ชาวจีนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ฮวาเย่าไต (Huayao dai) แปลว่า ไตผ้าคาดเอวลาย (Flowery Belted) เนื่องจากลักษณะเด่นของชุดแต่งกายสตรี ซึ่งมีผ้าคาดเอวที่ปักลวดลายและตกแต่งแถบผ้าหลากสีสันสวยงามบริเวณรอบเอว ในอำเภอซินผิงนั้น ชนชาวฮวาเย่าไต ประกอบด้วย ชาวไตกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม ได้แก่ไตหย่า ไตข่า ไตซาย ไตจุ้ง เนื่องจากอยู่ต่างถิ่นกัน มีลักษณะการแต่งกายแตกต่างกัน แต่ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนกันกล่าวคือ ไตหย่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของชนชาติฮวาเย่าไต จะอาศัยอยู่ในหลายหมู่บ้านของตำบลโมซาเจียง หรือเมืองหย่า (สันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกับภาษาไทยที่หมายถึงการแยกจากกัน) ส่วนไตข่าชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่ตามเชิงเขาหรือพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินเขา อาศัยรวมกันหนาแน่นที่สุดที่หมู่บ้านนาเก (ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ ฮวาเย่าไต) ไตซายตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองซาย (เป็นคำเดียวกับ “ทราย” ในภาษาไทย) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เมืองกาใส (Kasai) เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินว่าอร่อยที่สุดในชนชาติฮวาเย่าไต และไตจุ้ง เป็นกลุ่มฮวาเย่าไตที่อยู่ทางตอนใต้สุดของอำเภอซินผิง อันเป็นเขตแดนที่ติดต่อกับแคว้นสิบสองปันนาอาศัยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่เมืองจุ้ง หรือเมืองหยวนเจียงอย่างไรก็ตาม เมื่อคนเหล่านี้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย จะเรียกกลุ่มเหล่านี้รวม ๆ ว่าเป็นพี่น้อง “ไตหย่า” (บุญยืน มปป.)
ศาสนาจารย์บุญยืน ชัยประเสริฐ (อดีตประธานชมรมไตหย่า) สันนิษฐานว่าชื่อ “เมืองหย่า” น่าจะมาจากการแยกกันระหว่างทัพหน้ากับทัพหลวงของเจ้าผู้ครองหนองแส ซึ่งเป็นไต ตามตำนานเล่าว่า เจ้าผู้ครองหนองแสถูกจีนฮั่นรุกราน จึงส่งกองทหารหนุ่มและครอบครัวเป็นกองทัพหน้า เดินทางล่วงหน้าลงมาหาที่ตั้งบ้านเมืองใหม่ โดยให้ตัดต้นไม้บอกทางไว้ กองทัพหน้านั้นเดินทางนำไปจนถึงเขตสิบสองปันนำส่วนทัพหลวงเมื่อมาถึงบริเวณตำบลโมซาเจียง เห็นว่าต้นกล้วยที่ทัพหน้าตัดทิ้งไว้ได้ผลิงอกใบออกมา และพบว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำและที่ราบลุ่ม จึงตัดสินใจปักหลักตั้งถิ่นฐานที่นี่แทนที่จะติดตามทัพหน้าไป เมื่อเกิดการแยกจากกัน ณ เมืองนี้ จึงตั้งชื่อเมืองว่า เมืองหย่า และเป็นที่มาของชื่อไตหย่า
ชื่อที่เรียกตัวเอง
ไทหย่า เป็นชื่อเรียกที่ออกเสียงตามภาษาไทยกลาง
ไตหย่า เป็นชื่อเรียกตัวเองที่ออกเสียงตามสำเนียงของคนไตหย่า
ไต เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ (ไม่ได้ระบุว่าอยู่เมืองไหน หรือเป็นไตกลุ่มย่อยใด)
ชื่อที่คนอื่นเรียก
ฮวาเย่าไต (Huayao dai) เป็นชื่อเรียกในภาษาจีน แปลว่า ไตผ้าคาดเอวลาย (Flowery Belted) เนื่องจากลักษณะเด่นของชุดแต่งกายสตรี ซึ่งมีผ้าคาดเอวที่ปักลวดลายและตกแต่งแถบผ้าหลากสีสันสวยงามบริเวณรอบเอว
เนื้อหาโดย ดร.สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
เอกสารอ้างอิง
กริช สอิ้งทอง. 2545. ศักยภาพและแนวทางในการพัฒนาชุมชนไตหย่า หมู่บ้านน้ำบ่อขาว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม.ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
บุญยืน ชัยประเสริฐ. มปป. ชาติพันธุ์ไตหย่า. เอกสารอัดสำเนา.
จุไรรัตน์ วรรณศิริ และเลหล้า ตรีเอกานุกูล. 2552. การดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไตหย่าในประเทศไทย: กรณีศึกษาจังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.
รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์ และราญ ฤนาท. 2532. อิทธิพลของศาสนาคริสต์ที่มีต่อชาวไตหย่าในจังหวัดเชียงราย. สถาบันวิจัยและพัฒนำมหาวิทยาลัยพายัพ.
รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์ และจินตนา มัธยมบุรุษ. 2541. วิถีชีวิตชาวไตหย่า ศึกษากรณีซินผิง และหยวนเจียง มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน. เชียงใหม่: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
สารคดีโลกสีน้ำเงิน ชุดคนไท ตอนไทหย่า.กรุงเทพฯ :บริษัท พาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ จำกัด.
สัมภาษณ์
นางบัวใส แก้วมณีวรรณ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2557
นายสวง ชัยวงศ์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2557
นางปราณีรีวงศ์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558
ผศ.ดร.เลหล้า ตรีเอกานุกูล เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558
นายจาย ศักดิ์แสน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558
นางอำไพ บรมพิชัยชาติกุล เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558
นายถาวร ชัยวงศ์ เมื่อวันที่ 22กันยายน 2558
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
เชียงราย | 300 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เมื่อชาวไตหย่าอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางภาคเหนือของไทย ภาษาไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารเลยเพราะสามารถเข้าใจกันได้แม้จะมีบางคำที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม ภาษาไตหย่ากับภาษาไทยถิ่นเหนือมีลักษณะคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างอยู่บ้างเช่น หน่วยเสียงพยัญชนะและสระต่างกัน เช่น เสียง ด ในภาษาไทยกลางและภาษาไทยถิ่นเหนือจะเป็นเสียง ล ในภาษาไตหย่า เช่น ดอกไม้ เป็น ลอกไม้ สีดำ เป็น สีลำ เป็นต้นนอกจากนี้ ภาษาไตหย่าไม่มีระบบเสียงควบกล้ำ เช่น ปลา เป็น ปา เป็นต้น ในด้านสำเนียงการพูด พบว่า สำเนียงไตหย่าต่างจากภาษาไทยถิ่นเหนือเนื่องจากภาษาไตหย่ามีหน่วยเสียงพยัญชนะ 18 เสียง เสียงสระ 18 เสียงวรรณยุกต์ 5 ในขณะที่ภาษาไทยถิ่นมีเสียงพยัญชนะ 19 เสียง สระ 18 และเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียงด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวไตหย่าสามารถเรียนรู้ภาษาพื้นเมืองได้อย่างรวดเร็ว (กริช 2545) ปัจจุบันชาวไตหย่าได้ผสมกลมกลืนกับคนไทย โดยการแต่งงานมีลูกหลาน ย้ายถิ่นฐานไปอยู่หลายที่ของประเทศไทยและในต่างประเทศ
ไตหย่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหย่า หรือ ในภาษาจีนเรียกตำบลโมซา (Mosha County) อำเภอซินผิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำแดง หรือที่ไตหย่าเรียกว่าแม่น้ำต๋าวซึ่งห่างจากคุนหมิงเมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ประมาณ 117 กิโลเมตร (ในอดีตจะใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 7 วัน) ภูมิประเทศเป็นแบบลาดเอียงจากภูเขาลงสู่แม่น้ำชาวไตหย่ามีอาชีพหลักในอดีต คือ การปลูกต้นกก การทำนา และเลี้ยงปลา เนื่องจากอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแดงจึงสามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ผลผลิตส่วนใหญ่นั้นต้องแบ่งให้เจ้าของที่นาเป็นค่าเช่า(รุจพร และราญ 2532)
ประมาณ พ.ศ.2436 คณะมิชชันนารี เริ่มเดินทางเข้าไปในสิบสองปันนาและบริเวณใกล้เคียง ปี พ.ศ.2453 หมอดอดจ์ (William C. Dodge) ได้เดินทางเข้าไปถึงสิบสองปันนาและชุมชนไตหย่า ใกล้เมืองหยวนเกียง มีการขออนุญาตรัฐบาลจีนเผยแพร่ศาสนาคริสต์ คณะเพรสไบทีเรียน แต่หมอดอดด์ถึงแก่กรรมในปี 2462 ต่อมาในปี พ.ศ.2470 ศาสนาจารย์แบคเทล (Backteal) ผู้ปกครองแก้ว ใจมา และคณะ ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปเมืองหย่าสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสานงานเผยแพร่คริสตศาสนา ทำให้มีชาวไตหย่าบางส่วนเปลี่ยนจากการนับถือผีมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ (รุจพร และราญ 2532) และถูกเรียกว่า ไตหลั่งผี หรือพวกไล่ผี
ประเทศจีนในขณะนั้นมีการกีดกันและควบคุมการนับถือศาสนา ไตหย่าที่เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนประสบปัญหาความยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง และถูกบังคับให้จ่ายภาษีโบสถ์ ถูกบีบคั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดินชาวฮั่นบางครั้งถูกปล้นสะดมภ์ เมื่อได้รับการชักชวนจากหมอสอนศาสนาที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ให้เดินทางอพยพมาไทยด้วยการเป็นลูกหาบในช่วงปี พ.ศ. 2470 จึงมีไตหย่าสิบครอบครัวอพยพมาไทย (รุจพร และราญ 2532) ด้วยการเดินเท้าผ่านเมืองซือเหมาสิบสองปันนา เมืองเชียงรุ่งเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ผ่านเมืองยอง เมืองพยาก ท่าเดื่อ เมืองพง (บ้านป่ากุ๊ก) และเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก ผ่านเขตป่าเขาต่าง ๆ เป็นเวลาประมาณ ๔๕ วัน จึงถึงเขตไทยและเข้ามาตั้งชุมชนอยู่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่ป่า มีที่ดินกว้างขวางสามารถแผ้วถางและจับจองที่ดินทำกินได้และมีน้ำสมบูรณ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) มีการอพยพครั้งใหญ่อีกระลอกของไตหย่าเข้าสู่ไทย เนื่องจากในเวลานั้นจีนมีการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลมีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ครอบครัวละ 2 คนไปเป็นทหารชายชาวไตหย่าที่ไม่อยากร่วมรบจึงหนีการถูกเกณฑ์ทหารเข้ามาสู่ประเทศไทย (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
ในระยะแรกตั้งชุมชนที่บ้านป่าสักขวาง ต่อมา คือในช่วงปี พ.ศ. 2484 มีชาวไตหย่า ประมาณ 19 ครอบครัว ได้หาที่อยู่ใหม่เนื่องจากที่อยู่เดิมมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ที่ทำกินไม่เพียงพอ จนได้มาพบพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านใสสะอาดจึงพากันออกจากบ้านป่าสักขวางมาตั้งรกรากในพื้นที่ใหม่และได้ตั้งชื่อว่าบ้านน้ำบ่อขาว แต่ต่อมาได้ย้ายไปยังพื้นที่ตัวเมืองของจังหวัดเชียงราย ไตหย่าจะประกอบอาชีพทำเกษตรเป็นหลัก เพื่อจับจองหาที่ทำกินใหม่ครอบครัวบางส่วนจึงได้ย้ายเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณบ้านพักค่ายทหารหน้าสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงรายในปัจจุบัน ครั้นเมื่อทางราชการทหารได้ขอพื้นที่บริเวณนั้นคืนเพื่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยของทหารชาวไตหย่าจึงต้องแยกย้ายกันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
การดำเนินชีวิตของชาวไตหย่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในอดีตไตหย่ามีชื่อเสียงเรื่องการทอเสื่อกก ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเดินทางอพยพมาสู่ประเทศไทยได้มีชายผู้หนึ่งชื่อว่าเลาหล่ายนำหัวต้นกกแช่น้ำในกระบอกไม้ไผ่มาด้วย ระหว่างทางภรรยาของเลาหล่ายได้เอาหัวกกทิ้งไปถึง 3 ครั้งเพราะสัมภาระที่หาบมาหนัก เลาหล่ายก็จะเก็บมาทุกครั้ง จนครั้งสุดท้ายครอบครัวอานแตนได้เป็นผู้เก็บและนำหัวเสื่อกกมาถึงประเทศไทย เมื่อถึงประเทศไทยได้เพาะหัวกกไว้ถึง 3 ปีจึงมีเส้นกกเพียงพอสำหรับทอเป็นเสื่อผืนแรก โดยครอบครัวอานแตนเป็นผู้ออกแบบฟืมในการทอเสื่อด้วย ต่อมาหัวกกได้แพร่ขยายเพิ่มมากขึ้นชาวไตหย่าจึงได้ปลูกกกกันเกือบทุกครัวเรือนในช่วงแรกการทอเสื่อถือเป็นอาชีพเฉพาะของชาวไตหย่าจนถูกเรียกว่า “สาดไตหย่า” มีการประดิษฐ์ทำฟืมให้สามารถทอเสื่อขนาดต่างๆกันต่อมามีการจ้างคนพื้นเมืองมาช่วยทอเสื่อและมีการจำหน่ายหัวกกออกไปจึงทำให้อาชีพการทอเสื่อได้แพร่กระจายไปทั่วจังหวัดเชียงราย (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552) ในปัจจุบัน แม้ไตหย่าจะไม่ได้ทอเสื่อเป็นอาชีพแล้ว แต่การทอเสื่อลายสองที่มีความประณีตก็ยังถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของไตหย่าในประเทศไทย
นอกจากนี้ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มโดยมีศาสนาคริสต์เป็นแกนกลางทำให้ชาวไตหย่าได้พัฒนาทั้งทางด้านการศึกษาสังคมอาชีพและเศรษฐกิจอีกด้วยเนื่องจากทางโบสถ์มีทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่สนใจศึกษาและเรียนดีเพื่อศึกษาทั้งในระดับประถมมัธยมและอุดมศึกษาทั้งสายวิชาชีพและสายศาสนศาสตร์ทุนการศึกษานี้ได้จากทั้งโบสถ์เป็นผู้จัดสรรหรือมาจากองค์กรศาสนาในประเทศและจากมิชชันนารีต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงทำให้บุตรหลานของชาวไตหย่ามีโอกาสศึกษาในระดับสูงอีกทั้งบุตรหลานชาวไตหย่าจำนวนมากเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วส่วนใหญ่จะทำงานในวงการของสภาคริสตจักรในประเทศไทยเช่นเป็นพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆโรงเรียนวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่ขึ้นอยู่กับสภาคริสตจักรในประเทศไทย (รุจพรและราญ 2532 : 52-56) อีกส่วนได้ทำงานรับราชการและทำงานในตำแหน่งต่างๆแทนการทำงานภาคเกษตร
การอพยพย้ายถิ่นฐาน และการปรับตัวเข้าสู่สังคมเมืองส่งผลให้ชาวไตหย่าหลีกเลี่ยงการพูดภาษาของตัวเองเพราะเกรงจะโดนดูถูก เกรงว่าลูกๆ จะถูกเพื่อนล้อเลียน จึงเลิกพูดภาษาไตหย่า และหันมาฝึกภาษาพื้นถิ่นภาคเหนือแทน การแต่งงานข้ามกลุ่มวัฒนธรรมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการกลืนกลายของภาษาไตหย่าเยาวชนรุ่นใหม่ฟังภาษาไตหย่าได้ แต่ไม่สามารถพูดได้ ปัจจุบันกลุ่มคนที่ยังพูดภาษาไตหย่าอยู่คือ ผู้สูงอายุภายในชุมชน กระนั้นก็ตามไตหย่าส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงรายยังคงอาศัยอยู่รวมกันในชุมชนเป็นเครือญาติและมีความผูกพันเกาะเกี่ยวกันมีความใกล้ชิดพบปะกันอยู่เสมอในชีวิตประจำวันคนกลุ่มนี้จึงยังคงใช้ภาษาไตหย่าในการสื่อสารกันทำอาหารไตหย่าทานด้วยกันและมีกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ร่วมกันเกิดความสำนึกต่อการเป็นชาติพันธุ์ไตหย่า จึงมีการรวมตัวกันตั้งชมรมไตหย่าขึ้นเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไตหย่า (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
ครอบครัวของไตหย่าเป็นระบบครอบครัวขยายมีตั้งแต่ทวดปู่ย่าพ่อแม่ลูกหลานเหลนอยู่ในบ้านเดียวกัน ไตหย่าสืบสายตระกูลข้างพ่อ ผู้ชายเป็นผู้นำ ให้ความสำคัญตามลำดับอาวุโส ในอดีตการตั้งชื่อของบุตรชาวไตหย่าจะมีชื่อที่เรียงลำดับจากลูกคนโตไปจนถึงลูกคนสุดท้ายโดยมีการแบ่งเป็นชื่อเพศหญิง อาทิ อาเย่ อาอี อาหย่าม และชื่อเพศชาย เช่น อาหย่าย อายี่ อาสาม โดยที่ชื่อของเด็กที่เกิดใหม่ห้ามซ้ำกับชื่อของญาติผู้ใหญ่ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ และแม่ หากซ้ำจะต้องเลื่อนไปใช้ชื่อในอันดับต่อไป สำหรับสังคมในระดับหมู่บ้านจะให้ความสำคัญตามลำดับอาวุโส ทั้งด้วยวัย ฐานะเศรษฐกิจ และตามที่สมาชิกหมู่บ้านเห็นว่าเหมาะสม วางใจให้เป็นผู้นำชุมชน (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552) นอกจากนี้มีการระบุว่ากลุ่มไตหย่านั้นมีเพียง 3 ตระกูล ในภาษาจีนเรียกว่าซิน หรือแซ่ ได้แก่ 1) ซินป่อ หรือไป๋ แบ่งออกเป็น 3 เป่อ คือ เป่อวานแน่น เป่อจีตาน และเป่อคงชุน 2) ซินย่าง 3) ซินตาว ส่วนตระกูลที่นอกเหนือจากนี้เป็นฮวาเย่าไตกลุ่มอื่น ๆ (บุญยืน มปป.)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไตหย่าในประเทศไทยได้เปลี่ยนไปตั้งชื่อลูกเหมือนคนไทยทั่วไปเพราะได้สัญชาติไทยเป็นคนไทยสมบูรณ์จึงใช้ชื่อและนามสกุลไทยอาทิ เช่น ฐิติจาเริญพร เจริญพร ลี้ตระกูล วิวรณ์ นาวิน นาคาสาคร บรมพิชัยชาติกุล นนทวาสี และมหาสุคนธ์เป็นต้น (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
เมื่อไตหย่าอพยพมาอยู่ไทย แม้จะนำเสื้อผ้าตามประเพณีอันเป็นอัตลักษณ์ของไตหย่ามาด้วย กล่าวคือ ผู้หญิงจะสวมผ้าซิ่น 2 ผืนซ้อนกัน ผืนแรกเรียกว่า ผ้าไต่เซิน (ผ้าถุงที่ใส่ชั้นในสุด) เป็นผ้าพื้นสีดำประดับด้วยริ้วผ้าสีต่าง ๆ เย็บเป็นแถบชายซิ่น ส่วนผ้าผืนที่สอง เรียกว่าผ้าเซิน (ผ้าถุง) เป็นผ้าพื้นสีดำประดับชายผ้าด้วยริ้วผ้าสีแต่ไม่เย็บด้านข้างให้ติดกัน ขณะสวมใส่จะรั้งผ้าซิ่นด้านซ้ายขึ้น ปล่อยชายด้านขาวห้อยต่ำลงมา แล้วคาดเข็มขัดที่แต่งด้วยเม็ดเงินมีปลายเป็นพวงพู่ห้อยสวยงามเรียกว่า มะดาวหาง ทับส่วนช่วงเอว ด้านหน้าผ้าถุงจะมีผ้า เรียกว่าผ้าตั๊บ (คล้ายผ้ากันเปื้อน) ที่ประดับด้วยริ้วผ้าสีต่างๆบริเวณขอบเอวใส่ 1- 2 ชั้น จากนั้นสวมทับด้วยเสื้อตัวใน เรียกว่า ซื่อแย่ว (แย่ว แปลว่า เล็ก หรือ น้อย) ซึ่งเป็นเสื้อไม่มีแขนคอปิด ไม่มีปกผ่าหน้าเฉียงมาทางซ้าย ส่วนเสื้อตัวนอก เรียกว่า ซื่อหลุงมีลักษณะเป็นเสื้อสวมทับแขนยาว ไม่มีปก ผ่าหน้าตรงนอกจากนี้ยังมีผ้าอีกหนึ่งชิ้นอยู่ด้านหลัง เรียกกว่า ผ้าตั๊บกุ้น นอกจากชายเสื้อและผ้าซิ่นจะประดับด้วยริ้วผ้าสีต่างๆแล้วยังใช้เม็ดเงินสอยเย็บติดกับชายเสื้อ สาบเสื้อและขอบแขนของซื่อแย้ว เป็นลวดลายต่าง ๆ ส่วนผู้ชายไตหย่านั้นจะสวมกางเกงขายาวสีดำ หรือสีครามคล้ายกางเกงขาก๊วย เสื้อสีเดียวกับกางเกง เรียกว่า เสื้อฮี ลักษณะเป็นเสื้อคอจีนแขนยาว ผ่าหน้าติดกระดุมผ้าปลายแขนแต่งด้วยแถบผ้าสีแดงหรือสีฟ้า
แต่จากการสัมภาษณ์ผู้ที่อพยพมารุ่นแรกเมื่อ 80 ปีก่อน พบว่าผู้หญิงเป็นผู้ทอผ้าและเย็บเครื่องแต่งกายเอง เมื่อหาวัสดุที่จะทำชุดแต่งกายแบบเดิมไม่ได้ เพราะในอดีตสมัยที่จีนปิดประเทศ ขาดการติดต่อกับบ้านเกิด จึงเปลี่ยนมาใส่ชุดแบบคนพื้นเมืองทางเหนือแทน จนรุ่นลูกหลานเองก็ไม่เคยเห็นชุดดั้งเดิมของไตหย่า
เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปได้ทีมผลิตสารคดี “โลกสีน้ำเงิน” ของบริษัทพาโนรามาได้นำไตหย่าจากเชียงราย 2 คนร่วมเดินทางไปถ่ายทำวิถีชีวิตของไตหย่าที่มณฑลยูนนานด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ไตหย่าได้กลับไปพบญาติพี่น้องที่ประเทศจีน ซึ่งยังคงแต่งกายแบบดั้งเดิมในชีวิตประจำวัน อยู่ในบ้านดิน และรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้เมื่อสารคดีชุดนี้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ทำให้คนไทยได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไตหย่านางนงนุช ยงษ์ยุติผู้ที่ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะถ่ายทำสารคดีได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อสารคดีเรื่องนี้แพร่ภาพออกอากาศทางโทรทัศน์ลูกหลานไตหย่าได้ติดตามชมทำให้ทุกคนดีใจและภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนจึงมีความกล้าในการแสดงตัวตนต่อสาธารณชนและร่วมกันรณรงค์ด้านชาติพันธุ์มากขึ้น (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
หลังจากนั้น นายบุญยืน ชัยประเสริฐ ประธานชมรมไตหย่าในขณะนั้นได้เริ่มจัดทัวร์พาไตหย่ารุ่นแรกที่ยังมีชีวิตอยู่และรุ่นลูกรุ่นหลานกลับไปเยือนแผ่นดินเกิด และไปตามหาญาติที่เมืองหย่าอำเภอซินผิง โดยนั่งเครื่องบินไปลงคุนหมิง แล้วนั่งรถต่อไปอีก 1 วัน บางคนได้รับชุดแต่งกายแบบไตหย่าเป็นของขวัญจากญาติๆซึ่งยังทอผ้าเองบางคนซื้อเป็นชุดครบชิ้นนำกลับมาประเทศไทย จากนั้นมีการนำชุดแต่งกายสตรี ซึ่งเดิมเป็นผ้าถุง 2 ชั้น มาประยุกต์ตัดเย็บเป็นกระโปรงทรงเฉียง ส่วนเสื้อก็มีการปรับรูปแบบของเสื้อแขนกุดตกแต่งด้วยเม็ดเงินเพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย (สัมภาษณ์นางบัวใส แก้วมณีวรรณ)
การกลับไปเยี่ยมแผ่นดินบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้ชาวไตหย่าในไทยรุ่นหลังได้รู้จักประวัติความเป็นมาและอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ตนเองมากขึ้นมีการฟื้นฟูอัตลักษณ์โดยการสวมใส่ชุดไตหย่าในวันประชุมใหญ่ชมรมไตหย่าเกิดการรณรงค์ให้ทุกครอบครัวมีชุดไตหย่าไว้ประจำบ้านและสวมใส่ให้ปรากฏต่อสาธารณชนมากขึ้น (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
ชาวไตหย่าในโมซาเจียงมีรูปแบบการสร้างบ้านเรือนที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม และสามารถเป็นภาพแทนแสดงถึงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่าได้ คือการนำดินมาปั้นเป็นก้อนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 7x10 นิ้ว นำมาตากแห้งแล้วก่อเป็นโครงสร้างบ้านโดยไม่มีการเผา ใช้น้ำโคลน หรือดินเปียกเป็นตัวเชื่อมระหว่างก้อนดินให้ติดประสานกัน ลักษณะของบ้านเป็นบ้าน 2 ชั้น และแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นส่วนๆ ได้แก่ ชั้นล่างประกอบไปด้วยห้องครัว โถงรับประทานอาหาร หรือทำกิจกรรมต่างๆ ชั้นบนเป็นห้องนอน ส่วนหลังคาบ้านจะถูกปรับเป็นดาดฟ้าเรียบๆ เพื่อใช้ตากข้าว หรือพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ชาวไตหย่าไม่นิยมสร้างหน้าต่างบริเวณตัวบ้านจึงทำให้บ้านค่อนข้างมีความมืด และอับ โดยมีขนาดหน้าต่างประมาณ 30 เซนติเมตร และมีเพียง 1- 2 บานเท่านั้น บริเวณรอบ ๆ บ้านอาจจะมีคอกสัตว์ซึ่งสร้างด้วยดินปั้นเช่นเดียวกับตัวบ้าน (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
แต่เมื่อชาวไตหย่าอพยพเข้ามายังประเทศไทยการสร้างบ้านด้วยดินก็ค่อยๆ หมดไป เนื่องมาจากเนื้อดินที่ประเทศไทยแตกต่างจากดินที่โมซา เนื้อดินที่ประเทศไทยไม่เหนียวมาก เมื่อถูกน้ำฝนจะถูกชะออกมาได้ง่าย รวมไปถึงในอดีตมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานบ่อย การสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่จึงได้รับความนิยมมากกว่า ในปัจจุบันชาวไตหย่าในเชียงรายนิยมสร้างบ้านที่ทันสมัย และคงทนถาวรมากขึ้น โดยตัวบ้านทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือก่ออิฐถือปูน มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเป็นหลัก ใช้วัสดุสร้างบ้านที่ทันสมัยมากขึ้นบ้านเรือนจึงมีรูปทรงเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม
ชาวไตหย่ามีอาหารหลักคือ ข้าวเหนียว และทานผักที่มีตามท้องถิ่น รวมถึงมีวัฒนธรรมในการถนอมอาหารด้วยตากแห้งและการหมักดองโดยนำไปใส่ใน ต่อม หรือออม มีลักษณะเหมือนไห ปากไหมีชามสำหรับใส่น้ำ และมีฝาปิด และงานวิจัยชุมชนไตหย่าในเชียงรายระบุว่า อาหารที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นชาวไตหย่าคือ หุงผัก (แกงผักที่มีรสเปรี้ยวเหมือนผักกาดจอทางเหนือ) เนื้อหมาผัดกับใบกุ้ยช่าย (การรับประทานเนื้อสุนัขเป็นความเชื่อเรืองสุขภาพและการทำให้ร่างกายอบอุ่น จึงนิยมรับประทานในช่วงฤดูหนาว) ลู่ส้ม (เป็นผักกาดดอกใส่เครื่องในไก่ต้มใส่ขิงใส่พริกใส่เครื่องเทศ) ขมไก่ (ใส่ดีไก่ ถ้าไม่มีก็ใส่ผักม้วนขม ใส่หอมกระเทียม ขิงพริก สะระแหน่ กินให้ขับเลือดขับลม) ขนมมีข้าวแหลกล่อม เหมือนบัวลอยลูกใหญ่แต่ไม่ใส่กะทิ ใส่เป็นน้ำอ้อยขูดฝอยโรยหน้าแทน และข้าวแกงท่าง คือข้าวเหนียวต้มใส่น้ำอ้อย เหมือนข้าวเหนียวเปียก เป็นอาหารที่จะทำในโอกาสพิเศษโดยเฉพาะในงานศพ (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
จากการสำรวจที่บ้านน้ำบ่อขาว รองประธานชมรมไตหย่าให้ข้อมูลว่า อาหารที่ปัจจุบันยังคงทำกินกันในบ้านไตหย่า โดยมีผักแป่น (ผักกุ้ยช่าย) เป็นส่วนประกอบอาหารที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังแนะนำอาหารประจำของชาติพันธุ์ได้แก่ขมไก่คือการนำเครื่องในไก่มาต้มสุกหั่นเป็นชิ้นๆทำให้มีรสชาติขมด้วยการใส่ดีไก่ลงไปหรือบางครั้งก็ใช้ผักที่มีรสขมหั่นผสมลงไป (VDOการทำ) และหมูสามชั้นต้มหรือที่ไตหย่าเรียกว่าต้มเนื้อปาดมันคือการนำเนื้อหมูสามชั้นไปต้มจนเปื่อยแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นๆพอคำกินกับน้ำจิ้มที่ทำจากกระเทียมสดตำให้ละเอียดหรือพริกไทยเม็ดคั่วกับเกลือเม็ดแล้วนำมาตำให้ละเอียด
แม้ว่าความเชื่อดั้งเดิมของไตหย่าที่อยู่ในประเทศจีน ยังคงนับถือผีบรรพบุรุษ มีแม่มด ย่ามด เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ชาวไตหย่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 90 นับถือศาสนาคริสต์ (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)จากคำบอกเล่าของคนรุ่นแรกที่อพยพ พวกเขามีความเชื่อในศาสนาคริสต์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดการเดินเท้าจากเมืองหย่ามาถึงประเทศไทยต้องนอนค้างแรมกลางป่า ได้ยินเสียงเสือคำราม แต่ก็ไม่มีใครได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าที่มีจำนวนมากในเวลานั้น พวกเขาจึงเชื่อว่าการมาอยู่ในประเทศไทยคือการทรงนำ และเป็นแผนการของพระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าปรารถนาให้ชาวไตหย่าหนีจากความยากจน การถูกกดขี่ข่มเหงการถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้อพยพมาอยู่ในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ และมีอิสระในการดำเนินชีวิต (กริช 2545) ชาวไตหย่าสามารถร่วมกิจกรรมทางศาสนาคริสต์กับคนพื้นเมืองที่อยู่ก่อน และเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกันได้ เมื่อมีการตั้งชุมชนในจังหวัดเชียงรายจึงมีการตั้งโบสถ์เล็ก ๆ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และโบสถ์ของชุมชนไตหย่า ได้รับการยอมรับให้สังกัดอยู่ภายใต้การดูแลของสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ในประเทศไทย ทำให้ชาวไตหย่าที่เป็นสมาชิกของคริสตจักรต่าง ๆ มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ที่จัดขึ้นทั้งในระดับเขต (การแบ่งพื้นที่ดูแลคริสตจักรที่อยู่ในอำใกล้เคียงกัน) ระดับภาค (ดูแลคริสตจักรในระดับเขตที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันหรือจังหวัดใกล้เคียงกัน) และระดับประเทศ ได้รู้จักกับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ที่เป็นชาวพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากขึ้นมีการเยี่ยมเยียนและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552)
นอกจากมีกิจกรรมการร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ฟังคำเทศนาที่คริสตจักรทุกวันอาทิตย์ ยังมีกิจกรรมในวันสาคัญต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์ที่จัดขึ้นในหมู่บ้านต่างๆของชาวไตหย่าเช่นวันคริสตมาส วันถวายขอบพระคุณพระเจ้าหรือวันกินข้าวใหม่ วันอีสเตอร์ (วันระลึกถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์) และก่อนวันอีสเตอร์ 1 วัน ไตหย่าจะทำกิจกรรมร่วมกันลูกหลานจะไปทำความสะอาดสุสานและเป็นการรวมญาติของแต่ละครอบครัว จะมีการเชื้อเชิญญาติพี่น้องมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน บางคนอยู่ต่างจังหวัดก็จะกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในเทศกาลนี้ (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552) มีการตำข้าวแหลก หรือที่เรียกว่าข้าวปุก นำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ ทอด จิ้มกับน้ำอ้อยผสมงาขาวหรือถั่วลิสงคั่วป่นทานเป็นเอกลักษณ์ (สัมภาษณ์)
ในช่วงแรกที่อพยพมายังประเทศไทย ชาวไตหย่ามีความแตกต่างกับคนไทยในภาคเหนืออย่างเด่นชัด ทั้งด้านการแต่งกาย ภาษา และค่านิยมการทานเนื้อสุนัข จึงถูกจำแนกว่าเป็นชาวเขา ถูกมองด้วยทัศนคติในทางลบ และยังไม่ได้บัตรประชาชนไทย ทำให้ชาวไตหย่าเริ่มปรับตัว ละทิ้งอัตลักษณ์ไตหย่าบางประการ เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยภาคเหนือ เช่น แต่งชุดทั่วไป พูดภาษาไทยพื้นถิ่น
ผู้ให้ข้อมูลวัย 50 เศษ คนหนึ่งเล่าว่า “บางคนก็พูดไตหย่าไม่ได้แล้วแต่ฟังเข้าใจ ถ้ารุ่นพ่อรุ่นแม่ยังพูดอยู่และสอนพูด เดียวนี้ใช้คำเมืองเป็นส่วนใหญ่ สมัยก่อนพ่อแม่ไม่สอนลูกเพราะเรายังไม่เปิดตัว กลัวถูกจับมากกว่าเลยไม่กล้าพูด ไม่มีบัตรมีแต่ใบผ่านด่าน เพราะไม่รู้หนังสือ เลยไม่มีการเก็บหลักฐานไว้ บางคนก็เก็บหลักฐานไว้ พอมาอยู่ในหมู่บ้านก็บอกต้องตอบว่าเป็นคนไทยเพราะมาอยู่เมืองไทย ได้บัตรครั้งแรกตอนแม่เป็นคนไทยถึงเป็นบัตรคนไทย ไม่ใช่ว่าได้บัตรกันทุกคน เพราะบางคนทำไม่ได้ เพราะติดตรงที่ว่าพ่อแม่มีใบว่าเป็นจีนเป็นพม่าก็ทำบัตรไม่ได้ แต่ตอนนี้ได้บัตรกันหมดแล้วก็เลยภูมิใจจะประกาศตัวได้แล้วว่าเราเป็นไตหย่า” (สัมภาษณ์ กันยายน 2557)
อีกสาเหตุที่ทำให้การใช้ภาษาไตหย่าลดลงไป เนื่องจากรุ่นลูกของชาวไตหย่าส่วนใหญ่จะได้รับการศึกษาตามระบบโรงเรียนของไทย พ่อแม่จะสนับสนุนให้ลูกได้เรียนหนังสือ โดยมีความคิดว่าจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่ จึงทำให้ลูกชาวไตหย่าหลายคนที่เรียนจบระดับสูง ได้ทำงานรับราชการและทำงานในตาแหน่งต่าง ๆ แทนการทำงานภาคเกษตร มาเด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากสื่อต่าง ๆมากขึ้นรับค่านิยมด้านภาษาไทยมากขึ้น และมีเพื่อนคนไทยมากขึ้นจึงไม่อยากพูดภาษาไตหย่า ทำให้บิดามารดาปรับการสื่อสารมาเป็นภาษาไทยไปด้วย ทำให้การใช้ภาษาไตหย่าลดน้อยไปมากการทำงานนี้เองเป็นเหตุให้เกิดการย้ายถิ่นฐานที่อยู่ไปในที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยและในต่างประเทศด้วยเช่นกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนไตหย่าด้วยกันเองจึงน้อยลง ทำให้รับเอาภาษาพื้นเมืองภาษาไทยกลางมาใช้มากขึ้น จนบางคนไม่สามารถเข้าใจในภาษาไตหย่าเลย เพราะเกิดและโตในชุมชนอื่นหรือในต่างประเทศ
หลังจากที่วัฒนธรรมของชาวไตหย่าเริ่มกลืนไปกับสังคมพื้นถิ่นในภาคเหนือของไทย ในปีพ.ศ. 2535 จึงมีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรมไตหย่าขึ้น เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไตหย่าเอาไว้ ชมรมไตหย่ามีการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนที่มีเชื้อสายไตหย่าเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเชื้อสายตนเอง โดยจัดการเรียนการสอนภาษาไตหย่า และจัดค่ายเยาวชนไตหย่า นำลูกหลานกลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองหย่าประเทศจีน เพื่อให้เด็กๆเหล่านี้สืบสานวัฒนธรรมของชาวไตหย่าต่อไป
การกลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองหย่าประเทศจีนนับเป็นปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นกระบวนการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมไตหย่า โดยญาติทางประเทศจีนได้นำเครื่องแต่งกาย หรือ การละเล่นต่าง ๆ ที่สูญหายไปแล้วในประเทศไทย มาให้ชาวไตหย่าในไทยได้เรียนรู้มากขึ้นอาทิ เครื่องแต่งกาย กูบ เครื่องดนตรี และการเต้นรำเป็นต้น ในส่วนของการเต้นรำในชุดไตหย่าผู้ที่ไปเยือนเมืองหย่าได้ซื้อแผ่นซีดีการเต้นรำในชุดไตหย่ากลับมาเผยแพร่ทำให้กลุ่มเยาวชนเกิดความสนใจ รวมกลุ่มกันฝึกซ้อมและประยุกต์ท่ารำให้เหมาะสมจนปัจจุบันนี้สามารถนำไปแสดงในที่ต่าง ๆ ได้
ชมรมไตหย่าได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ 13 ชาติพันธุ์ในเชียงรายทำให้ชาวไตหย่าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น กลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่าเริ่มมีบทบาทและมีพื้นที่ในการแสดงตัวตนมากขึ้น เช่น งานพ่อขุนเม็งรายมหาราช งามมหกรรมชาติพันธุ์สัมพันธ์ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ต่อมา สาวไตหย่าได้ไปประกวดธิดาดอย และชุดไตหย่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อีกทั้งในปีพ.ศ. 2549 ชมรมไตหย่าได้ส่งประกวดชุดแต่งกายชนเผ่าในงานดอกไม้งามที่เทศบาลจังหวัดเชียงราย และได้รับรางวัลชนะเลิศเครื่องแต่งกายสวยงาม จึงทำให้ชาวไตหย่าทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนเกิดความภูมิใจในการสวมใส่ชุดไตหย่าและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น (จุไรรัตน์ และเลหล้า 2552: 108)
นายสวง ชัยวงศ์เล่าว่า “แต่ก่อนมีคนเล่น (ปี่น้ำเต้า) เป็นแต่ไม่มีการสืบทอด เพราะไม่อยากให้รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร เดียวนี้พลิกเปลี่ยนใหม่คือเราต้องมีชมรม (ไตหย่า) เราต้องมีตัวตน มีเอกลักษณ์ของเรา มีประวัติของเรา เริ่มที่จะบอกคนอื่นว่าเราเป็นไตหย่าเมื่อ 10-20 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก่อนไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะว่าเป็นชุมชนเล็กๆ และอายที่จะบอกคนอื่นว่าเราเป็นไตหย่า แต่ชุมชนรอบข้างก็รู้ว่าเราเป็นไตหย่าแต่ไม่ได้ปรากฏตัวอย่างปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ทางอำเภอมีเทศกาลอะไร มีงานอะไรก็จะเชิญไตหย่า เราก็ไป เช่นงานสมเด็จย่าก็ไป งานวันพ่อ งานวันแม่ การสื่อสานก็รู้ก็เข้าไปหาเราถึงที่ ทั้งทีวีช่อง 7 และช่อง 5 ก็เข้าไปถ่ายทำรายการ เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ของไตหย่าก็หันมาสนใจวัฒนธรรมของไตหย่าแล้ว เราก็ฝึกให้เขารู้ว่าวัฒนธรรมไตหย่าเป็นอย่างไร ... ปัจจุบันกำลังระดมความคิดเห็นแต่ละชนเผ่าแต่ละกลุ่มแต่ละองค์กร เราจะตั้งศูนย์การเรียนรู้ของชาติพันธุ์ไตหย่า ที่คริสตจักรนทีธรรม เรากำลังจัดหาทุนกับ ดร. ที่เป็นผู้ผลักดันเพื่อสร้างอาคาร เราจะร่วมทั้ง ภาษา อัตลักษณ์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่เป็นของเราให้ทุกคนที่ไปได้ศึกษาจากศูนย์วัฒนธรรมของเรา และนำสินค้าที่มีมาจำหน่ายในศูนย์ ขณะนี้กำลังระดมทุนอยู่คาดว่าจะได้เร็วๆนี้” (สัมภาษณ์ 14 กันยายน 2557)
จากการสำรวจชุมชน พบว่าชมรมไตหย่าที่ตั้งอยู่ ณ โบสถ์นทีธรรม บ้านน้ำบ่อขาว เปรียบเสมือนศูนย์กลางของการรวบรวมชาวไตหย่าในประเทศไทยและเชื่อมต่อกับไตย่าที่อยู่ในจีนและพม่ามีการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของไตหย่า และฟื้นฟูอัตลักษณ์ไตหย่าหลาย ๆ อย่างที่สูญหายไปแล้วในประเทศไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง มีการแสดงของใช้ เสื่อกก ชุดไตหย่า และทำของที่ระลึกเพื่อจำหน่ายชาวไตหย่าที่เป็นตัวแทนชมรมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานต่าง ๆ จึงเป็นความภูมิใจที่ทำให้ชาวไตหย่าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้นในชุมชนป่าสักขวางมีร้านตัดชุดไตหย่า มีการเดินทางกลับไปซื้อชุดของฮวาเย่าไต กลุ่มต่างๆ มาสะสม และใช้เป็นแบบในการประยุกต์ซื้อผ้า กูบและวัสดุตกแต่งต่างๆ มาตัดชุดไตหย่าให้เด็กและผู้ใหญ่ที่ต้องการมีชุดไตหย่าใส่ในโอกาสสำคัญจึงนับว่าชมรมไตหย่ามีบทบาทอย่างมากในการก่อรูปสำนึกของการเป็นชาติพันธุ์ไตหย่าในประเทศไท
Access Point |
---|
No results found. |
ชาวไตหย่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยบรรพบุรุษเดินทางมาประเทศไทยในฐานะลูกหาบพร้อมกับคณะมิชชันนารีที่เดินทางจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศไทย มีอัตลักษณ์โดดเด่นคือเครื่องแต่งกาย ผู้หญิงชาวไตหย่าจะสวมผ้าซิ่น 2 ผืนซ้อนกัน ผืนแรกเรียกว่า ผ้าไต่เซิน (ผ้าถุงที่ใส่ชั้นในสุด) เป็นผ้าพื้นสีดำประดับด้วยริ้วผ้าสีต่างๆ เย็บเป็นแถบชายซิ่น ส่วนผ้าผืนที่สอง เรียกว่าผ้าเซิน (ผ้าถุง) เป็นผ้าพื้นสีดำประดับชายผ้าด้วยริ้วผ้าสีแต่ไม่เย็บด้านข้างให้ติดกัน ขณะสวมใส่จะรั้งผ้าซิ่นด้านซ้ายขึ้น ปล่อยชายด้านขาวห้อยต่ำลงมา แล้วคาดเข็มขัดที่แต่งด้วยเม็ดเงินมีปลายเป็นพวงพู่ห้อยสวยงาม