การเรียกขานชื่อกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีนี้ มีทั้งคำที่ใช้เรียกขานตนองและคำเรียกขานจากบุคคลภายนอก บ่งบอกถึงความแตกต่างของชาวมลาบรีด้วยกันเองอีกด้วย
จากงานของ Bernatzik (1951) นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรียที่ลงพื้นที่สำรวจในป่าบริเวณชายแดนไทย-ลาว ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยได้บันทกชื่อเรียกตนเองว่า “Yumbri” หมายถึง คนที่อยู่ในป่า หลังจากงานศึกษาของ Bernatzik ผ่านไปหลายทศวรรษ คณะสำรวจของ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ และ Hartland-Swan ได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณหมูบ้านรอยต่อจังหวัดแพร่ น่าน พบว่า คนเหล่านี้มีชื่อเรียกตนเองว่า “คนป่า” ไม่พบว่ากลุ่มที่เขาสำรวจในครั้งนี้จะใช้ชื่อเรียกตนเองว่า “Yumbri”
ในงานเขียนของ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ มีข้อโต้แย้งจากนักภาษาศาสตร์อย่าง ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ ที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยภาษาของชาวมลาบรีที่อยู่ในเขตอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยเห็นว่ากลุ่มชาวมลาบรีที่ศึกษานั้น เป็นกลุ่มคนที่มีภาษาจากกลุ่มเดียวกับที่ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ เคยศึกษาไว้ โดยคำว่า “มลาบรี” แยกออกเป็น 2 คำ คือ “มลา” หมายถึง คน และ “บรี” หมายถึง ป่า ธีระพัฒน์ ได้เสนอว่าภาษาอังกฤษควรใช้คำว่า “Mlabri” แทนคำว่า “Mrabir”
ส่วนคำว่า มละบริ (Mlabri) เป็นคำใหม่ใช้เรียกตนเอง แม้ความหมายจะไม่ได้แตกต่างไปจากคะเรียกตนเองว่า “มลาบรี” ที่หมายถึง คนที่อยู่ในป่า แต่ที่มาของคำนี้พบการใช้ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จังหวัดน่าน กลุ่มคนที่เข้ามามีส่วนสร้างคำนี้ ประกอบด้วยเยาวชนชาวมลาบรี ที่เคยอยู่ในโครงการสร้างตัวเขียนภาษามลาบรีโดยใช้อักษรไทย (สนับสนุนโดย สกว.)
นอกจากนี้ชื่อที่ถูกเรียกขานโดยบุคคลภายนอกอย่าง ผีตองเหลือง เป็นชื่อเรียกที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุด เป็นคำเรียกที่ใช้กันมานานแล้วในกลุ่มชาวสยามและโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ภาษาตระกูลไททั้งในประเทศไทยและลาว สำหรับที่มาของคำนี้พบว่าชาวบ้านทางภาคเหนือของไทย เห็นว่า เพิกพักเป็นที่อาศัยของชนกลุ่มนี้มุงหลังคาด้วยใบตองหรือใบหวายชนิดหนึ่ง เมื่อแหล่งอาหารบริเวณนั้นไม่เพียงพอก็จะย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงสังเกตเห็นว่า เมื่อหลังคาที่มุงด้วยใบตองเหลืองชนกลุ่มนี้ก็จะย้ายหนีไปและถ้าชนกลุ่มนี้เจอกับชาวบ้านหรือชนกลุ่มอื่นที่ไม่ไว้ใจก็จะหลบหนีทันที จึงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ผีตองเหลือง” (สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ 2531: 32)
ส่วนคำว่าม้ากู่ เป็นคำเรียกชาวมลาบรีโดยชาวม้ง หมายถึงคนที่อยู่ในป่า ชาวม้งมองว่าชาวมลาบรีจัดอยู่ในคนจำพวกเดียวกับชาวขมุ ส่วนคำว่า “จันเก้ม” เป็นคำเรียกชาวมลาบรีโดยชาวเมี่ยน นอกจากหมายถึง คนที่อยู่ในป่าแล้ว ยังหมายถึงคนที่ไม่เชื่องอีกด้วย
ชื่อเรียกตัวเอง
ยุมบรี เป็นคำเรียกตัวเองของคนรุ่นเก่า (ดูใน Bernatzik, 1958, Rischel, 2000)
มลาบรี เป็นคำเรียกตัวเอง เพี้ยนมาจากคำว่า “มละบริ” คำว่า “มลาบรี” นิยมใช้โดยคนภายนอกด้วย (ศักรินทร์ ณ น่าน, 2555)
มละบริ เป็นคำเรียกตัวเอง หมายถึงคนป่า คนที่อยู่ในป่า (ยืนยันโดยตัวแทนเยาวชนมละบริ ในจังหวัดน่าน)
ชื่อที่คนอื่นเรียก
ผีตองเหลือง (Spirits of the Yellow Leaves) เป็นคำที่คนเมือง(ไทยวน) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกชาวมละบริ รวมทั้งนักวิชาการ (ชนัญ วงษ์วิภาค, 2530; สุรินทร์ ภู่ขจร, 2531; Bernatzik, 1958) มีที่มาจากการที่แต่เดิมคนกลุ่มชาติพันธุ์นี้เป็นกลุ่มล่าสัตว์หาของป่า ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ แต่ละแห่งที่ตั้งถิ่นฐานพวกเขาใช้ใบกล้วย(ใบตอง)มุงหลังคาเพิงหมาแหงน เมื่อระยะเวลาผ่านไปหลายวัน อาหารที่หาจากป่าในบริเวณใกล้เคียงหมด พวกเขาต้องย้ายไปตั้งที่พักยังพื้นที่ใหม่ในป่า ซึ่งเมื่อได้เวลาย้าย ใบตองที่ใช้มุงหลังคาก็เริ่มแห้งและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง(น้ำตาล) ส่วนคำว่า “ผี” เป็นทัศนะของคนภายนอกที่เป็นการยากมากที่จะได้เข้าไปพบและปฏิสัมพันธ์กับชาวมละบริในอดีต โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เมื่อพบเห็นคนจากภายนอก พวกเขาต้องรีบหลบหนีเข้าป่าไป ดังนั้น คนภายนอกจึงมักเรียกพวกเขาว่าเปรียบเสมือนผีที่ชอบหายตัวหรือเห็นตัวจริงยาก ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ผีตองเหลือง” ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ชอบคำนี้ และปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปใช้คำที่เขาเรียกตัวเองมากขึ้น
ผีป่า เป็นคำที่คนเมือง(ไทยวน) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกชาวมละบริ มีความหมายเชิงดูถูก
ข่าตองเหลือง “ข่า” เป็นคำที่คนในเมืองหรือกลุ่มคนไทเรียกชาวป่าชาวเขา เพี้ยนมาจากคำว่า “ข้า” เช่นเดียวกับที่คนไทเรียกคนขมุ (ข่ามุ) ส่วนคำว่า “ตองเหลือง” มีที่มาดังอธิบายข้างต้น
ข่าป่า เป็นคำที่คนเมือง(ไทยวน) และกลุ่มอื่นเรียกชาวมละบริ มีที่มาและความหมายดังอธิบายข้างต้น
ม้ากู่ เป็นคำที่ชาวม้งเรียกชาวมละบริ หมายถึงคนป่า
จันเก้ม เป็นคำที่คนเมี่ยนเรียกชาวมละบริ หมายถึงคนป่า
ตองเหลือง เป็นคำที่คนเมือง(ไทยวน) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกชาวมละบริ
คนตองเหลือง เป็นคำที่คนเมือง(ไทยวน) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกชาวมละบริ
คนป่า เป็นคำที่คนเมือง(ไทยวน) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกชาวมละบริ
ชาวเขา เป็นคำที่เรียก 10 กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งมละบริเป็นหนึ่งในนั้น (ขจัดภัย บุรุษพัตน์, 2518)
คลำโย้ ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้
Jesper Trier (n.d.: 11) บันทึกเอาไว้ว่า “ผีตองเหลือง” (Spirits of the Yellow Leaves) หรือ “คนป่า” เป็นชื่อที่เรียกโดยคนไทย แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “มละบริ” (Mlabri) หมายถึงคนป่า
ภาษามลาบรีเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติค สาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยขมุอิค ภาษากลุ่มย่อยที่มีความใกล้เคียงกัน ได้แก่ ภาษาขมุ ภาษามัล/ปรัย(ลัวะ) ในจังหวัดน่าน เชียงราย ภาษามลาบรีมีลักษณะของภาษาตระกูลมอญ-เขมรที่ชัดเจน โดยมีพยัญชนะต้น 31 ตัว เสียงสะกด 12 ตัว โดยเฉพาะเสียงสะกด ญ, จ, ฮ ส่วนเสียงสระของภาษามลาบรีนั้น ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในวงวิชาการด้านภาษาศาสตร์ว่าเสียงสระในภาษามลาบรีเป็นเสียงสระยาวหรือเสียงสั้น หรือเป็นหน่วยเสียงในภาษาหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันยังหาข้อยุติไม่ได้ ดังนั้น นักภาษาศาสตร์จึงมักเขียนคำเรียกชื่อคนกลุ่มนี้สองแบบคือ “มลาบรี” กับ “มละบริ”
เนื้อหาโดย ชุมพล โพธิสาร นักวิจัยอิสระ
เอกสารอ้างอิง
Bernatzik, Hugo Adolf. (1951). The Spirits of the Yellow Leaves. E.W. Dickes, transl. London: Robert Hale Ltd.
Cohen, Erik. (2004). Contemporary Tourism: Diversity and Change. Oxford, UK: Elsevier Ltd.
Ikeya, Kazunobu, and Shisuke Nakai. (2009). Historical and Contemporary Relations between Mlabri and Hmong in the Northern Thailand. In Senri Ethnological Studies (73) Interactions between Hunter-Gatherers and Farmers: from Prehistory to Present K. Ikeya, H. Ogawa, and P. Mitchell, eds. Pp. 247-261. Osaka, Japan: National Museum of Ethnology.
Kraisri Nimmanahaeminda. (1963). The Mrabri Language. the Journal of the Siam Society 51(2):179-184.
Kraisri Nimmanahaeminda, and Julian Hartland-Swan. (1962). The Expedition to the “Khon Pa” (or Phi Thong Luang?). the Journal of the Siam Society 50(2):165-186.
Sakkarin Na Nan. (2009). Resource Contestation between Hunter-Gatherer and Farmer Societies: Revisiting the Mlabri and the Hmong Communities in Northern Thailand. In Interactions between Hunter-Gatherers and Farmers: from Prehistory to Present K. Ikeya, H. Ogawa, and P. Mitchell, eds. Pp. 229-2446. Osaka, Japan: National Museum of Ethnology.
Seidenfaden, Erick. (1919). Further Note about Chaubun. The Journal of the Siam Society Vol. XIII(3):p. 47-53.
Surin Pookajorn. (1992). Introduction. In The Phi Tong Lueng (Mlabri): A Hunter – Gatherer Group in Thailand. S. Pookajorn, ed. Pp. 1-28. Faculty of Archaeology, Silapakorn University, Thailand: Odeon Store.
Trier, Jesper. (1992). The Mlabri People of Northern Thailand: Social Organization and Supernatural Beliefs. In The Highland Heritage: Collected Essays on Upland North Thailand. A.R. Walker, ed. Pp. 225 - 263. Singapore: Double-Six Press (Pte) Ltd.
Trier, Jesper. (2008). Invoking the Spirits: Fieldwork on the material and spiritual life of the hunter-gatherers Mlabri in Northern Thailand. Denmark: Jutland Archaeological Society.
Winit Wanadorn, Pra. (1926). Some Information Concerning the 'Phi Tawng Luang' obtained from a Few Residents of a Village in Nam Wa District, East of Nan. Journal of the Siam Society 20(2):171-174.
กรุงเทพธุรกิจ. (2536). แพร่จับผีตองเหลืองชูโรงท่องเที่ยวจังหวัด. ใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 ธค. 2536.
จรินทร์ นาคศิริ, และ ดิเรก อยู่สบาย. (2527). “ผีตองเหลือง ชนกลุ่มน้อยในจังหวัดน่าน”. ใน กรมป่าไม้ครบรอบ ๘๘ ปี ๑๘ กันยายน ๒๕๒๗. กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้.
ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ. (1996). การศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี (ผีตองเหลือง) : อดีต-ปัจจุบัน (ค.ส. 1924-1995) Proceedings of the 6th International Conference on Thai Studies: Theme VI, Chiang Mai, Thailand, 1996, pp. 139-154.
นิพัทธเวช สืบแสง. (2531). ระบบครอบครัวและเครือญาติของชาวมลาบรี. ใน ผลการวิเคราะห์กลุ่มเก็บของป่าล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. สุรินทร์ ภู่ขจร, บก. หน้า 80-95. กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปกร, กรุงเทพฯ: อมรินพริ้นติ้น.
พรรณี, มุกดา และสุมิตร คงชื่นสิน. (2531). การสำรวจลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างในคนป่าเผ่าผีตองเหลือง. ใน ผลการวิเคราะห์กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. ส. ภู่ขจรและคณะ, บก. กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.
วิสุทธิ์ ศรีวิศาล. (2538). ระบบเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชนเผ่าผีตองเหลืองในสังคมไทย วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศักรินทร์ ณ น่าน. (2548). มลาบรีกับการช่วงชิงทรัพยากรในบริทของการพัฒนาโดยรัฐ วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน. (2544a). ข้าวใหม่ตองเหลือง. การประชาสงเคราะห์ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 กค.- สค. 2544:44-47.
ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน. (2544b). โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชนเผ่าตองเหลือง จังหวัดน่าน สรุปรายงานกิจกรรม "ตองเหลืองตีข้าว" จากวิถีชีวิตเร่ร่อนสู่ความยั่งยืนและพอเพียงของชนเผ่า. น่าน: กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (เอกสารอัดสำเนา).
สมเกียรติ โกศลวัฒน์. (2531). ผลการประเมินภาวะโภชนาการของผีตองเหลืองโดยวิธีวัดการเจิญเติบโตของร่างกาย. In ผลการวิเคราะห์กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. ส. ภู่ขจรและคณะ, บก. กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.
สุชาติ บูรมิตร. (2546). การตั้งถิ่นฐาน “คนตองเหลือง” (Mlabri) ศึกษาเฉพาะกรณี บ้านห้วยหยวก หมู่ 6 ตำบลแม่ขะนิง ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน, ภาคนิพนธ์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา.
สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ. (2526). รายงานเบื้องต้น กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า "ผีตองเหลือง" ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
แพร่ น่าน | 200 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
แพร่ น่าน | 87 | 396 |
งานเขียนในช่วงก่อนทศวรรษ 2520 มักกล่าวถึงชาวมลาบรีในวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้าย (ดู Bernatzik 1951; Kraisri Nimmanahaeminda and Hartland-Swan 1962; Seidenfaden 1919; Winit Wanadorn 1926) แต่ภายหลังทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา งานศึกษาสังคมชาวมลาบรีหลายชิ้นก็เริ่มชี้ถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวมลาบรี (ดู Trier 1992; วิสุทธิ์ ศรีวิศาล 2538; ศักรินทร์ ณ น่าน 2548; สุชาติ บูรมิตร 2546; สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ 2526)
จากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าชีวิตแบบลงหลักปักฐานของชาวมลาบรีไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและยังมีทิศทางหลากหลายเกิดขึ้นในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลงหลักปักฐาน โดยอาศัยการดำเนินโครงการพัฒนาชาวมลาบรีเพื่อช่วยทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของการลงหลักปักฐาน แบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาตามการจัดตั้งโครงการพัฒนา
1.โครงการพัฒนาชาวมลาบรียุคแรกในช่วง 2520
2.โครงการพัฒนาชาวมลาบรียุคที่สองในช่วง 2530
3.โครงการพัฒนาชาวมลาบรียุคที่สาม 2540
4.โครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่เปิดเพิ่มล่าสุดในต้น 2550
1. โครงการพัฒนาชาวมลาบรียุคแรกในช่วง 2520
- ในปี 2527 จังหวัดน่านกำหนดพื้นที่ป้องกันอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อรักษาชาวเขาชนกลุ่มน้อยผีตองเหลือง สำหรับใช้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าและชาวมลาบรีสำหรับประโยชน์ทางโบราณคดีและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชนกลุ่มนี้(ดู จรินทร์ นาคศิริและดิเรก อยู่สบาย 2527) แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และรักษาชาวมลาบรี ทั้งนี้เพราะแม้จะพยายามกันพื้นที่ป่าดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้แต่อย่างใด
- โครงการพัฒนาสังคมก่อนการเกษตรกรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่ามลาบรี ที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2528-2535 ให้มีการพัฒนาและสงเคราะห์ชนกลุ่มน้อยเผ่า “ผีตองเหลือง” ที่อาศัยอยู่ตามเขตบ้านขุนสถาน บ้านห้วยบ่อหอยและบ้านภูเค็ง (ดู สุชาติ บูรมิตร 2546)
- โครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่ห้วยบ่อหอยที่เริ่มในปลายทศวรรษ 2520s ไม่ได้นำไปสู่การที่ชาวมลาบรีจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาสู่การตั้งเป็นหมู่บ้านที่ถาวรตามที่โครงการวางเป้าหมายเอาไว้ และในปลายทศวรรษ 2530s นั้นเอง ทางภาครัฐก็ได้เริ่มหันไปจัดตั้งพื้นที่โครงการพัฒนาชาวมลาบรีในพื้นที่แห่งใหม่ในเขตอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน
2. โครงการพัฒนาชาวมลาบรียุคที่สองในช่วง 2530
- ในช่วงต้นทศวรรษ 2530s นี้ ได้มีการรวบรวมชาวมลาบรีโดยกลุ่มอำนาจท้องถิ่นที่จับมือกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเอกชนฉวยประโยชน์จากชาวมลาบรีภายใต้การท่องเที่ยว โดยช่วงเวลาดังกล่าวนี้ยังได้เกิดความขัดแย้งในการดึงชาวมลาบรีให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ระหว่างจังหวัดแพร่และจังหวัดน่านที่ต้องการเป็นจังหวัดสำหรับมาเที่ยวชมชาวมลาบรี (ศักรินทร์ ณ น่าน 2548)
- ในช่วงปี 2536 จังหวัดแพร่พยายามให้ชาวมลาบรีมีที่อยู่อาศัยถาวร ที่บ้านครกหนานทาเป็นก่อนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต (ดู กรุงเทพธุรกิจ 2536)
- ในช่วงปี 2537-8 ที่อำเภอบ้านหลวง จนกระทั่งปี 2540 โครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่อำเภอบ้านหลวงก็ได้ดึงหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนเข้ามาร่วมในโครงการมากยิ่งขึ้น และครอบครัวมิชชันนารีอย่างครอบครัวบุญยืนยังได้ย้ายจากจังหวัดแพร่เพื่อเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าวโดยจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาและอนุรักษ์ชนเผ่าตองเหลือง (Yellow Leave Development and Preservation Center)
- อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โครงการดังกล่าวนี้ได้รวบรวมชาวมลาบรีเข้ามาอยู่ในพื้นที่และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 แต่ก็มาสิ้นสุดในปี 2541 โดยมีระยะเวลาดำเนินการเพียง 5 ปีเท่านั้น โดยเกิดความขัดแย้งเกิดในพื้นที่ระหว่างหลายกลุ่มในประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชาวมลาบรี ทางการพยายามคลี่คลายสถานการณ์ แต่ไม่สำเร็จจนในที่สุดต้องลงเอยด้วยการปิดโครงการพัฒนาลง ครอบครัวบุญยืนย้ายกลับบ้านห้วยฮ่อม ส่วนชาวมลาบรีได้แยกกันออกเป็นหลายกลุ่มและออกไปอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น บ้านห้วยฮ่อม และบ้านห้วยหยวก เป็นต้น (ดู ศักรินทร์ ณ น่าน 2548; สุชาติ บูรมิตร 2546)
3. โครงการพัฒนาชาวมลาบรียุคที่สาม 2540
ในต้นทศวรรษ 2540s ทางการพยายามเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อดำเนินโครงการพัฒนา ชาวมลาบรีอีกครั้ง บ้านห้วยหยวกได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการพัฒนาชาวมลาบรีตามที่มีการสำรวจพบว่า มีชาวมลาบรีหลายครอบครัวมาทำงานรับจ้างชาวม้งที่นี่ รัฐจึงพยายามรวบรวมชาวมลาบรีมาอยู่รวมกันเป็นหย่อมบ้านและโครงการนี้ก็ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (ดู ศักรินทร์ ณ น่าน 2548; สุชาติ บูรมิตร 2546)
เมื่อชาวมลาบรีเริ่มรวมกันเข้ามาอยู่มากขึ้นแล้ว ก็พบว่า ชาวมลาบรีมีการออกไปอาศัยในเพิงพักที่สร้างขึ้นตามไร่ชาวม้งในช่วงที่มารับจ้างและจะกลับมาพักที่ในตัวชุมชนที่เป็นที่ตั้งโครงการพัฒนา หากไปทำไร่ไม่ไกลจากตัวพื้นที่ชุมชนมากนัก แต่ชาวมลาบรีบางครัวเรือนก็ยังมีการเคลื่อนย้ายอยู่บ้าง โดยจะออกไปอยู่กับญาติพี่น้องและหางานทำงานหมู่บ้านแห่งอื่นๆ เช่น บ้านห้วยฮ่อมและบ้านท่าวะ บางรายที่อยู่ในชุมชนที่ตั้งใหม่ก็มีการรื้อบ้านเดิมแล้วย้ายไปสร้างบ้านหลังใหม่ที่ยังคงอยู่ในบริเวณที่ตั้งชุมชนใหม่แห่งนี้
ในปี 2549 โครงการพัฒนาชาวมลาบรีมีความเข้มข้นขึ้นโดยได้มีการขยายพื้นที่ชุมชนเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานที่รวมไปถึงการจัดตั้งสถานที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาส่งเสริมชุมชนในการยังชีพทั้งการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์และอาชีพเสริมอื่นๆ ตลอดจนการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน ในปี 2550 สมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จเยือนบ้านห้วยหยวกอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดการวางแนวและทางการพัฒนาชุมชนชาวมลาบรีจากหลายฝ่าย โดยมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ชุมชนครั้งใหญ่ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญล่าสุดหลังการตั้งชุมชนชาวมลาบรีบ้านห้วยหยวกแห่งนี้
4. โครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่เปิดเพิ่มล่าสุดในต้น 2550
โครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่เพิ่งเปิดขึ้นมาใหม่หลังปี 2550 มี 2 พื้นที่ ได้แก่ บ้านท่าวะและ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
ชาวมลาบรีที่บ้านท่าวะ การลงหลักปักฐานโดยรัฐเพิ่งมาเริ่มเมื่อช่วงปี 2550 ตามโครงการพัฒนาที่เพิ่งเริ่มขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยพื้นที่แห่งนี้มีชาวมลาบรีเข้ามาหาของป่าล่าสัตว์และแวะเวียนไปยังหมู่บ้านชาวไตยวนมานานแล้ว โดยชาวมลาบรีนำของป่ามาแลกของบ้านและยังพัฒนามาสู่การเป็นแรงงานรับจ้างในการเพาะปลูก
ชาวมลาบรีที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา การลงหลักปักฐานเพิ่งเริ่มในปี 2551-2 ตามการเริ่มรวบรวมชาว มลาบรีเข้าไปอยู่ในพื้นที่โครงการ ในขณะที่ศูนย์ภูฟ้ามีการจัดตั้งในช่วงปี 2542 ในฐานะโครงการพัฒนาในพื้นที่เพื่อความมั่นคงทางการทหาร และแม้ว่าจะมีชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในหลายหมู่บ้านที่แวดล้อม แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ได้พัฒนาปฏิสัมพันธ์กับชาวมลาบรีที่ย้ายเข้ามาใหม่มาก่อน ดังนั้น กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงเป็นคนแปลกหน้าระหว่างกันภายหลังโครงการลงหลักปักฐานโดยรัฐ จะเห็นได้ว่า การลงหลักปักฐานของชาวมลาบรีสัมพันธ์ไปกับโครงการพัฒนาโดยรัฐอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ชุมชนชาวมลาบรีทุกแห่งจะได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐเท่านั้น เพราะเราก็ยังคงเห็นถึงบทบาทการพัฒนาของมิชชันนารีอย่างครอบครัวบุญยืนในกรณีชาวมลาบรีบ้านห้วยฮ่อม และ เราก็เห็นบทบาทของกลุ่มทุนท้องถิ่นที่พยายามรวบรวมชาวมลาบรีเข้ามาไว้ในพื้นที่ป่าจำเพาะเพื่อสามารถจัดการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ ก็ยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งมีโครงการพัฒนาชาวมลาบรีที่สัมพันธ์ไปกับภาครัฐที่ต้องการให้ชาวมลาบรีลงหลักปักฐาน แต่สำหรับกรณีของชาวมลาบรีที่บ้านดอนไพรวัลย์มีความแตกต่างที่ช่วยต่อภาพการลงหลักปักฐานของชาวมลาบรีในประเทศไทยได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย
ชาวมลาบรีบ้านดอนไพรวัลย์ : โครงการลงหลักปักฐานโดยชุมชนชาติพันธุ์ภายนอก
ก่อนหน้าที่จะมาอยู่บ้านดอนไพรวัลย์นั้น ชาวมลาบรีกลุ่มนี้เข้ามาพร้อมกับกลุ่มผู้ลี้ภัยสงครามในประเทศลาวแล้วเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ผู้ลี้ภัยสงครามในอำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อปี 2519 หลังจากนี้ชาวมลาบรีกลุ่มนี้ได้ออกจากศูนย์แล้วมาตั้งเพิงพักในชายป่า โดยยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์และมารับจ้างเป็นแรงงานให้กับชาวม้งในหลายหมู่บ้านจนกระทั่งในปัจจุบัน กลุ่มนี้ได้เข้ามาอาศัยอยู่กับชาวม้งบ้านดอนไพรวัลย์ (ดู Trier 2008) การลงหลักฐานของมลาบรีกลุ่มนี้สัมพันธ์กับการก่อตัวของรัฐและความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ-การเมืองในภูมิภาคได้อย่างชัดเจน
จากชาวมลาบรีทั้ง 5 กรณีที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วนั้น หากย้อนกลับไปดูงานของ Ikeya กับ Nakai (2009) ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว เราจำต้องมองประวัติศาสตร์การลงหลักปักฐานของชาวมลาบรีที่ขยายไปจากงานของ Ikeya กับ Nakai ที่เสนอการมองหา symbiosis ในอดีตผ่านคู่ความสัมพันธ์ระหว่าง hunter-gatherers กับ farmers กล่าวคือ การเคลื่อนย้ายและการลงหลักปักฐานของชาวมลาบรีมีการเปลี่ยนแปลงไปภายใต้ความสัมพันธ์ที่รัฐพยายามดำเนินโครงการพัฒนาชาวมลาบรีด้วย
การเปลี่ยนผ่านมาสู่ชีวิตการลงหลักปักฐานยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังคงไม่เสร็จสิ้นสมบรูณ์ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นว่า รัฐได้ดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่หลายแห่งในช่วงเวลาต่างๆ โดยมีบางแห่งที่ไม่ประสบผลสำเร็จก็ต้องปิดตัวลงไป ในขณะที่บางแห่งสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีบางแห่งที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นมาใหม่ มันจึงเป็นช่วงที่ชาวมลาบรีเข้ามาอยู่รวมกันในพื้นที่การลงหลักปักฐานซึ่งมีภาครัฐพยายามส่งเสริมให้เป็นหย่อมบ้านอยู่หลายครั้ง โดยคนเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้การเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ด้วย แต่เมื่อโครงการพัฒนาจำต้องปิดตัวไปนั้น ชาวมลาบรีก็เคลื่อนย้ายไปอาศัยอยู่นอกพื้นที่โครงการพัฒนา โดยเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ชาวมลาบรีเข้าไปเก็บหาของป่าล่าสัตว์หรือพื้นที่เพาะปลูกที่ชาวมลาบรีเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ภายนอกอื่นๆ อันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ก่อนที่รัฐจะเข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาชาวมลาบรี แต่เมื่อทางการสามารถจัดตั้งและดำเนินโครงการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้นหลังทศวรรษ 2540s นั้น การลงหลักปักฐานของชาวมลาบรีในพื้นที่จำเพาะก็เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น ถึงช่วงนี้ แม้การลงหลักปักฐานสำหรับชาวมลาบรีจะยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ในทุกพื้นที่ แต่ก็เริ่มเห็นได้ว่า ชาวมลาบรีได้ใช้ระยะเวลานานมากขึ้นก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่อื่นๆ ชีวิตที่เคลื่อนย้ายจึงยังอาจไม่ได้หมดความสำคัญต่อชาวมลาบรีลงทั้งหมด ดังที่ชาวมลาบรีจากบ้านห้วยฮ่อมได้ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและบางส่วนก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านห้วยหยวกที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงหลังปี 2550 ที่ผ่านมานี้ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีย่อยๆ ในระดับครัวเรือนและระดับปัจเจกที่ยังคงมีการเคลื่อนย้ายไป-มาในระหว่างพื้นที่ แต่ที่สุดในปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า การเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นในทิศทางและพื้นที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยไม่เพียงแต่จำกัดในดินแดนรัฐชาติไทยเท่านั้น หากยังมีการจำกัดเหลือพื้นที่ไม่กี่แห่งอีกด้วย
ชาวมลาบรีมีการจำแนกสัตว์ตามขนาดของสัตว์และยังสัมพันธ์กับการแบ่งปันเนื้อสัตว์ให้คนอื่นๆ รวมไปถึงการประกอบพิธีกรรมต่อสิ่งเหนือธรรมชาติด้วย โดย “จะเด้อตรือหนาบ” หรือสัตว์ใหญ่ได้แก่ แบ้ก(หมี) ง้าย(หมูป่า) ดิ้ง(กระทิง) สัตว์จำพวกกวาง เช่น โป้นล(เก้ง) คเจี้ยก(กวาง) และงูเหลือม โดยมื่อล่าสัตว์ใหญ่มาได้ ก็แบ่งให้กับทุกคนเพราะถือว่าเป็นของส่วนรวม และเมื่อล่าได้ก็ต้องประกอบพิธีขอขมากับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ดูแลสัตว์ใหญ่เหล่านั้นด้วย ส่วนสัตว์อื่นๆ ก็จะถือเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือ “จะเด้อไอตาก” ไปล่าได้มาก็แบ่งกันกินในครัวเรือนเป็นหลักและไม่ต้องประกอบพิธีกรรมอะไร
ชายชาวมลาบรีบางคนยังรู้วิธีตีเหล็กด้วย โดยมีเครื่องมือโลหะต่างๆ ที่ชาวมลาบรีจะนำไปใช้ในการดำรงชีวิต เช่น เสียม มีดพร้า และ “ค้อด” หรือหอก สำหรับการได้เหล็กมานั้น ชาวมลาบรีจะนำของป่าไปติดต่อขอแลกเปลี่ยนสิ่งของจากกลุ่มชาติพันธุ์ภายนอก เช่น ชาวไตยวนหรือที่ชาวมลาบรีเรียกว่า “ท้อด” แต่จะมีเพียงชายมลาบรีเท่านั้นที่จะนำของป่าไปแลกกับคนในหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันนี้ การหาของป่าไปแลกกับเหล็กเพื่อเอามาตีเป็นหอกคงไม่มีอีกแล้วเพราะปัจจุบันนี้หอกเป็นเครื่องมือที่ไม่มีการนำมาล่าสัตว์อีกต่อไป ทั้งนี้จากการที่ชาวมลาบรีหันมาใช้ปืนกันมากขึ้น โดยเป็นปืนที่ได้จากการติดต่อกับคนม้งในฐานะแรงงานรับจ้างในไร่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้
การติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสังคมภายนอกยังจำเป็นต่อการที่ชาวมลาบรีจะสามารถมีเครื่องมือสำหรับจุดไฟด้วย ตามที่ไฟเป็นสิ่งที่ชาวมลาบรีต้องใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันทั้งเพื่อการประกอบอาหารและการสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย โดยที่บ้านห้วยหยวก ชายมลาบรีอย่างลุงปา ยังได้ใช้การจุดไฟในโอกาสที่มีการแสดงให้กับนักท่องเที่ยวได้ดูอีกด้วย โดยจะใช้การตีเหล็กลงไปที่หินจนได้ประกายไฟไปติดที่เยื่อที่ขูดมาจากก้านใบของต้น “เขียง” อันเป็นพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามป่า โดยเยอเขียงนี้จะนำมาแช่น้ำที่ผสมกับดินประสิวที่ใช้ของป่าไปแลกมาจากชาวบ้าน
สังคมชาวมลาบรีมีการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติและการรวมกลุ่มกันทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างครัวเรือนต่างๆ ในกลุ่มหนึ่งๆ นั้น นอกจากความสัมพันธ์ในทางญาติพี่น้องแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นด้วย โดยแต่ละหลังคาเรือนเมื่อหาอาหารในป่าหรือรับอาหารเป็นค่าแรงในการรับจ้างก็จะมีการนำมาแบ่งปันกัน โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดเป็นคนหาได้ รวมทั้งการพึ่งพากันในด้านอื่นๆ เช่น การป้องกันระวังภัย การประกอบพิธีกรรม กิจกรรมบันเทิง เป็นต้น โดยกลุ่มครอบครัวนี้จะมีขนาดโครงสร้างใหญ่กว่าครอบครัว แต่เล็กกว่าหมู่บ้าน (นิพัทธ์เวช สืบแสง, 2531)
ปัจจุบันนี้ เมื่อสังคมชาวมลาบรีได้มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่การลงหลักปักฐานถาวรตามที่รัฐได้ให้การสนับสนุนมานานหลายทศวรรษนั้น ก็ทำให้การอาศัยอยู่รวมกันในชุมชนหลายแห่งเหล่านั้นไม่ใช่รูปแบบตามการอยู่รวมกันของกลุ่มเครือญาติเดียวเท่านั้น โดยเกือบทั้งหมด (ยกเว้นกรณีบ้าน ดอนไพรวัลย์) เป็นการอาศัยอยู่รวมกันของมลาบรีจากหลายกลุ่มครอบครัวและเครือญาติอีกด้วยโดยหลังการพิจารณาให้สัญชาติไทย ชาวมลาบรีได้รับการตั้งนามสกุลให้จากเจ้าหน้าที่รัฐและมิชชันนารี ใน ปี 2553 จากการสำรวจในรายงานครั้งนี้ พบว่า ในชุมชนชาวมลาบรีแต่ละแห่งจะมีคนที่มีนามสกุลแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
- บ้านห้วยหยวก มีประชากรชาวมลาบรี 172 คน มี 6 นามสกุล คือ 1) หิรัญคีรี 2) เมลืองไพร 3) อนันตพฤกษ์ 4) ไพรนิวาส 5) สุชนคีรี 6) คนธพฤกษ์
- บ้านห้วยฮ่อม มีประชากรชาวมลาบรี 82 คน มี 7 นามสกุล คือ 1) ศรีชาวป่า 2) ดอยศักดิ์ 3) ศรีร้องกวาง 4) เจริญคีรีพนา5) ศรีพนาสุข 6) ไพรพฤกษ์ 7) น้ำใจคีรี
- บ้านท่าวะ มีประชากรชาวมลาบรี 36 คน มี 6 นามสกุล คือ 1) ศรีพนาสุข 2) เจริญคีรีพนา3) เมลืองไพร4) ศรีชาวป่า 5) ไพรศักดิ์ 6) สุชนคีรี 7)
- ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา มีประชากรชาวมลาบรี 61 คน มี 8 นามสกุล คือ 1) ศรีชาวป่า 2) ดอยศักดิ์ 3) ศรีร้องกวาง 4) เจริญคีรีพนา5) ศรีพนาสุข 6) ชาวพนาไพร 7) เจริญคีรีพนา 8) สุชนคีรี
การที่ชาวมลาบรีไม่นิยมแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ ยังทำให้การแต่งงานจำกัดแต่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน จึงมีชายบางคนที่ได้แต่งงานกับหญิงที่มีอายุมากกว่าตน ส่วนการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์นั้น เคยเกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่หาได้ยากมากในกลุ่มชาวมลาบรี โดยในการสำรวจครั้งนี้ ผู้เขียนพบแต่เพียงกรณีชาวมลาบรีที่บ้านดอนไพรวัลย์ที่หญิงชาวมลาบรี 2 คนไปแต่งงานกับชายชาวถิ่น (ดู Trier 2008)
ในสังคมมลาบรี ผู้ชายมีหน้าที่ในการล่าสัตว์ โดยจะรวมกันเป็นกลุ่มอาศัยความสัมพันทางสังคมเข้ามาช่วย โดยเป็นความสัมพันธ์ที่กว้างมากขึ้นกว่าความสัมพันธ์ในระดับครัวเรือน หรือเครือญาติ การออกไปล่าสัตว์มีความสำคัญที่ทำให้ผู้ชายสามารถแสดงบทบาทตามที่ถูกสังคมคาดหวังไว้ กลายเป็น “ผู้แบ่งปัน” ในสิ่งที่มีค่าต่อผู้คน นั่นคือแบ่งปันเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ให้กับสมาชิกในสังคมอื่นๆ ด้วย โดยความสำเร็จในการล่าจึงสามารถสร้างสถานภาพที่น่ายกย่องที่มีผลต่อชีวิตทางสังคมของนายพรานและกลุ่มนายพราน ทั้งนี้เพราะมีส่วนช่วยในการหาคู่ครองด้วย
ส่วนผู้หญิง มีหน้าที่ที่ต้องทำมากกว่าผู้ชาย ทั้งหาอาหาร ทำอาหาร สร้างซ่อมบ้าน ไปตักน้ำ เลี้ยงลูก ในบางครั้งผู้หญิงก็ยังช่วยผู้ชายล่าสัตว์และผู้ชายก็สามารถทำงานของผู้หญิงได้บ้างเหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ในระดับที่เป็นหลักการกับบทบาทหน้าที่ในระดับปฏิบัติที่ไม่ได้ตายตัวนัก
ในงานศึกษาของ นิพัทธ์เวช สืบแสง (2531) เขากล่าวถึงระบบครอบครัวและเครือญาติของชาวมลาบรีไว้ว่า แม้จะมีขนาดประชากรที่น้อย แต่สังคมชาวมลาบรีก็มีข้อห้ามในการแต่งงานระหว่างพี่น้องทั้งแนวขวาง (Cross cousin) และญาติพี่น้องแนวขนาน (Parallel cousin) การแต่งงานในสังคมชาวมลาบรีจึงเป็นรูปแบบการแต่งงานนอกกลุ่ม (Exogamy) นอกจากนี้ ก็ยังยึดถือการแต่งงานแบบสามีภรรยาเดียว (Monogamy)
เครื่องนุ่งห่มของชาวมลาบรีอาจทำขึ้นมาจากเส้นใยและบางครั้งก็เป็นใบไม้ตามป่า นั่นคือ “อะกูกู้ลาม” หรือเปลือกต้นไม้ แต่อาจจะใช้ “อะกูกู้โยน-ร” หรือกาบกล้วยก็ได้แต่ใช้ได้ไม่นานเท่าเปลือกไม้ บางครั้งก็ใช้เปลือกของต้นปอสาหรือกาบกล้วยที่รัดติดกันด้วยเชือกที่ทำจากเถาวัลย์ แต่การใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้หรือใบไม้ ก็ไม่มีการใช้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันนี้ชาวมลาบรีหันมาใช้เสื้อผ้าที่ได้รับแจกจากคนภายนอกและบางครั้งก็ซื้อจากตลาดในตัวเมืองด้วย
เครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ เช่น “ยอก” หรือ ย่ามใส่ของใช้สอยที่หญิงมลาบรีจะนำเปลือก “ทะแป้ด” เป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งมาทำเป็นเชือก ย้อมเชือกด้วยพืชที่ให้สี เช่น “ทรอม” ให้สีเขียว รากของต้น“ยักสะแว้” ให้สีเหลืองแกมส้ม เป็นต้น การสานย่ามต้องอาศัยเครื่องมืออื่นประกอบด้วย คือ “จ้วก” ทำมาจากไม้ไผ่
“ก้วย” เป็นกระบุงขนาดใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ ไม่มีฝาปิด เป็นสิ่งที่ชาวมลาบรีเรียนรู้จากชาวม้งมานานแล้ว
“ปูม” เป็นกระบุงแบบมีฝาปิด สานมาจากหวายที่เหนียวกว่าไม้ไผ่มากทำให้ลวดลายการสานปูมมีความละเอียดมาก ช่วยป้องกันสิ่งของภายในจากน้ำฝนได้ดีกว่า
ชาวมลาบรีรู้จักพืชป่าที่นำมาเป็นอาหารหลายชนิดตามฤดูกาล
ฤดูกาล | พืชที่ใช้ประโยชน์ |
---|---|
ยัมทุอูล (ฤดูร้อน) |
มันป่า ได้แก่ “ทรูด” “เกล้ว” หรือ “เด้อว” “กว้าย” “แว้-ช” “จะแหรก” “ม่า” “กะทาด” กล้วยป่าที่กินทั้งส่วนของหยวก “เดาะ” (ปลี) และ “เพละ” (ผลกล้วย) ผักกูด (เฉพาะริมห้วย) เดอะราว “เลอมเทิก” หรือมะไฟป่า |
ยัมแมะ (ฤดูฝน) |
มันป่า ได้แก่ “ทรูด” “เกล้ว” หรือ “เด้อว” “กว้าย” “แว้-ช” “จะแหรก” “ม่า” “กะทาด” กล้วยป่าที่กินทั้งส่วนของหยวก “เดาะ” (ปลี) และ “เพละ” (ผล) หน่อไม้ ผักกูด ผักกุมโระ ผักค๊าก เทิ้ด “เฮด” หรือเห็ดต่างๆ โดยเป็นเห็ดที่ขึ้นตามขอนไม้ ได้แก่ “ก่า” “ดั้ก” “ตรึเจ้ล” “โต้ล” “ซานรา”เห็ดขึ้นตามพื้นดิน ได้แก่ “แนน-ล” “ยอร” “โป้ยส” ยอดฟักทอง ผล “ลมโบะ” พืชตระกูลขิงที่คนมลาบรีกินผลที่งอกจากโคนต้นที่เรียกว่า “เออะเกละ” ผลของต้นป้าบ และผล “ระเวก” มะม่วง หน่อหวาย |
ยัมตะกาด (ฤดูหนาว) |
มันป่า ได้แก่ “ทรูด” “เกล้ว” หรือ “เด้อว” “กว้าย” “แว้-ช” “จะแหรก” “ม่า” “กะทาด” กล้วยป่าที่กินทั้งส่วนของหยวก “เดาะ” (ปลี) และ “เพละ” (ผล) ผักกูด (เฉพาะริมห้วย) ดอกและลูกต๋าว หน่อหวาย ผลฟักทอง |
สำหรับการล่าสัตว์ ขนาดของกลุ่มที่ร่วมกันล่าสัตว์อาจมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความชำนาญ หากล่าได้สัตว์ใหญ่ เช่น กวาง ก็จะชำแหละในป่าเลย เนื้อกวางที่ล่านี้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ความเป็นเจ้าของ คือ ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรจึงไม่จำกัดแต่ในคนที่ไปล่าด้วยกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การแบ่งเนื้อสัตว์ที่ล่ามามีการกีดกันอยู่บ้าง เช่น กรณีที่ล่าได้สัตว์ใหญ่ เช่น หมี หมูป่า ก็จะถูกกันส่วนหัวและส่วนหางไว้ให้กับคนที่ใช้หอกแทงสัตว์เป็นคนแรก
“พิธีเมาะโล่นเปียะเด้อ” (สู่ขวัญสัตว์) เป็นพิธีกรรมเพื่อขอขมาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติโดยผ่านผู้อาวุโสโดยเฉพาะที่เป็นผู้ชายเป็นผู้ประกอบพิธี สิ่งเหนือธรรมชาติในฐานะผู้ดูแลสิ่งต่างๆ ในป่าอยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ชาวมลาบรีจึงเป็นเพียงผู้ขอใช้ในสิ่งที่มีเจ้าของดูแลอยู่ การนำสิ่งของผู้อื่นมาใช้โดยเฉพาะกับสิ่งเหนือธรรมชาติจึงต้องมีการขอขมา
สาเหตุการเจ็บไข้ได้ป่วยในความคิดของชาวมลาบรีนั้น สามารถเกิดได้ในหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งที่มาจากสัตว์ป่า จากพืชและสิ่งเหนือธรรมชาติ อาศัยสมุนไพรใช้รักษาอาการต่างๆ เช่น
ชื่อพืชสมุนไพร | ลักษณะ/ใช้รักษา |
สะอาล | เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กพบได้ทั่วไปตามป่า เอาใบมาต้มแล้วนำน้ำมาลูบตามแขน หน้าและลำตัวเพื่อเอาเหล็กในผึ้งออก |
เบอะเวรง | ที่นำยางจากรากมาทำเป็นยาทาแผลสด แผลจากฝีอักเสบ |
แย้-ช | เป็นเถาวัลย์ที่นำมาคั้นเอาน้ำจากเถามาเพื่อรักษาอาการปวดท้องและฝีหนอง |
ป้าบ | พืชตระกุลข่า นำหัวใต้ดินมาต้มกับน้ำแล้วนำมาดื่มและลูบตามหน้ากับลำตัวเพื่อรักษาอาการเป็นไข้ไม่สบาย |
ตะรอน | นำหัวใต้ดินมาต้มใช้น้ำดื่มแก้อาการไข้และปวดหัว |
ในกรณีที่ถูกเสือทำร้าย การรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หากโดนเสือกัดตายทันทีพี่น้องก็จะทิ้งศพไว้ที่นั่น แล้วก็รีบย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นไกลๆ แต่กรณี “รว้ายกรึบมลา มลากะบ่บื้น-ล” หมายถึง เสือกัดแล้วคนไม่ตาย กรณีแบบนี้คนที่ถูกเสือกัดต้องเสียสละตนเอง เพราะเสือจะตามกลิ่นเลือดของคนบาดเจ็บ โดยคนที่ถูกเสือทำร้ายนั้นจะปีนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้รอให้เสือมากิน หากมีเวลานานพอพี่น้องจะช่วยกันทำ “ลวย” หรือไม้ปลายแหลมเอามาปักรอบโคนต้นไม้ เมื่อเสือมาถึงก็จะกระโจนข้ามลวยไปเพื่อปีนต้นไม้ขึ้นไปกินคนเจ็บ แต่ยามลงเมื่อคาบคนเจ็บลงมาทั้งเสือและคนเจ็บก็จะตกลงมาถูกลวยแทงตายทั้งคู่ และทั้งคู่ก็จะมีเสือตัวอื่นมากินต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงในปัจจุบัน การที่สัตว์ป่าขนาดใหญ่ได้ลดจำนวนลงอย่างมากและบางชนิดในพื้นที่ก็ไม่มีแล้วนั้น ทำให้บริบทการประกอบพิธีอันเป็นความรู้หนึ่งที่ชาวมลาบรีใช้จัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติได้ขาดหายไปจากบริบททางสังคมพร้อมๆ กับการสูญเสียความรู้ในการจัดการสังคมของผู้คนด้วย
กระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามาสู่สังคมชาวมลาบรีนั้น เริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2530s โดยรับผลจากการเปิดตัวภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ 1) The God Must Be Crazy อันเป็นภาพยนตร์จากต่างประเทศที่สร้างขึ้นในต้นทศวรรษ 2520s และ 2) ตะวันยิ้มแฉ่ง อันเป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างในช่วงปี 2527-2528 โดยเลียนแบบภาพยนตร์เรื่องแรกนำเอาชาวคุงที่เป็นกลุ่มเก็บของป่าล่าสัตว์ในทวีปแอฟริกามาร่วมแสดงด้วย แต่สำหรับตะวันยิ้มแฉ่งได้นำเอาชาวมลาบรีมาแสดงแทน (ดู ศักรินทร์ ณ น่าน 2548) จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง ตะวันยิ้มแฉ่ง ทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนที่ลึกลับก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่การเป็น “กลุ่มชนดึกดำบรรพ์ที่แปลกประหลาด หาดูยาก ไร้เดียงสา ขี้อาย” ฉะนั้น การพัฒนาและอนุรักษ์ชาวมลาบรีของรัฐในช่วงหลังนี้ จึงหมายถึงการนำชาวมลาบรีเข้าสู่ระบบตลาดทุนนิยมด้วย
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวชาวมลาบรีที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีเพียงชาวมลาบรีบ้านห้วยหยวก ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เท่านั้นที่ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งยังคงมีการท่องเที่ยวอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (Cohen 2004)
จากการสำรวจที่บ้านห้วยหยวกของผู้เขียนเมื่อปี 2546-2547 (ศักรินทร์ ณ น่าน 2548) พบว่า การนำนักท่องเที่ยวมาดูชาวมลาบรีในพื้นที่บ้านห้วยหยวกมีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่ การแสดงภายในชุมชนกับการแสดงภายนอกชุมชน สำหรับบริษัททัวร์ที่จัดเส้นทางท่องเที่ยวจะมีทั้งที่อยู่ในจังหวัดน่านและต่างจังหวัด โดยหากเป็นการแสดงภายในชุมชนนั้น บริษัทจะพานักท่องเที่ยวเข้ามาชมพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนซึ่งหมายถึง การพานักท่องเที่ยวเดินชมตัวชุมชน และมักมีบ้านของชายมลาบรีสูงวัยเป็นจุดหมายหลัก การแสดงภาพการดำรงชีวิตของชาวมลาบรีจะไม่มีความแตกต่างกันในเชิงรูปแบบระหว่างการแสดงภายในกับภายนอกชุมชน แต่การท่องเที่ยวภายนอกชุมชนนั้นก็มีสิ่งที่แตกต่างออกไป คือ การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวมลาบรี ทั้งนี้เพราะบริษัทท่องเที่ยวนี้ก็มักจะให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยที่ไกด์มักบอกกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่า ชาวมลาบรียังคงใช้ชีวิตในป่า อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีการตั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านเหมือนชาวเขาทั่วไป ต่อมาภายหลังผู้เขียนได้ทราบจากชาวม้งบ้านห้วยหยวกว่า บริษัทท่องเที่ยวจะโทรศัพท์ติดต่อมายังที่ผู้ใหญ่บ้านชาวม้งบ้านห้วยหยวกให้จัดคณะนักแสดงมลาบรีรอไว้ยังจุดที่บริษัทจะพานักท่องเที่ยวเดินเข้ามา
กล่าวโดยสรุปสำหรับสถานภาพด้านการรับบริการด้านการศึกษา จะเห็นว่า เมื่อผ่านต้นทศวรรษ 2540s เป็นต้นมา เมื่อชาวมลาบรีมีการลงหลักปักฐานมากขึ้นแล้ว การศึกษาที่จัดให้ชาวมลาบรีก็เริ่มมีหลายรูปแบบในการให้บริการมากขึ้น ดังที่มีจำนวนผู้เรียนและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เข้ากับกลุ่มผู้เรียนแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยมีทั้งการศึกษาในระบบสถานศึกษา ตามที่ในปัจจุบันนี้มีเด็กชาวมลาบรีจำนวนมากได้เข้าเรียนในโรงเรียนทั้งระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา โรงเรียนในสายอาชีวศึกษาและยังมีการจัดการศึกษานอกระบบให้กับชาวมลาบรีในชุมชนจัดตั้งใหม่โดยผ่านระบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่ใช้หลักสูตรสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอยู่แล้วในระบบของการศึกษานอกโรงเรียน แต่ก็ได้เริ่มปรับมาสู่การสร้างบทเรียนที่ผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ พร้อมกันนี้ยังมีชาวมลาบรีบางส่วนที่ได้รับพัฒนาฝีมือแรงงานในหน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดน่านได้จัดสอนชาวมลาบรีในวิชาช่างไม้ ช่างยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีองค์กรศาสนาและองค์กรพัฒนาเอกชนที่พยายามเข้ามาดำเนินงานด้านการศึกษาและพัฒนาชุมชนชาวมลาบรีด้วยเช่นกัน
Access Point |
---|
No results found. |
ชาวมลาบรี แต่เดิมนั้นเป็นกลุ่มชนที่ดำรงชีพแบบหาของป่าล่าสัตว์ เคลื่อนย้ายไปตามแหล่งทรัพยากร หากแต่เมื่อมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตหลายโครงการเข้าไปสนับสนุนการดำรงชีพ ชาวมลาบรีในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่านเริ่มมีพื้นที่ทำกินและสร้างชุมชนถาวรมากขึ้น หากแต่ยังคงใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ป่าในการก็บหาของป่าทั้งเป็นอาหารและร้างรายได้ อย่างไรก็ตามชีวิตที่เคลื่อนย้ายจึงยังอาจไม่ได้หมดความสำคัญต่อชาวมลาบรีลงทั้งหมด ยังคงมีการเคลื่อนย้ายไป-มาในระหว่างพื้นที่ อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นในทิศทางและพื้นที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยไม่เพียงแต่จำกัดในดินแดนรัฐชาติไทยเท่านั้น หากยังมีการจำกัดเหลือพื้นที่ไม่กี่แห่งอีกด้วย