ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ขแมร์ลือ
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง ขแมร์ลือ
ขแมร์ลือ ชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์เขมรในประเทศไทยโดยเฉพาะแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ใช้เรียกตนเอง
ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์โดยคนอื่น ไทยเขมร เขมรถิ่นไทย คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรสูง เขมรเหนือ เขมาป่าดง
เขมรถิ่นไทย, เขมรสูง, เขมรเหนือ เป็นชื่อเรียกที่กลุ่มนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ของไทยใช้เรียกกลุ่มชนที่พูดภาษาเขมร
เขมรป่าดง เป็นคำที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน สี่เมืองคือ เมืองสุรินทร์ รัตนบุรี สังขะและขุขันธ์ เรียกกลุ่มเมืองนี้ว่า "หัวเมืองเขมรป่าดง" ในอดีตส่วนกลางเรียกว่า "เขมรป่าดง" ความหมายถึง กลุ่มคนเขมรที่อาศัยอยู่ตามป่าพงไพร
เขมรถิ่นไทย เป็นชื่อเรียกที่หน่วยงานราชการไทยใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่อยู่ในประเทศไทย
เขมรสุรินทร์ เป็นชื่อเรียกที่กลุ่มนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ของไทยใช้เรียกกลุ่มชนที่พูดภาษาเขมรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์
กลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือหรือคนเขมรถิ่นไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้นิยามตนเองให้แตกต่างจากคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ด้วยการเรียกตนเองว่า "ขแมร์-ลือ" ที่สื่อความหมายถึง ชาวเขมรที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา และเรียกชาวเขมรในประเทศกัมพูชาว่า "ขแมร์-กรอม" อันหมายถึง เขมรต่ำหรือ กลุ่มคนเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา การแบ่งแยกกลุ่มคนด้วยการเติมชื่อเฉพาะต่อท้ายนี้คือ การยึดเอาลักษณะภูมิประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตนเป็นหลักในการเรียก และหากในชีวิตประจำวันทั่วไปกลุ่มคนเหล่านี้จะเรียกแทนตนเองว่า ขแมร์ เช่น ขแมร์สะเร็น คือ คนเขมรสุรินทร์ ขแมร์บุรีรัมย์ คือคนเขมรบุรีรัมย์ หรือขแมร์ศรีสะเกษ คือ คนเขมรศรีสะเกษ เป็นต้น แต่ในอดีตคนกลุ่มนี้กลับถูกบรรดานักปกครองไทยจากส่วนกลางเรียกว่า “เขมรป่าดง” อันมีความหมายถึง กลุ่มคนเขมรที่อาศัยอยู่ตามป่าพงไพร ต่อมานักวิชาการหรือผู้ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ในประเทศไทย ได้เรียกชาวขแมร์ว่า “เขมรถิ่นไทย” “คนไทยเชื้อสายเขมร” “เขมรสูง” “ไทยเขมร” อันมีข้อบ่งชี้ว่ามีการเรียกจากลักษณะถิ่นที่อยู่ที่พวกเขาอาศัย กล่าวคือ กลุ่มชาติพันธุ์นี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ของประเทศไทย และหากเทียบกับลักษณะทางภูมิประเทศกับคนกลุ่มเดียวกันนี้ในประเทศกัมพูชา พบว่า ประเทศไทยอยู่ด้านบนหรือเหนือกว่าที่ตั้งของประเทศกัมพูชานั่นเอง
ขแมร์ลือ หรือ "เขมรถิ่นไทย" หรือชาวไทยที่มีวัฒนธรรมหรือเชื้อสายเขมร หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาเขมรและอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งภาษาเขมรเป็นภาษาย่อยของกลุ่มภาษามอญ-เขมรตะวันออก (Eastern Mon-Khmer) ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2547) คำว่า "เขมรถิ่นไทย" เป็นชื่อที่นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ใช้อ้างถึงผู้ที่พูดภาษาเขมรและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ชาวเขมรถิ่นไทยจะเรียกตนเองว่า ขแมร์และหากจะบ่งบอกถึงถิ่นของภาษาและชาติพันธุ์ ชาวเขมรถิ่นไทยจะเรียกตนเองว่า "ขแมร์-ลือ" แปลว่า เขมรสูง หมายถึง ชาวเขมรที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชาและชนเผ่าต่าง ๆ เช่น เผ่าพนวง ขมุ ข่า ลัวะ เป็นต้น เรียกภาษาและชาวเขมรในประเทศกัมพูชาว่า "ขแมร์-กรอม" แปลว่า เขมรต่ำ แต่ชาวเขมรในประเทศกัมพูชากลับเรียกชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนามว่า "ขแมร์กรอม" (ประกอบ ผลงาม, 2538) ขณะเดียวกันคนกัมพูชา มักจะเรียกคนสุรินทร์ว่า “ขะแมร์โสเร็น” ซึ่งขะแมร์ เขมร หรือ แผ่นดินแม่ และ สะเร็น หรือ โสเร็น หมายถึง จังหวัดสุรินทร์ในประเทศไทยซึ่งคนส่วนมากจะพูดภาษาเขมร การเรียกดังกล่าวเป็นแสดงถึงความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรไมตรีของชาวเขมรด้วยกัน (สหภาพ บุญครอง, 2563)
คำว่า "เขมรถิ่นไทย" และ "ไทยเขมร" เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นมา เป็นคำที่ใช้เรียกคนเขมรที่นิยามตนเองว่าเป็นคนไทย เนื่องจากความไม่ยอมรับของคนที่พูดภาษาเขมรว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกันกับผู้คนในกัมพูชา ดังเช่น คำเรียกคนเขมรที่บ้านด่าน (หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เขตชายแดนกัมพูชาขึ้นอยู่กับอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์) เรียกคนเขมรกัมพูชาว่า "พวกเขา" แต่คนเขมรในบ้านด่านเรียกกลุ่มชาติพันธ์ลาวและกูยว่า "พวกเรา" ซึ่ง บัญญัติ สาลี (2552) ได้อธิบายว่า เกิดจากสำนึกของการสร้างชาติในช่วงที่มีการสู้รบกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วง พ.ศ. 2510 สงครามการสู้รบดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการแตกแยกระหว่างชาติพันธ์ กลุ่มชาติพันธ์เขมรที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาตามข้อสัญญาที่ไทยกับฝรั่งเศสต่างก็ได้สร้างชาติลักษณ์ในความเป็น "ไทยเขมร" และ "เขมรกัมพูชา" หรือแยกเรียกกันว่า "เขมรสูง" หมายถึงกลุ่มชาติพันธ์เขมรที่อยู่ในประเทศไทยและเรียก "เขมรต่ำ" หมายถึงชาวเขมรที่อยู่ในพื้นที่ประเทศกัมพูชา
ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564
เอกสารอ้างอิง
สืบค้นออนไลน์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นต้น | 1400000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือหรือคนเขมรถิ่นไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้นิยามตนเองให้แตกต่างจากคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ด้วยการเรียกตนเองว่า "ขแมร์-ลือ" ที่สื่อความหมายถึง ชาวเขมรที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา และเรียกชาวเขมรในประเทศกัมพูชาว่า "ขแมร์-กรอม" อันหมายถึง เขมรต่ำหรือ กลุ่มคนเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา การแบ่งแยกกลุ่มคนด้วยการเติมชื่อเฉพาะต่อท้ายนี้คือ การยึดเอาลักษณะภูมิประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตนเป็นหลักในการเรียก และหากในชีวิตประจำวันทั่วไปกลุ่มคนเหล่านี้จะเรียกแทนตนเองว่า ขแมร์ เช่น ขแมร์สะเร็น คือ คนเขมรสุรินทร์ ขแมร์บุรีรัมย์ คือคนเขมรบุรีรัมย์ หรือขแมร์ศรีสะเกษ คือ คนเขมรศรีสะเกษ เป็นต้น แต่ในอดีตคนกลุ่มนี้กลับถูกบรรดานักปกครองไทยจากส่วนกลางเรียกว่า “เขมรป่าดง” อันมีความหมายถึง กลุ่มคนเขมรที่อาศัยอยู่ตามป่าพงไพร ต่อมานักวิชาการหรือผู้ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ในประเทศไทย ได้เรียกชาวขแมร์ว่า "เขมรถิ่นไทย" "คนไทยเชื้อสายเขมร" "เขมรสูง" "ไทยเขมร" อันมีข้อบ่งชี้ว่ามีการเรียกจากลักษณะถิ่นที่อยู่ที่พวกเขาอาศัย กล่าวคือ กลุ่มชาติพันธุ์นี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ของประเทศไทย และหากเทียบกับลักษณะทางภูมิประเทศกับคนกลุ่มเดียวกันนี้ในประเทศกัมพูชา พบว่า ประเทศไทยอยู่ด้านบนหรือเหนือกว่าที่ตั้งของประเทศกัมพูชานั่นเอง
ความหมายของคำว่า "เขมร" ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อารยะธรรมเขมรโบราณ สันนิษฐานที่มาของคำว่า "เขมร" จากข้อมูลทางภาษาและโบราณคดีไว้แตกต่างกัน ซึ่ง ประกอบ ผลงาม (2538 : 2) ได้รวบรวมที่มาของ "เขมร" ไว้ว่า
"...ชาวอินเดียเป็นผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่ากัมพูชา (Kambuja) เป็นชาติแรก จากหลักฐานซึ่งจดบันทึกโดยชาวอินเดียกล่าวไว้ว่า ชาวกัมพูชา (Kambuja) ซึ่งเป็นบรรพชนของ กัมพู(Kambu) อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาเดซา (Kambujadesa) ชาวพื้นเมืองเรียกดินแดนของตนเองว่าโคกทะลอก (Kok Thlok) หรือดินแดนแห่งต้นทะลอก (Land of the Thlok tree) และต่อมากลายเป็น Kvir หรือ Khmer นักเดินทางชาวอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 9 -10 เรียกพวกเขาว่า “โกมาร, กุมาร” และต่อมาเป็น Khmer ส่วนบันทึกของจีนเรียกดินแดนของพวกเหล่านี้ว่า เจนละ (Chenla) จากจารึกในศตวรรษที่ 10 (Coedes 1962 ; แปลโดยปัญญา บริสุทธิ์. 2525) กล่าวว่า ชาวเขมรเชื่อว่า กษัตริย์ของตนสืบเชื้อสายจากฤๅษีชื่อ กัมพู (Kampu) กับนางอัปสรสวรรค์ชื่อ เมรา (Mera) ซึ่งพระศิวะทรงส่งให้มาจุติ Coedes เชื่อว่าชื่อของนางเมรา (Mera) เป็นต้นกำเนิดของคำว่า "เขมร..." "
จากจารึกของจีนกล่าวถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์อาณาจักรเขมร ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่บริเวณอีสานใต้มาเนิ่นนานแล้ว สำหรับหรือกัมพูชาในยุคโบราณนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสอง สมัยหลัก ๆ ได้แก่ สมัยก่อนเมืองพระนคร (Pre Angkor Period) เป็นช่วงสมัยของอาณาจักรฟูนันและเจนละ ซึ่งเป็นต้นแบบของอาณาจักรเขมรและสมัยเมืองพระนคร (Angkor Period) เป็นช่วงสมัยความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมร ราวศตวรรษที่ 1 – 6 ตามตำนานความเชื่อของชาวเขมรนั้นเล่าไว้ว่า ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งนามว่า "โกณฑัญญะ" (Kaundinya) ได้ออกเดินทางจากอินเดียมายังดินแดนเขมรโบราณ และได้แต่งงานกับธิดาพญานาค (เชื่อกันว่าธิดาพญานาค เป็นบรรพบุรุษของชาวเขมร ซึ่งพราหมณ์โกณฑัญญะผู้นี้ ก็คือผู้ที่สถาปนาอาณาจักรแห่งแรกของเขมรขึ้นในราวศตวรรษที่ 1 คือ อาณาจักรกัมโพช หรืออาณาจักรฟูนันนั้นเอง (คำว่า "ฟูนัน" มีที่มาจากภาษาจีน) อาณาจักรฟูนันครองอำนาจอยู่ราว 600 ปี ก็ถึงกาลสิ้นสุดลง เมื่อถูกอาณาจักรเจนละบุกพิชิต และเข้ายึดครองในท้ายที่สุด ราวศตวรรษที่ 6 – 8
เมื่ออาณาจักรฟูนันถึงกาลเสื่อมถอย อาณาจักรที่ได้ครองอำนาจในดินแดนเขมรโบราณแทน ก็คือ อาณาจักรเจนละ โดยเดิมที่เจนละเคยเป็นเมืองภายใต้การปกครองของฟูนันมาก่อน แต่ในช่วงปลายของอาณาจักรเจนละ ได้เกิดความขัดแย้งภายใน และต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน จนอาณาจักรเจนละต้องแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ เจนละบก (ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง) และเจนละน้ำ (ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณต่ำ) ทั้ง 2 เปิดศึกต่อสู้กันอย่างยาวนาน ท้ายที่สุดเจนละบกเป็นฝ่ายชนะ แต่ผลของสงครามระหว่าง 2 เจนละ ทำให้อาณาจักรเจนละเกิดความอ่อนแอ และเสื่อมถอยลง ก่อนที่ท้ายที่สุดในราวศตวรรษที่ 8 อาณาจักรเจนละจะล่มสลายด้วยการทำสงครามกับอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นมหาอำนาจจากเกาะสุมาตรา การล่มสลายของอาณาจักรเจนละ ในราวศตวรรษที่ 8 – 15 ทำให้แผ่นดินเขมรเกิดความระส่ำระส่าย ก่อนที่ท้ายที่สุด ผู้นำของชาวเขมรคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์แห่งเจนละ จะประกาศปลดแอกเขมรจากการยึดครองของศรีวิชัย พระองค์ได้รวบรวมชาวเขมรให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง และร่วมกันสร้างอาณาจักรของชาวเขมรขึ้นมาใหม่ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ทรงประกาศสถาปนาอาณาจักรเขมรขึ้น ที่บริเวณเขาพนมกุเลน (Phnom Kulen) นับเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเขมร เขมรเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ทรงสร้างนครวัด (Angkor Wat) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมร รวมไปถึงในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เขมรได้เปลี่ยนการนับถือศาสนาจากเดิมที่เป็นศาสนาฮินดู กลายมาเป็นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท นอกจากนี้สิ่งก่อสร้างอันอัศจรรย์อย่าง ปราสาทบายน (Bayon) รวมไปถึงนครธม (Angkor Thom ) ก็ล้วนถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งสิ้น ครั้นสิ้นสุดสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จักรวรรดิเขมรก็เข้าสู่ยุคเสื่อมถอย ก่อนที่ท้ายที่สุด ภัยพิบัติทางด้านธรรมชาติ และการถูกรุกรานโดยอาณาจักรอยุธยาของไทย ทำให้ความรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรสิ้นสุดลง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542)
สำหรับการถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวเขมร นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า บริเวณที่ราบสูงโคราชคือเขต จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณมาก่อน ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจก่อนอาณาจักรสุโขทัยของไทยประมาณ พ.ศ.1700 หลักฐานที่สนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มนี้คือ ปราสาทขอมโบราณ ศิลาจารึก และประติมากรรมที่พบเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันได้ว่า ดินแดนแถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขมรโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 (ประกอบ ผลงาม. 2538 : 14) สาเหตุที่ที่ราบสูงโคราชซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขมรโบราณถูกละทิ้งให้รกร้าง สันนิษฐานว่าเป็นเพราะการเสื่อมอำนาจของเขมรโบราณในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ และสมัยต่อ ๆ มา ไทยและเขมรได้ทำศึกสงครามกันหลายครั้ง และส่วนมากเขมรจะเป็นผู้พ่ายแพ้มาตลอด จนต้องถอยร่นไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ไพฑูรย์ มีกุศล (2533 : 1-5) ได้สันนิษฐานไว้ชาวเขมรถิ่นไทย หรือชาวไทยที่พูดภาษาเขมรถิ่นไทย น่าจะอพยพมาภายหลังที่เจ้าเมืองสุรินทร์ได้ยกทัพสมทบทัพกรุงธนบุรีไปตีเมืองเขมร ซึ่งในครั้งนั้น ประมาณปีพ.ศ. 2324-2325 มีชาวเขมร ได้อพยพขึ้นมายังจังหวัดสุรินทร์เป็นจำนวนมาก ดังที่ลักขณา ชาปู่ (2546) กล่าวว่า
"...ชาวไทยเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาจากราชอาณาจักรกัมพูชาสมัยอดีต โดยกองทัพของไทยที่เข้าไปทำสงครามในแผ่นดินเขมรและเมื่อได้รับชัยชนะก็จะกวาดต้อนครอบครัวชาวเขมรเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยโดยได้นำชาวเขมรจำนวนมากมาไว้ที่สุรินทร์ และบุรีรัมย์...”
ชาวเขมรกลุ่มนี้ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวเขมรถิ่นไทยแต่อาจสันนิษฐานได้อีกว่า ชาวเขมรถิ่นไทย บางกลุ่มที่อยู่อาศัยในแถบที่ราบสูงโคราช เป็นกลุ่มชาวเขมรที่หลงเหลืออยู่จากสมัยที่เขมรโบราณเรืองอำนาจในแถบนี้ ไม่ได้ถอยร่นไปตามกลุ่มใหญ่ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจถูกอาณาจักรสุโขทัยยึดครอง และบรรพบุรุษของชาวเขมรถิ่นไทยบางกลุ่มเป็นเขมรป่าดงที่อาศัยอยู่ในแถบนี้มานานแล้วซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ยังต้องการการศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานสนับสนุนอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชาวเขมรในประเทศไทย จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าที่มาของชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก คือ ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในดินแดนไทยตามแนวพรมแดนไทย – กัมพูชา กลุ่มชนเหล่านี้ได้อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณเมื่อครั้งยังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรือดินแดนอีสานใต้ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีษะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด และจังหวัดจันทบุรี นักวิชาการมักเรียกชาวเขมรกลุ่มนี้ว่า “เขมรสูง” หรือ “เขมรถิ่นไทย” หรือ“ชาวไทยเขมร” (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2531) ในขณะชาวเขมรกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “ขแมร์ลือ” ซึ่งมีความหมายว่าเขมรสูงเช่นเดียวกัน กลุ่มชนเหล่านี้ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มไว้อย่างเข้มแข็ง และมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป
ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวไว้ถึงประวัติศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ไว้ว่า ชาวเขมรได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ในพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา กล่าวว่า "เมืองเขมรขยายอิทธิพลได้ยึดเอาเมืองละโว้ เมืองพิมาย เมืองสุรินทร์และเมืองขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) เป็นลูกหลวงปัจจุบันชาวเขมรอาศัยอยู่ในท้องที่อำเภอขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ อำเภอไพรบึง อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอศรีรัตนะ ลักษณะการแต่งกายชาย เสื้อคอกลมผ่าหน้า นุ่งโสร่งสีสันต่าง ๆ ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ ผ้าขาวม้าที่ใช้ลายขาวดำเล็กกว่าที่คนลาวใช้ หญิง นุ่งผ้าถุงลายตั้ง มีเชิงตามขวางสองชั้น ชั้นส่วนบนกว้าง ส่วนล่างแคบ ระหว่างรอยต่อคาดด้ายสีแดง เสื้อดำย้อมด้วยมะเกลือ แขนกระบอกรัดรูป ตามรอยตะเข็บถักด้วยสีต่าง ๆ ชายเสื้อผ่าทั้งสองด้าน ยาวประมาณ 6 นิ้ว กระดุมทำด้วยเงิน ผ้าคล้องไหล่เป็นสีต่าง ๆ ถ้าคล้องคอนิยมหย่อนชายผ้าขาวม้าข้างหน้า โดยชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ. 2410
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวเขมรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีมาแต่โบราณกาลแล้ว และประชากรชาวเขมรในสมัยนั้นได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ ด้านที่ติดกับเขาพนมดงรักแถบบ้านทุ่งใหญ่ บ้านประทาย บ้านบึงมะลู บ้านโดนเอาว์ บ้านรุง บ้านทุ่งยาว เป็นต้น และบริเวณบ้านบักดอง บ้านพราน บ้านทุ่งเลน บ้านสำโรงเกียรติ บ้านไพร บ้านกระมัล บ้านกราม บ้านกันทรอม อำเภอขุนหาญ บ้านไพรบึง บ้านพราน บ้านสำโรงพลัน บ้านไทร บ้านไพรบึง อำเภอไพรบึง บ้านสำโรงระวี บ้านศรีแก้ว บ้านพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนบริเวณโดยรอบของปราสาทเขาพระวิหาร (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542) นอกจากนี้ ชานนท์ ไชยทองดี (2562) ยังได้กล่าวถึงชาวแมร์ลือที่อาศัยอยู่ในชุมชนโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า
"...เขมรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติของการอพยพมาจากแถวเทือกเขาพนมดงรักด้วยสาเหตุของสงคราม การอพยพมาในครั้งประวัติศาสตร์ได้ก่อให้เกิดการสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนที่อยู่อาศัยขึ้นในเขตของอำเภอขุขันธ์ซึ่งต่อมาได้เกิดการแบ่งเขตเป็นอำเภอภูสิงห์ ปัจจุบันมีจำนวน 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านโคกตาล หมู่ 2 บ้านลุมพุก หมู่ 3 บ้านคลองแก้ว หมู่ 4 บ้านศาลา หมู่ 5 บ้านคลองคำโคกแต้ หมู่ 6 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 7 บ้านเรือทอง หมู่ 8 บ้านโคกทุ่งล้อม หมู่ 9 บ้านนาศิลา หมู่ 10 บ้านโคกตาลกลาง ในแต่ละหมู่บ้านล้วนเป็นชาวขแมร์ลือทั้งหมด..."
อีกบริเวณหนึ่งที่มีชาวเขมรอาศัยอยู่จำนวนมากคือ บริเวณแถบที่ราบลุ่มห้วยสำราญ แถบอำเภอขุขันธ์ และอำเภอปรางค์กู่ เช่น ในเขตตำบลกันทรารมย์ หัวเสือ ใจดี โคกเพชร สะเดาใหญ่ อำเภอขุขันธ์ ตำบลละลม อำเภอภูสิงห์ ตำบลตูม สำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ บ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จนกระทั่งศรีสะเกษในอดีตได้ชื่อว่า เมืองเขมรป่าดง (ชานนท์ ไชยทองดี, 2562)
สำหรับการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของชาวไทยเขมร ในจังหวัดจันทบุรี พบว่า มีกลุ่มชาวไทยเขมรในพื้นที่สามตำบล คือตำบลหนองตาคง ตำบลเทพนิมิต และตำบลคลองใหญ่ ในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน ซึ่งเป็นกลุ่มชนกลุ่มเดียวกับชนชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา และส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศเวียดนาม เป็นต้น ชาวไทยเขมรพื้นที่ทั้งสามตำบล อาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ก่อนที่ประเทศไทยจะทำข้อตกลงปักปันเขตแดนอย่างชัดเจนกับราชอาณาจักรกัมพูชาใน พ.ศ.2449 ซึ่งขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจการปกครองกัมพูชา และฝรั่งเศสก็เป็นเจ้าภาพในการจัดแจงปักปันเขตแดน ส่งผลให้กลุ่มชนชาวเขมรในพื้นที่สามตำบลถูกขีดแบ่งให้อยู่ฝั่งดินแดนประเทศไทย และได้แบ่งแยกพี่น้องให้กลายเป็นกลุ่มชนสองประเทศ มาใน พ.ศ. 2452 กลุ่มชนที่อยู่ฝั่งดินแดนไทยได้กลายเป็นประชากรของไทยโดยสมบูรณ์ตามประกาศพระราชบัญญัติสำหรับทำบัญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.128 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์, 2557)
กลุ่มที่สอง คือ ชาวเขมรซึ่งถูกกวาดต้อนจากมาจากอาณาจักรขอมในสมัยอดีต จากกองทัพของไทยที่เข้าไปทำสงครามในแผ่นดินเขมร เมื่อได้รับชัยชนะจึงกวาดต้อนชาวเขมรเข้ามาอยู่ในดินแดนของตนเพื่อเพิ่มจำนวนไพร่พลและลดผู้คนในอาณาจักรขอม เช่น กลุ่มชาวเขมรในจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งถูก กวาดต้อนในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเขมรเมื่อ พ.ศ. 2136 เมื่อได้รับชัยชนะจึงกวาดต้อนชาวเขมรกลับมาด้วย เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณที่เป็นจังหวัดฉะเชิงเทราในปัจจุบัน เชลยศึกชาวเขมรเห็นว่าเป็นชัยภูมิเหมาะสมจึงตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่าสี่ร้อยปี ดังที่ ลักขณา ชาปู่ (2546) ได้กล่าวไว้ว่า
"...จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของผู้สูงอายุในหมู่บ้านว่า คนกลุ่มแรกที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านหัวสำโรงในปัจจุบัน คือ ชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยราว พ.ศ. 2133 – 2148 ผู้นำกลุ่มชาวเขมรในสมัยนั้นคือ เนี๊ยะแก้วและเนี๊ยะซาน เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีต้นสำโรงอยู่ มีลักษณธเหมือนกับหมู่บ้านเดิมของตนที่เมืองพระตะบอง อีกทั้งมีพื้นที่เหมาะแก่การตั้งหลักแหล่งปลูกบ้านเรือนจึงเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา...”
การมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ชาวเขมรได้นำเอาประเพณี วัฒนธรรมพร้อมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติในถิ่นเดิมของตนมาปฏิบัติเพื่อแสดงความเป็นกลุ่มชนของตนด้วย ลักษณะที่เด่นชัดคือ เพลงพื้นบ้านเขมรและความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษซึ่งมีพิธีกรรมสำคัญ 3 พิธีคือ พิธีแซนโฎนตา เป็นพิธีเกี่ยวกับการอุทิศบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ พิธีเบบาจาดุม เป็นพิธีเซ่นไหวผีปู้ตาเพื่อขอขมาลาโทษและพิธีเลี้ยงผีเขมรเพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษที่ดูแลปกปักรักษาลูกหลาน
กลุ่มที่สาม คือ ชาวเขมรที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์เพื่อหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแผ่นดินเขมร เช่น พระยาจีนจันตุที่อพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งโพธิสมภารสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ชาวเขมรกลุ่มนี้บางส่วนได้อพยพกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ในขณะที่บางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนไทยสืบถึงปัจจุบัน ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ จ.ศ. 922 ดังนี้
"…๏ ลุะศักราช 922 ปีวอก โทศก พญาลแวกแต่งพญาอุเทศราช แลพญาจีนจันตุยกทับเรือมาพลประมาณสามหมื่นจะเอาเมืองเพ็ชบุรี พระศรีสุรินทรฤๅไชยเจ้าเมืองเพ็ชบุรี แลกรมการทั้งหลายแต่งการรบพุ่งป้องกรรเปนสามารถ แลข้าศึกยกเข้าปล้นเมืองถึงสามวัน รี้พลข้าศึกต้องสาตราวุทธเจ็บป่วยตายเปนอันมากจะปล้นเมืองเพ็ชบุรีมิได้ พญาอุเทศราชแลพญาจีนจันตุก็เลีกทับคืนไปเมืองลแวก ขณะนั้นพญาจีนจันตุให้ทานบนแก่พญาลแวกไว้ว่า จะเอาเมืองเพ็ชบุรีให้ได้ ครั้นมิได้เมืองเพ็ชบุรี พญาจีนจันตุ ก็กลัวว่าพญาลแวกจลงโทษ พญาจีนจันตุก็ภาครัวอพยบทั้งปวงหนีเข้ามายังพระนครศรีอยุทธยา สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พญาจีนจันตุ ตรัสให้พระราชทานเปนอันมาก ครั้นอยู่มาพญาจีนจันตุก็มิได้สวามิภักดิ์ ลอบตกแต่งสำเภาที่จะหนีจากพระนคร ครั้นถึง ณะ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีรกา ตรีณิศก เพลาค่ำประมาณ 2 นาลิกา พญาจีนจันตุ ก็ภาครัวลงสำเภาหนีล่องลงไป...” (อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ, 2552)
จากพงศาวดารดังกล่าวได้กล่าวถึงพระยาละแวกหรือกษัตริย์กัมพูชาผู้ครองเมืองละแวก ให้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งในสมัยเมืองเพชรบุรีมีความสำคัญมากในฐานะเมืองท่าและเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างสองคาบสมุทร คือ เป็นเมืองในเส้นทางระหว่างเมืองมะริด-ตะนาวศรี กับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันก็ยังได้ได้ปรากฏร่องรอยอิทธิพลของอาณาจักรเขมรโบราณ เช่น ปราสาทกำแพงแลง ในวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศิลปะเขมรแบบบายนที่ถูกสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่แสดงให้เห็นถึงการขยายอำนาจของอาณาจักรเขมรโบราณเข้ามาในดินแดนนี้ได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทย มีชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์โดยเฉพาะอำเภอชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับกัมพูชา และอำเภอเมือง ซึ่งเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นชนพื้นเมืองเดิม เคยถูกราชการไทยเรียกว่า "เขมรป่าดง" ดังปรากฏในพงศาวดารที่ใช้คำนี้เรียกชุมชนของชาวพื้นเมืองที่มีการปกครองโดยหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่เป็นอิสระ ซึ่งแสดงว่าชนพื้นเมืองในบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ชาวเขมรกัมพูชา แต่เป็นชาวเขมรที่ล้าหลัง จึงถูกเรียกว่า "เขมรป่าดง" ดังการบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างถึงใน บัญญัติ สาลี (2552) ได้กล่าวในนิทานโบราณคดี ตอนหนึ่งว่า
"...เมื่อฉันไปมณฑลอีสานครั้งหลัง ไปพบ เขมรป่าดง อีกจำพวกหนึ่ง สอบสวนได้ความว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และอำเภอประโคนชัย (เดิมชื่อว่าเมืองตะลุง) ในจังหวัดนครราชสีมาบรรดาอยู่ทางฝ่ายใต้ต่อแดนกัมพูชา ชาวเมืองเป็นเขมรป่าดงทั้งนั้น พูดภาษาเขมรและมีการละเล่นโบราณหลายอย่าง เช่น เอาใบไม้มาเป่าเป็นเพลงเข้ากับการขับร้อง ที่เรียกว่า "เขมรเป่าใบไม้" เป็นต้น ฉันเคยได้ยินแต่เรียกชื่อมาแต่ก่อน เพิ่งไปเห็นเล่นกันจริงครั้งนั้น..." (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ 17 เรื่องแม่น้ำโขง อ้างถึงใน บัญญัติ สาลี, 2552)
ดังนั้น คำว่า "เขมรป่าดง" จึงเป็นชื่อที่กลุ่มเจ้านายชั้นสูงและฝ่ายปกครองในสมัยก่อนใช้เรียกที่ผู้คนที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาพนมดงรักตอนเหนือในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์กล่าวว่า "เขมร" เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในบริเวณภาคอีสานตอนล่างของประเทศไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเดียวกันกับชาวกูยที่อาศัยอยู่ในเขตป่าดงทั่วไปในสมัยนั้นอันเป็นที่มาของคำว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง” ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ได้นำเอาวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เข้าไปมีอิทธิพลต่อกลุ่มชนอื่น ๆ ก่อให้เกิดการผสมกลมกลืนทางเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นขึ้น (ประทีป แขรัมย์ และเป็ก เซียง, 2559)
นอกจากนี้ในแวดวงวิชาการไทยยังนิยมเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ด้วยคำว่า "ไทยเขมร" "เขมรถิ่นไทย" "ไทยเชื้อสายเขมร" หรือ "เขมร" ดังตัวอย่างบทความของ งานวิจัยของบัญญัติ สาลี (2552) เรื่อง "การปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และนัยเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนของรัฐไทย กรณีศึกษา: จุดผ่านแดนช่องจอม จังหวัดสุรินทร์" งานวิจัยของคะนึงนิตย์ ไสยโสภณ และประทีป แขรัมย์ (2556) เรื่อง "วรรณกรรมเพลงพื้นบ้านกันตรึม: กรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา" ผลงานของณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์ (2557) เรื่อง "การดำรงอยู่ของวิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อของกลุ่มชนชาวไทยเขมร (เขมรถิ่นไทย) ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี" วิทยานิพนธ์ของศิริพร เชิดดอก (2558) เรื่อง "มานึขแมร์: การธำรงชาติพันธุ์ชาวไทยเชื้อสายเขมร ภายใต้บริบทความหลากลายทางชาติพันธุ์" บทความวิจัยของ ประทีป แขรัมย์ และเป็ก เซียง (2559) เรื่อง "มรดกร่วมทางภาษาในพิธีกรรมการรักษาที่ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวเขมรถิ่นไทยและชาวเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา" รวมถึงสื่อประเภทรายการสารคดี สื่อการสอน ก็มักเรียกขานกลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือว่า "เขมรถิ่นไทย" ด้วยเช่นกัน ดังเช่นตัวอย่าง รายการพันแสงรุ้ง ตอน ภาษาเขมรถิ่นไทย (ไทยพีบีเอส, 2556) รายการพันแสงรุ้ง ตอน เขมรถิ่นไทย บ้านโพธิ์กอง (ไทยพีบีเอส, 2556) เป็นต้น
ส่วนวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวไทยเขมรจะเป็นวิถีแบบชาวชนบทที่เรียบง่าย อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหมู่บ้าน เป็นสังคมมิตรไมตรีที่ทุกคนมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาในการสื่อสาร ศาลนะตาที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจที่ชาวชุมชนศรัทธาเคารพนับถือ ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทยเขมรจะมีอยู่หลากหลายรูปแบบทั้งที่เกี่ยวกับวงรอบชีวิต เช่น กรูกำเนิดที่เชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาจะมีเทพเจ้าประจำตัวมาทำหน้าที่ปกป้อง และพิธีโอ๊จปัวะที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เป็นการรักษาพยาบาลที่ใช้ความร้อนของไฟมาเป็นเครื่องมือในการรักษา พิธีตามความเชื่อที่เกี่ยวกับชุมชน เช่น พิธีกรรมแซนควาย ที่ประกอบขึ้นเพื่อเซ่นสรวงเจ้าที่ไร่นาที่คอยปกป้องไร่นา พิธีกรรมตามความเชื่อที่เกี่ยวกับความเป็นมงคลต่อชีวิต เช่น พิธีแกครัวะที่ประกอบขึ้นเพื่อเป็นสะเดาะเคราะห์ เป็นต้น สถานภาพการดำรงอยู่ประเพณี พิธีกรรมตามความเชื่อที่มีสามลักษณะคือ คงอยู่แต่ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะกับวิถีชุมชน เลือนหายเหลือเพียงเรื่องเล่า และประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน พิธีกรรมและความเชื่อมีบทบาทต่อความเป็นชุมชนอย่างมากในการขัดเกลา กล่อมเกลากลุ่มชนให้ประพฤติปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่เป็นมาตรฐานของสังคม
Access Point |
---|
No results found. |