ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ลัวะ ละว้า เลอเวอะ ละเวือะ อเวือะ ลวะ ถิ่น มัล ปรัย เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกนิยามและเรียกโดยรวมว่าเป็นกลุ่ม “ลัวะ” หากแต่ภายใต้การควบรวมนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยเรื่องของการเรียกชื่อ การกำหนดตัวตนและอัตลักษณ์ที่สลับไปมาตามแต่การปฏิสัมพันธ์กัคนกลุ่มใด หากแบ่งด้านการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะนั้น สามารถจัดแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามการอธิบายในเชิงพื้นที่ คือ กลุ่มที่ 1 ลัวะในเมืองเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ กลุ่มที่ 2 ลัวะในเมืองน่าน ทำให้แยกความแตกต่างของลัวะทั้ง 2 กลุ่มนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย่อยอื่น ๆ ทั้งที่เพิ่งเคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ หรือเพิ่งเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะในช่วงทศวรรษ 2540 เนื่องจากแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนและชนเผ่าพื้นมือง การปรากฏตัวของกลุ่มย่อย ๆ อื่น ๆ ที่เคยถูกเรียกรวม ๆ ว่าลัวะส่งผลให้ชื่อเรียกที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีทั้งความเหมือนและความต่างอยู่ในที แม้จะเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันว่าลัวะ แต่มีความแตกต่างทั้งการสืบผีจากสายพ่อ หรือสายแม่ การใช้ภาษาที่ต่างกันจนไม่สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ แม้แต่การตรวจ DNA.ได้พบความแตกต่างทางการสืบสายเลือด ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะทั้ง 2 กลุ่ม แยกออกจากกันในการรับรู้จากการศึกษาที่แยกการศึกษาและให้ผลที่ต่างกันเสมอใน 2 พื้นที่ ดังนั้น ในการเขียนงานชิ้นนี้ จึงจะใช้ชื่อเรียกสลับไป สลับมาตามบริบทของพื้นที่และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไปรวมถึงจากงานศึกษาต่าง ๆ ที่ใช้คำเรียกที่แตกต่างกัน
ชื่อเรียกตนเอง
ลเวือะ เป็นชื่อที่เรียกตัวเองของชาวลเวือะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สัมภาษณ์นางสาวปิชญา ตะนอย ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคนลเวือะจากบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน; ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ, 2555: 35; ชุติมา มอแลกู่ และคณะ, 2562: 54)
อเวือะ เป็นคำเรียกตัวเองของชาวลเวือะ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม (บ้านเฮาะ บ้านมืดหลอง บ้านกอกน้อย) คำนี้เพี้ยนมาจากคำว่า “ลเวือะ” (สัมภาษณ์นางสาวปิชญา ตะนอย ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคนลเวือะจากบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
เลอเวือะ เป็นคำเดียวกับ “ลเวือะ” เพียงแต่ออกเสียงเพี้ยนไป ซึ่งในภาษาลเวือะนั้นไม่ออกเสียงชัดเจนที่พยางค์ “เลอ” (สัมภาษณ์นางสาวปิชญา ตะนอย ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคนลเวือะจากบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน; พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2556)
ลวะ เป็นคำเรียกตัวเองของกลุ่มชาวลวะหรือลัวะในบริเวณลุ่มน้ำปิงของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะเขตอำเภอหางดงกับอำเภอสันป่าตอง (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ, 2555: 35)
ละว้า เป็นคำเรียกตัวเองของกลุ่มชาวละว้า ซึ่งสัมพันธ์กับชาวละว้าในรัฐฉาน ประเทศพม่า คำนี้นิยมใช้กันเฉพาะกลุ่มละว้าคริสเตียนในอำเภอสันทรายและอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ (FB: คริสตจักรละว้าเชียงใหม่)
ในส่วนของความหมายชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ “เลอเวือะ” ในภาษาเลอเวือะบ้านป่าแป๋นั้นแปลว่า “ประตู” ในขณะที่ลัวะบ้านมืดหลอง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ให้ความหมายคำว่า “ลัวะ” หมายถึง “ละ” จากคำว่าละทิ้งจากวัดละทิ้งจากเมือง(เชียงใหม่) แต่ทั้งนี้ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนเนื่องจากกลุ่มเลอเวือะในเขตแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ออกเสียงว่า “เลอเวือะ” อย่างชัดเจนโดยไม่ใกล้เคียงกับคำว่า “ละ”(พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2563)
ชื่อที่คนอื่นเรียก
ลัวะ เป็นคำที่คนไทยวน (คนเมือง หรือคนพื้นราบทางภาคเหนือ) คนไทยภาคกลาง และคนอื่น ๆ เรียกชาวลเวือะ (กฤษณา เจริญวงศ์ และเพชรา ประจนปัจจนึก, 2530; กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, 2555; Kunstadter, 1966)
ละว้า เป็นคำที่คนอื่นเรียก (ถิ่น รัติกนก, 2512; ไกรศรี นิมมานเหมินทร์, 2524; Kerr, 1924)
ลัวะ (พะล็อก) คำนี้ปรากฏเป็นเนื้อหาบทหนึ่งในรายงานวิจัยของพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (2556) และพบในหน้า Facebook ชื่อ “ชาติพันธุ์แห่งอุษาคเนย์” ที่เขียนเนื้อหาโดย อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
"พะล็อก" ชาติพันธุ์ที่สาปสูญ
การเรียกชื่อตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์พะล็อก
เมื่อปี พ.ศ. 2529 ชาญชัย จิรวรรธนกิจ ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยของชาวลัวะในภาคเหนือของประเทศไทย” ที่หมู่บ้านเมืองก๊ะ ระบุว่าชาวบ้านที่หมู่บ้านนี้เป็น “ชาวลัวะ” ในหนังสือเรื่อง “ปริศนาวงศาคณาญาติ “ลัวะ”” โดยฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ ได้อ้างตามและระบุด้วยว่า ลัวะบ้านเมืองก๊ะเรียกตนเองว่า “ละเวือะ” (ฉวีวรรณ ประจบเหมาะ, 2555: 193)
ในช่วงแรกที่ผู้เขียนเข้าไปเก็บข้อมูลที่หมู่บ้านเมืองก๊ะ ชาวบ้านเรียกตนเองว่า “ลัวะ” ไม่ใช่ “ลเวือะ” และคนนอก (คนไทยล้านนา) ก็เรียกคนในหมู่บ้านนี้ว่าเป็น “ลัวะ” แต่จากการเก็บข้อมูลสักระยะ จึงได้ถามถึงชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทำให้นายศรี ดอยคำ (อายุ 84 ปี) และนางนวล ดอยคำ (อายุ 83 ปี) บอกว่าจริง ๆ แล้วคนในหมู่บ้านเรียกตนเองว่า “พะล็อก” ส่วนชื่อเรียกว่า “ลัวะ” เป็นชื่อที่คนภายนอกเรียกกัน แต่คนรุ่นหลังก็ถือว่าตนเองเป็น “ลัวะ” ด้วย ผู้ใหญ่บ้านเมืองก๊ะนายไพศาล ไทยใหม่ ถือว่า “พะล็อกเป็นลัวะน้อย”
การที่คนภายนอกเรียกว่า “ลัวะ” และชาวบ้านก็เรียกตนเองว่า "ลัวะ" นั้น อาจเริ่มต้นเมื่อราว 50 ปีก่อน หรือราวทศวรรษ 1970 (พ.ศ.2513) เพราะงานวิจัยรุ่นแรก ๆ ที่ศึกษาเรื่อง “พะล็อก” ปรากฏในช่วงเวลานั้น ที่สำคัญคืองานของ Gebhard Flatz ซึ่งชาวบ้านที่บ้านปางไฮ บ้านคา และบ้านลัก ยังเรียกตนเองว่า “พะล็อก” (Phalok) กลุ่มบ้านข้างต้นถือเป็นเครือญาติกันกับบ้านเมืองก๊ะ ชาวบ้านเล่าเสมอว่ามีญาติอยู่ตามหมู่บ้านข้างต้น แต่ในสมัยนั้นไม่มีนักวิชาการที่ศึกษาบ้านเมืองก๊ะเลย และหลังจากนั้นมาอีกไม่กี่ปีพบว่า ไม่มีงานศึกษาที่เรียกชาวบ้านกลุ่มนี้ว่า "พะล็อก" อีก แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็นลัวะทั้งสิ้น
เป็นเรื่องยากที่จะหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากชื่อเรียก “พะล็อก” มาเป็น “ลัวะ” แต่อาจเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในพื้นที่สาธารณะเช่นอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้าน และในงานพิธีกรรมไหว้ขุนหลวงวิลังคะ ชาวบ้านเป็นลัวะ ดังนั้น การแสดงว่าเป็นพะล็อกหรือลัวะจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเรื่องเวลาและสถานที่
จากการสังเกตในแง่ของการเรียกชื่อตนเองนั้น พบว่า ผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่มีอายุราว 50-80 ปีเท่านั้นที่จะทราบว่าตนเองเป็นพะล็อก ส่วนชาวบ้านที่อายุน้อยกว่านี้มักรับรู้ว่าเป็นลัวะ ทั้งนี้ เพราะคนเฒ่าคนแก่ไม่ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องพะล็อกให้ฟัง นอกจากคนพะล็อกแล้ว ในหมู่บ้านยังมีคนเมือง (คนไทยเหนือ) ที่แต่งงานเข้ามา นายไพศาล ไทยใหม่ ให้ข้อมูลคร่าว ๆ ว่ามีราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ และในสมัยก่อนเคยมีขมุเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้วย แต่มีจำนวนน้อย บางคนได้แต่งงานกับคนในท้องถิ่น เช่น นางนวล ดอยคำ อายุ 83 ปี มีพ่อเป็นขมุและมีแม่เป็นพะล็อก เป็นต้น
นอกจากในเขตเชียงใหม่แล้ว พบว่า ในประเทศพม่า “พะโลก” (Parauk) เป็นชื่อหนึ่งที่ทางการใช้เรียก “ว้า” (Wa) มีประชากรประมาณ 400,000 คน (ข้อมูลจากการสำรวจในปี 2000) อาศัยอยู่ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกของรัฐฉาน และทางตอนเหนือของแม่น้ำสาละวิน รัฐเชียงตุง โดยมีสำเนียงย่อยประมาณ 70 สำเนียง(Lewis, 2013) แสดงว่าอาจมีความสัมพันธ์กันบางอย่าง
ลัวะ มัล ปรัย ถิ่น กลุ่มลัวะ ในเขตจังหวัดน่าน และรอยต่อกับแขวงไซยบุรี ประเทศลาว
ลัวะ เป็นคำที่คนอื่นใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่บนพื้นที่สูงในเขตรอยต่อจังหวัดน่านกับแขวงไซยะบุรีของประเทศลาว คำนี้ถูกใช้อย่างเป็นทางการในหนังสือ “ลัวะเมืองน่าน” ของชลธิรา สัตยาวัฒนา (2530)
ถิ่น เป็นคำที่คนอื่น โดยเฉพาะคนพื้นราบและราชการไทยเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, 2555; ชนัญ วงษ์วิภาค, 2530)
David Filbeck มิชชันนารีและนักภาษาศาสตร์ที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น/ลัวะในจังหวัดน่านมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษให้ความเห็นว่า คำว่า “ถิ่น” เป็นคำไทยที่ใช้เรียกผู้คนที่เป็นคนพื้นถิ่นในบริเวณจังหวัดน่านและแขวงไซยะบุรีของประเทศลาว คำนี้หมายถึงคนท้องถิ่นหรือชนพื้นถิ่น ขณะที่คำว่า “ลัวะ” เป็นคำที่คนเมืองหรือพื้นราบในภาคเหนือเรียกกลุ่มคนทั้งที่อยู่ในจังหวัดน่าน กับที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ซึ่งบางทีก็เรียกว่าเป็น “ละว้า” ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นในแง่ทางวัฒนธรรมและภาษาศาสตร์แล้วห่างกันมาก กล่าวคือคนลัวะที่น่านเป็นสังคมหญิงเป็นใหญ่ ขณะที่ลัวะทางเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ และในแง่ภาษานั้นทั้งสองกลุ่มไม่สามารถสื่อสารกันได้เลย ส่วนคำว่า “ไพ่” หรือ “ข่าไพ่” ในทัศนะของ David Filbeck เป็นการเพี้ยนมาจากคำว่า “ไพร่” และ “ข้า” ในระบบโครงสร้างแบบชนชั้นของสังคมไทย ที่นับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่าเป็นข้าทาส เป็นชนชั้นล่างในสังคมไทยและลาว
ส่วนคำว่า “มัล” (Mal) และคำว่า “ไปร” (Prai) เป็นสองคำที่กลุ่มชาติพันธุ์ย่อยสองกลุ่มนี้ใช้เรียกตัวเอง ดังนั้น David Filbeck (1987: 137) จึงขอเสนอให้ใช้สองคำนี้ในการเรียกสองกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยนี้แทน
อย่างไรก็ตาม อดีตนักวิจัยสถาบันวิจัยชาวเขา ผู้เชี่ยวชาญชาวเขาเผ่าถิ่น บันทึกเอาไว้ว่าชาวเขาเผ่าถิ่นแบ่งออกตามความแตกต่างของภาษาได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ คือ ถิ่นไพร่ (Prai) ถิ่นมาด์ล (Madl) และถิ่นอะจูล ถิ่นไพร่นั้นจะเรียกตัวเองว่า “คลำไปร๊ท” (“คลำ” แปลว่าคน ส่วน “ไปร๊ท” แปลว่าถิ่น) และเรียกถิ่นอีกพวกหนึ่งว่า “คมาด์ล” ถิ่นทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันในด้านภาษาพูดอย่างมาก (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, 2555) ขณะที่ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ (2555) อธิบายว่าลัวะในจังหวัดน่านอาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มย่อยตามภาษาที่พูด คือ “มัล” กับ “ปรัย” (ไปร, ไพ) อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมงานวิจัยสอบถามในบางหมู่บ้านที่ David Filbeck ยืนยันว่าพวกเขาเป็นคนไปร กลับพบว่าไม่มีใครรู้จักคำว่า “ปรัย” แต่รู้จักเพียงคำว่า “ลัวะ” เท่านั้น (2555: 44-45)
ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์
โดยความรับรู้ของคนทั่วไปมีความเข้าใจคำว่าลัวะ ละเวือะ ยังไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตามจากการลงสำรวจพื้นที่ในบริเวณตำบลบ่อหลวงซึ่งเป็นชุมชนละว้า/ละเวือะ ที่ใหญ่ที่สุดประเทศไทยได้รับการบอกเล่าว่าคนทั่วไปมักจะเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเองว่า “ละว้า” ซึ่งสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์แล้วชื่อดังกล่าวค่อนข้างมีความหมายในเชิงลบ ซึ่งใกล้เคียงกับคำที่เรียกชาวปกากะญอว่า “ยาง” ทำให้ในอดีต ชาวชุมชนไม่กล้าที่จะบอกคนภายนอกว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อะไรเพราะรู้สึกละอายและต่ำต้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมดีขึ้น และการเปิดกว้างการรับรู้เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวชุมชนจึงกล้าที่ยอมรับว่าตนเองเป็นใคร อย่างไรก็ตามภายใต้บริบทของการยอมรับชื่อเรียกว่าละว้า ชาวบ้านยังต้องการให้คนภายนอกเรียกตนเองให้ถูกต้องตามภาษาดั้งเดิมด้วยนั่นคือ “ละเวือะ” ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (2563) ได้ระบุว่า กระแสการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นประเด็นสำคัญในพื้นที่อื่น ๆ อาทิ คนในชุมชนเลอเวือะที่บ้านป่าแป๋มีการเรียกตนเองว่า “เลอเวือะ” ตั้งแต่เลอเวือะบ้านป่าแป๋ได้เริ่มทำงานวิจัยท้องถิ่นของตนเองและมีการเข้าใจระบบภาษาไทยในการใช้เรียกชื่อท้องถิ่นของตน
ส่วนในกรณีของคำว่า “ว้า” นั้นจะถูกเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่อาศัยอยู่ภายในประเทศเมียนมา โดยมีรากศัทพ์ทางภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน หากแต่การใช้สำเนียงหรือการออกเสียงภาษาจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้าง อย่างไรก็ตามเมื่อมีมิติทางการเมืองและความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดชื่อเรียกใหม่อีกแบบนั่นคือ “ว้าแดง” ซึ่งเป็นการเรียกชื่อกลุ่มที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่เมืองยองของรัฐฉานและเป็นกลุ่มที่อพยพมาจากตอนเหนือของรัฐฉาน กลุ่มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกำลังติดอาวุธและมีปัญหาทางด้านความมั่นคงโดยเฉพาะการเกี่ยวพันกับยาเสพติดและเป็นอดีตกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า จึงถูกใส่ชื่อเรียกคำว่า “แดง” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นชื่อเรียกที่บุคคลภายนอกใช้เรียกชื่อเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อเนื่องจสภาพภูมิศาสตร์การเมืองทำให้มีการเรียกชื่อ “ว้า”เช่น กลุ่มที่อยู่ทางด้านตอนเหนือของรัฐฉานซึ่งเป็นพื้นที่เขตปกครองตนเองโดยมีเมืองหลักอยู่ที่ปางซางจะถูกเรียกว่า “ว้าเหนือ” ส่วนกลุ่มที่เพิ่งอพยพมาใหม่อยู่ในเมืองยองทางด้านใต้ก็จะถูกเรียกว่า “ว้าใต้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะค่อนข้างมีความแตกต่างในการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ของหน่วยงานในไทยที่ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง ซึ่งจะเห็นได้จากที่ พิพัฒน์ กระแจะจันนทร์ (2563) ได้เคยระบุไว้ คือ “ทางการไทยได้มีการเรียกชาติพันธุ์เลอเวือะที่บ้านป่าแป๋และหมู่บ้านอื่น ๆ ว่า “ลัวะ” และถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยชาวเขาขึ้นเพื่อสร้างความรู้ในการจัดกลุ่มชาวเขาให้ถูกต้อง คำว่า “ลัวะ” จึงถูกทางการไทยใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์เลอเวือะที่บ้านป่าแป๋รวมถึงในพื้นที่ต่าง ๆ เช่นกัน ซึ่งเลอเวือะในบ้านป่าแป๋ก็ยอมรับชื่อ “ลัวะ” ที่คนเมืองและทางราชการใช้เรียกเนื่องจากเป็นคำที่เข้าใจโดยทั่วกัน”
นอกจากนั้น ยังพบว่า คนภายนอกมักเรียกชาวเลอเวือะว่า “ลัวะ” (เช่น จันทรบูรณ์ สุทธิ และคณะ, 2532) และนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ได้มีการใช้คำว่า “ลเวือะ” หรือ “ละเวือะ” เพราะการออกเสียงพยางค์หน้าที่เร็วและสั้น รวมถึงนักวิชาการบางคนเรียกเลอเวือะบ้านป่าแป๋ว่า “ละว้า” (Lawa) เช่น ในบทความเรื่อง Living With Thailand’s Gentle Lua ของปีเตอร์ กุนสตัดเตอร์ (Peter Kunstadter) ตีพิมพ์ใน National Geographic เมื่อปี ค.ศ.1966 ซึ่งเข้าใจว่า ปีเตอร์ กุนสตัดเตอร์ จะเรียกคนกลุ่มนี้ตามที่ชาวอังกฤษใช้เรียกละว้าในประเทศพม่า แต่จากบทความนี้เองทำให้เลอเวือะที่บ้านป่าแป๋และที่อื่น ๆ ในประเทศไทยถูกเรียกชื่อว่า "ละว้า" ในวงกว้าง
ส่วนคำว่า “ละว้า” หรือ “ละวะ” นั้นก็ถูกใช้โดยนักวิชาการ แต่คนในชุมชนยังมองว่าไม่ถูกต้องและมีความคล้ายกับละว้ากินคนในพม่า ในขณะที่ชาวเลอเวือะในเขตแม่ฮ่องสอนและในเขตรอยต่อกับเชียงใหม่ เช่น อ.ฮอด คนในพื้นที่ระบุว่าตนเองคือชาว “เลอเวือะ” ไม่ใช่ “ละเวือะ” หรือ “ลัวะ”
สิ่งที่น่าใจและสามารถทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน คือจากสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (ณัฐวี ทศรฐและสุริยา รัตนกุล, 2539) ได้ระบุว่า ละว้า เป็นชื่อที่คนทั่วไปใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งซึ่งชนเหล่านี้เรียกตนเองว่า “ละเวือะ” มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า ละว้าและลัวะเป็นชนกลุ่มเดียวกัน แต่หากพิจารณาทางด้านภาษาแล้ว ภาษาละว้าก็คือละเวือะซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร สาขาย่อย ปะหล่อง-ว้า ชนกลุ่มนี้มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ส่วนลัวะนั้นหมายถึงกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า มัล (Mal) และเรียกภาษาของเขาว่า เลอมัล (Lemal) ซึ่งเป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร สาขาย่อยขมุ (สุริยา รัตนกุล, 2532) มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเองเช่นกัน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้คำว่าละว้าและลัวะปะปนในความหมายเดียวกัน ในปี พ.ศ.2527 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบทมหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบหมายให้อาจารย์โสฬส ศิริไสย์ ทำการสำรวจจำนวนประชากรของชาวละว้าที่ยังคงพูดภาษาละว้า ปรากฏว่าพบผู้พูดภาษาละว้านี้อยู่ใน 2 จังหวัด คือเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ส่วนในจังหวัดลำปาง เชียงราย และแพร่ตามที่มีปรากฏอยู่ในบทความของ E.W.Hutchinson 1934 นั้น การสำรวจครั้งนั้นไม่พบผู้พูดภาษาละว้าในถิ่นนี้แล้ว คงพูดภาษาไทยหรือภาษาไทยเหนือ (สุริยา รัตนกุล, 2532)
ภาษา
ตระกูลภาษา
นักวิชาการกล่าวว่า ภาษาละว้าเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) สายมอญ-เขมร (Mon Khmer) โดยอยู่ในสาขาย่อยปะหล่อง-ว้า (Palaung-Wa) อีกที่หนึ่ง ซึ่งได้เขียนจัดแบ่งภาษาตระกูลนี้ไว้อย่างชัดเจนลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าภาษาละว้าเป็นภาษาที่อยู่ร่วมตระกูลกับภาษามอญ-เขมร ก็คือการที่ภาษาละว้าไม่มีระบบเสียงวรรณยุกต์ ในเวลาที่เด็กละว้าหัดเรียนภาษาไทยตอนแรก ๆ ก็จะมีปัญหาในการออกเสียงวรรณยุกต์อยู่บ้าง ส่วนผู้ที่พูดภาษาไทยหากไปเรียนภาษาละว้าก็จะพบปัญหาในการออกเสียงสระและพยัญชนะในภาษาละว้า ซึ่งภาษาละว้ามีมากกว่าภาษาไทย กล่าวคือ ภาษาละว้ามีหน่วยเสียงสระอยู่ 25 หน่วยเสียงประกอบไปด้วยสระเดี่ยว 10 หน่วยเสียง ได้แก่ /i e ɛ ɨ w ə a u o ɔ / เสียงที่ออกยากสำหรับคนไทยคือเสียงสระ w ซึ่งคล้ายเสียงสระอึของไทย แต่ลดระดับลิ้นลงมากกว่าเสียงสระอึ ส่วนเสียงสระประสมในภาษาละว้านั้นมีมากถึง 15 หน่วยเสียง ในขณะที่เสียงสระประสมในภาษาไทยมีเพียงเสียงสระ ia ia ua (ณัฐวี ทศรฐและสุริยา รัตนกุล, 2539)
ณัฐวี ทศรฐและสุริยา รัตนกุล (2539) อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากละว้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังเห็นได้จากการที่กษัตริย์ละว้าชื่อ วิรังคะเคยสามารถยกทัพมาท้ารบกับพระนางจามเทวีที่เมืองลำพูน ละว้าจึงมีมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ถ่ายทอดมาจนถึงทุกวันนี้นั่นคือละว้ามีความเจริญทางภาษามากจนถึงขั้นสร้างวรรณคดีไว้เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นบทกวีที่ท่องสืบทอดกันมาปากต่อปากจากบรรพบุรุษละว้าจนถึงลูกหลานละว้าในปัจจุบันนี้ ละว้าเรียกวรรณกรรมมุขปาฐะของเขาว่า ละซอมแล (Ləsɔm ?Lɛ) ซึ่งมีแบ่งแยกย่อยเป็นถึง 7 ประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทประกอบขึ้นจากบทกวีนับด้วยสิบบท อันมีข้อความวิธีการเปรียบเทียบที่ลึกซึ้งฟังแล้วประทับใจมาก เช่น การที่ฝ่ายชายกล่าวว่าบทกวีที่ฝ่ายหญิงท่องมานั้นไพเราะมากเปรียบประดุจแสงดาว หรือเช่นการที่ฝ่ายชายกล่าวชวนฝ่ายหญิงให้ไปเที่ยวกับเขา โดยที่เขาสัญญาว่าจะไม่ให้นางต้องสวมสายสร้อยที่ทำขึ้นจากเม็ดน้ำตา การนำหยดน้ำตาไปเปรียบกับเม็ดลูกปัดเป็นการเปรียบเทียบที่ไพเราะ แล้วยังมีการเล่นสัมผัสสระและสัมผัสอักษรอีกด้วย ปัจจุบันน่าเสียดายที่หนุ่มสาวละว้าไม่ค่อยสนใจสืบทอดบทกวีละซอมแลนี้เสียแล้วนอกจากในพิธีงานศพที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องโต้ตอบกันด้วยบทกวีละซอมแล ในสารานุกรมเล่มนี้มีเนื้อที่ที่จำกัด จึงไม่สามารถกล่าวถึงบทกวีละชอมแลได้มากนัก ผู้อ่านอาจหาอ่านรายละเอียดได้จากบทความของผู้เขียน (Suriya Ratanakul ๑๙๘๕,๑๙๕๖) และอาจทำความรู้จักกับภาษาละว้าได้จากพจนานุกรมภาษาละว้า-ไทย (พ.ศ.2529) และพจนานุกรมภาษาไทย-ละว้า (พ.ศ. 2530) ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้รวบรวม
ฉวีวรรณ ประจวบหมาะ และคณะ( 2555) ได้ระบุว่า “ลัวะ” ถูกจัดให้อยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติคในสายมอญ-เขมรเหนือ กลุ่มย่อยภาษาปะหล่องอิก (Palaungic) และกลุ่มย่อยภาษาขมุอิก (Khmuic) นอกจากนั้น พิพัฒน์ กระแจะจันทร์( 2563) ยังระบุเพิ่มเติมว่า ตระกูลภาษาดังกล่าวเป็นกลุ่มตระกูล ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) ในสาขาภาษาปะหล่อง (Palaunganic language) สายตะวันตก ในสาขาย่อยภาษาละว้า (Waic) ซึ่งเมื่อพิจารณาควบคู่กับวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทก็จะพบว่ารายละเอียดจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังกรณีงานของ สิริชัย ร้อยเที่ยง และ เกรียงไกร เกิดสิริ ( 2560) ได้ระบุว่า ชาติพันธุ์ละเวือะมีการใช้ภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) กลุ่มภาษามอญ-ขแมร์เหนือ (North Mon-Khmer) ในกลุ่มภาษาย่อยปะล่องอิก (Palaungic) ในกรณีจากข้อมูลของหน่วยงานราชการไทยดังกรณีของ กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) ได้ระบุว่า ภาษาของลัวะจัดอยู่ในกลุ่ม Palaung-Wa และ Riang ของตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก และได้รับอิทธิพลมาจากพวกมอญด้วย
ภาษาพูด
ส่วนในกรณีของภาษาพูด กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้อธิบายว่า ภาษาของลัวะแตกต่างกันหลายกลุ่ม แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ 1) กลุ่ม Wa-Vu จะเป็นภาษาที่ใช้พูดในหมู่ลัวะเขตลุ่มน้ำปิง เช่น ลัวะบ้านบ่อหลวง 2) กลุ่ม Angku จะใช้พูดในเขตทางตะวันตก เช่น ลัวะในอ.เเม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน แม้จะมีความแตกต่างด้านภาษาตามความห่างไกลของแต่ละหมู่บ้านแต่สามารถเข้าใจและสื่อสารกันได้ นอกจากนี้ลัวะในปัจจุบันยังได้มีการใช้คำเมือง หรือภาษาเหนือของประเทศไทย ทำให้สามารถพูดภาษาไทยได้อย่างดี ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวจะเห็นได้ชัดถึงสำเนียงที่แสดงออกถึงที่ตั้งหรือการอยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากงานของ สุธานี มะลิพันธ์ (2552) ที่ได้ระบุว่า ชาวลัวะบ้านป่ากำ มีการใช้ภาษาลัวะในการสื่อสาร แต่ในวัยหนุ่มสาวที่ต้องออกไปหางานทำในเมืองสามารถที่จะสื่อสารภาษาไทยได้ แต่ผู้อาวุโสใช้ภาษาไทยไม่ได้เลย ต่อมามีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง บ้านป่ากำ” ทำให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ภาษาไทยสำหรับพูดและเขียนเพื่อใช้สื่อสารกับภายนอกได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทของความแตกต่างดังกล่าวจะพบว่า จากบทบันทึกซึ่งแจกจ่ายในงานฉลองการสร้างอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิรังคะของเทศบาลตำบลบ่อหลวง (2555) ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า ภาษาของชาวลัวะ ไม่เหมือนภาษาไทยเลย เช่น คำว่า กิน ลัวะว่า จ่าแมว อั่งแมง หมู-ว่า สุนัข-ขื้อ ไฟ-มีท่อ น้ำ-ลาง ลูก-อังย่ะ เมีย-ข่ามบ๊ะ ผัว-อังบลอง อยู่ใกล้-อังดื้อ อยู่ไกล-อังเวอ บ้านท่านอยู่ที่ไหน-อาส่างข่องดิ่งแง รับประทานอาหารกับอะไร-ไม้เจ่อจ่าแอ รับประทานข้าว-ห่างจ่า ไปเที่ยวไหนมา-เกิงบ่แอ ไปไหน-อาละเกิงแอ ฯลฯ
ถ้าเป็นคำที่เรียกชื่อคน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เรียกเป็นภาษาชาวเหนือทั้งสิ้น เช่น บัวจั่น คำปัน พรหมมา ฯลฯ เข้าใจว่าชื่อเดิมของลัวะนั้นไม่ได้เรียกกันดังนี้ มานิยมใช้ชื่อแบบชาวเหนือภายหลัง ส่วนชื่อเครื่องใช้นั้นเรียกตามสมัยโบราณ เครื่องใช้แบบปัจจุบันชาวลัวะไม่มีใช้และไม่รู้จัก เมื่อซื้อไปใช้ก็เลยเรียกชื่อตามที่ชาวเหนือเรียก ที่อยู่ของลัวะใกล้เคียงชาวเหนือ ขนบธรรมเนียมจึงคล้ายชาวเหนือ เพราะชนชาตินี้ถูกกลืนได้ง่ายที่สุด ดังปรากฏว่า ลัวะที่อยู่ในเขตไทใหญ่ ได้กลายเป็นชาวไทใหญ่โดยมาก
ตัวอักษรที่ใช้เขียน
ในกรณีของภาษาเขียนนั้น ยังไม่พบภาษาเขียน หากแต่ในปัจจุบันได้มีการสนับสนุนให้ชาวละเวือะสร้างภาษาเขียนของตนเองโดยการอ้างอิงการออกเสียงแล้วนำอักษรไทยและภาษาอังกกฤษมาใช้เลียนแบบ โดยเป็นการทำงานร่วมกันกับองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศและชาวบ้านตำบลบ่อหลวง โดยเนื้อหาจะได้กล่าวถึงในหัวข้อการธำรงอัตลักษณ์ทางด้านชาติพันธุ์ต่อไป
เนื้อหาโดย ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. สุวิภา จำปาวัลย์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดข้อมูลเมื่อ 12 สิงหาคม 2564
เอกสารอ้างอิง
สัมภาษณ์
การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ในอดีตหมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในป่าในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจนถึงปัจจุบันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ยอมรับคำว่าลัวะเพื่อมาใช้แทนชื่อเรียกตนเอง กระนั้นเองความสับสนของชื่อเรียกก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากบางชื่อเรียกก็เป็นชื่อที่คนภายนอกเรียกจวบจนเวลาผ่านไปก็ให้การยอมรับชื่อเรียกนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ลัวะ แต่ละถิ่นที่ ต่างก็มีชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกตัวเอง แตกต่างกันออกไปทั้งด้วยเรื่องของสำเนียงเสียงภาษา หรือการสร้างตัวตนและให้นิยามความหมายใหม่ ส่งผลให้การ“เรียกชื่อ” ของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ลัวะ ในแต่ละชุมชนแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อเจ้าของวัฒนธรรม การเรียกชื่อที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองจะเป็นการดีที่สุด หากแต่ เมื่อพูดถึงในเชิงเหมารวม หรือไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าหมายถึงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น สามารถใช้คำเรียกว่าลัวะ เป็นชื่อกลาง ๆ ได้
ชนชาติละเวือะกระจายตัวอยู่ อยู่ในเขต พื้นที่ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย (บุญช่วย 2506, น.138) ในพงศาวดารเก่า ๆ เล่าว่า มีลัวะรัฐ (ลพบุรี) ก่อนขอมเข้ามามีอำนาจ สมัยพระนางจามเทวี เคยทำสงครามกับพวกลัวะ ปฐมพงศาวดารเมืองเงิน ยางเชียงแสน กล่าวว่ามีพวกลัวะอยู่บริเวณดอยตุง และตำนานพระธาตุภาคเหนือ กล่าวถึงชนชาติลัวะก่อนชนชาติไทยและขอม พงศาวดารเชียงตุง เขียนว่าคนทั้งหลายออกมาจากน้ำเต้าใบเดียวกัน ลัวะ ออกมาเป็นพวกแรก กะเหรี่ยงออกมาเป็นพวกที่สอง ต่อมาเป็นคนไทย (บุญช่วย 2506, น.138-139) อาณาจักรของลัวะ คือบริเวณแหลมสุวรรณภูมิ และเขตมณฑลยูนนานตอนใต้ เมื่อถูกขอม เขมร ไทย ลาว จาม และเวียดนามรุกรานก็พากันแตกพ่ายไปอยู่ตามป่าเขาห่างไกล (บุญช่วย 2506, น.141) ลัวะนั้นเป็นชนกลุ่มดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ อาณาจักรลัวะ ถึงกาลล่มสลายประมาณปี พ.ศ. 1200 ในสมัยของขุนหลวงวิรังคะ ผู้นำคนสุดท้ายของชาวลัวะ ปัจจุบันพบลัวะในจังหวัด คือ ลำปาง อุทัยธานี สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน และแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านลัวะที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ชนเผ่าลัวะอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัด 21 อำเภอ 71 หมู่บ้าน จำนวน 3,322 หลังคาเรือน ประชากรรวม 17,637 คน (ทำเนียบชุมชนฯ 2540, น.50)
สำหรับชาวลัวะแล้วสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตคือความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผีเพื่อความอุดมสมบูรณ์และการมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข โดยอาจกล่าวได้ว่าประเพณีการเลี้ยงผีของชาวลัวะมีมากที่สุดในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดในประเทศไทย โดยลัวะในแถบเชียงใหม่ -แม่ฮ่องสอนจะเลี้ยงผีและสืบทอดตระกูลท่างฝ่ายพ่อ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในจังหวัดน่าน สืบผีทางตระกูลทางฝ่ายแม่ พิธีเลี้ยงผีที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ แบ่งตามระดับของผีที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเป็น 3 ระดับ คือหนึ่ง การเลี้ยงผีในระดับครอบครัว เป็นการเลี้ยงผีเรือนเพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลาน สองการเลี้ยงผีในระดับตระกูลหรือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ในพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน้าที่ของ “สะมาง” หรือตระกูลขุนเป็นผู้นำในการเลี้ยงผี และสามการเลี้ยงผีในระดับหมู่บ้าน เพื่อปกป้องดูแลหมู่บ้าน และพื้นที่เกษตรกรรม การเลี้ยงผี จึงเปรียบเสมือนหลักปฏิบัติในการดำเนินวิถีชีวิตของชาวลัวะ ถือเป็นแบบแผนและจารีตในการปกครองบ้านและชุมชน
ประวัติศาสตร์
ลัวะ ซึ่งนักวิชาการระยะหลังมักเขียนและออกเสียงว่า "ลวะ" เป็นชาวพื้นเมืองที่มีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ และกระจายไปถึงเมืองเชียงตุงและเมืองยองในเขตเมืองเชียงใหม่ - ลำพูน ศูนย์กลางของลัวะอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ และเชื่อกันว่าฤๅษีวาสุเทพ เป็นลูกหลานของปู่แสะย่าแสะ เช่นเดียวกับขุนหลวงวิลงคะ หรือ วิรังคะ ซึ่งเป็นหัวหน้าชาวลัวะยุคสุดท้าย ก็เป็นลูกหลานปู่แสะย่าแสะ ตำนานเจ้าสุวรรณคำแดง กล่าวถึงถิ่นที่อยู่ของลัวะ อยู่ในบริเวณเชิงดอยสุเทพและเรียงรายลงมาที่ราบริมน้ำปิง ตำนานในล้านนามีทัศนะต่อลัวะ แบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นตำนานพระธาตุในล้านนา ซึ่งมักกล่าวถึงลัวะในความหมายที่เป็นคนที่อยู่ในภาคเหนือมาก่อน ภาพของลัวะจึงเกิดขึ้นในยุคแรกเริ่ม ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าชนกลุ่มอื่น ตำนานมักอ้างถึงพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้เสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและพบกับลัวะผู้หนึ่งถวายอาหาร ดังเช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวง กล่าวถึงลัวะอ้ายกอน ถวายน้ำผึ้งและตำนานพระธาตุช่อแฮ กล่าวถึงขุนลัวะ อ้ายค้อมถวายหมาก เป็นต้น
ตำนานกลุ่มที่สอง เป็นตำนานเก่าแก่ล้านนา คือ ตำนานมูลศาสนาชินกาลมาลีปกรณ์ และจามเทวีวงศ์ กล่าวเปรียบเทียบ ลัวะ เป็นคนเกิดในรอยเท้าสัตว์ มีสัตว์จำพวกช้าง แรด วัว และเนื้อ อยู่กันเป็นกลุ่มตามพันธุ์สัตว์ สะท้อนการเป็นสังคมชนเผ่าที่ใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ แต่ตำนานดังกล่าวไม่ระบุว่า คนเกิดในรอยเท้าสัตว์เป็นลัวะ ตำนานรุ่นหลังคือ ตำนานสุวรรณคำแดง นำมาอธิบายว่า คนในรอยเท้าสัตว์เป็นลัวะ ตำนานลัวะเป็นคนล้าหลังทางวัฒนธรรม เพราะไม่นับถือพระพุทธศาสนา
ตำนานกลุ่มสุดท้าย เป็นตำนานที่เขียนในสมัยหลังที่สำคัญ คือตำนานเจ้าสุวรรณคำแดง หรือตำนานเสาอินทขิล ซึ่งเขียนราวต้นรัตนโกสินทร์ ตำนานนี้เน้นความสำคัญของลัวะเป็นพิเศษ เพราะกล่าวว่า ลัวะสร้างเวียงเจ็ดริน เวียงสวนดอก และเวียงนพบุรีหรือเชียงใหม่ ลัวะมีอยู่ในบริเวณดังกล่าวมากมาย และยังเน้นการผสมกลมกลืนระหว่างลัวะกับคนไทย จากประสบการณ์ที่อ่านเอกสารคัมภีร์ใบลาน พบว่าตำนานสุวรรณคำแดงแพร่หลายไม่น้อย ซึ่งบางครั้งก็ปะปนกับเรื่องอื่น ตำนานพระบาทดอนกลางจอมทอง เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5-6 เป็นตำนานเจ้าสุวรรณคำแดง เพราะเน้นว่าเวียงเชียงใหม่สร้างโดยพญาไชยเสนาได้ครองลำปาง เมื่อขับไล่พญาเบิกไปแล้ว แสดงว่าพญามังรายมีความสัมพันธ์อันดีกับลัวะและค่อย ๆ มีการสลายความเป็นชนเผ่าลัวะให้กลายเป็นไทย เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยหริภุญชัยแล้ว กลุ่มเม็งและลัวะยังมีลักษณะเป็นคนต่างเผ่าพันธุ์และแยกเป็นคนละพวกกัน
เมื่อพญามังรายก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองระบุว่าบริเวณนี้ "เป็นที่อยู่ที่ตั้งแห่งท้าวพญาแต่ก่อน" ซึ่งหมายถึงเคยเป็นที่อยู่เดิมของหัวหน้าลัวะตำนานนพบุรีเมืองพิงค์เชียงใหม่ กล่าวว่าหลังจากพญามังรายสร้างเวียงเชียงใหม่แล้ว เมื่อจะเสด็จเข้าเมืองได้สอบถามสรีขุนจุกได้ไปสอบถามจากหัวหน้าชาวลัวะ จึงทราบว่าต้องเข้าทางประตูช้างเผือก การยอมรับว่าลัวะเป็นเจ้าของดินแดนนี้มาก่อน ยังแสดงออกในพิธีราชาภิเษกด้วย โดยในพิธีจะให้ลัวะจูงหมานำขบวนเสด็จกษัตริย์เข้าเมือง พิธีนี้คล้ายกับพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์มังราย และเชียงตุงก็เคยเป็นที่อยู่ของลัวะมาก่อน ในเชียงตุงมีพิธีไล่ลัวะ คือในพิธีจะนำผามให้ลัวะกินอาหาร เมื่อกินเสร็จแล้วก็ไล่ลัวะไปแล้วเข้าครองแทน
เนื่องจากเชียงใหม่เป็นที่อยู่ของลัวะมาช้านาน อิทธิพลด้านความเชื่อของล้วะที่สืบทอดมาจึงมีให้เห็นอยู่จนปัจจุบัน สำคัญคือการซับซ้อนพอสมควรแล้วฤๅษีวาสุเทพในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นผู้สร้างเมืองลำพูน ฤๅษีวาสุเทพมีฐานะเป็นผู้รู้ "ผู้นำทางวัฒนธรรม" ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์ของรัฐชนเผ่า
เหตุการณ์ที่ทำให้ทราบเรื่องราวของลัวะต่อมา คือเรื่องขุนหลวงวิลงคะ หรือ วิรังคะ กับนางจามเทวี เข้าใจว่าเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงที่นางจามเทวีครองราชย์ในเมืองหริภุญชัย แล้วขุนหลวงวิรังคะเป็นหัวหน้าชาวลัวะบริเวณเชิงดอยสุเทพทำสงครามกับนางจามเทวี สาเหตุของสงครามคงเกิดจากความไม่พอใจของชาวพื้นเมืองลัวะที่ถูกชนต่างถิ่นซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่าเข้ามาแทรกแชง ขุนหลวงวิรังคะทำสงครามพ่ายแพ้ ชาวลัวะส่วนหนึ่งคงกระจัดกระจายไปตามป่าเขาและตามที่ต่าง ๆ แต่ลัวะอีกส่วนหนึ่งยังคงยอมอยู่ภายในการปกครองของนางจามเทวี นับเป็นการสิ้นสุดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของลัวะซึ่งเคยมีมา พระนางจามเทวีแต่งตั้งขุนลัวะให้ครองชุมชนลัวะและให้ส่งส่วยเป็นประจำ
ชุมชนลัวะคงรวมตัวกันอยู่ที่เชิงดอยสุเทพสืบต่อมา และกลุ่มลัวะนี้เองที่เป็นพันธมิตรช่วยพญามังรายตีหริภุญชัย น่าสังเกตว่าพญามังรายมีขุนนางที่ใกล้ชิดเป็นลัวะหลายคน ดังเช่น อ้ายฟ้า ได้ครองเมืองลำพูนหลังจากช่วยยึดครองลำพูนได้ มุงคุมมังเคียน หัวหน้าลัวะได้ครองเมืองเชียงตุง และขุนลัวะซึ่งเคลื่อนย้ายลงมาจากดอยสุเทพ ลงมาสร้างเวียงหลังจากกินเมืองนานแล้วก็หนีกลับดอย ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นเมืองร้าง ตำนานกลุ่มสุดท้ายสะท้อนความเจริญของชนเผ่านี้มากถึงขนาดสร้าง "เวียง" ซึ่งเป็นลักษณะสังคมที่ซับซ้อน
อย่างไรก็ตาม ตำนานได้บอกชัดเจนถึงการมีชุมชนลัวะอยู่ก่อนแล้ว ชุมชนลัวะได้รับวัฒนธรรมจากภายนอก เพราะจากการศึกษาคัมภีร์ใบลาน "อวหาร 25" ได้กล่าวถึง ปู่แสะย่าแสะและลูกหลานเริ่มรับพระพุทธศาสนาโดยไม่ฆ่าสัตว์ ยอมไหว้พระบฏ และให้ลูกได้บวชเป็นฤๅษี สอดคล้องกับตำนานที่กล่าวถึงฤๅษีวาสุเทพอยู่คอยอุจฉุบรรพต หรือดอยอ้อยช้าง ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อดอยตามชื่อฤๅษีตนนี้ ชื่อว่า ฤๅษีวาสุเทพ เป็นลูกหลานปู่แสะย่าแสะ และคงมีลัวะบางกลุ่มที่มีความเจริญอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ดังจะเห็นว่าลัวะมีความสามารถในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยเหล็กมาช้านาน จนในสมัยล้านนา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายได้ให้ลัวะส่งส่วยเป็นสิ่งที่ผลิตจากเหล็ก และสังคมชนเผ่าลัวะมีหัวหน้าเรียกว่า "สะมาง" ซึ่งอาจจะมีการจัดตั้งทางสังคมที่นับถือเสาอินทขิล
ในอดีตเสาอินทขิลตั้งอยู่ที่วัดสะตือเมือง ตรงกลางเวียงเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละได้ย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลเป็นเสาหลักเมือง ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเป็นผีที่รักษาเมืองเชียงใหม่ โดยชาวบ้านตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ยังปฏิบัติกันอยู่ทุกปี แม้ว่า เคยเลิกไปสมัยหนึ่งแล้ว
ครั้งศึกษาถึงตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ในระยะหลัง พบว่ามีการแต่งตั้งพรานป่าชื่อ ทิพย์ช้าง ชาวลำปาง ซึ่งเป็นหัวหน้าในการขับไล่ทัพพม่าออกจากลำปางไปนั้นให้เป็นเจ้าเมือง มีชื่อว่า “พญาสุลวลือชัยสงคราม” ซึ่งพบว่ามีคำว่า "ลว" หรือ "ลวะ" อยู่ด้วยในชื่อดังกล่าว โดยตำนานกล่าวว่าพรานผู้นี้เป็นชนเผ่าลัวะ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า คำว่า "ลว" หรือ "ลวะ" ในที่นี้ แปลว่า ชนพื้นเมืองมากกว่าชื่อของชนเผ่า
ครั้นโยงไปถึงการศึกษาคำว่า ลาว ซึ่งเป็นคำนำหน้านามแทนคำบอกตำแหน่งกษัตริย์แล้ว จะพบคำว่า ลาว และ ลวะ เป็นคำเดียวกัน และเมื่อย้อนกลับไปเทียบดูการปรากฏของลัวะในตำนานต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง จะทำให้เห็นว่า "ลวะ" ที่ได้พบพระพุทธเจ้านั้น อาจจะไม่เป็นชนเผ่าลัวะ แต่คงเป็นชนพื้นเมืองในท้องถิ่นและเมื่อศึกษาถึงการใช้คำเรียกชนกลุ่มนั้นแล้ว พบว่าในตำนานดอยตุงมีการเรียกปู่เจ้าลาวจกว่า "มิลักขะ มิลักขุ่ย มิลักขยะ" และในกรณีของ "ขุนหลวงวิรังคะ" ซึ่งเป็นหัวหน้าของชาวลัวะ ที่เชิงดอยสุเทพนั้น พบว่ามีการใช้ "บ่าลังคะ มะลังคะ มิลักขะ มิลักขุ" โดยเฉพาะคำว่า "มิลักขุ" เป็นภาษาบาลี มีความหมายที่ไม่ต่างกัน คือแปลว่า คนป่าเถื่อน หรือคนที่ด้อยความเจริญ ซึ่งหมายรวมถึง คนพื้นเมือง แต่เป็นชาวบ้านนอก หรือชาวบ้านป่าที่มิได้รับอารยธรรมแบบเมือง ทั้งที่แต่เดิมแล้ว "ลาว" หมายถึง กษัตริย์ ซึ่งทำให้อาจสรุปได้อีกว่า ลวะคือคนในพื้นถิ่นนั้นหรือเป็นชาวบ้านซึ่งด้อยความเจริญ แต่ในขณะเดียวกัน ลวะ ก็เป็นคำที่ชาวล้านนาเรียกชื่อชนเผ่าที่ด้อยความเจริญคู่กับชาวกะเหรี่ยง ดังในสำนวน เช่น "เพรอะเหมือนลัวะเหมือนยาง" คือ สกปรกเลอะเทอะเหมือนชาวลัวะและชาวกะเหรี่ยง
อย่างไรก็ตาม จิตร ภูมิศักดิ์ (2519) ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า มิกขะ มีลักษณะพัฒนการจากพื้นฐานที่ว่าชนชาติอาระยันเป็นผู้พิชิต และมีอำนาจปกครองทางการเมืองเหนือชนพื้นเมืองเดิม พวกอารยันจึงเรียก ชนพื้นเองเดิมทั้งหมด ไม่ว่าเป็นเผ่าใดว่า มิลักขะ, มิลักขุ หรือ มิลักโข ซึ่งแปลว่า คนป่า คนเถื่อน คนชาวเชา คนชั้นต่ำ คนไม่บริสุทธิ์ หรืออะไรทำนองนั้น ในภาษาสันสกฤตเรียกพวกนี้ว่า เมลษ หรือ เมลจณ เพี้ยนกันทาเงสียงและรูปคำ แต่ความหมายอย่างเดียวกัน ถือกันว่าห้ามชาวอาระยันคบค้าสมาคมด้วยทุกอย่าง และจะแต่งงานด้วยก็ไม่ได้เพราะจะทำให้เสียสายเลือดอันบริสุทธิ์ ห้ามสอนความรู้อะไรให้เด็ดขาด เพาะถือเป็นคนชั้นต่ำ กดไว้ไม่ให้เงยหน้า ไม่ให้ตีเสมอชาวอาระยัน และไม่ให้โอกาสกอบกู้ฐานะทางสังคมและการเมืองของตนได้ ชื่อเรียกว่ามิกขะ หรือ เมลจณะ นี้พบเอ่ยถึงเก่าแก่ที่สุดในคัทภีร์ ศตปถ พราหมณะ , III , ๒, ๑ พฤหสตารัณยกะ ๒๒ - ๒๔ ข้อความในนั้น กล่าวถึง เมลจณะในฐานะเป็นชนเผ่าต่างชาติที่มิใช่อาระยันเผ่าหนึ่ง โดยกล่าวว่าเป็น..."ชนต่างชาติที่ชอบร้องเออะไม่เป็นภาษาว่า เห ลโว ลวะ มีผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ และกล่าวว่า เมลจณะ นี้น่าจะเป็นคำที่ชนพื้นเมืองรุ่นก่อนนำติดตัวเข้ามาจากตะวันตก คือเป็นภาษาตระกูลเซมิติว่า เมเลข แปลว่า เจ้า ราชา และคำนี้ยังร้องรอยคล้ายคลึงอยู่กับภาษาปรากฤต (ภาษาถื่นของอารยัน) ที่เรียกว่า มิลักขุ หรือมิลักโข ส่วนเสียงร้องว่า เหลวะ ที่ว่าฟังไม่เป็นภาษา ก็เป็นภาษาเซมิติคอีก คือเป็นชื่อภาพเจ้าของชาวเซมิติคซึ่งยังปรากฏในภาษาของเฮบรูว่า เอโลอาห์ แต่ไม่ว่ารากเหง้าเดิมของคำว่ามิลักขะ หรือ เมลจณะจะแปลว่าเจ้าหรือราชา หรืออะไรก็ตามที ชาวอาระยันผู้พิชิตได้นำชื่อนี้มาเรียกในความหมายว่าป่าเถื่อนไร้ความเจริญ และเป็นคำมนภาษาอารยัน (บาลี, สันสฤต, ปรากฤต) แปลว่าคนเถื่อนไปเสียแล้ว ( จิตร ภูมิศักดิ์ 2519 , น. 377- 379)
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร
จากการสำรวจฐานข้อมูลในปัจจุบันยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะพื้นที่ต่าง ๆ อย่างชัดเจน แต่จะยังคงเป็นข้อมูลทะเบียนราษฎ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะมีการนับรวมแบบผสมผสานไม่ได้มีการจำแนกออกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตามจากการค้นคว้าในสารานุกรมของสถาบันวิจัยภาษาและประชากรของมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี 2539 พบว่า มีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นอยู่ในบริเวณหุบเขาแถบแนวตะเข็บของจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนและบางส่วนได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่ในบริเวณที่ราบกันมากขึ้นเช่นที่บ้านบ่อหลวงและบ้านกองลอย อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จากข้อมูลทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทยปีพ.ศ. 2538 ของกองสงเคราะห์ชาวเขากรมประชาสงเคราะห์กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมีจำนวนประชากรดังนี้
จังหวัด | อำเภอ | หมู่บ้าน/ตำบล | ประชากร |
เชียงใหม่ | อ.เชียงดาว | บ้านนาหวาย ต.เมืองนะ | 93 |
อ.แม่แจ่ม | บ้านของ,บ้านเฮาะ,บ้านแปะ,บ้านกอกน้อย ต.ปางหินฝน | 1,150 | |
บ้านมีดหลอง, บ้านสบลอง, บ้านแม่แวง ต.บ้านทับ | 701 | ||
อ.อมก๋อย | บ้านแม่แวน,บ้านกองลอย,บ้านทุ่ง,บ้านใหม่ทุ่งสน ต.บ่อสลี | 2,000 | |
อ.ฮอด | บ้านบ่อหลวง,บ้านวังกอง,บ้านขุน,บ้านนาฟ่อน,บ้านแม่สะนาม, บ้านบ่อสะแหง, บ้านพะแวน ต.บ่อหลวง | 5,424 | |
บ้านกิ่วลม ต.บ่อหลวง (อยู่ร่วมกับกลุ่มอื่น) | 307 | ||
อ. สะเมิง | บ้านบ่อแก้ว ต.บ่อแก้ว (อยู่ร่วมกับกลุ่มอื่น) | 42 | |
แม่ฮ่องสอน | อ.แม่สะเรียง | บ้านป่าแป๋ ,บ้านช่างหม้อ ต.ป่าแป๋ | 1,364 |
บ้านละอางเหนือ ต.ห้วยห้อม (อยู่ร่วมกับกลุ่มอื่น) | 147 | ||
อ.แม่ลาน้อย | บ้านสาม,บ้านตูน,บ้านของ,บ้านละอุบ,บ้านดงใหม่ ต.ห้วยห้อม | 2,248 | |
บ้านสันติสุข ต.แม่ลาหลวง | 501 | ||
บ้านสุขใจ ต.แม่ลาหลวง (อยู่ร่วมกับกลุ่มอื่่น) | 76 | ||
อ.ปางมะผ้า | บ้านน้ำฮูผาเสื่อ ต.นาปู่ล้อม | 65 | |
อ.ขุนยวม | บ้านท่าหินส้ม ต.เมืองปอน (อยู่ร่วมกับกลุ่มอื่น) | 23 |
รูปแบบการตั้งถิ่นฐานในภาพรวม
จากข้อมูลของ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของขาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) (2563) ซึ่งได้อ้างอิงงานเอกสารเดิมของบุญช่วยและนักวิชาการต่างประเทศ ได้ระบุข้อมูลว่า “ชนชาติละเวือะ อยู่ในเขต พื้นที่ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย (บุญช่วย 2506, น.138) ในพงศาวดารเก่า ๆ เล่าว่า มีลัวะรัฐ (ลพบุรี) ก่อนขอมเข้ามามีอำนาจ สมัยพระนางจามเทวี เคยทำสงครามกับพวกลัวะ ปฐมพงศาวดารเมืองเงิน ยางเชียงแสน กล่าวว่ามีพวกลัวะอยู่บริเวณดอยตุง และตำนานพระธาตุภาคเหนือ กล่าวถึงชนชาติลัวะก่อนชนชาติไทยและขอม พงศาวดารเชียงตุง เขียนว่าคนทั้งหลายออกมาจากน้ำเต้าใบเดียวกัน ลัวะ ออกมาเป็นพวกแรก กะเหรี่ยงออกมาเป็นพวกที่สอง ต่อมาเป็นคนไทย (บุญช่วย 2506, น.138-139) อาณาจักรของลัวะ คือบริเวณแหลมสุวรรณภูมิ และเขตมณฑลยูนนานตอนใต้ เมื่อถูกขอม เขมร ไทย ลาว จาม และเวียดนามรุกรานก็พากันแตกพ่ายไปอยู่ตามป่าเขาห่างไกล (บุญช่วย 2506, น.141) ลัวะนั้นเป็นชนกลุ่มดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ อาณาจักรลัวะ ถึงกาลล่มสลายประมาณปี พ.ศ. 1200 ในสมัยของขุนหลวงวิรังคะ ผู้นำคนสุดท้ายของชาวลัวะ ปัจจุบันพบลัวะในจังหวัด คือ ลำปาง อุทัยธานี สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน และแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านลัวะที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ลัวะอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัด 21 อำเภอ 71 หมู่บ้าน จำนวน 3,322 หลังคาเรือน ประชากรรวม 17,637 คน (ทำเนียบชุมชนฯ 2540, น.50) การตั้งถิ่นฐานของลัวะ เป็นการตั้งถาวร บ้านยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วยหญ้า มีระเบียง และห้อง 1 ห้องใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เลี้ยง สัตว์ ยุ้งข้าวแยกอยู่ต่างหาก (Lebar and others 1964, p.120) ชานหน้าบ้านสำหรับใช้นั่งปั่นฝ้าย กรอด้ายทอผ้าภายในห้องมีเตาไฟ สุมไฟไว้ตลอดเวลา ใช้เสื่อไม้ปูนอน หมอนทำด้วยท่อนไม้ ไม่นิยมนอนบนที่นอนครอบครัว
ชุดข้อมูลในการอธิบายรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชาวละเวือะจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเป็นชุดข้อมูลจากพื้นที่ใดเป็นพื้นฐานหลัก ดังจะเห็นได้จากงานของ ประเสริฐ ชัยพิกุสิต (2542) ระบุว่า แต่เดิม ลัวะได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ 900 ปีที่แล้ว แต่มีพวกมอญที่อพยพมาจากลพบุรีและมาสร้างเมืองลำพูนและลำปางได้เข้ามารุกรานที่อยู่อาศัยของชาวลัวะจนต้องถอยร่นไปอาศัยอยู่บนเขากลายเป็นชาวเขาไปในที่สุด ในปัจจุบันชาวลัวะส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่บนภูเขาโดยหมู่บ้านหนึ่งมักประกอบด้วย 20-100 หลังคาเรือน การสร้างบ้านเรือนนั้นมักตั้งอยู่บนสันเขาและมีพื้นที่รอบหมู่บ้านเป็นพื้นที่เพาะปลูก ในขณะเดียวกันก็มีชาวลัวะบางส่วนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบแต่ชาวลัวะกลุ่มนี้ส่วนมากได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมไทยจนถูกกลืนเอกลักษณ์ของตนเองเกือบทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเชียงรายจะพบว่าในงานของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารของเทศบาลตำบลบ่อหลวงได้อธิบายว่า เรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่าลัวะในหนังสือชื่อ 30 ชาติในเชียงรายอธิบายว่าในจังหวัดเชียงรายเท่าที่ทราบมีหมู่บ้านชาวลัวะอยู่ 5 แห่งด้วยกัน คือ อ.เมือง 2 หมู่บ้าน อ.พาน 2 หมู่บ้าน อ.เวียงป่าเป้า 1 หมู่บ้าน สำหรับ อ.เมือง มีอยู่ในเขต ต.บัวสลี 1 แห่ง ต.แม่กรณ์ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ตำบลนี้แต่ละแห่งมีประมาน 20 หลังคาเรือน ชาวลัวะที่อยู่ทางทิศตะวันออกบ้านฮ่องขุ่น ต.บัวสลี อ.เมือง จ.เชียงรายนั้น ตั้งอยู่บ้านบนที่ราบเชิงเขาดอยปุย ปลูกบ้านเรือนหลังเล็ก ๆ แบบชาวเหนือที่อัตคัดตามชนบท คือ มีฝาสานขัดแตะ ห้องครัวอยู่ต่างหาก ต่อจากห้องนอนมีระเบียงและชานนอกชายคา โรงวัวโรงควาย เล้าไก่ ยุ้งข้าว อยู่ห่างกัน
โดยจากการลงพื้นที่และได้รับการบอกเล่าจากชาวชุมชนพบว่าในเชียงใหม่ ลัวะส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านบ่อหลวง อ.ฮอด อ.แม่แจ่มและอ.สะเมิง ในแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.แม่ลาน้อย และอ.แม่สะเรียง
ชุดข้อมูลที่ระบุถึงจำนวนของครัวเรือน ประชากร และสถานการณ์ด้านประชากรนั้น ยังไม่ได้มีการบันทึกอย่างชัดเจนและละเอียดมากนัก ซึ่งเป็นไปตามบริบทของงานวิจัยและหน่วยงานที่ลงพื้นที่เป็นหลัก จากการศึกษาในเชิงเอกสารพบว่ามีพัฒนาการที่น่าสนใจตามช่วง 3 ระยะเวลา ดังนี้
ห้วงที่ 1 จากงานของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา (2530) ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ลัวะเมืองน่าน” ระบุว่า จากการสำรวจจำนวนประชากรของชาวเขาทั้ง 9 เผ่าในประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523 พบว่าชาวลัวะอาศัยกระจัดกระจายตาม 6 จังหวัด รวมเป็น 11,536 คน ดังนี้
1.จังหวัดเชียงใหม่ 6,952 คน
2.จังหวัดเชียงราย 150 คน
3.จังหวัดกาญจนบุรี 144 คน
4.จังหวัดแม่ฮ่องสอน 3,677 คน
5.จังหวัดสุพรรณบุรี 136 คน
6.จังหวัดอุทัยธานี 739 คน
ส่วนสถิติจำนวนประชากรชาวเขา 9 เผ่าที่อาศัยอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปี พ.ศ.2527 พบว่าจากเดิมเมื่อปี พ.ศ.2523 ชาติพันธุ์นี้ถูกเรียกว่าลัวะ แต่เมื่อปี พ.ศ.2527 เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นละว้า และระบุว่าอาศัยอยู่ใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน โดยมีจำนวน 43 หมู่บ้าน 2,297 หลังคาเรือน รวมทั้งหมด 12,885 คน
ซึ่งห้วงที่ 2 จะเห็นได้จากงานของ ประเสริฐ ชัยพิกุสิต (2542) ระบุว่า ในประเทศไทยมีประชากรลัวะอยู่ทั้งหมด 59 หมู่บ้าน 3,261 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 17,216 คน คิดเป็นร้อยละ 2.28 ของประชากรชาวเขาในประเทศไทยทั้งหมด (ข้อมูลจากหนังสือปี 2542)
และในห้วงที่ 3 ซึ่งเป็นการสำรวจที่ชัดเจนมากที่สุดจะพบว่า ในกรณีของจำนวนประชากร ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) ระบุว่า กองสถาบันวิจัยชาวเขาได้รวบรวมจำนวนประชากรชาวลัวะในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุพรรณบุรี และอุทัยธานีในช่วงพ.ศ.ปี 2530-2531 มีทั้งสิ้น 8,376 คน และล่าสุดกองสงเคราะห์ชาวเขาได้สำรวจในปี พ.ศ.2545 มีจำนวนลัวะทั้งสิ้น 22,260 คน ในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2428 ลัวะมีประชากรอยู่ราว 9,000-10,000 คน โดยกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ในปัจจุบันลัวะมีจำนวนประชากรราว 11,536 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 3.19 ของประชากรชาวเขาทั้งหมดในประเทศไทย สังเกตได้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรชาวลัวะนั้นค่อนข้างน้อยเนื่องจากการแต่งงานช้าและการผสมผสานเข้ากับความเป็นคนไทย
ข้อสังเกตุที่น่าสนใจคือ ชุดข้อมูลที่มีความทันสมัยและน่าเชื่อถือถึงจำนวนประชากรลัวะในประเทศไทยคือ ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง (2563) ที่ได้ระบุว่า ไทยมีจำนวนประชากรชาวลัวะ 58,803 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 4.08 ของจำนวนประชากรของชาวเขาในประเทศไทย
วิถีชีวิต
ในภาพรวมนั้น ชาวลัวะ มีอาชีพทางกสิกรรม ทำนา ไร่ สวน เลี้ยงสัตว์ จำพวกวัว ควาย หมู ไก่ หมูของชาวลัวะจะปล่อยให้หากินตามบริเวณบ้าน ถ้าฤดูข้าวเหลืองจึงจะนำมาขังไว้ในคอก เวลาว่างก็ทอผ้า ตำข้าว จักสาน เช่น กระบุง ตะกร้า ฯลฯ ฤดูแล้งชอบเข้าป่าล่าสัตว์ เมื่อได้สัตว์ป่ามาตัวหนึ่ง ผู้ล่าแบ่งเอาไว้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งนำไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านตีเกราะสัญญาณเรียกชาวบ้านแบ่งกันไปจนทั่วทุกหลังคาเรือน การปลูกสร้างบ้านเรือน ชาวบ้านจะช่วยกันทั้งหมู่บ้าน ไม่ต้องจ้าง
อย่างไรก็ตามในงานของ สุธานี มะลิพันธ์ (2552) ได้อฺธิบายเพิ่มเติมไว้ในวิทยานิพน์ที่ชื่อว่า“ความมั่นคงทางอาหารของชาวลัวะบ้านป่ากำ” ซึ่งค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ชาวลัวะที่บ้านป่ากำมีวิธีการนับวันเช่นเดียวกับกับชาวลัวะอื่น ๆ ใน อ.บ่อเกลือ โดยจะใช้คำว่า “งิ” ซึ่งหมายถึงวันในภาษาลัวะเป็นตัวนับ ดังนี้ 1.งิคต 2.งิรวง 3.งิเตา 4.งิกา 5.งิขาบ 6.งิดับ 7.งิวาย 8.งิเมิง 9.งิเปริ๊ก 10.งิกั๊ด ซึ่งทั้งสิบวันนี้จะเป็นตำกำหนดวิถีชีวิตในแต่ละวันของชาวลัวะ เช่น เมื่อถึงงิคตและงิรวง คนในชุมชนจะหยุดงานในไร่และงดการเก็บหาอาหารรวมถึงการเข้าป่าล่าสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้วันทั้งสิบนี้ยังมีส่วนในการกำหนดการประกอบพิธีกรรมในชุมชนอีกด้วย เช่น งิขาบ คือวันถือเเป้งเหล้าหรือทำแป้งเหล้าของตระกูลที่นับถือผีอะเยิร เป็นต้น ในส่วนของการนับเดือนนั้นมีการนับเดือนตามรูปแบบจันทรคติของภาคกลางคือนับแบบ 12 เดือน
อาชีพหลักของชาวลัวะบ้านป่ากำคือการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกข้าว มัน งา เผือก เป็นต้น และมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาบริโภคภายในครัวเรือนรวมถึงนำไปเป็นของเเลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการ รายได้ของคนภายในชุมชนจึงมาจากการออกไปรับจ้างเป็นแรงงานภายนอกหมู่บ้าน โดยภายในหมู่บ้านจะไม่มีการซื้อขายสิ่งของต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหาร และไม่มีร้านค้า แต่จะมีการแบ่งปันอาหารให้กันและกันเสมอ โดยเฉพาะในฤดูกาลที่ขาดแคลน
ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวลัวะบ้านป่ากำ เนื่องจากในชุมชนต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ และที่ดินในการดำรงชีวิตในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนอาหารไปจนถึงการใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม โดยสามารถที่จะจำแนกประเภทของแหล่งอาหารตามลักษณะของทรัพยากรทางธรรมชาติได้ 3 ประเภท คือ 1) ป่าไม้และห้วย เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนที่มีหลากหลายชนิดให้บริโภคตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ สมุนไพร เป็นต้น 2) พื้นที่เกษตรกรรม คนในชุมชนจะมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อใช้สำหรับการผลิตอาหาร โดยจะจัดสรรพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งมาใช้สำหรับเพาะปลูก 3) พื้นที่บริเวณรอบ ๆ ที่ตั้งชุมชน ไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์และเก็บหาอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้นั้นอยู่ภายใต้ข้อตกลงของคนภายในชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ โดยไม่อนุญาตให้มีการตัดไม้ทำลายป่าหรือทำไร่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
นอกจากนั้นจากงานของ ประเสริฐ ชัยพิกุสิต (2542) ยังได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในงานเรื่อง สิบสองชนเผ่าในประเทศไทย ความว่า ชาวลัวะมีการยังชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอยแบบหมุนเวียนโดยมีพืชหลักเป็นข้าวเจ้าเนื่องจากนิยมรับประทานข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว ทั้งยังนิยมดื่มเหล้าจากข้าวเจ้า และมีพืชอื่นที่ใช้ปลูกหมุนเวียนและใช้สำหรับครัวเรือนได้แก่ ถั่ว แตงกวา ข้าวโพด พริก ฝ้าย และผักสวนครัว นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข วัว กระบือ สุกร ไก่ เป็นต้น โดยสัตว์เหล่านี้นอกจากจะใช้ในการบริโภคในครัวเรือนแล้วยังมีการใช้เพื่อทำพิธีกรรมในการเลี้ยงผีอีกด้วย การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ของชาวลัวะนอกจากจะมีไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนแล้วก็ยังสามารถนำไปขายที่หมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันชาวลัวะบางหมู่บ้านมีการปลูกพืชเศรษฐกิจไว้ขายสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่น ท้อ เสาวรส ผักกาด กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ถั่วแดง ถั่วลันเตา เป็นต้น ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถยกระดับความเป็นอยู่จากบ้านแบบมุงหลังคาด้วยหญ้าคาและใบตองตึงมาเป็นมุงด้วยสังกะสีแล้ว
เนื่องจากชาวลัวะนิยมบริโภคข้าวเจ้าจึงทำให้การเกษตรส่วนมากของชาวลัวะเป็นการปลูกข้าวไร่โดยมีการเรียนรู้การทำนามาจากคนไทยและเป็นการทำนาแบบขั้นบันไดและมีพื้นที่ทำไร่ข้าวอยู่รอบหมู่บ้าน ซึ่งการทำไร่ข้าวจะเป็นในลักษณะของการปลูกข้าวระบบหมุนเวียนไปทุกปี ใช้เวลาประมาณ 7-10 ปีจึงจะครบรอบแล้วแต่พื้นที่การทำไร่ที่หมู่บ้านเป็นเจ้าของโดยการทำไร่ข้าวจะทำในพื้นที่เดียวกันและหมุนเวียนไปพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการทำไร่ข้าวของชาวลัวะยังมีความเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องการถือผีอีกด้วย ทั้งการเลือกพื้นที่ที่จะใช้ถางหญ้าเพื่อทำไร่ข้าวไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวข้าว
ในการเลือกพื้นที่ทำไร่ของชาวลัวะนั้นจะไม่มีการถางป่าที่เป็นป่าแก่หรือป่าปฐมภูมิเนื่องจากมีความเชื่อว่าป่าแก่เป็นสถานที่ที่ผีป่าสิงสถิตอยู่ และต้องการอนุรักษ์ป่าแก่เหล่านี้ให้เป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งสร้างความร่มรื่นแก่คนในหมู่บ้าน รวมไปถึงอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแนวกันไฟป่าอีกด้วย ดังนั้น หากผู้ใดทำการถางป่าแก่จะถูกปรับเงิน การทำไร่ของชาวลัวะมักทำในพื้นที่ป่าหนุ่มหรือป่าทุติยภูมิ นอกจากนี้ ชาวลัวะยังมีแนวทางการป้องกันไฟป่าที่เข้มงวดมาก เนื่องจากหากเกิดไฟป่าขึ้นและลามไปยังพื้นที่อื่นจะทำให้ดินเสียความอุดมสมบูรณ์และไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก การเผาไร่ของชาวลัวะจึงได้รับความร่วมมือในการควบคุมจากคนในหมู่บ้านเป็นอย่างดีทำให้การทำไร่ของชาวลัวะไม่แยกเป็นหลายพื้นที่เช่นชนเผ่าอื่น
การทำไร่ของชาวลัวะมักเริ่มทำในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเริ่มจากการที่คนในหมู่บ้านประชุมหารือเพื่อเลือกพื้นที่ในการทำการเกษตร หลังจากนั้น สมังและลำจะทำหน้าที่ในการนำดินตัวอย่างจากพื้นที่ดังกล่าวมาทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งพิธีนี้ชาวลัวะเรียกว่า “สะโป้ก” หลังจากนั้นก็นำไก่ตัวเมียสีแดงมาฆ่าเพื่อเป็นการเซ่นไหว้ผีจำนวน 1 ตัว แล้วตรวจดูว่าดีของไก่ตัวนั้นมีลักษณะที่ดีคือมีน้ำเต็มและเป็นประกายหรือไม่ หากมีลักษณะเป็นที่พอใจก็ถือว่าพื้นที่แห่งนั้นสามารถทำไร่ได้โดยเริ่มต้นจากการให้สมังเป็นผู้มีสิทธิ์ในการเลือกพื้นที่ของตนเองเป็นคนแรก และตามมาด้วยลำ ผู้ช่วยลำ และชาวบ้านแต่ละครัวเรือนเป็นลำดับ เมื่อแต่ละครัวเรือนเลือกพื้นที่ของตนเองเรียบร้อยแล้วก็จะทำการสะโป้กพื้นที่ของตนเองเพื่อดูความเหมาะสมของพื้นที่ที่ตนเองเลือก หากดีของไก่ยังไม่เป็นที่พึงพอใจก็จะทำการแลกพื้นที่กับครัวเรือนอื่นแล้วการทำการสะโป้กอีกครั้งจนกว่าจะได้พื้นที่ที่พอใจ
กระบวนการต่อมาคือการถางไร่และการเผาไร่ซึ่งจะเริ่มในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม และใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจะเริ่มจากการถางป่าตั้งแต่ตีนเขาไล่ขึ้นไปบนเขาแล้วเหลือต้นไม้บนแนวสันเขาไว้เป็นแนวกันไฟ ในส่วนของการตัดต้นไม้จะตัดเพียงต้นเล็กเท่านั้น ส่วนต้นใหญ่จะตัดเพียงกิ่งก้านเท่านั้น หลังจากนั้นก็ปล่อยป่าทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนจึงค่อยเผา วันเผาจะถูกกำหนดโดยผู้อาวุโสของหมู่บ้าน โดยก่อนจะเผาป่านั้นจะมีการเซ่นไหว้ผีป่าเพื่อไม่ให้ไฟไหม้ลามไปยังพื้นที่อื่น หลังจากนั้นให้คนหนุ่มเป็นผู้จุดไฟเผาจากบริเวณตีนเขาในตอนกลางวันเมื่อไฟไหม้พื้นที่จนหมดแล้วเจ้าของพื้นที่แต่ละที่จะทำการปักเฉลวไว้ในพื้นที่ของตนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเป็นการบอกให้ผีป่ารู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีเจ้าของแล้ว แล้วจึงโยนดอกไม้และเมล็ดฝ้ายลงไปในพื้นที่ของตน หากพบว่ามีไม้ที่ไหม้ไม่หมดชาวลัวะจะทำการรวบรวมไม้เหล่านั้นมากองรวมกันแล้วทำการเผาอีกรอบแล้วจึงสร้างกระต๊อบไว้ในพื้นที่ของตนเอง ชาวลัวะมีความเชื่อว่าการเผาป่านั้นจะทำให้ดินมีสารอาหารจากการสะสมของขี้เถ้า ยิ่งไปกว่านั้นไฟจะเป็นการกำจัดแมลงและวัชพืชอีกด้วย
เมื่อเตรียมพื้นที่ในการทำไร่พร้อมแล้วทั้งหมู่บ้านจะทำการเลี้ยงผีอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงเริ่มการทำไร่ข้าวด้วยให้ชายหนุ่มนำไม้ไผ่ยาวประมาณ 4-5 เมตรเหลาปลายจนแหลมมาจิ้มพื้นดินให้เป็นรู แล้วให้ผู้หญิง เด็ก คนชรามาหยิดเมล็ดข้าวลงในหลุมตามหลังชายหนุ่ม หลังจากเสร็จกระบวนการปลูกข้าวแล้วหนุ่มสาวจะเล่นสาดน้ำกันโดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ข้าวงอกงามดี
ทั้งนี้เครื่องมือเครื่องใช้สำคัญในชีวิตได้แก่ ครกตำข้าวของชาวลัวะทำด้วยไม้ท่อน สูงประมาณ 1 เมตร เจาะเป็นหลุมลงไปประมาณ 1 คืบ ใช้ตำด้วยมือ โดยตั้งครกไว้ใกล้บันไดเรือนร่วมชายคา บางบ้านใช้ครกกระเดื่องซึ่งใช้เท้าถีบ ใต้ถุนเรือนเตี้ย ใช้เก็บของใช้ เครื่องหีบเมล็ดฝ้ายด้วยมือ ในงานของ สุธานี มะลิพันธ์ (2552) ระบุว่า ชาวลัวะมีการผลิตเครื่องมือสำหรับการทำอาหารด้วยตัวเอง เช่น ครกกระเดื่อง ที่มีอยู่ทุกหลังคาเรือนเพื่อใช้ในการตำข้าว และยังมีการผลิตครก (โค๊ะ) เขียง (โน๊ะ) ด้วย นอกจากนี้ยังได้ประดิษฐ์ภาชนะสำหรับใส่น้ำเอง ด้วยการเอาผลจากน้ำเต้ามาทำเป็นภาชนะ (แพะออก) ซึ่งมักจะเอาภาชนะที่ทำจากน้ำเต้านี้มาใส่น้ำสำหรับทำพิธีกรรมมากว่าใส่น้ำดื่ม อีกทั้งยังมีภาชนะใส่น้ำที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ซึ่งมีทุกหลังคาเรือนโดยชาวบ้านจะนำกระบอกไม้ไผ่ใส่ตะกร้าแล้วไปตักน้ำที่แหล่งน้ำดื่มในชุมชนมาบริโภคเป็นประจำทุกวัน
การตีมีดของชาวละเวือะที่บ้านบ่อหลวง
จาการลงพื้นที่สัมภาษณ์นายบุญจันทร์ ต๊ะซู่ (สัมภาษณ์, 2563) ชาวละเวือะ ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด พบข้อมูลที่น่าสนใจของการตีมีดหรือตีเหล็กของชาวละเวือะ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ ได้อธิบายถึงพัฒนาการการตีมีดว่าในอดีตการตีมีดนั้นใช้เตาดิน โดยเมื่อก่อนจะทำสูง มีสองชั้น เหมือนกับเตาอั้งโล่ แต่เวลาที่นำอันนี้เข้าใส่เหล็กมันจะอยู่ลุ่ม มีสองชั้น จะอยู่ข้างบน ขี้มันจะอยู่ข้างล่าง ข้างล่างเป็นเหล็กก้อนอย่างนี้ ก้อนหินนั่นแหละ ตีจนเละ จากนั้นเอาออก ตอนนั้นตีกันเป็นกลุ่มเลย
ทั้งนี้การตีมีดเป็นอาชีพดั้งเดิมเหมือนดังที่มีวลีว่า ลัวะตีเหล็ก นั่นคือในสมัยก่อนทุกหมู่บ้านประกอบอาชีพตีมีด เป็นอาชีพหลัก มีความชำนาญ เมื่อว่างหรือมีเวลาก็จะไปขุดเหล็กที่บ่อ ทั้งนี้ในการเลี้ยงผีบ่อเหล็กจะมีรายละเอียด ดังนี้ มีเลี้ยงวัวสามปีครั้ง เลี้ยงด้วยไก่ทุกปี ทำเป็นพิธีใหญ่ มีการเก็บเงินคนละสิบบาท ยี่สิบบาททุกตำบล ไปเลี้ยงผีที่บ้านโถ เมื่อก่อนเก็บบ้านละสองบาท ปัจจุบันเก็บร้อยสองร้อยบ้างขึ้นอยู่กับพิธี ตอนเลี้ยงก็มีคนเฒ่าคนแก่ไปประมาณสี่ห้าคน ถ้าเลี้ยงผีโดงก็จะเก็บทุกบ้าน แต่ถ้าเลี้ยงผีตามบ้านก็จะเก็บกันในญาติพี่น้อง ทั้งนี้ในพื้นที่บ้านโถเป็นหมู่บ้านที่มีพิธีการเลี้ยงผีมายาวนานสถานที่หนึ่ง เมื่อก่อนก็จะเดินกันไป ทำกันที่หอ เจ้าเก๊า หรือหมอผีเท่านั้นที่จะเข้าไปนั่งในหอ คนจะเป็นเจ้าเก๊า (เจ้าภาพหรือเจ้าพิธี-ผู้สัมภาษณ์) คือสืบทอดกันมาจากคนในตระกูลเขา มักเลี้ยงผีช่วงหน้าฝน ประมาณเดือนเก้า
ความแตกต่างระหว่างการตีเหล็กสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบันคือ ปัจจุบันผู้คนนิยมซื้อเครื่องใช้กัน ซึ่งระบบเศรษฐกิจจะต่างในอดีตที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนนั่นคือ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า "สมัยนี้เขาไม่ตีเหล็กกันแล้ว สมัยนี้ซื้ออย่างเดียว เสื้อผ้าที่ใช้สมัยนี้ก็ซื้อ เมื่อก่อนทอผ้าได้ สมัยนี้ไม่ทอแล้ว คนทอผ้าเก่ง ๆ สมัยนี้ก็หาไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนก็มีการเอาเหล็กที่ตีได้ไปแลกเสื้อผ้ามา ส่วนลัวะ/ละเวือะอมพายสมัยนี้เป็นช่างปั้นหม้อ สมัยก่อนเป็นหม้อดิน ขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษใครชำนาญด้านไหนก็จะสานต่อด้านนั้น ลัวะ/ละเวือะที่ตีเหล็กก็ฝึกจากปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ เลียนแบบกันมา การตีเหล็กก็มีแบบเดียว
ความแตกต่างระหว่างการเลี้ยงผีบ่อเหล็กระหว่างสมัยอดีตกับปัจจุบัน ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า "คนสมัยก่อนนี่พิถีพิถันเรื่องพิธีกรรมเลี้ยงผีมาก สมัยนี้ไม่ค่อยพิถีพิถัน ขั้นตอนนี่อยู่ที่บ่อ ไปเอาที่บ่อก่อนในตอนแรก คนจะตีเหล็กจะมีเตา แบกเหล็กไป เอาก๋วย (ตะกร้า) ไปหาบ ผีมีการเลี้ยงปีละครั้ง สมัยก่อนคนเชื่อเรื่องผีบ่อเหล็ก เลี้ยงกับเกือบจะทุกบ้าน สมัยนี้เลี้ยงกันสามปีครั้ง ใช้ไก่ใช้หมู ยังคงเก็บเงินทุกหลังคา เลี้ยงช่วงประมาณเดือนแปด เดือนเก้า ถ้าเลี้ยงไม่ทันเดือนแปดก็จะเลี้ยงเดือนเก้า ก่อนจะเลี้ยงจะสร้างเป็นหอไว้ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย สร้างไว้ที่บ่อ ไปนอนสองคืนก่อนเลี้ยง เอาวัวไปมัดที่นั่น คนก็จะร้องเรียกผีทั้งหลายมาว่าวันพรุ่งนี้จะเลี้ยงนะมาดูวัวที่มัดตรงนี้สิ ร้องขอให้อยู่ดีมีสุข พิธีจะเริ่มช่วงเช้า ถึงช่วงเที่ยงช่วงบ่าย เลี้ยงผีบ่อเหล็กใช้วัวหนึ่งตัว ฆ่าวัวที่นั่นเลย ถ้าหากไม่เลี้ยงก็จะไม่ดี ถึงเวลาเลี้ยงก็ต้องเลี้ยง ไม่อย่างนั้นจะมีอาถรรพ์ จะไปขุดบ่อขุดดินก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ดี จะเจ็บไข้ ปีที่แล้วก็มีเลี้ยง ครบรอบสามปีพอดี มีการเก็บเงินอยู่
วิธีการแบกเหล็กมีความหมายที่สำคัญนั่นคือ ขุดเสร็จเอาใส่ก๋วยหรือตะกร้าแล้วหาบกลับมา จะเป็นหินในบ่อเหล็ก คล้าย ๆ เป็นบ่อเหล็ก คล้ายเป็นดิน แต่เป็นด่าง แข็ง ๆ เอาไปทำเสียมทำอะไรได้อยู่ แต่หินมันจะไม่แข็ง ไม่เหมือนบึงแผ่น เมื่อมาถึงบ้านก็จะมีเตาไว้ทุกบ้าน หามเหล็กแล้วเอามาไว้ที่บ้าน เช่นกรณีบ้านแม่โถไปเช้าเย็นกลับก็ได้ อยู่อำเภอวังสลี สิบกว่ากิโล ถนนดีแล้วเดี๋ยวนี้ไปสบาย ตอนที่เลี้ยงก็มีมากันหลายคน ยังถามพ่อหลวงอยู่ว่าคนมาจากไหนกัน พอแบกมาแล้วก็ต้องบุบ (หรือทุบ) มีขอนไม้น้อย ๆ นี่มีหลายอัน ช่วยกันทุบกับลูกหลาน ทุบ ๆ หิน เอามาร่อน ๆ ใช้เวลาพอสมควรแต่ไม่ถึงวัน ร่อนเสร็จก็เอาเหล็กเป็นก้อน ๆ เอาไปลงเตาเผา เอามาหลอม ก่อนจะหลอมจะเป็นหินหลอมแล้วเป็นเหล็กก้อน จากเหล็กก้อนแล้วจะเอาไปตีเป็นเหล็กอะไรก็ได้ เตาหลอมนี่ก็เป็นดิน การตีก้อนหนึ่งก็ใช้ประมาณสี่คนขึ้นอยู่กับขนาดหิน เขาเอาไปเผาก่อนสามสี่วันก่อนที่จะตี เผาแกนมันจนกว่าตีแล้วจะไม่แตก เขาเรียกว่าหัวใจหิน เผาจนมันเป็นแกนหิน”
โครงสร้างครอบครัว และเครือญาติ
โครงสร้างครอบครัวและเครือญาติจะมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ ฉวีวรรณ ประจวบหมาะ และคณะ(2555) ระบุว่า ลัวะมองตัวเองเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ลัวะโสลดหลวง (มัลร) และ ลัวะดอกแดง โดยในส่วนของลัวะโสลดหลวงมองสมาชิกทุกคนใน “งวล” (หมู่บ้าน) อย่างเท่าเทียมกัน ยกเว้น “แก่งวล” หรือผู้ใหญ่บ้าน และ “เคาจำ” หรือหมอผี โดยพบว่าในภาษาลัวะมัลรนั้นไม่มีคำศัพท์ที่หมายถึงครอบครัว พบเพียงคำว่า “เกียง” ที่หมายถึง “บ้านเรือน” โดยตามคติของลัวะมัลรนั้น สมาชิกในเกียงจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก (ทั้งชายและหญิง) โดยเมื่อลูกสาวแต่งงาน ฝ่ายลูกเขยจะเป็นผู้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง (เป็นลักษณะการขยายครอบครัวทางฝ่ายหญิง) แต่หากในเกียงไม่มีลูกสาว อาจจะมีการยินยอมให้ลูกสะใภ้เข้ามาอยู่บ้านฝ่ายชายได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในโครงสร้างทางภาษาของลัวะมัลรจะมักให้ความสำคัญกับฝ่ายหญิง เช่น เรียก “แม่พ่อ” แทน “พ่อแม่” อย่างที่คนทั่วไปคุ้นชิน หรือศัพท์ที่ใช้เรียกญาติทางฝ่ายแม่จะเป็นภาษามัลร ในขณะที่คำที่ใช้เรียกญาติฝ่ายพ่อมักจะใช้ภาษาไทย
ในลัวะมัลยังมีกฎห้ามหญิงชายที่มีเชื้อสายเดียวกันแต่งงานกัน รวมถึงการสืบมรดกก็จะเป็นการสืบทางด้านผู้หญิงเป็นหลัก โดยลูกสาวคนสุดท้องจะเป็นผู้ที่ดูแลพ่อแม่ และสืบผีสืบเรือน หากในเกียงมีแต่ลูกชาย ก็จะสามารถทำหน้าที่แทนลูกสาวคนเล็กได้เรียงจากลูกชายคนโตลงไป
ในภาพรวมการสืบสายตระกูลนั้น จากข้อมูลของสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของขาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) (2563) ได้ระบุว่า “ชาวลัวะถือสายตระกูลทางฝ่ายชายในครอบครัวที่มีทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ชาวลัวะจะนับทั้งหญิงและชายที่เป็นพี่น้อง ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องถือผีตามสายตระกูลของฝ่ายชายและต้องเปลี่ยนการเรียกสถานภาพตามอย่างสามีของตน นอกจากนั้น ยังได้อ้างอิงจากงานของบุญช่วยอีกว่า ลัวะ หลังแต่งงานผู้ชายจะนำภรรยามาอยู่บ้านของตน จนกระทั่งลูกชายคนต่อไปแต่งงานก็แยกไป ปลูกเรือนเป็นของตัวเองต่างหาก (Lebar and others 1964, p.120 อ้างถึงใน บุญช่วย 2506 ) บางแห่งเช่นที่บ้านช่างหม้อ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังแต่งงานผู้ชายต้องมาอยู่บ้านผู้หญิง ผู้ชายมีโอกาสนำภรรยากลับไปบ้านบิดามารดาของตนได้ ก็ต่อเมื่อมีบุตรด้วยกัน (บุญช่วย 2506, น.186) ถ้าผู้หญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายต้องไปนับถือผีทางฝ่ายชาย”
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่น่าสนใจจากงานของ ประเสริฐ ชัยพิกุสิต (2542) ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ชาวลัวะมีประเพณีการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว เมื่อหลังแต่งงานฝ่ายหญิงต้องเข้าไปอยู่ในบ้านของฝ่ายชายและนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย และเมื่อมีบุตรโดยทั่วไปแล้วบุตรชายคนโตต้องออกไปสร้างบ้านของตนเองใหม่เมื่อแต่งงาน แต่บุตรชายคนเล็กต้องดูแลพ่อแม่ตลอดชีวิตรวมถึงได้รับมรดกของบ้าน ส่วนการแบ่งหน้าที่ในครัวเรือนจะใช้อายุและเพศเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง โดยที่ผู้หญิงจะทำหน้าที่หาฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ทำอาหาร และทอผ้า ส่วนผู้ชายมีหน้าที่ในการซ่อมแซมบ้านเรือน ทำนา งานเกี่ยวกับพิธีกรรมแทบทั้งหมด และล่าสัตว์ และงานในไร่นั้นเป็นหน้าที่ของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
งานของ สุธานี มะลิพันธ์ (2552) อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงสร้างครอบครัวของชาวลัวะที่บ้านป่ากำมีลักษณะแบบขยาย โดยใน 1 ครัวเรือนจะประกอบไปด้วย 2-6 ครอบครัวขึ้นไป ได้แก่ รุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก รุ่นหลาน และรุ่นเหลน ทั้งนี้ความสัมพันธ์ในครัวเรือนมีลักษณะที่ใกล้ชิดกัน และแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ตำข้าว หาฟืน ซึ่งแรงงานที่สำคัญในครัวเรือนคือรุ่นพ่อแม่และคนหนุ่มสาว และมีเด็กเป็นแรงงานเสริม โดยได้รับคำปรึกษาต่าง ๆ จากรุ่นปู่ย่า
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะทั้งในเมืองเชียงใหม่และเมืองน่านได้สืบสายตระกูลผ่านการนับถือผีเดียวกัน ถือเป็นเครือญาติที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และใช้เป็นข้อปฏิบัติในกลุ่มสายตระกูลเกี่ยวกับการสืบทอดผู้นำในกลุ่ม รวมทั้งเป็นข้อห้ามในการแต่งงานกับคนในตระกูลเดียวกันที่ถือเป็นญาติพี่น้องใกล้ชิด ความแตกต่างเรื่องสายตระกูลของทั้งสองพื้นที่แม้มีการใช้นามสกุลเข้ามากำหนด แต่เมื่อสืบถามเรื่องตระกูลยังสามารถระบุตัวตนของเครือญาติได้ เนื่องจากจำนวนประชากรในแต่ละหมู่บ้านมีน้อย เมื่อถึงเวลาทำพิธีเลี้ยงผีจึงมีโอกาสพบปะกันสม่ำเสมอ รายละเอียดของสายตระกูลกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเชียงใหม่ และน่าน มีดังนี้
การสืบเชื้อสาย และระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะปรัยเมืองน่าน และเมืองไชยสถาน สปป.ลาว สืบตามสายตระกูล ชื่อตระกูลเป็นชื่อเฉพาะที่รู้กันในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะปรัย เช่น ตระกูลที่อยู่ในเมืองไชยสถานมีตระกูลหยวก ตระกูลปอล ตระกูลเพ่ย ตระกูลอลอล ชื่อของหลายตระกูลคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเมืองน่านที่มีตระกูลปริ๊ก ตระกูลรอล ตระกูลหยวก ตระกูลชาล ตระกูลอลอล และยังยอมรับการเป็นญาติพี่น้องกันมาแต่อดีต ที่ต่างแยกย้ายไปอยู่ในเขตการปกครองของประเทศไทย และ สปป.ลาว ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการปักปันเขตแดนระหว่างไทย และฝรั่งเศส
การนับญาติทางสายตระกูลของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน แตกต่างจากการนับญาติพี่น้องจาก “นามสกุล” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัวะเมืองน่านที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นคนไทย มีนามสกุลเดียวกันทั้งหมู่บ้าน เช่น บ้านห้วยหมี ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ มีนามสกุล 2 นามสกุล คือ ใจปิง และ อักขระ แต่ในหมู่บ้านไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกันทุกคน บ้านขุนน้ำลาด ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง ทุกตระกูลใช้นามสกุล “เปาป่า” ร่วมกันโดยมิได้เป็นญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกันทั้งหมด (สัมภาษณ์ นายธันยปรัชญ์ ทัพพมงคลรัตน์ วันที่ 29 มีนาคม 2562) เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์บ้านห้วยทรายขาว ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติมีเพียงนามสกุลเดียว คือ “หอมดอก” ซึ่งมิใช่กลุ่มเครือญาติกันทั้งหมด นามสกุลเป็นการตั้งขึ้นใหม่ ต่างจากสายตระกูลที่มีมาแต่อดีต การสืบเครือญาติจึงสืบจากสายตระกูลที่เกี่ยวข้องกับการนับถือผีบรรพบุรุษโดยส่วนใหญ่ลูกหลานจะอยู่ตามสายตระกูลทางฝ่ายแม่ที่นับถือผีบรรพบุรุษทางฝ่ายผู้หญิงเป็นหลัก
การสืบสายตระกูลเพื่อเอื้อต่อการกำหนดข้อห้ามว่าพี่น้องที่อยู่ในตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลกัน ให้สอบถามว่าอยู่ในตระกูลไหน จากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ อาจทำให้ลูกหลานไม่รู้จักสายตระกูลของตนเอง สามารถตรวจสอบได้จากวันกำอีกประการหนึ่ง วันกำตรวจสอบได้จาก 10 ในหนึ่งสัปดาห์ของคนลัวะที่นับต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในช่วง 10 วันนี้ มีวันกำ คือ วันที่คนในแต่ละตระกูลหยุดการทำงานหนักเรือนแต่ละหลังจะอยู่กำไม่เหมือนกัน หรือหยุดงานไม่พร้อมกัน ลูกหลานในตระกูลที่มีวันกำวันเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ ทั้งนี้หากวันกำของ 2 ตระกูลซ้ำกัน ให้ดูที่วันกำใหญ่ และวันกำน้อยที่ต้องไม่ตรงกัน
สายตระกูลของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่านได้สืบทอดมาอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผีและการสืบสายตระกูลที่เคร่งครัด ต่างจากการสืบสายตระกูลของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเชียงใหม่ที่อาจยังดำรงอยู่ แต่เมื่ออยู่ใกล้กับกลุ่มชาติพันธุ์ไทพื้นราบทำให้ความทรงจำและความเคร่งครัดเรื่องสายตระกูลลดลง เช่น การสืบเชื้อสาย และระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองเชียงใหม่ที่บ้านเมืองก๊ะ ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม ไม่มีชื่อตระกูลที่ชัดเจน แต่ในชุมชนรับรู้และระบุได้ว่าแบ่งตระกูลหลักเป็น 4 ตระกูล คือ (1) ตระกูลของนายไพศาล ไทยใหม่ (2) ตระกูลของพ่ออุ้ยศรี ดอยคำ (3) ตระกูลของนางปันแก้ว จันดี และ (4) ตระกูลของนายสมศักดิ์ คำคง แต่ละตระกูลก็จะมีสมาชิกที่ถือผีลัวะผีเดียวกันอยู่ การจดจำเครือญาติของสายตระกูลอาจเนื่องมาจากสมาชิกในหมู่บ้านมีจำนวนไม่มากนักและมีโอกาสได้เจอกันเป็นประจำเมื่อทำพิธีกรรมเลี้ยงผี
ส่วนการแบ่งสายตระกูลของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวง มี 2 ตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลสุนันตา และตระกูลขุนแก้ว การศึกษาเรื่องสายตระกูลจากผลงานของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2545: 117) กล่าวถึงผีบ่อเหล็กทั้ง 5 คือ ขุนสุนันตาหรือขุนตา ขุนตอง ขุนวิลังคะ ขุนแก้วนาโหลง ขุนอะลองปักแวง ว่าชาวบ้านได้ตั้งหัวหน้าเป็นตัวแทนของผีเหล่านั้น แต่ละคนใช้เป็นต้นตระกูลของตน เช่น ขุนตาเป็นต้นตระกูลสุนันตา ขุนแก้วนาโหลงเป็นต้นตระกูลขุนแก้ว ส่วนขุนอะลองปักแวงมีหน้าที่ป่าวประกาศเมื่อจะมีพิธีการต่าง ๆ คือเป็นกรรมการผู้จัดการพิธีการปัจจุบันไพบนามสกุลนี้แล้ว ส่วนขุนตองกับขุนหลวงวิลังคะไม่มีการกล่าวว่าสืบทอดโดยตระกูลใด ปัจจุบันพบว่า ตระกูลขุนแก้ว และตระกูลสุนันตา ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเลี้ยงผีในหมู่บ้าน และใช้นามสกุลตามชื่อตระกูลมาถึงปัจจุบัน มีข้อห้ามชายหญิงในสองตระกูลนี้แต่งงานกัน นอกจากขุนแก้ว และสุนันตา ในตำบลบ่อหลวงยังสามารถสืบได้ด้วยการเลี้ยงผี เช่น ข้อมูลจากข่าวสารคดีของ อินทุอร จานะ (สื่อออนไลน์ วันที่ 8 มกราคม 2561) เรื่อง การทำพิธีมัดมือสู่ขวัญลูกชายคนแรกของครอบครัว ด้วยการเลี้ยงผีบรรพบุรุษด้วยควาย ทำขึ้นใน 4 ตระกูล ที่บ้านนาฟ่อน ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด ประกอบด้วย ตระกูลที่ใช้นามสกุล “วงศา หนูสา มานะ และบุญมา” เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนมานับสายตระกูล และเครือญาติตามนามสกุลเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อกำหนดให้ตั้งนามสกุล (ตั้งแต่ พ.ศ.2456) ทำให้ผู้หญิงในตระกูลต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามี การสืบลูกหลานทางฝ่ายหญิงอาจไม่เคร่งครัดและสำคัญเท่าการสืบลูกหลานทางฝ่ายชายที่เป็นผู้นำการเลี้ยงผีในตระกูล
การสืบสายตระกูลตามนามสกุลเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดที่บ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม ที่สืบสายตระกูลตามชื่อหมู่บ้านโดยกลุ่มใหญ่ในหมู่บ้าน คือ เยืองมะพลอง (เยือง แปลว่า บ้านหรือหมู่บ้าน) และตระกูลที่มาอยู่กด้วย คือ เยืองเหงียก เยืองเดียม และเยืองแซม ที่มาจากหมู่บ้านอื่น จึงเป็นคนในตระกูลอื่นตั้งชื่อตามหมู่บ้านเช่นกัน โดยการศึกษาของ จันทรบูรณ์ สุทธิ และคณะ (2539) พบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเขตแม่ฮ่องสอน จำนวน 24 กลุ่ม โดยมีตระกูลยงญัก(เงี้ยก) และ ยงเดียม (สำเนียงบ้านมืดหลองออกเสียงว่าเยืองเหงียก และเยืองเดียม) เป็น 2 กลุ่มที่รวมอยู่ในนั้น และทั้งสองกลุ่มได้มาอยู่รวมกับเยืองมะพลองซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในบ้านมืดหลอง ในการอยู่รวมกันได้เลี้ยงผีประจำแต่ละกลุ่ม หรือตามตระกูลของตน การระบุว่าเป็นตระกูลเดียวกันหรือไม่ อาจดูได้จากการพิธีกรรมการเลี้ยงผีบรรพบุรุษของแต่ละตระกูลได้
โดยสรุปแล้ว การสืบสายตระกูลและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะทั้งในเมืองน่านและเชียงใหม่ มีการกำหนดสายตระกูลเพื่อแบ่งคนเป็นกลุ่มตามการนับถือผีเป็นสำคัญ หากไม่รู้ชื่อตระกูล แต่สามารถระบุกลุ่มเครือญาติได้จากการร่วมพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษ นอกจากพิธีกรรมแล้ว การสืบสายตระกูลเพื่อป้องกันการแต่งงานในกลุ่มตระกูลเดียวกันที่จะทำให้เกิดเลือดชิด ส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกหลานที่จะเกิดมาในอนาคตได้ จึงเป็นข้อห้ามเด็ดขาดในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะทุกพื้นที่อย่างชัดเจน ส่วนการสืบทอดผู้นำการเลี้ยงผีของแต่ละตระกูลพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน สืบสายตระกูลโดยฝ่ายแม่ คือ ผู้หญิงเป็นผู้นำ เรียกว่า แม่ก๊ก แม่ฮีต ส่วนทางเชียงใหม่สืบสายตระกูลโดยฝ่ายพ่อ คือ ผู้ชายเป็นผู้นำการประกอบพิธีกรรมทั้งหมด
ระบบชุมชน
ในกรณีของการปกครองชุมชน จากการลงพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ของผู้จัดทำฐานข้อมูล พบว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นอดีตกำนันตำบลบ่อหลวงและดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (สัมภาษณ์, 2563) กล่าวว่า
“....... ในสมัยก่อน ภาษีอากรต่าง ๆ มีกำนันและผู้ใหญ่บ้านของลัวะเป็นผู้จัดการ ภาษีวัว ภาษีควาย เป็นต้น กำนันหรือที่เรียกว่า ป้อแคว่น เป็นผู้เก็บ เป็นผู้ที่ดูหัวเมืองของลัวะ/ละเวือะ พอมาอยู่ที่นี่การทำมาหากินในสมัยนั้นก็มีการไปเอาเหล็กที่แม่โถ ไม่ทราบว่าสัญญากับผี อย่างไร ลักษณะเหมือนขอให้มีแร่ออกเยอะแล้วจะแลกเปลี่ยนด้วยการให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อขึ้นไปขุดเหล็กที่แม่โถก็ได้เซ่นไหว้วัว ทำมาจนกระทั่งปัจจุบัน ถามว่าไม่ทำได้ไหมก็ได้ แต่ของโบราณก็ต้องทำ ปีที่แล้วก็ทำ มีการเก็บหลังคาละสิบบาททั่วตำบล สามพันกว่าหลังคาเรือนก็ตีไว้ว่าประมาณสองหมื่น เพื่อเป็นค่าวัว ค่าเหล้า ค่าไก่ ค่าสารพัด เครื่องแกงต่าง ๆ ปีนี้ขาดทุนเพราะคริสต์ไม่ถือผี คนที่นับถือ คริสต์ในตำบลก็เยอะ เป็นพวกกะเหรี่ยงสี่หมู่บ้าน เหลืออยู่หมู่บ้านเดียวที่เขาไม่ถือ กำนันเลยต้องควักเงินเอง...... ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบการปกครองในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ดังในกรณีงานของ สุธานี มะลิพันธ์ (2552) ระบุว่า การปกครองในชุมชนลัวะบ้านป่ากำนั้นมี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 1) การปกครองโดยหมอฮีตเป็นผู้นำของชุมชนและคอยดูแลคนในหมู่บ้านทั้งด้านการอยู่ การกิน การเพาะปลูก การสร้างบ้าน การแต่งงาน การเจ็บป่วย เป็นต้น 2) การปกครองโดยส่วนกลาง กล่าวคือ จะมีผู้นำที่มาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการพัฒนาหมู่บ้าน เช่น การใช้วิทยุ ปืน นาฬิกา เครื่องเสียง ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน ทั้งนี้คนในหมู่บ้านป่ากำยังคงมีการติดต่อกับชุมชนภายนอกอย่างจำกัดเนื่องจากการคมนาคมที่ไม่สะดวกเพราะไม่มีถนน อีกทั้งกฎและประเพณีของชุมชนที่เคร่งครัด เช่น ห้ามคนในชุมชนแต่งงานกับคนภายนอก คนภายนอกห้ามเข้ามาพักแรมในชุมชนเกินสิบวัน เป็นต้น โดยการติดต่อกับชุมชนภายนอกจะเป็นในลักษณะของการรับจ้างไปเป็นแรงงาน อิทธิพลจากภายนอกจึงไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชุมชนบ้านป่ากำมากนัก
ทั้งนี้จากข้อมูลโดยทางการแล้วจะพบว่า ในกรณีของกระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) ได้ระบุถึงการจำแนกระดับสังคมของลัวะไว้ 4 ระดับ โดยระดับแรกได้แก่ กวนโต๊ะ คือกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 1-14 ปี ระดับที่สอง ได้แก่ กวนเพลีย ปเกรส คือ กลุ่มเด็กหนุ่มสาวที่มีอายุ 15-20 ปี ระดับที่สาม ได้แก่ และเพียะเยือะ คือ กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 21-45 ปี และระดับที่สี่ได้แก่ ต๊ะควด คือกลุ่มผู้อาวุโสที่มีอายุ 46 ปีขึ้นไป ทั้งนี้กลุ่มของระดับแรกและระดับสองนั้นจะเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจต่อการเข้าสู่กลุ่มระดับสาม ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตทายาทให้มีคุณภาพต่อไป รวมถึงเป็นผู้ผลิตและหาอาหารให้กับชุมชนและครอบครัว เพื่อเป็นสมาชิกระดับที่สี่ที่มีคุณภาพและเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกหลานต่อไป
ในระดับหมู่บ้านมีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำสำคัญที่ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมระดับชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนที่มีการสืบทอดผู้นำชุมชนโดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเมืองน่านมีการรวมกลุ่มกันตามเครือญาติ สายตระกูล จึงไม่มีความซับซ้อนในระดับการปกครองทางสังคม ด้วยความเป็นเครือญาติที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการแบ่งหน้าที่ทางสังคมด้วยการเป็นผู้นำ ผู้ดูแลปกป้อง ผู้นำพิธีกรรม โดยทั่วไปผู้นำการประกอบพิธีกรรม คือ ผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่เป็นที่เคารพนับถือมีบทบาทด้านความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมในหมู่บ้าน ประกอบด้วย
ผู้นำระดับสูงสุด คือ ข้าวจ้ำที่ทำหน้าที่เลี้ยงผีเมือง โดยผู้ที่ถือผีใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน จะเป็นผู้นำในการเลี้ยงผีเมือง ผีไร่ และได้สิทธิ์ในการเลือกไร่ และทำไร่ก่อนตระกูลอื่น ในหมู่บ้าน ในการเลี้ยงผีบ้าน มีข้าวจ้ำบ้านเป็นผู้นำพิธี นอกจากหน้าที่เลี้ยงผีแล้วข้าวจ้ำยังได้รับความเคารพนับถือในฐานะหมอสู่ขวัญ
ผู้นำในระดับครัวเรือน ระดับสายตระกูล คือ ผู้อาวุโสสูงสุดโดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คือ แม่ฮีต หรือแม่ก๊ก ที่สืบทอดโดยลูกสาวคนโตของตระกูล
หมอที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาด้านร่างกายด้วยการรักษา เช่น หมอสมุนไพร หมอตำแย หรือแม่ฮับ หมอที่ดูแลด้านจิตใจ เช่น หมอผี หมอเมื่อ หมอเป่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชื่อว่ามีคาถาอาคม มีความรู้ความสามารถเกี่ยกับการรักษาด้านร่างกายและจิตใจของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ผู้นำในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ ความเชื่อในการประกอบพิธีกรรม เป็นผู้สูงอายุ มีประสบการณ์ในการอบรมสั่งสอนลูกหลานในชุมชนให้มีทัศนคติที่ดีและเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต
บ้านเมืองก๊ะ มีผู้นำประกอบพิธีกรรมเรียกว่า “ตั้งข้าว” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนในหมู่บ้านติดต่อกับผี โดยมีทำหน้าที่ในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เช่น พิธีไหว้สาป๋ารมีพ่อขุนหลวงวิลังคะ (เดิมเรียกว่า พิธีเลี้ยงผีพ่อขุนหลวง) พิธีเลี้ยงผีม่อน เป็นต้น
ตั้งข้าว จะต้องเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากลัวะเท่านั้น และส่วนใหญ่จะสืบทอดมาจากคนในตระกูลเดียวกัน เช่นในกรณีของ ครอบครัวของ พ่ออุ้ยศรี ดอยคำ ที่เป็นตั้งข้าว ของพิธีเลี้ยงผีพ่อขุนหลวง ก็ได้สืบทอดต่อกันมาในครอบครัว เมื่อพ่ออุ้ยศรีอายุมากขึ้นเป็นตั้งข้าวไม่ไหวก็ให้ พ่อปวน ดอยคำ คนในครอบครัวเป็นตั้งข้าวแทน ในบางพิธีกรรมถ้าขาดผู้สืบทอดเป็นตั้งข้าวต่อ อาจทำให้พิธีกรรมนั้นไม่ได้รับการสืบทอดต่อไป เช่น พิธีเลี้ยงผีม่อน ซึ่งมีนายเรือน ตากลม เป็นตั้งข้าว เมื่อนายเรือนเสียชีวิตลงในปี 2507 ก็ปรากฏว่าไม่มีผู้สืบทอดต่อ พิธีกรรมนั้นจึงสูญหายไป ตั้งข้าว เมื่อจะสื่อสารกับผี จะพูดด้วยภาษาลัวะ แต่ภายหลังพูดด้วยคำเมือง เนื่องจากตั้งข้าวรุ่นใหม่ไม่สามารถพูดภาษาลัวะได้อีกแล้ว
บ้านมืดหลอง ผู้นำในพิธีคือ “สะมาง” ส่วนคนทำหน้าที่กล่าวในพิธีเพื่อการสื่อสารกับผีไม่มีชื่อตำแหน่ง โดยจะเรียกชื่อของคนผู้นั้นเลย ให้คนเฒ่าคนแก่ที่เคารพนับถือในหมู่บ้านเป็นผู้นำในการประกอบพิธี โดยถือว่าผู้รู้ต้องรับหน้าที่กล่าวนำในพิธีไป ไม่มีการแต่งตั้ง ไม่มีการสืบทอด ในการเลือกผู้นำพิธีชาวบ้านต้องยอมรับด้วยคุณสมบัติคือ มีตำแหน่งทางสังคม เป็นที่เคารพนับถือ เป็นคนดีไม่ติดอบายมุข หรือเสพของมึนเมา เมื่อเสียชีวิตไป คนในชุมชนจะทำการเลือกใหม่ตามคุณสมบัตืที่เหมาะสมไม่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดทางสายตระกูล
จากการเก็บข้อมูลเรื่องสังคมและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะของ H.E.Kauffmann (1972: 258-259) ในพื้นที่บ้านมืดหลอง บ้านบ่อหลวง จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงบ้านละอูบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำการแบ่งกลุ่มคนในสังคมเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สะมางสืบเชื้อสายมาจากขุนหลวงวิลังคะ 2. ลำ (Lam) เป็นระดับรองลงมา หรือที่บ้านป่าแป๋เรียกว่า “ปูลำ” (ปิชญา ตะนอย, 2560: 65) 3. ลัวะ กลุ่มคนทั่วไป
ในสังคม ตำแหน่งของ ลำ อาจเกิดขึ้นภายหลัง (H.E.Kauffmann, 1972: 259) เป็นผู้อาวุโสในชุมชนที่ไม่ใช่ตระกูลสะมาง เป็นตำแหน่งผู้นำความเชื่อทั้งในพิธีกรรมทางการเกษตร การแต่งงาน การสร้างบ้าน งานศพ ลำมีผู้ช่วยเป็นผู้สืบทอด เมื่อลำถึงแก่กรรมผู้ช่วยลำที่ได้เรียนรู้ทุกสิ่งจากลำ จะขึ้นมารับตำแหน่งแทน
นอกจากสะมางแล้ว ในบ้านมืดหลองมีผู้นำในพิธีคือสะมางผู้ทำพิธีสูงสุดเรียกว่า “ตะนก” มีผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคนแนะนำเวลาทำพิธีใช้คนแก่ในหมู่บ้าน แต่ละปีจะทำพิธีเลี้ยงที่ หยู ทุกปีช่วงตานข้าวใหม่ เอาหมูเอาไก่ไปเลี้ยง คนที่ไม่ร่วมคือคนที่มาอยู่ใหม่ คนที่อยู่มานานถึงจะร่วมเลี้ยงผีช่วงตานข้าวใหม่
ตะนกในกลุ่มย่อยสามารถใช้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับถือในหมู่บ้านเป็นผู้นำในการประกอบพิธีได้ แต่ในการทำพิธีใหญ่ เช่น นกสไป๊ท์ควรมอบให้ตะนกสูงสุดเป็นผู้จัดการ ด้านการสืบทอดที่ประชุมในหมู่บ้านจะคัดเลือกผู้รู้ที่มีความเหมาะสม เป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้าน ที่เลือกมาแล้วชาวบ้านไม่ยอมรับไม่มี คือ ผู้นำชุมชนถ้าเลือกแล้วชาวบ้านต้องยอมรับกันหมด หากผู้นำพูดแล้วจะเข้าใจกันหมด (แสดงถึงความเคารพผู้นำ) การเลือกผู้นำที่แท้จริงของลัวะบ้านมืดหลองจะพิจารณาจากคนที่ดีไปรับตำแหน่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งทางราชการ ส่วนผู้นำพิธีกรรมแล้วแต่ผู้หมู่บ้านจะเลือก ซึ่งถ้าเป็นคนแก่เมื่อไม่สามารถทำได้แล้วก็มีคนใหม่มาแทน ส่วนใหญ่การจะให้คนมากล่าวในพิธีเป็นใครก็ได้ แต่ควรต้องมีตำแหน่งทางสังคมบาง เช่น พ่อทองเป็นสารวัตรกำนันเป็นผู้กล่าวนำ การมีตำแหน่งแสดงว่ามีคนนับหน้าถือตา เป็นคนไม่กินเหล้า ไม่กินยา เป็นคนดี ทุกคนยกย่อง นับถือ เชื่อถือ
บ้านบ่อหลวง ไม่มีตระกูลสะมาง ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เรียกว่า “ตั้งข้าว” เป็นผู้บอกกล่าวแก่ผีที่จะเลี้ยง ต้องมีเชื้อสายของผีที่เป็นผู้นำ โดยที่บ้านบ่อหลวงยกให้ผู้ที่มีเชื้อสายเจ้าขุน ที่มีนามสกุลว่า “ขุนแก้ว” และ “สุนันตา”
หน้าที่ของทั้งสองตระกูลที่มีต่อชุมชนแตกต่างกันตระกูลสุนันตา เป็นเชื้อผีในพิธีกรรมต่าง ๆ ทำหน้าที่เหมือนสะมัง แต่ที่บ้านบ่อหลวงมอบหน้าที่ให้ตระกูลสุนันตา (ปัจจุบันใช้ชื่อตระกูลเป็นนามสกุล) ส่วนอีกตระกูล คือ ขุนแก้ว ที่เป็นเชื้อสายตระกูลขุน มีหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน คือ หลัดถา (บางพื้นที่เรียกว่า หลาบ) เป็นแผ่นโลหะตีเป็นแผ่นบางขนาดใกล้เคียงกับใบลาน สำหรับจารอักษรลงไป เป็นอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมือง ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวงไม่สามารถอ่านเนื้อหาได้ ปัจจุบันเก็บรักษาด้วยการฝัง การเปิดหลัดถาเฉพาะในโอกาสที่จำเป็น ในการเปิดแต่ละครั้งต้องเลี้ยงหมูหนึ่งตัว จึงไม่เปิดหากไม่มีเหตุจำเป็น รักษาพระพุทธรูป 1 องค์ เป็นพระพุทธสิหิงค์ให้ชาวบ้านสระสรง ไม่ประดิษฐานไว้ในวัด ต้องรักษาไว้ที่บ้านคนในตระกูลขุนแก้ว ถ้ามีการเปลี่ยนหน้าที่ เช่น คนที่ดูแลอยู่เดิมย้ายบ้านไป หรือเสียชีวิต ต้องให้เชื้อสายคนต่อไปรักษาแทน
พระพุทธสิหิงค์ มีไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชาและทำพิธีสรงน้ำ แต่ห้ามประดิษฐานไว้ในวัด ต้องรักษาไว้ในบ้าน คนในตระกูลขุนต้องทำหน้าที่ปกป้องดูแล ตระกูลขุนแก้วทำหน้าที่รักษาพระพุทธรูปให้อยู่กับลูกหลาน มีหลัดถาฝังในดิน หากต้องเปลี่ยนหน้าที่ เช่น คนที่ดูแลอยู่เดิมย้ายบ้านไป หรือเสียชีวิต ต้องให้เชื้อสายคนต่อไปรักษาแทน โดยนำเอาหลัดถาออกมา การเปิดหลัดถาต้องเลี้ยงหมูตัวหนึ่ง จะขอเปิดโดยไม่จำเป็นไม่ได้ (สัมภาษณ์ นายหม่อม จูแวน และ นายปั๋น ขุนแก้ว วันที่ 22 สิงหาคม 2561)
ตระกูลสุนันตามีหน้าที่เป็นตั้งข้าว เป็นผู้บอกกล่าวเลี้ยงผีบ้าน การโยกย้ายหรือสลับสับเปลี่ยนหน้าที่ระหว่างสองตระกูลจะกระทำไม่ได้ เช่น กรณีที่พระพุทธรูปรักษาไว้โดยตระกูลสุนันตา ได้ประชุมร่วมกันในหมู่บ้านแล้วมีความเห็นว่าไม่ถูกต้อง ขึด ต้องย้ายกลับมารักษาที่บ้านตระกูลขุนแก้วดังเดิม โดยการประชุมในหมู่บ้านเพื่อร่วมพิจารณาประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนตระกูลขุนแก้ว ตระกูลสุนันตา และผู้สูงอายุที่นับถือในหมู่บ้านต้องมาร่วมตัดสินว่าควรให้ตระกูลขุนแก้วรักษาไว้ดังเดิม เป็นต้น
บทบาทของผู้หญิงลัวะ/ละเวือะ
ผู้หญิงลัวะ/ละเวือะหลังแต่งงานจะย้ายไปอาศัยอยู่ที่บ้านสามี ในสมัยก่อนก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของสามีและมีฐานะต่ำกว่าผู้ชายโดยอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังมีหน้าที่เลี้ยงลูก ทำงานบ้าน นอกจากนี้ยังไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา หากจะออกไปเรียนหนังสือจะถูกมองว่าทำสิ่งที่ไม่สมควรและเป็นกาลกิณีของหมู่บ้าน
ในสมัยก่อนมีกฎเกณฑ์สำหรับผู้หญิงลัวะ/ละเวือะว่าต้องผ่าฟืนได้ ต้องทำกับข้าวและทำงานบ้านได้ หากทำไม่ได้จะหาสามียาก ผู้หญิงมีหน้าที่ปรนนิบัติสามี เมื่อตะวันตกดินแล้วห้ามออกจากบ้านเพราะถือเป็นสิ่งที่ผิดระเบียบ (ในปัจจุบันก็ยังมีการสอนเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านเรื่องการห้ามออกจากบ้านหลังตะวันตกดินเนื่องจากกลัวจะได้รับอันตรายจากการข่มเหงของผู้ชาย) ยิ่งไปกว่านั้น ในสมัยก่อนหากเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะยิ่งมีกฎระเบียบมากกว่าเดิม มีหลักการครองเรือนหลายประการ เช่น เคารพสามี มีหน้าที่ซักผ้า ทำกับข้าว ผ่าฟืน เป็นต้น โดยงานภายในบ้านถือเป็นหน้าที่ของผู้หญิงส่วนผู้ชายจะมีหน้าที่ทำงานใหญ่นอกบ้าน
การแต่งกายในชีวิตประจำวัน
ณัฎฐวี ทศรฐและสุริยา รัตนกุล (2539) ระบุว่า ผู้หญิงละว้าจะสวมเสื้อขาวแขนสั้นกันด้วยด้ายสีอย่างประณีต ตัวเสื้อทำจากผ้าทอที่มาเย็บต่อเป็นผืนเดียวกัน ลักษณะเด่นของการต่อผืนผ้าของชาวละว้าคือการต่อผ้าด้วยเส้นด้ายสีต่าง ๆ มาเย็บสลับสีอย่างประณีตจนเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งบนผืนผ้านั้น ส่วนผ้านุ่งมีสีพื้นเป็นสีดำและมีลายผ้าเป็นแถบยาวแนวนอนคั่นตลอดผืนผ้า ลายผ้าบนชิ้นนี้เกิดจากการมัดลายขนาดต่างๆห่างกันเป็นระยะพอประมาณมีแถบสีที่เชิงผ้าด้านล่างเป็นแถบใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นสีแดงหรือสีชมพูเหลือบด้วยสีเหลืองและลายมัดนั้นเป็นสีน้ำเงินแซมขาว ผ้านุ่งนี้มีขนาดกว้างแนบลำตัวมีปอเต๊ะ (ผ้าพันแขน) และปอชวง (ผ้าพันแข้ง) นิยมใช้สีฟ้า สีน้ำเงิน และสีม่วง ผู้หญิงละว้าส่วนใหญ่นิยมใส่กางเกงวอร์มไว้ด้านในผ้านุ่ง
ทรงผม: หญิงนิยมไว้ผมยาว หญิงสาวมัดผมมวยปล่อยปลายยาวประดับด้วยปิ่นเงินส่วนผมด้านหน้านิยมแสกกลางติดกิ๊บดำหรือกิ๊บเงินทั้งสองข้าง นอกจากนี้สาวบางหมู่บ้านยังนิยมการต่อปลายผมให้ยาวโดยใช้ผมจริงที่ตัดและเก็บเอาไว้ตกแต่งที่ปลายผมนั้นด้วย ส่วนหญิงสูงอายุนิยมมวยผมต่ำ แต่ไม่ทิ้งปลายผมแบบหญิงสาว
เครื่องประดับ: สาวละว้านิยมสวมสร้อยเงินเม็ดและสร้อยลูกปัดพลาสติกสีแดง สีส้ม และสีเหลืองหลาย ๆ เส้นและสวมฮนางโต๊ะพเยะ (สร้อยติดคอ) เป็นเชือกฝ้ายสีต่าง ๆ ยาวห้อยอยู่ที่ด้านหลัง ส่วนที่หูนิยมใส่โบระ (ต่างหูเงินรูประฆังหงาย) หญิงสาวบางหมู่บ้านยังนิยมใส่ต่างหูงาช้าง ที่ฐานต่างหูมีทั้งแป้นใหญ่ (รูหูของผู้ใส่จะมีขนาดใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย) และแป้นต่างหูสำหรับสาวรุ่นใหม่ในบางหมู่บ้านซึ่งมีเพียงแกนเสียบเท่านั้นและเสียบด้วยต่างหูไหมพรมยาวสีเหลืองแดงหรือส้มขนาดยาวจนถึงไหล่ ต่างหูไหมพรมนี้จะนิยมใส่ในหมู่สาวเท่านั้นหากเป็นแม่บ้านจะไม่ใส่ นอกจากนี้ยังมีสร้อยลูกปัดร้อยโยงระหว่างต่างหูเป็นสร้อยอยู่ที่ใต้คางและที่บริเวณเหนือผ้าพันแข้งหญิงละว้าส่วนใหญ่จะสวมสกุนลอง (กำไลเส้นเล็กทำด้วยฝ้ายเคลือบยางรักหรือสีน้ำมันเป็นสีดำ) นิยมสวมครั้งละหลายวงที่ส่วนบนผ้าพันแข้งต่ำจากสกุนลองคือสกุนเลียเป็นกำไลทองเหลือง (สังเกตว่าสาวละว้าบางหมู่บ้านเมื่ออาบน้ำจะไม่ถอดเครื่องประดับสกุนลองและสกุนเลียออก) ที่ส่วนบนของผ้าพันแขนจะสวมเสลียง (กำไลต้นแขน) และนิยมสวมเบรย (กำไลข้อมือเป็นเงินรูปเกลียว) ส่วนเครื่องใช้ติดตัวของหญิงชาวละว้าอายุ 30 ปีขึ้นไปคือโม้ค (กล้องสูบยา) มีทั้งที่ตกแต่งด้วยแผ่นเงินและแกะไม้แบบธรรมดา นอกจากนี้หญิงละว้ายังนิยมสะพายย่ามเวลาเดินทางด้วย การแต่งกายของหญิงละว้านี้มีประเพณีว่า หากพี่สาวแต่งตัวไม่เก่งหรือมักใช้เสื้อผ้าเก่า น้องสาวจะต้องแต่งตัวให้เก่ากว่าพี่สาวหรือสวยน้อยกว่าพี่ เครื่องประดับก็ต้องใส่น้อยกว่าพี่สาวด้วยเช่นกัน ปัจจุบันหญิงสาวสมัยใหม่โดยเฉพาะคนที่เข้าไปทำงานในเมืองจะแต่งกายแบบคนพื้นราบทั่วไป แต่เมื่อเข้าร่วมพิธีกรรมทั้งเด็กหญิงและหญิงสาวก็นิยมแต่งชุดประจำเผ่าของตนอย่างสวยงามและแม้ว่าปัจจุบันนี้ชาวละว้าส่วนใหญ่จะแต่งกายตามสมัยนิยม แต่ลูกผู้หญิงทุกคนยังคงถูกสอนให้รู้จักการทอผ้า ดังจะเห็นได้จากเวลาว่างหญิงละว้าทุกครัวเรือนจะต้องนั่งทอผ้า ส่วนผู้ชายสวมเสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวเหมือนคนพื้นราบทั่วไปและนิยมสะพายย่าม ย่ามนั้นมีหลายลักษณะส่วนใหญ่มักเป็นย่ามที่ไม่มีการปักลวดลาย แต่จะเป็นลวดลายที่เกิดจากการทอ สีที่ใช้มักเป็นสีขาวขลิบชมพูเข้มหรือสีแดง ย่ามลายแดงแนวตั้ง ย่ามส้มแดงลายไทยประยุกต์ ย่ามดำขาวขลิบข้างด้วยสีชมพู ลักษณะเด่นของย่ามละว้าคือการเย็บรอยตะเข็บด้วยด้ายสีต่าง ๆ อย่างประณีต
การแต่งกายในพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ
การแต่งกายในพิธีกรรมของหญิงละว้านี้ ส่วนหนึ่งจะแต่งเช่นเดียวกับการแต่งกายประจำวัน แต่ในกรณีที่เป็นพิธีเลี้ยงผีฟ้าผ่า พิธีแต่งงานและงานศพจะต้องใส่เสื้อสีดำทับลงไปบนเสื้อสีขาว เสื้อสีดำนี้มีลายสีแดงแนวตั้งที่ข้างลำตัวเย็บลักษณะเดียวกับเสื้อสีขาว บางหมู่บ้านปักลายด้านหลังด้วยดอกสีต่าง ๆ ตั้งแต่เชิงด้านล่างขึ้นมา ส่วนด้านหน้าปล่อยว่างไว้สำหรับใส่สร้อยเครื่องประดับที่มีอยู่มาก นอกจากนี้หญิงชาวละว้านิยมประดับมวยผมด้วยปิ่นและขนเม่นอีกด้วย ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานและเข้าพิธีถ้าเป็นคนที่นับถือผีหรือพุทธและผีจะใช้ผ้าสีแดงเหลืองหรือขาวคลุมหน้ามือทั้งสองจะยึดที่มุมผ้าไว้ แต่หากนับถือคริสต์ศาสนาก็จะใช้ผ้าบางซึ่งมักเป็นสีขาวคลุมหน้า
ผู้ชายใส่เสื้อขาวแขนยาวทับเสื้อยืด นุ่งกางเกงลักษณะเดียวกับกางเกงขาก๊วยสีขาว เหน็บมีดงาช้างข้างลำตัว ที่ศีรษะโพกด้วยผ้าสีแดงหรือสีชมพูและหากเป็นเจ้าบ่าวในพิธีแต่งงานแบบศาสนาพุทธหรือแบบที่นับถือผีจะนุ่งผ้าคล้ายโจงกระเบนทับกางเกงและพันเอวด้วยกะซี (ผ้าคาดเอวที่ใช้ใส่เงินแถบเงินเจียงและเงินพดด้วง) อาจพบผู้ชายละว้าสูงอายุที่มีหูเป็นรอยเจาะรูขนาดใหญ่เนื่องจากในอดีตผู้ชายละว้านิยมใส่ต่างหูงาช้างนอกจากนี้ยังนิยมสักหมึกบริเวณลำตัวลงไปถึงหัวเข่า การสักหมึกนี้จะปรากฏแก่สายตาสาวได้เต็มที่เมื่อเล่นชวงละมางในพิธีศพซึ่งต้องถกขากางเกงขึ้นมาจนเห็นรอยสักนั้น ปัจจุบันคนหนุ่มไม่นิยมสักหมึกแล้ว
ในงานของ ณัฏฐวี ทศรฐ(2540) ได้อธิบาย ข้อมูลพื้นฐานด้านการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ/ละเวือะไว้ว่า การแต่งกายของผู้หญิงละว้านั้นจะประกอบไปด้วยเสื้อแขนสั้นสีขาวจากผ้าทอมือ ริมผ้าถูกกุ้นด้วยด้ายหลากสี ผ้าถุงจะนุ่งค่อนข้างแคบยาวประมาณเข่าหรือสูงกว่านั้น มีการใช้ผ้าพันแขน (ปอเต๊ะ) ผ้าพันขา(ปอชวง) สีขาว ฟ้า หรือน้ำเงิน เครื่องประดับประกอบกำไลต้นแขนเหนือผ้าพันแขน สวมสร้อยเงินและลูกปัด มีต่างหูรูประฆังหงายหรือต่างหูงาช้าง ที่แขนใส่กำไลรูปเกลียว ประดับน่องด้วยกำไลทองเหลือง (สกุนเลีย) และใส่กำไลหวายเส้นเล็ก ๆ หลายเส้น (สกุนลอง) ในระดับที่ต่ำกว่านั้น ในอดีตกล้องยาสูบ (โม้ค) ถูกนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับด้วย ทรงผมนิยมมวยขึ้นแล้วประดับด้วยปิ่นและขนเม่น
ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีเลี้ยงผีฟ้าผ่า พิธีแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น ผู้หญิงชาวลัวะจะสวมเสื้อสีดำแขนสั้นทับเสื้อสีขาว ปักดอกไม้หลากสีที่ด้านหลัง ในพิธีแต่งงาน ผู้หญิงชาวพุทธจะใช้ผ้าทึบสีแดง เหลือง หรือขาวคลุมหน้า มุมผ้าจะถูกมือทั้งสองยึดไว้ สวนหญิงชาวลัวะที่นับถือศาสนาคริสต์จะมีการคลุมผ้าบาง ๆ ไว้ที่หน้า
ชุดของชายลัวะจะใช้เสื้อยืดทับด้วยเสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงที่นุ่งจะมีสีขาวลักษณะคล้ายกางเกงจีน ข้างลำตัวเหน็บด้วยมีดงาช้าง โพกผ้าสีแดงหรือสีชมพูที่ศีรษะ หากในพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวที่นับถือศาสนาพุทธจะนุ่งผ้าในลักษณะคล้ายโจงกระเบนทับกางเกงและพันทับด้วยกะชี (ผ้าคาดเอวสำหรับใส่แถบเงิน เงินเจียง และเงินพดด้วง) ผู้ชายชาวละว้าที่อายุเยอะนั้นอาจมีรูขนาดใหญ่ที่หู เนื่องจากในอดีตนิยมใส่ต่างหูงาช้าง และนิยมสักหมึกตั้งแต่ลำตัวลงไปจนถึงหัวเข่า โดยปกติแล้วจะสามารถเห็นรอยสักหมึกได้ในการเล่นชวงสะมางในพิธีศพเนื่องจากต้องถกขากางเกงขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้ชายลัวะไม่นิยมการสักหมึกแล้ว
สอดคล้องกับข้อมูลจากการลงศึกษาภาคสนามของผู้จัดทำฐานข้อมูลซึ่งได้รับการอธิบายจากผู้รู้ว่าชาวลัวะ มีขนบธรรมเนียมเครื่องแต่งกายต่างกับชาวเหนือ คือ ผู้ชายนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบน หรือ โสร่ง ผู้หญิงสวมเสื้อสีดำผ่าอกแขนยาว ปักเป็นแผ่นใหญ่ที่หน้าอกตามแถวกระดุมและแถวรังดุม รอบคอ ปักที่ชายเสื้อ ตรงข้อมือทั้งสองข้างและใต้สะโพกรอบเอวด้วยดิ้นเลื่อมไหมเงิน คล้ายเสื้อขุนนางไทยโบราณ ผ้าซิ่นติดผ้าขาวสลับดำเล็ก ๆ ตอนกลางเป็นริ้วลาย ชายซิ่นติดผ้าสีดำ กว้างประมาณ 1 ศอก ตามปกติผู้หญิงอยู่บ้านไม่ค่อยสวมเสื้อ ชอบเปิดอกเห็นถัน ถ้าเข้าไปในมือง ก็จะแต่งกายอย่างชาวเหนือ ถ้าออกไปหาผักตามป่า จะเอาผ้าขาวโพกศีรษะ สะพายกระบุงก้นลึก โดยเอาสายเชือกคล้องศีรษะตรงเหนือหน้าผาก ใส่คาดคอรองรับน้ำหนักอีกชั้นหนึ่ง ไม่สวมเสื้อ แต่ดึงผ้าซิ่นขึ้นไปเหน็บปิดถันแบบนุ่งกระโจมอก มักมีกล้องยาเส้นทำด้วยรากไม้ไผ่เป็นประจำ เสื้อของผู้ชายอย่างเดียวกันกับผู้หญิงแต่ไม่ปักดอกลวดลายที่คอเสื้อและชายเสื้อ เครื่องแต่งกายดังกล่าวนี้ ปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว หันมานิยมเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ่าอกกลาง กางเกงจีนธรรมดา แต่ผู้ชายที่นุ่งผ้าโจงกระเบนยังมีอยู่บ้าง
ในพื้นที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ค้นพบผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านที่ได้สั่งสมเสื้อผ้าของชาวละเวือะและได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเสื้อผ้าและการแต่งกายตามประเพณีได้ให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนมีการไว้ผมยาวแล้วตัดผมมาทำเป็นวิกผมด้วยการม้วนเป็นจุกใหญ่ไว้บนศีรษะ และเอาของมันสำปะหลังเข้าจับจุกแล้วนำดอกลั่นทมมาเสียบไว้ เป็นทรงผมที่ผู้หญิงลัวะ/ละเวือะทำเวลามีงานเทศกาลใหญ่เท่านั้น ตุ้มหูส่วนใหญ่เป็นลายหลายสีแต่เนื่องจากผู้ให้สัมภาษณ์ไม่นิยมใส่จึงไม่ได้สะสม ส่วนการแต่งกายสำหรับผู้หญิงลัวะ/ละเวือะนั้น หญิงที่ยังไม่แต่งงานจะสวมเสื้อสีขาว ส่วนผู้หญิงที่ใส่เสื้อสีดำหมายถึงหญิงที่แต่งงานแล้วเป็นธรรมเนียมว่าผู้ชายไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
วัฒนธรรมการทอผ้า
ในสมัยก่อนการทอผ้าจะทอที่บ้าน โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกเองและใช้สมุนไพรที่ปลูกเองในการย้อมสีด้ายและผ้า ส่วนมากการทอผ้าของชาวลัวะ/ละเวือะจะทอในเวลาว่างเท่านั้น ในปัจจุบันก็ยังคงมีการอนุรักษ์การทอผ้าแบบดั้งเดิมอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านอมพายที่มีการทำสื่อลงในช่อง YouTube และมีการยกระดับเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่แม่สะเรียงก็ยังทำอยู่เช่นกัน (ที่แม่สะเรียงก็ยังมีชาวลัวะ/ลเวือะอยู่เช่นกัน เรียกว่าลัวะ/ละเวือะตะวันตก มีการพูดไม่เหมือนกันแต่มีภาษาตระกูลเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับลัวะ/ละเวือะที่อมพายโดยในสมัยก่อนมีการไปเลี้ยงผีที่อมพายด้วย) ชาวลัวะ/ละเวือะมีการทอผ้าไม่เหมือนคนเมืองหรือกะเหรี่ยงโดยจะใช้เท้าดึง และในปัจจุบันหากต้องการศึกษาการทอผ้าของชาวลัวะ/ละเวือะสามารถไปศึกษาได้ที่บ้านป่าแป๋
ในกรณีของพื้นที่อื่นเช่น จังหวัดน่าน ชาวลัวะบ้านป่ากำนั้นไม่มีการทอผ้าใช้เอง เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่จะสั่งซื้อมาจากบ้านสว้า อ.ปัว และบ้านบ่อหยวก เป็นต้น ในส่วนการแต่งกายแบบปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม เสื้อผ้าที่ใช้มักจะได้รับมาจากการบริจาค หรือหาซื้อจากร้านค้าภายนอกหมู่บ้าน ชาวลัวะบ้านป่ากำจะมีการแต่งกายโดยทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะใส่เสื้อสีดำหรือน้ำเงินเข้ม แขนยาว โพกผ้าสีแดง และมีการเจาะรูหูโตเหมือนกัน แต่ในส่วนของผ้าต้อย (ผ้าถุง) หรือโจงกระเบนของผู้ชายนั้นจะมีสีน้ำเงินเข้ม ส่วนผ้าต้อยของผู้หญิงจะมีสีแดงเข้มหรือหลากสี มีการติดเข็มกลัดที่เสื้อ และเกล้าผมขึ้น ในส่วนของการแต่งกายประจำวันของชาวลัวะบ้านป่ากำนั้นจะค่อนข้างเป็นสมัยนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มชายหญิงวัยเด็ก และวัยทำงาน แต่ผู้สูงอายุยังคงแต่งกายตามอัตลักษณ์ของชุมชนอยู่ โดยการแต่งกายก็จะคล้ายกับผู้คนในที่ราบ ผู้ชายสวมเสื้อแขนยาว นุ่งกางเกงขายาว ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาว นุ่งผ้าต้อย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนจากเจาะรูหูโตมาเป็นเจาะรูเล็กด้วยไม้ไผ่ หรือใส่ต่างหูแบบเดียวกับคนเมือง (สุธานี มะลิพันธ์ ,2552)
ที่อยู่อาศัย
พื้นที่เชียงราย ชาวลัวะที่อยู่ทางทิศตะวันออกบ้านฮ่องขุ่น ต.บัวสลี อ.เมือง จ.เชียงราย นั้น ตั้งอยู่บ้านบนที่ราบเชิงเขาดอยปุย ปลูกบ้านเรือนหลังเล็ก ๆ แบบชาวเหนือที่อัตคัดตามชนบท คือ มีฝาสานขัดแตะ ห้องครัวอยู่ต่างหาก ต่อจากห้องนอนมีระเบียงและชานนอกชายคา โรงวัวโรงควาย เล้าไก่ ยุ้งข้าว อยู่ห่างกัน
พื้นที่เชียงใหม่ ในงานศึกษาของ สิริชัย ร้อยเที่ยง และ เกรียงไกร เกิดศิริ (2560) ระบุว่า ชาวละเวือะที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่มีการตั้งบ้านเรือนในบริเวณหุบเขาสูงฝั่งทิศตะวันตกของอำเภอแม่แจ่มซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยในอำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่การตั้งบ้านเรือนของชาวละเวือะอยู่ 4 หมู่บ้านด้วยกัน ได้แก่ บ้านมืดหลอง บ้านเฮาะ บ้านกอกน้อย และบ้านของ ส่วนในพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นมีจำนวน 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแปะ บ้านละอาง บ้านดง บ้านละอูบ บ้านสาม บ้านกอกโหลง และบ้านช่างหม้อ
ชุมชนละเวือะเมืองก๊ะ ที่ตั้งของเมืองก๊ะ อยู่ในอำเภอแม่ริม เลยสามแม่ครัว จากปากทางเข้าไปสี่กิโล ลาดยางหมด เส้นพระบาทสี่รอยตรงทางแยก เมืองก๊ะเป็นลัวะ/ละเวือะเหมือนกัน ทางนั้นมีการเซ่นไหว้และเลี้ยงผีในเดือนเก้า โดยจะจัดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่เป็นวันประดิษฐานก็ถือเป็นวันบวงสรวง แต่ทางนั้นเอาตามหลักจริง ๆ คนที่ตำบลบ่อสลีเมื่อมีลูกก็จะใช้ภาษาเมืองคุยกัน ลัวะ/ลเวือะจึงโดนกลืนไปทุกวันเหลือเพียงห้าเปอร์เซนต์เท่านั้นเองที่บ่อสลี ส่วนที่นี่เหลือร้อยเปอร์เซนต์
ชุมชนลัวะบ้านป่ากำ มีการใช้ประโยชน์จากการจัดแบ่งสัดส่วนของบ้าน เป็น 2 แบบ ได้แก่ 1) บ้านของสมาชิกชุมชนทั่วไป โดยจะแบ่งสัดส่วนภายในบ้านเป็นห้องตามการใช้งาน คือ ห้องประกอบพิธีกรรม ห้องทำอาหาร ห้องรับแขก ห้องนอน และใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านสำหรับการเลี้ยงสัตว์ มีครกกระเดื่องวางไว้ขนานกับตัวบ้านสำหรับการตำข้าว 2) บ้านของหมอฮีตหรือเจียงฮีตซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ซึ่งมีอยู่เพียงหลังเดียวในบ้านป่ากำ จะมีการแบ่งเป็นห้องเลี้ยงผีและห้องขวัญข้าวสำหรับคนในชุมชนเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม (สุธานี มะลิพันธ์, 2552) นอกจากนั้น ภายในบ้านของลัวะจะมีห้องเพียงหนึ่งห้อง มีเตาไฟตั้งอยู่ตรงกลางห้องไว้สำหรับประกอบอาหารและให้ความอบอุ่น บริเวณหน้าจั่วของบ้านจะมีกาแลสลักไขว้กันไว้สองอัน หลังคาบ้านสูงชันลงมาเทียบพื้นดิน ที่ว่างระหว่างเสาเรือนจะไว้สำหรับเก็บฟืน (กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, 2555)
ในส่วนลักษณะโครงสร้างบ้านเรือน จะพบว่า ชาวลัวะบ้านป่ากำมีการปลูกบ้านเรือนเป็นบ้านชั้นเดียว ไม่มีหน้าต่าง โดยจะยกใต้ถุนสูงราว 1.5 เมตร ใช้หญ้าคาปกคลุมหลังคายาวถึงพื้นดิน ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุในการทำโครงบ้าน ฝาบ้าน และสำหรับปูพื้น ในส่วนของเสาบ้านและขื่อจะมีการใช้ไม้เนื้อเเข็งมาประกอบ นอกจากนี้มีการระบุว่าใน 1 ปี ชาวลัวะบ้านป่ากำจะสามารถสร้างบ้านใหม่ได้ 2 หลัง เท่านั้นเพราะจำนวนของหญ้าคาในแต่ละปีมีจำกัด (สุธานี มะลิพันธ์, 2552) ทั้งนี้ บ้านของชาวลัวะจะมีการนำไม้ไผ่มาสานเพื่อทำเป็นฝาผนัง และใช้หญ้าคาหรือใบตองตึงมุงเป็นหลังคา ตัวบ้านมีขนาดยาวประมาณ 3-5 เมตร ยกสูงจากพื้นราว 1-2 เมตร ภายในจะมีห้องเพียงหนึ่งห้อง มีเตาไฟตั้งอยู่ตรงกลาง (กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, 2555)
ณัฎฐวี ทศรฐและสุริยา รัตนกุล (2539) ได้กล่าวสรุปไว้ว่า ลักษณะบ้านเรือนของชาวละว้าเท่าที่พบมี 2 ลักษณะคือแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่
บ้านแบบดั้งเดิม
บ้านแบบดั้งเดิมโดยทั่วไปนั้น หลังคาทำด้วยใบคาคลุมเกือบถึงพื้นดิน แต่แสงสว่างเข้าได้จากบริเวณแผ่นหลังคาที่เปิดออกเป็นช่องเล็ก ๆ ตามแนวตับคาโดยใช้ไม้ค้ำแล้วเปิดให้แสงสว่างลอดผ่านเข้ามาในบ้าน นอกจากนี้ยังนิยมเจาะรูเล็ก ๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3-4 นิ้ว ที่ฝาห้องครัวเพื่อใช้ส่องดูด้านนอก พื้นบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ 2-2.5 เมตร ปูด้วยฟากไม้ไผ่ ใต้ถุนบ้านทำเป็นคอกสัตว์เลี้ยงและที่เก็บฟืน ส่วนบริเวณชายคาติดกับทางเดินนั้นเป็นที่ไว้ครกกระเดื่อง การปลูกบ้านจะไม่ให้แนวหลังคาบ้านขนานกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ พระอาทิตย์จะต้องสามารถเคลื่อนที่ข้ามหลังคาบ้านนั้นได้ นอกจากนี้หน้าจั่วจะประดับด้วยกาแลทั้งสองด้าน ส่วนภายในบ้านมีห้องเดียวมีเตาไฟอยู่ภายในห้องมีประตูปิดหนาแน่น ที่บานประตูจะทำให้เปิดง่ายสำหรับให้ชายหนุ่มเข้ามาคุยกับสาวที่ตนเองสนใจได้ ตามประเพณีห้องนี้จึงเป็นทั้งห้องนอน ห้องครัว ห้องรับแขก สำหรับผู้นับถือผีจะมีเครื่องเลี้ยงผีต่าง ๆ ปรากฏที่มุมห้องทั้งที่หัวนอนและปลายเท้า สมาชิกในครอบครัวจะนอนรวมกันในห้องนี้ทั้งหมด แต่หากลูกชายแต่งงานก็จะแบ่งห้องตั้งแผงเตี้ย ๆ ขึ้นมาและสร้างเตาไฟภายในห้องนั้นและหากว่ามีลูกชายแต่งงานอีกคนก็ต้องสร้างเตาไฟเพิ่มที่นอกชานและเมื่อลูกชายมีความพร้อมก็จะออกมาสร้างบ้านตนเองสำหรับด้านนอกห้อง (บริเวณชานบ้านที่มีหลังคา) ชาวละว้าบางสายตระกูลจะมีเครื่องเลี้ยงผีเรือนด้วย ส่วนบริเวณถัดจากชานบ้านที่มีหลังคาคลุมจะเป็นชานโล่งและร้านน้ำ
บ้านแบบปัจจุบัน
ปัจจุบันบ้านส่วนใหญ่ปลูกยกพื้นสูงสองเมตรครึ่งถึงสามเมตร มีทั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้น มีห้องนอนแยกออกจากห้องครัว มีประตูและหน้าต่างปิดมิดชิด ภายในและภายนอกบ้านของผู้ที่ยังนับถือผีมีเครื่องเลี้ยงผีเช่นเดียวกับบ้านแบบดั้งเดิม พื้นบ้านและฝาบ้านนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก หลังคามุงด้วยสังกะสีอาจแซมด้วยใบตองตึงและหญ้าคาแบบบ้านชั้นเดียวจะมีชานบ้านและร้านน้ำ หลังคาไม่นิยมติดกาแล ใต้ถุนเรือนสร้างเป็นคอกสัตว์เลี้ยง มีที่สำหรับเก็บฟืนและไว้ครกกระเดื่อง
ภายในห้องครัวมีกระบะเตาไฟทำด้วยไม้กั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ต่ำกว่าพื้นห้องเล็กน้อย กระบะนี้ปูด้วยดินและวางเตาสามเส้าคือใช้ก้อนเส้า 3 ก้อน ก้อนเส้านี้ทำจากดินเหนียวซึ่งจะต้องให้คนเฒ่าเท่านั้นเป็นคนปั้น เมื่อวางก้อนเส้าลงในบริเวณเตาไฟก็จะทำพิธีไหว้ผีที่เตาไฟขอให้ผีปกปักรักษาไม่ให้ไฟลามออกมานอกเตานั้น นอกจากนี้บางที่ใช้เตาสามขาที่ทำด้วยเหล็กก็ได้ เหนือเตาไฟมีชั้นสำหรับวางเครื่องจักสานต่าง ๆ รวมทั้งเมล็ดพืชพันธุ์เพื่อกันแมลงกัดกินและการรมควันนี้จะช่วยรักษาเนื้อไม้ได้เป็นอย่างดี สำหรับบ้านที่เคร่งครัดต่อการนับถือผีจะให้ความสำคัญต่อการใช้พื้นที่บริเวณเตาไฟนี้เป็นอย่างมาก แขกที่ไปบ้านนั้นจะต้องนั่งในส่วนของแขกห้ามนั่งบริเวณเสาตะละมัง (เสาผีบรรพบุรุษ) ซึ่งอยู่ที่มุมห้องด้านในสุด
อาหาร
การศึกษาของ สุธานี มะลิพันธ์ (2552) ซึ่งอธิบายลักษณะของอาหารของชาวลัวะไว้อย่างละเอียดหากแต่เป็นเฉพาะกรณีของลัวะที่บ้านป่ากำเท่านั้น ทั้งนี้ขอยกเรื่องราวของอาหารของลัวะบ้านป่ากำมาโดยมีรายละเอียดดังนี้
ชาวลัวะที่บ้านป่ากำจะนำอาหารที่ได้มาประกอบอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ต้ม นึ่ง ย่าง ปิ้ง เผา หมก แกง เป็นต้น สำหรับข้าวจะถูกนำมานึ่งและหลาม โดยแม่บ้านจะนึ่งข้าวในตอนเช้าและเย็นของทุกวัน จะทำการนึ่งในห้องสำหรับนึ่งข้าวซึ่งอยู่ห้องแรกในด้านขวามือของบ้านเท่านั้น ก่อนที่จะทำการนึ่งข้าวจะต้องแช่ข้าวทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ข้าวนิ่ม แล้วนำไปใส่ในหวดนึ่งข้าว หลังจากนั้นจึงนำไปวางบนหม้อต้มน้ำ โดยเมื่อข้าวสุกทั่วถึงแล้วจะนำข้าวนึ่งที่ได้ไปวางบนกระด้ง แล้วใส่ในกระติ๊บข้าวเหนียว ในส่วนของการหลามข้าวจะมีการทำสัปดาห์ละครั้ง หรือทำในช่วงที่เข้าป่าไปล่าสัตว์และนอนค้างในไร่ ชาวบ้านจะนำไม้ไผ่มาตัดให้ปลายกระบอกเปิดกว้างแล้วนำข้าวสารที่แช่น้ำไว้แล้วมาเทลงไปในกระบอกไม้ไผ่พร้อมกับนำใบตองแห้งมาปิดปากกระบอก ก่อนจะนำกระบอกข้าวหลามไปวางบนไฟ ระหว่างนั้นต้องคอยพลิกกระบอกให้โดนไฟให้ทั่วเพื่อให้ข้าวสุกทั้งหมด
สำหรับอาหารประเภทอื่น เช่น ผัก จะนิยมนำมาประกอบอาหารด้วยการนึ่ง ต้ม แกง หลาม หมก และเผา โดยจะมีผักกาด ผักดง ผักหนัง และหน่อไม้ที่นำมาต้ม ในการต้มผักจะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายกับขันตักน้ำในการต้ม หากครัวเรือนไหนมีฐานะดีจะมีหม้อสำหรับต้ม โดยจะนำน้ำเทใส่ขันหรือหม้อที่ตั้งอยู่บนเตาไฟ นำผักไปล้างแล้วนำมาต้มจนกว่าจะสุกก่อนจะนำมาจัดวางในจานหรือบนในตอง ผักอื่น ๆ เช่น ผักหวน ฟักทอง ถั่วฝักยาว จะนำมานึ่ง และนำเห็ดมาหมก เป็นต้น ในส่วนของเนื้อสัตว์ จะนำมาประกอบอาหารด้วยวิธีการเผา ปิ้ง ย่าง แกง โดยจะนิยมนำเนื้อหมู เนื้อไก่ หนู นก หอย ปู มาแกง เช่น แกงหน่อไม้ใส่ปู แกงหนูใส่พริกและเกลือ แกงหอยจุ๊บ เป็นต้น วิธีการปรุงคือนำหม้อที่ใส่น้ำอยู่ตั้งบนเตาไฟแล้วใส่เนื้อสัตว์ตามลงไปเมื่อน้ำเดือดแล้วปรุงรสด้วยเกลือและพริก ก่อนจะนำผักใส่ถ้ามี ในส่วนของเนื้อหมู หนู และนกจะนิยมนำมาย่าง เช่นเดียวกับปลาที่นำมาปิ้งและย่างด้วยการคว้านท้องปลาเอาเครื่องในออก นำมาล้างแล้วแล่เนื้อ ก่อนจะนำไปปิ้งบนไฟอ่อน ๆ พร้อมกับโรยเกลือลงไปบาง ๆ กินคู่กับข้าวนึ่ง
แหล่งที่มาอาหารของคนลัวะในชุมชนบ้านป่ากำมักมาจากการทำเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยในเดือนพฤศจิกายนจะมีการนำข้าว เผือก มัน จากไร่ของตนมาบริโภค ในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมจะนำเผือก มัน กลอย ที่ได้จากในป่ามาบริโภค ส่วนข้าวนั้นจะได้มาจากการซื้อ การแลกเปลี่ยน หรือการรับบริจาค และอาหารประเภทผักจะได้มาจากการเข้าไปเก็บหาจากในป่า ในลำห้วย จากการเพาะปลูกในไร่และรอบ ๆ บริเวณบ้าน รวมถึงมาจากการซื้อหรือแลกเปลี่ยนกับชุมชนใกล้เคียง นอกจากนี้ในทุกฤดูกาลก็มีผลไม้ให้บริโภคด้วย ในส่วนของเครื่องปรุงรสที่นำมาประกอบอาหารจะมาจากการออกไปซื้อที่ร้านค้าและรถขายอาหา
ชาวลัวะในบ้านป่ากำมีวิธีในการถนอมอาหารหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดอง การรมควัน หรือย่าง เพื่อสำรองไว้สำหรับบริโภคในฤดูกาลต่อไป โดยการดองมักจะใช้กับอาหารประเภทผัก เช่น ผักกาด โดยนำมาซอยเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำเกลือมาใส่ จากนั้นห่อด้วยใบตองก่อนจะนำมาวางบนเตาไฟหรือนำไปห้อยทิ้งไว้ราวสองถึงสามวัน จะมีรสชาติออกเปรี้ยว นอกจากนี้ยังมีหน่อไม้ดอง ที่จะใช้วิธีซอยให้ละเอียดก่อนจะนำไปใส่ในอุ (ถังดำ) แล้วใส่น้ำและเกลือ โดยมักจะเริ่มดองในช่วงสิงหาคมและกันยายน จากนั้นจะนำมาบริโภคในช่วงมกราคม
ในชุมชนลัวะได้มีการจำแนกอาหารไว้สำหรับการบริโภคในโอกาสพิเศษต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
1) อาหารสำหรับผู้ตั้งครรภ์ ชาวชุมชนลัวะในบ้านป่ากำเชื่อว่าการมีลูกนั้นเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากเป็นการเพิ่มสมาชิกและแรงงานในครัวเรือน จึงต้องมีการให้แม่เด็กบริโภคอาหารที่จะช่วยรักษาชีวิตของแม่และเด็กไว้ ในช่วงตั้งครรภ์และคลอด แม่เด็กจะต้องบริโภคแต่อาหารรสชาติอ่อนที่มีข้าวและผักในชุมชนเป็นหลัก เช่น ผักดง ผักหนัง เป็นต้น หากบริโภคเนื้อสัตว์ก็ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยง (ยกเว้น เนื้อวัว ควาย) หรือเนื้อสัตว์ที่หาจากป่าหรือบริเวณลำห้วยในชุมชน อย่างไรก็ตามสามารถบริโภคผลไม้ได้ทุกประเภท ในส่วนของการประกอบอาหารสำหรับคนท้องนั้นไม่มีข้อห้าม สามารถเลือกวิธีได้ตามอาหารแต่ละประเภท โดยอาหารสำหรับแม่เด็กมักจะเป็นข้าวต้ม ผักนึ่ง ปลาหมก ปลาย่าง เป็นต้น ทั้งนี้จะไม่นิยมให้แม่เด็กบริโภคอาหารประเภทแกง ทอด หรือผัด เนื่องจากใช้น้ำปลา น้ำมัน และน้ำตาลในการประกอบอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่แม่เด็กไม่ควรบริโภค และไม่ให้แม่เด็กบริโภคอาหารที่มีรสชาติเปรี้ยว เค็ม เผ็ด เนื่องจากจะทำให้แม่เด็กไม่แข็งแรง และไม่มีน้ำนมสำหรับลูก อาหารที่แม่ต้องงดในช่วงตั้งครรภ์ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อไก่ ไข่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กะหล่ำปลี ขนมทุกประเภท ก๋วยเตี๋ยว กะปิ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้อาวุโสของชุมชนยังระบุว่า ในช่วงตั้งครรภ์หากแม่เด็กบริโภคไข่ก็จะทำให้ลูกตาโต บริโภคปูจะทำให้ลูกพิการขา หากกินปลากระป๋องจะคลอดยาก ในส่วนของอาหารหลังคลอดนั้นจะให้งดอาหารประเภทเนื้อสัตว์จนกว่าจะครบสามวันเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น
2) อาหารสำหรับเด็กทารก ในช่วง 1 เดือนแรกให้ทารกบริโภคเพียงน้ำนมแม่เท่านั้น โดยทั้งแม่เด็กในขณะตั้งครรภ์หรือคลอด และเด็กแรกเกิดนั้นจะต้องบริโภคอาหารที่หาได้จากภายในชุมชนเท่านั้น เนื่องจากหากนำอาหารจากภายนอกชุมชนเข้ามาบริโภคอาจมีการปนเปื้อนของสารพิษที่อันตรายต่อแม่และเด็กได้ นอกเหนือจากนี้อาหารของเด็กทารกจะเป็นกล้วยบด น้ำ และน้ำนม
3) อาหารสำหรับในพิธีแต่งงาน สำหรับประเภทอาหารที่ใช้บริโภคในวันแต่งงานนั้นจะเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผลไม้ เผือก ที่ครอบครัวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวหามาได้ โดยจะใช้เป็นของเซ่นไหว้เลี้ยงผีและสำหรับเลี้ยงผู้เข้าร่วมพิธี โดยมีเมนูพิเศษกว่าวันธรรมดา เช่น แกงไก่ใส่ผักกาด แกงหมู เป็นต้น ในส่วนของอาหารที่คู่บ่าวสาวจะบริโภคนั้นต้องไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งท้อง เช่น หมูท้อง ไก่ไข่ ปลามีไข่ เป็นต้น และงดประเภทสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อควาย เนื้อวัว
4) อาหารสำหรับผู้ป่วย ชาวลัวะบ้านป่ากำเชื่อว่าไม่ว่าจะความเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุหรือความป่วยไข้ก็ตามมักจะเกิดจากผีทำ (เป็นกรรม) อาหารสำหรับให้คนป่วยบริโภคจะเป็นอาหารที่มีรสอ่อน เช่น ข้าวต้ม ข้าวนึ่ง ผักนึ่ง เนื้อสัตว์ย่างหรือปิ้ง และผลไม้ จะงดเว้นอาหารที่มีพริก น้ำมัน และผงชูรส แต่สามารถใช้เกลือในการปรุงอาหารได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุจะให้บริโภคข้าวต้มใส่เกลือ หรือข้าวต้มปลาย่าง ส่วนอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ทั่วไปจะเป็นข้าวเหนียวนึ่งกับผักต้ม ผู้ที่ควบคุมการบริโภคอาหารของคนป่วยคือผู้อาวุโสในหมู่บ้านหรือหมอฮีต โดยจะห้ามไม่ให้คนป่วยบริโภคอาหารที่มีสีแดง ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีความเชื่อว่าสีแดงเป็นสีของความเจ็บป่วย สูญเสีย และความตาย นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ผู้ป่วยบริโภคอาหาร อาทิ ปู มันพร้าว เผือก เป็นต้น
ณัฏฐวี ทศรฐและสุริยา รัตนกุล (2539) อธิบายว่า พิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีของชาวละว้า มีดังนี้
โนกควายเนิอมหรือโนกสปัยซ คือ พิธีเลี้ยงผีหมู่บ้าน ใช้เวลา 4-5 ปีหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของหมู่บ้านจึงจัดให้มีการเลี้ยงผีขึ้นครั้งหนึ่ง จุดหมายสำคัญในพิธีนี้คือการเลี้ยงผีหมู่บ้านให้ปกป้องดูแลคนในหมู่บ้านและช่วยให้ทำไร่ทำนาได้พืชผลอุดมสมบูรณ์ การเลี้ยงผีประจำหมู่บ้านนี้แบ่งออกเป็น 3 วันคือ วันดา เป็นวันที่เตรียมของสำหรับทำพิธี วันเลี้ยงผี นำควายไปผูกไว้ที่เสาสะกังใช้หอกแทงควายจนตายนำเลือดควายและชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างละน้อยบูชาที่เสานี้จะมีการตีกลองประกอบตลอดตั้งแต่เริ่มจนเสร็จพิธี และวันส่งเคราะห์ (เตาสะอาง) หลังจากเลี้ยงผีหมู่บ้านแล้วส่งเคราะห์โดยใช้หมาดำและลูกหมูรวมทั้งกระทงส่งเคราะห์จากทุกบ้าน ขั้นตอนสุดท้ายในการส่งเคราะห์คือนำหมาดำลอดใต้ศาลาผี คนในหมู่บ้านสาดน้ำไล่เคราะห์ และยิงปืน จุดประทัด โห่ร้อง แสดงความยินดีที่สิ่งไม่ดีทั้งหลายออกไปจากหมู่บ้าน
โนกซะมา คือ พิธีเลี้ยงผีเรือน มักเลี้ยงเมื่อลูกหลานในครอบครัวอยู่ครบ การเลี้ยงเพื่อให้ผีบ้านผีเรือนดูแลปกป้องคนในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงและช่วยให้ทำการเกษตรได้ดี ในการเลี้ยงโนกชะมานี้จะเลี้ยงผีโชซึ่งอยู่ในห้องนอนไปพร้อม ๆ กันและใช้เวลาในการทำพิธี 2 วันคือวันดา (วันเตรียมงาน) และวันเลี้ยงผี สิ่งสำคัญในวันดา คือ การเตรียมใบตองป่าไม้ไผ่และปลาเพื่อใช้เลี้ยงผีในวันรุ่งขึ้น ส่วนในวันเลี้ยงผีคนหนุ่มต้องออกไปหาต้นละโยะมาเปลี่ยนต้นเดิม และประดับตกแต่งด้วยใบตองที่สาวเป็นผู้ประดิษฐ์ตามประเพณีเดิม
พิธีเลี้ยงผีฟ้าผ่า เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงบริเวณใดของหมู่บ้าน หรือที่นา ที่ไร่ ชาวละว้าจะไม่ไปบริเวณนั้นจนกว่าจะขึ้นวันใหม่ เพราะเชื่อว่าเศษไม้ที่เกิดจากฟ้าผ่าหากโดนเท้าจะทำให้เท้าแตกได้ แต่เมื่อขึ้นวันใหม่ชาวบ้านจะพากันไปเลี้ยงผีฟ้าผ่าทั้งหมู่บ้านยกเว้นผู้ชายที่มีภรรยาตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ร่วมพิธีจะต้องแต่งกายด้วยเสื้อสีดำและทุกคนต้องทาหน้าด้วยเขม่าไฟจนดำ เมื่อผู้ทำพิธีพูดหรือสวดมนต์ติดต่อกับผีคนที่เข้าร่วมพิธีจะต้องหัวเราะส่งเสียงดัง
พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ
การเลี้ยงผีบรรพบุรุษของชาติพันธุ์ลัวะในเมืองน่านคล้ายกับการเลี้ยงผีบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเมืองเชียงใหม่ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทพื้นราบ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ คือ การทำพิธีเพื่อระลึกถึงปู่ย่า ตายาย เป็นพิธีกรรมในระดับครัวเรือน และสายตระกูล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการบอกกล่าวให้ผีบรรพบุรุษได้ช่วยปกปักรักษาลูกหลาน ให้อยู่ดีกินดี ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ
ช่วงเวลาเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ส่วนใหญ่จัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่เมืองเมื่อลูกหลานอยู่กันพร้อมหน้าจะเลี้ยงผีบรรพบุรุษด้วยของเซ่นไหว้ คือ ไก่ต้ม เหล้า พร้อมสรวยดอกไม้ (กรวยดอกไม้ ออกเสียงตามกลุ่มชาติพันธุ์ว่าสรวยดอกไม้) เทียน ตลอดจนการเลี้ยงในโอกาสสำคัญ เช่น บ้านห้วยทรายขาว ตำบลห้วยโก๋น เลี้ยงผีบรรพบุรุษร่วมกับงานพิธีกินดอกด้ายดอกแดงเพื่อขอบคุณที่ดลบันดาลให้ผลผลิตเจริญงอกงามพอเลี้ยงครอบครัว บ้านขุนน้ำลาด ตำบลงอบ ทำพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษพร้อมกับพิธีเลี้ยงผีสร้อยซึ่งเป็นการเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข รวมทั้งกรณีที่ลูกหลานเจ็บป่วยจะเลี้ยงผีบรรพบุรุษเพื่อให้อาการเจ็บป่วยหาย และเมื่อหายแล้วจะเลี้ยงผีอีกครั้ง การเลี้ยงเมื่อกลับมาจากการทำงานต่างถิ่นเป็นการเลี้ยงแก้บน เพื่อแสดงความขอบคุณผีบรรพบุรุษที่ช่วยปกปักรักษาให้อยู่ดีมีสุข และก่อนที่จะเดินทางกลับไปทำงานก็จะมีการบนบานสานกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสกลับมาเลี้ยงแก้บน ได้กลับมาพบปะกันในครอบครัวอย่างต่อเนื่องทุกปี
การเลี้ยงผีบรรพบุรุษเป็นพิธีกรรมในระดับครอบครัว และระดับตระกูล เรือนแต่ละหลังจะมีหอผี หรือหิ้งผีของตนเอง เช่น บ้านห้วยหมี ตำบลดงพญา เลี้ยงผีบรรพบุรุษ คือ ผีปู่ย่าตายาย หรือผีสะมอย (ภาษาลัวะเรียกว่า “ปร็องสะมอย”) “ปร็อง” แปลว่า ผี “สะมอย” แปลว่า ปู่ยาตาทวด ที่รวมผีในตระกูลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ลูกหลานต้องเลี้ยงผีด้วยไก่และหมูสลับกันไปในแต่ละปีที่กำหนด ที่เรือนจะตั้งศาลผีไว้ด้านนอกในตำแหน่งที่อยู่เหนือระดับเรือนขึ้นไป (ต่างจากผีเรือนของลัวะปรัยเมืองไชยสถาน แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ตั้งอยู่ที่ฝาในเรือน) ที่บ้านห้วยหมีตั้งศาลผีไว้นอกเรือนลักษณะเป็นตูบ (กระท่อม) หลังเล็กมุงหญ้าคา เรียกว่า ตูบผี มีความสูงประมาณ 1 เมตร
ที่บ้านขุนน้ำลาด ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง หากเป็นผีบรรพบุรุษที่เป็นต้นตระกูล หรือผีเก๊าจริง ๆ จะมีกำหนดเลี้ยงหมู 1 ปี คือ เลี้ยงไก่ 3 ปี ปีที่ 4 เลี้ยงหมู หากไม่เลี้ยงหมูก็เลี้ยงด้วยกวางคำ หรือสุนัข เป็นชื่อพิธีกรรมว่าเลี้ยงผีเก๊าข้าว คือ เอาหมูไปทำพิธีเลี้ยง
การเลี้ยงผีบรรพบุรุษในโอกาสต่าง ๆ
การเลี้ยงผีเฉพาะบางช่วงเวลาที่ไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนได้ เช่น กรณีที่ลูกหลานคนใดในสายตระกูลทำความผิด ต้องไปทำพิธีเลี้ยงที่เรือนเก๊า (เรือนต้นตระกูล) ผู้ที่ทำพิธีเป็นหมอผี ทำหน้าที่สื่อสารกับผีบรรพบุรุษ เพื่อบอกว่าลูกหลานคนใดทำความผิดอะไร และต้องเลี้ยงด้วยอะไร เช่น ไก่คู่ โดยคนที่ทำความผิดต้องจัดหาของมาเลี้ยงตามที่ผีต้องการ เพื่อทำการขอขมาแก่ผีบรรบุรุษ และขอโทษคนในตระกูล ถือเป็นการให้โอกาสแก่คนทำความผิดด้วยการตัดสินความจากคนในตระกูลเดียวกันผ่านผีบรรพบุรุษ
หากคนในตระกูลไม่สบายต้องไปถาม “หมอเมื่อ” เพื่อถามว่าผีต้องการอะไร ผีจะสื่อสารผ่านทางหมอเมื่อเพื่อทำหน้าที่บอกต่อกับลูกหลานว่าผีทักกินอะไร (ต้องการให้เลี้ยงอะไร) ประธานผีในเรือนจะเรี่ยไรเงินมาเลี้ยงผีด้วยของที่ผีต้องการจะกิน แต่หากคนในตระกูลทำผิดเพียงคนเดียวต้องเลี้ยงผีเอง ไม่ถือว่าต้องเลี้ยงโดยส่วนรวม หากผู้ใดไม่ได้ทำความผิดไม่ต้องเลี้ยง
การเจ็บป่วยของคนในตระกูลบางครั้งเชื่อว่าเกิดจาก “ตั๊กกินขวบ” คือ เมื่อถึงเวลาแล้วไม่เลี้ยง หรือเลยเวลาเลี้ยงไปแล้ว ผีจะมาทักให้เลี้ยงโดยการทำให้คนในตระกูลเจ็บป่วย หากถามเมื่อแล้ว หมอเมื่อจะบอกให้ทุกคนทราบ และทำพิธีเลี้ยงตามที่หมอเมื่อรับรู้ผ่านผีมาบอก
กรณีศึกษาการถามเมื่อในหมู่บ้านห้วยหมี ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ คือ คนที่อยู่ในสายตระกูลเดียวกันมีหลายหลังคาเรือน หากผู้ใดไม่สบายให้นำสรวยดอกไม้ไปหาหมอเมื่อ หมอเมื่อรับขันไปทำนายด้วยวิธีการหยิบข้าวสารเสี่ยงทายว่าเป็นจำนวนคู่หรือคี่ พร้อมกับอธิษฐาน เช่น เมื่ออธิษฐานแล้วหยิบได้เมล็ดข้าวสารเป็นจำนวนคู่ หมายถึงสิ่งที่ได้กล่าวไว้ก่อนอธิษฐานนั้นเป็นความจริง หากจับได้เป็นจำนวนเลขคี่ แสดงว่าสิ่งที่ได้กล่าวไว้นั้นไม่เป็นความจริง ให้ตั้งจิตอธิษฐานพร้อมกับกล่าวเรื่องใหม่และเสี่ยงทายอีกครั้ง หากความปรากฏออกมาว่ามีความผิดอะไร ให้แม่ฮีต หรือแม่ก๊กนำสรวย เทียน ไปบอกกล่าวที่ตูบผี ให้ผีบรรพบุรุษดูแลรักษาทุกคน ในกรณีนี้หากมีสะใภ้ หรือเขยมาอยู่เป็นสมาชิกใหม่ใหม่ต้องบอกกล่างให้ผีบรรพบุรุษรับรู้ โดยแม่ฮีต หรือแม่ก๊ก ที่เป็นแม่เฒ่าเจ้าเรือนเป็นผู้ไปบอกกล่าว
นอกจากนี้มีผีอื่น ๆ ในเรือนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เช่น ผีก้อนเส้า ผีหม้อนึ่ง เมื่อทำพิธีสู่ขวัญจะนำข้าวที่จ้ำขวัญไปฝากผีหม้อนึ่งไว้ให้ ผีหม้อนึ่ง เรียกว่า “ผีย่าดำ” เนื่องจากหม้อนึ่งมีสีดำ โดยลูกหลานเชื่อว่า ความดำของหม้อนึ่งช่วยปกคลุม ปกป้องลูกหลานไว้ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายมองเห็น (สัมภาษณ์ นางขจร อักขระ วันที่ 27 มีนาคม 2562)
ปัจจุบันแม้ว่าการเลี้ยงผีบรรพบุรุษยังคงดำเนินอยู่ในทุกตระกูล และทุกหลังคาเรือน แต่ความเชื่อดังกล่าวได้ลดบทบาทลงไป เนื่องจากมีการเปลี่ยนการนับถือศาสนาจากพุทธผี โดยการนับถือพุทธศาสนาเข้ามาในช่วงเวลาใดไม่ชัดเจน สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ไทยวน(คนเมือง) ที่อยู่ใกล้เคียง โดยการนับถือพุทธศาสนามีลักษณะผสมผสานกับความเชื่อเรื่องผี
ส่วนบทบาทของศาสนาคริสต์ที่เข้ามาในหมู่บ้านลัวะเมืองน่าน ในลักษณะของมูลนิธิ การเผยแพร่ศาสนา มีผู้นำมาชวนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้บางครอบครัวหันไปนับถือศาสนาคริสต์ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยให้ความช่วยเหลือด้านชีวิตความเป็นอยู่ จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับนิกายศาสนา แต่พบว่ามีเข้ามาในหมู่บ้าน เช่น บ้านห้วยทรายขาว ตำบลห้วยโก๋น พบว่าชาวบ้านที่นับถือคริสตศาสนาพากันเข้าโบสถ์ในวันพุธและวันอาทิตย์ ในชุมชนมีโบสถ์ 2 แห่ง การเปลี่ยนศาสนาในปัจจุบัน (พ.ศ.2562) มีมากกว่าร้อยละ 50 ของคนในชุมชน ทำให้การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษลดความสำคัญลงด้วย (สัมภาษณ์ นางคำ หอมดอก วันที่ 28 มีนาคม 2562)
พิธีกรรมการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเมืองเชียงใหม่ ยังคงสืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัด เช่น ในบ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด มีพิธีเลี้ยงผีละมาง คือ ผีบรรพบุรุษ โดยความเชื่อเรื่องผีละมางต้องทำพิธีเลี้ยงทุกปี การเลี้ยงผีละมาง ต้องเลี้ยงด้วยควาย ในช่วงออกพรรษา โอกาสในการเลี้ยง เช่น เกิดความผิดปกติในครอบครัวลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ต้องทำพิธีดูเมื่อ (ลงทรง) แล้วเจ้าทรงบอกให้ลูกหลานทำพิธีเลี้ยงควายหนึ่งตัว ครอบครัวนั้นต้องจัดพิธีเลี้ยงตามนั้นแล้วลูกหลานจะหายจากการเจ็บป่วย ซึ่งคนในหมู่บ้านยืนยันว่าทางการแพทย์ไม่สามารถให้คำอธิบายได้
การเลี้ยงผีละมางจะทำพิธีของแต่ละครอบครัว หากจัดเลี้ยงด้วยกันเป็นเรื่องตระกูลก็เรียกคนทั้งตระกูลมาทำด้วยกัน คือสุนันตาทั้งตระกูล ในบ้านบ่อหลวงทำร่วมกับตระกูลสุนันตาที่บ้านนาฟ่อน หรือตระกูลหล้งจูก็เลี้ยงผีทั้งตระกูลเช่นกัน
พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษที่บ้านมืดหลอง ตำบลทับ อำเภอแม่แจ่ม โดยพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เป็นงานประจำปี เรียกว่าการตานไปหา คล้ายการอุทิศส่วนกุศล จัดขึ้นในเวลาที่ตานข้าวใหม่ช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะเลี้ยงเพ่ออุทิศให้พ่อแม่ บรรพบุรษผู้ล่วงลับโดยจัดเลี้ยงที่ศาลาข้างเสาสะกางหรือที่เรีกว่า “หยู” ทุกหลังคาเรือน โดยถือว่าหยูเป็นที่สถิตของวิญญาณหรือผีของกลุ่มตระกูล เยืองมะพลอง บ้านมืดหลอง
ส่วนความเชื่อเรื่อง “การเลี้ยงผี” เพื่อระลึกถึงผู้ตาย เช่น ตายครบเวลา 1 เดือน ต้องเลี้ยงไก่ที่ไหนก็ได้ เช่น เลี้ยงหน้าบ้าน เลี้ยงในบ้าน เลี้ยงที่หยู และฆ่าลูกหมูตัวผู้ 1 ตัว สำหรับเลี้ยงผี หลังจากนั้นเป็นหมูตัวแม่อีก 1 ตัว ถ้ามีฐานะสามารถฆ่าควายเพื่อเลี้ยงหรือทำบุญไปให้ เมื่อเสร็จพิธีแล้วลูกหลานสามารถนำเนื้อสัตว์เหล่านั้นมากินร่วมกันได้ พร้อมเลี้ยงญาติพี่น้องให้ได้เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ หลังจากนั้นก็แล้วแต่เจ้าภาพว่าจะเลี้ยงอีกเมื่อไหร่ อาจจะครบรอบ 100 วัน หรือครบรอบ 2-3 เดือนแล้วแต่ลูกหลานจะกำหนดวันเวลาในการทำพิธีเลี้ยงผี
ส่วนการเดินทางของคนในหมู่บ้าน หากต้องออกไปจากหมู่บ้านให้บอกกล่าวกับผีบนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ ให้ผีคุ้มครองให้ลูกหลานเดินทางปลอดภัย ผู้บอกกล่าวต้องนำสวยดอกไม้ไปบอกคล้ายกับหน้าที่ของผีบรรพบุรุษที่คุ้มครอง โดยสรุปแล้วความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษยังคงอยู่กับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างกันเพียงรายละเอียดในการทำพิธีเลี้ยง ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้คุ้มครอง และแสดงความขอบคุณ
การนับถือผีบรรพบุรุษทำให้เกิดความเชื่อเรื่องระบบการดูแลสมาชิกในสายตระกูลให้ประพฤติดี หากทำผิดแล้วจะถูกผีบรรพบุรุษลงโทษ เช่น ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในตระกูลเจ็บป่วยต้องดูเมื่อ หรือถามเมื่อเพื่อให้รู้เหตุของการเจ็บป่วยนั้น ลูกหลานที่กระทำผิดจะเป็นที่รับรู้ของทุกคนในตระกูล ต้องทำพิธีเลี้ยงผีเพื่อขอขมา ความเชื่อเรื่องหมอเมื่อเป็นการสนับสนุนผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นระบบควบคุมคนในตระกูลให้เกรงกลัวการทำผิด อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
พิธีกรรมเลี้ยงผีบ่อเหล็ก
จากข้อมูลในประเด็นเรื่องการตีมีดของชาวละเวือะนั้น จะพบว่าก่อนการประกอบอาชีพดังกล่าวยังมีความเกี่ยวข้องกับการทำพิธีกรรมเลี้ยงผี ซึ่งต้องการอาศัยการสืบทอดวัฒนธรรมของชุมชน จากข้อมูลของสื่อมวลชน อังกรณีของสื่อท้องถิ่น กรณีของ เชียงใหม่นิวส์ (2562) ได้อธิบายถึงพิธีกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2562 ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2562 ได้มีพี่น้องชุมชนเผ่าลัวะ ในบ้านบ่อหลวง ต.บ่อสลี อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ นำโดยพ่อกำนันประเสริฐ ทาหล้า นายสุรชาติ ใจตุ้ย นายกเทศบาลบ่อหลวง นายจิรายุ งอกงาม นายก อบต.บ่อสลี (นายกกู้ชีพ) และชาวบ้าน 2 ตำบล ร่วมร้อยคน ได้จัดพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษ หรือ “ศาลเจ้าบ่อเหล็ก” ณ บ้านแม่โถ ต.บ่อสลี ซึ่งในอดีตบริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าแก่มากกว่า 1500 ปี ที่มีการขุดแร่ เหล็ก เพื่อหลอมแร่ให้เป็นเหล็ก เพื่อที่จะทำเป็นเครื่องมือการเกษตร เช่น จอบ เสียม มีดดาบ อาวุธ นักโบราณวรรณคดีได้วิเคราะห์ และให้ข้อมูลกับนายกกู้ชีพฟัง
โดยพิธีกรรมการเลี้ยงผีชาวบ้านจะเตรียมเครื่องสักการะ อาหาร ผลไม้ หมากพลู น้ำส้ม น้ำแดง และวัวตัวผู้ที่มีลักษณะสวยงาม 1 ตัว ไก่ 1 คู่ เพื่อเซ่นไหว้ ถวายให้กับเจ้าพ่อแสนเมืองหรือที่เรียกกันติดปากว่า “เจ้าบ่อเหล็ก” ชาวลัวะจะทำการเลี้ยงศาลเจ้าพ่อแห่งนี้ 3 ปี 1 ครั้ง หลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ จะพบเห็นขี้เหล็กในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก รอบ ๆ หมู่บ้านแม่โถ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด บ้านแม่โถแห่งนี้มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม เป็นภูเขาสลับซับซ้อนสูงประมาณ 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีทิวเขาที่สวยงามซึ่งอยู่หลังด้านทิศตะวันตกของดอยอินทนนท์ จุดเด่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของบ้านแม่โถ เป็นหมู่บ้าน ม้งชึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จเยี่ยมราษฎร 3 ครั้ง มีอาคารสัญลักษณ์สถานที่เคยเสด็จ มีโครงการหลวง มีอุทยานแห่งชาติแม่โถ มีดอย 360 องศา วิวสวยงาม อากาศเย็นร่มรื่นตลอดปี
พิธีสำคัญของลัวะ/ละเวือะในรอบปี
ฉวีวรรณ ประจวบหมาะ และคณะ (2555) ระบุว่า ลัวะดอกแดง หรือ ปรัย มีพิธีกรรม “แองปรองอึกรอง” จะทำช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวหรือระหว่างเดือนธันวาคม - มกราคม ซึ่งเป็นพิธีสำหรับการเฉลิมฉลองและขอบคุณผีเจ้าที่สำหรับผลผลิต ผู้ที่ทำพิธีจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ เรียกว่า “หมอฮีต” โดยจะใช้ดอกไม้แดง เช่น ที่บ้านน้ำแพะใช้ดอกรางลอง แต่ถ้าไม่มีจะใช้ดอกคำปู้จู้ซึ่งมีสีเหลือง หรือถ้าไม่มีอีกก็สามารถใช้ใบไม้แทนในการประกอบพิธี ซึ่งดอกไม้จะถูกปลูกไว้เวลาเดียวกับการปลูกข้าว และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ดอกไม้จะบานพอดี นอกจากจะมีดอกไม้แล้วยังมีการฆ่าไก่ในพิธีอีกด้วย โดยหมอผีจะนำข้าวเม่ามาใช้ในการโปรยเสี่ยงทาย ชาวบ้านจะเอามือมารองรับ โดยผลผลิตในฤดูกาลต่อไปจะมากเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวเม่าที่รับได้
นอกจากนี้ที่บ้านน้ำด้นยังมีพิธีเลี้ยงผีเมืองหรือผีเจ้าหลวงปัว โดยจะทำพิธีในช่วงวันที่ 9-10 เมษายนของทุกปี ซึ่งในแต่ละปีรูปแบบของการเซ่นไหว้จะต่างกันออกไป โดยเป็นการร่วมกันทำพิธีของ 8 หมู่บ้านใกล้เคียง ได้แก่ หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 7 ที่บ้านเต๋ยกิ่วเห็น ซึ่งเป็นลัวะโสลดหรือลัวะมัลร และหมู่ 10 หมู่ 11 หมู่ 12 และหมู่ 13 ซึ่งเป็นบ้านน้ำดั้น ทั้งนี้พิธีจะต่อเนื่องยาวนาน 6 ปีด้วยกัน คือ ในช่วง 3 ปีแรกจะเป็นการย่ำแคว่น (เดินย่ำไปด้วยกัน) โดยระหว่างการเดินจะมีการเป่าปี่และจุดประทัดไปด้วย ของเซ่นไหว้ที่ใช้คือหมากพลูและไก่ ในปีที่ 4 จะเซ่นไหว้ด้วยหมู จนกระทั่งในปีที่ 5-6 จะเซ่นไหว้ด้วยควาย ในขณะที่ลัวะดอกแดงที่บ้านขุนน้ำแพะเองก็มีประเพณีย่ำแคว่นเหมือนกัน แต่จะทำช่วงหลังพิธีเก็บเกี่ยวหรือในวันเดียวกันหลังจากพิธี “แองปรองอึกรอง”เสร็จสิ้น โดยจะไปตั้ง “ตูบ” หรือศาลที่แม่น้ำบางเพื่อทำพิธีให้ “ปร่องแคว่น” (ผีเจ้าที่) โดยในปีที่ 1 จะเซ่นด้วยไก่ 12 ตัว เป็ด 1 ตัว และสุนัข 1 ตัว ปีที่ 5 และ 6 จะเซ่นด้วยควาย
อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดบางส่วนแตกต่างกันไป เช่น ชาวลัวะบ้านป่ากรรมนั้นมีการยังชีพด้วยการทำการเกษตร พิธีกรรมประจำปีจึงล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก ซึ่งมีอยู่หลายพิธีกรรมด้วยกัน เช่น ในเดือนมกราคมจะมีการทำพิธีกรรมเสี่ยงทายเพื่อหาพื้นที่ทำไร่ ถางไร่ และหาไม้สร้างบ้าน เดือนกุมภาพันธ์จะมีพิธีเกี่ยวหญ้าคาและหาหวายเพื่อปลูกบ้านใหม่ เดือนมีนาคมมีพิธีเผาไร่และกินดอกแก้มเพื่อขอบคุณผีบ้านผีเรือน เดือนเมษายนจะทำพิธีล้อมรั้วไร่ ทำความสะอาดไร่ เป็นการบอกถึงการเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ เดือนพฤษภาคมจะมีการปลูกข้าวดอ ข้าวโพด และมัน เดือนมิถุนายนจะมีประเพณีสงกรานต์ลัวะ เลี้ยงผี เดือนกรกฎาคมมีประเพณีกินข้าวโพด รับขวัญตั้งท้อง เดือนสิงหาคมมีประเพณีรับขวัญข้าวตั้งท้อง เดือนกันยายนจะเป็นประเพณีกินข้าวดอ และเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว เดือนตุลาคมหรือเดือนเจียง จะมีประเพณีกินข้าวเม่าหรือข้าวคั่ว ข้าวฮางหรือข้าวนึ่ง และทำยุ้งฉาง เดือนพฤศจิกายนหรือเดือนยี่จะมีประเพณีลงแขกรูดข้าว ขนข้าวใส่ยุ้งฉาง เลี้ยงผีขวัญข้าว เลี้ยงผีไร่ และในเดือนธันวาคมจะมีการรื้อห้างที่ไร่ และประเพณีกินดอกแดง (ขอบคุณผีไร่) (สุธานี มะลิพันธ์, 2552)
จากการลงพื้นที่ในอำเภอฮอด ผู้ให้สัมภาษณ์ได้บอกเล่าว่า ในรอบปีถ้าจะถึงช่วงเวลาสงกรานต์ ในปัจจุบันก็จะเหมือนกับผู้คนทั่วไป จะมีปีใหม่เมือง มีการทำขนมเขาควาย มีขนมที่ภาษาเหนือเรียกว่าขนมจ๊อก มีข้าวแคบ ข้าวแต๋น ในวันที่สิบสี่ เมื่อทำขนมเสร็จตั้งแต่ช่วงเช้า ในช่วงบ่ายประมาณบ่ายสองจะเริ่มมีการเซ่นไหว้ปู่ย่าตายาย ประกอบไปด้วยเหล้าหนึ่งขวด วางขนมทั้งหมดที่ทำ และอวยพรให้ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับให้เราอยู่ดีมีความสุข เสร็จแล้วจะไปบ้านคนอื่น เป็นเช่นนี้ทุกหลังคาเรือน นี่คือพิธีของลัวะ/ละเวือะบ้านบ่อหลวงในวันปีใหม่เมือง
การตั้งครรภ์และคลอดบุตร
ด้วยการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายตามธรรมชาติ ผู้หญิงชาติพันธุ์ลัวะที่ตั้งครรภ์อยู่ยังคงทำงานตามปกติจนกระทั่งใกล้คลอด ทั้งงานในไร่ งานในครัวเรือน เช่น การหาอาหารพืชผัก ด้วยความเชื่อว่าการทำงานเพื่อให้คลอดลูกง่าย การทำคลอดอาศัยแม่ฮับ (หมอตำแย) ประจำหมู่บ้านเป็นผู้ทำคลอดให้แม่ลูกปลอดภัย ส่วนการปกป้องคุ้มครองด้านจิตใจ มีหมอผีมาทำพิธีบอกกล่าวผีเพื่อให้การคลอดดำเนินไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย ไม่มีสิ่งชั่วร้ายมารบกวนร่วมกับการช่วยเหลือ และพึ่งพาอาศัยของญาติพี่น้องและสมาชิกในหมู่บ้านที่คอยเป็นกำลังใจให้
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่านมีการทำคลอดในลักษณะเดียวกัน คือ เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด ญาติพี่น้องโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีประสบการณ์ และ “แม่ฮับ” พร้อม “หมอผี” ที่มีคาถา (เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้) มีหน้าที่ท่องคาถาปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มาข้องแวะ พร้อมกล่าวคำอันเป็นมงคล โดยเนื้อความกล่าวว่าขอให้ผีไม่มารบกวน ให้ช่วยปกปักรักษาให้คลอดง่าย ปลอดภัยทั้งแม่และลูก ส่วนแม่ฮับมีบทบาทสำคัญในการทำคลอด ตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ทำคลอด เช่น ผ้าสะอาด น้ำอุ่น กระด้ง ไม้ไผ่เหี้ยที่ใช้ผิวที่คมมาตัดสายสะดือเด็กแรกเกิด ร่วมกับผู้เฒ่าผู้แก่ในตระกูลที่จะมารวมกันทำพิธีปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มาทำร้ายทั้งแม่และลูก และบอกกล่าวผีบรรพบุรุษให้ช่วยคุ้มครองดูแลให้ปลอดภัย บางบ้านอาจมีหมอปัด (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) มนต์น้ำใช้เป็นขันน้ำมนต์ เป่าคาถาปัดให้คลอดง่าย
ด้านพิธีกรรม หมอผี ทำหน้าที่เกี่ยวกับผีโดยตรง ทำหน้าที่ดูแลแม่มานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 6 เดือน แม่มานต้องมาหาหมอผีเพื่อปัดพราย (พรายคือสิ่งที่รบกวนแม่มาน พรายจะชอบแม่มาน ชอบของคาว) การทำพิธีปัดพราย คือ ตั้งขันให้หมอคุมไว้ ทำสะตวง 3 แจ่ง(มุม) ใส่เครื่อง 3 ทำพิธีปัดลงท่าน้ำห้วย หากไม่มีน้ำห้วยให้ปัดออกจากเขตบ้าน ทำพิธีทุกวันเดือนเพ็ญ เดือนดับ เมื่อทำพิธีปัดจนครบ 9 เดือนแล้ว หมอผีคนนี้ต้องมาทำหน้าที่เป็นหมอกุมในการทำคลอดอีกครั้ง หากแม่มานมีอาการปวดท้อง หมอผีจะตรวจดูว่าผีตัวไหนที่มารังควานจะมนต์น้ำใส่แก้วให้กิน และลูบหน้า ลูบตัว ลูบหัว หากเป็นพรายมารบกวนจริงเมื่อได้น้ำมนต์แล้วจะหายปวด
แม่ฮับเป็นคนทำคลอด นอกจากนั้นเป็นญาติพี่น้องคอยดูแลช่วยเหลือ แม่ฮับมีประสบการณ์และความสามารถในการทำคลอดจะคลำท้องเพื่อดูท่าของเด็ก หากยังไม่อยู่ในท่าเอาหัวลงต้องคอยนวดท้องจัดท่าให้เด็กพลิกเอาหัวลงเพื่อให้ง่ายต่อการคลอด เมื่อคลอดเสร็จจะจะตัดสานสะดือด้วยไม้ไผ่ซางที่เตรียมไว้ ยกเว้นไม้ฮอก เพราะเชื่อว่าเป็นพิษ ไม่สามารถใช้ตัดสายสะดือเด็กได้ เมื่อคลอดแล้วให้เอาถ่านไฟแห้งที่ไหม้แล้วมารองสายสะดือ ความยาวของสายสะดือวัดถึงระดับหัวเข่าเด็กแล้วใช้ผิวไม้ไผ่ตัดออกส่วนแม่ก็จะใช้ผ้าอังไฟให้ร้อนแล้วนำมาประคบไว้ที่หน้าท้อง เมื่อทำคลอดเสร็จแล้วมีตั้งขันไหว้แม่ฮับ
วิธีการทำคลอด คือ นำผ้ารองพื้นสำหรับทำคลอด ให้แม่นอนหงายใช้มือทั้งสองข้างดึงผ้าขาวม้าที่มัดไว้กับขื่อ จากนั้นหมอตำแยจะคลำไปที่ท้อง เพื่อดูว่าทารกอยู่ในครรภ์ท่าไหน หากเอาหัวลงไปทางช่องคลอดถือว่าพร้อมที่จะคลอด และง่ายต่อการจัดการ หากหันหัวผิดตำแหน่งหมอตำแยจะพยายามคลำและขยับให้หัวเด็กไปตรงช่องคลอด ซึ่งจะช่วยให้คลอดง่ายและไม่เป็นอันตรายกับทั้งตัวเด็กและแม่ หลังจากที่ได้ตำแหน่งหัวลงช่องคลอดแล้วและน้ำคล่ำไหล หมอตำแยจะให้มารดาเบ่งเป็นจังหวะเพื่อคลอดออกมา ส่วนญาติพี่น้องหรือสามีจะคอยต้มน้ำไว้บนแม่เตาไฟ และคอยช่วยเหลือทุกขั้นตอน การคลอดจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแม่ หากแม่เคยคลอดบุตรมาแล้วการทำคลอดจะง่ายกว่าแม่ที่คลอดเป็นครั้งแรก
เมื่อทารกคลอดแล้ว หมอตำแยจะทุบหลังเพื่อให้ร้อง ด้วยความรู้ที่สั่งสมกันมาว่าการทำให้ทารกร้องไห้จะช่วยให้รอดชีวิตได้ จากนั้นจะเช็ดตัวด้วยผ้าสะอาด และตัดสายสะดือด้วยไม้ไผ่เหี๊ยะ (ชื่อไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่บางและมีความคม) เป็นไม้ไผ่เนื้อแข็ง นำส่วนผิวไม้ไผ่มาเหลาแล้วคม และบางเหมือนมีด โดยมีความเชื่อว่าไม้ไผ่เหี๊ยะมีความสะอาดไม่เป็นพิษ ตัดแล้วสายสะดือไม่ติดเชื้อและไม่เป็นอันตรายต่อเด็กนำรกไปไว้ที่คาคบไม้ มีตาแหลวปักไว้เป็นสัญลักษณ์เพื่อป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายมารบกวนเด็ก ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านห้วยหมีมีความเชื่อว่า ผู้เป็นพ่อต้องนำรกเด็กใส่ไว้ในลูกน้ำเต้าแก่ ที่นำมาผ่าครึ่งและปิดด้วยตาแหลว จากนั้นจึงนำเอารกไปมัดผูกติดที่ง่ามต้นไม้ใกล้บ้าน ซึ่งบริเวณที่จะนำรกไปผูกติดจะต้องไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป ทั้งนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า หากผูกมัดสูงเกินไป เด็กมักจะดิ้น สะดุ้งและร้องไห้งอแง และหากผูกมัดไว้ต่ำเกินไปสัตว์จะมากินและทำให้เด็กไม่สบาย สิ่งชั่วร้ายมารบกวนขวัญเด็ก รวมถึงความเชื่อที่ว่า หากผู้เป็นพ่อถือรกข้างไหน ทารกเมื่อเติบโตมาจะถนัดข้างนั้น เช่น ถือรกด้วยมือขวา เด็กก็จะถนัดมือขวา หากถือด้านซ้ายเด็กก็จะถนัดด้านซ้าย ซึ่งส่วนใหญ่พ่อหรือคนที่นำรกไปวางไว้คบไม้จะถือด้วยมือขวามากกว่ามือซ้าย
ส่วนการทำคลอดของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม ทุกคนคลอดบนเรือนมีแม่ช่าง (ออกเสียงแม่จ้าง) หรือหมอตำแยช่วยทำคลอด การคลอดและทุกขั้นตอนเป็นธรรมชาติ หญิงมีครรภ์ดึงหรือโหนกับผ้าที่ผูกโยงกับขื่อ อยู่ในท่ายืนเข่าเพื่อให้เด็กคลอดออกมาตามธรรมชาติ รับที่พื้นฟาก ตัดสายสะดือ และอาบน้ำ การตัดสายสะดือเด็กใช้ผิวไม้ไผ่ ประเภทไม้ซางที่คมเหมือนมีดตัด สายสะดือขุดหลุมฝังไว้ใต้ถุนบ้าน รอบบริเวณนั้นใช้ไม้ไผ่เสียบล้อมให้ดูสวยงาม (สัมภาษณ์ นางบุญเพลิน ประชามีบุญ วันที่ 21 สิงหาคม 2561) จะเห็นว่าขั้นตอนในการทำคลอดแต่อดีตต้องพึ่งหมอในบ้านที่มีประสบการณ์ด้านการทำคลอด
พิธีกรรมด้านความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ปกติสุขของทารกและครอบครัว คือ นำทารกไปใส่ในกระด้งที่รองด้วยผ้าหนานุ่มแล้วอุ้มไปที่ประตูเรือน เพื่อทำพิธีโดยพูดว่า “หากเป็นลูกผีก็ขอให้ผีเอาไป หากไม่เป็นลูกผี เป็นลูกคนก็จะขอเลี้ยงไว้ และห้ามผีมารบกวนอีก” พูดประมาณ 2-3 ครั้ง จากนั้นนำเด็กกลับเข้ามาในเรือน (สัมภาษณ์ นางแผน หอมดอก วันที่ 6 กันยายน 2561) ที่คล้ายกับพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท ที่เชื่อเรื่องพ่อเกิดแม่เกิด
ผู้เฒ่าผู้แก่และญาติพี่น้องจะมาดูแลทารกเพื่อสร้างความรักความอบอุ่นให้เกิดขึ้น รวมถึงกล่าวขอบคุณผีบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยให้การทำคลอดปลอดภัยทั้งแม่และทารก และขอให้โตเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย ไม่ดื้อไม่ซน สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นต้น สำหรับผู้ที่มาช่วยทำคลอด ทั้งแม่ฮับ หมอผี ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือแม้แต่ญาติพี่น้องที่มาร่วมยินดี ทางครอบครัวจะเตรียมเหล้า ไก่ต้มตามฐานะ เพื่อให้เป็นมงคลแก่เด็กเป็นวันแห่งความยินดีของพ่อแม่และญาติพี่น้องที่ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ได้จัดให้มีการฉลองทั้งการดื่มเหล้า รับประทานอาหารที่ทางครอบครัวจัดเตรียมไว้ขอบคุณ เป็นเสร็จพิธี
การดูแลหลังคลอด
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน หลังคลอดแม่ต้องอยู่ไฟประมาณ 7 วัน การนอนพักอยู่หน้าเตาไฟ ซึ่งสุมไฟไว้ให้ความอบอุ่นตลอดเวลาเพื่อให้มดลูกเข้าที่ ในระหว่างนั้นผู้เฒ่าจะให้แม่ดื่มน้ำค่อนข้างร้อน เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
ส่วนอาหารของมารดาหลังคลอด คือ พืชผักชนิดต่าง ๆ หัวปลีและข้าว ห้ามมิให้รับประทานของคาว เช่น เนื้อสัตว์ หลังคลอด 7-10 วัน สามารถไปทำงานตามปกติได้ โดยเริ่มจากงานเบา เช่น ซักผ้าอ้อม ปัดกวาดบ้านเรือน หุงหาอาหาร และไม่เกินหนึ่งเดือนแม่ต้องพาลูกไปทำงานด้วย โดยใช้ผ้าขาวม้าผืนใหญ่ห่อตัวเด็กไว้และผูกติดกับตัวแม่ด้านหน้าหรือด้านหลังพร้อมกับการทำงาน
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม แม่อยู่ไฟ 3 คืน ใช้เสื่อล้อมเป็นวงไว้ โดยใช้ไม้วางเป็นที่นั่ง เผาก้อนหินขนาดย่อม ๆ ให้แดง แม่ที่อยู่ไฟนั่งอยู่ใกล้หินนั้น คอยเอาน้ำลวกก้อนหินให้เกิดความร้อนและควันลอยขึ้นมาโดยตัว นำใบไม้ชื่อ “ใบลอยโตย” ลักษณะคล้ายใบเป้าของคนพื้นราบมาเผาสำหรับรองที่นั่งให้เกิดความร้อน เพื่อขับน้ำคาวปลา ใช้เวลาทำ 3 วัน วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น
อาหารที่หญิงอยู่ไฟกิน คือ ข้าวกับเกลือ ไม่กินอย่างอื่น 3 วัน และดื่มน้ำร้อน จึงเรียกว่าอยู่ไฟ ไม่ใช่อยู่เดือนเหมือนคนพื้นราบ หลังจาก 3 วันแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คือ ทำงานทุกอย่างได้ตามปกติ ไม่ต้องแต่งตัวคลุมทุกส่วนของร่างกายเหมือนคนเมือง สามารถทำอาหารดมกลิ่นต่าง ๆ ได้ตามปกติ ไม่ต้องกลัวผิดเดือน หญิงชาวลัวะในอดีตหลังคลอดได้ 3 วันไปทานในไร่ในสวนได้
พิธีเลี้ยงผี เพื่อบอกกล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม เมื่อคลอดลูกแล้ว ต้องทำพิธีเลี้ยงผี ให้นำหมูตัวผู้ 1 ตัว ไปเลี้ยงผีที่ศาลาสามแยกหน้าหมู่บ้าน หรือ หยู จากนั้นให้เลี้ยงผีเรือน ให้ครบทั้ง 2 แห่ง เพื่อผีในเรือนจะได้รู้ว่าครอบครัวมีสมาชิกใหม่ หากเลี้ยงผีไม่ครบลูกจะงอแง ตามปกติของคนลัวะที่ถือผีตามฝ่ายชาย หากได้ลูกชายจะดีใจ เนื่องจากลูกชายต้องกลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน ในอดีตเมื่อได้ลูกสาวหลายคนแล้ว ยังต้องพยายามให้มีลูกชายให้ได้สักคน แต่ปัจจุบันไม่ได้คิดมากแล้ว
การตั้งชื่อ
เมื่อเด็กมีสุขภาพแข็งแรงช่วงเวลาหนึ่ง พ่อแม่ ญาติพี่น้องจึงทำการตั้งชื่อให้ นำสรวย (กรวย) ดอกไม้ เทียน ไปทำพิธีเสี่ยงทาย หรือเซาะเมื่อ โดยถามจากหมอเมื่อ (ส่วนใหญ่เป็นหมอผีประจำหมู่บ้าน) และทำการเสี่ยงทายจนรู้ว่าเป็นบรรพบุรุษคนใดมาเกิด จึงตั้งชื่อบรรพบุรุษคนนั้นเป็นชื่อลูกหลานของตัวเอง
พิธีการตั้งชื่อที่สืบทอดกันมามีลักษณะคล้ายการเสี่ยงทาย คือ หมอเมื่อหยิบเม็ดข้าวมานับจำนวนคู่ หรือจำนวนคี่ โดยก่อนหยิบเม็ดข้าวมานับจำนวน หมอเมื่อต้องอธิษฐานชื่อบรรพบุรุษคนหนึ่งที่เชื่อว่ามาเกิดเป็นเด็กคนนี้ แล้วเสี่ยงหยิบเม็ดข้าวมาจำนวนหนึ่ง จากนั้นทำการนับ หากเป็นเลขคู่ หมายถึงบรรพบุรุษที่ได้อธิษฐานไว้มาเกิด ให้ตั้งชื่อตามบรรพบุรุษคนนั้น หรืออาจตั้งชื่อให้ใหม่ก็ได้ ในอดีตมักตั้งเป็นชื่อง่าย ๆ คำเดียว เช่น ชุก แสง มา คำ มั่น ศรี ผา เป็นต้น
หากตั้งชื่อแล้วทารกยังร้องไห้ หรือเกิดการเจ็บป่วย แสดงว่ายังมิใช่บรรพบุรุษผู้นั้นมาเกิด ต้องทำการเสี่ยงทาย (เซาะเมื่อ) อีกครั้งหนึ่งว่าเป็นผู้ใดมาเกิด ความมั่นใจว่าผู้ใดมาเกิดเป็นทารกคนนี้ จะรู้ได้ต่อเมื่อทารกนั้นไม่ร้องไห้งอแง หรือหายจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งการทำพิธีดังกล่าว บางครั้งต้องใช้ไก่และเหล้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นครอบครัวที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่ต้องเตรียมไก่สำหรับเลี้ยงหมอเมื่อ หมอผี และญาติพี่น้องไว้จำนวนหนึ่ง
การเลี้ยงดูเด็กทารก บางช่วงเวลาพ่อแม่ก็อาจจะฝากให้ตายายช่วยเลี้ยง จนโตประมาณ 1 ขวบ เด็กน้อยจะถูกเลี้ยงโดยพี่ ๆ โดยเฉพาะพี่ที่เป็นผู้หญิง ในหมู่บ้านมักพบพี่สาวตัวเล็กที่สามารถอุ้มน้องไปตามที่ต่าง ๆ สามารถเลี้ยงดูน้องของตนเองได้ ถือเป็นบทเรียนที่ลูกผู้หญิงต้องเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมและความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก จนถึงวันที่ต้องเลี้ยงลูกหลานของตนเองในอนาคต เป็นการสืบทอดและอบรมสั่งสอนกันในกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เฉพาะแต่ลัวะเท่านั้น
จากความเจริญทางการแพทย์ การสาธารณสุข และการคมนาคม ที่เจริญขึ้นส่งผลต่อการคลอดลูกที่โรงพยาบาลมากขึ้น การมีสถานพยาบาลใกล้หมู่บ้านสามารถฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ ฉีดวัคซีน ทำให้สุขภาพอนามัยของแม่และเด็กได้รับการดูแลดีขึ้น สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย ฉีดวัคซีนแก่ทารก ทำให้อัตราการรอดชีวิตของทารกเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แม่ฮับลดบทบาทลง ยังคงพบว่าความเชื่อในการดูแลแม่และทารกด้วยการเลี้ยงผีตามจารีตประเพณียังยึดถือปฏิบัติกันต่อมา
เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเมืองเชียงใหม่ ทั้งบ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อหลวง และบ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม ได้อาศัยความเจริญทางการแพทย์ การคมนาคมที่สะดวกขึ้น ในการเดินทางมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกเดือน เพื่อรับการทำคลอดที่ทันสมัยแทนการทำคลอดโดยแม่จ้างตามที่เคยปฏิบัติในอดีต
ประเพณีด้านการแต่งงาน
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะถือว่าช่วงอายุ 15-20 ปี เป็นช่วงวัยหนุ่มสาวที่ต้องแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัวและช่วยกันทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวมีโอกาสพบปะกันตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งการเอามื้อเอาแรงในไร่ข้าว ในชุมชน หรือต่างชุมชนที่ฝ่ายชายมักเดินทางเพื่อหาโอกาสพบปะกับผู้หญิงที่เหมาะสมจะเป็นคู่ครอง
การคบหากันของหนุ่มสาวอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ในสายตระกูลเสมอ เพื่อให้เลี่ยงการแต่งงานในตระกูลเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อห้ามที่เคร่งครัดหากละเมิดอาจส่งผลถึงอนาคตของคู่แต่งงาน ลูกหลาน ไปจนถึงการล่มสลายของตระกูลด้วยการให้เหตุผลเรื่องความไม่เหมาะสมอาจทำให้ผีบรรพบุรุษทำให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตาย การสืบสายตระกูลหากหนุ่มสาวรู้ว่าอยู่ในตระกูลเดียวกันต้องเลิกร้างจากกัน โดยข้อห้ามที่เคร่งครัดนี้อาจอธิบายได้ว่าเป็นการป้องกันปัญหาภาวะเลือดชิด เนื่องจากประสบการณ์ที่เกิดในรุ่นลูกมีสุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่าย
ข้อห้าม
ในการแต่งงานในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเชียงใหม่ มีความเชื่อเช่นเดียวกัน คือ ในบ้านมืดหลองมีความเชื่อว่าญาติพี่น้องไม่สามารถแต่งานกันได้ โดยนำความคิดความเชื่อเรื่องเชื้อสะมางมาเป็นข้อกำหนด ผู้สืบเชื้อสะมางม่ามารถแต่งงานในกลุ่มเชื้อสายสะมางในหมู่บ้านเดียวกันได้ ต้องแต่งงานกับคนกลุ่มอื่น เพราะถือว่าสะมางกับสะมางถือเป็นญาติเดียวกันแต่งงานกันไม่ได้ การฝ่าฝืนแต่งงานกับเชื้อสายเดียวกันจะทำให้เกิดความยากลำบากในวันข้างหน้า ทั้งการไม่ยอมรับของคนในชุมชนเดียวกัน ในเครือญาติ และลูกที่เกิดมาอาจถูกรังเกียจ และป่วยไข้จากผีทำให้ป่วย เป็นต้น
การรับรู้ว่าเป็นเชื้อสายสะมางเด็ก ๆ จะรู้จักกันเอง เนื่องจากเลี้ยงผีตัวเดียวต้องเห็นหน้ากันทั้งบ้าน 25 หลังคาเรือน ทั้งนี้เชื้อสายสะมางต่างหมู่บ้านยังสามารถแต่งงานกันได้
ในบ้านบ่อหลวง ข้อห้ามในการแต่งงานเฉพาะคนสองตระกูล คือ ขุนแก้ว และสุนันตา มีความเชื่อว่าทั้งสองเป็นตระกูลขุนที่ห้ามแต่งงานกันโดยเด็ดขาดหากผิดจารีตจะส่งผลให้ลูกที่เกิดมาไม่ปกติ
ข้อห้ามที่สำคัญจึงเกี่ยวกับการเลี่ยงสภาวะเลือดชิดของญาติพี่น้องที่แต่งงานกันเอง ซึงความรู้ ภูมิปัญญาในเรื่องนี้เป็นที่แพร่หลายในทุกกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะกลุ่มที่มีประชากรน้อย
การแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในปัจจุบัน เช่น บ้านบ่อหลวงมีคนลัวะและคนเสี้ยม (หมายถึง คนเมือง และคนไทย) มาอยู่บ้านนี้ มาแต่งงานกับลูกหลานบ้านนี้คนเสี้ยมที่มาอยู่กับลัวะก็เลี้ยงผีด้วยตามครอบครัว แต่งงานตามผู้ชายแต่งเมียเข้าบ้าน ถ้าบ้านที่ไม่มีลูกชายแต่งลูกเขยมาอยู่บ้านลูกสาวได้ เอาลูกเขามาอยู่แต่อยู่คนเดียวอยู่มากไม่ได้ เนื่องจากระบบครอบครัวของที่นี่ทำงานช่วยกัน 2 คน ไม่ใช้ระบบการทำงานช่วยกันหลายคน
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่านมีความตรงข้ามกับลัวะเมืองเชียงใหม่ คือ หลังการแต่งงานเสร็จสิ้น ฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง เรียกว่า “แต่งเขยเข้าบ้าน” และต้องช่วยเหลืองานในบ้านฝ่ายหญิง จนกว่าจะพร้อมปลูกเรือนได้เอง และสามารถดูแลครอบครัวได้ การตัดสินใจให้ลูกปลูกเรือนต้องได้รับความเห็นชอบของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ซึ่งได้พิจารณาเห็นความสามารถของลูกเขยที่จะนำพาลูกของตนไปในทางที่ดีได้ เพราะในอนาคตต้องเป็นผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูภรรยา ลูก และเลี้ยงดูพ่อแม่ของฝ่ายหญิง ทำให้ฝ่ายชายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนัก เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายชายที่เป็นเขยต้องทำพิธีไหว้ผีประจำตระกูลของฝ่ายหญิง เพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกในบ้านและมีส่วนร่วมในการสืบสายตระกูลทางฝ่ายหญิงต่อไป โดยส่วนใหญ่กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะที่แต่งงานใช้ชีวิตคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว ไม่นิยมการหย่าร้างกัน
พิธีกรรมการแต่งงาน
การแต่งงานของชายหนุ่มหญิงสาวกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเป็นเรื่องที่สร้างความยินดีให้แก่ครอบครัวและชุมชน หากหญิงชายชอบพอกันต่างบอกให้ญาติพี่น้องได้รับรู้ เพื่อทำการพูดจาสู่ขอ และเตรียมจัดพิธีกรรมต่อไป รายละเอียดของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในแต่ละพื้นที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างในพิธีกรรม โดยความเหมือนคือ การแต่งงานเป็นการสร้างครอบครัวใหม่ ต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อให้ยอมรับสมาชิกใหม่และร่วมแสดงความยินดี รวมทั้งการเลี้ยงเพื่อบอกกล่าวผีบรรพบุรุษให้รับรู้เพื่อคุ้มครองสมาชิกใหม่
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน ทำการพูดคุยสู่ขอที่บ้านฝ่ายหญิง โดยมี “แก่นสาร” หรือเถ้าแก่ ทำหน้าที่พูดคุยตกลงกัน หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบและอนุญาตให้ชายหญิงแต่งงานกันได้ ก็จะกำหนดวันแต่งงาน มัดมือสู่ขวัญ จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ช่วงเวลาที่รอพิธีเป็นการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน เช่น ข้าวปลาอาหาร เหล้าพิธีกรรม การบอกกล่าวญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นให้ได้รับรู้และมาร่วมงานพิธีแต่งงานมัดมือสู่ขวัญ
เมื่อตกลงแต่งงานกันแล้วทั้งสองฝ่ายจะกำหนดวันทำพิธีมัดแขน โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะนั่งคู่กัน “แก่นสาร” เป็นผู้ทำพิธีมัดแขนสู่ขวัญให้พรเป็นภาษาลัวะ เรียกว่า “การอั๊พขวัญ” แปลความเป็นภาษาไทยว่า “ขอให้อยู่ดีมีสุข มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน มีอะไรก็พูดกันด้วยเหตุด้วยผล ต้องดูแลพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ไม่ให้อดอยาก ได้ของกินอะไรมาดีๆ ก็แบ่งปันให้พ่อแม่ด้วย” (สัมภาษณ์ นายมุก ใจปิง วันที่ 28 มีนาคม 2562) แก่นสาร ผู้เฒ่าผู้แก่ ญาติพี่น้อง ตลอดผู้มาร่วมงาน ร่วมกันผูกแขน อวยพรให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาวตามลำดับ จากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะยกเหล้าให้แก่นสาร ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาผูกแขนให้ตามลำดับอาวุโสของทั้งสองฝ่าย และร่วมรับประทานอาหาร ดื่มเหล้าที่เตรียมไว้ด้วยบรรยากาศครึกครื้นตามรูปแบบงานมงคล
ในอดีตการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะไม่ใช้สินสอดในพิธีแต่งงาน เนื่องจากการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง การจัดเตรียมอาหารต้องวางแผนดำเนินการตั้งแต่การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ต้มเหล้า สำหรับเลี้ยงแขกที่มาในงานโดยไม่ต้องเสียค่าสินสอด
ส่วนการแต่งงานที่บ้านมืดหลองนั้น เน้นที่ฝ่ายชายต้องไปสู่ขอฝ่ายหญิง โดยพาผู้ใหญ่ฝ่ายชายไปด้วย 2 คน ไปคุยกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงว่ากำหนดวันแต่งงานกัน พร้อมนำสร้อยไปมอบให้ฝ่ายหญิง เมื่อตกลงวันได้แล้วให้นำเงินเจียง เงินแถบไปสู่ขอตามจารีตที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การเตรียมเงินค่าสินสอดเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญฝ่ายหญิงจะไม่เรียกร้อง แล้วแต่ฝ่ายชายจะให้หรือไม่ก็ได้ขอเพียงแต่รักและอยู่ด้วยกันจริง เมื่อพูดคุยตกลงเรื่องการแต่งงานที่บ้านฝ่ายหญิงแล้ว ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายที่ไปบ้านฝ่ายหญิงเพื่อสู่ขอนั้นต้องถามทางฝ่ายหญิงว่าต้องการให้เตรียมอะไรบ้าง เช่น ฝ่ายหญิงบอกว่า ต้องการเสื้อผ้า ถุงย่าม ผ้าขาวม้า เป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม ทางบ้านฝ่ายชายต้องเตรียมให้ตามนั้น
ก่อนจัดงานฝ่ายชายต้องเตรียมขันไปสมา (ขอขมา) ทางพี่น้องฝ่ายหญิง พร้อมเตรียมผ้าประเภทต่าง ๆ ตามที่ฝ่ายหญิงขอให้ครบทุกรายการนำมามอบให้ฝ่ายหญิงทั้งหมด และต้องนอนค้างที่บ้านผู้หญิง 1 คืน รุ่งเช้าพาตัวเจ้าสาวกลับมา เพื่อจัดงานที่บ้านฝ่ายชาย และเป็นการแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชาย พิธีเลี้ยงผีจัดขึ้นเมื่อฝ่ายหญิงมาอยู่ในเรือนครบ 1 สัปดาห์แล้ว พิธีเลี้ยงผีเรือนจนครบทั้งหมดแล้วให้ทำพิธีมัดมือ พร้อมบอกกล่าวว่าผู้หญิงคนนี้มาเป็นลูกสาวเราแล้ว ให้ผีช่วยปกป้องคุ้มครองเหมือนสมาชิกในครอบครัว การเลี้ยงและบอกกล่าวผีต้องทำเพื่อให้อยู่ดีมีสุข หากไม่บอกกล่าวผีเรือนจะไม่รู้จักและไม่ปกปักรักษา
การแต่งงานที่บ้านบ่อหลวงต้องแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชายเช่นกัน จึงต้องจัดเตรียมสินสอดตามจารีต ทั้งเงินแถบหรือเงินรูปีร้อยเป็นพวง เงินเจียง 1 อัน เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันหากไม่มีเงินเจียง ต้องไปยืมจากผู้ที่มีเพื่อนำมาประกอบในพิธีกรรม เมื่อทำพิธีแต่งงานเสร็จแล้ว จึงนำไปคืนให้เจ้าของ เนื่องจากเงินเจียงเป็นของหายากมีราคาสูง
การจัดเลี้ยง
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่านจัดเลี้ยงผีในวันทำพิธีมัดมือสู่ขวัญ มีเหล้า ไก่ หมู เป็นของในพิธี มีผู้เฒ่าผู้แก่ ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายมาเป็นสักขีพยาน แสดงความยินดี และให้พร จากนั้นจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาร่วมพิธีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาก ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะช่วยกันจัดเตรียมอาหารเลี้ยงผู้เข้าร่วมพิธีตามฐานะ โดยแบ่งหน้าที่ให้ฝ่ายหญิงเตรียมหมู ไก่ และเหล้าสำหรับเลี้ยงผี และเตรียมหมักเหล้า ต้มเหล้าไว้ได้ในปริมาณมากพอเลี้ยงแขกที่มาร่วมในพิธี ส่วนใหญ่เป็นเหล้าแกลบ หรือเหล้าต้มที่นำมาเลี้ยง ร่วมกับอาหารที่เป็นของพื้นบ้านที่หาได้ บางครั้งก่อนงานพิธีทางฝ่ายเจ้าบ่าว หรือญาติเจ้าสาวอาจเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ นำเนื้อสัตว์มาปรุงอาหารสำหรับเลี้ยงแขกเป็นต้น
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวง ในพิธีแต่งงานต้องเลี้ยงผีบ้าน ต้องทำพิธีหมู่บ้านเลี้ยงหมูตามทุนทรัพย์ ก่อนเลี้ยงหมูจะต้องทำพิธีส่งบ้านส่งเมือง บอกทุกหลังคาเรือนให้รับทราบว่าจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน รวมทั้งต้องบอกแก่ผีด้วย ให้เลี้ยงเหล้า 12 ขวด
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2545: 119-120) กล่าวถึงการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวง เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องนำเอาไก่ 1 ตัวสุรา 1 ขวด ไปมอบให้ญาติพี่น้องของเจ้าสาวให้ครบทุกหลังคาเรือน เจ้าของบ้านซึ่งเป็นญาติกับเจ้าสาวจะรับไหว้ด้วยการให้เงินราว 5 บาท 10 บาท ตามฐานะของตน ในปัจจุบันยังพบการปฏิบิเช่นนี้อยู่ โดยเงินรับไหว้อาจจะเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
จากนั้นเรียกญาติพี่น้องฝ่ายหญิงมาร่วมงาน ในตอนเช้าเวลาประมาณ 8.00 น. ผู้เฒ่าผู้แก่มาเจรจากัน มีผู้อาวุโสชายคนหนึ่งเป็นตั้งข้าว นำสุนัขสีแดงมาทำพิธีเลี้ยงผี ตามจารีตการแต่งงานจะเลี้ยงหมาหนึ่งตัว เจ้าบ่าวต้องนำสุนัขสีแดงมอบให้บ้านเจ้าสาวเพื่อทำพิธีเลี้ยงที่บ้านเจ้าสาว จัดการฆ่าแล้วต้มเอาควักเครื่องในออกมา แล้วตัดชิ้นส่วนจากปาก หู จมูก หาง เท้าทั้ง 4 มาที่ละเล็กละน้อยใส่แคะ หรือถาดไม้ไผ่สานเพื่อเลี้ยงผีเรือน เป็นพิธีของการแต่งงานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะหญิงแต่งงานหรือชายแต่งงาน หลังจากส่งบ้านส่งเมืองแล้วให้นัดเลี้ยงอีกครั้งภายใน 1-2 ปี เป็นการเลี้ยงบ้านเลี้ยงเมืองใช้เหล้า 5 ขวด ไก่ 5 ตัว ถ้าไม่มีเงินทุนก็เลี้ยงแค่นี้
ตอนเที่ยงทำพิธีเลี้ยงหมู ไก่ แล้วทำต๊อกสะเบื๊อกสำหรับเลี้ยงผี ประกอบด้วยเป็นหมูต้มกับปลีใส่พริกเกลือ เมื่อปรุงเสร็จเรียบร้อยห้ามผู้ใดชิม ขนมเป็นขนมเขาควาย ขนมจ๊อก ขนมปาด เขาควายคือข้าวต้มหรือแหลมทั้งสองข้างเอาข้าวนึ่งเอาใบตองจากเอาใส่สวยจะแหลม 2 อันเอาไปนึ่ง เป็นขนมที่เอามากินได้ โดยขนมในพิธีกรรมเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากอาหารประจำถิ่น เนื่องจากรับวัฒนธรรมของคนเมืองในพื้นที่ราบเข้ามา
พิธีการเลี้ยงผีในงานแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านเมืองก๊ะ หากเรือนหลังใดจัดงานแต่งงาน จะปิดเรือนเพื่อทำพิธีเลี้ยงผีลัวะในสายตระกูลของตนเอง ด้วยการนำเอาหมูรุ่นตัวเมียสีดำมาฆ่าโดยนำไม้แหลมแทงที่คอ แล้วนำมาโยงเซ่นผีที่หิ้งบนเรือนพร้อมข้าวตอกดอกไม้ เชื่อว่าผีจะกินของเลี้ยงประมาณ 30 นาที หรือประมาณเวลาที่ธูปไหม้หมดดอก ในระหว่างพิธีกรรมเลี้ยงผีนี้ผู้ที่นับถือผีสายตระกูลเดียวกันเท่านั้นที่เข้าร่วมได้ คนนอกสายตระกูลเข้าไม่ได้ ต้องรอจนพิธีเลี้ยงผีเสร็จสิ้น หากฝ่าฝืนจะเกิดการผิดผี งานแต่งครั้งนั้นต้องถูกยกเลิกและต้องหาฤกษ์ยามกันใหม่ ส่วนหมูที่เลี้ยงผีก็จะยกให้ผู้ผิดผีทั้งตัว ผู้ผิดผีงานแต่งต้องรับผิดชอบหาหมูตัวใหม่มาเลี้ยงผีในงานแต่งงานครั้งต่อไป เมื่อหมูได้ผ่านการเลี้ยงผีมาแล้วให้นำเอาหมูตัวนั้น ทำอาหารต่าง ๆ เช่น ลาบ แกง ย่าง และไส้อั่ว เป็นต้น นำมาทำอาหารแบ่งกัน
หลังจากพิธีเลี้ยงผีเสร็จแล้ว จะเป็นการมัดมือโดยเริ่มจากคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ญาติพี่น้อง รวมถึงชาวบ้านที่เป็นคนนอกตระกูล พอเสร็จแล้วก็ส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว หลังจากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้านเป็นอันเสร็จพิธี (สัมภาษณ์ นายไพศาล ไทยใหม่ นางนวล ดอยคำ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561 และวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2561)
มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงผีด้วยหมูในพิธีแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านเมืองก๊ะ มีความแตกต่างจากการเลี้ยงผีด้วยหมูของคนเมือง (คนไท) โดยการเลี้ยงหมูเป็นจารีตที่มีมาแต่เดิมว่า หากจะใส่ผีหรือเลี้ยงผีในพิธีแต่งงานต้องใช้หมูเท่านั้นเพราะผีลัวะที่นี่กินหมู จารีตและการปฏิบัติเช่นนี้สอดคล้องกับลัวะในหมู่บ้านอื่น เช่น ลัวะที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และลัวะที่บ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการนำเสนอของ พิพัทธเวช สืบแสง และภูเบธ วีโรทัย (2531: 90 -91) ในงานสัมมนาวิชาการ เรื่องลัวะในล้านนา ที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2531 ได้กล่าวว่า ลัวะที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และลัวะที่บ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผีลัวะกินหมู และกล่าวว่าถ้าอยากทราบว่าใครเป็นลัวะ หรือ ไท ให้ถามดูว่า ผีของท่านกินอะไร ถ้าผีกินไก่ก็เป็นไท ถ้าผีกินหมูก็เป็นลัวะ ดังมีคำกล่าวว่า ผีไต(ไท)กินไก่ ผีลัวะกินหมู จึงมีประเพณีต้องถามกันก่อนว่า ผีกินอะไร บางคนเป็นคนเมือง แต่ผีกินหมู นั่นอาจหมายความว่าบรรพชนอาจจะเป็นลัวะมาก่อ
ปัจจุบัน เมื่อสภาพสังคม และเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายเรื่องการจัดเลี้ยงตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงเพราะถือว่าการแต่งงาน เป็นการแต่งเขยเข้าบ้านมาเป็นแรงงานในครอบครัว จากการรับอิทธิพลการจัดงานแต่งงานจากคนพื้นราบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ราวช่วงทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา) เมื่อลูกหลานในหมู่บ้านได้รับการศึกษาที่ดี และออกไปรับจ้างทำงานนอกหมู่บ้านมากขึ้น ทำให้พบคู่ครองต่างถิ่น การจัดงานแต่งงานตามสมัยนิยมทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยง และงานรื่นเริงที่ต้องมีการร้องรำทำเพลงในรูปแบบการร้องคาราโอเกะ การแสดงดนตรีบนเวที รวมถึงค่าใช้จ่ายประเภทเครื่องดื่มที่เพิ่มมากขึ้น เหล้าต้มที่เป็นของดั้งเดิมในการจัดเลี้ยงได้รับความนิยมน้อยลง กลายเป็นเพียงเหล้าที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม แขกผู้มาร่วมงานส่วนใหญ่นิยมเครื่องดื่มที่มีขายตามท้องตลาดเช่นเดียวกับคนพื้นราบ
ผลกระทบดังกล่าวทำให้การจัดงานแต่งงานในปัจจุบัน ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาว พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายรวมถึงญาติพี่น้องต้องแบ่งความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในแต่ละด้าน เรื่องค่านิยมในการจัดงานแต่งงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่วนหนึ่งได้สร้างรายจ่ายมากขึ้นจากเดิม ส่วนความเปลี่ยนแปลงเรื่องการอยู่ร่วมกันของคู่สมรสจากผัวเดียวเมียเดียวไม่มีการหย่าร้าง ในปัจจุบันพบว่าหลายคู่หย่าร้าง และแต่งงานเป็นครั้งที่สอง
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดแสดงถึงผลกระทบที่ได้รับจากความเจริญทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเส้นทางคมนาคม และช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหลากหลายรูปแบบที่เข้าสู่ชุมชน ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับชุมชนบนภูเขา ทั้งด้านพิธีกรรม ความเชื่อ ตลอดจนการผสมผสานทางชาติพันธุ์ที่มาจากการแต่งงานทำให้เกิดการไหลเวียนของผู้คนในชุมชน สถานการณ์ดังกล่าว ถือเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทั้งทางด้านความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่ทำให้ผู้คนในชุมชนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชาติพันธุ์ของตนเองมากขึ้น
ความตาย และการทำศพ
ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะทั้งเรื่องผีบรรพบุรุษ ผีเรือน และผีเจ้าป่าเจ้าเขา ตลอดจนผีร้ายต่าง ๆ ซึ่งให้ทั้งคุณและโทษ ความเชื่อผีทำให้ชาวลัวะมีความกลัวคนตาย กลัววิญญาณ ไม่นิยมเข้าร่วมการทำศพมากนัก นอกจากเป็นญาติพี่น้อง หรือมีความใกล้ชิดกัน ในอดีตการมีคนตายในบ้านทำให้บรรยากาศในหมู่บ้านเงียบเหงาและวังเวง โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน หากมีคนตายในหมู่บ้านจึงเก็บศพไว้เพียงชั่วข้ามวันข้ามคืน คือ ตายเช้าฝังเย็น ตายบ่ายฝังเช้า โดยเฉพาะการตายที่ผิดปกติ เช่น ตายโหง จะฝังภายในวันนั้นเลย หากคนตายมีญาติพี่น้องมากจะเก็บศพไว้นานแต่ไม่เกิน 2 วัน เนื่องจากไม่มีการฉีดยาศพ ทำให้ศพมีกลิ่น ตลอดระยะเวลาที่ตั้งศพไว้ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านจะมาร่วมไว้อาลัยและปลอบใจ
ตัวอย่างขั้นตอนการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับศพของกลุ่มชติพันธุ์ลัวะเมืองน่านที่บ้านห้วยหมี ตำบลดงพญา มีดังนี้
1) ลูกหลานมาช่วยอาบน้ำศพ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ดีที่สุดเท่าที่มี จากนั้นนำด้ายมามัดมือ นำไก่ตัวเล็กที่ปิ้งเรียบร้อยแล้วมาวางไว้บนหน้าอกของผู้ตาย (มีเรื่องเล่าว่าหากสัปเหร่อหรือคนทำศพกินไก่น้อยที่วางไว้บนหน้าอกผู้ตาย ผีจะไม่มาหลอก)
2) เตรียมสำรับอาหารวางไว้ข้างศพ เรียกว่า “ซะข้าวซะน้ำ” เพื่อบอกกล่าวให้คนตายมากิน ด้วยความเชื่อว่าต้องให้คนตายกินก่อนจากนั้นคนเป็นถึงจะกินได้
3) นำศพมาห่อด้วยสาดหรือเสื่อผืนใหญ่ ใช้เถาวัลย์หรือเปลือกไม้เหนียวมัดหัวท้ายให้แน่น จากนั้นนำไม้ไผ่มาสานเป็นหับ (คล้ายกับภาชนะที่ขังหมูของทางภาคเหนือ) นำเสื่อมารอง รวมถึงหอก ดาบวางไว้ข้างศพ
4) นำขี้ผึ้งป่ามาทำเทียนที่มีไส้เทียนยาวเท่าส่วนสูงของผู้ตาย เรียกว่า “เทียนอายุ” เพื่อจุดไว้ที่ข้างศพ จนเทียนหมด หมายถึง ได้เวลาที่ต้องเดินทางไปสู่อีกภพภูมิหนึ่ง
5) ตั้งหรือวางมีด พร้า ไว้ข้างศพ ด้วยความเชื่อว่าจะปกป้องไม่ให้ภัยร้ายมาถึงพี่น้องญาติผู้ตาย
ในระหว่างพิธีศพเจ้าของบ้านวางน้ำเต้าใส่น้ำขมิ้นส้มป่อยไว้บริเวณบันไดบ้าน เพื่อให้ผู้มาร่วมพิธีนำน้ำส้มป่อยไปลูบหัว เพื่อป้องกันผี
ในช่วงที่เก็บศพไว้ในบ้าน ในอดีตจะมีการร้องเพลง จ้อย ซอ หรือเปิดเพลงจากวิทยุเพื่อให้ผีได้ฟัง ส่วนญาติพี่น้องห้ามร้อง (ถือว่าเป็นการซ้ำเติม) ในช่วงงานจะมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่เป็นญาติพี่น้อง มานั่งร้องไห้หน้าศพ ในกรณีที่ผู้ตายเสียชีวิตกะทันหัน โดยไม่มีการล่ำลา จะร้องไห้มากและร้องอย่างโหยหวนตลอดเวลา เพราะถือว่ายังทำใจไม่ได้ เป็นการร้องไห้ตามประเพณี ส่วนกรณีที่ตายจากการเจ็บป่วย ญาติพี่น้องได้ช่วยกันดูแลรักษามาตลอดจนถึงวาระสุดท้าย การร้องไห้ทำพอเป็นพิธี ด้วยญาติพี่น้องทำใจได้แล้
ความสามัคคีของคนในชุมชนต่องานพิธีศพ คือ เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ชาวบ้านทุกคนจะหยุดงานในไร่และเข้าร่วมงานศพเสมือนเป็นวันกำ โดยเชื่อว่าหากไม่หยุดงานในไร่ ข้าวหรือพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในไร่จะไม่เจริญงอกงามมีผลผลิตไม่ดี หรือได้รับความเสียหายจากผีไร่ที่ลงโทษคนที่ละเมิดวันกำ (อุดมชัย วัฒน์ธนกุล และคณะ, 2556: 19)
เมื่อเปรียบเทียบกับพิธีศพของบ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน คือ เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านทุกคนต้องหยุดงานเพื่อไปช่วยเหลือกันในงานศพ พิธีศพเริ่มทั้งในบ้านและนอกบ้าน ส่วนที่จัดในบ้านเกี่ยวกับศพ คือ การอาบน้ำศพ โดยผู้ทำพิธีอาบน้ำศพ เรียกว่า “เยือจ๊ะ” ในอดีตเป็นหญิงหรือชายก็ได้ที่เป็นญาติใกล้ชิด เป็นลูกหลาน การอาบน้ำศพ ใส่เสื้อผ้าให้คนตายให้ทำเพียงคนเดียวแต่งตัวให้ดีงาม และใช้ผ้าจำนวนหนึ่งฝังไปกับศพ ประกอบด้วย ผ้าต่วน 2 ผืน ระบาย 3 ผืน ผ้าห่มแดง 1 ผืน ผ้าห่มขาว 1 ผืน ย่าม 7 ใบ ผ้าห่มที่ซื้อมาจากในเมือง 1 ผืน กางเกงสีขาวล้วน 1 ตัว เสื้อขาว 1 ตัว ผ้าแดงมัดหัว 1 ผืน หากผู้ตายเป็นผู้หญิงให้ใช้ผ้าซิ่น 3 ผืน เสื้อสีขาว 3 ผืน ผ้าขาวมัดหัว 1 ผืน เรื่องผ้าอื่น ๆ ใช้เหมือนกัน เงินเจียงศพผู้หญิงใช้ 7 เม็ดฝังไปพร้อมกัน ถ้าไม่มีอย่างน้อยให้ใช้ 3 เม็ด ผู้ชายใช้กระดุม 3 เม็ด เสร็จแล้วห่อที่ผ้าที่เตรียมไว้ทั้งผ้าห่ม ผ้าต่วน ห่อหมด ตั้งศพไว้ที่บ้าน 3 คืน ตั้งไว้ในเรือน ในห้องครัวไฟเลย
พิธีนอกบ้าน ทำพิธีที่ “หยู” หรือศาลาที่ใช้ทำพิธีร่วมกันในหมู่บ้าน (ตั้งอยู่ใกล้เสาสะกาง) ด้วยความเชื่อว่าเมื่อตายแล้ว ก่อนจะไปอยู่ในที่ใหม่วิญญาณของผู้ตายจะมาสิงอยู่ที่ “หยู” ดังนั้นก่อนนำศพออกจากหมู่บ้านต้องบอกวิญญาณให้ตามศพไปทางป่าช้าเพื่อจะได้ไปดีไปอยู่ในที่ใหม่ ตามคำบอกเล่าของคนในหมู่บ้าน ในอดีตบริเวณโดยรอบ หยู จะมีบรรยากาศวังเวงเป็นป่าที่น่ากลัว คนไม่กล้าเดินผ่านนัก
การเก็บศพไว้ที่บ้าน เป็นไปตามฐานะ คือ ความจำเป็นที่ต้องเก็บศพไว้นานเนื่องจากต้องไปหาวัวหาควายโดยใช้เวลามาก ส่วนมากเก็บศพไว้เป็นจำนวน 3 คืน 5 คืน ต้องฆ่าควาย ฆ่าวัว สำหรับเลี้ยงแขก ญาติพี่น้องที่มาช่วยงานศพ โดยเลี้ยงที่บ้านพี่บ้านน้องของผู้ตายเอามาเลี้ยง เมื่อครบ 3 คืน หรือ 5 คืนแล้ว ให้นำศพไปฝังเลย โดยการแห่จากบ้านไปป่าช้า ใช้ไม้ไผ่แบกหามไป ส่วนการเลือกที่ขุดหลุมฝังศพ นอกจากการเลือกพื้นที่ให้ฝังใกล้ญาติพี่น้อง ให้อยู่ในเขตบ้าน ในการเลือกพื้นที่ฝังศพ คนเฒ่าคนแก่จะรู้ ให้ฝังทุกอย่างฝังไปกับศพให้หมด โดยถ้วยจานวางข้างนอกหลุมไม่ฝัง จะฝังเฉพาะศพและผ้าพร้อมเงินทองของมีค่า นอกจากนี้การนำหัวควาย หัววัวที่ใช้เลี้ยงปักไว้ที่ประตูป่าช้าเพื่อให้ผู้ตายนำไปใช้ในโลกหน้า
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวงทำพิธีเกี่ยวกับศพ คือ ตั้งศพไว้บ้านสามคืน หรืออย่างน้อย 1 คืน เลี้ยงอาหารญาติพี่น้องที่มาร่วมงาน ด้วยการฆ่าหมูเลี้ยงกัน ในพิธีศพมีการแสดงเพื่อสร้างความรื่นเริงของผู้ที่ร่วมเฝ้าศพทั้งการละเล่น จ๊อยซอ เล่นสะล้อทั้งคืน หนุ่มสาวมาร้องเพลงเคาะกระป๋องร้องเพลงทั่วไป มีเพลงลัวะบ้าง เป็นคนเฒ่าร้องแต่ปัจจุบันเมื่อคนเฒ่าคนแก่ล้มตายไปเพลงลัวะได้สูญหายไปด้วย ลัวะบ้านเมืองก๊ะตั้งศพไว้ที่บ้านไม่นานเช่นกัน หากตายกลางคืนตอนเช้าเวลาสายต้องนำศพไปฝังที่ป่าช้า เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะไม่นำศพไว้ที่บ้านนาน ศพนั้นให้แต่งกายเหมือนเมื่อยังมีชีวิต แล้วห่อด้วยสาด (เสื่อ) ขณะนั้นยังไม่ใช้โลงศพ แล้วใช้คนหามศพไปป่าช้า
แสดงถึงการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในทุกพื้นที่มีความเหมือนกันคือ การเก็บศพไว้เป็นเวลาไม่นาน ทุกคนในหมู่บ้านต้องช่วยเหลือกัน ทั้งการหยุดงานมาช่วยงานศพทั้งกลางวัน และกลางคืนต้องมาอยู่เป็นเพื่อนกันใช้การแสดงรื่นเริงเพื่อลดความโศกเศร้า
พิธีกรรมทำโลงศพ
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน และเมืองเชียงใหม่ มีพิธีกรรมการฝังศพที่คล้ายคลึงกัน โดยการโยนไข่เพื่อเลือกตำแหน่งที่จะขุดหลุมฝังศพ เมื่อได้ตำแหน่งที่ไข่แตกแล้วจะทำการขุดหลุม กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่านจะห่อศพด้วยผ้าและเสื่อหลายชั้นก่อนทำการมัดให้แน่นหนา ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวง และบ้านมืดหลอง เชียงใหม่ นอกจากห่อศพด้วยเสื้อหลายชั้นแล้ว ได้ทำโลงศพจากไม้ ที่มีความน่าสนใจและมีรายละเอียด ดังนี้
บ้านมืดหลองเตรียมโลงศพด้วยการใช้ไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ผ่าครึ่งและบกให้เป็นร่องเหมือนรางข้าวหมูทั้งสองด้าน เป็นช่องให้บรรจุศพลงไปได้ การเลือกไม้ทำโลงศพขึ้นอยู่กับเนื้อไม้โดยเลือกไม้เนื้ออ่อนประเภทไม้สน ไม้ที่ดีที่สุด คือ ไม้จุ๋มปี๋ ส่วนไม้ที่มีความงามเป็นไม้ที่เนื้อไม้เป็นสีทอง เรียกว่า “ไม้คาย” ซึ่งไม่สามารถเทียบประเภทกับการเรียกชื่อไม้เป็นภาษาไทยหรือคำเมืองได้ ส่วนบ้านบ่อหลวงในอดีตทำโลงศพจากไม้สนเกี๊ยะต้นใหญ่ (เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงมีป่าไม้สนจำนวนมาก ประกอบกับไม้สนเป็นไม้เนื้ออ่อน) ใช้ต้นไม้ตามขนาดคน เลื่อยผ่าครึ่ง แล้วใช้ขวานเจาะเป็นช่องหรือขุดเป็นช่องใหญ่สำหรับใส่ศพ หรือเรียกว่าการ “บก” ให้เป็นร่องให้เหมือนรางข้าวหมูให้มีขนาดพอดีที่นำศพใส่ลงไป ทำทั้งสองด้าน แล้วนำมาประกบกันเป็นโลงไม้ แรงงานที่มาช่วยกันมาทั้งหมู่บ้านใช้เวลาวันเดียว เมื่อทำโลงศพแล้วใช้สาด (เสื่อ) ห่อศพ เรียกว่า “สาดอมพาย” เป็นสาดอ่อนห่อศพ แล้วบรรลุในโลงไม้เกี๊ยะนั้น วัฒนธรรมการทำโลงศพเมื่อสืบขึ้นไปถึงแม่ฮ่องสอน ในวัฒนธรรมโลงไม้ หรือโลงผีแมน อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยการวิจัยของ รัศมี ชูทรงเดช และคณะ (2559: 97) พบว่าโลงไม้ทั้งหมดทำจากไม้สักมีทั้งต้นเดียวผ่าครึ่ง และใช้ไม้สองต้นเพื่อทําโลงประกบกัน ไม้สักที่เลือกมาทําโลงอายุประมาณมากกว่า 100 ปี ขึ้นไป ลักษณะโลงศพเป็นไม้ 2 ซีกขุดเนื้อไม้ออกมีลักษณะคล้ายรางข้าวหมูที่ปลายทั้งสองข้างสลักเป็นรูปทรงต่าง ๆ วางพาดตามชะง่อนหินในถ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ เช่น บ้านบ่อหลวง บ้านมืดหลอง ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขาใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คือ ต้นไม้ใหญ่ในการขุดถากเป็นโลงศพ ลักษณะคล้ายรางข้าวหมูแล้วนำมาประกอบกัน
พิธีกรรมการโยนไข่เพื่อขุดหลุมฝังศพ
ความเหมือนในการทำพิธีโยนไข่เพื่อหาตำแหน่งที่ขุดหลุมศพของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน และเมืองเชียงใหม่ มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน ทำพิธีก่อนวันฝังศพ ผู้เฒ่าผู้แก่ หมอผีประจำหมู่บ้าน จะไปที่ป่าช้า เพื่อทำพิธีเสี่ยงทายด้วยการโยนไข่ การเลือกที่ตั้งหลุมฝังศพ ต้องมีการเซ่นไหว้ผี โดยมีข้าว เหล้า ไก่ ที่สำคัญคือถุงเสี้ยงเมี่ยงที่ทางญาติพี่น้องผู้ตายเตรียมไว้ให้ ภายในถุงมีไข่ดิบ 1 ฟอง (สำหรับเสี่ยงทาย) ข้าวสุก 1 ปั้น น้ำ 1 ขวด และเหล้า 1 ขวด เพื่อเป๊อะเข้าไปในป่าช้า ผู้ที่ทำหน้าที่เสี่ยงทายจะบอกกล่าวแก่แม่ธรณี ผีเจ้าป่ามาเป็นพยาน โดยคำกล่าวเป็นภาษาลัวะ หรือคำเมือง ตามแต่ผู้พูด สามารถสรุปความได้ว่า “มีศพชื่อนายหรือนางคนนี้ ขอมาฝากร่างไว้ ณ สถานที่นี้ เราไม่สามารถหาที่ได้ ให้ดวงวิญญาณไปเข้ากับไข่แก่น (ฟอง) นี้ จะอยู่ตรงไหนขอให้ไข่แตกที่ตรงนั้น” แล้วจึงทำการขว้างหรือโยนไข่ออกไป (ด้วยความแรงเท่าใดก็ได้) หากโยนไข่ไม่แตกให้โยนใหม่อีกประมาณ 3 ครั้ง หากยังไม่แตกให้เปลี่ยนคนโยนใหม่ (สัมภาษณ์ นายมี งามนิธิวุฒินันท์ นายมุก ใจปิง และนายสาย ใจปิง วันที่ 28 มีนาคม 2562 ) เป็นการโยนไข่ดิบไปบริเวณที่กำหนดเป็นสุสาน ไข่แตกที่ไหนก็ขุดตรงนั้น เป็นหลุมลึกประมาณ 2-3 เมตร ยาว 2 เมตร กว้างประมาณ 1.5 เมตร หรือให้ท่วมศีรษะคนยืน หากขุดหลุมตื้นเกินไปสัตว์จะขุดคุ้ยขึ้นมา เพื่อนำศพไปฝังในวันรุ่งขึ้น
การเสี่ยงทายตำแหน่งขุดหลุมฝังศพ บ้านบ่อหลวง และบ้านเมืองก๊ะ มีความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทายด้วยการโยนไข่เช่นกัน หากไข่แตกที่ไหนให้ฝังที่ตรงนั้น หากไม่ใช่ที่ควรจะฝังไข่ก็จะไม่แตก เมื่อไข่แตกที่ไหนให้ขุดที่นั่น หากไม่แตกให้ทำการโยนไปที่ใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าจะแตก หากไข่แตกในตำแหน่งที่เคยฝังศพอื่นมาก่อน ให้นำกระดูกเก่าออกมาให้หมด แล้วฝังศพใหม่ลงไปแทน
การฝังศพ
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่านนำศพไปฝังในวันรุ่งขึ้นหลังจากขุดหลุมเสร็จแล้ว ต้องนำศพไปฝังที่บริเวณป่าช้า ชาวบ้านจะช่วยกันหามศพ โดยใช้ไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งเป็นคานสอด แล้วหามไปฝัง การฝังศพให้หันศีรษะไปทางทิศเหนือ ใกล้หลุมฝังศพจะว่างอาหารเป็นเครื่องเซ่น 2-3 อย่าง โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อไก่ เนื้อหมู จากนั้นหมอผีจะทำพิธีเป็นภาษาลัวะสรุปใจความว่า “ขอให้คนตายไปอยู่ชอบ อยู่ดีมีสุข ไม่ต้องห่วงเป็นกังวลใด ๆ ทั้งคนข้างหลังและภาระหน้าที่ ลูกเมีย ญาติพี่น้อง และก็ขออวยพรให้คนที่อยู่ข้างหลังอยู่ดีมีสุข” เมื่อกล่าวเสร็จแล้วลูกหลานจะได้เห็นหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำศพลงหลุม โกยดิน และหินกลบจนถึงปากหลุม ข้างศพทั้งสี่มุมปักไม้ขนาดเท่าท่อนแขนลึกลงไป แล้วนำไม้ไผ่ลำยาวกว่าหลุมเล็กน้อยวางพาดระหว่างหลักไม้ที่ปักไว้เป็นแพจนเต็มพื้นที่ ใช้ไม้พาดขวางแพไม้ไผ่แล้วมัดติดกับหลัก เพื่อปิดปากหลุมให้มั่นคงแน่นหนา จากนั้นโกยดินและหินก้อนใหญ่ไปกลบทับบนไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันสัตว์คุ้ยเขี่ยหมอผีจะนำเศษดินมากองทับบนหลุมศพอีกชั้น เกลี่ยให้เรียบและวาดเป็นรูปคนนอน เพื่อบอกว่าบริเวณนี้เป็นหลุมฝังศพ ส่วนเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้จะวางไว้ข้างหลุมศพ ถือเป็นเสร็จพิธี
ด้านความเชื่อและพิธีกรรมในการฝังศพของบ้านบ่อหลวงในอดีตเป็นการฝังศพ พร้อมกับการปักเสานาม เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ตาย จากการสัมภาษณ์ นายเตา ตาเตอะ อายุ 82 ปี (วันที่ 9 มิถุนายน 2562) เกี่ยวกับการฝังศพในอดีตที่มีเสานามพิงตนไม้ที่อยู่ใกล้หลุมศพเช่นเดียวกับลัวะอมพาย ที่พิงเสานามไว้ใต้ต้นไม้ใกล้หลุมศพ สำหรับเป็นที่ตานข้าว (อาหารสำหรับผู้ตาย) ที่เสานามต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7 วัน เสานามมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าในชุมชนว่า “ผู้เป็นพ่อได้ไปตานข้าวหาลูกที่ตายแล้วที่เสานามข้างหลุมศพ เป็นเวลา 6 วัน ในวันที่ 7 เกิดฝนตกฟ้าร้องหนัก พ่อไม่สามารถข้ามไปตามข้าวได้ แต่ได้เจอกับพระปัจเจก จึงนำข้าวนั้นถวายพระ จากนั้นลูกที่ตายไปได้มาเข้าฝันพ่อว่าไม่ได้กินข้าวที่ตานไปหาเลยสักวัน จนมาถึงวันที่ 7 ถึงได้กิน เนื่องจากพระปัจเจกได้หยาดน้ำ (กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล) ให้จึงได้กินข้าวในวันนั้นวันเดียว เรื่องนี้ออกในธรรม (ปรากฏในเอกสารใบลานทางพุทธศาสนา) ชื่อ พหุพันธุ” ซึ่งเป็นชาดกในพระพุทธศาสนา (สัมภาษณ์ นายเกริก อัครชิโนเรศ วันที่ 9 มิถุนายน 2562)
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวงในอดีตได้นำเสานามที่ทำจากไม้ไปพิงไว้ที่ต้นไม้ใกล้ที่ฝังศพ ลักษณะของเสานามเป็นเสาไม้ที่มีรอยขีดรอบเสาไว้ 3 วง โดยความหมายของเสานามที่ทำจากไม้ คือ หากเป็นคนเฒ่าคนแก่ให้ใช้ไม้แก่ทำเสานาม หากเป็นคนหนุ่ม (อายุน้อย) ให้ใช้ไม้หนุ่มหรือไม้อ่อนทำ สำหรับตระกูลขุนในบ้านบ่อหลวง ซึ่งมี 2 ตระกูล ตือ ตระกูลขุนสุนันตา และตระกูลขุนแก้ว มีความพิเศษที่ใช้เสานามเป็นหิน ซึ่งนายเตา ตาเตอะ เล่าว่าในอดีตเคยเห็นในป่าช้า 4-5 ต้น ปัจจุบันหายไปแล้ว เมื่อถามถึงขนาดไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ทราบเพียงว่ามีความยาวพอประมาณ โดยใช้แรงคน 2 คนหามไม่ไหว
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านเมืองก๊ะ มีความเชื่อเรื่องแบ่งพื้นที่ป่าช้าชัดเจนระหว่างป่าช้าลัวะและป่าช้าคนเมือง ดังมีคำพูดติดปากที่ว่า “ลัวะฝังใน ไตฝังนอก” คือ ศพคนลัวะให้ฝังป่าช้าข้างใน ศพคนไต (คนเมือง) ให้ฝังป่าช้าข้างนอก เวลาหามศพไปป่าช้าห้ามเหยียวหลัง และไม่ให้นำศพข้ามลำน้ำ เพราะเชื่อว่าลำน้ำนั้นจะแห้งไป ก่อนฝังเชื่อว่าให้ปลดกระดุมเสื้อของศพออกก่อน เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายออกทาหน้าอก เมื่อเรียบร้อยแล้วนำดอกไม้มาวางที่ศพ จากนั้นกลบหลุมแล้วนำหนามวางไว้บนหลุมศพ เพื่อป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย จากนั้นผู้ทำพิธีจะฆ่าลูกไก่ควักเอาไส้ออกมา แล้วยัดฟาง หรือใบไม้เข้าไปในตัวลูกไก่แทน แล้วเผาไก่ตัวนั้นที่ป่าช้า
ความเชื่อและรายละเอียดในการประกอบพีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านบ่อหลวง และบ้านเมืองก๊ะมีความแตกต่างจากลัวะเมืองน่าน เนื่องจากทั้งสองพื้นที่มีความเชื่อเรื่องตำนานทางศาสนาเข้ามาสู่การรับรู้ของคนในพื้นที่ ลัวะบ้านบ่อหลวงรับรู้ตำนานเรื่องปู่เส็ดค่ำลัวะ ชาดกเรื่องพหุพันธุ โดยนำมาเชื่อมโยงกับเสานามข้างหลุมฝังศพ ลัวะบ้านเมืองก๊ะ รับรู้ตำนานขุนหลวงวิลังคะที่ใส่โลงศพมาฝังที่ดอยคว่ำล่อง(โลง) นำมาสู่ความเชื่อเรื่องข้อห้ามการนำศพข้ามน้ำ ให้ใช้เส้นทางเลียบแม่น้ำไป เป็นต้น
พิธีกรรมหลังจากฝังศพ
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่านมีความเชื่อว่า กรณีที่ผู้ตายยังมีสามีหรือภรรยาอยู่ ต้องประกอบพิธีการตัดวิบาก คือ สามีหรือภรรยาของผู้ตาย เดินไปส่งศพประมาณครึ่งทาง จากนั้นหมอผีจะทำพิธีตัดวิบาก เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายต้องอาลัยอาวรณ์ถึงกันและป้องกันมิให้ผีมารบกวนรังควาน โดยให้ผู้ทำพิธีหันหน้าไปทางหมู่บ้าน หันหลังให้ป่าช้า เมื่อทำพิธีเสร็จจะมีชาวบ้านคนหนึ่งจูงมือพาวิ่งกลับบ้านโดยเร็ว และห้ามหันกลับไปดูศพโดยเด็ดขาด
ส่วนญาติพี่น้องของผู้ตายจะมารวมกันที่เตาไฟอีกครั้ง เนื่องจากก่อนไปป่าช้า หมอผีจะนำขี้เถ้าเตาไฟมาใส่ในกระด้งแล้วนำเอาภาชนะมาปิดไว้แล้วอธิษฐานว่า หากกลับมาถึงบ้านแล้วอยากทราบว่าผู้ตายตายด้วยสาเหตุใด ให้มาบอกหรือเขียนไว้ที่ขี้เถ้าเตาไฟนี้ พอกลับจากป่าช้าญาติพี่น้องและหมอผีจึงกลับมารวมกันที่เตาไฟเพื่อเปิดกระด้ง เรียกว่า “ดูหารอยตีน” ดูขี้เถ้าเตาไฟในกระด้งว่าปรากฏรอยอย่างไร ส่วนใหญ่จะมีรอยปรากฏที่บอกว่าผู้ตายตายด้วยสาเหตุอะไร
ข้อห้ามในการส่งศพ คือ ห้ามเด็กเล็ก คนท้อง และสามีคนท้อง ไปร่วมงานศพโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าอาจมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเด็กในครรภ์ได้ รวมถึงชาวบ้านทุกครอบครัว ต้องส่งตัวแทนมาอยู่เป็นเพื่อนบ้านงานศพประมาณ 3 วัน เรียกว่าอยู่เฮือนเย็น
เมื่อทำพิธีฝังศพบริเวณป่าช้าเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับมาที่บ้านผู้ตายอีกครั้ง หมอผีจะทำพิธีมัดมือสู่ขวัญให้กับญาติผู้ตาย และชาวบ้านจะมาอยู่เป็นเพื่อนประมาณ 1-2 วัน และจะกำ 1 วัน คือ ชาวบ้านจะไม่ไปทำงานในไร่และจะอยู่ภายในบริเวณบ้าน ห้ามออกไปทำงานนอกหมู่บ้านหรือไร่ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยังคงปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับลัวะบ้านมืดหลองเมื่อเสร็จพิธีแล้วผู้ร่วมพิธีใช้น้ำส้มป่อยที่วางอยู่ที่ศาลาป่าช้าลูบตามเนื้อตัว เพื่อให้สิ่งไม่ดีออกไปจากตัว หรือให้ทิ้งไว้ที่ป่าช้านี้ จากนั้นเดินทางกลับเข้าหมู่บ้านได้ โดยวิญญาณและสิ่งไม่ดีจะไม่ติดตามไป ด้านชีวิตหลังความตายเชื่อว่าคนตายจะไปเกิดใหม่ ที่ฝังศพไว้แล้ววิญญาณจะขึ้นไปบนฟ้า จะมาเกิดใหม่ แล้วแต่จะลงมาเกิดใหม่ อาจจะกลับมาที่บ้านเรา มาเป็นลูกหลาน หรือไปอยู่ที่ไหนก็ได้
ส่วนลัวะบ้านเมืองก๊ะหลังจากเสร็จพิธีที่ป่าช้า ทุกคนจะกลับมาล้างมือด้วยน้ำส้มป่อยที่เรือนงานศพ จากนั้นฆ่าไก่ 2 ตัว เพื่อเลี้ยงเจ้าที่ที่บ้าน 1 ตัว อีก 1 ตัว เลี้ยงชาวบ้านที่มาช่วยงาน
การเปลี่ยนแปลงพิธีการทำศพในปัจจุบัน
ปัจจุบันรูปแบบการทำพิธีศพเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเชื่อและศาสนา กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในพื้นที่เก็บข้อมูลในจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงใหม่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน คือ
บ้านห้วยหมี ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ ชาวบ้านบางส่วนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ที่เข้ามาในปี พ.ศ.2550 มีโบสถ์ที่สร้างชั่วคราว 1 หลัง (มีผู้นำทางศาสนาเข้ามาในหมู่บ้านเป็นบางครั้ง) เมื่อมีคนตายที่นับถือศาสนาคริสต์จะประกอบพิธีตามศาสนาพิธี เช่น การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า การประกอบพิธีศพแบบคริสต์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธจะนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีศพเช่นเดียวกับคนพื้นราบ
รวมถึงการเปลี่ยนจากการฝังศพ เป็นการเผาศพแทน เนื่องจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญาได้สร้างเมรุเผาศพ ณ สุสานบ้านห้วยหมี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 พบว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านยังคงใช้วิธีการฝังศพดังเช่นอดีต จนกระทั่งในปี พ.ศ.2561 ประมาณเดือนพฤษภาคม มีชาวบ้านในหมู่บ้านเสียชีวิตลง ได้ประกอบพิธีศพแบบพุทธ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี และมีการเผาศพแทนการฝัง และในเดือนมิถุนายน 2561 ได้ใช้วิธีการเผาศพด้วยเช่นกัน (สัมภาษณ์ นายมุก ใจปิง และนายสาย ใจปิง วันที่ 28 มีนาคม 2562) การจัดพิธีศพจึงเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ โดยรับประเพณี พิธีกรรมจากคนพื้นราบเข้ามามากขึ้น ปัจจุบันภายในหมู่บ้านจะมีสำนักสงฆ์ เมื่อมีคนตายจึงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดร่วมกับพระสงฆ์จากวัดภายในตำบลมาประกอบพิธีให้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการผสมผสานด้านคติความเชื่อ รูปแบบพิธีกรรมจากการติดต่อสัมพันธ์กันกับคนพื้นราบ และตามหลักความเชื่อทางศาสนาอีกประการหนึ่ง
บ้านห้วยทรายขาว ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ การเสียชีวิตของคนในชุมชน ก็ยังคงใช้วิธีการฝังศพเช่นเดิม แต่เพิ่มเวลาในการตั้งศพไว้ (ไม่เกิน 3 วัน) ร่างผู้ตายจะถูกบรรจุลงในโลงศพ มีการฉีดฟอร์มารีนเพื่อป้องกันกลิ่น เนื่องจากต้องแจ้งการตายให้ทางการ รวมถึงแจ้งญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นให้มาร่วมอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย การเก็บศพไว้กี่วันขึ้นอยู่กับฐานะของญาติผู้ตาย เมื่อทำพิธีภายในบ้านเสร็จ นำศพไปฝังยังป่าช้า แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเรื่องการฝังศพในปัจจุบัน คือ บริเวณป่าช้าเหลือพื้นที่น้อยลง เนื่องจากมีการขยับพื้นที่ทำกินมาประชิดกับป่าช้ามากขึ้น เกรงว่าในอนาคตจะไม่มีพื้นที่ป่าช้ามากพอที่จะฝังศพ
บ้านขุนน้ำลาด ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง การฝังศพยกเลิกไปในราว พ.ศ.2520 เมื่อมีการเผาศพแรกในชุมชน เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ใกล้กับคนพื้นเมือง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ยวน ประกอบกับมีลูกเขยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมาอยู่ร่วมด้วย (ส่วนใหญ่แต่งงานเข้าบ้านผู้หญิงตามประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะปรัยในเมืองน่าน) รวมถึงความเจริญที่มีมากขึ้น จากการฝังศพเปลี่ยนเป็นการเผาศพเนื่องจากพื้นที่ฝังศพไม่มีแล้วหากหาที่ฝังต้องใช้พื้นที่ไกลออกไปจากหมู่บ้านมาก การประกอบพิธีกรรมเผาศพมีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง พระสงฆ์มาสวดศพ ทำบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย การตานขันข้าว นอกจากนั้นยังมีการตั้งศพบำเพ็ญกุศลหลายวัน
บ้านเมืองก๊ะ ตำบลสลวง อำเภอแม่ริม เกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีงานศพไปจากอดีตอย่างมาก เช่น การตั้งศพไว้ที่บ้านกี่วัน แล้วแต่กำลังของเจ้าภาพ ที่หมู่บ้านไม่ฝังศพมานาน 30 ปีแล้ว ป่าช้าก็มาใช้ป่าช้าเผาร่วมกับคนไตที่ป่าช้าข้างนอก เนื่องจากมีความสะดวกหลายอย่าง อีกทั้งได้นับถือพุทธศาสนาแล้ว จึงสามารถทำพิธีสงฆ์เหมือนกับคนไต (คนเมือง) ได้ (สัมภาษณ์ นายไพศาล ไทยใหม่ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561 และ นางนวล ดอยคำ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2561)
โดยสรุป พิธีกรรมศพเป็นกิจกรรมที่ทุกครัวเรือนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และให้ความช่วยเหลือกัน เนื่องจากความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณที่สนับสนุนความเชื่อเรื่องโลกหน้า การส่งวิญญาณผู้ตายตามประเพณีมีลำดับขั้นตอนทางพิธีกรรมที่ต้องมีผู้นำระดับหมู่บ้าน และผู้ช่วยในการดำเนินการทั้งการเคลื่อนย้ายศพ การอยู่เป็นเพื่อนกับญาติพี่น้อง การโยนไข่เลือกพื้นที่ขุดหลุมฝังศพ ตลอดจนการทำโลงศพที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เป็นพิธีกรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี พึ่งพาอาศัย และการจัดการในหมู่บ้านได้สืบทอดต่อมา จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนไปนับถือศาสนา ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่การฝังศพ ทำให้พิธีกรรมเปลี่ยนไปอย่างมาก
ศาสนาและความเชื่อ
ประเสริฐ ชัยพิกุสิต (2542) ระบุว่า ชาวลัวะมีความเชื่อว่าแต่ละสถานที่มีผีสิงสถิตอยู่ เช่น ผีบ้านผีเรือน ผีฟ้า ผีภูเขา ผีเข้าประตูหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งผีเหล่านี้มีทั้งผีดีและผีร้ายที่ในบางครั้งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุร้ายในหมู่บ้านหรือทำให้คนในหมู่บ้านเจ็บป่วยได้ ชาวลัวะมีการติดต่อกับผีผ่านการเซ่นไหว้ด้วยการฆ่าสัตว์แล้วตัดชิ้นส่วนต่างๆ ให้ผีตามความชอบของผีแต่ละประเภท โดยสัตว์ที่นิยมนำมาฆ่าเซ่นไหว้ผีมีหลายประเภท เช่น วัว กระบือ สุนัข ไก่ เป็นต้น การเซ่นไหว้ผีจะทำพิธีกรรมโดยสมังและลำหรือผู้มีอาคมของหมู่บ้าน
ทั้งนี้ สถานที่ที่ชาวลัวะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มักจะเป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี โดยมีความเชื่อว่าหากมีผู้ใดที่เข้าไปกระทำการใด ๆ ที่เป็นการกระทบกระเทือนไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณดังกล่าวจะส่งผลให้ชุมชนเกิดสิ่งเลวร้ายตามมา เช่น ภัยพิบัติ โรคภัยไข้เจ็บ ทำมาหากินไม่ได้ เป็นต้น สถานที่เลี้ยงผีหลักเมืองในบริเวณหมู่บ้านจะมีศาลาเลี้ยงผีที่เรียกว่า เหยือะยงู มีเสาสะกังตั้งไว้อยู่ข้างหน้า ซึ่งต่างจากสถานที่เลี้ยงผีอื่น ๆ ที่ไม่มีศาลาจะตั้งอยู่บริเวณขอบนอกของหมู่บ้าน โดยจะมีศาลาเล็ก ๆ ที่เรียกว่าเฉลวอยู่บริเวณต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่
ในส่วนของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายในบ้านของชาวลัวะจะถูกแบ่งแยกเป็นห้อง โดยภายในห้องจะมีเตาไฟสำหรับหุงอาหารและเตาไฟสำหรับเลี้ยงผีสะมัง (กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, 2555)
นอกจากนี้ ชาวลัวะยังมีความเชื่อเรื่องขวัญหรือวิญญาณอย่างความเชื่อของคนไทย โดยมีความเชื่อว่าแต่ละคนจะประกอบไปด้วย 32 ขวัญ หากขวัญใดขวัญหนึ่งออกจากตัวไปจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยต้องทำพิธีเรียกขวัญด้วยการผูกข้อมือด้วยด้ายสีขาว
การนับวันเดือนปีของชาวลัวะผิดกับชาวเหนือและไทยภาคกลางคือ เดือน 4 ของลัวะ เป็นเดือน 5 ของไทย ชาวลัวะมีนิยายประวัติประจำชาติ ซึ่งได้ทราบจากปากคำท่านผู้เฒ่าชาวลัวะว่า เดิมพญาลัวะกับพญาไตเป็นเพื่อนเกลอกัน ต่อมาพญาไตยกกองทัพไปรบกับพญามนตาตอก ซึ่งเป็นใหญ่ในบรรดาภูตผีปีศาจ พญาไตผ่ายแพ้ต่ออิทธิฤทธิ์ของพญามนตาตอก จึงมาหลบซ่อนตัวอยู่กับพญาลัวะ พญามนตาตอกติดตามไปถึงบ้านลัวะ พญาลัวะกล่าวปฏิเสธว่าไม่พบเห็นพญาไต พญาไตจึงเป็นหนี้บุญคุณพญาลัวะ ลัวะกับไตจึงเป็นมิตรกันนับตั้งแต่นั้นมา
ชาวลัวะ นอกจากนับถือศาสนาพุทธแล้ว ยังนิยมนับถือผี มีการถือผีเสื้อบ้าน (ผีหมู่บ้าน) ส่งเคราะห์ ผูกด้ายข้อมือถือขวัญ เวลาเจ็บป่วยใช้ยารากไม้ สมุนไพร เสกเป่าและทำพิธีฆ่าไก่เซ่นผี ถ้าตายก็จะทำพิธีอย่างชาวเหนือ มีพระสงฆ์บังสุกุล เอาศพไปป่าช้า ฝังมากกว่าเผา แต่ถ้าตายอย่างผิดธรรมดาก็เผา
ในวันงานพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน (ผีหมู่บ้าน) จะทำซุ้มประตูสานไม้เป็นรูปรัศมี 8 เฉก ติดไว้เพื่อห้ามไม่ให้คนต่างถิ่นเข้าสู่หมู่บ้าน เครื่องหมายนี้ชาวภาคเหนือเรียกว่า "ตะแหลว" ซึ่งคนไทยภาคกลางเรียก "เฉลว" จะปิดบ้านทำพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน 1 วัน ถ้าเดินทางไปพบเครื่องหมายเฉลวนี้แล้ว ต้องหยุดอยู่ มีธุระอะไรก็ตะโกนเรียกชาวบ้านให้ไปดูกันที่ตรงนั้น เช่น ขอดื่มน้ำหรือเดินหลงทางมา ถ้าขืนเดินล่วงล้ำเขตหมู่บ้านของเขาก็จะถูกปรับเป็นเงิน 5 บาท ถ้าไม่ยอมให้ปรับเขาบังคับให้ค้างแรม 1 คืน เวลาเกิดโรคสัตว์ระบาดหรือไข้ทรพิษเกิดขึ้นแก่คนภายในหมู่บ้านแล้ว ก็จะปิดเฉลวหรือเครื่องหมายห้ามเข้าหมู่บ้านเช่นเดียวกัน
ชาวลัวะจะหยุดทำงานในวันพระ ตลอดจนการเที่ยวสาวก็พลอยงดไปด้วย การเที่ยวสาวนั้น คือขั้นไปนั่งสนทนาเกี้ยวพาราสีหญิงสาวบนบ้าน หากหญิงพอใจรักใคร่แล้วจะล่วงเกินเอาเป็นภรรยาได้โดยใส่ผีเป็นเงิน 12 บาท จากนั้นต้องไปทำงานให้พ่อตาแม่ยายเป็นเวลา 1-3 ปี จะแยกปลูกสร้างบ้านเรือนต่างหากไม่ได้เป็นอันขาด อย่างน้อยต้องทำงานรับใช้พ่อตาแม่ยาย 1 ปี เพราะต้องการใช้แรงงานบุตรเขย
อย่างไรก็ตาม ประเสริฐ ชัยพิกุสิต (2542) ได้ระบุข้อมูลที่น่าสนใจว่า เล่าสืบกันมาว่าชาวลัวะมีการนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผีมาตั้งแต่สมัยก่อน และชาวลัวะเองก็มีความเชื่อว่าชาติพันธุ์ของตนเองเป็นผู้สร้างวัดเจดีย์หลวงในจังหวัดเชียงใหม่ และเชื่อว่าเสาอินทขิลเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษชาวลัวะ แต่ในเวลาต่อมาชาวลัวะถูกไล่ขึ้นไปอยู่บนเขา ซึ่งทำให้ชาวลัวะห่างไกลจากพุทธศาสนามากกว่าเดิมเนื่องจากบนเขาไม่มีวัดและพระ ส่งผลให้ความเชื่อและการนับถือศาสนาพุทธของชาวลัวะลดลงและหันมานับถือผีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีชาวลัวะจำนวนมากที่ยังนับถือศาสนาพุทธและมีการบูชาพระชื่อดังมาห้อยคอเพื่อความเป็นสิริมงคล
ในกรณีของชาวลัวะหรือละเวือะที่นับถือศาสนาอื่น พบข้อมูลในบางพื้นที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) ระบุว่า ในแม่ฮ่องสอนมีหมู่บ้านชาวลัวะที่นับถือศาสนาคริสต์อยู่จำนวนมาก โดยในชุมชนที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป จะมีผู้นำทางศาสนาอยู่ราว 6 คน หากจำนวนคนที่นับถือน้อยลง จำนวนผู้นำทางศาสนาก็จะน้อยลงไปด้วย โดยผู้นำทางศาสนาจะมีบทบาทในการแบ่งหน้าที่กันเพื่อบริการทางศาสนาให้กับสมาชิกและคอยดูแลให้สมาชิกอยู่ปฏิบัติตามคัมภีร์ของพระเยซู เช่นในกรณีตัวอย่างของลัวะที่บ้านละอุบซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ มีผู้นำทางศาสนาทั้งสิ้น 6 คนซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญและเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวคริสต์ในหมู่บ้าน โดยจะเป็นผู้อวยพรให้กับคู่บ่าวสาว และเป็นผู้นำในการประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ในทุกวันอาทิตย์
ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามทางวัฒนธรรม
จากข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) พบว่า ข้อห้ามสำคัญในชุมชนลัวะมีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ ข้อห้ามเรื่องชู้สาว โดยเด็กชายและหญิงหากยังไม่ถึงวัยจะถูกห้ามไม่ให้เกี้ยวพาราสีและแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือห้ามได้เสียกันก่อนแต่งงานเพราะถือเป็นเรื่องที่ผิดผีร้ายแรงมาก เชื่อกันว่าผู้ที่ผิดผีดังกล่าวรวมถึงคนในหมู่บ้านจะต้องประสบกับเคราะห์ร้ายอย่างถึงที่สุด เช่น ตกต้นไม้เสียชีวิต หรือถูกเสือกัดจนตาย นอกจากนี้จะถูกปรับเงินมางเจียง 3 คู่ เงินมางมัด 2 เม็ด และเงินมางมะโมว 6 เม็ด เหล้าและหมูอีก 1 ตัว หรือเทียบได้ราวหนึ่งหมื่นกว่าบาท
ลัวะยังมีกฎห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาว คนที่อยู่ในวัยมีบุตร หรือผู้หญิง ไปร่วมการฝังศพในป่าช้าเด็ดขาด อนุญาตเฉพาะผู้อาวุโสที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกว่า ต๊ะควด เท่านั้น
ในส่วนของการพูดจา ลัวะจะห้ามพูดเรื่องที่ถือเป็นลางร้ายในลักษณะของการหยอกล้ออย่างเด็ดขาด และห้ามพูดเกี่ยวกับงานศพในงานแต่งงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีข้อห้าม ไม่ให้กินเนื้อสัตว์ที่ใช้เลี้ยงผีต๊ะทู ผีต๊ะฮือเยง และผีเยือะในบ้านเด็ดขาด เนื่องจากผีบ้านไม่ชอบให้กินเนื้อในบ้าน หากทำจะเกิดไฟไหม้บ้าน รวมถึงไม่ให้ผู้ชายที่มีภรรยากำลังตั้งท้องไปร่วมพิธีเลี้ยงผีเยือะและกินเนื้อวัวที่ใช้เลี้ยง เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้ลูกที่เกิดออกมาพิการ
ในพิธีเรียกขวัญข้าวให้มาอยู่ที่ยุ้งนั้น จะเอาข้าวที่ถูกเรียกขวัญไปตำหรือเอาไปหุงกินแยกออกจากข้าวปกติ และจะห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกในครัวเรือนกินข้าวนั้นเด็ดขาดเพราะเชื่อว่าจะทำให้ขวัญออกไปจากข้าว ส่งผลให้ข้าวในยุ้งที่เหลือไม่มีเพียงพอในการบริโภคตลอดปี
ในการทำพิธีเลี้ยงผีเยือะ เมื่อพิธีเสร็จสิ้นแล้วจะมีการนำเอาเฉลวไปปักไว้ที่ทางเข้าหมู่บ้านทุกทาง เพื่อที่สื่อว่าคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า หากฝ่าฝืนจะถือว่าเป็นการผิดผีและจะนำความเดือดร้อนมายังผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะถูกปรับเป็นเงินราว 300 บาท
ยิ่งไปกว่านั้นลัวะยังมีสัตว์ที่ห้ามนำมากินอย่างเด็ดขาด ได้แก่
ความเชื่อในระดับพื้นที่หลายอย่างก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น คนในชุมชนลัวะบ้านป่ากำมีการสืบทอดจารีตดั้งเดิมของชุมชนในการแบ่งพื้นที่สำหรับป่าไม้เป็นประเภทตามการใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นป่าเพาะปลูก ป่าอนุรักษ์ ป่าช้า หรือป่าใช้สอย หากว่ามีการใช้ประโยชน์จากป่าที่นอกเหนือจากข้อตกลงร่วมกันของชุมชนจะต้องมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อขออนุญาตก่อนเสมอ เช่น การตีมีดในป่า การถางป่า การตัดไม้ใหญ่ การเข้าไปหาอาหารในวันกรรมของชุมชน เป็นต้น โดยป่าที่มีความสำคัญมากในฐานะแหล่งอาหารของชุมชนคือ ป่าผีเจ้าตาหรือป่าพิธีกรรม มีข้อห้ามคือห้ามในบริเวณพื้นที่ป่านี้คือ ห้ามตัดไม้ ห้ามทำไร่ และห้ามหาฟืน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีป่าช้าหรือป่าเฮ้ว ใช้สำหรับฝังศพคนในชุมชนที่เสียชีวิต ในอดีตถ้ามีผู้ที่ต้องการเข้าไปหาอาหารในป่าช้าต้องผ่านการอนุญาตจากหมอฮีตก่อน โดยมีกฎว่าห้ามทำไร่ และห้ามตัดไม้ในป่าช้านอกจากนี้คนในชุมชนยังมีกฎห้ามเก็บอาหารในป่าไปขายให้คนนอกชุมชน ห้ามล่าสัตว์ป่าและตัดไม้ใหญ่ในเขตป่าอนุรักษ์ และห้ามไม่ให้เผาป่าเพื่อล่าสัตว์ รวมถึงห้ามเก็บหาอาหารในวันกรรมของชุมชน (สุธานี มะลิพันธ์, 2552)
การรักษาโรค
ในพื้นที่ชุมชนลัวะในเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่นั้นพบว่า เมื่อก่อนยาแผนโบราณจริง ๆ ถ้ามีลูกก็จะเอาฝ้ายให้ลูกป้องกันผี มี ดำสี่ ขาวสาม เอามาม้วนเป็นอันเดียวกัน แล้วขอดเป็นสามปม ถ้าเด็กร้องไห้ตอนกลางคืนก็จะเป่าฝ้าย เอาฝ้ายเก่าออก ทำมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าเด็กร้อน จะเอาขี้ไส้เดือนตามป่ามาตำกับข้าวสารแล้วเอาแปะที่ขมับ หากว่าท้องเสียจะเอาเปลือกต้นมะกอกมาแช่ ถ้าเด็กร้อน เป็นไข้จะเอาที่เรียกว่ายาเย็นมาแปะที่หน้าผาก เพราะเมื่อก่อนตายกันเยอะ ไม่มีโรงพยาบาล สามหมู่บ้านมีรถคันเดียว อนามัยก็เริ่มจะมี ยาโบราณก็เริ่มหายไป
ในพื้นที่กรณีศึกษาอื่นก็พบในแนวทางเดียวกันว่า คนลัวะสูงอายุในชุมชนบ้านป่ากำจะไม่ไปโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือหาซื้อยามารับประทาน ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหนักหรือเบา แต่จะไปหาหมอฮีตเพื่อทำการรักษาในแบบชุมชนเอง แต่ในคนหนุ่มสาวและเด็ก จะมีการรักษาด้วยแพทย์แผนใหม่ โดยในปัจจุบันจะมีหน่วยงานทางราชการเข้าไปติดต่อให้ความสะดวกในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เช่น การคุมกำเนิด การทำหมัน ดูแลเรื่องการป่วยไข้ และการฉีดวัคซีน เป็นต้น สถานีอนามัยที่ชาวลัวะบ้านป่ากำใช้บริการคือ สถานีอนามัยบ้านสะปัน และโรงพยาบาลบ่อเกลือ (สุธานี มะลิพันธ์, 2552)
ทั้งนี้ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในอดีตลัวะมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยนั้นมีสาเหตุมาจากผี ดังนั้นเมื่อคนในชุมชนมีอาการป่วยไข้จึงมักให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงผีมารักษา โดยหมอผีจะเสี่ยงทายว่าผีไหนคือสาเหตุที่ทำให้คนป่วยแล้วจะทำพิธีเลี้ยงผีนั้นเพื่อขอให้หาย เช่น หากเสี่ยงได้ผีดอย ก็จะทำการเลี้ยงด้วยหมูตัวเมีย 1 ตัวกับไก่อีก 2 ตัว เป็นต้น ในส่วนของปัจจุบันหากมีอาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปวดท้องหรือปวดศีรษะก็จะนิยมรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน (กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, 2555)
ในส่วนของรายละเอียดพบว่า หมอฮีต คือผู้ที่มีบทบาทในการรักษาคนในชุมชนด้วยการเป่า เมื่อเจ็บป่วยชาวลัวะบ้านป่ากำจะไปหาหมอฮีตให้ทำพิธีเป่า ฆ่าไก่เลี้ยงผี พิธีสู่ขวัญ เป็นต้น โดยพบว่ามีการนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคน้อยมาก เนื่องจากจะเน้นในเรื่องของการทำพิธีกรรมเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยแทน หากมีการเจ็บป่วยไหนที่เกินกว่าจะสามารถทำพิธีรักษาให้หายได้ก็จะถูกปล่อยให้เสียชีวิตไป หากมีการเจ็บป่วยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน คนในชุมชนจะเชื่อว่ามาจากผีทำหรือเป็นกรรม จะไม่อนุญาตให้นำเด็กไปรักษานอกชุมชน(สุธานี มะลิพันธ์, 2552)
อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาการนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค ดังนี้
1) สมุนไพรเงียนซีเมอะมาม ใช้ใส่แผล โดยจะเอาใบสด ๆ มาตำให้ละเอียดแล้วปิดไว้ตรงบาดแผล
2) สมุนไพรเงียนพาเเบ๊ะ ใช้ใส่แผล นำใบสด ๆ มาตำให้ละเอียดแล้วปิดบาดแผลไว้
3) สมุนไพรซีเมอะซุพม ใช้แก้ท้องเสีย โดยจะนำเอาใบสดมาคั้นเป็นน้ำสำหรับดื่ม
4) สมุนไพรดูลัมโค๊ะ ใช้แก้ท้องเสีย นำเอาใบสดมาคั้นเป็นน้ำสำหรับดื่ม
5) สมุนไพรเงียนทรูลัมดา (ใบฝรั่ง) ใช้แก้ปวดท้อง โดยการเอาใบสดมารับประทานหรือเอาไปต้มแล้วนำมาดื่ม
6) สมุนไพรเงียนทรูเมี่ยง (ใบเมี่ยง) ใช้แก้ปวดท้องด้วยการนำใบสดมารับประทานหรือเอาไปต้มแล้วนำมาดื่ม
ณัฏฐวี ทศรฐและสุริยา รัตนกุล( 2539) ได้กล่าวถึลการอยู่ไฟของหญิงละว้าพบได้ใน 2 ลักษณะคือ การอยู่ไฟในท่ายืน จะใช้หินก้อนใหญ่หรือที่เรียกว่าแม่หินประมาณสองลูกเผาไฟไม้พื้นที่นำมาติดไฟนั้นจะต้องเป็นไม้เนื้อแข็งซึ่งจะให้ไฟแรงเมื่อหินนั้นแดง หญิงที่อยู่ไฟจะถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมดและใช้ผ้าห่มคลุมตัวและปกศีรษะ สามีหรือเพื่อนบ้านที่เป็นหญิงจะยกหินนั้นขึ้นวางที่มุมห้อง จากนั้นให้หญิงอยู่ไฟยืนคร่อมแม่หินนั้น หินจะอยู่ระหว่างขาทั้งสอง วางสมุนไพรคละฮลำบลึงไว้บนหิน ผู้ช่วยอีกคนจะคอยตักน้ำรดลงบนแม่หินนั้น ความร้อนจะเผาต้นสมุนไพรรวมไปกับไอน้ำผ่านไปตามลำตัวผู้อยู่ไฟและเมื่อหินใกล้จะเย็นจึงใช้เท้าเหยียบบนหินนั้นที่ละเท้าเพื่อให้ร่างกายรับความร้อนเท่า ๆ กัน ไม่เช่นนั้นเท้าจะบวมและเมื่อหินนั้นเย็นลงก็จะต้องลนไฟใหม่ ผู้อยู่ไฟจะได้นอนพักในช่วงที่เผาแม่หินและจะต้องดื่มน้ำปูลวยหรือไพลซึ่งเป็นสมุนไพรต้มใช้ดื่มตลอดระยะเวลาการอยู่ไฟและหลังจากที่อยู่ไฟครบกำหนดแล้วจะต้องพักฟื้นในห้องเตาไฟนั้น 1 เดือน (ข้อมูลนี้เก็บจากบ้านป่าแป๋ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน )
การอยู่ไฟในท่านั่ง ผู้อยู่ไฟในลักษณะนี้มีกำหนดระยะเวลาเช่นเดียวกับผู้อยู่ไฟในแบบแรก แต่จะใช้วิธีการต้มน้ำหม้อใหญ่ให้เดือดไปพร้อม ๆ กับการเผาแม่หินให้แดง เมื่อทุกอย่างร้อนผู้อยู่ไฟจะถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมดแล้วใช้ผ้าห่มพันตัวตั้งแต่บริเวณลำคอถึงปลายเท้าและใช้เสื้อหรือผ้าปกศีรษะจนถึงลำคออีกด้วย จากนั้นนั่งยอง ๆ ลงบนขอนไม้ที่สูงกว่าแม่หินเล็กน้อย ส่วนบนแม่หินนั้นจะใช้ผ้าชั้นวางไว้ จากนั้นเทน้ำเดือดลงบนแม่หินปล่อยให้ไอร้อนผ่านขึ้นไปยังลำตัวและใบหน้าทำอย่างนี้ทั้งวันและคืนเช่นเดียวกับการอยู่ไฟในแบบแรก (ข้อมูลนี้เก็บจากบ้านแปะ ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่)
สำหรับรกของเด็กนั้นจะฝังไว้ใต้ถุนบ้านตรงตำแหน่งที่เด็กเกิดและเมื่ออยู่ไฟเสร็จญาติ ๆ ของหญิงอยู่ไฟก็จะห่อฝักส้มป่อย 3 ท่อนขมิ้น 3 ท่อน รวมทั้งสิ่งที่ตนมีและอยากให้แก่คนที่มาเป็นเพื่อนผู้อยู่ไฟแล้วนำไปแจกเพื่อเป็นการขอบคุณตามประเพณีและหลังจากอยู่ไฟจนครบกำหนดแล้วก็จะต้องอยู่เดือนภายในห้องเตาไฟนั้นอีกหนึ่งเดือน ส่วนเด็กทารกนั้นเมื่อแข็งแรงพอจะถูกนำไปเลี้ยงไว้ในเปล เปลนี้จะใช้ไม้ไผ่สานและจะสานให้ลูกหัวปีส่วนลูกคนต่อ ๆ มาจะต้องใช้เปลอันเก่าของพี่เท่านั้น
ในกรณีของตำนานนั้น ตำนานของ “ลัวะ” ได้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ของล้านในหลากหลายลักษณะด้วยกัน และปรากฎในรูปแบบของชื่อเรียกที่แตกต่างกันด้วย เช่น ในตำนานเมือง เรียกชาติพันธุ์ว่า “ลัวะ” และ “ว้า” ส่วนในศิลาจารึกเรียกว่า “ลัวะ” และ “ลวะ” เป็นต้น โดยตำนานเหล่านี้สามารถบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ การตั้งถิ่นฐาน และการกระจายตัวไปจนถึงการก่อตั้งเป็นชุมชนเมืองได้ ดังนี้ จากตำนานของ “ละเวือะ”นั้น ไม่พบหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเนื่องจากละเวือะไม่มีภาษาเป็นของตนเอง แต่พบว่าละเวือะบ่อหลวงได้มีเรื่องเล่าว่า ภูมิลำเนาในอดีตคือบริเวณละว้าปุระ (ลพบุรีในปัจจุบัน) แต่บรรพบุรุษได้มีการอพยพย้ายตามลำน้ำปิงขึ้นไปทางเหนือจนถึงแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวินของพม่า) ในขณะเดียวกันบางกลุ่มก็ยังคงลงหลักปักฐานบริเวณแม่น้ำปิง ต่อมาเมื่อชาวไต-ยวนอพยพเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ละเวือะจึงกระจัดกระจายกันอพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านบ่อหลวง บ้านอุ้มลอง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และแยกออกไปยังบ้านกองลอย บ้านแม่โถ บ้านวังก๋อง บ้านขุน อ.ฮอด ส่วนที่ยังคงอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีเพียงคนไต-ยวนแล้ว (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว (2553) อ้างถึงใน ฉวีวรรณ ประจวบหมาะ และคณะ (2555) )
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) ระบุว่า ตำนานและเรื่องเล่าของชาวลัวะมีอยู่หลายแบบด้วยกัน ดังนี้
1) ชาวละว้าต่างเชื่อว่าพวกตนได้อาศัยอยู่ในดินแดนทางตอนเหนือของไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานโดยมีเมืองหลวงอยู่บริเวณดอยสุเทพ ใน “เรื่องของชนชาติไทย” โดยเสถียรโกเศศ ได้มีการระบุว่าลุ่มแม่น้ำโขงหรือดินแดนสิบสองปันนา ล้านนา และล้านช้างเป็นที่อยู่ของชาวละว้า ข่า ขมุ มาก่อน นอกจากนี้ในตำนานสุวรรณโคมคำ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 72) ได้ระบุที่อยู่ของละว้าในอดีตว่าเป็นบริเวณล้านนาในระยะเวลาหลายพันปีมาแล้ว ในบางเอกสารก็ระบุว่าพวกละว้าและชาวเขาอีกหลายชาติพันธุ์ต่างอพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน โดยกลองมะโหระทึกที่คนเมืองใช้ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ก็เป็นของละว้า
2) ชาวลัวะมีความเชื่อว่าในอดีตบรรพบุรุษของตนนั้นอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ และได้สร้างวัดเจดีย์หลวง ในช่วงระยะเวลาราว 900 ปีก่อนที่จะมีคนไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนดังกล่าว ลัวะมีกษัตริย์ซึ่งองค์สุดท้ายได้แก่ ขุนหลวงวิลังคะ ตามตำนานได้เล่าว่า ขุนหลวงวิลังคะได้ตกหลุมรักและต้องการที่จะแต่งงานกับพระนางจามเทวีซึ่งเป็นกษัตริย์มอญแห่งนครลำพูน แต่พระนางจามเทวีได้กล่าวว่า หากขุนหลวงวิลังคะไม่สามารถขว้างหอกจากดอยสุเทพมาไกลถึงพระราชวังของนางในนครลำพูน จะไม่ยอมแต่งงานด้วย ครั้นเมื่อขุนหลวงวิลังคะขว้างหอกพุ่งออกไปในครั้งแรกก็เกือบถึงพระราชวังของพระนางจามเทวี พระนางจามเทวีจึงได้ให้โอกาสขุนหลวงวิลังคะอีกครั้ง โดยมอบชายผ้านุ่งของพระนางให้แก่ขุนหลวงวิลังคะนำไปคาดหัว แต่ผ้านั้นกลับทำให้กำลังของขุนหลวงวิลังคะอ่อนลงจนไม่สามารถขว้างหอกได้ ในที่สุดก็ถูกพระนางจามเทวีและพวกมอญไล่ตีจนแตกพ่ายกระจัดกระจายหนีขึ้นเขาไป หลังจากนั้นก็ได้มีคนไทยเข้ามาตีพวกมอญและผูกมิตรกับลัวะบนภูเขาแทน
3) นิทานปรัมปราของลัวะที่นิยมในเขตแม่ฮ่องสอนนั้นได้เล่าว่า ลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวินต่อมาถูกก้อนหินขนาดใหญ่ไล่ให้ขึ้นมาตามลุ่มน้ำขุนยวมและหุบเขาเล็ก (แม่ลาน้อย) เมื่อหนีจนลับสายตาก้อนหินก็ได้ถามนกกระตั้วถึงเบาะแสของพวกลัวะ บรรดานกตอบว่าไม่เห็น พวกตนก็ได้ตามหาลัวะมาเป็นเวลานานจนหัวหงอก (สีขาวตรงหัวของนกกระตั้ว) ยังไม่พบ หลังจากนั้นนกกระตั้วก็บินหลบไปหาพวกลัวะที่ซ่อนอยู่บนเขาและเเจ้งว่ารอดพ้นก้อนหินยักษ์แล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อลัวะจำต้องเดินทางผ่านแม่ลาน้อยก็จะเงียบหรือส่งเสียงให้เบาที่สุดเนื่อจากเชื่อว่าก้อนหินยักษ์ก้อนนั้นยังคงนอนหลับอยู่ในลำห้วยแม่ลาน้อย
4) ในตำนานสิงหวัติได้กล่าวถึงละว้าในสมัยของพระยาเม็งรายว่าอาศัยอยู่ทั่วไปในเมืองเชียงตุง ต่อมามีสองพี่น้องชาวละว้าได้ถวายความจงรักภักดีต่อพระยาเม็งราย ทั้งสองพี่น้องจึงได้ยกทัพไปตีเมืองเขิน ต่อมาพระยาเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงตุงให้สองพี่น้องละว้าปกครอง หลังจากนั้นพระยาเม็งรายประสงค์อยากได้เมืองนครหริภุญไชย ในระหว่างนั้นได้พบกับอ้ายฟ้า ชาวละว้าซึ่งมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงได้นำมาเลี้ยงดูและให้ชื่อว่าหมื่นฟ้า หมื่นฟ้าได้เสนอตัวไปเป็นไส้ศึกในนครหริภุญชัยจนสามารถทำให้พระยายี่บาผู้ครองนครหริภุญชัยไว้ใจได้ หมื่นฟ้าได้ออกอุบายแสร้งเป็นแนะนำวิธีปกครองบ้านเมืองต่าง ๆ จนราษฎรได้รับความเดือดร้อนและเสื่อมความนิยมในตัวพระยายี่บา เมื่อพระเจ้าเม็งรายเสด็จทัพมา หมื่นฟ้าก็ได้ทำทีเป็นแพ้และกลับไปแจ้งให้พระยายี่บายกทัพหนี จากนั้นพระเจ้าเม็งรายจึงสามารถเข้ายึดครองเมืองหริภุญชัยได้ในปี พ.ศ. 1824 ภายหลังจากความพ่ายแพ้ พระยายี่บาหนีไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองเขลางค์นคร ก็ได้รวมพลกลับมารบกับพระเจ้าเม็งรายแต่ก็พ่ายแพ้อีกครั้ง พระเจ้าเม็งรายจึงได้เมืองเขลางค์นครและมอบให้ละว้าคนหนึ่งขึ้นปกครอง โดยพระเจ้าเม็งรายได้ปกครองเมืองหริภุญชัยอยู่ราว 12 ปีก็ได้มอบให้ขุนฟ้าหรือหมื่นฟ้า ส่วนพระองค์เสด็จไปเมืองกุมกามแล้วสถาปนานครเชียงใหม่ขึ้น
นอกจากตำนานขุนหลวงวิลังคะแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะได้มีเรื่องเล่าที่มาจากตำนานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ไท 2 เรื่อง ที่สำรวจพบทั้งในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองเชียงใหม่ และเมืองน่าน คือ ตำนานเมืองล่มเพราะกินงู ที่สัมพันธ์กับเรื่องเมืองล่มเพราะกินปลาไหลเผือก ที่เล่าอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเมืองน่าน และเรื่องแม่ม่ายกับลูกชายทั้งสาม จากการเล่าต่อกันมาทำให้เกิดการเพิ่ม ลด เนื้อหาตามช่วงเวลา เป็นความสนใจ และความทรงจำของผู้คนในพื้นที่ที่จะปรับเปลี่ยนเนื้อหาเรื่องเล่าให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ตำนานกินงู
ตำนานกินงูยักษ์หรืองูเหลือม พบจากการสัมภาษณ์ทั้งในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงบ้านขุนน้ำลาด อำเภอทุ่งช้าง ต่างเล่าตำนานเรื่องการกินงู แต่ในส่วนรายละเอียดอาจผิดเพี้ยนกันไปบ้าง เช่น ที่บ้านขุนน้ำลาด นายบุญยืน เปาป่า อายุ 62 ปี เล่าว่า เป็นเรื่องที่พ่อแม่ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย (ตา ยาย) ได้เล่าให้ฟังก่อนนอนว่า ในอดีตอันไกลโพ้น มีหมู่บ้านลัวะหมู่บ้านหนึ่ง มีชาวบ้าน 2 คน ได้เข้าป่าล่าสัตว์ ในวันนั้นได้เจองูเหลือมตัวใหญ่ จึงช่วยกันฆ่างูเพื่อนำกลับมาที่หมู่บ้าน แต่งูมีขนาดใหญ่จึงใช้เสียม มีด ตัดเป็นท่อนๆ จากนั้นจึงชำแหละเนื้องูแบ่งให้ชาวบ้านได้กินกัน แต่มีพี่น้อง 2 คน ที่ไม่ได้กินเนื้องูร่วมกับชาวบ้าน พอถึงเวลากลางคืนเกิดลมแรง ฟ้าร้องเสียงดังสนั่น ฝนตกอย่างหนักจนดินโคลนถล่ม พัดพาบ้านเรือน และผู้คนไหลไปกับสายน้ำและดินโคลน
สองพี่น้องที่ไม่ได้กินงู มีต้นไผ่โน้มมารัดเอาทั้งสองคนดีดขึ้นไปบนภูเขา ทำให้รอดตาย ในขณะที่ชาวบ้านคนอื่น ๆ เสียชีวิตหมด จากตำนานได้เชื่อมโยงกับกับภูดินสอ และหลักฐานหมู่บ้านเก่าที่เชื่อว่าเป็นเสาบ้านผุดขึ้นเหนือดิน บริเวณหมู่บ้านร้างบนยอดเขา ทำให้ไม่มีใครกล้าขึ้นไปตัดไม้บนภูเขา มีเรื่องเล่าต่อมาว่าหมอผีชื่อลุงแปงไปฟันต้นไม้เพียงนิดเดียวได้ถึงแก่ชีวิตในเวลาต่อมา
ปัจจุบันพื้นที่บนภูเขามีถนนขึ้นไปเมื่อ พ.ศ.2520 มีพระราชกฤษฏีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ.2542 (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 48 ก,17 มิถุนายน 2542 http://www.ratchakitcha.soc.go. th/DATA/PDF/2542/A/048/5.PDF เข้าถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2562)
ผู้สูงอายุ พ่อแม่ ได้เล่าให้ลูกหลานฟังก่อนนอนเป็นการปลูกฝังความเชื่อที่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่รุ่นสู่รุ่น เมื่อเจองูเหลือมจะไม่ฆ่าหรือทำร้าย เนื่องจากกลัวอำนาจเหนือธรรมชาติและภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นกับหมู่บ้านดังเช่นตำนานในอดีต
ตำนานเรื่องเดียวกันที่เล่าในบ้านห้วยหมีกล่าวถึง กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะกลุ่มหนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่บนภูเขาสูงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอยู่มาวันหนึ่ง ชาวบ้านคนหนึ่งได้เจองูเหลือมตัวใหญ่ จึงกลับไปเรียกให้ชาวบ้านมาช่วยกันฆ่า และแบ่งเนื้องูเหลือมเพื่อกิน และแจกจ่ายแก่คนในชุมชน โดยมีหญิงชราที่พักอาศัยอยู่คนเดียวชาวบ้านได้แบ่งเนื้องูให้ แต่หญิงชราไม่กินเนื้องู จึงแขวนเนื้องูไว้ที่เสาหน้าบ้าน
ในคืนนั้นได้เกิดพายุลมฝนกระหน่ำอย่างหนัก ทำให้ดินโคลนถล่ม พัดพาเรือนของชาวบ้านจมหายไปในโคลน ชาวบ้านเสียชีวิตกันหมด คงเหลือแต่หญิงชราที่ไม่ได้กินเนื้องู แม้เรือนของนางจะได้รับความเสียหาย แต่ยังเหลือเสาไม้ที่ได้แขวนเนื้องูไว้ทียังคงอยู่ เรือนและศพของชาวบ้านที่เสียชีวิตได้ไหลไปรวมกันบริเวณที่ลุ่มของหมู่บ้าน กลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า หนองหล่ม
ปัจจุบันชาวบ้านได้อ้างถึงพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นหนองน้ำบนภูเขา และยังมีน้ำขังอยู่ ได้กลายเป็นพื้นที่ประกอบการเล่าตำนานสืบต่อมา จากตำนานดังกล่าวทำให้ชาวบ้านไม่กินเนื้องูเหลือม ด้วยความเชื่อว่าจะนำภัยพิบัติมาสู่ตัวเอง ครอบครัว และชุมชนได้
บ้านห้วยทรายขาวได้เล่าตำนานกินงูใหญ่เช่นกัน หลังจากที่กินงูแล้วชาวบ้านทั้งหมู่บ้านตายด้วยภัยพิบัติ มีหญิงม่ายคนหนึ่งที่ไม่กินงู ทำให้รอดชีวิต แต่บ้านเรือนก็ถูกน้ำพัดพาดินโคลนถล่ม กลายเป็นหนองคำในปัจจุบัน ซึ่งตำนานดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ไม่แน่ชัดว่าเกิดที่ใดกันแน่ เพราะในชุมชนลัวะเมืองน่าน โดยเฉพาะในอำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้างและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มักจะมีตำนานเรื่องการกินงูทุกหมู่บ้าน เป็นที่น่าสังเกตว่าตำนานเรื่องการกินงูใหญ่ เป็นเรื่องที่นิยมเล่าโดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะแต่ละหมู่บ้าน เชื่อมโยงได้กับความเชื่อเรื่องการกินเนื้อสัตว์ที่อาจมีอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น งู ปลาไหลเผือก ทำให้เกิดภัยพิบัติ เช่นเดียวกับตำนานเวียงหนองล่มที่พบในกลุ่มชาติพันธุ์ไทซึ่งสร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ เมืองได้ล่มและจมลงในน้ำกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ส่วนบ้านเรือนบนภูเขาถูกถล่มด้วยดินโคลน
นอกจากดำนานเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเพื่ออธิบายประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองแล้ว ยังพบนิทานที่เล่าสืบต่อกันมาทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไท และกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ เป็นเรื่องแม่ม่ายและลูกชายทั้งสามคน โดยเริ่มจากการนำมาผูกกับจอมปลวก ซึ่งพบที่บ้านห้วยหมี เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงระหว่างความเชื่อและนิทาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
นิทานจอมปลวกดำ
นานมาแล้วมีแม่ม่ายชาวลัวะคนหนึ่ง ต้องการไปทำบุญที่วัดการเดินทางต้องข้ามแม่น้ำใหญ่ หญิงชายหลายคนในหมู่บ้านต่างเดินทางไปก่อนหน้า เหลือแต่แม่ม่ายที่เดินตามหลัง ทำให้ไปไม่ทันทุกคนข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งได้แล้ว แต่แม่ม่ายไม่สามารถข้ามไปได้ เรียกผู้ใดก็ไม่มีใครมารับไป จึงได้แต่รอคอยจนคิดว่านางคงไม่มีบุญวาสนาได้ไปทำบุญที่วัดได้แล้ว จึงหันหลังเดินกลับบ้าน เมื่อเดินมาได้ระยะหนึ่งพบปลวกสีดำเดินเป็นขบวนตามกันมา เพื่อหาอาหาร นางจึงคิดว่าหากไม่ได้ไปทำบุญที่วัดแล้ว ก็ขอเอาเครื่องทำบุญเหล่านี้ให้ปลวกกิน ก็ถือได้ว่าทำบุญแล้ว คิดได้ดังนั้นนางจึงนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมไปทำบุญ ให้ปลวกกินจนหมด พร้อมกับอธิษฐานว่าขอให้อยู่ดีมีสุข ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ เมื่อปลวกได้กินอาหารก็พากันสร้างจอมปลวกขนาดใหญ่ไว้ตามทางเดิน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะที่เดินทางออกไปทำงานในไร่ เมื่อพบจอมปลวกจะให้ความเคารพ โดยเอาข้าวอาหารวางไว้บนจอมปลวก โดยเชื่อว่าเป็นสิริมงคล และยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
การเก็บข้อมูลเรื่องนิทานในบ้านห้วยหมี พบว่าเรื่องจอมปลวกดำนี้ มีโครงเรื่องและเนื้อหาคล้ายกับนิทานของกลุ่มชาติพันธุ์ไท เรื่องแม่ม่ายที่เดินทางไปทำบุญไม่ได้ เนื่องจากไม่มีเรือลำใดที่จะพานางข้ามน้ำไปได้เลย นางจึงได้จองเวรเรือทั้งสามลำที่ไม่พานางข้ามน้ำไป คือ เรือของพญา เรือของพระ (ตุ๊) และเรือของชาวบ้าน (ลัวะ) โดยให้ลูกชายของนางทั้งสามคน เกิดมาค่ำ (สร้างความทุกข์ทรมาน) คนทั้งสามกลุ่มนั้น เกิดเป็นนิทานเรื่อง เซี่ยงเมี้ยงค่ำพญา กะต๋ำป๋าค่ำตุ๊ และปู่เซ็ดค่ำลัวะ โดยในพื้นที่บ้านห้วยหมีได้เล่าเรื่องที่แยกเนื้อหาออกจากกัน เรื่องที่นิยมเล่า คือ อ้ายคำปาค่ำตุ๊ ที่มีโครงเรื่องคล้ายกับกะต๋ำป๋าค่ำตุ๊ ส่วนเนื้อหาต่างกันไป ดังต่อไปนี้
นิทานเรื่อง อ้ายคำปาค่ำตุ๊
อ้ายคำปา มีนิสัยชอบแกล้งคนโดยเฉพาะพระสงฆ์ หรือ ตุ๊เจ้า มีอยู่วันหนึ่งชาวบ้านไปทำบุญที่วัด ในวันนั้นชาวบ้านทำแกงบอนถวายพระ เมื่อพระฉันแล้วรู้สึกติดใจในรสชาติ จึงถามอ้ายคำปาว่า แกงบอนนี้มาจากไหน แกงอย่างไร อ้ายคำปาจึงตอบพระว่า ไม่ยากหรอกเพียงแต่เราไล่ควายลงไปในน้ำแล้วเอามือแหย่ไปที่ก้นควาย แกงบอนก็จะออกมาเอง
เมื่อพระได้ยินดังนั้นก็ขอบใจอ้ายคำปาเป็นอย่างมากที่ได้บอกที่มาของแกงบอนให้ วันหนึ่งเมื่อพระเดินทางไปทำธุระนอกวัด เดินผ่านเห็นควายกำลังเล็มหญ้าอยู่ ได้นึกถึงแกงบอนขึ้นมาและรู้สึกอยากกิน จึงไล่ควายลงน้ำ และใช้มือแหย่ก้นควาย โดยหวังว่าจะได้แกงบอนออกมา พอควายถูกแหย่ก้นได้ใช้เท้าหลังดีดพระจนได้รับบาดเจ็บและวิ่งหนีไป
วันหนึ่งพระได้เจออ้ายคำปา จึงบอกว่าได้ใช้มือแหย่ก้นควายแล้ว ไม่มีแกงบอนออกมาอย่างที่อ้ายคำปาบอก มิหนำซ้ำยังถูกควายดีดจนบาดเจ็บอีก เมื่ออ้ายคำปาได้ยินเช่นนั้นก็หัวเราะและบอกกับพระว่าเขาโกหก จะมีแกงบอนที่ไหนออกมาจากก้นควาย จะมีก็แต่ขี้ควายเท่านั้น พร้อมกับหัวเราะที่สามารถแกล้งพระได้สำเร็จ
จากนิทานดังกล่าว พบว่าเป็นการเล่าเพื่อสร้างความสนุกสนานในกลุ่มชาติพันธุ์ ได้เลือกที่จะเล่าบางเรื่อง และไม่เล่าในบางเรื่อง หากฟังเรื่องจอมปลวก และอ้ายคำปาค่ำตุ๊ทั้งสองเรื่องโดยไม่มีการเชื่อมต่อที่มาของเรื่องเล่าจะเป็นเหมือนคนละเรื่องที่ไม่สัมพันธ์กัน การเล่าทุกเรื่องให้ปะติดปะต่อกันอาจใช้เล่าเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่การถ่ายทอดให้ผู้เก็บข้อมูลอาจจะได้เนื้อหาไม่ครบทั้งหมด ดังพบนิทานอีกเรื่องที่บ้านขุนน้ำลาด เป็นเรื่องปู่เก็ดค่ำขมุ
นิทานเรื่อง ปู่เก็ดค่ำขมุ
ปู่เก็ดเป็นชาวลัวะที่ได้เมียเป็นชาวขมุ และถือว่าตัวเองเป็นคนฉลาด ยากที่จะหาคนมาเทียบได้ วันหนึ่งปู่เก็ดไปตกปลาในลำห้วย โชคดีได้ปลาใหญ่มาหนึ่งตัว พอกลับมาถึงบ้าน ชาวขมุก็ถามว่าใช้อะไรเป็นเหยื่อถึงได้ปลาตัวโตขนาดนี้ ปู่เก็ดก็ตอบว่าใช้ไข่ต้มเป็นเหยื่อล่อปลา และบอกว่าถ้าอยากได้ปลาตัวใหญ่ก็ต้องใช้ไข่ต้ม ชาวขมุจึงหลงเชื่อ
วันต่อมาชาวขมุจึงนำเอาไข่ต้มมาทำเหยื่อล่อปลา โดยใช้เบ็ดนำมาปักไว้ริมลำห้วยและก็กลับบ้านไป ขณะเดียวกันปู่เก็ดซึ่งแอบดูอยู่พอลับตาคน ได้นำไข่ต้มที่ชาวขมุใช้ทำเหยื่อล่อปลาออกและนำมากิน และใส่ไส้เดือนแทน และปลาตัวเล็กก็ติดเบ็ด พอตกเย็นชาวขมุก็มาดูเบ็ด ก็พบเพียงปลาตัวเล็ก ๆ ที่ติดเบ็ด และระหว่างทางกลับบ้านได้เจอปู่เก็ด ก็ถามว่าทำไมใช้ไข่ต้มเป็นเหยื่อ ยังได้ปลาตัวเล็ก ปู่เก็ดก็ตอบว่า เพราะเจ้าใช้ไข่ต้มฟองเดียว ต้องใช้ไข่ต้มหลาย ๆ ฟอง
ชาวขมุจึงต้มไข่หลายฟองเพื่อมาใส่เบ็ด ปู่เก็ดก็ทำเช่นเดิมอีก พอมีไข่มากจึงได้นำไปให้ลูกกินที่บ้าน ลูกก็นำไข่ไปกินอวดเพื่อน เพื่อนจึงถามว่าเอาไข่จากไหนมากิน ลูกปู่เก็ดได้ตอบว่า พ่อให้มาเพราะไปหลอกให้ชาวบ้านเอาไข่ต้มไปเป็นเหยื่อตกปลา เด็ก ๆ เหล่านั้นจึงนำเอาคำพูดของลูกปู่เก็ดไปบอกเล่าให้พ่อฟัง เมื่อพ่อได้ฟังอย่างนั้นจึงรู้ว่าตนเองถูกหลอก
ด้วยวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ และกลุ่มชาติพันธุ์ขมุโดยทั่วไปคือการปลูกข้าวไร่ เมื่อใกล้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ปู่เก็ดก็แกล้งชาวขมุอีก ด้วยการเอาไฟไปลนต้นข้าวที่กำลังจะสุก พอชาวขมุมาดูไร่ข้าวก็เห็นข้าวเหลืองอร่ามตามภูดอย ก็เลยชวนกันเพื่อไปเกี่ยวข้าว แต่พอไปดูใกล้กลับกลายเป็นว่า ข้าวได้รับความเสียหายแห้งเหลืองและไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ขณะที่ไร่ข้าวปู่เก็ดกำลังเขียวและใกล้จะสุก ชาวขมุจึงไปถามปู่เก็ดว่า ทำอย่างไรข้าวถึงได้สวยงามและผลผลิตดี ปู่เก็ดตอบว่าเพราะได้เลี้ยงผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีไร่ ด้วยการฆ่าหมูเพื่อเป็นของเซ่นไหว้ และหากต้องการให้ผลผลิตข้าวดี ก็ต้องเลี้ยงผีไร่ด้วยหมูตัวใหญ่ 1 ตัว แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามนำเอาเนื้อหมูกลับไปบ้าน ชาวขมุก็หลงเชื่อจึงพากันฆ่าหมูและนำไปเลี้ยงผีไร่ข้าว และพากันกลับบ้าน โดยไม่นำเอาเนื้อไปด้วย ตามคำบอกของปู่เก็ด หลังจากชาวขมุไปแล้ว ปู่เก็ดก็จะนำหมูที่ฆ่ามาชำแหละและแบกไปกินที่บ้าน พอมาถึงบ้านก็ปิ้งหมูให้ลูกกิน และลูกก็นำเอาเนื้อหมูปิ้งไปกินอวดเพื่อน เพื่อน ๆ จึงถามว่า เอาหมูปิ้งมาจากไหน ด้วยความซื่อจึงตอบว่า “พ่อหลอกให้ขมุไปเลี้ยงผีไร่ และห้ามเอาเนื้อหมูกลับมาบ้าน พ่อก็เลยได้หมูมาปิ้งให้กิน” เมื่อทราบความอย่างนั้น เด็ก ๆ ได้ไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง เมื่อได้ฟังก็รู้สึกโกรธปู่เก็ดเป็นอย่างมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
ตำนานและนิทานที่ฟังคนในพื้นที่เล่า พบว่ามีความสัมพันธ์กันทั้งในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในชุมชนต่าง ๆ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทในภาคเหนือตอนบนที่เล่าเรื่องคล้ายกัน ทั้งเมืองล่มจมลงในน้ำจากภัยพิบัติที่เกิดจากการลงโทษโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ นิทานที่เล่าเรื่องในลักษณะการกลั่นแกล้ง หรือถูกกลั่นแกล้งโดยกลุ่มชาติพันธุ์อื่น หรือคนอื่น ด้วยการสร้าง “ความเป็นอื่น” (The Otherness) ซึ่งปรากฏอยู่ทุกสังคม
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะในเชียงใหม่ที่บ้านบ่อหลวง มีนิทานเรื่องปู่เส็ดค่ำลัวะ ที่เอามาเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องเสานามที่ใช้เป็นตัวแทนของผู้ตาย ที่สรุปเรื่องว่า ปู่เส็ดสั่งให้ทหารไปฆ่าลัวะ หากฆ่าตายแล้วให้นำไม้มาเป็นตัวแทนของผู้ตายมาให้ปู่เส็ดดูว่าฆ่าลัวะไปเป็นจำนวนเท่าใด เป็นคนแก่หรือคนหนุ่มดูจากลักษณะไม้ว่าเป็นไม้แก่หรือไม้อ่อน (สัมภาษณ์ นายเตา ตาเตอะ วันที่ 9 มิถุนายน 2562)
ตำนานการฆ่าควายเลี้ยงผี
บ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม ตลอดจนพื้นที่หมู่บ้านลัวะใกล้เคียงทำพิธีเลี้ยงผีประจำหมู่บ้านครั้งใหญ่ที่เสาสะกาง เรียกว่า นกสไป๊ท์เลี้ยงด้วยควาย โดยมีเรื่องเล่าที่สืบมาแต่อดีต และยังคงดำรงพิธีกรรมให้อยู่ต่อไปเฉพาะในกลุ่มของตนเอง โดยคนสมัยเก่าเล่าเป็นนิทาน จากการสัมภาษณ์นายดี เกตุรัตนสมบูรณ์ วันที่ 21 สิงหาคม 2561 เล่าว่าพ่ออุ๊ยเล่าให้ฟัง เมื่อก่อนถือว่านิทาน และตำนานเป็นเรื่องจริง โดยเล่าว่า ในอดีตคนและสัตว์ต่าง ๆ สามารถพูดได้ เทวดาจึงให้ควายนำความไปบอกแก่คนทั้งหลายว่า ให้ใช้ชีวิตอยู่ไปยืนยาว ไม่เสียชีวิต แก่แล้วให้หนุ่มอยู่ ห้ามเสียชีวิตทั้งคนหนุ่มคนแก่ แต่ควายกลับมำความตรงข้ามไปบอกแก่คน ไม่ตรงตามที่เทวดาบอก โดยควายนำความบอกแก่คนทั้งหลายว่า คนหนุ่ม หรือคนแก่ให้ตาย ตายตอนแก่ ตายตอนหนุ่ม ตายแต่เด็ก ก็ต้องให้ตายทุกคน ตายด้วยโรคภัย อุบัติเหตุ เมื่อควายกลับมาแล้ว เทวดาได้ถามว่านำความไปบอกแก่คนทั้งหลายว่าอย่างไร ควายก็ทวนตามที่ได้บอกไปอีกครั้งว่า ให้คนทั้งหลายตายไปเสียบ้าง ตายแก่ ตายหนุ่ม ตายเด็ก เทวดาตำหนิควายแล้วให้ท่องจำให้ได้แล้วกลับไปบอกใหม่บอกว่าเป็นคนไม่เสียชีวิต ขอให้มีชีวิตตลอดไปทั้งคนหนุ่มคนแก่ ควายก็กลับไปบอกคนทั้งหลายอีกครั้ง โดยบอกตรงกันข้ามกับเทวดาอย่างที่เคยบอก เมื่อเทวดารู้ จึงอนุญาตให้คนทั้งหลายฆ่าควายกินเนื้อเป็นแกง เป็นลาบได้เลย โดยให้ลงโทษควายด้วย คนสมัยก่อนจึงให้ควายไปไถนาตามที่เทวดาบอก ให้ฆ่าตัวกินเนื้อได้ หากเจ็บป่วยให้เอาควายไปเลี้ยงผีได้ คนทั้งหลายจึงทำตามที่เทวดาบอก โดยถือว่าไม่เป็นบาป แต่เป็นการได้ทำบุญเลี้ยงผี
ตำนานลัวะกินดิน
เป็นตำนานที่เล่ากันอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านเมืองก๊ะ ความว่า ในอดีตประมาณ 40 – 50 ปีมาแล้ว ชาวบ้านเมืองก๊ะนำดินมากิน ไม่ใช่เพราะอดอยากไม่มีอะไรกิน แต่เป็นเพราะดินที่นำมากินนั้นมีกลิ่นหอมรสชาติอร่อย เชื่อว่ามีแร่ธาตุอยู่ในดิน โดยดินที่ขุดได้จากบ่อนำจะมาปิ้งกิน จุดที่ขุดดินอยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้านใกล้กับซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน เคยมีบ่อดิน 4 บ่อ ปัจจุบันบ่อดินได้หายไปหมดแล้วเนื่องจากมีการทำถนนในภายหลัง (สัมภาษณ์ นายไพศาล ไทยใหม่ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561 และ นายชัชวาล ใหม่เฟย วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2561)
ส่วนนิทานโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านเมืองก๊ะที่สามารถสืบถามได้มี 2 เรื่อง คือ
1. นิทานลัวะเกิดจากน้ำเต้าปุง เล่าว่า ลัวะทั้งหลายนั้นกำเนิดมาจากน้ำเต้าปุง โดยชาวลัวะเป็นคนกลุ่มแรกที่ออกมาจากรูชีที่เกิดจากเหล็กชีหรือแทงน้ำเต้า ดังนั้นลัวะจึงมีผิวคล้ำ ส่วนคนกลุ่มอื่นออกมาทีหลังจึงมีผิวขาว
2. นิทานหนังสือลัวะ เล่าว่า เดิมลัวะมีตัวหนังสือใช้เขียนเหมือนคนทั่วไป แต่ลัวะนั้นเลือกหนังสัตว์มาเขียนหนังสือ คิดว่ามันคงทน มีครั้งหนึ่ง หมาได้มาคาบเอาหนังสือสือลัวะไปกิน ลัวะจึงไม่มีตัวหนังสือใช้มาจนถึงวันนี้มีแต่ภาษาพูด (สัมภาษณ์นางนวล ดอยคำ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561)
ส่วนนิทานพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะบ้านขุนน้ำลาดที่เล่าให้ลูกหลานฟังมักมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชาวลัวะในพื้นที่เมืองน่าน แฝงด้วยข้อคิดต่าง ๆ และมีเนื้อหาคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนหรือคนเมืองที่มีเรื่องเล่าคล้ายกัน คือ
นิทานเรื่องเสือกินคน
นานมาแล้ว มีหมู่บ้านลัวะหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในผืนป่าซึ่งมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสือที่เป็นสัตว์ดุร้าย ในการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เสือจะไม่เข้ามากินสัตว์เลี้ยงหรือเข้ามาเพ่นพ่านในหมู่บ้าน ต่อมามีชาวบ้านเริ่มเข้าไปในป่าเพื่อล่าสัตว์ และไปล่าลูกเสือเพื่อเอาเนื้อมากิน ทำให้แม่เสือโกรธมากและคิดว่าคนที่มาฆ่าลูกของตนตายคือคนในหมู่บ้าน จากนั้นเสือได้เข้ามากินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน และฆ่าชาวบ้านคนที่ไปฆ่าลูกเสือจนตาย จนชาวบ้านเกิดความกลัวเป็นอย่างมากแต่เสือไม่ทำร้ายชาวบ้านที่ทำร้ายสัตว์ และหลังจากนั้นเสือก็ไม่เข้ามาในหมู่บ้านอีกเลย
อีกเรื่องที่เกี่ยวกับเสือโคร่งที่ทำร้ายลุงแน่น เป็นเรื่องเล่าจากชีวิตจริงที่ลุงแน่นเข้าป่าล่าสัตว์ โดยยิงปืนแก๊ปไปที่เสือโคร่งเพราะคิดว่าเป็นฟาน (เก้ง) หลังจากสิ้นเสียงปืนทุกอย่างก็เงียบสงบ ลุงแน่นจึงลงมาจากต้นไม้แต่เสือโคร่งซุ่มอยู่และกระโจนใส่ ลุงแน่นใช้ปืนยิงเสือ 2 นัด เสืองับศีรษะลุงแน่นและต่อสู่กันจนเสือหมดฤทธิ์ คนเข้ามาช่วยลุงแน่นและหามกลับมาที่บ้านในคืนนั้น (สัมภาษณ์ นายธันยปรัชญ์ ทัพพมงคลรัตน์ วันที่ 29 มีนาคม 2562)
การเล่าทิทานที่เป็นนิทานที่ผูกเรื่องขึ้นมาจากนิทานแบบโบราณที่ไม่สอนเรื่องใด ไม่มีคติสอนใจ เป็นเรื่องเล่าแบบโบราณที่ยังเหลืออยู่ จากตัวอย่างเป็นนิทานที่ได้รับฟังจาก นางบุญเพลิน ประชามีบุญ เล่านิทานให้ฟังว่าเป็นนิทานที่ใช้เล่าให้เด็กฟัง มีเนื้อเรื่องว่า มีพี่ชาย 7 คนมีน้องหญิง 2 คน ต่อมาเมื่อพี่ชายทั้ง 7 ไปรับจ้าง ทิ้งน้องหญิงทั้งสองอยู่บ้าน ไม่มีอะไรกินเห็นเขาจุดไฟจึงเดินไปหาเป็นคนเฒ่า 2 คน ที่เป็นผีกะยักษ์ปลอมตัวมาหลอก ผีกะยักษ์ทั้งสองบอกให้เด็กหญิงเอาไฟให้กลับบ้าน ไม่ต้องทิ้งให้เอาไฟไปทำกับข้าวที่บ้าน เมื่อเด็กทำอาหารผีกะยักษ์จะเข้าไปกัดเด็กผู้หญิงทั้งสองคน แต่เด็กไม่เปิดประตูจึงเข้าไปไม่ได้ ก็กัดสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ตาย พออีกคืนสองคนทำอาหารเช่นเดิม แต่ได้ปิดประตู ผีกะยักษ์ทั้งสองจึงเข้ามากัดเด็กหญิงจนตายทั้งคู่ เมื่อพี่ชายทั้ง 7 คนกลับมาไม่เห็นน้องสาว เห็นแต่รอยเลือดและซากสัตว์ต่าง ๆ จึงรู้ได้ว่าน้องสาวตายแล้ว เห็นเลือดตกอยู่ที่พื้น 2 จุด จึงบอกว่าถ้าเป็นเลือดน้องหญิงทั้งสองจริงขอให้พี่ชายเป่าครั้งแรกแล้วกลายเป็นปลา พอเป่าอีกครั้งให้กลายเป็นน้องสาวกลับคืนมา เมื่อเป่าครั้งแรกกลายเป็นปลา เป่าครั้งที่สองก็ได้น้องสาวทั้งสองคืนชีวิตกลับมา พี่ชายจึงให้น้องทั้งสองคนไปหาผีกะยักษ์ที่เจอวันนั้นอีกครั้ง น้องหญิงทั้งสองจึงไปหาผีกะยักษ์อีก บอกว่าไฟไม่พอขอไปอีก ทั้งสองได้ล่อให้ผีกะยักษ์มาที่บ้าน พี่ชายทั้ง 7 ที่ดักรออยู่ก็ลงมือฆ่าผีกะยักษ์ตายทั้งคู่ แล้วผ่าท้องออกมาพบกระดูกสัตว์ทุกตัวอยู่ในท้องนั้น จึงเอาออกมาเป่าให้ฟื้นคืนชีพ ได้สัตว์ทั้งหลายกลับคืนมา เรื่องเหล่านี้เอาไว้เล่าให้ลูกฟังก่อนนอน
สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง
การเปลี่ยนแปลงความเชื่อการนับถือศาสนาและระบบสังคมของชาวลัวะ/ละเวือะ
ในสมัยก่อนเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมาเกิดโรคห่าระบาดมีการไปหาหมอผีสะปุก (หมอผีที่ทำนายด้วยการใช้ข้าวสาร) และมีอีกตำนานเชื่อว่าลัวะ/ละเวือะที่อมพายเป็นผู้สาปแช่งลัวะ/ละเวือะบ้านบ่อหลวงเนื่องจากไม่ค่อยลงรอยกัน นอกจากนี้ยังมีการนับถือผีบรรพบุรุษโดยชาวลัวะ/ละเวือะเชื่อว่าผีบรรพบุรุษอยู่กับผู้ชายเท่านั้น
ปัจจุบันชาวลัวะ/ละเวือะส่วนมากนับถือผีและศาสนาพุทธควบคู่กันไป แต่ทางบ้านผู้ให้สัมภาษณ์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์และมีการเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ โดยมีการนับถือศาสนาคริสต์มาตั้งแต่สมัยคุณตาเนื่องจากมีมิชชันนารีจากอิสราเอลเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในหมู่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ผ่านการให้การศึกษาแก่คุณตาจนอ่านออกเขียนได้จึงเกิดความเชื่อในพระเจ้า นอกจากนี้ยังมีการนำภาพยนตร์ภาพนิ่งแบบภาพสไลด์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระเจ้าและภาพถ่ายพิธีกรรมการเลี้ยงผีของชาวลัวะมาฉายในหมู่บ้าน หลังจากนั้น คุณตาซึ่งมีตำแหน่งเป็นกำนันต้องการให้เด็กในหมู่บ้านมีการศึกษาจึงต้องการสร้างโรงเรียนแต่ถูกต่อต้านจากคนในหมู่บ้านที่ไม่ศรัทธาในศาสนาคริสต์และเชื่อว่าเป็นความคิดของคอมมิวนิสต์และจะทำให้ผู้หญิงขึ้นมามีอำนาจเหนือผู้ชายซึ่งทำให้ระบบสังคมของลัวะหายไป จึงทำได้เพียงสร้างโรงเรียนไม้ไผ่เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ผู้คนที่นับถือศาสนาคริสต์ในสมัยนั้นจึงต้องนับถือแบบไม่เปิดเผยเนื่องจากถูกต่อต้านจากคนส่วนมากในหมู่บ้าน ในรุ่นคุณแม่ก็นับถือแบบไม่เปิดเผยเช่นกันเนื่องจากถือเป็นการให้เกียรติสามีที่นับถือศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้สัมภาษณ์เชื่อว่าความเจริญต่าง ๆ ในหมู่บ้านเกิดขึ้นได้จากการเข้ามาของศาสนาคริสต์และมีการเชื่อมความสัมพันธ์กับชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการ และได้สร้างโรงเรียนขึ้นภายหลังชื่อโรงเรียนบ้านนาฟ่อนโดยอาศัยพื้นที่วัดเก่าและมีผู้สอนเป็นเจ้าอาวาสชื่ออินเหลา
ในปัจจุบันชาวลัวะในบ้านบ่อหลวงมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ไม่เกินร้อยละ 1 ที่บ้านนาฟ่อนมีอยู่ 4 ครัวเรือน และทั้งบ้านบ่อหลวงมีทั้งหมดไม่เกิน 10 ครัวเรือน
พุทธศาสนากับการธำรงอัตลักษณ์ทางด้านชาติพันธุ์
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะมีความหลากหลายในการนับถือศาสนานับตั้งแต่นับถือผี พุทธและคริสต์ อย่างไรก็ตาม การลงศึกษาเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะบริเวณเชิงดอยสุเทพและวัดที่ตั้งสำคัญ รวม ทั้งบุคคลผู้ให้ข้อมูลที่เป็นพระเจ้าอาวาส (สัมภาษณ์, 7 มิถุนายน 2563) ที่มีบทบาทสำคัญในการธำรงอัตลักษณ์ทางศาสนาพุทธ ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจว่า วัดหมูบุ่นกลายเป็นวัดที่กลายเป็นสื่อกลางในการเข้ามาทำบุญของกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยวัดนี้มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตกำแพงเวียงเจ็ดลิน สิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ละว้ากับพุทธศาสนาคือยังมีจัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มคนที่มาทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่โดยใช้วัดหรือความเป็นชาวพุทธเป็นตัวเชื่อมร้อย จากการสัมภาษณ์พระมหาบุญชัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสวนดอก ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักปราชญ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะรุ่นใหม่ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจว่า เดิมทีประเพณีของลัวะจะเป็นการบวงสรวงขุนหลวงวิลังคะและสืบชะตาผู้มาร่วมพิธีไม่ได้เป็นการทำบุญตามแบบพระพุทธศาสนา ส่วนทางผู้ให้สัมภาษณ์เป็นพระสงฆ์จึงได้ริเริ่มการทำบุญทักษิณานุประทาน การทำบังสุกุลถวายบุญแก่ขุนหลวงวิลังคะในหลายพื้นที่มาเป็นเวลากว่า 3 ปี เริ่มจากบ้านเมืองก๊ะแล้วตามด้วยบ้านบ่อพะแวน ตำบลบ่อหลวงซึ่งเป็นบ้านของผู้ให้สัมภาษณ์โดยที่วัดหมูบุ่นเริ่มทำบุญมาได้ 2 ปี การทำบุญดังกล่าวก็เพื่ออุทิศให้แก่ขุนหลวงวิลังคะเนื่องจากเป็นกษัตริย์ที่เป็นบรรพบุรุษของชาวลัวะ/ลเวือะ นอกจากนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ยังแต่งคำบูชาทั้งภาษาไทยและบาลีแก่ขุนหลวงวิลังคะเพื่อเป็นการเชิดชูขุนหลวงวิลังคะอีกด้วยซึ่งการทำบุญและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางผู้ให้สัมภาษณ์ทำเป็นวีดีโอเผยแพร่ลงใน youtube อีกหนึ่งช่องทาง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเชื่อเรื่องประวัติศาสตร์ของขุนหลวงวิลังคะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างทางอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่ของชาวละว้าควบคู่กับกิจกรรมการธำรงอัตลักษณ์ด้านต่าง ๆ ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า ในส่วนของภาษานั้นที่บ้านบ่อหลวงยังมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภาษาอยู่แตกต่างจากบ้านเมืองก๊ะที่ภาษาแทบจะสูญหายไปแล้วเนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนมากออกมาเรียนหนังสือหรือทำงานในเมือง ไม่มีใครสืบทอดภาษาต่อจากคนรุ่นก่อน การอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวลัวะที่เห็นอย่างชัดเจนมีในบางพื้นที่ เช่น การแสดงชุดการแต่งกายของชมรมรักบ้านเกิดในพิธีบวงสรวงขุนหลวงวิลังคะที่บ้านบ่อหลวง การออกแบบชุดลัวะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงประเพณีการสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุวัดพระธาตุศรีจอมทอง และนาฏศิลป์ที่แต่งตัวแบบลัวะเดินขบวนแห่ที่วัดสวนดอก การอนุรักษ์เสื้อและซิ่นของชาวลัวะในพื้นที่แม่แจ่ม เป็นต้น ทั้งนี้พบว่าปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวลัวะ/ละเวือะมี 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1. การรวมตัวของชาวลัวะ/ลเวือะไม่ดีเท่าที่ควร
2. เวลาว่างจากการทำงานของชาวลัวะ/ละเวือะไม่ตรงกันจึงยากต่อการนัดหมาย
3. ขาดแกนนำในการสื่อสารการอนุรักษ์วัฒนธรรมแก่ชาวลัวะ/ละเวือะ
Access Point |
---|
No results found. |