2023-06-15 20:06:22
ผู้เข้าชม : 1781

มละบริ เป็นกลุ่มคนที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างประเทศไทยและแขวงไซยะบุรี และแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว นับตั้งแต่ก่อนการแบ่งเส้นพรมแดนรัฐชาติ ชาวมละบริในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานในจังหวัดแพร่และน่าน เดิมคนกลุ่มนี้ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ ดำรงชีพแบบเคลื่อนย้ายในผืนป่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีพด้วยการตั้งถิ่นฐานแบบถาวร มีความหลากหลายในการดำรงชีพ ทั้งการเก็บของป่าล่าสัตว์ การเพาะปลูกพืชเพื่อยังชีพและเพื่อส่งขายตลาด การเลี้ยงสัตว์ การเป็นแรงงานรับจ้าง และการท่องเที่ยว 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มละบริ
ชื่อเรียกตนเอง : ยุมบรี, มลาบรี, มละบริ, มลา/มละ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ผีตองเหลือง, ตองเหลือง/คนตองเหลือง, ข่าตองเหลือง, ข่าป่า, คนป่า, ผีป่า, ชาวเขา, ม้ากู่, จันเก้ม, โพล
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : มละบริ
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

มละบริ (Mlabri) หมายถึง คนที่อยู่ในป่า คำว่า“มละ” หรือ “มลา” หมายถึง คน และคำว่า “บรี” หรือ “บริ” หมายถึงป่ามละบริ มลาบรี และ ยุมบรี เป็นชื่อที่ชนกลุ่มนี้ใช้เรียกตนเองทั้งนี้ พบว่าเอกสารในอดีตนั้นส่วนใหญ่ใช้คำว่า “มลาบรี” ภายหลังจากกลุ่มเยาวชนได้ทำงานศึกษาวิจัยทางภาษาศาสตร์ จึงได้มติร่วมกันในการกำหนดให้คำว่า“มละบริ” เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ ในอดีตคนไทยจะรู้จักคนกลุ่มนี้ในชื่ออื่นๆ เช่น ผีตองเหลือง ข่าตองเหลือง ซึ่งเป็นชื่อที่คนภายนอกเรียกที่สะท้อนอคติทางวัฒนธรรม พวกเขาจะไม่ชอบให้ผู้อื่นเรียกชื่อในลักษณะเช่นนั้นเพราะเป็นคำที่เรียกในเชิงดูถูก ที่แปลว่า ผี หรือทาส (ข่า)

ในอดีตชาวมละบริเป็นกลุ่มสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบเก็บหาของป่า-ล่าสัตว์ และเคลื่อนย้ายอพยพไปตามแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการดำรงชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ ภายใต้ความเชื่อว่าผืนป่าในประเทศไทยเป็นผืนเดียวที่สามารถเชื่อมโยงติดต่อกัน ทำให้ชาวมละบริใช้ชีวิตแบบเคลื่อนย้ายไปมาในเขตป่าแถบด้านตะวันออกของภาคเหนือ และตอนเหนือของภาคอีสาน แถบรอยต่อกับพื้นที่ประเทศลาว และเดินทางโยกย้ายไปมาในแถบนี้หลายกลุ่มด้วยกัน แต่ละกลุ่มมีจำนวนประชากรไม่มากนัก และมักหาของป่ามาแลกเปลี่ยนกับชาวลาวและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จากข้อมูลที่ถูกบันทึกในช่วง พ.ศ. 2481 มีผู้พบมละบริอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทางทิศตะวันตกของภูเขาเขียว พบร่องรอยการอยู่อาศัย กองไฟ และเพิงพัก ของชาวมละบริ บริเวณบ้านศรีฐาน แถบตีนภูกระดึง พบชาวมละบริ ที่บ้านน้ำพุ ซึ่งเป็นค่ายพักแรมระหว่างเส้นทาง แพร่ – น่าน และในเส้นทางเดินระหว่าง บ้านเด่นเหล็กกับบ้านเสี้ยว จังหวัดอุตรดิตถ์ พบชาวมละบริ บริเวณอำเภอน้ำหว้า ด้านทิศตะวันออกของจังหวัดน่าน และบริเวณบ้านเสา ระยะทาง 30 ไมล์ และด้านทิศตะวันตกของจังหวัดน่าน พบชาวมละบริ บริเวณดอยขุนสถาน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ประมาณ 40 ปีก่อนหน้านั้นชาวมละบริมีชีวิตแบบคลื่อนย้าย หลังจากนั้นชาวมละบริเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นแรงงานรับจ้างเพื่อแลกกับอาหารและสิ่งของ จวบจนเข้าสู่ยุคการเคลื่อนย้านคนออกจากป่าเพื่อตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่ ที่รัฐจัดสรรให้ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มคนที่มีการดำรงชีพที่มีชีวิตแบบเคลื่อนย้าย ปัจจุบันในประเทศไทยมีชาวมลาบรีอาศัยอยู่ประมาณ 400 คน กระจายตัวในจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ใน 5 หมู่บ้าน ที่มีระยะทางห่างไกลกัน

มละบริเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิปัญญาการใช้พืชเป็นอาหาร ยาสมุนไพร เครื่องจักสาน อีกทั้งเป็นกลุ่มชนที่รักอิสระไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ ไม่กักตุนอาหาร แบ่งปันทรัพยาการอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม มีความรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ ส่งผลต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม วิถีการพึ่งพิงตนเอง และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูญสิ้นไปพร้อมกับระบบการผลิตแผนใหม่ การรับเอารูปแบบการบริโภคและการปรุงอาหารแบบคนท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานกับความรู้ดั้งเดิม ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการล่าสัตว์ใหญ่ คงเหลือเพียงเรื่องเล่า เนื่องจากวิถีชีวิตในปัจจุบันไม่ได้เข้าป่าล่าสัตว์อีกต่อไป


จากหนังสือเรื่อง คนป่าจากประเทศลาว บันทึกเรื่องคนป่าในเขตพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยและบางส่วนของประเทศลาว โดยเฉพาะในแขวงไซยะบุรี และแขวงบอลิคำไซ บางครั้งพบเห็นเพียงระยะเวลาสั้น หรือพบปะเพียงเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันแล้วก็หายตัวไปอย่างรวดเร็ว ตามบันทึก ระบุว่า ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า มีความลึกลับ ไม่ค่อยมีผู้พบเห็นมากนัก จะพบเพียงร่องรอยของเพิงพักที่ถูกทิ้งร้างจนวัสดุมุงหลังคาแปรสภาพเป็นสีเหลือง ชาวลาวเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “บังบัด” หรือ “ตำบัง” บางคนเรียกว่า มลาบรีมีชีวิตเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเขตป่าในประเทศลาวและประเทศไทย แถบรอยต่อในจังหวัดน่าน รวมตัวเป็นกลุ่มขนาดเล็กข้อมูลใน ค.ศ. 1938 (พ.ศ.2481) ประมาณการว่ามีชาวมละบริในลาวไม่เกินหนึ่งร้อยคน (ซาซ่า, 2562 ใน ธภัทร มณีรัตน์, 2563) ข้อมูลจากบันทึกในหนังสือสยามสมาคมที่เริ่มให้ความสนใจชาวมละบริมาตั้งแต่ คศ. 1919 (พ.ศ. 2465) มีการเดินทางลงพื้นสำรวจหลายครั้งครอบคลุมหลายพื้นที่ โดยในการสำรวจในแถบพื้นที่ภูเขียวใน ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) นายพรานหลายคนได้เล่าเรื่องของกลุ่มชนที่เรียกว่า “ข่าตองเหลือง” แก่พระยศสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้นว่า ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในแถบป่าทางทิศตะวันตกของภูเขียว พวกเขาไม่สร้างบ้านถาวร แต่จะอาศัยเพิงพักสร้างเรียบง่ายแล้วเคลื่อนย้ายไปเรื่อยเพื่อหาของป่าล่าสัตว์ เช่นเดียวกับชาวเซมัง พวกเขาเป็นคนขี้อาย หวาดกลัวที่จะพบปะผู้คน เมื่อจะแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชาวลาวจำพวก เกลือ ยาสูบหรือฝ้ายก็จะนำสิ่งของที่พวกเขาหาได้ เช่น นอแรด เขากวาง มาวางไว้ที่จุดนัดหมายเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ในบันทึกการสำรวจหลายครั้ง พบว่า มีเรื่องราวของชาวมละบริอย่างต่อเนื่อง ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2565)พบร่องรอยการอยู่อาศัย เพิงพัก และร่องรอยกองไฟของชาวมละบริ บริเวณบ้านศรีฐาน แถบตีนภูกระดึงต่อมาใน ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2567) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของบริษัทอีสต์เอเชียติก ประจำที่เมืองแพร่ พบชาวมละบริ ที่บ้านน้ำพุ ซึ่งเป็นค่ายพักแรมระหว่างเส้นทาง แพร่ – น่านพวกเขาอาศัยอยู่ตามเทือกเขาทางเหนือของจังหวัดแพร่ บริเวณลำน้ำว้า พื้นที่รอยต่อระหว่างน่านและจังหวัดหลวงพระบางของลาว และบริเวณภูสามเส้า บ้านน้ำพุและเส้นทางเดินระหว่าง บ้านเด่นเหล็กกับบ้านเสี้ยว จังหวัดอุตรดิตถ์ พบคนป่ากลุ่มหนึ่งที่คนแถบนั้นเรียกว่าผีตองเหลือง อีกทั้งยังพบชาวมละบริ บริเวณอำเภอน้ำหว้า ด้านทิศตะวันออกของจังหวัดน่านและบริเวณบ้านเสาระยะทาง 30 ไมล์ ทางทิศตะวันตกของจังหวัดน่าน คศ. 1963 (พ.ศ. 2506)พบชาวมละบริ บริเวณดอยขุนสถาน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน (ธภัทร มณีรัตน์, 2563)

จากข้อมูลการสำรวจกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในป่าในประเทศไทยที่ได้มีการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน พบข้อมูลจำนวนหนึ่งที่สามารถยืนยันได้ว่า มละบรินั้นใช้ชีวิตแบบเคลื่อนย้ายไปมาในเขตป่าแถบด้านตะวันออกของภาคเหนือ และตอนเหนือของภาคอีสานแถบรอยต่อกับพื้นที่ประเทศลาว และเดินทางโยกย้ายไปมาในแถบนี้ มีหลายกลุ่มด้วยกันแต่ละกลุ่มมีจำนวนไม่มากนักและมักหาของป่ามาแลกเปลี่ยนกับชาวลาวและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น

ก่อนทศวรรษ 2520 การศึกษาชาวมละบรินั้นมักถูกกล่าวถึงในฐานะของกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้าย ภายหลังทศวรรษ 2520 การศึกษาชาวมละบริเริ่มศึกษาถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวมละบริที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ภายนอกที่ไม่ได้จำกัดแต่การแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันเท่านั้น หากแต่ชาวมลาบรียังมีการเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างในการเกษตรเพื่อแลกกับสิ่งของ โดยเฉพาะอาหารจากกลุ่มชาติพันธุ์ภายนอก (Trier, 1992; วิสุทธิ์ ศรีวิศาล 2538; ศักรินทร์ ณ น่าน 2548; สุชาติ บูรมิตร 2546; สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ, 2526)

ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยนั้น จากข้อมูลการสำรวจพบการมีอยู่ของชาวมละบริในจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวทางการจัดการป่าไม้ที่เน้นการรักษาพื้นที่ป่าโดยไม่มีผู้คนอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ป่าตามประกาศของกรมป่าไม้นั้น สร้างผลกระทบต่อการดำรงชีพของชาวมละบริที่มีชีวิตแบบเคลื่อนย้าย ดังนั้น โครงการพัฒนาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อโยกย้ายชาวมละบริออกจากพื้นที่ป่าเพื่อตั้งถิ่ฐานถาวรในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้

ส่วนการศึกษาในมิติประวัติศาสตร์ของการลงหลักปักฐานของชาวมละบริ ปรากฎผ่านงานศึกษาของ Ikeya กับ Nakai (2009) ได้เสนอตัวแบบที่น่าสนใจ โดยพวกเขาได้นำเสนอการดำรงอยู่ร่วมกันของสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์กับสังคมเกษตร มาทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมละบริและชาวม้ง ซึ่งมีจุดร่วมกันในการมีวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้ายและได้ปรับเปลี่ยนมาสู่การลงหลักปักฐาน โดย Ikeya กับ Nakai (2009) ได้เสนอตัวแบบและแบ่งช่วงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมละบริและชาวม้งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

ช่วงที่หนึ่ง (1919-1980: nomadic Mlabri hunters and nomadic Hmong farmers) เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ชาวมละบริในฐานะกลุ่มเก็บของป่าล่าสัตว์และชาวม้งในฐานะกลุ่มกสิกรยังคงมีการใช้ชีวิตที่มีการเคลื่อนย้าย

ช่วงที่สอง (1980-1998: nomadic hunters and sedentary farmers) เป็นช่วงที่ชาวมละบริยังคงใช้ชีวิตแบบเคลื่อนย้าย ในขณะที่ชาวม้งได้มีการลงหลักปักฐานในพื้นที่จำเพาะและอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

และช่วงที่สาม (1998-2004: sedentary hunters and sedentary farmers) เป็นช่วงที่ชาวมละบริเริ่มการใช้ชีวิตแบบลงหลักปักฐาน เมื่อหน่วยงานของรัฐพยายามรวบรวมและจัดตั้งชุมชน ในขณะที่ชาวม้งได้มีการตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่นานแล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตัวแบบตามงานศึกษาของ Ikeya กับ Nakai (2009) ที่ได้เสนอไว้นั้น ชี้ให้เห็นว่าชีวิตแบบลงหลักปักฐานของชาวมละบริไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและยังมีทิศทางที่หลากหลายเกิดขึ้นในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่าน การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของการลงหลักปักฐานจึงต้องทำความเข้าใจควบคู่กับโครงการพัฒนาชาวมละบริจากรัฐสามารถที่สามารถแบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคแรก โครงการพัฒนาชาวมละบริยุคแรกในช่วงทศวรรษ 2520 ยุคที่สอง โครงการพัฒนาชาวมละบริยุคที่สองในช่วงทศวรรษ 2530 ยุคที่สามโครงการพัฒนาชาวมละบริที่ยุคที่สามในช่วงทศวรรษ 2540และยุคที่สี่ โครงการพัฒนาชาวมละบริที่เปิดเพิ่มล่าสุดในต้นทศวรรษ 2550 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ยุคแรกโครงการพัฒนาชาวมละบริยุคแรกในช่วงทศวรรษ 2520

ในปี 2527 จังหวัดน่านมีประกาศเรื่อง กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อรักษาชาวเขาชนกลุ่มน้อยที่หน่วยงานรัฐในสมัยนั้นเรียกว่า ผีตองเหลือง จังหวัดน่าน ได้ประกาศลงวันที่ 7 มิถุนายน 2527 โดยให้มีการกันพื้นที่ป่าดงดิบ 3 แห่ง รวมเป็นพื้นที่อนุรักษ์กว่า 21,563 ไร่ สำหรับใช้เป็นพื้นที่ทั้งในการอนุรักษ์ป่าควบคู่กับการประโยชน์ทางโบราณคดีและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาวมละบริ (จรินทร์ นาคศิริ และดิเรก อยู่สบาย, 2527) แต่ทว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้ประสบผลสำเร็จทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และการธำรงรักษาวิถีวัฒนธรรมของชาวมละบริ แต่ไม่ได้มีการยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้แต่อย่างใด

จากประกาศข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเข้ามาปกป้องชาวมละบริโดยรัฐกลายเป็นสิ่งที่แตกต่างจากปลายทศวรรษ 2500 ที่รัฐยังไม่ได้ต้องการเข้ามาควบคุมจัดการสังคมชาวมละบริในรูปแบบของการลงหลักปักฐาน ยังคงให้อิสระในการดำรงชีวิตแบบเคลื่อนย้ายในป่าต่อไป (กรมประชาสงเคราะห์, 2509) การเปลี่ยนแปลงในท่าทีข้างต้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเข้าใจที่รัฐมีต่อชาวมละบริที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ดังที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ร่วมออกสำรวจชนกลุ่มนี้กับนักวิชาการที่เข้ามาศึกษาชาวมลาบรีในภาคสนามอย่างจริงจังในช่วงกลางทศวรรษ 2520 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจของสุรินทร์ ภู่ขจร นักโบราณคดีชาวไทยที่ทำงานภาคสนามร่วมกับ Jesper Trier นักมานุษยวิทยาชาวตะวันตก (สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ, 2526) ผลจากการศึกษากลุ่มชนเผ่า “ผีตองเหลือง” จะนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการจัดตั้งโครงการตั้งนิคมเพื่อสงเคราะห์กลุ่มชนเผ่า “ผีตองเหลือง” ของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย (สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ, 2526: 12)

สำหรับโครงการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์นั้น แม้ว่าจะไม่ได้ประสบผลสำเร็จ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันอย่างแข็งขันจากฝ่ายนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวมละบริจากการเคลื่อนย้ายไปสู่การลงหลักปักฐาน มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในปลายทศวรรษ 2520 โดยความร่วมมือดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในรูปแบบของโครงการวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่ นั่นคือ “โครงการพัฒนาสังคมก่อนการเกษตรกรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่ามลาบรี” ที่ ตามที่คณะกรรมการชาวเขาจังหวัดน่านมีมติให้ดำเนินโครงการพัฒนาชาวมละบริใช้ระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2535 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการชาวเขาส่วนจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2528 ให้มีการพัฒนาและสงเคราะห์ชนกลุ่มน้อยเผ่า “ผีตองเหลือง” ที่อาศัยอยู่ตามเขตบ้านขุนสถาน บ้านห้วยบ่อหอยและบ้านภูเค็ง จำนวน 150 คน ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวมละบริมีความสามารถพัฒนาตนเองตามขั้นตอนวิวัฒนาการทางสังคม (สุชาติ บูรมิตร, 2546)

การดำเนินโครงการจึงเกิดขึ้นภายใต้หลักการและเหตุผลที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวมลาบรีในขณะนั้น มีลักษณะที่หันมาเป็นสังคมพึ่งพาและมีลักษณะที่ใกล้เคียง “สังคมทาส” ที่มีกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเข้ามาฉวยผลประโยชน์ อีกทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ “ผิดขั้นตอนในการวิวัฒนาการทางสังคม เพราะหลักทฤษฏีในการวิวัฒนาการทางสังคมนั้น พฤติกรรมของกลุ่มสังคมล่าสัตว์จะมีวิวัฒนาการมาเป็นกลุ่มกสิกรรม ดังเช่นการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพของชาวเขากลุ่มต่างๆ ในปัจจุบัน จากนั้นจึงวิวัฒนาการเป็นกลุ่มสังคมเมือง ซึ่งเป็นจะเห็นว่า การดำเนินโครงการข้างต้นมีรากฐานแนวคิดในการมองการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวมละบริตามลำดับวิวัฒนาการนิยม

ในด้านกระบวนการทำงาน “โครงการพัฒนาสังคมก่อนการเกษตรกรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่ามลาบรี แบ่งขั้นตอนการดำเนินงานจาก พ.ศ. 2528 – 2535 ออกเป็น 5 ระยะ ดังต่อไปนี้ (ศักรินทร์ ณ น่าน, 2555)

ระยะที่ 1 ( พ.ศ. 2528) จากการสำรวจการกระจายตัวของประชากรชาวมละบริตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อแบ่งเขตพื้นที่การพัฒนาและประสานงานกับกรมป่าไม้เพื่อจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพ โดยใช้งบประมาณของกรมประชาสงเคราะห์ มีการประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อให้ชาวมละบริและชาวเขาบริเวณใกล้เคียงเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการและประสานงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ โดยมีการฝึกอบรมความรู้เบื้องต้นทางภาษาศาสตร์เพื่อให้เจ้าหน้าที่โครงการสามารถเรียนรู้ภาษาของชาวมละบริอันจะมีส่วนสำคัญในการเข้าถึงชาวมละบริได้รวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมทางเทคนิคการทำงานกับมวลชนเพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน มีการสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ ผ่านโครงการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของชาวมละบริจากเอกสารการศึกษาและการลงเก็บข้อมูลในสนาม เพื่อให้เข้าใจประชากรและสภาพสังคม อันมีผลต่อการสอดแทรกความรู้และเทคโนโลยีใหม่รวมถึงการพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม และมีการให้บริการทางด้านอนามัยและสาธารณสุข โดยการให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้เจ็บป่วยชาวมละบริเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในขั้นตอนแรกและให้บริการต่อเนื่องไปจนหมดโครงการ เพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัย ทั้งนี้จะดำเนินการโดยใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรที่ชาวมละบริมีอยู่ควบคู่ไปกับการใช้ยารักษาโรคแผนปัจจุบัน (ศักรินทร์ ณ น่าน, 2555)

ระยะที่ 2 ( พ.ศ. 2529) การให้ความรู้แก่ชาวมละบริถึงประโยชน์ของการตั้งที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง โดยการใช้การพัฒนาทางการเกษตรและสุขอนามัยเป็นสื่อในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการตั้งหลักแหล่ง รวมทั้งการใช้วีธีการทางมานุษยวิทยาในเรื่อง การตีความใหม่ทางวัฒนธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเชื่อที่มีต่อการตั้งถิ่นฐาน มีการให้ความรู้ด้านอาชีพทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นรายบุคคลและรายกลุ่มในด้านการปลูกพืชไร่พืชสวน การเลี้ยงสัตว์ และการอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ การตีเหล็ก การจักสาน การทอผ้า การทำเครื่องปั้นดินเผา มีการดำเนินการจ้างแรงงานชาวมละบริเพื่อใช้ในการเกษตร ทั้งนี้ การที่ชาวมละบริยังไม่รู้จักการเพาะปลูกเพื่อตนเอง แต่สามารถที่จะเป็นแรงงานในภาคการเกษตรแก่ชนกลุ่มอื่น ดังนั้น โครงการจึงใช้วิธีการจ้างแรงงานจากชาวมละบริเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวมละบริ ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรควบคู่ไปด้วยในระหว่างการจ้างแรงงาน มีการดำเนินการก่อสร้างที่ทำการและที่พักจำนวน 3 แห่ง ตามเขตพื้นที่พัฒนาที่ได้แบ่งในระยะที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานและที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่โครงการ มีการสำรวจและสร้างทางลำคลอง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมและการขนส่ง

ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2530) การดำเนินโครงการหมู่บ้านตัวอย่าง โดยคัดเลือกชาวมละบริที่สมัครใจและมีความเข้าใจในการตั้งถิ่นฐาน ภายหลังการให้การศึกษาถึงประโยชน์ของการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งแล้ว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่น ในการมีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งในรูปแบบของหมู่บ้าน มีการส่งเสริมอาชีพในด้านการเพาะปลูกการเลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยเน้นให้สามารถใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในมิติการอนุรักษ์

ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2532) ระยะสุดท้ายของการดำเนินการพัฒนาและเป็นระยะที่ต่อเนื่องจากโครงการหมู่บ้านตัวอย่าง โดยจัดให้ชาวมละบริทั้งหมดเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านที่ได้เตรียมไว้แล้วในโครงการหมู่บ้านตัวอย่าง ประกอบไปด้วย การจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การจัดที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร และที่ดินเพื่อปลูกไม้ใช้สอย ตลอดจนการปรับปรุงแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภค

ระยะที่ 5 (พ.ศ. 2533-2535) เป็นระยะสุดท้ายของโครงการ เจ้าหน้าที่พัฒนาประจำโครงการจะเริ่มถอนตัวออกในการพัฒนา แต่ยังเข้าสู่พื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและการถอนตัวออกจากพื้นที่โดยสิ้นเชิงเมื่อสิ้นสุดระยะที่ 5 ของโครงการ

จากการดำเนินโครงการพัฒนาชาวมละบริที่ห้วยบ่อหอยที่เริ่มในปลายทศวรรษ 2520 ไม่ได้นำไปสู่การที่ชาวมละบริจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาสู่การตั้งเป็นหมู่บ้านที่ถาวรตามที่โครงการวางเป้าหมายเอาไว้ จากนั้นในปลายทศวรรษ 2530 หน่วยงานรัฐจึงได้เริ่มหันไปจัดตั้งพื้นที่โครงการพัฒนาชาวมละบริในพื้นที่แห่งใหม่ในเขตอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน


ยุคที่สองโครงการพัฒนาชาวมลาบรียุคที่สองในช่วงทศรรษ 2530

ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นร่วมกับภาคเอกชนได้ร่วมมือกันในการดึงเอาชาวมละบริซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางวัมฒธรรมที่โดดเด่นมาใช้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวของทั้งจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ที่ (ศักรินทร์ ณ น่าน, 2548)

สำหรับโครงการลงหลักปักฐานชาวมละบริในจังหวัดแพร่นั้น เกิดขึ้นมิชชันนารีและหน่วยงานภาครัฐพยายามรวบรวมชาวมละบริให้มาอาศัยอยู่รวมกัน โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นในช่วง พ.ศ. 2536 จังหวัดแพร่พยายามให้ชาวมละบริมีที่อยู่อาศัยถาวร จากข้อมูลการสำรวจของจังหวัดแพร่พบว่า บริเวณที่ชาวมละบริมักอยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน ได้แก่ บ้านห้วยฮ่อม ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวางและบ้านครกหนานทา ตำบลห้วยโรง อำเภอร้องกวาง ดังนั้น ทางจังหวัดแพร่จึงเห็นควรพัฒนาให้ชาวมละบริกลุ่มนี้มาอาศัยอยู่ที่บ้านครกหนานทาเป็นการถาวรก่อนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต โดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแพร่ได้ประสานงานติดต่อขออนุมัติงบประมาณจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อใช้เป็นกองทุนและอนุรักษ์ชาวเขาเผ่า “ผีตองเหลือง” โดยมีลักษณะโครงการที่ต้องการให้ชาวมละบริเข้ามาอยู่เป็นลูกจ้างของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา (กรุงเทพธุรกิจ, 2536)

สำหรับมิชชันนารีที่เรียกว่ากลุ่ม “New Tribes Mission” นำโดยนาย Eugene Robert Long ชาวสหรัฐอเมริกา ในชื่อภาษาไทยเป็นที่รู้จัก ในชื่อ นายบุญยืน สุขเสน่ห์ พร้อมทั้งครอบครัวได้เข้ามาเมืองไทยในช่วงปลาย พ.ศ. 2521 จากนั้นจึงเดินทางมาจังหวัดน่าน โดยมีความตั้งใจสำรวจชาวมละบริเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทั้งนี้เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดน่านยังประสบปัญหาคอมมิวนิสต์ เขาจึงไม่ได้รับอนุญาตจากทางกองทัพให้เข้าไปทำงาน ต่อมาเมื่อเขาทราบว่าจังหวัดแพร่มีชาวมละบริอยู่ที่บ้านปากห้วยอ้อย ครอบครัวของเขาจึงเข้าป่าเพื่อไปอยู่อาศัยกับชาวมละบริ โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาในจังหวัดแพร่ในช่วง พ.ศ. 2524 จนกระทั่งกลางทศวรรษ 2530 พบว่า การดำเนินงานพัฒนาของมิชชันนารีเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะชาวมละบริยังคงอพยพและออกไปเป็นแรงงานรับจ้างชาวม้งในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มิชชันนารีประสบความยุ่งยากในงานเผยแพร่ศาสนา จำต้องหันมาเน้นงานด้านพัฒนาและสงเคราะห์ชาวมละบริไปพร้อมกันนั้น ชาวมละบริก็ได้เริ่มให้ความไว้วางใจ จึงมาอยู่รวมกลุ่มกันในพื้นที่โครงการของมิชชันนารีในช่วง พ.ศ. 2531 มากขึ้น อย่างไรก็ตาหลายครั้งที่ชาวมละบริมีการเคลื่อนย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ๆ และเริ่มหันมาอยู่รวมกันอีกในช่วงปลายทศวรรษ 2530 (วิสุทธิ์ ศรีวิศาล, 2538) ดังนั้น การลงหลักปักฐานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาชาวมละบริที่บ้านห้วยฮ่อมจึงอาจเริ่มนับที่ช่วงปลายทศวรรษ 2530 ตามการจัดตั้งพื้นที่ของคณะมิชชันนารีที่บ้านห้วยฮ่อม ในขณะที่รัฐพยายามจัดตั้งพื้นที่รวบรวมชาวมลาบรีควบคู่ไปกับมิชชันนารี

ในระยะแรก (พ.ศ. 2531) ครอบครัวมิชชันนารีได้ขอซื้อที่ดินจากชาวม้งบ้านห้วยฮ่อมประมาณ 500 กว่าไร่ เพื่อจัดทำโครงการเผยแพร่ศาสนาและพัฒนาชาวมละบริ จนกลายเป็นเสมือนพื้นที่ที่สามารถรวบรวมชาวมละบริที่มีการลงหลักปักฐาน ตามที่มีการบันทึกไว้ในทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2538 ระบุว่า ชาวมละบริตั้งถิ่นฐานในกลุ่มบ้านต่างๆ ได้แก่ หมู่ 5 บ้านผามุง หรือในชื่อ “บ้านบุญยืน” เป็นชื่อที่ถุกใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนชื่อที่เป็นทางการ คือ บ้านปากห้วย ที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านห้วยฮ่อมบน

ต่อมา ใน พ.ศ. 2541 ได้มีโครงการพัฒนาชาวมละบริในอำเภอบ้านหลวง และได้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างแนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยมกับอคติทางชาติพันธุ์หน่วยงานรัฐขจึงได้มีความพยายามเจราจากับชาวบ้านในพื้นที่แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้รัฐมีการจัดหาพื้นที่สร้างโครงการใหม่ในพื้นที่บ้านห้วยหยวกและรวบรวมให้ชาวมละบริมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่ครอบครัวบุญยืนที่ย้ายมาร่วมโครงการพัฒนาในจังหวัดน่าน เมื่อ พ.ศ. 2540 ได้พาชาวมละบริอีกส่วนหนึ่งกลับไปอยู่ที่บ้านห้วยฮ่อม (ศักรินทร์ ณ น่าน 2548; สุชาติ บูรมิตร 2546) จากนั้นในช่วง พ.ศ. 2551-2552 ได้มีชาวมลาบรีบางส่วนจากห้วยฮ่อมย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและบ้านห้วยหยวก

ปัจจุบัน แม้ว่า การเคลื่อนย้ายของชาวมลาบรีในบ้านห้วยฮ่อมยังคงมีอยู่ แต่เกิดขึ้นอย่างจำกัดส่วนใหญ่มักเป็นการเคลื่อนย้ายของบางครัวเรือนที่อพยพไปอยู่อาศัยกับญาติพี่น้องหรือเป็นแรงงานที่บ้านห้วยหยวกและบ้านท่าวะ ในขณะที่การย้ายบ้านแทบไม่เกิดขึ้นเพราะบ้านเกือบทั้งหมดได้นำเอาอิฐบล็อกมาใช้แทน ทำให้ยากในการรื้อถอนและก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ชาวมละบริบ้านห้วยฮ่อมจึงเป็นเพียงพื้นที่ดียวที่สามารถประกอบอาชีพนอกภาคการเกษตรเป็นอาชีพหลักได้เช่น การผลิตเปลทอมือ ภายใต้ชื่อตราสินค้า “Mlabri-hammock” เพื่อส่งขายให้กับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ชาวมละบริพื้นที่อื่นยังคงต้องพึ่งพาการผลิตในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก

สำหรับโครงการพัฒนาชาวมละบริในจังหวัดน่านนั้น หน่วยงานราชการหันมาจัดทำโครงการพัฒนาชาวมละบริในช่วง พ.ศ. 2537-2538 ที่อำเภอบ้านหลวง จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 โครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากภาคีเครือข่ายหลากภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนเข้ามาร่วมในโครงการมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาและอนุรักษ์ชนเผ่าตองเหลือง (Yellow Leave Development and Preservation Center) ขึ้นในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมประมาณ 50 ไร่ครอบครัวบุญยืน ซึ่งเป็นมิชชันนารี จึงได้ย้ายจากจังหวัดแพร่เพื่อเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าวนี้ มีการสร้างกระท่อมให้กับชาวมละบริ จำนวน 13 หลังคาเรือน ประชากร 67 คน จัดแบ่งพื้นที่และแบ่งงานให้ทำเพื่อให้ทุกคน “ไม่ว่างงาน” เช่น ถางหญ้า ปลูกผักสวนครัว ปลูกไม้ยืนต้น ส่วนเด็กจะมีการสอนหนังสือภาษาไทย (อำเภอบ้านหลวง, 2540)

หลังจากที่โครงการดังกล่าวนี้ได้รวบรวมชาวมละบริเข้ามาอยู่ในพื้นที่และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2537 สิ้นสุดใน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นการดำเนินการระยะ 5 ปีเท่านั้น เนื่องจากเกิดความไม่ลงรอยกันในพื้นที่ระหว่างหลายกลุ่มในประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชาวมละบริแม้ว่าหน่วยงานของรัฐมีความพยายามคลี่คลายสถานการณ์ แต่ไม่สำเร็จ จนทำให้โครงการพัฒนาต้องยุติลง ครอบครัวบุญยืนจึงย้ายกลับบ้านห้วยฮ่อม ส่วนชาวมลาบรีได้อพยพแยกกันออกเป็นหลายกลุ่มในหลายพื้นที่ เช่น บ้านห้วยฮ่อม บ้านห้วยหยวก (ศักรินทร์ ณ น่าน, 2548; สุชาติ บูรมิตร, 2546)


ยุคที่สามโครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่ยุคที่สามในทศวรรษ 2540

หลังจากโครงการพัฒนาชาวมละบริที่อำเภอบ้านหลวงปิดตัวลงท่ามกลางความขัดแย้งของหลายกลุ่มนั้น ในต้นทศวรรษ 2540 หน่วยงานของรัฐได้มีความพยายามเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาชาวมละบริอีกครั้ง โดยมีการเลือกพื้นที่ไว้หลายแห่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2542 บ้านห้วยหยวกได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการพัฒนาชาวมละบริ ตามที่มีการสำรวจพบว่า มีชาวมละบริหลายครอบครัวมาทำงานรับจ้างชาวม้งในพื้นที่ดังกล่าวรัฐจึงพยายามรวบรวมชาวมละบริมาอยู่รวมกันเป็นหย่อมบ้านและโครงการนี้ก็ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (ศักรินทร์ ณ น่าน, 2548; สุชาติ บูรมิตร, 2546)

ดังนั้น การลงหลักปักฐานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาชาวมละบริที่บ้านห้วยหยวกจึงอาจเริ่มนับที่ช่วง พ.ศ. 2542 ในขณะที่ชาวม้งบ้านห้วยหยวกเริ่มตั้งชุมชนแห่งนี้เมื่อราว พ.ศ. 2500 หลังต้องหนีภัยสงครามในแนวชายแดนเข้ามาอยู่ในบริเวณดอยภูเค็งและได้โยกย้ายจากดอยภูเค็งที่เป็นบ้านเดิมลงมาตั้งอยู่ที่ในหุบเขาเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ. 2518 จน พ.ศ. 2534 บ้านห้วยหยวกจึงได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ

สำหรับการลงหลักปักฐานในช่วงแรกของชาวมละบรินั้น ทางจังหวัดน่านได้นำเจ้าหน้าที่มาช่วยสร้างบ้านเพื่อให้ชาวมละบริได้อยู่อาศัยพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวหมู่บ้านห้วยหยวกประมาณ 800 เมตร ตามที่ทางการขอให้ชาวม้งบริจาคพื้นที่ไร่เหล่าของชาวม้งบ้านห้วยหยวก ประมาณ 15 ไร่เพื่อใช้เป็นพื้นที่ตั้งชุมชนมละบริและพื้นที่เนินเขาที่ติดกันประมาณ 150 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ป่าใช้สอยสำหรับชาวมละบริ ส่วนที่ตั้งชุมชนได้มีการจัดสร้างบ้านโดยมีลักษณะตัวบ้านสร้างจากไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยหญ้าคา ตัวบ้านมีชั้นเดียวสร้างอยู่ติดพื้นดินและไม่มีหน้าต่าง นอกจากนี้ยังมีการจัดวางระบบประปาภูเขาโดยใช้ลำห้วยสายหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน มีถังเก็บน้ำและสร้างห้องน้ำไว้ในหลายจุดสิ่งเหล่านี้สร้างแยกออกมาจากตัวบ้านเรือน

เมื่อชาวมละบริเริ่มอาศัยอยู่รวมกันมากขึ้นพบว่า ชาวมละบริบางส่วนได้ออกไปอาศัยในเพิงพักที่สร้างขึ้นตามไร่ชาวม้งในช่วงที่เป้นแรงงานรับจ้างและจะกลับมาพักที่ในตัวชุมชนที่เป็นที่ตั้งโครงการพัฒนา นอกจากนี้ชาวมละบริบางครัวเรือนยังมีการเคลื่อนย้ายในสัดส่วนน้อย โดยจะออกไปอยู่กับญาติพี่น้องและหางานทำงานหมู่บ้านอื่น เช่น บ้านห้วยฮ่อมและบ้านท่าวะ บางรายที่อยู่อาศัยในชุมชนที่ตั้งใหม่มีการรื้อบ้านเดิมแล้วย้ายไปสร้างบ้านหลังใหม่ที่ยังคงอยู่ในบริเวณที่ตั้งชุมชนใหม่

ต่อมาใน พ.ศ. 2549 หน่วยงานหลายภาคส่วนได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาชาวมละบริอย่างเข้มข้น นำโดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้มีการขยายพื้นที่ชุมชนเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดตั้งสถานที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาส่งเสริมชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ และอาชีพเสริมอื่น ตลอดจนการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน ใน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนบ้านห้วยหยวกอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดการวางแนวทางการพัฒนาชุมชนชาวมละบริจากหลายฝ่าย โดยมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ชุมชนครั้งใหญ่ นับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ หลังการตั้งชุมชนชาวมละบริบ้านห้วยหยวกใน พ.ศ. 2546 มีบ้านจำนวน 20 หลังคาเรือน ต่อมาใน พ.ศ. 2553 มีจำนวนบ้านเพิ่มเป็น 30 หลังคาเรือน


ยุคที่สี่โครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่เปิดเพิ่มล่าสุดในต้นทศวรรษ 2550

โครงการพัฒนาชาวมละบริที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง พ.ศ. 2550 มีจำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ 1) ชาวมละบริบ้านท่าวะ และ2) ชาวมละบริศูนย์ภูฟ้าพัฒนา รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการมีดังนี้

1) ชาวมละบริบ้านท่าวะ

ในช่วง พ.ศ. 2550 ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาเพื่อให้ชาวมละบริมีการตั้งถิ่นฐานถาวร เนื่องจากพื้นที่นี้มีชาวมละบริเข้ามาหาของป่าล่าสัตว์และเดินทางเคลื่อนย้ายไปยังหมู่บ้านชาวไตยวนมานานแล้ว ชาวมละบรินำของป่ามาแลกของบ้าน และยังพัฒนาเป็นแรงงานรับจ้างในการเพาะปลูก สำหรับชาวบ้านท่าวะ ได้รับอนุญาตตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2522

ก่อนหน้าการเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ที่บ้านท่าวะเมื่อ พ.ศ. 2550 นั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 2540s หน่วยงานของรัฐได้พยายามจัดสรรที่อยู่ให้ถวระเพื่อให้ชาวมละบริที่บ้านท่าวะยุติการเคลื่อนย้าย โดยพยายามรวบรวมให้มาอยู่ในเนินเขาบริเวณหลังโรงเรียน ช่วงนั้นได้เกิดการระบาดของโรคอุจาระร่วง จึงต้องโยกย้ายไปยังพื้นที่ดำเนินโครงการอื่นแทน ในช่วงของการเกิดโรคระบาดทำให้ชาวมละบริมีความสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค อาจเกิดจากการที่หน่วยงานรัฐพยายามรวบรวมเข้ามาใกล้หมู่บ้าน ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ใน พ.ศ. 2546 ยังคงพบว่า ชาวมละบริแต่ละครอบครัวที่เป็นแรงงานรับจ้างชาวบ้านท่าวะจะแยกตัวมาตั้งเพิงพักของตนในพื้นที่เพาะปลูกของนายจ้าง

การหันมาสร้างบ้านรวมกันอยู่เป็นกลุ่มของชาวมละบริจากหลายครัวเรือน จึงพึ่งที่เกิดขึ้นหลังโครงการพัฒนาใน พ.ศ. 2550 ทางการได้จัดตั้งพื้นที่โครงการพัฒนาชาวมละบริขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลจากตัวหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร สำหรับชุมชนที่สร้างใหม่นี้ เดิมเป็นพื้นที่สวนมะขามของผู้ใหญ่บ้านท่าวะ ซึ่งองค์การบริการส่วนตำบลสะเอียบได้เข้ามาจัดสร้างบ้านคอนกรีตขึ้น 1 หลัง เพื่อให้ชาวมละบริเข้ามาอาศัยอยู่ ปัจจุบัน มีเพียง2 ครอบครัวที่อยู่อาศัยในบ้านคอนกรีต ในขณะชาวมลิบริอีกจำนวน 7 ครอบครัวได้อาศัยอยู่บ้านไม้ชั้นเดียว

2) ชาวมละบริศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

ศูนย์ภูฟ้ามีการจัดตั้งในช่วง พ.ศ. 2542 ในฐานะโครงการพัฒนาในพื้นที่เพื่อความมั่นคงทางการทหาร การลงหลักปักฐานในศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2551 – 2552 แม้ว่าพื้นที่นี้จะมีชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในหลายหมู่บ้านที่แวดล้อม แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ได้พัฒนาปฏิสัมพันธ์กับชาวมละบริที่ย้ายเข้ามาใหม่ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในศูนย์ภูฟ้าพัฒนาจึงเป็นคนแปลกหน้าระหว่างกันภายหลังโครงการลงหลักปักฐานโดยรัฐ ก่อนที่จะมาอยู่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาใน พ.ศ. 2551 ได้มีกลุ่มเยาวชนชาวมละบริ ประมาณ 10 คนเข้ามาฝึกอบรมอาชีพ

ปัจจุบันชาวมละบริในประเทศไทย มีการตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ภายใต้นโยบายป่าไม้เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อชาวมละบริซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้ายได้ถูกจำกัดลง ประกอบกับการเข้ามาร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาโดยหน่วยงานรัฐ โครงการเฉพาะกิจ และองค์กรทางศาสนา ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาหลายโครงการ ในพื้นที่บ้านห้วยหอย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน พื้นที่ในอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ทั้งสองโครงการได้ปิดตัวไปแล้ว ส่วนโครงการที่ยังมีการดำเนินการอยู่นั้น ได้แก่ บ้านห้วยหยวก จังหวัดน่าน บ้านท่าวะ จังหวัดแพร่ และบ้านห้วยฮ่อม จังหวัดแพร่

จากการสำรวจข้อมูลใน พ.ศ. 2553 ในพื้นที่สำรวจ 5 แห่ง ได้แก่ บ้านห้วยหยวก บ้านผาสุก (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา) บ้านสันติสุข บ้านห้วยฮ่อม และบ้านท่าวะ มีจำนวนประชากรชาวมลาบรี รวมทั้งสิ้น 356 คน (ศักรินทร์ ณ น่าน, 2555) ต่อมาจากการสำรวจข้อมูลประชากรใน พ.ศ.2559/2560 พบว่ามีประชากรประมาณ 396 คน จำนวน 87 ครัวเรือน (โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย, มปป. )

การดำรงชีพ

การดำรงชีพของชาวมละบริภายใต้บริบทใหม่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเก็บของป่าล่าสัตว์เท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ชาวมละบริพึ่งพิงการผลิตหลากหลายรูปแบบมาหลายทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะในปัจจุบัน มีความหลากหลายของการผลิตมากยิ่งขึ้น (Sakkarin Na Nan, 2009) เช่น การเก็บของป่าล่าสัตว์ การเพาะปลูกพืชเพื่อการยังชีพและการพืชเศรษฐกิจเพื่อขายส่งตลาด การเลี้ยงสัตว์ การเป็นแรงงานรับจ้าง การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยในส่วนนี้ จะนำเสนอเฉพาะการผลิตที่มีบทบาทในสังคมชาวมละบริ คือ การเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ และการเป็นแรงงานรับจ้างกลุ่มชาติพันธุ์ภายนอก ในขณะที่การเก็บของป่าล่าสัตว์แม้ว่ายังมีบทบาทเล็กน้อย แต่ไม่ใช่การผลิตหลักในปัจจุบัน ดังที่ Rischel เรียกรูปแบบการใช้ชีวิตของ ชาวมละบริว่า “Part-time hunter-gatherers” (Richel, 1995: 36)

การทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านวิถีการผลิตและการยังชีพของชาวมละบริในบริบทการลงหลักปักฐานปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องพิจารณาการผลิตและการบริโภคของชาวมละบริในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่ปรากฎผ่านงานศึกษา 2 เรื่อง คือ งานของสุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ (2531) และงานของ Trier (2008) ที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงในการเก็บหาของป่าล่าสัตว์และการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ชาวมละบริหามาได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ภายนอก สิ่งที่ชาวมละบรินำมาแลกเปลี่ยนกับชาวม้งในอดีต มักเป็นน้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง หวาย ตะกร้า เสื่อที่สานจากหวาย งาช้าง นอแรด ดีหมี หัวมัน สัตว์ป่า หน่อไม้ สมุนไพร เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งของจากชาวม้ง ได้แก่ เกลือ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เหล็ก ยาสูบ ไม้ขีดไฟ ขณะที่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา สิ่งที่ชาวมละบรินำมาแลกเปลี่ยนกับชาวม้ง คือ แรงงานรับจ้าง ตะกร้า เสื่อที่สานจากหวาย เพื่อแลกเปลี่ยนกับ หมู ข้าวสาร เกลือ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สีย้อมผ้า มีดพร้า ไม้ขีดไฟและไฟแช๊ก ไฟฉาย ยาสูบ ยารักษาโรค ตุ้มหู นาฬิกา แหวน กรรไกร ลูกปัด สร้อยคอ กำไลข้อมือ ปลากระป๋อง ขนมหวาน วิทยุ สบู่ แชมพู ช้อน จาน หม้ออะลูมิเนียม เหล็กสามขาสำหรับเตาหุงต้ม และเงิน

การที่ชาวมละบริมีความต้องการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่มีความหลากหลายมากขึ้น แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในรสนิยมของการบริโภคสินค้าที่รับอิทธิพลจากภายนอกเพิ่มขึ้นอาจกล่าวได้ว่า ชาวมละบริได้เข้าสู่การบริโภคสินค้าจากตลาดทุนนิยมผ่านการติดต่อกับชาวม้งก่อนที่ภาครัฐและองค์กรเผยแพร่ศาสนาจะเริ่มเข้ามาดำเนินโครงการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่บ้านห้วยบ่อหอยที่เริ่มใน พ.ศ. 2528 นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างการทำงานแลกกับสิ่งของ รวมไปถึงอาหาร ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การจ่ายค่าจ้างแรงงานชาวมลาบรีด้วยการใช้เงินตรา (สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ ,2531)

สำหรับงานของ Jesper Trier (2008: 57) ที่ได้ติดตามศึกษาชาวมละบริ ในประเทศไทยหลายกลุ่มด้วยกัน ที่สะท้อนให้เห็นการผลิตและการบริโภคในอดีตก่อนการดำเนินโครงการลงหลักปักฐานโดยรัฐ การเปลี่ยนแปลงในด้านการผลิตและการบริโภคอาหารของชาวมละบริ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970s-1990s พบว่า เนื้อสัตว์ที่มาจากป่าลดลงร้อยละ 12-27 พืชที่บริโภคส่วนหัวใต้ดินและเถาลดลงร้อยละ 24-44 พืชผักและผลไม้ลดลงร้อยละ 10-16 ในขณะที่การบริโภคอาหารและสินค้าจากภายนอกกลับมีทิศทางเพิ่มขึ้น ดังที่การบริโภคข้าวจากเดิมร้อยละ 9 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ชาวมละบริ มีต่อสังคมภายนอกโดยเฉพาะกับชาวม้งและตลาดทุนนิยมมากขึ้น

ในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ได้มีลักษณะการเปลี่ยนผ่านแบบเดียวกันในทุกพื้นที่ แต่ชีวิตแบบลงหลักปักฐานสำหรับชาวมละบริ ภายใต้สิ่งแวดล้อมของพื้นที่ตั้งใหม่ได้แสดงถึงวิถีชีวิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ที่เรียนรู้ในการผลิตที่หลากหลายมากขึ้น การผลิตของแต่ละพื้นที่ มีรายละเอียดดังนี้

ชาวมลาบรีที่บ้านห้วยหยวก

ชุมชนชาวมละบริตั้งอยู่บนเนินเขาที่อยู่เหนือตัวชุมชนที่เป็นพื้นที่ป่าใช้สอยจากเดิมชาวมละบริ นอกจากที่ดินขนาด 150 ไร่ที่ตัวแล้ว จากที่เคยปลูกข้าวให้ตนเองนอกไปจากการทำงานรับจ้างปลูกให้กลุ่มชาติพันธุ์ภายนอก เช่น ชาวม้งปัจจุบันชาวมละบริเรียนรู้การเพาะปลูกพืชทั้งเพื่อการบริโภคของตนเองและเพื่อจำหน่าย โดยชาวมละบริที่นี่เข้าถึงที่ดินเพื่อการเพาะปลูกพืชใน 2 รูปแบบคือ ที่ดินที่เป็นของชาวมละบริเองกับที่ดินที่เป็นของนายจ้างชาวม้งแบ่งให้ชาวมละบริยืมไปใช้

จากข้อมูลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน (2544b) ระบุว่า พ.ศ. 2543 ชาวมละบริจำนวน 5 ครอบครัวได้ปลูกข้าวไร่ในที่ดินที่ชาวม้งที่แบ่งให้หลังการเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตข้าวเปลือกจำนวน 3,200 กิโลกรัม จากนั้นใน พ.ศ. 2544 ทางการพยายามส่งเสริมให้ชาวมละบริหันมาปลูกข้าวไร่เพื่อเก็บไว้บริโภคเป็นปีที่ 2 ในครั้งนี้มีชาวมละบริจำนวน 5 ครอบครัว ใช้ที่ดินรวม 10 ไร่ ที่ชาวม้งแบ่งให้ปลูกข้าว หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ชาวมละบริได้ข้าวเปลือกในปริมาณ 3,450 กิโลกรัม เป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเพาะปลูกใน พ.ศ. 2543

การเข้าถึงที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินในรูปแบบที่ขอยืมมาจากชาวม้ง โดยชาวมละบริบางรายเมื่อเข้าถึงที่ดินได้แล้ว เลือกปลูกเฉพาะพืชเงินสดมากกว่าการปลูกข้าวไร่ที่เป็นพืชอาหาร สะท้อนถึงระบบเงินตราที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตในบริบทใหม่ การผลิตและการบริโภคของชาวมละบริในทศวรรษนี้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงกลางทศวรรษ 2540 ใน พ.ศ. 2546 พบว่า ชาวมละบริที่หมู่บ้านนี้มีการซื้อรถจักรยานยนต์มือสอง 1 คัน ในขณะที่มีชาวมละบริจำนวนไม่มากนักที่สามารถซื้อรถจักรยานมาใช้ นอกจากนี้ ชาวมละบริยังมีรายจ่ายที่สำคัญ สำหรับค่าอาหารที่จะต้องใช้เงินสดซื้อมาจากพ่อค้า-แม่ค้าชาวม้งบ้านห้วยหยวกที่นำอาหารสดเข้ามาขายในตัวชุมชน และบางครั้งก็ยังมีพ่อค้าม้งจากต่างหมู่บ้าน

จะเห็นว่า ความสอดคล้องของการหันมาผลิตพืชเงินสดที่เพิ่มสูงขึ้นและการบริโภคสินค้าในปัจจุบันอย่างมีนัยยะสำคัญ พ.ศ. 2553 จากชาวมละบริบ้านห้วยหยวก จำนวน 31 หลังคาเรือน ซื้อโทรศัพท์มือถือมาใช้แล้ว 12 เครื่อง โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทางการไฟฟ้าได้เข้ามาติดตั้งในช่วง พ.ศ. 2548 สำหรับยานพาหนะมีรถจักรยานยนต์มีทั้งหมด 18 คัน ชาวม้งที่เป็นคริสต์เตียนจากสหรัฐอเมริกาบริจาครถยนต์สี่ล้อกลางให้มาอีก 1 คัน ชาวมลาบรียังซื้อเครื่องพ่นยามาใช้ในการเกษตรอีก 3 เครื่อง

ชาวมลาบรีในหมู่บ้านนี้ยังประสบกับปัญหาหนี้สิน โดยเมื่อเฉลี่ยหนี้ภาคครัวเรือนแล้ว ประมาณว่า แต่ละครัวเรือนมีหนี้สินที่เกิดจากการผลิตข้าวโพดประมาณ 10,000 บาท และหากเป็นเช่นนี้ เมื่อดูจากจำนวนรายได้ที่แต่ละครัวเรือนได้รับจากจากการผลิตพืชเงินสดเหล่านี้ บางครัวเรือนอย่างนายเซ้งก็อยู่ที่ 9,000 บาทนั้น รายได้จากการผลิตข้าวโพดที่มีการผลิตหนึ่งฤดูกาลปลูกต่อปีจึงไม่ได้มีมากแต่อย่างใด ไม่แปลกที่ครัวเรือนของเซ้ง จะเป็นหนึ่งในอีกหลายครัวเรือนยากจนในชุมชน ที่ยังต้องเลี้ยงชีพด้วยการทำงานรับจ้างชาวม้งเป็นหลัก แต่ครัวเรือนเซ้งก็ยังคงมีการใช้ที่ดินเพื่อการผลิตแบบเพาะปลูกอยู่บ้าง ในขณะที่ครัวเรือนยากจนอย่างที่สุดจะเลือกไม่ทำการเพาะปลูกเลยเพราะทำให้มีงานหนักมากขึ้น เนื่องจากมีหนี้สินกับชาวม้งหลายคน ดังนั้น ครัวเรือนแบบนี้จึงเลือกพึ่งพิงนายจ้างที่มีการจัดหาอาหารให้ในระหว่างมาทำงานรับจ้าง

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ที่เกิดขึ้นภายใต้การส่งเสริมให้ชาวมละบริมีการลงหลักปักฐานนั้น พบว่า ใน พ.ศ. 2543 ชาวมละบริบ้านห้วยหยวกได้รับการส่งเสริมโดยภาครัฐให้เลี้ยงสัตว์หลายชนิด ได้แก่ ไก่ เป็ดและปลา ทั้งนี้เป็นไปพร้อมกับการส่งเสริมการปลูกพืช เช่น ผักสวนครัว ข้าวไร่และกล้วย (ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน 2544a) ใน พ.ศ. 2544 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน (2544b) ส่งเสริมให้เลี้ยงหมูแบบขังคอก การส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ถือเป็นภารกิจหนึ่งในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ต่อมา พ.ศ. 2545 ชาวมละบริยังคงได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในการเลี้ยงสัตว์ โดยมีการจัดหาสัตว์มาให้เลี้ยง ได้แก่ หมู 8 ตัว ไก่ 105 ตัว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการปลูกข้าวไร่ที่มีชาวม้ง 6 รายแบ่งที่ดินรวม 16 ไร่ให้ชาวมละบริ และทางการส่งเสริมการปลูกเผือกบริเวณสองข้างทางในเนื้อที่ 2 งาน ปลูกผักสวนครัวและไม้ผลในบริเวณชุมชน

นอกจากหน่วยงานรัฐบาลแล้ว ในช่วง พ.ศ. 2546 องค์กรไฮเฟอร์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เข้ามาดำเนินงานพัฒนาชุมชนชาวมลาบรีที่บ้านห้วยหยวก โดยเจ้าหน้าที่มาสอนเพาะเห็ดฮังการีและสอนการเลี้ยงปลาดุกโดยทำการขุดบ่อน้ำ 3 แห่งในพื้นที่ชุมชนแล้วให้ชุมชนช่วยกันเลี้ยง แต่ก็ใช้เพียงปีเดียวเท่านั้น โดยหลังจากองค์กรถอนตัวออกไปแล้ว บ่อปลานี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้และถูกปล่อยให้หญ้าขึ้นปกคลุมและหายไปในที่สุด (ศักรินทร์ ณ น่าน 2548)

ในปลาย พ.ศ. 2549 การดำเนินงานพัฒนาชาวมลาบรีบ้านห้วยหยวกในด้านการปศุสัตว์มี ความเข้มข้นมากขึ้น นั่นเพราะโครงการแห่งนี้ได้รับความสนพระทัยจากสมเด็จพระเทพฯ บ้านห้วยหยวกจึงถือเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาชาวมลาบรีแห่งแรกที่มีการเสด็จเยือนของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของไทย ดังนั้น จึงมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาทำงานถวายและมีการเตรียมการก่อนที่จะมีการเสด็จจริงใน พ.ศ. 2550 ดังที่ หนังสือพิมพ์แนวหน้า รายงานว่าใน พ.ศ. 2549 ชาวมละบริที่บ้านห้วยหยวกแห่งนี้ด้รับการสนับสนุนสัตว์เลี้ยง ได้แก่ กระบือเพศผู้ 1 ตัว จากสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์พะเยา กระบือเพศเมีย 5 ตัว จากธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ และสุกรเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 15 ตัว จากสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์แพร่ โดยมอบหมายให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ดูแลให้คำแนะนำให้ความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ในปีดังกล่าว ชาวมละบริมีการเลี้ยงกระบือ 12 ตัว สุกรลูกผสมพันธุ์ลาร์จไวท์ 15 ตัว สุกรพันธุ์พื้นเมืองและลูกผสมหมูป่า 11 ตัว แกะ 6 ตัว ไก่พื้นเมือง 300 ตัว (แนวหน้า 2549 )

ใน พ.ศ. 2552 จังหวัดน่านได้เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชนเผ่ามลาบรี (ตองเหลือง) ในการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานมอบพันธุ์ข้าวไร่ ปลาดุก กบ และพันธุ์พืชสวน ให้แก่ชาวมละบริ ตามโครงการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชนเผ่ามลาบรี หรือชนเผ่าตองเหลือง ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยส่งเสริมการประกอบอาชีพ เช่น การให้เลี้ยงสุกร กระบือ ไก่ สัตว์น้ำ และการปลูกพืชไว้บริโภคในครัวเรือน สำหรับการจัดสรรที่ดินทำกิน จังหวัดน่านยังได้ส่งเสริมให้หันมาปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ โดยชาวมละบริมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 51 ไร่เป็นการเพาะปลูกข้าวเพื่อการบริโภค และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือจากการบริโภคให้ไปจำหน่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว การดำเนินการปรับปรุงดินเตรียมเพาะปลูกได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมเริ่มดำเนินการเพาะปลูก โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดน่านสนับสนุนพันธุ์ข้าวจำนวน 1,000 กิโลกรัม ปุ๋ย จำนวน 1,000 กิโลกรัม ประมงจังหวัดน่านสนับสนุนพันธุ์ปลาดุก จำนวน 1,000 ตัว และพันธุ์กบ 200 ตัว และศูนย์พืชสวนน่านยังได้สนับสนุนพันธุ์ผักหวาน เผือก ไผ่ซางและชะอม ให้เพาะปลูกเพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือนอีกด้วย (สุนันทา สุขสุมิตร 2552)

นอกจากการยังชีพด้วยการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวมละบริที่บ้านห้วยหยวกยังมีการยังชีพด้วยการทำงานรับจ้างให้กับชาวม้ง โดยการรับจ้างทำงานในไร่จะเป็นไปตามรอบการผลิตของชุมชนชาวม้งบ้านห้วยหยวก ที่ค่าแรงที่ได้รับนั้น หากเป็นในช่วงก่อนหน้านี้ประมาณ 20 กว่าปี ชาวม้งก็มักนำเอาสิ่งของและอาหารมาเป็นค่าแรงงาน ดังที่พบว่า บางครั้งนายจ้างจะนำหมูมาให้แทนค่าจ้างเพื่อให้แรงงานชาวมละบริมาอยู่ช่วยทำงานในไร่ตลอดทั้งปี นั่นก็เพราะในขณะนั้น ชาว มลาบรียังไม่รู้จักการใช้เงิน แต่ในช่วง พ.ศ. 2546 พบว่า นอกจากอาหารที่นายจ้างชาวม้งจะจัดหาให้กับแรงงานในระหว่างที่มาทำงานในไร่นั้น ค่าจ้างแรงงานที่ชาวม้งจ่ายจะให้กับชาวมลาบรีจะอยู่ที่คนละ 50-80 บาทต่อวัน และสำหรับงานเหมาทั้งปีจะอาจอยู่ที่ประมาณคนละ 5,000 บาท แต่ใน พ.ศ. 2553 พบว่า ค่าแรงได้มีการขึ้นเป็นคนละ 120-150 บาทต่อวันแล้ว แต่นายจ้างก็ยังจัดหาอาหารให้แรงงานด้วย โดยขึ้นอยู่กับอัตภาพของนายจ้างแต่ละราย บางรายอาจจัดให้แต่เพียงข้าวอย่างเดียว แต่ให้แรงงานชาวมละบริไปหากับข้าวเอง

ในแถบหุบเขาที่บ้านห้วยหยวกตั้งอยู่นี้ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไผ่เกือบทั้งหมด หรือก็คือ พื้นที่ไร่เหล่า สภาพพื้นที่หุบเขาจึงมีลักษณะเป็นแปลงเพาะปลูกพืชที่ตัดสลับไปกับป่าเหล่าอันเกิดจากการปล่อยให้แปลงเพาะปลูกพักตัวตามระบบการเพาะปลูกแบบย้ายที่ของชาวม้ง และในฐานะแรงงานรับจ้างแล้วชาวมละบริมีงานในไร่ที่อาจแยกออกเป็นงาน 3 ประเภท ตามชนิดของพืชที่ชาวม้งปลูก ได้แก่ ข้าวไร่ที่เป็นพืชเพื่อการบริโภคตลอดปี ข้าวโพดที่เป็นพืชเพื่อการบริโภคและการค้า และขิงที่เป็นพืชเพื่อการค้าอย่างเดียว

งานในไร่ยังสามารถแบ่งออกตามการเจริญเติบโตของพืชด้วยเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ช่วงการเตรียมพื้นที่เพื่อเพาะปลูกเมล็ด ในช่วงปลายฤดูแล้งของทุกปี ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะมีการตัด ฟัน ถาง โค่น ตากและเผาต้นไม้เพื่อเปิดพื้นที่ให้เตียนโล่ง งานช่วงนี้จะเป็นงานหนักมาก ครัวเรือนชาวมละบริส่วนใหญ่จึงทิ้งชุมชนไปนอนค้างตามไร่ชาวม้งหลายอาทิตย์ เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวและข้าวโพดด้วย นับจากถาง เผาเพื่อเปิดพื้นที่ก็จะเป็นการทำหลุมไว้ทั่วบริเวณแล้วจึงเริ่มหยอดเมล็ดข้าวและข้าวโพดในช่วงต้นฤดูฝนราวเดือนมิถุนายน

เมื่อย่างเข้าฤดูฝนแล้ว เดือนกรกฎาคมก็จะเป็นช่วงที่เมล็ดเจริญเติบโตเป็นต้นกล้า งานในไร่ก็จะเปลี่ยนเข้าสู่ ระยะที่สอง คือ การดูแลต้นกล้า นับจากการเพาะเมล็ดในเดือนมิถุนายน จะมีหน้าที่ควบคุมวัชพืชในแปลงเพาะปลูกด้วยการฟันหญ้าไม่ให้โตแข่งกับต้นกล้า งานช่วงนี้จะเป็นงานเบากว่าช่วงถาง เผา ดังนั้น ช่วงฤดูฝนนี้ ชาวมละบริ จะมีเวลาว่างเพื่อออกไปเก็บของป่าล่าสัตว์ในแถบป่านอกเขตเพาะปลูกของชาวม้งอันเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติน้ำงาว-น้ำสวด

เมื่อพืชเริ่มเข้าสู่ระยะสุกแก่ งานระยะที่สาม ก็คือ การเก็บเกี่ยวผลผลิต งานระยะนี้จะเป็น การกลับมาของการทำงานหนักอีกครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงต้นธันวาคมที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวไร่และข้าวโพด แต่พืชอย่างขิงจะต่างออกไปบ้างตรงที่เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน หลังเก็บเกี่ยวแล้ว ที่ดินจะถูกพักไว้ตามแบบแผนการใช้ที่ดินตามจารีตของชาวม้ง และนับเป็นช่วงสิ้นสุดของงานในไร่ในรอบปี โดยชาวม้งจะหยุดงานในไร่เพื่อรอเข้าสู่ช่วงประเพณีปีใหม่ในช่วงประมาณปลายดือนมกราคม จะมีเวลาว่างมากขึ้นในช่วงที่พักงานในไร่ ก็ทำให้สามารถเข้าป่าเก็บหาของป่าด้วยเช่นกัน โดยของป่าก็จะนำมาบริโภคในครัวเรือนและเมื่อต้องการเงินสดก็จะนำมาขายให้กับชาวม้งด้วย แต่เพราะในหุบเขาบ้านห้วยหยวกไม่มีสัตว์ใหญ่เหลือมากนัก สัตว์ที่นำมาขายก็มักเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอกป่า ราคาขายตัวละ 40 บาท ในช่วง พ.ศ. 2546 และสำหรับหน่อไม้ที่เก็บมาขายให้กับพ่อคนกลางชาวม้งก็จะได้กิโลกรัมละประมาณ 5 บาท

และใน พ.ศ. 2553 ตามที่ทางการได้มีโครงการฟื้นฟูพื้นที่ป่าในบริเวณโครงการ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำโครงการปลูกต้นไม้ในบริเวณป่าใช้สอยในพื้นที่ 150 ไร่ จึงมีการจ้างแรงงานชาวมลาบรีมาปลูกกล้าไม้ด้วย โดยให้ค่าแรงคนละ 150 บาทต่อวัน

ชาวมลาบรีที่บ้านห้วยฮ่อม

การตั้งชุมชนชาวมละบริขึ้นมาในพื้นที่พัฒนา แม้มีบทบาทนำอยู่ที่กลุ่มมิชชันารี แต่ก็ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐด้วยเช่นกัน โดยหลังการลงหลักปักฐานแล้ว ชาวมละบริที่นี่ได้รับการส่งเสริมให้ทำการเพาะปลูกพืชในที่ดินซึ่งมิชชันนารีได้ซื้อมาจากชาวม้งใน พ.ศ. 2531 ประมาณ 500 กว่าไร่ ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 การทำการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ของชาวมละบริในพื้นที่พัฒนาแห่งนี้ จึงเกิดขึ้นภายใต้การพัฒนาชาวมลาบรีของมิชชันนารีควบคู่ไปกับการไปรับจ้างทำงานในไร่ชาวม้ง กล่าวคือ โครงการของมิชชันนารีได้มีการสร้างงานโดยจ้างชาวมละบริปลูกต้นไม้ เช่น มะขามหวาน มะม่วงและปลูกป่า โดยมีการจ่ายค่าจ้างในรูปหมู ไก่ ปลากระป๋อง เสื้อผ้าของใช้เพื่อแลกเปลี่ยนกับแรงงานด้วย (วิสุทธิ์ ศรีวิศาล 2538: 135)

การจ้างงานชาวมลาบรีมาปลูกต้นไม้ในโครงการนั้น มีประเภทต้นไม้ที่ต้องปลูกดูแลในพื้นที่ของโครงการพัฒนาชาวมละบริที่บ้านบุญยืน ได้แก่ ต้นสัก 5,000 ต้น มะม่วง 50 ต้น มะขาม 200 ต้น ต้นลิ้นจี่ 100 ต้น ต้นกาแฟ 6,000 ต้น ต้นขนุน 50 ต้น ต้นชมพู่ 5 ต้น ต้น ต้นมะม่วงหิมพานต์ 500 ต้น ต้นกระถิน 5,000 ต้น ต้นกล้วย 10,000 ต้น และต้นมะละกอ 500 ต้น นอกจากนี้ ยังมีการปลูกพืชเพื่อการบริโภคด้วย โดยมีพืชที่สำคัญคือ ข้าวไร่ ที่สามารถผลิตได้พอกินไปตลอดทั้งปีสำหรับพืชเงินสดที่สำคัญ ก็คือ ข้าวโพด สำหรับกาแฟ ยังคงไม่สามารถผลิตออกขายได้ (Herda 2002: 94)

ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์นั้น ชาวมละบริเลี้ยงสุนัข แต่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อเอาไว้บริโภคเนื้อ แต่ก็มีสัตว์หลายชนิดที่ชาวมละบริบ้านบุญยืนได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยง โดยมีทั้งที่มาจากภาครัฐและเอกชนได้ให้การสนับสนุน เช่น การเลี้ยงปลาดุกที่มีทั้งการเลี้ยงในสระริมห้วยและการเลี้ยงในท่อซีเมนต์ หมูดำที่เลี้ยงปล่อย หมูป่าที่เลี้ยงแบบขังคอก หมูขาวที่พยายามจะเลี้ยงแบบหมูหลุม การเลี้ยงเป็ด เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้ สัตว์เลี้ยงที่ยังคงปรากฏให้เห็นมีเพียงไก่เท่านั้นที่ยังคงมีอยู่บ้าง (Herda 2002: 94)

นอกจากการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวมลาบรีที่นี่ก็ยังชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้างให้กับชาวม้งบ้านห้วยฮ่อมด้วย แต่เพราะว่าที่ดินที่บ้านบุญยืนมีขนาดกว้างใหญ่พอ จงไม่ต้องไปขอเช่าที่ดินจากชาวม้งบ้านห้วยฮ่อมมาใช้ในการผลิตทั้งพืชอาหารและพืชเงินสด ดังนั้น เดิมที่เคยรับจ้างชาวม้งทำงาน โดยมีค่าจ้างเป็นอาหารและของใช้ต่างๆ การรับจ้างในภายหลังได้เปลี่ยนไปสู่การรับค่าตอบแทนในรูปแบบเงินตรา โดยในช่วงที่เขาศึกษาชาวมละบริเมื่อปลายทศวรรษ 2530 วิสุทธ์ ศรีวิศาล ได้ระบุค่าแรงที่ชาวม้งจ่ายให้กับชาวมละบรินั้น มีทั้งรูปแบบที่ใช้หมูเป็นตัวและเงินค่าจ้างแรงงานอยู่ที่ประมาณ 35-50 บาทต่อวัน แต่ในปี 2553 นี้ พบว่า ค่าแรงที่ชาวม้งบ้านห้วยฮ่อมจ่ายให้แรงงานชาวชาวมละบริจะอยู่ที่ประมาณ 100 กว่าบาทต่อวัน (วิสุทธ์ ศรีวิศาล 2538)

การมีรายได้จากการทำงานรับจ้างนอกภาคเกษตรของชาวมละบริบ้านห้วยฮ่อมเพิ่งเข้ามามีบทบาทเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือ การรับจ้างในงานทอเปล อาชีพนี้ได้กลายเป็นอาชีพเสริมที่พัฒนามาเป็นอาชีพหลักมากขึ้นในภายหลัง โดยเกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มนักขับรถจักรยานยนต์วิบากชื่อ Pai Enduro Team ที่มีนาย Peter Schmid ชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้เดินทางมาที่บ้านห้วยฮ่อมและแวะเข้ามาที่บ้านบุญยืนในช่วงปี 2539 หลังจากนั้นเขาได้กลับเข้ามาส่งเสริมให้ชาวมละบริรู้จักการทอเปลจนมีสมาชิกกว่า 40 คนที่หันมาทอเปลรับจ้าง แต่หลังจากที่ชาวมลาบรีบางส่วนได้ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเมื่อปี 2552 จึงเหลือชาวมลาบรีประมาณ 25 คนที่ยังทอเปลอยู่ แต่มิชชันนารีก็ได้แก้ปัญหาโดยให้ชาวม้งและชาวไตยวนเข้ามาทำแทนแล้ว สำหรับเปลจะถูกส่งไปจำหน่ายในตลาดที่อยู่ทั้งในประเทศไทยที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนและในตลาดต่างประเทศกว่า 15 ประเทศทั่วโลก

ในส่วนค่าจ้างที่จ่ายให้กับชาวมลาบรีที่มาทำงานทอเปลนี้ อุดม บุตรชายของคุณบุญยืนได้เล่าเกี่ยวกับค่าแรงที่ได้จากการทอเปลว่า จะมีการให้ค่าตอบแทนตามชิ้นงานที่เหมาเป็นรายผืน แต่หากนำมาคิดเป็นค่าจ้างรายวัน โดยมากจะได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 500 บาทสำหรับคนที่ทอไม่เก่ง แต่ในคนที่ทอได้เร็วก็จะมีรายได้คนละ 1,200 บาทต่อสัปดาห์ แต่ที่สำคัญคือสามารถเลือกได้มากขึ้นว่าจะต้องออกไปหางานทำนอกชุมชนด้วยการออกไปเป็นแรงงานรับจ้างในไร่ชาวม้ง หรือจะมารับจ้างทอเปล โดยที่สามารถนำเปลไปถักเองได้ที่บ้านหรือจะทอที่โรงทอเปลที่จัดสร้างขึ้นมาในบริเวณชุมชนชาวมลาบรีชาวมละบริบ้านบุญยืนก็ได้ โดยเปลที่ผู้เขียนไปเจอที่ร้านขายเปลแห่งหนึ่งในอำเภอปาย จังหวั ดแม่ฮ่องสอน เมื่อช่วง พ.ศ. 2552 มีราคาผืนละหลายพันบาทขึ้นอยู่กับรูปแบบและความละเอียดในการทอ

รายได้จากการรับค่าแรงเป็นเงินตราที่เพิ่มขึ้นยังมีส่วนทำให้การบริโภคสินค้าของชาวมละบริที่นี่หลากหลายขึ้นกว่าชาวมละบริที่แห่งอื่นด้วย โดยช่วงต้นทศวรรษ 2540 เมื่อเริ่มรับค่าจ้างจากชาวม้งเป็นเงินตรามากกว่าจะรับเป็นสิ่งของและอาหารโดยตรงเหมือนในอดีต ชาวมละบริจะนำเงินมาแลกซื้ออาหารและสินค้าอื่นๆ ที่รานค้าในบ้านห้วยฮ่อมและที่บ้านบุญยืนซึ่งมีการเปิดเป็นร้านค้าที่ต้องการให้ชาวมละบริเรียนรู้การใช้เงินในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าด้วย

และแม้ว่าจะมีรายได้จากการผลิตหลายแบบแล้วก็ตาม แต่การผลิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ยังคงมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นการผลิตหลักอีกต่อไป โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ใหญ่จะหายากมาก ดังที่นางจันทนา ปัสพงษ์ ครูชาวม้งที่โรงเรียนบ้านห้วยฮ่อมเล่าว่า ในอดีตนั้น ชาวมลาบรีจะสานเสื่อหวายและตะกร้าหวายแลกกับข้าวและเกลืออันถือเป็นแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชาวม้งที่บ้านห้วยฮ่อม ในบางครั้งก็เอาน้ำผึ้งป่ามาแลกด้วย โดยปัจจุบันน้ำผึ้งป่าจะขายได้เงินประมาณ 100 บาทต่อขวด ในการล่าสัตว์ที่ยังมีอยู่ จะเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แลน ตุ่น อ้น ส่วนสัตว์ขนาดใหญ่ จะเข้าไปหาในเขตอุทยานแห่งชาติดอยขุนสถานในรูปแบบการลักลอบเพราะต้องคอยหลบเจ้าหน้าที่ป่าไม้ด้วย

ชาวมละบริที่บ้านท่าวะ

แม้ว่า การรับจ้างทำไร่และการเรียนรู้ทักษะการเพาะปลูกของชาวมละบริที่บ้านท่าวะจะเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่การเข้ามาส่งเสริมของภาครัฐที่ต้องการให้ชาวมละบริที่บ้านท่าวะมี การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์นั้น ก็นับได้ว่า เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นาน โดยก่อนหน้านี้ ในช่วง 2544 ก็มีรายงานถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในงานวิจัยของ ยอดขวัญ บุญซ้อน และคณะ (2544) ว่า ทางการต้องการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวไร่ให้สำหรับชาวมละบริที่บ้านท่าวะ

จากการสำรวจภาคสนาม ใน พ.ศ. 2553 พบว่า ชาวมละบริที่บ้านท่าวะได้รับการส่งเสริมให้ทำการเพาะปลูกพืชเพื่อการบริโภคได้แก่ ข้าวไร่และพืชผักสวนครัว โดยการปลูกข้าวไร่ในครั้งนี้นับเป็นปีแรกที่ทางการพยายามจัดหาที่ดินให้ โดยเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมผืนหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของโครงการ จำนวน 14 ไร่ เป็นแปลงรวมของชุมชนเพื่อจะสามารถผลิตข้าวไว้ใช้บริโภคได้เองต่อไป โดยผลผลิตข้าวที่ได้นั้นเพียงพอต่อการบริโภคในรอบหนึ่งปี หากได้ผลผลิตเต็มพื้นที่ไม่ประสพกับปัญหาภัยแล้งหรือโรคแมลง ผลผลิตที่ได้นั้นจะแบ่งปันให้สมาชิกทุกครัวเรือน รวมถึงการส่งเสริมให้ปลูกพืชผักเพื่อการบริโภค

นอกจากนี้พืชเพื่อการบริโภคแล้ว ชาวมละบริก็ยังเริ่มหาที่ดินเพื่อทำการปลูกพืชในเชิงพาณิชย์ด้วย นั่นคือ ข้าวโพด ใน พ.ศ. 2553 มีชาวมละบริ 7 คนที่สามารถหาที่ดินเพาะปลูกได้ สำหรับผลผลิตและรายได้จะแยกเป็นของแต่ละครัวเรือน ไม่ได้มีการนำมารวมกันในแบบของส่วนกลางในแบบการผลิตข้าวไร่

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ พบว่า มีการส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์หลายชนิดตามโครงการลงหลักปักฐาน โดยใน พ.ศ. 2551 การก่อสร้างโรงเรือนบริเวณหลังโณงเรียนบ้านท่าวะเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่พันธุ์ไข่และไก่พันธุ์เนื้อ รวมทั้งยังมีการเลี้ยงปลาดุก

ในระหว่างที่ผลผลิตข้าวก็ยังไม่ได้มีการเก็บเกี่ยวนี้ ทางการจะเข้ามาสนับสนุนข้าวสารให้ชาวมละบริก่อน และงานหลักที่ช่วยในการยังชีพของชาวมละบริกลุ่มนี้จึงอยู่ที่การเป็นแรงงานรับจ้างให้กับชาวบ้านท่าวะ โดยมีการจ่ายค่าแรงอยู่ที่คนละ 120 บาทต่อวัน

การบริโภคสินค้านั้น ชาวมละบริที่นี่จะเข้ามาซื้อสินค้าที่ร้านค้าในบ้านท่าวะ แต่สินค้าบางอย่างก็ทำให้ชาวมลาบรีจำต้องมีภาระหนี้สินผูกพันไปสู่การเป็นแรงงานด้วย เช่น ชาวมละบริรุ่นใหม่ที่หัดขี่รถจักรยานยนต์ได้แล้ว ค่าแรงจะถูกหักไปเป็นค่ารถ โดยรถหนึ่งคันจะใช้เวลาทำงานให้กับนายจ้างประมาณ 2 ปี จากราคารถมือสองสี่จังหวะที่ตกลงราคากันไว้ที่คันละประมาณ 20,000 บาทหรือก็คือ การทำงานเหมาจ่ายรายปีอยู่ที่คนละ 10,000 บาท

ในส่วนของการเก็บของป่าล่าสัตว์ก็ยังคงมีอยู่บ้าง และเป็นสัตว์เล็ก เนื่องจากชาวบ้านไม่มีปืนสำหรับการล่าสัตว์ ด้วยเคยมีชาวมละบริจำนวนสองคน ถูกจับเพราะมีปืนแก้บไว้ในครอบครอง ดังนั้น การหาของป่า โดยเฉพาะวัตว์ใหญ่ จึงเป็นไปได้ยาก

ชาวมละบริที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

การยังชีพของชาวมละบริที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านผาสุข ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ถือเป็นกรณีพิเศษที่ต้องนำมาทำความเข้าใจในเวลาที่คาบเกี่ยวกับของการโยกย้ายมาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ที่ชาวมละบริไม่ได้มีการรู้จักคุ้นเคยกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่แวดล้อมศูนย์ภูฟ้าพัฒนามาก่อน ที่สำคัญก็คือ การเข้ามาอยู่ใหม่ทำให้ประสบปัญหานับตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้งและการหาพื้นที่ทำการผลิตที่จำเป็นต้องพึ่งพิงทุกวิถีทาง เพื่อจะมีอาหารเลี้ยงตัวเองนั้น ชาวมละบริที่นี่มีการปลูกพืชผักสวนครัว โดยจะใช้กล้าพันธุ์พืชจากแปลงเกษตรศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เช่น ผักกาดหางหง กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักสลัด และถั่วต่างๆ โดยที่มีนายนที ลำคำ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เป็นผู้คอยดูแลรับผิดชอบในการให้ความรู้ในการเตรียมแปลงขั้นบันได การฝึกทำและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จากการสำรวจภาคสนามใน พ.ศ. 2552 พบว่า มีการปลูกข้าวนาโดยใช้นาขั้นบันไดในศูนย์ภูฟ้าพัฒนา แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภคในช่วงแรก ใน พ.ศ. 2553 พบว่า ชาวมลาบรีที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาได้หันมาเพาะปลูกข้าวไร่และการผลิตพืชอาหารในแปลงผักสวนครัว

ศูนย์ภูฟ้าพยายามสนับสนุนในเรื่องอาหารในระยะแรกของการย้ายมาอาศัยในศูนย์ โดยมักจะซื้อหาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในชุมชน แล้วยังพยายามหาของป่ามาเพื่อบริโภค เช่น หัวปลี กล้วยป่า มันต่างๆ และพวกสัตว์ป่า เช่น ตุ่น อ้น แย้ บางครั้งในฤดูแล้งชายชาวมลาบรีก็ยังเข้าป่าในแถบนี้เพื่อตีผึ้ง แล้วเอาน้ำผึ้งป่ามาขาย นอกจากนี้เพราะในบริเวณที่ตั้งศูนย์ภูฟ้ามีแม่น้ำมางไหลผ่าน ทางศูนย์ฯ ได้มีการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ปลาในแม่น้ำมางยาวประมาณ 100 กว่าเมตร ทำให้มีปลาในแม่น้ำชุกชุมอันช่วยให้ชาวมลาบรีได้อาศัยบริโภคเนื้อปลาที่จับได้จากน้ำมางในการเข้าถึงแหล่งโปรตีน อีกทั้งยังมีการจ้างงานแก่ชาวมละบริที่อาศัยอยู่ที่นี่โดย มีเยาวชนและผู้ใหญ่รับจ้างทำงานที่ศูนย์ภูฟ้า จำนวน 22 คน ผู้สูงอายุและกลุ่มแม่บ้านทำหัตถกรรมเพื่อจำหน่ายให้กับศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า เพาะปลูกพืชสมุนไพร มันต่างๆ กล้วยป่า หวาย พืชผักสวนครัว และ เลี้ยงสัตว์ปีก เยาวชน แกนนำจำนวน 10 คน ทำงานรับจ้างกรมป่าไม้ ในลักษณะงานในรูปแบบทำงานรับจ้างกรมป่าไม้ ทำให้มีรายได้เดือนละ 2, 000 บาท แต่รายได้บางส่วนยังมาในรูปทุนการศึกษาด้วย โดยเยาวชนกลุ่มนี้ทั้ง 10 คนที่เรียนในระบบ กศน. จะได้รับทุนการศึกษาคนละ 5,000 บาทต่อเดือนต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี

ชาวมละบริที่บ้านดอนไพรวัลย์

ชาวมละบริในบ้านดอนไพรวัลย์นี้ ดำรงชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรของชาวม้ง พวกเขาเข้ามาทำงานรับจ้างตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2526 เรื่อยมา สำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างชาวมละบริและชาวม้งก่อนหน้านั้น ชาวมละบริจะนำของป่าเข้ามาแลกเปลี่ยนเป็นอาหารจากชาวม้ง โดยจะนำหวายและลูกต๋าวมาแลกกับข้าวสาร นั่นทำให้เห็นได้ว่า เดิมการผลิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ก็มีความสำคัญอยู่มากทั้งในการบริโภคและการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธ์ภายนอก ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การเป็นแรงงานรับจ้างที่กลายมาเป็นการผลิตหลักอย่างเช่นในปัจจุบัน การผลิตแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ก็ได้รับผลกระทบจากสงคราม เนื่องจากบริเวณชายแดนเคยเป็นพื้นที่

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ในอดีตชาวมละบริเคารพธรรมชาติ และจิตวิญญาณ เชื่อว่า ทุกที่มีผีคุ้มครองอยู่ ทั้งในป่า ภูเขา เนินเขา หิน แม่น้ำลำธาร ต้นไม้ การประกอบพิธีกรรมบวงสรวงต่อผีเหล่านี้มักใช้หมูในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีการสวดมนต์ด้วยบทสวดพิเศษสำหรับประกอบพิธีกรรม (ธภัทร มณีรัตน์, 2563) ในช่วงหนึ่งเคยมีมิชชันนารีเข้ามาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในบางชุมชน แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องปรับเปลี่ยนมาส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแทน

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

เนื่องจากชาวมละบริไม่ได้นับถือศาสนาหลักอย่างเป็นทางการนัก พิธีกรรมที่ทำจึงเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนจิตวิญญาณ โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าเช่น พิธีสู่ขวัญสัตว์ หรือพิธี “เมาะโล่นเปียะเด้อ” เป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อขอขมาต่อสิ่งเหนือธรรมาติในกรณีที่ล่าได้สัตว์ใหญ่ ผู้อาวุโสผู้ชายจะต้องทำพิธีเพื่อขอขมาต่อเจ้าของ ชาวมละบริ เชื่อว่า สิ่งเหนือธรรมชาติเป็นผู้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ในฐานะที่ที่เป็นเจ้าของนั้น เมื่อชาวมละบริล่าสัตว์ได้ หรือมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีเจ้าของจึงต้องทำพิธีขอขมา เพราะชาวมละบริเป็นเพียงผู้มาขอเพื่อใช้ประโยชน์ไม่ได้เป็นเจ้าของ ปัจจุบันชาวมละบริไม่ได้เข้าป่าล่าสัตว์ใหญ่พิธีดังกล่าวจึงไม่ได้ปฏิบัติมาเป็นเวลานาน

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

เมื่อมีหญิงคนใดครบกำหนดคลอด ผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะมาช่วยกันทำคลอด ส่วนผู้ชายจะถูกกันออกไปไม่ให้เข้าไปยุ่งในบริเวณที่มีการที่มีการทำคลอดเพราะจะถือว่าเป็นการผิดประเพณี หน้าที่ของผู้ชายในระหว่างนี้จึงเป็นการออกไปหาอาหารเลี้ยงคนที่มาช่วยทำคลอด ในระหว่างขั้นตอนการคลอดจะมีการนำน้ำร้อนใส่กระบอกไม้ไผ่มาให้คนที่กำลังจะคลอดดื่มและใช้ในขั้นตอนอื่น ๆ เมื่อเด็กคลอดออกมาก็จะใช้ไม้ไผ่ที่เหลาจนเแหลมตัดรกออกแล้วเอาไปฝังดินและนำเด็กไปทำความสะอาดตัวที่ลำธารใกล้ที่พักอาศัย (สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ, 2531, น. 41- 42)

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

ชาวมละบริไม่ได้มีขั้นตอนการแต่งงานที่ซับซ้อน หากฝ่ายชายชอบพอผู้หญิงคนใดก็จะไปขออนุญาตพ่อแม่ฝ่ายหญิงโดยไม่ต้องมีของหมั้น ถ้าครอบครัวฝ่ายหญิงอนุญาต ฝ่ายชายก็จะไปหาอาหารมาแบ่งกันกินในครอบครัวเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้รู้ว่าคู่บ่าวสาวได้ยอมรับกันและกันแล้ว ส่วนกรณีที่อยู่กินกันแล้วต้องการหย่าร้างจะไม่ต้องเสียค่าสินไหมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีลูกหลายคนก็จะแบ่งกันดูแลลูก ในสังคมชาวมละบริการหย่าร้างหรือเปลี่ยนคู่ครองไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ บางคนอาจแต่งงานและหย่าร้างมาแล้วหลายหน บางคู่เลิกแล้วกลับไปแต่งงานกันอีกครั้ง ในคู่ที่ฝ่ายหญิงที่แต่งงานแล้วมีชู้ ฝ่ายสามีก็จะยกภรรยาให้ชู้โดยไม่มีการถือโทษโกรธเคืองกัน (สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ, 2531, น. 40-41)

ความตาย และการทำศพ

เมื่อมีสมาชิกคนใดเสียชีวิต ในอดีตชาวมละบริจะช่วยกันทำศพโดยนำไปวางไว้บนแคร่ที่อยู่บนต้นไม้ใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มากินศพ ชาวมละบริมีความเชื่อว่า หากเสือได้กินศพมนุษย์อาจทำให้เสืออาละวาดไล่ฆ่าคนเพราะติดใจรสชาติเนื้อมนุษย์ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการฝังศพแทนการปล่อยทิ้งไว้ หลุมศพที่ใช้จะมีความลึกประมาณ 1 เมตร ก้นหลุมมีเสื่อ ใบตอง หรือใบไม้อื่นรองอยู่ การวางศพของชายหญิงจะแตกต่างกัน หากผู้ตายเป็นชายจะวางศพหันหัวไปทางทิศตะวันตก ส่วนผู้หญิงจะวางหัวไปทางทิศตะวันออก เมื่อวางศพลงไปแล้วจะนำใบไม้มาวางทับบริเวณปลายเท้า กลางลำตัว ศีรษะ และข้างลำตัวซ้ายขวาตำแหน่งละ 1 ท่อน บางครั้งจะมีการใส่ข้าวของของผู้ตายลงไปด้วย เช่น ยาสูบ ผ้าเตี่ยวสถานที่ฝังศพจะฝังไว้ตามเชิงเขาเพราะเชื่อว่าหากฝังบนยอดเขา เสือจะไปคุ้ยศพขึ้นมากินได้ (สุรินทร์ ภู่ขจร ภัทรวดี กุลแก้ว และชนัญ วงษ์วิภาค, ม.ป.ป.,น 22)

กรมประชาสงเคราะห์. (2509). รายงานการสำรวจทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวเขาในภาคเหนือของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย.

กรุงเทพธุรกิจ. (2536). แพร่จับผีตองเหลืองชูโรงท่องเที่ยวจังหวัด. ใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 ธค. 2536.

โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. (มปป.) ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริ. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม.เชียงใหม่. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 22 มิถุนายน 2565. เข้าถึงได้จาก https://iwgia.org/images/publications/new-publications/Mlabri_report_Thailand_synthesis_report_Thai.pdf

จรินทร์ นาคศิริ, และ ดิเรก อยู่สบาย. (2527). “ผีตองเหลือง ชนกลุ่มน้อยในจังหวัดน่าน”. ใน กรมป่าไม้ครบรอบ 88 ปี 18 กันยายน 2527. กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้.

ชาตรี เจริญศิริ. (2549). น่านยุคก่อนประวัติศาสตร์: เรื่องราวก่อนมีการบันทึกด้วยตัวอักษร. น่าน: สำนักงานคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน.

ไทยรัฐ. (2528). ชี้โครงการศึกษาพัฒนา “ผีตองเหลือง”. ใน ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 8 ตค 2528.

ธภัทร มณีรัตน์. (2563). การบริโภคอาหารของชนเผ่ามละบริ ภายใต้ภูมิสังคม บ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรืมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาภุมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ. (1996). การศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี (ผีตองเหลือง) : อดีต-ปัจจุบัน (ค.ส. 1924-1995) Proceedings of the 6th International Conference on Thai Studies: Theme VI, Chiang Mai, Thailand, 1996, pp. 139-154.

นิพัทธเวช สืบแสง. (2524). ปัญหาการจัดกลุ่มเชื้อชาติของผีตองเหลือง. ข่าวสารศูนย์วิจัยชาวเขา 5(2):2-12.

นิพัทธเวช สืบแสง. (2531). ระบบครอบครัวและเครือญาติของชาวมลาบรี. ใน ผลการวิเคราะห์กลุ่มเก็บของป่าล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. สุรินทร์ ภู่ขจร, บก. หน้า 80-95. กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปกร, กรุงเทพฯ: อมรินพริ้นติ้น.

แนวหน้า. (2549). ปศุสัตว์อุ้มชุมชนเผ่าตองเหลือง สอนเลี้ยงสัตว์-พัฒนาคุณภาพชีวิต. ใน แนวหน้า ฉบับวันที่ 16 พย. 2549

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี . (2541). วาทกรรมว่าด้วย”ชาวเขา”. วารสารสังคมศาสตร์ 11(1):75-87.

พรรณี ขิโนรักษ์, มุกดา ณัฎฐสมบูรณ์, และ สุมิตร คงชื่นสิน. (2531). การสำรวจลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างในคนป่าเผ่าผีตองเหลือง. ใน ผลการวิเคราะห์กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. ส. ภู่ขจรและคณะ, บก. กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.

มยุรี ถาวรพัฒน์. มปป.ภาษามลาบรี. วัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 14มิถุนายน 2564. เข้าถึงได้จาก http://article.culture.go.th/index.php/layouts-mod...

ยศ สันตสมบัติ. (2537). มนุษย์กับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ยอดขวัญ บุญซ้อน และคณะ. (2544). โครงการการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของชนเผ่ตองเหลือง บ้านท่าวะ อำเภอสอง จังหวัดแพร่. ใน ชุดโครงการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

วิภาวี เชื้อหมอ. (2552). ระบบความสัมพันธ์ของชาวม้งและมลาบรีในวิถีการผลิต: กรณีศึกษาบ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน. ภาคนิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง.

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์. (2534). มลาบรี คนเถื่อน ชาวไร่ หรือผู้อารยะ. สารคดี 7(ตุลาคม), 124-141.

วิสุทธิ์ ศรีวิศาล. (2538). ระบบเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชนเผ่าผีตองเหลืองในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศักรินทร์ ณ น่าน. (2548). มลาบรีกับการช่วงชิงทรัพยากรในบริทของการพัฒนาโดยรัฐ วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน. (2544a). ข้าวใหม่ตองเหลือง. การประชาสงเคราะห์ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 กค.- สค. 2544:44-47.

ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน. (2544b). โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชนเผ่าตองเหลือง จังหวัดน่าน สรุปรายงานกิจกรรม "ตองเหลืองตีข้าว" จากวิถีชีวิตเร่ร่อนสู่ความยั่งยืนและพอเพียงของชนเผ่า. น่าน: กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (เอกสารอัดสำเนา).

สมเกียรติ โกศลวัฒน์. (2531). ผลการประเมินภาวะโภชนาการของผีตองเหลืองโดยวิธีวัดการเจิญเติบโตของร่างกาย. In ผลการวิเคราะห์กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. ส. ภู่ขจรและคณะ, บก. กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.

สุชาติ บูรมิตร . (2546). การตั้งถิ่นฐาน “คนตองเหลือง” (Mlabri) ศึกษาเฉพาะกรณี บ้านห้วยหยวก หมู่ 6 ตำบลแม่ขะนิง ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน. ภาคนิพนธ์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา.

สุนันทา สุขสุมิตร. (2552). จ.น่าน เดินหน้าเร่งพัฒนาชนเผ่าตองเหลืองในการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน. ใน สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ ข่าวออนไลน์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2552 [http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255205150255&tb=N255205].

สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ. (2531). ผลการวิเคราะห์กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า “ผีตองเหลือง” ในประเทศไทย.กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร.

สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ. (2526). รายงานเบื้องต้น กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ . (2537). ขมุ ลัวะ/ถิ่น และมลาบรี (ผีตองเหลือง) ใน จังหวัดน่าน และปัญหาในการเรียกชื่อ. วารสารภาษาและวัฒนธรรม 13(1):108-118.

หมื่นวลี . (2537). สารคดี ผีตองเหลือง. กรุงเทพฯ: บริษัทรวมสาส์น (1977) จำกัด.

อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง, และ ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา. (2544). "นายรอบรู้" นักเดินทาง : น่าน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี.

อำเภอบ้านหลวง. (2540). คำสั่งอำเภอบ้านหลวง ที่ 297/2540 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานต่างๆ ตามโครงการพัฒนาและอนุรักษ์ชนเผ่าตองเลือง. อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน.

Asian Minorities Outreach. (2000). Faces of the Unreached in Laos: Southeast Asia's Forgotten Nation: Asian Minorities Outreach.

Bernatzik, Hugo Adolf. (1951). The Spirits of the Yellow Leaves. E.W. Dickes, transl. London: Robert Hale Ltd.

Bourke-Borrowes, L.F.S. (1926-27). Further note on the Phi Tong Lu'ang. Journal of the Siam Society 20(2):167 - 169.

Bradley, David. (2007). Languages of Mainland South-East Asia. In The Vanishing Languages of the Pacific Rim. O. Miyaoka, O. Sakiyama, and M.E. Krauss, eds. Pp. 301-336. New York: Oxford University Press.

Chazée, Laurent .(2001). The Mrabri in Laos: a World under the Canopy. Bangkok: White Lotus Co. Ltd.

Cohen, Erik. (2004). Contemporary Tourism: Diversity and Change. Oxford, UK: Elsevier Ltd.

Fondcome Village Hotel .(2006). ถ้ำผีตองเหลือง (Mlabri Wild House). ข้อมูลออนไลน์ [http://www.fondcome.com/peetongleung.php]. (accessed Aug 18, 2010).

Herda, Ellen A. (2002). Power and Place: A Hermeneutic Orientation in Development and Education Among the Mlabri of Northeast Thailand. High Plains Applied Anthropology 22(1):101-109.

Herda, Ellen A. (2007). Mlabri Nation Vanishing: Horizonss of Social Imagery in Development. Language and Nationhood: Discourses Acros Cultures and Disciplines. SoLLs.INTEC.07 INTERNATIONAL CONFERENCE, Malaysia, 2007, pp. 102-114. UNIVERSITI KEBANGSAAN MALAYSIA.

Higham, Charles. (2002). Early Cultures of Mainland Southeast Asia. Bangkok: River Books Ltd.

Ikeya, Kazunobu, and Shisuke Nakai. (2009). Historical and Contemporary Relations between Mlabri and Hmong in the Northern Thailand. In Senri Ethnological Studies (73) Interactions between Hunter-Gatherers and Farmers: from Prehistory to Present K. Ikeya, H. Ogawa, and P. Mitchell, eds. Pp. 247-261. Osaka, Japan: National Museum of Ethnology.

Kraisri Nimmanahaeminda .(1963).The Mrabri Language. the Journal of the Siam Society 51(2):179-184.

Kraisri Nimmanahaeminda, and Julian Hartland-Swan. (1962).The Expedition to the “Khon Pa” (or Phi Thong Luang?). the Journal of the Siam Society 50(2):165-186.

Lebar, Frank M., Gerald C. Hickey, and John K. Musgrave. (1964). Part 2: Austroasiatic. Yumbri. In Ethnic Groups of Mainland Southest Asia. Pp. 132-135. USA: New Heaven.

Proschan, Frank. (2001). Peoples of the Gourd: Imagined Ethnicities in Highland Southeast Asia. The Journal of Asian Studies 60(4):999-1032.

Rasmi Shoocongdej. (2000). Forager mobility organization in seasonal tropical environments of western Thailand. World Archaeology 31(1):14-40.

Richel, JØrgen. (1995). Minor Mlabri: A Hunter-Gatherer Language of Northern Indochina. University of Copenhagen, Denmark: Museum Tusculanum Press.

Sakkarin Na Nan. (2009). Resource Contestation between Hunter-Gatherer and Farmer Societies: Revisiting the Mlabri and the Hmong Communities in Northern Thailand. In Interactions between Hunter-Gatherers and Farmers: from Prehistory to Present K. Ikeya, H. Ogawa, and P. Mitchell, eds. Pp. 229-2446. Osaka, Japan: National Museum of Ethnology.

Seidenfaden, Erick. (1919). Further Note about Chaubun. The Journal of the Siam Society Vol. XIII(3):p. 47-53.

Surin Pookajorn. (1992). Introduction. In The Phi Tong Lueng (Mlabri): A Hunter – Gatherer Group in Thailand. S. Pookajorn, ed. Pp. 1-28. Faculty of Archaeology, Silapakorn University, Thailand: Odeon Store.

The Lahu National Development Organization (LNDO). (2005). No Place left for the Spirit of the Yellow Leaves: intensive logging leaves few options for the Mlabri people. Undercurrents 1(1):16-18.

Theraphan Luang Tongkum. (1992). The Language of the Mlabri (Phi Tong Luang). In The Phi Tong Lueng (Mlabri): A Hunter – Gatherer Group in Thailand. Surin Pookajorn, ed. Pp. 43-65. Faculty of Archaeology, Silapakorn University, Thailand: Odeon Store.

Thongchai Winichakul. (2000). The Others Within: Travel and Ethno-Spatial Differentiation of Siamese Subjects 1885-1910. In Civility and Savagery: Social Identity in Tai States. A. Turton, ed. Pp. 38 - 62. UK: Curzon.

Trier, Jesper. (1992) The Mlabri People of Northern Thailand: Social Organization and Supernatural Beliefs. In The Highland Heritage: Collected Essays on Upland North Thailand. A.R. Walker, ed. Pp. 225 - 263. Singapore: Double-Six Press (Pte) Ltd.

Trier, Jesper. (2008). Invoking the Spirits: Fieldwork on the material and spiritual life of the hunter-gatherers Mlabri in Northern Thailand. Denmark: Jutland Archaeological Society.

Winit Wanadorn, Pra. (1926). Some Information Concerning the 'Phi Tawng Luang' obtained from a Few Residents of a Village in Nam Wa District, East of Nan. Journal of the Siam Society 20(2):171-174.

Wurm, S.A., and Shiro Hattori. (1981). Language Atlas of the Pacific Area. Canberra: Australian Academy of the Humanities.

Young, Gordon. (1961). The Yumbri or Phi Tong Luang (Kha Tong Luang, Khon Pa). In The Hill Tribes of Northern Thailand (A Socio-Ethnological Report). Pp. 87-91. Bangkok: Thai-American Audiovisual Srervice.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว