2023-06-17 11:14:20
ผู้เข้าชม : 3960

ไทลื้อ มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน จากนั้นได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในประวัติศาสตร์ล้านนายุคต้น ปัจจุบันกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในจังหวัด พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน แพร่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน คนกลุ่มนี้มีการเดินทางข้ามพรมแดนกับชาวไทลื้อในเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา เพื่อเชื่อมโยงความเป็นเครือญาติข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทยครอบคลุม 7 จังหวัดภาคเหนือที่มีชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐาน ด้านการดำรงชีพ ในอดีตชาวไทลื้อส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบคนพื้นราบ เช่น ทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพหันไปประกอบอาชีพค้าขายและรับราชการมากขึ้น

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทลื้อ
ชื่อเรียกตนเอง : ลื้อ, ไตลื้อ, ไทลื้อ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทลื้อ, ไทยลื้อ, ไปอี
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไต
ภาษาเขียน : อักษรธรรมล้านนา

ไทลื้อ (Tai Lue) เป็นชื่อเรียกตนเองของคนลื้อในประเทศไทยที่กลืนกลายเป็นคนไทยแล้ว โดยคำนี้มีการออกเสียงคำว่า “ไตลื้อ” ลื้อ ไทลื้อ ไต และ ไทยลื้อ เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาวลื้อที่หลากหลาย และถูกใช้ตามบริบทที่แตกต่างกันไป นักวิชาการส่วนใหญ่จะใช้หลักตระกูลภาษาและความเป็นชาติพันธุ์ รัฐไทยใช้คำว่า “ไทยลื้อ” อันมีนัยเชิงการเมืองและเกี่ยวพันกับเรื่องชาติและพลเมือง ในขณะที่ในกลุ่มชาวลื้อจะแยกกันเองตามชื่อเมืองเดิมของบรรพบุรุษจึงจะเรียกกันเองว่า ลื้อ ต่อด้วยชื่อเมืองเดิม เช่น ลื้อเมืองพง ลื้อเมืองลวง ลื้อเมืองสิงห์ ลื้อเมืองอู ยังอาจเรียกแยกตามถิ่นฐานในปัจจุบัน เช่น ลื้อเชียงคำ ลื้อเชียงของ ลื้อหนองบัว ลื้อดอยสะเก็ด

ไทลื้อ เป็นกลุ่มชนภาษาตระกูลไท จากหลักฐานตำนาน ที่สันนิษฐานได้ว่า พญาเจิงผู้นำของชาวไทลื้อ ที่สามารถสถาปนารัฐไทขึ้นมาได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 อาณาจักรของรัฐไทลื้อแต่เดิม สถาปนาและขยายอาณาเขตการปกครองระดับรัฐ กระจายอำนาจและเครือข่าย ไปตามที่ราบระหว่างหุบเขา จากเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ออกไปทางตอนเหนือของเวียดนาม ตามลุ่มน้ำแดง ภาคเหนือและภาคตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่า ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของลาว และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย คือเชียงแสนและเชียงราย ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองของชาวลื้อปรากฏและถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่อดีต นับจากกำเนิดของพญามังราย การอพยพเข้ามาปักหลักตั้งชุมชนชาวไทลื้อในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย น่าจะมีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนารัฐไทในประวัติศาสตร์ของล้านนายุคต้น เนื่องจากปรากฏรายชื่อนิกายลื้อ ในเอกสารตำนานรายชื่อหมวดวัดในเวียงเชียงใหม่ ชุมชนแถบสันติธรรมด้านนอกคูเมืองปรากฏมีป่าช้าลื้อตั้งอยู่ จวบจนถึงยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ผู้คนในแถบสิบสองปันนาถูกกวาดต้อนลงมาสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่ในดินแดนล้านนา ปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ปรากฏชุมชนของชาวไทลื้อ ตั้งหมู่บ้านในรูปแบบรวมเป็นชุมชนชาวไทลื้อและอาศัยปะปนกับชุมชนคนไทโยน มีชุมชนตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากในจังหวัดเชียงราย น่าน จังหวัดพะเยา

ด้านภาษา ศาสนา และประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนลักษณะหน้าตา ผิวพรรณ ของไทลื้อมีลักษณะเดียวกันกับชาวลื้อเมืองยอง ชาวขึนเชียงตุง และชาวโยนในล้านนา ทว่า ในมิติประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและความทรงจำ มีความแตกต่างออกไปจากชุมชนคนไทกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน เช่น การตั้งชื่อชุมชนตามชื่อบ้านนามเมืองเดิม ความเชื่อเรื่องการตั้งใจบ้าน การนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกันด้วยการยึดเอาผีเจ้าเมืองมาเป็น “ผีประจำหมู่บ้าน” การแสดงออกถึงความโหยหาอาลัยบ้านเกิดของบรรพชน กระทั่งมีการรื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ลื้อนับตั้งเต่ต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ชาวไทลื้อจะมีการการเดินทางกลับไปสร้างสายสัมพันธ์กับชาวลื้อในเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา สะท้อนถึงความพยายามเชื่อมโยงความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย และมีสาขาของสมาคมไทลื้อระดับจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่ เครือข่ายทางสังคมของชาวไทลื้อจึงมีส่วนสำคัญในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ และสืบสานวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ลื้อผ่านการยึดโยงกับบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของบรรพชนอย่างเหนียวแน่น

ไทลื้อ (Tai Lue) คือ กลุ่มชนภาษาตระกูลไท (Tai speaking peoples) ที่ตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนานในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน มีภาษาพูดและภาษาเขียน ความเชื่อทางศาสนา ชาวไทลื้อนับถือพุทธศาสนาเถรวาท (Theravada Buddhism) และมีการนับถือ “ผี” ตามความเชื่อดั้งเดิม (Animism) จากหลักฐานตำนาน สันนิษฐานได้ว่า พญาเจิง คือ ผู้นำของชาวไทลื้อ ที่สามารถสถาปนารัฐไทขึ้นมาได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ( พ.ศ. 1732) นอกจากจะสถาปนาราชวงศ์อาละโวสวนตาล พญาเจิงตั้งหอคำเชียงรุ่ง ในบริเวณทิศใต้ของนครเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน พญาเจิงจึงถือเป็นปฐมกษัตริย์ของชาวไทลื้อ อาณาจักรของรัฐไทลื้อแต่เดิม สถาปนาและขยายอาณาเขตการปกครองระดับรัฐ ผ่าน “ระบบเมือง” (Muang Polity) กระจายอำนาจและเครือข่ายไปตามที่ราบระหว่างหุบเขา จากเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน บริเวณตอนใต้ของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ออกไปทางตอนเหนือของเวียดนาม ตามลุ่มน้ำแดงภาคเหนือและภาคตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่า ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของลาว และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย บริเวณเมืองเชียงแสนและเชียงราย

พญาเจิง (ราชวงศ์อาละโวสวนตาล เชียงรุ่ง) ได้สถาปนารัฐของชาวไทลื้อ ) ซึ่งแต่เดิมนับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐของชาวไทในเขตลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำกก กระทั่งต่อมาจักรพรรดิราชวงศ์หย่วนได้ขยายอำนาจมาถึงเชียงรุ่ง ประมาณพ.ศ. 1827 ก่อนที่พญามังรายจะขยายอำนาจลงมาตั้งเชียงใหม่

เช่นเดียวกันกับรัฐไทล้านนา ในบางช่วงเวลา รัฐไทลื้อต้องแสดงความสวามิภักดิ์ต่อจีน ตามตำนานระบุว่า ราว พ.ศ. 1927 ราชสำนักจีนได้ให้การรับรองและแต่งตั้งเจ้าเชียงรุ่ง สิบสองปันนาดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าแสนหวี” ส่วนในพม่านั้น เชียงรุ่งและเชียงใหม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์บุเรงนองของพม่า ตามพงศาวดารเชื้อเครือเจ้าแสนหวี ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การเป็นรัฐบรรณาการของพม่าที่ปรากฏคำว่า “สิบสองปันนา” ขึ้นเป็นครั้งแรก

ใน พ.ศ 2113 ท้าวอินเมือง กษัตริย์เชียงรุ่ง (ราชวงศ์อาละโวสวนตาล องค์ที่ 25) ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ และจัดระบบ “ปันนา” เพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้า-ไพร่ ศักดินา และการจัดเก็บภาษีตลอดจนการเกณฑ์แรงงาน ผ่านระบบเหมืองฝาย เรียกว่า “12 ปันนา” ทั้งสิบสองปันนาและล้านนา ได้ใช้ระบบ “ปันนา” เช่นเดียวกัน จึงเป็นต้นแบบหนึ่งของ “รัฐศักดินาไท” นับตั้งแต่นั้นมาจึงปรากฏชื่อเรียก “สิบสองปันนา” ในฐานะที่เป็นรัฐของชาวไทลื้อ ควบคู่กับ “ล้านนา” ซึ่งถือเป็นรัฐของชาวไทโยน ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยพญามังราย ที่ขยายจากแถบลุ่มน้ำโขง-ลุ่มน้ำกก ลงมาแถบลุ่มน้ำปิง-กวง

ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบ้านเมืองของชาวลื้อ นับตั้งแต่ยุคสมัยของพญามังราย ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของกษัตริย์เชียงรุ่ง (ท้าวรุ่ง) โดยมีมารดาซึ่งมีศักดิ์เป็นเจ้าหญิงเชียงรุ่ง ตามตำนานระบุว่า ชื่อของท้าวรุ่ง นอกจากจะเป็นที่มาของชื่อพญามังราย กษัตริย์เชียงรุ่งองค์นี้ยังยกเมืองสำคัญทางตอนใต้ คือ เมืองยอง เมืองพยาก เพื่อรับขวัญวันเกิดหลาน คือพญามังราย ตามประเพณีของชาวไทดั้งเดิม ทั้งในสิบสองปันนาและล้านนา ที่เรียกว่า “หลอนเดือน” (หลังจากเกิดได้ครบ 1 เดือน ชาวไทลื้อจะทำพิธีตั้งชื่อทารก และจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีในหมู่เครือญาติและมิตรที่ใกล้ชิด)

อนึ่ง หากเชื่อตามหลักฐานจารึกการตั้งหมู่บ้านและการสร้างวัดศรีมุงเมือง ปัจจุบันเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญ และมีชุมชนลื้อในเชียงใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บ้านลวง ซึ่งปัจจุบันแยกเป็น บ้านลวงเหนือและบ้านลวงใต้ ตามตำนานเชื่อกันว่า บ้านลวง ตั้งขึ้นใน “ปันนาฝั่งแกน” โดยพระเจ้าแสนเมืองมา (พ.ศ. 1931- 1954) กษัตริย์องค์ที่ 10 ของราชวงศ์มังราย ใน พ.ศ. 1932 ต่อมาพญาสามฝั่งแกน ซึ่งประสูติในพื้นที่ “ปันนาฝั่งแกน” ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ 1954 ได้สร้างวัดขึ้นในบริเวณดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า “วัดบุรฉัน” หรือ “วัดศรีมุงเมือง” ในปัจจุบัน (อินทนนท์, 2559, 39-42)

ต่อมาในสมัยพญาติโลกราช ตามที่ระบุไว้ใน “พงศวดารโยนก” และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้ปรากฏชัดว่า กษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่ ได้ยกทัพขึ้นไปตีเมือง ทั้งเมืองยองและเชียงรุ่ง ให้สวามิภักดิ์ต่อล้านนาของพญาติโลกราช ดังนั้น ในยุคนี้หัวเมืองต่างๆ ของชาวไทในล้านนากับสิบสองปันนาจึงเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพญาติโลกราช

หัวเมืองลื้อ ชาวลื้อ และประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อ ในฐานะเชลยที่ถูกกวาดต้อนมาสร้างบ้านแปลงเมืองหลังสงครามไท-พม่า ปลายศตวรรษที่ 19) ปรากฏอีกครั้งและระบุไว้อย่างชัดเจนในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ สมัยหลังการปลดแอกจากพม่า เมื่อกลุ่มผู้นำของไทล้านนา ซึ่งต่อมาเป็นต้นกำเนิดของทิพยวงศ์ หรือ “ตระกูลเจ้าเจ็ดตน” หันไปสวามิภักดิ์พระเจ้ากรุงธนบุรี และราชวงศ์จักรีของสยาม เมื่อไทลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา พยายามขับไล่พม่าและปลดแอกตนเองออกจากการปกครองของกษัตริย์กรุงหงสาวดีและอังวะ เมื่อพวกเจ้าเจ็ดตน (ซึ่งต่อมาจะได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่ และหัวเมืองสำคัญอื่นๆ ของล้านนา คือ ลำพูน ลำปาง น่าน และการตั้งเมืองเชียงรายขึ้นใหม่ ในยุคนี้เองที่ อาจเรียกว่า “ล้านนาใหม่” (สมัยหลังปลดแอกจากพม่า) ชาวลื้อทั้งจากเมืองยอง พยาก และหัวเมืองสำคัญของสิบสองปันนา ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขง ถูกกวาดต้อนลงมาเพื่อร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก เหตุที่ถูกกวาดต้นลงมาแทบทั้งเมือง การอพยพโยกย้ายมาทั้งชุมชนและมีผู้นำดั้งเดิมมาด้วย การตั้งชุมชนใหม่ของชาวลื้อใน “ล้านนาใหม่” ได้ถูกผนวกและกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือตอนบนของสยาม (เปลี่ยนเป็นประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2482) จึงมักจะใช้ชื่อบ้านนามเมือง ตามชื่อถิ่นฐานดั้งเดิมในสิบสองปันนา (ยูนนานตอนใต้) เมืองยอง (พม่า) และเมืองสิงห์ เมืองอู (ลาว)

การเข้ามาของอังกฤษและฝรั่งเศสในแถบอุษาคเนย์ตอนบน ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอาณาจักรลื้อออกเป็นส่วนๆ ของ 3 มหาอำนาจ คือ จีน บริติชพม่า และฝรั่งเศสอินโดจีน กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หัวเมืองลื้อ ที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ถูกผนวกเข้ากับดินแดนรัฐชาติสมัยใหม่ควบคู่ไปกับการเกิดขึ้นของประเทศชาติใหม่ (new Nations) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ พม่า ลาว เวียดนาม

การอพยพเข้ามาปักหลักตั้งชุมชนใหม่ของชาวไทลื้อ พื้นที่แถบภาคเหนือตอนบนปัจจุบันของประเทศไทย อาจมีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนารัฐไทในประวัติศาสตร์ของล้านนายุคต้น เช่น ตามเอกสารตำนานรายชื่อ “หมวดวัด” ในเวียงเชียงใหม่ ปรากฏชื่อนิกายสงฆ์ (หรือหัวหมวดวัด) ซึ่งมีนิกายลื้อ นิกายยอง รวมกับนิกายอื่นๆ ด้วย อีกทั้งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน (นอกคูเมืองแถบสันติธรรม) มีป่าช้าลื้อ เป็นป่าช้าเก่าแก่ของชุมชนระแวกนั้น ที่ยังคงใช้ประกอบการฌาปนกิจ และเรียกกันว่า “ป่าช้าลื้อ” จนถึงปัจจุบัน

ช่วงเวลาที่อาจถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อในพื้นที่แถบภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ ยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งตรงกับช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้ากรุงธนบุรีและผู้นำในล้านนา ร่วมกันขับไล่พม่าและมีนโยบายกวาดต้อนผู้คนจากบริเวณสิบสองปันนา ดินแดนลุ่มน้ำโขงตอนบน มาสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นใหม่ อาจกล่าวได้ว่าชาวไทลื้อสิบสองปันนาถือเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาราชวงศ์จักรี ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์กษัตริย์สยามได้ยกทัพไปกวาดต้อนชาวลาวและชาวผู้ไท จากลาวล้านช้าง เวียงจันทน์ มาเป็นเชลย ตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นใหม่ในแถบภาคกลาง ดังปรากฏชุมชนของชาวลาว ชาวผู้ไท ในราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ส่วนทางภาคใต้ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีนั้นมีหลักฐานว่า ชาวลาวจำนวนไม่น้อยถูกกวาดต้อนไป - ด้วยเหตุนี้ ภาษาใต้ ภาษาลาว และภาษาลื้อ จึงมีความใกล้เคียงกัน

ส่วนชาวลื้อเมืองยองในรัฐฉานภาคตะวันออกของประเทศพม่า เป็นส่วนหนึ่งของล้านนามายาวนานตั้งแต่สมัยพญาติโลกราชของล้านนา และสมัยเจ้าอิ่นเมืองของไทลื้อซึ่งได้กำหนดรวบรวมชุมชนและที่นาตั้งขึ้นเป็น 12 ปันนา ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บภาษีแบบเดียวกันกับที่พบในรัฐล้านนา ทั้งนี้ ชาวไทลื้อเหล่านี้ ที่มีถิ่นฐานมาจากหัวเมืองที่อยู่นอกเขตอำนาจ “รัฐสิบสองปันนาจารีต” มักจะเรียกตนเองและถูกคนอื่นเรียกในชื่อที่แตกต่างจากลื้อสิบสองปันนา เช่น ไทยอง ไทขึน เป็นต้น

ชาวยอง หรือ ชาวไทลื้อ เมืองยอง จัดเป็นกลุ่มชาวไทกลุ่มใหญ่ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในล้านนาหลายระลอก การถูกบังคับให้โยกย้ายสร้างถิ่นฐานใหม่มักถูกเรียกว่าการมาแบบ “เทครัว” โดยเฉพาะการอพยพของชาวยองตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ (แสวง มาละแซม, 2538) ภายหลังจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูนแล้ว ต่อมามีการอพยพโยกย้ายเพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่ หรือพยายามกลับไปเมืองยอง อาจด้วยเหตุที่มาเป็นจำนวนมากกลุ่มชาวลื้อมักถูกรัฐใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตั้งชุมชนใหม่ในหัวเมืองสำคัญที่ถูกทิ้งร้างช่วงสงครามปลดแอกพม่า ในช่วง 100-200 ปีก่อน

ปัจจุบันชุมชนชาวลื้อจากเมืองยองในภาคเหนือของประเทศไทยนั้น นอกจากจะตั้งถิ่นฐานใหม่ในจังหวัดลำพูน คิดเป็นร้อยละ80 ของประชากรทั้งจังหวัด และในอำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว (รัตนาพร เศรษฐกุล, 2538) ยังพบว่า มีกลุ่มชาวลื้อจากลำพูนที่โยกย้ายไปตั้งบ้านถิ่นฐานในพื้นที่ใหม่ เช่น เมืองเชียงแสน แม่จัน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองพาน และแม่สาย ในชุมชนเหมืองแดง จังหวัดเชียงราย

ชาวลื้อสิบสองปันนา แม้จะมีภาษา ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนลักษณะหน้าตา ผิวพรรณแบบเดียวกันกับชาวยอง ชาวขึน และชาวโยน การที่พวกเขามีรัฐที่สังกัด คือสิบสองปันนา และมีกษัตริย์ของตนเอง สงครามการกวาดต้อนผู้คนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พวกเขามีสำนึกประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและความทรงจำที่แตกต่างจากชุมชนคนไทกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน

นอกจากการอยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวนาอย่างเหนียวแน่น จึงเกิดการแต่งงานภายในกลุ่มชาติพันธุ์ การใช้ภาษาแม่ พวกเขามักตั้งชื่อถิ่นฐานชุมชนใหม่ ตามชื่อบ้านนามเมืองเดิม เช่นชื่อหมู่บ้านไทลื้อดั้งเดิมเกือบทั้งหมดในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาและหลายอำเภอในจังหวัดน่าน ที่ใช้ชื่อเดียวกันกับบ้านเก่าเมืองเดิมที่ตั้งอยู่ในสิบสองปันนา และปัจจุบันยังสามารถสืบเสาะหาได้ การนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกันโดยยึดเอาผีเจ้าเมืองเดิม เช่น ชาวลื้อบ้านมาง ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดวิกฤติความเป็นไทยและการก่อตัวของอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Keyes and Tanabe, 1996) จนนำไปสู่กระแสการโหยหาถิ่นฐานบ้านเกิดจนทำให้ ชุมชนชาวลื้อสิบสองปันนา ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มทางสังคม และหันมารื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมความเป็นลื้อของตน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงและการเดินทางกลับไปสร้างสายสัมพันธ์กับชาวลื้อในสิบสองปันนาปัจจุบัน รวมทั้งมีการตั้งสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสาขาของสมาคมไทลื้อระดับจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย

ภาพรวมของชุมชนไทลื้อสิบสองปันนาในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันชาวลื้อสิบสองปันนาได้รับสถานะการเป็นพลเมืองไทยมีการกลืนกลายทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนไทยในภาคเหนือในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนเก่าแก่ของชาวลื้อสิบสองปันนาในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีรายละเอียดดังนี้

จังหวัดเชียงใหม่ มีชุมชนไทลื้อในพื้นที่หลายอำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองเชียงใหม่อำเภอสันกำแพง อำเภอสะเมิง อำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด อย่างไรก็ตาม ชุมชนไทลื้อที่เก่าแก่และมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ“บ้านเมืองลวง” ตำบลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด และชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง สำหรับชุมชนไทลื้อบ้างเมืองลวง ตามตำนานเชื่อว่า บรรพบุรุษเป็นชาวไทลื้อจาก “ปันนาเมืองลวง” สิบสองปันนา ที่อพยพเข้ามาตั้งชุมชนในเชียงใหม่รุ่นแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1954) ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ปัจจุบันชุมชนบ้านเมืองลวงมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกเป็นบ้านลวงเหนือ (หมู่ 4 และหมู่ 5 ตำบลเชิงดอย) และบ้านลวงใต้ (หมู่ 8 ตำบลเชิงดอย)

จังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่ที่ชาวไทลื้อจากเมืองยอง (รัฐฉาน ประเทศพม่าในปัจจุบัน) และแคว้นสิบสองปันนาอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด ชาวลื้อจากเมืองยองตั้งหมู่บ้านอยู่ในทุกเขตอำเภอของจังหวัดลำพูน (แสวง มาละแซม, 2536) ส่วนชาวลื้อจากสิบสองปันนาในจังหวัดลำพูน ทั้งหมดตั้งชุมชนอยู่ในอำเภอบ้านธิ ในพื้นที่ ตำบลห้วยยาบและตำบลบ้านธิ ชาวบ้านไทลื้อใน 2 ตำบลนี้ เชื่อว่า บรรพชนของพวกเขาอพยพมาจากเชียงรุ่ง แคว้นสิบสองปันนา

จังหวัดเชียงราย มีชาวไทลื้อตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 อำเภอ คือ อำเภอเชียงของ ที่บ้านห้วยเม็ง บ้านท่าข้าม และบ้านศรีดอนชัย อำเภอแม่สาย ที่บ้านสันบุญเรือง และอำเภอพาน ที่บ้านโป่งแดง และบ้านกล้วยแม่แก้ว

จังหวัดพะเยา มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่จำนวนมากในอำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน และอำเภอปง ชาวลื้อในอำเภอเชียงคำ รวมกลุ่มตั้งชุมชนหมู่บ้านอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ 1) ตำบลหย่วน (ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของอำเภอเชียงคำ) ได้แก่บ้านหย่วน บ้านธาตุ บ้านแดนเมือง บ้านมาง 2) ตำบลเชียงบาน ได้แก่ บ้านเชียงบาน บ้านแพด บ้านแวน บ้านทุ่งหมอก บ้านเชียงคาน 3) ตำบลฝายกวาง ได้แก่ บ้านหนองลื้อ 4) ตำบลภูซาง ได้แก่ บ้านหนองเลา บ้านห้วยไฟ และ 5) ตำบลสบบง ได้แก่ บ้านสบบง ส่วนอำเภอเชียงม่วน ได้แก่ บ้านท่าฟ้าเหนือ และบ้านท่าฟ้าใต้ ชาวลื้อเชียงคำ ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวนาไทลื้อได้อย่างเหนียวแน่น (Moerman 1967) นอกจากภูมิปัญญา ทักษะการทำนา พวกเขายังมีการบันทึกจดจำประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของบรรพชนผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ในอุโบสถ วัดแสนเมืองมา บ้านมาง และชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง) การนับถือผีเจ้าเมืองเดิม (พญาหลวงเมืองมาง บ้านมาง) และการใช้ภาษาลื้อในชีวิตประจำวัน

จังหวัดน่าน อาจเป็นจังหวัดที่มีหมู่บ้านไทลื้อกระจายตัวอยู่มากที่สุดครอบคลุมทุกอำเภอ นับตั้งแต่พื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกวาง อำเภอทุ่งช้าง กิ่งอำเภอทุ่งหลวง และกิ่งอำเภอแม่จริม ในพื้นที่อำเภอเมือง พบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อในตำบลดู่พงษ์ อำเภอท่าวังผา ที่ตำบลศรีภูมิ ตำบลสบยม ตำบลจอมพระ ตำบลแสงทอง ได้แก่ บ้านแฮะ บ้านฮวก ตำบลป่าคา ได้แก่ บ้านต้นฮาง บ้านหนองบัว อำเภอปัว มีที่ตำบลปัว ได้แก่บ้านร้องแง บ้านมอน บ้านดอกแก้ว บ้านติ๊ด บ้านขอน ตำบลศิลาแลง ได้แก่ บ้านตีนตุก บ้านดอนไชย บ้านศาลา บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาเพชร ได้แก่ บ้านนาคำ บ้านป่าตอง บ้านดอนมูล บ้านดอนแก้ส บ้านทุ่งรัตนา อำเภอเชียงกลาง มีที่ตำบลยอด ได้แก่บ้านปางส้าน บ้านผาสิงห์ บ้านผาหลัก บ้านยอด และอำเภอทุ่งช้าง มีที่ตำบลงอบ ได้แก่ บ้านงอบเหนือ บ้านงอบใต้ ตำบลหอน ได้แก่ บ้านห้วยโก๋น บ้านห้วยสะแกง บ้านเมืองเงิน ตำบลแพ ได้แก่ บ้านห้วยเต๋ย บ้านสะหลี

จังหวัดแพร่ น่าจะมีชาวไทลื้อทั้งจากเมืองยองและสิบสองปันนาตั้งหลักปักฐานอยู่จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตามสำหรับชาวไทลื้อจากสิบสองปันนา พบว่า อาศัยอยู่ที่ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่

จังหวัดลำปาง มีหมู่บ้านไทลื้อตั้งชุมชนอยู่ในอำเภอเมือง ตำบลกล้วยแพะ จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกล้วยหลวง บ้านกล้วยแพะ บ้านกล้วยฝาย บ้านกล้วยกลาง และบ้านกล้วยม่วง และในอำเภอแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้ จำนวน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ปุง และบ้านฮ่องห้า ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลกล้วยแพะ

จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า มีชุมชนชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอปาย ในพื้นที่บ้านแม่เย็น สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเดียวกับชุมชนชาวลื้อ ในบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง ที่ได้อพยพโยกย้ายหาที่ทำกินเข้ามาช่วงหลังจากการสัมปทานไม้สักให้กับบริษัทอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 5

การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวไทลื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอสันทราย อำเภอสะเมือง และอำเภอดอยสะเก็ด ส่วนในอำเภอสันกำแพง กิ่งอำเภอแม่ออน และอำเภอบ้านธิ เขตรอยต่อจังหวัดลำพูน เป็นกลุ่มชาวลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง (รัตนาพร เศรษฐกุล, 2538) ปัจจุบันชุมชนชาวลื้อในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการแสดงอัตลักษณ์และรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมของตนอย่างชัดเจน คือ ชุมชนชาวลื้อบ้านเมืองลวง ในอำเภอดอยสะเก็ด และชุมชนชาวลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง

สำหรับประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อบ้านเมืองลวงนั้น ตามหลักฐานประวัติศาสตร์จารึกและเอกสารใบลานที่ระบุการสร้างวัดศรีมุงเมืองซึ่งเป็นวัดของชุมชน พวกเขาเชื่อว่าบรรพบุรุษถูกกลุ่มเจ้าเจ็ดตน เป็นกลุ่มที่ต่อมาจะสถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครองล้านนายุคที่ 2 โดยการสนับสนุนจากกษัตริย์สยาม ราชวงศ์จักรี ได้กวาดต้อนชาวลื้อมาจากเมืองวะและเมืองลวง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ “ปันนาเมืองลวง” ทางตอนใต้ของสิบสองปันนา ติดชายแดนพม่าในปัจจุบัน ในช่วง พ.ศ.2350 ซึ่งเป็นยุคสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ หลังจากผู้นำของล้านนาสามารถขับไล่และปลดแอกจากการปกครองของพม่าได้ การกวาดต้อนผู้คนควบคู่กับการทำลายเมืองเชียงแสน เมืองนาย และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์อำนาจของพม่าในล้านนา มักเรียกกันว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” การอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวลื้อสิบสองปันนา ในอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการตั้งถิ่นฐานของชาวไทขึน จากเชียงตุง ที่ส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่นอกเวียงเชียงใหม่ด้านทิศใต้ หรือเขตนอกประตูเชียงใหม่ และชาวลื้อเมืองยอง ที่ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอสันกำแพง โดยเฉพาะที่ตำบลบวกค้าง และกิ่งอำเภอแม่ออน รอยต่อเขตอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวลื้อในแถบแม่ออนและอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน พวกเขาได้รื้อฟื้นและสร้างความทรงจำใหม่ โดยเชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกเขา คือ ชาวไทลื้อสิบสองปันนา ที่อพยพมาจากเชียงรุ่ง

การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อในจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่

ชุมชนไทลื้อที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดแพร่ปัจจุบันนั้น เข้ามาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับ “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” สันนิษฐานว่า ชาวลื้อกลุ่มนี้ มีพื้นเพเดิมมาจากเมืองยองและเชียงแสน ช่วงแรกที่ กลุ่มเจ้าเจ็ดตน ขึ้นไปตีเมืองเพื่อขับไล่พม่าออกจากล้านนา จึงมีการกวาดต้อนชาวลื้อลงมาด้วย ปัจจุบันชาวลื้อจากสิบสองปันนา ในจังหวัดแพร่ มีหมู่บ้านของของชาวไทยลื้อที่สำคัญอยู่ 2 แห่ง คือ บ้านถิ่น ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง และบ้านหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น ส่วนที่จังหวัดลำปาง พบในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้ จำนวน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ปุง บ้านฮ่องห้า และในอำเภอเมือง คือ ตำบลกล้วยแพะ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกล้วยหลวง บ้านกล้วยแพะ บ้านกล้วยฝาย บ้านกล้วยกลาง และบ้านกล้วยม่วง ชาวลื้อที่ลำปางส่วนใหญ่ถูกกวาดต้นมาจากเมืองยอง แต่พวกเขาไม่เรียกตนเองว่า “คนยอง” ดังเช่นกลุ่มชาวลื้อที่ตั้งรกรากอยู่ในอำเภอเมืองและอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ) หากคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ลื้อด้วยกัน เรียกพวกเขาว่า “พวกลื้อ” พวกเขาจะถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เนื่องจากคำว่า ลื้อ แต่เดิมนั้นค่อนข้างที่จะมีความหมายไปในทางดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถูกกวาดต้อนให้เป็นเชลยศึกในช่วงสงคราม (ประชัน รักพงษ์, 2536)

จังหวัดเชียงราย

การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจากสิบสองปันนา ส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตอำเภอเชียงของและพญาเม็งราย บรรพบุรุษของชาวลื้อสิบสองปันนาในพื้นที่แถบนี้ ส่วนใหญ่ถูกเจ้าเมืองน่าน ที่รับคำสั่งจากกษัตริย์สยาม ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ทำหน้าที่กวาดต้อนชาวลื้อมาจากหัวเมืองลื้อในเขต “ปันนาเมืองอู” ซึ่งก่อนที่จะตกเป็นของอินโดจีนฝรั่งเศส มีชื่อเดิมว่า เมืองอู ปัจจุบัน คือ เมืองบุนเหนือ เมืองบุนใต้ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของลาว และเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจหนึ่งที่น่าสนใจของชาวลื้อ ส่วนชุมชนของชาวลื้อสิบสองปันนา ที่อพยพมาจากเชียงรุ่งและเมืองลวง เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่อพยพมาในภายหลัง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามกลางเมืองในจีน (ทศวรรษ 2490) ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองชายแดนแม่สาย ปัจจุบันชุมชนชาวลื้อสิบสองปันนา กระจายตัวอยู่โดยทั่วในเขตอำเภอแม่สาย ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และการอพยพเข้ามาภายหลัง ใน 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน (ทศวรรษ 1970) และช่วงสงครามกลางเมืองพม่า (ทศวรรษ 1980) ทำให้ชาวลื้อมีการอพยพข้ามแดนจากเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ลี้ภัยมาอยู่ในเมืองยองปะปนกับชาวไทลื้อเมืองยอง จากนั้นพวกเขาจึงอพยพโยกย้ายลงมายังเมืองชายแดนท่าขี้เหล็กและแม่สาย จะเห็นว่าการอพยพข้ามพรมแดนของชาวลื้อมีความซับซ้อนและมีประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับชาวลื้อที่อพยพเข้ามาช่วงหลัง ปัจจุบันยังไม่มีสถานะบุคคล

ชุมชนชาวลื้อในแม่สาย ที่มาจากสิบสองปันนา ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานบ้านเกิดจาก 3 หัวเมืองสำคัญ คือ 1) เมืองหุน เมืองฮาย ซึ่งอยู่ทางเขตตะวันตกเฉียงใต้ 2) เมืองลวง ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนาในปัจจุบัน และ 3) เชียงรุ่ง-เมืองฮำ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเครือญาติของเจ้าหม่อมคำลือ เจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของสิบสองปันนา ชาวลื้อสิบสองปันนาที่เก่าแก่ที่สุดในแม่สาย ตั้งรกรากอยู่ในบ้านไม้ลุงขุน (ราญ ฤนาถ และชุลีพร วิมุกตานนท์, 2530) หากไม่รวมชาวลื้อเมืองยอง ที่อพยพมาจากลำพูนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปัจจุบัน คือ “ชุมชนบ้านเหมืองแดง” ของอำเภอแม่สาย และอีกส่วนหนึ่งในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน หลังจาก พ.ศ.2535 เป็นต้นมา พื้นที่อำเภอแม่สาย ยังมีชุมชนชาวลื้อจากเมืองยอง (รัฐฉาน) อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในพื้นที่รอบนอกเมืองแม่สาย คือ หมู่บ้านเหมืองแดงปิยะพร ที่จากเดิมมีสมาชิกจำนวน 14 ครัวเรือน ต่อมาคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นแกนนำสำคัญของ “สมาคมไทลื้อแม่สาย”

จังหวัดน่าน

ปัจจุบันชาวลื้อที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองยอง เมืองลวง เมืองหุน เมืองฮาย และเชียงรุ่ง ซึ่งเป็นหัวเมืองลื้อสิบสองปันนาฝั่งตะวันตกของลำน้ำโขง มา ในขณะที่ชุมชนชาวลื้อที่ปัจจุบันตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน พะเยา และ จังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 มาจากเมืองหล้า เมืองอู เมืองสิงห์ เมืองมางและเมืองปง ซึ่งเป็นหัวเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ด้วยเหตุที่เจ้าเมืองน่าน คือผู้ที่นำทัพขึ้นไปกวาดต้อนลงมา ชาวลื้อสิบสองปันนาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จึงตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองน่าน คือ จังหวัดน่าน โดยเฉพาะเมืองปัว (และเชียงคำ เชียงของ) และกลายเป็นชุมชนท้องถิ่นสำคัญของน่านในเวลาต่อมา จะเห็นว่า ปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นในพื้นที่จังหวัดน่านนั้น มักเป็นศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ทั้งการแต่งกาย อาหาร การทอผ้า วัดวา ศาสนาสถาน สถาปัตยกรรม และบ้านเรือน

การกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนาลงมาตั้งรกรากในเขตเมืองน่าน ซึ่งเป็นไปตามบัญชาของกษัตริย์สยาม เพื่อแก้ปัญหาเมืองร้าง ขาดผู้คนในแถบ “ล้านนาตะวันออก” ปัจจุบันจำนวนประชากรของจังหวัดน่านจึงมีลูกหลานของชาวไทลื้อสิบสองปันนา อาศัยปะปนอยุ๋กับชาวลื้อเมืองยองและชาวเชียงแสนเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นคนพื้นถิ่นของจังหวัดนี้ ดังปรากฏผ่านวิถีชีวิตศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีแบบไทลื้อที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เช่น วัดหนองบัว และวัดหนองแดง มีสถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมไทลื้อที่หาดูได้ยาก ส่วนที่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อกลุ่มใหญ่ที่มีการยกระดับเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการจัดแสดงวัฒนธรรม การจัดแสดงผ้าทอไทลื้อ การประกอบพิธีไหว้ผีเจ้าเมืองหล้าซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่โดดเด่น รวมทั้งการสะท้อนถึงความรัก ความภาคภูมิใจ และความโหยหาอดีต คือ “สิบสองปันนา” ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดเดิมของชาวไทลื้อที่

จังหวัดพะเยา

อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย เนื่องจากมีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งและการรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมไทลื้อ ผ่านการเชื่อมโยงและเดินทางกลับไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง การผูกมิตรสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับชาวไทลื้อในสิบสองปันนา ปัจจุบัน เชียงคำ เป็นพื้นที่หนึ่งที่รับรู้กันว่าเป็น “เมืองหลวงของชาวไทยลื้อ” จากสิบสองปันนาในประเทศไทย ในอดีตเชียงคำเป็นพื้นที่ผลิตข้าวและมีการค้าข้าวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ (Moerman, 1967) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนชาวไทลื้อซึ่งเป็นชาวนาที่มีภูมิปัญญาปลูกข้าวชั้นเลิศตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พวกเขายังมีองค์ความรู้ด้านการจัดการเหมืองฝาย และการค้าทางไกล คือ วัวต่างช่วงหน้าแล้ง เชียงคำจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการรื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อในประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 มีกลุ่มที่เข้มแข็งภายใต้การนำของนักการเมืองท้องถิ่น คือ ลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นแกนนำในการก่อตั้ง “สมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย” ปัจจุบันมีสมาคมระดับจังหวัดครอบคลุมทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน ชาวลื้อในจังหวัดพะเยา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ รวมพื้นที่ไปทางทิศตะวันออกติดชายแดนลาว (บริเวณลำน้ำแวน ลำน้ำแม่ลาว และลำน้ำยวน)

ตามประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวล้าน รวมทั้งเอกสารที่บันทึกผ่านภาพจิตรกรรมฝาหนังในอุโบสถวัดบ้านมาง วัดบ้านหย่วน) ระบุว่า บรรพบุรุษของชาวไทลื้อสิบสองปันนาในเชียงคำนั้นถูกกวาดต้อน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จากหัวเมืองลื้อทางตะวันออกเฉียงใต้ของสิบสองปันนา คือ เมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองบาน เมืองแพด และเมืองหล้า (ปัจจุบันเป็นตัวอำเภอของ Meng La County) ชื่อของหัวเมืองเหล่านี้ ปัจจุบันกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทลื้อสิบสองปันนาในเชียงคำ คือ บ้านปง บ้านมาง บ้านหย่วน บ้านแพด บ้านเชียงบาน และบ้านล้า

ชาวลื้อในเชียงคำ ยังเล่าว่า แต่เดิมพวกเขาถูกกวาดต้อนให้ไปตั้งรกรากใหม่ที่เชียงม่วน ต่อมาพวกเขาจึงขยายตัวและหาที่ทำกินใหม่ จนอพยพมาอยู่ที่เชียงคำ ปัจจุบันพบว่า มีหมู่บ้านของชาวลื้อสิบสองปันนาชื่อเดียวกันทั้งในเชียงม่วน (เดิมขึ้นตรงกับเจ้าเมืองน่าน ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน กระทั่งหลังมีการตั้งจังหวัดพะเยาขึ้นในปี 2518 โดยแยกอำเภอเชียงคำจากเชียงราย และแยกเชียงม่วน และอำเภอปง จากจังหวัดน่าน มาขึ้นกับจังหวัดพะเยาคืออยู่ในเขตอำเภอเชียงม่วน จังหวัดน่านและเชียงคำ คือ บ้านมาง (เมืองมาง) บ้านหย่วน (เมืองหย่วน) และบ้านปง (เมืองพง) ) ชาวลื้อสิบสองปันนา ในเชียงคำและเชียงม่วน ยังคงมีการประกอบพิธีไหว้ผีเมืองของตน ทั้งแสดงความเคารพและจดจำบรรพชน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากชาวไทโยนอย่างชัดเจน การถูกกวาดต้อนมาภายหลังจึงอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ยังทำให้พวกเขามีสำนึกรักบ้านเกิดแตกต่างจากชาวไทลื้อกลุ่มอื่นที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเชียงใหม่และลำพูน

จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อสิบสองปันนาในภาคเหนือของประเทศไท ดังที่กล่าวมาข้างต้นถึง จะเห็นว่า การสำรวจจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรของ “ชาวไทยลื้อ” ซึ่งมีวิถีชีวิตเหมือนเฉกเช่นเดียวกับกับชาวไทยพื้นราบของภาคเหนือกลุ่มอื่น ปัจจุบันชาวไทยลื้อมีสถานะบุคคลและถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทยในท้องถิ่นภาคเหนือประกอบกับการที่รัฐบาลไทยมีการดำเนินการจำแนกและจัดเก็บข้อมูลประชากรเฉพาะ “ราษฎรบนที่สูง” ซึ่งเดิมเรียกว่า“ชนกลุ่มน้อย” ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและตั้งชุมชนหมู่บ้านอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป เช่น กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า มูเซอ ลีซู ลัวะ ปะหล่อง เป็นต้น ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนพื้นราบ รัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นทางการ

การดำรงชีพ

ชาวลื้อเป็นกลุ่มคนที่ขยันทำมาหากินมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชีวิตสัมพันธ์กับระบบเกษตรแบบคนพื้นราบ ได้แก่ การทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ปัจจุบัน ยังมีชาวลื้อที่อยู่ในวิถีเกษตร หากแต่คนรุ่นใหม่เริ่มมีการปรับตัวด้านอาชีพ มีบางส่วนประกอบอาชีพค้าขายและรับราชการ ในยุคปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นทำให้มีอาชีพที่หลากหลายตามระดับการศึกษา

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทลื้อนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทดังเช่นคนล้านนา อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเกี่ยวกับพระอุปคุตของชาวไทลื้อนั้นค่อนข้างโดดเด่น

แห่พระอุปคุต

การแห่พระอุปคุตมักจะมีขึ้นก่อนพิธีการสำคัญ ในระดับชุมชนจะมีพิธี “ตานหลวง” หรืองานฉลองวิหาร ศาลา กุฎิ กำแพงวัด ฯลฯ ชุมชนชาวลื้อรวมทั้งชุมชนชาวล้านนาปัจจุบัน จะมีการแห่อัญเชิญพระอุปคุตให้มาช่วยห้ามมาร เพื่อช่วยรักษางานไม่ให้มารหรือสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายมารบกวนในงาน ลักษณะอุปคุตเป็นหินแกะสลัก หรือบางวัดเป็นหินลูกกลมไม่ได้แกะสลัก

ตามตำนานอุปคุต เล่าว่า ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งที่ยังไม่สำเร็จอรหันต์ แต่ใกล้จะหมดกิเลสอาสวทั้งปวง ขณะจำวัดอยู่น้ำอสุจิก็ไหลโดยไม่รู้ตัว พระภิกษุนั้นก็นำผ้าสบงไปซักที่แม่น้ำ ปลาซิวว่ายน้ำมาบริเวณนั้นพอดี จึงกินน้ำอสุจิพระภิกษุรูปนั้น ปลาซิวเกิดตั้งท้องแต่เป็นท้องที่ไม่ไช่ปลา กลับกลายเป็นหิน บรรดาปลาทั้งหลายในแม่น้ำจึงได้ตั้งชื่อว่า “อุปคุต” ตั้งแต่นั้นมาอุปคุตก็เป็นใหญ่ในแม่น้ำ โดยที่ไม่มีสิ่งใดรบกวนได้

การแห่อุปคุตจะเริ่มขึ้นก่อนงานฉลอง 1 วัน โดยที่กรรมการนำลูกหิน หรืออุปคุตไปทิ้งไว้ในน้ำแล้วทำเครื่องหมายไว้เป็นที่เรียบร้อย ขบวนแห่เชิญอุปคุตจะประกอบด้วย ฆ้อง กลอง ชาวบ้านจำนวนหนึ่งและพระสงฆ์อีก 4 รูป แท่นสำหรับใส่อุปคุตจะมีลักษณะครึ่งวงกลม ผ่ากลางยาวประมาณ 2 ฟุต มีคานไม้ไผ่ 2 เล่ม และใช้คนหาม จำนวน 2 คน เมื่อถึงที่หมายจะมีคนอาสาประมาณ 4-5 คนเพื่อลงค้นหา ลักษณะการหาคลายกับการจับปลา อาจจะมีลูกเล่นประกอบด้วยเพื่อความสนุกสนาน เมื่อพบแล้วจะจับพร้อมกันแล้วโห่ร้องอย่างสนุกสนาน จากนั้นจะนำขึ้นมาบนฝั่ง พระสงฆ์จะให้ศีลและสวดชัยมลคลคาถาเสร็จแล้วก็นำอุปคุตขึ้นแท่น แห่นำไปยังบริเวณงาน นำไปตั้งไว้ในสถานที่เหมาะสม เพื่อเป็นประธานรักษาความสงบเรียบร้อยของงาน เมื่อเสร็จงานขบวนแห่ก็จะแห่กลับไปที่เดิม เป็นเสร็จพิธีจะเห็นว่า การแห่อุปคุตทำเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการจัดงาน เชื่อว่า เมื่อเชิญอุปคุตมาเป็นประธานรักษาความสงบเรียบร้อยแล้วจะไม่มีสิ่งชั่วร้ายหรือมารรบกวนตลอดงาน (ประชัน รักษ์พงษ์, 2536)

ความเชื่ออื่นๆ

พิธีสืบชะตา

การสืบชะตาเป็นจารีตประเพณีของชาวไทลื้อและชาวล้านนาในภาคเหนือ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสิริมงคล และขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่เป็นเสนียดจัญไรให้ออกไปจากบุคคลหรือสถานที่ พิธีสืบชะตาเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากธรรมเนียมของพราหมณ์ ที่ได้นำมาผสมผสานกับพิธีกรรมของพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน การสืบชะตาในหมู่บ้านไทลื้อมี 2 ประเภท คือ การสืบชะตาคนและการสืบชะตาหมู่บ้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

พิธีสืบชะตาคน

จะจัดในโอกาสต่างๆ กัน เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ ภายหลังจากการเจ็บป่วย หรือทำในโอกาสที่หมอดูทำนายทายทักว่าดวงชะตาไม่ดี บางครั้งทำเพื่อสะเดาะเคราะห์ ภายหลังจากประสบเคราะห์กรรม เมื่อสืบชะตาแล้วเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างดวงชะตาให้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจของผู้ที่ประสบจากเคราะห์กรรมหรือผู้เจ็บป่วย ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

สถานที่ประกอบพิธี จะใช้บริเวณบ้านของผู้เข้าพิธีสืบชะตา โดยใช้ห้องโถง ห้องรับแขก ลานบ้าน หรือบริเวณบันได สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในพิธี ประกอบด้วยไม้ง่ามขนาดเล็กนำมามัดรวมกัน ให้มีจำนวนมากกว่าอายุผู้เข้าพิธีสืบชะตา 1 อัน นอกจากนี้มีกระบอกข้าว กระบอกทราย กระบอกน้ำ สะพานลวดเงิน สะพานลวดทอง เบี้ยแถว (ใช้เปลือกหอยแทน) หมากแถว มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย หมอน เสื่อ ดอกไม้ ธูปเทียน และมีเทียนชัยเล่มยาว 1 เล่ม การจัดสถานที่ใช้ไม้ตั้งเป็นกระโจมสามเหลี่ยม ตรงกลางเป็นที่ว่างสำหรับวางวงสะตวงและสิ่งของเครื่องใช้ในพิธี จัดที่ว่างใกล้ๆ กระโจมให้เป็นที่นั่งสำหรับผู้เข้าไปรับการสืบชะตา วนด้ายสายสิญจน์ 3 รอบ โยงกับเสากระโจมทั้งสามขา แล้วนำไปพันรอบพระพุทธรูปและพระที่สวดทำพิธี

โดยปกติการสืบชะตาคนในภาคเหนือจะใช้พระสงฆ์ประกอบพิธี 9 รูป แต่ที่หมู่บ้านไทลื้อใช้พระเพียง 1 รูป สำหรับการท่องคาถาและบทสวดจบแล้วใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือผู้ป่วยเป็นเสร็จพิธี

ส่วนการสืบชะตาคนพร้อมกับขึ้นเรือนใหม่ ใช้พระ 5 รูปขึ้นไป เพื่อสวดพระปริต สวดชยันโต ให้ศีลให้พร ฟังเทศน์สังคหะ และเทศน์สืบชะตา ตัวแทนที่เข้าไปนั่งในสายสิญจน์คือผู้นำครอบครัวหรือผู้อาวุโสสูงสุดในครอบครัว เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและครอบครัว

พิธีสืบชะตาบ้าน

การสืบชะตาบ้านมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่หมู่บ้าน โดยจะประกอบพิธีที่หอเสื้อบ้านหรือศาลากลางบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีของหมู่บ้าน ก่อนถึงวันประกอบพิธีชาวบ้านจะช่วยกันประดับตกแต่งหอเสื้อบ้าน หรือศาลากลางบ้านให้สวยงาม ทำความสะอาดบริเวณรอบๆ แล้วขัดราชวัตร ปักฉัตรและธงทิว ใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อยประดับโดยรอบ วงด้ายสายสิญจน์รอบบริเวณพิธี

ทำแท่นบูชาท้าวทั้งสี่และเทพารักษ์ในบริเวณนั้นมีสิ่งของที่นำมาประกอบพิธี ได้แก่ ข้า พริกแห้ง เกลือ ขนม ข้ามต้ม ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ซึ่งได้มาจากการบริจาคของชาวบ้าน ในวันประกอบพิธีจะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หลังจากนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา และสวดพระปริต เทศนาธรรมใบลานเจ็ดคัมภีร์ และเทศนาธรรมสืบชะตา เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเสนียดจัญไร หรือสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากหมู่บ้าน เมื่อจบพิธีแล้วก็จะปะพรมน้ำมนต์แก่ผู้มาร่วมพิธีทุกคน

กำหนดวันประกอบพิธีสืบชะตาของหมู่บ้านไทลื้อจะทำหลังสงกรานต์ของทุกปี ประเพณีสืบชะตาบ้านเป็นการรวมน้ำใจของชาวบ้านให้มีความสามัคคี โดยการกิจกรรมทำบุญร่วมกัน เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คนในหมู่บ้าน และสืบทอดมรดกเกี่ยวกับประเพณีให้แก่ลูกหลาน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การประกอบพิธีในระยะหลัง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะเป็นผู้สูงอายุ ส่วนคนรุ่นหลังมักจะไม่ให้ความสนใจมากนัก

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณีสำคัญในรอบปี (12 เดือน) ของชาวลื้อในประเทศไทย ปัจจุบันไม่แตกต่างไปจากประเพณีในท้องถิ่นล้านนา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมากนัก และหลายส่วนยังคล้ายคลึงกับประเพณีของชาวลื้อในพม่า สิบสองปันนา (จีน) และลาวตอนเหนือ อย่างไรก็ตาม ปฏิทินของชาวลื้อแต่เดิมดังที่ใช้กันอยู่ในสิบสองปันนา ลาวตอนเหนือ และรัฐฉาน จะนับช้ากว่าปฏิทินล้านนา 1 เดือน ปัจจุบันชาวลื้อในประเทศไทยสว่นใหญ่หันมาใช้ปฏิทินระบบเดียวกันกับล้านนา ดังนี้

เดือนเจี๋ยง (หรือเดือนแรก) ในเดือนนี้ (ประมาณตุลาคม-พฤศจิกายน) จะมีประเพณีจาริกแสวงบุญ ไหว้พระธาตุประจำเมือง

เดือนก๋ำ (หรือเดือนสอง ตรงกับเดือนยี่ของล้านนา ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว มีงานยี่เป็งและลอยกระทงซึ่งได้รับอิทธิพลจากส่วนกลาง ส่วนในชุมชนของชาวลื้อดั้งเดิมจะมีประเพณี “เข้าก๋ำ”

เดือนสาม งานประเพณีบวชลูกแก้ว (ประมาณเดือนมกราคม) เป็กตุ๊ ทำบุญตานข้าวใหม่

เดือนสี่ ประเพณีบวชลูกแก้ว (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) เป็กตุ๊ ทำบุญตานข้าวใหม่

เดือนห้า งานประเพณีปอยหลวง (ประมาณเดือนมีนาคม จนถึงต้นเมษายน)

เดือนหก ประเพณีปีใหม่สังขาร (ประมาณเดือนเมษายน) บางแห่งมีประเพณีปอยหลวง

เดือนเจ็ด (ประมาณเดือนพฤษภาคม) ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ พระบาท

เดือนแปด (ประมาณเดือนมิถุนายน) ทำนา นำน้ำเข้านา หว่านกล้า ล้อมรั้วนา

เดือนเก้า (ประมาณเดือนกรกฎาคม) ประเพณีเข้าพรรษา ประเพณีตกศีล

เดือนสิบ (ประมาณเดือนสิงหาคม) กลางพรรษา

เดือนสิบเอ็ด (ประมาณเดือนกันยายน) ปลายพรรษา ตานธรรม ทำบุญตานสลากภัต

เดือนสิบสอง (ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม) ออกพรรษา

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ประเพณีการเกิดแบบดั้งเดิมของชาวไทลื้อนั้น เมื่อเด็กคลอดออกมา เมื่อตัดสายสะดืออาบน้ำให้เด็กแล้ว หมอตำแยผู้ทำคลอดจะส่งให้ “แม่ฮับ” หรือแม่รับ ส่วนใหญ่จะเป็นยายของเด็ก หรืออาจเป็นผู้ทำคลอด เอาผ้าขาวพันรอบตัวเด็กแล้วใส่กระด้งนำไปวางไว้ที่หัวบันได กระทืบเท้า แล้วพูดว่า “ผีป่อเกิดแม่ก๋าย กันว่าเป็นลูกสูก็มาเอาไปเหวันนี้กันเป๋นลูกกกุนก่าบ่ฮื้อเอาไป” แปลว่า ถ้าเป็นลูกผีก็เอาเสียวันนี้ เป็นลูกคนก็อย่าได้เอาไป ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง แล้วจึงนำเด็กมานอนไว้ข้างแม่

เมื่อคลอดลูกแล้ว ชาวไทลื้อสมัยก่อนต้อง “อยู่เดิน” หรืออยู่ไฟจนครบเดือน ในระหว่างที่อยู่ไฟมีข้อห้ามหลายประการ กล่าวคือ ในช่วงเวลา 7 วันแรกหลังคลอดกินได้แต่ข้าวจี่ หรือ “ข้าวแองไฟ” เป็นข้าวเหนียวปิ้งจนเกรียมรับประทานกับเกลือคั่วและน้ำพริกดำ ส่วนน้ำดื่ม น้ำต้มใส่หัวไพลที่เรียกว่า “ปูเลย” นิยมให้ดื่มมากๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีน้ำนมให้ลูกมา เมื่อครบ 7 วันก็เริ่มรับประทานผักต้มจิ้มน้ำพริกดำ หมูปิ้ง ปลาช่อน และปลาประเภทปลาดุกและปลาหางขาว ส่วนผักเป็นประเภทผักที่มีสีขาวเท่านั้น เช่น ผักกาดดอง

ภายหลังคลอดจะต้อง “อยู่เดิน” หรืออยู่ไฟ ฟืนที่นำมาใช้ขณะอยู่ไฟจะใช้แต่ “ไม้แงะ” (ไม้เต็ง) เท่านั้น เพราะเผาไฟแล้วไม่มีกลิ่นและควันมาก ซึ่งสามีจะต้องเตรียมหาไว้ตั้งแต่ภริยาท้องแก่ใกล้คลอด ในขณะที่อยู่ไฟจะใส่เสื้อผ้าหนาๆ มีผ้ารัดเอวและผูกผมเพื่อให้เหงื่อออก หญิงอยู่ไฟจะต้อง “เข้าฟืนกรรม” คือ คีบผ่านไฟใส่ “เบื้อง” ซึ่งเป็นอ่างดินเผา เป็นการนั่งย่างไฟเชื่อว่าจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นในขณะอยู่ไฟ ห้ามอาบน้ำร่วมกับผู้อื่นต้องนำฟางมากั้นเป็นห้องน้ำแยกจากผู้อื่นที่บริเวณลานบ้าน

เมื่อครบ 15 วันจึงจะอาบน้ำได้ ใช้น้ำต้มใส่ใบกล้วย ใบเปล้า และใบหนาด หลังจากนั้นจะอาบทุกๆ 7 วันจนครบเดือน ระยะเวลาของการอยู่ไฟขึ้นอยู่กับลูกที่เกิดใหม่ ถ้าเป็นลูกสาวจะอยู่เกินเดือนไป 1 วัน คือ 31 วัน เพราะเชื่อว่าเป็นการเผื่อกี่ เผื่อด้าย เด็กโตขึ้นจะได้เป็นคนขยันขันแข็ง รักงานบ้านงานเรือน แต่ถ้าเป็นลูกชายจะหยุด 1 วัน คืออยู่ 29 วัน เพื่อ “หยุด” คมหอก คมดาบ เมื่อโตขึ้นจำเป็นต้องออกสู้รบ อันตรายจากศาสตราวุธจะได้ไม่มาแผ้วพาน

เมื่อครบกำหนด “ออกเดิน” (ออกเดือน) จะมีพิธีออกเดือนโดยให้อาจารย์ผู้ประกอบพิธีมาทำพิธี “ส่งผีขี้ฮ้ายตายอยาก” โดยนำข้าวเหนียวจิ้มอาหารต่างๆ ใส่ในเบื้องนำไปวางไว้ที่นอกบ้าน แล้วพูดว่า “เอาผีขี้ฮ้ายต๋ายอยากเอาไปกิ๋นเห กำนี้ไปนั่งถ้ากิ๋น นอกถ้ากิ๋น” แปลว่าให้ผีร้ายเอาไปกินเสียให้นั่งกินนอนกิน การทำพิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้หญิงแม่ลูกอ่อนไม่มีนิสัย “ขี้ก๊ะ” (ตะกละ) คือ การเห็นอะไรก็ทำให้อาการอยากกินไปทั้งหมด

สำหรับเด็กแรกเกิดในสมัยก่อนนิยมใช้ผิวไม้ไผ่ตัดสายสะดือ เมื่อรกออก พ่อของเด็กจะนำไปฝังไว้กลางทุ่งนาหรือใต้บันได การหิ้วรกไปฝังเชื่อกันว่าถ้าหิ้วด้วยมือข้างไหนเด็กจะถนัดข้างนั้น เช่น หิ้วด้วยมือซ้ายเด็กจะเป็นคนถนัดซ้าย ถ้าหิ้วทั้ง 2 มือ เด็กจะถนัดทั้งสองข้าง

ในอดีตประเพณีการเกิดของชาวไทลื้อ ผู้เป็นแม่จะต้องปฏิบัติตามจารีตอย่างเคร่งครัด เชื่อกันว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะทำให้เจ็บป่วย เรียกว่า “ผิดเดือน” ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ชาวไทลื้อจะทำคลอดที่โรงพยาบาล การปฏิบัติตัวจึงไม่เคร่งครัดเช่นอดีต และทำให้ประเพณีแต่ดั้งเดิมเสื่อมความนิยมลงไป

การเปลี่ยนช่วงวัย

อยู่ข่วง

อยู่ข่วง เป็นประเพณีแอ่วสาวเพื่อแสวงหาเนื้อคู่ของหนุ่มไทลื้อ ในสมัยก่อนชายหนุ่มไทลื้อทุกคนที่จะแต่งงานต้องผ่านการอยู่ข่วงปั่นฝ้ายกับหญิงคนรักมาก่อน ซึ่งจะไม่มีการคลุมถุงชนหนุ่มสาวมีโอกาสและมีความเป็นอิสระเสรีในการเลือกคู่ครอง ทั้งนี้ ต้องอยู่ในกรอบของประเพณีที่ดีงาม หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดผี หรือผิดฮีตอย่างร้ายแรง

ข่วง หมายถึง ลานบ้าน มีร้านนั่งสำหรับพักผ่อนหรือทำงานในเวลากลางคืน โดยยกพื้นสูงประมาณครึ่งเมตร มีความกว้างยาวพอสำหรับบรรจุคนนั่งได้ 4-5 คน มีสิ่งประกอบสำคัญ คือ เตาไฟ หรือตะเกียง น้ำต้น (คนโท) ขันน้ำ และอุปกรณ์สำหรับใช่ปั่นฝ้าย ในช่วงเย็นหญิงสาว แถบบ้านใกล้เรือนเคียงที่นัดกันอยู่ข่วงจะเตรียมหาฟืนไว้ เพื่อใช้ก่อกองไฟให้เกิดความอบอุ่นและแสงสว่างในฤดูหนาว ส่วนหน้าร้อนจะใช้ตะเกียงแทน

ในช่วงดึก หนุ่มไทลื้อจะไปแอ่วสาวอยู่ข่วง ก่อนถึงบ้านจะเริ่มจ๊อยเกี้ยวสาวมาแต่ไกล เช่น “ถ้าบ้านบ่ไกล๋ ป่าไม้บ่กั้น จะเตียวมาหาวันละร้อยปิ๊ก” แปลว่า ถ้าบ้านไม่ไกล ป่าไม้ไม่กั้นจะเทียวมาหาวันละร้อยครั้ง เมื่อฝ่ายสาวได้ยินก็เตรียมตัวไว้คอยรับ โดยการทำงานปั่นฝ้ายไปพลางๆ สำหรับการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวสมัยก่อนต่างจะพูดคุยกันด้วยคำคม และสำนวนโวหาร เป็น “ค่าว” ที่มีความไพเราะและมีความหมาย เมื่อเวลาดึกมากแล้ว หนุ่มจะขอลาสาวกลับบ้าน ในระหว่างที่เดินทางกลับจะจ๊อยเป็นการอำลาอีกครั้งหนึ่ง

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า การอยู่ข่วง เป็นจารีตประเพณีของชาวไทลื้อ ที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะหลังจากทำงานประกอบภารกิจประจำวันแล้ว หากชายหญิงใดไม่เคยอยู่ข่วง เลยถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการเลือกคู่ครองดังกล่าว จะต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่คอยดูแลไม่ให้เกินเลยจนออกนอกกรอบประเพณี

การแต่งงานและการหย่าร้าง

ประเพณีแต่งงานของชาวไทลื้อ เดิมมีความแตกต่างจากประเพณีแต่งงานของชาวไทล้านนา กล่าวคือ ภายหลังจากอยู่ช่วงปั่นฝ้ายแล้ว หนุ่มสาวคู่ใดที่มีความชอบพอกันจนเกิดเป็นความรัก จะมีฐานะเป็นคู่รักกันเรียกว่า “ตั๋วป้อตั๋วแม่กั๋น” (ตัวพ่อตัวแม่) จากนั้นฝ่ายหนุ่มจะกลายเป็นแขกประจำที่จะแอ่วบนบ้าน แต่จะไม่ไปทุกวันเพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาท อาจเว้น 2-3 วันไปครั้งหนึ่ง ส่วนฝ่ายหญิงจะปั่นฝ้ายคอยเมื่อถึงวันนัดหมาย เมื่อทั้งคู่ตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา ฝ่ายชายจะดับตะเกียง เป็นสัญญาณว่าได้ถูกเนื้อต้องตัวกันแล้ว และลงจากบ้านไป ปัจจุบันใช้วิธีปิดไฟฟ้าแทน ถือว่าเป็นการผิดผีซึ่งฝ่ายชายจะต้องเสียผี

พอถึงตอนเย็นของวันรุ่งขึ้น ฝ่ายหญิงจะส่งตัวแทนไปบอกผีที่บ้านฝ่ายชาย เรียกว่า “ใจ้กำ” (ใช้คำ) โดยตัวแทนจะกล่าวกับพ่อแม่และญาติของฝ่ายชายว่า “เอองัวควายสูฮ้ายฮั้ว ไปเข้าสวยเปิ้น ฮื้อไปแป๋งฮั้วเหียเน้อ” (วัวควายของท่านพังรั้วบ้านเขา ขอให้ไปทำรั้งให้เรียบร้อยด้วย) ถ้าฝ่ายชายเต็มใจก็จะส่งธูป 12 คู่ ไปไหว้ผี หากไม่ตกลงจะส่งผู้แทนไปเจรจา เพื่อขอใช้เงินค่าทำขวัญ ซึ่งอาจมีการพูดจากระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงถึงกับตัดญาติขาดมิตรกัน หากฝ่ายชายไปไหว้ผีแสดงว่ามีความพอใจก็จะรอให้ฝ่ายหญิงมาขอให้ไปอยู่บ้านต่อไป

นับตั้งแต่มีการถูกเนื้อต้องตัวหญิง โดยการดับไฟเป็นสัญญาณแล้ว ตามจารีตประเพณีของสังคมไทลื้อถือว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบธรรม แต่จะยังไม่ไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา แยกกันอยู่ตามปกติจนกว่าฝ่ายหญิงจะมาขอให้ไปอยู่ ในระหว่างนั้นชายต้องทำงานหนักเพื่อเก็บออมเงินทองและทรัพย์สินไว้

ส่วนหญิงก็เตรียมตัวเป็นแม่บ้าน พอถึงเทศกาลสงกรานต์ ในวันพญาวัน (วันเถลิงศก) หญิงก็จะไปดำหัวพ่อแม่ฝ่ายชาย พร้อมกับส่งของเรียกว่า ส่งครัว ซึ่งมีอาหารประเภทอาหารแห้ง เช่น ปลาเกลือขนาดใหญ่ วุ้นเส้น ขนม หมาก เมี่ยง บุหรี่พื้นเมือง นำมาบรรจุใส่ย่ามขนาดใหญ่ซึ่งทอใช้เอง ไทลื้อเรียกว่าถุงปื๋อ ไปส่งบ้านพ่อแม่ฝ่ายชายพร้อมกับมีเพื่อนสาวไปส่งอีก 1 คน เมื่อนำไปมอบให้แล้วก็ตักน้ำ ปัดกวาดถูดบ้านให้ด้วย ส่วนทางพ่อแม่ฝ่ายชายก็จัดเตรียมสิ่งของไว้ให้ เช่น ผ้าห่อ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน พร้อมกับให้เงินเป็นขวัญถุงอีกจำนวนหนึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะของพ่อแม่ฝ่ายชาย

การเลือกคู่ นิยมปฏิบัติกันในเดือนสี่ เดือนหก หรือเดือนแปดเหนือ ครั้นถึงเดือนแปดราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของฤดูกาลทำไร่ทำนา ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็จะไปขอฝ่ายชายให้มาอยู่บ้านเพื่ออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยสมบูรณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า ธรรมเนียมของไทลื้อถือว่าสามคืนแรกที่ไปอยู่นั้นห้ามแตะต้องตัวภรรยา และพอถึงเช้าตรู่สามีจะต้องรีบกลับไปอยู่บ้านของตนปฏิบัติเช่นนี้เป็นเวลา 3 วัน ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งคู่ยังไม่คุ้นเคยกับการอยู่ใกล้ชิดแบบสามีภรรยามาก่อน จึงต้องอาศัยการปรับตัวระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะอยู่กันฉันสามีภรรยาตลอดไป ส่วนภรรยาจะหาเสื้อผ้าใหม่มาให้สวมใส่แทนชุดเดิม มีธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งคือ ก่อนที่เขยใหม่จะมาอยู่บ้าน พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะหาไม้ทำฟืนมาเตรียมไว้ ดังนั้น ทุกเช้าเขยใหม่จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อผ่าฟืนสำหรับเก็บไว้ใช้ตลอดปี จากนั้นจะช่วยพ่อแม่ของภรรยาทำงานทุกอย่างจนครบ 3 ปี จากนั้นอีก 3 ปีจะไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของสามี ในระหว่างนั้นจะหาไม้เก็บรวบรวมไว้ปลูกบ้าน เมื่อครบ 6 ปี จึงสามารถแยกครอบครัวไปสร้างบ้านของตนเองอยู่ในบริเวณบ้านของพ่อแม่ ส่วนจะเป็นฝ่ายสามีหรือภรรยาแล้วแต่จะตกลงกัน สำหรับลูกสาวคนเล็กจะอยู่รวมกับพ่อแม่เพื่อเป็นผู้สืบทอดมรดกต่อไป

ความตาย และการทำศพ

ประเพณีการตายของไทลื้อสิบสองปันนาในอดีตจะมีลักษณะแตกต่างไปจากประเพณีเกี่ยวกับความตายในสังคมไทย กล่าวคือ เมื่อมีคนตาย จะนำศพห่อด้วยไม้ไผ่ แล้วใช้ผ้าขาวปิดทับข้างนอก ด้านบนสานไม้ไผ่ปิดทับ เรียกว่า “หล้อง” โดยทั่วไปจะเก็บศพไว้เพียงคืนเดียวแล้วรีบนำไปฝัง ขณะที่นำศพไปยังป่าช้า สัปเหร่อจะใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 3 เมตร 2 ลำ ผูกติดกับหล้องทั้งสองข้าง แล้วใช้คน ที่เรียกว่า “เขย” จำนวน 4 คนหามไปฝัง เสร็จแล้วใช้แผ่นไม้ปิดทับและตัดหนามไม้ไผ่มาคลุมอีกชั้นเพื่อป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย

ส่วนคนตายท้องกลมเรียกว่า “ตายพราย” เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาสำหรับชาวบ้าน ถ้าหากมีคนตายท้องกลมจะรีบนำปฝังทันที โดยไม่ให้ข้ามวันหรือข้ามคืน หากตายบริเวณไหนต้องเจาะพื้นบ้านเป็นช่องตรงนั้น เพื่อนำศพออกจากบ้านโดยไม่ให้ผ่านประตูห้องหรือบันไดบ้าน การทำศพต้องดำเนินการอย่างรีบเร่งจะห่อด้วยเสื่อเพียงอย่างเดียว แล้วรีบนำไปฝังโดยเร็วที่สุด บริเวณที่ฝังต้องแยกออกไปต่างหาก ชาวบ้านเรียกว่า ป่าช้าผีดิบ ส่วนสามีของผู้ตายต้องรับเข้าวัดแล้วบวชอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน หรือ 7 วัน ทั้งนี้ เชื่อว่าเพื่อป้องกันการติดตามรังควาญ

จะเห็นว่า ในอดีตประเพณีการทำศพของหมู่บ้านไทลื้อ ส่วนใหญ่จะใช้การฝัง ส่วนการเผาศพ จะมีเฉพาะศพพระสงฆ์ หรือผู้สูงอายุเท่านั้น ส่วนในปัจจุบัน ประเพณีการทำศพได้เปลี่ยนแปลงไป ส่วนใหญ่จะใช้การเผาทั้งหมด ทั้งนี้ มีข้อห้ามว่าหากเป็นศพตายท้องกลมต้องแยกเผาต่างหาก ไม่เผาในบริเวณเชิงตะกอนที่ใช้เผาศพโดยทั่วไป

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

พิธีบูชาเทียน

ปู่จาเตียน หรือบูชาเทียน เป็นประเพณีการสะเดาะเคราะห์อีกแบบหนึ่ง เพื่อบูชาหลีกเคราะห์ภัยที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้อง นิยมประกอบพิธีในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา และเทศกาลสงกรานต์ แต่ในวันอื่นๆ ก็สามารถทำได้ตลอดทั้งปี บางคนทำพิธีเพื่อความมีโชคลาภ บางคนทำเพื่อแผ่เมตตามหานิยม

เทียนที่ใช้บูชา จะใช้เทียนไข หรือเทียนขี้ผึ้ง ผู้ประกอบพิธี ได้แก่ พระสงฆ์ สามเณร ปู่อาจารย์ หรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว เขียนคาถาเป็นอักขระพื้นเมืองล้านนาลงบนเทียนไข วิธีเขียนทำได้ 3 แบบ คือ บูชาเพื่อหลีกเคราะห์ บูชาเพื่อรับโชค และบูชาสืบชะตา

ประเพณีบูชาเทียนในปัจจุบันยังปฏิบัติกันอยู่ในหมู่บ้านไทลื้อ เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจให้แก่ตนเอง และครอบครัว การประกอบพิธีกรรมบูชาเทียนสามารถทำแทนกันได้ เช่น กรณีที่สมาชิกในครอบครัวอยู่ห่างไกลพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ อาจประกอบพิธีกรรมให้ก็ได้ เป็นการส่งจิตใจถึงกันเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับครอบครัว

พิธีบูชาข้าวหลีกเคราะห์

ปู่จาข้าวหลีกเคราะห์หรือบูชาข้าวหลีกเคราะห์ เป็นการประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ไว้ล่วงหน้าให้แก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัว นิยมประกอบพิธีกันในเทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา โดยยึดถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติติดต่อกันมานานแล้ว เป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว โดยเชื่อว่าจะปราศจากเคราะห์และภัยอันตรายทั้งปวง

สิ่งของที่ใช้ประกอบพิธี ประกอบด้วย กระทง ซึ่งเรียกว่า ควั๊กบรรจุใบขนุน ใบดอกแก้ว ใบคำ กล้วย อ้อย มะพร้าว น้ำตาล เทียนไข หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ช่อ (ธงสามเหลี่ยมเล็กทำด้วยกระดาษ) ข้าวเหนียวนึ่งปั้นเป็นก่อนให้ครบจำนวนของสมาชิกในครอบครัว ผ้าตีด (ใช้ด้าย 5 เส้นรวมกันไว้สำหรับจุดไฟขณะทำพิธี) สีสายยาว (ใช้ด้าย 5 เส้น แต่ยาวกว่าผ้าตีด) และเสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัวทุกคน

การจัดเตรียมสิ่งของ จะดำเนินการล่วงหน้า 1 วัน เรียกว่า วันดา จะจัดเตรียมทำควั๊กสำหรับใส่สิ่งของที่จะใช้ประกอบพิธีให้พร้อม และทำควั๊กอีกอันหนึ่งใส่ข้าว 1 ก้อน กล้วย 1 ใบ เรียกว่าใส่ข้าวปั้นกล้วยหน่วย สำหรับบูชาพระแม่ธรณี โดยนำไปวางไว้ที่ประตูรั้วหน้าบ้าน ส่วนเสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัวบรรจุใส่กระบุงเตรียมไว้

ขั้นตอนการประกอบพิธีที่วัด

การประกอบพิธีกระทำในตอนเช้า เมื่อชาวบ้านมาพร้อมกันที่ศาลาวัด พระสงฆ์จะสวดมนต์ รับศีลเสร็จแล้วก็จะเริ่มกล่าวคำบูชาข้างหลีกเคราะห์ ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะทำพิธีจุดไฟเผาผ้าตีด คือ ด้ายสีขาวที่เตรียมมาและจุดเทียน มีชาวบ้านบางส่วนนำผ้าจีดและเทียนไปจุดข้างวิหาร และข้างกำแพงวัด เมื่อพระกล่าวคำบูชาข้างหลีกเคราะห์จบแล้ว ผู้ประกอบพิธีก็จะคว่ำกระบุงที่บรรจุเสื้อผ้ากลับด้านล่างเป็นด้านบนและสลัด เป็นการไล่เคราะห์ใส่ในควั๊กเครื่องเซ่นบูชา จากนั้นก็จะนำควั๊กไปถวายพระพุทธรูปในวิหารแล้วนำกลับลงมาที่ศาลา เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จำควั๊กข้าวหลีกเคราะห์ไปทิ้งไว้ข้างนอกวัด

พิธีปู่จาข้าวหลีกเคราะห์ปัจจุบันยังคงพบเห็นอยู่ในวัดของชุมชนไทลื้อ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ประกอบพิธีกรรมเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน หรือผู้หญิงที่สูงอายุ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรักและความห่วงใยของแม่บ้านที่มีต่อสมาชิกในครอบครัวทุกคนชาวลื้อสิบสองปันนา เชื่อในเรื่องขวัญ และใช้การเรียกขวัญ หรือฮ้องขวัญ และการส่งเคราะห์ เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วย

พิธีเรียกขวัญ

การเรียกขวัญ หรือฮ้องขวัญของไทลื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเพณีเรียกขวัญของชาวเหนือโดยทั่วไป วัตถุประสงค์ของการประกอบพิธีเรียกขวัญ เพื่อเรียกขวัญคนที่เพิ่งหายจากการเจ็บป่วย ให้มีขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น เชื่อกันว่าคนเจ็บป่วยที่เบื่ออาหารเมื่อทำพิธีเรียกขวัญแล้วจะกลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ

ลำดับขั้นตอนในการประกอบพิธี เริ่มต้นจากการที่เจ้าบ้านหรือญาติของผู้เจ็บป่วย จะจัดเตรียมสิ่งของเพื่อประกอบพิธี ได้แก่ หมาก 1 หัว พลู 1 เรียง บุหรี่ 1 มวน เมี่ยง 1 อม กล้วย 1 ลูก ข้าวเหนียว 1 ก้อน ปลาปิ้ง 1 ตัว ไข่ต้ม 1 ฟอง ไก่ต้ม 1 ตัว (โดยปกติหากไม่จำเป็นจะไม่นิยมฆ่าไก่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนป่วยหายช้า) นอกจากนั้นยังมีด้ายสายสิญจน์จำนวน 1 เส้น หรือ 9 เส้นก็ได้ ข้าวสารจำนวน 64 เม็ด หรือ 32 คู่ ใส่ในถ้วยใบเล็กไว้ในที่ประกอบพิธี

เมื่อเตรียมสิ่งของเรียบร้อยแล้ว หมอขวัญจะเริ่มประกอบพิธีเรียกขวัญ ถ้อยคำและสำนวนโวหารเป็นแบบพื้นเมืองภาคเหนือ ใช้เวลาประมาณ 50 นาที ในขณะที่หมอขวัญกำลังทำพิธีใกล้จะจบ จะมีการเสี่ยงทาย เพื่อดูว่าขวัญของผู้ป่วยกลับคืนมาแล้วหรือยัง โดยหยิบข้าวสารจากในถ้วยขึ้นมานับ ถ้าหากหยิบได้จำนวนเป็นคู่แสดงว่าขวัญผู้ป่วยกลับมาแล้ว แต่ถ้าหยิบได้จำนวนคี่แสดงว่าขวัญขวัญไม่มา หมอขวัญก็จะทำพิธีเรียกขวัญต่อไปอีก แล้วเสี่ยงทายใหม่จนกว่าจะหยิบข้าวสารได้จำนวนคู่ ก็ถือว่าขวัญกลับมาแล้วเป็นเสร็จพิธี หลังจากเสร็จพิธีแล้วก็จะนำปลาปิ้ง ไข่ต้ม และไก่ต้มมาให้ผู้ป่วยรับประทาน

นอกจากการเรียกขวัญเเบบมีพิธีการแล้ว ชาวไทลื้อยังมีการเรียกขวัญแบบไม่มีพิธีการ ในกณีที่ลูกหลานตกใจร้องไห้ หรือหกล้ม ผู้ใหญ่จะอุ้มแล้วใช้มือลูบหัวและหลัง แล้วกล่าวปลอบใจว่า “ขวัญมาๆ ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว” ซึ่งนิยมปฏิบัติกันเป็นประจำ

การเรียกขวัญเป็นประเพณีพื้นบ้านที่มีผลทางจิตใจ เป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคคลที่เสียขวัญให้มีสภาพจิตที่ดีขึ้น เช่น เมื่อคนป่วยที่เพิ่งฟื้นจากไข้เริ่มรับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ ก็จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงจนหายเป็นปกติ (ประชัน รักษ์พงษ์, 2536) นอกจากนี้ การเรียกขวัญ ยังเป็นพิธีการช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ และมีความเชื่อว่า ผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร ภายหลังพิธีเรียกขวัญ ผู้ป่วยจะมีความอยากอาหารตามปกติ ขั้นตอนการทำพิธีคือ ในวันดาหรือหนึ่งวันก่อนพิธีเรียกขวัญ เจ้าบ้านและญาติร่วมกันจัดเตรียมอาหารและผลไม้ ประกอบด้วย ข้าวเหนียว ปลาปิ้ง ไข่ต้ม ไก่ต้ม และกล้วยน้ำว้า และสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธี ประกอบด้วย หมาก พลู บุหรี่ และเมี่ยง อย่างละ 1 พร้อม ทั้งสายสิญจน์ 1 หรือ 9 เส้นและข้าวสาร 64 เม็ด ในวันงาน หมอขวัญเริ่มพิธีเรียกขวัญด้วยถ้อยคำและสำนวนโวหารแบบพื้นบ้านไทลื้อใช้เวลาประมาณ 50 นาที ในขณะใกล้จบพิธีหมอขวัญจะมีการเสี่ยงทายเพื่อตรวจสอบว่าขวัญของผู้ป่วยกลับมาอยู่กับตนเองหรือไม่โดยการหยิบข้าวสารจากถ้วยขึ้นมานับ ถ้าหยิบได้จำนวนคู่ แสดงว่าขวัญผู้ป่วยกลับมาอยู่กลับตนเอง แต่ถ้าหยิบได้จำนวนคี่ แสดงว่าขวัญของผู้ป่วยยังไม่กลับมา หมอขวัญจะประกอบพิธีต่อไปจนสามารถหยิบข้าวสารได้จำนวนคู่ แล้วให้ผู้ป่วยกินปลาปิ้ง ไข่ต้มและไก่ต้ม จึงถือว่าเสร็จพิธี (เสาวภา ศักยพันธ์, 2556, หน้า 11-12)

พิธีส่งเคราะห์

ส่งเคราะห์ เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวไทลื้อที่คล้ายกับของภาคเหนือโดยทั่วไป การส่งเคราะห์เป็นการสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ออกไปจากผู้มีเคราะห์หรือผู้ประสบเคราะห์กรรม เพื่อให้อยู่สุขสบายปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บและอันตราย รวมทั้งเป็นการเสริมแรงใจให้แก่ผู้ประสบเคราะห์กรรมอีกด้วย

การประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ กระทำเมื่อมีเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก ส่งเคราะห์ตามราศี ตามวันเดือนปีเกิด ตามโชคชะตาที่หมอดูหรือผู้รู้ได้ทำนายทายทักไว้ว่าปีใดคนเกิดวันไหนจะมีเคราะห์ โดยการกำหนดจากการถือฤกษ์ตามวันสงกรานต์ เช่น ปีใดวันสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ ผู้ที่เกิดวันพุธจะต้องเข้าพิธีส่งเคราะห์ เพื่อจะได้อยู่สบาย ปราศจากเคราะห์ภัยอันตรายต่างๆ ตลอดปี ประการที่สอง ทำพิธีส่งเคราะห์เมื่อประสบภัยพิบัติต่างๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ก็จะทำการส่งเคราะห์เพื่อให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง

การเตรียมทำพิธีส่งเคราะห์

เตรียมทำสะตวง โดยนำกาบกล้วยมาพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวราว 1 ศอก ใช้ไม้ไผ่เล็กๆ เสียบเป็นแนวขวางปูทับด้วยใบตอง แบ่งออกเป็นห้องหรือช่องจำนวน 9 ห้อง แต่ละห้องจะใส่สิ่งของลงไปให้ครบจำนวนเท่าๆกัน อย่างละ 8 ชิ้น เรียกว่าเครื่องแปด ได้แก่ แกงหวาน ป้าว (มะพร้าว) ตาล (น้ำตาล) กล้วย อ้อย หมาก พลู บุหรี่ ข้าวจี่(ข้าวเหนียวปิ้ง) ใส่เกลือข้างใน 1 เม็ด ข้วตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ตรงมุมทั้ง 4 ด้านของสะตวงปักด้วยธง 6 สี คือ ดำ แดง ขาว เหลือง เขียว น้ำเงินหรือคราม บางครั้งใช้สีขาวแทนทั้งหมด เพราะมีความเชื่อว่าสีขาวจะทำให้ปราศจากเคราะห์อย่างขาวบริสุทธิ์ ขันตั้งหรือขันยกครู สำหรับหมอผู้ประกอบพิธี แระกอบด้วย ดอกไม้ 4 ดอก เทียน 4 เล่ม เงิน 10 บาท

ขั้นตอนของการประกอบพิธี

พิธีจะเริ่มโดยหมอผู้ประกอบพิธีทำพิธียกครู โดยหันหน้าทางทิศตะวันออกแล้วกล่าวคำยกครู เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีส่งเคราะห์ โดยให้ผู้เข้าพิธีนั่งลงแล้ววางสะตวงไว้ตรงข้ามหน้า ส่วนขันน้ำมนต์วางไว้ที่หน้าหมอผู้ประกอบพิธี ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังผู้เข้าพิธี เมื่อพร้อมแล้วก็จะเริ่มกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และพระพรหม จากนั้นก็ร่ายคาถาสำหรับปัดเคราะห์ ให้ออกจากร่างกายของผู้เข้าในพิธี จบแล้วหมอพิธีก็จะเก็บเอาเครื่องยกครูใส่ย่ามส่วนตัว ส่วนสะตวงนำไปทิ้งไว้นอกบ้านเป็นเสร็จพิธี

การส่งเคราะห์เป็นจารีตของชาวไทลื้อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นการบำรุงขวัญ และให้กำลังใจแก่ผู้ที่ระสบเคราะห์กรรมให้หายจากความวิตกกังวล ทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ในการประกอบอาชีพการงาน และพร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคและภัยอันตรายในภายภาคหน้า

การทำมาหากิน

พิธีสู่ขวัญควาย

สำหรับชาวไทลื้อ (และล้านนา) สู่ขวัญควาย เป็นพิธีที่เตือนสติและจิตใจให้คนเรามีความกตัญญูกตเวที ระลึกถึงบุญคุณของสัตว์ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เรา โดยเฉพาะความที่ได้ให้แรงงานไถนา เพื่อพลักแผ่นดินให้คนได้ปลูกข้าว ในขณะที่ไถคราดนั้นบางครั้งได้ ดุ ด่า เฆี่ยน ดี ดังนั้น เมื่อสิ้นฤดูกาลไถคราดจึงมีการประกอบพิธีสู่ขวัญควาย สิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีมี ไก่ต้มตัวเมีย 2 ตัว ข้าวกล้า 1 มัด ด้ายสายสิญจน์นำมาทบกัน 7 เส้น สวยดอกไม้ (กรวย) 1 คู่ แอกควาย 1 อัน

ลำดับขั้นตอนในการประกอบพิธี

เมื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีเรียบร้อยแล้ว เจ้าของจะนำควายไปอาบน้ำทำความสะอาด แล้วนำมาเข้าสู่พิธี ใช้ด้ายสายสิญจน์ผู้สวยดอกไม้ติดเขาทั้งสองข้าง ส่วนไก่ต้มบรรจุใส่ถาดวางไว้ใกล้ๆควาย เริ่มต้นพิธีโดยหมอขวัญกล่าวพรรณนาถึงบุญคุณของควายและการใช้งานไถคราดพลิกแผ่นดินให้ได้เพาะปลูก จากนั้นก็ขอให้อโหสิกรรมที่ได้ล่วงเกิน ดุ ด่า เฆี่ยน ตี ในระหว่างฤดูกาลทำนา ตามคำกล่าวของหมอขวัญที่ว่า

“อัชชะในวันนี้ก็เป็นวันดี ย่าสั่งสีกับย่าสั่งใส้คดดินมาปั้นไว้แป๋งควายดำก่อน ส่วนไถนา ฝนตกลงมาจะจุ่มแผ่นดินจุ่มแผ่นดินตุ๋ม ฝนตกห่าใหญ่ไม่ใส่น้ำนาดอน เอาปอนเอาป๋อมาผูกจากคอเจ้า แล้วมาขอสูมา ขวัญหางได้กวัดได้แกว่ง สูมาขวัญแข้ง สูมาขวัญมา สูมาขวัญตา สูมาขวัญหน้า ได้จักหน้าหื้อข้าได้กิน น้ำป่ามาแฮง ถ้าสัตว์ตัวใดบ่ดีเปิ้นเอาไปฟันแทงกินเลือดมาก สัตว์ตัวนี้ดีจักลาภได้ข้าวเต็มเล็มถุง”

เมื่อกล่าวจบแล้ว ก็จะเอาแอกขึ้นใส่คอควาย แล้วทำพิธีปลดแอกโดยกล่าวว่า “ปลดจากแอก แยกจากไถ ฝนตกจะไปฝันเป็นกล้า ฟ้าฮ้องจะไปฝันใส่นา ปล่อยกินหญ้าอ่อนน้ำใส” เสร็จแล้วเอาหางกล้าและหญ้าอ่อนที่เตรียมไว้ให้ควายกิน เป็นเสร็จพิธี

พิธีแรกนา

แฮกนา เป็น การแรกนาของชาวไทลื้อ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ แฮกนาตอนหว่านกล้า และแฮกนาวันปลูกนา (ดำนา) ชาวไทลื้อเชื่อว่า ประเพณีแฮกนาเป็นการประกอบพิธีเพื่อกราบไหว้พระแม่ธรณี รวมทั้งเจ้าที่เจ้าทางเพื่อขออนุญาตพลิกแผ่นดินทำกิน

ก่อนประกอบพิธีการแฮกนาหว่านกล้า จะต้องไปขอคำปรึกษาจาก “พ่อจารย์” ประจำหมู่บ้าน เพื่อดูฤกษ์วันให้เป็นมงคล ตำราระบุว่า บุคคลใดก็ตามจะไถนาให้ดูการกลับตัวของนาค เวลาไถให้เริ่มจากทิศหัวนาคไปยังทิศหางนาค ไม่ย้อนจากทางหางนาคไปสู่หัวนาค เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการย้อนทวนเกล็ดนาค ทำให้เปลืองเสื้อผ้าและอุปกรณ์การไถ การแฮกนาตอนปลูก การประกอบพิธีใช้ข้าวเหนียว 1 ก้อน กล้วย 1 ผล เรียกว่า “ข้าวปั้นกล้วยหน่วย” เพื่อไหว้บอกกล่าวพระแม่ธรณี โดยกล่าวว่า

“เอ่อบัดเดี๋ยวนี้ ผู้ข้าจักได้แฮกนาวันนี้ จะได้ปลูกข้าววันนี้ขอหื้อคุณแม่พระธรณี เจ้าที่มาปกปักรักษาท้าวองอาจนาฏสนม กลมทวีแม่นางนาฎน้อย แม่ธรณีอันเป็นผู้หล้าหลับแล้วลืมตื่น ตื่นแล้วหรือยัง สาดตังโลกวิฑูร ข้าพเจ้าจักแฮกนานี้ก็ขอพึ่งเงาแข้งเงาขา กับแม่ธรณีเป็นเจ้า ขอกุ่งก้านฮักษาสัตว์ตัวร้ายอย่าได้มากระทำร้าย”

เมื่อเริ่มปักดำข้าวกล้าต้นแรกให้พูดว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ต้นที่สองพูดว่า ธรรมัง สรณัง คัจฉามิ ต้นที่สามพูดว่า สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” แล้วปักดำไปเรื่อยๆ โดยกล่าวไตรสรณคมไปจนจบ เรียกว่า “สรณคมเก้าบั้ง” เป็นเสร็จพิธี

พิธีตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่

ตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่ชาวไทลื้อ ไทล้านนา ปฏิบัติสืบต่อกันมานานแล้ว กล่าวคือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวมาไว้ในยุ้งฉางแล้ว ก่อนจะนำข้าวไปตำหรือนำไปสี ต้องหาฤกษ์ยามวันดี โดยดูจากตำราซึ่งจารึกลงบนแผ่นไม้ขนาดกว้างราว 4 นิ้ว ยาวราว 1 ศอก เรียกว่า “ปั๊กกะตืน” ซึ่งจะมีประจำที่ยุ้งข้าว การตานข้าวใหม่จะเริ่มในตอนเช้า โดยนึ่งข้าวใหม่พร้อมทั้งทำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลของการกินข้าวใหม่ไปยังบุพกรีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการนำข้าวใหม่ไปถวายพระ ภายหลังกลับจากการทำบุญที่วัด ก็จะนำข้าวใหม่และอาหารไปให้บุพการีที่ยังมีชีวิตอยู่รับประทานก่อน ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ก็จะให้พรแก่ลูกหลาน เช่นกล่าวว่า “กิ๋นอิ่มไปหื้อตก จ๊กอิ่มไปหื้อลง หื้อกิ๋นมั่นกิ๋นยืน กิ๋นยาว” หมายถึงกินอย่าให้สิ้นเปลือง ให้กินไปนานๆ

จะเห็นได้ว่าประเพณีตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่ เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีตอบแทนแก่ผู้มีพระคุณ ได้แก่ บุพการี ทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและผู้ที่มีชีวิตอยู่ เพราะท่านเหล่านี้ได้บุกเบิกสร้างไร่นาไวให้ลูกหลานได้ทำมาหากิน ดังนั้นเมื่อได้ผลผลิตจึงตอบแทนบุญคุณด้วยการตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่

พิธีเก็บขวัญข้าว

เก็บขวัญข้าวเป็นประเพณีของชาวนาที่ประกอบพิธีภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ยุ่งฉางและครอบครัว เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อได้ทำพิธีเก็บขวัญข้าวแล้ว “กิ๋นบ่มีต๊ก จ๊กบ่มีลง” หมายถึง กินไม่มีสิ้นเปลือง

เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวนาจะหาฤกษ์ยามจากอาจารย์ประจำหมู่บ้าน เพื่อหาวันที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยว ตามตำราแบ่งวันออกเป็น 2 ประเภท คือ วันจม กับวันฟู ยึดตามจันทรคติข้างขึ้นข้างแรมเป็นหลัก วันจม เป็นวันที่ไม่ดี เชื่อกันว่าหากทำสิ่งใดมีแต่ละล่มจม ส่วนวันฟูเป็นวันดีประกอบการงานสิ่งใดจะเจริญรุ่งเรืองแล

เกษฎาวัลย์ ตันริยงค์. 2556.แนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (ไทลื้อ) โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. รายงานฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง. 2562“บ้านหนองบัว” ชุมชนไทลื้อเมืองน่าน 200 ปีhttps://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1135872/

ชูศักดิ์ วิทยาภัค. 2544. ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อการเข้าถึงทรัพยากรของคนเมืองน่าน. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

มิ่งกมล หงษาวงศ์. 2557. ไทลื้อ : วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม. ในวารสารศิลปกรรมศาสตร์วิชาการวิจัย และงานสร้างสรรค์ ราชมงคลธัญบุรี. ปีที่ 1, ฉบับที่ 2 (ก.ค. – ธ.ค. 2557), หน้า 1-20.

ประชัน รักพงษ์ และคณะ. 2535 การศึกษาหมู่บ้านไทลื้อจังหวัดลำปาง. ฝ่ายวิจัยและแผนงาน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูลำปาง สหวิทยาลัยล้านนา

รัตนะ ตาแปง และสุดาพร นิ่มขำ. 2563. การรื้อฟื้นศิลปะการขับลื้อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้ออำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยาและบ้านนายางใต้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ใน MFU Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences; 2020, 9(1):109-122.

วงศกร สันคนนาภรณ์. (2559). การศึกษารากฐานทางวัฒนธรรมอำเภอสันป่าตอง เพื่อใช้เป็นแนวทางสู่กระบวนแบบคิดแนวคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์วารสารวิชาการ Veridian E-Journal ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ. ปีที่11 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน-ธันวาคม2559,
หน้า 821.

วสันต์ ปัญญาแก้ว. 2555. ลื้อข้ามแดน. ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

วสันต์ ปัญญาแก้ว. 2555. กลไกรัฐการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และปฏิบัติการของลื้อชายแดนที่เมืองชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สถาบันวิจัยสังคม . 2551. ไทลื้อ อัตลักษร์แห่งชาติพันธุ์ไท. เชียงใหม่ โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรทมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ. 2561. การดำรงอยู่ของผ้าทอไทลื้อในจังหวัดเชียงราย : บทวิเคราะห์เศรษฐกิจวัฒนธรรม. ใน วารสารสังคมศาสตร์วิชาการปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2561.

เสกสรร สรรสรพิสุทธิ์ 2546. อัตลักษณ์ของไทลื้อและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภายใต้ระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยม : กรณีศึกษาบ้านแม่สาบ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระ (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม))มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ.2553. http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/districtList/page1.htm?fbclid=IwAR0_57hpflqfIcEGHZ39Z_U0NUCJCtT7j8mkhesei5KHWjWI9SdnREYgy-I)

เสวภา ศักยพันธุ์.2556. การศึกษาข้ามวัฒนธรรมสิบสองพันนาและล้านนาด้านอาหารไทลื้อ.วิทยานิพนธ์ดุษฏีบัณฑิตสาขาลุ่มน้ำโขงศึกษาและสาละวิน บัณฑิวตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.

องค์ สุริยเมฆะ. 2558. สถานภาพการศึกษาชาติพันธุ์ไทลื้อ ต้ังแต่พ.ศ.2480-2540. ใน วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษยศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 (2015): มกราคม-มิถุนายน 2558.

โอริสา เชี่ยวเกษม. 2558. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนไตลื้อ ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี

Moerman, Michel.1965 Ethnic Identification in a Complex Civilization: Who Are the Lue? American Anthropologist. 67(5):1215 – 1230

Moerman, Michel.1968. Agricultural Change and Peasant Choice in a Thai Village. University of California Press. Davis,

Sasra. 2005. Song and Silence. Silkworm Books.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว