะเหรี่ยงนับถือทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และนับถือผี เกือบร้อยละ 90 นับถือผีที่สิงสถิตอยู่ทุกหนแห่งในป่า ไร่นา ลำธาร ความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณเป็นจุดกำเนินของคุณธรรมและค่านิยมหลายประการ เช่น การอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียว ไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร ผีที่นับถือ คือ ผีบ้านและผีเรือน ผีบ้านเป็นผีเจ้าที่ที่คอยปกป้องดูแลหมู่บ้าน ผีเรือนเป็นผีดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งคอยปกป้องรักษาบุตรหลานเหลนผู้สืบตระกูลของตนด้วยความห่วงใย นอกนี้ยังมีผีประจำไร่หรือผีนา ซึ่งจะช่วยทำให้ผลิตผลของไร่นาเจริญงอกงาม ดังนั้น จึงมีการทำร้านเลี้ยงผีไร่หรือผีนาก่อนทำการปลูกข้าวหรือพืชไร่

คนกะเหรี่ยงมีความเกรงกลัวผีป่า ซึ่งถือว่าเป็นผีร้ายคอยทำร้ายผู้คนมากกว่าจะคุ้มครองป้องกันภัย ผีป่ามี 2 พวกคือ ผีป่าบกและผีป่าน้ำ

ภูมิปัญญาที่เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนา คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ที่มีวัตรปฏิบัติตามแบบอย่างชาวพุทธที่สืบต่อมาจากบรรพชนอย่างเคร่งครัด วันสำคัญทางศาสนาพุทธในชุมชน ได้แก่ วันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันสารทเดือนสิบ วันวิสาขบูชา เป็นต้น

ส่วนภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงกับศาสนาพราหมณ์ ไม่ปรากฏในชุมชนอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ปรากฏส่วนหนึ่งอยู่ในรูปแบบของความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ที่ดำรงอยู่ในชุมชนปัจจุบัน ไม่ได้เป็นอยู่อย่างอิสระเหมือนอดีต เพราะได้ผสมผสานภายใต้กระแสพุทธศาสนาหรือในนามของพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน ศาสนาพราหมณ์จึงไม่ได้ปรากฏในเชิงโครงสร้าง แต่ปรากฏในเชิงเนื้อหาสาระที่ปรากฏอยู่ในโครงสร้างของศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ

ด้านภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงกับศาสนาคริสต์ คนในชุมชนมีจำนวนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ ความเชื่อประเพณีและพิธีกรรมของศาสนาคริสต์ในชุมชน มีลักษณะผสมผสานความเชื่อพื้นบ้านดั้งเดิม และความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ปะปนอยู่ด้วย วิถีปฏิบัติของคนในชุมชนจึงยังคงมีความเชื่อพื้นบ้านที่มีมาแต่เดิม แต่ดำรงอยู่ในลักษณะการนำความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมบางส่วนของชุมชนมาต่อยอดเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของจิตวิญญาณตามความเชื่อดั้งเดิมสู่อาณาจักรพระเจ้าหรือการได้เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าตามหลักการทางคริสต์ศาสนา ทำให้วิญญาณที่อยู่ในนรก มีโอกาสหลุดพ้นจากนรกและมีความเท่าเทียมกับจิตวิญญาณที่อยู่ในสวรรค์ ที่ได้เข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าด้วยกันในวันสิ้นโลกหรือวันพิพากษาโลก

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่สำคัญในรอบปี

การขึ้นปีใหม่

ประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ตรงกับช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันขึ้นปีใหม่จะจัดปีละครั้งเท่านั้น เป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งเพราะญาติพี่น้องที่ได้แต่งงานหรือจากบ้านไปทำงานที่อื่นจะกลับมาร่วมงานกันอย่างถ้วนหน้าสิ่งที่เตรียมก่อนวันปีใหม่ ประกอบด้วยขนมหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวต้ม ข้าวปุ๊ก ข้าวหลาม เพื่อวันรุ่งขึ้นจะถวายแด่เทพเจ้า เตรียมเหล้าสำหรับประกอบพิธีและดื่มร่วมกันก่อนวันขึ้นปีใหม่

เช้าวันขึ้นปีใหม่ กะเหรี่ยงที่นับถือพุทธหรือ "เอาะ แค" จะตื่นแต่เช้าแล้วมาฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อจะนำมาประกอบพิธีในวันรุ่งเช้า โดยเริ่มจากการนำไก่ที่ฆ่าแล้ว พร้อมเหล้าหนึ่งขวดมาตั้งที่ขันโตก เพื่อจะประกอบพิธีมัดข้อมือ หรือเรียกขวัญของลูกหลานในแต่ละบ้าน

กะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ จะเข้าโบสถ์เมื่ออธิษฐานเสร็จ ทานข้าวร่วมกัน จากนั้นจะมีการประมูลข้าวของแต่ละบ้านที่นำมาประมูลร่วมกัน หลังจากประมูลราคาสิ่งของเสร็จ ก็จะมีการจัดกลุ่มแข่งกีฬาพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตกเย็นมีการแสดงความบันเทิงจะไม่มีการกินเหล้าในวันนี้ จากนั้นก็จะแยกย้ายกลับบ้านตนเอง ในช่วงนี้จะมีการอธิษฐานทุกคืนจนครบ 7 คืน จึงจะถือว่าสิ้นสุดพิธีขึ้นปีใหม่

นอกจากนี้ยังมีประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปีดังนี้

เดือนมกราคม ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นงานพิธีที่ต้องทำในแต่ละครอบครัวก่อนที่จะเริ่มต้นทำไร่กันอีกครั้ง และเป็นงานในระดับตำบลโดยหมุนเวียนไปในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านไหนเป็นเจ้าภาพจะจัดให้มีงาน 4 คืน 3 วัน

เดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีถวายราหุล เป็นการสะเดาะเคราะห์ของชุมชน เพื่อนบ้านมาร่วมกันกวนย่าฮุและนิมนต์พระมาสวดทำพิธี เมื่อสุกนำไปถวายพระ หลังพิธีชาวบ้านจะกินยาฮุแล้วนำมาโปรยรอบบ้านและนำมาวางไว้บนหัวเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์

เดือนมีนาคม ประเพณีไหว้เจดีย์พระธาตุ ในช่วงขึ้น 15 ค่ำ โดยคนในชุมชนจะร่วมกันนำทรายในห้วยมาก่อเจดีย์ นำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการบูชา

เดือนเมษายน เป็นทั้งเดือนปีใหม่และวันสงกรานต์ของชาวไทยกะเหรี่ยงโผล่ว มีการจัดงาน 4 คืน 3 วัน โดยเริ่มในคืนวันขึ้น 13 ค่ำตอนเย็น ชาวบ้านเรียกงานลงและเลิกงานในคืนแรม 1 ค่ำ

เดือนพฤษภาคม หลังพ้นเดือนขึ้นปีใหม่ ทุกครอบครัวจะต้องไหว้พระคุ้มครองบ้าน ผู้หญิงที่อาวุโสสูงสุดในบ้านเป็นคนทำพิธี คนในครอบครัวรวมถึงลูกหลานที่ออกไปทำงานและพี่น้องที่ยังไม่ได้แยกครอบครัวจะกลับมาทำพิธีรวมกันในบ้านเป็นเวลา 2 คืน และต้องนอนรวมกันห้ามแยกไปนอนบ้านอื่น

เดือนกรกฎาคม ประเพณีเข้าพรรษาจะมีงานบุญ 4 คืน 3 วัน ชาวบ้านจะเข้ารับศีลตั้งแต่คืนวันขึ้น 13 ค่ำและใส่บาตรทุกเช้าเป็นเวลา 3 วัน พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 วันพระใหญ่ เป็นวันเข้าพรรษาของฆราวาสเพื่อที่จะได้อธิษฐานจิตว่าตลอดเข้าพรรษาจะปฏิบัติตนอย่างไร วันแรม 1 ค่ำ เป็นวันเข้าพรรษาของพระสงฆ์ ชาวบ้านจะถวายธูป เทียน ดอกไม้ พร้อมทั้งถวายเทียนที่หลอมรวมจากเทียนที่แต่ละครอบครัวนำมาให้

เดือนสิงหาคม ประเพณีผูกข้อมือ (ไข่จู) มีความหมายสำคัญในการรวมพลังคนในครอบครัวหรือคนในชุมชน ถ้าเป็นการผูกข้อมือในครอบครัวจะทำวันใดก็ได้ แต่ถ้าเป็นการผูกข้อมือในระดับชุมชนจะทำในวันพระใหญ่ขึ้น 15 หรือ 14 ค่ำเท่านั้น

เดือนกันยายน งานบุญเรือและถวายน้ำผึ้ง น้ำตาลทราย เป็นงานบุญถวายอาหารให้พระสงฆ์ งานจะเริ่มขึ้นในตอนเย็นขึ้น 13 ค่ำ พระสงฆ์นำสวดมนต์ ตอนเช้าขึ้น 15 ค่ำ แต่ละบ้านจะเอาน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทรายมาใส่บาตรเพื่อถวายพระสงฆ์ หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันสร้างเรือจากไม้ไผ่ เตรียมสิ่งของที่ใช้ในงานพิธีนี้ทำในตอนกลางคืน พระสงฆ์สวดมนต์ ชาวบ้านจุดเทียนรอบลำเรือแล้วถวายให้พระสงฆ์

เดือนตุลาคม ประเพณีออกพรรษาจะมีงาน 4 คืน 2 วัน คืนแรกชาวบ้านจะเข้าวัด สวดมนต์ ช่วงเช้าอีกวันชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ช่วงกลางวัน พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกตลอด 3 วัน ในคืนสุดท้ายของวันออกพรรษา ชาวบ้านจะเข้าวัด สวดมนต์ ทำบุญถวายสังฆทานให้กับพระ

นอกจากนี้ยังมีประเพณีเพ่อเคอะกู่หว่องทิ (ทำเฉพาะบางปี) เป็นการถวายทานเช่นเดียวกัน แต่จะทำกันที่หมู่บ้านอื่น โดยผู้ร่วมงานจะเดินทางไปหมู่บ้านอื่น รอจนกว่าชาวบ้านจะนอนหลับหมดประมาณตี 2 ผู้ที่มาร่วมงานจะเดินเข้าหมู่บ้านและส่งเสียงตะโกน ตีเกราะให้เสียงดังเพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านตกใจตื่น แล้วจึงไปวัดเพื่อนำของไปถวาย กรวดน้ำ ชาวบ้านเรียกประเพณีนี้ว่าขโมยบุญ (สุนทร พุ่มไพรวัลย์ และคณะ, 2557)

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ตามปกติหญิงกะเหรี่ยงจะให้กำเนิดทารกในบ้านของตนเองโดยมีสามี มารดาและญาติอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ เวลาคลอดจะนั่งชันเข่าบนพื้นโดยโหนผ้าซึ่งผูกห้อยลงมาจากขื่อ ช่วยนวดดันทารกออกจากครรภ์ขณะที่เธอเบ่งอยู่นั้น เมื่อทารกพ้นออกจากครรภ์เขาจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้ไผ่และห่อรกด้วยผ้าบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นจะให้พ่อของเด็กนำสะดือที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ไปแขวนไว้บนต้นไม้ในป่า ต้นไม้ต้นนี้เรียกว่า "ป่าเดปอ" เป็นต้นไม้ที่ใช้เก็บขวัญเด็ก ห้ามตัดต้นไม้ต้นนี้เพราะจะทำให้เด็กล้มป่วย หรือถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีคนไม่รู้และไปตัดต้นไม้ต้นนั้นจะต้องทำการเรียกขวัญเด็กทันที หญิงกะเหรี่ยงกลัวการคลอดบุตรยากเพราะรู้กันอยู่ว่าอันตรายการตายของเด็กจะสูงมาก เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติครอบครัวมักจะตามหมอตำแยมาค้นหาสาเหตุ หากระบุว่าเป็นภูตผีตนใดก็จะทำการเซ่นไหว้กันโดยด่วน

การแต่งงาน การหย่าร้าง

ประเพณีการสู่ขอของกะเหรี่ยงผู้หญิงจะเป็นผู้สู่ขอฝ่ายชาย หลังจากยินยอมตกลงกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็นัดหมายกันว่าจะทำพิธีแต่งงานซึ่งจะต้องจัดขึ้นภายใน 7-9 วัน เมื่อฝ่ายชายเต็มใจรับการสู่ขอก็จะมีผู้อาวุโสชายฝ่ายชาย 2 คนและหนุ่มโสด 1 คน ที่ไม่ใช่พี่น้องของเจ้าบ่าว รับการสู่ขอเพื่อนัดหมายวันแต่งงาน ชายหนุ่มโสดคนนี้จะเป็นตัวประกันในการแต่งงาน หากเจ้าบ่าวตัวจริงเกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตาม ชายหนุ่มคนนี้จะต้องแต่งงานแทนเจ้าบ่าวตัวจริง

วันแต่งงานฝ่ายชายจัดขบวนแห่ เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวจะมีพิธีดื่มเหล้า ถึงหัวบันไดบ้านจะมีญาติอาวุโสฝ่ายหญิงเอาน้ำราดเท้าพร้อมกับกล่าวอวยพร จากนั้นทำพิธีป้อนข้าว เมื่อทุกคนกินข้าวอิ่มแล้ว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวพากันกลับบ้าน ทิ้งเจ้าบ่าวไว้ที่หมู่บ้านเจ้าสาวคนเดียว เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดแต่งงานรอเวลาพิธีส่งเข้าเรือนหอต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีที่บ้านเจ้าสาว สองคืนกับหนึ่งวันที่ค้างอยู่ที่บ้านเจ้าสาว วันนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังบ้านเจ้าบ่าวพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายเจ้าสาว ในวันนี้ดำเนินไปในลักษณะเดียวกับช่วงแรก หลังจากนั้นทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังหมู่บ้านเจ้าสาวเพราะผู้ชายกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่อาศัยบ้านผู้หญิง

ความตาย และการทำศพ

พิธีในงานศพ เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะต้องรีบทำพิธีฝังศพก่อนห้ามเก็บศพไว้ โดยนำไปฝังในป่าช้าของหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถือเป็นอาจารย์ในการทำพิธี "ฉะรำ" หรือผู้นําหมู่บ้าน "ตะว่องคู" จะเป็นผู้ประกอบพิธีฝังศพ เมื่อมีผู้ตาย คนที่ออกไปนอกหมู่บ้าน อาจไปทำไร่ ทํานาหรืออื่น ๆ แต่อยู่นอกหมู่บ้าน ห้ามเข้าหมู่บ้านเด็ดขาด และผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านก็ห้ามออกนอกหมู่บ้าน จนกว่าพิธีฝังศพจะเสร็จ เพราะถือว่าระหว่างที่ยังไม่ได้ฝังศพ คนที่เดินทางเข้าออกจะเกิดสิ่งไม่ดีกับตัวเอง เมื่อผู้ตายเสียชีวิตครบ 7 วัน จะเริ่มทําพิธีกระทบไม้เพื่อเรียกวิญญาณของผู้ตายกลับมา พิธีกระทบไม้ยังเป็นการแสดงความรักของเขาที่มีต่อผู้ตาย และผู้ตายมีต่อพวกเขา ร้องเล่น เกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว จะทํา 3 วัน 7 วัน ตามแต่ฐานะของเจ้าภาพ เมื่อร้องเสร็จเจ้าภาพต้องมอบของรางวัลสําหรับผู้มาร่วมร้องเพลงทุกวัน และทําอาหารเลี้ยงผู้เข้ามาร่วมงานทุกคน ทุกวัน ส่วนใหญ่จะแกงยอดต้นเต่าร้าง (ลักษณะเหมือนยอดมะพร้าว) นํามาแกงเลี้ยงแขก และจะนำ "จี่ยะ" เป็นแผ่นเงินแท้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนกระดูกของผู้ตายจะถูกนําไปเก็บไว้ในถ้ำหรือสถานที่ที่หมู่บ้านกําหนด หนึ่งศพต่อหนึ่งแผ่น

ปัจจุบันพิธีในงานศพของชาวกะเหรี่ยงเปลี่ยนไปตามศาสนาที่ตนนับถือ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธก็นําศพไปไว้ที่วัดเพื่อให้พระสวดแล้วนําไปเผาตามธรรมเนียมไทย ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ก็จะนําศพของผู้ตายไปฝังและทําพิธีทางศาสนาคริสต์ต่อไป (เวธกา เสวครบุรี, 2554)

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ในสังคมกะเหรี่ยง การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษจะทำกันปีละครั้ง หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนวันทำพิธีลูกหลานทุกคนจะต้องมาค้างคืนอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน หากมีใครขาดผู้ทำพิธีจะต้องเอาข้าวก้อนที่คนต้องกิน เก็บไว้ให้เขากินเมื่อเขากลับมาบ้าน หากเขาไม่กลับมาต้องส่งไปให้เขา มิฉะนั้นจะถือว่าการเลี้ยงผีไม่ได้ผล ในพิธีนี้คนกะเหรี่ยงนิยมใส่เสื้ออย่างกะเหรี่ยงทุกคนต้องสำรวมกิริยาวาจาจะพูดมากไม่ได้ มิฉะนั้นจะต้องเลิกพิธีเสียกลางคันและต้องทำพิธีกันใหม่ในเดือนถัดไป และยังมีข้อควรปฏิบัติและห้ามอื่น ๆ เช่น ต้องกินข้าวในขันโตกเดียวกันหมดต้องหุงข้าวหม้อเดียวกินเสร็จแล้วแม่บ้านต้องล้างขันโตกล้างจานคนเดียวจะให้คนอื่นช่วยไม่ได้ ถ้ายังมีคนกินข้าวไม่เสร็จคนอื่น ๆ จะลงจากบ้านไม่ได้ ในวันทำพิธีห้ามการตัดผม ห้ามกินของที่มีรสเปรี้ยวอีกด้วย การทำพิธีเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษมี 2 แบบคือ แบบไม่มัดมือและแบบมัดมือ

ขวัญชีวัน บัวแดง. (2546). “ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์: กรณีศึกษาชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า,” รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ขวัญชีวัน บัวแดง. (2551). พื้นที่พรมแดนแม่น้ำเมยกับความสัมพันธ์ชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง-คนเมือง. เชียงใหม่:วนิดาการพิมพ์

ทนง สังขโศภา และคณะ. (2558). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การถอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกี่ยวกับบทเพลง นิทาน คำสอน เพื่อสร้างการเรียนรู้ และปรับใช้อย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวไทย-กะเหรี่ยงบ้านเวียคะดี้ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

พลศักดิ์ บัวจันทร์เหลือง และคณะ. (2555). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์กระบวนการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อฟื้นความสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนเวียคาดี้และโมรข่า ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ลงขิ่งโพ่ ไทรสังขชวาลลิน และคณะ. (2558). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การปรับใช้ภูมิปัญญา “ซีเหม่ยละ” เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ยาป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บในวิถีชีวิตชาวไทย-กะเหรี่ยง (โผล่ว) กรณีบ้านกองม่องทะ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

เวธกา เสวครบุรี. (2554). รายงานวิจัยแนวทางการฟื้นฟู และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านไร่ป้า ตําบลห้วยเขย่ง อําเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี

ส่วยจีโหม่ง สังขวิมล และคณะ. (2553). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์โครงการปรับใช้ภูมิปะญญา “ลือกาเวาะ” ในการดูแลรักษาพื้นที่หาอยู่หากินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และ สรินยา คำเมือง.(2540). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโป.กรุงเทพ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิกจำกัด.

สุนทร พุ่มไพรวัลย์ และคณะ. (2557). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การพัฒนาพื้นที่ “กลุซุ” ที่เหมาะสมต่อวิถีชีวิตโดยการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและยาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-กะเหรี่ยง (โผล่ว) บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

สุวัฒชัย ไทรสังขชวลิต และคณะ. (2552). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การศึกษาและฟื้นฟูภูมิปัญญา “ลือกาเวาะ” เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของคนกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

เอี่ยม ทองดี และคณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่. (2558). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย



close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว