ชื่อเรียกตนเอง : กูย หรือ กวย
“กูย” หรือ “กวย” เป็นชื่อเรียกตนเองของชาวกูยในพื้นที่กลุ่มวัฒนธรรมชาวกูย ชื่อเรียกอาจจะมีความแตกต่างกันไปตามสำเนียงแต่ละถิ่นที่ ไม่ว่าจะออกเสียงเป็น กูย กวย โกย กุย หากแต่ให้ความเข้าใจในความหมายเดียวกัน คือหมายความว่า คน
ชื่อที่คนอื่นเรียก: ส่วย เขมรป่าดง ข่า มอย ลัวะหรือละว้า
ส่วย เป็นชื่อที่ชาวไทยสยามเรียกชาวกูย
เขมรป่าดง เป็นคำที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน สี่เมืองคือ เมืองสุรินทร์ รัตนบุรี สังขะและขุขันธ์ เรียกกลุ่มเมืองนี้ว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง”
เขมรส่วย เป็นคำเรียกผู้คนที่อยู่ใน “หัวเมืองเขมรป่าดง” ที่ต้องส่งส่วยให้ราชอาณาจักรไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แทนการเกณฑ์แรงงาน
ลัวะ หรือ ละว้า เป็นชื่อที่กลุ่มคนแถบล้านนาทางเหนือไปถึงจีนและพม่าจะเรียกชาวกูย
ข่า เป็นชื่อที่ชาวลาวในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเรียกชาวกูย
มอย เป็นชื่อที่ชาวเวียดนามเรียกชาวกูย
การเรียกกลุ่มคนที่เป็นชาติพันธุ์กวยจะถูกเรียกแตกต่างกันออกไปตามลักษณะพื้นที่ และถึงแม้ชาวกูยจะถูกคนกลุ่มอื่นเรียกขานกันไปอย่างหลากหลายตามทัศนะของแต่ละกลุ่ม แต่พวกเขาเองยังเรียกตัวเองว่า “กูย” ที่มีความหมายว่า “คน” เช่นเดียวกับชาวเขมรที่เรียกว่า “กูย” แต่บางครั้งก็ออกเสียงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นว่า “กวย” “กุย” หรือ “โกย” (ประเสริฐ ศรีวิเศษ 2521) ซึ่งการเรียกชื่อตัวเองว่า “กูย” นี้จะใช้เรียกก็ต่อเมื่อได้พูดคุยสนทนากับสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันหรือกับกลุ่มชาติพันธุ์เขมร แต่เมื่อชาวกูยมีปฏิสัมพันธ์กับคนในกลุ่มอื่นที่พูดภาษาไทยและลาวในประเทศไทยก็จะเรียกตัวเองว่า “ส่วย” (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538)
พระราชพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการตั้งหัวเมืองเขมรป่าดงไว้สี่เมือง คือ เมืองสุรินทร์ รัตนบุรี สังขะ และขุขันธ์ ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ประชากรส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มกูย หรือ กวย หรือ โกย ซึ่งตามที่ปรากฏในพงศาวดารที่มีการเรียกหัวเมืองที่มีชนชาวกูยอาศัยอยู่ว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง” นั้น สันนิษฐานว่าในพื้นที่บริเวณนี้มีภูมิประเทศเป็นป่าดงและอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของราชอาณาจักรไทย เมื่อได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าจะเกณฑ์แรงงานผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขมรป่าดงในระบบเลกไพร่ธรรมดาเช่นเดียวกับชาวไทยคนอื่นๆ แล้วคงจะไม้ได้ผลเต็มที่ เพราะภูมิประเทศเป็นอุปสรรคในการสื่อสารคมนาคม จึงได้มีการนำเอาระบบไพร่ส่วยขึ้นมาใช้ โดยกำหนดให้ชาวเขมรป่าดงต้องส่งส่วยแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน เช่น ครั่ง ไม้เนื้อหอมและของป่าอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการเรียกชาวกูยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเขมรป่าดงว่า “เขมรส่วย” ต่อมาเมื่อการจัดเก็บส่วยและเกณฑ์ไพร่พลเริ่มประสบความยุ่งยากขึ้น เนื่องจากไม่มีส่วยเป็นสิ่งของส่งแก่ราชสำนัก ผู้นำชาวกูยจึงได้ส่งตัวคนกูยมาแทนสิ่งของที่เคยส่งแต่เดิม คนกูยจึงได้ชื่อว่า “คนส่วย” และถูกคนไทยในราชอาณาจักรเรียกว่า “ส่วย” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าทึบ ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญ คนกลุ่มอื่นจึงมองชาวกวยว่าเป็นกลุ่มชนป่าเถื่อน มีลักษณะต่างๆ ที่ด้อยกว่าชนกลุ่มอื่นๆ ในแง่ความรู้สึกทางวัฒนธรรม ซึ่งโดยความหมายนี้ ชาวเขมรป่าดง หรือ เขมรส่วย ก็คือชนชาวเขมรที่ล้าหลังและเป็นกลุ่มชนเผ่าหนึ่งที่ไม่มีความเจริญ มีวัฒนธรรมต่ำกว่าเพื่อนบ้าน คือ เขมรและลาว และคำว่า “ส่วย” ก็มีนัยยะของการเหยียดหยามทางวัฒนธรรม ดังนั้นชาวกวยจึงไม่ค่อยจะยอมรับชื่อนี้เท่าใดนัก (ธวัช ปุณโณทก, อ้างถึงใน พรรณวดี ศรีขาว, 2554)
ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดข้อมูลวันที่ 25 สิงหาคม 2564
เอกสารอ้างอิง
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และภาคตะวันออกของไทย | 400000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
“กูย” หรือ “กวย” เป็นคำเรียกชื่อตัวเองของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีอัตลักษณ์ด้านภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต อาศัยอยู่อาณาบริเวณลุ่มน้ำโขงและเทือกเขาพนมดงรัก นักภาษาศาสตร์จัดภาษากูยให้อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญเขมร กลุ่มเวียดกะตู ชนกลุ่มนี้มีจำนวนหนาแน่นที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและบุรีรัมย์ บางส่วนอาศัยอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี และอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังพบว่า มีคนพูดภาษากูยตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอย่างประปรายในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกของไทยอีกด้วย ได้แก่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 2 หมู่บ้าน และอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว จำนวน 3 หมู่บ้าน (จิรัฐ เจริฐราษฎร์, 2525)
ในจังหวัดศรีสะเกษมีการปรับการใช้ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ จากส่วย มาเป็น กูย ในงานเทศกาดอกลำดวนบานปี 2554 โดยมีข้อถกเถียงว่าคำว่า “ส่วย” เป็นคำที่ไม่เหมาะสมจะนำมาเรียกคนศรีสะเกษ เพราะมีนัยยะของการดูถูกเหยียดหยาม ดังนั้ นงานในปีดังกล่าวจึงมีชื่อว่า “สี่เผ่าศรีสะเกษกูย เขมร ลาว เยอ” ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งลงนามในหนังสือราชการให้ปรับชื่อคำว่า ส่วย เป็นกูย
ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวกวย จากการได้ค้นคว้าเอกสารพบว่า ชาวกูยเป็นชนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนกัมพูชาในอดีต เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ชาวกูยเป็นกลุ่มคนตระกูลมอญ-เขมรและเป็นเลือดผสมระหว่างพวกเวดดิด (Veddid) กับพวกเมลานีเซียน (Melanesian) ที่พูดภาษามุณฑ์ (MUNDA) ซึ่งอยู่ในแคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย ต่อมาได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนแถบลุ่มน้ำแม่โขง เมื่อครั้งถูกพวกอารยันรุกรานและต่อมาได้เป็นบรรพบุรุษของชาวเขมรหรือขแมร์ ประวัติศาสตร์ของอินเดียระบุสาเหตุสำคัญของการละทิ้งถิ่นฐานของชนชาตินี้ว่า เกิดจากการแย่งชิงความเป็นใหญ่ของมหาราชาแคว้นต่าง ๆ ในอินเดีย ทำให้เกิดการล่มสลายของราชวงศ์คุปตะที่มีสัมพันธไมตรีอย่างแนบแน่นกับชาวกูยมาโดยตลอด เมื่อถูกรุกรานชาวกูยจึงได้ละทิ้งถิ่นฐานอพยพลงมาตามลำน้ำโขง กูยที่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแนวพนมดงรักและตลอดแนวลุ่มน้ำโขง บางกลุ่มได้อาศัยอยู่ตามดินแดนบริเวณทะเลสาบใหญ่ของกัมพูชาจนกระทั่งกลายเป็นปึกแผ่น มีอาณาเขตการปกครองตนเองอย่างมั่นคงตลอดมา กูยกลุ่มนี้คือชนชาติที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ดินแดนในส่วนนี้ หลักฐานของ ปอล เลวี ชาวฝรั่งเศสซึ่งได้ขุดค้นร่องรอยอารยธรรมบริเวณมลูไพรทางภาคเหนือของเขมร พบว่า ชาวกวยเป็นกลุ่มข่า ที่เป็นผู้ขุดเหล็ก ตีเหล็กเป็นอาวุธ หล่อสำริดและยังใช้เครื่องมือหินด้วย ทั้งนี้เพราะขุดได้เครื่องมือหิน เบ้าหิน เครื่องสำริดและเหล็กรุ่นก่อนประวัติศาสตร์ตลอดจนพบโรงหล่อและสร้างอาวุธ ของนักรบเขมรโบราณก็อาจได้จากชาวกุยที่เป็นทาสเหล่านี้ นอกจากนี้พวกกุยยังชำนาญการจับช้าง และยังถูกเกณฑ์ไปทำหน้าที่สกัดหิน ก่อสร้างปราสาท ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีอยู่มากมายในบริเวณนครธมและที่อื่น ๆ จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่พบเห็นชุมชนกูยปะปนอยู่แทบทุกย่านที่มีโบราณสถาน (จิตร ภูมิศักดิ์, 2535)
เมื่อกล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวกูยนั้น พงศาวดารเมืองละแวกได้บันทึกไว้ว่า
“ในพุทธศตวรรษที่ 20 กษัตริย์เขมร แห่งนครธมได้ขอให้เจ้ากูยแห่งตะบองขมุ (ชุมชนกูยด้านใต้นครจำปาศักดิ์) ส่งกำลังไปปราบขบถที่นครธม ทั้งสองเมืองได้ร่วมกันขับไล่ศัตรู จนบ้านเมืองเขมรเขาสู่ภาวะปรกติสุข จากเหตุการณ์นั้นทำให้อาณาจักรเขมรและอาณาจักกวยมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันเรื่อยมา หลักฐานนี้แสดงว่าขณะที่ชนชาติไทยสายสยามกำลังทำสงครามขับเคี่ยวกับเขมรเพื่อสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยนั้น ชาวกูยได้ตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างเป็นปึกแผ่นแล้ว” (ฐิติรัตน์ เวทย์ศิริยานันท์, 2545)
การอพยพเคลื่อนย้ายของชาวกวย อาจกล่าวได้ว่ามีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ชาวกวยมีการอพยพหลายครั้งหลายคราเพื่อหนีภัยธรรมชาติ หนีภัยสงคราม จากถิ่นฐานดั้งเดิมจนเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียด ดังต่อนี้
การอพยพเข้าสู่ประเทศลาว เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากที่เจ้ากูยช่วยกษัตริย์เขมรปราบกบฏได้สำเร็จ ช่วงเวลานั้นชาวกูยมีการปกครองเป็นรัฐอิสระอยู่ทางตอนเหนือของเขมรในเขตจังหวัดกำปงธม ติดกับดินแดนลาวต่อมากษัตริย์เขมรได้ใช้อำนาจทางการทหารปราบปรามชาวกูยและผนวกเอาอาณาจักรกูยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมร ชาวกูยจำนวนมากจึงได้อพยพขึ้นเหนือเข้าสู่เมืองอัตตะปือ แสนแป จำปาศักดิ์ และสาละวันทางตอนใต้ของลาว ชนชาติกูยเริ่มมีบทบาทครั้งแรกในลาว เมื่อเวียงจันทน์ได้จัดตั้งหน่วยคล้องช้างและฝึกหัดช้างที่อัตตะปือ แสนปาง ซึ่งสภาพก่อนที่จะมีการตั้งหน่วยคล้องช้างเคยเป็นพื้นที่ที่รกร้างมาตั้งแต่สมัยขอม ซึ่งมีหลักฐานว่าในที่ตรงนี้น่าจะเคยเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองสมัยฟูนันและเจนละ และบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งคล้องช้างมาก่อน การจับช้างที่อัตตะปือ แสนปาง จะใช้วิธีการต้อนโขลงช้างลงแม่น้ำโขง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแนวน้ำที่แคบและเป็นซอกหินจึงใช้วิธีขว้างบ่วงบาศก์ หน่วยคล้องช้างที่จัดตั้งขึ้นที่อัตตะปือ แสนปางนั้น อาศัยชาว “กวย” เป็นครูฝึกสอนช้าง จึงอาจกล่าวได้ว่าทำเลบริเวณนี้น่าเป็นถิ่นพำนักของชาวกวยอยู่ก่อนแล้ว
การอพยพเข้าสู่ประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2199 - 2231) เริ่มมีการอพยพของชาวกวยเข้ามาในประเทศไทยทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายครั้ง จนครั้งหลังสุดที่เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวกวยเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น สาเหตุสำคัญมาจาก ใน พ.ศ. 2257 ราชสำนักเวียงจันทน์เกิดการแย่งอำนาจกันปกครอง อาณาจักรลาวจึงแตกออกเป็น 3 รัฐ คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ เมืองจำปาศักดิ์เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับอัตตะปือ แสนปาง ซึ่งต่างก็เป็นข่า (กวย) ด้วยกันขณะนั้นจำปาศักดิ์ปกครองโดยนางแพงและได้มอบอำนาจการปกครองให้ราชครูหลวง วัดป่าโพนสะเม็กและได้ให้คนไปเชิญเจ้าหน่อเนื้อกษัตริย์ที่หนีจากเวียงจันทร์มาทำพิธีอภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2257 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร พระองค์ได้ประกาศอาณาเขตแยกออกเป็นอิสระจากเวียงจันทน์และได้สถาปนาอาณาจักร จำปาศักดิ์ (แคว้นจำปาศักดิ์) ซึ่งมีอาณาเขตครอบครัวทั้งสองฝั่งลำน้ำโขง การแยกเป็นอิสระของอาณาจักรลาวทำให้ทั้งสามรัฐ เกิดการแข็งเมืองต่อกันและต่างสะสมแสนยานุภาพไว้ต่อสู้ ป้องกันการรุกราน วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องของเมืองจำปาศักดิ์กับอัตตะปือต้องเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกษัตริย์ลาวที่ปกครองเมืองจำปาศักดิ์ได้บังคับให้เมืองอัตตะปือ แสนปาง ส่งช้างและอาวุธให้ ทำให้ชาวอัตตะปือทนการบีบบังคับไม่ไหว จึงได้อพยพหนีภัยทางการเมืองข้ามแม่น้ำโขงเข้าทางแก่งสะพือ ซึ่งชาวกวยเรียกว่าแก่งกะชัยผึด (แก่งงูใหญ่-พญานาค) และในเขตอำเภอโขงเจียม ซึ่งชาวกูยเรียกว่า โพงเจียง (ฝูงช้าง) มาอาศัยอยู่กับชาวกวยดั้งเดิมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลและชายเขาพนมดงรักแถบอีสานใต้สู่บริเวณที่ปัจจุบันนี้ คือ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์บางส่วนของจังหวัดนครราชสีมาและมหาสารคามในปัจจุบัน (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538) ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ได้กล่าวถึงสาเหตุในการอพยพของชาวกวยในครั้งนี้ว่า
“ในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ชาวกูยจำนวนมากได้อพยพจากเมืองอัตตะปือ แสนแป แขวงจำปาศักดิ์ข้ามลำน้ำโขงมายังฝั่งตะวันตก เหตุผลการอพยพครั้งสำคัญนี้ เพื่อหลีกหนีการบีบคั้นทางใจ และแสวงหาดินแดนแห่งความเป็นไท หนีการถูกข่มเหง การบังคับขู่เข็ญให้ทำการจัดหาช้างศึกให้จำปาศักดิ์ มุ่งหน้ามาทางตะวันตกโดยมีเป้าหมายคือแหล่งอุดมสมบูรณ์ปลอดภัยจากมนุษย์ด้วยกันบริเวณแนวเขาพนมดงรัก” (ฐิติรัตน์ เวทย์ศิริยานันท์, 2545)
นอกจากนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วนติสสมหาเถร) ก็ได้กล่าวถึงการอพยพของชนกลุ่มนี้ไว้ว่า
“ชนเผ่านี้ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียมในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีที่ตรงนี้เป็นปากแม่น้ำมูลที่ไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงในราชอาณาจักรลาวปัจจุบัน ขบวนอพยพก็ได้เปลี่ยนทิศทางจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่ท้องที่อันเป็นจังหวัด ขุขันธ์ในอดีต หรือศรีสะเกษในปัจจุบัน มีคำว่า “เจียงอี” แปลว่า ช้างเจ็บหรือป่วย ทิ้งไว้กลายเป็นชื่อตำบลหนึ่งในท้องที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ เป็นตำบลที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษนั้นเอง จุดนี้เข้าใจว่าพวกอพยพจะได้พักอยู่นาน เพราะทุกวันนี้ก็มีเชื้อสายส่วยตกค้างให้เห็นอยู่ในตำบลนี้และบางท้องที่ในจังหวัดศรีสะเกษ สาเหตุของการอพยพเข้ามาในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากเรื่องสงครามเป็นสำคัญ” (ไพบูลย์ สุนทรารักษ์, 2504 อ้างถึงใน ชานนท์ ไชยทองดี, 2562)
ชาวกูยแต่ละกลุ่มที่อพยพมามีผู้นำของตัวเอง และได้แยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านนากอนจอ ซึ่งเป็นภาษากูยแปลว่า “บ้านนาลูกหมา” ปัจจุบัน คือ อำเภอวารินชำราบ บ้านเจียงอี ซึ่งเป็นภาษากูย แปลว่า “บ้านช้างป่วย” ในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ ดังนั้น ชาวกูยจึงเป็นชนดั้งเดิมเป็นกลุ่มแรกที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ซึ่งเป็นอีสานใต้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ของการอพยพนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ ชาวกูยที่อพยพมาอยู่ก่อนได้ชักชวนให้อพยพติดตามกันมาหรือหาพื้นที่ล่าช้างแหล่งใหม่ เนื่องจากชาวกูยมีความชำนาญในการเดินป่า การล่าช้าง และฝึกช้าง การอพยพได้หยุดลงในสมัยรัชกาลที่ 4 และในเวลาต่อมาได้มีการอพยพโยกย้ายไปอยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา และจังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน ชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษเรียกหมู่บ้านที่ตนโยกย้ายไปว่าเป็น “หมู่บ้านใหม่” ภาษาพูดที่ใช้ระหว่างชาวกูยกลุ่มเดิมและกลุ่มที่โยกย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ยังคงใช้สื่อสารกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมาโดยตลอด มีวิถีชีวิตชุมชนเป็นสังคมชาวไร่ชาวนา ล่าสัตว์ เชื่อในผีปะกำเพื่อให้เป็นเครื่องมือล่าช้างป่าหรือโพนช้างป่า และต่อมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาวจึงได้รับความเชื่อที่หลากหลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกูย และได้ผสมผสานความเชื่อของพุทธ พราหมณ์ และไสยศาสตร์ เข้าด้วยกันจนกลายเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน (พระครูปริยัติวิสุทธิคุณ, อิทธิพล จำนงรักษ์ และวาสนา แก้วหล้า, 2560)
การอพยพในครั้งนั้น ชาวกูยแต่ละกลุ่มที่มีผู้นำในการอพยพ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 หัวหน้าชื่อ เชียงปุ่ม ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านเมืองที จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน
กลุ่มที่ 2 หัวหน้าชื่อ เชียงสี ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านกุดหวาย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
กลุ่มที่ 3 หัวหน้าชื่อ เชียงสง ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านเมืองลิง ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
กลุ่มที่ 4 หัวหน้าชื่อ ตากะจะและเชียงขัน ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ปัจจุบันคือบ้านดอนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีษะเกษ
กลุ่มที่ 5 หัวหน้าชื่อ เชียงฆะ ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านอัจจะปะนึง ปัจจุบันคือบ้านสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
กลุ่มที่ 6 หัวหน้าชื่อ เชียงชัย ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านจารพัด ปัจจุบัน คือ อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
เมื่อครั้งอพยพมาจากประเทศลาว ชาวกูยส่วนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอีสานใต้ หนาแน่นที่สุดคือจังหวัดสุรินทร์ รองลงมาคือศรีษะเกษ ชาวกวยเหล่านี้อยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ปะปนกับชาวเขมรและกวยดั้งเดิมที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ก่อนแล้ว หัวหน้าชุมชนก็ล้วนแต่บวชเรียนได้เป็น “เชียง” เพราะได้รับอิทธิพลจากราชครูหลวงวัดป่าโพนสะเม็ก ในบทความของ อิศราพร จันทร์ทอง (2540) เสนอไว้ว่า กลุ่มชาวกูยที่ไดอพยพเข้ามาตั้งรกรากบริเวณจังหวัดสุรินทร์ในยุคต้นมีสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับชนชาวเขมรก็จะรับเอาวัฒนธรรมทางภาษาและระบบความเชื่อบางอย่างมาจากกลุ่มชาวเขมร กลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “กวย” (ส่วยเลี้ยงช้าง) กลุ่มชาวกวยจะมีความเชื่อในเรื่อง “ผีปะกำ” ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กูย” บางแห่งก็เรียกตัวเองว่า “มะลัวและเยอ” เป็นส่วยไม่เลี้ยงช้าง เป็นส่วยที่ทำนามีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ โดยมีมอและออ เป็นผู้ทำพิธี พอจะกล่าวได้ว่ากูยกลุ่มนี้มีการติดต่อกับชาวลาว จึงรับเอาวัฒนธรรมบางอย่างของลาวมาใช้
ดังนั้นจากข้อมูล จึงน่าจะสรุปได้ว่า พื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชนของชาวกวยที่อพยพมาจนสามารถสร้างเป็นบ้านเป็นเมืองต่อมาได้ก็คือ บริเวณจังหวัดสุรินทร์และศรีษะเกษเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดศรีษะเกษ เนื่องจากว่าเป็นบริเวณที่มีชาวกวยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ดังความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงชาวกูยในข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดศรีษะเกษว่า
“ศรีสะเกษเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ พื้นที่บริเวณจังหวัดศรีสะเกษเคยเป็นดินแดนแห่งหนึ่งของขอมที่ใช้เป็นเส้นทางเดินทาง เมื่อ พ.ศ. 2450 จังหวัดศรีสะเกษยังเป็นเมืองที่มีชาวกูย อยู่อาศัยกันทั้งเมือง มีพวกลาวเวียง ปะปนอยู่บ้างในบางหมู่บ้าน แต่วัฒนธรรมของลาว ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือชาวกูย จึงทำให้มีการผสมผสานวัฒนธรรม ชาวกูยที่นี่พูดภาษาลาวด้วยสำเนียงส่วยโดยสามารถใช้สระเอือได้ ในขณะที่ภาษาลาวเวียงเดิมมีแต่สระเอีย ร่องรอยที่แสดงว่าศรีสะเกษเดิมเป็นเมืองที่ชาวกูยอาศัยอยู่กันทั้งเมืองก็คือ ตัวเลขสำมะโนครัวสมัยนั้นและการเรียกขานชาวศรีสะเกษว่า “ส่วยศรีสะเกษ” อยู่จนทุกวันนี้” (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538)
ส่วนชาวกวยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีห้าอำเภอ ได้แก่ อำเภอโขงเจียม อำเภอวารินชำราบ อำเภอเดชอุดม อำเภอนาจะหลวยและอำเภอน้ำยืน ซึ่งอำเภอเหล่านี้เคยเป็นเส้นผ่านทางอพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศลาวเช้าสู่ประเทศไทยและยังเชื่อกันว่าเป็นชาวกูยที่ตกค้างอยู่ตั้งแต่ครั้งที่อพยพมาจากลาวและได้ตั้งบ้านเรือนตามเส้นทางที่ได้อพยพผ่านมาจึงมีไม่มากนัก ทั้งนี้ยังมีชาวกวยอาศัยอยู่ในจังหวัด อื่น ๆ ได้แก่ ในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชาวกูยที่อพยพต่อมาจากจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีษะเกษโดยมีการอพยพโยกย้ายข้ามอำเภอเพื่อมาตั้งถิ่นฐานใหม่ รวมทั้งชาวกวยในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ยังพบชาวกูยที่อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้นชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีษะเกษจึงเรียกหมู่บ้านกูยในจังหวัดบุรีรัมย์ว่า “บ้านใหม่” ซึ่งหมู่บ้านชาวกูยแต่ละหมู่บ้านประชากรอาจมาจากหลายที่มาอาศัยอยู่ด้วยกัน หรือเป็นหมู่บ้านที่ชาวกูยอาศัยอยู่ร่วมกับผู้พูดภาษาลาวหรือภาษาเขมร
สำหรับในภาคกลาง ยังพบว่ามีชาวกูย อาศัยอยู่ในบริเวณตำบลตลิ่งชัน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เพราะมีการกล่าวอ้างถึงตำนานของประเพณีหนึ่งในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปีที่หมู่บ้านตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งฐานของคนไทยเชื้อสายเขมรและกูยจะประกอบพิธีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญเฉพาะถิ่น คือ งาน “ไหว้พระแข” ซึ่งการจัดพิธีไหว้นี้ขึ้นเพื่อทำการเสี่ยงทายหรือพยากรณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนมากน้อยเพียงใดที่จะตกในเดือนต่าง ๆ ของฤดูกาลทำนาในปีต่อไป มีเรื่องเล่าขานเรื่องพระแขกับความเป็นมาของคนเขมรและคนกูยหมู่บ้านตลิ่งชันว่า
“พิธีกรรมท้องถิ่นของพวกตนนี้ น่าจะรับธรรมเนียมมาจากคนเขมรเพราะคำว่า “พระแข” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “พระจันทร์” ขณะเดียวกันชาวบ้านในบริเวณนี้ทราบกันดีว่า บ้านตลิ่งชันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนเขมรที่อพยพมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีการกวาดต้อนคนเขมรเข้ามาในช่วงสงครามไทยรบญวน อย่างไรก็ดี บางเรื่องเล่ากลับสันนิษฐานว่า พิธีไหว้พระแข เป็นพิธีกรรมของคนไทยเชื่อสายกูยที่ได้รับสืบทอดประเพณีจากคนเขมรมาอีกต่อหนึ่ง” (เอกรินทร์ พึ่งประชา, 2547)
นอกจากนี้ มีงานด้านภาษาศาสตร์ระบุว่า มีผู้พูดภาษากูยในเขตตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผู้พูดภาษาเขมรอาศัยอยู่เช่นกัน ชาวกูยที่นี่จะเรียกตัวเองว่า “กวย” เรียกภาษาที่ตัวเองพูดว่า ภาษากวย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกเขมรส่วยเพราะพูดได้ทั้งภาษากวยและภาษาเขมร คำศัพท์บางคำก็เหมือนภาษาเขมรเหนือ ชาวกวยกลุ่มนี้อพยพมาจากที่ใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่คาดว่าน่าจะอพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีษะเกษ กล่าวกันว่าปู่ ย่า ตา ยาย เดินทางอพยพมาที่จังหวัดสุพรรณบุรีระหว่างสงคราม และตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้านสกุลปักษี ตำบลตลิ่งชัน ในปัจจุบันนี้ยังมีชาวกวยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ ภาษากวยที่พูดในหมู่บ้านหนองบัวก็มีความคล้ายคลึงกับภาษากูยที่หมู่บ้าน สังแก ตำบลแตล อำเภอสิงขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ (เอกรินทร์ พึ่งประชา, 2547)
ในปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กูย ตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาว มีการติดต่อแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชาติพันธุ์ ในด้านวัฒนธรรมจึงเกิดมีการผสมผสาน กลมกลืน และยอมรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน กลุ่มชาติพันธุ์กูยมีการปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกับกลุ่มอื่นได้อย่างดี ดังจะเห็นได้จากข้อมูลประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งมีการโปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองสุรินทร์ใหม่ ๆ นั้น มีคนกูยทั้งเมืองเข้ามามีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร แต่กลุ่มชาติพันธุ์กูยก็ปรับตัวเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์เขมรซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ก่อนและเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่เพียงในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เท่านั้น จังหวัดศรีสะเกษก็เป็นเมืองที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน
Access Point |
---|
No results found. |