2023-06-17 10:39:45
ผู้เข้าชม : 3065

ยอง มีถิ่นฐานดั้งเดิมในเมืองยอง ประเทศเมียนมา ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยพระเจ้ากาวิละปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2348) ส่วนใหญ่กระจายตัวตั้งถิ่นฐานในพื้นราบของจังหวัดลำพูน พะเยา และน่าน ด้านวิถีวัฒนธรรม ในสังคมดั้งเดิม มีการพึ่งพาทรัพยากรจากป่า และมีการทำนา เป็นสิทธิหน้าหมู่ ภายหลังจากการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทำให้วิถีการพึ่งพาป่าได้ถูกจำกัดลง จึงมีการปรับเปลี่ยนอาชีพที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการทำเกษตร ทำนา ปลูกลำไย ปลูกหอม ใบยาสูบ เลี้ยงวัวนมและสัตว์อื่น  ทอผ้า รับราชการ และเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ด้านความเชื่อ คนยองมีความเชื่อต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องให้ความเคารพ เช่น หิ้งพระ ศาลพระภูมิ เสื้อบ้าน เสาใจบ้าน รวมทั้งมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำนายเหตุการณ์ที่ผิดปกติ

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ยอง
ชื่อเรียกตนเอง : คนยอง, ชาวยอง, ไทยอง, ขงเมืองยอง, จาวยอง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : คนเมืองยอง, ลื้อเมืองยอง
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ยอง, ลื้อ
ภาษาเขียน : อักษรธรรมล้านนา

“ยอง” เป็นชื่อเมืองในเขตฉานตะวันออกของพม่า มีแม่น้ำยองไหลผ่าน ”ยอง”เป็นกลุ่มคนในชาติพันธุ์ลื้อ ในปี พ.ศ.2348 ในสมัยพระเจ้ากาวิละได้ส่งกองทัพเมืองเชียงใหม่ ขึ้นไปกวาดต้อนคนลื้อจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียงนับหมื่นคนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเมืองลำพูน ในระยะแรกคนลื้อจากเมืองยองจึงถูกเรียกจากคนทั่วไปว่า “คนเมืองยอง” ซึ่งเรียกตามชื่อเมืองยองที่ตั้งอยู่ในที่ราบแม่น้ำยองต่อมาได้มีการกัดกร่อนทางภาษาและการออกเสียงคำว่า “เมือง” ได้หายไปจึงเหลือแต่คำว่า “คนยอง " จนถึงปัจจุบัน

หลักฐานในตำนานเมืองยองและเอกสารอื่นในดินแดนแถบนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ 19 กลุ่มคนลื้อจาก 12 พันนา ได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับกลุ่มคนทมิล ชาวพื้นเมืองที่ตั้งชุมชนอยู่ก่อนแล้วต่อมากลุ่มคนลื้อได้มีอำนาจปกครองเหนือชาวทมิล และได้ผสมผสานกันทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาต่อมา เมืองยองจึงเป็นเมืองของคนลื้อ ระหว่าง พ.ศ.2310-2358 สมัยพระเจ้ากาวิละ ต้องฟื้นฟูบ้านเมือง ที่ได้รับความเสียหายจากการยึดครองของพม่า ผู้คนมีน้อย และโดยการสนับสนุนของกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ จึงได้ดำเนินนโยบายรวบรวม เพิ่มจำนวนไพร่พลเพื่อสร้างบ้านแปลงเมือง โดยวิธีการต่างๆ เช่น การชักชวน หว่านล้อมและส่งกำลังขึ้นไปยังหัวเมืองต่างๆทางตอนบนในบริเวณลุ่มแม่น้ำคง (สาละวิน) และแม่น้ำโขงตอนกลางเพื่อกวาดต้อนผู้คนหรือที่เรียกว่า “การเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เพื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนา โดยเฉพาะที่เมืองลำพูนและเชียงใหม่ ครั้งที่มีความสำคัญคือใน พ.ศ.2348 พระเจ้ากาวิละมอบหมายให้เจ้าอุปราชธรรมลังกา และเจ้าคำฟั่นผู้เป็นน้อง ยกกองทัพขึ้นไปเพื่อรวบรวมผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองวะ เมืองเลน เมืองพะยาก รวมถึงเมืองต่างๆ ในดินแดน 12 พันนา ได้ผู้คนนับจำนวนหมื่น สิ่งของและศาสตราวุธจำนวนมาก ซึ่งเป็นการอพยพแบบ “เทครัว” เป็นการอพยพมาทั้งโครงสร้างของเมือง ของสังคม ประกอบด้วยเจ้าฟ้า มเหสี บุตรธิดา ครูบาหลวงเมืองและพระสงฆ์รวมไปถึงขุนนาง ไพร่พล อพยพเข้าตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนา ผู้คนส่วนใหญ่พระเจ้ากาวิละมอบหมายให้เจ้าคำฟั่น นำไปตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน ซึ่งในขณะนั้นมีผู้คนเบาบาง โดยเจ้าฟ้าเมืองยอง เครือญาติ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ให้ตั้งถิ่นฐานที่ฝั่งตะวันออกของกำแพงเมืองลำพูน ส่วนไพร่พลให้ผู้นำท้องถิ่นพาไปตั้งถิ่นตามที่ราบแม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำทา แม่น้ำลี้ ต่อมาเมื่อจำนวนผู้คนเพิ่มขึ้นกลุ่มคนยองได้ขยาย กระจายตัวออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่างๆของเมืองลำพูน ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยเฉพาะด้านตะวันออกและด้านใต้ของตัวเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 คนยองหลายกลุ่มได้อพยพข้ามไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และคนยองได้ผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมกับคนเมือง(คนยวนโยนก) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประชากร”คนยอง” มากกว่า 85 % เป็นคนส่วนใหญ่ของจังหวัดลำพูน

ศิลปวัฒนธรรม จารีต ความเชื่อ วิถีชีวิตของ”คนยอง” มีการผสม ผสาน แลก รับ ปรับ เปลี่ยน กับกลุ่มคนต่างๆที่อยู่ร่วมกัน และมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมกันในยุคสมัยต่างๆ ในดินแดนล้านนาไม่น้อยกว่า 200 ปี เช่น คนเมือง(ยวนโยนก) คนเขิน(ขึน) คนลื้อ คนลัวะ คนม่าน(พม่า) คนเงี้ยว(ไทใหญ่) รวมถึงคนจีน คนบนพื้นที่สูงกลุ่มต่างๆ รวมไปถึงคนไทยที่มาจากภาคกลาง จนไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์หรือลักษณะแยกที่ออกมาอย่างชัดเจนในทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การเมือง การปกครอง โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี ร.ศ.119(พ.ศ.2444) “ฅนเมืองยอง” ได้ถูกนับเป็นคนในบังคับสยาม ระบบการศึกษาที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464 ส่วนปัจจัยภายในของคนยองคือการปรับตัวเองจากความสัมพันธ์ เชิงอำนาจราชการส่วนกลาง โดยเฉพาะการเข้ามาของระบบการศึกษาภาคบังคับของรัฐบาลกลางอย่างไรก็ตามภาษา อักษรธรรม การแต่งกายตามเทศกาลหรือพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม ยังมองเห็นถึงรากเหง้า พัฒนาการของอัตลักษณ์ สามารถแยกแยะ เห็นความแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นได้ในรายละเอียด

ในบทความนี้ “คนยอง” ในดินแดนล้านนาที่ผ่านมา 200 กว่าปี มีการผสมผสานและพัฒนาการร่วมกันทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของ กับคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะคนลื้อ คนเมือง(ยวนโยนก) คนเขิน(ขึน) อัตลักษณ์ของ “คนยอง” จึงกล่าวถึงในความหมายของบริบทและการผสมผสานกับคนกลุ่มอื่นด้วย ยกเว้นในเรื่องสำเนียง “ภาษายอง”



แอ่งที่ราบขนาดเล็กที่กระจายอยู่ระหว่างแม่น้ำคงและแม่น้ำโขงตอนกลาง นับได้ว่า เป็นบริเวณที่มีการก่อรูปของชุมชนชาวพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ มากมายหลายชนเผ่าที่ตำนานพื้นเมืองในแถบนี้ได้ระบุถึง เช่น ข่า ละว้า ลัวะและทมิล เป็นต้นชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร ได้ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันจากชุมชนเครือญาติ จนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นหน่วยการเมืองขนาดเล็กที่มีผู้นำเป็นหัวหน้า (chiefdom) มีโครงสร้างทางกายภาพที่ชัดเจน โดยมีคูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชน ภายในมีสระน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของผู้นำตลอดจนคนในชุมชน ต่อมาได้มีกลุ่มคนที่อพยพมาจากบริเวณอื่น และได้มีการผสมผสานกันทางสังคมและวัฒนธรรม ชุมชนจึงได้พัฒนาตนเองเป็นเมือง ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการขั้นแรกของผู้คนที่เคยเร่ร่อนอยู่ไม่ติดกับที่มาเป็นการแสวงหาที่ทำกินและแหล่งเพาะปลูกที่เหมาะสม โดยการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่แน่นอนมั่นคง ดังที่ตำนานเมืองยองได้กล่าวถึงว่ามีพรานป่ามาจากเมืองอรวีนคร (เชียงรุ่ง) เข้ามาจุดไฟเผาป่าในบริเวณแอ่งที่ราบแม่น้ำยอง จึงมีพวกทมิลเข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำไร่ไถนาอยู่ถึง 7 หมู่บ้าน หัวหน้าชื่อท้าววิรู นอกจากนี้ยังมีพวกลัวะจากเมืองเขมรัฐ (เชียงตุง) อพยพเข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าคนสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน เพียงแต่ผู้เขียนตำนานได้ระบุชื่อแตกต่างกันออกไปเท่านั้น

หลักฐานประเภทตำนาน ได้ระบุถึงชุมชนดั้งเดิมก่อนที่กลุ่มคนในตระกูลภาษาไทหลายกลุ่มจะเข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบนี้ ว่าเป็นของชาวพื้นเมืองที่สามารถสร้างชุมชนให้มีลักษณะเป็นเวียง ปกครองกันเองราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ในกรณีของเมืองยองในยุคแรกนั้นมีผู้ปกครองเป็นทมิล ชื่อท้าววิรู ในขณะที่เมืองเชียงตุงผู้ปกครองก็เป็นคนลัวะเช่นเดียวกับเมืองเชียงรุ่งก่อนที่เจ้าบุญปันจะมาปกครอง พวกยักษ์ซึ่งเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองเข้ามารุกราน เจ้าบุญปันได้มาช่วยปราบพวกยักษ์จนชนะเจ้าบุญปันจึงได้อภิเษกกับธิดาคนสุดท้องของเจ้าเมืองเชียงรุ่งชื่อนางยอดแสงหล้า ซึ่งอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ตามเอกสารพื้นเมืองของสิบสองพันนาระบุว่า พญาเจิง เจ้าหอคำเมืองเชียงรุ่ง ลำดับที่ 1 ปกครองเมืองเชียงรุ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 1703-1724 เกี่ยวกับเรื่องนี้ ณัชชา เลาหศิรินาถ (2537) ให้ข้อสันนิษฐานว่า ราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีคนไทกลุ่มหนึ่งได้ขับไล่คนพื้นเมืองออกไปจากดินแดนสิบสองพันนาแล้วได้สร้างเมืองเชียงรุ่ง ขณะเดียวกันหวังจี้ หมิน (2531) อ้างจากเอกสารจีนว่า เมืองเชอหลี่ หรือเมืองเชียงรุ่งเป็นชุมชนของชาวไตลื้อมาแต่โบราณกาล ส่วนเมืองเชียงตุงนั้น พงศาวดารเมืองเชียงตุงระบุว่า ลัวะเป็นผู้สร้างเมืองใน พ.ศ. 1677 ต่อมาพญามังรายสามารถขับไล่พวกลัวะออกไปจากเมืองเชียงตุงใน พ.ศ. 1773

ณัชชา เลาหศิรินาถ (2526) ยังได้อธิบายถึงการที่ชนชาติไทเข้าไปตั้งถิ่นฐานใน 12 พันนาว่า ผู้นำบรรพบุรุษของชาวสิบสองพันนาที่สร้างเมืองเชียงรุ่ง คือพญาเจิง ซึ่งปรากฏนามอย่างกว้างขวางในตำนานของชนชาติไทในบริเวณใกล้เคียง เช่น ตำนานล้านช้าง ตำนานเมืองพะเยา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเงินยางเชียงแสนและพงศาวการเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง เป็นต้น ซึ่งมีข้อความที่กล่าวถึงความกล้าหาญและความยิ่งใหญ่ของพญาเจิงในการทำสงครามเพื่อตั้งอาณาจักรและขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่ยอมรับของกษัตริย์น่านเจ้า

ในกรณีของเมืองยอง ตำนานเมืองยอง ได้ระบุถึงการที่เจ้าสุนันทะจากเมืองเชียงรุ่ง พาบริวารมามีอำนาจเหนือคนพื้นเมืองในท้องถิ่น ได้แก่ ทมิลหรือลัวะ ถึงแม้พวกลัวะหรือกลุ่มคนพื้นเมืองจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่ก็ได้มีความพยายามจะกลับมายึดอำนาจคืนอีก ดังเช่นในปี พ.ศ. 2024 พวกข่าลัวะได้ยกกำลังเข้ามารุกรานเมืองยอง พระญาติโลกราชได้ส่งกำลังไปขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากเมืองไป

ตำนานสิงหนวัติกุมาร ก็ได้กล่าวถึงชาวพื้นเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำกกว่า เป็นพวกมิลักขุหรือพวกละว้า ก่อนที่สิงหนวัติกุมารจะอพยพบริวารมาสร้างนครโยนกหรือนาคบุรีศรีช้างแสน ในฐานะที่เป็นชนพื้นเมือง พวกลัวะจึงมีบทบาทสำคัญมากในสายตาของผู้เขียนตำนาน ในกรณีของล้านนา ปรากฏในประวัติการสร้างพระธาตุ เช่น ตำนานพระธาตุช่อแฮ่ ได้กล่าวถึงบทบาทของพวกลัวะ ถึงในการเสด็จมาถึงเมืองโกสัยนคร (เมืองแพร่) ของพระพุทธเจ้า ระบุว่า ขุนลัวะและบริวารได้นำอาหารมาถวาย แล้วพระพุทธองค์ได้ประทานเส้นพระเกศาให้แก่พวกลัวะเพื่อนำไปบูชา ซึ่งเชื่อกันว่าปัจจุบันพระเกศาดังกล่าวบรรจุอยู่ในพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุสำคัญประจำเมืองแพร่

แม้ว่ากลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมในแถบนี้ จะมีชื่อเรียกขานตามตำนานแตกต่างมากมายหลายชื่อหลายกลุ่ม เช่น ทมิล ทมิละ ละ ละว้า ข่าหรือขะมุบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2493) และจิตร ภูมิศักดิ์ (2519) เห็นว่า กลุ่มคนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นชนเผ่าที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมือง เช่น พวกลัวะกับกลุ่มคนที่พูดภาษาไท หรือกลุ่มคนไตนั้นมีความใกล้ชิดกันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏเป็นคำพังเพยว่า “ลัวะปลงไห ไตปลงหม้อนึ่ง, ลัวะเฮดไฮ่ ไตเฮดนา, ลัวะเฮดไฮ่ อย่าหื้อตายดา ไตเฮดนา อย่าหื้อตายเหี่ยว” เป็นต้น

สรุปได้ว่า การพัฒนาของชุมชนและคนเมืองยองในยุคตำนาน เริ่มต้นจากการสร้างบ้านแปงเมือง ของกลุ่มคนพื้นเมือง ได้แก่พวกทมิลหรือลัวะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ที่สร้างชุมชนเป็นบ้านหรือเวียง ในบริเวณที่ราบแม่น้ำยอง มีหัวหน้าปกครอง ต่อมาได้มีกลุ่มคนไทจากเมืองเชียงรุ่งอพยพเข้าตั้งถิ่นฐานจนสามารถมีอำนาจปกครองเหนือคนพื้นเมือง แต่ต้องดำเนินนโยบายประนีประนอมและผสมผสานกับคนพื้นเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะได้ดำรงอยู่ในสถานะผู้ปกครองได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง ตำนานจึงได้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ มีการปะทะสังสรรค์ ประนีประนอมยอมรับผสมผสานทางสังคมและวัฒนธรรม ในรูปแบบต่างๆ สะท้อนให้เห็นสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนไทที่นับถือพุทธศาสนาและกลุ่มคนพื้นเมืองที่นับถือผี

เนื่องจากกลุ่มคนยองมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในการอพยพและการตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนามานานกว่าสองศตวรรษ (มากกว่า 200 ปี) มีพัฒนาการ มีความสัมพันธ์ทางสังคม จารีต ประเพณี ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมกับคนกลุ่มอื่นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียงจำนวนนับหมื่นคน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนา โดยเฉพาะในเมืองลำพูนประชากรที่มาจากเมืองยองเป็นคนส่วนใหญ่ ต่อมาได้กระจัดกระจายออกไป ดังเช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 ผลจากการปฏิรูปหัวเมืองต่างๆในล้านนา ผู้คนและดินแดนจึงถูกผนวกรวมเป็นพลเมือง และเป็นเขตแดนของสยาม

คนยอง : การเคลื่อนย้ายและการตั้งถิ่นฐานในล้านนา

เอกสารหลักฐานท้องถิ่นในดินแดนที่อยู่ระหว่างแม่น้ำคง และแม่น้ำโขงตอนกลาง ได้แก่ตำนานเมืองต่างๆได้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมของผู้คนในแถบนี้ว่าเป็นชุมชนที่ประกอบด้วย ผู้คนอยู่ร่วมกันที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม และได้ก่อรูปพัฒนาการชุมชนด้วยปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกด้านปัจจัยภายในได้แก่จารีตประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อในท้องถิ่นส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่ การเข้ามาสร้างแปลงเมืองของกลุ่มคนที่มาจากภายนอก เช่น จากเชียงรุ่งเชียงตุง เป็นต้นตลอดจนการเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ปัจจัยดังกล่าวได้มีส่วนสนับสนุนให้ชุมชนเหล่านี้ มีพัฒนาการและเติบโตขึ้นเป็นบ้านเป็นเมือง เป็นแคว้นเป็นอาณาจักรในเวลาต่อมา ได้แก่สิบสองพันนา ล้านช้าง ล้านนา และกลุ่มเมืองรัฐฉานในปัจจุบันบริเวณนี้จึงเรียกว่า เขตวัฒนธรรมไทลื้อ-ไทยวน หมายถึงบริเวณที่มีสังคมและวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างกลุ่มคนไทลื้อและกลุ่มคนไทยวนครอบคลุมอาณาบริเวณแม่น้ำคง แม่น้ำโขงตอนกลาง แม่น้ำกก แม่น้ำปิง วัง ยมและแม่น้ำน่านตอนบน ซึ่งประกอบหัวเมืองสำคัญๆได้แก่ เชียงรุ่งเมืองลวงเมืองฮายเมืองฮำเมืองล่าเชียงตุงเมืองยองเมืองยู้เมืองหลวยเมืองวะเมืองเลน เมืองพะยาก เชียงลาบ เชียงแขง เมืองสิง เชียงแสน เชียงของ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน เมืองฝาง ลำพูน ลำปาง แพร่เป็นต้นกลุ่มเมืองเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทางสังคมและวัฒนธรรมมาช้านานแล้ว

การสร้างเครือข่ายทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมก่อให้เกิดระบบเครือญาติในระดับผู้นำและชาวบ้านทำให้มีความสัมพันธ์กันแบบบ้านพี่เมืองน้องเกิดศูนย์กลางของกลุ่มเมืองต่างๆ ในบริเวณ “เขตวัฒนธรรมไทลื้อ-ไทยวน” ขึ้นบริเวณหลายแห่งตามที่ราบลุ่มแม่น้ำที่สำคัญได้แก่ เชียงรุ่ง (แม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขง)เชียงตุง (แม่น้ำขึน)เชียงทองหรือหลวงพระบาง (แม่น้ำของหรือแม่น้ำโขง)เชียงแสน (แม่น้ำของหรือหรือแม่น้ำโขง)เชียงราย (แม่น้ำกก)เชียงใหม่ (แม่น้ำปิงตอนบน)เป็นต้น

คนยองกับการเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานใน “เขตวัฒนธรรมไทลื้อ-ไทยวน”

การเคลื่อนไหวไปมาระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ใน“เขตวัฒนธรรมไทลื้อ-ไทยวน”มีมานานกว่า 1,000 ปีแล้วระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-23 พรมแดน หรือเขตแดนระหว่างเมืองต่างๆ ใน “เขตวัฒนธรรมไทลื้อ-ไทยวน” มีอยู่อย่างเลือนลางผู้คนในแถบนี้มีการแลกเปลี่ยน ผสมผสาน(Assimilation) กันทางสังคมและวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวไปมา การอพยพและการตั้งถิ่นฐาน ปรากฏหลักฐานราว 700 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลและปัจจัยทั้งภายในและภายนอกเข้าสู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 ตำนานพื้นเมืองระบุว่า กลุ่มคนไท(ลื้อ)ได้เข้ามามีอำนาจเหนือคนพื้นเมืองได้สำเร็จเมืองเชียงรุ่งจึงมีเจ้าเมืองปกครองเป็นคนไทลื้อในระหว่าง พ.ศ. 1813-1843 เจ้าสุนันทะโอรสเจ้าเมืองเชียงรุ่งพาบริวารมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองยองภายใต้การปกครองของคนพื้นเมืองเผ่าทะมิลหรือลัวะหรือละว้าต่อมาสามารถมีอำนาจเหนือคนพื้นเมืองเมืองยองจึงมีเจ้าเมืองคนไทลื้อปกครองต่อมาหลังจากที่พญามังรายจากเมืองเชียงรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 ในปี พ.ศ. 2020 สมัยพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1984-2020) แห่งเมืองเชียงใหม่ มีผู้คนจากเมืองยองอพยพมาเชียงใหม่เพราะเมืองยองขึ้นกับเชียงใหม่และต้องส่งบรรณาการทุกปี

ระหว่างปี พ.ศ. 2325-2339 เจ้ากาวิละแห่งเมืองเชียงใหม่ได้ดำเนินการรวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ในจำนวนนั้นมีผู้คนจากเมืองยองและจากเมืองใกล้เคียงถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานที่เวียงป่าซาง เมื่อปี พ.ศ. 2329ในปี พ.ศ. 2348 เจ้ากาวิละมอบหมายใหม่เจ้าอุปราชธัมมะลังกาและเจ้าคำฝั้นยกทัพไปตีเมืองยอง กวาดต้อนผู้คน(ลื้อ)นับหมื่นคน พร้อมกับเจ้าขัตติยะวงศ์ษา เจ้าฟ้าเมืองยอง เครือญาติ ขุนนาง ครูบาหลวงเมือง พระสงฆ์ และไพร่พลมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน ซึ่งขณะนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบางมาก

ปี พ.ศ.2356 พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองยาง ล้อมอยู่หลายเดือน จึงถอยทัพกลับมาที่เมืองยอง หลังฤดูเก็บเกี่ยวจึงได้อพยพผู้คนและเจ้าสุริยะวงศ์ษา เจ้าฟ้าเมืองยอง พระอนุชาเจ้าขัตติยะวงศ์ษา มาตั้งถิ่นฐานด้านตะวันออกของเมืองเเชียงใหม่ ที่ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพงในปัจจุบัน และที่ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองลำปางรวมไปถึงบริเวณด้านตะวันออกของเมืองลำพูน บริเวณที่ราบลุ่มห้วยแม่ธิ และในปี พ.ศ. 2395 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คราวสงครามเมืองเชียงตุง กองทัพเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูนยกทัพผ่านทางเมืองยอง ขากลับได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองมาเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างปี พ.ศ. 2480 -2500 กลุ่มคนยองในหมู่บ้านต่างๆ แถบจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ได้อพยพหรือที่เรียกว่า “ยกครัว” ไปตั้งถิ่นฐานในแถบ อำเภอแม่จันเชียงแสนแม่สายในจังหวัดเชียงรายกับอำเภอฝางและแม่อายในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขยายที่ดินทำการเกษตร เพราะมีราคาถูกกว่า และจากการชักชวนของญาติพี่น้องที่ที่อพยพมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

การกระจายตัว

ปัจจุบันประชาชากรที่สืบเชื้อสายมาจากคนยองที่อพยพมาจากเมืองยองเมื่อ 200 กว่าปีเป็ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดลำพูน(ประมาณร้อยละ 85) และได้กระจายไปตั้งชุมชนชน หมู่บ้านในจังหวัดใกล้เคียง เช่น อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่อายในจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สายในจังหวัดเชียงรายปัจุบันกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

การที่กลุ่มคนยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม โดยทำให้เมืองยองในรัฐเชียงตุงมีจำนวนพลเมืองลดลง ขณะที่เมืองลำพูนมีจำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้ากาวิละ ที่ต้องการฟื้นฟูเมืองลำพูนขึ้นมาให้ทำหน้าที่สนับสนุนเมืองเชียงใหม่ด้านกำลังคน ทั้งในยามปกติและยามสงคราม ในระยะต่อมาชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ ของชาวยองได้ขยายและกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองลำพูนด้วยเหตุนี้ สังคมของผู้คนในเมืองลำพูนในปัจจุบัน จึงมีพัฒนามาจากการอพยพและอยู่ร่วมกันของกลุ่มผู้คน(ไทลื้อ) ที่มาจากเมืองยอง เชียงตุงและเมืองอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงรวมถึงกลุ่มคนลื้อจาก 12 พันนา ที่อพยพเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน มีการผสมผสานกันทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีคนยองเป็นคนส่วนใหญ่

จำนวนประชากร

จากเรื่องราวในตำนานและพงศาวดาร ภูมิหลังและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงลักษณะโครงสร้างทางภาษา กลุ่มคนไทลื้อในภาคเหนือประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1) กลุ่มฅนลื้อ (ตัวเอง หรือคนอื่นเรียกว่า “ฅนลื้อ”) กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ประมาณ203,800 คน ได้แก่ จังหวัด พะเยา 150,000 คน, น่าน จำนวน 30,000 คน, เชียงใหม่ 10,000 คน, เชียงราย 6,000 คน, ลำพูน 5,000 คน, ลำปาง 1,000 คน, แพร่ 800 คน อื่นๆ 1,000 คน

2) กลุ่มฅนลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง(ตัวเอง หรือคนอื่นเรียกว่า “ฅนยอง”) ประมาณ 367,000 คน กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดลำพูน 350,000 คน, เชียงใหม่ 10,000 คน, เชียงราย5,000 คน อื่นๆ อีก2,000 คน

3) กลุ่มคนเขินหรือขึน ประมาณ 11,500 คน กระจายและตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่9,000 คน, ลำพูน จำนวน 1,500 คน ที่อื่นๆ อีกราว 1,000 คน[1]

ในบทความนี้จะเน้นที่กล่าวถึงกลุ่มที่ 2) คือกลุ่ม “คนยอง”ซึ่งมีข้ออภิปรายเรื่องจำนวนประชากรในเชิงปริมาณดังนี้

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์เอกสารของราชการ(กรุงเทพฯ) เมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา บันทึกถึงผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง ถูกอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนา โดยเฉพาะในเมืองลำพูนมีจำนวนนับหมื่นคน และปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้เป็นประชากรส่วนใหญ่จังหวัดลำพูนจึงเป็นพื้นแห่งเดียวของประเทศไทยที่ผู้คนถูกอพยพมาเมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้วมีสถานะเป็นประชากรส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

ก่อนปี ร.ศ.119(พ.ศ.2444) กลุ่มคนเมืองยองและเมืองอื่นๆทางตอนบน ที่ถูกอพยพเข้าตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนาในระหว่าง พ.ศ.2325-2395 ยุคการฟื้นฟูบ้านเมือง เอกสารทางราชการระบุว่าคนกลุ่มนี้มีสถานะเป็น “ทาษ(ส)” จนกระทั่งในปี พ.ศ.2444 มีการสำมะโนประชากรเป็นครั้งแรกในเมืองลำพูน กลุ่มคนเมืองยองและคนเมืองอื่นๆ ที่ถูกอพยพมาพร้อมกัน ถูกนับหรือขึ้นทะเบียนเป็นพลเมืองสยามนับตั้งแต่นั้นมา[2] คนเหล่านี้ได้ผสมผสานกันทางสังคมและวัฒนธรรมในทางพฤตินัย นิตินัย จึงไม่ถือว่าเป็นพลเมืองชายขอบองรัฐ และได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองภายใต้รัฐไทย จึงไม่นับอยู่ในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง(indigenous people)

จะเห็นได้ว่า กลุ่ม”คนยอง” เป็นกลุ่มคนตั้งถิ่นฐานในพื้นราบ จึงไม่มีความแปลกแยกเป็นคนกลุ่มอื่นหรือมีสถานะเป็นพลเมืองชั้น 2 ในสังคมไทย การตั้งถิ่นฐาน การเดินทาง การย้ายถิ่น จึงมีความเป็นอิสระ ไม่ได้ถูกจำกัด หรือมีข้อกำหนดใดจากทางการ จึงมีการกระจายตัวไปไปทั่วในพื้นที่รัฐไทย



[1] จำนวนประชากรที่สืบเชื้อสายมาจากฅนลื้อ ฅนยอง และฅนเขิน ใน 7 จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย เป็นค่าโ ดยประมาณ มาจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่งเบื้องต้นคือ 1) การเก็บข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนระหว่างปี 2535-2538 จากสำเนียงภาษา ความสัมพันธ์ทางสังคมและเครือญาติ และ 2) การเทียบเคียงและประมาณการจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการสำมะโนประชากรรายจังหวัด ปี 2562

[2] ศุภอักษร รายงานราชการเมืองนครลำพูน ม.๕๘/๑๘๗ ร.ศ.112-121(พ.ศ.2437-2446) ลงวันที่ 2 กุภาพันธ์ ร.ศ.118(พ.ศ.2443) เรื่องทาส(ส)เมืองลำพูน สมัยเจ้าอินยงยศโชติ เจ้าหลวงลำดับที่ 9(พ.ศ.2438-2454)

การดำรงชีพ

ในสังคมดั้งเดิม ทรัพยากรในชุมชนและใกล้บ้าน เช่น ป่าชุมชน และสิ่งที่เกิดขึ้นในป่า ได้แก่ไม้ เห็ด หน่อไม้ ผักไม้ ใบตอง ฯลฯ เป็นของ “หน้าหมู่” เป็นสิทธิชุมชน ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ ร่วมกันใช้ประโยชน์ตามความจำเป็น เมื่อรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเข้มข้น เข้ามาบังคับใช้ในชุมชน ความเป็น “หน้าหมู่” ถูกท้าทาย หดหายไปความรู้สึก สำนึกต่อชุมชน หมู่บ้านเจือจาง จะมีคำว่า “ของหลวง” เข้ามาแทนที่และมีปัญหาด้านทรัพยากรพ่วงติดตามมามากมาย เช่น ป่าชุมชน การบุกรุกป่า การหาของป่า การเผาป่า ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น

สัมมาชีพและกสิกรรมในยุคปัจจุบันมีเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทและแทนที่เครื่องมือพื้นบ้านในการทำนาสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควายเครื่องมือบางอย่างหมดหน้าที่ไป เช่น แอก ไถ เผือ ล้อ(เกวียน) เล้าเข้า(ยุ้งข้าว)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ดินแดนที่อยู่ระหว่างแม่น้ำคง และแม่น้ำโขงตอนกลาง หรือ “เขตวัฒนธรรมไทลื้อ-ไทยวน” พุทธศาสนา ฝ่ายเถระวาท สายลังกาวงศ์ ได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนล้านนาในรัชสมัยพระเจ้ากือนา(พ.ศ. 1898 – 1928) รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ได้อาราธนาพระเถระ 2 รูป ชาวสุโขทัยมาสถาปนาพุทธศาสนา ณ เมืองเชียงใหม่ พระสุมนเถระ และพระอโนมทัสสีเถระ ทั้ง 2 รูปจึงได้จำพรรษาที่วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1952–2030) รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ.2020 ทรงให้การอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ 8 ของโลก ณ วัดมหาโพธาราม(เจ็ดยอด) หลังจากนั้นพุทธศาสนาได้เผยแผ่ขึ้นไปยังหัวเมืองต่างๆในฉานตะวันออก เช่น เมืองยอง เชียงตุง จนถึงดินแดน 12 พันนา

ตำนานเมืองยองได้บันทึกถึงความเจริญและมั่นคงของพุทธศาสนาฝ่ายเถระวาท โดยการเกิดขึ้นของพระธาตุจอมยอง ที่ตำนานระบุว่าได้บรรจุพระสารีริกธาตุอยู่ภายใน เมืองยองจึงเป็นเมืองที่พุทธศาสนาได้สถาปนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 คนเมืองยอง ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูนเมื่อ 200 กว่าปี ก็ยังคงยึดมั่นในพุทธศาสนาจนถึงทุกวันนี้

อัตลักษณ์ที่สืบเนื่องมาตั้งการอพยพครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2348 คือการบูชาเทวบุตรหลวง หรือ เตวบุตรโหลง ที่ปรากฏในตำนานเมืองยอง การอพยพมาครั้งนั้น ชาวยองได้นำเอาความเชื่อการบูชาเทวบุตรหลวงมาตั้งไว้ที่บริเวณวัดหัวขัว บ้านเวียงยอง ตำบลเวียงยอง บนฝั่งแม่น้ำกวง ด้านตะวันออกของเมืองลำพูน

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนยองถือว่าต้องให้ความเคารพ ยำเกรง กราบไหว้บูชา แบ่งพื้นทีได้แก่ บริเวณหิ้งพระ อยู่ในห้องโถงที่ออกมาจากห้องนอน หอผีบ้าน ตั้งอยู่ปลายสวน ติดรั้วบ้าน ปัจจุบันคือศาลพระภูมิ หอเสื้อบ้าน เสาใจบ้าน อยู่ใต้ร่มต้นไม้ขนาดใหญ่ใจกลางหมู่บ้าน เชิงเขาใกล้หมู่บ้านหรือข้างทางแยกเข้าหมู่บ้าน เป็นพื้นที่กลาง ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้าน พื้นที่ในกำแพงวัด พื้นที่ป่าเฮ่ว หรือป่าช้า บ่อน้ำในหมู่บ้านที่ใช้ร่วมกัน ปัจจุบันหมดความสำคัญลงไป เพราะมีระบบประปาหมู่บ้าน พื้นที่บริเวณเหมืองฝ่ายที่ใช้เลี้ยงผีฝาย ปัจจุบันหมดความสำคัญลงไป

คนยอง มีจารีต ความเชื่อเรื่องการทำนายการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ที่แปลก ผิดปกติ แม้แต่การเข้าฝันที่เขียนไว้ในตำราพับสาแต่โบราณ เช่น การปรากฏของดาวควัน หรือดาวหาง, แผ่นดินเฟือน หรือแผ่นดินไหว, กบกินเดือน หรือจันทรุปราคา สุริยุปราคา, วัวหาย ควายหาย ของมีค่าหาย, มีคนตายโหงในหมู่บ้าน ถูกฆ่าตาย อัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) ตายถูกงูพิษกัด, เสียงเสือร้องใกล้หมู่บ้าน, ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โค่นล้ม, หนูกัดเสื้อผ้า, ไฟไหม้บ้าน, แมลงหรือตั๊กแตนจำนวนมากกัดกินต้นข้าวและพืชผัก, ยอดพระธาตุในวัดหักลงมา, ครูบาชั้นผู้ใหญ่ สูงอายุ เป็นที่เคารพนับถือในชุมชนละสังขาร(มรณภาพ), ความแห้งแล้ง ข้าวในนาแห้งตายแดด ส่งสัญญาณว่าจะเกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ในตำราพับสาถือว่าเป็นสิ่งบอกเหตุว่าเรื่องร้ายแรงจะเกิดขึ้น มีผลกระทบต่อความรู้สึกว่าจะเกิดเหตุร้าย ความไม่มั่นคงในชุมชน บ้านเมือง บางเรื่องคนในชุมชนถือว่า เชื่อว่า “ขึด” หรืออุบาทว์ ต้องมีพิธีกรรมแก้ขึด

บางเรื่องก่อนจะประกอบกิจกรรมใดๆ ต้องถามครูบา ผู้อาวุโส ผู้รู้ในชุมชน หมู่บ้านก่อน ทำไปแล้วกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายขึ้นภายหลัง หรือคนในชุมชนติเตียนยนินทา เพราะขึด เช่น วันขุดหลุมเสาปลูกเรือน, วันขึ้นบ้านใหม่, วันหว่านกล้า, วันไถนา เผือนา, วันปลูกกล้า(ลงแปลงนา), วันเกี่ยวข้าว, วันเอาข้าวขึ้นเยีย(เอาข้าวเปลือกขึ้นฉาง), วันเริ่มกินข้าวใหม่, วันตัดเล็บ, วันตัดผม, วันเอาเมีย(วันแต่งงาน), วันบ่อหู(เจาะหู), วันดำหัว(สระผม), วันเอาคนตายไปเผา, การตั้งชื่อเด็กเกิด ต้องตั้งชื่อหลังจากคลอดราว 7-15 วัน เพราะมีความเชื่อว่า ระยะนี้เรียกกันว่า “เป็นลูกผี ลูกคน” ต้องรอให้ผีเอาไปก่อน ครบตามวันแล้วถึงตั้งชื่อ เด็กจะอยู่สุขสบาย ปลอดภัย อายุยืน ผีไม่มารบกวน บางแห่งหลังจากคลอดวันแรก จะมีญาติผู้ใหญ่ เช่น หรือปู่ ย่า ตา ยาย มาทักหรือร้องที่หน้าบ้านว่า “ถ้าเป็นลูกผี ให้เอาไป ถ้าเป็นลูกคนให้เอามา”

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ก่อนที่จะเข้าใจถึงจารีตการปฏิบัติตามประเพณี วัฒนธรรม ที่กำกับ กำหนดด้วยฤดูกาล เวลา ของคนยองและคนล้านนา เรื่องปฏิทินการนับเดือน 12 ครั้งในรอบ 1 ปี ซึ่งต่างจากปฏิทินของภาคกลางหรือทางราชการที่อ้างอิงกับแบบสากลหรือสุริยะคติ แต่ของล้านนาอ้างอิงกับจันทรคติ

เดือนเกี๋ยง (เดือน 1) หรือเดือนตุลาคม ทำบุญวันออกพรรษา, ตักบาตรเทโวโรหนะ, ทอดกฐินและจุลกฐิน

เดือนยี่ (เดือน 2) หรือเดือนพฤศจิกายน ทอดกฐิน, ประเพณีเดือนยี่เป็ง, ขนทรายเข้าวัด, จุดผางประทีป ,ลอยกระทง, ปล่อยโคมไฟ โคมลอย

เดือน 3 หรือเดือนธันวาคม พิธีแฮก(แรก)เกี่ยวข้าว, หลังฤดูเก็บเกี่ยว(เกี่ยวข้าวเอาเฟือง-ฟาง), พิธีสู่ขวัญวัว ควาย, พิธีขนข้าวขึ้นเล้า(ฉาง)

เดือน 4 หรือเดือนมกราคม ทำบุญวันขึ้นปีใหม่สากล, ประเพณีทานข้าวใหม่, พระสงฆ์เข้าปริวาสกรรม(เป็นกิจของสงฆ์ที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส 13ข้อ) ปฏิบัติโดยอยู่ในที่จำกัด เช่นในป่าช้า ชายป่า เชิงเขา เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน เพื่อออกจากอาบัติ ในระหว่างศรัทธาชาวบ้านจะมาทำบุญถวายภัตตาหารและสิ่งของที่จำเป็น

เดือน 5 หรือเดือนกุมภาพันธ์ พิธีเลี้ยงผีปู่ ย่า

เดือน 6 หรือเดือนมีนาคม พิธีเลี้ยงผีปู่ ย่า

เดือน 7 หรือเดือนเมษายน ทำบุญปีใหม่เมือง : ก่อเจดีย์ทราย, ทานตุง, สรงน้ำพระที่วัดและที่บ้าน, รดน้ำดำหัวบุพพการีและผู้สูงอายุ, เฉลิมฉลองการขึ้นศักราชใหม่ตามจันทรคติ, เลี้ยงและบูชาผีบ้าน ผีเรือน

เดือน 8 หรือเดือนพฤษภาคม ประเพณีสรงน้ำทำบุญพระธาตุวัดหลวงลำพูนและวันวิสาขบูชา

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

เดือน 9 หรือเดือนมิถุนายน สืบชะตาและทำบุญใจบ้าน, เลี้ยงผีฝาย, หว่านกล้าข้าว

เดือน 10 หรือเดือนกรกฎาคม ทำบุญวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา

เดือน 11 หรือเดือนสิงหาคม พิธีแฮก(แรก)นา ลงมือปลูกข้าว

เดือน 12 หรือเดือนกันยายน เป็งวันทำบุญให้บุพการีและญาติพี่น้องที่ล่วงลับ และงานถวายสลากภัตรและและงานสลากย้อมวัดหลวงลำพูน(วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร)

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมเกี่ยวชีวิต

ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิด

พิธีกรรมและความเชื่อก่อนการเกิดจากครรภ์มารดา ตามจารีตพื้นบ้านของฅนยอง เมื่อชาย หญิงแต่งงานกันและเกิดปฏิสนธิและตั้งครรภ์ ฝ่ายหญิงจะเกิดนิมิต(ฝัน)ในสิ่งที่ดี เป็นมงคล เช่น ฝันว่าได้ลูกแก้วจากพญาอินทร์ ฝันว่าคนนุ่งขาวห่มขาวเอาดวงแก้ว อัญมณีหรือผลไม้ที่มีลักษณะกลมมายื่นให้ หรือฝันว่าดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย มาเกิดใหม่ เป็นต้น “แม่มาน” (ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์) จะมีอาการแพ้ท้องตามตำราในพับสาระบุว่าเกิดจากการที่ธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ในร่างกายเปลี่ยนแปลง ปรับตัว อยากกินของแปลกๆของที่มีรสเปรี้ยว มีแคลเซียม เช่น “อิบ” หรือดินสอหิน มีอยู่ตามธรรมชาติในร่องห้วยในภูเขา มีธาตุเหล็กผสมอยู่นอกจากแพ้ท้อง อาเจียนแล้วแม่มาน จะมีอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งจะต้องระมัดระวังตนเองในการอยู่ การกิน มีข้อห้าม เช่น ห้ามนั่ง ยืนคาบันได ห้ามรอดรั้ว การรอดแร้วดักสัตว์ ข้ามเชือกวัวควาย ห้ามผ่าฟืน ผ่ามะพร้าว ข้อห้ามเหล่านี้ อาจเป็นที่มาของการสะดุด หกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนการห้ามไปงานศพ ห้ามดูกบกินเดือน (จันทรคราสและสุริยะคราส) เป็นความเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์อัปมงคล

ฅนยองเชื่อว่าอาหารต้องห้ามสำหรับแม่มาน อาหารรสจัด และพืชผัก บางชิด เช่น ปลีกล้วย ผักแว่น พืชผักที่เป็นเครือ เถา บ่ะแคว้ง(มะเขือพวง) ทำให้เกิดอาการแพ้และคันที่หน้าท้อง ส่วนไข่(ด้วง)ต่อ ไข่แตน หอยทุกชนิด ทำให้มีกลิ่นคาวมากในเวลาคลอด รวมถึงมีความเชื่อว่า แม่มานกินข้าวอิ่มหลังผู้อื่น ทำให้คลอดลูกยาก ส่วนผักที่แม่มานควรกิน เช่น ผักปั๋ง ทำให้คลอดลูกง่าย แกงหยวกและน้ำมะพร้าวอ่อน ทำให้ลูกที่เกิดมาผิวพรรณดี สดใส เป็นต้น

การเกิดตามความเชื่อและวัฒนธรรมของฅนยอง มักเป็นเรื่องภายในครอบครัวและญาติพี่น้อง แต่มีข้อปฏิบัติตามวิถี ความเชื่อและจารีตที่หลากหลาย ตั้งแต่การที่สามีและสมาชิกในครอบครัวต้องเตรียมตัว และศึกษา ปฏิบัติตัวตั้งแต่การตั้งครรภ์ การเกิดลูก การดูแล การเลี้ยงลูกให้อยู่รอด สุขภาพดี แข็งแรง เมื่อเจ็บป่วยก็มีวิธีรักษาจากยาสมุนไพรพื้นบ้าน ในสังคมของฅนยองมีการเรียนรู้ สืบทอด ปฏิบัติการดูแลรักษาครรภ์จนกระทั่งเกิด ในกรณีการเกิดลูกคนแรก แม่มานและสามีจะเรียนรู้ปรึกษาการเตรียมการจากพ่อแม่ของตนเอง และญาติผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ แต่การเกิดลูกคนถัดมา ส่วนใหญ่สามีจะเป็นผู้เตรียมการ ขณะที่ผู้ทำหน้าที่ช่วยแม่มานเกิดลูกจะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ในหมู่บ้านฅนยองแทบจะไม่เห็นบทบาทของแม่หมอ หมอตำแยหรือแม่ช่าง บางครั้งคนในหมู่บ้านแทบจะไม่รู้เลยว่าบ้านหลังนี้มีเด็กเกิดใหม่ จะรู้ก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงเด็กร้อง และแม่อุ้มลูกเกิดใหม่อออกมาจากห้องนอนเมื่อเด็กอายุ ๑ เดือน ที่เรียกว่าการ “ออกเดือน”

เมื่อแม่มานปวดท้อง ใกล้จะคลอด สามีหรือลูกคนโตก็จะเตรียมตั้งหม้อเพื่อต้มน้ำร้อน เพื่อลวกมีดหรือกรรไกร ที่ใช้ตัดสายรก แม่มานจะนั่งเอนหลังพิงสลี(ที่นอน)ที่ทบสามส่วนเมื่อเด็กออกจากท้องแม่มาใหม่ๆ ตัดสายรกเสร็จแล้วนำไปฝังที่พื้นบันหน้าบ้าน เพราะมีความเชื่อว่ารกเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะที่ต้นกำเนิดของชีวิต ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แม้ตัดออกจากร่างกายถือว่ายังมีความสำคัญ เป็นสัญลักษณ์ความผูกพันกับครอบครัว จึงนำไปฝังที่พื้นบันไดด้านหน้าบ้าน ซึ่งเป็นทางผ่านของทุกคนในครอบ ได้แก่พ่อ แม่ พี่ น้องและเครือญาติ (พ่อหนานสิงห์คำ มาละแซม : 2530)

ความเชื่อเรื่องการฝังรกดังกล่าวไม่ปรากฏในจารีตของคนกลุ่มอื่นพบแต่ในกลุ่มของฅนยองเท่านั้นและผู้เขียนได้ประสบพบเห็นด้วยตัวเองในครอบครัว เมื่อน้องๆ คลอด (2496-2501) เด็กทารกเมื่อคลอดออกมา จะถูกนำไปเช็ดตัว เช็ดตัวทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่น ห่อด้วยผ้าหลายชั้น นำทารกน้อยวางนอนบนกระด้งญาติผู้ใหญ่อาจจะเป็นพ่ออุ้ย แม่อุ้ย นำเด็กเกิดใหม่ไปวางบนเบาะที่ปูด้วยผ้าอ้อมรองไว้ ใช้ผ้าอ้อมอีกผืนปิดที่หน้าอกของทารก ยกเบาะไปใส่ในกระด้ง แล้วยกกระด้งขึ้นร่อนด้วยการหมุนไปทางขวา 3 รอบ พร้อมกับพูดว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกใครมารับเอาเน้อ” ญาติผู้ใหญ่จะรับไว้และยืนยันว่าทารกเป็นลูกของตน เสร็จแล้วจึงอุ้มเด็กไปวางบนพื้น ให้ญาตินำหนังสือ สมุด ดินสอ หรือก้อนหิน มาใส่ในกระด้ง เพื่อเป็นเคล็ดให้เด็กโตขึ้นจะได้ฉลาด อ่านเขียนเรียนหนังสือเก่ง ขณะเดียวกัน ก็ห่มผ้าหลายชั้น เว้นแต่ใบหน้า ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “อุ๊ก” เพื่อบ่มผิวเด็กที่เกิดใหม่วันถัดมาพ่อของเด็กเกิดใหม่ จะนำสวยดอกไม้ ธูปเทียน ไปหาครูบาที่วัด เพื่อให้จาร(เขียน)ใบชะตาหรือ “ใบแดง” (ใบเกิด) เป็นอักษรธรรมลงบนใบลาน จารชื่อพ่อแม่และตั้งชื่อลูก บอกเพศวัน เวลา เดือนออก เดือนดับ ที่เกิด ม้วนเก็บไว้ทั้งนี้ ในช่วงปี พ.ศ. 2460-2490 ในชุมชนและหมู่บ้านชนบทของฅนยองในเมืองลำพูน การเก็บและบันทึกข้อมูลสำมะโนครัวยังไม่เป็นระบบ

การแจ้งเกิดในหมู่บ้านในชนบท จึงเริ่มที่การที่การนำ ”ใบแดง”(อักษรธรรมจารลงใบลาน ที่ครอบครัวหรือครูบาทำขึ้น ) ไปแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน และจดบันทึกเอาไว้และนำไปแจ้งต่อกำนัน แขวงหรืออำเภอต่อไป กว่าจะไปถึงอำเภอก็ล่วงเลยไปเป็นเดือน บางครั้งข้อมูลก็ตกหล่น ไม่ชัดเจน เช่น วัน เดือนปีเกิด การสะกดชื่อ นามสกุล

ระหว่าง 30 วันหลังเด็กเกิด แม่ต้อง “อยู่ไฟ” หรือ “ก๋ำเดือน” หรือ “อยู่เดือน” จะอยู่แต่ในห้องนอนปิดประตูหน้าต่าง หรืออยู่มุ้ง ไม่ออกไปนอกห้องถ้าไม่จำเป็น จนกระทั่งครบ 1 เดือนจึงถือว่าช่วงเวลา “ก๋ำเดือน” หรือ “อยู่เดือน” สิ้นสุดลง แม่จะ “ออกเดือน” ใช้ชีวิตตามปกติจากนั้นเป็นพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องการ “หลอนเดือน” เมื่อเด็กมีอายุครบ 1 เดือนจะมีญาติผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือ เป็นแบบอย่างที่ดี ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ จะมาเยี่ยมเยียน มาทักทาย ให้ศีลให้พร ที่เรียกว่าการมา “หลอนเดือน” โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โดยเชื่อว่าเด็กที่โตมาจะมีนิสัยใจคอ ประสบความสำเร็จในชีวิตข้างหน้าเช่นเดียวกับผู้มา “หลอนเดือน” นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามระหว่างการอยู่ไฟของแม่ก๋ำเดือน ในช่วง 45 วัน เช่นห้ามสระผมถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ให้ใช้น้ำอุ่น ต้องอาบน้ำอุ่น ห้ามนั่งยองๆ เพราะจะทำให้มดลูกเข้าอู่ช้า ไม่กินของแสลงที่ทำให้แผลไม่หายหรือหายช้า เช่น ของดอง ไก่ เนื้อ ไข่ เป็นต้น ห้ามดื่มน้ำเย็น เพราะจะทำให้น้ำนมไม่ค่อยออก ไม่กินของเย็นต่างๆ เช่น น้ำเย็น น้ำเต้าหู้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มดลูกไม่เข้าอู่หรือเข้าอู่ช้า ไม่สามารถที่จะขับน้ำคาวปลาออกได้หมด

ในชุมชนและสังคมของคนยองเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆโดยทั่วไปหลังการคลอดเด็กเกิดใหม่ ที่ยังนอนแบเบาะ จะได้รับการดูเลี้ยงดู ดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นพิเศษและอย่างใกล้ชิด เพราะสถิติการตายของทารกจะมีมากในช่วง 30 วัน เป็นช่วงที่ “แม้กำเดือน” หรือ “อยู่เดือน” (แม่ปวง มาละแซม 2555) เป็นเวลาที่แม่อยู่ใกล้ลูกมาก ทั้งอุ้ม ให้นม การเข้านอนจึงเกิดประเพณี วิธีการที่จะให้เด็กนอนง่าย นอนนานหลังจากกินนมในอ้อมกอดของแม่อิ่มแล้ว และเป็นช่วงเวลาที่แม่จะได้พักผ่อน ทำธุระส่วนตัว หรือซักผ้าอ้อมคือ “คำ ทำนอง การร้องเพลงกล่อมเด็กดังนั้นเพลงกล่อมลูกนอนหรือเพลงกล่อมเด็ก จึงเป็นวัฒนธรรมและความเชื่อของคนในท้องถิ่นต่างๆมีพัฒนาการมาจากการเล่านิทาน ให้เด็กฟังก่อนนอน เกิดความเพลิดเพลิน อบอุ่นและหลับง่าย เนื้อร้อง ทำนองมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เรื่องเล่า เรื่องราวนิทานพื้นบ้าน ชาดกต่างๆ เป็นต้นแต่ละชาติพันธุ์ ชนเผ่า ท้องถิ่น มีเพลง เนื้อหา ทำนองแตกต่างกันออไป

ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กล้านนา

ตัวอย่างเนื้อร้องเพลง “อื่อ อื่อ จาจา”

“หลับสองต๋า อี้แม่หน้อยมา อี่หล้าก๋อยตื่น หลับบ่จื้น นายก๋อยหลับแฮ่ม

แม่จักอือนายแปง หื้อหลับเจ้ยเน้อ นกเอี้ยงนกคุ้มอยู่ขุ่มบ่าเขื่อ

นกยุงปลีกเบ้อลายคำ จุ๊ตนจอกฟ้า กระบ้าหนาหน่ำ เอี้ยงโก้ง เอี้ยงดำ

เอี้ยงคำแขกเต้า แลอิ้งแลหลวาปักษาปากเศร้า นกคุ้มนกเงากิ่งไม้

แม่จักอื่อ จา อื่อ จาจา หลับเหี้ยเต้อหนาเจ้าแก้วแก่นต๋าของอี่แมเฮย

อื่อ อื่อ อื่ออื่อ....”


ในยุคต่อมา วิทยาการด้านสุขภาพพัฒนามากขึ้น ในช่วงที่เลี้ยงดูลูกตั้งแต่เกิดจนถึงอายุราว 1 ขวบ กิจกรรมข้อปฏิบัติที่สำคัญคือ การดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงต่อการให้นมลูก การเลี้ยง การดูแลลูกหลังการเกิดจนถึงอายุราว 10 ปี ยาตำราพื้นบ้านเพื่อรักษาเด็กที่มีอาการเจ็บป่วยบ่อย ประกอบสมุนไพรที่หาได้จากในท้องถิ่น มีทั้งกิน ทา ป้าย ประคบ ปรุงโดยวิธีการต้ม ตำเป็นผง ฝนหรือตำเป็นยาป้าย เช่น เป็นขางมีอาการร้อนใน มีแผลที่ลิ้น เนื้อเยื่อในช่องปากและคอ ตัวร้อน มีไข้ เด็กจะไม่ค่อยกินอาหาร ร้องโยเย ปัจจุบันคืออาการต่อมทอลซินอักเสพการเป็นซางหรือตานขโมย ร่างกายผอม ที่เรียกว่าพุงโรก้นปอด หรืออาจเกิดจากตัวพยาธิในลำไส้อาการหลุหรืออาการท้องเสีย มีเด็กจำนวนมากเสียชีวิตจากอาการท้องเสียและรำมะนาด(โรคปริทันต์) อาการเหงือกบวม เนื่องมาจากการไม่ใช้แปรงฟัน สมัยก่อนในชุมชนคนยองชายขอบ(บ้านนอก) ไม่มีแปรงฟันใช้ การทำความสะอาดฟันและช่องปากโดยการอมน้ำแล้วใช้นิ้วถูไปมา บ้วนปากด้วยน้ำหรือน้ำเกลือ นอกจากนี้การดูแลรักษายังใช้คาถาเสกเป่า และความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆ การเลี้ยงผี สะเดาะและส่งเคราะห์ เป็นต้น

ในกรณีความเชื่อที่ทำคู่ขนานไปกับการรักษาทางยา เมื่อเด็กเกิดอาการเจ็บป่วย คือการทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ฮ้องขวัญ” โดยเชื่อว่า มีผีมารบกวนและเชื่อว่าเด็กมีขวัญอ่อน ภูต ผี ปีศาจ วิญญาณต่างๆ มักเข้ามารบกวนได้ง่าย ต้องทำพิธีเลี้ยงผีเพื่อแสดงความเคารพ ขอขมา และนำพระเครื่อง ผ้ายันต์มาแขวนหรือผูกที่ข้อมือของเด็ก เพื่อป้องกันผี การเลี้ยงผีถือเป็นพิธีกรรม ความเชื่อที่สำคัญและสืบทอดมานานแม้การดำเนินชีวิตจะอยู่ในภาวะปกติหรือใม่ปกติตามจารีตในครอบครัวและชุมชน ชาวบ้านไม่ได้ละทิ้งความสัมพันธ์ต่อวิญญาณ หรือผีของบรรพบุรุษ ที่ได้ปกป้องและเป็นที่พึ่งทางใจ ให้ดำเนินชีวิตที่ปกติสุข (ศรีเลา เกษพรหม 2558)ในชุมชนฅนยองในชนบทยังคงพบเห็น “หอผี” และ “ใจบ้าน” ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ในการปกปักรักษาและย้ำเตือนความเป็นตัวตนฅนยอง

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำการเพาะปลูก

การการเพาะปลูกเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ของกลุ่มคนในเขตมรสุมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ของมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ คาดไม่ถึง จึงทำให้เกิดพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกเพื่อเป็นบรรเทาความเสียหาย เช่น ความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำท่วมพิธีกรรมเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ การพึ่งพา รวมถึงการยอมจำนนอ่อนน้อม การเคารพบูชา เซ่นสรวง ต่อธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์

1) ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เช่น พิธีแห่นางแมวขอฝน พิธีฟังธรรมปลาช่อน

2) เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอแก่การผลิต เช่น พิธีไหว้ผีฟ้า

3) เพื่อระดมแรงงานใช้ในการผลิต เช่น พิธีไหว้ผีปู่ย่า ฟ้อนผีมดผีเม็ง

4) เพื่อป้องกันภัยจากแมลงกัดกินพืชผลและให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น พิธีแฮกนา พิธีเรียกขวัญข้าว

5) เพื่อตอกย้ำบทบาทหน้าที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการบันดาลความอุดมสมบูรณ์และฉลองชัยในการเอาชนะวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ เช่น พิธีทานข้าวใหม่ ยี่เป็ง ปีใหม่ (สงกรานต์)

จากตัวอย่างพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรความอุดมสมบูรณ์ที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า เป็นพิธีกรรมที่คาบเกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติหรือความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ผีสางเทวดา ผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่เจ้าทาง รวมถึงพิธีกรรมที่ผสมผสานกับศาสนาพุทธ เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เชื่อว่าทั่วทุกแห่งในน้ำ บนบก บนฟ้า ทุ่งนา ป่าเขาในเมือง ล้วนแต่มีผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองดูแล ถ้า บูชาให้ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกใจ จะช่วยดลบันดาลให้เกิดผลผลิตดีได้ นับเป็นการสร้างพิธีกรรมเจรจาต่อรองและพึ่งพาอาศัยระหว่างมนุษย์ ผี สาง เทวดา ฟ้า ดิน สัตว์ พืช น้ำและพลังจากธรรมชาติ เช่น ฟ้า ฝน แดด อย่างชาญฉลาดหากจะพูดถึงในแง่จิตวิทยาแล้ว พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติมีเป้าประสงค์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ โดยที่มนุษย์กระทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมบางอย่างต่อสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านนั้นแล้วจะส่งผลต่อด้านจิตใจของผู้กระทำพิธีโดยตรง ทำให้เกิดกำลังใจที่ดี นับว่าเป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติให้ดำรงอยู่ด้วยกันแบบผลประโยชน์ต่างตอบแทนนั่นเอง

ข้าว: ในพิธีกรรม ความอุดมสมบูรณ์และการอยู่รอด

ฅนยองตั้งชุมชนอยู่ในพื้นราบ การเพาะปลูกข้าวจึงเป็นการทำนาเป็นหลัก พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวทำขึ้นตลอดปีของการปลูกข้าว โดยจัดต่อเนื่องตามลำดับการเพาะปลูก ช่วงเวลาของพิธีกรรมที่สำคัญจะอยู่ตั้งแต่ก่อนเริ่มฤดูกาลปลูก จนกระทั่งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือที่เรียกว่า ”เกี่ยวข้าว เอาเฟือง” (ฟาง)พิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับข้าวที่สำคัญมีอยู่ใน 4 ช่วงของการปลูก คือ

พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก วัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวง บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษให้คุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ให้มีความสวัสดิมงคล มีความอุดมสมบูรณ์ มีความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิตในรอบปีการเพาะปลูก อาทิ พิธีเลี้ยงขุนผีขุนถ้ำ พิธีแห่นางแมว เทศน์พญาคันค๊าก สวดคาถาปลาช่อน พิธีปั้นเมฆ พิธีบุญบอกไฟขอฝน พิธีเหล่านี้จัดขึ้นก่อนเริ่มการหว่านกล้าและการลงมือไถนา

พิธีกรรมช่วงเพาะปลูก ทำเพื่อบวงสรวงบนบานแก่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บอกกล่าวฝากฝังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าวหรือการเพาะปลูก ขอให้การปลูกข้าวดำเนินไปได้ด้วยดี ปราศจากอันตรายต่างๆ อาทิ พิธีแฮกนา(แรกไถนา) พิธีหว่านกล้า พิธีแรกดำน้ำ พิธีปักต๋าแหลวป้องกันนก หนูและสัตว์อื่นมากินเม็ดข้าวที่หว่านไว้

พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา ทำเพื่อให้ข้าวงอกงาม ปลอดภัยจากสัตว์และแมลงต่างๆ พิธีกรรมประเภทนี้จัดขึ้นในช่วงระหว่างการเพาะปลูก จนกระทั่งเก็บเกี่ยว อาทิ พิธีไล่น้ำ พิธีปักต๋าแหลว พิธีสวดสังคหะ พิธีไล่หนู ไล่นก ไล่เพลี้ย ไล่แมลง ใช้วิธีภาวนา หว่านทราย น้ำมนต์

พิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยว พิธีสู่ขวัญข้าวหรือพิธีเรียกขวัญข้าวเป็นประเพณีพิธีกรรมของชาวบ้านที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต การปฏิบัติในพิธีกรรมมีความแตกต่างหลากหลายตามวัฒนธรรมความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ยึดถือความเชื่อนี้มาอย่างยาวนาน สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ และความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัว พิธีสู่ขวัญข้าวจะทำในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือช่วงที่ขนข้าวเปลือกใส่หลองข้าว(ยุ้งฉาง)เรียบร้อยแล้ว เชื่อกันว่าเป็นการเรียกขวัญข้าวให้กลับคืนมาอยู่ในยุ้งฉางเพื่อเป็นขวัญให้กับข้าว และขอให้ช่วยดูแลข้าวอย่าให้หมดเร็ว ให้มีเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี อีกทั้งในปีต่อไปก็ขอให้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก เช่น การหาวันปลูกพืช ลักษณะวัวควายที่ดี การสู่ขวัญวัวควาย วันเอาขวัญข้าว วันหาบข้าวขึ้นหลอง เป็นต้น

ในสังคมยุคใหม่ ข้าวก็ยังมีหน้าที่ บทบาทและความสำคัญในชีวิตของทุกคน ทั้งในเรื่องของคติ ความเชื่อและวิถีทางวัฒนธรรมในคติความเชื่อของคนยอง “ข้าว” มีคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่ามากกว่าความเป็นธัญพืชหรืออาหารหลักเพื่อการบริโภค จึงมีพิธีกรรม การปฏิบัติต่อข้าวด้วยความดีงาม ความสะอาด ตั้งแต่การเพาะปลูกถึงการเก็บเกี่ยว หรือการนำมาหุง นึ่ง หรือบริโภค และพร้อมที่จะส่งต่อ “คุณประโยชน์” และ ”คุณค่า” นี้ให้แก่ผู้อื่นด้วยความยินดี ข้าวเป็นตัวแทนของการทำบุญทุกครั้ง ที่มีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์สนทนา เช่น “กินข้าวหรือยัง” “ไปกินข้าวกัน” เป็นต้น

การแต่งงานและการหย่าร้าง

การเรียนรู้และปรับเปลี่ยนทางสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมในครอบครัว ชุมชนของคนยอง เกิดขึ้นเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆที่อยู่ร่วมกัน พัฒนาการด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัยและการสื่อสารด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตั้งแต่ความสัมพันธ์ทางสังคมของชาย หญิง ซึ่งแต่เดิมเป็นแบบปิด พ่อแม่ญาติพี่น้อง ญาติผู้ใหญ่จะมีบทบาทในด้านการติดต่อรู้จักกันอยู่ในวงแคบ อยู่กลุ่มคนรู้จักกัน ญาติห่างๆ ละแวก บ้านและชุมชนใกล้ๆกัน“การแอ่วสาว” บ้านใกล้เรือนเคียงของหนุ่ม จึงเป็นช่องทางเดียวที่จะได้พบปะพูดคุยกับและอยู่ในสายตาของพ่อ แม่ฝ่ายหญิงตลอดเวลาปัจจุบันพื้นที่ เวลา โอกาสเปิดกว้างสำหรับหนุ่ม สาว “การแอ่วสาว” ได้หมดสิ้นไปวิถีของชาวบ้าน

พิธีกรรม พิธีการสู่ขอ และนำไปสู่การแต่งงาน เมื่อพ่อ แม่และญาติทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้ว พิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “การเสียผี” ที่ฝ่ายชายต้องนำสิ่งของ เครื่องเซ่นไหว้ สิ่งของที่แสดงถึงการเคารพนับถือ “ผีประจำตระกูล”(ผีปู่ย่า) ของฝ่ายหญิง ในชุมชนและสังคมของคนยองไม่นับถือหรือมี “ผี” ของตระกูลฝ่ายชายในสังคมปัจจุบันจารีต พิธีกรรมดังกล่าวแทบจะไม่มีให้เห็นการแต่งงานแต่เดิมเป็นบทบาท ภาระของพ่อ แม่และญาติทั้งสองฝ่าย ในยุคปัจจุบันบทบาทหน้าที่ส่วนใหญ่ กลายเป็นของหนุ่มสาวที่จะแต่งงานกัน

เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชาย(ลูกเขย)ต้องไปอยู่ร่วมกับครอบครัวฝ่ายหญิงระยะหนึ่งก่อนเป็นการเพิ่มแรงงานการเกษตร มีคำกล่าวถึงผู้ชายที่แข็งแรงว่า “ป้อจายควายหงาน” พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเรียกลูกเขยว่า “ลูกจาย”และหลังจากนี้ต้องนำเครื่องสักการะ เซ่นไหว้ไปไหว้หอผีตระกูลหรือหอบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง เพื่อแสดงถึงการเคารพนบนอบต่อบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง จารีตและพิธีกรรมของคนยองไม่ปรากฏว่ามีผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย

ในอดีตครอบครัวคนยอง ลูกผู้หญิงคนสุดท้องหรือที่เรียกว่าลูก “อี่หล้า” หรือ “ลูกหล้า”มักจะแต่งงานเป็นคนสุดท้ายและจะได้ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินของพ่อแม่ ส่วนพี่ชายและพี่สาวเมื่อแต่งงาน มีลูกก็จะ “ลงตั้ง” หมายถึงการปลูกเรือนใหม่ เป็นการแยกครอบครัวออกไปจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงการลงตั้งหรือปลูกเรือนใหม่

เมื่อการแต่งงานผ่านไปประมาณ 3-5 ปี พ่อแม่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็จะหาที่ดินเพื่อปลูกบ้านแยกครอบครัวออกไปเรียกว่า “ลงตั้ง” ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีที่ดินพอ ก็จะแบ่งที่ให้ปลูกบ้านอยู่ในบริเวณ “คุ้ม”(พื้นที่ในบริเวณบ้านของพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง)หรืออยู่ในหมู่บ้านเดียวกันเมื่อมีลูกปู่ย่า ตายาย ก็ช่วยดูแล และยังสามารถดูแล เกื้อกูลครอบครัวที่ลงตั้งใหม่ด้วย

ในอดีต(ราวก่อนทศวรรษที่ 2500) การหย่าร้างในสังคมคนยอง มีมีปัจจัยด้านจารีตและความสัมพันธ์ทางสังคม กำกับและควบคุม

ประการแรก หนุ่มสาวคบและรู้จักกันครั้งแรกผ่านการที่ฝ่ายชายเป็นผู้เข้าไปทำทักทาย พูดคุย ทำความรู้จักกับฝ่ายหญิงที่บ้าน กันผ่านจารีตประเพณีการแอ่วสาว ส่วนใหญ่จะเป็นตอนกลางคืน ที่ฝ่ายหญิงเอางานบ้านขึ้นมาทำ เช่น การทอผ้า การเย็บผ้า ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือน และอยู่ในสายตาของพ่อแม่ของฝ่ายหญิง

ประการที่สอง การแต่งงานกันมักเกิดในหมู่บ้านเดียวกันหรือหมู่บ้านข้างเคียงเพียงเดินข้ามทุ่ง ข้ามแม่น้ำ เพราะมีข้อจำกัดด้านพาหนะ พ่อแม่ ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายรู้จัก คุ้นเคยกัน ทำให้เกิดการเลือก การคัดสรรของทั้งสองฝ่าย

ประการที่สาม การผิดผี คือความสัมพันธ์ได้เสียกันก่อนแต่งงาน เป็นความผิดที่ร้ายมาก พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เรียกร้องควาเสียหายจากฝ่ายชายฝ่ายเดียวเรียกว่“ไหม” ปกติจะชดเชยเป็นสิ่งของเช่น เงินแถบ(เงินรูปี)ข้าว หรือสัตว์เลี้ยง วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ และฝ่ายชายต้องต้องเป็นฝ่ายขอขมา โดยการเลี้ยงผีปู่ย่าของฝ่ายหญิง พร้อมของ “ไหม” และยังมีองค์กร บุคคลอื่นเข้ามารับทราบ กำกับ ตัดสินและหาข่อยุติ เพื่อให้เป็นไปตามจารีต เช่น ครูบา ผู้เฒ่า ผู้แก่ แก่บ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน)สุดท้ายจะมีการสู่ขอ และจัดพิธีแต่งงาน

ประการสุดท้าย เมื่อการหย่าร้างกัน ฝ่ายหญิงจะถูกเรียกว่า “แม่ฮ้าง(ร้าง)” ฝ่ายชายจะถูกเรียกว่า พ่อฮ้า(ร้าง) สังคมในหมู่บ้านรับรู้ เล่าลือกันทั่ว ถือว่ามีมลทินมัวหมอง โดยเฉพาะฝ่ายหญิงจะไปแต่งงานใหม่เป็นเรื่องยาก และไม่ค่อยมีหนุ่มคนใดเลือกที่จะแต่งงานด้วย

สรุปแล้วก่อนและหลังการแต่งงาน มีจารีต ประเพณี ข้อปฏิบัติในชุมชนกำกับ ควบคุมการมีชีวิตคู่หลายอย่างที่เข้มงวดโดยสังคมหมู่บ้านการหย่าร้างเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และบ่อยครั้ง

พิธีกรรมที่กี่ยวข้องกับการรักษาโรค

ในชุมชนของคนยองผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์ และแสดงการอำนาจเหนือธรรมชาติ นำไปสู่การยกระดับสถานะทางสังคมสูงขึ้นต้องเป็นผู้มีความรู้และวิธีการทางไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา แสดงความคงกระพัน(ข่าม) ต้องสามารถอ่านตำรา ใบลาน พับสาอักษรธัมม์ได้ และเคยบวชเป็นพระ (ตุ๊) มาหลายพรรษา เมื่อสึกออกมาคนทั้งหลายจะเรียกคำนำหน้าว่า “หนาน หรือ ขะหนาน” มักได้รับการยอมรับ นับถือ เป็นที่พึ่ง สั่งสมบารมี จนมีผู้คนเกรงอกเกรงใจ บางคนสร้างอิทธิพล เป็นผู้กว้างขวางในท้องถิ่นมักได้รับการยอมรับและเลือกตั้งให้เป็น แก่บ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน) แคว่น(กำนัน) นักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

เพื่อการรักษาสุขภาพ การเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้คนในชุมชนคนยอง มีการใช้ความรู้และภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่มีการบันทึกไว้ในใบลานและพับสา ของผู้ที่ได้รับการยอมรับ ให้เป็นหมอเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย เช่น หมอยา(ชาวบ้านเรียกป้อเลี้ยง) หมอกวากซุย(หมอเป่าคาถา และทำน้ำมนต์สำหรับผู้กระดูกหัก)หมอเป่าโรคตาแดง ฝีออกตามร่างกายเป่าและเช็ดอาการปวด เคล็ดขัดยอก ด้วยใบพลู เป็นต้น

ผู้นำการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา จะเป็นหน้าที่ของอาจารย์วัดหรือ “ปู้จ๋าน” (มัคคทายก)และพิธีกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านบ้าน เป็นผู้ที่พระ(เจ้าอาวาส) และชาวบ้านร่วมกันแต่งตั้งจากคนในหมู่บ้านที่เคยบวชเป็นพระหรือเป็นสามเณรมาก่อนและมีความรู้ มีประสบกาณ์ในด้านพิธีกรรมต่างๆเช่น

การสืบชะตา สะเดาะเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นกับคน เพื่อต่ออายุ คนป่วยและผู้สูงอายุเพื่อความสบายใจ นิยมทำเมื่อขึ้นบ้านใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ ได้รับยศหรือตำแหน่งสูงขึ้น สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนในวาระโอกาส พิเศษต่างๆ เช่น วันเกิดที่ครบรอบนักษัตร เช่น 24 ปี 36 ปี 48 ปี 60 ปี 72ปีหรือหาย ฟื้นจากอาการป่วยหนัก รวมถึงมีความรู้สึกว่าชะตาไม่ดี ขวัญไม่ดี จิตใจไม่ปกติ เจ็บป่วยง่าย บ่อยๆ ไม่รู้สาเหตุจำเป็นต้องทำพิธีสืบชะตา เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้พ้น ให้หายจากการอาการป่วยทางกายและทางใจ คนทั่วไปมีความเชื่อว่าพิธีกรรมนี้เมื่อทำแล้ว เสมือนยกของที่หนัก กดทับร่างกายอยู่ออกไปทำให้ขวัญและกำลังใจกลับคืนมา ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นทางการแพทย์ว่า ความเจ็บป่วยทางใจ นำไปสู่ความเจ็บป่วยทางกาย (Psychometrics Disorder)

หลังการสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ พระอาวุโสสูงสุดที่นิมนต์มาในพิธีจะผูกข้อมือ และประพรมน้ำมนต์ให้ผู้ป่วย หรือผู้ได้รับการสืบชะตา สะเดาะเคราะห์และญาติพี่น้อง อันสัญลักษณ์ของการได้ผ่านพิธีกรรมนี้แล้ว

พิธีกรรม อาวุธของผู้มีคาถาอาคม

ความเชื่อของอาการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ ที่ทำให้ถึงแก่ความตายอีกอย่างหนึ่งคือการถูก “ตู้” ที่เป็นอาวุธและวิธีการทำร้าย แก้แค้น ตอบโต้คู่อริ โดยการใช้คาถา คุณไสย เสกส่งวัตถุแปลกปลอมอย่างเช่นหนังควาย ตะปู ก้อนเหล็ก หรือเนื้อดิบเข้าไปในร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ผู้ “ถูกตู้” เกิดอาการท้องมานหรือท้องโต มีอาการเจ็บปวดทุรนทุรายอย่างกะทันหัน ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจากผู้มีคาถาอาคมเหนือกว่า สุดท้ายก็อาจเสียชีวิต จากความรู้ที่ผู้เขียนได้รับมา ในหมู่คนยองมีความเชื่อว่า กลุ่มคนกะเหรี่ยงหรือยาง มีความสามารถและเชี่ยวชาญ ด้วยการเสกให้วัตถุต่างๆ เข้าสู่ร่างกายของคนที่เป็นคู่อริถึงกับมีคำกล่าวว่า “อย่าไปกลั่นแกล้งยาง จะถูกเสกหนังควายเข้าท้อง” (พ่อหนานสิงห์คำ มาละแซม 2535)

นอกจากนี้ ฅนยองยังมีทางเลือก มีความเชื่อและพิธีกรรมที่เป็นมงคล ช่วยปัดเป่าให้ทุเลา เมื่อเกิดโรคระบาดและเจ็บป่วย ดังตัวอย่างคือ

การบูชาผีอารักษ์บ้านเมือง เป็นความเชื่อเรื่องใจบ้าน มีลักษณะเป็นเสา 4 ต้น มีเสาขนาดใหญ่อยู่ใจกลางล้อมด้วยเสาขนาดเล็กทั้งสี่มุม หัวเสานิยมทำรูปดอกบัวตูมหรือยอดแหลม ทำจากไม้และหินต่อมาในช่วงหลังเป็นปูน โดยเชื่อว่าเป็นที่สถิตของอารักษ์หรือผีบ้านผีเมืองคอยปกปักรักษาคนในหมู่บ้าน

คนสมัยก่อนมักเลี้ยงผีกะไว้เพื่อคุ้มครองคนในครอบครัว ผีกะชอบกินของคาว เจ้าของผีกะจะเอาผีใส่ไว้ในหม้อดินเผาจากนั้นจึงใส่ปลาร้า พริก ข่า ตะไคร้ ลงไปในหม้อดินนั้นแล้วปิดปากหม้อด้วยผ้าแล้วผูกด้วยเชือก เชื่อกันว่า ถ้าเจ้าของเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดี ผีกะจะให้คุณ นำความเจริญมาให้เจ้าของ แต่ถ้าเจ้าของปล่อยปละละเลยให้ผีกะอดอยากผีกะจะเที่ยวออกหากินและเข้าสิงร่างคนอื่น เมื่อถูกจับได้ก็จะบอกชื่อผู้เป็นเจ้าของทำให้เจ้าของอับอายขายหน้าด้วยเหตุนี้เจ้าของผีกะจึงต้องทำพิธีเลี้ยงผีกะเป็นประจำทุกปี หรืออย่างน้อยก็ 3 ปีต

เอกสารธรรมใบลานและพับสา อักษรธรรม

ตำนานเมืองยอง.จุลศักราช1223-พ.ศ.2404 ธรรมใบลาน วัดมืองหม้อ จังหวัดแพร่.
ตำนานมหาธาตุเจ้าจอมยอง. จุลศักราช 1224-พ.ศ.2415 ธรรมใบลาน วัดเชียงหมั้น จังหวัดเชียงใหม่.
ตำนานจอมยอง (ไม่ระบุศักราช จารคัมภีร์ใบลาน) นำมาจากเมืองยองเมื่อ พ.ศ.2356 ไว้ที่วัดพระสิงห์หลวง เมืองเชียงใหม่ สำรวจพบที่วัดทาปลาดุก ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน รหัสไมโครฟิล์ม 85.143.01 L.038 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี 1 ผูก จำนวน 13 หน้าลาน.)
ตำรายาและฤกษ์ยาม. ประมาณ พ.ศ. 2443.(พับสา) ของพ่อหนานสิงห์คำ มาละแซม(2459-2540) บ้านทาขุมเงิน อ.แม่ทา จ.ลำพูน สืบมาจากพ่อหลวงหนานดี มาละแซม-บิดา(ประมาณ 2383-2443)

ภาษาไทย
พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวง. (2551). บทความวิชาการ ประชุมวิชาการ ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม. โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2551.
ไทยอง : ชีวิต ศรัทธา สล่าแผ่นดิน. (2551). โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไทลื้อ : อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ไท.(2551).ครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไทใหญ่ : ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์. (2551) .โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
จิตร ภูมิศักดิ์. (2519). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). (2526). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์).
ณัชชา เลาหศิรินาฏ. (2526). สลายตัวรัฐแบบจารีตในลุ่มมาน้ำโขงตอกลาง : สิบสองพันนา พ.ศ.2369- 2437. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทวี สว่างปัญญางกูร. (2527). (ปริวรรต) ตำนานเมืองยอง. เชียงใหม่: ทรัพย์การพิมพ์.
ตำบลแม่แรง,เทศบาล. (2563). การศึกษาวิจัยและสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยอง ต.แม่แรง. อ.ป่าซาง จ.ลำพูน. (รายงานการวิจัย)
ธนวัฒน์ ปาลี. (2559). การเมืองเรื่องการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของคนยองในลำพูน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2544). คนเมือง. เชียงใหม่: หจก. โรงพิมพ์แสงศิลป์
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล. (2561). วัฒนธรรมผ้าทอและการแต่งกายของคนชาวไทลื้อ. ใน ฅนไท: การเดินทาง วัฒนธรรมและผ้าทอ. เชียงใหม่ : จรัสธุรกิจการพิมพ์.2561.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2562). ของกิ๋นคนเมือง รวมบทความเรื่องอาหารในล้านนา. เชียงใหม่: บริษัท ทรีโอแอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด.
บุญคิด วัชรศาสตร์. (2527). แบบเรียนภาษาเมืองเหนือ ฉบับเรียนด้วยตนเอง 65 ชั่วโมง. เชียงใหม่ : ธาราทองการพิมพ์.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2493). 30 ชาติในเชียงราย. เชียงราย: ม.ป.พ.
พรรณเพ็ญ เครือไทย. (2552). ครอบครัวสบายสไตล์ล้านนา: วิถีชีวิตและการดูแลสุขภาพหนุ่มสาว. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พรรณเพ็ญ เครือไทย (บรรณาธิการ). (2552). ข่วงผญาสุขภาพล้านนา. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มาลา คำจันทร์. (2553). เมืองยองในพุทธตำนาน. ใน เทวบุตรหลวง. แสวง มาละแซม และคณะ(บรรณาธิการ).เชียงใหม่: ไอเดียกรุ๊ป.
ไวยิ่ง ทองบือ(บรรณาธิการบริหาร). (2562). เครื่องแต่งกาย กลุ่มชาติพันธ์ในประเทศไทย.
ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง(บรรณาธิการ). (2558). ภูมิปัญญาอาเซียน เวชศาสตร์ในจารึกและเอกสารโบราณ ภาษาจารึก ฉบับที่ 13. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศรีเลา เกษพรหม. (2541). ลัวะเยียะไร่ ไทใส่นา. เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง.
ศรีเลา เกษพรหม. (2558). ประเพณีชีวิตคนเมือง. อนุสรณ์พิธีพระราชทางเพลิงศพ พระครูสัทธาโสภณ อดีตเจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน จังหวัดเชียงใหม่.
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเชียงใหม่. (2539). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเชียงใหม่.
สุชานาฏ สิตานุรักษ์และคณะ . (2554). คนยอง : ประวัติศาสตร์พื้นที่ในตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน (รายงานการวิจัย) จัดพิมพ์โดย สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาชภัฏเชียงใหม่.
สุเทพ สุนทรเภสัช. (2548). มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (พิมพ์ครั้งที่ 2).
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2548.) แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
แสวง มาละแซม. (2560). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : คนยองย้ายแผ่นดิน. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์ จัดพิมพ์โดย กองทุนเพื่อค้ำชูพระพุทธศาสนา อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น วัดป่าดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 3)
แสวง มาละแซม (ปริวรรต). (2560). ตำนานเมืองยอง พ.ศ.2356. ฉบับวัดพระสิงห์หลวง เชียงใหม่ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของคนยอง. เชียงใหม่: จรัสธุรกิจการพิมพ์ (พิมพ์ครั้งที่ 5).
แสวง มาละแซม (บรรณาธิการ). (2561). ฅนไท: การเดินทาง วัฒนธรรมและผ้าทอ. เชียงใหม่ : จรัสธุรกิจการพิมพ์
แสวง มาละแซม (บรรณาธิการ). (2556). ท้องถิ่นศึกษา : ยองศึกษา. ลำพูน : เทศบาลตำบลเวียงยอง ปีงบประมาณ 2556.
แสวง มาละแซม (บรรณาธิการร่วม). (2565). มานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์วิเคาระห์ : ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญล้านนา. จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์
หวัง จี้หมิน. (2531). ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเชอหลี่กับเมืองปาไป่ชีฟู ในพุทธศตวรรษที่ 19. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อภินันท์ ธรรมเสนา. (2553). การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของกลุ่มคนยองในจังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2527). พัฒนาการของชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา. โครงการตำรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: มิตรนราการพิมพ์.
โฮลต์ ฮาเลตต์. (2565). ท่องล้านนาบนหลังช้าง พ.ศ.2427. สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์. แปลจาก A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊ค จำกัด.

ภาษาอังกฤษ
B.C.R. (1986). Report for the year 1895 . on the Trade of Chiang Mai. No.1793-5557. Deplomatic and Consular Reports 1896-1916.
Ratanaporn Sethakul. (1988). “Political Relations between Chiangmai and Kengtung in the Nineteen Century”, in Changes in Northern Siam and Shan States: 1886-1942, Prakai Nontawasi (ed). Singapore: SEASP.
Scott, James G. & J. P. Hardimen. (1901). Gazetteer of Upper Burma and the Shan States. Part II-Vol. II, pp. 500-508. Rangoon: SUBPS.


จัน บุญมากาศ, นาย(อายุ 88 ปี), บ้านทาขุมเงิน ตำบลทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน, วันที่ 2-3 มกราคม 2511, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์)

เต้าซื่อ ซิน (เจ้าหม่อมคำลือ อดีตเจ้าแผ่นดิน 12 พันนนา) เชียงรุ่ง, นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน อายุ 63 ปี, วันที่ 5,8,20 เมษายน 2534, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์
ปวง มาละแซม, นาง(อายุ 90 ปี), บ้านทาขุมเงิน ตำบลทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน, วันที่ 2-3 มกราคม 2549 / 12-14 เมษายน 2550, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์)
สิงห์คำ มาละแซม, นาย(อายุ 75 ปี), บ้านทาขุมเงิน ตำบลทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน, วันที่ 12-14 เมษายน 2534, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์
เสน มูลชีพ, นาย. (อายุ 79 ปี), ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลแม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน, วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์
ทองใบ วงศ์รัตน์, นาง, ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านกอดู่ ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์
ศรีเลา เกษพรหม, นาย. อายุ 68, ปี นักวิชาการวัฒนธรรมท้องถิ่น สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม วันที่ 18 สิงหาคม 2565, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์
เรณู วิชาศิลป์,รศ. อายุ 67 ปี, ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ .วันที่ 12 กันยายน 2565, แสวง มาละแซม ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว