ชื่อเรียกตนเอง
“คุนยอง” เป็นชื่อเรียกตนเองตามชื่อเมืองเดิมคือ เวียงยอง และยังคงเรียกตนเองว่า “คนยอง” เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของพวกเขาที่ผูกติดกับพื้นที่ (โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา, 2551: 1)
“ยอง” หรือ ญอง ที่พบในตำนานเมืองยอง มีความหมายว่า เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง
“ไทยอง” หรือ “คนยอง” เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนเชื้อสายไทลื้อกลุ่มหนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง ซึ่งมีชื่อในภาษาบาลีว่า “มหิยังคนคร” ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวยองเรียกว่าเมืองเจงจ้าง (เมืองเชียงช้าง) (โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา, 2551: 1)
“ขงเมืองยอง” เป็นชื่อเรียกคนยอง ในบทค่าวซอของกวีชาวยองชื่อ ศรีวิไชยยะ ที่แต่งขึ้นในสมัยที่ถูกเกณฑ์ทหารเข้าร่วมกับทหารพม่าเพื่อปิดล้อมเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. 2317 เนื้อหากวีแสดงออกถึงความไม่เป็นใจของ “ขงเมืองยอง” (แสวง มะลาแซม, 2560:70)
“ชาวยอง” เป็นชื่อที่เขียนอย่างทางการจากชื่อ สมาคมชาวยอง ที่จัดตั้งในปี พ.ศ. 2550 และ ใช้คำว่า “ฅนยอง” เป็นชื่อ “สมาคมฅนยอง” ในปี พ.ศ. 2555 (แสวง มะลาแซม, 2560)
ชื่อที่คนอื่นเรียก
“ไทยอง” เป็นชื่อเรียกของคนไทยภาคเหนือทั่วไป (ธนวัตน์ ปาลี, 2558)
คำว่า “ยอง-ยอง” มาจากเพลงที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “คุนยองบ่ะเกยอยู่ต่ำ ถ้าไผขึ้นย่ำตึงวิดขึ้นยอง” (คนยองไม่เคยอยู่ต่ำ ถ้าใครเหยียบย่ำ จะลุกขึ้นยอง-ยอง เป็นอาการที่หมายถึงวางสิ่งของในที่สูง) โดยเนื้อเพลงดังกล่าว แสดงถึง ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีของ “ความเป็นยอง” (อภินันท์ ธรรมเสนา, 2553: 73)
“จาวยอง” เป็นชื่อเรียกตามสำเนียงภาษาคนยอง ถูกใช้ในช่วงการจัดกิจกรรมงาน “ยองลำพูน-ยองโลก” ขึ้นที่ในหมู่บ้านเวียงยอง ปี พ.ศ. 2549 โดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย ร่วมกันองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
คำว่า “คนยอง” ปรากฏในตำนานเมืองยองจากคัมภีร์ใบลาน มีการศึกษาปริวรรตตำนานเมืองยอง (ทวี สว่างปัญญางกูร, 2527)
“คนยอง” คือ ไทลื้อกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเมืองยองในเขตจังหวัดเชียงตุงของสหภาพพม่า (วิลักษณ์ ศรีป่าซาง, 2536: 1) กลุ่มไทลื้อจากเมืองยองได้ถูกอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน-เชียงใหม่ และกระจายไปอยู่ในหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา และเรียกตนเองว่า “คนยอง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงที่มาของบ้านเมืองเดิมของตน (โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา, 2551 : 1)
คำว่า “ยอง” ได้มีนักวิชาการสันนิษฐานไว้ว่า คนสมัยก่อนเมื่อพบกันจะซักถามกันว่า มาจากเมืองอะไร เพื่อเป็นการบอกถึงถิ่นฐานบ้านเกิดที่ตนจากมา เป็นการแสดงถึงความแตกต่างระหว่างที่มาของเมืองหรือบรรพบุรุษ (แสวง มาละแซม, 2544 : 43)
“มหิยังคะ” เป็นชื่อเมืองยองที่พบในพุทธตำนาน เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานมหาเกสรเจ้าจอมยอง ตำนานพื้นเมืองมหาธาตุเจ้าจอมยอง ตำนานพพื้นเมืองยอง ตำนานเมืองยอง (มาลา คำจันทร์, 2553: 25)
ชื่อ ยอง ถูกนำมาใช้ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งจากงานทางวิชาการ การรื้อฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่นในช่วงทศวรรษ (2530-2560) เช่น การตีพิมพ์หนังสือ ฅนยองเมืองลำพูน ระหว่างปี 2540-2560 การผลิตการฟ้อนยองและคณะฟ้อนยอง มีการจัดงานสัมมนา ภายใต้ชื่อ ฅนยอง และมีการจัดตั้งสมาคมชาวยอง นอกจากนี้ แสวง มะลาแซม ได้ศึกษาคำว่ายองที่ปรากฎออกเป็นนามสกุล ในพ.ศ. 2536-2556 ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ดังนี้ 1)กันยอง กันยายอง แก้วยองผาง 2) คำยอง 3) ใจยอง จอมจันทร์ยอง จิกยอง 4) ไชยยอง ชัยยอง ไชยเมืองยอง 5) ซ่ามยอง 6) เด็กยอง 7) ธรรมยอง 8) นันทะปารียอง เนตรยอง นวลปันยอง นันทะยอง 9) ปัญญายอง แปงยอง โปธิยอง ปินตายอง 10) ผาบยอง 11) โพธิยอง พรมเมืองยอง 12) มาแสงยอง มูลยอง 13) ยะยอง ยองจา ยองแสงจันทร์ รียอง วังธิยอง หมื่นยอง อุเทียนยอง อินยะยอง (แสวง มาละแซม, 2560: 192-198)
ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564
ทวี สว่างปัญญางกูร. 2527. (ปริวรรต) ตำนานเมืองยอง. เชียงใหม่.
ธนวัฒน์ ปาลี. 2559. การเมืองเรื่องการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของคนยองในลำพูน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรรหาบัณฑิต สาขาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มาลา คำจันทร์. 2553. เมืองยองในพุทธตำนาน. ใน เทวบุตรหลวง. แสวง มาละแซม และคณะ (บรรณาธิการ).เชียงใหม่: ไอเดียกรุ๊ป.
แสวง มาละแซม. 2560. คนยองย้ายแผ่นดินการเคลื่อนย้ายและการตั้งถิ่นฐานของคนยองในเมืองลำพูน (พ.ศ.2348-2445). เชียงใหม่: วินดาการพิมพ์.
อภินันท์ ธรรมเสนา. 2553. การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของกลุ่มคนยองในจังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2551. ไทยอง ชีวิต ศรัทธา สล่าแผ่นดิน : เอกสารสนับสนุนโครงการพิพิธภัณฑ์ วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา. เชียงใหม่
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ เป็นต้น | 150000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ไทยอง อพยพครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ แห่งล้านนา (พ.ศ. 2324-2358) หรือเรียกว่าช่วง “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” คำเรียกชื่อ “ไทยอง” หรือ “คนยอง” คือการเรียกกลุ่มคนเชื้อสายไทลื้อกลุ่มหนึ่ง ที่สร้างบ้านเรือนอยู่เมืองยอง ที่มีชื่อบาลีว่า“มหิยังคนคร ส่วนคนยองที่สูงอายุเรียกว่า เมืองเจงจ้าง หรือ เมืองเชียงช้าง ปัจจุบันเมืองยองมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง นอกจากนี้ยังมีคนยองกระจายอยู่ในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน และบางส่วนอยู่ในประเทศลาว
ในกลุ่มคนไทลื้อเมืองยองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเรียกตนเองว่า “คุนยอง” ส่วนคนไทยเรียกไทลื้อจากเมืองยองว่า “ไทยอง” โดยเรียกกันอย่างแพร่หลาย นับจาก พ.ศ.2348 หลังจากที่ไทลื้อจากเมืองยองอพยพเข้ามอยู่ในเมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ และเมืองอื่นๆในล้านนา โดยเรียกกลุ่มของตนว่า “คนยอง” เพื่อบอกว่ากลุ่มของตนเดินทางมาจากเมืองยอง
จากประวัติศาสตร์ของเมืองยอง และเมืองลำพูน พบว่ามีการเคลื่อนย้ายของผู้คนด้วยเหตุผลต่างๆ ตามยุคสมัย ซึ่งจากการศึกษาแสดงให้เห็นถึง ผู้คนจากเมืองยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในล้านนาตั้งแต่สมัยพญาติโลกราช และครั้งสำคัญในปี พ.ศ.2348 สมัยพระเจ้ากาวิละ เพื่อรวบรวมผู้คนจากหัวเมืองต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งการกวาดต้อนครั้งนี้เป็นแบบ "เทครัว" มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน ซึ่งหมายถึงมาทั้งโครงสร้างทางสังคม ประกอบด้วย เจ้าเมือง บุตร ภรรยา พี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ ตลอดจนไพร่พลจำนวนมาก ผู้คนจากเมืองยองเป็นประชากรส่วนใหญ่ โดยสามารถรักษาวัฒนธรรมทางภาษาของตนไว้ และการอพยพเช่นนี้ทำให้มีผลต่อโครงสร้างการปกครองเมืองลำพูนในระยะต้น ซึ่งมีบทบาทในการปกครองเมืองลำพูนร่วมกับกลุ่มเจ้าเจ็ดตนด้วย นอกจากนี้ การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนจากเมืองยองกลุ่มแรกอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสำคัญของเมืองลำพูน ได้แก่ แม่น้ำปิง กวง ทา และลี้ และกระจายไปตามที่ราบอื่น ๆ แต่ถึงแม้ว่าผู้คนจากเมืองยองเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่สังคมเมืองลำพูนยังประกอบด้วยผู้คนที่มาจากหลายบ้านเมืองที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เกิดความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม เมืองลำพูนจึงมีพัฒนาการของผู้คนที่มีการผสมผสานกันทางสังคมและวัฒนธรรม
จากหลักฐานประเภทตำนานกล่าวว่า แอ่งที่ราบขนาดเล็กที่กระจายตัวอยู่ระหว่างแม่น้ำคง (สาละวิน) และแม่น้ำโขงตอนกลาง มีชุมชนดั้งเดิมกลุ่มต่าง ๆ เช่น ลัวะ ละว้า ทมิล ข่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร ได้ครอบครองดินแดนนี้รวมถึงบริเวณที่ราบแม่น้ำยองมาก่อนที่จะมีกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทหลายกลุ่มซึ่งรวมถึงชาวยองได้เข้ามามีอำนาจเหนือคนพื้นเมือง และมีการสร้างสัมพันธ์ทางเครือญาติเรื่อยมา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ชุมชนเมืองยองเริ่มขยายตัวขึ้น โดยการอพยพผู้คนเข้ามาจากบ้านเมืองอื่น คือ เชียงรุ่ง และมีการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม ทำให้โครงสร้างทางสังคมและการขยายตัวเริ่มซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในช่วงนี้เมืองยองก็มีความสัมพันธ์กับเมืองอื่นในฐานะพันธมิตร เช่น เชียงแสน เชียงของ เมืองล่า เมืองพง เป็นความสัมพันธ์กันแบบบ้านพี่เมืองน้อง แต่ต่อมาด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก ประกอบกับสภาพทางภูมิศาสตร์ ทำให้เมืองยองไม่สามารถพัฒนาตนเองเป็นเมืองขนาดใหญ่ได้ กลับกลายเป็นแค่เมืองชายขอบของศูนย์กลางอำนาจต่าง ๆ ที่ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจและการปกครองเหนือเมืองยอง ทั้ง พม่า จีน เชียงรุ่ง เชียงตุง เชียงใหม่ และหลวงพระบาง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ประวัติศาสตร์ของเมืองยองส่วนใหญ่จึงมักมีในด้านการทำสงคราม การเกณฑ์ไพร่พล และการสวามิภักดิ์ต่อดินแดนที่มีอำนาจ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยองกลุ่มเมืองต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ซึ่งในยามสงครามเมืองยองมักมีความสำคัญอยู่ในฐานะเป็นปัจจัยทางด้านกำลังพลและเสบียง ผู้คนจึงมักถูกกวาดต้อนมาโดยตลอด
ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2101 เมื่อเมืองเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า ทำให้ผู้คนสูญเสียไปมาก อันเนื่องมาจากความไม่สงบตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์มังราย ไม่มีการอพยพเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2318-2319 พม่ายกกองทัพล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ถึง 8 เดือน ผู้คนในเมืองต่างละทิ้งบ้านเรือนไปอยู่ลำปาง เชียงใหม่จึงเป็นเมืองร้างอยู่ถึง 20 ปี จนกระทั่งพระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละได้รับการสนับสนุนจากกรุงธนบุรีทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจากที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนบริเวณเชียงใหม่-ลำพูนได้สำเร็จ แต่ยังคงเป็นเมืองร้าง เจ้ากาวิละจึงดำเนินนโยบายทำสงครามรวบรวมและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ ทางตอนบนเพื่อมาใส่บ้านซ่อมเมืองหรือที่เรียกกันว่า "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" มาตั้งที่เวียงป่าซางในปี พ.ศ. 2325-2339 และมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ สำหรับชาวยองที่เมืองยองก็ได้อพยพเข้ามาอยู่ที่เวียงป่าซางในช่วงเวลานี้ด้วยวิธีการที่เจ้ากาวิละเข้าไปเกลี้ยกล่อมและชักจูงเจ้าเมืองยอง ทำให้ยอมทิ้งเมืองพาไพร่พลมาอยู่ที่ป่าซางกันแบบเทครัว และชาวเมืองยองยังมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน อีกครั้งสำคัญคือ ปี พ.ศ. 2348 และ พ.ศ. 2356 ทำให้ชาวยองกลายเป็นพลเมืองส่วนใหญ่และกระจายตัวออกไปทั่วเมืองลำพูนในเวลาต่อมา
แบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชาวยอง มีความแตกต่างไปบ้างตามยุคสมัยและท้องถิ่น เช่น การตั้งถิ่นฐานที่เมืองยอง เวียงป่ายางและลำพูน ตำนานเมืองยองได้กล่าวถึงการตั้งชุมชนตามลุ่มน้ำยองออกเป็น 7 เวียง ซึ่งมีฐานะเป็นชุมชน คล้ายหมู่บ้าน ซึ่งประมาณว่าเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีลัวะ เป็นผู้ปกครอง และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ และยังมีกลุ่มอื่น ๆ อีก ต่อมาถูกปกครองโดยคนไท และมีการสร้างพระธาตุจอมยอง ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 และมีหลักฐานชี้ว่ามีจำนวนหมู่บ้านที่มากขึ้น และมีคนไทอพยพเข้ามาอยู่จากเมืองต่าง ๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ตั้งเมืองยองจะเป็นที่ทำการเกษตรกรรมได้ แต่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ เพราะไม่ได้อยู่บนเส้นทางการค้าที่สำคัญ แต่กลับอยู่บนเส้นทางเดินทัพ ทำให้เมืองยองตกอยู่ในภาวะล่อแหลม บ้านแตกสาแหรกขาดบ่อย ๆ
ในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2325 – 2339 เป็นผลสืบเนื่องมาจากไทยช่วยขับไล่พม่า (ตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) และเชียงใหม่ได้พยายามสร้างเมือง เจ้ากาวิละได้รวบรวมและชักชวนผู้คนมาไว้ที่เวียงป่าซาง ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ริมแม่น้ำปิง กวง และทา มาสบกัน มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เจ้าเมืองยองจึงพาไพร่พลมาสมทบที่ป่าซาง แต่ลักษณะที่ตั้งของเวียงป่าซางเป็นอุปสรรคต่อความมั่นคงและความปลอดภัย ประกอบกับการคมนาคมถึงชุมชนอื่นไม่สะดวก เพราะลำน้ำทา และกวงค่อนข้างขนาดเล็ก จึงทำให้เจ้ากาวิละคิดหันกลับไปฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ และทำสงครามกับพม่า ซึ่งตั้งหลักที่เชียงแสนอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดพม่าแพ้ และทำให้เกิดการ "เทครัว" โดยเจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา น้องอีก 4 คน ขุนนาง พระสงฆ์ ทั้งไพร่พลในระดับต่าง ๆ ถูกกวาดต้อนมาอยู่ลำพูน ในปี พ.ศ. 2348 (หน้า 98) หมู่บ้านที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานแรกที่ลำพูนเรียกว่า "หมู่บ้านหลัก" มักจะอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ เช่น แม่ปิง แม่กวง และแม่ทา กระจัดกระจายกันไป บริเวณที่ชาวยองเข้าไปตั้งถิ่นฐานมักเคยเป็นชุมชนเก่าแก่ และชุมชนจะกระจายตัวออกไปจากหมู่บ้านหลักหลายหมู่บ้าน หลังปี พ.ศ. 2371 และเมื่อชุมชนมีการสร้างวัดตามมา วัดต่าง ๆ ของชาวยองที่ลำพูนมักมีอายุเก่าแก่ประมาณ 150-180 ปี
เมืองยองในยุคของชนพื้นเมืองนั้นราวพุธศตวรรษที่ 18 เริ่มมีการจัดระเบียบภายในสังคม โดยแบ่งชุมชนออกเป็น 7 หมู่บ้านหรือเวียง โดยแต่ละเวียงมีหัวหน้าปกครอง หลังจากนั้นก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจการรุกรานจากเมืองเชียงรุ่ง โดยการนำของเจ้าสุนันทะ และผู้ปกครองมักสร้างระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการแต่งงาน เพื่อรักษาอำนาจในการปกครอง ในยุคที่ศาสนาแพร่เข้ามาและมีความสำคัญก่อให้เกิดความซับซ้อนทางโครงสร้างของสังคม จึงมีการจัดระเบียบสังคมของคนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น มีขุนแสน 4 คน ประจำเมือง ประกอบด้วยพระยา เสนา พ่อเมืองขวาและพ่อเมืองซ้าย และในสมัยพระยาอินทวิไชย กำหนดขุนนางไว้ 4 ตำแหน่ง คือ แสนคำคาด แสนคำมูล แสนพิชชะวง และแสนคำซาว เพื่อดูแลบ้านเมืองคล้ายเค้าสนาม ต่อมา ในสมัยที่พม่าประสบความสำเร็จในการขยายอิทธิพลราว พ.ศ. 2101-2317 พม่าได้ให้ความสำคัญกับหัวเมืองต่าง ๆ โดยการแต่งตั้งผู้นำเข้ามาปกครอง แต่พม่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเมืองยองเท่าใดนัก จึงให้ผู้นำท้องถิ่นปกครองกันเอง ต่อมาเมื่อมีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน ซึ่งเป็นการเทครัวมาทั้งระบบโครงสร้างของสังคม พระเจ้ากาวิละจึงมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ เจ้าคำฝั้น ซึ่งเป็นอนุชาใกล้ชิดกับเจ้ากาวิละปกครองดูแลไพร่พล แต่การที่ชาวยองเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก มีผลทำให้เจ้าเมืองยองมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2354 ซึ่งเป็นระยะแรกของการอพยพ เจ้าเมืองยองมีส่วนร่วมในการปกครองร่วมกับกลุ่มเจ้าเจ็ดตน โดยมีเจ้าเมืองลำพูนเป็นผู้นำสูงสุด รองลงมาคือ เจ้าอุปราช เจ้าเมืองยอง และขุนสนามตามลำดับ ซึ่งขุนสนามทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองประจำหมู่บ้าน โดยการปกครองในขณะนั้นชุมชนค่อนข้างเป็นอิสระจากเจ้าเมืองลำพูน ต่อมาในปี พ.ศ. 2437-2445 ได้มีการปฏิรูปการปกครองเมืองลำพูนใหม่ โดยการเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลกลางกรุงเทพฯ เพื่อปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์ให้ขึ้นกับรัฐบาลกลาง โดยไม่มีการแต่ตั้งเจ้าเมืองขึ้นปกครองดังเช่นที่ผ่านมาและมีการจัดราชการเมืองลำพูนเสียใหม่
กลุ่มคนยองมีการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจเพื่อการรักษาและสร้างความเป็นยอง โดยมีการจัดตั้งเป็นสมาคมยอง เกิดขึ้นจากรวมกลุ่มของอดีตข้าราชการเกษียณ ครูวิทย์ จันทร์เอี่ยม และบรรดาครูจากสถาบันต่าง ๆ ที่เป็นชาวยอง โดยได้จัดตั้งเป็นชมรมในปีพ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรม เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ส่งเสริมฟื้นฟูศิลปะที่เกี่ยวกับคนยองในลำพูน การรวมกลุ่มจัดตั้งสมาคมเช่นนี้ส่งผลให้เกิดบทบาทและอำนาจในการต่อรองกับหน่วยงานราชการ หรือมีความสามารถในการสานสัมพันธ์กับองค์กร เครือข่าย และกลุ่มชาวยอง จึงได้รับความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ยังพยายามอัตลักษณ์ความเป็นยอง ปรากฏให้เห็นจากการสร้างพื้นที่ เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ ได้แก่ การสร้างพิพิธภัณฑ์ในวัดต้นแก้วปีพ.ศ. 2545 โดยได้งบจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน มีการสร้างอาคารที่เป็นทรงเรือนแบบสถาปัตยกรรมยอง ในพื้นที่ได้มีการเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้โบราณวัตถุของชาวยอง ยังมีการสร้างหอเทวบุตรหลวงในปีพ.ศ. 2553 และมีการสร้างพื้นที่เวียงยองให้เป็น “ลานคนยอง ของกิ๋นเมือง” เพื่อเป็นสถานที่จัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรม งานขายสินค้าอาหารพื้นเมือง สิ่งเหล่านี้ คือกระบวนสร้างอัตลักษณ์ความเป็นยองที่ต้องการช่วงชิงพื้นที่ในเขตเมืองลำพูนจึงเป็นการเมืองอย่างหนึ่งในบริบทสังคมสมัยใหม่
Access Point |
---|
No results found. |