กลุ่มชาติพันธุ์ : เวียต

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : เวียต
  • ชื่อเรียกตนเอง : เหวียต เกี่ยว
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ญวน, แกว, ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน :
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกตัวเอง: เหวียต เกี่ยว

    ชื่อที่คนอื่นเรียก: ญวน ญวนใหม่ แกว คนไทยเชื้อสายเวียดนาม

              ชาวเวียดนามที่อพยพมาอาศัยในประเทศไทยนั้นได้รับการเรียกขานหรือมีชื่อเรียกหลากหลายชื่อทั้งจากช่วงระยะเวลาที่อพยพหรือการเรียกตามกลุ่มชาติพันธุ์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

               “เหวียต เกี่ยว” หรือ ชาวเหวียต เกี่ยว เป็นคำในภาษาเวียดนาม แปลว่า ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศเวียดนามหรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ  เมื่อเอ่ยถึง “เหวียต เกี่ยว” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงและใช้เรียกชาวเวียดนามที่เดินทางออกนอกประเทศช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ

              “ชาวเหวียต เกี่ยว” ในประเทศไทยประกอบด้วย ชาวเหวียต เกี่ยวเก่า (Viet kieu cu) หรือ เหวียตเก่า หรือ เหวียต กู๋  (Viet cu) และ ชาวเหวียต เกี่ยวใหม่ หรือ เหวียต กู๋  (Viet kieu moi) หรือ เหวียต เหมย (Viet moi) คำว่า เหวียต กู๋ และ เหวียต เหมย เป็นคำที่สังคมไทยโดยทั่วไปตลอดจนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ไม่รู้จักคำนี้ (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548)

              “คนญวณ” หมายถึง ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมักได้รับการเรียกขานจากคนไทยว่า “ญวณ” หรือแม้กระทั่งการเรียกคนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนามว่า “ญวณ”  คำว่า ญวณ นี้ปรากฏขึ้นในสมัยประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาช่วงกลางคริสต์ศตวรรษ ที่ 17 ที่มาพร้อมการเกิดขึ้นของหมู่บ้านหรือค่ายของชาวเวียดนามอพยพ หรือ ญวนอพยพ ในที่นี้มีทั้ง “ญวณเก่า” และ “ญวณใหม่”

              “แกว” คำว่า แกว ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 2 พ.ศ.2542 ระบุเอาไว้ว่า คำว่า “แกว” เป็นภาษาถิ่นอีสานที่เรียกชาวเวียดนามมาช้านาน และชาวเวียดนามจะเรียกตนเองว่า “เหวียด” ใช้อักษรจีนเขียนเพราะชาวเวียดนามใช้อักษาจีนก่อนอักษรโรมัน จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ฮ้วด” จีกฮกเกี้ยนออกเสียงว่า “หย้วด” ซึ่งคำว่า “ญวณ” คนเวียดนามน่าจะใช้ล่ามชาวฮกเกี้ยนจึงเรียกตามภาษาฮกเกี้ยนจึงออกเสียงว่า “ญวณ” ส่วนคำว่า “ไทยใหม่” เป็นคำที่ใช้เรียกขานลูกหลานของชาวเวียดนามอพยพที่ได้รับสัญชาติไทยและไม่สามารถส่งกลับประเทศเดิม  (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 2 พ.ศ.2542: 402 อ้างถึงใน จตุพร ดอนโสม, 2555)  คำว่า “แกว” เป็นคำที่ใช้เรียกคนเวียดนามน่าจะมาจากคำว่า แกว ๆ หมายถึง เสียงดังแซดแต่ไม่ได้ศัพท์ น่าจะเป็นการล้อเลียนเสียงพูดในภาษาเวียดนามที่มีเสียงสูงต่ำตัดกันชัดเจนจิตรกว่าภาษาไทย-ลาว  (จิตร ภูมิศักดิ์, 2556) 

              “คนไทยเชื้อสายเวียดนาม” เป็นคำเรียกใหม่ที่ใช้เรียกคนเวียดนามที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้มีความหมายไปใช้เชิงดูหมิ่นหรือดูแคลนทางชาติพันธุ์ (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

  • เอกสารอ้างอิง :

    ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 

    เอกสารอ้างอิง

              จตุพร ดอนโสม. (2551). การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา). ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

              จตุพร ดอนโสม. (2555). การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก. ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น: หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

              จิตร ภูมิศักดิ์. (2556). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:  แม่คำผาง.

              เจริญ ไชยชนะ. (2515). ประวัติศาสตร์ประเทศไทยในเอเชีย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ไชยวัฒน์ การพิมพ์

             ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin. (2548). เหวียต เกี่ยว ในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

              ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2556). วิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์เวียดนาม ระหว่าง ค.ศ.1985-2010: สำรวจสถานภาพองค์ความรู้. ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น: หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

              ผุสดี จันทวิมล. (2541). เวียดนามในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

              สมจิต สุดสงวน. (2542). การสืบทอดวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม กรณีศึกษาจังหวัดนครพนม.(วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

              ศริญญา สุขร. (2557). การขยายบทบาททางเศรษฐกิจของ “ชาวเวียดนามอพยพ” ในเขตเทศบาลนครพนม ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ถึง 2553 (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

               ศริญญา สุขนรี. (2558). ชาวเวียดนามอพยพ: นายทุนยุค “ไทยใหม่” และการกลายเป็นชนชั้นนำเมืองชายแดน. เชียงใหม่: ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. (2559). อุดรธานีกับขบวนการกู้ชาติเวียดนาม. ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น: หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

    สืบค้นออนไลน์

              เพ็ชรี สุมิตร. (2522). ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช สืบค้นจากระบบออนไลน์ สืบค้นจากhttp://book.culture.go.th/research/isan/files/assets/common/downloads/ publication.pdf.

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
นครพนม สกลนคร มุกดาหาร หนองคาย อุบลราชธานี เลย อุดรธานี จันทบุรี สระแก้ว กรุงเทพฯ เป็นต้น20000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

               การอพยพของชาวเวียดนามมายังประเทศไทยหลายครั้งตามยุคสมัยและการเคลื่อนย้ายการอพยพจากเหตุผลหลายประการนั้น ส่งผลให้ชาวเวียดนามเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยมีจำนวนค่อนมากและกระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด ใน ค.ศ.1952 (พ.ศ. 2495) รัฐบาลไทยได้ประกาศพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และควบคุมชาวเวียดนามด้วยการจำกัดถิ่นที่อยู่ใน 13 จังหวัด คือ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย อุบลราชธานี ยโสธร สกลนคร อำนาจเจริญ อุดรธานี หนองบัวลำภู สระแก้ว ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และพัทลุง (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548) และควบคุมการตั้งถิ่นฐานให้อยู่อาศัยและทำงานตามจังหวัดข้างต้น

              นอกจากนั้น ชาวเวียดนามอพยพมีสถานะที่แตกต่างหลากหลายกว่าเดิม สมจิต สุดสงวน (2542) ได้แบ่งชาติพันธุ์เวียดนามที่เข้ามาอาศัยอยูในประเทศไทยออกเป็นห้ากลุ่ม ดังนี้

               กลุ่มที่หนึ่ง “ญวนเก่า” หมายถึง ชาวเวียดนามที่มาสู่ประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2474 ซึ่งยังไม่มีพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับที่ 1 บังคับ ชั้นบุตรหลานได้สัญชาติโดยหลักดินแดนและการเกิดทั้งสิ้น

              กลุ่มที่สอง “ญวนสวามิภักดิ์” คือ ญวนที่หนีฝรั่งเศสมาในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้ร่วมรบในสงครามอินโดจีนซึ่งถือว่าช่วยราชการ จึงได้สัญชาติไทยและมียศทหารด้วย

              กลุ่มที่สาม “ญวนอพยพ” คือ กลุ่มชาวญวนที่มีมากที่สุดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝรั่งเศสทำการกวาดล้างครั้งใหญ่มีคนญวนอพยพมาประเทศไทยประมาณ 70,000 คน แต่รัฐไทยถือวาเข้าเมืองโดยมิชอบมีสถานะเป็นผู้อพยพ

              กลุ่มที่สี่ “เวียดนามอพยพ” คือกลุ่มเวียดนามใต้ที่อพยพหลังเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมประเทศ พ.ศ. 2518

              กลุ่มที่ห้า “ไทยใหม่” คือ บุตรหลานญวนอพยพที่ได้สัญชาติหลังจากไม่สามารถส่งกลับประเทศได้ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2534 โดยยื่นผ่านอำเภอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้สัญชาติ (ปัจจุบันนายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ) เมื่อได้สัญชาติมักเปลี่ยนนามสกุลเป็นแบบไทย

              ส่วนคำว่า “เหวียต เกี่ยว” หรือ ชาวเหวียต เกี่ยว เป็นคำในภาษาเวียดนาม แปลว่า ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่นอกประเทศเวียดนามหรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ  เมื่อเอ่ยถึง “เหวียต เกี่ยว” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงและใช้เรียกชาวเวียดนามที่เดินทางออกนอกประเทศช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์เวียต :

              “เวียด” หรือ “ชาวเวียดนาม”  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจาก “ชาวเวียด” ซึ่งเดิมอาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงของจีนก่อนจะอพยพมายังอินโดจีน (เพ็ชรี  สุมิตร, 2522)  สอดคล้องกับการศึกษาของเจริญ ไชยชนะ (2515)  ที่กล่าวว่า คนเวียดนามเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงทางใต้ของจีน ก่อนที่จะถูกรุกรานจากจีนและอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแหลมอินโดจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงทางฝั่งทะเลจีนเมื่อประมาณพ.ศ.800 อย่างไรก็ตาม พวกเวียดอาจเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของชาวเวียดนามแต่ก็มิใช่พวกเดียวซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งไทยและจีน และชาวเวียดนามเป็นส่วนผสมของกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มออสโตร – อินโดนีเซียน กับกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งทฤษฎีการปะปนกันของบรรพบุรุษของชาวเวียดนามนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานหลายประการ เช่น ภาษาเวียดนามเป็นส่วนผสมของภาษามอญ-เขมร (ภาษาอินโดนีเซียนมีระดับเสียงที่เสมอกันไปหมด) และภาษาไทย (ที่มีเสียงสูงต่ำ) และชาวเวียดนามยังเป็นกลุ่มคนที่เป็นผลจากการผสมของประชากรเผ่าอินโดนิเชียนกับชาวไทยในเวียดนามเหนือ ที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคแห่งนี้ การใช้เครื่องหมายแสดงความเชื่อถือของชาวเวียดนามรุ่นแรก ๆ การสักตามตัว และการเคี้ยวหมากซึ่งเป็นวิถีธรรมดาของชาวเอเชียอาคเนย์เชื้อสายออสโตรเมลาโน-อินโดนีเชียน โดยเชื่อกันว่าเผ่าออสโตร- อินโดนีเชียน บางเผ่าเดินทางขึ้นเหนือไปยังมณฑลกวางสีและกวางตุ้งของจีนและไปผสมผสานกับบรรพบุรุษของพวกเวียดซึ่งลักษณะสังคมเริ่มแรกและประเพณีหลายอย่างสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของพวกเวียด ก่อนที่ชาวเวียดนามจะรวมกันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีการพูดภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน (เพ็ชรี สุมิตร, 2522) 

              เวียดนามเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นระยะเวลานานถึงหนึ่งพันปี คือระหว่าง 111 ก่อนคริสต์ศักราชและถูกปกครองสืบต่อมาจนถึงประมาณปี ค.ศ. 939 (พ.ศ.1482) จีนจึงหมดอำนาจลง จากนั้นเวียดนามจึงเป็นอิสระจากการปกครองของจีน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1883  (พ.ศ.2426) ที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาปกครองเวียดนาม ซึ่งฝรั่งเศสได้แบ่งเวียดนามออกเป็นสามส่วนคือ โคจิจีน (ภาคใต้) อันหนำ (ภาคกลาง) และตังเกี๋ย (ภาคเหนือ) อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ตกเป็นอาณานิคม มีกลุ่มชาตินิยมของเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศสอยู่เสมอ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการอพยพของชาวเวียดนามไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นภายในประเทศ (เพ็ชรี  สุมิตร, 2522)

              การอพยพของชาวเวียดนามไปยังประเทศต่าง ๆ นั้น มีสาเหตุหลักสองประการ คือ ประการแรก การลี้ภัยทางการเมืองและศาสนา ประการที่สอง การถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึกสงครามเริ่มปรากฏหลักฐานการอพยพของชาวเวียดนาม เข้ามาอาศัยอยูในดินแดนซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์การคงอยู่ของชุมชนหรือหมู่บ้านหรือค่ายของชาวเวียดนาม ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหรือค่ายของชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา เช่น หมู่บ้านของชาวจีน  โปรตุเกส มลายู ญี่ปุ่น ฮอลันดา เป็นต้น สำหรับชาวเวียดนามกลุ่มดังกล่าวอพยพเข้ามาทางทะเล ภาษาฝรั่งเศสเรียกชาวเวียดนามเหล่านี้ว่า “ชาวโคแชงชีน” ภาษาอังกฤษเรียก “ชาวโคชินไชนา” ซึ่งหมายถึง ชาวเวียดนามทางใต้ และหมู่บ้านของชาวเวียดนามเหล่านี้ถูกเรียกว่า “ค่ายหรือหมู่บ้านโคแชงชีน” ชาวโคแชงชีนนี้เป็นชาวคริสต์ ทำเกษตรกรรมและงานหัตถกรรม สำหรับสาเหตุการย้ายถิ่นนี้ มาจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างขุนนางตระกูลจิ่งห์ หรือ ตริ่นห์ และเหงียน และประการสำคัญคือ การถูกข่มเหงจากการนับถือศาสนาคริสต์ทำให้เกิดการอพยพออกนอกประเทศ (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

              การเข้ามายังประเทศไทยของชาวเวียดนามในสมัยกรุงธนบุรี  ผู้อพยพคือ น้องของเจ้าเมืองเว้พร้อมผู้ติดตาม ซึ่งอพยพหนีภัยทางการเมืองและการสู้รบแย่งชิงอำนาจของพวกไต เซิน ได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่เขตหนองระโหน ตำบลบ้านหม้อ หรือถนนพาหุรัดในปัจจุบัน และอีกแห่งหนึ่งคือ ตำบลบางโพ อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้อพยพนี้ถูกประหารชีวิตและบางส่วนถูกขับไล่ออกนอกเขตพระนคร ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ต้องการกลับเวียดนาม บ้างว่าถูกกล่าวหาว่ากลืนเพชร หรืออาจเป็นเพราะความมีพระสติฟั่นเฟือนของพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น (ผุสดี จันทวิมล, 2541) 

              ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึง รัชกาลที่ 5  มีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาอยูในประเทศสยามเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในช่วงนี้ จะอาศัยอยูที่กรุงเทพฯ จันทบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยชาวเวียดนามที่ลี้ภัยทางศาสนาส่วนมากจะมาจากทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม จำนวนผู้ลี้ภัยรัชกาลที่ 1 จนถึง รัชกาลที่ 5 นี้ มีประมาณ 5,000 คน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความยินดีรับเอาชาวเวียดนามไว้ในประเทศ โดยมีพระบรมราชโองการ ดังนี้

    “ …พวกญวรเข้ารีตที่เมืองเว้ เมืองโจดก และไซ่ง่อน มีมากตลอดขึ้นมาถึงเมืองโจดก ลำน้ำ (เข้าใจว่าเป็นเมืองลำน้ำหรือแง่อาน-ผู้เขียน) เมืองตังเกี๋ย เมืองกวางเบือง ต่อเขตแดนแขวงเมืองพวร แลหัวเมืองลาวฟากโขงตะวันออก ถ้าญวรเข้ารี ตทนฝี มือญวรไม่ได้คงพาครอบครัวหลบหนีมาทางเมืองมหาไชย เมืองพวร เมืองพวรกับเมืองหลวงพระบาง หนองคาย ลคอรพนม เขตแดนติดต่อกัน ให้เจ้าเมืองหลวงพระบาง พระพนมนคราปุริก พระประทุมเทวาภิบาล ท้าวเพี้ยมีปัญญา คุมไพรออกลาดตระเวนพบปะญวรเข้ารีตแตกหนีมาก็ให้พูดจาชักชวนเข้ามาไว้ในเมืองหลวงพระบาง เมืองหนองคาย เมืองลคอรพนมให้ได้จงมาก....” (หอสมุดแห่งชาติ, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4, 2401 อ้างถึงใน ผุสดี จันทวิมล, 2541) 

     

              ชาวเวียดนามบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ แยกไปอยู่ที่สามเสนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวเวียดนามกลุ่มนี้เป็นผู้ช่วยบาทหลวงฝรั่งเศสสร้างโบสถ์หลายแห่ง จนเกิดศึกแย่งชิงกันระหว่างชาวเวียดนามพุทธและคริสต์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีคนเวียดนามมาจากตั๋งเกี๋ยทางบก และอยู่เกาะกลุ่มเป็นหมู่บ้านต่างหากในบริเวณเดียวกัน ทำให้บ้านญวนสามเสนเป็นหมู่บ้านเวียดนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดให้ชาวเวียดนามที่บางโพดูแลกันเอง และเรียกว่า “ญวณบางโพธิ์” ต่อมาย้ายไปที่สามเสนและเรียกว่า “หมู่บ้านญา ลอง” เพื่อเป็นการรำลึกถึงจักรพรรดิซา ลอง หรือ ญา ลอง ผู้ที่นำชาวเวียดนามกลุ่มนี้เข้ามาและเชื่อว่ามีส่วนช่วยพัฒนาและสร้างกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องการกำลังแรงงานในการทำงานอีกทั้งชาวเวียดนามเป็นแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญหลายด้านจึงเป็นกำลังสำคัญ  (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

              การอพยพช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสได้พยายามที่จะเข้ามายึดพื้นที่ต่าง ๆ คืนและได้ใช้ความพยายามอยู่นานถึง 8 เดือนในการยึดท่าแขก (ซึ่งขึ้นอยู่กับแขวงคำม่วนตั้งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม) โดยพยายามยึดพื้นที่รอบนอกเมืองท่าแขกแต่ถูกทหารเวียดนามและทหารลาวตีโต้ทุกครั้ง จนกระทั่งในวันที่ 21 มีนาคม คศ.1946 (พ.ศ.2507) เมืองท่าแขกถูกโจมตีและถูกฝรั่งเศสยึดได้ การปราบปรามของกองกำลังฝรั่งเศสที่ท่าแขก แขวงคำม่วน ที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์ที่ท่าแขก” หรือ “เหตุการณ์ท่าแขกแตก” นำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่บนฝั่งลาวมายังประเทศไทยมายังจังหวัดนครพนม อย่างไรก็ตาม การอพยพของชาวเวียดนามนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะที่ท่าแขกเท่านั้นแต่เกิดในหลาย ๆ เมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง ดังเช่น การอพยพจากสะหวันนะเขตซึ่งเสียให้แก่ฝรั่งเศสในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2507) ด้วยความช่วยเหลือของทหารจีนก๊กมินตั๋งและทหารอังกฤษและเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสัก การยึดเมืองสะหวันนะเขตของฝรั่งเศสนี้ ทำให้ชาวเมืองสะหวันนะเขต ชาวเวียดนาม กองกำลังรักชาติลาวและกองกำลังกู้ชาติเวียดนามข้ามแม่น้ำโขงหนีมายังฝั่งไทยและอีกส่วนหนึ่งหนีไปทางเซโปนบนถนนหมายเลข 9 สำหรับนครเวียงจันทร์นั้นถูกฝรั่งเศสเข้ายึดวันที่ 25 เมษายน  1946  (พ.ศ. 2507)  ชาวเวียดนามจึงหนีการสู้รบและข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยที่อำเภอศรีเชียงใหม่ และกระจายตัวอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขงตั้งแต่เชียงแสน หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี  ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้นเป็นเสรีไทยคนหนึ่งให้จัดที่พักชั่วคราวให้ตามการร้องขอความช่วยเหลือจากนายพลสิงกะโป โดยมีการจัดที่พักชั่วคราวหลายแห่งเช่น วัดป่า วัดโพนแกว วัดโอกาส วัดศรีษะเกษ และในโรงเรียนต่าง ๆ  นอกจากนี้ชาวเมืองนครพนมหลายครอบครัวยังได้จัดเตรียมบ้านของตนไว้ให้เป็นที่พักพิง (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

    “…ในปี ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสล่าอาณานิคมประเทศต่าง ๆ เป็นเมืองขึ้นปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมที่ห่าติ๋ง เงอาน และทั่วราชอาณาจักร พ่อกับแม่ของผม ไม่สามารถทนการกดขี่ข่มเหงได้ ได้อพยพมาอยู่ลาวกระจัดกระจายทั่วท่าแขกและเวียงจันทน์ พ่อแม่ของผมทำไร่นาเลี้ยงลูกจนเติบโต...ในปลายปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) ผมกลับมาจากเลิกเรียนได้เห็นสภาพของชาวเวียดนามหอบหิ้วลูกหลานเข้ามาในท่าแขก มีมากมายหลายคนอดอยาก หิวโหย นอนตายอยู่ข้างถนนและตลาด ต่อมาพ่อได้ให้ แม่ผม พี่สาวรวมทั้งน้องชายคนเล็กข้ามมาเมืองนครพนมด้วยเรือ และในเช้าตรู่ ของวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) พ่อและผมหามผักไปขายที่ตลาดท่าแขกประมาณสองถึงสามโมงเช้าก็ได้ยินเสียงปืนดังทั่วทิศ บ้านช่องถูกระเบิดเสียหายพังยับเยิน ผู้คนส่วนใหญ่จะเป็นชาวเวียดนามจะวิ่งไปสู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อหาทางข้ามแม่น้ำมาฝั่งไทย ฝรั่งเศสบุกเข้าเมืองท่าแขกยิงกราดไล่ฝูงชน ทุกคนชุลมุนกระโดดขึ้นเรือหนีตาย บางลำก็มาถึงฝั่งไทยได้ บางลำก็คว่ำลงในน้ำโขง แค่ไม่กี่วันฝรั่งเศสได้ฆ่าชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในท่าแขกเป็นร้อย ๆ คน วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1946 ( พ.ศ.2489) เป็นวันประวัติศาสตร์ ที่เจ็บปวดไม่มีวันลืมของชาวเวียดนาม...” จากคำบอกเล่าของชาวเวียดนามอพยพท่านหนึ่ง

     

              ชาวเวียดนามที่อพยพหนีการสู้รบและปราบปรามของฝรั่งเศสในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) นั้นเป็นการอพยพครั้งใหญ่ซึ่งมีจำนวนแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลแต่จะอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 คน และจากที่ทางการไทยประมาณการจำนวนคนเวียดนามที่อพยพทั้งหมดจากลาวและกัมพูชามาประมาณ 46,700 คน ซึ่งชาวเวียดนามอพยพนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, 2521 อ้างถึงใน ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548)

              ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือช่วงหนีการสู้รบของฝรั่งเศส  การอพยพของชาวเวียดนามมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นการอพยพครั้งใหญ่ แต่การเข้ามาอยู่อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้นพบว่า  มีการเข้ามาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีนโยบายว่าด้วยการพัฒนาและขยายพื้นที่ภาคอีสาน ชาวเวียดนามที่อพยพมาในช่วงนั้นมาจากภาคกลางของเวียดนาม ได้แก่ จังหวัดกว่าง จิ จังหวัดกว่าง นาม จังหวัดกว่าง หงาย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนาประสบปัญหายากจนจึงอพยพข้ามภูเขาเจื่อง เซิน ที่กั้นระหว่างเวียดนามและลาวและเดินทางต่อมายังภาคอีสาน โดยตั้งหลักแหล่งตามริมแม่น้ำโขง ถือเป็นชาวเวียดนามรุ่นแรกที่มายังภาคอีสาน ด้วยความที่มีนโยบายที่ต้องการพัฒนาภาคอีสานและต้องการกำลังคน  ชาวเวียดนามจึงเข้ามายังประเทศไทยได้โดยง่าย นอกจากนี้ ชาวเวียดนามที่หนีการกดขี่ของราชวงศ์เหงียนที่ปราบปรามคนที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้อพยพมาในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 4,000 คน ซึ่งอาจเรียกว่า “ชาวเวียดนามสมัยกษัตริย์ตึ ดึ๊ก” ชาวเวียดนามเหล่านี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอท่าแร่ จังหวัดสกลนคร และได้ร่วมกันสร้างโบสถ์ขึ้นมาและชาวเวียดนามเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งในศาสนา  และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวเวียดนามที่เป็นกลุ่มคนรักชาติที่ต่อต้านและต่อสู้กับฝรั่งเศสได้หลบหนีเข้ามายังประเทศลาวและประเทศสยาม (ไทย) เพื่อสร้างฐานและขบวนการต่อสู้และเข้ามาเป็นแรงงานทั้งในภาคเกษตรและแรงงานรับจ้าง บางคนเป็นพ่อค้าแม่ค้าประกอบอาชีพค้าขาย และกลายมาเป็นผู้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นภาคอีสานจะเห็นได้จากการมีบทบาทในตลาดของจังหวัดนครพนม สกลนคร และหนองคาย

    “...พอถึงวันที่เขาได้รับโอกาสทางกฎหมาย คนเวียดนามเขานำเงินออกมาใช้จ่ายอย่างมหาศาลทั้งซื้อตึก ซื้อรถ ที่ดิน อย่างเช่นตอนที่คุณแม่ที่ขายผลไม้ที่ตลาดและได้ขายแผงต่อให้แก่คนเวียดนาม จำนวน 150,000 บาท (ประมาณ พ.ศ.2540) เขาจ่ายเป็นเงินสดแบงค์ 100 เก่าที่เลิกผลิตไปแล้วแต่เป็นแบงค์ที่ใหม่มากพับเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เอามาให้เรา ตึกคูหาไทนที่ไม่เคยเปิดได้ เขาก็จะซื้อแล้วเปิดธุรกิจเงินต่อเงินไปเรื่อย ๆ...” จากคำบอกเล่าของคนไทยในจังหวัดนครพนม (ศริญญา สุขนรี, 2558)

             

              ข้อความข้างต้นเป็นคำบอกเล่าของคนไทยในจังหวัดนครพนมที่มีประสบการณ์ในการขายต่อธุรกิจให้แก่คนเวียดนามใน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นปีที่คนเวียดนามได้รับสัญชาติไทย คนเวียดนามเริ่มนำเงินเก็บที่ได้จากการทำงานและการค้าขายมาสร้างธุรกิจหรือขยายการค้ามากขึ้น จนกลายเป็นผู้ที่มีบทบาททางการค้าและเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม ตลอดจนได้รับการยอมรับในบริบททางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม

    “...นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดนครพนมจะรับรู้ได้ว่าการได้กินอาหารเวียดนาม และการซื้อของฝากที่เป็นอาหารเวียดนามในจังหวัดนครพนม เป็นส่วนสำคัญในโปรแกรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม...” จากคำบอกเล่าของพ่อค้า แม่ค้าในเขตเทศบาลนครพนม จังหวัดนครพนม (ศริญญา สุขนรี, 2558)

     

              ในช่วงหลังรัชสมัยของสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวเวียดนามที่อพยพด้วยเหตุผลทางการเมือง ดังเช่น การเข้ามาเคลื่อนไหวต่อสู้และการเข้ามาหลบภัย ในทศวรรษที่ 1920 เมื่อฐานการเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติในกวางตุ้ง ชื่อ สมาคมสหายยุวชนเวียดนามปฏิวัติ ได้ถูกปราบปรามพร้อมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ชาวเวียดนามที่เคลื่อนไหวต่อต้านทั้งหลายรวมถึง “โฮจิมินท์” ต้องหลบหนีออกจากประเทศจีน และแสวงหาฐานในการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสโดยมุ่งมายังประเทศสยาม (ไทย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเคลื่อนไหว และในเวลาต่อมาคือ ในช่วง ค.ศ. 1928-1929   ( พ.ศ.2471-2472) “โฮจิมินท์” ได้เข้ามาเคลื่อนไหวในสยาม (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548) 

              จากการเข้ามายังประเทศไทยของกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสซึ่งนำโดย “โฮจิมินท์” ที่เข้ามาพักอาศัยที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ตั้งหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านมิตรภาพไทยเวียดนาม อย่างไรก็ตาม พบว่า กลุ่มเวียดนามรุ่นใหม่ที่หนีสงครามต่อต้านฝรั่งเศสเข้ามายังประเทศไทยจะตั้งรูปของโฮจิมินท์ไว้ที่แท่นบูชาในบ้าน ส่วนคนเวียดนามรุ่นเก่าทราบเพียงว่า ลุงโฮ คือ นักปฏิวัติกู้ชาติเวียดนามและเคยเข้าอาศัยที่หมู่บ้าน ดังบอกเล่า

    “...ตอนนี้ในหมู่บ้านไม่มีใครรู้เรื่องเกี่ยวกับลุงโฮมากนัก คนที่รู้ก็ตายไปแล้ว ยิ่งเมื่อก่อนบ้านเมืองไม่สงบลุงโฮเข้ามาก็ทำตัวเหมือนคนปกติทั่วไป ใครจะรู้ว่าเขาคือโฮจิมินท์...” (จตุพร ดอนโสม, 2551) 

    “...จากการอ่านข้อมูลที่พบในหนังสือ อสท.ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2545 มีบทความว่า โฮจิมินห์ ผู้นำในการกอบกู้เอกราชของชาวเวียดนามจนประสบความสำเร็จนั้น ท่านลี้ภัยมาอยู่ที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนมและสร้างบ้านอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลานานถึง 7 ปี โดยที่ระหว่างนั้นก็มีการหายตัวไปบ่อย ๆ...” (ศริญญา สุขนรี, 2558)

     

               จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า “ชาวเวียดนาม” ที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากประเทศเวียดนามและสืบเชื้อสายจาก “ชาวเวียด” ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดถึงถิ่นฐานดั้งเดิม แต่อาศัยข้อมูลจากเอกสารพบว่า เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศจีนก่อนจะอพยพมายังอินโดจีน และเป็นผู้สืบเชื้อสายจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว  ก่อนจะอพยพมายังประเทศไทยจากภาวะสงคราม การถูกกดขี่ข่มเหง ตลอดจนการอพยพเพื่อหลีกหนีความยากลำบาก โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหลายจังหวัดในภาคอีสานไม่ว่าจะเป็นจังหวัดอุดรธานี ซึ่งพบว่ามีการจัดตั้งกลุ่มสมาคมชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานีและสมาคมนักธุรกิจไทย – เวียดนาม จังหวัดอุดรธานี หรือการสร้างสถานที่สำคัญที่แสดงถึงการอยู่อาศัยหรือเคยอยู่อาศัยของชาวเวียดนาม เช่น ซุ้มประตูวัดศรีจันทร์ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งสร้างโดยชาวเวียดนามเมื่อปี ค.ศ.1960 หรือหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ในจังหวัดนครพนม (เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก, 2559)  ชาวเวียดนามมีการสืบทอดความเชื่อและประเพณีที่แสดงถึงความผูกพันธ์กับแผ่นเดินเกิดและความอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านการแสดงความเคารพบูชาเทพเจ้าเตริ่นฮึงด่าวและหิ้งบูชาปิตุภูมิ (โฮจิมินห์) โดยการตั้งศาลเทพเจ้าเตริ่นฮึงด่าวนั้นมีอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน อาทิ ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง บ้านนาจอก นครพนม และพบศาลเจ้าเตริ่นฮึงด่าวที่ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอุดรธานี (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548) และประเพณีสำคัญที่ชาวเวียดนามยังคงรักษาและสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องคือ “เต๊ด” (Tet) หรือตรุษเวียดนามซึ่งตรงกับตรุษจีนและจะจัดขึ้นในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับประเพณีนี้เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นเสมือนการแสดงออกถึงความเคารพต่อบรรพบุรุษและลูกหลานที่อยู่ไกลจะกลับมารวมกันเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (ศริญญา สุขนรี, 2558)  อย่างไรก็ตาม สำหรับการเรียกขานตนเองของชาวเวียดนามนั้น พบว่า บางส่วนยังเรียกตนเองว่า “เหวียต เกี่ยว” เนื่องจากมีเชื้อสายเวียดนามไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และประการสำคัญ คำว่า “เหวียต เกี่ยว” นี้ไม่ได้มีความหมายในทางลบสำหรับชาวเวียดนามทั้งในประเทศไทยและในประเทศเวียดนาม (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548)

Access Point
No results found.

ชาวเวียดนามอพยพในเขตอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นกลุ่มชาวเวียดนามที่อพยพลี้ภัยสงครามมา เมื่อได้รับสัญชาติไทยซึ่งเราเรียกว่าคนไทยเชื้อสายเวียดนาม และเขตเทศบาลตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นบริเวณที่ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ชาวเวียดนามที่อพยพโยกย้ายมายังประเทศไทยนั้นได้นำเอาวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ของตนเองเข้ามา โดยเฉพาะกับมิติความเชื่อ กล่าวคือชาวเวียดนามนอกจากจะนับถือศาสนาแล้วยังมีการนับถือผีควบคู่ไปด้วย โดยมีทั้งผีบ้านและเจ้าที่เป็นที่เคารพของทุกคนซึ่งผีบ้านของชาวเวียดนามจะเป็นผีบรรพบุรุษในครอบครัวหรือสายสกุลของตน