กลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยงโพล่ง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยงโพล่ง
  • ชื่อเรียกตนเอง : กะเหรี่ยงโพล่ง, โผล่ง, ซู, กะเหรี่ยง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยงโป, โพล่ง, ยางเด้าะแด้, ยางบ้าน, ยางแดง, ฮซู่, กะเหรี่ยง, โปว์กะเรน, กะหยิ่น, ยางเปียง, ตะเลงกะริน, โปว์
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษากะเหรี่ยงจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ธิเบต
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

              ชื่อเรียกตนเอง

              โพล่ง/โผล่ง/โผล่ว (Pwo) เป็นคำใช้เรียกตนเองของกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งโดยมากตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลางของไทย กะเหรี่ยงโปเป็นหนึ่งในสี่สายตระกูลคือ 1) ปกาโปว่ (Pwo) 2) ปกา จกอ (Skaw) 3) แบว (Kya) และ 4) ต่องสู่ (Pa-O/Thaungthu) โดยตามตำนานที่เล่าสืบต่อมาผ่าน "ธา" (ขับลำนำเพลง) ทั้งสี่กลุ่มนับเป็นพี่น้องท้องเดียวกันที่เกิดมาจากสตรีที่ใส่เสื้อซึ่งปักลวดลายด้วยลูกเดือย (วินัย บุญลือ, 2545: 36) ในบทขับลำนำธาได้กล่าวว่า กลุ่มปกาโปว่หรือโป (Pwo) สืบเชื้อสายมาจากฝั่งแม่ ในขณะที่ กลุ่มปกาเกอะญอ (Skaw) สืบเชื้อสายมาจากฝั่งพ่อ (Saw Ni Thew Htoo, 2020: 37) ส่วนกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ที่อยู่ในเขตภาคเหนือของไทยจะถูกเรียกว่า กะเหรี่ยงโป มีความหมายว่า "คน" (ขวัญชีวัน บัวแดง, 2549: 9-10) ในขณะที่ชาวพม่าจะเรียกกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ว่า "ตะเลงคะยิน" หมายถึง กะเหรี่ยงมอญ (Mon Karen) (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560)

              ซู เป็นคำที่กะเหรี่ยงโปบริเวณภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลางของไทยใช้เรียกตนเอง (ขวัญชีวัน บัวแดง, 2549: 11) โดยคำเรียกนี้สามารถเชื่อมโยงกับตำนานของคนกะเหรี่ยง ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีเล่าสืบกันมาว่า พวกเขาเรียกตนเองว่า "ซู-ส่อง" หรือปรัมปราของชาวกะเหรี่ยงกล่าวว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจาก Swa ผู้เป็นทั้งเทพเจ้าและมนุษย์คนแรกของโลก โดยกะเหรี่ยงเป็นบุตรคนแรกของ Swa (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) ซึ่งการออกเสียง "ซู่-ส่อง" จึงน่าจะพ้องกับคำว่า Swa 

              กะเหรี่ยง เป็นคำเรียกตนเองที่รับรู้กันโดยทั่วไป โดยในบริบทของไทยในปัจจุบัน คำว่า "กะเหรี่ยง" ถูกใช้เป็นคำเรียกตนเองของกะเหรี่ยงโปหรือโพล่วในบริบทที่ต้องการแยกตัวเองออกจากกะเหรี่ยงสกอที่เรียกตนเองว่า "ปกาเกอะญอ" (ขวัญชีวัน บัวแดง, 2549: 11-12) กล่าวในแง่ที่มาความหมาย คำว่า "กะเหรี่ยง" น่าจะมีความหมายถึง “เรียบเฉย” (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) หรือเป็นคำที่เชื่อมโยงกับคำว่า Karita ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า กลุ่มคนป่า (barbarian tribes) (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562) อย่างไรก็ตามคำว่า "กะเหรี่ยง" หรือ Karen ในภาษาอังกฤษ ไม่เคยมีนัยยะที่นิยามในหมู่กลุ่มคนปกาเกอะญอหรือโป จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 มิชันนารีและเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษได้ใช้คำนี้นิยามกลุ่มคนปกาเกอะญอและโป (รวมทั้งกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยง) คำนี้จึงมีความหมายทางสังคมขึ้น (วินัย บุญลือ, 2545: 36) โดยคำว่า Karen มาจากคำเรียกที่ชาวพม่าเรียกกลุ่มคนกะเหรี่ยงว่า "Kayin" (กะหยิ่น) (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562) ในขณะที่คำเรียก "Kayin" ชาวพม่าใช้เรียกกลุ่มคนกะเหรี่ยงตามชาวมอญที่ใช้คำว่า "Kariang" (กะเรียง) โดยที่มาความหมายของคำนี้ มาจากคำว่า "Kha" ผนวกกับคำว่า "riang" ในภาษามอญ โดยคำว่า "kha" แปลว่า กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท และคำว่า "riang" แปลว่า กลุ่มคนผู้อยู่ป่า อย่างไรก็ตาม คำเรียกกลุ่มคนกระเหรี่ยงทั้งคำว่า "Kayin" และ "Kariang" ไม่เคยปรากฏอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในภาษาพม่า มอญ และไทย ก่อนศตวรรษที่ 19 เลย (Saw Ni Thew Htoo, 2020: 37) จนกระทั้งมิชชันนารีและเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษได้เข้ามาในดินแดนพม่าดังกล่าวข้างต้น

              ชื่อที่คนอื่นเรียก

              กะเหรี่ยงโป/โปว์  เป็นคำเรียกกะเหรี่ยงโพล่ง/โพล่วที่อยู่ในเขตภาคเหนือของไทย มีความหมายว่า "คน" (ขวัญชีวัน บัวแดง, 2549: 9-10) หรือในบางพื้นที่จะเรียกว่า "ยางโป" (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) 

              พล่อ เป็นคำเรียกกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่คนไทยภาคเหนือ (สุริยา รัตนกุล และ สมชาย บุรุษพัฒน์, 2538: 4) 

              โพล่ง เป็นคำเรียกกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่คนไทยภาคเหนือ (สุริยา รัตนกุล และ สมชาย บุรุษพัฒน์, 2538: 4) 

              ยางเด้าะแด้ เป็นคำเรียกกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่คนไทยภาคเหนือในบางโอกาส (ศูนย์วิจัยชาวเขา, 2526)

              ยางบ้าน เป็นคำเรียกกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่คนไทยภาคเหนือในบางโอกาส (ศูนย์วิจัยชาวเขา, 2526) 

              ยางแดง เป็นคำที่คนไทยภาคเหนือและคนไทใหญ่ใช้เรียกกะเหรี่ยงคะยา (Kaya) ตามการแต่งกายของสตรีที่แต่งงานแล้วซึ่งนิยมใส่เสื้อและนุ่งซิ่นที่ทอแซมด้วยสีแดง (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ, 2518) บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ บันทึกไว้ว่า ยางแดงจะเรียกตนเองว่า "ฉั่ว" พูดภาษาคล้ายยางกะเลอ การแต่งกายผิดกับยางกลุ่มอื่นตรงใช้ผ้าสีแดงหรือขอบริมเสื้อเป็นสีแดง นิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีแดงสลับขาว สวมเสื้อสีแดงหรือขาวขอบริมแดง ผู้ชายสวมกางเกงกว้างสีดำหรือกางเกงแบบชาวไทใหญ่ หญิงสาวสวมชุดเสื้อกระสอบขาว ผ่าคอทั้งหน้าหลัง ติดกระดุมเหนืออกบน ชายกระโปงกับคอเสื้อใช้สีแดงเย็บเป็นขอบ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2551[2493]: 203-211) 

              ฮซู่ ไม่ปรากฏคำนี้ตรงตัว แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า "ซู" ซึ่งเป็นคำที่กะเหรี่ยงโปบริเวณภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลางของไทยใช้เรียกตนเอง (ขวัญชีวัน บัวแดง, 2549: 11) โดยคำเรียกนี้สามารถเชื่อมโยงกับตำนานของคนกะเหรี่ยง ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีเล่าสืบกันมาว่า พวกเขาเรียกตนเองว่า “ซู-ส่อง” หรือปรัมปราของชาวกะเหรี่ยงกล่าวว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจาก Swa ผู้เป็นทั้งเทพเจ้าและมนุษย์คนแรกของโลก โดยกะเหรี่ยงเป็นบุตรคนแรกของ Swa (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) ซึ่งการออกเสียง "ซู่-ส่อง" จึงน่าจะพ้องกับคำว่า Swa 

              โปว์กะเรน (Pow Karen) เป็นคำที่ปรากฏในเอกสารอังกฤษ (เจ้าอาณานิคมพม่า) ใช้เรียกคนกะเหรี่ยงกลุ่มต่าง ๆ โดยใช้คำว่า กะเหรี่ยง (Karen) ต่อท้ายคำเรียกตนเองของแต่ละกลุ่ม เช่น Sgaw Karen (กะเหรี่ยงสะกอหรือปกาเกอะญอ) Pow Karen (กะเหรี่ยงโป) (วินัย บุญลือ, 2545: 36) 

              กะหยิ่น (Kayin) เป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกต่อท้ายคำเรียกกะเหรี่ยงในประเทศเมียนมาร์สองกลุ่มใหญ่ คือ บาม่ากะวิน หรือ เบอมาคะยิน (Bama Kayin) หมายถึงกะเหรี่ยงพม่า และ ตาเลงคะยิน (Taliang Kayin) หมายถึงกะเหรี่ยงมอญ โดยคำว่า กะหยิ่น (Kayin) ในภาษาบาลีแปลว่า คนเลี้ยงสัตว์ที่สกปรก (dirty feeders) (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562) 

              ยางเปียง เป็นชื่อเรียกกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยง เช่น ยางแดง ยางขาว ยางเปียง ยางกะเลอ ยางน้ำ เป็นต้น (ดู บุญยงค์ เกศเทศ, 2562: 54) โดยคำว่า "เปียง" ในภาษาล้านนาแปลว่า "ที่ราบ" ดังนั้น "ยางเปียง" จึงหมายถึงกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545[2506]: 53) 

              ตะเลงกะริน ไม่ปรากฏคำนี้ตรงตัว แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า ตะเลงคะยิน หมายถึงกะเหรี่ยงมอญ โดยคำว่า กะหยิ่น (Kayin) ในภาษาบาลีแปลว่า คนเลี้ยงสัตว์ที่สกปรก (dirty feeders) (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562) 

              ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์

              คำว่า “ยาง”เป็นคำที่ คนทางภาคเหนือของประเทศไทยหรือเรียกกันทั่วไปว่า “คนเมือง” ใช้เรียกคนกะเหรี่ยง ซึ่งก็เป็นคำเดียวกันกับที่คนไทใหญ่หรือฉานในรัฐฉานของประเทศพม่าใช้เรียกคนกลุ่มนี้ Lehman (1979: 229) อ้างถึง Keyes (1979) ที่บอกว่าคนเมืองเรียกยางตามคนฉาน เป็นการแยกระหว่างฉานกับยาง แต่อธิบายมากไปกว่านั้นว่า คำว่า ยางน่าจะเป็นคำที่เอามาจากคำที่คนกะเหรี่ยงใช้เรียกตัวเอง โดยเอามาจากพยางค์สุดท้ายของ คำว่า ปกาเกอะญอ  สุริยา (2529) ระบุว่า คำว่า กะเหรี่ยง และคำว่ายางมีที่มาจากคำเดียวกัน คือมาจากคำภาษาพม่าโบราณ karyan ซึ่งเป็นชื่อที่พม่าเรียกชนเผ่านี้ karyan ออกเสียงเป็นคำว่า กะเหรี่ยงในภาษาไทย ส่วนคำว่ายาง นั้นก็คือการตัดเอามาแต่พยางค์ท้ายของคำว่า karyan คือพยางค์ว่า yan ซึ่งออกเสียงว่า ยาง นั่นเอง ส่วนคำว่า karyan นี้ สุริยาอ้างถึงศาสตราจารย์ Luce ว่า เป็นคำที่มาจากการที่กะเหรี่ยงสะกอเรียกตัวเองว่า เกอะญอ และถ้าคำนี้อยู่ในภาษากะเหรี่ยงโป (ซึ่งปัจจุบันไม่มี) ก็จะน่าจะเป็นคำว่า เกอะญา และกลายเป็น karyan ซึ่งเป็นภาษาพม่าโบราณ เพราะฉะนั้นคำว่ากะเหรี่ยง ที่คนมอญและคนไทยใช้เรียก คะหยิ่นที่คนพม่าใช้เรียก และยางที่คนภาคเหนือของไทยใช้เรียก ก็น่าจะมีรากฐานมาจากคำที่กลุ่มนี้เรียกตัวเอง

              คนเมืองเรียกยาง เป็นคำเรียกรวม และเมื่อจะจำแนกความแตกต่างก็จะมีชื่อเรียกกลุ่มย่อยอีกหลายชื่อ ซึ่งเป็นชื่อที่ทั้งกลุ่มเองบอก และคนภายนอกเรียกตามลักษณะเด่นทางกายภาพ แต่คำเรียกนี้มีนัยยะเชิงอคติ แฝงไว้ด้วยความดูถูกว่าเป็นคนป่าเถื่อน สกปรก ล้าหลัง รวมถึงเป็นคำที่ใช้ในวาทกรรมชาวเขา ในความหมายที่เป็นชาวเขากลุ่มหนึ่งซึ่งสร้างปัญหาให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ปลูกฝิ่น จนถึงประเด็นเรื่องหมอกควันและ PM 2.5

     

    ตระกูลภาษา 

              ภาษากะเหรี่ยงจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ธิเบต ลักษณะเด่น ๆ ของภาษากะเหรี่ยงที่แตกต่างจากภาษาไทย ได้แก่ โครงสร้างพยางค์ เสียงพยัญชนะและเสียงสระ รวมทั้งเสียงวรรณยุกต์ซึ่งในบางถิ่นจะมีลักษณะน้ำเสียงเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย  มีตัวพยัญชนะ 36 ตัว มีหน่วยเสียงสระ 9 เสียง เสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง นอกจากมีคำศัพท์เฉพาะเป็นภาษาของตนเองแล้ว ยังมีศัพท์ที่มาจากวัฒนธรรมมอญ ซึ่งรับมาใช้ทั้งตัวอักษรและอักขระวิธี 

              อย่างไรก็ดี การจัดกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้อยู่ภายใต้ภาษาจีน-ทิเบต ไม่ได้เป็นข้อสรุปที่เห็นชอบกันทุกฝ่าย Burling (1967), Bradley (1978) ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากะเหรี่ยงไม่ได้อยู่ในตระกูลย่อยสาขานี้ และ Benedict (1972) ซึ่งเป็นนักภาษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากในการศึกษาภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ได้จำแนกภาษากะเหรี่ยงไว้ว่าเป็นสาขาใหญ่สาขาหนึ่งต่างหาก แยกจากสาขาอื่นๆของตระกูลทิเบต-พม่า คือ Benedict จัดว่าเป็นสาขาตระกูลกะเหรี่ยง (Karenic) โดยเฉพาะ ซึ่งข้อนี้ตรงกับที่นักภาษาศาสตร์คนสำคัญอื่นๆ ที่ได้ศึกษาภาษาตระกูลจีน-ทิเบตกล่าวไว้ เช่น Shafer ใน ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ก็ได้จำแนกภาษากะเหรี่ยงไว้ต่างหาก (อ้างในสุริยา รัตนกูล, 2529: XV-XVII)

              ภาษาพูด 

              โผล่ง และปกาเกอะญอมีศัพท์พื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน แต่การออกเสียงและสำเนียงการพูดแตกต่างกัน เช่น กะเหรี่ยงสะกอส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ออกเสียง อ่อเม (กินข้าว) แหล่ชิ (ไปนา) ชอ (ไก่) ทอ (หมู) กลุ่มยางกะเลอ ในจังหวัดเชียงราย ในงานของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2493) ออกเสียง อามี่ (กินข้าว) หรี่ไช (ไปนา) ชั้ง(ไก่) โกะ (หมู) นอกจากเสียงที่ออกต่างกันแล้ว ยังมีศัพท์อื่นๆ อีกมากที่ไม่ได้ใช้ร่วมกัน ด้วยเหตุนี้เวลาสื่อสารกันอาจจะไม่สามารถเข้าใจกันได้อย่างเต็มที่ ภาษาพูดของกะเหรี่ยงสะกอมักจะถูกใช้เป็นภาษากลางที่สื่อสารกันกับกะเหรี่ยงโปและกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม

              ความหลากหลายของสำเนียงและศัพท์ที่ใช้ในภาษาพูดจะเห็นได้ชัดจากงานศึกษาภาษาของกะเหรี่ยงโปในประเทศไทยของสถาบันภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ผลงานของ Dawkins and Phillips (2009a) ที่ศึกษาความแตกต่างของภาษาพูดในกลุ่มกะเหรี่ยงโปที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ พบว่าเมื่อเอาการเล่าเรื่องด้วยภาษากะเหรี่ยงโปจากบ้านแม่ต๋อม อำเภออมก๋อยที่อยู่ติดกับอำเภอฮอดไปให้คนกะเหรี่ยงโปที่เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่และตากทางตอนเหนือ ฟังแล้ว คนที่ให้สัมภาษณ์ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านในเขตจังหวัดเหล่านี้จำนวนน้อยมากที่บอกว่าฟังรู้เรื่องหมด ส่วนใหญ่จะบอกว่าฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คือรู้เรื่องบ้าง หรือต้องพยายามอย่างมากจึงจะรู้เรื่อง บางคนให้ความเห็นว่าภาษาต่างกันมาก ถ้าไปมาหาสู่หรืออยู่ใกล้ชิดกันกว่านี้จะรู้เรื่อง กรณีกะเหรี่ยงโปในลำพูนจะฟังกะเหรี่ยงโปที่อยู่อำเภอจอมทอง และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ดีกว่ากะเหรี่ยงโปบริเวณฮอดและอมก๋อย เช่นเดียวกับกะเหรี่ยงหมู่บ้านสบโขง จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่จะฟังภาษากะเหรี่ยงโปอมก๋อยได้เพราะพื้นที่อยู่ใกล้กัน แต่ก็ให้ความเห็นว่ากะเหรี่ยงโปอมก๋อยมีสองสำเนียง สำเนียงที่ใกล้กับสบโขง กับอีกสำเนียงที่อยู่ใกล้แม่เงา ซึ่งสำเนียงหลังกลุ่มสบโขงจะฟังไม่รู้เรื่อง น่าสนใจในกรณีบ้านท่าสองยาง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดตากตอนเหนือและไม่ไกลจากอมก๋อยและสบโขง แต่ชาวบ้านที่ให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่สามารถสื่อสารได้ ในกรณีที่เจอกับคนกะเหรี่ยงโปต่างถิ่น บางครั้งอาจจะเริ่มพูดกันในภาษากะเหรี่ยงโป แต่บ่อยครั้งต้องเปลี่ยนเป็นภาษาไทยภาคเหนือหรือภาษาไทยกลาง เช่นเดียวกับรายงานอีกชิ้นของ Dawkins and Phillips (2009b) ที่เอาเสียงบันทึกการเล่าเรื่องของคนกะเหรี่ยงโปภาคเหนือ ไปให้คนกะเหรี่ยงโปทางตะวันตกตอนกลางฟัง ก็ปรากฏว่าไม่สามารถจะเข้าใจได้

              ตัวอักษรที่ใช้เขียน 

              เนื่องจากภาษาพูดมีสำเนียงท้องถิ่นหลายแบบ ทำให้ภาษาเขียนแบบเดียวไม่สอดคล้องกับภาษาพูดที่มีความหลากหลาย จากการศึกษาค้นคว้าอักษรกะเหรี่ยงแบบต่างๆ ในงานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ    Womack (2005) พบว่าอักษรเขียนของกลุ่มกะเหรี่ยงเฉพาะสะกอ และโป ในประเทศพม่าทั้งที่อยู่ในตำนานและที่ใช้จริง มีทั้งหมด 14 ระบบ  

              ตัวอักษรของกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ประดิษฐ์ขึ้นจากอักษรมอญและพม่า ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1830 (พ.ศ. 2373) เรื่อยมาซึ่งเป็นช่วงที่อาณานิคมอังกฤษได้เข้าไปยึดครองและส่งเสริมกลุ่มกะเหรี่ยงในด้านการศึกษา การที่มีหลายระบบ นอกจากความพยายามในการทำให้อักษรสอดคล้องกับสำเนียงที่มีความแตกต่างกันแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายทางศาสนา โดยที่บางระบบถูกคิดค้นโดยบาทหลวงหรือศาสนาจารย์ของคริสตศาสนา บางระบบคิดค้นโดยพระกะเหรี่ยง และบางระบบคิดค้นโดยผู้นำของกลุ่มนิกายทางศาสนา ชื่อของแต่ละระบบ จึงเป็นชื่อของผู้ประดิษฐ์อักษรที่มาจากศาสนาที่หลากหลาย

              แต่แม้จะมีตัวอักษรหลายระบบ แต่บางระบบปรากฏอยู่เฉพาะในเอกสารโบราณหรือในคัมภีร์ทางศาสนา ตัวอักษรที่ปัจจุบันจึงมีน้อยกว่าที่ปรากฏในตาราง ระบบที่ใช้ในการสื่อสารกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ อักษรลิวาที่ประดิษฐ์โดยมิชชันนารีนิกายโปรแตสเตนท์ และอักษรโรมันหรือที่เรียกว่า ลิโรเหม่ ซึ่งใช้กันในกลุ่มกะเหรี่ยงคาทอลิก ซึ่งทั้งสองระบบนี้ใช้ในกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศไทยด้วย นอกจากนั้นที่ใช้ในกลุ่มย่อยในพม่า ได้แก่อักษรโปตะวันตก โปตะวันออก และอักษรไก่เขี่ยซึ่งใช้ในนิกายแลแก โดยกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณชายแดนไทย-พม่า อักษรไก่เขี่ยซึ่งไม่ชัดเจนว่าประดิษฐ์จากอักษรอะไร เป็นการสืบทอดคัมภีร์ที่ใช้อักษรนี้เขียน แต่ไม่ได้ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน สำหรับในประเทศไทย ในช่วงปีพ.ศ. 2550 เป็นต้นมา เริ่มมีการประดิษฐ์ภาษาเขียนโดยใช้อักษรไทย เช่นกลุ่มกะเหรี่ยงโปบริเวณอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย  ชุมพล โพธิสาร  นักวิจัย

    เอกสารอ้างอิง

    • ขวัญชีวัน บัวแดง. (2546). “ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์: กรณีศึกษาชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า,” รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
    • ขวัญชีวัน บัวแดง. (2551). พื้นที่พรมแดนแม่น้ำเมยกับความสัมพันธ์ชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง-คนเมือง. เชียงใหม่:วนิดาการพิมพ์.
    • ทนง สังขโศภา และคณะ. (2558). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การถอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกี่ยวกับบทเพลง นิทาน คำสอน เพื่อสร้างการเรียนรู้ และปรับใช้อย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวไทย-กะเหรี่ยงบ้านเวียคะดี้ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,
    • พลศักดิ์ บัวจันทร์เหลือง และคณะ. (2555). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์กระบวนการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อฟื้นความสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนเวียคาดี้และโมรข่า ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    • ลงขิ่งโพ่ ไทรสังขชวาลลิน และคณะ. (2558). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การปรับใช้ภูมิปัญญา “ซีเหม่ยละ” เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ยาป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บในวิถีชีวิตชาวไทย-กะเหรี่ยง (โผล่ว) กรณีบ้านกองม่องทะ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    • เวธกา เสวครบุรี. (2554). รายงานวิจัยแนวทางการฟื้นฟู และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านไร่ป้า ตําบลห้วยเขย่ง อําเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี
    • ส่วยจีโหม่ง สังขวิมล และคณะ. (2553). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์โครงการปรับใช้ภูมิปะญญา “ลือกาเวาะ” ในการดูแลรักษาพื้นที่หาอยู่หากินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    • สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และ สรินยา คำเมือง.2540. สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโป.กรุงเทพ: โรงพิมพ์   บริษัทสหธรรมิกจำกัด.
    • สุนทร พุ่มไพรวัลย์ และคณะ. (2557). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การพัฒนาพื้นที่ “กลุซุ” ที่เหมาะสมต่อวิถีชีวิตโดยการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและยาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-กะเหรี่ยง (โผล่ว) บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    • สุวัฒชัย ไทรสังขชวลิต และคณะ. (2552). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์การศึกษาและฟื้นฟูภูมิปัญญา “ลือกาเวาะ” เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของคนกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    • เอี่ยม ทองดี และคณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่. (2558). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

    เว็บไซต์

    • www.baanjomyut.com
    • www.hilltribe.org
    • www.openbase.in.th
    • www.sawadee.co.th

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กำแพงเพชร ตาก เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย เป็นต้น100000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              จากการสันนิษฐานของนักวิชาการ กะเหรี่ยงในประเทศไทยเป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่า ในยุคแรกมีสาเหตุมาจากการหนีภัยสงคราม ในสมัยพระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ) ทำสงครามกับพวกมอญ และใน พ.ศ. 2428 อังกฤษยึดพม่าตอนเหนือและปราบปรามกะเหรี่ยงที่แข็งข้อทำให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอีกระลอกหนึ่ง ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ากะเหรี่ยงอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไร แต่ในหนังสือไทยรบพม่าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่ากะเหรี่ยงเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองตองอู ได้มีแม่ทัพคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 18 รัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

    ประวัติศาสตร์

              ชาวตะวันตกเชื่อว่า บ้านเมืองเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่ทางตะวันตกของจีนในเขตกวางสีก่อนที่พวกเขาจะอพยพสู่ดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ชาวจีนเรียกแม่น้ำแยงซีเกียงว่า "แม่น้ำของพวกยาง หรือแม่น้ำของพวกกะเหรี่ยง"

              ชนชาติกะเหรี่ยงเข้าสู่ดินแดนอินโดจีนตามสายน้ำสำคัญ 3 สาย คือ สายน้ำอิระวดี สายน้ำสาละวิน และสายน้ำแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มกะเหรี่ยงโปเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาตามสายน้ำสาละวิน แม่น้ำโตง แม่น้ำเมยและแม่น้ำตะนาวศรี โดยมีชุมชนหนาแน่นอยู่ที่เมืองตองอู, ผาปูน, ผาอ่าง, ท่าตอน, เมาะละแหม่ง, พะโค (หงสาวดี) กะเหรี่ยงกลุ่มนี้อยู่ปะปนกับชาวมอญจึงถูกเรียกว่า "ตะเลงกะยิน" กะเหรี่ยงโปนั้นมีเมืองดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้ตั้งถิ่นฐานมั่นคง เรียกเมืองนั้นว่า กวยเกอบ่อง (กวยเกอบ่อ) เมืองดูยอ เมืองนี้เป็นที่ราบ มีภูเขาตั้งอยู่เด่นเป็นสง่าท่ามกลางที่ราบเป็นที่นาเวิ้ง พวกเขาถูกพม่า มอญ และคนไทยกวาดต้อนกระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ พวกเขามีความเชื่อว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่เมืองกวยเก่อบ่อ

              ชนกะเหรี่ยงอพยพจากบาบีโลนในปี 2234 ก่อนคริสตศักราชเดินทางไปถึงอาณาจักรมองโกเลียปี 2197 ก่อนคริสตศักราช... เมื่อปี 2017 ก่อนคริสตศักราชเดินทางไปเตอร์กิสถานตะวันออกและถึงเมื่อปี 2013.....เมื่อปี 1866 ก่อนคริสตศักราช... โยกย้ายไปยังธิเบต... ถึงธิเบตเมื่อปี 1864 ก่อนคริสตศักราช ออกเดินทางจากธิเบตปี 1388 ก่อนคริสตศักราช... ไปถึงราชอาณาจักรยูนนาน ปี 1385...ในปี 1128 ก่อนคริสตศักราช รุ่นแรกเดินทางไปถึงพม่า 1125 ก่อนคริสตศักราช...รุ่นที่สอง จากยูนนานปี 741 ก่อนคริสตศักราช ไปถึงพม่าปี 739 ก่อนคริสตศักราช...นี่หมายความว่าระยะเวลาที่กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในพม่าทั้งหมดคือ 739 ปี รวม 2000 ปีเป็น 2739 ปี  (News. January 2000: 2)

              ประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชนชาติกะเหรี่ยงได้มาถึงดินแดนพม่าก่อนชนชาติพม่า และได้สร้างประเทศของตนที่เรียกว่า กอทูเล ซึ่งหมายถึง ดินแดนแห่งดอกไม้ หรือดินแดนสีเขียว ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่สุขสบาย อุดมสมบูรณ์ และมีสันติภาพ แต่ต่อมาชนชาติพม่าผู้มาทีหลังก็ได้มายึดครองประเทศของกะเหรี่ยง ทำให้กะเหรี่ยงได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสจากการกดขี่ ข่มเหงและขูดรีดของคนพม่า

              สำหรับกะเหรี่ยงในเขตประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ปรากฏมีหนังสือหรือเอกสารที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของคนกะเหรี่ยงโดยรวมในฐานะที่เป็นชาติพันธุ์หนึ่งโดยปัญญาชนกะเหรี่ยงเอง ซึ่งก็อธิบายได้จากการที่กะเหรี่ยงในประเทศไทยมีจำนวนน้อย อยู่กระจัดกระจายและไม่ได้รวมกลุ่มกันในฐานะที่เป็นชาติพันธุ์หนึ่ง ประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงไทยเขียนนักวิชาการทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย ในลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่รวบรวมจากเอกสาร วิเคราะห์จากชื่อหมู่บ้าน และตำนาน เพื่อทำความเข้าใจว่ามีการโยกย้ายจากที่ไหนมาบ้าง เช่น งานของเรนาร์ด(Renard 1980: 132) ที่ระบุว่ากะเหรี่ยงโปบางส่วนเป็นเชลยสงครามที่ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่เชียงใหม่โดยพระเจ้ากาวิละในปี ค.ศ. 1802 (พ.ศ. 2355) งานของกุนสตัดเตอร์ (Kunstadter 1967: 69) ระบุว่า กลุ่มกะเหรี่ยงหลายกลุ่มย้ายจากพม่ามาเองในระยะเวลาที่ต่างกันตั้งแต่ 100 ถึง 400 ปี มิสชุง (Mischung 1980:20) ระบุว่าชุมชนกะเหรี่ยงบางชุมชนส่งส่วยและช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่อยู่อาศัย แต่บางชุมชนต้องส่งส่วยให้ลัวะที่เป็นเจ้าของที่ดินในอัตราสิบเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าว

              สำหรับกะเหรี่ยงในภาคตะวันตกของประเทศไทยได้เคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในความปกครองของกษัตริย์สยามและเคยเข้าร่วมในกองทัพของสยามเพื่อต่อสู้กับพม่าเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ทำให้บางคนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงในกองทัพ (สยามอารยะ. 2543: 30) นอกจากนี้ การที่พระเจ้าอลองพญาได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดจากการทำสงครามกับกษัตริย์มอญ ในปี พ.ศ. 2298 (สุจริตลักษณ์และสรินยา 2540) ทำให้กะเหรี่ยงซึ่งอยู่ใต้อาณัติของมอญ ต้องอพยพโยกย้ายเข้ามาในเขตปกครองของอาณาจักรไทย แถบพื้นที่ป่าเขาของจังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี และต่อมาทางกษัตริย์สยามก็ได้แต่งตั้งเจ้าเมืองคนกะเหรี่ยง ให้ดำรงตำแหน่งพระศรีสุวรรณคีรี คอยดูแลหัวเมืองหน้าด่าน มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองต่อเนื่องกันมาห้าคน ก่อนที่จะมีการปรับปรุงระบบบริหารราชการใหม่และยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง เจ้าเมืองคนสุดท้ายได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านสะเนพ่อง อำเภอสังขละบุรี และได้รับพระราชทานนามสกุล “เสตะพันธุ์” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2459

              จากการสันนิษฐานของนักวิชาการ กะเหรี่ยงในประเทศไทยเป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่า ในยุคแรกมีสาเหตุมาจากการหนีภัยสงคราม ในสมัยพระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ) ทำสงครามกับพวกมอญ และใน พ.ศ. 2428 อังกฤษยึดพม่าตอนเหนือและปราบปรามกะเหรี่ยงที่แข็งข้อทำให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอีกระลอกหนึ่ง ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ากะเหรี่ยงอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไร แต่ในหนังสือไทยรบพม่าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่ากะเหรี่ยงเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองตองอู ได้มีแม่ทัพคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 18 รัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     

    การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร

              กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (Karen) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลพม่า-ทิเบต ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั้งประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย โดยมีหลักฐานว่า คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนไทย-พม่า ราว 600-700 ปีมาแล้ว (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562: 13) คนกะเหรี่ยงมีความใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไทใหญ่และไทยวน โดยพวกเขามองกะเหรี่ยงว่าเป็นผู้อยู่ป่าดั้งเดิม (native forest) ที่มีลักษณะคล้ายมอญแต่มีความใกล้ชิดกับป่ามากกว่า แต่ก็มีความเจริญกว่ากลุ่มคนลัวะ (ที่เป็นผู้อยู่ป่าดั้งเดิมเช่นกัน) (Hiyami, 2006) กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ดังนี้ 1) กะเหรี่ยงสะกอ (Skaw/Sgaw) 2) กะเหรี่ยงโป (P’wo/Pwo) 3) กะเหรี่ยงคะยา (Kayah) และ 4) กะเหรี่ยงตองสู/ตองตู (Taungthu/Tuang Tsu) หรือปาโอ/พะโอ (Pa-O) โดยกะเหรี่ยงสองกลุ่มแรกเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มใหญ่ในประเทศไทยและกระจายตัวอยู่บริเวณภาคเหนือฝั่งตะวันตกลงไปจนถึงภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง ในขณะที่สองกลุ่มหลังมีจำนวนประชากรไม่มาก โดยอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สุริยา รัตนกุล และ สมชาย บุรุษพัฒน์, 2538: 4-5; ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560: 3; ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562: 13)

              กะเหรี่ยงโผล่ง หรือ กะเหรี่ยงโป คนไทยในภาคเหนือเรียกว่า "พล่อ" หรือ "โพล่ง" บ้างก็เรียกว่า "ยางเด้าะแด้ ยางบ้าน" กะเหรี่ยงโผล่ง มีจำนวนประชากรเป็นที่สองรองจากกะเหรี่ยงสะกอหรือปกาเกอะญอ อาศัยอยู่แถบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ คนส่วนมากมักเข้าใจว่ากะเหรี่ยงสะกออาศัยอยู่เฉพาะทางภาคเหนือและกะเหรี่ยงโผล่งอาศัยอยู่เฉพาะทางภาคตะวันตกเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วจะพบกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มอยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่แยกหมู่บ้านไม่ปะปนกัน เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งกะเหรี่ยงปกาเกอะญอและกะเหรี่ยงโผล่ง โดยกะเหรี่ยงปกาเกอะญอมีมากที่อำเภอแม่แจ่มและกะเหรี่ยงโผล่งมีมากที่อำเภออมก๋อย นอกจากนี้ในจังหวัดลำพูนซึ่งอยู่ในภาคเหนือกลับมีกะเหรี่ยงโผล่งอาศัยอยู่หนาแน่นโดยเฉพาะที่อำเภอลี้ ทางภาคตะวันตกมีกะเหรี่ยงโปอาศัยอยู่หนาแน่นก็จริงแต่ก็พบกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่จังหวัดกาญจนบุรีเช่นกัน (สุริยา รัตนกุล และคณะ 2529)

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่ง

              อัตลักษณ์ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะร่วมกันของคนในชุมชนพอสังเขป มีดังนี้

              1. ด้านภาษา มีภาษาสื่อสารเป็นของตนเอง ลักษณะเฉพาะแตกต่างจากภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่อยู่ต่างพื้นที่ สำเนียง การออกเสียง มีความเป็นท้องถิ่นแตกต่างจากถิ่นอื่น ๆ แต่สามารถสื่อสารกับคนที่พูดภาษาเดียวกันที่อยู่ท้องถิ่นอื่น ๆ

              2. การแต่งกาย ส่วนหนึ่งยังคงเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี เครื่องแต่งกายบ่งบอกถึงเพศ วัย สถานภาพการแต่งงานของเพศหญิงด้วย

              3. ด้านศาสนาความเชื่อ มีลักษณะการบูรณาการความเชื่อด้านต่าง ๆ ทั้งความเชื่อพื้นบ้าน ผีบรรพบุรุษ ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน

              4. ด้านการทำมาหากิน ทำไร่หมุนเวียนเป็นหลัก ปลูกทั้งข้าวและพืชผักที่จำเป็นต่อการบริโภค เมื่อทำไร่ปีหนึ่งแล้วจะปล่อยที่ทิ้งไว้ 7-10 ปี ให้ป่าเจริญเติบโตขึ้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้งจึงกลับมาทำไร่อีก

              5. ด้านการใช้สอยประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ นำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์หรือสร้างคุณค่าเท่าที่จำเป็น ไม่นิยมแสวงหาเก็บมาไว้เป็นส่วนเกินหรือจำหน่ายเป็นเงินทอง

              6. ด้านการอยู่ร่วมกัน คนในชุมชนอยู่ร่วมกันโดยใช้ภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมชุมชนสร้างคุณค่าที่เป็นวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ เช่น ความสามัคคี การแบ่งปัน การให้อภัย ฯลฯ จึงมีคำกล่าวที่ว่า "คนที่นี่ปลูกบ้านไว้รับแขก ให้แขกนอน ห้องนอนเจ้าของบ้านแคบนิดเดียว แต่สร้างพื้นที่ให้แขกนอนอย่างกว้างขวาง"

              7. ด้านคุณธรรม มีคุณธรรมรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่ต้องจ้างงาน ไม่ต้องแต่งตั้งกรรมการ ไม่ต้องมีใครกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ แต่ทุกคนมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

              8. ด้านอื่น ๆ เช่น ความสามารถไหวพริบในการเดินป่าและแสวงหาของป่ามาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต (ผศ.เอี่ยม ทองดี และคณะ, 2558)

              อาชีพ 

              ในอดีต อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงจะยึดเป็นอาชีพหลัก เช่น การทำไร่ ทำนา สมัยก่อนจะชอบทำไร่ข้าว แต่ภายหลังหันมาดำนาโดยใช้ช้างเป็นเครื่องมือบุกเบิก ระบบการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยง เป็นระบบการทำไร่ลักษณะหมุนเวียน โดยมีการหมุนเวียนใช้เวลาประมาณ 7-10 ปี เพื่อทำให้ระบบนิเวศมีการฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมมี อย่างไรก็ตามชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่า การทำไร่เปรียบเสมือนการเหยียบบนท่อนไม้ไผ่ อันหมายถึง ความไม่แน่นอนในด้านผลผลิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดินและสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี นอกจากนี้ยังปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้กินเอง พืชที่นิยมปลูกเป็นจำพวก ถั่ว ข้าวโพด ขิง มะเขือ หัวหอม ผักประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ยังปลูกฝ้ายเอาไว้เองในครัวเรือน เพื่อถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม บ้างก็ปลูกเพื่อส่งออกในตลาดเพื่อมาเป็นเงินจุนเจือครอบครัว

              การค้าขาย การค้าขายในอดีตจะไม่มีการใช้เงินตราส่วนใหญ่จะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า คือ เมื่อล่าสัตว์หรือหาของป่าได้ก็จะนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของเครื่องใช้ในเมืองหรือแลกเปลี่ยนกันเองอยู่ที่ความพอใจและการตกลงกันระหว่างสองฝ่าย เมื่อเวลาผ่านยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้มีการค้าขายโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

              การรับจ้าง ในอดีตไม่มีการรับจ้างแต่จะเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่า ลักษณะจะเป็นแบบการเวียนกันในบ้านแต่ละหลัง ซึ่งเมื่อบ้านหลังแรกทำงาน บ้านอื่น ๆ ก็จะมาช่วยกันและผลัดเปลี่ยนกันไปจนครบทุกบ้าน การตอบแทนก็จะเป็นข้าว อาหาร ที่นำมาเลี้ยงดูปูเสื่อกัน ปัจจุบันเป็นการทำงานรับจ้างแบบขายแรงงานได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน

              การเลี้ยงสัตว์ ในอดีตจะนิยมเลี้ยงสัตว์จำพวกเป็ด ไก่ สุกร เพื่อนำมาเป็นอาหาร โค กระบือ นำมาใช้ไถนาและช้าง นำมาใช้ในงานลากไม้ซุง ปัจจุบันแรงงานสัตว์ถูกนำมาใช้ในเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น ช้าง ก็จะเป็นการนำมาใช้ในการทำทัวร์ เป็ด ไก่ สุกร ก็มีการเลี้ยงเพื่อส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์และนำเนื้อที่ได้มาขายให้กับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              โครงสร้างครอบครัว

              โดยทั่วไปแล้ว ครอบครัวกะเหรี่ยงมีรูปแบบเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วยพ่อ แม่และลูก แต่ก็ยังปรากฏรูปแบบครอบครัวขยายอยู่ด้วย เพราะในบางครอบครัวอาจมีพ่อแม่ของฝ่ายหญิงอาศัยอยู่ด้วย นอกจากนี้การที่สังคมกะเหรี่ยงนับถือญาติฝ่ายแม่ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง นับถือคณาญาติทางฝ่ายหญิง ในครอบครัวจึงมีครอบครัวของลูกสาวและลูกเขยอยู่อีกครอบครัวหนึ่ง จนกระทั่ง 1 ปีผ่านไป หรือหากน้องสาวแต่งงาน ครอบครัวพี่สาวจึงจะแยกออกไปสร้างบ้านอยู่ใกล้ ๆ แต่สำหรับบุตรสาวคนสุดท้องจะต้องอยู่กับพ่อแม่ไปตลอดไปแม้จะแต่งงานแล้วก็ตาม เพราะมีหน้าที่เลี้ยงดูตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ดังนั้นลูกสาวคนสุดท้องจึงได้รับมรดกเช่น ที่นาและวัวควายมากกว่าพี่น้อง ซึ่งจะไม่มีการอิจฉาริษยากันเลย ครอบครัวใดที่ไม่มีลูกสาว ลูกชายก็จะทำหน้าที่แทน บ้านใดที่แม่บ้านเสียชีวิตลง ต้องรื้อบ้านทิ้งแล้วสร้างใหม่ เพื่อลูกสาวที่แต่งงานแล้วจะได้ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษได้

              ผู้อาวุโสในบ้าน ซึ่งได้แก่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงมีบทบาทในการช่วยอบรมสมาชิกในครอบครัว ผู้อาวุโสจะได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูงในการตัดสินใจต่าง ๆ ของครอบครัว จะต้องมีการปรึกษาหารือและเชื่อฟังความคิดเห็นของผู้อาวุโสในบ้าน

              การนับญาติ การเรียกชื่อ

              การสืบเชื้อสายของกะเหรี่ยงเป็นการสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่ แต่ก็ยังให้ความเคารพต่อพ่อแม่ของฝ่ายชาย กะเหรี่ยงสมัยก่อนนั้นไม่มีนามสกุล แต่ในปัจจุบันนี้มีนามสกุลกันเกือบหมดแล้วและบุตรจะใช้นามสกุลของพ่อ ส่วนชื่อของเด็กพ่อแม่หรือผู้อาวุโสฝ่ายภรรยาจะเป็นคนตั้งชื่อให้ หากเป็นผู้หญิงมักจะมีคำขึ้นต้นว่า "หน่อ" และถ้าเป็นผู้ชายมักจะมีคำขึ้นต้นว่า "พะ" หรือ "จอ" ซึ่งเป็นคำแสดงความเป็นเพศหญิงหรือชาย

              ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ผู้เป็นพ่อมีหน้าที่ทำไร่ทำนาเป็นหลัก ผู้เป็นแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูลูกและดูแลเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น อาหารการกิน และช่วยงานในไร่ เช่น ดายหญ้า ทำแปลงผัก ส่วนลูกเมื่ออายุย่างเข้า 10 ปีสามารถที่จะช่วยพ่อแม่ได้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เลี้ยงน้อง หุงหาอาหาร พออายุย่างเข้า 20 ปี ถ้าเป็นชายจะช่วยในเรื่องของการทำไร่ ถ้าเป็นหญิงจะช่วยงานภายในบ้าน

              อย่างไรก็ตามความเป็นเครือญาติของแต่ละครอบครัวไม่ได้สัมพันธ์กันเฉพาะภายในหมู่บ้านเท่านั้นเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันในระดับตำบลเพราะมีการแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน แต่ทั้งนี้ความเป็นเครือญาติของคนกะเหรี่ยงไม่สามารถดูได้จากนามสกุลเพราะในสมัยก่อนคนกะเหรี่ยงไม่เคยใช้นามสกุล แต่เมื่อต้องใช้นามสกุลเพื่อให้มีทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน คนที่ไม่มีนามสกุลใช้ก็จะไปขอใช้นามสกุลร่วมกับครอบครัวอื่นที่ไม่ใช่ญาติ (สุวัฒชัย ไทรสังขชวลิต และคณะ, 2552)

     

  • การนับญาติ การเรียกชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              การสืบเชื้อสายของกะเหรี่ยงเป็นการสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่ แต่ก็ยังให้ความเคารพต่อพ่อแม่ของฝ่ายชาย กะเหรี่ยงสมัยก่อนนั้นไม่มีนามสกุล แต่ในปัจจุบันนี้มีนามสกุลกันเกือบหมดแล้วและบุตรจะใช้นามสกุลของพ่อ ส่วนชื่อของเด็กพ่อแม่หรือผู้อาวุโสฝ่ายภรรยาจะเป็นคนตั้งชื่อให้ หากเป็นผู้หญิงมักจะมีคำขึ้นต้นว่า "หน่อ" และถ้าเป็นผู้ชายมักจะมีคำขึ้นต้นว่า "พะ" หรือ "จอ" ซึ่งเป็นคำแสดงความเป็นเพศหญิงหรือชาย

              ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ผู้เป็นพ่อมีหน้าที่ทำไร่ทำนาเป็นหลัก ผู้เป็นแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูลูกและดูแลเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น อาหารการกิน และช่วยงานในไร่ เช่น ดายหญ้า ทำแปลงผัก ส่วนลูกเมื่ออายุย่างเข้า 10 ปีสามารถที่จะช่วยพ่อแม่ได้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เลี้ยงน้อง หุงหาอาหาร พออายุย่างเข้า 20 ปี ถ้าเป็นชายจะช่วยในเรื่องของการทำไร่ ถ้าเป็นหญิงจะช่วยงานภายในบ้าน

               อย่างไรก็ตามความเป็นเครือญาติของแต่ละครอบครัวไม่ได้สัมพันธ์กันเฉพาะภายในหมู่บ้านเท่านั้นเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันในระดับตำบลเพราะมีการแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน แต่ทั้งนี้ความเป็นเครือญาติของคนกะเหรี่ยงไม่สามารถดูได้จากนามสกุลเพราะในสมัยก่อนคนกะเหรี่ยงไม่เคยใช้นามสกุล แต่เมื่อต้องใช้นามสกุลเพื่อให้มีทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน คนที่ไม่มีนามสกุลใช้ก็จะไปขอใช้นามสกุลร่วมกับครอบครัวอื่นที่ไม่ใช่ญาติ (สุวัฒชัย ไทรสังขชวลิต และคณะ, 2552)

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              การแต่งงานของกะเหรี่ยง ไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกกลุ่มเพราะประเพณีความเชื่อต่างกัน แต่ด้วยยุคสมัยปัจจุบันเปลี่ยนไปมีการแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านมากขึ้น หนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ครองของตนเอง เมื่อแต่งงานแล้วจะอยู่ด้วยกันแบบผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้นตลอดไป การหย่าร้างแทบจะไม่ปรากฏในสังคมกะเหรี่ยง

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              หญิงทุกวัยที่ยังไม่ได้แต่งงานจะสวมชุดทรงผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอหรือปักประดับลวดลายให้งดงาม เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องเปลี่ยนมาเป็นสวมใส่เสื้อสีดำ น้ำเงินและนุ่งผ้าถุงสีแดงคนละท่อนเท่านั้น ตกแต่งด้วยลูกเดือย (เชื่อกันว่าป้องกันผีได้) หรือทอยกดอก ยกลาย ห้ามกลับไปสวมใส่ชุดยาวสีขาวอีกเพราะเป็นการดูถูกความบริสุทธิ์ของหญิงสาว ส่วนผู้ชายมักสวมกางเกงสีดำและน้ำเงินหรือกรมท่า เสื้อจะยาวลงไปคลุมสะโพกและอาจยาวถึงเข่า โดยเฉพาะเด็กชายใส่เสื้อตัวเดียวคลุมถึงเข่าได้ เสื้อมีพื้นสีขาวหรือสีแดง ตกแต่งเป็นลายเส้นตามยาว นอกจากนี้ยังมีย่าม (เธอว) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายชาย พื้นสีขาวหรือสีแดงก็ได้ ทอลายลักษณะต่าง ๆ

              ด้วยเหตุที่กะเหรี่ยงมีความเคร่งครัดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ห้ามการไปไหนมาไหนด้วยกันตามลำพังและการถูกเนื้อต้องตัวกัน การได้เสียกันก่อนการแต่งงาน ด้วยความเชื่อดังกล่าวจึงมีการแยกความแตกต่างของการแต่งกายระหว่างสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว และถึงแม้ว่าเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มเดียวกันแต่อยู่ต่างพื้นที่ก็มีลักษณะการแต่งกายไม่เหมือนกัน

              เครื่องประดับ ได้แก่ สร้อย ทำจากลูกเดือยหรือลูกปัดที่ทำจากพลาสติก นิยมใส่กันครั้งละหลาย ๆ เส้น ต่างหู เป็นเครื่องประดับที่นิยมกันมากทั้งเด็กละผู้ใหญ่ทำจากโลหะ เงินและพลาสติก ส่วนแหวนลักษณะเรียบง่ายทำจากเงิน ทองแดง ทองเหลือง กำไลข้อมือทำด้วยโลหะ เงิน ทองแดง ไม้และพลาสติก

              ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่ามีเพียงกะเหรี่ยงกลุ่มสะกอและกลุ่มโป ที่ยังคงสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ด้วยวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามา ส่งผลให้การแต่งกายเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย การแต่งกายประจำเผ่าจึงมีไว้ใส่เฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              ลักษณะบ้านเรือนในปัจจุบันสามารถแบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 ลักษณะ

              1.เรือนเครื่องผูกและเรือนเครื่องสับ หรือเรียกว่าเรือน "เหงยวะ" โครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่ เป็นเรือนยกสูงจากพื้นดิน มีชานเรือนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทั้งคาน ตงและฟากทำด้วยไม้ไผ่ ส่วนฝากั้นด้วยไม้ไผ่สานบ้าง ไม้ไผ่ทุบทั้งลำ ทำเป็นแผ่นบ้าง ตรงฝาบ้านด้านทิศเหนือเจาะเป็นช่องทำหิ้งยื่นออกไปด้านนอก เป็นหิ้งบูชา เรียกว่า "ไชกหลอง" ส่วนหลังคาเดิมมุงด้วยวัสดุที่หาได้จากป่า เช่น หญ้าแฝก หญ้าคา ใบจาก ใบไผ่ ฯลฯ หลังคาระเบียงนิยมมุงด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก ปัจจุบันหลังคามุงด้วยกระเบื้อง สังกะสีและวัสดุอื่น ๆ หลากหลายชนิด แต่บางหลังยังคงมุงกับวัสดุแบบเดิม ๆ

              นอกจากบ้านแล้ว บางครอบครัวมียุ้งข้าวหรือเล้าข้าว เรียกว่า "บือพ่อง" ส่วนใหญ่สร้างเป็นเรือนเครื่องผูกชั่วคราวเช่นเดียวกับบ้าน แต่จะสร้างห่างจากบ้านเล็กน้อย สร้างทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของบ้าน

              2.เรือนก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มีองค์ประกอบเป็นซีเมนต์หรืออิฐบล็อกหรืออิฐมอญ จะเป็นบางส่วนหรือส่วนใหญ่ หรือจะเป็นชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็น "เรือนเครื่องสับ" ก็ตาม ทั้งหมดนี้เรียกว่า "เหงยเบ่อ" ซึ่งเป็นเรือนที่เพิ่งเข้าสู่ชุมชนเมื่อมีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับคนชุมชนเมืองมากขึ้นและตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องถาวร ทำให้คนชุมชนนิยมสร้างเรือน "เหงยเบ่อ" มากขึ้น เช่น บ้านกองม่องทะ บ้านสะเนพ่อง บ้านไล่โว่ บ้านทิไล่ป้า บ้านจะแก มีความเป็นชุมชนที่ต่อเนื่องมากกว่า 100 ปี ชุมชนเหล่านี้ได้เรียนรู้การสร้างบ้านเรือนให้มีความถาวรและความสวยงามตามแบบอย่างชุมชนเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีกินมีใช้ นิยมรื้อบ้านเรือน "เหงยวะ" ทิ้งแล้วสร้างเรือน "เหงยเบ่อ" แทน (เอี่ยม ทองดี และคณะ, 2558)

     

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              ข้าวเป็นอาหารหลัก สมัยก่อนหุงด้วยหม้อดิน ส่วนใหญ่ใช้เตาก้อนเส้ามีไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง มีบางครัวเรือนที่ใช้เตาถ่าน นิยมหุงข้าวเช็ดน้ำทิ้ง ทานคู่กับน้ำพริก ในแต่ละมื้อ "ถ้าไม่มีน้ำพริก กินข้าวไม่อร่อย" ส่วนเครื่องเคียงผักมีหลากหลาย เช่น มะเดื่อ สะพลู (ลูกส่าน) กวะ (ชมวง) นวย (ขนุน) ฯลฯ ส่วนกับข้าวอย่างอื่น เช่น เซ่อเลอเด่ซา (แกงฟักทอง) เซ่อเลอซา (แกงฟักเขียว) ฯลฯ

              วิธีการถนอมอาหาร เช่น พริก ใช้วิธีตากแห้ง แล้วเก็บไว้ใกล้กับเตาไฟ บนชั้นวางของเหนือเตาไฟ ส่วนฟักแฟง น้ำเต้า แตง เก็บไว้บนบ้านหรือในเล้าข้าว เป็นต้น

              การแบ่งปัน เป็นวัฒนธรรมชุมชนที่อยู่ในรูปของขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี ที่คนในชุมชนถือปฏิบัติเคร่งครัดสืบต่อมาแต่โบราณ "ข้าว" เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ต้องแบ่งปัน โดยครอบครัวต้องนำข้าวสารไปให้พ่อแม่ที่เคารพนับถือรวมทั้งผู้นำอาวุโสชุมชนและต้องแบ่งให้คนแก่ที่ไม่มีข้าวกิน คนที่ทำไร่ปลูกข้าวไม่ได้รวมทั้งครอบครัวที่ยากจน การแบ่งปันในลักษณะนี้ถือเป็นขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของชุมชน ใครไม่ปฏิบัติย่อมเป็นที่รังเกียจของคนอื่น กับข้าว พืชผักผลไม้ ก็ต้องแบ่งปันเช่นเดียวกัน (เอี่ยม ทองดี และคณะ, 2558)

              

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

    ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

              การขึ้นปีใหม่

              ประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ตรงกับช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันขึ้นปีใหม่จะจัดปีละครั้งเท่านั้น เป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งเพราะญาติพี่น้องที่ได้แต่งงานหรือจากบ้านไปทำงานที่อื่นจะกลับมาร่วมงานกันอย่างถ้วนหน้าสิ่งที่เตรียมก่อนวันปีใหม่ คือ ขนมหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวต้ม ข้าวปุ๊ก ข้าวหลาม เพื่อวันรุ่งขึ้นจะถวายแด่เทพเจ้า เตรียมเหล้าสำหรับประกอบพิธีและดื่มร่วมกันก่อนวันขึ้นปีใหม่

              เช้าวันขึ้นปีใหม่ กะเหรี่ยงที่นับถือพุทธหรือ "เอาะ แค" จะตื่นแต่เช้าแล้วมาฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อจะนำมาประกอบพิธีในวันรุ่งเช้า โดยเริ่มจากการนำไก่ที่ฆ่าแล้ว พร้อมเหล้าหนึ่งขวดมาตั้งที่ขันโตก เพื่อจะประกอบพิธีมัดข้อมือ หรือเรียกขวัญของลูกหลานในแต่ละบ้าน

              กะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ จะเข้าโบสถ์เมื่ออธิษฐานเสร็จ ทานข้าวร่วมกัน จากนั้นจะมีการประมูลข้าวของแต่ละบ้านที่นำมาประมูลร่วมกัน หลังจากประมูลราคาสิ่งของเสร็จ ก็จะมีการจัดกลุ่มแข่งกีฬาพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตกเย็นมีการแสดงความบันเทิงจะไม่มีการกินเหล้าในวันนี้ จากนั้นก็จะแยกย้ายกลับบ้านตนเอง ในช่วงนี้จะมีการอธิษฐานทุกคืนจนครบ 7 คืน จึงจะถือว่าสิ้นสุดพิธีขึ้นปีใหม่ 

              นอกจากนี้ยังมีประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี ดังนี้

              เดือนมกราคม ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นงานพิธีที่ต้องทำในแต่ละครอบครัวก่อนที่จะเริ่มต้นทำไร่กันอีกครั้ง และเป็นงานในระดับตำบลโดยหมุนเวียนไปในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านไหนเป็นเจ้าภาพจะจัดให้มีงาน 4 คืน 3 วัน

              เดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีถวายราหุล เป็นการสะเดาะเคราะห์ของชุมชน เพื่อนบ้านมาร่วมกันกวนย่าฮุและนิมนต์พระมาสวดทำพิธี เมื่อสุกนำไปถวายพระ หลังพิธีชาวบ้านจะกินยาฮุแล้วนำมาโปรยรอบบ้านและนำมาวางไว้บนหัวเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์

     

    เดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีถวายราหุล “กวนย่าฮุ”

    ประเพณีถวายราหุล "กวนย่าฮุ"  

     

    เดือนมีนาคม ประเพณีการไหว้เจดีย์ทราย

    ประเพณีการไหว้เจดีย์ทราย

     

              เดือนมีนาคม ประเพณีไหว้เจดีย์พระธาตุ ในช่วงขึ้น 15 ค่ำ โดยคนในชุมชนจะร่วมกันนำทรายในห้วยมาก่อเจดีย์ นำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการบูชา

              เดือนเมษายน เป็นทั้งเดือนปีใหม่และวันสงกรานต์ของชาวไทยกะเหรี่ยงโผล่ว มีการจัดงาน 4 คืน 3 วัน โดยเริ่มในคืนวันขึ้น 13 ค่ำตอนเย็น ชาวบ้านเรียกงานลงและเลิกงานในคืนแรม 1 ค่ำ

              เดือนพฤษภาคม หลังพ้นเดือนขึ้นปีใหม่ ทุกครอบครัวจะต้องไหว้พระคุ้มครองบ้าน ผู้หญิงที่อาวุโสสูงสุดในบ้านเป็นคนทำพิธี คนในครอบครัวรวมถึงลูกหลานที่ออกไปทำงานและพี่น้องที่ยังไม่ได้แยกครอบครัวจะกลับมาทำพิธีรวมกันในบ้านเป็นเวลา 2 คืน และต้องนอนรวมกันห้ามแยกไปนอนบ้านอื่น

              เดือนกรกฎาคม ประเพณีเข้าพรรษาจะมีงานบุญ 4 คืน 3 วัน ชาวบ้านจะเข้ารับศีลตั้งแต่คืนวันขึ้น 13 ค่ำและใส่บาตรทุกเช้าเป็นเวลา 3 วัน พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 วันพระใหญ่ เป็นวันเข้าพรรษาของฆราวาสเพื่อที่จะได้อธิษฐานจิตว่าตลอดเข้าพรรษาจะปฏิบัติตนอย่างไร วันแรม 1 ค่ำ เป็นวันเข้าพรรษาของพระสงฆ์ ชาวบ้านจะถวายธูป เทียน ดอกไม้ พร้อมทั้งถวายเทียนที่หลอมรวมจากเทียนที่แต่ละครอบครัวนำมาให้

              เดือนสิงหาคม ประเพณีผูกข้อมือ (ไข่จู) มีความหมายสำคัญในการรวมพลังคนในครอบครัวหรือคนในชุมชน ถ้าเป็นการผูกข้อมือในครอบครัวจะทำวันใดก็ได้ แต่ถ้าเป็นการผูกข้อมือในระดับชุมชนจะทำในวันพระใหญ่ขึ้น 15 หรือ 14 ค่ำเท่านั้น

              เดือนกันยายน งานบุญเรือและถวายน้ำผึ้ง น้ำตาลทราย เป็นงานบุญถวายอาหารให้พระสงฆ์ งานจะเริ่มขึ้นในตอนเย็นขึ้น 13 ค่ำ พระสงฆ์นำสวดมนต์ ตอนเช้าขึ้น 15 ค่ำ แต่ละบ้านจะเอาน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทรายมาใส่บาตรเพื่อถวายพระสงฆ์ หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันสร้างเรือจากไม้ไผ่ เตรียมสิ่งของที่ใช้ในงานพิธีนี้ทำในตอนกลางคืน พระสงฆ์สวดมนต์ ชาวบ้านจุดเทียนรอบลำเรือแล้วถวายให้พระสงฆ์

              เดือนตุลาคม ประเพณีออกพรรษาจะมีงาน 4 คืน 2 วัน คืนแรกชาวบ้านจะเข้าวัด สวดมนต์ ช่วงเช้าอีกวันชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ช่วงกลางวัน พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกตลอด 3 วัน ในคืนสุดท้ายของวันออกพรรษา ชาวบ้านจะเข้าวัด สวดมนต์ ทำบุญถวายสังฆทานให้กับพระ

              นอกจากนี้ยังมีประเพณีเพ่อเคอะกู่หว่องทิ (ทำเฉพาะบางปี) ซึ่งเป็นการถวายทานเช่นเดียวกัน แต่จะทำกันที่หมู่บ้านอื่น โดยผู้ร่วมงานจะเดินทางไปหมู่บ้านอื่น รอจนกว่าชาวบ้านจะนอนหลับหมดประมาณตี 2 ผู้ที่มาร่วมงานจะเดินเข้าหมู่บ้านและส่งเสียงตะโกน ตีเกราะให้เสียงดังเพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านตกใจตื่น แล้วจึงไปวัดเพื่อนำของไปถวาย กรวดน้ำ ชาวบ้านเรียกประเพณีนี้ว่าขโมยบุญ (สุนทร พุ่มไพรวัลย์ และคณะ, 2557)

    ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

              การตั้งครรภ์และครอดบุตร

              ตามปกติหญิงกะเหรี่ยงจะให้กำเนิดทารกในบ้านของตนเองโดยมีสามี มารดาและญาติอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ เวลาคลอดจะนั่งชันเข่าบนพื้นโดยโหนผ้าซึ่งผูกห้อยลงมาจากขื่อ ช่วยนวดดันทารกออกจากครรภ์ขณะที่เธอเบ่งอยู่นั้น เมื่อทารกพ้นออกจากครรภ์เขาจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้ไผ่และห่อรกด้วยผ้าบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นจะให้พ่อของเด็กนำสะดือที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ไปแขวนไว้บนต้นไม้ในป่า ต้นไม้ต้นนี้เรียกว่า "ป่าเดปอ" เป็นต้นไม้ที่ใช้เก็บขวัญเด็ก ห้ามตัดต้นไม้ต้นนี้เพราะจะทำให้เด็กล้มป่วย หรือถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีคนไม่รู้และไปตัดต้นไม้ต้นนั้นจะต้องทำการเรียกขวัญเด็กทันที หญิงกะเหรี่ยงกลัวการคลอดบุตรยากเพราะรู้กันอยู่ว่าอันตรายการตายของเด็กจะสูงมาก เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติครอบครัวมักจะตามหมอตำแยมาค้นหาสาเหตุ หากระบุว่าเป็นภูตผีตนใดก็จะทำการเซ่นไหว้กันโดยด่วน

              การแต่งงาน การหย่าร้าง

              ประเพณีการสู่ขอของกะเหรี่ยงผู้หญิงจะเป็นผู้สู่ขอฝ่ายชาย หลังจากยินยอมตกลงกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็นัดหมายกันว่าจะทำพิธีแต่งงานซึ่งจะต้องจัดขึ้นภายใน 7-9 วัน เมื่อฝ่ายชายเต็มใจรับการสู่ขอก็จะมีผู้อาวุโสชายฝ่ายชาย 2 คนและหนุ่มโสด 1 คน ที่ไม่ใช่พี่น้องของเจ้าบ่าว รับการสู่ขอเพื่อนัดหมายวันแต่งงาน ชายหนุ่มโสดคนนี้จะเป็นตัวประกันในการแต่งงาน หากเจ้าบ่าวตัวจริงเกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตาม ชายหนุ่มคนนี้จะต้องแต่งงานแทนเจ้าบ่าวตัวจริง 

              วันแต่งงานฝ่ายชายจัดขบวนแห่ เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวจะมีพิธีดื่มเหล้า ถึงหัวบันไดบ้านจะมีญาติอาวุโสฝ่ายหญิงเอาน้ำราดเท้าพร้อมกับกล่าวอวยพร จากนั้นทำพิธีป้อนข้าว เมื่อทุกคนกินข้าวอิ่มแล้ว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวพากันกลับบ้าน ทิ้งเจ้าบ่าวไว้ที่หมู่บ้านเจ้าสาวคนเดียว เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดแต่งงานรอเวลาพิธีส่งเข้าเรือนหอต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีที่บ้านเจ้าสาว สองคืนกับหนึ่งวันที่ค้างอยู่ที่บ้านเจ้าสาว วันนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังบ้านเจ้าบ่าวพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายเจ้าสาว ในวันนี้ดำเนินไปในลักษณะเดียวกับช่วงแรก หลังจากนั้นทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังหมู่บ้านเจ้าสาวเพราะผู้ชายกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่อาศัยบ้านผู้หญิง

              ความตาย และการทำศพ

              พิธีในงานศพ เมื่อมีผู้เสียชีวิตจะต้องรีบทําพิธีฝังศพก่อนห้ามเก็บศพไว้ โดยนําไปฝังในป่าช้าของหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถือเป็นอาจารย์ในการทําพิธี "ฉะรำ" หรือผู้นําหมู่บ้าน "ตะว่องคู" จะเป็นผู้ประกอบพิธีฝังศพ เมื่อมีผู้ตาย คนที่ออกไปนอกหมู่บ้าน อาจไปทําไร่ ทํานาหรืออื่น ๆ แต่อยู่นอกหมู่บ้าน ห้ามเข้าหมู่บ้านเด็ดขาด และผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านก็ห้ามออกนอกหมู่บ้าน จนกว่าพิธีฝังศพจะเสร็จ เพราะถือว่าระหว่างที่ยังไม่ได้ฝังศพ คนที่เดินทางเข้าออกจะเกิดสิ่งไม่ดีกับตัวเอง เมื่อผู้ตายเสียชีวิตครบ 7 วัน จะเริ่มทําพิธีกระทบไม้เพื่อเรียกวิญญาณของผู้ตายกลับมา พิธีกระทบไม้ยังเป็นการแสดงความรักของเขาที่มีต่อผู้ตาย และผู้ตายมีต่อพวกเขา ร้องเล่น เกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว จะทํา 3 วัน 7 วัน ตามแต่ฐานะของเจ้าภาพ เมื่อร้องเสร็จเจ้าภาพต้องมอบของรางวัลสําหรับผู้มาร่วมร้องเพลงทุกวัน และทําอาหารเลี้ยงผู้เข้ามาร่วมงานทุกคน ทุกวัน ส่วนใหญ่จะแกงยอดต้นเต่าร้าง (ลักษณะเหมือนยอดมะพร้าว) นํามาแกงเลี้ยงแขก และจะนำ "จี่ยะ" เป็นแผ่นเงินแท้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนกระดูกของผู้ตายจะถูกนําไปเก็บไว้ในถ้ำหรือสถานที่ที่หมู่บ้านกําหนด หนึ่งศพต่อหนึ่งแผ่น 

    ปัจจุบันพิธีในงานศพของชาวกะเหรี่ยงเปลี่ยนไปตามศาสนาที่ตนนับถือ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธก็นําศพไปไว้ที่วัดเพื่อให้พระสวดแล้วนําไปเผาตามธรรมเนียมไทย ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ก็จะนําศพของผู้ตายไปฝังและทําพิธีทางศาสนาคริสต์ต่อไป (เวธกา เสวครบุรี, 2554)

              การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

              ในสังคมกะเหรี่ยง การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษจะทำกันปีละครั้ง หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนวันทำพิธีลูกหลานทุกคนจะต้องมาค้างคืนอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน หากมีใครขาดผู้ทำพิธีจะต้องเอาข้าวก้อนที่คนต้องกิน เก็บไว้ให้เขากินเมื่อเขากลับมาบ้าน หากเขาไม่กลับมาต้องส่งไปให้เขา มิฉะนั้นจะถือว่าการเลี้ยงผีไม่ได้ผล ในพิธีนี้คนกะเหรี่ยงนิยมใส่เสื้ออย่างกะเหรี่ยงทุกคนต้องสำรวมกิริยาวาจาจะพูดมากไม่ได้ มิฉะนั้นจะต้องเลิกพิธีเสียกลางคันและต้องทำพิธีกันใหม่ในเดือนถัดไป และยังมีข้อควรปฏิบัติและห้ามอื่น ๆ เช่น ต้องกินข้าวในขันโตกเดียวกันหมดต้องหุงข้าวหม้อเดียวกินเสร็จแล้วแม่บ้านต้องล้างขันโตกล้างจานคนเดียวจะให้คนอื่นช่วยไม่ได้ ถ้ายังมีคนกินข้าวไม่เสร็จคนอื่น ๆ จะลงจากบ้านไม่ได้ ในวันทำพิธีห้ามการตัดผม ห้ามกินของที่มีรสเปรี้ยวอีกด้วย การทำพิธีเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษมี 2 แบบคือ แบบไม่มัดมือและแบบมัดมือ

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              ศาสนาและความเชื่อ

              ระบบความเชื่อของกะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ดังนั้นคนกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญในทางศาสนามาก คนกะเหรี่ยงนับถือทั้งศาสนาพุทธ คริสต์และนับถือผี เกือบร้อยละ 90 นับถือผี ผีมีอยู่ทุกแห่งในป่า ในไร่นา ในลำธาร ผีและวิญญาณเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมและค่านิยมหลายประการ เช่น การอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียว ไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร ผีที่นับถือ คือผีบ้านและผีเรือน ผีบ้านเป็นผีเจ้าที่ที่คอยปกป้องดูแลหมู่บ้าน ผีเรือนเป็นผีดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งคอยปกป้องรักษาบุตรหลานเหลนผู้สืบตระกูลของตนด้วยความห่วงใย นอกนี้ยังมีผีประจำไร่หรือผีนา ซึ่งจะช่วยทำให้ผลิตผลของไร่นาเจริญงอกงาม ดังนั้นจึงมีการทำร้านเลี้ยงผีไร่หรือผีนาก่อนทำการปลูกข้าวหรือพืชไร่

              คนกะเหรี่ยงมีความเกรงกลัวผีป่า ซึ่งถือว่าเป็นผีร้ายคอยทำร้ายผู้คนมากกว่าจะคุ้มครองป้องกันภัย ผีป่ามี 2 พวกคือ ผีป่าบกและผีป่าน้ำ

              ภูมิปัญญาที่เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนา คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ที่มีวัตรปฏิบัติตามแบบอย่างชาวพุทธที่สืบต่อมาจากบรรพชนอย่างเคร่งครัด วันสำคัญทางศาสนาพุทธในชุมชน ได้แก่ วันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำหรือ 15 ค่ำ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันสารทเดือนสิบ วันวิสาขบูชา เป็นต้น

              ภูมิปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนารูปธรรม ไม่ปรากฏในชุมชนอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ปรากฏส่วนหนึ่งอยู่ในรูปแบบของความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับระบบตะละโค่ว (หลักอธิปไตย) ที่มีลือกาเวาะ (ธรรมาธิไตย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิถีชีวิตและการทำมาหากิน) ถ่งเมียเวาะ (เป็นส่วนที่เกี่ยวกับหลักธรรมที่คนต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง) เรียเจียเวาะ (กฎระเบียบ กติกา ข้อปฏิบัติ เทียบได้กับกฎหมายการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน)

              อย่างไรก็ตาม ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ที่ดำรงอยู่ในชุมชนปัจจุบัน ไม่ได้เป็นอยู่อย่างอิสระเหมือนอดีต เพราะได้ผสมผสานภายใต้กระแสพุทธศาสนาหรือในนามของพุทธศาสนาอย่างกลมกลืนแล้ว ศาสนาพราหมณ์จึงไม่ได้ปรากฏในเชิงโครงสร้าง แต่ปรากฏในเชิงเนื้อหาสาระที่ปรากฏอยู่ในโครงสร้างของศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ

              ภูมิปัญญาที่เกี่ยวเนื่องด้วยศาสนาคริสต์ คนในชุมชนมีจำนวนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ ความเชื่อประเพณีและพิธีกรรมของศาสนาคริสต์ในชุมชน มีลักษณะผสมผสานความเชื่อพื้นบ้านดั้งเดิม และความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ปะปนอยู่ด้วย วิถีปฏิบัติของคนในชุมชนจึงยังคงมีความเชื่อพื้นบ้านที่มีมาแต่เดิม แต่ดำรงอยู่ในลักษณะการนำความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมบางส่วนของชุมชนมาต่อยอดเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของจิตวิญญาณตามความเชื่อดั้งเดิมสู่อาณาจักรพระเจ้าหรือการได้เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าตามหลักการทางคริสตศาสนา ทำให้วิญญาณที่อยู่ในนรก มีโอกาสหลุดพ้นจากนรกและมีความเท่าเทียมกับจิตวิญญาณที่อยู่ในสวรรค์ คือ ได้เข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าด้วยกันในวันสิ้นโลกหรือวันพิพากษาโลก

     

  • พิธีกรรมสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              "กี่บะหน่าจึ" หรือการทำพิธีขวัญควายของชาวกะเหรี่ยง จะทำเมื่อเสร็จจากฤดูไถหว่านของแต่ละปี ส่วนใหญ่วันที่ประกอบพิธีกรรมจะทำในวันพฤหัสบดี แต่ต้องทำก่อนที่จะหมดฤดูฝนในปีนั้น ๆ ความเชื่อในเรื่องการทำขวัญให้ควายนั้น ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า เพราะควายเป็นสัตว์ที่มีพระคุณและผูกพันกันมานานการทำขวัญให้ควายเป็นการแสดงความเคารพ ขอบคุณ อโหสิกรรม ตลอดจนถึงการอวยพรให้ควายมีสุขภาพแข็งแรง มีลูกดก พิธีกรรมนี้ทำเฉพาะครอบครัวที่มีควายเท่านั้น

              "ถางซีไกงย" พิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายโรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้าน ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อว่าหากชาวบ้านเจ็บป่วยพร้อม ๆ กันหลายคน โดยไม่รู้สาเหตุของอาการป่วยนั้นหรือความเชื่อที่ว่ามีสิ่งอัปมงคลเข้ามาในหมู่บ้าน ผู้นำและผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะปรึกษากันเพื่อหาวิธีรักษาและป้องกัน เมื่อหารือจนได้ข้อสรุปแล้วจึงกำหนดวันเพื่อทำพิธี (ต้องเป็นวันอังคารเท่านั้นเพราะเชื่อว่าเป็นวันแรง) 

              พิธีมัดมือปีใหม่ หรืองานทำขวัญประจำปีของกะเหรี่ยงเรียกว่า "กิจิ๊" จะจัดขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน หมอผีประจำหมู่บ้านจะเป็นคนกำหนดวัน หากหมู่บ้านใดมีหมอผี 2 คน งานมัดมือก็จะมี 2 งาน ซึ่งวันจะไม่ตรงกัน พิธีนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก 

              พิธีเลี้ยงผีไร่ เมื่อข้าวงอกงามเขียวชอุ่มเต็มท้องไร่อายุประมาณ 2 เดือน จะมีพิธีอีกอย่างหนึ่งคือพิธีเลี้ยงผีไร่ มีพิธีย่อยอีกหลายพิธีแยกตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ พิธีเลี้ยงไร่ขอพร พิธีเลี้ยงไร่ปัดรังควาน พิธีเลี้ยงไฟ พิธีเลี้ยงขวัญข้าวและพิธีเลี้ยงไร่ไล่ความชั่ว ทั้งหมดนี้จะใช้เครื่องเซ่นไหว้และการทำพิธีจะเหมือนกันแต่จะต่างกันที่คำอธิษฐาน ซึ่งได้บ่งบอกถึงวัตถุประสงค์ของแต่ละพิธีเอาไว้ 

     

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              คนในชุมชนมีช่องทางในการรักษาหลากหลายรูปแบบ บ้างไปโรงพยาบาล บ้างใช้สมุนไพร สาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศที่ทำให้ธาตุในร่างกายไม่สมดุล เป็นต้น และความเจ็บป่วยที่เกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น ถูกไสยศาสตร์ ขวัญหาย การรักษาแบบพื้นบ้าน มีหลายวิธีในการรักษาคือ รักษาด้วยสมุนไพร การใช้คาถาอาคม ร่างทรง การสะเดาะเคราะห์ การไหว้ผี ขอเจ้าที่เจ้าทางและขอขมา เป็นต้น (ลงขิ่งโพ่ ไทรสังขชวาลลิน และคณะ, 2558)

     

    รักษาด้วยสมุนไพรบ้านกองม่องทะ          รักษาด้วยสมุนไพรบ้านกองม่องทะ

    รักษาด้วยสมุนไพรบ้านกองม่องทะ

     

  • ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              ความสำคัญของบทเพลงที่เคยร้องกันในอดีตนั้น เพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและอารมณ์ของคนในชุมชน ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ตอนเด็กพ่อและแม่จะกล่อมลูกให้หลับด้วยเพลง ตอนรู้ความพ่อและแม่จะเล่านิทานและร้องเพลงให้ฟัง สำหรับพ่อแม่จะร้องเพลงตอนที่มีเวลาว่างรวมถึงเวลาไปเที่ยวบ้านเพื่อนและในงานประเพณี แต่ปัจจุบันบทเพลงที่ร้องชาวบ้านส่วนใหญ่ลืมเกือบหมดแล้ว

              เพลงในอดีตที่ใช้ร้องมีเนื้อหาแฝงอยู่กับหลักธรรมที่เกี่ยวกับกุศลและอกุศล หรือธรรมกับอธรรมหรือที่เรียกว่าเพลงชายกับเพลงหญิงที่จะได้ยิน ได้ฟังในระหว่างการฟาดข้าว บทเพลงหญิงเป็นบทถามที่เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหา ความน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดมาเป็นหญิง สู้ชายไม่ได้

              การแต่งเพลง แต่งคำที่คล้องจองกันตั้งแต่ขึ้นต้นและลงท้าย คำบางคำใช้ทั้งภาษามอญ พม่า บาลี โผล่ว มาผสมกันเ

              การร่ายรำ

              "รำตง" เป็นศิลปะการแสดงที่มีมาแต่โบราณ คนในชุมชนกล่าวว่าอาจจะเป็นสิ่งที่คนโบราณได้เรียนรู้มาเมื่อครั้งยังอยู่ในประเทศพม่า ครูฝึกจากพม่าเคยเข้ามาฝึกสอนรำตงให้คนในชุมชนทำให้ชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาจนกลายมาเป็นศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ที่คนทั่วไปยกย่องว่า "รำตงของชุมชนตำบลไล่โว่มีความงดงามเป็นเลิศ"

              รำตง คือ ศิลปะการแสดงที่มีทั้งร้อง รำ เต้นไปตามจังหวะดนตรี ใช้แสดงในงานประเพณีสำคัญ ๆ ของชุมชน คือ ชุดเล็กมีบทเพลงที่สนุกสนาน ปลุกใจให้เกิดความรักความภูมิใจในกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนชุดใหญ่บทเพลงจะมีเนื้อหาที่ให้ความรู้เรื่องความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ ตำนาน นิทาน ความยากลำบาก ความอดทน ความพยายามกว่าจะถึงวันนี้ เมื่อถึงวันนี้แล้วลูกหลานต้องช่วยกันสืบสานเพื่อความมั่นคงยั่งยืนยงต่อไป

              รำตง นอกจากให้ความบันเทิงแล้ว ยังทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของความเป็นมาของชาติพันธุ์ เล่าตำนานต่าง ๆ นิทานของกลุ่มชาติพันธุ์และนำเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นมากล่อมเกลาและขัดเกลาสังคม (เอี่ยม ทองดี และคณะ, 2558)

              เครื่องดนตรี

              เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ทำด้วยไม้อ่อน เหลาและกลึงให้เป็นรูปเหมือนกล่องรูปทรงรี มีก้านยาวโก่งและโค้งสูงขึ้นไป ที่ตัวจะเจาะรูเป็นโพรงปิดด้วยโลหะบาง ๆ สายทำด้วยเส้นลวดมีสายตั้งแต่ 6-9 สาย เตหน่าใช้สำหรับดีดและร้องเพลงประกอบ ใช้ในโอกาสมีเวลาว่างและเพื่อความสนุกสนาน โดยเฉพาะหนุ่มชาวปกาเกอญอจะใช้เตหน่าในการเกี้ยวพาราสีหญิงสาวในยามค่ำคืน

     

     

  • เรื่องเล่า/ตำนาน/วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              การกำเนิดกะเหรี่ยง มีตำนานปรำปราของชนเผ่ากะเหรี่ยงอยู่มากหลาย ๆ ตำนาน โดยสรุปความหมายแล้วตำนานปรำปราของกะเหรี่ยงมีลักษณะคล้าย ๆ กัน แสดงถึงเรื่องราวการบอกกล่าวถึงเผ่าพันธุ์ของตนเองให้ระวังภัยจากชนเผ่ารอบข้าง ในที่สุดของตำนานมักจะทิ้งท้ายด้วยความวาดหวังเสมอว่า "สักวันหนึ่งจะมีผู้มากอบกู้ชนเผ่าให้พ้นจากการถูกกดขี่และความยากไร้ เมื่อถึงเวลานั้นแผ่นดินจะร่มเย็น"

              นิทาน

              กะเหรี่ยง แบ่งพี่น้องออกเป็น 3 พวก คือ เดิมอยู่ที่เมืองทวาย ประเทศพม่า มีพี่น้องรวมกัน 3 พวก คือ กะเหรี่ยงเป็นพี่ใหญ่ กะหร่างเป็นน้องคนกลางและตองสูเป็นน้องคนเล็ก พี่น้องทั้งสามนี้ได้สัญญาว่าจะรักใคร่เป็นพี่น้องกันตลอดไป ได้ของสิ่งใดมาก็จะแบ่งปันกัน ทั้งสามพี่น้องจึงอยู่ร่วมกันมาอย่างเป็นสุข อยู่มาวันหนึ่งกะเหรี่ยงกับกะหร่างได้เม่น 1 ตัว จึงเอามาฆ่าแบ่งเนื้อกันที่ลำห้วย โดยไม่ได้แบ่งให้ตองสูน้องคนเล็กเพราะว่าเนื้อเม่นนั้นมีน้อย ต่อมาตองสูได้มาที่ลำห้วยพบขนเม่นที่ทิ้งไว้ก็รำพึงว่า "พี่เราทั้งสองได้เนื้ออะไรมาหนอ ไม่แบ่งให้เราบ้างเลย วัวกระทิงตัวใหญ่ขนยังเล็กนิดเดียว แต่ขนที่เห็นอยู่นี้ใหญ่กว่าขนกระทิงมาก ตัวก็คงใหญ่มากเช่นกัน" ตองสูคิดดังนั้นแล้วก็น้อยใจมากว่าพวกพี่ ๆ ไม่รัก ไม่รักษาสัจจะวาจา อยู่ร่วมกันต่อไปคงจะไม่เป็นสุขแน่ จึงอพยพหนีพี่ทั้งสองไปโดยไม่บอกให้รู้และไม่เห็นร่องรอย ส่วนกะเหรี่ยงกับกะหร่างก็อยู่ร่วมกันเรื่อยมา

              แต่คนตองสูกลับเล่านิทานว่ากะเหรี่ยงโป กะเหรี่ยงสะกอและตองสูทำสัญญากันว่า ใครไปล่าสัตว์ได้เนื้อมาแล้วจะต้องแบ่งกันให้คนที่ล่าไม่ได้ วันหนึ่งตองสูล่าได้เนื้อเม่น ส่วนสะกอและโปไม่ได้อะไร ตองสูไม่ยอมแบ่งจึงถูกกะเหรี่ยงพวกอื่นว่าเป็นคนใจดำและแยกกันอยู่ตั้งแต่นั้นมา 

              ตำนาน

              ตำนานหนึ่งมีอยู่ว่าเมื่อแรกเริ่มนั้นชนเผ่าทั้งปวงเป็นพี่น้องกัน กะเหรี่ยงเป็นพี่ชายใหญ่อยู่ในฐานะอันพึงได้รับการเคารพจากหมู่น้อง ๆ ชนเผ่าอื่น ๆ เช่น ไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นลูกคนกลาง ส่วนฝรั่งผิวขาวเป็นลูกคนสุดท้อง ครั้นเมื่อพระเจ้าได้มอบแผ่นอักขระ พี่ใหญ่เจ้ากรรมก็บอกว่าไม่มีเวลาไปเอาเพราะกำลังทำงานดายหญ้าอยู่ในไร่ ให้น้องคนสุดท้ายคือฝรั่งรับแทน แต่ฝรั่งใจไม่ซื่อได้แอบนำแผ่นอักขระคือหนังสือกลับ ทำการศึกษาหาความรู้และพัฒนาบ้านเมืองของตนจนเจริญรุ่งเรืองมีชีวิตอย่างสุขสบายตรงกันข้ามกับพี่น้องกะเหรี่ยงที่มีชีวิตลำบากตกทุกข์ได้ยากตราบจนทุกวันนี้

              อีกตำนานเป็นตำนานกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่า โลกมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้าง พระเจ้ารักกะเหรี่ยงดั่งลูกหลาน แต่กะเหรี่ยงไม่รักดีเอาแต่ใจตนเอง กระทำความชั่วไม่เชื่อคำสั่งของพระเจ้าแต่กลับไปเชื่อคำยุยงของผีปีศาจ ทำให้พระเจ้าโมโหและจากกะเหรี่ยงไปในที่สุด หลังจากที่พระเจ้าจากไปแล้วกะเหรี่ยงต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบากยิ่งจะสำนึกผิดก็สายไปเสียแล้วและพยายามตามหาพระเจ้าแต่วันแล้ววันเล่าก็ตามหาไม่พบ สุดท้ายก็ได้แต่คาดหวังเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งพระเจ้าจะกลับมาและช่วยพวกเขาให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบากอีกครั้งหนึ่ง

              สำนวน – สุภาษิต

              สุภาษิต ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "เฉอไคร่อองทรง" คำกล่าวที่เป็นข้อเตือนใจ ให้คิดดี พูดดี ทำดี ที่สังคมกะเหรี่ยงในพื้นที่ศึกษาได้ใช้เป็นสาระการเรียนการสอนเด็กและเยาวชน

              คำพังเพย ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "เฉอไคร่นวย เฉอไคร่ปะม่า" เป็นอุปมาอุปไมยเรื่องต่าง ๆ ให้เห็นว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ โดยยกตัวอย่างสิ่งต่าง ๆ มาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนฟังได้เห็นถึงคุณ โทษ ประโยชน์ (เอี่ยม ทองดี และคณะ, 2558)

     

  • นิทานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              แบ่งพี่น้องออกเป็น 3 พวก คือ เดิมอยู่ที่เมืองทวาย ประเทศพม่า มีพี่น้องรวมกัน 3 พวก คือ กะเหรี่ยงเป็นพี่ใหญ่ กะหร่างเป็นน้องคนกลางและตองสูเป็นน้องคนเล็ก พี่น้องทั้งสามนี้ได้สัญญาว่าจะรักใคร่เป็นพี่น้องกันตลอดไป ได้ของสิ่งใดมาก็จะแบ่งปันกัน ทั้งสามพี่น้องจึงอยู่ร่วมกันมาอย่างเป็นสุข อยู่มาวันหนึ่งกะเหรี่ยงกับกะหร่างได้เม่น 1 ตัว จึงเอามาฆ่าแบ่งเนื้อกันที่ลำห้วย โดยไม่ได้แบ่งให้ตองสูน้องคนเล็กเพราะว่าเนื้อเม่นนั้นมีน้อย ต่อมาตองสูได้มาที่ลำห้วยพบขนเม่นที่ทิ้งไว้ก็รำพึงว่า "พี่เราทั้งสองได้เนื้ออะไรมาหนอ ไม่แบ่งให้เราบ้างเลย วัวกระทิงตัวใหญ่ขนยังเล็กนิดเดียว แต่ขนที่เห็นอยู่นี้ใหญ่กว่าขนกระทิงมาก ตัวก็คงใหญ่มากเช่นกัน" ตองสูคิดดังนั้นแล้วก็น้อยใจมากว่าพวกพี่ ๆ ไม่รัก ไม่รักษาสัจจะวาจา อยู่ร่วมกันต่อไปคงจะไม่เป็นสุขแน่ จึงอพยพหนีพี่ทั้งสองไปโดยไม่บอกให้รู้และไม่เห็นร่องรอย ส่วนกะเหรี่ยงกับกะหร่างก็อยู่ร่วมกันเรื่อยมา

              แต่คนตองสูกลับเล่านิทานว่ากะเหรี่ยงโป กะเหรี่ยงสะกอและตองสูทำสัญญากันว่า ใครไปล่าสัตว์ได้เนื้อมาแล้วจะต้องแบ่งกันให้คนที่ล่าไม่ได้ วันหนึ่งตองสูล่าได้เนื้อเม่น ส่วนสะกอและโปไม่ได้อะไร ตองสูไม่ยอมแบ่งจึงถูกกะเหรี่ยงพวกอื่นว่าเป็นคนใจดำและแยกกันอยู่ตั้งแต่นั้นมา 

     

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              ตำนานหนึ่งมีอยู่ว่าเมื่อแรกเริ่มนั้นชนเผ่าทั้งปวงเป็นพี่น้องกัน กะเหรี่ยงเป็นพี่ชายใหญ่อยู่ในฐานะอันพึงได้รับการเคารพจากหมู่น้อง ๆ ชนเผ่าอื่น ๆ เช่น ไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นลูกคนกลาง ส่วนฝรั่งผิวขาวเป็นลูกคนสุดท้อง ครั้นเมื่อพระเจ้าได้มอบแผ่นอักขระ พี่ใหญ่เจ้ากรรมก็บอกว่าไม่มีเวลาไปเอาเพราะกำลังทำงานดายหญ้าอยู่ในไร่ ให้น้องคนสุดท้ายคือฝรั่งรับแทน แต่ฝรั่งใจไม่ซื่อได้แอบนำแผ่นอักขระคือหนังสือกลับ ทำการศึกษาหาความรู้และพัฒนาบ้านเมืองของตนจนเจริญรุ่งเรืองมีชีวิตอย่างสุขสบายตรงกันข้ามกับพี่น้องกะเหรี่ยงที่มีชีวิตลำบากตกทุกข์ได้ยากตราบจนทุกวันนี้

              อีกตำนานเป็นตำนานกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่า โลกมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้าง พระเจ้ารักกะเหรี่ยงดั่งลูกหลาน แต่กะเหรี่ยงไม่รักดีเอาแต่ใจตนเอง กระทำความชั่วไม่เชื่อคำสั่งของพระเจ้าแต่กลับไปเชื่อคำยุยงของผีปีศาจ ทำให้พระเจ้าโมโหและจากกะเหรี่ยงไปในที่สุด หลังจากที่พระเจ้าจากไปแล้วกะเหรี่ยงต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบากยิ่งจะสำนึกผิดก็สายไปเสียแล้วและพยายามตามหาพระเจ้าแต่วันแล้ววันเล่าก็ตามหาไม่พบ สุดท้ายก็ได้แต่คาดหวังเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งพระเจ้าจะกลับมาและช่วยพวกเขาให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบากอีกครั้งหนึ่ง

     

  • สำนวน - สุภาษิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              สุภาษิต ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "เฉอไคร่อองทรง" คำกล่าวที่เป็นข้อเตือนใจ ให้คิดดี พูดดี ทำดี ที่สังคมกะเหรี่ยงในพื้นที่ศึกษาได้ใช้เป็นสาระการเรียนการสอนเด็กและเยาวชน

              คำพังเพย ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "เฉอไคร่นวย เฉอไคร่ปะม่า" เป็นอุปมาอุปไมยเรื่องต่าง ๆ ให้เห็นว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ โดยยกตัวอย่างสิ่งต่าง ๆ มาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนฟังได้เห็นถึงคุณ โทษ ประโยชน์ (เอี่ยม ทองดี และคณะ, 2558)   

     

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ง :

              1. ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ได้พัฒนาการมาบนฐานคิดพออยู่พอกิน กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ คือ การทำไร่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล เป็นวิถีชีวิตชุมชนซึ่งสืบต่อมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็น "การผลิตเพื่อบริโภคและเหลือบริโภคแล้วนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายกันมากขึ้น" หรือเป็น "การผลิตเผื่อขาย" มากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิทธิการถือครองที่ดินจากสิทธิส่วนรวมของชุมชนที่สืบต่อมาแต่โบราณมาเป็นสิทธิส่วนตัวหรือส่วนครอบครัวมากขึ้นและนำไปสู่การซื้อขายที่ดินเกิดขึ้นด้วย ผลจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการผลิตดังกล่าว ทำให้สถานการณ์การบริโภคและอุปโภคในชุมชนเปลี่ยนแปลงตาม คือ โดยภาพรวมครัวเรือนและชุมชนต้องซื้อหาสิ่งบริโภคและอุปโภคมากขึ้นทั้งกลุ่มอาหาร กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มยารักษาโรค ฯลฯ เป็นผลให้ชุมชนต้องแสวงหาเงินเพื่อซื้อสิ่งเหล่านี้จึงทำให้ต้องการผลิตสิ่งต่าง ๆ เผื่อขายด้วย

              2.ด้านสังคม โดยภาพรวมยังคงเป็นสังคมพื้นบ้านที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เกิดจากความสัมพันธ์แบบเครือญาติและกลุ่มชาติพันธุ์บนรากฐานคุณธรรม ความเชื่อในวัฒนธรรมพื้นบ้านและระบบอาวุโส แต่ด้วยเหตุของความสัมพันธ์สมัยใหม่ที่เน้นประโยชน์นิยมหรืออำนาจนิยมเข้ามาทำหน้าที่แทนมากขึ้น เช่น ผู้นำชุมชนแบบพื้นบ้านถูกแทนที่โดยผู้นำชุมชนแบบราชการ การให้ทุนการศึกษาให้การฝึกฝนวิชาชีพแก่คนบางคน แล้วปล่อยให้คนส่วนใหญ่กลายเป็นคนด้อยโอกาส ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนเริ่มคิดถึงส่วนตนมากกว่าส่วนรวมและนำไปสู่ภาวการณ์แข่งขันการแย่งชิงมากกว่าการแบ่งปันเกิดขึ้น

              3.ด้านวัฒนธรรม มีลักษณะพิเศษสืบต่อจากบรรพชนมาแต่โบราณ ทั้งภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีพิธีกรรม เช่น สิทธิการถือครองที่ดินที่ถือเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของชุมชน การทำไร่หมุนเวียนที่ผลิตได้ทุกอย่างที่จำเป็นในการบริโภค อย่างไรก็ตามเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่การสูญเสียคุณค่า เช่น การทำไร่แบบถาวรและการถือครองที่ดิน ปลูกพืชที่ต้องการขายได้ราคาเป็นเงินทองแม้กระทั่งภาษา ซึ่งปัจจุบันเด็ก ๆ หรือคนรุ่นใหม่ไม่สามารถเขียนและอ่านภาษากะเหรี่ยงได้แล้วเหลือแต่การพูดอย่างเดียว โดยภาพรวมสถานการณ์ทางวัฒนธรรมทุกด้านตกอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงจากแบบพื้นบ้านสู่แบบสมัยใหม่ให้เป็นไปตามแบบอย่างคนในชุมชนเมืองมากขึ้น

              4.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานการณ์ภายในพื้นที่ยังไม่พบสิ่งที่น่าวิตกนักเพราะชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยังคงมีวัฒนธรรมที่ใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน แต่ส่วนที่น่าเป็นห่วง คือสถานการณ์จากภายนอก เช่น การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าแล้วปลูกยางพารา ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่กันชนหรือเขตติดต่อ จนกระทั่งบางแห่งได้รุกล้ำข้ามแนวเขตเข้าไปบ้างแล้ว 

              5.ด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระดับนานาชาติ ระดับชาติและระดับท้องถิ่น เช่น นโยบายตัดถนนผ่านพื้นที่ป่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เป็นความสูญเสียมากกว่าผลดี (เอี่ยม ทองดี และคณะ, 2558)

     

Access Point
No results found.

กะเหรี่ยงโผล่ว มีทั้งส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ นับถือผีบรรพบุรุษและส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ โดยกะเหรี่ยงพุทธนั้นมีพิธีกรรมสำคัญในทางศาสนาได้แก่ งานออกพรรษา ทำบุญถวายเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีถวายราหุล "กวนยาฮู" ประเพณีการไหว้เจดีย์ทราย ประเพณีวันสงกรานต์ ไหว้ต้นโพธิ์ ค้ำโพธิ์ ประเพณีการสร้างสะพานหรือบ่งโถ่ว โดยประเพณีสำคัญคือการทำขวัญควายเพื่อเป็นการขอบคุณสัตว์เลี้ยงที่ช่วยทำงานในไร่นา