ชื่อที่เรียกตัวเอง
อึมปี้ เป็นชื่อที่เรียกตัวเอง ในพื้นที่บ้านดง ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่
ก่อ เป็นชื่อที่เรียกตัวเอง ในพื้นที่บ้านสะเกิน ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน
ก่อ(อึมปี้) เป็นชื่อที่ตกลงร่วมกันระหว่าง "ก่อ" ที่จังหวัดน่าน และ "อึมปี้" ที่จังหวัดแพร่ ในการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง
คำว่า "ก่อ" และ "อึมปี้" เป็นคำที่กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดแพร่และน่านใช้เรียกตัวเอง ทั้งนี้เพื่อที่จะให้เข้าใจความแตกต่างของชื่อเรียกนั้น ต้องสืบย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ นั่นคือ คนรุ่นปัจจุบันเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนถูกกวาดต้อนจากสิบสองปันนาในมณฑลยูนนานของประเทศจีน ในยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" โดยเริ่มมาตั้งชุมชนที่บ้านม่วงเน่า ปัจจุบันคือบ้านเชียงแล อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน จากนั้นได้แยกย้ายออกไปเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ที่บ้านเสือกึน (สะเกิน) ในพื้นที่ภูลังกา อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ทำหน้าที่ผลิตดินประสิว/ดินปืน (จากมูลค้างคาว) ให้เจ้าเมืองน่าน ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งถูกบังคับให้ไปเลี้ยงช้างและม้าให้กับเจ้าเมืองแพร่ ที่ตัวจังหวัดแพร่ ตอนแยกกันใหม่ๆ ทั้งสองกลุ่มยังเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่ แต่ระยะหลังเริ่มเหินห่างกันออกไป กลุ่มที่อยู่สะเกิน (เขตจังหวัดน่าน) ยังเรียกตัวเองว่า "ก่อ" ขณะที่กลุ่มที่อยู่ใกล้ตัวเมืองแพร่เรียกตัวเองว่า "อึมปี้" เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "แป้" (แพร่) ซึ่งเป็นคำบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนก่อ/ก๋องที่อยู่เมืองแพร่ ล่าสุด เมื่อปี 2560-62 องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในภาคเหนือ ได้นำทั้งสองกลุ่มมาพบกัน ใช้เวลาคุยกันยาวนานหลายครั้ง จึงได้ข้อค้นพบข้างต้นกับสรุปว่าต่อไปจะใช้ทั้งคำว่า "ก่อ(อึมปี้)" ในการเรียกตัวเอง ประชากรรวมทั้งหมดประมาณ 1,200 คน ส่วนชื่อเรียกอื่น ๆ ที่เหลือ เป็นคำที่คนเมือง (ไทยวน) และกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียงเรียกคนก่อ (อึมปี้)
การกำหนดชื่อเรียกของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองจากคำว่า "อึมปี้" เป็น "ก่อ(อึมปี้)" เกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกันระหว่างแกนนำสองพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมในพื้นที่บ้านดง จังหวัดแพร่ ได้ใช้คำว่า "อึมปี้" เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีคำว่า "ก่อ" แต่ผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างชาวก่อบ้านสะเกิน จังหวัดน่าน กับชาวอึมปี้บ้านดง จังหวัดแพร่ ในวันที่ 7 มีนาคม 2560 ได้ข้อสรุปว่าชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสองพื้นที่เป็นพี่น้องกัน มีการไปมาหาสู่กันและพูดภาษาเดียวกัน แต่ทางบ้านสะเกินไม่เคยรู้จักคำว่า "อึมปี้" ที่ชาวบ้านดงเรียกตัวเอง และยืนยันให้ใช้ชื่อ "ก่อ" และทางบ้านดงก็ได้เห็นพ้องด้วย แต่ขอให้มีคำว่า "อึมปี้" วงเล็บไว้ท้ายเป็น "ก่อ(อึมปี้)" ด้วย เพราะมีงานทางด้านวิชาการของหลายหน่วยงานก่อนหน้านี้ใช้คำว่า "อึมปี้" มาก่อนแล้ว ทั้งนี้หากมีการรณรงค์สื่อสารความรู้ใหม่และได้ความชัดเจนแล้วจะใช้คำว่า "ก่อ" เพียงคำเดียวก็ได้ภายหลัง
ชื่อที่คนอื่นเรียก
ละว้า, ลัวะ, ก่อเมืองแพร่, ก้อบ้านดง เป็นชื่อที่คนเมือง (พื้นราบ) เรียกคนก่อ (อึมปี้)
วัฒนธรรมด้านภาษา
ก่อ(อึมปี้) มีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและยังคงใช้ภาษาในชีวิตประจำวันอยู่ และทุกคนในครัวเรือนกว่าร้อยละ 75 สามารถพูดภาษาก่อ(อึมปี้) ได้เป็นอย่างดี และชาวก่อ(อึมปี้) บ้านดงได้มีความพยายามจะอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษานี้ไว้ ด้วยการพัฒนาระบบตัวเขียนภาษาก่อ(อึมปี้) โดยใช้อักษรไทย โดยคุณศรีนวล ดวงหอม เจ้าของภาษาได้ร่วมมือกับโครงการวิจัยภาษาไทยและภาษาพื้นเมืองถิ่นต่าง ๆ ดำเนินการโดยทบวงมหาวิทยาลัย มีนักภาษาศาสตร์เป็นบรรณาธิการให้ในปี พ.ศ. 2519 ต่อมามีนักวิจัยเข้ามาในพื้นที่และชักชวนให้ชาวก่อ(อีมปี้) บ้านดงอนุรักษ์ภาษาต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อปี พ.ศ. 2553
ภาษาอึมปี้เป็นภาษาที่ไม่มีตัวสะกด มีระบบเสียงซับซ้อน มีทั้งเสียงสระธรรมดา สระลงคอ สระขึ้นจมูก นอกจากนี้ยังมีวรรณยุกต์ สนธิ และการเติมหน่วยเติมท้ายคำ
ลักษณะการเรียงประโยค ประธาน-กรรม-กริยา
โง คุ่มโม่ จ๊ามา
ฉัน ภรรยา มีแล้ว
ส่วนประโยคคำถามมีคำลงท้ายที่เป็นสัญลักษณ์ของการถามคล้ายคลึงกัน เช่น ลา โห่ลา โล่ เช่น
นอ คุ่มโม่ จ๊า โล่
คุณ (ภรรยา) มี หรือยัง
ประโยคปฏิเสธจะปรากฏคำว่า "ม่า" นำหน้าคำกริยา เช่นเดียวกับภาษาส่วนใหญ่ในตระกูลจีน-ทิเบต
โง คุ่มโม่ ม่า จ๊า
ฉัน ภรรยา ไม่ มี
หมายเหตุ: รายละเอียดของระบบตัวเขียนภาษาก่อ(อึมปี้) ดูได้จากรายงานผลการวิจัยสร้างระบบตัวเขียน "สืบชะตาภาษาอึมปี้บ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่" โดยธีระภพ เขื่อนสี่ และคณะ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2553)
การวิจัยครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นในชุมชนชาวก่อ(อึมปี้) บ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยการนำของนายธีระภพ เขื่อนสี่ และคณะ รวมถึงเด็กและเยาวชนก่อ(อึมปี้) สามารถมาเข้าร่วมทำงานได้ทุกกิจกรรม ทำให้ได้เห็นพลังและศักยภาพของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าจะต้องพัฒนาและเสริมศักยภาพของเยาวชนต่อเนื่องไป
เนื้อหาโดย มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดเมื่อ 24 มิถุนายน 2564
เอกสารอ้างอิง
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
แพร่ น่าน | 1500 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ตามประวัติบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่าชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) เคลื่อนย้ายมาจากแคว้นสิบสองปันนาในประเทศจีน เมื่อประมาณ 200-400 ปีมาแล้ว โดยสันนิษฐานว่าพวกเขาถูกกวาดต้อนจากการขยายอิทธิพลและ/หรืออาณาเขตของอาณาจักรต่างๆ ในสมัยโบราณ และถูกเกณฑ์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเส้นทางเดินทัพตั้งแต่ประเทศลาวและเคลื่อนย้ายมาตามพื้นที่แอ่งเชียงคำ-ท่าวังผา และตั้งถิ่นฐานสุดท้ายที่หมู่บ้านเสือกืน ตำบลยอด อำเภอปง จังหวัดเชียงราย และบางส่วนได้ถูกเกณฑ์มาอยู่ที่บ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ บ่งชี้ถึงความเป็นมาของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) ได้
การศึกษาและบันทึกเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) มีขึ้นครั้งแรกเป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาษาของก่อ(อึมปี้) ที่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบหลังปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา งานสำคัญคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ได้เริ่มมีการทำ "พจนานุกรม มปี-ไทย-อังกฤษ" โดยศรีนวล ดวงหอม เป็นการศึกษาภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) เฉพาะในหมู่บ้านดง อำเภอสวนเขื่อน จังหวัดแพร่ โดยบันทึกไว้ว่า Mr. Richard Davis อาสาสมัครชาวอเมริกันประจำอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ได้ค้นพบหมู่บ้านก่อ(อึมปี้) โดยบังเอิญ เมื่อปี พ.ศ. 2510 คนในหมู่บ้านเรียกตนเองว่า "มปี" ส่วนประวัติความเป็นมาของคนมปี ไม่มีใครบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่นอน Mr. Richard Davis ซึ่งเป็นผู้ค้นพบหมู่บ้านมปี ได้รายงานเรื่องนี้แก่ Mr. Jimmy G. Harris ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2510 Mr. Jimmy G. Harris และ Mr. Richard Davis จึงได้เริ่มออกไปสำรวจและเก็บข้อมูลภาษามปีในวันสุดสัปดาห์ โดยมีนายวิชัย เขื่อนสอง อายุ 61 ปี และภริยา นางบัวสี เขื่อนสอง อายุ 44 ปี เป็นผู้บอกภาษา ต่อมาประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2515 นายบุญเรียง ดวงหอม เดินทางมาเป็นผู้บอกภาษาที่กรุงเทพฯ สำหรับวิชาฝึกฟังให้ผู้เข้าอบรมสัทศาสตร์ภาคฤดูร้อน โดยมี Mr. Jimmy G. Harris เป็นผู้สอน ควบคุมและให้คำแนะนำ (Srinuan Duanghom 1976: คำนำ) นักภาษาศาสตร์ได้จัดให้ภาษาของก่อ (อึมปี้) อยู่ในตระกูลภาษาทิเบโต-เบอร์มัน (Tibeto-Burman) สายโลโลใต้ (Southern Lolo) กลุ่มย่อยฮาโนอิช (Hanoish) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาของบีซู (Bisu) และภูน้อย (Phu Noi) เป็นต้น ภาษาที่ใกล้เคียงกับก่อ(อึมปี้) นี้กระจายอยู่ในเขตประเทศจีนตอนใต้และในเขตประเทศลาว
การค้นคว้าประวัติศาสตร์ชนเผ่าก่อ(อึมปี้) จึงเริ่มต้นจากประวัติความเป็นมาผ่านการบอกเล่าของชนชาติพันธุ์ก่อ(อึมปี้) รุ่นปัจจุบันที่ได้รับฟังเรื่องราวและถ่ายทอดสืบต่อกันมา และทำการวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลประวัติศาสตร์ทางวิชาการที่มีการบันทึกไว้และสามารถสืบค้นได้ นำมาปะติดปะต่อเรื่องราวต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อจัดทำเป็นประวัติศาสตร์ชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) ในครั้งนี้ ดังนี้
ถิ่นกำเนิด
ชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) มีถิ่นกำเนิดจากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน จากการเทียบเคียงภาษาและจากประวัติศาสตร์บอกเล่าสืบต่อกันมาของชนเผ่าก่อ(อึมปี้) ทั้งสองพื้นที่คือบ้านสะเกิน จังหวัดน่านและบ้านดง จังหวัดแพร่ เชื่อว่าบรรพบุรุษก่อ(อึมปี้) มาจากเมืองเหนือ หรือแถบสิบสองปันนาที่อยู่ทางใต้ของประเทศจีน ซึ่งอดีตเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของไทลื้อ เดิมชาวไทลื้อมีถิ่นที่อยู่บริเวณหัวน้ำของ (น้ำโขง) เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแสหรือที่เรียกว่า คุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำของ (น้ำโขง) สิบสองปันนา ประมาณคริสตศตวรรษที่ 12 หรือพุทธศตวรรษที่ 17 เจ้าเจื๋องหาญ วีรบุรุษชาวไทลื้อได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ แถบนั้นตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (จีนเรียกเซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่งนานถึง 790 ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1579-1583 (พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,200 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาของสิบสองปันนา โดยได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีต (ชัชวาล คำงาม, [ระบบออนไลน์], เข้าถึงเมื่อ 20 เมษายน 2560) ได้แก่ 1) ปันนาเชียงรุ่ง มี 2 เมือง คือเมืองเชียงรุ่ง เมืองฮำ 2) ปันนาเมืองแจ่ มี 3 เมือง คือเมืองอ๋อง เมืองงาด เมืองแจ่ 3) ปันนาเมืองหน มี 2 เมือง คือเมืองปาน เมืองหน 4) ปันนาเมืองเจียงเจื่อง มี 2 เมือง คือเมืองฮาย เมืองเจื่อง 5) ปันนาเจียงลอ มี 4 เมืองคือเมืองมาง เมืองงาม เมืองลางเหนือ เมืองเจียงลอ 6) ปันนาเมืองลวง มี 1 เมืองคือเมืองโลง 7) ปันนาเมืองลา มี 2 เมือง คือเมืองบาง เมืองลา 8) ปันนาเมืองฮิง มี 2 เมืองคือเมืองวัง เมืองฮิง 9) ปันนาเมืองล้า มี 2 เมืองคือเมืองบาน เมืองล้า 10) ปันนาเมืองพง มี 2 เมืองคือเมืองหย่วน เมืองพง อีกเมืองส่างกาง ส่างยอง 11) ปันนาเมืองอู๋ มี 2 เมืองคือเมืองอู๋ใต้ เมืองอู๋เหนือ (ปันนานี้ตกเป็นเขตแดนลาวล้านช้าง สมัยฝรั่งเศสปกครองประเทศลาวถึงปัจจุบัน) 12) ปันนาเจียงตอง มี 4 เมืองคือ เมืองบ่อล้า เมืองอีงู เมืองอีปัง เมืองเจียงตอง
สิบสองปันนาในสมัยอาณาจักรน่านเจ้าเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ที่มีความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมที่คล้ายกัน จักรพรรดิจีนในยุคนั้นจึงให้รวมไว้เป็นอาณาจักรเดียวกัน และต่อมาในยุคสมัยจักรพรรดิจีนชื่อเฉิงฮว่า (พ.ศ. 2008-2030) ซึ่งตรงกับอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) และอาณาจักรล้านนาในยุคสมัยพระยาติโลกราช (พ.ศ. 1985-2030) ซึ่งในยุคนี้อาณาจักรล้านนาแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับอาณาจักรใดและเป็นยุคที่จักรพรรดิจีนอ่อนแอมีขันทีว่าราชการแทนจึงถูกจักรวรรดิเวียดนาม (แกว/ญวน) โดยจักรพรรดิเล ทั้ญ ตง (ราชวงศ์เหิ่วเล) (พ.ศ. 2003-2040) แต่งตั้งแม่ทัพชื่อเจ้าบัวสามเข้าทำศึก โดยพยายามรวบรวมชนเผ่าต่าง ๆ ในแถบนั้นให้เป็นปึกแผ่น โดยเข้ายึดเมืองหลวงพระบาง (เมืองชวาขณะนั้น) และเตรียมเข้ายึดเมืองน่าน พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาจึงแต่งตั้งท้าวขาก่านเจ้าเมืองฝางไปเป็นเจ้าเมืองน่านและทำศึกกับเจ้าบัวสามแม่ทัพแกว ท้าวขาก่านนำทัพเมืองน่านที่มีกำลังประมาณ 40,000 คน เข้าสู้กับกองทัพเจ้าบัวสามที่มีกำลังกว่า 3 ล้านคน และรักษาเมืองน่านไว้ได้โดยได้สังหารเจ้าบัวสามไปด้วย จึงทำให้ท้าวขาก่านมีชื่อเสียงเลื่องลือ พระเจ้าติโลกราชจึงใช้โอกาสนี้เจริญสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิจีน โดยส่งทหารนำหัวแม่ทัพนายกองของแกวรวมถึงหัวเจ้าบัวสามและเชลยศึกไปบรรณาการแก่เจ้าเมืองหนองแส (จักพรรดิฮ่อปกครองสิบสองปันนาสมัยนั้น) และเป็นแม่ทัพจีนที่พยายามบุกยึดจักรวรรดิเวียดนามใช้เวลากว่า 20 ปี ก็ไม่สำเร็จ เมื่อเจ้าเมืองหนองแสได้รับรู้เรื่องราวจึงส่งสารตราตั้งให้พระเจ้าติโลกราชเป็นใหญ่ในดินแดนตะวันตก ส่วนดินแดนตะวันออกเป็นถิ่นของจักรพรรดิจีน พร้อมกับส่งช่างหลวงฝีมือดีมาวาดภาพท้าวขาก่านไปเก็บไว้ในหอประวัติศาสตร์ของจีน (อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย, ท้าวขาก่าน)
ตลอดระยะเวลา 20 ปี ของการปกครองเมืองน่าน ท้าวขาก่านได้บูรณะพระธาตุแช่แห้งเพื่อการสักการะบูชาของชาวเมืองน่านมาตราบจนทุกวันนี้ รวมถึงการอ้างอิงถึงท้าวขาก่านของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) ว่าเป็นผู้ที่นำพาบรรพบุรุษของพวกเขามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บ้านสะเกิน จากการออกสำรวจแหล่งผลิตดินปืนของเจ้าเมืองน่านขณะนั้นและได้พบถ้ำสะเกินที่เป็นถ้ำขี้ค้างคาว มีดินจากขี้ค้างคาวที่เหมาะแก่การทำดินปืนและให้บรรพบุรุษก่อ(อึมปี้) ที่มีความรู้ด้านดินปืนมาตั้งรกรากในพื้นที่นี้เพื่อผลิตดินปืนส่งเจ้าเมืองน่าน (อ้างอิงคำสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านสะเกิน, 6 มีนาคม 2560) แต่ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนถึงช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายและรูปแบบการเคลื่อนย้ายของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) จากอาณาจักรน่านเจ้าเข้ามาตั้งหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ จะมีความเชื่อมต่อของช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เป็นเช่นไร แต่ก็คงเชื่อได้ประการหนึ่งว่าบรรพบุรุษของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) นั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตอนใต้ของประเทศจีนและปะปนอยู่กับชนเผ่าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ฯลฯ ในกลุ่มชนชาติไท จากการอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์เรื่องราวของเจ้าผู้ครองอาณาจักรหรือจักรวรรดิต่าง ๆ ทั้งที่บันทึกไว้ในประเทศจีนและประเทศไทย จึงสามารถนำมาอ้างอิงถึงถิ่นกำเนิดของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) ได้
หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ดินแดนล้านนาหมายถึงดินแดนบางส่วนของอาณาเขตบริเวณลุ่มน้ำแม่โขง ลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนเมืองที่ตั้งตามลุ่มน้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่น้ำแตง แม่น้ำงัด ฯลฯ โดยมีอาณาเขตทางทิศใต้จรดเมืองตาก (อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน) และจรดเขตดินแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกเลยลึกเข้าไปในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกจรดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทิศเหนือจรดเมืองเชียงรุ่ง (หรือคนจีนเรียกในปัจจุบันว่า เมืองจิ่งหง) ซึ่งบริเวณชายขอบของล้านนา อาทิ เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นบริเวณที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพลไปถึงเมืองนั้น ๆ รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1985-2030) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 ในราชวงศ์มังราย พระองค์ได้รับการยกย่องให้มีฐานะเป็น "ราชาธิราช" พระองค์ทรงแผ่ขยายขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรล้านนาให้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเดิม
ด้านทิศเหนือ เมืองเชียงรุ่ง เมืองยอง
ด้านทิศตะวันออก เมืองนันทบุรี (น่าน) แพร่ ทุ่งยั้ง (ส่วนหนึ่งของอุตรดิตถ์) จรดถึงหลวงพระบาง
ด้านทิศตะวันตก ขยายไปจนถึงรัฐฉาน (ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า) เช่น เมืองไลคา เมืองยองห้วย เมืองสีซอ
ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนายังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง 25 ปี โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการแผ่อิทธิพลเข้าไปในสุโขทัยของทั้งสองอาณาจักร แต่ไม่มีฝ่ายไหนได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทั้งสองอาณาจักรจึงผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าในปี พ.ศ. 2101
การเคลื่อนย้าย
การเคลื่อนย้ายของชาวก่อ(อึมปี้) จากประวัติศาสตร์และถิ่นกำเนิดของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) อาจต้องเริ่มต้นด้วยการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนเผ่าในดินแดนทางตอนใต้ของจีน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมกลุ่มคนแล้วอพยพลงมาหรือเป็นการถูกกวาดต้อนจากสงครามเพื่อการสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ ความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) ที่บอกว่ามาจากสิบสองปันนานั้น การจัดทำข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์จึงต้องอ้างอิงถึงเส้นทางการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนตามประวัติศาสตร์และนำมาอ้างอิงเป็นเรื่องราวการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ก่อ(อึมปี้) ได้ดังนี้
ยุคเริ่มแรก การเคลื่อนย้ายจากการอพยพหนีการรุกรานของมองโกล
ยุคเริ่มแรกของการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนชาติไทในประเทศจีนที่อพยพหลบหนีการรุกรานของมองโกล มาตั้งอาณาจักรหอคำเชียงรุ่งในยุคสมัยของพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 (วิกิพีเดีย: อาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง) มีความมั่นคงอยู่ได้ถึง 100 กว่าปี ก่อนที่จะถูกมองโกลและจีนรุกราน และสุดท้ายตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนก่อนที่อาณาจักรตองอูของพม่าจะมีการก่อตั้งในพุทธศตวรรษที่ 21 (วิกิพีเดีย: เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา) ซึ่งในยุคนี้มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) จะถูกรวบรวมและอพยพมาตั้งรกรากอยู่ร่วมกับชนชาติไทสิบสองปันนา ทั้งนี้ยังคงต้องการแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการอ้างอิงและพิสูจน์ความถูกต้องต่อไป
ยุคที่สอง การกวาดต้อนผู้คนและการขยายอิทธิพลของอาณาจักรล้านา
นับตั้งแต่อาณาจักรหอคำเชียงรุ่งได้จัดตั้งขึ้นบริเวณทางตอนใต้ของประเทศจีน และปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ตลอดระยะเวลาการดำรงอยู่ของอาณาจักรหอคำเชียงรุ่งที่เจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี ได้ถูกรุกรานจากการขยายอาณาเขตของมองโกลและตกอยู่ภายใต้การปกครองในยุคสมัยของพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งรัชกาลที่ 33 จากนั้นจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนโดยในยุคสมัยจักรพรรดิเฉิงหว่า ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาได้ขยายอิทธิพลและเจริญสัมพันธไมตรีกับเจ้าเมืองหนองแส ซึ่งเป็นผู้ปกครองสิบสองปันนาและเป็นแม่ทัพจีนในตอนใต้ จึงมีการกวาดต้อนผู้คนบางส่วนมายังอาณาจักรล้านนา บรรพบุรุษของชาวก่อ(อึมปี้) จึงน่าจะอยู่ในกลุ่มผู้คนที่ถูกกวาดต้อนด้วย ดังการอ้างอิงถึงท้าวขาก่านเจ้าเมืองน่านในสมัยพระเจ้าติโลกราช จึงเป็นยุคที่สองของการเคลื่อนย้ายในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) และเป็นยุคแรกของการเข้าสู่พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ยังคงต้องการแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการอ้างอิงและพิสูจน์ความถูกต้องต่อไป
ยุคที่สาม การกวาดต้อนผู้คนและการขยายอิทธิพลของรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ต่อเนื่องจากยุคที่สอง การกวาดต้อนผู้คนจากการขยายอิทธิพลของอาณาจักรต่าง ๆ มาจนถึงในยุคที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและอยุธยายาวนานหลายร้อยปี จวบจนพระยากาวิละซึ่งได้ร่วมกับพระเจ้าตากแห่งกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่สำเร็จ จึงได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองทางเหนือถึง 57 หัวเมือง ในยุคที่รู้จักกันดี คือ "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ซึ่งตรงกับยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงเป็นยุคที่สามของการเคลื่อนย้ายในกลุ่มชนเผ่าก่อ(อึมปี้) และเป็นครั้งที่สองของการเข้าสู่พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของเจ้าหลวงจองคำ ที่ชาวก่อ(อึมปี้) บ้านสะเกินให้ความเคารพนับถือ เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าในพื้นที่บ้านสะเกินเคยเป็นทุ่งสงครามการสู้รบในสมัยโบราณ มีด่านปางค่า (บริเวณบ้านปางค่า ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา) เป็นป้อมปราการป้องกันการรุกรานของศัตรู เป็นต้น แต่ทั้งนี้ยังคงต้องการแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการอ้างอิงและพิสูจน์ความถูกต้องต่อไป
ในที่นี้จึงสรุปได้ว่า ชาวก่อ(อึมปี้) เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายจากดินแดนสิบสองปันนาลงมาทางใต้และมาสิ้นสุดอยู่ในพื้นที่บ้านสะเกิน จังหวัดน่าน และบ้านดง จังหวัดแพร่ ด้วยเหตุปัจจัยแห่งการขยายอาณาเขตของอาณาจักรต่างๆ ในสมัยโบราณ การกวาดต้อนผู้คนในยุคสมัยนั้นได้นำพาชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้จวบจนปัจจุบัน
ในส่วนของการก่อตั้งชุมชนสองชุมชนของชาวก่อ(อึมปี้) นั้น มีรายละเอียดดังนี้
บ้านสะเกิน
บ้านสะเกิน หมู่ที่ 1 ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 1148 บริเวณเส้นแบ่งเขตจังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน มีการตั้งถิ่นฐานของประชากรเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า "ก่อ" รวมทั้งสิ้น 112 ครัวเรือน 408 คน
บ้านสะเกิน เดิมเรียกชื่อกันว่าบ้าน "เสือกืน" ซึ่งหมายถึงเป็นพื้นที่ที่มีเสือชุกชุมใครเข้าไปแล้วอาจไม่รอดกลับมาเพราะถูกเสือกิน เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเขตป่าดงดิบหนาทึบมีภูเขาสูงล้อมรอบแอ่งกระทะที่เป็นที่ราบแม่น้ำงิม ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์บอกเล่าที่เชื่อว่าคนก่อบ้านสะเกิน ได้ถูกเกณฑ์จากเจ้าเมืองน่านให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสะเกิน ซึ่งแต่เดิมอยู่บริเวณบ้านม่วงเน่า (บ้านเชียงแล) อำเภอท่าวังผา และเคลื่อนย้ายมาอยู่บริเวณบ้านยอด อำเภอสองแคว เจ้าเมืองน่านในสมัยนั้น (ไม่ทราบว่าอยู่ในยุคเจ้าเมืองคนใด) ได้มีการสำรวจแหล่งผลิตดินปืนและได้พบกับถ้ำขี้ค้างคาว (ถ้ำสะเกิน) ซึ่งอยู่เหนือหมู่บ้าน จึงได้เกณฑ์บรรพบุรุษชาวก่อ(อึมปี้) ให้มาตั้งถิ่นฐานผลิตดินปืนจากขี้ค้างคาวส่งเข้าเมืองต่อเนื่องมาหลายยุคสมัยเจ้าปกครองเมืองน่าน
ชาวก่อ(อึมปี้) บ้านสะเกิน ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบแม่น้ำงึมซึ่งเป็นที่ราบเชิงเขาดอยผาปันและดอยผาหลวงซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำงึม ปัจจุบันมีทางหลวงหมายเลข 1148 น่าน-พะเยา ตัดผ่านหมู่บ้านโดยที่ตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่จะอยู่ฝั่งขวา หากเดินทางจากน่านไปพะเยา หมู่บ้านสะเกินจะเป็นหมู่บ้านสุดเขตแดนจังหวัดน่านบริเวณแม่น้ำงึมฝั่งซ้าย เมื่อข้ามแม่น้ำงึมไปจะเป็นเขตจังหวัดพะเยาบริเวณบ้านห้วยเฟือง
แผนที่ภูมิประเทศบริเวณบ้านสะเกิน หมู่ 1 ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน
ที่มา: ปรับปรุงจากแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 กรมแผนที่ทหาร ระวางที่ WGS84-5147IV