2023-06-13 18:03:13
ผู้เข้าชม : 1840

ไตหย่า มีถิ่นฐานดั้งเดิมในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีวิถีการดำรงชีพด้วยการทำเกษตร แต่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาร่วมกับคณะมิชชันนารี จนกระทั่งตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย คนกลุ่มนี้มีภูมิปัญญาความรู้ในการทอเสื่อกก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชาติพันธุ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อประสบปัญหาและการรวมกลุ่มเพื่อนำภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำพืชสมุนไพรมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนภายในกลุ่ม

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไตหย่า
ชื่อเรียกตนเอง : ไตหย่า, ไทหย่า, ไต
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ฮวาเย่าไต
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไตหย่า
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ไตหย่า หรือ ไทหย่าเป็นชื่อเรียกตัวเองของชาวไตหย่า ที่อาศัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ คำว่า “ไต” เป็นการออกเสียงในภาษาของชาวไทหย่า และชาวไตในพื้นที่ภาคเหนือส่วนคำว่า “ไท” เป็นการออกเสียงในสำเนียงไทยกลาง ทั้งสองสำเนียงมีความหมายเดียวกัน คือ ชนชาติไต ส่วนคำว่า หย่า สันนิษฐานว่ามาจากชื่อเมือง ที่ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ ดังนั้น คำว่า ไตหย่า จึงหมายถึง ชาวไตเมืองหย่า ในสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ฮวาเย่าไตแปลว่า ไตผ้าคาดเอวลายเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ลักษณะเด่นของชุดแต่งกายสตรี ซึ่งมีผ้าคาดเอวที่ปักลวดลายและตกแต่งแถบผ้าหลากสีสันสวยงาม

ชาวไตหย่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศจีน อำเภอซินผิง มณฑลยูนนานถิ่นฐานดั้งเดิมของของชาวไตหย่าในประเทศจีนเป็นพื้นที่ลาดเอียงจากภูเขาสูงลงสู่แม่น้ำแดง ที่ดินแถบนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวไตหย่าจึงมีวิถีการดำรงชีพด้วยการทำเกษตร แต่ส่วนใหญ่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ภายหลังจากการเดินทางของหมอดอดจ์ และคณะมิชชันนารีเพื่อเผยแพร่ศาสนาในตอนใต้ของจีน ส่งผลให้ชาวไตหย่าบางส่วนเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ในขณะนั้นจีนมีการควบคุมและกีดกันการนับถือศาสนา ชาวไตหย่าที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์จึงมีชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้น ต่อมาหมอสอนศาสนาได้เดินทางกลับประเทศไทยจึงได้มีการชักชวนชาวไตหย่าที่ทำหน้าที่เป็นลูกหาบร่วมเดินทางมาด้วย ชาวไตหย่าจำนวนสิบครอบครัวจึงตัดสินใจติดตามมาด้วยการเดินเท้าจากหมู่บ้านผ่านซือเหมา สิบสองปันนา เชียงรุ่ง เข้าสู่พม่า ผ่านเมืองยอง เมืองพยาก ท่าเดื่อ เมืองพง และเข้าสู่ประเทศไทย ใน พ.ศ. 2470 ชนกลุ่มนี้ได้ตั้งชุมชนในพื้นที่ป่าเขาในจังหวัดเชียงราย ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2476 มีชาวไตหย่าได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอีกระลอกหนึ่งและมีการตั้งชุมชนชาวไตหย่าแห่งแรก คือ บ้านป่าสักขวาง ต่อมาได้มีการขยับขยายออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านน้ำบ่อขาวตำบลห้วยใคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันทั้งสองชุมชนมีครอบครัวชาวไตหย่าอาศัยอยู่ปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ทั้งคนเมือง ไทใหญ่ จีนฮ่อ ฯลฯ(จุไรรัตน์ และเลหล้า, 2552)

ชาวไตหย่า มีวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่นในด้านการทอเสื่อกก ที่เนิ่มต้นจากกลุ่มที่ติดตามมิชชันนารีได้นำเหง้าต้นกกติดตัวมาจากบ้านเกิด จนมีการพัฒนาให้กลายเป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง ด้วยกระบวนการปลูก และถักทอตามความรู้ดั้งเดิม ปัจจุบัน “สาดไตหย่า” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในจังหวัดเชียงราย และระดับภูมิภาค นอกจากนี้ชาวไตหย่ายังมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในด้านการแต่งกาย ด้วยการใช้ผ้าซิ่นสองผืน สื่อ ตัวใน เสื้อคลุมตัวนอก ผ้าคาดเอวลายและหมวก ซึ่งเป็นการแต่งกายดั้งเดิมเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในประเทศจีน ปัจจุบัน เสื้อผ้าของผู้หญิงไตหย่าในประเทศไทยบางส่วนซื้อจากประเทศจีน เมื่อครั้งเดินทางกลับไปตามหาญาติพี่น้องในดินแดนบ้านเกิดของบรรพบุรุษ

ไตหย่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหย่า หรือ ในภาษาจีนเรียกตำบลโมซา (Mosha County) อำเภอซินผิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำแดง หรือไตหย่าเรียกว่า แม่น้ำต๋าว ซึ่งห่างจากคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ประมาณ 117 กิโลเมตร (ในอดีตจะใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 7 วัน) ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเอียงจากภูเขาลงสู่แม่น้ำ ในอดีตชาวไตหย่ามีอาชีพหลักในการทำเกษตรและประมง โดยเฉพาะการปลูกต้นกก การทำนา และเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำแดง จึงสามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ผลผลิตส่วนใหญ่ต้องแบ่งให้เจ้าของที่นาเป็นค่าเช่า (รุจพร และราญ, 2532)

ใน พ.ศ.2436 คณะมิชชันนารี ได้เริ่มเดินทางเข้าไปในสิบสองปันนาและบริเวณใกล้เคียงจนกระทั่งพ.ศ.2453 หมอดอดจ์ (William C. Dodge) ได้เดินทางเข้าไปถึงสิบสองปันนาและชุมชนไตหย่า ใกล้เมืองหยวนเกียง มีการขออนุญาตรัฐบาลจีนเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยคณะเพรสไบทีเรียนหรือ “สภาคริสตจักร” แต่ทว่า หมอดอดด์ถึงแก่กรรมในปี 2462

ต่อมาใน พ.ศ.2470 ศาสนาจารย์แบคเทล (Backteal) ผู้ปกครองแก้ว ใจมา และคณะ ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปเมืองหย่า เพื่อสานงานเผยแพร่คริสตศาสนา ทำให้มีชาวไตหย่าบางส่วนเปลี่ยนจากการนับถือผีมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ (รุจพร และราญ, 2532) และถูกเรียกว่า ไตหลั่งผี หรือพวกไล่ผี

ในขณะนั้นประเทศจีนมีการกีดกันและควบคุมการนับถือศาสนา ไตหย่าที่เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนประสบปัญหาความยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง และถูกบังคับให้จ่ายภาษีโบสถ์ ถูกบีบคั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลและถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดินชาวฮั่น บางครั้งถูกปล้นสะดมภ์ เมื่อได้รับการชักชวนจากหมอสอนศาสนาที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ให้เดินทางอพยพมาไทยด้วยการเป็นลูกหาบในช่วงปี พ.ศ. 2470 จึงมีไตหย่า จำนวน 10 ครอบครัวอพยพมายังประเทศไทย (รุจพร และราญ 2532) ด้วยการเดินเท้าผ่านเมืองซือเหมาสิบสองปันนา เมืองเชียงรุ่งเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ผ่านเมืองยอง เมืองพยาก ท่าเดื่อ เมืองพง (บ้านป่ากุ๊ก) และเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก ผ่านพื้นที่ป่าเขาเป็นระยะเวลาประมาณ 45 วัน ภายหลังจากการเดินทางถึงประเทศไทย ได้เข้ามาตั้งชุมชนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่ป่า มีที่ดินกว้างขวางสามารถแผ้วถางและจับจองที่ดินทำกินได้และมีน้ำอุดมสมบูรณ์

ต่อมาใน ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) ได้เกิดการอพยพของชาวไตหย่ามาในประเทศไทยครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง เนื่องจากในเวลานั้นจีนมีการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล มีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ครอบครัวละ 2 คนไปเป็นทหารชาย ชาวไตหย่าที่ไม่ต้องการร่วมรบจึงหลบหนีจากการถูกเกณฑ์ทหารเข้ามายังประเทศไทย (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)

ในระยะแรกชาวไตหย่าตั้งชุมชนที่บ้านป่าสักขวาง ต่อมา ในช่วงพ.ศ. 2484 มีชาวไตหย่า ประมาณ 19 ครอบครัว ได้มีการโยกย้ายหาที่อยู่ใหม่ เนื่องจากที่อยู่เดิมมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่ดินทำกินไม่จำนวนไม่เพียงพอ จนกระทั่งพบพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่าน จึงอพยพโยกย้ายจากบ้านป่าสักขวางมาตั้งรกรากในพื้นที่ใหม่และได้ตั้งชื่อว่า “บ้านน้ำบ่อขาว” ต่อมาได้ย้ายไปยังพื้นที่ตัวเมืองของจังหวัดเชียงราย อาชีพหลักของชาวไตหย่าส่วนใหญ่ทำการเกษตร จกาข้อจำกัดด้านพื้นที่ทำกินกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ครอบครัวชาวไตหย่าบางส่วนมีการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อจับจองหาที่ทำกินใหม่และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณบ้านพักค่ายทหารหน้าสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงรายในปัจจุบัน เมื่อทางราชการทหารได้ขอพื้นที่บริเวณนั้นคืนเพื่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยของทหาร ชาวไตหย่าจึงต้องแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานตามที่ต่าง ๆ (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)

การอพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทย ในระยะแรกชาวไตหย่าได้ตั้งถิ่นฐานในบ้านป่าสักขวาง ตำบลห้วยใคร้อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต่อมามีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้สภาพการอยุ่อาศัยมีความแออัด จึงเกิดการขยายตัวของชุมชน บางครอบครังได้อพยพเพื่อหาที่ทำกินใหม่ และย้ายมาอยู่อาศัยอที่บ้านน้ำบ่อขาว ตำบลห้วยใคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชาวไตหย่าอาศัยอยู่รวมกันมากกว่าพื้นที่อื่น (เลหล้า ตรีเอกานุกูล, 2554, น.32) ปัจจุบันชาวไตหย่าอาศัยอยู่ร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นอย่างผสมกลมกลืน มีการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์และมีการย้ายถิ่นกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย และมีบางส่วนที่มีการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนประชากรของชาวไตหย่าที่อยู่ในประเทศไทย คงเหลือประมาณ 1,000 คน (เลหล้า ตรีเอกานุกูล, 2554; น.6)

การดำรงชีพ

วิถีการดำรงชีพของชาวไตหย่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในอดีตไตหย่ามีชื่อเสียงเรื่องการทอเสื่อกก ทั้งนี้ เมื่อเดินทางอพยพมาสู่ประเทศไทยได้มีชายผู้หนึ่งชื่อว่าเลาหล่ายนำหัวต้นกกแช่น้ำในกระบอกไม้ไผ่มาด้วย ระหว่างทางภรรยาของเลาหล่ายได้เอาหัวกกทิ้งไปถึง 3 ครั้งเพราะสัมภาระที่หาบมาหนัก เลาหล่ายก็จะเก็บมาทุกครั้ง จนครั้งสุดท้ายครอบครัวอานแตนได้เป็นผู้เก็บและนำหัวเสื่อกกมาถึงประเทศไทย เมื่อถึงประเทศไทยได้เพาะปลูกหัวกกไว้ ระยะเวลา 3 ปี จึงมีเส้นกกเพียงพอสำหรับทอเป็นเสื่อผืนแรก โดยครอบครัวอานแตนเป็นผู้ออกแบบฟืมในการทอเสื่อ ต่อมาได้มีการนำหัวกกไปขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ชาวไตหย่าจึงได้ปลูกต้นกกกันเกือบทุกครัวเรือน

ในช่วงแรก การทอเสื่อถือเป็นอาชีพเฉพาะของชาวไตหย่า จนถูกเรียกว่า “สาดไตหย่า”มีการประดิษฐ์ทำฟืมให้สามารถทอเสื่อขนาดแตกต่างกัน ต่อมามีการจ้างคนพื้นเมืองมาช่วยทอเสื่อและมีการจำหน่ายหัวกกออกไป ทำให้อาชีพการทอเสื่อได้แพร่กระจายไปทั่วจังหวัดเชียงราย (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552) ปัจจุบัน แม้ไตหย่าจะไม่ได้ทอเสื่อเป็นอาชีพแล้ว แต่การทอเสื่อลายสองที่มีความประณีตยังถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและมีความสำคัญของไตหย่าในประเทศไทย

นอกจากนี้ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มโดยมีศาสนาคริสต์เป็นแกนกลางทำให้ชาวไตหย่าได้พัฒนาทั้งทางด้านการศึกษา สังคม อาชีพ และเศรษฐกิจ โดยโบสถ์มีทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่สนใจศึกษาและเรียนดี เพื่อศึกษาทั้งในระดับประถมมัธยมและอุดมศึกษา ทั้งสายวิชาชีพและสายศาสนศาสตร์ทุนการศึกษานี้ได้รับการจัดสรร จากโบสถ์ องค์กรศาสนาในประเทศ และมิชชันนารีต่างประเทศ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทำให้บุตรหลานของชาวไตหย่ามีโอกาสศึกษาในระดับสูงขึ้น อีกทั้งบุตรหลานชาวไตหย่าจำนวนมากเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วส่วนใหญ่จะทำงานในแวดวงของสภาคริสตจักรในประเทศไทย เช่น พยาบาลและครูที่ขึ้นอยู่กับสภาคริสตจักรในประเทศไทย (รุจพรและราญ, 2532; 52-56) อีกส่วนหนึ่งทำงานรับราชการและทำงานในตำแหน่งต่างๆ แทนการทำงานภาคเกษตร

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

แม้ว่าความเชื่อดั้งเดิมของไตหย่าที่อยู่ในประเทศจีน ยังคงนับถือผีบรรพบุรุษ โดยมีแม่มด ย่ามด เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ชาวไตหย่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 90 นับถือศาสนาคริสต์ (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552) จากคำบอกเล่าของคนรุ่นแรกที่อพยพมาในประเทศไทย พวกเขาเชื่อว่า ศาสนาคริสต์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดการเดินเท้าจากเมืองหย่ามาถึงประเทศไทยต้องนอนพักค้างแรมกลางป่า แม้ว่าจะได้ยินเสียงเสือคำราม แต่ก็ไม่มีใครได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าที่มีจำนวนมาก ในเวลานั้น พวกเขาจึงเชื่อว่า การมาอยู่ในประเทศไทย เปิดจากการทรงนำ และเป็นแผนการของพระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าปรารถนาให้ชาวไตหย่าหลีกหนีจากความยากจน การถูกกดขี่ข่มเหง และการถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงให้อพยพมาอยู่ในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ และมีอิสระในการดำเนินชีวิต (กริช, 2545) ชาวไตหย่าสามารถร่วมกิจกรรมทางศาสนาคริสต์กับคนพื้นเมืองที่อยู่อาศัยมาก่อน ควบคู่กับการนับถือศาสนาคริสต์ เมื่อมีการตั้งชุมชนในจังหวัดเชียงรายจึงมีการตั้งโบสถ์ขนาดเล็กเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และโบสถ์ของชุมชนไตหย่า ได้รับการยอมรับให้อยู่ภายใต้การดูแลของสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ในประเทศไทย ชาวไตหย่าที่เป็นสมาชิกของคริสตจักรต่าง ๆ จึงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ที่จัดขึ้นทั้งในระดับเขต (การแบ่งพื้นที่ดูแลคริสตจักรที่อยู่ในอำเภอใกล้เคียงกัน) ระดับภาค (ดูแลคริสตจักรในระดับเขตที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันหรือจังหวัดใกล้เคียงกัน) และระดับประเทศ ได้รู้จักกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์ที่เป็น มากขึ้น มีการเยี่ยมเยือนและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ชาวไตหย่ามีหลักปฏิบัติด้านพิธีกรรม และเทศกาลเช่นเดียวกับคริสตชนทั่วไป นอกจากมีกิจกรรมการร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ฟังคำเทศนาที่คริสตจักรทุกวันอาทิตย์แล้ว ยังมีกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์ที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน ของชาวไตหย่า เช่น วันคริสตมาส วันถวายขอบพระคุณพระเจ้าหรือวันกินข้าวใหม่ วันอีสเตอร์ (วันระลึกถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์) ก่อนวันอีสเตอร์ 1 วัน ชาวไตหย่าจะทำกิจกรรมร่วมกัน ลูกหลานจะไปทำความสะอาดสุสาน ซึ่งเป็นการรวมญาติของแต่ละครอบครัว จะมีการเชื้อเชิญญาติพี่น้องมาร่วมกิจกรรมร่วมกัน บางคนอยู่ต่างจังหวัดก็จะกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในเทศกาลนี้ (จุไรรัตน์ และเลหล้า, 2552)

อย่างไรก็ตาม บางพิธีกรรมของชาวไตหย่าได้รับอิทธิพลจากคนท้องถิ่น เช่น พิธีขึ้นบ้านใหม่ เมื่อสร้างบ้านใหม่ จะมีพิธีวางรากฐานศิลาฤกษ์ ตรงเสาเอกของบ้านโดยมีศาสนาจารย์เป็นผู้ทำพิธี และมีการภาวนาขอพรจากพระเจ้า เมื่อบุตรต้องเข้ารับคัดเลือกทหารเกณฑ์ ครอบครัวจะภาวนาขอจากพระเจ้า ในกรณีที่ได้ใบแดงจะมีพิธีขอบคุณพระเจ้า ส่วนใบดำก็จะขอพรจากพระเจ้าให้คุ้มครอง

ความตาย และการทำศพ

เมื่อมีคนเสียชีวิตในชุมชน หลังจากอาบน้ำให้ศพแล้วจึงแต่งตัวให้ หากเป็นคนสูงอายุและมีชุดไตหย่า จะสวมชุดไตหย่า ส่วนคนรุ่นใหม่จะสวมชุดที่บุคคลนั้นชื่นชอบ และมีผ้าขาวปิดหน้า ส่วนจำนวนวันที่ไว้ศพ ขึ้นอยู่กับการกำหนดจากเจ้าภาพ บางครั้งจะตั้งศพไว้รอลูกหลานที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ชาวไตหย่าจะฝังศพตามหลักศาสนาคริสต์ โดยมีป่าช้าของตนเอง ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนจากการผังศพในหลุมดินเป็นการก่ออิฐเป็นกล่อง

ในพิธีศพฝังศพตามหลักศาสนาคริสต์ ก่อนการฝังศพหนึ่งวัน จะมีการ “ฮ่องคาม” หรือร้องเพลงส่งผู้ตาย ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมางจากตั้งชมรมไตหย่า และได้เดินทางกลับไปยังบ้านเดิมของบรรพบุรุษ เพื่อสืบค้นหาประเพณีวัฒนธรรม แล้วนำกลับมาปรับใช้ ท่วงทำนองตามต้นทางของบรรพบุรุษ เป็นเพลงภาษาไตหย่า ที่กล่าวถึงดินแดนโมซาเจียงดินแดนที่บรรพบุรุษจากมา และการเดินทางมาเมืองไทย ตั้งรกรากในถิ่นใหม่ เพื่อส่งผู้ตายกลับบ้านเดิม โดยมีเนื้อหาของเพลงดังนี้

ต่าวกาเมิงหย่า

กุนเฒ่าออกเมิงหย่า มาอู่เมิงใน

คอนว่าเมิงหย่าลี โจลีหย่า เมิงหว่านไตหย่าลี ลี โย

ซ่อมเข้าลีโจลี เห็นเสินญามโจ่ญาม เอ๊......

ห่อนหล่งเหนอ ลากอชา คามลี เฮ...ใจอะย่อ

ปู่ย่า อาเตเฮา ต่าวกาเฮินย่อ

ออกหว่านเมิงหย่ามาตี้สะนั่น ต้าวกาหันหน้ากันลี โย

ฆ่าเป็ดเห็ดนื่อวอง ผักไผ่ใส่ขุมไก่เอ๊.....

ได้จินข้าวคะว่านออนกันโขนะ

ได้หันหน้าคะว่านใจหลายตี้ เฮ...ใจ่อะย่อ

ซ่อมเข้าลีโจลี เห็นเสินญามโจ่ญามเอ๊....

ได้จินข้าวคะว่านออนกันโขนะ

ได้หันหน้าคะว่านใจหลายตี้ เฮ...ใจ่อะย่อ

ปู่ย่า อาเตเฮา ต่าวกาเฮินย่อ

ออกหว่านเมิงหย่ามาตี้สะนั่น ต้าวกาหันหน้ากันลี...โย


การทำมาหากิน

พิธีขอพระพรเพื่อการเพาะปลูก

ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ ชาวไตหย่ามีพิธีขอพรจากพระเจ้าเพื่อให้การเกษตร การเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ โดยกำหนดให้วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเป็นวันประกอบพิธี โดยจัดเตรียมกระบะสี่เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ 20 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 30 เซ็นติเมตร สูงประมาณ 10 เซ็นติเมตร นำดินและนำเมล็ดพันธุ์ที่เพาะปลูกใส่ในกระบะ แล้วนำมาทำพิธีขอพระพร โดยมีศาสนาจารย์เป็นผู้นำในการทำพิธีจะมีเพียงการกล่าวขอพระพรจากพระเจ้าเพื่อคุ้มครองการผลิตในฤดูกาลใหม่ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้เข้าร่วมจะนำดินในกระบะคนละเล็กน้อยไปหว่านในไร่นาของตนเอง

พิธีกินข้าวใหม่

เนื่องจากชุมชนชาวไตหย่าเป็นชุมชนเกษตรกรรม จึงมีพิธีกินข้าวใหม่ โดยในพิธีมีการขอบคุณพระเจ้าที่อวยพรให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา มีงานรื่นเริง เล่นเกมส์ และการแสดงต่าง ๆ นำอาหารมารับประทานร่วมกัน พร้อมกันนี้ทุกครอบครัวจะถวายผลผลิตของปีนั้น 1 ใน 10 ให้คริสตจักร หากผลิตข้าวก็จะนำข้าวมามอบให้ หากผลิตพืชผักก็จะนำพืชผักมามอบให้ หรือมอบรายได้จากการขายพืชผักหรือสินค้าที่ผลิตได้ผลผลิตทั้งหมดที่สมาชิกมอบให้คริสตจักรจะถูกนำมาประมูลในงานวันกินข้าวใหม่ รายได้จากการประมูลจะนำไปไว้สำหรับพัฒนาคริสตจักร

กริช สอิ้งทอง. (2545). ศักยภาพและแนวทางในการพัฒนาชุมชนไตหย่า หมู่บ้านน้ำบ่อขาว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

จุไรรัตน์ วรรณศิริ และเลหล้า ตรีเอกานุกูล. (2552). การดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไตหย่าในประเทศไทย: กรณีศึกษาจังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.

บุญยืน ชัยประเสริฐ. (มปป). ชาติพันธุ์ไตหย่า. เอกสารอัดสำเนา.

รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์ และจินตนา มัธยมบุรุษ. (2541). วิถีชีวิตชาวไตหย่า ศึกษากรณีซินผิง และหยวนเจียง มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน. เชียงใหม่: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.

รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์ และราญ ฤนาท. (2532). อิทธิพลของศาสนาคริสต์ที่มีต่อชาวไตหย่าในจังหวัดเชียงราย. สถาบันวิจัยและพัฒนำมหาวิทยาลัยพายัพ.

เลหล้า ตรีเอกานุกูล. (2554). กิจกรรมพึ่งตนเองกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่า หมู่บ้านน้ำบ่อขาว ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย. คณะสังคมศาสตร์: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สารคดีโลกสีน้ำเงิน ชุดคนไท ตอนไทหย่า.กรุงเทพฯ :บริษัท พาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ จำกัด.

นายจาย ศักดิ์แสน, 22 กันยายน 2558, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นางจินดา ชุมพู, บ้านป่าสักขวาง, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นายถาวร ชัยวงศ์, 22 กันยายน 2558, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นายทอง เจริญจิตร, คริตจักรนทีธรรม บ้านน้ำบ่อขาว, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นางบัวใส แก้วมณีวรรณ, คริตจักรนทีธรรม บ้านน้ำบ่อขาว, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นางบัวใส แก้วมณีวรรณ, 14 กันยายน 2557, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นางปราณี รีวงศ์, 22 กันยายน 2558, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นางเพ็ญศรี ใจยะ, คริตจักรนทีธรรม บ้านน้ำบ่อขาว, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นางสาวรัตน์ติกาญน์ ชุมพู, บ้านป่าสักขวาง, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นางเลหล้า ตรีเอกานุกูล, งานเชียงรายดอกไม้บานสวนไม้งามริมกก, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นางเลหล้า ตรีเอกานุกูล, 22 กันยายน 2558, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นายสวง ชัยวงศ์, 14 กันยายน 2557, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นางอโนมา วงศ์วิชัย, คริตจักรนทีธรรม บ้านน้ำบ่อขาว, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นางอารีย์ หินโชค, คริตจักรนทีธรรม บ้านน้ำบ่อขาว, 17 ธันวาคม 2564, ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

นางอำไพ บรมพิชัยชาติกุล, 22 กันยายน 2558, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว