2024-01-24 11:02:16
ผู้เข้าชม : 8754

กูย ตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานตอนใต้ตามแนวเขาพนมดงรัก  บริเวณจังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ คนทั่วไปรู้จักชาวกูยในนามกลุ่มคนเลี้ยงช้าง ซึ่งมีหมอช้างเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ "เชือกปะกำ" เพื่อคล้องช้าง นอกจากนี้ยังมีชาวกูยกลุ่มอื่นที่มีความรู้ในการตีเหล็ก การเกษตรกรรม หาของป่า และการจักสาน

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กูย
ชื่อเรียกตนเอง : กูย, กุย, กวย, โกย, โก็ย
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เขมรป่าดง, ส่วย, ข่า, ไทย-กูย, ไท-กวย, ส่วย-ลาว, ส่วย-เขมร, เขมรส่วย
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : กะตูอิก
ภาษาพูด : ภาษากูย
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

กลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในกลุ่มของภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) คำว่า “กูย” ซึ่งอาจกลายเป็นสำเนียงว่า “กุย, กวย, โกย หรือ โก็ย” ก็ได้ คำว่า “กูย”แปลว่า “คน” (ไม่ใช่ผี) และในบางพื้นที่เรียกกลุ่มเดียวกันนี้ว่า “ส่วย” คำว่า “ส่วย” เป็นคำเรียกตามพันธะทางสังคมของคนกลุ่มหนึ่งที่ชำนาญการจับช้างมาฝึกและเลี้ยงช้าง ใช้เรียกตนเองด้วยความเข้าใจว่าเป็นชื่อเรียกตนเองมาแต่เดิมไม่ได้กำหนดจากชาติพันธุ์ เมื่อมีพันธะที่ต้องส่งส่วยแล้วผู้คนในลุ่มแม่น้ำมูนและเทือกเขาพนมดงรักก็ถูกชนชั้นนำสยามเรียกว่า “พวกส่วย” คำว่า “ส่วย” จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกของคนกูยหรือกวย

ถิ่นฐานและประวัติศาสตร์ของชาวกูยนั้น นักวิชาการสรุปได้มีสามแนวทาง ดังนี้

แนวทางแรก เห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชาวกูยคือแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย อีริก ไซเดนฟาเดน นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก รองผู้ตรวจราชการภูธรหัวเมืองอีสาน ระหว่างปี พ.ศ. 2451–2462 ได้ชี้ให้เห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชาวกูยในประเทศไทยอยูบริเวณตอนเหนือของอินเดีย โดยได้อพยพลงมาทางใต้เข้าสู่ประเทศพม่า ถึงบริเวณภาคอีสานของประเทศพม่า จนกระทั่งถึงบริเวณภาคอีสานของประเทศไทยเมื่อประมาณกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

แนวทางที่สอง เห็นว่า ชนชาติที่เรียกว่า “กูย” (กวย) นั้นได้อพยพมาจากเมืองกุยจิ๋ว มณฑลไกวเจา ประเทศจีน

แนวทางที่สาม ถิ่นกำเนิดของชาวกูย ก็คือ บริเวณที่อยู่ของชาวกูยในปัจจุบัน ชาวกูยเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูน เทือกเขาพนมดงที่ตั้งถิ่นอยู่อาศัยในตอนเหนือของกัมพูชา บริเวณเขตแดนอัตตะปือ แสนปาง ประเทศลาว ภาคอีสานตอนใต้และบางบริเวณของภาคตะวันออกของประเทศไทย ปัจจุบันในประเทศไทยสำรวจพบชาวกูยอาศัยอยู่ใน จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดสระแก้ว, จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี

ชาวกูย มักเป็นที่รู้จักกันในนามกลุ่มที่เลี้ยงช้าง ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มย่อยหนึ่งของชาวกูยเท่านั้น ขณะที่ชาวกูยแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง มีความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป เช่น กูยมะไฮ จังหวัดอุบลราชธานี มีความเชื่อเกี่ยวกับศาลผีอาหย๊ะจำนักที่สถิตอยู่บนภูเขาว่าเป็นประตูเปิดเข้าสู่ป่าเป็นการอนุญาตใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ในบริเวณกูยมะโล จังหวัดศรีษะเกษ มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษหรือศาลปู่ตา ในขณะที่กูยมะโลและกูยมะลัวใน จังหวัดสุรินทร์ และ จังหวัดศรีสะเกษ มีความเชื่อเกี่ยวกับตะกวดว่าเป็นสัตว์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นผีบรรพบุรุษผู้คุ้มครองความปลอดภัยแห่งชีวิต และอาจจะมีลักษณะร่วมกันบางประการด้านภาษา ด้านประเพณีการถือผี แต่ชาวกูยเองก็มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองตามพื้นที่เฉพาะแต่ละท้องถิ่น กล่าวคือ ชาวกูยแต่ละท้องถิ่นจะยืนยันอัตลักษณ์ของตนเองตามอัตลักษณ์ของหมู่บ้านและเครือข่ายหมู่บ้านของตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองแตกต่างกับชาวกูยกลุ่มอื่น ๆ

ชาวกูยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อิสระมีบรรพบุรุษเป็นชนพื้นเมืองคนดั้งเดิมในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลักแหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่แขวงอัตตะปือ, จำปาสัก และสาละวัน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนในประเทศไทยอยู่บริเวณจังหวัดมุกดาหารและพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูนและลุ่มแม่น้ำชี (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2564, น. 68) ชาวกูยมีเทคโนโลยีก้าวหน้าในการถลุงแร่และหล่อโลหะผสมที่เรียกว่า “ทองสำริด” นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ชำนาญการจับช้างป่า “โพนช้าง” มาฝึกใช้งานเป็นช้างบ้าน (ธิดา สาระยา, 2535, สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม, ม.ป.พ., น. 208-210 และ สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2564, น. 68)

ในช่วงศตวรรษที่ 20 ชาวกูยได้ทำการส่งทูตเพื่อการติดต่อค้าขายกับอยุธยา ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.1974 (หรือ 1976) ของอยุธยา ได้ระบุชื่อกลุ่มคนต่างชาติในอยุธยา มีคำว่า “กวย” อยู่ด้วย มีฐานะทางสังคมเสมอฝรั่งตะวันตก และจีน, จาม ที่เข้าไปค้าขายมีทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออก รวม 10 กลุ่ม ได้แก่ ฝรั่ง, อังกฤษ, กปิตัน, วิลันดา, คุลา, ชวา, มลายู, แขก, กวย, แกว ในกฎหมายฉบับเดียวกันนี้ยังมีบอกต่อไปอีกว่าชาวต่างประเทศทั้งหลายที่มาค้าขายทางบกทางเรือ จะเห็นว่ามี “กวย” รวมไว้อีก ได้แก่ แขกพราหมณ์, ญวน, ฝรั่ง, อังกฤษ, จีน, จาม, วิลันดา, ชวา, มลายู, กวย, ขอม, พม่า, รามัญ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2564, น. 68 และ 2565, น. 68) จิตร ภูมิศักดิ์ (2524, น. 448) ได้ชี้ให้เห็นว่า “...กวยในครั้งนั้นมีฐานะทางสังคมเป็นชาวต่างประเทศอิสระ มิได้เป็นพวกข้าไพร่ในราชอาณาจักร, หากมีประเทศบ้านเมืองของตนต่างหาก...” แต่เมื่อสภาพทางเศรษฐกิจ-การเมืองเปลี่ยนไปจนกระทั่งมาถึงหลัง พ.ศ. 2325 ชาวกวยถูกเรียกว่า “ส่วย” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2564, น. 68)

ในระหว่างปี พ.ศ. 2199-2231 ชาวกูยได้อพยพจากแสนปางและอัตตะปือ เข้ามาตั้งบ้านเป็นเมืองสำคัญๆ เช่น ศรีขรภูมิ สังขะ รัตนบุรี และในระหว่างปี พ.ศ. 2320-2350 กองทัพไทยที่ไปตีเมืองจำปาสัก เมืองโขง และอัตตะปือ หลังสงครามได้กวาดต้อนเกลี้ยกล่อมเอาพวก “เขมรป่าดง” เข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษเป็นจำนวนมาก เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2320 กวาดต้นได้มาถึงสามหมื่นคน หลังจากนั้นก็ได้กวาดต้อนเกลี้ยกล่อมเอาครัวเขมรป่าดง มาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอีกหลายครั้งจนเกิดเมืองเขมรป่าดงเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเมือง (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 435-436)

ใน “พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ” (2506) ของ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ปลัดมณฑลอุบลราชธานี ได้บันทึกไว้ว่า

“...ครั้งแผ่นดิน...พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (คือเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) ขึ้นครองราชย์... เวลานั้นพระยาช้างเผือก แตกโรงออกจากกรุงไปอยู่ในป่าดงทางตะวันตกแขวงเมืองปาศักดิ์...กรมช้างออกเที่ยวติดตามพระยาช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย แลเลยไปจนถึงดงฟากฝั่งลำน้ำมูลข้างใต้ จึ่งได้ข่าวพระยาช้างเผือกจากพวกเขมร, ส่วยป่าดง คือ ตากะจะแลเชียงขัน ซึ่งตั้งอยู่บ้านประสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนใหญ่ 1 ตาฆะบ้านดงยาง 1 เชียงปุ่มบ้านโคกเมืองที่ 1 เชียงสี บ้านกุดหวาย 1 เปนผู้นำสองพี่น้อง แลไพร่พลไปติดตามพระยาช้างเผือกมาได้ ตากะจะ เชียงขัน เชียงฆะ เชียงปุ่ม เชียงสี ก็ตามสองพี่น้องนำพระยาช้างเผือกกลับคืนไปณกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงโปรดตั้งให้ ตากะจะเปนหลวงแก้วสุวรรณ เชียงขันเปนหลวงปราบ เชียงฆะเปนหลวงเพ็ชร เชียงปุ่มเปนหลวงสุรินทรภักดี เชียงสีเปนหลวงศรีนครเตา ให้ควบคุมพวกเขมรส่วยป่าดงในตำบลบ้านที่ตนอยู่นั้น ๆ ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย พวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้งห้าคนพากันกลับมายังบ้านแห่งตนฝ่ายเมืองพิมาย เห็นว่าบ้านเมืองซึ่งหลวงสุรินทรภักดีเปนนายกองรักษาอยู่นั้นเปนบ้านน้อย จึงให้ยกมาอยู่ณตำบลคูปะทายสมัน ภายหลังพวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้งห้าคนนี้ ได้นำช้าง, ม้า, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง ซึ่งเปนของส่วยไปส่งณกรุงศรีอยุทธยา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เปนพระไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนเปนเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพ็ชร (เชียงฆะ) เปน พระสังฆะบุรีศรีนครอัดจะเจ้าเมือง ยกบ้านโคกอัดจะ (ฤๅบ้านดงยาง) เปนเมืองสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เปนพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมือง ตั้งบ้านคูปะทายเปนเมืองปะทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี) (ฤๅตาพ่อควาน) เปนพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (ฤๅบ้านเมืองเตา) เปนเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย...” (หม่อมอมรวงษ์วิจิตร .2506. น. 198-199)

จากหลักฐานทางโบราณคดีคงไม่เป็นที่สงสัยว่าชาวกูยเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาที่เราต้องสงสัยต่อไปคือชาวกูยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยได้อย่างไร ต่อปัญหานี้มีแนวทางการอธิบายอยู่ 3 แนวทาง (สมหมาย ชินนาค, 2539, น. 48-56) ได้แก่

แนวทางแรกเห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชาวกูยคือแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย อีริก ไซเดนฟาเดน (1952) นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก รองผู้ตรวจราชการภูธรหัวเมืองอีสาน ระหว่างปี พ.ศ. 2451–2462 ได้ชี้ให้เห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชาวกูยในประเทศไทยอยูบริเวณตอนเหนือของอินเดีย โดยได้อพยพลงมาทางใต้เข้าสู่ประเทศพม่า ถึงบริเวณภาคอีสานของประเทศพม่า จนกระทั่งถึงบริเวณภาคอีสานของประเทศไทยเมื่อประมาณกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เช่นเดียวกับ ไพบูลย์ สุนทรารักษ์ (2515, น. 75) ที่เห็นว่า ชาวกูยเป็นเผ่าพันธุ์เขมรดั้งเดิมพวกหนึ่ง เรียกว่า “มุณฑะ” ซึ่งอพยพมาจากอินเดียเมื่อครั้งถูกชนเผ่าอารยันรุกราน โดยอพยพมาทางตะวันออกจนถึงลุ่มแม่น้ำคง (สาละวิน) และแม่น้ำโขงตอนบน พวกที่อพยพไปทางแม่น้ำคงกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวมอญรามัญ ส่วนพวกที่อพยพไปตามแม่น้ำโขง บางกลุ่มก็ไปอาศัยอยู่ตามที่ราบสูงแถบเทือกเขาพนมดงรัก และบางกลุ่มก็อพยพไปจนถึงบริเวณที่ราบต่ำในทะเลสาบใหญ่และชายทะเล ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นบรรพบุรุษของพวกแขมร์หรือเขมรไป ส่วนพวกที่อยู่ตามป่าเขาต่าง ๆ ก็มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันออกไป ได้แก่ ลัวะ ข่า ขมุ ส่วย กวย หรือกูย ชนเหล่านี้มีถิ่นที่อยู่ กระจายอยู่ทั่วไปในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทางตอนใต้ของประเทศจีน ลาว และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ทั้งนี้มักตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามป่าเขา

แนวทางที่สอง เห็นว่า ชนชาติที่เรียกว่า “กูย” (กวย) นั้นได้อพยพมาจากเมืองกุยจิ๋ว มณฑลไกวเจา ประเทศจีน ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักฐานจากการศึกษาเอกสารหลายชิ้นมาประกอบกันโดยเริ่มจากการค้นคว้าความหมายของคำว่า “กุยจิ๋ว” และก็พบคำว่า “กูยจิ๋ว” นี้เป็นภาษาแต๋จิ๋วของมณฑลไกวเจา ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน อาณาเขตทางเหนือติดดกับมณฑลเสฉวน ทางใต้จดกับมณฑลกวางสี และทางตะวันตกจดกับมณฑลยูนนาน ทั้ง 3 มณฑลนี้ เคยเป็นที่อยู่ของคนไทยมาก่อน และในปัจจุบันก็ยังมีคนไทยอยู่ในมณฑลยูนนานเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนไทยสยามประเทศก็ได้ไปมาหาสู่กันบ่อย ๆ (นเรศ นโรปกรณ์, 2525 ; สุนัย ราชภัณฑารักษ์, 2529)

และแนวทางที่สาม นักวิชาการที่เชื่อในแนวทางนี้เห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชาวกูย ก็คือ บริเวณที่อยู่ของชาวกูยในปัจจุบัน ชาวกูยเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูน เทือกเขาพนมดงที่ตั้งถิ่นอยู่อาศัยในตอนเหนือของกัมพูชา บริเวณเขตแดนอัตตะปือ แสนปาง ประเทศลาว จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์และบางบริเวณของภาคตะวันออกของประเทศไทย (Dufusse, 1934 ; เสถียร โกเศศ, 2516; ดำเนิร เลขะกุล, 2529 ; ไพฑูรย์ มีกุศล, 2533 ; บุญยงค์ เกศเทศ, 2536 ; สมทรง บุรุษพัฒน์, 2537 ; สุจิตต์ วงศ์เทศ, 2564)

แม้ว่าการอธิบายถิ่นกำเนิดของชาวกูยจะแตกต่างกัน แต่การศึกษาทั้งสามแนวทางต่างก็ได้ชี้ให้เห็นถึง ถิ่นฐานเดิมครั้งล่าสุดของชาวกูยก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้นก็คือบริเวณตอนใต้ของประเทศลาว ก่อนที่จะอพยพลงทางตอนใต้ของลาวบริเวณแขวงจำปาสัก แขวงอัตตะปือแสนปาง แขวงสาละวัน และอพยพเข้าสู่ภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย

ในงานเขียน “ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย” ของ นายแพทย์ เอ. คารร์, เจ้ากรมพฤษศาสตร์ และ พันตรี อีริค ไชเดนฟาเดน, รองผู้ตรวจราชการตำรวจภูธรหัวเมืองมณฑลีสาน ได้บันทึกการสำรวจทางชาติพันธุ์ชาวกูยในภาคอีสานมีความว่า

“...พวกกุยนี้เป็นพวกที่สำคัญพวกหนึ่ง อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์เป็นจำนวนมาก และยังมีที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอุบลเรื่อยไปจนถึงจังหวัดร้อยเอ็ด พวกกุยมีลักษณะใกล้เขมรมาก แต่ภาษาพูดแตกต่างกันมาก...” (น. 98)

จากนั้นก็พรรณนาถึงการอพยพเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานของชาวกูยว่า

“...พวกกุยเป็นชนที่อยู่มาก่อนในประเทศกัมพูชาและทางตะวันออกของประเทศไทย ความจริงพวกที่อาศัยอยู่ในเขตที่เราเรียกว่าลาวทุกวันนี้ ทางเหนือและทางตะวันออกของประเทศไทยก็คือพวกกุยที่พูดไทยนั่นเอง มีชาวกุยเป็นจำนวนมากที่ยังพูดภาษาของตนเองพวกนี้มีอยู่มาก เรียกว่าพวกลาวส่วยและเขมรส่วย พวกลาวส่วยมักจะมีอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ส่วนพวกเขมรส่วยนั้นอยู่ในจังหวัดสุรินทร์เป็นส่วนมาก พวกลาวส่วยและเขมรส่วยนี้ก็คือพวกกุย ที่กำลังจะเปลี่ยนมาพูดภาษาลาวและภาษาเขมรนั้นเอง แต่ว่าพวกนี้มีวัฒนธรรมที่ต่ำกล่าวพวกลาวและพวกเขมรมาก...” (น. 98)

ส่วนความเชื่อของชาวกูยถูกบันทึกไว้ว่า “...เชื่อถือผีอย่างแน่นแฟ้นเอกอุ...” (น. 98) และบรรยายถึงการยังชีพและการอยู่อาศัยว่า “...อาชีพของพวกนี้คือเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เหมือนพวกเขมร ส่วนบ้านเรือนก็ปลูกอยู่อย่างง่าย ๆ และค่อนข้างจะสกปรกมาก...” (น. 98) จากนั้นก็กล่าวถึงชาวกูยถูกแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ว่า “...พวกกุยแบ่งออกเป็นเหล่า ๆ เหล่าเดียวกันมักมีความเชื่อถืออย่างเดียวกัน เหล่าที่ใหญ่มากได้แก่พวกมโลและมเลา เหล่าที่เรียกว่า พวกกุลมไล มีชื่อว่าเก่งในการจับช้างมาก...” (น. 98) และท้ายสุดคือลักษณะเฉพาะตัว รูปร่างหน้าตาของชาวกูยอย่างละเอียดว่า “...พวกกุยเป็นชาติที่มีผิวพรรณดำ แต่ก็ยังเผือดกว่าพวกโส้เล็กน้อย บางคนก็เห็นได้ชัดว่ามีเลือดนิกริโตผสม ด้วยเหตุที่มีผมหงิกหยองเป็นเงาะ ในเหล่าหนึ่ง ๆ มักจะมีอะไรที่แตกต่างทำให้ดูออกว่าเป็นคนละเหล่า หญิงสาวชาวลาวส่วยในจังหวัดศรีสะเกษที่มีผิวขาวนวลและหน้าตาหมดจดก็มีมาก...” (น. 99)

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2447 [1904] ปรากฎความเรียง “ว่าด้วยแม่น้ำมูลแลเมืองตวันออก” เขียนโดย พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ในวารสารสยามสมาคม (The Journal of the Siam Society-JSS) ได้พรรณนาถึงสภาพภูมิประเทศ และลักษณะเฉพาะตัวของชาวกูยบริเวณลุ่มแม่น้ำมูนและชีว่า “...ราษฎรในประเทศนั้น ในบัตยุบันนี้ มีคนชาติไทย ลาว แลชาติส่วยที่เรียกว่าเขมรป่าดงปนกัน... พวกส่วยนั้นเปนคนดำซึ่งข้าพเจ้าเหนว่าเปนคนพื้นเดิมของถิ่นประเทศนี้ แต่พวกไทยนั้นพึ่งจะแผ่แพร่หลายลงมาใหม่ภายใน 200 ปีมานี้...” (น. 177) ส่วนภาษาของชาวกูยก็ถูกเทียบว่า

“...ส่วยกับไทยนั้นเภทภาษาก็ต่างกัน ภาษาส่วยนั้นถ้อยคำเจือในจำพวกขอมโบราณ เช่น เขมร ขมุมอญ แลข่าต่างๆ... ฝ่ายพวกส่วยนั้นภาษาเปลี่ยนแปลงมาปนภาษาไทยโดยมากภาษาเดิมก็ออกจะบกพร่องกลายไปเหมือนกัน เพราะฉนั้นภาษาส่วยกับภาษาเขมรจึ่งพูดกันไม่ใคร่เข้าใจกัน...” (น. 178)

จากนั้นก็กล่าวการจำแนกชาติพันธุ์ของชาวกูยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ด้วยเกณฑ์บางอย่างว่า

“...ในหมู่พวกส่วยเองก็แยกกันเปนหลายหมู่หลายเหล่ามีนามต่างๆ กัน คือ ส่วยพะสุ ส่วยสุโก ส่วยเยอ ส่วยปะทาย ส่วยสำแร ส่วยเกาะ ส่วยกระลอ ส่วยพัน แลยังมีส่วยอื่นที่จำชื่อไม่ได้อิกหลายเหล่าในเหล่าหนึ่งก็มีสำเนียงไปอย่างหนึ่งแลมีถ้อยคำที่แปล่งแปลกกันออกไปบ้าง...” (น. 178)

ไปจนถึงทักษะการเลี้ยงชีพว่า

“...พวกส่วยมักชำนาญป่าดง ทำไร่ ตัดไม้ คล้องช้าง จับสัตว์ป่า แลอื่นๆ ...” (น. 178)และสุดท้ายก็คือการพรรณนาถึงสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยว่า “...ที่อยู่ของพวกส่วยมักชอบอยู่ใกล้ดงแลปลายห้วยน้ำทับทัน น้ำสำราญ และน้ำอื่นๆ...” (พระยาประชากิจกรจักร, 2447. น. 178)

ชาวกูยจัดเป็นกลุ่มเลือดผสมระหว่างเวดดิด (Weddid ProtoAustralian) กับเมลาเนเซียน(Melanesian) คือ ในชั้นต้นเป็นพวกเวดดิดก่อนแล้วจึงถูกผสมโดยสายพวกที่อพยพไปยังชวา (เอ. คาร์ และ อี. ไซเดนฟาเดน, 2524, น. 25) ลักษณะหน้าตาและเรือนร่างของชาวกูยมีปะปนกันทั้งแบบเนกริโต (Negrito) หรือ เมลาเนเซียน (Melanesian) ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบพวกเซมัง (Semang) หรือเงาะ คือ ผมดกหยิกหยอง จมูกบาน ริมฝี ปากหนา ผิวดำมืด มีทั้งแบบอารยัน (Arayan) คือ จมูกโด่งเป็นสันสูง หน้าผากสูง ปากเล็ก (แต่พบน้อย) มีทั้งแบบเวดดิด-อินโดนีเชียน (Weddid-Indonesian) คือ ผิวขาว หัวยาว แต่ที่มีมากที่สุดเป็นส่วนใหญ่ทีเดียวนั้น คือ แบบออสโตรเอเชียน (Austro-Asian) คือ แบบมอญ-เขมร ซึ่งมีร่างกายใหญ่ ไหล่กว้างเป็นเหลี่ยม ภาษาที่พูดส่วนใหญ่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร มีคำที่คล้ายคลึงกบมอญและเขมรบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นคำของตนเอง (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519, น. 433)

ชาวกูยจะกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดอีสานตอนใต้ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ความยาว 544 กิโลเมตร อันเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ที่ทอดยาวจากจังหวัดอุบลราชธานี ผ่านศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ออกไปทาง อำเภอตาพระยา และอำเภออรัญประเทศจังหวัดสระแก้ว (สมคิด และคณะ, 2546, น. 25) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเป็นเส้นทางการอพยอของชาวกูยมาจากตอนใต้ของลาว ชาวกูยจะอาศัยกันมากทางฝั่งใต้แม่น้ำมูนลงมา จังหวัดที่มีชาวกูยอาศัยอยู่อยางหนาแน่นที่สุด คือ จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษ (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2537, น. 2-3) ส่วนใหญ่อาศัยปะปนอยู่ในชุมชนกับชาวเขมรและชาวลาว ต่อมามีการสั่งสมประสบการณ์ร่วมกัน มีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม และปัจจุบันนี้กลายเป็นพื้นที่วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานใต้ที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับชาวกูยในประเทศไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำมูนและเทือกเขาพนมดงรักแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม (ไพฑรูย์ มีกุศล, 2542, น. 95) ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง กูยมะไฮ (Kui M’ai) อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเขาที่อยู่โดยรอบบริเวณริมแม่น้ำโขง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีที่ติดกับพรมแดนลาว กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “บลู” หรือ “บรู” อันหมายถึง คนที่อาศัยอยู่ตามภูเขา นอกจากนี้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าบลูนี้ยังมีอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

กลุ่มที่สอง กูยมะโล (Kui M’lo) ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดศรีสะเกษ

กลุ่มที่สาม กูยเยอ หรือ โย (Kui Yer,Yo) ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดศรีสะเกษ

กลุ่มที่สี่ กูยมะลัว หรือมะหลั่ว (Kui M’loa) ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษกับสุรินทร์

และกลุ่มที่ห้า กูยอาเจียง หรือ กูยอะจีง ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอท่าตูม, อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญในการจับช้าง หรือ “โพนช้าง” ในป่ามาฝึกเป็นช้างบ้านเพื่อใช้งาน และยังพบชาวกูยอาศัยอยู่ในบางบริเวณพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, นครราชสีมา,สระแก้ว, ปราจีนบุรี และสุพรรณบุรี อีกด้วย (บัญญัติ สาลี, 2558, น. 34)

นอกจากนี้ ยังพบชาวกูยที่เรียกตนเองว่า “กูยปรือใหญ่” (Kuiprue: jai) ในหมู่บ้านของตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่อพยพมาจากกัมพูชา จากบริเวณมะลูไปร (มโนไพร, มะลูเปร) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสตึงเตรง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกำปงธมและเมืองกำปงสวายของกัมพูชา (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุจังหวัดศรีสะเกษ, 2542, น. 32) ปัจจุบันชาวกูยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 422,000 คน

ศรีศักร วัลลิโภดม (2545, น. 291) ได้ชี้ให้เห็นว่า บริเวณทั้งสองฝั่งแม่น้ำมูนได้พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จนถึงตอนปลายมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง การตั้งชุมชนสมัยแรกเกิดขึ้นในบริเวณนี้ และน่าจะสัมพันธ์กับการปลูกข้าว และปัจจุบันนี้ ยังพบกลุ่มชาติพันธุ์กูยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำมูนขึ้นไปจนถึงเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบกับพื้นที่มีสายน้ำ ในลำห้วยจำนวนมากได้ช่วยหล่อเลี้ยงสิ่งแวดล้อมรอบด้าน จึงเป็นแรงผลักดันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ยึดเป็นพื้นที่อาศัยและตั้งหลักแหล่งมานาน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กูย ชาวกูยจะอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม ๆ มีสําเนียงพูดแตกต่างกัน กลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับชาติพันธุ์ไทยอีสานก็จะมีสำเนียงเป็นอย่างหนึ่ง เช่น ชาวกูยที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเขต จะถูกเรียกว่า “ลาวส่วย” และกลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเขมรถิ่นไทยในจังหวัดสุรินทร์ จะถูกเรียกว่า “เขมรส่วย” (Seidenfaden, 1952, p. 163) มีรูปแบบการจัดกลุ่มเพื่อการดำรงชีพตามลักษณะสภาพพื้นภูมิแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ เนื่องจากชาวกูยตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับชาวเขมรและชาวลาว จึงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกัน ทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรและลาว เช่น ในปี พ.ศ. 2450 จังหวัดศรีสะเกษเป็นเมืองที่มีชาวกูยอาศัยเป็นจำนวนมากและมีลาวเวียงจันปะปนอยู่บางหมู่บ้าน แต่วัฒนธรรมลาวได้เข้ามามีอิทธิพลในหมู่ชาวกูย จึงทำให้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ชาวกูยศรีสะเกษจะพูดภาษาลาวด้วยสำเนียงกูยโดยใช้สระเอือ ในขณะที่ลาวเวียงจันมีแต่สระเอีย ร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าศรีสะเกษเดิมเป็นเมืองชาวกูยที่อาศัยกันอยู่ทั้งเมือง ก็คือ ตัวเลขสำมะโนครัวในสมัยนั้นและการเรียกขานชาวศรีสะเกษว่า “ส่วยศรีสะเกษ” จนถึงทุกวันนี้ (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 433-435 ; สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538, น. 7)

อย่างไรก็ตาม ชาวกูยที่ตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ อันเป็น “ชุมทางชาติพันธุ์” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ชาวกูยเป็นสิ่งที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลผลิตของการปรับเปลี่ยนต่อรองและช่วงชิง และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คลี่คลายมาควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ความเป็นตัวตนทางชาติพันธุ์กูยทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับกลุ่มไม่ใช่สิ่งที่หลงเหลือตกทอดจากอดีตเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องต่อรองสร้างสรรค์ เลือกรับและปรับใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ในปัจจุบันมีชาวกูยที่ตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี, อำเภอขุนหาญ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอห้วยทับทัน อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอปรางค์กู่ อำเภอน้ำเกลียง อำเภอขุขันธ์ อำเภอราษีไศล และอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ, อำเภอจอมพระ อำเภอท่าตูม อำเภอสำโรงทาบ อำเภอรัตนบุรี อำเภอลำดวน อำเภอสังขะ อำเภอสนม อำเภอศีขรภูมิ อำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์, อำเภอคูเมือง อำเภอสตึก อำเภอหนองหงษ์ อำเภอลำปลายมาศ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์, อำเภอยางสีสุราช, อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

การดำรงชีพ

ชาวกูยดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตัวเองและธรรมชาติเป็นหลัก ขยัน รักพวกพ้องและมีน้ำใจให้ความร่วมมือร่วมใจอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องแบ่งปันตามที่มี มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน ชาวกูยโดยทั่วไปถ้าแบ่งตามการประกอบอาชีพจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม (ธนานนท์ ลาโพธิ์, 2559, น. 16) คือ

1. กูยตีเหล็ก มีวิถีชีวิตผูกพันกับการใช้แร่เหล็กและตีเหล็กสืบทอดกันมา ทำเป็นมีด จอบ เสียม เคียว ในอดีตชาวกูยบ้านตะดอบ บ้านโนนแย้ อำเภอเมืองศรีษะเกษ บ้านกอย อำเภอราษีไศล บ้านตะเคียน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ จะเดินทางเป็นคณะประมาณ 5-7 คน ออกไปตีเหล็กตามจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานและภาคกลางในช่วงหน้าแล้ง ภาษากูยเรียกว่า “ไปเข่น” (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542, น. 138) ปัจจุบันยังเหลือชาวกูยตีเหล็กแบบพื้นบ้านเหลืออยู่จำนวน 3 ตำบล คือ 1) ตำบลหญ้าปล้อง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ 2) ตำบลตะดอบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ และ 3) ตำบลตะเคียน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (สันติ บุตรไชย, 2554, น. 2)

2. กูยช้าง หรือที่รู้จักในนาม “กูยอะจีง” จะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกว่า “โพนช้าง” เป็นการจับช้างโดยหมอช้าง ใช้บ่วงมาศที่เรียกว่า “เชือกปะกำา” ทำาจากหนังควายถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์คล้องเท้า ช้างแล้วผูกกับต้นไม้ และนำามาฝึกใช้งานในการคล้องช้างกระทำาปีละครั้ง ราวเดือน 11-12 (บัญญัติ สาลี่, 2558, น.43)

3. กูยเกษตรกรรมหรือหาของป่า ซึ่งเรียกตัวเองว่า “กวยเปาะ” หรือกวยเดิน (นิตยา บวทอง, 2548, น. 25) ชาวกูยกลุ่มนี้จะมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสภาพแวดล้อมทางธรรมธรรมชาติและถิ่นที่อยู่อาศัย ดังที่ตํานาน (มะนายกูย) ตอนหนึ่งว่า “...จัดโถง โผงผัน มาชันโวย พันบอง กุกอีถวง อีถวง กลองแยะ แพะโดยเหลียจีปจโขงขัล...” ที่บ่งบอกถึงการดำรงชีพด้วยการใช้ไม้มาทำเป็นคันไถนาในการปลูกข้าว (จีปจโขงขัล แปลว่า ออกไปหาตัดไม้ในป่ามาทำเป็นคันไถนา) และปัจจุบันนการทำนาก็เป็นอาชีพหลักที่สำคัญของชาวกูย (วิลาศ โพธิสาร, 2552, น. 42)

ในปัจจุบันของชาวกูยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกข้าวนาปีเป็นอาชีพหลัก อาชีพรอง ได้แก่ เปิดร้านขายของชำ ตีเหล็ก ทอผ้าไหม ทำสวนยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกต้นยูคาลิปตัส ปลูกอ้อย เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ เป็นต้น และรับจ้างทั่วไประหว่างช่วงที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร หรือช่วงฤดูร้อนที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ เช่น รับจ้างเก็บพริก หอม กระเทียม ตัดอ้อย ซึ่งเป็นการทำงานรับจ้างชั่วคราวในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม (ชนาธิป พรมมี, 2560, น. 26-29 และพรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 47) มีทั้งรับจ้างในหมู่บ้าน และนอกหมู่บ้านจะมีรถมารับส่งชาวบ้านจำนวนมากไปทำงาน เช่น ในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ชาวกูยในตำบลตูม อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ จะเดินทางไปรับจ้างตัดอ้อยในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม นครสวรรค์ กาญจนบุรี สระแก้ว โดยมีนายหน้าหรือหัวหน้าสายนำรถมารับถึงหมู่บ้าน (อุบล สวัสดิ์ผล, 2558, น. 41) นอกจากนี้ แรงงานวัยหนุ่มสาวก็จะเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม และบริการที่มีอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ระยอง ชลบุรี นครปฐม สมุทรปราการ เป็นต้น (อุบล สวัสดิ์ผล, 2558, น. 41)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ในปัจจุบันชาวกูยนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ยังนับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษกระทั้งทุกวันนี้ กล่าวคือ ชาวกูยมีความเชื่อผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและผี ในหมู่บ้านของชาวกูยจะมีทั้งวัด และศาลผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นหลักบ้าน หลักเมือง อันเป็นเสมือนผีเจ้าที่ที่ค่อยปกปักรักษาหมู่บ้าน

“ยะจูฮ์” หรือ “ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน” การบูชาผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “ยะจูฮ์” บนบ้านจะมีหิ้งบูชาผี มีธูปเทียน กรวยที่ทำจากใบตองหรือใบตาล ซึ่งเรียกว่า “ครู” ทุกคนที่เป็นชาวกูยจะต้องมีครู ชาวกูยจะไหว้ผีบรรพบุรุษปีละครั้ง เริ่มพิธีด้วยการนำเอาข้าสุก เหล้า เนื้อสัตว์ กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าวสุกแล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองรักษาครอบครัวให้เจริญรุ่งเรือง ในระดับชุมชนชาวกูยจะมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน เรียกว่า “เหรียนยะจูฮ์” เป็นศาลประจำหมู่บ้าน จะสร้างสัญลักษณ์ด้วยแกะเป็นรูปหน้าคนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ทำพิธีเซ่นไหว้หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรประมาณเดือน 3 ประเพณีการเซ่นไหว้ยะจูฮ์ของชาวกูยทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม และจะต้องนำหัวไก่ไปเพื่อทำการทำนายการทำเกษตรกรรม และกิจการครอบครัวในปีนั้นจะเป็นอย่างไร (บัญญัติ สาลี, 2558, น. 40-41)

“ผีเรือน” เป็นผีบรรพบุรุษ เรียกว่า กะโม๊ยดุง จะถูกวางอยู่บนหิ้งพระในขันกะหยอง (พานดอกไม้สานด้วยไม้ไผ่) มีหน้าที่ปกปักรักษาคนในเรือนให้อยู่เย็นเป็นสุข และคอยกำกับให้ลูกหลานมีความประพฤติถูกทำนองคลองธรรม การล่วงละเมิดต่อผีเรือนถือว่าเป็นการผิดผี เมื่อทำผิดจะต้องมีการขอขมาผีเรือน เรียกว่า เสียผี การขอขมานี้ มักจะใช้ของเซ่นไหว้ ได้แก่ เหล้าไห ไก่ 1 ตัว ขันห้า ขันแปด และเครื่องประกอบอื่น ๆ แล้วแต่จะกำหนดไปตามความผิดที่ได้กระทำ คล้ายกับความเชื่อเรื่องผีเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ (ธนานนท์ ลาโพธิ์, 2559, น. 19)

“ผีสะเอิง” ถือเป็นผีปู่ ย่า ตา ยาย เป็นผีบรรพบุรุษประจำสายตระกูล ชาวกูยเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษแต่ครั้งอดีตเมื่อตายไปจะคอยดูแลรักษาลูกหลานในสายตระกูลให้อยู่ดีมีสุข แต่สามารถทำให้ลูกหลานเจ็บป่วยได้เมื่อทำผิดจารีตประเพณี (ฮีต) ทั้งนี้ ลูกหลานจะทำหิ้งให้ผีสะเอิงได้อยู่อาศัย ผีสะเอิง อาจเรียกว่า ผีแม่สะเอิง ผีแม่สะเอง ส่วนพิธีเลี้ยงผีสะเอิง เรียกว่า แกลสะเอิง แกลสะเอง (แกล หมายถึง เล่น) สะเอิง เป็นภาษากูย หมายถึง ครกดินเผา ครกเป็นเครื่องประกอบพิธีสำคัญในพิธีเลี้ยงผีสะเอิง มีเรื่องเล่าความเป็นมาของผีสะเอิงว่า ในสมัยก่อนผีสะเอิงเคยเป็นผีที่อยู่ดูแลรักษาช้าง กระทั่งวันหนึ่งช้างลงเล่นน้ำในหนองทำให้น้ำขุ่น ชาวบ้านไม่พอใจจึงไปดุด่าว่าช้างทำให้ผีที่ดูแลรักษาช้างโกรธ จึงมาทำให้คนเจ็บป่วย เมื่อชาวบ้านไปดูมอ (หมอดู) ก็พบว่า ผีมาทำให้เจ็บป่วย ฉะนั้น คนผู้นั้นต้องเลิกดุด่าว่าช้างและให้รับนับถือผีไว้ ชาวบ้านจึงรับผี สะเอิงไว้และได้บนบานกับผีว่า ถ้าทำให้ตนหายป่วยจะจัดพิธีเลี้ยงให้ในช่วงเดือน 3-6 จากนั้นผีซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “ของรักษา” ก็มาอยู่กับตนและตกทอดมาจนปัจจุบัน (พรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 56)

“ผีปะกำ” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่กูยอะจีงเคารพนับถือและเปรียบเสมือนศาสนาสูงสุด คําว่า “ปะกำ” เป็นคำที่กูยอะจีงใช้เรียกเชือกหรือบ่วงบาศที่ใช้ในการออกไปคล้องช้าง ซึ่งทำมาจากหนังควาย โดยเป็นการนําหนังควายสดมาแล่ออกเป็นริ้ว ๆ แล้วปั้นให้เป็นเกลียวจำนวน 3 เส้นแล้วนำมามัดรวมกัน จากนั้นจึงนำไปทำพิธีสวดบรรจุ โดยการสวดอันเชิญวิญญาณจะเป็นการสวดอันเชิญวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เคยเป็นหมอช้าง และ“พระครู” ผู้ที่เป็นบรมครูช้างให้เข้าไปอยู่ในเชือก และเมื่อนำเชือกขึ้นไปอยู่บนศาลก็จะเรียกว่า “ศาลปะกำ”เปรียบเสมือนเทวาลัยถือเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของกูยอะจีงนิยมปลูกสร้างไว้ในชุมชน คุ้มบ้าน หรือที่บ้านของทายาทฝ่ายบิดามีลักษณะเป็นเรือนไม้คล้ายหอสูง มีเสาสี่ต้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ ณ ตำแหน่งที่เงาบ้านไม่ตกทับตัวศาลและเงาศาลไม่ตกต้องตัวบ้าน กูยอะจีงเชื่อว่าหากจะทำกิจการอันใดจะต้องมีการทำพิธีเซ่นไหว้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพาช้างออกไปเที่ยว บวชนาค การแต่งงาน หรือการไปสู่ขอหญิงสาวในครอบครัวที่มีการนับถือผีปะกำก็จำเป็นที่จะต้องเซ่นผีปะกำก่อน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงพิธีกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวกูยอะจีง ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการขอพรผีปะกำเพื่อความเป็นสิริมงคล และเสี่ยงทายผลที่จะเกิดขึ้นจากการเซ่นปะกำครั้งนั้น ๆ ในการเซ่นผีปะกำจะกระทำโดยหมอช้างอาวุโส เจ้าของบ้าน และญาติพี่น้องจะนำของเซ่นไหว้ไปยังศาลปะกำ ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ เหล้า และไก่ต้ม โดยในการทำพิธีเซ่นไหว้จะใช้ภาษาผีปะกำหรือภาษาป่าในการประกอบพิธีกรรม เพราะมีความเชื่อว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ที่จะสามารถสื่อสารกับผีปะกำได้ (ธณัฐดา ศรศักดิ์, 2563, น. 78-79)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ชาวกูยมีประเพณีและพิธีกรรมส่วนใหญ่แล้วจะผูกโยงเข้ากับพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมคือการนับถือผี ประเพณีและพิธีกรรมของชาวกูยที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาส่วนใหญ่พบว่าเป็นพิธีการอันเป็นพื้นฐานตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน อันได้แก่ (พรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 59-64 และ(ธณัฐดา ศรศักดิ์, 2563, น. 80)

ประเพณีแซนเหลียน (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) เหลียน คือ ลานนวดข้าว เมื่อชาวกูยนำข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางแล้ว ก็จะมีการเซ่นไหว้ลาน (การแซนเหลียน) เพื่อบอกกล่าวแก่พระแม่ธรณี พระแม่โพสพ เทวดาอารักษ์ ผีไร่ ผีนา ให้ทราบและขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลอยู่เย็นเป็นสุขแก่ครอบครัว และเป็นการทํานายถึงฤดูกาลในปีต่อไปว่าผลผลิตจะดีขึ้นหรือไม่

ประเพณีแซนหลาว (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) แซนลาว คือ การเซ่นยุ้งฉาง เมื่อนำข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางแล้วก็จะเอาใบคูณ ใบยอเสียบตามเสายุ้งฉางด้านใน (ให้ค่ำคูน ให้ยก ให้ยอขึ้น) ก่อนจะนำข้าวออกมาสีหรือ
จำหน่ายจ่ายแจก จะต้องมีการเซ่นไหว้ยุ้งฉางก่อนจึงจะเอาข้าวเปลือกลงจากยุ้งฉางได้

ประเพณีเซนญะจู๊ฮ (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) เป็นประเพณีเซ่นปู่ตา หรือภาษากูยเรียกอีกอย่างว่า “แซนเผาะหญะ” ชาวกูยมีความเชื่อว่าก่อนที่จะทำการมงคลหรือการทำไร่ทำนา ต้องดูกำหนดวัน เดือน ปี ฤกษ์งามยามดี เพื่อมาประกอบพิธีหรือทำการมงคลต่างๆ ประเพณีการเซ่นไหว้ดังกล่าวนี้จะมีปีละ 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันเซ่นไหว้เบิกวัน-เบิกเดือน-เบิกปี หรือภาษกูยเรียกว่า “แซนเบอะตะงัย-เบอะกะซัย-เบอะกะมอ” ทำการเซ่นไหว้ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ชาวกูยจะนําเครื่องเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน หลังจากเซ่นไหว้เสร็จก็ให้ลูกหลานเอาปุ๋ยคอกหาบไปเทตามที่นาหรือแปลงกล้า พอตกกลางคืนก็จะมีการจับกลุ่มกันเพื่อรอฟังเสียงคล้ายฟ้าร้อง หรือความเชื่อของชาวกูย คือ เทพเจ้าเปิดประตูโลก ชาวบ้านก็จะนำเสียงที่ได้ยินมาจากทิศทางใดมาทำนายดูว่าเกณฑ์ชะตาในแต่ละปีนั้นๆ จะดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นประเพณีของชาวกูยที่มีมาตั้งแต่โบราณ

ครั้งที่ 2การเซ่นไหว้ลงนา หรือภาษากูยเรียกว่า “แซน แซง แซ” เป็นการเซ่นไหว้บอกกล่าวพระภูมิเจ้าที่พระแม่ธรณีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ปกปักรักษาพื้นที่นาให้ช่วยปกป้องคุ้มครองดูแลรักษาข้าวในนาให้งอกงามและขอพรต่าง ๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของนา

ครั้งที่ 3 การเซ่นไหว้ข้าวใหม่ปลามัน หรือภาษากูยเรียกว่า “แซน ซอ กะมัย-อากา แชง” หลังจากที่เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในนา ซึ่งอยู่ในช่วงที่ปลาเริ่มมีมันและมีรสชาติอร่อย แต่ก่อนจะทำพิธีเซ่นไหว้ในช่วงขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี แต่เนื่องจากฤดูกาลเปลี่ยนแปลงข้าวในนาสุกเร็วขึ้น ชาวกูยจึงมีการแก้ไขให้มีการเซ่นไหว้ในช่วงแรม 8 ค่ำ เดือน 11 เพื่อให้ทันข้าวใหม่จริงๆ เป็นการเซ่นไหว้บอกกล่าวว่าปีนี้การทำนาได้ประสบผลสำเร็จและได้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ดีทุกอย่าง ประเพณีการเซ่นไหว้ปู่ตา เครื่องเซ่นไหว้ก็จะประกอบด้วย ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ขวด น้ำหวาน 1 ขวด และอาหารคาวหวาน

บุญข้าวจี่ (เดือน 3) หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว นําข้าวเปลือกขึ้นเล้าขึ้นฉางเสร็จ ชาวกูยก็จะจัด
บุญข้าวจี่ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทำบุญบ้าน”) โดยจะนำข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วปันติดกันเป็นก้อนแล้ว “อัง” หรือ จี่ไฟ หรือ บุ๊โดย (ภาษากูย) ให้สุกอีกทีหนึ่ง ชาวบ้านจะร่วมกันทำที่หมู่บ้านหรือไปร่วมกันทำที่วัด เสร็จแล้วนำถวายให้พระภิกษุและสามเณรได้ฉันพร้อมกับอาหารคาวหวาน

บุญพระเวสสันดรชาดก หรือ บุญเทศน์มหาชาติ (เดือน 4) ชาวบ้านจะพากันไปเชิญพระเวสสันดร ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ จากนั้นนำพระเวสสันดร นางมัทรี พร้อมด้วยกัญหาชาลี ขึ้นบนหลังช้าง ตั้งขบวนแห่เข้าสู่เมืองหรือวัด มีการยกธงหรือตุงแปดทิศ เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะเข้ามา หลังจากนั้นช่วงเย็นจะมีการเจริญพระพุทธมนต์เย็น รุ่งเช้าวันถัดไปเป็นวันฟังเทศน์ และวันรุ่งเช้าวันถัดมาก็จะมีการทำบุญตักบาตร ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมเป็นเสร็จพิธี

ประเพณีสงกรานต์ (เดือน 5) ชาวบ้านจะออกมารวมกันที่วัดจากนั้นก็จะพากันขนทรายมากองเพื่อทำเป็นเจดีย์ทราย พอกองเจดีย์ทรายเสร็จเวลา ชาวบ้านจะนำน้ำหอมน้ำขมิ้นออกมาที่วัดแล้วอันเชิญพระพุทธรูปลงจากศาลาการเปรียญมาประดิษฐานที่กลางลานวัด ชาวบ้านก็นำน้ำหอมน้ำขมิ้นที่นำมาจากบ้านสรงน้ำพระพุทธรูป

ประเพณีแซนแซงแซ (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6) เมื่อถึงฤดูเริ่มลงทำนา ชาวกูยจะมีประเพณีแซนแซงแซเพื่อบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาอารักษ์ เจ้าที่ที่นา ที่ไร่ให้รับทราบว่าได้ลงไร่ ลงนาตามฤดูกาล ขอให้อำนวยอวยพรให้ลูกหลานทำไร่ ทำนาอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต ครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญ เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ขวด น้ำขมิ้น 1 ขัน ขันธ์ 5 ขันธ์ 8 ดอกไม้ ธูป เทียน ข้าวเปล่า 1 จาน น้ำพริก 1 ถ้วย น้ำส้ม 1 ขวด ผลไม้ ขนม น้ำสะอาด เมื่อเซ่นไหว้เสร็จก็จะมีการขอดูคางไก่ เป็นการทํานายผลผลิตที่กำลังจะลงมือปักดำ

เข้าพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8)ชาวบ้านก็จะนําต้นเทียนและผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระสงฆ์

แซนซ๊ากชาวกูย (เดือน ๑๐) จะทำช่วงเดือน ๑๐ ขึ้น 15 ค่ำ เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ให้กับบรรพบุรุษและญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านจะเตรียมของเครื่องเซ่นไหว้เอาไว้หนึ่งวัน เช่น การห่อข้าวต้ม ต้องเตรียมข้าวเหนียว ใบตอง ใบมะพร้าว ลูกมะพร้าว กล้วยสุก และของอื่นๆ อีกที่ต้องการใส่ สวนผลไม้ส่วนมากจะซื้อมาจากตลาด เช่น ส้ม ชมพู่ ส้มโอ และหมากพลู ส่วนเครื่องเซ่นไหว้จะมี ไก่ต้ม ปลาย่าง หมูย่าง ขนมกระยาสาทร เหล้า เบียร์ น้ำส้ม สาโท เมื่อเตรียมของเซ่นไหว้ครบแล้ว ตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวกูยจะเอาเครื่องเซ่นไหววางลงในกระด้งหรือผ้าขาวเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ ลูกหลานจุดธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม เพื่อถวายข้าวพระพุทธรูป จากนั้นลูกหลานก็จะจุดธูปคนละ 1 ดอก เพื่อบอกกล่าวดวงวิญญาณ ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้ล่วงลับไปแล้วให้รับ/กินเครื่องเซ่นไหว้ โดยจะมีคําพูดบอกกล่าวเป็นภาษากูยว่า “เจาเด้อ นุเฒา แมะเฒา เจาจา เจาหงวก อาปี อาปา อามาด อาหยี่ เจา เย้อ” ลูกหลานก็จะรินเหล้า รินเบียร์ เครื่องดื่มทุกชนิดเพื่อให้ดวงวิญญาณมากิน เมื่อกินเสร็จแล้วมีหมากมีพลูกินต่อ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วกรวดน้ำเป็นเสร็จพิธี ต่อจากนั้นลูกหลานก็จะไปทำบุญที่วัดอีก ด้วยการห่อข้าวสากเพื่อไปอุทิศให้แก่เปรต อสุรกาย วิญญาณที่ไม่มีญาติ อุทิศส่วนกุศลไปให้ วัสดุที่ใช้คือ ใบตองห่อยาว ปลาแห้ง เนื้อย่าง หมูนึ่ง ไก่ย่าง ขนมเทียน ข้าวต้ม หมากพลู บุหรี่ กล้วย และผลไม้อื่นๆ เกลือ พริกแห้ง การประกอบพิธีจะทำอยู่ที่วัด โดยชาวบ้านจะนำห่อข้าวสากมาใส่ไว้ในตะกร้าใหญ่ (เตาะ) ที่ทางวัดจัดเอาไว้ให้ ทำพิธีจุดธูปเทียนบอกกล่าว แล้วนิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์และญาติโยมกรวดน้ำอุทิศให้เป็นเสร็จพิธี ชาวกูยจะนิยมนำห่อข้าวสากไปไว้ตามมุมคันนา เพราะมีความเชื่อว่า ข้าวที่เป็นโรคหรือแมลงลงก็จะหายไป

ออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ก่อนออกพรรษาชาวกูยก็จะมีการร่วมกลุ่มกันเพื่อเตรียมไปเล่น “แกลนหลอน” อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมมี ฉิ่ง ฉาบ พิณ แคน กลองยาว ร้องเพลงสด และเต้นรำตามทำนองเพลงที่เปิด ผู้นำชุมชนก็จะมีการจัดเตรียมต้นดอกผึ้ง ต้นปราสาทผึ้ง (อะตะ) ต้นดอกผึ้งจะใช้ผลมะพร้าวผ่าเปลือก 2 ข้าง ใช้ไม้ไผ่เสียบพร้อมเงินและอีกอย่างก็ใช้กิ่งมะขามที่ชูยอดต้นที่สวยที่สุดมาทำต้นดอกผึ้งประดับด้วยกระดาษย่นพร้อมเงิน ดินสอ สมุด ปากกา สบู่ ผงซักฟอก ต้นปราสาทผึ้งประดับด้วยกระดาษย่น ลักษณะคล้ายทอดกฐิน มีการใส่ข้าวสาร ขิง ข่า ลูกมะพร้าว ฝักทอง มะละกอ พริก กระเทียม ที่เหลือจะใส่เหมือนต้นดอกผึ้ง สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ข้าวเม่า

บุญข้าวใหม่ปลามัน (เดือน 11) บุญข้าวใหม่ปลามัน เป็นบุญที่ชาวกูยทำกันมาต่อเนื่องจากในช่วงเดือนหกที่ชาวบ้านได้ทำนา (หวัวแซ-ซอโดย) เสร็จแล้ว เมื่อถึงเดือน 11 ทุกปีก็จะมีการจัดทำบุญข้าว
ใหม่ปลามันขึ้นหลังจากออกพรรษาแล้ว โดยผู้นำจะกำหนดวันในช่วงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 ของ
ทุกปี วัตถุประสงค์เพื่อเลี้ยงปู่ตา เทวดาฟ้าดิน แม่โพสพ ที่คุ้มครองลูกหลานเพื่อให้ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์

บุญกฐิน (เดือน 12) จะมีการทำบุญทอดกฐิน ระยะเวลาการทอดกฐินในแต่ละปีเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐิน เมื่อพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษาแลวชาวพุทธในชุมชนชาวกูยจะนิยมทำบุญทอดกฐินเพื่อได้อานิสงคแหงการทอดกฐินถือวาเป็นบุญใหญ่ใน 1 ป

ประเพณีลอยกระทง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) ชาวกูยมีความเคารพนับถือต่อเจ้าแม่คงคา ที่ได้นําน้ำมาใชอุปโภค บริโภค และการดำรงชีวิต ซึ่งชาวกูยถือว่าเจ้าแม่คงคามีความศักดิ์สิทธิ์มากเพราะให้ชีวิตแก่ชุมชนกูย ชาวบ้านจะทำกระทงเล็ก ใหญ่ พร้อมเครื่องบริขารเซ่นไหว้ใส่ลงในกระทงนำไปบูชาเจ้าแม่คงคาโดยมีการกล่าวคำขอขมาต่อเจ้าแม่คงคาแล้วอธิษฐานนำกระทงลอยลงสู่แม่น้ำ

นอกจากนี้ กูยอะจีงยังมีประเพณีและพิธีกรรมที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือ พิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ ที่ถือเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของกูยอะจีง (ธณัฐดา ศรศักดิ์, 2563, น. 80)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

การคลอดลูกของชาวกูยในสมัยก่อน เมื่อหญิงมีครรภ์เริ่มเจ็บท้องจะคลอดลูกต้องไปตามแม่จะหมอบ หรือ แม่ตะหมอบ (หมอตำแย) มาทำคลอด แล้วเตรียมน้ำต้ม น้ำร้อนไว้ เมื่อเด็กคลอดออกมาจะทำการตัดสายสะดือ หรือ การตัดสายแห่ โดยเหลาไม้ไผ่ใหม่มาหนีบสายสะดือไว้ให้ห่างจากตัวเด็กประมาณ 2 นิ้ว แล้วนํากาบหอยมาตัดสายสะดือออก เรียกขั้นตอนนี้วา “ตัดสายแห่แผ่สายบือ” (พรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 64)เมื่อตัดสายสะดือแล้วชาวกูยจะนําไปฝังไว้ในขี้เถ้าเตาไฟหรือไปฝังใต้ถุนบ้านเอาหนามสุมไว้ไม่เช่นนั้นผีปอปจะไปกิน ทำให้ตัวเด็กและแม่ตาย (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538, น. 13) จากนั้นนำผ้าห่อเด็กแล้วนําไปวางไว้ในกระด้ง ที่มีมีดแหลมเล็กเสียบอยู่ เพื่อป้องกันผีทั้งหลายมากวนเด็ก จากนั้นแม่จะหมอบจะร่อนกระด้งเบาๆ 3 ครั้ง แม่จะหมอบจะบอกพวกผีทั้งหลายว่า “ผีนกเค้ามาฮ้องกุ๊กกู แม่นลูกสู หลานสูให้มาเอามือนี้วันนี้ ถ้ากลายมื้อนี้วันนี้เป็นลูกกูหลานกู” จากนั้นแม่จะหมอบก็จะพูดว่า “จ้ะ” โดยเด็กทารกจะนอนในกระด้งเป็นเวลา 3 วัน จึงให้นอนเปลได้

หลังคลอดแล้วแม่ของเด็กต้องไปอยู่ไฟราว 14-15 วัน และห้ามออกไฟในวันเดือนดับเพราะจะทำให้ขะลำ เมื่อถึงวันออกไฟแม่จะหมอบจะมาดับไฟให้ โดยมีธูป เทียน ดอกไม้ น้ำอบ น้ำหอม ใช้ในการดับไฟ แล้วให้แม่เด็กที่เพิ่งออกไฟเตรียมเครื่องอาบน้ำสระผม ต้มน้ำมวก (น้ำซาวข้าว) ใส่ขมิ้นและว่านหอมเพื่อให้หมอตำแยอาบน้ำ สระผม หลังจากนั้นจะมีการผูกข้อต่อแขน ขอขมาและให้เงินแม่จะหมอบ และผูกแขนอวยพรให้เด็ก แต่งข้าวปลาอาหารให้แม่จะหมอบกิน

ข้อห้ามในการคลอดลูกของชาวกูยสมัยก่อนนั้นห้ามทุกคนในบ้านเป่าไฟ เพราะจะทำให้เด็กตาเข และมาคลอดใหม่ห้ามกินข้าวเหนียว ให้กินได้เฉพาะข้าวต้มเท่านั้น เมื่อมีเด็กคลอดใหม่ต้องมีการบอกกล่าวผีบรรพบุรุษด้วย (พรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 64) นอกจากนี้ชาวกูยยังมีความเชื่อเรื่อง “ระเวี๋ยย” หมายถึง ขวัญและวิญญาณ ห้ามอุ้มเด็กทารกเดินผ่านเนินเผาศพ “บลุฮ กระโมจ” กรณีจำเป็นต้องอุ้มเด็กเดินผ่านจะต้องเรียกขวัญว่า “มาเยอขวัญเอย” เพื่อให้ขวัญตามเด็กไปไม่เช่นนั้นเด็กจะเจ็บป่วย (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538, น. 21)

การแต่งงาน

ในครอบครัวของชาวกูย หากลูกสาวแต่งงานจะต้องมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ก่อน ในสมัยก่อนการแต่งงานของชายหญิงมีเรื่องของแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะแต่งเพื่อมาช่วยเหลือ ทำมาหากิน ทำไร่ ทำนา ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่ การแต่งงานจะเป็นแบบแต่งเอาเขยเข้าบ้าน ส่วนใหญ่ผู้ชายจะไปอยู่บ้านผู้หญิง พ่อแม่ฝ่ายหญิงมักจะไม่ยอมให้ลูกสาวของตนไปอยู่บ้านผู้อื่น ลูกเขยจะมาช่วยพ่อตาแม่ยายทำไร่ทำนาก่อนประมาณ 2-5 ปี จึงค่อยแยกไปตั้งบ้านของตนเองได้ การดูแลพ่อแม่จะเป็นลูกสาวคนใดคนหนึ่งที่แต่งงานและมาอยู่กับพ่อแม่ มาช่วยทำนาทำไร่ ท้ายที่สุดก็จะได้รับมรดกเป็นทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง และที่นาไปดูแลต่อไป (พรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 66)

ในปัจจุบันการแต่งงานของชาวกูยเกิดจากการที่หนุ่มสาวชอบพอซึ่งกันและกันและได้ตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตและสร้างครอบครัวด้วยกัน เริ่มต้นฝ่ายชายจะส่งเถ้าแก่ไปทาบทามฝ่ายหญิงและตกลงเรื่องสินสอดกัน ปัจจุบันค่าสินสอดมักอยู่หลักหมื่นถึงแสนขึ้นไป โดยดูฐานะของฝ่ายชายเป็นหลักด้วย จากนั้นไปดูฤกษ์ยามกับหมอมอ (หมอดู หมอเข้าทรง) หาฤกษ์ดีวันดีเพื่อจัดพิธีแต่งงานขึ้น ซึ่งมักจัดงานก่อนเข้าพรรษาหรือก่อนฤดูทำนา เพราะจะได้มีแรงงานมาช่วยทำนาอีกแรงหนึ่ง นิยมหมั้นและแต่งงานในวันเดียว ในวันงานตอนเช้าก่อนพิธีจะเริ่มต้องนําเหล้า และหมากพลู ดอกไม้ อยางละ 1 คู่ ไปบอกกล่าวหิ้งผีบรรพบุรุษที่อยู่บนบ้านด้วย จากนั้นจึงเริ่มพิธีการต่างๆ เมื่อใกล้ถึงวันแต่งงานจะต้องตระเตรียมข้าวปลาอาหารให้พร้อม วันงานฝ่ายชายจะ “สู่ขวัญน้อย” (ฝ่ายหญิงไม่มีสู่ขวัญน้อย) ที่บ้านก่อน แล้วจึงนำพาขวัญ (มีไก่ต้มและไข่ต้มอย่างละ 1 อยู่ด้วย) ของตนและขบวนขันหมากไปสู่ขอฝ่ายหญิงที่บ้าน เมื่อถึงบ้านฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะขึ้นบ้านต้องล้างเท้าก่อน แล้ววางเงินทองสินสอดต่างๆ และมอบให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง หลังจากนั้นจะนำพาขวัญของแต่ละฝ่ายมาตั้งเคียงกันเพื่อสู่ขวัญ เรียกว่า “สู่ขวัญใหญ่” เมื่อสู่ขวัญเสร็จจะมีการป้อนไข่กันและเสี่ยงทายไข่ต้มหรือไก่ต้ม ว่าทั้งสองคนจะอยูเย็นเป็นสุขกันดีหรือไม่ หลังจากนั้นจะไหว้ผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตามลำดับอาวุโสของรับไหว้ส่วนใหญ่เป็นหมอนและผ้าทอ จากนั้นจะมีการผูกแขนจากผู้หลักผู้ใหญ่ตามลำดับผู้อาวุโสและชาวบ้านที่มาร่วมงาน ทำเช่นนี้จนกว่าของสมมา (ของไหว้) จะหมดหลังจากนั้นจึงส่งตัวเข้าหอสมัยก่อนเมื่อผ่านพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว เจ้าบ่าวจะบอกกล่าวและพาเจ้าสาวขึ้นบ้านเจ้าบ่าว เรียกว่า “ขึ้นเฮือนปู่ เฮือนย่า” โดยเมื่อเจ้าสาวขึ้นไปถึงบ้านจะไปกราบหิ้งผีบรรพบุรุษและจะต้องล้วงหม้อล้วงไห ซึ่งพ่อแม่เจ้าบ่าวจะนําเงินใส่ไว้ในหม้อ เจ้าสาวจะเก็บเงินที่ล้วงได้ใส่พกผ้าถุง (พรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 66-67)

ความตายและการทำศพ

หากมีคนตายชาวกูยจะเชิญคี (สัปเหร่อ) มาทำพิธี โดยจะเป็นผู้มัดมือมัดเท้าก่อนนำคนตายใส่โลง สมัยก่อนชาวกูยจะทำโลงและตอกลายเอง โดยเอาไม้บ้านคนตายมาทำ ก่อนนำใส่โลงสัปเหร่อจะดีดเมล็ดข้าวใส่โลง 3 ครั้ง แล้วนําหนามต้นไม้มารองพื้น แล้วนําไข่ต้ม 1 ฟอง สายสิญจน์ เทเหล้า หมาก พลู ลงไปในโลง เพื่อบอกเจ้าที่เจ้าฐานโลงว่าโลงนี้เป็นของคนๆ นี้ แล้วนําคนตายใส่โลงพร้อมบอกกล่าวกับคนตายว่า “นี้เฮือนเจ้าเด้อ เจ้ามาอยู่ในเฮือนนี้ เจ้าตายแล้วไปอยู่ในเฮือนนี้” แล้วจึงปิดโลง และการสวดอภิธรรมศพ 3 วัน 3 คืน
แล้วจึงเอาออกป่าช้า ในวันเผาศพลูกจะเตรียมข้าวตอกแตกเพื่อโปรยตามทางขณะจูงศพไปวัด ชาวกูยเชื่อว่าลูกคนใดคั่วข้าวแล้วแตกเป็นสีขาวสวยงาม แสดงว่าคนตายรักลูกคนนั่นมาก แต่ถ้าไม่รักลูกคนใดข้าวตอกแตกก็จะดำไหม้ไปหมด (พรรณวดี ศรีขาว, 2554, น. 67-68) นอกจากนี้ ชาวกูยยังมีความเชื่อเกี่ยวกับหญ้าคาในพิธีศพ เมื่อปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ตาย ญาติจะคัดเลือกลูกหลานคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนมาจูงศพผู้ตายออกจากบ้านไปยังป่าช้าหรือเมรุ เรียกว่า “เตอะซอยปรัง” หมายความว่า จูงหางหญ้าคา ลูกหรือหลานคนนั้นจะได้รับมรดกที่ผูกพันกับผู้ตายมากที่สุด (วีระ สุดสังข์, 2556, น. 64)

การรักษาโรค

การรักษาโรคต่างๆ นั้นเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของภูติผี เนื่องจากไม่พอใจผู้เจ็บป่วย และจะมีแม่เฒ่าสู่งอายุเป็นผู้ประกอบพิธีอ้อนวอนเรียกว่า “รําผีมอ” ผู้ที่จะทำพิธีได้จะต้องผ่านการครอบครูสืบทอดกันมา หลังผ่านพิธีแล้วจะไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อมา เพราะกลัว “ผิดครู” หรือผู้ชายที่มีอาคมเรียกว่า “ถัม” หรือ “อาจารย์” จะตรวจสอบว่า ผู้เจ็บป่วยถูกใครทำร้ายทางไสยศาสตร์ และจะแก้ไขได้อยางไร(สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538, น. 13, 21)

“พิธีแกลมอ” ชาวกูยมีความเชื่อว่า ถ้าหากใครเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ หรือเกิดมาโดยปัจจุบันทันด่วน แสดงว่าจะต้องถูกผีบรรพบุรุษลงโทษ เพราะทำผิดศีลหรือละเมิดข้อห้ามลบหลู่ผี วิธีแก้ของกลุ่มชาติพันธุ์เริ่มต้นด้วยการทำนาย โดยการนำเอาข้าวสาร 1 ถ้วย และเงินเหรียญ 1 บาท วางบนข้าวแล้วนำไปให้แม่เฒ่าผู้ทำหน้าที่ให้ดูว่า ความเจ็บไข้หรือปัญหาที่เกิดมีขึ้นมาจากสาเหตุอะไร จากนั้นแม่เฒ่าจะเอาข้าวสารนั้นโปรยไปรอบๆ ข้างๆ ตัว พร้อมพูดคาถา แล้วเอาข้าวสารเล็กน้อยใส่ในฝ่ามือซ้ายแล้วจับกระปุกปูน แกว่งค่อยๆ เหนือข้าวสารนั้น แล้วทำนายสาเหตุของปัญหา ชาวกูยเรียกการทำนายนี้ว่า “โปล” นอกจากนี้ ก็จะมีผู้เก่งทางไสยศาสตร์เรียกว่า “ถัม” ซึ่งเป็นผู้มีคาถาอาคมสามารถแก้ปัญหาทั้งเจ็บไข้ได้ป่วยและปัญหาชีวิต แกลมอเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพชนของชาวกูยซึ่งเชื่อว่า “ทุกคนจะมีดวงวิญญาณของบรรพบุรุษคอยปกป้องคุ้มครอง ปกปักรักษาอยู่ตลอดเวลา” ในทุกๆ ปีจะจัดให้มีพิธีกรรมการแสดง “แกลมอ” เพื่อบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจ ตลอดถึงการรักษาผู้ป่วยไข้ ซึ่งพิธีแกลมอจะมีอยู่ 3 ประเภท คือหนึ่ง การบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ สองการประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือ ขอคำาแนะนำาผ่านล่าม หรือ คนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วยและหาทางรักษาตามความเชื่อ สามการประกอบพิธีกรรมเพื่อเป็นการแก้บน หรือ สักการะตอบแทนดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ดลบันดาลให้ได้รับความสำเร็จตามคำขอของลูกหลาน

การแสดง “แกลมอ” นี้ เป็นพิธีกรรมที่ส่งผลให้เกิดความร่มเย็น การอยู่เย็นเป็นสุขของคนในชุมชน โดยจะมีผู้นำประกอบพิธีกรรม หรือ “แม่หมอ” ทำหน้าที่ในการอัญเชิญดวงวิญญาณประทับร่าง มีนักดนตรีประมาณ 5-7 คน นางรำตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีเครื่องบวงสรวง เซ่นสังเวย จำนวนหนึ่งชุด ประกอบด้วย เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ พานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียน เงิน ทอง เหล้า บุหรี่ หมากพลู ชุดขัน 5 ดาบ 1 เล่ม ไข่ไก่ 1 ฟอง ข้าวสาร และเครื่องประกอบอื่นๆ แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละชุมชน พิธีกรรมจะเริ่มต้นจากการอัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาเข้าประทับร่างแม่หมอ หรือ คนทรง ร่างของแม่หมอจะสั่นเทิ้มไปทั้งร่าง จากนั้นลูกหลานที่ร่วมพิธีจะผูกข้อมือให้แม่หมอ และแจ้งถึงความประสงค์ที่ได้อัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมา เสร็จแล้วแม่หมอ หรือ คนทรงก็จะดื่มกินเครื่องซ่นสังเวย ก่อนที่จะลุกขึ้นฟ้อนรำาไปรอบๆ เครื่องสักการะ ผู้ที่ร่วมอยู่ในพิธีก็จะมีอาการสั่นเทิ้มไปตามๆ กัน คนที่อยู่ใกล้ก็จะผูกข้อมือรับและผู้ที่มีอาการดังกล่าวก็จะลุกขึ้นฟ้อนรำไปรอบๆ เครื่องสักการะ (บัญญัติ สาลี่, 2558, น. 41-42)

“รำนางอ้อและซะเอง” ถ้าหากมีคนเจ็บป่วยก็จะไปนับดูกับอาจารย์ (เจ้าเข้าทรง) ถ้าหากอาจารย์บอกว่าให้ “เล่นลังออ นะ ซะเอง นะ” ก็จะมีการ “ซัดตะ กองแกว” (ผูกคอขวด) คําว่า ซัดตะ กองแกว คือ เวลาเราเจ็บป่วยรักษาทางหมอไม่หายก็จะไปดูกับร่างทรง ถ้าร่างทรงบอกว่าเราผิดผีแถน หรือผีปูุย่าตายาย ก็ให้เราซัดตะกองแกว เพื่อเป็นสัญญาว่าเราจะเล่นลังออให้โดยเราจะต้องนําเทียนหนึ่งคู่ หมากพลูหนึ่งคํา ยาสูบหนึ่งม้วน ล้าขวดหนึ่งใบแล้วสายสิญจน์เพื่อผูกกับขวดและเวลาผูกชาวบ้านก็จะมีคําพูดว่า “แฮน เดอ กอนเจา ญอม แลว ลับลอง แลว เนิง เกล ลังออ อัน เฮย มะฮแน จี อัน อัย ออ โซะ อัย อีอ์ อัน ออ จี ฮมะ แนเฮย” คําแปล นี่นะลูกหลานยอมแล้ว รับรองแล้วจะเล่นนางอ้อให้แล้วจากนี้ไปให้มันดีขึ้น อย่าให้มันเจ็บอีกให้ดีไปหรือหายไป (พูดไปขณะผูกคอขวด) เพื่อเป็นการทำสัญญาว่าจะเล่นลังออหรือสะเอง พอถึงเดือน 4 ก็จะต้องเล่นลังออหรือสะเอง ปัจจุบันการเล่นลังออหรือสะเองไม่ได้จํากัดว่าต้องเล่นในเดือน 4 เหมือนในสมัยอดีต สามารถเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ บางรายเมื่อนับดูกับอาจารย์แล้วเห็นว่าต้องเล่นลังออหรือสะเอง ก็ซัดตะกองแกว (ผูกคอขวด) ไว้ไม่ถึงเดือนก็เล่นได้เลย (ชนาธิป พรมมี, 2560, น. 14 และพรรณวดี ศรีขาว, 2554)

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ. ศรีสะเกษ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2524). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อ
ชนชาติ
. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ดวงกมล ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

เจริญ ไวรวัจนกุล และคณะ. (2533). “การสำรวจวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูลโครงสร้างและภาวะการรับรู้.” ใน วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล: กรณีเขมร ลาว ส่วย สุรินทร์. สุรินทร์: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์.

ชนาธิป พรมมี. (2560). คุณค่าผ้าไหมกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวกวย กรณีศึกษา: บ้านตาตา หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ. การวิจัยเฉพาะเรื่องประกาศนียบัตรบัณฑิต, สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชื่น ศรีสวัสดิ์. (2534). ช้างกับส่วย. บุรีรัมย์: ชมรมอีสานใต้ศึกษา.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2553). รัฐ-ชาติ กับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่. กรุงเทพฯ: วิภาษา.

ดำเกิง โถทอง. (2556). กูย กวย กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมแห่งเทือกเขาพนมดองแร็ก. ใน เอกสารประกอบสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 “อีสาน-ลาว-ขแมร์ศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน”. 28-29 พฤษภาคม 2559, อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ธณัฐดา ศรศักดิ์. (2563). การสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมในการฝึกสัตว์ท้องถิ่นไว้ใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีศึกษาการฝึกช้างของชาวกูย จังหวัดสุรินทร์. ภาคนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต, สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธนานนท์ ลาโพธิ์. (2559). การปรับเปลี่ยนเรือนชาวกูยบ้านโนนสําโรง จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ธวัช ปุณโณทก. (2527). “ประวัติหัวเมืองอีสานตอนล่าง.” ใน สมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 3. (น. 35-45). บุรีรัมย์: ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูบุรีรัมย์.

ธิดา สาระยา. (2535). อาณาจักรเจนละ: ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ. กรุงเทพฯ: มติชน

ธีระพันธ์ ล.ทองคำ. (2544). ภาษาของนานาชนเผ่าในแขวงเซกอง ลาวใต้ ความรู้พื้นฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

นพวรรณ สิริเวชกุล. (2541). กรณีศึกษาการพัฒนาทางสังคมของชาวกูยที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

นายแพทย์ เอ. คารร์ และ พันตรี อี. ไชเดนฟาเดน. (2524). ชาติพันธุวิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย (พวงทอง สิริสาลี่, ผู้แปล). (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวปทุม นิติพน ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 27 มิถุนายน 2524)

บัญญัติ สาลี. (2558, กรกฎาคม-ธันวาคม). กูย: ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และตำนาน. วารสารมนุษย์กับสังคม, 1(1), 32-54.

บูรณ์เชน สุขคุ้ม และธนพล วิยาสิงห์. (2556). วัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กูยจังหวัดศรีสะเกษ. ศรีสะเกษ: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.

ประจวบ จันทร์หมื่น. (2552). รายงานการวิจัย เรื่อง “ส่วย” ศรีสะเกษกับ “ซวย” 4 แขวงลาวใต้ (จำปาศักดิ์ สาละวัน เซกองอัตปือ) สำเนียงของคำและวาทกรรมที่แตกต่างระหว่างไทย-ลาว. ศรีสะเกษ: ศูนย์ศรีสะเกษศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.

ประจวบ จันทร์หมื่น. (2556). “ส่วยและกูย”: ความหลากหลายในการนิยามตัวตน. ใน เอกสารประกอบสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 “อีสาน-ลาว-ขแมร์ศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน”. 28-29 พฤษภาคม 2559, อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. (1904 [2447]). ว่าด้วยแม่น้ำมูลแลเมืองตวันออก. The Journal of the Siam Society, 1(1), 175–190.

ไผท ภูธา. (2553). ความเป็นมาของชนชาติลาว. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

พรรณวดี ศรีขาว. (2554). การสืบทอดและบทบาทของพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษของชาวกูยที่บ้านละเอาะ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพฑรูย์ มีกุศล. (2542). “กวย: ชาติพันธุ.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน. เลม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2531). การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ไทยกวย. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2533). “วัฒนธรรมแม่น้ำมูลเชิงชาติพันธุ์วิทยาและประวัติศาสตร์: กรณีการผสมกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์กวย เขมร และลาว.” ใน วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล: กรณีเขมร ลาว ส่วย สุรินทร์. สุรินทร์: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์.

วนัสนันท์ แสงสกุล. (ม.ป.ป.). ชนเผ่ากูยศรีสะเกษ. สืบค้นจาก https://fliphtml5.com/mokqz/vvjd

วสา วงศ์แสวง. (2559).การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชาวกูยในพื้นที่ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการวางผังชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

วิลาศ โพธิสาร. (2552). การปรับตัวทางสังคมของชาวกูยในบริบทพหุวัฒนธรรมเขตอีสานใต้. (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต). มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, สาขาวิชาไทศึกษา.

วีระ สุดสังข์. (2545). ชนชาติกวย: ชนกลุ่มน้อยจากลุ่มแม่น้ำโขงถึงลุ่มแม่น้ำมูล. กรุงเทพฯ: ธนบรรณ.

วีระ สุดสังข์. (2556, พฤศจิกายน). คนอีสานไม่ได้มีแต่ชาติพันธุ์ลาวเท่านั้น. ทางอีศาน, 2(19), 80-83.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2545). คูน้ำและบาราย: การเก็บน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค. ในเอกสารการสัมมนาวิชาการ เรื่อง ภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตไทย ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน 2543 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2498). นิทานโบราณคดีบางเรื่อง. พระนคร: กรมศิลปากร.

สมทรง บุรุษพัฒน์. (2537). เรียนภาษาและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกูย-กวย (ส่วย) จากบทสนทนา. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมทรง บุรุษพัฒน์. (2538). สารานุกรมชนชาติกูย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมหมาย ชินนาค. (2539). ผีปะกำ : คติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของชาวไทย-กวย (ส่วย) เลี้ยงช้างจังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สันติ บุตรไชย. (2554). พลวัตวิถีการผลิตและการเปลี่ยนแปลงสังคม กรณีศึกษา: การตีเหล็กของชาวกูย ชุมชนตะดอบ ตำบลตะดอบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ (2552). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดศรีสะเกษ.เอกสารรายงานผลการศึกษา. จังหวัดศรีสะเกษ

สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.พ.). ข้อมูลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ระหว่าง พ.ศ.2551-2553. อุบลราชธานี: สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม.

สิดาวรรณ ไชยภา และคณะ. (2560). โครงการแนวทางการสร้างเครื่องมือเพื่อบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวกูย ผ่านภูมิปัญญาการทอผ้าชุมชนบ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ. นครปฐม: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2562, 18 มิถุนายน). เสาตะลุง เพนียดช้าง อยุธยา. มติชน, น. 14.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2564, 9-15 กรกฎาคม). ชาวกูย โขง, ชี, มูล ค้าช้างสมัยอยุธยา. มติชนสุดสัปดาห์, 41(2134), 68.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2565, 22-28 กรกฎาคม). ชาวกูย จาก ‘โขง-ชี-มูล’ รับราชการ ‘งานช้าง’ ในอยุธยา. มติชนสุดสัปดาห์, 42(2188), 68.

หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). (2506). “พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.” ใน ประชุมพงศาวดารเล่ม 3. (น. 197-199). พระนคร: โรงพิมพคุรุสภา.

อิศราพร จันทร์ทอง. (2543). บทบาทหน้าที่ของพิธีแก็ลมอของชาวกูยบ้านสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อุบล สวัสดิ์ผล, ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ และ ชูพักตร์ สุทธิสา. (2558, กรกฎาคม-ธันวาคม). “กลุ่มชาติพันธุ์กูย: วิถีการดำรงชีวิตของแรงงานอพยพตัดอ้อยภายใต้อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย.” วารสารวิจัยสังคม, 38(2), 147-182.

อุบล สวัสดิ์ผล. (2558). วิถีชีวิตแรงงานอพยพตัดอ้อย กลุ่มชาติพันธุ์กูย จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

Erik Seidenfaden. (1952). The Kui People of Cambodia and Siam. Journal of the Siam Society, 39(2), 144-180.

อภินันท์ บัวหภักดี และคณะ. (2566). คชศาสตร์ชาวกูย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.elephantsandkuywisdom.com/.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว