2023-06-15 19:50:44
ผู้เข้าชม : 3239

ปะโอ มีอาณาจักรของตนเองในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา จนกระทั่งศตวรรษที่ 11 ได้พ่ายแพ้ให้กับอาณาจักรพุกาม จึงอพยพไปตั้งถิ่นฐานในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และเคลื่อนย้ายมาในประเทศไทย บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้านวิถีการดำรงชีพ ส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน ปลูกงาดำ ข้าวโพด ถั่ว และผัก เพื่อบริโภคในครัวเรือน คนกลุ่มนี้มีวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่นปรากฎผ่านประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรือ "ปอยแด่นซีหล่าบ่วย" ที่ถูกจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี นอกจากนี้ ชาวปะโอยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวไทใหญ่ทำให้มีประเพณีบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น ประเพณีปอยเซี๊ยงลอง งานแห่ตะโครลุ ปอยข้าวมูน ต่างซอมต่อโหลง (ถวายข้าวมธุปายาส) แห่จองพารา แห่ต้นเกี๊ยะ แห่ประทีปโคมไฟ ปอยลู้ไพ หรือ งานบุญปั้งไฟ

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ปะโอ
ชื่อเรียกตนเอง : ปะโอ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ตองซู่, กะเหรี่ยงพะโค, กะเหรี่ยงดำ
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : ปะโอ
ภาษาเขียน : ปะโอ

ชนเผ่านี้เดิมไม่ได้ชื่อว่าเผ่าปะโอได้มีการเปลี่ยนชื่อเรื่อยมา ซึ่งไม่มีผู้ใดทราบว่าสืบเนื่องมาจากอะไรที่ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อชนเผ่า

ก่อนที่จะเรียกว่า ปะโอ ก่อนหน้านี้ที่รู้จักกันว่า ต่องสู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนไม่ค่อยจะรู้จักชนเผ่านี้เท่าไรนัก ซึ่งชนเผ่าที่เรียกว่าปะโอนี้เป็นเผ่าที่รักสงบ มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ปัจจุบันมีถิ่นที่อาศัยอยู่ทางเขตรัฐฉาน ของประเทศพม่าและส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงรายและพะเยา เป็นต้น

ถิ่นเดิมของชาวปะโอ หรือต่องสู่นั้น อยู่ในแถบเมืองตองยี เมืองปั่น ป๋างปี้ หนองอ้อ กิ่วเกาะ ในเขตรัฐฉานของพม่า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ปะโอ หรือ ต่องสู้ หรือ ต่องสู่ หรือ ต่องซู่ เป็น กลุ่มชนที่อยู่กระจัดกระจายในตอนเหนือของประเทศพม่า เนื่องจากชาวต่องสู้ตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวไทใหญ่ โดยชาวต่องสู้อยู่บนดอยและที่ราบเชิงเขา ส่วนชาวไทใหญ่อยู่บริเวณที่ราบ ดังนั้นชาวต่องสู้จึงมีความสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่ และมีวัฒนธรรมคล้ายไทใหญ่ ชาวไทใหญ่เรียกชาวต่องสู้ว่า “ต่องสู้” พม่าเรียกว่า “ต่องตู่” แปลว่า “ชาวดอย” หรือ “คนหลอย” แต่ชาวต่องสู้ไม่ชอบให้เรียกคำนี้ เพราะถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ ชาวต่องสู้เรียกเชื้อชาติของตนเองว่า “ป่ะโอ่” หรือ ปะโอ แปลว่าชาวดอยเหมือนกัน

เมื่อแยกคำแล้ว มีผู้สันนิษฐานที่มาของคำว่า “ป่ะโอ” ว่าน่าจะมาจากคำว่า “ผะโอ่” แปลว่าผู้อยู่ป่า เพราะในภาษาไทยคำตี่ คำว่า “อู่” แปลว่าอยู่ เมื่อชาวต่องสู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนล้านนา คนล้านนาเรียกตามชาวไทใหญ่ แต่สำเนียงเปลี่ยนไปว่า “ต่องสู้”

จากหนังสือ คนไทยในพม่า ที่ เขียนโดยบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนชาวล้านนา กล่าวถึงชาวต่องสู้ที่อยู่ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ซึ่งมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบว่า ชาว ต่องสู้อยู่ในเขตเมืองต่องกี ตะถุ่ง ยองเสว่ ย่องเหว (ยองห้วย) อ่องบาน สี่กีบ เมืองจิต เมืองหนอง น่ำคก โหปง จ๋ามะก๋ากะลอ ลายค่า (ไล้ข้า) เมืองนาย สีแสง หนองบ๋อน เมืองกิ๋ง ใกล้เคียงหนองอ่างเล หรือทะเลสาบอินทะ แต่พบชาวต่องสู้มากที่สุดที่เมืองหลอยโหลง เมืองหมอกใหม่ เมืองต่องกี เมืองตะถุ่ง ป๋างลอง หม่อระแหม่ง ( มะละแหม่ง ) และเมืองเปกูหรือหงสาวดี

ในประเทศไทย ชาวปะโอ เข้ามาหลากช่องทางและหลายระลอก ทั้งจากเงื่อนไขของการกวาดต้อนผู้คนในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง จนถึงยุคของการทำไม้ของอังกฤษในช่วงอาณานิคม รวมถึงการอพยพระลอกใหญ่ในช่วงความไม่สงบภายในประเทศ และในช่วงเศรษฐกิจในประเทศไทยเฟื่องฟู ต้องการแรงงานจากต่างแดนเข้ามาทำงาน ชาวปะโอก็เคลื่อนย้ายเข้ามาอันเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจอีกระลอกหนึ่ง

ทั้งนี้พบว่า ชาวปะโอที่เคลื่อนย้ายเข้ามในประเทศไทยในยุคแรกๆ นั้น ได้กลืนกลาย แต่งงานข้มวัฒนธรรมกับคนท้องถิ่น ได้รับสถานะความเป็นคนไทย หากแต่ยังคงธำรงอัตลัษณ์ความเป็นเชื้อสายชาวปะโอเอาไว้ เหนี่ยวแน่น และเจือจางตามแต่ละเหตุปัจจัย โดยพบว่าชาวปะโอในประเทศไทยนั้นอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นในหลายชุมชนในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงราย นอกจากนี้ยังพบว่าชาวปะโอตั้งบ้านเรือนในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ มีลูกหลานสืบเชื้อสายกลายเป็นคนเมืองไปหมด เช่น แถวหน้าตลาดเก่า อำเภอหางดง บ้านแม่ก๊ะ อำเภอสันป่าตอง บ้านข่วงเปา อำเภอแม่ริม อำเภอแม่อาย บ้านเวียง อำเภอฝางและบ้านบ่อหิน อำเภอพร้าว รวมถึงมีชุมชนขนาดเล็ก ๆ ปะปนไปกับคนท้องถิ่นในพื้นที่เส้นทางการค้าโบราณ ซึ่งสะท้อนมาให้เห็นในรูปแบบของสถาปัตกรรมวัดวาอารามและเรื่องเล่า เช่น วัดนันตาราม จ.พะเยา วัดศรีรองเมือง วัดม่อนปู่ยักษ์ จ.ลำปาง ดหนองคำ จ. เชียงใหม่ กลุ่มสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภคเหนือตอนบน นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวการตั้งถิ่นฐานในอีสาน หากแต่กลุ่ทนี้ถูกเรียกว่ากุลา และปัจจุบันก็ยอมรับตัวเองในชื่อเรียกนั้น ชาวกุลา (ตองซู่) รุ่นแรกๆ ที่เดินทางเข้ามาค้าชายและแต่งงานกับผู้หญิงในท้องถิ่นอีสาน ต่างก็อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย เมื่อชาวกุลาเหล่านั้นเสียชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวกุลาก็สูญหายไปกับเจ้าของ หรือบางคนกลืนกลายเป็นคนในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ จากการสำรวจเบื้องต้นในงานวิจัยพบว่ามีหมู่บ้านที่มีลูกหลานของชาวกุลา รวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก อยู่ใน ส่วนใหญ่ในเขตบ้านโนนใหญ่ ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี บ้านบึงแก อ. มหาชนะชัย จ.ยโสธร บ้านฝาง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมุกดาหาร

ในขณะที่กลุ่มที่เคลื่อนย้ายเนื่องจากเหตุปัจจัยทางด้านเศรษบกิจนั้นเข้ามาอยู่ในกิจรรมทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย โดยเฉพาะในกิจการแปรรูปไม้ งานก่อสร้าง หรือแม่บ้าน โดยส่วนใหญ่มักพบในพื้นที่เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

คนปะโอมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยมาตั้งแต่ช่วงสมัยสุโขทัยแล้ว เดวิด วัยอาท (David K Wyatt) นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในสมัยที่มีการเผยแพร่พุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาในประเทศไทยนั้นพระสงฆ์ที่เดินทางเข้ามาเผยแพรํในพื้นที่แถบภาคกลางและภาคเหนือของไทย เป็นพระสงฆ์ที่มาจากบริเวณเมืองตะโถ่ง ซึ่งน่าจะเป็นพระสงฆ์ชาวปะโอ และชาวมอญ (Wyatt, 1984 อ้างใน Christensen and Sann Kyaw 2006: 40) ในยุคต่อมาสมัยพระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) ที่ยกทัพไปรบกับไทใหญ่ และกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากเข้ามารบกับอาณาจักรลานนาในช่วงประมาณปีพ.ศ.2101 ซึ่งในกลุ่มนั้นก็มีชาวปะโอรวมอยู่ด้วย และเมื่อยึดล้านนาได้ ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของชาวปะโอในอาณาจักรล้านนา ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ได้สวามิภักดิ์กับพระเจ้ากรุงธนบุรี และช่วยขับไล่พม่าออกไปจากแผ่นดินสยามและอาณาจักรล้านนา พระเจ้ากาวิละรบชนะเมืองเชียงตุง และสิบสองปันนา จึงได้กวาดต้อนผู้คนเข้ามาในอาณาจักรล้านนา เป็นยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” และอีกกลุ่มก็อพยพมาจากรัฐฉาน พม่า และลาว ล้านนา จึงเป็นกลุ่มคนหลายเชื้อชาติมาอยู่ร่วมกันมีทั้งไทยลื้อ ไทเขิน ไทยอง ไทยวน ไทใหญ่ กระเหรี่ยง มอญ ต่องสู้(ปะโอ) ลัวะ ขมุและชาวเขา เผ่าต่างๆ แต่ละชนเผ่าจะมีหมู่บ้านเป็นของตัวเอง และตั้งชื่อหมู่บ้านตามถิ่นเดิมที่จากมา เช่นเมืองวะ บ้านเลน เป็นต้น เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานและมีสถานะเป็นพลเมืองได้ระดับหนึ่ง จึงได้ชักชวนญาติพี่น้องที่อยู่ต่างแดนอพยพมาตั้งรกรากในอาณาจักรล้านนาจนถึงปี 2502(สุเทพ2525: 133-148) ยุคต่อมา ก็จะพบชาวปะโอที่เข้ามาในฐานะพ่อค้าคนกลางที่ค้าขายสินค้าทั้งจากตะโถ่ง และตองจี เข้ามาค้าขายในบริเวณภาคเหนือของไทย

ช่วงพ.ศ. 2428 หลังจากอังกฤษเข้ามายึดครองพม่า ความวุ่นวายและความอ่อนแอในราชสำนักพระเจ้าสีป๊อยุติลง ประกาศให้พม่าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย ในหัวเมืองต่างๆ เกิดความวุ่นวาย จลาจล เกิดการแตกแยก รบพุ่งทำสงคราม ซึ่งกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทำการต่อต้านอังกฤษ ทำให้ชาวไทใหญ่ และปะโอ ตามเมืองต่าง ๆ ที่ถูกปราบปราม และที่ได้นับความเดือดร้อนจากสงคราม ได้อพยพเข้ามาในเมืองต่างๆ ของดินแดนล้านนา จัดว่าเป็นรุ่นที่ 1 ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ใน พ.ศ. 2411 และการทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 2 มีผลให้บริษัทชาวอังกฤษในพม่า เช่น บริษัทบริติชบอร์เนียว บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า เข้ามาทำกิจการสัมปทานป่าไม้เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน มีชาวพม่า ไทใหญ่ ต่องสู้ เดินทางเข้ามาทำงานด้วย และกลุ่มชนเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้รับไม้รายย่อยส่งให้บริษัทใหญ่ในพม่า

การทำไม้สักของอังกฤษในประเทศพม่าทางใต้ ได้ย้ายเข้ามาทำไม้สักยังภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงปลาย ค.ศ.1850 และ 1860 อุตสาหกรรมการทำไม้สักในระยะเวลา 7 ปีทางภาคเหนือของประเทศไทย จึงอาศัยแรงงานชาวพม่า มอญ และไทใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์มาจากประเทศพม่าโดยอยู่ภายใต้อังกฤษ นอกจากนี้ กลุ่มคนงานทำไม้สักทั้งชาวมอญและไทใหญ่ อาจจะมีชาวปะโอปะปนรวมอยู่ด้วย เพราะมีชาวปะโอส่วนใหญ่เป็นคนทำไม้สักบนภูเขาทางทิศตะวันออกของเมืองท่าตอน และเมาะตะมะ (Martaban / Moulmein) เมื่อข้ามชายแดนมาใกล้กับแม่สอด บางคนได้ทำงานในป่าทางตอนเหนือใกล้กับแม่สะเรียง ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายมาทางป่าตะวันออกใกล้กับเชียงใหม่ ลำปาง แพร่และน่าน ส่วนอื่นๆ เดินทางตรงมาจากแม่สอดไปยังป่าทางภาคเหนือ

กลุ่มชาวพม่า ชาวไทใหญ่และชาวต่องสู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย ได้สร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามใกล้เคียงกับสถานที่อาศัยของพวกตน ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ได้แก่ จองหม่องพิส ได้บูรณะเจดีย์ วิหารพระเจ้าองค์หลวง วัดมหาวัน จองจิ่งนะ บูรณะกฏิวัดหนองคำ หลวงโยนการพิจิตร (ปันโหย่ อุปโยคิน) สร้างวัดอุปคุตม่าน (ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งและสร้างพุทธสถานขึ้นมาแทน) ประกอบกับมีชาวต่องสู้ที่เข้ามาแสวงโชคได้รับคำชักชวนและคำบอกเล่าถึงความ อุดมสมบูรณ์ความสงบสุขในล้านนา จึงเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายสินค้าวัวต่าง ๆ และส่วนหนึ่งได้แต่งงานกับผู้หญิงล้านนา ชาวต่องสู้ได้มาตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงชาวไทใหญ่และชาวพม่า อย่างสงบสุข พบหลักฐานจากคำบอกเล่าว่าชาวปะโอ ชาวพม่า ชาวไทใหญ่ ตั้งร้านค้าเป็นแบบ “เรือนแพ” หรือเรือนแถว ขายของอยู่ย่านท่าแพ อุปคุต ใกล้ศาลต่างประเทศ ตลาดวโรรส (กาดหลวง) ย่านช้างม่อย ที่มีอาชีพเดินทางค้าขาย ก็ตั้งบ้านเรือนในตรอกซอกซอยแถววัดมหาวัน วัดบูรพาราม วัดเชตวัน วัดหนองคำ

ดังกล่าวข้างต้นว่าชาวปะโอในยุคแรกเริ่มนั้นเดินทางเข้ามาทำไม้และค้าขายในกลุ่มพ่อค้นทางไกล ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวจีนยูนนาน ชาวพม่า ชาวไทใหญ่ และชาวปะโอ โดยเส้นทางโบราณที่เดินทางเข้ามาค้าขายนั้นมีสี่เส้นทางหลัก ได้แก่

1. เส้นทางแม่ฮ่องสอน มาทางบ้านผาปูน ผ่านเมืองปาย เมืองยวม ส่วนใหญ่เดินทางมาจากเมืองหมอกใหม่ เมืองป๋อน เมืองหนองบอน

2. เส้นทางฝาง มาจากเมืองปั่น เมืองนาย

3. เส้นทางแม่สาย เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองต่องกี เมืองหนอง

4. เส้นทางแม่สอด เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองตะถุ่ง เมืองมะละแหม่ง

ทั้งนี้ Le May (1986) ได้ท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 1913-1914 และได้พบกับชาวตองซู่ทางเหนือของแพร่ และพบชาวตองซู่ที่เชียงคำ บริเวณใกล้ชายแดนไทย-ลาว พื้นที่ทางตอนใต้ของ อ.แม่สอด พ่อค้าชาวปะโอจากเมืองท่าตอน ก็เข้ามาพร้อมกับวัว ควาย และสินค้าอย่างอื่นตั้งแต่ยุคการค้าในอดีต และเส้นทางสงครามผ่านภูเขา Dawna เป็นเทือกเขาทอดยาวผ่านประเทศไทย ทุกวันนี้ เมืองชายแดนแม่สอด เป็นที่รับรู้ว่าเป็นแหล่งค้าพลอยจากประเทศพม่าและเป็นตลาดสินค้า ซึ่งมีคนทำงานในโรงงานที่แม่สอดจำนวนมากมาจากประเทศพม่า อันประกอบด้วยชาวปะโอ มอญ กะเหรี่ยง และพม่า โดยที่แม่สอดมีชุมชนชาวปะโอประมาณ 50 หลังคาเรือนอาศัยอยูํในเขตแม่ตาว ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่สอด เรื่อยไปถึงบริเวณแม่น้ำเมย นอกจากนี้ ที่แม่ตาวยังมีวัดพุทธของชาวปะโอ ชื่อ วัดไทยวัฒนาราม (หรือบางครั้งคนในท้องถิ่นเรียกว่าวัดแม่ตาว หรือวัดเงี้ยว) รวมทั้งมีกลุ่มฟ้อนรำของชาวปะโอของวัดนี้ด้วยชาวปะโอกลุ่มอื่นๆ เข้ามายังประเทศไทยได้ด้วยมีทักษะฝีมือในการทำไม้ และเป็นคนขี่ช้าง

ชาวปะโอเดินทางผ่านเส้นทางค้าขายในอดีตจากเมืองตะโถ่ง ทางตอนล่างของพม่า และจากเมืองตองจี ทางรัฐฉานตอนใต้ เข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทย ในปี 1876Scott ได้กล่าวถึง พ่อค้าชาวต่องตู และพ่อค้าเร่ทำการค้าในเส้นทางระหว่างเชียงตุง(Kengtung) เชียงใหม่ และลำปางในขณะที่คนทางภาคเหนือของประเทศไทยระบุถึงชื่อเสียงของชาวปะโอ หรือ ตองซู่ ด้านการปศุสัตว์และคนเลี้ยงม้า พวกเขานำวัว ควาย จากรัฐฉานตอนใต้เข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทย จากที่แนวชายแดนเป็นที่รู้จักด้วยการพบปะกับผู้ซื้อในรัฐฉานฝั่งที่อยู่ด้านชายแดน พ่อค้านำเอายาสมุนไพรและสิ่งของ ข้ามเส้นชายแดนเข้ามาสู่เชียงใหม่ หรือที่ไหนสักแห่งที่จะขายของได้จนหมด บางคนทำการค้าภายในประเทศไทย ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ระหว่างเส้นทางเมืองชายแดน เช่น อ.แม่สาย อ.ฝาง และเมืองใหญ่อย่างเช่น เชียงราย เชียงใหม่ พ่อค้ารายเล็กๆ หลายคนได้ลงหลักปักฐานในภาคเหนือของประเทศไทย (Scott 1944 อ้างในChristensen and Sann Kyaw 2006: 46)

ในประเทศพม่า มีชาวปะโอจำนวนมากที่สุดในรัฐฉาน โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฉาน รองลงมาอยู่ในเขตตะโถ่ง รัฐมอญ และยังมีชุมชนบางส่วนกระจัดกระจายอยู่ในย่างกุ้ง และมัณฑเลย์ มีภาษาเป็นของตนเอง โดยส่วนใหญ่ใช้ภาษาปะโอในชีวิตประจำวัน และบางส่วนสามารถสื่อสารภาษาไทใหญ่ และภาษาพม่าได้ จากการสำรวจทางภาษาศาสตร์โดยรัฐบาลอักฤษในช่วงปี คศ. 1931 พบว่ามีกลุ่มคนที่พูดภาษาปะโอประมาณ 750,000 โดยการสำรวจนี้ไม่ได้สำรวจในลักษณะทางชาติพันธุ์ จึงอนุมานได้ว่าน่าจะมีชาวปะโอจำนวนมากกว่านี้ ที่ใช้ภาษาอื่น ๆ ในการสื่อสารนอกเหนือจากภาษาปะโอ

ตำนานชาวปะโอ ที่ระบุว่า พวกเขาอพยพมาจากทิศใต้บนที่ราบสูงของทวีปเอเชียตอนกลาง เข้ามายังพม่า ในประเทศพม่าตอนล่างพวกเขาได้สถาปนาเมืองตะโถ่ง ซึ่งเป็นทิศตะวันออกของเมืองย่างกุ้งในปัจจุบัน พวกเขาเฟื่องฟู พัฒนาอาณาจักร และมีวัฒนธรรมชาวเมืองที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น (sophisticated) ภายหลังจากการเสื่อมสลายของตะโถ่ง ตั้งแต่ปี A.D. 10571(ชาวปะโออ้างว่าตะโถ่งเป็นเมืองหลวงที่มีกษัตริย์ของตนปกครอง แม้ว่านักประวัติศาสตร์ทุกคนล้วนเห็นตรงกันว่าตะโถ่งเคยเป็นอาณาจักรของชาวมอญก็ตาม)

คำอธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายตัวของชาวปะโอก็มุ่งไปที่เส้นทางการอพยพของชาวปะโอจากเมืองตะโถ่งไปยังเมืองสะทุง (Hsa Htung)ขณะเดียวกัน Christensen and Sann Kyaw (2006)ระบุว่า มีจำนวนประชากรชาวปะโอทางอยู่ตอนเหนือของที่ราบริมแมํน้ำซิททาง (Sittang) อันเป็นเส้นทางหลักในการเดินจากท่าตอนขึ้นมาทางทิศเหนือ พบชาวปะโอจำนวนมากอยู่ทางตะวันออกของท่าตอน ตลอดเส้นทางจาก ตะโถ่ง-พะอัน กอกาเรก-ถนนแม่สอด (Thaton-Pa-an-Kawkareik-Mae Sod road) ซึ่งเคยเป็นเส้นทางสงคราม/และเส้นทางค้าขายโบราณมายังประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่นำเชื่อว่าบรรพบุรุษชาวปะโอน่าจะอพยพมาทางตะวันออกมากกว่าจะขึ้นไปทางเหนือ ชาวปะโอเหล่านั้นเดินทาง มาถึงที่ราบสูงรัฐฉานและปักหลักในพื้นที่ฟากตะวันตกของทะเลสาบอินเล ทั้งนี้ถัดจากชาวอินทา แล้ว ชาวปะโอเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่รองลงมาซึ่งอาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบอินเลส่วนใหญ่อยูํในพื้นที่รัฐฉาน และกระจายตัวอยูํในรัฐกะเหรี่ยง รัฐกะเรนนีและทางตอนกลางของพม่าแล้ว

การเคลื่อนย้ายเข้ามาของชาวปะโอในช่วงความไม่สงบในประเทศพม่มีหลายระลอกด้วยกัน ทั้งนี้ไม่เฉพาะชาวปะโอเท่านั้น แต่ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในประเทศพม่าเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมากในช่วงสงครามภายในระหว่างรับบาลทหารกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

ในช่วงปี 2493 หลังจากที่กองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมนิวนิสต์จีน และได้มีการถอยทัพเข้ามาในเขตรัฐฉาน ผู้คนจำนวนหนึ่งในรัฐฉานก็อพยพโยกย้ายมาทางชายแดนตอนเหนือของไทย

ในช่วงปี พ.ศ. 2505 นับเป็นปีที่มีความสำคัญของกระบวนการอพยพข้ามถิ่นของประชาชนจากพม่าทั้งที่เป็นชาวพม่าเองและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์แต่กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองและการปราบปรามอย่างรุนแรงกลับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย (พรพิมล ตรีโชติ 2548:16)

ในช่วงปี พ.ศ. 2520 สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่า ส่งผลให้ชาวปะโอมีการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทยแต่กระจายตัวอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่าแต่เน้นฝั่งพม่มากกว่า และเริ่มเข้ามาในประเทศไทยแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่จำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2536

ในช่วงปี 2527การสู้รบกันระหว่าง กองทัพเมิงไต (Mong Tai Army) ของขุนส่ากับทหารพม่า ทำให้ชาวบ้านในรัฐฉานซึ่งมีกลุ่มปะโอประมาณสี่ร้อยคน ต้องอพยพหลบหนีเข้ามายังพื้นที่ชายแดนของไทย และเมื่อขุนส่าเจรจาหยุดยิงและเข้าร่วมกับพม่า

ในช่วงนปี พ.ศ. 2531 เมื่อรัฐบาลพม่าได้วางนโยบายในการจัดการกับปัญหากองกำลังชนกลุ่มน้อยอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่าง ๆ (พรพิมล ตรีโชติ 2548:42)

ในช่วงปี 2540 กองทัพรัฐฉาน (ShanState Army – SSA) ก็เข้ายึดบริเวณบ้านหัวเมืองฝั่งตรงข้ามกับชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทำให้เกิดการอพยพเข้ามาของกลุ่มปะโอมายังชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกระลอกหนึ่ง

ในระยะเวลา 26 ปี (ค.ศ. 1962-1988) ที่พลเอกเนวินและกลุ่มทหารพม่าได้อยู่ในอำนาจปกครองสหภาพพม่า โดยมีลักษณะเผด็จการที่อาศัยอุดมการณ์สังคมนิยม ทำให้สหภาพพม่าต้องประสบปัญหาทั้งทางด้านการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสังคมส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนในรัฐชาติพันธุ์จำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย

การดำรงชีพ

อาชีพชาวปะโอ คือ ทำการเกษตรบนพื้นที่สูงในลักษณะแบบไร่หมุนเวียน พืชที่ปลูกคือข้าว งาดำ อาจมี ข้าวโพด ถั่ว และผักต่าง ๆ บ้างเล็กน้อย โดยส่วนมากจะปลูกไว้เพื่อรับประทานภายในครอบครัว บางครั้งผู้ชายอาจออกไปล่าสัตว์ และผู้หญิงจะออกเก็บของป่า จำพวกเห็ด ยอดไม้ หวาย หน่อไม้ เพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว



ศาสนาและความเชื่อ

ชาวปะโอนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก จึงผูกพันและมีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ ภูตผี ปีศาจ ผู้ที่คอยดูแล ปกปัก รักษา ดลบันดาลในเรื่องต่างๆ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตลอดจน ผีเจ้าเมือง ผีดิน ผีป่า ผีน้ำ ผีประจำไร่ นา ผีบ้านผีเรือน จะระมัดระวังมิให้มีการลบหลู่เกิดขึ้นเป็นอันขาด ซึ่งหากเกิดการลบหลู่ขึ้นมาก็จะเป็นการนำภัยพิบัติ โชคร้าย หรือสิ่งที่ไม่ดีมาสู่ตน ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูง หรืออาจจะทำให้เกิดเหตุเภทภัยกับคนทั้งหมู่บ้านได้ จึงมีพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงผี โดยจะมีพิธีเลี้ยงผีตามวาระต่าง ๆ แบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากมากนัก เช่น ทำกระทงใบตองเล็กๆ ใส่หมาก พลู ยาเส้น อาหารคาวหวาน แล้วนำไปวางไว้ยังที่ที่จะเลี้ยงผี บางอย่างก็จะทำพิธีเอง แต่บางอย่างก็จะให้หมอตะเลี๊ยบ เป็นผู้ทำพิธีให้ ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงผีบ้านผีเรือน ก็อาจจะทำพิธีเอง แต่หากเป็นการเลี้ยงเจ้าเมืองหรือเลี้ยงผีตามเรือกสวนไร่นา หรือเหมืองฝาย รวมทั้งหอเจ้าที่เจ้าทางต่าง ๆ ที่ตนนับถือ ก็อาจจะให้หมอตะเลี๊ยบเป็นผู้ทำพิธี

เวลาที่มีคนในหมู่บ้านไม่สบาย รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวหาย สามวันดี สี่วันไข้ ชาวปะโอจะเชื่อว่าขวัญของคนนั้นอาจจะไปอยู่ที่อื่น ก็จะทำพิธีเรียกขวัญหรือคร่องยาว โดยนำข้าวสารมาใส่จานหรือถ้วย แล้วเอาไข่ใส่ลงไป เสร็จแล้วนำไม้ไผ่มาทำเป็นตัวยูแล้วมัดด้วยเชือกทั้งสองด้าน แล้วพยายามยกใข่ขึ้นมาให้ได้ โดยให้ไข่นั้นตั้งตรงไม่ล้ม หรือไม่ร่วง โดยจะต้องทำให้ได้ หากไข่ล้ม หรือร่วง ก็จะพยายามใหม่จนกว่าจะสำเร็จ เพื่อเป็นการเรียกขวัญผู้ที่ป่วยให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

การเกิด

ก่อนคลอด ห้ามรับประทานของแสลง เช่น หน่อไม้ ผักชี ของร้อนใน เช่น ลิ้นชี้ฟ้า และพืชหรือเนื้อที่มีกลิ่นแรงๆ และห้ามทำงานหนัก

การคลอดบุตร การคลอดของชนเผ่าปะโอในอดีตนั้น นิยมทำคลอดด้วยหมอตำแย แต่ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกสบายขึ้นจึงนิยมไปคลอดที่โรงพยาบาล และในชุมชนแม้จะยังมีหมอตำแยอยู่แต่ก็ทำคลอดไม่ไหวแล้วเนื่องจากอายุเยอะและไม่มีผู้มารับช่วงต่อ โดยในการคลอดจะใช้ผิวไม้ไผ่ที่คมๆ ตัด และต้มน้ำเพื่อผสมให้อุ่นไว้คอยล้างตัวเด็ก

หลังคลอดบุตร หลังจากคลอดแล้วก็จะหาสมุนไพรต่างๆ มาต้มอาบ โดยจะต้มอาบประมาณ 2-3 วัน และจะต้องนั่งสุ่มอบสมุนไพร 1-3 วัน วันละ 7 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง

นอกจากนั้นหลังคลอดแล้วจะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ผักและผลไม้ รวมถึงเนื้อสัตว์บางอย่างห้ามรับประทานเด็ดขาด บางอย่างต้องรอให้ผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน หรือบางอย่างต้องรอให้ครบ 1 ปี เช่น ผักชี หน่อไม้ ถึงจะรับประทานได้ โดยมีความเชื่อว่าหากรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้เจ็บป่วย หรือลูกไม่สบาย หรือจะไม่สบายหลังจากอายุมากแล้ว ซึ่งแรกๆ ผักและเนื้อสัตว์หลายๆ อย่างจะรับประทานไม่ได้นอกจากหัวปลีกล้วย ขิง ข่า หมูทอด ไก่ย่าง เป็นต้น ที่สามารถรับประทานได้เลยทันที

หลังจากคลอดแล้ว 1 เดือน ชาวปะโอจึงจะทำการตั้งชื่อปะโอให้ลูก พร้อมทั้งอาบน้ำเดือน โดยมีการเชิญ คนเฒ่า คนแก่ รวมถึงญาติสนิท มิตรสหาย มาทำการผูกข้อมือให้เด็กด้วยด้ายสายสิญจน์ ซึ่งบางคนก็จะซื้อข้าวของเครื่องใช้สำหรับแม่และเด็ก รวมถึงอาหารเสริม ของบำรุงต่างๆ มาให้ หรืออาจจะมัดเงินไปกับด้ายสายสินจน์เพื่อรับขวัญเด็กก็ได้

การแต่งงาน

ก่อนแต่ง

เมื่อหญิงชายรักกันชอบกัน ฝ่ายชายก็จะให้บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอฝ่ายหญิง ส่วนสินสอดนั้นบิดามารดาของฝ่ายหญิงก็จะเป็นฝ่ายเรียก โดยในอดีตจะเรียกเป็นทอง จะเรียกมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับฐานะของฝ่ายชายหรือแล้วแต่จะตกลง ส่วนการจัดงานก็จะจัดยิ่งใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับฐานะของครอบครัวทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ถ้าตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ร่วมกินข้าวปลาอาหารกัน แล้วหลังจากนั้นก็จะมอบหมายให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปดูฤกษ์ดูยาม วันแต่ง

วันเตรียมงาน

วันเตรียมงานก็จะมีการเตรียมข้าวปลาอาหารไว้รับรองแขกที่จะมาร่วมงาน

วันแต่ง

ในวันแต่งงานก็จะมีการนิมนต์พระเพื่อมาเจริญพระพุทธมนต์และให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาวในการดำรงชีวิตคู่เพื่อความเป็น สิริมงคลแก่ชีวิตสืบต่อไป ส่วนบางพื้นไม่มีการนิมนต์พระทำพิธีก็มีโดยให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นผู้ประกอบพิธีแต่จะนำสำรับกับข้าวไปส่งที่วัดแทน

ในสมัยก่อนนั้นการแต่งงานจะเป็นแบบดั้งเดิม มีพิธีการง่ายๆ คือ ให้ญาติผู้ใหญ่ คนที่เคารพนับถือ รวมถึง ญาติสนิท มิตรสหายมาผูกข้อมืออวยพรให้ แต้ปัจจุบันก็เริ่มมีการจัดงานที่ใหญ่ขึ้น โดยมีขั้นตอนพิธีแต่งงานดังนี้

ขั้นตอนพิธีแต่งงาน

1. เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าวเตรียมเครื่องประกอบด้วย หมาก พลู ข้าวหมัก และกล้วยหวีที่มีลูกครบคู่ สำหรับไปขออนุญาตแต่งงาน และไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านให้เป็นพยานในการขออนุญาตแต่งงานจากหัวหน้าคนหนุ่ม ให้หัวหน้าคนหนุ่มแกะห่อหมากพลู ห่อใบชา ใบยาสูบซึ่งพิธีนี้ต้องให้หัวหน้าคนหนุ่มเป็นคนแกะให้เท่านั้นจึงจะเป็นงานแต่งที่สมบูรณ์

2. พิธีในวันงานแต่งผู้เป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวเดินไปสู่พิธีแล้วตามมาด้วยเพื่อนของเจ้าบ่าว เจ้าสาว และผู้เป็นพ่อแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวพร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติที่มาในงาน

3. เพื่อนของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวที่พ่อแม่ยังมีชีวิตครบสมบูรณ์ผู้ชายหนึ่งคนและผู้หญิงหนึ่งคนต้องแกะห่อหมากพลูข้าวหมักและห่อใบยาสูบอีกครั้ง

4.ผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งรดน้ำสังข์ให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวและอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสองจงมีความซื่อสัตย์ต่อกันและกันแล้วให้คู่บ่าวสาวป้อนข้าวกัน

5. เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสองแสดงความเคารพต่อพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายนั้นก็จะกล่าวอวยพรให้พร้อมกับผูกข้อมือและรดน้ำสังข์แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสอง

6.ผู้หลักผู้ใหญ่ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่งงานกันโดยเอาสายสิญจน์ผูกมัดโยงกันแล้วประกาศว่าทั้งสองเป็นสามีภรรยากันอย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

7.ผู้มีเกียรติที่มาในงานทยอยมาอวยพรและผูกข้อมือให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวพร้อมมอบของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาว

8.ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากเสร็จจากพิธีแต่งงานแล้ว เวลาเข้าห้องหอจะต้องผ่านด่านหนุ่มสาว โดยต้องจ่ายค่าผ่านทางซึ่งก็แล้วแต่คนหนุ่มสาวจะเรียกว่าต้องการเท่าใด

5.3 การตายและการทำศพ

หากมีคนตายเกิดขึ้นทุกๆ คนในหมู่บ้านก็จะหยุดงานที่กำลังทำทุกอย่างเพื่อที่จะมาช่วยงานศพกันทั้งหมู่บ้าน บางส่วนก็จะช่วยทำโลงศพ บางส่วนก็จะช่วยทำอาหารต้อนรับแขก เตรียมหมู ไก่ ข้าวปุ๊ก

หากครอบครัวผู้เสียชีวิตมีฐานะดีก็จะตั้งศพไว้ 3 วัน แต่หากฐานะไม่ดีก็อาจจะตั้งศพไว้ 1 - 2 วัน พอตกเย็นก็นิมนต์พระมาสวดตามหลักศาสนาพุทธ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากวัดต่างๆ และพระสงฆ์ในแต่ละวัดมีจำนวนไม่มาก การนิมนต์พระมาสวดศพ จึงไม่สามารถกำหนดเป็นเลขคู่ คือ 4 หรือ 8 แบบชาวพุทธ ในเขตภาคกลางได้ การนิมนต์พระมาสวดศพ อาจนิมนต์พระจำนวน 4 , 5 , 6 องค์ ขึ้นอยู่กับว่าพระในวัดใกล้เคียงมีพระอยู่กี่องค์ หรือบางครั้งอาจนิมนต์เพียงแค่ 1 องค์ เนื่องจากทั้งวัดมีพระเพียงแค่องค์เดียว หรืออาจจะนิมนต์มากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพ

การประกอบพิธีศพ เป็นการประกอบพิธีศพแบบฝัง และจะทำพิธีแบบเงียบๆ ในวันฝังศพก็จะมีการเคลื่อนศพไปแบบเงียบๆ ไม่มีขบวนแห่ ไม่มีเครื่องดนตรีบรรเลง เมื่อเคลื่อนศพมาถึงบริเวณหน้าป่าช้า หมอตะเลี๊ยบ(หมอผี) ก็จะถามว่า มาทำไม ก็จะมีตัวแทนตอบ โดยจะตอบว่า ผมมาผิดทาง ผมมานี่มาแค่ครั้งเดียวคราวหลังผมจะไม่มาอีกแล้ว จากนั้นก็จะเคลื่อนศพเข้าบริเวณป่าช้า จากนั้นก็จะนิมนต์พระมาสวดศพ ก่อนที่จะฝังก็นำน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพแล้วก็ทำการฝัง หลังเสร็จพิธีก่อนที่ผู้ร่วมพิธีจะเดินทางกลับก็จะมีการเตรียมน้ำขมิ้นส้มป่อยไว้ให้ผู้ร่วมพิธีล้างมือ ล้างหน้า ล้างเท้า หรือประพรมร่างกาย เพื่อขับไล่ภูติผีปีศาจ สิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งที่ไม่ดี ออกจากร่างกาย หรือไม่ให้ติดตามออกไปจากบริเวณป่าช้า

ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

วันงานรำลึกบรรพชน

วันงานรำลึกบรรพชน หรือ "ปอยแด่นซีหล่าบ่วย" จะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวปะโอในอดีตที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ผู้ซึ่งให้การสืบทอดศิลปวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อให้ชาวปะโอ เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชาวปะโอได้เรียนรู้และทราบถึงประวัติความเป็นมาของชาวปะโอ และความสำคัญของขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปะโอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ามีความสำคัญอย่างไร และมีผลต่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวอย่างไร รวมถึงจะอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามเหล่านี้อย่างไรเพื่อที่จะได้ไม่สูญหาย ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานสืบต่อไป พร้อมทั้งเป็นการสร้างความสามัคคี และรำลึกถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไทย ที่ชาวปะโอได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้อยู่อย่างสงบร่มเย็นดังเช่นในปัจจุบันนี้

ภายในงานช่วงเช้าก็จะมีการทำบุญตักบาตร และทอดกฐินซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวปะโอซึ่งมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งชาวปะโอได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีใจบุญและทำทานอยู่เสมอ จะคอยสร้างวัดที่โน่นที่นี่อยู่เป็นประจำ สำหรับขบวนกฐินของชาวปะโอก็จะมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แต่ที่โดดเด่นก็จะเป็นต้นกฐินที่ต้องใช้คนช่วยกันแบกหลายคน และยอดกฐินจะอยู่สูง โดยชาวปะโอจะบอกว่าเพราะพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดพระมารดาที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ชาวปะโอเลยต้องทำยอดกฐินให้สูงๆ เพื่อที่จะได้รับเสด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ซึ่งเมื่อก่อนจะใช้ไม่ไผ่ยาวๆ ปล่อยให้สูงขึ้นไป แต่ปัจจุบันนี้ก็อาจจะไม่สูงมาก และอาจจะทำในลักษณะของจองพาราแทน เพื่อที่จะได้เป็นการแห่จองพาราไปในตัวด้วย หลังจากทอดกฐินแล้วก็จะมีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์และรับศีลรับพร จากนั้นก็จะมีการแสดงต่างๆ ของชนเผ่าปะโอ พร้อมทั้งมีการร้องรำทำเพลงและมีมหรสพ รื่นเริงตลอดงาน

การขึ้นปีใหม่

การขึ้นปีใหม่ของปะโอจะถือเอาวันรำลึกบรรพชนเป็นวันขึ้นปีใหม่ และจะถือทั้งวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ ด้วย

เทศกาลเพาะปลูก

เทศกาลเพาะปลูกก็จะมีการเลี้ยงผี และขอฝน เพื่อให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์และขอให้ได้ผลผลิตมากๆ

เทศกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต

เทศกาลเก็บเกี่ยวก็จะมีการเลี้ยงผีเพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยให้ผลผลิตดี

อื่น ๆ

ชาวปะโอมีความใกล้ชิดและมีสัมพันธ์อันดีงานกับชาวไทใหญ่ จึงทำให้วัฒนธรรมและประเพณีหลายๆ อย่างเหมือนกับชาวไทใหญ่ เช่น

ประเพณีปอยเซี๊ยงลอง

ประเพณีปอยเซี๊ยงลองเป็นการบรรพชาสามเณร ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่าหากบุตรผู้ใดได้บรรพชาหรืออุปสมบทในพุทธศาสนาจะถือว่าเป็นผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่ และพ่อแม่ก็จะได้กุศลผลบุญเหล่านั้นด้วย แม้นตายไปกุศลผลบุญเหล่านั้นก็จะเกื้อหนุนให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ไม่ต้องตกนรกหมกไหม้ โดยการบรรพชาจะเป็นการเลียนแบบเหตุการณ์ตามพุทธประวัติ ตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะครองกรุงกบิลพัสดุ์ก่อนจะออกผนวก การกระทำทุกอย่างในช่วงเวลาการเป็นส่างลองจะปฏิบัติเสมือนการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ จะมีการแต่งตัวโดยการใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับที่สวยงาม มีการแต่งหน้าทาปากให้ดูสวยงามสมกับเป็นกษัตริย์

การเตรียมงาน ก่อนถึงวันงานก็จะมีการเตรียมงาน โดยจะมีการเตรียมงานข้าวแตก หรือข้าวตอก ยาสูบ เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขาร เตรียมสถานที่ และอุปกรณ์อื่นๆ

วันรับแขก ในช่วงของวันงานวันแรกๆ ก็จะเป็นการต้อนรับแขก เมื่อมีแขกมาถึงบ้านก็ต้อนรับขับสู้อย่างเต็มที่ทั้งหมากเมี่ยง บุหรี่ ข้าวปลา อาหารคาวหวาน ที่หลับที่นอน บางทีแขกที่มาร่วมงานก็อาจนำสิ่งของที่ใช้ปรุงอาหารหรือเงินหรือสิ่งของอื่น ๆ มาร่วมทำบุญกับเจ้าภาพ เจ้าภาพก็จะนำของดังกล่าวมาต้อนรับทุกคนไป ช่วงก่อนวันงาน 2-3วัน ผู้คนจะเริ่มทยอยมาช่วยกันทำงานที่บ้านเจ้าภาพ จัดเตรียมสถานที่หุงหาอาหารที่หลับที่นอนของส่างลอง ทำต้นตะเป่ส่า ปุ๊กข้าวแตก ตกแต่งเครื่องไทยธรรมและอัฐบริขาร ตกตอนกลางคืนในสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้บ้านเจ้าภาพจะมีจะมีตะเกียงเจ้าพายุจุดให้ความสว่าง มีการตี “กลองมองเซิง” ซึ่งมีกลองใหญ่ 1 ใบ ฆ้องมีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ 5-6 ใบแขวนหรือผูกห้อยกับเพดาน มีฉาบใหญ่ 1 คู่ ก่อนจะถึงกำหนดงานหนึ่งวัน พ่อแม่เด็กหรือเจ้าภาพก็จะนำเด็กที่จะเป็นส่างลองไป โกนผมที่วัด พ่อแม่ของเด็กหรือพระผู้ใหญ่ตัดให้ก่อนแล้วจึงให้ช่างหรือพระเณรโกนให้ เสร็จแล้วนำไปอาบน้ำเงิน น้ำทอง น้ำขมิ้น ส้มป่อย เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วปะแป้งผัดหน้า นุ่งขาวห่มขาวรับศีล 5 จากพระสงฆ์ แล้วจึงกลับมานอนที่บ้าน หรือบางทีก็นอนที่วัดนั้นเลย

วันเยี่ยมญาติ ในวันนี้จะมีพิธีการแห่ตะโครลู หรือภาษาไทใหญ่เรียกว่า แห่โคหลู่(เครื่องไทยธรรม) การเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบโดยจะต้องมีกับข้าว 12 อย่าง และทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง วันนี้เจ้าภาพจะต้องเตรียมข้าวปลาอาหารไว้มากกว่าปกติ ญาติที่มาร่วมงานจะผูกข้อมืออวยพรให้อลองชื่นชมบารมีของอลอง ช่วยงานและร่วมสนุกสนานต่าง ๆ เป็นการฉลองอลอง ตอนเช้าจะมีผู้คนจากทั่วทุกหมู่บ้านมาช่วยกันจัดเตรียมเครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารที่จะนำไปเข้าขบวนแห่โคหลู่(ไทยธรรม) เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นจะนำมาแห่พร้อมกันในวันนี้เสมือนหนึ่งเป็นการเลียบนครของอลองเป็นกิจกรรมแสดงถึงความหรูหราและความพร้อมเพรียงของงานปอยเซี๊ยงลอง ในการแห่นั้นจะมีญาติและชาวบ้านเข้าร่วมขบวนแห่อย่างเพรียงกันโดยจะถือช่วยกันแบก ช่วยกันหามอัฐบริขารเครื่องไทยธรรมทุกชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ หลังจากนั้นก็จะเป็นการแห่ส่างลองไปยังบ้านญาติ หรือบ้านผู้ที่ติดต่อให้ส่างลองไปเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อเป็นศิริมงคล ก็จะมีการแห่ส่างลองไปอย่างสนุกสนาน

วันที่สามหรือวันสุดท้ายของปอยส่างลองนี้ ผู้คนจะมาชุมนุมกันที่วัดตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่จะไปถึงวัดก่อนพร้อม “อุ๊บ” หรือขันดอกไม้ จนได้เวลาพอสมควรก็จะมีการ “ถ่อมลีก” คืออ่านหนังสือธรรมะให้ทุกคนฟังอันเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีซึ่งถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมานานผู้ฟังก็จะนั่งฟังอย่างสงบและสำรวมกิริยาอาการ ผู้อ่านหนังสือธรรมะในการถ่อมลีกนี้คือ “จเร” ซึ่งหมายถึงผู้รอบรู้หรือผู้เชี่ยวชาญในด้าน “ลีกไต” ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน เวลา “ฮอลีก” (อ่านหนังสือ) จะนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่ก็แต่งชุดไตโดยนั่งอ่านตรงหน้าพระประธานบนศาลาการเปรียญวัด ข้าง ๆ จเรจะมี “เผิน” หรือ “อุ๊บ” คือเครื่องยกครูบาอาจารย์ซึ่งจะมีข้าวสาร กล้วยน้ำว้าดิบ 1 หวี หมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน บรรจุในกาละมัง และมีปัจจัย (เงิน) ใส่ซองตามแต่ศรัทธา เมื่อฮอลีกจบจะยกเผินบูชาไปไว้ที่บ้านหรือบางทีก็ถวายวัดไป ส่วนปัจจัยจะนำไปไว้ใช้จ่ายต่อไป เมื่อถึงเวลาฉันเพลจะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีบรรพชาสามเณรก่อนแล้วจึงเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานในพิธี อาหารที่เลี้ยงในงานปอยส่างลองที่จะขาดไม่ได้คือ แกงฮังเล น้ำซด(ต้มจืด) น้ำพริกอ่อง ผัดผัก หรือยำใหญ่ เป็นต้น ของหวานจะมีขนมไต เช่น อะละหว่า ส่วยทะมิน ข้าวแตกปั้น และ ข้าวพองต่อ หลังจากที่พระฉันเสร็จแล้วก็จะเลี้ยงอาหารส่างลองและผู้ที่มาร่วมงานทุกคน ช่วงนี้ เจ้าภาพจะต้องคอยจับตามองส่างลองให้ดี เพราะบางทีจะมีการนำส่างลองไปแอบซ่อนไว้เพื่อชะลอการบรรพชาสามเณร ซึ่งเจ้าภาพจะต้องนำ “อะซู” (รางวัล) ไปมอบให้จึงจะได้ส่างลองคืนกลับมา พิธีบรรพชาสามเณร จะเริ่มขึ้นหลังจากเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานทุกคนจนอิ่มแล้ว ก็จะช่วยกันเก็บกวาดภาชนะต่าง ๆ จนแล้วเสร็จ ตะแปส่างลองก็จะนำส่างลองไปนั่งต่อหน้าพระผู้ใหญ่เพื่อทำพิธีบรรพชาสามเณรเป็นเหล่ากอแห่งสมณะต่อไป

พิธีบรรพชาอุปสมบท เป็นพิธีทางสงฆ์ปฏิบัติเหมือนกับท้องถิ่นอื่นทุกประการ การบรรพชานิยมทำกันในตอนบ่าย สำหรับการอุปสมบทนั้นนิยมทำกันในตอนเช้ามืดเลียนแบบการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยขบวนส่างลองเจ้าไปในศาลาการเปรียญหรือวิหารที่ใช้เป็นที่บรรพชาอุปสมบท ส่างลองเดินเข้าไปนั่งเรียงแถวหน้าพระอุปัชฌาย์ กราบพระอุปัชฌาย์ 3 ครั้ง เมื่อพร้อมกันแล้วหันหน้ามากราบ 3 ครั้ง แล้วรับผ้าจีวรจากบิดา มารดา หรือพ่อข่าม แม่ข่าม (พ่อ แม่อุปถัมภ์) ซึ่งแสดงถึงความผูกพันและสนับสนุนกันระหว่าง พ่อ แม่ กับลูก เสร็จแล้วหันกลับไปหาพระอุปัชฌาย์ เปล่งวาจาขอบรรพชา พระอุปัชฌาย์รับผ้าจีวรไปแก้ห่อและนำผ้าอังสะ หรือผ้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งในห่อผ้าจีวรคล้องคอส่างลอง เพื่อนำไปให้เปลี่ยนเครื่องส่างลอง และพระภิกษุจะช่วยนุ่งผ้าจีวรให้ พร้อมกลับมาเปล่งวาจาขอรับศีล 10 และขอนิสัย พระอุปัชฌาย์ให้ศีลบอกกัมมัฏฐานและให้โอวาทส่างลอง ซึ่งได้กลายเป็นเหล่ากอของสมณะ คือสามเณรเป็นเพศพรหมจรรย์สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ เป็นผู้เข้าสู่เส้นทางดำเนินไปสู่สิ่งสูงสุดทางพุทธศาสนา คือพระนิพพานตามปณิธานของเจ้าภาพและผู้บรรพชาที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรก ได้ยอมเสียสละทรัพย์ที่ไม่จีรังเพื่อเข้าสู่เส้นทางที่จะบรรลุถึงอริยทรัพย์อันจีรังยั่งยืนตลอดไป หลังจากเสร็จพิธีจะมีเทศนา 1 กัณฑ์ เจ้าภาพใหญ่เจ้าภาพร่วมและผู้มาร่วมงานในพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี หลังจากนั้น หากมีคณะโบกไพ (บ้องไฟ) มาร่วมงานก็จะนำโบกไพไปจุด เมื่อจุดเสร็จเจ้าของจะนำโบกไพไปรับ “อะซู” จากเจ้าภาพ บางทีอาจมีส่างลองพาง (ส่างลองปลอม) คือคนธรรมดาแต่งกายเลียนแบบส่างล่องแห่ไปด้วย จะมีการ “เฮ็ดกวาม” ขอ “อะซู” จากเจ้าภาพซึ่งเจ้าภาพจะมอบรางวัลให้เป็นเงินแถมยังเลี้ยงข้าวปลาอาหาร สำหรับเงินที่ได้นั้นคณะโบกไพจะนำไปซื้อเครื่องใช้ไม้สอยถวายวัด หรือบางทีก็ทำเป็นต้นผ้าป่าถวายวัดต่อไป

ปอยข้าวมูน

ปอยข้าวมูนหรือ ชาวไทใหญ่เรียกว่า ปอยข้าวหย่ากู๊เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี และเป็นประเพณีที่มีความผูกพันกับชาวบ้านผู้ทำการเกษตรมาช้านาน สืบทอดแก่ลูกหลานสืบมา โดยมีความเชื่อว่าหลังจากทำนาหรือหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จต้องมีการระลึกถึงบุญคุณของข้าว(พระแม่โพสพ) ที่ได้คุ้มครองไร่นาหรือให้ชาวนามีข้าวไว้หล่อเลี้ยงชีวิต และเมื่อได้ข้าวมาก็จะนำไปถวายวัดเพื่อเป็นศิริมงคล และข้าวนั้นต้องเป็นข้าวใหม่ ในวัน “เหลินสาม” หรือเดือนสามซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการทำข้าวหย่ากู๊

เมื่อ ถึงเดือน 3 หรือ เดือนกุมภาพันธ์ ชาวปะโอจะนิยมทำบุญหลู่ข้าวหย่ากู๊ หรือถวายข้าวเหนียวแดง เพราะเชื่อกันว่าการหลู่ข้าวหย่ากู๊นี้จะได้บุญกุศลทำให้ได้ไปจุติบนสวรรค์เสวยผลบุญอย่างเป็นสุข เช่นเดียวกับนางสุชาดา ซึ่งนิยมทำติดต่อกัน 3 ปี เป็นประเพณีที่ทำกันสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การจัดงานประเพณี “ปอยหลู่ข้าวหย่ากู๊”(หลู่ หมายถึง ถวายหรือให้ทาน) หรือการถวาย ข้าวเหนียวแดง คือ กิจกรรมประเพณีที่เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจาก การทำไร่ทำนา และได้ผลผลิต หรือเรียกว่า ได้ข้าวใหม่ ก็จะเอาข้าวใหม่นี้ไปทำบุญในรูปข้าวหย่ากุ๊ ในการหลู่ข้าวหย่ากู๊นั้นชาวบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งไปถวายพระภิกษุ สามเณร และส่วนที่เหลือทั้งหมดจะนำไปตาน (ให้ทาน ) คนเฒ่าคนแก่ที่บุคคลนั้นๆ ให้ความเคารพนับถือหรือแจกเป็นทานในหมู่บ้านหรือตามบ้านญาติสนิทมิตรสหาย เพราะเชื่อกันว่าการหลู่ข้าวหย่ากู๊มีนี้จะได้บุญกุศล ซึ่งนิยมทำติดต่อกัน 3 ปี บางแห่งจะรวมตัวกันจัดงาน ในสมัยก่อนมีการแห่ขบวนข้าวหย่ากู๊ โดยใช้เกวียนบรรทุกข้าวหย่ากู๊แห่ไปทั่วหมู่บ้าน ซึ่งเกวียนจะประดับตกแต่งขบวนอย่างสวยงาม มีการละเล่นดนตรีพื้นบ้านและการฟ้อนรำเพื่อเพิ่มความสนุกสนานแต่ปัจจุบันนิยมใช้รถยนต์บรรทุก 4 ล้อแทนเกวียนในการให้ทานข้าวหย่ากู๊แทน

วัตถุประสงค์ในการตานข้าวหย่ากู๊

1) เพื่อเป็นการขอบคุณพระแม่โพสพที่ช่วยปกปักดูแลรักษาข้าวของชาวนา

2) เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน

3) เพื่อนำไปบูชาพระพุทธเจ้า

ขั้นตอนต่างๆ ของประเพณีการทำข้าวหย่ากู้

ขั้นตอนการจัดงานวันที่ 1

1) เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำข้าวหย่ากู๊ เช่น กะทะใบใหญ่ ไม้พาย ใบตอง

2) เตรียมส่วนผสมในการทำข้าวหย่ากู๊ เช่น ข้าวเหนียว น้ำอ้อย งา เนื้อมะพร้าวอ่อน ถั่วลิสง น้ำมันงาหรือน้ำมันพืช

3) นำข้าวเหนียวมานึ่งจนสุกแล้วเทใส่หม้อ หลังจากนั้นเคี่ยว น้ำอ้อยผสมกับน้ำเล็กน้อยจนน้ำอ้อยละลายหมด นำน้ำอ้อยที่เคี่ยวไว้ เทลงไปในข้าวที่เตรียมไว้นำหัวกระทิมากวนให้เข้ากัน เติมถั่วลิสงและงาคั่วมากวนกับข้าวหย่ากู๊ให้เข้ากัน แล้วนำข้า ที่คลุกเรียบร้อยเทใส่ในถาดที่เตรียมไว้ใต้ถาดควรใช้น้ำมันพืชทาก่อนเพื่อไม่ให้ข้าวหย่ากู๊นั้นติดถาด เมื่อนำข้าวหย่ากู๊ใส่ถาดเรียบร้อยแล้วก็ จะนำใบตองคลุมให้หน้าขนมเรียบ (เรียกว่าการโทข้าวหย่ากู๊) เพื่อให้ข้าวหย่ากู๊เสมอกัน และโรยหน้าด้วยเนื้อมะพร้าวและรอจนข้าวหย่ากู๊เย็นแล้วจึงตัดแบ่งเป็นก้อนๆ นำข้าวหย่ากู๊ที่ตัดเป็นก้อนนั้นห่อด้วยใบตองหรือนำไปบรรจุถุง แบ่งเพื่อเก็บไว้ไปทำบุญที่วัด และส่วนที่เหลือจะนำไปตาน(ให้ทาน )คนเฒ่าคนแก่ที่บุคคลนั้นๆ ให้ความเคารพนับถือหรือแจกเป็นทานในหมู่บ้านหรือตามบ้านญาติสนิทมิตรสหาย

ขั้นตอนการจัดงานวันที่ 2 การทำบุญข้าวหย่ากู๊จะแบ่งเป็น 2 ส่วนดังต่อไปนี้

1) ส่วนที่ 1 จะนำไปถวายพระที่วัดและรับพรจากพระสงฆ์

2) ส่วนที่ 2 จะนำไปแห่ขบวนและแจกจ่ายให้กับผู้เฒ่าผู้แก่และชาวบ้านรอบๆบริเวณนั้น

ประเพณีถวายข้าวมธุปายาส

ประเพณีถวายข้าวมธุปายาสหรือ “ต่างซอมต่อโหลง” นั้น เป็นการถวายข้าวแด่พระพุทธเจ้าเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่เดิมจะทำกันในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 8 เหนือ ซึ่งถือกันว่าเป็นวันที่คล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตอนหนึ่งของพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาลเขียนไว้ว่า ก่อนวันตรัสรู้ 1 วัน พระบรมโพธิ์สัตว์ทรงรับข้าว“มธุปายาส” ของนางสุชาดาซึ่งเป็นธิดาของนายบ้าน ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมได้ทำข้าวมธุปายาสด้วยความละเอียดประณีตโดยฝีมือของ นางเอง โดยวิธีในการทำข้าวมธุปายาส ของนางสุชาดานั้นมีขั้นตอนคือ บีบเอาน้ำนมจากวัว 500 ตัว แล้วเอามาเลี้ยงวัวจำนวน 250 ตัว แล้วรีดนมจาก 250 ตัว มาให้วัวอีก 125 ตัวกิน ทำเช่นนี้จนเหลือวัว 5 ตัวสุดท้าย และบีบน้ำนมวัวไปหุงข้าว ซึ่งทำให้ได้น้ำนมวัวบริสุทธิ์มาหุงเรียกว่า “ข้าวมธุปายาส” นำไปใส่ภาชนะถาดทองคำ แล้วนำไปถวายพระมหาบุรุษ ซึ่งนางสุชาดาเข้าใจว่าเป็นเทพเจ้าที่นางเคยบนบานไว้ไว้ว่าขอให้ได้บุตรชาย เมื่อสมปรารถนาแล้วนางจึงทำข้าวมธุปายาสซึ่งเป็นข้าวที่เลอเลิศมาถวาย พระมหาบุราจึงปั้นข้าวในถาดนั้นเป็นก้อน ๆ ได้จำนวน 49 ก้อน และทรงเสวยจนหมด แล้วนำถาดไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา ตั้งคำสัจอธิฐานว่า ถ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้ถาดทองใบนี้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แล้วถาดใบนั้นก็ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปซ้อนกันกับถาดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต เป็นสัญญาณให้รู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นที่แน่นอน ตอนเย็นพระองค์ได้เสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรากลางทางพบกับพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า “โสตถิยะพราหมณ์” ซึ่งกลับจากการไปเกี่ยวหญ้าคา จึงเอาหญ้าคา 8 กำมือเข้าไปถวายให้กับพระมหาบุรุษ พระองค์รับแล้วนำไปที่โคนพระศรีมหาโพธิ์ ทรงปูหญ้าคา 8 กำมือนั้นเพื่อรองนั่งและตั้งสัจอธิฐานในพระทัยว่า ตราบใดที่ไม่บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงแม้ว่าเนื้อหนังจะเหี่ยวแห้งไปก็ตามก็จะไม่เสด็จลุกขึ้นจากที่นี่ตราบนั้น แล้วพระองค์ทรงนั่งผินพระพัตรไปทางทิศตะวันออก ทรงพิจารณาในอาณาปานสติทรงกำหนดรู้ลมอัสสาสะปัสสาสะ หายใจเข้าออกในปฐมยามตรัสรู้ปุพเพนิจาสานุสติญาณญาณที่หยั่งรู้ชาติหนหลังได้ พระองค์ทรงบรรลุญาณที่เรียกว่า จุตูปปาตญาณ หยั่งรู้การจุติและการเกิดของสัตว์ทั้งหลายในมัชฌิมยาม ( ยาม 2) ในปัจฌิมยาม(ยามที่ 3)ได้บรรลุอาสอักขยญาณญาณที่ทำอาสวะให้สิ้น ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก และธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เรียกว่า “อริยสัจสี่” คือ 1. ทุกข์ 2. สมุทัย 3. นิโรธ 4. มรรค ซึ่งเป็นธรรมที่พระองค์ไม่เคยศึกษามาก่อนในสำนักบุคคลใดเลย จึงได้ พระนามว่า “สัมมาสัมพุทธะ” ตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีครูอาจารย์สั่งสอนและเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเปล่งพุทธอุทาน ดังพระบาลีว่า อัพยาปัชฌัง สุขังโลเก แปลว่า ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก แล้วต่อจากนั้นพระองค์ทรงเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา 7 สัปดาห์ ที่ละ 7 วัน รวมเป็น 49 วัน โดยไม่ได้เสวยพระกระยาหารเลย โบราณบัญฑิต ท่านอธิบายว่า ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ที่พระองค์ทรงปั้นเป็น 49 ก้อนนั้นก็เปรียบเสวยวันละก้อน แต่เป็นการเสวยครั้งเดียวทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวพุทธทั้งหลาย รวมทั้งคนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงนิยมถวายข้าวพระเจ้าหลวงจำนวน 49 ก้อน สืบมาจนถึงปัจจุบัน

แห่จองพารา

ชาวปะโอจะมีความเชื่อเหมือนชาวไทใหญ่ทั่วไปที่มีความเชื่อกันว่า หากได้จัดทำจองพาราบูชาพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เรื่อยไปจนครบ 7 วัน ปีนั้นครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข ได้บุญกุศลส่งผลไปถึงการทำมาหากินที่สะดวกสบาย ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะมั่งมีหรืออยากจนคำว่า “จองพารา” เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่า “ปราสาทพระ” มาจากคำว่า “จอง”แปลว่า วัดหรือปราสาท และคำว่า “พารา” แปลว่า พระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้า การบูชาจองพาราหรือการสร้างปราสาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า ที่เสด็จจะลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทำด้วยโครงสร้างของไม้ไผ่บุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีลวดลายเจาะ กระดาษเงิน กระดาษทอง

โดยชาวปะโอจะมีการบูชาจองพาราทุกบ้าน โดยตั้งจองพาราไว้หน้าบ้านของตนตั้งแต่เวลาเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 โดยนำจองพาราขึ้นตั้งบนชั้นนั่งร้าน นำเครื่องห้อยมาแขวน นำต้นกล้วยต้นอ้อยมาผูกเสานั่งร้านทั่ง 4 มุม ตกแต่งประดาด้วยโคมไฟให้สว่างไสวในเวลาค่ำคืน เวลาเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ก็จะนำ “ข้าวซอมต่อ” คืออาหารสำหรับถวายพระพุทธองค์ ประกอบด้วยข้าวสวย ขนม ผลไม้ ใส่ในกระทงใบตองมาวางไว้ในจองพารา จุดธูปเทียนบูชา กล่าวอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้เสด็จมาประทับที่จองพาราที่เป็นศิริมงคล ตลอดจนครอบ 7 วัน ก็รื้อถอนจองพาราออกแล้วนำไปทิ้งหรือเผา ปีต่อไปจึงจะทำขึ้นมาบูชาใหม่ นอกจากนั้นก็จะมีการนัดหมายกันเพื่อแห่จองพาราไปยังวัด โดยจะมีดนตรีบรรเลงและมีการร่ายรำไปตลอดทาง

แห่ต้นเกี๊ยะ

การจัดงานแห่ต้นเกี๊ยะ0ะจัดในช่วงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 โดยจะนำต้นเกี๊ยะ (ต้นแปก) มาตกแต่งให้สวยงาม เพื่อเข้าร่วมการประกวดกับทางเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ขบวนแห่จะเริ่มตั้งตั้งแต่ตลาดนัดวันอาทิตย์หรือถนนรุ่งเรืองการค้า ถึงวัดจองคำ และนำถวาย เวลาเริ่มแห่ประมาณ 15.00 น. ขบวนจะมีการจัดตกแต่งต้นแปกของแต่ละแห่งให้ดูสวยงามจะมีการแสดง การก้าลาย ก้าแลว กิ่งกะหล่า ก้าโต ซึ่งเป็นศิลปะของไทใหญ่ที่อยู่คู่กับชาวแม่ฮ่องสอนมานาน ขบวนแห่จะมีการแห่ไปตามท้องถนน เมื่อขบวนไปถึงหน้าวัดจองคำจะมีการนำต้นเกี๊ยะของแต่ละแห่ง มาเรียงกันอยู่ที่หน้าวัดจองคำ จากนั้นก็ได้มีการนำเอาสายสินมามัดรอบต้นเกี๊ยะตั้งแต่ต้นแรกจนถึงต้นสุดท้าย แล้วจะมีการพ่วงสายสินอีกเส้นขึ้นไปบนวัด จากนั้นประธานในพิธีก็จะนำไหว้พระและรับศีล เมื่อเสร็จจากการรับกรรมทานศีลแล้วจะมีการกล่าวคำถวายต้นเกี๊ยะ (ต้นแปก) และพระสงฆ์ก็จะกล่าวคำอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี เมื่อพระสงฆ์กล่าวเสร็จตัวแทนของแต่ละแห่งก็จะไปจุดต้นเกี๊ยะที่หน้าวัด สุดท้ายก็จะมีการขอขมาพระสงฆ์ แต่บางแห่งก็จะนำต้นเกี๊ยะไปจุดยังวัดหรือหมู่บ้านของตน หรือวัดใกล้เคียง

แห่ประทีปโคมไฟ

นอกจากการแห่ต้นเกี๊ยะแล้วบางแห่งก็จะมีการแห่ประทีปโคมไฟ หรือบางแห่งอาจจะแห่ต้นเกี๊ยะรวมกับแห่ประทีปโคมไฟในคราวเดียวกัน

ปอยลู้ไพ หรือ งานบุญปั้งไฟ

ปอยลู้ไพ หรือ งานบุญปั้งไฟ เป็นการทำบ้องไฟมาจุดเป็นพุทธบูชา และเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และมีการประกวดบ้องไฟ โดยจะมีการ นำบ้องไฟแห่ไปตามสถานที่จุดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา พร้อมทั้งขอฝนให้ตกต้องลงมาตามฤดูกาล

ผู้นำพิธี ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

หมอตะเลี๊ยบ ชาวปะโอจะมี หมอตะเลี๊ยบคอยนำในการทำพิธีกรรมต่างๆ

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ศาลเจ้าเมือง

ในหมู่บ้านของชาวปะโอจะมีศาลเจ้าเมืองซึ่งจะคอยปกปักรักษาคุ้มครองให้คนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข โดยทุกๆ วันพระก็จะมีคนนำข้าวปลาอาหารใส่กระทงใบตองเล็กๆ ไปไหว้เป็นประจำ

การทำนายโหราศาสตร์ / การทำนายและโหราศาสตร์

เปต๊าง

ชนเผ่าปะโอมีความเชื่อในเรื่องของการดูดวง ดูฤกษ์ ดูยามเช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วๆ ไป โดยจะเรียกว่า เปต๊าง หรือการดูดวง ดูฤกษ์ ดูยาม เหมือนกับของไทย ซึ่งก็มีตำราเหมือนกับตำราพรหมชาติ ไว้สำหรับดูดวง ดูฤกษ์ ดูยาม การตั้งชื่อ และการจัดงานทั่วๆ ไป

เปต๊าง จะใกล้เคียงกับภาษาไทใหญ่ ว่า เป่ต่าง โดยมีที่มาจากภาษาพม่า ว่า เป่ติ่น แปลว่า การทำนาย หรือการพยากรณ์รวมทั้งการดูโชคชะตาราศี ที่เชื่อว่าเป็นลายแทงของชีวิต โดยมีหมอตะเลี๊ยบ เป็นผู้ทำนายหรือพยากรณ์ เปต๊างแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

ประเภทที่ 1 เรียกว่ามหาปุ๊กแต่ง (หลักมหาภูติ) ซึ่ง

ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์. (2562). ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation).

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2545[2506]). ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

ปิ่นมณี สาระมัย. (2561). การฟ้อนมองเซิงของชาวกุลาในจังหวัดอุบลราชธานี. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 9(2).

พรพิมล ตรีโชติ. (2542) ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า. สานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. กรุงเทพมหานคร

ฟ้อน เปรมพันธุ์. (2560). “ชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในกาญจนบุรี”, ใน ฟ้อน เปรมพันธุ์ และคณะ, ภูมิปัญญากะเหรี่ยงในกาญจนบุรี. กาญจนบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี

ล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้. (2551). ชาติพันธุ์ล้านนา - ต่องสู้ ต่องสู่ หรือ ต่องซู่. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2563, จาก http://www.openbase.in.th/node/6435.

ศิราพร แป๊ะเส็ง. (2563). “สืบค้น ตามหา ปะโอที่เชียงคำ”, ใน บทความ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) สืบค้น 17 กรกฎาคม 2563, จาก https://www.sac.or.th/main/th/article/detail/129.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. บรรณาธิการ. 2546. ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. กรุงเทพฯ: มติชน.

สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี. 2559. ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 12(1).

สุริยา รัตนกุล และ สมชาย บุรุษพัฒน์. (2538). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

อดิศร เกิดมงคล.(2555) แรงงานข้ามชาติชาวปะโอจากพม่าในกรุงเทพฯ : ชีวิตข้ามพรมแดนบนพื้นที่ของอำนาจและการต่อรอง. วิทยานิพนธ์ศิลปาสตรมหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร.

อิสริยะ นันท์ชัย และ โชติมา จตุรวงค์. 2562. สถาปัตยกรรมจองวัดปะโอ(ต่องสู้) ในประเทศไทยและเมืองสะเทิม ประเทศพม่า ใน หน้าจั่ว ฉบับที่ 16 ฉบับที่ 1 หน้า 8-31.กรุงเทพมหานคร.

Christensen, Russ and Sann Kyaw (2006). The Pa-O : Rebels and Refugees. Chiang Mai. Silkworm Books


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว